หมวด ผู้ทรงวิทยาคุณ (เกจิอาจารย์) > เกจิอาจารย์ภาคเหนือ

พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

(1/3) > >>

ทรงกลด:
ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

วัดอรัญญวิเวก (บ้านปง)
ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่


๏ ประวัติส่วนตัว

พระอาจารย์เปลี่ยน นามสกุลเดิม วงษาจันทร์ เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ตรงกับวันพฤหัสบดี ปีระกา ณ บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร บิดาชื่อ กิ่ง มารดาชื่อ อรดี สกุลเดิม จุนราชภักดี บิดามารดาทำการค้าขายมีฐานะดี คุณตาเป็นกำนัน อยู่ที่ ต.โคกสี ชื่อ ขุนจุนราชภักดี และคุณยายรักหลานคนนี้มาก จึงรับมาเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเล็กๆ

ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 6 คน เป็นผู้ชาย 5 คน ผู้หญิง 1 คน มีชื่อตามลำดับดังนี้

1. นายสมบิน วงษาจันทร์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
2. นายคำปิ่น วงษาจันทร์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
3. พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
4. นายเหรียญ (วงษาจันทร์) นันตสูตร (ถึงแก่กรรมแล้ว)
5. นางหนูจีน (วงษาจันทร์) ธรรมจิตร (ถึงแก่กรรมแล้ว)
6. นายถวิล วงษาจันทร์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)


๏ การศึกษา

การศึกษาในระยะแรก ได้เรียนกับคุณตาคุณยายที่บ้าน เพราะระหว่างนั้นเกิดสงครามเอเซียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ต่อมาได้เข้าโรงเรียนบ้านโคกคอน เรียนจบชั้น ป. 4 เมื่อ อายุ 11 ปี สอบได้ที่หนึ่งในชั้น ท่านอยากจะเรียนต่อ แต่มารดาต้องการให้ท่านมาช่วยการค้าของบิดา ท่านจึงต้องปฏิบัติตาม


๏ การอาชีพ

ท่านต้องออกเดินทางไปซื้อของถึง จ.อุดรธานี โดยนั่งรถโดยสารบ้าง รถบรรทุกหรือรถขายถ่านบ้าง สินค้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ทั่วไป เมื่อถึงฤดูทำนาก็จ้างคนมาทำนา แต่ละปีเก็บเกี่ยวข้าวจากนาได้มาก จึงขยายกิจการไปค้าขายข้าวเปลือกกับโรงสีใหญ่ๆ ด้วย

หลังผ่านการคัดเลือกทหารแล้ว ท่านหันไปสนใจการรักษาคนเจ็บป่วย ได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องยา การรักษาคนไข้จากหมอประจำอำเภอซึ่งเป็นญาติกัน คุณหมอจึงคิดจะส่งท่านไปเรียนต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งคุณตาก็สนับสนุน แต่มารดาไม่อนุญาต ต้องการให้ท่านดูแลการค้าต่อไป

โดยที่ท่านเป็นผู้รับผิดชอบในการทำงาน มีฐานะการเงินดี ญาติพี่น้องและผู้ใกล้ชิดจึงไว้ใจ ได้พากันนำเงินมาฝากท่านเหมือนหนึ่งเป็นธนาคาร ท่านก็เก็บรักษาให้เขาโดยไม่ได้อะไรตอบแทน ท่านทำให้กับทุกคนด้วยความรักและนับถือเหมือนกับที่เขาวางใจท่าน เนื่องจากยังไม่ได้บวช จึงยังไม่คิดแต่งงานหรือตกลงใจกับใครแน่นอน แม้จะมีเพศตรงข้ามมาสนิทสนมด้วยหลายคน


หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ


๏ ก่อนบวช

พระอาจารย์เปลี่ยน มีโอกาสดีได้คุ้นเคยกับพระสงฆ์มาตั้งแต่อายุ 11-12 ปี เมื่อทางบ้านมีงานบุญ ท่านจะทำหน้าที่ไปรับพระที่วัด จึงได้เห็นวิธีเดินจงกรมของพระอาจารย์ลี วัดป่าบ้านตาล และเป็นผู้ที่ได้แนะนำให้ไปหา หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ (ซึ่งบวชเมื่อายุมากแล้วและติดตามหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้รับการยกย่องด้านการบำเพ็ญเพียรไม่ท้อถอย) หลวงปู่พรหมได้เดินจงกรมให้ดู และสอนให้เดินด้วย หลวงปู่พรหมจึงเป็นพระอาจารย์องค์แรกของพระอาจารย์เปลี่ยน

พระอาจารย์เปลี่ยนได้ศึกษากับพระที่บวชกับหลวงปู่พรหมหลายองค์ ซึ่งสรรเสริญการบวชมาก ทำให้พระอาจารย์เปลี่ยนคิดบวชอยู่ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่อายุ 12 ปี 14 ปี 16 ปี จนถึง 20 ปี แต่มารดาก็ไม่อนุญาต ทั้งๆ ที่พี่ชาย 2 คนก็บวชแล้ว

ตัวมารดาเองก็ไปวัดถือศีลทุกวันพระ และบางครั้งเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ภูรทัตตเถระ ก็ตาม จนกระทั่งบิดาของท่านซึ่งป่วยด้วยวัณโรคถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2497 และอีก 5 ปีต่อมาคุณลุงก็ถึงแก่กรรมอีกคนหนึ่ง พระอาจารย์เปลี่ยนจึงใช้ความพยายามขอบวชอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่เหมือนกับพี่ชายทั้ง 2 คน เพราะยังไม่เคยบวชเลย ขณะนั้นพี่ชายได้สึกออกมาประกอบอาชีพแล้ว มารดาและคุณตาทนรบเร้าไม่ไหวจึงอนุญาตให้บวชเพียง 7 วัน

ครั้นทำการฌาปนกิจศพคุณลุงแล้ว วันรุ่งขึ้นท่านก็ถือโอกาสเข้าวัดเพื่อเตรียมตัวบวช หัดขานนาคพร้อมกับคนอื่นซึ่งมาอยู่วัดถือศีลอีก 2 คน ฝึกสวดมนต์เจ็ดตำนานได้เกือบหมดเล่มใช้เวลา 40 วัน มีพระอาจารย์สุภาพ ธัมมปัญโญ เป็นครูผู้ฝึกสอน


ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9335

ทรงกลด:
๏ การบวช

พระอาจารย์เปลี่ยนเข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดธาตุมีชัย บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2502 ได้รับฉายาว่า พระเปลี่ยน ปัญญาปทีโป

พระอุปชฌาย์ชื่อ พระครูอดุลย์สังฆกิจ
พระกรรมวาจาจารย์ชื่อ พระครูพิพิธธรรมสุนทร

เนื่องจากวัดธาตุมีชัย เป็นวัดฝ่ายมหานิกาย ดังนั้นเมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนบวชแล้วจึงย้ายไปอยู่วัดทุ่งสว่าง บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ท่านมีความสบายกายสบายใจมากเพราะได้ปล่อยวางภาระต่างๆ ตั้งแต่การรับผิดชอบเงินทองจำนวนมากทั้งของท่านเอง และเงินฝากของผู้อื่น ความกังวลในการค้าขายให้กับครอบครัวและญาติพี่น้อง รวมทั้งการดูแลรักษาไร่นา วัวควายและทรัพย์สมบัติอื่นๆ ที่ท่านแบกอยู่ผู้เดียวตั้งแต่อายุ 12 ปี ครั้นบวชได้ 18 วัน โยมมารดาก็ขอให้ท่านสึก เพราะเลยกำหนดเวลาที่อนุญาตแล้ว ท่านจึงขอบวชต่อให้ครบ 1 พรรษา ทำให้โยมมารดาร้องไห้ด้วยความผิดหวังมาก


๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 1 ภาคอีสาน

พระอาจารย์เปลี่ยน สะพายบาตรแบกกลด และอัฐบริขารที่จำเป็น เดินตัดท้องนาไปองค์เดียว ไปหาพระอาจารย์อ่อนศรี ฐานวโร วัดธรรมมิการาม บ้านบึงโน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ซึ่งไม่สามารถตอบปัญหาได้ จึงเดินทางต่อไป มีพระที่วัดอาจารย์อ่อนศรีองค์หนึ่ง และพระที่บวชอยู่วัดทุ่งสว่างตามมาทันอีกองค์หนึ่ง รวม 3 องค์ ออกธุดงค์ไปด้วยกัน พระอาจารย์อ่อนศรีได้มอบโคมไฟให้พระอาจารย์เปลี่ยนไปใช้เดินจงกรมเวลากลางคืนด้วย

ทั้ง 3 องค์ออกเดินทางไป อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ไปพบหลวงปู่มุกซึ่งบวชหลังพระอาจารย์เปลี่ยน พักอยู่สำนักสงฆ์บ้านม่วงได้ 10 วัน มีสามเณรติดตามไปอีก 1 องค์ มุ่งหน้าไปบ้านโพธิ์ บ้านผือ จ.อุดรธานี อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ขณะอยู่บ้านโพธ์ ได้ยินกิตติศัพท์ของท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ว่าเป็นพระที่เคร่งและเอาจริง กำลังปฏิบัติธรรมอยู่ที่ดงหม้อทอง จึงออกติดตามไปทางดงสีชมพู บ้านโซ่ บ้านเซิม ต้องเดินบุกป่าทึบ มีช้างป่าและสัตว์ร้ายน่ากลัว จนถึงดงหม้อทอง ปรากฏว่าท่านพระอาจารย์จวนได้ออกธุดงค์ต่อไปแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนจึงพักอยู่ในกุฏิของท่านพระอาจารย์จวน ได้ลงไปเดินจงกรมที่พลาญหินข้างล่างจนถึงเที่ยงคืน จึงเข้าไปภาวนาต่อในกุฏิอีก

ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน ปรากฏมีพระจาก จ.อุดรธานี เดินธุดงค์มาอยู่ร่วมอีก 3 องค์ ทำให้สถานที่นั้นขาดความสงบเพราะมาชวนกันคุยไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม ท่านจึงชวนพระร่วมคณะออกธุดงค์ต่อ ผ่านบ้านสงเปลือยจนถึงบ้านดงขี้เหล็ก ได้ทราบว่าท่านพระอาจารย์จวนเพิ่งจะเดินทางไป พระอาจารย์เปลี่ยนจึงคลาดกับท่านพระอาจารย์จวนอีกครั้งหนึ่ง

ที่พักที่บ้านดงขี้เหล็กเป็นสำนักสงฆ์ร้าง มีกุฏิพระอยู่ได้ 3 หลัง หลังที่ 4 อยู่ในป่าลึก ห่างจากหมู่บ้านมาก ชาวบ้านเล่าว่าเจ้าที่แรง พระบวชหลายพรรษาแล้วก็อยู่ไม่ได้ พระอาจารย์เปลี่ยนได้พักอยู่ที่บ้านดงขี้เหล็กถึง 19 วัน ได้ปฏิบัติภาวนาทุกวันจนทราบว่าสถานที่นี้เป็นที่อยู่ของภพภูมิขอม ท่านชอบที่นี่มากเพราะการปฏิบัติธรรมก้าวหน้าดี สมกับความตั้งใจของท่าน

พระอาจารย์เปลี่ยนและพระร่วมคณะ ออกเดินทางไปบ้านมาย แล้วก็เดินทางต่อไปถ้ำจันทร์ ได้พบท่านพระอาจารย์จวนไปปฏิบัติธรรมอยู่บนต้นไม้ในเหว ต้นไม้ต้นนี้ขึ้นมาจากเหวข้างล่างสูงจนเลยสันเขา ท่านใช้ไม้สองแผ่นพาดไปที่ต้นไม้ องค์ท่านไปนั่งและนอนเพื่อปฏิบัติธรรม อยู่ตรงกิ่งที่ได้พาดไว้ ท่านพระอาจารย์จวนได้พูดธรรมะให้ฟังสั้นๆ ว่า “เธอนี้มันติดสมมุติ ต้องเปลี่ยนสมมุติให้รู้ ข้ามสมมุติให้ได้” พระอาจารย์เปลี่ยนฟังแล้ว ก็พอใจ คุ้มกับความเหนื่อยยากที่ได้ตรากตรำฟันฝ่าเอาชีวิตไปพบ เนื่องจากบริเวณถ้ำจันทร์ไม่มีที่พัก หลังจากถามธรรมะท่านพระอาจารย์จวนพอสมควรแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนจึงเดินทางไปพักที่สำนักสงฆ์บ้านหนองแวง ได้ไปปักกลดพักอยู่ใต้ร่มไม้

การปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปเป็นลำดับ จิตรวมได้ดีขึ้น เกิดมีปัญหาเพื่อนพระที่ไปด้วย ได้ไปชอบหญิงสาวที่หมู่บ้าน แต่หญิงสาวกลับมาชอบพระอาจารย์เปลี่ยนแทน ท่านจึงชวนพระร่วมคณะออกเดินทางต่อไปเพื่อส่งเพื่อนกลับวัด ตัวท่านเองก็กลับไปวัดด้วย โยมมารดาทราบข่าวก็มาขอให้สึกอีก คราวนี้ต่อว่าท่านมาก พระอาจารย์เปลี่ยนจึงยืนยันที่จะอยู่ในพระศาสนาต่อไปอีก ท่านได้เดินทางไปที่บ้านมอบสมบัติต่างๆ ของท่านให้แก่พี่ชายและน้องชายจนหมด แล้วท่านก็กลับวัดทันที


หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 2 ภาคใต้

ระหว่างที่อยู่ที่วัด คุณลุงของท่านซึ่งเคยบวชมานานถึง 5 พรรษาแล้วออกมาประกอบอาชีพ มีฐานะร่ำรวยแต่ไม่เข้าวัด ได้ถึงแก่กรรมไปอีกหนึ่ง พระอาจารย์เปลี่ยนจึงเป็นผู้ทำพิธีฌาปนกิจให้ เพราะพระอาจารย์สุภาพและพระองค์อื่นๆ ได้ออกธุดงค์กันหมด พระอาจารย์เปลี่ยนได้พิจารณาแล้วก็เกิดเศร้าสลดใจว่า คนเราเกิดมามีเงินทองแค่ไหนก็ตาย ตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้ แล้วก็ถูกเผาเหลือแต่ฝุ่นเท่านั้น ท่านถึงบอกพี่ชายว่าจะไม่อยู่ที่วัดแล้ว จะไปแสวงหาโมกขธรรม หาครูบาอาจารย์ แล้วก็ออกจากวัดไปเพียงองค์เดียวถึงวัดศรีสะอาด (บ้านท่าสะอาด ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร) พบพระอาจารย์จันดี เขมปัญโญ และหลวงพ่อสุพรรณ จันทวํโส บวชอยู่ที่วัดนี้ พระอาจารย์เปลี่ยนได้พักที่กุฏิเก่าที่สุด ฝาทำด้วยไม้ตะเคียน หลังคามุงแฝกจวนจะพังแล้ว ทำให้พระองค์อื่นๆ รู้สึกประหลาดใจมาก

ที่วัดศรีสะอาดนี้ พระอาจารย์เปลี่ยนได้ภาวนานานถึง 3 ชั่วโมงเศษ จนได้อสุภกัมมัฏฐานเห็นคนกลายเป็นกองกระดูกไป ท่านได้ปรึกษากับพระอาจารย์จันดี และหลวงพ่อสุพรรณ เพื่อออกธุดงค์หาครูบาอาจารย์ พระอาจารย์เปลี่ยนคิดจะเข้ากรุงเทพฯ ก่อน จึงเก็บบาตรและอิฐบริขารออกเดินทางโดยไม่บอกให้ใครทราบ พระอาจารย์เปลี่ยนได้ชวนน้องชายคนเล็กของท่านและน้องชายของพระอาจารย์แปลง (ซึ่งบวชอยู่ที่วัดเดียวกัน) ไปด้วย โดยคิดจะเอาน้องทั้งสองไปบวชในโอกาสต่อไป ทั้งหมดขึ้นรถ บขส. มาลงที่ตลาดหมอชิต กรุงเทพฯ แล้วไปพักอยู่ที่วัดสระปทุม 4 วัน พระอาจารย์เปลี่ยนอยากจะไป จ.ภูเก็ต จึงปรึกษากันกับคณะแล้วออกเดินทางไปภาคใต้ ได้ไปแวะพักที่ อ.หัวหิน กับพระอาจารย์ฉลวย พักอยู่ได้ไม่นาน เพราะที่วัดมีแม่ชีอยู่ปฏิบัติธรรมมาก จึงเดินทางต่อไป จ.ชุมพร

