ผู้เขียน หัวข้อ: วิถีบุญวิถีธรรม-"บุญ"...ผ้าป่าข้าวเปลือก วัดเกษตราราม จ.นครปฐม  (อ่าน 1852 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นรก

  • ฉัฏฐะ
  • *
  • กระทู้: 136
  • เพศ: ชาย
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
พิธีทอดผ้าป่า เป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของชาวพุทธ สามารถทอดเมื่อไรก็ได้ และวัดหนึ่งๆ ในแต่ละปีจะจัดให้มีการทอดผ้าป่ากี่ครั้งก็ได้

อีกทั้งยังไม่เจาะจงเกี่ยวกับภิกษุที่จะรับผ้าป่าด้วย

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป พิธีทอดผ้าป่าก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย จากที่เคยเป็นผ้า ก็กลับกลายเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ จากที่เคยไปถวายวัด ก็เปลี่ยนเป็นโรงเรียน โรงพยาบาล รวมทั้งทอดเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น ผ้าป่าทุนการศึกษา ผ้าป่าสร้างห้องน้ำ ผ้าป่าสร้างสะพาน ผ้าป่าหาทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ 

บุญทอดผ้าป่า อย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บุญทอดผ้าป่าข้าวเปลือก ของ วัดเกษตราราม ต.ไทรงาม อ.บางเลน จ.นครปฐม ซึ่งจัดมาเป็นเวลาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว โดยในปีนี้ทางวัดกำหนดงานบุญทอดผ้าป่าข้าวเปลือก เพื่อนำปัจจัยสมทบทุนสร้างหอระฆังไว้ ๒ วัน คือ วันพุธที่ ๓๐ พฤษภาคม เวลา ๑๖.๐๐ น. พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์ "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" เพื่อเป็นสิริมงคล และวันพฤหัสบดีที่ ๓๑ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา เวลา ๐๘.๐๐ น. ทำพิธีรับขวัญแม่โพสพ เวลา ๑๑.๐๐ น. ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์-สามเณร เสร็จแล้วถวายผ้าป่าข้าวเปลือก

พระครูวิบูลสีลากร เจ้าอาวาสวัดเกษตราราม เล่าว่า บุญทอดผ้าป่าข้าวเปลือกนั้น จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๓๔ ในครั้งนั้นได้ข้าวประมาณ ๕๐ กระสอบ จากนั้นจำนวนข้าวเปลือกที่ชาวนามาถวายเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุนนี้ได้ ๔๐๐-๕๐๐ กระสอบ หรือประมาณ ๔๐-๕๐ เกวียน โดยในปีนี้ชาวนามาถวายน้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งน่าจะเนื่องมาจากน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปลายปี ๒๕๔๙ ต่อเนื่องถึงต้นปี ๒๕๕๐

เมื่อบ้านไหนเกี่ยวข้าวก็จะโทรศัพท์แจ้งมาที่วัดว่า ให้นำรถไปขนข้าวที่นาของตน ในขณะที่ชาวนาบางรายก็จะขนข้าวมาถวายที่วัด ชาวนาส่วนใหญ่จะถวายรายละ ๑-๓ กระสอบ แต่ก็มีชาวนาบางคนถวายข้าวเปลือก ๑๐-๒๐ กระสอบ ชาวนาที่ถวายข้าวมากๆ ส่วนใหญ่จะบนบานศาลกล่าวกับแม่โพสพ ตั้งแต่แรกเริ่มทำนาว่า หากปีนี้ได้ข้าวดี จะถวายวัด ๑๐ กระสอบบ้าง ๒๐ กระสอบบ้าง 

อย่างไรก็ตาม ภาพพระตากและโกยข้าวเปลือกบริเวณลานของวัด อาจจะไม่คุ้นตาพุทธศาสนิกชนจากต่างถิ่นเท่าใดนัก แต่ที่วัดเกษตรารามนั้น พระครูวิบูลสีลากร บอกว่า เป็นภาพธรรมดามาก เหตุที่พระต้องตากข้าวเอง เพราะข้าวที่ชาวนานำมาถวายส่วนใหญ่เพิ่งเกี่ยวเสร็จใหม่ๆ ซึ่งมีความชื้นอยู่มาก หากเก็บไว้นานๆ อาจจะเสียหาย พระจึงนำออกมาตากให้แห้งก่อน ที่สำคัญ คือ ข้าวเปลือกที่มีความชื้นน้อย ขายได้ราคาสูงกว่า

พระครูวิบูลสีลากร บอกด้วยว่า ผ้าป่าข้าวเปลือกของวัดเกษตราราม ถือว่าเป็นบุญที่เกิดจากความสามัคคีของชาวนา พระ และพ่อค้าข้าว อย่างแท้จริง ข้าว ๔๐๐-๕๐๐ กระสอบมาจากชาวนา ๓๐๐-๔๐๐ ครอบครัว พระเป็นผู้รวบรวม ข้าวที่ขายก็ได้ราคาดี ทั้งนี้พ่อค้าจะให้ราคาสูงกว่าชาวนา ขณะเดียวกันก็ไม่หักค่าขนส่ง เพราะถือว่าเป็นการทำบุญร่วมกัน

