พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย ศิษสายหลวงปู่มั่น ครับ.
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ท่านมีชื่อที่แท้จริงว่า จวน นามสกุล นรมาส เกิดเมื่อวันเสาร์แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ที่บ้านเหล่ามันแกว ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี
โยมพ่อของท่านมีอาชีพทำนา แต่ก็เป็นผู้ที่มีความรู้ในทางด้านสมุนไพร และรักษาแผนโบราณ เรียกได้ว่า เป็นหมอประจำหมู่บ้านก็ว่าได้ ซึ่งเป็นที่รักใคร่นับถือของบรรดาเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียง
เพราะว่า บรรดาเพื่อนบ้านเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็มักจะได้อาศัยโยมพ่อของท่านพระอาจารย์จวน ได้รักษาจนหายป่วยหายไข้ นอกจากว่าจะเป็นหมอประจำหมู่บ้านไปด้วยในตัวแล้วก็ยังได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านอีกด้วย
โยมพ่อของท่านชื่อ สา และโยมแม่ของท่านซึ่งมีบรรพบุรุษอพยพ มาจากทางเวียงจันทน์ เป็นอุปราชของทางเมืองเวียงจันทน์ เมื่อมีภัยสงครามเกิดขึ้นจนกระทั่งเวียงจันทน์แตก
อุปราชผู้เป็นต้นตระกูลก็ได้พาครอบครัวอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลหนองวัวลำภู และต่อมาก็ได้ย้ายถิ่นฐานบ้านช่อง มาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี จนได้มาพบกับโยมพ่อของท่าน และได้อยู่ร่วมครอบครัวเดียวกัน
โยมแม่ของท่านชื่อ แหวะ นามสกุลเดิม วงศ์จันทร์ ท่านพระอาจารย์จวน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นคนที่ ๖
หมู่บ้านตามชนบทในสมัยก่อนนั้นการศึกษาเล่าเรียนนับว่าลำบากมากพอสมควรทีเดียว เพราะโรงเรียนนั้น ไม่ได้มีไปทุกหมู่บ้าน บางโรงเรียน จะเป็นที่รวมกันของหมู่บ้านใกล้เคียง หลายๆ หมู่บ้าน ซึ่งแต่ละหมู่บ้าน บางทีต้องเดินไปเรียนหนังสือกันเป็นสิบ ๆ กิโลเมตร ดังนั้นเด็ก ๆ ที่จะได้ไปเรียนหนังสือตามหมู่บ้านที่ห่างไกลออกไปนั้นก็จะต้องโตพอสมควร
ท่านพระอาจารย์จวนได้มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือที่อีกหมู่บ้านหนึ่ง จนกระทั่งท่านเรียนหนังสือจบชั้นประถม ๓ โรงเรียนที่ท่านเรียนอยู่นั้นก็ได้ย้ายมาอยู่ที่ บ้านโคกกลาง ซึ่งติดกับบ้านเหล่ามันแกว ใกล้ ๆ กับบ้านของท่าน
และที่โรงเรียนนี้เอง ท่านพระอาจารย์จวนจึงได้มีโอกาสเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ซึ่งในสมัยนั้นถือว่า เป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนตามชนบทนั่นเอง
ท่านพระอาจารย์จวนเป็นเด็กที่ฉลาดและขยันหมั่นเพียรเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ชั้นประถม ๑ จนถึงชั้นประถม ๖ นั้น ท่านสอบไล่ได้ที่ ๑ มาโดยตลอด
ได้รับคำยกย่องชมเชย จากครูบาอาจารย์เป็นอย่างมาก ทั้งในด้านความประพฤติและด้านการเรียนจนเป็นที่เชื่อถือรักใคร่ของครูบาอาจารย์
ในปีที่สุดท้ายก่อนที่ท่านพระอาจารย์จวนจะออกจากโรงเรียนนั้น ได้มีพระธุดงค์องค์หนึ่งมาปักกลดอยู่ใกล้ ๆ บ้านของท่าน ท่านพระอาจารย์จวนได้ไปที่กลดของพระธุดงค์องค์นี้อยู่เสมอ
