ผู้เขียน หัวข้อ: ระวังการขาดสติจะก่ออธิกรรม  (อ่าน 1849 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายธรรมะ

  • ดีชั่วอยู่ที่ตัวทํา สูงต่ำอยู่ที่ทําตัว
  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 615
  • เพศ: ชาย
  • เหนื่อย ได้แต่อย่า ท้อ
    • ดูรายละเอียด
ระวังการขาดสติจะก่ออธิกรรม
« เมื่อ: 25 มิ.ย. 2553, 05:24:43 »
ระวังการขาดสติจะก่ออธิกรรม

--------------------------------------------------------------------------------

เรื่องของกรรมะหรือการกระทำที่กล่าวโดยรวมว่า ‘กรรม’ นั้น เป็นการครอบคลุมความหมายในวงกว้างทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว

เรื่องของกรรม ผู้เขียนเคยกล่าวถึงมาแล้วครั้งหนึ่งในหัวข้อกรรมสี่หมวดมาแล้ว ถ้าท่านใดยังไม่เคยอ่านก็สามารถค้นอ่านได้ในรวมเล่มชุดสองของ ‘ธรรมะ 5 นาที’ ชุด ‘หัวใจของชาวพุทธคือพุทโธ’

มีคำกล่าวอยู่ประโยคหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนสะกิดใจจนนึกถึงห้อข้อในวันนี้ขึ้นมาก็คือ...

‘ตราบใดที่ยังไม่สิ้นพระศาสนา ตราบนั้นพระอริยเจ้า และพระอรหันต์เจ้ายังอุบัติขึ้นตลอดไป...’

ตรงนี้แหละครับคือประเด็น ประเด็นที่ผู้เขียนนึกห่วงใยขึ้นมาในใจ เพราะไม่ว่าบุคคลใดก็ตามถ้าอุดมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลนั้นจักเปรียบเหมือนกระแสเย็นที่แผ่ออกสู่ส่ำสัตว์ทั้งปวง แลส่ำสัตว์นั้นจะรับทราบ มุ่งหน้าเข้าแสวงหาเพื่อได้กราบกรานขอธรรมปัญญาบารมีมาเป็นที่พึ่ง...

จึงไม่แปลกที่สาวกบุตรแห่งตถาคตผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลาย จึงมีผู้ศรัทธาในปฏิปทาและจริยาวัตรของท่านมุ่งหน้าไปขอพึ่งบารมีธรรม ดังได้กล่าวมาข้างต้น

สายธารของมนุษย์แม้มุ่งหน้าไปพบพระอริยเจ้าองค์เดียวกัน แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าความต้องการในจิตของแต่ละบุคคลแผกกันออกไป...

มีบ้างไปเพื่อเจตนาทำบุญกับท่าน ในฐานะท่านเป็นเนื้อนาบุญ
มีบ้างไปเพื่อขอในสิ่งที่ตนอยากได้ อยากมี อยากเป็นในโชคลาภทางโลก...

ด้วยการตัดเคราะห์สะเดาะโศก เพิ่มพูนยศเกียรติให้แก่ตน
หรือมีบางคนไปเพื่อขอธรรมะคำสั่งสอนมาปฏิบัติตนเพื่อความสุขสงบในชีวิต...

หากในสายธารของคนเหล่านั้นจะมีสักกี่คนที่เคยเตือนตนบ้างว่า การเข้าใกล้พระอริยเจ้าผู้ทรงภูมิจิตสูงส่งนั้น ควรระวังสิ่งใดบ้าง...

ท่านผู้ทราบแล้วก็อย่าหาว่าผู้เขียนเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนเลยครับ เพราะบางครั้งสิ่งที่มองดูคล้ายเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน อาจมีประโยชน์สำหรับใครบางคนก็ได้ แม้จะเป็นหนึ่งในจำนวนล้าน...

ดังหลวงพ่อผู้มีพระคุณต่อภูเตศวรเคยกล่าวว่า...‘อย่าคิดเห็นว่าสิ่งอันเป็นประโยชน์น้อยนิด เป็นสิ่งที่ควรมองข้าม ประโยชน์น้อยนิดสำหรับบางคน แต่มีค่ามหาศาลสำหรับอีกบางคน’

ผู้เขียนจึงไม่อยากละเลยต่อสิ่งนี้ โดยเฉพาะความหมิ่นเหม่ของท่านผู้อ่านทั้งหลายที่จะทำให้ตน...

‘ก่ออธิกรรม!’ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์...

‘อธิ’ แปลว่า มากกว่า หรือหนัก

‘กรรม’ มาจากการกระทำรวมความก็คือ กรรมหนักนั่นเอง!

ถึงตรงนี้บางท่านอาจจะมีข้อสงสัยว่า การไปพบหรือสนิทสนมกับพระอริยะทั้งหลาย จะเป็นการก่อกรรมหนักได้อย่างไร?

หากจะให้ตอบตรงนี้คงต้องอธิบายคุณลักษณะของมนุษย์ทั่วไปให้กระจ่างเสียก่อน โดยปกติแล้วสิ่งใดที่คนเรารู้จักมักคุ้นไปนาน ๆ ก็จะเกิดความรู้สึกประการหนึ่งขึ้น ประการนั้นคือ ‘ความเคยชิน’ ความเคยชินทำให้ขาดความระมัดระวังหรือเผลอสติง่าย...

ตรงนี้แหละครับคือประเด็นสำคัญ !

