ผู้เขียน หัวข้อ: ภาวนา = พัฒนา  (อ่าน 1199 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ภาวนา = พัฒนา
« เมื่อ: 13 มี.ค. 2554, 09:24:12 »
   
วิธีภาวนาให้เห็นว่ากายกับใจไม่ใช่เรา
ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๘๗

โดย หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช


ถาม - ภาวนาอย่างไรจึงจะเห็นว่ากายไม่ใช่เราได้ครับ

เรามาหัดภาวนา มาดูของจริงนะ ดูลงในกาย ดูลงในใจ กายกับใจเป็นสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นตัวเรามากที่สุด เรารักที่สุดคือกายกับใจนี้ มาภาวนาก็มาดูลงที่กายที่ใจ แล้วจะเห็นเลย ทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นที่กายที่ใจนี่เป็นของชั่วคราวทั้งหมดเลย อย่างร่างกายมันไม่แข็งแรงตลอดเวลา เดี๋ยวมันก็เจ็บป่วย เจ็บป่วยนี่มันมีอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราไม่รู้สึก อย่างเรานั่งนานๆ มันก็เมื่อยนะ มันก็ป่วยเหมือนกัน มันก็เจ็บมันก็ป่วย มันทรมาน นั่งมากๆ ก็ทุกข์ ยืนมากๆ ก็ทุกข์ เดินมากก็ทุกข์ นอนมากๆ ก็ทุกข์ นอนมากก็ทุกข์นะ
หลวงพ่อเคยเห็นคนเป็นอัมพาต นอนแล้วกระดิกตัวไม่ได้ อู๊ย ทุกข์มากเลย เป็นแผลกดทับไปเลย บางทีติดเชื้อตายไปง่ายๆ เลย ฉะนั้นจริงๆ แล้วร่างกายเนี่ย ความจริงของเขาก็คือ เขามีแต่ความทุกข์บีบคั้นตลอดเวลา ร่างกายนี้นะ คล้ายๆ กับคนวิ่งหนีหมาล่าเนื้อนะ ความทุกข์เหมือนหมาล่าเนื้อ วิ่งไล่กัดตลอดเวลาเลย ตอนมีเรี่ยวมีแรงเราก็วิ่งหนีห่างออกได้นะ ก็รู้สึกค่อยยังชั่วหน่อย แป๊ปเดียวมันตามมาอีกละ เพราะฉะนั้น ความทุกข์มันตามบดขยี้ร่างกายนี้อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราภาวนาไปเกิดความรู้สึกอยู่ที่กาย เราก็จะเห็นความจริงเลย ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ นั่งอยู่ก็ทุกข์ เดินก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ จะทำอะไรอะไรก็ทุกข์ไปหมดเลย หายใจออกหายใจเข้าก็ทุกข์ ใครว่าไม่ทุกข์นะ หายใจเข้าไปเรื่อยๆ ทุกข์เองล่ะ หายใจออกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ทุกข์เองล่ะ ที่มันไม่ทุกข์เพราะมีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนอิริยาบถไป เช่นนั่งนานๆ แล้วเมื่อยก็ขยับตัว ก็เปลี่ยนอิริยาบถก็บดบังความทุกข์ชั่วครั้งชั่วคราว หายใจออกแล้วเปลี่ยนไปมาหายใจเข้า มันก็ปิดบังไม่ให้เราเห็นความทุกข์
ความจริงแล้วมันทุกข์อยู่ตลอดเวลาเลย ถ้าเราหัดภาวนานะ ตามรู้อยู่ที่กายมากเข้าๆ ถึงจุดหนึ่งมันจะเห็นเลย ร่างกายมันทุกข์ล้วนๆ น่าเบื่อนะ
จะทิ้งมันก็ไม่ได้นะ จะไปไหนก็ต้องพามันไปด้วย หนีมันไม่ได้ คล้ายๆ เรานอนกอดความทุกข์อยู่ตลอดเวลา นอนกอดภาระอยู่ตลอดเวลา
พอใจมันเห็นความจริงตรงนี้ มันจะค่อยๆ คลายความรักในกายลง มันจะเริ่มเห็นแล้วว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริงหรอก เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกอยู่ตลอดเวลา เช่น หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก หายใจออกแล้วก็หายใจเข้า
กินอาหารแล้วก็ขับถ่ายอะไรงี้ เป็นแค่ก้อนธาตุแล้วก็หมุนไปเรื่อยๆ แล้วก็ความทุกข์ก็ตามบีบคั้นไปเรื่อยๆ เนี่ยพอใจมันเห็นความจริงในกายมากเข้าๆ นะ ความรักในกายก็ลดลง เบื้องต้นก็เห็นก่อน ร่างกายไม่ใช่เรา ภาวนาไม่นานหรอกก็จะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา


ถาม - การถอดถอนความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา ต้องปฏิบัติอย่างไรครับ

เราจะรู้สึกว่าในร่างกายมีเราอยู่คนหนึ่ง เราคนนี้เดี๋ยวนี้ กับเราคนนี้ตอนเด็กๆ ก็เป็นเราคนเดิม วิธีที่จะถอดถอนความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรานะ ต้องตามดูจิตไปคอยรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิต เราจะเห็นว่าเดี๋ยวจิตก็สุข เดี๋ยวจิตก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เฉยๆ นะ มันสุขก็อยู่ชั่วคราว มันทุกข์ก็ชั่วคราว เฉยๆ ก็ชั่วคราว มันหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่คงที่ มันไม่เที่ยง จิตเดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวก็เป็นอกุศลนะ เดี๋ยวก็โลภขึ้นมา พอมีสติรู้ทัน ความโลภก็ดับไป เดี๋ยวโกรธมามีสติรู้ทัน ความโกรธก็ดับไป เดี๋ยวหลงไปมีสติรู้ทัน ก็รู้สึกตัวขึ้นมา ความหลงก็ดับไป ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นมา มีสติรู้ทัน ความฟุ้งซ่านก็หายไป จิตใจหดหู่ มีสติรู้ทัน ความหดหู่ก็หายไป มันจะเห็นแต่ว่าจิตใจนี้มันไม่เที่ยง เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ถ้าเมื่อไรเกิดความอยากขึ้นในจิต จิตจะถูกบีบคั้น จิตก็มีความทุกข์ นี้ความอยากมันเกิดทั้งวัน ถ้าเราหัดเจริญสติให้ดี รู้ทันจิตใจให้ดี
เราจะเห็นว่าจิตเรามีความอยากเกิดขึ้นตลอดเวลาเลย เดี๋ยวอยากโน้น อยากนี้ อยากโน้น อยากนี้ เช่น อยากดู อยากฟัง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากกระทบสัมผัสที่ดีๆ อยากหนีการกระทบสัมผัสที่ไม่ดี อยากคิดเรื่องดีๆ อยากให้จิตสนุกสนาน อยากให้มีความสุข อยากจะให้ความทุกข์หายไป สารพัดที่จะอยากทุกคราวที่ความอยากเกิดขึ้นที่จิตนะ จิตจะถูกบีบเค้น จิตจะถูกเค้น จิตจะมีความทุกข์ขึ้นมา มีการบีบคั้นขึ้นมา
พวกเราหัดดูไปก็จะเห็น จิตมีแต่ทุกข์ล้วนๆ เลย เฝ้าดูไป ดูไป ดูไป เห็นอีก จิตเองก็เป็นอนัตตานะ มันทำงานของมันได้เอง มันสุขก็สุขของมัน มันทุกข์ก็ทุกข์ของมัน เราสั่งมันไม่ได้ สั่งให้สุขอย่างเดียวไม่ได้ ห้ามทุกข์ไม่ได้ สั่งให้ดีอย่างเดียวไม่ได้ ห้ามชั่วไม่ได้ มีแต่เรื่องบังคับไม่ได้ มีแต่เรื่องห้ามไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เรียกว่าอนัตตา
การที่เรามีสติดูไป ดูการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จิตใจมีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จิตใจมันทำงานของมันนะ ไม่ใช่เรา มันทำงานได้เอง ดูไป ดูไป ไม่มีตัวเรา ในจิตนี้อีก ภาวนาไป เห็นจิตก็ไม่ใช่เรา กายก็ไม่ใช่เรา จิตก็ไม่ใช่เรา ไม่มีตัวเราอื่นๆ ที่ไหนเลย
สิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นตัวเรา ก็อยู่ที่กายที่ใจ ไม่ได้ไปอยู่ที่พื้นหรอก ไม่ได้อยู่ที่อากาศ ที่ภูเขา ที่ต้นไม้ มันอยู่ที่กายที่ใจ นั่นถ้าเมื่อไรเห็นว่า กายไม่ใช่เรา ใจไม่ใช่เรา  ก็จะไม่เห็นว่ามีอะไรเป็นเราอีกละ