เมื่อไปสนทนากับพระธุดงค์นี้ครั้งใดก็จะบังเกิดความศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก ถึงกับตั้งปฏิธานไว้ว่า ต่อไปจะต้องบวชอย่างท่านบ้าง
และด้วยความสนใจฝักใฝ่ในทางพระพุทธศาสนาของท่านพระอาจารย์จวน พระธุดงค์องค์นั้นจึงได้มอบหนังสือ ไตรสรณาคมน์ ซึ่งพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยคโม วัดป่าสาลวัน นครราชสีมาได้บรรยายไว้ให้
ซึ่งหนังสือนี้เป็นหนังสือที่สอนให้ได้รู้จักการเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้อย่างแท้จริง และสอนให้รู้จักวิธีการปฏิบัติภาวนาด้วย และนี่เองท่านพระอาจารย์จวน จึงได้เกิดความคิด ความเลื่อมใสศรัทธาที่จะลองปฏิบัติไปตามหนังสือนั้นดู
พระอาจารย์จวนได้เริ่มฝึกหัดสวดมนต์ ไหว้พระ และทำวัตร ตลอดจนนั่งสมาธิบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนกระทั่งปรากฏว่า จิตของท่านในขณะนั้นรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอารมณ์
จิตกับกายแยกกันไม่เหมือนกัน จิตอยู่เฉพาะจิต กายอยู่เฉพาะกาย เวทนาใดก็ไม่มีปรากฏเลย ท่านพระอาจารย์จวนเล่าว่า
เวลานั้นก็ไม่รู้จักอะไรลึกซึ้ง เพราะว่าหัดเอง ทำเอง ตามลำพังแต่เพียงคนเดียว ไม่มีผู้รู้ผู้ใดมาสอนให้ก้าวหน้าขึ้น ก็ได้แต่รู้สึกว่า เมื่อได้นั่งสมาธิแล้วก็สบายดี กายเบา จิตขาวนิ่มนวลผ่องใส เหมือนนั่งนอนอยู่บนอากาศอันนิ่มนวล ทำให้จิตใจดูดดื่มมาก
นึกอยากจะภาวนาอยู่เสมอ ๆ วันใดถ้าจิตใจไม่สบายเป็นต้องเข้าที่นั่งภาวนาให้จิตสงบอยู่เสมอ ๆ
ท่านพระอาจารย์จวนได้ฝึกหัดปฏิบัติภาวนาพุทโธตามแบบฉบับในหนังสือ ไตรสรณาคมน์ ของท่านพระอาจารย์สิงห์นี้จนกระทั่งท่านเรียนจบ และออกมาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพแล้ว ท่านก็ยังได้ฝึกหัดปฏิบัติอยู่เช่นนั้น
เพราะโดยนิสัยส่วนตัวของท่านแล้ว ท่านพระอาจารย์จวนก็เป็นผู้ที่ฝักใฝ่ในทางวัดวามาตั้งแต่เด็ก ๆ นิสัยทางด้านของเรื่องการสร้างบาปสร้างกรรมของท่านนั้น ไม่มีเลย
ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สัตว์เล็กสัตว์น้อยท่านก็ไม่เคยทำ หรือจะเป็นการหยิบฉวยลักขโมยสิ่งของแต่อย่างใด จนแม้อาจจะกล่าวได้ว่า เข็มสักเล่มเดียวก็ไม่เคยลักไม่เคยหยิบของใครเลย
อายุของท่านย่างเข้า ๑๘ ปีในตอนนั้น ท่านพระอาจารย์จวนก็ได้มีโอกาสเข้าทำราชการที่กรมทางหลวงแผ่นดิน ในระหว่างที่ทำงานอยู่ที่กรมทางหลวงแผ่นดินนี้ ท่านก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือของท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ชื่อ จตุราลักษณ์
ท่านพระอาจารย์เสาร์ได้บรรยายไว้ เกี่ยวกับเรื่องของมรณานุสติ เมื่ออ่านไปทำให้จิตใจของท่านพระอาจารย์จวนมีความสลดสังเวชใจเป็นอย่างยิ่ง ความสลดใจนั้นเกิดขึ้นจากคำบรรยายเป็นธรรมะของท่านพระอาจารย์เสาร์
ซึ่งได้ย้ำถึงเรื่องกรรมว่า คนเรานั้นย่อมมีกรรมเป็นของ ๆ ตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้เป็นบุญหรือเป็นบาปเมื่อยังมีชีวิตอยู่ กรรมนั้นจะเป็นทายาท ให้เราได้รับผลกรรมนั้นต่อ ๆ ไป
