หมวด ผู้ทรงวิทยาคุณ (เกจิอาจารย์) > เกจิอาจารย์ภาคอีสาน

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่จาม มหาปุญโญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

(1/3) > >>

ทรงกลด:
ขอขอบคุณ
:: ลานธรรมจักร ::
www.dhammajak.net
ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13090

ตอนที่ ๑ ต้นตระกูลภูไท บรรพบุรุษของหลวงปู่จาม
ตอนที่ ๒ วิถีชีวิตชาวภูไทในไทย
ตอนที่ ๓ กำเนิดเด็กชายจามในตระกูลสัมมาทิฎฐิ
ตอนที่ ๔ เรียนรู้ชีวิตปฐมวัย พ่อมอบสมบัติทิพย์ให้
ตอนที่ ๕ ชีวิตสามเณรน้อยที่เด็ดเดี่ยว
ตอนที่ ๖ สามเณรจาม เจอผีจริงเข้าแล้ว
ตอนที่ ๗ นิมิตสิ่งโบราณ
ตอนที่ ๘ ชีวิตวัยหนุ่มเรียนรู้ชีวิตทางโลก
ตอนที่ ๙ สงครามหัวใจ
ตอนที่ ๑๐ แม่วางเส้นทางชีวิต
ตอนที่ ๑๑ วิกฤติสร้างวีรบุรุษ
ตอนที่ ๑๒ อัศจรรย์เด็กผู้หญิง
ตอนที่ ๑๓ ทดสอบจิตใจตนเอง
ตอนที่ ๑๔ แสวงหามัชฌิมาเพื่ออริยมรรค
ตอนที่ ๑๕ เหตุการณ์ประหลาด
ตอนที่ ๑๖ ผีสางเทวดา
ตอนที่ ๑๗ เทพเป่าและนำทางไป
ตอนที่ ๑๘ ผจญผีที่ซากเจดีย์เก่า
ตอนที่ ๑๙ รู้แจ้งประจักษ์อนาคตอันไกลโพ้น
ตอนที่ ๒๐ ทำเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินเพื่อพระพุทธศาสนา
ตอนที่ ๒๑ ชีวิตในบั้นปลาย
ตอนที่ ๒๒ (จบ) ส่งท้ายไว้ให้คิด


ตอนที่ ๑
ต้นตระกูลภูไท บรรพบุรุษของหลวงปู่จาม

“หลวงปู่จาม มหาปุญโญ” นามสกุล ผิวขำ มีต้นตระกูลเป็นชนเผ่าภูไท กลุ่มเจ้าครองนครหรือกลุ่มผู้ปกครองถิ่นฐานเดิมของภูไท อยู่ที่สิบสองปันนา สิบสองจุไท อาณาจักรน่านเจ้า มีสภาพภูมิอากาศหนาวจัด ต่อมาเมื่อมีประชากรมากขึ้น การทำมาหากินเริ่มอัตคัดขัดสนและขาดแคลน ส่วนหนึ่งได้อพยพมาหาแหล่งทำมาหากินโดยมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เมืองแถง เขตประเทศเวียดนาม ซึ่งอยู่ห่างจากป้อมเดียนเบียนฟูประมาณ ๒๓ กิโลเมตร และที่เมืองอังคำ เขตประเทศลาว

ต่อมา ภูไทส่วนหนึ่งก็ได้อพยพต่อมาหาแหล่งที่ทำมาหากินที่เมืองพิน เมืองพะลาน เขตประเทศลาว ผู้ปกครองลาวสมัยนั้นคือเจ้าอนุวงศ์ ได้เกณฑ์ชาวภูไทไปเป็นทหารเพื่อขยายอาณาจักรและจัดกองทัพเพื่อมารบพุ่งกับชาวไทย (ชาวสยามประเทศ) แต่เนื่องจากชาวภูไทรักสงบ ไม่ต้องการรบพุ่งทำสงคราม จึงอพยพหนีมาอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยข้ามมาทางเรณูนคร มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณดงบังอี่ (คำชะอี หนองสูงในปัจจุบัน)

