ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติหลวงพ่อหอม วัดชากหมาก จ.ระยอง  (อ่าน 52476 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด


ประวัติหลวงพ่อหอม จนฺทโชโต (พระครูภาวนานุโยค)

ในปัจจุบันแม้ระยะเวลาจะห่างออกมาจากพุทธกาลกว่า ๒๕๐๐ปีกว่าๆสัจจธรรม
จากการตรัสรู้แท้ของพระบรมศาสดาก็ยังมีอยู่ไม่หนีหายไปไหน

แต่หากว่าได้อยู่กับสาวกผู้มีความเพียรต่อการศึกษา จดจำและปฏิบัติอย่างถูกต้องแท้จริงเท่านั้น
แม้สาวกผู้มีความเพียรดังกล่าวนี้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ยังคงมีสืบทอดต่อๆกันมามิได้ขาดสาย
ดังจะเห็นได้จากกรรมานุภาพของพระภิกษุบางรูป มีผลให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อย่างน่าอัศจรรย์
ยากที่พระภิกษุธรรมดาอื่นๆ อีกจำนวนมากจะทำเช่นนั้นได้

หลวงพ่อวัดมะขามเฒ่า หลวงพ่อทอด หลวงพ่อท่านคล้าย หลวงพ่ออี๋ หลวงพ่อโอภาสี
หลวงพ่อวัดปากน้ำ หลวงพ่อครูบาศรีวิชัย หลวงพ่อเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต หลวงพ่อทิม หลวงพ่อครูบาอินโต หลวงพ่อถิร หลวงพ่อเต๋ หลวงพ่อเงิน หลวงพ่อชี่นพระอาจารย์ฝั้นและอื่นๆ ฯลฯ

เป็นตัวอย่างของพระภิกษุผู้ทรงคุณวิเศษในยุคใหม่นี้
และในยุคดังกล่าวนี้มีที่จะต้องกล่าวถึงอย่างสนิทใจอีกรูปหนึ่งซึ่งเป็นพระภิกษุที่เปรียบเสมือนเป็น
“ช้างเผือก” ในพุทธอาจักร นั่นคือ หลวงพ่อหอมแห่งวัดซากหมาก
ซึ่งเป็นวัดเล็กๆทางจังหวัดชายทะเลฝั่งตะวันออกของประเทศไทย
แต่กลับมีชื่อเสียงโดงดังในทางคุณวิเศษระบือลือลั่น
ไม่น้อยไปกว่าบรรดาท่านผู้ทรงคุณวิเศษที่ได้กล่าวนามมาแล้วนั้นเลย
ในมณฑลพิธีพุทธาภิเษกที่สำคัญ ทั้งที่เป็นพระราชพิธีและพิธีสามัญ
ที่จัดให้มีขึ้นในเกือบทุกหนแห่งในประเทศไทย เว้นเสียแต่หลวงพ่อหอม
วัดซากหมากจะอาพาธหรือติดศาสนกิจอย่างอื่นอยู่ก่อนเท่านั้น

จึงไม่มีรายชื่อของท่านรวมอยู่ในมณฑลพิธีนั้นๆ ด้วย ทั้งนี้เพราะในหมู่ผู้นิยมวัตถุมงคลทุกระดับ
น้อยคนนักที่คงไม่ได้ยินกิติศัพท์ความเป็นเป็นผู้ทรงพุทธเวทย์อย่างยอดเยี่ยมของท่าน
จากวัตถุมงคลที่ท่านได้ปลุกเสกด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็น สิงห์งาช้าง สีผึ้ง นางกวักงาช้าง ไซมงคล
พระกริ่งรูปเหมือน แหนบรูปเหมือน เหรียญรูปเหมือน แหวนทองแดงรูปเหมือน ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ ลอกเกต
หรือตะกรุด ที่ล้วนแต่ให้คุณวิเศษแก่ผู้ที่มีไว้บูชาทั้งสิ้น

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ รัฐบาลสมัยนั้นซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี
ได้จัดให้มีงานฉลอง๒๕ พุทธศตวรรษขึ้นเป็นพิธีใหญ่ที่สุดในพุทธอาจักรของโลก โดยมีการจัดทำพระเครื่อง
พระบูชาและวัตถุมงคลต่างๆขึ้นไว้เป็นที่ระลึกจำนวนมาก หลวงพ่อหอมแห่งวัดซากหมาก
ก็เป็น๑ในจำนวนพระเวทยาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษ ๑๐๘ รูป ที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
อาราธนาไปเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก ในมณฑลพิธี ณ.ท้องสนามหลวง

