หมวด ผู้ทรงวิทยาคุณ (เกจิอาจารย์) > เกจิอาจารย์ภาคกลางและภาคตะวันตก

หลวงพ่ออุปัชฌาย์ไปล่ ฉนทสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดกำแพง

(1/2) > >>

ณัฐ:
ข้อมูลประวัติ

เกิด                      วันอังคาร เดือน 6 ปีวอก พ.ศ.2403  เป็นคนบางบอนใต้ บางขุนเทียน ธนบุรี  เป็นบุตรของ นายเหลือ  นางทอง  ทองเหลือ

อุปสมบท               อายุ 23 ปี ตรงกับ พ.ศ. 2426  ณ พัทธสีมาวัดกำแพง

มรณภาพ               ปี 2482

รวมสิริอายุ            79 ปี 56 พรรษา

? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ?

เหรียญของวัดนี้มีชื่อเสียงโด่งดังนับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ที่ได้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึก เป็นเหรียญรูปหลวงพ่อไปล่ มีทั้งเนื้อทองเหลืองฝาบาตร และเนื้อสัมฤทธิ์เป็นเหรียญหล่อ ปัจจุบันนี้ก็หาของแท้ดูยากเพราะชื่อดัง จึงมีคนทำปลอมขึ้นแต่ทำเนื้อไม่เหมือนของจริง แม้จะพยายามทำสักเท่าไรก็ไม่เหมือนของจริงเป็นที่น่าอัศจรรย์

ผู้เขียนได้พยายามสืบหาประวัติของท่านมานานปี ที่สุดก็ได้รับความช่วยเหลือจาก
คุณเล็ก ภาณุนันท์ อดีตนายอำเภอบางขุนเทียน อันเป็นเจ้าของท้องที่ที่วัดกำแพงตั้งอยู่
คุณเล็กได้กรุณาไปสอบถามประวัติของหลวงพ่อไปล่ จากผู้ใหญ่แก้ว ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาน
ชายของหลวงพ่อเอง จึงได้เรื่องนำมาเผยแพร่ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบประวัติของท่าน
ผู้เขียนขอขอบพระคุณของท่านทั้งสองดังกล่าวแล้วเป็นอย่างสูง
 

หลวงพ่อไปล่ มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านหมู่ที่ ๖ ตำบลบางบอนใต้อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรีท่านเกิดวันอังคาร เดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ เป็นบุตรนายเหลือ นางทอง นามสกุล ทองเหลือ ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเป็น คหบดี อาชีพเกษตรกร เมื่ออายุ ๘ ขวบ ได้ไปศึกษาหนังสือไทยและขอมกับพระอาจารย์ทัตวัดสิงห์พออ่านออกเขียนได้ ก็ลาจากวัดมาช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพ ท่านเป็นคนมีร่างกายแข็งแรง ใจคอกล้าหาญ ทรหดอดทน กว้างขวางมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นบ้านบาบอนใต้เป็นแดนนักเลงหัวไม้ มีทั้งชนไก่ กัดปลา ข้องอ้อย ฯลฯ เวลาวัดมีงานมักจะนัดตีกันเป็นประจำ สำหรับนายไปล่ พรรคพวกยกย่องให้เป็นลูกพี่ เหตุนี้ทำให้บิดามารดาวิตก เกรงว่าข้างหน้าอาจจะเสียคน เพราะคบเพื่อนไม่เลือกว่าคนดีคนพาล

 

