ผู้เขียน หัวข้อ: วิสุทธิ ๗ ความบริสุทธิ์ของ ศีล สมาธิ ปัญญา  (อ่าน 4967 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
วิสุทธิ ๗ ความบริสุทธิ์ของ ศีล สมาธิ ปัญญา

คัดลอกมาจาก
บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ชุดที่ ๑๐
เรื่อง วิปัสสนากรรมฐาน
บทที่ ๒ วิสุทธิ ๗

วิสุทธิ แปลว่า ความบริสุทธิ์ อันหมายถึงความบริสุทธิ์จากกิเลสที่เป็นไปทางกาย ทางใจ และทางปัญญา

กล่าวโดยย่อได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นไปโดยบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวง ความหมดจดจากกิเลส มี ๓ ระดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด ทั้งทางกายทางจิตและปัญญา

ถ้าหมดจดจากกิเลสโดยศีล ก็หมดจดจากกิเลสอย่างหยาบ
โดยสมาธิ ก็หมดจดจากกิเลสอย่างกลาง
โดยปัญญา ก็หมดจดจากกิเลสอย่างละเอียด

วิสุทธิเป็นธรรมที่ละเอียดมากและเป็นธรรมชนิดนำไปสู่แดนเกษม คือพระนิพพาน
ผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานได้นั้นต้องดำเนินไปด้วยวิสุทธิ คือ
ต้องดำเนินไปด้วยความหมดจดจากกิเลส วิสุทธิ ๗ นี้มีการดำเนินไปที่เกี่ยวเนื่องกับญาณ ๑๖

ดังนั้น จึงแสดงตารางความสัมพันธ์กันของวิสุทธิ ๗ และญาณ ๑๖ ไว้ที่หน้าสุดท้าย

วิสุทธิมี ๗ คือ
๑.สีลวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งศีล
๒.จิตตวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งจิต
๓.ทิฏฐิวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งความเห็นที่ถูกต้อง
๔.กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ของญาณที่ข้ามพ้นความสงสัย
๕.มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ในการเห็นแจ้งของญาณว่า
เป็นทางปฏิบัติถูกและทางปฏิบัติไม่ถูก
๖.ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ในการเห็นแจ้งของญาณในทางปฏิบัติถูก
๗.ญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ของความรู้ความเห็น

ขอบคุณที่มา
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3669.msg13317#msg13317
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว....ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา...สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา...กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
วิสุทธิ ๗

๑. สีลวิสุทธิ
สีลวิสุทธิ หมายถึง ศีลเพื่อละกิเลส ไม่ใช่ศีลเพื่อบำรุงกิเลส เพราะว่าศีลนั้นกิเลสก็อาศัยเกิดได้ เช่นการรักษาศีลเพื่อต้องการได้บุญ อยากได้ไปเกิดอีก อยากร่ำรวย การรักษาศีลหรือทำบุญใดๆ ที่มีเจตนาที่เป็นไปเพื่อความสุข เพื่อความร่ำรวย ศีลอย่างนี้ก็ไม่ใช่ศีลเพื่อทำลายกิเลส

ส่วนศีลบริสุทธิ์ที่จะเป็นสีลวิสุทธิต้องเป็น ศีลที่ประพฤติเพื่อปรารถนาพระนิพพาน ศีล หมายถึง ธรรมชาติใดที่ประกอบด้วยเจตนาของบุคคลผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น หรือของบุคคลผู้บำเพ็ญวัตรปฏิบัติ

ที่ชื่อว่าศีล เพราะว่า เป็นความปกติ คือ เป็นปกติอย่างเรียบร้อย มีกิริยาทางกาย ทางวาจาที่ประกอบด้วยความสุภาพเรียบร้อย หรือหมายความว่า เป็นความรองรับ เป็นฐานรองรับกุศลธรรมทั้งหลาย

ศีลมีหลายประการ เช่น ศีล ๕ ,ศีล ๘ , ศีล ๑๐ ,ศีล ๒๒๗ ,ศีล ๓๑๑ เพราะถึงแม้ศีลจะต่างกันโดยประเภทแห่งเจตนิเป็นต้น ก็ไม่พ้นไปจากความทรงอยู่อย่างเรียบร้อย และความรองรับกุศลธรรมนั้นเอง

