ผู้เขียน หัวข้อ: มนุษย์เกิดมาทำไม โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก  (อ่าน 2019 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายธรรมะ

  • ดีชั่วอยู่ที่ตัวทํา สูงต่ำอยู่ที่ทําตัว
  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 615
  • เพศ: ชาย
  • เหนื่อย ได้แต่อย่า ท้อ
    • ดูรายละเอียด
มนุษย์เกิดมาทำไม โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

พลิกนิดเดียว ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


เหตุดี ผลก็ดี เหตุไม่ดี ผลก็ไม่ดี
พิจารณาให้ดีเถิด
เราอาจจะเกิดมาไม่มีพ่อ หรือไม่มีแม่ หรือไม่มีทั้งพ่อและแม่
เราอาจจะเกิดมายากจน
เราอาจจะถูกกลั่นแกล้งอยู่เรื่อยๆ
บางวัน เราอาจจะเป็นทุกข์และไม่สบายใจ
แต่วันนี้ เราอาจจะเป็นสุขและมีความพอใจมากที่สุดในชีวิต
วันนี้ เราอาจจะไม่มีอะไรจะเสียแล้ว
เท่านี้เราก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า
ทุกอย่างดำเนินไปตามเหตุปัจจัยที่สมบูรณ์ที่สุดเสมอ
จงก้าวไปสู่อนาคตด้วยความเข้าใจเช่นนี้
จงมั่นใจในผลกรรมและเชื่อในเหตุปัจจัยอย่างสมบูรณ์เถิด
จงทำความดี ละความชั่ว มีเมตตาแก่ตนและสรรพสัตว์
และยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วยจิตที่สงบ


โลกนี้สมบูรณ์แล้วด้วยกรรม
เรามีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว
วันนี้เราอาจทุกข์ แต่พรุ่งนี้เราก็อาจจะเป็นสุข
ทุกอย่างไม่แน่นอน
ให้อยู่กับปัจจุบันตลอดเวลา และทำใจให้เป็นสุข
อย่าลืมทำเหตุให้ดีตั้งแต่วันนี้ เพื่อผลที่ดีในวันนี้
และวันข้างหน้า
เรามีหน้าที่รักษาข้อวัตร และทำให้ดีที่สุดเสมอเท่านั้น
นอกจากนั้น เขาจะ “เป็นไปเอง” ตามเหตุปัจจัยของเขา

คั้นส้ม กวาดบ้าน ฯลฯ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิยังคิดไม่ถูก ยังคิดไม่เป็น ยังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ
ท่านอาจารย์สอน เมื่อเห็นเราหงุดหงิดขณะที่คั้นส้ม
เพราะรู้สึกว่าเสียเวลามาก
ท่านบอกว่า “ต้องทำความเห็นให้ถูกต้อง ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ”
ทำงานต้องทำด้วยสติสัมปชัญญะและความพอใจ
ขณะที่คั้นส้ม การคั้นส้มเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในโลก
อย่างอื่นในโลกไม่สำคัญ
ขณะที่กวาดบ้าน การกวาดบ้านเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในโลก
อย่างอื่นในโลกไม่สำคัญ
ขณะที่ทำอาหารให้ลูก การทำอาหารให้ลูกเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในโลก
เรื่องอื่นในโลกไม่สำคัญ
ฯลฯ
คั้นส้มก็ให้รู้อยู่ว่ากำลังคั้นส้ม ให้สติอยู่กับการคั้นส้ม
ให้ทำด้วยความพอใจ
กวาดบ้านก็ให้รู้อยู่ว่ากำลังกวาดบ้าน ให้สติอยู่กับการกวาดบ้าน
ให้ทำด้วยความพอใจ
ทำอาหารให้ลูก ก็ให้รู้ว่ากำลังทำอาหารให้ลูก
ให้สติอยู่กับการทำอาหาร ให้ทำด้วยความพอใจ
ฯลฯ
การคั้นส้มก็ดี การกวาดบ้านก็ดี การทำกับข้าวก็ดี การทำอะไรทุกๆ อย่างให้ถือว่าเป็นข้อวัตรปฏิบัติ เป็นหน้าที่ ต้องเอาใจใส่ ทำด้วยความตั้งใจ และทำดีที่สุด
ทำเพื่อเพิ่มความดีของเราเอง
ทำเพื่อตัวเราเอง
ทำเพื่อขัดเกลากิเลสของเรา
ทำเพื่อละทิฏฐิมานะของเรา
อย่าคิดว่าทำให้คนอื่น
อย่าคิดว่าต้องทำเพราะคนอื่นไม่ทำ
อย่าคิดว่าต้องทำเพราะคนอื่นให้เราทำ
เรามีหน้าที่ เราก็ทำให้ดีที่สุด คิดอย่างนี้เราก็ไม่เป็นทุกข์ ใจก็จะสงบมีปีติได้ตลอดเวลา เป็นสัมมาทิฏฐิ
ภาวนาให้มากๆ นะ
ปรับปรุงความคิดความเห็นของเราให้ถูกต้อง
โยนิโสมนสิการ ยกอารมณ์กรรมฐานขึ้นพิจารณาบ่อยๆ นะ