คือ หมายความว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์ ให้เป็นไปต่าง ๆ นานา ให้เลว ให้ดี ให้ชั่ว ให้ประเสริฐ เมื่อได้อ่านไปถึงตอนนี้ จิตใจของท่านพระอาจารย์จวนก็ยิ่งบังเกิดความสลดสังเวชใจอย่างยิ่งว่า
คนเรานั้นก็ต้องมีตายอยู่นั่นเอง ถ้าเกิดมาไม่ประกอบคุณงามความดี ก็ไม่มีประโยชน์แก่ชีวิตของตน และไม่มีโอกาสที่จะได้รับความสุขต่อไปในชาติหน้าอีก
ในขณะนั้นเองจิตใจของท่านพระอาจารย์จวนได้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาเพิ่มพูนขึ้นเป็นอย่างมาก ระหว่างนั้นเองถึงกับสละเงินที่เก็บหอมรอมริบจากการทำงานอยู่ที่กรมทางหลวงทั้งหมดรับเป็นเจ้าภาพสร้างมหากฐินเพียงคนเดียว นำเงินไปสร้างพระประธานสร้างส้วมในวัดจนหมด
จนกระทั่งท่านอายุได้ ๒๑ ปี ก็ได้ลาออกจากกรมทางหลวงแผ่นดินเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ ซึ่งยังเป็นฝ่ายมหานิกาย ที่วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี พระอุปัชฌาย์ชื่อ บุ พระกรรมวาจาจารย์ชื่อ พระมหาแจ้ง และได้รับฉายาว่า กลฺยาณธมฺโม
ในขณะนั้น เมื่อบวชแล้วท่านพระอาจารย์จวน ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนนักธรรม จนสอบได้นักธรรมตรีในพรรษานั้นเอง
ในการบวชของท่านพระอาจารย์จวนนั้นเรียกกันได้ว่า เป็นพระบ้านแต่ท่านพระอาจารย์จวนก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะออกเดินธุดงค์ เพื่อเจริญรอยตามพระธุดงค์กรรมฐานที่ท่านพระอาจารย์จวนได้เคยไปกราบนมัสการเมื่อตอนที่ท่านยังเป็นเด็กอยู่
ดังนั้นเมื่อไปขอลาพระอุปัชฌาย์ก็ไม่ยอมให้ออกไปธุดงค์ ท่านพระอาจารย์จวนจึงตัดสินใจลาสิกขาบท สึกออกมาเป็นฆราวาสก่อนเป็นการชั่วคราว
หลังจากที่ได้ลาสิกขาบทเป็นฆราวาสแล้ว ท่านพระอาจารย์จวนก็ได้เดินทางไปแสวงหาพระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐาน จนกระทั่งได้ไปถึงที่ สำนักวัดป่าสำราญนิเวศน์ อำเภออำนาจเจริญ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันที่ ๒๔ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
โดยมีท่านพระครูทัศนวิสุทธิ (มหาดุสิตเทวิโธ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ซึ่งเป็นศิษย์กรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่น พระอุปัชฌาย์รูปนี้ท่านเพิ่งได้รับแต่งตั้ง และมาบวชท่านพระอาจาย์จวน เป็นองค์แรก
ได้ตั้งฉายาให้ท่านพระอาจารย์จวนว่า กุลเชฏฺโฐ ซึ่งแปลความหมายได้ว่า พี่ชายใหญ่ที่สุดของวงศ์ตระกูลนี้ ส่วนพระภิกษุองค์ที่ ๒ ที่พระอุปัชฌาย์ รูปนี้ได้บวชให้ในเวลาภายหลัง นั่นคือ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร แห่งวัดป่าแก้ว บ้านชุมพลนั่นเอง...
พรรษาต่อมา พระอาจารย์จวนได้ชวนพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต ไปพำนักปฏิบัติภาวนาที่ดงหม้อทองอีก พรรษานี้มีพระเณรร่วมเดินทางไปพำนักด้วยถึง ๔ องค์ สัตว์ป่าก็ดูจะคุ้นเคยไม่เป็นข้าศึกแก่กัน
