หมวด ผู้ทรงวิทยาคุณ (เกจิอาจารย์) > เกจิอาจารย์ภาคใต้

ชีวประวัติ หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล พระอริยะสงฆ์ ๕ แผ่นดิน (๒)

<< < (2/4) > >>

ทรงกลด:
หลวงปู่สุภาอริยสงฆ์ห้าแผ่นดิน

   หลวงปู่สุภาเมื่อเป็นพระป่านั้น ท่านวิเวกรอนแรมอยู่ในป่าดงดิบดำอยู่ตลอดเวลา เพราะจิตของท่านต้องการจะแสวงวิเวก ไม่ต้องการข้องแวะกับโลกภายนอก วันเวลาล่วงเลยไป ท่านไม่ได้ยึดติดหรือต้องการจะรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลก พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นผู้ล้าสมัย หรือ ถอยหลังกลับไปจากความเจริญ แต่ในด้านการไปสู่มรรคผลนิพพานแล้ว หลวงปู่ก้าวหน้าไปอย่างยิ่ง ซึ่งหากท่านผู้อ่านได้ติดตามประวัติของหลวงปู่สุภาตั้งแต่ต้น จะพบว่าท่านอุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างมอบกายถวายวิญญาณกันเลยทีเดียว

ชีปะขาวผู้ให้นิมิต

   มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงปู่สุภาออกจากป่าเพื่อแสวงหาที่จำพรรษาในปุริมพรรษาที่กำลังจะมาถึง พอธุดงค์มาถึง อ. สีคิ้ว จ. นครราชสีมา ผ่านมาด้านหลังวัดเกาะสีคิ้ว คำว่าวัดเกาะ คือ มีน้ำกั้นเอาไว้จากโลกภายนอก การคมนาคม หากไม่ใช้เรือ ก็ต้องข้ามโดยสะพานไม้ชั่วคราว ที่ชาวบ้านนำเอาเสาไม้มาปักไว้เป็นโครง พาดด้วยไม้กระดานพออาศัยข้าม การเดินทางเข้าวัดจึงลำบากมาก เมื่อชาวบ้านรอบวัดเกาะสีคิ้วได้พบกับหลวงปู่สุภา จึงได้นำภัตตาหารมาถวาย และมรรคนายกวัดเกาะสีคิ้วจึงปรารภถึงความยากลำบากในการเข้าสู่วัด หลวงปู่ฟังแล้วเกิดความเมตตา จึงตามให้มรรคนายกนำไปดูสถานที่ ก็เห็นว่าไม่เกินกำลังที่ทำได้ ตลอดจนหากจะทำสะพานถาวรแล้ว จะทำให้ชาวบ้านกุดฉนวนที่อยู่ด้านหลังวัดออกไปได้อาศัยนำสินค้าออกมาขายคนภายนอกได้ ซึ่งนอกจากจะได้เกื้อกูลพระพุทธศาสนาแล้ว ยังได้เกื้อกูลชาวบ้านให้ทำมาหากินได้สะดวก หลวงปู่สุภาจึงรับปาก

ปูนแต่ละถุง ทรายแต่ละคิว หลวงปู่สุภาแลกมาด้วยความยากลำบาก เพราะต้องหาของมงคลมาเป็นของขวัญแก่ญาติโยม ทั้งวัตถุมงคล น้ำมนต์และการสงเคราะห์ผู้เจ็บป่วย หลวงปู่สุภาเป็นขวัญและกำลังใจของคนที่อยู่ใกล้เคียวและจังหวัดใกล้เคียง ทุกวันนี้ หากไปถามคนแถววัดเกาะสิคิ้วแล้ว ทุกคนยังรอให้ท่านกลับมาเยี่ยมเยียนพวกเขาบ้าง หลังจากการสร้างสะพานเสร็จ หลวงปู่สุภาได้ทำการฉลองสะพาน และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ชาวบ้านแถบนั้นได้พบหลวงปู่สุภาตราบจนทุกวันนี้

  เส้นทางที่ชีปะขาวบอก คือข้ามจากอุบลราชธานีทางช่องเม็ก สู่แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เดินตามเส้นทางป่าที่เชื่อมจำปาศักดิ์กับเมืองปากเซ ด้วยเป็นเส้นทางที่วิเวกและสามารถหลีกพ้นการรบกวนของผู้คนที่อาจจะทำให้หลวงปู่ต้องพักช่วยชาวบ้านเป็นระยะ ๆ หมดโอกาสจะไปยังสถานที่ที่ต้องการจะไปได้

   หลวงปู่สุภาเดินทางพร้อมเครื่องบริขารธุดงค์ ตรงไปยังปากเซ สอบถามเส้นทางไปยังเมืองเซโปน ซึ่งได้ใช้เส้นทางป่าเหมือนที่มาจากนครจำปาศักดิ์ ผจญความยากลำบากและเภทภัยต่าง ๆ ตลอดเส้นทาง เพราะตอนนั้น ป่าแถบนั้นชุกชุมไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บและภูตผีปีศาจ จากเซโปน สอบถามเส้นทางไปยังเมืองวัง เส้นทางช่วงนี้วิบากยิ่ง แต่หลวงปู่สุภาก็ไม่ย่อท้อ เพราะมีชีปะขาวมานิมิตของเหตุอยู่เสมอตลอดทาง