พออายุ ๒๓ ปี ซึ่งเลยปีบวชมาแล้วบิดาจึงขอร้องให้บวชพระให้สัก ๑ พรรษา เมื่อบวชแล้ว ดวงชะตาของท่านจะเป็นอย่างไร ก็เป็นอันหมดห่วง ท่านก็ตกลงจึงเข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดกำแพง อำเภอบางขุนเทียน โดยมีพระอุปัชฌายะ พระอาจารย์พ่วง วัดกกเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ดิษฐ์ วัดกำแพงเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า ฉนทสโร เมื่อบวชแล้วจำพรรษาอยู่วัดกำแพง ทำอุปัชฌายวัตรอาจาริยวัตรตามธรรมเนียมพระนวกะ ผู้บวชใหม่ และศึกษาพระธรรมวินัย ท่องบ่นสวดมนต์จนจบทุกยุคทุกคัมภีร์มีอุตสาหะจดจำได้แม่นยำ และเกิดเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ครบ ๑ พรรษาแล้วเลยไม่ยอมสึก โยมก็ไม่ว่ากระไรด้วยทีแรกตั้งใจว่าบวชแล้วจะขอภรรยาให้จะได้เป็นหลักฐาน เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นอันต้องระงับไป พอพรรษาที่ ๒ ท่านก็พยายามจนท่องพระปาฎิโมกข์ได้ สวดได้ชัดเจนในครั้งนั้นมีการนิยมการเรียนทางกัมมัฏฐานวิปัสสนาธุระ ด้วยอุปัชฌายะและคู่สวยของท่านล้วนแต่เชี่ยวชาญวิชาทางนี้ ก็ได้ไปถ่ายทอดเอาวิชามาฝึกฝนทดลองจนใช้การได้ นอกจาอาจารย์ของท่านแล้ว ยังได้ไปขอเรียนวิชาไสยศาสตร์เวทมนต์จากพระอาจารย์คง (องค์นี้ทราบว่าเป็นอาจารย์รุกขมูลธุดงค์) จนมีวิชากล้าแข็ง จะได้อธิบายวิชาของท่าน เรื่องวิชาเมตตามหานิยมเช่น ผง ๑๐๘ ขี้ผึ้งสีปาก ได้เรียนจากพระอาจารย์พ่วง วัดกก อาจารย์ชื่อดัง ขนาดเอาขี้ผึ้งทาสัตว์เช่น ไก่ นก สุนัข แมว จะเดินตามไปอยู่ด้วยที่บ้านไม่ยอมกลับที่เดิม เป็นที่รู้กันทั่วทั้งบางขุนเทียน ส่วนพระอาจารย์ดิษฐเก่งในทางคงกระพันชาตรี ผ้าประเจียดแดงของท่านดังมาก มียันต์หนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือนที่เรียกว่าหนุมานแผลงฤทธิ์ ๔ กร ในเรื่องรามเกียรติ์เป็นอาจารย์สักลายมือสวยนัก สักทีแรกก็แทงเข้า พอสักไปสักครู่วิชาอาถรรพณ์เข้าตัวเหล็กสักไม่ได้กินหลัง แทงเท่าไรกระเด้งกลับ เลยต้องเลิกเพราะสักไม่เข้า ศิษย์ของท่านหนังดีทั้งนั้น วิชานี้หลวงพ่อไปล่เรียนมา ขนาดเอามีดโกนปาดง่ามมือเล่นก็ไม่เข้า เวลาแจกของท่านทำให้ดู พูดว่ามันต้องเหนียวถึงง่ามมือง่ามเท้าจึงจะเก่งจริง ส่วนมากนักเลงที่ว่าเหนียวพอโดนมือโดนเท้าก็เปราะทนไม่ไหว สำหรับพระอาจารย์ดิษฐท่านเป็นศิษย์ของท่านมาก่อนบวช เมื่อยังเป็นนักเลงใครก็รู้ว่าหนังดีจริงๆ จนไม่มีใครกล้าต่อกร เมื่อมาบวชแล้วก็เลิกเปลี่ยนเป็นคนละคนทีเดียว แต่คนทั้งพลายที่เคยเห็นฤทธิ์ ก็ยังเกรงอยู่ไม่กล้าทำแหยมกับท่าน ส่วนพระอาจารย์คงซึ่งเป็นอาจารย์อีกองค์หนึ่งของท่าน ปรากฏว่า อยู่คงสมชื่อวิชาผูกหุ่นพยนต์ก็เคยไปศึกษากับหลวงพ่อเก้ายอดวัดบางปลา สมุทรสาคร (ท่านองค์นี้กำบังกายหายตัวได้ กรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์นับถือเป็นพระอาจารย์) ท่านได้เรียนกับอาจารย์เก่งๆ ดังกล่าวไม่ต้องบอกก็ได้ว่าท่านเก่งขนาดไหนแต่ไม่เคยคุยโอ้อวด ท่านเป็นพระสมถะ ไม่ทะเยอทะยานในลาภยศ มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ กวาดกุฏิเอง ของส่วนตัวทำเอง ไม่เคยใช้ให้ใครทำ ขยันในการทำวัตรสวดมนต์เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยชอบความมีระเบียบเรียบร้อย

 

เมื่อวัดกำแพงว่างสมภารลงทางการคณะสงฆ์และประชาชนได้ขอร้องให้ท่านเป็นสมภาร อันตำแหน่งสมภารเจ้าวัดท่านไม่เคยสนใจ แต่ขัดชาวบ้านไม่ได้ก็จำเป็นต้องรับได้เป็นคู่สวดและอุปัชฌายะมีคนมาให้ท่านบวชพระปีละมากๆ เพราะเลื่อมใสศรัทธาในจริยาวัตรของท่านและอยากได้ของขลังของดีจากท่าน

พ.ศ. ๒๔๗๘ คณะศิษยานุศิษย์ร่วมกันบำเพ็ญกุศลฉลองอายุให้ท่าน ในงานนี้ได้ออกเหรียญรูปท่านเต็มองค์ห่มลดไหล่สมาธิ เป็นเหรียญหล่อทำรูปคล้ายจอบด้านหลังเหรียญมีอักษรไทยว่า ที่ระฤก ๒๔๗๘ วันเทเหรียญปรากฏว่าสายสิญจน์ในพิธีตกลงมาถูกเทียนชัยจี้อยู่จนหมดเวลาพิธี สายสิญจน์ไม่ไหม้เป็นที่น่าตื่นเต้น เพราะขณะนั้นหลวงพ่อไปล่ท่านนั่งปรกบริกรรมด้วยจิตเป็นสมาธิแน่วแน่ ท่านชอบเดี่ยว ไม่ค่อยจะไปร่วมพิธีกับใคร บอกว่าไปรวมกันไม่รู้ว่าพิธีกับใคร บอกว่าไปรวมกันไม่รู้ว่าใครจะแน่สู้เดี่ยวไม่ได้ และการที่สร้างเหรียญรูปจอบมาขุดฝังเรา และจอบเป็นสัญลักษณ์เครื่องมือสำคัญในการเพาะปลูก ชาวสวนชาวนาต้องพึ่งจอบเหรียญรุ่นนี้มีประสบการณ์ดังมากใครได้รับแจกเป็นรับรองได้ว่าเรื่องมีดเรื่องปืน อาวุธทั้งหลายเรียกว่าแมลงวัน ไม่ได้กินเลือดทีเดียวเหรียญรุ่นนี้ทำเป็นเหรียญรูปไข่ก็มีเนื้อเป็นสัมฤทธิ์ และทองเหลืองฝาบาตร ที่ต้องทำเป็นเหรียญหล่อท่านบอกว่าพิธีเข้มข้นกว่าเหรียญปั๊มมาก

 
หลวงพ่ออุปัชฌาย์ไปล่ ฉนทสโร

นอกจากเหรียญรุ่นนี้แล้ว เมื่อมีงานล้างป่าช้าวัดกำแพงท่านได้ออกเหรียญเป็นรูปพระพุทธรูปเป็นเนื้อโลหะทองเหลือง รุ่นหลังนี้เรียกว่ารุ่นล้างป่าช้า ใช้ได้ผลมีคนนิยมมากเช่นกัน การแจกเหรียญของท่านไม่กะเกณฑ์ในเรื่องเงินทองใครจะทำบุญก็ทำ ใครจะมาขอฟรีท่านก็แจก