จนกระทั่งออกพรรษาแล้วก็ได้วิเวกไปทางดงศรีชมภู ทางเขตอำเภอโพนพิสัย ได้ไปพบสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้าย ๆ กับ ซากเมืองเก่าบริเวณแห่งนี้มีต้นจันทน์มากมาย
พระอาจารย์จวนจึงได้ขอให้ญาติโยมช่วยปลูกเป็นร้านเล็ก ๆ และ ที่ถ้ำจันทน์นี้อยู่ห่างจากบ้านคนมาก มีบ้านของพวกข่าอยู่ ๒ หลังคาเรือน ซึ่งห่างไปประมาณ ๑๐๐ เส้นทางที่จะไปบิณฑบาตนั้นเป็นทางที่ช้างเดิน กว่าจะถึงทางเกวียนต้องเดินไปอีกไกลโขทีเดียว
พอพวกญาติโยมกลับไปแล้วพระอาจารย์จวนก็อยู่เพียงองค์เดียว ตกกลางคืนได้ยินเสียงเสือมาคำรามอยู่ใกล้ ๆ บางคืนก็ได้ยินเสียงคนพูดคุยกันอยู่ตามพลาญหินก็มี บางวันก็ได้ยินเสียงเหมือนคนสวดมนต์ไหว้พระทำวัตรอยู่ที่ถ้ำจันทน์นั้น
ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครอยู่ด้วยเลย
ที่ถ้ำจันทน์มีวัตถุโบราณเป็นพระโบราณฝังอยู่ในดิน เมื่อขุดดูก็ได้ปรากฏว่าพบเศียรพระ แขนพระ และองค์พระ ซึ่งแต่ก่อนถ้ำจันทน์นั้นเป็นที่อยู่ของบรรดาสัตว์ป่าทั้งหลาย ระยะแรกที่พระอาจารย์จวนไปปักกลดอยู่นั้นก็ได้อาศัยบิณฑบาตจากข่า ๒ ครอบครัวนั้นเองมาประทังเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ตลอดมา
การปฏิบัติบำเพ็ญภาวนาที่ถ้ำจันทน์นี้ แม้จะอยู่เพียงองค์เดียว แต่ก็เป็นสัปปายะในการภาวนาเป็นอย่างยิ่ง พระอาจารย์จวนท่านเล่าว่าจิตรวมดี การค้นคิดพิจารณาในร่างกายก็เป็นไปอย่างดี ท่านได้บำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างไม่ลดละ
หลังจากออกจากพรรษาแล้วท่านก็เกิดอาพาธหนักด้วยไข้ป่าอีก ไม่มียาจะรักษาก็ได้ปล่อยให้ธาตุขันธ์รักษาตัวเองไปตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้น
ระหว่างที่เป็นไข้อยู่นั้น วันหนึ่งขณะจะเคลิ้มหลับไปก็ได้นิมิตเห็นโยมพ่อซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้วตั้งแต่ที่ท่านพระอาจารย์จวนอายุได้ ๑๖ ปี โยมพ่อซึ่งเป็นหม้อกลางบ้านนั้นได้เข้ามาหาและได้ถวายฝนยาให้พระอาจารย์จวนดื่ม กลิ่นของยาหอมน่าดื่มจริง ๆ หลังจากนั้น อาการเจ็บป่วยก็ได้หายสนิทลง ร่างกายก็มีกำลังฉันอาหารได้เป็นปกติ และตั้งแต่นั้นมาอาการเจ็บป่วยในลักษณะนั้นก็ไม่เคยได้เกิดขึ้นอีกเลย ท่านพระอาจารย์จวนได้พำนัก บำเพ็ญเพียรอยู่ที่ถ้ำจันทน์เป็นเวลาถึง ๓ พรรษาด้วยกัน แต่ถ้านับปีก็นานถึง ๔ ปี ในระยะหลังก็ได้มีบรรดาชาวบ้านพากันอพยพเข้าไปตั้งบ้านเรือนอยู่กันเป็นจำนวนมาก เพราะเหตุว่า ในภายหลังบรรดาชาวบ้านได้ไปเห็นว่าเป็นที่อันอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก มีน้ำดี ดินดี
ท่านพระอาจารย์จวนเห็นว่า เมื่อมีผู้คนอพยพมาอาศัยอยู่กันมาก ๆ ทำให้สถานที่นั้นไม่สงบเป็นการรบกวนต่อการทำสมาธิภาวนาท่านจึงคิดที่จะโยกย้ายไปหาที่อันสงบสงัดวิเวกเพื่อทำความเพียรต่อไป
ออกจากถ้ำจันทน์ พระอาจารย์จวนได้มุ่งหน้าไปยังภูสิงห์ ในเขตอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ได้ขอให้ญาติโยมพาไปดูสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นภูเขาลูกหย่อม ๆ ระหว่างภูสิงห์ใหญ่และภูทอกใหญ่ เขาลูกนี้เรียกชื่อว่า ภูสิงห์น้อย หรือ ภูกิ่ว ตามลักษณะคอดกิ่วของภูเขานั้น
