กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 [9] 10
81


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๗๐...

...กาลเวลานั้นย่อมหมุนเวียนและเปลี่ยนไป
ไม่มีเวลาที่จะสิ้นสุดและหยุดนิ่งสรรพสิ่ง
ย่อมเคลื่อนไหว โลกนั้นแปรเปลี่ยนไป
อยู่ตลอดเวลา ไม่เคยหยุดนิ่ง กระแส
แห่งโลกนั้นจึงไม่มีวันที่จะสิ้นสุดและ
หยุดอยู่ แต่จิตของมนุษย์นั้นย่อมมีวัน
ที่จะสิ้นสุดและหยุดนิ่ง ถ้าได้รู้และได้
เห็นถึงความเป็นจริงของชีวิตจิตวิญญาณ
ตนเอง สิ้นสุดได้ด้วยการที่รู้จักพอ
โดยไม่ร้องขอและแสวงหาอีกต่อไป
...ความสำเร็จของชีวิตนั้นคือรางวัลของชีวิต
ซึ่งมิได้วางไว้ในจุดเริ่มต้นของการเดินทาง
การทำงานทุกสิ่งอย่างย่อมมีอุปสรรคและ
ปัญหา เหมือนกับคำที่กล่าวว่า “เส้นทางนั้น
มิได้โรยด้วยกลีบดอกกุหลาบเสมอไป
ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ การเดินทาง
ของชีวิตนั้นยังไม่จบ ไม่มีคำว่าล้มเหลว
ในชีวิต เพราะสิ่งที่ผ่านมานั้นมันล้วนเป็น
บทเรียนของชีวิตที่จะพัฒนาจิตของเรา
ให้ก้าวเดินต่อไป....

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒๘ มกราคม ๒๕๖๕...
82


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๖๙...

...งานเลี้ยงย่อมมีการเลิกลา...
....พบเจอกันแล้วก็ต้องจากลา
ทุกคนต่างมีภารกิจและหน้าที่
ที่ต้องกระทำ ทุกคนมีวิถีชีวิต
ที่ลิขิตขึ้นมาด้วยตนเองทั้งนั้น
การได้มาพบกันนั้นมิใช่เรื่องบังเอิญ
มันมีเหตุและปัจจัยที่เคยทำร่วมกันมา
จึงต้องมาพบเจอและร่วมงานกัน
...ขอบคุณมิตรสหายทั้งสายโลก
และสายธรรม ที่ให้การสนับสนุน
มาแต่ต้นจนจบ ทั้งที่เป็นแรงกาย
แรงใจรวมทั้งสิ่งของและกำลังทรัพย์
จนทำให้วัตถุประสงค์นั้นสำเร็จ
ตามเป้าหมายที่คาดการไว้
...ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ
ที่ได้ร่วมกันมา นำพาไปสู่ความ
สำเร็จ ความสำเร็จนำมาซึ่งชื่อเสียง
เกียรติยศของหมู่คณะและองค์กร
จงเก็บความรู้สึกที่ดีๆไว้ในความ
ทรงจำ ศรัทธาจงตั้งมั่นอย่าหวั่นไหว
เชื่อมั่นในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ
แล้วจะนำมาซึ่งความสุขใจ
มีความเจริญในทางโลกและ
ทางธรรมโดยทั่วกัน
...ใช้เวลาว่างจากภารกิจนั้นมา
สรุปเหตุการณ์ที่ผ่านมาในแต่ละ
ช่วงเวลา พิจารณาในทุกอย่าง
แล้วมาเทียบเคียงกับหลักธรรม
นำมาประยุกต์เพื่อให้สอดคล้อง
กับชีวิตในความเป็นจริง พยายาม
มองทุกสิ่งให้เป็นเรื่องหลักธรรม
เพื่อควบคุมอารมณ์ของตนเอง
ไม่ให้คล้อยตามกระแสโลกจนเกินไป
พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ เรียนรู้อยู่กับ
ความพอเพียงแล้วก็จะพบกับความ
เพียงพอของชีวิต...
... แด่น้ำใจของมิตรสหายที่ให้มา...

...ปรารถนาดี-งด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒๗ มกราคม ๒๕๖๕...
83


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๖๘...

