กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: [1] 2 3 4 5 6 7 8 ... 10
1
ธรรมะ / ตอบ : หลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
« กระทู้ล่าสุด โดย dhammadigital เมื่อ 09 ม.ค. 2567, 02:37:51 »
เบญจศีลและเบญจธรรม

เบญจศีลและเบญจธรรมมีความสำคัญอย่างไร

เบญจศีลและเบญจธรรม เป็นธรรมคู่กัน คนที่มีเบญจธรรมจึงจะเป็นผู้มีเบญจศีล ซึ่งหากคนมีศีลและธรรมดังกล่าวแล้ว จะเว้นจากการทำความชั่ว รู้จักควบคุมตนให้ตั้งอยู่ในความดี ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น และประพฤติชอบทางกาย วาจา และใจ จะทำให้อยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข?

เบญจศีล หมายถึง ศีล 5 ข้อ เป็นการรักษาเจตนาที่จะควบคุมกาย และวาจาให้เป็นปกติ คือ ไม่ทำบาป โดยการละเว้น 5 ประการ คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ละเว้นจากการลักขโมย ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ละเว้นจากการพูดปด ละเว้นจากการเสพสุรา

เบญจศีล เป็นเครื่องรักษาเจตนาที่จะควบคุมกาย และวาจาให้เป็นปกติ คือ ไม่ทำบาป โดยการละเว้น 5 ประการ คือ
1. ปาณาติบาต คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ และการเบียดเบียนสัตว์
2. อทินนาทาน คือ ละเว้นจากการลักขโมย ปล้นจี้ ฉกชิง วิ่งราว เป็นต้น
3. กาเมสุมิจฉาจาร คือ ละเว้นจากการประพฤติผิด ล่วงละเมิดลูกเมียผู้อื่น
4. มุสาวาท คือ ละเว้นจากการพูดปด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด
5. สุราเมระยะ คือ ละเว้นจากการเสพสุรา เพราะเป็นสาเหตุให้ทำผิดศีลข้ออื่น

อานิสงส์ของการรักษาศีล

1. ทำให้มีความสุขกายสุขใจ ทำให้ไม่เป็นคนหลงลืมสติ
2. ทำให้เกิดทรัพย์สมบัติมากขึ้นได้
3. ทำให้สามารถใช้สอยทรัพย์นั้นได้เต็มที่ โดยไม่ต้องหวาดระแวงภัย
4. ทำให้ไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงทรัพย์คืน
5. ทำให้เกียรติคุณฟุ้งขจรขจายไป ทำให้ผู้อื่นเกิดความเคารพเชื่อถือ
6. ตายแล้วย่อมไปเกิดในสุคติภูมิ

เบญจศีลทั้ง 5 ข้อจะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะบุคคลผู้นั้นมีเบญจธรรมประจำตัว

เบญจธรรม

เบญจธรรม เป็นหลักธรรมที่ควรปฏิบัติ มี 5 ประการ ได้แก่

1. เมตตากรุณา คือ บุคคลใดที่มีเมตตาย่อมไม่ฆ่า หรือเบียดเบียนสัตว์ ด้วยรู้ดีว่าทุกชีวิตย่อมมี ความรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกับเรา ทำให้ไม่ผิดศีลในข้อที่ 1
2. สัมมาอาชีพ คือ ประกอบอาชีพที่สุจริต มีรายได้ รู้จักใช้จ่าย และที่สำคัญรู้จักคำว่าพอดี และมีหิริโอตตัปปะ คือ ความละอาย และเกรงกลัวต่อผลของบาป จึงทำให้ไม่ผิดศีลข้อที่ 2
3. ความสำรวมอินทรีย์ คือ ระมัดระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทำให้ ความใคร่ในกามคุณ คือ การติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ลดน้อยลง เมื่อความสำรวมเกิดขึ้น จึงทำให้ไม่ผิดศีลข้อที่ 3
4. ความซื่อสัตย์ คือ การพูดความจริง เป็นสิ่งที่ทำให้ไม่เกิดการมุสาวาท ทำให้ไม่ผิดศีลข้อที่ 4
5. สติ  คือ การรู้สึกตัว ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกุศล ทำให้ชีวิตไม่ประมาท เพราะรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว ทำให้ไม่เกลือกกลั้วกับสิ่งที่จะทำให้ชีวิตตกต่ำ เช่น สุราเมื่อคนดื่มกินก็ทำให้มึนเมาและขาดสติ การมีสติจึงทำให้ไม่ผิดศีลข้อที่ 5

อาราธนาศีล 5

( ถ้าคนเดียวเปลี่ยนจากคำว่า "มะยัง" เป็น "อะหัง" และ "ยาจามะ" เป็น "ยาจามิ ")

                    มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติถายะ
                    ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
                    ทุติยันปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตยาถะ
                    ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
                    ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติยาถะ
                    ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

        ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอสมาทานศีล 5 พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ เพื่อประโยชน์แห่งการรักษา เป็นข้อ ๆ

https://www.sammajivasil.net/noble.htm
2
ธรรมะ / ตอบ : หลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
« กระทู้ล่าสุด โดย dhammadigital เมื่อ 09 ม.ค. 2567, 02:32:35 »
ทิศ 6

ในอดีตคนเรามักมองกันว่าหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุด ได้แก่ ครอบครัว แล้วก็เอาใจใส่ดูแลแต่ครอบครัวของตัวเองให้เจริญก้าวหน้า ไม่เหลียวแล กลุ่มคนที่อยู่รอบข้าง สังคมของเราถึงได้อ่อนแอตลอดมา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในปัจจุบันนี้เท่านั้น แม้ในสมัยพุทธกาลก็เป็นมาแล้ว

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสพระธรรมเทศนาเรื่อง ทิศ ๖ เอาไว้ใน สิงคาลกสูตร ในพรรษาที่ ๑๖ แล้วใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนกระทั่งครอบคลุมไปทั่วแผ่นดินชมพูทวีปในเวลาต่อมา

ทิศ ๖ คือ หน่วยของสังคมที่เล็กที่สุด สำคัญที่สุด ทรงอานุภาพที่สุด หากบุคคลใน แต่ละทิศปฏิบัติตนตามหน้าที่ ซึ่งมีอยู่ประจำทิศได้สมบูรณ์จริงๆ แล้ว ย่อมสามารถที่จะฉุดสังคมส่วนใหญ่ ให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม ได้อย่างชนิดฉับพลัน

องค์ประกอบของทิศ ๖

ทิศ ๖ ของใครก็ประกอบด้วยตัวของคนนั้น เองเป็นแกนกลาง แล้วแวดล้อมด้วยบุคคล อีก ๖ กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มล้วนมีความสัมพันธ์กับตัวของเขา ตามฐานะและหน้าที่ที่แตกต่างกันไป คือ
                 
๑. ปุรัตถิมทิส แปลว่า ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดา มารดา

คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้มีอุปการคุณคนแรก ของเรา เพราะว่าท่านก้าวเข้ามารับผิดชอบต่อชีวิตของเราก่อนใครๆ ในโลก และทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นชีวิต เลือดเนื้อ รวมทั้งความเป็นคน เราได้มาจากท่านทั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงจัดให้ท่านทั้งสองมาอยู่ข้างหน้า เป็นทิศเบื้องหน้าของเรา
                 
๒. ทักขิณทิส แปลว่า ทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูบาอาจารย์

ครูบาอาจารย์เป็นบุคคลสำคัญกับชีวิต ของเราอีกท่านหนึ่ง เพราะท่านสอนเราตั้งแต่ ให้รู้จักการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ให้รู้จักการ รักษาเนื้อรักษาตัวให้พ้นจากภัยอันตรายต่างๆ ตลอดจนสอนให้รู้จักการทำมาหากิน ท่านจึงเป็นทักขิไณยบุคคล คือบุคคลที่พวกเราต้องเคารพกราบไหว้บูชา
                 
๓. ปัจฉิมทิส แปลว่า ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ ภรรยาหรือสามี

ถ้าตรงกลางเป็นผู้ชายทิศเบื้องหลังก็เป็นภรรยา ถ้าตรงกลางเป็นผู้หญิงทิศเบื้องหลังก็เป็นสามี แต่ถ้าตรงกลางเป็นเด็ก หรือเป็นผู้ที่ยังไม่ได้แต่งงาน ทิศเบื้องหลังก็ไม่มี ไม่มีก็ไม่ต้องมี อยู่คนเดียวอย่างนี้แหละดีแล้ว

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำภรรยาหรือสามีมาไว้ข้างหลัง เพราะไม่ว่าจะเป็นสามีหรือภรรยา ซึ่งบางทีก็ก่อบุตรขึ้นมาอีก ล้วนถือว่าเป็นกำลังเสริม เป็นผู้ติดตาม คอยสนับสนุนช่วยเหลืออยู่ข้างหลังทั้งสิ้น เนื่องจากเรื่องบางเรื่องไม่สามารถทำแทนกันได้

๔. อุตตรทิส แปลว่า ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย

มิตรสหายที่คบค้าสมาคมกันมาตั้งแต่เด็กจนโตนี่เอง ที่เป็นผู้คอยช่วยเหลือให้เราข้ามพ้นอุปสรรคและภัยอันตรายต่างๆ ในเวลาเดียวกันก็ยังเป็นกำลังสนับสนุน ให้เราสามารถบรรลุความสำเร็จอีกด้วย

ทิศเบื้องซ้ายนี้เอาจริงๆ เข้ากลับกลายเป็นทิศที่ใหญ่ที่สุด เพราะตลอดชีวิตของคนเราต้องเกี่ยวข้องคบหากับผู้คนมากมาย เพราะฉะนั้น ใครมีทิศเบื้องซ้ายน้อยก็จะเข้าตำรา "นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน" บินก็ไม่ขึ้น โตก็ไม่ได้ เตรียมจะเป็นนกปิ้ง เตรียมจะเป็นนกย่าง กำลังเตรียมตัวตายเสียแล้ว