พระอาจารย์เปลี่ยนไปพักอยู่วัดอาจารย์เฮ้ง อ.เมือง จ.ชุมพร กางกลดอยู่ที่ศาลาริมน้ำ ได้เห็นวิธีการสอนกัมมัฏฐานของอาจารย์เฮ้ง ซึ่งใช้ธูปจุดไฟติดดีแล้ว ก็นำไปแกว่งที่หน้าของผู้มาฝึกปฏิบัติทุกคน ต่อมาก็นำไฟออกจากโคมไปแกว่งที่หน้าของผู้มาฝึกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้เห็นแสงสว่างหรือนิมิตได้เร็วขึ้น เมื่อเห็นแสงแล้วจิตจะรวมลงได้เร็วขึ้น

พระอาจารย์เปลี่ยนและคณะได้ธุดงค์ต่อไปถึงวัดโพธิ์ อ.หลังสวน ซึ่งท่านภาวนาได้ดีขึ้น เห็นพญานาคมาเฝ้าดูท่านอยู่ในแม่น้ำ หลังจากนั้นได้ไปพักอยู่ถ้ำเขาทอง อ.หลังสวน ซึ่งมีค้างคาวมาก ได้ 4 วัน มีชาวบ้านแถวนั้นบอกว่ามีเหล็กไหลอยู่ในถ้ำชี ก็ได้ไปสำรวจเหล็กไหลที่ถ้ำชีซึ่งอยู่ใกล้กันแต่ไม่พบ จึงธุดงค์ต่อไป ถึงวัดนาบุญ (วัดนาบอน) สถานีคลองขนาน จ.ชุมพร แล้วตรงไป จ.สุราษฎร์ธานี พักที่วัดแห่งหนึ่งในเมือง เป็นวัดมหานิกาย แล้วธุดงค์ต่อไป ถึงวัดโคกสะท้อน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช พักอยู่ 4 วัน

คณะธุดงค์เดินทางไป อ.กันตัน จ.ตรัง พักบนภูเขา ซึ่งต่อมาคือสวนสาธารณะควนตำหนักจันทร์ แล้วนั่งเรือไป จ.ภูเก็ต พักที่วัดเจริญสมณกิจ (วัดหลังศาล) อ.เมือง เพราะหลวงพ่อสุพรรณมีเพื่อนชื่ออาจารย์บัว พระอาจารย์เปลี่ยนได้พักอยู่กุฏิหลังเล็กๆ ในป่า เมื่อพักหายเหนื่อยจากเดินทางแล้วจึงออกมานั่งนอกกุฏิและได้เห็น หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เดินจงกรมอยู่ พระอาจารย์เปลี่ยนชอบใจลักษณะการเดินจงกรมของหลวงปู่มาก นั่งดูอยู่เป็นชั่วโมง เห็นหลวงปู่หยุดเดิน ท่านจึงเดินไปหาเพื่อนที่มาด้วยกันซึ่งพักอยู่บนศาลา หลวงปู่ได้เดินออกมาพบท่านกลางทาง และพูดคุยด้วยจนทราบว่าพระอาจารย์เปลี่ยน มาแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อภาวนา หลวงปู่ได้กล่าวว่าจะเป็นอาจารย์สอนให้ มีข้อขัดข้องอะไรให้ไปถามได้เวลาหลวงปู่ว่าง พระอาจารย์เปลี่ยนจึงไปปรนนิบัติหลวงปู่ตั้งแต่นั้นมา

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9335

ทรงกลด:
๏ พรรษาที่ 2 (พ.ศ. 2503) : จำพรรษา ณ
วัดราษฎร์โยธี บ้านโคกกลอย ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

ก่อนเข้าพรรษา 4 วัน พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส (พระครูสุวัณโณปมคุณ) ได้มาขอให้ไปจำพรรษาที่วัดราษฎร์โยธี หลวงปู่เทสก์ได้นั่งรถตามมาสอนพระอาจารย์เปลี่ยนที่วัด โดยเทศน์ให้ฟังทั้ง 4 คืน ที่พักอยู่ด้วย ก่อนจะจากไปหลวงปู่เทสก์สั่งว่า ถ้ามีปัญหาการภาวนาให้นั่งรถไปหาท่าน

ในพรรษานี้พระอาจารย์เปลี่ยนได้เร่งปฏิบัติ ถึงกับลดอาหารลงเหลือเพียง 5 ช้อนต่อวันแล้วเพิ่มเป็น 7 ช้อนบ้าง 9 ช้อนบ้าง ลดบ้างเพิ่มบ้างตามจำนวนนี้ จนชาวบ้านกลัวว่าท่านจะเจ็บไข้และเสียชีวิต แต่ท่านก็ยังปฏิบัติเช่นนี้ต่อไป ท่านนั่งภาวนาจนสามารถตัดเสียงต่างๆ ที่ได้ยินนั้นได้ทันที ไม่คำนึงถึงเสียงรอบตัวท่านเลย

ส่วนหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ก็ยังคงไปสอนพระอาจารย์เปลี่ยนในสมาธิเสมอ ท่านสามารถเห็นและได้ยินเสียงของหลวงปู่พรหม ชัดเจน จึงคิดจะพิสูจน์ว่าหลวงปู่พรหม มาจริงหรือไม่ ในขณะที่หลวงปู่พรหมสอนท่านในสมาธิ ท่านได้เอามือซ้ายออกไปสัมผัสหัวเข่าของหลวงปู่พรหม แล้วลืมตาดูไม่เห็นอะไร แต่เมื่อทำสมาธิต่อก็พบหลวงปู่พรหมอยู่ที่เดิม เมื่อหลวงปู่พรหมสอนเสร็จ ก็ลอยออกไปทางหน้าต่างตามปกติ

ในพรรษานี้ พระอาจารย์เปลี่ยนได้ใช้เวลาว่างในตอนกลางวันค้นคว้า และอ่านพระไตรปิฎก รวมถึงหนังสือธรรมประเภทอื่นด้วย

หลวงปู่เทสก์เป็นห่วงเรื่องการอดอาหารของพระอาจารย์เปลี่ยน ได้ตักเตือนเมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนไปหาที่ จ.ภูเก็ต ว่า “อาหารการกินเป็นเรื่องของขันธ์ 5 เราฉันเพียงเล็กน้อย 5 ช้อน 10 ช้อน เพื่อเลี้ยงขันธ์ 5 ให้อยู่ได้ ไม่กิน มันตาย ส่วนสุขเป็นเรื่องของใจ เรื่องของกายต้องกินอาหาร” และได้เล่าว่าเมื่อครั้งที่ท่านไปจำพรรษาที่ภาคเหนือกับพวกชาวเขาเผ่ามูเซอร์ ท่านเคยเกิดปิติจนหมดความอยากในอาหารเช่นเดียวกัน แต่ท่านก็พยายามฉัน

ใกล้ออกพรรษาพระอาจารย์เปลี่ยนก็ยังคงฉันอาหารน้อยจนแทบจะไม่ฉันเลย หลวงปู่เทสก์จึงเดินทางมา จ.พังงา และว่ากล่าวพระอาจารย์เปลี่ยนด้วยตนเองอีก พระอาจารย์เปลี่ยนจึงต้องหันกลับมาฉันอาหารตามเดิม


๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 3 ภาคใต้

ออกพรรษาที่ 2 แล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนได้ย้ายจากวัดราษฎร์โยธี ไปอยู่วัดเขาควนดิน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ได้พบกับพระอาจารย์เนตร ซึ่งเป็นพระปฏิบัติเหมือนกัน ได้ปฏิบัติธรรมร่วมกันพักหนึ่งแล้วท่านก็ธุดงค์ต่อไปยัง จ.กระบี่

ต่อมาพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ ซึ่งใฝ่ใจการปฏิบัติเช่นเดียวกัน ได้มาอยู่ปฏิบัติด้วยประมาณเดือนครึ่ง พระอาจารย์เปลี่ยนได้ขอร้องให้พระอาจารย์สุวัจน์เทศน์ให้ฟัง ต้องคะยั้นคะยออยู่นาน พระอาจารย์สุวัจน์ได้เทศน์เรื่องอนัตตา เรื่องตัดธาตุ ตัดขันธ์ภายใน ซึ่งเทศน์ได้ดีมาก พระอาจารย์สุวัจน์ได้ธุดงค์ต่อไปที่วัดบางเหนียว จ.ภูเก็ต

พระอาจารย์เปลี่ยนอยู่ที่วัดเขาควนดินได้ระยะหนึ่ง ท่านต้องต่อสู้กับกิเลสภายในตัวเอง ต้องฝึกจิตให้มีความเข้มเข็ง เด็ดเดี่ยวมากขึ้นแล้ว ยังต้องต่อสู้กับสตรีเพศที่จะเข้ามาทำลายท่านด้วย จึงกลับไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เทสก์ ที่ จ.ภูเก็ต อีกประมาณ 2 เดือน แล้วย้ายกลับไปปฏิบัติธรรมที่วัดเขาควนดิน อ.ท้ายเหมือง อีก หลวงปู่เทสก์มีความเป็นห่วง จึงเดินทางมาสอนท่านที่นี่ด้วย พระอาจารย์เปลี่ยนจึงมีโอกาสปรนนิบัติหลวงปู่เทสก์อย่างใกล้ชิด หลวงปู่เทสก์ก็สอนและเทศน์ให้ฟังจนแน่ใจแล้ว หลวงปู่เทสก์จึงเดินทางกลับไปที่วัดเจริญสมณกิจ จ.ภูเก็ต

ระหว่างอยู่ที่ อ.ท้ายเมือง ท่านได้ทราบว่ามารดาป่วยจึงได้กราบเรียนหลวงปู่เทสก์ ซึ่งได้บอกให้ท่านกลับไปดูแลมารดา แต่พระอาจารย์เปลี่ยนยังไม่ยอมกลับ เพราะว่ายังปฏิบัติธรรมไม่พอกับความต้องการของใจท่าน จึงอยู่กับหลวงปู่เทสก์อีกเกือบหนึ่งเดือน

พระอาจารย์เปลี่ยนได้ถามหลวงปู่เทสก์ เรื่องการนั่งสมาธิของท่านแล้วจิตดิ่งลึกลงไปอยู่สามชั่วโมงครึ่ง โดยที่ท่านไม่รู้ว่าจิตอยู่ที่ไหน เพราะว่าจิตดับหมด ไม่ได้ยินเสียงอะไรทั้งสิ้น จิตเป็นสมาธิมากกว่าเมื่อจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาควนดิน จ.พังงา ที่วัดนั้นท่านยังได้ยินเสียงแต่ก็มีปิติมากจนไม่อยากจะฉันอาหาร

หลวงปู่เทสก์ชี้แจงว่า อาการเช่นนี้เรียก นิพพานพรหม จิตดับจนกระทั่งไม่ได้ยินเสียง ไม่รับรู้อะไรจากภายนอก จิตลงไปสู่ส่วนลึกที่สุดเป็นอัปปนาฌาน เรียกว่าพรหมลูกฟักเป็นพรหมชั้นสูง ถ้าไม่แก้ไขผู้นั้นจะคิดว่าตนได้พบพระนิพพาน จะไปไหนไม่รอด หลวงปู่เทสก์ก็ได้เล่าว่า หลวงปู่ขาว อนาลโย เมื่อติดตามไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ทางภาคเหมือ และพักอยู่สำนักสงฆ์อรัญญวิเวก (วัดอรัญญวิเวก บ้านปง ปัจจุบัน) ได้นั่งสมาธิตั้งแต่ 6 โมงเย็นไปจนถึง 6 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น น้ำค้างจับร่างหลวงปู่ขาวจนเปียกชุ่มท่านจึงรู้สึกตัวออกจากสมาธิ ก็ไม่ทราบว่าจิตไปอยู่ที่ไหน จึงไปถามหลวงปู่มั่น ท่านตอบหลวงปู่ขาวเพียงนิดเดียวคือ ให้หลวงปู่ขาวตั้งต้นใหม่ติดตามดูจิตตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสมาธิ ใช้สติปัญญาตามดูจิตให้ดีว่า วางอารมณ์อะไรจึงดับเสียงไปหมด ให้ดูว่าจิตไปอยู่ที่ไหนต้องตามให้รู้

พระอาจารย์เปลี่ยนได้รับคำสอนจากหลวงปู่เทสก์แล้ว ได้เดินทางกลับบ้าน และเริ่มปฏิบัติทันทีตั้งแต่อยู่ในเรือ จาก จ.ภูเก็ต ไป อ.กันตัง ตลอดทางจนถึง จ.อุดรธานี แทนที่พระอาจารย์เปลี่ยนจะรีบกลับบ้านที่ จ.สกลนคร ท่านกลับเดินทางไปเยี่ยมหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ (วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี) แล้วเดินทางไปหาหลวงปู่ขาว อนาลโย พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เจ้าอาวาส ที่วัดถ้ำกลองเพล (ต.โนนทัน อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี) พระอาจารย์เปลี่ยนได้เล่าปัญหาของท่านที่นั่งภาวนาจนจิตเป็นสมาธิ แต่ไม่รู้ว่าหายไปไหนให้หลวงปู่ขาวทราบ ซึ่งหลวงปู่ขาวได้เล่ายืนยันและย้ำให้ดูจิตของตนเองให้ได้

เมื่อได้รับคำแนะนำจากหลวงปู่ขาวแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนจึงได้กลับไปอยู่ที่วัดทุ่งสว่าง (อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร) และได้ไปเยี่ยมมารดา ปรากฏว่าหายป่วยแล้ว


๏ พรรษาที่ 3 (พ.ศ. 2540) : จำพรรษา ณ
วัดทุ่งสว่าง บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ในพรรษานี้พระอาจารย์เปลี่ยนได้ตั้งสัจจะว่า “จะรับบาตรเฉพาะเวลาเดินทางออกจากวัดเท่านั้น เที่ยวกลับจะไม่รับของใครทั้งสิ้น และไม่รับบาตรในบริเวณวัดเช่นกัน” การบิณฑบาตนี้ชาวบ้านจะใส่แต่ข้าวเปล่า และเอาอาหารมาถวายภายหลัง ซึ่งพระอาจารย์เปลี่ยนก็ไม่รับประเคนอีก ท่านจึงฉันข้าวเปล่าเป็นส่วนมาก

ก่อนจะออกพรรษาเล็กน้อย มีแม่ชีคนหนึ่งทำอาหารมาใส่บาตรท่านไม่ทันในเที่ยวไป จึงของร้องให้มารับในเที่ยวกลับด้วย พระอาจารย์เปลี่ยนได้ปฏิเสธ พระอาจารย์สุภาพได้ขอให้ท่านรับเป็นกรณีพิเศษ เพราะแม่ชีรูปนี้ได้ช่วยเหลืองานวัดและเฝ้าวัดมาตลอด พระอาจารย์เปลี่ยนจึงยอมรับบาตรแม่ชี หลังจากนั้นไม่กี่วันท่านก็ถูกงูกัดจนเท้าบวม อาจเป็นเพราะท่านเสียสัจจะก็เป็นได้ จึงฉันยาและรักษาแบบชาวบ้านเท่านั้น แต่ก็ยังมีมานะออกไปบิณฑบาตตามปกติ เพราะยังเดินได้ หากไม่ออกบิณฑบาต ท่านจะไม่ฉันอาหารเลย

