หมวด ผู้ทรงวิทยาคุณ (เกจิอาจารย์) > เกจิอาจารย์ภาคอีสาน

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่จาม มหาปุญโญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

<< < (2/3) > >>

ทรงกลด:
ตอนที่ ๖
สามเณรจาม เจอผีจริงเข้าแล้ว

ชาวบ้านแถวจังหวัดยโสธรสมัยนั้นนิยมเลี้ยงผีเพื่อใช้ประโยชน์ตามที่ตนเชื่อถือ จะนับถือผีมากกว่านับถือพระ ชาวบ้านได้สร้างศาลผีปู่ผีย่าไว้ในหมู่บ้านพื้นที่บริเวณใดชาวบ้านพบว่าผีดุก็จะไม่กล้าเข้าไปใกล้ เพียงแต่ให้เครื่องเช่นไหว้บวงสรวงขอให้ช่วยเหลือ

คราวหนึ่ง หลวงปู่อ่อนเป็นหัวหน้าพร้อมด้วยหลวงปู่กงมา (ขณะนั้นยังเป็นพระหนุ่มๆ) พระอื่นๆ อีก และสามเณรจามได้ติดตามไปเที่ยววิเวกในป่ารกชัฏตามแนวทางพระกรรมฐานที่หลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นได้สั่งสอนและได้ปฏิบัติมา สถานที่ใดที่มีผีดุ ชาวบ้านกลัว ท่านจะไปภาวนาทำความเพียรเพื่อทดสอบฝึกฝนตนเอง หาประสบการณ์ ตลอดจนวิจัยธรรมที่จะเหมาะสมในการละกิเลสอุปาทานทั้งหลาย ในทำนองที่ว่า “สถานที่น่ากลัวที่สุดย่อมมีสิ่งที่ดีที่สุด” ท่านไม่เคยปฏิเสธว่าไม่มีผีไม่มีเทวดา แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ปฏิเสธ

คณะจาริกของหลวงปู่อ่อนพร้อมสามเณรจาม ได้เลือกพักปักกลดบริเวณป่ารกแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าผีดุมาก เคยแสดงให้ปรากฏมาแล้วบริเวณใกล้ๆ ที่เนินที่มีกอไผ่งามลำใหญ่ ไม่มีร่องรอยใครมาตัดฟันเลยแม้แต่บริเวณใกล้เคียงกันนั้นก็ตาม คณะจาริกแสวงธรรมได้ปักกลดอยู่ห่างกันพอประมาณ สามเณรจามอายุประมาณ ๑๖-๑๗ ปี กำลังแข็งแรงล่ำสัน อาสาที่จะไปหาฟืนแห้ง ไม้ไผ่แห้งมารมบาตรหรือระบมบาตร เพื่อไม่ให้เป็นสนิม ทำถวายหลวงปู่อ่อนและหลวงปู่กงมา

เหตุสำคัญอยู่ที่กอไผ่มีศาลพระภูมิ มีไม้แห้งจำนวนมากจากที่ได้ค้นหาที่อื่นมาแล้ว ก่อไผ่ยืนตายอยู่เพราะเกิดขลุยไผ่หรือไผ่ออกดอกแล้วก็แสดงว่าหมดอายุ แต่ไม่มีรอยใครตัดเลย สามเณรจามจึงไปเรียนถามหลวงปู่ทั้งสองซึ่งยังเป็นครูบาในขณะนั้น ท่านวางเฉย แสดงว่าท่านคงรู้ว่าน่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ก็ได้ หรือไม่กล้าบอกเพราะความจำเป็นก็สุดจะคาดเดาได้ สามเณรจามก็จัดแจงตัดมาจำนวนเพียงพอที่จะใช้เผา (ระบม) บาตร ขณะที่จะตัดไม้สามเณรจามตะโกนร้องบอกว่า “ผีตาปู่เอ๋ย ถ้าอยู่ที่นี่ก็หนีไปก่อนนะข้าต้องการไม้ไผ่ เอาไปเผาบาตร ข้ากำลังต้องการไม้ไผ่อยู่ สูออกไปจากที่นี่ก่อนนะ”