ท่ามกลางพุทธศาสนิกชนที่หลั่งไหลมาจากทุกมุมโลก
เพื่ออนุโมทนาในการประกอบพิธีอันเป็นมหามงคลครั้งนั้นอย่างมืดฟ้ามัวดินและด้วยเกียรติคุณอันสูงยิ่งของท่าน เมื่อท่านสำเร็จกิจกรรมในพระราชพิธีนั้นออกไปพักเป็นการชั่วคราว ที่วัดสุทัศน์เทพวนาราม
ก็ยังปรากฏว้าได้มีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์หลั่งไหลติดตามไปขอพร และวัตถุมงคลจากท่านมิได้ขาดสาย
จนศิษย์ผู้ทำหน้าที่อุปัฏฐากต้องขอร้องให้หลวงพ่อได้มีเวลาจำวัดพักผ่อนบ้างแต่ก็ไม่เป็นผล
เพราะตัวหลวงพ่อกลับพูดออกมาด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยเมตตาอย่างยิ่งว่า”ช่างเขาเถอะลูก”และคำพูดคำนี้ภายหลังหลวงพ่อก็ได้ใช้เรื่อยมากับทุกๆคนจนตลอดอายุขัยของท่าน
เมื่อท่านเจ้าคุณพระอมรสุธี อดีตเลขานุการเจ้าคณะใหญ่หนกลาง แห่งคณะ น.๑๘
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์ท่าเตียน)กรุงเทพฯ ดำริจะหาทุนสร้างศาลาการเปรียญที่วัดชะอำคีรี
อำเภอชะอำ เพชรบุรี และสร้างกุฏิเจ้าอาวาสวัดช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
กับสร้างอุโบสถวัดดอนตัน อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน จึงได้ร่วมกับพลตรี ประสิทธิ์ ชื่นบุญ
ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กองทัพบก จัดทำพระแก้วมรกตจำลองฝังเพชรรุ่นวิสาขบูชา ผ้ายันต์ธงชัย
เหรียญหลวงพ่อวัดดอนตัน จ. น่าน

โดยจัดพิธีพุทธาภิเษกเป็นพิธีใหญ่ที่พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
วัดซากหมากฯซึ่งเป้นพระภิกษุบ้านนอกจากชายฝั่งทะเลตะวันออกก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่คณะกรรมการผู้ดำเนินงานอาราธนาไปร่วมเป็นพระเวทยาจารย์ด้วย เมื่อวันที่๒๔พฤษภาคม
๒๕๑๘โดยครั้งนั้นพระอาจารย์กัสสปมุนีแห่งสำนักปิปผลิวนาราม อำเภอบ้านค่าย ก็ได้อาราธนาไปร่วมพิธีด้วยการได้ไปร่วมในพิธีพุทธาภิเษกครั้งสำคัญๆของหลวงพ่อหอมนี้
หากจะนำมากล่าวทั้งหมดทุกๆครั้งก็ดูจะเป็นการลำบากเหลือเกินเพราะมิได้มีศิษย์ใกล้ชิดท่นใดจดบันทึกไว้เป็นหลักฐานเลย
ในสมัยที่หลวงพ่อหอมกำลังก่อสร้างวัดซากหมากฯอยู่นั้น ท่านได้เดินธุดงค์มาจากวัดมาบข่า
เมื่อปี๒๔๗๑มีพรรษาเพียงสองพรรษาเท่านั้นสันนิฐานว่าท่านคงประสงค์จะมาเยี่ยมบ้านเกิดของท่านที่บ้านสำนักท้อนแต่เมื่อผ่านบ้านซากหมาก ซึ่งขณะนั้นเป็นป่าคงดิบซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิดเช่น ช้าง เสือ หมูป่า ลิงค่าง และงูพิษอาศัยอยู่มากมาย มีบ้านเรือนอยู่เพียงไม่กี่หลัง คือครอบครัวนายแผน นายมาน นายแหว นายจิ๊ด  นางนก และนายไพร หลวงพ่อได้พบกับบ้านที่ทำด้วยไม้ไผ่สองหลังทรุดโทรมจนเกือบใช้การไม่ได้แล้วสอบถามชาวบ้านก็ทราบว่าเป็นสำนักสงฆ์ ซึ่งพระอาจารย์ล้าเคยอยู่มาก่อน
แต่ได้ปล่อยให้เป็นสำนักล้างมาประมาณ๑๐ปีเศษ