พระอาจารย์เปลี่ยน ได้ปฏิบัติธรรมอย่างเข้มงวด ทำทางเดินจงกรมยาวประมาณ 20 เมตร ไว้ข้างหน้ากุฏิที่พัก หัวทางเดินจงกรมเป็นที่ฝังศพของโยมวัด ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากพระอาจารย์สุภาพ ในปัจจุบันจะเห็นต้นมะม่วงใหญ่ปลูกอยู่สองต้นที่หัวและท้ายของทางเดินจงกรม ท่านเดินจงกรมตามที่พระอาจารย์ลี หลวงปู่พรหม หลวงปู่เทสก์ได้สั่งสอนท่านมา เดินทุกวันจนทางเดินเป็นร่องลึกลงไป เวลาฝนตกน้ำจะขังที่ทางเดิน หากพระอาจารย์เปลี่ยนจะเดิน ต้องวิดน้ำออกหรือไปหาทางเดินใหม่ที่อยู่สูงกว่าขึ้นไป ส่วนกุฏิที่อยู่นั้นเป็นไม้ไผ่มุงแฝก ซึ่งพระอาจารย์คำเคยลองเขย่าแรงๆ เกือบจะพังลงมา พระที่บวชทีหลังยังได้อยู่กุฏิดีกว่า แต่พระอาจารย์เปลี่ยนก็ไม่สนใจหากุฏิใหม่

ถึงแม้พระอาจารย์เปลี่ยนจะปฏิบัติธรรมอย่างหนักไม่ท้อถอยเพื่อจะติดตามดูจิต ตามที่หลวงปู่เทสก์และหลวงปู่ขาวแนะนำก็ตาม ปรากฏว่าสมาธิของท่านดิ่งลงเร็วมาก จิตจึงดับไม่รับรู้อะไร จึงได้แต่สงบเท่านั้น

เมื่อออกพรรษาที่ 3 แล้ว พระอาจารย์สุภาพได้แนะนำให้พระอาจารย์เปลี่ยนสอบนักธรรมตรี ในชั้นแรกท่านคิดว่าจะไม่สอบแต่พระอาจารย์สุภาพคอยให้กำลังใจ ท่านจึงดูหนังสือโดยใช้ความสามารถทางสมาธิที่ท่านมี ในที่สุดท่านก็สอบได้


๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 4 ภาคอีสาน

พระอาจารย์เปลี่ยนมีใจคิดจะสงเคราะห์มารดา ท่านจึงขอเงินจากมารดาของท่าน มาซื้อผ้ามุ้งกลดใหม่ เพื่อผลบุญนี้จะได้ติดตามมารดาของท่านต่อไปทุกภพทุกชาติ ซึ่งมารดาของท่านก็รีบถวายทันที

ท่านได้ธุดงค์อยู่ในละแวกบ้านซึ่งไม่ไกลนัก ไปหาพระอาจารย์อ่อนศรี วัดธรรมมิการาม บางครั้งได้เข้าไปฟังเทศน์หลวงปู่พรหม วัดประสิทธิธรรม ท่านได้พบกับหลวงปู่หงส์และพระอาจารย์อ่อน เจ้าอาวาสวัดดงบัว บ้านดงบัว อ.สว่างแดนดิน ซึ่งบวชเมื่ออายุมากแล้ว (ได้ 13 พรรษา) หลวงปู่หงส์ท่านยังคิดห่วงเรื่องลูกหลาน การปฏิบัติธรรมจึงยังไม่ก้าวหน้า ได้แต่แลกเปลี่ยนสนทนาธรรมเท่านั้น พระอาจารย์เปลี่ยนได้เดินทางกลับมาวัดทุ่งสว่างและอยู่จำพรรษาที่วัดด้วย เพราะพระอาจารย์สุภาพได้เดินทางไปหาที่วิเวกยัง จ.จันทบุรี

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9335

ทรงกลด:
๏ พรรษาที่ 4 (พ.ศ. 2505) : จำพรรษา ณ
วัดทุ่งสว่าง บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ก่อนเข้าพรรษา พระอาจารย์เปลี่ยนได้พบกับหลวงปู่คำดี ปภาโส (วัดถ้ำผาปู่นิมิตร อ.เมือง จ.เลย) ที่วัดหลวงปู่พรหม ซึ่งภายหลังได้มาพักอยู่กับพระอาจารย์เปลี่ยน ที่วัดทุ่งสว่างถึง 10 วัน ท่านได้เมตตาชี้แจงข้อบกพร่องให้พระอาจารย์เปลี่ยนแก้ไขในการปฏิบัติธรรมเป็นอันมาก

ระหว่างพรรษานี้ พระอาจารย์เปลี่ยนเกิดเจ็บท้อง ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ท่านไม่ทราบจะทำอย่างไรดี จึงนั่งสมาธิจนจิตดิ่ง ดับทั้งความรู้สึกภายในและภายนอก แต่พอออกจากสมาธิความเจ็บปวดยังคงมีอยู่ ได้ให้หมอมารักษา ทายาท้าง ฉีดยาบ้าง พอหมดฤทธิ์ยาก็เกิดเจ็บปวดขึ้นดังเดิมอีก เมื่อรักษาด้วยยาไม่หาย ท่านจึงตั้งจิตว่า “ถ้าจะหายก็หาย ถ้าไม่หายก็ตายไปเลย” แล้วท่านก็นั่งสมาธิกำหนดจิตพิจารณาทุกขเวทนานั้น ได้กำหนดรู้และพิจารณาก้อนลมที่เป็นตัวการทำให้เกิดความเจ็บ พิจารณาจนก้อนลมละลาย เมื่อออกจากสมาธิความเจ็บปวดก็หายไป จึงเดินจงกรมตามปกติ การนั่งปฏิบัติพิจารณาธรรมนั้นก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แต่การใช้สติและปัญญาตามจิตไปนั้น ทำได้นานขึ้นกว่าเดิม

ออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนเตรียมตัวเป็นพิเศษจะสอบนักธรรมโท ก่อนหน้าสอบสองสามวัน มารดาของท่านก็ล้มเจ็บ ด้วยความกตัญญูกตเวที ท่านจึงต้องอยู่พยาบาลมารดา ในเวลากลางวันพี่ชายและน้องชายเป็นผู้ดูแล ส่วนท่านจะดูแลตอนกลางคืนระหว่าง 3 ทุ่มถึง ตี 3 อำเภอสว่างแดนดินในขณะนั้นเป็นแดนของผู้ก่อการร้าย จึงมีจุดตรวจของทางราชการอยู่ระหว่างทางจากวัดไปยังบ้านของมารดา ท่านจึงต้องมีเพื่อนพระถือตะเกียงเดินไปด้วย เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เห็นตลอดทาง และไม่สงสัย

มารดาของท่านเจ็บอยู่ได้ 15 วันก็ถึงแก่กรรม ท่านได้อยู่ช่วยงานศพมารดาของท่านจนกระทั่งวันเผา และเก็บอัฐิเข้าเจดีย์เดียวกับบิดาของท่าน การที่ได้เห็นทั้งบิดามารดาเสียชีวิตทำให้ท่านเห็นธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และเกิดความเบื่อหน่ายยิ่งขึ้น ในเรื่องการจัดงานศพมารดา ท่านอยากจัดงานเงียบๆ แต่บรรดาพี่ๆ และน้องๆ อยากจัดอย่างเอิกเกริก มีมหรสพแสดงด้วย ซึ่งท่านคัดค้านไม่ได้ ต้องปล่อยให้มีไป จึงเป็นเหตุให้ท่านเตรียมตัวไปธุดงค์ต่อ


๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 5 ภาคเหนือ

ในระหว่างที่พระอาจารย์เปลี่ยนธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ นั้นได้ยินกิตติศัพท์เล่าลือถึงหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ว่าเทศน์ได้เก่งมาก ส่วนหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ไม่ได้เทศน์แต่เป็นพระนักปฏิบัติ จึงคิดจะไป จ.เชียงใหม่ เพื่อตามหาหลวงปู่ตื้อ โดยชวนพระประสิทธิ์ ฉันทาคโม (น้องพระอาจารย์ทองสุก อุตฺตรปัญโญ) และสามเณรบัวรา ไปด้วย