ศีลมีจำแนกไว้หลายหมวดหลายนัย ในที่นี้จะแสดงเพียงหมวดเดียวคือ ศีล ๔ อย่าง

หมวด ๔ คือ
ปาติโมกขสังวรศีล
อินทรียสังวรศีล
อาชีวปาริสุทธิศีล
ปัจจยสันนิสสิตศีล


ขอบคุณที่มา
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3669.msg13317#msg13317
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 ก.ย. 2554, 11:41:17 โดย ทรงกลด »

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
๑.๑ ปาติโมกขสังวรศีล คือ ศีลที่สำรวมระวังไม่ล่วงละเมิดทางกายทางวาจา ความระวังนี้เองคือการสังวร บุคคลผู้ประกอบด้วยศีล ๕ , ๘ , ๑๐ , ๒๒๗ , ๓๑๑ ย่อมยังความถึงพร้อมในการสังวร

บุคคลที่ไม่มีความสำรวมระวังในการอยู่ ในการไป ในการอาศัย ย่อมทำให้ทุกข์เกิดขึ้นได้

การสำรวมในการโคจรที่ดี มี ๓ อย่าง คือ
อุปนิสสยโคจร
อารักขโคจร
อุปนิพันธโคจร

๑.๑.๑ อุปนิสสยโคจร คือ การโคจรซึ่งประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ ได้แก่
- พิจารณาว่า ทำแล้วย่อมได้ฟังพุทธวจนะที่ยังไม่เคยฟัง
- พิจารณาว่า ทำแล้วย่อมทำพุทธวจนะที่ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
- พิจารณาว่า ทำแล้วย่อมสิ้นความสงสัย
- พิจารณาว่า ย่อมทำทฤษฎีให้ถูกต้อง
- พิจารณาว่า ย่อมทำจิตใจให้ผ่องใส
- พิจารณาว่า กัลยาณมิตรย่อมยังให้เจริญด้วยศรัทธา
- พิจารณาในศีล
- พิจารณาในสุตะ คือการฟังการศึกษาเล่าเรียน
- พิจารณาในจาคะ คือการบริจาค
- พิจารณาในปัญญา

การงานต่างๆ ของบุคคลที่พิจารณาในข้อปฏิบัติ ๑๐ ประการนี้ จะเป็นการช่วยทำให้การรักษาศีลในขั้นปาติโมกขสังวรศีลเป็นไปได้สะดวกดี เพราะพิจารณาในทุกๆเรื่องก่อนว่าสิ่งใดกระทำแล้ว เป็นไปเพื่อละกิเลส
จึงกระทำ สิ่งใดกระทำแล้วเป็นการบำรุงกิเลส ก็งดเว้นเสีย

๑.๑.๒ อารักขโคจร คือ การไปในที่ต่างๆ ก็ให้กำหนดไม่ให้มองสอดส่าย สังวรระวัง เดินอย่างสำรวม ไม่เหลียวดูสิ่งล่อตาล่อใจต่างๆ ไม่ดูสตรี ไม่ดูบุรุษ อย่างนี้ คือ มีความอารักขาดูแลตนในการไปในที่ต่างๆ

๑.๑.๓ อุปนิพันธโคจร คือ การโคจรไปในที่ต่างๆ โดยสำรวมระวังผูกจิตไว้ โดยการกำหนดสติปัฏฐาน ๔


ขอบคุณที่มา
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3669.msg13317#msg13317
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 ก.ย. 2554, 11:43:48 โดย ทรงกลด »

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
๑.๒ อินทรียสังวรศีล คือ ศีลที่สำรวมในอินทรีย์ ๖ คือการมีสติสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

จากพระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
“มหาบพิตร อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.”

มหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักขุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำ
นั้นชื่อว่า รักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต...ดมกลิ่นด้วยฆานะ...ลิ้มรสด้วยชิวหา...ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...รู้เเจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวม มนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์
ภิกษุประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน

มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล.



