หมวด ผู้ทรงวิทยาคุณ (เกจิอาจารย์) > เกจิอาจารย์ภาคอีสาน

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

<< < (2/2)

ทรงกลด:
e ๒๒ f
คู่อรรถคู่ธรรมที่ต่างอุปนิสัย

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม และหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ร่วมเดินทางธุดงค์ไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง แต่ทั้งสององค์ไม่ได้ไปด้วยกันโดยตลอด บางช่วงท่านก็แยกกันไป และบางโอกาสก็มาพักปักกลดด้วยกัน รวมทั้งบางโอกาสก็จำพรรษาร่วมกัน ทั้งสององค์จัดเป็นคู่อรรถคู่ธรรมที่แปลกมาก กล่าวคือทั้งสององค์ มีอุปนิสัยภายนอกที่แตกต่างกันอย่างมาก แต่ท่านก็ร่วมเป็นสหธรรมิกที่ไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี

ทางด้านหลวงปู่ตื้อท่านเป็นพระที่ชอบพูด ชอบเทศน์ มีปฏิปทาผาดโผน พูดเสียงดัง ตรงไปตรงมาชนิดที่ไม่กลัวเกรงใคร
ทางด้าน หลวงปู่แหวน กลับเป็นพระที่พูดน้อย เสียงเบา ชอบอยู่เงียบๆ ท่านไม่ชอบเทศน์ มีแต่ให้ข้อธรรมสั้นๆ มีปฏิปทาเรียบง่าย ไม่โลดโผน

แม้หลวงปู่ทั้งสององค์ท่านมีอุปนิสัยภายนอกที่แตกต่างกัน แต่ท่านก็ร่วมเดินทางและเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี จัดเป็นสหธรรมิกที่มีความใกล้ชิดกันที่สุด แม้ในภายหลัง เมื่อหลวงปู่มั่นได้เดินทางกลับไปภาคอีสานแล้ว หลวงปู่ทั้งสององค์ก็ยังพำนักอยู่ในภาคเหนือต่อไป จนเข้าสู่วัยชราภาพ สถานที่ที่องค์ท่านทั้งสองพำนักอยู่ก็ไม่ห่างไกลกัน พอไปมาหาสู่และถามไถ่ถึงกันได้ตลอด

e ๒๓ f
บันทึกการร่วมธุดงค์กับหลวงปู่แหวน

จากประวัติของหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ซึ่งเรียบเรียงโดย อตฺถวโรภิกขุ (พระอาจารย์นาค) แห่งวัดสัมพันธวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้บันทึกการเดินธุดงค์ของหลวงปู่แหวน ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่ตื้อ ดังต่อไปนี้ : -

“เมื่อสมัยหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ยังหนุ่ม ท่านชอบเที่ยวธุดงค์จาริกไปตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เท่าที่จะสามารถเดินไปได้ สมัยก่อน การคมนาคมยังไม่สะดวก จะไปไหนไม่ต้องกังวลเรื่องรถเรื่องเรือ ทางสะดวกมีอยู่ทางเดียวคือ เดินไปแล้วก็เดินกลับ”

“ในเขตภาคอิสาน นอกจากอุบลราชธานีแล้ว หลวงปู่ (แหวน) พำนักอยู่ที่อุดรธานีเป็นส่วนใหญ่ เช่นเมื่อครั้งไปตามหาท่านอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่บ้านค้อ ดงมะไฟ และเคยไปจำพรรษาที่นาหมี นายูง... ต่อมาหลวงปู่ ไปจำพรรษาที่พระบาทบัวบก และเมื่อออกพรรษาก็ไปพักที่พระบาทหอนาง หรือพระบาทนางอุษา ซึ่งอยู่คนละฟากเขากับพระบาทบัวบก ส่วนเขตแดนอิสานอื่นก็มีที่ อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย เมื่อหลวงปู่กลับมาพักผ่อนหลังจากจาริกไปลาว ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ๑๔ วัน ตั้งใจจะเที่ยวตามเมืองต่างๆ จนถึงสิบสองปันนา สิบสองจุไท ทางเหนือ แต่ทหารฝรั่งเศสไม่ให้ไป จึงไปพักที่วัดใต้หลวงพระบางระยะหนึ่ง แล้วก็กลับพร้อมด้วยหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม”

“หลังจากพักหายเหนื่อย จึงปรึกษากับหลวงปู่ตื้อ มุ่งเดินทางไปทางภาคเหนือ...เดินไปค่ำไหนก็นอนที่นั่น และไม่มีลูกศิษย์เล็กให้เป็นห่วง หลวงปู่ทั้งสองท่านออกจากท่าลี่ จังหวัดเลย ไปออกด่านซ้าย ข้ามป่าเข้าไปอำเภอน้ำปาด ผ่านเขตอำเภอนครไทย ไปถึงอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วตัดไปอำเภอนาน้อย แพร่ ผ่านหมู่บ้านชาวเขาเผ่าเย้า แล้วลงมาพักกับหมู่บ้านคนเมืองตามคำนิมนต์ จากนั้นจึงเดินทางต่อไปสูงเม่น เด่นชัย เดินไปตามทางรถไฟจนถึงลำปาง  หลวงปู่ตื้อ แยกตัวไปพักที่อำเภอเถิน หลวงปู่แหวน เดินทางต่อไปยังเชียงใหม่ เที่ยวดูภูมิประเทศโดยรอบ ทั้งบนดอยสุเทพและที่อื่นๆ แล้วจึงเดินทางกลับมาพบหลวงปู่ตื้อ ที่ลำปาง”

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ ๒๔๖๔ หลวงปู่ทั้งสองก็แยกทางกัน หลวงปู่แหวน ลงไปกรุงเทพฯ เพื่อรับฟังธรรมอบรมจากท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ที่วัดบรมนิวาส แล้วท่านก็จาริกไปพม่าและอินเดีย

