ผู้เขียน หัวข้อ: ย้อนรอย "มรณสถานหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด"  (อ่าน 5230 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด

วัฒนธรรมสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ที่สืบสานมาแต่อดีตกาล ล้วนเลื่อนไหลผ่านมาในเส้นทางหลายสาย และยังคงใช้เป็นเส้นทางสัญจรระหว่าง 2 ประเทศ จนถึงปัจจุบัน ทว่าเส้นทางข้ามพรมแดน ณ จุดบ้านประกอบ ตำบลประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา กลับถูกทิ้งร้างมานาน จนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทางการไทยและมาเลเซีย ได้พัฒนาบริเวณด่านประกอบ เพื่อเปิดเส้นทางเชื่อมระหว่างกันอีกหนึ่งเส้นทาง แม้ขณะนี้ทางฝั่งไทยจะยังไม่คืบหน้ามานัก เพราะพิษเศรฐกิจ แต่คาดว่าอีกไม่นาน ทั้งสองประเทศจะเปิดประตูพรมแดนสายนี้ใหม่ พร้อมกับรื้อฟื้นประวัติศาสตร์มรณสถาน และเส้นทางศพของหลวงพ่อทวด ซึ่งผู้คนทั้งสองประเทศเคารพนับถือกันมาอย่างยาวนาน
หลวงพ่อทวด เป็นคำเรียกขาน พระอริยสงฆ์ผู้มีบุญญาธิการ หาใช่ชื่อเฉพาะพระสงฆ์ รูปหนึ่งรูปใดไม่ แต่เมื่อกล่าวถึงพระสงฆ์รูปหนึ่งรูปใดก็จะมีชื่อเฉพาะหรือฉายาตามมา เช่นหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด หลวงพ่อทวดวัดช้างให้ หรือหลวงพ่อทวดวัดพะโคะ เป็นต้น สำหรับตำนานของหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งสันนิษฐานว่าคือพระสงฆ์รูปเดียวกันกับหลวงพ่อทวดวัดช้างให้ หรือหลวงพ่อทวดวัดพะโคะนั้น ปัจจุบันมีตำนานเล่าสืบต่อมาหลายกระแส ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตำนานใดที่ถูกต้องแน่ชัด และเรื่องซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปมักเป็นเรื่องในเชิงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

ตำนานหลวงพ่อทวดในมาเลเซียได้ถูกจุดกระแสอย่างจริงจัง หลังจากพระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมมธโร) วัดช้างให้ ได้สร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด และในปีพ.ศ. 2505 พระครูวิสัยโสภณได้เข้าไปสืบค้นสถานที่พักศพหลวงพ่อทวดในประเทศมาเลเซีย และได้ทำพิธีพลีดินนำมาสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดรุ่นพินัยกรรม และหลวงพ่อทวดวัดเมือง ยะลา จากนั้นมาความเชื่อที่ว่าหลวงพ่อทวดมรณภาพที่มาเลเซีย แล้วได้หามศพไปฌาปนกิจศพที่วัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี ก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย

มรณสถานและเส้นทางเคลื่อนศพของหลวงพ่อทวด มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้หลายแห่ง เช่น หลวงพ่อทวดมรณภาพที่ เขาอีโปห์ รัฐเประ ,หลวงพ่อทวดมรณภาพที่วัดกงหรา หรือวัดโกร๊ะใน รัฐเประ , หลวงพ่อทวดมรณภาพที่ริมน้ำสุไหงเกอร์นาริงค์ รัฐเประ หรือหลวงพ่อทวดมรณภาพที่บ้านบากัน ตรงข้ามเกาะปีนัง รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย จากจุดมรณภาพดังกล่าว ก็ปรากฏเส้นทางเคลื่อนศพและจุดแวะพัก จากประเทศมาเลเซียมาสู่สถานที่ฌาปนกิจศพ คือที่ วัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี หลักฐานสำคัญตามจุดแวะพักดังกล่าว คือเนินดิน หลักหิน หรือไม้แก่น ซึ่งบางแห่งได้สร้างเป็นศาลาหรือ วิหารครอบไว้ เพื่อให้พุทศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา

ด้วยเหตุที่ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับมรณสถานของหลวงพ่อทวด จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คณะจากสถาบันทักษิณคดีศึกษา ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่ศึกษา วิจัยเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ทุกแขนง ออกเดินทางสำรวจศึกษาเส้นทางและมรณสถานที่มีผู้กล่าวอ้างดังกล่าว เพราะในร่องรอยเส้นทางเหล่านั้นได้หลอมรวมศรัทธา และคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชนทั้งสองประเทศไว้ อย่างไร้ซึ่งข้อขีดคั่นทางพรมแดน นอกเหนือจากนี้ยังสามารถพิสูจน์ได้ว่าการไปมาหาสู่กัน การโอนถ่ายวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ระหว่างชาวไทยภาคใต้ตอนล่างกับชาวมาเลเซียนั้นมีมาเนิ่นนานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็นานพอกับการปรากฏของหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดในหน้าประวิติศาสตร์เมืองไทย

นายชัยวุฒิ พิยะกูล หัวหน้าโครงการ "สำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกัยหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดบริเวณตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย" ได้นำคณะออกย้อนรอยสืบค้นประวัติศาสตร์เส้นทางมรณสถานของหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เริ่มจากเมืองกัวลาเกอร์นาริงค์ รัฐเประ ประเทศมาเลเซีย ถึงวัดช้างให้ ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ในช่วงเดือนมกราคม และเดือนกรกฎาคม 2547 ได้ศึกษาจุดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับเส้นทางมเคลื่อนศพและมรณสถาน หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด 18 จุด ซึ่งผลจากการศึกษาดังกล่าว นายชัยวุฒิ พิยะกูล ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ สามประการคือ

1. ชื่อเรียกหลวงพ่อทวดบ่งชี้ถึงวัฒนธรรมด้านความเชื่อ

จากการศึกษาพบว่า มรณสถานของหลวงพ่อทวด มีการเรียกชื่อที่ต่างกันออกไป เช่นสามีมาตี่ หมายถึง พระภิกษุ ที่มรณภาพ ,สามีฮูยันหมายถึงพระภิกษุขอฝน , บุกิตสามี หมายถึง ควนพระภิกษุ หรือบุกิจจันดี หมายถึงควนเจดีย์ หรือหลวงพ่อเจดีย์ ซึ่งชื่อเรียกเหล่านี้หมายถึงพระภิกษุในประเทศมาเลเซีย ทำให้มีการเชื่อมโยงสถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้ ให้เห็นว่าเป็นสถานที่พักศพของหลวงพ่อทวด แม้จะยังไม่มี หลักฐานชัดเจนว่าชื่อเรียกเหล่านั้นหมายถึงพระภิกษุรูปเดียวกันก็ตาม

ผลจากการสำรวจพบว่าสถานที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อทวดและวัดต่าง ๆ ในประเทศมาเลเซียได้มีการสร้างรูปหล่อหลวงพ่อทวด เช่นที่วัดบาลิงใน วัดบาลิงนอก วัดทุ่งควาย วัดปาดังแปลง เป็นต้น

นับได้ว่าได้กลายเป็นความเชื่อของคนไทยและคนมาเลเซีย และกลายเป็นลัทธิบูชาหวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง

2. หลักไม้แก่นและเนินดินมรณสถานหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด บ่งชี้ภูมิบาน ภูมิเมือง

