ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวิตลิขิตเองได้...  (อ่าน 3678 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด
ชีวิตลิขิตเองได้...
« เมื่อ: 12 มี.ค. 2553, 10:10:29 »
มนุษย์...ผู้เข้าถึงความจริงและเหตุผลแล้ว ก็ไม่ต้องยอมจำนนต่อความเชื่อใดๆ เพราะการได้ประสบการณ์กับของจริงนั้น ๆ ทำให้เขารู้ถูกต้อง จึงทำให้มนุษย์เช่นนี้กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำด้วยความมั่นใจโดยไม่ต้องยอมจำนนต่อความเชื่อ ใด ๆ หลักการที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยผู้ที่ได้ประสบการณ์จากของจริง ๆ แม้จะมีผู้พยายามเปิดเผยให้ทดลอง แต่ก็ได้รับการสนองเฉพาะผู้มีปัญญาเท่านั้น
 
มนุษย์โลกส่วนใหญ่ยังยอมจำนน ต่อความเชื่อตามความเชื่อของตนเอง โดยไม่สนต่อเหตุผลอยู่ทุกวี่วันอย่างไม่จางคลาย…
แม้ชีวิตของคนเรา ก็ยังถูกเชื่อว่ามีผู้เป็นใหญ่หรือแหล่งอำนาจคอยควบคุมลิขิตชีวิต ทำให้หลาย ๆ ชีวิตต้องยอมจำนนตัวเอง ไม่เชื่อมั่นการกระทำของตนเอง หรือบางคนต้องลดตนถึงกับคอยกราบไหว้อ้อนวอนบวงสรวงต่าง ๆ เพื่อหวังให้ผู้เป็นใหญ่ประทานสิ่งที่ตนปรารถนา…

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบัญญัติหลักความเชื่อที่ทำให้ชีวิตยอมจำนนไว้ ๓ ประการ คือ..
๑. ปุพพกตเหตุ เชื่อว่าชีวิตถูกลิขิตด้วยกรรมเก่าเพียงอย่างเดียว
๒. อิสรนิมานเหตุ เชื่อว่าชีวิตถูกกำหนดโดยผู้เป็นใหญ่ พระเจ้าบันดาล พรหมลิขิต หรือฟ้าประทาน
๓. อเหตุอัปปัจจยา เชื่อว่าชิวิตเป็นไปโดยดวง แล้วแต่โชคลาง เป็นเรื่องบังเอิญไม่มีเหตุ

ความเชื่อทั้ง ๓ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงสอน ไม่ทรงสรรเสริญ แต่ ทรงตำหนิชี้โทษว่า … บุคคลใดมามีความเห็นว่าสุข ทุกข์ เป็นไปดังที่กล่าว… ความเพียรก็ดี ความพยายามโดยชอบก็ดีย่อมไม่เกิด 
ความเชื่อทั้ง ๓ ประการนี้ อย่างแรกดูเหมือนคล้าย ๆ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนอย่างที่สองเป็นความเชื่อของผู้ที่นับถือเทพเจ้า อย่างสุดท้ายมักเป็นความเชื่อของผู้ที่ไม่คอยสนใจศาสนาเป็นส่วนใหญ่

เรามาดูอย่างที่สามก่อน คนในสมัยปัจจุบันมักถูกสภาพเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อมบีบให้ห่างศาสนา คนเห็นวัตถุเป็นที่พึ่ง และประจวบกับคนก็ละเลยด้วย จึงมีความเชื่อโดยสรุปจากเหตุการณ์เฉพาะ ๆ ว่าทุกเหตุการณ์เป็นเรื่องบังเอิญ แล้วแต่ดวง แล้วแต่โชค ดวงดีก็ดีเอง จะทำชั่วก็ตามทำดีก็ตามไม่สำคัญ ทำชั่วไม่มีใครรู้เห็น ถือว่าไม่มีโทษ ทำดีไม่มีใครชม ไม่ได้ยศ ไม่ได้เงิน ถือว่าทำดีไม่ได้ดี คนประเภทนี้จะไม่มีการรับผิดชอบพฤติกรรมของคน ดื้อรั้น มักสร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคม ปล่อยตัวเองไหลไปกับกระแสโลก วิ่งตามค่านิยมไม่มีหยุด  ต่อเมื่อตนเองประสบกับทางตันของชีวิตหรือความวิบัตินั่นแหละ เขาจึงเริ่มหันเข้าหาศาสนาเริ่มเพียรสร้างความดี แต่มักไม่เหลือความพร้อมแทบจะสายเสียทุก ๆ ราย
ส่วนอย่างที่สอง เชื่อว่าชีวิตถูกกำหนดด้วยผู้เป็นใหญ่ บุคคลกลุ่มนี้มักมีความยึดมั่นถือมั่นมาก เพราะค่านิยมของลัทธิทำให้เขาฝังตัวเองอย่างไม่ยอมถอย ซ้ำยังถูกล้อมด้วยทิฐิของศาสดาไม่ให้เปิดใจต่อเหตุผลในคำสอนใคร ๆ ความจริงเป็นเรื่องของจิต -วิทยาเพราะคนทั่วไปจิตใจมักเรียกร้องความรัก ความเข้าใจ ความยอมรับ อันเป็นสิ่งธรรมดาที่มนุษย์ปรารถนายิ่งกว่าปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นเหตุทำให้อบอุ่น มีความสุขใจ ให้ชีวิตได้สดชื่นในระดับต้น ๆ

