ผู้เขียน หัวข้อ: อาจารย์ทอง สนธิรอด “สักยันต์” สักศรัทธาแห่งความดี  (อ่าน 14559 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)

  • *โปรดระวัง - สีลัพพตปรามาส, ๗ เดือน ๑๙ วันจะเก็บแต่ความทรงจำที่ดีๆไว้, ตถตา (เช่นนั้นเอง).
  • ...
  • *****
  • กระทู้: 6436
  • เพศ: ชาย
  • ผู้สอนคือผู้ลวง? ผู้เรียนคือผู้หัดที่จะลวง?
    • ดูรายละเอียด
    • เฟสบุ๊ควัดบางพระ (หลวงพ่อเปิ่น)
นิตยสารผาสุก
ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๑๘๒
มกราคม - เมษายน ๒๕๕๗
ISSN 0125 - 0796



คอลัมน์คุยแบบไทย (น.๒๐ - ๒๓)
เรื่อง : “ปั้นหยา” ภาพ : “พีพี”




อาจารย์ทอง สนธิรอด “สักยันต์” สักศรัทธาแห่งความดี



   “สักยันต์” พิธีกรรมความเชื่อทางไสยศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน การใช้เข็มเหล็กแหลมจุ่มน้ำมันแทงสักลงอักขระลายเส้นบนร่างกายกำกับคาถาอาคมเสกเป่า ด้วยความเชื่อในคุณอำนาจลายสักยันต์แต่ละประเภทที่ให้ผลแตกต่างกันไป เช่น เมตตามหานิยม แคล้วคลาดหนังเหนียว นับเป็นพิธีกรรมที่มีมาแต่โบร่ำโบราณย้อนกลับไปถึงสมัยสุโขทัย จนถึงปัจจุบัน การสักยันต์ก็ยังคงเป็นศาสตร์ที่ได้รับความนิยมศรัทธาอย่างมากในหมู่คนไทยที่มีความเชื่อ เพื่อเป็นการเปิดสมองทางความเชื่อเกี่ยวกับการสักยันต์ นิตยสารผาสุกจึงขออนุญาตพูดคุยกับ “อาจารย์สัก” ที่ถือว่าเป็น “รุ่นใหญ่” ของวงการ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เป็นที่รู้จักในวงกว้าง นั่นคือ อาจารย์ทอง สนธิรอด หรือที่เรียกกันในหมู่ผู้นิยมสักยันต์ว่า “อาจารย์ทอง ตลาดพลู”



ผาสุก – ก่อนอื่นต้องถามเกี่ยวกับชีวิตของอาจารย์ว่ามาเป็นอาจารย์สักยันต์ได้อย่างไร
อ.ทอง – “ผมเริ่มสนใจการสักยันต์ตั้งแต่สมัยเด็กๆ พอดีแถวบ้านมีอาจารย์สักยันต์ มีลูกศิษย์ลูกหาเข้าออกสักยันต์อยู่เป็นประจำจนรู้สึกสนใจ ก็เข้าไปดู ก็ชอบ จากนั้นจึงเฝ้าดูการสักมาตลอด เรียกว่าติดตามเลยดีกว่า เพราะเวลาที่รู้ข่าวว่ามีอาจารย์สักคนไหนเก่งๆ ก็มักจะไปเฝ้าดูการสักยันต์ของอาจารย์ท่านนั้น พอสบโอกาสก็เข้าไปพูดคุยกับท่าน ขอวิชาอะไรต่างๆ นานา
   กระทั่งหลังบวช ผมตั้งใจร่ำเรียนวิชาสักยันต์ อักขรวิธีต่างๆ ตลอดจนวิชาคาถาอาคมอย่างเป็นจริงเป็นจัง อาจารย์ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้กับผมมีมากมาย ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์ฮะ วัดใหญ่ศรีสุพรรณ อาจารย์เที่ยง น่วมมานา วัดสุวรรณาราม ก็อาศัยเป็นลูกศิษย์ท่าน เก็บวิชาความรู้ไปเรื่อยๆ หลังๆ อาจารย์ท่านก็ไว้วางใจให้เราสักยันต์ไปด้วย ตอนนั้นก็ทำงานหาเลี้ยงตัวเองไปด้วย กระทั่งปี พ.ศ.๒๕๒๐ ผมเปิดสำนักสักยันต์ขึ้นที่บ้านตัวเอง เพราะคนที่อยากสักกับเรามีเยอะ การที่เราทำงานไปด้วย สักยันต์ไปด้วย ทำให้ไม่สามารถสงเคราะห์พวกเขาได้อย่างเต็มที่ จึงตัดสินใจเปิดสำนักมาจนถึงปัจจุบัน”




