แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - รวี สัจจะ...

หน้า: [1]
1
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๒ ตค. ๕๔...บทอำลา...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
        เมื่อวานที่ผ่านมา ตื่นเช้ากว่าปกติ เพราะเป็นพระใหญ่และเป็นวันปวารณา
ออกพรรษา ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  นั่งพิจารณาทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมาตลอด ๙๐ วัน
อ่านบันทึก...คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป...ตั้งแต่บทแรกจนถึงบทหลังสุดที่เขียน
คือของวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งถ้ารวมบทนี้ก็จะเขียนบันทึกธรรม บทกวี
ครบ ๙๐วัน คือตลอดทั้งพรรษาโดยมิได้ว่างเว้น ซึ่งการเขียนบันทึกการปฏิบัติธรรม
นั้นได้รับแรงบันดาลใจ มาจากการที่ได้อ่านหนังสือบันทึกของหลวงพ่อพุทธทาส
“ อนุทินชีวิต “ และหลังจากนั้นก็ได้นำมาเป็นข้อปฏิบัติในช่วงฤดูเข้าพรรษามาตลอด
ซึ่งเมื่อก่อนนั้นจะเขียนไว้เพื่อเป็นบันทึกเตือนเพื่อความทรงจำของตนเอง ว่าในเวลา
ที่ผ่านมานั้น เราทำอะไรมาบ้าง ปฏิบัติอย่างไรบ้าง คิดอย่างไร มีความรู้และความเข้าใจ
ในขณะนั้นเป็นอย่างไร เพราะเมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งที่เราได้บันทึกไว้มันคือตำนานให้
คนรุ่นหลังได้เอามาเป็นแบบอย่าง ในการดำเนินชีวิต ในการคิดและการกระทำ เพื่อจะ
ได้นำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันของตน และได้เริ่มนำมาลงในเว็บไซค์ของวัดบางพระ
ครั้งแรกในช่วงเข้าพรรษา ปี พ.ศ.๒๕๕๒ เพื่อเป็นการแบ่งปันให้แก่ท่านผู้ที่สนใจในการ
ปฏิบัติธรรม ให้ได้ศึกษากัน จึงขอขอบคุณและอนุโมทนากับทุกผู้ทุกคนที่ได้เข้ามาอ่าน
บทบันทึก บทความ บทกวี ต่างๆที่ได้เขียนมาแล้ว ซึ่งบางท่านก็ได้ติดตามงานเขียนนั้น
มาโดยตลอดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๕๒ ซึ่งได้เขียนบทความ บทกวี และได้ตอบ
ปัญหาคำถามต่างๆมามาก ซึ่งงานเขียนที่ผ่านมานั้นได้เขียนครอบคลุมไว้เกือบทุกเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นธรรมะเพื่อการปฏิบัติ การดำเนินชีวิต หลักการคิดทั้งในทางโลกและทางธรรม
หรืออีกหลายเรื่องในเรื่องทั่วๆไป ได้เขียนไว้และเป็นคำตอบให้แก่ผู้ที่สงสัยได้มากมาย
ถ้าท่านต้องกลับไปย้อนอ่านดู เพราะบทความธรรมะนั้น จะเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ท่าน
ต้องไปดูที่มาของธรรมะนั้น ว่ามีเหตุมีปัจจัยเป็นมาอย่างไร จึงได้มีทัศนะความคิดเห็น
อย่างเช่นทุกวันนี้ เพราะว่าหลังจากออกพรรษาแล้ว จะต้องเดินทางบ่อยครั้ง ซึ่งอาจจะ
ทำให้ไม่สะดวกในการที่จะเขียน บทความบทบันทึกต่่างๆ อาจจะเว้นว่างไปตามจังหวะ
เวลาและโอกาส เท่าที่สามารถจะทำได้ และสำหรับผู้ที่สนใจใน การประพฤติปฏิบัติหรือ
มีปัญหาข้อสงสัยในเรื่องต่างๆ ทั้งในทางโลกและทางธรรม ในชีวิตครอบครัว ในธุรกิจ
อาชีพ การงาน ก็สามารถที่จะฝากคำถามไว้ที่ข้อความส่วนตัวได้ ซึ่งเมื่อมีเวลาก็จะมา
ตอบปัญหาข้อข้องใจให้ แต่บางครั้งอาจจะช้าไปบ้างแล้วแต่จังหวะ เวลาและโอกาส
(ถามได้ในทุกเรื่อง ตอบได้ทุกเรื่องที่ไม่ผิดธรรมผิดวินัย ) สุดท้ายนี้ขอความสุขสวัสดี
ความมีสิริมงคล ทั้งลาภและผล ความสุข ความสำเร็จ ความเจริญทั้งหลาย ขอให้บังเกิด
แก่ท่านและครอบครัวตลอดไปเทอญ...
.....บทสรุปของวันเวลาหนึ่งพรรษาที่ผ่านมา....
                       ๐ วันเวลา    ผ่านไป       ไม่หยุดนิ่ง
                       สรรพสิ่ง      เกิดดับ        และลับหาย
                       ผ่านเรื่องราว  หลายหลาก  และมากมาย
                       บทสุดท้าย   งานเลี้ยง      ย่อมเลิกลา
                                      ๐ ชีวิตเรา       มีทั้งเศร้า     และทั้งสุข
                                      บางครั้งทุกข์   เพราะใจ      นั้นใฝ่หา
                                      หลงผิดไป     ในกิเลส       และอัตตา
                                      เพราะตัณหา   ความอยาก  ที่มากมาย
                   ๐ เมื่อพบทุกข์   ควรหันมา    เข้าหาธรรม
                     เพื่อจะนำ       จิตสู้          สู่ความหมาย
                     เพื่อวางจิต      วางใจ        ให้ผ่อนคลาย
                     จิตสบาย       กายสุข         ก็เห็นทาง
                                   ๐ เมื่อจิตโปร่ง   โล่งเบา     เอาจิตรู้
                                     และตามดู      จิตนั้น        อยู่มิห่าง
                                     เมื่อเห็นกาย    เห็นจิต      ก็เห็นทาง
                                     เมื่อจิตว่าง     ก็เห็นธรรม   กำหนดไป
                    ๐ รู้อะไร    นั้นไม่สู้      รู้กายจิต
                    รู้ความคิด   ของตน  ตั้งต้นใหม่
                   มาดูกาย     มาดูจิต   มาดูใจ
                   ทำอะไร    คิดอะไร  ให้รู้ทัน
                                     ๐  มีสติ    ระลึกรู้    อยู่ทั่วพร้อม
                                     แล้วก็น้อม  นำจิต    คิดสร้างสรรค์
                                    อยู่กับธรรม  ให้รู้      ปัจจุบัน
                                    เมื่อรู้ทัน    ก็ไม่หลง มั่นคงไป
                 ๐ จงศรัทธา    ในความดี    ที่มีอยู่
                   และเรียนรู้     พัฒนา       หาสิ่งใหม่
                   เพื่อให้ธรรม   ก้าวหน้า    ยิ่งขึ้นไป
                   แล้วจะได้    พบสุข        ไม่ทุกข์ทน
                                   ๐ สุขในธรรม  ล้ำค่า   หาใดเปรียบ
                                    ไม่อาจเทียบ  กับสุข  ในทุกหน
                                    เป็นความสุข   ที่รู้ได้  เฉพาะตน
                                    ต้องฝึกฝน    ภาวนา  หาให้เจอ
                                   ๐ เจริญสุข  เพราะมีธรรม  นั้นนำจิต
                                    เพ่งพินิจ      ระลึกรู้       อยู่เสมอ
                                    ไม่ปล่อยจิต  ให้ฝันไป    ใจละเมอ
                                     ไม่พลั้งเผลอ  ตามดู      ให้รู้ทัน
                                   ๐ บทสรุป  ของคุณค่า  เวลาผ่าน
                                    ก็คืองาน     ของจิต     คิดสร้างสรรค์
                                     บันทึกเป็น  บทความ   ไปตามวัน
                                     ผ่านมานั้น  เก้าสิบวัน   ครบพอดี....
                                     ...............................................
                                     ...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
                                     ...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๑.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

2
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๑ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
        เหลืออีกหนึ่งวันก็จะสิ้นฤดูพรรษา พิจารณาทบทวนในสิ่งที่ผ่านมา
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป สอนให้เราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
ควบคุมความรู้สึกต่ออารมณ์กระทบทั้งหลายได้เร็วขึ้น มีสติและสัมปชัญญะ
มากกว่าอดีตที่ผ่านมา กาลเวลาสอนให้ระลึกนึกคิด รู้ถูกผิด ผิดชอบชั่วดี
มีการเจริญเมตตาจิตเพิ่มขึ้น จากการที่อยู่กับธรรมชาติและสรรพสัตว์รอบกาย
ดำเนินชีวิตไปตามบทบาทและหน้าที่ ด้วยการมีสติและสัมปชัญะควบคุมอยู่
การหมั่นฝึกคิดพิจารณาทุกอย่างให้เป็นธรรมะนั้น ช่วยให้ละวางได้อย่างมาก
โดยการฝึกคิดพิจารณาเข้าหากฎของพระไตรลักษณ์ เห็นถึงความเป็นอนิจจัง
ของสรรพสิ่งทั้งหลายรอบกาย ความแปรเปลี่ยนไปไม่เที่ยงแท้ ยึดถือไม่ได้
และรู้ถึงสภาวธรรมที่เกิดขึ้น เมื่อจิตเข้าไปยึดถือก็ทำให้เกิดทุกข์ จิตก็ปล่อยวาง
ทุกอย่างเป็นไปตามกฎของพระไตรลักษณ์ คือความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา....
        อย่าได้รีบด่วนสรุปในการปฏิบัติธรรม ว่าเรารู้ธรรมแล้ว เข้าใจธรรมหมดแล้ว
เพราะสิ่งที่เรารู้และเราเห็นในขณะนี้นั้น มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัยในปัจจุบันนี้
ที่เราได้ทำมา ซึ่งถ้าเราทำไปให้ยิ่งกว่านี้ เราก็จะรู้ จะเห็นและเข้าใจไปมากกว่านี้
ตราบใดที่เรายังไม่สิ้นกิเลส จงอย่ารีบด่วนสรุปว่าเรานั้นรู้และเข้าใจธรรมหมดแล้ว
เพราะยังมีอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ ยังไม่เห็นและยังไม่เข้าใจ ผู้ที่จะฟันธงชี้ชัดได้
มีแต่พระพุทธเจ้าแต่เพียงผู้เดียว ที่คำตรัสของพระองค์เป็นหนึ่งเสมอไม่มีผิดเพี้ยน
ฉะนั้นเราอย่าไปอวดเก่งกว่าพระพุทธเจ้า อย่าไปฟันธงชี้ชัด ว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น
มันต้องเป็นอย่างนี้ เพราะการที่ไปฟันธงชี้ชัดนั้น มันเกิดมาจากทิฏฐิมานะและอัตตา
ของตัวเราเอง การสำคัญตน ว่าเราเก่ง เรารู้ ดีกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นการจะนำไปสู่ความคิด
ที่ผิดทาง คิดเข้าข้างตนเอง หลงอารมณ์กรรมฐาน กลายเป็นเจ้าลัทธิไป ไม่ใช่สาวก
ของพระพุทธเจ้่า ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดพลาดและอาจจะนำไปสู่อบายได้ เพราะจะกลาย
เป็นมิจฉาทิฏฐิไป จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจ ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายพึงสังวร
เพราะหลักคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น ท่านไม่ให้เชื่อทันทีและก็ไม่ให้ปฏิเสธในทันที่
ท่านให้ลองนำไปประพฤติปฏิบัติ ฝึกหัดทดลองทำเสียก่อน จึงจะเชื่อหรือปฏิเสธ ตามเหตุ
และผลแห่งความเป็นจริงทั้งหลาย ดั่งที่เคยได้กล่าวไว้ว่า..." ถ้าเชื่อทันที เรียกว่า งมงาย
ถ้าปฏิเสธทันที เรียกว่า ขาดประโยชน์ ควรคิดพิจารณา ไตร่ตรองให้รอบคอบ ควรจะทดลอง
พิสูจน์ ฝึกฝนที่ใจตน ให้เกิดความกระจ่างชัด ขึ้นด้วยใจตนแล้วจึงจะเชื่อหรือปฏิเสธ โดยเอา
เหตุและผลที่เป็นจริงมาเป็นที่ตั้ง แล้วทุกอย่างก็จะเกิดที่ใจ ".....
                      เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๐๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

3
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๐ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
    ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ตราบที่ยังมีลมหายใจ การเริ่มต้นของเช้าวันใหม่
เราควรจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราเอง เมื่อรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา
จงเจริญสติและสัมปชัญญะให้มีความสมบูรณ์ มีความระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อม
ในกายและจิตของเรา ตั้งจิตของเรา ให้เป็นกุสลจิต เพื่อชีวิตในเช้าวันใหม่
เป็นการสร้างเหตุและปัจจัยให้แก่ชีวิตของเรา เพื่อที่จะรับเอาสิ่งที่ดีๆเข้ามา
สู่ชีวิต ต้องเริ่มที่จิตของเรา จิตของเราเป็นเสมือนเครื่องรับคลื่นสัญญาน
มันมีกำลังที่จะดึงดูดคลื่นสัญญานทั้งหลายได้ ถ้าจิตของเราเป็นกุศลจิต
มันก็จะดูดเอาสิ่งที่ดีๆเข้ามา ในทางกลับกัน ถ้าจิตของเราเป็นอกุศลจิต
มันก็จะดึงเอาสิ่งที่เป็นอกุศลเข้ามาสู่จิตของเรา.....
      สำหรับเช้าวันใหม่ของเรานั้น เราควรจะปลูกพืชพันธุ์แห่งกุศลจิตขึ้น
ในจิตใจของเรา เพื่อที่จะรับเอาสิ่งที่ดีๆเข้ามา และพัฒนาสิ่งที่เป็นกุศล
ที่เรานั้นได้สร้างไว้ ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ซึ่งต้องเริ่มที่ใจเราเป็นเบื้องต้น
ซึ่งถ้าวันไหนเรารู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้วไม่รักษาจิต มีอารมณ์หงุดหงิดขุ่นมัว
วันนั้นทั้งวันเราก็จะต้องพบกับความวุ่นวายและเรื่องร้ายๆตลอดเกือบทั้งวัน
เพราะจิตคือเครื่องรับของเรานั้น มันเป็นอกุศลจิต มักก็จะดึงดูดเอาสิ่งที่เป็น
อกุศลเข้ามาหาเรา แต่ถ้ารู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้วรักษาจิตให้เป็นกุศล สิ่งที่เป็น
มงคลก็จะเกิดขึ้นแก่เราเสมอ เพราะเมื่อจิตใจเครื่องรับของเราดีแล้ว มันก็จะ
ดึงดูดเอาแต่ของที่ดีๆเข้ามาสู่ตัวเรา ทุกคนนั้นต่างใฝ่ฝันปรารถนาซึ่งสิ่งที่ดี
อยากจะให้มี อยากจะให้เกิดแก่ตนเอง แต่ที่มันไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้นั้น
ก็เพราะว่าเครื่องรับอันคือจิตของเรานั้น มันยังไม่มีความพร้อม ที่จะน้อมรับ
ซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อเครื่องรับนั้นยังไม่สะอาดดีพอ กุศลทั้งหลายก็ไม่
อาจที่จะตั้งอยู่ได้หรือเกิดขึ้นได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องปรับใจอันเป็นเครื่องรับ
ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งหลาย ให้มันสะอาด ให้มันดีเสียก่อน เพื่อรองรับสิ่งที่ดี
ทั้งหลายให้มาเกิดขึ้นและตั้งอยู่ในจิตใจของเรา...
    ผู้ที่จะเป็นนักปฏิบัติธรรมนั้น ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทขาดสติที่เป็นสัมมาสติ
คือการระลึกรู้ในสิ่งที่ดี เพราะว่าความประมาทที่ขาดสัมมาสตินั้น จะทำให้นักปฏิบัติ
เห็นผิดไปจากความเป็นจริง  คือมีสติ แต่เป็นมิจฉาสติ คือการระลึกรู้ในสิ่งที่ผิดที่ชั่ว
ความไม่ประมาทนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มีอยู่ ๔ ประการคือ
 ๑. ไม่มีความอาฆาตพยาบาทใคร คือการที่ต้องทำให้มีจิตใจเป็นกุศล จิตใจที่ดีงาม
     ไม่น้อยใจตนเอง ไม่น้อยใจผู้อื่น ไม่โกรธตนเอง ไม่โกรธผู้อื่น อยู่กับความคิด
      อยู่กับจิตที่เป็นกุศล
 ๒. มีสติอยู่ทุกเมื่อ คือมีการระลึกรู้ในสิ่งที่กำลังคิดและในกิจที่กำลังทำ รู้จักการ
     แยกแยะบุญและบาป สิ่งที่เป็นกุศลและเป็นอกุศล รู้ในสิ่งที่ควรคิดและในสิ่ง
     ที่ควรทำ คือการรู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้การกระทำ มีสติเป็นสัมมา
 ๓. มีสามธิอยู่ภายใน คือการตั้งใจมั่น ในสิ่งที่กำลังคิดและกำลังทำ มีสติสัมปชัญญะ
     อยู่ทุกขณะจิต เพราะว่าสมาธินั้นคือจิตที่ตั้งมั่น ตั้งมั่นอยู่ในกายในจิต ในสิ่งที่คิด
     และในสิ่งที่ทำ
 ๔. บรรเทาความอยากในใจในจิต คือการรู้จักคิดให้พอดีและพอเพียงกับสิ่งที่เห็น
     และเป็นอยู่ คือคิดถึงสิ่งที่เป็นไปได้ตามเหตุและปัจจัยที่มี นั้นคือความพอดี
     ในการคิด คือการรู้จักควบคุมจิตใจ ให้อยู่กับความเหมาะสม
              พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า " บุคคลใด ได้มีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้
บุคคลผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในคำสอนของเราตลอดกาล "
                 ...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต....
                ...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี.

4
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๙ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          ฝนพรำตั้งแต่ย่ำรุ่ง จึงต้องตื่นนอนก่อนเวลาปกติ เพราะอากาศที่เริ่มจะหนาว
ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ เจริญจิตตภาวนา อธิษฐานจิต แผ่เมตตาอุทิศ
ขออโหสิกรรม ทำกิจวัตรเสร็จเวลาประมาณ ๐๔.๓๐ น. ฉันกาแฟ เพราะช่วงนี้เป็นช่วง
ที่ควบคุมปริมาณอาหาร ฉันเฉพาะผักและผลไม้ เพื่อให้กายนั้นโปร่ง จัดเตรียมสิ่งของ
ที่จะเอาติดตัวลงไปกิจนิมนต์ที่กรุงเทพฯ เพราะต้องไปเป็นเจ้าพิธีในการบวงสรวงสักการะ
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเริ่มพิธีเเช้าเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น.
ออกเดินทางจากอาศรมเวลา ๐๕.๐๐ น. ฝนพรำตลอดทาง ถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ที่หัวหมาก เวลาประมาณ ๐๖.๓๘ น. จัดเตรียมเครื่องบวงสรวงสักการะพ่อขุนเสร็จตาม
เวลาที่กำหนดไว้  เสร็จพิธีที่หน้าลานพ่อขุนฯ ไปทำพิธีต่อที่ในโรงเรียนสาธิต ม.รามฯ
ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน ชกมวยการกุศล ช่วยเหลือผู้ประสพภัยน้ำท่วม ซึ่งทางสมาคม
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เพื่อรับบริจาค
ช่วยเหลือผู้ประสพภัยน้ำท่วม เสร็จพิธีเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. แวะไปนั่งพักสนทนากับ
เพื่อนพ้องน้องพี่ ณ ที่ทำการของสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ข้างสนามกีฬา
จนถึงเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น.จึงได้เดินทางต่อไปที ซอยนวลจันทร์ ร้านกาแฟสดรำมะนา
เพราะได้นัดลูกศิษย์ไว้อีกชุดที่นั่น หลายรายด้วยกัน นั่งอยู่ที่ร้านกาแฟจนถึงเวลาประมาณ
๑๕.๐๐ น. จึงได้เดินทางกลับอาศรมที่เขาเรดาร์ ระหว่างทางได้แวะไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่เปิด
ร้านขายข้าวแกงจานละ ๑๙ บาท ที่หน้าศูนย์พินิจฯ  กลับขึ้นเขาเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น.
ใช้เวลาที่ลงจากเขาไป ๑๒ ชั่วโมงพอดี กลับมาถึงอาศรม มีลูกศิษย์จากบ่อวินมารออยู่แล้ว
สนทนาทำธุระกันจนถึงเวลา สองทุ่ม ลูกศิษย์จึงลากลับไป....
           การปฎิบัติธรรมที่ให้เริ่มต้นจากการให้ทานนั้น ก็๋เพื่อให้เป็นพื้นฐานในการปรับจิต
ให้รู้จักคิดเสียสละ ลดละซึ่งความเห็นแก่ตัว เพื่อให้มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟือเผื่อแผ่
มีพรหมวิหาร ๔ เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต จิตนั้นจะอ่อนโยนลง ไม่หยาบแข็งกระด้าง
เป็นการสร้างคุณธรรมให้แก่จิต แต่ก็ไม่ให้ไปยึดติดในทานนั้นจนเกินไป จนกลายเป็นทิฏฐิมานะ
และอัตตา โดยคิดว่าเราดี เราเด่นกว่าผู้อื่น " แม้นน้อยนิดด้วยปัจจัย แต่ยิ่งใหญ่ด้วยอานิสงส์
ถ้าจิตจำนงค์นั้นบริสุทธิ์ " ไตรสิกขา ๓ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้สำหรับประชาชนทั้งหลาย
จึงเริ่มต้นด้วย ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งต้องปฏิบัติให้สอดคล้องต้องกัน เพื่อเป็นพื้นฐานให้เกิด
ความเจริญในธรรมที่ยิ่งขึ้นไป สู่ไตรสิกขา ๓ สำหรับบรรพชิต อันได้แก่ ศีล สมาธิและปัญญา
สมถะและวิปัสสนาในขั้นต่อไป ทานนั้นจึงเป็นพื้นฐานให้ลดละซึ่งทิฏฐิมานะและอัตตา เพราะว่า
จะได้ไม่สำคัญผิดคิดเข้าข้างตนเอง ในสิ่งที่รู้ ในสิ่งที่เห็นและในสิ่งที่ทำ จิตที่แข็งกระด้างนั้น
ก่อให้เกิดทิฏฐิมานะอัตตา ดั่งที่ได้เคยกล่าวไว้ว่า " อย่าโอ้อวดว่าเราเก่งกว่าผู้อื่น วิเศษกว่าผู้อื่น
อย่าคืดว่าเรารู้มากกว่าผู้อื่น รู้ดีกว่าผู้อื่น จะเป็นเหตุให้ก่อเกิดมานะทิฏฐิ เกิดความถือตัวถือตน "
อย่าใช้ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งของเรา ไปผูกยึดหรือผูกมัดผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นต้องเป็นไปตาม
ความต้องการของเรา ตามความอยากของเรา เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตใคร เรามีแต่เพียง
หน้าที่ ที่ต้องทำเท่านั้น ทำหน้าที่ของเรานั้นให้สมบูรณ์ เต็มกำลังความรู้ ความสามารถของเรา
ผลจะเป็นเช่นไรเป็นเรื่องของวิบากกรรมที่เคยได้กระทำมา " ทุกอย่างนั้นจึงต้องเริ่มต้นที่เจตนา
อันบริสุทธิ์ ในการคิดและทำ.....
                           เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๒๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

5
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๘ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
         แต่ละวันที่ผ่านไปนั้น มีเรื่องราวมากมายที่ได้ผ่านเข้ามาในชีวิต
ที่ทำให้เราคิดและต้องทำ มีผัสสะสิ่งกระทบมากมาย ให้เรานั้นได้รับรู้
เราจึงควรจะจดจำเพียงสิ่งที่มีประโยชน์และเป็นสาระ ส่วนสิ่งที่เป็นขยะ
ทางความคิดลบมันไปไม่จดจำ ใช้สติใคร่ครวญ ทบทวนสิ่งผ่านเข้ามา
ว่าสิ่งไหนเป็นสาระ สิ่งไหนไม่เป็นสาระ พิจารณาให้เห็นคุณ เห็นโทษ
เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามา พิจารณา
เข้าสู่่่ความเป็นกุศลและอกุศล มีสติเตือนตนให้อยู่ในความไม่ประมาท
ไม่ปรุงแต่งในอกุศลประคองจิตของตนให้อยู่ในธรรม น้อมนำจิตเข้าสู่
ความสงบนิ่ง มองทุกสรรพสิ่งให้เป็นธรรมะ.......
        เมื่อจิตเข้าสู่ความเป็นสมาธิ มีความสงบนิ่งอยู่ มีสติระลึกรู้ในสภาวะ
แห่งความสงบ เราก็จะพบกับความเป็นจริง ทุกสิ่งจะเข้าสู่ความเป็นระบบ
จิตที่ทำหน้าที่บันทึกความจำ จะทำหน้าที่ แยกแยะข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่่
และบันทึกไว้ในความทรงจำ ข้อมูลไม่สับสน ความคิดของเรานั้นจะเป็นระบบ
เพราะมีความสงบควบคุมอยู่ รู้ในสิ่งที่ควรรู้ จำในสิ่งที่ควรจำ ทำในสิ่งที่ควรทำ
สิ่งนั้นเกิดจากจิตที่มีสมาธิ และมีสติระลึกรู้ควบคุมอยู่.....
         สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตนั้น ไม่ใช่ความฝันหรือจินตนาการ แต่เป็นการที่เกิดจาก
การฝึกจิต ฝึกคิด ฝึกทำอย่างสม่ำเสมอ จนเกิดความชำนาญในการคิดและการทำ
เกิดจากการเจริญรักษาสติ สมดั่งคำที่ว่า " เมื่อเรารักษาสติให้ดีแล้ว สตินั้นจะรักษาเรา "
กายและจิตจะเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะการรู้เท่าทันในกายและจิต รู้เท่าทันความคิด
และการกระทำ รู้ในสิ่งที่ควรจำและไม่ควรจำ คือการปฏิบัติอย่างเรียบง่ายสบายๆ
เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการทำที่จิต เพราะไม่มีความคิดที่จะแสดงออกมาให้
ใครรู้ว่าเราปฏิบัติธรรมอยู่ มิใช่การโชว์หรือการโอ้อวด.....
        การปฏิบัติธรรมนั้น เป็นการกระทำเฉพาะตน ไม่ได้หวังผลที่จะโอ้อวดใคร
มิได้เป็นไปเพื่อหวังในโลกธรรม ๘ อันได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นไปเพื่อ
ความดับทุกข์และความสุขในธรรม รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม แต่ยังไม่ได้ทำ
ยังไม่เรียกว่าผู้ปฏิบัติธรรม เป็นได้เพียงผู้ชื่นชมในธรรม ผู้วิจารน์ธรรมเท่านั้นเอง
หาใช่ผู้ปฏิบัติธรรมไม่ เพราะยังมิได้ทรงไว้ในธรรม.....
         สติและสัมปชัญญะ การระลึกรู้และความรู้ตัวทั่วพร้อม ที่น้อมเข้าหาธรรม
จะนำมาซึ่งสุขและความสงบ เป็นสิ่งที่เรารับรู้ได้ด้วยจิต มันเป็นความรู้สึกที่รู้ได้
เฉพาะตน สิ่งนั้นคือความเป็น “ ปัตจัตตัง “ เมื่อเรานั้นได้ย้อนมาดูกายจิตของเรา
เราย่อมได้รู้ถึงสภาวะที่เป็นอยู่ของกายจิตเรา สุขหรือทุกข์ สับสนวุ่นวายหรือสงบ
สิ่งนั้นไม่มีใครจะมารู้ดีกว่าตัวของเราเอง ดั่งที่เคยกล่าวไว้เสมอว่า “ ไม่มีใครรู้ซึ้ง
เท่าหนึ่งจิต หากเราให้เวลาแก่ชีวิต หันมาพิจารณาตัวของเราเอง “........

                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดีในทางธรรม
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๑๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

6
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๗ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ 
     ทำภาระกิจที่ได้รับมอบหมายมาให้ลุล่วงไป ตามหน้าที่ของศิษย์เก่าของสถาบัน
เมื่อเสร็จภาระกิจ ชีวิตก็กลับมาเหมือนเดิม คือการเดินตามความใฝ่ฝันที่ได้ตั้งใจไว้
มีบางครั้งที่รู้สึกท้อแท้และเบื่อหน่ายต่อสังคม แต่เมื่อสติระลึกได้ก็ปรับความรู้สึกได้
ละวางซึ่งอารมณ์นั้น เป็นธรรมดาของชีวิตและความคิดที่เกิดขึ้น เพราะมันมีเหตุและ
ปัจจัย"ธรรมารมณ์สิ่งที่มากระทบจิต" ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิด เรียกว่าจิตไปเสพรับรู้
ซึ่งอารมณ์นั้น และปรุงแต่งมันให้มีกำลังเพิ่มขึ้น ถ้าไม่รู้จักควบคุมใจหมั่นดูจิตของตน
 ปล่อยให้ความคิดมันปรุงแต่งไป ใจนั้นก็จะเป็นทุกข์เพราะเข้าไปยึดถือ ครูบาอาจารย์
ท่านสอนเสมอว่า "ดูหนังดูละคร แล้วให้ย้อนมาดูจิต มาดูความคิดของตัวเราเอง"
เป็นการเจริญสติปัฏฐานสี่ มีสติอยู่กับ กาย เวทนา จิต ธรรม มีความสำรวมอินทรีย์
โดยมีสติกำกับอยู่ เพื่อให้รู้กายรู้จิตรู้ความคิดและรู้การกระทำ ในปัจจุบันธรรมทั้งหลาย....
        ระลึกถึงคำครูบาอาจารย์ท่านได้กล่าวไว้ "จิตที่ส่งออก เป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากจิต
ที่ส่งออกนอกเป็นทุกข์  จิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ "   
การเจริญวิปัสสนาคือการเจริญสติปัฏฐานสี่ คือการบำเพ็ญภาวนากุศล การฝึกตน
ให้มีสติอยู่กับรูปและนาม คือความเป็นผู้ไม่ประมาทไม่อยู่ปราศจากสติ ผู้นั้นจึงได้ชื่อว่า
ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเป็นมัชฌิมาคือสายกลาง ปฏิบัติถูกต้องตามพุทธพจน์
ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ชอบแล้ว..........
      การมองปัญหานั้นให้เรามองทุกแง่มุม ตั้งสมมุติฐานทั้งสองอย่าง คือมองทั้งแง่ดี
และแง่ร้าย เจาะลึกลงไปถึงที่ีมาของปัญหา อย่าเอาคติความรัก ความชอบ หรือความ
พอใจไม่พอใจของเรามาเป็นที่ตั้ง คืออย่าไปตั้งธงคำตอบก่อนที่จะพิจารณา แล้วเรา
จะเห็นที่เกิดที่มาของปัญหาเหล่านั้นโดยความเป็นจริง เมื่อรู้และเห็นแล้ว ก้ต้องทำ
ความเข้าใจในปัญหา โดยการหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น ซึ่งต้องใช้สติพิจารณามองให้รอบด้าน
ละวางอัตตา ตัวกูของกู ดูให้เห็นถึงความเหมาะสมของเหตุและปัจจัยในปัจจุบันที่มีอยู่
ดูผลกระทบที่จะมีต่อผู้ที่ได้รับผลประโยชน์และผู้สูญเสียผลประโยชน์ ให้เห็นความพอดี
ความเหมาะสม ที่สามารถจะกระทำได้และรับได้ทั้งสองฝ่าย การแก้ไขปัญหาจึงจะเกิดขึ้นได้
ถ้าทุกฝ่ายยอมรับความจริงไม่ยึดติดยึดถือจนเกินไป วิธีการนี้ใช้ได้ทั้งในทางโลกและทางธรรม
ถ้ารู้จักนำไปปฏิบัติประยุกต์ใช้......
     แต่อะไรๆในโลกนี้ " มันก็เป็นเช่นนั้นเอง " ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า....
 "จิตใจคนจะเสื่อมไปจากคุณธรรมตามกาลและเวลา จนสิ้นสุดพระศาสนาเมื่อครบ ๕,๐๐๐ ปี "
เพราะโลกนี้เปลี่ยนแปลงไป ตามกฏของพระไตรลักษณ์ "ขอเพียงความเสื่อมนั้นอย่าเกิดจากเรา
เป็นผู้กระทำก็เพียงพอแล้ว ".......
          ขอฝากไว้เป็นข้อคิดเพื่อสะกิดเตือนใจ ก่อนที่จะคิดและทำอะไรให้ดูใจของเราก่อน
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๔๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

7
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๖ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่  ๗  ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
           ใช้เวลาไปกับการทบทวนธรรม เปิดอ่านบันทึกเก่าๆที่ได้เคยเขียนไว้
ในช่วงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งได้เขียนบันทึกมาเป็นประจำทุกปี ตลอดเวลา ๙๐ วัน
ของการอยู่จำพรรษา เพื่อเป็นการตรวจสอบตนเอง ถึงสิ่งที่เราได้กระทำมาแล้ว
ทั้งในเรื่องทางโลกและเรื่องทางธรรม ได้เห็นถึงการพัฒนาหรือความเสื่อมของจิต
เมื่อเราได้นำบันทึกเหล่านั้นมาทบทวน เราจะเห็นถึงสิ่งทั้งหลายที่แปรเปลี่ยนไป
ดั่งที่เคยได้เขียนบันทึกไว้ในเรื่อง “ วิถีทางสู่ความเป็นจอมยุทธ “.......
             " วิถีทางสู่ความเป็นจอมยุทธ" เป็นคำพูดหรือวลีหนึ่งที่มักจะเอ่ยถึงกัน
สำหรับนักปฏิบัติธรรมคือการกระทำการปฏิบัติ คล้ายกับการฝึกวิทยายุทธในนิยาย
กำลังภายในของจีน ซึ่งนิยายกำลังภายในของจีนนั้น ก็เอาหลักการของพุทธศาสนา
มาเป็นแนวทาง มีหลักคุณธรรมเข้ามาสอดแทรกให้คติเตือนใจ การปฏิบัติธรรมนั้น
ก็เช่นกันคือ " ทำของที่ยังไม่มีให้มีขึ้นเกิดขึ้น  ของที่มีแล้วเกิดขึ้นแล้วนั้น รักษาไว้
ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้สูญหายสลายไป ทำของที่มีที่เกิดขึ้นแล้วและได้รักษาไว้ดีแล้ว
ให้เหมือนกับไม่มี " นี้คือกระบวนยุทธของการปฏิบัติธรรม...ทำของที่ไม่มีให้มีขึ้น
ให้เกิดขึ้น คือการฝึกฝนปฏิบัติ เจริญสติเพื่อให้มีสมาธิจิตที่สงบนิ่ง นั่นคือการเจริญ
ภาวนาปฏิบัติกรรมฐานตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนมา ตามแนววิชากรรมฐาน
ของแต่ละสำนัก เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแก่นักปฏิบัติแล้ว ก็ต้องรักษาทรงไว้ซึ่งสมาธินั้น
ให้มั่นคง มีความชำนาญแคล่วคล่องในการเข้าออกในอารมณ์สมาธินั้น คือความเป็นวสี
รู้วิธีเข้าออกในอารมณ์ฌาน ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนอยู่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อจิตมีสมาธิ
ที่มั่นคงแล้ว เข้าใจในสภาวะขององค์ฌาน อธิษฐานเข้าออกได้ตามที่ต้องการแล้ว
ก็ถึงกระบวนการยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนากรรมฐาน คือเห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง
เห็นความเป็นจริงในพระไตรลักษณ์ เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ เห็นประโยชน์และ
มิใช่ประโยชน์ของสรรพสิ่ง เห็นรูปเห็นนาม ตามความเป็นจริง จิตละทิ้งจากการยึดถือ
เข้าสู่ขบวนการ ลดมานะ ละทิฏฐิ ถอนอุปาทาน ตามรู้เห็นดูจิตอยู่กับปัจจุบันธรรม........
             การปฏิบัติธรรมนั้นเปรียบได้กับ การแสวงหา ยกตัวอย่างให้เห็นได้ดังนี้ว่า
เหมือนเราแสวงหาของที่เรายังไม่มี เราอยากจะได้สิ่งของสิ่งนี้ เราต้องมีความพยายาม
หาเหตุหาปัจจัยเพื่อที่จะได้มา สะสมเงินทองเพื่อให้พอที่จะซื้อหาหรือพยายามกระทำ
สร้างมันขึ้นมา จนมันสำเร็จตามความปรารถนาได้สิ่งที่ต้องการมา และเราต้องเก็บรักษา
สิ่งของสิ่งนั้น ทำความรู้จักกับมัน ใช้งานมันจนชำนาญแคล่วคล่องคุ้นเคย เก็บรักษามัน
ไว้ในที่อันสมควร เมื่อถึงเวลาก็หยิบขึ้นมาใช้ได้ทันที  โดยไม่ต้องถืออวดอยู่ตลอดเวลา
เก็บรักษาไว้ในที่อันเหมาะสม.......
              นักปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน ต้องรู้จักครอบงำประกาย ไม่ควรโอ้อวดตัว โชว์อวด
ให้เขารู้ว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัตธรรมนั้น มิใช่การแสดง มิใช่เป็นไปเพื่อ
การโอ้อวดประกวดกัน เพื่อให้เขากล่าวสรรเสริญยกย่อง แต่เป็นไปเพื่อความสงบ สะอาด
สว่าง ละวางจากทิฏฐิมานะและอัตตา และเพื่อความจางคลายของกิเลส ตัณหา อุปาทาน
ซึ่งการปฏิบัติธรรมนั้น ต้องเกิดจากความคิดจิตที่เป็นกุศล การเริ่มต้นที่ที่ต้องและดีงาม
ความเจริญในธรรมจึงบังเกิด เพราะคำว่า " ภาวนานั้นคือการกระทำให้ดีขึ้น พัฒนาขึ้น
สิ่งที่เรียกว่าพัฒนาขึ้น ดีขึ้นนั้น ก็คือความดี คือกุศลธรรมทั้งหลาย.......
             จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลาย โปรดได้นำไปคิด
และพิจารณาใคร่ครวญดูว่า " เรามีความปรารถนาในการปฏิบัติธรรมเพราะอะไร สิ่งที่เราคาดหวัง
ตั้งใจไว้นั้น มันเป็นกุศลจิตหรือไม่ "  ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต สิ่งที่เรานึกคิดเรารู้อยู่แก่ใจ
ว่าเราคิด เราหวังอะไร ในการปฏิบัติธรรม...
          เชื่อมั่น-ศรัทธาในธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                 ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

8
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๕ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
        เข้าสู่เส้นทางสายนี้มายาวนานและมีประสพการณ์จากชีวิตจริง
มีหลายสิ่งที่ได้เรียนรู้ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
และปัญหาที่มักจะเจอกันในการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติหลายท่านที่ประสพ
เพราะส่วนใหญ่ของผู้ปฏิบัตินั้นมักจะทำกันลัดขั้นตอน เพราะความใจร้อน
หวังผลในการปฏิบัติ อยากจะเห็นผลโดยเร็วไว จึงทำให้การปฏิบัติธรรมนั้น
ไม่เป็นไปตามขั้นตอน ตามหลักคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ส่วนใหญ่จะข้ามไป
เน้นที่จิตที่สติเพื่อให้เกิดสมาธิโดยเร็วไว ข้ามเรื่องศีลไป ซึ่งนั้นคืออันตราย
ของนักปฏิบัติธรรม เพราะศีลนั้นคือบาทฐานของความเป็นสัมมาสติ เจตนา
ของการรักษาศีลนั้นก็เพื่อการเจริญสติ มีการสำรวมอินทรีย์ ผู้ที่จะรักษาศีลได้
นั้นต้องมีสติอยู่กับกายและจิต ดูความคิด ดูการกระทำ ไม่กล้าก้าวล่วงล้ำ
ข้อห้ามทั้งหลาย มีความละอายและเกรงกลัวต่อการประพฤติผิดทั้งในที่ลับ
และในที่แจ้ง การกระทำอย่างนั้นก่อให้เกิดคุณธรรมประจำจิตคือการมีหิริ
และโอตตัปปะ สิ่งที่ได้จากการรักษาศีลก็คือการมีสติสัมปชัญญะและคุณธรรม
เมื่อเข้าสู่กระบวนการภาวนาเพื่อให้เกิดสมาธิ สติที่ใช้ในการภาวนานั้นคือสัมมาสติ
สมาธิที่เกิดขึ้นจึงเป็นสัมมาสมาธิเพราะเกิดจากสติที่เป็นสัมมา ปัญหาที่ตามมาของ
การภาวนาที่ไม่ได้ผ่านการรักษาศีลนั้น ก็คือการก่อให้เกิดอัตตา การยกตัวถือตัวถือตน
เกิดทิฏฐิมานะสำคัญตนว่าเราดีกว่าผู้อื่น เก่งกว่าผู้อื่น วิเศษกว่าผู้อื่น หลงตัวเอง
สบประมาท จาบจ้วงลบหลู่ครูบาอาจารย์ ยกตนขึ้นเทียบท่าน ก่อให้เกิด กายกรรม
วจีกรรม มโนกรรม ต่อครูบาอาจารย์ เพราะจิตขาดซึ่งคุณธรรม.......
          ความเจริญในธรรมนั้น เหมือนกับต้นไม้ คือต้องค่อยเป็นค่อยไปตามกาลเวลา
และลำดับชั้น เหมือนเราปลูกต้นไม้ เราอยากจะให้มันโตไวๆให้ดอกออกผลโดยเร็ว
แต่มันเป็นไปไม่ได้ ต้นไม้มัน ต้องเจริญเติบโตไปตามสายพันธุ์ระยะเวลาและอายุของมัน
การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน มันต้องผ่านกาลเวลา การสั่งสม เพิ่มพูลกำลังไปตามลำดับชั้น
การปฏิบัตินั้นจึงจะเป็นไปด้วยดี มีความเจริญในธรรมที่มั่นคงและถูกต้องตามหลักของ
พระพุทธศาสนา ตามที่พระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนไว้.........
          มีผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมหลายท่านมาขอคำชี้แนะเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
และได้ให้คำแนะนำเพื่อให้นำไปปฏิบัติ ตามที่ได้ศึกษาและปฏิบัติมา โดยให้ยึดหลัก
ในการปฏิบัติว่า " อย่าเกร็ง อย่าเคร่ง อย่าเครียด " ให้ปฏิบัติอย่างเรียบง่ายสบายๆ
ค่อยๆเป็นค่อยๆไป เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ปรับสภาพและมีความพร้อม มีความ
เคยชินกับวิถีการดำเนินชีวิตและความคิดใหม่ๆ ที่เป็นไปโดยชอบและประกอบด้วยกุศล
โดยให้ถามตัวเองก่อนว่า...อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราอยากปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติธรรม
เพื่ออะไร...ให้ค้นหาตัวเองให้เจอเสียก่อน ว่าอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เกิดจากความคิด
เกิดจากจิตที่เป็นกุศลหรือไม่ หรือเป็นไปโดยความคิดจิตที่เป็นอกุศล คือการหวังผล
เพื่อลาภสักการะและชื่อเสียงหน้าตาคำยกย่อง ผู้ปฏิบัติต้องมองให้เห็นในจุดนี้ ว่าที่เรา
ต้องการปฏิบัติธรรมนั้นมาจากเหตุอะไร เป็นไปโดยชอบหรือไม่........
        เป้าหมายของการปฏิบัติคืออะไร เพียงเพื่อต้องการความสงบเพื่อหลบความวุ่นวาย
หรือว่าเพื่อให้เกิดความจางคลายจากกิเลสตัณหา อัตตา อุปทาน ปรารถนาความพ้นทุกข์
โดยเราต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของตัวเราด้วยว่า"จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่ บุคคล"
นั้นมันควรจะกระทำอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้ไม่เป็นการสร้างความกดดันให้แก่ตนเอง
สิ่งที่ทำนั้น "เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อผู้อื่น ฝ่าฝืนศีลธรรมประเพณี วิถีของกฏหมายและสังคม"
เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นอาจจะเป็นการ"ทอดทิ้งธุระ ละเลยต่อหน้าที่"ถ้าเราไม่รู้จักความพอดี
บทบาทหน้าที่ของตัวเรา การปฏิบัติธรรมนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้เพื่อให้เหมาะสม
กับตัวบุคคล คือสำหรับสมณะนักบวชผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์ และฆราวาสผู้ครองเรือน
เพื่อให้ตรงกับวิถีชีวิตและสิ่งที่ปรารถนาเจตนา เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามในธรรม
 "เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศล" ให้รู้จักตัวตนของตัวเองเสียก่อน.....
        จึงขอฝากไว้ให้เป้นข้อคิด นำไปพิจารณา และอย่าได้เชื่อทันที ที่ได้ฟังหรือได้อ่าน
จงใช้วิจารณญาณในการเสพข่าวสารและข้อมูล เพื่อเป็นการเพิ่มพูลสติปัญญาให้แก่ตนเอง
โดยการฝึกคิดพิจารณาและวิเคราะห์ ก่อนที่จะเชื่อหรือปฏิเสธ ประโยชน์นั้นจะเกิดแก่ตัวท่าน.....
        จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจสำหรับนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ให้ใคร่ครวญ
คิดพิจารณา เพื่อความก้าวหน้าเจริญในธรรม ไม่หลงปฏิบัติผิดทาง ซึ่งจะนำออกห่างจาก
กุศลธรรมทั้งหลาย...
                                  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๒๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบรี

9
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๔ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่  ๕  ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          เสร็จจากกิจของสงฆ์ในภาคเช้า ตรวจดูความเรียบร้อยของอาศรม
เพราะเมื่อกลางคืนที่ผ่านมานั้น ฝนตกและลมพัดแรง จึงมีใบไม้และกิ่งไม้
ร่วงลงมามาก เก็บกวาดใบไม้เศษไม้ จัดผลไม้แบ่งให้ นก กระรอก กระแต
ที่อาศัยอยู่ในบริเวณอาศรม ซึ่งจะลงมากินผลไม้และอาหารที่วางไว้ให้ทุกวัน
อากาศเย็นมีหมอกตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย ใช้เวลาเกือบตลอดวันกับการฟังธรรม
อ่านหนังสือ เขียนบทความ บทกวี ทบทวนพิจารณาธรรม ที่เคยได้ยินได้ฟังมา
จากหลวงปู่ หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ แต่ละท่าน แต่ละสำนัก ที่เคยไปศึกษามา
จิตมาหยุดพิจารณาที่คำของหลวงปู่ท่อน ญาณธโร วัดศรีอภัยวัน จังหวัดเลย
ที่ท่านได้กล่าวสอนไว้ เป็นข้อความที่จำได้ประทับใจท่านกล่าวไว้ว่า........
...อย่ากินของร้อน (ราคะ โทสะ โมหะ)
...อย่านอนบนไฟ (โลภ โกรธ หลง)
...ให้ไปอย่างแร้ง (ไม่ยึดติด ไม่สะสม)
 ...แสวงหาบริสุทธิ์ (ของที่ชอบธรรม)
        กิเลสตัณหาทั้งหลาย ล้วนเป็นของร้อน เป็นไฟเผาไหม้อยู่ภายในจิตในใจ
ของเราเสมอมา ใจเรารุ่มร้อนกระวนกระวายเพราะกิเลสตัณหา ความอยากมีอยากได้
ความพอใจและไม่พอใจในสิ่งที่มี การยึดถือในตนเองจนมากเกินไป ความรัก ความใคร่
ความลุ่มหลง เสน่หาล้วนแล้วแต่พาให้ใจเรารุ่มร้อน เหมือนมีไฟมาสุมอยู่ในใจเรา......
      พยายามเตือนตน เตือนจิต ปรับความคิด ยกเอาการประพฤติปฏิบัติของหลวงปู่
หลวงพ่อครูบาอาจารย์ท่านทั้งหลายมาเป็นแบบอย่าง ปรับให้เข้ากับตัวเราเพื่อความ
เหมาะสมในการประพฤติปฏิบัติธรรม แบบอย่างที่ดีมีอยู่มากมายที่จะให้เราได้ศึกษา
และเรียนรู้ดูเป็นตัวอย่าง การประพฤติปฏิบัติตนของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นพระภิกษุ
ตามแนวทางปฏิปทาของครูบาอาจารย์ก็คือ...มีน้อยใช้น้อย มีมากเอาไว้สงเคราะห์
ผู้ที่ไม่มี อยู่ไปตามมีตามได้ พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ไม่ร้องขอใคร ยินดีอยู่กับความเพียร
เพื่อหวังความพ้นทุกข์....
        ทบทวนถึงสิ่งที่ยังค้างคาที่อยู่ในใจ  สิ่งที่เคยตั้งใจไว้และสิ่งนั้นยังไม่ได้ทำ
ให้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องของทางโลกมิใช่เรื่องของทางธรรม สิ่งที่ยังค้างคาใจ
ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของหมู่คณะเพื่อนพ้องน้องพี่ ที่เคยใกล้ชิดสนิทสนมกันมา
ในสมัยที่เป็นฆราวาส พยายามที่จะจัดการให้ทุกอย่างที่เคยคิดไว้ เคยกล่าวไว้
ให้มันเป็นรูปธรรมขึ้นมา ซึ่งมันเป็นปลิโพธเป็นความกังวลสิ่งเดียวที่ยังตัดไม่ได้
ในปลิโพธ ๑๐ ประการ มันเป็นสิ่งที่ยังค้างคาใจอยู่ตลอดมา จึงต้องจัดการให้มัน
เรียบร้อยลงตัว ก่อนที่จะปลีกตัวจากหมู่คณะ ปลีกวิเวก ยุติบทบาทของตนในสังคม
ให้เวลาแก่ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ทำเพื่อสิ่งที่ได้ตั้งใจไว้ในทางธรรม ตามบทบาท
และหน้าที่ของความเป็นสมณะนั้นให้สมบูรณ์.....
 ...เคารพศรัทธาในคำครู ที่สอนให้รู้ถึงความพอดีและความเพียงพอ...
                      ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๓๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

10
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๓ ตค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
            ทบทวนบทสวดต่างๆของมนต์วิธีตั้งแต่ตอนสายๆจนถึงเที่ยง สมองเริ่มตื้อ
เพราะว่าบรรจุข้อมูลเข้าไปมากเกินไป  จึงต้องบริหารร่างกายโดยการลงไปทำงาน
กวาดใบไม้ ถูศาลา เก็บกิ่งไม้ ให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว และกล้ามเนื้อได้คลายตัว
เพื่อเป็นการสลายพลังงานทางจิตที่ก่อตัวเกิดขึ้นมาในขณะที่เราท่องมนต์ทวนมนต์
เพราะการสวดมนต์ท่องมนต์นั้นเป็นการบริกรรมภาวนาและเมื่อจิตมีความศรัทธา
มีสติระลึกอยู่กับอักขระของมนต์นั้น สมาธิจึงเกิดขึ้น และเมื่อจิตเป็นสมาธิตั้งมั่น
จิตนั้นย่อมจะมีพลัง ที่เรียกกันว่า “ พลังจิต “  ซึ่งสมาธิที่เกิดจากการบริกรรม
ภาวนามนต์นั้น จะเป็นสมาธิเชิงพลังงาน ซึ่งมีทั้งคุณและโทษเป็นได้ทั้งสองอย่าง
ซึ่งอยู่ที่ผู้ปฏิบัตินั้นว่าจะมีอินทรีย์แก่กล้า มีปัญญาหรือไม่ ที่จะใช้และควบคุมพลังงานนั้น
        พลังงานทางจิตที่เกิดจากสมาธินั้น ถ้าผู้ปฏิบัติขาดซึ่งคุณธรรมก็จะนำมาซึ่งโทษ
คือความเป็นมิจฉาสมาธิ อันเกิดจากทิฏฐิ มานะและอัตตา นำมาซึ่งการใช้พลังงานจิต
ไปในทางที่มิชอบอันไม่ประกอบด้วยกุศล ซึ่งจะมีผลเป็นบาป และถ้าผู้ปฏิบัติขาดซึ่ง
สัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อมแล้ว ก็จะทำให้เกิดการหลงอารมณ์ หลงไปในนิมิต
ที่เกิดขึ้น โดยการเข้าไปยึดถือในนิมิตทั้งหลายที่เกิดขึ้น ว่าเป็นเรื่องจริง เป็นของจริง
และติดอยู่ในนิมิตนั้น ทำให้จิตไม่พัฒนาและปัญญาไม่เกิด จนบางครั้งอาจจะทำให้
ออกนอกลู่นอกทาง ห่างไกลจากคุณธรรมไปได้ ถ้าหากว่ากำลังแห่งจิตมิจฉาทิฏฐินั้น
มีกำลังมากเพราะการติดอยู่กับมันเป็นเวลายาวนาน จนเกิดเป็นความเคยชินของจิต
ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข
              นิมิตทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจริง ตามเหตุปัจจัยและเจตนาของผู้ปฏิบัติ
ที่ได้ทำไป  แต่นิมิตนั้นจะจริงหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาเข้าหาหลักธรรม
สงเคราะห์เข้าหาหลักธรรม ในสิ่งที่รู้และในสิ่งที่เห็น ว่าสอดคล้องถูกต้องตามหลักธรรม
ของพุทธศาสนาหรือไม่  มีหลักธรรมมารองรับ มาสงเคราะห์หรือไม่ ในนิมิตที่เกิดขึ้นนั้น
ครูบาอาจารย์กล่าวสอนไว้ว่า...รู้จริง เห็นจริง แต่สิ่งที่รู้และเห็นนั้นอาจจะไม่จริงก็ได้....
ท่านจึงสอนไม่ให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายไปติดอยู่กับนิมิตที่เกิดขึ้น เพราะจะทำให้เสียเวลา
ของการพัฒนาทางจิต เพราะนิมิตนั้นไม่ใช่กระบวนการแห่งการลดละกิเลส ตัณหา
อัตตา อุปทานและทิฏฐิและในทางกลับกันอาจจะเป็นการเพิ่มกำลังของกิเลส ตัณหา
อัตตา อุปทานและทิฏฐิให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม นิมิตทั้งหลายจึงไม่ใช่ทางของการดับทุกข์
           ในสมัยที่ผู้เขียนฝึกปฏิบัติธรรมใหม่ๆนั้น ได้ยินได้ฟังนักปฏิบัติท่านอื่นเขาคุยกัน
ว่าปฏิบัติแล้วเกิดนิมิตอย่างนั้นอย่างนี้ เห็นกันอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตัวผู้เขียนกลับไม่เห็น
นิมิตอะไรเลย ทั้งที่รู้ว่าจิตนั้นสงบเป็นสมาธิ มีแต่ความ โปร่ง โล่งเบา เอิบอิ่ม สบายใจ
แต่ไม่เห็นภาพนิมิตอะไรกับเขา ผู้เขียนจึงได้เข้าไปถามท่านหลวงพ่อพุทธทาสในเรื่องนี้
ว่า...ทำไมปฏิบัติแล้วไม่เห็นอะไรกับเขาเลย....ท่านหลวงพ่อพุทธทาสตอบผู้เขียนว่า.....
...ก็ดีแล้วที่ไม่เห็นอะไร เพราะถ้าเห็นแล้วมันก็จะปวดหัว วุ่นวายกับสิ่งที่เห็นนั้น รู้มาก
เห็นมาก และถ้าละมันไม่ได้ก็จะวุ่นวายปวดหัวมาก ไม่ต้องรู้ต้องเห็นนิมิต ให้รู้เห็นจิต
เห้นกิเลสของเราก็เพียงพอแล้ว....คำตอบที่ผู้เขียนได้รับนั้นทำให้ผู้เขียนไม่สงสัยและ
ไม่อยากจะรู้จะเห็นนิมิตอีกต่อไป  อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด แต่จิตไม่ไปติดอยู่ในนิมิตนั้น
จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ท่านทั้งหลายนำไปคิดและพิจารณากัน......
                      เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๐๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

11
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบรี
อังคารที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
               ในทุกปีเมื่อใกล้จะออกพรรษานั้น จะต้องทบทวนมนต์พิธีและทบทวนธรรม
เพราะเมื่อออกพรรษาแล้วนั้น จะต้องไปบรรยายธรรมและไปเป็นประธานในงานปฏิบัติ
ธรรม ตามสถานที่ต่างๆซึ่งเขาได้นิมนต์ไว้ ต้องเป็นผู้นำสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเช้าและ
ทำวัตรเย็น จึงจำเป็นทีจะต้องทบทวนบทสวดมนต์ที่จะใช้ในพิธีกรรมต่างๆให้คล่องขึ้นใจ
และต้องทบทวนในธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นภาษาปริยัติและอารมณ์ของสภาวธรรมต่างๆ
ให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ในการที่จะนำไปบรรยายแนะนำสั่งสอนผู้อื่นนั้น เราต้องเข้าใจใน
ธรรมที่จะบรรยายและเข้าใจในสภาวธรรมที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่จะไม่สร้างความสับสนให้แก่
ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายและเป็นการย้ำเตือนสอนตนเองไปด้วยในขณะที่ทบทวนธรรม.....
             หลังจากเสร็จภารกิจประจำวันในภาคเช้าแล้ว ก็ได้เข้ามาเปิดธรรมบรรยาย
ของหลวงพ่อพุทธทาส ฟังต่อจากเมื่อวานที่ผ่านมา ซึ่งได้ฟังไปแล้ว ๑๐ ตอน โดยที่ได้
เก็บบันทึกไว้ของหลวงพ่อพุทธทาสนั้น มีทั้งหมด ๘๐ ตอน ซึ่งจะทยอยฟังไปวันละ
๑๐ ตอนความยาวตอนละประมาณ ๔๕-๖๐ นาที ของหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง
 จ.อุบลราชธานี อีก  ๔๐ ตอน ของหลวงพ่อจรัล วัดอัมพวัน  จ. สิงห์บุรี อีก ๑๐ ตอน
และของหลวงพ่อจำเนียร วัดถ้ำเสือ ฯ จ.กระบี่ อีก ๑๒ ตอน ซึ่งธรรมบรรยายที่ได้บันทึก
ไว้นั้นจะใช้เวลาประมาณ ๑๕ วันสุดท้ายของการเข้าพรรษาในการฟังธรรมและทำความเข้าใจ
ซึ่งจะใช้เวลาส่วนในตอนกลางวันเพื่อการฟังธรรม เพราะจะได้มีความรู้ตัวทั่วพร้อม
เพราะในตอนกลางวันนั้น จะมีญาติโยมขึ้นมาเยี่ยมเยือนหรือมาขอความสงเคราะห์
จึงจำเป็นที่จะต้องตื่นตัวมีความพร้อมอยู่เสมอ
               ส่วนในเวลากลางคืนนั้นจะเจริญสติภาวนาทำสมาธิและพิจารณาธรรรม
สลับกับการพระไตรปิฏก เพราะจะไม่มีใครมารบกวนทำให้การปฏิบัติเจริญภาวนานั้น
ไม่ขาดตอนมีความต่อเนื่อง เพราะสมาธินั้นต้องอาศัยความวิเวกเป็นอารมณ์และเมื่อ
ยกจิตขึ้นพิจารณาธรรมนั้น สภาวธรรมจะได้ต่อเนื่องลื่นใหล ไม่มีอะไรมากระทบรบกวน
การพักผ่อนร่างกายและจิตนั้นก็คือการเขียนบทความ บทกวี เพราะจะเป็นการปลดปล่อย
อารมณ์ มีความเพลิดเพลินในการคิดและจินตนาการโวหารและสำนวน ซึ่งจะได้ถ่ายทอด
ออกมาเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายและไม่เกิดความเบื่อหน่ายในการอ่านและการฟังของผู้รับ
เพราะภาษากวีนั้นจะมีสัมผัสที่ลื่นใหลเกิดความเพลิดเพลินและให้ความสนใจแก่ผู้ที่อ่าน
มากกว่าภาษาธรรม ซึ่งผู้อ่านอาจจะเกิดความกดดัน ความเครียดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวขึ้นมาได้
จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาง่ายๆและโวหารคำกวีมาเป็นตัวสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้อ่าน
ซึ่งที่ผ่านมานั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี.....
           แต่ละวันที่ผ่านไปนั้น พยายามน้อมจิตเข้าหาธรรม เจริญสติสัมปชัญญะให้ได้มากที่สุด
เท่าที่จิตจะระลึกรู้ได้ พยายามตั้งใว้ในกุศลจิตแห่งพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
มองโลกในแง่ดี ปรับทุกสิ่งที่รู้ที่เห็นและระลึก เข้าหาหลักธรรม ทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จิตจะระลึกได้
เพราะวันเวลาของชีวิตนั้นสั้นไปทุกขณะ จึงต้องทำชีวิตให้มีสาระทั้งประโยชน์และประโยชน์ท่าน
ทั้งในทางโลกและทางธรรม สร้างความคุ้นเคยให้แก่จิตในการระลึกรู้ ให้จิตนั้นอยู่กับกุศลตลอดเวลา
เป็นผู้ไม่ประมาทในวัยและเวลา เพราะว่าที่อดีตผ่านมานั้นเราได้เคยดำเนินชีวิตผิดพลาดมา เคยเป็น
ผู้ประมาทในชีวิต ทำในสิ่งที่ไร้สาระมามากมาย จึงต้องรีบแก้ไขก่อนจะสายเกินกาล เพราะว่าเรานั้น
ยังไม่รู้ว่าชีวิตของเรานั้นจะยืนยาวไปอีกเท่าไหร่ จึงต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้......
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

12
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑ ตค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
        ใช้เวลาที่ว่างจากภารกิจ อ่านพระไตรปิฏก ฟังธรรมบรรยาย ทบทวนธรรม
เมื่อรู้สึกว่าสมองมึนตึง ก็พักผ่อนโดยการเขียนบทความบทกวีธรรมะ สลับกันไป
ลงไปกวาดใบไม้ เคลื่อนไหวทางกาย เพื่อสลายทางจิต เป็นการบริหารร่างกาย
การทำงานทุกอย่างนั้น คือการเจริญสติสัมปชัญญะ มีความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะ
เกิดธรรมสังเวชขึ้นในจิตขณะที่กำลังกวาดใบไม้ เพราะจิตได้พิจารณาในขันธ์ 5
เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในขันธ์ 5 ว่าล้วนนำมาซึ่งความทุกข์และสิ่งที่เราเคยคิดว่าสุขนั้น
มันก็มิใช่ เพียงแต่เราได้สนองตอบกิเลสตัณหาความอยากของเรา ซึ่งเราคิดว่านั้น
คือความสุข แท้จริงมันเป็นความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ แต่เราไม่รู้เพราะเพลินอยู่กับการ
สนองตอบตัณหาของเราเอง เมื่อตัณหาได้รับการสนองตอบ เราจึงคิดว่ามันเป็นความสุข
ซึ่งแท้จริงแล้วมันเป็นโลกียสุขที่มีทุกข์แอบแฝงอยู่.......
         ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแต่สมมุติกันขึ้นมา บัญญัติกันตามชาติและภาษา
จึงมีชื่อแตกต่างกันออกไป ไม่มีอะไรจะฝืนกฏของพระไตรลักษณ์ได้เลย  อนิจจัง
 ทุกขัง  อนัตตา  ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมา คือมายาของโลกสมมุติ ที่เราหลงไปติดอยู่
หลงเข้าไปยึดถือ จนไม่เห็นสัจจธรรมที่แท้จริง ของสรรพสิ่งธรรมชาติที่อยู่รอบกาย
และภายในจิตภายในใจของเรา.......
          ความบริสุทธิ์ของจิตอยู่ที่ไหน อะไรที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ สภาวะนั้น
มันเป็นอย่างไร ได้แต่ถามตัวเอง เคยได้ยินได้ฟัง ได้อ่านได้รู้ ก็เพียงที่เขาเล่ามา
หรือในตำราที่ได้อ่าน มันเป็นเพียงสัญญาคือการจำได้หมายรู้ที่บันทึกไว้ในสมองเท่านั้น
เพียงท่องได้ จำได้ พูดได้ เหมือนว่าจะเข้าใจแต่มันยังไม่ใช่ เพราะมันเป็นเพียงสัญญา
ซึ่งเป็นปริยัติ ตามตัวอักษร ที่เราตีความขยายความ......
          สภาวธรรมที่แท้จริงนั้น เราอาจจะยังไม่พบหรือพบแล้วแต่เป็นเพียงผ่านกระแส
แต่ไม่ได้ทรงอยู่ในสภาวธรรมนั้น  จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งความเพียรให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
เพื่อทำความพร้อมของกายและจิตของเรา สร้างพละให้กลายเป็นอินทรีย์ ให้มีความเหมาะสม
ที่จะรองรับสภาวธรรมนั้น อย่าอยู่กับความคิดจินตนาการและความฝัน จงทำสิ่งนั้นให้ปรากฏ
ซึ่งจะเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับกรรม การกระทำของตัวเรา.......
           มองย้อนกลับไป...หลายปีที่ผ่านไป เราได้เห็นอะไรมากมาย ได้จดบันทึกไว้
และเมื่อเราได้นำบันทึกเก่าๆกลับมาอ่าน ได้เห็นถึงพัฒนาการของจิต ความรู้สึกนึกคิด
ที่แปรเปลี่ยนไป ซึ่งเกิดจากการสั่งสมอบรมจิตอย่างต่อเนื่องไม่ทิ้งธุระไม่ละศรัทธา
พิจารณาอยู่เนืองนิจ จิตจึงได้พัฒนา ความเจริญก้าวหน้านั้นต้องประกอบด้วยปัจจัย ๔
ที่เรียกว่า อิทธิบาท ๔ อันประกอบด้วย.....
๑.ฉันทะ ความยินดีพึงพอใจในสิ่งที่กระทำ(ทำในสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่)
๒.วิริยะ  ความเพียรพยายามทำในสิ่งนั้น (คือสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่)
๓.จิตตะ  ไม่ละความเพียรพยายามทำอยู่สม่ำเสมอไป(ในสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่)
๔.วิมังสา พิจารณา ใคร่ครวญ ทบทวนในสิ่งที่ทำ ว่ามันเป็นเช่นไร (ในสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่)
แล้วเราจะเห็นความแปรเปลี่ยนไปทั้งในความเสื่อมและความเจริญ ด้วยองค์แห่งอิทธิบาท ๔
ซึ่งถ้ามีความพอดีก็จะนำไปสู่ความเจริญ แต่ถ้าตัวใดขาดหรือตัวใดเกิน จนเกิดความไม่พอดี
ก็จะไม่มีการพัฒนาก้าวหน้าเจริญขึ้นได้ และเมื่อไหร่ที่ความเจริญในธรรมนั้นไม่ก้าวหน้า
ให้กลับมาพิจารณาที่" อิทธิบาท ๔ " เพราะคำนี้แปลว่าทางสู่ความสำเร็จ....
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๑.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