สถานที่มรณภาพและที่พักศพหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดหลายมีลักษณะเป็นเนินดิน หรือหลักหินแกะสลักเป็นรูปดอกบัวตูม ซึ่งสถานที่เหล่านี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นความเชื่อเดียวกับความเชื่อของคนไทย ที่มีต่อสถูปหรือบัวเก็บอัฐิของพระเถระที่ประชาชนเคารพนับถือ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับความเชื่อเกี่ยวกับภูมิบ้านภูมิเมือง หรือหลักบ้านหลักเมืองของ ของคนไทยภาคใต้ เนื่องจากคนภาคใต้มีธรรมเนียมการสร้างภูมิบ้านด้วยหลักไม้แก่นหรือหลักปูน หรือหลักหิน เพื่อให้เป็นที่สถิตย์ของภูมิบ้านหรือเจ้าบ้าน อันเป็นเทวดาประจำหมู่บ้าน เช่น ภูมิบ้านส้มตรีด ตำบลท่ามิหรำ อำเภอเมืองพัทลุง , ภูมิบ้านทุ่งขาม ตำบลพญาขัน อำเภอเมืองพัทลุง , ภูมิบ้านสนามชัย ตำบลสนามชัย อำเภอสิทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น

3. มรณสถานหลวงพ่อทวดบ่งชี้เส้นทางโบราณ

ที่พักศพหลวงพ่อทวดตั้งแต่รัฐเประ ผ่านรัฐเคดะห์หรือไทรบุรี ล้วนเป็นหลักฐานการตั้งถิ่นฐาน และพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของคนไทยและมาเลเซีย ทำให้เห็นเส้นทางโบราณระหว่างหัวเมืองปักษ์ใต้กับหัวเมืองตอนเหนือของมาเลเซีย ซึ่งเส้นทางเหล่านี้เคยเป็นเส้นทางสัญจรติดต่อค้าขายกันมาแต่โบราณ และเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรมลายูระหว่างฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออก จากการสำรวจร่องรอยมรณสถานพบว่ามีเส้นทางไปมาหาสู๋กันผ่านช่องทางสำคัญ อย่างน้อย 2 เส้นทาง ไดแก่ เส้นทางผ่านช่องเขาบริเวณบริเวณบ้านประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ตรงหลักเขตแดนที่ 31 แล้วเลียบเชิงเขาหรือลำน้ำคลองใหญ่สู่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และเส้นทางผ่านช่องเขาบริเวณบ้านสมแก่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ใกล้หลักเขตแดนที่ 28 ลงไปตามลำห้วยสมแก่ ต้นน้ำอู่ตะเภา ไปสู่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ผลการศึกษาดังกล่าวคงถือเป็นการเปิดประเด็นทางวิชาการ ท้าทายให้นักวิชาการด้านวัฒนธรรมคิดศึกษาพิสูจน์หลักฐานข้อเท็จจริงมาสนับสนุนหรือหักล้าง และเร่งสืบค้นข้อเท็จจริงในเร็ววัน ในอีกมิติหนึ่ง สืบเนื่องจากวาระที่จังหวัดสงขลาและประเทศมาเลเซีย หวังจะเปิดด่านและเส้นทางเชื่อมพรมแดน ระหว่างไทยกับมาเลเซียสายใหม่ บริเวณบ้านประกอบอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เรื่องราวของเส้นทางมรณสถานหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ก็คงจะฟื้นคืนตำนานเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายใหม่ที่กรุ่นไปด้วยกลิ่นอายแห่งวัฒนธรรมที่น่าสนใจยิ่ง

(ผลการสำรวจจากโครงการข้างต้น ได้บันทึกในรูปหนังสือและสื่อนิทรรศการ เรื่อง "ย้อนรอยเส้นทางมรณสถานหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" ผู้สนใจติดต่อขอสำเนาหนังสือ และขอใช้บริการนิทรรศการชุดดังกล่าวได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนา หรือ กองบรรณาธิการ วารสารอาศรมทักษิณ)

เส้นทางเคลื่อนศพและมรณสถาน หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด 18 จุด