ชีปะขาวมาปรากฏในนิมิตอยู่เสมอว่า ถ้ำจุงจิง คือสถานที่ที่ท่านจะต้องเดินทางไปให้ถึง ไปให้ตลอด ที่นั่นคือจุดหมายปลายทาง หลวงปู่สุภาจึงมีพลังใจและรุดหน้าเดินทางไปยังเมืองวัง และเดินทางต่อไปยังเมืองอ่างคำ อันป่าแถบนั้นยากที่จะมีผู้ใดบุกเข้าไปได้ ชาวบ้านบอกชัดเจนว่า พระธุดงค์หลายต่อหลายรูป ถามหาทางแล้วไม่เคยกลับออกมาอีกเลย และหลายคนห้ามหลวงปู่สุภาด้วยคำชาวบ้านง่าย ๆ ว่า
“อย่าเอาร่างกายไปเป็นเหยื่อสัตว์ร้ายและไข้ป่า ตลอดจนภูตผีปีศาจเลย แม้พรานที่ว่าแก่วิชา ก็ยังต้องตามไปเอาศพกลับมาเผาเพื่อส่งวิญญาณ เมื่อไปพบสภาพศพดูทุเรศเป็นที่สุด”

  จากเมืองวังไปยังเมืองอ่างคำ หลวงปู่สุภาต้องผจญกับอาถรรพ์ต่าง ๆ นานาประการ หากแต่ได้วิชาที่เล่าเรียนมาแต่ต้น หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และธุดงควัตรอันบริสุทธิ์ของท่าน แก้ไขสถานการณ์จนรอดออกมาจากป่า บรรลุถึงเมืองอัตปือแสนปาง ที่นั่นหลวงปู่สุภามิอาจหาเส้นทางที่เข้าไปยังจุดที่จะถึงถ้ำจุงจิงได้ ที่สุดชีปะขาวต้องมานิมิตบอกท่านว่า มีคนพวกเดียวเท่านั้นที่จะพาหลวงปู่สุภาไปได้คือ “พวกข่า”

   พวก “ข่า” เป็นพวกพรานป่าที่ชำนาญไพร และชำนาญด้านเส้นทางที่จะไปยังถ้ำจุงจิง หลวงปู่สุภาเดินทางมาจนถึงบ้านหนองไก่โห่ อันเป็นชุมชนของชาวข่าที่น้อยคนนักจะมาถึงได้ พวกข่าพบหลวงปู่สุภาแล้วรู้สึกแปลกใจ ถามว่ารอดชีวิตจากป่าดงดิบ ดงดิบดำได้อย่างไร หลวงปู่สุภาจึงบอกวัตถุประสงค์ที่จะไปถ้ำจุงจิงแก่ชาวข่า เมื่อได้ยินดังนั้น ชาวข่าก็บอกกับท่านว่า
“ถ้ำแห่งนั้นเป็นถ้ำอาถรรพ์ ไม่มีใครอยู่ได้ แม้แต่เฉียดเข้าไป ก็ถูกอาถรรพ์เล่นงานเอาจนตาย หรือเฉียดตาย แต่หากว่าท่านจะไป ก็จะนำทางให้ จะนำทางเพียงขึ้นไปที่ปากถ้ำเท่านั้น หลังจากนั้น ให้หลวงปู่ให้ค่าจ้างเขาด้วยหน่อทองคำ”
หลวงปู่สุภาจึงบอกกับพวกข่า
“เราเป็นพระธุดงค์ ไม่มีทองคำหรือหน่อไม้ทองแต่ประการใดที่จะให้เป็นค่าแรง บอกทางด้วยปากเปล่าก็ได้ จะเดินไปเอง”

พวกข่าจึงบอกกับหลวงปู่สุภาว่า
“สะพานที่ทอดข้ามจากหนองไก่โห่ ไปยังเส้นทางเขาจุงจิง มีต้นไม้สีทองอุไรขึ้นอยู่มากมาย หากมีวิชาอาคมเด็ดยอดให้ขาดลงมา ทันทีที่ขาดใส่มือ ก็จะกลายสภาพเป็นหน่อทองคำทันที ขอหน่อนั้นให้พวกกระผม จะได้รอจนท่านกลับมา”

   หลวงปู่สุภาจึงรับปาก เขาจุงจิงนั้นเป็นเขตแดนติดต่อกันระหว่าพระราชอาณาจักรลาวกับดินแดนของเวียดนาม หลวงปู่สุภาจึงข้ามสะพานไปอีกฟากหนึ่งจึงพบต้นไม้ที่ชาวข่าบอกให้ฟัง ความจริงนั้นหลวงปู่สุภาเล่าว่า
“ไม่ใช่ต้นไม้ต้นไร่อะไรหรอก เป็นหน่องอกจากดิน สูงคืบหนึ่งบ้าง หนึ่งศอกบ้าง สองศอกบ้าง มีสีเหลืองเหมือนทอง เวลาต้องแสงแดดก็จะเปล่งประกายงดงามจับตายิ่งนัก พวกข่าต้องการมากทีเดียว”

เมื่อเดินผ่านเข้าไป ท่านได้ระลึกอยู่ ๒ อย่าง คือ
-   ประการแรก ได้รับปากกับชาวข่าไว้แล้วเรื่องให้หน่อไม้ทองเป็นรางวัล
-   ประการที่สอง การจะหักหน่อทองคำเป็นอาบัติ ธุดงควัตรจะขาด และจะเกิดอันตราย จะต้องรักษาสองอย่างนี้ไว้ในเวลาเดียวกัน

