ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงปู่คร่ำ วัดวังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง  (อ่าน 47197 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด


พระมงคลศีลาจารย์ หรือหลวงปู่คร่ำ ยโสธโร

ชาววังหว้าและหมู่บ้านใกล้เคียงเรียกนามท่านว่า”ท่านพ่อคร่ำ”ท่านมีอายุ๑๐๐ปีบริบูรณ์เมื่อวันที่๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๐
ี่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๐ พรรษา๘๐นับเป็นพระเถระที่มีพรรษาสูงสุดของเมืองไทย
รูปหนึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ศรัทธาของประชาชนทั่วประเทศ
หลวงปู่คร่ำเป็นพระภิกษุที่มีบุญญาบารมีเป็นที่ปรากฏแก่ประชาชนมาเป็นเวลานานแล้ว
ท่านมีคุณูปการแก่สังคมหลายวงการอย่างกว้างขวาง ทั้งฝ่ายศาสนจักรและ
อาณาจักรทั้งในจังหวัดระยองและจังหวัดอื่นๆและเป็นปูชนียบุคคลที่ได้รับการเคารพและ
คารวะศรัทธาเป็นอย่างสูงจากชาวพุทธทั่วประเทศ
เห็นได้จากงานพุทธาภิเษกที่สำคัญที่จัดในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง หลวงปู่จะได้รับนิมนต์ไปร่วมพิธีเกือบทุกครั้ง

เนื่องจากมีผู้ให้ความเคารพศรัทธาหลวงปู่คร่ำจำนวนมากต่างพากันยึดหลวงปู่เป็นสรณะในยามที่ต้องเผชิญกับภาวะ
คับขัน ทั้งยังขอพรบารมีจากท่านช่วยบันดาลใช้ประสบโชคลาภ ประสบความสำเร็จสมปรารถนา
มีความสุขสมหวังในชีวิตจึงมีผู้ให้สมญานามท่านว่า”เทพเจ้าของชาวระยอง”บ้าง”ท่านพ่อแห่งฝั่งทะเลตะวันออก”
บ้าง”เทพเจ้าแห่งภาคตะวันออก”ฯลฯรวมความว่าหลวงปู่คร่ำเป็นพระที่อยู่ในใจของทุกคน

กำเนิดหลวงปู่คร่ำมีนามเดิมว่า คร่ำ อรัญวงศ์ ท่านเกิด วันพุธ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีระกา
ตรงกับวันที่๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ที่บ้านวังหว้า ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โยมบิดาชื่อ
นายครวญ อรัญวงศ์ โยมมารดาชื่อ นางต้อย อรัญวงศ์
หลวงปู่เป็นบุตรคนโต มีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน๓คนเป็นชายสองหญิงหนึ่งคือ
๑. นางเลื่อม อรัญวงศ์
๒. นายเกิด อรัญวงศ์
๓. นายทองสุข อรัญวงศ์

ต้นตระกุลของหลวงปู่
ตั้งรกรากอยู่ที่บ้านวังหว้ามาช้านานหลายชั่วอายุคนมีญาติพี่น้องมากมายหลายสาย
หลายตระกุลครอบครัวของท่านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในย่านนั้น เฉพาะอย่างยิ่ง
อาชีพทำสวนพริกไทย ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อของอำเภอแกลงในสมัยนั้นเช่นเดียวกับจังหวัดจันทบุรี
ที่มีเขตแดนติดกัน(เดิมอำเภอแกลงขึ้นอยู่กับจันทบุรี)

เล่ากันว่าเมื่อหลวงปู่อายุได้ ๑๕ ปี หลังจากไปเรียนหนังสือที่วัดระยะหนึ่งแล้ว
ก็กลับมาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพสวนพริกไทย ดังที่บรรพบุรุษทำกันมา แต่ครั้งนั้นได้เกิดฝนแล้งไปทั่ว
บรรดาสวนพริกไทยในละแวกนั้นทั้งหมดได้พากันเหี่ยวแห้งเฉาตายชาวบ้านแถบหมดตัวไปตามๆกันทุกครัวเรือนครอบครัว
หลวงปู่คร่ำจึงได้เลิกทำสวนพริกไทยและหันไปประกอบอาชีพอื่นตั้งแต่นั้นมา
การศึกษา เมื่อเยาว์วัย หลวงปู่คร่ำเป็นเด็กฉลาดมีไหวพริบปฏิภาณดี
เมื่ออายุได้ประมาณ๑๑ปีโยมบิดาได้นำไปฝากเรียนหนังสือกับพระอาจารย์ตรีเจ้าอาวาสวัดวังหว้า ตำบลวังหว้า
ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน โดยจัดพานดอกไม้ธูปเทียน