ผาสุก – การสักยันต์ในมุมมองของอาจารย์คืออะไร
อ.ทอง – “เป็นไสยศาสตร์แขนงหนึ่ง เป็นวิชาการที่ต้องใช้เรื่องพลังจิต คาถาอาคม การเสกเลขยันต์ต่างๆ ต้องใช้ความตั้งมั่นในจิต การสักยันต์จะสำเร็จสมบูรณ์ได้ต้องประกอบด้วยจิตและคาถาของผู้ลงเข็มส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่คนถูกสักที่ต้องมีจิตศรัทธาพ้องกัน คือมีความเชื่อในเรื่องนี้ อาจต้องการความเป็นสิริมงคล หรือต้องการอาคมขลังติดตัวไว้เพื่อช่วยป้องกันภยันตรายต่างๆ ซึ่งเลขยันต์แต่ละแบบที่สักลงไปจะให้คุณที่แตกต่างกัน เช่น สักยันต์ ๘ ทิศเพื่อต้องการคุณด้านหนังเหนียว อยู่ยงคงกระพัน หรือสักยันต์ ๕ แถวเพื่อเป็นการเสริมดวง”



ผาสุก – การสักยันต์สามารถให้ผลเช่นนั้นกับผู้สักได้จริงหรือ อย่างสักยันต์ ๕ แถวไปแล้วจะช่วยส่งเสริมดวงให้ดีขึ้นได้ มีข้อพิสูจน์อะไรหรือเปล่า
อ.ทอง – “จริงๆ แล้วตรงนี้ก็ไม่อยากพูดอะไรมาก พูดตามตรง พิสูจน์ไม่ได้หรอก ขึ้นชื่อว่าไสยศาสตร์แล้ว การพิสูจน์เป็นเรื่องยาก เป็นความเชื่อความศรัทธา ได้ผลจริงหรือไม่อยู่ที่คนมาสักเองว่าเขามีความเชื่อแค่ไหน คนที่จะมานั่งให้สักตรงนี้คือต้องมาด้วยความศรัทธา ถามว่าได้ผลแค่ไหน สักแล้วจะเป็นยังไง ป้องกันอะไรได้ขนาดไหน ตรงนี้ตัวผู้สักต้องปฏิบัติเองถึงจะรู้ มองด้วยตาเปล่ามันยาก อยู่ที่การปฏิบัติหลังจากที่สักไปแล้ว เหมือนกับการห้อยพระ ๒ องค์เหมือนกัน องค์หนึ่งยังไม่ได้ปลุกเสก แต่อีกองค์ปลุกเสกแล้ว คุณจะเอาองค์ไหน ก็ต้องเอาที่ปลุกเสกแล้วเพราะความเชื่อในเรื่องพุทธคุณ การสักก็เช่นเดียวกัน พิสูจน์ไม่ได้หรอกว่ามีผลอะไรแค่ไหน เป็นเรื่องของความเชื่อแต่ละบุคคล ผมเองเป็นอาจารย์สักมาเกือบ ๔๐ ปีแล้ว แต่ก็ไม่กล้าคุยมากว่าสักไปแล้วจะเป็นยังไง หนังเหนียวขนาดไหน คงพูดไม่ได้”