พระอาจารย์เปลี่ยนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ก่อน แล้วจึงเดินทางขึ้น จ.เชียงใหม่ ไปพักอยู่ที่วัดสันติธรรม อ.เมือง อ.เชียงใหม่ แล้วเดินทางต่อไปวัดป่าน้ำริน (ห้วยน้ำริน) อ.แม่ริน จ.เชียงใหม่ เมื่อถึงวัด พระอาจารย์เจริญ ญาณวุฑโฒ ได้ชวนไปภาวนาที่ถ้ำปากเพียง และได้พบพระอาจารย์ทองสุกและท่านศรีจันทร์ ที่นั่น

ถ้ำผาปล่องอยู่ทางทิศเหนือของถ้ำเชียงดาว อ.เชียงดาว พระอาจารย์ทองสุก เล่าว่า ถ้ำผาปล่องเดิมเป็นเพียงรูถ้ำ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร อยู่อย่างง่ายๆ เอาไม้ไผ่กั้นเป็นห้องของท่าน พื้นกระดานเป็นฟากไม้ไผ่ ทางเดินจงกรมก็เป็นไม้ไผ่ (ต่อมาท่านก็ยังอยู่ที่เดิมตรงที่เป็นเตียงท่าน) น้ำก็หายาก บางวันพระก็ไม่ได้อาบน้ำ น้ำดื่มก็ใช้ปี๊บมาต้มน้ำกิน ให้กระบอกไม้ไผ่เป็นถ้วยน้ำดื่ม ทุกองค์ทนกันได้เพราะมาปฏิบัติธรรม

ปกติพระอาจารย์เปลี่ยนจะมาสรงน้ำหลวงปู่สิมทุกวัน แต่มีวันหนึ่งอาจารย์ทองสุกและพระองค์อื่นๆ เดินล่วงหน้ามาก่อน พระอาจารย์เปลี่ยนเดินมาองค์เดียว เมื่อมาถึงเชิงเขาวัดถ้ำผาปล่อง (ที่ลานจอดรถในปัจจุบัน) ยังเป็นป่าทึบอยู่ ได้ยินเสียงเดินออกมาจากป่าข้างหน้า ตอนแรกคิดว่าเป็นช้าง แต่เมื่อมาประจัญหน้ากลับเป็นยักษ์ มีขนเต็มหน้าอก รุงรัง สูงราว 6 ศอก (3 เมตร) มีนัยน์ตาสีแดง ยืนขวางอยู่ที่ชายป่า รูปร่างล่ำสันแข็งแรงใหญ่โตมาก ในขณะนั้นคิดว่าถ้ามีคน 6 คน ก็ยังสู้ยักษ์ตนเดียวนี้ไม่ได้ ส่วนท่านก็มีเพียงย่ามใบเดียว ไม่มีอะไรเป็นอาวุธเลย จึงได้แต่ยืนจ้องกันอยู่สักครู่หนึ่ง ยักษ์ก็หันหลังเดินเข้าป่าไป ท่านจึงเดินขึ้นเขาไปสรงน้ำหลวงปู่สิม แต่ก็ไม่ได้เล่าให้ท่านฟัง พึ่งมาเล่าในตอนหลัง

 
ถ้ำปากเพียง


๏ ถ้ำปากเพียง

ถ้ำปากเพียงอยู่ ต.บ้านถ้ำ อ.เชียงดาว อยู่ใกล้กับถ้ำผาปล่อง การอยู่ที่ถ้ำปากเพียงนั้น พระที่มาด้วยกันต่างหาที่อยู่กันเอง พระอาจารย์เปลี่ยนเลือกได้หลืบถ้ำแห่งหนึ่ง บางวันท่านพักผ่อนนอนภาวนาอยู่ ปรากฏว่ามีงูเห่าหัวขนาดข้อมือซึ่งอยู่เหนือหลืบถ้ำขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง หย่อนหัวลงมาดูท่าน เมื่อท่านเหลือบไปเห็น ก็ตั้งจิตแผ่นเมตตาให้ สักพักงูก็ชูหัวรับแล้วก็หายขึ้นไปข้างบนตามเดิม มันจะมาทำอาการเช่นนี้ตลอดเวลาที่ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ถึง 3 ครั้ง

การสวดมนต์บทยานีหรือบทนครัฏฐาสูตร (ซึ่งตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งให้พระอานนท์ นำไปสวดที่เมืองเวสาลีเพื่อขับไล่ทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง โรคระบาดผู้คนล้มตาย เกิดน้ำท่วมไฟไหม้ ภูติผีปีศาจหลอกหลอน เมื่อสวดมนต์บทนี้แล้วปรากฏว่า พวกอมนุษย์ทั้งหลายที่สิงสถิตย์อยู่ตามที่ต่างๆ ได้พาหนีออกจากเมืองจนหมดสิ้น โรคภัยไข้เจ็บและภัยพิบัติต่างๆ ก็หายไปด้วย) พวกภพภูมิที่ถ้ำปากเพียงไม่ชอบฟัง ถ้าวันใดสวดจะมาหลอกหลอนต่างๆ ภายหลังได้มาบอกพระอาจารย์เปลี่ยนในสมาธิว่า การสวดมนต์บทนี้เท่ากับเป็นการขับไล่เขา ถ้าสวดบทอื่นจะมานั่งฟังกัน พระอาจารย์เปลี่ยนได้ลองสวดต่อไปอีก 4-5 ครั้ง ก็ถูกหลอกต่างๆ เมื่อแน่ใจจึงได้หยุดสวด

พระอาจารย์เปลี่ยนพักอยู่ที่ถ้ำปากเพียงได้ประมาณ 4 เดือน ได้ย้ายไปหาที่สงบแห่งใหม่ คือถ้ำเบี้ย อยู่ทางทิศเหนือของถ้ำปากเพียง ท่านได้ทบทวนสวดปาติโมกข์ (ซึ่งท่านสวดได้เมื่ออยู่ จ.พังงา และได้แสดงปาติโมกข์ครั้งแรกเมื่อกลับมาอยู่ที่วัดทุ่งสว่าง) เมื่อถึงวันพระต้องสวดปาติโมกข์ พระจากถ้ำปากเพียงจะไปร่วมกันสวดที่ถ้ำผาปล่อง แต่บางครั้งก็จะสวดกันเองที่ถ้ำปากเพียง

พระอาจารย์เปลี่ยน ธุดงค์มาพักที่สำนักสงฆ์ป่าเมี่ยงแม่สาย บ้านป่าเมี่ยง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ พักอยู่ไม่นานจึงไปกับพระอาจารย์บาล ถึงบ้านฮ่องนอด อ.เวียงป่าเป้า แล้วต่อไป อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตลอดทางไม่ได้ฉันอาหารเลย ไปพักวัดเม็งราย ซึ่งอยู่บนดอยฮ่องลี้ เป็นวัดที่ทหารสร้าง กุฏิมีลักษณะเตี้ยและเป็นแถวคล้ายบ้านพักทหาร อาหารการกินในวัดนี้ทหารเป็นผู้ดูแล ท่านไปคุยกับพระครูที่วัดเม็งราย จึงทราบว่ากุฏิที่ท่านพักนั้นไม่มีใครกล้าไปนอน เพราะเป็นวัดที่เผาศพทหารที่เสียชีวิตจากชายแดน ท่านอยู่วัดเม็งรายได้ 13 วัน ถูกผีรบกวนตลอดเวลา ขณะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ จะมีความรู้สึกว่ามีใครมาจับขา จึงแผ่เมตตาแผ่ส่วนกุศลให้ แต่ผีเหล่านั้นจิตคงจะหยาบมากจึงไม่ยอมรับผลบุญที่อุทิศให้เลย


