หมวด ผู้ทรงวิทยาคุณ (เกจิอาจารย์) > เกจิอาจารย์ภาคอีสาน

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม (๒/๔)

<< < (2/2)

ทรงกลด:
e ๔๗ f
เจ้าที่ยังไม่ยอมลดละ

หลังจากบรรดางูทั้งหลายหมดไปจากทางเดินจงกรมแล้ว หลวงปู่ก็เริ่มเดินจงกรมต่อไป เดินไปได้สักครู่ก็ได้ยินเสียงคนพูดคุยกันประมาณว่ามี ๔-๕ คน หลวงปู่ไม่ได้สนใจว่าเขาพูดอะไรกัน เพียงแต่สักว่าได้ยินเท่านั้น ท่านยังคงเดินจงกรมต่อไป สักครู่เดียวก็เห็นคนเดินถือคบไฟลงมาจากก้อนหินใหญ่ด้านหน้าแล้วก็เลี้ยวขึ้นไปทางหลังเขา มีคนเดินตามหลังไปจำนวนหนึ่ง ท่านคิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มคนที่คุยกันเมื่อสักครู่นี้เอง คนเหล่านั้นเดินหายไป

หลวงปู่เดินจงกรมต่อไปจนได้อรุณวันใหม่ จึงเตรียมตัวเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน แล้วกลับมาฉันที่โรงฉันตามปกติรวมกับพระองค์อื่นๆ
ชาวบ้านได้เล่าให้พระอาจารย์ที่เป็นประธาน ณ ที่นั้นฟังว่า

“เมื่อคืนนี้ วิญญาณเจ้าปู่ได้เข้าลงชาวบ้าน พูดชัดถ้อยชัดคำว่ามีเจ้าหัวธรรมมารบกวนที่อยู่ ลูกหลานทั้งหลายเดือดร้อนมาก ไม่ได้หลับนอนตลอดทั้งคืน ต้องการให้เจ้าหัวธรรมหนีไปเสียจากที่นี่ ถ้าไม่หนีจะทำให้มีฝนและมีฟ้าผ่าลงมาให้ได้รับความเดือดร้อนกัน ทุกคน วิญญาณเจ้าปู่บอกอีกว่า เจ้าหัวธรรมชุดนี้ เราพยายามขับไล่อย่างไรก็ไม่หนี ถ้าเขาไม่หนีก็จะต้องทำฝนให้ตกจนอยู่ไม่ได้”

พระอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าพูดขึ้นว่า “ถ้าฝนตกและมีฟ้าผ่าลงมาจริง อาตมาจะยอมกินขวานเจ้าปู่เลย”
แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า “ผีมันโกหกเฉยๆ พูดไม่จริงหรอก ไม่มีอะไรจะจริงเหมือนพระพุทธเจ้าเลยในโลกนี้”

เมื่อพระอาจารย์พูดหนักแน่นเช่นนี้ ชาวบ้านก็นิมนต์ให้พระสงฆ์พำนักอยู่ที่นั่นต่อไปอีก เพื่อพิสูจน์ความจริง พระสงฆ์เหล่านั้นได้พักปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั้นอีกหลายราตรี ไม่มีอะไรเกิดขึ้นตามคำขู่ของวิญญาณเจ้าปู่ ชาวบ้านเหล่านั้นจึงหันมานับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก เลิกการนับถือผี แล้วพากันสร้างเสนาสนะให้เป็นที่พักสงฆ์เป็นการถาวรต่อไป

e ๔๘ f
หลวงปู่พูดถึงการเชื่อถือเรื่องวิญญาณ

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม  ได้พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเผชิญภูตผีวิญญาณที่ผ่านมาว่า
“...หากวิญญาณเหล่านั้นได้รู้ความเป็นจริงแล้วก็จะไม่หลงวนเวียนอย่างนั้น กิเลส ทิฏฐิ มานะ นี่ร้ายกาจมาก มันสามารถดึงเอาคนตกเป็นทาสของมันให้วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารได้อย่างง่ายดายมาก ในโลกนี้ คนที่ตกเป็นทาสของมันมีมาก เพราะขาดจากการเข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง การนับถือผีสางอันเป็นจำพวกวิญญาณที่หลงทางเดิน เมื่อตายแล้วนั้น เป็นการเชื่อแบบขอความอ้อนวอน จึงเป็นการเชื่อที่ไม่แน่นอนพระพุทธองค์จึงทรงแนะนำไม่ให้พุทธศาสนิกชนหลงเชื่อในเรื่องเช่นนี้ พระองค์สอนให้เชื่อเรื่องกรรมคือ เชื่อการกระทำของตนเองดีกว่า”

ลูกศิษย์ลูกหาผู้ใกล้ชิดต่างยืนยันว่า หลวงปู่ตื้อ ท่านก็สอนศิษย์และประชาชนทั่วไปในทำนองนี้มาโดยตลอด
พระบูรฉัตร พรหฺมจาโร ศิษย์ผู้บันทึกเรื่องราวของหลวงปู่ ได้บันทึกไว้ว่า

“ตอนหนึ่งท่านหลวงตา (หลวงปู่ตื้อ) ได้เล่าให้ฟังว่า เรื่องของวิญญาณต่างๆ ในโลกนี้มีหลายจำพวกเหลือเกิน บางพวกเป็นวิญญาณที่มีความเป็นอยู่ดีมาก มีศีลธรรม แต่พวกเราชอบเรียกรวมไปหมดว่า ผี ความจริงแล้ว ผีหรือวิญญาณต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมเลย เพราะในโลกนี้มีทั้งน่ารัก น่าชังทั้งหัวเราะ ทั้งร้องไห้ ครบถ้วนอยู่แล้ว เหตุการณ์ทั้ง ๔ อย่างนี้ มีครบอยู่ในโลก และมีพร้อมๆ กันเลย มันก็น่าแปลก คนเราเวลาตาย เกิดอารมณ์ร้องไห้ ทำให้เศร้าใจแต่เวลาเกิด กลับหัวเราะชอบใจ ทำให้ดีใจ คนที่หัวเราะก็หลง คนที่ร้องไห้ก็หลง หลงในฐานะที่ไม่รู้อะไรเป็นเหตุเป็นผล ความจริงแล้ว ตายหรือเกิดก็อันเดียวกันนั่นเอง เป็นแต่ว่าเขาเปลี่ยนกันทำหน้าที่เท่านั้นเอง”

e ๔๙ f
เรื่องชาวลับแลที่เมืองหลวงพระบาง

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้เล่าเรื่องราวที่ท่านพบเห็นเมื่อครั้งไปธุดงค์ที่ฝั่งประเทศลาวให้ลูกศิษย์ฟัง ดังนี้

ในช่วงที่ท่านไปพักจำพรรษาอยู่ที่ วัดวิชนุธาตุแตงโม เมืองหลวงพระบาง ท่านบอกว่า นอกกำแพงวัดออกไปไม่เกิน ๑๐ วา ตรงนั้นมีเรื่องแปลกๆ เสมอ
พวกชาวบ้านชอบกราบเรียนถามหลวงปู่เสมอๆ ว่า “ท่านสาธุภาวนาอยู่ที่วัดนี้เป็นอย่างไร?”