หลวงปู่เล่าว่า
“เพ่งมองดูด้วยจิตอันเป็นอุเบกขา ไม่มีความโลภอยากได้ เมื่อจิตเป็นเอกคตาแล้ว จึงนึกอธิษฐานจิตอย่างแน่วแน่ว่า ขอเทพยดาอารักษ์ที่รักษาสถานที่นี้อยู่ ด้วยอาตมาเดินทางมาด้วยนิมิตจิต ต้องการเพียงเล่าเรียนศึกษาแสวงหาทางนิพพาน แต่ได้รับปากชาวบ้านว่าจะให้หน่อไม้ทอง หากมิมีของให้พวกเขา ธุดงควัตรของอาตมาก็จะบกพร่องและเกิดอันตราย ขอเทพยดาได้เมตตาให้หน่อทองแก่อาตมาด้วยเถิด”

  ทันใดนั้นก็มีเสียงซู่ซ่า ต้นไม้ทองคำก็สั่นไหวไปมา และหลายต้นโน้มยอดเข้ามาทางที่ท่านเดินไปและหักกระเด็นออกมาเรี่ยรายอยู่กับพื้นเป็นจำนวนมาก โดยที่ท่านไม่ต้องออกแรงเด็ดหรือทำการอย่างใดให้ต้องอาบัติ และเมื่อยอดตกหักถึงพื้น ก็กลายเป็นหน่อทองคำจริง ๆ เหมือนที่พวกข่าเล่าให้ฟัง เมื่อเห็นว่าได้หน่อทองคำพอสมควรแล้ว หลวงปู่สุภาจึงบอกกับชาวข่าว่า บัดนี้เราได้หน่อทองแล้ว ขอให้พากันไปเก็บ แต่ต้องนำท่านไปส่งที่ถ้ำจุงจิงก่อน หาไม่แล้ว อาจไม่ได้ทอง เพราะเป็นจิตอธิษฐานของท่านเอง พวกข่าจึงตามท่านไปเก็บหน่อทอง และจึงช่วยกันนำหลวงปู่สุภาไปส่งยังถ้ำจุงจิง และลากลับไปหมู่บ้านของเขา หลวงปู่สุภาปักกลดอยู่ทางขึ้นถ้ำ ชีปะขาวก็มานิมิตอีก คราวนี้มาบอกชัดเจนเลยว่า
“บนถ้ำจุงจิง มีพระอรหันต์หลายรูป แต่ละรูปเจริญอิทธิบาท ๔ ประการ ดำรงสังขารมานับเป็นพันปี และจะดำรงต่อไปจนกว่าจะพบพระศรีอาริยเมตตรัยมาตรัสรู้ และเมื่อได้รับฟังพระธรรมจากท่านพระศรีอาริยเมตตรัยแล้วจึงจะละสังขารไป ท่านจะได้พบด้วยตัวของท่านเองนั่นแหละ”

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-supa-hist.htm

ทรงกลด:
พบพระอรหันต์ด้วยตัวเอง

   หลวงปู่สุภาได้ขึ้นไปจำวัดอยู่บนถ้ำจุงจิงเป็นคืนแรก การขึ้นสู่ถ้ำจุงจิงนั้นยากลำบาก ต้องป่ายปีนไปตามซอกหิน จนได้ขึ้นไปสู่ปากถ้ำ ซึ่งมีแต่หมอกควันปกคลุมอยู่ แสงสว่างจากภายในไม่มี จากภายนอกก็เข้าไปไม่ได้ ต้องอาศัยเทียนนำทาง เมื่อเข้าไปแล้ว เหมือนตนเองอยู่ในเมืองลับแล คือไม่รู้ว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน

   เข้าวันใหม่ หลวงปู่สุภาจึงออกมานอกถ้ำ ที่หน้าถ้ำ หมอกได้สลายไปหมดแล้ว เห็นภูมิทัศน์ได้ถนัดตา มองขึ้นไปด้านบน จะเห็นมียอดเขาและถ้ำอีกมากมาย แต่ไร้เส้นทางขึ้น เป็นหน้าผาล้วน ๆ ไม่มีก้อนหินและทางขึ้นไปได้ จึงได้แต่คิดว่า เราจะได้พบพระอาจารย์หรือพระอรหันต์ได้อย่างไร พอคิดแวบขึ้นมา มองขึ้นไปข้างบนก็เห็นสีเหลืองคล้ายจีวร เลื่อนลงมาจากปากถ้ำด้านบน รวดเร็วมากจนมองแทบไม่ทัน มารู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อสีเหลือง ๆ นั้น มายืนอยู่ตรงหน้า เป็นพระภิกษุที่มีผิดพรรณวรรณะผิดกับคนธรรมดาทั่วไป ครองผ้าแปลกไปกว่าที่หลวงปู่สุภาครองอยู่ แต่มีลักษณะคล้ายพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ให้สังเกตได้หลายประการ แล้วพระสงฆ์รูปนั้นก็กล่าวขึ้นว่า

“ไม่ต้องแปลกใจหรอก การลงมาเมื่อกี้นี้เป็นเพียงการอธิษฐานจิตเท่านั้นแหละ เอาเป็นว่า มาได้อย่างไร และทำไมจึงต้องมาที่นี่ บอกมาให้ละเอียด”