http://www.dharmamag.com/index.php?o...=172&Itemid=38
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 พ.ค. 2554, 10:17:56 โดย ทรงกลด »
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว....ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา...สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา...กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ภาวนา = พัฒนา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 13 มี.ค. 2554, 09:33:24 »
ดับทุกข์ด้วยความคิด “โยนิโสมนสิการ”
โดย ธรรมธร

โยนิโสมนสิการ เป็นคำบาลีมีในพระไตรปิฎก แม้จะเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ แต่ก็เป็นธรรมะที่เป็นกลางฟังไว้ก็นำไปใช้ได้ในทุกชาติศาสนา เพราะไม่ต้องยึดมั่นว่าใครเป็นคนสอน โยนิโสมนสิการแปลตรงๆ ว่า “การพิจารณาโดยแยบคาย” อาจจะแปลง่ายๆ ว่า การคิดให้เกิดปัญญาดับทุกข์ หรือการคิดที่นำไปสู่กุศล ทำนองนี้ก็ได้

พระพุทธองค์ได้กล่าวถึง “โยนิโสมนสิการ” ไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นองค์ (องคคุณ) อื่นแม้ข้อหนึ่งที่เป็นองค์ภายในของภิกษุผู้ยังศึกษา ผู้ยังไม่ได้บรรลุอรหัตตผล ปราถนาธรรมอันเกษม จากโยคะอันยอดเยี่ยม อันเป็นองค์ที่มีอุปการะมาก เหมือนโยนิโสมนสิการนี้เลย” หมายความว่ามีประโยชน์มาก

การคิดให้เกิดปัญญาดับทุกข์ ไม่ใช่ของทำได้ง่ายๆ บางครั้งจะคิดออกได้ก็จะได้ต้องมีเพื่อนที่ดีช่วยแนะนำที่เรียกว่า กัลยาณมิตร บางคนก็คิดออกเอง บางคนคิดไม่ออก และเมื่อความทุกข์นำมาจะนำไปสู่ความตกต่ำได้อย่างที่สุด

ความทุกข์แบ่งเป็นทุกข์กายกับใจ ทุกข์กาย คือ ป่วยเจ็บ ทุกข์ใจ คือจิตใจที่ตามมาจากการป่วยเจ็บ รวมทั้งการพลัดพรากจากของรัก การได้พบกับสิ่งที่ไม่ปารถนา ประการต่างๆ ในชีวิตจริงความทุกข์เกือบทั้งหมดมาจากใจ ดังนั้นต้องแก้ที่ใจด้วยโยนิโสมนสิการ ตามตำราวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการทำได้หลายอย่าง เช่น วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ วิธีคิดแบบรู้เท่าทัน วิธีคิดแบบแก้ปัญหาอริยสัจในทางปฏิบัติ ขอเสนอแนะอย่างนี้ครับ
เมื่อไรที่ประสพทุกข์ ไม่ต้องตัดพ้อว่าทำไมถึงต้องเป็นเรา ให้คิดว่าจริงแล้วทุกคนต้องเจอสุขบ้างทุกข์บ้าง แต่คราวนี้ถึงคราวของเราแล้ว ก็แล้วกัน อาจจะเป็นกรรมที่เราทำมาในอดีตชาติก่อน หรืออาจจะโดยบังเอิญก็แล้วแต่ แต่ให้ต้อนรับความทุกข์นั้นด้วยใจที่มั่นคง คิดไว้ว่าเกิดเป็นคนอย่ากลัวทุกข์ และคิดไว้เสมอว่าไม่มีอะไรที่จะมีแง่เดียว สิ่งที่เราคิดว่าทุกข์ก็ต้องมีคุณประโยชน์มหาศาลซ่อนอยู่เสมอ ถ้ารู้จักใช้เพียงแต่เราอาจจะยังไม่พบเท่านั้นเอง

ท่านพุทธทาสภิกขุถึงกับกล่าวไว้ว่า “พระพุทธเจ้าอยู่หลังม่านแห่งความทุกข์” หมายความว่าเมื่อทุกข์เพียงแต่เปิดม่านจะเข้าถึงพระพุทธองค์ บางคนไม่มีทุกข์ ก็ไม่มีม่านให้เปิด ก็เลยไม่ได้เข้าถึงพระองค์หมายถึงไม่ได้เข้าถึงธรรมและความดี

ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่หมอรู้จัก เป็นมะเร็งเต้านม มีความทุกข์ใจมาก ต้องได้รับการผ่าตัดนำเต้านมออกและรับเคมีบำบัด บางคนผมร่วง บางคนต้องฉายแสงและโทรมมาก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือท่านเหล่านั้นต่างก็มาถือศีลตลอดชีวิต บางคนถึงกับได้บวชชีพราหมณ์ บางคนปล่อยนกปล่อยปลาเป็นประจำ จิตใจต่างก็เปลี่ยนไปในทางดี ที่เป็นครูแล้วดุก็เปลี่ยนเป็นไม่ดุ ที่ไม่เมตตาก็เมตตาขึ้นมา ที่ไม่เข้าวัดก็ได้เข้าวัด ที่ไม่สวดมนต์ก็ได้สวดมนต์ บางคนสวดมนต์ยาวๆ ทุกคืน บางคนหันมาเอาใจใส่ลูกและครอบครัวมากกว่าเดิม

มะเร็งชนิดนี้กว่าจะเป็นซ้ำหรือตายอาจจะอีก 10-20 ปี เมื่อได้รับการบรักษาที่ดีแต่เนิ่นๆ ซึ่งก็ทำให้ชีวิตช่วง 20 ปีหลังได้ทำความดีอย่างมหาศาล เพื่อนบ้านที่ซุบซิบนินทาว่าร้าย บางคนก็ตายไปก่อนโดยไม่ได้ทำความดีอะไร แต่คนเป็นมะเร็งที่เป็นเป้านินทาก็ยังไม่ตาย หลังๆ ก็มีความสุขทำใจได้ เข้าถึงธรรมมากกว่า และ มั่นใจในความดีจนไม่กลัวความตายเลย จนพูดได้ว่า เป็นมะเร็งแบบนี้ก็ไม่เลวเหมือนกัน ดีกว่าตายแบบไม่ได้เตรียมตัวตั้งแยะ

