จากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พบว่า มีข้อความที่กล่าวถึงเรื่องของตัวหนังสือไทย เอาไว้ตอนหนึ่งว่า "เมื่อก่อนนี้ลายสือไทนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะเมีย พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจ ในใจและใส่ลายสือไทนี้ ลายสือไทนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้"
ได้มีผู้สันนิษฐาน เรื่องตัวหนังสือไทยไว้หลายแง่มุม เช่น จารึกอักษรที่ภาพชาดกที่ผนังอุโมงวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย น่าจะเป็นตัวหนังสือที่มีมาก่อนตัวหนังสือจากศิลาจารึกของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ปรับปรุงตัวหนังสือเก่าที่เคยมีมาแล้ว จัดวางสระเสียใหม่ คำว่าใส่อาจหมายถึง การกระทำเช่นนี้ แต่ก็สรุปได้ว่า แต่ก่อนไม่มีตัวหนังสือไทยแบบนี้ และเท่าที่ทราบยังไม่เคยมีผู้ทราบว่า มีตัวหนังสือไทยแบบอื่นใช้มาก่อนสมัยกรุงสุโขทัย
ไทยเราเป็นชาติที่เจริญเก่าแก่มาแต่โบราณกาล ได้มีการศึกษาค้นคว้ามาว่า ชาติไทยนั้น เคยมีภูมิลำเนาอยู่ในดินแดน ที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนในปัจจุบัน และเมื่อกาลเวลาผ่านไป มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง ตามสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ภาษาพูด คนไทยเราเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่เรายังคงไว้ ไม่เปลี่ยนแปลงไปง่ายง่ายเหมือนเรื่องอื่น แม้ในปัจจุบัน คนที่พูดภาษา ซึ่งพอจะย้อนไปได้ว่า ต้นตอเป็นภาษาไทย มีอาศัยอยู่ทั่วไป ในดินแดนที่กว้างใหญ่ของจีน ในมณฑลอัสสัมของอินเดีย ในรัฐฉานตอนเหนือของพม่า ในลาวทั้งหมด ในเวียดนามตอนเหนือ เรายังพอพูดพอฟังเข้าใจกันได้ ในเรื่องทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน คำหลัก ๆ การสร้างรูปประโยค และไวยากรณ์ ยังคงอยู่
ภาษาจีนและภาษาไทย จัดเป็นภาษาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เป็นภาษาที่กำหนดเอาเสียงหนึ่ง แทนความหมายหนึ่ง จึงมีคำที่มีเสียงโดดเสียงเดียวอยู่เป็นอันมาก ทำให้ต้องมีคำอยู่เป็นจำนวนมาก จึงต้องอาศัยการทำเสียงสูง เสียงต่ำ ให้มีความหมายแตกต่างกัน เพื่อให้มีเสียงพอกับคำที่คิดขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอ จึงต้องมีคำผสมของเสียงหลายพยางค์ เพิ่มเติมขึ้นอีก ความแตกต่างจากภาษาอื่นประการหนึ่งคือ เรามีเสียงวรรณยุกต์ สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์วรรณยุกต์ขึ้น ๒ เสียง คือ เสียงเอก และเสียงโท ซึ่งเมื่อใช้ควบกับอักษรเสียงสูงและเสียงต่ำ หรือใช้อักษร "ห" นำอักษรเสียงต่ำ ที่ไม่มีคู่อักษรเสียงสูงแล้ว ก็สามารถผันเสียงได้ถึง ๕ เสียง คือ เสียง สามัญ เอก โท ตรี และจัตวา
ภาษาจีนก็มีเสียงที่เป็นวรรณยุกต์เหมือนกัน แต่ไม่มีเครื่องหมายเขียนในตัวหนังสือ เสียงวรรณยุกต์ของจีนนี้ บ้างก็ว่ามี ๔ เสียง และสูงสุดถึง ๘ เสียง
ซึ่งเมื่อเทียบกับวรรณยุกต์ไทย ก็คงจะเป็นเสียง ที่เกิดจากวรรณยุกต์ ผสมกับสระเสียงสั้นเสียงยาว ซึ่งทางไทยเราแยกเสียงออกไปในรูปสระ ภาษาจีนและภาษาไทย มีรูปประโยคที่เกิดจากการเอาคำมาเรียงกันเป็นประโยค ข้อแตกต่างของไวยากรณ์ไทย ที่ไม่เหมือนของจีน ที่สำคัญคือ คำคุณศัพท์ขยายนาม ภาษาไทยเราเอาไว้หลังนาม แต่จีนเอาไว้หน้านาม เช่นเดียวกับภาษาอื่น ๆ คำวิเศษณ์ที่ประกอบกริยา ภาษาไทยเอาไว้ตามหลังกริยา แต่ภาษาจีนมักไว้หน้ากริยา คำวิเศษณ์ที่ประกอบคุณศัพท์ ภาษาไทยเอาไว้หลังคุณศัพท์ แต่ภาษาจีนเอาไว้หน้าคุณศัพท์ และลักษณะนาม ภาษาไทยจะไว้หลังนาม แต่ภาษาจีนเอาไว้หน้านาม