ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติเทพ กวนอู หรือ กวนกง  (อ่าน 5594 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ umpawan

  • ก้นบาตร
  • *****
  • กระทู้: 3112
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์วัดบางพระ
    • ดูรายละเอียด
ประวัติเทพ กวนอู หรือ กวนกง
« เมื่อ: 22 ธ.ค. 2552, 07:02:13 »


ประวัติเทพเจ้ากวนอู
กวนอูเดิมเป็นชาวอำเภอไก่เหลียง ดินแดนฮอตั๋ง ชื่อเดิมคือเผิงเสียน ชื่อรองโซ่วฉาง รูปร่างสูงใหญ่ สง่างามน่าเกรงขามแก่ผู้พบเห็น มีกำเนิดในครอบครัวนักปราชญ์ เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์พิชัยสงครามและคัมภีร์หลี่ซื่อชุนชิว เป็นนักโทษต้องคดีอาญาแผ่นดิน หลบหนีการจับกุมเร่รอนไปทั่วเป็นเวลา 6 ปีจนถึงด่านถงกวน นายด่านพบพิรุธจึงสอบถามชื่อแซ่ กวนอูตกใจจึงชี้ไปที่ชื่อด่านคือ "ถงกวน" ทำให้นายด่านเข้าใจว่ากวนอูนั้นแซ่กวน หลังจากนั้นเป็นต้นมากวนอูจึงเปลี่ยนจากชื่อเดิมคือเผิงเสียนเป็นกวนอู

ต่อมาได้พบเล่าปี่และเตียวหุยที่ตุ้นก้วนและร่วมสาบานเป็นพี่น้องกัน กวนอูได้ร่วมรบกับเล่าปี่ปราบโจรโพกผ้าเหลืองจนราบคาบในสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ แต่เล่าปี่กลับได้เพียงตำแหน่งนายอำเภออันห้อก้วน ภายหลังต๊กอิ้วซึ่งเป็นเจ้าเมืองออกตรวจราชการที่อำเภออันห้อก้วน เล่าปี่ไม่มีสินบนมอบให้จึงถูกใส่ความด้วยการเขียนฎีกาถวายพระเจ้าเหี้ยนเต้ในข้อหากบฏ เตียวหุยโกรธจัดถึงกับพลั้งมือเฆี่ยนตีต๊กอิ้วจนเกือบเสียชีวิต ทำให้เล่าปี่ต้องหลบหนีจากการจับกุมของทางการพร้อมกับกวนอูและเตียวหุย

วีรกรรมกวนอูของนั้นมีมากมาย เริ่มจากการร่วมปราบปรามโจรโพกผ้าเหลืองร่วมกับทหารหลวงของพระเจ้าเหี้ยนเต้ สังหารฮัวหยงแม่ทัพของตั๋งโต๊ะโดยที่สุราคาราวะจากโจโฉยังอุ่น ๆ ปราบงันเหลียงและบุนทิวสองทหารเอกของอ้วนเสี้ยว บุกเดี่ยวพันลี้หนีจากโจโฉเพื่อหวนกลับคืนสู่เล่าปี่ด้วยคำสัตย์สาบานในสวนท้อ ทั้งที่โจโฉพยายามทุกวิถีทางเพื่อมัดใจกวนอูแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ฝ่า 5 ด่าน สังหาร 6 ขุนพลของโจโฉ และในคราวศึกเซ็กเพ็กโจโฉแตกทัพหนีไปตามเส้นทางฮัวหยง กวนอูได้รับมอบหมายจากขงเบ้งให้นำกำลังทหารมาดักรอจับกุม โจโฉว่ากล่าวตักเตือนให้กวนอูระลึกถึงบุญคุณครั้งก่อนจนกวนอูใจอ่อนยอมปล่อยโจโฉหลุดรอดไป โดยยอมรับโทษประหารตามที่ได้ทำทัณฑ์บนไว้กับขงเบ้ง

เมื่อเล่าปี่สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิครองเสฉวน ได้ให้กวนอูไปกินตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋วและแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ ภายหลังซุนกวนมอบหมายให้โลซกเจรจาขอเกงจิ๋วคืน กวนอูบุกเดี่ยวข้ามฟากไปกังตั๋งเพื่อกินโต๊ะตามคำเชิญโดยที่โลซกและทหารที่แอบซุ่มรอบ ๆ บริเวณไม่สามารถทำอันตรายได้ ภายหลังซุนกวนเป็นพันธมิตรกับโจโฉนำทัพโจมตีเกงจิ๋ว กวนอูพลาดท่าเสียทีแก่ลิบองและลกซุนสองแม่ทัพแห่งกังตั๋งจนเสียเกงจิ๋ว พยายามตีฝ่ากำลังทหารที่ล้อมเมืองเป๊กเสียเพื่อชิงเกงจิ๋วกลับคืนแต่โดนกลอุบายจับตัวไปได้ ซุนกวนพยายามเกลี้ยกล่อมให้กวนอูยอมจำนนและสวามิภักดิ์แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกประหารพร้อมกับกวนเป๋งบุตรบุญธรรมในเดือนสิบสองของปี พ.ศ. 762