ในตอนหลังทั้งหลวงปู่แหวน และหลวงปู่ตื้อ ได้ไปกราบหลวงปู่มั่น ที่เชียงใหม่ โดยหลวงปู่แหวน ได้ญัตติเป็นธรรมยุตก่อน ต่อจากนั้นทั้งสององค์ก็ท่องเที่ยวธุดงค์ติดตามหลวงปู่มั่น ไปยังที่ต่างๆ ในภาคเหนือติดต่อกันหลายปี

e ๒๔ f
ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น

ท่านพระอาจารย์บูรฉัตร พรหฺมจาโร ผู้เป็นศิษย์ ได้บันทึกเรื่องราวตอนที่หลวงปู่ตื้อ เข้าถวายตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่มั่น ดังนี้ : -

“ในขณะนั้น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เพชรเม็ดเอกน้ำหนึ่งของพระพุทธศาสนา และท่านเจ้าคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท) มาพำนักสอนกรรมฐานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อได้ทราบข่าวเช่นนั้น (หลวงปู่ตื้อ) ก็ได้เดินธุดงค์กรรมฐานจากจังหวัดเลยขึ้นสู่จังหวัดเชียงใหม่ ไปทางหล่มสัก หลายคืนจึงถึงจังหวัดเชียงใหม่ ถ้าจะขึ้นรถยนต์รถไฟก็อัตคัดปัจจัย และปัจจัยก็หายากมาก แม้รถยนต์ก็มีน้อยมาก จนนับจำนวนได้ ในจังหวัดเชียงใหม่เวลานั้นมีรถยนต์ทั้งหมด ๒ คันเท่านั้น เป็นรถของหลวงอนุสารสุนทร และอีกคันหนึ่งเป็นของใครจำไม่ได้

“ท่านพระอาจารย์ตื้อ ได้เดินทางถึงจังหวัดเชียงใหม่ แล้วได้ไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และได้พักอยู่กับท่านที่วัดเจดีย์หลวง ในเมืองเชียงใหม่ อยู่ไม่นานเท่าไรก็ได้ญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุต โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูพิศาลสารคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และท่านพระครูนพีสีพิศาลคุณ (ทอง โฆสิโต) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

“ขณะนั้น ท่าน (หลวงปู่ตื้อ) ได้เดินทางถึงจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ได้ไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และได้พักอยู่กับท่านที่วัดเจดีย์หลวง ในเมืองเชียงใหม่

ขณะนั้น ท่าน (หลวงปู่ตื้อ) อายุได้ ๓๗ ปี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๘ ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖”

(จากประวัติการอุปสมบทในตอนต้น บันทึกไว้ว่าหลวงปู่ได้ญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกายในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลังจากบวชอยู่ในฝ่ายมหานิกายได้ถึง ๑๙ พรรษา __ผู้เขียน)

“เมื่อท่านได้บวชเป็นธรรมยุต และได้เป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แล้วก็ได้พำนักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อคอยออกกรรมฐาน ติดตามท่านพระอาจารย์มั่นต่อไป

“ในระหว่างนี้ ท่านพระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม ได้ตั้งหน้าตั้งตาอบรมกรรมฐานอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงเป็นเวลาหลายเดือน และในที่สุดท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และสานุศิษย์ก็ออกเดินกรรมฐานไปตามถ้ำต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ และท่านพระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม ได้ออกติดตามท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ไปในกองทัพธรรม ครั้งนั้นด้วย

ท่านได้ติดตามไปกับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโตไปตามถ้ำต่างๆ หลายแห่ง เป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดและเป็นผู้ที่พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ไว้ใจในการออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมกรรมฐานมาก ท่านพระอาจารย์มั่นมักจะถามและพูดด้วยเสมอ ดังนั้น ท่านพระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม จึงเป็นลูกศิษย์เอกของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปในเวลานั้น”

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-02.htm

ทรงกลด:
e ๒๕ f
สำรวจถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้า

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้พาคณะศิษย์ออกธุดงค์ไปทางเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ไปถึงเขตอำเภอเชียงดาว ได้พำนักปฏิบัติอยู่ที่ถ้ำเชียงดาวระยะหนึ่ง
วันหนึ่ง หลวงปู่มั่น ได้นิมิตเห็น ถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้า อยู่บนดอยเชียงดาวสูงขึ้นไป เป็นถ้ำที่สวยงาม กว้างขวาง สะอาด อากาศโปร่ง เหมาะที่จะเป็นที่พักบำเพ็ญเพียรภาวนามาก
ถ้ำนั้นอยู่บนดอยที่สูงมาก ยากที่ใครจะขึ้นไปถึงได้ ต้องใช้ความอดทนพยายามที่สูงมาก รวมทั้งมีพลังใจที่กล้าแข็งจริงๆ จึงจะขึ้นไปได้

หลวงปู่มั่นต้องการให้พระลูกศิษย์ขึ้นไปสำรวจถ้ำแห่งนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่า นอกจากหลวงปู่ตื้อแล้วยังไม่เห็นใครเหมาะสมที่จะขึ้นไปได้ จึงได้บอกให้หลวงปู่ตื้อ เดินทางขึ้นไปสำรวจดูถ้ำแห่งนั้น
เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากฉันภัตตาหารแล้ว หลวงปู่ตื้อพร้อมกับพระอีก ๓ รูป ได้พากันออกเดินทางขึ้นสูยอดดอยเชียงดาว เพื่อสำรวจดูถ้ำตามภาระที่ได้รับมอบหมายจากพระอาจารย์ใหญ่
หนทางขึ้นสูยอดดอยสุดแสนจะลำบาก เพราะต้องปีนเขาสูง ไม่มีทางอื่นที่จะเดินลัดหรือเลาะเลี้ยวไปตามเชิงเขา ต้องปีนป่ายเหนี่ยวเกาะไปตามแง่หิน รั้งตัวขึ้นไป ซึ่งเสี่ยงอันตรายมาก

