แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - รวี สัจจะ...

หน้า: [1]
1
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๒ ตค. ๕๔...บทอำลา...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
        เมื่อวานที่ผ่านมา ตื่นเช้ากว่าปกติ เพราะเป็นพระใหญ่และเป็นวันปวารณา
ออกพรรษา ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  นั่งพิจารณาทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมาตลอด ๙๐ วัน
อ่านบันทึก...คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป...ตั้งแต่บทแรกจนถึงบทหลังสุดที่เขียน
คือของวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งถ้ารวมบทนี้ก็จะเขียนบันทึกธรรม บทกวี
ครบ ๙๐วัน คือตลอดทั้งพรรษาโดยมิได้ว่างเว้น ซึ่งการเขียนบันทึกการปฏิบัติธรรม
นั้นได้รับแรงบันดาลใจ มาจากการที่ได้อ่านหนังสือบันทึกของหลวงพ่อพุทธทาส
“ อนุทินชีวิต “ และหลังจากนั้นก็ได้นำมาเป็นข้อปฏิบัติในช่วงฤดูเข้าพรรษามาตลอด
ซึ่งเมื่อก่อนนั้นจะเขียนไว้เพื่อเป็นบันทึกเตือนเพื่อความทรงจำของตนเอง ว่าในเวลา
ที่ผ่านมานั้น เราทำอะไรมาบ้าง ปฏิบัติอย่างไรบ้าง คิดอย่างไร มีความรู้และความเข้าใจ
ในขณะนั้นเป็นอย่างไร เพราะเมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งที่เราได้บันทึกไว้มันคือตำนานให้
คนรุ่นหลังได้เอามาเป็นแบบอย่าง ในการดำเนินชีวิต ในการคิดและการกระทำ เพื่อจะ
ได้นำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันของตน และได้เริ่มนำมาลงในเว็บไซค์ของวัดบางพระ
ครั้งแรกในช่วงเข้าพรรษา ปี พ.ศ.๒๕๕๒ เพื่อเป็นการแบ่งปันให้แก่ท่านผู้ที่สนใจในการ
ปฏิบัติธรรม ให้ได้ศึกษากัน จึงขอขอบคุณและอนุโมทนากับทุกผู้ทุกคนที่ได้เข้ามาอ่าน
บทบันทึก บทความ บทกวี ต่างๆที่ได้เขียนมาแล้ว ซึ่งบางท่านก็ได้ติดตามงานเขียนนั้น
มาโดยตลอดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๕๒ ซึ่งได้เขียนบทความ บทกวี และได้ตอบ
ปัญหาคำถามต่างๆมามาก ซึ่งงานเขียนที่ผ่านมานั้นได้เขียนครอบคลุมไว้เกือบทุกเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นธรรมะเพื่อการปฏิบัติ การดำเนินชีวิต หลักการคิดทั้งในทางโลกและทางธรรม
หรืออีกหลายเรื่องในเรื่องทั่วๆไป ได้เขียนไว้และเป็นคำตอบให้แก่ผู้ที่สงสัยได้มากมาย
ถ้าท่านต้องกลับไปย้อนอ่านดู เพราะบทความธรรมะนั้น จะเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ท่าน
ต้องไปดูที่มาของธรรมะนั้น ว่ามีเหตุมีปัจจัยเป็นมาอย่างไร จึงได้มีทัศนะความคิดเห็น
อย่างเช่นทุกวันนี้ เพราะว่าหลังจากออกพรรษาแล้ว จะต้องเดินทางบ่อยครั้ง ซึ่งอาจจะ
ทำให้ไม่สะดวกในการที่จะเขียน บทความบทบันทึกต่่างๆ อาจจะเว้นว่างไปตามจังหวะ
เวลาและโอกาส เท่าที่สามารถจะทำได้ และสำหรับผู้ที่สนใจใน การประพฤติปฏิบัติหรือ
มีปัญหาข้อสงสัยในเรื่องต่างๆ ทั้งในทางโลกและทางธรรม ในชีวิตครอบครัว ในธุรกิจ
อาชีพ การงาน ก็สามารถที่จะฝากคำถามไว้ที่ข้อความส่วนตัวได้ ซึ่งเมื่อมีเวลาก็จะมา
ตอบปัญหาข้อข้องใจให้ แต่บางครั้งอาจจะช้าไปบ้างแล้วแต่จังหวะ เวลาและโอกาส
(ถามได้ในทุกเรื่อง ตอบได้ทุกเรื่องที่ไม่ผิดธรรมผิดวินัย ) สุดท้ายนี้ขอความสุขสวัสดี
ความมีสิริมงคล ทั้งลาภและผล ความสุข ความสำเร็จ ความเจริญทั้งหลาย ขอให้บังเกิด
แก่ท่านและครอบครัวตลอดไปเทอญ...
.....บทสรุปของวันเวลาหนึ่งพรรษาที่ผ่านมา....
                       ๐ วันเวลา    ผ่านไป       ไม่หยุดนิ่ง
                       สรรพสิ่ง      เกิดดับ        และลับหาย
                       ผ่านเรื่องราว  หลายหลาก  และมากมาย
                       บทสุดท้าย   งานเลี้ยง      ย่อมเลิกลา
                                      ๐ ชีวิตเรา       มีทั้งเศร้า     และทั้งสุข
                                      บางครั้งทุกข์   เพราะใจ      นั้นใฝ่หา
                                      หลงผิดไป     ในกิเลส       และอัตตา
                                      เพราะตัณหา   ความอยาก  ที่มากมาย
                   ๐ เมื่อพบทุกข์   ควรหันมา    เข้าหาธรรม
                     เพื่อจะนำ       จิตสู้          สู่ความหมาย
                     เพื่อวางจิต      วางใจ        ให้ผ่อนคลาย
                     จิตสบาย       กายสุข         ก็เห็นทาง
                                   ๐ เมื่อจิตโปร่ง   โล่งเบา     เอาจิตรู้
                                     และตามดู      จิตนั้น        อยู่มิห่าง
                                     เมื่อเห็นกาย    เห็นจิต      ก็เห็นทาง
                                     เมื่อจิตว่าง     ก็เห็นธรรม   กำหนดไป
                    ๐ รู้อะไร    นั้นไม่สู้      รู้กายจิต
                    รู้ความคิด   ของตน  ตั้งต้นใหม่
                   มาดูกาย     มาดูจิต   มาดูใจ
                   ทำอะไร    คิดอะไร  ให้รู้ทัน
                                     ๐  มีสติ    ระลึกรู้    อยู่ทั่วพร้อม
                                     แล้วก็น้อม  นำจิต    คิดสร้างสรรค์
                                    อยู่กับธรรม  ให้รู้      ปัจจุบัน
                                    เมื่อรู้ทัน    ก็ไม่หลง มั่นคงไป
                 ๐ จงศรัทธา    ในความดี    ที่มีอยู่
                   และเรียนรู้     พัฒนา       หาสิ่งใหม่
                   เพื่อให้ธรรม   ก้าวหน้า    ยิ่งขึ้นไป
                   แล้วจะได้    พบสุข        ไม่ทุกข์ทน
                                   ๐ สุขในธรรม  ล้ำค่า   หาใดเปรียบ
                                    ไม่อาจเทียบ  กับสุข  ในทุกหน
                                    เป็นความสุข   ที่รู้ได้  เฉพาะตน
                                    ต้องฝึกฝน    ภาวนา  หาให้เจอ
                                   ๐ เจริญสุข  เพราะมีธรรม  นั้นนำจิต
                                    เพ่งพินิจ      ระลึกรู้       อยู่เสมอ
                                    ไม่ปล่อยจิต  ให้ฝันไป    ใจละเมอ
                                     ไม่พลั้งเผลอ  ตามดู      ให้รู้ทัน
                                   ๐ บทสรุป  ของคุณค่า  เวลาผ่าน
                                    ก็คืองาน     ของจิต     คิดสร้างสรรค์
                                     บันทึกเป็น  บทความ   ไปตามวัน
                                     ผ่านมานั้น  เก้าสิบวัน   ครบพอดี....
                                     ...............................................
                                     ...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
                                     ...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๑.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

2
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๑ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
        เหลืออีกหนึ่งวันก็จะสิ้นฤดูพรรษา พิจารณาทบทวนในสิ่งที่ผ่านมา
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป สอนให้เราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
ควบคุมความรู้สึกต่ออารมณ์กระทบทั้งหลายได้เร็วขึ้น มีสติและสัมปชัญญะ
มากกว่าอดีตที่ผ่านมา กาลเวลาสอนให้ระลึกนึกคิด รู้ถูกผิด ผิดชอบชั่วดี
มีการเจริญเมตตาจิตเพิ่มขึ้น จากการที่อยู่กับธรรมชาติและสรรพสัตว์รอบกาย
ดำเนินชีวิตไปตามบทบาทและหน้าที่ ด้วยการมีสติและสัมปชัญะควบคุมอยู่
การหมั่นฝึกคิดพิจารณาทุกอย่างให้เป็นธรรมะนั้น ช่วยให้ละวางได้อย่างมาก
โดยการฝึกคิดพิจารณาเข้าหากฎของพระไตรลักษณ์ เห็นถึงความเป็นอนิจจัง
ของสรรพสิ่งทั้งหลายรอบกาย ความแปรเปลี่ยนไปไม่เที่ยงแท้ ยึดถือไม่ได้
และรู้ถึงสภาวธรรมที่เกิดขึ้น เมื่อจิตเข้าไปยึดถือก็ทำให้เกิดทุกข์ จิตก็ปล่อยวาง
ทุกอย่างเป็นไปตามกฎของพระไตรลักษณ์ คือความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา....
        อย่าได้รีบด่วนสรุปในการปฏิบัติธรรม ว่าเรารู้ธรรมแล้ว เข้าใจธรรมหมดแล้ว
เพราะสิ่งที่เรารู้และเราเห็นในขณะนี้นั้น มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัยในปัจจุบันนี้
ที่เราได้ทำมา ซึ่งถ้าเราทำไปให้ยิ่งกว่านี้ เราก็จะรู้ จะเห็นและเข้าใจไปมากกว่านี้
ตราบใดที่เรายังไม่สิ้นกิเลส จงอย่ารีบด่วนสรุปว่าเรานั้นรู้และเข้าใจธรรมหมดแล้ว
เพราะยังมีอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ ยังไม่เห็นและยังไม่เข้าใจ ผู้ที่จะฟันธงชี้ชัดได้
มีแต่พระพุทธเจ้าแต่เพียงผู้เดียว ที่คำตรัสของพระองค์เป็นหนึ่งเสมอไม่มีผิดเพี้ยน
ฉะนั้นเราอย่าไปอวดเก่งกว่าพระพุทธเจ้า อย่าไปฟันธงชี้ชัด ว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น
มันต้องเป็นอย่างนี้ เพราะการที่ไปฟันธงชี้ชัดนั้น มันเกิดมาจากทิฏฐิมานะและอัตตา
ของตัวเราเอง การสำคัญตน ว่าเราเก่ง เรารู้ ดีกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นการจะนำไปสู่ความคิด
ที่ผิดทาง คิดเข้าข้างตนเอง หลงอารมณ์กรรมฐาน กลายเป็นเจ้าลัทธิไป ไม่ใช่สาวก
ของพระพุทธเจ้่า ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดพลาดและอาจจะนำไปสู่อบายได้ เพราะจะกลาย
เป็นมิจฉาทิฏฐิไป จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจ ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายพึงสังวร
เพราะหลักคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น ท่านไม่ให้เชื่อทันทีและก็ไม่ให้ปฏิเสธในทันที่
ท่านให้ลองนำไปประพฤติปฏิบัติ ฝึกหัดทดลองทำเสียก่อน จึงจะเชื่อหรือปฏิเสธ ตามเหตุ
และผลแห่งความเป็นจริงทั้งหลาย ดั่งที่เคยได้กล่าวไว้ว่า..." ถ้าเชื่อทันที เรียกว่า งมงาย
ถ้าปฏิเสธทันที เรียกว่า ขาดประโยชน์ ควรคิดพิจารณา ไตร่ตรองให้รอบคอบ ควรจะทดลอง
พิสูจน์ ฝึกฝนที่ใจตน ให้เกิดความกระจ่างชัด ขึ้นด้วยใจตนแล้วจึงจะเชื่อหรือปฏิเสธ โดยเอา
เหตุและผลที่เป็นจริงมาเป็นที่ตั้ง แล้วทุกอย่างก็จะเกิดที่ใจ ".....
                      เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๐๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

3
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๐ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
    ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ตราบที่ยังมีลมหายใจ การเริ่มต้นของเช้าวันใหม่
เราควรจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราเอง เมื่อรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา
จงเจริญสติและสัมปชัญญะให้มีความสมบูรณ์ มีความระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อม
ในกายและจิตของเรา ตั้งจิตของเรา ให้เป็นกุสลจิต เพื่อชีวิตในเช้าวันใหม่
เป็นการสร้างเหตุและปัจจัยให้แก่ชีวิตของเรา เพื่อที่จะรับเอาสิ่งที่ดีๆเข้ามา
สู่ชีวิต ต้องเริ่มที่จิตของเรา จิตของเราเป็นเสมือนเครื่องรับคลื่นสัญญาน
มันมีกำลังที่จะดึงดูดคลื่นสัญญานทั้งหลายได้ ถ้าจิตของเราเป็นกุศลจิต
มันก็จะดูดเอาสิ่งที่ดีๆเข้ามา ในทางกลับกัน ถ้าจิตของเราเป็นอกุศลจิต
มันก็จะดึงเอาสิ่งที่เป็นอกุศลเข้ามาสู่จิตของเรา.....
      สำหรับเช้าวันใหม่ของเรานั้น เราควรจะปลูกพืชพันธุ์แห่งกุศลจิตขึ้น
ในจิตใจของเรา เพื่อที่จะรับเอาสิ่งที่ดีๆเข้ามา และพัฒนาสิ่งที่เป็นกุศล
ที่เรานั้นได้สร้างไว้ ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ซึ่งต้องเริ่มที่ใจเราเป็นเบื้องต้น
ซึ่งถ้าวันไหนเรารู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้วไม่รักษาจิต มีอารมณ์หงุดหงิดขุ่นมัว
วันนั้นทั้งวันเราก็จะต้องพบกับความวุ่นวายและเรื่องร้ายๆตลอดเกือบทั้งวัน
เพราะจิตคือเครื่องรับของเรานั้น มันเป็นอกุศลจิต มักก็จะดึงดูดเอาสิ่งที่เป็น
อกุศลเข้ามาหาเรา แต่ถ้ารู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้วรักษาจิตให้เป็นกุศล สิ่งที่เป็น
มงคลก็จะเกิดขึ้นแก่เราเสมอ เพราะเมื่อจิตใจเครื่องรับของเราดีแล้ว มันก็จะ
ดึงดูดเอาแต่ของที่ดีๆเข้ามาสู่ตัวเรา ทุกคนนั้นต่างใฝ่ฝันปรารถนาซึ่งสิ่งที่ดี
อยากจะให้มี อยากจะให้เกิดแก่ตนเอง แต่ที่มันไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้นั้น
ก็เพราะว่าเครื่องรับอันคือจิตของเรานั้น มันยังไม่มีความพร้อม ที่จะน้อมรับ
ซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อเครื่องรับนั้นยังไม่สะอาดดีพอ กุศลทั้งหลายก็ไม่
อาจที่จะตั้งอยู่ได้หรือเกิดขึ้นได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องปรับใจอันเป็นเครื่องรับ
ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งหลาย ให้มันสะอาด ให้มันดีเสียก่อน เพื่อรองรับสิ่งที่ดี
ทั้งหลายให้มาเกิดขึ้นและตั้งอยู่ในจิตใจของเรา...
    ผู้ที่จะเป็นนักปฏิบัติธรรมนั้น ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทขาดสติที่เป็นสัมมาสติ
คือการระลึกรู้ในสิ่งที่ดี เพราะว่าความประมาทที่ขาดสัมมาสตินั้น จะทำให้นักปฏิบัติ
เห็นผิดไปจากความเป็นจริง  คือมีสติ แต่เป็นมิจฉาสติ คือการระลึกรู้ในสิ่งที่ผิดที่ชั่ว
ความไม่ประมาทนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มีอยู่ ๔ ประการคือ
 ๑. ไม่มีความอาฆาตพยาบาทใคร คือการที่ต้องทำให้มีจิตใจเป็นกุศล จิตใจที่ดีงาม
     ไม่น้อยใจตนเอง ไม่น้อยใจผู้อื่น ไม่โกรธตนเอง ไม่โกรธผู้อื่น อยู่กับความคิด
      อยู่กับจิตที่เป็นกุศล
 ๒. มีสติอยู่ทุกเมื่อ คือมีการระลึกรู้ในสิ่งที่กำลังคิดและในกิจที่กำลังทำ รู้จักการ
     แยกแยะบุญและบาป สิ่งที่เป็นกุศลและเป็นอกุศล รู้ในสิ่งที่ควรคิดและในสิ่ง
     ที่ควรทำ คือการรู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้การกระทำ มีสติเป็นสัมมา
 ๓. มีสามธิอยู่ภายใน คือการตั้งใจมั่น ในสิ่งที่กำลังคิดและกำลังทำ มีสติสัมปชัญญะ
     อยู่ทุกขณะจิต เพราะว่าสมาธินั้นคือจิตที่ตั้งมั่น ตั้งมั่นอยู่ในกายในจิต ในสิ่งที่คิด
     และในสิ่งที่ทำ
 ๔. บรรเทาความอยากในใจในจิต คือการรู้จักคิดให้พอดีและพอเพียงกับสิ่งที่เห็น
     และเป็นอยู่ คือคิดถึงสิ่งที่เป็นไปได้ตามเหตุและปัจจัยที่มี นั้นคือความพอดี
     ในการคิด คือการรู้จักควบคุมจิตใจ ให้อยู่กับความเหมาะสม
              พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า " บุคคลใด ได้มีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้
บุคคลผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในคำสอนของเราตลอดกาล "
                 ...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต....
                ...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี.

4
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๙ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          ฝนพรำตั้งแต่ย่ำรุ่ง จึงต้องตื่นนอนก่อนเวลาปกติ เพราะอากาศที่เริ่มจะหนาว
ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ เจริญจิตตภาวนา อธิษฐานจิต แผ่เมตตาอุทิศ
ขออโหสิกรรม ทำกิจวัตรเสร็จเวลาประมาณ ๐๔.๓๐ น. ฉันกาแฟ เพราะช่วงนี้เป็นช่วง
ที่ควบคุมปริมาณอาหาร ฉันเฉพาะผักและผลไม้ เพื่อให้กายนั้นโปร่ง จัดเตรียมสิ่งของ
ที่จะเอาติดตัวลงไปกิจนิมนต์ที่กรุงเทพฯ เพราะต้องไปเป็นเจ้าพิธีในการบวงสรวงสักการะ
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเริ่มพิธีเเช้าเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น.
ออกเดินทางจากอาศรมเวลา ๐๕.๐๐ น. ฝนพรำตลอดทาง ถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ที่หัวหมาก เวลาประมาณ ๐๖.๓๘ น. จัดเตรียมเครื่องบวงสรวงสักการะพ่อขุนเสร็จตาม
เวลาที่กำหนดไว้  เสร็จพิธีที่หน้าลานพ่อขุนฯ ไปทำพิธีต่อที่ในโรงเรียนสาธิต ม.รามฯ
ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน ชกมวยการกุศล ช่วยเหลือผู้ประสพภัยน้ำท่วม ซึ่งทางสมาคม
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เพื่อรับบริจาค
ช่วยเหลือผู้ประสพภัยน้ำท่วม เสร็จพิธีเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. แวะไปนั่งพักสนทนากับ
เพื่อนพ้องน้องพี่ ณ ที่ทำการของสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ข้างสนามกีฬา
จนถึงเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น.จึงได้เดินทางต่อไปที ซอยนวลจันทร์ ร้านกาแฟสดรำมะนา
เพราะได้นัดลูกศิษย์ไว้อีกชุดที่นั่น หลายรายด้วยกัน นั่งอยู่ที่ร้านกาแฟจนถึงเวลาประมาณ
๑๕.๐๐ น. จึงได้เดินทางกลับอาศรมที่เขาเรดาร์ ระหว่างทางได้แวะไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่เปิด
ร้านขายข้าวแกงจานละ ๑๙ บาท ที่หน้าศูนย์พินิจฯ  กลับขึ้นเขาเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น.
ใช้เวลาที่ลงจากเขาไป ๑๒ ชั่วโมงพอดี กลับมาถึงอาศรม มีลูกศิษย์จากบ่อวินมารออยู่แล้ว
สนทนาทำธุระกันจนถึงเวลา สองทุ่ม ลูกศิษย์จึงลากลับไป....
           การปฎิบัติธรรมที่ให้เริ่มต้นจากการให้ทานนั้น ก็๋เพื่อให้เป็นพื้นฐานในการปรับจิต
ให้รู้จักคิดเสียสละ ลดละซึ่งความเห็นแก่ตัว เพื่อให้มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟือเผื่อแผ่
มีพรหมวิหาร ๔ เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต จิตนั้นจะอ่อนโยนลง ไม่หยาบแข็งกระด้าง
เป็นการสร้างคุณธรรมให้แก่จิต แต่ก็ไม่ให้ไปยึดติดในทานนั้นจนเกินไป จนกลายเป็นทิฏฐิมานะ
และอัตตา โดยคิดว่าเราดี เราเด่นกว่าผู้อื่น " แม้นน้อยนิดด้วยปัจจัย แต่ยิ่งใหญ่ด้วยอานิสงส์
ถ้าจิตจำนงค์นั้นบริสุทธิ์ " ไตรสิกขา ๓ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้สำหรับประชาชนทั้งหลาย
จึงเริ่มต้นด้วย ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งต้องปฏิบัติให้สอดคล้องต้องกัน เพื่อเป็นพื้นฐานให้เกิด
ความเจริญในธรรมที่ยิ่งขึ้นไป สู่ไตรสิกขา ๓ สำหรับบรรพชิต อันได้แก่ ศีล สมาธิและปัญญา
สมถะและวิปัสสนาในขั้นต่อไป ทานนั้นจึงเป็นพื้นฐานให้ลดละซึ่งทิฏฐิมานะและอัตตา เพราะว่า
จะได้ไม่สำคัญผิดคิดเข้าข้างตนเอง ในสิ่งที่รู้ ในสิ่งที่เห็นและในสิ่งที่ทำ จิตที่แข็งกระด้างนั้น
ก่อให้เกิดทิฏฐิมานะอัตตา ดั่งที่ได้เคยกล่าวไว้ว่า " อย่าโอ้อวดว่าเราเก่งกว่าผู้อื่น วิเศษกว่าผู้อื่น
อย่าคืดว่าเรารู้มากกว่าผู้อื่น รู้ดีกว่าผู้อื่น จะเป็นเหตุให้ก่อเกิดมานะทิฏฐิ เกิดความถือตัวถือตน "
อย่าใช้ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งของเรา ไปผูกยึดหรือผูกมัดผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นต้องเป็นไปตาม
ความต้องการของเรา ตามความอยากของเรา เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตใคร เรามีแต่เพียง
หน้าที่ ที่ต้องทำเท่านั้น ทำหน้าที่ของเรานั้นให้สมบูรณ์ เต็มกำลังความรู้ ความสามารถของเรา
ผลจะเป็นเช่นไรเป็นเรื่องของวิบากกรรมที่เคยได้กระทำมา " ทุกอย่างนั้นจึงต้องเริ่มต้นที่เจตนา
อันบริสุทธิ์ ในการคิดและทำ.....
                           เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๒๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

5
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๘ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
         แต่ละวันที่ผ่านไปนั้น มีเรื่องราวมากมายที่ได้ผ่านเข้ามาในชีวิต
ที่ทำให้เราคิดและต้องทำ มีผัสสะสิ่งกระทบมากมาย ให้เรานั้นได้รับรู้
เราจึงควรจะจดจำเพียงสิ่งที่มีประโยชน์และเป็นสาระ ส่วนสิ่งที่เป็นขยะ
ทางความคิดลบมันไปไม่จดจำ ใช้สติใคร่ครวญ ทบทวนสิ่งผ่านเข้ามา
ว่าสิ่งไหนเป็นสาระ สิ่งไหนไม่เป็นสาระ พิจารณาให้เห็นคุณ เห็นโทษ
เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามา พิจารณา
เข้าสู่่่ความเป็นกุศลและอกุศล มีสติเตือนตนให้อยู่ในความไม่ประมาท
ไม่ปรุงแต่งในอกุศลประคองจิตของตนให้อยู่ในธรรม น้อมนำจิตเข้าสู่
ความสงบนิ่ง มองทุกสรรพสิ่งให้เป็นธรรมะ.......
        เมื่อจิตเข้าสู่ความเป็นสมาธิ มีความสงบนิ่งอยู่ มีสติระลึกรู้ในสภาวะ
แห่งความสงบ เราก็จะพบกับความเป็นจริง ทุกสิ่งจะเข้าสู่ความเป็นระบบ
จิตที่ทำหน้าที่บันทึกความจำ จะทำหน้าที่ แยกแยะข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่่
และบันทึกไว้ในความทรงจำ ข้อมูลไม่สับสน ความคิดของเรานั้นจะเป็นระบบ
เพราะมีความสงบควบคุมอยู่ รู้ในสิ่งที่ควรรู้ จำในสิ่งที่ควรจำ ทำในสิ่งที่ควรทำ
สิ่งนั้นเกิดจากจิตที่มีสมาธิ และมีสติระลึกรู้ควบคุมอยู่.....
         สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตนั้น ไม่ใช่ความฝันหรือจินตนาการ แต่เป็นการที่เกิดจาก
การฝึกจิต ฝึกคิด ฝึกทำอย่างสม่ำเสมอ จนเกิดความชำนาญในการคิดและการทำ
เกิดจากการเจริญรักษาสติ สมดั่งคำที่ว่า " เมื่อเรารักษาสติให้ดีแล้ว สตินั้นจะรักษาเรา "
กายและจิตจะเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะการรู้เท่าทันในกายและจิต รู้เท่าทันความคิด
และการกระทำ รู้ในสิ่งที่ควรจำและไม่ควรจำ คือการปฏิบัติอย่างเรียบง่ายสบายๆ
เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการทำที่จิต เพราะไม่มีความคิดที่จะแสดงออกมาให้
ใครรู้ว่าเราปฏิบัติธรรมอยู่ มิใช่การโชว์หรือการโอ้อวด.....
        การปฏิบัติธรรมนั้น เป็นการกระทำเฉพาะตน ไม่ได้หวังผลที่จะโอ้อวดใคร
มิได้เป็นไปเพื่อหวังในโลกธรรม ๘ อันได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นไปเพื่อ
ความดับทุกข์และความสุขในธรรม รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม แต่ยังไม่ได้ทำ
ยังไม่เรียกว่าผู้ปฏิบัติธรรม เป็นได้เพียงผู้ชื่นชมในธรรม ผู้วิจารน์ธรรมเท่านั้นเอง
หาใช่ผู้ปฏิบัติธรรมไม่ เพราะยังมิได้ทรงไว้ในธรรม.....
         สติและสัมปชัญญะ การระลึกรู้และความรู้ตัวทั่วพร้อม ที่น้อมเข้าหาธรรม
จะนำมาซึ่งสุขและความสงบ เป็นสิ่งที่เรารับรู้ได้ด้วยจิต มันเป็นความรู้สึกที่รู้ได้
เฉพาะตน สิ่งนั้นคือความเป็น “ ปัตจัตตัง “ เมื่อเรานั้นได้ย้อนมาดูกายจิตของเรา
เราย่อมได้รู้ถึงสภาวะที่เป็นอยู่ของกายจิตเรา สุขหรือทุกข์ สับสนวุ่นวายหรือสงบ
สิ่งนั้นไม่มีใครจะมารู้ดีกว่าตัวของเราเอง ดั่งที่เคยกล่าวไว้เสมอว่า “ ไม่มีใครรู้ซึ้ง
เท่าหนึ่งจิต หากเราให้เวลาแก่ชีวิต หันมาพิจารณาตัวของเราเอง “........

                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดีในทางธรรม
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๑๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

6
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๗ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ 
     ทำภาระกิจที่ได้รับมอบหมายมาให้ลุล่วงไป ตามหน้าที่ของศิษย์เก่าของสถาบัน
เมื่อเสร็จภาระกิจ ชีวิตก็กลับมาเหมือนเดิม คือการเดินตามความใฝ่ฝันที่ได้ตั้งใจไว้
มีบางครั้งที่รู้สึกท้อแท้และเบื่อหน่ายต่อสังคม แต่เมื่อสติระลึกได้ก็ปรับความรู้สึกได้
ละวางซึ่งอารมณ์นั้น เป็นธรรมดาของชีวิตและความคิดที่เกิดขึ้น เพราะมันมีเหตุและ
ปัจจัย"ธรรมารมณ์สิ่งที่มากระทบจิต" ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิด เรียกว่าจิตไปเสพรับรู้
ซึ่งอารมณ์นั้น และปรุงแต่งมันให้มีกำลังเพิ่มขึ้น ถ้าไม่รู้จักควบคุมใจหมั่นดูจิตของตน
 ปล่อยให้ความคิดมันปรุงแต่งไป ใจนั้นก็จะเป็นทุกข์เพราะเข้าไปยึดถือ ครูบาอาจารย์
ท่านสอนเสมอว่า "ดูหนังดูละคร แล้วให้ย้อนมาดูจิต มาดูความคิดของตัวเราเอง"
เป็นการเจริญสติปัฏฐานสี่ มีสติอยู่กับ กาย เวทนา จิต ธรรม มีความสำรวมอินทรีย์
โดยมีสติกำกับอยู่ เพื่อให้รู้กายรู้จิตรู้ความคิดและรู้การกระทำ ในปัจจุบันธรรมทั้งหลาย....
        ระลึกถึงคำครูบาอาจารย์ท่านได้กล่าวไว้ "จิตที่ส่งออก เป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากจิต
ที่ส่งออกนอกเป็นทุกข์  จิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ "   
การเจริญวิปัสสนาคือการเจริญสติปัฏฐานสี่ คือการบำเพ็ญภาวนากุศล การฝึกตน
ให้มีสติอยู่กับรูปและนาม คือความเป็นผู้ไม่ประมาทไม่อยู่ปราศจากสติ ผู้นั้นจึงได้ชื่อว่า
ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเป็นมัชฌิมาคือสายกลาง ปฏิบัติถูกต้องตามพุทธพจน์
ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ชอบแล้ว..........
      การมองปัญหานั้นให้เรามองทุกแง่มุม ตั้งสมมุติฐานทั้งสองอย่าง คือมองทั้งแง่ดี
และแง่ร้าย เจาะลึกลงไปถึงที่ีมาของปัญหา อย่าเอาคติความรัก ความชอบ หรือความ
พอใจไม่พอใจของเรามาเป็นที่ตั้ง คืออย่าไปตั้งธงคำตอบก่อนที่จะพิจารณา แล้วเรา
จะเห็นที่เกิดที่มาของปัญหาเหล่านั้นโดยความเป็นจริง เมื่อรู้และเห็นแล้ว ก้ต้องทำ
ความเข้าใจในปัญหา โดยการหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น ซึ่งต้องใช้สติพิจารณามองให้รอบด้าน
ละวางอัตตา ตัวกูของกู ดูให้เห็นถึงความเหมาะสมของเหตุและปัจจัยในปัจจุบันที่มีอยู่
ดูผลกระทบที่จะมีต่อผู้ที่ได้รับผลประโยชน์และผู้สูญเสียผลประโยชน์ ให้เห็นความพอดี
ความเหมาะสม ที่สามารถจะกระทำได้และรับได้ทั้งสองฝ่าย การแก้ไขปัญหาจึงจะเกิดขึ้นได้
ถ้าทุกฝ่ายยอมรับความจริงไม่ยึดติดยึดถือจนเกินไป วิธีการนี้ใช้ได้ทั้งในทางโลกและทางธรรม
ถ้ารู้จักนำไปปฏิบัติประยุกต์ใช้......
     แต่อะไรๆในโลกนี้ " มันก็เป็นเช่นนั้นเอง " ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า....
 "จิตใจคนจะเสื่อมไปจากคุณธรรมตามกาลและเวลา จนสิ้นสุดพระศาสนาเมื่อครบ ๕,๐๐๐ ปี "
เพราะโลกนี้เปลี่ยนแปลงไป ตามกฏของพระไตรลักษณ์ "ขอเพียงความเสื่อมนั้นอย่าเกิดจากเรา
เป็นผู้กระทำก็เพียงพอแล้ว ".......
          ขอฝากไว้เป็นข้อคิดเพื่อสะกิดเตือนใจ ก่อนที่จะคิดและทำอะไรให้ดูใจของเราก่อน
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๔๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

7
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๖ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่  ๗  ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
           ใช้เวลาไปกับการทบทวนธรรม เปิดอ่านบันทึกเก่าๆที่ได้เคยเขียนไว้
ในช่วงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งได้เขียนบันทึกมาเป็นประจำทุกปี ตลอดเวลา ๙๐ วัน
ของการอยู่จำพรรษา เพื่อเป็นการตรวจสอบตนเอง ถึงสิ่งที่เราได้กระทำมาแล้ว
ทั้งในเรื่องทางโลกและเรื่องทางธรรม ได้เห็นถึงการพัฒนาหรือความเสื่อมของจิต
เมื่อเราได้นำบันทึกเหล่านั้นมาทบทวน เราจะเห็นถึงสิ่งทั้งหลายที่แปรเปลี่ยนไป
ดั่งที่เคยได้เขียนบันทึกไว้ในเรื่อง “ วิถีทางสู่ความเป็นจอมยุทธ “.......
             " วิถีทางสู่ความเป็นจอมยุทธ" เป็นคำพูดหรือวลีหนึ่งที่มักจะเอ่ยถึงกัน
สำหรับนักปฏิบัติธรรมคือการกระทำการปฏิบัติ คล้ายกับการฝึกวิทยายุทธในนิยาย
กำลังภายในของจีน ซึ่งนิยายกำลังภายในของจีนนั้น ก็เอาหลักการของพุทธศาสนา
มาเป็นแนวทาง มีหลักคุณธรรมเข้ามาสอดแทรกให้คติเตือนใจ การปฏิบัติธรรมนั้น
ก็เช่นกันคือ " ทำของที่ยังไม่มีให้มีขึ้นเกิดขึ้น  ของที่มีแล้วเกิดขึ้นแล้วนั้น รักษาไว้
ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้สูญหายสลายไป ทำของที่มีที่เกิดขึ้นแล้วและได้รักษาไว้ดีแล้ว
ให้เหมือนกับไม่มี " นี้คือกระบวนยุทธของการปฏิบัติธรรม...ทำของที่ไม่มีให้มีขึ้น
ให้เกิดขึ้น คือการฝึกฝนปฏิบัติ เจริญสติเพื่อให้มีสมาธิจิตที่สงบนิ่ง นั่นคือการเจริญ
ภาวนาปฏิบัติกรรมฐานตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนมา ตามแนววิชากรรมฐาน
ของแต่ละสำนัก เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแก่นักปฏิบัติแล้ว ก็ต้องรักษาทรงไว้ซึ่งสมาธินั้น
ให้มั่นคง มีความชำนาญแคล่วคล่องในการเข้าออกในอารมณ์สมาธินั้น คือความเป็นวสี
รู้วิธีเข้าออกในอารมณ์ฌาน ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนอยู่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อจิตมีสมาธิ
ที่มั่นคงแล้ว เข้าใจในสภาวะขององค์ฌาน อธิษฐานเข้าออกได้ตามที่ต้องการแล้ว
ก็ถึงกระบวนการยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนากรรมฐาน คือเห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง
เห็นความเป็นจริงในพระไตรลักษณ์ เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ เห็นประโยชน์และ
มิใช่ประโยชน์ของสรรพสิ่ง เห็นรูปเห็นนาม ตามความเป็นจริง จิตละทิ้งจากการยึดถือ
เข้าสู่ขบวนการ ลดมานะ ละทิฏฐิ ถอนอุปาทาน ตามรู้เห็นดูจิตอยู่กับปัจจุบันธรรม........
             การปฏิบัติธรรมนั้นเปรียบได้กับ การแสวงหา ยกตัวอย่างให้เห็นได้ดังนี้ว่า
เหมือนเราแสวงหาของที่เรายังไม่มี เราอยากจะได้สิ่งของสิ่งนี้ เราต้องมีความพยายาม
หาเหตุหาปัจจัยเพื่อที่จะได้มา สะสมเงินทองเพื่อให้พอที่จะซื้อหาหรือพยายามกระทำ
สร้างมันขึ้นมา จนมันสำเร็จตามความปรารถนาได้สิ่งที่ต้องการมา และเราต้องเก็บรักษา
สิ่งของสิ่งนั้น ทำความรู้จักกับมัน ใช้งานมันจนชำนาญแคล่วคล่องคุ้นเคย เก็บรักษามัน
ไว้ในที่อันสมควร เมื่อถึงเวลาก็หยิบขึ้นมาใช้ได้ทันที  โดยไม่ต้องถืออวดอยู่ตลอดเวลา
เก็บรักษาไว้ในที่อันเหมาะสม.......
              นักปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน ต้องรู้จักครอบงำประกาย ไม่ควรโอ้อวดตัว โชว์อวด
ให้เขารู้ว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัตธรรมนั้น มิใช่การแสดง มิใช่เป็นไปเพื่อ
การโอ้อวดประกวดกัน เพื่อให้เขากล่าวสรรเสริญยกย่อง แต่เป็นไปเพื่อความสงบ สะอาด
สว่าง ละวางจากทิฏฐิมานะและอัตตา และเพื่อความจางคลายของกิเลส ตัณหา อุปาทาน
ซึ่งการปฏิบัติธรรมนั้น ต้องเกิดจากความคิดจิตที่เป็นกุศล การเริ่มต้นที่ที่ต้องและดีงาม
ความเจริญในธรรมจึงบังเกิด เพราะคำว่า " ภาวนานั้นคือการกระทำให้ดีขึ้น พัฒนาขึ้น
สิ่งที่เรียกว่าพัฒนาขึ้น ดีขึ้นนั้น ก็คือความดี คือกุศลธรรมทั้งหลาย.......
             จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลาย โปรดได้นำไปคิด
และพิจารณาใคร่ครวญดูว่า " เรามีความปรารถนาในการปฏิบัติธรรมเพราะอะไร สิ่งที่เราคาดหวัง
ตั้งใจไว้นั้น มันเป็นกุศลจิตหรือไม่ "  ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต สิ่งที่เรานึกคิดเรารู้อยู่แก่ใจ
ว่าเราคิด เราหวังอะไร ในการปฏิบัติธรรม...
          เชื่อมั่น-ศรัทธาในธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                 ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

8
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๕ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
        เข้าสู่เส้นทางสายนี้มายาวนานและมีประสพการณ์จากชีวิตจริง
มีหลายสิ่งที่ได้เรียนรู้ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
และปัญหาที่มักจะเจอกันในการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติหลายท่านที่ประสพ
เพราะส่วนใหญ่ของผู้ปฏิบัตินั้นมักจะทำกันลัดขั้นตอน เพราะความใจร้อน
หวังผลในการปฏิบัติ อยากจะเห็นผลโดยเร็วไว จึงทำให้การปฏิบัติธรรมนั้น
ไม่เป็นไปตามขั้นตอน ตามหลักคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ส่วนใหญ่จะข้ามไป
เน้นที่จิตที่สติเพื่อให้เกิดสมาธิโดยเร็วไว ข้ามเรื่องศีลไป ซึ่งนั้นคืออันตราย
ของนักปฏิบัติธรรม เพราะศีลนั้นคือบาทฐานของความเป็นสัมมาสติ เจตนา
ของการรักษาศีลนั้นก็เพื่อการเจริญสติ มีการสำรวมอินทรีย์ ผู้ที่จะรักษาศีลได้
นั้นต้องมีสติอยู่กับกายและจิต ดูความคิด ดูการกระทำ ไม่กล้าก้าวล่วงล้ำ
ข้อห้ามทั้งหลาย มีความละอายและเกรงกลัวต่อการประพฤติผิดทั้งในที่ลับ
และในที่แจ้ง การกระทำอย่างนั้นก่อให้เกิดคุณธรรมประจำจิตคือการมีหิริ
และโอตตัปปะ สิ่งที่ได้จากการรักษาศีลก็คือการมีสติสัมปชัญญะและคุณธรรม
เมื่อเข้าสู่กระบวนการภาวนาเพื่อให้เกิดสมาธิ สติที่ใช้ในการภาวนานั้นคือสัมมาสติ
สมาธิที่เกิดขึ้นจึงเป็นสัมมาสมาธิเพราะเกิดจากสติที่เป็นสัมมา ปัญหาที่ตามมาของ
การภาวนาที่ไม่ได้ผ่านการรักษาศีลนั้น ก็คือการก่อให้เกิดอัตตา การยกตัวถือตัวถือตน
เกิดทิฏฐิมานะสำคัญตนว่าเราดีกว่าผู้อื่น เก่งกว่าผู้อื่น วิเศษกว่าผู้อื่น หลงตัวเอง
สบประมาท จาบจ้วงลบหลู่ครูบาอาจารย์ ยกตนขึ้นเทียบท่าน ก่อให้เกิด กายกรรม
วจีกรรม มโนกรรม ต่อครูบาอาจารย์ เพราะจิตขาดซึ่งคุณธรรม.......
          ความเจริญในธรรมนั้น เหมือนกับต้นไม้ คือต้องค่อยเป็นค่อยไปตามกาลเวลา
และลำดับชั้น เหมือนเราปลูกต้นไม้ เราอยากจะให้มันโตไวๆให้ดอกออกผลโดยเร็ว
แต่มันเป็นไปไม่ได้ ต้นไม้มัน ต้องเจริญเติบโตไปตามสายพันธุ์ระยะเวลาและอายุของมัน
การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน มันต้องผ่านกาลเวลา การสั่งสม เพิ่มพูลกำลังไปตามลำดับชั้น
การปฏิบัตินั้นจึงจะเป็นไปด้วยดี มีความเจริญในธรรมที่มั่นคงและถูกต้องตามหลักของ
พระพุทธศาสนา ตามที่พระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนไว้.........
          มีผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมหลายท่านมาขอคำชี้แนะเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
และได้ให้คำแนะนำเพื่อให้นำไปปฏิบัติ ตามที่ได้ศึกษาและปฏิบัติมา โดยให้ยึดหลัก
ในการปฏิบัติว่า " อย่าเกร็ง อย่าเคร่ง อย่าเครียด " ให้ปฏิบัติอย่างเรียบง่ายสบายๆ
ค่อยๆเป็นค่อยๆไป เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ปรับสภาพและมีความพร้อม มีความ
เคยชินกับวิถีการดำเนินชีวิตและความคิดใหม่ๆ ที่เป็นไปโดยชอบและประกอบด้วยกุศล
โดยให้ถามตัวเองก่อนว่า...อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราอยากปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติธรรม
เพื่ออะไร...ให้ค้นหาตัวเองให้เจอเสียก่อน ว่าอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เกิดจากความคิด
เกิดจากจิตที่เป็นกุศลหรือไม่ หรือเป็นไปโดยความคิดจิตที่เป็นอกุศล คือการหวังผล
เพื่อลาภสักการะและชื่อเสียงหน้าตาคำยกย่อง ผู้ปฏิบัติต้องมองให้เห็นในจุดนี้ ว่าที่เรา
ต้องการปฏิบัติธรรมนั้นมาจากเหตุอะไร เป็นไปโดยชอบหรือไม่........
        เป้าหมายของการปฏิบัติคืออะไร เพียงเพื่อต้องการความสงบเพื่อหลบความวุ่นวาย
หรือว่าเพื่อให้เกิดความจางคลายจากกิเลสตัณหา อัตตา อุปทาน ปรารถนาความพ้นทุกข์
โดยเราต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของตัวเราด้วยว่า"จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่ บุคคล"
นั้นมันควรจะกระทำอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้ไม่เป็นการสร้างความกดดันให้แก่ตนเอง
สิ่งที่ทำนั้น "เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อผู้อื่น ฝ่าฝืนศีลธรรมประเพณี วิถีของกฏหมายและสังคม"
เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นอาจจะเป็นการ"ทอดทิ้งธุระ ละเลยต่อหน้าที่"ถ้าเราไม่รู้จักความพอดี
บทบาทหน้าที่ของตัวเรา การปฏิบัติธรรมนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้เพื่อให้เหมาะสม
กับตัวบุคคล คือสำหรับสมณะนักบวชผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์ และฆราวาสผู้ครองเรือน
เพื่อให้ตรงกับวิถีชีวิตและสิ่งที่ปรารถนาเจตนา เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามในธรรม
 "เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศล" ให้รู้จักตัวตนของตัวเองเสียก่อน.....
        จึงขอฝากไว้ให้เป้นข้อคิด นำไปพิจารณา และอย่าได้เชื่อทันที ที่ได้ฟังหรือได้อ่าน
จงใช้วิจารณญาณในการเสพข่าวสารและข้อมูล เพื่อเป็นการเพิ่มพูลสติปัญญาให้แก่ตนเอง
โดยการฝึกคิดพิจารณาและวิเคราะห์ ก่อนที่จะเชื่อหรือปฏิเสธ ประโยชน์นั้นจะเกิดแก่ตัวท่าน.....
        จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจสำหรับนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ให้ใคร่ครวญ
คิดพิจารณา เพื่อความก้าวหน้าเจริญในธรรม ไม่หลงปฏิบัติผิดทาง ซึ่งจะนำออกห่างจาก
กุศลธรรมทั้งหลาย...
                                  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๒๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบรี

9
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๔ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่  ๕  ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          เสร็จจากกิจของสงฆ์ในภาคเช้า ตรวจดูความเรียบร้อยของอาศรม
เพราะเมื่อกลางคืนที่ผ่านมานั้น ฝนตกและลมพัดแรง จึงมีใบไม้และกิ่งไม้
ร่วงลงมามาก เก็บกวาดใบไม้เศษไม้ จัดผลไม้แบ่งให้ นก กระรอก กระแต
ที่อาศัยอยู่ในบริเวณอาศรม ซึ่งจะลงมากินผลไม้และอาหารที่วางไว้ให้ทุกวัน
อากาศเย็นมีหมอกตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย ใช้เวลาเกือบตลอดวันกับการฟังธรรม
อ่านหนังสือ เขียนบทความ บทกวี ทบทวนพิจารณาธรรม ที่เคยได้ยินได้ฟังมา
จากหลวงปู่ หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ แต่ละท่าน แต่ละสำนัก ที่เคยไปศึกษามา
จิตมาหยุดพิจารณาที่คำของหลวงปู่ท่อน ญาณธโร วัดศรีอภัยวัน จังหวัดเลย
ที่ท่านได้กล่าวสอนไว้ เป็นข้อความที่จำได้ประทับใจท่านกล่าวไว้ว่า........
...อย่ากินของร้อน (ราคะ โทสะ โมหะ)
...อย่านอนบนไฟ (โลภ โกรธ หลง)
...ให้ไปอย่างแร้ง (ไม่ยึดติด ไม่สะสม)
 ...แสวงหาบริสุทธิ์ (ของที่ชอบธรรม)
        กิเลสตัณหาทั้งหลาย ล้วนเป็นของร้อน เป็นไฟเผาไหม้อยู่ภายในจิตในใจ
ของเราเสมอมา ใจเรารุ่มร้อนกระวนกระวายเพราะกิเลสตัณหา ความอยากมีอยากได้
ความพอใจและไม่พอใจในสิ่งที่มี การยึดถือในตนเองจนมากเกินไป ความรัก ความใคร่
ความลุ่มหลง เสน่หาล้วนแล้วแต่พาให้ใจเรารุ่มร้อน เหมือนมีไฟมาสุมอยู่ในใจเรา......
      พยายามเตือนตน เตือนจิต ปรับความคิด ยกเอาการประพฤติปฏิบัติของหลวงปู่
หลวงพ่อครูบาอาจารย์ท่านทั้งหลายมาเป็นแบบอย่าง ปรับให้เข้ากับตัวเราเพื่อความ
เหมาะสมในการประพฤติปฏิบัติธรรม แบบอย่างที่ดีมีอยู่มากมายที่จะให้เราได้ศึกษา
และเรียนรู้ดูเป็นตัวอย่าง การประพฤติปฏิบัติตนของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นพระภิกษุ
ตามแนวทางปฏิปทาของครูบาอาจารย์ก็คือ...มีน้อยใช้น้อย มีมากเอาไว้สงเคราะห์
ผู้ที่ไม่มี อยู่ไปตามมีตามได้ พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ไม่ร้องขอใคร ยินดีอยู่กับความเพียร
เพื่อหวังความพ้นทุกข์....
        ทบทวนถึงสิ่งที่ยังค้างคาที่อยู่ในใจ  สิ่งที่เคยตั้งใจไว้และสิ่งนั้นยังไม่ได้ทำ
ให้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องของทางโลกมิใช่เรื่องของทางธรรม สิ่งที่ยังค้างคาใจ
ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของหมู่คณะเพื่อนพ้องน้องพี่ ที่เคยใกล้ชิดสนิทสนมกันมา
ในสมัยที่เป็นฆราวาส พยายามที่จะจัดการให้ทุกอย่างที่เคยคิดไว้ เคยกล่าวไว้
ให้มันเป็นรูปธรรมขึ้นมา ซึ่งมันเป็นปลิโพธเป็นความกังวลสิ่งเดียวที่ยังตัดไม่ได้
ในปลิโพธ ๑๐ ประการ มันเป็นสิ่งที่ยังค้างคาใจอยู่ตลอดมา จึงต้องจัดการให้มัน
เรียบร้อยลงตัว ก่อนที่จะปลีกตัวจากหมู่คณะ ปลีกวิเวก ยุติบทบาทของตนในสังคม
ให้เวลาแก่ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ทำเพื่อสิ่งที่ได้ตั้งใจไว้ในทางธรรม ตามบทบาท
และหน้าที่ของความเป็นสมณะนั้นให้สมบูรณ์.....
 ...เคารพศรัทธาในคำครู ที่สอนให้รู้ถึงความพอดีและความเพียงพอ...
                      ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๓๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

10
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๓ ตค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
            ทบทวนบทสวดต่างๆของมนต์วิธีตั้งแต่ตอนสายๆจนถึงเที่ยง สมองเริ่มตื้อ
เพราะว่าบรรจุข้อมูลเข้าไปมากเกินไป  จึงต้องบริหารร่างกายโดยการลงไปทำงาน
กวาดใบไม้ ถูศาลา เก็บกิ่งไม้ ให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว และกล้ามเนื้อได้คลายตัว
เพื่อเป็นการสลายพลังงานทางจิตที่ก่อตัวเกิดขึ้นมาในขณะที่เราท่องมนต์ทวนมนต์
เพราะการสวดมนต์ท่องมนต์นั้นเป็นการบริกรรมภาวนาและเมื่อจิตมีความศรัทธา
มีสติระลึกอยู่กับอักขระของมนต์นั้น สมาธิจึงเกิดขึ้น และเมื่อจิตเป็นสมาธิตั้งมั่น
จิตนั้นย่อมจะมีพลัง ที่เรียกกันว่า “ พลังจิต “  ซึ่งสมาธิที่เกิดจากการบริกรรม
ภาวนามนต์นั้น จะเป็นสมาธิเชิงพลังงาน ซึ่งมีทั้งคุณและโทษเป็นได้ทั้งสองอย่าง
ซึ่งอยู่ที่ผู้ปฏิบัตินั้นว่าจะมีอินทรีย์แก่กล้า มีปัญญาหรือไม่ ที่จะใช้และควบคุมพลังงานนั้น
        พลังงานทางจิตที่เกิดจากสมาธินั้น ถ้าผู้ปฏิบัติขาดซึ่งคุณธรรมก็จะนำมาซึ่งโทษ
คือความเป็นมิจฉาสมาธิ อันเกิดจากทิฏฐิ มานะและอัตตา นำมาซึ่งการใช้พลังงานจิต
ไปในทางที่มิชอบอันไม่ประกอบด้วยกุศล ซึ่งจะมีผลเป็นบาป และถ้าผู้ปฏิบัติขาดซึ่ง
สัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อมแล้ว ก็จะทำให้เกิดการหลงอารมณ์ หลงไปในนิมิต
ที่เกิดขึ้น โดยการเข้าไปยึดถือในนิมิตทั้งหลายที่เกิดขึ้น ว่าเป็นเรื่องจริง เป็นของจริง
และติดอยู่ในนิมิตนั้น ทำให้จิตไม่พัฒนาและปัญญาไม่เกิด จนบางครั้งอาจจะทำให้
ออกนอกลู่นอกทาง ห่างไกลจากคุณธรรมไปได้ ถ้าหากว่ากำลังแห่งจิตมิจฉาทิฏฐินั้น
มีกำลังมากเพราะการติดอยู่กับมันเป็นเวลายาวนาน จนเกิดเป็นความเคยชินของจิต
ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข
              นิมิตทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจริง ตามเหตุปัจจัยและเจตนาของผู้ปฏิบัติ
ที่ได้ทำไป  แต่นิมิตนั้นจะจริงหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาเข้าหาหลักธรรม
สงเคราะห์เข้าหาหลักธรรม ในสิ่งที่รู้และในสิ่งที่เห็น ว่าสอดคล้องถูกต้องตามหลักธรรม
ของพุทธศาสนาหรือไม่  มีหลักธรรมมารองรับ มาสงเคราะห์หรือไม่ ในนิมิตที่เกิดขึ้นนั้น
ครูบาอาจารย์กล่าวสอนไว้ว่า...รู้จริง เห็นจริง แต่สิ่งที่รู้และเห็นนั้นอาจจะไม่จริงก็ได้....
ท่านจึงสอนไม่ให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายไปติดอยู่กับนิมิตที่เกิดขึ้น เพราะจะทำให้เสียเวลา
ของการพัฒนาทางจิต เพราะนิมิตนั้นไม่ใช่กระบวนการแห่งการลดละกิเลส ตัณหา
อัตตา อุปทานและทิฏฐิและในทางกลับกันอาจจะเป็นการเพิ่มกำลังของกิเลส ตัณหา
อัตตา อุปทานและทิฏฐิให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม นิมิตทั้งหลายจึงไม่ใช่ทางของการดับทุกข์
           ในสมัยที่ผู้เขียนฝึกปฏิบัติธรรมใหม่ๆนั้น ได้ยินได้ฟังนักปฏิบัติท่านอื่นเขาคุยกัน
ว่าปฏิบัติแล้วเกิดนิมิตอย่างนั้นอย่างนี้ เห็นกันอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตัวผู้เขียนกลับไม่เห็น
นิมิตอะไรเลย ทั้งที่รู้ว่าจิตนั้นสงบเป็นสมาธิ มีแต่ความ โปร่ง โล่งเบา เอิบอิ่ม สบายใจ
แต่ไม่เห็นภาพนิมิตอะไรกับเขา ผู้เขียนจึงได้เข้าไปถามท่านหลวงพ่อพุทธทาสในเรื่องนี้
ว่า...ทำไมปฏิบัติแล้วไม่เห็นอะไรกับเขาเลย....ท่านหลวงพ่อพุทธทาสตอบผู้เขียนว่า.....
...ก็ดีแล้วที่ไม่เห็นอะไร เพราะถ้าเห็นแล้วมันก็จะปวดหัว วุ่นวายกับสิ่งที่เห็นนั้น รู้มาก
เห็นมาก และถ้าละมันไม่ได้ก็จะวุ่นวายปวดหัวมาก ไม่ต้องรู้ต้องเห็นนิมิต ให้รู้เห็นจิต
เห้นกิเลสของเราก็เพียงพอแล้ว....คำตอบที่ผู้เขียนได้รับนั้นทำให้ผู้เขียนไม่สงสัยและ
ไม่อยากจะรู้จะเห็นนิมิตอีกต่อไป  อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด แต่จิตไม่ไปติดอยู่ในนิมิตนั้น
จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ท่านทั้งหลายนำไปคิดและพิจารณากัน......
                      เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๐๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

11
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบรี
อังคารที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
               ในทุกปีเมื่อใกล้จะออกพรรษานั้น จะต้องทบทวนมนต์พิธีและทบทวนธรรม
เพราะเมื่อออกพรรษาแล้วนั้น จะต้องไปบรรยายธรรมและไปเป็นประธานในงานปฏิบัติ
ธรรม ตามสถานที่ต่างๆซึ่งเขาได้นิมนต์ไว้ ต้องเป็นผู้นำสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเช้าและ
ทำวัตรเย็น จึงจำเป็นทีจะต้องทบทวนบทสวดมนต์ที่จะใช้ในพิธีกรรมต่างๆให้คล่องขึ้นใจ
และต้องทบทวนในธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นภาษาปริยัติและอารมณ์ของสภาวธรรมต่างๆ
ให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ในการที่จะนำไปบรรยายแนะนำสั่งสอนผู้อื่นนั้น เราต้องเข้าใจใน
ธรรมที่จะบรรยายและเข้าใจในสภาวธรรมที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่จะไม่สร้างความสับสนให้แก่
ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายและเป็นการย้ำเตือนสอนตนเองไปด้วยในขณะที่ทบทวนธรรม.....
             หลังจากเสร็จภารกิจประจำวันในภาคเช้าแล้ว ก็ได้เข้ามาเปิดธรรมบรรยาย
ของหลวงพ่อพุทธทาส ฟังต่อจากเมื่อวานที่ผ่านมา ซึ่งได้ฟังไปแล้ว ๑๐ ตอน โดยที่ได้
เก็บบันทึกไว้ของหลวงพ่อพุทธทาสนั้น มีทั้งหมด ๘๐ ตอน ซึ่งจะทยอยฟังไปวันละ
๑๐ ตอนความยาวตอนละประมาณ ๔๕-๖๐ นาที ของหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง
 จ.อุบลราชธานี อีก  ๔๐ ตอน ของหลวงพ่อจรัล วัดอัมพวัน  จ. สิงห์บุรี อีก ๑๐ ตอน
และของหลวงพ่อจำเนียร วัดถ้ำเสือ ฯ จ.กระบี่ อีก ๑๒ ตอน ซึ่งธรรมบรรยายที่ได้บันทึก
ไว้นั้นจะใช้เวลาประมาณ ๑๕ วันสุดท้ายของการเข้าพรรษาในการฟังธรรมและทำความเข้าใจ
ซึ่งจะใช้เวลาส่วนในตอนกลางวันเพื่อการฟังธรรม เพราะจะได้มีความรู้ตัวทั่วพร้อม
เพราะในตอนกลางวันนั้น จะมีญาติโยมขึ้นมาเยี่ยมเยือนหรือมาขอความสงเคราะห์
จึงจำเป็นที่จะต้องตื่นตัวมีความพร้อมอยู่เสมอ
               ส่วนในเวลากลางคืนนั้นจะเจริญสติภาวนาทำสมาธิและพิจารณาธรรรม
สลับกับการพระไตรปิฏก เพราะจะไม่มีใครมารบกวนทำให้การปฏิบัติเจริญภาวนานั้น
ไม่ขาดตอนมีความต่อเนื่อง เพราะสมาธินั้นต้องอาศัยความวิเวกเป็นอารมณ์และเมื่อ
ยกจิตขึ้นพิจารณาธรรมนั้น สภาวธรรมจะได้ต่อเนื่องลื่นใหล ไม่มีอะไรมากระทบรบกวน
การพักผ่อนร่างกายและจิตนั้นก็คือการเขียนบทความ บทกวี เพราะจะเป็นการปลดปล่อย
อารมณ์ มีความเพลิดเพลินในการคิดและจินตนาการโวหารและสำนวน ซึ่งจะได้ถ่ายทอด
ออกมาเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายและไม่เกิดความเบื่อหน่ายในการอ่านและการฟังของผู้รับ
เพราะภาษากวีนั้นจะมีสัมผัสที่ลื่นใหลเกิดความเพลิดเพลินและให้ความสนใจแก่ผู้ที่อ่าน
มากกว่าภาษาธรรม ซึ่งผู้อ่านอาจจะเกิดความกดดัน ความเครียดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวขึ้นมาได้
จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาง่ายๆและโวหารคำกวีมาเป็นตัวสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้อ่าน
ซึ่งที่ผ่านมานั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี.....
           แต่ละวันที่ผ่านไปนั้น พยายามน้อมจิตเข้าหาธรรม เจริญสติสัมปชัญญะให้ได้มากที่สุด
เท่าที่จิตจะระลึกรู้ได้ พยายามตั้งใว้ในกุศลจิตแห่งพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
มองโลกในแง่ดี ปรับทุกสิ่งที่รู้ที่เห็นและระลึก เข้าหาหลักธรรม ทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จิตจะระลึกได้
เพราะวันเวลาของชีวิตนั้นสั้นไปทุกขณะ จึงต้องทำชีวิตให้มีสาระทั้งประโยชน์และประโยชน์ท่าน
ทั้งในทางโลกและทางธรรม สร้างความคุ้นเคยให้แก่จิตในการระลึกรู้ ให้จิตนั้นอยู่กับกุศลตลอดเวลา
เป็นผู้ไม่ประมาทในวัยและเวลา เพราะว่าที่อดีตผ่านมานั้นเราได้เคยดำเนินชีวิตผิดพลาดมา เคยเป็น
ผู้ประมาทในชีวิต ทำในสิ่งที่ไร้สาระมามากมาย จึงต้องรีบแก้ไขก่อนจะสายเกินกาล เพราะว่าเรานั้น
ยังไม่รู้ว่าชีวิตของเรานั้นจะยืนยาวไปอีกเท่าไหร่ จึงต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้......
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

12
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑ ตค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
        ใช้เวลาที่ว่างจากภารกิจ อ่านพระไตรปิฏก ฟังธรรมบรรยาย ทบทวนธรรม
เมื่อรู้สึกว่าสมองมึนตึง ก็พักผ่อนโดยการเขียนบทความบทกวีธรรมะ สลับกันไป
ลงไปกวาดใบไม้ เคลื่อนไหวทางกาย เพื่อสลายทางจิต เป็นการบริหารร่างกาย
การทำงานทุกอย่างนั้น คือการเจริญสติสัมปชัญญะ มีความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะ
เกิดธรรมสังเวชขึ้นในจิตขณะที่กำลังกวาดใบไม้ เพราะจิตได้พิจารณาในขันธ์ 5
เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในขันธ์ 5 ว่าล้วนนำมาซึ่งความทุกข์และสิ่งที่เราเคยคิดว่าสุขนั้น
มันก็มิใช่ เพียงแต่เราได้สนองตอบกิเลสตัณหาความอยากของเรา ซึ่งเราคิดว่านั้น
คือความสุข แท้จริงมันเป็นความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ แต่เราไม่รู้เพราะเพลินอยู่กับการ
สนองตอบตัณหาของเราเอง เมื่อตัณหาได้รับการสนองตอบ เราจึงคิดว่ามันเป็นความสุข
ซึ่งแท้จริงแล้วมันเป็นโลกียสุขที่มีทุกข์แอบแฝงอยู่.......
         ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแต่สมมุติกันขึ้นมา บัญญัติกันตามชาติและภาษา
จึงมีชื่อแตกต่างกันออกไป ไม่มีอะไรจะฝืนกฏของพระไตรลักษณ์ได้เลย  อนิจจัง
 ทุกขัง  อนัตตา  ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมา คือมายาของโลกสมมุติ ที่เราหลงไปติดอยู่
หลงเข้าไปยึดถือ จนไม่เห็นสัจจธรรมที่แท้จริง ของสรรพสิ่งธรรมชาติที่อยู่รอบกาย
และภายในจิตภายในใจของเรา.......
          ความบริสุทธิ์ของจิตอยู่ที่ไหน อะไรที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ สภาวะนั้น
มันเป็นอย่างไร ได้แต่ถามตัวเอง เคยได้ยินได้ฟัง ได้อ่านได้รู้ ก็เพียงที่เขาเล่ามา
หรือในตำราที่ได้อ่าน มันเป็นเพียงสัญญาคือการจำได้หมายรู้ที่บันทึกไว้ในสมองเท่านั้น
เพียงท่องได้ จำได้ พูดได้ เหมือนว่าจะเข้าใจแต่มันยังไม่ใช่ เพราะมันเป็นเพียงสัญญา
ซึ่งเป็นปริยัติ ตามตัวอักษร ที่เราตีความขยายความ......
          สภาวธรรมที่แท้จริงนั้น เราอาจจะยังไม่พบหรือพบแล้วแต่เป็นเพียงผ่านกระแส
แต่ไม่ได้ทรงอยู่ในสภาวธรรมนั้น  จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งความเพียรให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
เพื่อทำความพร้อมของกายและจิตของเรา สร้างพละให้กลายเป็นอินทรีย์ ให้มีความเหมาะสม
ที่จะรองรับสภาวธรรมนั้น อย่าอยู่กับความคิดจินตนาการและความฝัน จงทำสิ่งนั้นให้ปรากฏ
ซึ่งจะเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับกรรม การกระทำของตัวเรา.......
           มองย้อนกลับไป...หลายปีที่ผ่านไป เราได้เห็นอะไรมากมาย ได้จดบันทึกไว้
และเมื่อเราได้นำบันทึกเก่าๆกลับมาอ่าน ได้เห็นถึงพัฒนาการของจิต ความรู้สึกนึกคิด
ที่แปรเปลี่ยนไป ซึ่งเกิดจากการสั่งสมอบรมจิตอย่างต่อเนื่องไม่ทิ้งธุระไม่ละศรัทธา
พิจารณาอยู่เนืองนิจ จิตจึงได้พัฒนา ความเจริญก้าวหน้านั้นต้องประกอบด้วยปัจจัย ๔
ที่เรียกว่า อิทธิบาท ๔ อันประกอบด้วย.....
๑.ฉันทะ ความยินดีพึงพอใจในสิ่งที่กระทำ(ทำในสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่)
๒.วิริยะ  ความเพียรพยายามทำในสิ่งนั้น (คือสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่)
๓.จิตตะ  ไม่ละความเพียรพยายามทำอยู่สม่ำเสมอไป(ในสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่)
๔.วิมังสา พิจารณา ใคร่ครวญ ทบทวนในสิ่งที่ทำ ว่ามันเป็นเช่นไร (ในสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่)
แล้วเราจะเห็นความแปรเปลี่ยนไปทั้งในความเสื่อมและความเจริญ ด้วยองค์แห่งอิทธิบาท ๔
ซึ่งถ้ามีความพอดีก็จะนำไปสู่ความเจริญ แต่ถ้าตัวใดขาดหรือตัวใดเกิน จนเกิดความไม่พอดี
ก็จะไม่มีการพัฒนาก้าวหน้าเจริญขึ้นได้ และเมื่อไหร่ที่ความเจริญในธรรมนั้นไม่ก้าวหน้า
ให้กลับมาพิจารณาที่" อิทธิบาท ๔ " เพราะคำนี้แปลว่าทางสู่ความสำเร็จ....
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๑.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

13
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๓๐ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบรี
เสาร์ที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
           ศรัทธาในการปฏิบัติเกิดขึ้นในจิตตั้งแต่รู้สึกตัวตื่นนอน พยายามรักษา
ทรงไว้ซึ่งศรัทธาแห่งกุศลจิต นอนเจริญสติดูกาย เจริญกายคตานุสติ เอาจิตคุมกาย
โดยการระลึกรู้โคจรจิตไปทั่วกาย มองให้เห็นซึ่งกายภายนอกที่เป็นรูปร่างหน้าตา
ของตัวเราด้วยตาใน โดยเอากายของเรามาเป็นนิมิต ในการเจริญสติปฏิบัติธรรม
เมื่อตั้งรูปกายภายนอกได้แล้ว พิจารณาต่อไปในอาการ ๓๒ แยกกายออกเป็น
อาการ ๓๒ จนไม่เหลือรูปกาย พิจารณาอาการ ๓๒ เข้าสู่หมวดหมู่ของธาตุทั้ง ๔
คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สลายอาการ ๓๒ คืนกลับไปให้เป็นธาตุ เหลือเพียงจิตรู้คือ
วิญญาณธาตุที่มาอาศัยอยู่ แล้วย้อนจิตพิจารณากลับมาแยกธาตุให้เป็น
อาการ ๓๒ อีกครั้ง รวมอาการ ๓๒นั้นให้เป็นรูปร่าง แล้วน้อมจิตเข้าไปรับรู้ทรงอยู่ในกาย
ทบทวนอยู่ไปมา สลายแล้วก่อขึ้นมาใหม่........
            ผลที่ได้ในการปฏิบัติอย่างนี้ก็คือ เจริญสติปัฏฐาน ๔ ในฐานกาย (ธาตุบรรพ)
และกายคตานุสติไปพร้อมกัน ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาไปในตัว และเมื่อเราสลายกาย
ของเราคืนสู่ธรรมชาติความเป็นธาตุนั้น จิตก็จะคลายความ ยึดถือในตัวตน เห็นความเป็น
สัจจธรรมของร่างกายว่าไม่นานต้องสลายคืนสู่ธรรมชาติไป จิตเพียงเข้ามาอยู่อาศัย
ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในกายของเรากับธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในธรรมชาติคือตัวเดียวกัน
เพียงแต่แตกต่างกันที่รูป กายเรากับธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน พลังแห่งธาตุในกายเรา
กับพลังของธาตุในธรรมชาติคือตัวเดียวกัน เราเป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ จึงสามารถ
ที่จะหยิบยืมพลังงานในธรรมชาติมาใช้ได้ เป็นการฝึกดูดพลังธรรมชาติไปในตัว
ทำให้สามารถที่จะนำมาปรับธาตุในตัวของเราได้ รักษาตัวเองและสงเคราะห์ผู้อื่นได้......
          ไม่ว่าเราจะปฏิบัติธรรมโดยวิธีใดก็ตาม เราต้องเริ่มที่กายของเรา เพราะกายคือฐาน
คือที่ตั้ง ที่อาศัยของจิต ถ้าฐานที่ตั้งมั่นคงดีแล้ว ย่อมไม่มีความเสื่อม ทุกสิ่งทุกอย่าง
ต้องเริ่มจากพื้นฐานที่ดีและถูกต้อง ซึ่งฐานนั้นคือกายและเมื่อจิตอยู่กับกาย
จิตนั้นก็จะปลอดภัยเพราะอยู่ในที่ตั้งคือฐาน เราจึงต้องมาฝึกจิตให้ใกล้ชิดอยู่กับ
กายอยู่เสมอ การที่จิตจะอยู่กับกายได้นั้น มันต้องมีสติและสัมปชัญญะ การระลึกรู้
และความรู้ตัวทั่วพร้อมในกาย อยู่อย่างสม่ำเสมอ จนกลายเป็นความเคยชิน
เป็นอุปนิสัย ในการเจริญสติปฏิบัติธรรมทุกครั้ง......
            การปฏิบัติธรรมนั้นทำได้ทุกขณะ ทุกอิริยาบท ไม่จำกัดกาลและสถานที่
ของให้เรามีสติระลึกรู้และมีความรู้ตัวทั่วพร้อม อย่าไปติดยึดในรูปแบบและท่าทาง
เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่การแสดง การโชว์หรือโอ้อวดกัน แต่เป็นการกระทำ
ภายในจิตใจของเรา ซึ่งถ้าเรามีสติและสัมปชัญญะแล้ว เราจะรู้ว่าเรากำลังทำอะไร
และเพื่ออะไร " ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต " ว่าเราคิดและเรากำลังทำอะไร เพื่ออะไร
ดีไปกว่าตัวของเราเอง " รู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้สิ่งที่กระทำ "นั่นคือการปฏิบัติธรรม......
         ฝากไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลาย เพื่อให้ได้ศึกษา
เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับการปฏิบัติและอย่าเชื่อหรือปฏิเสธทันทีที่ได้อ่าน
ลองใคร่ครวญพิจารณาและนำไปปฏิบัติทดลองดู แล้วจึงเชื่อหรือปฏิเสธในแนวทางนี้
เพราะถ้าเชื่อทันที่อาจจะทำให้เกิดความงมงายและถ้าปฏิเสธในทันทีอาจจะทำให้เสียโอกาส
ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะลองปฏิบัติดู อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่าสิ่งนั้นมันจริงหรือไม่ จะได้คลาย
ความสงสัย ใช่หรือมิใช่มันจะได้ชัดเจน......
           เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรผู้ร่วมชะตากรรมบนโลกใบนี้
                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๕๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

14
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๙ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่  ๓๐  กันยายน  พ.ศ. ๒๕๕๔
         ใช้เวลาตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงกับการฟังธรรมบรรยายของครูบาอาจารย์
ที่ได้เก็บบันทึกไว้ คิดและพิจารณาตามในอารมณ์ธรรมกัมมัฏฐานแต่ละกอง
ของแต่ละท่านที่ได้บรรยายไว้ ปรับความรู้ความเข้าใจในกัมมัฏฐานแต่ละกอง
ทดลองปฏิบัติกรรมฐานกองใหม่ ซึ่งเมื่อก่อนนั้้นเพียงแต่ได้เรียนรู้ในตำราเท่านั้น
ยังไม่เคยนำมาปฏิบัติจริง  รู้เพียงตามตำรา แต่ไม่ได้รู้ถึงสภาวะธรรมที่แท้จริง
เพราะยังไม่ได้ปฏิบัติ ลองปฏิบัติตามดูก็รู้สึกว่าดี จิตมันละเอียดขึ้น ความฉับไว
ของสติเพิ่มขึ้น คือการเจริญมหาสติปัฏฐาน ในฐานกายโดยการพิจารณาอิริยาบถ
ของกาย(อิริยาบทบรรพ)และพิจารณารู้ตัวในความเคลื่อนไหว (สัมปชัญญบรรพ)
ซึ่งเริ่มจากอาการทางกายอย่างหยาบๆไปสู่ความละเอียดปลีกย่อยที่ต้องพิจารณา
จากสิ่งที่รวดเร็วกลับไปสู่สิ่งที่ช้าและละเอียดอ่อน  จิตตามดูตามรู้และตามเห็น
ในสิ่งที่เป็นไปทุกขณะจิต เป็นไปตามขั้นตอนของการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาทางจิต......
             ไม่ว่าจะเป็นกัมมัฏฐานกองหนึ่งกองใด ถ้าเราเข้าใจในหลักการปฏิบัติ
 และนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะปฏิบัติ แต่สิ่งที่ทำได้ยาก
ก็คือใจของเรา การที่จะทำให้ใจเรานั้นยอมรับความจริง ลดความถือตัวถือตน
ความยึดถือในความคิดของตน ให้ใจมันยอมละพยศความดื้อรั้นเท่านั้นก็เพียงพอ
ต่อการเข้าสู่พื้นฐานการพัฒนาทางจิต ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติในขั้นต่อไป.......
          ซึ่งสิ่งนั้นฟังดูง่าย พูดง่าย แต่ทำได้ยาก เพราะก่อนที่จะทำให้จิตมันจะยอมรับ
ได้นั้นมันต้องใช้เวลา เราต้องทำความรู้จัก ทำความเข้าใจและทำความคุ้นเคยกับ
มันเสียก่อน  เราต้องรู้จักใจของเรา เห็นกิเลสของเรา คือเห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา
เสียก่อน ว่ามันเป็นอย่างไร จึงจะเข้าไปจัดการจัดระเบียบใหม่ให้กับมันได้
โดยให้เป็นไปตามความเหมาะสม ตามกำลังความสามารถ ความพร้อมของ
กายและจิตของเราให้เหมาะกับกาลเวลา จังหวะ โอกาส สถานที่และบุคคล........
          เหมือนดั่งโบราณที่ท่านว่า " สิบปากว่า ไม่เท่าหนึ่งตาเห็น สิบตาเห็น
ไม่เท่าหนึ่งมือคลำ สิบมือคลำ ไม่เท่ากับทำเอง" การเรียนรู้และการเข้าใจในตำรานั้น
 มันเป็นเพียงกระบวนการทางความคิด ความจำ แต่มันไม่ถึงสภาวะธรรมที่แท้จริง
เพราะเรายังไม่ได้ธรรม และสภาวะธรรมนั้นเป็นของเฉพาะตนคือความเป็น"ปัจจัตตัง"
สภาวะธรรมทั้งหลายนั้นมีเพียงความคล้ายคลึงกัน แต่จะไม่เหมือนกันไปหมดทุกอย่าง
 เพราะความเป็นของเฉพาะตนนั้นเอง แต่ถ้ามันเหมือนกันไปหมดเสียทุกอย่างแล้ว
 แสดงว่าเรากำลังสะกดจิตของเราสร้างอุปาทานให้เหมือนกับสิ่งที่เราเคยได้ยิน
ได้ฟังมา คือสะกดจิตตนเอง สร้างสภาวะธรรมให้เหมือนกับที่ครูบาอาจารย์ท่านได้พบมา
ซึ่งมันไม่ใช่สภาวะธรรมที่แท้จริงของตัวเรา บุคคลแตกต่างกันด้วยธาตุและอินทรีย์
บารมีธรรมจึงแตกต่างกัน จึงเพียงแต่คล้ายและใกล้เคียง แต่จะไม่เหมือนกัน.......
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๑.๕๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

15
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๘ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
            ติดตามข่าวสารเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมและพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามา
ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับโน๊ตบุ๊ค ฟังธรรมบรรยายของครูบาอาจารย์ที่บันทึกไว้
เขียนบทความบทกวี พักสมองด้วยการสนทนากับสมาชิกกลุ่มต่างๆในเฟรชบุ๊ค
ตอนบ่ายลงเขาไปตลาดมาบปู เพื่อซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง มีน้องๆมาช่วยกันทำ
จนถึงเวลาใกล้ค่ำจึงได้หยุดพัก คือภารกิจภายนอกทางกายที่ได้ทำในวันที่ผ่านมา
ส่วนภารกิจภายใน เรื่องของใจนั้น ก็คือการเจริญสติและสัมปชัญญะ พิจารณา
มีสติระลึกรู้และความรู้ตัวทั่วพร้อม เจริญสติปัฏฐาน ๔ คือกาย เวทนา จิต ธรรม
 มีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิต แต่ยังไม่อาจจะหยุดคิดปรุงแต่ง
ในอกุศลได้ เพราะว่าองค์แห่งคุณธรรมนั้นยังไม่มีกำลังเพียงพอ ที่จะเข้าไปหักห้าม
และข่มใจไม่ให้คิดได้ ทบทวนพิจารณาดูว่ามาจากสาเหตุอะไร ที่ทำให้เรานั้นต้อง
คล้อยตามกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นมานั้น พบว่าสาระสำคัญนั้นเกิดมาจากจิตสำนึก
แห่งคุณธรรมของเรานั้น ยังไม่มีกำลังเพียงพอที่จะต่อสู้กับกิเลสนั้นได้ จึงต้องคล้อยตาม
และเสพในอารมณ์อกุศลเหล่านั้น  ทั้งที่รู้ว่ามันเป็นอกุศลจิต เมื่อรู้เหตุและปัจจัย
จึงได้รู้ว่ามันมีที่มาของปัญหาเหล่านั้น ซึ่งเกิดจากพื้นฐานแห่งการปฏิบัติที่เรา
ได้กระทำมา เพราะว่าเมื่อก่อนนั้นเราไปเน้นเรื่องสติเพื่อให้เกิดสมาธิมากเกินไป
 เรื่องศีลเรื่องวินัยเพียงแต่รู้และเข้าใจ ในตัวอักษรตามตำรา ไม่ได้คิดและพิจารณา
ถึงที่มาและเจตนาของเรื่องศีลขอวัตรและพระวินัย ว่าเป็นไปเพื่อการเจริญสติและ
สัมปชัญญะ โดยมีหิริและโอตตัปปะซึ่งเป็นองค์แห่งคุณธรรมนั้นควบคุมคุ้มครองอยู่
การที่เราจะทรงไว้ซึ่งศีลและวินัยนั้นได้ เราต้องมีสติและสัมปชัญญะอยู่ทุกขณะ
ระลึกรู้ในทางกายและทางจิต ในสิ่งที่คิดและในสิ่งที่ทำ และการที่เราไม่ก้าวล่วงล้ำ
พระธรรมพระวินัย ศีลและข้อวัตรทั้งหลายนั้น เพราะเรามีความละอายและเกรงกลัว
ต่อบาปกรรมการล่วงละเมิดทั้งหลาย การรักษาศีลจึงเป็นการเจริญสติสัมปชัญญะ
และเพิ่มกำลังขององค์แห่งคุณธรรมอยูทุกขณะจิต ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในหลักของการปฏิบัติเรื่องไตรสิกขาอันได้แก่"ศีล สมาธิ ปัญญา"
แต่เรากลับทำลัดขั้นตอนเพราะใจร้อน อยากจะเห็นผลสำเร็จโดยเร็วไว จึงไม่ค่อยจะใส่ใจ
ในเรื่องของศีล มาเน้นหนักเรื่องจิตเรื่องสมาธิมากเกินไป จึงทำให้จิตสำนึกแห่งคุณธรรม
นั้นมีกำลังไม่เพียงพอ ที่จะเข้าไปต่อสู้กับกิเลสตัณหาทั้งหลายได้......
          จิตระลึกนึกถึงคำครูบาอาจารย์ที่ท่านได้เคยกล่าวสอนไว้ว่า " รู้ไปหมด แต่อดไม่ได้ "
ซึ่งมันได้เกิดขึ้นแล้วกับตัวของเราเอง ขบวนการทางจิตนั้นมันละเอียดอ่อน ทุกขั้นตอนของ
การปฏิบัติพัฒนาทางจิตนั้น ต้องทำอย่างสม่ำเสมอข้ามและลัดขั้นตอนนั้นไม่ได้เลย
มันทำให้เกิดการสั่งสมอบรมจิต ให้รู้จักคิด รู้จักการพิจารณาเหมือนดั่งคำที่ว่า
" ทุกข์ไม่มา ปัญญาไม่มี บารมีไม่เกิด "  คือเราต้องเรียนรู้เรื่องทุกข์จากทุกข์
เรียนรู้ตัณหาจากตัณหา ทุกข์ละทุกข์ ตัณหาละตัณหา คือต้องเห็นของจริงเสียก่อน
 เมื่อเห็นแล้วต้องทำความเข้าใจในสิ่งนั้นให้ชัดแจ้ง เห็นที่เกิดของสิ่งนั้น  รู้และเข้าใจแล้ว
จึงเข้าไปจัดการกับมัน ซึ่งการที่จะเข้าไปจัดการนั้นขึ้นอยู่กับภูมิธรรมของแต่ละท่าน
ในขณะนั้น ว่ามีกำลังมากน้อยเพียงใด..........
               การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่แต่เพียงการนึกคิดและจินตนาการ แต่มันเป็นเหตุการณ์
ที่เกิดขึ้นจริงในจิตของเรา ที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปทุกขณะจิต ไม่ใช่อดีตหรือว่าเป็นอนาคต
แต่มันเป็นปัจจุบันธรรมที่เรากำลังสัมผัส เรียนรู้จากของเก่าเพื่อเอามาใช้ในปัจจุบัน
 เพื่อที่จะสร้างสรรค์กำหนดอนาคตที่จะก้าวเดินต่อไป .เพราะเมื่อก่อนนั้นเราไปเน้นเรื่อง
สมาธิเชิงพลังงานมากเกินไป เพื่อจะนำมาสงเคราะห์ ช่วยเหลือญาติโยม มันจึงทำให้เรา
หลงตัวเองเกิดอัตตามานะขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยคิดว่าสมาธิของเราดีแล้ว
จิตของเราดีแล้ว ทุกอย่างก็จะดีตามไปด้วย เพราะอำนาจพลังของสมาธินั้น
มันกดทับกิเลสอยู่ทำให้เราไม่เห็นมัน จนเราคิดว่ากิเลสนั้นมันหมดไปแล้ว
 แต่เมื่อไหร่ที่สมาธินั้นอ่อนกำลังลง กิเลสที่ถูกทับถมไว้ก็จะปรากฏแสดงออกมา
จึงทำให้เรารู้ว่า เรานั้นต้องปฏิบัติพัฒนาจิตของเราให้ยิ่งไปกว่านี้ที่มันเป็นอยู่......
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                         รวี สัจจะ-สมณะไร่นาม-วจีพเนจร
๒๙ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๔๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

16
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๗ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่  ๒๘  กันยายน  พ.ศ. ๒๕๕๔
           การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติเน้นเรื่องสมาธิและจิตเชิงพลังงานมากเกินไป
สิ่งที่ควรระวังก็คือเรื่องของอัตตา มานะทิฏฐิ  ความถือตัวถือตนนั้นจะเกิดขึ้นได้ง่าย
คือการสำคัญตนว่า ดีกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า  ผู้อื่นเขา มองผู้อื่นนั้นว่าด้อยกว่าตน
เพราะส่วนมากแล้ว การเข้าสู่จิตเชิงพลังงานนั้น จะข้ามขั้นตอนปฏิบัติในเรื่องของศีล
ไปเน้นทีจิต คือเรื่องของสติและสมาธิ เพื่อต้องการพลังจิตที่สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
ทำให้สตินั้นไม่ผ่านกระบวนการของศีล ทำให้ขาดซึ่งองค์แห่งคุณธรรมที่จะคุ้มครองจิต
สิ่งนั้นคือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ซึ่งองค์แห่งคุณธรรมนี้จะเกิดมีขึ้นได้นั้น
ก็ต้องผ่านกระบวนการแห่งศีล คือการมีสติ สำรวมระวังและยับยั้งอกุศลทั้งหลาย
ทั้งทางกาย วาจาและจิต  ไม่ประมาทพลาดผิด เพราะจิตละอายและเกรงกลัวต่อบาป
สิ่งนี้คืออานิสงค์อันเกิดจากการรักษาศีล......
            การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้ทำให้เราฉลาดขึ้นกว่าคนอื่น แต่ทำให้เราได้เห็นความโง่
ความหลงผิดในอดีตของเราที่ผ่านมา ยิ่งปฏิบัติก็ทำให้เราได้เห็น ในสิ่งที่เรานั้นยังไม่รู้
ในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมานั้น เราอาจจะคิดว่าเรารู้ถูกต้องและเข้าใจหมดแล้ว
ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นเลย เรายังไม่รู้จริง เรายังไม่เข้าใจในความจริง อย่างที่เราเคยคิด
 ยังมีอีกมากมายที่เรายังไม่รู้และไม่เข้าใจ.......
          การปฏิบัติธรรมนั้นทำให้เราเห็นกิเลสของเรา ที่เรายังไม่เคยเห็นหรือไม่เคยสนใจ
ทำให้เรารู้เท่าทันกิเลสที่เกิดขึ้นและกิเลสที่มีอยู่แล้ว ในกายในจิตในความคิดของเรา
 ซึ่งเมื่อก่อนนั้นเราคิดว่าการปฏิบัติธรรม ทำให้เราฉลาดขึ้น ทำให้เราหมดซึ่งกิเลส
 กิเลสเบาบางลง ทำให้เราหลงตัวเองเพราะการที่เรามีความคิดอย่างนั้นมันเป็นการก่อเกิด
และเพิ่มซึ่งอัตตา มานะ การถือตัวถือตนโดยเราไม่รู้ตัว คิดว่าตนเองบริสุทธิ์และสมบูรณ์ด้วยศีล
ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบกว่าผู้อื่น เกิดการหลงตัวเองโดยที่เรารู้ไม่เท่าทัน ขึ้นมาที่ละน้อย ซึ่งนานเข้า
มันจะมากขึ้น จนอาจจะยากในการแก้ไขและปรับปรุงตัวเองได้......
            เมื่อเราได้มีเวลาทบทวนพิจารณา สิ่งที่ผ่านมาในอดีตของเรา ทำให้เราได้เห็นความประมาท
 ความผิดพลาด ในการดำเนินชีวิตของเราที่ผ่านมา เรานั้นไปติดอยู่เพลินอยู่กับความสะดวกสบาย
ในสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย ทำให้เราไม่เห็นทุกข์ คลุกคลีกับหมู่คณะเกินไป จนทำให้การ
ปฏิบัติย่อหย่อน ซึ่งเมื่อเราได้พิจารณาและเห็นในสิ่งนั้น เห็นในความประมาทและผิดพลาดของตัวเรา
จึงทำให้เราระลึกได้ในหลักธรรมเรื่อง " อัตตา ตัวกู ของกู "ที่เคยได้ศึกษามา เพราะว่าอัตตานั้น
 มันจะบดบังสัจจธรรมที่แท้จริง เราต้องเปิดโลกทัศน์ ชีวทัศน์ ทำลายอัตตาลบภาพมายาทั้งหลาย
ให้มันหายไป หมดไป แล้วเราจะได้พบกับ "สัจจธรรม" ธรรมชาติของจิตที่แท้จริง.....
            อย่าได้เชื่อทันทีในสิ่งรู้และในสิ่งที่เห็น เพราะมันอาจจะชักนำไปสู่ความงมงายไร้ปัญญา
ควรคิดพิจารณา ถึงเหตุและผล ให้เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของ
สิ่งที่รู้และสิ่งที่ได้เห็นนั้นและในทางกลับกัน อย่าได้ปฏิเสธทันทีในสิ่งได้ที่รู้และในสิ่งที่ได้เห็น นั้น
เพราะการปฏิเสธในทันทีนั้น มันอาจจะทำให้เราเสียโอกาส เกิดความประมาททางจิตขึ้นมาได้
จงใช้สติสัมปชัญญะและปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ ด้วยเหตุและผลแห่งทุกข์ ภัย โทษ ประโยชน์
และมิใช่ประโยชน์ของสิ่งที่ได้รู้ได้เห็นนั้น แล้วจึงจะเชื่อหรือปฏิเสธ.......
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๘ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐.๕๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

17
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๖ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
        เมื่อวานนี้เป็นวันก่อนเทศกาลกินเจหนึ่งวัน ซึ่งจะเรียกกันว่าวันล้างท้อง
ซึ่งเป็นการปรับร่างกาย ถ่ายอาหารเก่าในกระเพาะ ที่ได้ทานมาก่อนหน้านั้น
ให้หมดไป โดยการทานอาหารเจ แต่ยังไม่นับรวมเข้าไปในจำนวนวันของการ
ทานเจ เพราะถือว่าเป็นการปรับร่างกาย ยังไม่เอาจริง  มีผู้สนทนาธรรมมาถาม
เรื่องการทานเจและไม่ทานเจ ว่ามีผลต่อการปฏิบัติหรือไม่  ก็ได้ตอบคำถามนั้นว่า
...มีผลบ้าง แต่ไม่ใช่สาระสำคัญ ที่มีผลต่อการปฏิบัตินั้น คือจะทำให้กายเบาขึ้น
เพราะอาหารเจนั้นเกือบทุกชนิดจะย่อยง่าย ร่างกายจึงใช้พลังงานน้อยในการย่อย
อาหาร และมีผลที่กำลังใจ คือมีศรัทธาความมั่นใจเพิ่มขึ้น จากการไม่เบียดเบียน
ชีวิตสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม มันจึมีผลในเรื่องของขวัญกำลังใจและศรัทธา
ส่วนการเจริญภาวนานั้น มันเป็นเรื่องของจิต ซึ่งเป็นเรื่องของสติและสัมปชัญญะ
สภาวธรรมทั้งหลายเกิดได้จากสภาวะจิต ที่เป็นสมาธิ และการยกจิตขึ้นคิดพิจารณา........
                 ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นสภาวะแห่งปัตจัตตัง รู้ได้เฉพาะตนโดยการปฏิบัติ
การศึกษาปริยัติ(การอ่าน การฟัง)นั้นเป็นเพียงขั้นพื้นฐาน เป็นเพียงการเก็บข้อมูลหาแนวทาง
หาแบบอย่างที่จะนำไปปฏิบัติ เพียงแต่ฟัง เพียงแต่อ่าน เพียงแต่คิด จิตยังไม่ถือว่าเข้าถึงธรรม
จำได้ พูดได้และเข้าใจ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความคิด เป็นเพียงนามธรรม เป็นเพียงความฝัน
เป็นเพียงจินตนาการ ตราบใดที่ยังไม่ได้เอาธรรม ที่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษานั้นนำมาปฏิบัติกับตน
ก็เป็นได้เพียงนกแก้วนกขุนทอง ที่ท่องได้พูดได้ เป็นเพียงใบลานเปล่า เพราะว่ายังไม่เข้าถึง
สภาวะธรรมที่แท้จริง "รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม แต่ยังไม่ได้ทำ " จึงยังเข้าไม่ถึงธรรม
ไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เพราะยังไม่ได้อยู่ในธรรม.......
               การปฏิบัติคือการกระทำที่กายและที่จิต มีสติในการนึกคิด รู้กาย รู้จิตและรู้สิ่งที่ทำ
รู้จักแยกแยะบาปและบุญ กุศลและอกุศลให้ออกจากกัน รู้จักการข่มจิตข่มใจ ไม่ให้คล้อยตาม
อกุศลจิตทั้งหลาย ควบคุมความรู้สึกนึกคิด ควบคุมจิตให้อยู่กับกุศลธรรม น้อมนำจิตเข้ามา
พิจารณาในกายของตนเอง  จนเกิดความเข้าใจในกายนี้ ว่าเป็นเพียงธาตุทั้งสี่ที่มาประชุมกัน
ประกอบเป็นร่างกาย มีช่องว่างระหว่างธาตุ คืออากาศธาตุ จิตเข้ามารับรู้อยู่อาศัยอันได้แก่
วิญญาณธาตุ ตั้งอยู่ไม่นานก็แตกดับไป ธาตุทั้งหลายก็คืนสู่ธรรมชาติ วิญญาณธาตุก็ต้อง
ไปสู่ที่แห่งใหม่ หมุนเวียนกันไป เป็นภพเป็นชาติกันต่อไป จิตก็จะจางคลายในการยึดถือ
ในร่างกายและตัวตน เมื่ิอเราเห็นกายและเข้าใจกายของเราโดยสภาวธรรม........
             น้อมใจมาดูจิต ดูความคิดทั้งหลายของเรา เอาจิตถามจิต ว่าทำไมต้องคิดต้องปรุงแต่ง
คิดแล้วได้อะไร คิดแล้วทำได้หรือไม่ สิ่งที่คิดนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล คิดแล้วมีผลเป็นอย่างไร
มีคุณหรือไม่ อะไรเป็นต้นเหตุที่ทำให้คิด เอาจิตถามจิต หาคำตอบที่จิตของเราเอง เอาจิตถามจิต
จนเห็นที่เกิดของจิต คือเห็นต้นเหตุแห่งความคิด จึงจะเข้าใจในความคิด เข้าใจจิตและเข้าใจในธรรม
ซึ่งต้องหมั่นทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นความเคยชินของจิต เมื่อมีสิ่งมากระทบและทำให้เกิด
ความคิดจิตแปรเปลี่ยนไป ตามดู ตามรู้ ตามเห็นให้ทันกับสิ่งเหล่านั้นที่เกิดขึ้น  โดยใช้สติสัมปชัญญะ
เป็นตัวควบคุมดูแล  คุ้มครองจิตนั้น โดยเอาปัจจุบันธรรมทั้งหลายมาเป็นอารมณ์กัมมัฏฐานในการ
ที่จะคิดและพิจารณา เพื่อปรับเข้าหาธรรม ดั่งคำที่ว่า...รู้กาย รู้ใจ รู้จิต รู้ทันความคิด ก็เห็นธรรม.......