ส่วนกลุ่มที่ข้ามมาทางท่าแขก จังหวัดนครพนมนั้น มาตั้งถิ่นฐานอยู่พรรณานิคม ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชาวภูไทได้เข้ามาในประเทศไทย (สยาม) หลายระลอกในหลายรัชสมัยได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่แถวอำเภอกุสุมาลย์ อำเภอพรรณานิคม อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร และบางส่วนก็เลยไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคกลางอีกหลายแห่ง ชาวภูไท เรียกตัวเองว่า ภูไท หรือผู้ไท สำเนียงอาจเพี้ยนกันบ้าง จึงอนุโลมเรียกภูไทหรือผู้ไทก็ได้ เพราะเข้าใจความหมายว่า เป็นกลุ่มเผ่าเดียวกันโดยความหมายที่แท้จริง คือ เป็นคนไทย เพราะชาวภูไทเองนั้น ภาคภูมิในความเป็นคนไทย หรือเป็นไท แปลว่า อิสระ รักสงบ

ภูไทมีภาษาของตนเอง พูดภาษามีสำเนียงหางเสียงท่วงทำนอง ไพเราะน่าฟัง เป็นภาษาไทยแบบภูไท มีขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเอง แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ถ้าหากพิจารณาเห็นว่าดีกว่า เหมาะสมกว่า เมื่อมาอยู่ในประเทศไทย (สยาม) ชาวภูไทมีความรักสามัคคีกัน สำหรับชาวภูไทตระกูลของหลวงปู่จาม ทางบ้านห้วยทรายเป็นเชื้อเจ้า ทางผู้หญิงอพยพมาจากเมืองวัง เรียนหนังสือเก่ง มีความคิดเฉียบคม ปัญญาเฉียบแหลม มีขุนบรมเป็นบรรพบุรุษต้นตระกูล เมื่อถูกจีนรุกรานจึงอพยพมาเรื่อยๆ ตามลำดับจากเมืองแถงสู่เมืองวัง เข้าสู่ประเทศไทย (สยาม) ตามลำดับ

ทรงกลด:
ตอนที่ ๒
วิถีชีวิตชาวภูไทในไทย

ตระกูลภูไทของหลวงปู่จาม มีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ เป็นผู้มีปัญญานักปกครอง มีความเด็ดเดี่ยว รักสงบ ไม่รุกราน มีความยุติธรรม

โดยทั่วไป ประเพณีหลักจะยกย่องลูกผู้ชายคนแรก (ลูกกก) ให้ดูแลพ่อแม่ แต่ถ้าลูกชายคนแรกไม่มีความเหมาะสม พ่อแม่ก็จะเลือกลูกชายคนสุดท้อง (ลูกหล้า) ให้เป็นหลักของครอบครัว ดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่าลักษณะฝากผีฝากไข้ ชาวภูไท ชอบอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่มีลักษณะภูเขาผสมที่ราบ มีป่าไม้ รักธรรมชาติ เพราะมีที่ดินอุดมสมบูรณ์ เหมาะที่จะทำมาหากิน ใช้ชีวิตเรียบง่าย รักสงบ แต่มีความกล้าหาญสมเป็นนักรบในจิตวิญญาณของชาวภูไท ประเพณีดั้งเดิม นับถือผี นับถือไสยศาสตร์ ถือว่าผีเหล่านั้นเป็นผีปู่ผีย่ามีการบ่วงสรวง เซ่นไหว้ ยึดถือผีปู่ผีย่าเป็นสรณะที่พึ่งโดยไม่ลึกซึ้งคำสอนในพระพุทธศาสนา