หลวงปู่ตื้อ เล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า ยิ่งสายก็ยิ่งเหนื่อย บางแห่งทางแคบมากจริงๆ ต้องเดินเอี้ยวหลบเข้าไปได้ทีละคนเท่านั้น บางช่วงต้องปีนป่ายและห้อยโหนเพราะไม่มีทางเลี่ยงอื่น ต้องเสี่ยงชีวิตเอา
คณะของหลวงปู่ตื้อ ปีนป่ายถึงยอดเขาประมาณ ๕ โมงเย็น แต่ไม่มีวี่แววว่าจะพบถ้ำ และไม่ทราบว่าถ้ำอยู่ที่ไหน บริเวณรอบๆ ไม่ได้ส่อเค้าว่าจะเป็นถ้ำเลย
คณะต้องเดินอยู่บนเขาอีก ๔ ชั่วโมงกว่าๆ บนยอดเขามีลมพัดแรงมาก ตกกลางคืนยิ่งพัดแรงจนตัวแทบจะปลิวไปตามแรงลม จะหาถ้ำเล็กๆ พอจะหลบลมก็ไม่มี ในคืนนั้นไม่ได้หลับนอนกัน พระทุกองค์ต้องใช้เชือกตากผ้าที่เตรียมไป ผูกมัดตัวไว้กับต้นไม้ แล้วนั่งสมาธิภาวนากันทั้งคืน ยิ่งดึกลมยิ่งแรงดูผิดปกติธรรมชาติเป็นอย่างมาก

พอรุ่งเช้าได้อรุณแล้ว ปรากฏว่ามีญาติโยมจัดภัตตาหารมาถวาย คนพวกนั้นเป็นพวกชาวเขาแท้ อาศัยทำไร่อยู่บนยอดดอยอย่างถาวร
เมื่อฉันเสร็จก็พากันเดินทางต่อไป แม้จะเดินบนหลังเขา หนทางก็ยากลำบากมาก เหมือนกับการปีนป่ายขึ้นมาในตอนแรก คณะหลวงปู่ตื้อเดินอยู่จนถึงเที่ยงวัน ก็ถึงบริเวณหนึ่งที่เข้าใจว่าน่าจะเป็นที่ๆ ถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้าตั้งอยู่
บริเวณข้างหน้าเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ต้องใช้ขอนไม้เกาะเป็นแพจึงจะข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งได้ พระที่ไปด้วยกันไม่มีใครกล้าข้ามไป หลวงปู่ตื้อจึงอาสาข้ามน้ำไปดูเพียงองค์เดียว

ก่อนจะข้ามน้ำไป หลวงปู่ได้นั่งสมาธิดูก่อน ปรากฏเป็นเสียงคนพูดเบาๆ พอเสียงนั้นเงียบหายไป ก็มีอีกเสียงหนึ่งพูดขึ้นว่า “งูใหญ่ๆ” พูดอยู่ ๒-๓ ครั้ง แล้วปรากฏเป็นผู้ชายรูปร่างบึกบึน สูงใหญ่ ผิวกายดำทมึนมายืนพูดกับหลวงปู่ว่า

“ท่านจะเข้าไปในถ้ำไม่ได้หรอกนะ ที่นั่นมีงูตัวใหญ่มากเฝ้ารักษาอยู่”

หลวงปู่ตื้อ ได้พูดกับชายผู้นั้นว่า “ที่พวกอาตมาขึ้นมาที่นี่ ไม่ได้มาเบียดเบียนใคร ไม่ได้มุ่งจะมาเอาอะไร แต่ประสงค์จะขึ้นมาดูถ้ำตามที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ใช้ให้มาเท่านั้น”

พอหลวงปู่กล่าวจบลง ชายผู้นั้นก็หายไป ท่านพิจารณาดูต่อไปเมื่อเห็นว่าไม่มีอะไรอีกแล้วจึงออกจากสมาธิ แล้วท่านก็จัดแจงหาขอนไม้มาทำเป็นแพ เอาเทียนจุดไว้ที่หัวแพ แล้วเกาะแพลอยข้ามน้ำไปยังฝั่งตรงข้าม ท่านลองหยั่งดูเห็นว่าน้ำลึกมากไม่สามารถหยั่งรู้ถึงได้
เมื่อหลวงปู่เกาะแพไปถึงอีกฝั่งแล้ว จึงได้พบถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้า ตามที่หลวงปู่มั่นได้พบเห็นในนิมิต เป็นถ้ำที่ใหญ่โต กว้างขวางและสวยงามมาก อากาศโปร่งสบาย พื้นถ้ำสะอาดสะอ้านเหมือนกับมีคนดูแลปัดกวาดเป็นอย่างดี

หลวงปู่ตื้อได้เข้าไปสำรวจภายในถ้ำ ในถ้ำนั้นมีแสงสว่างอยู่ในตัว แม้เดินลึกเข้าไปก็ไม่มืด ถ้ำนี้มีลักษณะพิเศษกว่าถ้ำอื่นจริงๆ
ลักษณะของถ้ำกว้างและยาวลึกเข้าไปข้างในเขา ด้านหลังถ้ำออกไปมีแอ่งน้ำธรรมชาติ น้ำใสสะอาดน่าดื่มกิน ด้านนอกถ้ำออกไปข้างหลังมีป่าไม้ประเภทไม้ผลที่อุดมสมบูรณ์ ใบเขียวชอุ่มเหมือนได้รับการดูแลอย่างดีด้านนอกถ้ำที่อยู่สูงที่สุดเป็นหน้าผาที่สูงชันมาก คงไม่มีใครขึ้นไปได้ หรือว่าถ้าขึ้นไปได้แล้วก็คงไม่คิดลงมาอีก