ระยะแรกที่ พระอาจารย์จวนไปพำนักอยู่นั้น ภูสิงห์น้อยยังเป็นป่าที่รกมากมีถ้ำเงื้อมหินอันสงบสงัด มีน้ำซับตามธรรมชาติ ได้ปลูกเสนาสนะหลังหย่อม ๆ อยู่เป็นการชั่วคราว โดยอาศัยญาติโยมจากบ้านนาสะแบงบ้าง บ้านนาคำภูบ้างมาช่วยกันยกกระต๊อบเป็นเสนาสนะอย่างหยาบ ๆ และพระอาจารย์จวนได้เล่าว่าที่ภูสิงห์น้อยนี้การทำความเพียรได้ผลดีมาก แม้การบิณฑบาตก็ไม่ลำบากไม่ขาดแคลนพออาศัยยังชีพไปได้วันหนึ่ง ๆ
ในพรรษานี้มีพระติดตามท่านมาด้วยองค์หนึ่งและมีเณรอีกองค์หนึ่ง ผ้าขาวผู้ชราอีกคนหนึ่ง ก็ได้ไปบิณฑบาตที่บ้านคำภู ซึ่งอยู่ห่างจากเชิงเขาไปถึงหมู่บ้านประมาณ ๓ กิโลเมตร ต่างองค์ต่างก็แยกกันอย่างขะมักเขม้นยิ่งยวดตลอดทั้งพรรษา
อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่พระอาจารย์จวนกำลังเดินจงกรมอยู่นั้น ได้กำหนดจิตภาวนาบริกรรมไปโดยตลอด ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้จะค่ำแล้ว ก็รู้สึกว่าได้กลิ่นเหม็นอยู่ชอบกล พระอาจารย์จวนได้ตั้งจิตถามไปจิตก็ได้ตอบว่า
เป็นกลิ่นของเปรต
พระอาจารย์จวนก็ได้อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ กลิ่นนั้นก็ได้จางหายไปในที่สุด พอรุ่งเช้าได้พบปะพูดคุย กันกับพระอาจารย์สอนที่ไปด้วยนั้นท่านก็ว่าได้กลิ่นเหม็นเหมือนกัน
และในคืนนั้นเอง พระอาจารย์จวนก็ได้นิมิตอย่างประหลาด คือเห็นเปรต ๒ ตน เป็นผู้หญิง นุ่งแต่ผ้าไม่ใส่เสื้อเปลือยตลอด ผมยาว ผิวดำคล้ำเศร้าหมอง
เมื่อได้สอบถามดูก็ได้ความว่า เป็นเปรตอยู่ที่ภูสิงห์นี้มานานแล้ว ตั้งแต่ครั้งเป็นมนุษย์ก็ได้เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน ผู้เป็นพี่ชื่อนางเสาทา ผู้เป็นน้องชื่อนางเสาสี
ได้เอาตัวไหมตัวหม่อนซึ่งมีฝักรังใหม่อยู่ข้างในมีตัวอ่อนอยู่ข้างในมาต้มในน้ำร้อนเพื่อสาวเอาใยใหมมาทอผ้า และด้วยบุพกรรมอันนี้พอตายจากมนุษย์ก็ได้กลายเป็นเปรตไป ดังนี้
พระอาจารย์จวนท่านกล่าวว่า ถ้าจะเปรียบเทียบกับสถานที่ต่าง ๆ ที่ท่านได้เคยไปมาแล้วนั้น ที่ภูสิงห์น้อยนี้นับว่าเป็นสถานที่ ที่เป็นสัปปายะที่สุด เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนาของท่าน แม้ที่ดงหม้อทองจิตจะรวมง่าย แต่ปัญญาก็ไม่แก่กล้า
ท่านพึ่งมาได้พิจารณาคิดค้นกายอย่างหนัก พึ่งจะเริ่มกระจ่างมาเป็นลำดับก็ที่ภูสิงห์น้อยนี่เอง ในระหว่างพรรษานี้ พระอาจารย์จวนได้เร่งทำความพากเพียรอย่างเต็มความสามารถ
ได้พิจารณาร่างกายอันเป็น กายาคตาสติ ไม่ให้จิตรวมไม่ให้จิตพัก ได้พิจารณาไปพอสมควร พอสงบก็พิจารณาค้นในร่างกาย พิจารณาทวนขึ้นและตามลงเป็นปฏิโลมและอนุโลม พยายามพิจารณาร่างกายให้รู้เห็นตามเป็นจริงไป
พอออกพรรษาแล้วพระอาจารย์จวนก็ได้ไปพำนักปฏิบัติภาวนาอยู่ที่ถ้ำบูชา ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านแห่งนั้นไป ๑๐ กิโลเมตร ในที่นี้การบิณฑบาตลำบากมาก
พระอาจารย์จวนได้ขอให้ญาติโยมช่วยกันตัดทางจากบ้านดอนเสียดขึ้นไปบนภูวัวไปถ้ำบูชา ได้ช่วยกันทำอยู่ ๓ เดือนจึงสำเร็จเป็นทางที่รถและเกวียนพอจะเดินขึ้นไปได้
