ผู้เขียน หัวข้อ: ภิกษุ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  (อ่าน 2482 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ภิกษุ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
« เมื่อ: 12 มิ.ย. 2554, 11:18:42 »
ภิกษุ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ๑/๕
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
คัดลอกจาก: ธรรมจักษุ กุมภาพันธุ์ ๒๕๔๙

โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดธรรมทาน กระทู้ 19311 โดย: mayrin 18 มี.ค. 49

    ขอให้ทุกท่านจงกำหนดรู้อารมณ์จิตของตัวเอง โดยตั้งใจบริกรรมภาวนาพุทโธไว้ที่จิต ให้จิตกับพุทโธมีความสัมพันธ์กันตลอดเวลา แล้วก็ภาวนาพุทโธเรื่อยไป นั่งให้สบาย กำหนดอารมณ์จิตด้วยความสบาย ทำจิตให้แช่มชื่นเบิกบาน อย่าไปกังวลว่าจิตจะสงบหรือไม่สงบ
หน้าที่ของเรามีแต่กำหนดจิตบริกรรมภาวนาพุทโธๆๆ อยู่เท่านั้น บริกรรมภาวนาพุทโธด้วยความเชื่อมั่นว่าพุทโธ คือ พระพุทธเจ้าก็อยู่ในจิตของเรา พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในจิตของเรา เราจะสำรวมเอาจิตอย่างเดียวเท่านั้น

     เชื่อมั่นในสมรรถภาพของตัวเองว่าสามารถปฏิบัติภาวนาทำจิตให้สงบได้ แต่อย่าไปนึกให้จิตสงบ เพียงแต่กำหนดบริกรรมภาวนาพุทโธอยู่เท่านั้น จิตจะสงบหรือไม่สงบให้เป็นเรื่องของจิตเอง  ความสงบที่เรียกว่าสมาธิเป็นผลงาน ผลงานที่เกิดจากการบริกรรมภาวนาพุทโธ อย่าได้ระแวงสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น บริกรรมภาวนาพุทโธ เป็นสื่อนำจิตให้ดำเนินเข้าไปสู่ความสงบ  เพราะโดยธรรมชาติของจิต ถ้ามีอารมณ์สิ่งรู้ มีสติระลึกอยู่กับสิ่งรู้นั้นทุกขณะจิตทุกลมหายใจย่อมจะเกิดมีความสงบเป็นสมาธิลงไปได้ ถ้าเราทำด้วยความแน่ใจ
  
   ดังนั้น จงสลัดความสงสัยแคลงใจอันเป็นตัววิจิกิจฉานิวรณ์ออกไปให้หมด ทำจิตให้เป็นกลางๆ ว่าบริกรรมภาวนา คืออารมณ์จิตนั้น เราจะบริกรรมภาวนาอะไรก็ได้ พุทโธ ยุบหนอ พองหนอ สัมมาอรหัง หรืออื่นๆ เป็นแต่เพียงอารมณ์จิตเท่านั้น เป็นบริกรรมภาวนาเหมือนกัน
อย่าไปนึกว่าแบบนั้นดี แบบนี้ไม่ดี แบบนั้นผิด แบบนี้ถูก ทุกแบบผิดด้วยกันทั้งนั้น ถูกด้วยกันทั้งนั้น ที่ว่าผิดเพราะจิตของเรายังไม่มีสมาธิ ที่ว่าถูกเพราะจิตของเรามีสมาธิ

   การปฏิบัติสมาธิภาวนา ใครจะปฏิบัติแบบไหน อย่างไรก็ตาม เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว เรามีจุดนัดพบกัน เปรียบเหมือนการเดินทางไปสู่จุดหมายอันเดียวกัน เราจะไปทางรถ ทางเรือ หรือจะเดินไป วิ่งไป ก็ถึงจุดหมายปลายทางแห่งเดียวกัน
การปฏิบัติสมาธิใครจะใช้อารมณ์ใด สัมมาอรหัง ยุบหนอ พองหนอ พุทโธ หรือจะพิจารณาทำสติตามรู้อารมณ์จิต เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิได้ ต้องไปสู่จุดอันเดียวกันคือปฐมฌาน
    สมาธิที่ถูกต้องซึ่งเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ได้ต้องประกอบด้วยองค์ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ซึ่งเป็นสมาธิในฌานที่ ๑ ซึ่งเรียกว่าปฐมฌาน อันนี้คือจุดนัดพบของนักภาวนา  ใครจะภาวนาแบบไหนอย่างไรก็มาพบกันที่จุดนี้ ถ้าสมาธิที่ถูกต้อง ต้องประกอบด้วยองค์ คือมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา การทำสมาธิเป็นหลักธรรมเป็นกลางๆ เป็นสาธารณะทั่วไปทุกลัทธิและทุกศาสนา แม้แต่คนไม่มีศาสนา หรือไม่ได้ปฏิญาณตนว่าจะนับถือศาสนาใดๆ ก็ตาม สามารถที่จะทำสมาธิได้  แต่สมาธิอาจจะมีจุดมุ่งหมายต่างกัน เฉพาะในพระพุทธศาสนานักสมาธิก็มีจุดหมายแตกต่างกัน ถ้าสมาธิที่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน มุ่งสู่ความสงบจิตทำเป็นสมาธิให้เกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในธรรมตามความเป็นจริง