อธิบายโดยสรุปได้ดังนี้ คำว่า เห็นรูปด้วยจักษุนั้นโดยแท้จริงแล้ว คือเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ จักษุนั้นเห็นรูปไม่ได้เพราะไม่มีจิต จิตก็เห็นรูปไม่ได้เพราะไม่มีจักษุ
แต่เพราะทวารกับอารมณ์กระทบกัน บุคคลจึงเห็นรูปได้ด้วยจิตที่เกิดขึ้นที่จักษุนั้นเอง

การไม่ยึดถือซึ่งนิมิต คือ การไม่ยึดถือนิมิตเครื่องหมายว่าเป็นหญิงเป็นชาย หรือความสวยงามซึ่งเป็นสิ่งที่
ทำให้กิเลสเกิดขึ้นได้ง่าย ให้หยุดอยู่เพียงแค่เห็นเท่านั้น

การไม่ยึดถือซึ่งอนุพยัญชนะ คือ ไม่ยึดถือในกิริยาอาการต่างๆ เช่นเห็นว่า ยิ้มสวย เวลายิ้มมีลักยิ้มที่แก้ม กิริยาที่หัวเราะก็น่ารัก เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้นได้ง่าย ให้หยุดอยู่เพียงแค่เห็นเท่านั้น

อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำ
อภิชฌา คือ โลภะ โทมนัส คือ โทสะ
เมื่อมีการสำรวมอินทรีย์ในทวารทั้งหลายแล้ว อกุศลธรรมอันลามกก็จะไม่เกิดขึ้น

เมื่อบุคคลมีสติในการสำรวมสังวรระวังอยู่ ก็จะสามารถกั้นอกุศลที่จะเกิดขึ้นจากการเห็น การได้ยิน เป็นต้นได้ บุคคลที่ไม่สำรวมอินทรีย์ก็เหมือนคนที่มุงหลังคาไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดถูกตัวเสมอ คล้ายกับกิเลสที่รั่วไหลเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ย่อมรั่วรดจิตใจเสมอ ตนก็จะต้องเช็ดน้ำตาเรื่อยไป

ถ้าหากว่าผู้ที่มีการสำรวมอินทรีย์ก็เหมือนกับคนที่มุงหลังคาดีแล้ว ฝนย่อมไม่รั่วลงมารดตัว ตนก็ไม่ต้องเช็ดน้ำฝน นี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีการสำรวมอินทรีย์แล้วกิเลสก็ไม่รั่วเข้ารดใจ เมื่อเห็นหรือได้ยินแล้ว อกุศลธรรมต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น


ขอบคุณที่มา
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3669.msg13317#msg13317

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
๑.๓ อาชีวปาริสุทธิศีล คือ ศีลที่เกี่ยวกับการหาเลี้ยงชีพโดยบริสุทธิ์ เป็นการประกอบอาชีพโดยสัมมาอาชีวะ สำหรับฆารวาสคือการเว้นมิจฉาชีวะต่างๆ สำหรับพระภิกษุ สามเณร คือเว้นจากการประจบประแจง การเป็นทูตให้แก่ญาติโยม เป็นต้น

๑.๔ ปัจจยสันนิสสิตศีล คือ ศีลที่อาศัยการบริโภคปัจจัย ๔ อันบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณา
ดังพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มีอาทิว่า
 “ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยจีวร เพียงเพื่อกำจัดเสียซึ่งความเย็น...”

ความแยบคายในการใช้สอยในการบริโภคนั้นมีความสำคัญ เพราะจะได้ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น ไม่หลงใหลได้ปลื้มกับทรัพย์ภายนอกเกินควร ใช้สอยอย่างรู้คุณค่าและประโยชน์ที่ตรงชัดที่จะได้รับ มิใช่ใช้สอยเพื่อประกาศฐานะยศฐาบรรดาศักดิ์

ส่วนในด้านของภิกษุก็ได้แก่ ก่อนที่จะ รับประเคนอะไรก็ต้องพิจารณาก่อนว่าควรรับไหม รับมาเพื่ออะไร ถ้าเป็นอาหารบิณฑบาตเมื่อเวลาจะฉันก็ต้องพิจารณาว่าฉันเพื่ออะไร ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่บริสุทธิ์ เป็นต้น


อินทรียสังวร กับปาติโมกขสังวร ต่างกันอย่างไร ?
ถ้ามีปาติโมกขสังวร ไม่ต้องมีอินทรียสังวรได้ไหม ?