พรรษาแรกนั้นได้มีพระไปอยู่พำนักด้วย ๕ องค์ มีเณร ๒ องค์ ต่างองค์ก็ต่างแยกย้ายกันหาที่วิเวกได้ปรารภความเพียรกันอย่างไม่ประมาท
อยู่มาวันหนึ่งในขณะที่พระอาจารย์จวนท่านได้นั่งภาวนาอยู่นั้นก็ได้นิมิตขึ้นว่า ท่านกำลังค้นหาพระแต่หาไม่เห็น ในขณะนั้นได้มียักษ์ผู้หญิง รูปร่างสูงใหญ่มีร่างกายดำสนิท ผมยาวรุงรัง นุ่งผ้าอยู่เพียงท่อนล่าง ส่วนท่อนบนนั้นเปลือยกาย ท้องก็อ้วนใหญ่ อยู่ในน้ำตกสะอาม
พระอาจารย์จวนได้เข้าไปถามว่าเป็นใครทำไมถึงได้มาอยู่ในที่นี้ ยักษ์นั้นก็ได้ตอบว่า เป็นยักษ์อยู่ที่น้ำตกสะอาม เพราะแต่ก่อนได้เคยทำบาป คือในชาติที่ได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นได้เกิดมาเป็นภรรยา ของท่านอาจารย์
แต่เป็นผู้ทุจริตประพฤติผิดมิจฉากาม ไม่ซื่อสัตย์ต่อสามีคือท่านอาจารย์ ไปคบชายอื่นเป็นชู้ เมื่อสามีจับได้ก็ล่อลวงปิดบังไว้ และด้วยบาปอกุศลกรรมอันนั้นก็จึงทำให้ต้องมาเกิดเป็นยักษ์อยู่ในที่นี้
พระอาจารย์จวนได้ถามต่อไปว่า มีพระพุทธรูปโบราณอยู่ที่ถ้ำสะอานนี้ใช่ไหม ยักษ์ก็บอกว่ามีอยู่จริง แต่ยักษ์นั้นก็ไม่ยอมบอกว่าอยู่ที่ไหน เพราะเหตุว่า ยังเกลียดชังท่านพระอาจารย์ที่ได้ทิ้งยักษ์ไปตั้งแต่ชาติที่เคยเป็นคน และเป็นสามีภรรยากันนั่นเอง
พระอาจารย์จวนก็ได้บอกญาติโยมว่า อย่าเข้าไปหาพระพุทธรูปโบราณนั้นเลย ไม่เห็นหรอก เพราะเขาไม่ให้เห็น
ในพรรษาต่อมาพระอาจารย์จวนได้กลับลงมาพำนักอยู่จำพรรษากับหลวงปู่ขาวที่วัดถ้ำกลองเพล ได้ปฏิบัติหลวงปู่ ได้ฟังเทศนารับการอบรมจากหลวงปู่ขาวอย่างใกล้ชิด พอออกพรรษาแล้ว ก็ได้กราบลาหลวงปู่ขาวกลับไปวิเวกที่ภูวัวอีก
ระยะที่พำนักวิเวกอยู่ที่ภูวัวได้ ๑ เดือน คืนวันหนึ่งขณะที่นั่งทำความเพียรอยู่นั้นก็ได้เกิดนิมิตขึ้นว่า ได้มีปราสาท ๒ หลังหนึ่งเล็ก อีกหลังนั้นมีความสวยงามวิจิตรมาก ตั้งอยู่ทางด้านเขาภูทอกน้อย และภูทอกใหญ่ เมื่อมองจากภูวัวจะปรากฏเห็นชัดเจนทีเดียว
ในนิมิตนั้นพระอาจารย์จวนได้เหาะขึ้นไปบนปราสาทหลังนั้น แต่บังเอิญประตูเข้าปราสาทนั้นปิดอยู่ ท่านไม่สามารถจะเข้าไปข้างในได้ ก็จึงได้ตั้งจิตอธิฐานว่า ถ้าหากว่าท่านมีบารมีแรงกล้าแล้ว ขอให้ประตูนั้นเปิดออกมาให้ท่านเข้าไปข้างในได้
ในทันใดนั่นเองประตูปราสาทหลังเล็กนั้นก็เปิดออก พระอาจารย์จวนก็จึงได้เข้าไปภายในปราสาทนั้น ในห้องมีความวิจิตรพิสดารงดงามเป็นอย่างยิ่ง มีหญิงสวยงาม ๔ คนด้วยกันเฝ้าอยู่ในปราสาทนั้น
ได้นิมนต์ท่านพระอาจารย์จวนให้อยู่ร่วมด้วย แต่ท่านไม่ยอมตกลง เพราะเป็นพระจะอยู่ร่วมกับผู้หญิงไม่ได้ พระอาจารย์จวนจึงลงจากปราสาทหลังนั้น พอจิตถอนออกมาท่านจำนิมิตนั้นได้ติดตา พร้อมทั้งจำทางขึ้นทางลงได้อย่างแม่นยำ
ดังนั้นพระอาจารย์จวนจึงเดินทางจากภูวัว ไปยังภูทอกน้อยเพื่อพิสูจน์นิมิตนั้น พอไปถึงก็เดินทางขึ้น ไปบนภูเขาระยะทางที่ผ่านไปนั้น เหมือนดังในนิมิตอยู่ทุกประการ