ศีรษะของกวนอูถูกซุนกวนส่งไปมอบให้แก่โจโฉที่ฮูโต๋ ซึ่งเป็นกลอุบายที่หมายจะหลอกให้เล่าปี่หลงเชื่อว่าโจโฉเป็นผู้สั่งประหารกวนอู และนำกำลังทหารไปทำศึกสงครามกับโจโฉแทน แต่โจโฉเท่าทันกลอุบายของซุนกวนจึงจัดงานศพให้แก่กวนอูอย่างสมเกียรติ นำไม้หอมมาต่อเป็นหีบใส่ศีรษะกวนอู แต่งเครื่องเซ่นไหว้ตามบรรดาศักดิ์ขุนนางผู้ใหญ่รวมทั้งสั่งการให้ทหารทั้งหมดแต่งกายขาวไว้ทุกข์ให้แก่กวนอู ยกย่องให้เป็นอ๋องแห่งเกงจิ๋วและจารึกอักษรที่หลุมฝังศพว่า "ที่ฝังศพเจ้าเมืองเกงจิ๋ว"ศีรษะของกวนอูถูกฝังไว้ ณ ประตูเมืองลกเอี้ยงหรือลัวหยางทางด้านทิศใต้


ความสัตย์ซื่อ

เมื่อคราวที่เล่าปี่ทำศึกแพ้โจโฉที่เมืองชีจิ๋วแตกแยกพลัดพรากจากกวนอูและเตียวหุย เล่าปี่หนีไปอยู่กับอ้วนเสี้ยว เตียวหุยแตกไปแย่งชิงเมืองเล็ก ๆ และตั้งซุ่มเป็นกองโจร กวนอูถูกโจโฉวางกลอุบายล้อมจับตัวได้ที่เมืองแห้ฝือ และมอบหมายให้เตียวเลี้ยวมาเจรจาเกลี้ยกล่อม กวนอูขอสัญญาสามข้อจากโจโฉคือ "เราจะขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ประการหนึ่ง เราจะขอปฏิบัติพี่สะใภ้ทั้งสอง แลอย่าให้ผู้ใดเข้าออกกล้ำกรายเข้าถึงประตูที่อยู่ได้ จะขอเอาเบี้ยหวัดของเล่าปี่ซึ่งเคยได้รับพระราชทานนั้น มาให้แก่พี่สะใภ้เราทั้งสองประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งถ้าเรารู้ว่าเล่าปี่อยู่แห่งใดตำบลใด ถึงมาตรว่าเรามิได้ลามหาอุปราชเราก็จะไปหาเล่าปี่ แม้มหาอุปราชจะห้ามเราก็ไม่ฟัง" โจโฉตกลงตามสัญญาสามข้อจึงได้กวนอูไว้ตามต้องการ

โจโฉนำกวนอูไปถวายตัวต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ พยายามเลี้ยงดูกวนอูอย่างดีเพื่อให้ลืมคุณของเล่าปี่แต่หนหลัง ให้เครื่องเงินเครื่องทองแลแพรอย่างดีแก่แก่กวนอูเพื่อหวังเอาชนะใจ สามวันแต่งโต๊ะไปให้ครั้งหนึ่ง ห้าวันครั้งหนึ่ง จัดหญิงสาวรูปงามสิบคนให้ไปปฏิบัติหวังผูกน้ำใจกวนอูให้หลง แต่กวนอูกลับไม่สนใจต่อทรัพย์สินและหญิงงามที่โจโฉมอบให้ ใจมุ่งหวังแต่เพียงคิดหาทางกลับคืนไปหาเล่าปี่ โจโฉเห็นเสื้อผ้ากวนอูเก่าและขาดจึงมอบเสื้อใหม่ให้ กวนอูจึงนำเสื้อเก่าสวมทับเสื้อใหม่ด้วยเหตุผลที่ว่า "เสื้อเก่านี้ของเล่าปี่ให้ บัดนี้เล่าปี่จะไปอยู่ที่ใดมิได้แจ้ง ข้าพเจ้าจึงเอาเสื้อผืนนี้ใส่ชั้นนอก หวังจะดูต่างหน้าเล่าปี่ ครั้นจะเอาเสื้อใหม่นั้นใส่ชั้นนอก คนทั้งปวงจะครหานินทาว่าได้ใหม่แล้วลืมเก่า"[10]

โจโฉเห็นม้าที่กวนอูขี่ผ่ายผอมเพราะทานน้ำหนักกวนอูไม่ไหวจึงมอบม้าเซ็กเธาว์ของลิโป้ให้ สร้างความดีใจให้กวนอูเป็นอย่างยิ่งจนถึงกับคุกเข่าคำนับโจโฉหลายครั้งจนโจโฉสงสัยถามว่า "เราให้ทองสิ่งของแก่ท่านมาเป็นอันมากก็ไม่ยินดี ท่านไม่ว่าชอบใจและมีความยินดีเหมือนเราให้ม้าตัวนี้ เหตุไฉนท่านจึงรักม้าอันเป็นสัตว์เดียรัจฉานมากกว่าทรัพย์สินอีกเล่า" กวนอูจึงตอบด้วยเหตุผลว่า "ข้าพเจ้าแจ้งว่าม้าเซ็กเธาว์ตัวนี้มีกำลังมาก เดินทางได้วันละหมื่นเส้น แม้ข้าพเจ้ารู้ข่าวว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด ถึงมาตรว่าไกลก็จะไปหาได้โดยเร็ว เหตุฉะนี้ข้าพเจ้าจึงมีความยินดี ขอบคุณมหาอุปราชมากกว่าให้สิ่งของทั้งปวง"


