ผู้เขียน หัวข้อ: บุพกรรมของพระอัครสาวก : หลวงพ่อพระราชพรหมยาน  (อ่าน 1767 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ NONGEAR44

  • นวมะ
  • ****
  • กระทู้: 669
  • เพศ: ชาย
    • MSN Messenger - en2005f@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
                                                   บุพกรรมของพระอัครสาวก : หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
  สำหรับวันนี้ ก็จะขอนำเอาบุพกรรมของพระอัครสาวกมาเล่าสู่กันฟัง ตามพระบาลีท่านกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า “พระอัครสาวกทั้งสอง ได้ทำกรรมอะไรไว้พระเจ้าข้า”

องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้ตรัสว่า “อัครสาวกทั้งสองทำความปรารถนาไว้พื่อเป็นอัครสาวก”

พระองค์ทรงกล่าวว่า ในที่สุดแห่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปนี้ไป พระสารีบุตรเกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาล มีนามว่า สรทมาณพ พระโมคคัลลานะ เกิดในตระกูลคหบีมหาศาล มีนามว่า สิริวัฑฒกฎุมพี มาณพทั้งสองนั้นได้เป็นสหายเล่นฝุ่นมาด้วยกัน สรทมาณพ เมื่อบิดาตายแล้วได้ครอบครองทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก อันเป็นมรดกของตระกูล

ในวันหนึ่งอยู่ในที่ลับตา คิดว่า เราย่อมรู้อัตภาพโลกนี้เท่านั้น หารู้จักอัตภาพโลกหน้าไม่ (หมายความว่า ชาตินี้เราเกิดเป็นคน แต่ชาติหน้าเราจะเกิดเป็นอะไรนี่เราไม่รู้)

อันธรรมดาความตายของสัตว์เกิดแล้วย่อมเป็นของเที่ยง (หมายความว่าสัตว์ทุกคนที่เกิดมาแล้วในโลก ต้องตายเหมือนกันหมด ไม่มีใครหนีได้) ควรที่เราจะบวชเป็นบรรพชิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำการแสวงหาโมกขธรรม

คำว่า โมกขธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องพ้นแห่งความตาย

สรทมาณพนั้นเข้าไปหาสหายแล้วพูดว่า “สิริวัฑฒะผู้สหาย ข้าพเจ้าจักบวชแสวงหาโมกขธรรม ท่านจักบวชกับเราหรือไม่ หรือว่าไม่อาจจักบวช”

ท่านสิริวัฑฒะก็ตอบว่า “ข้าพเจ้าจักไม่อาจ สหาย ท่านบวชคนเดียวเถิด”

สรทมาณพนั้นคิดว่า ธรรมดาผู้ไปสู่ปรโลก จะพาสหายหรือญาติมิตรไปด้วยได้ ไม่มี

นี่หมายความถึงว่า คนเราน่ะจะรักกันขนาดไหนก็ตาม เวลาตายไม่สามารถจะพาใครเขาตายไปพร้อมกันได้ คนที่บอกว่ารักเรามากที่สุดน่ะ ความจริงเวลาเราตายเขาไม่ได้ตายไปด้วย เราตายของเราคนเดียว

ท่านคิดต่อไปว่า กรรมที่ตนทำแล้วย่อมเป็นของตนเอง ดังนั้น ท่านสรทมาณพจึงไปเปิดเรือนคลังแก้วออกให้ทานเป็นการใหญ่ แก่คนกำพร้า คนเดินทาง และวณิพก คือคนยากจนเข็ญใจทั้งหลาย แล้วเข้าไปสู่เชิงเขา บวชเป็นฤาษี บรรดาชนทั้งหลายที่มีความรักในท่าน บวชตามท่านสรทะนั้นด้วยอาการอย่างนี้คือ หนึ่งคน สองคน สามคน จนกระทั่งมีชฎิลประมาณเจ็ดหมื่นสี่พันคน

สรทชฎิลหรือสรทดาบส (ท่านใช้นามว่าชฎิลนะ) ทำอภิญญา 5 และสมาบัติ 8 ให้เกิดแล้ว บอกกสิณบริกรรมแก่ชฎิลทั้งหลายเหล่านั้น บรรดาชฎิลที่เป็นลูกศิษย์ทั้งหลายทั้งหมดก็ทำอภิญญา 5 และสมาบัติ 8 ให้เกิดขึ้น