ถ้าใครสำรวจตรวจสอบดูแล้วพบว่า ตัวเอง มีเพื่อนน้อยละก็ รีบกลับไปแก้ไขเสีย ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะเดือดร้อน

๕. เหฏฐิมทิส แปลว่า ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ คนรับใช้ ลูกน้อง

ใครมีลูกน้องมากๆ ก็เบาแรงกาย คือไม่ต้องทำงานหนัก ไม่หนักแรงกายจนเกินไป แต่ว่าอาจจะหนักแรงใจบ้างถ้าฝึกเขาไม่เป็น ซึ่งก็โทษใครไม่ได้นอกจากโทษตัวเราเอง

แล้วก็รู้ไว้ด้วยว่าทิศเบื้องล่างนี้เอง ที่คอยเป็นฐาน เป็นกำลัง เป็นที่มาแห่งทรัพย์สินเงินทอง สำหรับเอามาใช้เป็นกองเสบียง ในการหล่อเลี้ยงชีวิตของเรา

และแน่นอน เราจะมีทรัพย์มาใช้ในการสร้างบุญสร้างบารมีได้มากน้อยเท่าไร ก็มาจากทิศเบื้องล่าง เพราะฉะนั้นอย่าได้มองข้ามทิศเบื้องล่างกันทีเดียว

๖. อุปริมทิส แปลว่า ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณชีพราหมณ์ทั้งหลาย

เราชาวพุทธก็มีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจ เพราะท่านเป็นผู้ที่สูงด้วยคุณธรรม อีกทั้งยังเป็นผู้ชี้ทิศ และเป็นแหล่งผลิตศีลธรรมอีกด้วย
       
ความสำคัญของทิศ ๖

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระสงฆ์เป็นทิศเบื้องบน เพื่อเป็นแหล่งผลิตศีลธรรม แล้วป้อนศีลธรรมนั้นให้กับอีก ๕ ทิศที่เหลือ

โดยเฉพาะ ๒ ทิศที่สำคัญ คือ ทิศเบื้องหน้ากับทิศเบื้องขวา เพื่อให้ทิศทั้ง ๒ นี้ นำศีลธรรมที่ได้มาป้อนให้กับบุคคลที่อยู่ตรงกลาง

ส่วนพระสงฆ์เองเมื่อมีโอกาส ท่านก็จะลงมาป้อนศีลธรรมให้กับบุคคลที่อยู่ตรงกลางด้วยตัวของท่านเช่นกัน

บ้าน วัด โรงเรียน จึงเป็นแหล่งปลูกฝังศีลธรรมเบื้องต้น ที่สำคัญที่สุดของพวกเราแต่ละคน

สำหรับบุคคลในทิศที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง หรือแม้แต่ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวาของเราต่างก็มี บ้าน วัด โรงเรียนของเขา เป็นแหล่ง ปลูกฝังศีลธรรมให้เช่นกัน

เมื่อหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม ต่างก็มีแหล่งผลิตและปลูกฝังศีลธรรมให้อย่างนี้ เมื่อครอบครัวใด หมู่บ้านใด ตลอดจนกระทั่งสังคมใด เกิดปัญหาขึ้นมา จึงสามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้ด้วยตนเองในทันที

เพราะฉะนั้น ครั้งใดที่ประสบความสำเร็จ ได้รับชัยชนะ ได้รับโชค ได้รับคำยกย่องสรรเสริญ หรือว่าได้รับเกียรติยศอะไรขึ้นมาก็ตาม ถ้าเป็นชาวพุทธที่ได้ฝึกตัวมาดีแล้ว เขาจะนึกขอบพระคุณ ไล่กันไปตามทิศทีเดียว

ตั้งแต่ หลวงปู่ หลวงพ่อ คุณพ่อ คุณแม่ ครูบาอาจารย์ ที่ท่านอบรมเคี่ยวเข็ญเรามา ตอนนี้ท่านอยู่ทิศไหนหนอ แล้วก็หันหน้าไปทางทิศนั้นกราบขอบพระคุณท่านงามๆ

รวมทั้งมิตรสหาย สามี ภรรยา ผู้บังคับบัญชา และลูกน้อง ที่คอยสนับสนุนให้เราประสบความสำเร็จด้วย

อย่างนี้ถึงจะเป็นชาวพุทธตัวจริง เป็น นักปฏิบัติธรรมตัวจริง ถ้าใครทำได้อย่างนี้จะมีความเจริญไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่าเมื่อขึ้นแล้วไม่มีลง ไม่ทราบที่นั่งกันอยู่นี่ ใครเคยคิด เคยทำอย่าง นี้บ้าง ถ้าเคยทำหลวงพ่อก็โมทนาด้วย ถ้ายังไม่เคยทำ ต่อแต่นี้รีบไปทำกันเสียเถอะนะ

https://www.kalyanamitra.org/u-ni-boon/mar48/p57/c57.htm
3
ธรรมะ / ตอบ : หลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
« กระทู้ล่าสุด โดย dhammadigital เมื่อ 09 ม.ค. 2567, 02:29:27 »
โลกธรรม 8 ประการ

กรรมฐาน ฟังแล้วก็ต้องทำ ฟังแล้วไม่ได้ทำก็ไม่มีประโยชน์เท่าไหร่ ดีไม่ดี เกิดทะนงตัวว่ารู้เยอะ ธรรมะเราเรียน ต้องลดละกิเลสได้ ถ้าเรียนแล้วกิเลสไม่สะเทือนนี่ ถือว่าล้มเหลวแล้ว ยิ่งถ้าเรียนแล้วกิเลสเพิ่มขึ้นยิ่งแย่ใหญ่ บางคนภาวนาแล้วก็กูเก่งๆ บางทีเก่งกว่าพระพุทธเจ้าขึ้นมา อันนี้ถือว่าล้มเหลวมาก เราพยายามศึกษาแล้วลงมือปฏิบัติให้เข้าใจ พระพุทธเจ้าสอนธรรมะเรามีวัตถุประสงค์ชัดเจน เราศึกษาเพื่อปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ พ้นทุกข์สิ้นเชิง ฉะนั้นเวลาเราลงมือปฏิบัตินี่เราอย่าลืมวัตถุประสงค์หลัก ต้องทำไปเพื่อความสิ้นทุกข์ ไม่ใช่ทำไปพอกพูนกิเลสขึ้นมา แต่สิ้นทุกข์ได้ก็ต้องสู้มาก ต้องต่อสู้ คนแต่ละคนไม่ใช่ว่าศึกษาธรรมะแล้ว ทุกคนจะบรรลุมรรคผลนิพพานในชีวิตนี้ ส่วนน้อยบรรลุไป ส่วนมากก็สะสมบุญบารมีไป แต่คนส่วนใหญ่สะสมบาป ไม่ค่อยสะสมบุญบารมีอะไรเท่าไหร่ คนเหล่านั้นก็ปล่อยไป ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาที่คนทั้งหมดจะเข้าใจได้ เป็นศาสนาของคนที่มีปัญญาจริงๆ ถึงจะเข้าใจได้ ฉะนั้นเราก็ดู ถ้าเราเห็นว่าเรามีกำลัง มีโอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เราก็ทำ ถ้ายังไม่ได้ เราก็สะสมบุญบารมีของเราไป อย่างเป็นพระก็ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล รักษาพระวินัยไว้ ศึกษาปริยัติก็ยังดี ทำอะไรที่มันเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นฆราวาส ภาวนาได้ก็ภาวนา จริงๆ แล้วมรรคผลนิพพานไม่ใช่เรื่องเฉพาะของพระ ฆราวาสก็บรรลุมรรคผลได้ จะทำที่สุดแห่งทุกข์ยากหน่อยสำหรับฆราวาส แต่ก็มี ดูในพระไตรปิฎกก็มีหลายท่านที่เป็นฆราวาส ท่านถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ อย่างพระเจ้าสุทโธทนะ สีหอำมาตย์อะไรพวกนี้ เป็นฆราวาสและทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บารมีเขาเต็ม

คนทั่วๆ ไป ชาวบ้านธรรมดาๆ นี่ ถ้าเป็นชาวพุทธที่ดีก็มีพวกจริยธรรม อะไรที่พระพุทธเจ้าบอกว่าดีก็ทำ อะไรที่ท่านว่าไม่ดีก็ไม่ต้องทำ อย่างมีศีล ท่านสอนให้มีศีล 5 ก็รักษาไป รักษาศีล 5 ไม่ใช่เพื่อพระพุทธเจ้า ก็เพื่อตัวเองนั่นล่ะ คนมีศีลชีวิตมันก็ร่มเย็นเป็นสุข คนไม่มีศีลมันก็เดือดร้อน อย่างไปกินเหล้าเมายาอะไร มีโรคระบาดมาก็ติดก่อนคนอื่นเขา เพราะมันไปรวมกลุ่มกัน ถ้าเราสนใจการปฏิบัติ ถึงจะเป็นฆราวาสหมดเวลาทำงาน เรากลับบ้านเรา ภาวนาของเราไปทุกวันๆ เก็บเล็กเก็บน้อยไป หลวงพ่อก็ทำอย่างนั้นตอนเป็นโยม เลิกงานแล้วก็กลับบ้าน ถ้าไม่มีธุระต้องไปที่อื่น กลับบ้านแล้วก็ภาวนาทุกวัน คนซึ่งเติบโตมาพร้อมๆ กับเรา พร้อมๆ กับหลวงพ่อนี่ แต่ที่เขาไม่สนใจการปฏิบัติ อย่างญาติพี่น้องอะไรนี่ เพื่อนฝูง ตั้งแต่เด็กๆ เขาก็ไม่สนใจ เพื่อนในที่ทำงานน้อยคนจะสนใจ ฉะนั้นหลวงพ่อไม่สนใจหรอกว่าใครจะสนใจการปฏิบัติธรรมไหม หลวงพ่อปฏิบัติของหลวงพ่อ ไม่ใช่ต้องตามเพื่อน ผ่านวันผ่านเวลามา รุ่นเดียวกันจำนวนมากก็ตายไปแล้ว บางส่วนยังไม่ตายก็เป็นตาแก่เป็นยายแก่ ชีวิตที่ดิ้นรนแย่งชิงกันมาแทบจะไม่มีความหมายเลย เคยใหญ่เคยโต ถึงวันนี้เกษียณไปก็ไม่ใหญ่แล้ว มันทำให้เห็นถ้าเราอยู่กับโลกแล้วเราไม่หลงระเริง ไม่เพลิดเพลินไปกับโลก เรามองไปรอบๆ ตัวเรา เราก็จะเห็นธรรมะ

ธรรมะที่อยู่ประจำโลก เขาเรียก โลกธรรม 8 ประการ มีลาภ ก็เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข แล้วก็มีทุกข์ ธรรมะ 8 ข้อนี้เป็นของประจำโลก จะชอบหรือจะไม่ชอบ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เคยหายไปไหน ก็อยู่ประจำโลกอยู่อย่างนี้ คนซึ่งเขาไม่ได้ศึกษาธรรมะ เขาอาจจะไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมดีๆ ไม่มีโอกาสได้พบครูบาอาจารย์ที่ดีๆ อะไรอย่างนี้ หรือว่าเขาไม่สนใจ ไม่มีของเก่า ไม่มีต้นทุนที่จะปลุกเร้าให้สนใจการปฏิบัติ เขาอยู่กับโลก เขาก็อยากได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข ลาภก็คือผลประโยชน์ อยากได้ผลประโยชน์ พอเสียผลประโยชน์แล้วไม่ชอบ อยากได้ผลประโยชน์อย่างเดียว ตรงที่อยากได้ผลประโยชน์ใจก็ดิ้นรนแล้ว ใจดิ้นรนเมื่อไหร่ ใจทุกข์เมื่อนั้น ตรงที่กลัวที่จะเสียผลประโยชน์ ใจก็ดิ้นรน ใจก็ทุกข์อีก แต่ถ้าคนซึ่งมันเห็นความจริง มีโอกาสทำมาหากิน ได้เงินได้ทองอะไรก็ทำ เป็นฆราวาสไม่ใช่ต้องอดๆ อยากๆ รวยได้ก็รวย แต่ไม่ได้รวยในทางที่ผิด มีโอกาสทำมาหากินมีรายได้ดีก็รู้จักบริหารจัดการ พระพุทธเจ้าก็สอน ส่วนหนึ่งไว้บริโภคใช้สอย เลี้ยงดูคนในความดูแลของเรา เลี้ยงดูพ่อแม่ลูกเมียอะไรพวกนี้ เดี๋ยวนี้ต้องเลี้ยงสามีด้วย รู้จักเก็บออม รู้จักลงทุน นี่ท่านสอนไว้ทั้งนั้น

ฉะนั้นธรรมะในโลกพระพุทธเจ้าท่านก็เมตตา ไม่ใช่ว่าจะสอนธรรมะเพื่อพ้นโลกทุกคนหรอก คนที่อยู่ประจำโลกท่านก็สอนให้รู้จักธรรมะของโลก อย่างเรามีลาภ มีโอกาสทำมาหากิน ร่ำรวยมาก็ทำไป แต่รู้จักเก็บออม รู้จักลงทุน รู้จักคบคนที่ดี กัลยาณมิตร ถ้าคบคนไม่ดี รวยแค่ไหนก็หายนะ นี่ธรรมะที่จะทำให้เราอยู่กับโลกสบายๆ แต่เราต้องรู้อย่างหนึ่ง มีลาภวันหนึ่งก็เสื่อมลาภได้ อย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมานี่ มันเป็นสิ่งที่คนนึกไม่ถึงใช่ไหม ธุรกิจที่เคยยิ่งใหญ่อยู่ๆพังทลาย อย่างสายการบินนี่ ล้มระเนระนาดไปทั่วโลกเลย ใครจะนึกถึงว่าอยู่ๆ มันจะเป็นไปได้อย่างนั้น การผลิตรถยนต์การผลิตอะไรเสียหายหมดเลย เคยขายน้ำมันร่ำรวย คนใช้น้ำมันลดลงพรวดพราดลงไป บริษัทน้ำมันเจ๊งก็มี นี่เคยมีลาภฟู่ฟ่าอุดมสมบูรณ์ แล้ววันหนึ่งสถานการณ์มันพลิก แบบนึกไม่ถึงเลย มันพังทลายลงไป ธุรกิจของหลายๆ คนล่มสลาย โอกาสที่จะพลิกฟื้นมาทำธุรกิจอย่างเก่าก็ยาก ก็ต้องมองลู่ทางทำมาหากินใหม่ๆ อันนี้ก็เข้ากับธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน รู้จักการลงทุน ไม่ใช่เล่นการพนันนะ บางคนบอกลงทุนด้วยเล่นการพนันอะไรอย่างนี้ ไม่มีทาง การพนันเป็นอบายมุข เป็นทางเสื่อม ไม่มีทางเจริญหรอก ฉะนั้นถ้าเรารู้จักมีธรรมะเตือนตัวเองอยู่ ช่วงนี้เราทำมาหากินได้ดี เรามีลาภ เราต้องรู้ โอกาสเสื่อมลาภสูญเสียผลประโยชน์นั้นมีอยู่เสมอ นี่ถ้าเราเป็นชาวพุทธแท้ๆ ทำกิจการรุ่งเรืองแล้วพังโครมลงไปนี่ เราจะเห็นว่ามันธรรมดา ทีนี้ถ้าเราเคยมีธรรมะหรือรู้จักอดออม เราก็ยังพอประคองตัวได้ในช่วงวิกฤตได้ แล้วก็มองหาลู่ทางทำมาหากินต่อไป

นี่ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนทั้งนั้นเลยสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่มีแต่ว่าวิปัสสนากรรมฐานอย่างเดียว แต่คนซึ่งมีสติปัญญามีบุญบารมีพอ ต้องการพ้นทุกข์ก็เจริญสมถะเจริญวิปัสสนาด้วยสติปัญญาอันยิ่ง ไม่ใช่ทำโง่ๆ ทำแบบมีสติมีปัญญา คนที่จะอยู่กับโลกก็เรียนธรรมะสำหรับโลก รู้ว่ามีผลประโยชน์ได้ก็เสียผลประโยชน์ได้ ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแต่แสดงความไม่เที่ยงเหมือนกันทั้งหมด เห็นไหมในโลกนี้ก็แสดงธรรมะชั้นสูง คือแสดงไตรลักษณ์อยู่ต่อหน้าต่อตาเรานี้ล่ะ เพียงแต่ว่าคนในโลกมันหลงระเริง ช่วงไหนหาเงินได้มากก็ถลุงเลย ใช้เงินอย่างเพลิดเพลิน หลวงพ่อเคยอ่าน เป็นคล้ายๆ คำสารภาพของพระเอกหนังคนหนึ่ง พระเอกหนังไทยนี่ล่ะ บอกว่าตอนที่รายได้ดีนี่เคยใช้เงินวันละล้าน มีความสุขมากเลย ตอนอายุเยอะขึ้นไม่มีใครจ้างเล่นหนังแล้ว มาโอดครวญขอให้คนช่วยจ้างเล่นหนัง บอกไม่มีรายได้อะไรอย่างนี้ อันนี้เขาดำรงชีวิตด้วยความประมาท ไม่ได้อยู่ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า มีรายได้มาก ก็ยิ่งถลุง อันนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์เลย มันหลงระเริง อย่างบางคนเล่นหุ้นได้เงินเยอะใช่ไหม ก็ถลุงแหลกเลย บริโภคกระเป๋าใบหนึ่งเป็นล้านๆ ก็ซื้อมาใช้ มันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร บริโภคไม่ได้คิดถึงวันข้างหน้า ไม่ได้คิดถึงความไม่แน่นอนของชีวิต เราเป็นชาวพุทธเราไม่หลงระเริง มีโอกาสทำมาหากินก็ทำ มีโอกาสรวยก็รวย แต่ไม่ทุจริต รวยอย่างทุจริตมันก็ได้ประโยชน์ในเฉพาะหน้านี้ อนาคตเสียหาย บางคนก็เสื่อมไปหมดเลย ติดคุก ติดตาราง ไม่ต้องพูดถึงชีวิตหลังความตายหรอก อย่างเราก็เห็นตัวอย่างใช่ไหม ยิ่งใหญ่ขึ้นมาก็หาเงินได้เยอะแยะเลย หาเงินได้เยอะแยะ สุดท้ายอยู่ไม่ได้ เงินทองไม่ได้นำความสุขมาให้ บ้านเมืองก็ไม่ได้อยู่ของตัวเอง ไปอยู่ที่อื่น ไม่ได้มีความสุขจริง นี่ถ้าเราเป็นชาวพุทธเราไม่ประมาท ทำมาหากินสุจริต ได้เงินรู้จักอดออม รู้จักต่อทุนต่อยอดไป ดูลู่ทาง แล้วที่สำคัญต้องรู้จักคบกัลยาณมิตร คนซึ่งแนะนำสิ่งที่มีประโยชน์ เรียกว่ากัลยาณมิตร เรารู้จักคบคนอย่างนี้ ชีวิตเราก็จะก้าวหน้าได้

นี่แค่เรื่องธรรมะอันหนึ่งของโลก คือมีลาภ ก็เสื่อมลาภได้ มียศ ก็เสื่อมยศได้ มีน้อยคนที่ว่าไม่เสื่อมยศ แต่ก็ไม่จริงหรอก สุดท้ายก็หมดไป อย่างบางคนเป็นจักรพรรดิ อย่างพระเจ้าอโศกเป็นจักรพรรดิ ถึงจุดหนึ่งก็ไม่ได้เป็น ไม่มีใครมาแย่งอำนาจ แต่ว่าสังขารร่างกายไม่อำนวยหมดอายุขัย ถัดจากจักรพรรดิไปเกิด ถ้าจำไม่ผิดเคยอ่านเจอไปเกิดเป็นสัตว์ ตัวอะไรจำไม่ได้แม่นแล้ว แล้วก็ลูกท่านเป็นพระอรหันต์ พยายามโปรดสัตว์ โปรดพ่อ ก็เอาตัวรอดขึ้นมาได้ ทำไมทำคุณงามความดีตั้งเยอะยังพลาดได้ ก็เพราะว่าคนเราไม่ได้ทำดีตลอด มันก็ทำชั่วมาบ้าง ดีกับชั่ว มันคละเคล้าปะปนกันมา ตอนจะตายแล้วแต่ว่ากรรมตัวไหนมันจะให้ผล เราเลือกไม่ได้หรอก กรรมมันจัดสรรเอง

มียศ เคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็ไม่เป็นเห็นไหม หรือเคยเป็นขุนนางใหญ่ เป็นเจ้าคุณโน้นเจ้าคุณนี้ถึงจุดหนึ่งก็ตาย คนอื่นเขามาเป็นแทน ฉะนั้นมีตำแหน่งหน้าที่ เคยเป็นปลัดกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ถึงจุดหนึ่งอย่างมากเขาก็บอกอดีตปลัดกระทรวง คำว่า อดีตปลัดกระทรวง ก็คือไม่ได้เป็นปลัดกระทรวง นี่มียศมันก็เสื่อม บางคนไม่เข้าใจตรงนี้ ดิ้นรนแสวงหายศอยากได้ตำแหน่ง ซื้อตำแหน่งเอาบ้าง ปัดแข้งปัดขาคนอื่นบ้าง คิดว่าจะนำความสุขมาให้ ตัวเองปัดแข้งปัดขาคนอื่นขึ้นไป หรือซื้อขึ้นไป ตลอดเวลาที่ครองตำแหน่งอยู่ ใจก็กังวลว่าคนอื่นจะมาปัดแข้งปัดขาตัวเองบ้างไหม อย่างที่ตัวเองเคยทำ คนอื่นจะมาซื้อตำแหน่งแทนไหม อย่างที่ตัวเองเคยทำ มีขึ้นมานะไม่ได้มีความสุขจริงหรอก บางคนมาหาพระมาขอพร ขอให้ได้เลื่อนตำแหน่งอะไรอย่างนี้ เลื่อนไปก็ไม่ใช่ว่ามีความสุข อยู่ที่การกระทำของเราเองเป็นหลัก

เคยมีนายทหารคนหนึ่งไปจัดพิธีพุทธาภิเษก น่าจะที่วัดสุทัศน์ ก็นิมนต์พระมาเยอะเลย พระเกจิดังๆ มา มีองค์หนึ่งชื่อหลวงปู่เที่ยง วัดม่วงชุม อยู่ที่เมืองกาญจน์ องค์นี้ยุคหนึ่งท่านก็ดังมาก นายทหารนี่ก็เข้าไปหาท่านหลังจากเสร็จพิธีแล้ว ไปกราบท่าน “หลวงปู่ครับ ผมเป็นพันเอกมานานแล้วไม่ได้เป็นนายพลสักที ขอพรหลวงปู่ช่วยให้ผมได้เป็นนายพลครับ” หลวงปู่ท่านมองหน้าแล้วบอก “มึงโง่อย่างนี้ มึงถึงไม่ได้เป็น อยากได้ตำแหน่งก็ไปขอนายสิ มาขอพระได้ยังไง” ดูท่านฉลาดไหม คนนี้ได้สติไปขอนาย ก็ได้เป็นนายพล แต่เป็นนายพลอยู่ไม่นานก็เกษียณ ก็เป็นอดีตอีก สุดท้ายมียศขึ้นมา สุดท้ายมันก็เป็นอดีตของยศทั้งนั้นเลย อย่างเพื่อนหลวงพ่อเป็นอธิบดี เป็นเอกอัครราชทูต เป็นนู่นเป็นนี่กัน ถึงวันนี้ก็เป็นข้าราชการบำนาญ ก็เป็นอดีตไปหมดแล้ว ฉะนั้นถ้าเรารู้จักความจริงว่ายศทั้งหลายนี่มันก็ของไม่ยั่งยืน ได้ยศมาแล้วเอาไปทำประโยชน์ได้ ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือคนอื่นได้ อันนั้นเป็นประโยชน์ ถึงเราจะอยู่ในตำแหน่งไม่นาน แต่เราได้สร้างคุณงามความดีอะไรอย่างนี้ คนมีอำนาจมีโอกาสทำดีมากมีโอกาสทำชั่วมาก อยู่ที่ตัวเองเลือก ฉะนั้นเรามียศขึ้นมาด้วยความสุจริตของเรานี่ทำความดีไป อย่างเป็นตำรวจเห็นไหม เคยเห็นเขาถ่ายรูปลง Facebook อะไรกัน เคยเห็นอยู่ว่าตำรวจคนนี้ไปช่วยคนแก่ แม่ค้าหาบของแก่ๆ จะข้ามถนนอะไรอย่างนี้ก็ไปช่วยเขาหาบ จูงยายข้ามถนนอะไรอย่างอย่างนี้ อย่างนี้คนก็สรรเสริญ สร้างความดีไป ถ้าเป็นตำรวจแล้วก็ตั้งด่านรีดไถอะไร คนก็ไม่สรรเสริญหรอก ไม่นานหมดอำนาจไป ย้อนนึกถึงสิ่งที่ตัวเองเคยทำมันเศร้าหมอง ในขณะที่เรามีอำนาจอยู่ เราทำความดี หมดอำนาจแล้วเรานึกย้อนหลังไป เราอิ่มอกอิ่มใจ ไม่เหมือนกัน คุณค่ามันต่างกันมากเลย ฉะนั้นเราก็ต้องรู้ ยศเป็นของเหมือนหัวโขนสวมได้ก็ต้องถอด ไม่มีใครสวมหัวโขนไปตลอดหรอก ถึงเวลาก็ต้องถอดออกไป ฉะนั้นเวลาสวมเราก็สวมหัวโขนแล้วก็แสดงบทบาทให้มันดี ก็มีความสุขได้ ไม่ใช่ว่าหลวงพ่อสอนว่าทุกคนต้องไม่มียศ มียศได้ก็มี ไม่ใช่ไม่มี เหมือนรวยได้ก็รวย ไม่จำเป็นว่าต้องไม่รวยหรอก แต่รวยให้เป็น มียศให้เป็น

นี่ท่านสอนธรรมะประจำโลก มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ สังเกตไหมว่าตัวนี้มันกลับข้างกับคนอื่น อันแรกเป็นส่วนดี มีลาภแล้วเสื่อมลาภ ลาภมันดีใช่ไหม เริ่มจากดี มียศนี้ส่วนดี แล้วก็หมดยศไป เสื่อมยศ พอมาถึงสรรเสริญกับนินทา ท่านไม่เริ่มจากสรรเสริญ ท่านพลิก นินทากับสรรเสริญ ทำไมนินทากับสรรเสริญ เอาเริ่มนินทาก่อน ในโลกนี้คำสรรเสริญกับคำนินทา อะไรมีมากกว่ากัน ใครไม่ถูกนินทามีไหม ไม่มี หลวงพ่อกล้าพูดเลย ในโลกนี้คนที่ไม่ถูกนินทา ไม่มี หลวงพ่อรู้ได้ยังไง พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ ในโลกนี้คนที่ไม่ถูกนินทา ไม่มี คนที่ได้รับคำสรรเสริญนี่น้อยเต็มที ที่สรรเสริญ แต่ประจบสอพลอนั่นไม่นับว่าสรรเสริญจริงหรอก อันนั้นคือประจบสอพลอ อย่างเขาเป็นใหญ่เป็นโต ท่านอย่างโน้น ท่านอย่างนี้ ท่านเก่งอย่างโน้น ท่านฉลาดอย่างนี้ ท่านดีอย่างนั้น เขาประจบสอพลอเพื่อหาผลประโยชน์ เขาไม่ได้สรรเสริญด้วยใจ ทีนี้บางคนมีอำนาจขึ้นมา คนสรรเสริญ ก็ต้องดูว่าเขาสรรเสริญด้วยใจหรือเปล่า หรือว่าเขาหวังผลประโยชน์ นี้ในโลกนี้เต็มไปด้วยคำนินทา ถ้าเรายอมรับความจริงตรงนี้ไม่ได้ เราจะทุกข์

อย่างทีมงานของหลวงพ่อนี่ทุ่มเททำไลฟ์สด ทำกันเข้มแข็งมากเลย ลงทุนลงแรงเหน็ดเหนื่อย มีคนมาบอก “เสียงไม่ชัด” เสียงไม่ชัด นี่เขายังไม่ถึงขั้นนินทาด้วยซ้ำไป นี้เขา respond บอก “เอ้อ วันนี้เสียงไม่ชัด” อะไรอย่างนี้ เรามาปรับแก้ อย่างนี้เราได้ประโยชน์ ถ้าเราใจเสีย “ตายละเขาว่าเรา เราทำงานแทบตายแล้วมันนินทาเรา” อะไรอย่างนี้ หรือทีมแม่ครัว ก็มีคนสรรเสริญกับมีคนนินทา สรรเสริญก็ “โอ้ ดีจังเลยนะ อุตส่าห์เสียสละมาช่วยทำอาหารให้วัด” อะไรอย่างนี้ นินทาก็มี “ไม่อร่อยเลย” ทีแรกก็ชมว่าอร่อย พอเขาชมว่าอร่อย แม่ครัวก็ได้กำลังใจ ทำบ่อยๆ อะไรที่กินบ่อยๆ ไม่อร่อยหรอก เราก็ “โอ๊ย มาว่าเราอีกแล้ว ไอ้โน่นก็ไม่ชอบ ไอ้นี่ก็ไม่ชอบ” ถ้าเรารู้ว่าโลกมันเป็นอย่างนี้ คนมันชมบ้าง คนมันตำหนิบ้าง ส่วนใหญ่ตำหนิ ชมไม่ค่อยมีหรอก ทำไมคนไม่ค่อยชมกันเพราะคนมันอิจฉา ใครเขาดีมันก็อิจฉาเขา มันจะไปชมเขาทำไม ถ้าเราเข้าใจโลก เราถูกนินทาเราไม่หวั่นไหวถือเป็นเรื่องปกติ คนสรรเสริญก็เป็นเรื่องปกติ

อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เด็กๆ เรียนหนังสือก็เก่ง แล้วทำกิจกรรมอะไรได้แปลกๆ พอทำอะไรขึ้นมา กิจกรรมพิเศษต่างๆ อะไรอย่างนี้ คนก็ชม เราฟังจนชิน ฟังแล้วเฉยๆ ใจมันคงเคยภาวนามาเยอะ ใจฟังเขาชมก็เฉยๆ ฟังเขาว่าแล้วหงุดหงิดเล็กๆ ถ้าว่าเรื่อยๆ เฉยๆ “เอ้อ ธรรมดา” ถ้าจะแก้ปัญหาคนถูกนินทาด้วยกิเลส เราก็นึกสิ “อุ้ย เราต้องมีดีน่ะเขาถึงจะนินทา” อันนี้แก้ด้วยกิเลส กลายเป็นยกตนข่มท่าน “โอ้ย เราถูกนินทาเพราะเราดีกว่าเขา ถ้าเราเลวกว่าเขา เขาไม่นินทาเราหรอก” อันนี้ก็ไม่จริง บางคนทำตัวไม่ดีชาวบ้านก็นินทา ลูกบ้านนี้ไม่ได้เรื่องเลยติดยาอะไรอย่างนี้ คนเขาก็นินทา ฉะนั้นนินทาเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเรามีธรรมะ เราก็รู้ว่าคำสรรเสริญ คำนินทามันออกจากปากคนแต่มันมาสะเทือนที่ใจของเรา ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติจริงๆ คำสรรเสริญเกิดขึ้นใจเราฟู เรารู้ทัน คำนินทาเกิดขึ้นใจเราแฟบ เรารู้ทัน ใจเราเป็นกลางต่อคำสรรเสริญและคำนินทา อันนี้เป็นวิธีสุดยอดเลย เป็นวิธีของนักปฏิบัติ

ถ้าวิธีอย่างชาวโลกก็ทนเอา ปลอบตัวเอง ไม่มีใครหรอกที่ไม่ถูกนินทา นี่ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ แล้วก็ทนต่อการนินทา อันนี้ใช้ทนเอา บางทีก็ใช้กิเลสเลย ยกตนข่มท่านไปเลย ฉะนั้นวิธีต่อสู้กับคำนินทามีเยอะแยะเลย แล้วแต่เราจะเลือก เลือกไปตามสติปัญญา แต่ในโลกนี้ไม่มีใครที่ไม่ถูกนินทา สวยเกินไปก็ถูกนินทา เป็นไปได้ไหม สวยไปก็ถูกนินทา “มิน่าล่ะ ชอบไปเกาหลี” ความจริงพ่อแม่เขาเก่ง ลูกออกมาสวย เราก็หมั่นไส้ พยายามแต่งเรื่องว่าเขาไปศัลยกรรมมา “เนี่ย สวยด้วยมีดหมอ มีดอาคมทั้งหลาย” อดนินทาไม่ได้ ทำไมต้องนินทาเขา นินทาแล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง มันสบายใจ มันสะใจ มันสบายใจ มันเพิ่มกิเลสของตัวเอง ไม่เห็น ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจความจริงของโลก เราไม่หวั่นไหวกับคำนินทาและคำสรรเสริญ เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติ ทุกคนต้องเจอ เขาชอบเขาก็สรรเสริญ เขาไม่ชอบเขาก็นินทาก็แค่นั้นเอง

มีสุขแล้วก็มีทุกข์ได้ ตัวสุดท้ายของโลกธรรม 8 ประการ อันแรก มีลาภเสื่อมลาภ อันที่สอง มียศเสื่อมยศ อันที่สามมีนินทามีสรรเสริญ อันที่สี่ มีสุขแล้วก็มีทุกข์ เวลาเรามีสุขอย่าหลงระเริง ความสุขสั้นเสมอ ความสุขมันสั้นเสมอในความรู้สึกของเรา เวลามีความสุข เราอย่าหลงระเริง อย่าประมาท อย่างบางคนฐานะดี รูปร่างดี หน้าที่การงานดี ครอบครัวดี ดีหมดเลย มีความสุขมาก มีทุกสิ่งที่ต้องการ แล้วมีความสุขมหาศาล ใจบุญด้วย ชอบทำบุญ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สังคมสงเคราะห์อะไรอย่างนี้ ดีหมดเลยชีวิต วันหนึ่งไปตรวจร่างกายเป็นมะเร็งแล้ว ความสุขที่เคยมีมันหายทันทีเลย มีเงินร้อยล้านพันล้าน พอเป็นมะเร็งขึ้นมาเสียเงินเท่าไหร่ก็ยอม เหมือนอย่างคนรุ่นเราทำงานเก็บเงินไว้ตั้งมาก ตอนแก่ๆ พอเจ็บป่วยนี่โรงพยาบาลเอาไปกินหมดเลย หลวงพ่อไม่อยากพูดว่าหมอเอาไปกินหมด โรงพยาบาลเป็นคนรับเงินไป หมอไม่ได้รับเงินเรา มีเงินก็เอาไปทุ่มๆๆ ลงไป ค่ารักษาตัวเองเยอะแยะเลย มีคนรู้จักกันอยู่ทางเมืองกาญจน์ มีที่ดินเยอะแยะเลย รวย มีปั๊มน้ำมัน มีอะไรเยอะแยะ ฐานะดี เจ็บป่วยขึ้นมาทีหนึ่ง เข้าโรงพยาบาลทีหนึ่งหลายสิบล้าน ขายที่ขายอะไรไปเรื่อยๆ คล้ายๆ ความเหน็ดเหนื่อยที่ทำมานี่มันสลายไปในช่วงสุดท้าย เอาไปแลกกับการมีชีวิตรอด บางคนหลวงพ่อเห็นแล้วน่าสลดใจ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ใช้เครื่องปั๊มหัวใจ คลุมหมดเลยทั้งตัวเลย มีชีวิตอยู่ด้วยการเอาเงินเข้าไปแลก ลมหายใจนี่ก็แลกมาด้วยเงิน หายใจเองไม่ได้แล้ว เคยหายใจฟรี ต่อไปนี้หายใจต้องเสียเงินแล้ว ต้องปั๊มออกซิเจนเข้ามา ต้องอะไรขึ้นมา ความสุขที่มีมันอันตรธานไปหมดเลย

ฉะนั้นเราอย่าประมาท ความสุขในโลกไม่ยั่งยืนหรอก ถ้าไม่โหดร้ายอย่างที่หลวงพ่อเล่า ไม่ถึงสถานการณ์เลวร้ายว่าจะป่วยจะตายหนักๆ อะไรอย่างนี้ หรือพิการอะไรอย่างนี้ มีชีวิตอยู่ธรรมดาอย่างนี้ เราก็จะเริ่มสังเกตเห็น ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ เราจะเห็นว่าความสุขทั้งหลายไม่คงที่หรอก อย่างเราชอบสาวคนหนึ่งได้เห็นหน้าเขาทุกวันๆ เราก็มีความสุขแล้ว มีความสุขอยู่ไม่นาน เห็นหน้าแล้วอยากได้มาเป็นแฟนเรา การที่ลำพังแค่เห็นนี่เคยให้ความสุขเราได้ต่อไปนี้ไม่ให้แล้ว อยากได้มาเป็นแฟน หาทางทำให้เขาชอบ ให้เขาชอบได้เป็นแฟนแล้ว อยากได้เขาเป็นเมียอีกแล้ว พออยากได้เป็นเมียนานๆ ไป เบื่อ อยากให้ไปให้พ้น อยากเลิกกัน มันไม่เลิกสักที ไม่ยอมเลิก มันเกาะเราแน่นเหลือเกิน ลืมไปว่าเป็นกฎแห่งกรรม ก่อนเราจะแต่งงานกับเขา เราไปจีบเขา เราไปเกาะเขาแน่นเลยไปเฝ้าเช้าเฝ้าเย็น พอเขามาอยู่กับเราแล้ว เราจะไปว่าเขาเกาะเราแน่น มันเป็นกรรมของเรา เขาก็เกาะเราแน่นเหมือนอย่างที่เราเคยเกาะเขาแน่นบ้าง อันนี้ยังดี บางคนเรารักอยู่แท้ๆ ก็ไปมีกิ๊กก็ได้ ยุคนี้คเสรีอะไรอย่างนี้

ความสุขในโลกมันเป็นความสุขที่อิงอาศัยคนอื่น อิงอาศัยสิ่งอื่น ซึ่งไม่มั่นคง ไม่แน่นอน ไม่เหมือนความสุขในธรรมะ ไม่ได้อิงอาศัยคนอื่น ไม่ได้อิงอาศัยสิ่งอื่น แต่อิงอาศัยตนเอง พึ่งตนเองได้ ภาวนาไปเรื่อยๆ พึ่งตนเองได้ มีความสุข หลวงพ่อพูดเต็มปากเลยว่าหลวงพ่อมีความสุขเยอะ ภาวนามาเรื่อยๆ นี่ชีวิตมีความสุข แก่ก็แก่อย่างมีความสุข เจ็บก็เจ็บอย่างมีความสุข ต่อไปก็จะตายอย่างมีความสุข คิดอย่างนั้น จะทำได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ตายแล้วอาจจะเกิดเป็นแมวก็ได้ โลกนี้ไม่แน่นอน แล้วแต่เวรแต่กรรม ฉะนั้นอย่างถ้าเราดำรงชีวิตถูกต้องเป็นธรรม โลกธรรม 8 ประการจะแปรปรวนยังไง เราก็มีความสุขได้ เราก็จะมีความสุขได้ในทุกๆ สถานการณ์

เหมือนหลวงพ่อไปอยู่โรงพยาบาล วันนี้ก็เจาะนู่นเจาะนี่ผ่านู้นผ่านี้ เจ็บตัวอยู่ทุกวัน วันที่ไม่เจ็บตัวนี่แทบไม่มีเลย มีแต่เรื่องเดือดร้อนทางร่างกายเราเรื่อยๆ บางทีก็เหนื่อยมาก ไม่สบาย เหนื่อย ไม่มีแรง ญาติโยมก็มาเยี่ยม ส่วนใหญ่ก็พวกหมอพวกพยาบาลอะไรอย่างนี้มาเยี่ยม ก็คุยกับเขา เขาไปเราก็รีบลงไปนอนแผ่หมดแรง ก็ทำสงเคราะห์ สงเคราะห์เท่าที่สงเคราะห์ได้ ยังมีกำลังอยู่ ก็ทำหน้าที่ของเราไป มีคนมาถามว่าหลวงพ่ออยู่โรงพยาบาลนานแล้วคิดถึงวัดไหม เบื่อไหม หลวงพ่อบอก หลวงพ่อไม่เบื่อหรอก เบื่อมันเป็นโทสะ เราไม่รู้จะเบื่อไปทำไม เบื่อเราก็ออกจากโรงพยาบาลไม่ได้ เบื่อแล้วกลุ้มใจเปล่าๆ อย่างเวลาเราไปอยู่โรงพยาบาล เราเบื่อ เรากลับบ้านได้ไหม กลับไม่ได้ ความเบื่อทำให้เราเป็นทุกข์เปล่าๆ นี่พอเราภาวนา เราเข้าใจ เบื่อมันทำไม อยู่กับมันนี่ล่ะ อยู่ตรงไหนมันก็ต้องอยู่ อยู่โรงพยาบาลก็ทุกข์ อยู่วัดมันก็ทุกข์อย่างอยู่วัดนั่นแหล่ะ คนละแบบกันเท่านั้นเอง ที่ไหนมันก็ทุกข์เหมือนกัน ทุกข์ทั้งนั้น แต่ว่าทุกข์ต่างๆ กันไปตามสถานการณ์

พอเรารู้สุขกับทุกข์อะไรอย่างนี้ มันเป็นเรื่องธรรมดาโลก เราก็ไม่หวั่นไหวกับสุข ไม่หวั่นไหวกับทุกข์ ฉะนั้นอย่างเราไม่ได้คิดจะบรรลุมรรคผลนิพพาน เราก็เรียนโลกธรรม 8 ประการนี่แล้วก็หัดปฏิบัติให้สอดคล้อง เข้าใจมัน เริ่มต้นจากเข้าใจโลกธรรม เจริญได้ก็เสื่อมได้ พอเข้าใจแล้วก็ดำรงชีวิตให้สอดคล้อง พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วทั้งนั้น อย่างลาภ ยศ อะไรอย่างนี้ ท่านก็สอนคาถาที่จะทำให้เป็นเศรษฐี รู้จักทำมาหากิน รู้จักอดออม รู้จักลงทุน รู้จักคบคนอะไรอย่างนี้ มันมีธรรมะ อันนี้ไปถามหลวงพ่อกู๋ดู (Google) อยู่บ้านไปถามหลวงพ่อกู๋ดู แกตอบได้หมดล่ะ อีตาคนนี้มันรู้มากจริงๆ อยู่ที่เราอ่านแล้วเอามาทำให้ได้ แล้วชีวิตเราจะมีความสุข

วันนี้สมควรแก่เวลา นี่เทศน์เรื่องปรมัตถ์มาหลายวันแล้ว วันนี้เทศน์เอาใจชาวโลกบ้าง แต่มันก็เจืออยู่ในเรื่องของปรมัตถ์นั่นล่ะ

https://www.dhamma.com/8worldlyconcerns/
4
ธรรมะ / ตอบ : หลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
« กระทู้ล่าสุด โดย dhammadigital เมื่อ 09 ม.ค. 2567, 02:27:30 »
อิทธิบาท 4

 คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จสี่ประการ เรียกว่า อิทธิบาท 4 หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ คือ

๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
๔. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน

ฉันทะ คือความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ ตนถือว่า ดีที่สุด ที่มนุษย์เรา ควรจะได้ ข้อนี้ เป็นกำลังใจ อันแรก ที่ทำให้เกิด คุณธรรม ข้อต่อไป ทุกข้อ

วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึง การการะทำที่ติดต่อ ไม่ขาดตอน เป็นระยะยาว จนประสบ ความสำเร็จ คำนี้ มีความหมายของ ความกล้าหาญ เจืออยู่ด้วย ส่วนหนึ่ง

จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้ง สิ่งนั้น ไปจากความรู้สึก ของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็น วัตถุประสงค์ นั้นให้เด่นชัด อยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่

วิมังสา หมายถึงความสอดส่องใน เหตุและผล แห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า ปัญญา ไว้อย่างเต็มที่
5
ธรรมะ / ตอบ : หลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
« กระทู้ล่าสุด โดย dhammadigital เมื่อ 09 ม.ค. 2567, 02:25:01 »
พรหมวิหาร 4

พรหมวิหาร 4 หรือ พรหมวิหารธรรม เป็นหลักธรรมประจำใจเพื่อให้ตนดำรงชีวิตได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์เฉกเช่นพรหม เป็นแนวธรรมปฏิบัติของผู้ที่ปกครอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ ได้แก่

    เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า
    กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์
    มุทิตา คือ ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง ประกอบด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
    อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตาชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน
6
ธรรมะ / ตอบ : หลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
« กระทู้ล่าสุด โดย dhammadigital เมื่อ 09 ม.ค. 2567, 02:23:17 »
สังคหวัตถุ 4 หมายถึง เครื่องมือ หรือหลักธรรม 4 ประการ ที่ช่วยประสานคนหมู่มากให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เป็นเครื่องช่วยขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้คนอยู่ร่วมกันด้วยความรัก สามารถนำไปใช้ได้ตั้งแต่ระดับครอบรัวจนถึงระดับสังคม เป็นธรรมที่ก่อให้เกิดความผาสุกในบ้านเมือง และประเทศชาตินั่นเอง

ความหมายสังคหวัตถุ 4 จากท่านผู้รู้ต่างๆ

อารี กล่าวถึง สังคหวัตถุ 4 ในเชิงที่ว่า เป็นธรรมอันเป็นเครื่องช่วยเหลือกัน เป็นการผูกมิตร วิธีที่จะผูกมิตรนั้น ต้องมีสิ่งที่ช่วยยึดเหนี่ยว และประสานน้ำใจกันไว้ให้ต่างคนต่างมีความรักใคร่นิยมชมชอบซึ่งกันและกัน

พระศรีปริยัติโมลี ได้ให้ความหมายของสังคหวัตถุ 4 ในเชิงที่ว่า เป็นหลักธรรมพื้นฐานที่แสดงพฤติกรรมออกมาโดยคำนึงถึงการช่วยเหลือผู้อื่น และการทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม

ปฏิมากร ได้ให้ความหมายของสังคหวัตถุ 4 ในเชิงที่ว่า เป็นพฤติกรรมที่เอื้อต่อสังคมโดยใช้หลักธรรมพื้นฐานที่แสดงออกมาโดยคำนึงถึงการช่วยเหลือผู้อื่น และการกระทำ ประโยชน์ให้กับส่วนรวมที่เรียกว่า สังคหวัตถุ 4

พิพัฒน์ กล่าวไว้ว่า สังคหวัตถุ 4 ในเชิงที่ว่า เป็นหลักธรรมที่ใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจบุคคลให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข สามารถใช้เป็นวิธีการในการดำเนินชีวิตภายใต้ความรับผิดชอบในสังคมทั้งในระดับบุคคล และธุรกิจองค์กรโดยมีความสอดคล้องกับบริบทของสังคมภายใต้พื้นฐานการสงเคราะห์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

