ผู้เขียน หัวข้อ: พระสูตรของ ท่านเว่ยหล่าง (3)  (อ่าน 1641 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
พระสูตรของ ท่านเว่ยหล่าง (3)
« เมื่อ: 24 ก.พ. 2554, 08:49:01 »
ตอนที่ 30.... แสงแห่งพระพุทธะ

      มนุษย์ปุถุชนซึ่งถูกกิเลสครอบงำ "ธรรมญาณ" อย่างหนาแน่นจึงไม่อาจพบแสงแห่งพระพุทธะได้ บุคคลเหล่านี้จึงมีแต่ศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก
เมื่อเห็นสิ่งใดที่ตัวเองปฏิบัติไม่ได้ แต่ผู้อื่นกระได้จึงพากันกราบไหว้อ้อนวอนให้ผู้นั้นปกปักรักษา เขาจึงกลายเป็นผู้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปโดยสิ้นเชิง

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน สาธุคุณจิม โจนส์ เจ้าลัทธิวิปริตแห่งสหรัฐอเมริกา เผลแพร่วันสิ้นสุดของโลกจนได้สาวกมากมายและกำหนดหมายให้สาวกทั้งปวงฆ่าตัวตาย เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าปรากฏว่ามีผู้ยอมฆ่าตัวตายหลายพันคน
      ความหลงที่ปิดบัง "ธรรมญาณ" แห่งตนได้ก่อให้เกิดการกระทำที่น่าหัวเราะเยาะมากมาย เช่น ผู้คนพากันเช่ารถบัสมุ่งหน้าไปที่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคใต้เพราะข่าวเล่าลือว่าหมาออกลูกเป็นคนต่างจึงกราบไหว้บูชาเพียงเพื่อขอเลขแทงหวย ทั้งๆ ที่ลูกหมานี้พิการมีสองขาหน้าแบนๆ และตายแล้ว
      ข่าวเช่นนี้ปรากฏขึ้นบ่อย บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หมูออกลูกเป็นหมาหรือเป็นช้าง ต้นไม้แปลกประหลาดพิสดาร ล้วนเครื่องชี้ให้เห็นว่าความหลงมิได้เหือดแห้งไปจากโลกนี้
แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่นับถือตัวเองชนิดหลงใหลในความดีงามหรือความสามารถที่เหนือผู้อื่น บุคคลเหล่านี้ก็มีพฤติกรรมไม่ต่างไปจากผู้หลงสิ่งอื่นเช่นกัน
เขาเหล่านั้นจักสร้างบาปเวรกรรมอย่างประมาณมิได้
มีแต่ผู้พบ "ธรรมญาณ" เท่านั้นจึงมีความเสมอภาคเพราะเห็นผู้อื่นมีทุกอย่างเหมือนตนเอง

      พระพุทธองค์ทรงยืนยันถึงความเสมอภาคของเวไนยสัตว์ว่ามิได้มีอะไรแตกต่างกันเลย เพราะแต่เดิมมา "ธรรมญาณ" มีแหล่งกำเนิดที่เดียวกันแลมีสภาวะ คุณสมบัติเหมือนกันทุกประการ พระอริยเจ้ากล่าวว่า
"วางมีดลงจึงเป็นพระพุทธะ"

      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงให้คำอธิบายเกี่ยวกับ "ความรู้แจ้ง" เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
"ภายในธรรมญาณย่อมมีองค์ตถาคตแห่งความตรัสรู้ซึ่งสามารถส่องแสงอันแรงกล้าออกมาทำความสว่างที่ประตูภายนอกทั้งหกประตูและควบคุมมันให้บริสุทธิ์"
พระวจนะนี้มีความหมายว่าทุกคนมีความสามารถรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง ควบคุมความเคลื่อนไหวแห่งจิตมิให้เกิดกิเลสคือความสกปรกมาทำลายความบริสุทธิ์แห่งพุทธจิต

ประตูทั้งหกซึ่งเปรียบเสมือนมหาโจรคือ ตา หู จมูก ปาก กาย และจิต ซึ่งเป็นหนทางพาให้ความโลภ โกรธ หลง ไหลวนเวียนเข้าไปในธรรมญาณจนกลายเป็นคนหลง

อายตนะทั้งหกประการนี้ล้วนเป็นต้นกำเนิดก่อให้เกิดอารมณ์สามระดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด แล้วแต่อำนาจการปรุงแต่งของจิตญาณที่สั่งสมเอาไว้มากมาย ทั้งปัจจุบันชาติและอดีตชาติ

จิตที่ปรุงแต่งอารมณ์ทั้งปวงและสั่งสมจนกลายเป็นอนุสัยนอนเนืองอยู่ในขันธสันดานได้กลายเป็นวาสนาบารมีติดตามไปชาติแล้วชาติเล่าแม้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว วาสนาบารมีก็ติดตามมา เช่น พระสารีบุตร

      ครั้งหนึ่งมีเศรษฐีท่านหนึ่งเกิดจิตศรัทธาใคร่ถวายผ้าจีวรสามผืนแด่พระสารีบุตร จึงนิมนต์ให้พระสารีบุตรไปรับประเคนที่บ้านของตนระหว่างทางต้องข้ามท้องร่อง พระสารีบุตรกระโดดข้ามด้วยความว่องไวเศรษฐีรู้สึกขัดใจจึงคิดว่า สมณะรูปนี้ไม่สำรวมเลย
"เราจักถวายผ้าเพียงสองผืนเท่านั้น" เศรษฐีคิดในใจ

      เมื่อเดินทางผ่านท้องร่องที่สอง พระสารีบุตรก็ยังคงกระโดดข้ามอีก เศรษฐีจึงกำหนดหมายว่าจักถวายผ้าเพียงผืนเดียวเท่านั้น
แต่พอผ่านมาถึงท้องร่องที่สาม พระสารีบุตรไม่กระโดดข้ามกลับเดินอ้อมไปอย่างสำรวม เศรษฐีจึงถามด้วยความแคลงใจว่า
"ทำไมท้องร่องนี้พระคุณเจ้าจึงไม่กระโดดเล่า ขอรับ"
"อ้าว ถ้าอาตมากระโดดข้ามท้องร่องนี้โยมก็ไม่ได้ถวายผ้า แน่ะซี"

      พระสารีบุตรในอดีตชาติได้ถือกำเนิดเป็นวานรเพราะฉะนั้นนิสัยกระโดดโลดเต้นจึงติดตัวมา แม้ในปัจจุบันชาติสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วยังไม่อาจตัดวาสนาแห่งวานรได้อย่างหมดจด

      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวถึงแสงแห่งการตรัสรู้ว่า
"แสงนี้แรงมากพอที่จะผ่านสวรรค์ชั้นกามาวจรทั้งหก และเมื่อมันย้อนกลับเข้าไปภายในธรรมญาณมันจะกลับธาตุอันเป็นพิษทั้งสามประการให้หมดไปและชำระล้างบาปที่ทำให้ตกนรกหรืออบายภูมิและทำความสว่างไสวให้เกิดขึ้นแก่เราภายใน ภายนอก จนกระทั่งไม่มีอะไรแตกต่างจากพวกที่เกิดในแดนบริสุทธิ์ ทางทิศตะวันตก แต่ถ้าไม่ฝึกตัวเสียแล้วเราจักบรรลุถึงแดนบริสุทธิ์นั้นได้อย่างไร"