หลวงปู่สุภาเล่าให้ศิษย์ฟังว่า พระอรหันต์จริง ๆ จะไม่กล่าวพาดพิงถึงการสำแดงปาฏิหาริย์หรือปรากฏการณ์มหัศจรรย์ แต่จะพูดเลี่ยงไปมา ด้วยพระอรหันต์นั้น หากแม้แสดงตัวหรืออะไรก็ตามที่ให้บุคคลที่สองรู้ว่าตนเป็นอรหันต์ ต้องปาราชิก ฐานอวดอุตริมนุสธรรม แม้จะมีภูมิธรรมก็ตามที หลวงปู่สุภาจึงได้ตอบไปว่า
“กระผมมาตามนิมิตที่ได้จากชีปะขาว จึงเดินทางมาจนถึงที่นี่ด้วยต้องการจะเล่าเรียนทางด้านวิปัสสนากรรมฐานที่สูงขึ้นกว่าที่ได้เรียนมา หากท่านมีเมตตาแล้ว ก็ช่วยสอนให้กับกระผมด้วยเถิด”

พระรูปนั้นจึงกล่าวว่า ไม่ยากหรอก แต่ต้องเริ่มกันที่ การกำจัดสิ่งปฏิกูลออกจากตัวท่านก่อน อย่าลืมว่าท่านฉันภัตตาหารที่มีเนื้อสัตว์ปะปนอยู่ สิ่งเหล่านั้นปะปนอยู่ในตัวท่านมากมาย ต้องนอนลงบนใบตอง ทำจิตให้มั่นคง และต่อไปเราจะสวดเพื่อขัยไล่สิ่งที่เป็นคาวออกจากตัวท่านให้หมด เมื่อน้ำคาวออกหมดแล้วจึงจะสวมจีวรได้อีกครั้ง ระหว่างที่สวด จะต้องสวมแต่สบงเท่านั้น จีวรและอังสะต้องแยกออกไป ชำระล้างตัวแล้วจึงไปเรียนชีปะขาวหรือฤๅษีที่ไปนิมิตบอกท่านนั่นแหละ เรียนกับเขาด้านสมถะและด้านญาณโลกียะ ซึ่งสามารถแสดงฤทธิ์อภิญญา แต่นั่นไม่ใช่ทางหลุดพ้น แต่จะสามารถแสดงฤทธิ์ขึ้นไปข้างบนที่เห็นอยู่ได้ เพื่อพบพวกเรา พวกเราอยู่กันบนนั้น มีอายุวัฒนะด้วยอิทธิบาท ๔ ที่สมเด็จพระบรมศาสดาทางสำแดงว่า จะสามารถดำรงขันธ์อยู่ได้นานตามที่ต้องการ เราจะอยู่จนพระศรีอาริยเมตตรัยลงมาตรัสรู้ และได้ฟังธรรมะจากท่านแล้วจึงจะละสังขารไปสู่นิพพานอันเป็นบรมสุข แต่ เอ๊ะ...
“คุณยังมีภาระอยู่นี่ ยังทำอะไรไม่ได้หรอก ต้องกลับไปทำให้สำเร็จก่อนจะมาศึกษาเล่าเรียนได้ มันเป็นห่วงที่คอยขัดขวางการเล่าเรียนของคุณ กลับไปทำให้เรียบร้อยก่อน”

หลวงปู่สุภาจึงบอกกับพระภิกษุรูปนั้นว่า สะพานผมสร้างสำเร็จแล้ว ศาลาการเปรียญก็สำเร็จแล้ว ผมยังมีอะไรเป็นห่วงอีก พระภิกษุรูปนั้นจึงบอกว่า
“สำเร็จแล้ว แต่คุณยังค้างชาวบ้านเขา ก็คุณบอกว่า จะทำการฉลองไง แล้วคุณไม่กลับไปฉลอง ก็เท่ากับคุณไม่ทำตามปากพูด เป็นมุสาวาท คุณกลับไปทำให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยกลับมาใหม่ก็แล้วกัน”

พอสิ้นคำพูดนั้น ร่างของภิกษุรูปนั้นก็เลื่อนขึ้นสู่เบื้องบนเหมือนตอนที่ลงมาไม่มีผิด ท่านจึงต้องเดินทางย้อนกลับมาทางเดิม มาทำพิธีฉลองสะพานและสิ่งก่อสร้างในวัดเกาะสีคิ้ว ครั้นเตรียมตัวกลับไปใหม่ก็ไม่อาจทำได้ เพราะมีพระมหาสมาน อยู่คณะ ๕ วัดหงส์รัตนาราม นิมนต์ให้ไปช่วยเป็นประธานปฏิสังขรณ์หมู่กุฏิและเสนาสนะในคณะ ๕ กว่าจะเสร็จกินเวลานาน และชีปะขาวก็มิได้มานิมิตอีกเลย เป็นอันว่าท่านไม่ได้กลับไปถ้ำจุงจิงอีกเลย ท่านเล่ามาถึงตอนนี้ก็บอกกับศิษย์ว่า
“จำไว้เลยว่า ทุกอย่างจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จอยู่ที่วาสนาบารมีแต่ละคน สำหรับท่าน ไม่มีวาสนาบารมีจะได้เล่าเรียนกับพระอาจารย์ที่ถ้ำจุงจิงเป็นแน่ จึงไม่ได้กลับไป”

