ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงพ่อเพชร อินทโชติ วัดวชิรประดิษฐ์ บ้านเฉงอะ ต.ตะเคียนทอง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี  (อ่าน 7367 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด



"พระครูประกาศิตธรรมคุณ" หรือ "หลวงพ่อเพชร อินทโชติ" อดีตเจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์ และเจ้าอาวาสรูปแรก ถือเป็นเพชรเม็ดงามแห่งวัดวชิรประ ดิษฐ์ บ้านเฉงอะ ต.ตะเคียนทอง อ.กาญจน ดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี

อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า เพชร แซ่ตั้น (ภายหลังมีพระราชบัญญัตินามสกุล ท่านใช้นามสกุลว่า ยี่ขาว) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปี ฉลู พุทธศักราช 2395 (ในรัช กาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ณ บ้านประตูไชยเหนือ ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรม ราช โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายขาวและนางกิม ล้วน แซ่ตั้น

ครั้นอายุได้ 8 ขวบ บิดามารดาได้นำท่านไปฝากศึกษาเล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของท่านพระครูการาม (จู) วัดมเหยงค์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช จนอายุได้ 13 ปี จึงลาอาจารย์ออกจากวัดมเหยงค์ ไปอาศัยอยู่ที่บ้านพระศิริธรรมบริรักษ์ (ขั้น) เจ้าเมืองนคร ศรีธรรมราช

ในขณะที่อาศัยอยู่กับพระสิริธรรมบริรักษ์ ท่านได้ช่วยกิจการหลายอย่าง แต่ภารกิจที่สำคัญ คือ ครั้งหนึ่งเกิดจีนฮ่อยึดเมืองไทรบุรี ซึ่งเป็นหัวเมืองของไทยตอนใต้ ท่านเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ทราบข่าว จึงได้ส่งท่านพร้อมพรรคพวกจำนวนหนึ่งไปปราบจีนฮ่อที่มายึดเมืองไทรบุรี จนกระทั่งได้รับชัยชนะ จีนฮ่อแตกหนีไป

กระทั่งอายุได้ 30 ปี โยมบิดา-มารดา ถึงแก่กรรม หลังจากที่ท่านออกจากบ้านพระศิริธรรมบริรักษ์แล้ว ได้ประกอบอาชีพส่วนตัวอยู่ที่บ้านของตน ในระหว่างนี้เองท่านได้ถือโอกาสไปศึกษาเล่าเรียนกับท่านอาจารย์ ในด้านการอยู่ยงคงกระพันและอื่นๆ

ครั้นเมื่ออายุท่านได้ 42 ปี เกิดความเบื่อหน่ายต่อชีวิตความเป็นอยู่ภายในบ้าน ตัดสินใจออกเดินทางจากบ้าน เพื่อไปเยี่ยมน้องชาย ซึ่งประกอบอาชีพอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่เดินทางมาได้เพียงแค่ถึงบ้านดอน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ ธานี ก็เกิดเจ็บป่วยลงอย่างกะทันหัน ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้อีก ได้เข้าไปขอพักอาศัยและรักษาตัวอยู่กับพระอธิการแดง เจ้าอาวาสวัดไทรจนกระทั่งหายป่วยเป็นปกติดี

ท่านก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้เปลี่ยนใจขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่ วัดกลาง บ้านดอน โดยมี พระครูสุวรรณรังษี (มี) เจ้าอาวาสวัดกลาง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระใบฎีกากล่อม วัดโพธิ์ไทรงาม (หรือวัดโพธาวาส ในปัจจุบัน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระแดง เจ้าอาวาสวัดไทร บ้านดอน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า อินทโชติ ซึ่งแปลว่า ผู้รุ่งเรืองดุจพระอินทร์

ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่กับพระแดง เจ้าอาวาสวัดไทร เป็นเวลาถึง 2 พรรษา

พ.ศ.2442 ชาวบ้านเฉงอะเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติ ได้พากันนิมนต์หลวงพ่อเพชรไปอยู่จำพรรษาที่วัดวชิรประดิษฐ์ (ขณะนั้นเรียกว่า วัดดอนตะเคียน) ท่านหลวงพ่อเพชรได้บูรณปฏิสังขรณ์ให้วัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับจนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสและนิยมยกย่องของชาวบ้านเป็นอันมาก