      ความหมายที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวไว้เช่นนี้เพราะการรู้แจ้งธรรมญาณแห่งตนเปรียบประดุจดังการตรัสรู้ และตัดการเวียนว่ายตายเกิดหกช่องทางได้เด็ดขาด แม้พิษร้ายสามประการอันได้แก่ โลภ โกรธ หลง ก็ขจัดให้หมดสิ้น
การเกิดในแดนบริสุทธิ์ทิศตะวันตกนั้นได้กำหนดหมายเอาไว้ว่าเป็นดินแดนแห่งพุทธเกษตร แต่พระธรรมาจารย์ได้ชี้ให้เห็นว่า แท้ที่จริงถ้าไม่พบธรรมญาณของตนเอง มณฑลแห่งจิตของตนเองก็มืดมิดมิใช่พุทธเกษตร ให้กราบไหว้พระพุทธเจ้ากี่แสนพระองค์ก็ไม่อาจพบพุทธภูมิ
พิษร้ายสามประการและการเวียนว่ายทาง หู ตา จมูก ปาก สะดือ และกระหม่อม จึงเป็นหนทางหลงซึ่งไม่มีผู้วิเศษใดสามารถดลบันดาลให้พ้นไปได้เลย


ที่มา
http://thai.mindcyber.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=118&page=15
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว....ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา...สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา...กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: พระสูตรของ ท่านเว่ยหล่าง (3)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 24 ก.พ. 2554, 09:04:54 »
ตอนที่ 31.... บำเพ็ญในครัวเรือน

      การบำเพ็ญธรรมที่ติดอยู่ในรูปแบบได้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและปฏิบัติผิดกันมานจนกลายเป็นวิถีชีวิตสองแบบกล่าวคือ ผู้บำเพ็ญธรรมต้องบวชและอยู่ในอารามเฉพาะส่วนแยกออกจากชาวบ้านอย่างหนึ่งกับชีวิตชาวบ้านที่อาศัยคำสอนของนักบวชเหล่านั้นมาปฏิบัติซึ่งก็เชื่อกันว่าวิถีชีวิตของปุถุชนเต็มไปด้วยบาปไม่มีทางพ้นจากนรก อีกอย่างหนึ่ง
      วิถีชีวิตในครัวเรือนเป็นเรื่องของชาวโลกีย์เพราะฉะนั้นครัวเรือนจึงเป็นเสมือนหนึ่งสะพานทอดเดินไปสู่นรกสถานเดียว
ชาวพุทธจึงเชื่อว่าผู้ครองเรือนไม่อาจบำเพ็ญธรรมได้
 
ความเชื่อเช่นนี้เป็นมิจฉาทิฐิคือ ความเห็นผิดโดยแท้ เพราะธรรมะมิใช่ของนอกตัว แต่มีอยู่ในตัวทุกคน

      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนเมื่อประมาณพันกว่าปีมาแล้วว่า
"ผู้ใดอยากบำเพ็ญธรรมหรือปฏิบัติทางจิต จะทำอยู่ที่บ้านก็ได้ไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในสังฆาราม พวกที่ปฏิบัติตนอยู่กับบ้านนั้น อาจเปรียบได้กับชาวบ้านทางทิศตะวันออกที่ใจบุญส่วนพวกที่อยู่ในสังฆารามแต่ละเลยปฏิบัติธรรมก็ไม่แตกต่างอะไรกับชาวบ้านที่อยู่ทางทิศตะวันตกแต่ใจบาป เพราะฉะนั้นไม่ว่า จักอยู่ที่ใด ถ้าจิตบริสุทธิ์ ณ ที่นั้นก็เป็นแดนบริสุทธิ์ทางทิศตะวันตก ซึ่งหมายถึง ธรรมญาณ ของบุคคลนั้นเอง"

      ความหมายแห่งวจนะของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงย่อมเป็นที่สอดรับกับความเป็นจริงว่า การปฏิบัติบำเพ็ญธรรมมิได้อยู่ที่รูปแบบและสถานที่
เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เป็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ มาถึงแม่น้ำอโนมาก็เพียงเปลื้องเครื่องทรงของงกษัตริย์ออกและตัดพระเมาฬีและนำผ้าห่อศพมาพันพระวรกายและมุ่งหน้าหาความรู้เพื่อพ้นจากทะเลทุกข์
การดำรงชีพของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ บัดนี้ไม่ต่างอะไรกับขอทานปราศจจากเครื่องอำนวยความสะดวกและผู้คนทั้งปวง
เหตุไฉนจึงต้องทรงปฏิบัติเช่นนี้ เพราะเป็นไปตามกาลกำหนดของเบื้องบนและความผันแปรของธรรมกาลซึ่งแบ่งออกเป็นสามยุค
ยุคแรก เป็นยุคเขียว ผู้บำเพ็ญปฏิบัติคือ ฮ่องเต้ ซึ่งได้ชื่อว่าโอรสสวรรค์
ยุคสอง เป็นยุคแดง ผู้บำเพ็ญปฏิบัติคือ อริยะบุคคล ซึ่งได้ชื่อว่า ปราชญ์ เมธี
ยุคสาม เป็นยุคขาว ผู้บำเพ็ญปฏิบัติคือ สาธุชน ซึ่งได้ชื่อว่า นักธรรม
 
      พระพุทธองค์ทรงมีพระภารกิจตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเพื่อนำพาเวไนยสัตว์ทั้งปวงให้ข้ามพ้นไปจากทะเลทุกข์ ในครั้งนั้นสังคมของชมพูทวีปยังแบ่งแยกออกเป็นวรรณะชั้นแตกต่างกันไม่ยอมมีสังคมร่วมกันคือ กษัตริย์ พราหมณ์ ไวทยะ ศูทร และ วรรณะ ที่ต่ำสุดอันเกิดจากกาารผสมข้ามวรรณะกันก็ได้ลูกออกมาเป็นจัณณฑาลจึงเป็นความจำเป็นที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดรูปแบบใหม่ให้ทุกวรรณะสามารถหลอมละลายกลายเป็นชนชั้นเดียวกันได้
รูปแบบนักบวชของพระพุทธองค์ทรงมีความหมายเช่นนี้มิได้มีไว้เพื่อติดยึดแต่ประการใด

      แต่ในชั้นหลังต่างไม่เข้าใจความมุ่งหมายแต่กลับกลายเป็นรูปแบบที่ยึดและเชื่อกันว่าการสำเร็จธรรมต้องอยู่ในรูปแบบของนักบวช
และสัจธรรมก็แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์พยานว่า แม้อยู่ในรูปแบบของนักบวชแต่ไม่ปฏิบัติบำเพ็ญยังต้องจรลีลงนรกโลกันต์มากมายสุดคณานับ
ข้าหลวงอุ๋ยได้กราบเรียนถามพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงว่า
"พวกเราทั้งลายที่เป็นคฤหัสควรฝึกอย่างไร เมื่ออยู่ที่บ้านจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ" ครั้งนั้นพรระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงตอบว่า
"อาตมาจะสอนโศลกว่าด้วยนิรรูปให้สักหมวดหนึ่ง ถ้าท่านทั้งปวงเก็บเอาไปศึกษาและนำข้อความเหล่านี้ออกมาปฏิบัติแล้ว ก็จักเป็นเช่นเดียวกับพวกที่อาศัยอยู่กับอาตมาเนืองนิจเหมือนกันในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ปฏิบัติท่านก็หาความเจริญทางจิตไม่ได้ แม้ว่าท่านจะโกนหัวสละบ้านเรือนออกแสวงหาบุญ"
      เมื่อการบำเพ็ญธรรมติดอยู่ที่รูปแบบมมิได้ค้นคว้าสนใจปฏิบัติที่จิตความฟั่นเฟือนผิดเพี้ยนจึงเกิดขึ้นมากมาย เพราะรูปแบบมิได้อยู่ที่การมองเห็นจับต้องได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รูปแบบที่จิตสร้างขึ้นยังมีอีกมากมายจนประมาณมิได้
ผู้บำเพ็ญปฏิบัติจึงเดินผิดหนทางไปตามที่อาจารย์ต่างๆ ได้กำหนดแบบและเหมาเอาว่าเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้
นักบวชฉลาดแต่งตัวประหลาดกว่าคนอื่นๆ ก็กลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์จึงแห่แหนกันไปกราบไหว้บูชา
นักบวชแสดงวัตรปฏิบัติเคร่งแต่รูป ส่วนจิตใจสกปรกคนก็แห่แหนกันไปกราบกราน
 
