หมวด ผู้ทรงวิทยาคุณ (เกจิอาจารย์) > เกจิอาจารย์ภาคอีสาน

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

(1/2) > >>

ทรงกลด:
ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

วัดศรีอภัยวัน
ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย



๏ อัตโนประวัติ

“อย่ามีอคติ...อย่าลำเอียงกับใครเลย และอย่าขึ้นๆ ลงๆ อย่าเอารัดเอาเปรียบกันอีกเลย”

ความตอนหนึ่งจากธรรมโอวาทของ “พระราชญาณวิสุทธิโสภณ” หรือ “หลวงปู่ท่อน ญาณธโร” ที่คอยอบรมสอนสั่งสาธุชนให้ปฏิบัติตาม ด้วยกุศโลบายอันแยบคายในการแสดงพระธรรมเทศนา ให้ผู้ฟังนำไปขบคิดพินิจพิจารณาด้วยปัญญา

ท่านเป็นพระเถราจารย์ผู้ใหญ่สายวิปัสสนาธุดงค์กัมมัฏฐาน เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตตภาวนา การเทศนาธรรม และวิทยาคมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร มีนามเดิมว่า ท่อน ประเสริฐพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พุทธศักราช 2471 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง ณ บ้านหินขาว ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายแจ่ม และนางทา ประเสริฐพงศ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 19 คน ท่านบุตรคนที่ 6 ปัจจุบัน สิริอายุได้ 79 พรรษา 59 (เมื่อปี พ.ศ.2550) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีอภัยวัน บ้านหนองมะผาง ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย และเจ้าคณะจังหวัดเลย (ธรรมยุต)


๏ การศึกษาเบื้องต้น

ในวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนบ้านหินขาว ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น แต่ด้วยฐานะทางบ้านยากจน ท่านจึงได้ลาออกจากโรงเรียนมาช่วยบิดามารดาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว

ต่อมาได้เรียนต่อที่โรงเรียนผู้ใหญ่ที่บ้านหินขาว สอบเทียบได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้ว ท่านไม่ได้เข้าศึกษาต่อ เพราะต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว จึงเป็นเหตุให้ต้องออกจากโรงเรียนอีกครั้ง เพื่อมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว

ที่ีมา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10700

ทรงกลด:


หลวงปู่คำดี ปภาโส

๏ การอุปสมบท

ช่วงวัยหนุ่มฉกรรจ์ เป็นคนติดเพื่อนฝูง กินเหล้าเมายา จีบสาวตามบ้านต่างๆ ในละแวกนั้น ทำให้โยมบิดา-โยมมารดา เป็นกังวลใจมาก หากเป็นเช่นนี้ต่อไป บุตรชายคงจะเสียคนเป็นแน่ จึงได้ปรึกษากันขอให้บุตรชายบวชเรียน โยมบิดาจึงนำตัวบุตรชายไปฝากกับหลวงปู่คำดี ปภาโส พระเกจิชื่อดังแห่งวัดป่าชัยวัน ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น แต่หลวงปู่คำดีมีข้อแม้ว่า ก่อนบวชจะต้องรักษาศีล นุ่งห่มขาว เจริญภาวนา กินข้าวมื้อเดียวก่อน

ครั้นอยู่ทดสอบจิตใจได้ 5 เดือน หลวงปู่คำดีได้อนุญาตให้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ขณะมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2491 ณ พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ (พระอารามหลวง) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยมีพระเทพบัณฑิต (มหาอินทร์ ถิรเสวี สินโพธิ์ ป.ธ.5) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิศาลสารคุณ วัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูคัมภีรนิเทศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสุพจน์ อุตฺตโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ภายหลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้เดินทางไปพำนักจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่คำดี ณ วัดป่าชัยวัน โดยหลวงปู่คำดีเป็นอาจารย์กัมมัฏฐาน คอยสอนให้ทำภาวนา นั่งสมาธิกัมมัฏฐาน เน้นเรื่องสติ สมาธิ และปัญญา ระยะเวลาผ่านไปนานพอสมควร ท่านได้ช่วยครูบาอาจารย์แบ่งเบาภาระในการสอนคนที่จะมาบวช ด้วยการสอนขานนาค เป็นต้น ครั้นถึงช่วงออกพรรษา ได้เป็นหัวหน้าออกเดินธุดงค์เข้าป่าเป็นกิจวัตร


๏ ได้รับโอวาทจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ครั้งหนึ่งท่านได้มีโอกาสพบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่า และได้รับโอวาทอันทรงคุณค่าอย่างหาที่เปรียบมิได้จากหลวงปู่มั่น “ให้เร่งทำความเพียร มิให้ประมาท ชีวิตนี้อยู่ได้ไม่นานก็ต้องตาย”

หลวงปู่ท่อน ยังได้มีโอกาสไปกราบเยี่ยมครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงพ่อมหาปิ่น ชลิโต เป็นต้น

ที่ีมา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10700

ทรงกลด:


หลวงพ่อมหาปิ่น ชลิโต

หลังจากช่วยงานการครูบาอาจารย์เสร็จสิ้น หลวงปู่คำดีได้นำหมู่คณะออกวิเวกไปทาง จ.เลย ตอนนั้นหลวงปู่ท่อนบวชได้ 7 พรรษาแล้ว

พ.ศ.2497 หลวงปู่คำดี นำคณะเข้าป่าและถ้ำต่างๆ ได้ภาวนาทำความเพียร ตลอดจนให้ศรัทธาญาติโยมมาฟังธรรมะ และในพรรษานี้หลวงปู่ท่อนได้อยู่จำพรรษา ณ วัดถ้ำผาปู่นิมิตร ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย กับหลวงปู่คำดีด้วย

หลวงปู่ท่อนอยู่ที่วัดถ้ำผาปู่นิมิตร ได้ 2 พรรษา ก็มีศรัทธาญาติโยมมาขอให้ไปโปรดที่วัดถ้ำตีนผา อ.เชียงคาน จ.เลย 1 พรรษา ต่อมาหลวงปู่คำดีเกิดอาพาธเจ็บป่วยด้วยโรคชรา ท่านจึงกลับมาเยี่ยมและช่วยสร้างวัดถ้ำผาปู่นิมิตรไปด้วย จวบกระทั่งหลวงปู่คำดีได้มรณภาพลงอย่างสงบ


๏ สร้างวัดศรีอภัยวัน

พ.ศ.2500 ศรัทธาญาติโยมได้นิมนต์ให้หลวงปู่ท่อนไปอยู่ที่ป่าช้านาโป่ง และได้สร้างเป็นวัดศรีอภัยวัน บนเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ รวมทั้งรักษาความเป็นป่าอย่างสมบูรณ์ไว้

จากนั้นมา หลวงปู่ท่อนได้จำพรรษาที่วัดศรีอภัยวัน จ.เลย ตราบจนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากหลวงปู่ท่อนเป็นพระป่า ที่วัดจึงไม่มีสิ่งก่อสร้างใหญ่โต กุฏิเป็นเพียงกุฏิเล็กๆ ปัจจัยที่ได้รับจากญาติโยม ล้วนแบ่งเอาไว้ใช้เท่าที่จำเป็น ส่วนใหญ่จะแบ่งปันให้แก่สำนักสงฆ์ วัด ที่ขาดแคลนหรือทุรกันดาร


พระประธาน ณ วัดศรีอภัยวัน


๏ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ.2503 เป็นเจ้าอาวาสวัดวัดศรีอภัยวัน

พ.ศ.2510 เป็นเจ้าคณะตำบลเมือง เขต 2 (ธรรมยุต)

พ.ศ.2526 เป็นเจ้าคณะอำเภอเชียงคาน-ภูเรือ (ธรรมยุต)

พ.ศ.2532 เป็นเจ้าคณะอำเภอเชียงคาน-ปากชม (ธรรมยุต)

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2550 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดเลย (ธรรมยุต) ตามกฎของมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 23/2541 ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์


๏ ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2514 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ “พระครูญาณธราภิรัติ”

พ.ศ.2527 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2531 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2535 เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ครบ 5 รอบ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระญาณทีปาจารย์” เป็นกรณีพิเศษ

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550 เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชญาณวิสุทธิโสภณ”

ที่ีมา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10700

ทรงกลด:


หลวงปู่ท่อน ญาณธโร-หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร-หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ


๏ ร่มโพธิ์ร่มไทรของคณะศิษยานุศิษย์

นับแต่ปี พ.ศ.2528 เป็นต้นมา หลวงปู่ท่อน เริ่มมีกิจนิมนต์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเทพฯ ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ รวมถึงต่างประเทศ แทบจะหาเวลาว่างไม่ได้เลย แต่หลวงปู่ก็มิเคยขัดศรัทธาญาติโยมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2536 หลวงปู่ได้อาพาธด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้หลวงปู่เกิดอาการวิงเวียนหน้ามืดเป็นประจำ

ล่วงมาถึงปี พ.ศ.2537 หลวงปู่อาพาธอีก ด้วยโรคเส้นเลือดในช่องท้องโป่งพอง ต้องเข้ารับการผ่าตัดจากคณะแพทย์โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แม้การผ่าตัดจะประสบผลสำเร็จ แต่ส่งผลให้หลวงปู่ท่อนไม่สามารถเทศนาบรรยายธรรมได้นานดังแต่ก่อน เพราะสุขภาพไม่อำนวย ทุกวันนี้หลวงปู่ยังคงเดินทางเข้าไปตรวจเช็กสุขภาพที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ อย่างสม่ำเสมอ

