กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 [8] 9 10
71


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๘๐...

...การเป็นผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ต้องรู้จัก
ครอบงำประกาย ไม่ควรโอ้อวดตัว
โชว์อวดให้เขารู้ว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นมิใช่การแสดง
มิใช่เป็นไปเพื่อการโอ้อวด
ประกวดกัน
เพื่อให้เขากล่าวสรรเสริญยกย่อง
แต่เป็นไปเพื่อความสงบ สะอาด สว่าง
ละวางจากทิฐิมานะและอัตตา
และเพื่อความจางคลาย
ของกิเลส
ตัณหา อุปาทาน
...ซึ่งการปฏิบัติธรรมนั้น ต้องเกิดจาก
ความคิดและจิตที่เป็นกุศล การเริ่มต้นที่
ถูกต้องและดีงาม ความเจริญในธรรม
จึงบังเกิด เพราะคำว่า ภาวนา
นั้นคือการกระทำให้ดีขึ้น พัฒนาขึ้น
สิ่งที่เรียกว่าพัฒนาขึ้นดีขึ้น นั้นก็คือ
ความดี คือสิ่งที่เป็นกุศลธรรมทั้งหลาย...
๐ เจริญสุข เจริญธรรม ในยามเช้า ๐
.....จะสุขใดไหนเท่าสุขในธรรม.....
๐ เจริญจิต เจริญใจ ปฏิบัติ
เพื่อขจัด ซึ่งกิเลส และตัณหา
เพื่อเสริมสร้าง จิตใจ ให้ศรัทธา
ภาวนา ให้สงบ พบที่ใจ
๐ จงดูกาย ดูจิต พร้อมดูธรรม
ดูแล้วนำ มาคิด วินิจฉัย
ดูให้เห็น ในสิ่ง ที่เป็นไป
ให้เข้าใจ สิ่งที่เห็น ความเป็นมา
๐ มองหาเหตุ ปัจจัย มองให้เห็น
สิ่งที่เป็น บ่อเกิด ของปัญหา
ใช้ความคิด ใช้สติ ใช้ปัญญา
จงมองหา มองให้เห็น ความเป็นจริง
๐ ชีวิตนี้ ย่อมมี อุปสรรค
เป็นตามหลัก เปลี่ยนไป ในทุกสิ่ง
อนิจจา ไม่เที่ยง คือความจริง
สรรพสิ่ง ย่อมผันแปร ไม่แน่นอน
๐ เมื่อมีได้ ก็ย่อม จะมีเสีย
เมื่ออ่อนเพลีย ควรตั้งหลัก หยุดพักผ่อน
ให้จิตใจ เข้มแข็ง และแน่นอน
แล้วค่อยย้อน มาแก้ไข ให้ทันการ
๐ การกดดัน ตนเอง เกรงจะเสีย
กายอ่อนเพลีย และจิตใจ ไม่อาจหาญ
ทำสิ่งใด ไม่สำเร็จ เสร็จตามกาล
สิ่งที่ผ่าน ไม่เห็นชัด เพราะอัตตา
๐ ทุกปัญหา ย่อมมีทาง จะแก้ไข
อยู่ที่ใจ ยอมละ ซึ่งตัณหา
ความอยากมี อยากได้ ที่เป็นมา
คือตัณหา ความโลภ เข้าครอบงำ
๐ เมื่อไม่ยอม เสียสละ ก็ละอยาก
ต้องลำบาก ทำชีวิต ให้ตกต่ำ
ก่อให้เกิด จองเวร และสร้างกรรม
บุญไมทำ แต่กรรมผิด ติดตามตน
๐ เพราะตัณหา อัตตา และมานะ
ที่ไม่ละ ไม่วาง จึงให้ผล
ต้องกลุ้มใจ ไร้สุข ต้องทุกข์ทน
นั้นคือผล ของกรรม ที่ทำมา
๐ ความพอดี พอเพียง เลี้ยงชีวิต
รู้ถูกผิด ในกิเลส และตัณหา
รู้แล้วละ รู้แล้ววาง ด้วยปัญญา
จะนำพา ชีวิต จิตเจริญ
๐ เจริญธรรม ล้ำเลิศ ประเสริฐนัก
มีคนรัก คนชม และสรรเสริญ
เจริญธรรม นำใจ ให้เพลิดเพลิน
สุขใดเกิน สุขในธรรม องค์สัมมา
๐ สุขทางโลก นั้นไม่นาน ก็จางหาย
พอสุขคลาย จิตก็ทุกข์ มีปัญหา
สุขในธรรม นั้นดำรง ทรงเรื่อยมา
ก็เพราะว่า ใจนั้น มันเพียงพอ......