  แล้วจิตหลุดพ้นจากอาสวกิเลสบรรลุอริยมรรค อริยผล ตามลำดับขั้น โสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ อันนี้เป็นสมาธิที่มุ่งตรงต่อจุดหมายที่ถูกต้องตามพุทธประสงค์  แต่ผู้ที่ยังมีกิเลสยังมีความต้องการ อาจจะทำสมาธิเพื่ออิทธิฤทธิ์เพื่อได้มาซึ่งลาภผลอันเกิดจากศรัทธาของประชาชน หรือทำสมาธิเพื่อให้เกิดมีอิทธิฤทธิ์มหัศจรรย์  บางท่านทำสมาธิแล้วแสดงฤทธิ์ได้ ทำเครื่องราง ของขลัง ก็ขลังทำน้ำมนต์ก็เก่ง เป็นหมดให้หวยบัตรหวยเบอร์ บางทีอาจจะมีถึงขนาดทำสมาธิสร้างพลังจิต แล้วส่งกระแสจิตไปติดต่อคนโน้นคนนี้ คนที่มั่งมีศรีสุข มียศมีอำนาจ  ให้นำผลประโยชน์ทางด้านอามิสมาช่วยสร้างวัดสร้างวา หรือให้ความสุขแก่ตัวเองก็สามารถที่จะทำได้ เพราะสมาธิจิตเมื่อมีพลังงานเราสามารถที่จะน้อมไปใช้ในทางต่างๆ ได้


ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_poot/lp-poot_50.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 มิ.ย. 2554, 11:24:09 โดย ทรงกลด »
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว....ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา...สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา...กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

ออฟไลน์ jaroenthai

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 64
  • เพศ: ชาย
  • กรรมของสัตว์โลกใครจะไปฉุดไปรั้งไว้ก็ไม่อยู่
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ตอบ: ภิกษุ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 12 มิ.ย. 2554, 11:28:15 »
กราบนมัสการพ่อแม่ครูบาอาจารย์ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ด้วยเศียรเกล้า

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 มิ.ย. 2554, 11:30:41 โดย jaroenthai »
อะไรที่ได้มาง่ายๆคนมักไม่เห็นคุณค่าของมันซึ่งต่างกับสี่งที่ได้มาโดยยากเห็นกี่ทีก็ภาคภูมีใจ

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ภิกษุ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 12 มิ.ย. 2554, 11:31:31 »
ภิกษุ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ๒/๕
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

    เป็นหมอรักษาพยาบาลคนเจ็บคนไข้ได้ เป็นหมอดูได้ เป็นหมอทำนายทายทักเหตุการณ์ต่างๆ ได้ แต่อันนั้นเป็นผลพลอยได้จากสมาธิที่มีจุดมุ่งหมายไปสู่ทางแห่งมรรคผลนิพพาน  เพราะสมาธิเป็นคุณธรรม เป็นคุณความดีที่สามารถสร้างอิทธิพลในทางจิตได้ แม้ว่าผู้ทำสมาธิไม่ปรารถนาสิ่งอื่น นอกจากปรารถนามรรคผลนิพพานเท่านั้น แม้จิตจะมุ่งตรงต่อทางมรรคผลนิพพานแต่ก็ย่อมมีผลพลอยได้ สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมา
ทำสมาธิแล้วสามารถกำหนดรู้วาระจิตของคนอื่น สามารถสะกดจิตของคนทั้งหลายให้มาอยู่ในอำนาจ ให้มาเลื่อมใส สามารถอธิษฐานเอาลาภผลต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลเป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นแต่เพียงผลพลอยได้เท่านั้น ไม่ใช่จุดหมายของนักสมาธิที่เป็นลูกศิษย์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

   ที่พระพุทธเจ้าสอนว่า "อย่าไปมุ่ง ประโยชน์อย่างนั้น" เพราะพระองค์ทรงทราบแล้วว่าการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบฝึกสมาธืในสายตรงย่อมมีผลพลอยได้ แม้ผู้ปฏิบัติสมาธิไม่พึงปรารถนาสิ่งนั้นๆ ก็ย่อมได้อยู่ดี เพราะสมาธิเป็นคุณธรรม ผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิที่ถูกต้องย่อมมีกิริยามารยาท การทำ การพูด การวางตัว ย่อมมีสง่าราศี รัศมีแห่งคุณธรรมแสดงออกทางผิวกาย ทำให้ผิวหน้าผ่องใส กิริยามารยาทสงบเสงี่ยม เรียบร้อยสมกับสมณสารูป
ดังเช่นท่านสารีบุตรไปพบท่านอัสสชิ ซึ่งกำลังบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ในสมัยพุทธกาลโน่น ในเมื่อเห็นแล้วท่านสารีบุตรสรรเสริญท่านอัสสชิว่า

"พระคุณเจ้า! อินทรีย์ อิริยาบถของพระคุณเจ้าผ่องใสสงบเสงี่ยมยิ่งนักน่าเลื่อมใส ท่านเป็นลูกศิษย์ของศาสดาองค์ใด?
ท่านชอบใจในธรรมะของศาสดาองค์ใด? ศาสดาของท่านสอนว่าอย่างไร?. ทั้งนี้เพราะว่าท่านอัสสชิเป็นพระอรหันต์ที่มีอิริยาบถอันงดงาม สงบเสงี่ยม อินทรีย์ย่อมผ่องใส จึงทำให้ท่านสารีบุตรกล่าวเช่นนั้น
ท่านอัสสชิก็ตอบว่า "เราอัสสชิ! เป็นลูกศิษย์ของศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เราชอบใจในธรรมะของพระพุทธองค์ ศาสดาของเราตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เราบวชในสำนักของศาสดาองค์นั้น"

เมื่อท่านสารีบุตรได้ฟังก็ถามต่อไปว่า "ศาสดาของท่านสอนอย่างไร?"  ท่านอัสสชิก็ตอบว่า "ศาสดาของเราสอนว่า ธรรมทั้งปวงเกิดแต่เหตุ จะดับไปก็เพราะเหตุดับ ศาสดาของเราสอนว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับไปเป็นธรรมดา"
เพราะอาศัยที่ท่านสารีบุตรมีอินทรีย์อันแก่กล้า ควรแก่มรรคผลแล้ว เพียงแต่ได้ฟังคาถาธรรมะของท่านอัสสชิเพียง ๒ บาทคาถาเท่านั้น จิตก็ก้าวลงสู่ความสงบ ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน แล้วก็กลับไปบอกท่านโมคคัลลาน์สหายรัก ซึ่งได้ให้คำมั่นสัญญากันไว้เมื่อก่อนว่า
"ถ้าใครรู้ธรรม เห็นธรรมแล้วจงบอกแก่กัน" ท่านสารีบุตรไปแสดงธรรมตามที่ท่านอัสสชิสอนจบแล้วท่านโมคคัลลาน์ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ ได้เป็นพระโสดาบัน
นี่คือผลของผู้ที่มีสมาธิ มีสติปัญญา ย่อมมีอิริยาบถ อันสงบเสงี่ยม งดงามน่าเลื่อมใส แม้แต่วาจาที่เปล่งออกมาก็ไพเราะ ผิวพรรณวรรณะก็ย่อมผ่องใส น่าเลื่อมใสยิ่งนัก ซึ่งเป็นคุณธรรมภายในแสดงออก