หลวงปู่ท่อน มีความรู้ความสามารถในด้านวิทยาคม วิปัสสนากัมมัฏฐาน มีฌานสมาบัติแก่กล้า มีวิชาทำวัตถุมงคลตามตำรับโบราณคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคอดีต เป็นเหตุปัจจัยเสริมให้วัตถุมงคลทั้งหมดของท่านมีพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง ท่านได้มีการสร้างวัตถุมงคลมากมาย อาทิ พระผงหลังโต๊ะหมู่บูชารุ่นแรก, พระผงหลังโต๊ะหมู่บูชารุ่นแรก (รุ่นสรงน้ำ) และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้น

ด้วยกุศลผลบุญทั้งมวลอันเกิดจากความอุตสาหะแห่งการบำเพ็ญเพียร ส่งผลให้หลวงปู่ท่อน มีอายุยืนยาว เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของคณะศิษยานุศิษย์ เป็นกำลังอันสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนไปตราบนาน


หลวงปู่ท่อน ญาณธโร


ที่ีมา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10700

ทรงกลด:



๏ พระธรรมเทศนาเรื่อง ธรรมาภิสมัย
วันที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๓

จะเอาพระบ้านนอกมาบรรยายธรรม อบรมจิตใจของชาวกรุง ปรากฏว่ามันก็ไม่เข้าท่าเท่าไหร่นะ พระบ้านนอกมาอบรมชาวกรุงมันไม่สมกันเลย ต้องพระในกรุงมาอบรมชาวกรุง มันจึงจะถูกต้อง ก็เหมือนอาหารนะ อาหารบ้านนอกอาหาร ภาคอีสาน จะเอามาแจกชาวกรุงก็คงไม่หมดแหละ ถ้าแจกชาวอีสานด้วยกัน อาจจะหมด

ธรรมะก็เหมือนกัน ธรรมที่ชาวอีสาน หรือพระบ้านนอกได้ศึกษามา ได้อบรมมาได้ฟังมาก็เป็นธรรมะป่าๆ ทั้งนั้นล่ะนะ มันจะถูกสเป็คกับชาวกรุงหรือเปล่าเน้อนะโยม ที่เคยมาเทศน์ ที่วัดเสนา วัดใหม่เสนานิคม หรือวัดอะไรนั่น หลวงปู่หลอด นั่นคราวหนึ่งและก็ไปเทศน์ที่วัดพระรามเก้านั่นครั้งหนึ่ง เทศน์อยู่แถวๆ บริเวณนอกๆ นี่แหละ แถวนี้เขาเห็นว่าจะได้ประโยชน์ในการบรรยายธรรม นั่นมันเกี่ยวกับงานวันเกิดของท่าน เลยพูดเรื่องวันเกิดกันไปพอสมควรแล้วก็เล่านิทานมาประกอบ มีคนออกปากว่าชอบอกชอบใจว่าอย่างนั้นอยากฟังเรื่อยๆ เพราะที่บรรยายไปนั้นมันเป็นธรรมาภิสมัยในหัวใจ ทำให้สังคมมนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ถ้ามีธรรมาภิสมัย หรือว่าธรรมอำไพก็เรียกกัน ธรรมอันนั้นธรรมสำหรับชาวโลกที่อยู่รวมกัน เห็นว่าเป็นประโยชน์ เพราะว่าคนเราต้องเกิดมาก็ต้องมีพ่อมีแม่มีผู้ปกครอง ถ้าลูกไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณแล้ว ก็ขาดธรรมอำไพหรือขาดธรรมาภิสมัย ไม่น่าอยู่เลย ไม่น่าดูเลย พ่อแม่หวังพึ่ง ฝากผีฝากไข้กับลูก ถ้าลูกไม่มีธรรมาพิสมัยไม่ตอบแทนบุญคุณของพ่อของแม่ พ่อแม่ก็หมดหวังในชีวิต ไม่น่าอยู่ในโลกเลย เลี้ยงลูกยากเฉยๆ หวังพึ่ง ฝากผีฝากไข้ก็ไม่ได้ เขาไม่ดู ไม่แลอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เศร้าใจมาก

มันก็ไม่ผิดอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน เราเห็นสัตว์เดรัจฉานน่ะ สังเกตมาตั้งแต่น้อย ตั้งแต่ลืมตาอ้าปากดูโลกมาเห็นแม่ไปเที่ยวหาอาหารมาป้อน มาหย่อนใส่ปากลูกนกทั้งหลายก็ดี แต่ว่าลูกๆ ถ้าแม่เฒ่าชราลงไปแล้ว พวกนกทั้งหลายนี่จะไปหาอาหาร มาปล่อยใส่ปากแม่ เคยมีบ้างไหมน้อ ไม่เคยมีแล้ว สัตว์เดรัจฉาน เฉยไปเลย แต่ว่ามหาสัตว์มีนะ มหาสัตว์มี จะขอเล่าเรื่องมหาสัตว์ให้ฟังสักหน่อย พระพุทธเจ้านำมาแสดง เพื่อให้เกิดธรรมาภิสมัยแต่จิตใจของพุทธบริษัทของพระองค์นั่นเอง


ที่ีมา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10700

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

Go to full version