การแก้ปัญหาด้วยโยนิโสมนสิการมีหลักง่ายๆ ว่า ต้องมีสติ มีใจที่สงบก่อน ดังนั้นเมื่อทุกข์ให้หาที่สงบจิตใจ อาจจะเป็นวัด โบสถ์ วิหาร มัสยิด ทุ่งนาป่าเขา หรือแม้แต่ห้องพระในบ้านของเรา อาจจะสวดมนต์หรือนั่งสมาธิหรือนั่งให้ใจสงบ หรือแม้แต่อ้อนวอนขอบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอเพียงให้ใจเราสงบขึ้น แล้วคิดว่าสิ่งที่เราพบว่าทำให้เราทุกข์นี้ สามารถนำสิ่งที่ดีมีความสุขอย่างไรให้เราได้บ้างหรือไม่ เพราะแม้แต่ขยะที่น่ารังเกียจยังถูกนำมาใช้เป็นปุ๋ยที่ยอดเยี่ยมได้ ถ้าเราไม่สามารถคิดออกได้ในตอนนั้นอาจจะเป็นเพราะใจไม่สงบพอ ให้ค่อยๆ ทำใหม่หรือให้ปรึกษาผู้ที่คิดว่าจะแนะนำสิ่งที่ดีให้กับเราได้ ผู้นั้นจะได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรของเรา

หมอเคยดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ได้แต่นอนบนเตียงรอความตายอย่างช้าๆ มีอยู่คนหนึ่งหลังจากที่ได้คุยกันหลายครั้ง เขาก็บอกหมอว่า เขาพร้อมที่จะตายได้แล้ว และมั่นใจว่ามีความดีพอที่จะไปสุคติแน่ๆ ที่ยังไม่สบายใจอยู่อย่างเดียวในตอนนี้ก็คือเขาเป็นภาระให้ลูกเมียลำบากคือไม่ตายสักทีและอาจจะอยู่ไปอีกนานก็ได้

หมอก็บอกเขาว่า การที่ลูกเมียได้ดูแลคุณอย่างนี้ก็เป็นการทำบุญสร้างบารมีของเขาเหมือนกัน โดยเฉพาะลูกได้ดูแลพ่อแม่ที่ป่วยอย่างนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ลูกจำนวนมากก็ไม่มีโอกาสได้ทำ และเขาจะได้บุญมากเพราะคุณคือพระอรหันต์ของลูก คุณคือเนื้อนาบุญของเขา ผู้ป่วยผู้นี้แช่มชื่นขึ้นทันที แล้วพูดว่า จริงสินะผมไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้เลย ตอนเด็กๆ ผมก็ยังไม่ได้ดูแลพ่อแม่ตอนป่วยเลย นับว่าลูกมันโชคดีกว่าผมอีก ในงานนี้นับว่าหมอได้มีโอกาสเป็นกัลยาณมิตรของเขา ซึ่งหมอก็หวังว่าด้วยอานิสงส์นี้ เมื่อเราลำบากมีความทุกข์มากคิดไม่ออก ก็ขอให้ได้เจอกัลยาณมิตรดีๆ ด้วยเหมือนกัน เพราะในบางครั้งเมื่อผงเข้าตาตนเอง ก็ไม่ใช่ว่าตนเองจะเขี่ยออกได้

บางคนเสียสิ่งของไป แต่ไม่นานก็ได้ของที่ดีกว่า บางคนสามีทิ้งไป แต่ก็ได้อิสรภาพและความสุขที่มากกว่า แม้กระทั่งได้สามีใหม่ที่ดีกว่า บางคนตกงานต่อมาก็ได้งานที่ดีกว่า หมอรุ่นน้องบางคนจับสลากได้ไปทำงานต่างจังหวัดไกลๆ ร้องห่มร้องไห้มากมาย พบว่าต่อมาไปได้คู่ชีวิตที่นั่น นั่นคือต้องไปตรงนั้นเพราะเนื้อคู่เขาอยู่ตรงนั้น บางคนเจ็บป่วยจนพิการแต่ก็ได้ชีวิตที่เป็นบุญกุศลแบบไม่เสียชาติเกิด และบางคนได้เข้าถึงธรรมะได้ปฏิบัติธรรมะ ได้เปิดม่านพบพระพุทธองค์ ก็เพราะความทุกข์นั่นเอง

ฝึกจิตใจให้คิดหาสิ่งดี คิดแต่ของดี มองโลกในแง่ดี ด้วยโยนิโสมนสิการนะครับ จะนำความสุข ความก้าวหน้ามาสู่ตัวเราและคนรอบตัวครับ



......................................................
ขอขอบคุณ
เอกสารอ้างอิง :
เอกนิบาต อิติวุตตกะ ขุททกนิกาย
ภาคย่อพระไตรปิฎกฉบับประชาชน เล่ม 25
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน สุชีพ ปุญญานุภาพ
พิมพ์ครั้งที่ 16 น. 601

......................................................

บทความจาก
ชมรมผู้บริโภคสื่อสีขาว
http://whitemedia.org/content/category/1/14/32/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 พ.ค. 2554, 10:19:34 โดย ทรงกลด »

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ภาวนา = พัฒนา
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 13 มี.ค. 2554, 09:48:27 »
อารมณ์พระนิพพานชั่วขณะ...

ผู้ถาม หลวงพ่อคะ เวลากำลังนั่งอยู่เฉย ๆ นี่มีความรู้สึกบอกว่า..."ไม่มีอะไรจะต้องทำแล้ว" มันว่างแล้วจิตมันฟูขึ้น เกิดขึ้น ๒ ครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งครึ่งวัน แล้วก็ครั้งหนึ่งในเวลาทำงานได้ชั่วโมงกว่า ๆ มีความรู้สึกว่าไม่มีอะไรต้องทำอีกแล้ว มันเป็นอย่างไรคะ ?

หลวงพ่อ นั่นแหละ ...อารมณ์พระนิพพาน ก็เป็นแบบนั้นแหละ ถ้าพูดง่าย ๆว่า อารมณ์พระอรหันต์ เป็นแบบนั้น ทำได้เดี๋ยวเดียวเท่านั้นใช่ไหม ?
ผู้ถาม ประมาณชั่วโมง...แล้วครั้งหนึ่งได้ครึ่งวัน
หลวงพ่อ เอาละ...ช่างมันเถอะ! ถ้ามันได้ช่วงนิดๆ หน่อยๆ ก็ดีให้มันชิน บางทีมันจะได้สักชั่วโมง หรือ ๑๐ นาที หรือ ๒ นาที เราก็พอใจ ให้มันชิน ไม่ช้ามันจะชินอารมณ์นี้ เวลาตายมันจะจับอารมณ์นี้
แต่การสอน...ท่านสอนว่าอารมณ์ว่าง คำว่า "อารมณ์ว่าง" คือ ว่างจากกิเลส มันจะเป็นความสุขที่สุด มันสุขเบา ๆ ใช่ไหม...มันเป็นนิรามิสสุข ไม่ใช่สามิสสุข ถ้าสามิสสุข...ได้ของได้คนได้สัตว์ที่เราชอบ เป็นความสุขเขาเรียก "สามิสสุข" คือสุขอิงอามิส ถ้า "นิรามิสสุข" ไม่เกี่ยวข้องกับอามิส อารมณ์มันอยู่เฉย ๆ

