ผู้เขียน หัวข้อ: บุญ ๑๐ วิธี  (อ่าน 913 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ NONGEAR44

  • นวมะ
  • ****
  • กระทู้: 669
  • เพศ: ชาย
    • MSN Messenger - en2005f@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
บุญ ๑๐ วิธี
« เมื่อ: 26 ต.ค. 2553, 11:14:29 »
                                                                บุญ ๑๐ วิธี

ตามหลักพุทธศาสนา มีการทำบุญด้วยกัน ๑๐ วิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ) คือ
๑. ให้ทาน แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ (ทานมัย) การให้ทานเป็นการช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ความคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว และความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไปก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคลหรือชุมชนโดยส่วนรวม

๒. รักษาศีล ก็เป็นบุญ (ศีลมัย) เป็นการฝึกฝนที่จะ ลด ละ เลิกความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นเป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงามและพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ

๓. เจริญภาวนา ก็เป็นบุญ (ภาวนามัย) การภาวนาเป็นการพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น

๔. อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรมรวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกันทั้งในความคิด ความเชื่อและวิถีปฏิบัติของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ (อปจายนมัย)

๕. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง ช่วยเหลือสละแรงกาย เพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นบุญ (ไวยาวัจจมัย)

๖. เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือในการทำงานก็เปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วมทำ ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นบุญ (ปัตติทานมัย)

๗. ยอมรับและยินดีในการทำความดี หรือทำบุญของผู้อื่น การชื่นชมยินดีหรืออนุโมทนาไม่อิจฉาหรือระแวงสงสัยในการกระทำความดีของผู้อื่น ก็เป็นบุญ (ปัตตานุโมทนามัย)

๘. ฟังธรรม บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมสวนมัย)

๙. แสดงธรรม ให้ธรรมะและข้อคิดที่ดีกับผู้อื่น แสดงธรรมนำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงามก็เป็นบุญ (ธรรมเทศนามัย)

๑๐. ทำความเห็นให้ถูกต้องและเหมาะสม มีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น ความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญ ถือเป็นบุญด้วยเช่นกัน (ทิฏฐุชุกรรม)

ทิฏฐุชุกรรมหรือสัมมาทัศนะ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิดและทุกโอกาส จะต้องประกบและประกอบเข้ากับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เพื่อให้งานบุญข้อนั้น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมาย พร้อมทั้งได้ผลถูกทาง

การทำบุญ ๑๐ ประการนี้ สามารถสรุปเป็นข้อความคล้องจองกันว่า

๑. แบ่งปันกันกิน
๒. รักษาศีล คือ กาย วาจา

๓. เจริญสมาธิภาวนา
๔. กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม

๕. ยอมตนรับใช้
๖. แบ่งให้ความดี

๗. มีใจอนุโมทนา
๘. ใฝ่หาฟังธรรม

๙. นำแสดงออกไม่ได้เว้น
๑๐. ทำความเห็นให้ถูกต้อง

ทว่า บุคคลจะสร้างบุญกุศลทั้งสิบข้อดังกล่าวให้เพิ่มพูนได้อย่างดีมีประสิทธิภาพเต็มที่นั้น พึงเริ่มต้นจากการชำระตนเองคือทำตนเว้นจากการทำความชั่วทั้งปวงก่อน กล่าวคือ บุคคลพึงเว้นจากการกระทำไม่ดีทั้งทางกาย วาจาและใจ ก่อน รวมทั้งเพียรพยายามเสาะแสวงหาวิธีทำตนให้เป็นคนที่มีความคิดเห็นถูกต้อง สั้นๆ คือ ทำตัวให้มีศีลและมีปัญญาก่อนเป็นลำดับแรกที่สำคัญ เมื่อมีตนเป็นผู้มีศีลแล้วและยังมีปัญญารู้เหตุรู้ผลควรไม่ควรต่างๆ ด้วย การจะเพิ่มพูนความดีในตนให้มากขึ้นด้วยบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ วีธี ก็จะเป็นไปอย่างสะดวกง่ายดายขึ้น ทำให้ยิ่งสามารถทำความดีทั้งสิบ (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) ได้อย่างมั่นใจ เข้าใจ ทำได้ถูกและตามที่ควรจะทำได้ยิ่งๆ ขึ้นไป ทำให้ ‘ฉลาดในบุญ' ยิ่งๆ ขึ้นไป ได้บุญมากหนักแน่นและเต็มที่ยิ่งๆ ขึ้นไป