ความถือคุณธรรม

ภายหลังจากเตียวเลี้ยวเจรจาเกลี้ยกล่อมกวนอูได้สำเร็จ โจโฉสั่งทหารเปิดทางให้กวนอูเข้าเมืองและจัดให้อยู่ร่วมเรือนเดียวกับพี่สะใภ้ทั้งสองคือนางกำฮูหยินและนางบิฮูหยิน หวังให้กวนอูคิดทำร้ายจะได้แตกน้ำใจจากเล่าปี่ โจโฉจะได้ครอบครองกวนอูไว้เป็นสิทธ์แก่ตัว แต่กวนอูให้พี่สะใภ้ทั้งสองนอนห้องด้านในและนั่งจุดเทียนดูหนังสือรักษาพี่สะใภ้อยู่นอกประตู เป็นการทรมานตนเองจนรุ่งเช้าในระหว่างเดินทางกลับฮูโต๋ เมื่อโจโฉรู้ดังนั้นก็เกรงใจกวนอูด้วยว่า "มีความสัตย์และกตัญญูต่อเล่าปี่"


ความกตัญญูรู้คุณ
ในคราวศึกที่ตำบลแป๊ะแบ๊ อ้วนเสี้ยวนำทัพหมายบุกโจมตียึดครองฮูโต๋ โจโฉจัดทหารสิบห้าหมื่นแยกออกเป็นสามกองเข้ารับมือกับอ้วนเสี้ยว ในการทำศึกโจโฉสูญเสียซงเหียน งุยซกและไพร่พลจำนวนมาก ซิหลงเสนอให้เรียกกวนอูออกรบ โจโฉกลัวกวนอูออกรบแล้วจะเป็นการแทนคุณตนเองและจากไปแต่ซิหลงแย้งว่า "ข้าพเจ้าเห็นว่าเล่าปี่ไปอาศัยอ้วนเสี้ยวอยู่ แม้กวนอูฆ่าทหารอ้วนเสี้ยวคนนี้เสียได้ อ้วนเสี้ยวรู้ก็จะฆ่าเล่าปี่ เมื่อเล่าปี่ตายแล้วกวนอูก็จะเป็นสิทธิ์อยู่แก่ท่าน" โจโฉเห็นชอบด้วยความคิดซิหลงกวนอูจึงถูกเรียกตัวออกศึก โจโฉพากวนอูขึ้นไปบนเนินเขาและชี้ให้ดูตัวงันเหลียง กวนอูจึงว่า "งันเหลียงคนนี้หรือ ข้าพเจ้าพอจะสู้ได้ ท่านอย่าวิตกเลย ข้าพเจ้าจะตัดศีรษะงันเหลียงมาให้ท่านจงได้" และได้ตัดคอบุนทิวและงันเหลียง สองทหารเอกของอ้วนเสี้ยวดั่งคำสัตย์ที่ได้ลั่นวาจาไว้ แม้จะไม่ยอมเป็นข้ารับใช้โจโฉแต่ก็ยอมพลีกายถวายชีวิตในการทำศึกสงครามให้แก่โจโฉ เป็นชายชาติทหารเต็มตัว ช่วยทำศึกให้แก่โจโฉด้วยความสัตย์ซื่อ กตัญญูรู้คุณเพื่อเป็นการทดแทนคุณโจโฉที่ได้เลี้ยงดูและปูนบำเหน็จรางวัลต่าง ๆ ให้มากมาย

นับจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อเสียงและกิตติศัพท์ฝีมือง้าวในการทำศึกของกวนอูก็เป็นที่เลื่องลือกล่าวขานและรู้จักกันทั่วทั้งแผ่นดิน ในคราวที่โจโฉที่นำกำลังบุกลงใต้หวังยึดครองกังตั๋ง จิวยี่แม่ทัพของซุนกวนวางแผนการลอบฆ่าเล่าปี่โดยเชิญมากินโต๊ะ เล่าปี่หลงเชื่อถ้อยคำจิวยี่พาซื่อพาทหารไปกังตั๋งเพียงแค่ 20 คน นั่งดื่มเหล้ากับจิวยี่จนเมาในค่าย จิวยี่นัดแนะกับทหารไว้เมื่อเห็นตนเองทิ้งจอกเหล้าให้สัญญาณก็ให้ทหารที่เตรียมซุ่มไว้ออกมาฆ่าเล่าปี่ ระหว่างกินโต๊ะจิวยี่เห็นกวนอูยืนถือกระบี่อยู่ด้านหลังของเล่าปี่จึงถามว่าเป็นใคร เมื่อเล่าปี่ตอบว่า "กวนอูเป็นน้องข้าพเจ้าเอง" จิวยี่ก็ตกใจจนเหงื่อกาฬไหลโทรมกาย เกรงกลัวฝีมือของกวนอูจนล้มเลิกแผนการฆ่าเล่าปี่