พ.ศ.2448 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีฐานะเป็นวัดโดยถูกต้องตาม กฎหมาย โดยมีชื่อว่า "วัดวชิรประดิษฐ์ ซึ่งหมายความว่า วัดที่ท่านหลวงพ่อเพชรเป็นผู้สร้างขึ้น" ท่านได้ดำเนินการจัดการขอวิสุงคามสีมา ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา และท่านยังได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดวชิรประดิษฐ์ และอุโบสถก็ได้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยในปีเดียวกันนี้

พ.ศ.2453 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัช ฌาย์และเจ้าคณะแขวงกาญจนดิษฐ์

พ.ศ.2461 หลวงพ่อเพชรได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูประกาศิตธรรมคุณ

หลวงพ่อเพชร เป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย เพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตรและพรหมวิหารธรรม มีจิตใจที่โอบอ้อมอารี มีเมตตากรุณาชอบให้การช่วยเหลือแก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ท่านเป็นคนพูดจริงทำจริง พูดเช่นใดก็มักจะเป็นเช่นนั้นเสมอ



 ด้านศาสนบุคคล
ในสมัยหลวงพ่อเพชร มีชีวิตอยู่ ท่านอบรมสั่งสอนสานุศิษย์ให้ดำรงตนเป็นคนดีของสังคม ฝ่ายบรรพชิต เช่น พระครูดิตถารามคณาศัย (ชม คุณาราโม) อดีตเจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์และเจ้าอาวาสวัดท่าไทร, พระอุปัชฌาย์พุ่ม ฉนโท อดีตเจ้าคณะตำบลกรูดและอดีตเจ้าอาวาสวัดปากคู พระครูกัลยาณานุวัต อดีตเจ้าอาวาสวัดวชิรประดิษฐ์ (วัดบ้านเฉงอะ) พระครูพินิต เขมิเขต (สะอิ้ง จนทาโภ) เจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์ (กิตติมศักดิ์) และเจ้าอาวาสวัดเขาแก้ว (กิตติมศักดิ์) ฝ่ายคฤหัสถ์ เช่น คุณครูกล่ำ พัฑสุนทร, ครูน้อม แดงสุภา, นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตนักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ (รุ่น ๑ ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดสุราษฎร์ธานีหลายสมัย เป็นต้น โดยเฉพาะในการพัฒนาด้านการศึกษาของชุมชนตำบลเฉงอะ (ตะเคียนทองในปัจจุบัน)

