
หลวงปู่ไข่ อินฺทสโร วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร (วัดเชิงเลน) สัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เป็นชาวแปดริ้ว บ้านเกิดอยู่บริเวณประตูน้ำท่าไข่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
ในปัจจุบัน หลวงปู่เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๐๒ ตรงกับขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะแม เป็นบุตรของนายกล่อม นางบัว จันทร์สัมฤทธิ์ มีพี่น้องกี่คนไม่ปรากฏ
เมื่ออายุ ๖ ขวบ บิดานำไปฝากเป็นศิษย์หลวงพ่อปาน วัดโสธร คือวัดโสธรวราราม ในปัจจุบัน เพื่อให้เรียนหนังสือ ต่อมาจึงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อบรรพชาแล้วก็หัดเทศน์มหาชาติ และเทศน์ประชัน กล่าวกันว่า "หลวงปู่ไข่มีความสามารถในการเทศน์มหาชาติกัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรีได้ไพเราะกังวานจับใจผู้ฟังยิ่งนัก"
นอกจากนี้แล้วท่านยังเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความสามารถสูงในทางวิปัสสนากรรมฐาน เจริญพระกรรมฐานเป็นอารมณ์ จนสามารถรู้เห็นเหตุการณ์ได้ล่วงหน้า อีกทั้งท่านยังมีความสามารถทางแพทย์แผนโบราณด้วย ท่านเคยรักษาคนเป็นบ้าหายมาจนนับไม่ถ้วน
ศิษย์ท่านมีทั้งไทย จีน และยังมีแขกซิกข์อีกด้วย เวลาเจ็บไข้มักจะมาหาท่านให้ช่วยรักษา ซึ่งท่านก็ช่วยทุกครั้งไม่เคยแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง จิตใจของท่านบริสุทธิ์สูงสุดจริงๆ นับว่าหลวงปู่ทำกุศลให้กับคนทุกชนชาติ โดยไม่แบ่งแยกชาติตระกูลว่าเป็นใครมาจากไหน ด้วยเหตุนี้เองทำให้วัตถุมงคลของท่านเป็นที่แสวงหาของผู้นิยมสะสมพระเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่อง ธง ตะกรุด
โดยเฉพาะ "พระอะระหัง กลีบบัว" เมื่อประมาณ ๓๐ กว่าปีก่อน มีนักสะสมพระเครื่องบางท่านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระของวัดราชาธิวาส สร้างในสมัยสงครามอินโดจีน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิดๆ โดยปราศจากหลักความเป็นจริง แต่ความจริงก็หนีความจริงไปไม่พ้น
"พระอะระหัง" หลวงปู่ไข่นี้ท่านสร้างไว้และปลุกเสกอย่างแน่นอนอีกด้วย ซึ่งก็มีการซื้อขายกันอยู่เสมอ องค์ละเป็นหมื่นๆ บาททีเดียว และไม่แน่ในอนาคตอาจจะทำให้ราคาเป็นแสนๆ หรือล้านบาทขึ้นไป โดยปรากฏเป็นความจริง
พุทธลักษณะ เป็นรูปทรงหยดน้ำ มีปีกเนื้อล้นโดยรอบ ตรงกลางเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งบนอาสนะบัวค่ำบัวหงาย นับได้ ๑๑ กลีบ ล่างสุดเป็นยันต์อ่านได้ความว่า "อะระหัง" เป็นภาษาขอม (ประวิสรรชนีย์)
ด้านหลังบนสุดเป็นยันต์ "อุณาโลม" ตรงกลางเป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ผูกเป็นยันต์ตามช่อง เป็นภาษาขอม อ่านได้ความว่า "นะ (ตัวบน) โม (ตัวล่าง) พุท (ตัวหน้า) ธา (ตัวกลาง) ยะ (ตัวหลัง)" และ "มิ อุ มิ"