หลวงปู่ไม่ได้สนใจกับคำถามดังกล่าว เมื่อถูกโยมถามบ่อยๆ ท่านจึงย้อนถามกลับไปว่า “ที่ตรงนั้นมีอะไรหรือ”

ชาวบ้านบอกท่านว่า มีผีเจ้าที่อยู่ตรงนั้น แต่เดี๋ยวนี้จะยังอยู่ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้
หลวงปู่ตื้อ ได้เรียนถาม ท่านพระครูสาธุสิงห์ ซึ่งเป็นสมภารวัดนั้นมานาน เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมา
ท่านพระครูสาธุสิงห์ เล่าว่า “ข้าเจ้ามาเป็นสมภารอยู่วัดนี้นับได้ ๓๐ ปีแล้ว ทราบว่าผีพวกนี้เป็นวิญญาณเฝ้ารักษาเมือง โดยมากเป็นทหารเฝ้ารักษาประตูวังธาตุแตงโม วิญญาณพวกนี้ไม่ยอมไหว้พระเลย เรื่องนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ของชาวเมืองหลวงพระบาง

ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ตรงที่ป่าโน้น ไม่มีบ้านคนเลย มีธารน้ำไหลลงมาจากภูเขาไม่ขาดสาย ทั้งฤดูแล้งและฤดูฝน
พอค่ำลงจะได้ยินเสียงคนพูดกัน มีทั้งชายและหญิงหลายๆ สิบเสียง ได้ยินเสียงตักน้ำ ได้ยินเสียงบั้งทิง (กระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำ) กระทบกัน ชาวบ้านพยายามแอบดูหลายๆ ครั้ง ก็ไม่เห็นอะไรผิดสังเกตเลย แต่ได้ยินเสียง

ตอนกลางวันเงียบสงัด ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย
ห่างจากที่ตรงนั้นออกไป มีเขาลูกหนึ่ง ชาวบ้านเล่าว่าเคยเห็นคนรูปร่างสูงใหญ่อยู่ในถ้ำในภูเขาลูกนั้น ๗ วันจะปรากฏตัวให้เห็นที่หนึ่ง
มีสมภารวัดหลายองค์พยายามเข้าไปในถ้ำนั้น แต่ไปไม่ได้โดยตลอด เพราะข้างในมืดและอากาศเย็นมาก เมื่อเดินลึกเข้าไปจะรู้สึกแสบหูมาก พยายามเข้าไปอย่างไรก็ไม่สำเร็จ

หลังจากนี้มาได้ ๗-๘ ปี ได้มีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง เดินธุดงค์มาจากเมืองไทย เคร่งครัดต่อระเบียบวินัยของพระกรรมฐานมากท่านเป็นที่เคารพนับถือ และเลื่อมใสของชาวเมืองหลวงพระบางมาก
พระภิกษุหนุ่มรูปนั้น พยายามเข้าไปในถ้ำ และสามารถเข้าไปได้โดยตลอด เดินเข้าไปนานถึง ๗ วันถึงออกมา

มีเรื่องเล่าว่า ท่านเดินเข้าไปเรื่อยๆ ก็ไม่ปรากฏว่าเห็นมีอะไรผิดปกติ เดินเข้าไปจนถึงที่สุด พอมองขึ้นไปข้างบน เห็นเป็นทางขึ้นไปมีรอยขึ้นลงใหม่ๆ บนก้อนหิน ท่านขึ้นไปตามทางนั้นก็ไม่พบอะไร ฆ้องใหญ่ที่ชาวบ้านได้ยินทุก ๗ วันก็ไม่มี

พระภิกษุจึงเดินกลับออกมาตามทางเดิม แต่ท่านต้องแปลกใจมากที่ตอนขากลับออกมาพบว่า ทางที่ท่านเดินเข้าไปนั้นกลับมีบ้านคนเต็มไปหมด มีชายคนหนึ่งมานิมนต์ให้ท่านนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้
พระองค์นั้นแน่ใจว่าท่านไม่ได้เดินหลงทางเป็นแน่ เมื่อพิจารณาดูโดยละเอียดแล้ว ท่านจึงถามโยมว่า “พวกโยมมาอยู่ที่นี่นานแล้วหรือ?”

ชายผู้นั้นตอบรับด้วยการพยักหน้า พระจึงถามต่อไปว่า “เมื่ออาตมาเข้ามาก็เดินผ่านมาทางนี้ ทำไม่จึงไม่เห็นบ้านเมือง?”

ชายผู้นั้นไม่ตอบ กลับย้อนถามพระว่า “ท่านมาที่นี่ต้องการอะไร?”

พระตอบว่า “ไม่ต้องการอะไร แต่อยากจะเห็นฆ้องที่โยมตีอยู่ทุกเจ็ดวัน เพราะฆ้องใบนี้เสียงดังไกลเหลือเกิน”

โยมคนนั้นจึงเดินไปหยิบฆ้องมาให้ดู ใบก็ไม่ใหญ่เท่าไรพร้อมทั้งถวายให้พระอาจารย์ผู้นั้นเก็บไว้เป็นอนุสรณ์

จากนั้นโยมก็พาท่านเดินชมไปตามถ้ำ พบสิ่งแปลกตาหลายอย่างโยมคนนั้นบอกท่านว่า “สมบัติเหล่านี้เป็นของกลาง และจะมีอยู่อย่างนี้ตลอดไปชั่วกาลนาน”
พระภิกษุนั้นได้อำลาโยมคนนั้น ได้นำฆ้องใบนั้นกลับออกมาด้วย ได้เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ที่คนในถ้ำมอบให้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าเคยมีผู้เข้าไปในถ้ำและได้ฆ้องใบนั้นมา

เดี๋ยวนี้ฆ้องใบนั้นยังเก็บไว้ที่ วัดวิชนุธาตุแตงโม ในเมืองหลวงพระบางจนทุกวันนี้
ฆ้องใบที่ว่านั้นก็ไม่ใหญ่เท่าไร แต่มีเสียงดังกังวานกว่าฆ้องธรรมดาทั่วไปที่ขนาดใหญ่เท่ากันหรือใหญ่กว่า หรือที่มีน้ำหนักเท่าๆ กัน

มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า พระภิกษุนั้น หลังที่ได้ฆ้องมาแล้วท่านก็หายไป ไม่มีใครรู้ว่าท่านหายไปไหน มีความเชื่อกันว่าท่านหายเข้าไปอยู่จำพรรษาในเมืองลับแลแห่งนั้น

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-03.htm

ทรงกลด:
e ๕๐ f
หัวหน้าเทพเมืองลับแลมานิมนต์หลวงปู่

เกี่ยวกับเรื่องเมืองลับแลที่เมืองหลวงพระบางนี้ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านให้ความเห็นว่า

“วิญญาณพวกนี้เป็นพวกเทพที่มีอยู่เป็นทิพย์ พวกเขาจะไม่รบกวนมนุษย์เลย เขามีศีลธรรมดีมาก บางครั้งก็พบกันกับพวกเขา แต่เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใครเท่านั้น”

หลวงปู่เล่าว่า ตกเย็นท่านได้นั่งสมาธิกำหนดดู ปรากฏว่าผู้เป็นหัวหน้าเทพเหล่านั้น ได้มากราบอาราธนาท่านให้ไปจำพรรษาอยู่ที่นั่นโดยกราบเรียนว่าที่ที่พวกเขาอยู่นั้นก็มีวัดพระพุทธศาสนาด้วย
หลวงปู่ไม่รับคำนิมนต์ โดยบอกเขาว่าท่านมีกิจธุระที่จะต้องประกาศพระพุทธศาสนาต่อไปยังเมืองเชียงใหม่ รับนิมนต์ไม่ได้เพราะขณะนี้ยังไม่อาจกำหนดที่อยู่ประจำได้ ยังต้องการแสวงหาพระธรรมต่อไปอยู่ แล้วหลวงปู่ได้แสดงธรรมให้เขาฟัง

มีผู้กราบเรียนถามหลวงปู่ว่า “ท่านหลวงตา แสดงธรรมอะไรโปรดพวกเทพเหล่านั้น”

หลวงปู่ตอบว่า “พวกเทพเหล่านี้เขามีกายทิพย์จึงไม่ค่อยเห็นความทุกข์ทางกาย จึงไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หลวงตาก็พูดให้เขาฟังในแง่นี้ ให้เขามีความคิดว่าสภาพที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ไม่แน่นอน ถึงจะมีอายุยืนเท่าไรก็ตกอยู่ในสภาพที่ว่านี้เสมอไป”

e ๕๑ f
หลวงปู่หยุดธุดงค์และสร้างวัด


พระอุโบสถ วัดป่าอาจารย์ตื้อ

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ใช้เวลาท่องธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ เป็นเวลายาวนาน ถ้ารวมเวลาทั้งหมดทั้งที่ท่านตระเวนในภาคอิสานและฝั่งลาว ออกธุดงค์ในภาคเหนือ ติดตามหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ตลอด ๑๒ ปี และออกธุดงค์ในภาคเหนือ ภายหลังที่หลวงปู่มั่นกลับภาคอิสานแล้ว รวมเวลาที่ท่านท่องธุดงค์ทั้งหมดก็ยาวนานกว่า ๕๐ ปี นับเป็นเวลาที่ยาวนานมาก ประสบการณ์และเรื่องราวการเดินธุดงค์ของท่านมากมายเกินกว่าลูกศิษย์ลูกหาจะสามารถรับรู้ได้ทั้งหมด ที่นำมาถ่ายทอดต่อกันมาเป็นเพียงบางแง่บางมุมเท่านั้นเอง