                                            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๗ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

18
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๕ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๒๖ กันยายน  พ.ศ. ๒๕๕๔
            ช่วงนี้ฝนหยุดตกมาสองวันแล้ว ตื่นตามเวลาปกติ ทำกิจวัตรส่วนตัวเสร็จแล้ว
ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิเจริญภาวนา จนได้เวลาจึงลงไปทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคเช้า
เสร็จกิจวัตรในภาคเช้า เก็บสบง จีวร อังสะ ผ้าอาบน้ำฝนไปซัก เพราะที่ผ่านมานั้นครึ้มฟ้าครึ้มฝน
ไม่มีแสงแดดมาหลายวัน วันนี้อากาศดีจึงถือโอกาศเก็บผ้าทั้งหมดไปซัก เสร็จจากซักผ้าตากผ้าแล้ว
กลับขึ้นที่พัก อ่านหนังสือพระไตรปิฏก ฟังธรรมะบรรยายของครูบาอาจารย์ เขียนบทความบทกวี
ตอนเที่ยงกว่าๆมีญาติโยมขึ้นมาเยี่ยม ๒ คณะ สนทนากันพอประมาณ เสร็จธุระจึงลากลับกันไป
วันนี้ไม่ได้ทำงานก่อสร้างหยุดพักกันหนึ่งวัน จึงได้มีเวลาพักผ่อน อ่านหนังสือ ฟังธรรมเขียนหนังสือ
 ตอนเย็นลงไปทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติ หลังจากไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็นแล้ว ก็กลับที่พัก
มาเจริญสติภาวนาต่อ เสร็จจากการเจริญภาวนาก็มาเขียนบทความบทกวีแล้วจึงได้จำวัตรพักผ่อน....
          ได้มีเวลาค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฏก ทำความรู้ความเข้าใจในหัวข้อธรรม ที่ยังสงสัย
ไม่เข้าใจในภาษาธรรม ปรับให้เป็นภาษาพูดเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ในการที่จะเอาไปนำเสนอเผยแผ่
เพราะถ้าใช้คำศัพท์ภาษาธรรมนั้น จะทำให้ผู้ฟังจะเข้าใจได้ยาก บางครั้งฟังแล้วยิ่งเกิดความสงสัย
ไม่เข้าใจมากขึ้น เพราะติดอยู่กับความหมายของคำศัพท์ในภาษาธรรม และบางครั้งก็อาจจะตีความ
แปลความหมายของคำศัพท์นั้นผิดพลาดไป จึงต้องใช้ภาษาที่เรียบง่าย เพื่อให้ฟังสบายๆง่ายแก่การ
ที่จะเข้าใจและทำให้ดูว่าไม่เป็นพิธีการจนเกินไป การฟังธรรม พิจารณาธรรม ทำให้เข้าใจสภาวะธรรม
            จิตปรุงแต่งในกิเลส คือจิตเริ่มคิดก่อน คิดชอบ คิดไม่ชอบ เมื่อความคิดเกิดจึงปรุงแต่งให้เกิด
กิเลส ความโกรธ โลภ หลง เมื่อกิเลสเกิดขึ้นและเราไม่มีสติสัมปชัญญะพอจะดับกิเลส มันก็ปรุงแต่งจิต
ให้คิดวุ่นวายไปเรื่อย ไม่ผ่องใส พอจิตมันคิดปรุงแต่ง มันก็จะปรุงให้กิเลสเพิ่มขึ้นๆ จนกว่าเราจะได้สติ
มันจึงจะหยุดปรุง.......
           การปฏิบัติธรรมนั้น อย่าไปอยากรู้อยากเห็นอยากเป็นในสิ่งใดๆ ให้มันรู้อยู่อย่างเดียว มีอะไรก็ช่าง
รู้อยู่อย่างเดียว ความอยากนั้นทำให้จิตวุ่นวาย หลุดออกจากสมาธิ เราปฏิบัติเพื่อความปล่อยวาง เพื่อจะละ
จะลดซึ่งความยึดมั่นถือมั่นต่างๆให้เบาบางลง เพื่อละความยินดียินร้าย เราเป็นผู้ดูไม่ใช่ผู้บังคับให้มันเป็น
           การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิตนั้น เรียกว่ากำลังทำความเพียร กำลังปฏิบัติธรรม ไม่จำเป็นว่า
จะต้องนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมจึงจะเรียกว่าปฏิบัติธรรมทำความเพียร ถ้าไม่มีสติระลึกรู้ ฟุ้งซ่านคิดไปเรื่อย
ก็ไม่เรียกว่าทำความเพียร แม้จะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมอยู่ก็ตาม เมื่อไหร่ที่จิตนั้นมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่
ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่งจะนอน ก็ได้ชื่อว่ากำลังปฏิบัติธรรมทำความเพียรอยู่.......
       เป็นการกระตุ้นเตือนสติอยู่ทุกขณะจิต ในสิ่งที่คิดและในกิจที่ทำ เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต
เป็นเรื่องกระบวนการทางจิต ที่ต้องฝึกฝนอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สติและสัมปชัญญะนั้นมีกำลังเพิ่มขึ้น
ให้ระลึกรู้ถึงบทบาทและหน้าที่ของความเป็นสมณะเพศ ในสิ่งที่ควรคิดลิจที่ควรทำ ตอกย้ำจิตสำนึกนั้น
อยู่ตลอดเวลา ถึงคุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ทำให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เรานั้นจะทำได้......
                              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๖ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

19
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๔ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
      การที่ได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากนั้น ทำให้โลกทัศน์ ชีวทัศน์ของเรานั้นกว้างขึ้น
มีเพื่อนฝูงมิตรสหายมากมาย ทั้งที่เป็นคนไทย ต่างชาติ หรือต่างศาสนา แต่ก็ไม่มีปัญหา
ในการคบหากัน มันเป็นความผูกพันระหว่างเพื่อนพ้องน้องพี่ ซึ่งไม่มีเชื้อชาติศาสนามา
แบ่งกัน มันเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างใจ ที่มอบให้แก่กัน ศาสนาและเชื้อชาตินั้นจึงไม่ใช่ปัญหา
ดั่งที่ได้กล่าวไว้เสมอว่า เมื่อได้พบปะเจอะเจอได้สนทนาธรรมกับคนต่างชาติหรือคนต่างศาสนา
ว่า " ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องศรัทธาเปลี่ยนศาสนา ขอเพียงให้คุณเป็นคนดีของสังคมนั้นก็พอแล้ว "
เพราะจะพูดและแนะนำเรื่องการดำเนินชีวิต หลักการคิด การพิจารณา ทำอย่างไรชีวิตนี้จะมีความสุข
ทำอย่างไรจะให้ประสพความสำเร็จในชีวิตทั้งทางธุรกิจ หน้าที่การงานและครอบครัว เพียงให้เขานำ
ไปประพฤติปฏิบัติ กล่าวธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยที่เขาไม่รู้ว่าเรากล่าวธรรมของพุทธศาสนา
ไม่อ้างบาลีหรือพระไตรปิฏก เพื่อลดช่องว่างระหว่างศาสนาที่ศรัทธานั้นแตกต่างกัน ลดความกดดัน
นำธรรมมาประยุกค์ใช้ให้เหมาะสมกับ จังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคล โดยเน้นที่เหตุและผล
ที่สามารถอธิบายหาข้อสรุปได้ สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติตามได้โดยไม่ขัดกับศรัทธาศาสนาที่เขานับถือ
นี่คือแนวทางการเผยแผ่ธรรมะ " ที่ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ " ทำให้ได้รู้จักและคบหากับญาติโยมมากมาย
หลายชาติหลายศาสนา ทั้งคริสต์ อิสลาม ซิกส์ ฮินดู นั่งคุยร่วมวงกันได้โดยไม่มีปัญหา เพราะว่าเราไม่ได้
เอาศาสนามาเป็นตัวแบ่งแยกกัน เอาความเป็นจริงตามธรรมชาติ เอาเหตุและผล มาพูดคุยกัน เราก็จะอยู่ร่วมกัน
โดยสันติสุข " ทำตัวสบายๆเรียบง่าย แต่ไม่มักง่าย และไม่ผิดธรรมวินัยจนเสียสมณะรูป " ไม่เคร่งจนเกร็งเกินไป
เพราะมันจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างพระกับโยม ไม่เกิดความคุ้นเคยสนิทสนมกัน ไม่สร้างภาพเพื่อให้เขาศรัทธา
อยู่กับความเป็นจริง ตัวตนที่แท้จริงของเรา ใครจะเชื่อใครจะศรัทธาหรือไม่ศรัทธา มันเป็นเรื่องของเขาไม่ไปกังวล
เรารู้ในสิ่งที่เราคิด เรารู้ในสิ่งที่เราทำและรู้ถึงผลของการกระทำ มันก็จะทำให้เราไม่ทุกข์ เพราะถ้าเรานั้นสร้างภาพ
ให้ดูว่าเป็นผู้มีจริยวัตรที่งดงามเพื่อให้ญาติโยมศรัทธา มันก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน วันหนึ่งตัวตนที่แท้จริงมันเปิดเผยออกมา
ศรัทธาทั้งหลายก็จะหมดไป เพราะสิ่งที่ซ่อนไว้นั้นได้ถูกเปิดเผย จงเป็นตัวของของเอง ความเสมอต้นเสมอปลายใน
การใช้ชีวิต ในการประพฤติปฏิบัติ "กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คน ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน " ..........
           ทำศาสนาให้เป็นสากล โดยเอาเหตุและผลมาเป็นที่ตั้ง ปรับเข้าหาธรรมชาติแห่งความเป็นจริงทั้งหลาย
ที่รู้ได้และสัมผัสได้ด้วยการกระทำ นำไปใช้เป็นหลักในการดำเดินชีวิต เพราะธรรมะนั้นก็คือธรรมชาติทั้งหลาย
ที่แปรเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม ของจังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคล โดยมีองค์แห่งคุณธรรม
คุ้มครองอยู่ คือเป็นผู้ละอายและเกรงกลัวต่อบาป ความมีเมตตาโอบอ้อมอารี มีใจเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในจิตใจของคนทั้งหลายอยู่แล้ว โดยไม่จำกัดเรื่องเชื้อชาติและศาสนา มันเป็นคุณธรรม
ประจำจิตที่มีอยู่ของทุกผู้คน เราเพียงชี้แนะให้ความมั่นใจเปิดโอกาส ส่งเสริมให้เขาได้ทำในสิ่งเหล่านั้น
เพราะในส่วนลึกของจิตสำนึกของมนุษย์ทุกคนนั้น ต่างก็ปรารถนาอยากจะเป็นคนดี ขอเพียงให้มีผู้ชี้ทาง
และสร้างโอกาสให้แก่เขา....นั่นคือสิ่งที่เราต้องคิดและต้องกระทำ.....
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๕ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๒.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

20
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๓ กย. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
        ฝนตกหนักตั้งแต่เช้า ออกไปตรวจดูรางน้ำตามจุดต่างๆที่รองรับน้ำฝน
เพราะว่าอาศรมนั้นตั้งอยู่บนเขา ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องเก็บกักน้ำฝนไว้
เพื่อใช้เป็นน้ำอาบและใช้ในการซักล้าง ซึ่งได้จัดเตรียมถังเก็บกักน้ำไว้แล้ว
จะเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ได้ประมาณ ๑๕,๐๐๐ ลิตร ฝนตกลงมาในครั้งนี้
ทำให้ได้ปริมาณน้ำตามที่ต้องการ ได้น้ำเต็มเกือบทุกจุดที่รองรับน้ำไว้
เก็บตัวอยู่ในที่พักเกือบทั้งวัน ฟังธรรมบรรยายของครูบาอาจารย์ที่ได้บันทึกไว้
เขียนบทความ บทกวี ตอนที่อารมณ์ธรรมนั้นเกิด เพลิดเพลินอยู่ในวิหารธรรม......
            " ภายนอกเคลื่อนไหว  ภายในสงบนิ่ง "  สงบนิ่งนั้นหมายถึงการไม่หวั่นไหว
ไปตามกระแสโลกทั้งหลาย ไม่ยินดียินร้าย กับสิ่งที่ประสพพบเห็น วางใจให้เป็นกลาง
มองทุกอย่างด้วยเหตุและผล ซึ่งอยู่บนหลักธรรม แล้วนำมาประยุกค์ใช้ให้เหมาะสม
กับสถานการณ์  อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านได้กล่าวสอนไว้ว่า " ให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง
 " คือว่างจากกิเลส ตัณหาและอัตตา พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นธรรมะ สอดคล้องกัน
ทั้งในทางโลกและทางธรรม นำมาใช้และปฏิบัติได้จริงกับชีวิตประจำวัน ใช้ได้กับทุกเรื่องราว
 อยู่บนพื้นฐานของความพอดี พอเพียง ไม่เป็นภัยต่อชีวิต ไม่เป็นพิษกับผู้อื่นไม่ฝ่าฝืนศีลธรรม
ประเพณีอันดีงาม เป็นไปโดยชอบและประกอบด้วยกุศล นั่นคือแนวทางของการปฏิบัติธรรม
ที่นำมาประยุกค์ใช้กับชีวิตประจำวัน ที่ต้องมีความสัมพันธ์ ต้องพบปะกับผู้คนมากมาย
ต่างจิตต่างใจต่างปัญหา ซึ่งไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ จึงต้องฝึกทำใจให้อยู่เหนือปัญหา
 ฝึกจิตนั้นให้ว่างจากกิเลส ตัณหาและอัตตา ฝึกพิจารณาปรับเข้าหาหลักธรรมทั้งหลาย
เพื่อให้ชีวิตนั้นก้าวเดินไป พร้อมกันได้ ทั้งทางโลกและทางธรรม........
          " มีสติแนบอยู่กับตัวรู้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน พิจารณาลมหายใจเป็นพระไตรลักษณ์
พิจารณากายคตานุสติ คือพิจารณาร่างกายของเราเอง ให้มันชัดแจ้ง ทั้งกายภายนอก
และกายภายใน เมื่อเราเห็นกายและจิตของเราแล้ว เราก็จะเห็นและเข้าใจในกายและจิต
ของผู้อื่นเช่นกัน " ทำความรู้ความเข้าในกายและจิตของตน ค้นให้เจอซิ่งกิเลสตัณหาอัตตา
ที่มีอยู่ในจิตของตนให้เจอ รู้เห็นและเข้าใจ โดยการคิดพิจารณาถึงคุณถึงโทษ ถึงประโยชน์
และไม่ใช่ประโยชน์ของสิ่งเหล่านั้น เป็นไปเพื่อความจางคลายแห่งกิเลสตัณหาอัตตาอุปทาน
ด้วยการใช้จิตพิจารณาในธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นปัจจุบันธรรม คือสิ่งที่กำลังเห็นและเป็นอยู่
รับรู้ได้ด้วยจิต โดยการคิดและพิจารณาเข้าหาหลักธรรมทั้งหลาย.......
                      เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๔ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๒๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

21
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป  ๒๒ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่  ๒๓  กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
         ในช่วงนี้มีงานก่อสร้างเข้ามา คือการช่วยกันทำศาลาโรงฟืน โรงไฟ
จึงต้องลงไปที่หน้างาน คอยดูแล แนะนำ ให้กำลังใจแก่คนที่มาช่วยงาน
สนทนาพูดคุยกันเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน ไม่เครียดกันในขณะทำงาน
งานที่ทำจึงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในเวลาอันรวดเร็ว เพราะไม่มีความกดดัน
ในขณะที่ทำงานนั้น ทุกคนมีขวัญและกำลังใจ ซึ่งเกิดได้จากจิตที่ศรัทธา
          ใช้เวลาที่ว่างอยู่กับการเขียนบทความ บทกวีและฟังธรรมะบรรยาย
ของหลวงพ่อพุทธทาส ซึ่งได้เก็บบันทึกไว้ ในหัวข้อ...ชีวิตที่ต้องพัฒนาไป...
เพื่อทำความรู้ความเข้าใจสร้างขวัญและกำลังใจ เพื่อให้มีศรัทธาเพิ่มขึ้น
หลังจากเราได้ไปสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้อื่นแล้ว จึงต้องย้อนกลับ
มาสู่ตัวเรา เพื่อกำลังศรัทธาของตนเองให้ยิ่งขึ้นไป ฟังแล้วคิดพิจารณาตามไป
ซึ่งในการฟังธรรมแต่ละครั้งนั้นเราจะได้มุมมองใหม่ๆเกิดขึ้นมาในจิตขึ้นมาทุกครั้ง
แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน  เพราะว่าเมื่อวันเวลาผ่านไปนั้น เราได้สั่งสมประสบการณ์ขึ้น
มาตลอดเวลา การพัฒนาของความคิด ทำให้จิตของเราละเอียดขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ทำให้มีมุมมองใหม่ๆเกิดขึ้นมาเสมอ ฉะนั้นเราจึงไม่ควรที่จะด่วนสรุปอะไรในสิ่งที่ผ่านมา
ว่าเรานั้นรู้แล้ว เข้าใจแล้ว เมื่อได้ฟัง ได้อ่านและได้ทำ เพราะว่าในเวลานั้นความรู้ความเข้าใจ
ของเรามันมีอยู่เท่านั้น จึงรู้และเข้าใจได้เพียงขนาดนั้น แต่เมื่อเราประพฤติปฏิบัติต่อไป
กำลังของสติสัมปชัญะและกำลังของปัญญาของเราก็จะเพิ่มขึ้น มุมมองก็จะกว้างขึ้น
เห็นแง่มุมต่างๆที่เราเคยมองข้ามไป ทุกสิ่งอย่างนั้นเป็นไปตามความเหมาะสมของ
จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และบุคคล ซึ่งตราบใดที่เรานั้นยังไม่หมดกิเลส ตัณหา
ยังมีอัตตาความเป็นตัวตนอยู่ เราจึงไม่ควรที่จะด่วนสรุปว่าเรานั้น รู้แล้ว เข้าใจแล้วและ
ไม่ต้องทำต่อไปแล้ว เพราะเรานั้นยังเป็นเสขะบุคคล ที่ยังต้องฝึกฝนอีกยาวไกล......
          ในขณะที่เราฟังธรรมนั้น เมื่อเราได้คิดและพิจารณาตามธรรม มีสติคือความตั้งใจ
จิตจดจ่ออยู่กับเสียงที่ได้ยิน ความเป็นสมาธินั้นก็ย่อมจะเกิดขึ้น เกิดสภาวะแห่งปิติขึ้นมา
เมื่อจิตอยู่กับธรรม มองสิ่งรอบกายทั้งหลายก็น้อมเข้าหาธรรม จึงเกิดสภาวธรรมที่ลื่นใหล
คิดอะไร เห็นอะไร มันก็เป็นธรรมะไปทั้งหมด ทำให้เขียนบทความ บทกวีธรรม ไม่มีการติดขัด
ลื่นใหลและรวดเร็ว จนบางครั้งจิตกับกายไม่สัมพันธ์กัน ในขณะที่เขียนบันทึกธรรมที่เกิดขึ้น
จึงต้องปรับกายปรับจิตอยู่ตลอดในขณะที่เขียนบันทึกบทความ บทกวี โดยการเพิ่มกำลังของ
สัมปชัญะให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความพอดีกันกับกำลังของสติ เพราะถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีกำลัง
มากเกินไป ไม่พอดีกัน มันก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาในกายและจิต ซึ่งเป็นไปตามหลักของ
การปฏิบัติที่ว่า......” ศรัทธามาก ปัญญาหย่อน ความโลภจะเข้าครอบงำจิต.....ปัญญามาก
แต่ศรัทธาหย่อน ความสงสัยลังเลจะเข้าครอบงำ.....วิริยะความเพียรกล้า  แต่สมาธิหย่อน
ความฟุ้งซ่านจะเข้าครอบงำ.....สมาธิกล้า  วิริยะความเพียรหย่อน ความง่วงจะเข้าครอบงำ
.....สติและสัมปชัญญะนั้น เป็นตัวเข้าไปปรับอินทรีย์พละ ให้มีความเสมอกัน “.....
ความเจริญในธรรมนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้โดยองค์แห่งคุณ ๓ ประการคือ...
๑. อาตาปี....ความเพียรตั้งใจจริง
๒. สติมา.....มีสติระลึกรู้เท่าทันอารมณ์
๓. สัมปชาโน....มีความรู้ตัวทัวพร้อมทุกขณะ
องค์คุณทั้ง ๓ นี้จะทำให้เกิดความพอดี ทำให้มีความเจริญก้าวหน้าในธรรม....
                  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๓ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๕๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

22
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๑ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
         พายุฝนผ่านพ้นไป สิ้นฝนก็ต้นหนาว ท้องฟ้าแจ่มใส มองเห็นดาว
เมฆดำบนฟ้าหายไป ฟ้าหลังฝนที่คนเขากล่าวกัน มันก็เป็นเป็นเช่นนี้เอง
เมื่อก่อนนั้น เราเพียงแต่มองผ่านไปแต่ไม่ได้คิดและพิจารณาเพราะคิดว่า
ทุกอย่างนั้น เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อเราได้พิจารณาถึง
สภาพของฟ้าหลังฝนหยุดตกแล้ว ได้รู้ได้เห็น ได้เข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
เมื่อเราพิจารณาสิ่งรอบกายให้เป็นธรรมะ มันเป็นสภาวะแห่งสัจจธรรม ที่เรียบง่าย
ถ้าเราได้คิดพิจารณาให้เป็นธรรมะ ทุกอย่างรอบกายไม่ไร้สาระ ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะ
ล้วนแล้วคือสภาวธรรม เคยรู้เคยเข้าใจว่าสิ่งรอบกายทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะ
เป็นสภาวธรรม แต่เรามักจะพิจารณาเฉพาะสิ่งที่เราสนใจโดยความชอบความพอใจในสิ่งนั้น
จิตยังปิดกั้นไม่เปิดกว้างยังมีข้อจำกัดในการคิดและพิจารณา ไม่เป็นไปตามธรรมชาติโดยแท้จริง
แต่เมื่อเราเปิดจิตของเราให้กว้างขึ้น มองธรรมชาติรอบกายทุกสิ่งให้เป็นธรรมะอย่างแท้จริง
เราจึงได้รู้ว่ายังมีหลายสิ่งที่เรายังไม่รู้และเข้าใจ เพียงแต่จำได้แต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในสภาวธรรม
การปฏิบัติธรรมคือการทำสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้น แล้วรักษาสิ่งที่มีมิให้เสื่อมสลาย ให้ดำรงค์ทรงไว้
และขั้นสุดท้ายคือการสลายทำเหมือนมันไม่มีอะไร...สูงสุดคืนสู่สามัญ..คือเข้าสู่อารมณ์วิปัสสนา
มีสติและสัมปชัญญะ ความระลึกรู้ ความรู้ตัวทั่วพร้อมคุ้มครองกายคุ้มครองจิดอยู่ทุกขณะ
เป็นสภาวะของความเป็นปกติ ไม่มีรูปแบบ ไม่มีกระบวนท่า...กระบี่อยู่ที่ใจ...เก็บงำประกาย
 รู้อยู่ภายใน ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงออก การปฏิบัติธรรมนั้นคือการทำที่จิตไม่ใช่อยู่ที่รูปแบบทางกาย
 มิได้ทำไปเพื่อให้ผู้อื่นมาชื่นชม ยกย่องสรรเสริญ มิใช้การแสดงสภาวธรรมทั้งหลายเป็นของเฉพาะตน
 รู้ได้ด้วยตน พิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติ .สภาวธรรมนั้นเป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน.......
             ขอบคุณธรรมชาติรอบกายทั้งหลายที่เป็นครูผู้สอนธรรม  น้อมนำให้จิตได้คิดและพิจารณา
ในสิ่งที่ผ่านมาและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่  ให้มีสติระลึกรู้และความรู้ตัวทั่วพร้อม น้อมจิตเข้าสู่การปฏิบัติ
ขจัดความคิดที่เป็นอวิชชาทั้งหลาย ให้จางคลายและหายไป เรียนรู้ในสิ่งใหม่ เข้าใจในปัจจุบันธรรมยิ่งขึ้น
ไม่ใช่ความคิดที่เกิดจากจิตปรุงแต่ง แต่เป็นสภาวะรู้ที่เกิดในขณะที่จิตนั้นว่าง เมื่อเราละวางความคิดทั้งหลาย
ทำให้ระลึกนึกถึงคำกล่าวของครูบาอาจารย์ที่ ท่านได้กล่าวสอนไว้ว่า ” เมื่อหยุดคิดปรุงแต่งและวางทุกสิ่งลงได้
( ทั้งสิ่งที่รู้และสิ่งที่ถูกรู้ทั้งปวง ) สัจธรรมจริงแท้ก็จะปรากฏขึ้นมาให้รู้เห็นเอง “ ...มันเป็นเช่นนี้เอง....
                          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๒ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๔๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

23
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๐ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่  ๒๑  กันยายน  พ.ศ. ๒๕๕๔
            หลังจากการทำงานโยธากัมมัฏฐาน แบกกระเบื้องมุงหลังคาขึ้นเขา
จำนวนหลายเที่ยวในวันที่ผ่านมา ร่างกายก็อ่อนเพลียเป็นธรรมดาของมัน
จึงต้องปรับกายให้เป็นปกติ เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการฝึกจิตขั้นต่อไป
เมื่อกายพร้อม จิตพร้อม การปฏิบัติก็ย่อมมีความเจริญในธรรม สภาวธรรม
เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น จิตละเอียดขึ้น เห็นกิเลสภายในชัดขึ้น และดับได้เร็วขึ้น
มี นิวรณ์เข้ามารบกวนบ้างคืออารมณ์ของถีนมิทธ ความง่วงเหงาหาวนอน
เพราะการใช้แรงงาน ต่อสู้กับนิวรณ์เหล่านั้นโดยอาศัยวิริยะบารมีเข้ามาข่ม
ทรงไว้ซึ่งอารมณ์ธรรม ดูแลควบคุมงานการก่อสร้างตั้งแต่ตอนสายถึงเย็น
กลางคืนมีมิตรสหายจากแดนไกลเดินทางมาสนทนาธรรมแลกเปลี่ยนธรรมะกัน
สภาวะเด่นชัดขึ้น มีปิติทุกครั้งที่ได้อธิบายธรรมได้กล่าวธรรม จนลืมเรื่องของเวลา
ที่มันผ่านไป เพราะการที่ได้กล่าวธรรมนั้น มันเป็นการทบทวนธรรมไปในตัว
และเป็นการสอนธรรมแก่ตัวเองทุกครั้ง......
          กล้ามเนื้อเกิดอาการตึง จึงบริหารร่างกายโดยการลงไปกวาดใบไม้รอบที่พัก
 เพื่อให้เหงื่อมันออก กล้ามเนื้อจะได้คลายตัว และเพื่อที่จะสะลายอารมณ์ที่เป็นอยู่
“ เคลื่อนไหวทางกาย  สะลายทางจิต “ เพื่อปรับกาย ปรับจิตเสียใหม่ให้มีความปกติ
หลังเหงื่อออกจนท่วมกายแล้ว รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย  ทำความสะอาดร่างกายเสร็จ
เกิดศรัทธาอยากจะภาวนา เพื่อยังความสงบให้เกิดขึ้น จิตตื่นอยู่เพราะอารมณ์ปิติ
จากการได้กล่าวธรรมยังค้างอยู่  จึงตามดูตามรู้ในปัจจุบันธรรม......
           ดังที่เคยกล่าวไว้ในการปฏิบัติธรรม คือการสร้างปิติจากภายนอกเพื่อเข้าสู่ปิติตัวใน
เรามีวิธีที่จะทำได้หลายประการ มันอยู่ที่การฝึกฝนและการทดลองทางจิต  ไม่มีคำว่าผิด
ในการปฏิบัติ ถ้าเรานั้นมีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา ว่าเราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร
เราจะไม่หลงในอารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเราทำไปโดยไม่รู้และสำคัญผิดโดยคิดว่าใช่
นั่นแหละมันจะพาให้เราหลงอารมณ์  หลงทางในการปฏิบัติ จึงจำเป็นที่จะต้องทำ
ความรู้ความเข้าใจในสิ่งจะทำให้ได้เสียก่อน ว่ามันคืออะไร เพื่ออะไรและทำอย่างไร
ก่อนที่จะเข้าสู่การปฏิบัติ จงมีสติทุกขณะจิต  ในการคิดและการทำ แล้วจะไม่หลงทาง ......
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๑ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๑.๔๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

24
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๙ กย. ๕๔ ... 
ตถตาอาศรม เขาเรดารร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
          เมื่อวานที่ผ่านมานั้น ได้เตรียมการก่อสร้างโรงฟืนโรงไฟภายในอาศรม
ต้องช่วยกันแบกขนวัสดุอุปกรณ์ขึ้นเขา ทั้งเสาไม้ประดู่และกระเบื้องมุงหลังคา
ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้กำลังแรงกายอย่างมาก ในการแบกของที่หนักเดินขึ้นเขา     
 ซิ่งการทำงานที่ใช้กำลังเราต้องระวังสำรวมสติ  การทำงานที่ต้องใช้แรงงานนั้น
มันย่อมมีผลต่อร่างกายและจิตใจ และต้องใช้ความอดทนที่สูงเป็นอย่างมาก 
เพราะถ้าขาดสติตามดูตามรู้ตามเห็นไม่ทัน กิเลสนั้นมันก็จะแสดงออกมา
ความเอาแต่ใจตัวเอง ความเห็นแก่ตัว ความน้อยใจ ความเสียใจ ความมักง่าย
 ความขี้เกียจ ความโกรธจะปรากฏขึ้น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกิเลสมันถูกเผาให้เร้าร้อน
 มันถูกกระตุ้นด้วย ความเหนื่อย ความร้อน  ความหิวกระหายเมื่อไม่ได้ตามที่ใจปรารถนา
กิเลสมันก็จะปรากฏชัดออกมา.....
             การทำงานก็คือการสอบอารมณ์ของเรา เพราะเราต้องเผชิญกับตามเป็นจริง
และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น มันคือชีวิตจริงสิ่ที่เราต้องประสพพบอยู่ทุกวันในการดำเนินชีวิตของเรา
ขณะที่เรานั่งสมาธิภาวนานั้น มันไม่มีผัสสะของจริงมากระทบจิต  เราอยู่กับความสงบ
กิเลสมันถุกกดทับด้วยอารมณ์สมาธิ มันจึงมองไม่เห็นกิเลส และอาจจะหลงคิดไปว่าไม่มีกิเลสแล้ว 
อารมณ์ในสมาธินั้นมันเป็นโลกส่วนตัวของเรา  เฉพาะตัวเรา แต่เมื่อเราออก จากอารมณ์สมาธิแล้ว 
กลับมาสู่ความเป็นจริง คือปัจจุบันธรรม สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งมันมีทั้งแรงดูดและแรงต้านใ
ห้เราคล้อยตามหรือปฏิเสธ ถ้าสติและสัมปชัญญะมีกำลังอ่อน เราก็จะถูกกิเลสนั้นเข้าครอบงำ
คล้อยตามกิเลสที่กิดขึ้น แต่ถ้ากำลังของสติสัมปชัญญะ มีความสมบูรณ์ เราจะรู้เท่าทันกิเลสนั้น
จิตก็จะปฏิเสธไม่คล้อยตามในอารมณ์นั้น........
          " ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต " เราต้องรู้จักตัวเรา เพราะไม่มีใครจะรู้เหตุและผลของตัวเรา
เท่ากับตัวเรา  เราเองต้องเป็นผู้สอบอารมณ์ของตัวเรา ไม่ต้องให้ใครเขามาสอบอารมณ์ของตัว เรา
 " จงรู้จักกาย รู้จักจิต รู้จักความคิด และรู้ในสิ่งที่กระทำ" เราจึงจะไม่หลงทาง หลงตัวเอง หลงกิเลส
และการสอบอารมณ์ที่ดีที่สุด ก็คือการทำงาน ที่ใช้กำลังแรงงานร่วมกับผู้อื่น เพราะเราจะได้เจอผัสสะ
(สิ่งที่มากระทบ)ทั้งภายนอกและภายใน  เรา จะได้เห็นความหวั่นไหวและความสงบนิ่งของเรา
ซึ่งมันคือของจริง คือสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่  แล้วเราจะได้รู้ว่าการปฏิบัติธรรมของเรานั้น มันก้าวหน้าไปถึงไหน
 รู้ได้ เมื่อภัยมา ปัญหาไม่มา ปัญญาไม่มี  บารมีไม่เกิด ไม่ใช่นั่งคิดนั่งฝันว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้
มันต้องมีของจริงมาพิสูจน์  มาทดสอบอารมณ์ของเรา.....
  แด่การทำงานที่สอนให้เข้าใจถึงการปฏิบัติธรรม 
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดีในหลักธรรม
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๐ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๓ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

25
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๘ กย. ๕๔....
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
..........วันเวลาผ่านไปกับสถานที่แห่งใหม่และรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนไป
ไม่มีกฏเกณฑ์กติกา แต่ว่าขึ้นอยู่กับกฏของธรรมชาติ ตามจังหวะเวลา
และโอกาศ เป็นไปตามความเหมาะสม ไม่ต้องไปจัดระเบียบต่อสังคม
และหมู่คณะ แต่มีภาระที่จะต้องจัดระเบียบให้กับตนเอง กฎกติกานั้น
เกิดขึ้นมาจากความต้องการของมนุษย์ ซึ่งคือตัวตัณหา ความอยากทั้งหลาย
ที่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น อยากจะให้เป็นอย่างนี้ หรือไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น
ไม่ให้เป็นอย่างนี้ ความพอดีจึงไม่มีในกฏกติกา เพราะว่าแต่ละคนในสังคมนั้น
ย่อมมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน จึงไม่มีบรรทัดฐานแห่งความพอดี จึงไม่มีกฎกติกา
อะไรที่ดีที่สุด มีเพียงแต่ความเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับ จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่
และตัวบุคคล เป็นไปเพื่อความสอดคล้องเหมาะสมกับธรรมชาติทั้งหลาย
และแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์แห่งยุคสมัย.....
..............ในความเป็นสมณะนั้นมีกฏเกณฑ์กติกาของความเป็นสมณะคุ้มครองอยู่
โดยศีลและธรรม ไม่ผิดข้อวัตรตามพุทธบัญญัติและไม่เป็นไปให้ชาวโลกเขาติเตียนได้
มันจึงมิใช่เรื่องง่าย ที่จะทำให้ใจนั้นสงบ ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมที่กำลังดำเนินไป
จึงต้องมีการปรับใหม่ ปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิด ปรับการกระทำ เร่งความเพียร
เพิ่มกำลังของสติและสัมปชัญญะ ให้มีกำลังมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับกับผัสสะสิ่งกระทบ
ที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลาและโอกาศ จากอายตนะทั้งหก คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ให้มีสติและสัมปชัญญะรู้เท่าทันการเกิดดับของสรรพสิ่งรอบกาย รู้จักควบคุมและข่ม
ซึ่งกิเลสตัณหา ลดละอัตตาและมานะทิฏฐิให้เบาบางลง พยายามทรงไว้ซึ่งอารมณ์สมาธิ
ให้มีปิติหล่อเลี้ยงจิต พยายยามนึกคิดถึงสิ่งที่เป็นกุศล ฝึกตน ด้วยการเจริญสติ
ตั้งอยู่ในพรหมวิหาร ๔ อันมี เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขาเป็นหลักที่พักจิต
ปรับความคิดให้มองโลกในแง่ดี พิจารณาให้เห็นถึงคุณ ถึงโทษ ถึงประโยชน์
และมิใช่ประโยชน์ในทุกๆสิ่ง เห็นความเป็นจริงของกฏแห่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นกฎ
ของพระไตรลักษณ์ คือความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป
โดยใช้หลักธรรมในอริยสัจ ๔ มาประกอบในการคิดและพิจารณา สิ่งที่มากระทบ
ทั้งหลายล้วนเป็นเหตุแห่งทุกข์ ค้นหาซึ่งเหตุที่มาแห่งทุกข์นั้น จนเห็นที่เกิดแห่งทุกข์
พิจารณาให้เห็นการดับไปแห่งทุกนั้น เมื่อรู้เห็นและเข้าใจในเหตุและปัจจัยให้เกิดทุกข์
พิจารณาหาหนทางที่จะดับซึ่งเหตุและปัจจัยแห่งทุกข์ทั้งหลายนั้น ให้เป็นสมุทเฉจ
คือการดับเหตุและปัจจัย ตัดวงจรแห่งทุกข์นั้น แล้วน้อมนำเอาสิ่งที่ได้คิดพิจารณา
ได้รู้ ได้เห็น ได้เข้าใจ มาลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม การดับทุกข์ย่อมบังเกิดขึ้น
จิตจะเข้าถึงซึ่งความสงบ เมื่อจิตนั้นพบกับธรรม....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต แด่มวลมิตรทุกผู้คน...
............. รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...................
๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๕๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

26
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๗ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
....เป็นธรรมดาของทุกชีวิตในโลกนี้ ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหา
เพราะว่าทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่หวังไว้เสมอ ดั่งคำที่กล่าวว่า
"เส้นทางของชีวิตมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป" แต่ทำอย่างไร
เราจะเข้าใจ และเข้าไปแก้ไขอุปสรรคปัญหานั้นได้
"ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากเหตุ และดับไปที่เหตุ"
เราจึงต้องฝึกขบวนการคิดเพื่อเข้าไปหาเหตุ โดยเริ่มจากการฝึกใจให้นิ่งเสียก่อน
"นิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว" ซึ่งจะทำให้ใจนิ่งได้นั้นมันต้องมีสมาธิ
และการที่จะมีสมาธิได้นั้น มันต้องมีสติ เราจึงต้องฝึกให้มีสติเสียก่อน
ก่อนที่จะทำจิตให้สงบ......
....อุปสรรคและปัญหานั้นมีอยู่ และเป็นสิ่งที่จะต้องเข้าไปแก้ไข
แต่เราต้องทำใจของเราให้อยู่เหนือปัญหาให้ได้เสียก่อน
เรียกว่าวางปัญหานั้นไว้เสียก่อน มันจะทำให้เราผ่อนคลาย
และไม่เป็นการกดดันตัวเราเอง เพราะถ้าเราไม่วางปัญหานั้นไว้เสียก่อน
จิตของเราเข้าไปยึดติดยึดถือ มันจะทำให้เราเครียดหนักอกหนักใจ
สมองเราไม่ปลอดโปร่งทำให้เกิดความเครียด และเมื่อเรามีความเครียด
มันจะทำให้ความคิดของเรานั้นคับแคบ การคิดการมองปัญหาไม่เปิดกว้าง
มันจึงไม่เห็นหนทางที่จะแก้ปัญหานั้นได้......
.....เราจึงต้องมาฝึกใจให้รู้จักการทำใจให้อยู่เหนือปัญหา
(ออกห่างวางปัญหาไว้ชั่วคราว ) ทำกายทำใจของเราให้
ปลอดโปร่งโล่งเบาสบายๆ โดยการออกกำลังกายหรือหาอะไรทำ
ให้เหงื่อมันออกให้เต็มที่ พักให้เหงื่อแห้งแล้วให้เราไปอาบน้ำ
มันจะทำให้ร่างกายของเราเบาสบาย เป็นการผ่อนคลายและปรับธาตุ
ในกายของเรา แล้วมามองเข้าไปสู่ปัญหาที่มี โดยอย่าคิดว่าเป็นปัญหาของตัวเรา
ให้เราคิดว่าเป็นปัญหาของผู้อื่น สมมุติตัวละครขึ้นมาแทนตัวเราและคนของเรา
(เพื่อลดอัตตา ความยึดถือ ว่าตัวกู ของกู)ทำเหมือนกับที่เรามองปัญหาของผู้อื่น
วิจารณ์ผู้อื่น (เรื่องของชาวบ้านเรารู้ไปหมด เข้าใจไปหมด แก้ไขได้หมด
เพราะเราไม่มีความกดดัน เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา) เพราะถ้าเราคิดว่า
เป็นปัญหาของเราที่เราเผชิญอยู่ มันจะมีความยึดถือและคิดเข้าข้างตัวเอง
ไม่อยากจะเสียหรือเสียให้น้อยที่สุด จิตไม่เป็นกลางคิดเข้าข้างตัวเอง......
......เวลาเราเครียดจงอย่าอยู่ในที่คับแคบ อย่าใช้การนอนเป็นการพักผ่อน
เพราะมันจะทำให้เรายิ่งเครียดมากขึ้น (ความคิดของเรามันเป็นพลังงาน
ไฟฟ้าสถิตย์ มันจะกระจายอยู่รอบกายเรา และถ้าอยู่ในที่แคบมันจะก่อตัวมีพลัง
กลับมากดดันตัวเรา) ให้ออกไปอยู่ในที่โปร่ง ที่กว้าง มองออกไปให้สุดสายตา
ปล่อยความคิดของเราให้กระจายไปสุดกำลัง หายใจยาวๆช้าๆเพื่อปรับธาตุในกาย
เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นประสาทไปในตัว แล้วจึงมองกลับไปที่ปัญหา
เพื่อหาทางแก้ไขในปัญหาที่มี ฝึกทำอย่างนี้บ่อยๆจนชำนาญ แล้วกระบวนการ
ทางความคิดของเราจะพัฒนา เราจะเข้าใจซึ่งปัญหา หาเหตุที่มาของปัญหานั้นเจอ
และจะเห็นช่องทางการแก้ไข เพราะเราจะเข้าไปดับมันที่เหตุ....
...ปรารถนาดี อยากให้ทุกท่านมีความสุข เข้าใจในทุกข์ แก้ปัญหาตัวเองได้....
....เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต...
.........รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร........
๑๘ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๕๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึงชลบุรี

27
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๖ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
            วันเวลาที่ผ่านไปในทุกขณะนั้น ชีวิตกำลังคืบคลานไปสู่ความตายทุกขณะ
วันเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่นั้นสั้นลง จึงต้องทำชีวิตที่เหลืออยู่นั้นให้มีคุณค่ามากสุด
พยายามก้าวเดินปฏิบัติตนไปตามทางสายกลาง ก้าวย่างตามทางแห่งมรรคองค์แปด
ไปตามกำลังที่สั่งสมมา อาจจะช้าแต่ว่ามั่นคง พยายามทำให้ได้ ซึ่งดีกว่าไม่ได้ทำ
เตือนสติตนเองอยู่เสมอ มิให้เผลอเดินออกนอกทาง ซึ่งอาจจะก้าวพลาดไปบ้าง
แต่ระลึกได้ทัน ดึงจิตนั้นกลับเข้าสู่เส้นทางได้ ไม่เสียหายจนเกินไป.....
             อ่านตัวออก...บอกตัวได้...ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราต้องกระทำ รู้กำลังของตัวเราเอง
ว่าสามารถไปได้ไกลขนาดไหนในเวลานี้ รู้ข้อดีและข้อเสีย กำลังเพียรละและเพียรเร่ง
เพื่อสร้างความเข้มแข็งของอินทรีย์ทั้ง ๕ อันได้แก่....
๑.สัทธินทรีย์ คือความเชื่อ ความศรัทธา
๒.วิริยินทรีย์ คือความเพียร ความพยายาม
๓.สตินทรีย์ คือความมีสติระลึกได้ ความรู้ตัวทั่วพร้อม
๔.สมาธินทรีย์ คือความตั้งใจมั่น ความสงบนิ่งที่มั่นคง
๕.ปัญญินทรีย์ คือความรอบรู้ในกองสังขาร ในขันธ์ ๕
     กำลังอินทรีย์ในข้อไหนที่ยังอ่อนอยู่  หรือกำลังในข้อไหนที่มากเกินไป ปรับกำลังทั้ง ๕
ให้มีความพอดีเสมอกัน ให้มีความพร้อมในการเดินทาง ทุกอย่างก็จะไปได้ดี ไม่มีติดขัด
ทุกอย่างนั้นสามารถทำได้โดยการน้อมจิตมาสู่ตัวพิจารณากายและจิตของตัวเราเอง
ให้จิตนั้นอยู่กับกายตลอดเวลา พยายามรักษาไว้ซึ่งกุศลจิต คิดทุกอย่างให้เป็นธรรมะ
พยายามลดละซึ่งสิ่งที่เป็นอกุศลทั้งหลายทีมีอยู่ในจิต ฝึกคิดพิจารณาทบทวนธรรม
น้อมนำเข้าสู่การปฏิบัติ ตามกำลังของสติปัญญา......
      การระลึกนึกถึงความตายนั้น มันไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนตาย
ความยึดถือทั้งหลายในรูปธรรมวัตถุจะได้เบาบางลง  อัตตาและมานะทิฏฐิทั้งหลายนั้น
ก็จะเบาบางลง ความโลภ ความหลงทั้งหลายก็จะค่อยๆหายไป เพราะชีวิตนี้ไม่มีวัตถุอะไร
ที่จะนำติดตัวไปได้เมื่อตายจาก มีเพียงกรรมสิ่งที่ได้ทำไปนั้น ที่จะติดตามตัวของเราไปในปรโลก
ทั้งสิ่งที่เป็นบุญและเป็นบาป จึงต้องคิดและพิจารณาว่า ทำอย่างไรให้ตายไปอย่างมีความสุข
ไม่ต้องทุกข์ขณะจะสิ้นลม การระลึกนึกถึงความตายอยู่เสมอนั้น จะทำให้จิตนั้นไม่หวั่นไหว
ต่อความตายที่จะมาถึงในอนาคต ซึ่งทุกคนต้องประสพ ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้........
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๗ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

28
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๕ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
..........คนเรานั้นต้องมีความหวัง เราต้องหวังให้ไกลและเราต้องไปให้ถึง
แม้ว่าหนทางนั้น ยังอีกยาวไกลเพราะว่าความสำเร็จนั้นมิได้อยู่ที่จุดเริ่มต้น
ความผิดพลาด ความล้มเหลว ความสูญเสีย มิใช่ข้อยุติ สิ่งเหล่านั้นล้วนแล้ว
นำมาซึ่งประสพการณ์ของชีวิต เป็นบทเรียนของชีวิต ที่จะทำให้เราเข้มแข็ง
และกล้าแกร่งยิ่งขึ้น ขอเพียงให้เรายึดมั่นในอุดมคติของเราอย่าได้หวั่นไหว
เพราะหนทางที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้น มันต้องฟันฝ่าและเผชิญต่ออุปสรรค
และปัญหาอยู่ตลอดเวลา อุปสรรคและปัญหาเหล่านั้นคือบทเรียน บททดสอบ
สติปัญญาและคุณธรรมของเรา ดั่งที่ครูบาอาจารย์ท่านได้กล่าวไว้ว่า....
"ทุกข์ไม่มา ปัญญาไม่มี บารมีไม่เกิด" เราต้องข้ามผ่านด่าน แต่ละด่าน
เพื่อเป็นการทดสอบกำลังของเรา การที่เราเผชิญอุปสรรคปและปัญหา
และผ่านมาได้แต่ละครั้งนั้น มันทำให้จิตใจของเราพัฒนาขึ้นไปกว่าเดิมทุกครั้ง.......
...........ฉะนั้น จงอย่าตกใจ เสียใจและหวั่นไหวต่ออุปสรรค และปัญหา
จงเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ถึงซึ่งจุดหมาย รางวัลแห่งความสำเร็จของชีวิต
มิได้วางไว้ที่จุดเริ่มต้น ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ การเดินทางนั้นยังไม่สิ้นสุด
จงพยายามเตือนสติตนเองนั้นอยู่เสมอ เพื่อให้มีความพร้อมของกายและใจ
ที่จะต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหา เพราะว่าเมื่อก่อนนั้นเราจะต้องพบกับ
อุปสรรคปัญหาและเกิดความทุกข์ขึ้นมาเสียก่อน เราจึงจะระลึกได้ คือต้องเจ็บก่อน
แล้วมัน ถึงจะจำ หรือบางครั้งพลาดเผลอสติไปแล้ว จึงจะมาระลึกได้ซึ่งบางครั้ง
อาจทำให้เสียใจในภายหลัง ในสิ่งที่ได้กระทำลงไป....
........เราจึงต้องมาฝึกเจริญสติกันใหม่ ให้สตินั้นระลึกได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
จนมีความเต็มรอบสมบูรณ์อยู่ทุกขณะจิต โดยการสร้างจังหวะการระลึกรู้
จากอาการทางกายจากหยาบๆคือการเคลื่อนไหวเช่นการยืน การเดิน การนั่ง
การนอน การกิน การทำงานต่างๆ จนมีความชำนาญแล้ว จึงเพิ่มกำลังสร้าง
จังหวะของสติการระลึกรู้กับสิ่งที่ละเอียดยิ่งขึ้น เช่นลมหายใจของตัวเรา
หรือความรู้สึกนึกคิดของเราเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นแนวทางของการฝึกจิต......
.....ฝากไว้เป็นข้อคิด แด่มิตรสหาย ผู้ใคร่ธรรม.....
... เชื่อมั่น-ศรัทธา-สามัคคี-ปรารถนาดี-ไมตรจิต...
..........รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร............
๑๖ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

29
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๔ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
           ในช่วง ๒-๓ วันที่ผ่านมานั้นได้พิจารณาธรรมเรื่องความตาย
จนเกิดธรรมสังเวช ความเบื่อหน่ายในกายนี้และชีวิตที่เหลืออยู่
มันเบื่อไปหมดทุกอย่าง ไม่อยากที่จะทำอะไร แม้แต่การเคลื่อนไหว
อยากนอนนิ่งๆนอนดูกายและดูลมหายใจ ไม่อยากที่จะทำอะไร
เพราะจิตเข้าไปติดอยู่ในอารมณ์ของความเบื่อหน่ายธรรมสังเวช
รู้เห็นเหตุที่เกิดของอารมณ์เหล่านั้น ว่ามันยังไม่ใช่ที่สุดของการปฏิบัติ
พยายามอบรมตนเองกระตุ้นเตือนจิตสำนึกให้ระลึกรู้ถึงข้อวัตรปฏิบัติ
เพื่อให้รู้จักรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่และมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม
อะไรที่ผิดเราก็พยายามละพยายามลด ไม่ทำตามความคิดฝ่ายต่ำ
สร้างแต่สิ่งที่เป็นคุณงามดี ดั่งที่ได้ตั้งปณิภานไว้ " ไม่เก็บ ไม่กำ ไม่กอบ
 ไม่โกง ไม่กิน ไม่เอาเปรียบผู้ใด ทุกอย่างทำไปเพื่อสร้างสมบารมี "
ชีวิตนี้มันเป็นของน้อยทุกวินาทีที่ผ่านไป คือการเดินไปสู่ความตาย
 จึงจำเป็นต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้  "การทำความเพียรนั้น
อย่าได้หลอกตนเอง ทำให้จริงจัง ตั้งสติกำหนดให้สตินั้นมีกำลังแก่กล้า
ทำสติและสัมปชัญญะให้มันแจ้ง " ทาน ศีล ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา
การเจริญภาวนานั้นเป็นเครื่องชำระจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส
 ที่กระทำนั้นไปมีความหมาย เพื่อที่จะกำจัดกิเลสภายในใจของเรา
ไม่ใช่ทำไปเพื่อสนองตัณหาให้ก่อเกิดมานะอัตตา แต่เป็นไปเพื่อความลดละ
แห่งกิเลสตัณหา ด้วยการพิจารณาดูกาย ดูจิต ดูความคิดของตัวเราเอง
ดูตัวเราว่ามีปัญญาพิจารณาธรรมเป็นไหมและทำอย่างไรเพื่อให้เกิด
ความเจริญในธรรมเพิ่มขึ้น พิจารณาไตร่ตรองด้วยสติปัญญา ละอัตตา
ค้นหาความจริงในกายในจิตของเรา ยอมรับในความเป็นจริงในสิ่ง
ที่เรามีและเราเป็น มองให้เห็นความเสื่อมทั้งหลายอันได้แก่กิเลสตัณหา
อัตตามานะที่่มีอยู่ในจิตของเรา ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องรู้และต้องเห็น
เสียก่อน จึงจะเข้าไปลดละมันได้ เพราะไม่มีใครที่จะรู้จักตัวเราเท่ากับ
ตัวของเราเอง ขอเพียงเราให้เวลาแก่ชีวิตจิตวิญญาณของตัวเราเอง
ให้มากกว่าที่เป็นอยู่  " ดูหนัง ดูละคร แล้วจงย้อนมาดูตัวเอง "
นรกหรือสวรรค์ นั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่เห็นในวันนี้ แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่
คือความสุขและความทุกข์ทั้งหลาย ที่เราสัมผัสได้ในปัจจุบัน
ทำอย่างไรที่เราจะอยู่กับมัน อยู่เหนือมัน ทำอย่างไรให้ใจของเรานั้น
ไม่สับสนและวุ่นวาย นั้นคือสิ่งที่เราต้องทำในวันนี้ เป็นสิ่งที่เห็นและสัมผัสได้
ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ยากถ้าคุณคิดที่จะทำ.....
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

30
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๓ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
           แต่ละวันที่ผ่านไปนั้นทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ ทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติ
เสร็จจากกิจวัตรของสงฆ์ ก็มาปฏิบัติกิจวัตรของการเป็นผู้นำเจ้าของสถานที่ของหมู่คณะ
 คือการตรวจตราดูแลการก่อสร้าง ดูความเรียบร้อยในที่อยู่อาศัย สนทนาและให้กำลังใจ
แก่คนผู้ร่วมงานทั้งหลาย คิดโครงการวางแผนงานที่จะทำกันต่อไป นี่คืองานในทางโลก
 ส่วนงานในทางธรรมก็คือการเจริญสติภาวนา ตามเวลาและโอกาศที่สามารถจะทำได้
ใช้เวลาที่ผ่านไปอยู่กับการทำงาน เพราะถือว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม เป็นการฝึก
เจริญสติ ฝึกควบคุมความรู้สึกและอารมณ์ กับสิ่งกระทบทั้งหลาย เพราะการทำงานนั้น
ต้องมีความสัมพันธ์กับหมู่คณะ ต้องพบปะพูดคุยและทำงานร่วมกัน หลายคนก็หลายความคิด
และแตกต่างกันด้วยจิตและอารมณ์ ทำให้ต้องควบคุมตนเองให้มากขึ้น  มีสติระลึกรู้ก่อนที่จะพูดและทำ
 เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ทั้งทางกายและทางจิตกับผู้ร่วมงาน การทำงานนั้นก็กลายเป็นการ
ปฏิบัติธรรมไปในตัว เพราะว่าเราต้องอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง ต้องพบปะกับผู้คน ต้องทำงาน
ต้องทำกิจเพื่อเลี้ยงชีวิตตามอัตภาพของสงฆ์ ไม่ใช่จะมีเวลานั่งหลับตาภาวนาเพียงอย่างเดียว
หรือไม่พบปะกับผู้คนเลย เราต้องอยู่กับโลกกับสังคม นี่คือความเป็นจริงของชีวิต.......
            ดูกาย ดูจิต ดูความคิด ดูการกระทำ ของตนเองอยู่ตลอดเวลา เป็นการฝึกเจริญสติ
น้อมจิตระลึกถึงธรรมคำสอนของหลวงปู่บุดดา ถาวโร เรื่อง " กายเดียว จิตเดียว " นำมาคิด
และวิเคราะห์ พิจารณาธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมนั้น เป็น " โอปะนะยิโก " คือการน้อมเขามาใส่ตัว
 ศึกษาและปฏิบัติเพื่อทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกายและจิตของเรา ความรู้ในทางโลกนั้น
เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องภายนอกกายและจิตของเรา ส่วนความรู้ในทางธรรมนั้น ศึกษาค้นหา
เข้าสู่ภายในตัวเรา เกี่ยวกับกายและจิต คือความคิดและการกระทำของตัวเราเอง เพื่อให้เข้าใจกาย
และจิต เข้าใจความคิด ความรู้สึกและการกระทำของตัวเรา แยกแยะในสิ่งที่เป็นกุศลและความเป็นอกุศล
 รู้จักข่มจิตข่มใจ ควบคุมความคิดและจิตที่เป็นอกุศล ด้วยองค์แห่งคุณธรรม คือความมี " หิริและโอตตัปปะ
 ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป " การมีสติและสัมปชัญญะที่เป็นฝ่ายกุศลธรรมยกข้อธรรมของครูบาอาจารย์
ที่เคยได้ยินได้ฟังมา ขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้เกิดปิติ ให้มีศรัทธาเพิ่มขึ้นในการประพฤติปฏิบัติธรรม เอาการปฏิบัติ
ของครูบาอาจารย์มาเป็นแบบอย่าง มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยปรับใช้ให้เข้ากับตัวเราตามจังหวะและโอกาส
เวลา สถานที่และบุคคลที่พึงจะกระทำได้ ใช้เวลาที่ผ่านไปให้เกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านเพราะการทำงาน
นั้นคือการปฏิบัติธรรม.......
                ... ด้วยความศรัทธาและปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
                ..........รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...........
๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๐๙ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

31
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๒ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
             วันเวลาที่ผ่านไปในวันหนึ่งคืนหนึ่งนั้น ขณะที่รู้สึกตัวตื่นอยู่
พยายามน้อมจิตเข้าหาธรรมตลอดเวลา โดยการเจริญสติสัมปชัญญะ
ฝึกการระลึกรู้และการรู้ตัวทั่วพร้อม น้อมจิตเข้ามาพิจารณาร่างกาย
ของตนเอง เอาจิตระลึกรู้อยู่ในกาย พยายามไม่ส่งจิตออกนอกกาย
รักษาไว้ซึ่งจิตที่เป็นกุศล คือพยายามระลึกนึกถึงสิ่งที่ดีมีประโยชน์
ไม่เป็นภัยเป็นโทษต่อกุศลธรรมทั้งหลาย วางจิตนั้นให้เป็นสัมมาสติ
ดำริในสิ่งที่ชอบอันประกอบด้วยกุศล เริ่มต้นด้วยความเป็นสัมมาทิฏฐิ
คือการรู้จักแยกแยะในสิ่งที่ควรและสิ่งที่ไม่ควร ความเป็นกุศลและอกุศล
ออกจากกัน รู้เท่าทันในความรู้สึกนึกคิด จิตที่กำลังเป็นอยู่ ระลึกรู้ด้วย
สติและสัมปชัญญะที่เป็นสัมมา.....     
             การฝึกจิตนั้น สิ่งที่เน้นย้ำคือการวางจิตให้เป็นสัมมาสติ
ก่อนเข้าสู่การปฏิบัติเจริญภาวนาเพราะว่าทุกอย่างต้องเริ่มต้นด้วย
ความเป็นสัมมาตามหลักของมรรคองค์ ๘ คือการคิดดี เจตนาดี
เพื่อจะทำดี ทำให้ถูกวิธี ผลก็จะออกมาดี มีผู้ถามมาเรื่องการปลุกจิต
ให้ตื่นว่าทำอย่างไร  การที่จิตจะตื่นนั้นต้องมีกำลังของศรัทธาเต็มที่
มีความปิติยินดีในบุญกุศล เมื่อปิติเกิดขึ้นจิตก็จะตื่นและเบิกบานอยู่ในธรรม
เราต้องสร้างปิติภายนอก เพื่อจะเข้าสู่ปิติภายใน การสร้างปิติภายนอกนั้น
ทำได้โดยการนึกถึงความดีที่ตนได้เคยกระทำ เพราะเมื่อเราคิดถึงบุญกุศล
ที่เราได้เคยกระทำมาแล้วนั้น ใจของเราก็จะเป็นสุข มีความเอิบอิ่มและภาคภูมิใจ
ในความดีที่ตนนั้นได้กระทำมา มันจะมีความเพลิดเพลินและเป็นสุขใจ
 เพราะว่าใจของตนนั้นกำลังอยู่กับความดีเรียกว่าการสร้างปิติตัวนอก
 และเมื่อจิตใจเป็นกุศลจิตแล้ว ให้น้อมจิตมาสู่การเจริญจิตภาวนา
เพื่อให้ความรู้สึกดีๆที่เป็นอยู่นั้นมันพัฒนายิ่งขึ้นต่อไป เพราะคำว่า "ภาวนา " นั้น
แปลว่าทำให้ดีขึ้น เจริญขึ้น อารมณ์ความรู้สึกสดชื่น เบิกบาน สบาย โปร่ง โล่งเบา
ที่เกิดขึ้นจากการเจริญสติภาวนานั้น เราเรียกว่า " ปิติตัวใน " ซึ่งจะทำให้จิตนั้นรู้ตื่น
และเบิกบานอยู่กับกุศลธรรม ไม่หิวกระหาย ไม่ง่วงเหงาหาวนอน เพราะจิตนั้น
ปราศจากนิวรณ์รบกวนแล้ว......
                น้อมจิตสู่การพิจารณาธรรม ยกข้อธรรมที่เคยได้ยินได้ฟังมาจากครูบาอาจารย์
ขึ้นมาคิดพิจารณา เพื่อให้เข้าถึงซึ่งสภาวธรรมเหล่านั้น วิเคราะห์ ทบทวน ใคร่ครวญธรรม
ไม่ติดยึดกับอักขระภาษาคำศัพท์ทั้งหลาย ทำความเข้าใจในเนื้อหาซึ่งเป็นสภาวธรรมนั้น
คือสภาพที่เห็นและเป็นจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป สิ่งที่ใจเรานั้นรับรู้อยู่กับปัจจุบัน
จึงขอฝากหัวข้อธรรม ไว้เพื่อเตือนจิตสะกิดใจ ให้นำไปคิดและพิจารณากัน โดยธรรมที่ยกมานั้น
มีอยู่ว่า " ความโมโหจะนำไปสู่ความตกต่ำ อย่าไปโมโห โกรธผู้อื่น เพราะความโกรธคือไฟ
 ซึ่งมันจะเผาไหม้เจ้าของเอง ถ้าเขาทำตัวไม่ดี มันก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา
การที่เราไปโกรธเขา โมโหเขา จึงเท่ากับเราไปแบกรับเอาทุกข์ เอากิเลสของเขามา
ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า...การเพ่งโทษผู้อื่นเขา  มันเป็นการเพิ่มพูลกิเลสให้ตัวเราเอง "
ฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ผู้ที่ใฝ่ในธรรมทั้งหลาย ให้นำไปคิดและพิจารณา.......
             เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๓ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๑๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

32
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๑ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
                  วันนี้เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ รู้สึกตัวตื่นขึ้นมา
กำหนดจิตระลึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาของช่วงเวลาที่ผ่านไป
ในวันที่ผ่านมาทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายนอกและสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายใน
ที่สัมผัสได้ด้วยกายและรับรู้ได้ด้วยจิต ในสิ่งที่คิด สิ่งที่เห็นและสิ่งที่ทำ
เป็นการทบทวนธรรมฝึกความจำคือการระลึกรู้อดีตนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ซึ่งเป็นวิธีการฝึกจิตชนิดหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคความจำเสื่อม
ไม่หลงลืมขาดสติ จัดระบบสัญญาคือความจำให้เป็นระเบียบ ข้อมูล
ทั้งหลายได้บันทึกไว้ในสมองเป็นหมวดหมู่ชัดเจนไม่สับสนปนเปกัน
โดยอารมณ์ของจิตที่เป็นสมาธินั้น มันจะจัดระบบความจำของมันเอง
ซึ่งเมื่อระลึกได้ในจิตแล้ว ก็นำเขียนเป็นบันทึกไว้เป็นตัวอักษรอีกครั้ง
เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลในครั้งต่อๆไป.......
               ในวันที่ผ่านมานั้น ฝนตกหนักทั้งวันและคืน งานที่คิดไว้และ
นัดหมายจะทำกันนั้น ไม่สามารถที่จะทำได้เพราะสภาพอากาศไม่เป็นใจ
จึงต้องปล่อยทิ้งไว้รอเวลาที่เหมาะสม จึงจะนัดหมายมาทำกันใหม่ให้เสร็จ
มีญาติโยมขึ้นมาหาเพื่อขอความสงเคราะห์และแวะมาเยี่ยมเยือนหลายคณะ
จัดการธุระสงเคราะห์แนะนำให้แก่เขาเหล่านั้นจนเป็นที่พอใจเท่าที่เราจะทำได้
แก้ไขไปตามเหตุผลและปัจจัย ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคลที่เป็นอยู่
สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เขา โดยยกเอาธรรมเรื่องกรรมและวิบากมาอธิบาย
เพื่อให้เขาได้สติ รับได้ในวิบากกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหลาย ที่ทำให้ชีวิตต้องเป็นไป
อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ เมื่อจิตรับรู้ซึ่งกรรมและทำใจยอมรับมันได้ในวิบากนั้น
ความทุกข์ความกังวลทั้งหลายก็จะเบาบางลง....
            ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตและหลักคิดให้แก่เขา ตามความเหมาะสม
ของแต่ละบุคคล ซึ่งมีเหตุและปัจจัยของปัญหาที่แตกต่างกันออกไปโดยพื้นฐาน
ของชีวิต ความคิดและสิ่งรอบข้าง ปัญหาของแต่ละคนนั้นอาจจะมีความคล้ายกัน
แต่จะไม่เหมือนกันจากเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น จึงมีวิธีการในการแก้ปัญหาที่ต่างกัน
แต่สิ่งที่สำคัญก็คือขวัญและกำลังใจของเขานั้นต้องกลับมา มีความศรัทธาและเชื่อมั่น
ในตนเองให้ได้เสียก่อน  ซึ่งต้องใช้หลักจิตวิทยาและกุศโลบายให้เขายอมรับในตัวเรา
ก็ที่จะให้เขานั้นเชื่อทำตามในสิ่งที่เราแนะนำแกไขให้เขาไป ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้พิธีกรรม
เป็นตัวน้อมนำความคิดเปลี่ยนแปลงจิตของเขาให้เกิดศรัทธา อย่างที่เคยได้กล่าวไว้ว่า
“ พิธีกรรมนั้นใช้สำหรับรักษาโรคอุปทาน สำหรับคนที่มีพื้นทางธรรมนั้นยังไม่มั่นคง “
การกล่าวธรรมเพียงอย่างเดียวบางครั้งก็ไม่ยังศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่เขาได้ เพราะว่าใจ
ของเขานั้นยังไม่พร้อมที่จะรับเอาธรรมะนั้นไปปฏิบัติ จึงต้องจัดสงเคราะห์ให้เหมาะสม
กับแต่ละบุคคลไป ตามเหตุและปัจจัยของแต่ละบุคคล.....
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๒ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

33
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๐ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
             คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ฝนตกหนัก ลมพัดแรงและฟ้าผ่า
ทำให้ไฟฟ้านั้นดับไปชั่วขณะ เพราะกระแสไฟจากฟ้าที่ผ่าลงมา
มีต้นไม้โค่นล้ม ต้องช่วยกันขนย้าย ตัดต้นไม้ที่ล้มลงนั้นมาออก
ช่วยกันทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยง จึงจะตัดแต่งเอาออกได้หมด
ตอนบ่ายมีญาติโยมจากปักษ์ใต้คณะใหญ่ แวะขึ้นมาเยี่ยมเยือน
เพื่อสนทนาธรมและขอความสงเคราะห์ ขอคำแนะนำแก้ปัญหาชีวิต
จึงวางจิตเป็นกลาง ไม่มีคติเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด พิจารณาทุกอย่าง
ตามเหตุและผล หาความเหมาะสมที่ลงตัว ความเป็นจริงในสิ่งที่ทำได้
แนะนำให้คำปรึกษาแก่เขาไป สอดแทรกธรรมะคติธรรม หลักการดำเนิน
ชีวิตที่ถูกต้อง ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ให้แก่เขาเหล่านั้น
สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เขา เพื่อที่จะให้เขาเหล่านั้น มีขวัญและกำลังใจ
ที่จะดำเนินชีวิตต่อไป โดยมีธรรมะคุ้มครอง....
           ญาติโยมลากลับไปแล้ว จึงปรับกาย ปรับจิตของเราให้เป็นปกติ
เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการฝึกจิตในขั้นต่อไป กายพร้อม จิตพร้อม
การปฏิบัติย่อมมีความเจริญในธรรม สภาว ธรรมเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
จิตละเอียดขึ้น เห็นกิเลสภายในชัดเจนขึ้น และดับกิเลสนั้นได้เร็วขึ้น
มีนิวรณ์เข้ามารบกวนในขณะเจริญจิตภาวนา ต้องต่อสู้กับนิวรณ์เหล่านั้น
โดยอาศัยวิริยะบารมีเข้ามาข่ม จากการที่ได้สนทนาธรรมแนะนำญาติโยม
ทำให้ สภาวธรรมนั้นเด่นชัดขึ้น มีปิติทุกครั้งที่ได้อธิบายธรรม ได้กล่าวธรรม
จนลืมเรื่องเวลาที่มันผ่านไป เพราะการที่ได้กล่าวธรรมนั้น มันเป็นการทบทวนธรรม
ไปในตัว และเป็นการสอนตนเองทุกครั้งในธรรมที่กล่าวนั้น......
           รู้สึกตัวว่ากายนั้นตึง เลยบริหารร่างกายโดยการลงไปกวาดใบไม้เศษไม้
เคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อให้เหงื่อมันออก กล้ามเนื้อได้คลายตัว และเพื่อสะลาย
อารมณ์ที่เป็นอยู่ ตามหลักของการปฏิบัติที่ว่า “ เคลื่อนไหวทางกาย สะลายทางจิต “
หลังเหงื่อออกจนท่วมกายแล้ว รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย  ทำความสะอาดร่างกายเสร็จ
จิตเกิดศรัทธาอยากจะภาวนา เพื่อยังความสงบให้เกิดขึ้น จิตตื่นเพราะอารมณ์ปิติ
จากการได้กล่าวธรรมยังค้างอยู่  จึงตามดูตามรู้ในปัจจุบันธรรม.....
     ดังที่เคยกล่าวไว้ในการปฏิบัติธรรม คือการสร้างปิติจากภายนอกเพื่อเข้าสู่ปิติตัวใน
เรามีวิธีที่จะทำได้หลายประการ มันอยู่ที่การฝึกฝนและการทดลองค้นคว้าทางจิต
ไม่มีคำว่าผิดในการปฏิบัติ ถ้าเรารู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา ว่าเราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร
เราจะไม่หลงในอารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเราทำไปโดยไม่รู้และสำคัญผิดโดยคิดว่าใช่
นั่นแหละมันจะพาให้เราหลงอารมณ์ จงมีสติทุกขณะจิต  ในการคิดและการกระทำ
แล้วจะไม่หลงทาง  หลงสภาวธรรม หลงอารมณ์และไม่งมงาย.....
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๑ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

34
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๙ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
        มีผู้สนใจในการปฏิบัติภาวนาแวะเวียนมาพูดคุย ขอคำชี้แนะปรึกษา
ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติอยู่เสมอ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
โดยทางตรงนั้นคือเดินทางขึ้นมาหาที่ตถตาอาศรมบนเขาเรดาร์ด้วยตนอง
ส่วนทางอ้อมนั้นก็คือการฝากข้อความคำถามไว้ในเว็บไซค์หรือในเฟรชบุ๊ค
ซึ่งจะมีมาอยู่มิได้ขาด ได้สงเคราะห์ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาเขาอยู่เสมอ
แก้ปัญหาทางจิตที่ติดขัดให้แก่เขาเหล่านั้น ทำไปตามกำลังสติปัญญาของเรา
เอาประสบการณ์ที่เคยได้ศึกษาและปฏิบัติมาช่วยสงเคราะห์แก่เขาเหล่านั้น
ซึ่งจะเน้นย้ำในเรื่องของสภาวธรรมที่เป็นจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ติดยึดกับวิชาการ
ภาษาคำบาลีทั้งหลาย เพื่อให้ง่ายแก่การทำความเข้าใจ คลายความสงสัยในภาษา
คำศัพท์บาลีทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความเจริญในธรรม....
         การเจริญบริกรรมภาวนา ไม่ว่าจะใช้คำใดก็ตามแต่ จะเป็นคำว่า “ พุทโธ “
“ สัมมาอรหัง “ “ นะมะพะทะ “ ยุบหนอ-พองหนอ “เมื่อถึงจิตเข้าสู่ความเป็นสมาธิ
 คำบริกรรมภาวนานั้นจะหายไป เพราะจิตนั้นจะละเอียดขึ้น เหลือเพียงสภาวะรู้
สิ่งที่จะเป็นต่อไปคือจิตจะมากำหนดรู้สภาวธรรมในองค์ภาวนาและจะชัดเจนขึ้น
ละเอียดขึ้น ตามกำลังของความสงบ ตามกำลังของสติและสมาธิจนถึงระดับหนึ่ง
จิตจะหยุดนิ่งเป็นหนึ่งในอารมณ์แห่งสมาธิ เหลือเพียงธาตุรู้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป
 มันจะเป็นไปตามเจตนาความปรารถนาสิ่งที่อธิษฐานจิตไว้ จิตจะนิ่งสงบหรือจะยก
ขึ้นสู่การพิจารณาธรรม หรือว่าจะเข้าสู่มิติของนิมิตนั้น มันเกิดขึ้นมาในอารมณ์นี้
ซึ่งขึ้นอยู่กับบารมีที่สั่งสมมา ไม่ใช่ว่าจะเป็นเหมือนกันทุกคน แต่ก่อนที่จิตจะเข้าสู่
ความสงบนั้น มันจะมีอารมณ์มาทดสอบกล้า กำลังศรัทธา กำลังสติของเราสิ่งนั้นคือความกลัว
 กลัวตาย กลัวบ้า กลัวนั่งแล้วจิตหลุดไม่กลับมา กลัวไม่รู้ว่าจะต้องพบจะเห็นอะไรในนิมิตนั้น
ความหวั่นไหวหวาดกลัวจะเกิดขึ้นในจิต ซึ่งถ้าศรัทธาของเราไม่มั่นคง เราก็จะหยุดภาวนา
ไม่กล้าที่จะปฏิบัติต่อไป ซึ่งความกลัวนั้นมีสาเหตุมาจากความพร่องแห่งบุญกุศลของเรา
อาจจะเป็นเพราะศรัทธายังไม่มั่นคงยังสงสัยลังเลหรือว่ามาจากความวิบัติบกพร่องแห่งศีล
ทำให้จิตของผู้ปฏิบัตินั้นติดอยู่กับบาปกรรมที่เคยกระทำไว้ ทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง
มันจึงเกิดความกลัว ความหวาดหวั่น เกิดความลังเล ใจไม่เข้มแข็งพอที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้
การปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องยินยอมพร้อมใจ มอบกายถวายชีวิตต่อพระรัตนตรัยต่อการปฏิบัติ
ยอมรับในวิบากกรรมที่เคยทำมา เอาชีวิตเข้าแลกกับคุณธรรม มันจึงจะสำเร็จในการปฏิบัติธรรม
เรียกว่าความเจริญในธรรมนั้นได้บังเกิดแล้วแก่ผู้ปฏิบัติ.......
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นามวจีพเนจร
๑๐ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๒๒ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

35
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๘ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
  ........รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาพยายามรักษาจิตคิดแต่สิ่งที่เป็นกุศล
เป็นการเริ่มต้นด้วยกุศลธรรมในเช้าวันใหม่ให้แก่ชีวิตของตน
รักษาจิตให้เป็นกุศลอยู่กับปัจจุบันธรรม เพื่อจะนำชีวิตไปสู่ทิศ
ทางที่ดี สิ่งที่ดีนั้นต้องเริ่มที่ตัวเราเป็นเบื้องต้น เป็นลำดับแรก
เมื่อจิตของเราอยู่กับปัจจุบันธรรม ทุกอย่างรอบกายที่ได้พบเห็น
ก็จะเป็นธรรมะไปหมดโศลกธรรมต่างๆก็จะเกิดขึ้นแก่จิต ซึ่งเรียกว่า
 " อุทานธรรม " เพราะว่าจิตนั้นกำลังพิจารณาอยู่กับปัจจุบันธรรม
ทำให้อกุศลจิตไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะใจของเรานั้นเป็นกุศล
 ความเป็นมงคลก็ย่อมมีแก่เรา...
.....เรื่องของจิต ไม่ต้องไปคิดให้วุ่นวายใจ ขอเพียงให้เรามีสติ ไม่ให้เผลอ
จะทำกิจอันใดให้ใจมันรู้ทัน ไม่ใช่ทำไปด้วยความหลงงมงาย ความไม่รู้
เพราะเมื่อไม่รู้และหลง ทุกอย่างจึงเป็นการปรุงแต่ง...
.....ทำตนให้เป็นคนเลี้ยงง่าย มีกิจวัตรประจำวันที่เรียบง่าย ใจก็จะสบาย
 ไม่มีความกดดัน ทำให้การภาวนาปฏิบัติจึงทำได้ง่าย สมาธิก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย
ความวุ่นวายก็น้อยลง ความกังวลยึดติดก็จะเบาบางลง..
.....อย่าไปวุ่นวายใจกับคำนินทา เราไม่เก็บคำนินทามาคิด  จิตเราก็จะสบาย
คำติฉินนินทานั้นคือยาชูกำลังที่จะยับยั้งไม่ให้เราหลงระเริงหยิ่งผยองลำพองใจ
 คำนินนทานั้นคือสิ่งกระตุ้นเตือนตัวเราได้คิดพิจารณาตัวของเรา เขาติดีกว่าเขาชม
ทำให้เรารู้ตัวว่าเขาคิดอย่างไรกับเรา ซึ่งถ้าตัวเรานั้นเป็นจริงอย่างที่เขานั้นกล่าวนินทา
เราก็จะได้รู้และปรับปรุงแก้ไข แล้วเราจะไปโกรธเขาทำไม ซึ่งถ้าเราไปโกรธตอบต่อเขา
ก็เท่ากับเรานั้นกำลังแพ้ภัยกิเลสในใจของเรานั้นเอง....
........เมื่อเราอยากจะให้สิ่งที่ดีๆนั้นเกิดขึ้นแก่ตัวเรา เราก็ควรที่จะทำตัวเรานั้นให้ดีเสียก่อน
เพื่อที่จะดึงดูดรองรับสิ่งที่ดีๆที่จะเข้ามา  เรียกว่าการปรับเครื่องรับนั้นให้มันดีและมีคุณภาพ
เพื่อจะรับคลื่นแห่งความดีที่มาสู่เครื่องรับอันคือตัวเรา ทำความสะอาดปัดกวาดจิตของเรา
ให้เป็นระบบและมีระเบียบ มีที่ว่างสำหรับสิ่งที่ดีที่จะเข้ามา........
.........ทุกอย่างนั้นเริ่มต้นที่จิต จากสิ่งที่คิด แล้วจึงจะนำไปสู่การกระทำ โดยการมีสติและ
สัมปชัญญะคอบคุมความคิดทั้งหลายเหล่านั้น ให้อยู่ในกรอบของคุณธรรมในหลักการคิด
จึงจำเป็นต้องฝึกจิตเจริญสติภาวนา เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ดีทั้งหลาย ดำรงทรงไว้อยู่ในกาย
ในจิตของตัวเรา ทุกอย่างจึงต้องเริ่มที่จิตของเรานั้นเอง....
            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๙ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๑๒ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

36
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๗ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึงชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
             ร่างกายอ่อนเพลียจากการเดินทางและจากการที่นั่งสนทนากัน
กับน้องๆที่แวะมาเยือนจนสว่างไม่หลับนอน แล้วเดินทางไปปราจีนบุรีต่อ
กลับมาถึงอาศรมก็นั่งคุยกันต่อจนดึกจึงเข้าที่พัก นั่งเขียนบทความบทกวีต่อ
จนถึงเกือบตีสามจึงได้จำวัตรพักผ่อน หลับยาวรู้สึกตัวตื่นตอนหกโมงเช้า
ทำให้ไม่ได้ออกไปบิณฑบาตเพราะเลยเวลาไปแล้ว.....
           ตอนเช้ามีโยมขึ้นเขาเอาข้าวโพดต้มกับมะพร้าวอ่อนมาถวาย
ฉันอาหารเช้าเสร็จแล้ว ก็ชวนกันลงไปทำบันไดทางเดินขึ้นเขาใหม่
ทำงานเพื่อให้ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เจริญสติสัมปชัญญะ
 ตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ ในอิริยาบถบรรพและสัมปชัญญบรรพ
 คือพิจารณาดูอิริยาบทของกายและพิจารณารู้ตัวในความเคลื่อนไหว
ทำงานไปพิจารณาไปจนไม่ได้สนใจกับเวลาที่ผ่านไป ทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
จึงได้ดูนาฬิกาจึงได้รู้ว่าเวลาผ่านไปจนถึงห้าโมงเย็นแล้ว จึงลงไปสรงน้ำเตรียมตัว
ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็น พยายามทรงอารมณ์กรรมฐานไว้ โดยการมีสติและ
สัมปชัญญะอยู่กับกาย เวทนา จิต ธรรม อยู่ตลอดเวลา พิจารณาในหัวข้อธรรม.....
   ถ้าจิตใจเศร้าโศกไม่เบิกบานร่าเริงแล้ว ความเป็นมงคลทั้งหลายก็จะหายไปหมด 
แต่ถ้าจิตใจไม่เศร้าโศก มีแต่ความร่าเริงแจ่มใสเกษมสำราญ ความเป็นมงคลทั้งหลาย
ก็จะปรากฏขึ้น ดั่งคำที่ว่า " จิตดี กายเด่นจิตด้อย กายดับ " เมื่อจิตใจเป็นกุศลความเป็น
มงคลทั้งหลายก็จะเกิดขึ้น......
   อย่าลุอำนาจแก่ความโกรธเป็นอันขาด เพราะเมื่อความโกรธนั้นเกิดขึ้นแล้ว
มันจะมืดมิดปิดบังปัญญา คิดแต่จะเอาชนะเพียงอย่างเดียว ทั้งที่จริงแล้วมันกำลังแพ้ตัวเอง
แพ้ความโกรธของตัวเอง ถ้าระงับความโกรธไม่ได้ ใจก็ไม่เป็นสุข เพราะฉะนั้นอย่าเอาความโกรธ
มาเป็นอารมณ์มาเป็นตัวของตัวเป็นอันขาด พึงข่มความโกรธ ด้วยการเจริญสติ การลดทิฏฐิ
การให้อภัย แล้วใจของเรานั้นจะสบาย......
   ผู้เจริญย่อมไม่เบียดเบียนใคร ไม่อาฆาตใคร ไม่พยาบาทใคร ให้อภัยแก่คนทุกจำพวก
เจริญเมตตาจิต เป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั้งหลาย ไม่เอาเรื่องเอาราวกับใคร ใจพร้อมที่จะให้อภัย
อยู่เสมอ วางใจได้อย่างนี้ ใจเราก็จะมีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์เพราะการให้อภัย.....
   ให้มีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา มีสัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมออย่าให้เผลอ
จิตนิ่งสงบก็รู้อยู่ในความนิ่งสงบนั้น เป็นหนึ่งอยู่ รู้ตัวอยู่ ไม่เผลอ ไม่หลง ไม่ส่ง ไม่ส่าย ไม่วุ่น ไม่วาย
 ไม่ปล่อยใจให้ไปออกนอกลู่นอกทาง อยู่กับอารมณ์กรรมฐานตลอดเวลา อย่าให้มีช่องว่างที่กิเลส
จะแทรกเข้ามาได้ เราก็จะได้พบกับสภาวธรรมที่แท้จริง.......
   ต้องรวมจิต ให้ไปอยู่ ณ จุดเดียว เมื่อจิตเข้าถึงความสงบจิตนั้นจึงจะมีพลัง ที่เรียกว่าพลังจิต
แล้วพิจารณาในพลังจิตนั้นอย่างแยบคาย เราก็จะได้เห็นธรรม ธรรมอันเกิดจากจิต ที่พิจารณาในอารมณ์สมาธิ
เห็นกาย เห็นจิต ก็เห็นธรรม......
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๘ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

37
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๖ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่  ๗  กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
                 ตลอดเวลาช่วงกลางวันมีภารกิจสงเคราะห์หมู่คณะและญาติโยม
เดินทางออกไปต่างจังหวัดเพื่อดูงานบางอย่าง  กลับถึงอาศรมที่พักตอนใกล้ค่ำ
ใช้เวลาศึกษาธรรมคำสอนของผู้รู้ครูบาอาจารย์ เพื่อเป็นการย้ำเตือนจิตในกิจที่ทำ
ยกคติธรรมคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บางบทขึ้นมาคิดและพิจารณาธรรม
น้อมนำมาเป็นแบบอย่างของการประพฤติปฏิบัติ เพื่อฝึกหัดกล่อมเกลาตนเอง
อ่านแล้วใคร่ครวญ ทบทวนพิจารณา เพื่อให้ปัญญาความเห็นที่ถูกต้องนั้นเกิดขึ้น
เพื่อจะได้สงเคราะห์ตนเองและผู้อื่นในโอกาสต่อไป....
...คติธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต....คัดจากหนังสือ ขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะ.....
   “ ผู้สนใจศึกษาปฏิบัติธรรม คือผู้สนใจหาความรู้ความฉลาดเพื่อคุณงามความดีทั้งหลาย
ที่โลกเขาปรารถนากันเพราะคนเราจะอยู่และไปโดยไม่มีเครื่องป้องกันตัวย่อมไม่ ปลอดภัย
ต่ออันตรายทั้งภายนอกภายใน เครื่องป้องกันตัวคือหลักธรรมมีสติปัญญาเป็นอาวุธสำคัญ
จะเป็นเครื่องมั่นคงไม่สะทกสะท้านมีสติปัญญาแฝงอยู่กับตัวทุกอิริยาบท จะคิด-พูด-ทำอะไร
ไม่มีการยกเว้น มีสติปัญญาสอดแทรกอยู่ด้วยทั้งภายในและภายนอก มีความเข้มแข็งอดทน
มีความเพียรที่จะประกอบคุณงามความดี คนอ่อนแอโง่เง่าเต่าตุ่นวุ่นวายอยู่กับอารมณ์
เครื่องผูกพันด้วยความนอนใจ และเกียจคร้านในกิจการที่จะยกตัวให้พ้นภัย”.........