ทุกข์
“เคยทุกข์แทบจะตายไหม” ท่านอาจารย์ถาม
ถ้าทุกข์หรือหดหู่ ให้รู้อยู่ว่าทุกข์หรือหดหู่ ไม่ต้องปรุงแต่ง
ให้อดทนเพ่งความทุกข์ความหดหู่ใจอยู่อย่างนั้น
ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
ประคับประคองจิต ไม่ให้เอียงไปทางซ้าย ไม่ให้เอียงไปทางขวา
ทำใจให้เป็นกลางๆ
กำหนดรู้อยู่อย่างนั้น นั่งก็รู้ เดินก็รู้
กำหนดไป กำหนดไป ก็จะรู้ชัดขึ้นๆ
จะเห็นเป็นความว่าง ต่างหาก
เห็นว่าความทุกข์ก็ดี ความหดหู่ก็ดี เป็นสักแต่ว่าความรู้สึกเท่านั้น
ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
เป็นเพียงอุปาทานเท่านั้น
อุปาทานว่าเราหดหู่ อุปาทานว่าเราทุกข์นั้นแหละ
จริง ๆ แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงได้ และจะเปลี่ยนไปเอง
เมื่อมีอารมณ์ใหม่เข้ามาแทนที่
เพราะมันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เราทุกข์ เราหดหู่ เพราะอุปาทาน ความยึดมั่นนั่นแหละ
อาศัยความอดทน อดกลั้น ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนา

เพ่งพิจารณาความไม่เที่ยง ไม่แน่นอน
แล้วความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกหดหู่ใจ ก็จะเปลี่ยนแปลง
เพราะ สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
แล้วเราจะรู้ชัดขึ้นๆ

ความหดหู่เป็นอาคันตุกะ
เขามาเยี่ยมเฉยๆ แล้วก็ไป ไปแล้วก็มาใหม่
ถ้าเราหยุด วางเฉย เขาก็อยู่ไม่ได้
อย่าเพลิดเพลินกับการตามอารมณ์นะ
แขกมาหา จะไล่เขาไปก็ไม่ได้ เดี๋ยวเขาจะโกรธเอา
ต้อนรับก็ไม่ได้ เขาจะอยู่เฉย
เราเฉยเสีย เขาก็จะไปเอง
เพราะเขาเป็นอาคันตุกะ ไม่ใช่ผู้อยู่ประจำ
ถ้าเขามาก็รู้ว่า อ้อ เขามาแล้ว กำหนดรู้ แล้วก็เฉย
ทำใจให้เป็นอุเบกขา ทำใจเป็นกลางๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
ไม่ตกใจ ไม่กลัว ไม่รังเกียจ
เอาก็ไม่ใช่ ไม่เอาก็ไม่ใช่
กำหนดรู้ไปเรื่อยๆ
จุดหมาย คือความไม่มีทุกข์ และจิตที่สงบ สะอาด สว่าง