พระลูกศิษย์ใกล้ชิดที่อุปัฏฐากหลวงปู่ ก็ยอมรับว่าการที่จะบันทึกเรื่องราวของหลวงปู่ ให้หมดทุกแง่มุมเป็นเรื่องเหลือวิสัย แม้แต่จะกราบเรียนถามท่านเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ก็ยังไม่กล้า ต้องคอยจดจำเมื่อเวลาท่านยกมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่างๆ เท่านั้น

เมื่อหลวงปู่หยุดการเดินธุดงค์ ท่านได้สร้างวัดที่เชียงใหม่หลายแห่งด้วยกัน แต่วัดที่ท่านจำพรรษาอยู่นานที่สุดได้แก่ วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอแม่แตง (ปัจจุบันชื่อ วัดป่าอาจารย์ตื้อ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่าน )

หลวงปู่ปรารภให้ฟังว่า การสร้างวัดป่าสามัคคีธรรมแห่งนี้ “เพื่อจะได้อยู่เป็นที่เป็นทาง เพราะชราภาพมากแล้ว”

หลวงปู่ ใช้วัดป่าสามัคคีธรรมแห่งนี้เป็นสถานที่ในการประกาศพระศาสนาด้วยการแสดงธรรมแก่ผู้ที่สนใจใคร่ธรรม ส่วนผู้ที่สนใจในด้านวิปัสสนากรรมฐาน หลวงปู่ก็ให้การอบรมสั่งสอนอย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จึงมีผู้สนใจใคร่ฟังธรรมและสนใจภาคปฏิบัติหลั่งไหลไปหาท่านไม่ขาดสาย

e ๕๒ f
วัดป่าดาราภิรมย์


วัดป่าดาราภิรมย์

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม พักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าดาราภิรมย์ติดต่อกันนานถึง ๙ ปี ก่อนที่จะย้ายไปจำพรรษาที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ อำเภอแม่แตง เชียงใหม่
วัดป่าดาราภิรมย์ในปัจจุบันตั้งอยู่ในตัวอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างจากถนนสายแม่ริม-น้ำตกแม่สา ไปทางทิศใต้ประมาณ ๒๕๐ เมตร มีเนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๑ งาน ๓ ตารางวา

แต่เดิมสถานที่ตั้งวัดที่อยู่ในเขตบ้านข่วงเปา ตำบลริมใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นสนามยิงปืนของตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม
วัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ มีชื่อในครั้งนั้นว่า วัดป่าวิเวกจิตตาราม

เนื่องจากสถานที่ตั้งวัดแต่เดิมไม่สะดวกในการคมนาคม ห่างไกลหมู่บ้าน และกันดารน้ำ ประกอบกับระยะนั้นไม่มีพระพักอยู่ คณะศรัทธาผู้สร้างวัด ซึ่งนำโดย นายแก้ว รัตนนิคม และนาย ศรีนวล ปัณฑานนท์จึงย้ายวัดมาตั้งแห่งใหม่ที่ป่าช้าต้นกอก อันเป็นป่าช้าร้าง เขตบ้านแพะติดกับตำหนักดาราภิรมย์ สวนเจ้าสบาย ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๒ มีเนื้อที่ ๖ ไร่ และยังคงใช้ชื่อวัดว่าวัดป่าวิเวกจิตตาราม เหมือนเดิม

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๔ ทายาทในกองมรดกของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี อันมีเจ้าหญิงลดาคำ ณ เชียงใหม่ เป็นหัวหน้า ได้ถวายที่ดินให้แก่วัดอีก ๖ ไร่ เพื่อเป็นพระราชกุศลอุทิศถวายแด่ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี และเพื่อเป็นพระราชอนุสรณ์ จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดป่าดาราภิรมย์ ตามนาม ตำหนักดาราภิรมย์ สวนเจ้าสบาย
ถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๑ คณะศรัทธาอันมี ตะก่า จองจิงนะ เป็นหัวหน้า ได้ถวายที่ดินให้วัดเพิ่มอีกประมาณ ๑๒ ไร่ ในสมัยที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นหัวหน้าสำนัก
ต่อมา เมื่อหลวงปู่ตื้อ ย้ายไปอยู่ วัดป่าสามัคคีธรรม (วัดป่าอาจารย์ตื้อ ในปัจจุบัน) ที่แม่แตง แล้ว คณะศิษย์จึงได้อาราธนาพระอาจารย์กาวงศ์ โอทาวณฺโณ จากวัดเจดีย์หลวง ในเมืองเชียงใหม่ มาเป็นเจ้าสำนัก เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ ภายหลังท่านได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูสังฆรักษ์ - กาวงศ์

พระครูสังฆรักษ์ - กาวงศ์ ได้สร้างความเจริญให้แก่วัดเป็นอย่างมาก ได้ดำเนินการจดทะเบียนวัดเป็นวัดประเภทสำนักสงฆ์ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ใน พ.ศ.๒๕๐๑


สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์)

พ.ศ.๒๕๐๔ พระครูสังฆรักษ์ กาวงศ์ ได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์ นับเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้
ก่อนหน้านี้ได้มีหัวหน้าสำนักมาแล้ว ๔ ท่าน คือ

๑.พระอาจารย์อ่อนตา อคฺคธมฺโม                ๑  ปี

๒.พระอาจารย์พุทธา                                    ๑  ปี

๓.พระญาณดิลก (พิมพ์ ธมฺมธโร)                 ๑  ปี

    ภายหลังเป็นที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพ ฯ

๔.หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม                               ๙  ปี

พ.ศ.๒๕๐๙ กรมชลประทาน โครงการแม่แตง ได้ขุดคลองส่งน้ำผ่านวัดในส่วนที่เป็นที่ตั้งศาลาโรงธรรม และกุฏิพระอันเป็นที่ดินที่เคยเป็นป่าช้าต้นกอก และที่ดินที่เจ้าหญิงลดาคำ ณ เชียงใหม่ ถวาย ทางวัดจึงย้ายศาลาโรงธรรมและกุฏิพระมาตั้งในเขตที่ดินที่ ตะก่า จองจิงนะ เป็นผู้ถวาย และยังได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมจาก นายหน่อแก้ว สอนไว้อีกส่วนหนึ่ง

พ.ศ.๒๕๑๐ ทางวัดได้จัดวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ โดยมีพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม เสด็จมาเป็นองค์ประธาน และเนื่องจากต่อมา พระครูสังฆรักษ์ - กาวงศ์ ได้ล้มป่วยลง จึงยังไม่มีการก่อสร้าง จนกระทั่งท่านมรณภาพในปี ๒๕๑๖


พระราชวินยาภรณ์ (จันทร์ กุสโล)

พระราชวินยาภรณ์ (จันทร์ กุสโล) จากวัดเจดีย์หลวง เจ้าคณะอำเภอจังหวัดเชียงใหม่ (ธรรมยุต)ได้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสโดยมอบหมายให้ พระมหาละม้าย สิริวณฺโณ เป็นผู้ดูแลวัดแทน
เนื่องจากวัดป่าดาราภิรมย์ กำเนิดมาจากพระธุดงค์กรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นเจ้าสำนักอยู่นานถึง ๙ ปี จึงพยายามหาพระกรรมฐานศิษย์หลวงปู่ตื้อ มาเป็นเจ้าอาวาส ทางวัดได้ไปขอ พระอาจารย์ไท ฐานุตฺตโม ซึ่งเป็นศิษย์และหลานของหลวงปู่ตื้อ ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน มาเป็นเจ้าอาวาส แต่เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) ไม่อนุญาต