หลวงพ่อจึงตกลงใจที่จะฟื้นฟูสำนักสงฆ์แห่งนี้ให้เป็นวัดขึ้นมาให้ได้
จึงได้เข้าป่าไปจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำเขานางหย่องเพื่อแสวงหาไม้ที่จะนำไปปลูกสร้างถาวรวัตถุของวัดที่ตั้งใจไว้ และในขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ในถ้ำนั้นก็ปรากฏว่ามี ช้าง เสือ และสัตว์ร้ายอื่นๆ มาวนเวียนอยู่ใกล้ท่านตลอดเวลาแต่ก็เป็นที่น่ามหัศจรรย์ที่สัตว์ร้ายเหล่านั้นหาได้เข้าทำร้ายท่านไม่
ตรงกันข้ามเมื่อนานๆเข้ากลับปรากฏว่าสัตว์เหล่านั้นเชื่องได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านสามารถพูดกับช้างป่ารู้เรื่องกันเป็นอย่างดี ถึงขนาดทำอะไรๆตามคำสั่งท่านได้
เมื่อท่านคัดเลือกไม้ที่ต้องการได้แล้วจึงได้นำชาวบ้านขึ้นไปตัดโค่นจนได้จำนวนพอแก่ความต้องการ
แต่ก็เกิดมีปัญหาว่าจะทำอย่างไรจึงจะชักลากไม้เหล่านั้นลงมาแปรรูปข้างล่างได้ เพราะเป็นระยะทางไกลถึง ๗กิโลเมตร จึงได้ชักชวนชาวบ้านที่ขึ้นมาช่วยตัดโค่นต้นไม้กลับลงมาที่สำนักสงฆ์ชากหมากก่อน

เพื่อที่จะหาวิธีขึ้นไปชักลากไม้ลงมาจากเขานางหย่องให้ได้
แต่เมื่อได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านเป็นเวลาหลายวันก็ยังไม่พบวิธีที่ต้องการ
หลวงพ่อจึงย้อนขึ้นไปบนเขาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสำรวจดูเส้นทางให้ละเอียดเสียก่อนอีกครั้งหนึ่ง
พอหลวงพ่อไปถึงเชิงเขาก็ต้องประหลาดใจอย่างยิ่ง เพราะปรากฏว่าที่เชิงเขานั้นมีไม้ที่ตัดไว้บนเขา
ได้ลงมากองอยู่จนครบทุกท่อน กับได้เห็นรอยเท้าช้างป่าขนาดใหญ่รอบๆบริเวณกองไม้และทางขึ้นเขาเปรอะไปหมดซึ่งต่อมาหลวงพ่อก็ทราบว่าเป็นฝีมือช้างป่าที่คุ้นเคยกับท่านจำนวน ๗ เชือก ช่วยกันชักลากมาไว้นั้นเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ชาวบ้านได้ประสบกับความมหัศจรรย์ในอภินิหาริย์ของหลวงพ่อและเริ่มบังเกิดความศรัทธาอย่างสูงมาตั้งแต่นั้น

เมื่อหลวงพ่อสร้างอุโบสถได้มีชาวบ้านใกล้ๆวัดเข้ามาหาหลวงพ่อบอกว่าช้างป่าเข้าไปในไร่เก็บกินพืชผลที่เขาปลูกเอาไว้จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก เขาจะยิงก็เกรงใจหลวงพ่อขอให้หลวงพ่อช่วยเขาด้วยเถิด
เมื่อหลวงพ่อได้ทราบเช่นนั้นก็รับปากว่าจะช่วย และลุกเดินไปยืนบริกรรมอยู่สักครู่หนึ่งหน้าโบสถ์
แล้วร้องตะโกนขึ้นว่า” ลูกหลานพญาฉัททันต์ อย่าไปเหยียบย่ำไร่ของเขาเลย เจ้าของเขาจะยิงเอา
ของเรามีอยู่แล้วในแปลงขวามือไปกินได้”ซึ่งภายหลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีช้างเข้าไปรบกวนชาวบ้านอีกต่อไปเลย แต่ตรงกันข้ามกับของหลวงพ่อที่มีอยู่ใกล้ๆ วัดกลับไม่มีพืชผลเหลืออยู่เลย เพราะฝีมือช้างป่านั้นเอง
อีกครั้งหนึ่งที่หลวงพ่อสร้างความมหัศจรรย์แก่ชาวบ้านเอาไว้คือเมื่อประมาณปี ๒๔๘๑
ตอนนั้นหลวงพ่อบวชได้๑๒พรรษาแล้ว
วันหนึ่งได้มีนายพรานช้างมาขอพักที่วัดและตอบคำถามของหลวงพ่อว่าจะมาล่าช้างในป่าแถบๆนี้แต่เวลาใกล้คร่ำจึงขอพักเอาแรงที่วัดสักคืนก่อน หลวงพ่อก็อนุญาตให้พรานเหล่านั้นพักตามประสงค์
แล้วหลวงพ่อเดินไปยืนบริกรรมที่หน้าโบสถ์สักครู่ก็ตะโกนขึ้นว่า”ลูกหลานพญาฉัททันต์ทั้งหลายวันนี้อย่าออกไปหากินไกลวัดมีคนเขาจะมายิง
ให้หากินอยู่ในบริเวณวัดนี้”เมื่อนายพรานออกป่าเพื่อล่าช้างก็ปรากฏว่าไม่พบช้างเลยแม้แต่ตัวเดียว
เพราะช้างป่าเหล่านั้นได้ชวนกันมาหากินอยู่ภายในบริเวณวัดหมด นายพรานจึงต้องคว้าน้ำเหลวกลับไป
ต่อมาหลวงพ่อพร้อมด้วยพระภิกษุอีก ๔ รูป ได้ชวนกันไปหากระเพรา ๗ อ้อม ด้วยการเดินธุดงค์
เมื่อเดินทางไปถึงที่แห่งหนึ่งซึ่งหลวงพ่อบอกว่า

สงสัยจะเป็นเขตจังหวัดสุพรรณบุรีที่เป็นท้องที่เดิมบางนางบวชในปัจจุบัน
ได้พบศาลายกพื้นสูงมากหลังหนึ่งอยู่ในป่าทึบ มีหนังสือเขียนไว้มีข้อความว่า”ใครผ่านมาทางนี้
เมื่อมืดแล้วให้ขึ้นไปอยู่ข้างบนเพราะมีสัตว์ชุกชุมมาก”แต่หลวงพ่อกลับบอกพระที่ไปด้วยกันว่าเราปักกลดกัน
อยู่ข้างล่างนี้แหละไม่ต้องขึ้นไปหลอกทั้งหมดก็ปักกลดอยู่ข้างล่างนั้นเองเมื่อปักกลดเสร็จหมดทุกองค์แล้ว
หลวงพ่อก็ได้เสกทรายซัดล้อมกลดไว้โดยรอบ และสั่งพระที่ไปด้วยกันทั้งหมดว่าอย่าได้ออกไปนอกกลดเป็นอันขาดไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แล้วก็ชวนกันนั่งสมาธิเจริญภาวนาแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์โดยทั่วกัน
ซึ่งในคืนวันนั้นปรากฏว่ามีสัตว์ร้ายหลายชนิดมาวนเวียนอยู่แถวรอบๆกลดเหมือนกัน
แต่ไม่มีตัวใดเข้ามาทำร้ายจนรุ่งเช้าสัตว์เหล่านั้นก็หายไปในป่าหมด
หลวงพ่อจึงได้ชวนพระที่มาด้วยกันเดินทางต่อไป
ในการเดินทางต่อไปในช่วงนี้ หลวงพ่อเล่าว่าเป็นป่าเขาโดยตลอด
ขนาดเดินทางมาสามวันแล้วยังไม่พบบ้านเรือนคนเลยแม้แต่หลังเดียวต้องอดอาหารกันทั้งสามวัน
จนกระทั่งวันที่สี่จึงได้สวนทางกับชาวบ้านคนหนึ่งหาบขนมจีนผ่านมา
แล้วเอาขนมจีนนั้นถวายทุกองค์ได้ฉันกันจนอิ่ม
หลวงพ่อได้ถามชายคนนั้นว่า”ต่อจากที่นี่ไปอีกไกลไหมจึงจะถึงบ้านคน”ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า”พอพลบค่ำก็จะเห็นแสงไฟบ้านคน”แล้วเดินหายไปในป่านั้น หลวงพ่อจึงชวนพระที่ไปด้วยออกเดินทางต่อไป
ซึ่งตลอดทางที่เดินผ่านไปนั้นไม่พบบ้านคนเลยจึงหน้าสงสัยว่าคนที่ถวายขนมจีนนั้นเป็นใครกันแน่
เพราะถ้าเป็นคนธรรมดาจะอยู่แถวนั้นได้อย่างไรกันจนกระทั่งเวลาพลบค่ำจึงได้พบบ้านคนจริงตามที่ชายคนนั้นบอกไว้จึงชวนพระที่ไปด้วยกันทั้งหมดปักกลดพักที่บริเวณใกล้ๆกับหมู่บ้านนั้นและต่อมาก็เดินทางกลับวัดซากหมากฯโดยไม่ได้กระเพรา๗อ้อมมาตามต้องการเพาะไม่พบว่ามีอยู่ี่ที่ใดเลย ส่วนเรื่องที่พบคนเอาขนมจีนมาถวายกลางป่าทั้งๆบริเวณใกล้ๆนั้นไม่มีบ้านคนเลยก็คงเป็นปริศนาให้แปลกใจอยู่ตลอดมา
สมัยอู่ตะเภามีฐานทัพอเมริกันตั้งอยู่ ได้มีฝรั่งชาตินิโกร ซึ่งเป็นทหารนักบินคนหนึ่ง
มีเมียเช่าเป็นคนไทยภาคอีสานได้พากันไปหาหลวงพ่อที่วัดแล้วเช่าพระกริ่งรูปเหมือนของหลวงพ่อไปไว้ติดตัวเป็นประจำ และมีอยู่ครั้งหนึ่งทหารฝรั่งนิโกรคนนี้ได้ถูกคำสั่งให้ขับเครื่องบินไปนครพนม
แต่บังเอิญไปเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกระหว่างทาง เครื่องบินนั้นได้รับความเสียหายจนใช้การไม่ได้
ทหารที่ไปด้วยกันก็เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสกันทุกคน แต่ฝรั่งนิโกร
ซึ่งเป็นนักบินคนนี้ไม่ได้รับบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย จึงบังเกิดความเลื่อมใสหลวงพ่อเป็นอย่างมาก
เมื่อมีโอกาสจะต้องมาหาหลวงพ่อที่วัดเป็นประจำ
เมื่อวัดหลวงพ่อมีงานก็จะมาช่วยงานอย่างแข็งขันทุกครั้งไป
เมื่อถูกส่งกลับไปอเมริกาแล้วก็ยังส่งเงินมาถวายหลวงพ่ออยู่เนืองๆ
มีอยู่ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าวัยรุ่นย่านบางรัก
กรุงเทพฯยกพวกต่อยตีกันเป็นมวยหมู่ มีการบาดเจ็บกันเป็นระนาว
แต่ก็มีอยู่หลายคนที่ไม่เป็นอะไรเลยทั้งๆที่ได้เข้าไปประจัญบานกับเขาด้วยอย่างเมามัน
ซึ่งภายหลังปรากฏว่าพวกที่ไม่ได้รับบาดเจ็บนั้นล้วนแต่มี”สิงห์งาช้าง”ของหลวงพ่อติดตัวอยู่ทั้งนั้น
สอบถามได้ความว่าเคยร่วมคณะกฐินจากกรุงเทพฯซึ่งไปถอดวัดซากหมากฯแล้วเช่า
“สิงห์งาช้าง”ของหลวงพ่อไปไว้ติดตัวกันคนละตัว ซึ่งครั้งแรกก็ยังไม่ได้คิดว่าศักดิ์สิทธิ์ขนาดนี้
จนได้ประสบเหตุเข้ากับตัวเองจึงเชื่อและพาพรรคพวกเพื่อนฝูงเดินทางไปขอเช่าที่วัดกันอีกหลายคนด้วยกัน
แต่หลวงพ่อก็เตือนว่า”ถ้ารังแกข่มเหงเขาสิงห์ของพ่อไม่ช่วยนะ”
ตามธรรมดาทุกๆปี ที่วัดซากหมากฯจะต้องมีงานประจำปี
และมีอยู่ปีหนึ่งหลวงพ่อได้สร้างพระกริ่งรูปเหมือนองค์หลวงพ่อขึ้นเป็นรุ่นแรก
ได้มีทหารจำนวนหนึ่งไปเที่ยวงานและเช่าพระกริ่งนี้คนละองค์
แล้วชวนกันไปหลังโรงเรียนวัดซากหมากซึ่งอยู่ใกล้วัดนั้นเอง เพื่อจะทดลองความศักดิ์สิทธิ์ดูให้แน่ใจ
จึงได้นำเอาพระกริ่งของหลวงพ่อออกมาวางรวมกันแล้วยิงด้วยปืน .๓๘ ก็ปรากฏว่ายิงกี่ครั้งๆก็ไม่ออก
แต่เมื่อเบนปากกระบอกปืนไปทางอื่นกลับยิงออกทุกนัด ทหารเรือกลุ่มนั้นจึงกลับเข้ามาในวัด
และขอเช่าเพิ่มกันอีกจนเงินหมดกระเป๋า
เมื่อกลับไปแล้วยังได้บอกกล่าวให้บรรดาเพื่อนฝูงพากันมาเช่ากันไปไว้ประจำตัวอีกมากมาย
และตั้งแต่นั้นมาเมื่อหลวงพ่อมีงานอะไรขึ้น
บรรดาทหารเรือจากฐานทัพเรือสัตหีบจะมาช่วยกันอย่างมากมายทุกครั้งไป
เมื่อนายสงั่น ไตร่ตรอง ได้เป็นกำนันตำบลสำนักท้อนใหม่ๆ
เคยขับรถยนต์ไปธุระที่สมุทรปราการพร้อมกับลูกบ้านอีก ๘ คน
แต่พอรถไปถึงโค้งบางปิ้งซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโค้งผีสิง จะด้วยเหตุอันใดก็ไม่อาจทราบได้
รถเกิดเสียหลักพลิกคว่ำไปหลายตลบ เผอิญมีตำรวจอยู่ใกล้ๆกับบริเวณนั้นเห็นเหตุการณ์เข้า
คิดว่าจะต้องมีคนในรถได้รับบาดเจ็บหรืออาจถึงตายแน่ๆ
จึงรีบวิ่งเข้าไปเพื่อจะช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลโดยรีบด่วน
แต่เมื่อเข้าไปถึงก็ต้องประหลาดใจอย่างมากเพระไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดที่อยู่ในรถคันนั้นได้รับบาดเจ็บกันเลย
ซึ่งต่อมาเมื่อมีการสอบถามกันขึ้นด้วยความสงสัย จึงทราบว่าทุกคนที่ไปกันในรถคันนั้นต่างก็มี
“สิงห์งาช้าง” ของหลวงพ่อหอมติดตัวกันทั้งนั้น