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
72


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๗๙...

...สัจธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่เพ้อฝันหรือ
จินตนาการเหมือนที่ผ่านมา เมื่อก่อนนั้น
เราเรียกร้องแสวงหาเพื่อสนองตอบความ
ต้องการของเรา เราไปเรียกร้องให้ผู้อื่น
ปฏิบัติ เพื่อสนองตอบความต้องการ
ของตัวเรา เราอยู่ในโลกแห่งความฝัน
ในโลกแห่งจินตนาการ โดยคิดว่าสิ่งนั้น
คือสัจธรรม แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป เราได้รู้
เราได้เข้าใจในโลกใบนี้ ในวิถีของสัตว์โลก
ที่แตกต่างกัน จึงทิ้งความฝันมาสู่ความจริง
ของชีวิต พยายามปลีกตัวออกจากกระแส
ของโลกธรรม ๘ เข้าสู่กระแสธรรมเพื่อไป
ให้ถึงซึ่งความสงบสุขที่บริสุทธิ์ ไร้ซึ่งกิเลส
ตัณหาและอุปาทาน
...เดินไปบนเส้นทางธรรม พยายามที่จะ
ดำเนินชีวิตไปตามพระธรรมเดินตามคำ
สั่งสอนของพระพุทธองค์ ทำเท่าที่จะทำได้
ตามสติปัญญาและบุญกุศลของเรา
ไม่ใช่เป็นการเห็นแก่ตัว แต่เราต้อง
เอาตัวให้รอดเสียก่อน ก่อนที่เราจะ
ไปช่วยผู้อื่น ก่อนที่จะไปสอน ไปแนะนำ
ผู้อื่น เรานั้นต้องรู้ ต้องเข้าใจและทำได้
ให้รู้จริง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด
ในการแนะนำสั่งสอนเขา เราจึงต้อง
ฝึกหัดปฏิบัติที่ตัวเรา เพื่อให้เกิดความ
กระจ่างชัดในสภาวธรรมทั้งหลาย
ทำความรู้ความเข้าใจของเรานั้น
ให้ถูกต้องสอดคล้องในหลักธรรม
ก่อนจะนำไปเผยแผ่แก่คนทั้งหลาย......
...ขอบคุณบุญเก่าที่ให้เราได้มาสู่
เส้นทางสายธรรม ขอบคุณกุศลกรรม
ที่ได้ทำมาแล้วในชาตินี้....

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม...
...๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
73


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๗๘...

... สรรพสิ่งล้วนเคลื่อนไหวไปตาม
กฎแห่งธรรมชาติ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่
แล้วดับไป ซึ่งเงื่อนไขของกาลเวลานั้น
อาจจะแตกต่างกันไป ตามเหตุปัจจัย
ของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น จนบางครั้ง
เราแทบจะไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง
ของความเสื่อมสลายที่กำลังเกิดขึ้น
อยู่ทุกขณะ จึงเข้าไปยึดติดและยึดถือ
ในสิ่ง เหล่านั้น อยากจะให้มันเป็นไป
ตามที่ใจของเรานั้นปรารถนาให้เป็น
...ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านั้นตอบสนองความ
ต้องการของเราได้ เราก็จะยินดีและ
เพลิดเพลินไปกับมัน แต่ถ้าสิ่งนั้น
ไม่เป็นไปตามที่ใจของเราปรารถนา
และต้องการแล้ว ก็จะเกิดความขุ่นใจ
ความคับแค้นใจ ความทุกข์ทั้งหลาย
ก็จะเกิดขึ้นในจิต เพราะว่าเราไปยึดติด
ในความต้องการของเราเกินไป ไม่เข้าใจ
และยอมรับในความเป็นจริงของสิ่ง
ทั้งหลายทั้งปวง ที่มันต้องดำเนินไป
ตามกฎแห่งธรรมชาติทั้งหลาย...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
74


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๗๗...

...ธรรมทั้งหลายนั้นไม่มีใครเป็น
เจ้าของ เป็นของที่อยู่คู่กับธรรมชาติ
คู่โลกกันมา เพียงแต่การใช้ภาษา
ในการสื่อนั้น อาจจะแตกต่างกัน
ในสำนวนและลีลา แต่เนื้อหาและ
ความหมายต่างก็ไปในทิศทางเดียวกัน
คือการสร้างสรรค์ให้โลกนี้สงบและร่มเย็น
ชี้ให้เห็นคุณและโทษของกิเลสทั้งหลาย
เป็นไปเพื่อความจางคลายในทิฏฐิมานะ
อัตตา ตัณหาและอุปาทาน ธรรมนั้นจึง
ไม่ควรมีการสงวนลิขสิทธิ์ยึดถือมาเป็น
ของผู้ใดแต่ผู้เดียว ทุกอย่างนั้นขึ้นอยู่
กับความรู้สึกนึกคิดและจิตสำนึกของ
แต่ละคน ที่จะแสวงหาผลประโยชน์
จากธรรมนั้น
...ชีวิตในแต่ละวัน ต้องพบปะและสื่อสาร
กันกับผู้คนมากมาย แม้นจะหลบหลีก
มาอยู่ในที่ ห่างไกลจากชุมชนแล้วก็ตาม
ก็ยังมีคนพยายามที่จะไปมาหาสู่ ขึ้นมา
เยี่ยมเยือนพบปะพูดคุย ที่อยู่ห่างไกล
ก็ใช้การสื่อสารสมัยใหม่ในยุคไอที
เพื่อที่จะได้คุยกัน โลกและธรรมนั้น
จึงต้องดำเนินไปคู่กัน
...จึงเอาปัจจุบันธรรมมาพิจารณาเป็น
อารมณ์กรรมฐาน พิจารณาสิ่งทั้งหลาย
ที่ได้เห็นให้เป็นธรรมะ พิจารณาให้เห็น
ถึงคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่
ประโยชน์ในสิ่งนั้น พิจารณาลงไปใน
อริยสัจ ๔ให้เห็นปัญหา ให้เห็นที่มา
เห็นที่ดับและทางไปอันได้แก่ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค โดยใช้หลักของ
พระไตรลักษณ์มาเป็นพื้นฐาน เห็นความ
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณา
ให้เห็นและเข้าใจจนเกิดความเบื่อหน่าย
จางคลาย ในทิฏฐิมานะ อัตตา ตัณหา
และอุปาทาน เห็นการเกิดดับของ
โลกธรรมทั้ง ๘ จนจิตจางคลายไม่เข้าไป
ยึดถือในสิ่งนั้น วางจิตเป็นกลางและมอง
ทุกอย่างเป็นธรรมะ แล้วจะเกิดการลดละ
ด้วยสภาวะจิตที่เข้าถึงธรรม...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
75


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๗๖...

...ในความเรียบง่าย ไร้รูปแบบนั้น
ต้องไม่เป็นภัยต่อชีวิตตนเอง
ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อื่น ไม่ฝ่าฝืน
พระธรรมวินัยและกฎระเบียบของสังคม
เป็นไปตามความเหมาะสมของจังหวะ
เวลา โอกาส สถานที่ บุคคล อยู่บน
พิ้นฐานของเหตุและผล ปัจจัยองค์
ประกอบทั้งหลาย
...เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศล
เป็นมงคลแก่ชีวิต จากสิ่งที่คิดและกิจ
ที่ทำ นั้นคือความ “ เรียบง่าย ไร้รูปแบบ
แต่ไม่ไร้สาระ “ เป็นกิจที่สมณะนั้นควรคิด
ควรทำในการดำเนินชีวิต เพื่อพัฒนา
ทางจิต ไปสู่ความสงบเพื่อความจาง
คลายของอัตตา กิเลส ตัณหาและ
อุปทานทั้งหลาย เพื่อความเป็นผู้
ที่เลี้ยงง่าย ไม่สร้างความลำบากใจ
ความอึดอัดและความกดดันให้แก่
บุคคลรอบข้าง ให้ทุกอย่างเป็นไป
ตามสามัญลักษณะของธรรมชาติ
ที่มันควรจะเป็น โดยมีธรรมวินัย
เป็นกฎกติกาของชีวิตและเป็นกิจ
ที่ต้องกระทำ
...อย่าได้ไปตั้งกฎกติกาใหม่ขึ้นมา
เพื่อสนองตอบตัณหาของตนเอง
ไม่ควรตัด ไม่ควรเติม เพิ่มในสิ่งที่
พระพุทธองค์นั้น ทรงตรัสไว้ชอบแล้ว
ตรัสไว้ดีแล้ว เพราะสิ่งที่ไปตัดออก
หรือเพิ่มเข้ามาใหม่นั้น มันมาจาก
ตัณหา ความอยากความต้องการ
ของเราเองทั้งนั้น ที่อยากจะให้มัน
เป็นไปตามที่ใจของเรานั้นปรารถนา
และต้องการ มันจึงเป็นการสร้างรูปแบบ
ขึ้นมาเพื่อสนองตอบตัณหาของตัวเราเอง...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
76


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๗๕...

...ทบทวนถึงอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่สมัย
เป็นฆราวาส นับแต่ก้าวเท้าออกจาก
บ้าน มาใช้ชีวิตในโลกกว้าง มีเพียง
เพื่อนร่วมทางที่ช่วยประคับประคอง
กันมา สี่สิบกว่าปีกับชีวิตที่มีแต่คำว่า
เพื่อนร่วมทาง
...มันจึงเป็นสิ่งที่ผูกพันกันมายาวนาน
เป็นสิ่งเดียวที่ยังละ ยังทิ้งไปไม่ได้
ภาษาธรรมเรียกว่า " คณะปลิโพธ "
คือความกังวลใจในหมู่คณะที่เคย
อยู่ร่วมกันมา มีความใกล้ชิดสนิท
สนมคุ้นเคยกันมา
...พยายามจัดวางแนวทางของชีวิต
ให้แก่คนใกล้ชิดคนคุ้นเคย เพื่อละ
ซึ่งปลิโพธ ในยามที่จะต้องปลีกตัว
ปลีกวิเวก สู่เส้นทางของสายธรรม
อย่างเต็มตัว เพื่อไปสู่จุดหมายที่
ปรารถนาตั้งใจไว้ นั้นคือบทสุด
ท้ายของการเดินทาง...
...รำพันคำกวี...
... (ผูกพัน...เชื่อมั่น...ศรัทธา)...
๐ ถนน...ร้อยพันสาย
สู่จุดหมาย...แห่งเดียวกัน
ร้อยใจ...สายสัมพันธ์
เพราะเชื่อมั่น...และศรัทธา
๐ หลายหลาก...แนวความคิด
ต่างมีจิต...แสวงหา
เดินผ่าน...กาลเวลา
ได้พึ่งพา...เลยผูกพัน
๐ ร้อยเรียง...เคียงคู่เดิน
พร้อมเชื้อเชิญ...เดินร่วมกัน
สายใย...สายสัมพันธ์
ความผูกพัน...เกิดจากใจ
๐ ร่วมทุกข์...และร่วมสุข
อยู่ร่วมยุค...ร่วมสมัย
ร่วมกาย...และร่วมใจ
แม้นห่างไกล...คิดถึงกัน
๐ ติดตาม...ถามข่าวคราว
ถึงเรื่องราว...เพื่อแบ่งปัน
สุขทุกข์...ที่มีนั้น
พร้อมฝ่าฟัน...ร่วมกายใจ
๐ เพื่อนทุกข์...เราทุกข์ด้วย
อยากจะช่วย...เข้าแก้ไข
เรื่องร้าย...ให้คลายไป
อยากจะให้...เพื่อนผ่อนคลาย
๐ ศรัทธา...และเชื่อมั่น
ร้อยใจกัน...มิตรสหาย
ศรัทธา...อย่าได้คลาย
อย่าลืมสาย...ใยสัมพันธ์
๐ ถนน...ร้อยพันสาย
มีจุดหมาย...ที่ปลายฝัน
พันคืน...หรือหมื่นวัน
ความผูกพัน...มิลืมเลือน.......

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...แด่มิตรสหายร่วมยุคสมัย...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
77


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๗๔...

...ในการสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะหรือ
สภาวธรรมในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายนั้น
สิ่งที่พึงจะสังวรก็คือการแสดงความ
คิดเห็นนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของความ
เหมาะสม พอดีพอเหมาะและพอควร
มากเกินไปมันจะกลายเป็นความฟุ้งซ่าน
ไร้สาระน่าเบื่อหน่ายต่อผู้รับ ทำให้ความ
คิดเห็นต่อๆไป กลายเป็นสิ่งที่ถูกปฏิเสธ
ไม่ได้รับความสนใจ ทั้งที่อาจจะเป็น
ความคิดเห็นที่ดีๆ
...สิ่งนั้นคือเรื่องของกาลเทศะ การรู้จัก
จังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และบุคคล
ที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจ ในการ
แสดงความคิดเห็นและการสนทนากับผู้อื่น...
... เป็นคำพูดที่ได้กล่าวแก่ผู้มาปฏิบัติธรรม
อยู่เสมอ ถึงเรื่องที่ควรระวังในการแลกเปลี่ยน
ความคิดเห็น การพูดคุยเพื่อนำไปสู่ความรู้
ความเข้าใจและการตอบรับของผู้ฟัง.....
...รอยทาง รอยธรรม...
๐ รอยทาง นั้นสร้าง รอยธรรม
รอยย่ำ นั้นคือ รอยทาง
รอยธรรม นั้นคือ แบบอย่าง
แนวทาง ที่ได้ ก้าวนำ
๐ เรียบเรียง นำมา บอกเล่า
ให้เข้า ใจใน หลักธรรม
ออกจาก โลกที่ มืดดำ
น้อมนำ สู่เส้น ทางดี
๐ หลายหลาก มากมาย มุมมอง
สนอง ตอบใน ทุกที่
แนวทาง ตัวอย่าง วิธี
นั้นมี ให้เรา เดินตาม
๐ เดินตาม เส้นทาง สายธรรม
ชี้นำ ให้เรา ก้าวข้าม
หุบเหว วัฏฏะ ขวากหนาม
เดินตาม สายธรรม กรรมดี
๐ กรรมดี นั้นจะ ส่งผล
มงคล เสริมค่า ราศี
จิตดี ส่งให้ กายดี
จะมี ความสุข ที่ใจ
๐ สุขใจ เพราะไร้ ซึ่งทุกข์
พบสุข พบความ สดใส
ชีวิต ก้าวเดิน ต่อไป
เพราะได้ เดินตาม ทางธรรม...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
78


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๗๓...

...การพูดหรือการแสดงออกทางกายนั้น
บางครั้งทำให้เรารู้ถึงความรู้สึกนึกคิด
และอารมณ์ของเขา เพราะคำพูด สีหน้า
แววตา มันสื่อถึงความรู้สึกภายในของเขา
ซึ่งถ้าเราเป็นผู้ฟังหรือคู่สนทนา ควรที่จะ
สังเกตในอาการเหล่านั้น เพราะการพูด
นั้นมันสื่อให้รู้ถึงภูมิปัญญาของผู้พูด
ว่ารู้จริงหรือไม่ หรือว่าได้แต่พูดโดย
ไม่รู้จริง แต่คนที่นิ่ง ไม่พูด ไม่แสดง
ออกนั้น เราจะอ่านความรู้สึกนึกคิด
เขายาก เพราะเขาไม่ยอมเผยตัวตน
ที่แท้จริงออกมา
...เหมือนดั่งคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า
" น้ำนิ่งไหลลึก " เราไม่รู้ว่าเขาคิด
อย่างไร เหมือนกับสายน้ำที่ลึกและ
กว้างใหญ่ ผืนน้ำด้านบนคล้ายดั่ง
สงบนิ่ง แต่เบื้องล่างกระแสน้ำนั้น
ไหลเชี่ยวและแรง ฉะนั้นอย่าได้รีบ
ตัดสินโดยสายตาที่มองเห็น จงคิด
และพิจารณาให้ถ้วนถี่ รอบคอบ
เสียก่อน จึงตัดสินว่ามันเป็นอย่างไร
...คนเรานั้นอย่ารีบด่วนสรุปว่าเขา
เป็นอย่างไร โดยเพียงคำพูดหรือ
การกระทำที่เราเพิ่งจะเห็น เพิ่งจะรู้
หรือพึ่งจะได้ยิน ต้องศึกษากันไปก่อน
ให้คุ้นเคยกัน แล้วจึงจะสรุปว่าเขา
เป็นอย่างไร
...ซึ่งจะขอยกคำคมมากล่าวอ้างเพื่อ
ให้เป็นแบบอย่างในการคิดและพิจารณา
ว่าเขาเป็นอย่างไร ก่อนที่จะตัดสินใจ
ในตัวบุคคลเหล่านั้น ซึ่งมีดั่งนี้
...จะรู้ว่าใครมีศีลหรือไม่
ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ
...จะรู้ว่าใครมือสะอาดหรือไม่
ต้องดูที่การทำงาน
...จะรู้ว่าใครมีปัญญาหรือไม่
ต้องดูที่การสนทนา
...จะรู้ว่าใครมีกำลังใจเข้มแข็งหรือไม่
ต้องดูที่คราวคับขัน...
...ทุกสิ่งอย่างนั้น กาลเวลาจะเป็นตัว
พิสูจน์ในตัวบุคคลและผลของงาน....

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๓๑ มกราคม ๒๕๖๕...
79


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๗๒...