ในคราวศึกเซ็กเพ็ก ภายหลังจากขงเบ้งทำพิธีเรียกลมอาคเนย์ให้แก่จิวยี่และลอบหลบหนีด้วยแผนกลยุทธ์หลบหนีจากการถูกปองร้ายของจิวยี่ เดินทางกลับยังแฮเค้าพร้อมกับจูล่ง ขงเบ้งมอบหมายให้จูล่งคุมทหารสามพันไปซุ่มรอที่ตำบลฮัวหลิม ให้เตียวหุยคุมทหารสามพันไปซุ่มรอที่เนินเขาปากทางตำบลโฮโลก๊ก ให้บิต๊กและบิฮองคุมทหารไปดักรออยู่ตามชายทะเลคอยดักจับทหารโจโฉที่หลบหนีมา ให้เล่ากี๋คุมเรือรบไปตั้งอยู่ที่ตำบลฮูเชียงและให้เล่าปี่คุมทหารไปคอยดูแผนการเผาทัพเรือโจโฉของจิวยี่อยู่บนเนินเขา ขงเบ้งจงใจไม่เลือกใช้กวนอูทำให้กวนอูน้อยใจจึงกล่าวแก่ขงเบ้งว่า "ตัวข้าพเจ้านี้มาอยู่กับเล่าปี่ช้านานแล้ว แลเล่าปี่จะทำการสิ่งใดก็ย่อมใช้สอยข้าพเจ้าให้อาสาไปทำการก่อนทุกแห่ง ครั้งนี้ท่านแคลงข้าพเจ้าสิ่งใดหรือ จึงไม่ใช้ไปทำการเหมือนคนทั้งปวง" ขงเบ้งจึงมอบหมายให้กวนอูคุมทหารห้าร้อยไปตั้งสกัดอยู่ทางฮัวหยง แต่ก็เกิดความคลางแคลงกวนอู ด้วยความเป็นคนสัตย์รู้จักคุณคน เกรงกวนอูจะนึกถึงคุณโจโฉที่เคยเอ็นดูทำนุบำรุงมาแต่ก่อนจึงไม่ฆ่าเสียและปล่อยให้หลุดรอดไป กวนอูจึงยอมทำทัณฑ์บนแก่ขงเบ้งด้วยศีรษะของตนเองถ้าไปดักรอโจโฉที่เส้นทางฮัวหยงแล้วปล่อยให้หลบหนีไปได้

โจโฉแตกทัพไปตามเส้นทางที่ขงเบ้งคาดการณ์ไว้จนถึงฮัวหยง พบกวนอูขี่ม้าถือง้าวคุมทหารออกมายืนสกัดขวางทางไว้ โจโฉเกิดมานะฮึกเฮิมจะต่อสู้แต่เรี่ยวแรงและกำลังของทหารที่ติดตามมานั้นอ่อนแรง เทียหยกจึงกล่าวแก่โจโฉว่า "จะหนีจะสู้นั้นก็ไม่ได้ อันน้ำใจกวนอูเป็นทหารนั้นก็จริง ถ้าเห็นผู้ใดไม่สู้รบแล้วก็มิได้ทำอันตราย ประการหนึ่งเป็นผู้มีความสัตย์ ทั้งรู้จักคุณคนนักด้วย แล้วท่านก็ได้เลี้ยงดูมีคุณไว้ต่อกวนอูเป็นอันมาก แม้ท่านเข้าไปว่ากล่าวโดยดี เห็นกวนอูจะไม่ทำอันตรายท่าน"" โจโฉเห็นชอบด้วยจึงว่ากล่าวตักเตือนกวนอูให้ระลึกถึงบุญคุณแต่ครั้งเก่าคราวที่กวนอูหักด่านถึง 5 ตำบล ฆ่า 6 ขุนพลและทหารเป็นจำนวนมาก ขอให้กวนอูเปิดทางให้หลบหนีไป กวนอูนั้นเป็นคนกตัญญูรู้คุณคน ได้ฟังโจโฉว่ากล่าวก็สงสารนึกถึงคุณโจโฉซึ่งมีมาแต่หนหลัง จึงยอมเปิดทางให้โจโฉหลบหนีไปโดยตนเองเลือกยอมรับโทษประหารตามที่ได้ลั่นวาจาสัตย์และทำทัณฑ์บนไว้แก่ขงเบ้ง


ความกล้าหาญ

เมื่อคราวเล่าปี่ตั้งตนเป็นใหญ่ในเสฉวนและสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าฮันต๋ง ได้ให้กวนอูไปกินตำแหน่งเจ้าเมืองเกงจิ๋วซึ่งเป็นหัวเมืองเอกของเสฉวน แต่เดิมเกงจิ๋วเป็นของซุนกวน โลซกรับเป็นนายประกันให้เล่าปี่ยืมเกงจิ๋วโดยสัญญาว่าเมื่อได้เสฉวนจะคืนเกงจิ๋วให้ แต่เมื่อเล่าปี่ได้เสฉวนกลับไม่ยอมคืนเกงจิ๋วให้ตามสัญญา ซุนกวนให้จูกัดกิ๋นพี่ชายขงเบ้งเป็นทูตไปเจรจาขอคืน แต่เล่าปี่ก็แสร้งบิดพลิ้วไม่ยอมคืนแต่จะยกเมืองเตียงสา เมืองเลงเหลงและเมืองฮุยเอี๋ยวให้แทน โดยให้ไปเจรจาขอเกงจิ๋วคืนแก่กวนอูผู้เป็นเจ้าเมือง โลซกจึงวางแผนการชิงเกงจิ๋วคืนด้วยการเชิญกวนอูมากินโต๊ะ ณ ปากน้ำลกเค้า ถ้าเจรจาขอเกงจิ๋วคืนจากกวนอูไม่สำเร็จจะใช้กำลังเข้าแย่งชิงโดยให้กำเหลงและลิบองคุมทหารซุ่มรออยู่รอบด้าน

