ผู้เขียน หัวข้อ: "เสาร์ ๕"...สำคัญอย่างไร?  (อ่าน 7549 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ลูกผู้ชายตัวจริง

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 741
  • เพศ: ชาย
  • กูจะกลับมากู้แผ่นดิน ให้พ้นภัยศัตรู
    • MSN Messenger - namo159@HOTMAIL.COM
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
"เสาร์ ๕"...สำคัญอย่างไร?
« เมื่อ: 13 เม.ย. 2550, 12:47:05 »
วันเสาร์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๐ คนทั่วๆ อาจจะไม่คิดว่า เป็นวันสำคัญอะไร แต่สำหรับการสร้างวัตถุมงคลแล้วถือว่า เป็นวันสำคัญแห่งการสร้างวัตถุมงคล และพุทธาภิเษกวัตถุมงคล ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นวันเสาร์ แรมห้าค่ำ เดือนห้า
อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปในอดีตพบว่า วันเสาร์ที่ตรงกับแรมหรือขึ้นห้าค่ำนั้น จะเกิดขึ้นประมาณ ๒-๓ ปีครั้ง คือ วันเสาร์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๒๖ ตรงกับแรม ๕ ค่ำเดือน ๕ วันเสาร์ที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๓๓ ตรงกับแรม ๕ ค่ำเดือน ๕ วันเสาร์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๖ ตรงกับขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๕ วันเสาร์ที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๗ ตรงกับแรม ๕ ค่ำเดือน ๕ วันเสาร์ที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๙ ตรงกับขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๕ วันเสาร์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๐ ตรงกับแรม ๕ ค่ำเดือน ๕ วันเสาร์ที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๓ ขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๕ และวันเสาร์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๐ แรม ๕ ค่ำเดือน ๕ ที่ผ่านมา
สำหรับวัด หรือหน่วยงานใด ที่พลาดการประกอบพุทธาภิเษกวัตถุมงคลในวันเสาร์ห้าที่ผ่านมา หากต้องการจะพุทธาภิเษกวัตถุมงคลในวันเสาร์ห้าในปีต่อๆ ไป ก็ต้องรอไปอีก ๓ ปี โดยวันเสาร์ห้าจะมีอีกครั้งในวันเสาร์ที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๓ ตรงกับขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๕ 
ส่วนปีถัดไปก็จะมีเสาร์ห้าอีก คือ วันเสาร์ที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๔ ตรงกับแรม ๕ ค่ำเดือน ๕ จากนั้นก็เว้นไปอีก ๓ ปี คือวันเสาร์ห้าจะตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๗ ตรงกับแรม ๕ ค่ำเดือน ๕
พระครูสุนทรสิทธิการ (สุคนธ์ สุคนฺธธโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) หรือ พระมหาสุคนธ์ บอกว่า ที่เรียกว่า เสาร์ห้า นั้น คือ วันเสาร์ ขึ้นหรือแรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดวันเสาร์ห้านั้น ประมาณ ๒-๓ ปีครั้ง
ตามคติความเชื่อของโบราณาจารย์เชื่อว่า ดาวเสาร์เป็นดาวแห่งความเข้มแข็ง และมีพลังมาก หากมีการประกอบพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลในวันเสาร์ห้า จะมีพุทธคุณด้านคงกระพัน และแคล้วคลาด โดยจะเห็นได้ว่า ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีการประกอบพิธีในวันดังกล่าว วัตถุมงคลส่วนใหญ่มักได้รับความนิยม
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบระหว่างการประกอบพิธีในวันข้างขึ้นกับข้างแรม การประกอบพิธีในวันข้างขึ้นจะดี ๑๐๐% ส่วนข้างแรมจะดีประมาณ ๘๐% โดยเสาร์ห้าที่ผ่านมานั้น มี ๓ ฤกษ์สำคัญๆ ราชาฤกษ์ โสภณ และ ลาภะ ซึ่งเป็นฤกษ์ที่เป็นมงคล และดีเลิศทุกอย่าง