ท่านกล่าวต่อไปว่า ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ในนครที่มีชื่อว่า จันทวดี มีพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า ยสวันตะ เป็นพระราชบิดา พระราชเทวีมีนามว่า ยโสธรา เป็นพระราชมารดา มีไม้รกฟ้า เป็นที่ตรัสรู้ (ต้นไม้ เดิมเขาเรียกว่าต้นไม้รกฟ้า แต่พอตรัสรู้ ที่ตรงนั้นเขาเรียกว่า ต้นโพธิ์ เหมือนกัน โพธิ แปลว่า รู้)

มีพระอัครสาวกทั้งสอง ชื่อ นิสภะ และ อโนมะ อุปัฏฐากชื่อว่า วรุณะ อัครสาวิกาเป็นอัครสาวกซ้ายขวาเหมือนกัน มีนามว่า สุมนา และ สุนทรา (อัครสาวิกา หมายความว่าภิกษุณี คือพระผู้หญิงน่ะ) พระชนมายุพระองค์มีแสนปี พระสรีระนั้นสูงถึง 58 ศอก พระรัศมีแห่งพระสรีระแผ่ไปได้ 12 โยชน์ มีภิกษุแสนหนึ่งเป็นบริวาร

วันหนึ่ง เวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี นั้นเสด็จออกจากมหากรุณาสมาบัติ
หมายความว่า ตอนเช้ามืด พระพุทธเจ้าย่อมเข้าสมาบัติ อันหนึ่งที่เราเรียกกันว่า พระพุทธญาณ เป็นญาณเฉพาะของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ พระสาวกหรืออัครสาวกไม่สามารถจะทำได้ พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ทำอย่างนี้เหมือนกันหมด

ทรงพิจารณาดูสัตว์ในโลกอยู่แล้ว ก็ทอดพระเนตรเห็นสรทดาบส แล้วทรงมีพระพุทธดำริว่า “เพราะเราไปสู่สำนักสรทดาบสในวันนี้ จะเป็นปัจจัยให้เธอได้ฟังพระธรรมเทศนา จักมีคุณใหญ่ และสรทดาบสนั้นจะปรารถนาตำแหน่งพระอัครสาวก สิริวัฑฒกฎุมพีผู้สหายดาบสนั้น จักปรารถนาตำแหน่งพระอัครสาวกที่สอง (หมายความว่าอัครสาวกเบื้องซ้าย) ทั้งในการเทศนาชฎิลเจ็ดหมื่นสี่พันบริวารของดาบสนั้น จักบรรลุอรหันต์ เราควรไปที่นั้น”

เมื่อทรงดำริดังนี้แล้ว จึงได้ถือบาตรและจีวรของพระองค์ ไม่ตรัสเรียกใครอื่น เสด็จไปแต่พระองค์เดียวเหมือนพญาราชสีห์ เมื่ออันเตวาสิกทั้งหลายของสรทดาบสไปแล้วเพื่อต้องการผลาผล ทรงอธิษฐานว่า “ขอสรทดาบสจงทราบความที่เราเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อสรทดาบสเห็นอยู่นั่นแหละ” และก็ทรงเสด็จลงจากอากาศประทับยืนบนแผ่นดิน

ขณะนั้น ท่านสรทดาบสเห็นพระพุทธานุภาพและความสำเร็จแห่งสรีระ สอบสวนมนต์สำหรับทำนายลักษณะก็ทราบว่า อันผู้ประกอบลักษณะอย่างนี้ เมื่ออยู่ในท่ามกลางเรือน ย่อมเป็นพระเจ้าจักพรรดิ เมื่อออกบวชก็จะต้องเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกิเลสเครื่องมุงบังอันเปิดแล้วในโลก (คำว่าเปิดแล้ว หมายความว่าหมดไป) บุรุษนี้จักเป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย จึงทำการต้อนรับถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ได้จัดอาสนะถวายแล้ว พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ สรทดาบสนั่งในที่อันตนเห็นสมควร คือต่ำกว่าในส่วนข้างหน้า

