หมวด ผู้ทรงวิทยาคุณ (เกจิอาจารย์) > เกจิอาจารย์ภาคอีสาน

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่จาม มหาปุญโญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

<< < (3/3)

ทรงกลด:

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ขณะออกรับบิณฑบาต
ตอนที่ ๑๑
วิกฤติสร้างวีรบุรุษ

เมื่อการบวชได้ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย คณะจึงได้เดินทางไปนมัสการปูชนียสถานสำคัญ เพื่ออธิษฐานฝากฝังพระจาม ตลอดจนพระจามก็อธิษฐานตนฝากไว้ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ให้ตลอดรอดฝั่ง จึงพากันไปนมัสการพระธาตุหลวง ที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยผ่านไปนมัสการพระธาตุบัวบกที่บ้านผือ พระธาตุโคกซวก ที่ศรีเชียงใหม่ ข้ามไปยังฝั่งประเทศลาว ความมั่นใจจึงเกิดขึ้นอย่างเต็มหัวใจ คณะจึงมุ่งกลับสู่คำชะอี ด้วยการเดินทางด้วยเท้าไม่มียานพาหนะและคณะมีหลายคนบางคนก็อายุมาก ย่อมทำให้การเดินทางได้ไม่รวดเร็วเท่าที่ควรประกอบด้วยลักษณะนิสัยประจำตัวของพระจามที่มีอยู่เดิมนั้น ค่อนข้างใจร้อนทำอะไรรวดเร็ว เด็ดเดี่ยวอยู่แล้วจึงได้ขอร้องกับคณะที่ไปส่งโดยขอแยกตัวไปเพื่อแสวงหาสถานที่วิเวกเพื่อภาวนาสักระยะหนึ่งจึงจะตามไป

เมื่อข้ามจากฝั่งประเทศลาวมาไทยแล้ว พระจามจึงขอแยกออกจากคณะเพื่อมุ่งไปบำเพ็ญจิตภาวนาเพียงองค์เดียว เพราะมีความเชื่อมั่นในตนเองอย่างเต็มหัวใจ ที่ตนเองได้เคยศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่หลวงปู่มั่นขณะเป็นเณรมาในขั้นอุฤษฏ์แล้ว ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้จากครูบาอาจารย์ผู้เป็นศิษย์หลวงปู่มั่นหลายองค์ เช่น หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม หลวงปู่ดี ฉนฺโน มาแล้วโดยเฉพาะหลวงปู่ดี ฉนฺโนเก่งทางกสิณพระจามเชื่อมั่นตนเองว่า มีฤทธิ์อำนาจพอที่จะรักษาตนเองได้ตลอดจนเรียนรู้ธรรมเนียมพระธุดงค์กรรมฐานอย่างดีมาแล้ว

พระจามได้มุ่งสู่ถ้ำพระ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ปักกลดบำเพ็ญจิตภาวนาระยะหนึ่งแล้วเดินธุดงค์ต่อไปยังถ้ำเกิ้ง ใกล้ภูย่าอู่ อำเภอบ้านผือ เขตจังหวัดอุดรธานี อยู่บนเทือกเขาภูพาน ที่บริเวณนั้นมีเสือชุกชุม เสือแถบนี้เคยกินคนมาแล้ว เมื่อชาวบ้านทราบจึงมีความเป็นห่วงว่าจะถูกเสือตะครุบเอาไปกิน

ชาวบ้านบอกเล่าว่า มีเสือโคร่งสามารถกินควายวัวคนได้ เสือดาวมักจะกินลูกควายลูกวัวและคนได้ เสือดำมักกินหมาที่ติดตามคนไป แต่ถ้าเข้าใจผิดว่าคนเป็นหมาก็สามารถกินคนได้เช่นกัน ที่เสือแถวนี้ชอบกินคนเพราะได้เคยกินศพคนเดินทาง มีคณะที่แบกหามสัมภาระไปขายโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเวียดนาม เมื่อใครตายก็ทิ้งศพไว้ในป่าโดยไม่เผาหรือฝัง เสือจะกินซากศพที่ตายใหม่ๆ รสชาติเนื้อคนคงจะอร่อยทำให้เสือติดใจในรสชาติจึงเป็นสาเหตุที่เสือชอบกินคน ชาวบ้านแนะนำว่า กลางคืนต้องอยู่ในกลดอย่าออกมาข้างนอกจนกว่าจะรุ่งเช้า ต้องหากระบอกไว้ปัสสาวะในกลด เสือดำ เสือดาว อาจเข้าใจเป็นหมาก็จะตะครุบเอาไปกิน ถ้าออกมานอกกลด แม้แต่ระหว่างการเดินทางก็ต้องระมัดระวัง