ได้สำรวจดูเขาชั้นต่าง ๆ ก็ได้เห็นเป็นโตรก เป็นซอก เป็นถ้ำ เป็นหินผา อันสูงชัน มีภูมิประเทศที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะบูรณะให้เป็นสถานที่สำหรับพระภิกษุสามเณรจะได้อาศัย เป็นที่ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนาธรรมต่อไป
ดังนั้นเองท่านพระอาจารย์จวน จึงได้ตัดสินใจอยู่บูรณะและก่อสร้างเป็นวัดขึ้น และขณะนั้นก็ประกอบเข้าด้วยกับว่าบรรดาชาวบ้านนาคำแคน บ้านนาต้องได้พากันอาราธนาให้ท่านพระอาจารย์จวนได้อยู่โปรด พวกเขาเป็นหลักยึดเหนี่ยวต่อไปอีกทางหนึ่งด้วย
ท่านพระอาจารย์จวนได้เริ่มขึ้นไปอยู่บนภูทอกนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ระยะแรกที่ขึ้นไปอยู่นั้นอยู่กันเพียง ๒ องค์กับท่านพระครูสิริธรรมวัฒน์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสามัคคีอุปถัมภ์ ในอำเภอบึงกาฬนั้น กับผ้าขาวน้อยองค์หนึ่งเท่านั้น ได้อาศัยอยู่ที่ตีนเขาซึ่งเป็นโรงที่ต่อกับโรงครัวในปัจจุบัน
บริเวณโดยรอบยังเป็นป่าทึบ และรกชัดมาก มีสัตว์ป่าเป็นจำนวนมากทีเดียวสมัยนั้น ความเป็นอยู่ต้องอดน้ำ ต้องอาศัยน้ำฝนที่ค้างขังอยู่ตามแอ่งหิน
และเรื่องการบิณฑบาต ก็ต้องอาศัยจากชาวบ้านนาคำแคน ซึ่งอพยพเข้าไปอยู่กันใหม่ ๆ ประมาณ สัก ๑๐ หลังคาเรือน จึงทำให้การบิณฑบาตขาดแคลนมาก พอที่จะได้อาศัยฉันไปตามมีตามได้
พอเข้าหน้าแล้งท่านก็ได้ขอให้ชาวบ้านช่วยกันสร้างทำนบกั้นน้ำ และได้ปลูกกระต๊อบไว้ชั่วคราว ที่โขดหินตีนเขาบนชั้นที่ ๒ นั้นเอง
ในปีแรกที่ไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่ภูทอกนั้น มีพระอยู่ด้วยกัน ๓ องค์ ได้พากันปลูกกระต๊อบขึ้นพอที่จะอาศัยทำความเพียรกันได้ ๔ หลังด้วยกัน พระทุกองค์ต่างก็ทำความเพียรกันอย่างเต็มที่
พอตกค่ำพระอาจารย์จวนจะขึ้นไปจำวัดอยู่บนชั้น ๕ โดยปีนขึ้นไปตามเครือของเถาวัลย์ตามรากไม้ ปัจจุบันบนชั้น ๕ นั้นเป็นถ้ำวิหารพระ ซึ่งในสมัยก่อนยังเป็นป่าทึบมีต้นไม้ขึ้นอย่างหนาแน่น
แต่ด้วยความอุตสาหะของท่านพระอาจารย์จวนระหว่างกลางพรรษาที่ ๒๗ นั่นเอง พระอาจารย์จวนได้ชักชวนญาติโยมให้ทำบันไดเวียนขึ้นไปบนเขาชั้นที่ ๕ และชั้นที่ ๖ จนสำเร็จ ได้ทำอยู่ประมาณแค่ ๒ เดือน กับ ๑๐ วันเท่านั้นจึงเสร็จเรียบร้อยดี
การสร้างบันไดนี้เสร็จในกลางพรรษาโดย ได้อาศัยศรัทธาญาติโยมช่วยกันคนละเล็กคนละน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยกันด้วยกำลัง เรื่องกำลังทรัพย์นั้นหายากเพราะต่างก็เป็นคนยากจน มีแต่ศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใส และใช้กำลังเป็นที่ตั้งเท่านั้น
มาในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ระหว่างกลางพรรษานั้นเอง พระอาจารย์จวนได้นิมิตไปว่า ท่านได้เดินอุ้มบาตรลัดเลียบ ไปตามหน้าผาที่ภูทอกใหญ่ อ้อมไปเรื่อย ๆ ก็ได้เห็นหน้าต่างปิดอยู่ และตามหน้าผานั้นมองไม่เห็นใครเลย
ท่านจึงหยุดยืนรำพึงว่า ?ทำไม จึงมีแต่หน้าต่างปิด ไม่เห็นคนออกมาใส่บาตรเลย? ครู่หนึ่งก็ได้เห็นคนเปิดหน้าต่างออกมาใส่บาตรกัน ท่านจึงตั้งจิตถามขึ้นมาว่า ?นี่เป็นใครกัน? เขาก็ได้ประกาศขึ้นมาว่า ?พวกผมนี้เป็นพวกบังบดขอรับอยู่กันที่ภูทอกใหญ่ หรือภูแจ่มจำรัสนั่นเอง?