หลวงพ่อไปล่ท่านมีกระแสจิตกล้าแข็ง คราวหนึ่งเจ้าคุณพระพุทธพยากรณ์(เจริญ อุปวิกาโส) วัดหมูอัปสรสวรรค์ ได้มานิมนต์ให้ไปนั่งปรกในงานหล่อพระที่วัดหมูท่านบอกว่าให้บอกเวลามาว่าพิธีจะลงมือเมื่อไร ท่านจะนั่งทำสมาธิอยู่ที่กุฏิของท่าน ไม่ต้องเดินทางมานั่งถึงวัดหมู เจ้าคุณพุทธพยากรณ์องค์นี้เป็นลูกศิษย์พระภาวนาโกศลเถร (เอี่ยม) วัดหนัง มีวิชาทางในสูงรู้ทันทีว่าหลวงพ่อไปล่จะนั่งทำสมาธิที่ไหนก็ได้ขอให้บอกเวลาให้ท่านทราบ พอถึงเวลาปลุกเสก พระอาจารย์ในพิธีที่นิมนต์มาจะเห็นร่างหลวงพ่อไปล่ปรากฏนั่งสมาธิอยู่ ในพิธีด้วย เรื่องนี้ใครๆ ก็ทราบโทษขานกันทั่วไป

อยู่มาวันหนึ่งท่านพูดกับศิษย์ที่ใช้ใกล้ชิดว่าให้เอ็งช่วยจำไว้ด้วยว่าอีก ๒-๓ วัน ข้าจะเลิกฉันน้ำชาเสียที ศิษย์ผู้นั้นได้ฟังก็สงสัยแต่ไม่กล้าซักถาม พอถึงวันที่ ๓ นับแต่ท่านพูดปรากฏว่าพวกขี้ยามาขโมยเอาป้านน้ำชาที่ท่านฉันประจำ ไปนับแต่นั้นท่านก็เลิกฉันน้ำชาจริงๆเรียกว่ารู้ล่วงหน้า เรื่องกำลังจิตกล้า อีกเรื่องหนึ่งคือ นายสุดใจเปรมชื่น คนรางสี่บาทแสมดำ ศิษย์ของท่านไปถูกเกณฑ์ทหารบก ทางการเขาส่งไปแนวหน้า เวลานั้นเริ่มสงครามมหาเอเซียบูรพา นายสุดใจได้มาขอของดีจากท่านไปคุ้มตัว บังเอิญเดินสวนกับท่านไปคุ้มตัว บังเอิญเดินสวนกับท่านที่ทางรถไฟสายมหาชัยตอนใกล้สถานีบางบอน ด้วยมีคนเขานิมนต์ท่านไปสวดมนต์งานทำบุญบ้านใกล้ๆ บางบอน นายสุดใจก็นั่งลงยกมือไหว้พูดขอของดีจากท่านว่าจะไปแนวหน้า ท่านหัวเราะบอกว่าข้าไม่ได้เอาอะไรติดย่ามมาเอ็งหยิบเอาก้อนหินข้างทางรถไฟมาสักก้อนหนึ่งนายสุดใจก็หยิบหินส่งให้ท่านๆ หยิบไปทำสมาธิสักครู่แล้วก็ส่งให้บอกว่านี่แหละคุ้มตัวได้นายสุดใจเห็นแล้วจะไม่เอาก็เกรงท่านเพราะท่านเป็นอุปัชฌายะบวชให้ ได้นำหินก้อนนั้นติดตัวไปสนามรบไม่เคยมีอันตรายและไม่เคยป่วยไข้ ปืนในสนามยิงมาเท่าไหร่ก็ยิงไม่ถูกเลย พวกเพื่อนๆ ถามว่าเอ็งพกอะไรมานายสุดใจหยิบก้อนหินที่ถักลวดแขวนคอเพียงก้อนเดียวให้ดูพวกเพื่อนหัวเราะไม่เชื่อ ขอเอาไปทดลองด้วยปืนปรากฏว่า ยิงเท่าไหร่ก็ไม่ออกเลยเลิกดูถูกท่าน