ในสมัยนั้น บรรดาชฎิลเจ็ดหมื่นสี่พัน ถือผลไม้ต่าง ๆ อันประณีต มีรสอันโอชะ มาถึงสำนักของอาจารย์ แลดูอาสนะที่พระพุทธเจ้าประทับและอาจารย์นั่งแล้ว จึงได้พูดขึ้นว่า “ท่านอาจารย์ พวกผมเที่ยวไปด้วยเข้าใจว่า ในโลกนี้ ผู้เป็นใหญ่กว่าอาจารย์ย่อมไม่มี และบุรุษผู้นี้เห็นจะเป็นใหญ่กว่าอาจารย์กระมังขอรับ”

ท่านสรทดาบสก็ตอบว่า “พ่อทั้งหลาย พวกเจ้าพูดอะไร พวกเจ้าปรารถนาเพื่อทำเขาสิเนรุซึ่งสูง 68 แสนโยชน์ให้เสมอกับเมล็ดพันธุ์ผักกาดกระนั้นหรือ”

นี่ท่านหมายความว่า ตัวท่านน่ะเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคมีอานุภาพเหมือนกับเขาพระสุเมรุสูง 68 แสนโยชน์

ท่านจึงกล่าวว่า “ลูกทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าทำการเปรียบเทียบเรากับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย” ครั้งนั้นดาบสเหล่านั้นคิดว่า “ถ้าบุรุษผู้นี้จักเป็นคนเล็กน้อยแล้วไซร้ ท่านอาจารย์ของพวกเราคงไม่ชักสิ่งเหล่านี้มาอุปมา บุรุษผู้นี้จักเป็นใหญ่เพียงไรหนอ” เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว เขาทั้งหมดนั่นแหละหมอบลงแทบพระบาททั้งสอง ถวายบังคมด้วยเศียรเกล้า

ครั้งนั้น พระอาจารย์กล่าวกับดาบสเหล่านั้นว่า “ไทยธรรมที่สมควรแก่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราไม่มี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จมาในเวลานี้ เป็นเวลาภิกขาจาร (คือเป็นเวลาบิณฑบาต) พวกเราจักถวายไทยธรรมตามสติตามกำลัง พวกเราจงนำผลไม้อันประณีตมีรสอร่อยที่สุดที่มีอยู่มาถวายเถิด” ครั้นนำมาแล้ว ล้างมือทั้งสองแล้ว ตั้งไว้ในบาตรของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตนเอง

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับผลไม้แล้ว บรรดาเทวดาทั้งหลายก็โปรยโอชะอันเป็นทิพย์ลง ดาบสนั้นได้กรองน้ำถวายด้วยตนเอง

เห็นไหม เทวดาย่องผสมเขาเสมอ เวลาที่ใครเขาถวายทานแก่พระพุทธเจ้า เทวดาท่านก็ย่อง ๆ เอาของทิพย์มาโปรยให้เสมอ เป็นอันว่าทำบุญร่วมกัน

ตอนนั้น เมื่อองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาทรงประทับทำภัตกิจ (คือฉัน) แล้ว ดาบสนั้นเรียกอันเตวาสิกทั้งสิ้นมานั่ง กล่าวสาราณียกถา ใกล้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สาราณียกถา คือ ชม จะไปนั่งกล่าวบนศาลาไม่ใช่อย่างนั้นนะ ชมเชยความดีของพระพุทธเจ้า
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำริว่า “ขออัครสาวกทั้งสองจงมาพร้อมด้วยบรรดาพระภิกษุสงฆ์”
พระอัครสาวกทั้งสองนั้น ทราบดำริขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า อโนมทัสสีแล้ว บรรดาพระขีณาสพหรือพระอรหันต์แสนรูปเป็นบริวาร ก็มาถวายบังคมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ลำดับนั้น สรทดาบสเรียกอันเตวาสิกคือลูกศิษย์ทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า “พ่อทั้งหลาย แม้อาสนะที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งต่ำ ซ้ำอาสนะสำหรับสมณะตั้งแสนก็ไม่มี พวกเจ้าควรทำพุทธสัการะให้โอฬารในวันนี้ จงนำดอกไม้ทั้งหลายที่ถึงพร้อมไปด้วยสีและกลิ่นมาแต่งเชิงเขา”