ต่อมาเมื่อ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้จาริกมาบำเพ็ญสมณธรรมแถวภูผากูด จังหวัดมุกดาหาร และที่อื่นๆ ในแถบนี้ จึงมีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้ธรรมะจากหลวงปู่ทั้งสองในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นต้นมา ท่านสั่งสอนให้ยึดมั่นในไตรสรณคมน์เป็นหลักใจ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไว้เป็นที่พึ่งที่ระลึก เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ย่อมจะเจริญรุ่งเรือง ทำให้วิถีชีวิตของชาวภูไทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ความสันติสุขเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ความศรัทธาในพระกรรมฐานจึงมีมากขึ้น ทำให้เกิดสำนักสงฆ์มากขึ้น และเป็นวัดในเวลาต่อมา พระกรรมฐานจึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก วิถีชีวิตของภูไทจึงยึดมั่นในแนวทางสัมมาทิฎฐิไว้เป็นหลักใจของชุมชน

ชาวภูไทที่ได้บวชเป็นพระกรรมฐานที่มีชื่อเสียง มีปฏิปทาน่าเคารพเลื่อมใส กราบไหว้บูชาเป็นสิริมงคลแก่คน และฟังคำสั่งสอนอบรมย่อมได้ปัญญานำทางดำเนินชีวิตไปสู่ความสุขในปัจจุบัน และถ้าหากปฏิบัติตามอย่างจริงจังก็อาจพ้นทุกข์ได้ เท่าที่สามารถทราบได้ขณะเขียนก็ได้แก่ หลวงปู่คำ คมฺภีรญาโณ, หลวงปู่กงแก้ว ขนฺติโก ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่สิม พุทธาจาโร, หลวงปู่กว่า สุมโน, หลวงปู่แว่น ธนปาโล เป็นต้น ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นอกจากนั้นก็มี หลวงปู่คูณ อธิมุตโม ที่จังหวัดมหาสารคาม ล้วนเป็นเชื้อสายภูไท และพระป่ากรรมฐานรุ่นกลางรุ่นถัดๆ ไปก็มีอีกมาก ผู้เขียนยังหาหลักฐานไม่ทัน ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13090

ทรงกลด:
ตอนที่ ๓
กำเนิดเด็กชายจามในตระกูลสัมมาทิฎฐิ

บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร เป็นที่กำเนิดของเด็กชายจาม ผิวขำ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ

นายกา และนางมะแง้ ผิวขำ (ขณะเด็กชายจาม ก่อกำเนิดนั้นยังไม่มีนามสกุล เพิ่งได้รับการตั้งนามสกุลในรัชกาลที่ ๖) เป็นผู้ให้กำเนิดที่มีศรัทธาแรงกล้าต่อหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ หลวงปู่มั่น ได้มาจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่เสาร์ที่ภูผากูด อำเภอคำชะอี พ่อแม่ได้พาเด็กชายจาม อายุประมาณ ๖ ปี ไปกราบหลวงปู่ทั้งสอง พ่อแม่ให้กราบเด็กชายจามก็กราบทุกแห่งและพระกรรมฐานทุกองค์ตามที่แม่บอกด้วยความตั้งใจนับว่าแม่ได้สั่งสอนปลูกฝังนิสัยให้เป็นคนดีตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ จึงกล่าวได้ว่าเป็นตระกูลสัมมาทิฎฐิยึดมั่นในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก

ต่อมาช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๔ บรรดาศิษย์ของหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น จำนวนประมาณ ๗๐ รูป ได้มารวมกันเป็นกองทัพธรรมสายพระกรรมฐานมากเป็นประวัติการณ์ ขณะเด็กชายจาม อายุได้ประมาณ ๑๑ ปี ได้ติดตามพ่อแม่ไปอุปัฏฐากดูแลรับใช้พระกรรมฐานอย่างใกล้ชิด แม่มะแง้ได้แกงขนุนอ่อนถวายพระสงฆ์-สามเณร แห่งกองทัพธรรมทั้งหมด เท่าที่ตรวจดูสอบถามได้มี หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม, หลวงปู่ดุลย์ อตุโล, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่กงแก้ว ขนฺติโก, หลวงปู่สิม พุทธาจาโร, หลวงปู่แว่น ธนปาโล, หลวงปู่กว่า สุมโน, หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล, หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่กู่ ธมฺมทินโน, หลวงปู่ดี ฉนฺโน, หลวงปู่ซามา อจุตโต, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่เทสก์ เทสฺรังสี, หลวงปู่สาม อกิญจโน, หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตโต, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และหลวงปู่คำ คมฺภีรญาโณ เป็นต้น