13
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๓๐ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบรี
เสาร์ที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
           ศรัทธาในการปฏิบัติเกิดขึ้นในจิตตั้งแต่รู้สึกตัวตื่นนอน พยายามรักษา
ทรงไว้ซึ่งศรัทธาแห่งกุศลจิต นอนเจริญสติดูกาย เจริญกายคตานุสติ เอาจิตคุมกาย
โดยการระลึกรู้โคจรจิตไปทั่วกาย มองให้เห็นซึ่งกายภายนอกที่เป็นรูปร่างหน้าตา
ของตัวเราด้วยตาใน โดยเอากายของเรามาเป็นนิมิต ในการเจริญสติปฏิบัติธรรม
เมื่อตั้งรูปกายภายนอกได้แล้ว พิจารณาต่อไปในอาการ ๓๒ แยกกายออกเป็น
อาการ ๓๒ จนไม่เหลือรูปกาย พิจารณาอาการ ๓๒ เข้าสู่หมวดหมู่ของธาตุทั้ง ๔
คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สลายอาการ ๓๒ คืนกลับไปให้เป็นธาตุ เหลือเพียงจิตรู้คือ
วิญญาณธาตุที่มาอาศัยอยู่ แล้วย้อนจิตพิจารณากลับมาแยกธาตุให้เป็น
อาการ ๓๒ อีกครั้ง รวมอาการ ๓๒นั้นให้เป็นรูปร่าง แล้วน้อมจิตเข้าไปรับรู้ทรงอยู่ในกาย
ทบทวนอยู่ไปมา สลายแล้วก่อขึ้นมาใหม่........
            ผลที่ได้ในการปฏิบัติอย่างนี้ก็คือ เจริญสติปัฏฐาน ๔ ในฐานกาย (ธาตุบรรพ)
และกายคตานุสติไปพร้อมกัน ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาไปในตัว และเมื่อเราสลายกาย
ของเราคืนสู่ธรรมชาติความเป็นธาตุนั้น จิตก็จะคลายความ ยึดถือในตัวตน เห็นความเป็น
สัจจธรรมของร่างกายว่าไม่นานต้องสลายคืนสู่ธรรมชาติไป จิตเพียงเข้ามาอยู่อาศัย
ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในกายของเรากับธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในธรรมชาติคือตัวเดียวกัน
เพียงแต่แตกต่างกันที่รูป กายเรากับธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน พลังแห่งธาตุในกายเรา
กับพลังของธาตุในธรรมชาติคือตัวเดียวกัน เราเป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ จึงสามารถ
ที่จะหยิบยืมพลังงานในธรรมชาติมาใช้ได้ เป็นการฝึกดูดพลังธรรมชาติไปในตัว
ทำให้สามารถที่จะนำมาปรับธาตุในตัวของเราได้ รักษาตัวเองและสงเคราะห์ผู้อื่นได้......
          ไม่ว่าเราจะปฏิบัติธรรมโดยวิธีใดก็ตาม เราต้องเริ่มที่กายของเรา เพราะกายคือฐาน
คือที่ตั้ง ที่อาศัยของจิต ถ้าฐานที่ตั้งมั่นคงดีแล้ว ย่อมไม่มีความเสื่อม ทุกสิ่งทุกอย่าง
ต้องเริ่มจากพื้นฐานที่ดีและถูกต้อง ซึ่งฐานนั้นคือกายและเมื่อจิตอยู่กับกาย
จิตนั้นก็จะปลอดภัยเพราะอยู่ในที่ตั้งคือฐาน เราจึงต้องมาฝึกจิตให้ใกล้ชิดอยู่กับ
กายอยู่เสมอ การที่จิตจะอยู่กับกายได้นั้น มันต้องมีสติและสัมปชัญญะ การระลึกรู้
และความรู้ตัวทั่วพร้อมในกาย อยู่อย่างสม่ำเสมอ จนกลายเป็นความเคยชิน
เป็นอุปนิสัย ในการเจริญสติปฏิบัติธรรมทุกครั้ง......
            การปฏิบัติธรรมนั้นทำได้ทุกขณะ ทุกอิริยาบท ไม่จำกัดกาลและสถานที่
ของให้เรามีสติระลึกรู้และมีความรู้ตัวทั่วพร้อม อย่าไปติดยึดในรูปแบบและท่าทาง
เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่การแสดง การโชว์หรือโอ้อวดกัน แต่เป็นการกระทำ
ภายในจิตใจของเรา ซึ่งถ้าเรามีสติและสัมปชัญญะแล้ว เราจะรู้ว่าเรากำลังทำอะไร
และเพื่ออะไร " ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต " ว่าเราคิดและเรากำลังทำอะไร เพื่ออะไร
ดีไปกว่าตัวของเราเอง " รู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้สิ่งที่กระทำ "นั่นคือการปฏิบัติธรรม......
         ฝากไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลาย เพื่อให้ได้ศึกษา
เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับการปฏิบัติและอย่าเชื่อหรือปฏิเสธทันทีที่ได้อ่าน
ลองใคร่ครวญพิจารณาและนำไปปฏิบัติทดลองดู แล้วจึงเชื่อหรือปฏิเสธในแนวทางนี้
เพราะถ้าเชื่อทันที่อาจจะทำให้เกิดความงมงายและถ้าปฏิเสธในทันทีอาจจะทำให้เสียโอกาส
ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะลองปฏิบัติดู อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่าสิ่งนั้นมันจริงหรือไม่ จะได้คลาย
ความสงสัย ใช่หรือมิใช่มันจะได้ชัดเจน......
           เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรผู้ร่วมชะตากรรมบนโลกใบนี้
                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๕๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

14
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๙ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่  ๓๐  กันยายน  พ.ศ. ๒๕๕๔
         ใช้เวลาตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงกับการฟังธรรมบรรยายของครูบาอาจารย์
ที่ได้เก็บบันทึกไว้ คิดและพิจารณาตามในอารมณ์ธรรมกัมมัฏฐานแต่ละกอง
ของแต่ละท่านที่ได้บรรยายไว้ ปรับความรู้ความเข้าใจในกัมมัฏฐานแต่ละกอง
ทดลองปฏิบัติกรรมฐานกองใหม่ ซึ่งเมื่อก่อนนั้้นเพียงแต่ได้เรียนรู้ในตำราเท่านั้น
ยังไม่เคยนำมาปฏิบัติจริง  รู้เพียงตามตำรา แต่ไม่ได้รู้ถึงสภาวะธรรมที่แท้จริง
เพราะยังไม่ได้ปฏิบัติ ลองปฏิบัติตามดูก็รู้สึกว่าดี จิตมันละเอียดขึ้น ความฉับไว
ของสติเพิ่มขึ้น คือการเจริญมหาสติปัฏฐาน ในฐานกายโดยการพิจารณาอิริยาบถ
ของกาย(อิริยาบทบรรพ)และพิจารณารู้ตัวในความเคลื่อนไหว (สัมปชัญญบรรพ)
ซึ่งเริ่มจากอาการทางกายอย่างหยาบๆไปสู่ความละเอียดปลีกย่อยที่ต้องพิจารณา
จากสิ่งที่รวดเร็วกลับไปสู่สิ่งที่ช้าและละเอียดอ่อน  จิตตามดูตามรู้และตามเห็น
ในสิ่งที่เป็นไปทุกขณะจิต เป็นไปตามขั้นตอนของการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาทางจิต......
             ไม่ว่าจะเป็นกัมมัฏฐานกองหนึ่งกองใด ถ้าเราเข้าใจในหลักการปฏิบัติ
 และนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะปฏิบัติ แต่สิ่งที่ทำได้ยาก
ก็คือใจของเรา การที่จะทำให้ใจเรานั้นยอมรับความจริง ลดความถือตัวถือตน
ความยึดถือในความคิดของตน ให้ใจมันยอมละพยศความดื้อรั้นเท่านั้นก็เพียงพอ
ต่อการเข้าสู่พื้นฐานการพัฒนาทางจิต ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติในขั้นต่อไป.......
          ซึ่งสิ่งนั้นฟังดูง่าย พูดง่าย แต่ทำได้ยาก เพราะก่อนที่จะทำให้จิตมันจะยอมรับ
ได้นั้นมันต้องใช้เวลา เราต้องทำความรู้จัก ทำความเข้าใจและทำความคุ้นเคยกับ
มันเสียก่อน  เราต้องรู้จักใจของเรา เห็นกิเลสของเรา คือเห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา
เสียก่อน ว่ามันเป็นอย่างไร จึงจะเข้าไปจัดการจัดระเบียบใหม่ให้กับมันได้
โดยให้เป็นไปตามความเหมาะสม ตามกำลังความสามารถ ความพร้อมของ
กายและจิตของเราให้เหมาะกับกาลเวลา จังหวะ โอกาส สถานที่และบุคคล........
          เหมือนดั่งโบราณที่ท่านว่า " สิบปากว่า ไม่เท่าหนึ่งตาเห็น สิบตาเห็น
ไม่เท่าหนึ่งมือคลำ สิบมือคลำ ไม่เท่ากับทำเอง" การเรียนรู้และการเข้าใจในตำรานั้น
 มันเป็นเพียงกระบวนการทางความคิด ความจำ แต่มันไม่ถึงสภาวะธรรมที่แท้จริง
เพราะเรายังไม่ได้ธรรม และสภาวะธรรมนั้นเป็นของเฉพาะตนคือความเป็น"ปัจจัตตัง"
สภาวะธรรมทั้งหลายนั้นมีเพียงความคล้ายคลึงกัน แต่จะไม่เหมือนกันไปหมดทุกอย่าง
 เพราะความเป็นของเฉพาะตนนั้นเอง แต่ถ้ามันเหมือนกันไปหมดเสียทุกอย่างแล้ว
 แสดงว่าเรากำลังสะกดจิตของเราสร้างอุปาทานให้เหมือนกับสิ่งที่เราเคยได้ยิน
ได้ฟังมา คือสะกดจิตตนเอง สร้างสภาวะธรรมให้เหมือนกับที่ครูบาอาจารย์ท่านได้พบมา
ซึ่งมันไม่ใช่สภาวะธรรมที่แท้จริงของตัวเรา บุคคลแตกต่างกันด้วยธาตุและอินทรีย์
บารมีธรรมจึงแตกต่างกัน จึงเพียงแต่คล้ายและใกล้เคียง แต่จะไม่เหมือนกัน.......
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๑.๕๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

15
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๘ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
            ติดตามข่าวสารเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมและพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามา
ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับโน๊ตบุ๊ค ฟังธรรมบรรยายของครูบาอาจารย์ที่บันทึกไว้
เขียนบทความบทกวี พักสมองด้วยการสนทนากับสมาชิกกลุ่มต่างๆในเฟรชบุ๊ค
ตอนบ่ายลงเขาไปตลาดมาบปู เพื่อซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง มีน้องๆมาช่วยกันทำ
จนถึงเวลาใกล้ค่ำจึงได้หยุดพัก คือภารกิจภายนอกทางกายที่ได้ทำในวันที่ผ่านมา
ส่วนภารกิจภายใน เรื่องของใจนั้น ก็คือการเจริญสติและสัมปชัญญะ พิจารณา
มีสติระลึกรู้และความรู้ตัวทั่วพร้อม เจริญสติปัฏฐาน ๔ คือกาย เวทนา จิต ธรรม
 มีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิต แต่ยังไม่อาจจะหยุดคิดปรุงแต่ง
ในอกุศลได้ เพราะว่าองค์แห่งคุณธรรมนั้นยังไม่มีกำลังเพียงพอ ที่จะเข้าไปหักห้าม
และข่มใจไม่ให้คิดได้ ทบทวนพิจารณาดูว่ามาจากสาเหตุอะไร ที่ทำให้เรานั้นต้อง
คล้อยตามกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นมานั้น พบว่าสาระสำคัญนั้นเกิดมาจากจิตสำนึก
แห่งคุณธรรมของเรานั้น ยังไม่มีกำลังเพียงพอที่จะต่อสู้กับกิเลสนั้นได้ จึงต้องคล้อยตาม
และเสพในอารมณ์อกุศลเหล่านั้น  ทั้งที่รู้ว่ามันเป็นอกุศลจิต เมื่อรู้เหตุและปัจจัย
จึงได้รู้ว่ามันมีที่มาของปัญหาเหล่านั้น ซึ่งเกิดจากพื้นฐานแห่งการปฏิบัติที่เรา
ได้กระทำมา เพราะว่าเมื่อก่อนนั้นเราไปเน้นเรื่องสติเพื่อให้เกิดสมาธิมากเกินไป
 เรื่องศีลเรื่องวินัยเพียงแต่รู้และเข้าใจ ในตัวอักษรตามตำรา ไม่ได้คิดและพิจารณา
ถึงที่มาและเจตนาของเรื่องศีลขอวัตรและพระวินัย ว่าเป็นไปเพื่อการเจริญสติและ
สัมปชัญญะ โดยมีหิริและโอตตัปปะซึ่งเป็นองค์แห่งคุณธรรมนั้นควบคุมคุ้มครองอยู่
การที่เราจะทรงไว้ซึ่งศีลและวินัยนั้นได้ เราต้องมีสติและสัมปชัญญะอยู่ทุกขณะ
ระลึกรู้ในทางกายและทางจิต ในสิ่งที่คิดและในสิ่งที่ทำ และการที่เราไม่ก้าวล่วงล้ำ
พระธรรมพระวินัย ศีลและข้อวัตรทั้งหลายนั้น เพราะเรามีความละอายและเกรงกลัว
ต่อบาปกรรมการล่วงละเมิดทั้งหลาย การรักษาศีลจึงเป็นการเจริญสติสัมปชัญญะ
และเพิ่มกำลังขององค์แห่งคุณธรรมอยูทุกขณะจิต ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในหลักของการปฏิบัติเรื่องไตรสิกขาอันได้แก่"ศีล สมาธิ ปัญญา"
แต่เรากลับทำลัดขั้นตอนเพราะใจร้อน อยากจะเห็นผลสำเร็จโดยเร็วไว จึงไม่ค่อยจะใส่ใจ
ในเรื่องของศีล มาเน้นหนักเรื่องจิตเรื่องสมาธิมากเกินไป จึงทำให้จิตสำนึกแห่งคุณธรรม
นั้นมีกำลังไม่เพียงพอ ที่จะเข้าไปต่อสู้กับกิเลสตัณหาทั้งหลายได้......
          จิตระลึกนึกถึงคำครูบาอาจารย์ที่ท่านได้เคยกล่าวสอนไว้ว่า " รู้ไปหมด แต่อดไม่ได้ "
ซึ่งมันได้เกิดขึ้นแล้วกับตัวของเราเอง ขบวนการทางจิตนั้นมันละเอียดอ่อน ทุกขั้นตอนของ
การปฏิบัติพัฒนาทางจิตนั้น ต้องทำอย่างสม่ำเสมอข้ามและลัดขั้นตอนนั้นไม่ได้เลย
มันทำให้เกิดการสั่งสมอบรมจิต ให้รู้จักคิด รู้จักการพิจารณาเหมือนดั่งคำที่ว่า
" ทุกข์ไม่มา ปัญญาไม่มี บารมีไม่เกิด "  คือเราต้องเรียนรู้เรื่องทุกข์จากทุกข์
เรียนรู้ตัณหาจากตัณหา ทุกข์ละทุกข์ ตัณหาละตัณหา คือต้องเห็นของจริงเสียก่อน
 เมื่อเห็นแล้วต้องทำความเข้าใจในสิ่งนั้นให้ชัดแจ้ง เห็นที่เกิดของสิ่งนั้น  รู้และเข้าใจแล้ว
จึงเข้าไปจัดการกับมัน ซึ่งการที่จะเข้าไปจัดการนั้นขึ้นอยู่กับภูมิธรรมของแต่ละท่าน
ในขณะนั้น ว่ามีกำลังมากน้อยเพียงใด..........
               การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่แต่เพียงการนึกคิดและจินตนาการ แต่มันเป็นเหตุการณ์
ที่เกิดขึ้นจริงในจิตของเรา ที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปทุกขณะจิต ไม่ใช่อดีตหรือว่าเป็นอนาคต
แต่มันเป็นปัจจุบันธรรมที่เรากำลังสัมผัส เรียนรู้จากของเก่าเพื่อเอามาใช้ในปัจจุบัน
 เพื่อที่จะสร้างสรรค์กำหนดอนาคตที่จะก้าวเดินต่อไป .เพราะเมื่อก่อนนั้นเราไปเน้นเรื่อง
สมาธิเชิงพลังงานมากเกินไป เพื่อจะนำมาสงเคราะห์ ช่วยเหลือญาติโยม มันจึงทำให้เรา
หลงตัวเองเกิดอัตตามานะขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยคิดว่าสมาธิของเราดีแล้ว
จิตของเราดีแล้ว ทุกอย่างก็จะดีตามไปด้วย เพราะอำนาจพลังของสมาธินั้น
มันกดทับกิเลสอยู่ทำให้เราไม่เห็นมัน จนเราคิดว่ากิเลสนั้นมันหมดไปแล้ว
 แต่เมื่อไหร่ที่สมาธินั้นอ่อนกำลังลง กิเลสที่ถูกทับถมไว้ก็จะปรากฏแสดงออกมา
จึงทำให้เรารู้ว่า เรานั้นต้องปฏิบัติพัฒนาจิตของเราให้ยิ่งไปกว่านี้ที่มันเป็นอยู่......
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                         รวี สัจจะ-สมณะไร่นาม-วจีพเนจร
๒๙ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๔๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

16
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๗ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่  ๒๘  กันยายน  พ.ศ. ๒๕๕๔
           การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติเน้นเรื่องสมาธิและจิตเชิงพลังงานมากเกินไป
สิ่งที่ควรระวังก็คือเรื่องของอัตตา มานะทิฏฐิ  ความถือตัวถือตนนั้นจะเกิดขึ้นได้ง่าย
คือการสำคัญตนว่า ดีกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า  ผู้อื่นเขา มองผู้อื่นนั้นว่าด้อยกว่าตน
เพราะส่วนมากแล้ว การเข้าสู่จิตเชิงพลังงานนั้น จะข้ามขั้นตอนปฏิบัติในเรื่องของศีล
ไปเน้นทีจิต คือเรื่องของสติและสมาธิ เพื่อต้องการพลังจิตที่สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
ทำให้สตินั้นไม่ผ่านกระบวนการของศีล ทำให้ขาดซึ่งองค์แห่งคุณธรรมที่จะคุ้มครองจิต
สิ่งนั้นคือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ซึ่งองค์แห่งคุณธรรมนี้จะเกิดมีขึ้นได้นั้น
ก็ต้องผ่านกระบวนการแห่งศีล คือการมีสติ สำรวมระวังและยับยั้งอกุศลทั้งหลาย
ทั้งทางกาย วาจาและจิต  ไม่ประมาทพลาดผิด เพราะจิตละอายและเกรงกลัวต่อบาป
สิ่งนี้คืออานิสงค์อันเกิดจากการรักษาศีล......
            การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้ทำให้เราฉลาดขึ้นกว่าคนอื่น แต่ทำให้เราได้เห็นความโง่
ความหลงผิดในอดีตของเราที่ผ่านมา ยิ่งปฏิบัติก็ทำให้เราได้เห็น ในสิ่งที่เรานั้นยังไม่รู้
ในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมานั้น เราอาจจะคิดว่าเรารู้ถูกต้องและเข้าใจหมดแล้ว
ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นเลย เรายังไม่รู้จริง เรายังไม่เข้าใจในความจริง อย่างที่เราเคยคิด
 ยังมีอีกมากมายที่เรายังไม่รู้และไม่เข้าใจ.......
          การปฏิบัติธรรมนั้นทำให้เราเห็นกิเลสของเรา ที่เรายังไม่เคยเห็นหรือไม่เคยสนใจ
ทำให้เรารู้เท่าทันกิเลสที่เกิดขึ้นและกิเลสที่มีอยู่แล้ว ในกายในจิตในความคิดของเรา
 ซึ่งเมื่อก่อนนั้นเราคิดว่าการปฏิบัติธรรม ทำให้เราฉลาดขึ้น ทำให้เราหมดซึ่งกิเลส
 กิเลสเบาบางลง ทำให้เราหลงตัวเองเพราะการที่เรามีความคิดอย่างนั้นมันเป็นการก่อเกิด
และเพิ่มซึ่งอัตตา มานะ การถือตัวถือตนโดยเราไม่รู้ตัว คิดว่าตนเองบริสุทธิ์และสมบูรณ์ด้วยศีล
ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบกว่าผู้อื่น เกิดการหลงตัวเองโดยที่เรารู้ไม่เท่าทัน ขึ้นมาที่ละน้อย ซึ่งนานเข้า
มันจะมากขึ้น จนอาจจะยากในการแก้ไขและปรับปรุงตัวเองได้......
            เมื่อเราได้มีเวลาทบทวนพิจารณา สิ่งที่ผ่านมาในอดีตของเรา ทำให้เราได้เห็นความประมาท
 ความผิดพลาด ในการดำเนินชีวิตของเราที่ผ่านมา เรานั้นไปติดอยู่เพลินอยู่กับความสะดวกสบาย
ในสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย ทำให้เราไม่เห็นทุกข์ คลุกคลีกับหมู่คณะเกินไป จนทำให้การ
ปฏิบัติย่อหย่อน ซึ่งเมื่อเราได้พิจารณาและเห็นในสิ่งนั้น เห็นในความประมาทและผิดพลาดของตัวเรา
จึงทำให้เราระลึกได้ในหลักธรรมเรื่อง " อัตตา ตัวกู ของกู "ที่เคยได้ศึกษามา เพราะว่าอัตตานั้น
 มันจะบดบังสัจจธรรมที่แท้จริง เราต้องเปิดโลกทัศน์ ชีวทัศน์ ทำลายอัตตาลบภาพมายาทั้งหลาย
ให้มันหายไป หมดไป แล้วเราจะได้พบกับ "สัจจธรรม" ธรรมชาติของจิตที่แท้จริง.....
            อย่าได้เชื่อทันทีในสิ่งรู้และในสิ่งที่เห็น เพราะมันอาจจะชักนำไปสู่ความงมงายไร้ปัญญา
ควรคิดพิจารณา ถึงเหตุและผล ให้เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของ
สิ่งที่รู้และสิ่งที่ได้เห็นนั้นและในทางกลับกัน อย่าได้ปฏิเสธทันทีในสิ่งได้ที่รู้และในสิ่งที่ได้เห็น นั้น
เพราะการปฏิเสธในทันทีนั้น มันอาจจะทำให้เราเสียโอกาส เกิดความประมาททางจิตขึ้นมาได้
จงใช้สติสัมปชัญญะและปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ ด้วยเหตุและผลแห่งทุกข์ ภัย โทษ ประโยชน์
และมิใช่ประโยชน์ของสิ่งที่ได้รู้ได้เห็นนั้น แล้วจึงจะเชื่อหรือปฏิเสธ.......
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๘ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐.๕๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

17
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๖ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
        เมื่อวานนี้เป็นวันก่อนเทศกาลกินเจหนึ่งวัน ซึ่งจะเรียกกันว่าวันล้างท้อง
ซึ่งเป็นการปรับร่างกาย ถ่ายอาหารเก่าในกระเพาะ ที่ได้ทานมาก่อนหน้านั้น
ให้หมดไป โดยการทานอาหารเจ แต่ยังไม่นับรวมเข้าไปในจำนวนวันของการ
ทานเจ เพราะถือว่าเป็นการปรับร่างกาย ยังไม่เอาจริง  มีผู้สนทนาธรรมมาถาม
เรื่องการทานเจและไม่ทานเจ ว่ามีผลต่อการปฏิบัติหรือไม่  ก็ได้ตอบคำถามนั้นว่า
...มีผลบ้าง แต่ไม่ใช่สาระสำคัญ ที่มีผลต่อการปฏิบัตินั้น คือจะทำให้กายเบาขึ้น
เพราะอาหารเจนั้นเกือบทุกชนิดจะย่อยง่าย ร่างกายจึงใช้พลังงานน้อยในการย่อย
อาหาร และมีผลที่กำลังใจ คือมีศรัทธาความมั่นใจเพิ่มขึ้น จากการไม่เบียดเบียน
ชีวิตสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม มันจึมีผลในเรื่องของขวัญกำลังใจและศรัทธา
ส่วนการเจริญภาวนานั้น มันเป็นเรื่องของจิต ซึ่งเป็นเรื่องของสติและสัมปชัญญะ
สภาวธรรมทั้งหลายเกิดได้จากสภาวะจิต ที่เป็นสมาธิ และการยกจิตขึ้นคิดพิจารณา........
                 ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นสภาวะแห่งปัตจัตตัง รู้ได้เฉพาะตนโดยการปฏิบัติ
การศึกษาปริยัติ(การอ่าน การฟัง)นั้นเป็นเพียงขั้นพื้นฐาน เป็นเพียงการเก็บข้อมูลหาแนวทาง
หาแบบอย่างที่จะนำไปปฏิบัติ เพียงแต่ฟัง เพียงแต่อ่าน เพียงแต่คิด จิตยังไม่ถือว่าเข้าถึงธรรม
จำได้ พูดได้และเข้าใจ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความคิด เป็นเพียงนามธรรม เป็นเพียงความฝัน
เป็นเพียงจินตนาการ ตราบใดที่ยังไม่ได้เอาธรรม ที่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษานั้นนำมาปฏิบัติกับตน
ก็เป็นได้เพียงนกแก้วนกขุนทอง ที่ท่องได้พูดได้ เป็นเพียงใบลานเปล่า เพราะว่ายังไม่เข้าถึง
สภาวะธรรมที่แท้จริง "รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม แต่ยังไม่ได้ทำ " จึงยังเข้าไม่ถึงธรรม
ไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เพราะยังไม่ได้อยู่ในธรรม.......
               การปฏิบัติคือการกระทำที่กายและที่จิต มีสติในการนึกคิด รู้กาย รู้จิตและรู้สิ่งที่ทำ
รู้จักแยกแยะบาปและบุญ กุศลและอกุศลให้ออกจากกัน รู้จักการข่มจิตข่มใจ ไม่ให้คล้อยตาม
อกุศลจิตทั้งหลาย ควบคุมความรู้สึกนึกคิด ควบคุมจิตให้อยู่กับกุศลธรรม น้อมนำจิตเข้ามา
พิจารณาในกายของตนเอง  จนเกิดความเข้าใจในกายนี้ ว่าเป็นเพียงธาตุทั้งสี่ที่มาประชุมกัน
ประกอบเป็นร่างกาย มีช่องว่างระหว่างธาตุ คืออากาศธาตุ จิตเข้ามารับรู้อยู่อาศัยอันได้แก่
วิญญาณธาตุ ตั้งอยู่ไม่นานก็แตกดับไป ธาตุทั้งหลายก็คืนสู่ธรรมชาติ วิญญาณธาตุก็ต้อง
ไปสู่ที่แห่งใหม่ หมุนเวียนกันไป เป็นภพเป็นชาติกันต่อไป จิตก็จะจางคลายในการยึดถือ
ในร่างกายและตัวตน เมื่ิอเราเห็นกายและเข้าใจกายของเราโดยสภาวธรรม........
             น้อมใจมาดูจิต ดูความคิดทั้งหลายของเรา เอาจิตถามจิต ว่าทำไมต้องคิดต้องปรุงแต่ง
คิดแล้วได้อะไร คิดแล้วทำได้หรือไม่ สิ่งที่คิดนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล คิดแล้วมีผลเป็นอย่างไร
มีคุณหรือไม่ อะไรเป็นต้นเหตุที่ทำให้คิด เอาจิตถามจิต หาคำตอบที่จิตของเราเอง เอาจิตถามจิต
จนเห็นที่เกิดของจิต คือเห็นต้นเหตุแห่งความคิด จึงจะเข้าใจในความคิด เข้าใจจิตและเข้าใจในธรรม
ซึ่งต้องหมั่นทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นความเคยชินของจิต เมื่อมีสิ่งมากระทบและทำให้เกิด
ความคิดจิตแปรเปลี่ยนไป ตามดู ตามรู้ ตามเห็นให้ทันกับสิ่งเหล่านั้นที่เกิดขึ้น  โดยใช้สติสัมปชัญญะ
เป็นตัวควบคุมดูแล  คุ้มครองจิตนั้น โดยเอาปัจจุบันธรรมทั้งหลายมาเป็นอารมณ์กัมมัฏฐานในการ
ที่จะคิดและพิจารณา เพื่อปรับเข้าหาธรรม ดั่งคำที่ว่า...รู้กาย รู้ใจ รู้จิต รู้ทันความคิด ก็เห็นธรรม.......

                                            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๗ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

18
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๕ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๒๖ กันยายน  พ.ศ. ๒๕๕๔
            ช่วงนี้ฝนหยุดตกมาสองวันแล้ว ตื่นตามเวลาปกติ ทำกิจวัตรส่วนตัวเสร็จแล้ว
ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิเจริญภาวนา จนได้เวลาจึงลงไปทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคเช้า
เสร็จกิจวัตรในภาคเช้า เก็บสบง จีวร อังสะ ผ้าอาบน้ำฝนไปซัก เพราะที่ผ่านมานั้นครึ้มฟ้าครึ้มฝน
ไม่มีแสงแดดมาหลายวัน วันนี้อากาศดีจึงถือโอกาศเก็บผ้าทั้งหมดไปซัก เสร็จจากซักผ้าตากผ้าแล้ว
กลับขึ้นที่พัก อ่านหนังสือพระไตรปิฏก ฟังธรรมะบรรยายของครูบาอาจารย์ เขียนบทความบทกวี
ตอนเที่ยงกว่าๆมีญาติโยมขึ้นมาเยี่ยม ๒ คณะ สนทนากันพอประมาณ เสร็จธุระจึงลากลับกันไป
วันนี้ไม่ได้ทำงานก่อสร้างหยุดพักกันหนึ่งวัน จึงได้มีเวลาพักผ่อน อ่านหนังสือ ฟังธรรมเขียนหนังสือ
 ตอนเย็นลงไปทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติ หลังจากไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็นแล้ว ก็กลับที่พัก
มาเจริญสติภาวนาต่อ เสร็จจากการเจริญภาวนาก็มาเขียนบทความบทกวีแล้วจึงได้จำวัตรพักผ่อน....
          ได้มีเวลาค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฏก ทำความรู้ความเข้าใจในหัวข้อธรรม ที่ยังสงสัย
ไม่เข้าใจในภาษาธรรม ปรับให้เป็นภาษาพูดเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ในการที่จะเอาไปนำเสนอเผยแผ่
เพราะถ้าใช้คำศัพท์ภาษาธรรมนั้น จะทำให้ผู้ฟังจะเข้าใจได้ยาก บางครั้งฟังแล้วยิ่งเกิดความสงสัย
ไม่เข้าใจมากขึ้น เพราะติดอยู่กับความหมายของคำศัพท์ในภาษาธรรม และบางครั้งก็อาจจะตีความ
แปลความหมายของคำศัพท์นั้นผิดพลาดไป จึงต้องใช้ภาษาที่เรียบง่าย เพื่อให้ฟังสบายๆง่ายแก่การ
ที่จะเข้าใจและทำให้ดูว่าไม่เป็นพิธีการจนเกินไป การฟังธรรม พิจารณาธรรม ทำให้เข้าใจสภาวะธรรม
            จิตปรุงแต่งในกิเลส คือจิตเริ่มคิดก่อน คิดชอบ คิดไม่ชอบ เมื่อความคิดเกิดจึงปรุงแต่งให้เกิด
กิเลส ความโกรธ โลภ หลง เมื่อกิเลสเกิดขึ้นและเราไม่มีสติสัมปชัญญะพอจะดับกิเลส มันก็ปรุงแต่งจิต
ให้คิดวุ่นวายไปเรื่อย ไม่ผ่องใส พอจิตมันคิดปรุงแต่ง มันก็จะปรุงให้กิเลสเพิ่มขึ้นๆ จนกว่าเราจะได้สติ
มันจึงจะหยุดปรุง.......
           การปฏิบัติธรรมนั้น อย่าไปอยากรู้อยากเห็นอยากเป็นในสิ่งใดๆ ให้มันรู้อยู่อย่างเดียว มีอะไรก็ช่าง
รู้อยู่อย่างเดียว ความอยากนั้นทำให้จิตวุ่นวาย หลุดออกจากสมาธิ เราปฏิบัติเพื่อความปล่อยวาง เพื่อจะละ
จะลดซึ่งความยึดมั่นถือมั่นต่างๆให้เบาบางลง เพื่อละความยินดียินร้าย เราเป็นผู้ดูไม่ใช่ผู้บังคับให้มันเป็น
           การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิตนั้น เรียกว่ากำลังทำความเพียร กำลังปฏิบัติธรรม ไม่จำเป็นว่า
จะต้องนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมจึงจะเรียกว่าปฏิบัติธรรมทำความเพียร ถ้าไม่มีสติระลึกรู้ ฟุ้งซ่านคิดไปเรื่อย
ก็ไม่เรียกว่าทำความเพียร แม้จะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมอยู่ก็ตาม เมื่อไหร่ที่จิตนั้นมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่
ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่งจะนอน ก็ได้ชื่อว่ากำลังปฏิบัติธรรมทำความเพียรอยู่.......
       เป็นการกระตุ้นเตือนสติอยู่ทุกขณะจิต ในสิ่งที่คิดและในกิจที่ทำ เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต
เป็นเรื่องกระบวนการทางจิต ที่ต้องฝึกฝนอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สติและสัมปชัญญะนั้นมีกำลังเพิ่มขึ้น
ให้ระลึกรู้ถึงบทบาทและหน้าที่ของความเป็นสมณะเพศ ในสิ่งที่ควรคิดลิจที่ควรทำ ตอกย้ำจิตสำนึกนั้น
อยู่ตลอดเวลา ถึงคุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ทำให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เรานั้นจะทำได้......
                              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๖ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

19
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๔ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
      การที่ได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากนั้น ทำให้โลกทัศน์ ชีวทัศน์ของเรานั้นกว้างขึ้น
มีเพื่อนฝูงมิตรสหายมากมาย ทั้งที่เป็นคนไทย ต่างชาติ หรือต่างศาสนา แต่ก็ไม่มีปัญหา
ในการคบหากัน มันเป็นความผูกพันระหว่างเพื่อนพ้องน้องพี่ ซึ่งไม่มีเชื้อชาติศาสนามา
แบ่งกัน มันเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างใจ ที่มอบให้แก่กัน ศาสนาและเชื้อชาตินั้นจึงไม่ใช่ปัญหา
ดั่งที่ได้กล่าวไว้เสมอว่า เมื่อได้พบปะเจอะเจอได้สนทนาธรรมกับคนต่างชาติหรือคนต่างศาสนา
ว่า " ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องศรัทธาเปลี่ยนศาสนา ขอเพียงให้คุณเป็นคนดีของสังคมนั้นก็พอแล้ว "
เพราะจะพูดและแนะนำเรื่องการดำเนินชีวิต หลักการคิด การพิจารณา ทำอย่างไรชีวิตนี้จะมีความสุข
ทำอย่างไรจะให้ประสพความสำเร็จในชีวิตทั้งทางธุรกิจ หน้าที่การงานและครอบครัว เพียงให้เขานำ
ไปประพฤติปฏิบัติ กล่าวธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยที่เขาไม่รู้ว่าเรากล่าวธรรมของพุทธศาสนา
ไม่อ้างบาลีหรือพระไตรปิฏก เพื่อลดช่องว่างระหว่างศาสนาที่ศรัทธานั้นแตกต่างกัน ลดความกดดัน
นำธรรมมาประยุกค์ใช้ให้เหมาะสมกับ จังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคล โดยเน้นที่เหตุและผล
ที่สามารถอธิบายหาข้อสรุปได้ สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติตามได้โดยไม่ขัดกับศรัทธาศาสนาที่เขานับถือ
นี่คือแนวทางการเผยแผ่ธรรมะ " ที่ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ " ทำให้ได้รู้จักและคบหากับญาติโยมมากมาย
หลายชาติหลายศาสนา ทั้งคริสต์ อิสลาม ซิกส์ ฮินดู นั่งคุยร่วมวงกันได้โดยไม่มีปัญหา เพราะว่าเราไม่ได้
เอาศาสนามาเป็นตัวแบ่งแยกกัน เอาความเป็นจริงตามธรรมชาติ เอาเหตุและผล มาพูดคุยกัน เราก็จะอยู่ร่วมกัน
โดยสันติสุข " ทำตัวสบายๆเรียบง่าย แต่ไม่มักง่าย และไม่ผิดธรรมวินัยจนเสียสมณะรูป " ไม่เคร่งจนเกร็งเกินไป
เพราะมันจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างพระกับโยม ไม่เกิดความคุ้นเคยสนิทสนมกัน ไม่สร้างภาพเพื่อให้เขาศรัทธา
อยู่กับความเป็นจริง ตัวตนที่แท้จริงของเรา ใครจะเชื่อใครจะศรัทธาหรือไม่ศรัทธา มันเป็นเรื่องของเขาไม่ไปกังวล
เรารู้ในสิ่งที่เราคิด เรารู้ในสิ่งที่เราทำและรู้ถึงผลของการกระทำ มันก็จะทำให้เราไม่ทุกข์ เพราะถ้าเรานั้นสร้างภาพ
ให้ดูว่าเป็นผู้มีจริยวัตรที่งดงามเพื่อให้ญาติโยมศรัทธา มันก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน วันหนึ่งตัวตนที่แท้จริงมันเปิดเผยออกมา
ศรัทธาทั้งหลายก็จะหมดไป เพราะสิ่งที่ซ่อนไว้นั้นได้ถูกเปิดเผย จงเป็นตัวของของเอง ความเสมอต้นเสมอปลายใน
การใช้ชีวิต ในการประพฤติปฏิบัติ "กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คน ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน " ..........
           ทำศาสนาให้เป็นสากล โดยเอาเหตุและผลมาเป็นที่ตั้ง ปรับเข้าหาธรรมชาติแห่งความเป็นจริงทั้งหลาย
ที่รู้ได้และสัมผัสได้ด้วยการกระทำ นำไปใช้เป็นหลักในการดำเดินชีวิต เพราะธรรมะนั้นก็คือธรรมชาติทั้งหลาย
ที่แปรเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม ของจังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคล โดยมีองค์แห่งคุณธรรม
คุ้มครองอยู่ คือเป็นผู้ละอายและเกรงกลัวต่อบาป ความมีเมตตาโอบอ้อมอารี มีใจเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในจิตใจของคนทั้งหลายอยู่แล้ว โดยไม่จำกัดเรื่องเชื้อชาติและศาสนา มันเป็นคุณธรรม
ประจำจิตที่มีอยู่ของทุกผู้คน เราเพียงชี้แนะให้ความมั่นใจเปิดโอกาส ส่งเสริมให้เขาได้ทำในสิ่งเหล่านั้น
เพราะในส่วนลึกของจิตสำนึกของมนุษย์ทุกคนนั้น ต่างก็ปรารถนาอยากจะเป็นคนดี ขอเพียงให้มีผู้ชี้ทาง
และสร้างโอกาสให้แก่เขา....นั่นคือสิ่งที่เราต้องคิดและต้องกระทำ.....
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๕ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๒.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

20
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๓ กย. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
        ฝนตกหนักตั้งแต่เช้า ออกไปตรวจดูรางน้ำตามจุดต่างๆที่รองรับน้ำฝน
เพราะว่าอาศรมนั้นตั้งอยู่บนเขา ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องเก็บกักน้ำฝนไว้
เพื่อใช้เป็นน้ำอาบและใช้ในการซักล้าง ซึ่งได้จัดเตรียมถังเก็บกักน้ำไว้แล้ว
จะเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ได้ประมาณ ๑๕,๐๐๐ ลิตร ฝนตกลงมาในครั้งนี้
ทำให้ได้ปริมาณน้ำตามที่ต้องการ ได้น้ำเต็มเกือบทุกจุดที่รองรับน้ำไว้
เก็บตัวอยู่ในที่พักเกือบทั้งวัน ฟังธรรมบรรยายของครูบาอาจารย์ที่ได้บันทึกไว้
เขียนบทความ บทกวี ตอนที่อารมณ์ธรรมนั้นเกิด เพลิดเพลินอยู่ในวิหารธรรม......
            " ภายนอกเคลื่อนไหว  ภายในสงบนิ่ง "  สงบนิ่งนั้นหมายถึงการไม่หวั่นไหว
ไปตามกระแสโลกทั้งหลาย ไม่ยินดียินร้าย กับสิ่งที่ประสพพบเห็น วางใจให้เป็นกลาง
มองทุกอย่างด้วยเหตุและผล ซึ่งอยู่บนหลักธรรม แล้วนำมาประยุกค์ใช้ให้เหมาะสม
กับสถานการณ์  อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านได้กล่าวสอนไว้ว่า " ให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง
 " คือว่างจากกิเลส ตัณหาและอัตตา พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นธรรมะ สอดคล้องกัน
ทั้งในทางโลกและทางธรรม นำมาใช้และปฏิบัติได้จริงกับชีวิตประจำวัน ใช้ได้กับทุกเรื่องราว
 อยู่บนพื้นฐานของความพอดี พอเพียง ไม่เป็นภัยต่อชีวิต ไม่เป็นพิษกับผู้อื่นไม่ฝ่าฝืนศีลธรรม
ประเพณีอันดีงาม เป็นไปโดยชอบและประกอบด้วยกุศล นั่นคือแนวทางของการปฏิบัติธรรม
ที่นำมาประยุกค์ใช้กับชีวิตประจำวัน ที่ต้องมีความสัมพันธ์ ต้องพบปะกับผู้คนมากมาย
ต่างจิตต่างใจต่างปัญหา ซึ่งไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ จึงต้องฝึกทำใจให้อยู่เหนือปัญหา
 ฝึกจิตนั้นให้ว่างจากกิเลส ตัณหาและอัตตา ฝึกพิจารณาปรับเข้าหาหลักธรรมทั้งหลาย
เพื่อให้ชีวิตนั้นก้าวเดินไป พร้อมกันได้ ทั้งทางโลกและทางธรรม........
          " มีสติแนบอยู่กับตัวรู้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน พิจารณาลมหายใจเป็นพระไตรลักษณ์
พิจารณากายคตานุสติ คือพิจารณาร่างกายของเราเอง ให้มันชัดแจ้ง ทั้งกายภายนอก
และกายภายใน เมื่อเราเห็นกายและจิตของเราแล้ว เราก็จะเห็นและเข้าใจในกายและจิต
ของผู้อื่นเช่นกัน " ทำความรู้ความเข้าในกายและจิตของตน ค้นให้เจอซิ่งกิเลสตัณหาอัตตา
ที่มีอยู่ในจิตของตนให้เจอ รู้เห็นและเข้าใจ โดยการคิดพิจารณาถึงคุณถึงโทษ ถึงประโยชน์
และไม่ใช่ประโยชน์ของสิ่งเหล่านั้น เป็นไปเพื่อความจางคลายแห่งกิเลสตัณหาอัตตาอุปทาน
ด้วยการใช้จิตพิจารณาในธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นปัจจุบันธรรม คือสิ่งที่กำลังเห็นและเป็นอยู่
รับรู้ได้ด้วยจิต โดยการคิดและพิจารณาเข้าหาหลักธรรมทั้งหลาย.......
                      เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๔ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๒๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

21
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป  ๒๒ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่  ๒๓  กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
         ในช่วงนี้มีงานก่อสร้างเข้ามา คือการช่วยกันทำศาลาโรงฟืน โรงไฟ
จึงต้องลงไปที่หน้างาน คอยดูแล แนะนำ ให้กำลังใจแก่คนที่มาช่วยงาน
สนทนาพูดคุยกันเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน ไม่เครียดกันในขณะทำงาน
งานที่ทำจึงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในเวลาอันรวดเร็ว เพราะไม่มีความกดดัน
ในขณะที่ทำงานนั้น ทุกคนมีขวัญและกำลังใจ ซึ่งเกิดได้จากจิตที่ศรัทธา
          ใช้เวลาที่ว่างอยู่กับการเขียนบทความ บทกวีและฟังธรรมะบรรยาย
ของหลวงพ่อพุทธทาส ซึ่งได้เก็บบันทึกไว้ ในหัวข้อ...ชีวิตที่ต้องพัฒนาไป...
เพื่อทำความรู้ความเข้าใจสร้างขวัญและกำลังใจ เพื่อให้มีศรัทธาเพิ่มขึ้น
หลังจากเราได้ไปสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้อื่นแล้ว จึงต้องย้อนกลับ
มาสู่ตัวเรา เพื่อกำลังศรัทธาของตนเองให้ยิ่งขึ้นไป ฟังแล้วคิดพิจารณาตามไป
ซึ่งในการฟังธรรมแต่ละครั้งนั้นเราจะได้มุมมองใหม่ๆเกิดขึ้นมาในจิตขึ้นมาทุกครั้ง
แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน  เพราะว่าเมื่อวันเวลาผ่านไปนั้น เราได้สั่งสมประสบการณ์ขึ้น
มาตลอดเวลา การพัฒนาของความคิด ทำให้จิตของเราละเอียดขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ทำให้มีมุมมองใหม่ๆเกิดขึ้นมาเสมอ ฉะนั้นเราจึงไม่ควรที่จะด่วนสรุปอะไรในสิ่งที่ผ่านมา
ว่าเรานั้นรู้แล้ว เข้าใจแล้ว เมื่อได้ฟัง ได้อ่านและได้ทำ เพราะว่าในเวลานั้นความรู้ความเข้าใจ
ของเรามันมีอยู่เท่านั้น จึงรู้และเข้าใจได้เพียงขนาดนั้น แต่เมื่อเราประพฤติปฏิบัติต่อไป
กำลังของสติสัมปชัญะและกำลังของปัญญาของเราก็จะเพิ่มขึ้น มุมมองก็จะกว้างขึ้น
เห็นแง่มุมต่างๆที่เราเคยมองข้ามไป ทุกสิ่งอย่างนั้นเป็นไปตามความเหมาะสมของ
จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และบุคคล ซึ่งตราบใดที่เรานั้นยังไม่หมดกิเลส ตัณหา
ยังมีอัตตาความเป็นตัวตนอยู่ เราจึงไม่ควรที่จะด่วนสรุปว่าเรานั้น รู้แล้ว เข้าใจแล้วและ
ไม่ต้องทำต่อไปแล้ว เพราะเรานั้นยังเป็นเสขะบุคคล ที่ยังต้องฝึกฝนอีกยาวไกล......
          ในขณะที่เราฟังธรรมนั้น เมื่อเราได้คิดและพิจารณาตามธรรม มีสติคือความตั้งใจ
จิตจดจ่ออยู่กับเสียงที่ได้ยิน ความเป็นสมาธินั้นก็ย่อมจะเกิดขึ้น เกิดสภาวะแห่งปิติขึ้นมา
เมื่อจิตอยู่กับธรรม มองสิ่งรอบกายทั้งหลายก็น้อมเข้าหาธรรม จึงเกิดสภาวธรรมที่ลื่นใหล
คิดอะไร เห็นอะไร มันก็เป็นธรรมะไปทั้งหมด ทำให้เขียนบทความ บทกวีธรรม ไม่มีการติดขัด
ลื่นใหลและรวดเร็ว จนบางครั้งจิตกับกายไม่สัมพันธ์กัน ในขณะที่เขียนบันทึกธรรมที่เกิดขึ้น
จึงต้องปรับกายปรับจิตอยู่ตลอดในขณะที่เขียนบันทึกบทความ บทกวี โดยการเพิ่มกำลังของ
สัมปชัญะให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความพอดีกันกับกำลังของสติ เพราะถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีกำลัง
มากเกินไป ไม่พอดีกัน มันก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาในกายและจิต ซึ่งเป็นไปตามหลักของ
การปฏิบัติที่ว่า......” ศรัทธามาก ปัญญาหย่อน ความโลภจะเข้าครอบงำจิต.....ปัญญามาก
แต่ศรัทธาหย่อน ความสงสัยลังเลจะเข้าครอบงำ.....วิริยะความเพียรกล้า  แต่สมาธิหย่อน
ความฟุ้งซ่านจะเข้าครอบงำ.....สมาธิกล้า  วิริยะความเพียรหย่อน ความง่วงจะเข้าครอบงำ
.....สติและสัมปชัญญะนั้น เป็นตัวเข้าไปปรับอินทรีย์พละ ให้มีความเสมอกัน “.....
ความเจริญในธรรมนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้โดยองค์แห่งคุณ ๓ ประการคือ...
๑. อาตาปี....ความเพียรตั้งใจจริง
๒. สติมา.....มีสติระลึกรู้เท่าทันอารมณ์
๓. สัมปชาโน....มีความรู้ตัวทัวพร้อมทุกขณะ
องค์คุณทั้ง ๓ นี้จะทำให้เกิดความพอดี ทำให้มีความเจริญก้าวหน้าในธรรม....
                  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๓ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๕๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

22
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๑ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
         พายุฝนผ่านพ้นไป สิ้นฝนก็ต้นหนาว ท้องฟ้าแจ่มใส มองเห็นดาว
เมฆดำบนฟ้าหายไป ฟ้าหลังฝนที่คนเขากล่าวกัน มันก็เป็นเป็นเช่นนี้เอง
เมื่อก่อนนั้น เราเพียงแต่มองผ่านไปแต่ไม่ได้คิดและพิจารณาเพราะคิดว่า
ทุกอย่างนั้น เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อเราได้พิจารณาถึง
สภาพของฟ้าหลังฝนหยุดตกแล้ว ได้รู้ได้เห็น ได้เข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
เมื่อเราพิจารณาสิ่งรอบกายให้เป็นธรรมะ มันเป็นสภาวะแห่งสัจจธรรม ที่เรียบง่าย
ถ้าเราได้คิดพิจารณาให้เป็นธรรมะ ทุกอย่างรอบกายไม่ไร้สาระ ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะ
ล้วนแล้วคือสภาวธรรม เคยรู้เคยเข้าใจว่าสิ่งรอบกายทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะ
เป็นสภาวธรรม แต่เรามักจะพิจารณาเฉพาะสิ่งที่เราสนใจโดยความชอบความพอใจในสิ่งนั้น
จิตยังปิดกั้นไม่เปิดกว้างยังมีข้อจำกัดในการคิดและพิจารณา ไม่เป็นไปตามธรรมชาติโดยแท้จริง
แต่เมื่อเราเปิดจิตของเราให้กว้างขึ้น มองธรรมชาติรอบกายทุกสิ่งให้เป็นธรรมะอย่างแท้จริง
เราจึงได้รู้ว่ายังมีหลายสิ่งที่เรายังไม่รู้และเข้าใจ เพียงแต่จำได้แต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในสภาวธรรม
การปฏิบัติธรรมคือการทำสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้น แล้วรักษาสิ่งที่มีมิให้เสื่อมสลาย ให้ดำรงค์ทรงไว้
และขั้นสุดท้ายคือการสลายทำเหมือนมันไม่มีอะไร...สูงสุดคืนสู่สามัญ..คือเข้าสู่อารมณ์วิปัสสนา
มีสติและสัมปชัญญะ ความระลึกรู้ ความรู้ตัวทั่วพร้อมคุ้มครองกายคุ้มครองจิดอยู่ทุกขณะ
เป็นสภาวะของความเป็นปกติ ไม่มีรูปแบบ ไม่มีกระบวนท่า...กระบี่อยู่ที่ใจ...เก็บงำประกาย
 รู้อยู่ภายใน ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงออก การปฏิบัติธรรมนั้นคือการทำที่จิตไม่ใช่อยู่ที่รูปแบบทางกาย
 มิได้ทำไปเพื่อให้ผู้อื่นมาชื่นชม ยกย่องสรรเสริญ มิใช้การแสดงสภาวธรรมทั้งหลายเป็นของเฉพาะตน
 รู้ได้ด้วยตน พิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติ .สภาวธรรมนั้นเป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน.......
             ขอบคุณธรรมชาติรอบกายทั้งหลายที่เป็นครูผู้สอนธรรม  น้อมนำให้จิตได้คิดและพิจารณา
ในสิ่งที่ผ่านมาและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่  ให้มีสติระลึกรู้และความรู้ตัวทั่วพร้อม น้อมจิตเข้าสู่การปฏิบัติ
ขจัดความคิดที่เป็นอวิชชาทั้งหลาย ให้จางคลายและหายไป เรียนรู้ในสิ่งใหม่ เข้าใจในปัจจุบันธรรมยิ่งขึ้น
ไม่ใช่ความคิดที่เกิดจากจิตปรุงแต่ง แต่เป็นสภาวะรู้ที่เกิดในขณะที่จิตนั้นว่าง เมื่อเราละวางความคิดทั้งหลาย
ทำให้ระลึกนึกถึงคำกล่าวของครูบาอาจารย์ที่ ท่านได้กล่าวสอนไว้ว่า ” เมื่อหยุดคิดปรุงแต่งและวางทุกสิ่งลงได้
( ทั้งสิ่งที่รู้และสิ่งที่ถูกรู้ทั้งปวง ) สัจธรรมจริงแท้ก็จะปรากฏขึ้นมาให้รู้เห็นเอง “ ...มันเป็นเช่นนี้เอง....
                          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๒ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๔๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

23
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๐ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่  ๒๑  กันยายน  พ.ศ. ๒๕๕๔
            หลังจากการทำงานโยธากัมมัฏฐาน แบกกระเบื้องมุงหลังคาขึ้นเขา
จำนวนหลายเที่ยวในวันที่ผ่านมา ร่างกายก็อ่อนเพลียเป็นธรรมดาของมัน
จึงต้องปรับกายให้เป็นปกติ เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการฝึกจิตขั้นต่อไป
เมื่อกายพร้อม จิตพร้อม การปฏิบัติก็ย่อมมีความเจริญในธรรม สภาวธรรม
เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น จิตละเอียดขึ้น เห็นกิเลสภายในชัดขึ้น และดับได้เร็วขึ้น
มี นิวรณ์เข้ามารบกวนบ้างคืออารมณ์ของถีนมิทธ ความง่วงเหงาหาวนอน
เพราะการใช้แรงงาน ต่อสู้กับนิวรณ์เหล่านั้นโดยอาศัยวิริยะบารมีเข้ามาข่ม
ทรงไว้ซึ่งอารมณ์ธรรม ดูแลควบคุมงานการก่อสร้างตั้งแต่ตอนสายถึงเย็น
กลางคืนมีมิตรสหายจากแดนไกลเดินทางมาสนทนาธรรมแลกเปลี่ยนธรรมะกัน
สภาวะเด่นชัดขึ้น มีปิติทุกครั้งที่ได้อธิบายธรรมได้กล่าวธรรม จนลืมเรื่องของเวลา
ที่มันผ่านไป เพราะการที่ได้กล่าวธรรมนั้น มันเป็นการทบทวนธรรมไปในตัว
และเป็นการสอนธรรมแก่ตัวเองทุกครั้ง......
          กล้ามเนื้อเกิดอาการตึง จึงบริหารร่างกายโดยการลงไปกวาดใบไม้รอบที่พัก
 เพื่อให้เหงื่อมันออก กล้ามเนื้อจะได้คลายตัว และเพื่อที่จะสะลายอารมณ์ที่เป็นอยู่
“ เคลื่อนไหวทางกาย  สะลายทางจิต “ เพื่อปรับกาย ปรับจิตเสียใหม่ให้มีความปกติ
หลังเหงื่อออกจนท่วมกายแล้ว รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย  ทำความสะอาดร่างกายเสร็จ
เกิดศรัทธาอยากจะภาวนา เพื่อยังความสงบให้เกิดขึ้น จิตตื่นอยู่เพราะอารมณ์ปิติ
จากการได้กล่าวธรรมยังค้างอยู่  จึงตามดูตามรู้ในปัจจุบันธรรม......
           ดังที่เคยกล่าวไว้ในการปฏิบัติธรรม คือการสร้างปิติจากภายนอกเพื่อเข้าสู่ปิติตัวใน
เรามีวิธีที่จะทำได้หลายประการ มันอยู่ที่การฝึกฝนและการทดลองทางจิต  ไม่มีคำว่าผิด
ในการปฏิบัติ ถ้าเรานั้นมีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา ว่าเราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร
เราจะไม่หลงในอารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเราทำไปโดยไม่รู้และสำคัญผิดโดยคิดว่าใช่
นั่นแหละมันจะพาให้เราหลงอารมณ์  หลงทางในการปฏิบัติ จึงจำเป็นที่จะต้องทำ
ความรู้ความเข้าใจในสิ่งจะทำให้ได้เสียก่อน ว่ามันคืออะไร เพื่ออะไรและทำอย่างไร
ก่อนที่จะเข้าสู่การปฏิบัติ จงมีสติทุกขณะจิต  ในการคิดและการทำ แล้วจะไม่หลงทาง ......
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๑ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๑.๔๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

24
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๙ กย. ๕๔ ... 
ตถตาอาศรม เขาเรดารร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
          เมื่อวานที่ผ่านมานั้น ได้เตรียมการก่อสร้างโรงฟืนโรงไฟภายในอาศรม
ต้องช่วยกันแบกขนวัสดุอุปกรณ์ขึ้นเขา ทั้งเสาไม้ประดู่และกระเบื้องมุงหลังคา
ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้กำลังแรงกายอย่างมาก ในการแบกของที่หนักเดินขึ้นเขา     
 ซิ่งการทำงานที่ใช้กำลังเราต้องระวังสำรวมสติ  การทำงานที่ต้องใช้แรงงานนั้น
มันย่อมมีผลต่อร่างกายและจิตใจ และต้องใช้ความอดทนที่สูงเป็นอย่างมาก 
เพราะถ้าขาดสติตามดูตามรู้ตามเห็นไม่ทัน กิเลสนั้นมันก็จะแสดงออกมา
ความเอาแต่ใจตัวเอง ความเห็นแก่ตัว ความน้อยใจ ความเสียใจ ความมักง่าย
 ความขี้เกียจ ความโกรธจะปรากฏขึ้น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกิเลสมันถูกเผาให้เร้าร้อน
 มันถูกกระตุ้นด้วย ความเหนื่อย ความร้อน  ความหิวกระหายเมื่อไม่ได้ตามที่ใจปรารถนา
กิเลสมันก็จะปรากฏชัดออกมา.....
             การทำงานก็คือการสอบอารมณ์ของเรา เพราะเราต้องเผชิญกับตามเป็นจริง
และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น มันคือชีวิตจริงสิ่ที่เราต้องประสพพบอยู่ทุกวันในการดำเนินชีวิตของเรา
ขณะที่เรานั่งสมาธิภาวนานั้น มันไม่มีผัสสะของจริงมากระทบจิต  เราอยู่กับความสงบ
กิเลสมันถุกกดทับด้วยอารมณ์สมาธิ มันจึงมองไม่เห็นกิเลส และอาจจะหลงคิดไปว่าไม่มีกิเลสแล้ว 
อารมณ์ในสมาธินั้นมันเป็นโลกส่วนตัวของเรา  เฉพาะตัวเรา แต่เมื่อเราออก จากอารมณ์สมาธิแล้ว 
กลับมาสู่ความเป็นจริง คือปัจจุบันธรรม สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งมันมีทั้งแรงดูดและแรงต้านใ
ห้เราคล้อยตามหรือปฏิเสธ ถ้าสติและสัมปชัญญะมีกำลังอ่อน เราก็จะถูกกิเลสนั้นเข้าครอบงำ
คล้อยตามกิเลสที่กิดขึ้น แต่ถ้ากำลังของสติสัมปชัญญะ มีความสมบูรณ์ เราจะรู้เท่าทันกิเลสนั้น
จิตก็จะปฏิเสธไม่คล้อยตามในอารมณ์นั้น........
          " ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต " เราต้องรู้จักตัวเรา เพราะไม่มีใครจะรู้เหตุและผลของตัวเรา
เท่ากับตัวเรา  เราเองต้องเป็นผู้สอบอารมณ์ของตัวเรา ไม่ต้องให้ใครเขามาสอบอารมณ์ของตัว เรา
 " จงรู้จักกาย รู้จักจิต รู้จักความคิด และรู้ในสิ่งที่กระทำ" เราจึงจะไม่หลงทาง หลงตัวเอง หลงกิเลส
และการสอบอารมณ์ที่ดีที่สุด ก็คือการทำงาน ที่ใช้กำลังแรงงานร่วมกับผู้อื่น เพราะเราจะได้เจอผัสสะ
(สิ่งที่มากระทบ)ทั้งภายนอกและภายใน  เรา จะได้เห็นความหวั่นไหวและความสงบนิ่งของเรา
ซึ่งมันคือของจริง คือสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่  แล้วเราจะได้รู้ว่าการปฏิบัติธรรมของเรานั้น มันก้าวหน้าไปถึงไหน
 รู้ได้ เมื่อภัยมา ปัญหาไม่มา ปัญญาไม่มี  บารมีไม่เกิด ไม่ใช่นั่งคิดนั่งฝันว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้
มันต้องมีของจริงมาพิสูจน์  มาทดสอบอารมณ์ของเรา.....
  แด่การทำงานที่สอนให้เข้าใจถึงการปฏิบัติธรรม 
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดีในหลักธรรม
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๐ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๓ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

25
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๘ กย. ๕๔....
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
..........วันเวลาผ่านไปกับสถานที่แห่งใหม่และรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนไป
ไม่มีกฏเกณฑ์กติกา แต่ว่าขึ้นอยู่กับกฏของธรรมชาติ ตามจังหวะเวลา
และโอกาศ เป็นไปตามความเหมาะสม ไม่ต้องไปจัดระเบียบต่อสังคม
และหมู่คณะ แต่มีภาระที่จะต้องจัดระเบียบให้กับตนเอง กฎกติกานั้น
เกิดขึ้นมาจากความต้องการของมนุษย์ ซึ่งคือตัวตัณหา ความอยากทั้งหลาย
ที่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น อยากจะให้เป็นอย่างนี้ หรือไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น
ไม่ให้เป็นอย่างนี้ ความพอดีจึงไม่มีในกฏกติกา เพราะว่าแต่ละคนในสังคมนั้น
ย่อมมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน จึงไม่มีบรรทัดฐานแห่งความพอดี จึงไม่มีกฎกติกา
อะไรที่ดีที่สุด มีเพียงแต่ความเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับ จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่
และตัวบุคคล เป็นไปเพื่อความสอดคล้องเหมาะสมกับธรรมชาติทั้งหลาย
และแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์แห่งยุคสมัย.....
..............ในความเป็นสมณะนั้นมีกฏเกณฑ์กติกาของความเป็นสมณะคุ้มครองอยู่
โดยศีลและธรรม ไม่ผิดข้อวัตรตามพุทธบัญญัติและไม่เป็นไปให้ชาวโลกเขาติเตียนได้
มันจึงมิใช่เรื่องง่าย ที่จะทำให้ใจนั้นสงบ ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมที่กำลังดำเนินไป
จึงต้องมีการปรับใหม่ ปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิด ปรับการกระทำ เร่งความเพียร
เพิ่มกำลังของสติและสัมปชัญญะ ให้มีกำลังมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับกับผัสสะสิ่งกระทบ
ที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลาและโอกาศ จากอายตนะทั้งหก คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ให้มีสติและสัมปชัญญะรู้เท่าทันการเกิดดับของสรรพสิ่งรอบกาย รู้จักควบคุมและข่ม
ซึ่งกิเลสตัณหา ลดละอัตตาและมานะทิฏฐิให้เบาบางลง พยายามทรงไว้ซึ่งอารมณ์สมาธิ
ให้มีปิติหล่อเลี้ยงจิต พยายยามนึกคิดถึงสิ่งที่เป็นกุศล ฝึกตน ด้วยการเจริญสติ
ตั้งอยู่ในพรหมวิหาร ๔ อันมี เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขาเป็นหลักที่พักจิต
ปรับความคิดให้มองโลกในแง่ดี พิจารณาให้เห็นถึงคุณ ถึงโทษ ถึงประโยชน์
และมิใช่ประโยชน์ในทุกๆสิ่ง เห็นความเป็นจริงของกฏแห่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นกฎ
ของพระไตรลักษณ์ คือความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป
โดยใช้หลักธรรมในอริยสัจ ๔ มาประกอบในการคิดและพิจารณา สิ่งที่มากระทบ
ทั้งหลายล้วนเป็นเหตุแห่งทุกข์ ค้นหาซึ่งเหตุที่มาแห่งทุกข์นั้น จนเห็นที่เกิดแห่งทุกข์
พิจารณาให้เห็นการดับไปแห่งทุกนั้น เมื่อรู้เห็นและเข้าใจในเหตุและปัจจัยให้เกิดทุกข์
พิจารณาหาหนทางที่จะดับซึ่งเหตุและปัจจัยแห่งทุกข์ทั้งหลายนั้น ให้เป็นสมุทเฉจ
คือการดับเหตุและปัจจัย ตัดวงจรแห่งทุกข์นั้น แล้วน้อมนำเอาสิ่งที่ได้คิดพิจารณา
ได้รู้ ได้เห็น ได้เข้าใจ มาลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม การดับทุกข์ย่อมบังเกิดขึ้น
จิตจะเข้าถึงซึ่งความสงบ เมื่อจิตนั้นพบกับธรรม....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต แด่มวลมิตรทุกผู้คน...
............. รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...................
๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๕๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

26
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๗ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
....เป็นธรรมดาของทุกชีวิตในโลกนี้ ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหา
เพราะว่าทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่หวังไว้เสมอ ดั่งคำที่กล่าวว่า
"เส้นทางของชีวิตมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป" แต่ทำอย่างไร
เราจะเข้าใจ และเข้าไปแก้ไขอุปสรรคปัญหานั้นได้
"ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากเหตุ และดับไปที่เหตุ"
เราจึงต้องฝึกขบวนการคิดเพื่อเข้าไปหาเหตุ โดยเริ่มจากการฝึกใจให้นิ่งเสียก่อน
"นิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว" ซึ่งจะทำให้ใจนิ่งได้นั้นมันต้องมีสมาธิ
และการที่จะมีสมาธิได้นั้น มันต้องมีสติ เราจึงต้องฝึกให้มีสติเสียก่อน
ก่อนที่จะทำจิตให้สงบ......
....อุปสรรคและปัญหานั้นมีอยู่ และเป็นสิ่งที่จะต้องเข้าไปแก้ไข
แต่เราต้องทำใจของเราให้อยู่เหนือปัญหาให้ได้เสียก่อน
เรียกว่าวางปัญหานั้นไว้เสียก่อน มันจะทำให้เราผ่อนคลาย
และไม่เป็นการกดดันตัวเราเอง เพราะถ้าเราไม่วางปัญหานั้นไว้เสียก่อน
จิตของเราเข้าไปยึดติดยึดถือ มันจะทำให้เราเครียดหนักอกหนักใจ
สมองเราไม่ปลอดโปร่งทำให้เกิดความเครียด และเมื่อเรามีความเครียด
มันจะทำให้ความคิดของเรานั้นคับแคบ การคิดการมองปัญหาไม่เปิดกว้าง
มันจึงไม่เห็นหนทางที่จะแก้ปัญหานั้นได้......
.....เราจึงต้องมาฝึกใจให้รู้จักการทำใจให้อยู่เหนือปัญหา
(ออกห่างวางปัญหาไว้ชั่วคราว ) ทำกายทำใจของเราให้
ปลอดโปร่งโล่งเบาสบายๆ โดยการออกกำลังกายหรือหาอะไรทำ
ให้เหงื่อมันออกให้เต็มที่ พักให้เหงื่อแห้งแล้วให้เราไปอาบน้ำ
มันจะทำให้ร่างกายของเราเบาสบาย เป็นการผ่อนคลายและปรับธาตุ
ในกายของเรา แล้วมามองเข้าไปสู่ปัญหาที่มี โดยอย่าคิดว่าเป็นปัญหาของตัวเรา
ให้เราคิดว่าเป็นปัญหาของผู้อื่น สมมุติตัวละครขึ้นมาแทนตัวเราและคนของเรา
(เพื่อลดอัตตา ความยึดถือ ว่าตัวกู ของกู)ทำเหมือนกับที่เรามองปัญหาของผู้อื่น
วิจารณ์ผู้อื่น (เรื่องของชาวบ้านเรารู้ไปหมด เข้าใจไปหมด แก้ไขได้หมด
เพราะเราไม่มีความกดดัน เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา) เพราะถ้าเราคิดว่า
เป็นปัญหาของเราที่เราเผชิญอยู่ มันจะมีความยึดถือและคิดเข้าข้างตัวเอง
ไม่อยากจะเสียหรือเสียให้น้อยที่สุด จิตไม่เป็นกลางคิดเข้าข้างตัวเอง......
......เวลาเราเครียดจงอย่าอยู่ในที่คับแคบ อย่าใช้การนอนเป็นการพักผ่อน
เพราะมันจะทำให้เรายิ่งเครียดมากขึ้น (ความคิดของเรามันเป็นพลังงาน
ไฟฟ้าสถิตย์ มันจะกระจายอยู่รอบกายเรา และถ้าอยู่ในที่แคบมันจะก่อตัวมีพลัง
กลับมากดดันตัวเรา) ให้ออกไปอยู่ในที่โปร่ง ที่กว้าง มองออกไปให้สุดสายตา
ปล่อยความคิดของเราให้กระจายไปสุดกำลัง หายใจยาวๆช้าๆเพื่อปรับธาตุในกาย
เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นประสาทไปในตัว แล้วจึงมองกลับไปที่ปัญหา
เพื่อหาทางแก้ไขในปัญหาที่มี ฝึกทำอย่างนี้บ่อยๆจนชำนาญ แล้วกระบวนการ
ทางความคิดของเราจะพัฒนา เราจะเข้าใจซึ่งปัญหา หาเหตุที่มาของปัญหานั้นเจอ
และจะเห็นช่องทางการแก้ไข เพราะเราจะเข้าไปดับมันที่เหตุ....
...ปรารถนาดี อยากให้ทุกท่านมีความสุข เข้าใจในทุกข์ แก้ปัญหาตัวเองได้....
....เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต...
.........รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร........
๑๘ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๕๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึงชลบุรี

27
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๖ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
            วันเวลาที่ผ่านไปในทุกขณะนั้น ชีวิตกำลังคืบคลานไปสู่ความตายทุกขณะ
วันเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่นั้นสั้นลง จึงต้องทำชีวิตที่เหลืออยู่นั้นให้มีคุณค่ามากสุด
พยายามก้าวเดินปฏิบัติตนไปตามทางสายกลาง ก้าวย่างตามทางแห่งมรรคองค์แปด
ไปตามกำลังที่สั่งสมมา อาจจะช้าแต่ว่ามั่นคง พยายามทำให้ได้ ซึ่งดีกว่าไม่ได้ทำ
เตือนสติตนเองอยู่เสมอ มิให้เผลอเดินออกนอกทาง ซึ่งอาจจะก้าวพลาดไปบ้าง
แต่ระลึกได้ทัน ดึงจิตนั้นกลับเข้าสู่เส้นทางได้ ไม่เสียหายจนเกินไป.....
             อ่านตัวออก...บอกตัวได้...ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราต้องกระทำ รู้กำลังของตัวเราเอง
ว่าสามารถไปได้ไกลขนาดไหนในเวลานี้ รู้ข้อดีและข้อเสีย กำลังเพียรละและเพียรเร่ง
เพื่อสร้างความเข้มแข็งของอินทรีย์ทั้ง ๕ อันได้แก่....
๑.สัทธินทรีย์ คือความเชื่อ ความศรัทธา
๒.วิริยินทรีย์ คือความเพียร ความพยายาม
๓.สตินทรีย์ คือความมีสติระลึกได้ ความรู้ตัวทั่วพร้อม
๔.สมาธินทรีย์ คือความตั้งใจมั่น ความสงบนิ่งที่มั่นคง
๕.ปัญญินทรีย์ คือความรอบรู้ในกองสังขาร ในขันธ์ ๕
     กำลังอินทรีย์ในข้อไหนที่ยังอ่อนอยู่  หรือกำลังในข้อไหนที่มากเกินไป ปรับกำลังทั้ง ๕
ให้มีความพอดีเสมอกัน ให้มีความพร้อมในการเดินทาง ทุกอย่างก็จะไปได้ดี ไม่มีติดขัด
ทุกอย่างนั้นสามารถทำได้โดยการน้อมจิตมาสู่ตัวพิจารณากายและจิตของตัวเราเอง
ให้จิตนั้นอยู่กับกายตลอดเวลา พยายามรักษาไว้ซึ่งกุศลจิต คิดทุกอย่างให้เป็นธรรมะ
พยายามลดละซึ่งสิ่งที่เป็นอกุศลทั้งหลายทีมีอยู่ในจิต ฝึกคิดพิจารณาทบทวนธรรม
น้อมนำเข้าสู่การปฏิบัติ ตามกำลังของสติปัญญา......
      การระลึกนึกถึงความตายนั้น มันไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนตาย
ความยึดถือทั้งหลายในรูปธรรมวัตถุจะได้เบาบางลง  อัตตาและมานะทิฏฐิทั้งหลายนั้น
ก็จะเบาบางลง ความโลภ ความหลงทั้งหลายก็จะค่อยๆหายไป เพราะชีวิตนี้ไม่มีวัตถุอะไร
ที่จะนำติดตัวไปได้เมื่อตายจาก มีเพียงกรรมสิ่งที่ได้ทำไปนั้น ที่จะติดตามตัวของเราไปในปรโลก
ทั้งสิ่งที่เป็นบุญและเป็นบาป จึงต้องคิดและพิจารณาว่า ทำอย่างไรให้ตายไปอย่างมีความสุข
ไม่ต้องทุกข์ขณะจะสิ้นลม การระลึกนึกถึงความตายอยู่เสมอนั้น จะทำให้จิตนั้นไม่หวั่นไหว
ต่อความตายที่จะมาถึงในอนาคต ซึ่งทุกคนต้องประสพ ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้........
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๗ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

28
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๕ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
..........คนเรานั้นต้องมีความหวัง เราต้องหวังให้ไกลและเราต้องไปให้ถึง
แม้ว่าหนทางนั้น ยังอีกยาวไกลเพราะว่าความสำเร็จนั้นมิได้อยู่ที่จุดเริ่มต้น
ความผิดพลาด ความล้มเหลว ความสูญเสีย มิใช่ข้อยุติ สิ่งเหล่านั้นล้วนแล้ว
นำมาซึ่งประสพการณ์ของชีวิต เป็นบทเรียนของชีวิต ที่จะทำให้เราเข้มแข็ง
และกล้าแกร่งยิ่งขึ้น ขอเพียงให้เรายึดมั่นในอุดมคติของเราอย่าได้หวั่นไหว
เพราะหนทางที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้น มันต้องฟันฝ่าและเผชิญต่ออุปสรรค
และปัญหาอยู่ตลอดเวลา อุปสรรคและปัญหาเหล่านั้นคือบทเรียน บททดสอบ
สติปัญญาและคุณธรรมของเรา ดั่งที่ครูบาอาจารย์ท่านได้กล่าวไว้ว่า....
"ทุกข์ไม่มา ปัญญาไม่มี บารมีไม่เกิด" เราต้องข้ามผ่านด่าน แต่ละด่าน
เพื่อเป็นการทดสอบกำลังของเรา การที่เราเผชิญอุปสรรคปและปัญหา
และผ่านมาได้แต่ละครั้งนั้น มันทำให้จิตใจของเราพัฒนาขึ้นไปกว่าเดิมทุกครั้ง.......
...........ฉะนั้น จงอย่าตกใจ เสียใจและหวั่นไหวต่ออุปสรรค และปัญหา
จงเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ถึงซึ่งจุดหมาย รางวัลแห่งความสำเร็จของชีวิต
มิได้วางไว้ที่จุดเริ่มต้น ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ การเดินทางนั้นยังไม่สิ้นสุด
จงพยายามเตือนสติตนเองนั้นอยู่เสมอ เพื่อให้มีความพร้อมของกายและใจ
ที่จะต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหา เพราะว่าเมื่อก่อนนั้นเราจะต้องพบกับ
อุปสรรคปัญหาและเกิดความทุกข์ขึ้นมาเสียก่อน เราจึงจะระลึกได้ คือต้องเจ็บก่อน
แล้วมัน ถึงจะจำ หรือบางครั้งพลาดเผลอสติไปแล้ว จึงจะมาระลึกได้ซึ่งบางครั้ง
อาจทำให้เสียใจในภายหลัง ในสิ่งที่ได้กระทำลงไป....
........เราจึงต้องมาฝึกเจริญสติกันใหม่ ให้สตินั้นระลึกได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
จนมีความเต็มรอบสมบูรณ์อยู่ทุกขณะจิต โดยการสร้างจังหวะการระลึกรู้
จากอาการทางกายจากหยาบๆคือการเคลื่อนไหวเช่นการยืน การเดิน การนั่ง
การนอน การกิน การทำงานต่างๆ จนมีความชำนาญแล้ว จึงเพิ่มกำลังสร้าง
จังหวะของสติการระลึกรู้กับสิ่งที่ละเอียดยิ่งขึ้น เช่นลมหายใจของตัวเรา
หรือความรู้สึกนึกคิดของเราเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นแนวทางของการฝึกจิต......
.....ฝากไว้เป็นข้อคิด แด่มิตรสหาย ผู้ใคร่ธรรม.....
... เชื่อมั่น-ศรัทธา-สามัคคี-ปรารถนาดี-ไมตรจิต...
..........รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร............
๑๖ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

29
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๔ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
           ในช่วง ๒-๓ วันที่ผ่านมานั้นได้พิจารณาธรรมเรื่องความตาย
จนเกิดธรรมสังเวช ความเบื่อหน่ายในกายนี้และชีวิตที่เหลืออยู่
มันเบื่อไปหมดทุกอย่าง ไม่อยากที่จะทำอะไร แม้แต่การเคลื่อนไหว
อยากนอนนิ่งๆนอนดูกายและดูลมหายใจ ไม่อยากที่จะทำอะไร
เพราะจิตเข้าไปติดอยู่ในอารมณ์ของความเบื่อหน่ายธรรมสังเวช
รู้เห็นเหตุที่เกิดของอารมณ์เหล่านั้น ว่ามันยังไม่ใช่ที่สุดของการปฏิบัติ
พยายามอบรมตนเองกระตุ้นเตือนจิตสำนึกให้ระลึกรู้ถึงข้อวัตรปฏิบัติ
เพื่อให้รู้จักรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่และมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม
อะไรที่ผิดเราก็พยายามละพยายามลด ไม่ทำตามความคิดฝ่ายต่ำ
สร้างแต่สิ่งที่เป็นคุณงามดี ดั่งที่ได้ตั้งปณิภานไว้ " ไม่เก็บ ไม่กำ ไม่กอบ
 ไม่โกง ไม่กิน ไม่เอาเปรียบผู้ใด ทุกอย่างทำไปเพื่อสร้างสมบารมี "
ชีวิตนี้มันเป็นของน้อยทุกวินาทีที่ผ่านไป คือการเดินไปสู่ความตาย
 จึงจำเป็นต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้  "การทำความเพียรนั้น
อย่าได้หลอกตนเอง ทำให้จริงจัง ตั้งสติกำหนดให้สตินั้นมีกำลังแก่กล้า
ทำสติและสัมปชัญญะให้มันแจ้ง " ทาน ศีล ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา
การเจริญภาวนานั้นเป็นเครื่องชำระจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส
 ที่กระทำนั้นไปมีความหมาย เพื่อที่จะกำจัดกิเลสภายในใจของเรา
ไม่ใช่ทำไปเพื่อสนองตัณหาให้ก่อเกิดมานะอัตตา แต่เป็นไปเพื่อความลดละ
แห่งกิเลสตัณหา ด้วยการพิจารณาดูกาย ดูจิต ดูความคิดของตัวเราเอง
ดูตัวเราว่ามีปัญญาพิจารณาธรรมเป็นไหมและทำอย่างไรเพื่อให้เกิด
ความเจริญในธรรมเพิ่มขึ้น พิจารณาไตร่ตรองด้วยสติปัญญา ละอัตตา
ค้นหาความจริงในกายในจิตของเรา ยอมรับในความเป็นจริงในสิ่ง
ที่เรามีและเราเป็น มองให้เห็นความเสื่อมทั้งหลายอันได้แก่กิเลสตัณหา
อัตตามานะที่่มีอยู่ในจิตของเรา ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องรู้และต้องเห็น
เสียก่อน จึงจะเข้าไปลดละมันได้ เพราะไม่มีใครที่จะรู้จักตัวเราเท่ากับ
ตัวของเราเอง ขอเพียงเราให้เวลาแก่ชีวิตจิตวิญญาณของตัวเราเอง
ให้มากกว่าที่เป็นอยู่  " ดูหนัง ดูละคร แล้วจงย้อนมาดูตัวเอง "
นรกหรือสวรรค์ นั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่เห็นในวันนี้ แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่
คือความสุขและความทุกข์ทั้งหลาย ที่เราสัมผัสได้ในปัจจุบัน
ทำอย่างไรที่เราจะอยู่กับมัน อยู่เหนือมัน ทำอย่างไรให้ใจของเรานั้น
ไม่สับสนและวุ่นวาย นั้นคือสิ่งที่เราต้องทำในวันนี้ เป็นสิ่งที่เห็นและสัมผัสได้
ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ยากถ้าคุณคิดที่จะทำ.....
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

30
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๓ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
           แต่ละวันที่ผ่านไปนั้นทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ ทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติ
เสร็จจากกิจวัตรของสงฆ์ ก็มาปฏิบัติกิจวัตรของการเป็นผู้นำเจ้าของสถานที่ของหมู่คณะ
 คือการตรวจตราดูแลการก่อสร้าง ดูความเรียบร้อยในที่อยู่อาศัย สนทนาและให้กำลังใจ
แก่คนผู้ร่วมงานทั้งหลาย คิดโครงการวางแผนงานที่จะทำกันต่อไป นี่คืองานในทางโลก
 ส่วนงานในทางธรรมก็คือการเจริญสติภาวนา ตามเวลาและโอกาศที่สามารถจะทำได้
ใช้เวลาที่ผ่านไปอยู่กับการทำงาน เพราะถือว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม เป็นการฝึก
เจริญสติ ฝึกควบคุมความรู้สึกและอารมณ์ กับสิ่งกระทบทั้งหลาย เพราะการทำงานนั้น
ต้องมีความสัมพันธ์กับหมู่คณะ ต้องพบปะพูดคุยและทำงานร่วมกัน หลายคนก็หลายความคิด
และแตกต่างกันด้วยจิตและอารมณ์ ทำให้ต้องควบคุมตนเองให้มากขึ้น  มีสติระลึกรู้ก่อนที่จะพูดและทำ
 เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ทั้งทางกายและทางจิตกับผู้ร่วมงาน การทำงานนั้นก็กลายเป็นการ
ปฏิบัติธรรมไปในตัว เพราะว่าเราต้องอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง ต้องพบปะกับผู้คน ต้องทำงาน
ต้องทำกิจเพื่อเลี้ยงชีวิตตามอัตภาพของสงฆ์ ไม่ใช่จะมีเวลานั่งหลับตาภาวนาเพียงอย่างเดียว
หรือไม่พบปะกับผู้คนเลย เราต้องอยู่กับโลกกับสังคม นี่คือความเป็นจริงของชีวิต.......
            ดูกาย ดูจิต ดูความคิด ดูการกระทำ ของตนเองอยู่ตลอดเวลา เป็นการฝึกเจริญสติ
น้อมจิตระลึกถึงธรรมคำสอนของหลวงปู่บุดดา ถาวโร เรื่อง " กายเดียว จิตเดียว " นำมาคิด
และวิเคราะห์ พิจารณาธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมนั้น เป็น " โอปะนะยิโก " คือการน้อมเขามาใส่ตัว
 ศึกษาและปฏิบัติเพื่อทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกายและจิตของเรา ความรู้ในทางโลกนั้น
เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องภายนอกกายและจิตของเรา ส่วนความรู้ในทางธรรมนั้น ศึกษาค้นหา
เข้าสู่ภายในตัวเรา เกี่ยวกับกายและจิต คือความคิดและการกระทำของตัวเราเอง เพื่อให้เข้าใจกาย
และจิต เข้าใจความคิด ความรู้สึกและการกระทำของตัวเรา แยกแยะในสิ่งที่เป็นกุศลและความเป็นอกุศล
 รู้จักข่มจิตข่มใจ ควบคุมความคิดและจิตที่เป็นอกุศล ด้วยองค์แห่งคุณธรรม คือความมี " หิริและโอตตัปปะ
 ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป " การมีสติและสัมปชัญญะที่เป็นฝ่ายกุศลธรรมยกข้อธรรมของครูบาอาจารย์
ที่เคยได้ยินได้ฟังมา ขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้เกิดปิติ ให้มีศรัทธาเพิ่มขึ้นในการประพฤติปฏิบัติธรรม เอาการปฏิบัติ
ของครูบาอาจารย์มาเป็นแบบอย่าง มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยปรับใช้ให้เข้ากับตัวเราตามจังหวะและโอกาส
เวลา สถานที่และบุคคลที่พึงจะกระทำได้ ใช้เวลาที่ผ่านไปให้เกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านเพราะการทำงาน
นั้นคือการปฏิบัติธรรม.......
                ... ด้วยความศรัทธาและปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
                ..........รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...........
๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๐๙ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

31
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๒ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
             วันเวลาที่ผ่านไปในวันหนึ่งคืนหนึ่งนั้น ขณะที่รู้สึกตัวตื่นอยู่
พยายามน้อมจิตเข้าหาธรรมตลอดเวลา โดยการเจริญสติสัมปชัญญะ
ฝึกการระลึกรู้และการรู้ตัวทั่วพร้อม น้อมจิตเข้ามาพิจารณาร่างกาย
ของตนเอง เอาจิตระลึกรู้อยู่ในกาย พยายามไม่ส่งจิตออกนอกกาย
รักษาไว้ซึ่งจิตที่เป็นกุศล คือพยายามระลึกนึกถึงสิ่งที่ดีมีประโยชน์
ไม่เป็นภัยเป็นโทษต่อกุศลธรรมทั้งหลาย วางจิตนั้นให้เป็นสัมมาสติ
ดำริในสิ่งที่ชอบอันประกอบด้วยกุศล เริ่มต้นด้วยความเป็นสัมมาทิฏฐิ
คือการรู้จักแยกแยะในสิ่งที่ควรและสิ่งที่ไม่ควร ความเป็นกุศลและอกุศล
ออกจากกัน รู้เท่าทันในความรู้สึกนึกคิด จิตที่กำลังเป็นอยู่ ระลึกรู้ด้วย
สติและสัมปชัญญะที่เป็นสัมมา.....     
             การฝึกจิตนั้น สิ่งที่เน้นย้ำคือการวางจิตให้เป็นสัมมาสติ
ก่อนเข้าสู่การปฏิบัติเจริญภาวนาเพราะว่าทุกอย่างต้องเริ่มต้นด้วย
ความเป็นสัมมาตามหลักของมรรคองค์ ๘ คือการคิดดี เจตนาดี
เพื่อจะทำดี ทำให้ถูกวิธี ผลก็จะออกมาดี มีผู้ถามมาเรื่องการปลุกจิต
ให้ตื่นว่าทำอย่างไร  การที่จิตจะตื่นนั้นต้องมีกำลังของศรัทธาเต็มที่
มีความปิติยินดีในบุญกุศล เมื่อปิติเกิดขึ้นจิตก็จะตื่นและเบิกบานอยู่ในธรรม
เราต้องสร้างปิติภายนอก เพื่อจะเข้าสู่ปิติภายใน การสร้างปิติภายนอกนั้น
ทำได้โดยการนึกถึงความดีที่ตนได้เคยกระทำ เพราะเมื่อเราคิดถึงบุญกุศล
ที่เราได้เคยกระทำมาแล้วนั้น ใจของเราก็จะเป็นสุข มีความเอิบอิ่มและภาคภูมิใจ
ในความดีที่ตนนั้นได้กระทำมา มันจะมีความเพลิดเพลินและเป็นสุขใจ
 เพราะว่าใจของตนนั้นกำลังอยู่กับความดีเรียกว่าการสร้างปิติตัวนอก
 และเมื่อจิตใจเป็นกุศลจิตแล้ว ให้น้อมจิตมาสู่การเจริญจิตภาวนา
เพื่อให้ความรู้สึกดีๆที่เป็นอยู่นั้นมันพัฒนายิ่งขึ้นต่อไป เพราะคำว่า "ภาวนา " นั้น
แปลว่าทำให้ดีขึ้น เจริญขึ้น อารมณ์ความรู้สึกสดชื่น เบิกบาน สบาย โปร่ง โล่งเบา
ที่เกิดขึ้นจากการเจริญสติภาวนานั้น เราเรียกว่า " ปิติตัวใน " ซึ่งจะทำให้จิตนั้นรู้ตื่น
และเบิกบานอยู่กับกุศลธรรม ไม่หิวกระหาย ไม่ง่วงเหงาหาวนอน เพราะจิตนั้น
ปราศจากนิวรณ์รบกวนแล้ว......
                น้อมจิตสู่การพิจารณาธรรม ยกข้อธรรมที่เคยได้ยินได้ฟังมาจากครูบาอาจารย์
ขึ้นมาคิดพิจารณา เพื่อให้เข้าถึงซึ่งสภาวธรรมเหล่านั้น วิเคราะห์ ทบทวน ใคร่ครวญธรรม
ไม่ติดยึดกับอักขระภาษาคำศัพท์ทั้งหลาย ทำความเข้าใจในเนื้อหาซึ่งเป็นสภาวธรรมนั้น
คือสภาพที่เห็นและเป็นจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป สิ่งที่ใจเรานั้นรับรู้อยู่กับปัจจุบัน
จึงขอฝากหัวข้อธรรม ไว้เพื่อเตือนจิตสะกิดใจ ให้นำไปคิดและพิจารณากัน โดยธรรมที่ยกมานั้น
มีอยู่ว่า " ความโมโหจะนำไปสู่ความตกต่ำ อย่าไปโมโห โกรธผู้อื่น เพราะความโกรธคือไฟ
 ซึ่งมันจะเผาไหม้เจ้าของเอง ถ้าเขาทำตัวไม่ดี มันก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา
การที่เราไปโกรธเขา โมโหเขา จึงเท่ากับเราไปแบกรับเอาทุกข์ เอากิเลสของเขามา
ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า...การเพ่งโทษผู้อื่นเขา  มันเป็นการเพิ่มพูลกิเลสให้ตัวเราเอง "
ฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ผู้ที่ใฝ่ในธรรมทั้งหลาย ให้นำไปคิดและพิจารณา.......
             เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๓ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๑๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

32
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๑ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
                  วันนี้เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ รู้สึกตัวตื่นขึ้นมา
กำหนดจิตระลึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาของช่วงเวลาที่ผ่านไป
ในวันที่ผ่านมาทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายนอกและสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายใน
ที่สัมผัสได้ด้วยกายและรับรู้ได้ด้วยจิต ในสิ่งที่คิด สิ่งที่เห็นและสิ่งที่ทำ
เป็นการทบทวนธรรมฝึกความจำคือการระลึกรู้อดีตนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ซึ่งเป็นวิธีการฝึกจิตชนิดหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคความจำเสื่อม
ไม่หลงลืมขาดสติ จัดระบบสัญญาคือความจำให้เป็นระเบียบ ข้อมูล
ทั้งหลายได้บันทึกไว้ในสมองเป็นหมวดหมู่ชัดเจนไม่สับสนปนเปกัน
โดยอารมณ์ของจิตที่เป็นสมาธินั้น มันจะจัดระบบความจำของมันเอง
ซึ่งเมื่อระลึกได้ในจิตแล้ว ก็นำเขียนเป็นบันทึกไว้เป็นตัวอักษรอีกครั้ง
เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลในครั้งต่อๆไป.......
               ในวันที่ผ่านมานั้น ฝนตกหนักทั้งวันและคืน งานที่คิดไว้และ
นัดหมายจะทำกันนั้น ไม่สามารถที่จะทำได้เพราะสภาพอากาศไม่เป็นใจ
จึงต้องปล่อยทิ้งไว้รอเวลาที่เหมาะสม จึงจะนัดหมายมาทำกันใหม่ให้เสร็จ
มีญาติโยมขึ้นมาหาเพื่อขอความสงเคราะห์และแวะมาเยี่ยมเยือนหลายคณะ
จัดการธุระสงเคราะห์แนะนำให้แก่เขาเหล่านั้นจนเป็นที่พอใจเท่าที่เราจะทำได้
แก้ไขไปตามเหตุผลและปัจจัย ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคลที่เป็นอยู่
สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เขา โดยยกเอาธรรมเรื่องกรรมและวิบากมาอธิบาย
เพื่อให้เขาได้สติ รับได้ในวิบากกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหลาย ที่ทำให้ชีวิตต้องเป็นไป
อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ เมื่อจิตรับรู้ซึ่งกรรมและทำใจยอมรับมันได้ในวิบากนั้น
ความทุกข์ความกังวลทั้งหลายก็จะเบาบางลง....
            ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตและหลักคิดให้แก่เขา ตามความเหมาะสม
ของแต่ละบุคคล ซึ่งมีเหตุและปัจจัยของปัญหาที่แตกต่างกันออกไปโดยพื้นฐาน
ของชีวิต ความคิดและสิ่งรอบข้าง ปัญหาของแต่ละคนนั้นอาจจะมีความคล้ายกัน
แต่จะไม่เหมือนกันจากเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น จึงมีวิธีการในการแก้ปัญหาที่ต่างกัน
แต่สิ่งที่สำคัญก็คือขวัญและกำลังใจของเขานั้นต้องกลับมา มีความศรัทธาและเชื่อมั่น
ในตนเองให้ได้เสียก่อน  ซึ่งต้องใช้หลักจิตวิทยาและกุศโลบายให้เขายอมรับในตัวเรา
ก็ที่จะให้เขานั้นเชื่อทำตามในสิ่งที่เราแนะนำแกไขให้เขาไป ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้พิธีกรรม
เป็นตัวน้อมนำความคิดเปลี่ยนแปลงจิตของเขาให้เกิดศรัทธา อย่างที่เคยได้กล่าวไว้ว่า
“ พิธีกรรมนั้นใช้สำหรับรักษาโรคอุปทาน สำหรับคนที่มีพื้นทางธรรมนั้นยังไม่มั่นคง “
การกล่าวธรรมเพียงอย่างเดียวบางครั้งก็ไม่ยังศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่เขาได้ เพราะว่าใจ
ของเขานั้นยังไม่พร้อมที่จะรับเอาธรรมะนั้นไปปฏิบัติ จึงต้องจัดสงเคราะห์ให้เหมาะสม
กับแต่ละบุคคลไป ตามเหตุและปัจจัยของแต่ละบุคคล.....
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๒ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

33
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๐ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
             คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ฝนตกหนัก ลมพัดแรงและฟ้าผ่า
ทำให้ไฟฟ้านั้นดับไปชั่วขณะ เพราะกระแสไฟจากฟ้าที่ผ่าลงมา
มีต้นไม้โค่นล้ม ต้องช่วยกันขนย้าย ตัดต้นไม้ที่ล้มลงนั้นมาออก
ช่วยกันทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยง จึงจะตัดแต่งเอาออกได้หมด
ตอนบ่ายมีญาติโยมจากปักษ์ใต้คณะใหญ่ แวะขึ้นมาเยี่ยมเยือน
เพื่อสนทนาธรมและขอความสงเคราะห์ ขอคำแนะนำแก้ปัญหาชีวิต
จึงวางจิตเป็นกลาง ไม่มีคติเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด พิจารณาทุกอย่าง
ตามเหตุและผล หาความเหมาะสมที่ลงตัว ความเป็นจริงในสิ่งที่ทำได้
แนะนำให้คำปรึกษาแก่เขาไป สอดแทรกธรรมะคติธรรม หลักการดำเนิน
ชีวิตที่ถูกต้อง ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ให้แก่เขาเหล่านั้น
สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เขา เพื่อที่จะให้เขาเหล่านั้น มีขวัญและกำลังใจ
ที่จะดำเนินชีวิตต่อไป โดยมีธรรมะคุ้มครอง....
           ญาติโยมลากลับไปแล้ว จึงปรับกาย ปรับจิตของเราให้เป็นปกติ
เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการฝึกจิตในขั้นต่อไป กายพร้อม จิตพร้อม
การปฏิบัติย่อมมีความเจริญในธรรม สภาว ธรรมเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
จิตละเอียดขึ้น เห็นกิเลสภายในชัดเจนขึ้น และดับกิเลสนั้นได้เร็วขึ้น
มีนิวรณ์เข้ามารบกวนในขณะเจริญจิตภาวนา ต้องต่อสู้กับนิวรณ์เหล่านั้น
โดยอาศัยวิริยะบารมีเข้ามาข่ม จากการที่ได้สนทนาธรรมแนะนำญาติโยม
ทำให้ สภาวธรรมนั้นเด่นชัดขึ้น มีปิติทุกครั้งที่ได้อธิบายธรรม ได้กล่าวธรรม
จนลืมเรื่องเวลาที่มันผ่านไป เพราะการที่ได้กล่าวธรรมนั้น มันเป็นการทบทวนธรรม
ไปในตัว และเป็นการสอนตนเองทุกครั้งในธรรมที่กล่าวนั้น......
           รู้สึกตัวว่ากายนั้นตึง เลยบริหารร่างกายโดยการลงไปกวาดใบไม้เศษไม้
เคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อให้เหงื่อมันออก กล้ามเนื้อได้คลายตัว และเพื่อสะลาย
อารมณ์ที่เป็นอยู่ ตามหลักของการปฏิบัติที่ว่า “ เคลื่อนไหวทางกาย สะลายทางจิต “
หลังเหงื่อออกจนท่วมกายแล้ว รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย  ทำความสะอาดร่างกายเสร็จ
จิตเกิดศรัทธาอยากจะภาวนา เพื่อยังความสงบให้เกิดขึ้น จิตตื่นเพราะอารมณ์ปิติ
จากการได้กล่าวธรรมยังค้างอยู่  จึงตามดูตามรู้ในปัจจุบันธรรม.....
     ดังที่เคยกล่าวไว้ในการปฏิบัติธรรม คือการสร้างปิติจากภายนอกเพื่อเข้าสู่ปิติตัวใน
เรามีวิธีที่จะทำได้หลายประการ มันอยู่ที่การฝึกฝนและการทดลองค้นคว้าทางจิต
ไม่มีคำว่าผิดในการปฏิบัติ ถ้าเรารู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา ว่าเราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร
เราจะไม่หลงในอารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเราทำไปโดยไม่รู้และสำคัญผิดโดยคิดว่าใช่
นั่นแหละมันจะพาให้เราหลงอารมณ์ จงมีสติทุกขณะจิต  ในการคิดและการกระทำ
แล้วจะไม่หลงทาง  หลงสภาวธรรม หลงอารมณ์และไม่งมงาย.....
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๑ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

34
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๙ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
        มีผู้สนใจในการปฏิบัติภาวนาแวะเวียนมาพูดคุย ขอคำชี้แนะปรึกษา
ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติอยู่เสมอ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
โดยทางตรงนั้นคือเดินทางขึ้นมาหาที่ตถตาอาศรมบนเขาเรดาร์ด้วยตนอง
ส่วนทางอ้อมนั้นก็คือการฝากข้อความคำถามไว้ในเว็บไซค์หรือในเฟรชบุ๊ค
ซึ่งจะมีมาอยู่มิได้ขาด ได้สงเคราะห์ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาเขาอยู่เสมอ
แก้ปัญหาทางจิตที่ติดขัดให้แก่เขาเหล่านั้น ทำไปตามกำลังสติปัญญาของเรา
เอาประสบการณ์ที่เคยได้ศึกษาและปฏิบัติมาช่วยสงเคราะห์แก่เขาเหล่านั้น
ซึ่งจะเน้นย้ำในเรื่องของสภาวธรรมที่เป็นจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ติดยึดกับวิชาการ
ภาษาคำบาลีทั้งหลาย เพื่อให้ง่ายแก่การทำความเข้าใจ คลายความสงสัยในภาษา
คำศัพท์บาลีทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความเจริญในธรรม....
         การเจริญบริกรรมภาวนา ไม่ว่าจะใช้คำใดก็ตามแต่ จะเป็นคำว่า “ พุทโธ “
“ สัมมาอรหัง “ “ นะมะพะทะ “ ยุบหนอ-พองหนอ “เมื่อถึงจิตเข้าสู่ความเป็นสมาธิ
 คำบริกรรมภาวนานั้นจะหายไป เพราะจิตนั้นจะละเอียดขึ้น เหลือเพียงสภาวะรู้
สิ่งที่จะเป็นต่อไปคือจิตจะมากำหนดรู้สภาวธรรมในองค์ภาวนาและจะชัดเจนขึ้น
ละเอียดขึ้น ตามกำลังของความสงบ ตามกำลังของสติและสมาธิจนถึงระดับหนึ่ง
จิตจะหยุดนิ่งเป็นหนึ่งในอารมณ์แห่งสมาธิ เหลือเพียงธาตุรู้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป
 มันจะเป็นไปตามเจตนาความปรารถนาสิ่งที่อธิษฐานจิตไว้ จิตจะนิ่งสงบหรือจะยก
ขึ้นสู่การพิจารณาธรรม หรือว่าจะเข้าสู่มิติของนิมิตนั้น มันเกิดขึ้นมาในอารมณ์นี้
ซึ่งขึ้นอยู่กับบารมีที่สั่งสมมา ไม่ใช่ว่าจะเป็นเหมือนกันทุกคน แต่ก่อนที่จิตจะเข้าสู่
ความสงบนั้น มันจะมีอารมณ์มาทดสอบกล้า กำลังศรัทธา กำลังสติของเราสิ่งนั้นคือความกลัว
 กลัวตาย กลัวบ้า กลัวนั่งแล้วจิตหลุดไม่กลับมา กลัวไม่รู้ว่าจะต้องพบจะเห็นอะไรในนิมิตนั้น
ความหวั่นไหวหวาดกลัวจะเกิดขึ้นในจิต ซึ่งถ้าศรัทธาของเราไม่มั่นคง เราก็จะหยุดภาวนา
ไม่กล้าที่จะปฏิบัติต่อไป ซึ่งความกลัวนั้นมีสาเหตุมาจากความพร่องแห่งบุญกุศลของเรา
อาจจะเป็นเพราะศรัทธายังไม่มั่นคงยังสงสัยลังเลหรือว่ามาจากความวิบัติบกพร่องแห่งศีล
ทำให้จิตของผู้ปฏิบัตินั้นติดอยู่กับบาปกรรมที่เคยกระทำไว้ ทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง
มันจึงเกิดความกลัว ความหวาดหวั่น เกิดความลังเล ใจไม่เข้มแข็งพอที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้
การปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องยินยอมพร้อมใจ มอบกายถวายชีวิตต่อพระรัตนตรัยต่อการปฏิบัติ
ยอมรับในวิบากกรรมที่เคยทำมา เอาชีวิตเข้าแลกกับคุณธรรม มันจึงจะสำเร็จในการปฏิบัติธรรม
เรียกว่าความเจริญในธรรมนั้นได้บังเกิดแล้วแก่ผู้ปฏิบัติ.......
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นามวจีพเนจร
๑๐ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๒๒ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

35
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๘ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
  ........รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาพยายามรักษาจิตคิดแต่สิ่งที่เป็นกุศล
เป็นการเริ่มต้นด้วยกุศลธรรมในเช้าวันใหม่ให้แก่ชีวิตของตน
รักษาจิตให้เป็นกุศลอยู่กับปัจจุบันธรรม เพื่อจะนำชีวิตไปสู่ทิศ
ทางที่ดี สิ่งที่ดีนั้นต้องเริ่มที่ตัวเราเป็นเบื้องต้น เป็นลำดับแรก
เมื่อจิตของเราอยู่กับปัจจุบันธรรม ทุกอย่างรอบกายที่ได้พบเห็น
ก็จะเป็นธรรมะไปหมดโศลกธรรมต่างๆก็จะเกิดขึ้นแก่จิต ซึ่งเรียกว่า
 " อุทานธรรม " เพราะว่าจิตนั้นกำลังพิจารณาอยู่กับปัจจุบันธรรม
ทำให้อกุศลจิตไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะใจของเรานั้นเป็นกุศล
 ความเป็นมงคลก็ย่อมมีแก่เรา...
.....เรื่องของจิต ไม่ต้องไปคิดให้วุ่นวายใจ ขอเพียงให้เรามีสติ ไม่ให้เผลอ
จะทำกิจอันใดให้ใจมันรู้ทัน ไม่ใช่ทำไปด้วยความหลงงมงาย ความไม่รู้
เพราะเมื่อไม่รู้และหลง ทุกอย่างจึงเป็นการปรุงแต่ง...
.....ทำตนให้เป็นคนเลี้ยงง่าย มีกิจวัตรประจำวันที่เรียบง่าย ใจก็จะสบาย
 ไม่มีความกดดัน ทำให้การภาวนาปฏิบัติจึงทำได้ง่าย สมาธิก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย
ความวุ่นวายก็น้อยลง ความกังวลยึดติดก็จะเบาบางลง..
.....อย่าไปวุ่นวายใจกับคำนินทา เราไม่เก็บคำนินทามาคิด  จิตเราก็จะสบาย
คำติฉินนินทานั้นคือยาชูกำลังที่จะยับยั้งไม่ให้เราหลงระเริงหยิ่งผยองลำพองใจ
 คำนินนทานั้นคือสิ่งกระตุ้นเตือนตัวเราได้คิดพิจารณาตัวของเรา เขาติดีกว่าเขาชม
ทำให้เรารู้ตัวว่าเขาคิดอย่างไรกับเรา ซึ่งถ้าตัวเรานั้นเป็นจริงอย่างที่เขานั้นกล่าวนินทา
เราก็จะได้รู้และปรับปรุงแก้ไข แล้วเราจะไปโกรธเขาทำไม ซึ่งถ้าเราไปโกรธตอบต่อเขา
ก็เท่ากับเรานั้นกำลังแพ้ภัยกิเลสในใจของเรานั้นเอง....
........เมื่อเราอยากจะให้สิ่งที่ดีๆนั้นเกิดขึ้นแก่ตัวเรา เราก็ควรที่จะทำตัวเรานั้นให้ดีเสียก่อน
เพื่อที่จะดึงดูดรองรับสิ่งที่ดีๆที่จะเข้ามา  เรียกว่าการปรับเครื่องรับนั้นให้มันดีและมีคุณภาพ
เพื่อจะรับคลื่นแห่งความดีที่มาสู่เครื่องรับอันคือตัวเรา ทำความสะอาดปัดกวาดจิตของเรา
ให้เป็นระบบและมีระเบียบ มีที่ว่างสำหรับสิ่งที่ดีที่จะเข้ามา........
.........ทุกอย่างนั้นเริ่มต้นที่จิต จากสิ่งที่คิด แล้วจึงจะนำไปสู่การกระทำ โดยการมีสติและ
สัมปชัญญะคอบคุมความคิดทั้งหลายเหล่านั้น ให้อยู่ในกรอบของคุณธรรมในหลักการคิด
จึงจำเป็นต้องฝึกจิตเจริญสติภาวนา เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ดีทั้งหลาย ดำรงทรงไว้อยู่ในกาย
ในจิตของตัวเรา ทุกอย่างจึงต้องเริ่มที่จิตของเรานั้นเอง....
            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๙ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๑๒ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

36
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๗ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึงชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
             ร่างกายอ่อนเพลียจากการเดินทางและจากการที่นั่งสนทนากัน
กับน้องๆที่แวะมาเยือนจนสว่างไม่หลับนอน แล้วเดินทางไปปราจีนบุรีต่อ
กลับมาถึงอาศรมก็นั่งคุยกันต่อจนดึกจึงเข้าที่พัก นั่งเขียนบทความบทกวีต่อ
จนถึงเกือบตีสามจึงได้จำวัตรพักผ่อน หลับยาวรู้สึกตัวตื่นตอนหกโมงเช้า
ทำให้ไม่ได้ออกไปบิณฑบาตเพราะเลยเวลาไปแล้ว.....
           ตอนเช้ามีโยมขึ้นเขาเอาข้าวโพดต้มกับมะพร้าวอ่อนมาถวาย
ฉันอาหารเช้าเสร็จแล้ว ก็ชวนกันลงไปทำบันไดทางเดินขึ้นเขาใหม่
ทำงานเพื่อให้ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เจริญสติสัมปชัญญะ
 ตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ ในอิริยาบถบรรพและสัมปชัญญบรรพ
 คือพิจารณาดูอิริยาบทของกายและพิจารณารู้ตัวในความเคลื่อนไหว
ทำงานไปพิจารณาไปจนไม่ได้สนใจกับเวลาที่ผ่านไป ทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
จึงได้ดูนาฬิกาจึงได้รู้ว่าเวลาผ่านไปจนถึงห้าโมงเย็นแล้ว จึงลงไปสรงน้ำเตรียมตัว
ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็น พยายามทรงอารมณ์กรรมฐานไว้ โดยการมีสติและ
สัมปชัญญะอยู่กับกาย เวทนา จิต ธรรม อยู่ตลอดเวลา พิจารณาในหัวข้อธรรม.....
   ถ้าจิตใจเศร้าโศกไม่เบิกบานร่าเริงแล้ว ความเป็นมงคลทั้งหลายก็จะหายไปหมด 
แต่ถ้าจิตใจไม่เศร้าโศก มีแต่ความร่าเริงแจ่มใสเกษมสำราญ ความเป็นมงคลทั้งหลาย
ก็จะปรากฏขึ้น ดั่งคำที่ว่า " จิตดี กายเด่นจิตด้อย กายดับ " เมื่อจิตใจเป็นกุศลความเป็น
มงคลทั้งหลายก็จะเกิดขึ้น......
   อย่าลุอำนาจแก่ความโกรธเป็นอันขาด เพราะเมื่อความโกรธนั้นเกิดขึ้นแล้ว
มันจะมืดมิดปิดบังปัญญา คิดแต่จะเอาชนะเพียงอย่างเดียว ทั้งที่จริงแล้วมันกำลังแพ้ตัวเอง
แพ้ความโกรธของตัวเอง ถ้าระงับความโกรธไม่ได้ ใจก็ไม่เป็นสุข เพราะฉะนั้นอย่าเอาความโกรธ
มาเป็นอารมณ์มาเป็นตัวของตัวเป็นอันขาด พึงข่มความโกรธ ด้วยการเจริญสติ การลดทิฏฐิ
การให้อภัย แล้วใจของเรานั้นจะสบาย......
   ผู้เจริญย่อมไม่เบียดเบียนใคร ไม่อาฆาตใคร ไม่พยาบาทใคร ให้อภัยแก่คนทุกจำพวก
เจริญเมตตาจิต เป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั้งหลาย ไม่เอาเรื่องเอาราวกับใคร ใจพร้อมที่จะให้อภัย
อยู่เสมอ วางใจได้อย่างนี้ ใจเราก็จะมีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์เพราะการให้อภัย.....
   ให้มีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา มีสัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมออย่าให้เผลอ
จิตนิ่งสงบก็รู้อยู่ในความนิ่งสงบนั้น เป็นหนึ่งอยู่ รู้ตัวอยู่ ไม่เผลอ ไม่หลง ไม่ส่ง ไม่ส่าย ไม่วุ่น ไม่วาย
 ไม่ปล่อยใจให้ไปออกนอกลู่นอกทาง อยู่กับอารมณ์กรรมฐานตลอดเวลา อย่าให้มีช่องว่างที่กิเลส
จะแทรกเข้ามาได้ เราก็จะได้พบกับสภาวธรรมที่แท้จริง.......
   ต้องรวมจิต ให้ไปอยู่ ณ จุดเดียว เมื่อจิตเข้าถึงความสงบจิตนั้นจึงจะมีพลัง ที่เรียกว่าพลังจิต
แล้วพิจารณาในพลังจิตนั้นอย่างแยบคาย เราก็จะได้เห็นธรรม ธรรมอันเกิดจากจิต ที่พิจารณาในอารมณ์สมาธิ
เห็นกาย เห็นจิต ก็เห็นธรรม......
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๘ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

37
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๖ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่  ๗  กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
                 ตลอดเวลาช่วงกลางวันมีภารกิจสงเคราะห์หมู่คณะและญาติโยม
เดินทางออกไปต่างจังหวัดเพื่อดูงานบางอย่าง  กลับถึงอาศรมที่พักตอนใกล้ค่ำ
ใช้เวลาศึกษาธรรมคำสอนของผู้รู้ครูบาอาจารย์ เพื่อเป็นการย้ำเตือนจิตในกิจที่ทำ
ยกคติธรรมคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บางบทขึ้นมาคิดและพิจารณาธรรม
น้อมนำมาเป็นแบบอย่างของการประพฤติปฏิบัติ เพื่อฝึกหัดกล่อมเกลาตนเอง
อ่านแล้วใคร่ครวญ ทบทวนพิจารณา เพื่อให้ปัญญาความเห็นที่ถูกต้องนั้นเกิดขึ้น
เพื่อจะได้สงเคราะห์ตนเองและผู้อื่นในโอกาสต่อไป....
...คติธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต....คัดจากหนังสือ ขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะ.....
   “ ผู้สนใจศึกษาปฏิบัติธรรม คือผู้สนใจหาความรู้ความฉลาดเพื่อคุณงามความดีทั้งหลาย
ที่โลกเขาปรารถนากันเพราะคนเราจะอยู่และไปโดยไม่มีเครื่องป้องกันตัวย่อมไม่ ปลอดภัย
ต่ออันตรายทั้งภายนอกภายใน เครื่องป้องกันตัวคือหลักธรรมมีสติปัญญาเป็นอาวุธสำคัญ
จะเป็นเครื่องมั่นคงไม่สะทกสะท้านมีสติปัญญาแฝงอยู่กับตัวทุกอิริยาบท จะคิด-พูด-ทำอะไร
ไม่มีการยกเว้น มีสติปัญญาสอดแทรกอยู่ด้วยทั้งภายในและภายนอก มีความเข้มแข็งอดทน
มีความเพียรที่จะประกอบคุณงามความดี คนอ่อนแอโง่เง่าเต่าตุ่นวุ่นวายอยู่กับอารมณ์
เครื่องผูกพันด้วยความนอนใจ และเกียจคร้านในกิจการที่จะยกตัวให้พ้นภัย”.........

   “ การตำหนิติเตียนผู้อื่น ถึงเขาจะผิดจริงก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย
ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น นักปราชญ์ถือเป็นความผิด
และบาปกรรม ไม่มีดีเลย จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน
       “การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตน
ให้ได้รับความทุกข์  จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย
ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง “.......

     “ ผู้เห็นคุณค่าของตัว จึงเห็นคุณค่าของผู้อื่น ว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียน
ทำลายกัน  ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปในสุคติในโลกสวรรค์ ไม่ตกต่ำเพราะอำนาจศีล
คุ้มครองรักษาและสนับสนุน จึงควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์ ธรรมก็สั่งสอนแล้ว
ควรจดจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคงจะเป็นผู้ทรงคุณสมบัติทุกอย่างแน่นอน”......
         เมื่อได้นำมาขบคิดพิจารณา จึงได้รู้ว่าเรานั้นยังต้องฝึกหัดปฏิบัติอีกมากมายให้ยิ่งขึ้น
เพื่อความเป็นไปให้ถึงซึ่งความเจริญในธรรม เห็นถึงความบกพร่องทั้งทางกายและทางจิต
คือความคิดและการกระทำของตนเองที่ผ่านมา จึงต้องศึกษาและปฏิบัติเร่งความเพียรให้ยิ่งขึ้น
เพราะเพียงแต่รู้ เพียงแต่เห็น เพียงแต่เข้าใจ แต่ยังมิได้ทรงไว้ในธรรมเหล่านั้น เป็นเพียงการ
เดินผ่านซึ่งกระแส แต่ยังไม่ได้เข้าไปทรงอยู่ในสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เรียกว่ายังไม่เข้า
ถึงสภาวธรรมที่แท้จริง จึงเป็นสิ่งที่ต้องคิดพิจารณาและนำไปปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงและทรงอยู่
ในธรรมเหล่านั้น  อันเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรม....
      ... แด่การย้ำเตือนจิตให้คิดและพิจารณาน้อมนำมาสู่ตนเอง...
                 ...เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต...
                      ...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๗ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

38
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๕ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
            มีผู้คนที่ไม่เข้าใจมาถามไถ่อยู่เสมอว่า ทำไมยังเกี่ยวข้อง
อยู่กับพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง
ทำไมไม่เอาธรรมะของพระพุทธเจ้าล้วนๆมาเผยแผ่สั่งสอน
ได้ตอบเขาเหล่านั้นไปว่า มันคือความหลากหลายของคน
ที่แตกต่างด้วยธาตุและอินทรีย์ บารมีที่สะสมแตกต่างกันมา
ซึ่งพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ วัตถุมงคล เครื่องรางของขลังนั้น
เป็นกุศโลบายทางธรรม ที่จะน้อมนำมาซึ่งความศรัทธา
ก่อนที่จะสอดแทรกธรรมะเนื้อหาเติมลงไป....
         โรคที่รักษายากที่สุดคือโรคอุปาทาน เพราะว่ามันเกิดที่จิต
มันยึดติดอยู่ ใจมันคิดอยู่ตลอดว่าโรคนั้นยังไม่หายมันยังเป็นอย่างนั้น
อย่างนี้อยู่ จิตมันจะสร้างภาพและอาการของโรคที่คิดว่าเป็นอยู่ขึ้นมา
ตลอดเวลา การที่จะรักษาโรคอุปาทานนั้น จึงจำเป็นต้องมีพิธีกรรม
 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ให้เขาเกิดความศรัทธาในการรักษา
เพื่อให้เชื่อว่าอาการที่เขาเป็นอยู่นั้น ได้รับการรักษาและแก้ไขให้แล้ว
พิธีกรรมนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีและต้องทำ แต่สิ่งที่สำคัญนั้นก็คือ
 ผู้ประกอบพิธีต้องระลึกรู้และเข้าใจในพิธีกรรมนั้นว่าเป็นไปเพื่ออะไร
ทำไมต้องทำ เจตนาของผู้ประกอบพิธีกรรมนั้นต้องบริสุทธิ์ ไม่ใช่เป็นไป
เพื่อแสวงหาเอกลาภหลอกลวง มอมเมาให้หลงงมงาย เพื่อให้ได้มา
ซึ่งความศรัทธาและเอกลาภจากการทำพิธีนั้น พิธีกรรมนั้นจึงเป็นการรักษา
ในเชิงจิตวิทยา เพื่อรักษาโรคทางจิตชนิดหนึ่ง ที่พึงต้องกระทำ......
          โลภัง ธัมมานัง ปริปันโถ...ความโลภเป็นอันตรายต่อธรรมท้งหลาย
เป็นอันตรายต่อความเจริญในธรรม เพราะความโลภนั้นจะนำมาซึ่งกิเลสตัณหา
ตัวอื่นให้ตามมา เพื่อตอบสนองความต้องการนั้นให้ได้ดังที่ใจตั้งไว้ จึงเป็นอันตราย
ต่อความเจริญในธรรมทั้งหลาย.....
        โกโธ ธัมมานัง ปริปันโถ...ความโกรธเป็นอันตรายต่อสติและปัญญา
ของตนเอง ถ้าเผลอสติหลงไปกับอารมณ์นั้นมันจะเป็นการทำลายตนเอง
 ความโลภและความโกรธจึงเป็นอันตรายต่อธรรมทั้งหลาย ทำลายชื่อเสียง
 เกียรติยศและความดีทั้งหลายให้พังทลายลง......
      หากคนเราประพฤติปฏิบัติตามธรรมะที่เป็นจริง และทำให้จริงได้แล้ว
สังคมก็จะไม่เดือดร้อนวุ่นวาย เหตุที่ทำให้สังคมมีปัญหาอย่างที่เป็นอยู่นั้น
เพราะว่าสังคมไม่ยอมรับนับถือบทบาทและหน้าที่ในบทบาทของแต่ละคน
ไม่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของแต่ละศาสนาที่ตนนับถือ
 เอาทิฏฐิมานะและอัตตาของตนเองเป็นใหญ่ สังคมจึ่งวุ่นวาย
เหมือนที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านได้กล่าวไว้ว่า...เมื่อศีลธรรมไม่กลับมา
 โลกาจะวินาศ....เพราะว่าคนนั้นขาดซึ่งหลักธรรมในการดำรงค์ชีวิต
จึงคิดผิด ทำผิด ไปตามอำนาจของกิเลสและตัณหา......
       ทานัง เทติ...การให้ทานนั้นเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างหยาบอันดับแรก
ทำบ่อยๆแล้วความเห็นแก่ตัวก็จะเบาบางลงรู้จักเสียสละ ไม่ตระหนี่หวงแหน
 แล้วคุณธรรมที่สูงกว่าดีกว่าก็จะปรากฏขึ้นมาในจิตของผู้นั้นเอง เพราะว่าผู้ให้
นั้นจะมีจิตใจที่อ่อนโยนและใจที่เปิดกว้าง รู้จักละวางเสียสละซึ่งประโยชน์ของตน
ทานจึงเป็นเบื้องต้นแห่งการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย.....
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๖ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๓๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

39
คุณค่าของวันเวลาทีผ่านไป ๔ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
          เขาเรดาร์ไม่เคยร้างลาจากผู้มาเยือน มีญาติโยมแวะเวียนมาอยู่เสมอ
เป็นที่พบปะพูดคุยกัน เพราะธรรมชาติที่บนเขาเรดาร์นั้นมีความเป็นสัปปายะ
มีทั้งที่มาแสวงหาธรรมะความสงบและที่มาเพื่อหลบความวุ่นวายได้พักผ่อน
พูดคุยต้อนรับสนทนาธรรมกันตามกาลเวลา ไม่เน้นในรูปแบบให้เกิดความกดดัน
เป็นไปเพื่อความผ่อนคลายสบายใจ เติมความสุขให้กับชีวิตโดยวิถีแห่งธรรมชาติ
ในการสนทนานั้นสอดแทรกธรรมะข้อคิดสะกิดเตือนใจ ให้ระลึกถึงความจริงของชีวิต
 ในขณะที่กล่าวธรรมนั้น เราต้องวางอารมณ์ให้เป็นสมาธิในกรรมฐานกองที่เรานั้น
กำลังกล่าวถึง มันจะเกิดสภาวธรรมะลื่นใหล อารมณ์ธรรมนั้นจะเกิดต่อเนื่องกันไป
ทำให้เราบรรยายธรรมได้ไม่ติดขัด เป็นธรรมะที่เกิดจากสภาวะของจิตในขณะนั้น
 มันจะเป็นธรรมชาติเพราะว่าเราไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะบรรยายเรื่องอะไร
มันจึงเป็นการกล่าวปัจจุบันธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งมันจะสอดคล้องกับจังหวะ
เวลา โอกาศ สถานที่และบุคคลในขณะนั้น ซึ่งเป็นอานิสงส์ของการที่ได้ฝึกปฏิบัติธรรม
ในกรรมฐานมาทุกกองและทุกแนว ทำให้พอจะมีความรู้และความเข้าใจในอารมณ์
ของกรรมฐานแต่ละกองแต่ละแนวที่มีการปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน เพราะว่าแต่ละคน
ที่มาปรึกษาสนทนาธรรมนั้น ปฏิบัติธรรมแตกต่างกันคนละแนวคนละกรรมฐาน
และอินทรีย์แตกต่างกันตามกำลังที่ได้ปฏิบัติกันมา เราต้องเข้าอารมณ์กรรมฐาน
ในกองเดียวแนวทางเดียวกับเขา และเข้าอารมณ์ไปให้ถึงจุดที่เขาติดขัดสงสัย
และเป็นปัญหาสำหรับเขา มันจะทำให้เราเห็นถึงความผิดพลาดเห็นที่เกิดของปัญหา
และสภาวะธรรมข้างหน้าที่เขาจะพบต่อไป เมื่อรู้และเข้าใจจึงจะแก้ปัญหาให้เขาได้.....
   อานิสงส์แห่งเมตตา ๑๑ ประการ   
๑.สุขัง สุปะติ...หลับอยู่ก็เป็นสุขสบาย
๒.สุขัง ปะฏิพุชฌะติ...ตื่นขึ้นก็เป็นสุขสบาย
๓.นะ ปาปะกัง สุปินัง ปัสสะติ...ไม่ฝันร้าย
๔.มะนุสสานัง ปิโย โหติ...เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
๕.อะมะนุสสานัง ปิโย โหติ...เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖.เทวะตารักขันติ...เทวดาย่อมคุ้มครองรักษา
๗.นาสสะ อัคคิ วา วิสัง วา สัตถัง วา กะมะติ...ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี ศัตราก็ดี ทำอันตรายไม่ได้
๘.ตุวะตัง จิตตัง สะมาธิยะติ...จิตย่อมเป็นสมาธิได้รวดเร็ว
๙.มุขะวัณโณ วิปปะสีทะติ...ผิวพรรณย่อมผ่องใส
๑๐.อะสัมมุฬ์์โห กาลัง กะโรติ...เป็นผู้ไม่ลุ่มหลงทำกาลกิริยา
๑๑.อุตตะรัง อัปปะฏิวิชฌันโต พรหมะ โลกูปะโค โหติ...เมื่อยังไม่บรรลุคุณธรรมวิเศษอันยิ่งๆขึ้นไป
      ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก
                      เมตตาวิหารธรรมคือพื้นฐานของการปฏิบัติ เพื่อขจัดซึ่งอัตตาความเห็นแก่ตัว
เพื่อให้จิตใจนั้นไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนและนุ่มนวลทางจิต ลดโทสจริตความรุ่มร้อน
ทำให้จิตใจของผู้ที่เจริญเมตตาจิตนั้นสงบเย็น โดยมีสติและสัมปชัญญะคอยควบคุมจิตอยู่
เพื่อไม่ให้เกิดการหลงงมงาย ทำให้มีความพอดี เพื่อความเจริญในธรรมทั้งหลาย....
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๕ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๕๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

40
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๓ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
        " การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม เรียกว่าทำความเพียร
ไม่จำเป็นว่าต้องนั่งสมาธิ เดินจงกรมจึงจะเรียกว่าทำความเพียร
ถ้าไม่มีสติรู้ตัว ฟุ้งซ่านไป คิดไปเรื่อย ก็ไม่เรียกว่าทำความเพียร
ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบทใดจะยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าเรามีสติรู้ตัวทั่วพร้อม
อยู่ในขณะนั้น จึงเรียกว่าเรากำลังปฏิบัติธรรมทำความเพียรอยู่ ".......
        " ให้มีสติอยู่กับ กาย เวทนา จิต ธรรม เอาจิตพิจารณาอยู่กับสิ่งทั้งสี่ื
ตลอดเวลา พิจารณาอย่างแยบคาย ทำอย่างนี้ให้เป็นนิสัย
 จนกลายเป็นความเคยชิน เอาธรรมเป็นผู้ตัดสินในทุกสิ่งอยู่เสมอๆแล้วใจจะสบาย "......
          " การปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อพอจะเริ่มรู้และเข้าใจในธรรม
 ให้ระวังตัวมานะทิฏฐิเป็นอย่างมาก เพราะจะหลงไปคิดว่า
คนอื่นไม่ดีเท่าเรา ไม่เก่งเท่าเรา เราดีกว่าผู้อื่น เก่งกว่าผู้อื่น
จะทำให้ขาดความเคารพต่อครูบาอาจารย์ ลบหลู่ครูบาอาจารย์
และผู้ปฏิบัติธรรมท่านอื่น แม้จะดูภายนอกอ่อนน้อมแต่จิตใจเย่อหยิ่ง
มันเป็นจิตวิปลาส สัญญาวิปลาส "........
       " เมื่อเราเพียรเพ่งดูจิต ดูความคิด ให้จิตอยู่กับตนเองตลอดเวลา
เราก็จะเข้าใจในสังขาร ร่างกายและจิตของเรา ".......
         " ความว่างทางจิตนั้น คือความว่างจากอารมณ์ยินดี ยินร้าย
แต่ไม่ว่างจากสติ  การฝึกให้ใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัวนั้น
เราต้องหมั่นดูกายของเราให้เป็นนิสัย ให้เป็นความเคยชิน
 เรียกว่าการเอาจิตมาคุมกาย อยู่กับกาย ฝึกให้จิตเป็นสมาธิอยู่กับกาย
การฝึกกรรมฐานวิธีนี้ ทำให้เราสามารถที่จะหลบอารมณ์ความรู้สึก
ที่มากระทบทั้งหลายได้ โดยเอาสติและจิตมาอยู่ในกาย ย้ายอารมณ์
การดูร่างกายของตัวเราเองนั้น จะเป็นการเอาจิตไปฝอกกาย
หลับตาแล้วระลึกรูปร่างหน้าตาของตัวเราเอง จนรูปของตัวเรานั้น
เห็นเด่นชัดด้วยตาใน มองต่อไปแยกกายเนื้อออกไปจนเหลือเพียงโครงกระดูก
 เพ่งดูโครงกระดูกนั้นจนเห็นกระดูกนั้นขาวใสเป็นแก้ว พระกรรมฐานที่ปฏิบัติ
ในแนวนี้ทุกรูป เมื่อมรณะภาพไป ร่างกายทั้งหลายทุกส่วนนั้นจะกลายเป็นพระธาตุ
เพราะร่างกายนั้นถูกฝอกด้วยจิตที่มีพลังของสมาธิจนสะอาดบริสุทธิ์
จนกลายเป็นผลึกแก้วใส อย่างที่่เคยได้เห็นกันมา ว่ากระดูกและเถ้าถ่าน
ของครูบาอาจารย์พระอริยเจ้าทั้งหลายได้กลายเป็นพระธาตุ
แต่ก็มีกระดูกของพระอริยสงฆ์บางท่าน ที่กระดูกและเถ้าถ่าน
ไม่ได้กลายเป็นพระธาตุ เพราะท่านไม่ได้มาตามแนวของกายคตานุสติ
ท่านเพ่งดูที่ิจิตใช้จิตฝอกจิต จนถึงความวิมุติ หลุดพ้น กระดูกของท่าน
จึงไม่ได้เป็นพระธาตุ ฉะนั้นเราอย่ารีบด่วนสรุปว่าครูบาอาจารย์ที่กระดูก
ไม่ได้เป็นพระธาตุนั้น ว่าไม่ได้เป็นพระอริยสงฆ์ ซึ่งจะทำให้เป็นการจาบจ้วงหลบหลู่
พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นวิบากกรรมแก่ตนเอง การเป็นพระอริยะนั้น
ผู้ที่สามารถจะชี้ชัดได้นั้นมีเพียงพระพุทธเจ้าเพียงผู้เดียว ที่คำตรัสของท่านเป็นหนึ่งเสมอ
จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อจะได้ไม่สร้างกรรม
จาบจ้วงลบหลู่พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลายและเราต้องแยกกันให้ได้ระหว่าง
พระอภิญญากับพระอริยะ ซึ่งบางครั้งพระผู้มีอภิญญาก็ไม่ได้เป็นพระอริยะ
และบางครั้งพระอริยะก็ไม่มีอภิญญา  เพราะอภิญญานั้นมันเป็นเรื่องฤทธิ์
ส่วนความเป็นอริยะนั้นคือการหมดไปของกิเลสทั้งหลาย...
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๔ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

41
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔         
           เมื่อศรัทธาในกุศลกรรมทั้งหลายได้เกิดขึ้นในจิตเกิดขึ้น
จงพยายามรักษาศรัทธานั้นและเพิ่มกำลังศรัทธานั้นให้ยิ่งๆขึ้นไป
 เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในบุญกุศลให้กับตัวของเราเอง 
และเราต้องมีความศรัทธาในความดีในตัวของเราก่อนเป็นลำดับแรก
คือเชื่อในสิ่งที่คิดและเชื่อในสิ่งที่ทำกรรมที่เป็นกุศลธรรมทั้งหลาย
 ศรัทธาในตนเองนั้น แตกต่างกันกับการยึดมั่นถือมั่นในตนเอง
 ซึ่งการยึดมั่นถือมั่นในตนเองนั้นเรียกว่า อัตตา มานะทิฏฐิ
คือความเชื่อในสิ่งที่ผิดเป็นการคิดเข้าข้างตนเองโดยอัตตา
 โดยเอาความรู้สึกนึกคิดของตนเองมาเป็นตัวตัดสิน ถูกผิด
ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลที่เป็นกุศลกรรมเป็นตัวตัดสิน......
             แต่ความมีศรัทธาในตนเองนั้น คือความภาคภูมิใจ
ในสิ่งที่ดี ที่ได้กระทำมา เชื่อในความดีในสิ่งที่คิดและที่ทำ
นั้นคือความศรัทธาในตนเอง ศรัทธานั้นเป็นเพียงความคิด
เกิดขึ้นที่จิตเป็นเพียงนามธรรม เราจึงต้องต่อยอดศรัทธานั้น
 โดยการนำความคิดที่ดีนั้น มาทำให้เป็นรูปธรรม ทำให้เห็นและเป็นจริง
และเมื่อสิ่งที่ทำนั้นสำเร็จผล มันก็จะเพิ่มขวัญและกำลังใจให้แก่ตัวเราเพิ่มขึ้น
 ทำให้เรามีกำลังใจที่จะกระทำในสิ่งที่ดีต่อไป ทุกอย่างต้องเริ่มที่ใจ
 ปลุกศรัทธาในจิตของเราให้ตื่นขึ้น เพราะในส่วนลึกของจิตของทุกคนนั้น
 ล้วนแต่อยากจะเป็นคนดี อยากจะทำความดี แต่ส่วนใหญ่ได้แต่คิด
 แต่ไม่กล้าที่จะทำ เพราะว่าขาดความมั่นใจและความศรัทธาในตนเอง
จึงต้องให้มองย้อนกลับไป ว่าในชีวิตที่ผ่านมานั้น มีอะไรบ้างที่เราได้ทำลงไป
และสิ่งนั้นมันเป็นความภาคภูมิใจของเรา เมื่อเราคิดถึงสิ่งนั้นครั้งใด
ทำให้ใจเรามีความสุขและมีความภาคภูมิใจ สิ่งที่คิดนั้นคือการปลุกศรัทธา
ความเชื่อมั่นให้กับตัวเรา....
          ก่อนที่จะให้บุคคลอื่นมาศรัทธาในตัวของเรานั้น จงมองย้อนกลับมา
ที่ตัวของเรา ว่าตัวของเรานั้นมีอะไรที่จะให้บุคคลอื่นเขาศรัทธาแล้วหรือไม่
และเรานั้นศรัทธาในตัวของเราแล้วหรือยัง มีอะไรบ้างที่เราได้สร้างไว้กระทำไว้
ให้เป็นอนุสรณ์เตือนใจให้คนรุ่นหลังระลึกถึงคุณงามความดีในสิ่งที่เรานั้นได้ทำไว้
และสังคมทั่วไปยอมรับศรัทธาในสิ่งนั้น ไม่ใช่การคิดเข้าข้างตนเองว่าสิ่งที่เราได้ทำ
ไปนั้นมันมีคุณค่า แต่สังคมส่วนใหญ่จะเป็นผู้ตัดสินในสิ่งนั้น...
         ด้วยความเชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดีที่เป็นกุศลธรรมทั้งหลาย
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๑๕ น. ณตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

42
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
         ทบทวนคืนวันที่ผ่านมา เพื่อนฝูงจากลาและร่วงโรยไปตามกาลเวลา
ได้แต่แผ่เมตตาอุทิศบุญกุศลไปให้ แด่ดวงวิญญาณของผู้ที่จากไปเหล่านั้น
สิ่งที่เหลือไว้คือความทรงจำที่ดีงาม ทุกยามที่คิดถึงเขาทั้งหลายเหล่านั้น..
.เราทำได้เพียงเท่านี้...คือกรรมที่ร่วมทำกันมา ให้ได้มาพบปะและเจอะเจอกัน
ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ทั้งกุศลและอกุศล ล้วนแล้วแต่เป็นผลของกรรมที่ร่วมทำ
กันมาแต่ในอดีตชาติ คิดได้ทำใจได้ก็สบายใจ ทำหน้าที่ของเราต่อไปตามปกติ
เดินหน้าต่อไป เพื่อให้ถึงซึ่งสัจจธรรมที่แท้จริง สิ่งที่เรานั้นแสวงหา.....
        สัจจธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่เผ้อฝันหรือจินตนาการเมือนที่ผ่านมา
เมื่อก่อนนั้น เราเรียกร้องแสวงหาเพื่อสนองตอบความต้องการของเรา
เราไปเรียกร้องให้ผู้อื่นปฏิบัติ เพื่อสนองตอบความต้องการของเรา
เราอยู่ในโลกแห่งความฝัน ในโลกแห่งจินตนาการ โดยคิดว่าสิ่งนั้นคือสัจจธรรม
เมื่อวันเวลาผ่านไป เราได้รู้เราเข้าใจในโลกใบนี้ ในวิถีของสัตว์โลกที่แตกต่างกัน
จึงทิ้งความฝันมาสู่ความจริงของชีวิต พยายามออกจากกระแสโลก เข้าสู่กระแสธรรม
เพื่อไปให้ถึงซึ่งความสงบสุขที่บริสุทธิ์ ไร้ซึ่งกิเลสและตัณหา......
       เดินไปในเส้นทางธรรม พยายามที่จะดำเนินชีวิตไปตามพระธรรมเดินตามคำสั่งสอน
ของพระพุทธองค์ เท่าที่จะทำได้ ตามสติปัญญาและบุญกุศลของเรา ไม่ใช่เป็นการเห็นแก่ตัว
 แต่เราต้องเอาตัวให้รอดเสียก่อน ก่อนที่เราจะไปช่วยผู้อื่น ก่อนที่จะไปสอน ไปแนะนำผู้อื่น
ต้องรู้ ต้องเข้าใจและทำได้ ให้รู้จริง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการแนะนำสั่งสอนเขา
ต้องฝึกหัดปฏิบัติที่ตัวเรา ให้เกิดความกระจ่างชัดในสภาวธรรมทั้งหลาย ทำความรู้ความเข้าใจ
ของเรานั้นให้ถูกต้องสอดคล้องในหลักธรรม ก่อนจะนำไปเผยแผ่แก่คนทั้งหลาย......
 .....ขอบคุณบุญเก่าที่ให้เราได้มาสู่เส้นทางธรรม –ขอคุณกุศลกรรมที่ได้ทำมาแล้วในชาตินี้....
  ......เชื่อมั่น-ศรัทธา-ในผลของกรรมสิ่งที่ได้กระทำมา-ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต......
                      ..............รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร.................