เพราะจิตของท่านมีความสุข ความเบิกบาน มีความเอิบอิ่ม จิตของท่านเป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เมื่อความสุขมีในจิต ความรู้ตื่นเบิกบานมีในจิต จิตไม่มีความทุกข์ ความโศก ความเศร้า มีแต่ความปราโมทย์บันเทิงในคุณธรรม
จึงทำให้ร่างกายสุขภาพมีความสมบูรณ์ผ่องใส มีรัศมีเปล่งออกมาข้างนอกปรากฏแก่ตาประชาชน เพราะผลแห่งการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คือ
"สุปะฏิปันโน" ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อตัวเอง ต่อคนอื่นและสังคม ปฏิบัติไม่ผิด
"อุชุปะฏิปันโน" ปฏิบัติตรง คือตรงต่อทางมรรคผล นิพพานไม่ข้องไม่แวะ มุ่งตรงต่อพระนิพพานจริงๆ อามิสลาภผล ความนับถือที่ได้มากจากประชาชนไม่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น
"ญายะปะฏิปันโน" ปฏิบัติอย่างมีเหตุมีผล ไม่งมงาย
"สามีจิปะฏิปันโน" ปฏิบัติชอบอย่างยิ่ง คือปฏิบัติเป็นธรรมอย่างตรงไป ตรงมา "ยะทิทัง" นี่คือใคร "จัตตาริ" คือ คู่แห่งบุคคล ๔ ได้แก่
พระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์
"อัฏฐะ ปุริสะปุคคละลา" นับเรียงตามลำดับมี ๘ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค
"เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ" นี่คือสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า "อาหุเนยโย" ผู้บรรลุคุณธรรม บรรลุมรรคผลแล้วเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิดเพราะถูกต้อง จึงเป็นผู้สมควรที่จะชักจูงผู้คนเข้ามา
เมื่อชักจูงผู้คนเข้ามาแล้ว "ปาหุเนยโย" เป็นผู้ควรให้การต้อนรับ สามารถต้อนรับผู้คนได้โดยอามิสและโดยธรรม หมายถึงการให้การอบรมสั่งสอนที่ถูกต้องไม่ผิดพลาด
"ทักขิเณยโย" เป็นผู้ควรให้ คือให้ธรรมะคำสอนอันถูกต้อง ไม่วิปริตผิดแยกแตกต่างไปจากคำสอนของพระบรมศาสดา จะชักนำคนให้ทำบุญสุนทาน ก็เป็นทางถูกต้อง จะชักจูงให้คนทั้งหลายปฏิบัติสมาธิภาวนาก็เป็นทางที่ถูกต้อง
"อัญชะลิกะระณีโย" ท่านเป็นผู้หมดทิฏฐิมานะแล้ว ใจก็อ่อน มือไม้ก็อ่อน กราบไหว้ได้ในทุกที่สถาน จะกราบพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าอยู่ในจิต จะยกมือไหว้ไปทางไหนก็ถูกพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าอยู่ในจิต

 ไหว้ด้วยจิตที่เคารพนบนอบ ไหว้ด้วยจิตใจที่อ่อน เพราะท่านหมดทิฏฐิมานะ ไม่แข็งกระด้าง ไม่สำคัญมั่นหมายว่าตัวเป็นอะไร เพราะเป็นผู้หมดกิเลสแล้ว ท่านจึงเป็น "อัญชะลิกะระณีโย"


ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_poot/lp-poot_50.htm

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ภิกษุ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 12 มิ.ย. 2554, 11:35:51 »
ภิกษุ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ๓/๕
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


    นอกจากท่านจะเป็นผู้ควรชักจูงผู้คนนำเข้ามาในศาสนาแล้ว ยังเป็นผู้ควรแก่วัตถุสิ่งของที่ชาวโลกนำมาทำบุญ และเป็นผู้ควรต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทานที่ชาวโลกนำมาทำบุญสุนทาน เป็นผู้ควรแก่การที่ชาวโลกแสดงการกราบไหว้
"ปุญญักเขตตัง" อาศัยการปฏิบัติที่ถูกต้อง และก็มีความรู้ที่ถูกต้องตรงตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนว่า สภาวธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ท่านก็มีความเห็นตรง ไม่ขัดแย้งกับมติของพระพุทธเจ้า

   พระพุทธเจ้าสอนว่า รูปไม่เป็นตน ตนไม่เป็นรูป รูปไม่มีในตน ตนไม่มีในรูป ก็ไม่ขัดแย้งต่อมติคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนให้บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ก็สามารถสละชีวิตเพื่อปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาโดยถูกต้อง
เคารพบูชาในคำสอนอย่างสุดซึ้ง สิ่งใดที่พระพุทธองค์ว่าผิดศีล ผิดธรรม ผิดวินัย แต่แต่นิดหนึ่งไม่ยอมล่วงละเมิด เพราะเป็นผู้ที่มีความรักมั่นในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีศรัทธาความเชื่อมั่นในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีความมั่นคงในการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา อย่างตรงไปตรงมาไม่บิดพลิ้ว

   ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อมุ่งตรงต่อมรรคผล นิพพาน ไม่ได้ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อมุ่งที่จะได้มาซึ่งความเคารพนับถือที่ได้จากปวงชน ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา มิใช่เพื่อลาภผลที่จะพึงเกิดขึ้นในทางอามิส มุ่งสู่คุณธรรมโดยฝ่ายเดียว
ดังนั้น จึงสมควรแล้วที่ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธสาวก ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง ปฏิบัติชอบยิ่ง พระสงฆ์คือบุคคลตัวอย่าง พระสงฆ์คือรูปถ่ายที่มีชีวิตจิตใจของพระพุทธเจ้า
 
   การทรงเพศแบบพระสงฆ์ เป็นการทรงเพศเลียนแบบพระพุทธเจ้า การปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ เป็นการปฏิบัติถอดแบบจากพระพุทธเจ้า ผู้ใดปฏิบัติแม้นเหมือนพระพุทธเจ้าใกล้ความจริงเข้าไป โดยอาศัยหลักศีล เป็นหลักปฏิบัติ
ปฏิบัติศีลให้ถูกต้อง ตั้งแต่ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ โดยถูกต้องดีงามแล้ว กิริยาวาจาหรือมารยาทที่แสดงออกของผู้นั้นก็แม้นเหมือนพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ถ้ามีจิตบริสุทธิ์สะอาด พ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ก็ยิ่งเป็นรูปถ่ายที่แม้นเหมือนพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

   เพราะฉะนั้น พระสงฆ์จึงเป็นรูปถ่ายที่มีชีวิตจิตใจเดินได้ ซึ่งถ่ายแบบมาจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใดมาปฏิบัติตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยถูกต้อง ไม่กลายเป็นคนขี้โกงพระธรรมวินัย ไม่กลายเป็นคนขี้โกงพระศาสนา
ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่ปวงชน พระอริยสงฆ์ทั้งหลายเป็นบุคคลตัวอย่าง เพราะท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว เมื่อเราเป็นพุทธบริษัทที่จะปฏิบัติเพื่อให้ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าต้องอาศัยหลัก "สุปะฏิปันโน" ผู้ปฏิบัติดี

"อุชุปะฏิปันโน" ผู้ปฏิบัติตรง "ญายะปฏิปันโน" เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง "สามีจิปะฏิปันโน" เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง หลักการปฏิบัติก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
"สีละปะริภาวิโต สมาธิ มะหัปผะโล โหติ มะหานิสังโส สะมาธิปะริภาวิตา ปัญญา มะหัปผะลา โหติ มะหานิสังสา ปัญญาปะริภาวิตัง จิตตัง สัมมะเทวะ อาสะเวหิ วิมุจจะติ"
ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต จิตย่อมพ้นจากอาสวะทั้งปวง "กามาสวะ" อาสวะคือกาม "ภวาสวะ" อาสวะคือภพ ความมีความเป็น "อวิชชาสวะ" อาสวะคืออวิชชาความรู้ไม่จริง

  เพราะฉะนั้น พึงทำศีลให้เป็นอธิศีล ทำจิตให้เป็นอธิจิต ทำปัญญาให้เป็นอธิปัญญาด้วยความไม่ประมาท ศีลที่เรารักษาให้บริสุทธิ์โดยเจตนา ฝึกรักษาศีลจนคล่องตัว จนชำนิชำนาญ จนเจตนากลายเป็นความเป็นเองโดยอัตโนมัติ

   จะเจตนาก็มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีเจตนาก็มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ จะสมาทานศีลก็มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ จะไม่สมาทานศีลก็มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ จนกระทั่งกายวาจาเป็นปกติ ไม่ละเมิดสิกขาบทนั้นๆ ตามที่ได้สมาทานแล้วตามขั้นตามภูมิของตน
เมื่อกายวาจาเป็นปกติ ย่อมเป็นสิ่งหนุนเนื่องให้จิตมีความเป็นปกติ เมื่อจิตมีความเป็นปกติ จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิ สมาธิที่มีศีลเป็นเครื่องประกันความปลอดภัย ย่อมหนุนให้เกิดปัญญา ปัญญาในสมาธิหมายถึงจิตมีสติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ที่จิตทุกขณะจิต ศีลก็เป็นอธิศีล ปัญญาก็เป็นอธิปัญญา จิตก็เป็นอธิจิต

  ในเมื่อมีอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ศีลก็ยิ่งใหญ่ สมาธิจิตก็ยิ่งใหญ่  ปัญญาก็ยิ่งใหญ่ จะไปประชุมพร้อมรวมพลังกันอยู่ที่จิต จิตดวงนี้มีสติสัมปชัญญะ มีพลังพร้อมสามารถที่จะหนุนจิตให้เกิดปัญญาคือความคิด


ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_poot/lp-poot_50.htm

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ภิกษุ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 12 มิ.ย. 2554, 11:39:53 »
ภิกษุ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ๔/๕
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


    ในเมื่อสิ่งใดบังเกิดขึ้น สติจะทำหน้าที่ รู้ทุกขณะจิต ไม่พลั้งเผลอ เมื่อมีสติรู้ จิตรู้อารมณ์ จิตอยู่ตลอดเวลาทุกขณะจิต ความพลั้งเผลอย่อมไม่มี ในเมื่อมีสติรู้พร้อม กายก็เป็นปกติ วาจาก็เป็นปกติ จิตก็เป็นปกติ

ความปกติจิตเป็นประชุมพร้อมแห่งองค์อริยมรรค ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางสร้างบุญสร้างกุศล ปฏิบัติศีล ให้ถูกต้อง บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี ทำสมาธิจิตให้มั่นคง เจริญสติให้มีความคล่องแคล่วว่องไว เป็นสติสัมโพชฌงค์ เป็นองค์แห่งการตรัสรู้

ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ประชุมพร้อมแล้ว จึงกลายเป็นปุญญาภิสังขาร ปุญญาภิสังขารที่รวมพร้อมอยู่ที่จิต ย่อมปรุงแต่งจิตให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ให้เกิดสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในธรรมตามความเป็นจริง ปรุงแต่งจิตให้รู้จักปล่อยวางกิเลสและอารมณ์

เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้ปฏิบัติธรรมย่อมมีจิตกลายเป็นสภาวะผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เมื่อกำหนดรู้ที่จิต ก็รู้ว่าจิตของตนเองเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วจะได้ปีติและความสุข ความเป็นหนึ่ง บันเทิงอยู่กับคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะอยู่ตลอดเวลา

จิตก็มีที่พึ่ง จิตก็มีที่อาศัย พุทโธพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ในเมื่อยังไม่เข้าถึงจิต เราก็นึก
"พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ" ข้าพระพุทธเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อจิตกลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตกลายเป็นพุทธะเสียเองแล้ว เพราะมีคุณธรรมที่ทำคนให้เป็นพุทธบรรจุอยู่ในจิตเต็มเปี่ยม

จิตแปรสภาพจากจิตปุถุชนเป็นจิตพุทธะ แม้เราจะไม่นึกหรือไม่เปล่งวาจาว่า "พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ" แต่พระพุทธเจ้าก็จะอยู่ในจิตของเราตลอดเวลา เมื่อมีพระพุทธเจ้า รู้ตื่นเบิกบานอยู่ในจิต เมื่อลืมตาออกจากสมาธิแล้ว เมื่อมาประสบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จิตของเราก็จะมีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดีกำกับไปทุกระยะ

เมื่อเรามีการสัมผัสรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ผู้ที่มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี เป็นผู้มีจิตถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ อย่างแน่นอนแล้ว ย่อมไม่มีความที่จะตั้งใจทำความชั่ว มีแต่จะเจริญ ความดีทำจิตให้บริสุทธิ์ สะอาด

เป็นผู้ได้เก็บคำสอนของพระพุทธเจ้าในข้อที่ว่า "สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา สะจิตตะปะริโยทะปะนัง เอตัง พุทธานะ สาสะนัง" การไม่ทำบาปทั้งปวงหนึ่ง การยังกุศลให้ถึงพร้อมหนึ่ง การชำระจิตให้บริสุทธิ์สะอาดหนึ่ง นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เป็นผู้ได้เก็บรวบรวมเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์บรรจุไว้ในตู้คือหทัย ได้แก่จิตของตัวเองเต็มเปี่ยมแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปแสวงหาธรรมะกันที่ไหน เพียงแต่เอากายสัมผัสจิต จิตสัมผัสกาย เรามีกายเอาจิตรู้กาย มีสติรู้พร้อมอยู่ที่กายเราแสวงหาธรรมะอันถูกต้องจากกายกับจิตของเราได้

อันนี้เป็นแนวทางปฏิบัติซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลายได้บำเพ็ญมาแล้ว แม้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายของเรา ท่านก็ได้ปฏิบัติและเผยแพร่ พระศาสนาทางด้านสมถะ วิปัสสนาธุระ มาในแนวทางดังที่กล่าวมาแล้ว

ดังนั้น สาธุชนทั้งหลายพึงตั้งใจกำหนดจิตพิจารณาธรรมะคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำความเห็นให้ถูกต้อง เคารพในศีลสิกขาบทวินัยที่ตนสมาทานรักษาอยู่ พระภิกษุสามเณรสำรวมในสิกขาบทถวินัยที่เราประพฤติปฏิบัตอยู่ เจริญสมาธิภาวนาเพื่อมุ่งต่อมรรคผลนิพพาน อย่าข้องแวะ
การบำเพ็ญสมาธิภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิบัติสมาธิ เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแล้วมันเป็นดาบ ๒ คม เพราะสมาธิเป็นของกลางๆ ผู้ทำสมาธิเก่งแล้วสมารถที่จะน้อมเอาสมาธิไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ตามที่ตนต้องการได้

จะเอาสมาธิไปเป็นเครื่องมือ แสวงหาชื่อเสียงลาภผล อามิส หรือจูงใจผู้คนให้เกิดความเลื่อมใส สามารถที่จะน้อมนำไปใช้ในสิ่งต่างๆ ได้ ลูกศิษย์ของท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น ไม่ได้ฝึกอบรมสมาธิเพื่อประโยชน์อย่างนั้น

ฝึกอบรมสมาธิเพื่อให้จิตสงบมีสมาธิ มีพลังสติปัญญา พอที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาธรรมให้รู้ตามความเป็นจริง เพื่อจิตจะได้ถ่ายถอนราคะความกำหนัดยินดีและกิเลสต่างๆ ตัณหา มานะ ทิฐิ ให้น้อยลงหรือหมดไปเท่านั้น

นักทำสมาธิบางทีถ้าหากยึดหลักไม่ถูกต้องตรงตามจุดหมาย คือปฏิบัติไม่มุ่งตรงต่อมรรคผลนิพพานอย่างแท้จริง มีโอกาสที่จะเปลี่ยนศาสนาใหม่อย่างไม่รู้สึกตัว  นักสมาธิที่เปลี่ยนพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาอื่นในปัจจุบันนี้มีอยู่ถมไป การเปลี่ยนศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาอื่น เราทำได้อย่างไร?
เราทำได้อย่างนี้ เมื่อฝึกจิตให้มีสมาธิ ทำจิตให้สว่างลงไปพอเป็นอุปจารสมาธิ สามารถที่จะส่งจิตไปติดต่อกับวิญญาณต่างๆ ในโลกอื่น บางทีก็ส่งจิตไปติดต่อกับวิญญาณของผู้วิเศษ หรืออาจจะสำคัญว่าสามารถติดต่อกับวิญญาณของพระพุทธเจ้าได้

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_poot/lp-poot_50.htm

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ภิกษุ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: 12 มิ.ย. 2554, 11:43:13 »
ภิกษุ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ๕/๕
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

   เมื่อนึกถึงพระพุทธเจ้าในขณะนั้น จะเกิดมีภาพนิมิตเป็นพระพุทธรูปปรากฎขึ้นแล้วก็เดินเข้ามาหา ผู้ทำสมาธิน้อมจิตน้อมใจรับเอาภาพนิมิตนั้นเข้ามาอยู่ในตัว โดยเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าจะมาช่วยญาณช่วยฌานให้แก่กล้าขึ้น ช่วยปัญญาให้คล่องแคล่วว่องไวขึ้น