มนุษย์จีงได้วางกฎเกณฑ์เพื่อสนองความต้องการจุดนี้ ด้วยการสมมุติผู้เป็นใหญ่ไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเคารพบูชา โดยวิธีมอบความรัก ความเชื่อ ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้สิ่งที่เขาบูชาถูกใจ ชอบใจ จะได้ตอบแทนความรัก ความหวังดีความยอมรับและสนองความต้องการของตนกลับคืนมาตามความเชื่อนั้น ซึ่งเป็นกลไกการสนองความต้องการของคนด้วยคนผู้เป็นใหญ่สร้างอุบายขึ้น เพื่อให้กำลังใจตนเองให้มีความสุขใจ ให้มีความอบอุ่น ไม่หมดหวัง ไม่ท้อแท้ ตามหลักอุบายเพื่อจะแสวงหาความรักความอบอุ่นจากผู้อื่นด้วยตนเอง แม้ที่สุดหาจากโลกมนุษย์ไม่ได้ ก็ยังมีทางสุดท้ายให้หวัง จากสิ่งลี้ลับ โดยไม่เคยรู้ - เคยพบ เป็นการหาทางออกให้จิตใจที่จะหมดหวังโดยอาศัยความเชื่อด้วยการผูกตัวเองไว้กับสิ่งนั้น คำสั่งสอนชนิดนี้จะทำให้คนจำนนชีวิต ไม่เชื่อมั่นการกระทำของตนเอง ทำอย่างไร เพียรขนาดไหนแล้วแต่ผู้เป็นใหญ่จะชอบใจ ถ้าถูกใจก็จะประทานให้สมปรารถนา... ถือว่าเป็นคำสอนที่ดูถูกศักยภาพของมนุษย์

แต่ทางพุทธธรรมชี้ว่า ทุกอย่างทั้งในโลกและนอกโลกไม่สามารถยึดเป็นที่หวังได้ เพราะไม่มีสิ่งใดเป็นอมตะของตนเอง ทุกอย่างตกอยู่ในกฎไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องอาศัยเหตุจึงเกิด ดังนั้นมีทางเดียวคือ การถอนจิตไม่ให้ถูกพันธนาการจากสิ่งใด ๆ และการถอนจิตได้นี้เราเรียกว่า  “ความหลุดพ้น”  จะไม่มีอะไรทำจิตที่พ้นพันธนาการนี้ให้ท้อแท้ หมดหวัง เป็นทุกข์ได้เลย และการที่จิตไม่ถูกพันธนาการนี้ ไม่ใช่การไม่รับผิดชอบไม่รับรู้ช่วยเหลือ แต่เป็นการรับรู้และการกระทำการเกี่ยวข้องด้วยดีอย่างสมบูรณ์ รับผิดชอบเต็มที่อย่างมีสติสัมปชัญญะ โดยที่จิตใจไม่มีความทุกข์เลยแม้แต่น้อย เลยกลับกลายเป็นเรื่องของมนุษย์เป็นผู้ลิขิตสุข – ทุกข์ของตนเองด้วยการใช้สติปัญญา
ส่วนอย่างแรก คล้ายคำสอนในพุทธศาสนา แต่ทำไมพระพุทธเจ้าทรงตำหนิ ชี้โทษว่าจะทำให้ชีวิตยอมจำนน ที่เป็นเช่นนี้เพราะสอนไม่ตรงตามความเป็นจริง ชีวิต สุข – ทุกข์ขึ้นอยู่กับกรรม แต่มิใช่กรรมเก่าเพียงอย่างเดียว ชีวิต สุข – ทุกข์ ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆรวมทั้งกรรมในขณะปัจจุบันด้วยต่างหาก ชาวโลกไม่น้อยที่รู้จักพระพุทธศาสนากลับเห็นว่าพุทธศาสนาสอนให้จำนนต่อกรรมเก่า แม้แต่คนระดับศาสตราจารย์ที่เคยออกทีวี และอาจารย์ที่สอนศาสนาในมหาวิทยาลัยบางท่าน ก็ยังสับสนกับคำสอน เรื่องกรรม อยู่มาก มักมีความเชื่อเรื่องกรรมที่สับสน เช่น

-  กรรมเป็นเรื่องร้ายแรง เป็นสิ่งเลวร้าย
-  กรรมเป็นเรื่องต้องยอมจำนน
-  กรรมเป็นเรื่องที่ยืดหยุ่นไม่ได้
-  กรรมเป็นความชั่วที่ทำไว้ในอดีต
-  กรรมเป็นเรื่องของบาป
-  กรรมเป็นผลร้าย (วิบาก) ที่ได้รับ
-  กรรมเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี (กิเลส)
- กรรมเป็นคำสอนที่ทำให้คนไม่แก้ไขพัฒนาชีวิต

คำว่า  “กรรม” จริง ๆ แล้วเป็นคำกลาง ๆ ดีก็ได้เสียก็ได้ มีความหมายเพียงการกระทำด้วยกาย วาจา ใจ ถ้า กระทำเป็นไปในทางดี เรียกว่า กุศลกรรม หรือ บุญ ถ้ากระทำเป็นไปในทางชั่ว เรียกว่า “อกุศลกรรม”

การทำบุญด้วยอะไร แล้วจะได้อะไรนั้น เราจะเอาอะไรตัดสิน เพราะบางคนสับสนต่อผลบุญจนกลัวอานิสงส์ เช่นคนจีนไม่ชอบทำบุญด้วยการสร้างห้องสุขา เพราะกลัวสุขาจะติดตามไปอยู่ใกล้ ๆ ตลอด หรือใครทำบุญแต่เพียงข้าวก็จะอดน้ำ ความจริงไม่มีการให้ข้าว ไม่มีการให้ห้องสุขา ไม่มีการให้น้ำ เพราะชื่อนั้นเป็นสิ่งสมมุติ แท้จริงการให้เป็นการให้สิ่งที่เขารู้ได้ทางทวาร ๖ นั่นเอง เช่นให้ข้าว คนรับจะได้รับรสอร่อย ได้ความอิ่ม ได้อายุ ได้ชีวิต ได้กำลัง ได้ความสุข สิ่งที่ผู้ให้จะได้รับผลก็คือ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ให้ข้าวต้องได้ข้าว หรือให้กระเบื้องต้องได้กระเบื้อง
หลักการตัดสินว่าให้อะไรแล้วได้อะไร เราต้องเอาสภาพทางทวาร ๖ เป็นเครื่องพิสูจน์ตัดสิน สิ่งที่เขาได้รับนั้นแหละคือสภาพที่เราจะได้เมื่อรับ ซึ่งอาจจะมีลักษณะแตกต่างกันในรูปแบบสิ่งของที่ได้รับ แต่เสมอกันด้วยสภาพการรับรู้ทางทวารทั้ง ๖ เช่นนางเทพธิดาตนหนึ่งได้อุบัติเกิดในสวรรค์ พร้อมบริบูรณ์ไปด้วยสรรพสิ่งที่มีสีเหลืองสุกปลั่ง(ทองคำ) เพราะเหตุที่ได้บูชาพระสารีริกธาตุด้วยดอกฟักที่มีสีเหลืองสด
 
ชีวิตร่างกายเป็นสิ่งที่ถูกปรุงขึ้นด้วยกรรม จิต อุตุ อาหาร ความเจ็บป่วยก็มีสมุฏฐานมาจากสี่องค์ประกอบนี้ ถ้าจิตใจไม่ดีจิตก็มีผลต่อร่างกายทันที ถ้าอุตุ( ดิน ฟ้า อากาศ) แปรปรวน ร่างกายปรับไม่ทันก็ต้องเจ็บป่วย หรือถ้าอาหารไม่ดี แสลง ไม่เหมาะต่อสุขภาพก็จะต้องเจ็บป่วย แต่โรคบางอย่างที่รักษาด้วย ยา อาหาร และจิตบำบัดไม่หายก็มี โรคนี้เรียกว่าโรคกรรม – โรคเวร การรักษา ต้องแก้ด้วยการทำกุศลที่แก้กันได้ เช่นพี่สาวของพระอนุรุทธะ เป็นโรคผิวหนังรักษาไม่หาย ต้องไปสร้างวิหาร ถวายวัดแล้วถวายความอุปัฏฐาก ปัดกวาด เช็ด ถู โรคจึงได้ทุเลาแล้วหาย
ดังนั้น เมื่อเจ็บป่วย เราไม่อาจรู้สมุฏฐานได้ จึงต้องหาหมอ ต้องใช้ยาเป็นเบื้องต้น ไม่ควรสรุปว่าแล้วแต่บุญ แล้วแต่กรรมเพราะไม่ถูกต้อง โรคบางอย่างไม่ได้มีสมุฏฐานมาจากกรรม แต่ว่าทางที่ดี การรักษาด้วยวิธีใด ๆ ก็แล้วแต่ ควรต้องทำบุญช่วยด้วยจึงดี เพราะเราไม่สามารถรู้สมุฏฐานทั้ง ๔ อันเป็นเหตุของการเจ็บป่วยชัดเจน และการได้ทำบุญไว้ก็เป็นการช่วยให้ตนมีบุญ เป็นการหนุน(อุปถัมภ์) ให้ตนหลุดพ้นจากการเจ็บป่วยอันเป็นผลของบาปดังคนนิยมทำบุญกันในรูปการสะเดาะเคราะห์ สังฆทาน บวช ฯลฯ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้
 
กิเลสก็อย่าง วิบากก็อย่าง กรรมก็อย่าง การตัดกรรมไม่ใช่การตัดผลของกรรม ผลกรรมเป็นสิ่งที่จำต้องรับ ตัวกรรมเป็นสิ่งที่เลือกทำได้
การตัดกรรมนั้นคือการตัดอกุศลกรรมหรือบาปกรรม ได้แก่การหยุดทำอกุศลกรรมนั้น ๆ ไว้ด้วยการทำบุญ ทำกุศลกรรม เช่น รู้สึกโกรธเป็นบาปกรรม ตัดกรรมก็โดยการเจริญเมตตา อิจฉาเป็นบาปกรรม ตัดกรรมด้วยการแผ่มุทิตา นิวรณ์เกิดเป็นบาปกรรม ตัดกรรมด้วยการกำหนดสมถภาวนา วจีทุจริตเกิด กายทุจริตเกิดเป็นบาปกรรม ตัดกรรมด้วยการรักษาศีลทำสุจริตกรรมแทน
กรรมมักพูดคู่กับเวร เช่นหมดเวร – หมดกรรม เวรนั้นหมายเอาการสนองผลการกระทำตามลักษณะที่ทำ ถ้าเป็นการผูกอาฆาตเรียกว่าผูกเวร ผลจะมีไม่สิ้นสุด บุคคลผู้ถูกอาฆาต จะต้องล้างผลาญกันข้ามภพข้ามชาติ ดังนั้นการตัดเวรตัดกรรม ก็ต้องทำด้วยการเจริญเมตตา ให้อภัย อโหสิ ขอขมา จึงหมดเวร สมจริงดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า  เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร 
 
วิธีที่ ๑ ผลกรรมที่ไม่ดีเราสามารถชะลอได้ แต่เฉพาะที่ ไม่ร้ายแรงมากเช่น ถ้าหากเรารู้ว่าอายุจะเหลืออยู่อีก ๓ เดือน จะประสบอุบัติเหตุ ให้เราเร่งทำบุญเพื่อเพิ่มบุญ เมื่อบุญใหม่เริ่มส่งผล บุญก็จะอุปถัมภ์ให้ชีวิตอายุยืนยาว และจะเบียดเบียนกรรมเก่าๆ ไว้ไม่ให้ออกผลได้ เป็นการชะลอผลกรรม และถ้าหากผลกรรมนั่นถูกเบียดเบียนจนเลยกำหนดก็หมดเวลาที่จะต้องมารับโทษไปเอง
แต่ถ้าหากกรรมนั้นรุนแรงเพราะบาปหนักมากก็ไม่อาจชะลอได้เลย ดุจพระเจ้าสุปพุทธะ รู้ว่าตนจะถูกแผ่นดินสูบ ก็เลยหนีขึ้นอยู่บนปราสาท แต่ก็เกิดเหตุให้ม้าตัวโปรดร้อง ทำให้หลงลืมสติลงมาถูกแผ่นดินสูบจนได้

วิธีที่ ๒ กรรมจะให้ผลนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบในปัจจุบัน ๔ อย่าง คือ คติ อุปธิ กาล ปโยคะ ถ้าองค์ประอบ ๔ ประการนี้เป็นไปในทางเสื่อมเสีย(วิบัติ) ก็จะเป็นปัจจัยให้ผลของบาปกรรมมาส่งผลได้ แต่ถ้าองค์ประกอบสมบูรณ์ดี (สมบัติ) ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดผลของบุญได้สะดวก ดังนั้นการชะลอผลกรรมหรือการเร่งผลกรรม ก็อยู่ที่ว่าเราจัดองค์ประกอบเหล่านี้ได้ดีหรือไม่
- คติ คือภพ ที่ไปเกิด หรือที่อยู่ สิ่งแวดล้อม
- อุปธิ คือร่างกาย บุคลิกท่าทาง ฐานะหน้าที่
- กาล คือกาลเวลา ยุคสมัย ค่านิยมของยุคสมัย
- ปโยคะ คือความเพียร ความพยายาม ความขยันอดทน เป็นการกระทำในปัจจุบัน
ตัวอย่าง : เช่นเราอยากร่ำรวยที่เราไปอยู่ต้องเหมาะต่อการทำอาชีพ, การค้าขายเรียกว่า คติสมบัติ, ด้านร่างกายมีสุขภาพพลานามัย และบุคลิกดี ไม่เจ็บป่วยทุพลภาพ เรียกว่า อุปธิสมบัติ , ด้านกาลเวลา รู้จักช่วงโอกาส ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการทำอาชีพ เรียกว่า กาลสมบัติ, ความอดทน ขยันหมั่นเพียร ทำเต็มที่ เรียกว่า ปโยคสมบัติ

ถ้าองค์ประกอบดี ร่ำรวยได้ แต่ถ้าองค์ประกอบไม่พร้อม (วิบัติ) การค้าขายก็ต้องบกพร่องไป หรือถ้าหากเราจะหลีกผลบาปเก่า เช่นจะถูกรถชน จะถูกคนทำร้าย เราก็เลือกคติที่ดีเช่น ไปบวชปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดไม่ไปไหน ๆ อุปธิร่างกายก็ทำให้เหมาะสมกับฐานะหน้าที่ คือวางตัวให้เหมาะสมไม่ทำตนนอกรีตนอกรอย กาลเวลาก็ทำให้เหมาะสมถูกกาลเวลา ปโยคะ คือ ความเพียร ก็หมั่นทำกุศลเจริญสติจิตใจแน่วแน่ไม่ท้อถอย ถ้าเราจัดองค์ประกอบเช่นนี้รถที่จะมาชน คนที่จะมาทำร้ายก็เกิดยากมาก เป็นการชะลอกรรมได้
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ปโยคะ ได้แก่ความพยายาม ความเพียรในการทำความดี ซึ่งเราสามารถเลือกได้ เร่งได้ด้วยตัวเอง ส่วน ๓ อย่างข้างต้น บางครั้งเราไม่อาจเลือกหรือจัดสรรได้เลย และเป็นเพียงเครื่องรองรับเท่านั้น
 
ผลที่ดีนั้นได้แก่ การรับรู้หรือได้ประสบกับ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ อันเป็นอิฏฐารมณ์ที่มนุษย์ปรารถนา เป็นเรื่องกิน กาม เกียรติ เป็นเรื่องวัตถุเสียส่วนมาก ซึ่งที่จริงการมีทรัพย์สิน เงิน ทอง แม้มากมาย แต่ถ้ามีโรคภัยมาเบียดเบียนร้ายแรง ก็หาความสุขสบายไม่ได้ เหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ “

แต่การทำดีนั้น คนเรามักเพ่งไปที่ผลดังกล่าว แล้วก็เร่งเร้าอยากให้เห็นผลวันนี้ พรุ่งนี้ ซึ่งการทำบุญ(มหากุศล) นั้น เป็นสิ่งที่ต้องรอ อาจเป็นเดือน เป็นปี หรืออาจข้ามภพ ข้ามชาติจึงออกผลจะมีเพียงกุศลที่ได้องค์ประกอบพร้อมจริง ๆ คือได้ทำบุญกับพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ที่ท่านเข้านิโรธสมาบัติ ๗ วัน แล้วออกนิโรธสมาบัติใหม่ ๆ เราได้ทำบุญกับท่านเป็นบุคคลแรก ด้วยทานที่ได้มาอย่างบริสุทธิ์ อย่างนี้จึงได้ผลภายใน ๓ วัน ๗ วัน
การรอคอยผลบุญที่จำต้องรอคอย ทำให้คนลังเลต่อผลของบุญที่จะได้รับเมื่อทำความดี จนบางคนเขวต่อการทำบุญก็มาก เช่นมาวัดทำบุญ เงินหาย รองเท้าถูกขโมย สุนัขกัด จึงมีคำกล่าวที่ว่า  ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป 
การรับผลของกรรมอุปมาคล้ายกับการปลูกพืชเช่นการปลูกต้นมะพร้าว แต่ขณะนั้นมะนาวให้ผลสุกพอดี ก็จำต้องรับผลมะนาวไปก่อน จะด่วน ว่ามะพร้าวเปรี้ยวไม่ถูก จะกินมะพร้าวก็ต้องรออีกนาน
 
ด้วยเหตุนี้ขอให้เราตระหนักว่า แม้ขณะทำดีแต่รับผลไม่ดีอาจจะโดนว่า ถูกนินทากล่าวร้าย แต่จงรู้ว่าความดีย่อมาไม่แปรเปลี่ยนด้วยคำพูด ใครๆ ดีย่อมเป็นดี บุญย่อมเป็นบุญ ฉะนั้นทำดีย่อมได้รับผลดี เป็นคำพูดที่ถูก จริง และเมื่อเราแน่ใจให้เรามั่นคงไว้ จงอย่าหาความสุขกับผลการกระทำที่หวังจะได้รับแต่ จงให้ภูมิใจกับคุณค่าที่ตนได้มีโอกาสทำ จงสาธุ มุทิตา กับตนเอง ในคุณค่าของการกระทำนั้น โดยใช้คำเพียงสั้น ๆ ให้เราได้กำไร คือ . ทำดี - ดี, ทำชั่ว - ชั่ว ไม่ต้องรอ
 
ชาวพุทธเราแม้ทำดีแต่จิตใจยังไขว้เขว ไม่ค่อยเชื่อบุญ – บาป ที่ทำก็เพราะรักษาใจตนเองให้ ศรัทธามั่นอยู่ไม่ได้ ถ้ามีความเชื่อเวรกรรม, บุญ - บาป หรือเชื่อความรู้จริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้ว ใจจะไม่ทุกข์ร้อนกับความรู้สึกที่ว่า ทำบุญได้บาป ในขณะนั้นเลย

เราลิขิตเรามาเอง เชื่อมั่นในการกระทำของตนเอง
- ตถาคตโพธิศรัทธา เชื่อในการตรัสรู้จริงของพระพุทธเจ้า ทำให้มั่นใจไม่คลอนแคลนลังเล สงสัยในเรื่องบุญ – บาป หรือผลของบุญ – บาป กล้าพิสูจน์ในความสุขุมลุ่มลึกของธรรมะ ที่ยากต่อการหยั่งถึง
หลักความเชื่อกรรมนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สร้างกฏเกณฑ์ขึ้นมา แต่พระองค์ทรงใช้ปัญญาพิสูจน์จนพบกฏเกณฑ์ความจริงของธรรมชาติที่เป็นอยู่ แล้วนำมาบัญญัติสอนเป็นหลักกรรม โดยพระองค์ไม่ได้สาบแช่งหรือ ลิขิตชีวิตใคร แต่ทรงชึ้ให้รู้เหตุ – ผล ที่เป็นจริงตามกฏของธรรมชาติ เรียกว่า “ กรรมนิยาม “

วิธีการหยั่งรู้นั้น พระองค์ได้ใช้พระญาณระลึกถึงชีวิตในอดีตชาติด้วย อตีตังสญาณ รู้การเกิด การตาย รู้การกระทำด้วยจุตูปปาตญาณ เมื่อรู้เห็นการกระทำของสัตว์โลกว่าทำแบบนี้มา จึงได้แบบนี้ ชาติแล้วชาติเล่า ภพแล้วภพเล่า จนเห็นความจริง จึงได้บัญญัติกฏเกณฑ์ขึ้น ตามความเป็นจริงนั้น ๆ โดยมิได้ทรงเชื่อใคร ๆ ไม่ได้ยืมกฏเกณฑ์ หรือปฏิรูปกฏเกณฑ์จากคำสอนใคร ๆ มา แต่เกิดจากการได้ประสบเรื่องราวด้วยญาณปัญญาของพระองค์เอง รู้จริงด้วยตนเอง จึงได้ทรงนำมาบัญญัติสอน แม้ความจริงระดับศีลธรรมอันเป็นกฏเกณฑ์เพื่ออยู่กันอย่างเป็นสุขของสังคม จะเหมือนกันกับศาสนาอื่นบ้าง ว่าได้นำความรู้ของศาสนาใคร ๆ มาสอน เป็นการรู้เองมิได้เชื่อใคร ๆ

การหยั่งรู้นี้ อุปมา ดังกับนักวิทยาศาสตร์เข้าห้องค้นคว้าทดลอง จนเกิดความรู้เกิดทฤษฏีขึ้นที่จริงแล้ว นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้สร้างกฎเกณฑ์หรือหลักความจริงนั้นเลย เพียงแต่นักวิทยาศาสตร์ค้นคว้าจนเข้าถึงกฏเกณฑ์ หรือหลักความจริงนั้น ๆ จึงได้นำมาบัญญัติเป็นหลักเกณฑ์เป็นทฤษฎีขึ้นมาไว้สำหรับสอนกัน ตามความจริงที่ตนเองได้พบ และถ้าพบความจริงมากเท่าใด ก็เข้าใกล้พุทธศาสนามากขึ้นเท่านั้น ทนทานต่อการพิสูจน์มากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น หลักเกณฑ์การเชื่อถือกฏความจริงที่นักวิทยาศาสตร์ใช้กันอยู่ จึงเป็นหลักการที่พระพุทธเจ้าใช้มา ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว และพระองค์ก็ได้เข้าถึงความจริงทุกสิ่งทุกอย่างหมด จนเรียกความรู้ชนิดนี้ของพระพุทธเจ้าว่า  สัพพัญญุตญาณ  แต่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่ไปถึงไหนเลย วิชาความรู้ต่าง ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์นำมาบอกมาสอนจึงไม่สามารถดับทุกข์ได้จริงจัง
การนับถือกฎแห่งกรรมจึงต้องใช้ปัญญาและศรัทธาควบคู่กัน เพราะถ้ามีแต่ปัญญา มักไม่ลงมือกระทำ ชอบวิพากษ์วิจารณ์ จิตใจกระด้างไม่ค่อยอ่อนน้อม ชอบละเลยกุศลเล็ก ๆ น้อย ๆ และยังชอบมองแต่โทษผู้อื่น ชอบจัดแจงผู้อื่น
แต่ถ้ามีเพียงศรัทธา (กัมมัสสกตาศรัทธา) ก็มักเชื่อง่าย ชอบปลงแล้วก็ยอมจำนน ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ต่อสู้ รอวาสนา
ดังนั้น จึงต้องมีทั้งปัญญา และศรัทธาควบคู่กันไปอย่างเหมาะสม ใจจึงไม่กระด้าง เชื่อฟังยอมรับผู้อื่นได้ หาทางออกที่ดีงามได้ ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ซื่อสัตย์ต่อพระพุทธเจ้าอย่างจริงใจ
   
มนุษย์มีศักยภาพในตนเอง และสามารถพัฒนาตนเองได้จนสูงสุด เป็นสัตว์ที่ฝึกตนเองและผู้อื่นได้ หากฝึกตนดีแล้ว แม้เทวดายังชม พรหมยังสรรเสริญ กราบไหว้ ดังนั้นชีวิตของมนุษย์จึงเลือกลิขิตเอาได้
เลือกเกิด สามารถเลือกเกิดในภพภูมิ ทุคติ หรือสุคติใด ๆ ชั้นไหน ๆ ก็ได้ด้วยการสร้างกรรมให้ถูกตามทางเดินของคตินั้น ๆ
เลือกเป็น สามารถจะเลือกเป็นมนุษย์ชนิดที่ สวย รวย ฉลาด ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีบริวารมาก หรือจะเป็นพระอรหันต์ ก็มีสิทธิเลือกเป็นได้ ด้วยการพัฒนาพฤติกรรม เพิ่มเติมบารมีด้วยตนเอง เมื่อบารมีพร้อมก็สามารถเป็นได้.

ออฟไลน์ Lizm Club

  • “The one thing you cannot teach a person is COMMON SENSE.”
  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 309
  • เพศ: หญิง
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ตอบ: ชีวิตลิขิตเองได้...
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 12 มี.ค. 2553, 10:38:50 »
ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลดีดี................อ่านแล้วได้ประโยชน์มากกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน........... :016: :015:
"ก่อนทีท่านจะว่าผู้อื่น ลองหันมองดูตัวเองก่อนเถิดว่าตัวเองนั้นเป็นเช่นไร ถ้าเราไม่ได้ดีกว่าเขาก็อย่าว่าเขาเลย".......

ออฟไลน์ wawwow

  • ตติยะ
  • ***
  • กระทู้: 32
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ชีวิตลิขิตเองได้...
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 12 มี.ค. 2553, 10:59:52 »
ขอบคุณนะคะ ที่เอามาให้ได้อ่าน    :054:
ได้อ่านแล้วก้อ ได้แต่  อื้ม  อื้ม  ......  ให้ข้อคิด  ให้อะไรดีๆ  เยอะเลยคะ
จงเชื่อและมีศรัทธาในสิ่งที่ทำ  จงคิดและทำในสิ่งที่ถูก

ออฟไลน์ ~@เสน่ห์เอ็ม@~

  • ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย พระคุณบิดามารดาผู้มีพระคุณ แล ครูบาอาจารย์ผู้เกื้อหนุน สาธุ..
  • เด็กวัด
  • *****
  • กระทู้: 5894
  • เพศ: ชาย
  • ศิษวัดบางพระ
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ชีวิตลิขิตเองได้...
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 12 มี.ค. 2553, 11:06:53 »
ขอบพระคุณพี่ธรรมมะรักโขมากครับ สำหรับบทความดีๆ  :

ออฟไลน์ จอมขมังเวทย์1

  • ฉัฏฐะ
  • *
  • กระทู้: 48
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ตอบ: ชีวิตลิขิตเองได้...
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 12 มี.ค. 2553, 03:20:09 »
ขอบคุณมากครับ.....สำหรับข้อคิดดีๆ....สามารถนำไปปฏิษัติจริงได้กับสภาพสังคมประจุบัน...ขอบคุณมากครับ..... :054: :054: :054: :016: :015: :043: :043: :043: :093: :093: :093:

ออฟไลน์ toa

  • ปัญจมะ
  • *****
  • กระทู้: 55
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ตอบ: ชีวิตลิขิตเองได้...
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: 14 มี.ค. 2553, 10:08:17 »
ขอบพระคุณครับสำหรับบทความดี ดีมีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้จริง
เตือนสติไม่ให้หลงทาง

ออฟไลน์ cho presley

  • ------> I'm Cho Presley
  • นวมะ
  • ****
  • กระทู้: 2049
  • เพศ: หญิง
  • สุดท้ายก็กาหลง!
    • MSN Messenger - cho.khalong@hotmail.com
    • AOL Instant Messenger - เมืองเสน่ห์กาหลง
    • Yahoo Instant Messenger - มหาเสน่ห์+เมตตา+มหานิยม
    • ดูรายละเอียด
    • http://www.khalong.com
ตอบ: ชีวิตลิขิตเองได้...
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: 14 มี.ค. 2553, 10:13:36 »
หรือเพราะฟ้าประทานให้...เราได้ทุกอรรถรสของมูลให้เกิดเหตุ..เหตุให้รู้ทุกอย่างที่เราไม่รู้ ขอบคุณฟ้า...ธรรมมักโข โอ้โหเยี่ยมจริง!

cho presley       

ออฟไลน์ derbyrock

  • คณะกรรมการ
  • *****
  • กระทู้: 2494
  • เพศ: ชาย
  • สติมา ปัญญาเกิด........ปัญหามา ปํญญามี.......
    • MSN Messenger - derbyrock@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ตอบ: ชีวิตลิขิตเองได้...
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: 14 มี.ค. 2553, 10:06:58 »
ขอบพระคุณ คุณธรรมมะรักโขมากน่ะครับ อ่านแล้วได้แง่คิดมากมายครับ

ความสุขที่แท้จริงรอคอยคุณอยู่.......เพียงแค่คุณนั่งลงแล้วหลับตา