การใช้เหรียญหลวงปู่ไข่ เมื่อได้อาราธนาว่า "พุทธัง อาราธนานัง ธัมมัง อาราธนานัง สังฆัง อาราธนานัง" แล้วตามด้วยคาถาหลวงปูไข่ที่ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ มิ อุ มิ" ให้ทำจิตใจสงบแล้ว นึกอาราธนาหลวงปู่ไข่ ในการเดินทาง ประกอบธุรกิจ หรือหาโชคลาภ ขอให้ท่านคุ้มครองป้องกันบันดาลให้ประสบผลสำเร็จทุกสถานในระยะแรก
มีเรื่องเล่ากันสืบต่อมาว่า พระอะระหังกลีบบัว เป็นพระที่มีประสบการณ์มาก เป็นที่ยอมรับในสมัยก่อน เช่น มีจีนจับกังใส่พระชุดนี้โดนเครนเรือล้มใส่ แต่ก็แคล้วคลาดได้ อย่างอัศจรรย์
การอาราธนาพระอรหังกลีบบัว พระคาถาของหลวงปู่ไข่ โดยเฉพาะพระอะระหังกลีบบัว ว่า "อรหังพุทโธ อิติปิโส ภควา น เมตตาจิต" แล้วสงบจิตนึกถึงสิ่งนั้น ชื่อนั้น (ออกชื่อด้วย) จักเป็นไปตามความปรารถนาแล
ส่วนคาถาหรือยันต์ที่ปรากฏบนเหรียญทุกรุ่น รวมทั้งรุ่นล่าสุดที่ นายสมคิด ตั้งธนชัย จัดสร้างถวายเมื่อปี ๒๕๔๔ คือ "นะ โม พุท ธา ยะ" หรือ "แม่ธาตุใหญ่" ขณะเดียวกันอาจจะเรียกว่าคาถา "พระคาถาพระเจ้า ๕ พระองค์" คาถาบทนี้ถือเป็นคาถาที่เกจิอาจารย์ทั้งหลายใช้แทบทั้งนั้น ด้วยเหตุที่ว่า "มีพุทธคุณดีทุกด้าน" หรือที่เรียกว่า "มีพุทธคุณครอบจักรวาล"
คาถาบทนี้มักพบว่า จะใช้คู่กับคาถาอีก ๒ บท คือ "นะ มะ พะ ทะ" หรือ "ธาตุ ๔" บางเกจิอาจจะตามด้วย "จะ ภะ กะ สะ" หรือ "ธาตุกรณี" (หัวใจ ๑๐๘)
นะ คือ ธาตุน้ำ (อาโปธาตุ) หล่อเลี้ยงอินทรีย์ร่างกายและดวงจิต
โม คือ ธาตุดิน (ปฐัวีธาตุ) ให้ความคงทน เนื้อหนัง
พุท คือ ธาตุไฟ (เตโชธาตุ) ให้ความอบอุ่นกาย รักษากาย
ธา คือ ธาตุลม (วาโยธาตุ) หายใจ เข้า-ออก เป็นอารมณ์
ยะ คือ อากาศธาตุ อากาศมีที่ใด ทำให้มีชีวิตชีวา ความสุขเข้าอากาศธาตุดี
ในธาตุทั้ง ๕ กองนี้ เฉพาะอากาศธาตุมีอยู่โดยรอบ ในส่วน "อันว่างเปล่า" ฉะนั้นจึงพิจารณาแต่ธาตุ ดิน ธาตุ น้ำ ธาตุ ลม และธาตุ ไฟ รวม ๔ กอง เรียกว่า ธาตุ ๔ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากเป็น "พระคาถาพระเจ้า ๕ พระองค์" ยันต์แต่ละตัวจะมีความหมายดังนี้
๑.นะ คือ พระกุกกุสันโท
๒.โม คือ พระโกนาคม
๓.พุท คือ พระกัสสปะ
๔. ธา คือ พระสมณะโคดม
๕.ยะ คือ พระศรีอาริยะเมตตรัย
ส่วนคาถา "มิ อุ มิ" แล้วแต่อุปเท่ห์ของเกจิจะพิจารณาอารมณ์ (วางอารมณ์ จิต) นึกถึงธาตุต่างๆ คุณธรรมต่างๆ มาใส่ในจิต แล้ว ปลุกเสก โดยกระแสจิตของท่านให้มี พลัง เสริมวัตถุมงคล
"มิ" น่าจะเป็นการนำตัวท้ายของคาถา "พุทธัง สรณัง คัจฉามิ" มาพิจารณาเสก "มิ" คล้ายกับการเขียนยันต์ของหลวงแช่ม วัดตาก้อง จ.นครปฐม
"อุ" น่าจะเป็นการนำตัวแรกของคาถา "อุเมตตา จะมหาราชา สัพพะสะเน่หาจะปูชิโต" (ทางเมตตา)
อย่างไรก็ตาม การเขียน ยันต์อยู่บนห่วงร้อยกัน หรือที่เรียกว่า "ยันต์ปิด" ผู้สร้าง "มุ่งพุทธคุณด้านมหาอุด" การเขียนคาถาที่เป็นยันต์ปิดอื่นๆ ที่ปิดหางปิดหัวให้เข้าได้เรียกว่า "เน้นพุทธคุณด้านมหาอุด"
--------------------
หมู มรดกไทย