กวนอูรับคำเชิญของโลซก แต่กวนเป๋งเกรงกวนอูจะได้รับอันตรายหากไปกินโต๊ะตามคำเชิญ กวนอูจึงให้เหตุผลว่า "เหตุทั้งนี้เพราะจูกัดกิ๋นไปบอกซุนกวน โลซกจึงคิดกลอุบายให้เราไปกินโต๊ะแล้วจะได้ทวงเอาเมืองเกงจิ๋วคืนไปไว้เป็นกรรมสิทธิ์ซุนกวน ครั้นเราจะไม่ไปชาวเมืองกังตั๋งจะดูหมิ่นเราว่ากลัว พรุ่งนี้เราจะพาทหารแต่ยี่สิบคนลงเรือเร็วไปกินโต๊ะ จะดูท่วงทีโลซกจะเกรงง้าวที่เราถือหรือไม่" แต่กวนเป๋งเกรงเล่าปี่จะตำหนิถ้าหากปล่อยให้กวนอูไปกังตั๋ง มิใยกวนเป๋งและม้าเลี้ยงจะห้ามปราม กวนอูก็ยืนยันคำเดิมตามที่ได้ลั่นวาจาไว้พร้อมกับกล่าวว่า "เจ้าอย่าวิตกเลย อันบิดานี้ก็มีฝีมือเลื่องลืออยู่ แต่ทหารโจโฉเป็นอันมากนับตั้งแสน บิดากับม้าตัวเดียวก็ยังไม่ต้องเกาฑัณฑ์แลอาวุธทั้งปวง ขับม้ารบพุ่งรวดเร็วเป็นหลายกลับ อุปมาเหมือนเข้าดงไม้อ้อแลออกจากพงแขม จะกลัวอะไรแก่ทหารเมืองกังตั๋งเพียงนี้ดังหนูอันหาสง่าไม่ ได้ออกปากว่าจะไปแล้วจะให้เสียวาจาไย"

กวนอูข้ามฟากไปกินโต๊ะตามคำเชิญของโลซกโดยลงเรือเร็ว มีนายท้ายกะลาสีประมาณยี่สิบคนพร้อมธงแดงสำหรับกวนอู แต่งกายโอ่โถงใส่เสื้อแพรสีม่วง โพกแพรสีเขียวปราศจากเกราะป้องกัน มีจิวฉองแบกง้าวนั่งเคียงข้าง มีทหารฝีมือเยี่ยมติดตามมาด้วยประมาณเจ็ดแปดคน บุกเดี่ยวไปยังดินแดนกังตั๋งด้วยความองอาจกล้าหาญมิเกรงกลัวต่อความตายที่อาจเกิดขึ้นได้ในต่างแดน โลซกเห็นกวนอูแต่งกายมีสง่าน่าเกรงขามก็เกิดความหวาดกลัว เกรงจะเจรจาขอเกงจิ่วคืนไม่สำเร็จ ครั่นคร้ามกวนอูขนาดเสพย์สุราก็มิอาจเงยหน้าขึ้นดูกวนอู


ความหยิ่งทรนง
แม้กวนอูจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความสัตย์ซื่อถือคุณธรรม กตัญญูรู้คุณและมีความกล้าหาญ แต่ถ้าพิจารณาจากวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรื่องราวชีวิตของกวนอูตั้งแต่เริ่มพบกับเล่าปี่และเตียวหุย จนถึงการจบชีวิตพร้อมกับกวนเป๋งเมื่อคราวเสียเกงจิ๋ว ก็อาจกล่าวได้ว่ากวนอูนั้นเป็นผู้ที่เหมาะสมและคู่ควรแก่การเป็นยอดวีรบุรุษ เป็นผู้กล้าที่กอปรไปด้วยสติปัญญาอันหลักแหลม เป็นยอดขุนพลผู้มีฝีมือล้ำเลิศจนเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว สามารถกุมชัยชนะในการต่อสู้ทำศึกสงครามมานับครั้งไม่ถ้วน แต่สุดท้ายกวนอูก็พลาดท่าเสียทีให้แก่ขุนพลผู้เยาว์วัยเช่นลกซุน และต้องแลกเกงจิ๋วกับความผิดพลาดของตนเองด้วยชีวิต

