ผู้เขียน หัวข้อ: หลักความจริงที่ทุกคนควรพิจารณา  (อ่าน 1782 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ กระเบนท้องน้ำ

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 275
  • เพศ: ชาย
  • การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง
    • MSN Messenger - krabentongnam2511@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
    • บ้านกระเบนท้องน้ำ



หลักความจริง ที่ทุกคนรวมทั้งสัตว์จะต้องได้รับโดยเสมอหน้า และยุติธรรมอย่างยิ่ง คือหลักความจริงที่ว่า ทุกคนจะต้องแก่ชรา ต้องเจ็บป่วย ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากของรักและต้องรับผลแห่งการกระทำ ที่ตนเองได้ทำเอาไว้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (หลักอภิณหปัจจเวกขณะ) พระพุทธองค์ตรัสว่า
หญิงก็ตาม ชายก็ตาม ผู้ที่บวชก็ตาม ไม่ได้บวชก็ตาม ควรพิจารณาความจริงของชีวิต ๕ ประการ คือ
๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้
๒. เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้
๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความตายไปไม่ได้
๔. เราจำต้องพลัดพรากจากบุคคลและสิ่งของซึ่งเรารักเราชอบทั้งสิ้น
๕. เรามีกรรมเป็นของของตน เราทำดีต้องได้ดี เราทำชั่วต้องได้ชั่ว

หลักความจริงที่ทุกคนควรพิจารณา ๕ ข้อ นี้ เป็นสิ่งที่ผู้มีชีวิตตามอายุขัยจะต้องได้ประสบทุกคน ไม่มีใครจะหลีกหนีได้พ้น ต่างแต่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น
เมื่อรู้กฎความจริง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วเช่นนี้ ทุกคนก็ไม่ควรประมาท ควรหมั่นพิจารณาอยู่เป็นประจำ เพื่อการทำใจหรือปรับใจ ยอมรับความจริงไว้ก่อน เมื่อเหตุการณ์ใน ๕ ข้อนี้เกิดขึ้น เราก็จะได้ไม่ต้องฝืนกฎธรรมดาของโลก เมื่อเราไม่ฝืนกฎของธรรมดาหรือธรรมชาติ ความทุกข์ก็เกิดได้น้อย หรือไม่เกิดเลย

การสำรวจเรื่องนี้ ก็เพื่อไม่ให้เรามัวเมา ประมาท สำหับความประมาทนั้นคืออะไร ได้แก่ การปล่อยเสียซึ่งสติ ไม่ระลึกตรึกตรอง มองพิจารณา ปล่อยให้จิตน้อมไปทางอกุศล เช่น ทางความโลภ โกรธ หลง เป็นต้น ไม่ดำริไปทางกุศล มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ดังนี้เรียกว่า ความประมาท สิ่งที่เกื้อหนุนให้เกิดความประมาทคือความเมา ๓ อย่าง คือ
๑. ความเมาในวัย คือคิดว่าเรายังหนุ่มสาว ยังไม่ต้องละอกุศล ยังไม่ต้องเจริญกุศล
๒. ความเมาในความไม่มีโรค คือคิดว่าเรายังแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ยังไม่ต้องละอกุศล ยังไม่ต้องเจริญกุศล
๓. ความเมาในชีวิต คือคิดว่าเรายังไม่ตาย ยังมีชีวิตสืบต่อไปได้นาน ยังไม่ต้องละอกุศล ยังไม่ต้องเจริญกุศล
ความมัวเมาทั้ง ๓ นี้ เป็นเครื่องเกื้อหนุนให้เกิดความประมาท เพราะว่าเป็นเหตุให้กระทำบาปทางกาย วาจา ใจ คิดประทุษร้ายแก่ผู้อื่น เป็นเหตุให้เสื่อมจากกุศล ทาน ศีล ภาวนา ฟังพระธรรมเทศนา เป็นต้น

การหมั่นระลึก พิจารณาถึงหลักความจริงดังกล่าว ย่อมถือได้ว่า เป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมา สามารถตัดความยินดีในภพทั้งหลายได้ คลายความรักใคร่ในชีวิตเสียได้ จะเว้นเสียซึ่งบาปกรรม ทำให้เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ไม่สะสมหวงแหน ตระหนี่ข้าวของ จะคุ้นเคยในอนิจจสัญญา คือรู้ว่าสังขารคือรูปธรรม นามธรรม ร่างกาย จิตใจ ไม่เที่ยง ทุกขสัญญา คือรู้ว่าเป็นทุกข์ อนัตตสัญญา คือรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา จะเป็นผู้ไม่กลัวตาย เวลาจะตายจะมีสติไม่หลงตาย เมื่อมีชีวิตอยู่ก็จะเป็นผู้ไม่ประมาท จะเป็นผู้ขยันขันแข็งในการละอกุศลกรรม และจะเป็นผู้ขยันขันแข็งในการเจริญกุศลกรรม บุคคลผู้มีความไม่ประมาทในกุศลธรรมนี้ ย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐในชีวิต




(รวบรวม เรียบเรียง คัดย่อ จากคัมภีร์มงคลทีปนีและหนังสือพุทธมงคลอานิสงส์)


ขอขอบพระคุณที่มาจาก...เว็บลานธรรมจักร