กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 2 3 4 5 6 [7] 8 9 10
61


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๙๐...

..." บัณฑิตควรตั้งตนไว้
ในคุณธรรมก่อน แล้วจึง
ค่อยสอนผู้อื่นภายหลัง
ตนจึงจะไม่มัวหมอง "
... อตฺตานเมว ปฐมํ
ปฏิรูเป นิเวสเย
อถญฺญมนุสาเสยฺย
น กิลิสฺเสยฺย ปญฺฑิโต ...
...วันเวลาที่ผ่านไปสำหรับวันๆหนึ่ง
มีสติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน อดีตที่ล่วง
ไปแล้วนั้น ผุดขึ้นมาบ้างในบางคราว
ส่วนอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ก็มีบ้างที่ยัง
คิดกังวล แต่ก็ไม่ทำให้ถึงกับทุกข์
...มีสติอยู่กับปัจจุบันธรรมมากกว่า
หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ ลมหายใจ
มันสั้นก็รู้ ลมหายใจยาวมันก็รู้ หายใจ
โปร่งโล่งเบาสบายก็รู้ อยู่กับลมหายใจ
เพียงเท่านั้นก็เพียงพอต่อการปฏิบัติ
สติและปัญญาจะแก่กล้าขึ้นมาเอง
ถ้าเราได้กระทำและฝึกฝนอยู่อย่าง
สม่ำเสมอ ไม่ทอดทิ้งธุระ
...เมื่อเราอยู่กับธรรม ธรรมนั้นก็อยู่
กับเรา เมื่อเรารักษาธรรม ธรรมนั้น
จะรักษาเรา ธรรมะคือตัวเรา ตัวเรา
คือธรรมะ เพราะธรรมะนั้นคือธรรมชาติ
ที่เป็นจริงของสรรพสิ่งในโลกนี้...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
62


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๘๙...

...วันเวลาที่ผ่านไปสำหรับวันๆหนึ่ง
มีสติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน อดีตที่ล่วง
ไปแล้วนั้น ผุดขึ้นมาบ้างในบางคราว
ส่วนอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ก็มีบ้างที่ยัง
คิดกังวล แต่ก็ไม่ทำให้ถึงกับทุกข์
...มีสติอยู่กับปัจจุบันธรรมมากกว่า
หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ ลมหายใจ
มันสั้นก็รู้ ลมหายใจยาวมันก็รู้ หายใจ
โปร่งโล่งเบาสบายก็รู้ อยู่กับลมหายใจ
เพียงเท่านั้นก็เพียงพอต่อการปฏิบัติ
สติและปัญญาจะแก่กล้าขึ้นมาเอง
ถ้าเราได้กระทำและฝึกฝนอยู่อย่าง
สม่ำเสมอ ไม่ทอดทิ้งธุระ
...เมื่อเราอยู่กับธรรม ธรรมนั้นก็อยู่
กับเรา เมื่อเรารักษาธรรม ธรรมนั้น
จะรักษาเรา ธรรมะคือตัวเรา ตัวเรา
คือธรรมะ เพราะธรรมะนั้นคือธรรมชาติ
ที่เป็นจริงของสรรพสิ่งในโลกนี้...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
63


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๘๘...

“ ยสฺส นตฺถิ อิทํ เมติ ปเรสํ วาปิ กญฺจนํ
มมตฺตํ โส อสํวินฺทํ นตฺถิ เมติ น โสจติ ”
..ผู้ใดไม่กังวลว่า นี้ของเรา นี้ของผู้อื่น
ผู้นั้น เมื่อไม่ถือว่าเป็นของเรา
จึงไม่เศร้าโศกว่าของเราไม่มี ดังนี้...
(ขุ.สุ. ๒๕/๕๑๙, ขุ.มหา. ๒๙/๕๓๔)
...ในการศึกษาธรรมะและประพฤติ
ปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องมีวิจารณญาณ
อย่าเชื่อทันทีที่ได้ยิน ได้ฟังมา
อย่าได้ศรัทธาเพราะยึดติดใน
ตัวบุคคล จงเอาเหตุและผลมาเป็น
ที่ตั้ง แห่งการคิดและพิจารณาธรรม
ว่าควรจะเชื่อหรือจะปฏิเสธ ในสิ่งที่
ได้อ่าน ได้ยินหรือได้ฟัง ดั่งที่เคย
กล่าวไว้ว่า “ ถ้าเชื่อในทันที จะนำ
ไปสู่ความงมงาย ถ้าปฏิเสธทันที
จะทำให้เสียโอกาส ขาดประโยชน์
ควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบครอบ
และทดลองปฏิบัติ พิสูจน์ ฝึกฝน
ที่ใจตน ให้เกิดความกระจ่างชัด
ขึ้นด้วยใจตน ตามเหตุและผลแล้ว
จึงควรเชื่อหรือปฏิเสธในสิ่งที่ได้
อ่าน ได้ยิน ได้ฟังมา
...ความศรัทธาที่มาจากอิทธิปาฏิหาริย์
มักจะนำไปสู่ความงมงายได้ง่าย
เพราะจะทำให้ขาดการพิจารณา
ในเหตุและผล อย่าให้ความศรัทธา
ในตัวบุคคล มาบดบังเหตุและผล
สภาวธรรมที่แท้จริง ในสิ่งที่เป็น
ปัจจุบันธรรมทั้งหลาย ซึ่งจะทำให้
เกิดปัญญามีดวงตาเห็นธรรม เข้าถึง
สภาวธรรมที่แท้จริงนั้นได้...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
64


