ผู้เขียน หัวข้อ: พระนาคปรกวัดปู่บัว-กรุแตกเศียรหาย  (อ่าน 2880 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ กระเบนท้องน้ำ

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 275
  • เพศ: ชาย
  • การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง
    • MSN Messenger - krabentongnam2511@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
    • บ้านกระเบนท้องน้ำ


พระพุทธรูปปางนาคปรกวัดปู่บัว พุทธลักษณะงดงามเป็นที่หมายตาของนักสะสมโบราณวัตถุอย่างยิ่งยวด
หลังกรุแตกประมาณ พ.ศ.2475 นั้น พระพุทธรูปปางนาคปรกทยอยออกจากวัดปู่บัว ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ไปเกือบสิ้น ที่เหลือชาวบ้านนำไปประดิษฐานไว้ในห้องเล็กๆบนเจดีย์เก่าของวัดจำนวน 2 องค์ เรียกกันว่า หลวงพ่อนาคสองพี่น้อง ตามชื่อปางและจำนวนพระที่เหลืออยู่

สมบัติอันล้ำค่า ทำไมนำมาประดิษฐานไว้บนเจดีย์โดยไม่มีอะไรป้องกัน นายประโลม ฟักข้อง อายุ 68 ปี บ้านเลขที่ 28/3 หมู่ 1 หรือบ้านหัวถนน ตำบลสนามชัย ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งของวัดปู่บัวบอกว่า ความเชื่อของคนสมัยก่อน จะไม่นำเอาของวัดเข้าบ้าน ถ้านำเข้าไปจะถือว่าเป็นเสนียด จัญไร ชาวบ้านจึงไม่คิดว่าใครจะมาขโมย

ร่องรอยพระพุทธรูปปางนาคปรก หรือตามคำเรียกขานของชาวบ้านหัวถนนว่า หลวงพ่อนาคสองพี่น้อง ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์เก่าของวัด รูปทรงเจดีย์แปลกตา หันหน้าเข้าหาแม่น้ำท่าจีนด้านทิศตะวันตก หน้าเจดีย์เก่ามีเจดีย์องค์เล็กๆเรียงรายอยู่ 6 องค์ ด้านนี้เองมีบันไดขั้นเล็กๆไล่ระดับสูงขึ้นสู่ห้องประดิษฐานพระ

ภายในห้องประดิษฐาน มีพระเล็กพระน้อยวางอยู่มากมาย ที่สะดุดตาคือ ฐานพระพุทธรูป 2 องค์ที่ถูกขโมยตัดไป รอยตัดอยู่เหนือปลายสังฆาฏิไปเล็กน้อย เหลือปลายสังฆาฏิไว้ให้เห็นประมาณ 5 เซนติเมตร พระหัตถ์ประสานกันบนพระเพลา ขนดนาคมีเกล็ดให้เห็นชัดเจน

 


ประเสริฐ - ประโลม - รังษี

เหตุการณ์ในคืนหลวงพ่อนาคถูกตัด นายดำ หรือประเสริฐ ภิญญะโพธิ์ อายุ 54 ปี ชาวบ้านหัวถนน หมู่ที่ 1 ตำบลสนามชัย ย้อนอดีตให้ฟังว่า "ขโมยหักพระไปในคืนวันโกน คืนนั้นฝนตก ตื่นเช้ามาก็ได้ยินเสียงชาวบ้านเล่ากันว่า หลวงพ่อนาคสององค์ถูกหักไป ตอนนั้นผมยังเด็กอยู่เลย เรียนอยู่ประมาณชั้น ป.2 อายุประมาณ 10 ขวบเห็นจะได้" นายประเสริฐย้อนอดีตอย่างเศร้าใจ

พลางบอกอีกว่า เย็นวันเดียวกันนั้นเอง ตนเดินผ่านวัดปู่บัว เพื่อมาหาหอยเอาไปให้เป็ดกิน เมื่อผ่านหน้าเจดีย์เก่าก็ยกมือไหว้หลวงพ่อด้วยความเคารพศรัทธา การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องปกติของชาวบ้าน

สภาพของเจดีย์ "ยังไม่ชำรุดขนาดนี้ เมื่อพระหายเราก็มาดูกัน มีผู้ใหญ่ นักเรียนที่วัดปู่บัว มาดูกันเต็มเลย แต่โรงเรียนวัดปู่บัวเดี๋ยวนี้ยกเลิกไปแล้ว ชาวบ้านมาสาปแช่งกันไปต่างๆนานา แต่มันก็พิสูจน์ไม่ได้ หาหลักฐานอะไรไม่ได้ ไม่ได้ร่องรอยอะไร" นายดำบอก