เวลาที่พูดดูเหมือนกับเนิ่นช้า แต่ความจริงเรื่องผู้มีฤทธิ์แผลบเดียวก็ได้ จำให้ดีนะ เพราะเรื่องของท่านมีฤทธิ์ คนอื่นที่ไม่มีฤทธิ์อย่าเข้าไปคิด คิดแล้วเป็นบ้า เป็นอจินไตย เวลานี้ มักจะชอบคิดกันวิจารณ์กัน ทั้งที่ตนเองแม้แต่ศีล 5 ก็ไม่ครบ บางคนหาศีลไม่ได้เลย ก็ยังไม่คิดเปรียบเทียบอารมณ์ของตนกับท่านผู้มีฤทธิ์นี่น่าสงสาร

เพราะฉะนั้น โดยการเพียงครู่เดียวเท่านั้น บรรดาบุตรทั้งหลายเหล่านั้นก็นำดอกไม้ทั้งหลายที่ถึงพร้อมไปด้วยสีและกลิ่นมา แล้วตบแต่งอาสนะดอกไม้สำหรับพระพุทธเจ้า ประมาณได้หนึ่งโยชน์ สำหรับพระอัครสาวกทั้งสองประมาณ 3 คาวุธ ( 1 คาวุธ เท่ากับ 100 เส้น โยชน์หนึ่งเท่ากับ 400 เส้น) สำหรับภิกษุที่เหลือ ประมาณแตกต่างกัน มีประมาณครึ่งโยชน์เป็นต้น สำหรับภิกษุใหม่ประมาณ 2 อุสุภะ (อุสุภะหนึ่งยาว 25 วา) ใคร ๆ ไม่พึงคิดว่าในอาศรมแห่งเดียวจะตกแต่งอาสนะใหญ่โตเพียงนั้นได้อย่างไร
เรื่องของผู้มีฤทธิ์น่ะมันได้ทั้งนั้นแหละ อย่างขวดเล็ก ๆ ลูกเดียว บรรดาพระอรหันต์แสนองค์สามารถอยู่ในนั้นพร้อมกันได้ถ้าทรงอภิญญา หรือว่าไม่เป็นพระอรหันต์ แต่เป็นพระผู้ทรงอภิญญาก็สามารถอยู่ได้
เมื่อตกแต่งอาสนะเสร็จแล้วอย่างนั้น ท่านสรทดาบสก็ยืนประคองอัญชลี (คือพนมมือ) เบื้องพระพักตร์ กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงเสด็จขึ้นสู่อาสนะดอกไม้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด พระเจ้าข้า”

ตอนนี้มีภาษิตอยู่ตอนหนึ่ง ขอกล่าวตามพระบาลีว่า เพราะเหตุนั้นโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า สรทดาบสเอาดอกไม้ต่าง ๆ และของหอมรวมด้วยกัน ตกแต่งอาสนะดอกไม้ไว้แล้ว ได้กราบทูลองค์สมเด็จพระประทีปแก้วว่า

“ข้าแต่พระวีระ อาสนะที่ข้าพระองค์ตกแต่งแล้วนี้ สมควรแด่พระองค์ พระองค์เมื่อจะยังจิตของข้าพระองค์ให้เลื่อมใสแล้ว ขอจงประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ พระพุทธเจ้าได้ทรงยังจิตของข้าพระองค์ให้เลื่อมใสแล้ว ยังโลกนี้และเทวโลกให้ร่าเริงแล้ว ขอจงประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ตลอด 7 วัน 7 คืน”
เอาเข้าแล้ว นี่ท่านให้พระพุทธเจ้าประทับนั่ง 7 วัน 7 คืน คงจะนอนด้วยกระมัง แต่ว่าไม่ได้นะ ท่านดาบสพวกนี้ท่านได้อภิญญา 5 ท่านทรงสมาบัติ 8 ไอ้เรื่องนั่งเฉย ๆ นอนเฉย ๆ 7 วัน 7 คืน น่ะมันเรื่องเล็ก ๆ จะว่ากัน 70 วัน 70 เดือน 70 ปี ก็ยังได้ มันเป็นของไม่ยาก ถ้าไม่มั่นใจละก็ ลองกันดูก็ได้
ทุกท่าน ถ้าไม่เชื่อว่าคำที่พูดนี้เป็นไปได้ จงทำอภิญญา 5 ให้ปรากฎ แล้วก็ทรงสมาบัติ 8 ให้ปรากฎ จะเห็นว่าที่พูดว่า 7 ปี 7 เดือน 7 วัน นี่มันยังเล็ก ท่านคงคิดว่าน่าจะพูด 700 ปี 700 เดือน 700 วัน หรือ 7,000 ปี 7,000 เดือน 7,000 วัน ถ้าตั้งจิตอธิษฐานด้วยอำนาจของอภิญญา 5 หรือสมาบัติ 8 มันเป็นของเล็กจริง ๆ เอ้า คุยกันต่อไป