ข้อเสียอันร้ายแรงของกวนอูคือความเย่อหยิ่งทรนงในศักดิ์ศรีและเชื่อมั่นในตนเองมากจนเกินไป ไม่เชื่อถือผู้ใดนอกจากตนเอง เมื่อคราวที่เล่าปี่ไปเชิญขงเบ้งจากเขาโงลังกั๋งถึงสามครั้งเพื่อให้เป็นที่ปรึกษาในการทำราชการแผ่นดิน กวนอูไม่ยอมรับฟังคำสั่งของขงเบ้งด้วยเห็นว่าอายุน้อยกว่าตนเอง เตียวหุยและเล่าปี่ รวมทั้งเมื่อเล่าปี่ให้ความเคารพนับถือขงเบ้งประดุจอาจารย์ กวนอูยิ่งเกิดความน้อยใจในตนเองเป็นอย่างยิ่งจึงกล่าวว่า "ขงเบ้งนั้นอายุยี่สิบเจ็ดปีอ่อนกว่าท่านอีก แล้วก็ยังมิได้ปรากฏปัญญาแลความคิดมาก่อน เหตุใดท่านจึงมาคำนับขงเบ้งดังอาจารย์ฉะนี้" และด้วยนิสัยที่ไม่ยอมอ่อนต่อผู้อื่น กวนอูจึงถูกขงเบ้งดัดนิสัยในคราวศึกทุ่งพกบ๋องด้วยการขอกระบี่และอาญาสิทธิ์ของเล่าปี่ไว้ในครอบครองเพื่อสั่งการแก่กวนอู

ขงเบ้งมอบหมายให้กวนอูคุมทหารพันนายไปซุ่มรอคอย ณ เขาอีสัน ให้เตียวหุยคุมทหารพันนายไปซุ่มรอคอย ณ ป่าอันหลิม ให้จูล่งคุมทหารยกไปเป็นกองหน้าและให้เล่าปี่คุมกำลังทหารไปเป็นกองหนุนจูล่ง กวนอูจึงกล่าวแก่ขงเบ้งว่า "ท่านจัดแจงเราทั้งปวงให้ยกไปทำการ ทั้งนี้ก็เห็นชอบอยู่แล้ว แลตัวท่านนั้นจะทำเป็นประการใดเล่า" แต่เมื่อแผนการเผาทัพแฮหัวตุ้นของขงเบ้งประสบความสำเร็จ กองทัพของแฮหัวตุ้นสูญเสียไพร่พลเป็นจำนวนมากที่ทุ่งพกบ๋อง ทำให้กวนอูยอมรับในสติปัญญาของขงเบ้งและยอมเชื่อฟังคำสั่งของขงเบ้งมาโดยตลอด

ภายหลังเล่าปี่ตั้งตนเองเป็นใหญ่ในเสฉวน สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าฮันต๋ง ได้มอบหมายให้บิสีถือตรามาแต่งตั้งให้กวนอูเป็นทหารเสือที่เอกของเล่าปี่ โดยเหล่าทหารเสือประกอบไปด้วย กวนอู เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียวและฮองตง เมื่อกวนอูได้ฟังดังนั้นก็โกรธจึงว่า "เตียวหุยก็เป็นน้องของเรา จูล่งเล่าก็ได้ติดตามพี่เรามาช้านานแล้ว ก็เหมือนหนึ่งเป็นน้องของเรา ฝ่ายม้าเฉียวเล่าก็เป็นชาติเชื้อตระกูลอยู่ แต่ฮองตงคนนี้เป็นแต่เชื้อพลทหารชาติต่ำ เป็นคนแก่ชราหาควรจะตั้งให้เสมอเราด้วยไม่ ซึ่งมีตรามาดังนี้หายังหายอมไม่ก่อน"

ก่อนที่กวนอูจะเสียเกงจิ๋วและพ่ายแพ้จนถูกประหารชีวิต ซุนกวนได้ส่งจูกัดกิ่นเป็นเถ้าแก่มาเจรจาสู่ขอบุตรสาวของกวนอูเพื่อแต่งงานกับบุตรชายของซุนกวน แต่กวนอูปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่าบุคคลผู้สืบทอดแซ่ซุนมาสามชั่วอายุคนนั้น ถึงแม้จะยิ่งใหญ่ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ด้วยตนเองจึงไม่นิยมและนับถือซุนกวน ถือคตีตีราคาค่าของตนเองยิ่งใหญ่กว่าซุนกวนด้วยถ้อยคำปฏิเสธการสู่ขอว่า "บุตรของเรานี้ชาติเชื้อเหล่าเสือ ไม่สมควรจะให้แก่สุนัข ท่านว่ามาดังนี้ ถ้าเรามิคิดเห็นแก่หน้าขงเบ้งน้องของท่าน เราก็จะฆ่าท่านเสีย อย่าว่าไปเลย" โดยที่กวนอูไม่ทันยั้งคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเล่าปี่และซุนกวน ซึ่งเล่าปี่มีฐานะเป็นราชบุตรเขยของแซ่ซุน อีกทั้งการปฏิเสธซุนกวนแบบไม่มีเยื่อใยของกวนอู กลายเป็นการสร้างชนวนให้ซุนกวนเป็นพันธมิตรกับโจโฉ ทำลายยุทธศาสตร์สามก๊กของขงเบ้งจนเป็นเหตุให้กวนอูพ่ายแพ้และเสียชีวิต