การบำเพ็ญสมณธรรมของกองทัพธรรมดังกล่าวได้ใช้ภูผากูดเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นพักประจำอยู่ที่ถ้ำจำปา ต่อมาจึงตั้งสำนักสงฆ์หนองน่องทางทิศใต้ของบ้านห้วยทราย ให้เป็นที่รวมประชุมพระกรรมฐานแห่งกองทัพธรรม และบรรดาศิษย์ได้กระจายกันอยู่หาสถานที่วิเวกบำเพ็ญจิตภาวนา ซึ่งมีภูต่างๆ บริเวณนั้นมากมาย เช่น ภูผาแดง, ภูเก้า, ภูจ้อก้อ, ภูค้อ, ภูถ้ำพระ, ภูกระโล้น, ภูผากวาง, ภูสร้างแก้ว, ภูบันได, ภูผาบิ้ง, ภูกอง, ภูผากูด, ภูผาชาน, ภูเขียว เป็นต้น

นายกา และแม่มะแง้ ผิวขำ ได้ให้กำเนิดบุตรร่วมอุทรเดียวกันจำนวน ๙ คน ได้แก่ นายแดง นายเจ๊ก นายจาม นายเจียง นายจูม นางจ๋า นายถนอม นายคำตา และนางเตื่อย

นายแดง ผิวขำ คือโยมบิดาของพระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก นางเจียงได้บวชเป็นแม่ชีตลอดชีวิต นอกจากนั้นก็ได้ให้กำเนิดลูกหลานปลูกฝังอุปนิสัยจนได้บวชใต้ร่มกาสาวพัสตร์อีกหลายคน

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13090

ทรงกลด:
ตอนที่ ๔
เรียนรู้ชีวิตปฐมวัย พ่อมอบสมบัติทิพย์ให้

เด็กชายจามมีอุปนิสัยใจร้อน ใจเร็ว ตัดสินใจเด็ดขาดอดทนมุ่งมั่น มุ่งสู่อนาคต ทำอะไรทำจริง ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนเมื่ออายุ ๙ ปี ที่โรงเรียนบ้านคำชะอี ห่างจากบ้านห้วยทรายประมาณ ๓ กิโลเมตร ได้ขี่ม้าไปโรงเรียนกับเด็กชายเจ๊กผู้พี่ชาย บางวันได้แกล้งพี่ชายให้เดินไปเองเสี่ยงภัยจากเสือ ตนเองได้ควบม้าหนีกลับบ้าน แต่พี่น้องก็รักกัน โดยเฉพาะนายเจ๊กรักเด็กชายจามมากทั้งสองพี่น้องมีสติปัญญาดี แต่เรียนได้แค่ ป. ๒ เนื่องจากทางราชการแจ้งระงับการเรียนของเด็กที่บ้านอยู่ห่างโรงเรียนเกิน ๒ กิโลเมตร เพราะเสือชุกชุมได้กัดคนตายอยู่บ่อย ทั้งๆ ที่เด็กทั้งสองรักการเรียน ก็ได้แต่ร้องไห้

