ผู้เขียน หัวข้อ: ‘วัดพระธาตุสุโทน’ งามล้ำจับจิต แฝงปริศนาธรรม  (อ่าน 4692 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด

พระนอนและสิงห์คู่แบบล้านนาที่ด้านหน้าทางเข้าวัดพระธาตุสุโทน


‘วัดพระธาตุสุโทน’ งามล้ำจับจิต แฝงปริศนาธรรม

หากใครได้แวะเวียนไปเยี่ยมเยือน เมืองแพร่ ดินแดนแห่งหม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ (ส่วนหนึ่งของคำขวัญจังหวัด : หม้อห้อม สะกดตามคำขวัญจังหวัด) ก็จะรู้ว่า แพร่เป็นเมืองที่มีศิลปวัฒนธรรมแบบล้านนาตอนล่างอันเป็นเอกลักษณ์ และวิถีอันสงบงามที่น่าสนใจเมืองหนึ่งในภาคเหนือ แถมในความสงบงามของเมืองแพร่ที่หลายๆ คนมองเป็นเมืองผ่านนั้น ถ้าหากได้มองกันอย่างเพ่งพินิจแล้ว แพร่มีสิ่งชวนชมสวยๆ งามๆ แอบแฝงซ่อนเร้น ประหนึ่งพยัคฆ์ซุ่มมังกรซ่อนให้ชมกันหลายจุดทีเดียว

อย่างบนถนนหมายเลข 101 (เด่นชัย-ลำปาง) ที่เป็นทางผ่านจากตัวเมืองแพร่ไปลำปางหรือไปสุโขทัย ณ จุดห่างจากสามแยกเด่นชัยไปประมาณ 5 กิโลเมตร ริมถนนสายนี้จะมองเห็นพระนอนองค์โตและวัดหลังงามตั้งตระหง่านอยู่บนเนินย่อมๆ ที่เห็นแล้วรู้สึกสะดุดตาโดนใจในความโดดเด่นสวยงามของวัดแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง


หนึ่งในของเก่าแก่ในพิพิธภัณฑ์สุวรรณหอคำ


วัดแห่งนี้ก็คือ “วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีสามัคคีธรรม” หรือ “วัดพระธาตุสุโทน” ที่เพียงแค่แรกพบเห็น มนต์เสน่ห์ของวัดก็ดึงดูดให้เราออกจากรถมุ่งหน้าลงไปค้นหาในความงามแห่งพุทธศิลป์ของวัดแห่งนี้ในทันที

ปกติวัดทั่วๆ ไปในเมืองไทยที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความงามนั้น ส่วนใหญ่ต้องก้าวข้ามพ้นกำแพงวัดไปก่อนถึงจะพบกับความสวยงามภายในกำแพง ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ วิหาร พระธาตุเจดีย์ พระประธาน หอไตร จิตรกรรมฝาผนัง ฯลฯ แต่สำหรับที่วัดพระธาตุสุโทนนี่มีความงามให้ยลกันตั้งแต่นอกกำแพงวัดเลยทีเดียว โดยสิ่งแรกที่พบเจอแล้วโดดเด่นชวนชมเป็นอย่างยิ่งก็คือ พระนอนองค์โต ที่ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายของประตูกลางทางเข้าวัด

พระนอนองค์นี้ สร้างด้วยศิลปะแบบพม่าอย่างละเมียดละไม มีพระพักตร์หวาน จีวรเป็นริ้วดูพลิ้วสวยงาม ฝ่าพระบาท 2 ข้างแกะสลักด้วยลวดลายมงคล และมีพุทธสรีระงดงามสมส่วน