ประกอบกับทางวัดมีปัญหาเรื่องคนที่มาพักอาศัย ติดยาเสพติด ลักเล็กขโมยน้อย มีคนมาร้องเรียนประจำ พระราชวินยาภรณ์ จึงได้ย้ายองค์ท่านเองจากวัดเจดีย์หลวงมาจำพรรษาที่วัดป่าดาราภิรมย์ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๑ เป็นต้นมา และได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน

พระราชวินยาภรณ์ ได้เป็นเจ้าอาวาสปกครองทั้งวัดเจดีย์หลวงและวัดป่าดาราภิรมย์ ไปด้วยกัน ต่อมาภายหลังท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระเทพกวี พระธรรมดิลก และ พระพุทธพจนวราภรณ์ ในปีพ.ศ.๒๕๔๔

สำหรับเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือ พระครูปลัดสุวัฒนคุณ
นอกจากวัดป่าดาราภิรมย์ จะเป็นวัดที่ร่มรื่น สวยงามแล้ว ทางวัดยังมีพระพุทธบาทสี่รอย จำลองให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะด้วย
ผู้เขียนได้พาคณะมาทอดผ้าป่าที่วัดป่าดาราภิรมย์ ในวันสำคัญทางศาสนา ไม่น้อยกว่า ๓ ครั้ง นอกจากนี้จะแวะทุกครั้งที่ผ่าน เพื่อซื้อสินค้าหัตกรรม งานฝีมือ ผ้าทอ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ที่ศูนย์หัตกรรมเมตตานารี เป็นโครงการหนึ่งของมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบทตั้งอยู่ในบริเวณวัด
ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-04.htm

ทรงกลด:
e ๕๓ f
การแสดงธรรมของหลวงปู่

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มีชื่อเสียงในการแสดงธรรมที่เป็นไปอย่างดุเดือด โลดโผน ใช้คำเทศน์ที่รุนแรงชนิดไม่เกรงกลัวใคร ผู้ที่รับไม่ได้ เห็นว่าท่านใช้คำหยาบคาย หรือเทศน์ไม่รู้เรื่องก็มี

ท่านพระภิกษุบูรฉัตร พรหมฺจาโร ผู้บันทึกเรื่องราวของหลวงปู่ ได้เขียนถึงเรื่องการแสดงธรรมของหลวงปู่ ดังนี้ (ในบันทึกใช้คำแทนท่านว่า หลวงตา ซึ่งผู้เขียนเปลี่ยนมาใช้คำว่าหลวงปู่เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียกขานในหนังสือเล่มนี้__ผู้เขียน)

“ส่วนการแสดงธรรมนั้นท่านชอบพูดตรงไปตรงมา พูดความจริงที่มีอยู่ ยกอุทาหรณ์ในปัจจุบันให้เห็นได้ง่ายๆ ผู้ที่ฟังธรรมจากท่านโดยตรง แล้วนำไปพิจารณา จะเห็นว่า ล้วนแต่เป็นสัจจะหรือความเป็นจริงเท่านั้น วิธีการแสดงธรรมของท่าน ต้องการให้ความรู้จริงเข้าไปกระทบจิตของผู้ฟัง ท่านบอกว่าเพราะการรู้จริงแม้จะเพียงนิดเดียวก็มีประโยชน์ทั้งนั้น ดีกว่าการไม่รู้จริง แม้จะรู้มากๆ ก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรได้

หลวงปู่ชอบพูดว่า ธัมมะธัมโมนั้นมีอยู่ดาษดื่น คนส่วนมากมองข้ามไปหมด

หลวงปู่ ท่านแปลบาลีก็ไม่เหมือนพระเถระองค์อื่นๆ การฟังธรรมะจากท่านจึงต้องฟังอย่างละเอียด ต้องพิจารณาและนำไปปฏิบัติตามให้เข้าถึงธรรม จะได้ชื่อว่าเป็นนักธรรม นักกรรมฐานที่แท้จริง ไม่เหลวไหล ไม่เลอะเทอะ

หลวงปู่ ชอบถามพระเณรที่ไปหาท่านเสมอว่า ที่พวกคุณภาวนานี้ พวกคุณได้พุทโธ หรือยัง?
ผู้ที่ยังไม่แน่ใจก็จะตอบว่า ยังขอรับ ผู้ที่ค่อนข้างแน่ใจก็ตอบท่านว่า ได้แล้วขอรับ แล้วหลวงปู่มักจะย้อนถามว่า ได้แน่จริงหรือ?
ถ้าหากว่าได้แล้ว ก็ให้ฟังและพิจารณาอย่างนี้ก่อน คือ ถ้าหากใครเขาด่าเราว่า ‘ไอ้หัวหงอก’ ให้เราลองนั่งชั่งดูใจของเราว่า เราโกรธเขาไหม

ถ้าเรายังโกรธอยู่ ก็หมายความว่า เรายังรับรู้การด่าของเขาอยู่ นั่นหมายถึง เราเอาจิตออกมารับคำด่า เรายังอดทนไม่ได้ เรายังโกรธ หมายถึง เรายังไม่ถึง หรือยังไม่ได้พุทโธอย่างแท้จริงนั่นเอง

ในการสอนกรรมฐานของหลวงปู่ สำหรับบางคนที่ไปขอฝึกกรรมฐานกับท่าน ท่านจะให้ท่องพุทโธจนขึ้นใจ ท่านว่า พุทโธยังไม่ซึ้งในใจของผู้นั้น เราจะต้องให้พุทโธมั่นในใจของเรา และมีความเชื่อมั่นจริงๆ
มีบางคนเหมือนกัน ที่ไปฟังธรรมคำสอนของหลวงปู่แล้วจะซุบซิบกันว่า ท่านเอาอะไรมาสอน ไม่เห็นเป็นธรรมเป็นหนทางเลยสักหน่อย นี่แสดงให้รู้ว่า จิตของผู้พูดเช่นนั้นยังไม่เข้าถึงธรรมคือความจริงนั่นเอง เพราะหลวงปู่ท่านเทศน์แบบไม่เคยยกย่องใคร ไม่เคยเทศน์เพื่อเอาใจใคร เทศน์แต่เรื่องที่เป็นความจริงและเป็นปัจจุบันโดยแท้จริง”

e ๕๔ f
แสดงธรรมเป็นประจำที่วัดอโศการาม สมุทรปราการ


พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร

นอกจากหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม จะแสดงธรรมในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ช่วงออกพรรษา ท่านมักจะได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรมที่อื่นด้วย สถานที่ที่ท่านไปแสดงธรรมเป็นประจำได้แก่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ในสมัยนั้น ท่านพ่อลี ธมฺมธโร เป็นเจ้าอาวาส

หลวงปู่ตื้อไปแสดงธรรมและพักอยู่ที่วัดอโศการามเป็นเวลานานๆ เพราะมีญาติโยมนิมนต์ท่านไว้ให้อยู่โปรดนานๆ เนื่องจากท่านเป็นศิษย์อาวุโสของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นับว่าเป็นศิษย์ใกล้ชิดและได้รับการถ่ายทอดธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่มั่นโดยตรง
ศิษย์อาวุโสท่านหนึ่งของหลวงปู่ตื้อ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการแสดงธรรมของท่านดังนี้

“สำหรับการแสดงธรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของท่านพระอาจารย์ตื้อนั้น เห็นว่าท่านแสดงธรรมโดยตรง ตรงที่เราสงสัย แสดงตามจริง ไม่มีการอ้อมค้อม ตรงไปตรงมา แต่ลักษณะท่าทางอาจจะไม่ไพเราะ ทั้งนี้ก็เพราะว่า พวกเรายังไม่ชินกับเหตุการณ์เช่นนั้น เนื่องจากพระอาจารย์ท่านเดินธุดงค์กรรมฐานผ่านไปในที่หลายแห่ง มีประสบการณ์และอารมณ์แปลกๆ บางครั้งต้องเจอะเจอและสนทนากับผีสางนางไม้ บางครั้งก็พบกับพวกเทพ พวกเทวดาอารักษ์ บางครั้งก็พบพวกวิญญาณเจ้าที่เจ้าทาง ท่านต้องประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ในระหว่างนั้นอารมณ์ท่าทาง คำพูด จะออกมาในรูปไหนนั้นยากที่จะกำหนดได้ สำหรับผู้ที่เคารพนับถือในท่านแล้วจะยิ่งมีความเคารพและเลื่อมใสในธรรมของท่านมากขึ้น”

e ๕๕ f
ได้ลูกศิษย์ที่มีอดีตเป็นขุนโจร


พระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต

ช่วงที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม พำนักอยู่ทางภาคเหนือได้มีผู้มาฟังธรรมด้วยจำนวนมาก รวมทั้งที่มาฝากตัวเป็นศิษย์ขอแนวปฏิบัติกรรมฐานก็มีเยอะ
ในปีที่หลวงปู่จำพรรษาที่วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ในวันหนึ่งได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งเดินทางมาจากภาคใต้ ตั้งใจมาขอเป็นศิษย์เรียนกรรมฐานกับหลวงปู่

พระภิกษุรูปนั้นก็คือ พระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโตแห่งสำนักวัดป่าผาลาด จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว เป็นพระป่าที่มีชื่อเสียงมากองค์หนึ่ง ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดีงามน่าเลื่อมใสมาก หลังจากการเผาศพของท่านแล้ว อัฐิท่านได้กลายเป็นพระธาตุ ท่านได้รับฉายาว่าพระอรหันต์ผู้มีอดีตเป็นขุนโจรอิสไมล์แอ

ในประวัติของพระอาจารย์ประยุทธ ท่านบันทึกไว้ว่าท่านใช้เวลาเดินทางจากภาคใต้สู่ภาคเหนือ ๓ เดือนเต็ม ตอนนั้นหลวงปู่ตื้อท่านกำลังก่อสร้างสำนักสงฆ์แห่งใหม่ในเขตอำเภอแม่ริม ซึ่งปัจจุบันก็คือวัดป่าดาราภิรมย์
กุฏิสงฆ์เป็นเพียงกุฏิไม้ไผ่ หลังคามุงแฝก พอได้อาศัยหลบแดดฝนเพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น พระเณรก็มีอยู่ไม่กี่รูป
พระอาจารย์ประยุทธยังเป็นพระใหม่ บวชได้พรรษาเดียว ท่านบุกบั่นไปหาหลวงปู่ตื้อด้วยความทรหดอดทน สมกับที่เป็นอดีตขุนโจรผู้นำสมุนจำนวนมาก

พระอาจารย์ประยุทธ เดินเข้าไปในวัด เห็นพระนั่งอยู่ตามลำพังที่ศาลาโรงฉัน ดูจากท่าทาง มั่นใจว่าเป็นหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม จึงเข้าไปกราบ และเรียนท่านว่าเดินทางมาจากภาคใต้ ใช้เวลา ๓ เดือน ตั้งใจฝากตัวขอเป็นศิษย์ปฏิบัติธรรมด้วย

เพราะหลวงปู่ตื้อท่านพูดจาโผงผาง ตรงไปตรงมาไม่ชอบพูดยาวอ้อมค้อมหรือเกรงอกเกรงใจใคร หลวงปู่ได้ถามทันทีว่า “ก่อนบวชเคยทำอาชีพอะไรมา ให้บอกไปตามความจริง”

พระอาจารย์ประยุทธ ทำท่าอึกอัก ไม่รู้จะตอบท่านอย่างไรดี
หลวงปู่ก็ชี้หน้าว่า “ให้บอกมา ไม่เช่นนั้นจะไม่รับเป็นศิษย์”

พระอาจารย์ประยุทธ จึงพูดละล่ำละลักว่า “เป็นโจรครับ”
หลวงปู่พูดหนักแน่นว่า “การเป็นศิษย์ต้องมีข้อแม้ เมื่อท่านรับปากจะปฏิบัติตาม”

แล้วท่านก็ให้พระอาจารย์ประยุทธ ไปจุดธูปปักในกระถางหน้าพระประธานบนศาลาโรงฉัน แล้วให้พูดตามท่านว่า “ข้าพเจ้าจะบวชตลอดชีวิต ไม่ลาสิกขา”

พระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต ได้เป็นศิษย์ติดตามหลวงปู่ตื้ออยู่ ๓ ปีไม่ว่าหลวงปู่จะออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ในท้องถิ่นใด ก็ได้ติดตามท่านไปด้วยเสมอ เว้นแต่เวลาบำเพ็ญเพียร ก็จะแยกไปปักกลดภาวนาในที่ไม่ห่างไกลนัก เมื่อมีปัญหาติดขัดในการปฏิบัติก็มากราบเรียนถามท่านได้
ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-04.htm

ทรงกลด:
e ๕๖ f
รู้ล่วงหน้าว่าใครจะมาหา

พระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต มีความเคารพเลื่อมใสในองค์หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม พระอาจารย์ของท่านมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านฤทธิ์อภิญญา
จากบันทึกของพระอาจารย์ประยุทธ บอกว่า วันหนึ่งพระเณรเข้ากุฏิกันเกือบหมดแล้ว หลวงปู่สั่งให้เณรไปต้มน้ำกาใหญ่
เณรย้อนถามด้วยความสงสัยว่า “ไม่มีใครอยู่ฉันน้ำแล้วหลวงปู่จะให้ต้มน้ำกาใหญ่ไปทำไม”

หลวงปู่พูดด้วยน้ำเสียงดุว่า “บอกให้ต้มก็ต้มเถอะ ต้มน้ำชงชา” แล้วสั่งในเณรเอาถ้วยชามาเตรียมไว้ ๕๐ ถ้วย

พระอาจารย์ประยุทธ ก็รู้สึกงงๆ หลวงปู่พูดขึ้นว่า “เดี๋ยวจะมีญาติโยมมาจากกรุงเทพฯ”

สักครู่ใหญ่ๆ ก็มีรถบัสเข้ามาจอดในบริเวณวัด หลวงปู่ ให้นำน้ำชาร้อนๆ มาเลี้ยงญาติโยม ปรากฏว่าถ้วยชา ๕๐ ด้วยที่เตรียมไว้ครบจำนวนคนพอดี

e ๕๗ f
เตรียมรอรับการนิมนต์

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม จะเรียกพระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโตว่า ตุ๊ไทย
(ตุ๊ หรือ ตุ๊เจ้า เป็นภาษาเหนือ ใช้เรียกพระสงฆ์ ผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะมาจากคำว่า สาธุ ถ้าผิดก็ขออภัยด้วย)
(ตุ๊ไทย เข้าใจว่า ตุ๊ คือเรียกพระ ของชาวเหนือ ส่วนคำว่าไทย เป็นเรียกคำเรียก คนไทยภาคอื่น เพราะเดิมภาคเหนือคืออาณาจักรล้านนา....ผิดถูกประการโปรดแก้ไข...ทรงกลด)

คราวหนึ่ง ขณะที่นั่งกันอยู่ หลวงปู่ก็สั่งพระอาจารย์ประยุทธว่า “ตุ๊ไทย รีบไปสรงน้ำไวๆ”

สร้างความงุนงงสงสัยให้พระเณร ณ ที่นั้น แต่ไหนแต่ไรมาหลวงปู่ไม่เคยยุ่งกับการสรงน้ำท่าของใครเลย

พระอาจารย์ประยุทธได้เรียนถามว่า “หลวงปู่ให้กระผมไปสรงน้ำทำไม่?”