เหมือนกับเรารู้จักใครสักคนในสังคม ใหม่ ๆ เราจะระวังตัวในการพูดคุยและการคบหา แต่พอนาน ๆ ไปเราก็จะเริ่มคบหาด้วยความสบายใจขึ้น การระมัดระวังจะน้อยลงตามเงา...จนอาจมีการกระทบกระทั่งกันด้วยกาย วาจา ใจ ก็ได้ในวันหนึ่งข้างหน้า

ด้วยประการนี้สำหรับปุถุชนธรรมดา ๆ อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็มิใช่เป็นเรื่องแปลก เพราะระดับจิตหาได้ผิดแผกแตกต่างจากกันเท่าใดนัก

แต่กับพระอริยเจ้า ท่านเป็นผู้ทรงภูมิจิตสูง การพลั้งเผลอจนกลายเป็นการจาบจ้วงดูหมิ่นท่านเข้า ต่างกับการพลั้งเผลอจาบจ้วงดูหมิ่นคนธรรมดาสามัญหลายเท่านัก เพราะการกระทำเช่นนั้นต่อพระอริยบุคคลเป็นการก่อ ‘อธิกรรม’ทันที...

ขอยกตัวอย่างให้ฟังจะจะสักเรื่อง...ในสมัยที่ พระพุทธเจ้าของเรา ยังเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้านั้น ท่านทรงแลเห็นพระกัสสปพุทธเจ้าทรงปฏิบัติธรรมและสั่งสอนผู้คนใต้โคนต้นไม้ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันได้พลั้งเผลอดูหมิ่นขึ้นในใจครั้งนั้น...

‘ถ้าการนั่งอยู่ใต้ต้นไม้แค่นั้นสามารถบรรลุธรรมชั้นสูงได้ ฉันก็ทำได้เหมือนกัน...’ นั่นคือคำกล่าวในความคิดที่ พระองค์ทรงรับสั่งให้สาวกทั้งหลายได้รับฟัง ภายหลังที่ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

เหตุแห่งการหมิ่นแคลนพระกัสสปพระพุทธเจ้าในกาลนั้น มีผลเป็นอธิกรรมสืบเนื่องมาจนกาลที่พระองค์กำลังแสวงหาความหลุดพ้นบ้าง

ซึ่ง ‘อธิกรรม’ ดังกล่าวมีผลให้พระองค์ต้องเสวยเวทนากับการทรมานกายอยู่ในป่าใต้โคนต้นไม้นานหลายปีกว่าจะบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าได้...

ตัวอย่างตรงนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึง ‘อธิกรรม’ อันเกิดจาก ‘มโน’ คือความคิดในใจของพระสมณโคดม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันต่อพระกัสสปพุทธเจ้าในอดีตกาล แม้ฐานะของพระองค์จะเป็นถึงพระโพธิสัตว์เจ้าผู้มีบุญญาธิการเตรียมเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ยังไม่สามารถพ้นกรรมตรงนี้ได้...

คำถามจึงมาตกที่ว่า... ‘ถ้าเป็นคนอย่างพวกเราล่ะหากพลาดพลั้งขึ้นมาจะสาหันแค่ไหน?’

สิ่งที่อยากเตือนท่านทั้งหลายอีกสักนิดก็คือเรื่อง ปฏิปทาของครูบาอาจารย์บางท่านบางรูปอาจจะผิดแผกแตกต่างกันออกไปตามลักษณะวาสนาบารมี ฉะนั้นพึงระมัดระวังกาย วาจา ใจของเราให้จงหนักเหมือนอย่างที่อาเตียเซียนสู เล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่า...

ก่อนที่ท่านจะนับถือหลวงปู่เชยเป็นอาจารย์นั้น ท่านเคยคิดว่าหลวงปู่เชยเป็นบ้า เพราะหลวงปู่ท่านชอบนอนในโลงศพตามโกดังเก็บศพ แต่งตัวด้วยจีวรสกปรกมอมแมม จนผู้คนแถบนั้นหาว่าท่านเป็น ‘พระบ้า’ แต่ภายหลังอาเตียเซียนสู จึงพบว่าท่านเป็นพระอริยสงฆ์รูปหนึ่ง แสร้งทำเป็นวิกลจริตเพื่อไม่ต้องการให้ใครมารบกวนเวลาปฏิบัติธรรมของท่านเท่านั้น !

นั่นคือเหตุผลที่อาเตีย มักจะเตือนคนใกล้ชิดให้ระวังเสมอมา...

ครับ มาถึงตรงนี้ สำหรับเครื่องมือป้องกันการเผลอตัวจนเกิดมโนกรรม กายกรรม และวจีกรรมกับพระอริยเจ้าทั้งหลาย อันเป็นทางก้าวสู่อธิกรรมนั้นมีเพียงประการเดียวก็คือ...

ใช้ ‘ สติ’ ควบคุม!

ควบคุม ความคิด การกระทำอันเป็นการจาบจ้วงหมิ่นแคลนหรือกล้ำเกินท่านผู้เป็นอริยะตลอดเวลา....

ดังคำกล่าวของผู้รู้ท่านหนึ่งมีต่อภูเตศวรมานานแล้วว่า...

‘อยู่ใกล้พระอริยเจ้ามากเท่าไหร่ มีโอกาสขึ้นสวรรค์ กับตกนรกได้เท่า ๆ กันระหว่างมีสติกับขาดสติ!’

จริงหรือเท็จ ท่านทั้งหลายพึงแยกแยะด้วยเหตุผลเอาเถอะครับ เพราะศาสนาพุทธสอนให้เชื่อเหตุและผลมากกว่าคำว่า...

ความศรัทธาประการเดียว!


www.dhamma5minutes.com
[shake]ศรัทธา ไม่ใช่ ไสยศาสตร์ ศรัทธา เพื่อ ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีความ ศักดิ์สิทธิ์ ย่อมเกิด ปาฏิหาริย์[/shake]