องค์ประกอบของสังคหวัตถุ 4

1. ทาน

ทาน ในสังคหวัตถุ 4 คือ การให้ การสงเคราะห์หรือช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการให้สิ่งของที่ตนมีให้แก่ผู้ที่ต้องการผู้ขาดแคลนหรือผู้เดือดร้อน สิ่งของที่นา มาให้นั้นต้องเป็นสิ่งของที่ได้มาโดยสุจริตเป็นประโยชน์ คือผู้ให้ก็เป็นสุข อิ่มเอิบใจ ผู้รับก็ก็สามารถบรรเทาทุกข์ความเดือดร้อน รวมทั้งการให้ความรู้ การแนะนำที่ถูกต้อง ชัดเจนและเป็นจริงด้วย

2. ปิยวาจา

ปิยวาจา ในสังคหวัตถุ 4 คือ การใช้วาจาด้วยถ้อยคำที่สุภาพ และถ้อยคำที่มีประโยชน์ พูดด้วยถ้อยคำที่เป็นจริง และถ้อยคำที่ไม่กระทบกระทั่งผู้อื่น พูดแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ รู้จักกล่าวขอโทษ รู้จักกล่าวขอบคุณ ซึ่งผู้ปฏิบัติได้ย่อมทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวผู้พูดจูงให้ละเว้นความชั่ว ทำให้การงานสำเร็จ เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตและการงานอย่างยิ่ง

3. อัตถจริยา

อัตถจริยา ในสังคหวัตถุ 4 คือ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่ทั้งตนเอง และผู้อื่น รู้จักการเสียสละไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ความสุขสบายส่วนตัว ทุ่มเทแรงกาย แรงใจในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และช่วยเหลือผู้อื่น พร้อมรู้จักแก้ไขปัญหาด้วยปัญญา

4. สมานัตตตา

สมานัตตตา ในสังคหวัตถุ 4 คือ การวางตัวให้เหมาะสมเสมอต้นเสมอปลาย รู้จักวางตนให้เหมาะสมกับฐานะ มีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวเปลี่ยนแปลงง่าย และดำรงตนไว้ไม่ให้ตกไปในความชั่ว ปฏิบัติกับเพื่อนร่วมหรือผู้คนอื่นๆอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมแก้ไขปัญหากับเพื่อนร่วมงานในองค์กร

แนวทางตามหลักสังคหวัตถุ 4 ประการ จากผู้รู้ต่างๆ

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ให้ความหมายไว้ว่า สังคหวัตถุ มี 4 ประการ ดังนี้

1. ทาน คือ การรู้จักให้ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือด้วยการแบ่งปันสิ่งของให้แก่ผู้อื่นที่ควรให้ ตลอดจนให้ปัญญา และศิลปวิทยารวมไปถึงการให้อภัยแก่ผู้อื่น ทำให้สังคมอยู่กันอย่างมีความสุข เพราะการช่วยเหลือซึ่งกันละกัน

2. ปิยวาจา คือ การพูดจาน่ารัก ปราศรัยด้วยถ้อยคำสุภาพอ่อนหวาน ไพเราะ เป็นที่รัก พูดด้วยถ้อยคำที่น่าฟัง ชี้แจ้งในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้กำลังใจ ทำให้เกิดความพอใจแก่ผู้ได้ยินได้ฟัง ก่อให้เกิดมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

3. อัตถจริยา คือ การบำเพ็ญให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้อื่น เป็นการปฏิบัติสิ่งที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ด้วยกำลังความคิด กำลังกาย และกำลังทรัพย์ การทำ ตนให้เป็นประโยชน์เท่าที่จะทำได้ เช่น ส่งเสริมจริยธรรม ส่งเสริมให้ผู้อื่นได้รับสิ่งที่ดี การช่วยเหลือผู้อื่นจะทำให้หมู่คณะ และสังคม และประเทศชาติมีความก้าวหน้า ได้รับความสำเร็จในสิ่งต่างๆ เป็นอย่างดี

4. สมานัตตตา คือ การปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลาย การทำตัวให้เข้ากันได้ เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ไม่เอาเปรียบ ร่วมเผชิญ และแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน ไม่ถือเราถือเขา รู้จักผูกมิตรกับผู้อื่น เช่น ในยามที่ตนตกทุกข์ได้ยากก็ไม่ทอดทิ้งยังช่วยเหลือ ย่อมเกิดความสุข และความสามัคคีในหมู่คณะ

วิทย์ และเสถียรพงษ์ ได้อธิบายถึงองค์ประกอบที่เกี่ยวกับสังคหวัตถุ 4 ในเชิงที่ว่า

1. ทาน คือ การรู้จักให้ รู้จักเสียสละ หรือปันสิ่งของให้แก่บุคคลอื่น โดยปราศจากความตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ประโยชน์ของตนเพียงฝ่ายเดียว คุณธรรมข้อนี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่เป็นคนไม่ละโมบ และไม่เห็นแก่ตัว

2. ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ พูดจาด้วยถ้อยคำที่อ่อนหวาน และมีความจริงใจ ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดกระทบกระทั่งผู้อื่น พูดแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตน และผู้อื่น ภายใต้ความเหมาะสมกับกาลเทศะ การพูดให้เป็นปิยวาจานั้น ยึดหลักดังต่อไปนี้

– เว้นจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ไม่พูดจาโกหกหลอกลวงผู้อื่น เพื่อแสวงหาสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง ได้เห็นได้ฟังอย่าไรก็พูดไปอย่างนั้น ไม่พูดเสริมความ ยุยงจนทำให้เกิดความแตกแยก

– เว้นจากการพูดส่อเสียด คือ ไม่พูดจายุยงให้เขาแตกร้าว โดยเอาความทางนี้ไปบอกทางโน้น หรือเอาความทางโน้นมาบอกทางนี้ เมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องราวที่เป็นชนวนก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีก็หาทางระงับเสีย

– เว้นจากการพูดคำ หยาบ คือ พูดด้วยถ้อยไพเราะ คำ อ่อนหวานสุภาพ ไม่เอะอะโวยวายไม่พูดเรื่องหยาบคาย เมื่อฟังแล้วมีความสบายใจ

– เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ ไม่พูดในสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระหรือพูดวกวนจนจับใจความไม่ได้ แต่ควรพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์มีสาระมีเหตุผล

3. อัตถจริยา คือ ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และในสิ่งที่ดีงามแก่คนรอบข้าง ด้วยการปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้

3.1 มีความประพฤติชอบทางกาย เรียกว่า “กายสุจริต” ได้แก่

– เว้นจากการทำ ลายชีวิต

– เว้นจากการลักทรัพย์ ฉ้อโกงทรัพย์

– เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

3.2 มีความประพฤติชอบทางวาจา เรียกว่า “วจีสุจริต” ได้แก่

– เว้นจากการพูดเท็จ

– เว้นจากการพูดส่อเสียด

– เว้นจากการพูดคำหยาบ

– เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

3.3 มีความประพฤติชอบทางใจ เรียกว่า “มโนสุจริต” ได้แก่

– ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น

– ไม่พยายามปองร้ายผู้อื่น

– เห็นชอบในสิ่งที่ดีงาม

4. สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย การที่เราจะประพฤติตนให้เป็นผู้มี “สมานัตตา” นั้นต้องยึดหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

– บุคคลาธิษฐาน คือ บุคคลที่เป็นตัวตั้ง หมายความว่า ถ้าเรามีตำแหน่งมีฐานะสูงส่งขึ้นจะต้องไม่หลงลืมตัว เคยแสดงความเคารพนับถือผู้ใดก็แสดงความเคารพนับถืออย่างนั้น

– ธรรมาธิษฐาน คือ ธรรมที่เป็นที่ตั้ง หมายความว่า บุคคลทุกคนย่อมมีความเสมอภาคกันพระศรีปริยัติ

พระวีรวัฒน์ ได้กล่าวถึงหลักธรรมสังคหวัตถุไว้ว่าประกอบด้วย 4 ประการได้แก่

1. ทาน หมายถึง การให้ การเฉลี่ยเผื่อแผ่แก่กันและกัน ซึ่งเป็นข้อสำคัญเพราะว่าทุกๆ คนนั้นย่อมต้องการความช่วยเหลือจากกันอยู่ในด้านต่างๆ ในด้านวัตถุทรัพย์สินเงินทอง เครื่องอุปโภคต่างๆในด้านกำลังกาย ช่วยกระทำกิจการของกันและกันทางกาย ในด้านวาจา พูดจาช่วยเหลือกันในเรื่องที่ควรพูด ในด้านสติปัญญา ช่วยให้ความรู้ให้การแนะนำในข้อที่ควรจะแนะนำต่างๆ การให้การเฉลี่ยเผื่อแผ่ทุกคนทั้งผู้ใหญ่ทั้งผู้น้อยต่างก็ควรจะมีทาน คือ ให้การช่วยเหลือกัน ผู้ใหญ่ให้การช่วยเหลือผู้น้อย ผู้น้อยก็ให้การช่วยเหลือผู้ใหญ่ ด้วยจิตใจมุ่งที่จะช่วยให้บรรลุถึงประโยชน์ที่ต้องการ หรือเพื่อที่จะให้พ้นจากอุปสรรคขัดข้องทั้งหลาย

2. ปิยวาจา หมายถึง การเจรจาถ้อยคำ ซึ่งเป็นที่รักเป็นที่จับใจแก่กันและกันอันเป็นถ้อยคำ สุภาพ เพราะวาจาที่พูดออกไปนั้น ถ้าเป็นวาจาที่ไม่สุภาพไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นวาจาที่อาจเสียดแทงน้ำใจของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียใจ เจ็บใจ ไม่สบายใจ เพราะฉะนั้น จึงสมควรที่ทุกคนต้องมีสติควบคุมใจ ควบคุมการพูดของเราให้ไพเราะก็คือสตินั้นเอง ดังนั้นการพูดหรือการแสดงออกทุกครั้งต้องมีสติอยู่เสมอ

