ผู้เขียน หัวข้อ: สารพันปัญญา (ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ) 1  (อ่าน 2473 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
เป็นหนังสือธรรมะที่อ่านง่ายย่อยง่าย อ่านสนุกด้วยครับ เลยนำมาให้ชาวเวปบางพระได้อ่านกันครับ
ในหนังสือมีทั้งหมด 20 ตอน จะทะยอยลงจนครบให้อ่านกันนะครับ

ขอบคุณที่มา
http://www.dhammajak.net/book/panya/

สารพันปัญญา (ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ)

คำนำ

           พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเหตุผล ไม่บังคับให้เชื่อถืออย่างงมงาย แต่สอนให้ใช้ปัญญาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้นก็ใช้ปัญญาค้นคว้าหาสาเหตุ แล้วพิจารณาหาทางแก้ไขที่ถูกต้อง ความทุกข์ก็ลดน้อยลง ชีวิตก็มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาจึงเป็นชีวิตที่ประเสริฐ

เนื้อหาของหนังสือนี้ว่าด้วยการใช้ สารพันปัญญา แก้ไขปัญหาต่างๆ จนสำเร็จลุล่วงด้วยดี นำมาเสนอเพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นคุณค่าของปัญญา อันเปรียบได้กับแก้วสารพัดนึกประจำชีวิต

ขออนุโมทนาท่านที่บริจาคทรัพย์ ท่านเจ้าของบทความ คติหรือข้อคิดที่ปรากฏในหนังสือนี้ รวมทั้งท่านที่ให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำต่างๆ ทำให้การพิมพ์หนังสือนี้สำเร็จด้วยดี ท่านเหล่านี้ย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของธรรมวิทยาทานนี้ด้วย หากมีความผิดพลาดใดๆ ในหนังสือนี้ ขอท่านผู้รู้ช่วยแนะนำแก้ไขหรือท้วงติงด้วย

ขออำนาจคุณพระรัตนตรัยและอำนาจแห่งธรรมวิทยาทานนี้ จงเป็นพลวปัจจัยให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้จักผิดชอบชั่วดี นำปัญญามาเป็นประทีปส่องทางชีวิต แล้วก้าวเดินไปในทางที่ควรเดิน เว้นทางที่ควรเว้น บรรลุจุดหมายอันประเสริฐแห่งชีวิต่ของตน โดยทั่วหน้ากันเทอญ


ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ
๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

.........................
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว....ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา...สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา...กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: สารพันปัญญา (ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ) 1
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 14 ก.ย. 2554, 05:46:12 »
1. สารพันปัญญา
ปัญญา


           เมื่อมองทางด้านวัตถุ ประเทศชาติกำลังเจริญก้าวหน้ามาก ถ้าต่างชาติมีของแปลกใหม่ เช่น รถยนต์ ในไม่ช้าบ้านเราก็มีบ้าง แต่มีโดยการนำเข้า ไม่ได้ผลิตเอง หรือผลิตภายใต้เทคโนโลยี (ปัญญา) ของต่างชาติ เพราะเรายังขาดแคลนปัญญา ต้องสั่งซื้อปัญญาจากต่างประเทศ เสียเงินปีละมากมาย (และปัญญานั้นก็อาจล้าสมัยแล้ว) จึงต้องรีบพัฒนาการศึกษา หมั่นฝึกฝนอบรมปัญญา แล้วบ้านเมืองก็จะเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง ไม่ใช่เจริญแต่เพียงเปลือกนอก ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าของการศึกษา ไม่ฝึกฝนอบรมปัญญา ในไม่ช้าแม้แต่ปัญญาในทางธรรมก็คงต้องนำเข้าแทนส่งออกเป็นแน่

           ปัญญา หมายถึง ความฉลาด ความรอบรู้ ความเข้าใจชัดในสิ่งต่างๆ ผู้มีปัญญาย่อมรู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้จักเหตุผล คือ รู้จักสืบสวนจากผลไปหาเหตุ และจากเหตุไปหาผล รู้จักฐานะ (เช่น ความรู้ อายุ ตระกูล ทรัพย์) ของตนและผู้อื่น สามารถประพฤติตนให้เข้ากับสังคมได้ รู้จักประมาณ คือทำให้พอดี ไม่ขาด ไม่เกิน รู้จักกาลเทศะ ฯลฯ

           ในมิลินทปัญหา พระนาคเสนได้กล่าวถึงลักษณะของปัญญา ๒ ประการ คือ

           ๑. ปัญญามีการตัดเป็นลักษณะ ข้อนี้มีอุปมาว่า ในการเกี่ยวข้าว ชาวนาจะจับกอข้าวด้วยมือข้างหนึ่ง จับเคียวด้วยมืออีกข้าง แล้วตัดให้ขาดด้วยเคียวที่ถือไว้ ฉันใด ในการเจริญภาวนา ผู้บำเพ็ญเพียรควบคุมใจไว้ด้วยโยนิโสมนสิการ แล้วตัดกิเลสด้วยปัญญา

           ๒. ปัญญามีการทำให้สว่างเป็นลักษณะ ข้อนี้มีอุปมาว่า เมื่อบุคคลส่องประทีปเข้าไปในที่มืด แสงประทีปย่อมกำจัดความมืด ทำให้เกิดแสงสว่าง รูปทั้งหลายย่อมปรากฏชัด ฉันใด เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ก็กำจัดความมืด คืออวิชชา ทำให้เกิดแสงสว่าง คือวิชชา ทำให้เกิดแสงสว่าง คือญาณ ทำอริยสัจทั้งหลายให้ปรากฏขึ้น ฉันนั้น

           ในวิสุทธิมรรค ปัญญานิเทศ กล่าวถึงปัญญา ๒ คือ

           ๑. โลกิยปัญญา ปัญญาของปุถุชนซึ่งยังวนอยู่ในโลก

           ๒. โลกุตตรปัญญา ปัญญาของพระอริยบุคคลผู้ข้ามพ้นจากโลก

           ในสังคีติสูตร (บาลีเล่ม ๑๑ ข้อ ๒๒๘ ย่อว่า ๑๑/๒๒๘) กล่าวถึง ปัญญา ๓ คือ

           ๑. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิด (เองไม่ได้ฟังมาจากคนอื่น)

           ๒. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง (การอ่าน หรือการศึกษาเล่าเรียน)

           ๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการอบรมจิตใจ (ละกิเลสได้ด้วยปัญญาชนิดนี้)