เมื่อเด็กชายจามอายุย่างเข้า ๑๔ ปี ได้มีโอกาสขับเกวียนร่วมขบวน ๕ เล่ม บรรทุกอัฐบริขารและอาหารซึ่งมีนายกา ผิวขำ ผู้บิดาไปกับขบวนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พาโยมแม่ของท่านและคณะพระสงฆ์-สามเณรเดินทางไปโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ขบวนทั้งหมดต้องบุกป่าฝ่าดงไปด้วยความยากลำบาก แม้กระทั่งหมาที่เดินตามไปถึงกับหมดแรงต้องอุ้มหมาคู่ใจขึ้นเกวียนไปด้วย

ด้วยความสามารถเฉพาะตัวของเด็กชายจาม ทำให้พ่อกาเชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงให้ขับเกวียนบรรทุกสินค้าต่างๆ เช่น ไหม ฝ้าย และของป่าไปขายที่จังหวัดยโสธร เพื่อแลกเกลือ ปลาร้า และของกินนำไปขายที่คำชะอีเพื่อเลี้ยงชีพ

ต่อมานายจามอายุย่างเข้า ๑๖ ปี นายกาจึงนำไปฝากกับ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ก่อนที่หลวงปู่มั่นจะรับฝากได้ถามนายกาว่า “โยมรักลูกไหม” ท่านตอบว่า “ยังรักอยู่” หลวงปู่มั่นตอบว่า “ถ้ายังรักอยู่ก็ไม่รับ”

จากคำตอบเด็ดขาดของหลวงปู่มั่นทำให้นายกาต้องคิดหนัก เพราะผิดหวังแต่ก็ยังไม่ย่อท้อ ได้ปรึกษากับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโมและศิษย์หลวงปู่มั่นท่านอื่น จึงได้รับคำแนะนำว่า “ถ้ามอบให้ท่านก็ให้เป็นลูกท่านเลย ไม่ต้องห่วงใย จะสมประสงค์” จึงเข้าไปกราบหลวงปู่มั่นอีกครั้งหนึ่งแล้วกราบเรียนว่า ขอมอบนายจามให้เป็นลูกโดยเด็ดขาดจะทำอย่างไรก็แล้วแต่หลวงปู่มั่นจะเห็นสมควร ท่านจึงยินยอมรับฝากตั้งแต่นั้นมาและหลวงปู่มั่นกล่าวยกย่องนายกาว่า “มีสติปัญญาดี ตัดสินใจถูกต้อง ไม่เสียแรงที่ได้อบรมธรรมะให้ตลอดที่อยู่ห้วยทราย” จึงถือว่าเป็นจุดแปรผันของชีวิตที่สำคัญยิ่งที่พ่อได้มอบสมบัติทิพย์ให้ด้วยมองเห็นอนาคตอันสดใส นายจามได้เป็นศิษย์นุ่งขาวห่มขาวอยู่ประมาณ ๙ เดือน ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น ที่บ้านหนองขอน อำเภอบุ่ง (อำเภอหัวตะพาน) จังหวัดอุบลราชธานี

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13090

ทรงกลด:
ตอนที่ ๕
ชีวิตสามเณรน้อยที่เด็ดเดี่ยว

“กลัวจนขี้ขึ้นสมอง” เป็นคำกล่าวเปรียบเปรยคนขี้กลัวผีทั้งหลายที่มักจะมีอาการสั่นเทาทำอะไรไม่ถูก หรืออีกคำพูดหนึ่งว่า “สติแตก” ผู้อ่านคงจะได้ยินมาแล้ว เหตุการณ์ที่จะเล่าถึงสามเณรจามต่อไปนี้ คงจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่ใครเล่าอยากจะเอาตัวไปเสี่ยงกับเหตุการณ์นั้น

คราที่หลวงปู่มั่นเดินทางจาริกจากไป ท่านได้ฝากสามเณรจามอยู่ในความดูแลของหลวงปู่กงมา จิรปุญโญ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่มหาปิ่น ปัญญาพโล เผอิญโยมได้นิมนต์พระเณรไปยโสธร ระหว่างทางต้องแวะพักแรมเป็นเหตุให้เหลือแต่สามเณรสิมกับสามเณรจาม พักปักกลดอยู่ที่ป่าช้า วันนั้นมีการเผาศพคนตาย ๒ ศพ สมัยนั้นต้องใช้สิ่งของอยู่ในป่าต้มน้ำดื่ม ก็ได้อาศัยไม้ไผ่หามศพ มาตัดเป็นกระบอกต้มน้ำดื่มพอพลบค่ำต่างก็เข้ากลด ซึ่งอยู่ห่างกันพอประมาณในป่าช้านั้น

