ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อคิด & วิธีเลี่ยงการทำบาปกรรมประเภท "จำเป็นต้องโกหก" ในชีวิตประจำวัน  (อ่าน 2948 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายธรรมะ

  • ดีชั่วอยู่ที่ตัวทํา สูงต่ำอยู่ที่ทําตัว
  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 615
  • เพศ: ชาย
  • เหนื่อย ได้แต่อย่า ท้อ
    • ดูรายละเอียด
ข้อคิด & วิธีเลี่ยงการทำบาปกรรมประเภท "จำเป็นต้องโกหก" ในชีวิตประจำวัน


ถาม – ได้ยินว่าแค่โกหกก็ต้องตกนรกแล้ว โทษหนักเกินไปหรือเปล่า? ในเมื่อชีวิตประจำวันของคนเรานั้นยากที่จะหลีกเลี่ยงการพูดเท็จอย่างนี้

ที่เคยได้ยินมานั้นพักไว้ก่อน ลองดูว่าคนที่รู้ดีที่สุดท่านพูดไว้อย่างไรดีกว่าครับ

การโป้ปดมดเท็จนั้น เมื่อใครเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังให้มีกำเนิดในนรก ในดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งมุสาวาทอย่างเบาที่สุดย่อมยังการกล่าวตู่ด้วยคำไม่เป็นจริงให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ พอลองดูอย่างละเอียดรอบคอบก็จะพบว่ามีเงื่อนไขของการไปนรกเพราะมุสาวาทอยู่ นั่นคือเสพจนติด เพาะเลี้ยงตัวโกหกจนมันเติบโตขึ้นเป็นนิสัยถาวร ปั้นน้ำเป็นตัวบ่อยเสียจนชินชาหน้าไม่อาย

เมื่อเล็งเข้าไปที่จิตใจของผู้สร้างสมนิสัยโป้ปดมดเท็จจนเคยตัว จะเห็นว่ามีความดำมืด มีความบิดเบี้ยวเลอะเลือน และที่ธรรมชาติเขาพิพากษาไว้ก็คือหากจิตชุ่มด้วยบาป สกปรกมะล่อกมะแล่กดูไม่ได้ ก็จะต้องมีที่ไปเหมาะกับความสกปรกโสมมของตนเอง

อีกประการหนึ่ง ตัวมุสาตัวเดียวมันเหมือนเชื้อโรคร้าย สามารถแตกกิ่งก้านสาขาออกไปเป็นโรคอื่นได้ไม่รู้จบ จะเปรียบเทียบเหมือนกับเอดส์ที่เข้าไปทำลายภูมิต้านทานโรคต่างๆในร่างกายมนุษย์ก็ได้ เมื่อใดที่ความละอายถูกทำลายลง เมื่อนั้นคนเราย่อมหมดความยับยั้งชั่งใจที่จะกระทำบาป พร้อมจะก่อเวรก่อกรรมได้ทุกชนิด สมดังที่พระพุทธเจ้ามีพระดำรัสคือ

เรากล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่แก่ใจ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งนั้น ย่อมไม่มี

โกหกหนึ่งครั้งคือสร้างความบิดเบี้ยวให้กับจิตหนึ่งหน สังเกตดูก็ได้ครับ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ครั้งต่อไปลองพูดปดแบบรู้ทั้งรู้ว่าเรื่องมันไม่จริง พูดเสร็จให้ดูเข้ามาในใจตัวเอง จะเห็นความฟุ้งซ่านจับไม่ติด หรือแม้หากว่าพื้นฐานเป็นผู้ทรงสติเป็นเยี่ยม อย่างน้อยที่สุดคุณจะเห็นความเย็นชาของจิต มีความรู้สึกอยากเย้ยโลก และเห็นว่าการสร้างข้อมูลเท็จได้แนบเนียนคืออำนาจที่แท้จริง