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๘๗...

...การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น
เราต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี
ต่อชุมชนและคนรอบกาย
เพื่อพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ก่อนที่เราจะร้องขอจากเขานั้น
เราต้องแบ่งปันและให้เขาก่อน
จงเป็นผู้ให้แล้วท่านจะรับการ
ให้ตอบแทน เป็นคำสอนของ
ครูบาอาจารย์ การมีน้ำใจต่อ
หมู่คณะนั้น จะทำให้ท่านได้รับ
ความเกรงใจ
...สรุปลงได้ในหลักธรรมเรื่อง
"พรหมวิหาร " ซึ่งแปลว่าเป็นธรรม
อันเป็นเครื่องอยู่ของพรหม
ธรรมอันเป็นหลักประจำใจ
ของผู้ใหญ่ ธรรมที่ผู้ใหญ่
ควรประพฤติ พรหมวิหารนั้น
เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในใจ
เป็นธรรมที่กระตุ้นให้เกิด
การกระทำ เช่น สงเคราะห์
ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ซึ่งมี
อยู่ ๔ ประการอันได้แก่...
๑.เมตตา คือความรัก ความปรารถนาดี
ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข
๒.กรุณา คือ ความหวั่นไหว ความ
สงสารเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์
คิดจะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์
๓.มุทิตา คือ ความพลอยยินดี
ความดีใจด้วย ที่ผู้อื่นมีความสุข
ได้รับความสำเร็จ
๔.อุเบกขา คือความวางใจ
เป็นกลาง ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ
เมื่อผู้อื่นได้รับความวิบัติ
...ธรรมในหมวดพรหมวิหารนี้ จึงเป็น
สิ่งที่ผู้ใหญ่หรือผู้นำต้องกระทำ ต้องมี
เพื่อให้เกิดความพอดี เสมอกันของ
ผู้ร่วมงาน เป็นธรรมที่จะประสานใจ
ทำให้เกิดความรักใคร่สามัคคีของ
หมู่คณะ...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
65


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๘๖...