จุดที่ 1 สถานที่มรณภาพริมฝั่งน้ำสุไหงเกอร์ และสุไหงเกอร์นาริง รัฐเปรัค
จุดที่ 2 สถานที่พักศพบ้านพกั๊วะลั๊วะ หรือวัดโกร๊ะใน ตำบลกั๊วะลั๊วะ อำเภอเปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัค
จุดที่ 3 สถานที่พักศพวัดจะดาบ (ร้าง) ตำบลลูการ์สือมัง อำเภอโกร๊ะห์ รัฐเปรัค
จุดที่ 4 สถานที่พักศพโคกเมรุ อำเภอบาลิง รัฐเคดะห์
จุดที่ 5 สถานที่พักศพบุกิตสามี หรือควนพระ รัฐเคดาห์
จุดที่ 6 สถานที่พักศพบ้านควนเจดีย์หรือบ้านหลังไกว้ รัฐเคดะห์
จุดที่ 7 สถานที่พักศพบ้านปาดังเปรียง หรือปาดังแปลง รัฐเคดะห์
จุดที่ 8 สถานที่พักศพบ้านทุ่งควาย หรือกำปงจีนา รัฐเคดะห์
จุดที่ 9 สถานที่พักศพวัดลำปำ ตำบลรำไม อำเภอเปิ้นดัง รัฐเคดะห์
จุดที่ 10 สถานที่พักศพบ้านปง ตำบลเตอกเยร์คีรี อ.ปาดังเตอรัป รัฐเคดะห์
จุดที่ 11 สถานที่พักศพบ้านปลักคล้า ตำบลนาคา อำเภอปาดังเตอรัป รัฐเคดะห์
จุดที่ 12 สถานที่พักศพบ้านนาข่า ตำบลนาคา อำเภอปาดังเตอรัป รัฐเคดะห์
จุดที่ 13 สถานที่พักศพบ้านบาวฉมัก รัฐเคดะห์
จุดที่ 14 สถานที่พักศพบ้านดินแดง รัฐเคดะห์
จุดที่ 15 สถานที่พักศพบ้านปาดังสะไหน อำเภอปาดังเตอรัป รัฐเคดะห์
จุดที่ 16 สถานที่พักศพบ้านถ้ำตลอด ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
จุดที่ 17 สถานที่พักศพบ้านช้างไห้ตก วัดบันลือคชาวาส ตำบลช้างให้ตก อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
จุดที่ 18 สถานที่ฌาปนกิจศพวัดช้างไห้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี


ขอขอบคุณที่มา...http://www.thaisouthtoday.com/index.php?file=story&p=pt&obj=forum(586
 

ออฟไลน์ ~@เสน่ห์เอ็ม@~

  • ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย พระคุณบิดามารดาผู้มีพระคุณ แล ครูบาอาจารย์ผู้เกื้อหนุน สาธุ..
  • เด็กวัด
  • *****
  • กระทู้: 5894
  • เพศ: ชาย
  • ศิษวัดบางพระ
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณพี่ธรรมมะรักโขมากครับ สำหรับข้อมูลและเรื่องราวดีๆให้ศึกษา เกี่ยวกับมรณสถานหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด

ออฟไลน์ BooRin

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 3
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณครับ ได้ความรู้เยอะเลย

ออฟไลน์ phongsak_ng

  • *ที่เกิด/เดียวกัน*ที่อยู่/แตกต่างกัน*ที่ไป/ไม่รู้*
  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 335
  • เพศ: ชาย
  • ชีวิตก็แค่-เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-เสื่อมคลาย-ดับศูนย์
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
สวัสดีครับ...

  :053: :053: :053: ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งนะครับที่ได้นำบทความดีๆอย่างนี้มาเผยแพร่ให้รับทราบโดยทั่วกัน  :054:

 :002:ผมก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เคารพนับถือ..หลวงปู่ทวด เป็นอย่างยิ่งครับ..ยิ่งได้มารับทราบประวัติเก่าๆอย่างนี้ก็ทำให้มีความรู้
เพิ่มขึ้น..ขึ้นมาอีกสำหรับชีวประวัติของ...หลวงปู่ทวด

                       "นะโม โพธิสัตโต อาคัน ติมายะ อิติ ภะคะวา"[bgcolor=#c4ff00][/bgcolor]