ผู้เขียน หัวข้อ: พระปิดตา - มหาอุตม์  (อ่าน 4045 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ umpawan

  • ก้นบาตร
  • *****
  • กระทู้: 3112
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์วัดบางพระ
    • ดูรายละเอียด
พระปิดตา - มหาอุตม์
« เมื่อ: 23 ธ.ค. 2552, 09:32:14 »



พระพิมพ์ที่สร้างขึ้นส่วนใหญ่ มักเป็นการแสดงภาพเหตุการณ์ในพุทธประวัติ รวมทั้งรูปแทนองค์พระพุทธเจ้าในอากัปกิริยาแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ได้พบความนิยมในการสร้างรูปแทนของพระอรหันต์สาวกที่นับถือกันว่าเป็นเอตทัคคะ หรือมีความเป็นเลิศในทางใดทางหนึ่งไว้เป็นการเฉพาะด้วยเช่นกัน เป็นต้นว่ารูปพระภควัม

พระภควัมน่าจะเป็นรูปเคารพในพุทธศาสนาองค์แรกๆ ที่ถูกนำมาใช้ในลักษณะของพระเครื่องราง ไม่ใช่พระกริ่งตามที่นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานไว้

หลักฐานจากวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ซึ่งเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา (มีบางส่วนแต่งเพิ่มเติมขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์) ได้กล่าวถึงพระภควัมซึ่งถูกนำมาใช้ในทางไสยเวทย์ไว้หลายตอนด้วยกัน เช่น ตอนขุนแผนกับพลายงามปลุกเสกทำพิธีก่อนยกพวกเข้าตีเมืองเชียงใหม่ ดังว่า


“จึงเอาพระภควัมที่ทำไว้ ใส่ขันสำริดประสิทธิ์มนต์
ในขันนั้นใส่น้ำมันหอม เสกพร้อมเป่าลงไปสามหน
พระนั่งขึ้นได้ในบัดดล น้ำมันนั้นทาทนทั้งทุบตี
ล่องหนกำบังจังงังครบ  อุปเท่ห์เล่ห์จบเป็นถ้วนถี่
ปลุกเครื่องเสร็จพลันอัญชลี อ่านมนต์เรียกผีพวกภูตพราย”


และตอนที่แสนตรีเพชรกล้า ทหารเอกของกองทัพเมืองเชียงใหม่ยกทัพออกมาต่อสู้กับกองทัพของอยุธยา


“อันแม่ทัพคนนี้มีศักดา อยู่คงสาตราวิชาดี
แขนขวาสักรงเป็นองค์นารายณ์ แขนซ้ายสักชาดเป็นราชสีห์
ขาขวาหมึกสักพยัคฆี ขาซ้ายสักหมีมีกำลัง
สักอุระรูปพระโมคคัลลาน์ ภควัมปิดตานั้นสักหลัง
สีข้างสักอักขระนะจังงัง  ศีรษะฝังพลอยนิลเม็ดจินดา” 


พระภควัมเป็นรูปจำลองของพระเถระที่มีนามว่าพระมหากัจจายนะ ตามประวัติกล่าวว่าท่านเป็นบุตรพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าจันฑปัชโชต กรุงอุชเชนี เดิมมีชื่อว่ากาญจนะ เมื่อบิดาถึงแก่กรรม ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นปุโรหิตแทน เนื่องจากเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ สามารถศึกษาเจนจบคัมภีร์ไตรเภทของพราหมณ์และสรรพวิชาต่างๆ ต่อมาท่านได้พบกับพระพุทธองค์และสดับฟังพระธรรมเทศนาจนเกิดความเลื่อมใส จึงเข้ารับการอุปสมบทในพุทธศาสนา ได้รับฉายาว่ากัจจายนะ ท่านได้รับคำยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นเอตทัคคะหรือเป็นเลิศในเชิงเทศนาและอรรถาธิบายพระธรรมอย่างย่อ เป็นที่เข้าใจแก่ผู้ที่ได้รับฟังโดยง่าย นอกจากนั้นยังได้รับการยกย่องเป็นพุทธอนุชา จึงได้รับการเรียกขานอีกนามหนึ่งว่าพระมหากัจจายนะ