เย็นวันนั้นเอง สามเณรจามได้ยินเสียงเหมือนเสียงผู้หญิงสาวร้องโอยๆ โหยหวนเข้าไปในหมู่บ้านแล้วก็กลับไปที่ศาลในป่า จากนั้นก็ได้ยินเสียงอื้ออึงในบ้าน หมาเห่าหอนกันทั้งคืน วันนั้นชาวบ้านก็ไม่เป็นอันนอน เสียงถ้วยโถโอชามกระทบกันก๊องแก๊งๆ ชาวบ้านในหมู่บ้านรู้ดีว่าต้องมีใครไปรบกวนผีที่ศาลแน่ๆ

พอรุ่งเช้าก็เกิดเรื่องใหญ่ ชาวบ้านแห่กันมากล่าวโทษเผดียงว่า เพราะเหตุที่พระเณรมาอยู่ที่นี่ ทำให้ผีปู่ย่าเดือดร้อนไปรบกวนที่ศาลพระภูมิเจ้าที่ ผีจึงมากวนชาวบ้าน ไม่ได้หลับไม่ได้นอนกัน ขอร้องให้ท่านย้ายไปอยู่ที่อื่นเถิด

ด้วยเหตุที่ต้องการสถานที่สัปปายะ และอาศัยชาวบ้านบิณฑบาตเลี้ยงชีวิต หลวงปู่อ่อนและหลวงปู่กงมา ขณะเป็นพระหนุ่มๆ ได้เดินทางไปหาสถานที่ใหม่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน สามเณรจามทำหน้าที่เฝ้าอัฐบริขารอยู่องค์เดียว จนมืดค่ำก็ยังไม่กลับก็ได้แต่เฝ้ารอ หลังจากสรงน้ำเสร็จก็นั่งผ่ามะขามป้อมจิ้มเกลือฉันไปรอไปในความมืด

ช่วงระหว่างโพล้เพล้พลบค่ำนั้น สามเณรจามยังไม่ได้เข้ากลด เอาเสื่อปูนั่งฉันมะขามป้อมไปพลาง เริ่มมืดสนิทได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้คร่ำครวญวนเวียนอยู่แถวศาล ได้ยินเสียงใบไม้ กร๊อบแกร๊บ ต่อมาก็ได้ยินเสียงเหมือนสัตว์หรือหนูวิ่งเข้ามาหา เมื่อใกล้ก็กระโจนเข้ามาใต้เสื่อที่นั่งอยู่ สามเณรจามจึงเอามือตบตรงเสียงนั้น ตะโกนว่า “มึงเข้ามาทำไม” จึงจุดเทียนขึ้นส่องดูก็ไม่เห็นมีอะไร รอจนดึกหลวงปู่ทั้งสองก็ยังไม่กลับมา จึงดับเทียนไหว้พระนั่งภาวนา

ครั้นหลวงปู่ทั้งสองกลับมาแล้ว หลวงปู่อ่อนส่งเสียงเรียก “เณร...เณร” มาแต่ไกลแต่ท่านไม่ตอบ จนกระทั่งใกล้จึงตอบรับว่า “ครับผม มีอะไรหรือครับ” หลวงปู่อ่อนว่า “คิดว่าเธอนอนหลับแล้ว ยังไม่นอนหรือ” พอรุ่งเช้าจึงได้เล่าเหตุการณ์เมื่อคืนนี้ให้หลวงปู่ทั้งสองฟัง ท่านก็พอใจในความกล้าของเณร