           ในสังคีติสูตร กล่าวถึงปัญญา ๓ อีกหมวดหนึ่ง คือ

           ๑. อายโกศล รอบรู้ในความเจริญ (รู้เหตุที่ทำให้อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญ)

           ๒. อปายโกศล รอบรู้ในความเสื่อม (รู้เหตุที่ทำให้กุศลธรรมเสื่อม อกุศลธรรมเจริญ)

           ๓. อุปายโกศล รอบรู้ในความเจริญและความเสื่อม

           ในอวกุชชิตสูตร (๒๐/๔๖๙) กล่าวถึงบุคคล ๓ จำพวก คือ

           ๑. ผู้มีปัญญาดังหม้อคว่ำ ได้แก่ ผู้ที่รับฟังหรือเรียนอะไรแล้วก็ไม่เข้าใจ เปรียบเหมือนหม้อคว่ำซึ่งไม่อาจรองรับน้ำที่เทลงมาได้เลย

           ๒. ผู้มีปัญญาดังหน้าตัก ได้แก่ ผู้ที่รับฟังหรือเรียนอะไรแล้วพอเข้าใจได้ แต่หลังจากนั้นก็ลืมหมด เปรียบเหมือนผู้ที่กำลังนั่งเคี้ยวกินขนมต่างๆ ซึ่งวางอยู่บนหน้าตัก แต่เมื่อเขาเผลอตัวลุกขึ้น ขนมก็หล่นลงพื้นหมด

           ๓. ผู้มีปัญญามาก ได้แก่ ผู้ที่รับฟังหรือเรียนอะไรแล้วเข้าใจและจำได้ไม่ลืม เปรียบเหมือนหม้อหงายซึ่งรองรับน้ำที่เทลงมาได้หมด

           ในสังคีติสูตร กล่าวถึงปัญญา ๔ คือ

           ๑. ทุกขญาณ ความรู้ในทุกข์

           ๒. ทุกขสมุทยญาณ ความรู้ในเหตุให้ทุกข์เกิด

           ๓. ทุกขนิโรธญาณ ความรู้ในความดับทุกข์

           ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาญาณ ความรู้ในการปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

           พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธรรมบท (๒๕/๓๐) ว่า ปัญญาย่อมเกิดจากการประกอบความเพียร (ไม่ใช่เกิดเองโดยบังเอิญ) ปัญญาที่เกิดจากการประกอบความเพียรเรียกว่า โยคปัญญา แม้เชาวน์ หรือไหวพริบที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดซึ่งเรียกว่า สชาติกปัญญา ก็คือปัญญาบารมีที่เกิดจากการอบรมในชาติก่อน

           หลักธรรมสำหรับอบรมปัญญาให้เจริญขึ้น เรียกว่า ปัญญาวุฒิธรรม (๒๑/๒๔๘) มี ๔ คือ

           ๑. คบสัตบุรุษ คือ หาแหล่งวิชาหรือครูที่มีความรู้และคุณธรรมดี

           ๒. ฟังสัทธรรม คือ ใส่ใจเล่าเรียนโดยฟังจากครูหรืออ่านจากตำรา

           ๓. คิดให้แยบคาย คือ พิจารณาให้ทราบถึงเหตุและผล คุณและโทษ ของสิ่งที่เรียนรู้

           ๔. นำสิ่งที่ได้ไตร่ตรองแล้วมาปฏิบัติให้ถูกต้องตามความมุ่งหมาย

           ปัญญาหรือความรอบรู้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากราวกับแก้วสารพัดนึกประจำชีวิต เพราะเมื่อมีอุปสรรคหรือปัญหาเกิดขึ้น ผู้มีปัญญาย่อมวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำว่า สาเหตุเกิดจากอะไร เมื่อทราบสาเหตุแล้วก็ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ดังเรื่องราวต่างๆ ที่นำมา สาธก ดังต่อไปนี้


ขอบคุณที่มา
http://www.dhammajak.net/book/panya/
http://www.dhammajak.net/book/panya/panya01.php

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: สารพันปัญญา (ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ) 1
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 14 ก.ย. 2554, 05:48:18 »
2. เกลือจิ้มเกลือ

            ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เป็นอำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดีในศาลกรุงพาราณสี ในครั้งนั้นพ่อค้าบ้านนอกฝากผาล ๕๐๐ ไว้กับพ่อค้าชาวกรุง ซึ่งเป็นมิตรกัน พ่อค้าชาวกรุงขายผาลเหล่านั้นเก็บเงินไว้ แล้วเอาขี้หนูมาโรยไว้แทน ครั้นพ่อค้าบ้านนอกมาขอผาลคืน พ่อค้าชาวกรุงชี้ให้ดูขี้หนูแล้วกล่าวว่า ผาลถูกหนูกินหมดแล้ว พ่อค้าบ้านนอกกล่าวว่า ช่างเถิด เมื่อหนูกินแล้วจะทำอย่างไรได้ จากนั้นก็พาบุตรของพ่อค้าชาวกรุงไปอาบน้ำ แล้วนำเด็กไปไว้ที่เรือนของสหายผู้หนึ่ง กำชับว่า อย่าให้เด็กแก่ใครเป็นอันขาด ส่วนตนเองก็อาบน้ำแล้วกลับไปเรือนพ่อค้าชาวกรุง

            พ่อค้าชาวกรุง : ลูกของเราไปไหน

            พ่อค้าบ้านนอก : ขณะที่เราวางบุตรของท่านไว้ริมฝั่งแล้วดำลงไปในน้ำ เหยี่ยวตัวหนึ่งบินมาแล้วโฉบบุตรของท่านไปสู่อากาศ แม้เราพยายามปรบมือร้องก็ไม่สามารถให้มันปล่อยได้

            พ่อค้าชาวกรุง : ท่านพูดโกหก เหยี่ยวคงไม่สามารถโฉบเอาเด็กไปได้

            พ่อค้าบ้านนอก : สหายจะว่าถูกก็ได้ จะว่าไม่ถูกก็ได้ แต่เราจะทำอย่างไรได้ เหยี่ยวเอาบุตรของท่านไปจริงๆ

            พ่อค้าชาวกรุง : เจ้าโจรใจร้ายฆ่าคน เราจะไปศาลให้พิพากษา ลงโทษท่าน

            พ่อค้าบ้านนอก : ทำตามความพอใจของท่านเถิด

            พ่อค้าทั้งสองได้ไปที่ศาล

            พ่อค้าชาวกรุงกล่าวกับพระโพธิสัตว์ : พ่อค้าผู้นี้พาบุตรของข้าพเจ้าไปอาบน้ำ เมื่อข้าพเจ้าถามว่าบุตรของเราไปไหน เขาบอกว่าเหยี่ยวพาเอาไป ขอท่านได้โปรดวินิจฉัยคดีของข้าพเจ้าเถิด

