ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมดาของชีวิต...มันเป็นเช่นนั้นเอง  (อ่าน 3165 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ กระเบนท้องน้ำ

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 275
  • เพศ: ชาย
  • การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง
    • MSN Messenger - krabentongnam2511@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
    • บ้านกระเบนท้องน้ำ
พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า บรรพชิตก็ตาม ฆราวาสก็ตาม ผู้หญิงก็ตาม ผู้ชายก็ตาม ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า

๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔. เราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งของและบุคคล อันเป็นที่รัก ที่พอใจ ทั้งหลายทั้งปวงเป็นธรรมดา ไม่อาจล่วงพ้นไปได้
๕. เรามีกรรมเป็นของของตน เป็นผู้รับมรดกกรรม ต้องรับมรดกกรรมที่เราทำไว้, มีกรรมเป็นแดนเกิด, มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์, มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย, บุรุษก็ตาม สตรีก็ตาม ทำกรรมอันใดไว้ก็จักได้รับผลแห่งกรรมนั้น

... ... ... ในระหว่างที่ยังวนเวียนอยู่ในความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากสูญเสีย และความที่จะต้องเป็นผู้มีกรรม ได้รับผลของกรรม ยังไม่สามารถจะอยู่เหนือกรรมได้ เราก็ควรทำชีวิตให้มีคุณภาพ แก่ก็แก่อย่างมีคุณภาพ มีคนถามว่า นางวิสาขามีอายุ ๑๒๐ ปีแล้ว ยังสวยอยู่ สวยได้อย่างไร ก็บอกว่าสวยไปตามวัย หมายความว่าวัยงาม นางวิสาขาได้ลักษณะเบญจกัลยาณี ความงาม ๕ อย่าง มีอย่างหนึ่งคือวัยงาม งามสมวัยอายุ ๑๒๐ ปี ก็สวยแบบคนอายุ ๑๒๐ ปีทำนองนั้น แก่อย่างมีคุณภาพ มีประโยชน์ ทำประโยชน์ได้ตามประสาคนแก่

ถึงเวลาเจ็บก็เจ็บอย่างมีสติสัมปชัญญะ เจ็บอย่างเอาความเจ็บมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณธรรม เจ็บคราวใดก็ฉลาดขึ้นคราวนั้น ได้รู้ลีลาท่าทางอะไร ๆ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความเจ็บ เอาความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นมาเป็นประโยชน์กับความรู้สึกนึกคิดจิตใจ โรคทุกอย่างที่เกิดขึ้นแก่เรา ไม่ได้เกิดขึ้นแก่เราคนเดียว เกิดขึ้นแก่คนอื่นด้วย ลองไปดูเถอะ ที่โรงพยาบาล ไปหาหมอแห่งใดก็ได้ มันต้องมีเพื่อนร่วมเจ็บกับเราอยู่ทั้งนั้น

ในทางศาสนาจึงบอกให้มีจิตเกื้อกูลต่อกัน มองดูกันในฐานะเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย พอคิดได้อย่างนี้ ความอาฆาต พยาบาท ความเกลียดชัง ความรู้สึกไม่ดีอะไรต่าง ๆ ถึงจะไม่หายไปทั้งหมด มันก็ลดลงไป เพราะเห็นว่าเขาเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย กับเรา เขาจะเป็นอย่างไร ๆ เขาก็เป็นเพื่อนเราในฐานะหนึ่ง ฐานะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ก็ต้องพลัดพรากสูญเสียจากสิ่งที่รักที่พอใจเช่นกัน

นึกถึงความสูญเสียทีไร ก็ให้นึกถึงพระเจ้าฆตราชทรงสูญเสียราชสมบัติ อิสรภาพ แต่ก็ทรงรักษาพระทัยไว้ได้ไม่ให้หม่นหมอง หน้าตาผ่องใสเหมือนเดิม จนพระเจ้าธังกราชที่เป็นศัตรูจับพระเจ้าฆตราชมาขังต้องเลื่อมใส ปล่อยพระองค์ไป เราเองก็สูญเสียกันบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ มันเล็กน้อยเหลือเกิน เท่ากับขี้ฝุ่นนิดหน่อยที่ติดเล็บอยู่ ก็ได้กำลังใจจากเรื่องเหล่านี้ ก็ไม่เป็นไร สูญเสียอะไรก็สูญเสียไป ให้รักษาสุขภาพจิตไว้ก่อน