ความจริงยิ่งกว่าสิ่งใดก็คือ สัจจะความจริงนั่นแหละอำนาจสูงสุด เมื่อคุณพูดถึงความจริงบ่อยๆ พูดอย่างมีสติทั้งรู้ว่าบางครั้งอาจก่อผลด้านลบให้กับตนเอง แต่ละครั้งคุณจะรู้สึกถึงพลัง ความมั่นคงทางใจ และความสามารถรู้เห็นอะไรๆได้ตามจริงราวกับคนเคยตาสั้นได้แว่นที่จักษุแพทย์มอบให้

มาพูดถึงความจำเป็นต้องโกหกในชีวิตประจำวันกันบ้าง การโกหกมดเท็จนั้นมีหลายแบบ แบบที่เดือดร้อนคนอื่นมากก็มี ไม่เดือดร้อนใครเลยก็มี โกหกโดยเจตนาให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายก็มี โกหกเพราะมาดหมายเอาประโยชน์เข้าตนก็มี โกหกทุกวันจนติดเป็นนิสัยก็มี นานๆโกหกทีก็มี โกหกแบบหยอกล้อเล่นหัวเพื่อได้หัวเราะกันก็มี โกหกแบบตลกเลือดจะให้ตระหนกตกใจปางตายก็มี

ตัวแปรต่างๆจะทำให้เกิดน้ำหนักผิดแผกแตกต่างไป ที่เห็นผลใกล้ที่สุดก็คือความบิดเบี้ยวทางความรู้สึกอันเป็นของรู้เฉพาะตน (ผู้มีความสามารถหยั่งรู้วาระจิตก็ทราบได้ แต่คนทั่วไปเขาจะไม่รู้สึกถึงความบิดเบี้ยวอันนี้ในเราเลย)

ความบิดเบี้ยวทางจิตเป็นอย่างไร? ขอให้ลองดูตอนคุณโกหกคำโต เมื่อไหร่โกหกเสร็จลองพยายามรู้ตามจริงว่าหายใจเข้าหรือออกให้ได้สักสิบครั้ง นับดูสิครับว่าจิตมีความสามารถตามรู้ไปได้จริงๆกี่ครั้ง เสร็จแล้วเอาใหม่ ถ้ามีโอกาสให้โกหกเพื่อประโยชน์ของเรา แต่เราไม่เอา จะเอาแต่ความจริง พูดแต่คำที่เป็นสัตย์ พูดออกมาจากใจที่ซื่อทางโลกแต่เจ้าปัญญาทางธรรม พอพูดเสร็จสังเกตดูว่ารู้สึกดีอย่างไร เกิดความมั่นคงทางใจแค่ไหน ขอให้ทราบว่านั่นแหละอำนาจแห่งสัจจะที่เราได้รับในทันที ลองพิสูจน์ให้เห็นอำนาจนั้นชัดขึ้นด้วยการตามรู้ลมหายใจเข้าออกสิบครั้ง แล้วจะรู้ว่าเราทำได้ไม่ยากเลย

ความสามารถรู้ตามจริงนั้น โดยทั่วไปคนเราถือเป็นเรื่องผิวเผิน แต่ที่แท้มีความสำคัญยิ่งยวดกับชีวิต เพราะเมื่อสามารถรู้ได้ตามจริง ก็ย่อมเห็นว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นโทษ คนเราเมื่อรู้จักประโยชน์ย่อมเก็บเกี่ยวแต่ประโยชน์มาสั่งสมไว้ให้พอกพูน แต่เมื่อไม่รู้ว่าอะไรเป็นโทษก็อาจพลาดตักตวงมันเข้ามาด้วยความละโมบโลภมาก เหมือนกองขยะแห่งบาปกรรมส่งกลิ่นเน่าเหม็นเพียงใดก็ไม่รู้สึก เพราะจมูกแห่งมโนธรรมมันตายด้านไปเสียแล้ว

นี่แหละ สังเกตจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับเราเอง เอาเราเองเป็นที่ตั้งของเครื่องวัด ก็จะพบว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ขู่เล่น ท่านตรัสชี้ว่าอะไรเป็นอะไรตามจริงต่างหาก


ถาม – ผมทำการค้า หลายครั้งบอกความจริงกับลูกค้า แต่บอกไม่หมด เหมือนบิดเบือนข้อมูลไป ถือว่าเป็นการผิดศีลเรื่องการพูดปดหรือไม่ครับ?