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-supa-hist.htm

ทรงกลด:
กลับบ้านเกิด โปรดญาติโยม

จากเวลาที่หลวงปู่สุภาจากบ้านเกิดไปเมื่อตอนอายุ ๙ ขวบ จนถึงเวลาที่ท่านดำริที่จะกลับบ้านเกิดนั้นเป็นเวลา ๖๒ ปีเต็ม (พ.ศ. ๒๕๑๑) หลวงปู่สุภาจึงแบกกลดธุดงค์กลับบ้านเกิดที่บ้านคำบ่อ อ. วาริชภูมิ ญาติพี่น้องรุ่นเก่า จำท่านได้อย่างแม่นยำ แต่ลูกหลานที่เกิดมาทีหลัง จำท่านไม่ได้ ต้องลำดับญาติโยมจนกระทั่งจำกันได้ ทุกคนยินดีปรีดาที่หลวงปู่สุภากลับมาบ้านเกิดในฐานะนักบวชผู้มีภูมิธรรมอันควรแก่การบูชา และทุกคนมีความเห็นตรงกันที่จะให้ท่านแขวนกลดและจำพรรษาที่บ้านเกิด
หลวงปู่สุภาจึงได้หาหนทางที่จะทำให้ลูกหลานไม่รั้งท่านไว้นานนัก โดยท่านก็รำลึกได้ว่า ห่างบ้านเกิดของท่านไป ๙ ก.ม. มีถ้ำเก่าแก่ เรียกว่า “ถ้ำพระทอง” สถานที่นี้เหมาะที่จะสร้างเป็นวัด จึงได้บอกกับลูกหลานว่า
“หากช่วยกันทำบันไดไปจนถึงถ้ำพระทอง และนำพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานไว้แล้ว หลวงปู่จะมาจำพรรษาที่นั่น”
ลูกหลานต้องจำนน เพราะการสร้างถาวรวัตถุไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ หลวงปู่สุภาจึงทำการบวชพี่ชายของท่านเป็นพระภิกษุ อบรมวิปัสสนากรรมฐานให้ พร้อมกับการอบรมสั่งสอนชาวบ้าน ได้แม่ชีและชีปะขาวอีกหลายสิบคนเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ในการสืบต่อการเล่าเรียนพระกรรมฐานต่อไป
หลวงปู่สุภาจึงได้ล่ำลาชาวบ้านและญาติพี่น้อง แบกกลดออกจากบ้านเกิดไปภูเก็ตและทางภาคใต้ จนกลับมาทางนครปฐม พบกับพลเอกประกอบ (ไม่ทราบนามสกุล) รับนิมนต์ให้พัฒนาวัดพระประโทน และจำพรรษาอยู่ที่นั่นนานพอสมควร จนได้รับการติดต่อจากบ้านเกิดว่า บัดนี้ได้สร้างบันไดไปถึงถ้ำพระทอง แล้วนำพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานไว้แล้ว ขอให้ท่านกลับไปจำพรรษาตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ จึงให้พระครูคัมภีร์ ไปดูแลถ้ำพระทองก่อน เพราะท่านยังมีภารกิจที่วัดพระประโทน
พระครูคัมภีร์ไปอยู่ถ้ำพระทองได้ไม่นาน ก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ถึงแก่มรณภาพหลวงปู่สุภาจึงต้องลงไปถ้ำพระทองถึง ๓ พรรษาเต็ม และบอกญาติโยมว่า ท่านจะหาผู้ปกครองดูแลถ้ำพระทองมาใหม่ ท่านมีภารกิจที่จะต้องธุดงค์ออกไปสร้างความเจริญแก่ท้องถิ่นต่าง ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในการธุดงค์
จากนั้นหลวงปู่สุภาก็ได้นิมนต์พระอาจารย์ทองจันทร์ ศิษย์ในสาย หลวงพ่อชา สุภัทโท เป็นสหายทางธรรมกับหลวงปู่สุภามาปกครองดูแลถ้ำพระทองสืบมา ถ้ำพระทอง ปัจจุบันมีชื่อว่า วัดพระพุทธไสยาสน์ อยู่ ต.บ้านคอเขียว อ. วาริชภูมิ จ. สกลนคร หลวงปู่สุภาได้ทำการอุปถัมภ์ในด้านต่าง ๆ ตามกำลังของท่านจวบจนทุกวันนี้

ทักษิณถิ่นแดนธรรม

หลวงปู่สุภาหันมาธุดงค์ทางใต้ หลังจากปลดภาระจากบ้านเกิดแล้ว และสถานที่ที่หลวงปู่สุภาไปก็คือภาคใต้ เลยเข้าไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และแถบหมู่บ้านในแหลมมลายู ท่านนิยาชมชอบสถานที่ใน จ.ภูเก็ต ก็เมื่อท่านมาปักกลดอยู่ที่เขารัง และเมื่อมีญาติโยมมาอุปัฏฐากท่าน ท่านก็ได้เกริ่นที่จะสร้างวัดที่เขารัง ญาติโยมก็มีจิตศรัทธา จึงได้ติดต่อเจ้าของที่เพื่อจะขอซื้อ แต่เจ้าของที่ดินปฏิเสธ หลวงปู่สุภาจึงตกลงใจถอนกลดธุดงค์เพื่อเดินทางต่อไป ในราตรีก่อนที่จะถอนกลดนั้น หลวงปู่สุภาก็ได้นิมิตประหลาด มีพระภิกษุชราภาพมากรูปหนึ่งมาปรากฏร่างที่ข้างกลดธุดงค์ของท่าน เมื่อท่านออกมาพบ พระภิกษุชรารูปนั้นก็ได้บอกหลวงปู่สุภาว่า
“อย่าได้เสียใจเลย ยังมีสถานที่ที่เขาต้องการให้ท่านไปสร้างวัด ชาวบ้านเขารอกันเป็นเวลานาน แต่ไม่มีใครไปสร้างให้ จงข้ามทะเลไปยังเกาะสิเหร่ ที่นั่นคือที่ที่ท่านจะสมปรารถนา”