หลวงปู่ตื้อ ได้นั่งสมาธิภาวนาอยู่นาน พบว่ามีพวกกายทิพย์เข้ามาหาท่าน และพบวิญญาณชีปะขาวน้อยรูปหนึ่ง เป็นผู้เฝ้าดูแลรักษาถ้ำแห่งนี้ ชีปะขาวน้อยบอกหลวงปู่ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านไม่ได้อยู่ที่ถ้ำนั้นแล้ว แล้วชีปะขาวน้อยก็หายไปทางหลังถ้ำ

e ๒๖ f
หลวงปู่มั่นบอกเรื่องบ่อน้ำทิพย์

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้พักบำเพ็ญภาวนาอยู่ภายในถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้า จนครบ ๕ วัน จึงได้พาหมู่คณะเดินทางกลับลงมาทางเดิม
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้ถามคณะที่ไปสำรวจถ้ำว่าเป็นอย่างไร? น่าอยู่จริงไหม?

หลวงปู่ตื้อได้กราบเรียนว่า “ในถ้ำสวยงามน่าอยู่จริงๆ แต่ไม่มีบ้านคนเลย พวกกระผมฉันใบไม้ตลอด ๕ วัน บ้านคนไม่มี ไม่รู้จะไปบิณฑบาตที่ไหน อีกประการหนึ่งที่เป็นปัญหาสำคัญ คือลมพัดแรงมาก พัดหูพัดตาอยู่ลำบาก ถ้าหากอยู่ในถ้ำก็สบายดีมากขอรับ”

หลวงปู่มั่น ได้พูดขึ้นว่า “ทำไม่พวกคุณถึงไม่เลยพากันขึ้นไปดูบ่อน้ำทิพย์ ที่อยู่ข้างหลังถ้ำนั้นด้วยละ บ่อน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์นั้น ถ้าหากใครได้อาบและดื่มเป็นการชุบตัวแล้ว จะมีอายุยืนถึงห้าพันปี สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ด้วย”

หลวงปู่ตื้อ กราบเรียนท่านพระอาจารย์ว่า “กระผมขึ้นไปเหมือนกันขอรับ แต่พอขึ้นไปบนหลังถ้ำนั้นปรากฏว่าเป็นหน้าผาที่สูงและชันมาก สูงราวๆ ๑๐-๑๕ วา ขึ้นไปมิได้ขอรับ เพราะหน้าผาชันจริงๆ ทางอื่นที่จะขึ้นไปก็ไม่มี กระผมเดินดูรอบๆ ตั้งสองสามรอบ ถ้าหากขึ้นไปได้ ก็คงลงมาไม่ได้”

ท่านพระอาจารย์ใหญ่ จึงตอบว่า “พวกเราคงไม่มีบุญวาสนาบารมีที่จะเหาะได้ละมั้ง จึงได้พากันเดินลงมาจนเท้าแตกหมด ถ้าหากว่าขึ้นไปได้ก็คงลงมาไม่ได้ แต่ขึ้นไปได้และลงมาได้อย่างนี้ก็สามารถมากแล้วละ”

e ๒๗ f
เจรจากับช้างป่า

เมื่อออกจากถ้ำเชียงดาวแล้ว หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้นำสานุศิษย์เดินธุดงค์ไปทางอำเภอพร้าว (ในบันทึกใช้คำว่า บ้านพร้าว ศิษย์ที่ร่วมเดินทางมีหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณและมีพระภิกษุ-สามเณรติดตามอีก ๒-๓ รูป

คณะของหลวงปู่มั่น เดินทางไปถึงที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นช่องแคบที่จะไต่ขึ้นเขา พอดีมีช้างเชือกหนึ่งกำลังกินใบไผ่ยืนขวางทางอยู่ตรงช่องแคบนั้น ทางคณะไม่มีทางอื่นจะเลี่ยงไปได้

ช้างกับพระอยู่ห่างกันประมาณ ๑๐ วา มีเสียงหนึ่งให้ความเห็นว่า “พวกเราน่าจะกลับถอยหลังไปก่อน แล้วจึงค่อยมาใหม่”

ท่านหลวงปู่มั่น หยุดพิจารณา แล้วพูดขึ้นว่า “ท่านตื้อ ลองพูดกับช้างดูบ้างซิ”

หลวงปู่ตื้อ จึงพูดกับช้างว่า “พี่ชาย เราขอพูดด้วย”

ฝ่ายช้างหยุดชะงักจากการกินใบไผ่ทันที

“พี่ชาย เราขอพูดด้วย” เป็นคำรบสอง

ช้างหันมาทางหมู่พระทันที หูทั้งสองข้างกางออก ยืนนิ่งไม่ไหวติง

หลวงปู่ตื้อ จึงพูดต่อไปว่า “พวกเราขอทางเดินหน่อย พี่ชายมายืนกินใบไผ่อยู่ที่นี้ พวกเราจึงไม่มีทางเดิน เพราะพี่ชายยืนปิดทาง พวกเรากลัวพี่ชายมาก ขอให้หลีกทางให้พวกเราด้วย”

พอท่านพูดจบลง ช้างก็รีบหันหน้าเข้ากอไผ่ข้างทาง แสดงให้เห็นว่าได้หลีกทางให้แล้ว คณะพระธุดงค์ก็ออกเดิน โดยหลวงปู่ตื้อเดินออกหน้า หลวงปู่มั่น เดินเป็นอันดับสอง แล้วพระเณรองค์อื่น หลวงปู่แหวน อยู่รั้งท้าย