...ธรรมทั้งหลายนั้นไม่มีใครเป็น
เจ้าของ เป็นของที่อยู่คู่กับธรรมชาติ
คู่โลกกันมา เพียงแต่การใช้ภาษา
ในการสื่อนั้น อาจจะแตกต่างกัน
ในสำนวนและลีลา แต่เนื้อหาและ
ความหมายต่างก็ไปในทิศทางเดียวกัน
คือการสร้างสรรค์ให้โลกนี้สงบและร่มเย็น
ชี้ให้เห็นคุณและโทษของกิเลสทั้งหลาย
เป็นไปเพื่อความจางคลายในทิฏฐิมานะ
อัตตา ตัณหาและอุปาทาน ธรรมนั้นจึง
ไม่ควรมีการสงวนลิขสิทธิ์ยึดถือมาเป็น
ของผู้ใดแต่ผู้เดียว ทุกอย่างนั้นขึ้นอยู่
กับความรู้สึกนึกคิดและจิตสำนึกของ
แต่ละคน ที่จะแสวงหาผลประโยชน์
จากธรรมนั้น
...ชีวิตในแต่ละวัน ต้องพบปะและสื่อสาร
กันกับผู้คนมากมาย แม้นจะหลบหลีก
มาอยู่ในที่ ห่างไกลจากชุมชนแล้วก็ตาม
ก็ยังมีคนพยายามที่จะไปมาหาสู่ ขึ้นมา
เยี่ยมเยือนพบปะพูดคุย ที่อยู่ห่างไกล
ก็ใช้การสื่อสารสมัยใหม่ในยุคไอที
เพื่อที่จะได้คุยกัน โลกและธรรมนั้น
จึงต้องดำเนินไปคู่กัน
...จึงเอาปัจจุบันธรรมมาพิจารณาเป็น
อารมณ์กรรมฐาน พิจารณาสิ่งทั้งหลาย
ที่ได้เห็นให้เป็นธรรมะ พิจารณาให้เห็น
ถึงคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่
ประโยชน์ในสิ่งนั้น พิจารณาลงไปใน
อริยสัจ ๔ให้เห็นปัญหา ให้เห็นที่มา
เห็นที่ดับและทางไปอันได้แก่ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค โดยใช้หลักของ
พระไตรลักษณ์มาเป็นพื้นฐาน เห็นความ
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณา
ให้เห็นและเข้าใจจนเกิดความเบื่อหน่าย
จางคลาย ในทิฏฐิมานะ อัตตา ตัณหา
และอุปาทาน เห็นการเกิดดับของ
โลกธรรมทั้ง ๘ จนจิตจางคลายไม่เข้าไป
ยึดถือในสิ่งนั้น วางจิตเป็นกลางและมอง
ทุกอย่างเป็นธรรมะ แล้วจะเกิดการลดละ
ด้วยสภาวะจิตที่เข้าถึงธรรม...

...วันเวลาผ่านไปไม่เคยหยุดนิ่ง
สรรพสิ่งเสื่อมทรามตามสมัย
เมื่อศีลธรรมไม่กลับมาโลกบรรลัย
เพราะจิตใจเสื่อมทรามตามเวลา
...แม้นสายลมสายน้ำจะเปลี่ยนทิศ
แต่ดวงจิตนั้นควรจะรักษา
ให้มั่นคงดำรงค์ซึ่งศรัทธา
แล้วศีลธรรมจะกลับมาสู่จิตใจ...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒๖ มกราคม ๒๕๖๕...
84


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๖๗...

...กว่าจะถึงวันนี้ของชีวิต...
...ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติสายวัดป่าจาก
สายของหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง
...เสริมปัญญาศึกษาหาความรู้ทาง
วิชาการจากหลวงพ่อพุทธทาสแห่ง
สวนโมกขพลาราม
...เรียนรู้เรื่องสมาธิและการใช้จิตสมถะ
ในเชิงพลังงานจากหลวงพ่อเปิ่น
วัดบางพระ
...ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อจำเนียร
เมื่อครั้งอยู่วัดถ้ำเสือฯเรื่องการพริ้วไหว
ใช้จิตให้เป็น
...หลวงพ่อจำเนียรท่านเมตตาต่อลูกศิษย์
ที่เป็นพระ ท่านจะแนะนำให้ลูกศิษย์นั้นไป
ศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่างๆ
ท่านได้แนะนำชี้ทางให้
...ไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับหลวงพ่อชา
...ไปศึกษาหาความรู้กับหลวงพ่อพุทธทาส
...ไปศึกษาสรรพศาสตร์กับหลวงพ่อเปิ่น
...แล้วกลับมาฝึกฝนตนเองที่วัดถ้ำเสือ
...ซึ่งข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของ
หลวงพ่อจำเนียรครบทั้ง 4 สำนัก จึงทำให้
มีหลายหลากบทบาทและลีลาในความ
เป็นสมณะ
...ระลึกและสำนึกในความเมตตาของ
ครูบาอาจารย์และบุญคุณของสถานที่
ที่เคยได้พักอาศัย " กตัญญู บูชาครู "...

...ร้อยเรียงเรื่องราวตามรายทาง...
๐ จะร้อยเรียง เรื่องราว และข่าวสาร
ประสบการณ์ ผ่านตา มาให้เห็น
สอนให้จำ ทำให้ดู อยู่ให้เป็น
ไม่ยากเย็น เกินกว่า พยายาม
๐ มองหมู่เมฆ เคลื่อนคล้อย ลอยบนฟ้า
แล้วแต่ลม นำพา ไม่ไถ่ถาม
ไม่มีสิทธิ์ ร้องขอ หรือต่อความ
เจ้าลอยตาม แรงลม ที่พัดพา
๐ จากกลุ่มน้อย ลอยมา พาประสาน
จึงเกิดการ รวมตัว บนท้องฟ้า
เป็นก้อนใหญ่ เคลื่อนไหว อยู่ไปมา
อีกไม่ช้า ก็จะกลาย เป็นสายฝน
๐ แล้วร่วงหล่น ลงมา สู่เบื้องล่าง
ทุกสิ่งอย่าง ล้วนมี ซึ่งเหตุผล
มีที่มา ที่ไป ใช่วกวน
ไม่เหมือนคน ที่ใจ ไม่แน่นอน
๐ ใจคนนั้น ผันแปร แล้วแต่จิต
เปลี่ยนความคิด จิตใจ ให้ยอกย้อน
ไม่มีความ เที่ยงแท้ และแน่นอน
จิตปลิ้นปล้อน กลับกลอก หลอกเหมือนลิง
๐ เพราะกิเลส ตัณหา พาให้คิด
แปรเปลี่ยนจิต ไปกับ ทุกทุกสิ่ง
ไม่ยอมรับ ความเห็น ที่เป็นจริง
จิตไม่นิ่ง เพราะขาดธรรม จะนำทาง
๐ จิตที่มี คุณธรรม นำความคิด
รู้ถูกผิด ดีชั่ว ทุกสิ่งอย่าง
รูจักการ ปล่อยปละ และละวาง
ธรรมจะสร้าง จิตสงบ พบความจริง
๐ มีสติ และสัม-ปชัญญะ
จิตก็จะ พบความ สงบนิ่ง
ได้รู้โลก รู้ธรรม ที่เป็นจริง
จิตจะนิ่ง สงบ เมื่อพบธรรม...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒๕ มกราคม ๒๕๖๕...
85


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๖๖...

...ในยามดึกสงัดของราตรีหนึ่ง
นั่งมองจันทร์ที่ริมหน้าต่าง
ดูลมหายใจเข้าออกของตนเอง
ภายนอกเคลื่อนไหวภายในสงบนิ่ง
เสียงหรีดหริ่งเรไรดังแว่วมาแผ่วเบา
คล้ายเสียงดนตรีแห่งรัตติกาล
พระจันทร์เสี้ยวของคืนขึ้นหกค่ำ
หมู่ดาวที่พราวแสงบนท้องฟ้า
ธรรมชาติจัดสรรมาได้อย่างลงตัว.....
...ราตรีภายใต้แสงจันทร์เสี้ยว
ผู้คนมากมายแต่คล้ายกับโดดเดี่ยว
นั่งเขียนบทกวีที่ริมหน้าต่างยามค่ำคืน
บอกเล่าเรื่องราวแห่งประสบการณ์
จิตร่าเริงเบิกบานอยู่ในธรรม
ใต้แสงเดือนแสงดาวที่ส่องลงมา
กับเวลาที่กำลังจะผ่านไป
ค้นพบสิ่งแปลกใหม่ขึ้นมาในจิต
เมื่อได้ใคร่ครวญคิดพิจารณา....
...วันเวลาของชีวิตที่กำลังดำเนินไป
ได้พบเห็นและเข้าใจในหลายสิ่ง
เห็นความจริงที่เป็นสัจธรรมของชีวิต
เรียนรู้สิ่งถูกผิดนั้นมามากมาย
จนมาถึงบทสุดท้ายของชีวิต
เมื่อหันมาศึกษาและค้นหาตนเอง
ดูกาย ดูจิต ดูความคิด ดูการกระทำ
น้อมนำเข้ามาสู่ตัวของเราเอง
คือบทเรียนสุดท้ายที่ต้องศึกษาและปฏิบัติ...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒๔ มกราคม ๒๕๖๕...
86


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๖๕...

...การปลดเปลื้องภาระทั้งหลายใกล้
จะสิ้นสุดลงในไม่ช้านี้ พยายามเร่งบริหาร
จัดการให้ทุกอย่างที่วางแผนไว้ให้ลงตัว
ให้ทุกอย่างเดินต่อไปได้ด้วยตัวของมันเอง
รอวันเวลาที่จะกลับคืนสู่สามัญ เพื่อเดินไป
ตามเส้นทางที่มุ่งหวังและตั้งใจ กลับไปสู่
ธรรมชาติแห่งธรรมอย่างแท้จริง...
...ธรรมชาติแห่งธรรม...
...สรรพสิ่งไม่หยุดนิ่งเคลื่อนไหว
แปรเปลี่ยนไปตามจังหวะและฤดูกาล
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ไม่นานก็ดับสะลายไป
สิ่งใหม่ก็เคลื่อนไหวเกิดข้นแทนที่
เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องสืบต่อเรื่อยมา
จนไม่รู้ว่ามีการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป
เพราะว่าจิตใจนั้นหลงใหลเผลอสติ
ลืมกายลืมจิตไม่ได้คิดพิจารณา
จึงไม่รู้ว่ามีการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปทุกขณะ...
...ธรรมะเป็นเรื่องของการกระทำ
ไม่ใช่คำสอนที่อยู่ในคัมภีร์หรือใบลาน
ไม่ใช่การอ่านให้จำได้แล้วเอาไปอวดรู้
ธรรมะทั้งหลายอยู่ที่กายและที่จิต
อยู่ในทุกความคิดและทุกอย่างที่ทำ
เพราะว่าธรรมะนั้นคือธรรมชาติของจิต
ที่เปลี่ยนแปลงไปตามจังหวะเวลาและโอกาส
สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหลาย...
...ดูหนังดูละครแล้วจงย้อนมาดูกาย
ให้ใจนั้นมาอยู่กับเนื้อกับตัว
ไม่หลงเมามัวไปตามกิเลสและตัณหา
มีสติสัมปชัญญะระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อม
น้อมเข้ามาระลึกรู้ถึงกายและจิตของตัวเอง
ดูกาย ดูจิต ให้รู้ความคิด ให้รู้การกระทำ
มีคุณธรรมคือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
คุ้มครองจิตในการที่จะคิดและในการที่จะกระทำ
ทำได้อย่างนั้นแล้วท่านจะพบกับความสุขในชีวิต...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๒๓ มกราคม ๒๕๖๕...
87


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๖๔...

...อยู่กับปัจจุบันธรรม ด้วยการเจริญสติ
และสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ไม่หนีปัญหา
ด้วยการหลบเข้าอารมณ์สมาธิ ใช้สติและ
ปัญญาพิจารณาหาเหตุ หาปัจจัยของอารมณ์
ทั้งหลายที่เกิดขึ้น แล้วเข้าไปดับที่เหตุ
โดยการพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ
เห็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ของอารมณ์
ทั้งหลายเหล่านั้น จนเกิดความกลัวความ
ละอายต่ออกุศลจิตทั้งหลาย เกิดธรรมสังเวช
ขึ้นในจิต เพื่อให้จิตถอดถอนจากการยึดถือ
จนเกิดความเบื่อหน่ายจางคลาย เกิดการ
ปล่อยวาง เมื่อจิตไม่เข้าไปเกี่ยวข้องยึดถือแล้ว
มันก็ดับเหตุไปได้ครั้งหนึ่ง ซึ่งเราจะต้องพยายาม
ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนเกิดเป็นความเคยชิน
ความชำนาญ ในการคิดพิจารณา รู้เท่าทันอารมณ์
ทั้งหลายที่เกิดขึ้น และดับอารมณ์เหล่านั้นให้ได้
รวดเร็วขึ้น จนเป็นวสี เป็นอุปนิสัย แล้วเราจึง
จะปลอดภัยจากกระแสโลก
...การฝึกจิตนั้นต้องกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ไม่มีเวลาหยุดพัก เพราะการเจริญสตินั้นต้องทำ
ในทุกโอกาส เพื่อให้สตินั้นมีกำลังเพิ่มยิ่งๆขึ้น
เพื่อให้เห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง และละวาง
อารมณ์ที่เป็นอกุศลจิตให้รวดเร็ว ซึ่งสิ่งนั้นต้อง
อาศัยกำลังของสติสัมปชัญญะและองค์แห่ง
คุณธรรมเป็นตัวเข้าไปจัดระบบความคิดทั้งหลาย
ของจิต โดยมีสมาธิคือจิตที่สงบนิ่ง เป็นบาทฐาน
แห่งการพิจารณา ทุกเวลาที่ผ่านไปนั้น จึงเป็น
การปฏิบัติธรรม.....
...แด่วันหนึ่งที่ผ่านมาและวันเวลาที่เหลืออยู่...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม...
...๒๒ มกราคม ๒๕๖๕...
88