พ่อแม่ครูอาจารย์เสาร์ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น และศิษย์พระกรรมฐานทั้งหลายที่จาริกไปแสวงหาสถานที่วิเวกเพื่อทำความเพียร เจริญจิตภาวนานั้นก็เพื่อให้เกิดปัญญาในธรรมขั้นสูงๆ ขึ้นไป ในขณะเดียวกันนั้นก็เพื่ออบรม สั่งสอนประชาชนชาวบ้านที่ไปโปรดทั้งบิณฑบาต และแสดงธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ละทิฏฐิเก่าที่เชื่อนับถือผี ให้หันมายึดในไตรสรณคมน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นสัมมาทิฏฐิและเป็นหนทางที่จะดับทุกข์ได้ ภูต ผี เทวดาต่างๆ ยังมีกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ พอใจก็ให้คุณได้ ถ้าไม่พอใจก็ให้โทษ แต่ไตรสรณคมน์นั้นมีแต่คุณ พระพุทธเจ้าสอนให้ละ โลภะ โทสะ โมหะ และชักจูงให้ชาวบ้านญาติโยมประพฤติปฏิบัติตามจะได้มีสุขและหาทางพ้นทุกข์ในที่สุด

ชาวบ้านที่มาฟังธรรม รักษาศีล ตามวัดต่างๆ ส่วนใหญ่ก็ยังรู้สึกกลัวผี โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก เรียกว่า “ขวัญอ่อน” เคยมีเหตุการณ์ยามดึกสงัด โยมได้ยินเสียงเสมือนสัตว์วิ่งเหยียบใบไม้บนพื้นดังชอบๆ สักพักก็หยุดแล้วก็ดังใหม่ขึ้นอีกมาเป็นระยะๆ เสียงตะโกนมาว่า “ช่วยด้วยผีมา” ได้ยินเหมือนขึ้นต้นไม้เมื่อฉายไฟไปยังเสียงก็ปรากฏว่าเป็นตัวบ่างวิ่งหากินในยามค่ำคืน นี่แหละจิตที่กิเลสครอบงำอยู่ปรุงแต่ง ปัญญาธรรมเข้ามาไม่ทันก็กลัว เมื่อรู้อย่างนี้แล้วความกลัวคงน้อยลง ความกล้าคงมากขึ้นจนไม่กลัวเลย

พระอาจารย์อินทร์ถวาย เคยถามหลวงปู่ว่า “หลวงอา กลัวไหมครับ” หลวงปู่ตอบว่า “ไม่กลัวมันหรอก เพราะเขากลัวเราจนร้องห่มร้องไห้แล้ว เราจะไปกลัวเขาทำไม”

เมื่อน้อมมาพิจารณาเป็นธรรมะจะเห็นได้ว่า ผีในจิตใจของเราร้ายยิ่งกว่าผีภายนอก กิเลสในจิตใจเป็นผีร้ายคอยสิงอยู่ให้จิตใจคิดทำความชั่ว บาปอกุศล แต่ถ้าธรรมะเข้ามาอยู่ในจิตใจเมื่อใดย่อมจะคิดทำความดีทำบุญกุศล หลวงปู่จามจึงพยายามสั่งสอนให้ทำความดีย่อมได้ผลดีตลอดไป

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13090

ทรงกลด:


ตอนที่ ๗
นิมิตสิ่งโบราณ

ขณะที่บำเพ็ญธรรมพากเพียรมุ่งมั่นขั้นอุกฤษฏ์อยู่กับหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองขอน จังหวัดอุบลราชธานี สมเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เป็นลูกธรรมแท้ในพระพุทธศาสนา แม้ว่าสุขภาพร่างกายจะไม่เอื้ออำนวยนักก็ตามแต่ก็คุ้มค่าของความพากเพียร

ผลที่ได้รับทำให้จิตสงบดีขึ้นโดยลำดับ เกิดนิมิตแปลกใหม่ที่ไม่เคยปรากฏและแตกต่างกับผู้อื่นจึงพอใจในผลงานของตน คุ้มค่าที่อดนอนและอดอาหาร

นิมิตเป็นภาพเจดีย์ปรักหักพังหลายแห่ง พระพุทธรูปเก่าแก่หลายปางมากมาย เนื้อเป็นทองคำบ้าง ทองสัมฤทธิ์บ้าง หินบ้าง ไม้บ้าง ปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกิดปีติในสมาธิจนน้ำตาไหล เห็นภาพต้นโพธิ์ ต้นไม้อื่นที่พระพุทธเจ้าบางองค์ที่ได้ตรัสรู้