หลวงปู่ตอบว่า “ให้ไปสรงก็ไปเถอะ” แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า “เย็นนี้๖ โมงเย็น จะมีโยมผู้ชายมานิมนต์ไปปัดรังควานให้ลูกเขาที่ตกต้นลำไย แต่เด็กมันต้องตายแน่ๆ ไม่รอดดอก จะให้ตุ้ไทยไปแทน”

พระอาจารย์ประยุทธ จึงรีบไปสรงน้ำ สรงเพิ่งเสร็จ ยังไม่ทันครองผ้า โยมที่ว่าก็ขับรถกระบะเข้ามาจอดในวัด รีบเข้ามากราบหลวงปู่ ขอนิมนต์ไปปัดรังควานให้ลูกชายตามที่หลวงปู่บอกไว้ไม่มีผิด

e ๕๘ f
หลวงปู่แกล้งพญานาค

พระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต ได้ถ่ายทอดเรื่องที่ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เคยเล่าให้ฟังในสมัยที่ท่านออกธุดงค์กับ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ว่า
หลวงปู่มั่น ท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า ท่านเคยพบพญานาค หลวงปู่ตื้อคิดค้านในใจว่าไม่เชื่อ ใครๆ ก็พูดถึงพญานาคได้โดยไม่เคยเห็นตัวตน

หลวงปู่มั่น ท่านรู้วาระจิต จึงสั่งหลวงปู่บุญ ซึ่งจำมิได้ว่าฉายาอะไร ว่า “จงพาท่านตื้อ พระขี้ดื้อ ไปกรรมฐานบนเขา ให้อยู่กันคนละลูกเขานะ”

หลวงปู่บุญก็พาหลวงปู่ตื้อไป เมื่อถึงเขาที่จะนั่งกรรมฐานลูกแรก หลวงปู่ตื้อท่านพบรูดินใหญ่เข้ารูหนึ่ง คิดในใจว่าถ้าพญานาคมีจริงก็จะลองดู ท่านจึงแอบเอาก้อนหินใหญ่มาวางไว้ปากรู แล้วไปกับหลวงปู่บุญเพื่อไปดูที่ปักกลดยังเขาอีกลูกหนึ่ง

เมื่อส่งหลวงปู่บุญแล้ว หลวงปู่ตื้อก็กลับมายังที่เดิม ผลักก้อนหินให้กลิ้งลงไปในรู แล้วพูดว่า ถ้าพญานาคมีจริง หินตกถูกก็ขอโทษด้วย”
แล้วท่านก็เอาผ้ารองนั่งปิดรู กางกลดลง ณ ที่ตรงนั้น
คืนนั้น ขณะที่หลวงปู่ตื้อนั่งทำสมาธิภาวนาภายในกลด ก็ได้ยินเสียงขู่ฟู่ๆ อย่างขัดเคือง เสียงฟู่ๆ นั้นดังมาจากงูใหญ่จำนวนมากมาแผ่พังพานอยู่รอบๆ กลดของท่าน


หลวงปู่บุญทัน ฐิตปญฺโญ

หลวงปู่จึงหยิบก้อนหินมาปลุกเสก แล้วโยนออกไปนอกกลดได้ยินเสียงงูเลื้อยหนีกันเกรียวกราวกระจัดกระจายกันออกไป
พอรุ่งเช้า หลวงปู่บุญท่านมาบ่นให้ฟังว่า “เมื่อคืนผ่านไปเล่นอะไรกับพวกงู พวกเขาจึงไปฟู่ๆ อยู่กับผม ไม่ต้องหลับนอนกันละ”

ครั้นถอนกลด กลับไปหาหลวงปู่มั่น ขณะก้มกราบ ก็ถูกหลวงปู่มั่นชี้หน้าบอกว่า “ท่านไปเล่นกับงูมาละซิ”
-------------------------------------------
หมายเหตุ : จากการศึกษาประวัติครูอาจารย์ หลวงปู่บุญ ที่ระบุในเรื่องนี้ ผู้เขียนเข้าใจว่า น่าจะเป็น หลวงปู่บุญทัน ฐิตปญฺโญ วัดป่าประดู่ ต.เมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ท่านเป็นชาวจังหวัดศรีสะเกษ มีประวัติโลดโผนและมีความอัศจรรย์ทางจิตอยู่มาก ติดตามท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ และร่วมปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโมด้วย _____ถ้าผิดก็กราบขออภัยด้วย

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-04.htm

ทรงกลด:
e ๕๙ f
น่าจะเป็นความอารมณ์ดีของท่าน

พระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต เล่าอีกตอนหนึ่งว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ไปร่วมประชุมสงฆ์ในกรุงเทพฯ ท่านพระเถระนั่งกันอยู่พร้อมแล้ว ยังขาดแต่สมเด็จพระสังฆราช ที่จะเสด็จมาเป็นองค์ประธานของการประชุม
หลวงปู่ตื้อท่านไปถึงก่อน จึงเดินตรงจะไปนั่งตรงอาสนะที่เขาเตรียมไว้สำหรับสมเด็จฯ
เจ้าหน้าที่เข้ามาร้องห้ามว่า ที่นี่เป็นที่ประทับของสมเด็จฯ ที่เสด็จมาเป็นประธาน หลวงตามาจากไหน นั่งไม่ได้นะ”

หลวงปู่ตื้อตอบว่า “ไม่เป็นไรน่า เป็นเพื่อนกัน” แล้วท่านก็นั่งลงไปบนที่นั่งนั้น ทำแบบไม่รู้ไม่ชี้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้จะขับไล่อย่างไร

พระเถระทั้งหลายก็นั่งดูเฉย บางรูปก็อมยิ้มกัน เพราะรู้จักอุปนิสัยของหลวงปู่ตื้อดี
พอสมเด็จฯ ท่านเสด็จมาถึง หลวงปู่ตื้อท่านก็ลุกถวายที่ให้ ทำการกราบไหว้แก่ยศฐานะ พอกราบเสร็จ สมเด็จฯ ท่านก็ลุกขึ้นกราบคืนในฐานะที่หลวงปู่ตื้ออาวุโสกว่า

อีกเรื่องหนึ่ง คราวไปประชุมสงฆ์ที่วัดอโศการาม สมัยที่ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ยังอยู่
หลวงปู่ตื้อ ท่านถามพระสงฆ์ที่มาร่วมประชุมว่า “ในที่ประชุมนี้มีพระเถระรูปใดมีอายุพรรษาถึง ๕๐ พรรษาบ้าง”
ที่ประชุมเงียบ ไม่มีใครตอบ หลวงปู่ตื้อจึงว่า “งั้นผมก็ต้องเป็นประธานซิ"

แล้วท่านก็หัวเราะชอบใจ ที่ประชุมก็หัวเราะ
--------------------------------------------------
หมายเหตุ : สมเด็จพระสังฆราชที่กล่าวถึงในเรื่องนี้ เมื่อตรวจสอบดูตามประวัติแล้ว ผู้เขียนเข้าใจว่า น่าจะเป็น สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) วัดมกุฎกษัตริยาราม

                  มีบันทึกตอนหนึ่งว่า มีคุณหญิงคุณนายที่ได้ฟังเทศน์จากหลวงปู่ในงานแห่งหนึ่งพากันไปทูลฟ้อง สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฎกษัตริยาราม ซึ่งสมเด็จฯ ท่านก็คุ้นเคยกับหลวงปู่ตื้อเป็นอย่างดี

                เมื่อหลวงปู่เข้าเฝ้า สมเด็จฯ จึงถามท่านว่า “ท่านผู้หญิงมาฟ้องว่าท่านเทศน์หยาบคาย จริงไหม?”

                หลวงปู่ท่านตอบรับตรง ๆ ว่า จริง เพราะสิ่งที่ท่านเทศน์นั้นล้วนแต่เป็นธรรมะของจริง ไม่รู้จะยกไปซ่อนเร้นปิดบังไว้ที่ไหน แล้วท่านก็ย้อนทูลถาม สมเด็จ ฯ กลับไปว่า
                “สมเด็จฯ จะฟังไหม เกล้าฯ จะเทศน์ให้ฟัง”
                เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นเรื่องฮือฮามากในครั้งนั้น

e ๖๐ f
เรื่องของพระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต

ผู้เขียนได้อ่านเรื่องของพระอาจารย์ประยุทธ จากนิตยสารโลกทิพย์ ฉบับที่ ๑๖๔ น่าสนใจมาก มีผู้เคยนำไปสร้างเป็นนิยาย ผู้เขียนจึงนำมาเสนอโดยย่อไว้ ณ ที่นี้
ในนิตยสารโลกทิพย์ ได้ขึ้นหัวเรื่องว่า “พระอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต แห่งวัดป่าผาลาด อ.เมือง จ.กาญจนบุรี อดีตขุนโจรอิสไมล์แอ ผู้หันเหชีวิตเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ จนมรณภาพในสมาธิและอัฐิกลายเป็นพระธาตุ”
เรื่องของพระอาจารย์ประยุทธ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองหนังสือพิมพ์เคยลงข่าวเกรียวกราว เกี่ยวกับ “ขุนโจรอิสไมล์แอ สลัดทะเลหลวงผู้โหดเหี้ยม เสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ฆ่าคนมานับไม่ถ้วนบางคราวก็ฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ..”