ถัดมาช่วงกลางวัด ตรงบันไดทางขึ้นถูกขนาบข้าง 2 ฟากฝั่งด้วยสิงห์คู่สีทองยืนเด่นเป็นสง่า สมดังผู้พิทักษ์รักษาบันไดทางขึ้นสู่แดนแห่งธรรม ในขณะที่ขอบบันไดก็มี 2 ผู้พิทักษ์ธรรมอย่างพญานาค 7 เศียรที่ทอดตัวเลื้อยขนาบ 2 ข้างลงมาจากซุ้มประตูกลาง ซึ่งทางวัดพระธาตุสุโทนสร้างด้วยศิลปะปูนปั้นเปลือย โดยจำลองแบบมาจากวัดพระธาตุลำปางหลวง แห่งเมืองรถม้า จังหวัดลำปาง


มัคนารีผลในพิพิธภัณฑ์สุวรรณหอคำ


หากใครเมื่อเดินขึ้นบันไดกลางนี้ แล้วพบว่าประตูทางกลางทางเข้าวัดปิดก็อย่าได้แปลกใจไป เพราะวัดนี้มีความเชื่อว่า ประตูทางกลางทางเข้าวัดมีไว้สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน เชื้อพระวงศ์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ และผู้มีบุญบารมีเท่านั้น ส่วนปุถุชนคนธรรมดาก็ให้เดินเข้าวัดทางประตูฝั่งซ้าย-ขวาตามความสะดวก

งานนี้เราเลือกเข้าประตูทางฝั่งขวาที่ซุ้มประตูฝั่งนี้จำลองแบบมาจากวัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ (ส่วนซุ้มประตูด้านซ้ายอีกฝั่งจำลองมาจากวัดพระธาตุหลวง เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว) ที่เมื่อเดินก้าวข้ามกำแพงวัดเข้าไปก็ได้พบกับความงามมากมายรออยู่

จุดแรกที่ไปชมคือ “พิพิธภัณฑ์สุวรรณหอคำ” ที่เป็นอาคารทรงล้านนาสร้างด้วยไม้สักทอง มีเสาทั้งหมด 101 ต้น เป็นจำนวนเท่ากับหมายเลขถนน (สาย 101) ที่ผ่านหน้าวัด ส่วนข้างในพิพิธภัณฑ์เต็มไปด้วยโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่หายากมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปปางต่างๆ จำนวนมากเ ครื่องดนตรีโบราณ รูปเคารพโบราณต่างๆ หม้อไหเก่า เครื่องทองเหลือง เครื่องกระเบื้อง เครื่องเขิน เครื่องสังคโลก อาวุธโบราณ ฯลฯ รวมถึงภาพถ่ายโบราณต่างๆ นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์กฎหมายมังรายศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของเมืองแพร่อันว่าด้วยการปกครองและการพิจารณาคดีความต่างๆ

ส่วนที่สะดุดตา “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เป็นพิเศษ เห็นจะเป็นวัตถุเล็กๆ คล้ายรากไม้แห้งที่ทางวัดระบุว่าเป็น มัครีผล (มัคนารีผล) ซึ่งมีรูปร่างคล้ายคนไม่น้อยเลย หลังเดินชมของล้ำค่าในพิพิธภัณฑ์กันพอสมควรแก่เวลาแล้ว เรามุ่งหน้าเข้าสู่เขตโบสถ์ของวัดแห่งนี้ทันที

 
ยักษ์คู่ 2 ตน ยืนเฝ้าหน้ากำแพงโบสถ์


สำหรับในเขตโบสถ์วัดพระธาตุสุโทน “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ยกให้เป็นอีกหนึ่งดินแดนแห่งความงามของงานพุทธศิลป์ในลำดับต้นๆ ของเมืองไทย โดยเริ่มตั้งแต่ปากทางเข้ากำแพงโบสถ์ที่มีทวารบาลยักษ์คู่ตัวเขียวและตัวน้ำตาลยืนถือขวานยาวเฝ้าปากประตูท่าทางขึงขัง

