...รำพึงธรรมตามรายทาง ปฐมบท...
...การปฏิบัติธรรม เป็นการกระทำที่
เริ่มจากจิต จากความคิด แล้วแสดง
ออกมาซึ่งทางกาย การปฏิบัติธรรมนั้น
มิใช่เป็นไปเพื่อความโอ้อวด เพื่อให้
ผู้อื่นเขายกย่องสรรเสริญชื่นชม
แต่เป็นการอบรมกายและจิตของเรา
โดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่
มีความระลึกรู้และมีความรู้ตัวทั่วพร้อม
ในกายในจิตในความคิดและการกระทำ
เพิ่มพูนคุณธรรมให้แก่จิต ปรับเปลี่ยน
ความคิดเพื่อให้จิตเป็นบุญกุศล
ไม่เอาแต่ความคิดตนมาเป็นใหญ่
เปิดจิตเปิดใจ ให้เปิดกว้าง พิจารณา
ทุกอย่างโดยเหตุและผล ไม่เห็นแก่
ประโยชน์ตนจนเกินไป รู้จักการให้
และการแบ่งปัน สิ่งที่กล่าวมานั้นคือ
การปฏิบัติธรรม...
๐ มีคำถาม มากมาย ให้ขบคิด
ถามเรื่องจิต เรื่องกาย เพราะอยากรู้
จงบอกว่า ถ้าสงสัย ให้ทำดู
แล้วจะรู้ กายจิต คิดอย่างไร
๐ อจินไตย คิดไป ก็ปวดหัว
มาดูตัว ดูจิต แล้วคิดใหม่
ดูให้รู้ ดูให้เห็น เป็นอย่างไร
ให้รู้ใจ รู้กาย รู้จิตตัว
๐ จิตส่งออก สมุทัย ให้เกิดทุกข์
จิตเป็นสุข เพราะรู้พร้อม น้อมไปทั่ว
มีสติ ระลึกรู้ อยู่กับตัว
รู้ดีชั่ว สิ่งที่จิต ควรคิดทำ
๐ อันกายนี้ อยู่ไม่นาน ก็ต้องดับ
เหมือนอาทิตย์ ลาลับ ในยามค่ำ
ต้องเวียนว่าย ตายเกิด อยู่ประจำ
สิ่งที่นำ ติดตัวไป ใช่เงินทอง
๐ สิ่งที่ตาม ติดไป ในดวงจิต
คือนิมิต แห่งกรรม นำสนอง
ถ้าจิตดี ก็มีสุข อยู่คุ้มครอง
จิตเศร้าหมอง ก็ต้องทุกข์ ไม่สุขใจ
๐ รู้อะไร ก็ไม่สู้ เท่ารู้จิต
รู้ถูกผิด ดีและชั่ว แล้วแก้ไข
เจริญจิต ภาวนา พาสุขใจ
ทำจิตไร้ อกุศล เป็นต้นทุน
๐ คือต้นทุน ชีวิต นิมิตหมาย
เมื่อยามตาย ความดี มีเกื้อหนุน
มีกรรมดี คือกุศล เป็นผลบุญ
ช่วยค้ำจุน ส่งจิต นิมิตดี
๐ อย่าสงสัย ในสิ่ง ไร้สาระ
ควรลดละ ความคิด ชนิดนี้
ความสงสัย คือนิวรณ์ ถอนความดี
จิตไม่มี สมาธิ เพราะนิวรณ์
๐ เมื่อสงสัย ก็ต้องทำ นำพิสูจน์
อย่าเพียงพูด เพียงคิด จิตสังหรณ์
ต้องลองทำ ศึกษา ตามขั้นตอน
เพื่อจะถอน ความสงสัย ให้มันคลาย
๐ ไม่มีใคร รู้ซึ้ง เท่าหนึ่งจิต
สิ่งที่คิด จิตใจ ในเป้าหมาย
คิดอะไร ก็ให้รู้ อยู่กับกาย
ไม่วุ่นวาย ควบคุมจิต ให้คิดดี
๐ คิดให้ดี คิดให้เห็น เช่นที่คิด
ไม่เป็นพิษ เป็นภัย ในทุกที่
ควบคุมจิต ให้คิด แต่สิ่งดี
ทำอย่างนี้ แล้วจิต จะสบาย
๐ สบายใจ คือสบาย ทั้งกายจิต
นั่นคือกิจ ที่ทำ ตามเป้าหมาย
เพราะคิดดี มีสติ อยู่กับกาย
ไม่วุ่นวาย เพราะจิต นั้นคิดดี...
...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒ มีนาคม ๒๕๖๕...