แล้วก็น้อมเอาภาพนิมิตนั้นเข้ามาไว้ในจิตในใจ พอภาพนิมิตนั้นเข้ามาถึงตัวเมื่อไร สมาธิซึ่งกำลังสงบสว่าง มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ พอนิมิตนั้นเข้ามาเท่านั้นสภาพของสมาธิที่ถูกต้องซึ่งประกอบด้วยองค์ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จะเปลี่ยนทิศทางทันที  จะทำให้ผู้ภาวนารู้สึกหนักตัว หัวใจเหมือนกับถูกสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาบีบคั้น ทำให้หนักหน่วงเหน็ดเหนื่อยลงไป คล้ายๆ กับว่าแบกบรรทุกสิ่งของหนักๆ เอาไว้ที่กาย

จิตซึ่งกำลังเป็นอิสระแก่ตัวจะตกอยู่ในอำนาจของนิมิตที่จะเข้ามาแทรกสิงอยู่ในตัวทันที สมาธิที่ปลอดโปร่งจะเปลี่ยนไปเป็นสมาธิที่หนักอึ้ง แม้ความรู้สึกทางสายตาจะสว่างไสวอยู่ก็ตาม แต่จิตได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของนิมิตที่เข้ามาแทรกสิงแล้ว

แม้นิมิตนั้นจะเป็นรูปพระพุทธเจ้า แต่ก็เป็นพระพุทธเจ้าปลอมๆ โดยมโนนึกของตนเองสร้างขึ้นมา ผู้ภาวนาจึงกลายเป็นเหมือนหนึ่งว่าถูกผีสิง จิตไม่เป็นไปตามลำพังของตัวเอง ไม่ได้เป็นไปโดยพละกำลังของตัวเอง แต่ถูกพละกำลังของสิ่งที่เข้าครอบให้เป็นไปตามอำนาจของสิ่งนั้นๆ
ผู้ภาวนาจะเปลี่ยนศาสนาพุทธให้กลายเป็นศาสนาอื่นทันที จะเรียกว่าศาสนาผีสิงก็ได้ แต่ถ้าหากภาพนิมิตนั้นเป็นภาพเทวดาแล้วน้อมเข้ามาสู่จิตในเมื่อ

ภาพนิมิตนั้นเข้ามสู่จิต จิตเปลี่ยนสภาพไปตกอยู่ในอำนาจของสิ่งนั้นท่านผู้นั้นยึดเอาเทพเจ้าเป็นใหญ่ในจิตในใจของตนเอง ก็เปลี่ยนศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาเทพเจ้า  ถ้าภาพนิมิตนั้นเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นพระอิศวร นายรายณ์ ที่เราเข้าใจกันว่าเป็นผู้วิเศษปรากฏขึ้นแล้ว ผู้ภาวนาน้อมเอาภาพนิมิตนั้นเข้ามาในจิตในใจ ในเมื่อนิมิตนั้นเข้ามาสู่จิต จิตเปลี่ยนสภาพไปเป็นอย่างอื่น ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งนั้น ท่านผู้นั้นก็เปลี่ยนศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาพระอิศวร นารายณ์

ถ้าหากเป็นภูตผีปีศาจแสดงกายให้ปรากฏ ผู้ภาวนาสำคัญว่าภูตผีปีศาจจะช่วยดลจิตให้มีสมาธิ มีฌานมีญาณแก่กล้าขึ้นมาได้ น้อมเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามาสู่จิต จะกลายเป็นคนทรงแล้วก็เปลี่ยนศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาภูตผีปีศาจ เป็นการเดินทางผิดทั้งนั้น

ดังนั้น นักภาวนาทั้งหลายควรจะได้ระมัดระวังตัวให้ดี อย่าไปหลงติดไปยึดนิมิตที่เกิดขึ้นในสมาธิ นิมิตที่เกิดขึ้นในสมาธิเป็นเพียงมโนภาพ มโนภาพที่จิตของเราสร้างขึ้นมาเองในขณะที่จิตมีสมาธิอย่างอ่อนๆ นึกถึงอะไรมันจะเป็นภาพนิมิตขึ้นมาทันที เมื่อเป็นเช่นนั้นทางปฏิบัติให้กำหนดรู้อยู่ที่จิตเท่านั้น

ถ้าจิตมันจะหลงไปก็นึกว่าอันนี้คือมโนภาพที่จิตของเราสร้างขึ้น เป็นแต่เพียงอารมณ์สิ่งรู้ของจิต เป็นแต่เพียงสิ่งระลึกของสติเท่านั้น เราจะไปยึดเอาเป็นสาระแก่นสารไม่ได้ ภาพนิมิตนั้นๆ ก็เปรียบเหมือนสิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาธรรมดาๆ ภาพนิมิตนั้นถ้าเปรียบเทียบก็เปรียบเหมือนเวลาเรานอนหลับฝันเห็นไปเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ควรระมัดระวังอย่าไปเผลอเปลี่ยนศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาอื่นตามแนวทางดังที่กล่าวมา สมาธิตามแบบแห่งศาสนาพุทธนั้น เราต้องยึดหลักตรงที่ว่า จิตต้องเป็นอิสระแก่ตัวเอง จิตสงบลงเป็นสมาธิแล้วกลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็น "อัตตะทีปา" มีตนเป็นเกาะ "อัตตะสะระณา" มีตนเป็นที่พึ่ง "อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ" มีตนเป็นที่พึ่งของตน

จิตสงบตั้งมั่น เด่น รู้ตื่นเบิกบาน ไม่ยึดเกาะติดอารมณ์ใดๆ ในขณะนั้น เป็นจิตสมาธิที่เป็นตัวของตัวเองโดยเด็ดขาด เป็นจิตสมาธิที่เป็นที่พึ่งของตน สมาธิก็ไม่ใช่ที่พึ่งของตน แต่เมื่อตนมีความสงบนิ่งเด่นเป็นอิสระแก่ตัวเอง เรียกว่าตนเป็นสมาธิ