   “ การตำหนิติเตียนผู้อื่น ถึงเขาจะผิดจริงก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย
ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น นักปราชญ์ถือเป็นความผิด
และบาปกรรม ไม่มีดีเลย จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน
       “การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตน
ให้ได้รับความทุกข์  จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย
ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง “.......

     “ ผู้เห็นคุณค่าของตัว จึงเห็นคุณค่าของผู้อื่น ว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียน
ทำลายกัน  ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปในสุคติในโลกสวรรค์ ไม่ตกต่ำเพราะอำนาจศีล
คุ้มครองรักษาและสนับสนุน จึงควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์ ธรรมก็สั่งสอนแล้ว
ควรจดจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคงจะเป็นผู้ทรงคุณสมบัติทุกอย่างแน่นอน”......
         เมื่อได้นำมาขบคิดพิจารณา จึงได้รู้ว่าเรานั้นยังต้องฝึกหัดปฏิบัติอีกมากมายให้ยิ่งขึ้น
เพื่อความเป็นไปให้ถึงซึ่งความเจริญในธรรม เห็นถึงความบกพร่องทั้งทางกายและทางจิต
คือความคิดและการกระทำของตนเองที่ผ่านมา จึงต้องศึกษาและปฏิบัติเร่งความเพียรให้ยิ่งขึ้น
เพราะเพียงแต่รู้ เพียงแต่เห็น เพียงแต่เข้าใจ แต่ยังมิได้ทรงไว้ในธรรมเหล่านั้น เป็นเพียงการ
เดินผ่านซึ่งกระแส แต่ยังไม่ได้เข้าไปทรงอยู่ในสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เรียกว่ายังไม่เข้า
ถึงสภาวธรรมที่แท้จริง จึงเป็นสิ่งที่ต้องคิดพิจารณาและนำไปปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงและทรงอยู่
ในธรรมเหล่านั้น  อันเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรม....
      ... แด่การย้ำเตือนจิตให้คิดและพิจารณาน้อมนำมาสู่ตนเอง...
                 ...เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต...
                      ...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๗ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

38
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๕ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
            มีผู้คนที่ไม่เข้าใจมาถามไถ่อยู่เสมอว่า ทำไมยังเกี่ยวข้อง
อยู่กับพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง
ทำไมไม่เอาธรรมะของพระพุทธเจ้าล้วนๆมาเผยแผ่สั่งสอน
ได้ตอบเขาเหล่านั้นไปว่า มันคือความหลากหลายของคน
ที่แตกต่างด้วยธาตุและอินทรีย์ บารมีที่สะสมแตกต่างกันมา
ซึ่งพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ วัตถุมงคล เครื่องรางของขลังนั้น
เป็นกุศโลบายทางธรรม ที่จะน้อมนำมาซึ่งความศรัทธา
ก่อนที่จะสอดแทรกธรรมะเนื้อหาเติมลงไป....
         โรคที่รักษายากที่สุดคือโรคอุปาทาน เพราะว่ามันเกิดที่จิต
มันยึดติดอยู่ ใจมันคิดอยู่ตลอดว่าโรคนั้นยังไม่หายมันยังเป็นอย่างนั้น
อย่างนี้อยู่ จิตมันจะสร้างภาพและอาการของโรคที่คิดว่าเป็นอยู่ขึ้นมา
ตลอดเวลา การที่จะรักษาโรคอุปาทานนั้น จึงจำเป็นต้องมีพิธีกรรม
 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ให้เขาเกิดความศรัทธาในการรักษา
เพื่อให้เชื่อว่าอาการที่เขาเป็นอยู่นั้น ได้รับการรักษาและแก้ไขให้แล้ว
พิธีกรรมนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีและต้องทำ แต่สิ่งที่สำคัญนั้นก็คือ
 ผู้ประกอบพิธีต้องระลึกรู้และเข้าใจในพิธีกรรมนั้นว่าเป็นไปเพื่ออะไร
ทำไมต้องทำ เจตนาของผู้ประกอบพิธีกรรมนั้นต้องบริสุทธิ์ ไม่ใช่เป็นไป
เพื่อแสวงหาเอกลาภหลอกลวง มอมเมาให้หลงงมงาย เพื่อให้ได้มา
ซึ่งความศรัทธาและเอกลาภจากการทำพิธีนั้น พิธีกรรมนั้นจึงเป็นการรักษา
ในเชิงจิตวิทยา เพื่อรักษาโรคทางจิตชนิดหนึ่ง ที่พึงต้องกระทำ......
          โลภัง ธัมมานัง ปริปันโถ...ความโลภเป็นอันตรายต่อธรรมท้งหลาย
เป็นอันตรายต่อความเจริญในธรรม เพราะความโลภนั้นจะนำมาซึ่งกิเลสตัณหา
ตัวอื่นให้ตามมา เพื่อตอบสนองความต้องการนั้นให้ได้ดังที่ใจตั้งไว้ จึงเป็นอันตราย
ต่อความเจริญในธรรมทั้งหลาย.....
        โกโธ ธัมมานัง ปริปันโถ...ความโกรธเป็นอันตรายต่อสติและปัญญา
ของตนเอง ถ้าเผลอสติหลงไปกับอารมณ์นั้นมันจะเป็นการทำลายตนเอง
 ความโลภและความโกรธจึงเป็นอันตรายต่อธรรมทั้งหลาย ทำลายชื่อเสียง
 เกียรติยศและความดีทั้งหลายให้พังทลายลง......
      หากคนเราประพฤติปฏิบัติตามธรรมะที่เป็นจริง และทำให้จริงได้แล้ว
สังคมก็จะไม่เดือดร้อนวุ่นวาย เหตุที่ทำให้สังคมมีปัญหาอย่างที่เป็นอยู่นั้น
เพราะว่าสังคมไม่ยอมรับนับถือบทบาทและหน้าที่ในบทบาทของแต่ละคน
ไม่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของแต่ละศาสนาที่ตนนับถือ
 เอาทิฏฐิมานะและอัตตาของตนเองเป็นใหญ่ สังคมจึ่งวุ่นวาย
เหมือนที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านได้กล่าวไว้ว่า...เมื่อศีลธรรมไม่กลับมา
 โลกาจะวินาศ....เพราะว่าคนนั้นขาดซึ่งหลักธรรมในการดำรงค์ชีวิต
จึงคิดผิด ทำผิด ไปตามอำนาจของกิเลสและตัณหา......
       ทานัง เทติ...การให้ทานนั้นเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างหยาบอันดับแรก
ทำบ่อยๆแล้วความเห็นแก่ตัวก็จะเบาบางลงรู้จักเสียสละ ไม่ตระหนี่หวงแหน
 แล้วคุณธรรมที่สูงกว่าดีกว่าก็จะปรากฏขึ้นมาในจิตของผู้นั้นเอง เพราะว่าผู้ให้
นั้นจะมีจิตใจที่อ่อนโยนและใจที่เปิดกว้าง รู้จักละวางเสียสละซึ่งประโยชน์ของตน
ทานจึงเป็นเบื้องต้นแห่งการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย.....
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๖ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๓๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

39
คุณค่าของวันเวลาทีผ่านไป ๔ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
          เขาเรดาร์ไม่เคยร้างลาจากผู้มาเยือน มีญาติโยมแวะเวียนมาอยู่เสมอ
เป็นที่พบปะพูดคุยกัน เพราะธรรมชาติที่บนเขาเรดาร์นั้นมีความเป็นสัปปายะ
มีทั้งที่มาแสวงหาธรรมะความสงบและที่มาเพื่อหลบความวุ่นวายได้พักผ่อน
พูดคุยต้อนรับสนทนาธรรมกันตามกาลเวลา ไม่เน้นในรูปแบบให้เกิดความกดดัน
เป็นไปเพื่อความผ่อนคลายสบายใจ เติมความสุขให้กับชีวิตโดยวิถีแห่งธรรมชาติ
ในการสนทนานั้นสอดแทรกธรรมะข้อคิดสะกิดเตือนใจ ให้ระลึกถึงความจริงของชีวิต
 ในขณะที่กล่าวธรรมนั้น เราต้องวางอารมณ์ให้เป็นสมาธิในกรรมฐานกองที่เรานั้น
กำลังกล่าวถึง มันจะเกิดสภาวธรรมะลื่นใหล อารมณ์ธรรมนั้นจะเกิดต่อเนื่องกันไป
ทำให้เราบรรยายธรรมได้ไม่ติดขัด เป็นธรรมะที่เกิดจากสภาวะของจิตในขณะนั้น
 มันจะเป็นธรรมชาติเพราะว่าเราไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะบรรยายเรื่องอะไร
มันจึงเป็นการกล่าวปัจจุบันธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งมันจะสอดคล้องกับจังหวะ
เวลา โอกาศ สถานที่และบุคคลในขณะนั้น ซึ่งเป็นอานิสงส์ของการที่ได้ฝึกปฏิบัติธรรม
ในกรรมฐานมาทุกกองและทุกแนว ทำให้พอจะมีความรู้และความเข้าใจในอารมณ์
ของกรรมฐานแต่ละกองแต่ละแนวที่มีการปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน เพราะว่าแต่ละคน
ที่มาปรึกษาสนทนาธรรมนั้น ปฏิบัติธรรมแตกต่างกันคนละแนวคนละกรรมฐาน
และอินทรีย์แตกต่างกันตามกำลังที่ได้ปฏิบัติกันมา เราต้องเข้าอารมณ์กรรมฐาน
ในกองเดียวแนวทางเดียวกับเขา และเข้าอารมณ์ไปให้ถึงจุดที่เขาติดขัดสงสัย
และเป็นปัญหาสำหรับเขา มันจะทำให้เราเห็นถึงความผิดพลาดเห็นที่เกิดของปัญหา
และสภาวะธรรมข้างหน้าที่เขาจะพบต่อไป เมื่อรู้และเข้าใจจึงจะแก้ปัญหาให้เขาได้.....
   อานิสงส์แห่งเมตตา ๑๑ ประการ   
๑.สุขัง สุปะติ...หลับอยู่ก็เป็นสุขสบาย
๒.สุขัง ปะฏิพุชฌะติ...ตื่นขึ้นก็เป็นสุขสบาย
๓.นะ ปาปะกัง สุปินัง ปัสสะติ...ไม่ฝันร้าย
๔.มะนุสสานัง ปิโย โหติ...เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
๕.อะมะนุสสานัง ปิโย โหติ...เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖.เทวะตารักขันติ...เทวดาย่อมคุ้มครองรักษา
๗.นาสสะ อัคคิ วา วิสัง วา สัตถัง วา กะมะติ...ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี ศัตราก็ดี ทำอันตรายไม่ได้
๘.ตุวะตัง จิตตัง สะมาธิยะติ...จิตย่อมเป็นสมาธิได้รวดเร็ว
๙.มุขะวัณโณ วิปปะสีทะติ...ผิวพรรณย่อมผ่องใส
๑๐.อะสัมมุฬ์์โห กาลัง กะโรติ...เป็นผู้ไม่ลุ่มหลงทำกาลกิริยา
๑๑.อุตตะรัง อัปปะฏิวิชฌันโต พรหมะ โลกูปะโค โหติ...เมื่อยังไม่บรรลุคุณธรรมวิเศษอันยิ่งๆขึ้นไป
      ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก
                      เมตตาวิหารธรรมคือพื้นฐานของการปฏิบัติ เพื่อขจัดซึ่งอัตตาความเห็นแก่ตัว
เพื่อให้จิตใจนั้นไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนและนุ่มนวลทางจิต ลดโทสจริตความรุ่มร้อน
ทำให้จิตใจของผู้ที่เจริญเมตตาจิตนั้นสงบเย็น โดยมีสติและสัมปชัญญะคอยควบคุมจิตอยู่
เพื่อไม่ให้เกิดการหลงงมงาย ทำให้มีความพอดี เพื่อความเจริญในธรรมทั้งหลาย....
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๕ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๕๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

40
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๓ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
        " การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม เรียกว่าทำความเพียร
ไม่จำเป็นว่าต้องนั่งสมาธิ เดินจงกรมจึงจะเรียกว่าทำความเพียร
ถ้าไม่มีสติรู้ตัว ฟุ้งซ่านไป คิดไปเรื่อย ก็ไม่เรียกว่าทำความเพียร
ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบทใดจะยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าเรามีสติรู้ตัวทั่วพร้อม
อยู่ในขณะนั้น จึงเรียกว่าเรากำลังปฏิบัติธรรมทำความเพียรอยู่ ".......
        " ให้มีสติอยู่กับ กาย เวทนา จิต ธรรม เอาจิตพิจารณาอยู่กับสิ่งทั้งสี่ื
ตลอดเวลา พิจารณาอย่างแยบคาย ทำอย่างนี้ให้เป็นนิสัย
 จนกลายเป็นความเคยชิน เอาธรรมเป็นผู้ตัดสินในทุกสิ่งอยู่เสมอๆแล้วใจจะสบาย "......
          " การปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อพอจะเริ่มรู้และเข้าใจในธรรม
 ให้ระวังตัวมานะทิฏฐิเป็นอย่างมาก เพราะจะหลงไปคิดว่า
คนอื่นไม่ดีเท่าเรา ไม่เก่งเท่าเรา เราดีกว่าผู้อื่น เก่งกว่าผู้อื่น
จะทำให้ขาดความเคารพต่อครูบาอาจารย์ ลบหลู่ครูบาอาจารย์
และผู้ปฏิบัติธรรมท่านอื่น แม้จะดูภายนอกอ่อนน้อมแต่จิตใจเย่อหยิ่ง
มันเป็นจิตวิปลาส สัญญาวิปลาส "........
       " เมื่อเราเพียรเพ่งดูจิต ดูความคิด ให้จิตอยู่กับตนเองตลอดเวลา
เราก็จะเข้าใจในสังขาร ร่างกายและจิตของเรา ".......
         " ความว่างทางจิตนั้น คือความว่างจากอารมณ์ยินดี ยินร้าย
แต่ไม่ว่างจากสติ  การฝึกให้ใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัวนั้น
เราต้องหมั่นดูกายของเราให้เป็นนิสัย ให้เป็นความเคยชิน
 เรียกว่าการเอาจิตมาคุมกาย อยู่กับกาย ฝึกให้จิตเป็นสมาธิอยู่กับกาย
การฝึกกรรมฐานวิธีนี้ ทำให้เราสามารถที่จะหลบอารมณ์ความรู้สึก
ที่มากระทบทั้งหลายได้ โดยเอาสติและจิตมาอยู่ในกาย ย้ายอารมณ์
การดูร่างกายของตัวเราเองนั้น จะเป็นการเอาจิตไปฝอกกาย
หลับตาแล้วระลึกรูปร่างหน้าตาของตัวเราเอง จนรูปของตัวเรานั้น
เห็นเด่นชัดด้วยตาใน มองต่อไปแยกกายเนื้อออกไปจนเหลือเพียงโครงกระดูก
 เพ่งดูโครงกระดูกนั้นจนเห็นกระดูกนั้นขาวใสเป็นแก้ว พระกรรมฐานที่ปฏิบัติ
ในแนวนี้ทุกรูป เมื่อมรณะภาพไป ร่างกายทั้งหลายทุกส่วนนั้นจะกลายเป็นพระธาตุ
เพราะร่างกายนั้นถูกฝอกด้วยจิตที่มีพลังของสมาธิจนสะอาดบริสุทธิ์
จนกลายเป็นผลึกแก้วใส อย่างที่่เคยได้เห็นกันมา ว่ากระดูกและเถ้าถ่าน
ของครูบาอาจารย์พระอริยเจ้าทั้งหลายได้กลายเป็นพระธาตุ
แต่ก็มีกระดูกของพระอริยสงฆ์บางท่าน ที่กระดูกและเถ้าถ่าน
ไม่ได้กลายเป็นพระธาตุ เพราะท่านไม่ได้มาตามแนวของกายคตานุสติ
ท่านเพ่งดูที่ิจิตใช้จิตฝอกจิต จนถึงความวิมุติ หลุดพ้น กระดูกของท่าน
จึงไม่ได้เป็นพระธาตุ ฉะนั้นเราอย่ารีบด่วนสรุปว่าครูบาอาจารย์ที่กระดูก
ไม่ได้เป็นพระธาตุนั้น ว่าไม่ได้เป็นพระอริยสงฆ์ ซึ่งจะทำให้เป็นการจาบจ้วงหลบหลู่
พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นวิบากกรรมแก่ตนเอง การเป็นพระอริยะนั้น
ผู้ที่สามารถจะชี้ชัดได้นั้นมีเพียงพระพุทธเจ้าเพียงผู้เดียว ที่คำตรัสของท่านเป็นหนึ่งเสมอ
จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อจะได้ไม่สร้างกรรม
จาบจ้วงลบหลู่พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลายและเราต้องแยกกันให้ได้ระหว่าง
พระอภิญญากับพระอริยะ ซึ่งบางครั้งพระผู้มีอภิญญาก็ไม่ได้เป็นพระอริยะ
และบางครั้งพระอริยะก็ไม่มีอภิญญา  เพราะอภิญญานั้นมันเป็นเรื่องฤทธิ์
ส่วนความเป็นอริยะนั้นคือการหมดไปของกิเลสทั้งหลาย...
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๔ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

41
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔         
           เมื่อศรัทธาในกุศลกรรมทั้งหลายได้เกิดขึ้นในจิตเกิดขึ้น
จงพยายามรักษาศรัทธานั้นและเพิ่มกำลังศรัทธานั้นให้ยิ่งๆขึ้นไป
 เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในบุญกุศลให้กับตัวของเราเอง 
และเราต้องมีความศรัทธาในความดีในตัวของเราก่อนเป็นลำดับแรก
คือเชื่อในสิ่งที่คิดและเชื่อในสิ่งที่ทำกรรมที่เป็นกุศลธรรมทั้งหลาย
 ศรัทธาในตนเองนั้น แตกต่างกันกับการยึดมั่นถือมั่นในตนเอง
 ซึ่งการยึดมั่นถือมั่นในตนเองนั้นเรียกว่า อัตตา มานะทิฏฐิ
คือความเชื่อในสิ่งที่ผิดเป็นการคิดเข้าข้างตนเองโดยอัตตา
 โดยเอาความรู้สึกนึกคิดของตนเองมาเป็นตัวตัดสิน ถูกผิด
ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลที่เป็นกุศลกรรมเป็นตัวตัดสิน......
             แต่ความมีศรัทธาในตนเองนั้น คือความภาคภูมิใจ
ในสิ่งที่ดี ที่ได้กระทำมา เชื่อในความดีในสิ่งที่คิดและที่ทำ
นั้นคือความศรัทธาในตนเอง ศรัทธานั้นเป็นเพียงความคิด
เกิดขึ้นที่จิตเป็นเพียงนามธรรม เราจึงต้องต่อยอดศรัทธานั้น
 โดยการนำความคิดที่ดีนั้น มาทำให้เป็นรูปธรรม ทำให้เห็นและเป็นจริง
และเมื่อสิ่งที่ทำนั้นสำเร็จผล มันก็จะเพิ่มขวัญและกำลังใจให้แก่ตัวเราเพิ่มขึ้น
 ทำให้เรามีกำลังใจที่จะกระทำในสิ่งที่ดีต่อไป ทุกอย่างต้องเริ่มที่ใจ
 ปลุกศรัทธาในจิตของเราให้ตื่นขึ้น เพราะในส่วนลึกของจิตของทุกคนนั้น
 ล้วนแต่อยากจะเป็นคนดี อยากจะทำความดี แต่ส่วนใหญ่ได้แต่คิด
 แต่ไม่กล้าที่จะทำ เพราะว่าขาดความมั่นใจและความศรัทธาในตนเอง
จึงต้องให้มองย้อนกลับไป ว่าในชีวิตที่ผ่านมานั้น มีอะไรบ้างที่เราได้ทำลงไป
และสิ่งนั้นมันเป็นความภาคภูมิใจของเรา เมื่อเราคิดถึงสิ่งนั้นครั้งใด
ทำให้ใจเรามีความสุขและมีความภาคภูมิใจ สิ่งที่คิดนั้นคือการปลุกศรัทธา
ความเชื่อมั่นให้กับตัวเรา....
          ก่อนที่จะให้บุคคลอื่นมาศรัทธาในตัวของเรานั้น จงมองย้อนกลับมา
ที่ตัวของเรา ว่าตัวของเรานั้นมีอะไรที่จะให้บุคคลอื่นเขาศรัทธาแล้วหรือไม่
และเรานั้นศรัทธาในตัวของเราแล้วหรือยัง มีอะไรบ้างที่เราได้สร้างไว้กระทำไว้
ให้เป็นอนุสรณ์เตือนใจให้คนรุ่นหลังระลึกถึงคุณงามความดีในสิ่งที่เรานั้นได้ทำไว้
และสังคมทั่วไปยอมรับศรัทธาในสิ่งนั้น ไม่ใช่การคิดเข้าข้างตนเองว่าสิ่งที่เราได้ทำ
ไปนั้นมันมีคุณค่า แต่สังคมส่วนใหญ่จะเป็นผู้ตัดสินในสิ่งนั้น...
         ด้วยความเชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดีที่เป็นกุศลธรรมทั้งหลาย
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๑๕ น. ณตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

42
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
         ทบทวนคืนวันที่ผ่านมา เพื่อนฝูงจากลาและร่วงโรยไปตามกาลเวลา
ได้แต่แผ่เมตตาอุทิศบุญกุศลไปให้ แด่ดวงวิญญาณของผู้ที่จากไปเหล่านั้น
สิ่งที่เหลือไว้คือความทรงจำที่ดีงาม ทุกยามที่คิดถึงเขาทั้งหลายเหล่านั้น..
.เราทำได้เพียงเท่านี้...คือกรรมที่ร่วมทำกันมา ให้ได้มาพบปะและเจอะเจอกัน
ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ทั้งกุศลและอกุศล ล้วนแล้วแต่เป็นผลของกรรมที่ร่วมทำ
กันมาแต่ในอดีตชาติ คิดได้ทำใจได้ก็สบายใจ ทำหน้าที่ของเราต่อไปตามปกติ
เดินหน้าต่อไป เพื่อให้ถึงซึ่งสัจจธรรมที่แท้จริง สิ่งที่เรานั้นแสวงหา.....
        สัจจธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่เผ้อฝันหรือจินตนาการเมือนที่ผ่านมา
เมื่อก่อนนั้น เราเรียกร้องแสวงหาเพื่อสนองตอบความต้องการของเรา
เราไปเรียกร้องให้ผู้อื่นปฏิบัติ เพื่อสนองตอบความต้องการของเรา
เราอยู่ในโลกแห่งความฝัน ในโลกแห่งจินตนาการ โดยคิดว่าสิ่งนั้นคือสัจจธรรม
เมื่อวันเวลาผ่านไป เราได้รู้เราเข้าใจในโลกใบนี้ ในวิถีของสัตว์โลกที่แตกต่างกัน
จึงทิ้งความฝันมาสู่ความจริงของชีวิต พยายามออกจากกระแสโลก เข้าสู่กระแสธรรม
เพื่อไปให้ถึงซึ่งความสงบสุขที่บริสุทธิ์ ไร้ซึ่งกิเลสและตัณหา......
       เดินไปในเส้นทางธรรม พยายามที่จะดำเนินชีวิตไปตามพระธรรมเดินตามคำสั่งสอน
ของพระพุทธองค์ เท่าที่จะทำได้ ตามสติปัญญาและบุญกุศลของเรา ไม่ใช่เป็นการเห็นแก่ตัว
 แต่เราต้องเอาตัวให้รอดเสียก่อน ก่อนที่เราจะไปช่วยผู้อื่น ก่อนที่จะไปสอน ไปแนะนำผู้อื่น
ต้องรู้ ต้องเข้าใจและทำได้ ให้รู้จริง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการแนะนำสั่งสอนเขา
ต้องฝึกหัดปฏิบัติที่ตัวเรา ให้เกิดความกระจ่างชัดในสภาวธรรมทั้งหลาย ทำความรู้ความเข้าใจ
ของเรานั้นให้ถูกต้องสอดคล้องในหลักธรรม ก่อนจะนำไปเผยแผ่แก่คนทั้งหลาย......
 .....ขอบคุณบุญเก่าที่ให้เราได้มาสู่เส้นทางธรรม –ขอคุณกุศลกรรมที่ได้ทำมาแล้วในชาตินี้....
  ......เชื่อมั่น-ศรัทธา-ในผลของกรรมสิ่งที่ได้กระทำมา-ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต......
                      ..............รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร.................

43
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๓๑ สค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
           มีปัญหาสุขภาพเล็กน้อยเพราะออกไปตากฝนตอนกลางคืน
ออกไปตรวจดูความเรียบร้อยของรางน้ำฝนในขณะที่ฝนตกตอนตีสอง
ซึ่งปรากฏว่ามีปัญหาอยู่สองจุดที่น้ำใหลย้อนไม่ใหลไปตามท่อที่วางไว้
เพราะช่างมักง่ายไม่ได้จับระดับความลาดเอียง เพียงตีวางไปตามแนว
ของเชิงชาย จึงทำให้เกิดน้ำใหลย้อน เพราะฝั่งปลายท่อน้ำลงนั้นสูงกว่า
ซึ่งถ้าเราไม่ออกมาตรวจสอบตอนฝนตกก็จะไม่รู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน
เปียกฝนไปทั้งตัว กลับขึ้นมาเช็ดตัวแล้วจึงเข้านอนประมาณตีสามกว่า......
          ตื่นเช้ารู้สึกตัวขึ้นมา รู้ว่าร่างกายผิดปกติจึงพยายามทรงอารมณ์ปิติไว้
เพื่อปรับสภาพร่างกาย ปฏิบัติตัวแบบสบายๆไม่ตึงเกินไปและไม่หย่อนเกินไป
ศรัทธาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เสริมต่อ รักษาไว้ทันที ใช้เวลาพักผ่อนด้วยการค้นคว้า
ศึกษาตำราธรรมะที่เป็นภาษาปริยัติ เพื่อทำความเข้าใจในธรรมนั้นให้ถูกต้อง
ยกโพชฌงค์ ๗ ขึ้นมาพิจารณาตามลำดับชั้นไล่เรียงสภาวะธรรมขององค์โพชฌงค์ ๗
เชื่อมโยงไปสู่ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ที่เป็นสัมปยุตตธรรม พิจารณาอิทธิบาท ๔ ข้อวิมังสา
 ทบทวนใคร่ครวญ การปฏิบัติที่ผ่านมา และสภาวะธรรมต่างๆของกรรมฐานแต่ละกอง
ที่ได้เคยปฏิบัติมาแยกแยะหมวดหมู่ของการปฏิบัติสภาวธรรมแต่ละอย่างได้ชัดเจน
เกิดสภาวะปิติเอิบอิ่มในธรรม....
          การปรุงแต่งในปุญญาภิสังขารบางครั้งก็เป็นทุกข์ได้ เพราะว่าเกินความพอดี
ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านได้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอดี
และความเหมาะสม ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้เป็นทุกข์เป็นโทษได้ เพราะว่าเกินกำลัง
จึงต้องพยายามควบคุมความคิค ความอยาก ให้อยู่ในกรอบในกฏเกณฑ์ของความพอดี
ประคับประคองจิตไว้ให้เป็นกุศลจิตตลอดเวลาทรงไว้ในอารมณ์ปิติกำหนดสติและสัมปชัญะ
พิจารณาธรรมตามดูตามรู้ตามเห็นในอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทำความรู้ตัวทั่วพร้อม โปร่ง โล่ง เบา
 สบาย ดำรงทรงไว้ซึ่งความเป็นกุศลจิตทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความเจริญในธรรรม....
 ...แด่โพชฌงค์ ๗ องค์ปัญญาตรัสรู้และโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ที่เป็นสัมปยุตตธรรม....
                  ร่างกายเริ่มปรับสภาพได้ อาการป่วยไข้ไม่สบายก็หายไป เพราะว่าธาตุในกายนั้น
ได้ปรับให้มีความสมดุลกันแล้ว ความเจ็บป่วยทั้งหลายนั้นเกิดจากความผิดปกติของธาตุในกาย
อันมีสาเหตุมาจากกรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่ทำให้ธาตุในกายนั้นแปรปรวนไปไม่สมดุลกัน
สิ่งที่สำคัญก็คือจิตของเรา ที่จะเข้าไปควบคุมธาตุทั้งหลายเหล่านั้น ให้เกิดความสัมพันธ์พอดี
สมดุลต่อกัน  “ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ทุกเรื่องราว ล้วนเกิดจากจิต  “ เมื่อจิตดีย่อมจะส่งให้
กายนั้นเด่น แต่ถ้าจิตนั้นด้อยขาดกำลัง กายนั้นก็จะเสื่อมโทรมไม่มีราศี ดั่งที่เคยได้กล่าวไว้ว่า
“ จิตดี กายเด่น จิตด้อย กายดับ “  จึงจำเป็นต้องฝึกฝนจิต รักษาจิตนั้นให้มีกำลังอยู่เสมอ....
                            เชื่อมั่น-ศรัทธาในธรรม-ด้วยความปรารภนาดีและไมตรีจิต
                                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๐๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

44
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๓๐ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          วันเวลาที่ผ่านไปทุกขณะนั้นพยายามเจริญสติและสัมปชัญญะให้มากเท่าที่จะทำได้
ตามกำลังความสามารถและโอกาสที่มี พยายามดับสิ่งที่เป็นอกุศลในจิตให้ดับไปโดยรวดเร็ว
ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกไม่ให้ปรุงแต่งไปกับผัสสะสิ่งกระทบทั้งหลาย รักษาจิตไว้ให้เป็นกุศล
ตรวจ สอบกาย ตรวจสอบจิต ตรวจสอบความคิด ตรวจสอบการกระทำ ทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมา
ในหนึ่งวัน  ว่าเวลาที่ผ่านไปนั้นจิตเราเป็นอย่างไร  ใจเราอยู่กับกุศลหรืออกุศลฝ่ายไหนมากกว่ากัน
พยายามประคับประคองจิตให้อยู่ในกุศลจิต โดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่  พยายามตัดสิ่ง
ที่เป็นอกุศลจิตออกไป  ไม่ไปส้องเสพในอกุศลจิตทั้งหลาย รักษาไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นกุศล เป็นการฝึกตน
อยู่ทุกขณะจิต  ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทรงไว้ได้ซึ่งสภาวะธรรมเหล่านี้  เพราะมีภาระหน้าที่ ที่ต้องกระทำ
ต้องทำงานคลุกคลีกับหมู่คณะและญาติโยม ซึ่งมีลักษณะและอุปนิสัยที่แตกต่างกัน   ภูมิธรรม
ภูมิปัญญาแตกต่างกัน จึงต้องเตรียมกายเตรียมใจไว้สำหรับเผชิญกับปัญหา ผัสสะที่จะมากระทบ
ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้าในทุกโอกาศและสถานะการณ์  ซึ่งต้องควบคุมกายและจิต คุมความคิด
ที่จะให้ไม่คล้อยตามกระแสโลกกระแสสังคมจนเกินไป ทรงรักษาไว้ซึ่ง " สมณะจิต" ......
        อยู่กับปัจจุบันธรรม ด้วยการเจริญสติและสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา  ไม่หนีปัญหาด้วยการ
หลบเข้าอารมณ์สมาธิ ใช้สติและปัญญาพิจารณาหาเหตุ หาปัจจัยของอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น
แล้วเข้าไปดับที่เหตุ โดยการพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็ยภัย เห็นโทษ เห็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
ของอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จนเกิดความกลัวความละอายต่ออกุศลจิตทั้งหลาย เกิดธรรมสังเวชขึ้นในจิต
 เพื่อให้จิตถอดถอนจากการยึดถือ จนเกิดความเบื่อหน่ายจางคลาย เกิดการปล่อยวาง เมื่อจิตไม่เข้าไป
เกี่ยวข้องยึดถือแล้ว มันก็ดับเหตุไปได้ครั้งหนึ่ง ซึ่งเราจะต้องพยายามทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเกิดความเคยชิน
ความชำนาญ ในการคิดพิจารณา รู้เท่าทันอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น และดับอารมณ์เหล่านั้นให้ได้รวดเร็วขึ้น
 จนเป็นวสี เป็นอุปนิสัย แล้วเราจึงจะปลอดภัยจากกระแสโลก......
             การฝึกจิตนั้นต้องกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่มีเวลาหยุดพัก เพราะการเจริญสตินั้นต้องทำในทุกโอกาส
เพื่อให้สตินั้นมีกำลังเพิ่มยิ่งๆขึ้น เพื่อให้เห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง และละวางอารมณ์ที่เป็นอกุศลจิตให้รวดเร็ว
ซึ่งสิ่งนั้นต้องอาศัยกำลังของสติสัมปชัญญะและองค์แห่งคุณธรรมเป็นตัวเข้าไปจัดระบบความคิดทั้งหลายของจิต
โดยมีสมาธิคือจิตที่สงบนิ่ง เป็นบาทฐานแห่งการพิจารณา ทุกเวลาที่ผ่านไปนั้น จึงเป็นการปฏิบัติธรรม.....
      แด่วันหนึ่งที่ผ่านมาและวันเวลาที่เหลืออยู่ 
                   ด้วยความ เชื่อมั่นและศรัทธาในธรรม
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

45
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๙ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
         ได้มีเวลาทบทวนเรื่องราวที่หลากหลายของชีวิตที่ผ่านมาในอดีต
ทั้งที่เป็นฝ่ายกุศลและฝ่ายที่เป็นอกุศล ก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางสายธรรม
วิเคราะห์หาเหตุผลองค์ประกอบในสมัยนั้นที่มันเป็นไป เพราะอไรเราจึง
คิดและทำอย่างนั้น มองย้อนกลับมาสู่ปัจจุบัน จึงเห็นซึ่งความแตกต่าง
เมื่อก่อนนั้น จิตมันหยาบมันแข็งกระด้าง เพราะอัตตาและมานะของเรา
ยังไม่ถูกขัดเกลา จึงหนาแน่นไปด้วยกิเลสคือ ความรัก โลภ โกรธ หลง
ที่เข้าครอบงำจิตของเรา พฤติกรรมที่แสดงออกนั้นจึงกร้าวร้าวรุนแรง
ตอบโต้ทุกครั้งที่มีอะไรเข้ามากระทบจิต ไม่รู้จักความผิดชอบและชั่วดี
ดำเนินชีวิตอยู่ในวิถีแห่งคนพาลสันดานหยาบ หมกมุ่นอยู่กับกิเลสตัณหา
และอุปาทานโดยคิดว่ามันคือความสุขจากการที่ได้เสพในสิ่งที่ตอบสนองเหล่านั้น....
  แต่เมื่อได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม ความรู้สึกนึกคิดก็เปลี่ยนไป
ทำให้เรารู้อะไรๆมากขึ้น รู้จักผิดชอบชั่วดี มีสติและสัมปชัญญะในการดำรงค์ชีวิต
มีความคิดที่เป็นระบบมากขึ้น รู้จักใคร่ครวญ ทบทวน พิจารณาหาเหตุและผล
ของเหตุการณ์ทุกสื่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา รู้จักการข่มจิตข่มใจต่อสิ่งยั่วยวนทั้งหลาย
 ควบคุมความรู้สึกนึกคิดของเราได้ มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต จิตน้อมเข้ามาหากุศล
ดำรงตนตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรม....
  สิ่งนี้คือคุณของพระรัตนตรัย ที่เราได้รับมาจากการที่เราได้เข้ามาศึกษาอาศัย
ใบบุญของพระศาสนา ทำให้ชีวิตเรามีคุณค่ากว่าที่เคยเป็นมาในอดีตของชีวิตฆราวาส
พบกับความเย็น ความสงบ ความสุข ที่เราไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต มันเป็นความรู้สึก
ที่ไม่อาจจะบรรยายเป็นตัวอักษรหรือคำพูดได้ มันเป็นความรู้สึกที่อยู่ภายในใจ รู้ได้เฉพาะตน
 เห็นผลด้วยการปฏิบัติธรรมะของพระพุทธองค์พิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติ และต้องทำให้จริง
สิ่งที่เรารู้ สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราเข้าใจเป็นเพียงเศษเสี้ยวธุลีหนึ่งของพระธรรม.......
  ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างอีกมากมายหนทางอีกยาวไกล ที่เรายังไม่ได้ก้าวเข้าไป
และยังไม่รู้ไม่เห็นบนเส้นทางแห่งสายธรรมนี้ยังมีอีกมากมายให้เราได้เรียนรู้และปฏิบัติ
การเดินทางกลับไปสู่ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของจิตที่ปภัสสร จิตแท้จิตเดิมที่เริ่มมานั้นมันบริสุทธิ์
แต่กิเลสที่เป็นอาคันตุกะได้เข้ามาอยู่อาศัยทำให้จิตเรานั้นต้องเศร้าหมอง เพราะกิเลสที่จรมา
จึงเป็นหน้าที่ของเราผู้เป็นเจ้าเรือน ที่จะต้องทำความสะอาดปัดกวาดกิเลสให้หมดสิ้นไป....
          ตราบใดที่การเดินทางของชีวิตนั้นยังไม่สิ้นสุด ยังต้องเวียนว่ายอยู่ในห้วงแห่งวัฏสงสาร
ที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา อุปทาน  ยังไม่สิ้นอาสาวะแห่งกิเลสทั้งหลาย จงอย่าได้รีบด่วนสรุป
ในสิ่งที่รู้ ในสิ่งที่เห็นและสิ่งที่เป็น ว่าเรารู้และเข้าใจหมดแล้ว เพราะมันยังมีหลายสิ่งหลายอย่าง
อีกมากมาย ที่เรานั้นต้องประสพพบเห็น ทั้งในทางโลกและทางธรรม สิ่งที่ผ่านมานั้น มันเป็นเพียง
ปรารกฏการทางจิต ที่เกิดขึ้นจามเหตุและปัจจัยที่มีในขณะนั้น มันยังไม่ใช่ที่สุดแห่งการเดินทาง
ของชีวิตจิตวิญญาณ ตราบใดที่มรรคผลนิพพานนั้นยังไม่บังเกิดขึ้นในจิตของเรา.......
                น้อมกายน้อมจิตแสดงความเคารพซึ่งพระรัตนตรัย 
                       ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาในสายธรรม
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๒.๒๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

46
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๘ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          ฤดูกาลแห่งพรรษาผ่านมาครึ่งฤดูกาลแล้ว
รู้สึกธรรมดากับวันเวลาที่ผ่านไปเพราะว่าใจเราไม่ได้มีความกังวล
สมัยเมื่อแรกบวชนั้น เรายังทำใจไม่ได้ ไม่เข้าใจธรรม ไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่
พอถึงฤดูเข้าพรรษา ใจเรามันเร้าร้อน มีความกังวลกับวันเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวัน
นั่งนับวัน นับคืน ดูปฏิทิน อยากจะให้วันเวลานั้นผ่านไปให้ถึงวันออกพรรษาเร็วๆ
เพื่อจะได้เดินทางท่องเทียวเปลี่ยนสถานที่ ไปแสวงหาครูบาอาจารย์ตามที่ต่างๆ.....
            แต่เมื่อรู้ เมื่อเข้าใจ ความรู้สึกเช่นนั้นก็หายไป
ใจก็สบาย ไม่กังวล ไม่รุ่มร้อน มีบ้างในบางครั้งที่จิตเกิดปลิโพธถึงหมู่คณะ
ถึงการงาน ถึงกาลเดินทาง แต่เราสามารถตัดอารมณ์เหล่านั้นได้เร็วขึ้น
ไม่ปล่อยให้มันตั้งอยู่นาน เพราะจิตได้ผ่านการฝึกฝนอบรมควบคุมมามากขึ้น
 โดยการมีสติระลึกรู้ ทำให้รู้ภาระและหน้าที่ว่าเวลานี้เราควรจะทำอะไรและคิดอะไร
เพราะบางอย่างนั้นเราคิดปรุงแต่งไป ก็ทำไม่ได้ในตอนนี้ จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่
และบุคคลมันยังไม่พร้อม เหตุและปัจจัยยังไม่เอื้ออำนวย คิดไปก็เสียเวลาเปล่าทำไม่ได้
เอาสมองมาคิดอยู่กับปัจจุบันธรรมสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ดีกว่า เพราะว่ามันเป็นของจริง
สิ่งที่กำลังเห็นและกำลังเป็นอยู่.....
            ถามตัวเองเสมอว่า วันเวลาที่ผ่านไป เราได้อะไรจากวันเวลา
และคุ้มค่ากับวันเวลาที่ผ่านไปหรือไม่ เพื่อไม่ให้เราหลงกับวัยและเวลา
ชีวิตที่เหลืออยู่จะได้เร่งสร้างคุณค่าให้กับชีวิต แม้นเพียงสักน้อยนิดก็ยังดี
กว่าที่เรานั้นจะไม่ได้ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
ไม่ได้หวังว่าจะต้องได้ในชาตินี้หรือชาติหน้า เพียงแต่ตั้งใจว่าจะทำเรื่อยๆไป
 ถึงเมื่อไหร่ไปเมื่อนั้น จะไม่สร้างความกดดันให้กับตัวเองเหมือนที่เคยผ่านมา
เพราะว่าจะทำให้เกิดอาการเกร็ง เพราะไปเคร่งแล้วมันจะเครียด เป็นการเบียดเบียนตนเอง
ความเจริญในธรรมทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะว่าความกังวลกดดันมาขวางกั้น
ความเจริญในธรรมทั้งหลายมิให้เกิดขึ้น......
            มีผู้ปรารถนาดีหวังดีมาถามอยู่เสมอว่า ทำไม่ไม่อยู่อย่างผู้อื่นเขา ไม่เอาอย่างเขา
ก็ตอบไปว่า เราอยู่กับตัวตนที่แท้จริงของเรา ไม่เคยคิดที่จะสร้างภาพมายาให้คนมาศรัทธา
ชื่นชมกล่าวยกย่องสรรเสริญ  อยู่กับความเป็นจริง ทำในสิ่งที่ควรทำและทำได้ในขณะนั้น
เพราะกระบวนการแห่งการลดละกิเลสตัณหานั้น มันเป็นเรื่องของจิตและคุณธรรมภายใน
ไม่ใช่การแสดงออกทางกาย ขอเพียงให้เรามีสติและสัมปชัญญะ ระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อม
ในสิ่งที่คิดและในกิจที่ทำ มีองค์แห่งคุณธรรมควบคุมกายจิตอยู่ มีความอดกั้นอดทนต่อสิ่ง
ยั่วยุทั้งหลายที่เป็นอกุศล ไม่เผลอใจคล้อยตามกิเลสฝ่ายต่ำ พยายามปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ
ก้าวเดินไปอย่างช้าๆเก็บรายละเอียดระหว่างรายทาง คือการก้าวย่างที่มันคงและไม่หลงทาง
ไม่ใช่การขันแข่ง ไม่ใช่การแสดง ไม่ใช่การโอ้อวด แต่มันคือความเป็นจริงของชีวิตที่เป็นอยู่
เรียนรู้เพื่อพัฒนาให้จิตนั้นก้าวหน้ามีความเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป....
            ขอบคุณลมหายใจที่ยังมีอยู่และขอบคุณกาลเวลาที่ให้โอกาศ 
                         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

47
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๗ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔
           แต่ละวันที่ผ่านพ้นไป อารมณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุและปัจจัยที่ปรุงแต่ง สลับสับเปลี่ยนกันไป
กุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง ปะปนกันไปแล้วแต่เหตุและปัจจัยที่มากระทบ
ซึ่งส่วนใหญ่เราจะรู้เท่าทันเฉพาะอกุศลจิต เพราะเรากลัวโทษภัยของมัน
ส่วนที่เป็นกุศลจิตนั้นเราไม่ค่อยจะพิจารณาถึงคุณถึงโทษของมัน
เพราะจิตเรานั้นไปยินดีเพลิดเพลินหลงในอารมณ์แห่งกุศลจิต
ทำให้ลืมคิดและพิจารณา เกิดความประมาทขาดสติและสัมปชัญญะ
ไม่รู้เท่าทันปัจจุบันธรรม อยู่กับความคิด ความฝันและจินตนาการ
ของการสร้างบุญ สร้างบารมี เพลินในความคิดจิตปรุงแต่งในกุศล
แต่จิตไม่ได้พัฒนาคือเพียงแต่ได้คิดและสิ่งที่คิดนั้นไม่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้
เพราะว่าบางครั้งเหตุและปัจจัยยังไม่พร้อม เรายังไม่ได้สร้างเหตุและปัจจัยสำหรับสิ่งนั้นเลย
แต่เราไปนึกถึงผลของความสำเร็จและประโยชน์ที่จะได้รับในสิ่งที่เรากำลังปรุงแต่งจินตนาการ
มันเลยทำให้เราประมาทขาดสติและสัมปชัญญะ ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันธรรม ความเป็นจริงทั้งหลาย
          การปฏิบัติธรรมคือการทำหน้าที่ของเรานั้นโดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่.......
ก่อนที่จะทำหน้าที่นั้น เราต้องรู้จักหน้าที่และขอบเขตของหน้าที่ ลำดับชั้นของหน้าที่เสียก่อน
แล้วจึงลงมือกระทำไปตามหน้าที่ในขอบเขต ตามลำดับไป ควรรู้ว่าเราจะต้องทำอะไรในขณะนี้
 ตามหน้าที่ของเรา "รู้ตน รู้ตัว รู้ทั่ว รู้พร้อม" คือองค์ประกอบของความเจริญก้าวหน้า การพัฒนาของจิต
สติและสัมปชัญญะที่ได้รับการฝึกฝน ให้รู้เท่าทันปัจจุบันธรรมนั้น จะคอยควบคุมกาย ควบคุมจิต
ให้รู้จักคิด รู้จักการพิจารณา และรู้จักการละวางซึ่งสิ่งที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ไม่เข้าไปยึดถือในสิ่งนั้น
และตามดู รู้ทันในสิ่งที่กำลังตั้งอยู่ในความเป็นกุศลทั้งหลาย โดยเหตุและผลของตัวมันเอง
ดำเนินชีวิตไปตามบทบาทและหน้าที่ ที่พึงกระทำ ตามเหตุและปัจจัยที่มีในขณะนั้น
จิตอยู่กับปัจจุบันธรรมคือสิ่งที่กำลังเป็นไปในขณะนั้น แต่ไม่เข้าไปยึดติดจนงมงาย
รู้และเข้าในในเหตุและผลของตัวมันเอง โดยการคิดและพิจารณาในอารมณ์ทั้งหลายนั้น
รู้ เห็น เข้าใจ สิ้นความสงสัย แล้วจิตจึงจะเข้าไปละวาง ไม่ยึดถือในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น
เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นแก่จิต ที่ได้ผ่านการฝึกคิดและพิจารณาจนมีความชำนาญแล้ว
ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝนสร้างความเคยชินให้แก่จิตนั้น เป็นไปตามขั้นตอน
จากสิ่งที่ง่ายไปสู่สิ่งที่ยาก จากสิ่งที่หยาบไปสู่สิ่งที่ละเอียด จนสติและสัมปชัญญะนั้น
มีความรู้เท่าทันในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลาย และไม่เข้าไปยึดติดยึดถือ ปรุงแต่งในสิ่งนั้น
ให้อยู่ปัจจุบันธรรมเห็นการเกิดดับของสรรพสิ่งทั้งหลายโดยสภาวะแห่งธรรมที่แท้จริง....
       ขอบคุณความคิดและจิตวิญญาณในการพิจารณาธรรม 
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๕๓ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

48
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๖ สค. ๕๔ ....
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
            สภาพดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ ฝนตกหนัก
บางครั้งจิตก็เผลอเกิดปฏิฆะต่อสภาพดินฟ้าอากาศ
สติระลึกได้ทัน เห็นการเกิดขึ้นของอารมณ์ความรู้สึก
พิจารณาเจาะลึกเห็นการเกิดขึ้นของอารมณ์ปฏิฆะเหล่านั้น
พิจารณาธรรมตามสภาวะจนเกิดความรู้ความเข้าใจในธรรม
ความแปรปรวนสภาพของดินฟ้าอากาศว่า"มันเป็นเช่นนั้นเอง"
เพราะว่าฤดูนี้เป็นฤดูฝน เป็นฤดูแห่งมรสุมอยู่ในช่วงเข้าพรรษา
ฤดูฝนย่อมมีฝนตกเป็นเรื่องธรรมดา พระเข้าพรรษาก็เพราะว่าเป็นฤดูฝน
ฤดูฝนถ้าไม่มีฝนตก ก็ผิดธรรมชาติของฤดูฝน เหตุผลง่ายๆแต่เรามองข้ามไป
ไม่ได้พิจารณา เรากลับเอาตัณหาความต้องการของเรามาเป็นอารมณ์
มันก็เลยทำให้เกิดความทุกข์ใจ แต่เมื่อเราระลึกได้ รู้เท่าทันอารมณ์
จิตปฏิฆะขุ่นมัวที่เป็นเหตุให้เกิด ความทุกข์อันนั้นก็สลายไป
จิตใจปลอดโปร่งโล่งเบาแจ่มใส ไม่หนักอกหนักใจ ไร้ความกังวล
เพราะเมื่อเราละวางอารมณ์นั้นได้แล้ว ไม่แบกไม่ถือ เลยไม่หนัก
ดั่งพุทธพจน์ที่ว่า "ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ..ย่อมดับไปที่เหตุ"
เห็นจริงตามธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ใจเกิดสภาวะปิติ
ซาบซึ้งในพระธรรม ศรัทธาปสาทะในธรรมะของพระพุทธองค์
เชื่อมั่นในพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมคำสอน
เหตุเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อได้คิดพิจารณาย่อมนำมาซึ่งความเจริญในธรรม.....
           สิ่งทั้งหลายรอบกายของเรานั้น ล้วนสงเคราะห์เข้ากับธรรม
หากเรานั้นได้นำมาคิดและพิจารณาถึงที่มาและที่ไปในสิ่งเหล่านั้น
สงเคราะห์เข้าหาหลักธรรม โดยการพิจารณาให้เห็นถึงคุณถึงโทษ
เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของธรรมชาติทั้งหลายนั้น
รู้เห็นถึงสภาวะการเกิดดับของอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายของจิต
โดยการมีสติและสัมปชัญะควบคุมคุ้มครองจิตให้คิดพิจารณา
รู้เท่าทันสภาวะของอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเมื่อมีผัสสะมากระทบ
ไม่เผลอสติไปปรุงแต่งคล้อยตามในอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานั้น
ย้อนจิตเข้ามาพิจารณาในกายในจิตของตัวเราที่เปลี่ยนแปลงไป
จนเห็นที่เกิดของอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลาย เห็นสภาวะของการตั้งอยู่
รู้สภาวะที่จะทำให้อารมณ์เหล่านั้นดับไป สิ้นความสงสัยในสิ่งเหล่านั้น
จิตก็จะสามารถละวางไม่เข้าไปยึดติดปรุงแต่งในอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น
เมื่อไม่ยึด ไม่ถือ ไม่ปรุงแต่ง สิ่งนั้นก็ย่อมจะดับไป ใจก็จะพบความสงบ
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในธรรมชาตินั้น ...” มันเป็นเช่นนั้นเอง “...
  ขอบคุณสายฝนที่ตกมา..ขอบคุณอารมณ์ปฏิฆะที่เกิดขึ้น 
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๔๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

49
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๕ สค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
ตั้งแต่ตื่นนอนรู้สึกตัวขึ้นมา....
พยายามรักษาทำจิตให้ว่าง ให้โปร่งโล่งเบา
เพื่อดึงข้อมูลเก่าๆกลับมา โดยใช้อารมณ์สมาธิเป็นแนวทาง
ปรับเครื่องรับของเราให้ว่างจากข้อมูล เพื่อรอรับคลื่นที่จะเข้ามา
ซึ่งถ้าเราทำให้ว่างไม่ได้ คลื่นสัญญาณที่รับก็จะไม่ชัดเจน
ซึ่งวิธีการนี้ได้มาจากฝึกจิต ตัวดู ตัวรู้ ตัวเห็น ที่เคยผ่านมา
ภาวนาให้จิตสงบนิ่ง แล้วถอยจิตออกมา อธิษฐานจิต แล้วปรับจิตสู่ความว่าง
คือว่างจากความคิดปรุงแต่งใดๆ ลักษณะคล้ายเรานั้นกำลังเหม่อลอย
แต่สติและสัมปชัญญะนั้นคงมีอยู่สมบูรณ์ระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันธรรม
สัญญาความทรงจำในอดีตที่อธิษฐานไว้ ที่เราอยากจะรู้ ก็จะผุดขึ้นมา
สติต้องมีความฉับไว้ในการบันทึกข้อมูลสัญญาความจำเก่าที่ผุดขึ้น
เพราะสิ่งนั้นจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่เพียงชั่วขณะ และดับไปอย่างรวดเร็ว
ดั่งคำโบราณของครูบาอาจารย์ที่ว่า"ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น"
เพราะมโนภาพหลังจากนั้นแล้วเป็นการปรุงแต่งของจิตเรา
จิตที่ใช้ในการรักษาโรค ปรับธาตุนั้น เป็นจิตหนัก จิตเชิงพลังงาน
ต้องอยู่ในอารมณ์ของฌาน อารมณ์ของสมาธิ และกสิน
ส่วนจิตที่ใช้ในการดู เพื่อให้รู้ เพื่อให้เห็น นั้นเป็นจิตเบา
คือความว่างในอารมณ์สมาธิ ซึ่งเป็นความว่างภายใน
เหมือนขวดน้ำที่ว่างเปล่า ภายในไม่มีน้ำอยู่ แต่ยังมีรูปทรงของขวดอยู่
ขวดคือสมาธิที่ทรงไว้ ภายในขวดที่ว่างเปล่าไม่มีน้ำคือความว่าง
ส่วนความว่างในอารมณ์วิปัสสนานั้น เป็นความว่างเปล่า
ไม่มีน้ำ ไม่มีขวดน้ำ ดัง่โฉลกธรรมของท่านเหวยหล่างที่กล่าวไว้
"ไม่มีต้นโพธิ์ ไม่มีกระจกเงา" นั้นคือความว่างในอารมณ์วิปัสสนา
ว่างจากกิเลสและอัตตาตัวตนทั้งหลาย ไร้ซึ่งการปรุงแต่งของจิต
เห็นซึ่งความเป็นจริงทั้งหลายของสรรพสิ่งในโลกนี้ที่กำลังเป็นอยู่
เป็นสภาวะแห่งปัจจุบันธรรม ตามดู ตามรู้ ตามเห็นในสิ่งที่กำลังเป็นไป
แต่จิตไม่เข้าไปข้องอยู่ ยึดติด พึงพอใจในอารมณืทั้งหลายเหล่านั้น
สักแต่ว่ารู้ สักแต่เห็น เพราะเข้าใจถึงความเป็นมาของสิ่งเหล่านั้น
ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในธรรมชาตินั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเช่นนั้นเอง...
      ขอบคุณมิตรสหายทั้งหลายที่ให้กำลังใจมาตลอดเวลา  
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

50
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๔ สค. ๕๔
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
           ช่วงนี้อากาศแปรปรวน เดี๋ยวก็ร้อนเดี๋ยวก็หนาว จึงต้องปรับสภาพร่างกายให้มีความพร้อม
ต่อสภาพความแปรปรวนของธรรมชาติ โดยใช้การทำงานเป็นการออกกำลังกาย บริหารกล้ามเนื้อ
และเป็นการฝึกจิตไปในตัว โดยการเจริญสติสัมปชัญญะในขณะร่างกายเคลื่อนไหวในการทำงาน
อากาศหนาวถ้าเราอยู่นอนมากมันจะปวดข้อปวดกระดูก จึงต้องพยายามที่จะเคลื่อนไหวร่างกาย
ให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อปรับสภาพร่างกายให้มีภูมิต้านทานต่อสภาพอากาศ
ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงใช้การบริหารร่างกายโดยการเดินจงกรม เป็นการเจริญสติภาวนา
และบริหารร่างกายไปพร้อมกัน ซึ่งในการเดินจงกรมนั้น เราจะได้กำลังของสติและสัมปชัญญะ
ทั้งสองอย่างพร้อมกัน  และเมื่อจิตเริ่มเข้าสู่สมาธิอารมณ์กรรมฐาน วิตก-วิจารณ์ จะเกิดขึ้น
คือจิตจะยกหัวข้อธรรมขึ้นมาคิดและพิจารณาแยกแยะหัวข้อธรรมตีความหมายในหัวข้อธรรมนั้นๆ
จะเกิดสภาวะธรรมะลื่นใหล คือคิดอะไรจะเป็นธรรมะไปหมด เดินไปเทศน์ไป เทศน์ให้ตนเองฟัง
 ซึ่งอารมณ์ธรรมตัวนี้ถ้าเราตามไม่ทันก็จะเกิดการหลงในอารมณ์ได้ ทำให้คิดว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม
และถ้าควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ก็จะเกิดอาการฟุ้งซ่านในธรรม คืออยากจะออกไปเทศน์ไปบรรยาย
ให้ผู้อื่นได้รู้ในธรรมที่ตนเองรู้และเข้าใจ เพราะหลงคิดไปว่าตัวเองนั้นบรรลุธรรมแล้ว
 ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วนั้น เป็นเพียงอารมณ์เบื้องต้นแห่งองค์ฌาณ คืออารมณ์วิตกวิจารณ์
ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายต้องพึงระวังไม่ให้หลงในอารมณ์นี้ ด้วยการมีสติและสัมปชัญญะ
 รู้ให้เท่าทันอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้น อันต้องมีพื้นฐานจากการฝึกสติและสัมปชัญญะที่ถูกต้องมาก่อน
ตามหลักของไตรสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ดั่งพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า..." ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ศีลนี้เองเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิคือความสงบใจ สมาธิที่มีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นสมาธิที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
บุคคลผู้มีสมาธิย่อมอยู่อย่างสงบ เหมือนเรือนที่มีฝาผนัง มีประตูหน้าต่างปิดเปิดได้เรียบร้อย มีหลังคาป้องกัน
ลมแดดและฝน ผู้อยู่ในเรือนเช่นนี้ ฝนตกก็ไม่เปียก แดดออกก็ไม่ร้อน ฉันใด บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิดีก็ฉันนั้น
ย่อมสงบอยู่ได้ไม่กระวนกระวายเมื่อลมแดดและฝน กล่่าวคือโลกธรรมแผดเผา กระพือพัดซัดสาด
เข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า สมาธิอย่างนี้ย่อมก่อให้เกิดปัญญา ในการฟาดฟันย่ำยีและเชือดเฉือนกิเลสอาสาวะต่างๆ
ให้เบาบางและหมดสิ้นไป เหมือนบุคคลผู้มีกำลังจับศาสตราอันคมกริบแล้วถางป่าให้โล่งเตียนก็ปานกัน "...
นั่นคืออานิสงส์แห่งการฝึกสติโดยการรักษาศีล มีศีลเป็นพื้นฐานในการเจริญจิตตภาวนา ตามหลักของ
พระพุทธศาสนาในไตรสิกขา สมาธิและปัญญานั้นย่อมจะเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติ ดั่งพุทธพจน์ที่พระองค์
ได้ทรงตรัสไว้ว่า...” ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ปัญญาซึ่งมีสมาธิเป็นรากฐานนั้น ย่อมปรากฏดุจไฟดวงใหญ่
กำจัดความมืดให้ปลาสนาการ มีแสงสว่างรุ่งเรืองอำไพ ขับฝุ่นละอองคือกิเลสให้ปลิวหาย ปัญญาจึง
เป็นประดุจประทีปแห่งดวงใจ “...การปฏิบัตินั้นต้องดำเนินไปตามหลักของไตรสิกขา ๓ เพื่อเป็นบาท
ฐาน รองรับซึ่งกันและกัน ความเจริญในธรรมนั้นจึงจะเกิดขึ้นและถูกต้องไม่หลงทาง...
          จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิด สะกิดเตือนใจ แก่ผู้ใฝ่ในการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ให้นำไปคิดพิจารณา
ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติธรรม จะได้ไม่ข้ามขั้นตอน โดยความใจร้อนหวังผลในการปฏิบัตินั้น
ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเป็นการสร้างความกดดันให้ตนเองโดยที่ไม่รู้ตัว จนอาจก่อให้เกิดทิฏฐิมานะ
หลงตัวหลงตน หลงอารมณ์กัมมัฏฐานที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นความคิดมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดไปในทางธรรม
นำมาซึ่งสิ่งที่เป็นอกุศลทั้งหลายให้เกิดขึ้นในกายในจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดเพราะเป็นการหลงทาง.....
                               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

51
 คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๓ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึงชลบุรี
พุธที่  ๒๔  สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
            ปลีกตัวออกจากหมู่คณะมาจำพรรษาแต่ผู้เดียวบนเขาเรดาร์ที่อำเภอบ้านบึง
จังหวัดชลบุรี งดรับกิจนิมนต์ ทำให้ได้มีเวลาค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฏก ทำความรู้ความเข้าใจ
ในหัวข้อธรรม ที่ยังสงสัยไม่เข้าใจในภาษาธรรม ปรับให้เป็นภาษาพูดเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย
ในการที่จะเอาไปนำเสนอเผยแผ่เพราะถ้าใช้คำศัพท์ภาษาธรรมนั้น จะทำให้ผู้ฟังจะเข้าใจได้ยาก
 บางครั้งฟังแล้วยิ่งเกิดความสงสัยไม่เข้าใจมากขึ้น เพราะติดอยู่กับความหมายของคำศัพท์ในภาษาธรรม
 และบางครั้งก็อาจจะตีความแปลความหมายของคำศัพท์นั้นผิดพลาดไป จึงต้องใช้ภาษาที่เรียบง่าย
 เพื่อให้ฟังสบายๆง่ายแก่การที่จะเข้าใจและทำให้ดูว่าไม่เป็นพิธีการจนเกินไป การฟังธรรม พิจารณาธรรม
ทำให้เข้าใจถึงสภาวธรรมได้ง่ายและรวดเร็ว
   จิตปรุงแต่งในกิเลส คือจิตเริ่มคิดก่อน คิดชอบ คิดไม่ชอบ เมื่อความคิดเกิดจึงปรุงแต่งให้เกิด
กิเลส ความโกรธ โลภ หลง เมื่อกิเลสเกิดขึ้นและเราไม่มีสติสัมปชัญญะพอจะดับกิเลส มันก็ปรุงแต่งจิต
ให้คิดวุ่นวายไปเรื่อย ไม่ผ่องใส พอจิตมันคิดปรุงแต่ง มันก็จะปรุงให้กิเลสเพิ่มขึ้นๆ จนกว่าเราจะได้สติ
มันจึงจะหยุดปรุง ซึ่งมีกุศโลบายในการที่จะทำจิตหยุดปรุงแต่ง โดยการไล่ต้อนให้จิตนั้นอ่อนเพลีย
โดยการใช้จิตถามจิต ว่าทำไมต้องคิดและต้องปรุงแต่ง คิดแล้วปรุงแต่งแล้วมันได้อะไร สิ่งที่คิดที่ปรุงแต่ง
นั้นมันเป็นกุศลหรืออกุศล  ใช้จิตถามจิตและหาคำตอบให้จิต จนมันจบคือการค้นพบซึ่งคำตอบของจิต
จิตมันหาคำตอบจนเห็นที่เกิดของความคิดปรุงแต่งทั้งหลาย เห็นคุณเห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่
ประโยชน์ ในสิ่งที่คิด ในสิ่งที่จิตปรุงแต่งนั้น จิตมันจะล้าและหยุดการปรุงแต่ง อยากจะพักเข้าสู่ความสงบ
เรียกว่าเราต้องปราบให้จิตหมดความพยศ หมดกำลัง ทำให้เข้าไปควบคุมจิตได้ง่าย
   การปฏิบัติธรรมนั้น อย่าไปอยากรู้อยากเห็นอยากเป็นในสิ่งใดๆ ให้มันรู้อยู่อย่างเดียว มีอะไรก็ช่าง
รู้อยู่อย่างเดียว ความอยากนั้นทำให้จิตวุ่นวาย หลุดออกจากสมาธิ เราปฏิบัติเพื่อความปล่อยวาง เพื่อจะละ
จะลดซึ่งความยึดมั่นถือมั่นต่างๆให้เบาบางลง เพื่อละความยินดียินร้าย เราเป็นผู้ดูไม่ใช่ผู้บังคับให้มันเป็น
สภาวธรรมทั้งหลายนั้น เป็นปัจจุบันธรรม ที่เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัยในขณะนั้น เป็นธรรมชาติที่แท้จริง
ของจิต ไม่ใช่สิ่งที่เราสร้างขึ้นมา แต่มันเป็นสภาวะจิตที่เกิดขึ้น ตามเหตุและปัจจัยที่เป็นไปในขณะนั้น
หน้าที่ของเราก็คือ การตามดู ตามรู้ตามเห็น แยกแยะกุศลและอกุศล พิจารณาให้เห็นคุณ เห็นโทษ
เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ในสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น แล้วละวางในสิ่งที่เป็นอกุศลทั้งหลาย
   การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิตนั้น เรียกว่ากำลังทำความเพียร กำลังปฏิบัติธรรม ไม่จำเป็นว่า
จะต้องนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมจึงจะเรียกว่าปฏิบัติธรรมทำความเพียร ถ้าไม่มีสติระลึกรู้ ฟุ้งซ่านคิดไปเรื่อย
ก็ไม่เรียกว่าทำความเพียร แม้จะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมอยู่ก็ตาม เมื่อไหร่ที่จิตนั้นมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่
ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่งจะนอน ก็ได้ชื่อว่ากำลังปฏิบัติธรรมทำความเพียรอยู่  และสตินั้นต้องมีองค์แห่ง
คุณธรรมคุ้มครองอยู่ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปคุ้มครองอยู่ ทำให้รู้ในสิ่งที่ควรและสิ่งที่ไม่ควร
ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ ซึ่งต้องเพียรกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนจิตนั้นมีความเคยชินและคุ้นเคยในการคิด
และการพิจารณา จนเป็นความชำนาญของจิตในการคิดและทำ
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๔  สิงหาคม  ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๒๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

52
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๒ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่  ๒๓  สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          ว่างเว้นจากภารกิจงานโยฐากัมมัฏฐานการก่อสร้างทั้งหลายในช่วงนี้
ทำให้มีเวลาพิจารณาทบทวนใคร่ครวญธรรมตามที่ได้ศึกษาค้นคว้าปฏิบัติมา
เพื่อรักษาและทรงไว้ซึ่งสภาวธรรมที่เคยได้พบมามิให้เสื่อมไปและปฏิบัติเพื่อให้
สภาวธรรมตัวใหม่เกิดขึ้นมา ยกเอาหลักธรรมทั้งหลายเข้ามาสงเคราะห์อนุเคราะห์
เป็นเหตุปัจจัยในการพิจารณาปฏิบัติ  มีสติและสัมปชัญญะคอยเตือนตนอยู่เสมอ
ไม่ให้เผลอคล้อยตามซึ่งความเป็นโลกธรรมทั้งหลาย พึงพอใจในสิ่งที่มีและสิ่งที่เป็น
พยายามกระตุ้นเตือนจิตสำนึกถึงบทบาทและหน้าที่ของตน ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
ตามกำลังความรู้ความสามารถที่มีสงเคราะห์ซึ่งโลกและธรรม
        นั่งทบทวนพิจารณาเรื่องกระแสนิยม มงคลตื่นข่าวของชาวไทยซึ่งอ่อนไหวต่อกระแส
และเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วตามกระแสสังคมว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นไปเช่นนั้น
คือการคล้อยตามกระแส จึงพอจะรู้และเข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มันมีที่มาจากจริตของคนไทย
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น"ศรัทธาจริต"มีจิตใจที่อ่อนไหวเชื่ออะไรได้ง่าย และมีพื้นฐานจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก
และระบบการศึกษาของไทย ที่สอนให้ เชื่อฟัง และทำตามผู้ใหญ่ และจดจำในสิ่งที่สอน ที่สั่ง
ทำให้เกิดการเคยชินในระบบความคิดและความจำเมื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพราะสังคมการศึกษา
และวิถีชีวิตของคนไทยนั้นไม่ได้สอนเรื่องเหตุและผล ไม่ได้สอนให้คิดค้น วิเคราะห์ และพิจารณา
สอนแต่ให้จำได้หมายรู้เพียงอย่างเดียว เมื่อได้พิจารณาจนได้รู้และเข้าใจ จิตก็คลายสงสัย
เพราะรู้ว่า"มันเป็นเช่นนั้นเอง"
เวลาส่วนใหญ่ในตอนกลางวันนั้น จะใช้ไปในการคิดพิจารณา สงเคราะห์ให้คำแนะนำ
ในการทำงาน บริหารคน บริหารงาน ประสานให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่มีปัญหา
และอุปสรรค์ โดยใช้หลักการคิด วิเคราะห์และวางแผนการทำงานไว้ล่วงหน้า
มองงานทุกอย่างให้ละเอียดให้ชัดแจ้งในองค์ประกอบของงาน  ว่ามีกระบวนการ
ในการกระทำเป็นอย่างไร ใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง ต้องใช้แรงงานมากน้อยขนาดไหน
ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง ซึ่งเราต้องคิดและวางแผนไว้ล่วงหน้าให้คำแนะนำ
ก่อนที่เขาเหล่านั้นจะลงมือทำงานทุกครั้ง คิดที่ละเรื่อง ที่ละอย่าง ให้มันจบเป็นเรื่องๆไป
แล้วบันทึกไว้ในส่วนของความจำ คือมองภาพกว้างๆแล้วมาแยกแยะออกเป็นอย่างๆเป็นเรื่องๆไป
โดยให้ความสำคัญที่เหตุและปัจจัย ว่าอะไรควรทำก่อน และทำที่หลัง ทำในสิ่งที่คิดและทำได้ในทันที
 เพราะมีเหตุและปัจจัยที่พร้อม เวลา โอกาส สภาพดินฟ้าอากาศ และความพร้อมของบุคคลากร
ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ซึ่งเราได้วางแผนงานไว้และมีแนวทางของการแก้ไข้ไว้ล่วงหน้า
ถ้าเกิดมีอุปสรรค์และปัญหาขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากการฝึกคิด ฝึกพิจารณา โดยการมีสติสัมปชัญญะ
และสมาธิเป็นพื้นฐาน คือการทำจิตให้นิ่ง แล้วจะมองเห็นทุกสิ่งอย่างละเอียดและชัดเจน ทุกอย่างสามารถ
ที่จะฝึกฝนกันได้ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด ขอเพียงเราเริ่มต้นและลงมือทำ
           สงเคราะห์โลกและธรรมให้ก้าวเดินไปพร้อมกัน เลือกเฟ้นธรรมที่เหมาะสม กับ จังหวะ เวลา โอกาส
สถานที่และตัวบุคคล นำมาสงเคราะห์และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ตามเหตุและปัจจัยที่มี ดั่งที่เคยกล่าวไว้เสมอ
ว่า “ บางครั้งไม่ต้องคิดให้ดีที่สุด คิดให้ใช้ได้ ทำได้ทันทีก็เพียงพอแล้ว “ เพราะบางครั้งความคิดที่ดีนั้น
ไม่อาจจะนำมาทำให้เป็นรูปธรรม สิ่งที่จับต้องและเห็นได้ เพราะเหตุปัจจัยนั้นมันยังไม่เพียงพอ
แต่ความคิดที่ใช้ได้ซึ่งอาจจะไม่ดีจนเกินไป นั้นสามารถที่จะทำให้เป็นรูปธรรมได้ในทันที เพราะว่ามี
เหตุและปัจจัยสมบูรณ์อยู่แล้วในขณะนั้น หลักการคิดทั้งหลายก็คือการคิดจากสิ่งที่มีและที่เป็นอยู่
ไม่คาดหวังเหตุปัจจัยในอนาคตมาเป็นตัวกำหนดซึ่งความคิดและการกระทำทั้งหลาย ทุกอย่างจึง
เดินไปได้ด้วยตัวของมันเอง ไปตามเหตุและปัจจัย จังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคล
ที่มีที่เป็นในขณะนั้น เป็นตัวกำหนดการเดินทางของตัวมันเอง
  แด่การพิจารณาฝึกฝนหาเหตุและผลของสรรพสิ่งรอบกาย 
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๓  สิงหาคม  ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๑๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

53
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๑ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่  ๒๒  สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
        ดั่งที่เคยกล่าวใว้ใน “ บันทึกธรรมปี ๕๒ “ เรื่องการศึกษาและปฏิบัติธรรม
ในยุคสมัยปัจจุบัน ที่มีผู้คนหันมาสนใจและเขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมะและการ
ประพฤติปฏิบัติธรรมออกมามากมายแพร่หลายกันนั้น มันก็มีทั้งผลดีและผลเสีย
ควบคู่กันไป ส่วนดีนั้นก็คือการชักนำให้มีผู้สนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมมากขึ้น
ส่วนเสียนั้นก็คือผู้เขียนบางท่านยังไม่เข้าถึงสภาวธรรมที่แท้จริง เป็นเพียงผู้วิจารน์ธรรม
คนที่เขาคิดว่าตัวเขาเป็นปราชญ์ เป็นผู้ฉลาดในทางโลก เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ
เป็นครูบาอาจารย์ เป็นนักวิชาการทางโลก มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เป็นทีรู้จักของคนทั่วไป
เรียกว่ามีต้นทุนทางสังคมมาก่อนแล้ว เมื่อเข้าสู่ทางธรรมต้องถอดวางให้หมดเสียก่อน
เพราะส่วนใหญ่เมื่อมาศึกษาธรรมะแล้วก็เป็นได้เพียงนักวิจารน์ธรรม เพราะชื่อเสียง
และศักดิ์ศรี อัตตามันมาบังอยู่ จึงทำให้ไม่รู้สภาวะธรรมที่แท้จริง คนฉลาดกับคนมีปัญญานั้น
แตกต่างกัน ภาษาโลกและภาษาธรรมความหมายต่างกัน ความฉลาดและมีปัญญาทางโลกนั้น
วัดกันด้วยไอคิวสมอง แต่ความฉลาดและปัญญาทางธรรมนั้นรู้กันที่ใครมีสติและสัมปชัญญะ
มากกว่ากัน ปัญญาทางโลกนั้นรอบรู้ในเรื่องนอกกายและการจำได้หมายรู้ ส่วนปัญญาทางธรรม
คือรอบรู้ในกองสังขาร รู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้การกระทำ มีองค์แห่งคุณธรรมหิริโอตัปปะ
ความละอายและเกรงกลัวต่อบาปคุ้มครองอยู่ ความหมายของศัพท์ในภาษาโลกและภาษาธรรม
จึงแตกต่างกันโดยเนื้อหาแห่งความหมาย....
         ฉะนั้น เพียงแต่ศึกษาธรรมะในเชิงปริยัติ ก็อย่าคิดว่าเข้าใจหมดแล้ว รู้หมดแล้ว
เพราะการเข้าใจโดยการตีความ การวิภาค วิจารน์ธรรม โดยเอาอัตตาของตนเข้าไป
วิเคราะห์ธรรมนั้นยังไม่ถูกต้อง อย่าพยายามตีความขยายความเพื่อรองรับและเข้าข้าง
ความคิดของตนเอง การศึกษาและการปฏิบัติธรรมนั้น มีหลักที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้
ต้องทำตามหลักศึกษาตามหลัก ตามลำดับขั้นตอนไป ซึ่งธรรมะทั้งหลายทั้งปวงนั้น
จะไม่มีการขัดแย้งกัน แต่จะสงเคราะห์และอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นเหตุและผลซึ่งกันและกัน
เพราะฉะนั้น เราต้องปรับความรู้ความเข้าใจของเราเข้าสู่หลักธรรม ไม่ใช่ตีความขยายความ
หลักธรรมให้มารองรับความคิดเห็นของเรา สิ่งที่รู้ สิ่งที่เห็น สิ่งที่เข้าใจ ต้องเป็นไปตามหลักธรรม
ของพระพุทธเจ้า ไม่มีการขัดแย้งกัน สงเคราะห์กันได้กับธรรมทุกหมวดหมู่ สิ่งที่รู้ สิ่งที่เห็น สิ่งที่เข้าใจ
นั้นจึงถูกต้องตามหลักธรรม....
          การศึกษาธรรมะและประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องมีวิจารนญาณ อย่าทันทีที่ได้ยินได้ฟังมา
อย่าได้ศรัทธาเพราะยึดติดในตัวบุคคล จงเอาเหตุและผลมาเป็นที่ตั้ง แห่งการคิดและพิจารณาธรรม
ว่าควรจะเชื่อหรือจะปฏิเสธ ในสิ่งที่ได้อ่าน ได้ยินหรือได้ฟังมา ดั่งที่เคยกล่าวไว้ว่า “ ถ้าเชื่อในทันที
เรียกว่างมงาย ถ้าปฏิเสธทันที เรียกว่าเสียโอกาส ขาดประโยชน์ ควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบครอบ
และทดลองปฏิบัติ พิสูจน์ ฝึกฝนที่ใจตน ให้เกิดความกระจ่างชัดขึ้นด้วยใจตน ตามเหตุและผลแล้ว
จึงควรเชื่อหรือปฏิเสธในสิ่งที่ได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟังมา อย่าให้ความศรัทธาในตัวบุคคล มาบดบังเหตุ
และผล สภาวธรรมที่แท้จริง ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันธรรมทั้งหลาย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญามีดวงตาเห็นธรรม
เข้าถึงสภาวธรรมที่แท้จริงนั้นได้.....
  ....แด่ความเห็นในทางธรรมที่แตกต่างกัน...  
              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๒  สิงหาคม  ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

54
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๐ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่  ๒๑  สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
       ชีวิตคือการทำงาน...
การทำงานอย่างมีสตินั้นคือการปฏิบัติธรรม
ดำเนินชีวิตด้วยการทำงานทั้งทางภายนอกและภายใน
ควบคุมกายใจด้วยสติและสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา
พิจารณาให้เห็นความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลาย
ทำใจให้ยอมรับกับสภาพแห่งความเป็นจริงในสิ่งเหล่านั้น
เมื่อใจรับได้เพราะรู้และเข้าใจในความเป็นไปของสิ่งเหล่านั้น
เห็นที่มาที่ไปเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น
เมื่อละวางมันได้ความทุดข์เพราะความกังวลทั้งหลายก็หายไปสิ้นไป.....
    อดีตคือความทรงจำที่ผ่านมา...
ปัจจุบันคือความเป็นจริงสิ่งที่กำลังตั้งอยู่...
อนาคตคือความฝันและจินตนาการเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น...
คือคำพูดและโวหารในเชิงกวีที่ได้กล่าวกันมาแต่ยาวนาน
แต่ในความเป็นจริงในชีวิต...จงทำจิตให้หยุดคิดสงบนิ่ง
แล้วขจัดความคิดอกุศลสิ่งที่เป็นขยะของอารมณ์ออกไป
คงเหลือไว้แต่สิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่ดีมีสาระและมีประโยชน์
สิ่งที่ไม่เป็นทุกข์ เป็นภัยและเป็นโทษต่อกุศลทั้งหลาย
เพื่อให้มีความเจริญในกุศลธรรมเพิ่มพูนก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป...
     มองดูโลกที่สับสนวุ่นวายให้คล้ายดูหนังดูละคร....
ทุกบททุกตอนล้วนแล้วแต่มายา ที่ถูกกำหนดมาด้วยกฏแห่งกรรม
พยายามทำจิตใจให้อยู่โลกธรรม ๘ ทวนกระแสแห่งโลกมายา
แล้วเราจะพ้นจากความทุกข์ความเศร้าความโศกจากโลกมายานี้ได้
เพิ่มกำลังทั้ง ๕ประการคือศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ  ปัญญา ให้เพิ่มขึ้น
เพื่อให้เกิดผลงานให้เป็นรูปธรรมพร้อมที่จะนำไปถ่ายทอดเผยแผ่แก่ผู้ที่สนใจ
พยายามทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆขึ้นในจิตเพื่อพัฒนาความคิดให้เจริญก้าวหน้า
เพื่อจะได้นำไปสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นให้เห็นหนทางเห็นแสงสว่างเส้นทางของชีวิต
ชี้นำให้ไปขบคิดพิจารณาเพือให้เกิดปัญญาและออกจากกองทุกข์พบสุขที่แท้จริง...
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๑  สิงหาคม  ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

55
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๙ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่  ๒๐  สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          มีผู้คนจำนวนมากที่สนใจเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมกันในยุคปัจจุบันนี้
ได้เข้ามาพูดคุยสนทนาธรรม เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติเจริญจิตภาวนา
และได้ตั้งคำถามแก่เขาเหล่านั้นเสมอว่า เจตนา เป้าหมายในการปฏิบัตินั้นคืออะไร
ค้นหาคำตอบให้แก่ตนเองให้ได้เสียก่อนว่า เราปรารถนาอะไรในการปฏิบัติธรรม
สิ่งที่เราปรารถนานั้นมันเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ความคิดเริ่มต้นนั้นคืออะไร
การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังซึ่งบุญกุศล เพื่อความเป็นมงคลของชีวิต
ซึ่งต้องดูที่ดำริ เจตนาในการปฏิบัติ ว่าผู้ปฏิบัตินั้นปรารถนาอะไรจากการปฏิบัติธรรมนั้น
และสิ่งที่ตั้งใจปรารถนานั้น เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศลหรือไม่ หรือเป็นไปเพื่ออกุศล
คือความอยากดี อยากเด่น อยากดัง มุ่งหวังคำสรรเสริญ ลาภสักการะ ประโยชน์ส่วนตน
ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นต้องทำความรู้ความเข้าใจในเจตนาของตนเองเสียก่อน เพื่อให้ไม่หลงทาง
เพราะว่าถ้าผิดแต่เริ่มต้น ผลต่อไปมันก็จะออกมาผิดทาง ไปผิดทาง
       การปฏิบัติธรรมนั้นท่านให้เป็นไปตามลำดับ เพื่อปรับธาตุ ปรับอินทรีย์ให้มีความพร้อม
โดยเริ่มจากการให้ทานก่อน เพื่อปรับจิตใจให้มีความอ่อนโยน มีความเมตตา โอบอ้อมอารี
มีความเสียสละ ละความเห็นแก่ตัวลงเสียก่อน ควบคู่กับการรักษาศีล เพราะการรักษาศีลนั้น
คือการเจริญสติ ควบคุมกายและจิตไม่ให้ผิดข้อวัตรปฏิบัติ มีสติควบคุมอยู่เพื่อให้ไม่ผิดศีล
สิ่งที่ได้จากการรักษาศีล คือสติและองค์แห่งคุณธรรม คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
เพราะเรามีคุณธรรมข้อนี้ เราจึงไม่ล่วงละเมิดผิดศีลทั่งในที่ลับและในที่แจ้ง
      เมื่อเข้าสู่การภาวนาเพื่อให้เกิดสมาธินั้น ก็เป็นไปตามกรรมฐานที่เรามีความชอบมีความศรัทธา
คือศรัทธาในครูบาอาจารย์ที่เป็นต้นแบบ ศรัทธาในการประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่ครูบาอาจารย์
ท่านแนะนำ คือทำในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่ใช่ แล้วเราจะทำได้อย่างมีความสุขและจะมีความเจริญ
และควรลองปฏิบัติให้ทุกแนวทาง ทุกกองกรรมฐาน เพื่อหาธรรมะที่เหมาะสมกับจริตของเรา
ซึ่งถ้าถูกกับจริตของเราแล้ว กรรมฐานแนวนั้นจะมีความเจริญในธรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเรา
อย่าไปปฏิบัติตามกระแสนิยม อาจารย์ท่านนั้นมีชื่อเสียงคนขึ้นมาก ดังมากแล้วเราก็ไปปฏิบัติตาม
สำนักนั้น พอมีสำนักอื่น อาจารย์ท่านอื่นดังขึ้นมาใหม่ก็เปลี่ยนไปปฏิบัติตามแนวของอาจารย์ท่านใหม่
เรียกว่าแห่กันไปตามกระแสนิยม ติดอยู่ในตัวบุคคล ไม่ได้สนใจในธรรมอย่างแท้จริง
      สิ่งที่ควรจะระวังก็คือเมื่อปฏิบัติพอเริ่มรู้เริ่มเข้าใจธรรม ให้ระวังตัวมานะทิฐิว่าคนอื่นนั้นไม่ดีเท่าเรา
เราดีเรากว่าเขาขาดความเคารพ แม้ภายนอกจะดูอ่อนน้อม แต่ภายในจิตใจนั้นเย่อหยิ่งถือตัวถือตน
มันเป็นจิตวิปลาส สัญญาวิปลาส อันเกิดจากการปฏิบัติที่ลัดขั้นตอน คือข้ามเรื่องทานและศีลไป
มาเริ่มที่สติ ที่สมาธิ ที่ธรรม ขาดพื้นฐานแห่งคุณธรรม  คือสติที่มีองค์แห่งคุณธรรมคุ้มครองจิต
และจิตใจที่ยังไม่ถูกขัดเกลาให้มีความเมตตาเสียสละ ละความเห็นแก่ตัว คือจิตของผู้ปฏิบัตินั้น
ยังหยาบกระด้างอยู่ เมื่อปฏิบัติพอเริ่มรู้ เริ่มเข้าใจจึงเกิดอัตตามานะทิฐิ คิดว่าตนดีกว่าผู้อื่นเก่งกว่า
ผู้อื่น จาบจ้วงล่วงเกินผู้อื่นทางจิต ไม่มีความเคารพ ศรัทธาอยู่ภายในจิต เรียกว่าจิตวิปลาส สัญญาวิปลาส
เพราะขาดการเริ่มต้นที่ถูกวิธี ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน ไม่ได้ปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิด ให้มีความพร้อม
เสียก่อน จิตนั้นจึงไม่สามารถที่จะรองรับสภาวธรรมที่เกิดขึ้นได้ และตามอารมณ์ธรรมที่เกิดขึ้นได้ไม่ทัน
ไม่เห็นการเกิดดับของอารมณ์ธรรมที่เกิดขึ้น นำไปสู่ความหลงตัวหลงตน เพิ่มพูนซึ่งอัตตามานะทิฐิ
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรพึงจะสังวรระวังมิให้เกิดขึ้นแก่ตน
      สำรวจกาย สำรวจจิต ดูความคิด ดูการกระทำ คือหัวใจของผู้ปฏิบัติธรรมที่ควรกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ
เพื่อไม่ให้เกิดการหลงทาง หลงอารมณ์ เพื่อความเจริญในธรรมที่ถูกต้องตามธรรมตามวินัยในหลักของ
พระพุทธศาสนา การภาวนานั้นคือการทำให้ดีขึ้นเจริญขึ้น สิ่งที่ดีขึ้นเจริญขึ้นนั้นก็คือความเป็นกุศลทั้งหลาย
ความดีทั้งหลาย ทั้งภายนอกและภายใน คือความเจริญของคุณธรรมที่เพิ่มขึ้น
   จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ให้นำไปคิดพิจารณา เพื่อให้เกิดปัญญา
มีความเจริญก้าวหน้าในทางธรรมทั้งหลาย น้อมนำไปประพฤติปฏิบัติกัน ตามกำลังศรัทธาของแต่ละท่าน
เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนจิตสำนึก ให้ระลึกถึงเจตนาและเป้าหมายของการประพฤติปฏิบัติธรรมที่แท้จริง
จะได้ไม่หลงทางเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ออกห่างจากกุศลธรรมเพราะการรู้ไม่เท่าทันในอารมณ์
ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติ ซึ่งเกิดมาจากอัตตาและนำมาซึ่งมานะทิฐิ การถือตัวถือตน มองผู้อื่นว่า
ไม่ดีไปหมด เรานั้นดีอยู่แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนกิเลสให้แก่ตัวเราเองยิ่งขึ้น
                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มิตรในทางธรรม
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๐  สิงหาคม  ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๕๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