เมื่อผ่านช้างไปแล้ว ทุกท่านก็พากันเดินต่อไปเรื่อยๆ บังเอิญทางหลวงปู่แหวน พอผ่านช้างไปได้เพียงวาเศษ ตาขอกลดของท่านเกิดไปเกี่ยวกับกิ่งไผ่พอดี ท่านพยายามปลดอยู่นานก็ไม่หลุด จะดึงแรงก็กลัวช้างตกใจตื่น ช้างเชือกนั้นยังแสดงอาการสงบนิ่งในท่าเดิม แต่ด้วยเหตุอะไรก็ไม่ทราบ หลวงปู่แหวนไม่สามารถปลดตาขอกลดให้หลุดจากกิ่งไผ่ได้

หลวงปู่มั่น หันกลับไปเห็นเหตุการณ์ จึงเรียกให้หลวงปู่ตื้อหยุดและให้กลับไปช่วยหลวงปู่แหวนจนปลดตาขอกลดออกได้ แล้วคณะก็ออกเดินต่อไป
เมื่อถึงที่นั่งพักเหนื่อย หลวงปู่มั่นได้พูดกับบรรดาศิษย์ว่าช้างเผือกนั้นเป็นสัตว์ที่แสนรู้ น่ารัก น่าเอ็นดู ทั้งน่าสงสารด้วย

พร้อมกันนั้น หลวงปู่มั่นก็ชมหลวงปู่ตื้อ ผู้ศิษย์ว่า “ท่านตื้อก็เก่งมาก สามารถพูดให้ช้างตัวใหญ่เก็บอาวุธร้าย แล้วรีบหลีกทางให้ แล้วพวกเราไม่กำหนดดูใจของมันดูบ้าง ช้างตัวนั้น เวลาท่านตื้อพูดขอทางจากมันจบลง ทีแรกมันก็ตกใจ รีบหันหน้ามาทางเราโดยเร็ว มันคงคิดว่าเป็นศัตรูของมัน แต่พอมันเห็นถนัดเป็นผ้ากาสาวพัสตร์ครองอยู่ ก็รู้ทันทีว่า เป็นเพศที่สงบเย็น ไม่เบียดเบียนใคร และเชื่อใจได้ก็หลีกทางให้แต่โดยดี”
----------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ในประวัติหลวงปู่มั่น บอกว่าหลวงปู่ขาวกับท่านพระมหาทองสุกร่วมเดินทาง ก็ขอให้ผู้อ่านพิจารณาเองก็แล้วกัน
ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-02.htm

ทรงกลด:
e ๒๘ f
หลวงปู่ถูกกับอากาศทางภาคเหนือ

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม  ได้ชื่อว่าเป็นศิษย์เอก ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายกรรมฐาน

ในช่วงที่พระอาจารย์ใหญ่พำนักอยู่ในภาคเหนือยาวนานถึง ๑๒ ปี ได้ออกท่องธุดงค์เพื่อบำเพ็ญเพียรและเผยแพร่พระธรรมกรรมฐานโปรดญาติโยมในถิ่นต่างๆ หลวงปู่ตื้อ เป็นศิษย์ผู้หนึ่งที่ได้ติดตามไปแทบทุกหนทุกแห่ง ถือเป็นศิษย์ที่พระอาจารย์ใหญ่ ให้ความเชื่อถือมากที่สุดองค์หนึ่ง


พระธรรมเจดีย์ (จูม)

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ได้เดินทางกลับอิสาน ตามคำอาราธนาของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้กลับไปเผยแพร่อบรมกรรมฐานแก่สานุศิษย์และประชาชนชาวอิสาน ที่รอคอยพระอาจารย์ใหญ่มาเป็นเวลานาน

เมื่อหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และคณะศิษย์ กลับไปภาคอิสานแล้ว ทางหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม และหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ก็ยังพำนักอยู่ในภาคเหนือต่อไป
ทั้งหลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวน ท่านชอบอากาศทางภาคเหนือท่านว่าเย็นสบายดี ถูกอัธยาศัยและธาตุขันธ์ของท่าน ภูมิประเทศก็เป็นป่าเขา สงบสงัด เหมาะที่จะบำเพ็ญเพียรแสวงหาความสงบทางใจ

e ๒๙ f
สร้างวัดหลายแห่งในภาคเหนือ

หลังจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโตพระอาจารย์ใหญ่ กลับไปภาคอิสานคืนแล้ว หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ยังคงพำนักปฏิบัติธรรมและโปรดญาติโยมอยู่ทางภาคเหนือต่อไป
หลวงปู่ตื้อ ได้สร้างวัดกรรมฐานขึ้นหลายแห่ง ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีก็ได้แก่ วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันหลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ เป็นเจ้าอาวาส (ส่วนใหญ่ท่านอยู่ประจำที่วัดเจดีย์หลวง ในตัวเมืองเชียงใหม่)

อีกวัดหนึ่งที่หลวงปู่ตื้อท่านพักจำพรรษาอยู่เป็นเวลานาน ชื่อแต่เดิมว่า วัดป่าสามัคคีธรรม สมัยนั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์ ยังมิได้มีชื่อเป็นทางการ ครูบาอาอาจารย์บางท่านเรียกว่า วัดธรรมสามัคคี


หลวงปู่สังข์ สํกิจฺโจ

หลังจากหลวงปู่ตื้อ ท่านหยุดการเดินธุดงค์แล้ว ก็มาพักประจำที่วัดแห่งนี้ เพราะเป็นวัดที่สงบ มีความวิเวก
เมื่อหลวงปู่ตื้อท่านกลับไปอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดนครพนมแล้วประชาชนทั่วไปก็เรียกวัดป่าสามัคคีธรรม เป็นวัดป่าหลวงตาตื้อ อจลธมฺโม เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่หลวงปู่ที่พำนักอยู่ภาคเหนือเป็นเวลานาน
ต่อมาภายหลังได้มีการขออนุญาตตั้งวัดถูกต้องและเปลี่ยนชื่อเป็นทางการว่า “วัดป่าอาจารย์ตื้อ” ตั้งอยู่ที่หมู่ ๗ ต.สันมหาพน อ.แม่แตง.เชียงใหม่ โดยมี หลวงปู่สังข์ สํกิจฺโจ พระหลานชายของท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