ถ้าเจตนาเราต้องการกล่อมคนฟังให้ถึงขั้นเข้าใจผิดจากความจริง ก็เรียกว่าเป็นการมุสาทั้งนั้นครับ จะด้วยวิธีบอกทั้งหมดหรือบางส่วน หรือกระทั่งใช้ภาษากายเป็นอุบายล่อตาก็ตาม เจตนาทำให้คนดูหรือคนฟังสำคัญผิดจากความจริงอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง คือมุสาวาทเต็มขั้น

กล่าวกว้างๆอย่างนี้ ความจริงในภาคปฏิบัติต้องดูเป็นเรื่องๆด้วยครับ บางทีคุณไม่ได้พูดโกหกแม้แต่คำเดียว ทว่าเจตนานั้นฉ้อฉล ทำให้คนฟังหลงกล กลับความเข้าใจจากดำเป็นขาว จากขาวเป็นดำ อย่างนี้ก็เข้าข่ายมุสาวาท ตรงข้าม แม้คุณไม่พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เช่นพ่อสอนลูกด้วยการอุปมาอุปไมยหรือยกนิทานมาเล่าเป็นการสาธก แต่ลูกเกิดความเข้าอกเข้าใจสัจจธรรมอย่างถูกต้อง อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าเข้าข่ายมุสาวาท

ในหลายกรณี ถ้าเราพูดความจริงตามหน้าที่ โดยคิดว่าหน้าที่ของเราให้ข้อมูลเขาได้แค่นี้ ก็ถือว่ารอดตัว ยกตัวอย่างเช่นทีมแพทย์ตกลงกันว่าจะบอกญาติคนไข้ว่าผลการผ่าตัดมีโอกาสสำเร็จต่ำ ทั้งที่นึกๆอยู่ในใจว่าไม่มีทางสำเร็จเลย อย่างนี้ก็ไม่นับเป็นการโกหก เพราะผลยังไม่ปรากฏชัดเจนแน่นอน เป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่มีใครรู้จริง

สำหรับพวกที่ต้องติดต่อค้าขายอาจเลี่ยงยาก เพราะไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลด้านเดียว แต่มักต้องให้ข้อมูลด้านอื่นที่ผู้บริหารสั่งมาด้วย เริ่มต้นอาจเป็นกตัตตากรรม คือคุณจำใจโกหกตามคำสั่งโดยไม่ยินดี แต่พอทำบ่อยๆจนชิน กลายเป็นความเต็มใจ ในที่สุดก็เป็นกรรมของคุณเองได้ พูดง่ายๆคือใจหมดความรู้สึกผิดเมื่อใด ตรงนั้นคือมุสาวาทเต็มขั้นแล้ว

บางทีอยู่ในโลกก็หลีกเลี่ยงบาปกรรมยากครับ คุณต้องรักษาศีลให้สะอาดผ่องแผ้วพอจะไปเกิดในสังคมอารยะที่ไม่มีการโกหกเลย เอาเป็นว่าถ้าจำเป็นต้องโกหกก็ขอให้รักษา ‘ความไม่ยินดี’ ไว้ บอกตัวเองว่าเราไม่อยากอยู่ในวงจรแห่งการมุสาเลย วันนี้เราทำเขา วันหน้าก็ต้องโดนเขาทำบ้าง เมื่อใดคุณขาแข็งพอจะปลีกตัวออกมาจากวงจรเดิมๆเสียได้ก็อย่าช้าแล้วกัน


ถาม – ถ้าจำเป็นต้องโกหกบ้างนิดๆหน่อยๆ กฎแห่งกรรมถือว่าหยวนๆให้บ้างไหม?