43
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๓๑ สค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
           มีปัญหาสุขภาพเล็กน้อยเพราะออกไปตากฝนตอนกลางคืน
ออกไปตรวจดูความเรียบร้อยของรางน้ำฝนในขณะที่ฝนตกตอนตีสอง
ซึ่งปรากฏว่ามีปัญหาอยู่สองจุดที่น้ำใหลย้อนไม่ใหลไปตามท่อที่วางไว้
เพราะช่างมักง่ายไม่ได้จับระดับความลาดเอียง เพียงตีวางไปตามแนว
ของเชิงชาย จึงทำให้เกิดน้ำใหลย้อน เพราะฝั่งปลายท่อน้ำลงนั้นสูงกว่า
ซึ่งถ้าเราไม่ออกมาตรวจสอบตอนฝนตกก็จะไม่รู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน
เปียกฝนไปทั้งตัว กลับขึ้นมาเช็ดตัวแล้วจึงเข้านอนประมาณตีสามกว่า......
          ตื่นเช้ารู้สึกตัวขึ้นมา รู้ว่าร่างกายผิดปกติจึงพยายามทรงอารมณ์ปิติไว้
เพื่อปรับสภาพร่างกาย ปฏิบัติตัวแบบสบายๆไม่ตึงเกินไปและไม่หย่อนเกินไป
ศรัทธาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เสริมต่อ รักษาไว้ทันที ใช้เวลาพักผ่อนด้วยการค้นคว้า
ศึกษาตำราธรรมะที่เป็นภาษาปริยัติ เพื่อทำความเข้าใจในธรรมนั้นให้ถูกต้อง
ยกโพชฌงค์ ๗ ขึ้นมาพิจารณาตามลำดับชั้นไล่เรียงสภาวะธรรมขององค์โพชฌงค์ ๗
เชื่อมโยงไปสู่ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ที่เป็นสัมปยุตตธรรม พิจารณาอิทธิบาท ๔ ข้อวิมังสา
 ทบทวนใคร่ครวญ การปฏิบัติที่ผ่านมา และสภาวะธรรมต่างๆของกรรมฐานแต่ละกอง
ที่ได้เคยปฏิบัติมาแยกแยะหมวดหมู่ของการปฏิบัติสภาวธรรมแต่ละอย่างได้ชัดเจน
เกิดสภาวะปิติเอิบอิ่มในธรรม....
          การปรุงแต่งในปุญญาภิสังขารบางครั้งก็เป็นทุกข์ได้ เพราะว่าเกินความพอดี
ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านได้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอดี
และความเหมาะสม ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้เป็นทุกข์เป็นโทษได้ เพราะว่าเกินกำลัง
จึงต้องพยายามควบคุมความคิค ความอยาก ให้อยู่ในกรอบในกฏเกณฑ์ของความพอดี
ประคับประคองจิตไว้ให้เป็นกุศลจิตตลอดเวลาทรงไว้ในอารมณ์ปิติกำหนดสติและสัมปชัญะ
พิจารณาธรรมตามดูตามรู้ตามเห็นในอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทำความรู้ตัวทั่วพร้อม โปร่ง โล่ง เบา
 สบาย ดำรงทรงไว้ซึ่งความเป็นกุศลจิตทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความเจริญในธรรรม....
 ...แด่โพชฌงค์ ๗ องค์ปัญญาตรัสรู้และโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ที่เป็นสัมปยุตตธรรม....
                  ร่างกายเริ่มปรับสภาพได้ อาการป่วยไข้ไม่สบายก็หายไป เพราะว่าธาตุในกายนั้น
ได้ปรับให้มีความสมดุลกันแล้ว ความเจ็บป่วยทั้งหลายนั้นเกิดจากความผิดปกติของธาตุในกาย
อันมีสาเหตุมาจากกรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่ทำให้ธาตุในกายนั้นแปรปรวนไปไม่สมดุลกัน
สิ่งที่สำคัญก็คือจิตของเรา ที่จะเข้าไปควบคุมธาตุทั้งหลายเหล่านั้น ให้เกิดความสัมพันธ์พอดี
สมดุลต่อกัน  “ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ทุกเรื่องราว ล้วนเกิดจากจิต  “ เมื่อจิตดีย่อมจะส่งให้
กายนั้นเด่น แต่ถ้าจิตนั้นด้อยขาดกำลัง กายนั้นก็จะเสื่อมโทรมไม่มีราศี ดั่งที่เคยได้กล่าวไว้ว่า
“ จิตดี กายเด่น จิตด้อย กายดับ “  จึงจำเป็นต้องฝึกฝนจิต รักษาจิตนั้นให้มีกำลังอยู่เสมอ....
                            เชื่อมั่น-ศรัทธาในธรรม-ด้วยความปรารภนาดีและไมตรีจิต
                                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๐๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

44
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๓๐ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          วันเวลาที่ผ่านไปทุกขณะนั้นพยายามเจริญสติและสัมปชัญญะให้มากเท่าที่จะทำได้
ตามกำลังความสามารถและโอกาสที่มี พยายามดับสิ่งที่เป็นอกุศลในจิตให้ดับไปโดยรวดเร็ว
ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกไม่ให้ปรุงแต่งไปกับผัสสะสิ่งกระทบทั้งหลาย รักษาจิตไว้ให้เป็นกุศล
ตรวจ สอบกาย ตรวจสอบจิต ตรวจสอบความคิด ตรวจสอบการกระทำ ทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมา
ในหนึ่งวัน  ว่าเวลาที่ผ่านไปนั้นจิตเราเป็นอย่างไร  ใจเราอยู่กับกุศลหรืออกุศลฝ่ายไหนมากกว่ากัน
พยายามประคับประคองจิตให้อยู่ในกุศลจิต โดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่  พยายามตัดสิ่ง
ที่เป็นอกุศลจิตออกไป  ไม่ไปส้องเสพในอกุศลจิตทั้งหลาย รักษาไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นกุศล เป็นการฝึกตน
อยู่ทุกขณะจิต  ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทรงไว้ได้ซึ่งสภาวะธรรมเหล่านี้  เพราะมีภาระหน้าที่ ที่ต้องกระทำ
ต้องทำงานคลุกคลีกับหมู่คณะและญาติโยม ซึ่งมีลักษณะและอุปนิสัยที่แตกต่างกัน   ภูมิธรรม
ภูมิปัญญาแตกต่างกัน จึงต้องเตรียมกายเตรียมใจไว้สำหรับเผชิญกับปัญหา ผัสสะที่จะมากระทบ
ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้าในทุกโอกาศและสถานะการณ์  ซึ่งต้องควบคุมกายและจิต คุมความคิด
ที่จะให้ไม่คล้อยตามกระแสโลกกระแสสังคมจนเกินไป ทรงรักษาไว้ซึ่ง " สมณะจิต" ......
        อยู่กับปัจจุบันธรรม ด้วยการเจริญสติและสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา  ไม่หนีปัญหาด้วยการ
หลบเข้าอารมณ์สมาธิ ใช้สติและปัญญาพิจารณาหาเหตุ หาปัจจัยของอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น
แล้วเข้าไปดับที่เหตุ โดยการพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็ยภัย เห็นโทษ เห็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
ของอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จนเกิดความกลัวความละอายต่ออกุศลจิตทั้งหลาย เกิดธรรมสังเวชขึ้นในจิต
 เพื่อให้จิตถอดถอนจากการยึดถือ จนเกิดความเบื่อหน่ายจางคลาย เกิดการปล่อยวาง เมื่อจิตไม่เข้าไป
เกี่ยวข้องยึดถือแล้ว มันก็ดับเหตุไปได้ครั้งหนึ่ง ซึ่งเราจะต้องพยายามทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเกิดความเคยชิน
ความชำนาญ ในการคิดพิจารณา รู้เท่าทันอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น และดับอารมณ์เหล่านั้นให้ได้รวดเร็วขึ้น
 จนเป็นวสี เป็นอุปนิสัย แล้วเราจึงจะปลอดภัยจากกระแสโลก......
             การฝึกจิตนั้นต้องกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่มีเวลาหยุดพัก เพราะการเจริญสตินั้นต้องทำในทุกโอกาส
เพื่อให้สตินั้นมีกำลังเพิ่มยิ่งๆขึ้น เพื่อให้เห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง และละวางอารมณ์ที่เป็นอกุศลจิตให้รวดเร็ว
ซึ่งสิ่งนั้นต้องอาศัยกำลังของสติสัมปชัญญะและองค์แห่งคุณธรรมเป็นตัวเข้าไปจัดระบบความคิดทั้งหลายของจิต
โดยมีสมาธิคือจิตที่สงบนิ่ง เป็นบาทฐานแห่งการพิจารณา ทุกเวลาที่ผ่านไปนั้น จึงเป็นการปฏิบัติธรรม.....
      แด่วันหนึ่งที่ผ่านมาและวันเวลาที่เหลืออยู่ 
                   ด้วยความ เชื่อมั่นและศรัทธาในธรรม
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

45
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๙ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
         ได้มีเวลาทบทวนเรื่องราวที่หลากหลายของชีวิตที่ผ่านมาในอดีต
ทั้งที่เป็นฝ่ายกุศลและฝ่ายที่เป็นอกุศล ก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางสายธรรม
วิเคราะห์หาเหตุผลองค์ประกอบในสมัยนั้นที่มันเป็นไป เพราะอไรเราจึง
คิดและทำอย่างนั้น มองย้อนกลับมาสู่ปัจจุบัน จึงเห็นซึ่งความแตกต่าง
เมื่อก่อนนั้น จิตมันหยาบมันแข็งกระด้าง เพราะอัตตาและมานะของเรา
ยังไม่ถูกขัดเกลา จึงหนาแน่นไปด้วยกิเลสคือ ความรัก โลภ โกรธ หลง
ที่เข้าครอบงำจิตของเรา พฤติกรรมที่แสดงออกนั้นจึงกร้าวร้าวรุนแรง
ตอบโต้ทุกครั้งที่มีอะไรเข้ามากระทบจิต ไม่รู้จักความผิดชอบและชั่วดี
ดำเนินชีวิตอยู่ในวิถีแห่งคนพาลสันดานหยาบ หมกมุ่นอยู่กับกิเลสตัณหา
และอุปาทานโดยคิดว่ามันคือความสุขจากการที่ได้เสพในสิ่งที่ตอบสนองเหล่านั้น....
  แต่เมื่อได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม ความรู้สึกนึกคิดก็เปลี่ยนไป
ทำให้เรารู้อะไรๆมากขึ้น รู้จักผิดชอบชั่วดี มีสติและสัมปชัญญะในการดำรงค์ชีวิต
มีความคิดที่เป็นระบบมากขึ้น รู้จักใคร่ครวญ ทบทวน พิจารณาหาเหตุและผล
ของเหตุการณ์ทุกสื่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา รู้จักการข่มจิตข่มใจต่อสิ่งยั่วยวนทั้งหลาย
 ควบคุมความรู้สึกนึกคิดของเราได้ มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต จิตน้อมเข้ามาหากุศล
ดำรงตนตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรม....
  สิ่งนี้คือคุณของพระรัตนตรัย ที่เราได้รับมาจากการที่เราได้เข้ามาศึกษาอาศัย
ใบบุญของพระศาสนา ทำให้ชีวิตเรามีคุณค่ากว่าที่เคยเป็นมาในอดีตของชีวิตฆราวาส
พบกับความเย็น ความสงบ ความสุข ที่เราไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต มันเป็นความรู้สึก
ที่ไม่อาจจะบรรยายเป็นตัวอักษรหรือคำพูดได้ มันเป็นความรู้สึกที่อยู่ภายในใจ รู้ได้เฉพาะตน
 เห็นผลด้วยการปฏิบัติธรรมะของพระพุทธองค์พิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติ และต้องทำให้จริง
สิ่งที่เรารู้ สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราเข้าใจเป็นเพียงเศษเสี้ยวธุลีหนึ่งของพระธรรม.......
  ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างอีกมากมายหนทางอีกยาวไกล ที่เรายังไม่ได้ก้าวเข้าไป
และยังไม่รู้ไม่เห็นบนเส้นทางแห่งสายธรรมนี้ยังมีอีกมากมายให้เราได้เรียนรู้และปฏิบัติ
การเดินทางกลับไปสู่ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของจิตที่ปภัสสร จิตแท้จิตเดิมที่เริ่มมานั้นมันบริสุทธิ์
แต่กิเลสที่เป็นอาคันตุกะได้เข้ามาอยู่อาศัยทำให้จิตเรานั้นต้องเศร้าหมอง เพราะกิเลสที่จรมา
จึงเป็นหน้าที่ของเราผู้เป็นเจ้าเรือน ที่จะต้องทำความสะอาดปัดกวาดกิเลสให้หมดสิ้นไป....
          ตราบใดที่การเดินทางของชีวิตนั้นยังไม่สิ้นสุด ยังต้องเวียนว่ายอยู่ในห้วงแห่งวัฏสงสาร
ที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา อุปทาน  ยังไม่สิ้นอาสาวะแห่งกิเลสทั้งหลาย จงอย่าได้รีบด่วนสรุป
ในสิ่งที่รู้ ในสิ่งที่เห็นและสิ่งที่เป็น ว่าเรารู้และเข้าใจหมดแล้ว เพราะมันยังมีหลายสิ่งหลายอย่าง
อีกมากมาย ที่เรานั้นต้องประสพพบเห็น ทั้งในทางโลกและทางธรรม สิ่งที่ผ่านมานั้น มันเป็นเพียง
ปรารกฏการทางจิต ที่เกิดขึ้นจามเหตุและปัจจัยที่มีในขณะนั้น มันยังไม่ใช่ที่สุดแห่งการเดินทาง
ของชีวิตจิตวิญญาณ ตราบใดที่มรรคผลนิพพานนั้นยังไม่บังเกิดขึ้นในจิตของเรา.......
                น้อมกายน้อมจิตแสดงความเคารพซึ่งพระรัตนตรัย 
                       ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาในสายธรรม
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๒.๒๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

46
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๘ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          ฤดูกาลแห่งพรรษาผ่านมาครึ่งฤดูกาลแล้ว
รู้สึกธรรมดากับวันเวลาที่ผ่านไปเพราะว่าใจเราไม่ได้มีความกังวล
สมัยเมื่อแรกบวชนั้น เรายังทำใจไม่ได้ ไม่เข้าใจธรรม ไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่
พอถึงฤดูเข้าพรรษา ใจเรามันเร้าร้อน มีความกังวลกับวันเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวัน
นั่งนับวัน นับคืน ดูปฏิทิน อยากจะให้วันเวลานั้นผ่านไปให้ถึงวันออกพรรษาเร็วๆ
เพื่อจะได้เดินทางท่องเทียวเปลี่ยนสถานที่ ไปแสวงหาครูบาอาจารย์ตามที่ต่างๆ.....
            แต่เมื่อรู้ เมื่อเข้าใจ ความรู้สึกเช่นนั้นก็หายไป
ใจก็สบาย ไม่กังวล ไม่รุ่มร้อน มีบ้างในบางครั้งที่จิตเกิดปลิโพธถึงหมู่คณะ
ถึงการงาน ถึงกาลเดินทาง แต่เราสามารถตัดอารมณ์เหล่านั้นได้เร็วขึ้น
ไม่ปล่อยให้มันตั้งอยู่นาน เพราะจิตได้ผ่านการฝึกฝนอบรมควบคุมมามากขึ้น
 โดยการมีสติระลึกรู้ ทำให้รู้ภาระและหน้าที่ว่าเวลานี้เราควรจะทำอะไรและคิดอะไร
เพราะบางอย่างนั้นเราคิดปรุงแต่งไป ก็ทำไม่ได้ในตอนนี้ จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่
และบุคคลมันยังไม่พร้อม เหตุและปัจจัยยังไม่เอื้ออำนวย คิดไปก็เสียเวลาเปล่าทำไม่ได้
เอาสมองมาคิดอยู่กับปัจจุบันธรรมสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ดีกว่า เพราะว่ามันเป็นของจริง
สิ่งที่กำลังเห็นและกำลังเป็นอยู่.....
            ถามตัวเองเสมอว่า วันเวลาที่ผ่านไป เราได้อะไรจากวันเวลา
และคุ้มค่ากับวันเวลาที่ผ่านไปหรือไม่ เพื่อไม่ให้เราหลงกับวัยและเวลา
ชีวิตที่เหลืออยู่จะได้เร่งสร้างคุณค่าให้กับชีวิต แม้นเพียงสักน้อยนิดก็ยังดี
กว่าที่เรานั้นจะไม่ได้ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
ไม่ได้หวังว่าจะต้องได้ในชาตินี้หรือชาติหน้า เพียงแต่ตั้งใจว่าจะทำเรื่อยๆไป
 ถึงเมื่อไหร่ไปเมื่อนั้น จะไม่สร้างความกดดันให้กับตัวเองเหมือนที่เคยผ่านมา
เพราะว่าจะทำให้เกิดอาการเกร็ง เพราะไปเคร่งแล้วมันจะเครียด เป็นการเบียดเบียนตนเอง
ความเจริญในธรรมทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะว่าความกังวลกดดันมาขวางกั้น
ความเจริญในธรรมทั้งหลายมิให้เกิดขึ้น......
            มีผู้ปรารถนาดีหวังดีมาถามอยู่เสมอว่า ทำไม่ไม่อยู่อย่างผู้อื่นเขา ไม่เอาอย่างเขา
ก็ตอบไปว่า เราอยู่กับตัวตนที่แท้จริงของเรา ไม่เคยคิดที่จะสร้างภาพมายาให้คนมาศรัทธา
ชื่นชมกล่าวยกย่องสรรเสริญ  อยู่กับความเป็นจริง ทำในสิ่งที่ควรทำและทำได้ในขณะนั้น
เพราะกระบวนการแห่งการลดละกิเลสตัณหานั้น มันเป็นเรื่องของจิตและคุณธรรมภายใน
ไม่ใช่การแสดงออกทางกาย ขอเพียงให้เรามีสติและสัมปชัญญะ ระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อม
ในสิ่งที่คิดและในกิจที่ทำ มีองค์แห่งคุณธรรมควบคุมกายจิตอยู่ มีความอดกั้นอดทนต่อสิ่ง
ยั่วยุทั้งหลายที่เป็นอกุศล ไม่เผลอใจคล้อยตามกิเลสฝ่ายต่ำ พยายามปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ
ก้าวเดินไปอย่างช้าๆเก็บรายละเอียดระหว่างรายทาง คือการก้าวย่างที่มันคงและไม่หลงทาง
ไม่ใช่การขันแข่ง ไม่ใช่การแสดง ไม่ใช่การโอ้อวด แต่มันคือความเป็นจริงของชีวิตที่เป็นอยู่
เรียนรู้เพื่อพัฒนาให้จิตนั้นก้าวหน้ามีความเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป....
            ขอบคุณลมหายใจที่ยังมีอยู่และขอบคุณกาลเวลาที่ให้โอกาศ 
                         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

47
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๗ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔
           แต่ละวันที่ผ่านพ้นไป อารมณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุและปัจจัยที่ปรุงแต่ง สลับสับเปลี่ยนกันไป
กุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง ปะปนกันไปแล้วแต่เหตุและปัจจัยที่มากระทบ
ซึ่งส่วนใหญ่เราจะรู้เท่าทันเฉพาะอกุศลจิต เพราะเรากลัวโทษภัยของมัน
ส่วนที่เป็นกุศลจิตนั้นเราไม่ค่อยจะพิจารณาถึงคุณถึงโทษของมัน
เพราะจิตเรานั้นไปยินดีเพลิดเพลินหลงในอารมณ์แห่งกุศลจิต
ทำให้ลืมคิดและพิจารณา เกิดความประมาทขาดสติและสัมปชัญญะ
ไม่รู้เท่าทันปัจจุบันธรรม อยู่กับความคิด ความฝันและจินตนาการ
ของการสร้างบุญ สร้างบารมี เพลินในความคิดจิตปรุงแต่งในกุศล
แต่จิตไม่ได้พัฒนาคือเพียงแต่ได้คิดและสิ่งที่คิดนั้นไม่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้
เพราะว่าบางครั้งเหตุและปัจจัยยังไม่พร้อม เรายังไม่ได้สร้างเหตุและปัจจัยสำหรับสิ่งนั้นเลย
แต่เราไปนึกถึงผลของความสำเร็จและประโยชน์ที่จะได้รับในสิ่งที่เรากำลังปรุงแต่งจินตนาการ
มันเลยทำให้เราประมาทขาดสติและสัมปชัญญะ ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันธรรม ความเป็นจริงทั้งหลาย
          การปฏิบัติธรรมคือการทำหน้าที่ของเรานั้นโดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่.......
ก่อนที่จะทำหน้าที่นั้น เราต้องรู้จักหน้าที่และขอบเขตของหน้าที่ ลำดับชั้นของหน้าที่เสียก่อน
แล้วจึงลงมือกระทำไปตามหน้าที่ในขอบเขต ตามลำดับไป ควรรู้ว่าเราจะต้องทำอะไรในขณะนี้
 ตามหน้าที่ของเรา "รู้ตน รู้ตัว รู้ทั่ว รู้พร้อม" คือองค์ประกอบของความเจริญก้าวหน้า การพัฒนาของจิต
สติและสัมปชัญญะที่ได้รับการฝึกฝน ให้รู้เท่าทันปัจจุบันธรรมนั้น จะคอยควบคุมกาย ควบคุมจิต
ให้รู้จักคิด รู้จักการพิจารณา และรู้จักการละวางซึ่งสิ่งที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ไม่เข้าไปยึดถือในสิ่งนั้น
และตามดู รู้ทันในสิ่งที่กำลังตั้งอยู่ในความเป็นกุศลทั้งหลาย โดยเหตุและผลของตัวมันเอง
ดำเนินชีวิตไปตามบทบาทและหน้าที่ ที่พึงกระทำ ตามเหตุและปัจจัยที่มีในขณะนั้น
จิตอยู่กับปัจจุบันธรรมคือสิ่งที่กำลังเป็นไปในขณะนั้น แต่ไม่เข้าไปยึดติดจนงมงาย
รู้และเข้าในในเหตุและผลของตัวมันเอง โดยการคิดและพิจารณาในอารมณ์ทั้งหลายนั้น
รู้ เห็น เข้าใจ สิ้นความสงสัย แล้วจิตจึงจะเข้าไปละวาง ไม่ยึดถือในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น
เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นแก่จิต ที่ได้ผ่านการฝึกคิดและพิจารณาจนมีความชำนาญแล้ว
ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝนสร้างความเคยชินให้แก่จิตนั้น เป็นไปตามขั้นตอน
จากสิ่งที่ง่ายไปสู่สิ่งที่ยาก จากสิ่งที่หยาบไปสู่สิ่งที่ละเอียด จนสติและสัมปชัญญะนั้น
มีความรู้เท่าทันในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลาย และไม่เข้าไปยึดติดยึดถือ ปรุงแต่งในสิ่งนั้น
ให้อยู่ปัจจุบันธรรมเห็นการเกิดดับของสรรพสิ่งทั้งหลายโดยสภาวะแห่งธรรมที่แท้จริง....
       ขอบคุณความคิดและจิตวิญญาณในการพิจารณาธรรม 
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๕๓ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

48
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๖ สค. ๕๔ ....
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
            สภาพดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ ฝนตกหนัก
บางครั้งจิตก็เผลอเกิดปฏิฆะต่อสภาพดินฟ้าอากาศ
สติระลึกได้ทัน เห็นการเกิดขึ้นของอารมณ์ความรู้สึก
พิจารณาเจาะลึกเห็นการเกิดขึ้นของอารมณ์ปฏิฆะเหล่านั้น
พิจารณาธรรมตามสภาวะจนเกิดความรู้ความเข้าใจในธรรม
ความแปรปรวนสภาพของดินฟ้าอากาศว่า"มันเป็นเช่นนั้นเอง"
เพราะว่าฤดูนี้เป็นฤดูฝน เป็นฤดูแห่งมรสุมอยู่ในช่วงเข้าพรรษา
ฤดูฝนย่อมมีฝนตกเป็นเรื่องธรรมดา พระเข้าพรรษาก็เพราะว่าเป็นฤดูฝน
ฤดูฝนถ้าไม่มีฝนตก ก็ผิดธรรมชาติของฤดูฝน เหตุผลง่ายๆแต่เรามองข้ามไป
ไม่ได้พิจารณา เรากลับเอาตัณหาความต้องการของเรามาเป็นอารมณ์
มันก็เลยทำให้เกิดความทุกข์ใจ แต่เมื่อเราระลึกได้ รู้เท่าทันอารมณ์
จิตปฏิฆะขุ่นมัวที่เป็นเหตุให้เกิด ความทุกข์อันนั้นก็สลายไป
จิตใจปลอดโปร่งโล่งเบาแจ่มใส ไม่หนักอกหนักใจ ไร้ความกังวล
เพราะเมื่อเราละวางอารมณ์นั้นได้แล้ว ไม่แบกไม่ถือ เลยไม่หนัก
ดั่งพุทธพจน์ที่ว่า "ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ..ย่อมดับไปที่เหตุ"
เห็นจริงตามธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ใจเกิดสภาวะปิติ
ซาบซึ้งในพระธรรม ศรัทธาปสาทะในธรรมะของพระพุทธองค์
เชื่อมั่นในพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมคำสอน
เหตุเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อได้คิดพิจารณาย่อมนำมาซึ่งความเจริญในธรรม.....
           สิ่งทั้งหลายรอบกายของเรานั้น ล้วนสงเคราะห์เข้ากับธรรม
หากเรานั้นได้นำมาคิดและพิจารณาถึงที่มาและที่ไปในสิ่งเหล่านั้น
สงเคราะห์เข้าหาหลักธรรม โดยการพิจารณาให้เห็นถึงคุณถึงโทษ
เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของธรรมชาติทั้งหลายนั้น
รู้เห็นถึงสภาวะการเกิดดับของอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายของจิต
โดยการมีสติและสัมปชัญะควบคุมคุ้มครองจิตให้คิดพิจารณา
รู้เท่าทันสภาวะของอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเมื่อมีผัสสะมากระทบ
ไม่เผลอสติไปปรุงแต่งคล้อยตามในอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานั้น
ย้อนจิตเข้ามาพิจารณาในกายในจิตของตัวเราที่เปลี่ยนแปลงไป
จนเห็นที่เกิดของอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลาย เห็นสภาวะของการตั้งอยู่
รู้สภาวะที่จะทำให้อารมณ์เหล่านั้นดับไป สิ้นความสงสัยในสิ่งเหล่านั้น
จิตก็จะสามารถละวางไม่เข้าไปยึดติดปรุงแต่งในอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น
เมื่อไม่ยึด ไม่ถือ ไม่ปรุงแต่ง สิ่งนั้นก็ย่อมจะดับไป ใจก็จะพบความสงบ
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในธรรมชาตินั้น ...” มันเป็นเช่นนั้นเอง “...
  ขอบคุณสายฝนที่ตกมา..ขอบคุณอารมณ์ปฏิฆะที่เกิดขึ้น 
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๔๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

49
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๕ สค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
ตั้งแต่ตื่นนอนรู้สึกตัวขึ้นมา....
พยายามรักษาทำจิตให้ว่าง ให้โปร่งโล่งเบา
เพื่อดึงข้อมูลเก่าๆกลับมา โดยใช้อารมณ์สมาธิเป็นแนวทาง
ปรับเครื่องรับของเราให้ว่างจากข้อมูล เพื่อรอรับคลื่นที่จะเข้ามา
ซึ่งถ้าเราทำให้ว่างไม่ได้ คลื่นสัญญาณที่รับก็จะไม่ชัดเจน
ซึ่งวิธีการนี้ได้มาจากฝึกจิต ตัวดู ตัวรู้ ตัวเห็น ที่เคยผ่านมา
ภาวนาให้จิตสงบนิ่ง แล้วถอยจิตออกมา อธิษฐานจิต แล้วปรับจิตสู่ความว่าง
คือว่างจากความคิดปรุงแต่งใดๆ ลักษณะคล้ายเรานั้นกำลังเหม่อลอย
แต่สติและสัมปชัญญะนั้นคงมีอยู่สมบูรณ์ระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันธรรม
สัญญาความทรงจำในอดีตที่อธิษฐานไว้ ที่เราอยากจะรู้ ก็จะผุดขึ้นมา
สติต้องมีความฉับไว้ในการบันทึกข้อมูลสัญญาความจำเก่าที่ผุดขึ้น
เพราะสิ่งนั้นจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่เพียงชั่วขณะ และดับไปอย่างรวดเร็ว
ดั่งคำโบราณของครูบาอาจารย์ที่ว่า"ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น"
เพราะมโนภาพหลังจากนั้นแล้วเป็นการปรุงแต่งของจิตเรา
จิตที่ใช้ในการรักษาโรค ปรับธาตุนั้น เป็นจิตหนัก จิตเชิงพลังงาน
ต้องอยู่ในอารมณ์ของฌาน อารมณ์ของสมาธิ และกสิน
ส่วนจิตที่ใช้ในการดู เพื่อให้รู้ เพื่อให้เห็น นั้นเป็นจิตเบา
คือความว่างในอารมณ์สมาธิ ซึ่งเป็นความว่างภายใน
เหมือนขวดน้ำที่ว่างเปล่า ภายในไม่มีน้ำอยู่ แต่ยังมีรูปทรงของขวดอยู่
ขวดคือสมาธิที่ทรงไว้ ภายในขวดที่ว่างเปล่าไม่มีน้ำคือความว่าง
ส่วนความว่างในอารมณ์วิปัสสนานั้น เป็นความว่างเปล่า
ไม่มีน้ำ ไม่มีขวดน้ำ ดัง่โฉลกธรรมของท่านเหวยหล่างที่กล่าวไว้
"ไม่มีต้นโพธิ์ ไม่มีกระจกเงา" นั้นคือความว่างในอารมณ์วิปัสสนา
ว่างจากกิเลสและอัตตาตัวตนทั้งหลาย ไร้ซึ่งการปรุงแต่งของจิต
เห็นซึ่งความเป็นจริงทั้งหลายของสรรพสิ่งในโลกนี้ที่กำลังเป็นอยู่
เป็นสภาวะแห่งปัจจุบันธรรม ตามดู ตามรู้ ตามเห็นในสิ่งที่กำลังเป็นไป
แต่จิตไม่เข้าไปข้องอยู่ ยึดติด พึงพอใจในอารมณืทั้งหลายเหล่านั้น
สักแต่ว่ารู้ สักแต่เห็น เพราะเข้าใจถึงความเป็นมาของสิ่งเหล่านั้น
ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในธรรมชาตินั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเช่นนั้นเอง...
      ขอบคุณมิตรสหายทั้งหลายที่ให้กำลังใจมาตลอดเวลา  
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

50
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๔ สค. ๕๔
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
           ช่วงนี้อากาศแปรปรวน เดี๋ยวก็ร้อนเดี๋ยวก็หนาว จึงต้องปรับสภาพร่างกายให้มีความพร้อม
ต่อสภาพความแปรปรวนของธรรมชาติ โดยใช้การทำงานเป็นการออกกำลังกาย บริหารกล้ามเนื้อ
และเป็นการฝึกจิตไปในตัว โดยการเจริญสติสัมปชัญญะในขณะร่างกายเคลื่อนไหวในการทำงาน
อากาศหนาวถ้าเราอยู่นอนมากมันจะปวดข้อปวดกระดูก จึงต้องพยายามที่จะเคลื่อนไหวร่างกาย
ให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อปรับสภาพร่างกายให้มีภูมิต้านทานต่อสภาพอากาศ
ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงใช้การบริหารร่างกายโดยการเดินจงกรม เป็นการเจริญสติภาวนา
และบริหารร่างกายไปพร้อมกัน ซึ่งในการเดินจงกรมนั้น เราจะได้กำลังของสติและสัมปชัญญะ
ทั้งสองอย่างพร้อมกัน  และเมื่อจิตเริ่มเข้าสู่สมาธิอารมณ์กรรมฐาน วิตก-วิจารณ์ จะเกิดขึ้น
คือจิตจะยกหัวข้อธรรมขึ้นมาคิดและพิจารณาแยกแยะหัวข้อธรรมตีความหมายในหัวข้อธรรมนั้นๆ
จะเกิดสภาวะธรรมะลื่นใหล คือคิดอะไรจะเป็นธรรมะไปหมด เดินไปเทศน์ไป เทศน์ให้ตนเองฟัง
 ซึ่งอารมณ์ธรรมตัวนี้ถ้าเราตามไม่ทันก็จะเกิดการหลงในอารมณ์ได้ ทำให้คิดว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม
และถ้าควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ก็จะเกิดอาการฟุ้งซ่านในธรรม คืออยากจะออกไปเทศน์ไปบรรยาย
ให้ผู้อื่นได้รู้ในธรรมที่ตนเองรู้และเข้าใจ เพราะหลงคิดไปว่าตัวเองนั้นบรรลุธรรมแล้ว
 ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วนั้น เป็นเพียงอารมณ์เบื้องต้นแห่งองค์ฌาณ คืออารมณ์วิตกวิจารณ์
ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายต้องพึงระวังไม่ให้หลงในอารมณ์นี้ ด้วยการมีสติและสัมปชัญญะ
 รู้ให้เท่าทันอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้น อันต้องมีพื้นฐานจากการฝึกสติและสัมปชัญญะที่ถูกต้องมาก่อน
ตามหลักของไตรสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ดั่งพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า..." ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ศีลนี้เองเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิคือความสงบใจ สมาธิที่มีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นสมาธิที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
บุคคลผู้มีสมาธิย่อมอยู่อย่างสงบ เหมือนเรือนที่มีฝาผนัง มีประตูหน้าต่างปิดเปิดได้เรียบร้อย มีหลังคาป้องกัน
ลมแดดและฝน ผู้อยู่ในเรือนเช่นนี้ ฝนตกก็ไม่เปียก แดดออกก็ไม่ร้อน ฉันใด บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิดีก็ฉันนั้น
ย่อมสงบอยู่ได้ไม่กระวนกระวายเมื่อลมแดดและฝน กล่่าวคือโลกธรรมแผดเผา กระพือพัดซัดสาด
เข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า สมาธิอย่างนี้ย่อมก่อให้เกิดปัญญา ในการฟาดฟันย่ำยีและเชือดเฉือนกิเลสอาสาวะต่างๆ
ให้เบาบางและหมดสิ้นไป เหมือนบุคคลผู้มีกำลังจับศาสตราอันคมกริบแล้วถางป่าให้โล่งเตียนก็ปานกัน "...
นั่นคืออานิสงส์แห่งการฝึกสติโดยการรักษาศีล มีศีลเป็นพื้นฐานในการเจริญจิตตภาวนา ตามหลักของ
พระพุทธศาสนาในไตรสิกขา สมาธิและปัญญานั้นย่อมจะเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติ ดั่งพุทธพจน์ที่พระองค์
ได้ทรงตรัสไว้ว่า...” ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ปัญญาซึ่งมีสมาธิเป็นรากฐานนั้น ย่อมปรากฏดุจไฟดวงใหญ่
กำจัดความมืดให้ปลาสนาการ มีแสงสว่างรุ่งเรืองอำไพ ขับฝุ่นละอองคือกิเลสให้ปลิวหาย ปัญญาจึง
เป็นประดุจประทีปแห่งดวงใจ “...การปฏิบัตินั้นต้องดำเนินไปตามหลักของไตรสิกขา ๓ เพื่อเป็นบาท
ฐาน รองรับซึ่งกันและกัน ความเจริญในธรรมนั้นจึงจะเกิดขึ้นและถูกต้องไม่หลงทาง...
          จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิด สะกิดเตือนใจ แก่ผู้ใฝ่ในการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ให้นำไปคิดพิจารณา
ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติธรรม จะได้ไม่ข้ามขั้นตอน โดยความใจร้อนหวังผลในการปฏิบัตินั้น
ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเป็นการสร้างความกดดันให้ตนเองโดยที่ไม่รู้ตัว จนอาจก่อให้เกิดทิฏฐิมานะ
หลงตัวหลงตน หลงอารมณ์กัมมัฏฐานที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นความคิดมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดไปในทางธรรม
นำมาซึ่งสิ่งที่เป็นอกุศลทั้งหลายให้เกิดขึ้นในกายในจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดเพราะเป็นการหลงทาง.....
                               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

51
 คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๓ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึงชลบุรี
พุธที่  ๒๔  สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
            ปลีกตัวออกจากหมู่คณะมาจำพรรษาแต่ผู้เดียวบนเขาเรดาร์ที่อำเภอบ้านบึง
จังหวัดชลบุรี งดรับกิจนิมนต์ ทำให้ได้มีเวลาค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฏก ทำความรู้ความเข้าใจ
ในหัวข้อธรรม ที่ยังสงสัยไม่เข้าใจในภาษาธรรม ปรับให้เป็นภาษาพูดเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย
ในการที่จะเอาไปนำเสนอเผยแผ่เพราะถ้าใช้คำศัพท์ภาษาธรรมนั้น จะทำให้ผู้ฟังจะเข้าใจได้ยาก
 บางครั้งฟังแล้วยิ่งเกิดความสงสัยไม่เข้าใจมากขึ้น เพราะติดอยู่กับความหมายของคำศัพท์ในภาษาธรรม
 และบางครั้งก็อาจจะตีความแปลความหมายของคำศัพท์นั้นผิดพลาดไป จึงต้องใช้ภาษาที่เรียบง่าย
 เพื่อให้ฟังสบายๆง่ายแก่การที่จะเข้าใจและทำให้ดูว่าไม่เป็นพิธีการจนเกินไป การฟังธรรม พิจารณาธรรม
ทำให้เข้าใจถึงสภาวธรรมได้ง่ายและรวดเร็ว
   จิตปรุงแต่งในกิเลส คือจิตเริ่มคิดก่อน คิดชอบ คิดไม่ชอบ เมื่อความคิดเกิดจึงปรุงแต่งให้เกิด
กิเลส ความโกรธ โลภ หลง เมื่อกิเลสเกิดขึ้นและเราไม่มีสติสัมปชัญญะพอจะดับกิเลส มันก็ปรุงแต่งจิต
ให้คิดวุ่นวายไปเรื่อย ไม่ผ่องใส พอจิตมันคิดปรุงแต่ง มันก็จะปรุงให้กิเลสเพิ่มขึ้นๆ จนกว่าเราจะได้สติ
มันจึงจะหยุดปรุง ซึ่งมีกุศโลบายในการที่จะทำจิตหยุดปรุงแต่ง โดยการไล่ต้อนให้จิตนั้นอ่อนเพลีย
โดยการใช้จิตถามจิต ว่าทำไมต้องคิดและต้องปรุงแต่ง คิดแล้วปรุงแต่งแล้วมันได้อะไร สิ่งที่คิดที่ปรุงแต่ง
นั้นมันเป็นกุศลหรืออกุศล  ใช้จิตถามจิตและหาคำตอบให้จิต จนมันจบคือการค้นพบซึ่งคำตอบของจิต
จิตมันหาคำตอบจนเห็นที่เกิดของความคิดปรุงแต่งทั้งหลาย เห็นคุณเห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่
ประโยชน์ ในสิ่งที่คิด ในสิ่งที่จิตปรุงแต่งนั้น จิตมันจะล้าและหยุดการปรุงแต่ง อยากจะพักเข้าสู่ความสงบ
เรียกว่าเราต้องปราบให้จิตหมดความพยศ หมดกำลัง ทำให้เข้าไปควบคุมจิตได้ง่าย
   การปฏิบัติธรรมนั้น อย่าไปอยากรู้อยากเห็นอยากเป็นในสิ่งใดๆ ให้มันรู้อยู่อย่างเดียว มีอะไรก็ช่าง
รู้อยู่อย่างเดียว ความอยากนั้นทำให้จิตวุ่นวาย หลุดออกจากสมาธิ เราปฏิบัติเพื่อความปล่อยวาง เพื่อจะละ
จะลดซึ่งความยึดมั่นถือมั่นต่างๆให้เบาบางลง เพื่อละความยินดียินร้าย เราเป็นผู้ดูไม่ใช่ผู้บังคับให้มันเป็น
สภาวธรรมทั้งหลายนั้น เป็นปัจจุบันธรรม ที่เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัยในขณะนั้น เป็นธรรมชาติที่แท้จริง
ของจิต ไม่ใช่สิ่งที่เราสร้างขึ้นมา แต่มันเป็นสภาวะจิตที่เกิดขึ้น ตามเหตุและปัจจัยที่เป็นไปในขณะนั้น
หน้าที่ของเราก็คือ การตามดู ตามรู้ตามเห็น แยกแยะกุศลและอกุศล พิจารณาให้เห็นคุณ เห็นโทษ
เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ในสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น แล้วละวางในสิ่งที่เป็นอกุศลทั้งหลาย
   การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิตนั้น เรียกว่ากำลังทำความเพียร กำลังปฏิบัติธรรม ไม่จำเป็นว่า
จะต้องนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมจึงจะเรียกว่าปฏิบัติธรรมทำความเพียร ถ้าไม่มีสติระลึกรู้ ฟุ้งซ่านคิดไปเรื่อย
ก็ไม่เรียกว่าทำความเพียร แม้จะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมอยู่ก็ตาม เมื่อไหร่ที่จิตนั้นมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่
ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่งจะนอน ก็ได้ชื่อว่ากำลังปฏิบัติธรรมทำความเพียรอยู่  และสตินั้นต้องมีองค์แห่ง
คุณธรรมคุ้มครองอยู่ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปคุ้มครองอยู่ ทำให้รู้ในสิ่งที่ควรและสิ่งที่ไม่ควร
ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ ซึ่งต้องเพียรกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนจิตนั้นมีความเคยชินและคุ้นเคยในการคิด
และการพิจารณา จนเป็นความชำนาญของจิตในการคิดและทำ
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๔  สิงหาคม  ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๒๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

52
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๒ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่  ๒๓  สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          ว่างเว้นจากภารกิจงานโยฐากัมมัฏฐานการก่อสร้างทั้งหลายในช่วงนี้
ทำให้มีเวลาพิจารณาทบทวนใคร่ครวญธรรมตามที่ได้ศึกษาค้นคว้าปฏิบัติมา
เพื่อรักษาและทรงไว้ซึ่งสภาวธรรมที่เคยได้พบมามิให้เสื่อมไปและปฏิบัติเพื่อให้
สภาวธรรมตัวใหม่เกิดขึ้นมา ยกเอาหลักธรรมทั้งหลายเข้ามาสงเคราะห์อนุเคราะห์
เป็นเหตุปัจจัยในการพิจารณาปฏิบัติ  มีสติและสัมปชัญญะคอยเตือนตนอยู่เสมอ
ไม่ให้เผลอคล้อยตามซึ่งความเป็นโลกธรรมทั้งหลาย พึงพอใจในสิ่งที่มีและสิ่งที่เป็น
พยายามกระตุ้นเตือนจิตสำนึกถึงบทบาทและหน้าที่ของตน ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
ตามกำลังความรู้ความสามารถที่มีสงเคราะห์ซึ่งโลกและธรรม
        นั่งทบทวนพิจารณาเรื่องกระแสนิยม มงคลตื่นข่าวของชาวไทยซึ่งอ่อนไหวต่อกระแส
และเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วตามกระแสสังคมว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นไปเช่นนั้น
คือการคล้อยตามกระแส จึงพอจะรู้และเข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มันมีที่มาจากจริตของคนไทย
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น"ศรัทธาจริต"มีจิตใจที่อ่อนไหวเชื่ออะไรได้ง่าย และมีพื้นฐานจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก
และระบบการศึกษาของไทย ที่สอนให้ เชื่อฟัง และทำตามผู้ใหญ่ และจดจำในสิ่งที่สอน ที่สั่ง
ทำให้เกิดการเคยชินในระบบความคิดและความจำเมื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพราะสังคมการศึกษา
และวิถีชีวิตของคนไทยนั้นไม่ได้สอนเรื่องเหตุและผล ไม่ได้สอนให้คิดค้น วิเคราะห์ และพิจารณา
สอนแต่ให้จำได้หมายรู้เพียงอย่างเดียว เมื่อได้พิจารณาจนได้รู้และเข้าใจ จิตก็คลายสงสัย
เพราะรู้ว่า"มันเป็นเช่นนั้นเอง"
เวลาส่วนใหญ่ในตอนกลางวันนั้น จะใช้ไปในการคิดพิจารณา สงเคราะห์ให้คำแนะนำ
ในการทำงาน บริหารคน บริหารงาน ประสานให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่มีปัญหา
และอุปสรรค์ โดยใช้หลักการคิด วิเคราะห์และวางแผนการทำงานไว้ล่วงหน้า
มองงานทุกอย่างให้ละเอียดให้ชัดแจ้งในองค์ประกอบของงาน  ว่ามีกระบวนการ
ในการกระทำเป็นอย่างไร ใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง ต้องใช้แรงงานมากน้อยขนาดไหน
ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง ซึ่งเราต้องคิดและวางแผนไว้ล่วงหน้าให้คำแนะนำ
ก่อนที่เขาเหล่านั้นจะลงมือทำงานทุกครั้ง คิดที่ละเรื่อง ที่ละอย่าง ให้มันจบเป็นเรื่องๆไป
แล้วบันทึกไว้ในส่วนของความจำ คือมองภาพกว้างๆแล้วมาแยกแยะออกเป็นอย่างๆเป็นเรื่องๆไป
โดยให้ความสำคัญที่เหตุและปัจจัย ว่าอะไรควรทำก่อน และทำที่หลัง ทำในสิ่งที่คิดและทำได้ในทันที
 เพราะมีเหตุและปัจจัยที่พร้อม เวลา โอกาส สภาพดินฟ้าอากาศ และความพร้อมของบุคคลากร
ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ซึ่งเราได้วางแผนงานไว้และมีแนวทางของการแก้ไข้ไว้ล่วงหน้า
ถ้าเกิดมีอุปสรรค์และปัญหาขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากการฝึกคิด ฝึกพิจารณา โดยการมีสติสัมปชัญญะ
และสมาธิเป็นพื้นฐาน คือการทำจิตให้นิ่ง แล้วจะมองเห็นทุกสิ่งอย่างละเอียดและชัดเจน ทุกอย่างสามารถ
ที่จะฝึกฝนกันได้ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด ขอเพียงเราเริ่มต้นและลงมือทำ
           สงเคราะห์โลกและธรรมให้ก้าวเดินไปพร้อมกัน เลือกเฟ้นธรรมที่เหมาะสม กับ จังหวะ เวลา โอกาส
สถานที่และตัวบุคคล นำมาสงเคราะห์และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ตามเหตุและปัจจัยที่มี ดั่งที่เคยกล่าวไว้เสมอ
ว่า “ บางครั้งไม่ต้องคิดให้ดีที่สุด คิดให้ใช้ได้ ทำได้ทันทีก็เพียงพอแล้ว “ เพราะบางครั้งความคิดที่ดีนั้น
ไม่อาจจะนำมาทำให้เป็นรูปธรรม สิ่งที่จับต้องและเห็นได้ เพราะเหตุปัจจัยนั้นมันยังไม่เพียงพอ
แต่ความคิดที่ใช้ได้ซึ่งอาจจะไม่ดีจนเกินไป นั้นสามารถที่จะทำให้เป็นรูปธรรมได้ในทันที เพราะว่ามี
เหตุและปัจจัยสมบูรณ์อยู่แล้วในขณะนั้น หลักการคิดทั้งหลายก็คือการคิดจากสิ่งที่มีและที่เป็นอยู่
ไม่คาดหวังเหตุปัจจัยในอนาคตมาเป็นตัวกำหนดซึ่งความคิดและการกระทำทั้งหลาย ทุกอย่างจึง
เดินไปได้ด้วยตัวของมันเอง ไปตามเหตุและปัจจัย จังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคล
ที่มีที่เป็นในขณะนั้น เป็นตัวกำหนดการเดินทางของตัวมันเอง
  แด่การพิจารณาฝึกฝนหาเหตุและผลของสรรพสิ่งรอบกาย 
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๓  สิงหาคม  ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๑๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

53
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๑ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่  ๒๒  สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
        ดั่งที่เคยกล่าวใว้ใน “ บันทึกธรรมปี ๕๒ “ เรื่องการศึกษาและปฏิบัติธรรม
ในยุคสมัยปัจจุบัน ที่มีผู้คนหันมาสนใจและเขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมะและการ
ประพฤติปฏิบัติธรรมออกมามากมายแพร่หลายกันนั้น มันก็มีทั้งผลดีและผลเสีย
ควบคู่กันไป ส่วนดีนั้นก็คือการชักนำให้มีผู้สนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมมากขึ้น
ส่วนเสียนั้นก็คือผู้เขียนบางท่านยังไม่เข้าถึงสภาวธรรมที่แท้จริง เป็นเพียงผู้วิจารน์ธรรม
คนที่เขาคิดว่าตัวเขาเป็นปราชญ์ เป็นผู้ฉลาดในทางโลก เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ
เป็นครูบาอาจารย์ เป็นนักวิชาการทางโลก มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เป็นทีรู้จักของคนทั่วไป
เรียกว่ามีต้นทุนทางสังคมมาก่อนแล้ว เมื่อเข้าสู่ทางธรรมต้องถอดวางให้หมดเสียก่อน
เพราะส่วนใหญ่เมื่อมาศึกษาธรรมะแล้วก็เป็นได้เพียงนักวิจารน์ธรรม เพราะชื่อเสียง
และศักดิ์ศรี อัตตามันมาบังอยู่ จึงทำให้ไม่รู้สภาวะธรรมที่แท้จริง คนฉลาดกับคนมีปัญญานั้น
แตกต่างกัน ภาษาโลกและภาษาธรรมความหมายต่างกัน ความฉลาดและมีปัญญาทางโลกนั้น
วัดกันด้วยไอคิวสมอง แต่ความฉลาดและปัญญาทางธรรมนั้นรู้กันที่ใครมีสติและสัมปชัญญะ
มากกว่ากัน ปัญญาทางโลกนั้นรอบรู้ในเรื่องนอกกายและการจำได้หมายรู้ ส่วนปัญญาทางธรรม
คือรอบรู้ในกองสังขาร รู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้การกระทำ มีองค์แห่งคุณธรรมหิริโอตัปปะ
ความละอายและเกรงกลัวต่อบาปคุ้มครองอยู่ ความหมายของศัพท์ในภาษาโลกและภาษาธรรม
จึงแตกต่างกันโดยเนื้อหาแห่งความหมาย....
         ฉะนั้น เพียงแต่ศึกษาธรรมะในเชิงปริยัติ ก็อย่าคิดว่าเข้าใจหมดแล้ว รู้หมดแล้ว
เพราะการเข้าใจโดยการตีความ การวิภาค วิจารน์ธรรม โดยเอาอัตตาของตนเข้าไป
วิเคราะห์ธรรมนั้นยังไม่ถูกต้อง อย่าพยายามตีความขยายความเพื่อรองรับและเข้าข้าง
ความคิดของตนเอง การศึกษาและการปฏิบัติธรรมนั้น มีหลักที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้
ต้องทำตามหลักศึกษาตามหลัก ตามลำดับขั้นตอนไป ซึ่งธรรมะทั้งหลายทั้งปวงนั้น
จะไม่มีการขัดแย้งกัน แต่จะสงเคราะห์และอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นเหตุและผลซึ่งกันและกัน
เพราะฉะนั้น เราต้องปรับความรู้ความเข้าใจของเราเข้าสู่หลักธรรม ไม่ใช่ตีความขยายความ
หลักธรรมให้มารองรับความคิดเห็นของเรา สิ่งที่รู้ สิ่งที่เห็น สิ่งที่เข้าใจ ต้องเป็นไปตามหลักธรรม
ของพระพุทธเจ้า ไม่มีการขัดแย้งกัน สงเคราะห์กันได้กับธรรมทุกหมวดหมู่ สิ่งที่รู้ สิ่งที่เห็น สิ่งที่เข้าใจ
นั้นจึงถูกต้องตามหลักธรรม....
          การศึกษาธรรมะและประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องมีวิจารนญาณ อย่าทันทีที่ได้ยินได้ฟังมา
อย่าได้ศรัทธาเพราะยึดติดในตัวบุคคล จงเอาเหตุและผลมาเป็นที่ตั้ง แห่งการคิดและพิจารณาธรรม
ว่าควรจะเชื่อหรือจะปฏิเสธ ในสิ่งที่ได้อ่าน ได้ยินหรือได้ฟังมา ดั่งที่เคยกล่าวไว้ว่า “ ถ้าเชื่อในทันที
เรียกว่างมงาย ถ้าปฏิเสธทันที เรียกว่าเสียโอกาส ขาดประโยชน์ ควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบครอบ
และทดลองปฏิบัติ พิสูจน์ ฝึกฝนที่ใจตน ให้เกิดความกระจ่างชัดขึ้นด้วยใจตน ตามเหตุและผลแล้ว
จึงควรเชื่อหรือปฏิเสธในสิ่งที่ได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟังมา อย่าให้ความศรัทธาในตัวบุคคล มาบดบังเหตุ
และผล สภาวธรรมที่แท้จริง ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันธรรมทั้งหลาย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญามีดวงตาเห็นธรรม
เข้าถึงสภาวธรรมที่แท้จริงนั้นได้.....
  ....แด่ความเห็นในทางธรรมที่แตกต่างกัน...  
              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๒  สิงหาคม  ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

54
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๐ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่  ๒๑  สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
       ชีวิตคือการทำงาน...
การทำงานอย่างมีสตินั้นคือการปฏิบัติธรรม
ดำเนินชีวิตด้วยการทำงานทั้งทางภายนอกและภายใน
ควบคุมกายใจด้วยสติและสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา
พิจารณาให้เห็นความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลาย
ทำใจให้ยอมรับกับสภาพแห่งความเป็นจริงในสิ่งเหล่านั้น
เมื่อใจรับได้เพราะรู้และเข้าใจในความเป็นไปของสิ่งเหล่านั้น
เห็นที่มาที่ไปเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น
เมื่อละวางมันได้ความทุดข์เพราะความกังวลทั้งหลายก็หายไปสิ้นไป.....
    อดีตคือความทรงจำที่ผ่านมา...
ปัจจุบันคือความเป็นจริงสิ่งที่กำลังตั้งอยู่...
อนาคตคือความฝันและจินตนาการเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น...
คือคำพูดและโวหารในเชิงกวีที่ได้กล่าวกันมาแต่ยาวนาน
แต่ในความเป็นจริงในชีวิต...จงทำจิตให้หยุดคิดสงบนิ่ง
แล้วขจัดความคิดอกุศลสิ่งที่เป็นขยะของอารมณ์ออกไป
คงเหลือไว้แต่สิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่ดีมีสาระและมีประโยชน์
สิ่งที่ไม่เป็นทุกข์ เป็นภัยและเป็นโทษต่อกุศลทั้งหลาย
เพื่อให้มีความเจริญในกุศลธรรมเพิ่มพูนก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป...
     มองดูโลกที่สับสนวุ่นวายให้คล้ายดูหนังดูละคร....
ทุกบททุกตอนล้วนแล้วแต่มายา ที่ถูกกำหนดมาด้วยกฏแห่งกรรม
พยายามทำจิตใจให้อยู่โลกธรรม ๘ ทวนกระแสแห่งโลกมายา
แล้วเราจะพ้นจากความทุกข์ความเศร้าความโศกจากโลกมายานี้ได้
เพิ่มกำลังทั้ง ๕ประการคือศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ  ปัญญา ให้เพิ่มขึ้น
เพื่อให้เกิดผลงานให้เป็นรูปธรรมพร้อมที่จะนำไปถ่ายทอดเผยแผ่แก่ผู้ที่สนใจ
พยายามทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆขึ้นในจิตเพื่อพัฒนาความคิดให้เจริญก้าวหน้า
เพื่อจะได้นำไปสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นให้เห็นหนทางเห็นแสงสว่างเส้นทางของชีวิต
ชี้นำให้ไปขบคิดพิจารณาเพือให้เกิดปัญญาและออกจากกองทุกข์พบสุขที่แท้จริง...
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๑  สิงหาคม  ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

55
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๙ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่  ๒๐  สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          มีผู้คนจำนวนมากที่สนใจเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมกันในยุคปัจจุบันนี้
ได้เข้ามาพูดคุยสนทนาธรรม เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติเจริญจิตภาวนา
และได้ตั้งคำถามแก่เขาเหล่านั้นเสมอว่า เจตนา เป้าหมายในการปฏิบัตินั้นคืออะไร
ค้นหาคำตอบให้แก่ตนเองให้ได้เสียก่อนว่า เราปรารถนาอะไรในการปฏิบัติธรรม
สิ่งที่เราปรารถนานั้นมันเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ความคิดเริ่มต้นนั้นคืออะไร
การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังซึ่งบุญกุศล เพื่อความเป็นมงคลของชีวิต
ซึ่งต้องดูที่ดำริ เจตนาในการปฏิบัติ ว่าผู้ปฏิบัตินั้นปรารถนาอะไรจากการปฏิบัติธรรมนั้น
และสิ่งที่ตั้งใจปรารถนานั้น เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศลหรือไม่ หรือเป็นไปเพื่ออกุศล
คือความอยากดี อยากเด่น อยากดัง มุ่งหวังคำสรรเสริญ ลาภสักการะ ประโยชน์ส่วนตน
ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นต้องทำความรู้ความเข้าใจในเจตนาของตนเองเสียก่อน เพื่อให้ไม่หลงทาง
เพราะว่าถ้าผิดแต่เริ่มต้น ผลต่อไปมันก็จะออกมาผิดทาง ไปผิดทาง
       การปฏิบัติธรรมนั้นท่านให้เป็นไปตามลำดับ เพื่อปรับธาตุ ปรับอินทรีย์ให้มีความพร้อม
โดยเริ่มจากการให้ทานก่อน เพื่อปรับจิตใจให้มีความอ่อนโยน มีความเมตตา โอบอ้อมอารี
มีความเสียสละ ละความเห็นแก่ตัวลงเสียก่อน ควบคู่กับการรักษาศีล เพราะการรักษาศีลนั้น
คือการเจริญสติ ควบคุมกายและจิตไม่ให้ผิดข้อวัตรปฏิบัติ มีสติควบคุมอยู่เพื่อให้ไม่ผิดศีล
สิ่งที่ได้จากการรักษาศีล คือสติและองค์แห่งคุณธรรม คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
เพราะเรามีคุณธรรมข้อนี้ เราจึงไม่ล่วงละเมิดผิดศีลทั่งในที่ลับและในที่แจ้ง
      เมื่อเข้าสู่การภาวนาเพื่อให้เกิดสมาธินั้น ก็เป็นไปตามกรรมฐานที่เรามีความชอบมีความศรัทธา
คือศรัทธาในครูบาอาจารย์ที่เป็นต้นแบบ ศรัทธาในการประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่ครูบาอาจารย์
ท่านแนะนำ คือทำในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่ใช่ แล้วเราจะทำได้อย่างมีความสุขและจะมีความเจริญ
และควรลองปฏิบัติให้ทุกแนวทาง ทุกกองกรรมฐาน เพื่อหาธรรมะที่เหมาะสมกับจริตของเรา
ซึ่งถ้าถูกกับจริตของเราแล้ว กรรมฐานแนวนั้นจะมีความเจริญในธรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเรา
อย่าไปปฏิบัติตามกระแสนิยม อาจารย์ท่านนั้นมีชื่อเสียงคนขึ้นมาก ดังมากแล้วเราก็ไปปฏิบัติตาม
สำนักนั้น พอมีสำนักอื่น อาจารย์ท่านอื่นดังขึ้นมาใหม่ก็เปลี่ยนไปปฏิบัติตามแนวของอาจารย์ท่านใหม่
เรียกว่าแห่กันไปตามกระแสนิยม ติดอยู่ในตัวบุคคล ไม่ได้สนใจในธรรมอย่างแท้จริง
      สิ่งที่ควรจะระวังก็คือเมื่อปฏิบัติพอเริ่มรู้เริ่มเข้าใจธรรม ให้ระวังตัวมานะทิฐิว่าคนอื่นนั้นไม่ดีเท่าเรา
เราดีเรากว่าเขาขาดความเคารพ แม้ภายนอกจะดูอ่อนน้อม แต่ภายในจิตใจนั้นเย่อหยิ่งถือตัวถือตน
มันเป็นจิตวิปลาส สัญญาวิปลาส อันเกิดจากการปฏิบัติที่ลัดขั้นตอน คือข้ามเรื่องทานและศีลไป
มาเริ่มที่สติ ที่สมาธิ ที่ธรรม ขาดพื้นฐานแห่งคุณธรรม  คือสติที่มีองค์แห่งคุณธรรมคุ้มครองจิต
และจิตใจที่ยังไม่ถูกขัดเกลาให้มีความเมตตาเสียสละ ละความเห็นแก่ตัว คือจิตของผู้ปฏิบัตินั้น
ยังหยาบกระด้างอยู่ เมื่อปฏิบัติพอเริ่มรู้ เริ่มเข้าใจจึงเกิดอัตตามานะทิฐิ คิดว่าตนดีกว่าผู้อื่นเก่งกว่า
ผู้อื่น จาบจ้วงล่วงเกินผู้อื่นทางจิต ไม่มีความเคารพ ศรัทธาอยู่ภายในจิต เรียกว่าจิตวิปลาส สัญญาวิปลาส
เพราะขาดการเริ่มต้นที่ถูกวิธี ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน ไม่ได้ปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิด ให้มีความพร้อม
เสียก่อน จิตนั้นจึงไม่สามารถที่จะรองรับสภาวธรรมที่เกิดขึ้นได้ และตามอารมณ์ธรรมที่เกิดขึ้นได้ไม่ทัน
ไม่เห็นการเกิดดับของอารมณ์ธรรมที่เกิดขึ้น นำไปสู่ความหลงตัวหลงตน เพิ่มพูนซึ่งอัตตามานะทิฐิ
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรพึงจะสังวรระวังมิให้เกิดขึ้นแก่ตน
      สำรวจกาย สำรวจจิต ดูความคิด ดูการกระทำ คือหัวใจของผู้ปฏิบัติธรรมที่ควรกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ
เพื่อไม่ให้เกิดการหลงทาง หลงอารมณ์ เพื่อความเจริญในธรรมที่ถูกต้องตามธรรมตามวินัยในหลักของ
พระพุทธศาสนา การภาวนานั้นคือการทำให้ดีขึ้นเจริญขึ้น สิ่งที่ดีขึ้นเจริญขึ้นนั้นก็คือความเป็นกุศลทั้งหลาย
ความดีทั้งหลาย ทั้งภายนอกและภายใน คือความเจริญของคุณธรรมที่เพิ่มขึ้น
   จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ให้นำไปคิดพิจารณา เพื่อให้เกิดปัญญา
มีความเจริญก้าวหน้าในทางธรรมทั้งหลาย น้อมนำไปประพฤติปฏิบัติกัน ตามกำลังศรัทธาของแต่ละท่าน
เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนจิตสำนึก ให้ระลึกถึงเจตนาและเป้าหมายของการประพฤติปฏิบัติธรรมที่แท้จริง
จะได้ไม่หลงทางเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ออกห่างจากกุศลธรรมเพราะการรู้ไม่เท่าทันในอารมณ์
ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติ ซึ่งเกิดมาจากอัตตาและนำมาซึ่งมานะทิฐิ การถือตัวถือตน มองผู้อื่นว่า
ไม่ดีไปหมด เรานั้นดีอยู่แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนกิเลสให้แก่ตัวเราเองยิ่งขึ้น
                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มิตรในทางธรรม
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๐  สิงหาคม  ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๕๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