ผู้เขียนได้พาคณะไปทอดผ้าป่า ถวายเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน ในวันอาสาฬหบูชา วันเสาร์ที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ได้มีความประทับใจ และมีแรงบันดาลใจในทางธรรมหลายอย่าง จึงได้เกิดหนังสือ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เล่มนี้ขึ้นมา

e ๓๐ f
สำรวจภายในถ้ำเชียงดาว

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านออกท่องธุดงค์กรรมฐานติดต่อกันยาวนานกว่า ๕๐ ปี เรื่องราวของท่านมีมาก แต่ขาดการรวบรวม และจดบันทึกอย่างเป็นหลักฐาน ลูกศิษย์ลูกหาของท่านได้เขียนไว้ในที่ต่างๆ รวมทั้งการเล่าสืบต่อกันมา ในส่วนที่ครูบาอาจารย์รุ่นหลังได้รู้ได้เห็น

ดังนั้น การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินธุดงค์ของท่านในลำดับต่อนี้ไป จึงไม่ได้จัดเรียงตามลำดับก่อนหลัง รวมทั้งการระบุวันและสถานที่จึงไม่สามารถทำได้ชัดเจน คงนำเสนอได้เฉพาะเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามที่มีการบอกเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น

มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ออกธุดงค์เพื่อไปสำรวจภายในถ้ำเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อไปดูสถานที่ว่ามีความเหมาะสมในการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรมากน้อยเพียงใด
มูลเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง เกิดจากการชักชวนของพระอาจารย์อินทวัง ที่ต้องการไปเสาะหา แท่นหลวงคำแดง ซึ่งเป็นที่กล่าวขานของคนในแถบถิ่นนั้น ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่อยู่ของชาวลับแล

ถ้ำเชียงดาวเป็นถ้ำที่มีความยาวมาก ภายในสลับซับซ้อน ยังไม่เคยมีใครสามารถเข้าไปตรวจดูภายในถ้ำโดยตลอดได้ เคยมีคนเข้าไปดูได้เพียง ๒-๓ กิโลเมตรเท่านั้น ถ้ำเชียงดาวจึงยังคงเป็นสถานที่ลึกลับอยู่แม้กระทั่งปัจจุบัน ถึงจะได้เปิดให้บริการแก่ผู้เข้าชม แต่ก็ทำไต้เพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีส่วนที่ยังเข้าไม่ถึงอีกมากมาย


ทางเข้าถ้ำเชียงดาว

หลวงปู่ตื้อ กับพระอาจารย์อินทวัง เข้าไปเพียงสององค์ มีการจัดเสบียงเดินทางจำพวกข้าวตู ข้าวแห้ง และเตรียมใบฉำฉาเพื่อโปรยเวลาเข้าถ้ำ ป้องกันการหลงทางโดยเฉพาะ ขาออกจะได้ออกมาตามทางที่โปรยใบฉำฉาไว้
ท่านพระอาจารย์อินทวัง เป็นหมองู สามารถจับงู สะกดงู ป้องกันงูกัด และเป่าแก้พิษงูได้อย่างชำนาญ แต่ถ้าเป็นเรื่องผีสางนางไม้แล้ว หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม จะเป็นผู้รับมือทั้งหมด ซึ่งเป็นที่เลื่องลือทั่วไปว่า หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม นั้น บรรดาผีสางนางไม้กลัวท่านเป็นที่สุด

เมื่อทุกอย่างพร้อม พระอาจารย์ทั้งสองก็ออกเดินทาง ภายในถ้ำนั้นมืดมาก พอเข้าถ้ำก็เริ่มโรยใบฉำฉาไปทีละใบสองใบไปเรื่อยๆ ท่านต้องระวังเรื่องงูเป็นพิเศษ เพราะในถ้ำมีงูชนิดต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่อาศัยอยู่จำนวนมาก

หลวงปู่ตื้อ เล่าว่า พอเข้าไปก็พบงูทันที แสดงว่ามีงูมากทีเดียวที่อยู่อาศัยในถ้ำ ตัวใหญ่ๆ ขนาดต้นเสาก็มี พระอาจารย์อินทวังบอกว่าไม่ต้องกลัว เดินข้ามไปเลย อย่าไปถูกต้องตัวมัน ในระหว่างเดินทางวันหนึ่ง ได้ไปพบลำน้ำไหลผ่านลัดเลาะไปตามถ้ำ ทางที่จะเดินต่อไปก็ต้องลุยน้ำไป เมื่อพิจารณาสภาพโดยรอบแล้วเห็นว่าน้ำไม่ลึก จึงพากันลุยข้ามไปอีกด้านหนึ่ง
เมื่อเดินต่อไปพบว่า มีอยู่ช่วงหนึ่ง ถ้าไม่สังเกตและจดจำให้ดีก็จะหลงทางได้ เพราะเดินไปตั้งนานแล้วก็วนกลับมาที่เดิม
ในการเดินทางต้องผ่านลำน้ำถึง ๗ แห่ง ทั้งสององค์เดินต่อไปจนถึงต้นโพธิ์ ในระหว่างนั้นใบฉำฉาก็หมด เสบียงก็หมด แต่ท่านก็เดินกันต่อไปอีก จนกระทั่งแน่ใจว่าไม่พบ แท่นหลวงคำแดง ตามที่เล่าลือกันก็พากันเดินกลับออกมาตามทางเดิม

รวมเวลาเดินทางทั้งไปและกลับ ๗ วัน ๗ คืน พอดี บางครั้งต้องเดินติดต่อกันไปเป็นเวลานาน โดยไม่รู้ว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน
หลวงปู่ตื้อ บอกว่า ภายในถ้ำเชียงดาวนั้นมืดมาก ไม่เหมาะที่จะบำเพ็ญภาวนา ไม่เหมือนกับถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เคยไปสำรวจมาแล้ว