            พระโพธิสัตว์ถามพ่อค้าบ้านนอก : ท่านพูดจริงหรือ

            พ่อค้าบ้านนอก : ข้าพเจ้าพาเด็กนั้นไปจริง

            พระโพธิสัตว์ : ในโลกนี้ธรรมดาเหยี่ยวจะนำเด็กไปได้หรือ

            พ่อค้าบ้านนอก : ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า เหยี่ยวไม่สามารถพาเด็กไปในอากาศได้ แต่หนูกินผาลเหล็กได้หรือ

            พระโพธิสัตว์ : นี่เรื่องอะไรกัน

            พ่อค้าบ้านนอก : ข้าพเจ้าฝากผาลไว้ ๕๐๐ ที่เรือนของพ่อค้านี้ เขาบอกว่าผาลถูกหนูกินแล้วชี้ให้ดูขี้หนูว่า นี้คือขี้ของหนูที่กินผาล ถ้าหนูกินผาลได้ เหยี่ยวก็จะนำเด็กไปได้ ถ้าหนูกินผาลไม่ได้ เหยี่ยวก็จะนำเด็กไปไม่ได้ ท่านจงทราบเถิดว่า ผาลเหล่านั้นถูกหนูกินจริงหรือไม่ ขอได้โปรดพิพากษาคดีของข้าพเจ้าเถิด

            พระโพธิสัตว์ทราบว่า พ่อค้าบ้านนอกนี้คงจะคิดอุบายเอาชนะคนโกง จึงกล่าวว่า ท่านได้คิดอุบายตอบอุบายดีแล้ว ถ้าหนูกินผาลได้ เหตุไฉนเหยี่ยวจะเฉี่ยวเด็กไปไม่ได้เล่า ถ้าท่านไม่ให้ผาลแก่เขา เขาก็จะไม่นำบุตรมาให้แก่ท่าน

            ในที่สุด พ่อค้าบ้านนอกก็ได้ผาลคืนมาด้วยปัญญาของตน ส่วนพ่อค้าชาวกรุงก็ได้บุตรคืน
                                                            (อรรถกถากูฏวาณิชชาดก ทุกนิบาต)

            มีนิทานอินเดียเรื่องหนึ่งเล่าว่า บิดาของชายคนหนึ่งตายไปพราหมณ์ซึ่งเป็นอริกับผู้ตายกล่าวโพนทนาว่า ผู้ตายนั้นทำบาปต้องไปเกิดเป็นลา ถึงคราวทำพิธีศราทธ์ (สาด คือพิธีทำบุญให้ผู้ตายโดยเชิญพราหมณ์มากินเลี้ยง ต้องจัดหาผ้าและไทยธรรมต่างๆ ทำบุญให้แก่พราหมณ์ด้วย) ลูกของผู้ตายเชิญพราหมณ์มากินบุญ เมื่อพราหมณ์มาถึง แทนที่จะเห็นของกินมีนมเนย กลับเห็นแต่กองหญ้า

            ลูกของผู้ตายกล่าวว่า ท่านว่าพ่อของข้าพเจ้าตายไปเกิดเป็นลา ถ้าจะทำบุญอุทิศอาหารพวกนมเนยไปก็ไม่มีประโยชน์ ลาคงกินนมเนยไม่เป็น ข้าพเจ้าจึงจัดหญ้าอันเป็นอาหารชอบของลาแทน ขอท่านโปรดกินหญ้าตามสบายเถิด เพื่อจะได้เป็นเนื้อนาบุญอุทิศไปถึงบิดาข้าพเจ้าได้
                                                           (เล่าเรื่องในไตรภูมิ โดย เสฐียรโกเศศ)

            สาระที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
            ๑. พ่อค้าบ้านนอกเป็นบุคคลประเภท น้ำนิ่งไหลลึก หมายถึงคนที่ดูหงิมๆ แต่มีความคิดลึกซึ้ง เมื่อขอผาลคืนไม่ได้ ก็ฉลาดพอที่จะ ไม่เอะอะโวยวาย รู้จักเก็บเอาน้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก แม้ไม่พอใจก็ไม่ แสดงให้ปรากฏออกมา กลับแสดงท่าทีว่าไม่ถือสาหาความ พ่อค้าชาวกรุงจึงตายใจไม่ระวังตัว พอได้โอกาสก็พาบุตรของพ่อค้าชาวกรุงไปซ่อน เพื่อใช้เป็นเครื่องต่อรองให้พ่อค้าชาวกรุงคืนผาลให้ เป็นการแก้เผ็ดอย่างสาสม สำนวนไทยเรียกว่า เกลือจิ้มเกลือ

            ๒. ถ้าพ่อค้าบ้านนอกไม่ทำเฉยไว้ แสดงความไม่พอใจให้ปรากฏออกมา พ่อค้าชาวกรุงก็จะระวังตัว การแก้เผ็ดด้วยอุบายก็จะกระทำได้ยาก หรือไม่ก็ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน เรื่องก็จะบานปลายออกไป ความเสียหายก็จะมากขึ้น

            ๓. คำพูดของพราหมณ์เปรียบเหมือนหอกซึ่งไปทิ่มแทงลูกผู้ตายให้เจ็บใจ แต่เขาก็อดกลั้นไว้ เมื่อได้โอกาสอันควร ลูกผู้ตายก็ใช้ปัญญาทำการแก้เผ็ดอย่างสาสม โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ไม่ต้องใช้วาจาหยาบคาย ใช้คำพูดสุภาพแต่ฟังแล้วเจ็บแสบ เป็นการด่าอย่างผู้ดี และเป็นการส่งหอกนั้นกลับไปทิ่มแทงพราหมณ์ให้รู้สำนึกเสียบ้าง

 
ขอบคุณที่มา
http://www.dhammajak.net/book/panya/panya02.php

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: สารพันปัญญา (ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ) 1
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 14 ก.ย. 2554, 05:50:06 »
3. ขว้างงูไม่พ้นคอ

               ในอดีตกาล พระราชาจุลนีครองราชย์ในอุตรปัญจาลนคร วันหนึ่ง บุรุษคนหนึ่งถือข้าวสาร ๑ ทะนาน ข้าวสุก ๑ ห่อและกหาปณะ ๑ พัน ว่ายข้ามแม่น้ำ เมื่อถึงกลางแม่น้ำก็อ่อนกำลัง ไม่อาจจะว่ายข้ามไปได้ จึงร้องตะโกนว่า ข้าพเจ้ามีข้าวสาร ๑ ทะนาน ข้าวสุก ๑ ห่อ และกหาปณะ ๑ พัน ผู้ใดช่วยพาข้าพเจ้าไปถึงฝั่งได้ ข้าพเจ้าจะมอบสิ่งที่ชอบใจที่มีอยู่ให้ผู้นั้น