      อาการผิดเพี้ยนทางพระพุทธศาสนาปรากฏขันธ์มากมายจนหนทางแห่งการพ้นทุกข์ก็ลบเลือนไป มีแต่หนทางสร้างลาภยศสรรเสริญกันสถานเดียว
เพราะมิได้ปฏิบัติกันที่จิตอันถูกต้องนักบวชจึงหันมาเอาแบบอย่างของฆราวาสจนศาสนาได้เหลือแต่เพียงรูปแบบ กลายเป็นพุทธพาณิชย์สร้างความร่ำรวยและกิเลสกองท่วมทับพุทธศาสนิกชน
การบำเพ็ญธรรมจึงต้องหันมาที่ตัวเองและในครัวเรือน

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: พระสูตรของ ท่านเว่ยหล่าง (3)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 24 ก.พ. 2554, 09:14:16 »
ตอนที่ 32.... ถือศีลแต่ตกนรก
 
      ปุถุชนบำเพ็ญธรรมมักมีความเข้าใจผิดจึงปฏิบัติผิดๆ ต่อการรักษาศีลโดยเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสมาทานขอศีลจากพระภิกษุสงฆ์จึงเกิดความบริสุทธิ์และเป็นบุญกุศล
บางรายขณะที่ตั้งจิตรับศีล ถ้าเห็นว่าข้อใดปฏิบัติมิได้ก็ไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าการไม่รับแล้วไปปฏิบัติในสิ่งที่พระพุทธองค์ห้ามเอาไว้ไม่เป็นความผิด
ความจริงพระพุทธองค์บัญญัติศีลห้ามิได้กำหนดสิ่งใหม่นอกเหนือสัจธรรมเลย ศีลห้าเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติของธรรมญาณ เพราะฉะนั้นใครจะรับ หรือไม่รับ ถ้าปฏิบัติผิดต่อสัจธรรมย่อมได้รับบาปเช่นเดียวกัน

      ท่านบรมปราชญ์ขงจื๊อกล่าวเอาไว้ว่า คุณธรรมสามัญของมนุษย์มีอยู่แล้วห้าประการคือ เมตตา มโนธรรม จริยธรรม ปัญญาธรรม และสัตยธรรม
ในกรณีที่เรานั่งรถไปข้างคนขับรถและหมาขี้เรือนวิ่งตัดหน้าเราจะรีบบอกคนขับทันทีว่า "อย่าทับ อย่าทับ"
วาจาที่เปล่งออกมาโดยตกใจลืมตัว จึงเป็นภาวะของธรรมญาณแท้ๆ ที่มีเมตตาอยู่แล้ว แต่หมาขี้เรื้อนตัวเดิมไปคาบไก่ที่บ้าน เราจะวิ่งไล่ตีเพราะอารมณ์โลภไก่ไปบิดบังเมตตาจนหมดสิ้น

      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวโศลกเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นจริงในข้อนี้ว่า
"ผู้มีใจเที่ยงธรรม การรักษาศีลไม่เป็นสิ่งจำเป็น"
ความหมายประโยคนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีใจเยี่ยงเดียวกับฟ้าดินไม่จำเป็นต้องรักษาศีล เพราะใจเช่นนี้เป็นจิตใจที่มีเมตตาต้องการโอบอุ้มทุกชีวิตเอาไว้เช่นเดียวกับฟ้าและมีความอดทนยอมรับความไม่ดีทั้งปวงได้จึงเหมือนดิน เพราะฉะนั้นผู้มีใจตรงต่อธรรมชาติเดิมแท้ แม้ไม่เคยได้ยินศีลจากภิกษุองค์ใดเลย เขาย่อมไม่ปฏิบัติผิด

      แต่ผู้ที่เห็นศีลเป็นของนอกกายต้องรับจากผู้อื่น ขณะที่รับศีลมาต้องปฏิบัติเคร่งครัดอย่างยิ่งยวด แต่พอสิ้นเวลาของการสมทานจึงปล่อยตัวปล่อยกายกระทำความชั่วเต็มตามอารมณ์กิเลสสทั้งปวง
เพราะฉะนั้นถือศีลจึงมีโอกาสตกนรกได้มากกว่า สู้คนที่ไม่รู้จักศีลแต่ปฏิบัติต่อฟ้าดิน สัจธรรมด้วยความจริงใจมิได้
บางรายยังไม่ลงจากศาลาวัดก็แย่งกันนินทาหรือบางครั้งถึงขนาดตบตีหึงหวงกันวุ่นวายไปหมด บางรายหยาบคายร้ายกาจขาดสำรวม
ที่เป็นดังนี้เพราะเห็นศีลเป็นของนอกกาย ถือได้วางได้

      ศีลจึงมิได้เป็นเครื่องมือที่ขัดเกากิเลสทั้งปวง แต่กลับกลายเป็นเรื่องของการอวดถือเคร่งกว่ากันและกลายเป็นศีลอวดกันเท่านั้นเอง
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า
"ผู้มีความประพฤติตรงแน่ว การปฏิบัติในทางฌานมั่นมีมาเองแม้เราไม่ตั้งใจทำเพื่อให้ได้ฌาณ"

      ผู้ที่สามารถปฏิบัติได้ตรงแน่วย่อมต้องมีจิตใจตรงต่อสัจธรรมเสมอความสงบไม่หวั่นไหวของจิตจึงเกิดขึ้นได้ซึ่งโดยธรรมชาติเดิมแท้ของ "ธรรมญาณ" มีความสงบเป็นฌานอยู่ในตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการบังควรที่หลับตาภาวนาเพื่อให้ได้ฌานเลย
ผู้ที่ปฏิบัติไม่ตรงต่อสัจธรรมจึงเป็นผู้ที่วุ่นวายสับสนหนความสงบได้ยาก เพราะความฟุ้งเฟ้อแห่งจิตที่วิ่งไปตามอายตนะทั้งหกไม่หยุดหย่อน
ผู้ที่ไม่พบธรรมญาณ จึงถูกหลอกลวงด้วยอำนาจจิตของตนเองโดยไม่รู้ตัว เพราะเขาประพฤติปฏิบัติแบบลวงโลกและยึดถือสิ่งลวงเป็นสิ่งจริง
อำนาจจิตสามารถ สร้างรูปมากมายโดยที่ตนเองหารู้ไม่ว่ารูปเหล่านั้นเป็นมายากลับยึดถือเอาไว้และการแสดงออกย่อมผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติแท้ของธรรมญาณ

      การปฏิบัติที่ตรงต่ออารมณ์ความชอบของตนเองย่อมเบี่ยงเบนไปจากสัจธรรม
ความคิดจึงเป็นอย่างหนึ่ง
การกระทำจึงเป็นไปอีกอย่างหนึ่งไม่ตรงต่อความคิด
วาจากลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง
      ถ้าใครที่มีภาวะเป็นเช่นนี้ความสับสนและความทุกข์ย่อมครอบงำธรรมญาณ จนห่างไกลไปจากหลักของสัจธรรมตกไปสู่วัฏจักร์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป
คำกล่าวของพระอริยเจ้า เหลาจื๊อ แสดงให้ประจักษ์ชัดมานานนับเป็นพันๆ ปีว่า
"ธรรมแท้ ไม่อาจกล่าวออกมาเป็นวาจาได้ ที่กล่าวออกมาจึงมิใช่ธรรมะ"

      การแสดงออกทั้งปวงที่ที่ปรุงแต่งออกมาจากจิตจึงผิดเพี้ยนไปจากธรรมะเพราะฉะนั้นฌาน ตามธรรมชาติของธรรมญาณ จึงไม่อาจปรากฏออกมาได้
ญาณ ที่กำหนดขึ้นด้วยจิตของตนเอง ย่อมผิดแผกไปจาก ฌานที่มีอยู่แล้วในธรรมญาณ เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติบำเพ็ญที่กำหนดญาณด้วยแรงภาวนาของตนเองจึงเป็น ฌาน เกิดขึ้นได้และเสื่อมได้เช่นกัน เพราะเป็นฌาน ที่กำหนดด้วยรูปแบบจึงมิใช่ของจริงตามสัจธรรม
ศีลและฌาน จึงมีอยู่แล้วตามธรรมชาติของธรรมญาณ เพียงแต่ค้นพบธรรมญาณของตน ทุกสิ่งอย่างก็จักบริบูรณ์ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้วมิใช่หรือ