ให้เอาทุกข์เป็นอาจารย์
อย่ารังเกียจทุกข์นะ อย่าหนีทุกข์ อย่ากลัวทุกข์
ทุกข์นั่นแหละเตือนเราไม่ให้ประมาท
ให้เกิดปัญญา ให้รู้ ให้เห็น ตามความเป็นจริง ให้เห็นสัจธรรม
ยิ่งทุกข์มากยิ่งดี เมื่อผ่านไปได้ ต่อไปก็ไม่ต้องกลัวอะไร
ต้องอดทนต่อสู้ ด้วยจิตใจที่กล้าหาญ
ทุกข์ที่ไหน กำหนดดูที่นั่น
ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ต้องตามรู้ ตามศึกษา
ค้นหาดูทุกข์
ดูไปๆ ก็จะพบตัณหา อุปาทาน
ตัณหา อุปาทาน นี่แหละ ทำให้เป็นทุกข์
ตัณหา อุปาทาน นี่แหละ ปิดบังไม่ให้เห็นทุกข์
เป็นทุกข์ แต่ไม่เห็นทุกข์
เราจึงต้องจิตใจเข้มแข็ง มุ่งหน้าเข้าไป (พิสูจน์) ดูจึงจะเห็นทุกข์
เมื่อเห็นแล้วก็จะรู้แจ้ง เกิดญาณทัสสนะทั้งรู้ ทั้งเห็น ตามความเป็นจริงว่า
ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น
ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่
ทุกข์เท่านั้นดับไป

นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรเกิด
นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรดับ
สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
สัพเพ ธัมมา อนัตตา
ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อวางเฉยได้ วางทุกข์ได้ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
ทุกข์ก็จะไม่มี หรือมีเหมือนไม่มี

อย่าคิดว่าเราทุกข์
ทุกข์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ทุกข์
ทุกข์ไม่ใช่อยู่ในเรา เราไม่ใช่อยู่ในทุกข์
ทุกข์เราก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
เรามีหน้าที่เพียงกำหนดรู้ทุกข์ที่เกิดขึ้น
กำหนดรู้ทุกข์ที่ตั้งอยู่
กำหนดรู้ทุกข์ที่ดับไป
ทำอย่างนี้เราก็สามารถรับทุกข์ได้
ทุกข์แค่ไหนก็รับได้
ต้องอดทนนะ คนมีปัญญาทนทุกข์ได้

ถ้าเรายังเป็นทุกข์ ก็ยังใช้ไม่ได้ ยังผิดอยู่
ให้พิจารณาอริยสัจ ๔ เสมอๆ
ถ้าเรายังเป็นทุกข์ แสดงว่าเราไม่มีสัมมาทิฏฐิ
เวลาทุกข์เกิดขึ้นให้ดูเข้าข้างใน (ดูจิต)
อย่าไปดูข้างนอก อย่าไปโทษคนโน้นคนนี้
ให้ดูกายกับใจของเรานี่แหละ
ดูให้เห็นว่า ตัณหา อุปาทาน นี้แหละ เป็นตัวต้นเหตุให้ทุกข์เกิด
เป็นมาร เป็นศัตรูที่ร้ายแรงที่สุด
ให้มีขันติ อดทนสู้อารมณ์นั้นๆ
ตามรู้อารมณ์นั้นๆ
รู้แล้วก็ไม่หวั่นไหว
ไม่เดือดร้อนเป็นทุกข์
รู้แล้วไม่หลง ไม่ติด
มีแต่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
นั่นแหละ พระพุทธเจ้าอยู่ที่นี่เอง
ไม่ต้องไปหาที่ไหน
แม้จะต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันก็ยอม
ต้องเอาชนะให้ได้
อาศัย ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอาวุธ
ดูให้เห็น อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้ ความไม่แน่นอน