...มนุษย์ทุกคนต้องดำเนินไปตามวิถีทาง
ของตน ตามเหตุและผลที่ตนตั้งไว้ มีเหตุ
และปัจจัยที่แตกต่างกัน ก้าวเดินไปตาม
วิถีแห่งกรรม เกิดจากความคิดและสิ่ง
ที่ทำจากอดีตและปัจจุบันเป็นแรงส่ง
ให้เป็นไป ทุกชีวิตนั้นเลือกที่มาไม่ได้
แต่สามารถที่จะกำหนดที่ไปในอนาคต
ของตนนั้นได้ ด้วยการสร้างเหตุและปัจจัย
ในวันนี้ เพื่อเป็นตัวชี้หนทางในอนาคต
กำหนดได้ด้วยการกระทำของเราในวันนี้
เพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งกรรมที่ทำมา
ในอดีตของตนได้ คือการสร้างเหตุและ
ปัจจัยตัวใหม่ให้มีกำลังมากกว่าที่เคย
สั่งสมมา โดยใช้กาลเวลาในการกระทำ
เปลี่ยนแปลงความคิด เปลี่ยนแปลง
ซึ่งพฤติกรรม สร้างความเคยชินให้กับ
ชีวิต ด้วยวิธีการคิดแบบใหม่ ทำความรู้
ความเข้าใจในวิถีแห่งโลกและธรรม
ที่เป็นของคู่กันให้เข้าใจ
...โลกและธรรมต้องก้าวไปพร้อมกัน
ด้วยความเหมาะสม ความลงตัว พอเหมาะ
และพอควร ไม่เคร่งจนเกินไปในทางธรรม
จนกลายเป็นการทอดทิ้งธุระในทางโลก
ไม่ทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์และ
ไม่หย่อนเกินไปในทางธรรม จนกลาย
เป็นการไร้ซึ่งคุณธรรม หาความพอเหมาะ
พอดีในการทำหน้าที่ของตน อยู่บนเหตุ
และผลของความพอดีและพอเพียง เลี้ยง
ชีวิตโดยชอบ ประกอบกรรมในสิ่งที่เป็น
กุศล สร้างสิ่งที่เป็นมงคลให้แก่ชีวิต
โดยการคิดและทำ ในสิ่งที่ไม่เป็นภัยต่อ
ชีวิตและไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น และไม่ฝ่าฝืน
ศีลธรรมกฎหมายที่ดีงามของบ้านเมือง
ทำในเรื่องที่ชอบ อันประกอบเป็นบุญกุศล
เพื่อสร้างมงคลให้แก่ชีวิต ปรับเปลี่ยน
ความคิดปรับเปลี่ยนจิตให้เป็นกุศล
เป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ดีงาม
...การสร้างเหตุและปัจจัยที่ดีในวันนี้
เป็นการชี้หนทางในอนาคตของตน
เป็นเหตุและผลที่จะส่งผลในอนาคต
เป็นการกำหนดอนาคตหนทางที่จะไป
โลกและธรรมนั้นต้องเดินคู่กันไป เพื่อให้
โลกนี้มีคุณธรรม โดยการเริ่มกระทำที่
จิตใจของเราเป็นเริ่มแรก จัดระเบียบ
ให้แก่ชีวิตของตนเองเสียก่อน ก่อนที่จะ
ไปเรียกร้องจัดระเบียบให้แก่สังคม
เริ่มต้นที่ความคิด เริ่มที่จิตของเราเอง...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
66


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๘๕...

....เป็นธรรมดาของทุกชีวิตในโลกนี้
ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหา
เพราะว่าทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่
หวังไว้เสมอ ดั่งคำที่กล่าวว่า...
"เส้นทางของชีวิตมิได้โรยด้วย
กลีบของดอกกุหลาบเสมอไป"
แต่ทำอย่างไร เราจึงจะเข้าใจและ
เข้าไปแก้ไขอุปสรรคปัญหานั้นได้
..." ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากเหตุ
และดับไปที่เหตุ " เราจึงต้องฝึก
ขบวนการคิดเพื่อเข้าไปหาเหตุ
โดยเริ่มจากการฝึกใจให้นิ่งเสียก่อน
" นิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว "
ซึ่งจะทำให้ใจนิ่งได้นั้น มันต้องมี
สมาธิและการที่จะมีสมาธิได้นั้น
มันต้องมีสติ เราจึงต้องฝึกให้มี
สติเสียก่อน ก่อนที่จะทำจิตให้สงบ......
....อุปสรรคและปัญหานั้นมีอยู่และ
เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าไปแก้ไข
แต่เราต้องทำใจของเราให้อยู่
เหนือปัญหาให้ได้เสียก่อน
เรียกว่าวางปัญหานั้นไว้เสียก่อน
มันจะทำให้เราผ่อนคลาย และไม่
เป็นการกดดันตัวเราเอง เพราะถ้า
เราไม่วางปัญหานั้นไว้เสียก่อน
จิตของเราเข้าไปยึดติดยึดถือ
มันจะทำให้เราเครียดหนักอกหนักใจ
สมองเราไม่ปลอดโปร่งทำให้เกิด
ความเครียด และเมื่อเรามีความเครียด
มันจะทำให้ความคิดของเรานั้นคับแคบ
การคิดการมองปัญหาไม่เปิดกว้าง
มันจึงไม่เห็นหนทางที่จะแก้ปัญหานั้นได้...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
67


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๘๔...