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-02.htm

ทรงกลด:
e ๓๑ f
เทพยดาผู้บำเพ็ญบารมี

ในครั้งที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ธุดงค์วิเวกไปทางอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ท่านได้พักบำเพ็ญเพียรอยู่ในสถานที่สัปปายะแห่งหนึ่ง

มีอยู่คืนหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่ กำลังเดินจงกรมอันเป็นกิจวัตรปกติในการบำเพ็ญของท่าน ปรากฏร่างของเทพยดาตนหนึ่งมาในรูปของชีปะขาว เหาะลอยมาใกล้ทางเดินจงกรมของหลวงปู่
เทพยดาตนนั้นได้สำแดงตนลอยสูงขึ้นไป แล้วหยุดยืนนิ่งอยู่บนยอดไม้ เหนือทางเดินจงกรมขึ้นไป ลอยขึ้นไปยืนนิ่งอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้ทำ อะไร
หลวงปู่ยังคงเดินจงกรมอยู่ตามปกติ เทพยดาก็ยังคงสงบนิ่งอยู่ ณ ที่นั้น

หลวงปู่จึงได้กำหนดจิตถามขึ้นว่า “ท่านเทพยดาผู้มีศีลธรรมอันดีงาม ทำไมท่านจึงไปยืนอยู่บนที่สูง คืออยู่สูงมากกว่าอาตมาผู้เป็นศิษย์ของพระตถาคตเจ้า ผู้กำลังปฏิบัติธรรมอยู่เล่า ทำไม่ท่านไม่ลงมากราบไหว้แสดงความเคารพเล่า?”

เทพยดาตนนั้นยังยืนนิ่งเฉย ไม่แสดงกิริยาอาการอย่างใด หลวงปู่จึงกำหนดถามอีกว่า “ท่านเทพยดาผู้มีศีลาจารวัตรอันงาม ท่านเป็นฤๅษีหรือ หรือว่าเป็นอรหันต์”

เทพยดาตนนั้นแสดงอาการกางแขนออก ทำอาการบุ้ยใบ้มาทางท่าน หลวงปู่กำหนดจิตดูจึงรู้ว่าเทพยดาตนนี้ คงจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงได้กล่าวถามต่อไปว่า

“ท่านเทพยดาผู้เจริญ ท่านเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหรืออย่างไรข้าพเจ้าขออาราธนาท่านมาสนทนาด้วย”

เทพยดาตนนั้นไม่ตอบ แต่ได้แสดงออกทางใจให้หลวงปู่รู้ได้แล้วเทพยดาก็แบมือออกให้หลวงปู่ได้เห็นรูปดอกบัวปรากฏอยู่ที่ฝ่ามือทั้งสองข้าง เทพยดาแสดงอาการเขินอายเล็กน้อย แล้วก็เหาะหนีไป

เมื่อมีโอกาส หลวงปู่ตื้อ ได้กราบเรียนถามเรื่องนี้กับพระอาจารย์ใหญ่ - หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
หลวงปู่มั่นได้ให้คำอธิบายว่า เทพยดาที่เห็นนั้น เป็นวิญญาณของผู้กำลังสร้างสมบารมี เพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่

นอกจากนี้ หลวงปู่มั่น ยังกล่าวถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผีสางเทวดา นางไม้ ที่หลวงปู่ตื้อได้พบเห็นในที่ต่างๆ อีก โดยหลวงปู่มั่นได้รับรองว่าเป็นเรื่องจริง และมีจริง

สำหรับเทพยดาตนที่มีรูปดอกบัวบนฝ่ามือนั้นเป็นผู้ที่กำลังสร้างบารมีเพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า และอีกไม่นานก็จะได้สำเร็จ
หลวงปู่มั่นบอกต่อไปว่า เรื่องเช่นนี้ นานๆ จึงจะได้พบสักครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เทพยดาบางตนก็มีศีลธรรมอันดีงามเพราะเคยประพฤติปฏิบัติธรรมมาก่อนหลายชาติแล้ว เมื่อละจากร่างอันเน่าเหม็นของมนุษย์แล้วก็ยังประพฤติธรรมอยู่ เพราะมีสันดานที่เป็นศีลเป็นธรรมแล้ว เทพยดาตนที่มีดอกบัวบนฝ่ามือนี้ อีกไม่กี่ชาติก็จะได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

e ๓๒ f
วิญญาณทำฤทธิ์กับหลวงปู่

เกี่ยวกับเรื่องเทพยดา วิญญาณ ภูตผีปีศาจต่างๆ นั้น หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านได้ประสบมามากหลายรูปแบบ จนได้รับการกล่าวขานว่าหลวงปู่ตื้อ ท่านเป็นพระกรรมฐานที่ผจญกับสิ่งเร้นลับต่างๆ มามากที่สุดและสามารถเอาชนะได้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นอยู่ในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ เป็นที่ยิ่ง ท่านอุทิศตนให้กับการปฏิบัติความเพียรอย่างแท้จริง

หลวงปู่ตื้อ เคยเดินธุดงค์ไปแถวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่อยู่ห่างไกล และเส้นทางติดต่อทุรกันดารมากที่สุด
หลวงปู่ได้เล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า ท่านเดินธุดงค์ด้วยเท้า จากเชียงใหม่ ไปแม่ฮ่องสอนใช้เวลาหลายวันจึงถึง เมื่อเจอสถานที่เหมาะก็พักบำเพ็ญภาวนา ทำความเพียรไปเรื่อยๆ ได้ปักกลดภาวนาหลายคืน ที่นั่นอากาศดี สถานที่ก็ดี มีความสงบเงียบ ห่างไกลจากผู้คน การภาวนาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีมาก
มีวิญญาณพวกเทพยดา วิญญาณ โอปปาติกะ ทั้งหลายมาปรากฏตัว และทดสอบลองดีกับท่านอยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน

ในช่วงที่ท่านไปพำนักปักกลดบริเวณ ถ้ำผาบ่อง ในคืนแรกได้มีวิญญาณมาลองดี ในคืนนั้นท่านกำลังนั่งสมาธิภาวนาอยู่ภายในมุ้งกลด ได้เกิดมีแสงเป็นสายรุ้งสีต่างๆ สว่างจ้ามาครอบมุ้งกลดของท่าน

หลวงปู่ บอกว่า ระยะนั้นรู้สึกกว่ากำลังของมันแผ่ปกคลุมบีบเข้าไปถึงจิตใจ มีทั้งหายใจฝืดและหายใจไม่ออก ลมมันตันไปหมด ร่างกายธาตุขันธ์อ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด จิตของหลวงปู่ แนบแน่นอยู่กับการภาวนาอย่างไม่ลดละ จิตมั่นคงอยู่กับ พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ อยู่ไม่นานเท่าไร แสงประกายสายรุ้งนั้นก็ค่อยคลายความสว่างจ้าลง แล้วก็หายไป

สักครู่ต่อมา ก็ปรากฏเป็นนิ้วมือขนาดใหญ่มาก เทียบว่าเท่าลำตาลก็น่าจะได้ มาครอบลงบนกลดธุดงค์อีก ตอนนี้ท่านว่า ถึงกับรู้สึกว่าหัวใจสั่นหวิวๆ เกิดอาการกลัวขึ้นมาบ้าง เกือบจะหยุดทำความเพียรอยู่เหมือนกัน แล้วท่านก็ตั้งมั่นทำความเพียรต่อ ตั้งใจมั่นขอยอมตาย ใจมั่นอยู่กับคำบริกรรม พุทโธ ๆ จะตายขอให้ตายด้วยศีลด้วยธรรม แล้วใจค่อยสบายขึ้น หายใจได้คล่อง นิ้วมือยักษ์นั้นก็หายไป

อีกสักครู่ก็ปรากฏร่างเป็นคนตัวดำๆ สูงใหญ่ราว ๑๐ ศอกแต่งตัวเหมือนพระราชา เดินเข้ามาหยุดอยู่ใกล้กลดยืนนิ่งอยู่อย่างนั้น

หลวงปู่ จึงถามว่า “ใครอยู่ที่นั่น?”

ไม่มีเสียงตอบ ร่างนั้นยืนนิ่งเฉยอยู่ ครู่เดียวก็หายไป สักพักก็กลับมาอีก คราวนี้เปลี่ยนเป็นชีปะขาวอายุราว ๒๗-๒๘ ปี ดูท่าทางยังหนุ่มอยู่มาก

คราวนี้เขามาด้วยอาการสงบเสงี่ยมเรียบร้อย เมื่อมาใกล้ก็คุกเข่าลง กราบด้วยความเคารพ ดูท่าทางเลื่อมใสหลวงปู่อย่างแท้จริง เมื่อกราบไหว้แล้วก็ลงนั่งพับเพียบเรียบร้อย

หลวงปู่ถามว่า “ท่านเป็นใคร? ท่านมาจากไหน?”

ชีปะขาวหนุ่มตอบว่า “มาหาท่านพระอาจารย์”

หลวงปู่ ได้ถามต่อไปว่า “ใครเป็นผู้ทำสายรุ้งครอบมุ้งกลดของเรา ? ใครเป็นผู้ทำนิ้วมือใหญ่ครอบมุ้งกลดของเรา ? และใครแสดงตนเป็นพระราชา ?

เขายอมรับว่า “ทั้งหมดนี้ เราเป็นผู้ทำ”

“ทำเพื่อประโยชน์อันใด” หลวงปู่ซักต่อ

“ทำเพื่อทดลองจิตใจของท่านเล่นเฉยๆ” เขาตอบด้วยสำเนียงชาวเหนือ

หลวงปู่จึงพูดสั่งสอนเขาว่า “การที่จะทดลองลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าให้มีความกลัวนั้น ไม่มีผลเสียแล้ว เพราะสมณะอย่างเราไม่กลัวอะไร จะตายก็ไม่เสียดายอะไร เพราะว่าเราได้นับถือและมอบกายถวายชีวิตให้พระพุทธเจ้า รู้จักการเสียสละ การทำบุญสร้างบารมี แม้จะตายก็ไม่หลงตาย จะอยู่หรือจะตายก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้นจะไม่เป็นผู้หลงตายเลย

ไม่ว่าเทพยดา มนุษย์ สัตว์นรก ล้วนรักเคารพต่อพระพุทธเจ้าทั้งนั้น และล้วนแต่รักนับถือต่อบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมทั้งนั้น นอกจากวิญญาณที่หลงตายเท่านั้นที่จะมาหลอกกันให้ยืดยาว เสียเวลาในการสร้างบุญบารมี”

ในที่สุด ดวงวิญญาณนั้นก็กราบขอขมาท่าน ขอรับศีลรับพรจากท่านด้วยอาการเคารพนอบน้อม

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-02.htm

ประวัติหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ยังมีตอนยาวๆอีก 3 ตอนข้างหน้า อ่านแล้วสนุกดีได้สาระความรู้ด้วย ผมจักได้นำเสนอต่อไป :017:

saken6009:
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ภาค1 36; 36;                                                      ขอบคุณท่าน ทรงกลด ที่นำบทความที่ดีมากๆมาให้พี่น้องศิษย์วัดบางพระได้อ่านครับ :053: :053: 
ติดตามอยู่ครับ อ่านแล้วเพลินดีมากๆครับ และ ได้สาระความรู้มากๆครับผม :016: :015: 
(ขออนุญาตเข้ามาอ่าน เพื่อเป็นความรู้ ขอบคุณครับผม) :033: :033:    
 

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version