               ลำดับนั้น มีบุรุษผู้แข็งแรงคนหนึ่ง นุ่งผ้าให้มั่นคง กระโดดลงแม่น้ำ ว่ายไปโดยเร็ว เมื่อถึงตัวก็คว้าแขนของบุรุษผู้หมดแรงพาว่ายข้ามฟาก จากนั้นก็ทวงรางวัล ก็ได้รับคำตอบว่า ท่านจงถือเอาข้าวสาร ๑ ทะนาน หรือข้าวสุก ๑ ห่อ

               บุรุษผู้พาข้ามฟากกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่คิดถึงชีวิตพาท่านข้ามฟาก ข้าพเจ้าไม่ต้องการของ ๒ สิ่งนั้น ท่านจงให้กหาปณะแก่ข้าพเจ้า

               บุรุษผู้จะให้ของที่ชอบใจกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะให้สิ่งที่ชอบใจจากของ ๓ อย่าง บัดนี้ข้าพเจ้าก็ให้สิ่งที่ข้าพเจ้าชอบใจแก่ท่าน ท่านอยากได้ก็จงถือเอา

               บุรุษผู้พาข้ามฟากจึงถามคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ก็ได้รับคำตอบว่า ท่านจงรับเอาเถิด บุรุษผู้พาข้ามฟากไม่ยอมรับจึงพาคู่กรณีไปศาล เมื่อผู้พิพากษาฟังเรื่องที่เกิดขึ้นก็ตัดสินให้ยอมรับเอาข้าวสาร ๑ ทะนานหรือข้าวสุก ๑ ห่อ บุรุษผู้พาข้ามฟากไม่พอใจคำตัดสินจึงกราบทูลพระราชาจุลนี ๆ ก็ทรงตัดสินเหมือนเดิม บุรุษผู้พาข้ามฟากจึงพูดขึ้นหน้าพระที่นั่งว่า พระองค์ทรงทำข้าพระองค์ผู้สละชีวิตลงสู่แม่น้ำให้มีโทษ

               ขณะนั้น พระนางสลากเทวีผู้เป็นพระชนนีแห่งพระราชาจุลนี ประทับนั่งอยู่ใกล้ ได้ตรัสเตือนพระราชาว่าพระองค์ทรงวินิจฉัยผิด พระเจ้าจุลนีจึงทูลพระราชมารดาให้ทรงวินิจฉัยคดีเสียใหม่ พระนางสลากเทวีจึงรับสั่งกับบุรุษผู้จะให้ของที่ชอบใจว่า จงวางของ ๓ อย่างไว้บนพื้น แล้วตรัสว่า เจ้าจงไปเสีย ถือเอาของที่ชอบใจไปด้วย

               บุรุษนั้นถือถุงกหาปณะ ๑ พันแล้วเดินไป พอเดินไปได้หน่อยหนึ่ง พระนางก็ตรัสว่า เจ้าชอบกหาปณะ ๑ พันหรือ บุรุษผู้นั้นก็ยอมรับ พระ นางตรัสว่า เจ้าพูดกับบุรุษผู้พาข้ามฟากว่า จะให้ของที่ชอบใจจากของ ๓ อย่างนี้แก่เขาหรือไม่ได้พูด บุรุษผู้นั้นก็ยอมรับ พระนางจึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงให้กหาปณะ ๑ พันแก่บุรุษที่พาเจ้าข้ามฟาก บุรุษผู้นั้น ก็จำใจมอบกหาปณะ ๑ พันให้คู่กรณีด้วยน้ำตานองหน้า
(อรรถกถามโหสถชาดก มหานิบาต)

สาระที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
               ๑. บุรุษผู้จะให้ของที่ชอบใจเป็นคนเจ้าเล่ห์ ใช้ปัญญาคิดอุบายเพื่อเอาเปรียบคนอื่น ในที่สุดก็ถูกกระทำตอบแทนด้วยอุบายอย่างเดียวกันจากผู้ที่มีปัญญาเหนือกว่า ลักษณะเช่นนี้สำนวนไทยเรียกว่า ขว้างงูไม่พ้นคอ หมายถึงทำอะไรแล้วผลร้ายกลับสู่ตัวเอง

               ๒. วิธีที่จะแก้อุบายของบุรุษผู้จะให้ของที่ชอบใจมีแต่การย้อนเกล็ด พระนางสลากเทวีจึงรับสั่งให้บุรุษเจ้าเล่ห์เลือกของที่ชอบใจ ถ้าเลือกกหาปณะก็แสดงว่าเขาชอบกหาปณะ หากเลือกสิ่งอื่นพระนางก็จะปล่อยให้เขาไปพร้อมด้วยสิ่งนั้น แล้วมอบกหาปณะให้แก่บุรุษผู้พาข้ามฟาก

               ๓. ในเรื่องนี้บุรุษเจ้าเล่ห์ได้รับผลจากการกระทำของตนทันที ถ้าในเวลานั้นพระนางสลากเทวีไม่ได้ประทับอยู่ในที่นั้นด้วย เขาก็จะรอดพ้นไปได้ชั่วคราว การให้ผลของกรรมจึงขึ้นกับองค์ประกอบหลายอย่างเช่น ความหนักเบาของกรรม บุคคล เวลา และสถานที่

               ๔. การทำดีแล้วไม่ได้ผลดี (ด้านวัตถุ) ในทันที เพราะว่าทำดียังไม่ถึงขนาดที่จะให้ผลทันที หรือว่าบุคคล เวลา สถานที่ ไม่อำนวย อย่างไรก็ตามเมื่อทำดีหรือชั่ว ย่อมได้รับผลดีหรือชั่วทางใจในทันที กล่าวคือ ถ้าทำดี ใจก็ผ่องใสทันที ถ้าทำชั่ว ใจก็เศร้าหมองทันที


ขอบคุณที่มา
http://www.dhammajak.net/book/panya/panya03.php

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: สารพันปัญญา (ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ) 1
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 14 ก.ย. 2554, 05:51:28 »
4. หนามบ่งหนาม