56
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๘ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่  ๑๙  สิงหาคม  พ.ศ. ๒๕๕๔
         เป็นที่น่ายินดีที่ในสมัยปัจจุบันนี้  มีคนหนุ่มสาวหันมาสนใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรม
กันมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งจะเป็นเรื่องของคนที่มีอายุ หรือคนที่ไม่มีภาระอะไรแล้ว ที่เข้ามาปฏิบัติ
เพราะในสมัยก่อนนั้น การสื่อสารรับรู้ข้อมูลนั้นทำได้ยากและมีช่องทางน้อยมากที่จะรับรู้ข่าวสาร
ต้องเขาวัดไปฟังพระเทศน์ หรือหาหนังสือมาอ่าน ซึ่งหนังสือเกี่ยวกับธรรมะนั้นหาได้ยากมาก
และภาษาที่ใช้กันในสมัยก่อนนั้น อ่านแล้วเข้าใจยาก เพราะจะใช้คำศัพท์ของพระพุทธศาสนา
มาเขียนและบรรยายกัน บางครั้งทำให้ยิ่งอ่านก็ยิ่งงง เกิดความสงสัยไมเข้าใจมากกว่าเดิมอีก
ทำให้หนังสือเกี่ยวกับธรรมะทังหลายนั้นเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย เพราะยิ่งอ่านแล้วยิ่งไม่เข้าใจ
แต่ในยุคปัจจุบันนี้  มีการเผยแพร่ธรรมกันในหลายรูปแบบและช่องทาง ทำให้การเข้าถึงนั้น
ทำได้ง่ายขึ้น และภาษาที่ใช้ก็เข้าใจง่ายขึ้น เปลี่ยนจากภาษาเขียนทีติดยึดในรูปแบบ มาใช้
ภาษาง่ายๆที่เข้าใจไม่ยาก ทำให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมมากขึ้น
          การศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้น ในทางพุทธศาสตร์ เป็นไปเพื่อการ ลด ละ เลิกซึ่งอัตตา
มานะ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และขบวนการทางจิตในการคิดและทำ ซึ่งเราต้องเริ่มจากฐานกาย
เป็นที่ตั้ง ต้องทำความเข้าใจในเรื่องของกายเป็นเบื้องต้น อันว่ากายนั้นประกอบขึ้นมาด้วยธาตุทั้ง ๔
คือมหาภูตรูป อันได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มาประชุมรวมกัน เกิดช่องว่างระหว่างธาตุ
คือ อากาศธาตุ และมีจิตเข้ามารับรู้อยู่อาศัยและควบคุมคือ วิญญาณธาตุ ธาตุทั้ง ๔ มาประชุมรวมกัน
ก่อเกิดให้เป็นอวัยวะน้อยใหญ่คืออาการ ๓๒ ซึ่งนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจำเป็นต้องรู้และเข้าใจในเรื่อง
กายและเรื่องธาตุเป็นเบื้องต้น โดยการฝึกจิตให้มีสติระลึกรู้อยู่กับกาย ให้มีความรู้ความเข้าใจในความ
สัมพันธ์ของธาตุในกายทั้งหลาย และเมื่อจิตชัดเจนในฐานกาย จิตก็มีที่อยู่ที่อาศัยมีฐานที่มั่นคง
การหลงในสภาวะทั้งหลายก็เกิดขึ้นได้น้อย เพราะมีสติคอยดูแลและควบคุมอยู่ เมื่อจิตรู้ชัดในฐานกาย
จิตก็จะจางคลายในการยึดถือซึ่งตัวตน เพราะเหตุที่ว่าเห็นกายนี้สักแต่ว่าเป็นธาตุที่ประชุมรวมกัน
และไม่นานก็ต้องสลายไป คืนทุกสิ่งกลับไปสู่ธรรมชาติ จิตนี้เป็นเพียงผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัย หาใช่เจ้าของ
แห่งกายนี้ เมื่อเห็นและเข้าใจเช่นนี้ การยึดถือในตัวตนก็จะจางคลาย ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ
ในจิตแยกแยะความคิดที่เป็นกุศลและอกุศลของตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รู้จักคิดและพิจารณา
ให้เห็นคุณ เห็นโทษ เห็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ของความคิดทั้งหลาย จนเกิดความรู้และเข้าใจ
ว่าสิ่งใดที่ควรคิดและควรทำ เพราะเข้าใจในกุศลและอกุศล มองเห็นความเป็นสาระของธรรมะทั้งหลาย
ที่อยู่รอบกายของเรา รู้ในสิ่งที่ควรและไม่ควร ของกาย ของจิต ของความคิด ของการกระทำ จิตนี้ก็จะไม่ตกต่ำ
เพราะมีธรรมคุ้มครองและรักษา มีสติและปัญญาคอยควบคุม มีองค์แห่งคุณธรรม คือหิริและโอตตัปปะ
คอยเกื้อหนุนและดูแล ในการดำรงค์ชีวิต ไม่ให้เดินผิดทางไปสู่อบาย จิตก็ไม่ตกต่ำ เพราะมีธรรมะเป็นที่อยู่
ที่อาศัย เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ และเมื่อเรารักษาธรรม ธรรมนั้นจะรักษาเรา
            การศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้นต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าได้ไปใจร้อนหวังผลในการปฏิบัติให้เกิดขึ้น
อย่างรวดเร็ว ซึ่งความเจริญในธรรมนั้นต้องใช้เวลาในการสะสมฝึกฝน ปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอจนเป็นกิจวัตร
เป็นความเคยชินของกายและจิต ในการคิดและการทำ หมั่นพิจารณาอยู่อย่างสม่ำเสมอ จึงจะเห็นซึ่งความ
เปลี่ยนแปลงของความคิดและจิตสำนึกในคุณธรรมที่เกิดขึ้นในกายและในจิตของเรา ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลา
ในการละลายพฤติกรรมเก่าๆที่เราเคยคิดเคยกระทำมาจนเคยชิน ก่อนที่เราจะเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรม
และในการศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้น อย่าได้เอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นเขา เพราะมันจะก่อให้เกิดซึ่ง
ทิฏฐิ มานะและอัตตา เกิดการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น ความหยิ่งผยองลำพองใจ หรือความน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมาได้
เพราะพื้นฐานของแต่ละคนนั้นมีที่มาที่แตกต่างกัน สภาวธรรมทั้งหลายจึงเป็นของเฉพาะตน
          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มิตรผู้ใคร่และใฝ่ธรรมทั้งหลาย
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๙  สิงหาคม  ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๔๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

57
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๗ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
     อากาศแปรปรวนเกือบทังวันและคืน  มีทั้งฝนและลมสลับกัน ออกไปทำกิจข้างนอกไม่ได้
ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในที่พัก เจริญสติภาวนา ทบทวนศึกษาในสภาวะแห่งข้อธรรมทั้งหลาย
ถึงที่มาและที่ไปของสภาวธรมในแต่ละอารมณ์ แล้วนำไปสงเคราะห์เข้าหาหลักธรรม
การยกจิตขึ้นสู่การพิจารณาธรรมนั้น เป็นขั้นตอนในการปฏิบัติหลังจากจิตนั้นนิ่งสงบแล้ว
เมื่อจิตเข้าสู่สภาวะความโปร่ง โล่ง เบา สว่าง สงบ สบาย และทรงไว้ในอารมณ์นั้นจนเต็มที่
จึงถอนจิตกลับมาสู่การพิจารณาธรรม การพิจารณาธรรมนั้นให้เริ่มจากการพิจารณาร่างกาย
เป็นลำดับแรก โดยการกำหนดรู้ไปทั่วกาย กำหนดภาพร่างกายภายนอกของเราให้เห็นชัด
วิธีการนี้เรียกว่าเอาจิตมาคุมกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งจิตออกไปนอกกาย เอาจิตมาไว้กับกาย
ดูกายด้วยตาใน คือความรู้สึกของเรา จนเห็นรูปกายนั้นเด่นชัด เมื่อเห็นรูปกายภายนอกเด่นชัดแล้ว
ให้กำหนดระลึกรู้เข้าไปสู่ภายในกายของเรา กำหนดรู้ในอาการ ๓๒ ของกายเรา จนเห็นซึ่งอาการ ๓๒นั้น
        เมื่อเห็นอาการ ๓๒ ของกายเด่นชัดแล้ว จึงพิจารณาอาการ ๓๒ นั้นไปสู่การเป็นธาตุ
คือ ดินน้ำลมไฟ แยกธาตุที่ประกอบเป็นกายนั้นแล้วคืนสู่ธรรมชาติ  เพราะธาตุดิน ธาตุน้ำ
 ธาตุลม ธาตุไฟ ในร่างกายเรานั้น เป็นธาตุเหมือนกันกับธาตุในธรรมชาติทั้งหลาย
แต่แตกต่างกันไปเพียงสภาวะการตั้งอยู่เท่านั้น เป็นธาตุตัวเดียวกัน พิจารณาจนธาตุนั้นสลายไป
แยกจิตแยกกายออกจากกัน เหลือเพียงจิตรู้คือวิญญาณธาตุ ที่มาอาศัยกายนี้เท่านั้น
พิจารณาอย่างนั้นกลับไปกลับมา จนมีความชำนาญเข้าใจในกาย สามารถกำหนดรู้ได้ทุกครั้ง
เมื่อจิตผ่านความสงบ
       การพิจารณาธรรมในเรื่องกายนี้ คืออารมณ์ธรรมในองค์ฌาน คือองค์แห่งวิตกวิจาร
การตริตรองใคร่ครวญในธรรม ยังเป็นอารมณ์ของสมถะกรรมฐาน เพราะยังอยู่ในอารมณ์ฌาน
มีสมาธิควบคุมอยู่ อย่าหลงคิดว่าเป็นวิปัสสนาเป็นปัญญา เพราะว่ายังอยู่ในองค์แห่งฌาน
ยังอยู่ในอารมณ์สมาธิอยู่ เป็นการทำความรู้ความเข้าใจในกายของเรา ให้เห็นในกายทั้งหลาย
ทั้งภายนอกและภายใน " ดูกายภายนอก ดูกายภายใน " จนเข้าใจกายว่ามันเป็นอย่างไร
มันประกอบด้วยอะไร ไม่มีความสงสัย เพราะเข้าใจในกายนี้ ซึ่งการพิจารณาอย่างนี้ผลที่ตามมาคือ
จะทำให้การยึดถือในกาย ในตัวตนของเรานั้นเบาบางลง ลดลง มานะทิฐิและอัตตานั้นจะลดลง
เมื่อเราเข้าใจในกายและไม่เข้าไปยึดถือ
       เพียรพิจารณากายของเราอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนมีความชำนาญในกาย ซึ่งการพิจารณาอย่างนี้
จะมีผลเมื่อเรายกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ ในฐานกาย ซึ่งเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
 ให้พิจารณากายให้ชำนาญเสียก่อน อย่าใจร้อนรีบไปพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม
เพราะเราต้องสร้างฐานให้มั่นคงเสียก่อน เพราะฐานของจิตของธรรมทั้งหลายนั้นก็คือกายของเรา
ซึ่งการพิจารณาธรรมขั้นต่อไปนั้นจะอธิบายในลำดับชั้นต่อไป หลังจากเรารู้เราเข้าใจในฐานกาย
ชัดเจนชำนาญแล้ว
       การปรารภธรรมในเรื่องนี้  มีเหตุปัจจัยมาจากการนั่งพิจารณาดูน้ำฝนที่ตกลงมาจากหลังคา
ลู่ภาชนะที่รองรับไว้ เกิดการกระเพื่อมของผิวหน้าน้ำตลอดเวลาที่น้ำนั้นหยดลงมาในภาชนะ
ทำให้มองเห็นสิ่งที่อยู่ภายในภาชนะนั้นไม่ชัดเจน เปรียบได้กับจิตของเราที่กำลังสับสนวุ่นวาย
ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ทั้งหลาย ย่อมจะพิจารณาอะไรได้ไม่ชัดเจน เหมือนน้ำที่กำลังกระเพื่อมอยู่
แต่เมื่อเราไปมองน้ำที่เก็บไว้ในถังที่เก็บไว้ ไม่มีความเคลื่อนไหว ตกตะกอนสงบนิ่งอยู่นั้น เราได้
เห็นสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ภายในถังน้ำนั้นได้ชัดเจน  เหมือนกับจิตของเราที่เข้าสู่ความสงบนิ่ง
ความจริงแท้ธรรมชาติของจิตนั้นก็จะปรากฏชัดขึ้นมา กิเลส ตัณหา ทิฏิมานะ อัตตา ทั้งหลาย
ที่มีอยู่ในจิตใจของเรานั้น ก็จะเห็นได้เด่นชัดขึ้น มันเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของจิต
                 ด้วยความปรารถดีและไมตรีจิตแด่มิตรผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลาย
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๘  สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๔๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

58
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๖ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
             มีผู้ปฏิบัติธรรมมากมายที่หลงในอารมณ์กัมมัฏฐาน ปฏิบัติธรรมแล้วไปหลงยึดติดในข้อวัตร
เกิดมานะอัตตาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเหตุนั้นเกิดจากเจตนา ดำริตัวแรกในการเข้าสู่การปฏิบัติ ที่เป็นไปโดย
มิชอบ อย่างเช่นปรารถนาให้ผู้อื่นมากล่าวยกย่องชมเชยในการปฏิบัติของเรา  หรือปฏิบัติเพื่อแข่งขัน
ให้ตนเองนั้นดีนั้นเด่นกว่าผู้อื่นเขา อยากจะเก่งเหมือนเขาหรือให้ดีกว่าเขา ฉลาดกว่าเขา เป็นไปเพื่อการ
โอ้อวด หวังให้ผู้อื่นมาชื่นชมในการปฏิบัติของตน  มันจึงก่อให้เกิดทิฐิมานะและอัตตา สำคัญผิดคิดไปเองว่า
เรานั้นปฏิบัติดีกว่าผู้อื่นเขา เราเคร่งกว่าเขา เราฉลาดกว่าเขา เราบริสุทธิ์กว่าเขา ซึ่งเป็นการยกตนข่มท่าน
เป็นการปฏิบัติที่ผิดพลาดเพราะนำมาซึ่งการเพิ่มอัตตากิเลสตัณหาให้มากยิ่งขึ้น
           การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้ทำให้เราฉลาดขึ้นกว่าคนอื่น แต่ทำให้เราได้เห็นความโง่ ความหลงผิด
ในอดีตของเราที่ผ่านมา ยิ่งปฏิบัติก็ทำให้เราได้เห็น ในสิ่งที่เรายังไม่รู้ ในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมานั้น
เราคิดว่าเรารู้ถูกต้องและเข้าใจหมดแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นเลย เรายังไม่รู้จริง เรายังไม่เข้าใจในความจริง
อย่างที่เราเคยคิด ยังมีอีกมากมายที่เรายังไม่รู้และไม่เข้าใจ
        การปฏิบัติธรรมนั้นทำให้เราเห็นกิเลสของเรา ที่เรายังไม่เคยเห็นหรือไม่เคยสนใจ ทำให้เรารู้เท่าทัน
กิเลสที่เกิดขึ้นและกิเลสที่มีอยู่แล้วในกายในจิตในความคิดของเรา ซึ่งเมื่อก่อนนั้นเราคิดว่าการปฏิบัติธรรม
ทำให้เราฉลาดขึ้น ทำให้เราหมดกิเลส กิเลสเบาบางลง ทำให้เราหลงตัวเองเพราะการที่เรามีความคิดอย่างนั้น
มันเป็นการก่อเกิดและเพิ่มซึ่งอัตตา มานะ การถือตัวถือตนโดยเราไม่รู้ตัว คิดว่าตนเองบริสุทธิ์และสมบูรณ์ด้วยศีล
ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบกว่าผู้อื่น เกิดการหลงตัวเองโดยที่เรารู้ไม่เท่าทัน ขึ้นมาที่ละน้อย ซึ่งนานเข้ามันจะมากขึ้น
จนอาจจะยากในการแก้ไขและปรับปรุงตัวเองได้
        เมื่อเราได้มีเวลาทบทวนพิจารณา สิ่งที่ผ่านมาในอดีตของเรา ทำให้เราได้เห็นความประมาท
ความผิดพลาดในการดำเนินชีวิตของเราที่ผ่านมา เราไปติดอยู่เพลินอยู่กับความสะดวกสบาย
ในสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายทำให้เราไม่เห็นทุกข์ คลุกคลีกับหมู่คณะเกินไป
จนทำให้การปฏิบัติย่อหย่อน ซึ่งเมื่อเราได้พิจารณาและเห็นในสิ่งนั้น เห็นในความประมาท
และผิดพลาดของตัวเรา จึงทำให้เราระลึกได้ในหลักธรรมเรื่อง " อัตตา ตัวกู ของกู "ที่เคยได้ศึกษามา
เพราะว่าอัตตานั้น มันจะบดบังสัจจธรรมที่แท้จริง เราต้องเปิดโลกทัศน์ ชีวทัศน์ ทำลายอัตตาลบภาพมายา
ทั้งหลายให้หายไปแล้วเราจะได้พบกับ "สัจจธรรม" ธรรมชาติของจิตที่แท้จริง......
       มุมมองในวันนี้......การที่เรานั้นได้บันทึกไว้นั้น เพื่อเป็นการย้ำเตือนแก่ตนเอง ให้ระลึกถึงสิ่งที่เรามุ่งหวัง
และตั้งใจไว้ ในการประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งการบันทึกเรื่องราวไว้นั้น เมื่อวันเวลาผ่านไป เรานำกลับมาอ่านใหม่
มันให้อะไรแก่เรามากมาย ได้รู้ถึงความแปรเปลี่ยนไป จากอดีตที่ผ่านมาสู่ปัจจุบัน ทั้งในความคิดและการกระทำ
จึงได้นำมาเสนอให้ท่านทั้งหลายได้รู้และเข้าใจ เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิต
ทั้งในทางโลกและทางธรรม ให้น้อมนำมาเป็นข้อคิดในการดำเนินชีวิตในโอกาสต่อไป เพื่อความเจริญในธรรมทั้งหลาย
“ เพียงคุณเปลี่ยนความคิด ชีวิตคุณก็จะเปลี่ยนไป “......
                         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

59
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๕ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
                   วันเวลาที่ผ่านไปนั้น ทำงานไปตามบทบาทและหน้าที่ ตาม จังหวะ เวลาและ โอกาสที่พึงมี
ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการมีสติและสัมปชัญญะระลึกรู้ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ
"ชีวิตคือการทำงาน การทำงานคือส่วนหนึ่งของชีวิต"  ชีวิตนั้นต้องดำเนินไปตามกระแสแห่งกรรมที่ทำมา
ทุกคนเกิดมาต่างมีภาระหน้าที่และบทบาทที่แตกต่างกัน ตามที่กรรมเก่าได้จัดสรรค์ไปตามเหตุและปัจจัย
ซึ่งที่มานั้นเราไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ เพราะมันเป็นเรื่องของอดีตที่ผ่านมาแล้ว แต่เรื่องราวในอนาคตนั้น
เราสามารถที่จะกำหนดได้ โดยการสร้างเหตุและปัจจัยในวันนี้ ดำเนินชีวิตตามภาระและหน้าที่ของเราที่มี
ให้สมบูรณ์ ทำในสิ่งที่ไม่เป็นภัยต่อชีวิตไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น ไม่ฝ่าฝืนศีลธรรมกฏหมายและประเพณีที่ดีงาม
เดินตามอริยมรรคอันมีองค์๘ ตามสถานะและสภาวะของเรา
            อริยมรรคมีองค์๘นั้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลางแห่งการดำเนินชีวิตที่ไม่ผิดทำนอง
คลองธรรม ซึ่งมีหลายระดับชั้นตามกำลังของผู้ปฏิบัติ อย่างหยาบปานกลางและละเอียดตามความเหมาะสม
ของภูมิธรรมของแต่ละบุคคล อันได้แก่
    ๑.สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้อง รู้จักผิดชอบชั่วดี เห็นในความเป็นจริงแยกแยะกุศลและอกุศล
    ๒.สัมมาสังกัปปะ คือความรู้สึกนึกคิดที่จะไม่ทำในสิ่งที่ผิด อันเป็นอกุศลทั้งหลาย
    ๓.สัมมาวาจา คือการสำรวมในการพูดการเจรจา ไม่ก่อให้เกิดปัญหา มีวาจาที่สุภาพอ่อนโยน
   ๔.สัมมากัมมันตะ คือการทำงานที่ไม่สร้างความเดือดร้อนเบียดเบียนผู้อื่น และไม่ผิดกฏหมายศีลธรรม
   ๕.สัมมาอาชีวะ คือการประกอบอาชีพที่สุจริตไม่ผิดกฏหมายและศีลธรรม
   ๖.สัมมาวายามะ คือความเพียรพยายามควบคุมจิต ระวังบาปอันเป็นอกุศลธรรมไม่ให้เกิดขึ้น
                       ละบาปอันเป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป พยายามสร้างกุศลตัวใหม่ให้เกิดขึ้น
                       กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วรักษาให้เจริญยิ่งขึ้น
   ๗.สัมมาสติ คือการมีสติระลึกรู้อยู่เสมอในสิ่งที่เป็นบุญและบาป และเตือนสติไม่ให้คล้อยไปในอกุศลธรรม
   ๘.สัมาสมาธิ คือการมีความแน่วแน่ตั้งมั่นในสิ่งที่กำลังกระทำ โดยมีสัมมาสติควบคุมอยู่
ที่กล่าวมานี้คือมรรคอันมีองค์๘ สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือนที่สามารถจะนำไปประพฤติปฏิบัติได้ โดยที่ไม่ขัดกัน
ทั้งในทางโลกและทางธรรม ส่วนอริยมรรคอันมีองค์๘ ของสมณะนั้นจะละเอียดยิ่งไปกว่านี้เพราะบทบาทและหน้าที่
สถานะนั้นแตกต่างกัน ซึ่งถ้าเรารู้บทบาทและหน้าที่ของเราแล้ว การดำเนินชีวิตก็จะไม่ผิดทำนองคลองธรรม
      การทำงานทุกอย่างคือการปฏิบัติธรรม ถ้าเรามีสติและสัมปชัญญะในการทำงาน "ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง"
คือคำกล่าวสอนของหลวงพ่อพุทธทาส ความว่างนั้นคือว่างจากอกุศลจิต ว่างจากอัตตา "ความเป็นตัวกูของกู"
ดำเนินชีวิตทำงานไปตามมรรคองค์๘ ความเป็นสัมมาทั้งหลาย ชีวิตจึงไม่เคยว่างจากการทำงาน ทั้งทางกาย
และทางจิต ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่ชีวิตไม่เคยว่างจากการงาน"เป็นความว่างจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
แต่ไม่เคยว่างจากภาระกิจและหน้าที่ที่ต้องกระทำ" ไม่เคยว่างจากการเจริญสติแต่ว่างจากอกุศลจิตทั้งหลาย"
      การปฏิบัติธรรมตามธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่เราคิดว่ายากก็เพราะเราไม่รู้จักบทบาทและหน้าที่ของเรา
ไม่รู้ตน ไม่รู้ประมาณ ไม่รู้กาลเวลา ว่าเราควรกระทำในสิ่งใด และอะไรที่เหมาะสมกับตัวของเราที่จะกระทำ
ความเป็นฆราวาสผู้ครองเรือนและสมณะนั้นแตกต่างกัน เราจึงต้องเลือกธรรมที่จะปฏิบัตินั้นให้เหมาะสมกับตัว
ของเรา ซึ่งเรียกว่า"ธรรมะสัปปายะ"แล้วความเจริญในธรรมจะเกิดขึ้นแก่เรา ทั้งทางโลกและทางธรรม
            เหตุแห่งการปรารภธรรมในเรื่องนี้ เนื่องจากมีผู้ขึ้นมาสนทนาธรรม เกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติธรรม
ว่าจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องปลีกวิเวกไปอยู่ในสถานที่สงบ จึงจะปฏิบัติธรรมได้ดี มีความเจริญก้าวหน้าในธรรม
ก็ตอบเขาไปว่า การปลีกวิเวกไปปฏิบัติในสถานที่สงบนั้น มันเป็นเพียงพื้นฐานเบื้องต้น ในการที่จะฝึกสมาธิ
ให้จิตตั้งมั่น  แต่ชีวิตจริงนั้นเราต้องอยู่กับปัจจุบันธรรม ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม มีบทบาทและหน้าที่ ที่จะต้อง
กระทำไปตามกรรมตามวาระ จึงต้องเลือกเฟ้นธรรมะที่จะนำมาปฏิบัติให้เหมาะสมกับตัวเรา ไม่ใช่การปฏิบัติ
แบบหนีปัญหาทอดทิ้งธุระ แต่เป็นการปฏิบัติเพื่อให้อยู่กับปัจจุบันธรรม ในโลกแห่งความเป็นจริง
                          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๔  เวลา ๐๕.๐๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

60
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๔ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
"จงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงค่อยทำ...อนุวิจฺจการํ  กโรหิ..."
                พุทธสุภาษิต  อุปาลีวาทสูตร ๑๓/๖๒
                    ............................
"ภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด
ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมเห็นตามความเป็นจริง"
"สมาธึ  ภิกฺขเว  ภาเวถ  สมาหิโต ภิกฺขเว ภิกฺขุ  ยถาภูตํ  ปชานาติ"
                           พุทธสุภาษิต  สมาธิสูตร ๑๙/๔๗๐
                  .........................................
"ผู้ใด มีสติพิจารณาร่างกายอยู่เนืองนิตย์
      ทั้งกลางวันและทั้งกลางคืน
ผู้นั้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็นสาวกผู้ตื่นของพระพุทธเจ้า"
"สุปฺปพุทฺธํ   ปพุชฺฌนฺติ  สทา  โคตมสาวกา
เยสํ  ทิวา  จ  รตฺโต  จ  นิจฺจํ  กายคตา  สติ"
                     พุทธสุภาษิต  ธรรมบท ๒๕/๔๖
               ........................................
   วันนี้ไม่มีใครขึ้นมาบนเขา ทำให้มีเวลาที่จะได้ค้นคว้าพระไตรปิฏก
เพื่อเตรียมกายเตรียมจิดทบทวนความทรงจำในหัวข้อธรรมทั้งหลาย
อ่านแล้วทำความเข้าใจบันทึกไว้ในหมวดของความทรงจำของสมอง
ใคร่ครวญไตร่ตรองพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงอรรถะความหมายของบทธรรม
ว่าพระองค์ทรงตรัสที่ไหน แก่ใคร ปรารภเหตุจากอะไร มุ่งหมายเพื่อสิ่งใด
จะได้ไม่สับสนในหัวข้อธรรม เมื่อนำไปกล่าว ไปบรรยาย จะได้ชัดเจน
ทุกอย่างในการทำงานแต่ละขั้นตอนเราต้องมีการวางแผนงานไว้ล่วงหน้า
ต้องค้นหาข้อมูลรายละเอียดให้ถูกต้องและชัดเจนเพื่อความไม่ผิดพลาด
เพราะการกล่าวธรรมนั้นไม่อาจที่จะผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมได้
ซึ่งถ้าเรากล่าวผิดไปพลาดไปทำให้ผู้ฟังเข้าใจคลาดเคลื่อนและนำไปปฏิบัติตาม
มันจะเป็นกรรมที่หนักต่อตัวเรา ซึ่งเท่ากับชี้ทางผิดให้เขาปฏิบัติเดินไปสู่อบาย
เป็นการปิดกั้นกระแสพระนิพพานของเขา กรรมของเราผู้กล่าวแนะนำนั้นจึงหนัก
ซึ่งเรื่องนี้ได้เรียนรู้มาจากหลวงพ่อชาแห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี
ที่ท่านได้เคยกล่าวสอนแก่ศิษย์ไว้...ว่าในสมัยหนึ่งเคยมีพระมาถามเรื่องธรรมวินัย
และท่านได้ตอบผิดพลาดไป แต่เมื่อมาทบทวนดูใหม่ ท่านได้รีบไปหาเพื่อแก้ไข
บอกข้อธรรมใหม่ที่ถูกต้องให้แก่พระท่านนั้น แม้นว่าจะเป็นเวลากลางคืนดึกดื่นแล้ว
และท่านได้ย้ำเตือนศิษย์ทั้งหลายให้ตระหนักและจดจำไว้ในการที่จะกล่าวธรรม
จึงได้นำมาปฏิบัติเตือนจิตเตือนใจทุกคร้งในการที่เราจะกล่าวธรรมบรรยายธรรม
เราต้องทำการบ้านมาก่อนทุกครั้ง และถ้าคำถามใดที่เรายังไม่ชัดเจนก็จะไม่ตอบไป
โดยขอเวลาค้นหาและทำความเข้าใจเสียก่อนจึงจะตอบในหัวข้อธรรมที่เขาถาม
การทำความรู้ความเข้าใจนั้น ต้องใช้สติและสัมปชัญญะ เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ
แล้วทำจิตให้ว่าง ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ให้ปัญญาเกิดขึ้นในจิตแล้วพิจารณาหัวข้อธรรม
เราจึงจะเห็นสภาวะธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่จิตเราปรุงแต่งและคิดเข้าใจไปเอง
โดยเอาอัตตามานะทิฏฐิของเราเป็นที่ตั้งในการคิดและพิจารณาหัวข้อธรรมทั้งหลาย
และถ้าไม่เข้าใจและไม่ชัดเจนก็ต้องบอกให้ผู้ฟังรู้ว่า..นี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว
ผู้ฟังอย่าพึ่งเชื่อให้ลองคิดพิจารณาดูซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ เพราะเป็นความเห็นส่วนตัว
อย่าสอนให้ผู้ฟังงมงายเชื่อทันทีที่ได้ยินได้ฟัง จงสอนให้เขารู้จักการคิด รู้จักการพิจารณา
เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้นแก่ผู้ฟัง ฝึกให้เขาคิดเป็น คิดเองได้ เพราะไม่มีใครจะเข้าใจในตัวเขา
เท่ากับตัวเขาเอง สภาวธรรมทั้งหลายของผู้ที่ปฏิบัติธรรมนั้นนั้นเป็นเรื่อง “ ปัตจัตตัง “
มีเพียงความคล้ายคลึงและใกล้เคียงกัน แต่จะไมเหมือนกันในทุกอย่าง ในทุกสภาวะ
ซึ่งถ้าเหมือนกันทุกอย่างนั้น มันเป็นการอุปทานสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา ตามสัญญาความจำ
มันเป็นการสะกดจิตตนเอง เพื่อให้เป็นไปตามที่เคยได้ยินได้ฟังมา หาใช่ปัจจุบันธรรมไม่
มันจึงไม่ใช่สภาวธรรมที่แท้จริง มันเป็นเพียงสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา ซึ่งไม่ช้ามันก็จะดับไป
ทรงไว้ในอารมณ์นั้นมิได้นาน เพราะมันไม่ใช่ของจริง....
    แด่การเตรียมกายเตรียมจิด ทบทวนความคิดและความทรงจำในหัวข้อธรรมทั้งหลาย 
                               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๑๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

61
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๓ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
                ต้อนรับและสนทนากับผู้มาเยือนตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ทำหน้าที่ของเข้าบ้านที่ดีต่ออาคันตุกะ
เป็นไปตามวาระเป็นไปตามกาลของงานนั้นๆ สนองตอบโจทย์ความต้องการให้เขาเท่าที่เรานั้นจะทำได้
สิ่งที่กระทำไปนั้นต้องไม่ผิดธรรมวินัยและเป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศล นั้นคือสิ่งเราสงเคราะห์ให้ได้
ใช้เวลาบางส่วนในการฟังธรรม เพื่อนำมาวิเคราะห์หาความเหมาะสมกับตัวของเราเองที่จะนำไปปฏิบัติ
เปิดธรรมะของนิกายเซ็น ฟังสูตรของเหว่ยหลาง  ฟังสูตรของฮวงโป ฟังแล้วคิดพิจารณาวิเคราะห์ตาม
ในโศลกธรรมทั้งหลายของนิกายเซ็น ซึ่งเป็นเรื่องของการสอนที่ไร้รูปแบบ เป็นเรื่องของการสอนที่จิต
ให้พิจารณา ซึ่งผู้ปฏิบัติตามหลักของเซ็นนั้น ต้องที่มีอินทรีย์ที่แก่กล้าและได้สั่งสมบารมีมามากแล้ว
จึงจะเกิดปัญญามีดวงตาเห็นธรรม จากการฟังโศลกธรรมสั้นๆไม่กี่คำ มันถึงจะเป็นเซ็นอย่างแท้จริง
ไม่ใช่การปรุงแต่งฟุ้งซ่านวิจารน์ธรรม จินตนาการไปเอง มันต้องมีพื้นฐานที่ได้สั่งสมมาจากอดีตชาติ
มาก่อนแล้ว บารมีสั่งสมมาเต็มที่ เพียงแต่รอเวลาให้มีผู้มาเปิดดวงตาให้เห็นธรรม ด้วยโศลกธรรม
เพียงสั้นๆที่มีความหมายและได้ใจความ จากครูบาอาจารย์ที่เคยได้ร่วมสร้างบารมีกันมาเป็นผู้ชี้แนะ
มันเป็นสภาวะแห่งความเป็นปัตจัตตังที่รู้ได้เฉพาะตนในการปฏิบัติตามนิกายเซ็น...
          การเจริญจิตตภาวนาตามหลักของพุทธศาสนานั้น เราสามารถที่จะทำได้ในทุกอิริยาบท คือ ยืน
เดิน นั่ง นอน เพราะเป็นเรื่องของการมีสติ คือการทำที่จิต แต่ในอิริยาบทต่างๆนั้น จะมีผลต่างกัน
เช่นการเจริญสติภาวนาในท่านอนนั้น ทำได้ง่ายเข้าสมาธิได้เร็ว แต่จะไม่ตั้งอยู่นาน เพราะนิวรณ์นั้น
จะเข้ามารบกวนได้ง่ายคือนิวรณ์ตัวถีนมิทธะ อาการง่วงเหงาหาวนอน สมาธิจะกล้าแต่สติจะมีกำลังน้อย
มันจะทำให้เผลอหลับไป ส่วนในอิริยาบทยืนนั้นจะทำได้ยากกว่าการนั่ง เพราะต้องทรงร่างกายให้ตรง
เพื่อไม่ให้ล้ม และในอิริยาบทเดินนั้นทำได้ยากที่สุด แต่ถ้าเข้าสมาธิได้แล้ว จะตั้งได้อยู่นาน ทรงได้อยู่นาน
เพราะว่ามีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จึงต้องใช้กำลังของสติเป็นอย่างมาก ในการจดจ่ออยู่กับองค์ภาวนา
อยู่ตลอดเวลา การรักษาศีลนั้นคือการเจริญสติ เพราะผู้ที่รักษาศีลนั้นต้องมีสติอยู่กับกายและจิต ในการที่จะคิด
จะพูดและจะทำ เรียกว่าต้องสำรวมอินทรีย์อยู่ทุกขณะจิต เพื่อไม่ให้ล่วงละเมิดข้อห้ามของศีลที่รักษา
ศีลจึงคือที่มาของสติพละ และสิ่งที่ได้มาควบคู่กับสติในการรักษาศีล ก็คือองค์แห่งคุณธรรม " หิริและโอตตัปปะ "
 สิ่งนั้นก็คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เพราะการที่เราไม่กล้าที่จะล่วงละเมิดข้อห้ามของศีลนั้น
เพราะเรามีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปเป็นตัวกระตุ้นเตือน เพื่อให้เกิดจิตสำนึก ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
ดั่งคำพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ว่า..."ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ศีลเป็นพื้นฐาน เป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่งแผ่นดิน
เป็นที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่มีชีพและหาชีพมิได้ เป็นต้นว่า พฤกษาลดาวัลย์ มหาสิงขร และสัตว์จตุบาท
ทวิบาทนานาชนิด บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจย่อมอยู่สบาย มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่ปัดกวาด เช็ดถูเรียบร้อย
ปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน "  ความบริสุทธิ์ของศีลนั้นก็คือการที่มีสติและสัมปชัญญะที่สมบูรณ์อยู่ในทุกขณะจิต
โดยมีองค์แห่งคุณธรรมคุ้มครองอยู่  รู้ได้ด้วยจิตของตนถึงความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ของศีลที่เรารักษานั้น
ไม่ใช่การกระทำทางกายเพื่อจะนำไปโอ้อวดข่มกัน ศีลนั้นเป็นเรื่องของการกระทำที่จิตเพื่อให้มีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกาย
เพื่อให้เป็นไปโดยชอบและประกอบด้วยกุศล เป็นบาทฐานเบื้องต้นก่อนที่เข้าสู่การภาวนาให้สมาธิและปัญญานั้นเกิด
การปฏิบัติธรรมจึงต้องเริ่มจากพื้นฐานสั่งสมอบรมไปตามขั้นตอน จนมีอินทรีย์บารมีที่แก่กล้า ดวงตาจึงจะเห็นธรรม...
                                            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

62
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๒ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
            การเจริญจิตภาวนานั้นเป็นการกระทำที่จิตก็จริงอยู่ แต่จิตต้องอยู่กับกาย มีความสัมพันธ์กัน
จิตระลึกรู้อยู่ในกาย ไม่ส่งจิตออกนอกกาย อันเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นเพราะจิตส่งออก
ในความไร้รูปแบบนั้น คือความเป็นไปตามความเหมาะสม ตามจังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และบุคคล
การเลือกหาวิธีการที่เหมาะสมที่จะกระทำได้ในขณะนั้น มาประพฤติปฏิบัติเพื่อไม่ให้ขัดทั้งในทางโลก
และในทางธรรม ดำเนินไปในความเป็นปกติ การไร้รูปแบบนั้น มันก็มีรูปแบบของมันในตัวเองเสมอ
ต้องผ่านการฝึกฝนในรูปแบบมาก่อน จนมีความรู้ความเข้าใจและชำนาญในรูปแบบมาก่อนแล้ว
จึงจะละรูปแบบมาสู่รูปแบบที่ไร้กฏเกณฑ์กติกา ไร้การยึดติด มาทำที่จิตโดยทิ้งรูปแบบทางกาย
ไม่ใช่การทอดทิ้งธุระ ที่กระทำไปเพราะความมักง่าย อันเกิดจากอกุศลจิตคือความเกียจคร้าน
ความไม่ชอบใจทั้งหลาย แต่เกิดจากความรู้ความเข้าใจแล้วจึงปล่อยวาง...
          การเดินจงกรมนั้น เป็นการเจริญสติและสัมปชัญญะพร้อมกันไปในตัว เป็นได้ทั้งอารมณ์สมถะ
และวิปัสสนา ซึ่งถ้าจะให้เป็นสมถะนั้นเราก็เน้นที่สติ คือสติอยู่กับองค์ภาวนาในขณะที่เรากำลังก้าวเดิน
แต่ถ้าจะให้เป็นวิปัสสนานั้น เปลี่ยนมาเป็นการใช้สตินั้นพิจารณาตามดู ตามรู้ความเคลื่อนไหวของร่างกาย
มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิต ปัญหาของผู้ปฏิบัติธรรมที่มักจะเกิดขึ้นนั้น คือขาดความต่อเนื่องในอารมณ์
กรรมฐาน ไม่เสมอกันในอิริยาบท เพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน คิดว่าการเสมอกันในอิริยาบทนั้นคือการที่
ปฏิบัติในอิริยาบท ยืน เดิน นั่ง นอน ในระยะเวลาที่เท่ากัน ซึ่งเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะความหมาย
ของคำว่า " การเสมอกันในอิริยาบท "นั้น หมายถึงการปฏิบัติในกรรมฐานกองเดียวกันในอิริยาบททั้งหลาย
คืออารมณ์กรรมฐานนั้นเสมอกันในทุกอิรยาบท เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของอารมณ์กรรมฐานตามหลักของ
" อิทธิบาท ๔ "  อันได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิต วิมังสา  ซึ่งเราต้องค้นหาตัวเองให้ได้ว่า เราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร
ต้องการเพียงความสงบ เพื่อหลบปัญหา หรือว่าปรารถนาซึ่งความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย เพื่อ มรรค
ผล นิพพาน หรือเพื่อความต้องการที่จะมีอิทธิฤทธิ์  เราต้องถามตนเองให้ได้คำตอบเสียก่อนว่า " เราทำเพื่ออะไร "
และเมื่อได้คำตอบให้ตนเองแล้ว จึงมาคิดต่อไปว่าทำอย่างไร ศึกษาหาข้อมูลของการปฏิบัติธรรม ว่าควรทำอย่างไร
ถามผู้รู้ ดูตำรา หาครูบาอาจารย์ นั้นคือแนวทางต่อไป และสิ่งที่จะทำให้เกิดความเจริญในธรรมได้เร็วนั้น ก็คือแนวทาง
ที่จะปฏิบัตินั้น ต้องเหมาะสมกับจริตของเรา " ธรรมะสัปปายะ " อันมี " ฉันทะ " ความพึงพอใจในสิ่งที่ทำ เป็นพื้นฐาน
คือการมีศรัทธาในสิ่งที่กระทำ มีความเพียรพยายามที่จะกระทำในสิ่งที่ชอบ ในสิ่งที่ใช่ ตั้งใจทำไปโดยไม่ทอดทิ้งธุระ
กระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ มีการคิดพิจารณาใคร่ครวญว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันเป็นอย่างไร  สิ่งนี้คือ   " อิทธิบาท ๔ "
สิ่งนี้คือแนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จทั้งหลาย...
             การไร้รูปแบบก็คือการมีรูปแบบเฉพาะตัวนั้นเอง โดยการไม่เข้าไปยึดติดในรูปแบบที่เป็นกระแสนิยมของสังคม
เป็นไปเพื่อความเหมาะสมกับจริตและวิถีชีวิตของผู้ปฏิบัตินั้นเอง เป็นการกระทำที่รู้ได้เฉพาะตน มีเหตุและผลในการ
กระทำทั้งหลาย มีสติและสัมปชัญญะที่เป็นกุศลควบคุมกายจิตอยู่ทุกขณะ เป็นสภาวะของปรมัตตธรรม จิตเข้าสู่ความ
เป็นปัตจัตตัง รู้ได้เฉพาะตนในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ ดำเนินชีวิตไปอย่างเรียบง่าย ไม่เป็นภัยต่อชีวิต ไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น
ไม่ฝ่าฝืนธรรมวินัย เป็นไปโดยชอบอันประกอบด้วยกุศล เป็นมงคลต่อชีวิต ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ...
                                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๑๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

63
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๑ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
         ในการเจริญจิตภาวนานั้น เป็นไปเพื่อการเข้าสู่ความสงบทางจิต
ก่อนที่จะยกจิตเข้าสู่การคิดและพิจารณาธรรมนั้น มันต้องทำให้จิตนั้นนิ่งเสียก่อน
เพราะเมื่อจิตนั้นนิ่ง ความจริงทั้งหลายก็จะปรากฏขึ้นในจิต เมื่อเราพิจารณาธรรม
มันจึงจะไม่เป็นการฟุ้งซ่านวิจารณ์ธรรม เพราะเมื่อจิตนั้นเข้าสู่ความเป็นสมาธิแล้ว
ความคิด ความจำทั้งหลายจะเข้าสู่ระบบ สมาธิจะจัดระเบียบความคิดให้เป็นระบบ
เป็นไปตามขั้นตอน ตามเหตุผลและปัจจัยในขณะนั้น ไม่ใช่การปรุงแต่งหรือจินตนาการ
เพราะกระบวนการของความคิดนั้น มีสติสัมปชัญญะ สมาธิและองค์แห่งคุณธรรมควบคุมอยู่
 สติและสัมปชัญญะนั้นจึงต้องมีควบคู่กันในการเจริญสติภาวนา เพื่อให้ไม่หลงอารมณ์
หลงสภาวธรรมที่เกิดขึ้น การเจริญจิตสมถะสมาธินั้น อาจจะทำให้หลงอารมณ์ได้ง่าย
เพราะว่าเน้นไปที่กำลังของสติแต่เพียงอย่างเดียว คือดู รู้ เห็น แต่เฉพาะที่ที่กำลังเพ่งดูอยู่
ไม่รับรู้ในปัจจุบันธรรมทั้งหลาย  สมาธิที่ไม่มีศีลเป็นพื้นฐานนั้น มันจะขาดคุณธรรมคุ้มครอง
ขาดซึ่งหิริและโอตตัปปะ ทำให้เกิดอัตตาและมานะทิฏฐิ คือการหลงตัวเอง คิดว่าตนเองนั้น
บริสุทธิ์กว่าผู้อื่น เก่งกว่าผู้อื่น ดีกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นการผิดทาง เพราะสมาธิที่เป็นพื้นฐานแห่ง
ปัญญาในหลักของพระพุทธศาสนานั้น เป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่อความจางคลายแห่งอัตตามานะ
เป็นไปเพื่อความลดละซึ่งมานะทิฏฐิทั้งหลาย เพื่อความจางคลายของกิเลสตัณหา จึงต้องมา
จากพื้นฐานแห่งศีลทั้งหลาย เพื่อให้ได้มาซึ่ง " สัมมาสมาธิ "ถูกต้องตามหลักของมรรค ๘
ดั่งพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ว่า... " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาซึ่งมีสมาธิเป็นรากฐานนั้น ย่อม
ปรากฏดุจไฟกองใหญ่ กำจัดความมืดให้ปลาสนาการ มีแสงสว่างรุ่งเรืองอำไพ ขับฝุ่นละออง
คือกิเลสให้ปลิวหาย ปัญญาจึงเป็นประดุจประทีปแห่งดวงใจ “ ....
           การรักษาศีลนั้นก็คือการเจริญสติและสัมปชัญญะ มีความระลึกรู้ความรู้ตัวทั่วพร้อม
ที่องค์แห่งคุณธรรมคือความละอายและเกรงกลัวต่อบาปควบคุม ความคิดและการกระทำอยู่
เพราะการที่เราจะรักษาศีลใหบริสุทธ์ครบถ้วนได้นั้น สติและสัมปชัญญะของเราต้องเต็มรอบ
จิตต้องอยู่กับกายทุกขณะ ในการพูดและการกระทำ มีความยับยั้งชั่งใจไม่คล้อยตามกิเลส
ฝ่ายต่ำทั้งหลาย ในโอกาสที่ไม่มีใครรู้และไม่มีใครเห็น ในสิ่งที่เรานั้นจะกระทำ แต่เราสามารถ
ที่จะหักห้ามใจไม่ให้กระทำในสิ่งผิดนั้นได้ ก็เพราะว่ามีองค์แห่งคุณธรรมคือความละอายและ
เกรงกลัวต่อบาปควบคุมจิตอยู่ เรื่องของศีลนั้นจึงเป็นเรื่องของการเจริญสติและสัมปชัญญะ
เมื่อสติและสัมปชัญญะนั้นมีกำลังดีแล้ว จิตก็ย่อมเข้าสู่ความเป็นสมาธิได้ง่าย และเมื่อมีองค์
แห่งคุณธรรมควบคุมอยู่ จิตนั้นย่อมเข้าสู่ความเป็นสัมมาสมาธิ สติและสัมปชัญญะจะเป็นตัว
ควบคุมความคิดทั้งหลายไม่ให้หลงไปในอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นกิเลสฝ่ายต่ำ การพิจารณาธรรม
นั้นก็จะเป็นระบบและมีระเบียบในการคิดและพิจารณา เข้าหาสาระและแก่นสารในข้อธรรม
น้อมนำจิตให้อยู่กับสิ่งที่เป็นกุศล คุ้มครองตนด้วยการรักษาธรรม...
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๓๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

64
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๑๐ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
           เมื่อวานฝนพรำมาตั้งแต่เช้า ไม่สะดวกที่จะออกไปข้างนอก จึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในที่พัก
ทำกิจไปตามปกติที่เคยเป็นมา คือ อ่าน ฟัง คิด เขียน  เจริญสติและสัมปชัญญะอยู่กับธรรมให้ได้
มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางครั้งก็นอนนิ่งๆไม่เคลื่อนไหวนอนดูกายของตัวเราเอง ฝึกจิตให้อยู่กับกาย
ไม่ส่งจิตออกนอก ระลึกรู้อยู่กับกายและลมหายใจ ซึ่งการไม่เคลื่อนไหวจะทำให้ไม่เสียพลังงาน
เพราะอยู่ในช่วงควบคุมอาหาร จึงต้องใช้พลังงานที่มีอยู่นั้นให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด.....
            การที่เราได้เจริญสติพิจารณาธรรมอย่างต่อเนื่องนั้น มันจะเกิดสภาวะธรรมลื่นใหล คิดอะไร
ทำอะไร มองอะไรก็เป็นธรรมะไปหมด โศลกธรรมจะเกิดขึ้นในความคิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางครั้งก็
สามารถที่จะจดบันทึกไว้ทัน ถ้าอยู่ในสภาวะที่มีอุปกรณ์ กระดาษ ดินสอ ปากกาพร้อม แต่บางครั้งเกิดขึ้น
ในขณะที่ทำงาน ไม่สามารถทีจะจดบันทึกได้ ก็มาเขียนบันทึกที่หลัง บางครั้งเกิดขึ้นแล้วและจำไม่ได้ก็มี
อย่างเช่นโศลกธรรมบทนี้...อวดดี ที่ไม่มีดีในตัว อวดเก่งทั้งที่ไม่มีความเก่งในตัว อวดรู้ ทั้งที่ไม่มีความรู้อะไรในตัว
 คนโง่ชอบอวดฉลาด คนขี้ขลาด มักจะอวดความกล้า....หรือบทที่ว่า...วางใจให้มันมั่งคง ไม่กังวล ไม่สนใจใคร
ทำให้เหมือนกับอยู่คนเดียว ภายนอกเคลื่อนไหว ภายในทำใจให้สงบ พิจารณาร่างกาย พิจารณาดูจิต
มันฟุ้งซ่านไปไหนก็ให้รู้จักมัน รู้เท่าทันกับกิเลส สู้กับกิเลสที่เกิดขึ้นในใจเรา เอาชนะมันให้ได้ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
สำหรับวันๆหนึ่ง.....ให้รู้อยู่กับปัจจุบัน อดีตล่วงไปแล้วไม่ไปคิดถึง อนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็อย่าไปคิดกังวล
อยู่กับปัจจุบันธรรม หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้  ลมหายใจมันสั้นก็รู้ ลมหายใจยาวมันก็รู้ หายใจโปร่งโล่งเบา
สบายก็รู้ อยู่กับลมหายใจเพียงเท่านั้นก็เพียงพอ ต่อการปฏิบัติธรรม สติและปัญญาจะแก่กล้าขึ้นมาเอง 
ถ้าเราได้กระทำและฝึกฝนอยู่อย่างสม่ำเสมอ...เมื่อเราอยู่กับธรรม ธรรมนั้นก็อยู่กับเรา เมื่อเรารักษาธรรม
ธรรมนั้นจะรักษาเรา ธรรมะคือตัวเรา ตัวเราคือธรรมะ เพราะธรรมะนั้นคือธรรมชาติที่เป็นจริงของสรรพสิ่งในโลกนี้..
.นี่คือตัวอย่างบางบทบางตอนของสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น เท่าที่จะจำได้และบันทึกได้ในแต่ละวัน แต่ละเวลา
เมื่อจิตของเราอยู่กับธรรม...
        เคยมีผู้ปรารถนาดีที่อยากจะให้เรามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป มาติดต่อให้ไปออกในสื่อต่างๆ
เพื่อเผยแพร่ธรรมะทั้งงานเขียนและการบรรยายธรรม ก็ได้ปฏิเสธเขาไปเพราะเราพึงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่
งานเขียนทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากจิต จากความคิดในขณะนั้น เพียงเพื่อต้องการจะบันทึกไว้เพื่อเตือนใจตน
และแบ่งปันแก่ผู้คนที่สนใจในธรรมทั้งหลาย ยังอยากจะอยู่อย่างเรียบง่ายเป็นสมณะไร้นามตามปกติที่เป็น
เพราะการเปิดตัวต่อสาธารณะชนนั้น มันมีทั้งผลดีและผลเสีย ย่อมมีทั้งคนชอบและคนชัง กลายเป็นบุคคล
สาธารณะ ที่ต้องพร้อมจะรับฟังคำติชมทั้งหลาย ชีวิตส่วนตัวนั้นก็จะหายไป เพราะสังคมจะเข้ามาบังคับ
ให้วิถีชีวิตนั้นเปลี่ยนไปตามกระแสความต้องการของสังคม ความเป็นตัวตนที่แท้จริงก็จะหายไปเพราะ
กระแสสังคมแห่งโลกธรรมจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดชีวิตเรา จึงยินดีและพอใจที่จะเป็นอยู่อย่างนี้
อย่างที่เคยเป็นมา อยู่กับสภาวะแห่งความเป็นจริงในสิ่งที่เราเป็นอยู่ คืออยู่กับปัจจุบันธรรม...
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๕๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึงชลบุรี

65
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๙ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๑๐ สิงหาคม พศ. ๒๕๕๔
                 ........ คุณค่าของเวลาที่ผ่านมานั้น
                  จัดสรรให้มีค่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้
                ไม่ปล่อยให้ผ่านไปโดยไร้ซึ่งประโยชน์
                 ทั้งในเรื่องทางโลกและในเรื่องทางธรรม
                ตอกย้ำจิตสำนึกในบทบาทภาระและหน้าที่
                เพราะวันเวลาของชีวิตที่ได้ผ่านมานั้น
                 มันคือกำไรของชีวิตแห่งการที่ยังมีลมหายใจอยู่......
                 ........ชีวิตก้าวข้ามความตามมาหลายครั้ง
                ในสมัยที่ยังไม่รู้จักคุณค่าของชีวิต
                 เดินอยู่บนเส้นทางที่พลาดผิดห่างไกลธรรม
                 เพลิดเพลินในการประกอบกรรมอันเป็นอกุศล
                 โดยไม่มีความรู้สึกรักตัวและกลัวตายในสิ่งที่ทำ
                 ชีวิตที่รอดมาได้จนถึงวันนี้มันจึงคือกำไรของชีวิต
                 เมื่อมีความรู้สึกสำนึกผิดชีวิตที่เหลือก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัว......
                  .....วันเวลาที่ผ่านไปทุกขณะจิตนั้น
                   มันเป็นการสั่งสมประสพการณ์ของชีวิต
                   สอนให้เรานั้นได้คิดได้พิจารณาเพิ่มขึ้น
                   ขอให้เรานั้นมั่นคงในจุดยืนของการดำเนินชีวิต
                   ที่คิดจะสร้างจะทำก่อกรรมดีสร้างมงคลให้กับชีวิต
                   เพื่อจะได้พัฒนาทางจิตให้เจริญก้าวหน้าในทางธรรม
                   การเจริญสตินั้นจึงเป็นงานที่ต้องกระทำอยู่ตลอดเวลา.....
                   .....กาลเวลานั้นย่อมหมุนเวียนและเปลี่ยนไป
                   ไม่มีเวลาที่จะสิ้นสุดและหยุดนิ่งสรรพสิ่งย่อมเคลื่อนไหว
                   โลกนั้นแปรเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง
                   กระแสแห่งโลกนั้นจึงไม่มีวันที่จะสิ้นสุดและหยุดอยู่
                   แต่จิตของมนุษย์นั้นย่อมมีวันที่จะสิ้นสุดและหยุดนิ่ง
                   ถ้าได้รู้และได้เห็นความเป็นจริงของชีวิตจิตวิญญาน
                   สิ้นสุดด้วยการที่รู้จักพอโดยไม่ร้องขอและแสวงหาอีกต่อไป....
                   ....ความสำเร็จของชีวิตนั้นคือรางวัลของชีวิต
                   ซึ่งมิได้วางไว้ในจุดเริ่มต้นของการเดินทาง
                   การทำงานทุกสิ่งอย่างย่อมมีอุปสรรคและปัญหา
                   เหมือนกับคำที่กล่าวว่า...เส้นทางนั้นมิได้โรยด้วยดอกกุหลาบ
                   ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ การเดินทางของชีวิตนั้นยังไม่จบ
                   ไม่มีคำว่าล้มเหลวในชีวิตเพราะสิ่งที่ผ่านมานั้นคือบทเรียน
                   บทเรียนของชีวิตที่จะพัฒนาจิตของเราให้ก้าวเดินต่อไป....
                              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

66
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๘ สค. ๕๔
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
           ในการปฏิบัติธรรมเจริญสติสัมปชัญญะให้มีกำลังมากขึ้นนั้น เราต้องใช้ความอยาก
เพื่อเข้าไปละความอยาก ดั่งที่ครูบาอาจารย์ท่านได้กล่าวสอนไว้ว่า “ ตัณหาละตัณหา “
คือมีความต้องการที่จะกระทำในสิ่งที่ดี เพื่อลบล้างสิ่งที่ไม่ดีที่มีอยู่นั้นให้หมดไป และป้องกัน
ไม่ให้สิ่งไม่ดีตัวใหม่มาเกิดขึ้นและตั้งอยู่ในจิตของเรา แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติแล้ว
เราต้องละวางซึ่งความอยากทั้งหลายนั้นลงเสีย อยู่กับสิ่งที่เป็นปัจจุบันธรรมที่มันเป็นไป
ตามธรรมชาติของจิต ตามดู ตามรู้ ตามเห็น ความเป็นไปทั้งหลาย เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่
และดับไป ทำความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้น พิจารณาถึงคุณ ถึงโทษ ถึงประโยชน์
และมิใช่ประโยชน์ แยกแยะความเป็นกุศลและอกุศลในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายเมื่อได้ รู้เห็น เข้าใจ
ก็ละวาง ไม่ไปยึดติดในอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น.....
       ใช้เวลาค้นคว้า ใคร่ครวญ ทบทวน พิจารณา แล้วนำมาประยุกค์ปฏิบัติให้เหมาะสม
กับตนเอง คือหลักของการปฏิบัติธรรม ที่กระทำมาโดยตลอด ทำให้ได้เข้าใจในธรรมที่เราได้
ประพฤติปฏิบัติมา ว่าสิ่งที่พบสิ่งที่เห็นนั้นเป็นสภาวะธรรมของอะไร เป็นสภาวะสมถะหรือวิปัสสนา
และทำให้รู้เหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดของอารมณ์นั้นๆ เพราะเมื่อก่อนนั้นจะมีปัญหาในการปฏิบัติ
สืบเนื่องมาจากการที่เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือชอบค้นคว้าทางตำรา อ่านมามาก อ่านหมดห้องสมุด
มาหลายห้อง อ่านพระไตรปิฏกหมดทั้งสี่สิบหน้าเล่มมาแล้วสามรอบ ทำให้มีข้อมูลมากในสมอง
และเมื่อเข้าสู่ภาคปฏิบัติ จิตมันจะปรุงแต่งในสัญญา ( ความจำ ) ทำให้เกิดสภาวะ " รู้ก่อนเกิด "
คือจิตมันจะปรุงแต่งไปก่อนว่า...เดี๋ยวมันต้องเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวมันต้องเป็นอย่างนี้ มันคิดไปก่อน
จิตก็เลยไม่สงบ หรือสงบก็เพราะเราไปสะกดจิตตัวเองให้มันสงบ มันไม่ได้สงบโดยธรรมชาติของจิต
ที่แท้จริง มันเป็นสภาวะธรรมที่เราสร้าง เรากำหนดขึ้นมา เราเอาอุปปทานมาจินตนาการให้มันเกิด
ให้มันเป็น มันจึงเป็นเพียงสิ่งที่เราสร้างขึ้น ไม่ใช่สภาวะธรรมที่แท้จริง และเมื่อได้ฟังธรรมของหลวงพ่อชา
แห่งวัดหนองป่าพง อุบลราชธานี จึงได้รู้และเข้าใจ จึงฝึกวางความจำทั้งหลายเมื่อเราเข้าสู่การปฏิบัติ
ให้จิตมันเป็นไปโดยธรรมชาติของจิตในการเจริญสติภาวนา อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ไม่ไปปรุงแต่งมัน
เมื่อออกจากสมาธิแล้วจึงมาทบทวนว่า สิ่งที่พบมาคืออารณ์อะไร ไม่ไปรู้ก่อนเกิด ให้มันเกิดแล้วจึงรู้
ซึ่งกว่าจะละวางความจำเก่าๆได้นั้นต้องใช้เวลาเป็นปีในการปรับจิต ปรับความคิดเสียใหม่.....
          สภาวธรรมทั้งหลายล้วนมีที่มาที่ไป ตามเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น และเมื่อจิตได้พิจารณา
จนเห็นที่มาและที่ไป เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นแล้ว มันก็สิ้นความสงสัยในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลาย
การปรุ่งแต่งทั้งหลายมันก็จะจางคลายลดน้อยลงไปจนกระทั้งไม่มี เพราะเมื่อสิ้นความสงสัยแล้วใจจะไม่
เข้าไปยึดติด ความคิดปรุ่งแต่งทั้งหลายมันก็เลยจบ เราต้องคิดให้มันจบไปเป็นเรื่องๆให้มันดับไปเป็นเรื่องๆ
ซึ่งมันจะเป็นการทำลายเสียซึ่งความคิดฟุ้งซ่าน ไร้สาระ การคิดพิจารณานั้นก็จะเป็นระบบ ไม่มีความสับสน
ในความคิด เพราะว่าจิตนั้นได้เข้าถึงธรรม มีธรรมคุ้มครองรักษาจิตอยู่ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อาจหาญ
และร่าเริงในธรรม “ เมื่อเรารักษาธรรม ธรรมนั้นจะรักษาเรา “.....
                                    เชื่อใน-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๕๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

67
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๗ สค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
            วันเวลาของชีวิตที่ผ่านไป ใช้ชีวิตตามปกติวิสัยที่เคยเป็นมา เหมือนกับว่าไม่ได้ทำอะไร
ภายนอกนั้นเลคื่อนไหวไปตามปกติ พบปะพูดคุยสนทนา แลกเปลี่ยนกับผู้มาเยี่ยมเยือนทั้งหลาย
เมื่อเขาลากลับไปทุกอย่างก็คืนสู่ความเป็นปกติ เพราะการปฏิบัตินั้นเป็นการทำที่จิต ไม่ใช่ที่กาย
มีสติและสัมปชัญญะ ระลึกรู้อยู่ภายใน มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ในสิ่งที่คิดและกิจที่กำลังกระทำ
ไม่ใช่การสร้างรูปแบบภายนอกขึ้นมา เพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม มันไม่ใช่การแสดง
ออกทางกาย แต่เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมนันคือการพัฒนาที่จิต เปลี่ยนแปลงความคิด
พัฒนาจิตให้มีคุณธรรม น้อมนำจิตนั้นเข้าสู่ความเป็นกุศล ฝึกฝนจนให้เกิดความชำนาญ
ในกระบวนการแห่งความคิดจิตสำนึกทั้งหลาย ด้วยการมีสติและสัมปชัญญะที่เป็นกุศล
ควบคุณตน ในสิ่งที่กำลังคิดและกิจที่กำลังทำ ไม่ให้อกุศลกรรมเกิดขึ้นมาได้ในขณะนั้น.....
               ใช้เวลาทบทวนแนวทางการปฏิบัติในมหาสติปัฏฐานสูตร  พิจารณาสภาวะธรรมในแต่ละฐาน
ทำความรู้ความเข้าใจในการพิจารณาในกาย เวทนา จิต ธรรม กำหนดรู้การเกิดขึ้น  ตั้งอยู่ และการดับไป
ทั้งภายนอกและภายใน คือที่เกิดขึ้นทางกายและทางจืต มีสติและสัมปชัญญะควบคู่เสมอกันอยู่ทุกขณะ
เพราะว่าถ้าไปเน้นสติแต่เพียงอย่างเดียวนั้น มันจะนำจิตไปสู่สภาวะธรรมของสมถะกรรมฐาน คือความนิ่งสงบ
มหาสติปัฏฐานนั้นเป็นการปฏิบัติของวิปัสสนากรรมฐาน จึงต้องมีความรู้ตัวทั่วพร้อม คือต้องมีสัมปชัญญะประกอบ
คอยควบคุมจิต มีสมาธิอยู่ในระดับขณิกสมาธิไม่ปล่อยให้ลงลึกจนเกินไปในองค์ฌาน เพราะจะทำให้การพิจารณา
นั้นมันขาดหายไป จิตจะติดอยู่ในความสงบ สภาวะธรรมของสมถะนั้นเป็นไปในองค์แห่งฌานทั้ง ๔ มีสมาธิควบคุมอยู่
จึงรู้เฉพาะที่สิ่งเพ่ง  สิ่งที่พิจารณา แต่วิปัสสนานั้นมันจะเห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง คือก่อนที่จะเกิดขึ้น ขณะเกิดขึ้น
สภาวะที่ตั้งอยู่ และเหตุที่ทำให้ดับไป คือรู้นอก รู้ใน รู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้การกระทำ มีความรู้ตัวทั่วพร้อมกับกายและจิต
มันเป็นการตามดู ตามรู้ ตามเห็น มันไม่ตื่นเต้นเหมือนการเจริญสมถะกรรมฐาน ที่มี วิตก วิจาร ปิติ สุข และเอตคตารมณ์
จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่เคยปฏิบัติสมถะกรรมฐานมาก่อน ในการที่จะยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา เพราะส่วนใหญ่จะติดอยู่ในอารมณ์ของสมถะ พึงพอใจในความสงบนิ่งของอารมณ์สมาธิ ไม่อยากจะคิด ไม่อยากจะพิจารณา เหมือนที่เคยกล่าวไว้ในเรื่องการปฏิบัติที่ ว่า " ทำสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้น  รักษาสิ่งที่มีนั้นไม่ให้เสื่อมหาย ทำสิ่งที่มีนั้นให้เหมือนกับไม่มี " นี้คือขบวนการทางจิตแห่งการปฏิบัติ " สูงสุดคืนสู่สามัญ " เพราะการเจริญวิปัสสนานั้นดูจากภายนอกแล้ว เหมือนกับไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะเป็นการกระทำที่จิต....มันไม่มีรูปแบบภายนอกที่ตายตัว ว่าต้องมีท่าทางอย่างนั้น ท่าทางอย่างนี้ จึงจะเป็นการปฏิบัติวิปัสสนา มันอยู่ที่จิตคือการมีสติและสัมปชัญญะ ควบคุมการจิต ควบคุมความคิดและการกระทำ มันเป็นการทำภายใน รู้ได้เฉพาะตนเท่านั้นเอง ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่กำลังคิดอะไรอยู่ และสิ่งที่คิดและที่ทำนั้นเรามีเจตนาอย่างไร เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศลหรือไม่ " ไม่มีใครรู้ซึ้ง เท่าหนึ่งจิต "ในสิ่งที่กำลังคิดและกำลังกระทำเท่าตัวของเราเอง
 ถ้าเรามีสติและสัมปชัญญะที่สมบูรณ์อยู่ทุกขณะจิต ทุกเวลาของชีวิตที่ผ่านไป นั้นคือการได้ปฏิบัติเข้าหากุศลธรรม
น้อมนำชีวิตไปสู่ทิศทางที่ดี จึงเป็นสิ่งที่ควรคิดและกิจที่ควรทำ......
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๘ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

68
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๖ สค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
                 ตั้งแต่ออกจากป่าเข้ามาอยู่กับสังคมเมือง ต้องคลุกคลีพบปะกับคนหมู่มากนั้น 
ต้องปรับรูปแบบการนำเสนอธรรมะใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน
เพื่อให้ทันต่อยุคสมัย ความเจริญทางด้านวัตถุที่เป็นอยู่ โดยใช้ระบบการสื่อสารรูปแบบต่างๆ
เป็นช่องทางเลือกในการนำเสนอธรรม ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่มีช่องทางที่จะทำได้
ต้องทำความรู้ความเข้าใจในความสนใจของสังคมคนไทยในปัจจุบันในการเสพข้อมูลข่าวสาร
ดั่งที่เคยได้กล่าวมาแล้วในครั้งก่อนๆเรื่อง " ปริสัญญุตา ความเป็นรู้จักชุมชน " เพราะการทำงาน
กับคนหมู่มากนั้น เราต้องรู้และเข้าใจอุปนิสัยและความชอบความต้องการของแต่ละคนและแต่ละวัยที่แตกต่างกัน
การทำงานกับวัยรุ่นเราก็ต้องเข้าใจกับวัยรุ่น ว่าพวกเขาชอบอะไร ทำงานกันไปพูดคุยกันไป ให้พวกเขาเพลิดเพลิน
สอดแทรกธรรมะลงไปบ้างตามโอกาศ ยกนิทานมาเล่าให้เด็กฟังสลับกันไปเฮอาไร้สาระบ้าง แฝงคติธรรมบ้าง
เพื่อไม่ให้เด็กเบื่อหน่าย ทำความคุ้นเคยใกล้ชิดกัน ทำให้เด็กไม่เกร็งจนไม่กล้าเข้าใกล้ เมื่อเด็กไว้ใจไปมาหาสู่
คุ้นเคยกับเราแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะสั่งสอนอบรมพวกเขาอย่างไร เป็นขั้นตอนต่อไป ซึ่งเราเป็นผู้ใหญ่
เป็นครูบาอาจารย์นั้นต้องไม่มี " อคติ "คือความลำเอียง ความเอนเอียงเข้าข้าง ความไม่ยุติธรรม ความไม่เป็นกลาง
ต้องวางตัวให้ความสำคัญเสมอกัน ไม่เอาใจใครมากเป็นพิเศษ พูดคุยกับทุกคนเท่าๆกัน ใช้งานให้ทั่วกันเท่าๆกัน
ไม่ให้พวกเขาเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าพระอาจารย์ให้ความสำคัญผู้ใดเป็นพิเศษ เราจึงจะปกครองและควบคุม
พวกเขาได้ ซึ่งความมี  " อคติ " นั้น เกิดจากสาเหตุ ๔ ประการคือ...
   ๑.ฉันทาคติ  ลำเอียงเพราะรักใคร่ชอบพอ
   ๒.โทสาคติ  ลำเอียงเพราะความไม่ชอบทั้งหลาย
   ๓.ภยาคติ    ลำเอียงเพราะความหวาดกลัว
   ๔. โมหาคติ ลำเอียงเพราะความหลง ความเชื่อและสำคัญผิด
การเป็นผู้นำนั้นเราต้องมีคุณธรรม รู้จักผูกมิตร ผูกจิตผูกใจผู้ร่วมงาน เพื่อให้องค์กรที่เราดูแลอยู่นั้น มีความเข้มแข็ง
รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือสงเคราะห์กันในสิ่งที่ดี คือการสอนให้เขามีคุณธรรม สิ่งนั้นคือหน้าที่ของผู้นำ...
            รูปแบบการนำเสนอนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนไป เพื่อให้หมาะสมกับ จังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และบุคคล
ต้องเข้าใจในสังคมที่เราจะนำเสนอว่าเขาอยู่กันอย่างไร ไม่เข้าไปทำลายความเชื่อความศรัทธาที่เขาเคยมีมาก่อน
ใช้วิธีการให้เขาซึมซับโดยไม่รู้ตัว ซึ่งต้องเริ่มจากความคุ้นเคยและศรัทธา มาเป็นพื้นฐานเพื่อดึงให้เขาเหล่านั้นเข้ามา
แล้วค่อยๆสอดแทรกธรรมะเข้าไป โดยการสร้างจิตสำนึกความรู้สึกต่อส่วนรวม ส่งเสริมให้เขาทำในสิ่งที่เขานั้นทำได้
คุณธรรมข้อดีทั้งหลายที่เขามีอยู่ สนับสนุนส่งเสริมให้เขาทำเพิ่มขึ้นยิ่งๆขึ้นไป เพื่อเป็นการลดเวลาที่จิตของเขาให้อยู่
กับสิ่งที่เป็นอกุศลนั้นให้น้อยลง ใช้หลักการที่ว่า “ แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เป็นแนวทางให้เดินไปร่วมกันได้ “
ซึ่งเป็นการละลายพฤติกรรมที่ไม่ดีของเขาเหล่านั้น โดยที่เขารู้ตัวว่ากำลังเปลี่ยนแปลง ไม่ให้เขารู้สึกว่าถูกบังคับ
หรือถูกยัดเหยียดให้ปฏิบัติตาม แต่มันจะเกิดจากจิตสำนึกความรู้สึกของเขาเอง ที่จะเปลี่ยนแปลงพฟติกรรมเก่าๆ
ของเขาที่เคยทำมา มองเห็นคุณค่าของเวลาแห่งชีวิตที่เหลืออยู่และกำหนดทิศทางเดินของชีวิตด้วยตัวของเขาเอง
เป็นการสอนที่เหมือนกับไม่ได้สอน เป็นการเผยแผ่ธรรมที่ไม่ติดยึดในรูปแบบและวิธีการ เป็นวิธีการในการทำหน้าที่
ของตนนั้นให้สมบูรณ์ ตามบทบาทและหน้าที่ ตามที่เหตุและปัจจัยที่มีในขณะนั้นให้เหมาะสม...
              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนตร
๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๐๓ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

69
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๕ สค. ๕๔
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๖ สิงหาคม พศ. ๒๕๕๔
"ยสฺสกสฺสจิ กายคตาสติ อภาวิตา อพหุลีกตา
ลภติ ตสฺส มาโร โอตารํ ลภติ ตสฺส มาโร อารมฺมณํ"
   ภิกษุไม่เจริญกายคตาสติอยู่ประจำแล้ว
ย่อมตกเป็นทาสของมาร มารอยู่เหนืออารมณ์
              ...กายคตาสติสูตร ๑๕/๑๘๖...
ทบทวนในสติปัฏฐาน ๔ เริ่มจากฐานกายในแต่ละบรรพ
โดยเจริญกายคตาสติควบคู่กันไปในบางอารมณ์เริ่มจากกำหนดรู้
ลมหายใจเข้าออก รู้ลมสั้น รู้ลมยาว รู้ลมหายใจปกติเจริญอยู่ใน
อานาปานบรรพจนจิตพบความสงบระงับแห่งลมหายใจ
จดจำทางเดินของจิตในแต่ละขั้นของอารมณ์ธรรมกรรมฐาน
เวลาเราเปลี่ยนอิริยาบทของกายก็ให้มีสติกำหนดรู้อยู่ตลอด
เป็นการเจริญสติพิจารณาอยู่ในอิริยาบทบรรพทุกขณะ
มีสัมปชัญญะรู้ตัวในการเคลื่อนไหวจิตอยู่ในสัมปชัญญะบรรพ
จิตพิจารณากายให้เห็นถึงความน่าเกลียดของร่างกาย
จนเกิดความจางคลายเบื่อหน่ายในตัวตนเป็นการเจริญสติในปฏิกูลปนสิการ
แยกกายของเราให้เห็นเป็นอาการสามสิบสอง ซึ่งประกอบมาจากธาตุทั้ง ๔
คืนร่างกายของเรานี้สู่ธรรมชาติเห็นกายเป็นเพียงธาตุที่จิตมาอาศัย
ไม่นานก็ต้องทิ้งไปตามกาลเวลาพิจารณาอยู่ในธาตุบรรพ
เมื่อจิตออกจากกายด้วยความสลายเสื่อมไปของธาตุที่รวมกัน
กายนั้นย่อมมีความเสื่อมสลายกลายเป็นซากศพมีลักษณะต่างๆ
๙อย่างของการเสื่อมสลายจนเกิดความจางคลายในกายนี้
จิตพิจารณาในนวสีถิกาบรรพลักษณะของกายที่เป็นซากศพ
จิตก็พบกับความเป็นจริงของกายนี้ที่จิตเข้ามาอยู่อาศัย
เกิดความรู้ความเข้าใจ จิตจางคลายจากการยึดถือในตัวตน
ฝึกฝนพิจารณาในฐานกายให้มีความช่ำชองในทุกบรรพของฐานกาย
เมื่อพื้นฐานหนักแน่นมั่นคงแล้วความเสื่อมในธรรมทั้งหลายย่อมไม่เกิดขึ้น
มีแต่ความเพิ่มพูนงอกงามเจริญในธรรมเพราะมีพื้นฐานที่ดีและถูกต้องมั่นคง
การปฏิบัติธรรมทั้งหลายต้องเริ่มจากพื้นฐานซึ่งคือกายของเรานี้เอง....
             เหตุที่ได้ปรารถในเรื่องกายคตานสตินี้ มาจากการที่ลงจากเขาเข้าเมือง
ไปเจอสภาพอากาศที่แตกต่างกัน ปรับตัวไม่ทันทำให้ธาตุในร่างกายผิดปกติไป
ต้องกลับมาปรับธาตุในร่างกายใหม่ โดยใช้ธาตุลมเป็นตัวเข้าไปปรับความสมดุล
ของธาตุทั้งหลายในกาย  เพื่อไม่ให้ป่วยไข้เพราะความแปรปรวนของธาตุในกาย
เพราะว่าธาตุลมนั้นเป็นตัวประสานซึ่งธาตุในกาย ปรับธาตุน้ำให้เคลื่อนไหวและตั้งอยู่
ปรับธาตุไฟให้ร้อนรึเย็นได้  ปรับธาตุดินให้แข็งหรืออ่อนลงได้ มันขึ้นอยู่กับการหายใจ
เอาธาตุลมเข้าไปในร่างกาย ลมหายใจเร็วก็จะทำให้ร้อน ลมหายใจช้าก็จะทำให้เย็น
อยากจะให้ธาตุน้ำเคลื่อนไหว ก็ต้องใช้ลมหายใจเร็วเพื่อทำให้ร้อน เพื่อให้ธาตุน้ำขยายตัว
กลั่นลมหายใจที่ร้อนเพื่อให้ธาตุลมไปขับธาตุน้ำให้ขยายตัวเคลื่อนไหวไหลกระจายไปใน
ร่างกาย ส่งผลให้ธาตุดินในกายขยายตัว เรียกว่าการฝึกตั้งธาตุและปรับธาตุในกายของเรา
ทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องธาตุในกาย เพราะว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งหลายนั้น
ล้วนเกิดมาจากความผิดปกติของธาตุในกายและวิบากกรรมเก่า ซึ่งในส่วนของเรื่องวิบาก
กรรมเก่านั้น ก็ต้องใช้การแผ่เมตตา ขออโหสิกรรมและการสร้างบุญกุศลตัวใหม่ขึ้นมาทดแทน
ควบคู่กับการปรับธาตุในกายของเราให้มีความสมดุลกัน เรื่องของกายคตานุสติจึงเป็นธรรมโอสถ
ที่ใช้ในการรักษาความเจ็บป่วยของร่างกาย โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวยาจากภายนอกได้เลย ....
 แด่กายคตานุสติกรรมฐานที่เป็นพื้นฐานแห่งสติปัฏฐาน ๔
                  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๖ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

70
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๔ สค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๕ สิงหาคม พศ. ๒๕๕๔     
            การคลุกคลีอยู่ร่วมกับคนหมู่มากนั้น ต้องควบคุมอารมณ์ความรู้สึกให้มากกว่าปกติ
เพราะอาจจะเกิดกระทบกระทั่งกันได้ทางอารมณ์ความคิด ถ้าขาดสติดั่งคำครูที่ได้กล่าวไว้ว่า
 " อยู่คนเดียวให้ระวังจิต  อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา " นั้นเป็นสิ่งที่ควรจดจำและควรปฏิบัติตาม
 เพื่อความอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ลดปัญหาซึ่งการทุ่มเถียงขัดแย้งทะเลาะกันในสิ่งไร้สาระ
เพราะบางครั้งในสภาวะของสภาพร่างกายที่ได้ใช้แรงงานนั้น มันทำให้เกิดความเหนื่อย ความหิว
ความร้อน ทุกขเวทนาทางกายนั้น ทำให้กิเลสที่ซ่อนอยู่ในจิต ผุดขึ้นมาได้ง่ายถ้าเราเผลอสติ
ขาดความยั้งคิดและการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก กับสิ่งกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งต้องพบเจอ
เมื่ออยู่ร่วมกับคนหมู่มาก เพราะมากคนก็มากเรื่อง มากความคิดและความเห็นมุมมอง
ที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการรู้จักควบคุมสติต่อสิ่งกระทบเหล่านั้น...
       ทำให้ระลึกถึงอานิสงส์ของการเดินธุดงค์ การเดินธุดงค์นั้นเป็นการฝึกสติ ฝึกความอดทน
ฝึกการควบคุมอารมณ์ ที่ดีมาก เพราะในเวลาที่เราเดินธุดงค์นั้น ต้องแบกสัมภาระอยู่บนบ่า
มีความเหนื่อยเมื่อยล้า จากอากาศที่ร้อน สัมภาระที่หนัก ความหิวกระหาย ที่เกิดขึ้นในระหว่าง
การเดินธุดงค์ ความเห็นแก่ตัวจะเกิดขึ้น ความขี้เกียจจะตามมา อัตตาความเอาแต่ใจตนเองเพิ่มขึ้น
ซึ่งถ้าไม่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกให้ดีแล้ว กิเลสทั้งหลายก็จะแสดงออกมา จากการที่เคยผ่านการ
เดินธุดงค์มามากนั้น ทำให้ เข้าใจในเรื่องนี้ดี เพราะได้เคยผ่านอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นมาแล้ว
สมัยที่นำลูกศิษย์เดินธุดงค์เข้าป่าขึ้นดอยนั้น ได้เน้นย้ำกับหมู่คณะเสมอว่าจงเจริญสติอยู่ทุกขณะ
ดูกาย ดูจิต ดูความคิดที่มันกำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่ เป็นการฝึกสติให้ระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันธรรม
รู้จักการควบคุมความรู้สึกนึกคิดและมีจิตสำนึกในคุณธรรมทั้งหลาย เพราะการอยู่ร่วมกันหมู่มาก
ในสภาวะแห่งการมีความกดดันมากนั้น มันจะทำให้กิเลสทั้งหลายที่ซ่อนอยู่ในใจนั้นแสดงออกมา
ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ที่ได้ผ่านการเดินธุดงค์ร่วมกันมานั้น ได้ผ่านการทดสอบทางอารมณ์มาอย่างหนัก
กันมาทุกท่าน ในการเดินธุดงค์ข้ามเขาข้ามดอยในแต่ละครั้งที่ผ่านมา จึงทำให้ทุกท่านควบคุมอารมณ์
กันได้ในเวลาที่ทำงานร่วมกัน มากน้อยตามกำลังสติของแต่ละท่าน นี่คืออานิสงส์แห่งการเดินธุดงค์
ที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันของแต่ละท่านที่ได้รับการฝึกฝนมา...
        จิตระลึกนึกถึงการเดินธุดงค์ขึ้นมาเพราะว่ามีลูกศิษย์มาถามว่า “ พระเขาเดินธุดงค์กันเพื่ออะไร “
ทำให้ได้คิดทบทวนและอธิบายให้เขาเข้าใจ ถึงเป้าหมายและเจตนาในการเดินธุดงค์ของครูบาอาจารย์
ทุกท่านที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งเป็นไปเพื่อการฝึกจิตในสภาวะแห่งความกดดันทั้งหลาย เพื่อเพียรเผากิเลส
ให้เร้าร้อน ทนไม่ได้ต้องแสดงออกมาให้เห็น ซึ่งถ้าอยู่ในสภาวะที่ไม่มีความกดดันนั้นจะไม่เห็นมันว่ามีอยู่
และเมื่อมองถึงการเดินธุดงค์ของพระในปัจจุบันแล้วก็เกิดความสังเวช เพราะเป็นไปเพื่อการสร้างกิเลส
เหมือนกับการไปท่องเที่ยวปพักผ่อน ไปสนุกเฮฮากัน เดินธุดงค์เข้าป่าเพื่อเอามาคุยอวดกัน ว่าได้เคยเดิน
ธุดงค์กันมาแล้ว และบางคณะนั้นก็มีการเตรียมสัมภาระอาหารและลูกหาบ เพื่อความสะดวกสบายในป่า
ไปพักกางเต้นท์ ทำตัวเหมือนนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนกัน ส่งเสียงดังกันลั่นป่า เป็นที่ระอาใจให้แก่เจ้าหน้าที่
อุทยานที่เขาดูแลในพื้นที่เหล่านั้น จากการที่ได้พูดคุยกันกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จึงเป็นที่มาของการออกกฎ
ระเบียบห้ามพระภิกษุสงฆ์เดินธุดงค์เข้าไปในเขตอุทยาน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการที่ไม่เข้าใจในเจตนาของการ
เดินธุดงค์ของพระภิกษุสงฆ์ในสมัยปัจจุบันนี้ ทำให้เกิดมีปัญหาเป็นข้อติเตียนเสื่อมเสียต่อหมู่คณะขึ้นมา
เพราะการที่ไม่ได้ศึกษาและทำความเข้าใจว่าเจตนาและเป้าหมายของการเดินธุดงค์ที่แท้จริงนั้นคืออะไร
มันจึงมีผลกระทบตามมาอย่างที่เห็นและเป็นอยู่.....
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ- สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

71
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๓ สค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๔ สิงหาคม พศ. ๒๕๕๔
             พิจารณาใคร่ครวญทบทวนในข้อธรรมที่เคยศึกษาได้อ่านได้ฟังมา
เพื่อนำมาสงเคราะห์ให้เหมาะกับปัจจุบันธรรมที่เป็นอยู่ ระลึกรู้อยู่ภายใน
ถึงความเป็นไปของสภาวจิตทั้งหลายที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปในแต่ละครั้ง
ค้นหาที่มาของอารมณ์เหล่านั้น ว่ามันมีที่มา มีสาเหตุให้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ทำความรู้ความเข้าใจ เพื่อจะดับอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นมิให้มันเกิดขึ้นมาอีก
ความรู้สึกทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากภายนอกและภายใน ถ้าเผลอไปปรุงแต่งตามมัน
โดยไม่รู้เท่าทัน ขาดสติในการพิจารณาแยกแยะกุศลและอกุศล มันก็อาจจะส่งผล
ให้จิตนั้นเศร้าหมองได้ จึงต้องฝึกดับอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นให้เร็ว โดยการมีสติ
และสัมปชัญญะให้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็นอยู่
               ยังไม่มั่นใจในตนเองว่าจะทนต่อสภาพกระแสโลกภายนอกได้นานสักเท่าไหร่
เมื่อออกจากป่าไปสู่สังคมเมือง เพราะรู้ตัวเองดีว่า สติและสัมปชัญญะของเรานั้น
ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรต่อสิ่งกระทบทั้งหลาย จะรักษาทรงได้ไม่นานย่อมจะหวั่นไหว
และคล้อยตามไปกับกระแสโลกอีกเหมือน ที่ผ่านมาในครั้งก่อนๆ แต่มีความตั้งใจ
ที่จะรักษาทรงไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ รักษาไว้ซึ่งสติและสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ที่สุด
อยู่กับกุศลธรรม ดำเนินไปตามมรรคองค์แปดแห่งความเป็นสัมมาทั้งแปดประการ
ให้ได้นานเท่านานเท่าที่จะทำได้ เพราะว่าเรานั้นยังอยู่กับสังคมของโลกธรรม
        ปฏิบัติอยู่ในป่าสิ่งกระทบมันน้อยมาก กิเลสไม่ถูกกระตุ้นมันจึงไม่แสดงให้เห็น
 จึงอยู่เป็นปกติสุข เหมือนกับว่ากิเลสนั้นเบาบางลงแล้ว แต่ เมื่อออกไปสู่สังคมเมือง
ตัวกระตุ้น(ผัสสะ)มันมีมากทั้งภายนอกและภายใน ถ้าจิตของเราไม่เข้มแข็งพอย่อมจะหวั่นไหว
และคล้อยตามกิเลสเหล่านั้นได้ จึงต้องพยายามเตรียมกายเตรียมใจไว้ให้พร้อม
ต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ในภายภาคหน้าที่เราจะต้องเจอ ซึ่งจากประสพการณ์ที่ผ่านมา
เรารู้ดีว่าจะต้องพบต้องเจอกับอะไรบ้าง ทางตา ทางหู ทางลิ้น ทางกายและทางใจ
เพราะเรารู้เหตุรู้ปัจจัยไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเจออะไรบ้าง จึงเป็นหน้าที่ของเรา
ที่ต้องดูแลรักษากายใจควบคุมไว้ให้ได้ เพราะกิเลสที่นองเนื่องในสันดานของเรา
 มันรอเวลาที่จะแสดงออกมาเมื่อได้ เมื่อมีปัจจัยที่เหมาะสมกับกิเลส เรียกว่าโรคนั้นยังมีอยู่
มิได้หมดสิ้นไป เพียงรอวันที่จะเจอของแสลงของโรค โรคนั้นก็จะปรากฏขึ้นมาให้เห็น
            ตรวจสอบกาย ตรวจสอบจิต ตรวจสอบความคิด ตรวจสอบการกระทำ อยู่ทุกขณะจิต
 พยายามตัดสิ่งที่เป็นอกุศลออกไป ไม่ส้องเสพในอกุศล ทั้งหลาย รักษาทรงไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นกุศล
 เป็นการฝึกตนเพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับการออกจากป่ากลับไปสู่สังคมเมือง ซึ่งมิใช่เรื่องง่าย
ที่จะทรง ไว้ได้ซึ่งสภาวธรรมเหล่านี้  เพราะว่ามีภาระหน้าที่ ที่จะต้องออกไปกระทำนั้น
มันต้องคลุกคลีกับหมู่คณะและผู้คนมากมาย ซึ่งมีลักษณะและอุปนิสัยที่แตกต่างกัน ภูมิธรรม
 ภูมิปัญญาแตกต่างกัน จึงต้องเตรียมกาย เตรียมใจ ไว้สำหรับการเผชิญต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้า
ในทุกโอกาศ ทุกสถานะการณ์ ต้องควบคุมกายและใจไม่ให้คล้อยตามกระแสโลก กระแสสังคมให้ได้
ทรงไว้ซึ่งสภาวธรรมทั้งหลาย
        อยู่กับปัจจุบันธรรม ด้วยการเจริญสติและมีสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ไม่หนีปัญหาด้วยการเข้าสมาธิ
ใช้การพิจารณาหาเหตุหาปัจจัยของอารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วเข้าไปดับที่เหตุ ที่ทำให้เกิดอารมณ์เหล่านั้น
 โดยการพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษและสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ของเหตุนั้น จนเกิดความละอาย
และเกิดธรรมสังเวชในสิ่งนั้น จิตมันก็จะถอนจากการยึดถือ เกิดการปล่อยวาง เมื่อจิตไม่เข้าไปเกี่ยวข้องยึดถือแล้ว
มันก็ดับเหตุไปได้ครั้งหนึ่ง  เราต้องพยายามทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเกิดความเคยชิน ความชำนาญ จนเป็นวสี
และกลายเป็นอุปนิสัย เราจึงจะปลอดภัยต่อกระแสโลก...
                 บันทึกบนเส้นทางธรรม...ด้วยศรัทธา-เชื่อมั่น –ปรารถนาดี...
                                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๒ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
                                     