สิงห์แกะหลวงพ่อหอม

วิทยาเวทย์ที่เป็นคุณวิเศษของหลวงพ่อหอมวัดซากหมาก

อีกประการหนึ่งที่ยังไม่เคยมีผู้ใดเคยได้เรียนรู้มาก่อนคือ”การต่อชะตาดิน”ซึ่งคุณวิเศษนี้ก็เป็นที่เลื่องลือในความศักดิ์สิทธิ์ของท่านอย่างมากทีเดียว
คือหากที่ดินของผู้ใดที่เคยอยู่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการใดๆมาก่อน
เกิดอาการเสื่อมโทรมใช้ประโยชน์ไม่ได้ดีเหมือนเดิม
หรือกิจการบนดินนั้นเสื่อมโทรมลงหลวงพ่อก็จะไปทำพิธี”ฝังหิน”
ให้แล้วกิจการบนที่ดินแห่งนั้นก็จะกลับคืนเป็นคุณแก่เจ้าของดั่งเดิมอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
ซึ่งวิชาต่อชะตาดินนี้ได้เคยมีบรรดาศิษย์อยากจะเรียนจากหลวงพ่อ
แต่หลวงพ่อก็บอกว่าผู้ที่จะเรียนได้จะต้องเป็นพระภิกษุเท่านั้น
และเมื่อเรียนแล้วก็จะต้องตั้งมโนปนิธาณด้วยว่า
“จะบวชจนตายในผ้ากาสาวพัตร์”คือจะสึกออกไปครองเพศฆราวาสไม่ได้อย่างเด็ดขาด
ถ้าผิดไปจากนี้แล้วจะต้องถูก”ฟ้าผ่า”ทันที จึงไม่มีใครกล้าพอที่จะเรียนต่อจากท่าน
เพราะการบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนานี้ ไม่ใช่เป็นของง่ายนักที่จะประกาศตนว่าจะไม่สึกไว้ล่วงหน้า

นอกจากหลวงพ่อหอมวัดซากหมากจะเป็นผู้มีวิทยาคุณในทางเครื่องรางของขลังแล้วท่านยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในทางรักษาโรคภัยไข้เจ็บนานาชนิดอีกด้วย
ทั้งนี้เพราะท่านได้เคยศึกษาเล่าเรียนมาจากบิดาของท่านซึ่งเป็นแพทย์ประจำตำบล
ในสมัยเมื่อท่านยังเป็นฆราวาสอยู่ตามธรรมดาทุกๆวัน
จะมีคนป่วยด้วยโรคต่างๆมาหาท่านที่วัดเพื่อขอให้ท่านช่วยขจัดปัดเป่าโรคร้ายเหล่านั้นให้หาย
วันหนึ่งๆถึง
๔๐-๕๐ คน หลวงพ่อจึงเป็นพระภิกษุผู้ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง ทั้งที่เป็นคนไทย จีน แขกซิกส์
และฝรั่ง ดังจะเห็นได้จากเมื่อหลวงพ่อมรณภาพได้มีผู้หลั่งไหลกันไปเคารพศพของท่านอย่างล้นหลาม
โดยเฉพาะในวันถวายน้ำสรงศพของท่าน
เจ้าหน้าที่ได้จัดให้เรียงแถวกันเข้าไปต้องใช้เวลาถึงสามชั่วโมงเศษจึงหมดคนที่ไปถวายน้ำสรงท่าน
หลวงพ่อหอม จนฺทโชโต หรือ พระครูภาวนานุโยค อดีตเจ้าอาวาสวัดซากหมาก หมู่ที่ ๒ ตำบล
สำนักท้อน กิ่งอำเภอบ้านฉาง(ปัจจุบันเป็นอำเภอบ้านฉาง) จังหวัดระยอง เดิมชื่อ หอม ทองสัมฤทธิ์
เกิดวันจันทร์ เดือน๑๐ ปีขาล พุทธศักราช๒๔๓๓ เป็นบุตรของนายสัมฤทธิ์ กับนางพุ่ม ทองสัมฤทธิ์
มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันสามคน หลวงพ่อเป็นคนสุดท้องพี่ทั้งสองคนเป็นหญิงคนโตชื่อ นางวอน
คนรองชื่อนางเชื่อม
เมื่อเยาว์วัยอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่บ้านเกิดของท่านเอง ส่วนในการศึกษาเบื้องต้นนั้น
เป็นน่าเสียดายที่ไม่มีผู้ใดทราบว่าท่านได้ศึกษากับใครที่ไหนเพราะในสมัยนั้นโรงเรียนในชนบทที่ห่างไกลจากความเจริญเช่นบ้านเกิดหลวงพ่อคงยังไม่มีตั้งขึ้นแน่นอน