อินทรียสังวรเป็นการสังวรในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น แต่ปาติโมกขสังวรนั้นเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อไม่ให้ไปรับรูป เสียง เป็นต้น เช่น ข้อห้ามในศีล คือ ไม่ให้ดูฟังการฟู้อนรำขับร้อง แต่เมื่อเวลาเห็นได้ยินแล้วถ้าไม่มีอินทรียสังวรกำกับไว้ก่อน กิเลสก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น ถ้ามีปาติโมกขสังวรแล้วก็ควรปฏิบัติควบคู่กับอินทรียสังวรด้วย จะทำให้ผู้ปฏิบัติทำลายความชอบใจและความไม่ชอบใจได้ อินทรียสังวรสามารถชำระกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง ละอภิชฌา(โลภ) และโทมนัส(โทสะ) ที่เกิดทางใจได้ และสามารถทำลายกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานได้ มีทิฏฐิ เป็นต้น

ส่วนปาติโมกขสังวรศีล ทำลายได้แต่กิเลสอย่างหยาบ คือกิเลสทางกายกับวาจา
เหตุที่ทำให้ ศีลทั้ง ๔ อย่าง สำเร็จสรุปได้ดังนี้


ขอบคุณที่มา
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3669.msg13317#msg13317

ออฟไลน์ saken6009

  • อย่ากลัวคนจะมาตำหนิ แต่จงกลัวว่าตัวเองจะทำผิด อย่ากลัวที่จะรับรู้ความบกพร่องของตน แต่จงกลัวว่าตนจะเป็นคนที่ดีได้ไม่จริง
  • ก้นบาตร
  • *****
  • กระทู้: 893
  • เพศ: ชาย
  • ชีวิตของข้า เชื่อมั่นศรัทธา หลวงพ่อเปิ่น องค์เดียว
    • ดูรายละเอียด
ความบริสุทธิ์ของ ศีล สมาธิ ปัญญา 36; 36;
                                       
ขอบคุณท่าน ทรงกลด ที่นำบทความธรรมะที่ดีมากๆ มาให้พี่น้องศิษย์วัดบางพระได้อ่านครับ
                                                                                                                     
(ขออนุญาตเข้ามาอ่าน ขอบคุณมากครับ) :033: :033:

กราบขอบารมีหลวงพ่อเปิ่น คุ้มครองศิษย์ทุกๆท่าน ให้แคล้วคลาด ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง สาธุ สาธุ

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ยังมีต่อครับท่าน
===========

ศีลเหตุที่ทำให้สำเร็จ

๑. ปาติโมกขสังวรศีล สำเร็จได้ด้วยศรัทธา ตัวอย่างเช่น พระเถระที่ถูกโจรมัดด้วยเถาหญ้านาง (ท่านมีศรัทธาในการรักษาศีลข้อห้ามตัดทำลายของเขียว แม้ต้องแลกด้วยชีวิตก็ยอม) ท่านนอนเจริญวิปัสสนาอยู่อย่างนั้นตลอด ๗ วัน ได้บรรลุพระอนาคามีผล แล้วมรณภาพในดงนั่นเอง

๒. อินทรียสังวรศีล สำเร็จได้ด้วยสติ ถ้ามีสติในอินทรีย์ทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บาปอกุศลทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น

๓. อาชีวปาริสุทธิศีล สำเร็จได้ด้วยวิริยะ เพราะวิริยะที่ปรารภธรรมโดยชอบแล้วก็เป็นการประหาณมิจฉาอาชีวะได้

๔. ปัจจยสันนิสสิตศีล สำเร็จได้ด้วยปัญญา ผู้มีปัญญาจึงจะสามารถมองเห็นโทษและอานิสงส์ของปัจจัยทั้งหลายได้



๒. จิตตวิสุทธิ
จิตตวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์แห่งจิต การชำระจิตใจให้ปราศจากมลทินเครื่องเศร้าหมอง คือ นิวรณ์


จิตตวิสุทธิมี ๒ อย่าง คือ

๑. สมถสมาธิ ได้แก่ สมาธิ ๒ อย่าง คือ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ
เพราะเป็นสมาธิที่มีความบริสุทธิ์เป็นพิเศษ ชำระจิตใจของพระโยคีให้ปราศจากมลทิน คือ นิวรณ์ ๕ จัดเป็นจิตตวิสุทธิโดยตรง
 
อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่อยู่ในมหากุศลหรือมหากิริยา ที่มี สมถกรรมฐานเป็นอารมณ์
ส่วนอัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิที่อยู่ในมหัคคตฌาน ๙ มีบัญญัติ ปรมัตถ์ ที่เนื่องด้วยสมถกรรมฐาน ๓๐ เป็นอารมณ์