ในเมื่อตนเป็นสมาธิแล้ว ตนจึงเป็นที่พึ่งของตน อันนี้สมมติว่าตนไปก่อน ตนที่เป็นที่พึ่งของตนเพียงแต่ยืนหยัดอยู่ในความเป็นหนึ่ง เป็นอิสระไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งใด แม้แต่อารมณ์จิตเกิดขึ้นก็ไม่ตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์จิต
แม้เห็นภาพนิมิตอะไรต่างๆ ก็ไม่หลงติดหลงยึด มีแต่รู้อยู่ที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อสมาธิอันเป็นตนของตนโดยมั่นคงแล้ว กลายเป็นตนคือจิตที่มีพลัง สามารถที่จะเกิดความคิดอ่านอันเป็นตัวปัญญาขึ้นมาได้เองโดยอัตโนมัติ

เมื่อจิตไหวไปเกิดมีความคิดอ่านขึ้นมา มีสติรู้พร้อมอยู่ทุกขณะจิตที่มีความรู้ผุดขึ้นมา แม้แต่ความรู้นั้นก็ไม่หลง ไม่หลงความรู้ของตัวเอง ไม่หลงปัญญาของตัวเอง แม้ความรู้จะผุดขึ้นเป็นภาพนิมิตให้มองเห็นด้วยสายตา เพราะอาศัยความเป็นตนของตน จึงไม่หลงติดในนิมิตนั้นๆ
มีสติ สัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ทุกขณะที่มีสิ่งเกิดขึ้นดับไป มีสติคอยเตือนคนอยู่ทุกขณะจิต "อัตตะนา โจทะยัตตานัง" จิตของท่านผู้ภาวนาทำสมาธิ จึงสามารถเตือนตนด้วยตนเอง เป็นอันว่านักภาวนาท่านนั้นได้มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาเป็นเครื่องเตือนตนด้วยตนเอง ไม่หลงติดหลงยึดในอารมณ์จิตที่เกิดขึ้นดับไปในสมาธิ เพราะอาศัยพลังสติเข้มแข็ง

เมื่อเป็นเช่นนั้นอารมณ์จิตที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา จิตมีสติเพียรเพ่งอยู่ "โยนิโส มะนะสิกาโร" นั่นคือโยนิโสมนสิการ การกระทำในใจโดยแยบคาย ความรู้ที่เกิดขึ้นไม่ยึดไม่ติด สักแต่ว่ารู้ รู้แล้วก็ปล่อยวางไป
เพราะสมาธิจิตของท่านมีวิชชาความรู้แจ้งเห็นจริงอยู่ทุกขณะจิต จึงไม่หลงยึดไม่หลงติดในอารมณ์และนิมิตนั้นๆ เพราะจิตรู้จริงแล้วว่าสิ่งนี้เป็นเพียง "ญาณะมัตตายะ" เป็นสิ่งรู้ของจิต "ปะติสสะติมัตตายะ" เป็นแต่เพียงที่ตั้งของสติ

สติที่ไปตั้งอยู่ที่อารมณ์จิตที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาจดจ้องอยู่ที่จิต นี้คือความเกิดความดับ อันนั้นคือการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าหากรู้ว่าอารมณ์จิตนี้ความคิดสักแต่ว่าความคิด ความรู้สักแต่ว่าความรู้ ไม่หลงยึดไม่หลงติด
ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เห็นจิตในจิต คือไม่เห็นว่าจิตเป็นตน ไม่เห็นตนเป็นจิต ไม่เห็นอารมณ์เป็นตน ไม่เห็นตนเป็นอารมณ์จิต สักแต่ว่าเป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นที่ระลึกของสติ รู้แล้วก็ปล่อยวางไป จึงชื่อว่าเป็นผู้เห็นจิตในจิต

เมื่อจิตย้อนมาเกาะเกี่ยวกับกาย จิตย่อมสามารถกำหนดรู้เวทนา สุข ทุกข์ ซึ่งเกิดที่กาย ถ้าจิตมองเห็นเวทนาสักแต่ว่าเวทนา เวทนา สุข ทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นดับไปเช่นเดียวกันกับอารมณ์จิต เพราะเวทนาก็เป็นอารมณ์จิตเหมือนกัน

ถ้าไม่เห็นว่าเวทนาเป็นตน เห็นตนเป็นเวทนา เห็นเวทนามีในตน เห็นตนมีในเวทนา แล้วก็เห็นเวทนาสักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ก็รู้เห็นเวทนาในเวลาเท่านั้น เป็นเวทนาเท่านั้น ไม่มีความยึด ไม่มีความติด ไม่มีความข้องใด ๆ

เมื่อกายปรากฏจิตกำหนดรู้กาย ถ้ากำหนดรู้ว่ากายสักแต่ว่ากาย กายก็เป็นเพียงสมมติบัญญัติ กายไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่กาย กายไม่มีในตน ตนไม่มีในกาย กายไม่เป็นตน ตนไม่เป็นกาย  สักแต่ว่าเป็นกายตามสมมติเท่านั้น อันนี้ก็ได้ชื่อว่าเห็นกายในกาย


ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_poot/lp-poot_50.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 มิ.ย. 2554, 11:44:15 โดย ทรงกลด »

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ภิกษุ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: 13 มิ.ย. 2554, 06:14:51 »
กรณีศึกษา

เรื่องของกรรมเวรยังเป็นประเด็นยอดฮิตที่ถูกนำมาตั้งคำถามถกเถียงกันอยู่เสมอ เวรกรรมมีจริงหรือไม่? สิ่งที่เราเป็นอยู่คือผลจากกรรมที่ก่อไว้เมื่อชาติที่แล้ว และเจ้ากรรมนายเวรที่ยังคงติดตามเราอยู่นั้นมีจริงหรือ? หลายคนอาจจะเชื่อบ้าง ขณะที่อาจมีบางคนไม่เชื่อกับเรื่องดังกล่าว...!!!