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับนั่งแล้ว พระอัครสาวกทั้งสอง และภิกษุที่เหลือก็นั่งแล้วอยู่บนอาสนะที่สมควรแก่ตน ท่านสรทดาบสได้ถือฉัตรดอกไม้ใหญ่ ยืนกั้นเหนือศรีษะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธองค์ได้ทรงอธิษฐานว่า “ขอสักการะของชฎิลนี้จงมีผลใหญ่”
นี่เป็นคำครอบ พระจำให้ดีนะ กินของเขาแล้วอย่ากินเปล่า รับของของเขาแล้วอย่ารับเปล่า ทำจิตให้บริสุทธิ์ ตั้งจิตอธิษฐานอย่างนี้ เอาง่าย ๆ เอาเหมือนพระพุทธเจ้าแล้วกันว่า “ขอสักการะของท่านผู้นี้ที่สงเคราะห์แก่เราแล้วจงมีผลใหญ่” เท่านี้พอ

เมื่อพระองค์ตรัสดังนั้นแล้ว ก็ทรงเข้า นิโรธสมาบัติ อัครสาวกทั้งสองก็ดี ภิกษุที่เหลือก็ดี ทราบว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์เข้านิโรธสมาบัติแล้ว ก็เข้าสมาบัติบ้าง คือ ผลสมาบัติ (อภิญญาผลสมาบัตินะ เพราะท่านได้อภิญญา)

ส่วนพวกอันเตวาสิก เมื่อถึงเวลาเที่ยวไปภิกษาบริโภคมูลผลาผลในป่าแล้ว ก็ยืนประคองอัญชลี แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ตลอดเวลาที่เหลือ (หมายความว่า เวลาที่กินอะไรเสร็จก็มายืนไหว้พระพุทธเจ้าตลอด 7 วันเหมือนกัน)

สำหรับพระอาจารย์ไม่ยอมฉันอาหาร กั้นฉัตรดอกไม้อยู่อย่างนั้นแหละ ให้เวลาล่วงไปโดยที่มีปีติ คือความอิ่มใจ แล้วก็สุขตลอด 7 วัน

เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา เสด็จออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ตรัสเรียกพระนิสภเถระ พระอัครสาวกผู้นั่งข้างขวา ด้วยรับสั่งว่า “นิสภะ เธอจงทำโมทนาอาสนะดอกไม้ แด่บรรดาดาบสทั้งหลายผู้ทำสักการะ”

พระเถระมีใจยินดีประดุจหนึ่งแม่ทัพใหญ่ ประสพลาภใหญ่จากสำนักของพระเจ้าจักรพรรดิราช ตั้งอยู่ในสาวกบารมีญาณ จึงเริ่มอนุโมทนาอาสนะดอกไม้

ในที่สุดแห่งเทศนาของพระนิสภะเถระนั้น สมเด็จพระภควันต์ได้ตรัสเรียกพระสาวกองค์ที่สองด้วยรับสั่งว่า “ภิกขเว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้เธอจงแสดงธรรม”

พระอโนมเถระ เป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย ได้พิจารณาพระพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกแล้วก็กล่าวธรรม ด้วยพระธรรมเทศนาของพระอัครสาวกทั้งสอง การตรัสรู้มิได้มีแก่บรรดาดาบสแม้แต่รูปใดรูปหนึ่ง เพราะว่าบรรดาดาบสทั้งหมดนี้เป็นผู้ได้อภิญญาและสมาบัติ 8 ฟังเทศน์จากพระอัครสาวกทั้งสองแล้ว แทนที่จะบรรลุมรรคผลกลับไม่ได้บรรลุมรรคผล ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเป็นดาบสที่มีกำลังใหญ่ และก็ต้องเป็นดาบสที่เป็นวิสัยขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจะทรงสงเคราะห์เอง จึงจะมีมรรคมีผล
ครั้นองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดา ตั้งอยู่ในพุทธวิสัยไม่มีปริมาณ (คำว่า พุทธวิสัย คือวิสัยของพระพุทธเจ้าซึ่งหาประมาณมิได้ มากมายเหลือเกิน) จึงได้เริ่มแสดงพระธรรมเทศนา ในกาลจบพระธรรมเทศนา บรรดาชฎิลเจ็ดหมื่นสี่พัน (ยกเว้นท่านสรทดาบส) บรรลุอรหันต์ทั้งหมด
องค์สมเด็จพระบรมสุคตทรงเหยียดพระหัตถ์แล้วตรัสว่า “เธอทั้งหลาย จงเป็นภิกษุมาเถิด” ทันใดนั้นเอง ผมและหนวดของบรรดาชฎิลก็อันตรธานไป บริขาร 8 ที่สำเร็จไปด้วยฤทธิ์ก็ลงมาสวมกายของพระพวกนั้น