เรื่องน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ของท่าน มีคนให้รดเป็นประจำวิชามหาประสานเคยแสดงให้ดูในคราวในวัดมีงาน เกิดฟันกันชุลมุนปรากฏว่าคนถูกฟันวิ่งไปบนกุฏิของท่านๆ จึงบ้วนน้ำมหากรดที่แผลถูกฟัน แผลก็ติดกันสนิท ท่านถามเป็นเชิงทดลองใจว่า แผลสนิทแล้วจะไปไหน เจ้าคนนั้นเกิดมีกำลังใจเลือดนักสู้เลยบอกว่าจะไปฟันกับมันต่อ ท่านหัวร่อบอกว่า ลูกผู้ชายมันต้องอย่าถอย ถ้าเอ็งกลับไปบ้านเห็นที่แผลที่ประสานไว้จะแยกตามเดิม มีบางรายพอมาให้ท่านประสาน แผลแล้วเกิดใจไม่สู้เรียกว่าชักจะแหยพอกลับไปถึงบ้านแผลก็แยก ต้องกลับมาฟันกับเขาใหม่อีกครั้ง ดูก็น่าอัศจรรย์แผลกลับติดดังเก่า เรื่องนี้หลวงพ่อเลียบวัดเลาเคยเล่าให้พวกนังเลงฟังว่า เอ็งอย่าไปเล่นกับท่านวัดกำแพงนะ ท่านเป็นคนจริงอย่าไปทำแหยให้ท่านเห็นเป็นอันขาด หลวงพ่อเลียบเป็นศิษย์อุปัชฌาย์องค์เดียวกันกับหลวงพ่อไปล่ คือหลวงพ่อทัตวัดสิงห์บางขุนเทียน รู้จิตใจกันดี เมื่อท่านมาได้ดีเป็นพระราชาคณะที่พรเทพสิทธินายก เจ้าอาวาสวีดเทวราชกุญชรก็ยังไปมาหาสู่กันเสมอเคยสนับสนุนจะให้หลวงพ่อไปล่ ได้สมณศักดิ์เป็นพระครู ท่านกลับว่าฉันไม่อยากเป็นครูพระหรอกสอนตัวเองก็พอใจแล้ว การเป็นพระครูหมายถึงต้องเป็นครูสอนพระฟังดูเป็นคำคมของท่าน ด้วยไม่ทะเยอทะยานเป็นใหญ่เป็นโตอะไรไม่สนใจเรื่องยศช้างขุนนางพระตามคำกล่าวของคนโบราณ ท่านขอแต่ได้ครองศีลบริสุทธิ์พอใจเป็นเพียงตำแหน่งพระอุปัชฌายะบวชพระเอาบุญกุศลเท่านั้น จะใหญ่จะโตแค่ไหนก็เน่าทั้งนั้นที่เรียกว่าผู้ใหญ่วันนี้ก็คือผีวันหน้านั่นเองหนีไม่พ้น

 

จะขอนำคาถาที่ท่านสอนให้ภาวนาเวลา จะออกจากบ้านว่าดังนี้ตั้งนะโม ๓ จบ
พระพุทธอยู่หลังพระอะระหังอยู่หน้า ตรงกลางคือตัวอาตมา มหาเดชาภะวันตุเม บอกว่าไปไหนๆ ไม่ต้องเป็นห่วงชีวิตเพราะมีผู้ปกป้องอยู่ทั้งหน้าหลังดังกล่าวแล้ว อีกบท ๑ เป็นคาถาทางเมตตามหานิยม สะเพ็ชชะนา พหูชะนาท่องแล้วเขายังไม่มาต้องไปหาเขาเองเพราะจะมัวรออยู่ก็จะเสียเวลาเปล่าฟังดูแล้วเห็นจริง ปัจจุบันนี้ไม่มีเวลารอกันแล้ว มือใครยาวสาวได้สาวเอา มือใครสั้นเอาวัลย์ต่อเข้าเคยเตือนลูกศิษย์ว่า แม้ฉลาดก็อย่าขาดเฉลียว ประเดี๋ยวจะพลาดอย่าได้ประมาทเลย

คำขวัญของเหรียญมีว่า
มีเหรียญหลวงพ่อไปล่วัดกำแพงใครจะมาฆ่าแกงก็ไม่ต้องกลัว ถึงไหนถึงกันคงกระพันชาตรีดีนักแล
สมัยนั้นใครมีเหรียญวัดหนังก็ไม่กล้าแหยมกับคนที่แขวนเหรียญวัดกำแพงจัดเป็นยอดเหรียญของอำเภอบางขุนเทียน ทั้ง ๒ วัดใครๆ ก็รู้กันทั่วว่าเด็ดทั้งคู่ ท่านได้บำเพ็ญศาสนกิจมาด้วยความเกร่งครัดสม่ำเสมอในที่สุดก็ถึงมรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ สมเป็นนักปฏิบัติ เมื่ออายุ ๗๙ ปี พรรษา ๕๙