            ในอดีตกาล ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งของชาวกาสี มีตระกูลหนึ่ง มีบุตรคนเดียวชื่อ สวิฏฐกะ เขาเลี้ยงดูบิดามารดาอย่างดี เมื่อมารดาล่วงลับไป บิดาได้หาหญิงสาวนางหนึ่งให้เขาเพื่อช่วยทำงานบ้าน นางได้เป็นแม่เรือนที่ดี มีความเคารพยำเกรงพ่อผัวและผัว สวิฏฐกะเห็นนางปรนนิบัติบิดาของตนอย่างดี เมื่อได้ของที่ดีๆ ก็นำมามอบให้นาง นางก็นำไปให้พ่อผัวทั้งหมด

            ต่อมา นางคิดว่า สามีของเราได้อะไรมาก็มิได้ให้แก่บิดา ให้แก่เราผู้เดียว เขาคงไม่รักบิดา เราจะทำอุบายให้ตาแก่นี้เป็นที่เกลียดชังแห่งสามีเรา แล้วให้ขับเสียจากเรือน แต่นั้นมา นางก็พยายามยั่วให้พ่อผัวโกรธ เช่น ให้น้ำเย็นหรือร้อนเกินไปบ้าง ให้อาหารเค็มจัดหรือจืดเกินไป ให้ข้าวแฉะหรือสุกๆ ดิบๆ เมื่อพ่อผัวโกรธ นางก็กล่าวคำหยาบว่า ใครจักอาจปฏิบัติตาแก่นี้ได้ แล้วทะเลาะกับพ่อผัว แกล้งบ้วนน้ำลายเลอะเทอะไปทั่ว เมื่อสามีกลับมาก็ฟ้องว่า ท่านจงดูการกระทำของบิดา เถิด เมื่อฉันกล่าวว่าอย่าทำอย่างนี้ๆ ก็โกรธ บิดาของท่านหยาบคาย ก่อเรื่องทะเลาะอยู่เรื่อย แกแก่แล้วถูกโรคภัยเบียดเบียน ไม่ช้าก็ตาย ฉันไม่อาจอยู่ร่วมเรือนกับแกได้ ใน ๒ วันนี้แกต้องตายแน่ ท่านจงนำแกไปป่าช้า ขุดหลุม แล้วเอาแกใส่หลุม เอาจอบทุบศีรษะให้ตาย ฝังให้มิดชิด แล้วกลับมาบ้าน

            สวิฏฐกะถูกภรรยารบเร้าบ่อยๆ จึงกล่าวว่า การฆ่าคนเป็นกรรมหนัก ฉันจักฆ่าบิดาได้อย่างไร นางกล่าวว่า ท่านจงบอกบิดาว่า ลูกหนี้ของพ่อมีอยู่ที่บ้านโน้น เมื่อฉันไปเพียงลำพังเขาจะไม่ให้ เมื่อพ่อล่วงลับไปแล้วเงินจักสูญ พรุ่งนี้เราจะนั่งบนยานไปด้วยกันแต่เช้า จากนั้นท่านก็พาแกไปที่ป่าช้า ขุดหลุม แล้วทำเป็นเสียงโจรปล้น ฆ่าแกฝังในหลุมแล้วอาบน้ำกลับมาเรือน สวิฏฐกะรับคำแล้วตระเตรียมยานที่จะไป

            สวิฏฐกะมีบุตรคนหนึ่งอายุ ๗ ขวบ เป็นเด็กฉลาด เขาฟังคำของมารดาจึงคิดว่า มารดาของเรามีธรรมลามก ยุบิดาเราให้ทำปิตุฆาต เราจักไม่ให้บิดาเราทำปิตุฆาต ครั้นเวลาเช้า สวิฏฐกะเทียมยานแล้วชวนบิดานั่งบนยานไปทวงหนี้ บุตรได้ขึ้นยานก่อนแล้ว สวิฏฐกะไม่อาจห้ามบุตรได้จึงพาไปด้วย เมื่อถึงป่าช้าก็ให้บิดาและบุตรพักอยู่บนยาน ตนเองลงจากยาน ถือจอบและตะกร้า ขุดหลุม ณ ที่ลับแห่งหนึ่ง บุตรได้ติดตามมาและกล่าวกับสวิฏฐกะ

            บุตร : มันนก มันเทศ มันมือเสือ และผักทอดยอด ก็มิได้มี พ่อต้องการอะไร จึงมาขุดหลุมอยู่คนเดียวกลางป่าช้าเช่นนี้เล่า

            สวิฏฐกะ : ปู่ของเจ้าทุพพลภาพมากแล้ว ถูกกองทุกข์อันเกิดจากโรคภัยหลายอย่างเบียดเบียน วันนี้พ่อจะฝังปู่เจ้าเสียในหลุม เพราะพ่อไม่ปรารถนาจะให้ปู่ของเจ้ามีชีวิตอยู่อย่างลำบาก ความตายของปู่ประเสริฐกว่าการมีชีวิตอยู่อย่างลำบาก

            บุตร : การที่ท่านคิดว่า เราจักเปลื้องทุกข์ของบิดาด้วยความตาย ชื่อว่ากระทำกรรมอันหยาบช้าและไร้ประโยชน์ (กล่าวแล้วก็ฉวยจอบจากมือสวิฏฐกะ ตั้งท่าจะขุดหลุมอีกหลุมหนึ่งในที่ใกล้ๆ กัน)

            สวิฏฐกะ : เจ้าจะขุดหลุมทำไม

            บุตร : เมื่อพ่อแก่ลงก็จักได้รับกรรมเช่นนี้ ในหลุมที่ขุดไว้นี้จากลูกบ้าง แม้ลูกเองก็จะทำตามพ่อ คือเมื่อเจริญวัยแล้ว อยู่กินกับภรรยา ก็จักฝังพ่อในหลุมบ้าง

            สวิฏฐกะ : เจ้ากล่าวกระทบกระเทียบขู่เข็ญพ่อด้วยวาจาหยาบคาย เจ้าเป็นลูกที่เกิดแต่อกพ่อ แต่ไม่มีความอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่พ่อ

            บุตร : มิใช่ว่าฉันจะไม่มีความอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่พ่อ แต่ฉันไม่กล้าห้ามพ่อผู้ทำบาปกรรมโดยตรงได้ จึงพูดกระทบกระเทียบเช่นนั้น ผู้ใดเบียดเบียนมารดาบิดาผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้นั้นครั้นตายไป ย่อมเข้าถึงนรกโดยไม่ต้องสงสัย ผู้ใดบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาด้วยข้าวน้ำ ผู้นั้นครั้นตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโดยไม่ต้องสงสัย