แม้จะคิดไปอย่างนั้น แต่ในใจของนายดำและชาวบ้านเชื่อกันว่า น่าจะเป็นคนใหญ่คนโตในสมัยนั้นเอาไป คนธรรมดาๆอย่างชาวบ้านคงไม่มีใครกล้าทำได้ เพราะต่างเชื่อกันว่า ของวัดไม่อยากให้นำเข้าบ้าน และพระพุทธรูปทั้งสองเป็นที่เคารพสักการะของทุกๆคน

 



พระในกรุที่พบพร้อมหลวงพ่อนาคมีจำนวนมาก เฉพาะพระนาคปรกมีไม่น้อยกว่า 32 องค์ และยังมีพระร่วงองค์เล็กๆอีกประมาณ 500-600 องค์

นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสุพรรณ มนัส โอภากุล เล่าไว้ในหนังสือพระฯเมืองสุพรรณ ว่า อาจารย์ใย เจ้าอาวาสวัดปู่บัว ต้องการทำทางจากกุฏิไปยังศาลาการเปรียญ เมื่อปรับเนินดินออกก็เห็นศิลาทราย ครั้นยกออกก็พบพระปางนาคปรกวางอย่างเป็นระเบียบ

พระพุทธรูปนาคปรก เนื้อหินทรายขาว องค์ใหญ่สูง 4-5 ฟุต และเล็กที่สุดประมาณ 1 ฟุตเศษ จำนวน 32 องค์ และบางคนก็บอกว่ามีถึง 40 องค์ นอกจากพระนาคปรกยังมีไหอยู่ 1 ใบ ในไหนั้นมีพระเนื้อชิน หรือพระร่วงวัดปู่บัวอีก 120 องค์ แต่มีผู้เฒ่าเล่าว่ามีนับ 1,000 องค์

เหตุการณ์ "กรุแตก" อยู่ในความสนใจของชาวบ้านทั่วไป

น่าสังเกตว่า พระพุทธรูปนาคปรกขนาด 4-5 ฟุต ทำไมถึงมาอยู่ รวมกันได้มากขนาดนั้น เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น หรือวัดทำเก็บไว้เอง แต่ประวัติวัดก็ไม่ได้บอกว่าอายุเก่าแก่ไปถึงศตวรรษที่ 18

นายประเสริฐบอกว่า สมัยนั้นตาของตนชื่อหลวงตาทอง กล่อมจิต บวชและจำพรรษาอยู่ที่วัด เล่าให้แม่ของตนฟังว่า พบพระนาคปรกประมาณ 60 องค์ และมีพระอื่นๆอีกมากมาย ส่วนนายประโลมบอกว่า น้าของตนชื่อ ยุ้ย เกร็งสุวรรณ เป็นเด็กวัดในสมัยนั้น เล่าให้ตนฟังว่า พบพระกรุเป็นจำนวนมาก หลังจากคนขุดกันไปแล้ว เด็กๆก็เข้าไปหากัน น้าของตนขุดได้พระเป็นจำนวนมาก ใช้ผ้าห่อกลับไปบ้าน เมื่อแม่ของน้ายุ้ยพบเข้าก็ไล่ให้เอามาคืนวัด เพราะเชื่อกันว่า ของวัดห้ามนำเข้าบ้าน

พระนั้นคือ พระร่วง "เมื่อน้าเอากลับมาไม่รู้ว่าจะเอาไปไว้ ที่ไหน จะไปให้พระก็กลัวโดนตี เมื่อลงไปอาบน้ำหน้าวัดก็สาดพระนั้นลงไปทั้งหมด" นายประโลมเล่า

นายประเสริฐเสริมว่า ลักษณะพระที่พบ ไม่ว่าจะเป็นพระนาคปรกหรือพระร่วง แม้ขนาดจะไม่เท่ากัน แต่ใบหน้าคล้ายๆกัน

หลังข่าวกระจายไป นายรังษี สุวรรณประทีป อายุ 80 ปี บ้านเลขที่ 43 หมู่ 1 ตำบลสนามชัย บอกว่า บรรดานักเล่นพระเข้ามาขุดกันหลายคณะ แต่ไม่มีใครได้ไป อาจเป็นเพราะว่าชุดแรกๆขุดกันไปหมดแล้ว คณะที่เข้ามาขุดนี้ นายรังษีตั้งข้อสังเกตว่า ราชการน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะแค่ชาวบ้านธรรมดาไม่น่าจะกล้าเข้ามาขุดได้