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: พระสูตรของ ท่านเว่ยหล่าง (3)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 24 ก.พ. 2554, 09:23:08 »
ตอนที่ 33.... ไหว้พระในบ้าน

      ปุถุชนผู้หลงงมงายชอบไหว้แต่พระนอกบ้านด้วยความเคารพและคลั่งไคล้เพราะเชื่อว่าสามารถพึ่งพาความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นพระที่ไร้รูปลักษณ์แต่สมบูรณ์แบบด้วยนามธรรมแห่งความเป็น "พระ" โดยแท้จริง
"พระในบ้านสององค์คือใคร" ถาม
"พระพ่อกับพระแม่ ยังไง" ตอบ
      แม้พระพุทธองค์ก็ทรงยกย่องพ่อแม่ว่าเป็นพระอรหันต์ของลูกเพราะมีพระคุณล้นเหลือจนยากที่จะหาสิ่งใดมาทดแทนพระคุณอันหาขอบเขตที่สิ้นสุดมิได้เลย

แต่ปุถุชนมองข้ามความสำคัญของพ่อแม่เพราะไม่เห็นเป็นพระแต่เห็นเป็นคนเช่นเดียวกัน ปุถุชนจึงยึดถือรูปแบบมากกว่า นามธรรม เขาเหล่านั้นจึงเป็นคนอกตัญญู แต่กลับขยันไปไหว้พระและรับใช้พระนอกบ้านอย่างสุดหัวใจ ส่วนพระในบ้านกลับทอดทิ้งและดูถูกดูแคลน
ผู้ที่ปฏิบัติพระในบ้านเช่นนี้ แม้ไปไหว้พระนอกบ้านสักหมื่นแสนองค์ก็หาความเจริญรุ่งเรืองหรือปลอดภัยให้แก่ตนเองมิได้เลย
แต่ผู้ที่ปฏิบัติต่อพระในบ้านด้วยความเคารพสูงสุด เอาใจใส่ดูแลด้วยความจริงใจเขาย่อมประสบแต่ความสุขความเจริญและเป็นสง่าราศรีแก่ตนเอง ชีวิตมีความปลอดภัย ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้

      ในสมัยโบราณผู้ที่เป็นทหารออกศึกมิได้แขวนพระเครื่องแต่เอาผ้าถุงของแม่โพกหัวไป ปรากฏว่าปลอดภัยกลับมาทุกคนที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นคนที่กตัญญูต่อบิดามารดาของตนเอง ย่อมเป็นที่สรรเสริญของเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง แม้ไม่ต้องกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นพระองค์ก็อดไม่ได้ที่จะต้องอำนวยชัยให้พรและคุ้มครอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกพระองค์ในสมัยที่เป็นมนุษย์พระองค์มีความกตัญญูจึงย่อมสะเทือนถึงฟ้าดินสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงมีคำกล่าวว่า
"ผู้มีความกตัญญูอันแท้จริงแม้ไม่ปฏิบัติธรรมยังได้อริยะฐานะ"
ความกตัญญูจึงเป็นธรรมอันสูงสุดที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ในครัวเรือน และความสันติสุขจักเกิดขึ้นในบ้านของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระองค์ใดมาปกปักรักษา

แท็กซี่คนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า
      วันหนึ่งตอนดึกแล้วรับผู้โดยสารเป็นวัยรุ่น 4 คนไปส่งในที่เปลี่ยวพอรถไปจอดส่งเท่านั้นแหละ วัยรุ่นคนหนึ่งก็สำแดงความชั่วร้ายออกมาทันทีโดยชักมีดปลายแหลมจี้เพื่อปลดทรัพย์สิน ขณะที่ตกใจกลัวอยู่นั้นก็ได้สติรำลึกถึงพ่อแม่ว่า
"คุณพ่อ คุณแม่ช่วยลูกด้วย"
สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดทันที เพราะวัยรุ่นเหล่านั้นเดินลงจากรถไปโดยไม่แตะต้องทรัพย์สินหรือชีวิตของโซเฟอร์เลย

      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงได้ให้พระวจนะในเรื่องนี้ว่า
"สำหรับหลักแห่งการกตัญญูกตเวที เราจักเลี้ยงดูรับใช้ท่านอย่างฐานลูก"
ความหมายแห่งคำกล่าวนี้ลึกล้ำนัก ถ้าพิจารณาตามตัวอักษรหามีความหมายพิเศษแต่ประการใดไม่ แต่สมควรนำคำกล่าวของพระศาสดาแห่งศาสนาปราชญ์คือ ท่านขงจื๊อมาพิจารณากัน เพราะท่านได้กำหนดกฏเกณฑ์แห่งการกตัญญูเอาไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนลึกซึ้งถึง 5 ข้อ
1. อยู่กับพ่อแม่หรือ พ่อแม่อยู่กับเรา ต้องให้ความเคารพ
2. เลี้ยงดูต้องให้ได้รับความสุข
3. เมื่อพ่อแม่ป่วยไข้ต้องห่วงใยกังวล
4. เมื่อพ่อแม่สิ้นไปต้องอาลัยโศกเศร้า
5. บูชาเซ่นไหว้ให้สมฐานะ
 
      คนสมัยนี้จิตใจตกต่ำเพราะความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาหลอกลวงจิตให้ใฝ่ต่ำจนเห็นพ่อแม่ของตนเองโง่กว่าเพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่กับพ่อแม่หรือพ่อแม่อยู่ด้วย คนส่วนใหญ่ก็มิได้ให้ความเคารพ บางรายกลับใช้พ่อแม่เยี่ยงคนใช้ชั้นดี เพราะพ่อแม่แก่แล้วไม่มีทางไปไหน จึงให้เฝ้าบ้านจึงเลี้ยงลูกของตนเอง ทำครัว ซักเสื้อผ้า
คนที่ปฏิบัติต่อพ่อแม่เช่นนี้ถือว่าขาดความเคารพอย่างแท้จริงและในที่สุดความตกต่ำเสื่อมทรามก็จะมาเยือนตนเอง
      สมัยโบราณมีฮ่องเต้พระองค์หนึ่งทรงนามว่าโจวอุ๋นอ๋อง พระองค์ได้รับการเฉลิมพระเกียรติว่า ทรงบารมีคุณอันยิ่งใหญ่ ปกแผ่ถึงลูกหลานยาวนานถึง 837 ปี
พระจริยวัตรอันสำคัญยิ่งของพระองค์คือ ความกตัญญู จนได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ที่มีความกตัญญูอันยิ่งใหญ่
ทุกวันสามเวลา พระองค์ทรงเอาใจใส่ต่อพระบิดา พระมารดาสม่ำเสมอด้วยความเคารพและนอบน้อมจริงใจ
พระองค์สังเกตการเสวยพระกระยาหารของพระบิดามารดาจึงรู้ว่าสิ่งใดทรงโปรดเสวยหรือไม่ แม้เจ็บไข้ก็ทรงดูแลใกล้ชิดมิได้ห่างไกลเลย
"บารมีคุณนี้จึงได้รับการจารึกเอาไว้ชั่วกาลนาน"
 
      แต่คนสมัยนี้ พ่อแม่ รู้ว่าเราชอบกินอะไร แต่ถ้าถามกลับว่าพ่อแม่ของเราชอบกินอะไร คำตอบที่ได้ก็คือ "ไม่ทราบ"
กตัญญุตาธรรม จึงเป็นธรรมคู่กับมนุษย์โดยแท้จริง ใครไม่ปฏิบัติเขาจึงมีค่าต่ำกว่า สัตว์เดรัจฉาน เสียอีก