ความสงสัยในจิตใจเกิดขึ้นพร้อมๆ กับปลื้มปีติในผลงานของการบำเพ็ญสมาธิภาวนา การปฏิบัติแต่ละวันแต่ละคืน เกิดภาพในสมาธิบ้าง เกิดภาพในฝันยามหลับนอนบ้าง แม้ว่าจะเปลี่ยนแนวทางมาพิจารณาปัญญาแต่ปัญญาไม่เกิด จะมีแต่ภาพนิมิตเกิดขึ้นมาแทน จึงเกิดความสงสัยในวิธีการปฏิบัติของตน แต่ความเป็นสามเณรน้อยเป็นเด็กๆ อยู่ไม่กล้าที่จะสอบถามหลวงปู่มั่น เพราะเกรงบุญญาบารมีของท่าน ได้แอบถามเพื่อนสหธรรมิกแต่ไม่กล้าเล่าให้ใครฟังเกรงจะเป็นการอวดอุตริหรืออวดความสามารถจึงเจียมตัวไว้

ระยะหลังๆ ที่ได้อุปสมบทเป็นพระสงฆ์แล้ว ได้ธุดงค์ไปแสวงหาสถานที่วิเวกเพื่อภาวนา ก็ได้ปรากฏภาพทำนองนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่เดิมก็คิดว่าเป็นภาพสัญญาที่เกิดขึ้นมาหลอกด้วยอำนาจของกิเลสจึงพยายามแก้ข้อสงสัยนั้นเรื่อยไป แต่เมื่อธุดงค์ไปกลับพบสิ่งปรักหักพังที่วัดเก่าแก่ต่างๆ จึงได้แน่ใจขึ้นอีกว่า คงจะเป็นบุญญาบารมีที่ตนเองได้เคยสร้างสมไว้แต่อดีตชาติ

คำถามที่ถามในใจตนเองว่า เหตุในอดีตคืออะไร เราสร้างบารมีเพื่อจุดมุ่งหมายอันใดแน่ ทั้งๆ ที่เราพากเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ในชาตินี้

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13090

ทรงกลด:
ตอนที่ ๘
ชีวิตวัยหนุ่มเรียนรู้ชีวิตทางโลก

สามเณรจาม อายุได้ ๑๙ ปี ใกล้จะอุปสมบทแต่ความป่วยไข้เป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น มีอาการหนักขึ้นตามลำดับ จนไม่สามารถออกไปบิณฑบาตได้ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้เขียนจดหมายแจ้งนายกา ผู้เป็นบิดา ได้ทราบอาการป่วยและนายกาจึงขับเกวียนไปรับเพื่อนำมารักษาตัวที่บ้านห้วยทราย

การรักษาโรคเหน็บชา จะต้องให้กินอาหาร ๓ มื้อหรือมากกว่าเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ด้วยเหตุของการอดอาหารเป็นระยะเวลานานและให้การรักษาด้วยยาพื้นบ้านที่ต้องใช้สุราเป็นกระสายยา จึงต้องให้ลาสิกขาจากสามเณร ทั้งๆ ที่ปรารถนาจะอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ในอีกไม่นานนัก การรักษาใช้เวลาประมาณ ๓ ปี โรคเหน็บชาจึงหายขาด

ช่วงนี้เป็นระยะแห่งการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว นายแดงผู้เป็นพี่ชายคนโตได้แต่งงาน จึงแยกครอบครัวไปตั้งรกรากที่บ้านแวง ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปมาก น้องชายก็ได้ออกบวชทำให้ขาดกำลังที่จะช่วยทำมาหากินและทำงานต่างๆ ให้ครอบครัว ตลอดจนดูแลน้องๆ อีกหลายคน ภาระอันหนักจึงตกอยู่แก่นายจามที่เป็นหลักให้แก่ครอบครัว จนกระทั่งอายุได้ ๒๗ ปี นายกาผู้เป็นพ่อได้มีศรัทธาออกบวชเป็นพระสงฆ์ นางมะแง้ผู้เป็นแม่ก็ได้ออกบวชเป็นแม่ชี เนื่องด้วยเสียใจมากที่ลูกชายคนสุดท้องได้เสียชีวิตอีก ทั้งอายุมากแล้วควรหาที่พึ่งและสมบัติทิพย์ในบั้นปลายของชีวิต ดั้งนั้น นายจามจึงรับภาระหนักขึ้นในการดูแลเลี้ยงดูน้องๆ ด้วย