คนผู้ใหญ่แต่เก่าก่อนนับถือแม่โพสพมาก เมื่อแรกทำนาจนกระทั่งถึงเวลาไถคราด เก็บเกี่ยวรวงข้าวด้วยเคียวเหล็ก ก็จะต้องประกอบพิธีเซ่นบูชาแม่โพสพทุกระยะไป เช่น ก่อนหน้าเวลาฤกษ์แรกนาจะปลูกศาลเพียงตา สูงระดับสายตาคนขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่ง ที่กำหนดไว้เป็นที่แรกนา ตระเตรียมเครื่องสังเวยบูชาแม่โพสพให้ครบถ้วน พร้อมทั้งกล่าวคำขวัญเป็นถ้อยคำไพเราะ อ้อนวอนแม่โพสพ ให้คุ้มครองรักษาต้นข้าว

"ความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อแม่โพสพ เป็นความรู้สึกสำนึกถึงบุญคุณที่ให้อาหารเลี้ยงชีวิต คนไทยจึงให้ความเคารพข้าว ไม่ใช้คำหยาบคาย หรือแช่งด่าต้นข้าว หรือเมล็ดข้าว ถ้าทำข้าวหก ก็จะก้มลงเก็บอย่างเรียบร้อย ไม่ข้าม ไม่เหยียบ ไม่ใช้เท้ากวาด ข้าวจะเก็บไว้เป็นที่เป็นทางอย่างเรียบร้อย ไม่ทิ้งเรี่ยราดเลอะเทอะ ไม่ว่าจะเป็นข้าวเปลือก ข้าวสาร หรือข้าวสุก เมื่อรับประทานข้าวก็จะรับประทานอย่างเรียบร้อย ไม่ทำเลอะเทอะมูมมาม เมื่ออิ่มข้าวก็จะไหว้ขอบคุณแม่โพสพ ถ้าจะเอาข้าวให้สัตว์กินจะต้องใส่ภาชนะ หรือมีใบไม้ใบตองรอง ไม่ทิ้งกองข้าวบนพื้นดิน การลักขโมยข้าวถือเป็นสิ่งอัปมงคลอย่างร้ายแรงที่สุด การที่คนไทยปฏิบัติต่อข้าวมาแต่โบราณเช่นนี้ นับเป็นวัฒนธรรมทางจิตใจที่แสดงถึงความเป็นผู้มีความกตัญญู แม้กับผู้ที่มิใช่มนุษย์ เป็นวัฒนธรรมที่ดี แต่คนสมัยใหม่อาจไม่ค่อยมีความรู้สึกอย่างนี้" พระครูวิบูลสีลากร กล่าว

ตำนานแม่โพสพ

"แม่โพสพ" ตามสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า "เทวดาประจำพืชพรรณธัญญาหารทั้งปวง" มวลมนุษยชาติเชื่อถือและกราบไหว้บูชามาตั้งแต่ครั้งโบราณของชาวไทย ลาว และละแวกลุ่มน้ำเจ้าพระยา บูชาเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญชาติ ที่เพาะปลูกตามฤดูกาล โดยจะทำพิธีบูชาแม่โพสพ ด้วยอาหารมีข้าวปากหม้อ กล้วย อ้อย เป็นต้น

แม่โพสพเป็นสตรีเพศ ร่างงาม แต่งกายด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณสมัยโบราณห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าจีบชายกรอมลงมาถึงปลายหน้าแข้ง ทรงเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ตระการตา ไว้ผมยาวสลวยประบ่า มีกระจังกรอบหน้าคล้ายมงกุฎ และจอนหูงอนชดช้อย มือข้างหนึ่งชูรวงข้าว ส่วนอีกข้างถือถุงโภคทรัพย์เต็มถุง ประทับนั่งพับเพียบเรียบร้อยแบบแพนงเชิงอย่างไทยโบราณ

ตำนานหนึ่งเล่าว่า มีฤๅษีมหากระไลย์โกฏอยู่สันโษในอรัญ บำเพ็ญพรหมขันธุ์ในกุฏิ เพลาหนึ่งเกิดอสุนีฟ้าฟาด อากาศวิปริตโกลาหล ฟ้าฝนก็ตกลงมามิหยุดหย่อน มีเมล็ดข้าวปลิวว่อนกระจาย พอฟ้าฝนหายฤๅษีก็เห็นเป็นอัศจรรย์ จึงจัดสรรนำไปปลูกริมฝั่งนทีสระน้ำ ฝนชะตลอดมา จนข้าวกล้าแตกรวง

กาลล่วงเข้าฤดูหนาว เมล็ดข้าวก็แก่จัด พระฤๅษีก็โสมนัสยิ่งนัก ครั้นจะนำมากินก็กริ่งเกรงจะเบื่อเมา อันตัวเราก็พึ่งพบคราวนี้ คราวหนึ่งสกุลณีสกุณามาเป็นหมู่ บินจู่โจมกินข้าวสาลี ฤๅษีเห็นดังนั้นพลันรู้ว่า หมู่ปักษามิได้ตายวายชีวิต ก็คิดว่าคงเป็นอาหารอันโอชารส พระดาบสจึงเก็บพันธุ์ข้าวไว้เพาะปลูกกระจายลูกหลานเหลน ได้เป็นอาหารของมนุษย์สุดประเสริฐ โดยกำเนิดขององค์ดาบส ตราบเท่าทุกวันนี้

 
:025: