หมวด ธรรมะ และ นอกเหตุ เหนือผล > ธรรมะ

หลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

<< < (2/2)

dhammadigital:
ทิศ 6

ในอดีตคนเรามักมองกันว่าหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุด ได้แก่ ครอบครัว แล้วก็เอาใจใส่ดูแลแต่ครอบครัวของตัวเองให้เจริญก้าวหน้า ไม่เหลียวแล กลุ่มคนที่อยู่รอบข้าง สังคมของเราถึงได้อ่อนแอตลอดมา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในปัจจุบันนี้เท่านั้น แม้ในสมัยพุทธกาลก็เป็นมาแล้ว

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสพระธรรมเทศนาเรื่อง ทิศ ๖ เอาไว้ใน สิงคาลกสูตร ในพรรษาที่ ๑๖ แล้วใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนกระทั่งครอบคลุมไปทั่วแผ่นดินชมพูทวีปในเวลาต่อมา

ทิศ ๖ คือ หน่วยของสังคมที่เล็กที่สุด สำคัญที่สุด ทรงอานุภาพที่สุด หากบุคคลใน แต่ละทิศปฏิบัติตนตามหน้าที่ ซึ่งมีอยู่ประจำทิศได้สมบูรณ์จริงๆ แล้ว ย่อมสามารถที่จะฉุดสังคมส่วนใหญ่ ให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม ได้อย่างชนิดฉับพลัน

องค์ประกอบของทิศ ๖

ทิศ ๖ ของใครก็ประกอบด้วยตัวของคนนั้น เองเป็นแกนกลาง แล้วแวดล้อมด้วยบุคคล อีก ๖ กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มล้วนมีความสัมพันธ์กับตัวของเขา ตามฐานะและหน้าที่ที่แตกต่างกันไป คือ
                 
๑. ปุรัตถิมทิส แปลว่า ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดา มารดา

คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้มีอุปการคุณคนแรก ของเรา เพราะว่าท่านก้าวเข้ามารับผิดชอบต่อชีวิตของเราก่อนใครๆ ในโลก และทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นชีวิต เลือดเนื้อ รวมทั้งความเป็นคน เราได้มาจากท่านทั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงจัดให้ท่านทั้งสองมาอยู่ข้างหน้า เป็นทิศเบื้องหน้าของเรา
                 
๒. ทักขิณทิส แปลว่า ทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูบาอาจารย์

ครูบาอาจารย์เป็นบุคคลสำคัญกับชีวิต ของเราอีกท่านหนึ่ง เพราะท่านสอนเราตั้งแต่ ให้รู้จักการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ให้รู้จักการ รักษาเนื้อรักษาตัวให้พ้นจากภัยอันตรายต่างๆ ตลอดจนสอนให้รู้จักการทำมาหากิน ท่านจึงเป็นทักขิไณยบุคคล คือบุคคลที่พวกเราต้องเคารพกราบไหว้บูชา
                 
๓. ปัจฉิมทิส แปลว่า ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ ภรรยาหรือสามี

ถ้าตรงกลางเป็นผู้ชายทิศเบื้องหลังก็เป็นภรรยา ถ้าตรงกลางเป็นผู้หญิงทิศเบื้องหลังก็เป็นสามี แต่ถ้าตรงกลางเป็นเด็ก หรือเป็นผู้ที่ยังไม่ได้แต่งงาน ทิศเบื้องหลังก็ไม่มี ไม่มีก็ไม่ต้องมี อยู่คนเดียวอย่างนี้แหละดีแล้ว

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำภรรยาหรือสามีมาไว้ข้างหลัง เพราะไม่ว่าจะเป็นสามีหรือภรรยา ซึ่งบางทีก็ก่อบุตรขึ้นมาอีก ล้วนถือว่าเป็นกำลังเสริม เป็นผู้ติดตาม คอยสนับสนุนช่วยเหลืออยู่ข้างหลังทั้งสิ้น เนื่องจากเรื่องบางเรื่องไม่สามารถทำแทนกันได้

๔. อุตตรทิส แปลว่า ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย

มิตรสหายที่คบค้าสมาคมกันมาตั้งแต่เด็กจนโตนี่เอง ที่เป็นผู้คอยช่วยเหลือให้เราข้ามพ้นอุปสรรคและภัยอันตรายต่างๆ ในเวลาเดียวกันก็ยังเป็นกำลังสนับสนุน ให้เราสามารถบรรลุความสำเร็จอีกด้วย

ทิศเบื้องซ้ายนี้เอาจริงๆ เข้ากลับกลายเป็นทิศที่ใหญ่ที่สุด เพราะตลอดชีวิตของคนเราต้องเกี่ยวข้องคบหากับผู้คนมากมาย เพราะฉะนั้น ใครมีทิศเบื้องซ้ายน้อยก็จะเข้าตำรา "นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน" บินก็ไม่ขึ้น โตก็ไม่ได้ เตรียมจะเป็นนกปิ้ง เตรียมจะเป็นนกย่าง กำลังเตรียมตัวตายเสียแล้ว