พวกบังบดนี้ท่านพระอาจารย์จวนได้อธิบายว่า คือพวกภูมมเทวดาที่มีศีล ๕ ประจำ และพวกนี้ก็ได้อธิบายต่อไปว่า ชื่อเดิมของภูทอกใหญ่นี้คือ ภูแจ่มจำรัส ซึ่งแต่ก่อนมีฤาษีชีไพรมาบำเพ็ญพรตภาวนากันอยู่ที่ภูแจ่มจำรัสมากมาย
เมื่อใส่บาตรเสร็จเรียบร้อยพระอาจารย์จวนได้ถามว่า ?ทำไมจึงรู้ว่าอาตมามาบิณฑบาต? เขาก็พากันยิ้ม ๆ แล้วตอบว่า
รู้ครับ รู้ด้วยกลิ่น กลิ่นของพระผู้เป็นเจ้า
พระอาจารย์จวนก็ซักต่อไปว่า ?กลิ่นนั้นเป็นอย่างไร? เขาก็ตอบว่า ?กลิ่นหอมขอรับ ถูกกลิ่นพระผู้เป็นเจ้าก็เลยพากันมาเปิดหน้าต่างมาใส่บาตรพระผู้เป็นเจ้ากัน เพราะว่าท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีควรแก่การบูชา พวกเราจึงได้พร้อมใจกันมาใส่บาตร?
พอเขาใส่บาตรเสร็จท่านก็กลับมา ขณะนั้นก็รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาได้พิจารณาดูนิมิตนั้นก็เห็นว่าแปลกดี เช้าวันนั้นอาหารที่บิณฑบาตได้ก็รู้สึกว่าจะมีรสเอร็ดอร่อยเป็นพิเศษ ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้มีคนอื่นมาใส่บาตรเลย มีแต่ชาวบ้านเท่านั้น และอาหารก็เป็นอาหารพื้นบ้านธรรมดา ๆ นั่นเอง
ในพรรษาแรกพระเณรที่ไปอยู่นั้นพากันเจ็บไข้กันมาก บางองค์ก็บอกว่าเทวดาประจำภูเขามาหลอกหลอนดึงขาปลุกให้ลุกขึ้นทำความเพียรบ้าง บางทีก็ไล่ให้หนีเพราะพากันมาแย่งวิมานของเขา พระอาจารย์จวนได้พยายามตักเตือนพระเณรให้มีศีลที่บริสุทธิ์ บำเพ็ญความเพียรแผ่เมตตาให้ทำความเพียร อย่าได้ประมาท
ภายหลังอยู่ต่อมาวันหนึ่ง พระอาจารย์จวนได้นิมิตว่ามีเทวดามาหาท่านแล้วบอกว่า ?ขอน้อมถวายภูเขาลูกนี้ให้แก่พระผู้เป็นเจ้า ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดรับไว้รักษาพวกข้าพเจ้าจะลงไปอยู่ข้างล่าง? และยังให้ท่านประกาศแก่มนุษย์ที่จะมาเที่ยวบนเขาลูกนี้ว่า
ขออย่าได้กล่าวคำหยาบ อย่าได้ส่งเสียงดังอึกทึก อย่าถ่มน้ำลายลงไปข้างล่าง อย่างขว้างปา หรือทิ้งเศษขยะเอาไว้บนเขาเลย
เมื่อพระอาจารย์จวนออกจากนิมิตนั้นแล้ว ก็ได้พิจารณาคำขอร้องของเทวดาก็เห็นว่าเป็นแยบคายดี น่าจะเป็นข้อที่บรรดาสาธุชน ทั้งหลายควรจะปฏิบัติอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดีในวันต่อมาได้มีชาวบ้านมาเล่าให้ฟังว่า พวกเขาก็ได้พากันฝันไปว่ามีคนมามอบภูเขาให้พระอาจารย์จวนรักษาไว้ และพวกเขาก็จะลงไปอยู่ข้างล่างแทนช่างน่าบังเอิญอะไรเช่นนั้น ที่ทุกคนต่างก็มาฝันตรงกัน
ท่านพระอาจารย์จวน ได้มาพำนักบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ภูทอกนี้และได้ก่อสร้างจนกระทั่งภูทอกนี้เป็นสถานที่อันเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนาของผู้สนใจในการปฏิบัติธรรม เพื่อทำความสงบให้เกิดขึ้นในจิตในใจ
ด้วยจิตกราบบูชา
ข้อมูลจากเวป
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-chuan-hist.htm