๏ วัดถ้ำผาจม ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ออกจากวัดเม็งราย ได้เดินทางไป อ.แม่จัน พักอยู่หนึ่งคืนจึงต่อไป อ.แม่สาย ได้ไปพักอยู่ที่วัดถ้ำผาจม (ขณะนั้นประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. 2506) โดยนอนพักอยู่ตรงที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ข้างบนถ้ำ อาจารย์บาลพักอยู่ข้างล่าง มีพระมหานิกายอีก 2 องค์ คือหลวงพ่อเขียวและพระสมนึก อยู่ที่วัดถ้ำผาจมก่อนแล้ว อยู่ข้างล่างเช่นเดียวกัน

เนื่องจากอาจารย์บาลท่านชอบเที่ยว พระอาจารย์เปลี่ยนจึงเสนอว่าควรจะไปให้ถึงเมืองอินเดียโดยการเดินธุดงค์ เมื่อตกลงกันแล้ว จึงออกเดินทางข้ามไปฝั่งพม่า ได้ไปแวะวัดพระเจ้าระแข้งและคุยกับพระครูของวัดนี้ ซึ่งคิดจะช่วยพระอาจารย์เปลี่ยนและอาจารย์บาล ให้ไปได้สำเร็จจึงสอบถามทหารพม่าให้ แต่ทหารได้คัดค้านเกรงว่าจะเกิดอันตราย เพราะขณะนั้นรัฐบาลพม่าและพวกไทยใหญ่กำลังรบกัน เมื่อไปไม่ได้พระอาจารย์เปลี่ยนจึงย้อนกลับมาหาหลวงปู่คำพาที่ถ้ำ ตรงท่าขี้เหล็ก แต่ถ้ำของหลวงปู่ไม่มีบริเวณ การปฏิบัติไม่สะดวก จึงย้อนกลับไปหาท่านพระครูองค์เดิมที่วัดพระเจ้าระแข้งอีกครั้งหนึ่ง โดยคิดจะธุดงค์ผ่านพม่าไปอินเดียให้ได้ ครั้นเดินธุดงค์ไปยังวัดห้วยทราย เกือบจะเข้าเชียงตุง แต่เผอิญท่านพระครูและชาวบ้านที่ไปด้วยได้ถูกระเบิด ท่านพระครูขาหัก ส่วนชาวบ้านเสียชีวิตไป 3 คน พระอาจารย์เปลี่ยนจึงต้องถอยหลังกลับมาอยู่วัดถ้ำผาจม อีกเป็นครั้งที่ 2 พระอาจารย์เปลี่ยนจะข้ามไปอยู่ฝั่งพม่าในเวลากลางวัน พอตกค่ำจะกลับเข้าเขตไทย และกลับไปพักที่วัดถ้ำผาจม


ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9335

ทรงกลด:
๏ วัดพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน จ. เชียงราย

ต่อมาพระอาจารย์เปลี่ยนเห็นว่าที่วัดถ้ำผาจมอยู่กันหลายองค์ ภาวนาไม่สะดวก จึงคิดจะไปภาวนาที่ดอยตุง แล้วเปลี่ยนความตั้งใจมุ่งไปที่วัดพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน ซึ่งท่านมหาชิตเป็นอธิการอยู่ ในขณะนั้นวัดพระธาตุจอมกิตติ มีศาลาหนึ่งหลังและมีกุฏิอยู่ข้างล่าง 2 หลัง ตอนค่ำทำวัตรสวดมนต์กับพระเณรที่อยู่ในวัดแล้วทำสมาธิอีก 30 นาที แล้วกลับมาสวดมนต์และนั่งสมาธิต่อที่กุฏิ เวลากลางคืนก็จะขึ้นไปนั่งสมาธิข้างบนที่เจดีย์

ท่านสังเกตว่าบนฐานเจดีย์ตรงทางเดิน แลดูเกลี้ยงเกลา ทั้งๆ ที่ไม่มีใครไปทำความสะอาด พระอาจารย์เปลี่ยนคิดจะทดสอบบางสิ่งบางอย่าง จึงขึ้นไปบนพระธาตุจอมกิตติ 4 วัน ทุกวันจะจุดเทียนทั้งสี่ทิศ และนั่งขวางทางประตูทุกวัน เพื่อจะพิสูจน์ว่ามีพวกเทพผ่านเข้าด้านข้างๆ ของท่านทั้งซ้ายและขวา ท่านจึงขยับไปนั่งติดกับกำแพง ไม่ขวางประตู เทพที่มากราบไหว้พระเจดีย์นั้นมากราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุแล้วก็ไป จะมาจากที่ต่างๆ กันทั่วสารทิศ การแต่งกายจะแต่งกายเหมือนกันหมดตามกลุ่มของตนที่มา กลุ่มหนึ่งก็จะใช้สีหนึ่งสามารถสอบถามจากหัวหน้าเทพที่พามาว่า กลุ่มนี้มาจำนวนเท่าใด พระอาจารย์เปลี่ยนจะขึ้นไปที่เจดีย์ตอน 5 ทุ่ม พอสองยามก็จะกลับไปจำวัด ตี 3 จะกลับขึ้นไปไหว้พระสวดมนต์ตรงทิศเหนือของเจดีย์ ซึ่งมีพระประธานอยู่ในเรือนไม้ หลังคามุมแฝก จนรุ่งเช้า

บางครั้งจะสวดทบทวนปาติโมกข์และสวดธรรมจักรทุกครั้ง สังเกตว่ามีเทวดามาคอยนั่งฟังข้างหลังท่าน เมื่อเทพมาจะยืนยกมือพนมไหว้แล้วนั่งลงพนมมือ เวลาจะกลับจะยืนลอยขึ้นแล้วก้มลงพนมมือไหว้ พวกเทพจะไม่กราบเวลานั่ง เทพผู้ชายจะนั่งข้างหน้า นางฟ้าจะนั่งข้างหลัง ในเวลากลางวันท่านไปนั่งปฏิบัติธรรมอยู่ตรงบริเวณที่เรียกว่า “บ่อน้ำทิพย์” จึงเห็นชัดเจนว่าพวกเทพที่รักษาเจดีย์และพระธาตุเป็นเทพชั้นรุกขเทวดา

นอกจากนั้นท่านยังได้นิมิตว่า “ท่านแสนฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน เป็นผู้มีจิตศรัทธาสร้างวัดพระธาตุจอมกิตติ เมื่อสวรรคตแล้วก็ได้เกิดเป็นเทพในชั้นดาวดึงส์

พระอาจารย์เปลี่ยนพักอยู่ที่วัดพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน ประมาณ 1 เดือน (พฤษภาคม พ.ศ. 2506) แล้วเดินทางไปวัดป่าสักหลวง พักอยู่ไม่นานก็เดินทางกลับมา อ.เมือง จ.เชียงราย แล้วธุดงค์ลงมาพักที่ป่าช้า วัดสำราญนิวาส อ.เกาะคา จ.ลำปาง (ปัจจุบันพระอาจารย์หลวง กตปุญโญ เป็นเจ้าอาวาส) ท่านเริ่มเจ็บที่ซี่โครงข้างซ้าย ซึ่งคงจะเป็นเพราะเมื่ออยู่ที่ถ้ำผาจม ได้เดินเที่ยวรอบๆ และตกลงมาจากที่สูงขณะสำรวจหมู่บ้านอีก้อ หรือจะเป็นเพราะสะพายบาตรเดินทางมาไกลก็ได้

ออกจากวัดสำราญนิวาส ไปพักที่วัดสันติธรรม จ.เชียงใหม่ อาการเจ็บซี่โครงรุนแรงขึ้น คิดจะไปโรงพยาบาลสวนดอก (โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่) แต่เคยรักษาโรคเจ็บท้องด้วยธรรมโอสถ จึงอยากจะลองใช้ธรรมโอสถอีก หลังฉันอาหารเช้าแล้วจึงเข้าไปในโบสถ์ซึ่งยังสร้างไม่เสร็จ นั่งสมาธิกำหนดจิตนิ่งเข้าไปตรงที่ปวดก็พบว่ามีก้อนเลือดคั่งอยู่บริเวณนั้น ทำให้อักเสบ จึงกำหนดจิตจี้เข้าไปแล้วเข้าสมาธิดับนิ่งอยู่ประมาณ 4 ชั่วโมง เมื่อออกจากสมาธิอาการเจ็บก็หายไปเลย