ตามบาลีท่านกล่าวว่า มีคำถามสอดเข้ามาว่า “เพราะเหตุไร สรทดาบสจึงไม่บรรลุอรหันต์” ความจริงท่านน่าจะบรรลุอรหันต์เพราะตั้งใจบวชด้วยดี ตาพระบาลีท่านแก้ว่า “เพราะความที่เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน จึงไม่ได้อรหัตผล”

ตามพระบาลีกล่าวต่อไปอีกว่า จำเดิมแต่กาลที่ท่านสรทดาบสนั้นเริ่มฟังพระธรรมเทศนาของอัครสาวก ผู้นั่งบนอาสนะที่สองแห่งพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ในสาวกบารมีญาณแสดงธรรมอยู่ เกิดความคิดขึ้นมาว่า “โอหนอ แม้เราได้รับธุระที่พระสาวกรูปนี้ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้จะบังเกิดในอนาคต”

นี่หมายความว่า พอฟังเทศน์ของพระอัครสาวกแล้ว ท่านก็คิดว่า เรานี่อยากจะเป็นอัครสาวกบ้าง ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งเกิดขึ้นในโลกในกาลต่อไป เราต้องการเป็นอัครสาวก

อย่างนี้ถือว่าเป็นอธิษฐานบารมี ตามพระบาลีท่านบอกว่า จิตฟุ้งซ่าน ก็หมายความว่า ซ่านด้วยการฟังแล้วไม่คิดตาม เพราะว่าเห็นว่าท่านเป็นอัครสาวกมีศักดาใหญ่ ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงให้โอกาสแสดงพระธรรมเทศนาก่อน จึงเห็นว่า งานนี้เป็นงานเด่นมาก เราอยากจะเป็นบ้าง ฟังไปแล้วก็คิดไป เลยไม่ได้บรรลุมรรคบรรลุผล

บาลีท่านว่าต่อไปว่า เพราะอาศัยความปริวิตกอย่างนั้น สรทดาบสจึงไม่มีโอกาสที่จะถึงทำการแทงตลอดมรรคผลได้

หมายความว่า เวลาฟังไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณา ฟังแล้วก็คิดว่าเราอยากจะเป็นอัครสาวก ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาอย่างบรรดาลูกศิษย์ของท่าน ท่านก็จะได้เป็นอรหันต์และเป็นไม่ยากด้วย เพราะมีกำลังแรงกล้ากว่าคนอื่น

ท่านจึงยืนถวายบังคม องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาแล้วในที่เฉพาะพระพักตร์ ได้กราบทูลว่า “ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญพระพุทธเจ้าข้า ภิกษุที่นั่งบนอาสนะลำดับพระองค์ชื่อว่าอะไรขอรับ”

สมเด็จพระจอมไตรทรงพระนามว่าอโนมทัสสี จึงได้มีพุทธฎีกาตรัสว่า “ภิกษุผู้ยังธรรมจักรอันเราให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามนั้น บรรลุที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ แทงตลอดปัญญา 16 อย่างตั้งอยู่ผู้นี้ ชื่อ่าอัครสาวกในศาสนาของเรา” (อัคร แปลว่า ผู้เลิศ เป็นสาวกผู้เลิศกว่าสาวกทั้งหลายในศาสนาของพระองค์)