ธรรมะอยู่ที่ ๕๐ : ๕๐

ถ้าคิดว่า “เขาทำผิด” เขาไม่ควรทำเราอย่างนี้
ให้คิดว่าเราก็ผิด ๕๐ % ด้วย
คิดอย่างนี้เราก็จะไม่โกรธเขา เพราะถ้าโกรธเขาก็ต้องโกรธตัวเราด้วย
และเขาอาจจะไม่ผิดก็ได้ เชื่อไว้ ๕๐ % ก่อน
คิดอย่างนี้เราก็ไม่ทุกข์
ใครเล่าว่า “คนนั้นเขานินทาเราอย่างนั้นอย่างนี้ คนนั้นเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้”
อย่าเพิ่งเชื่อ และก็อย่าเพิ่งปฏิเสธทันที
รับฟังไว้ ๕๐ % ก่อน
อย่าวิพากษ์วิจารณ์ทันที แล้วก็เป็นทุกข์ แล้วก็ปรุงแต่งต่อไป
บ่อยๆ ครั้งเราก็จะโกรธและเสียเวลาคิด เสียอารมณ์ไปโดยเปล่าประโยชน์
อย่าไปทำตามคำพูด ความคิดของใครๆทั้งหมดทันที

ฟังแล้วทำตามเขา ๑๐๐ % ก็มักจะวุ่นบ่อยๆ
เพราะความคิดก็เป็นอนิจจัง เขา (ผู้พูด) อาจจะเปลี่ยนใจก็ได้
เราอาจฟังผิดก็ได้ เขาอาจคิดผิดและเปลี่ยนความคิดใหม่ก็ได้
ถ้าเรารับฟังไว้ ๕๐ % ก่อน
ตั้งสติของเราเข้าไว้ ก็จะปลอดภัย ไม่สับสน ไม่ทุกข์
แม้แต่ความคิดของเราเองก็อย่าเชื่อ ๑๐๐ %
รับฟังไว้ ๕๐ % ก่อน
เพราะเราก็อาจเปลี่ยนความคิดได้
ที่เราคิดว่าถูก จริงๆ อาจผิดก็ได้
ไม่แน่หรอก
สรุปว่า อย่าเชื่อทั้งตัวเรา ตัวเขา อย่าเชื่อทั้งสุข และทุกข์ ๑๐๐%
รับฟังไว้ ๕๐ % ก่อน
ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องแปลกใจตั้งสติเข้าไว้ก่อน
พิจารณาให้ดีก่อน
สุขก็ไม่แน่นอน ทุกข์ก็ไม่แน่นอน
สุขหายไปก็ทุกข์ ทุกข์หายไปก็สุข
ทุกอย่างไม่แน่นอน...ก็เท่านั้นเอง

เขานินทาเรา
เขานินทาเรา เขาด่าเรา เขาแย่งของเราไป ฯลฯ
เราไม่พอใจ เรากำลังจะโกรธ ต้องรีบแก้ไขทันที
“เขา” ไม่สำคัญ สำคัญที่ใจเรากำลังจะเป็นทุกข์
เรากำลังจะผิดศีล กำลังจะผิดข้อวัตรของเรา
ระวังนะ...ถ้าเราเป็นทุกข์ เราก็ผิดข้อวัตรของเราแล้ว
ผิดศีล เราก็บาปแล้ว
เราต้องมีหิริ โอตตัปปะ ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป
ถ้าเราเป็นทุกข์ เราผิดศีล เราก็บาป
ใครเขานินทาเราก็ไม่สำคัญเขาทำอะไรๆ เราก็ไม่สำคัญ สำคัญที่ใจเรา
สำคัญที่ใจเราอย่าเป็นทุกข์เท่านั้นก็พอแล้ว
ไม่ต้องดูใคร ไม่ต้องฟังใคร ดูกายกับใจของเรานี่แหละ
เราต้องเป็นที่พึ่งของเราเอง
อัตตาหิ อัตตโนนาโถ นะ
เราขึ้นอยู่กับคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นไม่ได้หรอก
ระวังนะ... คนโน้นคนนี้ก็ไม่สำคัญหรอก สำคัญที่จิตของเรานี่แหละ
ใครทุกข์ก็ไม่ต้องทุกข์ตามเขา ไม่ต้องโต้ตอบ ไม่ต้องชี้แจง ไม่ต้องกลัว
สำคัญที่ใจเราอย่าเป็นทุกข์นะ
ถ้าเราทุกข์แล้วผิดแล้วนะ ไม่ใช่เขาผิดหรอก
ต้องรีบพิจารณาแก้ไขทันที