            สวิฏฐกะ : เจ้าชื่อว่าเป็นผู้อนุเคราะห์เกื้อกูลพ่อแล้ว แต่พ่อถูกแม่ของเจ้ายุยงจึงได้กระทำกรรมที่หยาบคายเช่นนี้

            บุตร : ธรรมดาสตรีเมื่อเกิดโทสะขึ้นข่มไว้ไม่ได้เลย จึงทำชั่วบ่อยๆ ควรที่พ่อจะขับไล่แม่ของฉันไปเสีย ไม่ให้ทำชั่วเช่นนี้อีก

            สวิฏฐกะฟังคำของบุตรผู้เป็นบัณฑิตแล้วก็ดีใจ จากนั้นก็นำบิดาและบุตรขึ้นนั่งบนยานกลับบ้าน

            ฝ่ายหญิงอนาจารนั้นก็ร่าเริงยินดีว่า คนกาลกิณีออกจากเรือนเราไปแล้ว จึงเอามูลโคสดมาทาเรือน หุงข้าวปายาส แล้วคอยแลดูทางที่ผัวจะมา ครั้นเห็นมาทั้ง ๓ คนก็โกรธ จึงด่าผัวว่า เจ้าพาคนกาลกิณีกลับมาทำไม

            สวิฏฐกะนิ่ง ปลดยานแล้วจึงพูดว่า คนอนาจารเจ้าว่าอะไร แล้วทุบนางนั้นเสียเต็มที่ พลางกล่าวว่า แต่นี้ไปเจ้าอย่าเข้ามาเรือนนี้อีก แล้วจับเท้าลากออกไป ครั้นไล่ภรรยาไปแล้ว ก็อาบน้ำให้บิดากับบุตร แม้ตนเองก็อาบ แล้วบริโภคข้าวปายาสพร้อมกันทั้ง ๓ คน

            เวลาผ่านไป ๒-๓ วัน บุตรกล่าวกับสวิฏฐกะว่า แม่ฉันคงยังไม่รู้สำนึกด้วยการถูกลงโทษเพียงเท่านี้ พ่อจงแกล้งพูดว่า จะไปขอลูกสาวลุงในตระกูลโน้น เพื่อทำให้แม่ฉันเก้อ แล้วถือเอาของหอมและดอกไม้ขึ้นยานเที่ยวไปตามท้องนา แล้วกลับมาในเวลาเย็น สวิฏฐกะก็กระทำตาม

            ฝ่ายภรรยาเข้าใจว่าสวิฏฐกะจะหาหญิงอื่นมาเป็นภริยา ก็ร้อนใจ แอบไปหาบุตร อ้อนวอนว่า เจ้าจงช่วยเหลือแม่ให้ได้กลับมาอยู่ในเรือนอีก คราวนี้จะปฏิบัติพ่อและปู่ของเจ้าราวกับพระเจดีย์ทีเดียว บุตรก็พานางไปขอขมาโทษผัวและพ่อผัว แต่นั้นมานางก็ปฏิบัติผัวและพ่อผัวกับลูกเป็นอย่างดี
(อรรถกถาตักกลชาดก ทสกนิบาต)

            สาระที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
            ๑. พระโพธิสัตว์แม้เป็นเด็กอายุเพียง ๗ ขวบ ก็ฉลาดพอที่จะหาอุบายสั่งสอนให้บิดารู้สำนึกเลิกล้มการกระทำปิตุฆาต บุคคลที่มีความ ฉลาดมาแต่กำเนิดนี้ สำนวนไทยเรียกว่า หนามแหลมไม่มีใครเสี้ยม หมายถึง คนที่มีไหวพริบหรือปฏิภาณของตัวเองโดยไม่มีใครสอน

            ๒. สวิฏฐกะต้องการจะฆ่าบิดาด้วยเหตุซึ่งเรียกกันว่า Mercy Killing หมายถึง การฆ่าด้วยเมตตา โดยทั่วไปการฆ่ามีเหตุมาจากอกุศลมูล คือโทสะกับโมหะ จัดเป็นกรรมชั่ว การกระทำที่ประกอบด้วยเมตตาเป็นกรรมดี การกล่าวว่า ฆ่าด้วยเมตตาจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะจิตที่จะฆ่าย่อมไม่มีเมตตา เมื่อเห็นบุคคลที่เรารักต้องทนทุกข์ทรมานโดยที่เราช่วยเหลืออะไรไม่ได้ แทนที่จะฆ่า พุทธศาสนาสอนให้ทำใจเป็นอุเบกขา โดยพิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เมื่อทำกรรมใดไว้ก็ต้องรับผลของกรรมนั้น

            ๓. สวิฏฐกะกล่าวว่า ความตายประเสริฐกว่าการมีชีวิตอยู่อย่างลำบาก คำพูดนี้ยังไม่ถูกต้องนัก การมีชีวิตอย่างสุขสบายหรือลำบากไม่สำคัญ ความดีสิสำคัญ ถ้ามีชีวิตอยู่อย่างลำบากแต่มีโอกาสบำเพ็ญคุณงามความดีแก่ตนหรือผู้อื่น ก็ควรมีชีวิตอยู่ต่อไป หากมีชีวิตอยู่อย่างชั่วช้าปราศจากความดี แม้จะยังมีลมหายใจอยู่ แต่ก็เหมือนกับคนตายแล้ว

            ๔. การฆ่าบิดามารดาเป็นกรรมหนัก ผู้กระทำต้องไปนรกแน่นอน แก้ไขไม่ได้เลย อรรถกถาธรรมบทกล่าวถึงประวัติพระโมคคัลลานะว่า เคยฆ่าบิดามารดา ต้องหมกไหม้ในนรกเป็นเวลานานหลายแสนปี เมื่อพ้นจากนรกมาเกิดเป็นมนุษย์ ด้วยเศษของกรรมที่ยังเหลือ จึงถูกทุบจนตายถึง ๑๐๐ ชาติ แม้ในชาติสุดท้ายเป็นพระอัครสาวกผู้เลิศด้วยฤทธิ์ ก็ยังถูกโจรทุบจนแหลกทั้งตัว เพราะเมื่อกรรมให้ผล อำนาจฤทธิ์ก็ช่วยไม่ได้ ดังนั้น การฆ่าบิดามารดาจึงบาปหนักที่สุด เป็นของต้องห้ามสำหรับมนุษย์ทุกเชื้อชาติศาสนา สำหรับชาวพุทธแม้เพียงแค่คิดก็ไม่ควร