ด้วยเหตุนี้เองญาติพี่น้องจึงหมายมั่นจะให้นายจามแต่งงานมีครอบครัวเป็นหลักฐาน มีแม่บ้านมาช่วยเหลืออีกแรงหนึ่ง จึงได้มีการทาบทามหญิงสาวสวยชาวภูไท ญาติผู้ใหญ่ได้ไปขอหมั้นเป็นเงิน ๑๒ บาทตามประเพณีและผู้ชายจะต้องปลูกเรือนหอ ทำไพลหญ้ามุงหลังคาด้วยตนเอง

นายจามคิดคำนึงถึงภาระอันหนักหน่วง และห่วงที่จะเกิดขึ้นมาผูกคอผูกเท้าผูกมือ แต่ในจิตใจส่วนลึกหวังจะออกบวชเพื่อหาทางพ้นทุกข์ เพราะได้รู้ได้เห็นทุกข์ของการมีครอบครัวและความยากลำบากในการเลี้ยงดู เอาอกเอาใจผู้อื่นอีกหลายคนจะไหวหรือ ในที่สุดจึงไปปรึกษาแม่ชีมะแง้ที่อยู่ภูเก้า (วัดภูเก้า) อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งบำเพ็ญสมณธรรมร่วมอยู่กับคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ

แม่ชีมะแง้ได้ให้ข้อคิดเป็นแนวทางตัดสินใจด้วยตัวเองว่า “ถ้าลูกจะแต่งงานนั้นแม่ดีใจ แต่ถ้าลูกบวชแม่จะดีใจยิ่งกว่า” แสดงถึงความมีสัมมาทิฏฐิอย่างแท้จริง นายจามจึงได้นำข้อคิดของแม่มาพิจารณาทบทวน เนื่องจากตามประเพณีเมื่อหมั้นผู้หญิงแล้วถ้าหากไม่แต่งงานจะต้องถูกปรับสินไหม

นายจามจึงกลับไปปรึกษากับแม่ชีมะแง้อีกครั้งหนึ่งว่า “แม่อยากจะให้บวชจริงๆ หรือ เขาจะต้องปรับถ้าไม่แต่งงานกับเขา” แม่ชีมะแง้ตอบอย่างหนักแน่นว่า

“ปรับก็ไม่เป็นอะไรหรอกลูก แม่ยินดีมากๆ เลยที่จะเห็นลูกบวช”

เหตุการณ์เกิดเกื้อหนุนพอดี นายจูมผู้เป็นน้องชายได้ลาสิกขา มาเป็นกำลังให้ครอบครัวจึงเป็นโอกาสมาแก้ไขวิกฤต ประกอบกับแม่ชีมะแง้ได้เจรจาต่อรองกับฝ่ายหญิงว่าจะบวช โดยไม่มีเจตนาจะหนีหมั้นแต่อย่างใด จึงได้ลดค่าปรับลงเหลือเพียง ๖ บาท (สมัยนั้นควายราคาตัวละ ๒ บาท ๕๐ สตางค์) นายจามจึงตัดสินใจบวชโดยเร็ว
 

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13090

ทรงกลด:

ตอนที่ ๙
สงครามหัวใจ

พระอาจารย์พัน โยมบิดาของ พระอาจารย์สวัสดิ์ โกวิทโท ซึ่งเคยบวชเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ขณะเป็นพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง พร้อมด้วย แม่ชีมะแง้ ผิวขำ, แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ และญาติได้พานายจาม เดินทางจากบ้านห้วยทรายเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ เดินเท้ากันไปไหว้พระธาตุพนมที่จังหวัดนครพนม เพื่ออธิฐานขอบวชแล้วเดินทางเรียบแม่น้ำโขง ผ่านจังหวัดสกลนคร เพื่อมุ่งหน้าไปจังหวัดอุดรธานี เมื่อถึงบ้านผือได้พบหญิงชื่อบาง เธอได้ชักชวนให้นอนด้วย จะปล้ำเอาเป็นผัว “พี่นาคเข้าห้องด้วยกันเถอะ” หญิงสาวคนนี้ตามตื้ออยู่หลายวัน แม้จะเดินทางต่อไปผ่านบ้านอื่นก็พบหญิงสาวผู้นี้ตามไม่ลดละ

แม่ชีมะแง้ได้ปรึกษากับแม่ชีแก้วและญาติแล้วเห็นว่าอาจเสียทีเขา “กลัวผู้หญิงตะครุบเอาไปเป็นผัวจะต้องบวชให้โดยเร็ว” จึงรีบพานายจามไปบรรพชาเป็นสามเณรไว้ก่อนที่วัดป่าบ้านโคกคอน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เพื่อแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเพราะหญิงสาวผู้นี้ในขั้นต้นเสียก่อน

การเดินทางสมัยนั้น ค่อนข้างยากลำบาก เดินไปกันทางเท้าค่ำไหนนอนนั้น ต้องใช้เวลารอนแรมไปหลายเดือน จะต้องพบปะกับผู้คน เดินทางไปแต่ละแห่งก็ได้พบหญิงสาวหลายแห่งหลายคน ที่บึงกาฬก็พบหญิงสาวขอแต่งงานแต่ไม่หนักหนาเท่าหญิงสาวที่บ้านผือ ได้สอบถามหลวงปู่ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวท่านบอกว่า “อดีตชาติเคยเป็นสามีภรรยากันมา” และ “เป็นธรรมดาที่เกิดมาหลายชาติ” และเหตุการณ์นั้นได้ผ่านพ้นได้อย่างหวุดหวิด อาจเป็นด้วยแรงอธิฐานที่ปรารถนาไว้จึงมีทางออกให้สามารถแก้ปัญหาวิกฤติชีวิตนั้นผ่านไปได้ ท่านยิ่งเชื่อมั่นในไตรสรณคมน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างถึงหัวใจเอาชนะสงครามหัวใจของอำนาจกิเลสได้

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13090

ทรงกลด:
ตอนที่ ๑๐
แม่วางเส้นทางชีวิต

แม่ชีมะแง้ ผิวขำ ได้รับคำแนะนำจาก แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ผู้เป็นญาติสนิท และพระอาจารย์พัน ได้พร้อมใจกันวางเส้นทางชีวิตให้สามเณรจามโดยจะต้องรีบบวชเป็นพระโดยเร็วและเลือกวัดที่มีรากฐานทางด้านพระกรรมฐานตามที่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นได้วางแนวทางไว้ตามที่ตั้งใจไว้แต่เดิมนั้น ถูกต้องเหมาะสมแล้วคือ วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่อดำเนินตามรอยทางพระกรรมฐานที่มีแหล่งกำเนิดที่ดีและเชื่อมั่นในแนวทางที่จะบำเพ็ญพากเพียรเพื่อที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงสุดได้ และมีทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติควบคู่กันไป

ในที่สุดคณะก็ได้ไปถึงวัดโพธิสมภรณ์ การอุปสมบทจึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ตรงกับเดือนเกิด อายุเกือบ ๒๙ ปีเต็ม โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพกวี (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ พระอุโบสถวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นอันว่าแม่ชีมะแง้ ผิวขำ ได้วางเส้นทางชีวิตให้ลูกชายได้สมความปรารถนาแล้ว