เรื่องของพระอาจารย์ประยุทธจริงๆ แล้วไม่เป็นที่เปิดเผย เพิ่งจะมีผู้สืบเสาะนำประวัติมาเผยแพร่หลังจากท่านมรณภาพไปแล้วถึง ๑๐ ปี โดยสอบถามเอาจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เรื่องที่ได้จึงยังเลือนลางอยู่
ท่านอาจารย์ประยุทธ ธมฺมยุตฺโต นามสกุลเดิม สุวรรณศรี เกิดที่จังหวัดเพชรบุรีในครอบครัวที่มีฐานะดีพอควร ทราบแต่ว่า ท่านเกิดวันเสาร์ เดือน ๕ ปีมะโรง พ.ศ.๒๔๗๑ มีพี่น้องรวมทั้งตัวท่านด้วย ๕ คน  ครอบครัวท่านอพยพไปอยู่ทางหัวหิน ท่านจึงเติบโตที่นั่น

พระอาจารย์เล่าว่า ชะตาของท่านต้องฆ่าคนเมื่ออายุ ๑๑ ปี โดยไม่เจตนา คือขว้างมีดเล่นๆ ไปถูกที่สำคัญทำให้ชายผู้หนึ่งตาย แต่ยังเป็นเด็กจึงยังไม่ถูกลงโทษฑัณฑ์ เมื่ออายุครบบวช โยมบิดาสิ้นชีวิตแล้ว โยมมารดาจึงจัดให้บวชตามประเพณีอยู่ ๑ พรรษา ท่านบอกว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย เพราะบวชตามประเพณีจริงๆ หลังจากลาสิกขาแล้ว ก็จากครอบครัวไปทำมาหากินทางภาคใต้ประกอบอาชีพหลายอย่างในหลายจังหวัด เคยทำประมง เป็นกัปตันเรือหาปลา มีเพื่อนฝูงและลูกน้องมาก และเคยไปตั้งบาร์ไนท์คลับที่ประเทศมาเลเซีย

ระยะผกผันในชีวิต คือ มีพ่อค้าใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้ว่าจ้างให้ขนฝิ่นไปส่งลูกค้าที่มาเลเซีย ในราคาเที่ยวละ ๒,๐๐๐ บาท ไปรับเงินที่ปลายทาง
ผู้มารับฝิ่นเป็นเจ้าหน้าที่ ๒ คนบอกว่าจ่ายเฉพาะค่าฝิ่น ๒,๐๐๐ บาทเท่านั้น ค่าขนเขาไม่เกี่ยว สรุปว่าโดนหักหลัง ทางเจ้าของฝิ่นทางกรุงเทพฯ คงไม่ไว้ใจท่านแน่ โทษฑัณฑ์ในวงการฝิ่นก็คือ การฆ่า ลูกเดียว แต่ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ ๒ คนนั้นขู่ว่า ถ้าไม่ตกลงตามราคาที่เสนอก็จะแจ้งตำรวจมาเลเซียจับ
เรียกว่าท่านไม่มีทางเลือก จึงตัดสินใจฆ่าเจ้าหน้าที่ ๒ คนนั้นแล้วโยนศพลงทะเลไป ปรากฏว่า ศพเกิดลอยน้ำมาติดอยู่ข้างเรือ ท่านจึงถูกจับฐานสงสัยว่าฆ่าคนตาย แต่ไม่มีเรื่องค้าฝิ่น
พระอาจารย์ประยุทธ ถูกขังในคุกมาเลเซียหลายเดือน ขึ้นศาลหลายครั้ง พอครั้งที่ ๖ มีผู้ชายบุคลิกดีอายุราว ๕๐-๖๐ พยายามขอเข้าเยี่ยม บอกว่า “ไม่เป็นไร ไม่ถึงตาย หรือติดคุกหรอกหลานชาย ลุงจะช่วย”

ลุงคนนั้นบอกคาถาสั้นๆ ให้ไว้บริกรรมเวลาขึ้นศาล ท่านไม่เชื่อแต่ก็ยอมทดลองดู ปรากฏว่าได้ผล “เพราะวันตัดสิน ศาลปล่อย แต่ห้ามเข้ามาเลเซียอีก รอดประหารไปได้อย่างปาฏิหาริย์”

พระอาจารย์ประยุทธ บอกให้ลูกศิษย์ฟังว่า ท่านมาทราบในภายหลังว่าคุณลุงคนนั้นเป็นเทพ มาช่วยปกปักรักษาท่าน เมื่อพ้นโทษจากมาเลเซีย พระอาจารย์ก็กลับเมืองไทย ยังวนเวียนอยู่ทางภาคใต้เช่นเดิมในช่วงนั้นอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยต้องเข้าร่วมกับญี่ปุ่นด้วยความจำเป็นบังคับ ขณะเดียวกัน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกับคนไทยจำนวนหนึ่ง จัดตั้งคณะเสรีไทย ทำงานใต้ดินเพื่อขัดขวางกองทัพญี่ปุ่นทุกวิถีทาง

พระอาจารย์ประยุทธ ได้เข้าร่วมกับคณะเสรีไทย อยู่ในกลุ่มที่คอยตัดกำลังญี่ปุ่น เรียกว่า กลุ่มไทยถีบ คือเมื่อญี่ปุ่นขนอาวุธยุทโธปกรณ์ เสบียงอาหาร ไปให้กองทัพของตนตามภาคต่างๆ ซึ่งส่งไปทางรถไฟ ก็จะถูกกลุ่มไทยถีบ ถีบของเหล่านี้ลง เพื่อไม่ให้ส่งไปถึงปลายทางได้ พระอาจารย์ประยุทธ ได้รวมสมัครพรรคพวก ได้ประมาณ ๒๐๐ คน ไปซ่องสุมอยู่เกาะตะรุเตา ส่วนหนึ่งเป็นโจรสลัดอยู่ในทะเล คอยปล้นเรือสินค้าและเสบียงทางเรือของกองทัพญี่ปุ่น แล้วนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่กำลังอดอยากตามชายฝั่ง อีกส่วนหนึ่งกระจายกันอยู่บนฝั่งคอยเป็นหูเป็นตาให้โจรสลัดทะเลหลวงกลุ่มขุนโจรอิสไมล์แอโด่งดังมากในช่วงนั้น

เมื่อสงครามสงบลง การปล้นของโจรกลุ่มนี้ก็เปลี่ยนแผนใหม่ ในช่วงนั้นประชาชนทางภาคใต้มีข้าวไม่พอกิน ในตลาดก็ไม่มีขาย แต่มีเรือของผู้มีอิทธิพลขนข้าวไปขายทางมาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในภาวะขาดแคลนเหมือนเมืองไทย แต่ขายสินค้าได้แพงกว่ามาก ขุนโจรอิสไมล์แอ เห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงคุมสมัครพรรคพวกเข้าปล้นเรือขนส่งสินค้าเหล่านั้นหลายหน แล้วนำสินค้าเหล่านั้นออกแจกประชาชน เช่นเคย

ผู้มีอิทธิพลเจ้าของสินค้าพยายามเจรจาต่อรอง แต่กลุ่มโจรไม่ยอม ถ้าไม่หยุดส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ พระอาจารย์ประยุทธ หรือ นายประยุทธ สุวรรณศรี คุมลูกน้องเป็นโจรสลัดในทะเลหลวงอยู่ ๕ ปี เป็นขุนโจรอิสไมล์แอที่โด่งดังที่ไม่มีใครปราบได้  เหตุการณ์พลิกผันในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เมื่อน้องสาวส่งข่าวว่าคุณแม่ตาย ก่อนตายคร่ำครวญหาแต่ “เล็กของแม่” จนกระทั่งสิ้นใจ พระอาจารย์ประยุทธ มากราบรูปถ่ายของแม่ ระลึกย้อนถึงเหตุการณ์แต่ครั้งหลัง ถึงความรักความห่วงใยของแม่ พลัน...จิตของท่านก็สงบลง และวูบลงไป

ปรากฏเป็นชายร่างกำยำ ๔ คน ตรงมาจับส่งท่านกระชากลงไปในนรก จับใส่เครื่องขื่อคา แล้วบังคับให้ลงไปในกระทะทองแดง ท่านหวาดกลัวมาก พลันคิดถึงแม่ จึงร้องเรียก
“แม่ช่วยลูกด้วย”
ปกติโยมแม่เป็นคนใจบุญ ชอบทำบุญ และอยู่ในศีลในธรรมเสมอมา พอท่านร้องว่า “แม่ช่วยด้วย” ก็มีใบบัวใหญ่เท่ากระด้งตากปลามาช้อนร่างท่านขึ้นไปบนที่สูง ได้ไปเห็นวิมานที่สวยงาม พบเหล่านางฟ้าเทพธิดาต่างๆ จำนวนมาก...

หลังจากท่องวิมานพอสมควร ก็มีนางฟ้าท่านหนึ่งพูดว่า “ไปเสียก่อนเถอะ ไปสร้างกุศลบารมีให้พอเสียก่อน จึงค่อยมาเจอกันใหม่”
แล้วท่านอาจารย์ประยุทธ ก็รู้สึกตัวอยู่ตรงหน้ารูปถ่ายของคุณแม่นั้น แต่ท่านก็งุนงงกับเหตุการณ์มาก ไม่รู้ว่าเป็นอะไร
หลังจากนั้นท่านก็บอกกับพี่สาว น้องสาว ว่าจะขอออกจากบ้านไปอีกครั้งหนึ่ง ไม่ทราบว่าจะไปนานเท่าใด พี่สาวเอาเงินมาให้ ๕,๐๐๐ บาท ท่านหยิบเอาเพียง ๕๐๐ บาท เหลือนอกนั้นบอกให้เอาไปทำบุญให้แม่

ความจริงท่านมีเงินมาก แต่ไม่กล้าบอกให้พี่น้องรู้ รับไว้เพียง ๕๐๐ บาท พอเป็นพิธีเท่านั้น
พระอาจารย์ประยุทธ มุ่งลงใต้ เพราะลูกสมุนยังมีอยู่มากและคุ้นเคยกับภูมิภาคแถบนั้นดี ท่านอยู่ที่นั่นนานพอสมควร ก็ได้พบกับ “หลวงปู่” องค์หนึ่ง ท่านเกิดความเลื่อมใส จึงแจกจ่ายเงินทองทรัพย์สินทั้งหมดให้ลูกน้อง แล้วท่านก็บวชเป็นพระอย่างเงียบๆ ไม่มีพิธีรีตองอะไรให้ยุ่งยาก เรียกว่า “โกนหัวเข้าวัด”

พระอาจารย์ประยุทธ ได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับ “หลวงปู่” ๑ ปี ได้ฝึกกรรมฐานและธุดงค์วัตรตามแบบพระป่า วันหนึ่ง “หลวงปู่” ก็บอกว่า ท่านหมดความรู้ที่จะสอนแล้ว ต้องไปหาอาจารย์อีกองค์หนึ่ง ตอนนี้อยู่ทางภาคเหนือ พระองค์นั้นแหละที่จะเป็นครูอาจารย์ของท่าน

“หลวงปู่” บอกว่าได้คุยฝากฝังกับพระอาจารย์องค์นั้นในทางจิตและรู้เรื่องกันหมดแล้ว

“หลวงปู่” ได้บอกรูปร่างลักษณะ และที่อยู่ของพระอาจารย์องค์นั้นอย่างละเอียด และสั่งว่า

“ข้อสาคัญ การไปหาท่านอาจารย์ จะขึ้นรถลงเรือไม่ได้ ต้องเดินธุดงค์ด้วยเท้าจากใต้ไปถึงภาคเหนือ จะนานเท่าไรก็ตาม”

พระอาจารย์ประยุทธ ใช้เวลาเดินธุดงค์ ๓ เดือนเต็มจึงได้ไปเป็นศิษย์ของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ที่วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่นำเสนอแล้วในตอนต้น พระอาจารย์ประยุทธ อยู่ในสำนักหลวงปู่ตื้อ ๓ ปีท่านจึงได้ธุดงค์ต่อไป ท่านได้ไปสร้างสำนักสงฆ์ที่ถ้าผาพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยและไปมรณภาพที่ วัดป่าผาลาด ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒

e ๖๑ f
หลวงพ่อเปลี่ยน เข้าไปเป็นลูกศิษย์


หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป

หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก บ้านปง ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ก็เป็นศิษย์สำคัญองค์หนึ่งของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
หลวงพ่อเปลี่ยนได้เล่าถึงหลวงปู่ตื้อ พระอาจารย์องค์หนึ่งของท่าน ดังนี้ : -

ในระหว่างที่อาตมาพักอยู่ ณ วัดสันติธรรม (ในเมืองเชียงใหม่ ก็ได้ทราบข่าวว่า หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ในขณะนั้นพักอยู่ ณ วัดธรรมสามัคคี (วัดป่าสามัคคีธรรม ซึ่งต่อมาก็คือวัดป่าอาจารย์ตื้อ) อาตมาจึงเดินทางไปพบทันที อาตมาดีใจมาก เพราะเดินทางมาภาคเหนือนี้ได้ตั้งใจมากราบท่านโดยตรง เมื่อกราบนมัสการท่านเรียบร้อย และสอบถามความเป็นมาจนเข้าใจดีแล้ว เย็นวันนั้นอาตมาจึงได้เล่าสิ่งที่ภาวนาติดขัดอยู่ในจิตใจเป็นเวลานาน คือ เรื่องการตามจิตไม่ทัน อธิบายของท่านที่แนะนำก็แบบเดียวกับที่หลวงปู่เทสก์ และหลวงปู่ขาว เป็นผู้ชี้บอกให้นั่นเอง

หลวงปู่ตื้อ ท่านบอกว่า เรื่องนี้ไม่สำคัญหรอก เมื่อสติ สมาธิ ปัญญา มันพอดีกันเมื่อไร เมื่อนั้นจะเข้าใจเองนั่นแหละ ไม่นานหรอกให้ตั้งใจภาวนาไปเรื่อยๆ อาตมาได้รับกำลังใจมาก และได้อยู่จำพรรษากับท่านในปีนั้นจึงได้ปฏิบัติภาวนากับท่าน เพื่อหาทางพิจารณาเกี่ยวกับความจริงแห่งจิตใจ
การที่อาตมาได้อยู่ปรนนิบัติใกล้ชิดกับหลวงปู่ตื้อ ทำให้ได้เห็นปฏิปทาการปฏิบัติของท่านอย่างใกล้ชิด เคารพศรัทธาท่านเป็นอย่างมากหลวงปู่ท่านเป็นพระพูดจริง ทำจริง ปฏิบัติธรรมอย่างชนิดทุ่มเทกำลังทั้งหมด ยอมสละแม้กระทั่งชีวิต อาตมามีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ความเป็นผู้มีพลังจิตวิเศษของท่านให้มากเท่าที่จะมากได้ สมกับที่บุคคลทั่วไปกล่าวขวัญกันว่า ท่านสำเร็จปฏิสัมภิทาญาณ

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านเป็นพระแท้ มีความสามารถในการสอนธรรมะอย่างยอดเยี่ยม อธิบายข้อสงสัยได้กระจ่าง อาตมาจึงปลื้มปิติมากที่ได้มาอยู่กับท่าน สมกับความเหน็ดเหนื่อย ที่สู้อุตสาห์บุกป่าฝ่าดงมา เพื่อถวายตัวเป็นศิษย์ท่าน ไม่มีผิดหวังเลย
ที่ีมา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-04.htm

จบตอนที่ ๒/๔

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version