และเมื่อกวนอูได้รับคำสั่งจากเล่าปี่ให้คอยรักษาเมืองเกงจิ๋ว ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการทำศึกสงคราม แต่ด้วยความหยิ่งทรนงและเชื่อมั่นในฝีมือตนเอง กวนอูก็มิได้ใส่ใจปฏิบัติตามคำสั่งของขงเบ้งที่กล่าวว่า "ท่านจะอยู่ภายหลังนั้น จงจัดแจงระมัดระวังตัวข้างฝ่ายเหนือคอยสู้โจโฉให้ได้ ฝ่ายใต้นั้นท่านจงทำใจดีประนอมด้วยซุนกวนโดยปรกติ เมืองเกงจิ๋วจึงจะมีความสุข" จึงเป็นเหตุเสียเกงจิ๋วให้แก่ซุนกวนและทำให้ตนเองต้องเสียชีวิต


ครอบครัว
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จีนระบุว่า กวนอูมีบุตรชายจำนวน 3 คนได้แก่กวนเป๋ง กวนหินและกวนสก โดยสันนิษฐานว่ากวนหินและกวนสกเป็นบุตรชายของกวนอูซึ่งเกิดจากภรรยาที่เล่าปี่เป็นผู้สู่ขอให้เมื่อคราวกวนอูครองเมืองเกงจิ๋ว โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์จีนไม่ปรากฏชื่อภรรยา กวนหินเป็นบุตรชายคนโต ปรากฏตัวในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กภายหลังจากกวนอูและเตียวหุยเสียชีวิต แต่เดิมอยู่เมืองเกงจิ๋วร่วมกับกวนอู หลังจากกวนอูเสียชีวิตได้ติดตามเล่าปี่ออกทำศึกกับซุนกวนมาโดยตลอด และกวนสกซึ่งเป็นบุตรชายคนรอง ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อคราวช่วยขงเบ้งรบกับเบ้งเฮ็ก สำหรับกวนเป๋งเป็นบุตรบุตรธรรม แต่เดิมเป็นบุตรชายของกวนเต๋ง ได้พบกับกวนอูเมื่อคราวที่กวนอูและซุนเขียนนำกำลังทหารยี่สิบคนไปทางทิศเหนือใกล้กับเมืองกิจิ๋วเพื่อพบเล่าปี่

กวนอูได้ไปขอพักอาศัยในบ้านป่าแห่งหนึ่ง กวนเต๋งผู้เป็นเจ้าของบ้านได้ยินกิตติศัพท์และชื่อเสียงของกวนอูมานานจึงว่า "ท่านกับเราเป็นแซ่เดียวกัน แต่ก่อนนั้นเราก็ได้ยินลืออยู่ว่าท่านมีฝีมือกล้าหาญ ประกอบทั้งความสัตย์ซื่อ ซึ่งได้พบท่านนี้เป็นบุญของเรา" และนำกวนเป๋งและกวนเหล็งมาคำนับกวนอู โดยมอบกวนเป๋งบุตรชายคนเล็กให้เป็นบุตรบุญธรรมของกวนอูเมื่ออายุได้ 15 ปี โดยเล่าปี่เห็นเหมาะสมด้วยว่าขณะนั้นกวนอูยังไม่มีบุตรสืบสกุล หลังจากกวนเป๋งเป็นบุตรบุญธรรมของกวนอู ได้ติดตามเคียงข้างกวนอู ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ช่วยทำศึกตลอดเวลา เมื่อคราวที่กวนอูถูกจับได้ที่เขาเจาสัน กวนเป๋งวิ่งเข้าไปหาหมายจะช่วยเหลือกวนอู แต่ถูกจูเหียนคุมทหารเข้าล้อมจับตัวได้ก่อนถูกประหารชีวิตพร้อมกับกวนอู



อาวุธ

กวนอูมีอาวุธประจำกายคือง้าวรูปจันทร์เสี้ยว สร้างขึ้นเมื่อคราวเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุยออกเกลี้ยกล่อมราษฏร รวบรวมกำลังไพร่พลจัดตั้งกองทัพออกต่อสู้กับโจรโพกผ้าเหลือง ได้มีพ่อค้าม้าชื่อเตียวสิเผงและเล่าสงได้ร่วมบริจาคม้าจำนวนห้าสิบ เงินห้าร้อยตำลึงและเหล็กร้อยหาบสำหรับสร้างเป็นอาวุธจำนวนมาก เล่าปี่ให้ช่างตีเหล็กเป็นกระบี่คู่แบบโบราณ เตียวหุยให้ช่างตีเหล็กเป็นทวนรูปร่างลักษณะคล้ายงู

สำหรับกวนอูให้ช่างตีเหล็กเป็นง้าวขนาดใหญ่รูปจันทร์เสี้ยว ประดับลวดลายมังกรขนาดความยาว 11 ศอกหรือประมาณ 3 เมตร 63 เซนติเมตร หนัก 82 ชั่งหรือประมาณ 65.6 กิโลกรัม มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ชิงหลงเหยี่ยนเยฺว่เตา (จีนตัวเต็ม: 青龍偃月刀; พินอิน: qīnglóng yǎnyuèdāo) หรือง้าวมังกรเขียว (บ้างเรียกง้าวมังกรจันทร์ฉงาย)  ตลอดระยะเวลาในการตรากตรำทำศึกสงครามร่วมกับเล่าปี่และเตียวหุย กวนอูใช้ง้าวมังกรเขียวเป็นอาวุธประจำกายตลอดเวลาจนกระทั่งเสียชีวิต