แม่ชีมะแง้และแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ เป็นเพศหญิงย่อมเข้าใจในจริตนิสัยใจคอของผู้หญิงสาวอยู่แล้วอย่างดี จึงใช้สติปัญญาปฏิภาณไหวพริบที่ทั้งสองได้เคยผ่านชีวิตทางโลกมาแล้วสามารถปกป้องคุ้มครองลูกชายให้ผ่านพ้นสงครามหัวใจที่เป็นเหตุการณ์สำคัญถึง ๒ ครั้ง ท่านเข้าใจดีว่า “เสือป่านั้นไม่น่ากลัวเท่าเสือบ้าน” เสือบ้านคือผู้หญิงจะตะครุบเอาไปกินน่ากลัวกว่าเสือในป่าเพราะเชื่อมั่นว่าบุญบารมีของพระจามนั้นได้สะสมมาแต่อดีตชาติแล้วได้แววมาตั้งแต่เด็กแล้ว ใครเล่าจะรู้จักลูกของตนดีไปกว่าแม่บังเกิดเกล้าคงไม่มีอีกแล้ว

แม่ชีมะแง้เป็นผู้มีสติปัญญาดี มีไหวพริบปฏิภาณดีมีอุปนิสัยเป็นคนละเอียดช่างสังเกต การปฏิบัติที่แสดงถึงคุณสมบัติดังกล่าว เมื่อคราวหลวงปู่มั่นพาโยมแม่กลับไปจังหวัดอุบลราชธานี ได้แวะพักที่ห้วยทราย เห็นหลวงปู่มั่นเดินหลังจากบิณฑบาตได้แวะไปแบ่งอาหารให้โยมมารดาถึง ๒ ครั้งในวันเดียวกัน แม่ชีมะแง้เห็นอย่างนั้นจึงจัดแจงทำอาหารคาวหวานไปให้โยมแม่หลวงปู่มั่นเสียเอง เป็นที่ประจักษ์ใจท่าน เมื่อหลวงปู่มั่นจะนำอาหารในบาตรออกมาให้โยมแม่ของท่าน โยมแม่ของหลวงปู่มั่นจึงห้ามว่า “แม่แดงจัดมาให้ฉันทานแล้ว” (ที่เรียกว่าแม่แดง เรียกตามชื่อลูกชายคนโต แม่ชีมะแง้มีลูกชายคนโตชื่อแดง) และพฤติกรรมของหลวงปู่มั่นที่ปฏิบัติต่อโยมแม่อย่างนี้เป็นที่ประทับใจและเป็นตัวอย่างอันดี เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งนอกเหนือปฏิปทาอื่นๆ ของท่านแล้วนั้น ทำให้ชาวบ้านแถบนี้ได้เคารพนับถือด้วยคำเรียกว่า “ญาท่านเสาร์” และ “ญาท่านมั่น” ด้วย

มีข้อสังเกตกันว่า แม่ชีมะแง้ ผิวขำ คงจะเข้าใจรู้จักลึกซึ้งในคุณธรรมบุญวาสนาบารมีของพระจาม มหาปุญโญ ผู้เป็นพระลูกชาย ที่อดีตชาติคงได้สั่งสมบำเพ็ญบารมีมามาก จะเห็นจากคุณลักษณะประจำตัวที่เด็ดเดี่ยวทำอะไรทำจริง ประสบความสำเร็จเป็นขั้นเป็นตอน ชะรอยจะต้องบวชอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ตลอดชีวิตอย่างแน่นอน เล่ากันว่า แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ คงจะมีส่วนสำคัญในการให้คำปรึกษาเพราะการปฏิบัติเจริญจิตภาวนาของแม่ชีแก้วนั้นเจริญก้าวหน้ารวดเร็ว รู้จักนรกสวรรค์ได้อย่างดี ญาณทัศนะที่ล้ำลึกเป็นสิ่งที่เชื่อมั่นได้ และสิ่งที่ปรากฏประจักษ์ในคุณธรรมของแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ที่ได้ละสังขารไปแล้ว กระดูกอังคารของท่านกลายสภาพเป็นสิ่งสดใสเสมือนแก้วไปแล้ว ท่านผู้รู้ได้โปรดพิจารณา


แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ (องค์หลัง) ถ่ายกับเพื่อนแม่ชี
ณ สำนักชีบ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13090

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version