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๖๓...

...ปรารภธรรมในยามก่อนรุ่งอรุณ...
...วันเวลาที่ผ่านไปทุกขณะจิตนั้น
มันเป็นการสั่งสมประสบการณ์ของชีวิต
สอนให้เรานั้นได้คิดได้พิจารณาเพิ่มขึ้น
ขอให้เรานั้นมั่นคงในจุดยืนของการ
ดำเนินชีวิตที่คิดจะสร้างจะทำก่อกรรมดี
สร้างมงคลให้กับชีวิต เพื่อจะได้พัฒนา
ทางจิตให้เจริญก้าวหน้าในทางธรรม
การเจริญสตินั้นจึงเป็นงานที่ต้อง
กระทำอยู่ตลอดเวลา
...กาลเวลานั้นย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนไป
ไม่มีเวลาที่จะสิ้นสุดและหยุดนิ่งสรรพสิ่ง
ย่อมเคลื่อนไหว โลกนั้นแปรเปลี่ยนไป
อยู่ตลอดเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง กระแส
แห่งโลกนั้นจึงไม่มีวันที่จะสิ้นสุดและ
หยุดอยู่ แต่จิตของมนุษย์นั้นย่อมมีวัน
ที่จะสิ้นสุดและหยุดนิ่ง ถ้าได้รู้และ
ได้เห็นความเป็นจริงของชีวิตจิตวิญญาน
สิ้นสุดด้วยการที่รู้จักพอโดยไม่ร้องขอ
และแสวงหาอีกต่อไป
...ความสำเร็จของชีวิตนั้นคือรางวัล
ของชีวิต ซึ่งมิได้วางไว้ในจุดเริ่มต้น
ของการเดินทาง การทำงานทุกอย่าง
ย่อมมีอุปสรรคและปัญหา
...เหมือนกับคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า
เส้นทางนั้นมิได้โรยด้วยดอกกุหลาบ
ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ การเดินทาง
ของชีวิตนั้นยังไม่จบ ไม่มีคำว่าล้มเหลว
ในชีวิตเพราะสิ่งที่ผ่านมานั้นคือบทเรียน
บทเรียนของชีวิตที่จะพัฒนาจิตของเรา
ให้ก้าวเดินต่อไป....

... ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต ...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒๑ มกราคม ๒๕๖๕...
89


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๖๒...