เมื่อคราวโจโฉทำศึกกับตั๋งโต๊ะ กวนอูใช้ง้าวมังกรเขียวตัดคอฮัวหยงมาให้โจโฉที่หน้าค่ายด้วยความรวดเร็ว โดยที่ยังไม่จบเพลงรบและเหล้าที่โจโฉอุ่นมอบให้แก่กวนอูยังคงอุ่น ๆ สังหารงันเหลียงและบุนทิว สองทหารเอกของอ้วนเสี้ยวในคราวศึกตำบลแป๊ะแบ๊ด้วยง้าวมังกรเขียวในเพลงเดียวเช่นกัน ตลอดระยะเวลาการทำศึกกวนอูไม่เคยห่างจากง้าวมังกรเขียว เมื่อเล่าปี่ให้กวนอูไปกินตำแหน่งเจ้าเมืองเกงจิ๋วร่วมกับกวนเป๋งและจิวฉอง โดยจิวฉองรับหน้าที่ดูแลรักษาง้าวมังกรเขียวและถือแทนกวนอู เมื่อซุนกวนให้โลซกทางเกงจิ๋วคืนจากเล่าปี่ โลกซกได้เชิญกวนอูไปกินโต๊ะที่ค่าย ณ ปากน้ำลกเค้า จิวฉองก็คอยติดตามถือง้าวมังกรเขียวเคียงข้างกวนอูตลอด

เมื่อคราวที่กวนอูพลาดท่าเสียทีลิบองและลกซุนจนถูกล้อมอยู่ที่เมืองเป๊กเสีย ก่อนจะนำกำลังทหารจำนวนร้อยคนหักตีฝ่าออกมาจนถูกจับตัวได้พร้อมกับกวนเป๋งและถูกประหารชีวิตในภายหลัง ง้าวของกวนอูถูกพัวเจี้ยงยึดเอาไปใช้ แต่กวนหินบุตรชายของกวนอูเป็นผู้สังหารพัวเจี้ยงและนำง้าวของกวนอูกลับคืนมา


อาจจะไม่ค่อยน่าสนใจสักเท่าไหร่ แต่เต็มใจนำเสนอครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B9#.E0.B8.9B.E0.B8.A3.E0.B8.B0.E0.B8.A7.E0.B8.B1.E0.B8.95.E0.B8.B4

ขอบคุณครับ

ออฟไลน์ กระเบนท้องน้ำ

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 275
  • เพศ: ชาย
  • การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง
    • MSN Messenger - krabentongnam2511@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
    • บ้านกระเบนท้องน้ำ
ตอบ: ประวัติเทพ กวนอู หรือ กวนกง
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 24 ธ.ค. 2552, 10:43:25 »
ขอบคุณ...สำหรับประวัติของเจ้าพ่อกวนอูครับ :053:

ออฟไลน์ tum_ohayo

  • ตติยะ
  • ***
  • กระทู้: 64
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ประวัติเทพ กวนอู หรือ กวนกง
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 23 มิ.ย. 2554, 09:42:58 »
ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องกวนอูนะครับ

ก่อนบอกก่อนว่าการที่กวนกลายเป็นเทพอย่างแพร่หลาย เกิดในสมัยราชวงศ์ชิง ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีสามก๊กที่แต่งสมัยราชวงศ์หมิง三國演義(หลังเหตุกาณณ์สามก๊กพันปี) เป็นสามก๊กฉบับนิยาย บางตอนเขียนไว้เล่นงิ้ว บางเรื่องก็ไม่มีจริงในประวัติศาสตร์ และการแต่งตั้งกวนอูเป็นเทพเริ่มสมัยราชวงศ์ซ่ง(ราชวงศ์นี้นับถือขงจื๊อ และเต๋าเป็นหลัก) พุทธก็มีบ้าง แต่ไม่เท่าลัทธิขงจื๊อ

ฝ่ายพุทธก๋แต่งตั้งกวนอูเป็น สังฆารามโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์รักษาวัดวาอาราม และมีการกล่าวถึงในสมัยราชวงศ์สุย และสถานที่คือวัดตีนก๊กซือที่เขาจวนหยกสัน
ลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า ก็แต่งตั้งเป็นเทพเช่นกัน........แต่ไม่ได้รับการนับถือแพร่หลาย
และหลายครั้งการแต่งตั้งเป็นเทพมีเหตุผลด้านการเมืองการปกครองแอบแฝง และสมัยราชวงศ์ชิงมีการเผยแพร่การนับถือกวนอู ยกย่องสรรเสริญกวนอู อาศัยเรื่องความซื่อสัตว์จงรักภักดีต่อเล่าปี่.........นี่คือข้อดีข้อเดียวของกวนอู
ถ้าข้อดีอื่นๆจะเป็นเรื่องในบทประพันธ์ซะส่วนใหญ่

ออฟไลน์ Gearmour

  • ที่ปรึกษา
  • *****
  • กระทู้: 1204
  • เพศ: ชาย
    • ดูรายละเอียด
    • ลานพิศวง
ตอบ: ประวัติเทพ กวนอู หรือ กวนกง
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 23 มิ.ย. 2554, 11:08:59 »
ขอบคุณท่านtum_ohayo
  มากมายครับ
   สำหรับข้อมูล
เพราะว่าการตั้งเทพกวนอู การยกกวนอูขึ้นเป็นเทพนั้น การเมืองล้วนๆ ครับ