การตั้งใจและเว้นจากการไม่ทำความชั่วทั้งปวงนี้เรียกว่า ‘กุศลกรรมบถ' พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ๑๐ ประการต่อไปนี้

กุศลกรรมบถ ๑๐

๑)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางกาย ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์อื่นให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อน
(ปาณาติปาตา เวรมณี)

(๒)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางกาย ด้วยการไม่ลักทรัพย์ ถือเอาของที่เขาไม่ให้ด้วยอาการขโมย
(อทินนาทานา เวรมณี)

(๓)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางกาย ด้วยการไม่ประพฤติผิดในกาม
(กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี)

(๔)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา ด้วยการไม่พูดเท็จ
(มุสาวาทา เวรมณี)

(๕)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา ด้วยการไม่พูดจายุยงส่อเสียด
(ปิสุณาวาจา เวรมณี)

(๖)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา ด้วยการไม่พูดจาร้าย หยาบคายด่าทอ
(ผรุสวาจา เวรมณี)

(๗)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา ด้วยการไม่พูดเพ้อเจ้อ กล่าววาจาไม่เป็นประโยชน์ หรือกล่าววาจาโปรยประโยชน์
(สัมผัปปลาปา เวรมณี)

(๘)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางใจ ด้วยการไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น
(อนภิชฌา)

(๙)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางใจ ด้วยการไม่คิดไม่ดี คิดไม่พอใจ โกรธ คิดร้าย คิดพยาบาทอาฆาตจองเวรผู้อื่น
(อพยาบาท)

(๑๐)
ตั้งใจและเพียรพัฒนาใจของตนเอง ด้วยการพยายามศึกษาหาความรู้เพื่อให้ตนเป็นผู้มีปัญญา มีความเห็นชอบ คิดเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
(สัมมาทิฏฐิ)

กุศลกรรมบถ ๑๐ จึงเป็นจุดเริ่มต้น และบุญจึงไม่ใช่เฉพาะต้องมีวัตถุเงินทองถึงจะทำได้ บุญอยู่ที่ความตั้งใจ อยู่ที่เจตนา การทำบุญด้วยวัตถุเงินทอง (ในข้อทานมัย) นั้น ก็เป็นเพียงส่วนเดียว แท้ที่จริงแล้วบุญนั้นสามารถเพิ่มพูนได้ตลอดในแทบทุกอย่าง ในชีวิตประจำวัน บุญอยู่ที่ความเข้าใจ รู้ว่าอะไรอย่างไรคือบุญ ทุกครั้งที่มีโอกาส โดยไม่ต้องใช้เงิน ไม่ต้องมีเงินทองวัตถุข้าวของมากมายเสมอไป ก็สามารถสะสมเพิ่มพูน ‘บุญ' ได้มากมายมหาศาลเท่าเทียมกันทุกคน

ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)
ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ปริจเฉทที่ ๕ เล่ม ๒
กัมมจตุกกะ - มรณุปัตติจตุกกะรจนาโดย พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ
๖๐ คำถามที่ต้องการคำตอบ เล่มที่ ๒ โดย คนเดินทาง ชมรมอนุรักษ์ธรรม

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

ออฟไลน์ นายธรรมะ

  • ดีชั่วอยู่ที่ตัวทํา สูงต่ำอยู่ที่ทําตัว
  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 615
  • เพศ: ชาย
  • เหนื่อย ได้แต่อย่า ท้อ
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: บุญ ๑๐ วิธี
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 26 ต.ค. 2553, 12:31:25 »
ขอบคุณครับ เนื้อหาดีมาก
[shake]ศรัทธา ไม่ใช่ ไสยศาสตร์ ศรัทธา เพื่อ ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีความ ศักดิ์สิทธิ์ ย่อมเกิด ปาฏิหาริย์[/shake]