ผู้ถาม สังเกตว่าก่อนที่จะได้อารมณ์นี้ จิตนึกถึงความตายค่ะ

หลวงพ่อ ใช่...ตัวนี้สำคัญ! ตัวจิตนึกถึงความตายถ้าเป็นสมถะเรียกว่า มรณานุสสติ ถ้าวิปัสสนาญาณเขาเรียกว่า สักกายทิฏฐิ ใช่ไหม...เป็นสังโยชน์ พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำว่า...ทุกคนให้นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ตัวนี้ต้องยืนตัว ถ้าไอ้ตัวนี้ไม่ยืนตัว อะไรก็ไม่ได้ ถ้าตายทุกคนก็ต้องตาย ไอ้คนที่จะไม่ตายไม่มี แล้วถ้าเรายังเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดมันจะมีประโยชน์อะไร ใช่ไหม...เราตายคราวนี้มันตายครั้งสุดท้าย เราไม่เกิดต่อไปอีกดีกว่า
ทำยังไงจะไม่เกิดต่อไป เราไม่ต้องการร่างกายนี่ซิ...ไอ้คำว่า "ไม่ต้องการ" ไม่ใช่ตัดผลุนผลันไปเลยนะ คำว่า "ไม่ต้องการ" ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ปลด แต่หน้าที่มีเท่าไร...ทำให้ครบถ้วน แต่ทว่าทำแล้วก็คิดไปเลยว่า ไอ้งานประเภทนี้จะมีในชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ชาติต่อไปไม่มี วิธีตัดเขาตัดกันแบบนี้นะ...ไม่ใช่ตัดแบบวางมันส่งเดช ข้าวปลาไม่กิน ขี้เข้อก็ปล่อย...ไม่กินข้าวพอทนไหว ไอ้ขี้นี่มันยุ่ง...


http://www.yorbor.com/index.php?topic=4495.0
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 พ.ค. 2554, 10:24:07 โดย ทรงกลด »

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ภาวนา = พัฒนา
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 13 มี.ค. 2554, 09:50:09 »
   
จิตนี้ฝึกได้...หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

ท่านทั้งหลาย เพิ่งเริ่มเข้ามาปฏิบัติไม่กี่ชั่วโมง จึงอาจจะไม่ลึกซึ้งถึงขึ้นที่ดูหน้าดูตาก็จะรู้ได้ ดูคนให้ดูหน้า ดูโหงวเฮ้ง การแนะแนวไม่ใช่มาถึงวัดสอนบุญ บาป ทำบุญไปสวรรค์ ทำบาปไปนรกเท่านั้น ต้องสอนแนะแนวถึงกรรมฐานแก้กรรมได้อย่างไร ใครเอาไปใช้ปฏิบัติเป็นประจำ จะแก้กรรมได้จริง ๆ

ถ้าใช้ไม่จริงก็เหมือนถ้วยชา เขาให้มาแล้วเอาไปใส่ตู้ไว้ ไม่ค่อยใช้ให้เป็นประโยชน์เลย ตัวเรานี้มีประโยชน์มาก แต่ใช้ตัวไม่เป็น ไปใช้ในเรื่องไร้สาระเสียมาก ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง เกิดมาเสียชาติเกิดไม่ประเสริฐล้ำเลิศ ไหน ๆ จะตายจากโลกไปก็จะต้องมีความดีติดตัวไปด้วย
และทิ้งความดีไว้ในโลกมนุษย์ คือ ความดีเป็นตรา ถ้าใครทำกรรมฐานได้ลึกซึ้ง จะรู้เหตุผลของชีวิตได้อย่างดีที่สุด เป็นประโยชน์แก่ชีวิตประจำวัน

แก้ไขปัญหาเกิดขึ้นเฉพาะหน้าด้วยกรรมฐาน

บางคนชอบไปหาหมอดู หมอดูบอกว่าต้องสอบได้ที่หนึ่ง แต่ปรากฏว่า สอบตก หมอดูว่า สอบตกกลับสอบได้ เพราะเราขยัน เราต้องสร้างความดีให้กับดวง หาใช่ดวงทำให้เราดีไม่ ต้องสร้าง อยู่เฉย ๆ ดีได้อย่างไร มันต้องเกิดจากการกระทำ คือ กฎแห่งกรรมนั่นเอง

การสร้างความดีให้กับดวง
ก็คือ สร้าง ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้นแก่ตัวเรา แล้วเราจะอบอวล ทวนลม ผู้ที่มีสมาธิจะเป็นคนขยันหมั่นเพียร และเป็นผู้มีปัญญา คนที่มีปัญญาแหลมลึก แหลมหลักต้องมีสามคม
คมกริบ-ไว้ภายในจิต ไม่บอกใคร แสดงออกในเมื่อมีความจำเป็นจะต้องใช้
คมคาย-มันยังเป็นหลุม เป็นบ่อ ไม่เสมอ ก็เอาบุ้งมาแทง อย่างนี้เป็นต้น
คมสัน-มันต้องใช้ขวานตอกย้ำลงไป จึงจะเข้าเรียบร้อยดี

นี่มันมีในลักษณะศีล สมาธิ ปัญญา ครบ
ศีล คือ สถาปนิก ออกรูปแบบพื้นฐานให้คนชอบ
สมาธิ คือ วิศวกร รู้วาระจิต รู้จักน้ำหนัก รู้จักชั่งตวงวัด รู้จักวาระจิตของคนในฐานะเช่นไร ควรทำกับเขาอย่างไร รู้จักกาลเทศะ รู้จักบาป รู้จักบุญ          รู้จักคุณ รู้จักโทษ รู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ที่วิศวกร
ปัญญา คือ นายช่าง ลงมือทำทันที มิได้รอรีแต่ประการใด

ถ้าใครเป็นทั้งสถาปนิก วิศวกรและนายช่างแล้ว รับรองคนนั้นเอาตัวรอดปลอดภัยในอนาคต บางคนเกิดมาแต่ชาติก่อน นิสัยดีมีปัญญาในโลกมนุษย์นี้ เขาจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ถึงจะเกิดในบ้านยากจนก็สามารถเป็นรัฐมนตรี หรือเป็นใหญ่เป็นโตได้ เพราะสติปัญญาที่สร้างมาแต่ชาติก่อน คนเราก็มีทั้งถูกและแพง มีทั้งเก๊และดี มีทองคำก็มีทองชุบ มีหลวงพ่อทวดก็มีหลวงพ่อเทียบ คนดีหายากคนเก๊เยอะ มีน้อยเหลือเกินที่จะดีเด่นเห็นชัดและเห็นไกล อย่างนี้หายาก ต้องอดทน ต้องฝึกฝน
ท่านทั้งหลายเอ๋ย จิตนี้ฝึกได้ ขยันก็ได้ฝึกให้ทำงานก็ได้ ฝึกให้ขี้เกียจก็ได้


ขอบคุณ:ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7361
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 พ.ค. 2554, 10:32:14 โดย ทรงกลด »

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ภาวนา = พัฒนา
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 13 มี.ค. 2554, 09:53:26 »
ตามดูจิต การปฏิบัติที่ให้ผลเร็ว
โดย หลวงพ่อชา สุภทฺโท
วัดหนองป่าพง
ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี


บัดนี้ เป็นโอกาสที่พวกเราทั้งหลายจะได้มีการอบรมธรรมปฏิบัติกัน พระบรมศาสดาท่านกล่าวถึงการปฏิบัติไว้ว่า บุคคลที่ยังไม่ได้รับการอบรมปฏิบัติก็จะไม่เข้าใจในธรรม ไม่เข้าใจในธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ หรือในสัญชาตญาณที่คู่กับเรามาแต่เกิด ธรรมชาติอันนี้ หรือสัญชาตญาณอันนี้ มันเกี่ยวข้องกันกับชีวิตของเราตลอดเวลา เราจะเรียกว่าของที่มันเป็นอยู่ก็ได้ เรียกว่าสัญชาตญาณก็ได้ มันมีความเฉลียวฉลาดอยู่ในนั้น ซึ่งช่วยป้องกันรักษาตัวมันเองมาตลอด สุตว์ทุกจำพวกเมื่อเกิดมามันต้องรักษามันแหละ การรักษาตัว ปกป้องชีวิต ป้องกันอันตรายทั้งหลาย แสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิต นี้เหมือนกันหมด เช่น สัตว์ดิรัจฉาน มันก็กลัวอันตราย แสวงหาความสุข เหมือนกันกับสัญชาตญาณมนุษย์เรา อันนี้ท่านเรียกว่าเป็นธรรมชาติหรือสัญชาตญาณ จะมารักษาตัวมันตลอดเวลา ธรรมชาตินั่นเอง ธรรมชาติเรื่องกายหรือเรื่องจิตใจ

เราจะต้องมารับการอบรมใหม่ เปลี่ยนใหม่

ถ้าหากว่าเรายังไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัย ก็คือยังเป็นของที่ไม่สะอาด ยังเป็นของที่สกปรก เป็นจิตใจที่เศร้าหมอง เหมือนกันกับต้นไม้ในป่า ซึ่งมันเกิดมามันก็เป็นธรรมชาติ ถ้าหากว่ามนุษย์เราต้องการจะเอามาทำประโยชน์ดีกว่านั้น ก็ต้องมาดัดแปลง สะสาง ธรรมชาติอันนี้ให้เป็นของที่ใช้ได้ เช่น โต๊ะนี้ หรือบ้านเรือนของเรานั้น เกิดจากเราสามารถเอาธรรมชาติมาทำเป็นที่อยู่ที่อาศัย เปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติอันนั้นมา มนุษยชาตินี้ก็เหมือนกัน ต้องมาปรับเปลี่ยนใหม่ ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า พุทธศาสตร์

พุทธศาสตร์ คือความรู้ในทางพุทธศาสนา สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของพวกเราทั้งหลาย ซึ่งมันติดแน่นอยู่ในอันใดอันหนึ่ง เช่น เราเกิดมา มีชื่อเสียงเรียงนามมาตั้งแต่วันเกิด เช่นว่า เรียกว่าตน ตัวเรา ของเรา นี้สมมติกันขึ้นมาว่าร่างกายของเรา จิตใจของเรา ซึ่งสมมติชื่อขึ้นมาจากธรรมชาตินั่นเอง พวกเราทั้งหลายก็ติดแน่นอยู่ในตัวเรา หรือในของของเรา เป็นอุปาทานโดยที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว เป็นอย่างนี้ ในทางพุทธศาสนานั้น ท่านสอนให้รู้ยิ่งเข้าไปกว่านั้นอีก ทำจิตใจให้สงบให้รู้ยิ่งเข้าไป ยิ่งกว่าธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ จนเป็นเหตุให้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนอันนี้ พูดตามชาวโลกเราว่าตัวว่าตน ว่าเราว่าเขา ทางพุทธศาสนานั้นท่านเรียกว่าตัวตนเราเขาไม่มี นี่คือมันแย้งกัน มันแย้งกันอยู่อย่างนี้ ตัวเราหรือของเรา ซึ่งพวกเราเข้าใจกันตั้งแต่แรกเกิดมา จนรู้เดียงสา จนเกิดมาเป็นอุปาทานมาตลอดทุกวันนี้ ทันนี้เป็นเครื่องปกปิดธรรมอันแท้จริง อันพวกเราทั้งหลายไม่รู้เนื้อรู้ตัว ฉะนั้นในทางพุทธศาสนาท่านจึงให้มาอบรม

การอบรมในทางพุทธศาสนานั้น เบื้องแรกท่านว่า ให้เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ตามบัญญัติท่านเรียกว่าให้พากันรักษา ศีล เป็นเบื้องแรกเสียก่อน นี่ข้อประพฤติปฏิบัติจนเป็นเหตุไม่ให้เกิดโทษ ไม่ให้เกิดทุกข์ทางกายและทางวาจาของเรา อย่างที่เราทั้งหลายอบรมกันอยู่ ให้อายและกลัว ทั้งอายทั้งกลัว อายต่อความชั่วทั้งหลาย อายต่อความผิดทั้งหลาย อายต่อการกระทำบาปทั้งหลาย รักษาตัวกลัวบาป เมื่อจิตใจของเราพ้นจากความชั่วทั้งหลาย พ้นจากความผิดทั้งหลาย ใจเราก็เยือกเย็น ใจเราก็สบาย ความสบายหรือความสงบอันเกิดจากการประพฤติปฏิบัติซึ่งไม่มีโทษ นั่นก็เป็น สมาธิ ขั้นหนึ่ง

ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา สุจิตตะปะริโยทะปะนัง เอตัง พุทธานะสาสนัง ท่านว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทางกาย ทางวาจา คือการไม่ทำผิด ทำชั่ว ทางกาย ทางวาจา อันนี้เป็นตัวศาสนา เป็นพระธรรมคำสอนอขงพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือ เอตัง พุทธานะสาสะนัง

กุสะลัสสูปะสัมปะทา เมื่อมาทำจิตของตนให้สงบระงับขากบาปแล้ว ก็เป็นจิตที่มีกุศลเกิดขึ้นมา เอตัง พุทธานะสาสะนัง อันนี้ก็เป็นคำสอนของท่านหรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเหมือนกัน

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การมาทำจิตใจของตนให้ผ่องใสขาวสะอาด อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือเป็นหัวใจของพุทธศาสนาอีกประการหนึ่ง

ทั้งสามประการนี้เป็นหัวใจพุทธศาสนา ก็ประพฤติปฏิบัติอันนี้ ซึ่งมันก็มีอยู่ในตัวเราแล้ว กายก็มีอยู่ วาจาก็มีอยู่ จิตใจก็มีอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงให้ปฏิบัติ ให้พิจารณาตัวในตัว ในของตัว ซึ่งมันมีอยู่ ของทั้งหมดที่เราศึกษาเราเรียนกันนั้น มันจะมารู้ความเป็นจริงอยู่ที่ตัวของเรา ไม่ไปรู้ที่อื่น