ผาสุก – ถ้าพูดถึงความนิยมในการสักยันต์ เปรียบเทียบระหว่างสมัยก่อนที่เริ่มเป็นอาจารย์สักใหม่ๆ กับสมัยนี้ความนิยมในช่วงไหนดีกว่ากัน
อ.ทอง – “สมัยนี้คนมาสักเยอะขึ้น อาจด้วยกระแสตามสื่อต่างๆ ทำให้คนรู้สึกสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้นิยมสักกันเยอะ ต่างจากสมัยก่อนซึ่งคนที่มาสักส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ เพราะเขาจะเข้าใจเรื่องนี้มากพอสมควรถึงเข้ามาสัก แต่เดี๋ยวนี้มีหมดทั้งผู้ชาย ผู้หญิง วัยรุ่น เพราะกระแสนี่แหละ บางอาจารย์อาจมีดาราไปสัก คนก็ตามเข้าไป ดังนั้น สมัยนี้คนที่มาหาเราจึงไม่ใช่คนที่มาสักเพื่อพุทธคุณ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ บางคนสักตามเพื่อน สักตามดารา หรือสักเพราะอยากสวยงามก็มี เจออยู่บ่อยๆ ประเภทจู้จี้จุกจิก เอานู่นเอานี่ เอาสวยๆ อย่างว่าบางคนอาจสักไปเพื่อโชว์ความสวยงาม อาจคิดว่าเป็นงานศิลปะบนร่างกาย แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงของเราไม่ใช่แบบนั้น เราอยากสักให้คนที่มาสักเพราะความศรัทธา เพราะผลของพุทธคุณ ขึ้นอยู่กับความศรัทธาและการปฏิบัติตัวหลังสักด้วย”



ผาสุก – แสดงว่าการสักยันต์ไม่ใช่แค่การลงเข็มให้เป็นอักขระเท่านั้น แต่ยังต้องประกอบด้วยการปฏิบัติตนของผู้สักหลังจากนั้นด้วย
อ.ทอง – “ใช่ คือสักเสร็จแล้วไม่ใช่ว่าคุณจะไปทำตัวยังไงก็ได้ ไปตีรันฟันแทง ข่มเหงรังแกใครก็ได้ แบบนั้นพุทธคุณไม่ปกป้องหรอกครับ มีข้อห้ามข้อพึงระวังหลายอย่างเกี่ยวกับการสัก เช่น สักแล้วต้องประพฤติตนเป็นคนดีอยู่ในศีลในธรรม ห้ามเสพของมึนเมา หรือห้ามผู้หญิงข้ามตัว ห้ามลอดราวตากผ้า อย่างนี้เป็นต้น แล้วข้อพึงระวังทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้สักต้องปฏิบัติตลอดชีวิต
   ข้อห้ามเหล่านี้เหมือนเป็นกุศโลบายที่จะคุมประพฤติคนไว้ก่อน เพราะคนเราถ้าสักไปแล้วโดยที่ไม่มีข้อห้ามเลย ก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อไป ไม่รู้อะไรผิดอะไรถูก บางทีไปทำผิดข้อห้าม เช่น ไปด่าพ่อล่อแม่คนอื่น ก็จะเกิดปัญหา ซึ่งถ้าเรามีของแล้วเราต้องระวังตัวมากขึ้น อย่าด่าแม่เขา อย่าเป็นชู้กับเมียเขา ต้องอยู่ในศีลในธรรม ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเมื่อสักแล้วเราต้องเป็นคนดี ปฏิบัติดี อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าอาจารย์เก่ง จะทำอะไรก็ได้ ไม่ได้ครับ ผมจึงคิดว่าข้อห้ามเหล่านี้สำคัญ ถ้าไม่มีข้อห้ามเลยก็ไม่รู้จะสักเพื่ออะไร เราต้องเชื่อและปฏิบัติตามข้อพึงระวังที่อาจารย์ท่านบอกเอาไว้ ถ้าไม่เชื่อก็อย่าสักเลย เจ็บตัวเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์ สักแล้วต้องได้ประโยชน์ ต้องเข้าใจในสิ่งที่ทำว่ามีประโยชน์อย่างไร ดีอย่างไร เสียอย่างไร ไม่ใช่สักตามเขาว่า แบบนั้นไม่ได้อะไรหรอก ได้แค่ความพอใจชั่วขณะหนึ่ง พอนานไปก็เบื่อ
   บางคนที่มาสักด้วยความศรัทธา เขามีความภูมิใจเหมือนมีของมงคลอยู่ในตัว จะไปไหน ทำอะไรก็รู้สึกแคล้วคลาดปลอดภัย เพราะหลังจากที่สัก เขาประพฤติตนในกรอบที่วางเอาไว้ อยู่ในศีลในธรรม ห้อยพระผมว่ามันเป็นวัตถุมงคลที่เคลื่อนย้าย สามารถถอดได้ เปลี่ยนได้ เดี๋ยวเบื่อองค์นี้ องค์นี้กำลังเป็นกระแสนิยม ฮิตมาก ก็เอามาห้อยตามไป แต่การสักเราเลือกแล้ว เอาออกไม่ได้ มันอยู่กับเราตลอดชีวิต ดังนั้น คนที่มาสักต้องมีความมั่นใจ สักด้วยความมั่นใจ เชื่อมั่นจริง ศรัทธาจริง ถ้าจะมาคิดว่าเป็นเรื่องตลก เป็นของสวยของงาม ผมว่ากลับไปก่อนดีกว่า”