72
 คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒ สค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลนุรี
พุธที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          ลมพัดแรงตลอดทั้งวันและคืน อากาศหนาวเย็นเพราะสายลมที่พัดผ่านมา
เก็บตัวอยู่แต่ในที่พัก ออกไปข้างนอกไม่ได้เพราะหนาวลม  จนกระทั้งถึงตอนเย็น
จึงได้ลงจากเขาไปเยี่ยมสหธรรมิกเจ้าอาวาสวัดหนองอ้อที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์
ซึ่งมีสาเหตุมาจากไขมันอุดตันในเส้นโลหิตฝอยในสมอง ตรวจดูเส้นเอ็นเส้นประสาท
ให้ท่านและแนะนำเรื่องยาเรื่องการรักษาปฏิบัติตน เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้หายจากอาการ
ที่เป็น เพราะว่าตนเองนั้นเคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน โดยในปี ๒๕๔๑ นั้น
เป็นอัมพฤกษ์ที่ขาข้างขวาและปี ๒๕๕๑ ก็มาเป็นอัมพฤกษ์ที่แขนข้างขวา อีกครั้ง
แต่ทั้งสองครังที่เป็นนั้นเราก็ใช้การรักษาด้วยตนเอง  พิจารณา ศึกษา ค้นคว้า
ถึงที่มาของอาการที่เป็น ศึกษาเรื่องเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ เส้นประสาทที่สัมพันธ์กัน
ใช้กัมมัฏฐานกายคตานุสติรักษาตนเอง จนร่างกายฟื้นกลับมาเป็นปกติดังเดิม
ซึ่งสิ่งที่สำคัญในการฟื้นฟูร่างกายนั้น มันอยู่ที่ขวัญและกำลังใจของตัวเราเอง
ใจต้องไม่ท้อ อย่าไปตกใจ เป็นได้ก็ต้องหายได้ ใจต้องไม่หวั่นไหวมั่นใจในตนเอง
ตนเองต้องช่วยเหลือตนเอง อย่าไปหวังพึ่งความช่วยเหลือจากผู้อื่นเขา.....
           ในสภาวะที่เรากำลังทำพิธีหรือสงเคราะห์ญาติโยมอยู่นั้น เราต้องมีสติและสัมปชัญญะ
อยู่ตลอดเวลา พยายามรักษาจิตให้เป็นกุศลจิต วางใจให้เป็นกลางกับทุกอย่างที่พบเห็น ได้ยินหรือได้ฟัง
วิเคราะห์ทุกอย่างตามเหตุและปัจจัย ตาไว หูไว ใส่ใจ จดจำ ไม่เอาใจไปมีส่วนได้เสียกับผลประโยชน์ทั้งหลาย
ใช้หลักธรรมนำการคิดและวิเคราะห์ปัญหาทุกอย่าง ตามหลักธรรมของอริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
โดยปรับหลักเสียใหม่ให้เหมาะสม ทุกข์คือคำถามคือโจทย์ ที่จะให้คิดและแก้ไข ต้องวิเคราะห์ไปถึงต้นตอ
ที่เกิดของปัญหาให้เห็นที่มาคือสมุทัย วิเคราะห์ต่อไปให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาว่าจะให้มันจบอย่างไรคือ
ให้เข้าใจถึงที่จบคือนิโรธ  กำหนดแนวทางวิธีการในการดำเนินการที่จะให้มันสำเร็จตามที่ได้วิเคราะห์ไว้คือ
ให้เขาเอาไปปฏิบัติลงมือทำนั้นคือมรรค อาศัยหลักธรรมความรู้ประมาณในตน ความเหมาะสม ความพอดี
พอเพียง ในลาภที่ควรจะได้ กำไรที่พึงจะมี หาความพอดีตามเหตุและปัจจัย จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่
และบุคคล เป็นองค์ประกอบในการคิดและวิเคราะห์ ใช้หลักจิตวิทยาโน้มน้าวให้เขาศรัทธานำไปปฏิบัติตาม
ทำในสิ่งที่เราเสนอแนะ โดยชี้เหตุและผลที่จะได้รับในการกระทำอย่างนั้นให้เขาเข้าใจ ก็หมดหน้าที่ของเรา
ไปวาระหนึ่ง เป็นการทำหน้าที่สงเคราะห์ญาติโยมทั้งทางโลกและทางธรรม....
    "เมื่อน้ำนั้นนิ่งใส ก็จะเห็นสิ่งที่อยู่ภายในนั้นชัดเจน ถ้าน้ำนั้นยังกระเพื่อมอยู่ก็เห็นได้ไม่ชัดเจน
           เปรียบกับจิตที่เป็นหนึ่ง หยุดนิ่งย่อมรู้หมด มีอะไรรู้หมด เห็นกายเห็นจิตของตนเองได้แล้ว
           ก็ย่อมจะรู้และเข้าใจในกายและจิตของผู้อื่นเช่นกัน "
   "อย่าไปหวั่นไหวกับกระแสโลกจนเกินไป คืออย่าไปยินดี ยินร้ายกับคำสรรเสริญและคำนินทา
           ความสุขหรือความทุกข์ และลาภยศทั้งหลาย อย่าไปหวั่นไหวกับมัน เพราะว่าความหวั่นไหวนั้น
           มันจะทำให้เราขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง เรียกว่าเป็นคนไม่แน่นอน ทำอะไรไม่แน่นอน
           จิตนั้นย่อมทุรนทุรายหวั่นไหวไปกับโลกธรรม นำมาซึ่งความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเราวางใจให้อยู่เหนือ
           โลกธรรมได้เมื่อไร ใจของเรานั้นก็จะเป็นสุข"
   " เรียนทางโลกนั้น เรียนไปๆก็ยิ่งทำให้กิเลสหนาขึ้นทุกขณะ แต่ถ้าเรามาเรียนธรรมะมาเรียนเรื่องละ
             ละโลภ ละโกรธ ละหลง ละกิเลสตัณหา มันก็มีแต่จะเบาบางลง จนไม่มีภาระ เมื่อเข้าถึงธรรมะแล้ว
             ใจนั้นก็จะเป็นสุข ไม่ทุกข์อยู่กับโลกธรรมทั้งหลาย "
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๕๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

73
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
      ฝนตกตลอดทั้งวันทั้งคืน พื้นดินเปียกชื้นไปด้วยน้ำ
หมอกปกคลุมทั้งขุนเขา สายลมเย็นนั้นพัดผ่านมาตลอด
นั้งๆนอนๆอยู่แต่ในที่พักออกไปข้างนอกไม่ได้เพราะฝนตก
เจริญสตินั่งสมาธิพิจารณาธรรม เปิดฟังคำบรรยายธรรม
ของครูบาอาจารย์หลายๆท่าน เช่นของหลวงพ่อพุทธทาส
หลวงพ่อชา หลวงพ่อจรัล หลวงพ่อจำเนียร ฟังสลับกันไป
นั่งจนเมื่อยก็เปลี่ยนมาเป็นนอน​ นอนพิจารณาร่างกาย
เจริญกายคตาจนสมควรแก่เวลาก็ลุก​ขึ้นมาเขียนบทกวี
ทำอยู่อย่างนี้เกือบทั้งวันทั้ง​คืน ตั้งแต่ตื่นจนกระทั้งหลับ
ตรวจสอบจิตของตนเองถึงที่มาของอ​ารมณ์เหล่านี้ที่เป็นอยู่
จึงได้รู้ว่าเกิดจากความเบื่อแล​ะความอยาก....
       "ความเบื่อกับความอยากเป็นของคู่กัน"
เมื่อความอยากเกิดขึ้นจิตก็ดิ้น​รนขวนขวาย
หาเหตุและปัจจัยมาสนองตอบความอย​าก
ถ้าสนองตอบตัณหาความอยากได้ จิตก็ยินดี
ถ้าไม่ได้ตามที่ปราถนา จิตมันก็เกิดปฏิฆะ
และเมื่อเสพในความอยากนั้นจนเต็​มที่แล้ว
จิตมันก็จะเบื่อในอารมณ์นั้น ความอยากในสิ่งอื่นก็เข้ามาแทนที่
เป็นเช่นนี้เรื่อยมาคือ"อยากๆเบื่อๆแล้วก็เบื่อๆอยากๆ"
ตามกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นในแต่ล​ะช่วงของอารมณ์
ถ้าเราไม่รู้เท่าทันอารมณ์เหล่า​นี้ ชีวิตของเราก็จะไม่มีความสุข
เพราะเราต้องดิ้นรนขวนขวายหาปัจ​จัยมาสนองตอบตัณหาไม่สิ้นสุด...​...
แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะที่สมบู​รณ์ พิจารณาอยู่
รู้เท่าทันอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น รู้จักข่มกิเลส ดับตัณหาลงได้
ใจเราก็จะไม่เร้าร้อนไม่วุ่นวาย​ทุรนทุรายเพราะตามใจกิเลส
การที่จะข่มกิเลส ดับตัณหาลงได้นั้น ต้องอาศัยปัญญา
การคิดพิจารณา ให้เห็นทุกข์ เห็นโทษของกิเลสตัณหา
จนเกิดความเกรงกลัวและละอายในกิ​เลสตัณหานั้นขึ้นในจิต
มันจะเกิดความยับยั้งขึ้นในจิตทำให้เราไม่กล้าคิดและกล้าทำ
องค์แห่งคุณธรรมความละอายและเกร​งกลัวต่อบาปได้เกิดขึ้น
ในจิตของเราแล้วและถ้าเราเพียงแ​ต่คิดได้ แต่ยังทำไม่ได้นั้น
แสดงว่าเรายังอ่อนกำลัง ยังเป็นผู้พ่ายแพ้แพ้ต่อกิเลส แพ้ต่อตัณหา
ยังเป็นผู้ห่างไกลจากองค์ธรรมเป็นได้เพียงใบลานเปล่า
เป็นเช่นภาชนะที่มีรอยรั่วมีประ​โยชน์ใช้สอยเพียงน้อยนิดเพราะคิ​ดแต่ไม่ทำ......
        อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพี​ยงน้อยนิด ถ้าจิตขาดการพิจารณา
เผลอสติเข้าไปปรุงแต่งคล้อยตามอ​ารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มันเหมือนกับการ
ไปเพิ่มกำลังให้มัน เพลิดเพลินไปกับการปรุงแต่งเหล่​านั้นที่เป็นอกุศลจิต
มันก็ก่อให้เกิดการสร้างภพสร้าง​ชาติใหม่ขึ้นมา ไม่รู้จักจบสิ้นเพราะการ
ปรุงแต่งทำให้มีทำให้เป็นนั้น เราจึงควรมีสติรู้เท่าทันอารมณ์​ที่เกิดขึ้นทั้งหลาย
พิจารณาแยกแยะออกให้ได้ ถึงความเป็นกุศลจิตและความเป็นอ​กุศลจิต
เห็นคุณ เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ขอ​งอารมณ์เหล่านั้น
ตามดูตามรู้ให้ทันในความคิดที่เ​กิดขึ้นทั้งหลาย ด้วยการเจริญสติพิจารณา
ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม​...
          ขอบคุณกิเลสตัณหาที่มาเป็นแบบทด​สอบอารมณ์
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้ว​ยไมตรีจิต
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

74
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๑ สิงหาคม พศ. ๒๕๕๔
           ใช้ชีวิตตามปกติในแต่ละวันที่ผ่านไปโดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่
ระลึกรู้ในสิ่งที่คิดและในกิจที่ทำ พยายามเตือนย้ำตนเองให้เกรงกลัวต่อบาปกรรม
ในการคิดและทำกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น มองเห็นคุณ เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งที่เราคิดและทำ ทุกครั้งในการคิดและก่อนจะพูดหรือลงมือทำ
เพื่อจะไม่เป็นการสร้างเวรสร้างกรรมต่อผู้อื่นเขา กิเลสและกรรมเก่าของเรานั้นมันก็มากอยู่แล้ว
ต้องแก้ไขและชดใช้กรรมเก่าอยู่ทุกวัน จึงไม่ควรสร้างกรรมอกุศลตัวใหม่ให้เกิดขึ้นมาเพิ่มขึ้นมา
เพราะว่าเวลาของชีวิตในภพนี้ชาตินี้นั้น สั้นลงไปทุกขณะ จึงต้องเร่งความเพียรในการชำระจิต
ทำชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีคุณค่าทั้งในทางโลกและทางธรรม.....
           ชีวิตแต่ละวันที่ผ่านไปเหมือนไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพราะใช้ชีวิตและทำงานตามปกติ
ไม่ได้นั่งสมาธิ ไม่ได้เดินจงกรม จนมีพระและโยมมาถามว่า...ท่านเอาเวลาไหนไปปฏิบัติธรรม..?
ซึ่งได้ตอบเขาเหล่านั้นไปว่า...เอาเวลาที่มีสติไปปฏิบัติธรรม เมื่อเรามีสติและสัมปชัญญะ
อยู่กับกาย อยู่กับจิต อยู่กับความคิด อยู่กับการกระทำ นั้นแหละคือการปฏิบัติธรรม
เหมือนดั่งคำของหลวงพ่อพุทธทาสที่กล่าวไว้ว่า...การทำงานคือการปฏิบัติธรรม...
เพราะมีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิตอยู่.....
          การเขียนบทความหรือการบันทึกธรรมนั้น ไม่ได้ตั้งความหวังจะสอนผู้ใด
แต่ที่ได้ทำลงไปนั้น เพื่อเป็นการย้ำเตือนและสอนตัวเราเอง เพื่อให้มีสติระลึกรู้
ส่วนที่จะมีผู้มาอ่าน มาทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามนั้น เป็นผลพลอยได้
 เพราะจุดมุ่งหมายของการบันทึกและการบรรยายที่ได้ทำมาไว้นั้นเพื่อเตือนตนสอนตน
เพราะก่อนที่เราจะไปสอนคนอื่นได้นั้น  เราต้องรู้และเข้าใจ ทำได้และเคยทำมาแล้ว
ไม่ใช่ท่องตำราให้จำได้แล้วไปกล่าวธรรม เพราะการทำเช่นนั้นมันเหมือนนกแก้วนกขุนทอง
จำได้พูดได้ แต่ไม่รู้ความหมายและเนื้อหา พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ เป็นเพียงใบลานเปล่า “.....
            ทุกครั้งที่เขียนบทความหรือบรรยายธรรมก็เพื่อย้ำเตือน ทบทวนและสอนตัวเองทุกครั้ง
ไม่ได้มุ่งหวังว่าคนฟังจะรู้นั้นจะเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามหรือไม่เพราะถ้าเราไปหวังและตั้งใจ
ให้ผู้ฟังเข้าใจและปฏิบัติตามนั้น...มันเป็นตัณหาคือความอยากมี อยากเป็น อยากเห็น อยากได้
และเมื่อไม่เป็นไปตามที่ใจเราปรารถนา มันก็จะพาให้ใจเป็นทุกข์ เพราะตัณหาไม่ได้รับการสนองตอบ
กล่าวธรรมเพื่อธรรม บันทึกธรรม เพื่อเตือนย้ำความรู้สึกและจิตสำนึกของตัวเราเอง....
ขอบคุณสติและสัมปชัญญะที่เตือนกายเตือนจิตในการคิดและการกระทำ 
                          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๕๙ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

75
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
....รับรู้รับฟังปัญหา เสพข่าวสาร ที่ผ่านเข้ามาในความคิด
นำมาพิจารณาถึงที่มาของปัญหาในแ​ต่ละเรื่องที่ได้เกิดขึ้น
จึงสรุปได้ว่า ปัญหานั้นล้วนเกิดขึ้นมาจากคน คนคือต้นเหตุ
ที่มาของปัญหาทั้งหลาย ยิ่งในสังคมใหญ่ที่มีความหลากหล​าย
ปัญหานั้นก็ย่อมจะมีมากขึ้นเป็น​ธรรมดา เพราะว่ามีความคิดเห็น
ที่แตกต่างกันออกไปและการไม่ยอม​รับฟังในความคิดเห็นของผู้อื่น
มันจึงทำให้เกิดปัญหา (อยู่คนเดียวระวังจิต อยู่กับมิตรระวังวาจา )...
.....มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม คือต้องมีการอยู่รวมกลุ่ม
และอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน ตามเชื่อชาติและสายพันธ์
และภูมิภาค จากกลุ่มเล็กไปสู่กลุ่มใหญ่ และเมื่อมากคนก็มากความคิด
เพราะทุกคนต่างเคารพความคิดเห็น​ของตนเอง ซึ่งความคิดเหล่านั้น
เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถจะคิดได้ เพราะความคิดเป็นเรื่องของภายใน​
อยู่ในใจไม่มีใครรู้ แต่ที่เกิดมีปัญหาก็เพราะว่าการ​นำเสนอความคิด
การแสดงความดิคเห็นออกมาต่อสาธา​รณะ เพราะอาจจะไปกระทบ
กับความคิดเห็นของผู้อื่น...
.....หลักการในการแสดงความคิดเห็นนั้น มันต้องเริ่มที่เรา
คือตัวเราต้องหาเหตุผลมารองรับค​วามคิดของเราเสียก่อน
(ทำไมเราต้องมีความคิดเห็นเป็นอ​ย่างนี้อย่างนี้ และจะมีผลอย่างไรถ้าเรานำเสนอไป​)
และเมื่อเรานำเสนอไป เราต้องทำใจต่อผลกระทบที่ตามมี(​ถ้ามีความเห็นที่แตกต่างกัน)
เราต้องเคารพในสิทธิส่วนบุคคลขอ​งเขา ที่เขาสามารถจะคิดเห็นที่แตกต่า​งไปจากเราได้
แล้วเอาความคิดที่แตกต่างกันมาป​ระสานหาจุดที่ลงตัว โดยใช้เหตุและผล
(คงความคิดของทั้งสองฝ่ายไว้ อย่าไปทำลายหรือตัดทิ้ง)แล้วมอง​หาสิ่งที่
เป็นจุดกลางระหว่างความคิดทั้งส​องฝ่าย แล้วเราจะได้ความคิดที่ลงตัว
(ไม่มีฝ่ายใดเสีย มีแต่ได้ทั้งสองฝ่าย)....
...สรุปแล้วมันก็คือเราต้องมีสติ ในการคิดการกระทำ คือต้องคิด ก่อนที่จะพูด
(ต้องสรุปความคิดของเราให้ได้ก่​อนที่จะนำเสนอ) ถ้าเราไม่เผลอสติ
การคิดการกระทำก็จะมีความรอบคอบ​ยิ่งขึ้น และจะรู้จักรับฟังความคิดเห็น
ของผู้อื่นได้มากขึ้น เมื่อเราเข้าใจตัวเราได้แล้ว เราก็จะเข้าใจผู้อื่นได้เช่นกัน​...
......ความคิดเห็นของแต่ละคนนั้​น เกิดจากวัยวุฒิ คุณวุฒิ พื้นฐานของครอบครัว
สังคมรอบข้าง และอารมณ์ความรู้สึกของเขาในขณะ​นั้น ถ้าเราเข้าใจในเรื่อง
"จิตวิทยาของมนุษย์"เราจะเข้าใจ​ในเหตุผลของแต่ละคนที่แตกต่างกั​น
และสิ่งนั้นจะไม่สร้างความแตกแย​ก จากความเห็นที่แตกต่าง
แต่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนไป​สู่ความก้าวหน้า เพราะว่าเราจะได้มุมมองใหม่ๆ
ในความที่แตกต่างกัน และมันจะเกิดการพัฒนาทางความคิด​ขึ้นต่อไป...
......การเรียนรู้ของแต่ละบุคคล​นั้น ย่อมจะแตกต่างกันจากพื้นฐานที่ไ​ด้กล่าวมา
และเมื่อเราเข้าใจในเรื่อง " จิตวิทยา " ที่มาของแต่ละบุคคลแล้วนั้น ปัญหามัน
ก็จะไม่เริ่มที่ตัวเรา เมื่อรู้เห็นและเข้าใจ การให้อภัยก็จะตามมา เพราะว่าไม่ยึด
ถือมาเป็นสาระ ไม่เก็บมาเป็นข้อกังวลใจ การที่เราไปทุกข์ใจกับสิ่งเหล่า​นั้น
มันเหมือนการไปเก็บกิเลสของเขาม​าปรุงแต่ง เพิ่มกิเลสให้แก่ตัวของเราเอง
ซึ่งกิเลสภายในใจของเรานั้น มันก็มีมากอยู่แล้ว ยังชำระขัดเกลาไม่หมดเลย
แล้วเราจะไปเก็บกิเลสของผู้อื่น​มาเพิ่มอีกทำไม มองโลกในเชิงบวกเข้าไว้
แล้วเราจะพบกับความสุขใจ ไม่ต้องไปวุ่นวายทุกข์ใจกับกิเล​สตัณหาของผู้อื่น
" บุคคลย่อมแตกต่างกัน ด้วยธาตุและอินทรีย์ บารมีที่สะสมกันมา "....
.....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรี​จิต...
.....รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร....
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๐๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

76
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

เสาร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ ๒๕๕๔

๐ เช้าวันหนึ่ง..........

เมฆฝนบนฟ้าปกคลุมมามืดดำ

สายฝนหล่นพรำมาในยามเช้า

สายลมพัดพาความหนาวมาจากทิศตะวันออก

ซุกกายใต้ผ้าห่มไม่อยากจะลุกจากที่นอน

อาลัยอาวรณ์อยากที่จะนอนต่ออีกสักหน่อย

แล้วตัดใจลุกจากที่นอนเก็บหมอนและผับผ้าห่ม

๐ จิตใจเริ่มสับสน........

กับสายฝนที่ตกลงมาและอากาศที่หนาวเย็น

เกิดสองความคิดขึ้นมาในจิตใจ

จะออกไปรับบิณฑบาตรดีหรือไม่

ออกไปจีวรต้องเปียกแน่เลย

ตากฝนอาจจะทำให้ไม่สบายเป็นหวัดได้

๐ แต่อีกความคิดหนึ่ง......

ถ้าเราไม่ออกไปญาติโยมเขาจะรอเราอยู่ไหม..?

อาหารที่เขาเตรียมไว้จะเป็นอย่างไร..?

ญาติโยมเขาจะกังวลใจมากไหม..?

ความคิดสองอย่างเกิดขึ้นในใจ

จะเลือกเอาอย่างไหนกันดี..?

๐ สายฝนโปรยปราย.....

เดินเลาะไปตามทางที่ใช้เดินอยู่ประจำ

สายลมหนาวผัดต้องกายให้หนาวสะท้าน

จีวรโดนละอองฝนเปียกกระชับกาย

ญาติโยมนั่งรอเรียงรายสองข้างทาง

.....รอยยิ้มเกิดท่ามกลางสายฝน....

๐ ขอขอบคุณ.......

การตัดสินใจที่ถูกต้องและสายฝน

ขอบคุณผู้คนที่ไม่เสื่อมศรัทธา

ขอบคุณท้องฟ้าและกาลเวลา

ขอบคุณความคิดทั้งสองทาง

....ขอบคุณรอยยิ้มกลางสายฝน....

๐ ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าจิตฝ่ายไหนจะมีอำนาจ

มีพลังมากกว่ากัน บางครั้งการตัดสินใจที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียวนั้น

มันก็จะมีผลกระทบไปถึงอนาคตอย่างมากมาย และเปลี่ยนแปลง

วิถีชีวิตให้ตกต่ำลงใต้ จึงจำเป็นต้องใช้สติและปัญญา ในการพิจารณา

ตัดสินใจว่าทำอะไรลงไปแต่ละครั้ง จงมองให้เห็นผลกระทบรอบด้าน

ที่จะเกิดขึ้น จากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของเรา...

            แด่ศรัทธาของผู้คนในเรื่องบุญกุศลและศีลทาน

                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต

                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๔๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

77
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พศ. ๒๕๕๔
 .........ปรับโลกเข้าหาธรรม เลือกเฟ้นธรรมที่เหมาะสมกับโลก
นำมาใช้กับสิ่งที่กำลังคิดและกิจที่กำลังทำ ประยุกค์ใช้ให้เข้ากัน
เพื่อความเจริญก้าวหน้าทั้งในทางโลกและทางธรรมแก่ตนเอง
และคนรอบกาย มันจึงไม่ใช่ความวุ่นวาย แต่เป็นการฝึกจิต
ให้รู้จักการระลึกนึกคิด รู้จักการพิจารณาเข้าหาเหตุและผล
บนพื้นฐานของความเป็นจริง จากสิ่งที่เป็นอยู่รอบกายทั้งหลาย
ที่กำลังดำเนินไป วิเคราะห์ไปยังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สรุปถึงสิ่งที่ได้
ผ่านพ้นมา โดยใช้สติและปัญญาที่มีธรรม นั้นมานำความคิด
เป็นการฝึกจิตให้อยู่กับปัจจุบันธรรม....
 .....เมื่อก่อนนั้น สมัยปฏิบัติธรรมใหม่ๆ เราชอบใช้การหนีปัญหา
 มาเป็นทางออก เวลาที่มีปัญหามากระทบ มักจะหลบเข้าป่า
เข้าถ้ำ ไปจำศีลภาวนา เบื่อความวุ่นวาย ซึ่งมันก็แก้ได้ชั่วขณะหนึ่ง
และเมื่อเรากลับออกมาจากป่า จากถ้ำ เราก็ต้องเจอกับปัญหาใหม่ๆเข้ามาอีก
เราจะหลีกหนีปัญหาต่างๆนั้นไม่ได้เลย เพราะเราต้องอยู่ในสังคม
 ต้องอาศัยศรัทธาของพุทธบริษัทในการเลี้ยงชีพ ต้องพบปะกับผู้คน
และเมื่อรู้และเข้าใจในจุดนี้ จึงต้องเปลี่ยนแนวคิดและการปฏิบัติใหม่
 มาทำความรู้ความเข้าใจกับกายและจิต กับความคิดของสังคม
เจริญสติวิปัสสนา เพื่อที่จะอยู่กับปัจจุบันธรรมทั้งหลายให้ได้
เพราะว่าเมื่อก่อนนั้นเราไปเน้นหนักในเรื่องของจิตสมถะสมาธิ
 ซึ่งสมถะกรรมฐานนั้นเป็นเรื่องของสมาธิ ความสงบ อาศัยความวิเวก
เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน จึงไม่ชอบความวุ่นวาย แต่วิปัสนากรรมฐานนั้น
อยู่กับปัจจุบันธรรม สิ่งที่กำลังเคลื่อนไหว ที่กำลังเกิดขึ้น ตามดู ตามรู้ ตามเห็น
แต่ไม่เอามาเป็นอารมณ์และติดอยู่ มีสติและสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งจะต่างจากอารมณ์ของสมถะกรรมฐาน ที่ต้องการความวิเวก ความสงบเงียบ
มีสติแนบแน่นอยู่กับการภาวนา จนอารมณ์นั้นเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่เพ่งอยู่
คือรู้เฉพาะสิ่งที่กำลังเพ่งอยู่เท่านั้น รู้ในความสงบนิ่ง แต่อารมณ์ของวิปัสสนานั้น
จะรู้เห็นในสิ่งที่เป็นไปรอบกายทั้งหลายที่เกิดขึ้น แต่ไม่เข้าไปยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น
 พิจารณาสิ่งที่กำลังเป็นไปเข้าสู่หลักธรรมทั้งหลาย วางจิตวางใจให้อยู่กับธรรม
 มีธรรมคุ้มครองจิตในการคิดและการกระทำ รู้เห็นในสิ่งที่เป็นจริงตามหลักธรรม...
  .......การเผยแพ่ธรรมะนั้น สิ่งที่สำคัญคือการทำอย่างไรที่จะให้เขาเข้ามาหาเรา
ซึ่งต้องใช้หลักจิตวิทยามองหาความชอบพื้นฐานของแต่ละบุคคล นำเสนอในสิ่ง
ที่เขามีความชอบอันประกอบด้วยกุศล สร้างความคุ้นเคยกัน เพื่อลดความกดดัน
ความรู้สึกแปลกแยกและแตกต่างระหว่างกันออกไป ไม่ไปยัดเยียดธรรมให้เขา
ปฏิบัติในขณะที่เขานั้นยังไม่พร้อม น้อมนำธรรมที่เหมาะสมมานำเสนอแก่เขา
แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ไม่เข้าไปลบล้างพฤติกรรมเก่าๆของเขาในทันที
เพราะมันจะทำให้มีแรงต่อต้าน จึงต้องใช้ระยะเวลาในการละลายพฤติกรรมเก่า
ของเขาเหล่านั้นที่เคยเป็นมา จึงต้องใช้เวลาและความอดทนในการสอนให้เขารู้ธรรม
ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยใช้กุศโลบายธรมที่แตกต่างกัน....
                         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๒๘ น. ณ ตถตาอาศรม บานบึง ชลบุรี

78
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๒๘ กรกฎาคม พศ. ๒๕๕๔
......เดินทางไปทำธุระนอกสถานที่ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนรถ
ระหว่างที่เดินทางนั้นได้นั่งทบทวนพิจารณาเรื่องกระแสนิยม
มงคลตื่นข่าวของชาวไทยซึ่งอ่อนไหวและเปลี่ยนแปลงได้
อย่างรวดเร็วตามกระแสสังคม ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย
ให้เป็นไปเช่นนั้นคือการคล้อยตามกระแสนิยมที่เป็นอยู่
จึงพอจะรู้และเข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มันมีที่มาจากจริตของคนไทย
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น"ศรัทธาจริต"มีจิตใจที่อ่อนไหวเชื่ออะไรได้ง่าย
และมีพื้นฐานจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก และระบบการศึกษาของไทย
ที่สอนให้ เชื่อฟัง และทำตามผู้ใหญ่ และจดจำในสิ่งที่สอน ที่สั่ง
ทำให้เกิดการเคยชินในระบบความคิดและความจำเมื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
เพราะสังคมการศึกษาและวิถีชีวิตของคนไทยนั้นไม่ได้สอนเรื่องเหตุและผล
ไม่ได้สอนให้คิดค้น วิเคราะห์ และพิจารณา สอนแต่ให้จำได้หมายรู้เพียงอย่างเดียว
เมื่อได้พิจารณาจนได้รู้และเข้าใจ จิตก็คลายสงสัยเพราะรู้ว่า"มันเป็นเช่นนั้นเอง"
ในอดีตที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่เวลาส่วนใหญ่ในตอนกลางวัน
หมดไปกับงานโยธากรรมฐาน การทำงาน บริหารคน บริหารงาน
ประสานให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่มีปัญหาและอุปสรรค์
โดยใช้หลักการคิด วิเคราะห์และวางแผนการทำงานไว้ล่วงหน้า
มองงานทุกอย่างให้ละเอียดให้ชัดแจ้งในองค์ประกอบของงาน
ว่ามีขบวนการในการกระทำเป็นอย่างไร ใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง
ต้องใช้แรงงานมากน้อยขนาดไหน ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง
ซึ่งเราต้องคิดและวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะลงมือทำงานทุกครั้ง
คิดที่ละเรื่อง ที่ละอย่าง ให้มันจบเป็นเรื่องๆไป แล้วบันทึกไว้ในส่วนของความจำ
คือมองภาพกว้างๆแล้วมาแยกแยะออกเป็นอย่างๆเป็นเรื่องๆไป
โดยให้ความสำคัญที่เหตุและปัจจัย ว่าอะไรควรทำก่อน และทำที่หลัง
ทำในสิ่งที่คิดและทำได้ในทันที เพราะมีเหตุและปัจจัยที่พร้อม
เวลา โอกาศ สภาพดินฟ้าอากาศ และความพร้อมของบุคคลากร
ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ซึ่งเราได้วางแผนงานไว้
และมีแนวทางของการแก้ไข้ไว้ล่วงหน้า ถ้าเกิดมีอุปสรรค์และปัญหาขึ้นมา
ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากการฝึกคิด ฝึกพิจารณา โดยการมีสติและสมาธิเป็นพื้นฐาน
คือการทำจิตให้นิ่ง แล้วจะมองเห็นทุกสิ่งอย่างละเอียดและชัดเจน
ทุกอย่างสามารถที่จะฝึกฝนกันได้ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด
ขอเพียงเราเริ่มต้นและลงมือทำ.........
         แด่การฝึกฝนหาเหตุและผลของสรรพสิ่งรอบกาย 
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๕๙ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

79
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          ใช้เวลาที่ว่างจากการฟังธรรม การค้นคว้าพระไตรปิฏก มาทบทวนธรรม
มองย้อยกลับถึงอดีตที่ผ่านมา การศึกษาค้นคว้าและการปฏิบัติทำมาอย่างไร
ได้ผ่านสภาวธรรมใดมาบ้าง เคยหลงทางหลงผิดจิตคลาดเคลื่อนบ้างหรือไม่
อะไรเป็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้คิดเห็นเป็นอย่างนั้น ใคร่ครวญทบทวนพิจารณา
เอาอดีตนั้นมาเป็นบทเรียน เพื่อที่จะกำหนดบทบาททำปัจจุบันนั้นให้เหมาะสม
จึงได้รู้ว่าอดีตที่ผ่านมาบางช่วงนั้น  เสียเวลาไปกับสิ่งที่น้อยคุณค่านั้นมากมาย
ไปหลงติดอยู่ในวังวนของโลกธรรมทั้งหลายอยู่ จึงไม่ได้รู้สภาวธรรมที่แท้จริง
 "รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม" แต่ยังไม่ได้ทำ เพราะมัวไปหลงในการกล่าวธรรม
 ธรรมที่รู้ ธรรมที่เห็นและธรรมที่เข้าใจ จึงไม่เป็นรูปธรรม  เพราะยังมิได้ตั้งไว้ทรงอยู่ใธรรม
ที่รู้ที่เห็นที่เข้าใจ จึงเพียงได้แต่สัญญาในธรรม คือการจำได้หมายรู้ มิได้ทรงอยู่
เพราะขาดการกระทำที่ต่อเนื่อง....กิเลสมารมันหลอกให้เราหลงทางเสียเวลาไป
 หลงดีใจ ภูมิใจ ตามกิเลสไม่ทัน จึงกล่าวธรรมเพื่อสนองตัณหา คืออยากที่จะให้ผู้ฟัง
ได้รู้และเข้าใจแล้วนำไปปฏิบัติ มิได้กล่าวธรรมเพื่อธรรม เพราะจิตเข้าไปหวังผลในการกล่าวธรรม
เสียเวลาไปหลายปี เพียงเพราะขาดสติไม่ถึงเสี้ยวนาที.....คงต้องกลับมาเริ่มใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
 ที่จะลบสัญญาเก่าๆได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว จิตมันปรุงแต่งในอารมณ์ มันไปรู้ก่อนที่สภาวธรรมจะเกิด
 ต้องแก้ไขปรับปรุง ควบคุมจิตให้มากขึ้นกว่าเดิม  เพื่อจะให้พบทางเก่าที่เราเคยเดิน ซึ่งเราทิ้งไปนาน
 ทางมันจึงลางเลือนไม่ชัดเจน คงต้องค่อยเป็นค่อยไป คลำทางต่อไปจนกว่าจะเจอ...
  จิตหวนระลึกนึกถึงสมัยที่ไปปฏิบัติอยู่ที่ถ้ำศรีเมือง ป่าช้าเกาะเย็น จังหวัดสุราษฎร์ธานี
และอยู่จำพรรษาปฏิบัติ ณ ที่นั้น ในช่วงเข้าพรรษาฝนจะตกลงมาเป็นประจำ ในถ้ำจะเกิดน้ำหยด
ต้องเอาถังน้ำไปรองรับน้ำที่หยดลงมา เพื่อเก็บไว้เป็นน้ำใช้และไม่ให้เปียกเลอะพื้นถ้ำ น้ำนั้นย้อยลงมา
ทีละหยดอย่างสม่ำเสมอ จนเต็มถังที่นำไปรองรับไว้ จึงอุปมาได้กับการปฏิบัติธรรม ที่ต้องกระทำอยู่อย่าง
สม่ำเสมอ สะสมกำลังไปเรื่อยๆอย่าได้ทอดทิ้งธุระให้ขาดตอน ซึ่งมันจะเหมือนน้ำในถังที่ตั้งลืมไว้กลางแดด
 มันมีแต่จะเหือดแห้งระเหยไป เพราะความร้อนจากแสงแดดที่แผดเผา มันจะระเหยแห้งหายไปไปทุกวัน
ซึ่ง กว่าจะรู้ตัวระลึกได้ น้ำในถังมันก็เหือดแห้งไปหมดแล้ว เหลือแต่ถังเปล่าที่ไม่มีน้ำต้องเสาะหาน้ำมาใหม่
มาใส่ให้เต็ม และนำถังไปเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสม หมั่นดูแลรักษาและเติมน้ำให้เต็มอยู่เสมอ....
การปฏิบัตินั้นก็เช่นกันเราต้องหมั่นกระทำให้สม่ำเสมอ รักษาไว้ซึ่งสภาวธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ได้ อย่าให้เสื่อม
ทำสภาวธรรมตัวใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดขึ้นมา ตามกาลเวลาที่เหมาะสม....
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๐๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

80
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
           ฝนตกลงมาในขณะที่ออกรับบิณฑบาต เปียกชุ่มไปทั้งตัว มองโลกในเชิงบวก
เป็นโอกาสดีที่จะได้ซักผ้า ฤดูเข้าพรรษาถ้าฝนไม่ตกลงมานั้นเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ
เมื่อใจยอมรับสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ ใจนั้นก็ไม่มีความทุกข์
ใจเป็นสุขอยู่ภายใน เดินยิ้มไปกลางสายฝน นั้นคือผลของการมองโลกในเชิงบวก
เป็นการรักษาจิตให้อยู่กับความคิดที่เป็นกุศล ไม่เอาตัณหาความอยากของตนมา
ตัดสินในปัญหาว่ามันดีหรือมันเลว ความพอใจและไม่น่าพอใจในอารมณ์ทั้งหลาย
ที่เกิดขึ้นนั้น มันเกิดขึ้นจากตัณหาคือความต้องการของเรานั้น จะได้รับการสนองตอบ
หรือไม่ ถ้าได้รับการสนองตอบตามที่เราต้องการ เราก็จะมีความยินดีและพอใจในสิ่งนั้น
แต่ในทางกลับกัน ถ้าความต้องการของเรานั้นไม่ได้รับการตอบสนอง ใจของเรานั้นก็จะ
ขุ่นมัว เกิดปฏิฆะ เกิดอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจขึ้นมา สิ่งนี้คือฐานเวทนาในสติปัฏฐาน ๔
คือความยินดีและไม่น่ายินดีในอารมณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหลาย เมื่อเรารู้และเข้าใจควบคุมได้
ในอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานี้ จิตนั้นก็มีธรรมะคุ้มครองอยู่...
            การตามดู ตามรู้ ตามเห็น ความเป็นไปของปัจจุบันธรรมนั้น คือการเจริญสติ
และสัมปชัญญะ คือหลักธรรมะที่ว่าด้วยการน้อมเข้ามาสู่ตัว คือการเอาสติมาระลึกรู้
อยู่กับกาย อยู่กับจิต อยู่กับความคิดของตัวเราเอง รู้ในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น รู้ในสิ่งที่
กำลังเป็นอยู่ รู้ในสิ่งที่กำลังจะดับไป รู้จักการหักห้ามใจไม่คล้อยตามกิเลสฝ่ายต่ำทั้งหลาย
แยกแยะกุศลและอกุศลออกจากกันได้ ดำรงทรงไว้ซึ่งจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิทั้งหลายให้เกิดขึ้น
ดำเนินชีวิตไปตามแนวทางแห่งอริยมรรค ๘ เป็นการฝึกหัดขัดเกลาชำระจิตใจ สร้างความเคย
ชินตัวใหม่ให้กับจิต ฝึกให้คิดและพิจารณา น้อมจิตเข้าหาธรรม รักษาทรงไว้ซึ่งสภาวธรรม
ทั้งหลายที่เป็นกุศล เมื่อเรารักษาธรรม แล้วธรรมนั้นจะรักษาเรา...
           การปฏิบัติธรรมนั้นอุปมาได้ว่า เหมือนกับการฝึกเขียนหนังสือ คือต้องเริ่มจากรูปแบบ
และพื้นฐาน เริ่มจากครูบาอาจารย์จับมือให้เขียนตามลากเส้นตาม มาสู่การเขียนตามแบบที่
ครูบาอาจารย์ท่านได้กำหนดไว้ จากตัวบรรจงเต็มบรรทัด ฝึกคัดลายมือจนชำนาญ เข้าสู่การ
เขียนและเรียนรู้มาเป็นตัวครึ่งบรรทัด จากอักษรตัวบรรจงมาเป็นอักษรตัวหวัด ล้วนเกิดจาก
ฝึกหัดและฝึกฝนจนชำนาญ สั่งสมประสบการณ์จนเป็นลายมือเฉพาะตน จนรู้ได้เฉพาะตน
ทุกอย่างนั้นต้องเริ่มจากเบื้องต้นพื้นฐานตามรูปแบบ การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เราต้องเริ่มต้น
จากพื้นฐานตามรูปแบบ จนมีความชำนาญในพื้นฐานและรูปแบบดีแล้ว ชัดเจนแล้ว จึงจะเข้าสู่
การเรียนรู้หาความเหมาะสมสำหรับตน การที่จะไร้รูปแบบได้นั้นเราต้องผ่านการเรียนรู้รูปแบบพื้นฐานมามาเสียก่อน
 “ ที่สุดของกระบวนท่า คือการไร้ซึ่งกระบวนท่า ที่สุดของอาวุธ คือการไม่มีอาวุธ ที่สุดของกระบี่ คือกระบี่อยู่ที่ใจ
ที่สุดของรูปแบบ คือการไร้ซึ่งรูปแบบ เพราะรูปแบบนั้นอยู่ที่ใจ “ ที่จะถึงซึ่งจุดนั้นได้ก็ต้องเริ่มต้นมาจากพื้นฐาน
การมีรูปแบบมาทั้งสิ้น....
                              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๑๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

81
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
......ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีญาติโยมขึ้นเขามาเยี่ยมเยือนกัน
หลายคณะ ได้พบปะสนทนากัน ตามกาลตามเวลา ในเนื้อหาทั้งในทางโลก
และทางธรรม ตามสิ่งที่ควรจะเป็น เป็นการร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ
ในสิ่งที่ควรคิดและในกิจที่ควรทำ เพื่อที่จะนำชีวิตไปสู่ความเจริญก้าวหน้า
ทั้งในทางโลกและทางธรรม ร่วมกันคิดและวิเคราะห์หาความเหมาะสม
ในสิ่งที่ควรจะเป็นและสิ่งที่เป็นไปได้ ตามเหตุและปัจจัยที่พวกเรานั้นมี
คิดจากพื้นฐานหน้าตักตามหลักแห่งความเป็นจริง ไม่ได้หวังพึ่งพิงโชคชะตา
แต่ใช้สติปัญญาความรู้ความสามารถศักยภาพที่พวกเรานั้นมี มาเป็นต้นทุน
ในการคิดพิจารณาว่าควรจะกระทำในสิ่งใดและกระทำได้ดีมากน้อยขนาดไหน
มีอะไรเป็นเหตุและเป็นปัจจัยที่จะเกิดทำให้มีความผิดพลาดขึ้นได้บ้าง
ในการดำเนินงานในสิ่งนั้นๆ ถ้าไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ตั้งใจไว้ มันจะมีผล
กระทบอย่างไรบ้างต่อตัวเราและสังคมรอบข้าง มองหาแนวทางของการแก้ไข
ปัญหาไว้ล่วงหน้า แล้วทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์เต็มที่กันต่อไป
ผลจะออกมาเป็นอย่างไรมันเป็นเรื่องของอนาคต ที่ตั้งอยู่บนกฏของอนิจจัง
แต่การที่เราได้ลงมือกระทำนั้น มันเป็นความภาคภูมิใจ ว่าเราได้ทำสิ่งนั้น
กันไปแล้ว ไม่มาน้อยใจ เสียใจกับโอกาสที่ผ่านไป...
......ในการทำงานนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสติและมีสมาธิในการทำงาน
เพราะในการทำงานแต่ละอย่างนั้น ย่อมมีอุปสรรคและปัญหาอยู่ตลอดเวลา
การที่เรามีสตินั้นจะช่วยให้เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและสามรถที่จะควบคุม
อารมณ์ความรู้สึกได้ และทำให้สามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้เสมอ
เพราะว่าเรามีสมาธิในการทำงานจึงสามารถที่จะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้
ไม่ตื่นตกใจหรืออารมณ์เสียเมื่อเจอปัญหา ทำให้สามารถที่จะแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้
ขณะออกรับบิณฑบาตร ฝนตกหนักมาก เปียกไปทั้งตัว กลับที่พักแล้วเจริญสติภาวนา
โดยใช้ " โสตกรรมฐาน "คือการใช้โสตสัมผัส ( เสียง )เป็นอารมณ์กรรมฐาน
เอาสติไปจับที่เสียงที่เราได้ยิน จนสามารถที่จะแยกเสียงที่ได้ยินนั้นได้
และจิตจับอยู่กับเสียงเพียงเสียงเดียวที่เราสนใจ จนจิตเป็นสมาธิอยู่กับเสียงนั้น
ซึ่งการปฏิบัติแบบนี้ได้ทำอยู่บ่อยครั้ง ตามโอกาศที่เหมาะสม
ซึ่งวิธีนี้ได้เจอโดยบังเอิญตั้งแต่สมัยที่เป็นฆราวาส ตอนที่นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ
ไปสุราษฎร์เมื่อปี ๒๕๒๙ ตอนนั้นเดินทางคนเดียวและในเที่ยวนั้นผู้โดยสารมีน้อยมาก
ทำให้มีที่นั่งว่างเยอะ สามารถที่จะเอาเบาะที่นั่งมาปูนอนได้ เพราะว่าว่างไม่รู้จะทำอะไร
นอนก็ไม่หลับ จึงนอนฟังเสียงล้อรถไฟกระทบข้อต่อของรางไปเรื่อยๆ
นอนฟังตั้งแต่รถไฟออกจากสถานีนครปฐม ไปรู้สึกตัวอีกครั้งเมื่อรถไฟถึงสถานีไชยา
เมื่อรู้สึกตัวและเลิกฟังเสียงล้อรถไฟแล้วนั้น มีความรู้สึกเอิบอิ่ม เป็นสุขอย่างบอกไม่ถูก
ซึ่งมันเป็นความสุขที่เราไม่เคยเจอมาก่อนเลยตั้งแต่เกิดมา เพราะในสมัยเป็นฆราวาส
ไม่เคยสนใจเรื่องศาสนา ปฏิเสธศาสนา แต่เมื่อได้เข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรม
จึงได้รู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคือความเป็นสมาธิ คืออารมณ์ปิติ สุขและเอตคตารมณ์
ซึ่งเราพบมันโดยบังเอิญและนำมาปฏิบัติอยู่เสมอตามจังหวะและโอกาศที่เหมาะสม...
.......เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต........
...........รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร..............
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๔๕ น. ณตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

82
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๓ กค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
              จากประสบการณ์ของชีวิตที่ผ่านมา ไม่ว่าบู๊ บุ๋น หรือบันเทิง
ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสมาหมดแล้วทุกวงการ ทำให้โลกทัศน์ ชีวทัศน์
และวิศัยทัศน์ของเรานั้นเปิดกว้าง รับรู้ในข้อมูลได้ทุกอย่างและทุกเรื่อง
จึงได้นำเอาประสบการณ์ที่มีมาสงเคราะห์ อนุเคราะห์ช่วยเหลื่อผู้อื่น
โดยสอดแทรกหลักธรรมการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องและสอดคล้องกับวิถี
ลงไป การมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จิตอาสาและความเหมาะสมพอดีและ
พอเพียงในการหาเลี้ยงชีวิต ในการประกอบธุรกิจและในชีวิตครอบครัว
ทุกอย่างนั้นจะดำเนินไปได้ด้วยดี ก็ต้องมีการปรับเข้าหากันของทุกฝ่าย
เพื่อให้ทุกคนได้รับผลประโยชน์จากสิ่งนั้นตามความเหมาะสมของแต่ละ
บุคคล คือการรู้จักประมาณตน ประมาณกำลัง และตั้งอยู่ในความพอดี
สิ่งเหล่านี้คือแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตที่เป็นพื้นฐานนำเข้าสู่เส้นทาง
ธรรมในอนาคตข้างหน้าต่อไป...
             ทุกอย่างนั้นต้องขึ้นอยู่กับสภาพความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
ส่งเสริมในสิ่งที่เขาชอบ อันประกอบด้วยกุศล  ซึ่งมันจะได้ผลกว่าการที่ไป
บังคับ ยัดเยียดให้เขาปฏิบัติตามความต้องการของเรา ส่งเสริมให้เขาทำ
ในสิ่งที่เขาชอบ ในสิ่งที่ใช่ตัวตนของเขา แล้วเขาจะมีความสุขมีความเพลิดเพลิน
ที่ได้กระทำในสิ่งนั้นและผลงานนั้นมันก็จะออกมาดี เพราะว่ามีใจให้แก่สิ่งที่ได้ทำ
เวลาแห่งการกระทำผิด เวลาแห่งจิตที่จะคิดอกุศล มันก็จะน้อยลงสั้นลงไปทุกขณะ
เพราะว่าจิตมีความเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งที่ทำ จนลืมคิดถึงสิ่งอื่น ความเป็นสมาธิโดย
ธรรมชาติก็จะเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้นั้น เพราะว่าสมาธินั้นคือจิตที่จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
เป็นเวลานาน เป็นพื้นฐานที่จะยกจิตเข้าสู่การเจริญภาวนานั้นได้ง่าย หากรู้จักจะปรับใช้
โดยการเพิ่มกำลังของสติและองค์แห่งคุณธรรมเข้าไป ให้มีสติระลึกรู้ ละอายและเกรงกลัว
ต่อบาปกรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลาย....
            เป็นการปฏิบัติธรรมที่ได้กระทำไปโดยไม่รู้ตัวว่าได้ปฏิบัติอยู่ ในวิถีชีวิตประจำวัน
เพราะว่าการปฏิบัติธรรมคือการเจริญสติ เจริญสัมปชัญญะ ในสภาวะแห่งปัจจุบันธรรม
คนส่วนใหญ่มักจะถุกปลูกฝังให้ติดยึดในรูปแบบ ว่าการปฏิบัตินั้นมันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ต้องมีเวลาว่าง ต้องไปวัดรับศีล ถือศีล นุ่งขาวห่มขาว ต้องไหว้พระสวดมนต์ ต้องนั่งสมาธิ
ต้องเดินจงกรม ต้องฟังธรรม จึงจะเป็นการปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดข้อจำกัดในการปฏิบัติ
เพราะว่าไปติดยึดในรูปแบบ ในพยัญชนะในตัวอักษร ไม่ได้สนใจในเนื้อหาอรรถธรรม
ว่ามันเป็นมาอย่างไร มันจึงเป็นการสอนอย่าง “ เถรส่องบาตร “ คือทำตามๆกันมาโดย
ไม่รู้เนื้อหาและเจตนาที่เขาทำ ว่ามันมีที่มาอย่างไร ทำไมเขาจึงทำแบบนั้น ซึ่งเป็นการ
กระทำโดยขาดปัญญา ขาดการพิจารณา วิเคราะห์ ใคร่ครวญและตริตรอง ไม่ได้มอง
ให้เห็นซึ่งที่มาและที่ไป เหตุและปัจจัยของสิ่งเหล่านั้น มันจึงเป็นการกระทำที่งมงาย
เพราะไร้ซึ่งการคิดพิจารณา ขาดปัญญาในการกระทำ.....
              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

83
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
          ฤดูกาลพรรษาผ่านไปแล้ว ๘ วัน ทุกอย่างเริ่มเข้าสู่ระบบที่กำห​นดไว้
ปรับกาย ปรับจิต ปรับสถานที่ ให้เกิดความพอดีและความเหมาะสมต​ามอัตภาพ
“ เรียบง่าย ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ “ คือสภาวะของความเหมาะสมกับ จังหวะ
เวลา โอกาส สถานที่ บุคคล ตามเหตุผลและปัจจัย องค์ประกอบที่มีในขณะนั้น
ไม่ใช่การ ไร้กฎกติกา ไร้ระเบียบวินัย ที่เป็นไปเพราะความมักง่าย ความขี้เกียจ
ซึ่งสิ่งนั้นมันเกิดจากอกุศลจิต​ แต่เป็นการไม่เข้าไปยึดติดในรูป​แบบและพิธีการ
จนเกินไป โดยดูตามความเหมาะสม มีกฎกติกาในชีวิต ในกิจทั้งหลายที่ควรทำ
เป็นไปตามธรรมชาติความเหมาะสมขอ​งปัจจุบันธรรม....
         บางครั้งจึงเกิดปัญหาแก่ลูกศิษย์ ผู้ที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ แล้วเอาไปกระทำตาม
คืออยากจะทำอะไรตามที่ใจของตนปร​ารถนา แล้วบอกว่าเป็นการไม่ยึดติดในรู​ปแบบ
ซึ่งมันเป็นความเห็นและการกระทำ​ที่ไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งนั้นเกิดมาจากความขี้เ​กียจ
ความมักง่าย ไม่ได้เกิดจากความรู้และความเข้​าใจที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อสนองตัณหา
ความอยากกระทำของตนเอง สิ่งนั้นมันไม่ใช่การปล่อยวาง แต่มันเป็นการทอดทิ้งธุระ
คือการละเลยไม่ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่มิชอบเพรา​ะไม่ประกอบ
ด้วยกุศลจิตเป็นพื้นฐานในการคิด​และการกระทำ.....
           สิ่งที่ควรกระทำนั้นต้อง ไม่เป็นภัยต่อชีวิตตนเอง ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อื่น
ไม่ฝ่าฝืนพระธรรมวินัยและกฎระเบียบของสังคม เป็นไปตามความเหมาะสมของจังหวะ
เวลา โอกาส สถานที่ บุคคล อยู่บนพิ้นฐานของเหตุและผล ปัจจัยองค์ประกอบทั้งหลาย
เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศล เป็นมงคลแก่ชีวิต จากสิ่งที่คิดและสิ่งที่ทำ นั้นคือความ
“ เรียบง่าย ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ “ เป็นกิจที่สมณะนั้นควรคิดควรทำใ​นการดำเนินชีวิต
เพื่อพัฒนาทางจิต ไปสู่ความสงบเพื่อความจางคลายขอ​งอัตตา กิเลส ตัณหาและอุปทานทั้งหลาย
 เพื่อความเป็นผู้ที่เลี้ยงง่ายไ​ม่สร้างความลำบากใจ ความอึดอัดและความกดดัน
ให้แก่บุคคลรอบข้าง ให้ทุกอย่างเป็นไปตามสามัญลักษณ​ะของธรรมชาติที่มันควรจะเป็น
โดยมีธรรมวินัยเป็นกฎกติกาของชี​วิตและเป็นกิจที่ต้องกระทำ อย่าได้ไปตั้งกฎกติกาใหม่
ขึ้นมาเพื่อสนองตอบตัณหาของตนเอ​ง ไม่ควรตัด ไม่ควรเติม เพิ่มในสิ่งที่พระพุทธองค์นั้น
ทรงตรัสไว้ชอบแล้ว ตรัสไว้ดีแล้ว เพราะสิ่งที่ไปตัดออกหรือเพิ่มเ​ข้ามาใหม่นั้น มันมาจาก
ตัณหา ความอยากความต้องการของเราเองทั้งนั้น ที่อยากจะให้มันเป็นไปตามที่ใจข​องเรา
นั้นปรารถนาและต้องการ มันเป็นการทำเพื่อสนองตอบตัณหาข​องตัวเราเอง......
.....เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต......
.......รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร.....​.
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

84
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๑ กค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
                 ฝนพรำตั้งแต่เมื่อวานตอนเช้าจนถึงเช้าวันนี้ ซึ่งยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุด
ฟ้ายังปิด หมอกปกคลุมไปทั้งภูเขา อากาศหนาวทั้งวันและคืนประมาณ ๒๒ องศา
ใช้เวลาเกือบตลอดอยู่กับการฟังธรรมของครูบาอาจารย์หลายๆท่าน เพื่อฟังโวหาร
การบรรยายของแค่ละท่านในเรื่องเดียวกัน นำมาวิเคราะห์ พิจารณาในเนื้อหาของ
ธรรมแต่ละบทที่ท่านบรรยาย มุมมองของแต่ละท่านในความเหมือนและความแตกต่าง
กำหนดจิตตามเมื่อยามที่เราฟังธรรม ได้รู้ถึงสภาวะอารมณ์ของแต่ละท่านที่บรรยาย
ว่ามาจากการท่องการจดจำหรือเกิดจากสภาวธรรมที่กำลังลื่นใหล บรรยายในเชิง
ปริยัติเนื้อหาตามตำราหรือว่าบรรยายมาจากสภาวธรรมที่ท่านได้พบประสพมา
นำมาพิจารณาสงเคราะห์เข้ากับหลักธรรมทั้งหลาย ว่ามีความขัดแย้งกันบ้างหรือไม่
ในหลักธรรมทุกหมวดหมู่ ทุกอย่างต้องสงเคราะห์เข้าหาหลักธรรม ความเห็นที่ถูกต้อง
นั้น จะไม่มีความขัดแย้งกันในหลักธรรมทุกหมวดหมู่ จะสงเคราะห์ อนุเคราะห์ เป็นเหตุ
เป็นปัจจัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ธรรมที่เข้าใจนั้นจึงจะถูกต้องตามหลักของพุทธศาสานา
และเมื่อมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน ต้องหันมาพิจารณาที่ความคิดของตัวเรา ว่าทำไมจึงมี
ความเห็นที่แตกต่างไม่ตรงกับหลักธรรม อะไรเหตุของความเห็นที่แตกต่าง มันคลาดเคลื่อน
ตรงจุดไหน มีอะไรเป็นเหตุและปัจจัย ทำให้เรามีความคิดเห็นอย่างนั้น พิจารณาที่ตัวเรา
อย่าได้ไปพยายามตีความขยายความในหลักธรรม เพื่อให้มารองรับความคิดเห็นของเรา
อย่าไปปรับหลักธรรมเข้าหาตัวเรา จงปรับตัวเราเข้าหาหลักธรรม เพราะว่าหลักธรรมนั้น
มันเป็นสิ่งที่มีมาคู่กับธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีมาก่อนแล้ว แต่ความคิดของเรานั้นเป็นสิ่งที่เกิด
ขึ้นมาใหม่ จึงต้องมาปรับที่ความคิดเห็นของเรา ให้ถูกต้องสอดคล้องกับหลักธรรมทั้งหลาย
หลักธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น จัดเรียงกันอย่างเป็นระเบียบเป็นหมวด เป็นหมู่
เป็นแถวเป็นแนวตรงกัน ไม่มีการขัดแย้งกัน สงเคราะห์อนุเคราะห์เกื้อกูลรองรับซึ่งกันและกัน
เราไม่อาจจะไปปรับหลักทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ให้มาตรงกับความคิดเห็นของเราได้
แต่เราสามารถที่จะย้ายจุดยืนของเราให้ไปตรงกับหลักที่วางไว้ตั้งไว้ได้ เพียงเราปรับความคิด
และมุมมองของเราเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องรองรับกับหลักธรรม “ เพียงคุณเปลี่ยนความคิด
ชีวิตคุณก็จะเปลี่ยน “ น้อมจิตเข้ามาพิจารณาตัวของเราเอง ให้เห็นกาย เห็นจิต เห็นความคิด
เห็นการกระทำ โดยการมีสติและสัมปชัญญะที่เป็นสัมมาทั้งหลายคุ้มครองกายจิตอยู่ วางจิต
ให้เป็นกลางไม่เข้าข้างอัตตา แล้วดวงตาเห็นธรรมก็จะเกิดขึ้นแก่ตัวคุณ...
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๐๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

85
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกรฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
        ปรับสภาพร่างกายให้สอดคล้องกับสภาวะจิต ปรับความคิดเข้าสู่กุศล
ใช้จิตถามจิตเมื่อมีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ถามว่าคิดทำไม คิดแล้วได้อะไร
สิ่งที่คิดเป็นไปได้หรือไม่ สิ่งที่คิดนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต สิ่งที่คิดนั้นมี
คุณ มีโทษ มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ มากน้อยเพียงใดและเป็นเช่นไร
เป็นเวลาที่ควรจะคิดถึงเรื่องเหล่านี้หรือไม ใจถามใจ จิตถามจิต หาคำตอบ
ให้ตนเอง จนมันเจอต้นเหตุแห่งความคิด จิตมันก็จะหยุดฟุ้งซ่านและปรุงแต่ง
ใช้จิตถามจิตจนมันจบ เพราะว่าพบที่เกิดของปัญหา จิตคลายความสงสัยวิตก
ใช้จิตที่เป็นคติของตนเองเป็นผู้ถาม และต้องวางจิตให้เป็นกลางเมื่อหาคำตอบ
จิตมันจะถูกป้อนคำถามจนจิตมันล้า ขี้เกียจจะหาคำตอบอีกต่อไป เป็นอุบายใน
การแก้ความฟุ้งซ่านคิดในเรื่องที่ไร้สาระ เมื่อจิตหยุดคิด จิตก็จะเข้าสู่ความว่าง
และความสงบ เพราะว่าพบคำตอบของความสงสัยทั้งปวงได้แล้ว...
        การปฏิบัติเจริญสติภาวนานั้น เราต้องทำพื้นฐานเบื้องต้นให้มันคงเสียก่อน
คือมีการระลึกรู้ผิดชอบ ชั่วดี มีการหักห้ามใจในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย เห็นความคิด
ของตนเองทั้งฝ่ายที่เป็นกุศลและฝ่ายที่เป็นอกุศล คือเห็นทั้งความคิดที่ดีและ
ความคิดที่ไม่ดีในจิตตนเองที่กำลังเกิดขึ้น เรียกว่าคุยกับตนเองให้ได้เสียก่อน
ก่อนที่เราจะไปคุยกับผู้อื่นหรือถ่ายทอดไปยังผู้อื่น มันต้องจบในจิตของเราเสียก่อน
มีคำตอบที่ชัดเจนด้วยเหตุและผล มีที่มาและที่ไปที่แน่นอน บนพื้นฐานแห่งความ
เป็นจริง ความเป็นไปได้และความน่าจะเป็น รู้เห็นในเหตุและปัจจัย องค์ประกอบ
ทั้งหลายของสิ่งเหล่านั้น ปัญหาทุกอย่างมันจึงจะจบลงได้ มันต้องเริ่มที่ตัวของเรา
ต้องรู้และเข้าใจในตัวของเราเองเสียก่อน....
        การปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนานั้น ถ้าเราไปเน้นหนักในเรื่องสมาธิและเรื่อง
ของสติจนเกินไป มันจะทำให้การคิดพิจารณานั้นน้อยลง เพราะจิตไปทรงอยู่ในอารมณ์
ของความเป็นสมาธิ ความนิ่ง ปฏิเสธสิ่งรอบกายทั้งปวงไป  จึงต้องใช้กำลังของสัมปชัญญะ
เพิ่มเข้ามาในการเจริญภาวนา เพื่อให้มีความตื่นตัว มีความรู้ตัวทั่วพร้อม น้อมจิตเข้าไป
พิจารณาสภาวะที่เกิดขึ้นรอบกายทั้งหลาย จนเห็นที่มาและที่ไป เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่
และการดับไปของสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้น จนจิตเกิดความจางคลายจากการยึดถือในสิ่งนั้น
เห็นในพระไตรลักษณ์ คือความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตยอมรับในความเป็นจริง
ของสรรพสิ่งทั้งหลายในธรรมชาตินี้ ว่าทุกสิ่งมันล้วนเป็นเช่นนั้นเอง..
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

86
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
         “ กายเบา จิตเบา ว่าง โปร่ง โล่ง เบา สบาย “ ครบ ๗ วันที่ได้ควบคุมอาหาร
งดเว้นซึ่งของคาวทั้งหลาย เหลือเพียงผลไม้ ผัก นมถั่วเหลืองในปริมาณที่เหมาะสม
อาหารหนักในกระเพาะถูกขับออกหมดแล้ว ทำให้จับความรู้สึกของลมหายเข้าออก
ใจได้ง่าย เห็นชัดซึ่งอาการพองยุบของหน้าท้องในขณะที่หายใจเข้าออกได้ชัดเจน
ร่างกายรู้ได้ถึงอาการเบาสบาย เพราะร่างกายใช้พลังงานในการย่อยอาหารน้อย
ทำให้สมองไม่มึนงงจากอาการเมาอาหารในขณะที่ร่างกายกำลังย่อยสลายอาหาร
ในกระเพาะ ความแน่น ความอึดอัด ที่เกิดจากริโภคอาหารจึงหมดไป กายจึงโปร่ง
เบาสบาย กำหนดสติและสัมปชัญญะได้ง่ายกำหนดรู้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
             “ ทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย” ทำกิจวัตรออกรับบิณฑบาตรกวาดใบไม้ตามปกติ
เพียงแต่เลือกอาหารที่เหมาะสมและมีคุณค่าต่อร่างกาย ไม่ได้บริโภคเพื่อสนองตอบ
ซึ่งตัณหาความอยาก จับความรู้สึกของตัณหาที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนในขณะเลือกอาหาร
ความชอบ ความเคยชินในการบริโภค อาหารหวานคาว ของที่เคยชอบ ของที่ถูกใจ
เมื่อเห็นแล้วเกิดความอยากขึ้นมา ทำให้ได้พิจารณาถึงเวทนาความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้น
ได้อย่างชัดเจน “ การเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค “  ควบคุมตัณหาความอยากได้
โดยการมีสติระลึกรู้ เห็นคุณ เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ในการบริโภค
อาหารทั้งหลาย ไม่บริโภคไปเพื่อตอบสนองตัณหาความอยากของตนเอง แต่เพียงเพื่อ
ยังอัตภาพนี้ให้ดำรงอยู่ได้ เพราะบางครั้งอาหารที่เราบริโภคเข้าไปนั้น มันเกิดความ
ต้องการของร่างกาย เกินพลังงานที่ใช้ไปในวันๆหนึ่ง ทำให้เหลือพลังงานสะสมเป็น
ไขมันและก่อให้เกิดความกำหนัดเพราะพลังงานที่เหลือจากการใช้งานนั้นมากเกินไป
            การฝึกควบคุมอาหารจึงเป็นการฝึกปฏิบัติอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เรานั้น
ได้พิจารณาในฐานกายและฐานเวทนานั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น กายเบา จิตเบา ทำให้ความ
ว่าง ความโปร่ง เกิดขึ้นได้ง่าย สติกำหนดรู้ได้เร็วยิ่งขึ้น สัมปชัญญะมีความเต็มรอบขึ้น
จิตพิจารณาธรรมอยู่กับปัจจุบันธรรมมากขึ้น เจริญสติในสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา
จิต ธรรม ทำให้เห็นซึ่งการเกิดดับของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น จิตทรงไว้ในธรรม ทำให้ความหิว
ความกระหายทั้งหลายหมดสิ้นไป เพราะจิตนั้นเพลิดเพลินในสภาวธรรมที่กำลังทรงอยู่
เข้าสู่สภาวะของการรู้ การตื่นและความเบิกบาน ความอาจหาญและร่าเริ่งในธรรม...
                 .....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต....
                .....รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร.....
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๕.๓๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

87
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
          " สรรพสิ่งล้วนเคลื่อนไหว ไปตามกฏแห่งธรรมชาติ "
มีการเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  แล้วดับไป ซึ่งเงื่อนไขของกาลเวลานั้น
อาจจะแตกต่างกันไป ตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น
จนบางครั้งเราแทบจะไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของความเสื่อม
สลายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทุกขณะ จึงเข้าไปยึดติดและยึดถือในสิ่ง
เหล่านั้น อยากจะให้มันเป็นไปตามที่ใจของเรานั้นปรารถนาให้เป็น
ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านั้นตอบสนองความต้องการของเราได้ เราก็จะยินดี
และเพลิดเพลินไปกับมัน แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่เป็นไปตามที่ใจของเรา
ปรารถนาและต้องการแล้ว ก็จะเกิดความขุ่นใจ ความคับแค้นใจ
ความทุกข์ทั้งหลายก็จะเกิดขึ้นในจิต เพราะว่าเราไปยึดติดในความ
ต้องการของเราเกินไป ไม่เข้าใจและยอมรับในความเป็นจริงของสิ่ง
ทั้งหลายทั้งปวง ที่มันต้องดำเนินไปตามกฏแห่งธรรมชาติทั้งหลาย
         การปฏิบัติธรรมนั้นคือการเจริญสติและการเจริญสัมปชัญญะ
เพื่อให้มีการระลึกรู้และมีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิต กับสิ่งที่
คิด สิ่งที่ทำและสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยมีองค์แห่งคุณธรรมคุ้มครอง
จิตอยู่ องค์แห่งคุณธรรมที่ว่านั้นคือ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
คอยกระตุ้นเตือนจิตสำนึก ความรู้สึกผิดชอบและชั่วดีที่กำลังเกิดขึ้น
ในความคิด ในจิตของเรา ทำให้เราสามารถที่จะข่มใจไม่ให้คล้อยตาม
ตัณหาความอยากที่เป็นอกุศลนั้นได้ ซึ่งต้องใช้การหมั่นฝึกฝนปฏิบัติ
เพื่อสร้างความเคยชินให้แก่จิต ในการคิดและการรู้เท่าทันซึ่งอารมณ์
ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในจิตของเรา รู้จักการแยกแยะซึ่งกุศลและอกุศล
ข่มใจตนไม่ให้คล้อยตามซึงกิเลสที่เป็นอกุศลทั้งหลาย โดยใช้การ
พิจารณามองให้เห็นถึงคุณ ถึงโทษ ถึงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
ของอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น กระตุ้นเตือนจิตสำนึกแห่งการใฝ่ดี
ที่มันมีอยู่ในใจของเราทุกคนให้บังเกิดขึ้น แล้วน้อมนำความคิดนั้น
ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เป็นรูปธรรม แล้วความเจริญในธรรมทั้งหลาย
ก็จะบังเกิดมีแก่ผู้ใฝ่ธรรม ตามกำลังของสติ สัมปชัญญะและปัญญา
" เมื่อมีการกระทำ ย่อมต้องมีผลของการกระทำ เป็นสิ่งตอบแทน "
ซึ่งผลของการกระทำนั้น เป็นไปตามเหตุและปัจจัยเงื่อนไขที่เรานั้น
ได้กระทำมา ตามจังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคล...
.....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต.....
.....รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร.....
๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๕๒ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

88
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
                 " งานเลื้ยงย่อมมีวันเลิกลา " ทุกคณะที่มาเยี่ยมเยือนต่างลากลับไป
ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ อย่างที่เคยเป็นมา จัดระเบียบเวลาในการทำกิจให้แก่ชีวิต
พิจารณาทุกอย่างเข้าหาธรรม มองให้เห็นถึงคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
ของสรรพสิ่ง ตามความเป็นจริงของกฎพระไตรลักษณ์ ปรับความคิดตนเข้าหาหลักธรรม
หารูปแบบการนำเสนอธรรมให้เหมาะสมกับตัวบุคคล จากพื้นฐานความคิด จริตและงาน
ของแต่ละบุคคล อยู่บนหลักของเหตุผล ความเหมาะสม ความพอดีและความพอเพียง
โดยไม่เอาความอยากของเรา ( ตัณหา )เข้าไปกำหนดให้ผู้อื่นปฏิบัติตามความต้องการ
ของตัวเรา กล่าวธรรมเพื่อธรรม ทำหน้าที่ของผู้กล่าวธรรมให้สมบูรณ์ ทำตามบทบาทและ
หน้าที่ วางจิตเป็นอุเบกขา ไม่เข้าไปคาดหวังผล เพราะบุคคลแตกต่างกันด้วยธาตุและอินทรีย์
การรับรู้ รับฟัง การปฏิบัตินั้น มันเป็นเรื่องของจิตสำนึกและความรู้สึกของเขา ซึ่งเรานั้นไม่สามารถ
ที่จะเข้าไปกำหนดได้ เพราะว่าเป็นสภาวะภายในของเขา อย่าได้เอาความอยากของเราไปตั้งกฎ
กติกาให้ผู้อื่นปฏิบัติตามความอยาก ( ตัณหา ) ของเรา " ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ปล่อย "
ให้ทุกอย่างเริ่มจากความสบายใจ ความพึงพอใจ อย่าได้ไปตั้งกฎกติกาบังคับ มันจะทำให้เกิดความ
กดดัน ซึ่งจะนำมาซึ่งความเครียดโดยไม่รู้ตัว มันจึงได้เพียงรูปแบบ แต่จะขาดซึ่งสาระ เพราะว่าการเริ่มต้นนั้น
มันไม่มีความพึงพอใจ เป็นไปโดยการถูกบังคับ ถูกยัดเยียดให้กระทำ ขาดซึ่ง " ฉันทะ "องค์ประกอบตัวแรก
ในหลักของอิทธิบาท ๔ มันจึงทำให้ไม่มีความเจริญในธรรม...
          ดั่งที่เคยกล่าวไว้...ทุกอย่างอยู่ที่การเริ่มต้นที่ถูกที่และถูกทาง แล้วทุกอย่างมันก็จะเดินไปได้
ด้วยตัวของมันเอง ความเจริญในธรรมนั้นจะช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับกำลังของแต่ละบุคคลและวิบากกรรมเก่า
จะส่งผลออกมาอย่างไร ซึ่งเรานั้นไม่สามารถที่จะไปกำหนดได้ หน้าที่ของเราคือทำไปและให้ใจศรัทธา
มีความเพียรพยายามในการกระทำและความสม่ำเสมอไม่ทอดทิ้งธุระ หมั่นพิจารณาตรวจสอบตนเองทุกขณะ
ให้เห็นถึงภาวะของความเสื่อมและความเจริญ ให้มีความเพลิดเพลินอยู่กับธรรม ไม่ไปคาดหวังผลในอนาคต
ทำปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุดตามกำลังของเราก็เพียงพอแล้ว...
                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๕๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

89
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อามิตย์ที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ๒๕๕๔
          พบปะพูดคุย ต้อนรับมิตรสหายผู้มาเยือนคณะต่างๆตั้งแต่เช้าจนค่ำ
สนทนากันทั้งในเรื่องทางธรรมและเรื่องทางโลก ทั้งที่เป็นสาระและไร้สาระ
ธรรมะไร้รูปแบบและกาลเวลา ไม่มีสภาวะแห่งการแปลกแยกและแตกต่าง
ทำให้ทุกอย่างลื่นใหลในการสนทนา จนลืมเรื่องของระยะเวลาที่ผ่านไป
ในความมีสาระและไม่มีสาระ แฝงด้วยธรรมะตามเหตุและปัจจัยไปตามกาล
ทุกอย่างจึงพ้นผ่านไปด้วยดี
         มองโลกแล้วปรับเข้าหาธรรม นำมาปรับใช้ให้เข้ากับ จังหวะ เวลา
โอกาศ สถานที่และบุคคล ตามเหตุและปัจจัย องค์ประกอบที่มีในขณะนั้น
ให้เหมาะสมกับพื้นฐานจริตและความรู้สึกนึกคิดของแต่ละบุคคลที่สนทนา
มีสติระลึกรู้ในสิ่งที่กำลังพูดและกำลังกระทำ เสนอนำความคิดเรื่องจิตอาสา
เพื่อตอบแทนคุณค่าให้เป็นประโยชน์แก่สังคม ช่วยกันกระจายความคิดเพื่อ
สร้างจิตสำนึกไปยังบุคคลรอบข้าง สร้างจิตสำนึกและความรู้สึกที่ดีงาม
         โลกและธรรมนั้นต้องก้าวเดินไปพร้อมกัน ไม่มีการกีดกั้นเรื่องเพศ
เรื่องวัย เรื่องสถานะ ไม่มีสภาวะแห่งข้อจำกัด ไม่มีการผูกมัดให้เขากระทำ
เพราะสภาวะธรรม ภูมิธรรมของแต่ละคนนั้น แตกต่างกันด้วยธาตุและอินทรีย์
จึงต้องมองหาความพอดีและความเหมาะสมให้กับบุคคลนั้นๆ ในการกระทำ
ซึ่งความดีทั้งหลาย เพื่อให้เขากระทำได้ในทันที โดยไม่มีอาการเคอะเขิน
มีความเพลิดเพลินและพอใจในสิ่งที่ได้กระทำ น้อมนำเอาธรรมมาสงเคราะห์
ให้เหมาะสมกับจังหวะ เวลา สถานที่และตัวบุคคล
         ทุกอย่างอยู่ที่การเริ่มต้นที่ถูกที่และถูกทาง แล้วทุกอย่างมันก็จะเดิน
ไปตามทางด้วยตัวของมันเอง...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๕๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี


90
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
... ทบทวนถึงทุกสิ่งทุกอย่างตลอดหนึ​งปีที่ผ่านมา
เห็นความก้าวหน้าและความเสื่อมถ​อย ในหลายสิ่งหลายอย่าง
วิเคราะห์หาเหตุและผล ที่ทำให้เป็นไปอย่างนั้น นำมาหาข้อสรุป
เพื่อจะกำหนดทิศทางที่จะก้าวเดิ​นไปด้วยกัน ของหมู่คณะและองค์กร
พิจารณาถึงหัวข้อธรรมบทหนึ่ง ซึ่งเคยได้ศึกษาและเคยนำมาปฏิบั​ติ
หัวข้อธรรมนั้นคือ...
สังคหวัตถุธรรม ๔ ประการ คือธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ย​วจิตใจหมู่คณะ
และประสานหมู่คณะทั้งหลายให้เกิ​ดความสามัคคีรักใคร่ซึ่งกันและก​ัน
อันเป็นการสงเคราะห์ด้วยธรรม อันได้แก่..
๑.ทาน...การให้คือการมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน
           ช่วยเหลือแนะนำกัน
๒.ปิยวาจา...มีวาจาเป็นที่รัก กล่าวคำสุภาพไพเราะ วาจาที่สมานสามัคคี
๓.อัตถจริยา...ขวนขวายบำเพ็ญสาธ​ารณะประโยชน์ร่วมกัน
๔.สมานัตตา...ทำตนเสมอต้นเสมอปล​าย เสมอในสุขและทุกข์
            วางตัวให้เหมาะสมแก่ฐานะ สถานการณ์บุคคล เหตุการณ์
และสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องตามธรรม
...ธรรมเหล่านี้เราได้นำมาประพฤ​ติปฏิบัติสมบูรณ์แล้วรึยัง
และเราได้แนะนำส่งเสริมผู้อื่นใ​ห้นำไปปฏิบัติแล้วหรือยัง
การขับเคลื่อนของหมู่คณะและองค์​กรนั้น มันต้องก้าวเดินไปด้วยกัน
"แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ก้าวย่างไปด้วยกัน"
เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน​สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม
ปลุกจิตสำนึกแห่งการใฝ่ดีและมีส่วนร่วมในสังคม "ทำให้ดู อยู่ให้เห็น
สอนให้เป็น แล้วก็ไป" ไม่ติดยึดกับผลงานที่ผ่านมา สอนทุกคนให้รู้
คุณค่าของความเป็นคน สอนให้รู้จักเปิดโลกทัศน์ ชีวทัศน์
เพื่อให้เขามีวิสัยทัศน์ที่เปิด​กว้าง แล้วเขาจะมองทุกอย่างเป็นธรรมะ
เป็นกำลังในการขับเคลื่อนกงล้อธ​รรมจักรต่อไป สืบสายเส้นทางธรรม
เป็นกำลังในพุทธศาสนาสืบต่อไป..​.
...แด่ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
และความสำเร็จนั้นจะนำมาซึ่งเกี​ยรติยศและชื่อเสียงของหมู่คณะแล​ะองค์กร...
เชื่อมั่น-ศรัทธา-สามัคคี-ปรารถ​นาดี-ไมตรีจิต-แด่หมู่มิตรผู้ใฝ่ธรรม
               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๖ กกรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๐๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึงชลบุรี

91
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
       พรุ่งนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นวันก่อนเข้าพรรษา ๑ วัน
ซึ่งสิ่งที่ได้ทำเป็นประจำในช่วงเข้าพรรษานั้นก็คือการเขียนบันทึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านไป
ในแต่ละวันและสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นในวันที่ผ่านมา เพื่อเป็นสิ่งย้ำเตือนถึงการประพฤติ
ปฏิบัติตน ในแต่ละวันที่ผ่านไป เพื่อนำมาแก้ไขข้อผิดพลาดเพื่อที่จะได้ปรับปรุงตนเอง
ในวันต่อๆไป เป็นการเจริญอิทธิบาท ๔ ในข้อวิมังสาคือการใคร่ครวญทบทวนสิ่งที่ผ่านมา
และในพรรษาที่จะมาถึงนี้ ได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า จะงดซึ่งการเบียดเบียนต่อสิ่งมีชีวิต
และเป็นการล้างพิษในตัว โดยการงดฉันข้าวและอาหารหวานคาวทั้งหลาย มาฉันผลไม้
ในปริมาณที่จำกัด ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติเพราะจะจับอารมณ์และเจริญสติได้เร็ว
 " กายเบา จิตเบา " ในสติปัฏฐาน ๔ และไม่ต้องไปวุ่นวายเสียเวลากับการปรุ่งแต่ง
เรื่องอาหาร การขบฉัน ออกรับบิณฑบาตรตามกิจของสงฆ์ตามปกติ เลือกเอาเฉพาะ
ผลไม้ที่จากการบิณฑบาตรในปริมาณที่เหมาะสมไว้ฉัน อาหารส่วนที่เหลือก็ถวายพระ
ที่สำนักสงฆ์ด้านล่างและแจกจ่ายญาติโยมไป
       ควบคุมปริมาณการฉันอาหารมาตั้งแต่หลังวันที่ ๑๐ กรกฎาคม หลังงานบุญผ้าป่า
ที่ผ่านมา เพื่อให้กระเพาะอาหารหดตัวเล็กลงมา จนเหลือขนาดเหมาะสมกับการฉันผลไม้
มื้อเดียวต่อวัน ในปริมาณที่จำกัด ซึ่งทำให้ต้องเร่งความเพียร เพื่อรักษาและทรงอารมณ์
กัมมัฏฐานให้ได้ เพื่อข่มเวทนาคือความหิวให้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้เคยปฏิบัติมาแล้วบ่อยครั้ง
แต่เป็็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ๗ วัน ถึง ๑๐ วัน เพราะเมื่อก่อนนั้นมันไม่สะดวกที่จะปฏิบัติใน
วัตรนี้ ต้องดูแลหมู่คณะและรับกิจนิมนต์เพื่อสงเคราะห์ญาติโยม จึงทำใหปฏิบัติได้ไมานาน
แต่เมื่อมาอยู่ ณ จุดนี้ ทำให้มีเวลาที่จะปฏิบัติได้เต็มที่ เพราะอยู่จำพรรษาเพียงรูปเดียวและ
งดรับกิจนิมนต์ออกนอกสถานที่ ส่วนญาติโยมที่จะมาทำบุญนั้น ก็ให้ลงไปทำที่สำนักสงฆ์
ด้านล่าง ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน
        การปฏิบัติอย่างนี้นั้น มันมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเราปฏิบัติเพื่ออะไร ปรารถนาสิ่งใด
ไม่ได้ทำไปเพราะความหลง หรือไปยึดติดในข้อวัตรปฏิบัตินั้นๆ จนเป็นสีลพรตปรามาส
รู้ว่าทำแล้วจะมีผลอย่างไร ระยะเวลาในการปฏิบัตินั้นเท่าไร และการปฏิบัติมันสิ้นสุดที่จุดไหน
มันเป็นการทบทวนในการฝึกจิตเพื่อรักษาและทรงไว้ในสิ่งที่เคยรู้ เคยเห็น เคยเป็นและเคยมี
มันไม่ใช่ความงมงาย ที่ทำไปโดยสำคัญผิด แต่เป็นการฝึกจิตที่มีเป้าหมายชัดเจน...
                          ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐.๕๑ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

92
ขออนุโมทนาในจิตศรัทธาของทุกท่าน ที่ร่วมด้วยช่วยกัน จนงานนั้นผ่านสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ตามที่ท่านปรารถนา
และตั้งใจไว้ โดยมีแม่งานใหญ่คือโยมตี๋ (derbyrock) เป็นตัวแทนของสมาชิก ศิษย์หลวงพ่อเปิ่นเป็นผู้ถวาย
โยมโอ๋ (ที_lowrider)โยมชาย (ทรงกรด) เป็นผู้ร่วม ประสานงานและอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม ณ ที่นี้
ขอความสุข ความเจริญ ความสำเร็จจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ที่ได้สละแรงกายแรงใจ กำลังทรัพย์และเวลามาร่วมกัน
โดยทั่วกันทุกท่านทุกคนเทอญ ขอเจริญพร...
สรุปยอดเงินบุญผ้าป่า โดยรวม...
๑. สายโยมตี๋ derbyrock ถวายวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เป็นเงิน  ๑๗๖,๖๗๐.๐๐ บาท
๒.สายโยมนนท์ โองการยันนะรังสี ถวายวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เป็นเงิน ๑๗,๔๗๒.๒๕ บาท
๓.สายหลวงพี่นรินทร์ หลวงพี่เว็บ ถวายวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔  เป็นเงิน ๑๑,๗๕๐.๐๐ บาท
๔.โอนเข้าบัญชีพระอาจารย์โด่งโดยตรง รวมเป็นเงิน ๓๒.๐๐๐.๐๐ บาท
        รวมเป็นเงินทั้งสิ้น   ๒๓๗,๘๙๒.๒๕ บาท
ขออนุโมทนาในจิตศรัทธาแห่งบุญกุศลของท่านทั้งหลายไว้ใน ณ ที่นี้ โดยทั่วกันทุกท่าน
                      พระอาจารย์ เมสันติ์ คมฺภีโร (พระอาจารย์ โด่ง)
                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๕.๒๙ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

93
ชายป่าห้วยขาแข้ง ลานสัก อุทัยธานี
อาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
....การเริ่มต้นของเช้าวันใหม่.....
เมื่อรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา จงเจริญสติและสัมปชัญญะให้มีความสมบูรณ์
มีความระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อมในกายและจิตของเรา ตั้งจิตของเรา
ให้เป็นกุสลจิต เพื่อชีวิตในเช้าวันใหม่ เป็นการสร้างเหตุและปัจจัยให้
แก่ชีวิตของเรา เพื่อที่จะรับเอาสิ่งที่ดีๆเข้ามาสู่ชีวิต ต้องเริ่มที่จิตของเรา
จิตของเราเป็นเสมือนเครื่องรับคลื่นสัญญาน มันมีกำลังที่จะดึงดูดคลื่น
สัญญานทั้งหลายได้ ถ้าจิตของเราเป็นกุศลจิต มันก็จะดูดเอาสิ่งที่ดีๆเข้ามา
ในทางกลับกัน ถ้าจิตของเราเป็นอกุศลจิต มันก็จะดึงเอาสิ่งที่เป็นอกุศล
เข้ามาสู่จิตของเรา สำหรับเช้าวันใหม่ของเรานั้น เราควรจะปลูกพืชพันธุ์
แห่งกุศลจิตขึ้นในจิตใจของเรา เพื่อที่จะรับเอาสิ่งที่ดีๆเข้ามา และพัฒนา
สิ่งที่เป็นกุศลที่เรานั้นได้สร้างไว้ ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ซึ่งต้องเริ่มที่ใจเรา
ซึ่งถ้าวันไหนเรารู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้วไม่รักษาจิต มีอารมณ์หงุดหงิดขุ่นมัว
วันนั้นทั้งวันเราก็จะต้องพบกับความวุ่นวายและเรื่องร้ายๆตลอดเกือบทั้งวัน
เพราะจิตคือเครื่องรับของเรานั้น มันเป็นอกุศลจิต มักก็จะดึงดูดเอาสิ่งที่เป็น
อกุศลเข้ามาหาเรา แต่ถ้ารู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้วรักษาจิตให้เป็นกุศล สิ่งที่เป็น
มงคลก็จะเกิดขึ้นแก่เราเสมอ เพราะเมื่อจิตใจเครื่องรับของเราดีแล้ว มันก็จะ
ดึงดูดเอาแต่ของที่ดีๆเข้ามาสู่ตัวเรา ทุกคนนั้นต่างใฝ่ฝันปรารถนาซึ่งสิ่งที่ดี
อยากจะให้มี อยากจะให้เกิดแก่ตนเอง แต่ที่มันไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้นั้น
ก็เพราะว่าเครื่องรับอันคือจิตของเรานั้น มันยังไม่มีความพร้อม ที่จะน้อมรับ
ซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อเครื่องรับนั้นยังไม่สะอาดดีพอ กุศลทั้งหลายก็ไม่
อาจที่จะตั้งอยู่ได้หรือเกิดขึ้นได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องปรับใจอันเป็นเครื่องรับ
ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งหลาย ให้มันสะอาด ให้มันดีเสียก่อน เพื่อรองรับสิ่งที่ดี
ทั้งหลายให้มาเกิดขึ้นและตั้งอยู่ในจิตใจของเรา...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต....
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๕๖ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