ที่มา
http://www.dhammajak.net/book/panya/panya04.php

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: สารพันปัญญา (ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ) 1
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: 14 ก.ย. 2554, 06:01:48 »
5. บัณฑิตแห่งมิถิลานคร

              ในอดีตกาล พระเจ้าวิเทหราชเสวยราชย์ในกรุงมิถิลา พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นบุตรของสิริวัฒกเศรษฐีและนางสุมนาเทวี อาศัยอยู่ ณ บ้านปาจีนยวมัชฌคาม ซึ่งอยู่ทางทิศปราจีนของมิถิลานคร ท่านมหาเศรษฐีตั้งชื่อบุตรว่า มโหสถๆ มีเพื่อนเล่นพันคน ซึ่งเกิดในวันเดียวกัน เมื่ออายุ ๗ ขวบ ได้ให้สร้างศาลาเป็นที่เล่นและให้อาคันตุกะพัก ให้สร้าง สระโบกขรณีและอุทยาน มโหสถได้แสดงสติปัญญาให้เป็นที่ประจักษ์ แก่คนทั้งหลาย ดังเรื่องที่เป็นอุทาหรณ์ต่อไปนี้

              เรื่องชิ้นเนื้อ วันหนึ่งมโหสถไปที่สนามเล่น พวกเด็กเห็นเหยี่ยว ตัวหนึ่งคาบชิ้นเนื้อบินมา ก็ติดตามไปด้วยคิดว่าจะให้เหยี่ยวทิ้งเนื้อชิ้นนั้น พวกเด็กวิ่งไปข้างโน้นข้างนี้ แลดูแต่เบื้องบน จึงหกล้มเพราะสะดุดหินหรือตอไม้ ได้รับความลำบาก มโหสถพูดกับเด็กเหล่านั้นว่า กันจะให้เหยี่ยวนั้นทิ้งชิ้นเนื้อ พวกเด็กขอให้ลองดู มโหสถวิ่งไปด้วยกำลังเร็วดังลมโดยไม่แลดูเบื้องบน พอเหยียบเงาเหยี่ยวก็ตบมือร้องเสียงดังลั่น เหยี่ยวตกใจกลัวก็ทิ้งชิ้นเนื้อ มโหสถรู้ว่าเหยี่ยวทิ้งชิ้นเนื้อแล้ว แลดูเงารับชิ้นเนื้อในอากาศไม่ให้ตกถึงพื้น

              เรื่องโค บุรุษชาวปาจีนยวมัชฌคามคนหนึ่งคิดว่า เมื่อฝนตกเราจักไถนา จึงไปซื้อโคจากหมู่บ้านอื่นนำมาไว้ในบ้าน รุ่งขึ้นพาไปกินหญ้าในทุ่ง ตัวเองนั่งหลับที่โคนต้นไม้เพราะความเหน็ดเหนื่อย โจรคนหนึ่งลักพาโคหนีไป ชายเจ้าของโคตื่นขึ้น ไม่เห็นโค ก็เที่ยวตามหา เห็นโจรจึงวิ่งไล่ไปโดยเร็ว กล่าวว่า แกจะนำโคของข้าไปไหน โจรตอบว่า แกพูดอะไร โคของข้า ชาวบ้านพากันมามุงดูอย่างเนืองแน่น มโหสถอยู่ในศาลาที่ตนสร้าง ได้ยินเสียงที่คนทั้งสองวิวาทกัน จึงให้เรียกคนทั้งสองมาสอบถาม เมื่อทราบเรื่องแล้วมโหสถถามชายทั้งสองคนว่า เราจักวินิจฉัยความโดยยุติธรรม พวกท่านจักยอมรับหรือไม่ คนทั้งสองก็ยอมรับ

              มโหสถ : โคนี้พวกท่านให้ดื่มอะไร ให้กินอะไร

              โจร : ข้าพเจ้าให้โคดื่มยาคู (ข้าวต้ม) ให้กินงา แป้ง และขนมกุมมาส (ขนมสด)

              เจ้าของโค : อาหารเช่นนั้น คนจนอย่างข้าจะได้ที่ไหนมา ข้าพเจ้าให้กินหญ้าเท่านั้น

              มโหสถฟังคำของคนทั้งสองแล้ว จึงให้คนของตนนำใบประยงค์มาตำในครก ขยำด้วยน้ำให้โคดื่ม โคก็อาเจียนออกมาเป็นหญ้า มโหสถบัณฑิตพิสูจน์ให้มหาชนเห็น แล้วถามโจรว่า เจ้าเป็นโจรหรือมิใช่ โจรก็รับสารภาพ มโหสถจึงตักเตือนว่า ต่อไปอย่าทำอย่างนี้อีก ฝ่ายบริวารของมโหสถก็ทุบตีโจรด้วยมือและเท้าทำให้บอบช้ำ

              ลำดับนั้นมโหสถได้กล่าวสอนโจรว่า เจ้าจงเห็นทุกข์ของเจ้าในภพนี้เพียงนี้ แต่ในภพหน้า เจ้าจักเสวยทุกข์ใหญ่ในนรก แต่นี้ไปเจ้าจงละกรรมชั่วนี้เสีย แล้วให้เบญจศีลแก่โจรนั้น

              เรื่องท่อนไม้ วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราชทรงดำริจะทดลอง มโหสถบัณฑิต ทรงให้ตัดท่อนไม้ตะเคียนยาว ๑ คืบ ให้นายช่างกลึงให้เสมอกัน ส่งไปยังชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ด้วยพระราชอาณัติว่า ท่อนไม้ตะเคียนนี้ ข้างไหนปลาย ข้างไหนโคน ถ้าไม่มีใครรู้จะปรับพัน กหาปณะ

              พวกชาวบ้านไม่รู้จึงไปหาสิริวัฒกเศรษฐี ๆ ให้ตามตัวมโหสถบัณฑิตมา ส่งท่อนไม้ให้มโหสถบัณฑิต แล้วแจ้งเรื่องให้ทราบ มโหสถบัณฑิตให้นำภาชนะน้ำมา แล้วเอาด้ายผูกกลางท่อนไม้ ถือปลายด้ายไว้ วางท่อนไม้บนน้ำ โคนก็จมลงก่อนเพราะหนัก ชาวบ้านก็ทูลพระราชา ได้ว่า ข้างไหนปลาย ข้างไหนโคน