การดำรงชีพของหลวงพ่อในสมัยนั้น

ก็เป็นการช่วยบิดามารดาทำสวนทำไร่และเก็บของป่าขายในตัวตลาด
ซึ่งการเดินทางไปตลาดบ้านฉางหรือตลาดสัตหีบในสมัยนั้นลำบากมาก เพราะยังไม่มีถนนอย่างเช่นในปัจจุบัน
ต้องอาศัยทางเกวียน ซึ่งผ่านป่าดงดิบแวดล้อมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด
ถ้าเป็นฤดูฝนด้วยแล้วก็จะยิ่งเพิ่มความลำบากเป็นทวีคูณ
และคงจะเป็นเพราะว่าหลวงพ่อเคยมีชีวิตจำเจอยู่แต่ในป่าดงดิบนี่เอง
จึงทำให้ท่านพยายามพัฒนาป่าให้กลับกลายเป็นหมู่บ้านที่มีความเจริญขึ้นในทุกๆด้าน
โดยท่านเห็นว่าหากมีถนนตัดจากจากที่เจริญเข้าสู่หมู่บ้านได้เมื่อใด
ความเจริญนั้นก็ต้องขยายตัวของมันเองตามถนนไปด้วยอย่างแน่นอน จึงได้ร่วมกับ นายหยอย สุวรรณสวัสดิ์
กำนันตำบลสำนักท้อนคนก่อนชักนำชาวบ้านช่วยกันตัดถนนจากบ้านฉาง เข้าไปจนถึงบ้านซากหมากระยะทาง ๑๒
กิโลเมตรจนสำเร็จ และถนนสายนี้ในปัจจุบันได้กลายเป็นถนนสายอเนกประสงค์แล้วอย่างสมบูรณ์
เมื่อหลวงพ่ออายุครบ๒๑ปี ก็โอกาสทำหน้าที่ของลูกชายไทยอย่างเต็มภาคภูมิ
ด้วยการได้รับคัดเลือกเข้ารับราชการทหารในกองทัพเรือ ในสมัยที่ฐานทัพเรือยังตั้งอยู่ที่บางพระ
อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าสังกัดอยู่หน่วยไหน
และใครบ้างที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของท่าน ทราบแต่เพียงว่าในขณะที่ท่านรับราชการอยู่นั้น
ไม่เคยถูกลงโทษฐานกระทำผิดวินัยเลยทั้งไม่เคยมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับบรรดาเพื่อนๆด้วย
ตรงกันข้ามกับเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนฝูงทุกคน เพราะปกติท่านเป็นคนมีนิสัยเยือกเย็น สุขุม
และโอบอ้อมอารีต่อทุกคนอยู่แล้ว
เมื่อรับราชการทหารครบ ๒ปี
ทางราชการก็ปลดออกจากประจำการจึงกลับไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพที่บ้านสำนักท้อนตามเดิม
และในช่วงนี้เองก็ได้แต่งงานกับ นางเจียม ซึ่งเป็นหญิงสาวในหมู่บ้านเดียวกันนั้น
และมีบุตรด้วยกัน๓คนคือ
นายพิน ทองสัมฤทธิ์ นายหรั่ง ทองสัมฤทธิ์ นายหรั่น ทองสัมฤทธิ์
การครองชีวิตแบบคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนของหลวงพ่อ ได้เป็นไปอย่างธรรมดาเรื่อยๆมา
โดยพร้อมกันนั้นก็ได้พยายามถ่ายทอดวิชารักษาโรคต่างๆจากบิดาไปด้วย
จนมีความรู้ความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปจากบิดาของท่านแต่อย่างใด แล้วก็ได้ใช้วิชาความรู้นี้
ช่วยเหลือเพื่อนบ้านตลอดมา
หลวงพ่อหอม วัดซากหมากฯ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๙
อายุ๓๖ ณ พัทธสีมาวัดทับมา ตำบลทับมา อำเภอเมือง จังหวัดระยอง โดยมีหลวงพ่อขาว
วัดทับมาเป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อจี๊ด วัดเขาตาแขก เป็นพระกรรมวาจาจารย์และหลวงพ่อชื่น วัดมาบข่า เป็นอนุสาวนาจารย์
เมื่อหลวงพ่อหอมอุปสมบทใหม่ๆ
ยังเป็นนวกภิกษุผู้น้อยด้วยคุณวุฒิไม่อาจจะปกครองตนเองและผู้อื่นได้
จึงยังจำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัยเบื้องต้นในฐานะอันเตวาสิกของหลวงพ่อชื่น อยู่ที่วัดมาบข่า
แต่เพียงชั่วระยะ ๒ พรรษาเท่านั้น
หลวงพ่อหอมก็เป็นผู้แตกฉานในพระธรรมวินัยอย่างน่าอัศจรรย์เนื่องจากเป็นผู้มีความเพียรเป็นเลศ
ยากที่จะหาพระภิกษุรูปใดในรุ่นเดียวกันเสมอเหมือนได้ แม้
หลวงพ่อชื่นเองก็ยังเคยปรารภให้พระภิกษุรูปอื่นๆฟังว่า”อีกหน่อยคุณหอมเขาจะหอมทวนลมนะ”
และต่อมาหลวงพ่อหอมก็ได้กลายเป็นหลวงพ่อผู้มีชื่อเสียงหอมทวนลมจริงดั่งคำของหลวงพ่อชื่นนั้น