อย่างไรก็ตามเมื่อคืนวันอังคารที่ 8 ม.ค. รายการตีสิบ ทางช่อง 3 ได้นำอาจารย์จุฬาพร้อม 4 อาสาสมัครมาท้าพิสูจน์ความจริง ซึ่งอาจารย์ท่านนี้บอกว่า สามารถดูได้ว่าใครมีเวรกรรมกับใคร กรรมที่ก่อคืออะไร ก่อไว้เมื่อชาติไหน ด้วยพิธีที่เรียกกว่า "การระเบิดจิต"

โดยในการพิสูจน์ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมพิธี 4 ท่าน คือ ภูชิชย์ อัครฐานาชีวะ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทมีทิเน่ คอมพันนี ของนางแบบสาวลูกเกด เมทินี, พีระดา สิทธิธรรม พนักงานขายด้านวิศวกรรมอุตสาหกรรม, ทีมงานของรายการตีสิบ และจอห์น ม๊กจ๊ก ภรรยาของตลกแคระ โจ๊ ม๊กจ๊ก ที่โดนมือดีขว้างหินใส่รถจนเสียชีวิตเมื่อปี 2549

พิธีการระเบิดจิตเริ่มด้วยการให้ผู้เข้าบริกรรมคาถาตามว่า

"โอ มะ สิ ริ"

โดยหลังจากท่องไปได้สักครู่นายภูชิชย์ก็เริ่มพูดลิ้นรัวไม่เป็นภาษา ทำท่าทางเหมือนโดนเข้าสิง ระหว่างนั้นอาจารย์จุฬาก็ได้พูดแทรกเป็นระยะๆ สุดท้ายนายภูชิชย์ก็ล้มลงไปนอนร้องครวญคราง พูดไม่รู้เรื่อง จนกระทั่งอาจารย์ต้องท่องคาถาจึงได้สติ ภายหลังได้บอกว่าห้ามเข้าพิธีภาณยักษ์อย่าเด็ดขาด

หลังการระเบิดจิต นายภูชิชย์ ยอมรับว่า ตอนแรกก็ไม่เชื่อ แต่พอไปพิสูจน์แล้วก็รู้ว่าเป็นเรื่องจริง ระหว่างพิธีรู้ตัวแต่บังคับตัวเองไม่ได้ เหมือนวิญญาณจะออกจากร่าง เป็นทหารอยู่ภาคเหนือ สมัย ร. 5 แล้วไปฆ่าช้างซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ ทำให้กรรมติดมา อาจารย์ให้แก้กรรมโดยการปล่อยปลา 100 บาท ใส่บาตร ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ เอาปัจจัยไปถวายพระสงฆ์ที่อาพาธ และทำบุญโรงศพ หลังจากทำแล้วก็รู้สึกดี มีสติ มีสมาธิมากขึ้น

ต่อมาพีระดา เป็นรายที่สองที่ร่วมพิสูจน์ ซึ่งอาจารย์จุฬาให้เริ่มบริกรรมคาถา หลังจากภาวนาไปครู่หนึ่ง จากเสียงก็หญิงสาวก็กลายเป็นเสียงเด็ก ซ้ำยังออกอาการทำท่าทางเหมือนเด็กอีกด้วย อาจารย์จุฬาจึงเผยว่าชาติที่แล้วเป็นทหารเมืองหริภุญชัย ออกไปรบกลับมาเห็นภรรยามีชู้ จึงบันดาลโทสะฆ่าลูก เด็กที่ตายมากับเราตั้งแต่เกิด กรรมหนักคือไปทำลายศาสนสถานที่เวียงกุมกาม

ด้านอิทธิพล น้ำจันทร์ พนักงานตัดต่อรายการตีสิบ ผู้ร่วมพิสูจน์อีกรายยืนยันว่า ไม่มีการเตี๊ยมแต่อย่างใด เพราะได้เตรียมตัวอย่างดี รู้ต้วทุกอย่าง หลังท่องคาถาแล้วก็เกิดอาการผิดปกติ คือภาวนาไม่ออก เหมือนมีอะไรติดคอ หมอจุฬาอธิบายว่าเพราะไปกินหมูป่าซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่ใช่อาหารมนุษย์ หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนคาถาภาวนาใหม่ คราวนี้ทีมงานเริ่มพูดไม่เป็นภาษา พูดไปก็แลบลิ้นไป ซึ่งหมอจุฬาได้เผยว่า นายอิทธิพล เคยก่อกรรมกับงูไว้เมื่อชาติก่อน แล้วไม่ได้อโหสิกรรม ผลกรรมทำให้ปวดเอวบ่อย ให้แก้กรรมด้วยการทอดผ้าป่า

ขณะที่ทีมงานที่รับอาสาพิสูจน์ครั้งนี้ก็ยอมรับในรายการว่า สมัยเป็นเด็กอยู่บ้านต่างจังหวัด งูชอบเข้ามาในบ้าน ตนชอบตีงู เห็นที่ไหนไม่ได้เป็นต้องตี และเคยมีปัญหาปวดหลังจริงๆ นอกจากนี้ก็ยอมรับว่าตนทานหมูป่าจริงและทานบ่อยอีกด้วย

สุดท้ายคือตลกแคระ จอห์น ม๊กจ๊ก ซึ่งหมอจุฬาได้นำผนังกั้นไว้ไม่เพื่อไม่ให้เห็นว่าเป็นใคร โดยฟังแต่เสียงเท่านั้น หลังจากท่องคาถาแล้ว หมอจุฬาได้บอกว่ามีจิตของเด็กติดตามตัวอยู่ และมีกรรมเกี่ยวกับการฆ่าสัตว์พวก ไก่ กบ หนู อีกด้วย ส่งผลให้ชาตินี้มีอาการปวดขาปวดตัวบ่อยๆ ภายหลังจอห์น ม๊กจ๊ก ยอมรับว่าตนเป็นคนชอบกินกบมากและจับกบมากินบ่อยๆ
ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=18036
ดูคลิป
http://video.mthai.com/player.php?id=2M1199914674M0