  ด้านศาสนสถาน (วัตถุ)
เป็นที่ทราบกันดีกว่า หลวงพ่อเพชร เป็นพระมหาเถระที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ ท่านได้รวบรวมจตุปัจจัยที่ญาติโยมผู้มีศรัทธาถวายท่าน จัดสร้างวัตถุมงคลเป็นเหรียญเงินจำนวน ๗๗ องค์ (รุ่น ๑ ) เพื่อให้ไว้เป็นที่ระลึกและการบูชาคุณของหลวงพ่อเพชรแก่คณะศิษยานุศิษย์และพุทธบริษัท ซึ่งในปัจจุบันเป็นเหรียญที่หายากมากที่สุดเหรียญหนึ่งในวงการพระเครื่องของประเทศไทย เป็นที่รักและหวงแหนของผู้มีไว้ครอบครองเพื่อสักการะบูชา ซึ่งหลวงพ่อเพชรหัวใจพระคาถาที่แคล้วคลาดปลอดภัย อยู่ยงคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด เมตตามหานิยม คือ น ฬ อ ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ในหลักล้านต้นๆ (เฉพาะรุ่น ๑ ) มีผู้ประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอยู่เสมอ ซึ่งประสบเหตุถึงแก่ชีวิตแคล้วคลาดปลอดภัยอยู่เสมอมิได้ขาด เป็นที่กล่าวขวัญของมวลมหาชนในพลังอนุภาพแห่งพุทธคุณ หากใครมีไว้ครอบครอง นับว่าเป็นผู้มีบุญอย่างใหญ่หลวงยิ่งนัก
  ด้านศาสนพิธี
 หลวงพ่อเพชรได้วางรากฐานในเรื่องของศาสนพิธี ซึ่งเป็นพิธีกรรมของชาวพุทธ ได้ถือปฏิบัติสืบกันมาจนถึงทุกวันนี้ ดังเช่น พิธีกรรมในเดือนสิบ รับ-ส่ง ตายาย เป็นต้น ที่สำคัญคือ ท่านเป็นพระมหาเถระที่รับเอาภาระธุรกิจการคณะสงฆ์ของวัด ในฐานะเจ้าอาวาสและกิจการคณะสงฆ์ ในฐานะองค์พระอุปัชฌาย์และเจ้าคณะแขวงหรือเจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นใน
  ด้านการปกครอง
 คือ การใช้หลักสามัคคีธรรม และบทบัญญัติแห่งองค์พระธรรมวินัยของศาสนา คือ การข่ม บุคคลที่ทำผิด ยกย่องในบุคคลที่บำเพ็ญคุณงามความดี
  ด้านการศึกษา
 การส่งเสริมให้บุคคลได้รับการศึกษาเล่าเรียน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ในระยะแรก หลวงพ่อเพชรได้ทำหน้าที่ครู ผู้อบรมสั่งสอนผู้ที่มาฝากตัวเป็นศิษย์ โดยไม่เลือกปฏิบัติ ในเรื่องชนชั้น วรรณะ หรือสถานภาพความแตกต่างระหว่างบุคคล
  ด้านการศึกษาสงเคราะห์
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ด้วยการส่งเสริมให้มีโรงเรียนประชาบาลบ้านเฉงอะ ซึ่งต่อมาคือ โรงเรียนวัดวชิรประดิษฐ์ในปัจจุบัน เกิดขึ้นในชุมชน โดยขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบและในสมัยรัฐบาล นายพันเอกพหลพล พยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีและในปีเดียวกันนี้เอง รัฐบาลกลางของสยามประเทศประกาศให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นในส่วนกลาง โดยมีท่านศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ รัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของสยามประเทศ
  ด้านเผยแผ่
 หลวงพ่อเพชรเป็นพระมหาเถระ ที่เน้นย้ำเอาจริงเอาจังในด้านเทศนาเผยแผ่ แนะนำ สั่งสอนประชาชนทั่วไปให้ตั้งมั่นในคุณงามความดี จนเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไปทั้งใกล้ไกล
  ด้านสาธารณูปการ
หลวงพ่อเพชรเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณของประชาชนในชุมชนบ้านเฉงอะ และอำเภอกาญจนดิษฐ์ได้ชักนำชาวบ้านสร้างถาวรวัตถุเสนาสนะที่มั่นคงเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป เช่น กุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ อุโบสถ เป็นต้น
  ด้านสาธารณสงเคราะห์
ท่านเป็นผู้นำชาวบ้าน ในการสร้างถนนหนทาง ขุดลอกคูคลอง โดยท่านจะต้องไปนั่งเป็นประธาน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการดำเนินงานร่วมกับราษฎรและราชการ จนเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งหลาย ทั้งยังเป็นที่พึ่งของคนทั้งหลายในการช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้หายไป เป็นหมอแผนโบราณ เป็นนักโหราศาสตร์ เป็นต้น เหล่านี้คือ ความเป็นที่พึ่งของจิตวิญญาณทั่วไปของประชาชน



ในช่วงบั้นปลายชีวิต ด้วยเหตุที่ท่านชราภาพลงและมีอาการอาพาธเป็นประจำ ต่อมา หลวงพ่อเพชร ได้มรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2480 สิริอายุได้ 85 พรรษา 42

คณะศิษยานุศิษย์ได้จัดให้มีการบำเพ็ญ กุศลศพเป็นเวลา 3 วัน ก่อนเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลตามประเพณีและได้จัดให้มีการสวดพระพุทธมนต์ทุกวันธรรมสวนะ จากนั้นได้จัดให้มีการพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2481 ณ วัดวชิรประ ดิษฐ์





ขอขอบพระคุณที่มา...ข่าวสดออนไลน์
                        ...http://www.teochewsurat.com/re_include/infor_view?infor_id=51


.