...คือสายลมที่พัดผ่านกาลเวลา...
...วันเวลาของชีวิตที่ผ่านไปใน
แต่ละวันนั้น ใช้ชีวิตตามปกติวิสัย
ที่เคยเป็นมา เหมือนกับว่าไม่ได้
ทำอะไร ภายนอกนั้นเคลื่อนไหว
ไปตามปกติ พบปะพูดคุยสนทนา
แลกเปลี่ยนกับผู้มาเยี่ยมเยือนทั้งหลาย
เมื่อเขาลากลับไปทุกอย่างก็คืน
สู่ความเป็นปกติ
...เพราะการปฏิบัตินั้นเป็นการทำที่จิต
ไม่ใช่ที่กาย การมีสติและสัมปชัญญะ
ระลึกรู้อยู่ภายใน มีความรู้ตัวทั่วพร้อม
ในสิ่งที่คิดและกิจที่กำลังกระทำอยู่
ไม่ใช่การสร้างรูปแบบภายนอกขึ้นมา
เพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
มันไม่ใช่การแสดงออกทางกาย
...แต่เป้าหมายของการปฏิบัติธรรม
นั้นคือการพัฒนาที่จิต เปลี่ยนแปลง
ความคิด พัฒนาจิตให้มีคุณธรรมสูงขึ้น
น้อมนำจิตนั้นเข้าสู่ความเป็นกุศล ฝึกฝน
จนให้เกิดความชำนาญ ในกระบวนการ
แห่งความคิดจิตสำนึกทั้งหลาย ด้วยการ
มีสติและสัมปชัญญะที่เป็นกุศล ควบคุม
ตนในสิ่งที่กำลังคิดและกิจที่กำลังทำ
ไม่ให้อกุศลกรรมเกิดขึ้นมาได้ในขณะนั้น
...เพราะการเจริญวิปัสสนานั้นดูจาก
ภายนอกแล้ว เหมือนกับว่าไม่ได้ทำ
อะไรเลย เพราะเป็นการกระทำที่จิต
มันไม่มีรูปแบบภายนอกทางกายที่
ตายตัว ว่าต้องมีท่าทางอย่างนั้นอย่างนี้
จึงจะเป็นการปฏิบัติวิปัสสนา มันอยู่ที่จิต
คือการมีสติและสัมปชัญญะ ควบคุมที่จิต ควบคุมความคิดและการกระทำ มันเป็น
การทำภายใน รู้ได้เฉพาะตนเท่านั้นเอง
ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังคิดอะไรอยู่
และสิ่งที่คิดและที่ทำนั้นเรามีเจตนาอย่างไร เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศลหรือไม่
" ไม่มีใครรู้ซึ้ง เท่าหนึ่งจิต "ในสิ่งที่กำลัง
คิดและกำลังกระทำเท่าตัวของเราเอง
ถ้าเรามีสติและสัมปชัญญะที่สมบูรณ์อยู่
ทุกขณะจิต ทุกเวลาของชีวิตที่ผ่านไป
นั้นคือการได้ปฏิบัติเข้าหากุศลธรรม
น้อมนำชีวิตไปสู่ทิศทางที่ดี จึงเป็นสิ่งที่
ควรคิดและกิจที่ควรทำ...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๒๐ มกราคม ๒๕๖๕...
90


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๖๑...

...มนุษย์ทุกคนมีความคิด
ถูกหรือผิดต่างรู้อยู่แก่ใจ
แต่ที่ยังกระทำลงไปในสิ่งผิด
เป็นเพราะขาดจิตสำนึกแห่งคุณธรรม
ที่จะหักห้ามมิให้กระทำผิด
จิตสำนึกต้องผ่านการฝึกฝน
ฝึกนึกฝึกคิดปรับจิตให้เป็นกุศล
ฝึกพูดในสิ่งที่เป็นมงคลแก่ตนและผู้อื่น
ฝึกกระทำในสิ่งที่คิดและพูดที่เป็นความดี
เพียรกระทำอย่างนี้อย่างสม่ำเสมอ
จนเกิดเป็นความเคยชินและติดเป็นนิสัย
...จิตสำนึกแห่งคุณธรรม
คือความรู้สึกละอายและเกรงกลัวต่อบาป
และเมื่อเราไม่กล้าทำบาปเราจะทำความดี
คนทำความดีจิตใจจะอ่อนโยนมีเมตตา
รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ
ละความเห็นแก่ตัวลงไปได้ตามสภาวะ
...การปฏิบัติธรรม สิ่งที่ได้มาคือคุณธรรม
ภูมิธรรมและภูมิปัญญา เรามิได้ฉลาดขึ้น
แต่เราได้เห็นความโง่ของตัวเองมากขึ้น
เห็นในสิ่งที่เรายังไมรู้และเห็นในสิ่งที่
เรายังหลงติดอยู่
...เรามิได้เก่งกล้า แต่เราได้เห็นความ
อ่อนแอและความขี้ขลาดหวาดกลัวที่
ซุกซ่อนอยู่เราทำกล้าเพราะว่าเรากลัว
เพราะกลัวจึงกล้า
...อย่าเชื่อทันทีมันจะทำให้งมงาย
อย่าปฏิเสธทันทีมันจะเสียประโยชน์
พิจารนาไตร่ตรองทดลองทำพิสูจน์ดู
แล้วจึงตัดสินใจ...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๑๙ มกราคม ๒๕๖๕...
หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 [9] 10