ถ้าใครสำรวจตรวจสอบดูแล้วพบว่า ตัวเอง มีเพื่อนน้อยละก็ รีบกลับไปแก้ไขเสีย ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะเดือดร้อน

๕. เหฏฐิมทิส แปลว่า ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ คนรับใช้ ลูกน้อง

ใครมีลูกน้องมากๆ ก็เบาแรงกาย คือไม่ต้องทำงานหนัก ไม่หนักแรงกายจนเกินไป แต่ว่าอาจจะหนักแรงใจบ้างถ้าฝึกเขาไม่เป็น ซึ่งก็โทษใครไม่ได้นอกจากโทษตัวเราเอง

แล้วก็รู้ไว้ด้วยว่าทิศเบื้องล่างนี้เอง ที่คอยเป็นฐาน เป็นกำลัง เป็นที่มาแห่งทรัพย์สินเงินทอง สำหรับเอามาใช้เป็นกองเสบียง ในการหล่อเลี้ยงชีวิตของเรา

และแน่นอน เราจะมีทรัพย์มาใช้ในการสร้างบุญสร้างบารมีได้มากน้อยเท่าไร ก็มาจากทิศเบื้องล่าง เพราะฉะนั้นอย่าได้มองข้ามทิศเบื้องล่างกันทีเดียว

๖. อุปริมทิส แปลว่า ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณชีพราหมณ์ทั้งหลาย

เราชาวพุทธก็มีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจ เพราะท่านเป็นผู้ที่สูงด้วยคุณธรรม อีกทั้งยังเป็นผู้ชี้ทิศ และเป็นแหล่งผลิตศีลธรรมอีกด้วย
       
ความสำคัญของทิศ ๖

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระสงฆ์เป็นทิศเบื้องบน เพื่อเป็นแหล่งผลิตศีลธรรม แล้วป้อนศีลธรรมนั้นให้กับอีก ๕ ทิศที่เหลือ

โดยเฉพาะ ๒ ทิศที่สำคัญ คือ ทิศเบื้องหน้ากับทิศเบื้องขวา เพื่อให้ทิศทั้ง ๒ นี้ นำศีลธรรมที่ได้มาป้อนให้กับบุคคลที่อยู่ตรงกลาง

ส่วนพระสงฆ์เองเมื่อมีโอกาส ท่านก็จะลงมาป้อนศีลธรรมให้กับบุคคลที่อยู่ตรงกลางด้วยตัวของท่านเช่นกัน

บ้าน วัด โรงเรียน จึงเป็นแหล่งปลูกฝังศีลธรรมเบื้องต้น ที่สำคัญที่สุดของพวกเราแต่ละคน

สำหรับบุคคลในทิศที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง หรือแม้แต่ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวาของเราต่างก็มี บ้าน วัด โรงเรียนของเขา เป็นแหล่ง ปลูกฝังศีลธรรมให้เช่นกัน

เมื่อหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม ต่างก็มีแหล่งผลิตและปลูกฝังศีลธรรมให้อย่างนี้ เมื่อครอบครัวใด หมู่บ้านใด ตลอดจนกระทั่งสังคมใด เกิดปัญหาขึ้นมา จึงสามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้ด้วยตนเองในทันที

เพราะฉะนั้น ครั้งใดที่ประสบความสำเร็จ ได้รับชัยชนะ ได้รับโชค ได้รับคำยกย่องสรรเสริญ หรือว่าได้รับเกียรติยศอะไรขึ้นมาก็ตาม ถ้าเป็นชาวพุทธที่ได้ฝึกตัวมาดีแล้ว เขาจะนึกขอบพระคุณ ไล่กันไปตามทิศทีเดียว

ตั้งแต่ หลวงปู่ หลวงพ่อ คุณพ่อ คุณแม่ ครูบาอาจารย์ ที่ท่านอบรมเคี่ยวเข็ญเรามา ตอนนี้ท่านอยู่ทิศไหนหนอ แล้วก็หันหน้าไปทางทิศนั้นกราบขอบพระคุณท่านงามๆ

รวมทั้งมิตรสหาย สามี ภรรยา ผู้บังคับบัญชา และลูกน้อง ที่คอยสนับสนุนให้เราประสบความสำเร็จด้วย

อย่างนี้ถึงจะเป็นชาวพุทธตัวจริง เป็น นักปฏิบัติธรรมตัวจริง ถ้าใครทำได้อย่างนี้จะมีความเจริญไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่าเมื่อขึ้นแล้วไม่มีลง ไม่ทราบที่นั่งกันอยู่นี่ ใครเคยคิด เคยทำอย่าง นี้บ้าง ถ้าเคยทำหลวงพ่อก็โมทนาด้วย ถ้ายังไม่เคยทำ ต่อแต่นี้รีบไปทำกันเสียเถอะนะ

https://www.kalyanamitra.org/u-ni-boon/mar48/p57/c57.htm

dhammadigital:
เบญจศีลและเบญจธรรม

เบญจศีลและเบญจธรรมมีความสำคัญอย่างไร

เบญจศีลและเบญจธรรม เป็นธรรมคู่กัน คนที่มีเบญจธรรมจึงจะเป็นผู้มีเบญจศีล ซึ่งหากคนมีศีลและธรรมดังกล่าวแล้ว จะเว้นจากการทำความชั่ว รู้จักควบคุมตนให้ตั้งอยู่ในความดี ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น และประพฤติชอบทางกาย วาจา และใจ จะทำให้อยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข?