ผาสุก – ตอนนี้เรียกง่ายๆ ว่าอาจารย์สักยันต์เป็นอาชีพ และเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับความเชื่อ ความศรัทธา อาชีพนี้หล่อเลี้ยงเราได้แค่ไหน และเป้าหมายในวิชาชีพของอาจารย์คืออะไร
อ.ทอง – “เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ผมยอมรับว่าทำภายใต้ความเชื่อความศรัทธาของผู้คน แต่พูดตามตรงนะ ผมไม่ค่อยได้เงินได้ทองเท่าไหร่หรอก ถ้าสักแล้วรวย ผมจะมาอยู่ในสำนักบ้านไม้แบบนี้เหรอ แล้วการสักไม่ใช่สบายนะ เหนื่อย แต่ลูกศิษย์ลูกหาที่เข้ามา เขาอยากให้เราสักให้เพราะความศรัทธา ดังนั้น ทุกครั้งผมจึงมีความตั้งใจอย่างแรงกล้า ไม่ใช่ว่าเอาเงินอย่างเดียวแล้วสักไปเรื่อยเฉื่อย จริงๆ อายุการทำงาน ๓๘ ปี ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้แล้ว ถ้าคนไม่ศรัทธา หรือเราไม่มีดีอะไรเลย อยู่ไม่ได้ถึงป่านนี้หรอกครับ มีอาจารย์ที่เก่งกว่านี้อีกเยอะ ส่วนตัวคิดว่าเป็นคนที่ตั้งใจคนหนึ่งในการทำงานให้กับลูกศิษย์ลูกหา มอบความปรารถนาดีให้ ไม่ใช่ว่าทำแบบมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง หรือทำเพราะอยากร่ำรวย ถ้ารวยผมรวยไปนานแล้ว
   ผมทำตามอุดมการณ์ครับ ทำตามแนวทางเดิมของครู ครูสอนอะไรมา เราก็ทำ อย่าไปทำเพื่อหวังร่ำหวังรวย อย่าไปกอบไปโกย อย่าไปเรียกร้อง เอาแค่ค่าครูพออยู่ได้ ไม่ปฏิเสธหรอกครับว่าต้องมีค่าครู เพราะผมก็คน ต้องกินข้าว ต้องใช้ชีวิต เงินค่าครูที่ได้มาคือเพื่อยังชีพเรา เลี้ยงครอบครัว แต่เขาก็ได้ความสุขความสบายใจจากตรงนี้ไป ถือเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่ทำตามประเพณีที่ครูบาอาจารย์ทำสืบต่อกันมา เขาจะใส่ค่าครูเท่าไหร่ก็ใส่มาตามศรัทธา ไปเรียกร้องไม่ได้
   ทุกวันนี้ก็พยายามตั้งใจทำอย่างดีที่สุด เพราะอาจารย์สักไม่ได้มีผมคนเดียว ทุกวันนี้รุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน ขึ้นมาเป็นอาจารย์เยอะแยะ ผมตอนนี้ต้องบอกว่าเป็นรุ่นใหญ่ในวงการ ดังนั้นต้องทำให้ดี ให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง สะท้อนสิ่งดีๆ ออกไปให้มากที่สุด เพื่อคนรุ่นหลัง อยากอนุรักษ์การสักตรงนี้ไว้ให้ตรงตามจุดประสงค์ของครูบาอาจารย์ สักเพื่อศรัทธา เพื่อความดีงาม และเป็นมรดกทางวัฒนธรรม”