ที่มา
http://thai.mindcyber.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=118&page=17

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: พระสูตรของ ท่านเว่ยหล่าง (3)
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 24 ก.พ. 2554, 09:34:43 »
ตอนที่ 34.... ความเป็นธรรม

      มนุษย์มีความเสมอภาคกันด้วยดวงธรรมญาณเพราะเวลาทิ้งกายสังขารไม่ว่ารวยล้นฟ้าก็มได้เขียนเช็คติดมือไปเลย ยาจกเห็นใจตายก็มิได้ถือกะลาติดมือไปด้วยต่างต้องลงไปตัดสินความดี ความชั่ว กันในนรกเยี่ยงเดียวกัน
แต่มนุษย์มาเหยียดหยามแบ่งแยกชนชั้นกันด้วยสิ่งจอมปลอมนอกกายทั้งสิ้น
ใครมีเงินมากกว่าถือว่าดีกว่า
ใครมีความรู้มากถือว่าเก่งกว่า
      ความรู้ในโลกมิอาจช่วยให้ตัวเองพ้นไปจากนรกได้เลย เพราะฉะนั้นความรู้จึงเป็นเพียงสัญญาที่หลงมัวติดยึดเอามาแบ่งแยกเหยียดหยามกันเท่านั้นเอง
ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจึงมองเห็นทุกคนเสมอกันโดยมีทุกข์ร่วมกันเพราะฉะนั้นจึงมีเมตตาต่อกันได้และความเป็นธรรมที่แท้จริงปรากฎขึ้น
     
          พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวโศลกเอาไว้ว่า
"สำหรับหลักของความเป็นธรรมนั้น ผู้ยิ่งใหญ่กับผู้ต่ำต้อยยืนเคียงข้างอาศัยซึ่งกันและกันได้ในยามคับขัน"
เมื่อถึงภาวะที่ไม่อาจช่วยตัวเองได้เพราะตกอยู่ในภัยพิบัติ ความรู้สึกของการแบ่งแยกเหยียดหยามย่อมมลายไปเพราะต่างปรารถนาหาหนทางรอดพ้นจากความตายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผู้บำเพ็ญปฏิบัติที่รู้ความเป็นจริงแห่งสัจธรรมย่อมไม่แบ่งแยกชนชั้น แต่บรรดาผู้ที่ตั้งตัวเป็นอาจารย์ด้วยสำคัญตนว่าเป็นผู้ที่เหนือกว่าชนทั้งหลายล้วนแต่ไม่เคยปฏิบัติความเป็นธรรมให้เป็นจริงขึ้นมาได้เลย
ผู้ที่รู้ธรรมญาณเท่านั้นจึงเห็นมนุษย์มีความเท่าเทียมกัน

      สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล็งญาณไปพบหญิงชราผู้ยากจนอยู่ในกระท่อมใกล้ถึงกาล มรณะแล้ว พระพุทธองค์ทรงเมตตาจึงเสด็จไปหน้ากระท่อมของหญิงชราแล้วตรัสว่า
"เธอจงทำบุญกับตถาคตแล้วสุคติจักเป็นที่หมาย"
"ข้าพระองค์ยากจนเข็ญใจนักไม่มีสิ่งใดจักถวายแด่พระสมณะได้เลย"
"เธอมีน้ำมิใช่หรือ จึงตักน้ำใส่บาตรตถาคตเถิด"

      หญิงชรานั้นมีความศรัทธาปสาทะในกุศลผลบุญครั้งนี้ยิ่งนักเมื่อตักน้ำถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็ถึงกาลมรณะจึงได้ไปบังเกิดเป็นเทพธิดาบนสรวงสวรรค์
พระพุทธองค์ทรงยืนเคียงข้างเวไนยสัตว์ด้วยเมตตาพร้อมฉุดช่วยให้พ้นไปจากอบายภูมิ แต่บัดนี้การบำเพ็ญของเหล่าศากยบุตรล้วนผิดแผกและหลงติดอยู่ในความจอมปลอมของนอกกายทั้งสิ้น ใครเป็นเศรษฐีมีโอกาสได้ใกล้ชิดส่วนคนยากจนเข็ญใจไม่มีโอกาสได้รับเมตตาเลย เพราะฉะนั้นนับวันศาสนาก็กลายเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่เรียกร้องต้องการเงินมากกว่าการแจกจ่ายพระธรรมคำสอนเพื่อให้ชนทั้งปวงพ้นทุกข์
บางวัดจึงตั้งเป้าของการหาเงินเข้าวัดเป็นร้อยล้านพันล้านเพียงเพื่อเสริมสร้างฐานะยกย่องตนเองอยู่สูงส่งจนขาดความเป็นธรรม เพราะมิได้ยืนอยู่เคียงข้างศาสนิกชนอีกต่อไป แต่ยืนเคียงข้างคนรวยเพียงพวกเดียวเท่านั้น
เพราะฉะนั้นการเผยแพร่ศาสนาบางแห่งจึงขาดความปรารถนาดีต่อศาสนิกชนของตน เลือกที่รักมักที่ชังจนเห็นกันชัดเจน

      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวโศลกว่า
"สำหรับหลักแห่งการปรารถนาดีต่อกันผู้อาวุโสกับผู้อ่อนอาวุโสต้องสมัครสมานกัน"
ในวงการของผู้ปฏิบัติธรรมย่อมมีผู้อาวุโสและอ่อนอาวุโสซึ่งในทางธรรมย่อมไม่เพ่งเล็งที่อายุแต่อาศัยการเป็นผู้ปฏิบัติก่อนรู้ก่อนย่อมเป็นผู้อาวุโส
และทั้งสองฝ่ายสามารถสมัครสมานกันด้วยคุณธรรมของทั้งสองฝ่ายคือ อาวุโส ต้องเมตตาต่อผู้อ่อนอาวุโส
ส่วนผู้อ่อนอาวุโสต้องอ่อนน้อมถ่อมตนและเคารพผู้อาวุโสการสมัครสมานจึงเป็นสิ่งที่ปฏิบัติให้เป็นจริงได้
และทั้งสองฝ่ายย่อมต้องอดทนซึ่งกันและกัน

      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวโศลกเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
"สำหรับหลักของขันติ เราไม่ให้มีการทะเลาะกัน แม้อยู่ท่ามกลางของหมู่ศัตรูอั้นกักขฬะ"
      ในหมู่ของผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งยังไม่พบธรรมญาณย่อมต้องอาศัยขันติคือ ความอดทนเป็นที่ตั้งแต่สำหรับผู้ที่พบธรรมญาณความอดทนย่อมเป็นสิ่งว่างเปล่าเพราะเขาเห็นทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็น อนัตตา       แม้ตัวตนของตนก็ว่างเปล่าเพราะฉะนั้นแม้ตกอยู่ท่ามกลางศัตรูอันหยาบช้านักปฏิบัติธรรมก็ไม่จำเป็นต้องทะเลาะแบะแว้งกับใคร
      ผู้เข้าถึงธรรมญาณ สภาวะแห่งความเป็นฟ้าอันกว้างใหญ่หาขอบเขตมิได้ย่อมปรากฏขึ้น เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทะเลาะกันกับใครเลย ดังคำกล่าวที่ว่า
"แม้เราแหงนหน้าด่าฟ้าอย่างไร ฟ้าก็มิเคยตอบโต้เลย"
แต่เมื่อใดความไม่เป็นธรรมปรากฏ เมื่อนั้น ลมพายุร้ายย่อมเป็นสาเหตุสำคัญของภัยพิบัติทั้งปวง เฉกเช่นเดียวกับจิตใจที่ปรวนแปรนั่นแล

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: พระสูตรของ ท่านเว่ยหล่าง (3)
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: 24 ก.พ. 2554, 08:24:46 »
ตอนที่ 35.... บัวสีแดงเหนือตมสีดำ
 