3. อัตถจริยา หมายถึง การประพฤติประโยชน์ให้แก่กันและกัน คือ การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสถาบัน เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย สังคมที่ตนอาศัยอยู่ตลอดถึงประเทศชาติ สิ่งใดที่เป็นโทษก็ควรละเว้นไม่กระทำ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์สามารถปฏิบัติได้ทั้งกาย วาจาใจ ในทุกเวลา และทุกโอกาส

4. สมานัตตตา หมายถึง ความเป็นผู้วางตนสม่ำเสมอ หรือเสมอต้นเสมอปลาย หมายถึง การรักษาระเบียบวินัยอันใดที่ทุกคนพึงปฏิบัติทั้งผู้ใหญ่ทั้งผู้น้อยตามหน้าที่ ที่บัญญัติเอาไว้เป็นระเบียบของสถานที่ ของหน่วยงาน เช่น กฎระเบียบของสถาบันการศึกษา กฎระเบียบของสถานที่ราชการต่างๆ เป็นต้น ตลอดถึงกฎหมายบ้านเมือง ในทางพระพุทธศาสนาก็คือ พระวินัยบัญญัติสา หรับพระภิกษุทั้งหลายนั้นเอง

สังคหวัตถุ 4 กับสมาชิกที่ดีในองค์กร

การใช้หลักธรรมสังคหวัตถุ 4 ต่อการแสดงพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีในองค์กร เพื่อให้บุคลากรในองค์กรอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข เป็นหลักธรรมะที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีกันในหมู่คณะไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่มีขนาดเล็กหรือองค์กรขนาดใหญ่ย่อมมีแนวแนวที่เหมือนกัน ดังนี้

1. ทาน คือ การเผื่อแผ่ แบ่งปัน ให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์ทั้งทางทุนทรัพย์สิ่งของ ปัจจัยสี่ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย หรือยารักษาโรค รวมทั้งการแบ่งปัน การให้คำ แนะนำ ให้ความรู้ศิลปวิทยาการ ความรู้ความสามารถที่เรามีอยู่ให้กับเพื่อนร่วมงานในองค์กร

2. ปิยวาจา คือ การใช้คำพูดหรือวาจาที่ไพเราะ ชัดเจน ไม่พูดส่อเสียด ดูถูกดูแคลน พูดด้วยคำที่สุภาพนิ่มนวล จริงใจ ไม่พูดโกหกเสแสร้ง ชี้แจงแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีเหตุมีผล มีหลักฐานอ้างอิง ไม่พูดเพ้อเจ้อ บิดเบือนจากความเป็นจริง การใช้ถ้อยคำ ที่แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจผู้อื่น พูดแล้วเกิดความสามัคคี ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน

3. อัตถจริยา คือ การทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ช่วยเหลือตามกำลังแรงกายที่ตนมีอยู่ ไม่ได้ถูกบังคับทำด้วยความเต็มใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ขวนขวายช่วยทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นสาธารณะประโยชน ์ มุ่งให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาให้กับองค์กรด้วย

4. สมานัตตตา คือ การเอาตัวเข้าไปสมาน การวางตัวเสมอต้นเสมอปลาย หนักแน่น ให้ความเสมอภาคกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบ ร่วมทุกข์ร่วมสุขช่วยเหลือเกื้อกูลกันแก้ปัญหา ช่วยกันคิดในทางสร้างสรรค์ เพื่อให้องค์กรอยู่เย็นเป็นสุข

แนวทางการนำสังคหวัตถุ 4 มาใช้ในองค์กร

1. เมื่อบุคลากรในองค์กรมีความเดือดร้อนในด้านปัจจัยทั้งสี่ บุคลากรในองค์กรควรให้ความช่วยเหลือ หมายถึง การให้ทานอันเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ทุนหรือทรัพย์สินสิ่งของ ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำ และรวมไปถึงการให้อภัยแก่เพื่อนร่วมงาน เมื่อเพื่อนร่วมงานทำงานผิดพลาดหรือไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้บุคลากรในองค์กรเป็นบุคลากรที่มีน้ำใจงาม น้ำใจดี มีความรัก ความสามัคคี เป็นหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น

2. เมื่อบุคลากรในองค์กรมีความเดือดร้อนในการทำงาน ต้องการความช่วยเหลือบุคลากรในองค์กรควรให้ความช่วยเหลือด้วยการพูดให้กำลังใจ แสดงความเห็นอกเห็นใจ ให้คำแนะนำ ชี้แจงอย่างถูกต้อง ไม่พูดจาดูหมิ่น เสียดสีเพื่อนร่วมงาน แต่พูดจากับบุคลากรหรือเพื่อนร่วมงานในองค์กรด้วยความไพเราะน่าฟัง

3. เมื่อบุคลากรในองค์กรต้องการความช่วยเหลือทางด้านแรงกาย บุคลากรในองค์กรก็ให้ความสำคัญ ขวนขวายช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังความสามารถ หรือการให้ความสำคัญกับองค์กรของตนเองด้วยการช่วยเหลือกิจการต่างๆ ภายในองค์กร บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาภายในองค์กรด้วยความเต็มใจ

4. เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในองค์กร บุคลากรก็เข้าไปช่วยในการแก้ไขปัญหา โดยให้ความเสมอภาค ไม่เอาเปรียบผู้อื่น อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมรับรู้ ร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขร่วมกันกับเพื่อนร่วมงาน และองค์กรทุกครั้ง

ดังนั้น การนำหลักธรรมสังคหวัตถุ 4 มาช่วยในการปฏิบัติงานของบุคลากรเพื่อให้เกิดการร่วมงาน และประพฤติที่ดีต่อองค์กร และเพื่อนร่วมงาน อันจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรในองค์กรด้วยกันเองและระหว่างองค์กรกับบุคลากรมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความความสุข ความสามัคคี ความสำเร็จ ในการปฏิบัติงาน รวมไปถึงการสร้างความจงรักภักดีต่อองค์กรของบุคลากร และยังช่วยส่งเสริมให้บุคลากรเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเองมากขึ้น ให้ความสำคัญกับตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในองค์กรด้วยความเต็มใจ
7
ธรรมะ / หลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
« กระทู้ล่าสุด โดย dhammadigital เมื่อ 09 ม.ค. 2567, 02:19:56 »
อริยสัจ 4

อริยสัจ หรือ จตุราริยสัจ หรือ อริยสัจ 4 เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยบุคคล หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่ 4 ประการ คือ

อริยสัจ 4 มีอยู่ 4 ประการ คือ

1.ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ 5

2.สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ

3.นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง

4.มรรค หรือ มรรค 8 คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์

มรรคมีองค์ประกอบอยู่ 8  ประการ คือ

  • สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ
  • สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
  • สัมมาวาจา เจรจาชอบ
  • สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ
  • สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
  • สัมมาวายามะ พยายามชอบ
  • สัมมาสติ ระลึกชอบ
  • สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง

มรรคมีองค์ 8 นี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้
  • อธิสีลสิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ
  • อธิจิตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ และ
  • อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ

กิจในอริยสัจ 4

กิจในอริยสัจ คือสิ่งที่ต้องทำต่ออริยสัจ 4 แต่ละข้อ ได้แก่

  • ปริญญา - ทุกข์ ควรรู้ คือการทำความเข้าใจปัญหาหรือสภาวะที่เป็นทุกข์อย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหา
  • ปหานะ - สมุทัย ควรละ คือการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เป็นการแก้ปัญหาที่เหตุต้นตอ
  • สัจฉิกิริยา - นิโรธ ควรทำให้แจ้ง คือการเข้าถึงภาวะดับทุกข์ หมายถึงภาวะที่ไร้ปัญหาซึ่งเป็นจุดมุ่งหมาย
  • ภาวนา - มรรค ควรเจริญ คือการฝึกอบรมปฏิบัติตามทางเพื่อให้ถึงความดับแห่งทุกข์ หมายถึงวิธีการหรือทางที่จะนำไปสู่จุดหมาย

กิจทั้งสี่นี้จะต้องปฏิบัติให้ตรงกับมรรคแต่ละข้อให้ถูกต้อง การรู้จักกิจในอริยสัจนี้เรียกว่ากิจญาณ

กิจญาณเป็นส่วนหนึ่งของญาณ 3 หรือญาณทัสสนะ (สัจญาณ, กิจญาณ, กตญาณ) ซึ่งหมายถึงการหยั่งรู้ครบสามรอบ ญาณทั้งสามเมื่อเข้าคู่กับกิจในอริยสัจทั้งสี่จึงได้เป็นญาณทัสนะมีอาการ 12 ดังนี้

1.สัจญาณ หยั่งรู้ความจริงสี่ประการว่า
        นี่คือทุกข์
        นี่คือเหตุแห่งทุกข์
        นี่คือความดับทุกข์
        นี่คือทางแห่งความดับทุกข์

2.กิจญาณ หยั่งรู้หน้าที่ต่ออริยสัจว่า
        ทุกข์ควรรู้
        เหตุแห่งทุกข์ควรละ
        ความดับทุกข์ควรทำให้ประจักษ์แจ้ง
        ทางแห่งความดับทุกข์ควรฝึกหัดให้เจริญขึ้น

3.กตญาณ หยั่งรู้ว่าได้ทำกิจที่ควรทำได้เสร็จสิ้นแล้ว
        ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว
        เหตุแห่งทุกข์ได้ละแล้ว
        ความดับทุกข์ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว
        ทางแห่งความดับทุกข์ได้ปฏิบัติแล้ว
8
รายงานตัวครับ ผมเด็กใหม่ ฝากเนื้อฝากตัวด้วยครับ
9
สวัสดีครับ  :001:
หน้า: [1] 2 3 4 5 6 7 8 ... 10