ท่านจึงได้ทำความปรารถนาว่า “ด้วยผลแห่งสักการะของข้าพระองค์ ตั้งฉัตรดอกไม้ทำแล้วตลอด 7 วันนี้ ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาความเป็นท้าวสักกะ (คือพระอินทร์) หรือว่าต้องการจะเป็นพรหม แต่ว่าข้าพระองค์ขอพึงเป็นอัครสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือนพระนิสภเถระองค์นี้” เห็นไหมล่ะ ท่านตั้งใจจะเป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง แต่พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี ท่านมีเสียแล้วนี่ ก็ต้องรอต่อไป

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี เมื่อสดับถ้อยคำของสรทดาบสดังนี้ จึงได้พิจารณาด้วยอำนาจพระพุทธญาณ ทรงพิจารณาว่า ความปรารถนาของบุรุษจักสำเร็จหรือไม่หนอ พระองค์ทรงเห็นว่าผ่านไป 1 อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปแล้วจะได้สำเร็จ ครั้นทรงเห็นแล้ว จึงตรัสกับสรทดาบสว่า

“ความปรารถนาของท่านนี้จักไม่เปล่าประโยชน์ เพราะว่าในอนาคตล่วงไป1 อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสมณโคดม จะทรงอุบัติขึ้นในโลก พระมารดาของพระองค์จักมีพระนามว่า มหามายาเทวี พระพุทธบิดาของพระองค์จะมีพระนามว่า สุทโธทนมหาราช พระโอรสจะมีพระนามว่า ราหุล พระผู้อุปัฏฐากจะมีพระนามว่า อานนท์ พระสาวกที่สองคืออัครสาวก จักมีพระนามว่า โมคคัลลานะ ส่วนตัวท่านจะเป็นอัครสาวกของพระองค์นามว่า ธรรมเสนาบดีสารีบุตร

ครั้นทรงพยากรณ์ดาบสนั้นแล้ว ตรัสธรรมกถา มีภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้วเหาะไป

เป็นอันว่า คำพยากรณ์ขององค์สมเด็จพระจอมไตรทรงบอกละเอียด รู้ละเอียด ญาณนี้จะมีเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ฝ่ายสรทดาบสได้ไปยังสำนักของพระเถระผู้เป็นอันเตวาสิก แล้วกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ขอท่านทั้งหลายจงบอกแก่สหายของข้าพเจ้าว่า สรทดาบสผู้สหายของท่าน ได้ปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกในศาสนาของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระสมณโคดม ซึ่งจะทรงอุบัติขึ้นในอนาคตกาล แทบบาทมูลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า อโนมทัสสีแล้ว ท่านจงปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่สองเถิด”

ท่านบอกแก่บรรดาพระที่เป็นอรหันต์ที่เคยเป็นลูกศิษย์ของท่าน ให้ไปบอกเพื่อน แต่ท่านเองก็ไปเหมือนกัน ไปแล้วได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือนของสิริวัฑฒะ

สิริวัฑฒะได้กล่าวว่า “นานนักหนอพระคุณเจ้าของเราจึงมา” จึงได้นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ ตนนั่งบนอาสนะต่ำกว่า แล้วเรียนถามว่า “ทำไมอันเตวาสิก บริษัทของพระคุณเจ้าทั้งหลายจึงหายไปแล้วเจ้าข้า”

สรทดาบสจึงได้กล่าวว่า “พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าอโนมทัสสีเสด็จมายังอาศรมเป็นวันที่เจ็ด แล้วก็เพิ่งเสด็จกลับวันนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมา เราทำการสักการะแล้ว สมเด็จพระประทีปแก้วแสดงพระธรรมเทศนาโปรด ในเวลาที่จบพระธรรมเทศนา เว้นข้าพเจ้าคนเดียว นอกจากนั้นบรรลุอรหันต์ทั้งหมด และก็บวชเสียแล้ว ข้าพเจ้าเห็นพระนิสภเถระ อัครสาวกเบื้องขวาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีความปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกในศาสนาของพระพุทธเจ้า มีนามว่า “พระสมณโคดม” ซึ่งจะอุบัติขึ้นในโลกในอนาคตกาล แม้เธอก็จงตั้งความปรารถนาในตำแหน่งอัครสาวกที่สอง ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์นั้นเหมือนกัน เพราะเราเป็นเพื่อนกัน”

ท่านสิริวัฑฒะจึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่มีความคุ้นเคยกับพระพุทธเจ้าทั้งหลายเสียเลย จะทำยังไงล่ะขอรับ”