พลิกนิดเดียว แล้วอยู่อย่างมีความสุข
คนเราจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์อยู่ที่ความคิดนิดเดียว

พลิกนิดเดียวเราก็จะไม่เป็นทุกข์
พลิกนิดเดียวก็จะเปลี่ยนจากมิจฉาทิฏฐิมาเป็นสัมมาทิฏฐิ
จากความคิดผิดเป็นความคิดถูก
จากทางโลกมาสู่ทางธรรม
พลิกนิดเดียวเราก็จะอยู่ได้อย่างไม่มีทุกข์
อยู่กับปัจจุบันได้อย่างสงบ
ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นแต่ละขณะอย่างสมบูรณ์การเจริญสติปัฏฐาน คือการอยู่อย่างไม่มีความทุกข์ที่จะต้องดับ (ท่อนหลังนี้ เป็นถ้อยคำสำนวนของพระเดชพระคุณพระราชวรมุนี (ปัจจุบันคือ พระ ธรรมปิฏก) ในหนังสือพุทธธรรม ซึ่งบังเอิญเป็นเรื่องเดียวกันพอดีที่ท่านอาจารย์สอนจึงกราบขอ อนุญาตคัดมาประกอบ)การเจริญสติปัฏฐาน หรือการเจริญสมาธิวิปัสสนา ก็เพื่อหัดเปลี่ยนจากการอยู่อย่างมีทุกข์เป็นพื้นฐาน มาเป็นการอยู่อย่างมีความสุขเป็นพื้นฐาน
เพียงแต่มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันให้เต็มที่ในขณะนั้นๆ
ไม่อยู่กับอดีตบ้าง อนาคตบ้าง
รับรู้และเสวยอารมณ์แต่ละขณะอย่างเต็มบริบูรณ์
เห็นความงดงามของปัจจุบัน อย่ามัวแต่อยู่กับอดีตและอนาคต
ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะอย่างสิ้นเชิง

ที่มา : http://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1137.php

จากหนังสือ “พลิกนิดเดียว”
ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
วัดป่าสุนันทวนาราม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
สาขาที่ ๑๑๗ ของวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี



ปกิณณกธรรม
(จาก หนังสือ “ธรรมประทาน”)
ชีวิตสมบูรณ์แล้วทุกประการตามเหตุปัจจัย

นายธรรมะ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากเว็บบอร์ดพลังจิตด้วยครับ
[shake]ศรัทธา ไม่ใช่ ไสยศาสตร์ ศรัทธา เพื่อ ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีความ ศักดิ์สิทธิ์ ย่อมเกิด ปาฏิหาริย์[/shake]

ออฟไลน์ หลังฝน..

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 310
  • เพศ: ชาย
  • ทุกอย่างมีเหตุและผลเสมอ
    • MSN Messenger - webmaster@lifesyt-it.net
    • ดูรายละเอียด
    • www.lifestyle-it.net
ขอบพระคุณสำหรับบทความครับผม.... :001:
ความพยายามนั้นมีอยู่จริงในตัวตนของเรา สุดแท้แต่ความพยายามนั้นจะถูกดึงออกมาใช้ได้มากน้อยแต่เพียงใด