เบญจศีล หมายถึง ศีล 5 ข้อ เป็นการรักษาเจตนาที่จะควบคุมกาย และวาจาให้เป็นปกติ คือ ไม่ทำบาป โดยการละเว้น 5 ประการ คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ละเว้นจากการลักขโมย ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ละเว้นจากการพูดปด ละเว้นจากการเสพสุรา

เบญจศีล เป็นเครื่องรักษาเจตนาที่จะควบคุมกาย และวาจาให้เป็นปกติ คือ ไม่ทำบาป โดยการละเว้น 5 ประการ คือ
1. ปาณาติบาต คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ และการเบียดเบียนสัตว์
2. อทินนาทาน คือ ละเว้นจากการลักขโมย ปล้นจี้ ฉกชิง วิ่งราว เป็นต้น
3. กาเมสุมิจฉาจาร คือ ละเว้นจากการประพฤติผิด ล่วงละเมิดลูกเมียผู้อื่น
4. มุสาวาท คือ ละเว้นจากการพูดปด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด
5. สุราเมระยะ คือ ละเว้นจากการเสพสุรา เพราะเป็นสาเหตุให้ทำผิดศีลข้ออื่น

อานิสงส์ของการรักษาศีล

1. ทำให้มีความสุขกายสุขใจ ทำให้ไม่เป็นคนหลงลืมสติ
2. ทำให้เกิดทรัพย์สมบัติมากขึ้นได้
3. ทำให้สามารถใช้สอยทรัพย์นั้นได้เต็มที่ โดยไม่ต้องหวาดระแวงภัย
4. ทำให้ไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงทรัพย์คืน
5. ทำให้เกียรติคุณฟุ้งขจรขจายไป ทำให้ผู้อื่นเกิดความเคารพเชื่อถือ
6. ตายแล้วย่อมไปเกิดในสุคติภูมิ

เบญจศีลทั้ง 5 ข้อจะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะบุคคลผู้นั้นมีเบญจธรรมประจำตัว

เบญจธรรม

เบญจธรรม เป็นหลักธรรมที่ควรปฏิบัติ มี 5 ประการ ได้แก่

1. เมตตากรุณา คือ บุคคลใดที่มีเมตตาย่อมไม่ฆ่า หรือเบียดเบียนสัตว์ ด้วยรู้ดีว่าทุกชีวิตย่อมมี ความรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกับเรา ทำให้ไม่ผิดศีลในข้อที่ 1
2. สัมมาอาชีพ คือ ประกอบอาชีพที่สุจริต มีรายได้ รู้จักใช้จ่าย และที่สำคัญรู้จักคำว่าพอดี และมีหิริโอตตัปปะ คือ ความละอาย และเกรงกลัวต่อผลของบาป จึงทำให้ไม่ผิดศีลข้อที่ 2
3. ความสำรวมอินทรีย์ คือ ระมัดระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทำให้ ความใคร่ในกามคุณ คือ การติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ลดน้อยลง เมื่อความสำรวมเกิดขึ้น จึงทำให้ไม่ผิดศีลข้อที่ 3
4. ความซื่อสัตย์ คือ การพูดความจริง เป็นสิ่งที่ทำให้ไม่เกิดการมุสาวาท ทำให้ไม่ผิดศีลข้อที่ 4
5. สติ  คือ การรู้สึกตัว ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกุศล ทำให้ชีวิตไม่ประมาท เพราะรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว ทำให้ไม่เกลือกกลั้วกับสิ่งที่จะทำให้ชีวิตตกต่ำ เช่น สุราเมื่อคนดื่มกินก็ทำให้มึนเมาและขาดสติ การมีสติจึงทำให้ไม่ผิดศีลข้อที่ 5

อาราธนาศีล 5

( ถ้าคนเดียวเปลี่ยนจากคำว่า "มะยัง" เป็น "อะหัง" และ "ยาจามะ" เป็น "ยาจามิ ")

                    มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติถายะ
                    ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
                    ทุติยันปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตยาถะ
                    ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
                    ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติยาถะ
                    ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

        ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอสมาทานศีล 5 พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ เพื่อประโยชน์แห่งการรักษา เป็นข้อ ๆ

https://www.sammajivasil.net/noble.htm

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version