              เรื่องแก้วมณี พระเจ้าวิเทหราชทรงมีแก้วมณีดวงหนึ่งมีเกลียว ๘ เกลียว ด้ายเก่าของดวงแก้วมณีนั้นขาด ไม่มีใครสามารถนำด้าย เก่าออกแล้วร้อยด้ายใหม่เข้าไป พระองค์ทรงให้ส่งข่าวไปว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงนำด้ายเก่าออกจากดวงแก้วมณีนี้ แล้วร้อยด้ายใหม่เข้าแทน ถ้าร้อยด้ายไม่ได้จะปรับพันกหาปณะ

              ชาวบ้านไม่อาจทำได้จึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต ๆ ให้นำน้ำผึ้งมาทาช่องแก้วมณีทั้ง ๒ ข้าง เอาน้ำผึ้งทาปลายด้ายใหม่ ร้อยเข้าไปในช่องหน่อยหนึ่ง วางไว้ในที่มดแดงทั้งหลายจะออก เหล่ามดแดงพากันออก จากที่อยู่ กินน้ำผึ้งที่ปากทางหนึ่ง แล้วคลานเข้าไปในช่องกัดด้ายเก่าซึ่งกีดขวางทาง ตรงไปกินน้ำผึ้งที่อีกปลายหนึ่ง แล้วคาบปลายด้ายใหม่ที่ทา น้ำผึ้งกลับมาทางเดิม เป็นอันว่าพวกมดแดงช่วยร้อยด้ายให้ใหม่จนสำเร็จ

              เรื่องชิงช้า วันหนึ่งพระราชาทรงให้ส่งข่าวไปยังชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม เพื่อทดลองมโหสถบัณฑิตว่า พระราชาใคร่จะทรงเล่นชิงช้า ห้อยด้วยเชือกทราย เชือกทรายเก่าในราชสกุลขาดเสียแล้ว ให้ชาวบ้านนั้นฟั่นเชือกทรายหนึ่งเส้นส่งมาถวาย ถ้าส่งมาถวายไม่ได้จะปรับพัน กหาปณะ

              พวกชาวบ้านจนปัญญาจึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิตๆ คิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา คิดแล้วก็เรียกชาวบ้านที่ฉลาดมา ๒-๓ คน สอนให้ไปทูล พระราชาว่า ข้าแต่สมมุติเทพ ชาวบ้านไม่ทราบขนาดเชือกว่าเล็กใหญ่ เท่าไร ขอพระองค์โปรดให้ส่งท่อนเชือกทรายเก่าสักคืบหนึ่งเป็นตัวอย่าง ชาวบ้านจะได้ฟั่นเชือกตามตัวอย่างนั้น ถ้าพระราชารับสั่งว่า ไม่เคยมีเชือกทรายในพระราชฐานของเรา พวกท่านจงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช เมื่อเชือกทรายไม่มี ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจักทำอย่างไรเล่า พวกชาวบ้านกระทำตามที่มโหสถแนะนำ พระราชาตรัสถามว่า ย้อนปัญหานี้ใครคิด เมื่อทรงทราบว่ามโหสถคิดก็ทรงยินดี
                                                                      (อรรถกถามโหสถชาดก มหานิบาต)

              สาระที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
              ๑. ในเรื่องโค การที่มโหสถบัณฑิตทราบว่า การดื่มน้ำใบประยงค์ ทำให้โคอาเจียน จัดเป็นสุตมยปัญญา การคิดต่อไปว่า เมื่อโคอาเจียนก็ เห็นสิ่งที่โคกินเข้าไป เมื่อรู้ว่าโคกินอะไรก็ตัดสินได้ว่าใครเป็นเจ้าของโค การคิดค้นเช่นนี้เป็นจินตามยปัญญา การแก้ปัญหานี้จึงใช้สุตมยปัญญา และจินตามยปัญญาร่วมกัน

              ๒. แสงอาทิตย์แม้จะสว่างเพียงไร ก็ไม่อาจส่องให้เห็นสิ่งที่อยู่ภายในร่างกายได้ แต่แสงเอกซเรย์อันเกิดจากสติปัญญาของมนุษย์ สามารถส่องให้เห็นสิ่งที่อยู่ภายในร่างกายได้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี

              ๓. โจรลักโคต้องการปกปิดความชั่วของตนจึงต้องกระทำชั่วซ้ำอีกด้วยการกล่าวมุสา แต่ก็ไม่อาจปกปิดได้ ต้องถูกลงโทษอย่างทันตาเห็นด้วยการถูกทุบตี เมื่อสิ้นชีพก็มีหวังได้รับโทษในอบายภูมิอีก ดังนั้นจึงควรระลึกไว้เสมอว่า ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า


ที่มา
http://www.dhammajak.net/book/panya/panya05.php
ยังมีต่ออีก 15 บท

ออฟไลน์ saken6009

  • อย่ากลัวคนจะมาตำหนิ แต่จงกลัวว่าตัวเองจะทำผิด อย่ากลัวที่จะรับรู้ความบกพร่องของตน แต่จงกลัวว่าตนจะเป็นคนที่ดีได้ไม่จริง
  • ก้นบาตร
  • *****
  • กระทู้: 893
  • เพศ: ชาย
  • ชีวิตของข้า เชื่อมั่นศรัทธา หลวงพ่อเปิ่น องค์เดียว
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: สารพันปัญญา (ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ) 1
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: 15 ก.ย. 2554, 12:09:52 »
หนังสือธรรมะที่อ่านง่ายย่อยง่าย อ่านสนุกครับ 36; 36;
                     
ขอบคุณท่าน ทรงกลด ที่นำบทความธรรมะที่ดีมากๆ มาให้พี่น้องศิษย์วัดบางพระได้อ่านครับ
                                                                                                                         
(ขออนุญาตเข้ามาอ่าน เพื่อเป็นความรู้ ขอบคุณมากครับ) :033: :033:

กราบขอบารมีหลวงพ่อเปิ่น คุ้มครองศิษย์ทุกๆท่าน ให้แคล้วคลาด ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง สาธุ สาธุ

ออฟไลน์ berm

  • สิ่งที่ควรทำคือความดี..สิ่งที่ควรมีคือคุณธรรม..สิ่งที่ควรจำคือ...บุญคุณ
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 1008
  • เพศ: ชาย
  • อยู่คนเดียวระวังความคิด อยู่กับมิตรระวังวาจา
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ตอบ: สารพันปัญญา (ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ) 1
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: 15 ก.ย. 2554, 01:31:02 »
:016: :015: เยี่ยมมากครับ...สอนธรรมะด้วยการปฎิบัติ
ทุกคนย่อมมีปัญหาของตัวเองเกิดขึ้นตลอดเวลา  อยู่ที่ใครเลือกที่จะเดินหนีปัญหา...หรือเลือกที่จะแก้ไขปัญหา