จากนั้นเมื่อก้าวข้ามเขตกำแพงโบสถ์เข้าไป ภาพความงามในงานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และงานพุทธศิลป์ต่างๆ ที่เห็นนั้น ช่างงามจับจิตจับใจ งามไปแถบทุกจุดที่เราพบเจอ ทั้งงานแกะสลัก งานปูนปั้น พระพุทธรูป และลวดลายประดับต่างๆ

ที่สำคัญคือในความงามที่พบเห็นแทบทุกอณูของเขตโบสถ์นั้น ล้วนแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรมทั้งสิ้น ซึ่งหากเดินดูผ่านๆ คงจะไม่รู้หรอก แต่งานนี้ต้องถือว่า “ผู้จัดการท่องเที่ยว” โชคดีอย่างล้นเหลือ เมื่อได้ไปพบกับ ท่านพระครูบามนตรี ธมฺมเมธี (พระครูวิฑิตพิพัฒนาภรณ์) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุสุโทน แห่งนี้เข้าโดยบังเอิญ

พระครูบามนตรีท่านนี้แหละ คือผู้รังสรรค์ผลงานปานเนรมิตต่างๆ ของวัดพระธาตุสุโทนแห่งนี้ ซึ่งท่านได้เล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่เป็นผู้สนใจในงานศิลปะมาก ชอบปั้นพระมาตั้งแต่เด็ก พอบวชก็ได้ไปเรียนวิชาปั้นพระสร้างวิหารจากครูบาคัมภีระปัญญา ที่วัดเฟือยลุง จังหวัดน่าน


โบสถ์งานศิลปกรรมล้านนาผสมผสานอันกลมกลืนลงตัว


หลังจากนั้นท่านได้ออกเดินทางไปศึกษางานพุทธศิลป์ระดับมาสเตอร์พีชตามวัดวาอารามที่ต่างๆ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ (จีน, พม่า และลาว) ก่อนจะนำเอาจุดเด่นของงานศิลปกรรมตามวัดต่างๆ โดยเฉพาะวัดทางภาคเหนือมาสร้างเป็นวัดพระธาตุสุโทน ในปี พ.ศ. 2527 วัดแห่งนี้ไม่ได้เน้นในการสร้างงานแบบใหญ่โตอลังการอย่างที่หลายๆ วัดทำกัน แต่เน้นไปที่การสร้างงานพุทธศิลป์อันงดงามสมส่วน โดยระดมช่างฝีมือชั้นยอดที่เรียกว่า “สล่า” ของภาคเหนือมาสร้างงานร่วมกัน

แม้งานส่วนใหญ่จะจำลองหรือได้แนวทางมาจากหลากหลายที่ แต่พระครูบามนตรีท่านได้นำมาประยุกต์เข้าไว้ด้วยกันอย่างผสมกลมกลืน ลงตัวสวยงาม ออกมาเป็นงานพุทธศิลป์ในระดับสุดยอดของเมืองไทยเลยทีเดียว ไม่เพียงเท่านั้นผลงานหลายชิ้น สิ่งก่อสร้างหลายอย่าง พระครูบามนตรีท่านได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ทั้งการแกะสลัก ปั้นปูน ฯลฯ รวมไปถึงการออกแบบที่เขียนแบบงานกันอย่างสดๆ ชนิดที่ไม่ต้องมีแบบร่างแต่อย่างใด

เมื่อรับรู้ที่มาที่ไปคร่าวๆ ของวัดแห่งนี้แล้ว ทีนี้ก็ได้เวลาชมสิ่งน่าสนใจมากมายในเขตโบสถ์ โดยมีพระครูบามนตรีเป็นผู้นำชมและเล่าความเป็นมาของงานชิ้นต่างๆ พร้อมอธิบายปริศนาธรรมที่แอบแฝงอยู่ในงานจำนวนมากด้วยตัวท่านเอง ซึ่งนี่คือโชคดีความอย่างล้นเหลือเป็นครั้งที่ 2 ของ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ในทริปนี้