ในขณะที่ นายกิจจา ทวีกุลกิจ หรือ "หมอนิด" โหรการเมืองชื่อดัง กล่าวเสริมว่า วันเสาร์ ๕ ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือกันว่าเป็น วันแรง เป็นวันที่จะมีพิธีพุทธาภิเษก แต่วันเสาร์ ๕ ในวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๐ ยังไม่ใช่วันเสาร์ ๕ อย่างแท้จริง ยังเป็นวันเสาร์ ๕ ที่ยังไม่เต็มร้อยโดยยังไม่เต็มสูตร มีการจัดพิธีพุทธาภิเษกก็ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งถ้าเป็นวันเสาร์ ๕ ที่แท้จริงและเต็มสูตรจะต้อง ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ วันเสาร์ หรือ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ วันเสาร์
เหตุที่วัดส่วนใหญ่นิยมจัดให้มีพิธีพุทธาภิเษก เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้พิธีพุทธาภิเษกที่เข้มขลังจะมีความศักดิ์สิทธิ์ที่ดีมาก แต่ถ้าวันเสาร์ ๕ สมบูรณ์เต็มสูตรได้นั้น จะต้องเป็นวันเสาร์ ๕ ขึ้น หรือ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ วันเสาร์เท่านั้น แต่จะเป็นวันเสาร์ ๕ ที่หายากมากๆ เพราะจะตรงแบบนี้ได้ต้องรอประมาณ ๕ หรือ ๗ ปี สังเกตให้ดี ถ้าเป็นวันเสาร์ ๕ ที่เต็มสูตรแบบนี้ จะมีวัดจัดพิธีพุทธาภิเษกกันเป็นจำนวนมาก เพราะถือว่าเป็นวันแรง และได้ความศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก
---------///ล้อมกรอบ///----------
เหตุที่เลือก "เสาร์ห้า"
"คม ชัด ลึก" ได้รวบรวมข้อมูลพุทธาภิเษกวัตถุมงคลของวัดต่างๆ ในวันเสาร์ที่ ๗ เมษายน ซึ่งเป็นวันเสาร์ห้า พบว่า วัดที่มีตำนานเกี่ยวกับการสร้างวัตถุมงคลรุ่นเสาร์ห้า ต่างประกอบพิธีพุทธาภิเษกทั้งสิ้น
เช่น วัดสุทัศนเทพวราม มีการพุทธาภิเษกพระกริ่งรุ่น สมโภช ๒๐๐ ปี ส่วนที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม บริเวณด้านหน้าพระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ มีการพุทธาภิเษกเหรียญทรงยินดี ของวัดศรีสุดาราม
ส่วนในต่างจังหวัดนั้น วัดแรกต้องยกให้ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นวัดที่มีคิวจองพุทธาภิเษกจตุคามรามเทพยาวเหยียด
นอกจากนี้แล้ว วัดเล็กวัดน้อยในต่างจังหวัด ก็ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ทั้งภายในอุโบสถของวัด หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อย่างเช่น ที่วัดช่องแสมสาร จ.ชลบุรี ประกอบพิธีมหาพิธีพุทธาภิเษก จตุคามรามเทพ รุ่น "มรดกแผ่นดิน" บริเวณด้านหน้าอนุสรณ์สถานดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ทั้งนี้ พระครูวิสารทสุตาการ หรือ พระมหารัตนะ เจ้าอาวาสวัดช่องแสมสาร ให้เหตุผลว่า วัดใช้ฤกษ์เสาร์ห้าในการประกอบมหาพิธีพุทธาภิเษก ซึ่งเป็นไปตามคติความเชื่อของการสร้างวัตถุมงคลที่ว่า หากประกอบพิธีในวันดังกล่าว จะมีพุทธคุณด้านคงกระพันชาตรี
โดยพิธีเริ่มตั้งแต่เวลา ๐๔.๐๐ น. วันเสาร์ที่ ๗ เมษายน โดยพราหมณ์หลวง ทำพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หน้าอนุสรณ์สถานดอนเจดีย์ จากนั้นเวลา ๐๔.๔๕ น. พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๖ รูป เจริญพระพุทธมนต์ สวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร เพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากเสร็จพิธีแล้ว เวลา ๐๘.๑๙ น. มีการนำไก่ชน ๑๐๐ คู่ มาตีถวายแก้บนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้านพระครูปลัดสมศักดิ์ เจ้าอาวาสวัดแค จ.สุพรรณบุรี บอกว่า เหตุผลที่เลือกประกอบมหาพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล องค์จตุคามรามเทพ รุ่น "รวยแบบไม่มีเหตุผล" จากการศึกษาข้อมูลการสร้างวัตถุมงคลของพระเกจิอาจายร์ยุคก่อน พบว่าวัตถุมงคลที่ประกอบพิธีในวันเสาร์ห้า มักจะได้รับการกล่าวขานเรื่องพุทธคุณด้านคงกระพันชาตรี และแคล้วคลาด เมื่อมีโอกาสในการจัดสร้างวัตถุมงคล จึงเลือกวันเสาร์ห้าเป็นวันประกอบพิธี 0 ไตรเทพ ไกรงู 0
 

http://www.komchadluek.net/2007/04/1...news_id=106945