94
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔
....พยายามใช้เวลาที่ผ่านไปให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ระลึกรู้อยู่กับกายและจิต ยกข้อธรรมขึ้นมาพิจารณา ใคร่ครวญทบทวน
ตัดปลิโพธฺความกังวลทั้งหลายออกไปชั่วขณะ ทำจิตให้ว่างจากอัตตา
พิจารณาทุกอย่างตามความเป็นจริง ในสิ่งที่เห็นและรับรู้ วางจิตให้นิ่ง
ไม่เอาความรักความเกลียด ความพอใจและไม่พอใจ มาตัดสินในปัญหา
มีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิตอยู่ตลอดเวลา แยกแยะกุศล
และอกุศลออกจากกัน โดยการพิจารณาถึงคุณ ถึงโทษ ถึงประโยชน์
และมิใช่ประโยชน์ในสรรพสิ่งที่ได้เห็นและได้รับรู้ เอามาเป็นครูสอนธรรม
เตือนย้ำในจิตสำนึกอยู่ตลอดเวลา ให้ระลึกรู้ในสิ่งที่ควรคิด กิจที่ควรทำ
ตามบทบาทและหน้าที่ของตนเองที่พึงมี ทำหน้าที่ของเรานั้นให้สมบูรณ์
ตามกำลังความรู้ความสามารถที่เรานั้นพึงมี ให้จิตของเรานี้ระลึกถึงธรรม
อยู่ตลอดเวลา เมื่อเรารักษาธรรม ธรรมนั้นจะกลับมารักษาคุ้มครองเรา...
....บันทึกไว้ ณ. จุดหนึ่งบนกาลเวลา บทที่ ๕....
...เอาสติ  ระลึกรู้  อยู่กับกาย
เพื่อผ่อนคลาย ความกังวล ในปัญหา
ทำจิตว่าง  ปล่อยวาง  ซึ่งอัตตา
เกิดปัญญา  ระลึกรู้  อยู่กับธรรม
...มีสติ  ระลึกรู้  อยู่กับจิต
รู้ความคิด  ของจิต  ที่ลึกล้ำ
เอากุศล  ผลบุญ  มาหนุนนำ
ประกอบกรรม กุศล  ให้ตนเอง
...ไม่อวดดี  อวดรู้  หมิ่นผู้อื่น
ไม่แข็งขืน อวดศักดา ว่าข้าเก่ง
ไม่ขมขู่  ให้ผู้อื่น นั้นกลัวเกรง
ไม่อวดเบ่ง ข่มเหง ให้คนกลัว
...เฝ้ามองกาย มองจิต คิดวิเคราะห์
ดูให้เหมาะ  ในสิ่งที่ ดีและชั่ว
รักษาจิต  ภายใน  ไม่หมองมัว
รู้พร้อมทั่ว  กายใจ  อยู่ในธรรม
...เมื่อจิตว่าง  ละวาง  ซึ่งปัญหา
เกิดปัญญา  ทางจิต  ที่ลึกล้ำ
รู้ดีชั่ว  สิ่งใดชอบ ประกอบกรรม
รักษาธรรม  รักษาจิต ให้คิดดี
...เอาทั้งโลก และธรรม นำมาคิด
และเอาจิต  ดูจิต  ในทุกที่
จิตเห็นจิต  เห็นความคิด  ที่ตนมี
ฝึกอย่างนี้ เป็นประจำ ให้ชำนาญ
...ไม่มีใคร  รู้ซึ้ง  เท่าหนึ่งจิต
ถ้าได้คิด  ก่อเกิด  และสืบสาน
อยู่กับธรรม  รักษาธรรม  ให้ยาวนาน
สร้างพื้นฐาน  ทางธรรม  ประจำใจ
...หมั่นฝึกฝน  ตนนั้น  อยู่เสมอ
เพื่อให้เจอ  ธรรมะ  ตัวใหม่ใหม่
ความเจริญ  ในธรรม  ก้าวหน้าไป
ฝึกที่ใจ  ฝึกที่จิต  คิดแล้วทำ...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๐๙ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี




95
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.......ปลิโพธิคือความกังวลทั้งหลายที่เราต้องตัด ต้องวาง
ซึ่งถ้าจิตไม่วางจิตก็ว่างไม่ได้ จึงต้องฝึกจิตให้เริ่มละวางได้
ชั่วคราว ในขณะที่กำลังเจริญสติภาวนาและเพิ่มระยะเวลาที่
จิตนั้นว่างให้มากยิ่งขึ้นไปตามลำดับ นั่นคือการฝึกละวางซึ่ง
ความกังวลทั้งหลาย ฝึกได้โดยการมีสติระลึกอยู่กับปัจจุบัน
ว่าเวลาขณะนั้นเราควรคิดและทำในสิ่งใด ฝึกให้ใจจดจ่อกับ
สิ่งนั้น เรื่องที่ผ่านไปแล้วหรือยังไม่มาถึง จึงไม่ควรนำมาคิด
เมื่อจิตอยู่กับปัจจุบันธรรม โดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่
ก็ชื่อว่ากำลังได้ปฏิบัติธรรม การทำงานทุกชนิดด้วยจิตที่ว่าง
จากปลิโพธิ ความกังวลและอัตตา ปัญญาความรู้เห็นที่เป็นจริง
ก็จะบังเกิดขึ้น ทำให้ผู้นั้นรู้เท่ารู้ทันความรู้สึกนึกคิด เมื่อจิตเห็นจิต
นั่นแหละคือการเข้าถึงซึ่งธรรม...ท่านได้ลงมือฝึกฝนเพื่อพิสูจน์ตนแล้วหรือยัง..?....
...บันทึกไว้ ณ.จุดหนึ่งบนกาลเวลา ( ๔ )...
...ปลิโพธิ  นั้นหรือ  คือความคิด
ไปยึดติด  กังวล  ให้หม่นหมอง
ทำอะไร  ให้คิด   จิตไตร่ตรอง
ฝึกทดลอง  ละวาง  ห่างอัตตา
...เรื่องอดีต  ผ่านมา  อย่าไปคิด
ดูกายจิต  ปัจจุบัน   นั้นดีกว่า
อนาคต   คือสิ่ง   ยังไม่มา
ให้รู้ว่า  สิงควรคิด  กิจควรทำ
...การทำงาน  ทุกชนิด  ด้วยจิตว่าง
คือละวาง  ความคิด   จิตใฝ่ต่ำ
ระลึกดี  ในสิ่งชอบ  ประกอบธรรม
กุศลนำ  คุมจิต  ให้คิดดี
...รู้จังหวะ  เวลา  และโอกาส
ไม่ประมาท  ระลึกรู้  อยู่ทุกที่
ตามกำลัง  ของสติ  ที่พึงมี
ฝึกจิตนี้  ให้มี  ความชำนาญ
...ฝึกละวาง  ออกห่าง  ปลิโพธิ
ให้เห็นโทษ  ของจิต  ที่ฟุ้งซ่าน
มีสติ  ระลึกรู้  อยู่กับงาน
จะทำการ  สิ่งใด  ให้รู้ทัน
...รู้ทันกาย  ทันจิต  ที่คิดอยู่
ระลึกรู้  ในจิต  ใช้คิดฝัน
มีความรู้  ทั่วพร้อม  ปัจจุบัน
กำหนดมัน  ที่จิต  ติดตามไป
...จิตเห็นจิต  ความคิด  ก็บันเจิด
ทำให้เกิด  ปิติ จิตแจ่มใส
มีปัญญา  รู้เห็น  ความเป็นไป
คิดอะไร  ทำอะไร  จิตรู้ทัน
...เพราะหลักธรรม  แท้จริง  นั้นคือจิต
เฝ้าตามติด  ดูจิต  นั้นให้มั่น
จิตเห็นจิต  ความคิด  ปัจจุบัน
ทำสิ่งนั้น  ให้เห็น  และเป็นจริง....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี


96
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔
.......ทำงานไปพิจารณาธรรมไปโดยใช้กำลังของสติระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่ทำ
มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อมควบคุมกายและจิตในขณะที่คิดและทำ
ไม่เอาความนึกคิดปรุงแต่งของเราไปผูกยึดหรือผูกมัดผู้อื่น ให้ผู้อื่นนั้นต้อง
เป็นไปตามความต้องการของเรา ตามความอยากของเรา เพราะเมื่อเราทำไป
โดยเอาความอยากของเรานั้นเป็นตัวตั้ง โดยหวังผลให้เป็นไปตามความปรารถนา
ของเรา มันก็คือการเอาตัณหาของเราไปบังคับให้ผู้อื่นกระทำตาม เพื่อตอบสนอง
ตัณหาความอยากของเรา เพราะเรานั้นไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตใคร เรามีแต่หน้าที่
เท่านั้น คือการทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ครบถ้วนตามความรู้และความสามารถ
ผลจะออกมาอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของวิบากกรรม อันประกอบด้วยเหตุและปัจจัย
ที่ทำให้บังเกิดขึ้น ทำตามหน้าที่ของผู้ที่ปฏิบัติธรรม กล่าวธรรมโดยธรรมและเพื่อ
ธรรม ไม่มีความอยากหรือหวังผลตอบแทนจากสิ่งที่ทำ ใจของเรานั้นก็จะเป็นสุข
ในสิ่งที่กำลังทำ เพราะมีความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์แบบครบถ้วนแล้ว
นึกถึงข้อธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล บทหนึ่งที่ท่านกล่าวไว้ว่า " การไม่กังวล
การไม่ยึดถือ นั่นแหละคือวิหารธรรมของนักปฏิบัติ " เอามาเป็นข้อคิดและพิจารณา
น้อมนำมาซึ่งการปฏิบัติตาม ทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจในข้อธรรมนั้นๆ ตามกำลัง
ของสติระลึกรู้ที่เราได้ฝึกฝนมา ตามหลักธรรมที่ว่า " คิดเท่าไรๆก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิด
จิตจึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยความคิด ทำงานทุกชนิด ด้วยจิตที่ว่างจากอัตตา ปัญญาก็จะเกิด "
เป็นสิ่งที่ต้องหมั่นฝึกฝน ให้จนเป็นความเคยชินของจิต ในการคิดและการทำงาน.....
........บันทึกไว้ ณ. จุดหนึ่งบนกาลเวลา........
ทบทวน ในข้อธรรม     เพื่อเตือนย้ำ จิตสำนึก
ควบคุม ความรู้สึก       มีสติ ควบคุมกาย
รู้ตัว อยู่ทั่วพร้อม        จิตนำน้อม สู่จุดหมาย
ตั้งจิต ไว้ในกาย         ไม่ส่งออก ควบคุมตน
ตามดู ตามรู้เห็น         สิ่งที่เป็น เหตุและผล
เข้าใจ ในจิตตน          สิ่งที่คิด กิจที่ทำ
ทำตน ตามหน้าที่       ทำให้ดี เพื่อชี้นำ
สิ่งชอบ ประกอบกรรม   ทำให้เห็น เป็นให้ดู
ตามดู ตามรู้จิต           สิ่งที่คิด นั้นต้องรู้
เอาธรรม นั้นเป็นครู      ชี้ทางจิต ให้คิดตาม
ทำงาน ทุกชนิด          ดูความคิด จิตเฝ้าถาม
ตามดู รู้ทุกยาม           รู้ทั่วพร้อม ทั้งกายใจ
กล่าวธรรม ตามหน้าที่    เพียงเท่านี้ กระทำไป
ความสุข เกิดที่ใจ         ทำหน้าที่ ให้สมบูรณ์
เมื่อจิต ไม่ยึดติด          ในความคิด ให้เสียสูญ
กุศล ก็เพิ่มพูล             เพราะจิตว่าง ห่างอัตตา
จิตว่าง ห่างกิเลส          จึงเป็นเหตุ เกิดปัญญา
เข้าถึง ตถตา               เห็นความเป็น เช่นนั้นเอง...
.....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต.....
.....รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร.....
๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๑๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี         

 

97
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.......สิ่งที่ทุกคนปรารถนาและต้องการในขณะที่กำลังทำงานนั้น
ก็คือขวัญและกำลังใจ เพื่อให้มีกำลังที่จะแรงขับเคลื่อนกันต่อไป
ขวัญและกำลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานและสิ่งนั้นสามารถ
เกิดขึ้นได้ทั้งจากภายนอกและภายใน ซึ่งสามารถที่จะสร้างขึ้นมาได้
ด้วยตัวของเราเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาจากภายนอก การสร้างศรัทธา
ความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในจิตใจของตนนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเลย
มันเป็นขบวนการทางจิต คือหลักแห่งการคิดเพื่อปลุกจิตให้มีกำลังใจ
ด้วยการระลึกย้อนกลับไป หาความภาคภูมิใจในความดีทั้งหลายที่ได้ทำ
และเราได้จดจำบันทึกไว้อยู่ใต้จิตสำนึกของเราเอง เมื่อเราระลึกนึกถึง
สิ่งเหล่านี้ ใจของเราก็จะมีความสุข มีความเพลิดเพลินเมื่อระลึกนึกถึง
ในสิ่งเหล่านี้ ในความดีที่ได้กระทำมา ความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง
ก็จะบังเกิดขึ้น จิตใจก็จะมีความโปร่งโล่งเบาสบาย ความกังวลทั้งหลาย
ก็จะลดลง ส่งผลต่อไปสู่ร่างกาย กล้ามเนื้อเส้นประสาทก็จะคลายไม่รัดตึง
สมองไม่มึนงง เพราะร่างกายได้หลั่งสารเอ็นโดฟีนออกมาในขณะที่ใจเรา
นั้นกำลังมีความสุขในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ ในภาษาของนักปฏิบัติจะเรียก
อาการอย่างนี้ว่า การสร้างพลังปิติให้เกิดขึ้นมาในจิต เพื่อเพิ่มกำลังให้แก่ชีวิต
ในการที่จะคิดและจะทำในสิ่งต่อไป ขวัญและกำลังใจ จึงเป็นสิ่งที่เราสามารถ
สร้างขึ้นมาได้ด้วยตัวของเราเอง....
เชื่อมั่น  และศรัทธา         น้อมนำมา ซึ่งพลัง
สู่สิ่ง  ที่คาดหวัง              สร้างด้วยจิต ความคิดตน
ตั้งจิต  คิดให้ดี               ในสิ่งที่ มีเหตุผล
ความดี มีทุกคน              ที่ได้สร้าง และทำมา
ความดี มีในจิต               จงค้นคิด จิตค้นหา
เสริมสร้าง ความศรัทธา      ในความดี สิ่งที่ทำ
ย้ำเตือน และย้ำคิด           ปลุกปลอบจิต กุศลกรรม
ความดี  ที่เคยทำ             เพื่อสร้างขวัญ กำลังใจ
จิตดี  ส่งกายเด่น             มันเฉกเช่น  เครื่องกลไก
ขับเคลื่อน จากภายใน        ให้จิตนี้  มีพลัง
ปลุกกาย และปลุกจิต        ปลุกชีวิต สู่ความหวัง
สร้างเสริม เติมพลัง           ให้ชีวิต เมื่อคิดทำ
ความดี คือกุศล                นันส่งผล  อย่างเลิศล้ำ
มันเป็น กุศลกรรม             ปลุกชีวิต จิตศรัทธา
เริ่มต้น จากความคิด          จงฝึกจิต คิดค้นหา
สิ่งที่ ได้ทำมา                 และเรานั้น ภาคภูมิใจ
เมื่อใจ ระลึกถึง                สิ่งที่ซึ่ง ได้ทำไว้
มีความ ประทับใจ              และจดจำ มิลืมเลือน
เพลิดเพลิน ขณะคิด          ทำให้จิต นั้นขับเคลื่อน
ฝึกทำ เพื่อย้ำเตือน           ปลุกให้จิต  มีพลัง
จิตดี ส่งกายเด่น               สิ่งที่เห็น เป็นความหวัง
เมื่อใจ มีพลัง                  ทุกสิ่งอย่าง  ก็สบาย...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๒๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี 

98
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔
.....บทกวีบทนี้ มีแรงบันดาลใจ มาจากการไปบำเพ็ญประโยชน์
งาน ราม-ทักษิณ สัมพันธ์ ครั้งที่ 15 ณ โรงเรียนบ้านห้วยน้ำแก้ว
ต.หน้าเขา อ.เขาพนม จ.กระบี่ ซึงเป็นพื้นที่ ที่ประสพภัยดินถล่ม
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โรงเรียนแห่งนี้เคยเป็นที่ออกค่ายอาสา
พัฒนาชนบท ของชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-ทักษิณ ครั้งที่ ๑๑
และในครั้งนั้นได้เป็นหนึ่งสมาชิกของชมรม ที่ได้ไปร่วมสร้างอาคาร
เรียน ให้แก่โรงเรียนแห่งนี้ เมื่อ28 ปีที่แล้ว จึงมีการนัดรวมตัวกัน
เพื่อกลับไปปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่ผู้ประสพภัยในพื้นที่แห่งนี้
มีการบริจาคเงินสร้างบ้านให้ผู้ประสพภัยจำนวน 8 หลัง มอบทุนการศึกษา
จำนวน 36 ทุน มอบสิ่งของอุปกรณ์การเรียนและเครื่องกีฬาให้แก่โรงเรียน
เลื้ยงอาหารเด็กนักเรียนและชาวบ้านที่มาร่วมงาน มีการแสดงดนตรีของวง
แฮมเมอร์และอีกหลายวง เพื่อให้ความบันเทิง สนุกสนานแก่ผู้ที่มาร่วมงาน
การกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของสมาชิกชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทราม-ทักษิณ
ในครั้งนี้ 90กว่าชีวิตและผู้ติดตามอีกประมาณ 100กว่าคน จึงเป็นความประทับใจ
28 ปีผ่านไปสำหรับการจากลา วันนี้ได้กลับมา ซับน้ำตาและปลอบขวัญให้กำลังใจ
แก่ผู้ประสพภัยในถิ่นที่เคยอยู่อาศัย จึงได้เขียนบทกวีบทนี้ขึ้นมา...
...ความทรงจำจากห้วยน้ำแก้ว...
ห่างเหิน ใช่เหินห่าง ระยะทาง นั้นยาวไกล
กลับมา พบกันใหม่ มิตรภาพ ยังคงเดิม
พบปะ และทักทาย มันจึงกลาย ให้ได้เพิ่ม
ความรัก ถูกต่อเติม ประทับใจ ในจิตจำ
เพื่อนพ้อง และน้องพี่ ต่างยินดี สิ่งที่ทำ
กลับมา เพื่อตอกย้ำ มิตรภาพ ให้ยืนยาว
ร่วมใจ และร่วมจิต ร่วมกันคิด จิตสืบสาว
รวบรวม ในเรื่องราว ความทรงจำ ที่ดีงาม
สืบสาน ใยสัมพันธ์ ผ่านคืนวัน วัยหนุ่มสาว
สืบต่อ ในเรื่องราว จิตอาสา ทั่วหน้ากัน
รวมใจ ร่วมในกิจ รวมหมู่มิตร สมานฉันท์
ร่วมแรง ร่วมแบ่งปัน ส่งความสุข ให้ทุกคน
วิญญาน จิตอาสา ที่มีมา นั้นส่งผล
รวมใจ ของทุกคน ให้มาพบ ประสพกัน
พวกเรา ราม-ทักษิณ เคยโบยบิน ร่วมสร้างฝัน
ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกัน สร้างสังคม อุดมการณ์
เวลา ล่วงเลยไป ยุคสมัย ผ่านไปนาน
การกลับ มาพบพาน เหมือนย้ำเตือน ความทรงจำ
ปลุกใจ และปลุกจิต ปลุกความคิด เพื่อตอกย้ำ
ร่วมคิด และร่วมทำ ปัจจุบัน กันต่อไป
ขอฝาก บทกวี งานชิ้นนี้ เพื่อเตือนใจ
กลับมา พบกันใหม่ เพื่อร่วมคิด และร่วมทำ
ร่วมใจ จิตอาสา พัฒนา ความทรงจำ
ร่วมคิด และร่วมทำ ตอบแทนคุณ ให้สังคม....
......เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต......
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจพเนจร-คนรอนแรม...
๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๒๑.๑๓ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

99
บนถนนเพชรเกษม ขณะที่ล้อรถกำลังเคลื่อนไหว

วันจันทร์ที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔

......วันเวลาผ่านไปไม่หยุดนิ่ง

สรรพสิ่งเคลื่อนไหวไปข้างหน้า

เมื่อมีคำว่าพบ ก็ย่อมมีคำว่าลา

เพราะหนทางในภายหน้ามีให้เดิน...

.......อดีตที่ผ่านมานั้น ถ้าเรารู้จักการเรียนรู้ วิเคราะห์และศึกษา

นำอดีตเหล่านั้นมาเป็นบทเรียน สรุปความเป็นไปในชีวิตที่ผ่านมา

เก็บเอาข้อดีของชีวิตมาคิดสานต่อและลดละข้อเสียทั้งหลายไป

แก้ไขชีวิตของตนใหม่ กำหนดทิศทางไปของชีวิตไปตามที่จิตนั้น

ปรารถนา มีความเชื่อมั่นและศรัทธาในบุญกศลที่ตนได้กระทำมา

เสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชีวิต ด้วยการคิดต่อโลกในเชิงบวก

คือการมองโลกที่พบเห็นในแง่ดี ชีวิตนี้ก็จะดำเนินไปในทิศทางที่ดี

มีความสุขกาย สบายใจ ชีวิตที่ดำเนินต่อไปนั้น เมื่อไม่มีความกดดัน

ทุกอย่างนั้นย่อมพบกับความโปร่งโล่งเบาและสบาย มุมมองทั้งหลาย

ก็จะเปิดกว้างยิ่งขึ้น ความเข้าใจในโลกและธรรมทั้งหลาย เกิดขึ้นได้

ด้วยการเรียนรู้วิเคราะห์ค้นหา ให้เห็นที่มาและที่ไปในสิ่งที่ได้พบเห็น

รู้จักแยกแยะดีชั่วด้วยองค์แห่งคุณธรรมในจิต คือจิตที่มีความละอาย

และเกรงกลัวต่อบาป มาเป็นพื้นฐานในการที่จะคิดและจิตที่ปรุงแต่ง

ชีวิตในภายหน้านั้นเราจึงสามรถที่จะกำหนดทิศทางไปของมันนั้นได้

โดยการสร้างเหตุและปัจจัยเงื่อนไขขึ้นมาในวันนี้ เพื่อที่จะกำหนดทิศ

ทางของชีวิตในอนาคตนั้นขึ้นมาได้.....

...บันทึกไว้ ณ. จุดหนึ่งบนกาลเวลา...

...เอาอดีต นั้นมา ศึกษาต่อ

เพื่อจะก่อ กำหนด ทิศทางใหม่

ให้ชีวิต นั้นก้าวเดิน กันต่อไป

กำหนดได้ โดยเงื่อนไข การกระทำ

...จงกระทำ ในวันนี้ ให้ดีสุด

จงอย่าหยุด การทำดี จงชี้ย้ำ

สิ่งใดชอบ ประกอบดี จงชี้นำ

กุศลกรรม นั้นจงสร้าง บนทางเดิน

...สร้างพื้นฐาน ความคิด จิตกุศล

สร้างมงคล แก่ชีวิต จิตอย่าเขิน

จงทำดี ให้มันมี ความเพลิดเพลิน

ความเจริญ จะปรากฏ กำหนดไป

...อดีตนั้น คือสิ่ง ที่พ้นผ่าน

คือเหตุการณ์ ที่ไม่อาจ จะแก้ไข

อนาคต นั้นกำหนด กันต่อไป

โดยสร้างเหตุ ปัจจัย ปัจจุบัน

...ทำวันนี้ ให้มันดี ชี้ทางสุข

ก้าวพ้นทุกข์ พบสุข ซึ่งสิ่งขวัญ

ชีวิตนี้ ก้าวต่อไป ในทุกวัน

จงต่อฝัน สร้างเสริม เพิ่มศรัทธา

...จงเชื่อมั่น ในความดี สิ่งที่คิด

จงตั้งจิต ฝึกฝน และค้นหา

จงสร้างเสริม เติมรัก และศรัทธา

วันข้างหน้า อนาคต กำหนดไป....

....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...

...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...

๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๔ บนถนนสายเพชรเกษม เข้าสู่เมืองหลวง

100
วัดถ้ำเสือวิปัสสนา อ.เมือง จ.กระบี่
อาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
..........ทุกชีวิตย่อมประสพกับอุปสรรคปัญหาด้วยกันทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง
ตามกำลังบุญกุศลของแต่ละคนที่ทำมา ไม่มีใครจะหนี้พ้นอุปสรรคปัญหาไปได้
แต่ในอุปสรรคปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมที่จะมีทางแก้ไขได้ในทุกปัญหา
ถ้าหากใช้สติปัญญา ความรู้สึกนึกคิดและจิตที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างความคิดที่ติด
อยู่กับผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง มองทุกสิ่งอย่างด้วยใจที่เป็นกลาง
ค้นหาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นอุปสรรคปัญหา เห็นที่มาและองค์ประกอบ
ในสิ่งเหล่านั้น ที่ทำให้มันเป็นไป ทำความรู้ความเข้าใจในปัญหา ละวางอัตตา
เปิดใจให้กว้าง ยอมลดละและสละบางสิ่งบางอย่าง ไม่เข้าข้างความคิดเห็นและ
ผลประโยชน์ฝ่ายตนจนเกินไป ปัญหาทุกอย่างนั้นย่อมแก้ไขได้ ถ้าใจของเรานั้น
ยอมรับในความเป็นจริง ในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลาย อย่าเอาความอยากทั้งหลายของ
เรานั้นไปกำหนดให้มันเป็นไป เพราะทุกสิ่งอย่างอยู่ในเงื่อนไขของพระไตรลักษณ์
เป็นไปตามหลักแห่งความเป็น อนิจจัง  ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ แล้วดับไป
ไม่มีสิ่งใดที่จะไม่แปรเปลี่ยน มันเป็นกฏของธรรมชาติทั้งหลาย เมื่อใจนั้นยอมรับซึ่ง
ความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายว่าเรานั้นเป็นผู้กระทำ มันเป็นผลแห่งวิบากกรรมที่เรานั้น
ได้เคยกระทำมา ไม่โทษดินโทษฟ้า หาผู้รับผิดมาแทนเรา ใจนั้นก็จะเบาเพราะได้วาง
จากการยึดถือทั้งหลาย ความทุกข์ที่มีนั้นก็จะคลายและเมื่อใจสบาย ความคิดนั้นก็จะโปร่ง
โล่งเบา เพราะว่าเข้าใจในปัญหาอุปสรรคทั้งหลายและเมื่อทำใจยอมรับได้ซึ่งความเป็นจริง
อุปสรรคปัญหาในทุกสิ่งนั้นย่อมจะมีหนทางที่จะแก้ไข...อยู่ที่ว่าเรานั้นทำใจได้แล้วหรือยัง....
...ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๑๐...
...ชีวิต  ของทุก  คนนั้น          จัดสรรค์ ตามเหตุ  และผล
ชีวิต  ของทุก  ทุกคน            ไม่พ้น  จากทุกข์  ทั่วกัน
ความทุกข์  เกิดจาก  ตัณหา     เพราะว่า  ความอยาก  ทั้งนั้น
อยากมี  อยากได้  ให้มัน        ใจนั้น  อยากให้   มันเป็น
เป็นไป  ตามใจ  ที่คิด            ยึดติด   ในความ  คิดเห็น
อยากมี  อยากได้  อยากเป็น    รู้เห็น  เพียงแต่   ฝ่ายตน
ไม่ยอม  แบ่งปัน  สละ            ลดละ  ตามเหตุ  และผล
ยึดถือ ประโยชน์  ส่วนตน        หวังผล  กำไร   ฝ่ายตัว
เมื่อผล ไม่เป็น  ดั่งคิด            มันผิด  แตกต่าง  กันทั่ว
โมหะ  ความหลง  เมามัว         ก่อตัว  เป็นทุกข์  ในใจ
ทุกข์เพราะ เข้าไป  ยึดถือ        นั้นคือ  สิ่งควร  แก้ไข
ลดละ  ปล่อยวาง   ลงไป         ทำใจ  ยอมรับ  ความจริง
ทุกอย่าง  ย่อมมี เกิดดับ          สลับ  กันไป  ไม่นิ่ง
เรียนรู้  ยอมรับ  ความจริง        ทุกสิ่ง  มีเหตุ  ปัจจัย
อย่าไป  โทษดิน  โทษฟ้า       ควรหา   แนวทาง  แก้ไข
ทุกอย่าง  ที่ดำ  เนินไป           อยู่ใต้   กำหนด  กฎกรรม
มีเหตุ   และผล  รองรับ           เกิดดับ  กันอยู่  ซ้ำซ้ำ
เกิดการ  ย้ำคิด  ย้ำทำ            คือกรรม  ที่ส่ง  ผลมา
กรรมนั้น  ย่อมเกิด  จากเหตุ     สังเกตุ วิเคราะห์  ศึกษา
ให้เห็น  ที่ไป  ที่มา               ปัญหา  แก้ไข  ได้จริง...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๐๙ น. ณ วัดถ้ำเสือฯ จ.กระบี่
 

101
วัดถ้ำเสือวิปัสสนา อ.เมือง จ.กระบี่
เสาร์ที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.....ในส่วนลึกของจิตสำนึกนั้น ทุกคนย่อมจะมีจิตสำนึกแห่งความใฝ่ดีซ่อนอยู่เสมอ
เพียงแต่บางครั้งยังไม่ได้แสดงออกมา เพราะเงื่อนไขของเรื่องจังหวะ เวลา โอกาส
สถานที่และตัวบุคคลนั้นยังไม่เอื้ออำนวย ไม่เปิดโอกาสให้แสดงออกมาได้ในสิ่งนั้น
ทุกคนต่างมีเหตุปัจจัยและพื้นฐานความคิดที่แตกต่างกัน ทำให้ความคิดเห็นของแต่
ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป การที่จะไปตัดสินว่าความคิดเห็นของใครนั้นถูกหรือผิด
เราไม่ควรเอาพื้นฐานความคิดเห็นของตัวเรานั้นมาเป็นข้อสรุป ว่าสิ่งที่เขาคิดเห็นนั้น
ถูกหรือผิด เพราะทุกคนต่างก็มีจิตสำนึกที่แตกต่างกันโดยพื้นฐานจากเหตุและปัจจัย
ของแต่ละคนนั้นมีที่มาและที่ไปที่แตกต่างกัน ความคิดเห็นของแต่ละคนนั้นเป็นปัจเจก
การที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมโดยสงบสุขนั้น จึงต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย
โดยใช้หลักของการแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เป็นแนวทางให้เกิดความสันติสุขขึ้นมา
การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นและปัญหาของทุกฝ่ายนั้นเป็นการเปิดกว้างทางความคิด
เป็นการฝึกจิตในการลดละซึ่งทิฏฐิมานะ ความถือตัวถือตนและอัตตา ซึ่งจะนำมาซึ่ง
ความรู้และเข้าใจในชีวิตที่เป็นไปของแต่ละคนมากยิ่งขึ้น เมื่อใจของเรานั้นเปิดกว้าง
มองทุกอย่างให้เข้าใจ ถึงที่มาและที่ไป ถึงเหตุและปัจจัย ที่ทำให้เป็นไปอย่างนั้น
เมื่อเราเข้าใจในโลกเราก็ย่อมจะเข้าใจในธรรม เพราะทั้งสองสิ่งนั้นมันเป้นของคุ่กัน......
.....ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๙.....
...มุมมอง  ของชีวิต        เกิดจากจิต  แห่งพื้นฐาน
เกิดจาก  ประสพการณ์     ที่สะสม  อบรมมา
ความเห็น  ที่แตกต่าง      คือแบบอย่าง  ควรศึกษา
ที่ไป  และที่มา              มีพิ้นฐาน  แตกต่างกัน
ความคิด  เป็นปัจเจก        ความเป็นเอก  ของคนนั้น
พื้นฐาน  แตกต่างกัน        จึงมองเห็น  คนละทาง
อย่าด่วน  รีบตัดสิน          เพียงได้ยิน  ระยะห่าง
เอาเหตุ  มากล่าวอ้าง       เพราะคิดเห็น  คนละมุม
ต่างก็  มีเหตุผล             ปัจเจกชน   ในทุกกลุ่ม
จึงร่วม  กันชุมนุม            เพราะคิดเห็น  นั้นคล้ายกัน
แบ่งแยก  ทางความคิด     แต่ชีวิต   ต้องผูกพัน
อยู่ร่วม  สังคมกัน            ไม่อาจหลีก  หรือหลบไป
ไม่ควร  จะแบ่งแยก          ให้มันแตก  จงแก้ไข
สังคม  จะก้าวไกล           ต้องร่วมกัน  พัฒนา
เปิดใจ  ให้มันกว้าง           ฟังทุกอย่าง โดยปัญญา
จุดร่วม  แสวงหา              ส่วนจุดต่าง  ไม่ล้ำกัน
ผูกใจ  และผูกจิต             รวมความคิด  สมานฉันท์
ก้าวเดิน  ไปพร้อมกัน        สร้างสังคม  ให้มันดี
ลดละ  ซึ่งอัตตา              ตัวปัญหา   ที่มันมี
ร่วมใจ  สามัคคี               ร่วมก้าวเดิน  ไปด้วยกัน...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวีสัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๔.๒๙ น. ณ วัดถ้ำเสือฯ จ.กระบี่
           
         



102
วัดถ้ำเสือวิปัสสนา อ.เมือง จ.กระบี่
ศุกร์ที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.....สรรพสิ่งย่อมแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา มีความเสื่อมสลายไปตามอายุของการใช้งาน
ไม่มากก็น้อย ตามเหตุและปัจจัย ซึ่งเป็นไปตามกฏของพระไตรลักษณ์ คือความเป็นอนิจจัง
การสูญเสีย การพลัดพรากย่อมเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงหนีพ้นสิ่งนี้ไปได้
เราจึงต้องฝึกทำใจเพื่อให้ยอมรับกับการสูญเสีย การพลัดพรากที่จะเกิดขึ้นนั้นให้ได้ เพื่อที่จะ
ลดความทุกข์ใจ เมื่อสิ่งนั้นมันมาถึง ซึ่งถ้าใจของเรานั้นยอมรับซึ่งความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
การสูญเสียหรือการพลัดพรากนั้นก็จะมีผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของเรา
น้อยมาก เพราะการที่เรานั้นเข้าไปยึดติดและยึดถือในสิ่งทั้งหลายว่าเป็นของส่วนหนึ่งของเรานั้น
ไม่อยากให้มันแปรผันหรือเปลี่ยนแปลงไป อยากจะให้มันคงอยู่ในสภาพเดิมนั้น มันจึงทำให้ใจ
ของเรานั้นเป็นทุกข์ เพราะความเป็นตัวกูและของกูดั่งที่พระอาจารย์ท่านหลวงพ่อพุทธทาสได้
กล่าวไว้ จึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจในเรื่องตัวกูและของกู เป็นอันดับแรกในการปฏิบัติธรรม
เพื่อเป็นการลดละซึ่งอัตตา ทิฏฐิมานะ เป็นการฝึกทำใจให้เปิดกว้าง ยอมรับในความจริงทุกอย่าง
ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยการกำหนดให้รู้และเข้าใจในความเป็นตัวกูและของกู เห็นโทษภัยของ
การเข้าไปยึดถือในสิ่งทั้งหลายนั้น สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานในการปฏิบัติธรรม...
...ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๘...
...เพราะอัตตา  มันพาไป  ใจจึงทุกข์
ไร้ซึ่งสุข  เพราะว่าใจ   ไปยึดถือ
ว่ามันเป็น  ของของเรา  อยู่ในมือ
ใจยึดถือ   ในสิ่งนั้น   อย่างมั่นคง
...ทุกสิ่งอย่าง  ย่อมมี   การเกิดดับ
เปลี่ยนสลับ    กันไป    อย่าได้หลง
อนิจจัง   นั้นคือความ    ไม่มั่นคง
จึงต้องปลง  ลดละ      ซึ่งอัตตา
...เพราะอัตตา  ตัวตน  ของคนนั้น
ไปยึดมั่น   ยึดถือ   ในเนื้อหา
ไม่ยอมรับ  ซึงความเป็น  อนิจจา
มันจึงพา   ให้เกิดทุกข์   ไม่สุขใจ
...ทุกข์เพราะความ  อยากมี  และอยากเป็น
อยากจะเห็น  ให้มันเป็น  เช่นนั้นได้
ไม่อยากให้   มันจาก    หรือพรากไป
อยากจะให้    มันนั้นอยู่  คู่กับเรา
...สิ่งเหล่านี้   คืออัตตา  และมานะ
ถ้าไม่ละ   จะนำจิต   คิดโง่เขลา
หลงตัวตน  ความคิด  จิตมึนเมา
เพราะว่าเข้า  ไปยึดติด  จิตผูกพัน
...อยากจะให้  เป็นไป   อย่างที่คิด
ไปยึดติด   ให้มันเป็น  อยู่เช่นนั้น
ไม่อยากให้  มันนั้นจาก  หรือพรากกัน
ความยึดมั่น  และยึดถือ  คืออัตตา
...เพราะอัตตา  ตัวตน   ของคนนี้
ทำให้มี   มากมาย   หลายปัญหา
ผลกระทบ  มากมาย  จึงตามมา
ก็เพราะว่า  ไม่ยอมรับ  ซึ่งความจริง
...ทุกสิ่งอย่าง  ล้วนอยู่ใน  พระไตรลักษณ์
ไปตามหลัก  ธรรมชาติ   ในทุกสิ่ง
และเมื่อใจ   ไม่ยอมรับ   ในความจริง
มันก็ยิ่ง   ทำให้ทุกข์   ไม่สุขใจ
...เพราะว่าใจ  อยากได้  ซึ่งความสุข
จึงต้องทุกข์   เพราะอยากมี  และอยากได้
อยากจะอยู่   อยากจะเห็น    และเป็นไป
ตามที่ใจ  ของตน   นั้นต้องการ
...เมื่อไม่ได้  ตามที่ใจ  ปรารถนา
ก็นำมา  ให้เกิดทุกข์   ไม่สุขสาน
ถ้าอยากให้  ใจไม่ทุกข์  สุขสำราญ
ต้องฝึกการ  ละวาง   ห่างอัตตา
...ฝึกทำใจ  ให้ยอมรับ   ในความจริง
กับทุกสิ่ง   ที่เกิดดับ   ตามเนื้อหา
ฝึกซึ่งการ   ลดละ   ซึ่งอัตตา
ภาวนา  ให้มันเห็น   ความเป็นจริง...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๓๙ น. ณ วัดถ้ำเสือวิปัสสนา กระบี่






103
เรือนรับรอง วัดถ้ำเสือวิปัสสนา จ.กระบี่
พฤหัสบดีที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.....ไม่ใช่ภาระที่เราต้องแบกรับ ไม่ใช่หน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบ
แต่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและกิจที่เรานั้นควรกระทำในขณะนั้น
ทำไปตามบทบาทที่ตนนั้นพึงมี ทำให้สมบูรณ์เต็มที่ตามสติกำลัง
ความรู้ความสามารถของเรา เมื่อเราคิดว่ามันไม่ใช่ภาระที่ต้องแบกรับ
มันไม่ใช่ข้อบังคับตามหน้าที่ เราก็จะมีความรู้สึกที่ โปร่ง โล่ง เบา
ความเครียดอันเกิดจากความกังวลใจ ก็จะลดน้อยถอยลงที่ละนิด
สุขภาพจิตของเราก็จะดีขึ้น " เพียงคุณเปลี่ยนความคิด ชีวิตคุณ
ก็จะเปลี่ยนไป สิ่งใหม่ๆย่อมเกิดขึ้นแก่คุณ " การดำเนินชีวิตนั้น
ทุกอย่างเป็นไปเหมือนเดิมตามปกติที่เคยเป็นมา แต่ว่าความรู้สึก
นึกคิดและจิตสำนึกนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ทำหน้าที่ของตน
ไปตามบทบาทที่พึงมีตามจังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และบุคคล
เป็นไปเพื่อความเหมาะสม ให้เกิดความพอดีและพอเพียงในสิ่งที่
ต้องคิดและกิจที่ต้องทำ เมื่อเราคิดได้และทำได้อย่างนั้น ความกด
ดันทั้งหลายก็จะหายไป กำลังใจก็ย่อมจะกลับมา ความเชื่อมั่นและ
ศรัทธาในตนเองก็จะเพิ่มขึ้น  เมื่อเรานั้นได้ทำหน้าที่และบทบาท
ของเรานั้นสมบูรณ์แล้ว ผลมันจะออกมาอย่างไร มันเป็นเรื่องของ
เหตุและปัจจัยที่เป็นไปในขณะนั้น สิ่งที่สำคัญจงถามตนเองว่า...
เราทำหน้าที่ของเราสมบูรณ์ดีแล้วหรือยัง....
...ในอ้อมกอดของขุนเขา..ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่๗...
...ทำให้ดู  อยู่ให้เห็น   เป็นตัวอย่าง
เป็นแนวทาง  วางไว้   ให้ศึกษา
ตามสติ    กำลัง   และเวลา
ผลออกมา  อย่างไร  อย่าไปแคร์
...ทำหน้าที่   ของตน  ให้ถูกต้อง
เปลี่ยนมุมมอง  ความคิด  จิตเผื่อแผ่
รักษาจิต  รักษาใจ  คอยดูแล
และหมั่นแก้  สิ่งผิด  ไม่คิดทำ
...มีสติ  ระลึกรู้  อยู่ทั่วพร้อม
และไม่น้อม  นำจิต  คิดใฝ่ต่ำ
สิ่งไม่ดี  ทั้งหลาย   อย่าไปทำ
อย่าถลำ  ในทางชั่ว  ด้วยมัวเมา
...จงมีความ  ละอายใจ  ในสิ่งผิด
ไม่ควรคิด  ปรุงแต่ง   อย่างโง่เขลา
ทำร่างกาย  จิตใจ    ให้โล่งเบา
จงเก็บเอา  แต่สิ่งดี   ที่มีคุณ
...จงภูมิใจ  ในสิ่งดี  ที่ได้สร้าง
บนหนทาง  ผ่านมา  ได้เกื้อหนุน
จงมีใจ   เมตตา       เกื้อการุณ
จงสร้างบุญ  สิ่งกุศล  บนหนทาง
...ทำชีวิต   วันนี้   ให้มีค่า
วันข้างหน้า  อาจไม่มี ที่จะสร้าง
ชีวิตนี้  อาจไม่ยาว   อย่างที่วาง
จงรีบสร้าง  รีบทำ    กรรมที่ดี
...สร้างคุณค่า  ราคา  ให้ชีวิต
นั่นคือกิจ   ที่ต้องทำ  ในวันนี้
บุญกุศล  คือหนทาง  สร้างความดี
ชีวิตนี้   คุณมี  แล้วหรือยัง
...จงทบทวน  ชีวิต  ที่ผ่านมา
สร้างคุณค่า   อะไร  ไว้เบื้องหลัง
สิ่งเหล่านี้   คุณนั้นมี  แล้วหรือยัง
มองกลับหลัง  ดูว่าตรง  หรือหลงทาง....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๑๔ น. ณ วัดถ้ำเสือฯ จ.กระบี่

104
วัดถ้ำเสือวิปัสสนา อ.เมือง จ.กระบี่
พุธที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.......การคิดและพิจารณาธรรมนั้น จะรู้ว่าสิ่งที่เรารู้และเข้าใจนั้นถูกต้องหรือไม่
ก็ต้องใช้การสงเคราะห์เข้าหาหลักธรรมทุกหมวดหมู่ในธรรมที่คิดว่ารู้และเข้าใจ
เพราะธรรมทั้งหลายนั้นจะไม่มีการขัดแย้งกัน ธรรมจะสงเคราะห์และอนุเคราะห์
ซึ่งกันและกันในทุกหมวดหมู่ และเมื่อได้ลองเทียบดูแล้วเกิดความขัดแย้งกัน
ให้หันกลับมาพิจารณาที่ความคิดของเราว่ามีความคิดเห็นคลาดเคลื่อนจากความ
จริงในจุดไหน มีอะไรเป็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้เรามีความคิดเห็นเป็นอย่างนั้น
อย่าไปวิจารณ์ธรรมตีความหมายขยายความในหัวข้อธรรมเพื่อให้รองรับความคิด
เห็นของเรา จงกลับมาดูที่ความคิดเห็นของเรา อย่าได้เข้าไปปรับเปลี่ยนหลักธรรม
หลักธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กับธรรมชาติอยู่ก่อนแล้ว แต่ความคิดเห็นของเรานั้น
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นความรู้และความเข้าใจที่เกิดจากทิฏฐิอัตตา
อย่าไปปรับหลักธรรมเข้าหาความคิดเห็นของเราเพื่อให้รองรับความคิดเห็นของเรา
จงปรับความคิดของเราเข้าหาหลักธรรม ความรู้ความเห็นทั้งหลายที่สงเคราะห์เข้า
ได้กับทุกหมวดหมู่ของหลักธรรมนั้น คือความคิดเห็นที่ถูกต้องตามหลักแห่งธรรม
ที่จะนำไปสู่ความรู้และเข้าใจในธรรมที่ยิ่งขึ้นไปในข้อธรรมทั้งหลาย....
...ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๖...
...ที่เห็น และเข้าใจ     อาจไม่ใช่  สิ่งที่คิด
เห็นถูก  หรือเห็นผิด    ใครตัดสิน  ในปัญหา
ความรู้  ความเข้าใจ     ที่มันได้    เกิดขึ้นมา
โดยธรรม  หรืออัตตา    หรือรู้เห็น  ตามเป็นจริง
ความรู้  และเข้าใจ       ที่มีใน    สรรพสิ่ง
รู้จริง   และเห็นจริง      เกิดจากเหตุ  และปัจจัย
สิ่งรู้  และสิ่งเห็น         สิ่งที่เป็น  เกิดขึ้นใหม่
ถูกผิด  เป็นอย่างไร     พิสูจน์ได้  โดยหลักธรรม
ปรับจิต  เข้าหาหลัก    โดยรู้จัก   จดและจำ
ปรับใจ  เข้าหาธรรม    ในการคิด  และวิจารณ์
สงเคราะห์ อนุเคราะห์  ให้มันเหมาะ กับเหตุการณ์
ธรรมะ   จะประสาน     ไปในทิศ   ทางเดียวกัน
เป็นเหตุ  เป็นปัจจัย     คล้อยตามไป  สมานฉันท์
ไม่มี   ขัดแย้งกัน       นั้นคือธรรม  ที่ถูกทาง
ปรับจิต  เข้าหาธรรม    และน้อมนำ ทุกสิ่งอย่าง
เทียบดู  ในแนวทาง    จะรู้เห็น  เป็นอย่างไร
ธรรมะ  ทุกหมวดหมู่    สงเคราะห์ดู  ให้เข้าใจ
รู้เห็น  เป็นเช่นไร        อนุเคราะห์  สงเคราะห์กัน...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๓๓ น. ณ วัดถ้ำเสือวิปัสสนา อ.เมือง จ.กระบี่     



105
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
......มีผู้คนจำนวนมากที่ปฏิบัติธรรมโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังปฏิบัติธรรมอยู่
เพราะเขาเหล่านั้นไม่ได้ไปยึดติดหรือสนใจในรูปแบบและความหมาย
เพียงแต่ดำเนินชีวิตไปอย่างมีสติในการคิดและการทำงาน มีสมาธิเกิด
ขึ้นโดยไม่รู้ตัว เป็นสมาธิตามธรรมชาติที่ทุกคนนั้นมีอยู่ เพราะความหมาย
ของคำว่าสมาธินั้นคือการมีสติแนบแน่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน
ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ สมาธิชนิดนี้เรียกว่า สมาธินอกระบบพุทธศาสนา
ไม่ได้เกิดจากภาวนา แต่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติจากการมีสติในการคิด
และการทำงาน เกิดจากการคิดและพิจารณาจิตจดจ่ออยู่ในเรื่องที่คิดและ
กิจที่กำลังทำ คนที่มีสมาธินั้นความคิดจะเป็นระบบและมีระเบียบในชีวิต
มีความรับผิดชอบในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ จัดระบบชีวิตของคนนั้นอย่างมี
ระเบียบ สามารถที่จะจดจำเรื่องราวต่างๆในอดีตได้ดี เพราะว่าสติระลึกรู้
สมาธิชนิดนี้เป็นสมาธิที่ใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตในประจำวัน
เป็นสมาธิพื้นฐานที่ทุกคนนั้นมีอยู่ มากบ้างน้อยบ้างตามกำลังของแต่ละคน
และสามารถที่จะนำมาปรับเข้าสู่สมาธิในระบบของพระพุทธศาสนาได้ง่าย
เพียงแต่เพิ่มกำลังของคุณธรรมลงไป คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำและการเปิดใจให้กว้างยอมรับฟังทุกอย่างทุกความเห็น
ของผู้อื่น นั้นคือการลดละมานะทิฏฐิและอัตตา ความยึดถือความยึดติดในตัวตน
สมาธิในระบบของพระพุทธศาสนานั้น ต้องเริ่มมาจากจิตที่เป็นกุศลและเป็นไป
เพื่อความจางคลายของกิเลส ตัณหา อัตตา ทิฏฐิมานะและอุปทานทั้งหลาย
ส่วนสมาธินอกระบบนั้น เป็นไปเพื่อการมีการได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา เป็นการ
เพิ่มซึ่งกิเลสตัณหา ทิฏฐิมานะ อัตตาและอุปทานให้มีมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่
ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายฝึกสมาธิเพื่ออยากจะมีอยากจะได้ไปในสมาธืเชิงพลังงาน
ต้องการซึ่งการมีพลังจิต ต้องการแสดงซึ่งฤทธิ์กันเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้เข้าใจ
คลาดเคลื่อนในเนื้อหาและความหมายของการปฏิบัติธรรมในระบบของพุทธศาสนา
ซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้งในข้อธรรมทั้งหลายดั่งที่เห็นและเป็นอยู่....
...ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๕...
.....ในอ้อมกอดของขุนเขา
ใต้ร่มเงาของมวลพฤกษา
บนจุดหนึ่งของกาลเวลา
จงมีสติเตือนตนเสมอว่า
มีความปรารถนาซึ่งสิ่งใด
ทบทวนสิ่งที่ได้ผ่านมาใหม่
ว่าสิ่งที่ตั้งความหวังไว้ในใจ
สิ่งนั้นก้าวไกลถึงไหนแล้ว
.....ทุกชีวิตย่อมมีจุดหมาย
อย่าปล่อยให้ผ่านไปโดยไร้ค่า
อย่าปล่อยวันเวลาให้สูญเปล่า
ชีวิตเรานั้นควรจะมีเป้าหมาย
ฝันนั้นอาจจะตั้งไว้ไม่ไกล
แต่เรานั้นต้องเดินไปให้ถึง
ทำซึ่งความฝันนั้นให้เป็นจริง
ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินจะกระทำ
.....หนทางสู่ความสำเร็จนั้น
อาจจะยังอยู่อีกยาวไกล
แต่จงอย่าได้หวั่นไหวท้อใจ
ขอเรามีความตั้งใจที่มั่นคง
เดินในเส้นทางที่ตรงสู่ความฝัน
ระยะทางสู่ความสำเร็จนั้น
มันย่อมสั้นลงมาทุกขณะ
อย่าไปสนใจในระยะของเส้นทาง
.....ทุกอย่างย่อมจะมีความสำเร็จได้
ถ้าหากเรานั้นมีความตั้งใจและพยายาม
เดินตามความฝันของเรานั้นต่อไป
ไม่ท้อถอยหรือหวั่นไหวกับอุปสรรคปัญหา
มีความศรัทธาและเชื่อมั่นในความดีที่กระทำ
สิ่งนั้นย่อมจะนำไปสู่ความสำเร็จของชีวิต
ในสิ่งที่ตนคิดและกิจที่ตนนั้นปรารถนา
เพราะว่าความสำเร็จของชีวิต...อยู่ที่จิตคิดว่าพอ...
.....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต.....
.....รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร.....
๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๑๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

106
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
  จันทร์ที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
........ใช้เวลาที่ว่างเว้นจากภาระกิจ มาคิดทบทวนถึงเรื่องราวที่ผ่านมา
มองหาซึ่งความประมาทและความผิดพลาดในความคิดและกิจที่กระทำ
ค้นหาเหตุและปัจจัยที่ทำให้มีความคิดอย่างนั้นและกระทำอย่างนั้นลงไป
พิจารณาถึงคุณถึงโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ในสิ่งที่ได้กระทำมา
เพื่อที่จะนำมาใช้ในการกำหนดชีวิตทิศทางที่จะก้าวเดินต่อไปในอนาคต
" อดีตนั้นคือบทเรียนของชีวิต " เอาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาเป็นครู สอนให้
รู้ถึงความถูกผิด ในสิ่งที่เคยคิดและเคยทำ สิ่งไหนที่เป็นไปในทางอกุศล
ไม่เป็นมงคลต่อชีวิต กิจนั้นก็ควรลดละเลิกงดเว้นซึ่งการกระทำในสิ่งนั้น
สิ่งไหนที่เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศล เป็นมงคลต่อชีวิต กิจนั้นควร
ที่จะกระทำต่อไปให้ยิ่งขึ้น  ชีวิตเราไม่อาจจะกำหนดทิศทางของที่มาได้
เพราะมันเป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว แต่เราสามารถจะกำหนดทิศทางที่จะไป
ในอนาคตได้ โดยการสร้างเหตุและปัจจัยในวันนี้ เพื่อไปสู่ที่ ที่เรานั้นต้อง
การไป ถ้าเรานั้นมีความพยายามมีความตั้งใจจริงที่จะกระทำในสิ่งที่คิดนั้น
หนทางสู่ความสำเร็จย่อมจะอยู่ไม่ไกลเกินฝัน ถ้าเรานั้นยังก้าวเดินต่อไป
ในทิศทางที่จะไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างถูกต้อง กระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ
...รางวัลแห่งความสำเร็จของชีวิต มิได้วางไว้ที่จุดเริ่มต้น แต่อยู่ที่ปลายทาง
ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ ชีวิตนี้ยังไม่สิ้นหวัง ทุกสิ่งที่ผ่านมานั้น มันไม่ใช่
ความล้มเหลวหรือความผิดพลาด มันเป็นบทเรียนหนึ่งของชีวิตที่ต้องเรียนรู้
จงเอาอดีตที่ผ่านมานั้นมาเป็นครู สอนให้เราเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับปัจจุบัน....
...ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๔...
...ดูหนัง ดูละคร       แล้วจงย้อน  มาดูตัว
กายใจ รู้ให้ทั่ว         มีสติ   ดำริการ
สติ  ระลึกรู้             ติดตามดู อยู่กับงาน
เอาธรรม นำประสาน   ควบคุมจิต  เมื่อคิดทำ
รู้ตัว  รู้ทั่วพร้อม        จิตนำน้อม  กุศลกรรม
ปลุกจิต  คุณธรรม     เพื่อกำหนด  ทิศทางไป
เริ่มต้น   ในวันนี้        ในสิ่งที่  ควรแก้ไข
ฝึกจิต  ฝึกกายใจ      นั้นให้มี  ความคุ้นเคย
คุ้นเคย ในความดี      ที่เคยมี  อย่านิ่งเฉย
เพียรเพ่ง อย่าละเลย  เร่งปลุกจิต  ปลุกศรัทธา
อย่ามัว นอนคิดฝัน     ผ่านคืนวัน  โดยไร้ค่า
อย่าให้  เสียเวลา      เสียโอกาส ที่พึงมี
ตั้งใจ และทำจริง       ทำในสิ่ง   ที่คิดนี้
ทำไป  ให้มันดี         ตามจังหวะ และเวลา
ปลายทาง ของชีวิต    สิ่งที่คิด  ที่ใฝ่หา
ต้องใช้  กาลเวลา      จึงจะเห็น  ความเป็นจริง
...เริ่มต้น  ในวันนี้      เริ่มความดี  ในทุกสิ่ง
ทำไป  ทำให้จริง       ย่อมเกิดผล ที่ตามมา
สร้างเหตุ สร้างปัจจัย   สะสมไว้  กันเถิดหนา
ปลุกจิต  ปลุกศรัทธา  เพื่อสร้างฝัน นั้นเป็นจริง...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๕๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี





107
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.....สิบกว่าวันที่ผ่านมานั้น เร่งสะสางงานที่ค้างคาอยู่ให้เสร็จตามกำหนด
เพราะต้องมีภาระกิจที่จะต้องเดินทางลงไปที่ภาคใต้ประมาณอาทิตย์หนึ่ง
จึงต้องสะสางให้เรียบร้อย เพราะไม่อยากให้ค้างคาไว้ให้ต้องคอยกังวลใจ
มงคลสูตรบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า..อะนากุลา จะ กัมมันตา เอตัมมังคะละมุตตะมัง..
การไม่ทำงานโดยไม่ปล่อยให้ค้างคา เป็นมงคลของชีวิต...เพราะจิตของเรานั้น
จะไม่ไปกังวลยึดติด เมื่อย้อนระลึกนึกคิดถึงสิ่งที่สร้างและที่ทำมา ซึ่งมันจะเป็น
ความภาคภูมิใจในความสำเร็จของสิ่งที่ได้กระทำมา ว่าเรานั้นได้ทำหน้าที่ของ
เรานั้นสมบูรณ์แล้ว เต็มที่แล้ว ในทางกลับกันถ้าเราได้ทำอะไรไว้และสิ่งที่ได้
กระทำนั้นมันยังไม่สำเร็จผล เมื่อระลึกนึกถึงสิ่งนั้น ความกังวลใจก็จะเกิดขึ้นในจิต
มันคล้ายกับมีความผิดความบกพร่องความเสียใจความน้อยใจในสิ่งที่เราทำไว้และ
ยังไม่สำเร็จผล มันจะเป็นความกังวลที่ตามหลอกหลอนจิตเราตลอดไป เพราะว่าสิ่ง
ที่ได้ทำไว้นั้นมันยังไม่จบสิ้น มันยังไม่ถึงความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ไม่ว่าเราจะกระทำ
การสิ่งใด เราควรมีเป้าหมายและขอบเขตของสิ่งที่เรากระทำ ตั้งความหวังและความพอใจ
ว่ามันควรจะอยู่ในจุดไหน โดยเอาเหตุและปัจจัยที่เรานั้นมีอยู่มาเป็นตัวคิดและพิจารณา
ตามกำลังความรู้ความสามารถของตน มันจึงจะถึงผลของความสำเร็จ ซึ่งบางครั้งเรานั้น
อาจจะคิดดีจนเกินไป เกินเหตุและปัจจัยที่ตนมี จึงไม่สามารถที่จะทำตามความคิดนั้นได้
มันจึงได้เพียงแต่คิดและจินตนาการฝันไป ไม่สามารถที่จะนำมากระทำให้เป็นรูปธรรมได้
การคิดงานแต่ละครั้งนั้นให้คิดจากต้นทุนกำลังของเรามีอยู่มาเป็นสมมุติฐานในการคิดงาน
เพราะเมื่อเราคิดแล้ว เราสามารถที่จะนำความคิดนั้นมาทำให้เป็นรูปธรรมได้ทันที เพราะว่า
มีเหตุและปัจจัยอยู่พร้อมแล้ว...เมื่อฝันไว้แล้วก็จะไปถึงซึ่งความฝัน...
...ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๓...
...มีมากมาย  หลายหลาก  มากที่คิด
เกิดจากจิต    ภายใน       นั้นใฝ่หา
เพราะมีความ   เชื่อมั่น      และศรัทธา
จึงนำมา   ให้คิด    จิตผูกพันธ์
...คิดจากเหตุ   ปัจจัย   ที่มีอยู่
โดยให้รู้   และเห็น   ในปัญหา
ตามกำลัง   หน้าที่    และเวลา
ให้รู้ว่า   สิ่งควรคิด     กิจควรทำ
...คิดในสิ่ง  ที่เรา   นั้นทำได้
อย่าได้ไป  ฝันใฝ่    ให้เลิศล้ำ
เพราะคิดดี  เกินไป   อาจไม่ทำ
ไม่อาจนำ   ทำความคิด  ให้เป็นจริง
...เพราะว่าขาด  เหตุปัจจัย  มาประกอบ
จึงไม่ชอบ   ประกอบใน   สรรพสิ่ง
เพราะคิดดี   จนเกินไป    ในความจริง
ทำให้สิ่ง    ที่คิด   ผิดเวลา
...เมื่อคิดแล้ว   ต้องทำ   ตามความคิด
โดยพินิจ   เหตุผล   เข้าค้นหา
วิธีการ    ทำอย่างไร  จะได้มา
จงค้นหา  ถึงรูปแบบ   วิธีการ
...การทำงาน  ทุกอย่าง   ต้องวางแผน
มีแบบแปลน  กลืนกลม    ประสมสาน
เพื่อให้เกิด   ความสำเร็จ  ขึ้นในงาน
ต้องผ่านการ  วางแผน     อย่างแม่นยำ
...มีสติ  มองงาน    ให้รอบครอบ
และวางกรอบ  ติดตาม  อย่างสม่ำ
มีสติ  อยู่กับงาน    การกระทำ
คิดแล้วนำ  ทำให้เห็น  เป็นความจริง
...ไม่ต้องคิด  ให้ดี  ให้สวยหรู
ให้คิดอยู่    กับเหตุ  สรรพสิ่ง
คิดแล้วทำ   ทำให้เห็น  เป็นความจริง
อย่าคิดทิ้ง   แล้วไม่ทำ   จะช้ำใจ...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมระไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๑๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี


 


108
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
    เสาร์ที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
......จิตเฉื่อยชาขาดความกระตือรือร้น อันเป็นเหตุผลและที่มาจาก " นิพพิทาญาณ  "
ความเบื่อหน่ายในรูปนามทั้งหลาย ทำให้ไม่อยากจะทำอะไร นอนดูร่างกายและลมหายใจ
ไม่อยากจะเคลื่อนไหว นอนดูกายดูจิตพิจารณาธรรม น้อมนำเอาพระไตรลักษณ์มาพิจารณา
ปรับเข้าหาหลักของอริยสัจ ๔ จนเห็นที่มาและที่ไปในอารมณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหลายนั้น ปลุกความ
เชื่อมั่นและศรัทธาให้กลับมาอีกครั้ง เติมพลังให้แก่ชีวิตปลุกจิตปลุกใจให้ตื่นพลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
เห็นความเป็นอนิจจังของอารมณ์ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป เมื่อใจเข้าไปยึดถือในอารมณ์
เหล่านั้น มันก็ทำให้เกิดความทุกข์ ธรรมะนั้นคือสัจจธรรมที่เป็นจริง แต่สิ่งที่เป็นอนัตตานั้นคือสภาวะ
การตั้งอยู่ของธรรมทั้งหลายทั้งปวง ตามความเหมาะสมของ จังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และบุคคล
ตามเหตุและปัจจัยในขณะนั้น ธรรมะนั้นจึงไม่มีคำว่าดีที่สุดและถูกต้องที่สุด แต่จะมีความเหมาะสมที่สุด
ด้วยองค์ประกอบของเหตุและปัจจัย ธรรมะทั้งหลายจึงเป็นธรรมะสัปปายะ คือธรรมะที่เหมาะสมกับ จังหวะ
เวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคล ตามเหตุตามผลของพละกำลังและอินทรีย์ที่ได้สะสมมา คำว่าวาสนา
หรือบารมีนั้น เกิดจากการสะสมบำเพ็ญมาจากอดีตชาติและปัจจุบันชาติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญแตเกิดจาก
กรรมเก่าที่เราได้กระทำมา ทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม สิ่งนั้นจึงส่งผลมาสู่ปัจจุบันทำให้มันเป็นไป
ทุกอย่างล้วนมีที่มาและที่ไป มีเหตุและปัจจัยเป็นตัวทำให้เกิดขึ้นมา อย่างที่รู้ ที่เห็นและที่เป็นอยู่ในขณะนี้.....
.....ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๒...
...ตามดู  ตามรู้   ในจิต        พินิจ   ใคร่ครวญ  ศึกษา
หาเหตุ  ของความ  เป็นมา     มองหา  ให้เห็น  ความจริง
จิตนั้น   มีการ    เกิดดับ        สลับ    ไปมา    ไม่นิ่ง
จิตนั้น  ก็คล้าย  กับลิง          กลอกกลิ้ง  หวั่นไหว  ไปมา
จึงต้อง  หมั่นฝึก  สติ            ดำริ   เข้าไป   ค้นหา
เหตุผล  ที่ไป   ที่มา            ปัญหา  นั้นคือ  อะไร
รู้เหตุ  ปัจจัย   ที่เกิด            ล้ำเลิศ  กว่ารู้   สิ่งไหน
รู้กาย  รู้จิต   รู้ใจ                 รู้ใน  รู้นอก  ครบครัน
มองหา  ซึ่งเหตุ  และผล       ตัวตน  ภายใน  เรานั้น
ตามดู   กิเลส    ให้ทัน         สิ่งนั้น  คือกิจ   ควรทำ
กิเลส   นั้นมี    มากมาย        สองฝ่าย  คือสูง  และต่ำ
ปรุงแต่ง  ตามบุญ  และกรรม   ชี้นำ   ไปใน  เส้นทาง
รู้เท่า   รู้ทัน   ความคิด          ทำจิต   ทำใจ  ให้ว่าง
เดินใน  เส้นทาง  สายกลาง    ทุกอย่าง  มีธรรม  นำพา
ดำเนิน  ตามแนว  แห่งมรรค    ตามหลัก  มรรคแปด  ศึกษา
ความชอบ  ธรรมที่  มีมา        รักษา   กายใจ  ในธรรม
ธรรมะ  นั้นคือ  ที่พึ่ง             ลึกซึ้ง   ประเสริฐ  เลิศล้ำ
ธรรมะ  นำทาง  สร้างธรรม       สุขล้ำ  มีธรรม   คุ้มครอง
รักษา  นำพา    กายจิต          ชีวิต    จะไม่   เศร้าหมอง
เดินไป  ตามมรรค ครรลอง       คุ้มครอง  กายใจ  ในธรรม...
          ...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
          ...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๒๒ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

109
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี 
    ศุกร์ที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔
........บางครั้งรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับความวุ่นวายของสังคม
จนอยากจะหยุดลมหายใจ เบื่อกับการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
แต่เมื่อจิตระลึกรู้ได้ ว่ายังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ยังไม่ได้ทำ
ชีวิตจึงต้องดำเนินต่อไป เพื่อทำในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำหรือทำไป
แล้วแต่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล อารมณ์แห่ง " นิพพิทาญาณ "ที่เกิด
จากการพิจารณา เห็นทุกข์เห็นโทษของสิ่งที่เป็นรูปนามทั้งหลาย
แล้วเกิดการเบื่อหน่าย อยากจะหลุด อยากจะพ้นไปจากรูปนาม
ซึ่งถ้าตามดูตามรู้ไม่ทันนั้น มันอาจจะทำให้เราหลงไปในอารมณ์
เบื่อหน่ายสังคมและการมีชีวิตอยู่ต่อไป สติและสัมปชัญญะเท่านั้น
ที่จะเข้าไปแก้ไข ให้รู้เท่าทันซึ่งอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้นและตั้งอยู่
จิตรับรู้ด้วยการพิจารณาย้อนกลับไปหาพระไตรลักษณ์หลักของความ
เป็นจริง ว่าสรรพสิ่งนั้นล้วนมีที่มาและมีที่ไป พิจารณาลงไปในอริยสัจ ๔
เห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง ความไม่เที่ยง นำมาซึ่งทุกข์ เพราะไม่สามารถ
ที่จะไปบังคับให้มันคงอยู่ตลอดไปมิได้ นั่นคือพระไตรลักษณ์ ทุกข์คือโจทย์
ที่ต้องนำมาคิดพิจารณา ให้เห็นที่มาต้นเหตุของมัน นั่นคือสมุทัย พิจารณาต่อไป
ให้เห็นความเสื่อมสลายและการดับไปของมัน นั่นคือนิโรธ ตอบโจทย์ได้ทุกปัญหา
แล้วนำสิ่งที่ได้จากการคิดพิจารณาซึ่งเป็นเพียงนามธรรม มาลงมือปฏิบัติให้เห็นจริง
สิ่งนั้นเรียกว่ามรรค นี้คือหัวใจหลักของนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่ต้องคิดพิจารณา
และต้องลงมือกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ นี้คือสิ่งที่ควรคิดและกิจที่ควรทำ......
....ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา...บทที่ ๑...
...ในบางครั้ง   ท้อแท้    และเบื่อหน่าย
ความวุ่นวาย      ที่ได้    ไปพบเห็น
ความอยากมี   อยากได้  และอยากเป็น
สิ่งที่เห็น       ล้วนเป็น   สิ่งมายา
...อยากจะหลบ  ให้ไกล   ไปให้พ้น
เบื่อผู้คน    เบื่อกิเลส    เบื่อปัญหา
และเบื่อความ  วุ่นวาย    ที่ตามมา
นิพพิทา    เบื่อหน่าย     ในรูปนาม
...แต่เมื่อมี    สติ          ระลึกรู้
และตามดู    ตามเห็น     ไม่มองข้าม
ดูอารมณ์   แล้วพินิจ       เฝ้าติดตาม
เห็นรูปนาม  เกิดดับ        ธรรมดา
...เห็นถึงความ  ไม่เที่ยง   ของทุกสิ่ง
เห็นความจริง   ว่ามันเป็น   เช่นนั้นหนา
พระไตรลักษณ์  คือหลัก   แห่งธรรมา
เกิดขึ้นมา    ตั้งอยู       แล้วดับไป
...อนิจจัง    ทุกขัง      อนัตตา
มันเป็นมา    ทุกยุค     ทุกสมัย
และก็ยัง     สืบต่อ      อยู่เรื่อยไป
ต้องฝึกใจ   ให้ยอมรับ  กับความจริง
...โจทย์คือทุกข์  ให้เรา  ได้ศึกษา
ถึงที่มา   และที่ไป    ในทุกสิ่ง
ค้นหาเหตุ  ที่เป็นไป   ในความจริง
เห็นในสิ่ง   ที่เป็นเหตุ  ให้เกิดมา
...เห็นที่เกิด  แล้วเข้าใจ  ในทุกขัง
อนิจจัง    ความไม่เที่ยง   คือปัญหา
ไม่สามารถ  บังคับได้       อนัตตา
รู้ที่มา     เห็นที่ดับ     สลับกัน
...เห็นซึ่งทุกข์  สมุทัย   และนิโรธ
เห็นทุกข์โทษ  เห็นภัย   ในสิ่งนั้น
เห็นมรรคา   ทางไป      ให้แก่มัน
จิตก็พลัน    สงบ         พบความจริง....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๒๑ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

110
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
......ดั่งที่เคยกล่าวไว้ว่า...วิถีโลกและวิถีธรรมนั้นต้องจะเดินคู่กันไป...
เพราะว่าเราทั้งหลายนั้น ต้องใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม มิอาจจะอยู่อย่าง
โดดเดี่ยวได้ ต้องมีการอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
ไม่มากก็น้อย ตามจังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และตัวบุคคล เป็นเหตุและผล
ซึ่งกันและกัน โลกและธรรมจึงต้องเดินคู่กันไป แต่คนส่วนใหญ่นั้นมักจะปฏิเสธ
ธรรม เพราะคิดว่าเป็นเพียงเรื่องของศาสนา เป็นลัทธิ เป็นความเชื่อเฉพาะตน
ทั้งที่จริงแล้วธรรมะนั้นคือธรรมชาติแห่งความเป็นจริง เป็นสิ่งใกล้ตัวที่เราพบเห็น
อยู่เป็นประจำในชีวิตของเรา ธรรมะคือความเป็นจริงทั้งหลายในโลกนี้เป็นสัจจธรรม
และสิ่งที่จะนำเข้าสู่ธรรมชาติแห่งความเป็นจริงนั้นก็คือคุณธรรมจิตสำนึก ความรู้สึก
นึกคิด จิตที่ยอมรับซึ่งความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหลายนั้น ความมีใจเป็นกลาง
ไม่เข้าข้างความรู้สึกนึกคิดเพื่อผลประโยชน์ของตนจนเกินไป ความพึงพอในในสิ่งที่มี
ในสิ่งที่เป็นและสิ่งที่ควรจะได้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติศาสนาไหนก็ตาม ล้วนแล้วมุ่งหวัง
ที่จะชี้นำให้คนกระทำความดี ให้ทุกคนมีจิตสำนึกแห่งคุณธรรม เพื่อความสงบสุขร่มเย็น
เพื่อความเป็นไปโดยสันติ สิ่งนั้นคือแก่นแท้ของทุกศาสนา....
...ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๑๐...
....ฝากไว้เป็น  ข้อคิด   ให้ศึกษา
เรียนรู้ค่า  แห่งชีวิต    ทิศทางใหม่
สิ่งที่รู้   สิ่งที่เห็น       ที่เป็นไป
อาจมิใช่  สิ่งที่คิด      พินิจดู
....ควรตั้งจิต     ตั้งใจ   ให้เปิดกว้าง
มองทุกอย่าง    ที่เห็น   เพื่อเรียนรู้
เอาทุกอย่าง    มาพินิจ  คิดเป็นครู
จงเฝ้าดู    และวิเคราะห์  ให้เหมาะควร
....มองให้เห็น   ความเป็นจริง  สิ่งทั้งหลาย
เห็นความหมาย    ชั่วและดี    นั้นมีส่วน
ทำในสิ่ง   ทีดี    และที่ควร
ฝึกทบทวน   นึกคิด   จิตใฝ่ดี
....คุณธรรม  นั้นจงมี   ในชีวิต
รู้ถูกผิด    คุณธรรม     นั้นนำชี้
จิตสำนึก  ส่วนลึก       นั้นใฝ่ดี
เมื่อมันมี   โอกาส      พึงกระทำ
....โลกและธรรม  นำชี้  บทชีวิต
ก่อเกิดกิจ  กันไป    อย่างสม่ำ
สิ่งที่คิด   สิ่งที่เห็น   นั้นเป็นธรรม
เป็นประจำ  ในชีวิต   คิดใคร่ครวญ
....เพราะธรรมะ   นั้นคือ   ธรรมชาติ
ตามโอกาส  และจังหวะ    ตามสัดส่วน
สิ่งที่ทำ   สิ่งที่คิด    กิจที่ควร
ทุกสิ่งล้วน   คือธรรม  ตามความจริง
....ธรรมะนั้น   อยู่ใกล้  ในชีวิต
ถ้าหากจิต   ของเรา  นั้นหยุดนิ่ง
ก็จะรู้  และเห็น      ความเป็นจริง
สรรพสิ่ง  ล้วนคือธรรม  ที่นำพา
....คือความจริง  ทั้งหลาย  ในโลกนี้
สิ่งที่มี    สิ่งที่เห็น  ได้ศึกษา
คือความจริง   ใช่สิ่งหลอก  โลกมายา
คือธัมมา   ธรรมชาติ   ที่เป็นไป
....มันคือกฎ  ของโลก  ที่เป็นอยู่
มันเป็นคู่   กันมา   ทุกสมัย
โลกและธรรม  คู่กัน  นั้นเรื่อยไป
เกิดจากใจ    จากจิต  ที่คิดจริง
....เมื่อใจรับ   ความเป็นจริง   สิ่งทั้งหลาย
พบความหมาย  ในชีวิต    สรรพสิ่ง
ก็จะเห็น  โลกธรรม    ตามความจริง
สรรพสิ่ง   มันก็เป็น   เช่นนั้นเอง...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต..
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๐๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี



111
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
........ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ล้วนมีที่มาและมีที่ไป
มีเหตุและปัจจัยในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป
มีการเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา มิอาจจะตั้งอยู่
ได้นานตลอดไป บุคคลจึงควรทำใจให้รับกับสภาพ
ที่จะแปรเปลี่ยนไปทั้งหลายนั้นให้ได้ อย่าไปยึดติด
มากเกินไปกับภาพแห่งอดีตทั้งหลายที่ได้จดจำมา
เพราะกาลเวลานั้นได้ผ่านเลยไป สิ่งทั้งหลายย่อม
แปรเปลี่ยนตาม ซึ่งเราไม่อาจห้ามไม่ให้มันเปลี่ยน
แปลงไปไม่ได้ เพราะทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ย่อมเป็น
ไปตามกฎของพระไตรลักษณ์ คือความไม่เทียงแท้
ที่นำมาให้เกิดความทุกข์ทั้งหลายเพราะไม่อาจจะเข้า
ยึดถือให้มันคงสภาพอยู่เช่นเดิมตลอดไปได้ ทุกอย่าง
ย่อมจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่มากไม่น้อยตามระยะเวลา
บุคคลจึงควรฝึกทำใจให้รับกับสภาพที่จะเกิดขึ้นได้
ต่อการสูญเสีย การพลัดพราก การจากไปและการเสื่อม
สลายที่จะมาถึง ซึ่งวันหนึ่งนั้นย่อมจะต้องเกิดขึ้นกับเรา
และเมื่อเราทำใจยอมรับได้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้น เมื่อถึง
วันที่สิ่งนั้นมาถึง ใจของเรานั้นย่อมจะทุกข์น้อยลง....
..............................................................
...ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๙...
.....สรรพสิ่ง    ตั้งอยู่ใน      พระไตรลักษณ์
ซึ่งเป็นหลัก     ธรรมชาติ     ควรศึกษา
ความไม่เที่ยง  แปรเปลี่ยน    อนิจจา
ย่อมนำมา     ซึ่งความทุกข์  ไม่สุขใจ
.....ทุกข์เพราะว่า  ใจนั้น    ไปยึดมั่น
ไม่แปรผัน    ยอมรับ    กับสิ่งใหม่
ไม่ยอมรับ   กับสิ่งที่   แปรเปลี่ยนไป
ทำให้ใจ     นั้นทุกข์   ไม่ผ่อนคลาย
.....กาลเวลา  หมุนเวียน  แปรเปลี่ยนผัน
ทุกสิ่งนั้น   ย่อมจะมี     เสื่อมสลาย
มีเกิดขึ้น   ตั้งอยู่       แล้วก็ตาย
ทุกสิ่งหาย   ไปกับ    กาลเวลา
.....วันเวลา  แห่งชีวิต  นี้สั้นนัก
ควรรู้จัก    เสริมสร้าง    ซึ่งคุณค่า
ทำชีวิต    ของตนนี้      มีราคา
สร้างคุณค่า ต่อชีวิต     ด้วยจิตดี
.....วันเวลา   ผ่านไป   ควรใคร่คิด
ถึงชีวิต    ที่ผ่านมา     จนวันนี้
ว่าเคยทำ   อะไรบ้าง   ในสิ่งดี
ชีวิตนี้      มีคุณค่า     มารึยัง
.....อย่าปล่อยให้  ผ่านไป  โดยไร้ค่า
วันเวลา   นั้นไม่อาจ   จะคืนหลัง
ชีวิตนี้     ใช่จะอยู่     อย่างจีรัง
สิ่งที่หวัง  และตั้งใจ   อาจไม่มา
.....วันพรุ่งนี้   อาจไม่มี   ให้ได้เห็น
อาจไม่เป็น  อย่างที่ใจ   ปรารถนา
สิ่งที่หวัง    และตั้งใจ    อาจไม่มา
วันเวลา     หมุนเวียน   และเปลี่ยนไป
.....วันเวลา   ผ่านไป    ไม่หยุดนิ่ง
สรรพสิ่ง    เปลี่ยนตาม   ยุคสมัย
เราจึงควร   ฝึกจิต       และฝึกใจ
ให้รับได้   ในความเป็น   เช่นนั้นเอง....
....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
....รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๑๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี



112
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
......กล่าวบอกแก่ผู้คนที่มาหาเพื่อสนทนาธรรมเสมอว่า...
...การปฏิบัติธรรมนั้น มันคล้ายกับการปลูกต้นไม้ ผู้ปลุกต้องมี
ความอดทนที่จะรอให้เห็นผล เฝ้าดูการเจริญเติบโตของต้นไม้นั้น
รอจนถึงวันที่มันแตกดอกออกผล ให้เราได้ชม ได้ใช้หรือได้กิน
ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น มันต้องใช้ระยะเวลาแห่งการเฝ้ารอคอยหมั่น
ดูแลและบำรุงรักษา มิให้ต้นไม้นั้นมีอันตรายจากสิ่งที่จะมารบกวน
ส่วนการเจริญเติบโตของต้นไม้นั้น มันเป็นไปตามกาลเวลาและอายุ
ของมัน...การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน มันต้องใช้ระยะเวลาแห่งการสะสม
อบรมอินทรีย์ให้แก่กล้า หมั่นปฏิบัติฝึกฝนอยู่เนืองนิจ จนเป็นกิจวัตร
ประจำตัว จากสิ่งแปลกใหม่กลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคยและกลายเป็นอุปนิสัย
ซึ่งมันก็ต้องใช้ระยะเวลาแห่งการกระทำ แต่ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่นั้นต่าง
หวังผลสำเร็จกันในระยะเวลาที่รวดเร็ว ไม่มีความอดทนในการประพฤติปฏิบัติ
หวังผลตอบรับในระยะเวลาอันสั้น และเมื่อไม่เป็นไปตามที่ใจของตนต้องการ
จึงทำให้ละทิ้งการปฏิบัติ โดยมักจะอ้างกันว่า...ไร้วาสนา ไร้บารมี...ทั้งนี้เกิด
จากการที่ไม่มีพยายามและความอดทน หวังผลสำเร็จจากการปฏิบัติโดยเร็วไว
...การปฏิบัติธรรมจึงคล้ายกับการปลูกต้นไม้ หน้าที่ของผู้ปลูกคือการบำรุงรักษา
การเจริญเติบโตนั้น มันเป็นไปตามธรรมชาติของต้นไม้แต่ละชนิดนั้น มันมีระยะ
เวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างนั้น มันต้องใช้ระยะเวลาแห่งการรอคอย....
.............................................................................................
.....ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๘.....
...อดทน  หมั่นฝึกฝน     หมั่นฝึกตน   ให้เคยชิน
การอยู่   และการกิน      ให้เรียบง่าย   ไม่วุ่นวาย
เรียบง่าย  ไร้รูปแบบ       แต่อิงแอบ    ด้วยความหมาย
สาระ    มีมากมาย         ไม่ยึดติด     รูปแบบกัน
เรียบง่าย  ไม่มักง่าย       คือความหมาย  ในตัวฉัน
สาระ   เป็นสำคัญ          ที่มุ่งหมาย  ให้มันมี
เรารู้   อยู่แก่จิต             ถ้าพินิจ    ให้ถ้วนถี่
ที่คิด   และที่มี              ต่างก็รู้   อยู่แก่ใจ
อยู่ที่   จิตสำนึก            ความรู้สึก  จากข้างใน
มากน้อย  ขนาดไหน       สิ่งที่คิด   กิจที่ทำ
ชั่วดี  ใจนั้นรู้                 มันขึ้นอยู่  กับเวรกรรม
อยู่ที่   คุณธรรม             มีหรือไม่   ในใจตน
รู้ชั่ว    ก็ควรละ              ใช้ตรรกะ    และเหตุผล
รู้ดี    มีอดทน                รักษาไว้    ให้ยืนยาว
เรื่องมาก  ไม่มากเรื่อง      ลดความอยาก ทุกเรื่องราว
ทำใจ   สะอาดขาว          ว่างกิเลส  และอัตตา
มองสิ่ง   ที่มันเป็น           มองให้เห็น  ซึ่งเนื้อหา
ฝึกฝน     เริ่มต้นมา         จากความคิด  ด้วยจิตใจ
รอคอย  อย่างอดทน        หมั่นฝึกฝน   กันต่อไป
ยาวนาน  ขนาดไหน         อย่าได้ท้อ   จงรอคอย
ขันติ  ความอดทน            หมั่นฝึกฝน  มิท้อถอย
สิ่งหวัง  ตั้งใจคอย           ความสำเร็จ   ใช้เวลา....
.....เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนนาดี-ด้วยไมตรีจิต.....
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร-คนรอนแรม...
๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๕๓ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี       


113
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบรี
จันทร์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ๒๕๕๔
........วันเวลาแห่งชีวิตของทุกคนนั้นสั้นลงทุกขณะ
ทุกชีวิตกำลังเดินไปสู่ความตาย ช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่
กับเหตุและปัจจัยของแต่ละคนที่ทำมา ซึ่งแตกต่างกัน
แต่ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วนั้น ทุกคนก็ไม่อาจจะหนีความตาย
เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตนั้นมันสั้นลงทุกวินาทีที่ผ่านเลยไป
จงใช้เวลาที่เหลืออยู่นั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าได้ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่า
โดยไร้สาระ ทบทวนใคร่ครวญในสิ่งที่ผ่านมา ว่าเรานั้นได้สร้าง
ได้ทำอะไรมาบ้างแล้ว เรามีความภาคภูมิใจในสิ่งที่เราได้สร้าง
ได้ทำมาแล้วหรือไม่ ชีวิตนี้มีความทรงจำที่ดีเก็บไว้แล้วหรือยัง
" ดูหนังดูละคร แล้วจงย้อนมาดูตัว " จงมีสติระลึกรู้ในสิ่งที่ผ่านมา
มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ในสิ่งกำลังเป็นไป มองอะไรให้มองทั้งสองด้าน
ทั้งที่เป็นคุณและเป็นโทษ ที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ทั้งสองสิ่ง
มองให้เห็นความเป็นจริง มองทุกสิ่งด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างความคิด
ของตนเอง โดยเอาความชอบหรือความไม่ชอบของตนเป็นตัวตัดสิน
ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่จิต จงฝึกคิดและฝึกทำ......
...ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๗...
...รุ่งอรุณ   วันใหม่   ฟ้าใสสด
ฟ้างามงด   ด้วยแสงทอง   ที่ส่องฉาย
ลมอ่อนอ่อน  พัดผ่าน       ให้สบาย
ปลุกใจกาย   ให้ตื่น         รับตะวัน
...เมื่อแสงเงิน   แสงทอง   ส่องขอบฟ้า
เหล่าวิหก   นกกา     ต่างสุขสันต์
ต่างส่งเสียง  สื่อสาร   ประสานกัน
ต้อนรับวัน   ฟ้าใหม่    ที่ใกล้มา
...บรรยากาศ  เป็นใจ   ให้เหมาะสม
ฝากสายลม  ผ่านร่มไม้   จากภูผา
ร่ายกวี   สุนทร   เป็นกลอนมา
ส่งฝากฟ้า  ผ่านสายลม   ให้ชมกัน
...ชีวิตนี้   มีอะไร   มากมายนัก
หากรู้จัก   ค้นคิด   จิตสร้างสรรค์
ไม่ปล่อยเปล่า  ล่วงไป  ในคืนวัน
อย่าให้มัน   ผ่านไป   โดยไร้การ
...จงทบทวน  ถึงชีวิต  ที่ผ่านมา
จะได้เห็น   คุณค่า    มหาศาล
จงเก็บเกี่ยว   สิ่งที่พบ   ประสพการณ์
สิ่งที่ผ่าน    มาพินิจ      คิดใคร่ครวญ
...เพื่อจะเดิน  ก้าวไป    สู่ข้างหน้า
วันเวลา    ผ่านไป   ไม่กลับหวน
ทำอะไร    ให้ใจรู้    สิ่งคู่ควร
จงทบทวน  ฝึกจิต    คิดให้เป็น
...จงรู้จัก   แยกแยะ  ดีและชั่ว
สิ่งที่ตัว  นั้นได้รู้     และได้เห็น
สิ่งที่ทำ  สิ่งที่คิด    จิตที่เป็น
มองให้เห็น  ตัวตน  ค้นให้เจอ
...มีสติ   รู้ตัว   อยู่ทั่วพร้อม
มีใจน้อม  สู่ธรรม   ไม่พลั้งเผลอ
รู้เท่าทัน  กับจิต    เมื่อเจอะเจอ
รู้เสมอ    รู้ทัน    กับอารมณ์
...รู้อะไร    ก็ไม่สู้  เท่ารู้จิต
รู้ความคิด   สิ่งผิด  จิตนั้นข่ม
อะไรดี    อะไรชอบ   จงชื่นชม
ฝึกอบรม  ข่มจิต   ให้คิดดี...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๖. มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๔๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

114
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.........ในสังคมที่แสนจะวุ่นวาย การแก่งแย่งแข่งขัน การเอารัดเอาเปรียบกัน
การแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง ล้วนเกิดจากเหตุผลของความไม่เพียงพอ
สาเหตุแห่งการไม่เพียงพอนั้น ก็เพราะว่าเกิดจากการไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น
กับคนที่มีมากกว่า อยากจะมีอยากจะได้ให้เท่ากับเขาหรือมีมากได้มากกว่าเขา
และคนที่มีมากแล้วก็ยังอยากจะมีให้มากยิ่งๆขึ้นไปอีก เพราะใจของคนเหล่านั้น
ไม่รู้จักคำว่า " พอ " มันจึงนำมาซึ่งการแก่งแย่งแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบกัน
เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ของตน จึงต้องดิ้นรนขวนขวายกันไปไม่มีวันหยุด
เพราะเขาคิดว่าชีวิตของเขานั้นยังไม่ประสพกับความสำเร็จดั่งที่เขาตั้งใจไว้
" ความสำเร็จของชีวิต อยู่ที่จิตคิดว่าพอ " คือพอเพียงและพอใจในสิ่งที่มี
และในสิ่งที่เป็น พึงพอใจในอัตภาพของคนเอง ชีวิตที่เหลือคือทำหน้าที่ของตน
ไปจนสิ้นอายุขัย ความสุขความสบายใจก็จะเกิดขึ้นแก่เขาเหล่านั้น เพราว่าใจมัน
บอกว่า  " พอแล้ว " .....
.....ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๖.....
...เมื่อใด  ที่ใจพอ         จะไม่ก่อ   ซึ่งปัญหา
ดิ้นรน    และไขว่คว้า      ให้ได้มา    ให้ได้มี
พอใจ    และพอเพียง     ในการเลี้ยง   ชีวิตนี้
พอใจ    ในที่มี              เพียงเท่านี้   ก็สุขใจ
ใจสุข     ใจสงบ            ก็จะพบ    กับสิ่งใหม่
ชีวิต    แปรเปลี่ยนไป      เพราะว่าใจ   นั้นเพียงพอ
ความทุกข์  ความกังวล     ก็หลุดพ้น    ไม่มีต่อ
เพราะใจ  นั้นเพียงพอ      จึงไม่ก่อ    ความวุ่นวาย
ลาภยศ    และสรรเสริญ    ถ้าหลงเพลิน  จะเสียหาย
ดิ้นรน     จนวันตาย         เพราะมุ่งหมาย  ให้มันมี
สุขทุกข์   ของคู่กัน         เป็นอย่างนั้น    ในโลกนี้
ลาภยศ    ที่เคยมี           มีวันที่   จะเสื่อมไป
คำชม    คำสรรเสริญ        ที่เคยเพลิน   พึงพอใจ
นินทา    ว่ากันไป            เปลี่ยนแปลงได้  ทุกคืนวัน
...นี้คือ    โลกธรรม          เป็นกฏกรรม  เสมอฉันท์
เป็นอยู่    ของคู่กัน           เป็นอย่างนั้น  ตลอดมา
เมื่อไหร่   ใจนั้นพอ          จะไม่ก่อ  ซึ่งปัญหา
มานะ      และอัตตา        และตัณหา  จะจางลง
ชีวิต     จะพบสุข            ไม่ไปทุกข์  เพราะความหลง
ทุกอย่าง  จะจบลง            ถ้าหากปลง  ให้ใจพอ....
..........ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต.........
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร-คนรอนแรม..
๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๓ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