เบื้องแรกก็รู้จากการได้ฟังที่เรียกว่า สุตะมะยะปัญญา การได้ฟัง การได้ยิน อันนี้ก็เป็นเหตุให้รู้ เป็นเหตุให้เกิดปัญญา เช่นว่า สมมติว่า วันนี้เราเพิ่งได้ยินว่าสีขาว แต่ก่อนนี้เราไม่เคยได้ยิน ทีนี้เมื่อเรารู้ว่าสีขาวมันเป็นเช่นนี้ เราก็คิดไปอีก สีอื่นจะไม่มีหรือ หรือสีขาวจะแปรเป็นสีอื่นจะได้หรือไม่ เป็นต้น นี่เรียกว่า จินตามะยะปัญญา หรือว่า เราคิดไป ก็ไปลองดูเอาสีดำมาปนในสีขาว มันก็เกิดเป็นสีอื่นขึ้นมาอีก เป็นสีเทาอย่างนี้เป็นต้น การที่เราจะได้รู้จักสีเทาต่อไปนั้น ก็เพราะว่าเราคิด ปัญญาเกิดจากการคิด การวิพากษ์วิจารณ์ เราเลยรู้สูงขึ้นไปกว่าสีขาว รู้สีเทาเพิ่มขึ้นไปอีก ปัญญาเกิดจากสิ่งทั้งสองนี้

นี้เป็นปัญญาที่เป็นโลกียวิสัย ซึ่งชาวโลกพากันเรียนอยู่ทั้งเมืองไทย จะไปเรียนนอกมาก็ตาม มันก็คงอยู่ในสุตะมะยะปัญญา จินตามะยะปัญญาเท่านี้ อันนี้เป็นโลกียวิสัย พ้นทุกข์ไม่ได้ พ้นทุกข์ได้ยาก หรือพ้นไม่ได้เลยทีเดียว เพราะเมื่อรู้สีขาว สีเทาแล้ว ก็ไปยึดมั่น (อุปาทาน) ในสีขาว สีเทาอันนั้น แล้วจะปล่อยวางไม่ได้ เช่นว่า เราเกิดอารมณ์ขึ้นมา ได้ยินเขาว่าไม่ดี เรียกว่านินทา อดเสียใจไม่ได้ อดน้อยใจไม่ได้ เข้าไปยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) ในอารมณ์อันนั้น เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะอุปาทาน นี้เรียกว่าการรู้ หรือการเห็นจากการได้ฟัง มันจะพ้นทุกข์ไม่ได้ หรือว่าเขาสรรเสริญเรา มันอดดีใจไม่ได้ แล้วก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในความดีนั้นอีก ไม่ได้ตามปรารถนาแล้วก็ทุกข์อีก สุขแล้วก็ทุกข์ ทุกข์แล้วก็สุข ดีแล้วก็ชั่ว ชั่วแล้วก็ดี เป็นตัววัฏฏะหมุนเวียนเปลี่ยนแปรไปไม่จบ อันนี้เป็นโลกียวิสัยเช่นที่ปรากฏอยู่ในโลกทุกวันนี้แหละ

พวกเราทั้งหลายก็เคยรู้เคยเห็น วิชาในโลกอันนี้เราเคยรู้เคยเห็น จะเรียนไปถึงที่สุด อะไรที่ไหนก็ตาม มันก็ยังทุกข์ เอาทุกข์ออกจากตัวไม่ได้ นั่นเป็นปัญญาโลกีย์ ละทุกข์ไม่ได้ ไม่พ้นจากทุกข์ ความร่ำรวยเศรษฐี หรือมหาเศรษฐีที่อยู่ในโลกนี้ มันก็ไม่พ้นจากความทุกข์ เพราะมันเป็นโลกียวิสัย ปัญญาทั้งสองประการนี้ท่านยกให้โลกปกครองกันอยู่ในโลก วุ่นวายกันอยู่ในโลก ไม่มีทางจบ ถึงแม้จะจนมันก็ทุกข์ ถึงแม้จะรวยแล้วมันก็ยังทุกข์อยู่อีก ไม่พ้นไปจากทุกข์


ที่มา
http://www.yorbor.com/index.php?topic=4519.0
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 พ.ค. 2554, 10:33:11 โดย ทรงกลด »

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ภาวนา = พัฒนา
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: 13 มี.ค. 2554, 09:55:44 »
นิมิตในการบำเพ็ญสมาธิ

ในการบำเพ็ญสมาธินั้นเมื่อจิตได้ตั้งอยู่ในฌานขั้นใดขั้นหนึ่ง อาจเกิดนิมิตขึ้นมาให้เห็นได้ ๒ ประการ คือ

๑. อุคคหนิมิต สิ่งที่มาติดตาติดใจ
๒. ปฏิภาคนิมิต สิ่งที่ติดตาติดใจแล้วกลายเป็นภาพที่เกิดจากสัญญา

นิมิตทั้งสองอย่างนี้จะเกิดขึ้นบางขณะจิต หรือบางคนที่จิตสงบลงไปแล้วและจะเกิดคู่กันและเกิดขึ้นได้สองทาง

ก. เกิดจากสัญญาเก่าที่เคยนึกไว้แต่กาลก่อน
ข. เกิดขึ้นเมื่อจิตสงบและเกิดขึ้นเองโดยไม่นึกคิด

นิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นทั้งสองชนิดนี้มีทั้งคุณทั้งโทษ มีความจริงและความไม่จริง ฉะนั้นจึงไม่ควรยึดถือเสียทีเดียว ถ้าใครมีสติสัมปชัญญะที่รอบคอบก็มีคุณ ถ้าใครมีสติอ่อนกำลังใจไม่มั่นคงก็มักจะหลงใหลไปตามนิมิต บางทีก็เผลอตัวยึดถือว่านิมิตนั้นๆ เป็นของจริง

นิมิตคู่นี้มีสองประเภทคือ

๑. นิมิตของรูป

เช่นเห็นร่างกายของตนเองบ้าง คนอื่นบ้าง สัตว์บ้าง เห็นนรกบ้าง เห็นสวรรค์บ้าง เห็นซากศพบ้าง มีลักษณะดำๆ แดงๆ เขียวๆ ขาวๆ บ้าง ซึ่งบางทีจริงบางทีก็ไม่จริง บางคราวเกิดทางหูได้ยินเสียงคนพูดบ้าง บางทีก็เกิดทางจมูกได้กลิ่นหอมบ้าง เหม็นบ้าง บางทีเกิดทางกาย เช่นกายเล็ก กายโต กายสูง กายต่ำ อาการทั้งหลายเหล่านี้เรียกว่า “อุคคหนิมิต” ถ้าจิตเข้มแข็งย่อมเป็นทางให้เกิด “วิปัสสนา” ขึ้นได้

แต่ถ้าสติอ่อนกลายเป็น “วิปัสสนูปกิเลส” ไปหลงใหลไปตามอารมณ์นั้นๆเชื่อว่าเป็นความจริง ถึงแม้ว่าจริงแต่ของไม่จริงก็ย่อมแทรกซึมได้ เปรียบเหมือนตัวคนซึ่งนั่งอยู่ในที่แจ้ง เมื่อแสงอาทิตย์ส่องย่อมมีเงา ตัวคนมีจริงส่วนเงานั้นย่อมเกิดติดอยู่กับตัวคน แต่เงานั้นไม่ใช่คนจริง ฉะนั้นท่านจึงปล่อยวางซึ่งของจริง ของไม่จริงนั้นก็หลุดไปตาม นี่เกี่ยวกับเรื่องนิมิตของรูป