ท่านสรทะจึงกล่าวว่า “เรื่องที่จะทูลกับพระพุทธเจ้าเป็นภาระของข้าพเจ้าเอง ขอท่านจงจัดสักการะที่ยิ่งใหญ่ไว้เถอะ”

ท่านสิริวัฑฒะฟังคำของดาบสผู้ป็นสหายแล้ว ได้ทำสถานที่มีประมาณ 8 กรีส (1 กรีสเท่ากับ 125 ศอก หรือว่า 1 เส้นกับ 11 วา กับอีก 1 ศอก) ท่านกล่าวว่า ได้ทำสถานที่ประมาณ 8 กรีส โดยมาตราหลวง ที่ประตูเรือนของตนให้มีพื้นที่เสมอกัน แล้วเกลี่ยทรายโปรยดอกไม้ และทำมณฑปมุงไปด้วยดอกอุบลสีเขียว (ดอกบัวสีเขียว) ตกแต่งพุทธอาสน์ จัดอาสนะบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นบริวาร จัดสักการะและเครื่องต้อนรับไว้เป็นอันมาก ได้ให้สัญญาแก่ท่านสรทดาบสเพื่อประโยชน์แห่งการนิมนต์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระนามว่าอโนมทัสสี

สำหรับพระดาบส ได้พาภิกษุสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขไปที่อยู่ของสิริวัฑฒกฎุมพีแล้ว สิริวัฑฒกฎุมพีทำการต้อนรับ รับบาตรจากพระหัตถ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชิญเสด็จให้เข้าไปสู่มณฑป ถวายน้ำทักษิโณทก (น้ำฉัน) แก่บรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ซึ่งนั่งบนอาสนะที่ตกแต่งไว้ ได้ถวายโภชนะอันประณีต

ในเวลาที่เสร็จภัตกิจ นิมนต์ภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ครองผ้าอันมีค่ามากแล้ว จึงได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความริเริ่มนี้มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตำแหน่งมีประมาณน้อย ขอพระองค์จงทำความอนุเคราะห์โดยทำนองนี้ สิ้นเวลา 7 วัน”

องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงรับแล้ว เขายังมหาทานให้เป็นไป โดยทำนองนั้นแหละตลอด 7 วัน ถวายบังคมองค์สมเด็จพระภควันต์ยืนประคองอัญชลี กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า สรทดาบส สหายของข้าพระองค์ปรารถนาว่า เราพึงเป็นอัครสาวกเบื้องขวาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใด ข้าพระองค์พึงเป็นอัครสาวกองค์ที่สอง คือเบื้องซ้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเหมือนกัน”

สมเด็จพระภควันต์ทรงพิจารณาถึงอนาคตกาล ทรงเห็นภาวะคือความสำเร็จแห่งความปรารถนาของเขา จึงได้ทรงพยากรณ์ว่า “แต่นี้ล่วงไป 1 อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป แม้ท่านก็จักได้เป็นอัครสาวกองค์ที่สองขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระสมณโคดม”

ท่านสิริวัฑฒะฟังคำพยากรณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เป็นผู้มีความร่าเริงบันเทิงใจ แม้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงทำภัตตานุโมทนา พร้อมด้วยบริวารเสด็จไปยังวิหาร
คำว่า ภัตตานุโมทนา ก็หมายความว่า อนุโมทนาในอานิสงส์ของการถวายทานแล้ว

เป็นอันว่าเมื่อกล่าวเรื่องนี้จบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงกล่าวแก่บรรดาภิกษุทั้งหลายว่า “ก็บุตรของเราคือ โมคคัลลาน์และสารีบุตร เขาตั้งความปรารถนาเป็นอัครสาวกตั้งแต่สมัยนั้น ฉะนั้น เมื่อถึงเวลาแล้ว เราจึงได้ตั้งท่านทั้สองเป็นอัครสาวก จะถือว่าการแต่งตั้งนี้เป็นการเลือกหน้าซึ่งกันก็หาไม่ เพราะเป็นการแต่งตั้งตามความปรารถนาเพื่อตนของตนได้บำเพ็ญไว้แล้ว ได้ตั้งใจแล้ว”
เป็นอันว่า เรื่องบุพกรรมของพระอัครสาวกทั้งสองก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน

 ขอบคุณที่มา http://board.palungjit.com