56
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๘ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่  ๑๙  สิงหาคม  พ.ศ. ๒๕๕๔
         เป็นที่น่ายินดีที่ในสมัยปัจจุบันนี้  มีคนหนุ่มสาวหันมาสนใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรม
กันมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งจะเป็นเรื่องของคนที่มีอายุ หรือคนที่ไม่มีภาระอะไรแล้ว ที่เข้ามาปฏิบัติ
เพราะในสมัยก่อนนั้น การสื่อสารรับรู้ข้อมูลนั้นทำได้ยากและมีช่องทางน้อยมากที่จะรับรู้ข่าวสาร
ต้องเขาวัดไปฟังพระเทศน์ หรือหาหนังสือมาอ่าน ซึ่งหนังสือเกี่ยวกับธรรมะนั้นหาได้ยากมาก
และภาษาที่ใช้กันในสมัยก่อนนั้น อ่านแล้วเข้าใจยาก เพราะจะใช้คำศัพท์ของพระพุทธศาสนา
มาเขียนและบรรยายกัน บางครั้งทำให้ยิ่งอ่านก็ยิ่งงง เกิดความสงสัยไมเข้าใจมากกว่าเดิมอีก
ทำให้หนังสือเกี่ยวกับธรรมะทังหลายนั้นเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย เพราะยิ่งอ่านแล้วยิ่งไม่เข้าใจ
แต่ในยุคปัจจุบันนี้  มีการเผยแพร่ธรรมกันในหลายรูปแบบและช่องทาง ทำให้การเข้าถึงนั้น
ทำได้ง่ายขึ้น และภาษาที่ใช้ก็เข้าใจง่ายขึ้น เปลี่ยนจากภาษาเขียนทีติดยึดในรูปแบบ มาใช้
ภาษาง่ายๆที่เข้าใจไม่ยาก ทำให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมมากขึ้น
          การศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้น ในทางพุทธศาสตร์ เป็นไปเพื่อการ ลด ละ เลิกซึ่งอัตตา
มานะ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และขบวนการทางจิตในการคิดและทำ ซึ่งเราต้องเริ่มจากฐานกาย
เป็นที่ตั้ง ต้องทำความเข้าใจในเรื่องของกายเป็นเบื้องต้น อันว่ากายนั้นประกอบขึ้นมาด้วยธาตุทั้ง ๔
คือมหาภูตรูป อันได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มาประชุมรวมกัน เกิดช่องว่างระหว่างธาตุ
คือ อากาศธาตุ และมีจิตเข้ามารับรู้อยู่อาศัยและควบคุมคือ วิญญาณธาตุ ธาตุทั้ง ๔ มาประชุมรวมกัน
ก่อเกิดให้เป็นอวัยวะน้อยใหญ่คืออาการ ๓๒ ซึ่งนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจำเป็นต้องรู้และเข้าใจในเรื่อง
กายและเรื่องธาตุเป็นเบื้องต้น โดยการฝึกจิตให้มีสติระลึกรู้อยู่กับกาย ให้มีความรู้ความเข้าใจในความ
สัมพันธ์ของธาตุในกายทั้งหลาย และเมื่อจิตชัดเจนในฐานกาย จิตก็มีที่อยู่ที่อาศัยมีฐานที่มั่นคง
การหลงในสภาวะทั้งหลายก็เกิดขึ้นได้น้อย เพราะมีสติคอยดูแลและควบคุมอยู่ เมื่อจิตรู้ชัดในฐานกาย
จิตก็จะจางคลายในการยึดถือซึ่งตัวตน เพราะเหตุที่ว่าเห็นกายนี้สักแต่ว่าเป็นธาตุที่ประชุมรวมกัน
และไม่นานก็ต้องสลายไป คืนทุกสิ่งกลับไปสู่ธรรมชาติ จิตนี้เป็นเพียงผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัย หาใช่เจ้าของ
แห่งกายนี้ เมื่อเห็นและเข้าใจเช่นนี้ การยึดถือในตัวตนก็จะจางคลาย ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ
ในจิตแยกแยะความคิดที่เป็นกุศลและอกุศลของตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รู้จักคิดและพิจารณา
ให้เห็นคุณ เห็นโทษ เห็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ของความคิดทั้งหลาย จนเกิดความรู้และเข้าใจ
ว่าสิ่งใดที่ควรคิดและควรทำ เพราะเข้าใจในกุศลและอกุศล มองเห็นความเป็นสาระของธรรมะทั้งหลาย
ที่อยู่รอบกายของเรา รู้ในสิ่งที่ควรและไม่ควร ของกาย ของจิต ของความคิด ของการกระทำ จิตนี้ก็จะไม่ตกต่ำ
เพราะมีธรรมคุ้มครองและรักษา มีสติและปัญญาคอยควบคุม มีองค์แห่งคุณธรรม คือหิริและโอตตัปปะ
คอยเกื้อหนุนและดูแล ในการดำรงค์ชีวิต ไม่ให้เดินผิดทางไปสู่อบาย จิตก็ไม่ตกต่ำ เพราะมีธรรมะเป็นที่อยู่
ที่อาศัย เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ และเมื่อเรารักษาธรรม ธรรมนั้นจะรักษาเรา
            การศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้นต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าได้ไปใจร้อนหวังผลในการปฏิบัติให้เกิดขึ้น
อย่างรวดเร็ว ซึ่งความเจริญในธรรมนั้นต้องใช้เวลาในการสะสมฝึกฝน ปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอจนเป็นกิจวัตร
เป็นความเคยชินของกายและจิต ในการคิดและการทำ หมั่นพิจารณาอยู่อย่างสม่ำเสมอ จึงจะเห็นซึ่งความ
เปลี่ยนแปลงของความคิดและจิตสำนึกในคุณธรรมที่เกิดขึ้นในกายและในจิตของเรา ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลา
ในการละลายพฤติกรรมเก่าๆที่เราเคยคิดเคยกระทำมาจนเคยชิน ก่อนที่เราจะเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรม
และในการศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้น อย่าได้เอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นเขา เพราะมันจะก่อให้เกิดซึ่ง
ทิฏฐิ มานะและอัตตา เกิดการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น ความหยิ่งผยองลำพองใจ หรือความน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมาได้
เพราะพื้นฐานของแต่ละคนนั้นมีที่มาที่แตกต่างกัน สภาวธรรมทั้งหลายจึงเป็นของเฉพาะตน
          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มิตรผู้ใคร่และใฝ่ธรรมทั้งหลาย
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๙  สิงหาคม  ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๔๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

57
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๗ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
     อากาศแปรปรวนเกือบทังวันและคืน  มีทั้งฝนและลมสลับกัน ออกไปทำกิจข้างนอกไม่ได้
ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในที่พัก เจริญสติภาวนา ทบทวนศึกษาในสภาวะแห่งข้อธรรมทั้งหลาย
ถึงที่มาและที่ไปของสภาวธรมในแต่ละอารมณ์ แล้วนำไปสงเคราะห์เข้าหาหลักธรรม
การยกจิตขึ้นสู่การพิจารณาธรรมนั้น เป็นขั้นตอนในการปฏิบัติหลังจากจิตนั้นนิ่งสงบแล้ว
เมื่อจิตเข้าสู่สภาวะความโปร่ง โล่ง เบา สว่าง สงบ สบาย และทรงไว้ในอารมณ์นั้นจนเต็มที่
จึงถอนจิตกลับมาสู่การพิจารณาธรรม การพิจารณาธรรมนั้นให้เริ่มจากการพิจารณาร่างกาย
เป็นลำดับแรก โดยการกำหนดรู้ไปทั่วกาย กำหนดภาพร่างกายภายนอกของเราให้เห็นชัด
วิธีการนี้เรียกว่าเอาจิตมาคุมกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งจิตออกไปนอกกาย เอาจิตมาไว้กับกาย
ดูกายด้วยตาใน คือความรู้สึกของเรา จนเห็นรูปกายนั้นเด่นชัด เมื่อเห็นรูปกายภายนอกเด่นชัดแล้ว
ให้กำหนดระลึกรู้เข้าไปสู่ภายในกายของเรา กำหนดรู้ในอาการ ๓๒ ของกายเรา จนเห็นซึ่งอาการ ๓๒นั้น
        เมื่อเห็นอาการ ๓๒ ของกายเด่นชัดแล้ว จึงพิจารณาอาการ ๓๒ นั้นไปสู่การเป็นธาตุ
คือ ดินน้ำลมไฟ แยกธาตุที่ประกอบเป็นกายนั้นแล้วคืนสู่ธรรมชาติ  เพราะธาตุดิน ธาตุน้ำ
 ธาตุลม ธาตุไฟ ในร่างกายเรานั้น เป็นธาตุเหมือนกันกับธาตุในธรรมชาติทั้งหลาย
แต่แตกต่างกันไปเพียงสภาวะการตั้งอยู่เท่านั้น เป็นธาตุตัวเดียวกัน พิจารณาจนธาตุนั้นสลายไป
แยกจิตแยกกายออกจากกัน เหลือเพียงจิตรู้คือวิญญาณธาตุ ที่มาอาศัยกายนี้เท่านั้น
พิจารณาอย่างนั้นกลับไปกลับมา จนมีความชำนาญเข้าใจในกาย สามารถกำหนดรู้ได้ทุกครั้ง
เมื่อจิตผ่านความสงบ
       การพิจารณาธรรมในเรื่องกายนี้ คืออารมณ์ธรรมในองค์ฌาน คือองค์แห่งวิตกวิจาร
การตริตรองใคร่ครวญในธรรม ยังเป็นอารมณ์ของสมถะกรรมฐาน เพราะยังอยู่ในอารมณ์ฌาน
มีสมาธิควบคุมอยู่ อย่าหลงคิดว่าเป็นวิปัสสนาเป็นปัญญา เพราะว่ายังอยู่ในองค์แห่งฌาน
ยังอยู่ในอารมณ์สมาธิอยู่ เป็นการทำความรู้ความเข้าใจในกายของเรา ให้เห็นในกายทั้งหลาย
ทั้งภายนอกและภายใน " ดูกายภายนอก ดูกายภายใน " จนเข้าใจกายว่ามันเป็นอย่างไร
มันประกอบด้วยอะไร ไม่มีความสงสัย เพราะเข้าใจในกายนี้ ซึ่งการพิจารณาอย่างนี้ผลที่ตามมาคือ
จะทำให้การยึดถือในกาย ในตัวตนของเรานั้นเบาบางลง ลดลง มานะทิฐิและอัตตานั้นจะลดลง
เมื่อเราเข้าใจในกายและไม่เข้าไปยึดถือ
       เพียรพิจารณากายของเราอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนมีความชำนาญในกาย ซึ่งการพิจารณาอย่างนี้
จะมีผลเมื่อเรายกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ ในฐานกาย ซึ่งเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
 ให้พิจารณากายให้ชำนาญเสียก่อน อย่าใจร้อนรีบไปพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม
เพราะเราต้องสร้างฐานให้มั่นคงเสียก่อน เพราะฐานของจิตของธรรมทั้งหลายนั้นก็คือกายของเรา
ซึ่งการพิจารณาธรรมขั้นต่อไปนั้นจะอธิบายในลำดับชั้นต่อไป หลังจากเรารู้เราเข้าใจในฐานกาย
ชัดเจนชำนาญแล้ว
       การปรารภธรรมในเรื่องนี้  มีเหตุปัจจัยมาจากการนั่งพิจารณาดูน้ำฝนที่ตกลงมาจากหลังคา
ลู่ภาชนะที่รองรับไว้ เกิดการกระเพื่อมของผิวหน้าน้ำตลอดเวลาที่น้ำนั้นหยดลงมาในภาชนะ
ทำให้มองเห็นสิ่งที่อยู่ภายในภาชนะนั้นไม่ชัดเจน เปรียบได้กับจิตของเราที่กำลังสับสนวุ่นวาย
ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ทั้งหลาย ย่อมจะพิจารณาอะไรได้ไม่ชัดเจน เหมือนน้ำที่กำลังกระเพื่อมอยู่
แต่เมื่อเราไปมองน้ำที่เก็บไว้ในถังที่เก็บไว้ ไม่มีความเคลื่อนไหว ตกตะกอนสงบนิ่งอยู่นั้น เราได้
เห็นสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ภายในถังน้ำนั้นได้ชัดเจน  เหมือนกับจิตของเราที่เข้าสู่ความสงบนิ่ง
ความจริงแท้ธรรมชาติของจิตนั้นก็จะปรากฏชัดขึ้นมา กิเลส ตัณหา ทิฏิมานะ อัตตา ทั้งหลาย
ที่มีอยู่ในจิตใจของเรานั้น ก็จะเห็นได้เด่นชัดขึ้น มันเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของจิต
                 ด้วยความปรารถดีและไมตรีจิตแด่มิตรผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลาย
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๘  สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๔๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

58
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๖ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
             มีผู้ปฏิบัติธรรมมากมายที่หลงในอารมณ์กัมมัฏฐาน ปฏิบัติธรรมแล้วไปหลงยึดติดในข้อวัตร
เกิดมานะอัตตาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเหตุนั้นเกิดจากเจตนา ดำริตัวแรกในการเข้าสู่การปฏิบัติ ที่เป็นไปโดย
มิชอบ อย่างเช่นปรารถนาให้ผู้อื่นมากล่าวยกย่องชมเชยในการปฏิบัติของเรา  หรือปฏิบัติเพื่อแข่งขัน
ให้ตนเองนั้นดีนั้นเด่นกว่าผู้อื่นเขา อยากจะเก่งเหมือนเขาหรือให้ดีกว่าเขา ฉลาดกว่าเขา เป็นไปเพื่อการ
โอ้อวด หวังให้ผู้อื่นมาชื่นชมในการปฏิบัติของตน  มันจึงก่อให้เกิดทิฐิมานะและอัตตา สำคัญผิดคิดไปเองว่า
เรานั้นปฏิบัติดีกว่าผู้อื่นเขา เราเคร่งกว่าเขา เราฉลาดกว่าเขา เราบริสุทธิ์กว่าเขา ซึ่งเป็นการยกตนข่มท่าน
เป็นการปฏิบัติที่ผิดพลาดเพราะนำมาซึ่งการเพิ่มอัตตากิเลสตัณหาให้มากยิ่งขึ้น
           การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้ทำให้เราฉลาดขึ้นกว่าคนอื่น แต่ทำให้เราได้เห็นความโง่ ความหลงผิด
ในอดีตของเราที่ผ่านมา ยิ่งปฏิบัติก็ทำให้เราได้เห็น ในสิ่งที่เรายังไม่รู้ ในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมานั้น
เราคิดว่าเรารู้ถูกต้องและเข้าใจหมดแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นเลย เรายังไม่รู้จริง เรายังไม่เข้าใจในความจริง
อย่างที่เราเคยคิด ยังมีอีกมากมายที่เรายังไม่รู้และไม่เข้าใจ
        การปฏิบัติธรรมนั้นทำให้เราเห็นกิเลสของเรา ที่เรายังไม่เคยเห็นหรือไม่เคยสนใจ ทำให้เรารู้เท่าทัน
กิเลสที่เกิดขึ้นและกิเลสที่มีอยู่แล้วในกายในจิตในความคิดของเรา ซึ่งเมื่อก่อนนั้นเราคิดว่าการปฏิบัติธรรม
ทำให้เราฉลาดขึ้น ทำให้เราหมดกิเลส กิเลสเบาบางลง ทำให้เราหลงตัวเองเพราะการที่เรามีความคิดอย่างนั้น
มันเป็นการก่อเกิดและเพิ่มซึ่งอัตตา มานะ การถือตัวถือตนโดยเราไม่รู้ตัว คิดว่าตนเองบริสุทธิ์และสมบูรณ์ด้วยศีล
ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบกว่าผู้อื่น เกิดการหลงตัวเองโดยที่เรารู้ไม่เท่าทัน ขึ้นมาที่ละน้อย ซึ่งนานเข้ามันจะมากขึ้น
จนอาจจะยากในการแก้ไขและปรับปรุงตัวเองได้
        เมื่อเราได้มีเวลาทบทวนพิจารณา สิ่งที่ผ่านมาในอดีตของเรา ทำให้เราได้เห็นความประมาท
ความผิดพลาดในการดำเนินชีวิตของเราที่ผ่านมา เราไปติดอยู่เพลินอยู่กับความสะดวกสบาย
ในสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายทำให้เราไม่เห็นทุกข์ คลุกคลีกับหมู่คณะเกินไป
จนทำให้การปฏิบัติย่อหย่อน ซึ่งเมื่อเราได้พิจารณาและเห็นในสิ่งนั้น เห็นในความประมาท
และผิดพลาดของตัวเรา จึงทำให้เราระลึกได้ในหลักธรรมเรื่อง " อัตตา ตัวกู ของกู "ที่เคยได้ศึกษามา
เพราะว่าอัตตานั้น มันจะบดบังสัจจธรรมที่แท้จริง เราต้องเปิดโลกทัศน์ ชีวทัศน์ ทำลายอัตตาลบภาพมายา
ทั้งหลายให้หายไปแล้วเราจะได้พบกับ "สัจจธรรม" ธรรมชาติของจิตที่แท้จริง......
       มุมมองในวันนี้......การที่เรานั้นได้บันทึกไว้นั้น เพื่อเป็นการย้ำเตือนแก่ตนเอง ให้ระลึกถึงสิ่งที่เรามุ่งหวัง
และตั้งใจไว้ ในการประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งการบันทึกเรื่องราวไว้นั้น เมื่อวันเวลาผ่านไป เรานำกลับมาอ่านใหม่
มันให้อะไรแก่เรามากมาย ได้รู้ถึงความแปรเปลี่ยนไป จากอดีตที่ผ่านมาสู่ปัจจุบัน ทั้งในความคิดและการกระทำ
จึงได้นำมาเสนอให้ท่านทั้งหลายได้รู้และเข้าใจ เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิต
ทั้งในทางโลกและทางธรรม ให้น้อมนำมาเป็นข้อคิดในการดำเนินชีวิตในโอกาสต่อไป เพื่อความเจริญในธรรมทั้งหลาย
“ เพียงคุณเปลี่ยนความคิด ชีวิตคุณก็จะเปลี่ยนไป “......
                         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

59
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๕ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
                   วันเวลาที่ผ่านไปนั้น ทำงานไปตามบทบาทและหน้าที่ ตาม จังหวะ เวลาและ โอกาสที่พึงมี
ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการมีสติและสัมปชัญญะระลึกรู้ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ
"ชีวิตคือการทำงาน การทำงานคือส่วนหนึ่งของชีวิต"  ชีวิตนั้นต้องดำเนินไปตามกระแสแห่งกรรมที่ทำมา
ทุกคนเกิดมาต่างมีภาระหน้าที่และบทบาทที่แตกต่างกัน ตามที่กรรมเก่าได้จัดสรรค์ไปตามเหตุและปัจจัย
ซึ่งที่มานั้นเราไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ เพราะมันเป็นเรื่องของอดีตที่ผ่านมาแล้ว แต่เรื่องราวในอนาคตนั้น
เราสามารถที่จะกำหนดได้ โดยการสร้างเหตุและปัจจัยในวันนี้ ดำเนินชีวิตตามภาระและหน้าที่ของเราที่มี
ให้สมบูรณ์ ทำในสิ่งที่ไม่เป็นภัยต่อชีวิตไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น ไม่ฝ่าฝืนศีลธรรมกฏหมายและประเพณีที่ดีงาม
เดินตามอริยมรรคอันมีองค์๘ ตามสถานะและสภาวะของเรา
            อริยมรรคมีองค์๘นั้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลางแห่งการดำเนินชีวิตที่ไม่ผิดทำนอง
คลองธรรม ซึ่งมีหลายระดับชั้นตามกำลังของผู้ปฏิบัติ อย่างหยาบปานกลางและละเอียดตามความเหมาะสม
ของภูมิธรรมของแต่ละบุคคล อันได้แก่
    ๑.สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้อง รู้จักผิดชอบชั่วดี เห็นในความเป็นจริงแยกแยะกุศลและอกุศล
    ๒.สัมมาสังกัปปะ คือความรู้สึกนึกคิดที่จะไม่ทำในสิ่งที่ผิด อันเป็นอกุศลทั้งหลาย
    ๓.สัมมาวาจา คือการสำรวมในการพูดการเจรจา ไม่ก่อให้เกิดปัญหา มีวาจาที่สุภาพอ่อนโยน
   ๔.สัมมากัมมันตะ คือการทำงานที่ไม่สร้างความเดือดร้อนเบียดเบียนผู้อื่น และไม่ผิดกฏหมายศีลธรรม
   ๕.สัมมาอาชีวะ คือการประกอบอาชีพที่สุจริตไม่ผิดกฏหมายและศีลธรรม
   ๖.สัมมาวายามะ คือความเพียรพยายามควบคุมจิต ระวังบาปอันเป็นอกุศลธรรมไม่ให้เกิดขึ้น
                       ละบาปอันเป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป พยายามสร้างกุศลตัวใหม่ให้เกิดขึ้น
                       กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วรักษาให้เจริญยิ่งขึ้น
   ๗.สัมมาสติ คือการมีสติระลึกรู้อยู่เสมอในสิ่งที่เป็นบุญและบาป และเตือนสติไม่ให้คล้อยไปในอกุศลธรรม
   ๘.สัมาสมาธิ คือการมีความแน่วแน่ตั้งมั่นในสิ่งที่กำลังกระทำ โดยมีสัมมาสติควบคุมอยู่
ที่กล่าวมานี้คือมรรคอันมีองค์๘ สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือนที่สามารถจะนำไปประพฤติปฏิบัติได้ โดยที่ไม่ขัดกัน
ทั้งในทางโลกและทางธรรม ส่วนอริยมรรคอันมีองค์๘ ของสมณะนั้นจะละเอียดยิ่งไปกว่านี้เพราะบทบาทและหน้าที่
สถานะนั้นแตกต่างกัน ซึ่งถ้าเรารู้บทบาทและหน้าที่ของเราแล้ว การดำเนินชีวิตก็จะไม่ผิดทำนองคลองธรรม
      การทำงานทุกอย่างคือการปฏิบัติธรรม ถ้าเรามีสติและสัมปชัญญะในการทำงาน "ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง"
คือคำกล่าวสอนของหลวงพ่อพุทธทาส ความว่างนั้นคือว่างจากอกุศลจิต ว่างจากอัตตา "ความเป็นตัวกูของกู"
ดำเนินชีวิตทำงานไปตามมรรคองค์๘ ความเป็นสัมมาทั้งหลาย ชีวิตจึงไม่เคยว่างจากการทำงาน ทั้งทางกาย
และทางจิต ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่ชีวิตไม่เคยว่างจากการงาน"เป็นความว่างจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
แต่ไม่เคยว่างจากภาระกิจและหน้าที่ที่ต้องกระทำ" ไม่เคยว่างจากการเจริญสติแต่ว่างจากอกุศลจิตทั้งหลาย"
      การปฏิบัติธรรมตามธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่เราคิดว่ายากก็เพราะเราไม่รู้จักบทบาทและหน้าที่ของเรา
ไม่รู้ตน ไม่รู้ประมาณ ไม่รู้กาลเวลา ว่าเราควรกระทำในสิ่งใด และอะไรที่เหมาะสมกับตัวของเราที่จะกระทำ
ความเป็นฆราวาสผู้ครองเรือนและสมณะนั้นแตกต่างกัน เราจึงต้องเลือกธรรมที่จะปฏิบัตินั้นให้เหมาะสมกับตัว
ของเรา ซึ่งเรียกว่า"ธรรมะสัปปายะ"แล้วความเจริญในธรรมจะเกิดขึ้นแก่เรา ทั้งทางโลกและทางธรรม
            เหตุแห่งการปรารภธรรมในเรื่องนี้ เนื่องจากมีผู้ขึ้นมาสนทนาธรรม เกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติธรรม
ว่าจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องปลีกวิเวกไปอยู่ในสถานที่สงบ จึงจะปฏิบัติธรรมได้ดี มีความเจริญก้าวหน้าในธรรม
ก็ตอบเขาไปว่า การปลีกวิเวกไปปฏิบัติในสถานที่สงบนั้น มันเป็นเพียงพื้นฐานเบื้องต้น ในการที่จะฝึกสมาธิ
ให้จิตตั้งมั่น  แต่ชีวิตจริงนั้นเราต้องอยู่กับปัจจุบันธรรม ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม มีบทบาทและหน้าที่ ที่จะต้อง
กระทำไปตามกรรมตามวาระ จึงต้องเลือกเฟ้นธรรมะที่จะนำมาปฏิบัติให้เหมาะสมกับตัวเรา ไม่ใช่การปฏิบัติ
แบบหนีปัญหาทอดทิ้งธุระ แต่เป็นการปฏิบัติเพื่อให้อยู่กับปัจจุบันธรรม ในโลกแห่งความเป็นจริง
                          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๔  เวลา ๐๕.๐๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

60
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๔ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
"จงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงค่อยทำ...อนุวิจฺจการํ  กโรหิ..."
                พุทธสุภาษิต  อุปาลีวาทสูตร ๑๓/๖๒
                    ............................
"ภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด
ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมเห็นตามความเป็นจริง"
"สมาธึ  ภิกฺขเว  ภาเวถ  สมาหิโต ภิกฺขเว ภิกฺขุ  ยถาภูตํ  ปชานาติ"
                           พุทธสุภาษิต  สมาธิสูตร ๑๙/๔๗๐
                  .........................................
"ผู้ใด มีสติพิจารณาร่างกายอยู่เนืองนิตย์
      ทั้งกลางวันและทั้งกลางคืน
ผู้นั้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็นสาวกผู้ตื่นของพระพุทธเจ้า"
"สุปฺปพุทฺธํ   ปพุชฺฌนฺติ  สทา  โคตมสาวกา
เยสํ  ทิวา  จ  รตฺโต  จ  นิจฺจํ  กายคตา  สติ"
                     พุทธสุภาษิต  ธรรมบท ๒๕/๔๖
               ........................................
   วันนี้ไม่มีใครขึ้นมาบนเขา ทำให้มีเวลาที่จะได้ค้นคว้าพระไตรปิฏก
เพื่อเตรียมกายเตรียมจิดทบทวนความทรงจำในหัวข้อธรรมทั้งหลาย
อ่านแล้วทำความเข้าใจบันทึกไว้ในหมวดของความทรงจำของสมอง
ใคร่ครวญไตร่ตรองพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงอรรถะความหมายของบทธรรม
ว่าพระองค์ทรงตรัสที่ไหน แก่ใคร ปรารภเหตุจากอะไร มุ่งหมายเพื่อสิ่งใด
จะได้ไม่สับสนในหัวข้อธรรม เมื่อนำไปกล่าว ไปบรรยาย จะได้ชัดเจน
ทุกอย่างในการทำงานแต่ละขั้นตอนเราต้องมีการวางแผนงานไว้ล่วงหน้า
ต้องค้นหาข้อมูลรายละเอียดให้ถูกต้องและชัดเจนเพื่อความไม่ผิดพลาด
เพราะการกล่าวธรรมนั้นไม่อาจที่จะผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมได้
ซึ่งถ้าเรากล่าวผิดไปพลาดไปทำให้ผู้ฟังเข้าใจคลาดเคลื่อนและนำไปปฏิบัติตาม
มันจะเป็นกรรมที่หนักต่อตัวเรา ซึ่งเท่ากับชี้ทางผิดให้เขาปฏิบัติเดินไปสู่อบาย
เป็นการปิดกั้นกระแสพระนิพพานของเขา กรรมของเราผู้กล่าวแนะนำนั้นจึงหนัก
ซึ่งเรื่องนี้ได้เรียนรู้มาจากหลวงพ่อชาแห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี
ที่ท่านได้เคยกล่าวสอนแก่ศิษย์ไว้...ว่าในสมัยหนึ่งเคยมีพระมาถามเรื่องธรรมวินัย
และท่านได้ตอบผิดพลาดไป แต่เมื่อมาทบทวนดูใหม่ ท่านได้รีบไปหาเพื่อแก้ไข
บอกข้อธรรมใหม่ที่ถูกต้องให้แก่พระท่านนั้น แม้นว่าจะเป็นเวลากลางคืนดึกดื่นแล้ว
และท่านได้ย้ำเตือนศิษย์ทั้งหลายให้ตระหนักและจดจำไว้ในการที่จะกล่าวธรรม
จึงได้นำมาปฏิบัติเตือนจิตเตือนใจทุกคร้งในการที่เราจะกล่าวธรรมบรรยายธรรม
เราต้องทำการบ้านมาก่อนทุกครั้ง และถ้าคำถามใดที่เรายังไม่ชัดเจนก็จะไม่ตอบไป
โดยขอเวลาค้นหาและทำความเข้าใจเสียก่อนจึงจะตอบในหัวข้อธรรมที่เขาถาม
การทำความรู้ความเข้าใจนั้น ต้องใช้สติและสัมปชัญญะ เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ
แล้วทำจิตให้ว่าง ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ให้ปัญญาเกิดขึ้นในจิตแล้วพิจารณาหัวข้อธรรม
เราจึงจะเห็นสภาวะธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่จิตเราปรุงแต่งและคิดเข้าใจไปเอง
โดยเอาอัตตามานะทิฏฐิของเราเป็นที่ตั้งในการคิดและพิจารณาหัวข้อธรรมทั้งหลาย
และถ้าไม่เข้าใจและไม่ชัดเจนก็ต้องบอกให้ผู้ฟังรู้ว่า..นี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว
ผู้ฟังอย่าพึ่งเชื่อให้ลองคิดพิจารณาดูซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ เพราะเป็นความเห็นส่วนตัว
อย่าสอนให้ผู้ฟังงมงายเชื่อทันทีที่ได้ยินได้ฟัง จงสอนให้เขารู้จักการคิด รู้จักการพิจารณา
เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้นแก่ผู้ฟัง ฝึกให้เขาคิดเป็น คิดเองได้ เพราะไม่มีใครจะเข้าใจในตัวเขา
เท่ากับตัวเขาเอง สภาวธรรมทั้งหลายของผู้ที่ปฏิบัติธรรมนั้นนั้นเป็นเรื่อง “ ปัตจัตตัง “
มีเพียงความคล้ายคลึงและใกล้เคียงกัน แต่จะไมเหมือนกันในทุกอย่าง ในทุกสภาวะ
ซึ่งถ้าเหมือนกันทุกอย่างนั้น มันเป็นการอุปทานสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา ตามสัญญาความจำ
มันเป็นการสะกดจิตตนเอง เพื่อให้เป็นไปตามที่เคยได้ยินได้ฟังมา หาใช่ปัจจุบันธรรมไม่
มันจึงไม่ใช่สภาวธรรมที่แท้จริง มันเป็นเพียงสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา ซึ่งไม่ช้ามันก็จะดับไป
ทรงไว้ในอารมณ์นั้นมิได้นาน เพราะมันไม่ใช่ของจริง....
    แด่การเตรียมกายเตรียมจิด ทบทวนความคิดและความทรงจำในหัวข้อธรรมทั้งหลาย 
                               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๑๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

61
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๓ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
                ต้อนรับและสนทนากับผู้มาเยือนตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ทำหน้าที่ของเข้าบ้านที่ดีต่ออาคันตุกะ
เป็นไปตามวาระเป็นไปตามกาลของงานนั้นๆ สนองตอบโจทย์ความต้องการให้เขาเท่าที่เรานั้นจะทำได้
สิ่งที่กระทำไปนั้นต้องไม่ผิดธรรมวินัยและเป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศล นั้นคือสิ่งเราสงเคราะห์ให้ได้
ใช้เวลาบางส่วนในการฟังธรรม เพื่อนำมาวิเคราะห์หาความเหมาะสมกับตัวของเราเองที่จะนำไปปฏิบัติ
เปิดธรรมะของนิกายเซ็น ฟังสูตรของเหว่ยหลาง  ฟังสูตรของฮวงโป ฟังแล้วคิดพิจารณาวิเคราะห์ตาม
ในโศลกธรรมทั้งหลายของนิกายเซ็น ซึ่งเป็นเรื่องของการสอนที่ไร้รูปแบบ เป็นเรื่องของการสอนที่จิต
ให้พิจารณา ซึ่งผู้ปฏิบัติตามหลักของเซ็นนั้น ต้องที่มีอินทรีย์ที่แก่กล้าและได้สั่งสมบารมีมามากแล้ว
จึงจะเกิดปัญญามีดวงตาเห็นธรรม จากการฟังโศลกธรรมสั้นๆไม่กี่คำ มันถึงจะเป็นเซ็นอย่างแท้จริง
ไม่ใช่การปรุงแต่งฟุ้งซ่านวิจารน์ธรรม จินตนาการไปเอง มันต้องมีพื้นฐานที่ได้สั่งสมมาจากอดีตชาติ
มาก่อนแล้ว บารมีสั่งสมมาเต็มที่ เพียงแต่รอเวลาให้มีผู้มาเปิดดวงตาให้เห็นธรรม ด้วยโศลกธรรม
เพียงสั้นๆที่มีความหมายและได้ใจความ จากครูบาอาจารย์ที่เคยได้ร่วมสร้างบารมีกันมาเป็นผู้ชี้แนะ
มันเป็นสภาวะแห่งความเป็นปัตจัตตังที่รู้ได้เฉพาะตนในการปฏิบัติตามนิกายเซ็น...
          การเจริญจิตตภาวนาตามหลักของพุทธศาสนานั้น เราสามารถที่จะทำได้ในทุกอิริยาบท คือ ยืน
เดิน นั่ง นอน เพราะเป็นเรื่องของการมีสติ คือการทำที่จิต แต่ในอิริยาบทต่างๆนั้น จะมีผลต่างกัน
เช่นการเจริญสติภาวนาในท่านอนนั้น ทำได้ง่ายเข้าสมาธิได้เร็ว แต่จะไม่ตั้งอยู่นาน เพราะนิวรณ์นั้น
จะเข้ามารบกวนได้ง่ายคือนิวรณ์ตัวถีนมิทธะ อาการง่วงเหงาหาวนอน สมาธิจะกล้าแต่สติจะมีกำลังน้อย
มันจะทำให้เผลอหลับไป ส่วนในอิริยาบทยืนนั้นจะทำได้ยากกว่าการนั่ง เพราะต้องทรงร่างกายให้ตรง
เพื่อไม่ให้ล้ม และในอิริยาบทเดินนั้นทำได้ยากที่สุด แต่ถ้าเข้าสมาธิได้แล้ว จะตั้งได้อยู่นาน ทรงได้อยู่นาน
เพราะว่ามีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จึงต้องใช้กำลังของสติเป็นอย่างมาก ในการจดจ่ออยู่กับองค์ภาวนา
อยู่ตลอดเวลา การรักษาศีลนั้นคือการเจริญสติ เพราะผู้ที่รักษาศีลนั้นต้องมีสติอยู่กับกายและจิต ในการที่จะคิด
จะพูดและจะทำ เรียกว่าต้องสำรวมอินทรีย์อยู่ทุกขณะจิต เพื่อไม่ให้ล่วงละเมิดข้อห้ามของศีลที่รักษา
ศีลจึงคือที่มาของสติพละ และสิ่งที่ได้มาควบคู่กับสติในการรักษาศีล ก็คือองค์แห่งคุณธรรม " หิริและโอตตัปปะ "
 สิ่งนั้นก็คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เพราะการที่เราไม่กล้าที่จะล่วงละเมิดข้อห้ามของศีลนั้น
เพราะเรามีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปเป็นตัวกระตุ้นเตือน เพื่อให้เกิดจิตสำนึก ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
ดั่งคำพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ว่า..."ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ศีลเป็นพื้นฐาน เป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่งแผ่นดิน
เป็นที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่มีชีพและหาชีพมิได้ เป็นต้นว่า พฤกษาลดาวัลย์ มหาสิงขร และสัตว์จตุบาท
ทวิบาทนานาชนิด บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจย่อมอยู่สบาย มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่ปัดกวาด เช็ดถูเรียบร้อย
ปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน "  ความบริสุทธิ์ของศีลนั้นก็คือการที่มีสติและสัมปชัญญะที่สมบูรณ์อยู่ในทุกขณะจิต
โดยมีองค์แห่งคุณธรรมคุ้มครองอยู่  รู้ได้ด้วยจิตของตนถึงความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ของศีลที่เรารักษานั้น
ไม่ใช่การกระทำทางกายเพื่อจะนำไปโอ้อวดข่มกัน ศีลนั้นเป็นเรื่องของการกระทำที่จิตเพื่อให้มีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกาย
เพื่อให้เป็นไปโดยชอบและประกอบด้วยกุศล เป็นบาทฐานเบื้องต้นก่อนที่เข้าสู่การภาวนาให้สมาธิและปัญญานั้นเกิด
การปฏิบัติธรรมจึงต้องเริ่มจากพื้นฐานสั่งสมอบรมไปตามขั้นตอน จนมีอินทรีย์บารมีที่แก่กล้า ดวงตาจึงจะเห็นธรรม...
                                            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

62
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๒ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
            การเจริญจิตภาวนานั้นเป็นการกระทำที่จิตก็จริงอยู่ แต่จิตต้องอยู่กับกาย มีความสัมพันธ์กัน
จิตระลึกรู้อยู่ในกาย ไม่ส่งจิตออกนอกกาย อันเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นเพราะจิตส่งออก
ในความไร้รูปแบบนั้น คือความเป็นไปตามความเหมาะสม ตามจังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และบุคคล
การเลือกหาวิธีการที่เหมาะสมที่จะกระทำได้ในขณะนั้น มาประพฤติปฏิบัติเพื่อไม่ให้ขัดทั้งในทางโลก
และในทางธรรม ดำเนินไปในความเป็นปกติ การไร้รูปแบบนั้น มันก็มีรูปแบบของมันในตัวเองเสมอ
ต้องผ่านการฝึกฝนในรูปแบบมาก่อน จนมีความรู้ความเข้าใจและชำนาญในรูปแบบมาก่อนแล้ว
จึงจะละรูปแบบมาสู่รูปแบบที่ไร้กฏเกณฑ์กติกา ไร้การยึดติด มาทำที่จิตโดยทิ้งรูปแบบทางกาย
ไม่ใช่การทอดทิ้งธุระ ที่กระทำไปเพราะความมักง่าย อันเกิดจากอกุศลจิตคือความเกียจคร้าน
ความไม่ชอบใจทั้งหลาย แต่เกิดจากความรู้ความเข้าใจแล้วจึงปล่อยวาง...
          การเดินจงกรมนั้น เป็นการเจริญสติและสัมปชัญญะพร้อมกันไปในตัว เป็นได้ทั้งอารมณ์สมถะ
และวิปัสสนา ซึ่งถ้าจะให้เป็นสมถะนั้นเราก็เน้นที่สติ คือสติอยู่กับองค์ภาวนาในขณะที่เรากำลังก้าวเดิน
แต่ถ้าจะให้เป็นวิปัสสนานั้น เปลี่ยนมาเป็นการใช้สตินั้นพิจารณาตามดู ตามรู้ความเคลื่อนไหวของร่างกาย
มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิต ปัญหาของผู้ปฏิบัติธรรมที่มักจะเกิดขึ้นนั้น คือขาดความต่อเนื่องในอารมณ์
กรรมฐาน ไม่เสมอกันในอิริยาบท เพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน คิดว่าการเสมอกันในอิริยาบทนั้นคือการที่
ปฏิบัติในอิริยาบท ยืน เดิน นั่ง นอน ในระยะเวลาที่เท่ากัน ซึ่งเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะความหมาย
ของคำว่า " การเสมอกันในอิริยาบท "นั้น หมายถึงการปฏิบัติในกรรมฐานกองเดียวกันในอิริยาบททั้งหลาย
คืออารมณ์กรรมฐานนั้นเสมอกันในทุกอิรยาบท เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของอารมณ์กรรมฐานตามหลักของ
" อิทธิบาท ๔ "  อันได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิต วิมังสา  ซึ่งเราต้องค้นหาตัวเองให้ได้ว่า เราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร
ต้องการเพียงความสงบ เพื่อหลบปัญหา หรือว่าปรารถนาซึ่งความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย เพื่อ มรรค
ผล นิพพาน หรือเพื่อความต้องการที่จะมีอิทธิฤทธิ์  เราต้องถามตนเองให้ได้คำตอบเสียก่อนว่า " เราทำเพื่ออะไร "
และเมื่อได้คำตอบให้ตนเองแล้ว จึงมาคิดต่อไปว่าทำอย่างไร ศึกษาหาข้อมูลของการปฏิบัติธรรม ว่าควรทำอย่างไร
ถามผู้รู้ ดูตำรา หาครูบาอาจารย์ นั้นคือแนวทางต่อไป และสิ่งที่จะทำให้เกิดความเจริญในธรรมได้เร็วนั้น ก็คือแนวทาง
ที่จะปฏิบัตินั้น ต้องเหมาะสมกับจริตของเรา " ธรรมะสัปปายะ " อันมี " ฉันทะ " ความพึงพอใจในสิ่งที่ทำ เป็นพื้นฐาน
คือการมีศรัทธาในสิ่งที่กระทำ มีความเพียรพยายามที่จะกระทำในสิ่งที่ชอบ ในสิ่งที่ใช่ ตั้งใจทำไปโดยไม่ทอดทิ้งธุระ
กระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ มีการคิดพิจารณาใคร่ครวญว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันเป็นอย่างไร  สิ่งนี้คือ   " อิทธิบาท ๔ "
สิ่งนี้คือแนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จทั้งหลาย...
             การไร้รูปแบบก็คือการมีรูปแบบเฉพาะตัวนั้นเอง โดยการไม่เข้าไปยึดติดในรูปแบบที่เป็นกระแสนิยมของสังคม
เป็นไปเพื่อความเหมาะสมกับจริตและวิถีชีวิตของผู้ปฏิบัตินั้นเอง เป็นการกระทำที่รู้ได้เฉพาะตน มีเหตุและผลในการ
กระทำทั้งหลาย มีสติและสัมปชัญญะที่เป็นกุศลควบคุมกายจิตอยู่ทุกขณะ เป็นสภาวะของปรมัตตธรรม จิตเข้าสู่ความ
เป็นปัตจัตตัง รู้ได้เฉพาะตนในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ ดำเนินชีวิตไปอย่างเรียบง่าย ไม่เป็นภัยต่อชีวิต ไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น
ไม่ฝ่าฝืนธรรมวินัย เป็นไปโดยชอบอันประกอบด้วยกุศล เป็นมงคลต่อชีวิต ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ...
                                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๑๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

63
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๑ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
         ในการเจริญจิตภาวนานั้น เป็นไปเพื่อการเข้าสู่ความสงบทางจิต
ก่อนที่จะยกจิตเข้าสู่การคิดและพิจารณาธรรมนั้น มันต้องทำให้จิตนั้นนิ่งเสียก่อน
เพราะเมื่อจิตนั้นนิ่ง ความจริงทั้งหลายก็จะปรากฏขึ้นในจิต เมื่อเราพิจารณาธรรม
มันจึงจะไม่เป็นการฟุ้งซ่านวิจารณ์ธรรม เพราะเมื่อจิตนั้นเข้าสู่ความเป็นสมาธิแล้ว
ความคิด ความจำทั้งหลายจะเข้าสู่ระบบ สมาธิจะจัดระเบียบความคิดให้เป็นระบบ
เป็นไปตามขั้นตอน ตามเหตุผลและปัจจัยในขณะนั้น ไม่ใช่การปรุงแต่งหรือจินตนาการ
เพราะกระบวนการของความคิดนั้น มีสติสัมปชัญญะ สมาธิและองค์แห่งคุณธรรมควบคุมอยู่
 สติและสัมปชัญญะนั้นจึงต้องมีควบคู่กันในการเจริญสติภาวนา เพื่อให้ไม่หลงอารมณ์
หลงสภาวธรรมที่เกิดขึ้น การเจริญจิตสมถะสมาธินั้น อาจจะทำให้หลงอารมณ์ได้ง่าย
เพราะว่าเน้นไปที่กำลังของสติแต่เพียงอย่างเดียว คือดู รู้ เห็น แต่เฉพาะที่ที่กำลังเพ่งดูอยู่
ไม่รับรู้ในปัจจุบันธรรมทั้งหลาย  สมาธิที่ไม่มีศีลเป็นพื้นฐานนั้น มันจะขาดคุณธรรมคุ้มครอง
ขาดซึ่งหิริและโอตตัปปะ ทำให้เกิดอัตตาและมานะทิฏฐิ คือการหลงตัวเอง คิดว่าตนเองนั้น
บริสุทธิ์กว่าผู้อื่น เก่งกว่าผู้อื่น ดีกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นการผิดทาง เพราะสมาธิที่เป็นพื้นฐานแห่ง
ปัญญาในหลักของพระพุทธศาสนานั้น เป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่อความจางคลายแห่งอัตตามานะ
เป็นไปเพื่อความลดละซึ่งมานะทิฏฐิทั้งหลาย เพื่อความจางคลายของกิเลสตัณหา จึงต้องมา
จากพื้นฐานแห่งศีลทั้งหลาย เพื่อให้ได้มาซึ่ง " สัมมาสมาธิ "ถูกต้องตามหลักของมรรค ๘
ดั่งพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ว่า... " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาซึ่งมีสมาธิเป็นรากฐานนั้น ย่อม
ปรากฏดุจไฟกองใหญ่ กำจัดความมืดให้ปลาสนาการ มีแสงสว่างรุ่งเรืองอำไพ ขับฝุ่นละออง
คือกิเลสให้ปลิวหาย ปัญญาจึงเป็นประดุจประทีปแห่งดวงใจ “ ....
           การรักษาศีลนั้นก็คือการเจริญสติและสัมปชัญญะ มีความระลึกรู้ความรู้ตัวทั่วพร้อม
ที่องค์แห่งคุณธรรมคือความละอายและเกรงกลัวต่อบาปควบคุม ความคิดและการกระทำอยู่
เพราะการที่เราจะรักษาศีลใหบริสุทธ์ครบถ้วนได้นั้น สติและสัมปชัญญะของเราต้องเต็มรอบ
จิตต้องอยู่กับกายทุกขณะ ในการพูดและการกระทำ มีความยับยั้งชั่งใจไม่คล้อยตามกิเลส
ฝ่ายต่ำทั้งหลาย ในโอกาสที่ไม่มีใครรู้และไม่มีใครเห็น ในสิ่งที่เรานั้นจะกระทำ แต่เราสามารถ
ที่จะหักห้ามใจไม่ให้กระทำในสิ่งผิดนั้นได้ ก็เพราะว่ามีองค์แห่งคุณธรรมคือความละอายและ
เกรงกลัวต่อบาปควบคุมจิตอยู่ เรื่องของศีลนั้นจึงเป็นเรื่องของการเจริญสติและสัมปชัญญะ
เมื่อสติและสัมปชัญญะนั้นมีกำลังดีแล้ว จิตก็ย่อมเข้าสู่ความเป็นสมาธิได้ง่าย และเมื่อมีองค์
แห่งคุณธรรมควบคุมอยู่ จิตนั้นย่อมเข้าสู่ความเป็นสัมมาสมาธิ สติและสัมปชัญญะจะเป็นตัว
ควบคุมความคิดทั้งหลายไม่ให้หลงไปในอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นกิเลสฝ่ายต่ำ การพิจารณาธรรม
นั้นก็จะเป็นระบบและมีระเบียบในการคิดและพิจารณา เข้าหาสาระและแก่นสารในข้อธรรม
น้อมนำจิตให้อยู่กับสิ่งที่เป็นกุศล คุ้มครองตนด้วยการรักษาธรรม...
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

64
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๐ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
           เมื่อวานฝนพรำมาตั้งแต่เช้า ไม่สะดวกที่จะออกไปข้างนอก จึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในที่พัก
ทำกิจไปตามปกติที่เคยเป็นมา คือ อ่าน ฟัง คิด เขียน  เจริญสติและสัมปชัญญะอยู่กับธรรมให้ได้
มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางครั้งก็นอนนิ่งๆไม่เคลื่อนไหวนอนดูกายของตัวเราเอง ฝึกจิตให้อยู่กับกาย
ไม่ส่งจิตออกนอก ระลึกรู้อยู่กับกายและลมหายใจ ซึ่งการไม่เคลื่อนไหวจะทำให้ไม่เสียพลังงาน
เพราะอยู่ในช่วงควบคุมอาหาร จึงต้องใช้พลังงานที่มีอยู่นั้นให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด.....
            การที่เราได้เจริญสติพิจารณาธรรมอย่างต่อเนื่องนั้น มันจะเกิดสภาวะธรรมลื่นใหล คิดอะไร
ทำอะไร มองอะไรก็เป็นธรรมะไปหมด โศลกธรรมจะเกิดขึ้นในความคิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางครั้งก็
สามารถที่จะจดบันทึกไว้ทัน ถ้าอยู่ในสภาวะที่มีอุปกรณ์ กระดาษ ดินสอ ปากกาพร้อม แต่บางครั้งเกิดขึ้น
ในขณะที่ทำงาน ไม่สามารถทีจะจดบันทึกได้ ก็มาเขียนบันทึกที่หลัง บางครั้งเกิดขึ้นแล้วและจำไม่ได้ก็มี
อย่างเช่นโศลกธรรมบทนี้...อวดดี ที่ไม่มีดีในตัว อวดเก่งทั้งที่ไม่มีความเก่งในตัว อวดรู้ ทั้งที่ไม่มีความรู้อะไรในตัว
 คนโง่ชอบอวดฉลาด คนขี้ขลาด มักจะอวดความกล้า....หรือบทที่ว่า...วางใจให้มันมั่งคง ไม่กังวล ไม่สนใจใคร
ทำให้เหมือนกับอยู่คนเดียว ภายนอกเคลื่อนไหว ภายในทำใจให้สงบ พิจารณาร่างกาย พิจารณาดูจิต
มันฟุ้งซ่านไปไหนก็ให้รู้จักมัน รู้เท่าทันกับกิเลส สู้กับกิเลสที่เกิดขึ้นในใจเรา เอาชนะมันให้ได้ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
สำหรับวันๆหนึ่ง.....ให้รู้อยู่กับปัจจุบัน อดีตล่วงไปแล้วไม่ไปคิดถึง อนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็อย่าไปคิดกังวล
อยู่กับปัจจุบันธรรม หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้  ลมหายใจมันสั้นก็รู้ ลมหายใจยาวมันก็รู้ หายใจโปร่งโล่งเบา
สบายก็รู้ อยู่กับลมหายใจเพียงเท่านั้นก็เพียงพอ ต่อการปฏิบัติธรรม สติและปัญญาจะแก่กล้าขึ้นมาเอง 
ถ้าเราได้กระทำและฝึกฝนอยู่อย่างสม่ำเสมอ...เมื่อเราอยู่กับธรรม ธรรมนั้นก็อยู่กับเรา เมื่อเรารักษาธรรม
ธรรมนั้นจะรักษาเรา ธรรมะคือตัวเรา ตัวเราคือธรรมะ เพราะธรรมะนั้นคือธรรมชาติที่เป็นจริงของสรรพสิ่งในโลกนี้..
.นี่คือตัวอย่างบางบทบางตอนของสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น เท่าที่จะจำได้และบันทึกได้ในแต่ละวัน แต่ละเวลา
เมื่อจิตของเราอยู่กับธรรม...
        เคยมีผู้ปรารถนาดีที่อยากจะให้เรามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป มาติดต่อให้ไปออกในสื่อต่างๆ
เพื่อเผยแพร่ธรรมะทั้งงานเขียนและการบรรยายธรรม ก็ได้ปฏิเสธเขาไปเพราะเราพึงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่
งานเขียนทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากจิต จากความคิดในขณะนั้น เพียงเพื่อต้องการจะบันทึกไว้เพื่อเตือนใจตน
และแบ่งปันแก่ผู้คนที่สนใจในธรรมทั้งหลาย ยังอยากจะอยู่อย่างเรียบง่ายเป็นสมณะไร้นามตามปกติที่เป็น
เพราะการเปิดตัวต่อสาธารณะชนนั้น มันมีทั้งผลดีและผลเสีย ย่อมมีทั้งคนชอบและคนชัง กลายเป็นบุคคล
สาธารณะ ที่ต้องพร้อมจะรับฟังคำติชมทั้งหลาย ชีวิตส่วนตัวนั้นก็จะหายไป เพราะสังคมจะเข้ามาบังคับ
ให้วิถีชีวิตนั้นเปลี่ยนไปตามกระแสความต้องการของสังคม ความเป็นตัวตนที่แท้จริงก็จะหายไปเพราะ
กระแสสังคมแห่งโลกธรรมจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดชีวิตเรา จึงยินดีและพอใจที่จะเป็นอยู่อย่างนี้
อย่างที่เคยเป็นมา อยู่กับสภาวะแห่งความเป็นจริงในสิ่งที่เราเป็นอยู่ คืออยู่กับปัจจุบันธรรม...
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๕๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึงชลบุรี

65
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๙ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๑๐ สิงหาคม พศ. ๒๕๕๔
                 ........ คุณค่าของเวลาที่ผ่านมานั้น
                  จัดสรรให้มีค่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้
                ไม่ปล่อยให้ผ่านไปโดยไร้ซึ่งประโยชน์
                 ทั้งในเรื่องทางโลกและในเรื่องทางธรรม
                ตอกย้ำจิตสำนึกในบทบาทภาระและหน้าที่
                เพราะวันเวลาของชีวิตที่ได้ผ่านมานั้น
                 มันคือกำไรของชีวิตแห่งการที่ยังมีลมหายใจอยู่......
                 ........ชีวิตก้าวข้ามความตามมาหลายครั้ง
                ในสมัยที่ยังไม่รู้จักคุณค่าของชีวิต
                 เดินอยู่บนเส้นทางที่พลาดผิดห่างไกลธรรม
                 เพลิดเพลินในการประกอบกรรมอันเป็นอกุศล
                 โดยไม่มีความรู้สึกรักตัวและกลัวตายในสิ่งที่ทำ
                 ชีวิตที่รอดมาได้จนถึงวันนี้มันจึงคือกำไรของชีวิต
                 เมื่อมีความรู้สึกสำนึกผิดชีวิตที่เหลือก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัว......
                  .....วันเวลาที่ผ่านไปทุกขณะจิตนั้น
                   มันเป็นการสั่งสมประสพการณ์ของชีวิต
                   สอนให้เรานั้นได้คิดได้พิจารณาเพิ่มขึ้น
                   ขอให้เรานั้นมั่นคงในจุดยืนของการดำเนินชีวิต
                   ที่คิดจะสร้างจะทำก่อกรรมดีสร้างมงคลให้กับชีวิต
                   เพื่อจะได้พัฒนาทางจิตให้เจริญก้าวหน้าในทางธรรม
                   การเจริญสตินั้นจึงเป็นงานที่ต้องกระทำอยู่ตลอดเวลา.....
                   .....กาลเวลานั้นย่อมหมุนเวียนและเปลี่ยนไป
                   ไม่มีเวลาที่จะสิ้นสุดและหยุดนิ่งสรรพสิ่งย่อมเคลื่อนไหว
                   โลกนั้นแปรเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง
                   กระแสแห่งโลกนั้นจึงไม่มีวันที่จะสิ้นสุดและหยุดอยู่
                   แต่จิตของมนุษย์นั้นย่อมมีวันที่จะสิ้นสุดและหยุดนิ่ง
                   ถ้าได้รู้และได้เห็นความเป็นจริงของชีวิตจิตวิญญาน
                   สิ้นสุดด้วยการที่รู้จักพอโดยไม่ร้องขอและแสวงหาอีกต่อไป....
                   ....ความสำเร็จของชีวิตนั้นคือรางวัลของชีวิต
                   ซึ่งมิได้วางไว้ในจุดเริ่มต้นของการเดินทาง
                   การทำงานทุกสิ่งอย่างย่อมมีอุปสรรคและปัญหา
                   เหมือนกับคำที่กล่าวว่า...เส้นทางนั้นมิได้โรยด้วยดอกกุหลาบ
                   ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ การเดินทางของชีวิตนั้นยังไม่จบ
                   ไม่มีคำว่าล้มเหลวในชีวิตเพราะสิ่งที่ผ่านมานั้นคือบทเรียน
                   บทเรียนของชีวิตที่จะพัฒนาจิตของเราให้ก้าวเดินต่อไป....
                              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

66
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๘ สค. ๕๔
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
           ในการปฏิบัติธรรมเจริญสติสัมปชัญญะให้มีกำลังมากขึ้นนั้น เราต้องใช้ความอยาก
เพื่อเข้าไปละความอยาก ดั่งที่ครูบาอาจารย์ท่านได้กล่าวสอนไว้ว่า “ ตัณหาละตัณหา “
คือมีความต้องการที่จะกระทำในสิ่งที่ดี เพื่อลบล้างสิ่งที่ไม่ดีที่มีอยู่นั้นให้หมดไป และป้องกัน
ไม่ให้สิ่งไม่ดีตัวใหม่มาเกิดขึ้นและตั้งอยู่ในจิตของเรา แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติแล้ว
เราต้องละวางซึ่งความอยากทั้งหลายนั้นลงเสีย อยู่กับสิ่งที่เป็นปัจจุบันธรรมที่มันเป็นไป
ตามธรรมชาติของจิต ตามดู ตามรู้ ตามเห็น ความเป็นไปทั้งหลาย เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่
และดับไป ทำความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้น พิจารณาถึงคุณ ถึงโทษ ถึงประโยชน์
และมิใช่ประโยชน์ แยกแยะความเป็นกุศลและอกุศลในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายเมื่อได้ รู้เห็น เข้าใจ
ก็ละวาง ไม่ไปยึดติดในอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น.....
       ใช้เวลาค้นคว้า ใคร่ครวญ ทบทวน พิจารณา แล้วนำมาประยุกค์ปฏิบัติให้เหมาะสม
กับตนเอง คือหลักของการปฏิบัติธรรม ที่กระทำมาโดยตลอด ทำให้ได้เข้าใจในธรรมที่เราได้
ประพฤติปฏิบัติมา ว่าสิ่งที่พบสิ่งที่เห็นนั้นเป็นสภาวะธรรมของอะไร เป็นสภาวะสมถะหรือวิปัสสนา
และทำให้รู้เหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดของอารมณ์นั้นๆ เพราะเมื่อก่อนนั้นจะมีปัญหาในการปฏิบัติ
สืบเนื่องมาจากการที่เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือชอบค้นคว้าทางตำรา อ่านมามาก อ่านหมดห้องสมุด
มาหลายห้อง อ่านพระไตรปิฏกหมดทั้งสี่สิบหน้าเล่มมาแล้วสามรอบ ทำให้มีข้อมูลมากในสมอง
และเมื่อเข้าสู่ภาคปฏิบัติ จิตมันจะปรุงแต่งในสัญญา ( ความจำ ) ทำให้เกิดสภาวะ " รู้ก่อนเกิด "
คือจิตมันจะปรุงแต่งไปก่อนว่า...เดี๋ยวมันต้องเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวมันต้องเป็นอย่างนี้ มันคิดไปก่อน
จิตก็เลยไม่สงบ หรือสงบก็เพราะเราไปสะกดจิตตัวเองให้มันสงบ มันไม่ได้สงบโดยธรรมชาติของจิต
ที่แท้จริง มันเป็นสภาวะธรรมที่เราสร้าง เรากำหนดขึ้นมา เราเอาอุปปทานมาจินตนาการให้มันเกิด
ให้มันเป็น มันจึงเป็นเพียงสิ่งที่เราสร้างขึ้น ไม่ใช่สภาวะธรรมที่แท้จริง และเมื่อได้ฟังธรรมของหลวงพ่อชา
แห่งวัดหนองป่าพง อุบลราชธานี จึงได้รู้และเข้าใจ จึงฝึกวางความจำทั้งหลายเมื่อเราเข้าสู่การปฏิบัติ
ให้จิตมันเป็นไปโดยธรรมชาติของจิตในการเจริญสติภาวนา อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ไม่ไปปรุงแต่งมัน
เมื่อออกจากสมาธิแล้วจึงมาทบทวนว่า สิ่งที่พบมาคืออารณ์อะไร ไม่ไปรู้ก่อนเกิด ให้มันเกิดแล้วจึงรู้
ซึ่งกว่าจะละวางความจำเก่าๆได้นั้นต้องใช้เวลาเป็นปีในการปรับจิต ปรับความคิดเสียใหม่.....
          สภาวธรรมทั้งหลายล้วนมีที่มาที่ไป ตามเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น และเมื่อจิตได้พิจารณา
จนเห็นที่มาและที่ไป เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นแล้ว มันก็สิ้นความสงสัยในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลาย
การปรุ่งแต่งทั้งหลายมันก็จะจางคลายลดน้อยลงไปจนกระทั้งไม่มี เพราะเมื่อสิ้นความสงสัยแล้วใจจะไม่
เข้าไปยึดติด ความคิดปรุ่งแต่งทั้งหลายมันก็เลยจบ เราต้องคิดให้มันจบไปเป็นเรื่องๆให้มันดับไปเป็นเรื่องๆ
ซึ่งมันจะเป็นการทำลายเสียซึ่งความคิดฟุ้งซ่าน ไร้สาระ การคิดพิจารณานั้นก็จะเป็นระบบ ไม่มีความสับสน
ในความคิด เพราะว่าจิตนั้นได้เข้าถึงธรรม มีธรรมคุ้มครองรักษาจิตอยู่ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อาจหาญ
และร่าเริงในธรรม “ เมื่อเรารักษาธรรม ธรรมนั้นจะรักษาเรา “.....
                                    เชื่อใน-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๕๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

67
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๗ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
            วันเวลาของชีวิตที่ผ่านไป ใช้ชีวิตตามปกติวิสัยที่เคยเป็นมา เหมือนกับว่าไม่ได้ทำอะไร
ภายนอกนั้นเลคื่อนไหวไปตามปกติ พบปะพูดคุยสนทนา แลกเปลี่ยนกับผู้มาเยี่ยมเยือนทั้งหลาย
เมื่อเขาลากลับไปทุกอย่างก็คืนสู่ความเป็นปกติ เพราะการปฏิบัตินั้นเป็นการทำที่จิต ไม่ใช่ที่กาย
มีสติและสัมปชัญญะ ระลึกรู้อยู่ภายใน มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ในสิ่งที่คิดและกิจที่กำลังกระทำ
ไม่ใช่การสร้างรูปแบบภายนอกขึ้นมา เพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม มันไม่ใช่การแสดง
ออกทางกาย แต่เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมนันคือการพัฒนาที่จิต เปลี่ยนแปลงความคิด
พัฒนาจิตให้มีคุณธรรม น้อมนำจิตนั้นเข้าสู่ความเป็นกุศล ฝึกฝนจนให้เกิดความชำนาญ
ในกระบวนการแห่งความคิดจิตสำนึกทั้งหลาย ด้วยการมีสติและสัมปชัญญะที่เป็นกุศล
ควบคุณตน ในสิ่งที่กำลังคิดและกิจที่กำลังทำ ไม่ให้อกุศลกรรมเกิดขึ้นมาได้ในขณะนั้น.....
               ใช้เวลาทบทวนแนวทางการปฏิบัติในมหาสติปัฏฐานสูตร  พิจารณาสภาวะธรรมในแต่ละฐาน
ทำความรู้ความเข้าใจในการพิจารณาในกาย เวทนา จิต ธรรม กำหนดรู้การเกิดขึ้น  ตั้งอยู่ และการดับไป
ทั้งภายนอกและภายใน คือที่เกิดขึ้นทางกายและทางจืต มีสติและสัมปชัญญะควบคู่เสมอกันอยู่ทุกขณะ
เพราะว่าถ้าไปเน้นสติแต่เพียงอย่างเดียวนั้น มันจะนำจิตไปสู่สภาวะธรรมของสมถะกรรมฐาน คือความนิ่งสงบ
มหาสติปัฏฐานนั้นเป็นการปฏิบัติของวิปัสสนากรรมฐาน จึงต้องมีความรู้ตัวทั่วพร้อม คือต้องมีสัมปชัญญะประกอบ
คอยควบคุมจิต มีสมาธิอยู่ในระดับขณิกสมาธิไม่ปล่อยให้ลงลึกจนเกินไปในองค์ฌาน เพราะจะทำให้การพิจารณา
นั้นมันขาดหายไป จิตจะติดอยู่ในความสงบ สภาวะธรรมของสมถะนั้นเป็นไปในองค์แห่งฌานทั้ง ๔ มีสมาธิควบคุมอยู่
จึงรู้เฉพาะที่สิ่งเพ่ง  สิ่งที่พิจารณา แต่วิปัสสนานั้นมันจะเห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง คือก่อนที่จะเกิดขึ้น ขณะเกิดขึ้น
สภาวะที่ตั้งอยู่ และเหตุที่ทำให้ดับไป คือรู้นอก รู้ใน รู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้การกระทำ มีความรู้ตัวทั่วพร้อมกับกายและจิต
มันเป็นการตามดู ตามรู้ ตามเห็น มันไม่ตื่นเต้นเหมือนการเจริญสมถะกรรมฐาน ที่มี วิตก วิจาร ปิติ สุข และเอตคตารมณ์
จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่เคยปฏิบัติสมถะกรรมฐานมาก่อน ในการที่จะยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา เพราะส่วนใหญ่จะติดอยู่ในอารมณ์ของสมถะ พึงพอใจในความสงบนิ่งของอารมณ์สมาธิ ไม่อยากจะคิด ไม่อยากจะพิจารณา เหมือนที่เคยกล่าวไว้ในเรื่องการปฏิบัติที่ ว่า " ทำสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้น  รักษาสิ่งที่มีนั้นไม่ให้เสื่อมหาย ทำสิ่งที่มีนั้นให้เหมือนกับไม่มี " นี้คือขบวนการทางจิตแห่งการปฏิบัติ " สูงสุดคืนสู่สามัญ " เพราะการเจริญวิปัสสนานั้นดูจากภายนอกแล้ว เหมือนกับไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะเป็นการกระทำที่จิต....มันไม่มีรูปแบบภายนอกที่ตายตัว ว่าต้องมีท่าทางอย่างนั้น ท่าทางอย่างนี้ จึงจะเป็นการปฏิบัติวิปัสสนา มันอยู่ที่จิตคือการมีสติและสัมปชัญญะ ควบคุมการจิต ควบคุมความคิดและการกระทำ มันเป็นการทำภายใน รู้ได้เฉพาะตนเท่านั้นเอง ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่กำลังคิดอะไรอยู่ และสิ่งที่คิดและที่ทำนั้นเรามีเจตนาอย่างไร เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศลหรือไม่ " ไม่มีใครรู้ซึ้ง เท่าหนึ่งจิต "ในสิ่งที่กำลังคิดและกำลังกระทำเท่าตัวของเราเอง
 ถ้าเรามีสติและสัมปชัญญะที่สมบูรณ์อยู่ทุกขณะจิต ทุกเวลาของชีวิตที่ผ่านไป นั้นคือการได้ปฏิบัติเข้าหากุศลธรรม
น้อมนำชีวิตไปสู่ทิศทางที่ดี จึงเป็นสิ่งที่ควรคิดและกิจที่ควรทำ......
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๘ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

68
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๖ สค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
                 ตั้งแต่ออกจากป่าเข้ามาอยู่กับสังคมเมือง ต้องคลุกคลีพบปะกับคนหมู่มากนั้น 
ต้องปรับรูปแบบการนำเสนอธรรมะใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน
เพื่อให้ทันต่อยุคสมัย ความเจริญทางด้านวัตถุที่เป็นอยู่ โดยใช้ระบบการสื่อสารรูปแบบต่างๆ
เป็นช่องทางเลือกในการนำเสนอธรรม ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่มีช่องทางที่จะทำได้
ต้องทำความรู้ความเข้าใจในความสนใจของสังคมคนไทยในปัจจุบันในการเสพข้อมูลข่าวสาร
ดั่งที่เคยได้กล่าวมาแล้วในครั้งก่อนๆเรื่อง " ปริสัญญุตา ความเป็นรู้จักชุมชน " เพราะการทำงาน
กับคนหมู่มากนั้น เราต้องรู้และเข้าใจอุปนิสัยและความชอบความต้องการของแต่ละคนและแต่ละวัยที่แตกต่างกัน
การทำงานกับวัยรุ่นเราก็ต้องเข้าใจกับวัยรุ่น ว่าพวกเขาชอบอะไร ทำงานกันไปพูดคุยกันไป ให้พวกเขาเพลิดเพลิน
สอดแทรกธรรมะลงไปบ้างตามโอกาศ ยกนิทานมาเล่าให้เด็กฟังสลับกันไปเฮอาไร้สาระบ้าง แฝงคติธรรมบ้าง
เพื่อไม่ให้เด็กเบื่อหน่าย ทำความคุ้นเคยใกล้ชิดกัน ทำให้เด็กไม่เกร็งจนไม่กล้าเข้าใกล้ เมื่อเด็กไว้ใจไปมาหาสู่
คุ้นเคยกับเราแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะสั่งสอนอบรมพวกเขาอย่างไร เป็นขั้นตอนต่อไป ซึ่งเราเป็นผู้ใหญ่
เป็นครูบาอาจารย์นั้นต้องไม่มี " อคติ "คือความลำเอียง ความเอนเอียงเข้าข้าง ความไม่ยุติธรรม ความไม่เป็นกลาง
ต้องวางตัวให้ความสำคัญเสมอกัน ไม่เอาใจใครมากเป็นพิเศษ พูดคุยกับทุกคนเท่าๆกัน ใช้งานให้ทั่วกันเท่าๆกัน
ไม่ให้พวกเขาเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าพระอาจารย์ให้ความสำคัญผู้ใดเป็นพิเศษ เราจึงจะปกครองและควบคุม
พวกเขาได้ ซึ่งความมี  " อคติ " นั้น เกิดจากสาเหตุ ๔ ประการคือ...
   ๑.ฉันทาคติ  ลำเอียงเพราะรักใคร่ชอบพอ
   ๒.โทสาคติ  ลำเอียงเพราะความไม่ชอบทั้งหลาย
   ๓.ภยาคติ    ลำเอียงเพราะความหวาดกลัว
   ๔. โมหาคติ ลำเอียงเพราะความหลง ความเชื่อและสำคัญผิด
การเป็นผู้นำนั้นเราต้องมีคุณธรรม รู้จักผูกมิตร ผูกจิตผูกใจผู้ร่วมงาน เพื่อให้องค์กรที่เราดูแลอยู่นั้น มีความเข้มแข็ง
รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือสงเคราะห์กันในสิ่งที่ดี คือการสอนให้เขามีคุณธรรม สิ่งนั้นคือหน้าที่ของผู้นำ...
            รูปแบบการนำเสนอนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนไป เพื่อให้หมาะสมกับ จังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และบุคคล
ต้องเข้าใจในสังคมที่เราจะนำเสนอว่าเขาอยู่กันอย่างไร ไม่เข้าไปทำลายความเชื่อความศรัทธาที่เขาเคยมีมาก่อน
ใช้วิธีการให้เขาซึมซับโดยไม่รู้ตัว ซึ่งต้องเริ่มจากความคุ้นเคยและศรัทธา มาเป็นพื้นฐานเพื่อดึงให้เขาเหล่านั้นเข้ามา
แล้วค่อยๆสอดแทรกธรรมะเข้าไป โดยการสร้างจิตสำนึกความรู้สึกต่อส่วนรวม ส่งเสริมให้เขาทำในสิ่งที่เขานั้นทำได้
คุณธรรมข้อดีทั้งหลายที่เขามีอยู่ สนับสนุนส่งเสริมให้เขาทำเพิ่มขึ้นยิ่งๆขึ้นไป เพื่อเป็นการลดเวลาที่จิตของเขาให้อยู่
กับสิ่งที่เป็นอกุศลนั้นให้น้อยลง ใช้หลักการที่ว่า “ แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เป็นแนวทางให้เดินไปร่วมกันได้ “
ซึ่งเป็นการละลายพฤติกรรมที่ไม่ดีของเขาเหล่านั้น โดยที่เขารู้ตัวว่ากำลังเปลี่ยนแปลง ไม่ให้เขารู้สึกว่าถูกบังคับ
หรือถูกยัดเหยียดให้ปฏิบัติตาม แต่มันจะเกิดจากจิตสำนึกความรู้สึกของเขาเอง ที่จะเปลี่ยนแปลงพฟติกรรมเก่าๆ
ของเขาที่เคยทำมา มองเห็นคุณค่าของเวลาแห่งชีวิตที่เหลืออยู่และกำหนดทิศทางเดินของชีวิตด้วยตัวของเขาเอง
เป็นการสอนที่เหมือนกับไม่ได้สอน เป็นการเผยแผ่ธรรมที่ไม่ติดยึดในรูปแบบและวิธีการ เป็นวิธีการในการทำหน้าที่
ของตนนั้นให้สมบูรณ์ ตามบทบาทและหน้าที่ ตามที่เหตุและปัจจัยที่มีในขณะนั้นให้เหมาะสม...
              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนตร
๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๐๓ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