จากภูเก็ต หลวงปู่สุภาลงเรือที่ทางญาติโยมจัดให้ เพื่อเดินทางไปเกาะสิเหร่ แล้วหลวงปู่สุภาก็ปักกลด แสวงหาวิเวกบนเกาะสิเหร่ ละมาพบที่ดินที่ถูกใจแปลงหนึ่ง จึงสอบถามหาเจ้าของที่ ปรากฏว่าเจ้าของที่คือแป๊ะหลี มีความเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติของหลวงปู่สุภา จึงปวารณาตัวอุทิศที่ให้สร้างเป็นวัดขึ้นเป็นวัดแรกของเกาะ เรียกว่า “วัดเกาะสิเหร่”
เนื่องจากภาระในการสร้างวัดเกาะสิเหร่ เป็นภาระที่หนักมาก และต้องหาทุนทรัพย์จากภายนอกมาเกื้อหนุน หลวงปู่สุภาจึงต้องเดินทางไปมาระหว่าง กทม. กับเกาะสิเหร่ บ่อยมาก และได้พบกับฆราวาส จอมอาคม จากสำนักเขาอ้อ คืออาจารย์ชุม ไชยคีรี และอาจารย์อุทัย ดุจศรีวัชร์ เพื่อร่วมกันสร้างวัตถุมงคลครั้งแรกเรียกว่า “พระเสด็จกลับ”

   หลังจากที่สร้างวัดเกาะสิเหร่แล้ว หลวงปู่สุภาได้นิมิตถึงพระพุทธไสยาสน์ จึงนำมาสร้างเป็นพระพุทธไสยาสน์ประจำวัดเกาะสิเหร่ รวมเวลาการสร้างวัดเกาะสิเหร่และพระพุทธไสยาสน์ เป็นเวลา ๖ ปี เต็ม โดยถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งการนี้ได้โปรดเกล้าพระราชทานแววพระเนตรมาประดิษฐานไว้ที่พระเนตรของพระพุทธไสยาสน์

พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ ได้ก่ออภินิหารมากมาย และที่เล่าลือในหมู่ชาวเกาะสิเหร่ก็คือ เรื่องราวของการที่ขโมยได้ลอบเข้ามาจะสกัดเอาแววพระเนตรของพระพุทธไสยาสน์ในตอนกลางคืน ได้ของมาแล้วก็จะนำออกไปจากวัด ปรากฏว่า เดินวนอยู่ในวัด หาทางออกไม่ถูก จนชาวบ้านมาพบและพระเห็นเข้า จึงเรียกตำรวจมาจับพร้อมของกลาง โดยรับสารภาพทำไปเพื่อจะนำแววพระเนตรไปขาย แต่ก็หาทางออกไม่ได้ เดินวนไปมาจนถูกจับ

เมื่อหลวงปู่สุภาตั้งใจสร้างวัดบนเกาะสิเหร่นั้น ชาวบ้านก็วิตกกังวลว่า ท่านจะหาทุนมาจากไหน เพราะการคมนาคมไม่สะดวก ทำให้การขนส่งวัสดุก่อสร้างนั้นเสียเวลานาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายก็สูงอีกด้วย แต่ก็ปรากฏว่าหลวงปู่สุภาได้แรงศรัทธาจากทั้งคนบนเกาะสิเหร่และคนที่ภูเก็ต ตลอดจนญาติโยมจากนครปฐม และทุกแห่งที่ท่านเคยไปสร้างความเจริญมาร่วมช่วยกันอย่างเต็มที่และเต็มแรงกายแรงใจ หลวงปู่สุภาลำดับวัดที่เคยไปสร้างความเจริญไว้ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๓๓ วัด แต่ละวัดล้วนมีความเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติของท่าน

เมื่อวัดได้ทำการสร้างสำเร็จแล้ว หลวงปู่สุภาก็แบกกลดขึ้นไปทางเหนืออีกครั้ง เพื่อแสวงหาความวิเวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ค่ายทหารที่เขาค้อ อันเป็นค่ายที่ต้องประจันหน้ากับพวก ผกค. ที่มียุทธวิธีการรบแบบกองโจร ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมากกับกำลังทหาร หลวงปู่สุภาได้เข้าไปพักในค่ายทหาร คอยเป็นขวัญกำลังใจ ตลอดจนสร้างพระเครื่อง - เครื่องรางของขลังแจกทหารในค่ายที่ออกไปลาดตระเวน ทำลายที่ตั้งของค่ายพักฝ่าย ผกค.  ปรากกว่าทหารที่มีเครื่องรางของท่านล้วนแคล้วคลาดทุกคน

ออกจากเขาค้อ ท่านกลับไปเยี่ยมบ้านอีกครั้ง คราวนี้อาพาธหนักด้วยไข้ป่า เพราะท่านไปอยู่บนเขาค้อ จนได้รับเชื้อมาลาเรียอย่างรุนแรง แต่ด้วยอำนาจแห่งศีล สมาธิ ปัญญา และบารมีธรรม ทำให้หลวงปู่สุภาเพียงอาพาธหนัก ต้องรักษาอยู่นาน ซึ่งลูกหลานต่างก็ยินดีที่หลวงปู่มาพักอยู่ด้วยอย่างเนิ่นนาน