อนึ่งตามปกติหลวงพ่อไปล่ชอบสงบไม่ชอบอึกทึกครึกโครมในวันเผาศพท่าน พวกศิษย์ได้นำพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้เพลิงมาจุดด้านหมดจุดไฟติดเลยพองานเลิกได้นำมาจุดใหม่ ดังสนั่นหวั่นไหว การจุดต้องลากไปจุดกันนอกวัด ถ้าในวัดก็ด้านน่าแปลกจริงเรื่องนี้ใครๆ รู้กันทั่วได้พูดถึงอภินิหารของท่านมาจนทุกวันนี้

กระดูกขี้เถ้าคนที่ไปเผาเข้าแย่งกันอุตลุด ไม่มีเหลือ ทั้งนี้เพราะความเลื่อมใสศรัทธา มีคนเล่าว่าแม้แต่ท่านมรณภาพไปแล้ว หนังยังเหนียว พวกสัปเหร่อเอามีดตบแต่งศพก็ยังเฉือนไม่เข้า ต้องจุดธูปจุดเทียนบอกเล่าขอขมา แม้กระนั้นก็ยังเฉือนไม่เข้าอยู่นั่นเอง และศพก็แห้งไปเลยๆ ไม่มีกลิ่นเน่าเหม็นทั้งนี้เพราะท่านรักษาศีลบริสุทธิ์นั่นเอง คนไปเผาท่านมากันมากมายหลายจังหวัดมีทั้งคนเล็กคนใหญ่ ไม่เลือกชั้นวรรณะ เสมอภาคกันเพราะเมื่อท่านยังมีชีวิตก็เป็นกันเองแก่คนทั่วไปไม่ถือคนจนคนมี ท่านพูดว่าในที่สุดก็ทันกันตอนหมดลมหายใจนี่แหละ เกิดเท่าไหร่ตายเท่านั้นมาสามัคคีกันจะดีกว่าท่านเคยพูดว่าคนมาผ่านโลก ไม่ได้มาประจำโลกคือ มาพบกันชั่วคราวเท่านั้นเอง ฉะนั้น ตัวอกุศลมูล มี โลภ โกรธ หลงควรละเสียบ้างถึงละได้ ไม่มากก็ยังดีกว่าสะสมมันเอาไว้

 

สุดท้ายนี้ขอให้ท่านผู้ได้อ่านประวัติและคติเตือนใจของหลวงพ่อไปล่จงหมดทุกข์ปลอดภัย และอยู่เย็นเป็นสุขจิตสดใส ความพอคือความเป็นอัครมหาเศรษฐีถ้ายังไม่พอก็ยังเป็นไม่ได้หรอกนะ สุ.จิ.ปุ.ลิ.ต่อไปนี้ เป็นคาถาที่หลวงพ่อไปล่ภาวนาเป็นประจำ คือกำแพงแก้ว ๗ ประการ ท่องว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สัตตะระตะมะปะการัง อัมมหากัง สะระณังคัจฉามิ สุสุละละโสโส นะโมพุทธายะ พุทโธพระบังธัมโมพระบัง สังโฆพระบัง

ให้ภาวนาก่อนนอนทุกคืน คุ้มภัยอันตรายได้ดี พวกศัตรูก็ทำอะไรไม่ได้

 

 

ณัฐ:
รูปหลวงปู่ไปล่ครับ // เหรียญของหลวงปู่ไปล่รุ่นใหม่ๆถ้าเจอก็เก็บไว้นะครับดีเหมือนรุ่นเก่าเพราะผมเชื่อว่าหลวงปู่ไปล่ต้องมาเสกให้แน่นอน  :001:

เต้:
รูปหลวงพ่อที่บ้านผม

ttt:
หลวงปู่ไปล่รุ่นแรก เหรียญรูปไข่

[ไฟล์แนบถูกลบโดยผู้ดำเนินการ]

ttt:
ด้านหลังมีคำว่าที่ระฤก และ พศ และ ยังมีโค๊ดยันต์ อีก ของแท้ดูง่ายๆ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

Go to full version