ผาสุก – ทุกวันนี้ ความเชื่อเรื่องการสักไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะคนไทย หรือคนในประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ยังแพร่ขยายความนิยมไปยังชาวต่างชาติอื่นๆ อีกด้วย เช่น คนจีนหรือฝรั่ง ทุกวันนี้ก็เห็นพวกเขามาสักยันต์ที่เมืองไทยกันเยอะ
อ.ทอง – “คนต่างชาติที่เข้ามาช่วงนี้ ที่เยอะก็จะเป็นคนจีน คนฮ่องกง ไต้หวัน พวกนี้ชอบสักกันเยอะ บางทีมาเป็นทัวร์เลยก็มี จุดประสงค์ก็หลายๆ อย่างกันไป อาจจะตามกระแส ตามความนิยม หรืออะไรก็ว่ากันไป ตามความศรัทธาก็มีบ้าง แต่เสียตรงที่เราคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง หมายความว่าเราอยากสอนเขาให้มากกว่านี้ แต่สื่อสารไม่ได้ จริงๆ ถ้าสื่อสารกับเขาได้ เขาจะเข้าใจสิ่งพวกนี้มากขึ้น ได้ประโยชน์มากขึ้น ถึงจะคุยผ่านล่าม แต่บางคนก็แปลผิดๆ ถูกๆ ไม่เข้าใจหลักการปฏิบัติหลังจากการสัก การสวดมนต์ไหว้พระ ข้อควรระวัง ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร อยากให้เขาได้รับรู้สิ่งเหล่านี้มากกว่า เพราะขนาดคนไทยที่พูดกันง่ายยังไม่ค่อยทำกันเลย”

ผาสุก – สุดท้ายนี้ อยากให้อาจารย์ฝากคำแนะนำเกี่ยวกับการสักยันต์ให้กับผู้อ่านสักหน่อย
อ.ทอง – “ที่ผมอยากเน้น ไม่ใช่เรื่องการสักหรือเรื่องการลงยันต์อักขระอะไร เพราะนั่นไม่สำคัญเท่ากับตัวบุคคลผู้สัก ของจะดีหรือไม่ดี ไม่ได้อยู่ที่การสักเลขยันต์เพียงเท่านั้น ต้องประกอบกับการประพฤติตนของบุคคลนั้นด้วย ถ้าปฏิบัติตัวดี อยู่ในศีลในธรรม ไม่ละเมิดข้อห้าม ความขลังก็จะอยู่ติดตัวไปตลอดชีวิต แต่ถ้าไม่สามารถปฏิบัติตัวให้ดีตามข้อกำหนดได้ ก็เหมือนไปเจ็บตัวเปล่าๆ มันเป็นเรื่องของการปฏิบัติของแต่ละคน
   คนเรามีรักตัวกลัวตาย มีหนาวมีร้อน มีกิเลสตัณหาเหมือนกันหมด อยู่ที่ว่าจะควบคุมตัวเองได้แค่ไหน นี่คือสิ่งที่ผมสอนเน้นลูกศิษย์เสมอ ว่าสักไปแล้วต้องเป็นคนดีมีศีลธรรม เพราะการสักยันต์คือพุทธคุณ ซึ่งพุทธคุณจะอยู่ได้ด้วยความดี ผมไม่สอนหรอก ว่าถ้าภาวนาคาถาบทนี้จะกันปืน คาถานี้กันมีด สักยันต์นี้ไม่ต้องกลัวใคร เข้าไปลุยเลย แบบนั้นมันสอนตาย ผมสอนเป็นครับ สอนให้เป็นคนดี ทำความดี รู้จักทำมาหากิน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ละเว้นจากการทำชั่ว แล้วการสักยันต์จะเป็นมงคลแน่นอน ของแบบนี้ต้องรู้ด้วยตัวเอง”


:001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001:
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 พ.ค. 2558, 09:17:01 โดย ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์) »

ออฟไลน์ pednoilynam

  • ตติยะ
  • ***
  • กระทู้: 37
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ขอบคุณที่นำมาให้อ่านค่ะ