...การพูดหรือการแสดงออกทางกายนั้น
บางครั้งทำให้เรารู้ถึงความรู้สึกนึกคิด
และอารมณ์ของเขา เพราะคำพูด สีหน้า
แววตา มันสื่อถึงความรู้สึกภายในของเขา
ซึ่งถ้าเราเป็นผู้ฟังหรือคู่สนทนา ควรที่จะ
สังเกตในอาการเหล่านั้น เพราะการพูด
นั้นมันสื่อให้รู้ถึงภูมิปัญญาของผู้พูด
ว่ารู้จริงหรือไม่ หรือว่าได้แต่พูดโดย
ไม่รู้จริง แต่คนที่นิ่ง ไม่พูด ไม่แสดง
ออกนั้น เราจะอ่านความรู้สึกนึกคิด
เขายาก เพราะเขาไม่ยอมเผยตัวตน
ที่แท้จริงออกมา
...เหมือนดั่งคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า
" น้ำนิ่งไหลลึก " เราไม่รู้ว่าเขาคิด
อย่างไร เหมือนกับสายน้ำที่ลึกและ
กว้างใหญ่ ผืนน้ำด้านบนคล้ายดั่ง
สงบนิ่ง แต่เบื้องล่างกระแสน้ำนั้น
ไหลเชี่ยวและแรง ฉะนั้นอย่าได้รีบ
ตัดสินโดยสายตาที่มองเห็น จงคิด
และพิจารณาให้ถ้วนถี่ รอบคอบ
เสียก่อน จึงตัดสินว่ามันเป็นอย่างไร
...คนเรานั้นอย่ารีบด่วนสรุปว่าเขา
เป็นอย่างไร โดยเพียงคำพูดหรือ
การกระทำที่เราเพิ่งจะเห็น เพิ่งจะรู้
หรือพึ่งจะได้ยิน ต้องศึกษากันไปก่อน
ให้คุ้นเคยกัน แล้วจึงจะสรุปว่าเขา
เป็นอย่างไร
...ซึ่งจะขอยกคำคมมากล่าวอ้างเพื่อ
ให้เป็นแบบอย่างในการคิดและพิจารณา
ว่าเขาเป็นอย่างไร ก่อนที่จะตัดสินใจ
ในตัวบุคคลเหล่านั้น ซึ่งมีดั่งนี้
...จะรู้ว่าใครมีศีลหรือไม่
ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ
...จะรู้ว่าใครมือสะอาดหรือไม่
ต้องดูที่การทำงาน
...จะรู้ว่าใครมีปัญญาหรือไม่
ต้องดูที่การสนทนา
...จะรู้ว่าใครมีกำลังใจเข้มแข็งหรือไม่
ต้องดูที่คราวคับขัน...
...ทุกสิ่งอย่างนั้น กาลเวลาจะเป็นตัว
พิสูจน์ในตัวบุคคลและผลของงาน....

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๓๐ มกราคม ๒๕๖๕...
80


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๗๑...

...การเจริญภาวนานั้นเป็นเครื่องชำระจิตใจ
ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ที่กระทำไปนั้น
มีความหมาย เพื่อที่จะกำจัดกิเลสภายใน
ใจของเรา ไม่ใช่ทำไปเพื่อสนองตัณหา
ให้ก่อเกิดมานะอัตตา แต่เป็นไปเพื่อความ
ลดละแห่งกิเลสตัณหา ด้วยการพิจารณา
ดูกาย ดูจิต ดูความคิดของตัวเราเอง
ดูตัวเราว่ามีปัญญาพิจารณาธรรมเป็นไหม
และจะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดความเจริญ
ในธรรมเพิ่มขึ้น
...พิจารณาไตร่ตรองด้วยสติปัญญา ละอัตตา
ค้นหาความจริงในกายในจิตของเรา ยอมรับใน
ความเป็นจริงในสิ่งที่เรามีและเราเป็น มองให้
เห็นความเสื่อมทั้งหลายอันได้แก่กิเลส ตัณหา
อัตตา มานะที่มีอยู่ในจิตของเรา ซึ่งเราจำเป็น
ที่จะต้องรู้และต้องเห็นเสียก่อน จึงจะเข้าไป
ลดละมันได้ เพราะว่าไม่มีใครที่จะรู้จักตัวเรา
เท่ากับตัวของเราเอง ขอเพียงเราให้เวลาแก่
ชีวิตจิตวิญญาณของตัวเราเองให้มากกว่า
ที่เป็นอยู่ แล้วเราจะรู้จักตัวเราเอง...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒๙ มกราคม ๒๕๖๕...
หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 [8] 9 10