เมื่อหลวงพ่อหอมได้รับอนุญาตจากหลวงพ่อชื่นซึ่งเป็นพระอาจารย์เบื้องต้นไปอยู่ที่วัดซากหมากใกล้ๆ
บ้านเกิดของท่านแล้ว ก็ได้พยายามค้นคว้าศึกษาพุทธเวทย์เพิ่มเต็มอย่างจริงจัง
จนบังเกิดผลดังที่ได้ประจักษ์แก่บรรดาศิษยานุศิษย์อย่างถ้วนหน้าแล้วนั้น
นอกจากท่านจะได้สร้างวัตถุมงคลอันศักดิ์สิทธ์ เพื่อให้ผู้มีไว้บูชาบังเกิดที่พึ่งทางใจอย่างได้ผลแล้ว
ก็ยังได้สร้างถาวรวัตถุขึ้นไว้ในวัดอีกหลายประการด้วยกัน เช่น อาคาร ศาลา หอระฆัง หอไตรกลางสระน้ำ
และอีกหลายๆอย่างที่ท่านได้สร้างไว้

ด้วยความที่หลวงพ่อหอมเป็นผู้ประกอบคุณงามความดีให้ปรากฏในศาสนจักรและราชอาณาจักรมากมายนี่เอง
จึงได้พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลที่๙แห่งราชวงศ์จักรีพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีเป็นพระครูภาวนานุโยค
ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๗
นับเป็นเกียรติยศอย่างยิ่งแก่หลวงพ่อและบรรดาศิษยานุศิษย์โดยทั่วหน้ากัน
และในโอกาสนี้เองทีหลวงพ่อหอมได้สร้างพระกริ่งรูปเหมือน
แหนบบูชารูปเหมือน(ชนิดสั้น)รูปปั้นเหมือนองค์จริงแบบบูชาเป็นรุ่นแรกขึ้น
กับได้สร้างเหรียญรูปเหมือนรุ่นสอง
แบบหน้านูนครึ่งองค์ด้านหลังเหมือนกับเหรียญรุ่นแรกพร้อมกับแหวนทองแดงรูปเหมือนและแบบเดียวกับที่สร้างเมื้อปีพุทธศักราช๒๔๙๘
หลวงพ่อหอม จนฺทโชโต หรือพระครูภาวนานุโยค ได้อาพาธด้วยโรคชราและมรณภาพด้วยอาการสงบ
เมื่อเวลาประมาณ ๐๕.๐๐น.ของวันที่๑๓ เมษายน พุทธศักราช๒๕๒๐(นับวันเวลาสากล)ณ
โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์
ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รวมอายุได้๘๗ปี๕๑พรรษาและได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน
พุทธศักราช๒๕๒๑ ภายหลังจากท่านมรณภาพแล้ว๓๗๕ วัน ณ. วัดซากหมากฯ หมู่ที่ ๒ ตำบล สำนักท้อน
กิ่งอำเภอบ้านฉาง(ปัจจุบันเป็นอำเภอบ้านฉาง)จังหวัดระยอง
ซึ่งเป็นวัดที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสมาโดยตลอดนั้นเอง


ขอขอบคุณที่มา
จากหนังสืออนุสรณ์
งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูภาวนานุโยค(หอม จนฺทโชโต)


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 ก.ค. 2553, 03:34:40 โดย ธรรมะรักโข »

ออฟไลน์ A_hatyai

  • ฉัฏฐะ
  • *
  • กระทู้: 338
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ตอบ: ประวัติหลวงพ่อหอม วัดชากหมาก จ.ระยอง
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 09 ก.ค. 2553, 04:49:49 »
สิงห์ลักษณะแบบนี้...ที่วัดบางพระก็มีนี่ครับ...ผมก็เคยไปเช่าสมัยไปเที่ยววัดบางพระเมื่อ
ประมาณปี45-46 ไม่แน่ใจตอนนั้นหลวงพ่อเพิ่งมรณภาพใหม่ๆครับ..ยังมีวัตถุมงคลที่
ทันหลวงพ่อเปิ่นอยู่เต็มตู้พอสมควร..เสียดายว่าสิงห์ขนาดจิ๋วที่ผมเช่ามานั้น..รู้สึกว่าผมเอา
มาร้อยกับพวงกุญแจแล้วหลุดหายซะแล้วครับ