115
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
เสาร์ที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
......" ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ปล่อย "เป็นคติธรรมที่ใช้
ในการสอนศิษย์และคนใกล้ชิดทั้งหลาย เพื่อที่จะได้รู้พื้นฐานความคิด
และจิตสำนึกของเขาเหล่านั้น ว่ามีพื้นฐานเป็นอย่างไร โดยการกระทำ
ทางกายให้เห็น ทำให้เป็นตัวอย่าง ไม่ต้องกล่าวไม่ต้องสอนด้วยวาจา
ในเบื้องต้น บุคคลผู้มีจิตสำนึกที่ดี เขาจะจดจำแบบอย่างที่ดีที่เขาได้เห็น
เอามาเป็นตัวอย่าง แล้วลงมือกระทำตาม ส่วนบุคคลที่มีจิตสำนึกปานกลาง
เขาจะจดจำแบบอย่าง แต่ยังไม่ลงมือกระทำ ส่วนคนที่มีจิตสำนึกต่ำ เขาจะไม่
จดจำ ไม่สนใจและไม่เอาไปเป็นแบบอย่าง เรียกว่าการสอนโดยไม่ต้องสื่อภาษา
ทางวาจา แต่เป็นการกระทำทางกายให้เห็น
......เมื่อเรารู้พื้นฐานความคิดและจิตสำนึกของเขาแล้ว เราจะได้กำหนดบทบาท
และหากุศโลบายที่จะมาใช้ให้เหมาะกับเขา เรื่องเหล่านี้เป็นหลักจิตวิทยาที่ง่ายๆ
ที่บางครั้งเรานั้นอาจจะมองข้ามไป ไม่ได้นำมาใช้และพิจารณา ส่วนใหญ่เราจะใช้วาจา
เพื่อเสาะหาข้อมูล ความคิดและจิตสำนึกของผู้อื่น มิได้สังเกตุพฤติกรรมของเขา
เพราะการใช้วาจานั้น เราสามารถที่จะปั้นแต่งและจินตนาการออกมาเป็นคำพูดได้
ซึ่งขึ้นอยู่กับการศึกษาและสำนวนโวหารประสพการณ์ในการพูดของเขาที่ออกมา
บางครั้งมันเป็นมายามิใช่ของจริงเสมอไป แต่พฤติกรรมทางกายที่เขาเคยชินนั้น
มันจะแสดงถึงตัวตนที่แท้จริงของเขา....
....ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๕....
เก็บมา  ใคร่ครวญ  ขบคิด...    ตั้งจิต  สนใจ   ใฝ่หา
เรียนรู้   กับโลก     มายา...    ค้นหา  ให้เห็น   ตัวตน
ค้นหา   ให้เห็น     พื้นฐาน...  คือการ  เรียนรู้   เบื้องต้น
รู้จิต      รู้ใจ        ของคน...   เริ่มต้น  ที่ตัว     ของเรา
รู้กาย    รู้จิต        ของตัว...    รู้ทั่ว   รู้พร้อม   ไม่เขลา
ตามดู   รู้เห็น       จิตเรา....    ขัดเกลา  ฝึกจิต  คิดดี
เมื่อไหร่  ที่เห็น     จิตเรา....    ก็เข้า   ใจซึ่ง    จิตนี้
จิตเรา    จิตเขา     ที่มี...       จิตนี้    ก็คล้าย  คลึงกัน
ล้วนมี    กิเลส      ตัณหา...    อัตตา  ตัวตน    ทั้งนั้น
ตามดู    ตามรู้      ให้ทัน....   จิตนั้น   เคลื่อนไหว  ไปมา
เคลื่อนตาม  สิ่งที่  กระทบ...    เมื่อพบ   เจอกับ  ปัญหา
ผัสสะ    ที่ผ่าน      เข้ามา...    ทางตา   ทางลิ้น  กายใจ
จิตนั้น    เข้าไป     รับรู้...       ติดอยู่     จึงให้   หวั่นไหว
ปรุงแตก  คล้อยตาม  มันไป...  หวั่นไหว  เพราะจิต  คิดตาม
หยุดคิด  หยุดจิต  ที่ปรุง....      เรื่องยุ่ง   ก็จะ   ก้าวข้าม
วางสิ่ง   รู้เห็น    ไม่ตาม...       เห็นความ  สงบ  พบจริง
สยบ   ซึ่งความ  เคลื่อนไหว...  ทำใจ   ของเรา  ให้นิ่ง
รู้เห็น    ตามที่    เป็นจริง...      ทุกสิ่ง  สมมุติ   ขึ้นมา
เข้าใจ  ในพระ    ไตรลักษณ์...  รู้หลัก   ต้นเหตุ  ปัญหา
เกิดขึ้น   ตั้งอยู่   จากลา...        อัตตา   ก็จะ  ลดลง...
........ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต.......
........รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร......
๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๒๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

   

116
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
........ทุกชีวิตย่อมมีความผิดพลาดมากบ้าง น้อยบ้างเป็นเรื่องธรรมดา
ของปุถุชนคนที่ยังไม่หมดกิเลส สติยังไม่สมบูรณ์เต็มพร้อมทุกขณะจิต
ความคิดและการกระทำย่อมอาจจะมีพลั้งเผลอ ไปตามกิเลสตัณหาและ
อุปทาน แต่เมื่อใดที่มีสติระลึกรู้แล้ว ควรห้ามจิตห้ามใจไม่กระทำในสิ่งนั้นต่อ
ความรู้สึกส่วนลึกใต้จิตสำนึกของทุกคนนั้น ต่างก็อยากจะเป็นคนดีของสัังคม
แต่บางครั้งการมีทัศนคติต่อสังคมในแง่ร้ายของเขานั้นทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไป
โดยพฤติกรรมทางกายที่เรียกว่าการประชดสังคม อ้างว่าสังคมไม่ให้โอกาสเขา
ทั้งที่ความจริงแล้ว สังคมเปิดโอกาสให้เขาอยู่ตลอดเวลา แต่ต้องใช้ระยะเวลา
เป็นตัวพิสูจน์เพื่อให้สังคมยอมรับ เพราะความใจร้อนที่อยากจะได้ผลตอบรับ
โดยเร็วไว จึงทำให้คิดว่าสังคมไม่ให้โอกาสเขา ไม่ยอมรับในความดีที่เขาได้ทำ
ซึ่งความสำเร็จทุกอย่างนั้น ต้องอาศัยความอดทน จังหวะเวลาโอกาศบุคคลและ
สถานที่มาเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความสำเร็จ ความยอมรับของสังคม การกระทำที่
เสมอต้นเสมอปลายในสิ่งที่ดีทั้งหลายนั้นจะเป็นสิ่งพิสูจน์ให้สังคมเขายอมรับ....
..............................................................................................
...ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๔...
กาพย์ยานี ๑๑...
....ร้อยเรื่องก็ร้อยรส     นั้นปรากฏให้พบเห็น
ที่มีและที่เป็น             ล้วนแตกต่างกันออกไป
ไม่เหมือนแต่ว่าคล้าย    ต่างจุดหมายกันภายใน
ต่างคนก็ต่างใจ           ล้วนคิดกันคนละทาง
เกิดจากความคิดเห็น     จึงได้เป็นข้อแตกต่าง
อยู่ร่วมในเส้นทาง        ความขัดแย้งนั้นจึงมี
ขัดแย้งทางความคิด     แบ่งถูกผิดในทุกที่
มิตรภาพที่เคยดี          ต่อกันนั้นสลายไป
...ความเห็นที่แตกต่าง   อาจมีทางร่วมกันได้
ถ้าหากเราเข้าใจ          ไม่ก้าวล้ำสิทธิกัน
แสวงหาซึ่งจุดร่วม         เพื่อจะรวมสมานฉันท์
จุดต่างไม่ว่ากัน            สงวนไว้ไม่ล่วงเกิน
ร่วมคิดและร่วมทำ         เพื่อจะนำให้เจริญ
ร่วมสร้างเส้นทางเดิน     สู่สังคมอุดมการณ์
เริ่มต้นจากตัวเรา          แล้วจึงเอาไปเล่าขาน
ฝึกทำให้ชำนาญ          ฝึกนึกคิดทำจิตดี
...ดีนอกและดีใน         ดีทั้งใจและวจี
คิดทำแต่กรรมดี           ฝึกจิตนั้นให้มั่นคง
มองโลกทั้งสองด้าน      มองให้ผ่านอย่าไปหลง
ซื่อสัตย์และซื่อตรง       ต่อหน้าที่ที่มีมา
มีความรับผิดชอบ         ซึ่งประกอบด้วยปัญญา
ฝึกฝนและค้นหา          เหตุปัจจัยประกอบกัน
เริ่มต้นจากความคิด       เริ่มจากจิตสมานฉันท์
เคารพสิทธิกัน             สังคมนี้ไม่วุ่นวาย.....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๔๗ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี


117
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.......ธรรมะทั้งหลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและทุกท่านก็ได้ปฏิบัติอยู่ในกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว
เพราะว่าการปฏิบัติธรรมนั้น คือการทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ตามหลักของมรรคองค์ ๘
มีสติระลึกรู้อยู่ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ มีองค์แห่งคุณธรรม คือความละอายและเกรงกลัวต่อ
บาปกรรมคุ้มครองจิตอยู่ ก็ได้ชื่อว่าผู้นั้นกำลังปฏิบัติธรรมอยู่
......แต่บุคคลส่วนใหญ่ไปติดยึดในรูปแบบจนเกินไป จึงทำให้คิดว่าการปฏิบัติธรรมนั้น
เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ต้องมีเวลาว่าง ต้องไม่มีภาระอะไร ต้องไปถือศีล นุ่งขาวห่มขาว
ต้องไปไหว้พระสวดมนต์ เดินจงกรมนั่งสมาธิ จึงจะเป็นการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นการเข้าใจ
ที่คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องไปทั้งหมด เพราะว่าไปจดจำเอาสิ่งที่ได้รับรู้และสิ่งได้เห็นมา
โดยไม่ได้พิจารณาและศึกษาว่าการปฏิบัติธรรมนั้นทำได้อย่างไรบ้าง
......การปฏิบัติธรรม เป็นการกระทำที่เริ่มจากจิต จากความคิดแล้วแสดงออกมาซึ่งทางกาย
การปฏิบัติธรรมนั้น มิใช่เป็นไปเพื่อความโอ้อวดเพื่อให้ผู้อื่นเขายกย่องสรรเสริญชื่นชม
แต่เป็นการอบรมกายและจิตของเรา โดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่ มีความระลึกรู้
และมีความรู้ตัวทั่วพร้อมในกายในจิตในความคิดและการกระทำ เพิ่มพูนคุณธรรมให้แก่จิต
ปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อให้จิตเป็นบุญกุศล ไม่เอาแต่ความคิดตนมาเป็นใหญ่ เปิดจิตเปิดใจ
ให้เปิดกว้าง พิจารณาทุกอย่างโดยเหตุและผล ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนจนเกินไป รู้จักการให้
และการแบ่งปัน สิ่งที่กล่าวมานั้นคือการปฏิบัติธรรม....
...............................................................
.......ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๓.......
...บนเส้นทาง  ของชีวิต  ที่ผิดพลาด
เพราะประมาท  มัวเมา    และลุ่มหลง
สิ่งไม่ดี   ทั้งหลาย   ให้มึนงง
มันจึงส่ง  ผลมา  หาร่างกาย
...เพราะมัวเมา  เหล้ายา  สารพัด
จิตอ่อนหัด   ไม่รู้เห็น  ในความหมาย
ว่าที่ทำ   นั้นเป็นภัย    ต่อร่างกาย
เกือบจะสาย  ก่อนที่จิต   คิดได้ทัน
...คิดว่าเป็น  ทางสุข   กลับทุกข์หนัก
ไม่รู้จัก  ความดีชั่ว   เพราะโมหัน
หลงในกิน  กามเกียรติ  ทุกคืนวัน
สารพัน   สารพัด   ที่จัดมา
...ไม่รู้จัก  บาปบุญ   คุณและโทษ
ถือประโยชน์  ส่วนตน   เป็นเนื้อหา
ทำอย่างไร   ให้ได้มี    และได้มา
สนองตอบ    ตัณหา    ของตัวตน
...จนวันหนึ่ง   ได้รู้ซึ้ง   ถึงทางจิต
มีความคิด  และเข้าใจ   ในเหตุผล
จึงถอนตัว   ออกห่าง     ทางมืดมน
ไปสู่หน    ทางใหม่     ไม่กลับมา
...ละทางโลก  สู่ทางธรรม  น้อมนำจิต
เปลี่ยนความคิด   มุมมอง   และเนื้อหา
เข้าสู่การ   ลดละ   ซึ่งอัตตา
ใช้ปัญญา   มองสิ่งเห็น  ให้เป็นธรรม
...ทุกอย่างนั้น   เกิดจาก   จิตสำนึก
ความรู้สึก   ส่วนใน    ไม่ใฝ่ต่ำ
กระตุ้นเตือน  ความคิด  และชี้นำ
คิดแล้วทำ   ตามจิต    ที่คิดดี
...ความคิดนั้น  เป็นเพียง  นามธรรม
จึงต้องนำ   มาทำ   ให้เต็มที่
รูปธรรม     ทำให้เห็น  และให้มี
ทำให้ดี     ตามที่จิต   นั้นคิดมา....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม.วจีพเนจร...
๒ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๒๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี




118
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔
.....ในปัจจุบันนี้มีผุ้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น
 โดยเฉพาะคนหนุ่มสาววัยทำงาน เพราะช่วงชีวิตวัยนี้
ต้องวุ่นวายกับการทำมาหาเลี้ยงชีพและสร้างครอบครัว
ต้องเจอะเจอภาวะความกดดันหลายด้านในชีวิตการงาน
และชีวิตครอบครัว ชีวิตเต็มไปด้วยความวุ่นวายและความ
กดดัน จนทำให้เกิดอาการเครียด คนที่มีพื้นฐานบุญกุศลเก่า
ก็จะหาทางออก โดยการปฏิบัติธรรมเพื่อทำให้ใจนั้นสงบ
หลบหนีความวุ่นวายไปชั่วขณะ ส่วนคนที่ไม่มีต้นทุนบุญกุศลเก่า
ก็หาทางออกทางระบายไปกับอบายมุขทั้งหลาย เสพสุขชั่วขณะ
เพื่อให้ลืมภาระและความกดดัน เพราะแต่ละคนนั้นมีพื้นฐานชีวิต
ที่แตกต่างกันออกไป ดั่งที่เคยกล่าวไว้ว่า..บุคคลแตกต่างกันด้วยธาตุ
และอินทรีย์ จึงทำให้มีที่มาและที่ไปที่แตกต่างกัน...กรรมแหละจำแนก
สัตว์และบุคคลให้แตกต่างกัน....
..........................................................
...ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๒...
             ...............................
...คนเหมือนกัน   แต่ต่างกัน   ที่ความคิด
เพราะว่าจิต        พื้นฐาน      นั้นแตกต่าง
และมีจุด            เริ่มต้น       คนละทาง
เกิดช่องว่าง      ระหว่างจิต     คิดต่างกัน
...ในความเห็น   นั้นอาจ        จะแตกต่าง
แต่มีทาง         ที่จะร่วม        สมานฉันท์
แสวงหา          ซึ่งจุดร่วม      มารวมกัน
จุดต่างนั้น        สงวนไว้        ไม่ล้ำกัน
...ควรอ่อนน้อม   ถ่อมตน       ให้คนรัก
ควรรู้จัก           การผูกจิต      คิดสร้างสรรค์
ความร่วมมือ     ร่วมแรง         ร่วมแบ่งปัน
สิ่งเหล่านั้น      จะผูกมิตร       และจิตใจ
...คนโบราณ    กล่าวไว้         ให้น่าคิด
คนจะงาม        งามที่จิต         จึงสดใส
คนจะรวย        ก็รวยที่           มีน้ำใจ
คนจะแก่        ใช่แก่วัย          มีปัญญา
...สิ่งเหล่านั้น    เราท่าน         ต่างก็รู้
พบเห็นอยู่     แต่ไม่คิด          ถึงเนื้อหา
เพียงผ่านหู    ผ่านใจ             และผ่านตา
ไม่นำมา        พินิจ              และคิดตาม
...คนมากมาย  ที่รู้ธรรม          และเห็นธรรม
แต่ไม่นำ         ปฏิบัติ           เพราะมองข้าม
เพียงแต่รู้       เพียงแต่เห็น     แต่ไม่ตาม
เกิดคำถาม      ว่าทำไม         ไม่เจริญ
...ไม่เจริญ      ในธรรม          เพราะจำได้
รู้กันไป       แต่ไม่ทำ            ก็เคอะเขิน
รู้ท่วมหัว      แต่ทำตัว            ไม่เจริญ
เพราะรู้เกิน    และรู้มาก          จึงยากนาน
...รู้อะไร       ก็ไม่สู้              เท่ารู้จิต
รู้ความคิด      ทั้งดีชั่ว            รู้แก่นสาร
รู้จังหวะ         รู้เวลา             รู้เหตุการณ์
รู้ด้วยญาณ    นิมิต               จิตถึงธรรม....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๒ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

119
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
.....บางครั้งความคุ้นเคยและความเคยชิน มันอาจจะนำไปสู่ความหย่อนยาน
จนกลายเป็นความขี้เกียจ มักง่าย ถ้าเราไม่หมั่นตรวจสอบควบคุมจิตของเรา
ไม่มีความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ ข้อวัตรปฎิบัติ มันก็จะนำไปสู่ความเสื่อม
จิตคล้อยตามไปในกระแสโลก ออกห่างจากทางธรรม แต่ถ้าเรามีความมั่นคง
มีศรัทธาที่หนักแน่น ตามดู ตามรู้จิตนั้นอยู่เสมอ ไม่พลั้งเผลอขาดสติและองค์
แห่งคุณธรรมแล้ว ความเสื่อมย่อมไม่เกิดขึ้นแก่เรา ความเจริญในธรรมทั้งหลาย
ก็จะบังเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ปฏิบัติเช่นนั้น สิ่งสำคัญมันอยู่ที่จิตสำนึกแห่งการใฝ่ดี ว่าเรา
นั้นมีแล้วหรือยังและเราได้ทำในสิ่งนั้นแล้วหรือยัง....
...ฝากสายลม...ผ่านร่มไม้...จากภูผา...บทที่ ๑...
.....พบสิ่งใหม่  และที่ใหม่   ใจจะตื่น
จะพลิกฟื้น      จิตใหม่   ให้ค้นหา
เพราะที่ใหม่    สิ่งใหม่   นั้นแปลกตา
อยากรู้ว่า       สิ่งที่เห็น   เป็นเช่นไร
.....เมื่อได้ดู   ได้รู้         และได้เห็น
มันก็เป็น       อย่างนั้น    สิ้นสงสัย
ความแปลกตา  แตกตื่น   ก็หมดไป
จากสิ่งใหม่  กลายเป็นเก่า   ก็เท่ากัน
.....ความคุ้นเคย   อาจทำให้   ใจนั้นหย่อน
จิตถอดถอน      หย่อนยาน     ไม่แข็งขัน
ความเคยชิน     นั้นทำให้       ใจผูกพันธ์
เห็นทุกวัน      ทำทุกวัน        กันเรื่อยไป
.....แต่ถ้าใจ     ของเรา     นั้นตั้งมั่น
จะกี่ปี     หรือกี่วัน    และที่ไหน
ทุกอย่างเกิด  จากจิต   และจากใจ
คิดอะไร  ทำอะไร   ใจมั่นคง
......มีสัจจะ  รับผิดชอบ   ต่อหน้าที่
สิ่งที่มี   สิ่งที่เป็น    ไม่ลืมหลง
รักษาจิต   รักษาใจ  ให้ยืนยง
และมั่นคง  ต่อข้อวัตร  ด้วยศรัทธา
.....จิตสำนึก   การใฝ่ดี  นั้นมีอยู่
จิตรับรู้   เร่งฝึกฝน   เพื่อค้นหา
ปลุกสำนึก  การใฝ่ดี   ให้ตื่นมา
เพื่อนำพา   สู่ชีวิต  ทิศทางดี
.....ต้องเริ่มทำ  ที่ตัวเรา  เอาแบบอย่าง
สู่เส้นทาง   สายใหม่    ในวิถี
ลบสลาย   พฤติกรรม   ที่ไม่ดี
ที่มันมี      ที่มันทำ      แต่ก่อนมา
.....เพียงคุณเปลี่ยน   ความคิด   ชีวิตเปลี่ยน
ไม่วนเวียน    อยู่ใน     ห้วงตัณหา
มีสติ     คุณธรรม      นำปัญญา
ก็จะพา   สู่ชีวิต       นิมิตดี
.....ทุกสิ่งนั้น   ไม่ยาก    เกินแก้ไข
ถ้าหากใจ    ยอมทำ       ตามหน้าที่
รับผิดชอบ    ในบทบาท   ตามที่มี
เพียงเท่านี้    ก็ชื่อว่า      เข้าหาธรรม ....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๒๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึงชลบุรี 



120
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
......ชีวิตในแต่ละวัน ต้องพบปะและสื่อสารกันกับผู้คนมากมาย
แม้นจะหลบหลีกมาอยู่ในที่ ที่ห่างไกลจากชุมชนนั้นแล้วก็ตาม
ก็ยังมีคนพยามยามที่จะไปมาหาสู่่ ขึ้นมาเยี่ยมเยือนพบปะพูดคุย
ที่อยู่ห่างไกลก็ใช้การสื่อสารสมัยใหม่ในยุคไอทีเพื่อที่จะได้คุยกัน
โลกและธรรมจึงต้องดำเนินไปคู่กัน จึงเอาปัจจุบันธรรมมาพิจารณา
เป็นอารมณ์กรรมฐาน พิจารณาสิ่งทั้งหลายที่ได้เห็นให้เป็นธรรมะ
พิจารณาให้เห็นถึงคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ในสิ่งนั้น
พิจารณาลงไปในอริยสัจ ๔ให้เห็นปัญหา เห็นที่มา เห็นที่ดับและทางไป
อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยใช้หลักของพระไตรลักษณ์มาเป็น
พื้นฐาน เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาให้เห็นและเข้าใจ
จนเกิดความเบื่อหน่ายจางคลาย ในทิฏฐิมานะ อัตตา ตัณหา และอุปทาน
เห็นการเกิดดับของโลกธรรมทั้ง ๘ จนจิตจางคลายไม่เข้ายึดถือในสิ่งนั้น
วางจิตเป็นกลาง มองทุกอย่างเป็นธรรมะ แล้วจะเกิดการลดละด้วยตัวมันเอง.....
.....เรื่องเล่าจากเขาเรดาร์ " ตถตาอาศรม " บทที่สิบ.....
...ทุกชีวิต  ต้องเป็นไป  ตามบทบาท     
ตามเชื้อชาติ  ท้องถิ่น   และภาษา
ไปตามบท  กฏแห่งกรรม  ที่ทำมา
ไปข้างหน้า  ตามเวลา  ที่หมุนไป
...มวลมนุุษย์  มีกรรม  ตัวกำหนด
ไปตามกฏ   แห่งกรรม  ที่ทำไว้
อดีตกรรม   น้อมนำ    ให้เป็นไป
และกรรมใหม่  เป็นปัจจัย  ให้ได้เจอ
...ไม่ใช่โชค  ชะตา   ฟ้าลิขิต
ใช่นิมิต  แห่งสวรรค์   นั้นเสนอ
ใช่ว่าพรหม  บันดาล  ให้ท่านเจอ
กรรมที่เธอ   ทำไว้    จึงได้เป็น
...จงยืดอก  ยอมรับกรรม  ที่ทำไว้
เพราะถ้าใจ  ไม่ยอมรับ  จะทุกข์เข็ญ
จงยอมรับ     สิ่งที่มี    สิ่งที่เป็น
เมื่อใจเย็น  ทุกข์ก็คลาย  สลายลง
...ที่เราทุกข์  ก็เพราะใจ  ไม่ยอมรับ
การเกิดดับ  เพราะว่าใจ  ไปลุ่มหลง
ไปยึดถือ  ความคิดตน  ไม่ยอมปลง
มันจึงส่ง  ผลต่อใจ   ให้ทุกข์ทน
...ไม่ว่าอยู่  ที่ใด  ใจก็ทุกข์
ไร้ความสุข  ถ้าว่าใจ  ยังสับสน
ทุกข์นั้นมี  ในทุกที่   ที่มีคน
อยากหลุดพ้น  ก็ต้องทน  ภาวนา
...ภาวนา  รักษาใจ  ให้สงบ
ก็จะพบ  เหตุและผล  ต้นปัญหา
จะเห็นทาง  ดับทุกข์  ด้วยปัญญา
เห็นที่มา  และที่ไป  สิ่งไม่ควร
...มองทุกอย่าง  ให้เห็น  เป็นธรรมะ
การลดละ  สิ่งไม่ดี  ก็มีส่วน
รู้ในจิต  รู้คิด   สิ่งที่ควร
หมั่นทบทวน  ฝึกจิต  ให้คิดเป็น
...รู้จักการ  แยกแยะ  ดีและชั่ว
ไม่เกลือกกลั่่ว  สิ่งไม่ดี  ที่ได้เห็น
เพราะสติ  จะนำให้  ใจนั้นเย็น
สิ่งที่เป็น  สิ่งที่คิด  จิตรู้ทัน
...จิตเป็นนาย  กายนั้น  มันเป็นบ่าว
ทุกเรื่องราว  เกิดจากจิต ที่คิดนั้น
จิตส่งไป  กายวาจา   พาผูกพันธ์
ทำให้มัน  ต้องเป็น  เช่นนั้นเอง...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๕๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี




121
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
.....ลองออกไปท่องเที่ยวในโลกไอที พบว่ามีบทความธรรมะและบทกวีที่ได้เขียน
แพร่กระจายอยู่ในที่ต่างๆมากมาย ซึ่งบางที่ก็มีมารยาท ให้เครดิตต่อเจ้าของผลงาน
และเว็บฯที่นำมา บางที่ก็ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ลบที่มาและใส่ชื่อตนเองลงไป
ซึ่งสิ่งทั้งหลายเป็นธรรมดดาของมนุษย์โลก ที่มีความคิดและจิตสำนึกที่แตกต่างกัน
ซึ่งตัวผู้เขียนนั้นไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ เพียงเพื่อจะถ่ายทอดความรู้สึกคิดและมุมมอง
เผยแผ่ธรรมะออกไป ซึ่งธรรมะทั้งหลายนั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นของที่อยู่คู่กับ
ธรรมชาติ คู่โลกกันมา เพียงแต่การใช้ภาษานั้น อาจจะแตกต่างกันในสำนวนและลีลา
แต่เนื้อหาและความหมายต่างก็ไปในทิศทางเดียวกัน คือการสร้างสรรค์ให้โลกนี้นั้น
สงบและร่มเย็น ชี้ให้เห็นคุณและโทษของกิเลสทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความจางคลาย
ในทิฏฐิมานะและอัตตา ตัณหาและอุปทาน ธรรมะนั้นจึงไม่ควรมีการสงวนลิขสิทธิ์
ยึดถือมาเป็นของผู้ใดแต่ผู้เดียว ทุกอย่างนั้นขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดและจิตสำนึก
ของแต่ละคน ที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากธรรมะนั้น....
.....เรื่องเล่าจากเขาเรดาร์ "ตถตาอาศรม "บทที่เก้า.....
...กาพย์ยานี๑๑...
...มองหา  ก็มองเห็น           ซึ่งความเป็น  ในโลกนี้
หลายหลาก  และมากมี        ได้พบเห็น  เป็นประจำ
เห็นแล้ว  เก็บมาคิด             มาพินิจ  ให้เห็นธรรม
ก่อเกิด  กุศลกรรม               รู้เข้าใจ  ในความจริง
ทุกสิ่ง  นั้นเคลื่อนไหว          แปรเปลี่ยนไป  ในทุกสิ่ง
ไม่เคย  จะหยุดนิ่ง              ล้วนเกิดดับ  ธรรมดา
เกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่               มองให้รู้  เห็นปัญหา
ใช้จิต  ใช้ปัญญา                มองทุกอย่าง  ว่างอัตตา
วางจิต  ให้เป็นกลาง            จะไม่สร้าง  ซึ่งปัญหา
ลดละ  ในอัตตา                 เดินตามธรรม ดำเนินไป
มองหา ทั้งสองด้าน             มองให้ผ่าน  สู่ข้างใน
ดีชั่ว  จงดูไป                     มองให้เห็น  ทั้งสองทาง
ทั้งโทษ  และทั้งคุณ           มองและหมุน หาช่องว่าง
รู้แล้ว  ก็ละวาง                  จิตเข้าใจ ก็เห็นธรรม
ดีชั่ว  ใครกำหนด               หรือเป็นกฏ  ผลของกรรม
สิ่งคิด  และสิ่งทำ               ล้วนใจเรา  กำหนดมา
ทุกอย่าง เริ่มจากจิต            จากความคิด  ส่งออกมา
จึงเกิด  เป็นปัญหา              เพิ่มกิเลส ให้แก่ตน
เพ่งโทษ  ผู้อื่นเขา              เท่ากับเอา  มาปะปน
กิเลส  ในใจตน                  เป็นทบเท่า ทวีคูณ
...มองหา  ก็มองเห็น           มองให้เป็น  สิ่งดับสูญ
อย่าเอา  มาเพิ่มพูน             จงปล่อยปละ  และละวาง
วางใจ  และวางจิต              จงอย่าคิด  จิตเข้าข้าง
มองหา  ในเส้นทาง             สู่สงบ  และร่มเย็น
สงบ  สยบได้                    สิ่งเคลื่อนไหว  ในที่เห็น
วางใจ  วางจิตเป็น               ใจสงบ  เมื่อพบธรรม....
          ...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
          ...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๙ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี



122
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
 เสาร์ที่๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
....บางครั้งในสิ่งไม่อยากจะทำก็ต้องทำและในสิ่งที่อยากจะทำก็ไม่ได้ทำซึ่งทุกอย่างนั้น
 มันขึ้นอยู่กับ จังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคล เป็นเหตุและปัจจัยให้เกิดสิ่งนั้น
พิจารณาเป็นธรรมะ มันก็อยู่ในฐานเวทนาหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ คือความยินดีและไม่ยินดี
ถ้าเราได้กระทำในสิ่งที่เรายินดี ในสิ่งที่ชอบ ในสิ่งที่ใช่  ใจของเราก็จะมีความยินดีพอใจ
ในสิ่งที่กระทำนั้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราฝืนทำในสิ่งที่เราไม่ชอบไม่พอใจ ใจของเรานั้น
ก็จะเกิดความไม่ยินดี คืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ความยินดีและไม่น่ายินดี สิ่งนี้เกิดขึ้น
เพราะว่าเราไปยึดติดกับความคิดและจริตของตัวเราจนเกินไป ปฏิเสธในสิ่งที่ใจนั้นไม่ชอบ
ซึ่งสิ่งนั้นอาจจะประกอบด้วยกุศลและมีผลที่ดี ทำให้เสียโอกาศอันดีไปเพราะใจเราปฏิเสธ
มันเป็นกิเลสที่ประกอบไปด้วยอัตตาและทิฏฐิมานะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรลด ควรละและควรเลิก
แต่ถ้าเราได้หมั่นฝึกฝนจิตของเรา ให้อยู่เหนือเหตุและผล ปฏิบัติตนไปตามบทบาทและหน้าที่
ทำทุกอย่างให้มันดี ให้มันเต็มที่เสมอกัน มันก็จะไม่มีสิ่งนั้น คือสิ่งที่ชอบและสิ่งไม่ชอบ
เพราะทุกอย่างประกอบไปด้วยกุศล ถ้าเราค้นหาและพิจารณาโดยโยนิโสมนัสสิการ....
.....เรื่องเล่าจากเขาเรดาร์ " ตถตาอาศรม " บทที่แปด.....
...กาพย์ยานี ๑๑...
.....มากมายหลายเรื่องราว    ซึ่งข่าวคราวที่ส่งมา
ร้อยเรื่องร้อยปัญหา             ทำให้คิดและติดตาม
ทางโลกและทางธรรม          จิตน้อมนำมิมองข้าม
เฝ้าดูอยู่ทุกยาม                 เฝ้าดูจิตที่คิดไป
ผัสสะมากระทบ                 และมันจบลงที่ใจ
บางครั้งจิตหวั่นไหว             ต่อผัสสะที่มีมา
คล้อยตามกระแสโลก          จึงทุกข์โศกกับปัญหา
เพราะจิตมีอัตตา                 ชี้ถูกผิดด้วยจิตตน
พลั้งเผลอใช่พลั้งพลาด        มีโอกาศจะฝึกฝน
เผลอไปให้รู้ตน                  เตือนสติให้กลับมา
วางจิตอยู่ในกาย                ไม่เสาะส่ายออกไปหา
ดูจิตดูกายา                       ไม่ส่งจิตออกนอกกาย
จิตที่ส่งออกนั้น                  รู้ให้ทันอย่าให้หาย
เป็นเหตุสมุทัย                   ทำให้ทุกข์นั้นเกิดมา
จิตรู้จิตเห็นจิต                    เห็นความคิดรู้ปัญหา
สิ่งนั้นคือมรรคา                  ที่จะดับทุกข์นั้นไป
ผลจากการเห็นจิต               ดับสนิทสิ้นสงสัย
สว่างขึ้นในใจ                    เป็นนิโรธที่ดับลง
วางจิตไว้ในกาย                 อย่างมั่นหมายมิไหลหลง
ตั้งจิตให้มั่นคง                   โดยเอาธรรมมานำทาง
นำทางสร้างชีวิต                 และนำจิตสู่สว่าง
เดินในทางสายกลาง            ตามมรรคแปดควบคุมตน
.....ชีวิตอิสระ                    ไร้พันธะเพราะหลุดพ้น
หลุดออกจากวังวน               ในวัฏฏะที่เป็นมา
เข้าสู่กระแสธรรม                 บุญหนุนนำให้ล้ำค่า
ก่อเกิดซึ่งปัญญา                 ตาสว่างเพราะทางธรรม...
.........ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต.........
.........รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร........
๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๒๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

123
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
     ......เคยเบื่อความวุ่นวายของสังคม หลีกเร้นไปอยู่ตามถ้ำในป่าเขาและบนดอย
แต่ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ย่อมต้องอยู่ร่วมและอาศัยศรัทธาของผู้คนในถิ่นนั้น
ในการหาเลี้ยงชีพและเมื่อมีการพบปะกัน ความวุ่นวายย่อมตามมา ปัญหามันมีอยู่ใน
ทุกที่ที่มีคน เมื่อได้รู้และเห็นเป็นอย่างนั้น จึงต้องกลับมาทบทวนใหม่ ว่าจะดำเนิน
ชีวิตอย่างไรในสังคมอันวุ่นวาย จึงได้เอาปัจจุบันธรรมนั้นมาคิดพิจารณาเป็นอารมณ์
กรรมฐาน...ดูโลกที่เคลื่อนไหว แต่จิตไม่หวั่นไหว นิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว..
เพิ่มกำลังของสัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อม ให้มีกำลังเท่าทันเสมอกันกับกำลังของสติ
ลดกำลังของสมาธิซึ่งเป็นสมถะกรรมฐาน ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาญาณ ด้วยการตามดู ตามรู้
และตามเห็น ความเป็นไปของ กาย เวทนา จิต ธรรม มองเห็นคุณ เห็นโทษ เห็นประโยชน์
และมิใช่ประโยชน์ในสรรพสิ่ง มองให้เห็นความเป็นจริงตามกฏของพระไตรลักษณ์ อันได้แก่
อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้และแน่นอน ทุกขัง ความเป็นทุกข์ทั้งทางกายและทางใจจากสิ่งนั้น
อนัตตา ความเป็นสิ่งที่สมมุติขึ้นมา เข้าไปยึดถือไม่ได้ เห็นการเกิดขึ้น การตั้งอยู่และการดับไป
จนเกิดความเข้าในในสรรพสิ่ง เห็นความเป็นจริงในสิ่งทั้งหลายว่า...มันเป็นเช่นนั้นเอง...
       .....เรื่องเล่าจากเขาเรดาร์ " ตถตาอาศรม ".....
...เบื่อเบื่อ อยากอยาก หลายครั้ง    ครั้งยัง ฝึกฝน ใหม่ใหม่
หลบหลีก อยู่ตาม พงไพร             หวั่นไหว ต่อโลก มายา
ไม่ว่า จะอยู่ ที่ไหน                     ไม่ไร้ วุ่นวาย ปัญหา
เพราะต้อง พบปะ พึ่งพา               ศรัทธา หาเลี้ยง ชีพตน
มีคน ก็มี ปัญหา                         เพราะว่า หลบหลีก ไม่พ้น
จึงต้อง ฝึกความ อดทน                ฝึกจน ให้เกิด ชำนาญ
ตามดู ตามรู้ ตามเห็น                  ให้เป็น อารมณ์ กรรมฐาน
รู้กาย รู้จิต เหตุการณ์                   คิดอ่าน อารมณ์ ปัจจุบัน
รู้ตัว รู้ทั่ว รู้พร้อม                        นำน้อม ความคิด สร้างสรรค์
ตามดู รู้จิต ให้ทัน                      สิ่งนั้น วิปัส-สนา
ถอนจิต จากความ สงบ                เมื่อพบ กับตัว ปัญหา
แก้ไข โดยใช้ ปัญญา                 มองหา ให้เห็น เป็นจริง
มองให้ เห็นคุณ และโทษ            ประโยชน์ หรือไม่ ในสิ่ง
รู้เห็น ตามความ เป็นจริง              จิตนิ่ง ก็มอง เห็นธรรม
เห็นการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่                และรู้ การดับ ลึกล้ำ
ชั่วดี ก่อเกิด บุญกรรม                 น้อมนำ สู่จิต คิดตาม
เคลื่อนไหว แต่ไม่ หวั่นไหว          ถ้าใจ มั่นใน ข้อห้าม
เฝ้าดู จิตอยู่ ทุกยาม                  เดินตาม ธรรมะ ชี้นำ
...เคลื่อนไหว วุ่นวาย สับสน         เหตุผล ปัญหา ตอกย้ำ
มนุษย์ เป็นไป ตามกรรม              ใครทำ ต้องรับ กรรมไป....
               .....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต.....
                 ...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๙ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี         

124
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึงชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
.....เวลาจะช้าหรือจะเร็วนั้น มันขึ้นอยู่กับความรู้สึกของเรา
กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ถ้าเรารู้สึกยินดีกับสิ่งที่กำลังเป็น
และเพลิดเพลินกับสิ่งนั้น เราจะรู้สึกว่าเวลานั้นแสนสั้นเหลือเกิน
เพราะว่าใจของเรานั้นผูกพันธ์ยึดถืออยู่กับสิ่งนั้น ไม่อยากจะให้มัน
ผ่านพ้นไป ในทางกลับกัน ถ้าในเวลานั้นเรารู้สึกไม่พอใจไม่ยินดี
กับสิ่งที่กำลังมีและกำลังเป็น อยากจะให้มันผ่านไปจบสิ้นไปโดยเร็ว
เราก็จะรู้สึกว่าเวลานั้นผ่านไปช้าเหลือเกิน เพราะใจของเราไม่ชอบ
และปฏิเสธในสิ่งที่กำลังเป็นไป มันจึงรู้สึกว่าเวลานั้นผ่านไปช้ามาก
เวลาในแต่ละช่วงนั้นมันมีระยะที่เท่ากันอยู่เสมอ ไม่มีช้าหรือเร็ว
มันเป็นไปตามปกติวิสัยที่เราสมมุติขึ้นมา แต่ที่ทำให้รู้สึกว่าช้าหรือเร็วนั้น
มันขึ้นอยู่ที่ใจของเรา...
.....เรื่องเล่าจากเขาเรดาร์ " ตถตาอาศรม "บทที่หก.....
...วันเวลา ผ่านไป ไม่หยุดนิ่ง   
 สรรพสิ่ง เคลื่อนไหว ในทุกหน
แม้นแต่จิต และใจ ภายในตน   
ยังดิ้นรน ไขว่คว้า หาทางไป
...ภายนอกนั้น อาจจะดู ว่าสงบ
แต่ค้นพบ ว่าจิตนั้น ยังหวั่นไหว
กระแสโลก ที่กระทบ จบที่ใจ
จิตหวั่นไหว เพราะว่าใจ ไม่มั่นคง
...จึงตามดู ตามรู้ ดูที่จิต
ดูความคิด ของจิต เมื่อมันหลง
ดูให้เห็น ความเป็นอยู่ แล้วก็ปลง
จิตมั่นคง เมื่อมีธรรม นั้นนำทาง
...ความเคยชิน ที่สะสม มานมนาน
เพราะว่าผ่าน หลายเรื่องราว ในโลกกว้าง
การจะลด การจะเลิก การจะวาง
จึงต้องสร้าง ความชินใหม่ ไปทดแทน
...นั้นคือการ ละลาย พฤติกรรม
ที่เคยทำ จนเกาะกุม เป็นปึกแผ่น
จึงต้องสร้าง สิ่งใหม่ ไปทดแทน
แม้นจะแสน ยากนัก จักต้องทำ
...ทุกอย่างนั้น มีแนวทาง จะแก้ไข
อยู่ที่ใจ ของเรา จะหนุนค้ำ
ยอมแก้ไข ในสิ่ง ที่เคยทำ
พฤติกรรม เก่าเก่า ยอมละวาง
...ยอมลดละ อัตตา และมานะ
ยอมลดละ ทำใจ ให้เปิดกว้าง
โลกทัศน์ ชีวทัศน์ ต้องจัดวาง
เปลี่ยนทุกอย่าง ที่เคยทำ กรรมไม่ดี
...ไม่มีคำ ว่าสาย หากเริ่มต้น
ความหลุดพ้น มีได้ ในทุกที่
เริ่มจากใจ จากจิต คิดให้ดี
ต้องเริ่มที่ ใจของเรา เท่านั้นเอง...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี





125
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
........วันนี้เขียนบทกวีช้าไป เพราะมีภาระกิจมากมายในยามเช้า
สืบเนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมา มีทั้งลมและฝน ทำให้ใบไม้ร่วงหล่น
มากกว่าปกติที่เคยเป็นมา ทำให้ต้องใช้เวลาในการทำความสะอาด
ปัดกวาดทางเดินและที่พักมากกว่าทุกวันที่ผ่านมา กวาดใบไม้ไป
ก็พิจารณาธรรมไปด้วย ใบไม้ที่หล่นลงมาก็เปรียบเหมือนกิเลสที่จรมา
ถ้าเราไม่เฝ้าระวังรักษา มันก็จะทับทม ทำให้ยากยิ่งขึ้นในการที่จะจัดการ
ทำความสะอาดปัดกวาดมัน ฉันใดก็ฉันนั้น กิเลสที่จรเข้ามา ถ้าเราไม่พิจารณา
ขจัดมันออกไป ปล่อยให้มันเกาะกุมจิตของเราอยู่ มันก็เหมือนดินพอกหางหมู
ที่นับวันจะเพิ่มขึ้น...จิตนี้บริสุทธิ์ประภัสสร แต่กิเลสที่จรมาทำจิตนี้ให้เศร้าหมอง...
....เรื่องเล่าจากเขาเรดาร์ " ตถตาอาศรม ".....
...ร่วงหล่นบนทางเท้า   ทุกค่ำเช้าเฝ้าปัดกวาด
รักษาความสะอาด        มิให้ขาดในทุกวัน
ใบไม้เจ้าร่วงหล่น         ตามกาลกลเป็นเช่นนั้น
ร่วงหล่นทุกคืนวัน         เปลี่ยนแปรผันตามเวลา
ร่วงหล่นลงสู่พื้น           ร่วงลงคืนพสุธา
ตามกาลและเวลา         มีเกิดมามีดับไป
ใบไม้ให้ร่มเงา             เมื่อยามเจ้าเขียวสดใส
ไม่นานก็จากไป           ใบไม้ใหม่มาทดแทน
ร่วงหล่นลงสู่พืน           เจ้ากลับคืนสู่ดินแดน
มิเคยจะหวงแหน         เจ้าทดแทนคุณแผ่นดิน
เปื่อยเน่าย่อยสลาย      มีความหมายไปทั้งสิ้น
พันธุ์ไม้ได้ดูดกิน         ตอบแทนดินถิ่นที่มา
...ใบไม้แม้นน้อยนิด     แต่ชีวิตไม่ไร้ค่่า
ตั้งแต่กำเนิดมา           มีคุณค่านับอนันต์
คนเรานั้นควรคิด          ถึงชีวิตที่เป็นนั้น
ผ่านคืนและผ่านวัน       เคยสร้างสรรค์ประโยชน์ใด
ชีวิตอย่าไร้ค่า             อย่าน้อยกว่าเจ้าใบไม้
รีบสร้างหนทางไป        เพื่อสิ่งใหม่ที่มั่นคง
มั่นคงดำรงค์อยู่           และเป็นผู้ไม่โลภหลง
ความดีนี้ยืนยง            จะเสริมส่งซึ่งศรัทธา
ชีวิตที่เหลืออยู่            จงเรียนรู้และศึกษา
เสริมสร้างทางปัญญา    และรักษาคุณธรรม
คุณธรรมนำชีวิต          คุ้มครองจิตและชี้นำ
ก่อเกิดกุศลกรรม         ที่จะนำสู่ความดี....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๒๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
                   

126
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
.....มีผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมมาถามอยู่เสมอว่า...
ปฏิบัติอย่างไร จึงจะเกิดความก้าวหน้าความเจริญในธรรม
ก็ตอบเขาเหล่านั้นไปว่า...ทำตัวตามปกติ เพียงแต่เพิ่มกำลังของ
สติสัมปชัญญะและองค์แห่งคุณธรรมให้มากขึ้น คือมีการระลึกรู้และ
รู้ตัวทั่วพร้อมให้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา พร้อมทั้งมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
ให้มากขึ้น...นั้นแหละคือความเจริญก้าวหน้าในธรรม....
 .....เรื่องเล่าจากเขาเรดาร์ "ตถตาอาศรม "บทที่สี่.....
...ออกรอนแรม ท่องไป ในโลกกว้าง  
 เห็นหลายอย่าง มากมาย ในโลกนี้
ทั้งที่เป็น ความชั่ว และสิ่งดี
ทุกอย่างมี ให้พบเห็น เป็นธรรมดา
...ทุกอย่างล้วน มีคุณ และมีโทษ
มีประโยชน์ ถ้าพินิจ และศึกษา
มองให้เห็น ที่ไป และที่มา
จะรู้ว่า ทุกสิ่งนี้ ล้วนมีคุณ
...อย่ารีบด่วน ตัดสินใจ ปฏิเสธ
ควรหาเหตุ วิเคราะห์ มาเกื้อหนุน
เอาเหตุผล มาพินิจ คิดเป็นทุน
ลองคิดหมุน กลับไป และกลับมา
...รู้ทั้งนอก ทั้งใน กายใจจิต
หมั่นพินิจ วิเคราะห์ และศึกษา
เสริมสร้างภูมิ ต้านทาน ทางปัญญา
ภาวนา เพิ่มสติ ใช้ตริตรอง
...อย่ารีบเชื่อ ทันที ที่ได้เห็น
มันจะเป็น งมงาย ไร้สมอง
ควรฝึกหัด ทบทวน และทดลอง
อย่าไปมอง ด้านเดียว มันไม่ดี
...ปฏิเสธ ทันที เสียโอกาส
อาจจะพลาด โอกาสไป ในทุกที่
เชื่อทันที ก็จะไม่ ส่งผลดี
ควรจะมี การวิเคราะห์ ใช้ปัญญา
...ควรฝึกหัด ตั้งโจทย์ เพื่อฝึกคิด
ควรตั้งจิต เป็นกลาง เมื่อศึกษา
มองหลายด้าน ให้เห็น ด้วยปัญญา
จงมองหา มองให้เห็น ความเป็นจริง
...ในปัญหา ทุกอย่าง มีทางออก
ถ้ารู้นอก รู้ใน และใจนิ่ง
เมื่อจิตว่าง ก็จะเห็น ความเป็นจริง
สรรพสิ่ง ล้วนเป็น เช่นนั้นเอง....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๕๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี



127
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
จันทร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
...เก็บเกี่ยวเรื่องราวที่ได้พบเห็น มาถ่ายทอดเป็นบทกวี
เพื่ออนุรักษณ์ซึ่งศักดิ์ศรี ความสวยงามของภาษาไทย
ฝากไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษา...
...เรื่องเล่าจากเขาเรดาร์ "ตถตาออาศรม " บทที่สาม...
...ได้รู้และได้เห็น ความที่เป็นในโลกนี้
คละเคล้าทั้งชั่วดี ล้วนแต่มีให้พบเจอ
มองหาคุณประโยชน์ และทุกข์โทษอยู่เสมอ
วางใจไม่เพลอเรอ สิ่งที่เจอต้องจดจำ
จำไว้เป็นบทเรียน และหมั่นเพียรอย่างสม่ำ
ฝึกคิดและฝึกทำ ฝึกน้อมนำสู่ทางดี
ดีชั่วตัวกำหนด ไปตามบทที่มันมี
เก็บไว้แต่สิ่งดี ความชั่วนี้อย่าได้ทำ
ทุกอย่างเกิดจากจิต ความนึกคิดก่อเกิดกรรม
คิดพูดและกระทำ เป็นสิ่งนำกรรมตามมา
สร้างเหตุและปัจจัย สร้างสิ่งใหม่มีเนื้อหา
เชื่อมั่นและศรัทธา จิตก้าวหน้าไร้กังวล
วางใจและตั้งใจิต ก่อนที่คิดพูดทุกหน
กล่าวสิ่งเป็นมงคล สร้างกุศลให้ตนเอง
อย่าเอาความคิดตน สร้างเหตุผลไปข่มเหง
ข่มขู่ให้เขาเกรง ทางนักเลงอันธพาล
ผูกใจและผูกจิต สร้างมวลมิตรจิตประสาน
ร่วมคิดร่วมสร้างงาน จิตเจือจานมีเมตตา
อ่อนน้อมและถ่อมตน เคารพคนที่เนื้อหา
กล่าวถ้อยเจรจา แสวงหาจุดร่วมกัน
จุดต่างควรสงวน และไม่ควรจะเดียจฉันท์
ไม่ควรตำนิกัน ร่วมสร้างสรรค์สามัคคี
สังคมจะร่มเย็น ถ้าโลกเป็นเช่นว่านี้
ทุกคนจะยินดี ถ้าโลกนี้รักใคร่กัน...
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร...
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๙.๐๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

128
อาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
...เดินทางร้องลี้ ดีกว่าอ่านหนังสือหมื่นเล่ม...จากประสพการณ์ที่ผ่านมา
ทั้งในทางโลกและทางธรรม ช่วงหนึ่งของชีวิตแห่งการเดินทางได้ประสพ
พบเห็นอะไรมามากมาย เก็บบันทึกไว้ในความทรงจำ น้อมนำมาพิจารณา
มองหาที่มาและที่ไปของมัน ทุกอย่างล้วนเกิดจากเหตุและมีปัจจัยเป็นตัว
ประกอบ ค้นหาให้เห็นซึ่งที่มา ว่าเป็นมาอย่างไร ก่อนที่เราจะได้รู้และได้เห็น
มันดำเนินไปเช่นไรและจะจบลงที่จุดไหน การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปนั้น
เป็นเรื่องธรรมดาของโลก ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่ากฏพระไตรลักษณ์
คือความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นสิ่งสมมุติทั้งหลาย ยึดถือไม่ได้
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นธรรมดาของสรรพสิ่งในโลกนี้.....
......เรื่องเล่าจากเขาเรดาร์ บทที่สอง.....
สรรพสิ่งเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง
คือความจริงสัจจะในวันนี้
และปัญหาหลายหลากที่มากมี
คือสิ่งที่ต้องคิดพิจารณา...
...ทุกอย่างนั้นล้วนเกิดจากต้นเหตุ
ควรสังเกตุวิเคราะห์และศึกษา
ทุกอย่างนั้นมีเหตุให้เกิดมา
จงมองหาให้เห็นความเป็นจริง...
...เมื่อรู้เห็นและเข้าใจในที่เกิด
จิตบรรเจิดย่อมเข้าใจสรรพสิ่ง
เห้นเหตุผลและปัจจัยใช้อ้างอิง
เพราะทุกสิ่งล้วนเกิดดับธรรมดา...
...มีเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับ
เปลี่ยนสลับกันไปตามเนื้อหา
อนิจจังทุกขังอนัตตา
ธรรมดามันเป็นเช่นนั้นเอง...
...เมื่อจิตรู้และเข้าใจในสิ่งนี้
ก็ไม่มีอะไรไปข่มเหง
เกิดละอายในชั่วและกลัวเกรง
จิตก็เก่งมีสติใช้ตริตรอง...
...เมื่อมองโลกมองธรรมนำมาคิด
ชำระจิตชำระใจไม่เศร้าหมอง
ดำเนินจิตก้าวไปในครรลอง
และเฝ้ามองกายจิตคิดถึงธรรม...
...มีสติระลึกรู้อยู่ทั่วพร้อม
จิตก็น้อมพาใจไม่ใฝ่ต่ำ
จิตก็เดินไปในโลกและในธรรม
เพราะน้อมนำธรรมะมานำทาง..
...เดินตามธรรมนำทางสว่างจิต
นำชีวิตก้าวไปใจสว่าง
รู้จักลดรู้จักละรู้จักวาง
ไม่หลงทางเพราะมีธรรมนั้นนำไป...
....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
....รวี สัจจะ-สมณธไร้นาม-วจีพเนจร....
๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

129
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
วันเสาร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
...เรียบเรียงอักษรเป็นบทกลอนบทกวีเพื่อที่จะทบทวนความทรงจำ
ในฉันทลักษณ์คำประพันธ์และรักษาไว้ซึ่งภาษาที่สวยงาม...
.....เรื่องเล่าจากเขาเรดาร์.....
ซ่อนเร้นอยูบนภูเขา...ใต้เงาของมวลพฤกษา
หลบหลีกซึ่งกาลเวลา...ค้นหาซึ่งสัจจธรรม
โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย...สหายมีมาเช้าค่ำ
มาเพื่อขอคำแนะนำ...ทางธรรมทางโลกมีมา
แนะนำส่่งเสริมแก้ไข...สิ่งใดที่เป็นปัญหา
ตรึกตรองลองใช้ปัญญา...มองหาทางออกให้มัน
ปัญหาทุกอย่างแก้ได้...หากใช้ธรรมะจัดสรรค์
พอเพียงพอดีมีกัน...แบ่งปันทุกอย่างลงตัว
เอาธรรมมานำความคิด...วางจิตไม่คิดทำชั่ว
บาปกรรมนั้นต้องเกรงกลัว...ความชั่วจงอายอย่าทำ
หิริและโอตตัปปะ...ธรรมะที่มีค่าล้ำ
สิ่งนี้คือเทวธรรม...ชี้นำให้เป็นคนดี
อัตตาทิฏฐิมานะ...มักจะเป็นตัวบ่งชี้
ปัญหาทุกอย่างที่มี...สิ่งนี้แหละเป็นตัวการ
ตัวกูของกูยึดถือ...มันคือต้นเหตุพื้นฐาน
ยึดถือกันมานมนาน...เกิดการไม่ยอมละวาง
มองเพียงประโยชน์ของตน...เหตุผลเอามากล่าวอ้าง
ตนเองถูกไปทุกทาง...ทุกอย่างต้องตามใจตน
มันจึงเกิดเป็นปัญหา...เพราะว่าไม่ฟังเหตุผล
ยึดถือความคิดของตน...ของคนอื่นนั้นผิดทาง
เมื่อใดที่ยอมลดละ...ก็จะเห็นทางสว่าง
เมื่อใดทำใจเป็นกลาง...ทุกอย่างก็จบสิ้นกัน
...ปัญหาเกิดจากอัตตา...เพราะว่าไปติดยึดมั่น
ทิฏฐิมานะละกัน...เมื่อนั้นจะพบเส้นทาง...
.....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต.....
.....รว สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร......
๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๑๔ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

130
บทความ บทกวี / กวีธรรมส่องนำทาง
« เมื่อ: 20 พ.ค. 2554, 08:42:24 »
ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
.....กวีธรรมส่องนำทาง.....
กวีธรรมนำทางสร้างชีวิต
กวีธรรมนำจิตนิมิตใหม่
กวีธรรมส่องนำกายและใจ
กวีธรรมทำให้ใจร่มเย็น...
...กวีธรรมทำให้ใจนึกคิด
กวีธรรมชี้ให้จิตนั้นได้เห็น
กวีธรรมสอนพินิจคิดให้เป็น
กวีธรรมที่ได้เห็นนั้นส่องทาง...
...กวีธรรมนำเรื่องราวมาเล่าสู่
กวีธรรมบอกให้รู้ถึงแบบอย่าง
กวีธรรมนั้นเตือนใจให้ละวาง
กวีธรรมคือแบบอย่างเส้นทางธรรม...
...กวีธรรมนั้นกลั่นมาจากจิต
กวีธรรมคือนิมิตที่ลึกล้ำ
กวีธรรมลบล้างความมืดดำ
กวีธรรมชี้นำให้ก้าวเดิน...
...กวีธรรมน้อมนำให้นึกคิด
กวีธรรมเหมือนมิตรไม่เก้อเขิน
กวีธรรมทำให้ใจเพลิดเพลิน
กวีธรรมดำเนินอยู่เรื่อยไป...
...กวีธรรมนั้นอยู่คู่กับโลก
กวีธรรมอำนวยโชคให้สดใส
กวีธรรมน้อมนำซึ่งจิตใจ
กวีธรรมทำให้ใจถึงธรรม...
...กวีธรรมล้ำเลิศประเสริฐนัก
กวีธรรมคือที่พักผู้บอบช้ำ
กวีธรรมปลอบใจผู้มีกรรม
กวีธรรมชี้นำผู้ทุกข์ทน...
...กวีธรรมชี้ทางสว่างจิต
กวีธรรมช่วยชีวิตให้หลุดพ้น
กวีธรรมมอบให้แด่ทุกคน
กวีธรรมสร้างกุศลธรรมทาน...
...ด้วยความปรารถนาดี...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๔๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

131
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
   ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
                 บทกวีในตอนใกล้ค่ำ คือลำนำของชีวิต เป็นความรู้สึกนึกคิด ของจิตวิญญาณกวี
ถ่ายทอดผ่านตัวอักษร เป็นกาพย์ เป็นกลอนตามห้วงวิถี สร้างสรรค์ในสิ่งที่ดี เท่านี้ก็พึงพอใจ..
....โดดเดี่ยวบนภูผาในเวลาใกล้ค่ำ....
รอนรอนตะวันลับ เสียงนกขับกังวาลมา
ใกล้ค่ำสนธยา หมู่นกกาบินกลับรัง
เมฆน้อยลอยเคว้งคว้าง ลอยไปอย่างคนสิ้นหวัง
สายลมมีพลัง พัดเมฆบังทั่วนภา
ฟ้าครึ้มเมื่อใกล้ค่ำ หม่านเมฆดำปกคลุมฟ้า
ไม่นานฝนคงมา ปลุกชีวาให้พืชพันธุ์
โดดเดี่ยวและเดียวดาย ซุกซ่อนกายตามหาฝัน
ผ่านคืนและผ่านวัน เดินตามฝันในหนทาง
โดดเดี่ยวไม่เปลี่ยวเหงา อยู่บนเขาไม่อ้างว้าง
เอาธรรมมานำทาง แสงสว่างในทางเดิน
มองโลกและมองธรรม ก็สุขล้ำไม่มีเกิน
พาใจให้เพลิดเพลิน เมื่อได้เดินในทางธรรม
เอาธรรมนำชีวิต ปกป้องจิตมิให้ต่ำ
กุศลบุญหนุนนำ ประกอบกรรมในสิ่งดี
ชีวิตที่ผ่านมา ได้เห็นค่าชีวิตนี้
หลายหลากและมากมี ในสิ่งที่ต้องกระทำ
ทางกายและทางจิต ทำชีวิตให้เลิศล้ำ
ความชั่วไม่ครอบงำ เพราะมีธรรมนำชีวี
สร้างคุณบุญกุศล เป็นมงคลบารมี
ต่อเติมเสริมราศรี สร้างสิ่งดีตลอดไป
...รอนรอนตะวันลับ เพื่อพบกับสิ่งแปลกใหม่
ชีวิตดำเนินไป อยู่ภายใต้เส้นทางธรรม....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
........รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม.......
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๘.๓๓ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

132
บทความ บทกวี / สายธารแห่งกาลเวลา
« เมื่อ: 14 พ.ค. 2554, 08:14:17 »
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
   ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
       ช่วงนี้พอจะมีเวลาว่าง เพราะภาระกิจการเดินทางนั้นน้อยลง
จึงต้องเร่งเขียนงาน เพื่อให้ทันต่อการที่จะนำมาพิมพ์รวมเป็นเล่ม
ซึ่งยังขาดอีกไม่มากก็จะเสร้จสมบูรณ์...
...สายธารแห่งกาลเวลา...
ดอกบัวบานงามเด่นเป็นสง่า
เสียงนกกาขับขานกังวาลใส
วันเวลาแห่งชีวิตล่วงเลยไป
เช้าวันใหม่ตื่นขึ้นมารับอรุณ
...อรุณรุ่งเรืองรองแสงทองส่อง
นั่งเหม่อมองท้องฟ้าพาใจให้อบอุ่น
ธรรมชาติสรรค์สร้างอย่างสมดุลย์
ธรรมชาติมีคุณเกินบรรยาย
...สายลมพัดโชยมาจากชายเขา
ลมแผ่วเบาพัดมาเมื่อยามสาย
สายลมเย็นพัดผ่านให้สบาย
ลมต้องกายสบายใจไร้กังวล
...นั่งทบทวนชีวิตที่ผ่านมา
มองหาค่าควรคู่ซึ่งเหตุผล
นับเป็นบุญที่ได้เกิดมาเป็นคน
เป็นกุศลได้สร้างเส้นทางดี
...ชีวิตนี้ไม่ยืนยาวอย่างที่คิด
ควรจะใช้ชีวิตให้ถูกที่
ทำชีวิตให้พอเพียงและพอดี
ทุกอย่างมีเหตุและผลค้นให้เจอ
...ช่วงเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่
ควรเรียนรู้สร้างสรรค์อยู่เสมอ
อย่าประมาทปล่อยใจให้เผลอเรอ
สิ้่งที่เจอควรคิดพิจารณา
...ทุกสิ่งอย่างอยู่ในพระไตรลักษณ์
ไปตามหลักที่ได้เห็นและศึกษา
มีเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วจากลา
อนิจจาทุกขังอนัตตา
...อย่าประมาทในวัยที่เหลืออยู่
เร่งกอบกู้ให้ชีวิตมีเนื้อหา
อย่ามัวรอโอกาศและเวลา
วันข้างหน้าอาจไม่มีให้ได้เจอ....
.....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
.......รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม.....
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๑๔ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

133
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
    ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
           ห่างหายไปหลายวันต้องกลับมาลับสมองใหม่
เขียนบทกวีเรื่อยไป เป็นกาพย์ เป็นกลอน เพื่อให้ไม่ลืม
ภาษาและฉันทลักษณ์ รักษาและสืบทอดไว้ในภาษาที่สวยงาม
...จากภูผาสู่นาครตอนที่สอง...
หลีกหนี สังคม วุ่นวาย
มุ่งหมาย ความเงียบ สงบ
หลบหน้า ผู้คน ไม่พบ
แอบหลบ อยู่ตาม ภูดอย
สัญจร รอนแรม เรื่อยเรื่อย
ยามเหนื่อย หยุดพัก รอคอย
แสงแดด แผดร้อน ซ่อนรอย
แสงคล้อย จึงออก เดินทาง
ร้อยป่า ร้อยภู พันผา
ข้ามมา เพื่อสู่ โลกกว้าง
ศรัทธา ไม่เคย เจือจาง
หนทาง สายนี้ ยาวไกล...
...วันหนึ่ง ต้องออก จากป่า
ค้นหา ซึ่งเส้น ทางใหม่
เรียนรู้ ชีวิต ต่อไป
เพื่อให้ เข้าถึง หลักธรรม
ผัสสะ คือสิ่ง กระทบ
ต้องพบ อยู่ทุก เช้าค่ำ
ชีวิต มีกิจ ต้องทำ
ชี้นำ หนทาง ให้คน
ชี้ทาง ชี้โทษ ชี้ทุกข์
ประยุกต์ เข้ากับ เหตุผล
ส่งเสริม สิ่งเป็น มงคล
เหตุผล ที่ต้อง ออกมา...
...ไม่ว่า จะอยู่ ที่ไหน
ขอให้ ตั้งจิต รักษา
สำรวม กายจิต วาจา
รักษา จิตใจ ให้เย็น
ใจเย็น ใจนิ่ง ใจสุข
หมดทุกข์ จากสิ่ง ที่เห็น
วางใจ วางจิต ให้เป็น
ใจเย็น ใจนิ่ง..นิพพาน....
...เชื่อมั่นและศรัทธา...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม..
๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๔.๐๕ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

134
บทความ บทกวี / จากภูผาถึงนาคร
« เมื่อ: 13 พ.ค. 2554, 08:28:25 »
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
   ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
        " เป็นกวีนอนเปล่าก็เศร้าจิต
          จึงลิขิตอักษรเป็นกลอนสารน์
          เล่าเรื่องราวที่พบประสพการณ์
          บันทึกผ่านสายธารกาลเวลา "
                          กลับมาอีกครั้งสำหรับ วจีพเนจร หลังจากรอนแรมมายาวไกล จากเหนือไปอีสานแล้วลงใต้
กลับมากลับไปหลายพันกิโลเมตร กว่าจะเสร็จภาระกิจซึ่งใช้เวลาเกือบสองเดือนนั้น ก็ทำให้ร่างกายนั้นอ่อนเพลีย
ต้องพักผ่อนฟื้นตัวปรับธาตุอยู่หลายวัน ทำให้ห่างหายไปจากกระดานสนทนา วันนี้กลับมาพร้อมมอบบทกวีให้แก่
ท่านทั้งหลายได้สัมผัส ซึ่งภาษาที่ควรอนุรักษ์ ในความเป็นไทย
.....รอยทางที่ย่างผ่านและกาลเวลา....
คือม่านเมฆหมอกหนาวในราวป่า
เดือนธันวาหน้าหนาวคราวสิ้นฝน
ก่อนที่แสงอาทิตย์มาเยือนยล
ทุกแห่งหนมีให้เห็นเป็นบุญตา
อยู่ท่ามกลางไพรพนารักษาจิต
เพ่งพินิจมองเห็นและมองหา
มองให้เห็นกิเลสร้ายในกายา
เพียรศึกษาเจริญจิตภาวนา
เพื่อลดละอัตตาและมานะ
เพื่อจะละซึ่งกิเลสและตัณหา
เพื่อลบรอยล้างจิตอวิชชา
เพื่อจะพากายใจให้ร่มเย็น
เย็นด้วยธรรมนำใจบริสุทธิ์
ตามทางพุทธศาสตร์ที่ได้เห็น
เย็นด้วยธรรมนำให้รู้จึงอยู่เป็น
หมดทุกข์เข็ญเย็นด้วยธรรมที่นำทาง
เย็นทั้งนอกเย็นทั้งในสบายจิต
เมื่อจัดวางความคิดตามแบบอย่าง
รู้จักลดรู้จักละรู้จักวาง
นำจิตห่างจากทุกข์ก็สุขใจ
รู้อะไรก็ไม่สู้เท่ารู้จิต
รู้เท่าทันความคิดจิตแจ่มใส
รู้อะไรก็ไม่สู้เท่ารู้ใจ
ไม่มีใครรู้จักเราเท่าเราเอง
สายลมหนาวทำให้หนาวแต่ภายนอก
จิตมันหลอกเพราะกิเลสมันข่มเหง
ให้หนาวกายหนาวจิตคิดกลัวเกรง
ใจเราเองมันหลอกเราให้เศร้าใจ....
....เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี...
      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๒๖ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

135
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
       ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔
             ห่างหายไปจากกระดานสนทนาวัดบางพระไปหลายวัน เพราะมีภาระกิจต้องเดินทางตลอด
ขึ้นเหนือ-ลงใต้ ไปอีสาน ตั้งแต่วันที่ ๒๒ เมษายน เป็นต้นมา ทำให้ไม่มีเวลาที่จะเข้ามาเขียนบทความ
 บทกวี ในกระดานสนทนาของวัดบางพระแห่งนี้ เมื่อพอจะมีเวลาก็จะเข้ามาสนทนาแลกเปลี่ยนกัน
......กาลเวลาแห่งชีวิตที่เราลิขิตได้......
ห่างเหินใช่เหินห่าง...ระยะทางนั้นยาวไกล
สัญจรร่อนเร่ไป...สู่สิ่งใหม่ในหนทาง
มีพบย่อมมีจาก...กรรมจำพรากให้เหินห่าง
วางใจให้เป็นกลาง...ทุกสิ่งอย่างจะเข้าใจ
เข้าใจในชีวิต...เมื่อตั้งจิตคิดแบบใหม่
ผ่านมาให้แล้วไป...ตั้งต้นใหม่ใจมั่นคง
ทางเดินของชีวิต...อยู่ที่จิตคิดนำส่ง
ศรัทธาต้องยืนยง...และมั่นคงในหลักการ
จังหวะและเวลา...โอกาศมาอย่าให้ผ่าน
คิดต่อก่อเป็นงาน...เพื่อสืบสานจินตนา
ทุกคนย่อมมีฝัน...อยากพบวันปรารถนา
ก้าวผ่านกาลเวลา...เรียนรู้ค่าประสพการณ์
ฝันไว้ไปให้ถึง...คิดคำนึงตามหลักฐาน
ก้าวไปในสายธาร...แม้นยาวนานอย่าท้อใจ
รางวัลของชีวิต...ผ่านถูกผิดมาเรื่อยไป
สิ่งหวังและตั้งใจ...คงไม่ไกลถ้ายังเดิน
เดินไปในทางฝัน...จิตสร้างสรรค์น่าสรรเสริญ
ทำใจให้เพลิดเพลิน...ความเจริญจะตามมา
คิดดีและทำดี...ในสิ่งที่มีเนื้อหา
เชื่อมั่นและศรัทธา...ความก้าวหน้าจะมาเอง....
...ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
..........รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม..........
๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๑๔ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

136
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
๒๘ เมษายน ๒๕๕๔
      ....ชีวิตนี้ยังมีหนทางไป...
ฟ้าครึ้มยามฝนพรำ      เมฆหมอกดำปกคลุมฟ้า
ม่านเมฆหมอกมายา    ปกคลุมฟ้าให้มืดมน
เปรียบเป็นเช่นชีวิต      เมื่อความคิดเริ่มสับสน
จิตใจนั้นกังวล           จิตสับสนไร้หนทาง
มืดไปทั้งแปดด้าน       ความคิดอ่านนั้นเลือนลาง
สับสนในหนทาง         มองทุกอย่างเป็นทางตัน
เพราะใจนั้นยึดถือ       จิตทั้งดื้อและทั้งรั้น
ไม่ลดละเลิกมัน          ในตัวฉันและตัวกู
อัตตาพาให้ทุกข์         ใจไม่สุขอย่างเป็นอยู่
ตัวกูและของกู            จิตนั้นรู้แต่ไม่วาง
ยิ่งถือก็ยิ่งทุกข์           ไร้ซึ่งสุขในทุกทาง
ถือไปไม่ยอมวาง         จิตก็ห่างทางสบาย
วางใจให้หยุดนิ่ง          จะเห็นจริงในความหมาย
เห็นจิตและเห็นกาย       รู้ความหมายสัจจธรรม
รู้กายและรู้จิต              รู้ความคิดที่เลิศล้ำ
รู้เห็นสัจจธรรม             จิตจะนำสู่ความดี
ความดีของชีวิต            อยู่ที่จิตคิดถ้วนถี่
คิดดีและทำดี              เพียงเท่านี้ก็ดีเอง....
        เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๔๒ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

137
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
๒๘ เมษายน ๒๕๕๔

.....ดอกหญ้าเมื่อฟ้าหลังฝน.....
เมื่อสายฝนพ้นผ่านม่านฟ้าเปิด
ก่อกำเนิดเกิดการซึ่งงานใหม่
เหล่าพืชพันธุ์งอกงามเจริญวัย
กล้าต้นใหม่งอกงามตามเวลา
มวลไม้ดอกงอกงามตามฤดู
แมลงภู่โบยบินดมพฤกษา
เสียงไก่เถื่อนขับขานกังวานมา
สกุณาร่ำร้องดังก้องไพร
สรรพสิ่งรอบกายล้วนเป็นมิตร
เพราะว่าจิตเรานั้นไม่หวั่นไหว
มีสติตามดูรู้ที่ใจ
นอกเคลื่อนไหวในสงบเมื่อพบธรรม
มีแสงทองแสงธรรมนำชีวิต
ประคองจิตมิให้ใจใฝ่ต่ำ
มีสติเตือนจิตก่อนคิดทำ
กุศลกรรมทำให้ใจใฝ่ดี
เหมือนดอกหญ้ากลางป่ายามหน้าฝน
ที่ทุกคนมองไร้ค่าเมือนหน้าหนี
มองไม่เห็นประโยชน์ที่พึงมี
ไร้ส่วนดีไร้ค่าสายตาคน
ไร้รูปแบบแต่ไม่ไร้ในสาระ
มีธรรมะคุ้มครองใจในทุกหน
ตามดูกายดูจิตความคิดตน
เพียรฝึกฝนกายจิตให้คิดดี
เอาทางธรรมมานำใช้ในทางโลก
คลายทุกข์โศกในใจของน้องพี่
ทำให้ดูอยู่ให้เห็นเป็นสิ่งดี
และคอยชี้ช่องทางสว่างใจ
สว่างใจสบายกายสว่างจิต
เพียงแต่เปลี่ยนความคิดฝึกจิตใหม่
เปลี่ยนความคิดชีวิตก็เปลี่ยนไป
เส้นทางใหม่ของชีวิตลิขิตเอง....
เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๔๘ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

138
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
๒๘ เมษายน ๒๕๕๔
               ว่างเว้นจากการเขียนบทกวีมาหลายวัน เพราะต้องไปช่วยเขียนงาน
ให้กับ ชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-ทักษิณ เพื่อเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนติดต่อกัน
ระหว่างอดีตนักศึกษา ที่เคยทำงานค่ายอาสากันมา จึงทำให้ห่างหายว่างเว้นไป
กลับมาเขียนใหม่ สำหรับผู้ที่สนใจในบทกวี ได้อ่านกัน...
      ................................................

....เช้าวันใหม่ของฟ้าหลังฝน....
คือแสงเงินแสงทองส่องขอบฟ้า
สกุณาขับขานเปิดม่านใหม่
คือภาพความทรงจำที่ฝังใจ
นิมิตใหม่วันฟ้าใหม่ที่ได้มา
ฟ้าหลังฝนความมืดมนนั้นสลาย
ฟ้ากลับกลายเปลี่ยนสีมีเนื้อหา
เหมือนแสงเงินแสงทองส่องทาบทา
ปลุกชีวาให้ชีวิตนิมิตดี
ชีวิตใหม่ก้าวไปในทางสุข
ห่างจากทุกข์สุขไปในวิถี
เข้าใจโลกเข้าใจธรรมก่อกรรมดี
ชีวิตนี้ก็มีค่าขึ้นมากมาย
ความสำเร็จของชีวิตจิตนั้นรู้
มันขึ้นอยู่ที่พอใจในจุดหมาย
เมื่อจิตพอใจก็สุขทุกข์ก็คลาย
ความสบายอยู่ที่จิตคิดว่า..พอ..
ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๓๘ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

139
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
๒๘ เมษายน ๒๕๕๔
      ทุกชีวิตต้องดำเนินไปตามวิถีทางของตน ตามเหตุและผลที่ตนตั้งไว้
มีเหตุและปััจจัยที่แตกต่างกัน ก้าวเดินไปตามวิถีแห่งกรรม เกิดจากความคิดและสิ่งที่ทำ
จากอดีตและปัจจุบันเป็นแรงส่งให้เป็นไป ทุกชีวิตนั้นเลือกที่มาไม่ได้ แต่สามารถที่จะกำหนด
ที่ไปในอนาคตของตนได้ ด้วยการสร้างเหตุและปัจจัยในวันนี้ เพื่อเป็นตัวชี้หนทางในอนาคต
กำหนดได้ด้วยการกระทำของเราในวันนี้ เปลี่ยนแปลงวิถีแห่งกรรมที่ทำมาในอดีตของตนได้
คือการสร้างเหตุและปัจจัยตัวใหม่ให้มีกำลังมากกว่าที่ที่เคยสั่งสมมาโดยใช้กาลเวลาในการกระทำ
เปลี่ยนแปลงความคิด เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สร้างความเคยชินให้กับชีวิตด้วยวิธีการคิดแบบใหม่
ทำความรู้ความเข้าใจในวิถีแห่งโลกและธรรม ที่เป็นของคู่กันให้เข้าใจ
        โลกและธรรมต้องก้าวไปพร้อมกันด้วยความเหมาะสม ความลงตัว พอเหมาะและพอควร
ไม่เคร่งจนเกินไปในทางธรรม จนกลายเป็นการทอดทิ้งธุระในทางโลก ไม่ทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์
และไม่หย่อนเกินไปในทางธรรม จนกลายเป็นการไร้ซึ่งคุณธรรม หาความพอเหมาะพอดีในการทำหน้าที่
ของตน อยู่บนเหตุและผลของความพอดีและพอเพียง เลี้ยงชีวิตโดยชอบ ประกอบกรรมในสิ่งที่เป็นกุศล
สร้างสิ่งที่เป็นมงคลให้แก่ชีวิต โดยการคิดและทำ ในสิ่งที่ไม่่เป็นภัยต่อชีวิตและไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น และไม่
ฝ่าฝืนศีลธรรมกฎหมายที่ดีงามของบ้านเมือง  ทำในเรื่องที่ชอบ ที่ประกอบเป็นบุญกุศลเพื่อสร้างมงคลให้
แก่ชีวิต ปรับเปลี่ยนความคิดปรับเปลี่ยนจิตให้เป็นกุศล เป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ดีงาม
           การสร้างเหตุและปัจจัยที่ดีในวันนี้ เป็นการชี้หนทางในอนาคตของตน เป็นเหตุและผลที่จะ
ส่งผลในอนาคต เป็นการกำหนดอนาคตหนทางที่จะไป โลกและธรรมนั้นต้องเดินคู่กันไป เพื่อให้โลกนี้มีคุณธรรม
โดยการเริ่มกระทำที่จิตใจของเราเป็นเริ่มแรก จัดระเบียบให้แก่ชีวิตของตนเองเสียก่อน ก่อนที่จะไปเรียกร้องจัดระเบียบ
ให้แก่สังคม เริ่มต้นที่ความคิด เริ่มที่จิตของเราเอง....
                      ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๑๐ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
      

140
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง  ชลบุรี
 ๒๕ เมษายน ๒๕๕๔
           ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นสภาวะแห่งปัตจัตตัง รู้ได้เฉพาะตนโดยการปฏิบัติ
การศึกษาปริยัติ(การอ่าน การฟัง)นั้นเป็นเพียงขั้นพื้นฐาน เป็นเพียงการเก็บข้อมูลหาแนวทาง
หาแบบอย่างที่จะนำไปปฏิบัติ เพียงแตฟัง เพียงแต่อ่าน เพียงแต่คิด จิตนั้นยังไม่ถือว่าเข้าถึงธรรม
จำได้ พูดได้และเข้าใจ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความคิด เป็นเพียงนามธรรม เป็นเพียงความฝัน
เป็นเพียงจินตนาการ ตราบใดที่ยังไม่ได้เอาธรรม ที่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษานั้นนำมาปฏิบัติกับตน
ก็เป็นได้เพียงนกแก้วนกขุนทอง ที่ท่องได้พูดได้ เป็นเพียงใบลานเปล่า เพราะว่ายังไม่เข้าถึง
สภาวะธรรมที่แท้จริง "รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม แต่ยังไม่ได้ทำ " จึงเข้าไม่ถึงธรรม
ไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่และไม่ได้อยู่ในธรรม
          การปฏิบัติคือการกระทำที่กายและที่จิต มีสติในการนึกคิด รู้กาย รู้จิตและรู้สิ่งที่ทำ
รู้จักแยกแยะบาปและบุญ กุศลและอกุศลให้ออกจากกัน รู้จักการข่มจิตข่มใจ ไม่ให้คล้อยตามอกุศลจิต
ควบคุมความรู้สึกนึกคิด ควบคุมจิตให้อยู่กับกุศลธรรม น้อมนำจิตเข้ามาพิจารณาในกายของตนเอง
พิจารณาร่างกายของตนเอง จนเกิดความเข้าใจในกายนี้ ว่าเป็นเพียงธาตุทั้งสี่ที่มาประชุมกันประกอบเป็นร่างกาย
มีช่องว่างระหว่างธาตุ คืออากาศธาตุ จิตเข้ามารับรู้อยู่อาศัยอันได้แก่วิญญาณธาตุ ตั้งอยู่ไม่นานก็แตกดับไป
ธาตุทั้งหลายก็คืนสู่ธรรมชาติ วิญญาณธาตุก็ต้องไปสู่ที่แห่งใหม่ หมุนเวียนกันไป เป็นภพเป็นชาติกันต่อไป
จิตก็จะจางคลายในการยึดถือในร่างกายและตัวตน เมื่ิอเราเห็นกายและเข้าใจกายของเราโดยสภาวะธรรม
           น้อมใจมาดูจิต ดูความคิดทั้งหลายของเรา เอาจิตถามจิต ว่าทำไมต้องคิดต้องปรุงแต่ง
คิดแล้วได้อะไร คิดแล้วทำได้หรือไม่ สิ่งที่คิดนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล คิดแล้วมีผลเป็นอย่างไร มีคุณหรือไม่
อะไรเป็นต้นเหตุที่ทำให้คิด เอาจิตถามจิต หาคำตอบที่จิตของเราเอง เอาจิตถามจิต จนเห็นที่เกิดของจิต
คือเห็นต้นเหตุแห่งความคิด จึงจะเข้าใจในความคิด เข้าใจจิตและจะเข้าใจในธรรม.....
                                            ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๕ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๕.๔๐ น. ณ ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี

141
กุฏิทรงไทยชายน้ำวัดบางพระ นครชัยศรี
    ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๔
                น้องๆขึ้นไปรับที่บนเขาเพื่อลงมางานไหว้ครูที่วัดบางพระตั้งแต่ตอนเช้า
ลงมาฉันข้าวที่รามอินทรา นัดหมายสมาชิกเพื่อจะเดินทางมาร่วมงานไหว้ครูพร้อมกัน
มาถึงวัดบางพระเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. มาพักที่กุฏิทรงไทยริมน้ำกับหลวงพี่เว็บ
พอจะมีเวลาว่างเพราะลูกศิษย์ยังไม่มากัน จึงมีเวลาที่จะเขียนบทความบทกวี...
                       :059: มันจึงเป็นเช่นนั้นเอง  :059:
(กลอน ๙ )           คิดว่าใช่    อาจไม่ใช่   อย่างที่คิด
                        ถูกหรือผิด   ใครตัดสิน   ในปัญหา
                        ความคิดเห็น  ที่เป็นไป   ตามอัตตา
                        ใช่จะว่า      สิ่งที่เห็น     นั้นเป็นจริง
                                เมื่อเห็นธรรม  ก็จะเห็น  ความเป็นโลก
                                สุขหรือโศก   นั้นมีใน   สรรพสิ่ง
                                เมื่อเห็นโลก  และเห็นธรรม  ตามความจริง
                                สรรพสิ่ง     นั้นล้วนเป็น   " ตถตา "
                         ตถตา     คือแบบว่า   เป็นเช่นนั้น
                         ล้วนผูกพัน  ก่อกำเนิด  เกิดปัญหา
                         มีเหตุผล     และปัจจัย  มีที่มา
                         ก็เพราะว่า   มันเป็น   เช่นนั้นเอง
                                สรรพสิ่ง   ล้วนมีกรรม   นั้นกำหนด
                               ไปตามบท  กฏแห่งกรรม ที่เหมาะเหมง
                               ดีหรือชั่ว    ตัวเรารู้       ด้วยตนเอง
                               อย่าอวดเก่ง  และอวดรู้  ไม่สู้ดี
                         เพราะศักดิ์ศรี    คือที่มา  ของมานะ
                         เมื่อเป็นพระ    ควรลดละ  เรื่องศักดิ์ศรี
                         ถอนมานะ     ละอัตตา    อย่าให้มี
                         เป็นสิ่งที่      สมณะ      ควรกระทำ
                               โลกทัศน์    นำไปสู่   ชีวทัศน์
                                ควรฝึกหัด   มองให้เห็น   ความเหลื่อมล้ำ
                                เพราะทุกอย่าง  นั้นมันเป็น  เรื่องของกรรม
                                คิดแล้วทำ    ทำให้เห็น   "ตถตา "
                         ทุกสิ่งอย่าง   มันก็เป็น   ไปเช่นนั้น
                         กรรมจัดสรรค์  ให้เป็นไป  ตามเนื้อหา
                         เกิดจากกรรม  ที่กระทำ    นั้นนำมา
                         ทุกชีวา   ไปตามบท    กฏแห่งกรรม
                                ความเหลื่อมล้ำ   เกิดจากกรรม  นั้นกำหนด
                                นี้คือกฏ        ธรรมชาติ        อันลึกล้ำ
                                พระไตรลักษณ์  นั้นคือหลัก  สัจจธรรม
                                กฏแห่งกรรม     มันจึงเป็น   เช่นนั้นเอง....
                                      ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๘ มีนาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๖.๒๖ น. ณ กุฏิทรงไทยชายน้ำ วัดบางพระ นครชัยศรี

142
กุฏิทรงไทยชายน้ำ วัดบางพระ นครชัยศรี
   ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๔
                        ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง ลมแรงอากาศหนาว บนภูเขายิ่งหนาวหนัก นั่งทบทวนธรรม
ท่ามกลางกระแสลมหนาว ถึงเรื่องราวที่ได้พบเห็น นำมาเขียนเป็นบทความธรรมะเพื่อให้เข้ากับบรรรยากาศ
"ยิ่งสูงก็ยิ่งหนาว " คือเรื่องราวและมุมมองที่เราต้องศึกษา เป็นสุภาษิตโบราณที่เปรียบเปรยถึงผู้คนที่มียศ
มีตำแหน่งที่สูง ซึ่งจะพบกับความโดดเดี่ยว ความหวาดระแวง ความเหงาลึกๆ ความรู้สึกที่อ้างว้าง ท่ามกลาง
ผู้คนที่มากมาย แต่คล้ายเหมือนกับอยู่คนเดียว เพราะว่าเขาเหล่านั้น ไม่กล้าที่จะลงมาต่ำ ทำตัวสบายๆ
เพราะการที่เข้าไปยึดติดกับกระแสแห่งโลกธรรม มันก็เลยทำให้ "ยิ่งสูงก็ยิ่งหนาว "
                       กระแสโลกแบบโลกๆ คือการแก่งแย่งแข่งขัน ดิ้นรนแสวงหา เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเอง
นั้นต้องการที่จะให้มีและให้เป็น ในเรื่องของ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และความปรารถนาที่ไม่อยากจะพบกับ
ความเสื่อม ลาภ เสื่อมยศ คำนินทา ทุกข์ ปรารถนาในโลกียสุขทั้งหลาย จึงต้องดิ้นรนขวนขวาย แก่งแย่ง
แสวงหาเพื่อสนองตอบความต้องการของตัวเขาเองและพยายยามที่จะหนีจากสิ่งที่ไม่ปรารถนาให้มี ให้เป็น
ทั้งหลาย คือการไม่ยอมรับซึ่งความจริงของโลกธรรมทั้งหลาย
                    กระแสทางแห่งธรรม คือเส้นทางที่เดินไปสู่การละวางไม่ยึดติดและไม่ยึดถือในโลกธรรมทั้ง ๘
แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธซึ่งโลกธรรมอันเป็นกระแสแห่งโลก เพราะธรรมนั้นอยู่คู่กับโลกและโลกก็ต้องอยู่คู่กับธรรม
การอยู่เหนือกระแสแห่งโลกนั้น ก็คือการที่ไม่เข้าไปยึดติดและยึดถือในโลกธรรมทั้งหลาย พึงพอใจในสิ่งที่มี
ในสิ่งที่เป็นและสิ่งที่ควรจะได้ ได้มาก็ไม่ลิงโลดดีใจจนเกินเหตุ ไม่ได้ก็ไม่เสียใจจนฟูมฟาย ทำหน้าที่ของตน
ตามบทบาทและหน้าที่ สถานะภาพของตนเอง ทุกสิ่งอย่างนั้น ถ้าเราไม่เข้าไปยึดถือ ใจของเราก็จะไม่เป็นทุกข์
เพราะโลกธรรม ๘ นั้นเป็นเรื่องกรรมและวิบากแห่งกรรม ยอมรับความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น สร้างกรรมดีในปัจจุบัน
เพื่อให้เป็นเหตุและปัจจัยที่จะส่งผลต่อไปในอนาคต กำหนดรู้อยู่กับปัจจุบันธรรม
                    จากสำนวนสุภาษิตที่ว่า " ยิ่งสูงก็ยิ่งหนาว " เกิดขึ้นก็เพราะการที่ไม่กล้าจะลงต่ำ คือทิฏฐิมานะ
อัตตา ที่เรียกว่า " ศักดิ์ศรี " มันค้ำไว้ เพราะการที่เข้าไปยึดถือในยศ ในตำแหน่ง ซึ่งมันเป็นเพียงสมมุติบัญญัติ
เป็นเพียงหัวโขนที่เขาเอามาสวมใส่ให้ ซึ่งไม่นานก็ย่ิ่อมมีการเปลี่ยนแปลง ไปตามกฏคือเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป
คลื่นลูกใหม่ย่อมมาแทนคลื่นลูกเก่า เป็นไปตามกฏพระไตรลักษณ์ คือความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
                    สิ่งที่ทำให้หนาวนั้น มันไม่ใช่ความสูงของตำแหน่งหน้าที่และชื่อเสียง แต่เป็นความยึดถือแห่งตัวตน
อันเกิดจากมานะทิฏฐิและอัตตา การประเมินค่าตนเองสูงเกินไป หลงในหัวโขนที่เขาเอามาสวมใส่ให้ ยึดถือว่าเป็น
ของจริง เป็นชีวิตจริง  มองผู้อื่นต่ำไป เรียกง่ายๆก็คือการหลงตนเอง มันจึงต้องบกับความเหงา ความโดดเดี่ยว
เต็มไปด้วยความหวาดระแวง เพราะการที่ไม่ยอมลดละซึ่งมานะและอัตตา ไม่กล้าที่จะกลับคืนสู่สามัญ มันจึงทำให้
ู้สึกว่า " ยิ่งสูงก็ยิ่งหนาว "...ที่สุดของกระบวนท่า ก็คือการไร้กระบวนท่า
                              ...ที่สุดของกระบี่ ก็คือการไร้ซึ่งกระบี่ เพราะกระบี่อยู่ที่ใจ
                              ...สูงสุดย่อมคืนสู่สามัญ นั้นคือ จอมยุทธที่แท้จริง...
                                      ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                         รวี สัจจะ- สมณะไร้นาม
๑๘ มีนาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๖.๐๐ น. ณ กุฏิทรงไทยชายน้ำ วัดบางพระ นครชัยศรี