๒. นิมิตของนาม

เมื่อลมละเอียด จิตว่างจิตนิ่ง จิตสงบดีแล้ว ย่อมมีอะไรเกิดขึ้น บางทีนึกถึงอะไรก็รู้ได้ทันที บางคราวไม่ต้องนึก ก็ผุดขึ้นมาเองในดวงจิต ลักษณะอย่างนี้ก็เป็น “อุคคหนิมิต” มีความจริงบ้างไม่จริงบ้างปนกัน จะยึดถือเป็นความจริงทีเดียวไม่ได้ บางคราวก็จริง ความจริงนั่นแหละเป็นเหตุแห่งความหลง เช่นจริง ๓ อย่าง ไม่จริง ๗ อย่าง เมื่อเกิดความเชื่อมั่นแล้ว ถึงไม่จริงก็ยังเข้าใจว่าเป็นจริง อันนี้ก็ทำให้เกิด “วิปัสสนูปกิเลส” ได้ทางหนึ่ง

ฉะนั้นจึงควรที่จะทำนิมิตทั้งสองคือ “อุคคหนิมิต” ของรูป “อุคคหนิมิต” ของนามนี้ เมื่อเกิดขึ้นทางใดทางหนึ่ง ควรเจริญ “ปฏิภาคนิมิต” ต่อคือ เมื่อมีนิมิตอันใดเกิดขึ้น เช่นถ้าเป็นรูปใหญ่ นึกให้เป็นรูปเล็ก ให้ใกล้ให้ไกล ให้เล็กให้โต ให้เกิดให้ดับ จำแนกนิมิตนั้นเป็นส่วนๆ แล้วปล่อยวางไป

อย่าให้นิมิตมาแต่งจิตของเรา ให้จิตของเราแต่งนิมิตได้อย่างนึก ถ้าไม่สามารถทำได้เช่นนั้น อย่าเพิ่งไปเกี่ยวข้องกับนิมิตให้ปล่อยไปเสีย มาเจริญกรรมฐานที่เรากำหนดอยู่อย่างเดิม (เช่นถ้ากำหนดหายใจเข้า - ออก ก็ให้กำหนดลมต่อไป)

ถ้าเป็นนิมิตของนามเกิดขึ้นทางจิต ก็ให้ยับยั้งตั้งสติไว้ด้วยดี พิจารณาความรู้ที่เกิดขึ้นว่ามีความจริงเพียงใด แม้มีความจริงก็ไม่ควรยึดมั่นในความเห็นนั้นๆ ความรู้นั้นๆ จะเป็น “วิปัสสนูปกิเลส” ถ้ายึดความเห็นจะเป็น “ทิฏฐุปาทาน” และ “ทิฏฐิมานะ” คือความสำคัญว่าตนเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ไปต่างๆ

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติควรปล่อยวางนิมิตทั้งสอง คือนิมิตของรูปและนิมิตของนามไปเสีย ตามสภาพแห่งความจริง สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่รู้เท่าตามทันย่อมจะเกิด “วิปริต - วิปลาส” ผิดพลาดไปจากคุณความดีที่จะได้ในขั้นต่อไป

ขยายความเรื่องวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ

ธรรมารมณ์ที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญสมาธิจิตสงบขั้นสูง หรือได้วิปัสสนาอ่อนๆ ทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้วซึ่งเป็นขวากหนาม เป็นเหตุไม่ให้ก้าวหน้าต่อไปในทางวิปัสสนาญาณ หรือการบรรลุมรรคผล (นำมาแสดงไว้ให้รู้เท่าทัน แต่สำหรับผู้ที่ได้คุณ ๑๐ อย่างนี้ก็นับว่าวิเศษแล้ว)

วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ

๑. โอภาส แสงสว่างซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมองเห็นได้ในที่ใกล้และไกล

๒. ญาณ ย่อมเกิดความรู้ขึ้น สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้อย่างแปลกประหลาดอัศจรรย์ เช่นระลึกชาติได้ บางทีก็รู้ “จิตปฏิสนธิ” ของคนในโลกซึ่งเป็นเหตุให้เพลินไปตามความรู้ความเห็นนั้นๆ เพลินหนักเข้าความรู้จริงไม่เข้ามาแทรก ก็ยังสำคัญว่าจริง

๓. ปิติ ความอิ่มกายอิ่มใจ อิ่มเสียจนหลงงมงาย อิ่มกายจนหายหิวข้าว หิวน้ำ หายร้อน หายเย็น อิ่มเสียจนเพลิน บางทีก็สำคัญว่าเป็นผู้สำเร็จ ซึ่งก็เป็นการกลืนกินอารมณ์นั่นเอง

๔. ปัสสัทธิ กาย - จิตสงบเย็น จนไม่อยากเห็นสิ่งใดๆ ในโลก เห็นว่าโลกนั้นไม่สงบเป็นสิ่งที่ตัวไม่ต้องการ ความจริงถ้าจิตสงบจริงสิ่งทั้งหลายในโลกย่อมสงบหมด ผู้ที่เข้าไปติดความสงบแล้ว แม้กายก็ไม่อยากทำงาน ใจก็ไม่อยากคิดนึก เพราะติดความสงบนั้นเป็นอารมณ์ นี่คือขวากหนามของการบรรลุมรรคผลนิพพานที่สูงขึ้นไป

๕. สุข เมื่อสงบแล้วก็เกิดสุขกาย สุขจิตซึ่งเป็นของดี แต่ที่ท่านว่าเป็นขวากหนามเพราะเมื่อสุขมากๆ แล้วเกลียดทุกข์คือเข้าใจว่า สุขนั้นดีทุกข์นั้นไม่ดี ที่จริงสุขก็คือทุกข์ เมื่อสุขเกิดทุกข์ก็เป็นเงา และ เมื่อทุกข์เกิดสุขก็เป็นเงา แต่ถ้าไม่เข้าใจเช่นนั้นจึงกลายเป็นกิเลสอย่างหนึ่งคือกลืนอารมณ์ตัวเอง ความสบาย ความสงัด ความวิเวก ความเย็น อันลึกซึ้งจับใจเกิดขึ้นแล้วก็เพลินไปในอารมณ์นั้นๆ คือติดอยู่ในนามธรรมอันพอใจนั่นเอง จนสำคัญว่าบรรลุผลนิพพานแล้ว

๖. อธิโมกข์ ความเข้าไปน้อมเชื่อถือในความรู้ ความเห็นและสิ่งที่รู้เห็นว่าเป็นจริง

๗. ปัคคาหะ อาจเกิดมีความเพียรทางจิตแรงกล้าเกินไปไม่พอดี เป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านคือยังยึดถืออารมณ์อยู่นั่นเอง ความมุ่งหน้าแรงเกินพอดีจึงเป็นขวากหนามประการหนึ่ง ของการบรรลุพระนิพพาน

๘. อุปัฏฐานะ คือการมีสติเข้าไปตั้งอย่างแรงกล้า อยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่งที่ตนรู้เห็น ไม่ยอมปล่อยวางอารมณ์นั้นๆ

๙. อุเบกขา ความมีจิตเป็นกลางวางเฉยไม่อยากพบ ไม่อยากเห็น ไม่อยากนึก ไม่อยากคิดพิจารณา คือสำคัญตนว่าวางเฉยได้หมดแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของจิตขณะนั้นต่างหาก

๑๐. นิกันติ ความพอใจติดใจในอารมณ์นั้นๆ คือติดอารมณ์ที่ตนพบตนเห็นนั่นเอง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อรู้ไม่เท่าเอาไม่ทันย่อมเป็นเครื่องเศร้าหมองของใจอันหนึ่ง ของผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุพระนิพพาน


ขอขอบคุณที่มา...http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8854
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 พ.ค. 2554, 10:35:37 โดย ทรงกลด »

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ภาวนา = พัฒนา
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: 13 มี.ค. 2554, 11:11:02 »
ปัญญาอบรมสมาธิ

