ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หลังจากออกพรรษา เป็นเหตุบังเอิญให้ในขณะนั้นที่ท่าน เจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง) ได้เดินธุดงค์มายังจังหวัดสกลนคร ในฐานะเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๔ แทนพระอาจารย์ของสามเณรพุธ อันได้แก่ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ท่าน เจ้าคุณพระอริยคุณาธาร ได้เกิดความเมตตาต่อสามเณรพุธเป็นอย่างมาก สามเณรพุธจึงมีโอกาสได้ติดตามท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธารธุดงค์ออก จากอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ในสมัยนั้น ทางคมนาคมยังไม่สะดวก ต้องเดินด้วยเท้าไปตามทางเกวียน ผ่านป่าเขาต่างๆ ท่านเล่าว่าต้องใช้เวลาถึง ๓๑ วัน จึงเดินเท้ามาถึง จังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างทาง บางทีเหนื่อยนักเมื่อยนักก็พักค้าง แห่งละ ๒-๓ วัน บางช่วงในขณะที่เดินรอนแรมในป่า ก็หลงดงหลงป่าบ้าง บางวันไม่ได้ฉันข้าว เพราะหมู่บ้านห่างกันมาก เดินทางออกจากหมู่บ้าน แห่งหนึ่ง ตั้งแต่เช้าจนค่ำก็ยังไม่เจอหมู่บ้านอีกหนึ่งเลย ป่าดงในสมัยนั้น ก็ยังมีสัตว์ป่าชุกชุม บางครั้งได้ยินเสียงเสือเสียงสัตว์ต่างๆร้อง บางครั้ง เสือมันก็กระโดดข้ามทางที่จะเดินไปก็มี
เมื่อเดินทางไปถึงจังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้าพักที่วัดบูรพา และฝากตัว เป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์พร (พี่ชายของพระอาจารย์บุญ ชินะวังโส) ท่านพระอาจารย์พรเป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ ซึ่งในขณะนั้นท่านพระอาจารย์เสาร์ได้มาจำพรรษาอยู่ ณ วัดบูรพาด้วย สามเณรพุธจึงได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์เสาร์ และเริ่มรับ การอบรมทางด้านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นครั้งแรก แต่เดิมทีในสมัยแรก ที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณรนั้น ท่านได้บรรพชาในสังกัดมหานิกายคณะ
ที่วัดบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี แห่งนี้ นอกจากจะได้รับการ อบรมทางด้านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ท่านยังได้ศึกษาทางด้านพระ ปริยัติธรรมอีกด้วย และสามารถสอบได้นักธรรมเอก เมื่อมีอายุเพียง ๑๘ ปี
ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ท่านพระอาจารย์เสาร์ได้พาสามเณรพุธ เดินธุดงค์ จากจังหวัดอุบลราชธานีเข้ามายังกรุงเทพฯ และพาไปฝากตัวกับท่านเจ้าคุณ ปัญญาพิศาลเถระ (หนู) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ให้ช่วยอบรมสั่งสอน สามเณรพุธจึงได้ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี และสามารถสอบได้เปรียญ ๔ ประโยค ตั้งแต่ยังเป็นสามเณรนั่นเอง
สามเณรพุธได้จำพรรษาเรื่อยมา ณ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร แห่งนี้ จนอายุได้ครบบวช ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านจึงได้รับการอุปสมบท โดยมีท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) พระอาจารย์ของท่านเป็น พระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า "ฐานิโย"
ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นสมัยสงครามเอเซียบูรพา ท่านได้อพยพ กลับไปจำพรรษาที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี และท่านได้อยู่จำพรรษา ที่วัดนี้ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ในระหว่างนั้นท่านได้เกิดอาพาธหนัก เป็น วัณโรคอย่างแรง จนหมอไม่รับรักษา ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ท่านพระ อาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้เดินทางมาจำพรรษาที่วัดบูรพา ตามคำสั่งของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เช่นกัน ท่านพระอาจารย์ฝั้นสอนให้ ท่านตั้งใจเพ่งอาการ ๓๒ โดยให้พิจารณาถึงความตายให้มากที่สุด ทั้งยัง คอยให้กำลังใจกับท่านตลอดเวลา