      ผู้ปฏิบัติธรรมด้วยการหลับหูหลับตาย่อมมองไม่เห็นสัจธรรมมีแต่พบความผิดของผู้อื่นตลอดกาลแต่ไม่เคยค้นพบความผิดของตนเองจึงถือว่าเป็นผู้หลงทางอันแท้จริง
สมัยหนึ่งพระเยซูได้อัญเชิญมาตัดสินคดีความหญิงคบชู้นางหนึ่งซึ่งชาวบ้านได้มัดไว้กลางลานรอคำพิพากษาจากพระเยซู
เมื่อพระเยซูเสด็จมาถึงจึงตรัสแก่หมู่ชนเหล่านั้นว่า
"นางผู้นี้สมควรได้รับโทษทัณท์สถานหนักตามประเพณีโดยใช้หินขว้างจนตายไป แต่ขอถามหน่อยว่า ใครคิดว่าตนเองบริสุทธิ์ไม่มีความผิดบาปเลย จงหยิบหินก้อนแรกปาไปที่นางคนนี้เถิด"
 
พระวจนะเพียงเท่านี้ได้เปิดให้จิตใจของคนขณะนั้นได้รู้สำนึกทันทีว่าแท้ที่จริงเรามีผิดบาปด้วยกันทั้งนั้นต่างจึงถอยหนีไปไม่มีใครกล้าหยิบก้อนหินปาแม้แต่คนเดียว หญิงผู้นั้นจึงรอดตายไปด้วยปัญญาอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูเจ้า

      สมัยนั้นการศึกษามิได้เจริญเช่นสมัยนี้ และพระเยซูได้รับการศึกษาไม่ว่าจะเป็นศิลปศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ แต่เหตุไฉนปัญญาของพระองค์จึงมีอานุภาพเช่นนี้ ถ้าไม่เป็นเพราะพระองค์ทรงได้รับศีลจุ่มจากนักบุญโยฮัน ณ แม่น้ำจอร์แดน ก็ยากที่จะหาคำอธิบายถึงปัญญาอันประเสริฐนี้ได้เลย
การได้รับศีลจุ่มในขณะนั้น พระเยซูได้เปล่งพระวาจาออกมาว่า
"ทันใดนั้นท้องฟ้าก็เบิกกว้างขึ้น พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมารวดเร็วดั่งนกพิราบเข้ามาสถิตในพระองค์" พระผู้เป็นเจ้าก็คือ "ธรรมญาณ" ของตนเองและมีจุดกำเนิดมาแต่เบื้องบนซึ่งทุกคนมีเหมือนกันหมดและทรงอานุภาพเท่าเทียมกันเพียงแต่ว่าใครค้นพบความมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่ของตนได้เท่านั้นเอง
ถ้าปัญญาอันเกรียงไกรนี้มีแต่เฉพาะพระเยซูเท่านั้น บรรดาชนทั้งปวงฟังพระวจนะจะไม่มีปัญญาแยกแยะได้เลยว่า ตนเองนี้ล้วนมีผิดบาปเฉกเช่นหญิงคบชู้รายนั้น ชนทั้งปวงก็ไม่สะเทือนใจและคิดว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ พระวจนะของพระเยซูย่อมไร้ความหมายอย่างแน่นอน

      ท่านฮุ่ยเหนิง พระธรรมาจารย์จึงกล่าวเอาไว้ในโศลกว่า
"ถ้าเรามีความเพียรรอคอยจนได้ไฟซึ่งเกิดจากการเอาไม้มาสีกัน เมื่อนั้นบัวสีแดงอันเป็นพุทธภาวะก็จะโผล่ออกมาเองจากตมสีดำ"
ความหมายแห่งพระวจนะนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าภาวะแห่งการเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานจนกิเลสมีอยู่แล้วในทุกตัวตน ไม่ว่าผู้นั้นจักต่ำต้อยด้วยฐานะแห่งกายสังขารหรือปัญญาญาณเพียงแต่ว่า ผู้นั้นมีความเพียรพยายามขัดสีให้ กิเลส ทั้งปวงหลุดออกไปจากธรรมญาณก็สมารถใช้ปัญญาอันยิ่งยงได้เท่าเทียม เพราะต่างมีอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์เท่ากัน

การขัดสีเพื่อให้กิเลสลดน้อยลงไปย่อมต้องอาศัยผู้อื่นเป็นสะพานเพื่อให้เห็นถึงความผิดบาปของตนเองอันเป็นความมืดบอดทางปัญญาเสมือนหนึ่งเมฆหมอกปิดบังความสว่างไสวของดวงอาทิตย์ ดังนั้นคำตักเตือนหรือแม้แต่คำตำหนิของผู้อื่นจึงเป็นประโยชน์มหาศาลในอันที่จะขจัดกิเลสของตนเอง

      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า
"สิ่งที่เป็นรสขมย่อมถูกใช้เป็นยาที่ดี
สิ่งที่ฟังแล้วไม่ไพเราะหูนั้น คือคำเตือนอันจริงใจของผู้เตือนที่แท้จริง เพื่อแก้ไขความผิดให้กลับเป็นของถูก
เราย่อมได้สติปัญญา


      แต่การต่อสู้เพื่อรักษาความผิดของตัวเองไว้ เราได้แสดงความหมายแห่งความมีจิตผิดปกติออกมา"
คนในโลกนี้ต่างมีความต้องการเหมือนกันคือ คำสรรเสริญและเสียงตำหนิว่ากล่าวผู้อื่นเสมอ แต่ผู้บำเพ็ญปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นหนทางแห่งการรู้แจ้งในธรรมญาณย่อมต้องปฏิบัติตรงข้ามกับปุถุชนคือความยินดีในเสียงตำหนิตนเอง และเสียงสรรเสริญผู้อื่น
เสียงตำหนิว่ากล่าวผู้อื่นย่อมเป็นเฉกเช่น ยาชำระล้างความสกปรกภายในจิตญาณ แต่เสียงยกย่องเป็นเช่นยาพิษ เพราะทำให้กลายเป็นผู้ที่ยะโสโอหังได้ง่ายที่สุด เห็นตนเองอยู่ในฐานะเหนือกว่าผู้อื่นจึงกลายเป็นผู้หลงทางอย่างแท้จริง เมื่อมีผู้มาชี้ให้เห็นความผิดเรามักป้องกันตัวด้วยการโต้ตอบด้วยอาการรุนแรงเกินปกติ เพราะฉะนั้นบรรดาชนที่เชื่อว่าตนเองบริสุทธิ์ จึงพยายามประกาศความบริสุทธิ์และป้ายสีความสกปรกให้แก่ผู้อื่นเสามอไปเขาเหล่านี้จึงเป็นเช่นคนผิดปกติ ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคมทุกวันนี้ เพราะไม่เคยชำระล้างความสกปรกเลอะเทอะของตนเอง แต่กลับนำเอาความสกปรกเหล่านั้นไปป้ายให้ผู้อื่น

      พระพุทธองค์ได้ประทานพระวจนะอันยิ่งใหญ่ไว้ว่า
"ผู้ที่โทษเรา จึงเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์อันประเสริฐ"
ความผิดบาปที่เราหลงสร้างเอาไว้ล้วนเป็นการกระทำที่ไม่รู้ด้วยกันทั้งนั้น ถ้ารู้ก็เป็นความหลงที่คิดว่าเป็นคนดีและความถูกต้อง เพราะฉะนั้นจึงกระทำและสั่งสมผิดบาปเอาไว้มากมายโดยไม่เคยชำระล้าง  แต่เมื่อใดที่ได้น้อมฟังคำเตือนจากผู้อื่นแล้วนำมาพิจารณาด้วยตนเองปัญญาที่แยกแยะออกย่อมเป็นเสมือนหนึ่ง ดอกบัวสีแดงที่โผล่พ้นมาจากตมสีดำ นั่นเอง

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: พระสูตรของ ท่านเว่ยหล่าง (3)
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: 24 ก.พ. 2554, 08:35:20 »
ตอนที่ 36.... เงินบังโพธิปัญญา