69
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๕ สค. ๕๔
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๖ สิงหาคม พศ. ๒๕๕๔
"ยสฺสกสฺสจิ กายคตาสติ อภาวิตา อพหุลีกตา
ลภติ ตสฺส มาโร โอตารํ ลภติ ตสฺส มาโร อารมฺมณํ"
   ภิกษุไม่เจริญกายคตาสติอยู่ประจำแล้ว
ย่อมตกเป็นทาสของมาร มารอยู่เหนืออารมณ์
              ...กายคตาสติสูตร ๑๕/๑๘๖...
ทบทวนในสติปัฏฐาน ๔ เริ่มจากฐานกายในแต่ละบรรพ
โดยเจริญกายคตาสติควบคู่กันไปในบางอารมณ์เริ่มจากกำหนดรู้
ลมหายใจเข้าออก รู้ลมสั้น รู้ลมยาว รู้ลมหายใจปกติเจริญอยู่ใน
อานาปานบรรพจนจิตพบความสงบระงับแห่งลมหายใจ
จดจำทางเดินของจิตในแต่ละขั้นของอารมณ์ธรรมกรรมฐาน
เวลาเราเปลี่ยนอิริยาบทของกายก็ให้มีสติกำหนดรู้อยู่ตลอด
เป็นการเจริญสติพิจารณาอยู่ในอิริยาบทบรรพทุกขณะ
มีสัมปชัญญะรู้ตัวในการเคลื่อนไหวจิตอยู่ในสัมปชัญญะบรรพ
จิตพิจารณากายให้เห็นถึงความน่าเกลียดของร่างกาย
จนเกิดความจางคลายเบื่อหน่ายในตัวตนเป็นการเจริญสติในปฏิกูลปนสิการ
แยกกายของเราให้เห็นเป็นอาการสามสิบสอง ซึ่งประกอบมาจากธาตุทั้ง ๔
คืนร่างกายของเรานี้สู่ธรรมชาติเห็นกายเป็นเพียงธาตุที่จิตมาอาศัย
ไม่นานก็ต้องทิ้งไปตามกาลเวลาพิจารณาอยู่ในธาตุบรรพ
เมื่อจิตออกจากกายด้วยความสลายเสื่อมไปของธาตุที่รวมกัน
กายนั้นย่อมมีความเสื่อมสลายกลายเป็นซากศพมีลักษณะต่างๆ
๙อย่างของการเสื่อมสลายจนเกิดความจางคลายในกายนี้
จิตพิจารณาในนวสีถิกาบรรพลักษณะของกายที่เป็นซากศพ
จิตก็พบกับความเป็นจริงของกายนี้ที่จิตเข้ามาอยู่อาศัย
เกิดความรู้ความเข้าใจ จิตจางคลายจากการยึดถือในตัวตน
ฝึกฝนพิจารณาในฐานกายให้มีความช่ำชองในทุกบรรพของฐานกาย
เมื่อพื้นฐานหนักแน่นมั่นคงแล้วความเสื่อมในธรรมทั้งหลายย่อมไม่เกิดขึ้น
มีแต่ความเพิ่มพูนงอกงามเจริญในธรรมเพราะมีพื้นฐานที่ดีและถูกต้องมั่นคง
การปฏิบัติธรรมทั้งหลายต้องเริ่มจากพื้นฐานซึ่งคือกายของเรานี้เอง....
             เหตุที่ได้ปรารถในเรื่องกายคตานสตินี้ มาจากการที่ลงจากเขาเข้าเมือง
ไปเจอสภาพอากาศที่แตกต่างกัน ปรับตัวไม่ทันทำให้ธาตุในร่างกายผิดปกติไป
ต้องกลับมาปรับธาตุในร่างกายใหม่ โดยใช้ธาตุลมเป็นตัวเข้าไปปรับความสมดุล
ของธาตุทั้งหลายในกาย  เพื่อไม่ให้ป่วยไข้เพราะความแปรปรวนของธาตุในกาย
เพราะว่าธาตุลมนั้นเป็นตัวประสานซึ่งธาตุในกาย ปรับธาตุน้ำให้เคลื่อนไหวและตั้งอยู่
ปรับธาตุไฟให้ร้อนรึเย็นได้  ปรับธาตุดินให้แข็งหรืออ่อนลงได้ มันขึ้นอยู่กับการหายใจ
เอาธาตุลมเข้าไปในร่างกาย ลมหายใจเร็วก็จะทำให้ร้อน ลมหายใจช้าก็จะทำให้เย็น
อยากจะให้ธาตุน้ำเคลื่อนไหว ก็ต้องใช้ลมหายใจเร็วเพื่อทำให้ร้อน เพื่อให้ธาตุน้ำขยายตัว
กลั่นลมหายใจที่ร้อนเพื่อให้ธาตุลมไปขับธาตุน้ำให้ขยายตัวเคลื่อนไหวไหลกระจายไปใน
ร่างกาย ส่งผลให้ธาตุดินในกายขยายตัว เรียกว่าการฝึกตั้งธาตุและปรับธาตุในกายของเรา
ทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องธาตุในกาย เพราะว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งหลายนั้น
ล้วนเกิดมาจากความผิดปกติของธาตุในกายและวิบากกรรมเก่า ซึ่งในส่วนของเรื่องวิบาก
กรรมเก่านั้น ก็ต้องใช้การแผ่เมตตา ขออโหสิกรรมและการสร้างบุญกุศลตัวใหม่ขึ้นมาทดแทน
ควบคู่กับการปรับธาตุในกายของเราให้มีความสมดุลกัน เรื่องของกายคตานุสติจึงเป็นธรรมโอสถ
ที่ใช้ในการรักษาความเจ็บป่วยของร่างกาย โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวยาจากภายนอกได้เลย ....
 แด่กายคตานุสติกรรมฐานที่เป็นพื้นฐานแห่งสติปัฏฐาน ๔
                  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๖ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

70
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๔ สค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๕ สิงหาคม พศ. ๒๕๕๔     
            การคลุกคลีอยู่ร่วมกับคนหมู่มากนั้น ต้องควบคุมอารมณ์ความรู้สึกให้มากกว่าปกติ
เพราะอาจจะเกิดกระทบกระทั่งกันได้ทางอารมณ์ความคิด ถ้าขาดสติดั่งคำครูที่ได้กล่าวไว้ว่า
 " อยู่คนเดียวให้ระวังจิต  อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา " นั้นเป็นสิ่งที่ควรจดจำและควรปฏิบัติตาม
 เพื่อความอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ลดปัญหาซึ่งการทุ่มเถียงขัดแย้งทะเลาะกันในสิ่งไร้สาระ
เพราะบางครั้งในสภาวะของสภาพร่างกายที่ได้ใช้แรงงานนั้น มันทำให้เกิดความเหนื่อย ความหิว
ความร้อน ทุกขเวทนาทางกายนั้น ทำให้กิเลสที่ซ่อนอยู่ในจิต ผุดขึ้นมาได้ง่ายถ้าเราเผลอสติ
ขาดความยั้งคิดและการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก กับสิ่งกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งต้องพบเจอ
เมื่ออยู่ร่วมกับคนหมู่มาก เพราะมากคนก็มากเรื่อง มากความคิดและความเห็นมุมมอง
ที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการรู้จักควบคุมสติต่อสิ่งกระทบเหล่านั้น...
       ทำให้ระลึกถึงอานิสงส์ของการเดินธุดงค์ การเดินธุดงค์นั้นเป็นการฝึกสติ ฝึกความอดทน
ฝึกการควบคุมอารมณ์ ที่ดีมาก เพราะในเวลาที่เราเดินธุดงค์นั้น ต้องแบกสัมภาระอยู่บนบ่า
มีความเหนื่อยเมื่อยล้า จากอากาศที่ร้อน สัมภาระที่หนัก ความหิวกระหาย ที่เกิดขึ้นในระหว่าง
การเดินธุดงค์ ความเห็นแก่ตัวจะเกิดขึ้น ความขี้เกียจจะตามมา อัตตาความเอาแต่ใจตนเองเพิ่มขึ้น
ซึ่งถ้าไม่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกให้ดีแล้ว กิเลสทั้งหลายก็จะแสดงออกมา จากการที่เคยผ่านการ
เดินธุดงค์มามากนั้น ทำให้ เข้าใจในเรื่องนี้ดี เพราะได้เคยผ่านอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นมาแล้ว
สมัยที่นำลูกศิษย์เดินธุดงค์เข้าป่าขึ้นดอยนั้น ได้เน้นย้ำกับหมู่คณะเสมอว่าจงเจริญสติอยู่ทุกขณะ
ดูกาย ดูจิต ดูความคิดที่มันกำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่ เป็นการฝึกสติให้ระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันธรรม
รู้จักการควบคุมความรู้สึกนึกคิดและมีจิตสำนึกในคุณธรรมทั้งหลาย เพราะการอยู่ร่วมกันหมู่มาก
ในสภาวะแห่งการมีความกดดันมากนั้น มันจะทำให้กิเลสทั้งหลายที่ซ่อนอยู่ในใจนั้นแสดงออกมา
ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ที่ได้ผ่านการเดินธุดงค์ร่วมกันมานั้น ได้ผ่านการทดสอบทางอารมณ์มาอย่างหนัก
กันมาทุกท่าน ในการเดินธุดงค์ข้ามเขาข้ามดอยในแต่ละครั้งที่ผ่านมา จึงทำให้ทุกท่านควบคุมอารมณ์
กันได้ในเวลาที่ทำงานร่วมกัน มากน้อยตามกำลังสติของแต่ละท่าน นี่คืออานิสงส์แห่งการเดินธุดงค์
ที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันของแต่ละท่านที่ได้รับการฝึกฝนมา...
        จิตระลึกนึกถึงการเดินธุดงค์ขึ้นมาเพราะว่ามีลูกศิษย์มาถามว่า “ พระเขาเดินธุดงค์กันเพื่ออะไร “
ทำให้ได้คิดทบทวนและอธิบายให้เขาเข้าใจ ถึงเป้าหมายและเจตนาในการเดินธุดงค์ของครูบาอาจารย์
ทุกท่านที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งเป็นไปเพื่อการฝึกจิตในสภาวะแห่งความกดดันทั้งหลาย เพื่อเพียรเผากิเลส
ให้เร้าร้อน ทนไม่ได้ต้องแสดงออกมาให้เห็น ซึ่งถ้าอยู่ในสภาวะที่ไม่มีความกดดันนั้นจะไม่เห็นมันว่ามีอยู่
และเมื่อมองถึงการเดินธุดงค์ของพระในปัจจุบันแล้วก็เกิดความสังเวช เพราะเป็นไปเพื่อการสร้างกิเลส
เหมือนกับการไปท่องเที่ยวปพักผ่อน ไปสนุกเฮฮากัน เดินธุดงค์เข้าป่าเพื่อเอามาคุยอวดกัน ว่าได้เคยเดิน
ธุดงค์กันมาแล้ว และบางคณะนั้นก็มีการเตรียมสัมภาระอาหารและลูกหาบ เพื่อความสะดวกสบายในป่า
ไปพักกางเต้นท์ ทำตัวเหมือนนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนกัน ส่งเสียงดังกันลั่นป่า เป็นที่ระอาใจให้แก่เจ้าหน้าที่
อุทยานที่เขาดูแลในพื้นที่เหล่านั้น จากการที่ได้พูดคุยกันกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จึงเป็นที่มาของการออกกฎ
ระเบียบห้ามพระภิกษุสงฆ์เดินธุดงค์เข้าไปในเขตอุทยาน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการที่ไม่เข้าใจในเจตนาของการ
เดินธุดงค์ของพระภิกษุสงฆ์ในสมัยปัจจุบันนี้ ทำให้เกิดมีปัญหาเป็นข้อติเตียนเสื่อมเสียต่อหมู่คณะขึ้นมา
เพราะการที่ไม่ได้ศึกษาและทำความเข้าใจว่าเจตนาและเป้าหมายของการเดินธุดงค์ที่แท้จริงนั้นคืออะไร
มันจึงมีผลกระทบตามมาอย่างที่เห็นและเป็นอยู่.....
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ- สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

71
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๓ สค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๔ สิงหาคม พศ. ๒๕๕๔
             พิจารณาใคร่ครวญทบทวนในข้อธรรมที่เคยศึกษาได้อ่านได้ฟังมา
เพื่อนำมาสงเคราะห์ให้เหมาะกับปัจจุบันธรรมที่เป็นอยู่ ระลึกรู้อยู่ภายใน
ถึงความเป็นไปของสภาวจิตทั้งหลายที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปในแต่ละครั้ง
ค้นหาที่มาของอารมณ์เหล่านั้น ว่ามันมีที่มา มีสาเหตุให้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ทำความรู้ความเข้าใจ เพื่อจะดับอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นมิให้มันเกิดขึ้นมาอีก
ความรู้สึกทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากภายนอกและภายใน ถ้าเผลอไปปรุงแต่งตามมัน
โดยไม่รู้เท่าทัน ขาดสติในการพิจารณาแยกแยะกุศลและอกุศล มันก็อาจจะส่งผล
ให้จิตนั้นเศร้าหมองได้ จึงต้องฝึกดับอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นให้เร็ว โดยการมีสติ
และสัมปชัญญะให้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็นอยู่
               ยังไม่มั่นใจในตนเองว่าจะทนต่อสภาพกระแสโลกภายนอกได้นานสักเท่าไหร่
เมื่อออกจากป่าไปสู่สังคมเมือง เพราะรู้ตัวเองดีว่า สติและสัมปชัญญะของเรานั้น
ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรต่อสิ่งกระทบทั้งหลาย จะรักษาทรงได้ไม่นานย่อมจะหวั่นไหว
และคล้อยตามไปกับกระแสโลกอีกเหมือน ที่ผ่านมาในครั้งก่อนๆ แต่มีความตั้งใจ
ที่จะรักษาทรงไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ รักษาไว้ซึ่งสติและสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ที่สุด
อยู่กับกุศลธรรม ดำเนินไปตามมรรคองค์แปดแห่งความเป็นสัมมาทั้งแปดประการ
ให้ได้นานเท่านานเท่าที่จะทำได้ เพราะว่าเรานั้นยังอยู่กับสังคมของโลกธรรม
        ปฏิบัติอยู่ในป่าสิ่งกระทบมันน้อยมาก กิเลสไม่ถูกกระตุ้นมันจึงไม่แสดงให้เห็น
 จึงอยู่เป็นปกติสุข เหมือนกับว่ากิเลสนั้นเบาบางลงแล้ว แต่ เมื่อออกไปสู่สังคมเมือง
ตัวกระตุ้น(ผัสสะ)มันมีมากทั้งภายนอกและภายใน ถ้าจิตของเราไม่เข้มแข็งพอย่อมจะหวั่นไหว
และคล้อยตามกิเลสเหล่านั้นได้ จึงต้องพยายามเตรียมกายเตรียมใจไว้ให้พร้อม
ต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ในภายภาคหน้าที่เราจะต้องเจอ ซึ่งจากประสพการณ์ที่ผ่านมา
เรารู้ดีว่าจะต้องพบต้องเจอกับอะไรบ้าง ทางตา ทางหู ทางลิ้น ทางกายและทางใจ
เพราะเรารู้เหตุรู้ปัจจัยไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเจออะไรบ้าง จึงเป็นหน้าที่ของเรา
ที่ต้องดูแลรักษากายใจควบคุมไว้ให้ได้ เพราะกิเลสที่นองเนื่องในสันดานของเรา
 มันรอเวลาที่จะแสดงออกมาเมื่อได้ เมื่อมีปัจจัยที่เหมาะสมกับกิเลส เรียกว่าโรคนั้นยังมีอยู่
มิได้หมดสิ้นไป เพียงรอวันที่จะเจอของแสลงของโรค โรคนั้นก็จะปรากฏขึ้นมาให้เห็น
            ตรวจสอบกาย ตรวจสอบจิต ตรวจสอบความคิด ตรวจสอบการกระทำ อยู่ทุกขณะจิต
 พยายามตัดสิ่งที่เป็นอกุศลออกไป ไม่ส้องเสพในอกุศล ทั้งหลาย รักษาทรงไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นกุศล
 เป็นการฝึกตนเพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับการออกจากป่ากลับไปสู่สังคมเมือง ซึ่งมิใช่เรื่องง่าย
ที่จะทรง ไว้ได้ซึ่งสภาวธรรมเหล่านี้  เพราะว่ามีภาระหน้าที่ ที่จะต้องออกไปกระทำนั้น
มันต้องคลุกคลีกับหมู่คณะและผู้คนมากมาย ซึ่งมีลักษณะและอุปนิสัยที่แตกต่างกัน ภูมิธรรม
 ภูมิปัญญาแตกต่างกัน จึงต้องเตรียมกาย เตรียมใจ ไว้สำหรับการเผชิญต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้า
ในทุกโอกาศ ทุกสถานะการณ์ ต้องควบคุมกายและใจไม่ให้คล้อยตามกระแสโลก กระแสสังคมให้ได้
ทรงไว้ซึ่งสภาวธรรมทั้งหลาย
        อยู่กับปัจจุบันธรรม ด้วยการเจริญสติและมีสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ไม่หนีปัญหาด้วยการเข้าสมาธิ
ใช้การพิจารณาหาเหตุหาปัจจัยของอารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วเข้าไปดับที่เหตุ ที่ทำให้เกิดอารมณ์เหล่านั้น
 โดยการพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษและสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ของเหตุนั้น จนเกิดความละอาย
และเกิดธรรมสังเวชในสิ่งนั้น จิตมันก็จะถอนจากการยึดถือ เกิดการปล่อยวาง เมื่อจิตไม่เข้าไปเกี่ยวข้องยึดถือแล้ว
มันก็ดับเหตุไปได้ครั้งหนึ่ง  เราต้องพยายามทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเกิดความเคยชิน ความชำนาญ จนเป็นวสี
และกลายเป็นอุปนิสัย เราจึงจะปลอดภัยต่อกระแสโลก...
                 บันทึกบนเส้นทางธรรม...ด้วยศรัทธา-เชื่อมั่น –ปรารถนาดี...
                                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๒ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
                                     

72
 คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒ สค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลนุรี
พุธที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          ลมพัดแรงตลอดทั้งวันและคืน อากาศหนาวเย็นเพราะสายลมที่พัดผ่านมา
เก็บตัวอยู่แต่ในที่พัก ออกไปข้างนอกไม่ได้เพราะหนาวลม  จนกระทั้งถึงตอนเย็น
จึงได้ลงจากเขาไปเยี่ยมสหธรรมิกเจ้าอาวาสวัดหนองอ้อที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์
ซึ่งมีสาเหตุมาจากไขมันอุดตันในเส้นโลหิตฝอยในสมอง ตรวจดูเส้นเอ็นเส้นประสาท
ให้ท่านและแนะนำเรื่องยาเรื่องการรักษาปฏิบัติตน เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้หายจากอาการ
ที่เป็น เพราะว่าตนเองนั้นเคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน โดยในปี ๒๕๔๑ นั้น
เป็นอัมพฤกษ์ที่ขาข้างขวาและปี ๒๕๕๑ ก็มาเป็นอัมพฤกษ์ที่แขนข้างขวา อีกครั้ง
แต่ทั้งสองครังที่เป็นนั้นเราก็ใช้การรักษาด้วยตนเอง  พิจารณา ศึกษา ค้นคว้า
ถึงที่มาของอาการที่เป็น ศึกษาเรื่องเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ เส้นประสาทที่สัมพันธ์กัน
ใช้กัมมัฏฐานกายคตานุสติรักษาตนเอง จนร่างกายฟื้นกลับมาเป็นปกติดังเดิม
ซึ่งสิ่งที่สำคัญในการฟื้นฟูร่างกายนั้น มันอยู่ที่ขวัญและกำลังใจของตัวเราเอง
ใจต้องไม่ท้อ อย่าไปตกใจ เป็นได้ก็ต้องหายได้ ใจต้องไม่หวั่นไหวมั่นใจในตนเอง
ตนเองต้องช่วยเหลือตนเอง อย่าไปหวังพึ่งความช่วยเหลือจากผู้อื่นเขา.....
           ในสภาวะที่เรากำลังทำพิธีหรือสงเคราะห์ญาติโยมอยู่นั้น เราต้องมีสติและสัมปชัญญะ
อยู่ตลอดเวลา พยายามรักษาจิตให้เป็นกุศลจิต วางใจให้เป็นกลางกับทุกอย่างที่พบเห็น ได้ยินหรือได้ฟัง
วิเคราะห์ทุกอย่างตามเหตุและปัจจัย ตาไว หูไว ใส่ใจ จดจำ ไม่เอาใจไปมีส่วนได้เสียกับผลประโยชน์ทั้งหลาย
ใช้หลักธรรมนำการคิดและวิเคราะห์ปัญหาทุกอย่าง ตามหลักธรรมของอริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
โดยปรับหลักเสียใหม่ให้เหมาะสม ทุกข์คือคำถามคือโจทย์ ที่จะให้คิดและแก้ไข ต้องวิเคราะห์ไปถึงต้นตอ
ที่เกิดของปัญหาให้เห็นที่มาคือสมุทัย วิเคราะห์ต่อไปให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาว่าจะให้มันจบอย่างไรคือ
ให้เข้าใจถึงที่จบคือนิโรธ  กำหนดแนวทางวิธีการในการดำเนินการที่จะให้มันสำเร็จตามที่ได้วิเคราะห์ไว้คือ
ให้เขาเอาไปปฏิบัติลงมือทำนั้นคือมรรค อาศัยหลักธรรมความรู้ประมาณในตน ความเหมาะสม ความพอดี
พอเพียง ในลาภที่ควรจะได้ กำไรที่พึงจะมี หาความพอดีตามเหตุและปัจจัย จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่
และบุคคล เป็นองค์ประกอบในการคิดและวิเคราะห์ ใช้หลักจิตวิทยาโน้มน้าวให้เขาศรัทธานำไปปฏิบัติตาม
ทำในสิ่งที่เราเสนอแนะ โดยชี้เหตุและผลที่จะได้รับในการกระทำอย่างนั้นให้เขาเข้าใจ ก็หมดหน้าที่ของเรา
ไปวาระหนึ่ง เป็นการทำหน้าที่สงเคราะห์ญาติโยมทั้งทางโลกและทางธรรม....
    "เมื่อน้ำนั้นนิ่งใส ก็จะเห็นสิ่งที่อยู่ภายในนั้นชัดเจน ถ้าน้ำนั้นยังกระเพื่อมอยู่ก็เห็นได้ไม่ชัดเจน
           เปรียบกับจิตที่เป็นหนึ่ง หยุดนิ่งย่อมรู้หมด มีอะไรรู้หมด เห็นกายเห็นจิตของตนเองได้แล้ว
           ก็ย่อมจะรู้และเข้าใจในกายและจิตของผู้อื่นเช่นกัน "
   "อย่าไปหวั่นไหวกับกระแสโลกจนเกินไป คืออย่าไปยินดี ยินร้ายกับคำสรรเสริญและคำนินทา
           ความสุขหรือความทุกข์ และลาภยศทั้งหลาย อย่าไปหวั่นไหวกับมัน เพราะว่าความหวั่นไหวนั้น
           มันจะทำให้เราขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง เรียกว่าเป็นคนไม่แน่นอน ทำอะไรไม่แน่นอน
           จิตนั้นย่อมทุรนทุรายหวั่นไหวไปกับโลกธรรม นำมาซึ่งความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเราวางใจให้อยู่เหนือ
           โลกธรรมได้เมื่อไร ใจของเรานั้นก็จะเป็นสุข"
   " เรียนทางโลกนั้น เรียนไปๆก็ยิ่งทำให้กิเลสหนาขึ้นทุกขณะ แต่ถ้าเรามาเรียนธรรมะมาเรียนเรื่องละ
             ละโลภ ละโกรธ ละหลง ละกิเลสตัณหา มันก็มีแต่จะเบาบางลง จนไม่มีภาระ เมื่อเข้าถึงธรรมะแล้ว
             ใจนั้นก็จะเป็นสุข ไม่ทุกข์อยู่กับโลกธรรมทั้งหลาย "
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๕๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

73
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
      ฝนตกตลอดทั้งวันทั้งคืน พื้นดินเปียกชื้นไปด้วยน้ำ
หมอกปกคลุมทั้งขุนเขา สายลมเย็นนั้นพัดผ่านมาตลอด
นั้งๆนอนๆอยู่แต่ในที่พักออกไปข้างนอกไม่ได้เพราะฝนตก
เจริญสตินั่งสมาธิพิจารณาธรรม เปิดฟังคำบรรยายธรรม
ของครูบาอาจารย์หลายๆท่าน เช่นของหลวงพ่อพุทธทาส
หลวงพ่อชา หลวงพ่อจรัล หลวงพ่อจำเนียร ฟังสลับกันไป
นั่งจนเมื่อยก็เปลี่ยนมาเป็นนอน​ นอนพิจารณาร่างกาย
เจริญกายคตาจนสมควรแก่เวลาก็ลุก​ขึ้นมาเขียนบทกวี
ทำอยู่อย่างนี้เกือบทั้งวันทั้ง​คืน ตั้งแต่ตื่นจนกระทั้งหลับ
ตรวจสอบจิตของตนเองถึงที่มาของอ​ารมณ์เหล่านี้ที่เป็นอยู่
จึงได้รู้ว่าเกิดจากความเบื่อแล​ะความอยาก....
       "ความเบื่อกับความอยากเป็นของคู่กัน"
เมื่อความอยากเกิดขึ้นจิตก็ดิ้น​รนขวนขวาย
หาเหตุและปัจจัยมาสนองตอบความอย​าก
ถ้าสนองตอบตัณหาความอยากได้ จิตก็ยินดี
ถ้าไม่ได้ตามที่ปราถนา จิตมันก็เกิดปฏิฆะ
และเมื่อเสพในความอยากนั้นจนเต็​มที่แล้ว
จิตมันก็จะเบื่อในอารมณ์นั้น ความอยากในสิ่งอื่นก็เข้ามาแทนที่
เป็นเช่นนี้เรื่อยมาคือ"อยากๆเบื่อๆแล้วก็เบื่อๆอยากๆ"
ตามกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นในแต่ล​ะช่วงของอารมณ์
ถ้าเราไม่รู้เท่าทันอารมณ์เหล่า​นี้ ชีวิตของเราก็จะไม่มีความสุข
เพราะเราต้องดิ้นรนขวนขวายหาปัจ​จัยมาสนองตอบตัณหาไม่สิ้นสุด...​...
แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะที่สมบู​รณ์ พิจารณาอยู่
รู้เท่าทันอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น รู้จักข่มกิเลส ดับตัณหาลงได้
ใจเราก็จะไม่เร้าร้อนไม่วุ่นวาย​ทุรนทุรายเพราะตามใจกิเลส
การที่จะข่มกิเลส ดับตัณหาลงได้นั้น ต้องอาศัยปัญญา
การคิดพิจารณา ให้เห็นทุกข์ เห็นโทษของกิเลสตัณหา
จนเกิดความเกรงกลัวและละอายในกิ​เลสตัณหานั้นขึ้นในจิต
มันจะเกิดความยับยั้งขึ้นในจิตทำให้เราไม่กล้าคิดและกล้าทำ
องค์แห่งคุณธรรมความละอายและเกร​งกลัวต่อบาปได้เกิดขึ้น
ในจิตของเราแล้วและถ้าเราเพียงแ​ต่คิดได้ แต่ยังทำไม่ได้นั้น
แสดงว่าเรายังอ่อนกำลัง ยังเป็นผู้พ่ายแพ้แพ้ต่อกิเลส แพ้ต่อตัณหา
ยังเป็นผู้ห่างไกลจากองค์ธรรมเป็นได้เพียงใบลานเปล่า
เป็นเช่นภาชนะที่มีรอยรั่วมีประ​โยชน์ใช้สอยเพียงน้อยนิดเพราะคิ​ดแต่ไม่ทำ......
        อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพี​ยงน้อยนิด ถ้าจิตขาดการพิจารณา
เผลอสติเข้าไปปรุงแต่งคล้อยตามอ​ารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มันเหมือนกับการ
ไปเพิ่มกำลังให้มัน เพลิดเพลินไปกับการปรุงแต่งเหล่​านั้นที่เป็นอกุศลจิต
มันก็ก่อให้เกิดการสร้างภพสร้าง​ชาติใหม่ขึ้นมา ไม่รู้จักจบสิ้นเพราะการ
ปรุงแต่งทำให้มีทำให้เป็นนั้น เราจึงควรมีสติรู้เท่าทันอารมณ์​ที่เกิดขึ้นทั้งหลาย
พิจารณาแยกแยะออกให้ได้ ถึงความเป็นกุศลจิตและความเป็นอ​กุศลจิต
เห็นคุณ เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ขอ​งอารมณ์เหล่านั้น
ตามดูตามรู้ให้ทันในความคิดที่เ​กิดขึ้นทั้งหลาย ด้วยการเจริญสติพิจารณา
ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม​...
          ขอบคุณกิเลสตัณหาที่มาเป็นแบบทด​สอบอารมณ์
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้ว​ยไมตรีจิต
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

74
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๑ สิงหาคม พศ. ๒๕๕๔
           ใช้ชีวิตตามปกติในแต่ละวันที่ผ่านไปโดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่
ระลึกรู้ในสิ่งที่คิดและในกิจที่ทำ พยายามเตือนย้ำตนเองให้เกรงกลัวต่อบาปกรรม
ในการคิดและทำกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น มองเห็นคุณ เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งที่เราคิดและทำ ทุกครั้งในการคิดและก่อนจะพูดหรือลงมือทำ
เพื่อจะไม่เป็นการสร้างเวรสร้างกรรมต่อผู้อื่นเขา กิเลสและกรรมเก่าของเรานั้นมันก็มากอยู่แล้ว
ต้องแก้ไขและชดใช้กรรมเก่าอยู่ทุกวัน จึงไม่ควรสร้างกรรมอกุศลตัวใหม่ให้เกิดขึ้นมาเพิ่มขึ้นมา
เพราะว่าเวลาของชีวิตในภพนี้ชาตินี้นั้น สั้นลงไปทุกขณะ จึงต้องเร่งความเพียรในการชำระจิต
ทำชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีคุณค่าทั้งในทางโลกและทางธรรม.....
           ชีวิตแต่ละวันที่ผ่านไปเหมือนไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพราะใช้ชีวิตและทำงานตามปกติ
ไม่ได้นั่งสมาธิ ไม่ได้เดินจงกรม จนมีพระและโยมมาถามว่า...ท่านเอาเวลาไหนไปปฏิบัติธรรม..?
ซึ่งได้ตอบเขาเหล่านั้นไปว่า...เอาเวลาที่มีสติไปปฏิบัติธรรม เมื่อเรามีสติและสัมปชัญญะ
อยู่กับกาย อยู่กับจิต อยู่กับความคิด อยู่กับการกระทำ นั้นแหละคือการปฏิบัติธรรม
เหมือนดั่งคำของหลวงพ่อพุทธทาสที่กล่าวไว้ว่า...การทำงานคือการปฏิบัติธรรม...
เพราะมีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิตอยู่.....
          การเขียนบทความหรือการบันทึกธรรมนั้น ไม่ได้ตั้งความหวังจะสอนผู้ใด
แต่ที่ได้ทำลงไปนั้น เพื่อเป็นการย้ำเตือนและสอนตัวเราเอง เพื่อให้มีสติระลึกรู้
ส่วนที่จะมีผู้มาอ่าน มาทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามนั้น เป็นผลพลอยได้
 เพราะจุดมุ่งหมายของการบันทึกและการบรรยายที่ได้ทำมาไว้นั้นเพื่อเตือนตนสอนตน
เพราะก่อนที่เราจะไปสอนคนอื่นได้นั้น  เราต้องรู้และเข้าใจ ทำได้และเคยทำมาแล้ว
ไม่ใช่ท่องตำราให้จำได้แล้วไปกล่าวธรรม เพราะการทำเช่นนั้นมันเหมือนนกแก้วนกขุนทอง
จำได้พูดได้ แต่ไม่รู้ความหมายและเนื้อหา พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ เป็นเพียงใบลานเปล่า “.....
            ทุกครั้งที่เขียนบทความหรือบรรยายธรรมก็เพื่อย้ำเตือน ทบทวนและสอนตัวเองทุกครั้ง
ไม่ได้มุ่งหวังว่าคนฟังจะรู้นั้นจะเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามหรือไม่เพราะถ้าเราไปหวังและตั้งใจ
ให้ผู้ฟังเข้าใจและปฏิบัติตามนั้น...มันเป็นตัณหาคือความอยากมี อยากเป็น อยากเห็น อยากได้
และเมื่อไม่เป็นไปตามที่ใจเราปรารถนา มันก็จะพาให้ใจเป็นทุกข์ เพราะตัณหาไม่ได้รับการสนองตอบ
กล่าวธรรมเพื่อธรรม บันทึกธรรม เพื่อเตือนย้ำความรู้สึกและจิตสำนึกของตัวเราเอง....
ขอบคุณสติและสัมปชัญญะที่เตือนกายเตือนจิตในการคิดและการกระทำ 
                          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๕๙ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

75
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
....รับรู้รับฟังปัญหา เสพข่าวสาร ที่ผ่านเข้ามาในความคิด
นำมาพิจารณาถึงที่มาของปัญหาในแ​ต่ละเรื่องที่ได้เกิดขึ้น
จึงสรุปได้ว่า ปัญหานั้นล้วนเกิดขึ้นมาจากคน คนคือต้นเหตุ
ที่มาของปัญหาทั้งหลาย ยิ่งในสังคมใหญ่ที่มีความหลากหล​าย
ปัญหานั้นก็ย่อมจะมีมากขึ้นเป็น​ธรรมดา เพราะว่ามีความคิดเห็น
ที่แตกต่างกันออกไปและการไม่ยอม​รับฟังในความคิดเห็นของผู้อื่น
มันจึงทำให้เกิดปัญหา (อยู่คนเดียวระวังจิต อยู่กับมิตรระวังวาจา )...
.....มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม คือต้องมีการอยู่รวมกลุ่ม
และอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน ตามเชื่อชาติและสายพันธ์
และภูมิภาค จากกลุ่มเล็กไปสู่กลุ่มใหญ่ และเมื่อมากคนก็มากความคิด
เพราะทุกคนต่างเคารพความคิดเห็น​ของตนเอง ซึ่งความคิดเหล่านั้น
เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถจะคิดได้ เพราะความคิดเป็นเรื่องของภายใน​
อยู่ในใจไม่มีใครรู้ แต่ที่เกิดมีปัญหาก็เพราะว่าการ​นำเสนอความคิด
การแสดงความดิคเห็นออกมาต่อสาธา​รณะ เพราะอาจจะไปกระทบ
กับความคิดเห็นของผู้อื่น...
.....หลักการในการแสดงความคิดเห็นนั้น มันต้องเริ่มที่เรา
คือตัวเราต้องหาเหตุผลมารองรับค​วามคิดของเราเสียก่อน
(ทำไมเราต้องมีความคิดเห็นเป็นอ​ย่างนี้อย่างนี้ และจะมีผลอย่างไรถ้าเรานำเสนอไป​)
และเมื่อเรานำเสนอไป เราต้องทำใจต่อผลกระทบที่ตามมี(​ถ้ามีความเห็นที่แตกต่างกัน)
เราต้องเคารพในสิทธิส่วนบุคคลขอ​งเขา ที่เขาสามารถจะคิดเห็นที่แตกต่า​งไปจากเราได้
แล้วเอาความคิดที่แตกต่างกันมาป​ระสานหาจุดที่ลงตัว โดยใช้เหตุและผล
(คงความคิดของทั้งสองฝ่ายไว้ อย่าไปทำลายหรือตัดทิ้ง)แล้วมอง​หาสิ่งที่
เป็นจุดกลางระหว่างความคิดทั้งส​องฝ่าย แล้วเราจะได้ความคิดที่ลงตัว
(ไม่มีฝ่ายใดเสีย มีแต่ได้ทั้งสองฝ่าย)....
...สรุปแล้วมันก็คือเราต้องมีสติ ในการคิดการกระทำ คือต้องคิด ก่อนที่จะพูด
(ต้องสรุปความคิดของเราให้ได้ก่​อนที่จะนำเสนอ) ถ้าเราไม่เผลอสติ
การคิดการกระทำก็จะมีความรอบคอบ​ยิ่งขึ้น และจะรู้จักรับฟังความคิดเห็น
ของผู้อื่นได้มากขึ้น เมื่อเราเข้าใจตัวเราได้แล้ว เราก็จะเข้าใจผู้อื่นได้เช่นกัน​...
......ความคิดเห็นของแต่ละคนนั้​น เกิดจากวัยวุฒิ คุณวุฒิ พื้นฐานของครอบครัว
สังคมรอบข้าง และอารมณ์ความรู้สึกของเขาในขณะ​นั้น ถ้าเราเข้าใจในเรื่อง
"จิตวิทยาของมนุษย์"เราจะเข้าใจ​ในเหตุผลของแต่ละคนที่แตกต่างกั​น
และสิ่งนั้นจะไม่สร้างความแตกแย​ก จากความเห็นที่แตกต่าง
แต่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนไป​สู่ความก้าวหน้า เพราะว่าเราจะได้มุมมองใหม่ๆ
ในความที่แตกต่างกัน และมันจะเกิดการพัฒนาทางความคิด​ขึ้นต่อไป...
......การเรียนรู้ของแต่ละบุคคล​นั้น ย่อมจะแตกต่างกันจากพื้นฐานที่ไ​ด้กล่าวมา
และเมื่อเราเข้าใจในเรื่อง " จิตวิทยา " ที่มาของแต่ละบุคคลแล้วนั้น ปัญหามัน
ก็จะไม่เริ่มที่ตัวเรา เมื่อรู้เห็นและเข้าใจ การให้อภัยก็จะตามมา เพราะว่าไม่ยึด
ถือมาเป็นสาระ ไม่เก็บมาเป็นข้อกังวลใจ การที่เราไปทุกข์ใจกับสิ่งเหล่า​นั้น
มันเหมือนการไปเก็บกิเลสของเขาม​าปรุงแต่ง เพิ่มกิเลสให้แก่ตัวของเราเอง
ซึ่งกิเลสภายในใจของเรานั้น มันก็มีมากอยู่แล้ว ยังชำระขัดเกลาไม่หมดเลย
แล้วเราจะไปเก็บกิเลสของผู้อื่น​มาเพิ่มอีกทำไม มองโลกในเชิงบวกเข้าไว้
แล้วเราจะพบกับความสุขใจ ไม่ต้องไปวุ่นวายทุกข์ใจกับกิเล​สตัณหาของผู้อื่น
" บุคคลย่อมแตกต่างกัน ด้วยธาตุและอินทรีย์ บารมีที่สะสมกันมา "....
.....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรี​จิต...
.....รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร....
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๐๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

76
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

เสาร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ ๒๕๕๔

๐ เช้าวันหนึ่ง..........

เมฆฝนบนฟ้าปกคลุมมามืดดำ

สายฝนหล่นพรำมาในยามเช้า

สายลมพัดพาความหนาวมาจากทิศตะวันออก

ซุกกายใต้ผ้าห่มไม่อยากจะลุกจากที่นอน

อาลัยอาวรณ์อยากที่จะนอนต่ออีกสักหน่อย

แล้วตัดใจลุกจากที่นอนเก็บหมอนและผับผ้าห่ม

๐ จิตใจเริ่มสับสน........

กับสายฝนที่ตกลงมาและอากาศที่หนาวเย็น

เกิดสองความคิดขึ้นมาในจิตใจ

จะออกไปรับบิณฑบาตรดีหรือไม่

ออกไปจีวรต้องเปียกแน่เลย

ตากฝนอาจจะทำให้ไม่สบายเป็นหวัดได้

๐ แต่อีกความคิดหนึ่ง......

ถ้าเราไม่ออกไปญาติโยมเขาจะรอเราอยู่ไหม..?

อาหารที่เขาเตรียมไว้จะเป็นอย่างไร..?

ญาติโยมเขาจะกังวลใจมากไหม..?

ความคิดสองอย่างเกิดขึ้นในใจ

จะเลือกเอาอย่างไหนกันดี..?

๐ สายฝนโปรยปราย.....

เดินเลาะไปตามทางที่ใช้เดินอยู่ประจำ

สายลมหนาวผัดต้องกายให้หนาวสะท้าน

จีวรโดนละอองฝนเปียกกระชับกาย

ญาติโยมนั่งรอเรียงรายสองข้างทาง

.....รอยยิ้มเกิดท่ามกลางสายฝน....

๐ ขอขอบคุณ.......

การตัดสินใจที่ถูกต้องและสายฝน

ขอบคุณผู้คนที่ไม่เสื่อมศรัทธา

ขอบคุณท้องฟ้าและกาลเวลา

ขอบคุณความคิดทั้งสองทาง

....ขอบคุณรอยยิ้มกลางสายฝน....

๐ ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าจิตฝ่ายไหนจะมีอำนาจ

มีพลังมากกว่ากัน บางครั้งการตัดสินใจที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียวนั้น

มันก็จะมีผลกระทบไปถึงอนาคตอย่างมากมาย และเปลี่ยนแปลง

วิถีชีวิตให้ตกต่ำลงใต้ จึงจำเป็นต้องใช้สติและปัญญา ในการพิจารณา

ตัดสินใจว่าทำอะไรลงไปแต่ละครั้ง จงมองให้เห็นผลกระทบรอบด้าน

ที่จะเกิดขึ้น จากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของเรา...

            แด่ศรัทธาของผู้คนในเรื่องบุญกุศลและศีลทาน

                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต

                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๔๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

77
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พศ. ๒๕๕๔
 .........ปรับโลกเข้าหาธรรม เลือกเฟ้นธรรมที่เหมาะสมกับโลก
นำมาใช้กับสิ่งที่กำลังคิดและกิจที่กำลังทำ ประยุกค์ใช้ให้เข้ากัน
เพื่อความเจริญก้าวหน้าทั้งในทางโลกและทางธรรมแก่ตนเอง
และคนรอบกาย มันจึงไม่ใช่ความวุ่นวาย แต่เป็นการฝึกจิต
ให้รู้จักการระลึกนึกคิด รู้จักการพิจารณาเข้าหาเหตุและผล
บนพื้นฐานของความเป็นจริง จากสิ่งที่เป็นอยู่รอบกายทั้งหลาย
ที่กำลังดำเนินไป วิเคราะห์ไปยังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สรุปถึงสิ่งที่ได้
ผ่านพ้นมา โดยใช้สติและปัญญาที่มีธรรม นั้นมานำความคิด
เป็นการฝึกจิตให้อยู่กับปัจจุบันธรรม....
 .....เมื่อก่อนนั้น สมัยปฏิบัติธรรมใหม่ๆ เราชอบใช้การหนีปัญหา
 มาเป็นทางออก เวลาที่มีปัญหามากระทบ มักจะหลบเข้าป่า
เข้าถ้ำ ไปจำศีลภาวนา เบื่อความวุ่นวาย ซึ่งมันก็แก้ได้ชั่วขณะหนึ่ง
และเมื่อเรากลับออกมาจากป่า จากถ้ำ เราก็ต้องเจอกับปัญหาใหม่ๆเข้ามาอีก
เราจะหลีกหนีปัญหาต่างๆนั้นไม่ได้เลย เพราะเราต้องอยู่ในสังคม
 ต้องอาศัยศรัทธาของพุทธบริษัทในการเลี้ยงชีพ ต้องพบปะกับผู้คน
และเมื่อรู้และเข้าใจในจุดนี้ จึงต้องเปลี่ยนแนวคิดและการปฏิบัติใหม่
 มาทำความรู้ความเข้าใจกับกายและจิต กับความคิดของสังคม
เจริญสติวิปัสสนา เพื่อที่จะอยู่กับปัจจุบันธรรมทั้งหลายให้ได้
เพราะว่าเมื่อก่อนนั้นเราไปเน้นหนักในเรื่องของจิตสมถะสมาธิ
 ซึ่งสมถะกรรมฐานนั้นเป็นเรื่องของสมาธิ ความสงบ อาศัยความวิเวก
เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน จึงไม่ชอบความวุ่นวาย แต่วิปัสนากรรมฐานนั้น
อยู่กับปัจจุบันธรรม สิ่งที่กำลังเคลื่อนไหว ที่กำลังเกิดขึ้น ตามดู ตามรู้ ตามเห็น
แต่ไม่เอามาเป็นอารมณ์และติดอยู่ มีสติและสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งจะต่างจากอารมณ์ของสมถะกรรมฐาน ที่ต้องการความวิเวก ความสงบเงียบ
มีสติแนบแน่นอยู่กับการภาวนา จนอารมณ์นั้นเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่เพ่งอยู่
คือรู้เฉพาะสิ่งที่กำลังเพ่งอยู่เท่านั้น รู้ในความสงบนิ่ง แต่อารมณ์ของวิปัสสนานั้น
จะรู้เห็นในสิ่งที่เป็นไปรอบกายทั้งหลายที่เกิดขึ้น แต่ไม่เข้าไปยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น
 พิจารณาสิ่งที่กำลังเป็นไปเข้าสู่หลักธรรมทั้งหลาย วางจิตวางใจให้อยู่กับธรรม
 มีธรรมคุ้มครองจิตในการคิดและการกระทำ รู้เห็นในสิ่งที่เป็นจริงตามหลักธรรม...
  .......การเผยแพ่ธรรมะนั้น สิ่งที่สำคัญคือการทำอย่างไรที่จะให้เขาเข้ามาหาเรา
ซึ่งต้องใช้หลักจิตวิทยามองหาความชอบพื้นฐานของแต่ละบุคคล นำเสนอในสิ่ง
ที่เขามีความชอบอันประกอบด้วยกุศล สร้างความคุ้นเคยกัน เพื่อลดความกดดัน
ความรู้สึกแปลกแยกและแตกต่างระหว่างกันออกไป ไม่ไปยัดเยียดธรรมให้เขา
ปฏิบัติในขณะที่เขานั้นยังไม่พร้อม น้อมนำธรรมที่เหมาะสมมานำเสนอแก่เขา
แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ไม่เข้าไปลบล้างพฤติกรรมเก่าๆของเขาในทันที
เพราะมันจะทำให้มีแรงต่อต้าน จึงต้องใช้ระยะเวลาในการละลายพฤติกรรมเก่า
ของเขาเหล่านั้นที่เคยเป็นมา จึงต้องใช้เวลาและความอดทนในการสอนให้เขารู้ธรรม
ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยใช้กุศโลบายธรมที่แตกต่างกัน....
                         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๒๘ น. ณ ตถตาอาศรม บานบึง ชลบุรี

78
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๒๘ กรกฎาคม พศ. ๒๕๕๔
......เดินทางไปทำธุระนอกสถานที่ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนรถ
ระหว่างที่เดินทางนั้นได้นั่งทบทวนพิจารณาเรื่องกระแสนิยม
มงคลตื่นข่าวของชาวไทยซึ่งอ่อนไหวและเปลี่ยนแปลงได้
อย่างรวดเร็วตามกระแสสังคม ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย
ให้เป็นไปเช่นนั้นคือการคล้อยตามกระแสนิยมที่เป็นอยู่
จึงพอจะรู้และเข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มันมีที่มาจากจริตของคนไทย
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น"ศรัทธาจริต"มีจิตใจที่อ่อนไหวเชื่ออะไรได้ง่าย
และมีพื้นฐานจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก และระบบการศึกษาของไทย
ที่สอนให้ เชื่อฟัง และทำตามผู้ใหญ่ และจดจำในสิ่งที่สอน ที่สั่ง
ทำให้เกิดการเคยชินในระบบความคิดและความจำเมื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
เพราะสังคมการศึกษาและวิถีชีวิตของคนไทยนั้นไม่ได้สอนเรื่องเหตุและผล
ไม่ได้สอนให้คิดค้น วิเคราะห์ และพิจารณา สอนแต่ให้จำได้หมายรู้เพียงอย่างเดียว
เมื่อได้พิจารณาจนได้รู้และเข้าใจ จิตก็คลายสงสัยเพราะรู้ว่า"มันเป็นเช่นนั้นเอง"
ในอดีตที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่เวลาส่วนใหญ่ในตอนกลางวัน
หมดไปกับงานโยธากรรมฐาน การทำงาน บริหารคน บริหารงาน
ประสานให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่มีปัญหาและอุปสรรค์
โดยใช้หลักการคิด วิเคราะห์และวางแผนการทำงานไว้ล่วงหน้า
มองงานทุกอย่างให้ละเอียดให้ชัดแจ้งในองค์ประกอบของงาน
ว่ามีขบวนการในการกระทำเป็นอย่างไร ใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง
ต้องใช้แรงงานมากน้อยขนาดไหน ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง
ซึ่งเราต้องคิดและวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะลงมือทำงานทุกครั้ง
คิดที่ละเรื่อง ที่ละอย่าง ให้มันจบเป็นเรื่องๆไป แล้วบันทึกไว้ในส่วนของความจำ
คือมองภาพกว้างๆแล้วมาแยกแยะออกเป็นอย่างๆเป็นเรื่องๆไป
โดยให้ความสำคัญที่เหตุและปัจจัย ว่าอะไรควรทำก่อน และทำที่หลัง
ทำในสิ่งที่คิดและทำได้ในทันที เพราะมีเหตุและปัจจัยที่พร้อม
เวลา โอกาศ สภาพดินฟ้าอากาศ และความพร้อมของบุคคลากร
ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ซึ่งเราได้วางแผนงานไว้
และมีแนวทางของการแก้ไข้ไว้ล่วงหน้า ถ้าเกิดมีอุปสรรค์และปัญหาขึ้นมา
ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากการฝึกคิด ฝึกพิจารณา โดยการมีสติและสมาธิเป็นพื้นฐาน
คือการทำจิตให้นิ่ง แล้วจะมองเห็นทุกสิ่งอย่างละเอียดและชัดเจน
ทุกอย่างสามารถที่จะฝึกฝนกันได้ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด
ขอเพียงเราเริ่มต้นและลงมือทำ.........
         แด่การฝึกฝนหาเหตุและผลของสรรพสิ่งรอบกาย 
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๕๙ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

79
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          ใช้เวลาที่ว่างจากการฟังธรรม การค้นคว้าพระไตรปิฏก มาทบทวนธรรม
มองย้อยกลับถึงอดีตที่ผ่านมา การศึกษาค้นคว้าและการปฏิบัติทำมาอย่างไร
ได้ผ่านสภาวธรรมใดมาบ้าง เคยหลงทางหลงผิดจิตคลาดเคลื่อนบ้างหรือไม่
อะไรเป็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้คิดเห็นเป็นอย่างนั้น ใคร่ครวญทบทวนพิจารณา
เอาอดีตนั้นมาเป็นบทเรียน เพื่อที่จะกำหนดบทบาททำปัจจุบันนั้นให้เหมาะสม
จึงได้รู้ว่าอดีตที่ผ่านมาบางช่วงนั้น  เสียเวลาไปกับสิ่งที่น้อยคุณค่านั้นมากมาย
ไปหลงติดอยู่ในวังวนของโลกธรรมทั้งหลายอยู่ จึงไม่ได้รู้สภาวธรรมที่แท้จริง
 "รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม" แต่ยังไม่ได้ทำ เพราะมัวไปหลงในการกล่าวธรรม
 ธรรมที่รู้ ธรรมที่เห็นและธรรมที่เข้าใจ จึงไม่เป็นรูปธรรม  เพราะยังมิได้ตั้งไว้ทรงอยู่ใธรรม
ที่รู้ที่เห็นที่เข้าใจ จึงเพียงได้แต่สัญญาในธรรม คือการจำได้หมายรู้ มิได้ทรงอยู่
เพราะขาดการกระทำที่ต่อเนื่อง....กิเลสมารมันหลอกให้เราหลงทางเสียเวลาไป
 หลงดีใจ ภูมิใจ ตามกิเลสไม่ทัน จึงกล่าวธรรมเพื่อสนองตัณหา คืออยากที่จะให้ผู้ฟัง
ได้รู้และเข้าใจแล้วนำไปปฏิบัติ มิได้กล่าวธรรมเพื่อธรรม เพราะจิตเข้าไปหวังผลในการกล่าวธรรม
เสียเวลาไปหลายปี เพียงเพราะขาดสติไม่ถึงเสี้ยวนาที.....คงต้องกลับมาเริ่มใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
 ที่จะลบสัญญาเก่าๆได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว จิตมันปรุงแต่งในอารมณ์ มันไปรู้ก่อนที่สภาวธรรมจะเกิด
 ต้องแก้ไขปรับปรุง ควบคุมจิตให้มากขึ้นกว่าเดิม  เพื่อจะให้พบทางเก่าที่เราเคยเดิน ซึ่งเราทิ้งไปนาน
 ทางมันจึงลางเลือนไม่ชัดเจน คงต้องค่อยเป็นค่อยไป คลำทางต่อไปจนกว่าจะเจอ...
  จิตหวนระลึกนึกถึงสมัยที่ไปปฏิบัติอยู่ที่ถ้ำศรีเมือง ป่าช้าเกาะเย็น จังหวัดสุราษฎร์ธานี
และอยู่จำพรรษาปฏิบัติ ณ ที่นั้น ในช่วงเข้าพรรษาฝนจะตกลงมาเป็นประจำ ในถ้ำจะเกิดน้ำหยด
ต้องเอาถังน้ำไปรองรับน้ำที่หยดลงมา เพื่อเก็บไว้เป็นน้ำใช้และไม่ให้เปียกเลอะพื้นถ้ำ น้ำนั้นย้อยลงมา
ทีละหยดอย่างสม่ำเสมอ จนเต็มถังที่นำไปรองรับไว้ จึงอุปมาได้กับการปฏิบัติธรรม ที่ต้องกระทำอยู่อย่าง
สม่ำเสมอ สะสมกำลังไปเรื่อยๆอย่าได้ทอดทิ้งธุระให้ขาดตอน ซึ่งมันจะเหมือนน้ำในถังที่ตั้งลืมไว้กลางแดด
 มันมีแต่จะเหือดแห้งระเหยไป เพราะความร้อนจากแสงแดดที่แผดเผา มันจะระเหยแห้งหายไปไปทุกวัน
ซึ่ง กว่าจะรู้ตัวระลึกได้ น้ำในถังมันก็เหือดแห้งไปหมดแล้ว เหลือแต่ถังเปล่าที่ไม่มีน้ำต้องเสาะหาน้ำมาใหม่
มาใส่ให้เต็ม และนำถังไปเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสม หมั่นดูแลรักษาและเติมน้ำให้เต็มอยู่เสมอ....
การปฏิบัตินั้นก็เช่นกันเราต้องหมั่นกระทำให้สม่ำเสมอ รักษาไว้ซึ่งสภาวธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ได้ อย่าให้เสื่อม
ทำสภาวธรรมตัวใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดขึ้นมา ตามกาลเวลาที่เหมาะสม....
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๐๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

80
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
           ฝนตกลงมาในขณะที่ออกรับบิณฑบาต เปียกชุ่มไปทั้งตัว มองโลกในเชิงบวก
เป็นโอกาสดีที่จะได้ซักผ้า ฤดูเข้าพรรษาถ้าฝนไม่ตกลงมานั้นเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ
เมื่อใจยอมรับสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ ใจนั้นก็ไม่มีความทุกข์
ใจเป็นสุขอยู่ภายใน เดินยิ้มไปกลางสายฝน นั้นคือผลของการมองโลกในเชิงบวก
เป็นการรักษาจิตให้อยู่กับความคิดที่เป็นกุศล ไม่เอาตัณหาความอยากของตนมา
ตัดสินในปัญหาว่ามันดีหรือมันเลว ความพอใจและไม่น่าพอใจในอารมณ์ทั้งหลาย
ที่เกิดขึ้นนั้น มันเกิดขึ้นจากตัณหาคือความต้องการของเรานั้น จะได้รับการสนองตอบ
หรือไม่ ถ้าได้รับการสนองตอบตามที่เราต้องการ เราก็จะมีความยินดีและพอใจในสิ่งนั้น
แต่ในทางกลับกัน ถ้าความต้องการของเรานั้นไม่ได้รับการตอบสนอง ใจของเรานั้นก็จะ
ขุ่นมัว เกิดปฏิฆะ เกิดอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจขึ้นมา สิ่งนี้คือฐานเวทนาในสติปัฏฐาน ๔
คือความยินดีและไม่น่ายินดีในอารมณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหลาย เมื่อเรารู้และเข้าใจควบคุมได้
ในอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานี้ จิตนั้นก็มีธรรมะคุ้มครองอยู่...
            การตามดู ตามรู้ ตามเห็น ความเป็นไปของปัจจุบันธรรมนั้น คือการเจริญสติ
และสัมปชัญญะ คือหลักธรรมะที่ว่าด้วยการน้อมเข้ามาสู่ตัว คือการเอาสติมาระลึกรู้
อยู่กับกาย อยู่กับจิต อยู่กับความคิดของตัวเราเอง รู้ในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น รู้ในสิ่งที่
กำลังเป็นอยู่ รู้ในสิ่งที่กำลังจะดับไป รู้จักการหักห้ามใจไม่คล้อยตามกิเลสฝ่ายต่ำทั้งหลาย
แยกแยะกุศลและอกุศลออกจากกันได้ ดำรงทรงไว้ซึ่งจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิทั้งหลายให้เกิดขึ้น
ดำเนินชีวิตไปตามแนวทางแห่งอริยมรรค ๘ เป็นการฝึกหัดขัดเกลาชำระจิตใจ สร้างความเคย
ชินตัวใหม่ให้กับจิต ฝึกให้คิดและพิจารณา น้อมจิตเข้าหาธรรม รักษาทรงไว้ซึ่งสภาวธรรม
ทั้งหลายที่เป็นกุศล เมื่อเรารักษาธรรม แล้วธรรมนั้นจะรักษาเรา...
           การปฏิบัติธรรมนั้นอุปมาได้ว่า เหมือนกับการฝึกเขียนหนังสือ คือต้องเริ่มจากรูปแบบ
และพื้นฐาน เริ่มจากครูบาอาจารย์จับมือให้เขียนตามลากเส้นตาม มาสู่การเขียนตามแบบที่
ครูบาอาจารย์ท่านได้กำหนดไว้ จากตัวบรรจงเต็มบรรทัด ฝึกคัดลายมือจนชำนาญ เข้าสู่การ
เขียนและเรียนรู้มาเป็นตัวครึ่งบรรทัด จากอักษรตัวบรรจงมาเป็นอักษรตัวหวัด ล้วนเกิดจาก
ฝึกหัดและฝึกฝนจนชำนาญ สั่งสมประสบการณ์จนเป็นลายมือเฉพาะตน จนรู้ได้เฉพาะตน
ทุกอย่างนั้นต้องเริ่มจากเบื้องต้นพื้นฐานตามรูปแบบ การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เราต้องเริ่มต้น
จากพื้นฐานตามรูปแบบ จนมีความชำนาญในพื้นฐานและรูปแบบดีแล้ว ชัดเจนแล้ว จึงจะเข้าสู่
การเรียนรู้หาความเหมาะสมสำหรับตน การที่จะไร้รูปแบบได้นั้นเราต้องผ่านการเรียนรู้รูปแบบพื้นฐานมามาเสียก่อน
 “ ที่สุดของกระบวนท่า คือการไร้ซึ่งกระบวนท่า ที่สุดของอาวุธ คือการไม่มีอาวุธ ที่สุดของกระบี่ คือกระบี่อยู่ที่ใจ
ที่สุดของรูปแบบ คือการไร้ซึ่งรูปแบบ เพราะรูปแบบนั้นอยู่ที่ใจ “ ที่จะถึงซึ่งจุดนั้นได้ก็ต้องเริ่มต้นมาจากพื้นฐาน
การมีรูปแบบมาทั้งสิ้น....
                              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๑๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

81
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
......ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีญาติโยมขึ้นเขามาเยี่ยมเยือนกัน
หลายคณะ ได้พบปะสนทนากัน ตามกาลตามเวลา ในเนื้อหาทั้งในทางโลก
และทางธรรม ตามสิ่งที่ควรจะเป็น เป็นการร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ
ในสิ่งที่ควรคิดและในกิจที่ควรทำ เพื่อที่จะนำชีวิตไปสู่ความเจริญก้าวหน้า
ทั้งในทางโลกและทางธรรม ร่วมกันคิดและวิเคราะห์หาความเหมาะสม
ในสิ่งที่ควรจะเป็นและสิ่งที่เป็นไปได้ ตามเหตุและปัจจัยที่พวกเรานั้นมี
คิดจากพื้นฐานหน้าตักตามหลักแห่งความเป็นจริง ไม่ได้หวังพึ่งพิงโชคชะตา
แต่ใช้สติปัญญาความรู้ความสามารถศักยภาพที่พวกเรานั้นมี มาเป็นต้นทุน
ในการคิดพิจารณาว่าควรจะกระทำในสิ่งใดและกระทำได้ดีมากน้อยขนาดไหน
มีอะไรเป็นเหตุและเป็นปัจจัยที่จะเกิดทำให้มีความผิดพลาดขึ้นได้บ้าง
ในการดำเนินงานในสิ่งนั้นๆ ถ้าไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ตั้งใจไว้ มันจะมีผล
กระทบอย่างไรบ้างต่อตัวเราและสังคมรอบข้าง มองหาแนวทางของการแก้ไข
ปัญหาไว้ล่วงหน้า แล้วทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์เต็มที่กันต่อไป
ผลจะออกมาเป็นอย่างไรมันเป็นเรื่องของอนาคต ที่ตั้งอยู่บนกฏของอนิจจัง
แต่การที่เราได้ลงมือกระทำนั้น มันเป็นความภาคภูมิใจ ว่าเราได้ทำสิ่งนั้น
กันไปแล้ว ไม่มาน้อยใจ เสียใจกับโอกาสที่ผ่านไป...
......ในการทำงานนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสติและมีสมาธิในการทำงาน
เพราะในการทำงานแต่ละอย่างนั้น ย่อมมีอุปสรรคและปัญหาอยู่ตลอดเวลา
การที่เรามีสตินั้นจะช่วยให้เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและสามรถที่จะควบคุม
อารมณ์ความรู้สึกได้ และทำให้สามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้เสมอ
เพราะว่าเรามีสมาธิในการทำงานจึงสามารถที่จะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้
ไม่ตื่นตกใจหรืออารมณ์เสียเมื่อเจอปัญหา ทำให้สามารถที่จะแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้
ขณะออกรับบิณฑบาตร ฝนตกหนักมาก เปียกไปทั้งตัว กลับที่พักแล้วเจริญสติภาวนา
โดยใช้ " โสตกรรมฐาน "คือการใช้โสตสัมผัส ( เสียง )เป็นอารมณ์กรรมฐาน
เอาสติไปจับที่เสียงที่เราได้ยิน จนสามารถที่จะแยกเสียงที่ได้ยินนั้นได้
และจิตจับอยู่กับเสียงเพียงเสียงเดียวที่เราสนใจ จนจิตเป็นสมาธิอยู่กับเสียงนั้น
ซึ่งการปฏิบัติแบบนี้ได้ทำอยู่บ่อยครั้ง ตามโอกาศที่เหมาะสม
ซึ่งวิธีนี้ได้เจอโดยบังเอิญตั้งแต่สมัยที่เป็นฆราวาส ตอนที่นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ
ไปสุราษฎร์เมื่อปี ๒๕๒๙ ตอนนั้นเดินทางคนเดียวและในเที่ยวนั้นผู้โดยสารมีน้อยมาก
ทำให้มีที่นั่งว่างเยอะ สามารถที่จะเอาเบาะที่นั่งมาปูนอนได้ เพราะว่าว่างไม่รู้จะทำอะไร
นอนก็ไม่หลับ จึงนอนฟังเสียงล้อรถไฟกระทบข้อต่อของรางไปเรื่อยๆ
นอนฟังตั้งแต่รถไฟออกจากสถานีนครปฐม ไปรู้สึกตัวอีกครั้งเมื่อรถไฟถึงสถานีไชยา
เมื่อรู้สึกตัวและเลิกฟังเสียงล้อรถไฟแล้วนั้น มีความรู้สึกเอิบอิ่ม เป็นสุขอย่างบอกไม่ถูก
ซึ่งมันเป็นความสุขที่เราไม่เคยเจอมาก่อนเลยตั้งแต่เกิดมา เพราะในสมัยเป็นฆราวาส
ไม่เคยสนใจเรื่องศาสนา ปฏิเสธศาสนา แต่เมื่อได้เข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรม
จึงได้รู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคือความเป็นสมาธิ คืออารมณ์ปิติ สุขและเอตคตารมณ์
ซึ่งเราพบมันโดยบังเอิญและนำมาปฏิบัติอยู่เสมอตามจังหวะและโอกาศที่เหมาะสม...
.......เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต........
...........รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร..............
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๔๕ น. ณตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