หลวงปู่สุภาธุดงค์ไปตามที่ต่าง ๆ จนลืมไปว่าท่านเคยมาพักอยู่ที่ภูเก็ต เมื่อท่านระลึกได้จึงเดินทางกลับมาที่เขารังที่ท่านเคยปักกลดและขอซื้อที่ดินทำวัด แต่เจ้าของปฏิเสธ มาคราวนี้กาลเวลาเปลี่ยนไป หลวงปู่สุภาในวัย ๘๔ ปี รู้สึกว่าเขารังที่เคยเป็นดินแดนสงบ ถูกความเจริญรุกไล่จนกลายเป็นสวนสาธารณะแล้ว ทางเหนือได้กลายเป็นโรงพยาบาลวชิระ โรงพยาบาลประจำเกาะภูเก็ต ด้านหลังของโรงพยาบาล ที่ติดกับเขารังทางด้านเหนือได้ทำเป็นสถานที่เก็บศพ เล่าลือว่าผีดุ หลวงปู่สุภาจึงไปปักกลดที่นั่น มีศิษย์ที่เคยรู้จักท่านพบเข้าจึงเล่าลือกันปากต่อปาก มีศรัทธาสาธุชนเพิ่มมากขึ้น และทุกคนเห็นพ้องว่าท่านอายุ ๘๔ แล้ว สังขารมีแต่ชราและอาพาธบ่อย ๆ เกรงว่าหากแบกกลดธุดงค์ ตะลอนไปเรื่อย ๆ ก็คงมรณภาพกลางทางเข้าสักวัน จึงนิมนต์ให้หลวงปู่อยู่กับที่ โดยได้ขอซื้อที่ดินจากเจ้าของที่จะขายให้ ๑ ไร่เศษ นอกจากนั้น เจ้าของไม่ยินดีให้ความร่วมมือ จึงทำการสร้างวัดไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ. การปกครองคณะสงฆ์ระบุไว้ชัดว่า จะสร้างวัดต้องมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า ๖ ไร่ จึงต้องสร้างสำนักสงฆ์ขึ้น และตั้งชื่อตามนามของท่านเจ้าของที่ดินดั้งเดิม คือ “สำนักสงฆ์เทพขจรจิตร” โดยได้มาจากส่วนหนึ่งของบรรดาศักดิ์ท่านเจ้าของคือ “หมื่นขจรจิตรพงษ์ประดิษฐ์” และหลวงปู่สุภาเล็งเห็นว่า หากต้องการสร้างความสงบให้แก่เขารังและแก่จังหวัดภูเก็ต ต้องสร้างพระพุทธรูปปางประทานพรไว้บนยอดเขารัง โดยออกแบบให้มีส่วนฐานขององค์พระขึ้นไปจากหลังคาสำนักสงฆ์ โดยช่างรับเหมาระบุราคาไว้ ๒๐ ล้านบาท แต่ด้วยท่านอาศัยบารมีธรรมและการสงเคราะห์จากลูกศิษย์ จนในที่สุด จึงสร้างพระพุทธรูปนั่งที่ใหญ่ที่สุดในเกาะภูเก็ต มองเห็นได้แต่ไกลได้สำเร็จ

เนื่องจากท่านได้อาพาธจนเข้าโรงพยาบาลวชิระอยู่บ่อยครั้ง และท่านเห็นว่า ไม่มีตึกสงฆ์ ทำให้พระต้องไปอยู่รวมกับคนป่วยอื่น จึงดำริที่จะสร้างตึกสงฆ์ จึงเข้าพบ ผอ. โรงพยาบาลวชิระ ออกปากขอที่ดินพร้อมทั้งแบบก่อสร้างเพื่อเป็นแนวทางในการหาทุนมาสร้าง นับเป็นผลงานในขณะที่ท่านอายุเข้าถึง หนึ่งศตวรรษ หรือ ๑๐๐ ปีของท่าน แต่ท่านไม่เคยย่อท้อในชีวิตของท่าน มีแต่คำว่า ให้ และ สร้างทุกอย่าง สำเร็จด้วยเมตตาบารมีธรรมของท่าน

ถึงแม้ปัจจุบันท่านจะไม่ได้แบกกลดออกท่องธุดงค์ เพื่อแสวงหาความวิเวกตามเขาลำเนาไพรอีกแล้ว ด้วยความจำกัดแห่งสังขาร แต่ท่านก็ทำหน้าที่สงเคราะห์ญาติโยมที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ว่าจะทางจิตใจ หรือแม้แต่ผู้ถูกคุณไสย ทั้งยังทำหน้าที่เป็นวิปัสสนาจารย์ ท่านจะคอยแนะนำข้อปฏิบัติ และให้โอวาททุกวันหลังจากพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาไหว้พระสวดมนต์เย็นเสร็จแล้ว เท่าที่ได้สัมผัสมา หลวงปู่สุภามีศิษย์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศไปมาหาสู่ท่านมิได้ขาด โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ด้วยแล้ว มากันเป็นคันรถ เพราะท่านเคยไปธุดงค์ช่วยเขาในอดีต ส่วนทั้งศิษย์เก่าและใหม่ ต่างพากันไปนมัสการท่าน ต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า
“ได้รับเมตตา ได้เห็นรอยยิ้มท่าน ได้รับพร และได้รับวัตถุมงคล ทำให้มีขวัญและกำลังใจเพิ่มพูนขึ้น และทำมาค้าขายคล่อง มีรายได้เพิ่มเป็นกอบเป็นกำ พ้นจากทุกข์ได้ก็ด้วยบารมีของหลวงปู่สุภาเป็นที่พึ่ง”

--จบ--
ขอบคุณที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-supa-hist.htm

ทรงกลด:
แถม.......