โอวาทธรรม หลวงพ่อพุธ ฐานิโย    

สมถะหรือวิปัสสนาต่างก็เป็นวิธีการปฏิบัติ เพื่อจุดหมายเดียวกัน

อีกปัญหาหนึ่งมีท่านกล่าวไว้ว่า ให้ฝึกหัดทำสมาธิให้มันได้เสียก่อน แล้วจึงค่อยเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

เฮ้อ… อันนี่ถ้าสมมติว่าใครไม่สามารถทำสมาธิขั้นสมถะได้เนี่ย จะไปรอจนกระทั่งจิตมันสงบเป็น สมาธิขั้นสมถะ เป็นอัปปนาสมาธิ
เผื่อมันทำไม่ได้ล่ะ มันจะไม่ตายก่อนหรือ? :053:

เพราะฉะนั้น จึงขอทำความเข้าใจกับนักปฏิบัติทั้งหลายก่อนว่า คำว่าสมถกรรมฐาน ก็ดี คำว่า วิปัสสนากรรมฐาน ก็ดี
ขอให้ท่านทั้งหลายพึงทำความเข้าใจก่อนว่า เป็นชื่อของวิธีการ

การภาวนาพุทโธๆ ๆ หรือการภาวนาอย่างอื่น หรือการภาวนาแบบเพ่งกสิณ อันนั้นปฏิบัติตามวิธีของสมถะ

แต่ถ้าเราปฏิบัติด้วยการใช้ความคิดหรือกำหนดจิตรู้ตาม ความคิดของตัวเอง หรือจะหาเรื่องราวอันใด เช่น เรื่องของธาตุขันธ์ อายตนะมาพิจารณา
เช่น พิจารณาว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อะไรทำนองนี้

อันนี้การน้อมจิตน้อมใจน้อมภูมิความรู้ความเข้าไปสู่ กฎพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านเรียกว่าปฏิบัติตามวิธีการแห่งวิปัสสนา

แต่ทั้ง 2 อย่างนี้เราจะปฏิบัติด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้

ถ้าท่านผู้ที่บริกรรมภาวนา จิตมันไม่เคยสงบเป็นสมาธิซักที จะไปรอให้มันสงบ มันไม่เคยสงบซักที ก็มาพิจารณาซิ
ยกเรื่องอะไรขึ้นมาพิจารณาก็ได้ ซึ่งมันเกี่ยวกับเรื่องธรรมะ

พิจารณาไปจนกระทั่งจิตมันคล่องตัว
พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนั้นก็ไม่เที่ยง อันนี้ก็เป็นทุกข์ อันนั้นก็เป็นอนัตตา
คิดเอาตามสติปัญญาที่เราจะคิดได้ คิดย้อนกลับไปกลับมา กลับไปกลับมา กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้
คิดจนกระทั่งมันคล่องตัว จนกระทั่งเราไม่ได้ตั้งใจคิด

จิตมันคิดของมันเอง ซึ่งมันอาจจะเอาเรื่องอื่นมาคิดอยู่ไม่หยุดก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น มันก็เข้าลักษณะเหมือนกันกับภาวนา

ถ้าจิตมันคิดของมันเอง สติรู้พร้อมอยู่เอง มันก็ได้วิตก วิจาร ในเมื่อจิตมีวิตก วิจาร เพราะความคิดอ่านอันนี้
มันก็เกิดมีปีติ มีความสุข มีเอกัคตา มันจะสงบลงไปเป็น อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

หรือบางทีมันอาจจะไม่สงบถึงอัปปนาสมาธิ พอถึงอุปจารสมาธิ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคตา
มันก็จะทำหน้าที่พิจารณาวิปัสสนาของมันตลอดวันยันค่ำ ตลอดคืนยันรุ่ง เพราะฉะนั้นอย่าไปติดวิธีการ

ถ้าใครไม่เหมาะกับการบริกรรมภาวนา ก็ไม่ต้องไปบริกรรมภาวนา ถ้าจิตของท่านผู้ใดไปเหมาะสมกับการกำหนดรู้จิตเฉยอยู่
โดยไม่ต้องนึกคิดอะไร เป็นแต่เพียงตั้งหน้าตั้งตาคอย จ้องดูความคิดว่าอะไรมันจะเกิดขึ้นแค่นั้น
อะไรเกิดขึ้นรู้ อะไรเกิดขึ้นรู้ รู้ ๆ ๆ เอาตัวรู้อย่างเดียว

หรือบางทีบางท่านอาจจะใช้ความคิดอยู่ไม่หยุด หรือบางท่านอาจจะฝึกหัดสมาธิ โดยวิธีการทำสติตามรู้
การยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ ก็สามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเป็นนักปฏิบัติ เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงกันจริง ๆ แล้ว อย่าไปติดวิธีการ
ให้กำหนดหมายว่าสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี เป็นวิธีการปฏิบัติ



ขอขอบคุณที่มา...http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=18168
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 พ.ค. 2554, 10:53:07 โดย ทรงกลด »

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ภาวนา = พัฒนา
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: 07 พ.ค. 2554, 11:05:36 »
รู้โดยไม่จงใจรู้
พระสุปฏิปันโน ท่านเคยสอนไว้ว่านี่คือ สตินนทรีย์ ......... หรือ มหาสติ สติอัตโนมัติ

การไม่จงใจ....ก็รู้เอง

เป็นคนล่ะอย่างกับ

การตั้งใจ....ให้ไม่รู้เอง

การไม่จงใจ....ก็รู้เอง เป็นผลที่เกิดจาก การฝึกฝนจนชำนาญในสติปัฏฐาน จากการตกผลึกของการเจริญมรรค
ไม่ใช่ เกิดจากการปล่อยจิตไปเรื่อยเปื่อย หรือ ไม่เจริญสติปัฏฐาน

อีกทั้ง ไม่ใช่ การตั้งใจ....ให้ไม่รู้เอง


โอวาทธรรม หลวงพ่อ พุธ ฐานิโย

ถ้าสติมันกลายเป็นมหาสติ จะสามารถประคับประคองจิตให้ดำรงอยู่ในสภาพปกติไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ได้ง่าย

เมื่อสติตัวนี้เป็นมหาสติแล้ว เพิ่มพลังขึ้นด้วยการฝึกฝนอบรม กลายเป็น สตินนทรีย์

เมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสตินนทรีย์แล้ว พอกระทบอะไรขึ้นมา จิตจะค้นคว้าพิจารณาไปเองโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ

เมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสตินนทรีย์ เป็นใหญ่ในอารมณ์ทั้งปวง ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกับว่า จิตของเราสามารถเหนี่ยวเอาอารมณ์มาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้ หรือ เอากิเลสมาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้ เพราะ สติตัวนี้เป็นใหญ่ย่อมมีอำนาจเหนืออารมณ์ และสามารถใช้อารมณ์ให้เกิดประโยชน์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สติตัวนี้จะกลายเป็น สติวินโย

ในเมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสติวินโย..... สมาธิ สติ ปัญญา ของผู้ปฏิบัติมีสมรรถภาพดียิ่งขึ้น

 
==========================

โอวาทธรรม หลวงปู่ ดุลย์ อตุโล


"คิดเท่าไหร่ ก็ไม่รู้

ต้องหยุดคิดให้ได้จึงรู้

แต่ก็ต้องอาศัยความคิด นั่นแหละจึงรู้"


ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=18168