คืนวันแรกที่ถ้ำเกิ้ง พระจามสวดมนต์ก่อนพลบค่ำจากนั้นก็เข้าภาวนาในกลด โดยไม่ออกมาจนกระทั่งรุ่งเช้าออกไปบิณฑบาตปรากฏว่าคืนนั้น เสือไม่มาหากินบริเวณนั้น เป็นเรื่องที่แปลกประหลาด เมื่อชาวบ้านทราบตอนไปบิณฑบาต ถามเรื่องราวแล้วชาวบ้านตกใจถามว่า “เสือไม่มาหรือ” ท่านตอบว่า “ไม่มี” แต่ชาวบ้านเข้าใจเหตุการณ์ดีจึงพากันไปตัดไม้ไผ่มาปักตามซอกหินที่เงื้อมผาถ้ำเกิ้งนั้นทำคอก ๒ ชั้น และทำไม้ค้ำยันเพื่อป้องกันเสือทุกชนิด ทำให้พระจามได้ใจชื้นขึ้นจากความรู้สึกที่ชาวบ้านเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง

คืนวันที่สองท่านได้เข้าคอกเข้ากลดสวดมนต์ทำวัดเสร็จเรียบร้อยก่อนมืด พอเริ่มพลบค่ำได้ยินเสียงเสือร้องรับกันเป็นทอดๆ แต่ไกลและเสียงร้องใกล้เข้ามาๆ เป็นระยะหลายตัวเสียงดังสนั่นหวั่นไหว จิตเริ่มปรุงแต่งจึงเกิดความกลัวมากขึ้นตามลำดับ รู้สึกกลัวมากขึ้นจนตัวสั่น แม้ยังไม่เห็นตัวก็เพราะเป็นเวลาค่ำมืด ในช่วงวิกฤติตรงที่เสือมาร้องอยู่ที่หน้าถ้ำห่างนิดเดียวที่พึ่งสุดท้ายคือการสวดมนต์ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ท่านบอกว่าเริ่มแรกนั้นตั้งนะโม สวดก็ไม่จบ สวดอิติปิโสก็ไม่ถูก เสือเดินวนไปเวียนมา ได้แต่นะโมเฉยๆ อิติปิโสเฉยๆ เกิดกลัวจนขนพองสยองเกล้า แต่เมื่อเสือไม่เข้ามาตะกุยคอกที่ชาวบ้านสร้างให้ไว้ ก็มีสติขึ้นมา ตั้งสติได้ก็สวดมนต์ได้จนจบ สวดอย่างถี่ยิบเพื่อให้จิตสงบโดยเร็ว เพราะไม่แน่ใจว่าเสืออาจหวนกลับมาเล่นงานก็ได้

จากนั้นไม่นานจิตก็สงบเป็นสมาธิ ความกลัวหายไปหมด เชื่อมั่นในพระรัตนตรัยอย่างปราศจากข้อสงสัย ต่อจากนั้นก็ปรากฏหัวหน้าเทวดาแต่งตัวสวยงามมาบอกว่า ถ้าต้องการให้ช่วยเหลือก็ให้นึกถึงจะมาช่วยเหลือทันที และบอกบริวารที่เป็นเพศหญิงให้ออกไปจากบริเวณถ้ำเสียก่อนและให้ช่วยปกป้องคุ้มครอง และบอกอีกว่าใกล้ๆ มีบ่อน้ำทิพย์ให้ใช้ดื่มกินได้

วิกฤติชีวิตได้ผ่านไปจากการเสี่ยงภัยจากเสือร้าย ท่านจึงเกิดความมั่นใจ ตอนรุ่งเช้าออกไปบิณฑบาต ก็ได้เดินสำรวจดูรอยตีนเสือมากมายตามทางเดิน แต่จิตใจไม่สะทกสะท้าน จิตใจมั่นคงอยู่กับ “พุทโธ” ตลอดเวลาท่านได้พักภาวนาอยู่ที่ถ้ำนี้ระยะหนึ่งพอสมควรแล้วและเห็นว่าใกล้จะเข้าพรรษา จึงเดินทางกลับไปจำพรรษาที่ห้วยทราย ที่โปรดโยมแม่ชี

