กระดานสนทนาวัดบางพระ

หมวด ธรรมะ และ นอกเหตุ เหนือผล => ธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: รวี สัจจะ... ที่ 28 มี.ค. 2553, 09:37:07

หัวข้อ: ขันติธรรม ขันติธรรมและขันติธรรม...
เริ่มหัวข้อโดย: รวี สัจจะ... ที่ 28 มี.ค. 2553, 09:37:07
วันอาทิตย์ที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓
ริมฝั่งโขง มุกดาหาร ชายขอบประเทศไทย
       ในยุคแห่งความสับสนวุ่นวายและสิ่งยั่วยวนที่มากมาย คุณธรรมข้อหนึ่งกำลังจะหายไป
จากจิตใจของชาวโลกทั้งหลาย คุณธรรมที่ว่านั้น คือ ขันติ ความอดทน อดกลั้นและอดออม
ทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ คือทั้งภายนอกและภายใน จึงต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำๆนี้
       ความหมายของคำว่าขันติ หมายถึงความอดทนต่อสิ่งที่ไม่ดี เพื่อจะยืนหยัดในทางที่ดี
อันมีลักษณะ ๒ อย่างคือ ๑.อดทนเพื่อให้พ้นจากสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย
                              ๒.อดทนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ดี หนีจากสิ่งที่ไม่ดี
       อันว่าขันติความอดทน อดกลั้นนั้น มิใช่หมายความว่า เราอยู่ในสภาพอย่างไร ก็ทนอยู่
ในสภาพอย่างนั้น ไม่รู้จักขวนขวายเสาะแสวงหาพัฒนา พยายามทำให้ดีขึ้นกว่าสภาพที่เป็นอยู่
ความอดทนอย่างนั้น ไม่เรียกว่าขันติธรรม แต่เป้นการปล่อยวางธุระ ความดื้อด้าน ขี้เกียจมักง่าย
      ลักษณะที่จะจัดว่าเป็นขันติธรรมนั้น ต้องประกอบด้วย ความรู้สำนึกผิดชอบ ชั่วดี บาปบุญ
คุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ อันประกอบด้วยเหตุและผล ซึ่งเกิดขึ้นกับใจของเราเอง
แล้วรู้จักระงับยับยั้ง โทสะความเดือดดาลเร้าร้อนในใจของเราลงเสียให้ได้ โดยการมีสติระลึกรู้
อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น แล้วขับไล่อารมณ์ฝ่ายต่ำคือความรุ่มร้อน ความโกรธความขุ่นเคือง
ให้มันดับไป จากจิตจากความคิดของเราให้ได้ อย่างนี้แหละคือ ขันติธรรมความอดทนอย่างแท้จริง
ซึ่งสิ่งที่เราต้องอดกลั้นอดทนนั้นคือ  อดทนต่อความยากลำบากตรากตรำทางกายความเจ็บไข้ได้ป่วย
ความร้อน ความหนาว ความเหนื่อยล้่าในการทำงานและความอดทนต่ออำนาจกิเลสฝ่ายต่ำอันได้แก่
โลภะ โทสะ และโมหะ สิ่งกระตุ้นฝ่ายต่ำทั้งหลาย
      สิ่งที่จะได้รับจากความอดกลั้นอดทนหรือที่เรียกว่าอานิสงค์ของขันติธรรมนั้นก็คือ เป็นเหตุให้
งานสำเร็จลุล่วงไป  เป็นเหตุให้ไม่เสียสติสัมปชัญญะและเป็นเหตุให้ไม่ทำอะไรพลาดพลั้งตามกำลัง
ของกิเลสตัณหา ความโกรธ ความโลภ ความหลง เพื่อให้เราดำรงค์อยู่ในคุณธรรมความดี ซึ่งการที่จะ
กระทำให้เกิดขันติธรรมขึ้นมาได้นั้น ต้องกลับไปที่การมีสติสัมปชัญญะ การระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อม
ซึ่งต้องเกิดจากฝึกฝน เจริญสติอยู่เนืองๆ เมื่อสติมีกำลังคือระลึกรู้ได้รวดเร็วกับสิ่งที่มากระทบทั้งภาย
นอกและภายใน คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและจิตของตนเอง ได้ทันท่วงที รู้จักคิดและพิจารณาหาเหตุผล
ให้เห็นคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ เราก็จะยับยั้งอดทน อดกลั้น กับอกุศลฝ่ายต่ำนั้นได้
แต่ทุกอย่างนั้นต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยการหมั่นฝึกฝนเจริญสติอยู่อย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นความเคยชิน
เมื่อเรารักษาสติได้จนดีมีกำลังดีแล้ว สตินั้นจะกลับมารักษาคุ้มครองเรา....
                         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตในทางธรรม
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๘ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๒๑.๓๗ น. ณ ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย
หัวข้อ: ตอบ: ขันติธรรม ขันติธรรมและขันติธรรม...
เริ่มหัวข้อโดย: ~@เสน่ห์เอ็ม@~ ที่ 28 มี.ค. 2553, 10:20:18
ขอบพระคุณพระอาจารย์สำหรับคำสอนดีๆนะครับ  :054:
หัวข้อ: ตอบ: ขันติธรรม ขันติธรรมและขันติธรรม...
เริ่มหัวข้อโดย: ~เสน่ห์ack01~ ที่ 29 มี.ค. 2553, 04:46:36
กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ขอบพระคุณสำหรับเรื่องขันติธรรมครับ...
หัวข้อ: ตอบ: ขันติธรรม ขันติธรรมและขันติธรรม...
เริ่มหัวข้อโดย: derbyrock ที่ 29 มี.ค. 2553, 09:34:47
หมั่นฝึกฝนเจริญสติอยู่อย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นความเคยชิน
เมื่อเรารักษาสติได้จนดีมีกำลังดีแล้ว สตินั้นจะกลับมารักษาคุ้มครองเรา.

กราบนมัสการพระอาจารย์ ผมจะพยายามปฎิบัติตามที่พระอาจารย์สั่งสอนครับ