...ยอมรับความจริงว่าในบางครั้งนั้น
สภาพร่างกายและจิตใจเหนื่อยล้า
จากการเดินทาง จากการทำงาน
และอุปสรรคปัญหาที่ผ่านเข้ามา
แต่ถ้าถามว่าเคยท้อแท้บ้างไหม
ตอบได้เลยว่าไม่เคยที่จะท้อแท้
ถ้ามันหนัก ก็ถอยมาพัก ตั้งหลักใหม่
มองย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์
ที่ได้ผ่านมา เพื่อสรุปหาแนวทาง
ที่จะก้าวย่างกลับไปเดินใหม่
สร้างเติมเสริมขวัญและกำลังใจ
ปลุกศรัทธาให้เพิ่มขึ้นมาใหม่
แล้วก้าวเดินไป อย่างมั่นใจและมั่นคง...
..." ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น
แล้วก็ปล่อย " คือการสอนธรรมะแบบ
ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ สอนแบบที่
ไม่ให้เขารู้ว่าเรากำลังสอนธรรมะแก่เขา
เพราะการพูดอย่างเดียวนั้นมันจะได้ผล
น้อยมาก ถ้าเราไม่ได้ทำอย่างที่เราพูด
" ทำให้ดูดีกว่าพูด " เพราะจะเป็นการ
พิสูจน์ในสิ่งที่พูดนั้นว่าทำได้หรือไม่
บางครั้งเราคิดดีเกินไป พูดดีเกินไป
แต่ไม่สามารถที่จะทำได้ ในสิ่งที่คิด
และสิ่งที่พูด เพราะว่าเหตุและปัจจัย
ยังไม่พร้อม จงคิดและพูดในสิ่งที่
สามารถจะทำได้ทันที ในสิ่งที่เหตุ
และปัจจัยมีพร้อม แล้วสิ่งที่เราคิด
และเราพูดก็จะกลายเป็นความจริง
เป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่จับต้องได้...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม...
...๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
68


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๘๓...

...ปัญหาที่มักจะเจอในการประพฤติ
ปฏิบัติธรรม ก็คือความคาดหวังผลของ
การปฏิบัติโดยเร็วไว เพราะผู้ปฏิบัติ
ส่วนมากนั้น มักจะทำกันลัดขั้นตอน
เพราะความใจร้อน อยากจะเห็นผล
โดยเร็วไว การปฏิบัติจึงไม่เป็นไป
ตามขั้นตอน ตามหลักไตรสิกขาคือ
ศีล สมาธิ ปัญญา ส่วนใหญ่จะไปเน้น
ที่สติเพื่อให้เกิดสมาธิโดยเร็วไว้
มักจะข้ามเรื่องศีลไป ซึ่งสิ่งนั้นคือ
อันตรายของนักปฏิบัติ เพราะศีลนั้น
คือบาทฐานของความเป็นสัมมาสติ
....เจตนาของการรักษาศีลนั้นก็เพื่อการ
เจริญสติ มีการสำรวมอินทรีย์ บุคคลผู้ที่
จะรักษาศีลได้นั้น ต้องมีสติอยู่กับกาย
และจิต ดูความคิด ดูการกระทำ ไม่ก้าว
ล่วงล้ำข้อห้ามทั้งหลาย มีความละอาย
และเกรงกลัวต่อการประพฤติผิดทั้งใน
ที่ลับและในที่แจ้ง
...การกระทำอย่างนั้นก่อให้เกิดคุณธรรม
ประจำจิต คือการมีหิริและโอตตัปปะ
สิ่งที่ได้จากการรักษาศีลก็คือการมีสติ
และการมีคุณธรรม เมื่อเข้าสู่การภาวนา
เพื่อให้เกิดสมาธิ สติที่ใช้ในการภาวนานั้น
คือสัมมาสติ
...สมาธิที่เกิดขึ้นจึงเป็นสัมมาสมาธิ
เพราะเกิดจากสติที่เป็นสัมมา ปัญหา
ของการเจริญภาวนาที่ไม่ได้ผ่านการ
รักษาศีลนั้น ก็คือการก่อให้เกิดอัตตา
มานะ การยกตัว ถือตัวถือตน สำคัญตน
ว่าเราดีกว่าผู้อื่น เก่งกว่าผู้อื่น วิเศษกว่า
ผู้อื่น หลงตัวเอง สบประมาทลบหลู่
ครูบาอาจารย์ยกตนขึ้นเทียบท่าน
เป็นผู้ว่ายากสอนยาก ก่อให้เกิดอกุศล
ทางกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม
ต่อครูบาอาจารย์และเพื่อนนักปฏิบัติ
เพราะขาดซึ่งคุณธรรม

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
69


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๘๒...