เมื่อพรรษาผ่านไปรู้สึกเป็นห่วงโยมแม่ จะลาสิกขาถ้าตัวเองไม่อยู่ห้วยทราย จึงไปเรียนปรึกษาว่าจะออกธุดงค์ไปหาวิเวกที่ต่างๆ เป็นระยะเวลายาวนาน แม่ชีมะแง้จึงกล่าวให้เกิดความสบายใจว่า “ไม่ต้องเป็นห่วงใยแม่ เพราะแม่มีหลักใจแล้วขอให้ออกไปแสวงหาธรรมขั้นสูง ณ สถานที่สัปปายะตามรอยพระกรรมฐานเถิด” ต่อจากนั้นพระจามจึงตัดสินใจ ออกหาวิเวก โดยเดินทางไปลาพ่อซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่ภูเก้า เพื่อไปหาพระอาจารย์คูณ อธิมุตโต ที่มหาสารคาม หลวงพ่อกาจึงเดินทางไปจำพรรษาที่มหาสารคามเพราะด้วยความห่วงใย

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13090

ทรงกลด:
ตอนที่ ๑๒
อัศจรรย์เด็กผู้หญิง

เมื่อออกพรรษาญาติโยมได้รับหลวงพ่อกากลับไปห้วยทราย พระจามและสหธรรมิกรวม ๔ องค์ ได้เดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ช่วงระหว่างเลยกับเพชรบูรณ์ เพื่อแสวงหาสถานที่วิเวก บนเชิงเขาหินผาได้พบพระธุดงค์ ๒ องค์ จะเดินข้ามดงใหญ่ องค์หนึ่งพึ่งหายป่วยตั้งใจจะข้ามไปอีกฟากเขา พอเดินไปกลางดงก็หมดแรง ขอให้เพื่อนกางกลดให้เพื่อพักอยู่ก่อนโดยขอให้เพื่อนเดินไปให้พ้นดงก่อนมืด แล้วชวนให้ชาวบ้านกลับมาช่วยในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าในคืนนั้นพระองค์นั้นถูกเสือคาบไปกินเหลือแต่ร่องรอย เป็นอัฐบริขารในกลด สันนิษฐานว่าคงออกไปปัสสาวะข้างนอกจึงถูกเสือคาบเอาไปกิน ส่วนท่านและสหธรรมิกเดินข้ามฟากไปโดยปลอดภัย

ต่อมาได้ไปพักปักกลดอยู่บนเชิงเขาแห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้านเลยวังใส ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ริมแม่น้ำเลย เช้าวันหนึ่งคณะสงฆ์ได้เดินทางออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน มีศรัทธาญาติโยมใส่บาตรให้พอสมควรแล้วก็เดินทางกลับไปที่พักปักกลด ได้มีศรัทธาญาติโยมบางท่านติดตามเอาอาหารมาถวายเพิ่มเติม มีเด็กหญิงตัวเล็กๆ ไปด้วยโดยไม่มีพ่อแม่นำไป เด็กหญิงคนนั้นได้นำข้าวและสัปปะรดครึ่งลูกไปถวาย