ปัจจุบัน
ปัจจุบันนี้ หลวงปู่ได้พำนักอยู่ที่วัดใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนเจ้าฟ้าตะวันตก ต.ฉลอง อ.เมือง และวัดนี้ได้รับพระกรุณา โปรดเกล้าพระราชทานนามว่า วัดสีลสุภาราม ซึ่งผู้มีจิตศรัทธา ได้ถวายที่ดินให้หลวงปู่สร้างวัดขึ้น ดังนั้นจึงมีวัดใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง ในวาระหลวงปู่มีอายุ 106 ปี ปัจจุบันนี้หลวงปู่มีสิริอายุ 114 ปี ย่าง 115 ปี สร้างวัดมาแล้ว รวม 39 วัด

หลวงปู่ท่านเคยปรารภกับลูกศิษย์ว่า หลวงปู่ชราภาพแล้ว ภารกิจหน้าที่หากสำเร็จแล้วหลวงปู่ปรารถนาจะธุดงค์เข้าป่า ศิษยานุศิษย์ต่างก็กราบ และขอนิมนต์หลวงปู่ให้อยู่ใกล้ชิดเนื่องจากหลวงปู่ชราภาพ และจะได้ช่วยดูแล แวะมากราบนมัสการ ฟังธรรมะ คำสั่งสอน ปฏิบัติธรรม มีโอกาสได้ทำบุญสร้างกุศลกับหลวงปู่ต่อไป

หลวงปู่เดินทางมาวัดคอนสวรรค์ ต.ค้อเขียว จ.สกลนคร อยู่เนืองๆ เนื่องในวันสำคัญๆ ทางพุทธศาสนา ท่านจะเมตตาศิษยานุศิษย์ทุกคน ญาติโยมทั้งหลายตลอดมามิได้ขาด ไม่เลือกชั้นวรรณะ

หลวงปู่สุภา กันตสีโล นับเป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่เก่งกล้า และเป็นพระสุปฏิปันโน ควรแก่ความศรัทธาเคารพนับถือ ถือได้ว่าพระผู้มีปฏิปทาเช่นท่าน หาได้ยากในยุคปัจจุบัน

ในด้านสุขภาพร่างกายของท่าน นับว่ายังแข็งแรง ผิวพรรณผ่องใส เช่นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ น้ำเสียงของท่านนุ่มนวลเปี่ยมด้วยความเมตตา ทำให้ผู้ได้ยินได้ฟังซาบซ่านด้วยปีติและความอิ่มเอิบใจ เมื่อได้ฟังการบรรยายธรรมของท่าน ท่านทั้งหลายที่ได้กราบนมัสการหลวงปู่ คงจะไม่เชื่อเลยว่า ชีวิตของท่านที่ผ่านความยากลำบากนานับประการ ต้องเดินธุดงค์ผ่านป่าเขาลำเนาไพร ผ่านสัตว์ร้าย และภาวนาการณ์น่าประหวั่นพรั่นพรึงมานานนับหนึ่งศตวรรษ จะยังคงสภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีผิวพรรณผุดผ่อง ราวกับผู้ที่ไม่เคยกรำแดดกรำฝน หรือไม่เคยผ่านความยากลำบากใดๆ มาก่อนเลย แต่สำหรับผู้ที่ใฝ่การปฏิบัติธรรม คงไร้ข้อสงสัยแต่อย่างใด เพราะทุกคนล้วนทราบซึ้งกันดีอยู่แล้ว ว่าอานุภาพแห่ง ศีล นั้นมีมากน้อยเพียงใด

ประสบการณ์จากธุดงควัตร

หลวงปู่ใช้เวลาธุดงควัตรไปตามที่ต่างๆ อยู่หลายปี ผจญภัยกับสิ่งต่างๆ อยู่หลายปี ผจญภัยกับสิ่งต่างๆ มากมาย เช่น ผจญภัยกับงูเหลือมยักษ์ ผีกงกอย มีโอกาสได้พบกับหลวงพ่อบ้านแดง ซึ่งเป็นพระภิกษุองค์หนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก เช่นเดียวกับหลวงปู่สีทัตต์ ซึ่งเข้าใจว่าท่านเป็นพระภิกษุที่สำเร็จอรหันต์ และมีเรื่องราวท้าวผีน้อย มาเล่าสู่ลูกหลานฟัง เรื่องคนธรรม์เมืองลับแล พบเจ้าพลายน้อยตอนหลงทางอยู่ในป่า หาทางออกจากป่าเป็นเวลา 15 วัน เรื่องราวของเครือร้อยปลา ไพลดำ น้ำมันตาทิพย์ พบหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เรียนรู้วิธีทำปรอท เรื่องของถ้ำจุงจิง อยู่ระหว่างเขตต่อแดนลาวกับญวน (หาอ่านได้จากหนังสือประวัติหลวงปู่สุภา 100 ปี และ 106 ปี)

ที่มา
http://www.nakusol.com/

saychol:
มีใครรู้จุดตายเหรียญระฆังหลวงพ่อเกษมบ้างคับช่วยบอกผมหน่อยคับ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version