...การเข้าอยู่ปริวาสกรรมนั้นเป็นหนึ่งใน
กิจวัตร ๑๐ ประการของพระภิกษุสงฆ์
เพื่อการดำรงไว้ซึ่งการประพฤติปฏิบัติ
ตามพระธรรมวินัย ในการออกจากครุ
อาบัติ ทั้งที่รู้ก็ดีและไม่รู้ก็ดี เป็นการอยู่
ชดใช้ในครุอาบัตินั้น
...เป็นการลดมานะ ละทิฏฐิของพระภิกษุ
ผู้เข้าอยู่ปริวาสกรรม เพราะจะถูกลดชั้น
ให้ต่ำกว่าพระปกติ แม้ท่านจะบวชได้
เพียงวันเดียวก็ตาม ต้องอยู่ในข้อวัตร
ปฏิบัติที่พระปกติกำหนดให้ทำ เป็นผู้
ว่าง่าย ไม่มากคำต่อพระปกติผู้ควบคุม
สังฆกรรม
...ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ของศีลนั้น
เป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน ถ้าเราได้ปฏิบัติ
ตามธรรมตามวินัย ไม่บกพร่องแล้ว
มันจะมีปีติหล่อเลี้ยงกายและจิตให้มี
พละกำลัง มีความโปร่ง โล่งเบา สบาย
มีความเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
70


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๘๑...

...ธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า
เป็นเครื่องกระทำให้เป็นสมณะ
๑.พึงศึกษาว่า เราทั้งหลายจัก
ประกอบด้วย หิริ ความละอาย
ต่อความชั่ว โอตตัปปะ ความเกรง
กลัวต่อความชั่ว
๒.พึงศึกษาว่า เราจักมีกายสมาจาร
คือความประพฤติทางกายที่บริสุทธิ์
ที่ตื้น ที่เปิดเผย ไม่เป็นช่อง ประกอบ
ด้วยความสำรวมทั้งจะไม่ยกตนข่มท่าน ด้วยข้อนั้น
๓.พึงศึกษาว่า เราจักมี วจีสมาจาร
คือประพฤติทางวาจา ได้แก่คำพูด
ที่บริสุทธิ์
๔.พึงศึกษาว่า เราจักมี มโนสมาจาร
คือความประพฤติทางใจคือความคิด
อันบริสุทธิ์
๕.พึงศึกษาว่า เราจักมี อาชีวะ คือความเลี้ยงชีพบริสุทธิ์
๖.พึงศึกษาว่า เราจักมีอินทรีย์สังวร ความสำรวมอินทรีย์ คือสำรวม ตา
หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๗.พึงศึกษาว่า เราจักมีความรู้
ประมาณในการบริโภคอาหาร
๘.พึงศึกษาว่า เราจักประกอบ
ธรรมของผู้ที่ตื่นอยู่ คือไม่เห็นแก่
การหลับนอนมากนัก
๙.พึงศึกษาว่า เราจักประกอบสติ
คือความระลึกได้ และสัมปชัญญะ
คือความรู้ตัวทั่วพร้อมในอิริยาบถใหญ่
อิริยาบถน้อยทั้งหลาย
๑๐.พึงศึกษาว่า เราจักปฏิบัติคอย
ชำระจิตของตนออกจากนิวรณ์
คือกิเลสเป็นเครื่องกั้นจิตทั้งหลาย
๑๑.พึงศึกษาว่า เราจักปฏิบัติทำ
สมาธิ คือความรวมจิต เข้ามา
ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ซึ่งเป็น
อารมณ์ของสมาธิ จนถึงสมาธิขั้นสูง
๑๒.พึงศึกษาว่า เราจักปฏิบัติอบรม
จิตให้เกิดปัญญาญาณ คือปัญญา
หยั่งรู้เข้าถึงสัจจะ คือความจริง
ขึ้นไปโดยลำดับ...
...นี่คือธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัส
สอนแก่พระภิกษุทั้งหลาย ว่าเป็น
เครื่องกระทำให้เป็นสมณะ ซึ่งควร
หมั่นคิดและพิจารณากาย วาจา
จิตของเราอยู่เสมอ เพื่อความ
เป็นสมณะในพระพุทธศาสนา...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
หน้า: 1 2 3 4 5 6 [7] 8 9 10