ขณะนั้นก็มีการเตรียมอาหารแยกอาหารและกับข้าวเพื่อจัดถวายพระสงฆ์เพื่อเฉลี่ยกันฉันให้ทั่วถึง เด็กหญิงคนนั้นกุลีกุจอจัดอาหารคาวหวานตลอดจนการประเคนอาหารมีความแคล่วคล่องกว่าผู้ใหญ่ การพูดการจาฉะฉานรู้จักวิธีการปฏิบัติต่อพระกรรมฐานอย่างดีกว่าผู้ใหญ่ที่มาถวายด้วย เพราะยังรู้สึกเก้ๆ กังๆ ทำอะไรไม่ค่อยจะถูก เด็กหญิงคนนั้นพูดขึ้นว่า “ขออภัยด้วยบ้านนี้เป็นบ้านป่าดง ไม่รู้จักพระเจ้า ไม่รู้จักพระสงฆ์ ทำอะไรไม่ค่อยจะถูก” ทุกคนรู้สึกประหลาดใจ สะดุดใจ ทำไมเด็กหญิงตัวน้อยๆ พูดจาฉะฉานดีกว่าผู้ใหญ่ รู้ข้อวัตรปฏิบัติของพระกรรมฐานดีขนาดนี้ พระจามและสหธรรมิกรู้สึกแปลกใจ ทั้งๆ ที่ผู้ใหญ่ได้ผ่านโลกมาก็มากผ่านการทำบุญมาก็มาก ทำไมจึงแตกต่างกันถึงปานนั้น ท่านได้นำคำพูดนั้นมาสนทนาพิจารณาทบทวนความสงสัย ในที่สุดก็ลงความเห็นเป็นคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้ว่า “ถ้าเป็นมนุษย์ก็เป็นโสดาบันมาเกิดใช้ชาติ แต่ถ้าไม่ใช่มนุษย์ก็เป็นเทวดา”

คณะจึงเดินทางไปบำเพ็ญจิตภาวนาที่ ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย ระยะหนึ่ง การภาวนายังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จึงเดินธุดงค์ต่อไปยังเพชรบูรณ์

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13090

ทรงกลด:
ตอนที่ ๑๓
ทดสอบจิตใจตนเอง

คณะสหธรรมิกได้จาริกไปถึงเทือกเขาในอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่บริเวณเทือกเขาแห่งนี้เป็นบริเวณที่สัปปายะพื้นที่ลาดลงไปทุ่งนา มีหมู่บ้านไม่ไกลนัก ขณะที่บำเพ็ญจิตภาวนาอยู่ที่นี่

สหธรรมิก ๑ องค์เป็นไข้มาลาเรียอาการหนักไม่สามารถรักษาได้เพราะอยู่ห่างไกล แม้จะใช้ยาพื้นบ้านก็ไม่สามารถรักษาให้อาการทุเลาได้เป็นเหตุให้เสียชีวิต

ส่วนอีก ๑ องค์เกิดได้มีศรรักปักอกเพราะได้พบรัก จึงลาสิกขาไปแต่งงาน

จึงเหลือเพียง ๒ องค์ มุ่งทำความเพียรที่นั่นต่อไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะหาทางพ้นทุกข์ การบำเพ็ญพากเพียรไม่เกิดผล เพราะเหตุสหธรรมิก ๒ องค์ต้องลาจากไปด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้จิตใจสับสนกระวนกระวายภาวนาหลายคืนจิตไม่สงบ มีแต่ร้อนรนรุ่มร้อน

พระจามได้นึกถึงวิธีการสั่งสอนฝึกจิตที่พระพุทธเจ้าตอบสารถีผู้ฝึกม้า ควรจะทำอย่างไรกับม้าที่ฝึกยาก ม้าที่ฝึกยากเปรียบเสมือนจิตของคนเราที่จะต้องฝึกฝนทรมานอย่างเหมาะสมกับจริตนิสัยของตน ท่านจึงหาวิธีทดสอบจิตที่ดื้อมากขณะนั้นทั้งๆ ที่เคยทำได้และสูญหายไป ฝึกใหม่ก็ไม่ยอมลง แสดงถึงจิตตนเองมีความดื้อมากขณะนั้น ช่วงนั้นระหว่างเดือน ๙ เดือน ๑๐ ฝนกำลังตกหนักน้ำไหลจากภูเขา ไหลตามลำห้วยลงมาในทุ่งนาท่วมเอ่อเป็นบริเวณกว้างต้นข้าวกำลังงอกงามดี เกิดความคิดขึ้นมาว่า เอาละคราวนี้จะลองภาวนาในน้ำเพื่อแก้ความร้อนรนในจิตใจ เอาความเย็นเข้าแก้ไข และแก้สติที่ชอบเผลอหลับขณะภาวนาเสมอ