ความมืดเริ่มเข้ามาเยือน พร้อมกับความเงียบวังเวง อากาศเย็นก็โชยมาตามกระแสลมไม่ได้ยินเสียงผู้คนเพราะหมู่บ้านอยู่ห่างไกลได้ยินแต่เสียงสัตว์บางครั้งก็เสียงแมลงบางชนิดฟังดูมีอาการเย็นที่เท้าที่มือ หลังจากได้สวดมนต์แล้วต่างก็เข้าที่หวังจะภาวนาเอาธรรมะเป็นเพื่อน ความที่จิตยังตื่นกวัดแกว่งประกอบกับสัญญาที่มองเห็นศพที่ถูกเผา สังขารเกิดปรุงขึ้นผสมสัญญาเก่าในเรื่องผี จะภาวนาอย่างไรจิตก็ไม่สงบฟุ้งซ่านพิกล อากาศก็เย็นลงอีกเกิดปวดปัสสาวะขึ้นมาอีก ความรู้สึกก็ทวีมากขึ้นจนท้องแข็ง โผล่จะออกจากกลดเพื่อไปปัสสาวะ จิตก็ปรุงต่อไปอีกว่า “ผีมันคงมานั่งเฝ้ากองไฟ ดูการไหม้ของร่างกายของมันแน่ๆ” ขยับแล้วขยับอีกก็ปวดหนักขึ้นมาอีก พยายามนิ่งไว้ให้ความปวดทุเลา เปิดมุ้งกลดเอาหัวโผล่ ๓-๔ ครั้งไม่กล้าออกจากกลด ครั้นจะเรียกสามเณรสิมออกมาเป็นเพื่อนก็เกรงเพื่อนจะว่าขี้ขลาดตาขาว

สามเณรจามตัดสินใจพุ่งตัวออกจากกลดเพราะฉี่จะราดแล้ว น้ำปัสสาวะซึมออกมาแล้ว รีบวิ่งไปที่โล่งแล้วก็ปล่อยออกทันที ด้วยอาการเหลียวหน้าเหลียวหลังเพราะความกลัวจนสุดขีด ปัสสาวะไม่สุดสักที ใช้เวลานานเพราะกลั้นไว้นาน

ขณะที่น้ำปัสสาวะกำลังออกมา ได้สติดีขึ้นโดยลำดับเกิดปัญญาออกมาว่า “เอ ก็ไม่เห็นมีอะไร ผีมาหลอกก็ไม่ทำร้ายให้ถึงตายได้” ถามตัวเองว่า “เรากลัวอะไร” และจะหาคำตอบของความกลัวนั้น “ใครทำให้เรากลัว” ตาก็มองไปดูที่กองไฟกำลังครุกรุ่นไหม้ศพอยู่ใกล้จะหมดแล้ว เมื่อปัสสาวะสุดดีแล้ว ขณะนั้นความกลัวลดลง แต่ยังหวาดผวาอยู่ จึงตัดสินใจเดินไปดูที่กองฟอน เพื่อให้แน่ใจและจะหาคำตอบของความกลัวนั้น จากนั้นเขี่ยดุ้นฟืนเข้าไปในเตาเผา ซึ่งเป็นเตาเผาศพบ้านนอกก่อแบบชาวบ้านง่ายๆ เมื่อเขี่ยฟืนเข้าไปทั้งสองเตาไฟก็ลุกโพลงขึ้น