๒. วิปัสสนาสมาธิ ได้แก่ ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะที่อยู่ในมหากุศล หรือมหากิริยา จัดเป็นจิตตวิสุทธิโดย
อ้อม จะเกิดขึ้นกับผู้ที่เจริญวิปัสสนาล้วนๆ มีการพิจารณาอารมณ์ โดยรูปนาม โดยความเป็นไตรลักษณ์ โดยอริยสัจจ์ ๔ เป็นต้น

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ
ทิฏฐิวิสุทธิ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก หรือปัญญาที่รู้ถูก เข้าใจถูก คือ ความรู้ความเข้าใจนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง เป็นเหตุให้ข่มความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลเสียได้

เป็นญาณที่สามารถรู้รูปนามได้ โดย
๑. ลักษณะ คือ รู้ลักษณะเฉพาะตนของรูปนาม
๒. รส คือ รู้หน้าที่หรือกิจของรูปนาม
๓. ปัจจุปัฏฐาน คือ รู้ผลหรืออาการปรากฏของรูปนาม
๔. ปทัฏฐาน คือ รู้เหตุที่ใกล้ชิดของรูปนาม

ทิฏฐิวิสุทธิ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ ที่มีรูปนาม เป็นอารมณ์

การกำหนดรู้แม้จะไม่ครบทั้ง ๔ ข้างต้น เพียงแต่รู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ได้ชื่อว่าทิฏฐิวิสุทธิ
ทิฏฐิวิสุทธิเมื่อว่าโดยญาณ ๑๖ จัดเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ


ขอบคุณที่มา
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3669.msg13317#msg13317

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
คำถาม-ตอบ เพื่อให้รู้จักรูปนาม

๑. จะเข้าใจนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง ได้อย่างไร ?
การที่จะพิจารณาจนเห็นว่านามรูปนี้ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตน เป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ ไม่อยู่ในอำนาจของใคร และไม่ใช่สัตว์ บุคคล ต้องเป็นปัญญาที่รู้และเข้าใจในสภาพธรรมของรูปและนามจริงๆ

๒. จะเอาปัญญาจากไหนมาเข้าใจ ?
ต้องเป็นทิฏฐิขั้นวิสุทธิที่เข้าใจถูกรู้ถูกในรูปนาม

๓. จะมีทิฏฐิวิสุทธิได้อย่างไร ?
ต้องได้มาจากการพิจารณารูปนาม

๔. การพิจารณานามรูปนั้นพิจารณาอย่างไร ?
ต้องพิจารณาตามแนวมหาสติปัฏฐาน ๔
แต่ก่อนที่ผู้ปฏิบัติจะเจริญมหาสติปัฏฐาน ๔ จะต้องศึกษารูปและนามให้เข้าใจให้ดีก่อน จึงจะสามารถกำหนดได้ ถ้ายังไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นรูปอะไรเป็นนามก็กำหนดไม่ถูก

เช่น ต้องรู้ว่าลมหายใจเป็นรูป จิตที่กำหนดระลึกรู้ลมหายใจเป็นนาม

หรือการพิจารณาอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
จะต้องพิจารณาอิริยาบถเหล่านั้นว่าเกิดขึ้นได้เพราะอะไร ?

เมื่อพิจารณาได้ถูกต้องแล้วก็จะพบว่า เพราะจิตเป็นปัจจัยทำให้อิริยาบถเป็นไปได้ และอิริยาบถจะเกิดขึ้นได้ก็เนื่องด้วยกายที่เกี่ยวกับธาตุ ๔

เมื่อจิตคิดจะเดิน ธาตุ ๔ นี้ก็ทำงาน เมื่อจิตคิดจะนั่งธาตุ ๔ ก็ทำงาน เมื่อจิตคิดจะยืน ธาตุ ๔ ก็ทำงาน เพราะว่าธาตุ ๔ ทำงานปรุงแต่งต่างกัน อิริยาบถก็เป็นไปต่างกัน และธาตุ ๔ ก็เกิดขึ้นได้ด้วยเจตนาที่เข้าปรุงแต่งจิต

เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาได้อย่างนี้ ก็จะทราบว่าจิตนี้สามารถจะเป็นปัจจัยให้ธาตุทั้ง ๔ เป็นไปได้ตามเจตนา ที่ปรุงแต่งจิตนั่นเอง