พระบรมธาตุ 30 ทัส ตั้งโดดเด่นสวยสง่าในเขตพื้นที่โบสถ์


สำหรับจุดเด่นระดับไฮไลท์ของวัดจุดแรกที่พระครูบามนตรีนำชมก็คือ พระบรมธาตุ 30 ทัส ที่เจดีย์องค์ประธานและเจดีย์รายรอบหุ้มทองจังโก้สีทองเหลืออร่ามงดงามนัก

พระครูบามนตรีบอกเราว่า พระบรมธาตุ 30 ทัส เป็นศิลปะเชียงแสนยุคต้น จำลองมาจากวัดพระธาตุนอ (หน่อ) แห่งแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน องค์พระธาตุมี 8 เหลี่ยม แทนมรรค 8 และมี 3 ชั้น แทน 3 ภพ คือ นรก-โลก-สวรรค์ ส่วนฐานขององค์พระธาตุมีช้างรองรับโดยรอบ 32 ตัว ซึ่งท่านได้จำลองช้างเหล่านี้มาจากวัดช้างต่างๆ อาทิ วัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน วัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น

จากนั้นพระครูบามนตรีได้พาชมสิ่งน่าสนใจต่างๆ รอบโบสถ์ ซึ่งที่เด่นๆ ก็มี ตัวมอมสัตว์ในตำนานล้านนารูปร่างคล้ายแมวผสมสิงโต ที่สามารถปั้นได้อย่างมีชีวิตชีวาดูทีเล่นทีจริง พระพุทธรูปตามทางเดินบนระเบียงคต ศิลปะเชียงรุ้งอันเหลืองทองงามอร่ามตา ใบเสมาที่รูปทรงเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

 
ยักษ์ตื่นหน้าปากประตูทางเข้าโบสถ์ที่สื่อสัญลักษณ์ถึงความไม่ประมาท-การตื่นตัว

 
ยักษ์หลับหน้าปากประตูทางเข้าโบสถ์ที่สื่อสัญลักษณ์ถึงความประมาท-ขี้เกียจ


นอกจากนี้ที่บริเวณทางเดินรอบโบสถ์ยังมีลวดลายปูนปั้น ซุ้มประตู รูปปั้นทวยเทพ พระพุทธรูปงานแกะสลัก และงานศิลปกรรมต่างๆ ให้ดูกันอีกเพียบ

แต่ที่สะดุดตาให้กับเราได้เป็นอย่างดีก็เห็นจะเป็นรูปปั้นยักษ์ 2 ตนที่เฝ้าหน้าปากประตูทางเข้าโบสถ์ ตนหนึ่งนั่งเตรียมพร้อม ดูจริงจังขึงขังกับงานเฝ้ารักษาโบสถ์ที่เป็นตัวแทนของพระพุทธศาสนา ส่วนอีกตนหนึ่งขี้เกียจเหลือคณาถือตะบองนั่งหลับเฉยเลย

“อาตมาสร้างยักษ์คู่นี้ไว้เป็นสติเตือนใจแก่ผู้พบเห็น ว่าหากใครประมาท ขี้เกียจ อย่างยักษ์หลับก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ส่วนยักษ์ตื่นนั้น ไม่ประมาท มีสติตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่การงานไปได้ด้วยดี” พระครูบามนตรีอธิบาย


ซุ้มประตูโบสถ์มองเข้าไปเห็นพระพุทธชินเรศน์ฯ ประดิษฐานอย่างสวยงาม


หลังชื่นชมปนอมยิ้มกับแนวคิดแฝงปริศนาธรรมของยักษ์หลับยักษ์ตื่น เราก็ตามท่านพระครูบามนตรีเข้าสู่ภายในโบสถ์หลังงามที่ได้รวบรวมสุดยอดศิลปกรรมล้านนากว่า 10 วัด มาสร้างเป็นโบสถ์งามหลังนี้ ในขณะที่ภายในโบสถ์นั้นประดิษฐานพระประธานคือ “พระพุทธชินเรศนวราชบพิตร” (นามพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) ที่จำลองแบบมาจากพระพุทธชินราช อย่างงดงามวิจิตรดูเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธา

ส่วนจิตรกรรมฝาผนังนั้นเล่าก็งดงามประณีตด้วยเรื่องราวนิทานชาดกพื้นบ้านและภาพไตรภูมิ ซึ่งนอกเหนือจากนี้ในโบสถ์ยังมีสิ่งชวนชมอีกมากมาย อาทิ งานไม้แกะสลักเกี่ยวกับพุทธชาดก พระแก้วมรกตจำลอง และบุษบกทรงสวยงาม เป็นต้น เรียกว่าถ้าใครเมื่อมาวัดแห่งนี้แล้วรับรองไม่ผิดหวังในความงามที่ได้พบเจอ นอกจากนี้ในงานพุทธศิลป์ส่วนใหญ่ยังแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรมที่เป็นดังเครื่องเตือนใจปุถุชนคนทั่วไป ซึ่งท่านพระครูบามนตรีได้เล่าให้ฟังที่เหตุของการสร้างวัดพระธาตุสุโทนว่า

“ทุกวันนี้โรงพยาบาลทางโรคมีมาก แต่โรงพยาบาลทางใจมีน้อยมาก การสร้างวัดให้สวยงามสง่า ถือเป็นโรงพยาบาลรักษาโรคทางใจอย่างหนึ่ง เพราะอาตมาใช้ศิลปะเป็นหนึ่งในเครื่องกระตุ้นคนเข้าวัด เมื่อคนเข้าวัดก็จะได้ศึกษาเรียนรู้ธรรม แถมยังได้อิ่มเอิบใจจากงานศิลปะกลับไปด้วย”

พระครูบามนตรีอธิบายให้ฟังก่อนกล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้ชาวพุทธอย่าเข้าวัดเพราะติดพระ อย่าเข้าวัดเพื่อหาวัตถุมงคลของขลัง แต่จงเข้าวัดเพื่อหาธรรมมะ ความขลังไม่ได้อยู่ที่ตัวพระ แต่อยู่ที่ธรรมมะของพระพุทธเจ้า สาธุ


จิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวชาดกพื้นบ้านและภาพไตรภูมิ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีสามัคคีธรรม” หรือ “วัดพระธาตุสุโทน” ตั้งอยู่ ณ บ้านห้วยพริก หมู่ที่ 5 ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ อยู่ริมถนนหมายเลข 101 (เด่นชัย-ลำปาง) ห่างจากแยกเด่นชัยประมาณ 5 กม. (ใกล้ๆ กับค่ายทหาร ม.พันสิบสองหรือค่ายพญาไชยบูรณ์) เป็นวัดบนเนินของดอยม่อนโทน มีเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่

นอกเหนือจากงานพุทธศิลปะที่กล่าวมาแล้ว วัดพระธาตุสุโทนยังมีสิ่งชวนชมอย่าง พระธาตุพนม (นครพนม) จำลอง (อนาคตจะสร้างพระธาตุประจำปีเกิด (จำลอง) ทั้ง 12 ราศีที่นี่) พระธาตุช้างค้ำ (น่าน) จำลอง, ศาลาหลวงพ่อเกษม เขมโก, วิหารพระมหาเมียะมุนี, วิหารพระเจ้าเก้าตื้อ, อนุสรณ์สถานทหารกล้า, หอระฆัง (จำลองจากวัดพระธาตุหริภุญชัย : ลำพูน), หอไตร (จำลองจากวัดพระสิงห์ : เชียงใหม่) ฯลฯ

วัดพระธาตุสุโทน เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00-16.00 นาฬิกา ไม่เก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใด 

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

 
รูปหล่อบูรพาจารย์ครูบา

 
รูปหล่อครูบาศรีวิชัย


ขอขอบคุณข้อมูลโดย : ผู้จัดการออนไลน์