ท่านพิจารณาทบทวนเหตุการณ์ตั้งแต่เกิดความรู้สึกกลัว จนถึงขณะนั้นจึงได้คำตอบว่า “ที่กลัวเพราะกลัวจิตตนเองที่กิเลสบังคับให้ปรุงแต่งให้จิตฟุ้งซ่านไป เพราะขาดสติปัญญา กิเลสเข้าครอบงำปัญญา ธรรมะจึงไม่เกิด เมื่อธรรมะเกิดเพราะมีสติปัญญามาทันก็ไม่กลัว” ท่านว่า “ธรรมะย่อมชนะกิเลส ถ้ามีสติปัญญาพร้อม” “กิเลสทำให้เรากลัว เราไม่ได้กลัวผีกลัวจิตของเราที่ปรุงแต่งไปต่างหาก” แต่ส่วนลึกของจิตใจยังมีข้อสงสัยว่า “ผีมีจริงหรือ” จะต้องพิสูจน์แต่ที่แน่ๆ คือ “เราไม่กลัวผี” แล้ว

ขณะที่สามเณรจามอยู่กับหลวงปู่มั่น สามเณรจามได้มีสหธรรมิกที่เป็นเพื่อนสามเณรด้วยกัน คือ สามเณรสิม (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร) และมีศิษย์หลวงปู่มั่นที่จำพรรษาอยู่เท่าที่จำได้คือ หลวงปู่สิงห์ ขนฺยาคโม, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ, พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นต้น ต่อมาหลวงปู่มั่นจะปลีกตัวออกไปวิเวกที่อื่น จึงฝากสามเณรจามไว้ให้อยู่ในความดูแลของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม

หลวงปู่สิงห์ได้เดินทางไปสร้างวัดป่าบ้านเหล่างา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และนำกองทัพเผยแผ่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สามเณรจามได้ติดตามไปช่วยงานสร้างวัดและได้รับฟังการอบรมธรรมะตามโอกาสขณะที่ไปเผยแผ่ธรรมะจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม เป็นต้น

ขบวนกองทัพธรรมนำโดยหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม นั้นมีครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถปัญญาบารมีเฉพาะตัวหลายอย่างแตกต่างกัน หลวงปู่สิงห์จะเน้นด้านปัญญา ด้านหลักธรรมไตรสรณาคมน์ เป็นหลัก หลวงปู่ดี ฉันโน จะเน้นด้านกสิณมีฤทธิ์ สามารถปราบความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผี ได้รื้อศาลต่างๆ ที่นับถือผีอยู่เดิม ถ้ามีข่าวว่ามีผีเฮี้ยนที่ไหนท่านจะเดินทางไปปราบแล้วสั่งสอนชาวบ้านให้ยึดมั่นไตรสรณาคมน์ ทำให้สามเณรจามได้สนใจศึกษาทางสมถะภาวนาเพื่อให้มีพลังกสิณ และฝึกฝนจนประสบผลสำเร็จตามที่มุ่งหวัง

ด้วยความมุ่งมั่นพากเพียรปฏิบัติตามแนวทางพระกรรมฐานอย่างเด็ดเดี่ยว เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สามเณรจามเป็นโรคเหน็บชาถึงขั้นวิกฤติเพราะได้บำเพ็ญในระดับขั้นอุกฤษฏ์ เพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์ในชาตินี้ ทั้งอดอาหาร ทั้งอดนอน อธิษฐานอดอาหาร ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน บางช่วงจะออกบิณฑบาตเพื่อฉันเฉพาะวันพระ และอดนอนเพื่อทำความเพียรภาวนาหลายวันติดต่อกันเป็นระยะๆ ตลอดไตรมาส จึงเป็นเหตุให้ร่างกายขาดอาหารและพักผ่อนน้อยเกินไป จนทำให้ร่างกายอ่อนเพลียอ่อนกำลัง คำนึงในใจว่าชีวิตนี้เราคงสิ้นหวังกระมัง

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13090

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

Go to full version