เวลาจะเดิน ธาตุทั้ง ๔ ก็จะทำงานโดยธาตุเบา คือ ธาตุลมกับธาตุไฟจะมีกำลัง
ส่วนธาตุหนัก คือ ธาตุดินกับธาตุน้ำจะอ่อนกำลัง
ทำให้เท้ายกขึ้นแล้วเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยกำลังของธาตุไฟกับธาตุลม

เมื่อวางเท้าลงธาตุไฟกับธาตุลมก็จะอ่อนกำลัง
แต่ธาตุดินกับธาตุน้ำก็มีกำลัง ทำให้หย่อนเท้าเหยียบลงพื้นไว้ได้ เป็นต้น

ต้องกำหนดรู้ว่าธาตุทั้ง ๔ เป็นรูป จิตและเจตสิกที่พิจารณาธาตุ ๔ เป็นนาม

ฉะนั้น ทิฏฐิวิสุทธิต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐานและพิจารณารูปนามได้ถูกต้อง จนปราศจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ได้จริงๆ
ปัญญาในทิฏฐิวิสุทธินี้เป็นปัญญาขั้นภาวนา ไม่ใช่ปัญญาขั้นการศึกษา
แต่ต้องปฏิบัติพิจารณารูปนามจนทำลายความเข้าใจผิด ความสำคัญผิดว่าเป็นเราออกไปจากจิตใจให้ได้


ขอบคุณที่มา
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3669.msg13317#msg13317

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
๕. อะไรเป็นเครื่องปิดบังความเป็นจริงของรูปนาม?
 
เครื่องปิดกั้นความจริงของนามรูป มีหลายประการ ดังนี้
๕.๑ ฆนสัญญาหมายถึง ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของรูปนามนั้นปิดบังอนัตตา  ทำให้เราเห็นว่ารูปนามนั้นเป็นก้อนเป็นแท่ง เช่น เห็นว่ารูปก็มีรูปเดียว นามก็มีนามเดียว ทั้งรูปทั้งนามก็คือตัวตนของเรานี้เอง
เมื่อถูกความเป็นกลุ่มก้อนปิดบังไว้เช่นนี้ ความรู้สึกว่าไม่ใช่เราก็ไม่เกิดขึ้น

๕.๒ สันตติ หมายถึง ความสืบต่อ จึงทำให้เห็นติดกัน ทำให้ปิดบังอนิจจัง คือความไม่เที่ยงไว้ ทำให้เห็นเป็นของเที่ยง เพราะความสืบต่อที่รวดเร็วจนไม่เห็น ความขาดช่วงขาดตอนของรูป ของนาม

๕.๓ อิริยาบถปิดบังทุกข์ เพราะเหตุที่ไม่ได้พิจารณาอิริยาบถ จึงไม่เห็นว่ารูปนามนั้นเป็นทุกข์ เพราะอิริยาบถที่เปลี่ยนไปเช่น จากอิริยาบถเดิน เปลี่ยนเป็นนั่ง ในขณะที่นั่งใหม่ๆ ก็จะรู้สึกสุขสบาย แต่พอนั่งไปนานๆ ก็ทุกข์อีกต้องเปลี่ยนอิริยาบถอีก อันที่จริงในขณะที่นั่งใหม่ๆ ตอนนั้นก็ทุกข์เหมือนกันแต่ทุกข์เกิดน้อยเพราะเพิ่งเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ๆ แต่พออยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ ทุกข์ก็มากขึ้นๆ

จะเห็นได้ว่าอิริยาบถนั้นปิดบังทุกข์ไว้ ทำให้เห็นว่าเป็นสุข
แท้ที่จริงแล้ว ตอนที่สุขนั้นนั่นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เพราะสภาพเช่นนี้ ก็จะไม่คงอยู่ต้องมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงนี้เองคือสภาพของทุกข์จริงๆ คือ มีสภาพที่ทนอยู่ในไม่ได้

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ที่จะเห็นอนัตตาว่ารูปนามนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จะต้องเข้าใจ ในอุบายที่จะทำลาย
ฆนสัญญาให้กระจายออกมาเสียก่อน จึงจะเห็นอนัตตาได้


ขอบคุณที่มา
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3669.msg13317#msg13317