ระหว่างอยู่ที่วัดสันติธรรม ท่านพักอยู่ที่เรือนไม้ใต้ถุงสูง เวลาคืนพวกเทพจะพากันมาไหว้เจดีย์ โดยลอดมาทางใต้ถุนกุฏิที่ท่านพักอยู่ เมื่อมีโอกาสจึงถามพวกเทพ จึงทราบว่า วัดเก่าที่วัดสันติธรรมสร้างคร่อมอยู่นี้ พระเจ้าติโลกราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ในสมัยนั้นเป็นผู้สร้างขึ้น ในขณะที่พระเจ้าติโลกราชยังมีชีวิตอยู่จะเสด็จมานมัสการพระเจดีย์ทุก 7 วัน ส่วนที่วัดพระเจดีย์หลวงและวัดสวนดอก พระองค์ก็สร้างเช่นเดียวกัน ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปนมัสการทุก 3 วัน


๏ พรรษาที่ 5 (พ.ศ. 2506) : จำพรรษา ณ
วัดป่าอาจารย์ตื้อ ต.สันมหาพน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

พระอาจารย์เปลี่ยนมาพักปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ ท่านได้เห็นการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ตื้อแล้วชอบมาก จึงพยายามปฏิบัติให้ได้ใกล้เคียง หลวงปู่ตื้อมีความสามารถในการสอนธรรมะและอธิบายข้อสงสัยต่างๆ อย่างกระจ่างแจ้งสมคำร่ำลือ และคุ้มค่ากับความเหนื่อยยากที่ท่านดั้นด้นไปหาเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ พระอาจารย์เปลี่ยนตามปรนนิบัติหลวงปู่อย่างใกล้ชิด ทำหน้าที่ทุกอย่างถวายด้วยตนเอง พอค่ำลงท่านจะมาบีบนวดหลวงปู่ทุกวัน ระหว่างนั้นหลวงปู่ เทศน์บ้าง สอนธรรมบ้าง สอนการปฏิบัติบาง สอนให้ละขันธ์ 5 สอนทางพ้นทุกข์ ฯลฯ

สิ่งใดที่พระอาจารย์เปลี่ยนสงสัย หลวงปู่จะไขให้จนกระจ่าง ประมาณเที่ยงคืนจึงจะกลับไปนั่งพิจารณาธรรมะที่หลวงปู่สอนสั่ง แล้วเดินจงกรมจนถึงตี 2 ท่านพักผ่อนได้ 2 ชั่วโมงก็ตื่นตี 4 ทำวัตรสวดมนต์ แล้วทำความเพียรต่อจนถึงเวลาออกบิณฑบาต เสร็จการฉันแล้วจะปรนนิมัติหลวงปู่จนเวลาเที่ยง จึงไปนั่งภาวนาถึงชั่วโมงครึ่ง ปฏิบัติไปนานๆ เข้า พอได้เวลาท่านจะออกจากสมาธิเอง โดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุกเลย


๏ ปฏิปทาของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

ปกติเวลาฉัน หลวงปู่ตื้อจะฉันองค์เดียวไม่พร้อมใคร เมื่อเวลาบิณฑบาตกลับมา พระเณรที่ไปด้วยจะกลับมาเตรียมให้ท่านแล้วต่างก็ฉันเลยไม่ต้องรอ เพราะหลวงปู่จะใช้เวลานั้นเดินจงกรมก่อน หากหลวงปู่พบว่ามีพระมารอฉันพร้อมท่าน ท่านจะบอกว่า “ขันธ์ 5 ของใครก็ของมัน ท้องใครก็ท้องมัน ปากใครก็ปากมัน ฉันไปแล้ว อิ่มแล้วไปล้างบาตร แล้วไปภาวนา เราจะฉันวันไหนเวลาไหนก็เป็นเรื่องของเรา” เมื่อหลวงปู่ฉันเสร็จ พระอาจารย์เปลี่ยนเป็นผู้ล้างบาตร เทกระโถน แล้วนิมนต์ หลวงปู่กลับกุฏิ การต้อนรับแขกที่ไปหา หลวงปู่มักจะทราบล่วงหน้าว่าจะมีใครมาพบ แล้วจะนั่งรอจนกว่าเขาจะมาถึง ท่านจะเทศน์สั่งสอนโดยไม่เกรงใจว่าใครจะโกรธ ใครจะฟัง ใครจะเชื่อหรือไม่หลวงปู่ไม่สนใจ เพราะไม่ได้เทศน์เพื่อเอาของถวายจากเขา

หลวงปู่ตื้อจะเทศน์ให้พระอาจารย์เปลี่ยนพิจารณาลมหายใจเข้าออก เมื่อหายใจเข้าแล้วไม่มีลมออกก็อยู่ไม่ได้ เมื่อลมหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย เมื่อตายแล้วไม่สามารถนำอะไรติดตัวไป สมบัติต่างๆ ที่สะสมไว้ ขณะมีชีวิตอยู่ก็ต้องทิ้งไว้ แขนขาเนื้อหนังกระดูกของตัวเราก็ต้องทิ้งไว้ในโลกนี้ ไม่มีใครสามารถนำติดตัวไปได้ ส่วนต่างๆ ของร่างกายจะเอาไปกินก็ไม่ได้ สู้ขาหมูยังไม่ได้สามารถเอาไปขายได้ เอาไปกินได้ มนุษย์จะสวยแค่ไหนงามแค่ไหน ขายไม่ได้ สู้ไก่ยังไม่ได้ ร่างกายมนุษย์นี้ไม่มีประโยชน์อะไร จะไปหลงรักหลงชังอยู่ทำไม เมื่อหลวงปู่เทศน์เรื่องอานาปานสติ พิจารณาลมแล้วพิจารณาความตาย แล้วต่อด้วยอสุภกรรมฐาน หลวงปู่เตือนผู้เฒ่าผู้แก่ว่า แก่แล้วทำไมไม่เอาพุทโธ

เป็นพระมาบวชถ้าไม่เอาพุทโธ ไม่เอาภาวนา แล้วมาบวชทำไม ถ้าไม่เอาภาวนาก็จะเป็นพระหมา พระแมว พระวัว พระควาย เมื่อร่างกายตายแล้ว เน่าเหม็นเอาไปไม่ได้ เราก็ต้องเอาจิตเอาใจของเรา ต้องทำแต่ความดี จิตใจไม่ได้มีอะไรมาก มีอยู่แค่อันเดียว ไม่ต้องไปรู้ว่ามีจิตกี่ตัว ให้รู้ว่ามีแค่จิตเดียว เพราะว่ามีจิตหลายตัว จึงได้เป็นบ้าไปหมด


หลวงปู่ตื้อ อลจธมโม


หลวงปู่ตื้อ อลจธมโม
วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

นามเดิม : ตื้อ ปาลิปัตต์
บิดา : นายปา ปาลิปัตต์
มารดา : นางปัตต์ ปาลิปัตต์
เกิด : วันจันทร์ที่ ๓ กุมภาพันธุ์ พ.ศ. ๒๔๓๑
ณ บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

บรรพชาอุปสมบท : เป็นศิษย์วัดตั้งแต่วัยเยาว์ ต่อมาบรรพชาเป็นสามเณร และเมื่ออายุ ๒๑ ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ สังกัดมหานิกาย

ศึกษาธรรม : ด้วยความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และในบารมีธรรม ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จึงได้ถวายตัวเป็นศิษย์ กาลต่อมาได้ญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย สหธรรมิกที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมโม มีความสนิทสนมมาก คือ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ซึ่งเคยออกธุดงค์จาริกด้วยกัน

ปฏิปทา : หลวงปู่ตื้อเป็นสมณะที่เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติ การเสวนาและแสดงธรรมจะตรงไปตรงมา จนคล้ายขวานผ่าซากในวาจา

สหธรรมิก : หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

สิริอายุ ๘๖ ปี (๖๕ พรรษา)

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9335

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

Go to full version