เครื่องสักการะนำไปถวายในวันพฤหัสบดี(วันครู)ตามประเพณีการเล่าเรียนและการบวชเรียนของสังคมไทยเราแต่โบราณมา
ในสมัยนั้นต้องเรียนกันตามวัด อาศัยวัดเป็นโรงเรียน มีพระเป็นครูสอน
การเรียนไม่มีหลักสูตรกำหนดไว้ชัดเจนเช่นปัจจุบันแต่พระก็สอนจนลูกศิษย์สามารถอ่านออกและเขียนได้เป็นอย่าง
ดีทั้งอักษรไทยและอักษรขอมซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากเนื่องจากตำราต่างๆสมัยก่อนเฉพาะอย่างยิ่งคัมภีร์ทาง
พุทธศาสนาจะเขียนด้วยอักศรขอมทั้งสิ้น ไม่มีหนังสือที่พิมพ์ด้วยอักษรไทยเช่นทุกวันนี้
ผู้ที่เรียนหนังสือจะต้องเรียนภาษาไทยควบคู่ไปกับภาษาขอมด้วยเสมอ

การเรียนของหลวงปู่คร่ำนั้นมิได้เรียนเฉพาะที่วัดวังหว้าเท่านั้นท่านยังไปเรียนต่อกับสมภาร
หลำ ที่วัดพลงช้างเผือก ซึ่งอยู่ใกล้กับตำบลวังหว้าอีกด้วยเรียนอยู่จนอายุได้๑๕ปี
มีความรู้หนังสือดีแล้วจึงได้กลับไปอยู่กับบิดามารดาตามเดิม เพื่อช่วยเหลือครอบครัวประกอบอาชีพต่อไป
สมณเพศ เมื่ออายุครบ๒๐ปีหลวงปู่ได้อุปสมบทที่วัดวังหว้าเมื่อวันจันทร์ แรม ๗ ค่ำ ปีมะเส็ง
ตรงกับวันที่๑๑มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้รับฉายาว่า”ยโสธโร”แปลว่าผู้ทรงไว้ซึ่งยศหรือผู้ดำรงยศ
พระอุปัชฌาย์ คือ พระครูสังฆการบูรพทิศ (ปั้น อินทสโร) เจ้าคณะแขวงแกลงวัดราชบัลลังก์
พระกรรมวาจารย์ คือพระใบฎีกาหลำ ปัญญายิ่ง รองเจ้าคณะแขวงแกลง วัดพลงช้างเผือก
พระอนุสาวนาจารย์ คือพระอธิการเผื่อน เจ้าอาวาสวัดวังหว้า

หลวงปู่คร่ำมุ่งศึกษาด้านพระธรรมวินัยซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของพุทธศาสนาและหลักธรรมของ
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยนั้นวัดวังหว้ายังไม่มีสำนักสอนธรรม
หลวงปู่ต้องไปเรียนที่วัดพลงช้างเผือก และสอบได้นักธรรมตรีและโทเป็นลำดับ
นอกจากเรียนรู้พระธรรมวินัยเป็นพื้นฐานแล้ว ท่านยังศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ
และตำรับยาสมุนไพรจนมีความรู้ความสามารถนำไปใช้บำบัดรักษาช่วยเหลือชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
ในสมันที่ยังไม่มีสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลดังเช่นทุกวันนี้ วิชาที่หลวงปู่ชำนาญเป็นพิเศษ คือ
กรรมวิธีต่อและประสานกระดูกอันเกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ

มีผู้มารับการรักษาที่วัดวังหว้าเป็นประจำและหายกลับไปทุกคน จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว
การศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐานและพุทธาคม หลวงปู่ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของ
พระครูนิวาสธรรมสาร(หลวงพ่อโต) วัดเขากะโดนและวัดเขาบ่อทอง
ซึ่งหลวงพ่อโตเป็นพระที่เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากรรมฐานชำนาญการธุดงควัตร เป็นผู้มีพลังจิตรแก่กล้า
และวิทยาคมขลังเป็นเลิศ
หลวงปู่คร่ำได้ร่ำเรียนด้วยอุตสาหะพากเพียรจนมีความรู้ความชำนาญในวิชาอาคมหลายด้านเมื่อกลับมาที่วัดวังหว้า
ก็ได้ฝึกฝนพลังจิตเจริญสมาธิภาวนาโดยตลอดมิได้ขาด
ในกาลต่อมาหลวงปู่ได้ใช้วิทยาคมที่ได้ฝึกฝนร่ำเรียนมานั้นให้เป็นประโยชน์
ต่อญาติโยมและบุคคลทั่วไปนานัปการจนชื่อเสียงเกียรติคุณขจรไกลไปทั่วเมืองไทยและต่างประเทศ
สิ่งหนึ่งที่หลวงปู่ยึดมั่นโดยตลอดคือ กตัญญุตาการรำลึกถึงคุณของบูรพาจารย์
ทุกปีของหลวงปู่จะประกอบพิธีไหว้ครู ตามหลักปฏิบัติสืบเนื่องมาไม่เคยขาด
จึงส่งผลให้หลวงปู่คร่ำเจริญยิ่ง ด้วยชื่อเสียงเกียรติคุณตลอดมา
การปกครองและอบรมสานุศิษย์หลังจากหลวงปู่อบรมได้ ๔ พรรษา

พระอธิการเผื่อนเจ้าอาวาสวัดวังหว้าได้มรณภาพลงหลวงปู่คร่ำได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เจ้าอาวาสสืบแทน
หลวงปู่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุสงฆ์โดยทั่วไป จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆดังนี้
ปี พ.ศ. ๒๔๖๔เป็นเจ้าอาวาสวัดวังหว้า
ปี พ.ศ. ๒๔๗๔เป็นเจ้าคณะหมวดเนินฆ้อ
ปี พ.ศ. ๒๔๗๙เป็นเจ้าคณะตำบลเนินฆ้อ
ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่อหลวงปู่สูงอายุขึ้น สุขภาพพลานามัยไม่สมบูรณ์ จึงลาออกจากเจ้าคณะตำบลเนินฆ้อ
มุ่งสร้างเสนาสนะและปฎิสังขรณ์วัดวังหว้าจนเจริญรุ่งเรืองตราบเท่าทุกวันนี้
หลวงปู่คร่ำได้อบรมสั่งสอนศิษย์ให้ยึดมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควร ท่านได้กำหนดระเบียบการปกครองของวัดวังหว้า
ให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติและระเบียบคณะสงฆ์ กฎมหาเถรสมาคม รวมทั้งระเบียบต่างๆของทางราชการทุกประการ
กฎระเบียบของวัด ภิกษุสามเณรทุกรูปในวัด ต้องยึดถืออย่างเคร่งครัดต้องตั้งใจเล่าเรียนพระธรรมวินัย
ต้องทำวัตรทุกเช้าเย็น ภายในบริเวณวัดงดเว้นอบายมุขทุกชนิด

ของดีหลวงปู่
วัตถุมงคล เครื่องรางของขลังของหลวงปู่คร่ำ มีมากมายหลายอย่าง ทั้งตะกรุดโทน
สีผึ้งเมตรตา ผ้ายันต์ น้ำมันงา และเหรียญแบบต่างๆสิ่งที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของหลวงปู่คร่ำ คือ
ผ้ายันต์พัดโบก ชื่อเต็มว่า”ผ้ายันต์พัดโบกมหาลาภหลวงปู่คร่ำ วัดวังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง”แบ่งเป็นสองท่อน
ท่อนบนสีแดงท่อนล่างสีขาวประกอบด้วยรูปหลวงปู่และยันต์หลายชนิด
ผ้ายันต์พัดโบกนี้หลวงปู่ทำขึ้นเพื่อป้องกันวาตภัย ทั้งลมและฝนในยามที่มรสุมรุนแรง
จะพัดทำความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนผ้ายันต์พัดโบกจะโบกให้ลมเปลี่ยนทิศทาง
รวมทั้งโบกเอาความชั่วร้ายอื่นๆมิให้กล้ำกรายมาถึงบ้านเรือนของผู้ที่ครอบครองผ้ายันต์นี้ได้