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ

กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ คือ ญาณ(ปัญญา)ที่ข้ามพ้นจากความสงสัย เช่น สงสัยใน ชาตินี้ ชาติหน้า สงสัยว่าตายแล้วจะเกิดหรือไม่เกิด
ปัญญาที่ เกิดจากการพิจารณานามรูป ทำให้เข้าใจได้ถูกต้องว่า นามรูปนี้มีอยู่จริง แต่สัตว์บุคคลนั้นไม่มีในโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก มีแต่รูปกับนามเท่านั้น แล้วรูปนามนี้มาจากไหน ใครเป็นคนสร้างรูปนามนี้ คำตอบในเรื่องนี้ก็ต้องเจริญปัญญาให้ถึงขั้นกังขาวิตรณวิสุทธิ  จึงจะหมดความสงสัยได้

การปฏิบัติ คือ การกำหนดรูปนามต่อมาจากทิฏฐิวิสุทธิ กำหนดต่อไปอยู่เนืองๆ ก็จะทราบว่า รูปนามนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร รูปใดเกิดขึ้นก็จะรู้ว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร นามใดเกิดขึ้นก็จะรู้ได้ว่า นามนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร

ปัญญาความรู้ในขั้นกังขาวิตรณวิสุทธินี้จะรู้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความแตกฉานในปริยัติ ก็สามารถรู้ปัจจัยได้มาก เช่น รู้โดยวัฏฏะว่า รูปนามขันธ์ ๕ มาจากกรรม กิเลส วิบาก หรือรู้ไปตามนัยของปฏิจจสมุปบาท คือปัจจัยให้เกิดรูปนามในปฏิสนธิ ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

ผู้ปฏิบัติในขั้นกังขาวิตรณวิสุทธิแล้ว จะรู้เหตุปัจจัยของธรรมว่า ธรรมนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ จิตแต่ละดวงเกิดขึ้น เช่น โทสะจิตเกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดขึ้นเพราะเห็นรูปแล้วปรุงแต่งว่ารูปที่เห็นนั้นไม่ชอบใจ
โทสะก็เกิดขึ้น โทสะที่เกิดขึ้นแล้วนั้นก็ดับไปสิ้นไปเมื่อสิ้นเหตุสิ้นปัจจัย แล้วโทสะดวงใหม่ก็สามารถเกิดขึ้นอีกเมื่อมีเหตุปัจจัย เมื่อเหตุดับ ธรรมนั้นๆ ก็ดับ

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความรู้ในหนทางทั้งทางถูกและทางผิด เห็นความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งสังขาร และมีอุปกิเลส ๑๐ อย่างๆ ใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น

ปัญญาที่กำหนดวินิจฉัยลักษณะว่า วิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้ไม่ใช่มรรค
เพราะเป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่ง ตัณหา มานะ ทิฏฐิ โดยแท้
แต่วิปัสสนาญาณที่ดำเนินไปตามวิถี ซึ่งพ้นจากวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ แล้ว เป็นปัญญาที่รู้หนทางที่ถูกต้อง

การเห็นตามความเป็นจริงทั้ง ๒ นี้ เป็นมรรค
ชื่อว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะ รู้เห็นทางพ้นทุกข์ และมิใช่ทางพ้นทุกข์
มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นปัญญาที่เกิดต่อมาจากกังขาวิตรณวิสุทธิ

ถ้าวิสุทธิที่ ๔ ไม่มีแล้ว วิสุทธิที่ ๕ คือ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิก็มีไม่ได้ ที่ผ่านมาในกังขาวิตรณวิสุทธินั้นเพียงรู้ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้รูปนามเกิด แต่ยังไม่เห็นความดับของรูปนามที่เกิดขึ้นในขณะปัจจุบันนั้นได้ เพราะว่าปัญญาในขั้นนี้ยังอ่อนอยู่

วิธีการปฏิบัติ คือ ต้องกำหนดรูป-นาม ต่อไปอีกเนืองๆ จนกระทั่งเห็นความดับของรูปนาม แต่ความดับของรูปนามที่ตนเห็นในตอนนี้ยังไม่ได้เห็นความดับของรูปนามจริงๆ เพียงแต่เห็นการเกิดใหม่ของรูปนามอยู่เนื่องๆ เห็นฝุ่ายเกิดอยู่เนืองๆ
 