เมื่อคิดได้เช่นนั้นจึงตั้งจิตอธิษฐานไม่นอน จะภาวนาในอิริยาบถนั่ง จึงลงไปภาวนาในทุ่งนา โดยแช่ตัวในน้ำ บางคืนตั้งแต่ ๓ ทุ่มบ้าง ๔ ทุ่มบ้าง จนถึงตี ๔ หรือตี ๕ แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละคืน พระจาม กับสหธรรมิกอีก ๑ องค์ จำพรรษาอยู่ที่นั้นตลอดไตรมาสโดยชาวบ้านได้สร้างเสนาสนะให้ชั่วคราว

ท่านได้บำเพ็ญความเพียรอย่างเอาจริงเอาจัง บางครั้งก็หลับขณะนั่ง หลับขณะยืน หลับขณะเดินจึงแก้ไขการหลับในน้ำกลางทุ่งนา นั่งในน้ำอยู่ระดับคอหอยพอดี ถ้าหลับสัปหงกหัวทิ่มลงมาน้ำจะเข้าจมูก หน้าแช่น้ำพอรู้สึกว่าจะสำลักน้ำตาย ก็โผล่ขึ้นมาหายใจ ปฏิบัติอยู่อย่างนี้อยู่หลายคืนเว้นบ้าง ถ้าขณะภาวนาตัวลอยขึ้นก็จะใช้มือจับต้นข้าวไว้ เพื่อให้ตัวจมไว้ในระดับที่ต้องการ ทำให้การบำเพ็ญจิตภาวนาได้ผลดีขึ้นพอสมควร

เมื่อจิตสงบก็พิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาธาตุสี่ ดินน้ำลมไฟ พิจารณากายานุสติ พิจารณาอสุภะอสุภังว่าร่างกายนี้ไม่สวยไม่งาม ปัญญาทางธรรมยังไม่เฉียบคมพอที่จะตัดกิเลสออกได้แม้แต่กิเลสหยาบหรือกลาง แล้วกิเลสขั้นละเอียดจะหลุดออกจากจิตใจได้อย่างไรเกิดความสงสัยตัวเองอย่างบอกไม่ถูก เมื่อจิตออกจากสมาธิก็เร่าร้อน จึงต้องหาสาเหตุว่าทำไมจิตจึงร้อน ถามใจตนเอง ต้องค้นหาความจริงให้ได้

ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ที่ตั้งไว้แน่วแน่ที่จะต้องให้หลุดพ้นในชาตินี้ให้ได้ จึงทรมานจิตอย่างหนักหน่วงอย่างต่อเนื่อง ผลการปฏิบัติแม้ว่าจะไม่ได้ผลเท่าที่ตั้งใจไว้ก็ตาม แต่ก็ยังเกิดความรู้ขึ้นเกือบทุกครั้งที่เกือบตาย เกือบขาดใจ ทำให้เข้าใจแจ่มแจ้งถึงหน้าที่ของกายกับจิตนั้นแยกกัน จิตไม่อาจบังคับกายได้ทุกอย่าง จิตจะบงการการให้ทำงานตามที่ธรรมชาติสร้างไว้ให้ กิเลสจะคอยปิดบังให้จิตหลงว่าเป็นเจ้าของกาย จึงหวงกายเป็นที่สุด แท้จริง กายไม่ใช่ของใจ ใจเพียงอาศัยกายอยู่ กายตายได้แต่ใจไม่ตายแต่กิเลสบังไว้ พระพุทธเจ้าจึงให้พิจารณาไตรลักษณ์ คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา

บางคืนจิตสงบเป็นสมาธิก็เกิดนิมิตภาพเดิมๆ อีก เห็นพระพุทธรูปมากมาย วัดร้างต่างๆ ที่ชำรุดผุพัง ต้นโพธิ์ เกิดความรู้สึกขึ้นว่าได้เกิดหลายชาติ มีส่วนในการสร้างสิ่งที่ปรากฏในนิมิตนั้น บางคืนเกิดญาณทัศนะรู้อดีตชาติแบบลางๆ แต่ย้อนไปหลายชาติ แม้กระทั่งบางชาติเคยตกนรก บางชาติเคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

เมื่อออกพรรษาได้ระยะหนึ่งท่านจึงจาริกต่อไป ด้วยการเดินทางตามป่าเขาลัดเลาะไป ณ สถานที่ต่างๆ ค่ำที่ไหนก็หาที่พักปักกลดภาวนา ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง เรื่อยๆ ไปมุ่งไปเหนือ

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13090

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version