 


ร่องรอยจากปากคำชาวบ้าน พอประมาณได้ว่า พระพุทธรูปปางนาคปรก ที่ขุดพบจากกรุวัดปู่บัวมีไม่น้อยกว่า 32 องค์ ส่วนพระร่วงวัดปู่บัวนั้น จากปากคำของชาวบ้าน และที่มนัส โอภากุล บันทึกไว้อย่างเป็นทางการ ประเมินแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 1,000 องค์

จำนวนพระร่วงวัดปู่บัว นอกจากที่พบในไหแล้ว ร่องรอยจากปากคำของนายประโลมที่น้าชายไปขุดนั้น แสดงว่าเด็กคนอื่นๆก็ต้องขุดได้เหมือนกัน แต่ขุดได้แล้วเอาไปทำอย่างไร เอาไปไว้ที่ไหนนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

พระร่วงนับ 1,000 องค์นั้น มนัส โอภากุล แยกไว้ 4 พิมพ์คือ พิมพ์เศียรโต เป็นพระปางประทานพร สูงประมาณ 7 เซนติเมตร กว้าง 2.25 เซนติเมตร พุทธลักษณะ เช่น พระเศียรใหญ่ พระเนตรโปน พระศกคล้ายผมหวี ริมพระโอษฐ์บนสั้น ริมฝีปากล่างยื่นออกมา ส่วนอีก 3 พิมพ์คือ พิมพ์รัศมี พิมพ์พระเนตรโปน และพิมพ์ลพบุรี

เกี่ยวกับวัดปู่บัว กรมศิลปากรได้สำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้ ระบุว่า ไม่ทราบประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด แต่จากลักษณะรูปแบบศิลปกรรมของเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ที่ตั้งอยู่ภายในวัดเป็นแบบที่แปลกตา สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

และบอกว่า ในอุโบสถที่สร้างขึ้นมาได้ไม่นาน พบพระพุทธรูปหินทรายปางนาคปรกจำนวน 1 องค์ ที่มีรูปแบบศิลปกรรมแบบเขมรในประเทศไทย แต่ก็ไม่มีประวัติที่แน่ชัด จึงสันนิษฐานว่าน่าจะมีการนำมาจากที่อื่น และมาเก็บรักษาไว้ที่วัดปู่บัวแห่งนี้

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม 1. เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป เป็นศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น 2. พระพุทธรูปนาคปรก สลักจากหินทราย เป็นศิลปกรรมร่วมแบบเขมรในประเทศไทย (สมัยบายน)

สภาพปัจจุบัน เจดีย์ยังไม่ได้ทำการบูรณะ ส่วนพระพุทธรูปนาคปรกหินทราย ทางวัดได้ทารักสีดำ

หมายความว่า กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนพระพุทธรูปในพระอุโบสถและเจดีย์ของวัดไว้แล้ว และการขึ้นทะเบียนนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อนาคสองพี่น้องที่เหลือแต่ฐาน และไม่บอกว่าพระพุทธรูปนาคปรกนั้นมาอยู่ที่วัดได้อย่างไร

 


พระครูสิริวิริยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดรูปปัจจุบัน อนุญาตให้ผู้เขียนและชาวบ้านเข้าไปดูพระพุทธรูปที่กรมศิลปากรกล่าวถึง พบว่าเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ลงรัก ปิดทองบางจุด หน้าตักกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร สูงประมาณ 1.5 เมตร ใกล้ๆกันมีพระพุทธรูปปางนาคปรกอีก 1 องค์ ความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ชาวบ้านยืนยันว่าได้มาจากกรุเดียวกับหลวงพ่อนาคสองพี่น้อง

จำนวนพระพุทธรูปนาคปรกไม่ต่ำกว่า 32 องค์ เราพบแล้วถึง 4 องค์ ที่เหลือประดิษฐานอยู่ที่ไหนบ้าง และที่สำคัญ พระพุทธรูปมาประดิษฐานที่วัดปู่บัวได้อย่างไร

คำตอบคงไม่ใช่แค่กระแสน้ำท่าจีนที่ไหลผ่านวัดปู่บัวอย่างแน่นอน.





ขอบคุณที่มา...ไทยรัฐออนไลน์