จึงทำให้ทราบถึงความดับไปของรูปนามเก่าก่อนที่รูปนามใหม่จะเกิดขึ้น ปัญญาในขั้นนี้ยังมีกิเลสเกิดได้ คือ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ที่เกิดจากกำลังของสมาธิ

กิเลสที่จะเกิดขึ้นได้ในขณะนั้นเป็นกิเลสที่ละเอียดมากและกำลังปัญญายังอ่อนอยู่ จึงรู้ไม่เท่าทัน ปัญญาจึงไม่สามารถจะปรับอินทรีย์ให้เสมอกันได้

เพราะขณะนั้นกำลังสมาธิแรงกว่าปัญญา ทำให้เกิดมีแสงสว่าง มีความสุข มีความสงบเยือกเย็น เป็นต้น เกิดขึ้นได้ เหล่านี้เป็นสิ่งขัดขวางความก้าวหน้าของปัญญา ทำให้หลงติดอยู่ในทางที่ไม่ใช่หนทางแห่งมรรค (เรื่องวิปัสสนูปกิเลสมีอธิบายในหน้า ๕๒)


ขอบคุณที่มา
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3669.msg13317#msg13317

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความรู้ในข้อปฏิบัติที่ถูกในการเห็นแจ้ง อันเป็นเครื่องดำเนินไป สู่มัคคปฏิปทาโดยส่วนเดียว เป็นหนทางที่จะเดินไปในธรรมที่บริสุทธิ์ คือ พระนิพพาน
มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิที่ ๕ นั้น เป็นปัญญาที่ชำระวิปัสสนูปกิเลสได้หมดสิ้น

จะเห็นได้ว่าในวิสุทธิที่ ๕ นั้น ยังมีอุปกิเลสเข้าไปอาศัยเกิดในอารมณ์ของวิปัสสนาได้ ผู้ปฏิบัติจึงต้อง ทำความเข้าใจอารมณ์ที่ถูกและอารมณ์ที่ไม่ถูก จึงจะชำระกิเลสที่เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลสได้

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจนเกิดปัญญาเข้าใจในข้อปฏิบัตินั้นว่าถูกต้องดี และปราศจากความเข้าใจผิดโดยประการทั้งปวงแล้ว จึงจะดำเนินเข้าสู่ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิได้
 
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ
ญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค มรรคญาณทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรคญาณ เป็นต้น
ชื่อว่าญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะชำระใจให้พ้นจากมลทิน คือ ตัวโมหะ ความหลง
ญาณทัสสนวิสุทธินี้ เป็นปัญญาที่เกิดต่อมาจาก ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิที่เดินถูกทางแล้ว เรื่อยมาจนบรรลุพระนิพพาน

เมื่อรู้จักหนทางแห่งปัญญา คือวิสุทธิ ๗ แล้ว ผู้ใคร่ต่อการปฏิบัติต้องดำเนินตามทางแห่งปัญญาในวิสุทธินั้นๆ ให้ได้ตามลำดับ

เมื่อทราบถึงหนทางแห่งปัญญา ทราบการเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ก็ต้องปฏิบัติอยู่เสมอๆ เนืองๆ และในระหว่างการปฏิบัตินั้น ก็ต้องสังเกตจิตใจ สังเกตอารมณ์ที่กำลังเจริญ ซึ่งผลของการปฏิบัติจะเกิดขึ้นอย่างถูกต้องนั้นก็มีสิ่งที่สังเกตได้ ได้แก่ ลักษณะ ๓ อนุปัสสนา ๓ ซึ่งจะได้ศึกษากันต่อไป


บรรณานุกรม
๑) ปรมัตถโชติกะ หลักสูตรชั้นมัชฌิมอาภิธรรมิกะโท : พระสัทธัมมโชติกะ
: อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
: โรงพิมพ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทิพยวิสุทธิ์ ; พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๙
๒) วิมุตติมรรค พระอุปติสสเถระ รจนา
พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะ แปลจาก ฉบับภาษาอังกฤษ ของพระเอฮารา พระโสมเถระ และพระเขมินทเถระ
๓) วิสุทธิมรรค ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง
๔) พระสูตร และ อรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๗ ภาคที่ ๑- ๒

ขอบคุณที่มา
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3669.msg13317#msg13317