ผ้ายันต์พัดโบก
เป็นยันต์พัดโบกให้ร้านค้าต่างๆโบกนำลาภผลเข้าสู่อาคารร้านค้าอีกด้วยบรรดาบ้านเรือนแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก
เกือบทุกบ้านจะมีผ้ายันต์พัดโบกหลวงปู่คร่ำไว้คุ้มภัยและเป็นมงคลแก่บ้านเรือน
รวมไปถึงกรุงเทพฯและจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศไทยก็ปรากฏยันต์พัดโบกของหลวงปู่คร่ำอยู่ทั่วไปแม้แต่ในประเทศ
ลาว ผ้ายันต์พัดโบกหลวงปู่คร่ำยังโบกสะบัดไปถึงเวียงจันทน์
ในประเทศเขมรซึ่งเป็นดินแดนแห่งไสยศาสตร์
ผ้ายันต์พัดโบกของหลวงปู่ก็โบกไปทั่วจากคนไทยที่ไปทำมาค้าขายที่นั่น

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
ตลอดระยะเวลาที่อยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัตร์หลวงปู่ปฏิบัติตนสำรวมในศีลอย่างเคร่งครัดได้รับความเคารพนับถือ
และศรัทธาจากสานุศิษย์และมหาชนทั่วประเทศที่เดินทางมานมัสการทุกวัน
หลวงปู่จะนั่งพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้พูดคุยด้วยถ้าพอมีเวลา
ใครขอให้ช่วยทำอะไรถ้าไม่ขัดต่อศีลธรรมและเป็นเรื่องที่ดีงามแล้ว
หลวงปู่ไม่เคยขัดช่วยทุกเรื่องตั้งแต่เริ่มเป็นเจ้าอาวาสเป็นต้นมา ไม่เคยอยู่นิ่งเฉยสร้างวัด
สร้างโรงเรียนหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำบลวังหว้าทุกโรงเรียน
หลวงปู่ได้มีส่วนช่วยก่อสร้างและทะนุบำรุงตลอดเวลา
สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูประทวน
พ.ศ. ๒๔๘๑
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท

พ.ศ. ๒๕๓๗
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก

พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ
ที่พระมงคลศีลาจารย์

อาพาธ
เนื่องจากหลวงปู่อายุมาก แต่หลวงปู่ยังปฏิบัติกิจนิมนต์ต่างๆตลอดมา
ต้อนรับสาธุชนจากสารทิศทุกวัน แม้บางวันจะเหน็ดเหนื่อยจนลุกแทบไม่ได้ แต่เมื่อมีผู้คนมาคอยพบมากมาย
หลวงปู่จะพยายามลุกขึ้นลำให้ศิษย์ประคองออกมาประพรมน้ำมนต์แก่ผู้มากราบไหว้บูชา
จนร่างกายเสื่อมโทรมแพทย์ประจำตัวต้องคอยปรนนิบัติอย่างใกล้ชิด ในที่สุดกรรมการวัดและศิษย์ผู้ใกล้ชิด
มีความเห็นร่วมกันว่าควรให้พักผ่อนให้มาก จึงได้นำไปบำบัดโรคพยาธิในโรงพยาบาล เพื่อพักฟื้นหลายครั้ง
แต่หลวงปู่จะพักในโรงพยาบาลไม่นาน รบเร้าต่อแพทย์และผู้ใกล้ชิดให้ส่งกลับวัดตลอดเวลา
จึงไปๆมาๆระหว่างวัดและโรงพยาบาลโดยตลอด ในที่สุดแพทย์จากดโรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา
ตรวจพบว่าหลวงปู่มีเนื้อร้ายที่ลำคอจึงได้นิมนต์ให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา
โดยไม่คิดค่ารักษาแต่ประการใด ตลอดระยะเวลาหลายเดือน

มรณภาพในที่สุดแห่งชีวิตที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ หลวงปู่ได้ละสังขารถึงแก่มรณภาพ
ในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๐ เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา ด้วยอาการสงบ ณ. โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา
ท่ามกลางความเศร้าโศกอาลัยของสานุศิษย์และสาธุชนทั่วประเทศนับล้านคนที่ได้ทราบข่าว
ต่างหลั่งไหลมากราบไหว้ เคารพศพที่วัดวังหว้าตลอดเวลา ๑๕ วัน ที่บำเพ็ญกุศล
นับเป็นบุญญาบารมีของหลวงปู่โดยแท้


ขอขอบคุณจากหนังสือ
อนุสรณ์พระมงคลศีลาจารย์(หลวงปู่คร่ำ ยโสธโร
)