      มนุษย์ผู้หนาแน่นไปด้วยความหลงจึงเชื่อว่า เงินคือพระเจ้าที่สามรถดลบันดาลทุกสิ่งอย่างให้เราได้ เพราะฉะนั้นจึงพากันหลงหาเงินจนไม่มีเวลาแม้แต่จะรู้จักตัวเองสักนิดหนึ่ง ผู้หลงเงินจึงทุ่มทั้งชีวิตเพื่อแสวงหาเงินตราโดยไม่เชื่อว่า เงินไม่อาจติดสินบนลดหย่อนโทษของตนในนรกได้เลย เงินยิ่งทำให้คนสร้างบาปเวรกรรมได้รวดเร็วและร้ายแรงจนประมาณไม่ได้

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "เงินคืองูพิษ"
      แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครเชื่อพระพุทธองค์ จึงทุ่มเทหาเงินเพื่อซื้อความสุข และเพิ่มพูนกิเลสจนกลายเป็นการทำร้ายตัวเองมากมาย และตกนรกหมกไหม้เพราะอำนาจของเงินตรานี่เอง

พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงประทานพระวจนะเอาไว้ในโศลกหนึ่งว่า
" ในวันหนึ่งๆ ที่ชีวิตล่วงไป เราควรปฏิบัติความไม่เห็นแก่ตัวอยู่เสมอ เพราะพุทธภาวะ ไม่มีหวังที่จะได้มาจากการให้เงินเป็นทาน"
ความหมายที่แท้จริงเพื่อให้เราได้รู้ว่าการปฏิบัติให้ถึงซึ่งพุทธภาวะนั้นมิได้อาศัยเงินตราเป็นผู้ดลบันดาลแต่ประการใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีเงินตราล้วนแต่ถูกเงินตราหลอกล่อให้สูญเสียสภาวะแห่งความเป็นพุทธะกลายเป็น "อสุรกาย" เพราะเขาจักเป็นผู้ที่ทำบุญและมากไปด้วยอารมณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นคนที่มีนิสัย ยโสโอหังมมังการ ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนโดยสิ้นเชิง บุญกริยาทั้งปวงจึงกลายเป็นอกุศลกรรม

      คนมีเงินมักทำบุญเพราะต้องการชื่อเสียง มีหน้ามีตาจึงเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวและได้รับเสียงสอพลอจากผู้ที่นับถือเงินตราเป็นพระเจ้าเช่นเดียวกัน
ประการสำคัญผู้ที่มีเงินตราไม่ได้สำนึกว่า แท้ที่จริงแล้วเงินตราเหล่านี้ล้วนเป็นผลบุญที่ตนเองเคยสร้างมาเอาไว้ในอดีตชาติด้วยความนอบน้อมและศรัทธาแต่คนหลงเงินตรา จึงกลายเป็นศัตราวุธประหารความศรัทธา และความนอบน้อมไปจนหมดสิ้นเพราะเขาเชื่อว่า สวรรค์วิมานสามารถใช้เงินตราซื้อมาได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นและผู้พ้นจากกองกิเลส อำนาจเงินตราดลบันดาลให้ได้  ผู้ที่ถูกอำนาจเงินตราครอบงำจึงเป็นเพียงผู้สร้างชื่อเสียงในหมู่คนเอาไว้เพียงชาตินี้เท่านั้น ชาติต่อไปจึงกลายเป็นผู้ยากจนเข็ญใจและโง่เขลาเบาปัญญา

      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวเอาไว้ในโศลกว่า
"โพธิปัญญานั้น หาพบได้ภายในใจของเราเอง และไม่มีความจำเป็นเสาะแสวงหาความจริงอันเด็ดขาดของสัจธรรมจากภายนอก"
สัจธรรมล้วนอยู่ในใจของเราทุกคน แต่คนที่เห็นแก่ตัวและละโมบในบุญ จึงเป็นผู้ที่พ้นไปจากหนทางแห่งสัจธรรม เพราะเขาไม่ชอบปฏิบัติจิตเพื่อชำระล้างคราบไคลแห่งความโลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความเพียรพยายามฝืนความเคยชินของกายสังขารซึ่งต้องชำระล้างด้วยตนเอง ไม่อาจใช้ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นแทนได้เลย

      เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากราชสมบัติพระองค์ได้สลัดตัดทิ้งทรัพย์สินเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งปวงโดยสิ้นเชิงและเผชิญหน้าต่อความยากลำบากด้วยพระองค์เองเพื่อฝึกฝนกำหราบความเคยชินของความสุขสบายทั้งปวง ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงมีแต่กายสังขารที่ห่อหุ้มด้วยผ้าห่อศพและมีผืนดินโคลนต้นไม้เป็นที่อาศัยพักพิงจึงเป็นผู้ที่ยากจนเข็ญใจที่สุด ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระองค์ประสงค์แสวงหาหนทางแห่งจิต มิได้ต้องการอาศัยหนทางแห่งกายสังขารเพื่อเสพสุข หนทางแห่งกายและจิต สวนทางกันเสมอ กายมีความสุขสบายจิตใจตกต่ำและลุ่มหลง
แต่จิตใจสูงส่งขึ้นเมื่อไร กายย่อมไม่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยปัจจัยต่างๆ อีกต่อไป

      เมื่อพระองค์ทรงค้นพบ "ธรรมญาณ" พระวรกายย่อมสดใสและพ้นไปจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง พระธรรมญาณ ควบคุมกายสังขาร
หนทางแห่งการบำเพ็ญของพระพุทธองค์จึงกล่าวได้ว่าพระองค์อาศัยพระวรกายบำเพ็ญเพื่อค้นหาหนทางแห่ง "ธรรมญาณ" แต่บรรดาผู้ที่หลงใหลต่อทรัพย์สินทั้งปวงล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในอำนาจของความโลภ ความหลง ความโกรธ อย่างเอกอุ เพราะปรนเปรอความสุขให้แก่กายจึงทำให้สภาวะแห่ง "พุทธะ" หายไปจาก ธรรมญาณ ความสุขสบายของกายจึงกลายเป็นอุปสรรคที่ไม่อาจค้นพบ "ธรรมญาณ" ได้เลย

      ในคัมภีร์ใบเบิลแห่งศาสนาคริสต์ ในมัดธาย บทที่ 24 ได้กล่าวเอาไว้ว่า
"ถ้าผู้ใดใคร่ตามเรามา ให้ผู้นั้นเอาชนะตัวเองและรับกางเขนของคนแบกตามเรามา...ผู้นั้นจะได้ชีวิตรอด"
การเอาชนะตนเองจึงเป็นเรื่องที่ต้องฝืนต่อความเคยชินของกายสังขาารโดยแท้ เพราะฉะนั้นตั้งแต่บรรพกาลมาแล้ว ผู้บำเพ็ญล้วนเป็นผู้ที่ต้องละทิ้งเครื่องผูกมัดของทรัพย์สินทั้งปวงจึงจักพบพุทธภาวะของตนเอง แต่การแสวงหาหนทางเช่นนี้ย่อมยากลำบากนัก ส่วนอาศัยเงินตราสร้างบุญ จึงเป็นเรื่องง่ายดายเพราะฉะนั้นผู้ที่แสวงหาแต่หนทางแห่งความง่าย  จึงหลงใหลต่อทรัพย์สมบัติทั้งปวงและเชื่อว่าการทำบุญด้วยเงินมหาศาลย่อมนำพาจิตญาณของตนเข้าสู่พุทธภูมิได้ ถ้าความจริงเป็นเช่นนี้ฟ้าดินย่อมไร้สัจธรรมเพราะคนรวยย่อมขึ้นสวรรค์ตลอดกาล คนจนย่อมตกนรกไม่สิ้นสุด :015:

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: พระสูตรของ ท่านเว่ยหล่าง (3)
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: 24 ก.พ. 2554, 08:43:18 »
ตอนที่ 37.... นั่งเฝ้าก้อนเนื้อ

      พุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ดูเหมือนมีความเชื่ออย่างเด็ดขาดมั่นคงว่า วิธีบำเพ็ญให้พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงจนบรรลุมรรคผลนิพพานต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญคือ "นั่งสมาธิ" และยังเชื่อกันต่อไปว่า เป็นการปฏิบัติบูชาตามที่พระพุทธองค์สรรเสริญกิจกรรมสมาธิ จึงบานสะพรั่งเต็มเมืองไทย
วัดไหน อาจารย์ไหนไม่รู้เรื่องสมาธิ
วัดนั้นอาจารย์นั้นล้าหลังหาความเจริญรุ่งเรืองมิได้

      "สมาธิ" จึงกลายเป็น "พุทธพานิชย์" อีกแบบหนึ่งซึ่งสร้างความร่ำรวยให้แก่วัดและอาจารย์เหล่านั้นที่กำหนดรูปแบบสมาธิขึ้นมาแล้วยืนยันว่าเป็นวิธี ที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติและสั่งสอนสืบต่อกันมาและในที่สุดอาการ "งมงายสมาธิ" หรือ "สมาธิแบบงมงาย" จึงส่งผลให้ผู้ปฏิบัตินั้นยังเร่าร้อน ลุ่มหลง โทสจริต โมหคติ ยังแรงกล้า
ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแบบงมงายจึงเต็มไปด้วยอาการยึดมั่นถือมั่นและก่อกรณีรุนแรงร้าวฉานขึ้นกับตัวเองและผู้อื่น

      ส่วนผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแบบรู้แจ้ง จิตใจเบิกบาน ปล่อยวางอารมณ์ทั้งปวงได้ ชีวิตดำเนินไปด้วยปัญญา ความสงบสันติในตัวเองและผู้อื่นจึงปรากฏขึ้น
สมาธิ จึงมีอยู่สองวิธี คือ "มิจฉาสมาธิ" เป็นสมาธิที่หลงงมงายไม่สามารถพาให้จิตญาณของตนพ้นเวียนว่ายตายเกิด แม้มีอิทธิฤทธิ์มากมายแค่ไหนก็ไม่อาจพ้นนรก
"สัมมาสมาธิ" เป็นสมาธิที่พาให้จิตญาณพ้นไปจากความหลงงมงาย และดำรงตนมั่นอยู่ในสัจธรรมอันเป็นผลมาจากปัญญาที่มีกำลังกล้าแข็งตัดความทุกข์ได้

      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวเอาไว้ในพระสูตร "ว่าด้วยสมาธิและปัญญา" ว่า
"ในระบบคำสอนของอาตมา สมาธิปัญญา นับเป็นหลักสำคัญแต่ท่านทั้งหลายอย่าได้เข้าใจผิดไปว่าธรรมะสองข้อนี้แยกจากกันเป็นอิสระ เพราะเหตุว่ามันเป็นของรวมอยู่ด้วยกัน แยกจากกันไม่ได้และมิใช่ของสองอย่าง ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีความเป็นตัวของตัวเอง"
ความหมายแห่งคำสอนนี้ถ้าเอา "น้ำ" มาเปรียบเทียบจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น น้ำ มีคุณสมบัติเด่นคือ ความเย็น และ “เหลว” เราไม่อาจแยก "เหลว" ออกจาก "น้ำ" ได้ ฉันใด สมาธิ และปัญญาก็แยกจากกันมิได้ฉันนั้น

      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนว่า
"สมาธิ นั่นแหละคือ ตัวจริง ของปัญญา ในเมื่อปัญญาเป็นแต่เพียงอาการไหวตังของสมาธิ ในขณะที่เราได้ปัญญา สมาธิก็มีพร้อมอยู่ในนั้นแล้ว หรือกล่าวกลับกันว่า เมื่อมีสมาธิ เมื่อนั้นก็มีปัญญาดังนี้ก็ได้ ถ้าท่านทั้งหลายเข้าใจหลักดังนี้ก็แปลว่าท่านเข้าใจความสัมพันธ์อันมีส่วนเสมอกันระหว่างสมาธิกับปัญญา
ผู้ศึกษาไม่ควรไปคิดว่า มันมีอะไรแตกต่างกันระหว่างคำว่า "สมาธิทำให้เกิดปัญญา" กับคำว่า "ปัญญาทำให้เกิดสมาธิ" การถือว่าความเห็นแยกกันได้นั้นย่อมสำแดงว่ามันมีอะไรแตกต่างเด่นๆ รู้ถึงสองฝักสองฝ่ายในธรรมะนี้"

      พุทธศาสนิกชนที่ศึกษาสมาธิของพระพุทธศาสนาต่างมีความเชื่อว่า สมาธิ และ ปัญญา เป็นเรื่องที่แยกจากกันและเป็นคนละส่วนกันแต่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เพราะเราเชื่อกันตามที่อรรถาจารย์ได้ตีความและแยกแยะออกมาว่า การปฏิบัติธรรมต้องมี "ศีล สมาธิ ปัญญา"
เพราะความเชื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดอาการงมงายกันคนละแบบ
บางสำนักบางอาจารย์ก็ เคร่งศีลนกลายเป็น "บ้าศีล"
บางสำนักบางอาจารย์ก็ เคร่งสมาธิจนกลายเป็น "สมาธิบ้า"
บางสำนัก บางอาจารย์ก็หลงไหลปัญญา จนกลายเป็น "ยโสโอหังมลังการ"
 
      "อาการบ้าศีล" มิได้มีแต่ในปัจจุบันสมัยเท่านั้น แม้แต่อดีตกาลคนบ้าศีลก็ปรากฏอยู่ทั่วไป คนเหล่านี้ไร้ปัญญาพิจารณาให้เห็นเป็นสัจธรรม เมื่อสมาทานศีล "ปาณาติปาตา" เว้นจากการฆ่าสัตว์น้ำก็ดื่มไม่ได้เพราะในน้ำมีชีวิตสัตว์ อากาศมีเชื้อโรคหายใจเข้าไปก็ฆ่าเชื้อโรค ล้วนเป็นบาปทั้งสิ้น คนบ้าศีล จึงอยู่ในโลกนี้ และตายไปความทุกข์ทรมาน

อาการ "สมาธิบ้า" นับว่าอันตรายที่สุด เพราะนั่งกันจนเพลิดเพลินหลอกหลอนตัวเองงว่าได้พบ สวรรค์วิมาน ระลึกชาติได้ พบพระพุทธองค์ขนาดได้นั่งฟังพระพุทธองค์เทศนาให้ฟังจนบรรลุมรรคผลนิพพาน  เมื่อสำเร็จเป็นอรหันต์จึงอยู่ในโลกนี้ไม่ได้ต้องตายภายใน 7 วัน คนบ้าสมาธิจึงพากันฆ่า ลูก ฆ่าเมีย และตัวเองตายตกนรกไป

      ส่วนคน "บ้าปัญญา" ก็ไม่อาจแยกแยะให้เห็นสัจธรรมเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างว่างเปล่า ตามที่อาจารย์บอกเล่าและยึดแต่คำสอนของอาจารย์เป็นสรณะ คำสอนอื่นๆ ไร้สาระ
คนบ้าปัญญาไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่าง "ความรู้" กับ "ปัญญา" เพราะฉะนั้นจึงมีอาการน้ำล้นแก้ว ไม่ยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่นเลย
ความจริงแล้ว "สมาธิ" และ "ปัญญา" ถ้าเข้าใจความสมดุลย์ถูกต้องย่อมยังประโยชน์มหาศาลแก่มนุษย์ แต่เพราะความเข้าใจผิดชีวิตของผู้ปฏิบัติสมาธิจึงมีความมืดอยู่ในความสว่าง เพราะเราพากันนั่งเฝ้าก้อนเนื้อกันมานานแล้วนานแสนนานโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โภคผลใดๆ แก่ตัวเองและผู้อื่นเลย


ที่มา
http://thai.mindcyber.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=118&page=19
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 ก.พ. 2554, 08:44:48 โดย ทรงกลด »