แล้วก็ให้นึกถึงพระพุทธเจ้าไว้บ่อย ๆ ว่าท่านเสียสละราชสมบัติออกมาบวช ไม่ได้ยึดว่าอะไรเป็นของพระองค์เลย มาบวชแล้วก็จาริกไปในที่ต่าง ๆ แบบอนาคาริกมุนี เป็นมุนีผู้ที่ไม่มีเรือน ไม่มีอะไรเป็นของพระองค์เลย ก็เป็นเรื่องที่เป็นกำลังใจให้กับพวกเราที่เป็นชาวพุทธว่า ท่านมีถึงขนาดนั้นแล้ว ท่านยังสละออกมาเป็นผู้ไม่มี แล้วอย่างเรา ๆ นี่จะมีอะไรสูญเสีย มันเทียบกันไม่ได้เลย ความรู้สึกต่าง ๆ ของคนเรา ความรู้สึกทุกข์ก็ตาม ความรู้สึกสูญเสีย ความรู้สึกเศร้าโศก ความรู้สึกได้มาต่าง ๆ ก็ตาม มันอยู่ที่ความรู้สึก ไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่ได้มาหรือสิ่งที่สูญเสียไป

ถ้าเป็นมหาวีรสตรี มหาบุรุษ อะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่สูญเสียไป ที่คนอื่นรู้สึกว่าเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ แต่สำหรับบุคคลเช่นนั้น ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อะไรเลย เพราะไม่ได้ยึดถืออะไรว่าเป็นของตน เป็นแต่เพียงอาศัยใช้ชั่วคราว อาศัยใช้ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ เพราะในที่สุดเราก็ต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป “อสฺสโก โลโก” สัตว์โลกไม่มีอะไรเป็นของของตน... ต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไปในที่สุด เลยไม่มีอะไรจะสูญเสีย ได้เตรียมใจเอาไว้แล้วว่า ในที่สุดเมื่อความตายมาถึงเข้า เราจะต้องสูญเสียหมดทุกอย่าง ไม่มีอะไรเหลือแม้แต่อย่างเดียว ร่างกายของเราซึ่งเป็นที่รักที่หวงแหน เป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่เรารัก ก็เอาไปไม่ได้ ในที่สุด ต้องเอาไปฝังไปเผาแล้วแต่คนที่อยู่ข้างหลังเขาจะทำอย่างไร ถ้าทำใจไว้ล่วงหน้าอย่างนี้แล้ว มันก็เป็นกันเองกับความเจ็บไข้ กับความตาย กับความสูญเสียกับการพลัดพราก กับอะไรต่ออะไรต่าง ๆ ปลงไปได้เยอะทีเดียว นี้คือข้อที่ ๔ เราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจเป็นธรรมดา

ข้อที่ ๕ ให้พิจารณาถึงกรรมให้มาก ๆ ในชีวิตประจำวันเราทำกรรมทุกวัน เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง มีเจตนาที่จะทำกรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง เพียงแต่คิดมันก็เป็นกรรมแล้ว ทั้งกรรมดีกรรมชั่วมันมากมายเหลือเกินแต่ละวัน ๆ สลับซับซ้อนกันอยู่ในจิตของเรา ลึกจนไม่รู้จะลึกอย่างไร มหาสมุทรสุดที่จะลึกมากแล้ว แต่ว่าอะไร ๆ ที่มันอยู่ในจิตของเรา มันลึกมากกว่านั้นอีก มันหยั่งถึงได้ยาก เพราะสะสมมานานหลายแสนปี หลายล้านปี ในสังสารวัฏที่ยาวนานนี้ ... เพราะฉะนั้นให้นึกถึงกรรมว่า เราจะต้องเป็นไปตามอำนาจของกรรม แต่ก็เปลี่ยนแปลงได้ พยายามเปลี่ยนแปลงให้มันดี กรรมก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ แล้วแต่เราจะทำ แล้วแต่เราจะเปลี่ยนแปลงให้มันเป็นไปอย่างไร เพราะมันไม่เที่ยง ถ้าเราสร้างเหตุปัจจัยให้ดี มันจะเปลี่ยนไปในทางดี ถ้าเราสร้างเหตุปัจจัยไม่ดี มันจะเปลี่ยนแปลงไปในทางไม่ดีเช่นกัน ... ... ...




(คัดย่อ เรียบเรียง จากบางส่วนหนังสือ ธรรมดาของชีวิตเป็นเช่นนั้นเอง.....อาจารย์วศิน อินทสระ)


ขอขอบพระคุณที่มาจาก...เว็บลานธรรมจักร