พระมหากัจจายนะเป็นพระภิกษุที่มีรูปร่างงดงาม มีวรรณะผ่องใส ผิวเหลืองอร่ามดังทองทา เป็นที่เสน่หาของผู้คนโดยทั่วไป เมื่อท่านเดินทางไปยังที่ใด ผู้ที่พบเห็นมักเข้าใจผิดคิดว่าท่านคือพระพุทธองค์ ท่านจึงมีนามเรียกขานอีกนามหนึ่งว่าพระภควัมหรือพระภควา ซึ่งมีความหมายถึง “ผู้ซึ่งมีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า” ดังนั้น เพื่อไม่ให้มีผู้เข้าใจผิด ท่านจึงเนรมิตกายให้มีลักษณะอ้วนเตี้ย ไม่งดงามเหมือนเดิมอีกต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าถึงเหตุที่ทำให้ท่านต้องกลายเป็นภิกษุที่มีรูปร่างเช่นนี้อีกสำนวนหนึ่งว่า ครั้งหนึ่ง ขณะท่านออกบิณฑบาตในเมืองโสเรยยะ ได้มีเศรษฐีผู้หนึ่งเห็นท่านมีรูปโฉมที่งดงาม จึงเกิดความคิดวิปริตไปว่า หากแม้นพระเถระรูปนี้เป็นสตรีและได้มาเป็นภรรยา หรือถ้าภรรยาของตนมีผิวพรรณงามดังพระเถระรูปนี้ก็จะเป็นการดี ด้วยความคิดอันเป็นอกุศลกรรมดังกล่าว จึงทำให้เศรษฐีผู้นี้กลายเป็นสตรีเพศไปในทันที ภายหลังเมื่อได้ขอขมาต่อท่านมหากัจจายนะ จึงกลับคืนร่างเป็นบุรุษเพศตามเดิม และเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้คิดเช่นนี้อีก ท่านจึงได้เนรมิตกายให้มีรูปร่างอ้วนพุงพลุ้ย ตามที่ปรากฏในรูปเคารพโดยทั่วไป

สำหรับมูลเหตุของการนำพระมหากัจจายนะมาสร้างเป็นรูปเคารพ อาจสืบเนื่องมาจากในสมัยโบราณนั้น พุทธศาสนิกชนไม่นิยมอาราธนาพระเครื่องหรือพระพิมพ์ที่มีรูปพระพุทธเจ้าติดตัว ด้วยถือว่าเป็นของสูง จึงได้แต่จำลองรูปพระอรหันต์สาวกที่นับถือกันว่ามีความเป็นเลิศทั้งในทางฤทธิ์ เช่น พระโมคคลา และในทางลาภสักการะ เช่นพระภควัมหรือพระปิดตา ไว้สักการบูชาแทน

พระภควัมที่ได้รับการสร้างขึ้นนั้น อาจแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะใหญ่ๆ ได้แก่ ในลักษณะของพระปิดตา คือยกมือทั้งสองขึ้นปิดหน้า กับในลักษณะยกมือทั้งสองปิดหน้าและมีมือที่เพิ่มขึ้นยกปิดหูและล้วงลงปิดทวาร แบบที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่าพระมหาอุด หรือพระมหาอุตม์

พระภควัมหรือพระปิดตาถือได้ว่าเป็นพระเครื่องรางที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีความหมายแฝงเอาไว้อย่างลึกซึ้งในลักษณะปริศนาธรรม มีความหมายว่า ถ้าตาไม่เห็นแสงสีที่เย้ายวนกิเลสตัณหาให้กำเริบ หูไม่ได้ยินสุ้มเสียงใดอันก่อให้เกิดกำหนัด ความยินดี หรือความพอใจซึ่งเป็นต้นเหตุให้จิตขุ่นมัว และสุดท้ายคือทวารเบื้องล่าง ซึ่งเป็นประตูที่เปิดทางให้ความบาปกำเริบขึ้น ทำให้คนเราต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นปฏิปักษ์ต่อการหลุดพ้น ถ้าสามารถปิดทวารหรือประตูแห่งอบายนี้ได้ ย่อมจะทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติอยู่เหนือความเศร้าโศกทั้งปวง

พระภัควัมปติหรือพระปิดตา จึงนับเป็นงานประติมากรรมสำคัญชิ้นหนึ่งซึ่งแฝงไว้ด้วยธรรมปรัชญาอันลึกซึ้งทางพุทธศาสนา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้ที่นำมาสักการบูชา ว่าจะเข้าถึงอุบายธรรมดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด


ที่มา วารสารเมืองโบราณ ขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ

ออฟไลน์ cho presley

  • ------> I'm Cho Presley
  • นวมะ
  • ****
  • กระทู้: 2049
  • เพศ: หญิง
  • สุดท้ายก็กาหลง!
    • MSN Messenger - cho.khalong@hotmail.com
    • AOL Instant Messenger - เมืองเสน่ห์กาหลง
    • Yahoo Instant Messenger - มหาเสน่ห์+เมตตา+มหานิยม
    • ดูรายละเอียด
    • http://www.khalong.com
ตอบ: พระปิดตา - มหาอุตม์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 24 ธ.ค. 2552, 05:47:37 »
แหม...พ่อคุณ.. พี่กำลังต้องการประวัติพระปิดตาพอดีเชียวเป๊ะ!

ได้ความรู้ค่ะ พระภัควัม คือ พระปิดตา..

ขออนุญาติแก๊บไว้หน่อยนะคะ..! [shake]ขอบคุณครับขุนแผนน้อย[/shake]
[/size]
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 ธ.ค. 2552, 05:50:52 โดย cho presley »

cho presley