ผมไม่ได้มีหน้าที่พิทักษ์กฎแห่งกรรมนะครับ คงไม่อาจเป็นตัวแทนธรรมชาติหยวนหรือไม่หยวนให้คุณๆได้สักแค่ไหน เอาเป็นว่าตัดสินใจอย่างไรก็ขอให้รู้อยู่ว่าตัวเองมีความละอายติดจิตติดวิญญาณแค่ไหนก็แล้วกัน


ขอให้พิจารณาตามจริงว่าแม้เราจะไม่โกหกเป็นประจำ แต่ลงถ้าได้เริ่มต้นออกจากจุดสตาร์ทแล้ว ก็มักจะเหมือนเราก้มหัวให้ใครเขาใช้ ถูกใช้ได้ครั้งหนึ่งก็จะอ่อนแอลงนิดหนึ่ง พอเขาใช้อีกเราก็อาจจะยอมก้มหัวอีก ในที่สุดหัวเราก็อ่อนลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นขี้ข้าตัวมุสาไปเต็มยศ นี่แหละ ผมสรุปว่าที่มาของการโกหกใหญ่ก็คือการโกหกเล็กๆนั่นเอง โดยเฉพาะถ้าโกหกเล็กๆโดยปราศจากความละอาย

แรงขับดันให้โกหกมักมาจากคำว่า ‘จำเป็น’ หรือ ‘หลีกเลี่ยงไม่ได้’ มันอยู่ที่เราตัดสินใจเลือก ถ้าใช้ความฉลาดกันจริงๆก็อาจไม่จำเป็นต้อง ‘โกหกเต็มๆ’ หรอก หลายๆเรื่องเราเอาความจริงส่วนที่ไม่เสียหายมาพูดได้ เพราะเราไม่จำเป็นต้องพูดทั้งหมดในทุกเรื่องอยู่แล้ว

ขอให้สังเกตจากชีวิตประจำวันว่าคำพูดนั้นดิ้นไปได้เรื่อยๆครับ ปากพูดอย่างหนึ่ง แต่ใจเล็งอีกอย่างหนึ่ง จิตคิดพูดของคนในโลกมักเบี่ยงเบน ไม่เป็นไปเพื่อการเห็นตามจริง แต่เป็นไปเพื่อตัวตน เป็นไปเพื่อให้คนอื่นเห็นเราตามที่เราอยากให้เขาเห็น


ลองฝึกฝนดู ใจเล็งอย่างไรปากพูดตามนั้น ก่อนพูดก็ทำตัวเป็นนายคำพูด สั่งให้เกิดแต่คำพูดที่เป็นประโยชน์ หรือก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบน้อยที่สุด เมื่อคิดก่อนพูดบ่อยเข้า ชีวิตจะลงตัวไปเอง ความจำเป็นต้องโกหกจะค่อยๆหายไปจากชีวิตเราจนกระทั่งไม่เหลือเลยจนได้แหละน่า ธรรมชาติเขาไม่ใจไม้ไส้ระกำกับคนตั้งใจดีมีใจจริงหรอกครับ

ที่มา Dungtrin.com
เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว - ดังตฤณ

นายธรรมะ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก เว็บบอร์ดพลังจิตด้วยครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 พ.ย. 2553, 07:09:10 โดย นายธรรมะ »
[shake]ศรัทธา ไม่ใช่ ไสยศาสตร์ ศรัทธา เพื่อ ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีความ ศักดิ์สิทธิ์ ย่อมเกิด ปาฏิหาริย์[/shake]

ออฟไลน์ หลังฝน..

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 310
  • เพศ: ชาย
  • ทุกอย่างมีเหตุและผลเสมอ
    • MSN Messenger - webmaster@lifesyt-it.net
    • ดูรายละเอียด
    • www.lifestyle-it.net
ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับเป็นแนวทางสำหรับการใช้ชีวิตของผมได้มากๆๆครับ ...  :053:
ความพยายามนั้นมีอยู่จริงในตัวตนของเรา สุดแท้แต่ความพยายามนั้นจะถูกดึงออกมาใช้ได้มากน้อยแต่เพียงใด