82
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๓ กค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
              จากประสบการณ์ของชีวิตที่ผ่านมา ไม่ว่าบู๊ บุ๋น หรือบันเทิง
ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสมาหมดแล้วทุกวงการ ทำให้โลกทัศน์ ชีวทัศน์
และวิศัยทัศน์ของเรานั้นเปิดกว้าง รับรู้ในข้อมูลได้ทุกอย่างและทุกเรื่อง
จึงได้นำเอาประสบการณ์ที่มีมาสงเคราะห์ อนุเคราะห์ช่วยเหลื่อผู้อื่น
โดยสอดแทรกหลักธรรมการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องและสอดคล้องกับวิถี
ลงไป การมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จิตอาสาและความเหมาะสมพอดีและ
พอเพียงในการหาเลี้ยงชีวิต ในการประกอบธุรกิจและในชีวิตครอบครัว
ทุกอย่างนั้นจะดำเนินไปได้ด้วยดี ก็ต้องมีการปรับเข้าหากันของทุกฝ่าย
เพื่อให้ทุกคนได้รับผลประโยชน์จากสิ่งนั้นตามความเหมาะสมของแต่ละ
บุคคล คือการรู้จักประมาณตน ประมาณกำลัง และตั้งอยู่ในความพอดี
สิ่งเหล่านี้คือแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตที่เป็นพื้นฐานนำเข้าสู่เส้นทาง
ธรรมในอนาคตข้างหน้าต่อไป...
             ทุกอย่างนั้นต้องขึ้นอยู่กับสภาพความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
ส่งเสริมในสิ่งที่เขาชอบ อันประกอบด้วยกุศล  ซึ่งมันจะได้ผลกว่าการที่ไป
บังคับ ยัดเยียดให้เขาปฏิบัติตามความต้องการของเรา ส่งเสริมให้เขาทำ
ในสิ่งที่เขาชอบ ในสิ่งที่ใช่ตัวตนของเขา แล้วเขาจะมีความสุขมีความเพลิดเพลิน
ที่ได้กระทำในสิ่งนั้นและผลงานนั้นมันก็จะออกมาดี เพราะว่ามีใจให้แก่สิ่งที่ได้ทำ
เวลาแห่งการกระทำผิด เวลาแห่งจิตที่จะคิดอกุศล มันก็จะน้อยลงสั้นลงไปทุกขณะ
เพราะว่าจิตมีความเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งที่ทำ จนลืมคิดถึงสิ่งอื่น ความเป็นสมาธิโดย
ธรรมชาติก็จะเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้นั้น เพราะว่าสมาธินั้นคือจิตที่จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
เป็นเวลานาน เป็นพื้นฐานที่จะยกจิตเข้าสู่การเจริญภาวนานั้นได้ง่าย หากรู้จักจะปรับใช้
โดยการเพิ่มกำลังของสติและองค์แห่งคุณธรรมเข้าไป ให้มีสติระลึกรู้ ละอายและเกรงกลัว
ต่อบาปกรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลาย....
            เป็นการปฏิบัติธรรมที่ได้กระทำไปโดยไม่รู้ตัวว่าได้ปฏิบัติอยู่ ในวิถีชีวิตประจำวัน
เพราะว่าการปฏิบัติธรรมคือการเจริญสติ เจริญสัมปชัญญะ ในสภาวะแห่งปัจจุบันธรรม
คนส่วนใหญ่มักจะถุกปลูกฝังให้ติดยึดในรูปแบบ ว่าการปฏิบัตินั้นมันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ต้องมีเวลาว่าง ต้องไปวัดรับศีล ถือศีล นุ่งขาวห่มขาว ต้องไหว้พระสวดมนต์ ต้องนั่งสมาธิ
ต้องเดินจงกรม ต้องฟังธรรม จึงจะเป็นการปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดข้อจำกัดในการปฏิบัติ
เพราะว่าไปติดยึดในรูปแบบ ในพยัญชนะในตัวอักษร ไม่ได้สนใจในเนื้อหาอรรถธรรม
ว่ามันเป็นมาอย่างไร มันจึงเป็นการสอนอย่าง “ เถรส่องบาตร “ คือทำตามๆกันมาโดย
ไม่รู้เนื้อหาและเจตนาที่เขาทำ ว่ามันมีที่มาอย่างไร ทำไมเขาจึงทำแบบนั้น ซึ่งเป็นการ
กระทำโดยขาดปัญญา ขาดการพิจารณา วิเคราะห์ ใคร่ครวญและตริตรอง ไม่ได้มอง
ให้เห็นซึ่งที่มาและที่ไป เหตุและปัจจัยของสิ่งเหล่านั้น มันจึงเป็นการกระทำที่งมงาย
เพราะไร้ซึ่งการคิดพิจารณา ขาดปัญญาในการกระทำ.....
              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

83
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          ฤดูกาลพรรษาผ่านไปแล้ว ๘ วัน ทุกอย่างเริ่มเข้าสู่ระบบที่กำห​นดไว้
ปรับกาย ปรับจิต ปรับสถานที่ ให้เกิดความพอดีและความเหมาะสมต​ามอัตภาพ
“ เรียบง่าย ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ “ คือสภาวะของความเหมาะสมกับ จังหวะ
เวลา โอกาส สถานที่ บุคคล ตามเหตุผลและปัจจัย องค์ประกอบที่มีในขณะนั้น
ไม่ใช่การ ไร้กฎกติกา ไร้ระเบียบวินัย ที่เป็นไปเพราะความมักง่าย ความขี้เกียจ
ซึ่งสิ่งนั้นมันเกิดจากอกุศลจิต​ แต่เป็นการไม่เข้าไปยึดติดในรูป​แบบและพิธีการ
จนเกินไป โดยดูตามความเหมาะสม มีกฎกติกาในชีวิต ในกิจทั้งหลายที่ควรทำ
เป็นไปตามธรรมชาติความเหมาะสมขอ​งปัจจุบันธรรม....
         บางครั้งจึงเกิดปัญหาแก่ลูกศิษย์ ผู้ที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ แล้วเอาไปกระทำตาม
คืออยากจะทำอะไรตามที่ใจของตนปร​ารถนา แล้วบอกว่าเป็นการไม่ยึดติดในรู​ปแบบ
ซึ่งมันเป็นความเห็นและการกระทำ​ที่ไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งนั้นเกิดมาจากความขี้เ​กียจ
ความมักง่าย ไม่ได้เกิดจากความรู้และความเข้​าใจที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อสนองตัณหา
ความอยากกระทำของตนเอง สิ่งนั้นมันไม่ใช่การปล่อยวาง แต่มันเป็นการทอดทิ้งธุระ
คือการละเลยไม่ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่มิชอบเพรา​ะไม่ประกอบ
ด้วยกุศลจิตเป็นพื้นฐานในการคิด​และการกระทำ.....
           สิ่งที่ควรกระทำนั้นต้อง ไม่เป็นภัยต่อชีวิตตนเอง ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อื่น
ไม่ฝ่าฝืนพระธรรมวินัยและกฎระเบียบของสังคม เป็นไปตามความเหมาะสมของจังหวะ
เวลา โอกาส สถานที่ บุคคล อยู่บนพิ้นฐานของเหตุและผล ปัจจัยองค์ประกอบทั้งหลาย
เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศล เป็นมงคลแก่ชีวิต จากสิ่งที่คิดและสิ่งที่ทำ นั้นคือความ
“ เรียบง่าย ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ “ เป็นกิจที่สมณะนั้นควรคิดควรทำใ​นการดำเนินชีวิต
เพื่อพัฒนาทางจิต ไปสู่ความสงบเพื่อความจางคลายขอ​งอัตตา กิเลส ตัณหาและอุปทานทั้งหลาย
 เพื่อความเป็นผู้ที่เลี้ยงง่ายไ​ม่สร้างความลำบากใจ ความอึดอัดและความกดดัน
ให้แก่บุคคลรอบข้าง ให้ทุกอย่างเป็นไปตามสามัญลักษณ​ะของธรรมชาติที่มันควรจะเป็น
โดยมีธรรมวินัยเป็นกฎกติกาของชี​วิตและเป็นกิจที่ต้องกระทำ อย่าได้ไปตั้งกฎกติกาใหม่
ขึ้นมาเพื่อสนองตอบตัณหาของตนเอ​ง ไม่ควรตัด ไม่ควรเติม เพิ่มในสิ่งที่พระพุทธองค์นั้น
ทรงตรัสไว้ชอบแล้ว ตรัสไว้ดีแล้ว เพราะสิ่งที่ไปตัดออกหรือเพิ่มเ​ข้ามาใหม่นั้น มันมาจาก
ตัณหา ความอยากความต้องการของเราเองทั้งนั้น ที่อยากจะให้มันเป็นไปตามที่ใจข​องเรา
นั้นปรารถนาและต้องการ มันเป็นการทำเพื่อสนองตอบตัณหาข​องตัวเราเอง......
.....เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต......
.......รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร.....​.
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

84
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๑ กค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
                 ฝนพรำตั้งแต่เมื่อวานตอนเช้าจนถึงเช้าวันนี้ ซึ่งยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุด
ฟ้ายังปิด หมอกปกคลุมไปทั้งภูเขา อากาศหนาวทั้งวันและคืนประมาณ ๒๒ องศา
ใช้เวลาเกือบตลอดอยู่กับการฟังธรรมของครูบาอาจารย์หลายๆท่าน เพื่อฟังโวหาร
การบรรยายของแค่ละท่านในเรื่องเดียวกัน นำมาวิเคราะห์ พิจารณาในเนื้อหาของ
ธรรมแต่ละบทที่ท่านบรรยาย มุมมองของแต่ละท่านในความเหมือนและความแตกต่าง
กำหนดจิตตามเมื่อยามที่เราฟังธรรม ได้รู้ถึงสภาวะอารมณ์ของแต่ละท่านที่บรรยาย
ว่ามาจากการท่องการจดจำหรือเกิดจากสภาวธรรมที่กำลังลื่นใหล บรรยายในเชิง
ปริยัติเนื้อหาตามตำราหรือว่าบรรยายมาจากสภาวธรรมที่ท่านได้พบประสพมา
นำมาพิจารณาสงเคราะห์เข้ากับหลักธรรมทั้งหลาย ว่ามีความขัดแย้งกันบ้างหรือไม่
ในหลักธรรมทุกหมวดหมู่ ทุกอย่างต้องสงเคราะห์เข้าหาหลักธรรม ความเห็นที่ถูกต้อง
นั้น จะไม่มีความขัดแย้งกันในหลักธรรมทุกหมวดหมู่ จะสงเคราะห์ อนุเคราะห์ เป็นเหตุ
เป็นปัจจัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ธรรมที่เข้าใจนั้นจึงจะถูกต้องตามหลักของพุทธศาสานา
และเมื่อมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน ต้องหันมาพิจารณาที่ความคิดของตัวเรา ว่าทำไมจึงมี
ความเห็นที่แตกต่างไม่ตรงกับหลักธรรม อะไรเหตุของความเห็นที่แตกต่าง มันคลาดเคลื่อน
ตรงจุดไหน มีอะไรเป็นเหตุและปัจจัย ทำให้เรามีความคิดเห็นอย่างนั้น พิจารณาที่ตัวเรา
อย่าได้ไปพยายามตีความขยายความในหลักธรรม เพื่อให้มารองรับความคิดเห็นของเรา
อย่าไปปรับหลักธรรมเข้าหาตัวเรา จงปรับตัวเราเข้าหาหลักธรรม เพราะว่าหลักธรรมนั้น
มันเป็นสิ่งที่มีมาคู่กับธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีมาก่อนแล้ว แต่ความคิดของเรานั้นเป็นสิ่งที่เกิด
ขึ้นมาใหม่ จึงต้องมาปรับที่ความคิดเห็นของเรา ให้ถูกต้องสอดคล้องกับหลักธรรมทั้งหลาย
หลักธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น จัดเรียงกันอย่างเป็นระเบียบเป็นหมวด เป็นหมู่
เป็นแถวเป็นแนวตรงกัน ไม่มีการขัดแย้งกัน สงเคราะห์อนุเคราะห์เกื้อกูลรองรับซึ่งกันและกัน
เราไม่อาจจะไปปรับหลักทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ให้มาตรงกับความคิดเห็นของเราได้
แต่เราสามารถที่จะย้ายจุดยืนของเราให้ไปตรงกับหลักที่วางไว้ตั้งไว้ได้ เพียงเราปรับความคิด
และมุมมองของเราเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องรองรับกับหลักธรรม “ เพียงคุณเปลี่ยนความคิด
ชีวิตคุณก็จะเปลี่ยน “ น้อมจิตเข้ามาพิจารณาตัวของเราเอง ให้เห็นกาย เห็นจิต เห็นความคิด
เห็นการกระทำ โดยการมีสติและสัมปชัญญะที่เป็นสัมมาทั้งหลายคุ้มครองกายจิตอยู่ วางจิต
ให้เป็นกลางไม่เข้าข้างอัตตา แล้วดวงตาเห็นธรรมก็จะเกิดขึ้นแก่ตัวคุณ...
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๐๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

85
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกรฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
        ปรับสภาพร่างกายให้สอดคล้องกับสภาวะจิต ปรับความคิดเข้าสู่กุศล
ใช้จิตถามจิตเมื่อมีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ถามว่าคิดทำไม คิดแล้วได้อะไร
สิ่งที่คิดเป็นไปได้หรือไม่ สิ่งที่คิดนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต สิ่งที่คิดนั้นมี
คุณ มีโทษ มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ มากน้อยเพียงใดและเป็นเช่นไร
เป็นเวลาที่ควรจะคิดถึงเรื่องเหล่านี้หรือไม ใจถามใจ จิตถามจิต หาคำตอบ
ให้ตนเอง จนมันเจอต้นเหตุแห่งความคิด จิตมันก็จะหยุดฟุ้งซ่านและปรุงแต่ง
ใช้จิตถามจิตจนมันจบ เพราะว่าพบที่เกิดของปัญหา จิตคลายความสงสัยวิตก
ใช้จิตที่เป็นคติของตนเองเป็นผู้ถาม และต้องวางจิตให้เป็นกลางเมื่อหาคำตอบ
จิตมันจะถูกป้อนคำถามจนจิตมันล้า ขี้เกียจจะหาคำตอบอีกต่อไป เป็นอุบายใน
การแก้ความฟุ้งซ่านคิดในเรื่องที่ไร้สาระ เมื่อจิตหยุดคิด จิตก็จะเข้าสู่ความว่าง
และความสงบ เพราะว่าพบคำตอบของความสงสัยทั้งปวงได้แล้ว...
        การปฏิบัติเจริญสติภาวนานั้น เราต้องทำพื้นฐานเบื้องต้นให้มันคงเสียก่อน
คือมีการระลึกรู้ผิดชอบ ชั่วดี มีการหักห้ามใจในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย เห็นความคิด
ของตนเองทั้งฝ่ายที่เป็นกุศลและฝ่ายที่เป็นอกุศล คือเห็นทั้งความคิดที่ดีและ
ความคิดที่ไม่ดีในจิตตนเองที่กำลังเกิดขึ้น เรียกว่าคุยกับตนเองให้ได้เสียก่อน
ก่อนที่เราจะไปคุยกับผู้อื่นหรือถ่ายทอดไปยังผู้อื่น มันต้องจบในจิตของเราเสียก่อน
มีคำตอบที่ชัดเจนด้วยเหตุและผล มีที่มาและที่ไปที่แน่นอน บนพื้นฐานแห่งความ
เป็นจริง ความเป็นไปได้และความน่าจะเป็น รู้เห็นในเหตุและปัจจัย องค์ประกอบ
ทั้งหลายของสิ่งเหล่านั้น ปัญหาทุกอย่างมันจึงจะจบลงได้ มันต้องเริ่มที่ตัวของเรา
ต้องรู้และเข้าใจในตัวของเราเองเสียก่อน....
        การปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนานั้น ถ้าเราไปเน้นหนักในเรื่องสมาธิและเรื่อง
ของสติจนเกินไป มันจะทำให้การคิดพิจารณานั้นน้อยลง เพราะจิตไปทรงอยู่ในอารมณ์
ของความเป็นสมาธิ ความนิ่ง ปฏิเสธสิ่งรอบกายทั้งปวงไป  จึงต้องใช้กำลังของสัมปชัญญะ
เพิ่มเข้ามาในการเจริญภาวนา เพื่อให้มีความตื่นตัว มีความรู้ตัวทั่วพร้อม น้อมจิตเข้าไป
พิจารณาสภาวะที่เกิดขึ้นรอบกายทั้งหลาย จนเห็นที่มาและที่ไป เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่
และการดับไปของสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้น จนจิตเกิดความจางคลายจากการยึดถือในสิ่งนั้น
เห็นในพระไตรลักษณ์ คือความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตยอมรับในความเป็นจริง
ของสรรพสิ่งทั้งหลายในธรรมชาตินี้ ว่าทุกสิ่งมันล้วนเป็นเช่นนั้นเอง..
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

86
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
         “ กายเบา จิตเบา ว่าง โปร่ง โล่ง เบา สบาย “ ครบ ๗ วันที่ได้ควบคุมอาหาร
งดเว้นซึ่งของคาวทั้งหลาย เหลือเพียงผลไม้ ผัก นมถั่วเหลืองในปริมาณที่เหมาะสม
อาหารหนักในกระเพาะถูกขับออกหมดแล้ว ทำให้จับความรู้สึกของลมหายเข้าออก
ใจได้ง่าย เห็นชัดซึ่งอาการพองยุบของหน้าท้องในขณะที่หายใจเข้าออกได้ชัดเจน
ร่างกายรู้ได้ถึงอาการเบาสบาย เพราะร่างกายใช้พลังงานในการย่อยอาหารน้อย
ทำให้สมองไม่มึนงงจากอาการเมาอาหารในขณะที่ร่างกายกำลังย่อยสลายอาหาร
ในกระเพาะ ความแน่น ความอึดอัด ที่เกิดจากริโภคอาหารจึงหมดไป กายจึงโปร่ง
เบาสบาย กำหนดสติและสัมปชัญญะได้ง่ายกำหนดรู้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
             “ ทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย” ทำกิจวัตรออกรับบิณฑบาตรกวาดใบไม้ตามปกติ
เพียงแต่เลือกอาหารที่เหมาะสมและมีคุณค่าต่อร่างกาย ไม่ได้บริโภคเพื่อสนองตอบ
ซึ่งตัณหาความอยาก จับความรู้สึกของตัณหาที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนในขณะเลือกอาหาร
ความชอบ ความเคยชินในการบริโภค อาหารหวานคาว ของที่เคยชอบ ของที่ถูกใจ
เมื่อเห็นแล้วเกิดความอยากขึ้นมา ทำให้ได้พิจารณาถึงเวทนาความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้น
ได้อย่างชัดเจน “ การเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค “  ควบคุมตัณหาความอยากได้
โดยการมีสติระลึกรู้ เห็นคุณ เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ในการบริโภค
อาหารทั้งหลาย ไม่บริโภคไปเพื่อตอบสนองตัณหาความอยากของตนเอง แต่เพียงเพื่อ
ยังอัตภาพนี้ให้ดำรงอยู่ได้ เพราะบางครั้งอาหารที่เราบริโภคเข้าไปนั้น มันเกิดความ
ต้องการของร่างกาย เกินพลังงานที่ใช้ไปในวันๆหนึ่ง ทำให้เหลือพลังงานสะสมเป็น
ไขมันและก่อให้เกิดความกำหนัดเพราะพลังงานที่เหลือจากการใช้งานนั้นมากเกินไป
            การฝึกควบคุมอาหารจึงเป็นการฝึกปฏิบัติอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เรานั้น
ได้พิจารณาในฐานกายและฐานเวทนานั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น กายเบา จิตเบา ทำให้ความ
ว่าง ความโปร่ง เกิดขึ้นได้ง่าย สติกำหนดรู้ได้เร็วยิ่งขึ้น สัมปชัญญะมีความเต็มรอบขึ้น
จิตพิจารณาธรรมอยู่กับปัจจุบันธรรมมากขึ้น เจริญสติในสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา
จิต ธรรม ทำให้เห็นซึ่งการเกิดดับของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น จิตทรงไว้ในธรรม ทำให้ความหิว
ความกระหายทั้งหลายหมดสิ้นไป เพราะจิตนั้นเพลิดเพลินในสภาวธรรมที่กำลังทรงอยู่
เข้าสู่สภาวะของการรู้ การตื่นและความเบิกบาน ความอาจหาญและร่าเริ่งในธรรม...
                 .....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต....
                .....รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร.....
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๕.๓๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

87
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
          " สรรพสิ่งล้วนเคลื่อนไหว ไปตามกฏแห่งธรรมชาติ "
มีการเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  แล้วดับไป ซึ่งเงื่อนไขของกาลเวลานั้น
อาจจะแตกต่างกันไป ตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น
จนบางครั้งเราแทบจะไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของความเสื่อม
สลายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทุกขณะ จึงเข้าไปยึดติดและยึดถือในสิ่ง
เหล่านั้น อยากจะให้มันเป็นไปตามที่ใจของเรานั้นปรารถนาให้เป็น
ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านั้นตอบสนองความต้องการของเราได้ เราก็จะยินดี
และเพลิดเพลินไปกับมัน แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่เป็นไปตามที่ใจของเรา
ปรารถนาและต้องการแล้ว ก็จะเกิดความขุ่นใจ ความคับแค้นใจ
ความทุกข์ทั้งหลายก็จะเกิดขึ้นในจิต เพราะว่าเราไปยึดติดในความ
ต้องการของเราเกินไป ไม่เข้าใจและยอมรับในความเป็นจริงของสิ่ง
ทั้งหลายทั้งปวง ที่มันต้องดำเนินไปตามกฏแห่งธรรมชาติทั้งหลาย
         การปฏิบัติธรรมนั้นคือการเจริญสติและการเจริญสัมปชัญญะ
เพื่อให้มีการระลึกรู้และมีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิต กับสิ่งที่
คิด สิ่งที่ทำและสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยมีองค์แห่งคุณธรรมคุ้มครอง
จิตอยู่ องค์แห่งคุณธรรมที่ว่านั้นคือ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
คอยกระตุ้นเตือนจิตสำนึก ความรู้สึกผิดชอบและชั่วดีที่กำลังเกิดขึ้น
ในความคิด ในจิตของเรา ทำให้เราสามารถที่จะข่มใจไม่ให้คล้อยตาม
ตัณหาความอยากที่เป็นอกุศลนั้นได้ ซึ่งต้องใช้การหมั่นฝึกฝนปฏิบัติ
เพื่อสร้างความเคยชินให้แก่จิต ในการคิดและการรู้เท่าทันซึ่งอารมณ์
ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในจิตของเรา รู้จักการแยกแยะซึ่งกุศลและอกุศล
ข่มใจตนไม่ให้คล้อยตามซึงกิเลสที่เป็นอกุศลทั้งหลาย โดยใช้การ
พิจารณามองให้เห็นถึงคุณ ถึงโทษ ถึงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
ของอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น กระตุ้นเตือนจิตสำนึกแห่งการใฝ่ดี
ที่มันมีอยู่ในใจของเราทุกคนให้บังเกิดขึ้น แล้วน้อมนำความคิดนั้น
ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เป็นรูปธรรม แล้วความเจริญในธรรมทั้งหลาย
ก็จะบังเกิดมีแก่ผู้ใฝ่ธรรม ตามกำลังของสติ สัมปชัญญะและปัญญา
" เมื่อมีการกระทำ ย่อมต้องมีผลของการกระทำ เป็นสิ่งตอบแทน "
ซึ่งผลของการกระทำนั้น เป็นไปตามเหตุและปัจจัยเงื่อนไขที่เรานั้น
ได้กระทำมา ตามจังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคล...
.....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต.....
.....รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร.....
๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๕๒ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

88
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
                 " งานเลื้ยงย่อมมีวันเลิกลา " ทุกคณะที่มาเยี่ยมเยือนต่างลากลับไป
ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ อย่างที่เคยเป็นมา จัดระเบียบเวลาในการทำกิจให้แก่ชีวิต
พิจารณาทุกอย่างเข้าหาธรรม มองให้เห็นถึงคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
ของสรรพสิ่ง ตามความเป็นจริงของกฎพระไตรลักษณ์ ปรับความคิดตนเข้าหาหลักธรรม
หารูปแบบการนำเสนอธรรมให้เหมาะสมกับตัวบุคคล จากพื้นฐานความคิด จริตและงาน
ของแต่ละบุคคล อยู่บนหลักของเหตุผล ความเหมาะสม ความพอดีและความพอเพียง
โดยไม่เอาความอยากของเรา ( ตัณหา )เข้าไปกำหนดให้ผู้อื่นปฏิบัติตามความต้องการ
ของตัวเรา กล่าวธรรมเพื่อธรรม ทำหน้าที่ของผู้กล่าวธรรมให้สมบูรณ์ ทำตามบทบาทและ
หน้าที่ วางจิตเป็นอุเบกขา ไม่เข้าไปคาดหวังผล เพราะบุคคลแตกต่างกันด้วยธาตุและอินทรีย์
การรับรู้ รับฟัง การปฏิบัตินั้น มันเป็นเรื่องของจิตสำนึกและความรู้สึกของเขา ซึ่งเรานั้นไม่สามารถ
ที่จะเข้าไปกำหนดได้ เพราะว่าเป็นสภาวะภายในของเขา อย่าได้เอาความอยากของเราไปตั้งกฎ
กติกาให้ผู้อื่นปฏิบัติตามความอยาก ( ตัณหา ) ของเรา " ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ปล่อย "
ให้ทุกอย่างเริ่มจากความสบายใจ ความพึงพอใจ อย่าได้ไปตั้งกฎกติกาบังคับ มันจะทำให้เกิดความ
กดดัน ซึ่งจะนำมาซึ่งความเครียดโดยไม่รู้ตัว มันจึงได้เพียงรูปแบบ แต่จะขาดซึ่งสาระ เพราะว่าการเริ่มต้นนั้น
มันไม่มีความพึงพอใจ เป็นไปโดยการถูกบังคับ ถูกยัดเยียดให้กระทำ ขาดซึ่ง " ฉันทะ "องค์ประกอบตัวแรก
ในหลักของอิทธิบาท ๔ มันจึงทำให้ไม่มีความเจริญในธรรม...
          ดั่งที่เคยกล่าวไว้...ทุกอย่างอยู่ที่การเริ่มต้นที่ถูกที่และถูกทาง แล้วทุกอย่างมันก็จะเดินไปได้
ด้วยตัวของมันเอง ความเจริญในธรรมนั้นจะช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับกำลังของแต่ละบุคคลและวิบากกรรมเก่า
จะส่งผลออกมาอย่างไร ซึ่งเรานั้นไม่สามารถที่จะไปกำหนดได้ หน้าที่ของเราคือทำไปและให้ใจศรัทธา
มีความเพียรพยายามในการกระทำและความสม่ำเสมอไม่ทอดทิ้งธุระ หมั่นพิจารณาตรวจสอบตนเองทุกขณะ
ให้เห็นถึงภาวะของความเสื่อมและความเจริญ ให้มีความเพลิดเพลินอยู่กับธรรม ไม่ไปคาดหวังผลในอนาคต
ทำปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุดตามกำลังของเราก็เพียงพอแล้ว...
                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๕๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

89
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อามิตย์ที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ๒๕๕๔
          พบปะพูดคุย ต้อนรับมิตรสหายผู้มาเยือนคณะต่างๆตั้งแต่เช้าจนค่ำ
สนทนากันทั้งในเรื่องทางธรรมและเรื่องทางโลก ทั้งที่เป็นสาระและไร้สาระ
ธรรมะไร้รูปแบบและกาลเวลา ไม่มีสภาวะแห่งการแปลกแยกและแตกต่าง
ทำให้ทุกอย่างลื่นใหลในการสนทนา จนลืมเรื่องของระยะเวลาที่ผ่านไป
ในความมีสาระและไม่มีสาระ แฝงด้วยธรรมะตามเหตุและปัจจัยไปตามกาล
ทุกอย่างจึงพ้นผ่านไปด้วยดี
         มองโลกแล้วปรับเข้าหาธรรม นำมาปรับใช้ให้เข้ากับ จังหวะ เวลา
โอกาศ สถานที่และบุคคล ตามเหตุและปัจจัย องค์ประกอบที่มีในขณะนั้น
ให้เหมาะสมกับพื้นฐานจริตและความรู้สึกนึกคิดของแต่ละบุคคลที่สนทนา
มีสติระลึกรู้ในสิ่งที่กำลังพูดและกำลังกระทำ เสนอนำความคิดเรื่องจิตอาสา
เพื่อตอบแทนคุณค่าให้เป็นประโยชน์แก่สังคม ช่วยกันกระจายความคิดเพื่อ
สร้างจิตสำนึกไปยังบุคคลรอบข้าง สร้างจิตสำนึกและความรู้สึกที่ดีงาม
         โลกและธรรมนั้นต้องก้าวเดินไปพร้อมกัน ไม่มีการกีดกั้นเรื่องเพศ
เรื่องวัย เรื่องสถานะ ไม่มีสภาวะแห่งข้อจำกัด ไม่มีการผูกมัดให้เขากระทำ
เพราะสภาวะธรรม ภูมิธรรมของแต่ละคนนั้น แตกต่างกันด้วยธาตุและอินทรีย์
จึงต้องมองหาความพอดีและความเหมาะสมให้กับบุคคลนั้นๆ ในการกระทำ
ซึ่งความดีทั้งหลาย เพื่อให้เขากระทำได้ในทันที โดยไม่มีอาการเคอะเขิน
มีความเพลิดเพลินและพอใจในสิ่งที่ได้กระทำ น้อมนำเอาธรรมมาสงเคราะห์
ให้เหมาะสมกับจังหวะ เวลา สถานที่และตัวบุคคล
         ทุกอย่างอยู่ที่การเริ่มต้นที่ถูกที่และถูกทาง แล้วทุกอย่างมันก็จะเดิน
ไปตามทางด้วยตัวของมันเอง...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๕๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี


90
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
... ทบทวนถึงทุกสิ่งทุกอย่างตลอดหนึ​งปีที่ผ่านมา
เห็นความก้าวหน้าและความเสื่อมถ​อย ในหลายสิ่งหลายอย่าง
วิเคราะห์หาเหตุและผล ที่ทำให้เป็นไปอย่างนั้น นำมาหาข้อสรุป
เพื่อจะกำหนดทิศทางที่จะก้าวเดิ​นไปด้วยกัน ของหมู่คณะและองค์กร
พิจารณาถึงหัวข้อธรรมบทหนึ่ง ซึ่งเคยได้ศึกษาและเคยนำมาปฏิบั​ติ
หัวข้อธรรมนั้นคือ...
สังคหวัตถุธรรม ๔ ประการ คือธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ย​วจิตใจหมู่คณะ
และประสานหมู่คณะทั้งหลายให้เกิ​ดความสามัคคีรักใคร่ซึ่งกันและก​ัน
อันเป็นการสงเคราะห์ด้วยธรรม อันได้แก่..
๑.ทาน...การให้คือการมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน
           ช่วยเหลือแนะนำกัน
๒.ปิยวาจา...มีวาจาเป็นที่รัก กล่าวคำสุภาพไพเราะ วาจาที่สมานสามัคคี
๓.อัตถจริยา...ขวนขวายบำเพ็ญสาธ​ารณะประโยชน์ร่วมกัน
๔.สมานัตตา...ทำตนเสมอต้นเสมอปล​าย เสมอในสุขและทุกข์
            วางตัวให้เหมาะสมแก่ฐานะ สถานการณ์บุคคล เหตุการณ์
และสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องตามธรรม
...ธรรมเหล่านี้เราได้นำมาประพฤ​ติปฏิบัติสมบูรณ์แล้วรึยัง
และเราได้แนะนำส่งเสริมผู้อื่นใ​ห้นำไปปฏิบัติแล้วหรือยัง
การขับเคลื่อนของหมู่คณะและองค์​กรนั้น มันต้องก้าวเดินไปด้วยกัน
"แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ก้าวย่างไปด้วยกัน"
เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน​สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม
ปลุกจิตสำนึกแห่งการใฝ่ดีและมีส่วนร่วมในสังคม "ทำให้ดู อยู่ให้เห็น
สอนให้เป็น แล้วก็ไป" ไม่ติดยึดกับผลงานที่ผ่านมา สอนทุกคนให้รู้
คุณค่าของความเป็นคน สอนให้รู้จักเปิดโลกทัศน์ ชีวทัศน์
เพื่อให้เขามีวิสัยทัศน์ที่เปิด​กว้าง แล้วเขาจะมองทุกอย่างเป็นธรรมะ
เป็นกำลังในการขับเคลื่อนกงล้อธ​รรมจักรต่อไป สืบสายเส้นทางธรรม
เป็นกำลังในพุทธศาสนาสืบต่อไป..​.
...แด่ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
และความสำเร็จนั้นจะนำมาซึ่งเกี​ยรติยศและชื่อเสียงของหมู่คณะแล​ะองค์กร...
เชื่อมั่น-ศรัทธา-สามัคคี-ปรารถ​นาดี-ไมตรีจิต-แด่หมู่มิตรผู้ใฝ่ธรรม
               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๖ กกรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๐๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึงชลบุรี

91
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
       พรุ่งนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นวันก่อนเข้าพรรษา ๑ วัน
ซึ่งสิ่งที่ได้ทำเป็นประจำในช่วงเข้าพรรษานั้นก็คือการเขียนบันทึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านไป
ในแต่ละวันและสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นในวันที่ผ่านมา เพื่อเป็นสิ่งย้ำเตือนถึงการประพฤติ
ปฏิบัติตน ในแต่ละวันที่ผ่านไป เพื่อนำมาแก้ไขข้อผิดพลาดเพื่อที่จะได้ปรับปรุงตนเอง
ในวันต่อๆไป เป็นการเจริญอิทธิบาท ๔ ในข้อวิมังสาคือการใคร่ครวญทบทวนสิ่งที่ผ่านมา
และในพรรษาที่จะมาถึงนี้ ได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า จะงดซึ่งการเบียดเบียนต่อสิ่งมีชีวิต
และเป็นการล้างพิษในตัว โดยการงดฉันข้าวและอาหารหวานคาวทั้งหลาย มาฉันผลไม้
ในปริมาณที่จำกัด ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติเพราะจะจับอารมณ์และเจริญสติได้เร็ว
 " กายเบา จิตเบา " ในสติปัฏฐาน ๔ และไม่ต้องไปวุ่นวายเสียเวลากับการปรุ่งแต่ง
เรื่องอาหาร การขบฉัน ออกรับบิณฑบาตรตามกิจของสงฆ์ตามปกติ เลือกเอาเฉพาะ
ผลไม้ที่จากการบิณฑบาตรในปริมาณที่เหมาะสมไว้ฉัน อาหารส่วนที่เหลือก็ถวายพระ
ที่สำนักสงฆ์ด้านล่างและแจกจ่ายญาติโยมไป
       ควบคุมปริมาณการฉันอาหารมาตั้งแต่หลังวันที่ ๑๐ กรกฎาคม หลังงานบุญผ้าป่า
ที่ผ่านมา เพื่อให้กระเพาะอาหารหดตัวเล็กลงมา จนเหลือขนาดเหมาะสมกับการฉันผลไม้
มื้อเดียวต่อวัน ในปริมาณที่จำกัด ซึ่งทำให้ต้องเร่งความเพียร เพื่อรักษาและทรงอารมณ์
กัมมัฏฐานให้ได้ เพื่อข่มเวทนาคือความหิวให้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้เคยปฏิบัติมาแล้วบ่อยครั้ง
แต่เป็็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ๗ วัน ถึง ๑๐ วัน เพราะเมื่อก่อนนั้นมันไม่สะดวกที่จะปฏิบัติใน
วัตรนี้ ต้องดูแลหมู่คณะและรับกิจนิมนต์เพื่อสงเคราะห์ญาติโยม จึงทำใหปฏิบัติได้ไมานาน
แต่เมื่อมาอยู่ ณ จุดนี้ ทำให้มีเวลาที่จะปฏิบัติได้เต็มที่ เพราะอยู่จำพรรษาเพียงรูปเดียวและ
งดรับกิจนิมนต์ออกนอกสถานที่ ส่วนญาติโยมที่จะมาทำบุญนั้น ก็ให้ลงไปทำที่สำนักสงฆ์
ด้านล่าง ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน
        การปฏิบัติอย่างนี้นั้น มันมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเราปฏิบัติเพื่ออะไร ปรารถนาสิ่งใด
ไม่ได้ทำไปเพราะความหลง หรือไปยึดติดในข้อวัตรปฏิบัตินั้นๆ จนเป็นสีลพรตปรามาส
รู้ว่าทำแล้วจะมีผลอย่างไร ระยะเวลาในการปฏิบัตินั้นเท่าไร และการปฏิบัติมันสิ้นสุดที่จุดไหน
มันเป็นการทบทวนในการฝึกจิตเพื่อรักษาและทรงไว้ในสิ่งที่เคยรู้ เคยเห็น เคยเป็นและเคยมี
มันไม่ใช่ความงมงาย ที่ทำไปโดยสำคัญผิด แต่เป็นการฝึกจิตที่มีเป้าหมายชัดเจน...
                          ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐.๕๑ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

92
ขออนุโมทนาในจิตศรัทธาของทุกท่าน ที่ร่วมด้วยช่วยกัน จนงานนั้นผ่านสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ตามที่ท่านปรารถนา
และตั้งใจไว้ โดยมีแม่งานใหญ่คือโยมตี๋ (derbyrock) เป็นตัวแทนของสมาชิก ศิษย์หลวงพ่อเปิ่นเป็นผู้ถวาย
โยมโอ๋ (ที_lowrider)โยมชาย (ทรงกรด) เป็นผู้ร่วม ประสานงานและอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม ณ ที่นี้
ขอความสุข ความเจริญ ความสำเร็จจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ที่ได้สละแรงกายแรงใจ กำลังทรัพย์และเวลามาร่วมกัน
โดยทั่วกันทุกท่านทุกคนเทอญ ขอเจริญพร...
สรุปยอดเงินบุญผ้าป่า โดยรวม...
๑. สายโยมตี๋ derbyrock ถวายวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เป็นเงิน  ๑๗๖,๖๗๐.๐๐ บาท
๒.สายโยมนนท์ โองการยันนะรังสี ถวายวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เป็นเงิน ๑๗,๔๗๒.๒๕ บาท
๓.สายหลวงพี่นรินทร์ หลวงพี่เว็บ ถวายวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔  เป็นเงิน ๑๑,๗๕๐.๐๐ บาท
๔.โอนเข้าบัญชีพระอาจารย์โด่งโดยตรง รวมเป็นเงิน ๓๒.๐๐๐.๐๐ บาท
        รวมเป็นเงินทั้งสิ้น   ๒๓๗,๘๙๒.๒๕ บาท
ขออนุโมทนาในจิตศรัทธาแห่งบุญกุศลของท่านทั้งหลายไว้ใน ณ ที่นี้ โดยทั่วกันทุกท่าน
                      พระอาจารย์ เมสันติ์ คมฺภีโร (พระอาจารย์ โด่ง)
                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๕.๒๙ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

93
ชายป่าห้วยขาแข้ง ลานสัก อุทัยธานี
อาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
....การเริ่มต้นของเช้าวันใหม่.....
เมื่อรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา จงเจริญสติและสัมปชัญญะให้มีความสมบูรณ์
มีความระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อมในกายและจิตของเรา ตั้งจิตของเรา
ให้เป็นกุสลจิต เพื่อชีวิตในเช้าวันใหม่ เป็นการสร้างเหตุและปัจจัยให้
แก่ชีวิตของเรา เพื่อที่จะรับเอาสิ่งที่ดีๆเข้ามาสู่ชีวิต ต้องเริ่มที่จิตของเรา
จิตของเราเป็นเสมือนเครื่องรับคลื่นสัญญาน มันมีกำลังที่จะดึงดูดคลื่น
สัญญานทั้งหลายได้ ถ้าจิตของเราเป็นกุศลจิต มันก็จะดูดเอาสิ่งที่ดีๆเข้ามา
ในทางกลับกัน ถ้าจิตของเราเป็นอกุศลจิต มันก็จะดึงเอาสิ่งที่เป็นอกุศล
เข้ามาสู่จิตของเรา สำหรับเช้าวันใหม่ของเรานั้น เราควรจะปลูกพืชพันธุ์
แห่งกุศลจิตขึ้นในจิตใจของเรา เพื่อที่จะรับเอาสิ่งที่ดีๆเข้ามา และพัฒนา
สิ่งที่เป็นกุศลที่เรานั้นได้สร้างไว้ ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ซึ่งต้องเริ่มที่ใจเรา
ซึ่งถ้าวันไหนเรารู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้วไม่รักษาจิต มีอารมณ์หงุดหงิดขุ่นมัว
วันนั้นทั้งวันเราก็จะต้องพบกับความวุ่นวายและเรื่องร้ายๆตลอดเกือบทั้งวัน
เพราะจิตคือเครื่องรับของเรานั้น มันเป็นอกุศลจิต มักก็จะดึงดูดเอาสิ่งที่เป็น
อกุศลเข้ามาหาเรา แต่ถ้ารู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้วรักษาจิตให้เป็นกุศล สิ่งที่เป็น
มงคลก็จะเกิดขึ้นแก่เราเสมอ เพราะเมื่อจิตใจเครื่องรับของเราดีแล้ว มันก็จะ
ดึงดูดเอาแต่ของที่ดีๆเข้ามาสู่ตัวเรา ทุกคนนั้นต่างใฝ่ฝันปรารถนาซึ่งสิ่งที่ดี
อยากจะให้มี อยากจะให้เกิดแก่ตนเอง แต่ที่มันไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้นั้น
ก็เพราะว่าเครื่องรับอันคือจิตของเรานั้น มันยังไม่มีความพร้อม ที่จะน้อมรับ
ซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อเครื่องรับนั้นยังไม่สะอาดดีพอ กุศลทั้งหลายก็ไม่
อาจที่จะตั้งอยู่ได้หรือเกิดขึ้นได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องปรับใจอันเป็นเครื่องรับ
ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งหลาย ให้มันสะอาด ให้มันดีเสียก่อน เพื่อรองรับสิ่งที่ดี
ทั้งหลายให้มาเกิดขึ้นและตั้งอยู่ในจิตใจของเรา...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต....
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๕๖ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

94
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔
....พยายามใช้เวลาที่ผ่านไปให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ระลึกรู้อยู่กับกายและจิต ยกข้อธรรมขึ้นมาพิจารณา ใคร่ครวญทบทวน
ตัดปลิโพธฺความกังวลทั้งหลายออกไปชั่วขณะ ทำจิตให้ว่างจากอัตตา
พิจารณาทุกอย่างตามความเป็นจริง ในสิ่งที่เห็นและรับรู้ วางจิตให้นิ่ง
ไม่เอาความรักความเกลียด ความพอใจและไม่พอใจ มาตัดสินในปัญหา
มีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิตอยู่ตลอดเวลา แยกแยะกุศล
และอกุศลออกจากกัน โดยการพิจารณาถึงคุณ ถึงโทษ ถึงประโยชน์
และมิใช่ประโยชน์ในสรรพสิ่งที่ได้เห็นและได้รับรู้ เอามาเป็นครูสอนธรรม
เตือนย้ำในจิตสำนึกอยู่ตลอดเวลา ให้ระลึกรู้ในสิ่งที่ควรคิด กิจที่ควรทำ
ตามบทบาทและหน้าที่ของตนเองที่พึงมี ทำหน้าที่ของเรานั้นให้สมบูรณ์
ตามกำลังความรู้ความสามารถที่เรานั้นพึงมี ให้จิตของเรานี้ระลึกถึงธรรม
อยู่ตลอดเวลา เมื่อเรารักษาธรรม ธรรมนั้นจะกลับมารักษาคุ้มครองเรา...
....บันทึกไว้ ณ. จุดหนึ่งบนกาลเวลา บทที่ ๕....
...เอาสติ  ระลึกรู้  อยู่กับกาย
เพื่อผ่อนคลาย ความกังวล ในปัญหา
ทำจิตว่าง  ปล่อยวาง  ซึ่งอัตตา
เกิดปัญญา  ระลึกรู้  อยู่กับธรรม
...มีสติ  ระลึกรู้  อยู่กับจิต
รู้ความคิด  ของจิต  ที่ลึกล้ำ
เอากุศล  ผลบุญ  มาหนุนนำ
ประกอบกรรม กุศล  ให้ตนเอง
...ไม่อวดดี  อวดรู้  หมิ่นผู้อื่น
ไม่แข็งขืน อวดศักดา ว่าข้าเก่ง
ไม่ขมขู่  ให้ผู้อื่น นั้นกลัวเกรง
ไม่อวดเบ่ง ข่มเหง ให้คนกลัว
...เฝ้ามองกาย มองจิต คิดวิเคราะห์
ดูให้เหมาะ  ในสิ่งที่ ดีและชั่ว
รักษาจิต  ภายใน  ไม่หมองมัว
รู้พร้อมทั่ว  กายใจ  อยู่ในธรรม
...เมื่อจิตว่าง  ละวาง  ซึ่งปัญหา
เกิดปัญญา  ทางจิต  ที่ลึกล้ำ
รู้ดีชั่ว  สิ่งใดชอบ ประกอบกรรม
รักษาธรรม  รักษาจิต ให้คิดดี
...เอาทั้งโลก และธรรม นำมาคิด
และเอาจิต  ดูจิต  ในทุกที่
จิตเห็นจิต  เห็นความคิด  ที่ตนมี
ฝึกอย่างนี้ เป็นประจำ ให้ชำนาญ
...ไม่มีใคร  รู้ซึ้ง  เท่าหนึ่งจิต
ถ้าได้คิด  ก่อเกิด  และสืบสาน
อยู่กับธรรม  รักษาธรรม  ให้ยาวนาน
สร้างพื้นฐาน  ทางธรรม  ประจำใจ
...หมั่นฝึกฝน  ตนนั้น  อยู่เสมอ
เพื่อให้เจอ  ธรรมะ  ตัวใหม่ใหม่
ความเจริญ  ในธรรม  ก้าวหน้าไป
ฝึกที่ใจ  ฝึกที่จิต  คิดแล้วทำ...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๐๙ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี




95
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.......ปลิโพธิคือความกังวลทั้งหลายที่เราต้องตัด ต้องวาง
ซึ่งถ้าจิตไม่วางจิตก็ว่างไม่ได้ จึงต้องฝึกจิตให้เริ่มละวางได้
ชั่วคราว ในขณะที่กำลังเจริญสติภาวนาและเพิ่มระยะเวลาที่
จิตนั้นว่างให้มากยิ่งขึ้นไปตามลำดับ นั่นคือการฝึกละวางซึ่ง
ความกังวลทั้งหลาย ฝึกได้โดยการมีสติระลึกอยู่กับปัจจุบัน
ว่าเวลาขณะนั้นเราควรคิดและทำในสิ่งใด ฝึกให้ใจจดจ่อกับ
สิ่งนั้น เรื่องที่ผ่านไปแล้วหรือยังไม่มาถึง จึงไม่ควรนำมาคิด
เมื่อจิตอยู่กับปัจจุบันธรรม โดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่
ก็ชื่อว่ากำลังได้ปฏิบัติธรรม การทำงานทุกชนิดด้วยจิตที่ว่าง
จากปลิโพธิ ความกังวลและอัตตา ปัญญาความรู้เห็นที่เป็นจริง
ก็จะบังเกิดขึ้น ทำให้ผู้นั้นรู้เท่ารู้ทันความรู้สึกนึกคิด เมื่อจิตเห็นจิต
นั่นแหละคือการเข้าถึงซึ่งธรรม...ท่านได้ลงมือฝึกฝนเพื่อพิสูจน์ตนแล้วหรือยัง..?....
...บันทึกไว้ ณ.จุดหนึ่งบนกาลเวลา ( ๔ )...
...ปลิโพธิ  นั้นหรือ  คือความคิด
ไปยึดติด  กังวล  ให้หม่นหมอง
ทำอะไร  ให้คิด   จิตไตร่ตรอง
ฝึกทดลอง  ละวาง  ห่างอัตตา
...เรื่องอดีต  ผ่านมา  อย่าไปคิด
ดูกายจิต  ปัจจุบัน   นั้นดีกว่า
อนาคต   คือสิ่ง   ยังไม่มา
ให้รู้ว่า  สิงควรคิด  กิจควรทำ
...การทำงาน  ทุกชนิด  ด้วยจิตว่าง
คือละวาง  ความคิด   จิตใฝ่ต่ำ
ระลึกดี  ในสิ่งชอบ  ประกอบธรรม
กุศลนำ  คุมจิต  ให้คิดดี
...รู้จังหวะ  เวลา  และโอกาส
ไม่ประมาท  ระลึกรู้  อยู่ทุกที่
ตามกำลัง  ของสติ  ที่พึงมี
ฝึกจิตนี้  ให้มี  ความชำนาญ
...ฝึกละวาง  ออกห่าง  ปลิโพธิ
ให้เห็นโทษ  ของจิต  ที่ฟุ้งซ่าน
มีสติ  ระลึกรู้  อยู่กับงาน
จะทำการ  สิ่งใด  ให้รู้ทัน
...รู้ทันกาย  ทันจิต  ที่คิดอยู่
ระลึกรู้  ในจิต  ใช้คิดฝัน
มีความรู้  ทั่วพร้อม  ปัจจุบัน
กำหนดมัน  ที่จิต  ติดตามไป
...จิตเห็นจิต  ความคิด  ก็บันเจิด
ทำให้เกิด  ปิติ จิตแจ่มใส
มีปัญญา  รู้เห็น  ความเป็นไป
คิดอะไร  ทำอะไร  จิตรู้ทัน
...เพราะหลักธรรม  แท้จริง  นั้นคือจิต
เฝ้าตามติด  ดูจิต  นั้นให้มั่น
จิตเห็นจิต  ความคิด  ปัจจุบัน
ทำสิ่งนั้น  ให้เห็น  และเป็นจริง....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี


96
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔
.......ทำงานไปพิจารณาธรรมไปโดยใช้กำลังของสติระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่ทำ
มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อมควบคุมกายและจิตในขณะที่คิดและทำ
ไม่เอาความนึกคิดปรุงแต่งของเราไปผูกยึดหรือผูกมัดผู้อื่น ให้ผู้อื่นนั้นต้อง
เป็นไปตามความต้องการของเรา ตามความอยากของเรา เพราะเมื่อเราทำไป
โดยเอาความอยากของเรานั้นเป็นตัวตั้ง โดยหวังผลให้เป็นไปตามความปรารถนา
ของเรา มันก็คือการเอาตัณหาของเราไปบังคับให้ผู้อื่นกระทำตาม เพื่อตอบสนอง
ตัณหาความอยากของเรา เพราะเรานั้นไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตใคร เรามีแต่หน้าที่
เท่านั้น คือการทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ครบถ้วนตามความรู้และความสามารถ
ผลจะออกมาอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของวิบากกรรม อันประกอบด้วยเหตุและปัจจัย
ที่ทำให้บังเกิดขึ้น ทำตามหน้าที่ของผู้ที่ปฏิบัติธรรม กล่าวธรรมโดยธรรมและเพื่อ
ธรรม ไม่มีความอยากหรือหวังผลตอบแทนจากสิ่งที่ทำ ใจของเรานั้นก็จะเป็นสุข
ในสิ่งที่กำลังทำ เพราะมีความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์แบบครบถ้วนแล้ว
นึกถึงข้อธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล บทหนึ่งที่ท่านกล่าวไว้ว่า " การไม่กังวล
การไม่ยึดถือ นั่นแหละคือวิหารธรรมของนักปฏิบัติ " เอามาเป็นข้อคิดและพิจารณา
น้อมนำมาซึ่งการปฏิบัติตาม ทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจในข้อธรรมนั้นๆ ตามกำลัง
ของสติระลึกรู้ที่เราได้ฝึกฝนมา ตามหลักธรรมที่ว่า " คิดเท่าไรๆก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิด
จิตจึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยความคิด ทำงานทุกชนิด ด้วยจิตที่ว่างจากอัตตา ปัญญาก็จะเกิด "
เป็นสิ่งที่ต้องหมั่นฝึกฝน ให้จนเป็นความเคยชินของจิต ในการคิดและการทำงาน.....
........บันทึกไว้ ณ. จุดหนึ่งบนกาลเวลา........
ทบทวน ในข้อธรรม     เพื่อเตือนย้ำ จิตสำนึก
ควบคุม ความรู้สึก       มีสติ ควบคุมกาย
รู้ตัว อยู่ทั่วพร้อม        จิตนำน้อม สู่จุดหมาย
ตั้งจิต ไว้ในกาย         ไม่ส่งออก ควบคุมตน
ตามดู ตามรู้เห็น         สิ่งที่เป็น เหตุและผล
เข้าใจ ในจิตตน          สิ่งที่คิด กิจที่ทำ
ทำตน ตามหน้าที่       ทำให้ดี เพื่อชี้นำ
สิ่งชอบ ประกอบกรรม   ทำให้เห็น เป็นให้ดู
ตามดู ตามรู้จิต           สิ่งที่คิด นั้นต้องรู้
เอาธรรม นั้นเป็นครู      ชี้ทางจิต ให้คิดตาม
ทำงาน ทุกชนิด          ดูความคิด จิตเฝ้าถาม
ตามดู รู้ทุกยาม           รู้ทั่วพร้อม ทั้งกายใจ
กล่าวธรรม ตามหน้าที่    เพียงเท่านี้ กระทำไป
ความสุข เกิดที่ใจ         ทำหน้าที่ ให้สมบูรณ์
เมื่อจิต ไม่ยึดติด          ในความคิด ให้เสียสูญ
กุศล ก็เพิ่มพูล             เพราะจิตว่าง ห่างอัตตา
จิตว่าง ห่างกิเลส          จึงเป็นเหตุ เกิดปัญญา
เข้าถึง ตถตา               เห็นความเป็น เช่นนั้นเอง...
.....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต.....
.....รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร.....
๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๑๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี         

 

97
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.......สิ่งที่ทุกคนปรารถนาและต้องการในขณะที่กำลังทำงานนั้น
ก็คือขวัญและกำลังใจ เพื่อให้มีกำลังที่จะแรงขับเคลื่อนกันต่อไป
ขวัญและกำลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานและสิ่งนั้นสามารถ
เกิดขึ้นได้ทั้งจากภายนอกและภายใน ซึ่งสามารถที่จะสร้างขึ้นมาได้
ด้วยตัวของเราเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาจากภายนอก การสร้างศรัทธา
ความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในจิตใจของตนนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเลย
มันเป็นขบวนการทางจิต คือหลักแห่งการคิดเพื่อปลุกจิตให้มีกำลังใจ
ด้วยการระลึกย้อนกลับไป หาความภาคภูมิใจในความดีทั้งหลายที่ได้ทำ
และเราได้จดจำบันทึกไว้อยู่ใต้จิตสำนึกของเราเอง เมื่อเราระลึกนึกถึง
สิ่งเหล่านี้ ใจของเราก็จะมีความสุข มีความเพลิดเพลินเมื่อระลึกนึกถึง
ในสิ่งเหล่านี้ ในความดีที่ได้กระทำมา ความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง
ก็จะบังเกิดขึ้น จิตใจก็จะมีความโปร่งโล่งเบาสบาย ความกังวลทั้งหลาย
ก็จะลดลง ส่งผลต่อไปสู่ร่างกาย กล้ามเนื้อเส้นประสาทก็จะคลายไม่รัดตึง
สมองไม่มึนงง เพราะร่างกายได้หลั่งสารเอ็นโดฟีนออกมาในขณะที่ใจเรา
นั้นกำลังมีความสุขในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ ในภาษาของนักปฏิบัติจะเรียก
อาการอย่างนี้ว่า การสร้างพลังปิติให้เกิดขึ้นมาในจิต เพื่อเพิ่มกำลังให้แก่ชีวิต
ในการที่จะคิดและจะทำในสิ่งต่อไป ขวัญและกำลังใจ จึงเป็นสิ่งที่เราสามารถ
สร้างขึ้นมาได้ด้วยตัวของเราเอง....
เชื่อมั่น  และศรัทธา         น้อมนำมา ซึ่งพลัง
สู่สิ่ง  ที่คาดหวัง              สร้างด้วยจิต ความคิดตน
ตั้งจิต  คิดให้ดี               ในสิ่งที่ มีเหตุผล
ความดี มีทุกคน              ที่ได้สร้าง และทำมา
ความดี มีในจิต               จงค้นคิด จิตค้นหา
เสริมสร้าง ความศรัทธา      ในความดี สิ่งที่ทำ
ย้ำเตือน และย้ำคิด           ปลุกปลอบจิต กุศลกรรม
ความดี  ที่เคยทำ             เพื่อสร้างขวัญ กำลังใจ
จิตดี  ส่งกายเด่น             มันเฉกเช่น  เครื่องกลไก
ขับเคลื่อน จากภายใน        ให้จิตนี้  มีพลัง
ปลุกกาย และปลุกจิต        ปลุกชีวิต สู่ความหวัง
สร้างเสริม เติมพลัง           ให้ชีวิต เมื่อคิดทำ
ความดี คือกุศล                นันส่งผล  อย่างเลิศล้ำ
มันเป็น กุศลกรรม             ปลุกชีวิต จิตศรัทธา
เริ่มต้น จากความคิด          จงฝึกจิต คิดค้นหา
สิ่งที่ ได้ทำมา                 และเรานั้น ภาคภูมิใจ
เมื่อใจ ระลึกถึง                สิ่งที่ซึ่ง ได้ทำไว้
มีความ ประทับใจ              และจดจำ มิลืมเลือน
เพลิดเพลิน ขณะคิด          ทำให้จิต นั้นขับเคลื่อน
ฝึกทำ เพื่อย้ำเตือน           ปลุกให้จิต  มีพลัง
จิตดี ส่งกายเด่น               สิ่งที่เห็น เป็นความหวัง
เมื่อใจ มีพลัง                  ทุกสิ่งอย่าง  ก็สบาย...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๒๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี 

98
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔
.....บทกวีบทนี้ มีแรงบันดาลใจ มาจากการไปบำเพ็ญประโยชน์
งาน ราม-ทักษิณ สัมพันธ์ ครั้งที่ 15 ณ โรงเรียนบ้านห้วยน้ำแก้ว
ต.หน้าเขา อ.เขาพนม จ.กระบี่ ซึงเป็นพื้นที่ ที่ประสพภัยดินถล่ม
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โรงเรียนแห่งนี้เคยเป็นที่ออกค่ายอาสา
พัฒนาชนบท ของชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-ทักษิณ ครั้งที่ ๑๑
และในครั้งนั้นได้เป็นหนึ่งสมาชิกของชมรม ที่ได้ไปร่วมสร้างอาคาร
เรียน ให้แก่โรงเรียนแห่งนี้ เมื่อ28 ปีที่แล้ว จึงมีการนัดรวมตัวกัน
เพื่อกลับไปปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่ผู้ประสพภัยในพื้นที่แห่งนี้
มีการบริจาคเงินสร้างบ้านให้ผู้ประสพภัยจำนวน 8 หลัง มอบทุนการศึกษา
จำนวน 36 ทุน มอบสิ่งของอุปกรณ์การเรียนและเครื่องกีฬาให้แก่โรงเรียน
เลื้ยงอาหารเด็กนักเรียนและชาวบ้านที่มาร่วมงาน มีการแสดงดนตรีของวง
แฮมเมอร์และอีกหลายวง เพื่อให้ความบันเทิง สนุกสนานแก่ผู้ที่มาร่วมงาน
การกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของสมาชิกชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทราม-ทักษิณ
ในครั้งนี้ 90กว่าชีวิตและผู้ติดตามอีกประมาณ 100กว่าคน จึงเป็นความประทับใจ
28 ปีผ่านไปสำหรับการจากลา วันนี้ได้กลับมา ซับน้ำตาและปลอบขวัญให้กำลังใจ
แก่ผู้ประสพภัยในถิ่นที่เคยอยู่อาศัย จึงได้เขียนบทกวีบทนี้ขึ้นมา...
...ความทรงจำจากห้วยน้ำแก้ว...
ห่างเหิน ใช่เหินห่าง ระยะทาง นั้นยาวไกล
กลับมา พบกันใหม่ มิตรภาพ ยังคงเดิม
พบปะ และทักทาย มันจึงกลาย ให้ได้เพิ่ม
ความรัก ถูกต่อเติม ประทับใจ ในจิตจำ
เพื่อนพ้อง และน้องพี่ ต่างยินดี สิ่งที่ทำ
กลับมา เพื่อตอกย้ำ มิตรภาพ ให้ยืนยาว
ร่วมใจ และร่วมจิต ร่วมกันคิด จิตสืบสาว
รวบรวม ในเรื่องราว ความทรงจำ ที่ดีงาม
สืบสาน ใยสัมพันธ์ ผ่านคืนวัน วัยหนุ่มสาว
สืบต่อ ในเรื่องราว จิตอาสา ทั่วหน้ากัน
รวมใจ ร่วมในกิจ รวมหมู่มิตร สมานฉันท์
ร่วมแรง ร่วมแบ่งปัน ส่งความสุข ให้ทุกคน
วิญญาน จิตอาสา ที่มีมา นั้นส่งผล
รวมใจ ของทุกคน ให้มาพบ ประสพกัน
พวกเรา ราม-ทักษิณ เคยโบยบิน ร่วมสร้างฝัน
ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกัน สร้างสังคม อุดมการณ์
เวลา ล่วงเลยไป ยุคสมัย ผ่านไปนาน
การกลับ มาพบพาน เหมือนย้ำเตือน ความทรงจำ
ปลุกใจ และปลุกจิต ปลุกความคิด เพื่อตอกย้ำ
ร่วมคิด และร่วมทำ ปัจจุบัน กันต่อไป
ขอฝาก บทกวี งานชิ้นนี้ เพื่อเตือนใจ
กลับมา พบกันใหม่ เพื่อร่วมคิด และร่วมทำ
ร่วมใจ จิตอาสา พัฒนา ความทรงจำ
ร่วมคิด และร่วมทำ ตอบแทนคุณ ให้สังคม....
......เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต......
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจพเนจร-คนรอนแรม...
๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๒๑.๑๓ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

99
บนถนนเพชรเกษม ขณะที่ล้อรถกำลังเคลื่อนไหว

วันจันทร์ที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔

......วันเวลาผ่านไปไม่หยุดนิ่ง

สรรพสิ่งเคลื่อนไหวไปข้างหน้า

เมื่อมีคำว่าพบ ก็ย่อมมีคำว่าลา

เพราะหนทางในภายหน้ามีให้เดิน...

.......อดีตที่ผ่านมานั้น ถ้าเรารู้จักการเรียนรู้ วิเคราะห์และศึกษา

นำอดีตเหล่านั้นมาเป็นบทเรียน สรุปความเป็นไปในชีวิตที่ผ่านมา

เก็บเอาข้อดีของชีวิตมาคิดสานต่อและลดละข้อเสียทั้งหลายไป

แก้ไขชีวิตของตนใหม่ กำหนดทิศทางไปของชีวิตไปตามที่จิตนั้น

ปรารถนา มีความเชื่อมั่นและศรัทธาในบุญกศลที่ตนได้กระทำมา

เสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชีวิต ด้วยการคิดต่อโลกในเชิงบวก

คือการมองโลกที่พบเห็นในแง่ดี ชีวิตนี้ก็จะดำเนินไปในทิศทางที่ดี

มีความสุขกาย สบายใจ ชีวิตที่ดำเนินต่อไปนั้น เมื่อไม่มีความกดดัน

ทุกอย่างนั้นย่อมพบกับความโปร่งโล่งเบาและสบาย มุมมองทั้งหลาย

ก็จะเปิดกว้างยิ่งขึ้น ความเข้าใจในโลกและธรรมทั้งหลาย เกิดขึ้นได้

ด้วยการเรียนรู้วิเคราะห์ค้นหา ให้เห็นที่มาและที่ไปในสิ่งที่ได้พบเห็น

รู้จักแยกแยะดีชั่วด้วยองค์แห่งคุณธรรมในจิต คือจิตที่มีความละอาย

และเกรงกลัวต่อบาป มาเป็นพื้นฐานในการที่จะคิดและจิตที่ปรุงแต่ง

ชีวิตในภายหน้านั้นเราจึงสามรถที่จะกำหนดทิศทางไปของมันนั้นได้

โดยการสร้างเหตุและปัจจัยเงื่อนไขขึ้นมาในวันนี้ เพื่อที่จะกำหนดทิศ

ทางของชีวิตในอนาคตนั้นขึ้นมาได้.....

...บันทึกไว้ ณ. จุดหนึ่งบนกาลเวลา...

...เอาอดีต นั้นมา ศึกษาต่อ

เพื่อจะก่อ กำหนด ทิศทางใหม่

ให้ชีวิต นั้นก้าวเดิน กันต่อไป

กำหนดได้ โดยเงื่อนไข การกระทำ

...จงกระทำ ในวันนี้ ให้ดีสุด

จงอย่าหยุด การทำดี จงชี้ย้ำ

สิ่งใดชอบ ประกอบดี จงชี้นำ

กุศลกรรม นั้นจงสร้าง บนทางเดิน

...สร้างพื้นฐาน ความคิด จิตกุศล

สร้างมงคล แก่ชีวิต จิตอย่าเขิน

จงทำดี ให้มันมี ความเพลิดเพลิน

ความเจริญ จะปรากฏ กำหนดไป

...อดีตนั้น คือสิ่ง ที่พ้นผ่าน

คือเหตุการณ์ ที่ไม่อาจ จะแก้ไข

อนาคต นั้นกำหนด กันต่อไป

โดยสร้างเหตุ ปัจจัย ปัจจุบัน

...ทำวันนี้ ให้มันดี ชี้ทางสุข

ก้าวพ้นทุกข์ พบสุข ซึ่งสิ่งขวัญ

ชีวิตนี้ ก้าวต่อไป ในทุกวัน

จงต่อฝัน สร้างเสริม เพิ่มศรัทธา

...จงเชื่อมั่น ในความดี สิ่งที่คิด

จงตั้งจิต ฝึกฝน และค้นหา

จงสร้างเสริม เติมรัก และศรัทธา

วันข้างหน้า อนาคต กำหนดไป....

....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...

...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...

๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๔ บนถนนสายเพชรเกษม เข้าสู่เมืองหลวง

100
วัดถ้ำเสือวิปัสสนา อ.เมือง จ.กระบี่
อาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
..........ทุกชีวิตย่อมประสพกับอุปสรรคปัญหาด้วยกันทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง
ตามกำลังบุญกุศลของแต่ละคนที่ทำมา ไม่มีใครจะหนี้พ้นอุปสรรคปัญหาไปได้
แต่ในอุปสรรคปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมที่จะมีทางแก้ไขได้ในทุกปัญหา
ถ้าหากใช้สติปัญญา ความรู้สึกนึกคิดและจิตที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างความคิดที่ติด
อยู่กับผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง มองทุกสิ่งอย่างด้วยใจที่เป็นกลาง
ค้นหาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นอุปสรรคปัญหา เห็นที่มาและองค์ประกอบ
ในสิ่งเหล่านั้น ที่ทำให้มันเป็นไป ทำความรู้ความเข้าใจในปัญหา ละวางอัตตา
เปิดใจให้กว้าง ยอมลดละและสละบางสิ่งบางอย่าง ไม่เข้าข้างความคิดเห็นและ
ผลประโยชน์ฝ่ายตนจนเกินไป ปัญหาทุกอย่างนั้นย่อมแก้ไขได้ ถ้าใจของเรานั้น
ยอมรับในความเป็นจริง ในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลาย อย่าเอาความอยากทั้งหลายของ
เรานั้นไปกำหนดให้มันเป็นไป เพราะทุกสิ่งอย่างอยู่ในเงื่อนไขของพระไตรลักษณ์
เป็นไปตามหลักแห่งความเป็น อนิจจัง  ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ แล้วดับไป
ไม่มีสิ่งใดที่จะไม่แปรเปลี่ยน มันเป็นกฏของธรรมชาติทั้งหลาย เมื่อใจนั้นยอมรับซึ่ง
ความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายว่าเรานั้นเป็นผู้กระทำ มันเป็นผลแห่งวิบากกรรมที่เรานั้น
ได้เคยกระทำมา ไม่โทษดินโทษฟ้า หาผู้รับผิดมาแทนเรา ใจนั้นก็จะเบาเพราะได้วาง
จากการยึดถือทั้งหลาย ความทุกข์ที่มีนั้นก็จะคลายและเมื่อใจสบาย ความคิดนั้นก็จะโปร่ง
โล่งเบา เพราะว่าเข้าใจในปัญหาอุปสรรคทั้งหลายและเมื่อทำใจยอมรับได้ซึ่งความเป็นจริง
อุปสรรคปัญหาในทุกสิ่งนั้นย่อมจะมีหนทางที่จะแก้ไข...อยู่ที่ว่าเรานั้นทำใจได้แล้วหรือยัง....
...ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๑๐...
...ชีวิต  ของทุก  คนนั้น          จัดสรรค์ ตามเหตุ  และผล
ชีวิต  ของทุก  ทุกคน            ไม่พ้น  จากทุกข์  ทั่วกัน
ความทุกข์  เกิดจาก  ตัณหา     เพราะว่า  ความอยาก  ทั้งนั้น
อยากมี  อยากได้  ให้มัน        ใจนั้น  อยากให้   มันเป็น
เป็นไป  ตามใจ  ที่คิด            ยึดติด   ในความ  คิดเห็น
อยากมี  อยากได้  อยากเป็น    รู้เห็น  เพียงแต่   ฝ่ายตน
ไม่ยอม  แบ่งปัน  สละ            ลดละ  ตามเหตุ  และผล
ยึดถือ ประโยชน์  ส่วนตน        หวังผล  กำไร   ฝ่ายตัว
เมื่อผล ไม่เป็น  ดั่งคิด            มันผิด  แตกต่าง  กันทั่ว
โมหะ  ความหลง  เมามัว         ก่อตัว  เป็นทุกข์  ในใจ
ทุกข์เพราะ เข้าไป  ยึดถือ        นั้นคือ  สิ่งควร  แก้ไข
ลดละ  ปล่อยวาง   ลงไป         ทำใจ  ยอมรับ  ความจริง
ทุกอย่าง  ย่อมมี เกิดดับ          สลับ  กันไป  ไม่นิ่ง
เรียนรู้  ยอมรับ  ความจริง        ทุกสิ่ง  มีเหตุ  ปัจจัย
อย่าไป  โทษดิน  โทษฟ้า       ควรหา   แนวทาง  แก้ไข
ทุกอย่าง  ที่ดำ  เนินไป           อยู่ใต้   กำหนด  กฎกรรม
มีเหตุ   และผล  รองรับ           เกิดดับ  กันอยู่  ซ้ำซ้ำ
เกิดการ  ย้ำคิด  ย้ำทำ            คือกรรม  ที่ส่ง  ผลมา
กรรมนั้น  ย่อมเกิด  จากเหตุ     สังเกตุ วิเคราะห์  ศึกษา
ให้เห็น  ที่ไป  ที่มา               ปัญหา  แก้ไข  ได้จริง...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๐๙ น. ณ วัดถ้ำเสือฯ จ.กระบี่
 

101
วัดถ้ำเสือวิปัสสนา อ.เมือง จ.กระบี่
เสาร์ที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.....ในส่วนลึกของจิตสำนึกนั้น ทุกคนย่อมจะมีจิตสำนึกแห่งความใฝ่ดีซ่อนอยู่เสมอ
เพียงแต่บางครั้งยังไม่ได้แสดงออกมา เพราะเงื่อนไขของเรื่องจังหวะ เวลา โอกาส
สถานที่และตัวบุคคลนั้นยังไม่เอื้ออำนวย ไม่เปิดโอกาสให้แสดงออกมาได้ในสิ่งนั้น
ทุกคนต่างมีเหตุปัจจัยและพื้นฐานความคิดที่แตกต่างกัน ทำให้ความคิดเห็นของแต่
ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป การที่จะไปตัดสินว่าความคิดเห็นของใครนั้นถูกหรือผิด
เราไม่ควรเอาพื้นฐานความคิดเห็นของตัวเรานั้นมาเป็นข้อสรุป ว่าสิ่งที่เขาคิดเห็นนั้น
ถูกหรือผิด เพราะทุกคนต่างก็มีจิตสำนึกที่แตกต่างกันโดยพื้นฐานจากเหตุและปัจจัย
ของแต่ละคนนั้นมีที่มาและที่ไปที่แตกต่างกัน ความคิดเห็นของแต่ละคนนั้นเป็นปัจเจก
การที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมโดยสงบสุขนั้น จึงต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย
โดยใช้หลักของการแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เป็นแนวทางให้เกิดความสันติสุขขึ้นมา
การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นและปัญหาของทุกฝ่ายนั้นเป็นการเปิดกว้างทางความคิด
เป็นการฝึกจิตในการลดละซึ่งทิฏฐิมานะ ความถือตัวถือตนและอัตตา ซึ่งจะนำมาซึ่ง
ความรู้และเข้าใจในชีวิตที่เป็นไปของแต่ละคนมากยิ่งขึ้น เมื่อใจของเรานั้นเปิดกว้าง
มองทุกอย่างให้เข้าใจ ถึงที่มาและที่ไป ถึงเหตุและปัจจัย ที่ทำให้เป็นไปอย่างนั้น
เมื่อเราเข้าใจในโลกเราก็ย่อมจะเข้าใจในธรรม เพราะทั้งสองสิ่งนั้นมันเป้นของคุ่กัน......
.....ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๙.....
...มุมมอง  ของชีวิต        เกิดจากจิต  แห่งพื้นฐาน
เกิดจาก  ประสพการณ์     ที่สะสม  อบรมมา
ความเห็น  ที่แตกต่าง      คือแบบอย่าง  ควรศึกษา
ที่ไป  และที่มา              มีพิ้นฐาน  แตกต่างกัน
ความคิด  เป็นปัจเจก        ความเป็นเอก  ของคนนั้น
พื้นฐาน  แตกต่างกัน        จึงมองเห็น  คนละทาง
อย่าด่วน  รีบตัดสิน          เพียงได้ยิน  ระยะห่าง
เอาเหตุ  มากล่าวอ้าง       เพราะคิดเห็น  คนละมุม
ต่างก็  มีเหตุผล             ปัจเจกชน   ในทุกกลุ่ม
จึงร่วม  กันชุมนุม            เพราะคิดเห็น  นั้นคล้ายกัน
แบ่งแยก  ทางความคิด     แต่ชีวิต   ต้องผูกพัน
อยู่ร่วม  สังคมกัน            ไม่อาจหลีก  หรือหลบไป
ไม่ควร  จะแบ่งแยก          ให้มันแตก  จงแก้ไข
สังคม  จะก้าวไกล           ต้องร่วมกัน  พัฒนา
เปิดใจ  ให้มันกว้าง           ฟังทุกอย่าง โดยปัญญา
จุดร่วม  แสวงหา              ส่วนจุดต่าง  ไม่ล้ำกัน
ผูกใจ  และผูกจิต             รวมความคิด  สมานฉันท์
ก้าวเดิน  ไปพร้อมกัน        สร้างสังคม  ให้มันดี
ลดละ  ซึ่งอัตตา              ตัวปัญหา   ที่มันมี
ร่วมใจ  สามัคคี               ร่วมก้าวเดิน  ไปด้วยกัน...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวีสัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๒๙ น. ณ วัดถ้ำเสือฯ จ.กระบี่
           
         



102
วัดถ้ำเสือวิปัสสนา อ.เมือง จ.กระบี่
ศุกร์ที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.....สรรพสิ่งย่อมแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา มีความเสื่อมสลายไปตามอายุของการใช้งาน
ไม่มากก็น้อย ตามเหตุและปัจจัย ซึ่งเป็นไปตามกฏของพระไตรลักษณ์ คือความเป็นอนิจจัง
การสูญเสีย การพลัดพรากย่อมเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงหนีพ้นสิ่งนี้ไปได้
เราจึงต้องฝึกทำใจเพื่อให้ยอมรับกับการสูญเสีย การพลัดพรากที่จะเกิดขึ้นนั้นให้ได้ เพื่อที่จะ
ลดความทุกข์ใจ เมื่อสิ่งนั้นมันมาถึง ซึ่งถ้าใจของเรานั้นยอมรับซึ่งความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
การสูญเสียหรือการพลัดพรากนั้นก็จะมีผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของเรา
น้อยมาก เพราะการที่เรานั้นเข้าไปยึดติดและยึดถือในสิ่งทั้งหลายว่าเป็นของส่วนหนึ่งของเรานั้น
ไม่อยากให้มันแปรผันหรือเปลี่ยนแปลงไป อยากจะให้มันคงอยู่ในสภาพเดิมนั้น มันจึงทำให้ใจ
ของเรานั้นเป็นทุกข์ เพราะความเป็นตัวกูและของกูดั่งที่พระอาจารย์ท่านหลวงพ่อพุทธทาสได้
กล่าวไว้ จึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจในเรื่องตัวกูและของกู เป็นอันดับแรกในการปฏิบัติธรรม
เพื่อเป็นการลดละซึ่งอัตตา ทิฏฐิมานะ เป็นการฝึกทำใจให้เปิดกว้าง ยอมรับในความจริงทุกอย่าง
ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยการกำหนดให้รู้และเข้าใจในความเป็นตัวกูและของกู เห็นโทษภัยของ
การเข้าไปยึดถือในสิ่งทั้งหลายนั้น สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานในการปฏิบัติธรรม...
...ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๘...
...เพราะอัตตา  มันพาไป  ใจจึงทุกข์
ไร้ซึ่งสุข  เพราะว่าใจ   ไปยึดถือ
ว่ามันเป็น  ของของเรา  อยู่ในมือ
ใจยึดถือ   ในสิ่งนั้น   อย่างมั่นคง
...ทุกสิ่งอย่าง  ย่อมมี   การเกิดดับ
เปลี่ยนสลับ    กันไป    อย่าได้หลง
อนิจจัง   นั้นคือความ    ไม่มั่นคง
จึงต้องปลง  ลดละ      ซึ่งอัตตา
...เพราะอัตตา  ตัวตน  ของคนนั้น
ไปยึดมั่น   ยึดถือ   ในเนื้อหา
ไม่ยอมรับ  ซึงความเป็น  อนิจจา
มันจึงพา   ให้เกิดทุกข์   ไม่สุขใจ
...ทุกข์เพราะความ  อยากมี  และอยากเป็น
อยากจะเห็น  ให้มันเป็น  เช่นนั้นได้
ไม่อยากให้   มันจาก    หรือพรากไป
อยากจะให้    มันนั้นอยู่  คู่กับเรา
...สิ่งเหล่านี้   คืออัตตา  และมานะ
ถ้าไม่ละ   จะนำจิต   คิดโง่เขลา
หลงตัวตน  ความคิด  จิตมึนเมา
เพราะว่าเข้า  ไปยึดติด  จิตผูกพัน
...อยากจะให้  เป็นไป   อย่างที่คิด
ไปยึดติด   ให้มันเป็น  อยู่เช่นนั้น
ไม่อยากให้  มันนั้นจาก  หรือพรากกัน
ความยึดมั่น  และยึดถือ  คืออัตตา
...เพราะอัตตา  ตัวตน   ของคนนี้
ทำให้มี   มากมาย   หลายปัญหา
ผลกระทบ  มากมาย  จึงตามมา
ก็เพราะว่า  ไม่ยอมรับ  ซึ่งความจริง
...ทุกสิ่งอย่าง  ล้วนอยู่ใน  พระไตรลักษณ์
ไปตามหลัก  ธรรมชาติ   ในทุกสิ่ง
และเมื่อใจ   ไม่ยอมรับ   ในความจริง
มันก็ยิ่ง   ทำให้ทุกข์   ไม่สุขใจ
...เพราะว่าใจ  อยากได้  ซึ่งความสุข
จึงต้องทุกข์   เพราะอยากมี  และอยากได้
อยากจะอยู่   อยากจะเห็น    และเป็นไป
ตามที่ใจ  ของตน   นั้นต้องการ
...เมื่อไม่ได้  ตามที่ใจ  ปรารถนา
ก็นำมา  ให้เกิดทุกข์   ไม่สุขสาน
ถ้าอยากให้  ใจไม่ทุกข์  สุขสำราญ
ต้องฝึกการ  ละวาง   ห่างอัตตา
...ฝึกทำใจ  ให้ยอมรับ   ในความจริง
กับทุกสิ่ง   ที่เกิดดับ   ตามเนื้อหา
ฝึกซึ่งการ   ลดละ   ซึ่งอัตตา
ภาวนา  ให้มันเห็น   ความเป็นจริง...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๓๙ น. ณ วัดถ้ำเสือวิปัสสนา กระบี่






103
เรือนรับรอง วัดถ้ำเสือวิปัสสนา จ.กระบี่
พฤหัสบดีที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.....ไม่ใช่ภาระที่เราต้องแบกรับ ไม่ใช่หน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบ
แต่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและกิจที่เรานั้นควรกระทำในขณะนั้น
ทำไปตามบทบาทที่ตนนั้นพึงมี ทำให้สมบูรณ์เต็มที่ตามสติกำลัง
ความรู้ความสามารถของเรา เมื่อเราคิดว่ามันไม่ใช่ภาระที่ต้องแบกรับ
มันไม่ใช่ข้อบังคับตามหน้าที่ เราก็จะมีความรู้สึกที่ โปร่ง โล่ง เบา
ความเครียดอันเกิดจากความกังวลใจ ก็จะลดน้อยถอยลงที่ละนิด
สุขภาพจิตของเราก็จะดีขึ้น " เพียงคุณเปลี่ยนความคิด ชีวิตคุณ
ก็จะเปลี่ยนไป สิ่งใหม่ๆย่อมเกิดขึ้นแก่คุณ " การดำเนินชีวิตนั้น
ทุกอย่างเป็นไปเหมือนเดิมตามปกติที่เคยเป็นมา แต่ว่าความรู้สึก
นึกคิดและจิตสำนึกนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ทำหน้าที่ของตน
ไปตามบทบาทที่พึงมีตามจังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และบุคคล
เป็นไปเพื่อความเหมาะสม ให้เกิดความพอดีและพอเพียงในสิ่งที่
ต้องคิดและกิจที่ต้องทำ เมื่อเราคิดได้และทำได้อย่างนั้น ความกด
ดันทั้งหลายก็จะหายไป กำลังใจก็ย่อมจะกลับมา ความเชื่อมั่นและ
ศรัทธาในตนเองก็จะเพิ่มขึ้น  เมื่อเรานั้นได้ทำหน้าที่และบทบาท
ของเรานั้นสมบูรณ์แล้ว ผลมันจะออกมาอย่างไร มันเป็นเรื่องของ
เหตุและปัจจัยที่เป็นไปในขณะนั้น สิ่งที่สำคัญจงถามตนเองว่า...
เราทำหน้าที่ของเราสมบูรณ์ดีแล้วหรือยัง....
...ในอ้อมกอดของขุนเขา..ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่๗...
...ทำให้ดู  อยู่ให้เห็น   เป็นตัวอย่าง
เป็นแนวทาง  วางไว้   ให้ศึกษา
ตามสติ    กำลัง   และเวลา
ผลออกมา  อย่างไร  อย่าไปแคร์
...ทำหน้าที่   ของตน  ให้ถูกต้อง
เปลี่ยนมุมมอง  ความคิด  จิตเผื่อแผ่
รักษาจิต  รักษาใจ  คอยดูแล
และหมั่นแก้  สิ่งผิด  ไม่คิดทำ
...มีสติ  ระลึกรู้  อยู่ทั่วพร้อม
และไม่น้อม  นำจิต  คิดใฝ่ต่ำ
สิ่งไม่ดี  ทั้งหลาย   อย่าไปทำ
อย่าถลำ  ในทางชั่ว  ด้วยมัวเมา
...จงมีความ  ละอายใจ  ในสิ่งผิด
ไม่ควรคิด  ปรุงแต่ง   อย่างโง่เขลา
ทำร่างกาย  จิตใจ    ให้โล่งเบา
จงเก็บเอา  แต่สิ่งดี   ที่มีคุณ
...จงภูมิใจ  ในสิ่งดี  ที่ได้สร้าง
บนหนทาง  ผ่านมา  ได้เกื้อหนุน
จงมีใจ   เมตตา       เกื้อการุณ
จงสร้างบุญ  สิ่งกุศล  บนหนทาง
...ทำชีวิต   วันนี้   ให้มีค่า
วันข้างหน้า  อาจไม่มี ที่จะสร้าง
ชีวิตนี้  อาจไม่ยาว   อย่างที่วาง
จงรีบสร้าง  รีบทำ    กรรมที่ดี
...สร้างคุณค่า  ราคา  ให้ชีวิต
นั่นคือกิจ   ที่ต้องทำ  ในวันนี้
บุญกุศล  คือหนทาง  สร้างความดี
ชีวิตนี้   คุณมี  แล้วหรือยัง
...จงทบทวน  ชีวิต  ที่ผ่านมา
สร้างคุณค่า   อะไร  ไว้เบื้องหลัง
สิ่งเหล่านี้   คุณนั้นมี  แล้วหรือยัง
มองกลับหลัง  ดูว่าตรง  หรือหลงทาง....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๑๔ น. ณ วัดถ้ำเสือฯ จ.กระบี่

104
วัดถ้ำเสือวิปัสสนา อ.เมือง จ.กระบี่
พุธที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.......การคิดและพิจารณาธรรมนั้น จะรู้ว่าสิ่งที่เรารู้และเข้าใจนั้นถูกต้องหรือไม่
ก็ต้องใช้การสงเคราะห์เข้าหาหลักธรรมทุกหมวดหมู่ในธรรมที่คิดว่ารู้และเข้าใจ
เพราะธรรมทั้งหลายนั้นจะไม่มีการขัดแย้งกัน ธรรมจะสงเคราะห์และอนุเคราะห์
ซึ่งกันและกันในทุกหมวดหมู่ และเมื่อได้ลองเทียบดูแล้วเกิดความขัดแย้งกัน
ให้หันกลับมาพิจารณาที่ความคิดของเราว่ามีความคิดเห็นคลาดเคลื่อนจากความ
จริงในจุดไหน มีอะไรเป็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้เรามีความคิดเห็นเป็นอย่างนั้น
อย่าไปวิจารณ์ธรรมตีความหมายขยายความในหัวข้อธรรมเพื่อให้รองรับความคิด
เห็นของเรา จงกลับมาดูที่ความคิดเห็นของเรา อย่าได้เข้าไปปรับเปลี่ยนหลักธรรม
หลักธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กับธรรมชาติอยู่ก่อนแล้ว แต่ความคิดเห็นของเรานั้น
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นความรู้และความเข้าใจที่เกิดจากทิฏฐิอัตตา
อย่าไปปรับหลักธรรมเข้าหาความคิดเห็นของเราเพื่อให้รองรับความคิดเห็นของเรา
จงปรับความคิดของเราเข้าหาหลักธรรม ความรู้ความเห็นทั้งหลายที่สงเคราะห์เข้า
ได้กับทุกหมวดหมู่ของหลักธรรมนั้น คือความคิดเห็นที่ถูกต้องตามหลักแห่งธรรม
ที่จะนำไปสู่ความรู้และเข้าใจในธรรมที่ยิ่งขึ้นไปในข้อธรรมทั้งหลาย....
...ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๖...
...ที่เห็น และเข้าใจ     อาจไม่ใช่  สิ่งที่คิด
เห็นถูก  หรือเห็นผิด    ใครตัดสิน  ในปัญหา
ความรู้  ความเข้าใจ     ที่มันได้    เกิดขึ้นมา
โดยธรรม  หรืออัตตา    หรือรู้เห็น  ตามเป็นจริง
ความรู้  และเข้าใจ       ที่มีใน    สรรพสิ่ง
รู้จริง   และเห็นจริง      เกิดจากเหตุ  และปัจจัย
สิ่งรู้  และสิ่งเห็น         สิ่งที่เป็น  เกิดขึ้นใหม่
ถูกผิด  เป็นอย่างไร     พิสูจน์ได้  โดยหลักธรรม
ปรับจิต  เข้าหาหลัก    โดยรู้จัก   จดและจำ
ปรับใจ  เข้าหาธรรม    ในการคิด  และวิจารณ์
สงเคราะห์ อนุเคราะห์  ให้มันเหมาะ กับเหตุการณ์
ธรรมะ   จะประสาน     ไปในทิศ   ทางเดียวกัน
เป็นเหตุ  เป็นปัจจัย     คล้อยตามไป  สมานฉันท์
ไม่มี   ขัดแย้งกัน       นั้นคือธรรม  ที่ถูกทาง
ปรับจิต  เข้าหาธรรม    และน้อมนำ ทุกสิ่งอย่าง
เทียบดู  ในแนวทาง    จะรู้เห็น  เป็นอย่างไร
ธรรมะ  ทุกหมวดหมู่    สงเคราะห์ดู  ให้เข้าใจ
รู้เห็น  เป็นเช่นไร        อนุเคราะห์  สงเคราะห์กัน...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๓๓ น. ณ วัดถ้ำเสือวิปัสสนา อ.เมือง จ.กระบี่     



105
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
......มีผู้คนจำนวนมากที่ปฏิบัติธรรมโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังปฏิบัติธรรมอยู่
เพราะเขาเหล่านั้นไม่ได้ไปยึดติดหรือสนใจในรูปแบบและความหมาย
เพียงแต่ดำเนินชีวิตไปอย่างมีสติในการคิดและการทำงาน มีสมาธิเกิด
ขึ้นโดยไม่รู้ตัว เป็นสมาธิตามธรรมชาติที่ทุกคนนั้นมีอยู่ เพราะความหมาย
ของคำว่าสมาธินั้นคือการมีสติแนบแน่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน
ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ สมาธิชนิดนี้เรียกว่า สมาธินอกระบบพุทธศาสนา
ไม่ได้เกิดจากภาวนา แต่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติจากการมีสติในการคิด
และการทำงาน เกิดจากการคิดและพิจารณาจิตจดจ่ออยู่ในเรื่องที่คิดและ
กิจที่กำลังทำ คนที่มีสมาธินั้นความคิดจะเป็นระบบและมีระเบียบในชีวิต
มีความรับผิดชอบในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ จัดระบบชีวิตของคนนั้นอย่างมี
ระเบียบ สามารถที่จะจดจำเรื่องราวต่างๆในอดีตได้ดี เพราะว่าสติระลึกรู้
สมาธิชนิดนี้เป็นสมาธิที่ใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตในประจำวัน
เป็นสมาธิพื้นฐานที่ทุกคนนั้นมีอยู่ มากบ้างน้อยบ้างตามกำลังของแต่ละคน
และสามารถที่จะนำมาปรับเข้าสู่สมาธิในระบบของพระพุทธศาสนาได้ง่าย
เพียงแต่เพิ่มกำลังของคุณธรรมลงไป คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำและการเปิดใจให้กว้างยอมรับฟังทุกอย่างทุกความเห็น
ของผู้อื่น นั้นคือการลดละมานะทิฏฐิและอัตตา ความยึดถือความยึดติดในตัวตน
สมาธิในระบบของพระพุทธศาสนานั้น ต้องเริ่มมาจากจิตที่เป็นกุศลและเป็นไป
เพื่อความจางคลายของกิเลส ตัณหา อัตตา ทิฏฐิมานะและอุปทานทั้งหลาย
ส่วนสมาธินอกระบบนั้น เป็นไปเพื่อการมีการได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา เป็นการ
เพิ่มซึ่งกิเลสตัณหา ทิฏฐิมานะ อัตตาและอุปทานให้มีมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่
ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายฝึกสมาธิเพื่ออยากจะมีอยากจะได้ไปในสมาธืเชิงพลังงาน
ต้องการซึ่งการมีพลังจิต ต้องการแสดงซึ่งฤทธิ์กันเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้เข้าใจ
คลาดเคลื่อนในเนื้อหาและความหมายของการปฏิบัติธรรมในระบบของพุทธศาสนา
ซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้งในข้อธรรมทั้งหลายดั่งที่เห็นและเป็นอยู่....
...ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๕...
.....ในอ้อมกอดของขุนเขา
ใต้ร่มเงาของมวลพฤกษา
บนจุดหนึ่งของกาลเวลา
จงมีสติเตือนตนเสมอว่า
มีความปรารถนาซึ่งสิ่งใด
ทบทวนสิ่งที่ได้ผ่านมาใหม่
ว่าสิ่งที่ตั้งความหวังไว้ในใจ
สิ่งนั้นก้าวไกลถึงไหนแล้ว
.....ทุกชีวิตย่อมมีจุดหมาย
อย่าปล่อยให้ผ่านไปโดยไร้ค่า
อย่าปล่อยวันเวลาให้สูญเปล่า
ชีวิตเรานั้นควรจะมีเป้าหมาย
ฝันนั้นอาจจะตั้งไว้ไม่ไกล
แต่เรานั้นต้องเดินไปให้ถึง
ทำซึ่งความฝันนั้นให้เป็นจริง
ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินจะกระทำ
.....หนทางสู่ความสำเร็จนั้น
อาจจะยังอยู่อีกยาวไกล
แต่จงอย่าได้หวั่นไหวท้อใจ
ขอเรามีความตั้งใจที่มั่นคง
เดินในเส้นทางที่ตรงสู่ความฝัน
ระยะทางสู่ความสำเร็จนั้น
มันย่อมสั้นลงมาทุกขณะ
อย่าไปสนใจในระยะของเส้นทาง
.....ทุกอย่างย่อมจะมีความสำเร็จได้
ถ้าหากเรานั้นมีความตั้งใจและพยายาม
เดินตามความฝันของเรานั้นต่อไป
ไม่ท้อถอยหรือหวั่นไหวกับอุปสรรคปัญหา
มีความศรัทธาและเชื่อมั่นในความดีที่กระทำ
สิ่งนั้นย่อมจะนำไปสู่ความสำเร็จของชีวิต
ในสิ่งที่ตนคิดและกิจที่ตนนั้นปรารถนา
เพราะว่าความสำเร็จของชีวิต...อยู่ที่จิตคิดว่าพอ...
.....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต.....
.....รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร.....
๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๑๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

106
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
  จันทร์ที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
........ใช้เวลาที่ว่างเว้นจากภาระกิจ มาคิดทบทวนถึงเรื่องราวที่ผ่านมา
มองหาซึ่งความประมาทและความผิดพลาดในความคิดและกิจที่กระทำ
ค้นหาเหตุและปัจจัยที่ทำให้มีความคิดอย่างนั้นและกระทำอย่างนั้นลงไป
พิจารณาถึงคุณถึงโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ในสิ่งที่ได้กระทำมา
เพื่อที่จะนำมาใช้ในการกำหนดชีวิตทิศทางที่จะก้าวเดินต่อไปในอนาคต
" อดีตนั้นคือบทเรียนของชีวิต " เอาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาเป็นครู สอนให้
รู้ถึงความถูกผิด ในสิ่งที่เคยคิดและเคยทำ สิ่งไหนที่เป็นไปในทางอกุศล
ไม่เป็นมงคลต่อชีวิต กิจนั้นก็ควรลดละเลิกงดเว้นซึ่งการกระทำในสิ่งนั้น
สิ่งไหนที่เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศล เป็นมงคลต่อชีวิต กิจนั้นควร
ที่จะกระทำต่อไปให้ยิ่งขึ้น  ชีวิตเราไม่อาจจะกำหนดทิศทางของที่มาได้
เพราะมันเป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว แต่เราสามารถจะกำหนดทิศทางที่จะไป
ในอนาคตได้ โดยการสร้างเหตุและปัจจัยในวันนี้ เพื่อไปสู่ที่ ที่เรานั้นต้อง
การไป ถ้าเรานั้นมีความพยายามมีความตั้งใจจริงที่จะกระทำในสิ่งที่คิดนั้น
หนทางสู่ความสำเร็จย่อมจะอยู่ไม่ไกลเกินฝัน ถ้าเรานั้นยังก้าวเดินต่อไป
ในทิศทางที่จะไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างถูกต้อง กระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ
...รางวัลแห่งความสำเร็จของชีวิต มิได้วางไว้ที่จุดเริ่มต้น แต่อยู่ที่ปลายทาง
ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ ชีวิตนี้ยังไม่สิ้นหวัง ทุกสิ่งที่ผ่านมานั้น มันไม่ใช่
ความล้มเหลวหรือความผิดพลาด มันเป็นบทเรียนหนึ่งของชีวิตที่ต้องเรียนรู้
จงเอาอดีตที่ผ่านมานั้นมาเป็นครู สอนให้เราเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับปัจจุบัน....
...ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๔...
...ดูหนัง ดูละคร       แล้วจงย้อน  มาดูตัว
กายใจ รู้ให้ทั่ว         มีสติ   ดำริการ
สติ  ระลึกรู้             ติดตามดู อยู่กับงาน
เอาธรรม นำประสาน   ควบคุมจิต  เมื่อคิดทำ
รู้ตัว  รู้ทั่วพร้อม        จิตนำน้อม  กุศลกรรม
ปลุกจิต  คุณธรรม     เพื่อกำหนด  ทิศทางไป
เริ่มต้น   ในวันนี้        ในสิ่งที่  ควรแก้ไข
ฝึกจิต  ฝึกกายใจ      นั้นให้มี  ความคุ้นเคย
คุ้นเคย ในความดี      ที่เคยมี  อย่านิ่งเฉย
เพียรเพ่ง อย่าละเลย  เร่งปลุกจิต  ปลุกศรัทธา
อย่ามัว นอนคิดฝัน     ผ่านคืนวัน  โดยไร้ค่า
อย่าให้  เสียเวลา      เสียโอกาส ที่พึงมี
ตั้งใจ และทำจริง       ทำในสิ่ง   ที่คิดนี้
ทำไป  ให้มันดี         ตามจังหวะ และเวลา
ปลายทาง ของชีวิต    สิ่งที่คิด  ที่ใฝ่หา
ต้องใช้  กาลเวลา      จึงจะเห็น  ความเป็นจริง
...เริ่มต้น  ในวันนี้      เริ่มความดี  ในทุกสิ่ง
ทำไป  ทำให้จริง       ย่อมเกิดผล ที่ตามมา
สร้างเหตุ สร้างปัจจัย   สะสมไว้  กันเถิดหนา
ปลุกจิต  ปลุกศรัทธา  เพื่อสร้างฝัน นั้นเป็นจริง...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๕๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี





107
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.....สิบกว่าวันที่ผ่านมานั้น เร่งสะสางงานที่ค้างคาอยู่ให้เสร็จตามกำหนด
เพราะต้องมีภาระกิจที่จะต้องเดินทางลงไปที่ภาคใต้ประมาณอาทิตย์หนึ่ง
จึงต้องสะสางให้เรียบร้อย เพราะไม่อยากให้ค้างคาไว้ให้ต้องคอยกังวลใจ
มงคลสูตรบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า..อะนากุลา จะ กัมมันตา เอตัมมังคะละมุตตะมัง..
การไม่ทำงานโดยไม่ปล่อยให้ค้างคา เป็นมงคลของชีวิต...เพราะจิตของเรานั้น
จะไม่ไปกังวลยึดติด เมื่อย้อนระลึกนึกคิดถึงสิ่งที่สร้างและที่ทำมา ซึ่งมันจะเป็น
ความภาคภูมิใจในความสำเร็จของสิ่งที่ได้กระทำมา ว่าเรานั้นได้ทำหน้าที่ของ
เรานั้นสมบูรณ์แล้ว เต็มที่แล้ว ในทางกลับกันถ้าเราได้ทำอะไรไว้และสิ่งที่ได้
กระทำนั้นมันยังไม่สำเร็จผล เมื่อระลึกนึกถึงสิ่งนั้น ความกังวลใจก็จะเกิดขึ้นในจิต
มันคล้ายกับมีความผิดความบกพร่องความเสียใจความน้อยใจในสิ่งที่เราทำไว้และ
ยังไม่สำเร็จผล มันจะเป็นความกังวลที่ตามหลอกหลอนจิตเราตลอดไป เพราะว่าสิ่ง
ที่ได้ทำไว้นั้นมันยังไม่จบสิ้น มันยังไม่ถึงความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ไม่ว่าเราจะกระทำ
การสิ่งใด เราควรมีเป้าหมายและขอบเขตของสิ่งที่เรากระทำ ตั้งความหวังและความพอใจ
ว่ามันควรจะอยู่ในจุดไหน โดยเอาเหตุและปัจจัยที่เรานั้นมีอยู่มาเป็นตัวคิดและพิจารณา
ตามกำลังความรู้ความสามารถของตน มันจึงจะถึงผลของความสำเร็จ ซึ่งบางครั้งเรานั้น
อาจจะคิดดีจนเกินไป เกินเหตุและปัจจัยที่ตนมี จึงไม่สามารถที่จะทำตามความคิดนั้นได้
มันจึงได้เพียงแต่คิดและจินตนาการฝันไป ไม่สามารถที่จะนำมากระทำให้เป็นรูปธรรมได้
การคิดงานแต่ละครั้งนั้นให้คิดจากต้นทุนกำลังของเรามีอยู่มาเป็นสมมุติฐานในการคิดงาน
เพราะเมื่อเราคิดแล้ว เราสามารถที่จะนำความคิดนั้นมาทำให้เป็นรูปธรรมได้ทันที เพราะว่า
มีเหตุและปัจจัยอยู่พร้อมแล้ว...เมื่อฝันไว้แล้วก็จะไปถึงซึ่งความฝัน...
...ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๓...
...มีมากมาย  หลายหลาก  มากที่คิด
เกิดจากจิต    ภายใน       นั้นใฝ่หา
เพราะมีความ   เชื่อมั่น      และศรัทธา
จึงนำมา   ให้คิด    จิตผูกพันธ์
...คิดจากเหตุ   ปัจจัย   ที่มีอยู่
โดยให้รู้   และเห็น   ในปัญหา
ตามกำลัง   หน้าที่    และเวลา
ให้รู้ว่า   สิ่งควรคิด     กิจควรทำ
...คิดในสิ่ง  ที่เรา   นั้นทำได้
อย่าได้ไป  ฝันใฝ่    ให้เลิศล้ำ
เพราะคิดดี  เกินไป   อาจไม่ทำ
ไม่อาจนำ   ทำความคิด  ให้เป็นจริง
...เพราะว่าขาด  เหตุปัจจัย  มาประกอบ
จึงไม่ชอบ   ประกอบใน   สรรพสิ่ง
เพราะคิดดี   จนเกินไป    ในความจริง
ทำให้สิ่ง    ที่คิด   ผิดเวลา
...เมื่อคิดแล้ว   ต้องทำ   ตามความคิด
โดยพินิจ   เหตุผล   เข้าค้นหา
วิธีการ    ทำอย่างไร  จะได้มา
จงค้นหา  ถึงรูปแบบ   วิธีการ
...การทำงาน  ทุกอย่าง   ต้องวางแผน
มีแบบแปลน  กลืนกลม    ประสมสาน
เพื่อให้เกิด   ความสำเร็จ  ขึ้นในงาน
ต้องผ่านการ  วางแผน     อย่างแม่นยำ
...มีสติ  มองงาน    ให้รอบครอบ
และวางกรอบ  ติดตาม  อย่างสม่ำ
มีสติ  อยู่กับงาน    การกระทำ
คิดแล้วนำ  ทำให้เห็น  เป็นความจริง
...ไม่ต้องคิด  ให้ดี  ให้สวยหรู
ให้คิดอยู่    กับเหตุ  สรรพสิ่ง
คิดแล้วทำ   ทำให้เห็น  เป็นความจริง
อย่าคิดทิ้ง   แล้วไม่ทำ   จะช้ำใจ...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมระไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๑๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี


 


108
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
    เสาร์ที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
......จิตเฉื่อยชาขาดความกระตือรือร้น อันเป็นเหตุผลและที่มาจาก " นิพพิทาญาณ  "
ความเบื่อหน่ายในรูปนามทั้งหลาย ทำให้ไม่อยากจะทำอะไร นอนดูร่างกายและลมหายใจ
ไม่อยากจะเคลื่อนไหว นอนดูกายดูจิตพิจารณาธรรม น้อมนำเอาพระไตรลักษณ์มาพิจารณา
ปรับเข้าหาหลักของอริยสัจ ๔ จนเห็นที่มาและที่ไปในอารมณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหลายนั้น ปลุกความ
เชื่อมั่นและศรัทธาให้กลับมาอีกครั้ง เติมพลังให้แก่ชีวิตปลุกจิตปลุกใจให้ตื่นพลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
เห็นความเป็นอนิจจังของอารมณ์ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป เมื่อใจเข้าไปยึดถือในอารมณ์
เหล่านั้น มันก็ทำให้เกิดความทุกข์ ธรรมะนั้นคือสัจจธรรมที่เป็นจริง แต่สิ่งที่เป็นอนัตตานั้นคือสภาวะ
การตั้งอยู่ของธรรมทั้งหลายทั้งปวง ตามความเหมาะสมของ จังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และบุคคล
ตามเหตุและปัจจัยในขณะนั้น ธรรมะนั้นจึงไม่มีคำว่าดีที่สุดและถูกต้องที่สุด แต่จะมีความเหมาะสมที่สุด
ด้วยองค์ประกอบของเหตุและปัจจัย ธรรมะทั้งหลายจึงเป็นธรรมะสัปปายะ คือธรรมะที่เหมาะสมกับ จังหวะ
เวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคล ตามเหตุตามผลของพละกำลังและอินทรีย์ที่ได้สะสมมา คำว่าวาสนา
หรือบารมีนั้น เกิดจากการสะสมบำเพ็ญมาจากอดีตชาติและปัจจุบันชาติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญแตเกิดจาก
กรรมเก่าที่เราได้กระทำมา ทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม สิ่งนั้นจึงส่งผลมาสู่ปัจจุบันทำให้มันเป็นไป
ทุกอย่างล้วนมีที่มาและที่ไป มีเหตุและปัจจัยเป็นตัวทำให้เกิดขึ้นมา อย่างที่รู้ ที่เห็นและที่เป็นอยู่ในขณะนี้.....
.....ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๒...
...ตามดู  ตามรู้   ในจิต        พินิจ   ใคร่ครวญ  ศึกษา
หาเหตุ  ของความ  เป็นมา     มองหา  ให้เห็น  ความจริง
จิตนั้น   มีการ    เกิดดับ        สลับ    ไปมา    ไม่นิ่ง
จิตนั้น  ก็คล้าย  กับลิง          กลอกกลิ้ง  หวั่นไหว  ไปมา
จึงต้อง  หมั่นฝึก  สติ            ดำริ   เข้าไป   ค้นหา
เหตุผล  ที่ไป   ที่มา            ปัญหา  นั้นคือ  อะไร
รู้เหตุ  ปัจจัย   ที่เกิด            ล้ำเลิศ  กว่ารู้   สิ่งไหน
รู้กาย  รู้จิต   รู้ใจ                 รู้ใน  รู้นอก  ครบครัน
มองหา  ซึ่งเหตุ  และผล       ตัวตน  ภายใน  เรานั้น
ตามดู   กิเลส    ให้ทัน         สิ่งนั้น  คือกิจ   ควรทำ
กิเลส   นั้นมี    มากมาย        สองฝ่าย  คือสูง  และต่ำ
ปรุงแต่ง  ตามบุญ  และกรรม   ชี้นำ   ไปใน  เส้นทาง
รู้เท่า   รู้ทัน   ความคิด          ทำจิต   ทำใจ  ให้ว่าง
เดินใน  เส้นทาง  สายกลาง    ทุกอย่าง  มีธรรม  นำพา
ดำเนิน  ตามแนว  แห่งมรรค    ตามหลัก  มรรคแปด  ศึกษา
ความชอบ  ธรรมที่  มีมา        รักษา   กายใจ  ในธรรม
ธรรมะ  นั้นคือ  ที่พึ่ง             ลึกซึ้ง   ประเสริฐ  เลิศล้ำ
ธรรมะ  นำทาง  สร้างธรรม       สุขล้ำ  มีธรรม   คุ้มครอง
รักษา  นำพา    กายจิต          ชีวิต    จะไม่   เศร้าหมอง
เดินไป  ตามมรรค ครรลอง       คุ้มครอง  กายใจ  ในธรรม...
          ...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
          ...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๒๒ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

109
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี 
    ศุกร์ที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔
........บางครั้งรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับความวุ่นวายของสังคม
จนอยากจะหยุดลมหายใจ เบื่อกับการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
แต่เมื่อจิตระลึกรู้ได้ ว่ายังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ยังไม่ได้ทำ
ชีวิตจึงต้องดำเนินต่อไป เพื่อทำในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำหรือทำไป
แล้วแต่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล อารมณ์แห่ง " นิพพิทาญาณ "ที่เกิด
จากการพิจารณา เห็นทุกข์เห็นโทษของสิ่งที่เป็นรูปนามทั้งหลาย
แล้วเกิดการเบื่อหน่าย อยากจะหลุด อยากจะพ้นไปจากรูปนาม
ซึ่งถ้าตามดูตามรู้ไม่ทันนั้น มันอาจจะทำให้เราหลงไปในอารมณ์
เบื่อหน่ายสังคมและการมีชีวิตอยู่ต่อไป สติและสัมปชัญญะเท่านั้น
ที่จะเข้าไปแก้ไข ให้รู้เท่าทันซึ่งอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้นและตั้งอยู่
จิตรับรู้ด้วยการพิจารณาย้อนกลับไปหาพระไตรลักษณ์หลักของความ
เป็นจริง ว่าสรรพสิ่งนั้นล้วนมีที่มาและมีที่ไป พิจารณาลงไปในอริยสัจ ๔
เห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง ความไม่เที่ยง นำมาซึ่งทุกข์ เพราะไม่สามารถ
ที่จะไปบังคับให้มันคงอยู่ตลอดไปมิได้ นั่นคือพระไตรลักษณ์ ทุกข์คือโจทย์
ที่ต้องนำมาคิดพิจารณา ให้เห็นที่มาต้นเหตุของมัน นั่นคือสมุทัย พิจารณาต่อไป
ให้เห็นความเสื่อมสลายและการดับไปของมัน นั่นคือนิโรธ ตอบโจทย์ได้ทุกปัญหา
แล้วนำสิ่งที่ได้จากการคิดพิจารณาซึ่งเป็นเพียงนามธรรม มาลงมือปฏิบัติให้เห็นจริง
สิ่งนั้นเรียกว่ามรรค นี้คือหัวใจหลักของนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่ต้องคิดพิจารณา
และต้องลงมือกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ นี้คือสิ่งที่ควรคิดและกิจที่ควรทำ......
....ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๑...
...ในบางครั้ง   ท้อแท้    และเบื่อหน่าย
ความวุ่นวาย      ที่ได้    ไปพบเห็น
ความอยากมี   อยากได้  และอยากเป็น
สิ่งที่เห็น       ล้วนเป็น   สิ่งมายา
...อยากจะหลบ  ให้ไกล   ไปให้พ้น
เบื่อผู้คน    เบื่อกิเลส    เบื่อปัญหา
และเบื่อความ  วุ่นวาย    ที่ตามมา
นิพพิทา    เบื่อหน่าย     ในรูปนาม
...แต่เมื่อมี    สติ          ระลึกรู้
และตามดู    ตามเห็น     ไม่มองข้าม
ดูอารมณ์   แล้วพินิจ       เฝ้าติดตาม
เห็นรูปนาม  เกิดดับ        ธรรมดา
...เห็นถึงความ  ไม่เที่ยง   ของทุกสิ่ง
เห็นความจริง   ว่ามันเป็น   เช่นนั้นหนา
พระไตรลักษณ์  คือหลัก   แห่งธรรมา
เกิดขึ้นมา    ตั้งอยู       แล้วดับไป
...อนิจจัง    ทุกขัง      อนัตตา
มันเป็นมา    ทุกยุค     ทุกสมัย
และก็ยัง     สืบต่อ      อยู่เรื่อยไป
ต้องฝึกใจ   ให้ยอมรับ  กับความจริง
...โจทย์คือทุกข์  ให้เรา  ได้ศึกษา
ถึงที่มา   และที่ไป    ในทุกสิ่ง
ค้นหาเหตุ  ที่เป็นไป   ในความจริง
เห็นในสิ่ง   ที่เป็นเหตุ  ให้เกิดมา
...เห็นที่เกิด  แล้วเข้าใจ  ในทุกขัง
อนิจจัง    ความไม่เที่ยง   คือปัญหา
ไม่สามารถ  บังคับได้       อนัตตา
รู้ที่มา     เห็นที่ดับ     สลับกัน
...เห็นซึ่งทุกข์  สมุทัย   และนิโรธ
เห็นทุกข์โทษ  เห็นภัย   ในสิ่งนั้น
เห็นมรรคา   ทางไป      ให้แก่มัน
จิตก็พลัน    สงบ         พบความจริง....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๒๑ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

110
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
......ดั่งที่เคยกล่าวไว้ว่า...วิถีโลกและวิถีธรรมนั้นต้องจะเดินคู่กันไป...
เพราะว่าเราทั้งหลายนั้น ต้องใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม มิอาจจะอยู่อย่าง
โดดเดี่ยวได้ ต้องมีการอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
ไม่มากก็น้อย ตามจังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และตัวบุคคล เป็นเหตุและผล
ซึ่งกันและกัน โลกและธรรมจึงต้องเดินคู่กันไป แต่คนส่วนใหญ่นั้นมักจะปฏิเสธ
ธรรม เพราะคิดว่าเป็นเพียงเรื่องของศาสนา เป็นลัทธิ เป็นความเชื่อเฉพาะตน
ทั้งที่จริงแล้วธรรมะนั้นคือธรรมชาติแห่งความเป็นจริง เป็นสิ่งใกล้ตัวที่เราพบเห็น
อยู่เป็นประจำในชีวิตของเรา ธรรมะคือความเป็นจริงทั้งหลายในโลกนี้เป็นสัจจธรรม
และสิ่งที่จะนำเข้าสู่ธรรมชาติแห่งความเป็นจริงนั้นก็คือคุณธรรมจิตสำนึก ความรู้สึก
นึกคิด จิตที่ยอมรับซึ่งความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหลายนั้น ความมีใจเป็นกลาง
ไม่เข้าข้างความรู้สึกนึกคิดเพื่อผลประโยชน์ของตนจนเกินไป ความพึงพอในในสิ่งที่มี
ในสิ่งที่เป็นและสิ่งที่ควรจะได้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติศาสนาไหนก็ตาม ล้วนแล้วมุ่งหวัง
ที่จะชี้นำให้คนกระทำความดี ให้ทุกคนมีจิตสำนึกแห่งคุณธรรม เพื่อความสงบสุขร่มเย็น
เพื่อความเป็นไปโดยสันติ สิ่งนั้นคือแก่นแท้ของทุกศาสนา....
...ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๑๐...
....ฝากไว้เป็น  ข้อคิด   ให้ศึกษา
เรียนรู้ค่า  แห่งชีวิต    ทิศทางใหม่
สิ่งที่รู้   สิ่งที่เห็น       ที่เป็นไป
อาจมิใช่  สิ่งที่คิด      พินิจดู
....ควรตั้งจิต     ตั้งใจ   ให้เปิดกว้าง
มองทุกอย่าง    ที่เห็น   เพื่อเรียนรู้
เอาทุกอย่าง    มาพินิจ  คิดเป็นครู
จงเฝ้าดู    และวิเคราะห์  ให้เหมาะควร
....มองให้เห็น   ความเป็นจริง  สิ่งทั้งหลาย
เห็นความหมาย    ชั่วและดี    นั้นมีส่วน
ทำในสิ่ง   ทีดี    และที่ควร
ฝึกทบทวน   นึกคิด   จิตใฝ่ดี
....คุณธรรม  นั้นจงมี   ในชีวิต
รู้ถูกผิด    คุณธรรม     นั้นนำชี้
จิตสำนึก  ส่วนลึก       นั้นใฝ่ดี
เมื่อมันมี   โอกาส      พึงกระทำ
....โลกและธรรม  นำชี้  บทชีวิต
ก่อเกิดกิจ  กันไป    อย่างสม่ำ
สิ่งที่คิด   สิ่งที่เห็น   นั้นเป็นธรรม
เป็นประจำ  ในชีวิต   คิดใคร่ครวญ
....เพราะธรรมะ   นั้นคือ   ธรรมชาติ
ตามโอกาส  และจังหวะ    ตามสัดส่วน
สิ่งที่ทำ   สิ่งที่คิด    กิจที่ควร
ทุกสิ่งล้วน   คือธรรม  ตามความจริง
....ธรรมะนั้น   อยู่ใกล้  ในชีวิต
ถ้าหากจิต   ของเรา  นั้นหยุดนิ่ง
ก็จะรู้  และเห็น      ความเป็นจริง
สรรพสิ่ง  ล้วนคือธรรม  ที่นำพา
....คือความจริง  ทั้งหลาย  ในโลกนี้
สิ่งที่มี    สิ่งที่เห็น  ได้ศึกษา
คือความจริง   ใช่สิ่งหลอก  โลกมายา
คือธัมมา   ธรรมชาติ   ที่เป็นไป
....มันคือกฎ  ของโลก  ที่เป็นอยู่
มันเป็นคู่   กันมา   ทุกสมัย
โลกและธรรม  คู่กัน  นั้นเรื่อยไป
เกิดจากใจ    จากจิต  ที่คิดจริง
....เมื่อใจรับ   ความเป็นจริง   สิ่งทั้งหลาย
พบความหมาย  ในชีวิต    สรรพสิ่ง
ก็จะเห็น  โลกธรรม    ตามความจริง
สรรพสิ่ง   มันก็เป็น   เช่นนั้นเอง...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต..
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๐๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี



111
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
........ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ล้วนมีที่มาและมีที่ไป
มีเหตุและปัจจัยในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป
มีการเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา มิอาจจะตั้งอยู่
ได้นานตลอดไป บุคคลจึงควรทำใจให้รับกับสภาพ
ที่จะแปรเปลี่ยนไปทั้งหลายนั้นให้ได้ อย่าไปยึดติด
มากเกินไปกับภาพแห่งอดีตทั้งหลายที่ได้จดจำมา
เพราะกาลเวลานั้นได้ผ่านเลยไป สิ่งทั้งหลายย่อม
แปรเปลี่ยนตาม ซึ่งเราไม่อาจห้ามไม่ให้มันเปลี่ยน
แปลงไปไม่ได้ เพราะทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ย่อมเป็น
ไปตามกฎของพระไตรลักษณ์ คือความไม่เทียงแท้
ที่นำมาให้เกิดความทุกข์ทั้งหลายเพราะไม่อาจจะเข้า
ยึดถือให้มันคงสภาพอยู่เช่นเดิมตลอดไปได้ ทุกอย่าง
ย่อมจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่มากไม่น้อยตามระยะเวลา
บุคคลจึงควรฝึกทำใจให้รับกับสภาพที่จะเกิดขึ้นได้
ต่อการสูญเสีย การพลัดพราก การจากไปและการเสื่อม
สลายที่จะมาถึง ซึ่งวันหนึ่งนั้นย่อมจะต้องเกิดขึ้นกับเรา
และเมื่อเราทำใจยอมรับได้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้น เมื่อถึง
วันที่สิ่งนั้นมาถึง ใจของเรานั้นย่อมจะทุกข์น้อยลง....
..............................................................
...ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๙...
.....สรรพสิ่ง    ตั้งอยู่ใน      พระไตรลักษณ์
ซึ่งเป็นหลัก     ธรรมชาติ     ควรศึกษา
ความไม่เที่ยง  แปรเปลี่ยน    อนิจจา
ย่อมนำมา     ซึ่งความทุกข์  ไม่สุขใจ
.....ทุกข์เพราะว่า  ใจนั้น    ไปยึดมั่น
ไม่แปรผัน    ยอมรับ    กับสิ่งใหม่
ไม่ยอมรับ   กับสิ่งที่   แปรเปลี่ยนไป
ทำให้ใจ     นั้นทุกข์   ไม่ผ่อนคลาย
.....กาลเวลา  หมุนเวียน  แปรเปลี่ยนผัน
ทุกสิ่งนั้น   ย่อมจะมี     เสื่อมสลาย
มีเกิดขึ้น   ตั้งอยู่       แล้วก็ตาย
ทุกสิ่งหาย   ไปกับ    กาลเวลา
.....วันเวลา  แห่งชีวิต  นี้สั้นนัก
ควรรู้จัก    เสริมสร้าง    ซึ่งคุณค่า
ทำชีวิต    ของตนนี้      มีราคา
สร้างคุณค่า ต่อชีวิต     ด้วยจิตดี
.....วันเวลา   ผ่านไป   ควรใคร่คิด
ถึงชีวิต    ที่ผ่านมา     จนวันนี้
ว่าเคยทำ   อะไรบ้าง   ในสิ่งดี
ชีวิตนี้      มีคุณค่า     มารึยัง
.....อย่าปล่อยให้  ผ่านไป  โดยไร้ค่า
วันเวลา   นั้นไม่อาจ   จะคืนหลัง
ชีวิตนี้     ใช่จะอยู่     อย่างจีรัง
สิ่งที่หวัง  และตั้งใจ   อาจไม่มา
.....วันพรุ่งนี้   อาจไม่มี   ให้ได้เห็น
อาจไม่เป็น  อย่างที่ใจ   ปรารถนา
สิ่งที่หวัง    และตั้งใจ    อาจไม่มา
วันเวลา     หมุนเวียน   และเปลี่ยนไป
.....วันเวลา   ผ่านไป    ไม่หยุดนิ่ง
สรรพสิ่ง    เปลี่ยนตาม   ยุคสมัย
เราจึงควร   ฝึกจิต       และฝึกใจ
ให้รับได้   ในความเป็น   เช่นนั้นเอง....
....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
....รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๑๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี



112
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
......กล่าวบอกแก่ผู้คนที่มาหาเพื่อสนทนาธรรมเสมอว่า...
...การปฏิบัติธรรมนั้น มันคล้ายกับการปลูกต้นไม้ ผู้ปลุกต้องมี
ความอดทนที่จะรอให้เห็นผล เฝ้าดูการเจริญเติบโตของต้นไม้นั้น
รอจนถึงวันที่มันแตกดอกออกผล ให้เราได้ชม ได้ใช้หรือได้กิน
ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น มันต้องใช้ระยะเวลาแห่งการเฝ้ารอคอยหมั่น
ดูแลและบำรุงรักษา มิให้ต้นไม้นั้นมีอันตรายจากสิ่งที่จะมารบกวน
ส่วนการเจริญเติบโตของต้นไม้นั้น มันเป็นไปตามกาลเวลาและอายุ
ของมัน...การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน มันต้องใช้ระยะเวลาแห่งการสะสม
อบรมอินทรีย์ให้แก่กล้า หมั่นปฏิบัติฝึกฝนอยู่เนืองนิจ จนเป็นกิจวัตร
ประจำตัว จากสิ่งแปลกใหม่กลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคยและกลายเป็นอุปนิสัย
ซึ่งมันก็ต้องใช้ระยะเวลาแห่งการกระทำ แต่ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่นั้นต่าง
หวังผลสำเร็จกันในระยะเวลาที่รวดเร็ว ไม่มีความอดทนในการประพฤติปฏิบัติ
หวังผลตอบรับในระยะเวลาอันสั้น และเมื่อไม่เป็นไปตามที่ใจของตนต้องการ
จึงทำให้ละทิ้งการปฏิบัติ โดยมักจะอ้างกันว่า...ไร้วาสนา ไร้บารมี...ทั้งนี้เกิด
จากการที่ไม่มีพยายามและความอดทน หวังผลสำเร็จจากการปฏิบัติโดยเร็วไว
...การปฏิบัติธรรมจึงคล้ายกับการปลูกต้นไม้ หน้าที่ของผู้ปลูกคือการบำรุงรักษา
การเจริญเติบโตนั้น มันเป็นไปตามธรรมชาติของต้นไม้แต่ละชนิดนั้น มันมีระยะ
เวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างนั้น มันต้องใช้ระยะเวลาแห่งการรอคอย....
.............................................................................................
.....ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๘.....
...อดทน  หมั่นฝึกฝน     หมั่นฝึกตน   ให้เคยชิน
การอยู่   และการกิน      ให้เรียบง่าย   ไม่วุ่นวาย
เรียบง่าย  ไร้รูปแบบ       แต่อิงแอบ    ด้วยความหมาย
สาระ    มีมากมาย         ไม่ยึดติด     รูปแบบกัน
เรียบง่าย  ไม่มักง่าย       คือความหมาย  ในตัวฉัน
สาระ   เป็นสำคัญ          ที่มุ่งหมาย  ให้มันมี
เรารู้   อยู่แก่จิต             ถ้าพินิจ    ให้ถ้วนถี่
ที่คิด   และที่มี              ต่างก็รู้   อยู่แก่ใจ
อยู่ที่   จิตสำนึก            ความรู้สึก  จากข้างใน
มากน้อย  ขนาดไหน       สิ่งที่คิด   กิจที่ทำ
ชั่วดี  ใจนั้นรู้                 มันขึ้นอยู่  กับเวรกรรม
อยู่ที่   คุณธรรม             มีหรือไม่   ในใจตน
รู้ชั่ว    ก็ควรละ              ใช้ตรรกะ    และเหตุผล
รู้ดี    มีอดทน                รักษาไว้    ให้ยืนยาว
เรื่องมาก  ไม่มากเรื่อง      ลดความอยาก ทุกเรื่องราว
ทำใจ   สะอาดขาว          ว่างกิเลส  และอัตตา
มองสิ่ง   ที่มันเป็น           มองให้เห็น  ซึ่งเนื้อหา
ฝึกฝน     เริ่มต้นมา         จากความคิด  ด้วยจิตใจ
รอคอย  อย่างอดทน        หมั่นฝึกฝน   กันต่อไป
ยาวนาน  ขนาดไหน         อย่าได้ท้อ   จงรอคอย
ขันติ  ความอดทน            หมั่นฝึกฝน  มิท้อถอย
สิ่งหวัง  ตั้งใจคอย           ความสำเร็จ   ใช้เวลา....
.....เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนนาดี-ด้วยไมตรีจิต.....
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร-คนรอนแรม...
๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๕๓ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี       


113
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบรี
จันทร์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ๒๕๕๔
........วันเวลาแห่งชีวิตของทุกคนนั้นสั้นลงทุกขณะ
ทุกชีวิตกำลังเดินไปสู่ความตาย ช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่
กับเหตุและปัจจัยของแต่ละคนที่ทำมา ซึ่งแตกต่างกัน
แต่ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วนั้น ทุกคนก็ไม่อาจจะหนีความตาย
เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตนั้นมันสั้นลงทุกวินาทีที่ผ่านเลยไป
จงใช้เวลาที่เหลืออยู่นั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าได้ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่า
โดยไร้สาระ ทบทวนใคร่ครวญในสิ่งที่ผ่านมา ว่าเรานั้นได้สร้าง
ได้ทำอะไรมาบ้างแล้ว เรามีความภาคภูมิใจในสิ่งที่เราได้สร้าง
ได้ทำมาแล้วหรือไม่ ชีวิตนี้มีความทรงจำที่ดีเก็บไว้แล้วหรือยัง
" ดูหนังดูละคร แล้วจงย้อนมาดูตัว " จงมีสติระลึกรู้ในสิ่งที่ผ่านมา
มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ในสิ่งกำลังเป็นไป มองอะไรให้มองทั้งสองด้าน
ทั้งที่เป็นคุณและเป็นโทษ ที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ทั้งสองสิ่ง
มองให้เห็นความเป็นจริง มองทุกสิ่งด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างความคิด
ของตนเอง โดยเอาความชอบหรือความไม่ชอบของตนเป็นตัวตัดสิน
ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่จิต จงฝึกคิดและฝึกทำ......
...ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๗...
...รุ่งอรุณ   วันใหม่   ฟ้าใสสด
ฟ้างามงด   ด้วยแสงทอง   ที่ส่องฉาย
ลมอ่อนอ่อน  พัดผ่าน       ให้สบาย
ปลุกใจกาย   ให้ตื่น         รับตะวัน
...เมื่อแสงเงิน   แสงทอง   ส่องขอบฟ้า
เหล่าวิหก   นกกา     ต่างสุขสันต์
ต่างส่งเสียง  สื่อสาร   ประสานกัน
ต้อนรับวัน   ฟ้าใหม่    ที่ใกล้มา
...บรรยากาศ  เป็นใจ   ให้เหมาะสม
ฝากสายลม  ผ่านร่มไม้   จากภูผา
ร่ายกวี   สุนทร   เป็นกลอนมา
ส่งฝากฟ้า  ผ่านสายลม   ให้ชมกัน
...ชีวิตนี้   มีอะไร   มากมายนัก
หากรู้จัก   ค้นคิด   จิตสร้างสรรค์
ไม่ปล่อยเปล่า  ล่วงไป  ในคืนวัน
อย่าให้มัน   ผ่านไป   โดยไร้การ
...จงทบทวน  ถึงชีวิต  ที่ผ่านมา
จะได้เห็น   คุณค่า    มหาศาล
จงเก็บเกี่ยว   สิ่งที่พบ   ประสพการณ์
สิ่งที่ผ่าน    มาพินิจ      คิดใคร่ครวญ
...เพื่อจะเดิน  ก้าวไป    สู่ข้างหน้า
วันเวลา    ผ่านไป   ไม่กลับหวน
ทำอะไร    ให้ใจรู้    สิ่งคู่ควร
จงทบทวน  ฝึกจิต    คิดให้เป็น
...จงรู้จัก   แยกแยะ  ดีและชั่ว
สิ่งที่ตัว  นั้นได้รู้     และได้เห็น
สิ่งที่ทำ  สิ่งที่คิด    จิตที่เป็น
มองให้เห็น  ตัวตน  ค้นให้เจอ
...มีสติ   รู้ตัว   อยู่ทั่วพร้อม
มีใจน้อม  สู่ธรรม   ไม่พลั้งเผลอ
รู้เท่าทัน  กับจิต    เมื่อเจอะเจอ
รู้เสมอ    รู้ทัน    กับอารมณ์
...รู้อะไร    ก็ไม่สู้  เท่ารู้จิต
รู้ความคิด   สิ่งผิด  จิตนั้นข่ม
อะไรดี    อะไรชอบ   จงชื่นชม
ฝึกอบรม  ข่มจิต   ให้คิดดี...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๖. มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๔๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

114
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.........ในสังคมที่แสนจะวุ่นวาย การแก่งแย่งแข่งขัน การเอารัดเอาเปรียบกัน
การแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง ล้วนเกิดจากเหตุผลของความไม่เพียงพอ
สาเหตุแห่งการไม่เพียงพอนั้น ก็เพราะว่าเกิดจากการไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น
กับคนที่มีมากกว่า อยากจะมีอยากจะได้ให้เท่ากับเขาหรือมีมากได้มากกว่าเขา
และคนที่มีมากแล้วก็ยังอยากจะมีให้มากยิ่งๆขึ้นไปอีก เพราะใจของคนเหล่านั้น
ไม่รู้จักคำว่า " พอ " มันจึงนำมาซึ่งการแก่งแย่งแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบกัน
เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ของตน จึงต้องดิ้นรนขวนขวายกันไปไม่มีวันหยุด
เพราะเขาคิดว่าชีวิตของเขานั้นยังไม่ประสพกับความสำเร็จดั่งที่เขาตั้งใจไว้
" ความสำเร็จของชีวิต อยู่ที่จิตคิดว่าพอ " คือพอเพียงและพอใจในสิ่งที่มี
และในสิ่งที่เป็น พึงพอใจในอัตภาพของคนเอง ชีวิตที่เหลือคือทำหน้าที่ของตน
ไปจนสิ้นอายุขัย ความสุขความสบายใจก็จะเกิดขึ้นแก่เขาเหล่านั้น เพราว่าใจมัน
บอกว่า  " พอแล้ว " .....
.....ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๖.....
...เมื่อใด  ที่ใจพอ         จะไม่ก่อ   ซึ่งปัญหา
ดิ้นรน    และไขว่คว้า      ให้ได้มา    ให้ได้มี
พอใจ    และพอเพียง     ในการเลี้ยง   ชีวิตนี้
พอใจ    ในที่มี              เพียงเท่านี้   ก็สุขใจ
ใจสุข     ใจสงบ            ก็จะพบ    กับสิ่งใหม่
ชีวิต    แปรเปลี่ยนไป      เพราะว่าใจ   นั้นเพียงพอ
ความทุกข์  ความกังวล     ก็หลุดพ้น    ไม่มีต่อ
เพราะใจ  นั้นเพียงพอ      จึงไม่ก่อ    ความวุ่นวาย
ลาภยศ    และสรรเสริญ    ถ้าหลงเพลิน  จะเสียหาย
ดิ้นรน     จนวันตาย         เพราะมุ่งหมาย  ให้มันมี
สุขทุกข์   ของคู่กัน         เป็นอย่างนั้น    ในโลกนี้
ลาภยศ    ที่เคยมี           มีวันที่   จะเสื่อมไป
คำชม    คำสรรเสริญ        ที่เคยเพลิน   พึงพอใจ
นินทา    ว่ากันไป            เปลี่ยนแปลงได้  ทุกคืนวัน
...นี้คือ    โลกธรรม          เป็นกฏกรรม  เสมอฉันท์
เป็นอยู่    ของคู่กัน           เป็นอย่างนั้น  ตลอดมา
เมื่อไหร่   ใจนั้นพอ          จะไม่ก่อ  ซึ่งปัญหา
มานะ      และอัตตา        และตัณหา  จะจางลง
ชีวิต     จะพบสุข            ไม่ไปทุกข์  เพราะความหลง
ทุกอย่าง  จะจบลง            ถ้าหากปลง  ให้ใจพอ....
..........ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต.........
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร-คนรอนแรม..
๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๓ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

115
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
......" ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ปล่อย "เป็นคติธรรมที่ใช้
ในการสอนศิษย์และคนใกล้ชิดทั้งหลาย เพื่อที่จะได้รู้พื้นฐานความคิด
และจิตสำนึกของเขาเหล่านั้น ว่ามีพื้นฐานเป็นอย่างไร โดยการกระทำ
ทางกายให้เห็น ทำให้เป็นตัวอย่าง ไม่ต้องกล่าวไม่ต้องสอนด้วยวาจา
ในเบื้องต้น บุคคลผู้มีจิตสำนึกที่ดี เขาจะจดจำแบบอย่างที่ดีที่เขาได้เห็น
เอามาเป็นตัวอย่าง แล้วลงมือกระทำตาม ส่วนบุคคลที่มีจิตสำนึกปานกลาง
เขาจะจดจำแบบอย่าง แต่ยังไม่ลงมือกระทำ ส่วนคนที่มีจิตสำนึกต่ำ เขาจะไม่
จดจำ ไม่สนใจและไม่เอาไปเป็นแบบอย่าง เรียกว่าการสอนโดยไม่ต้องสื่อภาษา
ทางวาจา แต่เป็นการกระทำทางกายให้เห็น
......เมื่อเรารู้พื้นฐานความคิดและจิตสำนึกของเขาแล้ว เราจะได้กำหนดบทบาท
และหากุศโลบายที่จะมาใช้ให้เหมาะกับเขา เรื่องเหล่านี้เป็นหลักจิตวิทยาที่ง่ายๆ
ที่บางครั้งเรานั้นอาจจะมองข้ามไป ไม่ได้นำมาใช้และพิจารณา ส่วนใหญ่เราจะใช้วาจา
เพื่อเสาะหาข้อมูล ความคิดและจิตสำนึกของผู้อื่น มิได้สังเกตุพฤติกรรมของเขา
เพราะการใช้วาจานั้น เราสามารถที่จะปั้นแต่งและจินตนาการออกมาเป็นคำพูดได้
ซึ่งขึ้นอยู่กับการศึกษาและสำนวนโวหารประสพการณ์ในการพูดของเขาที่ออกมา
บางครั้งมันเป็นมายามิใช่ของจริงเสมอไป แต่พฤติกรรมทางกายที่เขาเคยชินนั้น
มันจะแสดงถึงตัวตนที่แท้จริงของเขา....
....ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๕....
เก็บมา  ใคร่ครวญ  ขบคิด...    ตั้งจิต  สนใจ   ใฝ่หา
เรียนรู้   กับโลก     มายา...    ค้นหา  ให้เห็น   ตัวต