143
ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
  ๔  มีนาคม ๒๕๕๔
       ผู้ที่จะเป็นนักปฏิบัติธรรมนั้น ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทขาดสติที่เป็นสัมมาสติ
คือการระลึกรู้ในสิ่งที่ดี เพราะว่าความประมาทที่ขาดสัมมาสตินั้น จะทำให้นักปฏิบัติ
เห็นผิดไปจากความเป็นจริง  คือมีสติ แต่เป็นมิจฉาสติ คือการระลึกรู้ในสิ่งที่ผิดที่ชั่ว
ความไม่ประมาทนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มีอยู่ ๔ ประการคือ
 ๑. ไม่มีความอาฆาตพยาบาทใคร คือการที่ต้องทำให้มีจิตใจเป็นกุศล จิตใจที่ดีงาม
     ไม่น้อยใจตนเอง ไม่น้อยใจผู้อื่น ไม่โกรธตนเอง ไม่โกรธผู้อื่น อยู่กับความคิด
      อยู่กับจิตที่เป็นกุศล
 ๒. มีสติอยู่ทุกเมื่อ คือมีการระลึกรู้ในสิ่งที่กำลังคิดและในกิจที่กำลังทำ รู้จักการ
     แยกแยะบุญและบาป สิ่งที่เป็นกุศลและเป็นอกุศล รู้ในสิ่งที่ควรคิดและในสิ่ง
     ที่ควรทำ คือการรู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้การกระทำ มีสติเป็นสัมมา
 ๓. มีสามธิอยู่ภายใน คือการตั้งใจมั่น ในสิ่งที่กำลังคิดและกำลังทำ มีสติสัมปชัญญะ
     อยู่ทุกขณะจิต เพราะว่าสมาธินั้นคือจิตที่ตั้งมั่น ตั้งมั่นอยู่ในกายในจิต ในสิ่งที่คิด
     และในสิ่งที่ทำ
 ๔. บรรเทาความอยากในใจในจิต คือการรู้จักคิดให้พอดีและพอเพียงกับสิ่งที่เห็น
     และเป็นอยู่ คือคิดถึงสิ่งที่เป็นไปได้ตามเหตุและปัจจัยที่มี นั้นคือความพอดี
     ในการคิด คือการรู้จักควบคุมจิตใจ ให้อยู่กับความเหมาะสม
              พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า " บุคคลใด ได้มีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้
บุคคลผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในคำสอนของเราตลอดกาล " การที่จะเริ่มเข้าสู่การปฏิบัตินั้น
จึงต้องมีการปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิด กันเสียก่อน คือการฝึกจิตให้มีความคุ้นเคย
กับคุณธรรมคือความเป็นกุศลจิต ความคิดที่ดีงาม การไม่มองโลกในแง่ร้าย ฝึกมองโลก
ในแง่ดี เพราะการที่เราไปเพ่งโทษผู้อื่นนั้น มันเป็นการเพิ่งกิเลสให้แก่จิตของตัวเราเอง
การมองโลกในแง่ดีนั้น เราต้องเปิด โลกทัศน์ ชีวทัศน์และวิศัยทัศน์ของเรานั้นให้เปิดกว้าง
รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ลดมานะทิฏฐิ อัตตาของตัวเรา อย่าเอาตัวเรา ความคิดของเรา
มาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินผู้อื่น ว่าเขาดี เขาเลว เขาถูกหรือเขาผิด อย่าเอาความคิดของ
เราเข้าไปกำหนด ฝึกมองโลกในแง่ที่ดี มองหาความดีของสรรพสิ่ง แล้วเราจะเห็นความจริง
ของชีวิต รู้กาลและกิจที่ควรกระทำ คุณธรรมของนักปฏิบัติก็จะเกิดขึ้นในจิตของเรา...
                          ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๔  มีนาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๗.๕๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

144
ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
  ๔ มีนาคม ๒๕๕๔
     วันนี้ฝนตกเกือบทั้งวัน ตกมาตั้งแต่เมื่อวานตอนเย็น วันนี้คนงานก่อสร้างเลยหยุดงาน
ฝนตกทำให้ลงไปเดินจงกรมหน้ากุฏิไม่ได้ ได้แต่นั่งภาวนาอยู่บนกุฏิ ตอนเย็นฝนหยุดตก
จึงลงมาเปิดเครื่ิองปั่นไฟของคนงาน เพื่อจะได้พิมพ์งาน
                         :059: สิ่งที่ควรคิดและกิจที่ควรทำ  :059:
         มีคำถาม มากมาย ให้ขบคิด         ถามเรื่องจิต เรื่องกาย เพราะอยากรู้
    จงบอกว่า  ถ้าสงสัย   ให้ทำดู            แล้วจะรู้  กายจิต  คิดอย่างไร
    อจินไตย  คิดไป  ก็ปวดหัว                มาดูตัว   ดูจิต    แล้วคิดใหม่
    ดูให้รู้  ดูให้เห็น   เป็นอย่างไร            ให้รู้ใจ    รู้กาย   รู้จิตตัว
    จิตส่งออก   สมุทัย  ให้เกิดทุกข์         จิตเป็นสุข เพราะรู้พร้อม น้อมไปทั่ว
    มีสติ   ระลึกรู้  อยู่กับตัว                    รู้ดีชั่ว     สิ่งที่จิต   ควรคิดทำ
    อันกายนี้   อยู่ไม่นาน  ก็ต้องดับ          เหมือนอาทิตย์  ลาลับ  ในยามค่ำ
    ต้องเวียนว่าย  ตายเกิด อยู่ประจำ         สิ่งที่นำ  ติดตัวไป  ใช่เงินทอง
    สิ่งที่ตาม  ติดไป  ในดวงจิต                คือนิมิต  แห่งกรรม  นำสนอง
    ถ้าจิตดี   ก็มีสุข   อยู่คุ้มครอง              จิตเศร้าหมอง  ก็ต้องทุกข์  ไม่สุขใจ
    รู้อะไร    ก็ไม่สู้   เท่ารู้จิต                  รู้ถูกผิด   ดีและชั่ว  แล้วแก้ไข
    เจริญจิต  ภาวนา  พาสุขใจ                 ทำจิตไร้  อกุศล   เป็นต้นทุน
    คือต้นทุน  ชีวิต   นิมิตหมาย               เมื่อยามตาย  ความดี  มีเกื้อหนุน
    มีกรรมดี   คือกุศล เป็นผลบุญ             ช่วยค้ำจุน  ส่งจิต   นิมิตดี
    อย่าสงสัย  ในสิ่ง  ไร้สาระ                  ควรลดละ  ความคิด  ชนิดนี้
    ความสงสัย คือนิวรณ์  ถอนความดี        จิตไม่มี  สมาธิ  เพราะนิวรณ์
    เมื่อสงสัย  ก็ต้องทำ  นำพิสูจน์            อย่าเพียงพูด  เพียงคิด  จิตสังหรณ์
    ต้องลองทำ  ศึกษา  ตามขั้นตอน          เพื่อจะถอน  ความสงสัย  ให้มันคลาย
    ไม่มีใคร     รู้ซึ้ง    เท่าหนึ่งจิต            สิ่งที่คิด   จิตใจ   ในเป้าหมาย
     คิดอะไร   ก็ให้รู้   อยู่กับกาย             ไม่วุ่นวาย   ควบคุมจิต  ให้คิดดี
     คิดให้ดี  คิดให้เห็น  เช่นที่คิด             ไม่เป็นพิษ  เป็นภัย   ในทุกที่
     ควบคุมจิต  ให้คิด  แต่สิ่งดี                ทำอย่างนี้   แล้วจิต  จะสบาย
     สบายใจ   คือสบาย  ทั้งกายจิต           นั่นคือกิจ  ที่ทำ  ตามเป้าหมาย
     เพราะคิดดี  มีสติ อยู่กับกาย               ไม่วุ่นวาย  เพราะจิต  นั้นคิดดี....
                                ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม 
๔ มีนาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๗.๓๒ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี         

145
ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
  ๑ มีนาคม ๒๕๕๔
               เมื่อมีการกระทำ ย่อมมีผลของการกระทำ ซึ่งผลของการกระทำนั้นจะเป็นอย่างไร
ขึ้นอยู่กับ จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่ บุคลลและเจตนาแห่งการกระทำนั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัย
ให้เกิดผล ซึ่งแต่ละคนย่ิอมมีเหตุและปัจจัยที่แตกต่างกัน ทำให้ความรู้ ความเห็นและความเข้าใจ
นั้นแตกต่างกันไปตามเหตุและปัจจัย ไม่มีใครคิดเห็นถูกไปเสียทั้งหมดและไม่มีใครผิดไปทั้งหมด
เพราะความคิดเห็นของแต่ละคนนั้นเป็นปัจเจก จึงไม่มีอะไรดีที่สุดและอะไรถูกต้องที่สุด มีเพียงความ
เหมาะสมกับจังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และตัวบุคคล " สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น
เป็นอนัตตา แปรเปลี่ยนไปตามเหตุและปัจจัย เป็นไปตามความเหมาะสม
              ฉะนั้นสิ่งที่รู้ ที่เห็นและที่เข้าใจในวันนี้ จึงไม่ใช่ที่สุดไม่ใช่ข้อสรุปของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
ตราบใดที่เรายังไม่สิ้นอาสาวะยังไม่หมดกิเลส ยังไม่เป็นพระอริยะบุคคลขั้นสูงคือบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
ความรู้ความเห็นความเข้าใจของเรานั้น ยังวนเวียนปะปนไปด้วยกิเลสตัณหาและอัตตา ทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามานั้น
มันจึงเป็นเพียงประสพการณ์ของชีวิต อย่าไปยึดติด ยึดถือและยึดมั่นจริงจังกับมันจนเกินไป จนกลายเป็นความงมงาย
ทุกอย่า่งนั้นมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปทุกขณะ สิ่งที่คิดว่าใช่นั้นอาจจะไม่ใช่ สิ่งที่คิดว่าเข้าใจหมดแล้วนั้น
มันยังมีเหลืออีกมากมายที่เรายังไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าใจ  ทุกสิ่งเพียงผ่านมาแล้วจากไป สิ่งท่ี่คงเหลือไว้นั้น
คือประสพการณ์ของชีวิต ที่ให้เราได้เรียนรู้และศึกษา
               สิ่งที่รู้ ที่เห็นและเป็นไป ที่เกิดจากปฏิบัติธรรมเจริญสติภาวนานั้นก็เช่นกัน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ
ด้วยหลายเหตุและปัจจัย แปรเปลี่ยนไปตามกำลังของสติสัมปชัญญะและกำลังของสมาธิ สิ่งที่เรียกว่า " นิมิต "
เกิดขึ้นจากกำลังของสมาธิ ในช่วงที่สติอ่อนกำลัง " สมาธิกล้า สติล้า นิมิตจะเกิด " จึงอย่าไปจริงจัง ยึดถือ
กับนิมิตที่เกิดขึ้นจนเกินไป จนกลายเป็นความงมงายไร้เหตุผล เพราะนิมิตทั้งหลายนั้น เป็นเพียงนามธรรม
ไร้ซึ่งหลักฐานที่เป็นรูปธรรม จับต้องไม่ได้ เป็นความรู้ ความเห็นที่เกิดขึ้นภายใน เกิดขึ้นที่ใจและเห็นด้วยจิต
เป็นการรู้เห็นเฉพาะตนของผู้ปฏิบัติ ซึ่งสิ่งที่เห็นนั้นอาจจะจริงบ้างและไม่จริงบ้าง ตามเหตุและปัจจัยของการเกิด
               อุปสรรคของผู้ปฏิบัติธรรมส่วนมากที่พบเห็อยู่เป็นประจำนั้น ก็คือเรื่องของนิมต เพราะการถูกปลูกฝัง
ความคิดว่าเมื่อเจริญสติภาวนาแล้วมันต้องมีนิมิต ต้องรู้ ต้องเห็น เมื่อไม่รู้ ไม่เห็นและไม่มีนิมิต จิตก็พยายยามที่
จะสร้างภาพนิมิตขึ้นมา เพื่อให้รู้และให้เห็น ซ่งเป็นการหลงทางจิต ของผู้ปฏิบัติธรรมเจริญสติภาวนาทั้งหลาย
นิมิตนั้นมีได้เฉพาะผู้ที่เจริญรูปฌาน คือการเอารูปต่างๆมาเป็นอารมณ์กรรมฐานในการภาวนา ซึ่งเมื่อมีเหตุและปัจจัย
มาจากรูป ผลนั้นย่อมจะเป็นรูปเป็นนิมิตตามจิตแห่งอารมณ์ภาวนา
                 การที่จะศึกษาว่านิมิตที่พบเห็นนั้นจริงหรือไม่ ใช่หรือหลอก ก็คือการมีสติสัมปชัญญะ คือการระลึกรู้
ความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิตเมื่อเจริญสติภาวนา น้อมจิตเข้าไปพิจารณา ให้เห็นการเกิดดับของสรรพสิ่งและเห็น
ความเป็นจริงของธรรมชาติของจิต คือการเห็นที่เกิดของนิมิตทั้งหลายเหล่านั้น ว่าเกิดขึ้นในขณะใด จิตในขณะนั้นเป็นอย่างไร
เกิดจากภายนอกหรือเกิดจากภายใน เป็นการปรุงแต่งของจิตเราหรือไม่ หรือเป็นความรู้สึกนึกคิดใต้จิตสำนึกของเราที่ผุดขึ้นมา
ซึ่งถ้าเรารู้เห็นที่เกิดของนิมิตทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว ความสงสัยลังเลและความกังวลเกี่ยวกับนิมิตนั้นก็จะหายไปหมดไป
ความเจริญก้าวหน้าในธรรมของผู้ปฏิบัตินั้นก็จะสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ผู้ซึ่งเจริญสติสัมปชัญญะในขณะภาวนาอย่างต่อเนื่องนั้น
จะไม่เห็นและไม่มีนิมิต เพราะจิตมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่ แต่สามารถที่จะกำหนดนิมิตขึ้นมาได้ถ้าใจปรารถนา ตามกำลัง
ของสมาธิของผู้ปฏิบัตินั้น จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ผู้ปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนาทั้งหลาย
                         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑ มีนาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๘.๑๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
 

146
ตถตาอาศรม เขาเรดาห์  บ้านบึง ชลบุรี
    ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
             การเตรียมกาย เตรียมใจ ก่อนเข้าสู่การปฏิบัตินั้น เราต้องปรับกาย ปรับจิต
ปรับความคิดของเราเสียก่อน ทำจิตทำใจให้โปร่งโล่งเบาสบาย ทำกายให่ผ่อนคลาย
ไม่เกร็งไม่เคร่งไม่เครียด น้อมจิตน้อมใจระลึกนึกถึงบุญกุศลความดีที่เราได้เคยกระทำมา
เพราะว่าเมื่อเราระลึกนึกถึงบุญถึงกุศล ใจของเรานั้นก็จะเกิดความปิติยินดี มีความสบายใจ
เพราะว่าสิ่งที่เป็นบุญนั้น คิดถึงครั้งใดใจก็เป็นสุข เมื่อใจของเราระลึกนึกถึงบุญใจก็เป็นกุศล
ทำให้มีความเอิบอิ่ม ปิติ มีกำลังใจที่จะทำความดีต่อไป เรียกว่าการสร้างปิติจากภายนอก
เพื่อเข้าสู่ภายใน เมื่อใจของเรามีความสุขความสบายด้วยกุศลจิต มีความเพลิดเพลินในการ
ระลึกนึกคิดถึงบุญกุศล เป็นการเริ่มต้นตั้งจิตของเราก่อนเข้าสู่การภาวนา เพราะคำว่าภาวนานั้น
คือการพัฒนา การเจริญขึ้น เมื่อจิตเริ่มต้นของเราเป็นกุศลจิต ความเป็นกุศลจิตก็จะเจริญขึ้น
เมื่อภาวนาไป ใจก็จะพบกับความสุขความสงบ ไม่วุ่นวาย ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ไม่ขัดข้อง อึดอัด
เพราะว่าได้ปรับจิตปรับใจให้มีความพร้อมก่อนแล้ว
            อย่าพยามยามกำหนดมากจนเกินไป ตามดูตามรู้ ตามเห็น เท่าที่กำลังของเราจะทำได้
ค่อยๆเป็นค่อยๆไป สั่งสมอบรมพละกำลังของสติไปเรื่อยๆ จนมันมีกำลังแก่กล้าเป็นอินทรีย์พละ
การปฏิบัติธรรมนั้นเหมือนกับการฝึกซ้อมของนักกีฬา กว่าเขาจะได้รับชัยชนะ ทำสถิติได้นั้น
เขาต้องผ่านการฝึกฝน ฝึกซ้อมมาเป็นเวลายาวนาน อย่าเอาความอยากของเราเข้าไปกำหนด
ให้มันเป็นไป ให้มันเป็นไปโดยธรรมชาติของมัน เหมือนที่เคยได้กล่าวไว้ ความเจริญในธรรม
นั้นเหมือนกับการปลูกต้นไม้ มันจะเจริญงอกงามของมันไปตามธรรมชาติและการเอาใจใส่ดูแล
ของผู้ปลูก เราอยากจะให้มันเจริญงอกงามตามใจของเรานั้นไม่ได้ มันต้องเป็นไปตามวัยและเวลา
การเจริญจิตภาวนานั้นก็เช่นกัน เราต้องหมั่นกระทำอยู่เนืองนิจ ทำจนเป็นกิจวัตร จนจิตนั้นคุ้นเคย
กับการปฏิบัติภาวนา กำลังของสติจะแก่กล้าต้องอาศัยระยะเวลาที่ต้องหมั่นเพียรภาวนา
         การปฏิบัติธรรมเจริญภาวนานั้น เป็นการกระทำที่จิต ที่ความคิด ไม่ใช่การโชว์หรือการโอ้อวด
เราจะรู้ด้วยตัวของเราเอง ว่าจิตของเราสงบหรือไม่ อย่าได้เอาตัวของเราการปฏิบัติของเรานั้น
ไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น เพราะว่าแต่ละคนนั้น แตกต่างกันด้วยธาตูและอินทรีย์ บารมีที่สั่งสมมานั้น
แตกต่างกัน สภาวะธรรมของแต่ละคนนั้นเป็นปัจจัตตัง คือรู้ได้เฉพาะตน จึงไม่ควรที่จะเอาไปเปรียบ
เทียบกับผู้อื่น เพราะแต่ละคนนั้นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีเพียงความคล้ายและใกล้เคียงเท่านั้น
จะไม่เหมือนกันไปหมดทุกอย่าง จึงของฝากไว้ให้เป็นข้อคิด สำหรับผู้ที่ฝึกจิตเจริญภาวนา
                ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๑๘.๓๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

147


ตถตาอาศรม เขาเรดาห์ บ้านบึง ชลบุรี
  ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
         วางศิลาฤกษ์ในวันมาฆบูชาที่ผ่านมา (๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๔๙ น.)
การก่อสร้างเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องแบกไม้และเครื่องมือขึ้นมาสร้างกันบนภูเขา
รถไม่สามารถที่จะขนของขึ้นมาได้ ต้องอาศัยกำลังคนเท่านั้นที่จะนำเอาอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง
ขึ้นมา ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก ตอนนี้ศาลาปฏิบัติธรรมกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ตั้งเสา ตีพื้น
กระดานห้อง ไหว้พระสวดมนต์และห้องพักเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือพื้นระเบียงกลางอาคารที่ยัง
ไม่ได้ตี ซึ่งศาลาปฏิบัติธรรมนี้จะแบ่งเป็นห้องสวดมนต์ปฏิบัติธรรมจำนวน ๑ ห้องขนาด ๔x๘ เมตร
เป็นห้องพักขนาด ๓.๕๐x๔ เมตร จำนวน ๒ ห้อง ห้องสำหรับทานอาหารขนาด ๓x๖ เมตร ๑ห้อง
ระเบียงกลางลานขนาด ๘x๘ เมตร ซึ่งทั้งหมดสร้างด้วยไม้ ราคาที่ทางผู้รับเหมาตั้งไว้นันคือ..
๑,๕๐๐,๐๐๐.บาท แต่จากการที่ได้พูดคุยกัน โยมเขาเกิดศรัทธาร่วมทำบุญด้วย คิดราคาเพียง..
๙๙๙,๙๙๙.บาท ซึ่งเป็นการก่อสร้างที่ยากลำบากถ้าไม่มีศรัทธาจริงคงจะยกเลิกสัญญาไปแล้ว
จึงต้องขออนุโมทนากับช่างยุทธ แม่มอย แพร่ไว้ ณ ที่นี้ด้วย การก่อสร้างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
กำหนดให้เสร็จก่อนสงกรานต์ เพื่อจะได้รองรับผู้ที่จะมาปฏืิบัติธรรมกันในโอกาศต่อไป
       ศาลาปฏิบัติธรรมหลังนี้เกิดจากความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย
ช่วยกันลงขันถวายปัจจัยค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่ร่วมกันสร้างและร่วมกันทำ
ซึ่งทุกอย่างจะสำเร็จไปได้นั้นต้องอาศัยกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธาของทุกๆท่าน งานจึงจะสำเร็จ
และเมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้ว " ตถตาอาศรม " ยินดีต้อนรับทุกผู้คนที่มาเยือน มาปฏิบัติธรรม
                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๑๘.๐๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี


148
ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
    ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
             เป็นข้อควรคิดสำหรับผู้ที่จะฝึกจิต เจริญสติภาวนา เพราะจะพบกับปัญหาเมื่อมีการภาวนาปฏิบัติ
เกิดความอึดอัด ปวดเมื่อย มึนงงและตึงไปทั่วกาย ทำให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจในเวลาปฏิบัติ
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอย่างนั้น ก็เพราะเรามีความตั้งใจปฏิบัติมากเกินไป ภาษานักปฏิบัติเรียกกันว่า
" การตั้งจิตหนัก " เพราะการที่เราตั้งใจปฏิบัติมากเกินไปนั้น ทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยที่เรานั้น
ไม่รู้ตัว เมื่อมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ย่อมทำให้เลือดลมนั้นเดินไม่สะดวก เส้นเอ็นเส้นประสาทเกิดการหดตัว
และลมหายใจไม่ปกติอย่าที่เคยเป็น เพราะการที่เราเข้าไปกำหนดให้ลมหายใจมันเข้าออกนั้น มันทำให้ระบบ
การหายใจ การทำงานของหัวใจและปอด ผิดปกติไปจากที่เคยเป็น มันไม่เป็นธรรมชาติปกติที่เคยเข้าออกของมัน
เพราะเราไปบังคับลมหายใจให้มันเข้าออก และบางครั้งมันจะเกิดอาการลมค้างอยู่ในกาย เพราะว่าเราหายใจออกไม่หมด
มันจึงทำให้เกิดอาการแน่นขึ้นในทรวงอก มึนศีรษะ ตาพร่ามัว สมองมึนงง เกิดอาการลมขึ้นเบื้องสูง สาเหตุมาจากการที่เรา
นั้นอัดลมเข้าไป แล้วระบายออกไม่หมด
          อาการที่ปวดเมื่อยตามร่างกายนั้น เกิดจากการที่เราเกร็งกล้ามเนื้อ อยากจะนั่งให้ตัวตรง เกร็งหน้าท้อง เกร็งที่หัวไหล่
เกร็งที่ต้นขา ( เพื่อจะให้ท่านั่งนั้นมันสวย ) มันก็เลยทำให้ร่างกายปวดเมื่อย นั่งไม่ได้นาน เกิดความรำคาญ เพาะอาการปวด
เมื่อปฏิบัติแล้วเกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ทำให้ครั้งต่อไป ไม่อยากจะปฏิบัติ เพราะทำไปแล้วจิตไม่พบกับความสงบ
          เราจึงต้องมาทบทวนพิจารณากันใหม่ ปรับกายปรับจืิต กันเสียใหม่ ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ ปรับกายของเราให้มีความสบาย
กล้ามเนื้อได้รับการผ่อนคลาย ลมหายใจไม่ติดขัด ปรับจิตปรับใจให้มีความพร้อม คือการน้อมจิตของเราให้เป็นบุญ เป็นกุศล
ให้มีความรู้สึกสดชื่นเบิกบาน มีความพึงพอใจในการปฏิบัติ (ทำใจให้สบาย ทำกายให้สะดวก) แล้วจึงเข้าสู่การเจริญภาวนา
และถ้าเกิดมีปัญหาขึ้นมาอย่างที่ได้กล่าวไปนั้น ให้แก้ด้วยการเคลื่อนไหว ปรับกาย ปรับจิตเสียใหม่ แล้วจึงค่อยภาวนาต่อไป
( เคลื่อนไหวทางกาย สะลายทางจิต ) เพราะการที่เราจะฝืนนั่งต่อไปนั้น กำลังของเรายังไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับอาการปวด
เมื่อยเหล่านั้น ฝืนทนนั่งไปใจก็ไม่สงบ มีแต่จะฟุ้งซ่าน รำคาญใจมากยิ่งขึ้น (การปฏิบัติธรรม เป็นการทำที่จิต มิใช่การโชว์ )
จึงขอฝากไว้สำหรับผู้ที่สนใจในการปฏิบัติทั้งหลาย  นำไปคิดและพิจารณา เพื่อความก้าวหน้าเจริญในธรรมของตัวท่านเอง
                          ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๑๘.๒๒ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

149
หมู่บ้านมณีรินทร์เพลส ศรีราชา ชลบุรี
  ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
       ปรับกายปรับจิตให้คุ้นเคยกับสถานที่แห่งใหม่ ทำความเข้าใจกับสิ่งรอบข้าง
มองทุกอย่างเข้าหาหลักธรรม เมื่อรู้ เห็นและเข้าใจ สิ่งทั้งหลายมันเป็นเช่นนั้นเอง
ใจก็ไม่ทุกข์ มีความสุขอยู่กับธรรม เมื่อจิตดี ย่อมจะส่งให้กายเด่น แต่ถ้าจิตเราด้อย
กายเราก็จะดับ เพราะไร้ซึ่งพลัง จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ทุกอย่างเกิดจากใจ...
             :059: ฝึกจิตให้อยู่กับธรรม จะนำให้เกิดความสุข  :059:
                         ดูจิตคิดเป็นธรรม     ดูแล้วนำมาขบคิด
                        ดูกายและดูจิต        ดูแล้วคิดเข้าหาธรรม
                        รู้กายและรู้จิต         ไม่หลงผิดคิดใฝ่ต่ำ
                        รู้ธรรมแล้วต้องทำ     เป็นประจำให้ชำนาญ
                        ชำนาญในการคิด     รู้ถูกผิดเมื่อคิดอ่าน
                        สั่งสมประสพการณ์   เมื่อพ้นผ่านกาลเวลา
                        สติระลึกรู้               และตามดูเหตุปัญหา
                        รู้พร้อมทั่วกายา        สติมาปัญญามี
                        ฝึกใจให้เกรงกลัว     กับความชั่วในทุกที่
                        ฝึกใจให้คิดดี          และให้มีความละอาย
                        ละอายในบาปกรรม   จิตใฝ่ต่ำที่ชั่วร้าย
                       เกรงกลัวไม่กล้ำกลาย สิ่งชั่วร้ายไม่กระทำ
                       ทำจิตเป็นกุศล          เป็นมงคลที่เลิศล้ำ
                       วางใจอยู่ในธรรม       จิตน้อมนำสู่กรรมดี
                       จิตดีส่งกายเด่น         ตัวอย่างเช่นกายจิตนี้
                       จิตด้อยลงทุกที         ส่งกายนี้ให้ดับไป
                       ฝึกจิตให้สงบ            ก็จะพบหนทางใหม่
                       ชีวิตก้าวเดินไป          โดยไม่ไร้ซึ่งทิศทาง
                       จุดหมายของชีวิต       สิ่งที่คิดจะไม่ห่าง
                       รู้ลดและละวาง          จิตไม่ห่างจากทางธรรม
                       เอาธรรมนำชีวิต         จะพบจิตที่ลึกล้ำ
                       ก้าวเดินในทางธรรม    จิตน้อมนำสู่กรรมดี
                       กรรมดีคือกุศล           เป็นมงคลในทุกที่
                       คิดดีและทำดี            เพียงเท่านี้ก็สุขใจ...
                            ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๑๒.๓๐ น. ณ หมู่บ้านมณีรินทร์เพลส ศรีราชา ชลบุรี
                       

150
หมู่บ้านมณีรินทร์เพลส ศรีราชา ชลบุรี
  ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
    วันเวลาผ่านไปกับสถานที่แห่งใหม่และรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่มีกฏเกณฑ์กติกา
แต่ว่าขึ้นอยู่กับกฏของธรรมชาติ ตามจังหวะเวลาและโอกาศ เป็นไปตามความเหมาะสม
ไม่ต้องไปจัดระเบียบต่อสังคมและหมู่คณะ แต่มีภาระที่จะต้องจัดระเบียบให้กับตนเอง
กฏกติกาเกิดขึ้นมาจากความต้องการของมนุษย์ ซึ่งคือตัวตัณหา ความอยากทั้งหลาย
อยากจะให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ หรือไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น ไม่ให้เป็นอย่างนี้
ความพอดีจึงไำม่มีในกฏกติกา เพราะว่าแต่ละคนในสังคมนั้น ย่อมมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน
จึงไม่มีบรรทัดฐานแห่งความพอดี จึงไม่มีกฏกติกาอะไรที่ดีที่สุด มีเพียงแต่ความเหมาะสม
ซึ่งขึ้นอยู่กับ จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และตัวบุคคล เป็นไปเพื่อความสอดคล้องเหมาะสม
กับธรรมชาติทั้งหลาย และแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์แห่งยุคสมัย
    ในความเป็นสมณะนั้นมีกฏเกณฑ์กติกาของความเป็นสมณะคุ้มครองอยู่ โดยศีลและธรรม
ไม่ผิดข้อวัตรตามพุทธบัญญัติและไม่เป็นไปให้ชาวโลกเขาติเตียนได้ มันจึงมิใช่เรื่องง่าย
ที่จะทำให้ใจนั้นสงบ ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมที่กำลังดำเนินไป จึงต้องมีการปรับใหม่
ปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิด ปรับการกระทำ เร่งความเพียร เพิ่มกำลังของสติและสัมปชัญญะ
ให้มีกำลังมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับกับผัสสะสิ่งกระทบที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลาและโอกาศ
จากอายตนะทั้งหก คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มีสติและสัมปชัญญะรู้เท่าทันการเกิดดับของ
สรรพสิ่งรอบกาย รู้จักควบคุมและข่มซึ่งกิเลสตัณหา ลดละอัตตาและมานะทิฏฐิให้เบาบางลง
พยายามทรงไว้ซึ่งอารมณ์สมาธิ ให้มีปิติหล่อเลี้ยงจิต พยายยามนึกคิดถึงสิ่งที่เป็นกุศล ฝึกตน
ด้วยการเจริญสติ ตั้งอยู่ในพรหมวิหาร ๔ อันมี เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขาเป็นหลักที่พักจิต
ปรับความคิดให้มองโลกในแง่ดี  พิจารณาให้เห็นถึงคุณ ถึงโทษ ถึงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
ในทุกๆสิ่ง เห็นความเป็นจริงของกฏแห่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นกฏของพระไตรลักษณ์ คือความเป็น
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป โดยใช้หลักธรรมในอริยสัจ ๔ มาประกอบ
ในการคิดและพิจารณา สิ่งที่มากระทบทั้งหลายล้วนเป็นเหตุแห่งทุกข์ ค้นหาซึ่งเหตุที่มาแห่งทุกข์นั้น
จนเห็นที่เกิดแห่งทุกข์ พิจารณาให้เห็นการดับไปแห่งทุกนั้น เมื่อรู้เห็นและเข้าใจในเหตุและปัจจัยให้เกิดทุกข์
พิจารณาหาหนทางที่จะดับซึ่งเหตุและปัจจัยแห่งทุกข์ทั้งหลายนั้น ให้เป็นสมุทเฉจคือการดับเหตุและปัจจัย
ตัดวงจรแห่งทุกข์นั้น แล้วน้อมนำเอาสิ่งที่ได้คิดพิจารณา ได้รู้ ได้เห็น ได้เข้าใจ มาลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
การดับทุกข์ย่อมบังเกิดขึ้น จิตจะเข้าถึงซึ่งความสงบ เมื่อจิตนั้นพบกับธรรม....
                    ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๑๒.๐๖ น. ณ หมู่บ้านมณีรินทร์เพลส ศรีราชา ชลบุรี

151
หมู่บ้านมณีรินทร์เพลส ศรีราชา ชลบุรี
  ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
                 วันนี้ลงจากเขามาทำธุระที่ศรีราชา เลยทำให้มีเวลาที่จะเขียนงาน
เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ งานไหว้ครูบูรพาจารย์ของวัดบางพระ (หลวงพ่อเปิ่น)
จึงขอฝากบทกวีเพื่อระลึกถึงคุณของครูบูรพาจารย์ ผู้ประสาทประสานวิชาให้ความรู้
เริ่มต้นจากมารดา บิดาเป็นปฐมครู ก่อนเข้าสู่ระบบการศึกษาตามกฏเกณฑ์ที่ทางราชการ
เขากำหนดไว้ และครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ได้สอนสั่งอบรม สรรพสิทธิ์วิทยา วิชาต่างๆ
หรือจะเป็นครูพักลักจำ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นครูผู้ให้ความรู้แก่เรา จึงขอยกเอามาเป็นครูบูรพาจารย์
ระลึกถงคุณของท่านโดยทั่วหน้ากัน
                          :054: ระลึกถึงบุญคุณครูบูรพาจารย์ :054:
             ตั้งแต่อ่อน  นอนแผ่  ในแบเบาะ       ก็ถูกเพาะ  อบรม  และสั่งสอน
          ด้วยความรัก  เมตตา    เอื้ออาทร        จากมารดร  สอนสั่ง อย่างตั้งใจ
          สอนให้รู้     จักคำ    สือ่ภาษา            ด้วยวาจา  ปลอบโยน อันอ่อนไหว
          ด้วยความรัก เมตตา  และห่วงใย          สอนตั้งไข่  สอนเดิน  เจริญการ
          อันมารดา   เป็นครู   ผู้เริ่มต้น              ผู้ฝึกฝน    อบรม   ประสมสาน
          สอนให้พูด  ให้ทำ   จนชำนาญ           ปฐมการ   ก่อเกิด  ซึ่งปัญญา
          พออายุ   ถึงเกณฑ์  ที่กำหนด            ไปตามกฏ ระเบียบ  การศึกษา
          เรียนจากครู อาจารย์  งานวิชา             ตามโอกาศ  วาสนา ปัญญามี
          พอเติบใหญ่  เรียนรู้  จากรอบข้าง        เรียนทุกอย่าง เรื่อยไป  ในวิถี
          สรรพสิทธิ์    วิชา    บรรดามี              เรียนรู้ที่    ถูกต้อง  ตามแนวทาง
          เป็นครูพัก   ลักจำ   ก็ทำอยู่               หรือเรียนรู้  ในศาสตร์ ทุกสิ่งอย่าง
          ทุกสิ่งล้วน  มีครู    ผู้ชี้ทาง                 ที่ได้สร้าง  ได้ทำ  ได้นำมา
          ศิษย์มีครู  ก็เหมือนงู ที่มีพิษ               แม้น้อยนิด  ก็มีฤิทธิ์  ตามเนื้อหา
          เกิดจากความ  เคารพ  และศรัทธา        เชื่อมั่นมา  ในครู   ผู้ชี้นำ
          กตัญญู   บูชา  คารวะ                       คือธรรมะ   คำครู   ผู้หนุนค้ำ
          ระลึกถึง  คุณของครู  อยู่ประจำ            เมื่อกระทำ  การกิจ  คิดถึงครู
          ถึงรอบปี  มีโอกาศ อย่าพลาดผิด          มารวมจิต  รวมใจ  ให้มั่นอยู่
          ตั้งพิธี    พลีกรรม  ตามคำครู               ทำให้ดู   ให้เด่น   ให้เป็นงาน
          งานไหว้ครู  บูรพา  อาจารย์นั้น              มาร่วมกัน  ตั้งจิต   อธิษฐาน
          ระลึกถึง พระคุณครู บูรพาจารย์              อธิษฐาน  พระคุณครู  อยู่คุ้มครอง
          สิ่งใดที่  ผิดพลาด ประมาทคิด              ขมาจิต ขมากาย  คลายเศร้าหมอง
          ขอน้อมกาย น้อมจิต ศิษย์รับรอง            ตอบสนอง  พระคุณครู อยู่ไม่คลาย
          ขอพระคุณ  ของครู  จงอยู่ค้ำ               อยู่ประจำ   กับศิษย์    นิมิตหมาย
          ระลึกคุณ  ของครู   ด้วยใจกาย             ศิษย์ทั้งหลาย  ระลึก   สำนึกคุณ...
                                  กตัญญู บูชา คารวะ ต่อครูบูรพาจารย์
                                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ หมู่บ้านมณีรินทร์เพลส ศรีราชา ชลบุรี
         

152
หมู่บ้านมณีริณทร์ ศรีราชา ชลบุรี
   ๑๔ กุม๓าพันธ์ ๒๕๕๔
 วันนี้มีโอกาศได้ลงมาทำธุระสงเคราะห์ญาติโยม ทำให้มีไฟฟ้าที่จะใช้พิมพ์งาน
เพราะต้องรอให้ถ่านโทรศัพท์ที่ชาร์ตไว้นั้นเต็มเสียก่อน จึงจะกลับขึ้นเขาได้
 ทำให้มีเวลาที่จะพิมพ์งาน จนกว่าจะได้เวลากลับขึ้นเขา....
                       :059: เข้าใจโลกก็จะเห็นธรรม  :059:
                     โลกใบนี้  หลายหลาก  ซึ่งเผ่าพันธุ์
                    มาหล่อหลอม  รวมกัน   ตามพื้นที่
                    แบ่งแยกตาม   เชื้อสาย  ที่มากมี
                    และสิ่งที     ศรัทธา      มาเหมือนกัน
                        โลกนั้นอยู่   ของโลก  อย่างสงบ
                     โลกเคารพ     ธรรมชาติ  ไม่เดียจฉันท์
                     โลกก็อยู่        ของโลก   มานานวัน
                     โลกมาพลัน    วุ่นวาย     เพราะผู้คน
                          คำว่าคน   คือคลุกเคล้า  ให้เข้ากัน
                       สาระพัน      สาระพัด     ความสับสน
                       เพราะกิเลส   ตัณหา      พาเวียนวน
                      ทำให้คน      วุ่นวาย       ไร้ศีลธรรม
                         ถืออัตตา    มานะ เป็นที่ตั้ง
                      ต่างมุ่งหวัง   ประโยชน์ตน  จนถลำ
                      ให้ความโลภ  ความชั่ว  เข้าครอบงำ
                       จิตตกต่ำ     ให้วุ่นวาย  ไม่ร่มเย็น
                           คนเหมือนกัน  แต่ต่างกัน   ที่ความคิด
                        ต่างมีจิต     คิดกัน    อย่างที่เห็น
                       อยากจะมี  อยากจะได้  อยากจะเป็น
                       จึงทุกข์เข็ญ แข่งขัน     กันเรื่อยมา
                           ถ้ารู้จัก   ความพอเพียง  เลี้ยงชีวิต
                        รู้ถูกผิด   ควบคุม   ซึ่งตัณหา
                        และถ้ายอม  ลดละ  ซึ่งอัตตา
                        ก็จะพา   โลกสงบ    เคารพกัน
                           เคารพสิทธิ์   เคารพธรรม  นำความคิด
                          รู้ถูกผิด     ดีชั่ว    ไม่หุนหัน
                          รู้จักการ   เอื้อเฟื้อ   ช่วยเหลือกัน
                          สมานฉันท์  โลกสงบ  เมื่อพบธรรม....
                                              ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๑๘.๕๓ น. ณ หมู่บ้านมณีรินทร์ ศรีราชา ชลบุรี


                       
                       

153
หมู่บ้านมณีรินทร์ ศรีราชา ชลบุรี
  ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
         ปลดเปลื้องภาระพันธนาการทางจิต ไม่ยึดติดกับสิ่งของ สถานที่และตัวบุคคล
หลุดพ้นจากปลิโพธทั้ง ๑๐ ประการ มีเวลาทำงานทางจิตมากยิ่งขึ้น เพราะตลอดเวลา
ที่ผ่านมานั้น เวลาถูกแบ่งปันไปกับความกังวลในหมู่คณะที่ต้องรับผิดชอบดูแลที่อยู่ร่วมกัน
ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่กันอย่างไร อาหารการขบฉันพอเพียงหรือไม่ สุขภาพของพวกเขาจะ
เป็นอย่างไร อยู่ร่วมกันหมู่มากจะมีปัญหากระทบกันหรือไม่ คือสิ่งที่กังวลใจที่เรียกว่า..
" คณะปลิโพธ..ความกังวลในหมู่คณะ " และความกังวลในเรื่องการก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ
ภายในวัด การหาเงินทุุนปัจจัยเพื่อใช้ในการก่อสร้าง แรงงานที่จะต้องใช้ในการก่อสร้าง
แบบแปลน สถานที่ตั้งที่กำหนดจุดไว้ให้เป็นไปตามแผนผังที่วางไว้ เพื่อให้การก่อสร้างนั้น
ดำเนินไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ต้องใช้ความคิดและสติปัญญา ในการบริหารคน บริหารเงิน
บริหารงาน บริหารเวลา เพื่อให้งานรุดหน้าดำเนินไปโดยไม่สะดุุด ให้สำเร็จลุล่วงไปตามเวลา
ที่ได้ตั้งใจกำหนดไว้
       บางครั้งรู้สึกเหมือนจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับตนเอง แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งนั้น
กลับเป็นการกระตุ้นให้เราตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ต้องเจริญสติและสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้น
เพราะเมื่อกายทำงานหนัก จิตมักจะหยาบ เพราะว่ามีผัสสะมากระทบอยู่ตลอดเวลา
แต่เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สำเร็จตามที่ได้รับปากหลวงตาชุณห์ไว้
และภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ความกังวลทั้งหลายก็หมดไป พันธนาการทางจิต
ที่ได้รับปากกับหลวงตาชุณห์ไว้ก็หมดไป เพราะได้ทำตามที่รับปากไว้เสร็จสมบูรณ์
     มอบหมายให้พระท่านและญาติโยมดูแลรักษากันต่อไป ให้เวลาแก่ตนเองมากขึ้น
ปลีกตัวออกจากหมู่คณะ มาหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งญาติโยมลูกศิษย์สายชลบุรีเป็นผู้จัดหาให้
สร้างกุฏิ สร้างศาลาปฏิบัติธรรมถวาย ไม่ต้องไปวุ่นวายกับงานก่อสร้าง แล้วแต่ญาติโยม
เขาจะศรัทธาสร้างถวาย ทำใ้มีเวลาในการเจริญจิตภาวนามากขึ้น สติและสัมปชัญญะ
มีความต่อเนื่องกันมากขึ้น มีความระลึกรู้และความรู้ตัวทั่วพร้อมมากยิ่งขึ้น รู้เท่าทัน
อารมณ์ เห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง เห็๋นความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหลาย เห็นกาย เห็นจิต
รู้ทันความคิดและการกระทำ น้อมนำจิตสู่ความไม่ประมาท เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ
เห็นโลกและเห็นธรรม ว่าทุกสิ่ง...ล้วนเป็นเช่นนั้นเอง...ตถตา...
                            ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๑๘.๓๒ น. ณ หมู่บ้านมณีรินทร์ ศรีราชา ชลบุรี

154
ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
 ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
           ลงจากเขามาทำธุระที่ตลาดบ่อวิน ทำให้มีเวลาที่จะพิมพ์งาน
บทกวีเพราะมีไฟฟ้า ซึ่งถ้าอยู่บนเขานั้นไม่มไฟฟ้าใช้ พิมพ์งานไม่ได้
เพราะตอนกลางวันช่างเขาทำงานกัน ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟนั้นไม่พอ
ต้องรอตอนเช้า ก่อนโยมจะลงงาน จึงจะใช้เครื่องปั่นไฟได้...
                          :059: วันเวลาแห่งการเดินทาง  :059:
                       เสร็จกิจ จากการ  สร้างวัด      จึงตัด สินใจ ลาจาก
                       เสร็จกิจ ตามที่    รับปาก       จึงจาก จรลา  ด้วยดี
                       หกปี  ที่วัด   ทุ่งเว้า             ที่เฝ้า  ทุ่มเท  เต็มที่
                       สร้างสรรค์ ขึ้นมา ให้มี           สวยดี ตามที่ ตั้งใจ
                       สร้างวัด สร้างคน สร้างงาน      พ้นผ่าน ตามยุค สมัย
                       เวลา  ล่วงเลย  ผ่านไป         ฝากไว้  ในความ ทรงจำ
                       ออกจร  ร่อนเร่  รอนแรม        แต่งแต้ม  ต่อเสริม ค้ำเติม
                       มุ่งสู่  เส้นทาง  สร้างธรรม       น้อมนำ  ธรรมมา  คุ้มใจ
                       หลีกเร้น จากหมู่ คณะ           เพื่อจะ  เริ่มต้น  ฝึกใหม่
                       ยกจิต ให้สูง  ขึ้นไป             อยู่ใน  วิปัส สนา
                       ตามดู  ตามรู้  ตามเห็น          บำเพ็ญ เพียงเพื่อ เสาะหา
                       รู้ทัน กิเลส มายา                 ค้นหา  ซึ่งสัจ จะธรรม
                       เดินตาม พระธรรม คำสอน      ขั้นตอน ถูกต้อง เลิศล้ำ
                       ตามที่ พระองค์ ชี้นำ             ตามธรรม ตามกาล เวลา
                       พักพิง อยุ่ใน อาศรม             ตัดข่ม กิเลส ตัณหา
                       เพียรเพ่ง เจริญ ภาวนา           ค้นหา กิเลส  ในตน
                       มองหา ให้เห็น เป็นจริง          ทุกสิ่ง นั้นคือ เหตุผล
                       ฝึกกาย ฝึกจิต ฝึกตน             ฝึกฝน ให้เกิด ปัญญา
                       ปัญญา ในการ ลดละ             มานะ กิเลส ตัณหา
                       ลดละ ซึ่งตัว อัตตา               ที่มา ตัวกู  ของกู
                       รู้ธรรม แต่ยัง ไม่ทำ               เพียงนำ มาเป็น ความรู้
                       รู้ธรรม แล้วต้อง ทำดู             ให้รู้ แก่นแท้ แห่งธรรม...
                             ....................................................
                                    ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๑๓.๒๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

155
ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
 ๘ กุม๓าพันธ์ ๒๕๕๔
          กางกรดพำนักอยู่ในกระท่อมร้างบนภูเขา สมาทานงดฉันอาหารตั้งแต่วันแรกที่ปักกรด
ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพของร่างกาย ให้เวลาแก่การเจริญสติภาวนาเป็นหลัก
อาศัยน้ำปานะกาแฟและโอวัลตินบำบัดทุกขเวทนาในยามหิวกระหาย รอเวลาที่จิตจะทรงไว้ใน
อารมณ์ปิติได้ตลอดเวลา เพราะว่าเมื่อจิตเข้าสู่อารมณ์สมาธิและทรงปิติไว้ได้นั้น ทุกขเวทนา
ความหิวกระหายก็จะหมดไป แต่ตลอดเวลาสิบกว่าวันที่ผ่านมานั้น ไม่สามารถที่จะทรงอารมณ์
ไว้ได้ตลอดเวลาเพราะว่ามีผัสสะสิ่งรบกวนในตอนกลางวันอยู่ตลอด เช่นมีญาติโยมมาเยี่ยมเยือน
ข้นเอาน้ำปานะมาถวายมาพูดคุยด้วยหรือการก่อสร้างกุฏิกัมมัฏฐานที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น ต้องขึ้นไป
ดูแลสั่งงาน ควบคุมแบบแปลน จะมีเวลาเป็นส่วนตัวก็เฉพาะตอนกลางคืนจนถึงรุ่งสว่างเพราะไม่มีใคร
ขึ้นมารบกวน จึงมีเวลาปฏิบัติเจริญภาวนาได้เต็มที่
       ตอนกลางวันจึงใช้การเจริญสติและเจริญสัมปชัญญะ ให้มีความรู้ตัวทั่วพร้อมและระลึกรู้อยู่ตลอด
ใช้ขันติข่มเวทนาคือความหิวกระหายในตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนนั้นใช้สมาธิเป็นตัวข่มทุกขเวทนา
ความหิวกระหายทั้งหลายที่เกิดขึ้น บนภูเขาสูงสงบแต่ไม่สงัดเพราะยังได้ยินเสียงยวดยานพาหนะ
จากถนนด้านล่างที่สะท้อนดังขึ้นมา จึงต้องใช้เวลาในการปรับตัวปรับจิตให้เกิดความเคยชินกับเสียงนั้น
ซึ่งคงจะใช้เวลาไม่นานก็จะชินไปเอง
       พิจารณาทำความรู้ความเข้าใจในทุกสรรพสิ่ง ในความเป็นจริงของชีวิต คิดทุกอย่างเข้าหาหลักธรรม
ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ประสพพบเห็นนั้น...มันเป็นเช่นนั้นเอง...เมื่อเข้าใจทุกอย่างก็จบ มันมีคำตอบอยู่
ในตัวของมันเอง ไม่ต้องไปสงสัย ไม่ต้องไปกังวล ไม่ต้องไปค้นหา เพราะว่า...ตถตา มันเป็นเช่นนั้นของมันเอง...
นี่คือที่มาของชื่ออาศรม...ตถตาอาศรม...เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเช่นนั้นเอง...
                          ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๒๒ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

156
ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
 ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
        ว่างเว้นจากงานเขียนมานานเพราะว่าอยู่ระหว่างหาที่อยู่ใหม่่่
และเมื่อได้ที่อยู่แล้ว ก็มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าเพราะว่ายังไม่มีไฟฟ้าใช้
ทำให้ไม่สามารถที่จะพิมพ์งานได้ จึงได้ว่างเว้นผลงานไประยะหนึ่ง
เผอิญช่วงนี้มีช่างมาสร้างกุฏิ เขามีเครื่องปั่นไฟ จึงได้อาศัยไฟจากเขา
ทำให้สามารถพิมพ์งานออกมาได้
                          :059: บนเส้นทางแห่งการแสวงหา  :059:
                           เสร็จกิจคิดรอนแรม    ไปแต่งแต้มต่อเติมฝัน
                          เร่ร่อนมาหลายวัน       หาที่มั่นพักพิงกาย
                          หาที่บำเพ็ญกิจ          ตามที่คิดและมุ่งหมาย
                          พักใจให้ผ่อนคลาย     โปร่่งสบายไร้กังวล
                          หมดสิ่งปลิโพธ          ตอบทุกโจทย์ตามเหตุผล
                          สร้างงานและสร้างคน   ทำเพื่อค้นหาตนเอง
                          ค้นพบซึ่งแนวทาง       แสงสว่างให้รีบเร่ง
                          ข้ามพ้นความหวั่นเกรง  เพื่อตนเองเร่งรีบทำ
                          เวลาของชีวิต             เหลือน้อยนิดคิดแล้วขำ
                          หลงไปในโลกดำ        กว่ารู้ธรรมเกือบเกินกาล
                          หลงไปเพราะประมาท   ตกเป็นทาสพญามาร
                          หลงเพลินเสียเนิ่นนาน  จนสังขารอ่อนกำลัง
                          ทุกข์มาปัญญามี          ธรรมบทนี้ชี้้ความหวัง
                          ปลุกใจให้พลัง            ปลุกความหวังปลุกศรัทธา
                          คืนกลับสู่สามัญ           เดินตามฝันที่ใฝ่หา
                          ลดละซึ่งอัตตา            และตัณหาอุปาทาน
                          รู้กายและรู้จิต             รู้ความคิดรู้เหตุการณ์
                          รู้ทันพญามาร           รู้ด้วยญาณด้วยปัญญา
                          รู้ธรรมและเห็นธรรม      เหลือเพียงทำตามเวลา
                          สิ่งที่แสวงหา              อีกไม่ช้าคงสมปอง....
                                     เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม  
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๒๑.๔๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี

157
ตถตาอาศรม เขานกตะกรุม ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
         เสร็จจากงานกฐิน ออกเร่ร่อนรอนแรมจากริมฝั่งโขง ล่องใต้ไปทะเลอันดามัน จ.กระบี่
เก็บตัวปฏิธรรมอยู่ในหุบเขาสำนึกบาป สมาทานงดเว้นการฉันอาหารเป็นเวลา ๑๗ วัน
ฉันแต่น้ำและกาแฟ เพื่อให้กายเบาจิตโปร่ง เร่งความเพียรเจริญสติภาวนาวันละ ๑๘ ชั่วโมง
ทบทวนสภาวะธรรมกัมมัฏฐานที่เคยปฏิบัติมา เพียรพยายามรักษาจิตให้เป็นกุศลอยู่ตลอดเวลา
จนครบวันเวลาที่สมาทานอธิษฐานไว้ จึงได้ออกจากหุบเขา เพื่อไปเข้าอยู่ปริวาสกรรมชำระศีล
ที่วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
        ออกจากหุบเขาสำนึกบาป มีญาติโยมถวายที่ดินจำนวน ๑๕ ไร่ที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี
เพื่อให้สร้างเป็นวัด จึงแวะเข้าไปดูสถานที่ที่ดยมเขาถวาย ซึ่งดูแล้วก็เหมาะดี แต่ยังไม่รับปาก
ตกลงกับโยมเจ้าของที่ ขอเป็นหลังปีใหม่ไปแล้ว ออกจากปริวาสกรรมที่วัดสาวชะโงกเสียก่อน
แล้วจึงจะให้ตำตอบแก่โยม
         เข้าอยู่ปริวาสกรรมที่วัดสาวชะโงกเป็นเวลา ๙ คืน ๑๐ วัน ออกจากอยู่ปริวาสกรรมแล้ว
ญาติโยมจากชลบุรีมารับเพื่อไปดูสถานที่ ที่จะสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นรีสอร์ทร้างมานาน
ไม่มีคนเข้าพัีก เนื้อที่ประมาณ ๑๒ ไร่ สิ่งปลูกสร้างพร้อมและมีสวนป่าเหมาะสำหรับเป็นสถานที่
ปฏิบัติธรรม แต่ตกลงราคากับเจ้าของที่ไม่ได้ เพราะเขาต้องการเงินสดชำระงดเดียวครบตามจำนวน
ซึ่งราคาที่เขาตั้งไว้คือ ๑๒ ล้าน เกรงใจลูกศิษย์ว่าจะเป็นภาระหนักเกินไป จึงตัดสินใจปฏิเสธไป
เก็บบริขารเตรียมตัวเดินทางกลับไปหุบเขาสำนึกบาปที่ จ.กระบี่  ตอนสายๆก่อนจะกลับ มีญาติโยม
จาก บ่อวิน ศรีราชามานินมต์ให้ไปดูที่ดิน ที่เขานกตะกรุม อ.บ้านบึง ต่อเขตกับบ้านมาบปูอ.ศรีราชา
ซึ่งโยมเขานิมนต์ไว้หลายครั้งแล้วแต่ไม่ได้สนใจเพราะสื่อสารกันผิด (นั่งรถผ่านหลายครั้งแล้ว แต่
โยมชี้จุดผิดไป ไปชี้ตรงที่เป็นหน้าผาสูง จึงไม่ได้สนใจ ซึ่งคืนสุดท้ายก่อนจะกลับใต้ โยมเขามานิมนต์
อีกครั้ง จึงต้องจำใจไปดู และเมื่อเห็นสถานที่จริงแล้ว ก็ต่างจากที่คิดไว้มากเลย เป็นป่าหินและป่าไม้
เหมาะแก่การสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม จึงตัดสินใจตกลงใจที่จะใช้สร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ณ ที่นี้
       ๑๙ มกรารคม ๒๕๕๔ ทุกอย่างลงตัว การเจรจาได้ข้อยุติเสร็จสมบูรณ์  จึงนำญาติโยมลูกศิษย์เข้าไปพัฒนา
ปรับปรุงสถานที่ ทำทางขึ้นลงเขา ปรับปรุงกระท่อมร้างเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว และออกตระเวนดูบ้านสำเร็จรูป
เพื่อจะเอามาตั้งเป็นกุฏิกัมมัฏฐาน และเป็นศาลาไหว้พระสวดมนต์ ไปเห็นเรือนไทยแฝดที่เขาสร้างโชว์ไว้หลังหนึ่ง
มี ๑ ห้องโถง ๒ ห้องนอน ๑ ห้องครัว ๑ ห้องทำงาน และมีชานชาลาระเบียงกลางบ้านอีก ๑ ที่่ ดูแล้วเหมาะสมดี
มีเนื้อที่ใช้สอยตามที่ต้องการ ราคาอยู่ที่ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท คุยกับเจ้าของต่อรองราคากัน จนเกิดศรัทธาลดให้เหลือ
๑ล้านบาท จึงตกลงกันได้ โดยเอากุฏิกัมมัฏฐาน ๑ หลัง ราคา ๑๗๐,๐๐๐ บาท กับศาลาเรือนไทยแฝดราคา ๑ล้านบาท
กำหนดสร้างกุฏิวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ใช้เวลา ๑๐ วัน สร้างศาลาวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ กำหนดเวลา ๔๕ วัน(เสร็จก่อนสงกรานต์)
     ๒๑ มกราคม ๒๕๕๔ เข้าไปปักกรดในพื้นที่เป็นวันแรก สมทานงดเว้นการขบฉันเป็นเวลา ๒๐ วัน(จนกว่ากุฏิจะเสร็จ)
ตัดสินใจตกลงใจสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งใหม่ ณ เขานกตะกรุม หมู่ ๗ ต. คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี โดยให้ชื่อว่า...
ธรรมสถาน ตถตาอาศรม....จากนาคาพิทักษ์ริมฝั่งโขง มาเป็นพยัคฆ์บูรพา บนภูผาเขานกตะกรุม จ.ชลบุรี...
      ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๑๒.๓๒ น. ณ ตถตาอาศรม เขานกตะกรุม บ้านบึง ชลบุรี

 
           

158
สถานที่ปักกรดปฏิบัติธรรมขณะอยู่ปริวาสกรรม ณ วัดสาวชะโงก (ที่นั่งสมาธิและที่เดินจงกรม)


กุฏิกรรมฐานที่ใช้จำวัตรพักผ่อน สรงน้ำและเก็บของใช้ส่วนตัว


สำนักวิปัสสนาวัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
วันพฤหัสบดีที่ ๖ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๔
           ครบ ๑๐ วัน ๙ ราตรี สำหรับการเข้าอยู่ปริวาสกรรม ณ วัดสาวชะโงก ซึ่งเป็นสถานที่เก่าที่คุ้นเคย
เพราะเมื่อก่อนนั้น จะมาเป็นประธานอาจารย์กรรม บรรยายธรรมและควบคุมดูแลการจัดปริวาสกรรมทั้งหมด
แต่ได้หยุดพักห่างหายไปเป็นเวลา ๕ ปี ให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน และการกลับมาในครั้งนี้มาในฐานะของ
ผู้เข้าอยู่ปริวาสกรรม ( เป็นลูกกรรม ) เพื่อเป็นการลดมานะ ละทิฏฐิ ของตัวเราเอง มาปฏิบัติใต้กฏระเบียบ
และการควบคุมดูแลของพระที่เป็นเคยลูกศิษย์ของเรา ทำกิจวัตรตามที่เขาสั่งและเขาใช้ เป็นผู้ไม่มีปากเสียง
ทำตามกฏระเบียบของสำนักที่เราเคยเป็นผู้วางไว้และเคยใช้บังคับผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม อย่างเช่น...
เวลา ๐๓.๓๐ น. ตีระฆังปลุกให้ตื่น
เวลา ๐๔.๐๐ น. สมาทานบอกวัตรและสวดมนต์ทำวัตรเช้า
เวลา ๐๖.๐๐ น. เก็บวัตรลาพระ
เวลา ๐๗.๐๐ น. ฉันภัตราหารเช้า
เวลา ๐๙.๐๐ น. ปฏิบัติธรรมภาคเช้าเป็นเวลา ๙๐ นาที
เวลา ๑๑.๐๐ น. ฉันภัตราหารเพล
เวลา ๑๔.๐๐ น. ปฏิบัติธรรมภาคบ่ายเป็นเวลา ๙๐ นาที
เวลา ๑๘.๐๐ น. สวดมนต์ทำวัตรเย็นเป็นเวลา ๙๐ นาที
เวลา ๒๐.๐๐ น. ฟังธรรมและปฏิบัติในภาคค่ำเป็นเวลา ๙๐ นาที
เวลา ๒๑.๓๐ น. สมาทานบอกวัตร
เวลา ๒๓.๐๐ น. สัญญานระฆังปิดไฟ
เป็นกฏระเบียบการปฏิบัติของผู้เข้าอยู่ปริวาสกรรม เพื่อชำระศีลให้บริสุทธิ์ ที่ตัวเราได้เป็นผู้วางไว้เองเมื่อในอดีต
เพราะว่าการเข้าอยู่ปริวาสกรรมนั้นคืออยู่เพื่อชดใช้ ความพร่องของศีลที่ล่วงละเมิดไป ทั้งที่รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี จำได้ก็ดี
จำไม่ได้ก็ดี เป็นการลดมานะ ละทิฏฐิ ทรมานตนปฏิบัติชดใช้ เพื่อให้สงฆ์เรียกเข้าหมู่ กลับมาเป็นพระปกติอีกครั้ง
และเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของศีล เพื่อเป็นการลดมานะ ละทิฏฐิในตัวตนให้เบาบางลง ด้วยการเป็นผู้น้อยยอมอยู่
ใต้กฏระเบียบและการควบคุมของพระอาจารย์กรรม ( พระปกติ ) การมาเข้าปริวาสกรรมที่วัดสาวชะโงกในครั้งนี้นั้น
จึงเป็นการพิสูจน์ตัวเราเอง ดูกาย ดูจิต ดูความคิด มองให้เห็นทิฏฐิมานะและอัตตาที่มีอยู่ในตัวเรา ปฏิบัติเพื่อชดใช้
เพื่อให้ได้มาซึ่งความบริสุทธิ์ของศีล และเป็นการทบทวนตนเองกับที่ได้กระทำไปและสิ่งที่ผ่านมา
        การที่เราจะไปเริ่มต้นใหม่ในสถานที่ใดนั้น มันเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ถ้าเรามีความมั่นใจในศีลและข้อวัตรปฏิบัติ
ที่เราได้รักษาและกระทำมาแล้ว มันจะทำให้เรามีความมั่นใจ มีศรัทธาในตนเองยิ่งขึ้น เพราะก่อนที่จะให้ผู้อื่นมาศรัทธา
ในตัวเรานั้น ตัวของเราเองต้องมีศรัทธาในตนเองเสียก่อน และการเปลี่ยนสถานที่ใหม่แต่ละครั้งนั้น จะทำให้เรานั้น
มีความสำรวมระวังมากขึ้น ในข้อวัตรปฏิบัติและในสิกขาทั้งหลาย เพราะความไม่คุ้นเคยต่อบุคคลและสถานที่นั้น
จะทำให้เรามีความสำรวมระวังมากขึ้น สถานที่ใหม่ บุคคลกลุ่มใหม่ ทำให้เราสามารถที่จะปรับรูปแบบการดำเนินชีวิต
ได้ใหม่ให้ดีกว่าเดิมได้ เพราะการอยู่ที่ใดนานๆนั้น จะทำให้เรามีความคุ้นเคยซึ่งจะนำมาซึ่งความย่อหย่อนในการปฏิบัติ
มีวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ มันทำให้เราติดในสุข ติดในลาภสักการะและติดในญาติโยมได้
       การเริ่มต้นใหม่ที่ใกล้จะมาถึงนั้น จึงเป็นบทพิสูจน์ของตัวเราเองและคนรอบข้างของตัวเรา ว่าจะยอมรับในความเปลี่ยนแปลง
ครั้งใหม่นั้นได้หรือไม่ มันจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายและเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ " ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน "
หนึ่งเดือนกว่าๆที่ผ่านมานั้น คือการเตรียมตัว เตรียมตน เพื่อการเริ่มต้นครั้งใหม่ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ให้กาลเวลาเป็นสิ่งพิสูจน์
                        ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๖ มกราคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๑.๑๑ น. ณ สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

159
กุฏิที่พัก ที่นอน และที่นั่งไหว้พระสวดมนต์

อาหารที่ฉันในหนึ่งวัน (ตัวฉันมีกาน้ำหนึ่งใบกับกองฟืนที่วางอยู่เรียงราย)

ช่องเขาที่เจาะเป็นทางที่จะลงไปในหุบเขากว้างประมาณ ๕๐ ซ.ม.


สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
วันจันทร์ที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๔
                 ห่างหายไปจากบอร์ดเกือบเดือน เพราะอยู่ในช่วงปฏิบัติธรรม(ทบทวนอดีตที่ผ่านมา)
หลังจากจัดการบวชพระใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าหุบเขาเก็บตัวปฏิบัติธรรมตั้งแต่วันที่ ๖ ธันวาคม
กลับคืนย้อนสู่อดีตเมื่อยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา สมัยที่เข้าไปเก็บตัวฝึกจิตอยู่ในหุบเขาเป็นเวลา ๒ ปีกว่า
ควบคุมเรื่องการฉันอาหาร ปฏิบัติแบบพรตฤาษี ฉันน้อย นอนน้อยและงดฉันอาหาร งดการหลับนอน
ปฏิบัติวันละ ๒๐ ชั่วโมง น้ำหนักตัวจาก ๕๔ ก.ก.ลดเหลือเพียง ๓๘ ก.ก. ก่อนที่จะออกจากหุบเขา
นั้นคือเรื่องราวในอดีตเมื่อยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา และทุกครั้งที่เสร็จสิ้นภาระกิจการสร้างวัดในแต่ละแห่ง
ก็จะกลับเข้ามาเก็บตัวในหุบเขานี้ทุกครั้ง ก่อนที่จะออกไปสร้างที่อื่นต่อ ทำอย่างนี้มาทุกครั้งที่ผ่านมา
แต่ในครั้งนี้ไม่ถึงกับอดอาหารเพราะเวลามีน้อย จึงได้แต่เพียงคุมอาหาร ซึ่งในวันหนึ่งนั้นจะฉันกาแฟ
3 in1 วันละ ๒ ซอง คือตอนตีสองและตอนหนึ่งทุ่ม ส่วนตอนเที่ยงนั้นจะฉันโอวันติน 3in1กับเนสวิต้า
อย่างละ ๑ ซอง ตลอดเวลา ๑๗ วันที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในหุบเขา เพื่อให้กายเบา จิตเบา ไม่เสียเวลาไปกับ
เรื่องการขบฉันและการถ่ายหนักถ่ายเบา นอนเที่ยงคืนตื่นตีสอง ปฏิบัติทบทวนกรรมฐานทุกกองที่เคยปฏิบัติมา
ทำวัตรไหว้พระเช้าเวลา ๐๕.๐๐ น.และทำวัตรไหว้พระเย็นเวลา ๑๘.๐๐ น.พักผ่อนจำวัตรวันละ ๒ ชั่วโมง
เพื่อให้เลือดขึ้นเลี้ยงสมอง ส่วนเวลาที่เหลือนั้นหมดไปกับการเดินจงกรมและนั่งสมาธิแผ่เมตตาให้แก่ผู้มีพระคุณ
ทั้งหลายทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน ที่ปกปักรักษาอยู่ในหุบเขาแห่งนั้น เพราะเราได้เกิดใหม่ในทางธรรมจากหุบเขา
แห่งนี้ จึงเหมือนการกลับคืนสู่บ้านเก่าหลังจากที่ออกไปผาดโผนโลดแล่นในยุทธจักรโลกภายนอกที่แสนจะวุ่นวาย
กลับมาเพื่อทบทวนและฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ เพื่อที่จะออกไปสู่ยุทธจักรใหม่อีกครั้ง ใจนั้นอยากจะอยู่ปฏิบัติต่อ
ในหุบเขาที่เงียบสงบไม่มีผัสสะสิ่งรบกวน แต่ติดขัดในเรื่องภาระกิจที่จะต้องออกไปสะสาง จึงทำให้ได้อยู่ปฏิบัติใน
หุบเขาเพียง ๑๗ วัน ญาติโยมลูกศิษย์จากชลบุรีและเกาะสมุยลงไปรับในหุบเขา เพื่อเดินทางไปร่วมงานปริวาสกรรม
ที่วัดสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อปฏิบัติธรรมถวายแด่หลวงพ่อเหลือซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ที่เรานั้น
ได้สืบทอดวิชาของท่านมาเป็นการปฏิบัติบูชาแทนการไหว้ครู เพราะว่าตั้งแต่ไปสร้างวัดทุ่งเว้าที่มุกดาหารนั้น ไม่ได้ลงมา
ไหว้ครูหลวงพ่อเหลือมา ๕ ปีแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องไปเพื่อสิ่งที่ค้างคาใจจะได้หมดสิ้นลง
            ออกจากหุบเขามาก็ได้รับข่าวดีจากลูกศิษย์ ว่ามีญาติโยมจะถวายที่ดินเพื่อให้สร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน
จำนวน ๑๕ ไร่ ที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี จึงได้แวะเข้าไปดูสถานที่ ที่โยมเขาจะถวายตอนที่กลับขึ้นมาจากกระบี่
เข้าไปทางสี่แยกหน้าโรงพยาบาลเขาย้อย ถนนสาย 1015 ทางที่จะไปแก่งกระจาน อยู่ห่างจากถนนเพชรเกษมประมาณ
๔ กิโลเมตร อยู่ในหุบเขาที่เป็นรูปเกือกม้า สามารถที่จะมองเห็นเมืองเพชรบุรี เขาวังและทะเลได้ ซึ่งดูแล้วเป็นสถานที่ที่สัปปายะ
เหมาะแก่การสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งได้นัดหมายกับญาติโยมลูกศิษย์ไว้ว่า หลังจากออกปริวาสที่วัดสาวชะโงกและเคลียร์งาน
กิจนิมนต์ที่รับไว้หมดแล้ว จะเข้าไปปักกรดปฏิบัติธรรมในพื้นที่สักหนึ่งเดือน เพื่อที่จะตรวจสอบอะไรบางอย่างที่มองด้วยตาเนื้อไม่เห็น
ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะรับไว้สถานที่แห่งนี้ไว้หรือไม่ เพราะการสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมนั้นต้องใช้ทุนจำนวนมาก ซึ่งถ้าสร้างไปแล้ว
มีปัญหาขึ้นมาภายหลัง ก็เหมือนกับเราเอาเงินศรัทธาของญาติโยมไปทิ้งโดยไม่เกิดประโยชน์ จึงต้องตรวจสอบในแน่ใจเสียก่อน
จึงจะลงมือดำเนินการก่อสร้าง และเพื่อให้เกิดประโยชน์บุญกุศลที่เห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง
    ท้ายสุดนี้ขอกล่าวคำอวยพร สวัสดีปีใหม่แก่สมาชิกและผู้เยี่ยมชมทั้งหลาย ขอให้มีความสุขความเจริญทั้งในทางโลกและทางธรรม
โดยทั่วหน้ากันทุกคนทุกท่านเทอญ เจริญพร เจริญสุข เจริญธรรม
                        ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓ มกราคม ๒๕๕๔ เวลา ๒๒.๒๘ น. ณ สำนักปฏิบัติธรรมวัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

160
วัดถ้ำเสือวิปัสสนา จ.กระบี่
   ๔ ธันวาคม ๒๕๕๓
               เดินทางมาถึงวัดถ้ำเสือฯตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เพื่อติดต่อเตรียมงานบวช
ให้แก่โยมซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม  ติดต่อที่พัก ติดต่อนิมนต์พระอุปฌาย์ พระคู่สวด
พระนั่งอันดับ จัดเตรียมชุดนาคที่จะใส่เข้าโบสถ์ สอนคำขานนาค ติดต่อตระเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว
ซึ่งจะบวชในวันที่ ๕ ธันวาคม เวลา ๑๗.๐๐ น.เพราะภาคเช้าพระจะไม่ว่างกันติดกิจนิมนต์พิธีงานวันพ่อ
จึงต้องรอให้งานบวชของเพื่อนเสร็จเสียก่อน จึงจะเข้าหุบเขาไปเก็บตัวได้ ช่วงนี้จึงต้องอยู่ในวัดดูแลนาค
และอยู่สงเคราะห์อนุเคราะห์ต้อนรับญาติโยมไปก่อน ตอนเช้าออกไปรับบิณฑบาตรในตัวเมืองจังหวัดกระบี่
ตอนกลางวันก็ต้อนรับญาติโยมสนทนาธรรม ตอบปัญหาข้อสงสัยของพระ แม่ชีและญาติโยมที่มาขอคำปรึกษา
จึงไม่มีเวลาที่จะออกไปถ่ายภาพมาฝาก เพราะช่วงบ่ายถึงค่ำนั้น จะมีญาติโยมมาขอสักยันต์ลงน้ำมันกันทุกวัน
กลางคืนหลังทำวัตรเย็นแล้วจึงจะมีเวลาทำกิจส่วนตัว หลังจากวันที่ ๖ ธันวาคมไปแล้วจึงจะได้เข้าหุบเขาขวาก
ปฏิบัติได้เต็มที่ไม่มีใครมารบกวนเพราะเป็นเขตปฏิบัติพิเศษ ห้ามญาติโยมเข้าไปรบกวน
                      ...................................................................
                    :059: ในอ้อมกอดของขุนเขา...ใต้ร่มเงาของเพิงผา  :059:
                            ในอ้อมกอดของขุนเขา       ใต้ร่มเงาของเพิงผา
                          ทบทวนสิ่งผ่านมา               รู้คุณค่าของทางธรรม
                          สร้างงานและสร้างคน           บุญกุศลนั้นเลิศล้ำ
                          เกิดจากกุศลกรรม               ที่น้อมนำให้เป็นไป
                          เหนื่อยกายแต่ใจสุข            ใจไม่ทุกข์จิตแจ่มใส
                          ปิติหล่อเลี้ยงใจ                  ส่งผลให้สำเร็จงาน
                          คิดดีและทำดี                    ก็จะมีศรัทธาทาน
                          เอาธรรมนำประสาน             สร้างผลงานประจักษ์ตา
                          ใช่หวังจะดังเด่น                 เหมือนดั่งเช่นคำกล่าวหา
                          ทำเพื่อพัฒนา                   เพื่อค้นหาสัจจธรรม
                          พิสูจน์ซึ่งคำสอน                ด้วยการย้อนมากระทำ
                          รู้ธรรมและเห็นทำ               จึงต้องนำทำให้จริง
                          ธรรมะพิสูจน์ได้                  ปรับเข้าใช้กับทุกสิ่ง
                          ธรรมะคือของจริง                เมื่อจิตนิ่งจะเห็นธรรม
                          เห็นธรรมแล้วทำต่อ             อย่ารั้งรอจงรีบทำ
                          ให้เกิดกุศลกรรม                 เอาหลักธรรมมานำทาง
                          นำทางสร้างชีวิต                 มีถูกผิดเป็นแบบอย่าง
                          ฝึกลดและละวาง                จิตให้ห่างจากอบาย
                          มานะและทิฏฐิ                   ฝึกสติก่อนจะสาย
                          ลดละแล้วสบาย                 ไม่วุ่นวายเพราะอัตตา
                          มองโลกแล้วมองธรรม          สตินำแก้ปัญหา
                          ฝึกจิตภาวนา                     เกิดปัญญาเข้าถึงธรรม...
                                     ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๔ ธันวาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๔๐ น.ณ กุฏิรับรองพระเถระ วัดถ้ำเสือวิปัสสนา จ.กระบี่

     
                         
                         

161
  :054:ได้มีโอกาศสนทนาธรรมกับญาติโยมและได้พูดคุยกันถึงเรื่องการสักยันต์
ทำให้พูดคุยถึงเรื่องยันต์หลวงพ่อเปิ่นและวัตถุมงคลที่ท่านได้สร้าง โยมจึงเอาผ้ายันต์มาให้ชม
เป็นผ้ายันต์หมูทองแดงลายมือหลวงพ่อเปิ่น ซึ่งได้เขียนให้ลูกศิษย์ที่เคยรับใช้บีบนวดท่าน
โยมเขาได้เก็บรักษาติดตัวอยู่เสมอ เพราะเคยมีประสพการณ์จากผ้ายันต์ผืนนี้ ในเรื่องแคล้วคลาด
มหาอุด คงกระพัน คุ้มครองป้องกันได้ทั้งคณะ(โยมหวงมากเลย)จึงขอโยมเขาถ่ายภาพไว้
เพื่อนำมาให้เราท่านทั้งหลายได้ชมกัน (ทำจากผ้าขาวห่อศพ )








162
วัดถ้ำเสือวิปัสสนา จ.กระบี่
 ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
          สรุปงานทุกอย่างที่วัดทุ่งเว้า จ.มุกดาหาร เสร็นสิ้นแล้ว เก็บอัฐบริขารจำเป็น เช่นกรด บาตร จีวร
โน๊ตบุ๊ค เข็มสักและของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นในทำพิธีสงเคราะห์ช่วยเหลือญาติโยม รวมแล้วสองย่ามใบใหญ่
ออกเดินทางจากวัดทุ่งเว้า จ.มุกดาหาร เช้าศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ไปเคลียร์กิจนิมนต์ที่ติดค้างโยม
ไว้นานแล้วที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ถึง อ.บ้านไผ่ เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. ทำพิธีและช่วยสงเคราะห์ญาติโยม
จนถึงเวลาประมาณ ๑๒.๔๕ น.ออกเดินทางต่อไปกิจนิมนต์ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ถึงศรีราชาเวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น.
ซึ่งมีญาติโยมมารออยู่แล้ว ทำพิธีสงเคราะห์และช่วยเหลือญาติโยมทันทีที่ไปถึง ซึ่งกว่าจะเสร็จก็ประมาณ ๐๔.๐๐ น.
จึงได้จำวัตรพักผ่อน หลับไปประมาณ ๒ ชั่วโมง เช้าวันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โยมมารับไปกิจนิมนต์ที่รับไว้
ในเขต ศรีราชา พัทยา จำนวน ๘ ที่ กลับถึงที่พักเวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น. มีญาติโยมจำนวนหนึ่งมารออยู่แล้วที่อาศรม
สนทนาธรรมและสงเคราะห์ญาติโยมจนถึงเวลาประมาณ ๒๔.๐๐ น. ญาติโยมจึงลากันกลับ นั่งสนทนากับเพื่อนๆต่อจนถึง
เวลาประมาณ ๐๑.๔๕ น. จึงได้จำวัตรพักผ่อน เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เดินทางไปกิจนิมนต์ที่กรุงเทพฯ
เสร็จกิจนิมนต์แล้ว นัดทีมงานที่เป็นฆราวาสทั้งหมดที่อยู่ในกรุงเทพฯ ให้มารวมตัวกันที่ร้านกาแฟสดชื่อ "รำมะนา คาเฟ่ "
ซึ่งตั้งอยู่แถวเกษตร-นวมินทร์ เพื่อสรุปงานทุกอย่างที่ได้วางแผนให้ไปดำเนินการกัน พูดคุยสรุปงานกันจนเป็นที่เข้าใจ
จึงได้แยกย้ายกันไปทำภาระกิจหน้าที่ของแต่ละคนต่อ เดินทางต่อไปที่สวนจตุจักร ตามที่ญาติโยมได้นิมนต์ไว้ล่วงหน้า
สนทนาธรรมและช่วยสงเคราะห์ญาติโยมที่จตุจักรจนถึงเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น.จึงได้เดินทางกลับที่พักที่ อ.ศรีราชา
กลับไปจัดบริขารให้เข้าที่เพื่อจะเดินทางต่อไป จ.กระบี่ ถึงที่พักนั่งสนทนาธรรมและสรุปงานของทีมงานในเขต จ.ชลบุรี
วางแผนงานให้ไปดำเนินการในเรื่องต่างๆจนเป็นที่เข้าใจกันในทุกฝ่ายทุกคน จึงได้แยกย้ายกันไปพักผ่อน เวลา ๐๑.๓๐ น.
เช้าวันจันทร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ออกจากที่พักที่ อ.ศรีราชา เวลาประมาณ ๐๕.๔๕ น. ไปที่รามอินทราเพื่อดูสถานที่
ให้น้องๆสายวัดบางพระ ทีมงานรามอินทราใช้ทำมาหากิน เสร็จแล้วไปที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อไปต้อนรับหลวงพ่อจำเนียร
ซึ่งท่านจะเดินทางไปประเทศอินเดีย สนทนาธรรมกับหลวงพ่อจำเนียรจนถึงเวลา ๑๐.๓๐ น. จึงได้กราบลาหลวงพ่อจำเนียร
เพื่อไปกิจนิมนต์ต่อที่ เกษตร-นวมินทร์ จนถึงเวลาประมาณ ๑๗.๔๕ น. จึงได้ให้โยมไปส่งที่ขนส่งสายใต้เพื่อเดินทางไป
จ.กระบี่ ซึ่งอาจจะมีคนสงสัยว่าทำไมไม่นั่งเครื่องไป ทำไมต้องนั่งรถทัวร์ สาเหตุที่ต้องนั่งรถทัวร์นั้นก็เพราะมีสัมภาระบางอย่าง
ที่ไม่สามารถจะนำขึ้นเครื่องไปได้ (เขาไม่ให้เอาขึ้นเครื่อง) จึงต้องใช้บริการรถทัวร์แทน ออกจากขนส่งสายใต้เวลา ๑๙.๐๐ น.
ถึง จ.กระบี่ เวลา ๐๖.๐๐ น.มีโยมมารอรับที่สถานีขนส่งกระบี่ เพื่อไปส่งที่วัดถ้ำเสือฯ แวะไปฉันกาแฟที่บ้านโยมคนที่มารอรับ
ถึงวัดถ้ำเสือฯเวลา ๐๗.๔๕ น. พระสหธรรมิกจัดเตรียมที่พักไว้ให้แล้ว ไปถึงจึงได้จัดของเข้าที่พักได้ทันที ตอนสายๆมีญาติโยม
จาก จ.ภูเก็ต ที่ได้โทรฯนัดไว้ล่วงหน้าแล้ว มาหาเพื่อให้ช่วยสงเคราะห์รักษา(โรคที่แพทย์สมัยใหม่รักษาไม่ได้) สงเคราะห์ญาติ
โยมต่อจนอาการหายเป็นปกติแล้วจึงได้ฉันเพล ตอนบ่ายออกไปทำธุระส่วนตัวในเมืองกระบี่ กลับถึงที่พักเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น.
สนทนาธรรมต่อกับเพื่อนสหธรรมิกจนถึงเวลาประมาณ ๒๐.๔๕ น.จึงได้แยกย้ายกัน
         ทุกครั้งที่เสร็จสิ้นจากภาระกิจในการสร้างวัดหรือบูรณะวัดจนสำเร็จนั้น จะกลับมาปฏิบัติธรรมที่หุบเขาหลังวัดถ้ำเสือฯทุกครั้ง
ครั้งนี้ก็เหมือนกัน หลังจากสรุปงานและส่งมอบงานให้เพื่อนสหธรรมิกที่เป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งเว้าแล้ว ก็เป็นอันหมดภาระในการบริหาร
และดำเนินการก่อสร้างสำหรับวัดทุ่งเว้า จ.มุกดาหารแล้ว ระยะเวลา ๖ ปี ๔ เดือน ในการบูรณะวัดร้างซึ่งไม่เหลือสภาพเดิมแล้วนั้น
จนเป็นวัดที่เสร็จสมบูรณ์มีครบทุกอย่างนั้น ได้เรียนรู้ธรรมะใหม่ๆมากมาย ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ได้เข้าใจคนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ได้เติมเต็มในบางสิ่งที่ขาดหาย และได้เวลาที่จะกลับมาทบทวนตัวเอง กับวันเวลาที่ผ่านพ้นไป เรามีอะไรที่บกพร่องหรือผิดพลาด
ไปบ้างรึเปล่า สิ่งที่เราคิดและเราได้ทำมานั้น มันเป็นอย่างไร บทสุดท้ายคือสรุปการเดินทางของชีวิตตนเองที่ผ่านมา....
                                      :059: แล้วโผผินบินกลับสู่รวงรัง ( วิหคคืนรัง )  :059:
                                                ร่อนเร่และแรมรอน     พเนจรไปสร้างฝัน
                                              ผ่านคืนและผ่านวัน       เดินตามฝันมายาวนาน
                                              เหนื่อยกายแต่ใจนิ่ง      ไม่เคยทิ้งละเลยงาน
                                              เอาธรรมนำประสาน       สร้างผลงานให้เป็นจริง
                                              รวมรวมแรงกายจิต        และพินิจในทุกสิ่ง
                                              ทำใจให้หยุดนิ่ง           เห็นความจริงสัจจธรรม
                                              นำธรรมมาปรับใช้          ให้เป็นไปใช้ชี้นำ
                                              ประสานโลกและธรรม     กุุศลกรรมก่อการดี
                                              สร้างวัดสร้างวัตถุ          สำเร็จลุไปทุกที่
                                              สร้างคนให้ได้ดี            คือสิ่งที่ยากกว่ากัน
                                              เพราะคนมีชีวิต            มีจริตจิตแปรผัน
                                              มีกรรมที่ต่างกัน            ทุกคนนั้นไม่เท่าเทียม
                                              ขึ้นอยู่กับกุศล              จะส่งผลให้เต็มเปี่ยม
                                              สะสมและตระเตรียม      รู้จักเจียมกำลังตน
                                              รู้กายและรู้จิต              รู้จักคิดรู้เหตุผล
                                              ฝึกจิตให้อดทน            และฝึกฝนกับตนเอง
                                                ร่อนเร่และแรมร่อน      กลับคืนครกลับมาเพ่ง
                                              ดูกายของตนเอง          กลับมาเพ่งเพื่อทบทวน
                                              เวลาที่พ้นผ่าน             คือเหตุการไม่ย้อนหวน
                                              พินิจและใคร่ครวญ        เพื่อทบทวนการกระทำ
                                              ฝึกกายและฝึกจิต         ฝึกความคิดไม่ใฝ่ต่ำ
                                              ทบทวนศึกษาธรรม       ไม่ก้าวล้ำทางอบาย
                                              พักกายเพื่อฝึกจิต         ปรับความคิดสู่จุดหมาย
                                              เตรียมตนเสียก่อนตาย    จะได้คลายความกังวล
                                              วันนี้จึงขอพัก               มาตั้งหลักเพื่อฝึกฝน
                                              ดูกายดูใจตน               สรุปผลที่ผ่านมา....
                                                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เวลา ๒๓.๕๒ น. ณ วัดถ้ำเสือวิปัสสนา ต.กระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่
 
                                         
                                               

163
  :054: วุ่นวายอยู่กับการเตรียมงานรับกฐิน เลยทำให้นำมาลงช้าไปนิดหนึ่ง....
สืบเนื่องมาจากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง
ได้ประสานมาให้ช่วยอบรมให้ควา่มรู้เรื่อง " ค่ายอาสาพัฒนาชนบท "แก่แกนนำนักศึกษาจำนวนหนึ่ง
เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกของนักศึกษา ให้มีจิตอาสา จิตสาธารณะ ออกมารับรู้ปัญหาของชนบทไทย
ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 18-21 พฤศจิกายน 2553 มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวน 10 คน
กิจกรรมที่ทำนั้นคือ 1.ช่วยกันพัฒนาทาสีเวทีหน้าเสาธงของ ร.ร.บ้านท่าไคร้
                       2.ช่วยกันทาสีห้องน้ำและที่เก็บน้ำของวัดทุ่งเว้า
                       3.ช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าวในนา
                       4.ช่วยจัดเตรียมสถานที่เพื่อรับงานกฐิน
ซึ่งจะใช้การสอนการอบรมแบบไร้รูปแบบคือทำงานกันไปพูดคุยแนะนำ ให้ข้อคิด เปลี่ยนทัศนคติมุมมอง
สอนโดยไม่รู้ว่าเขากำลังถูกสอน ถูกอบรมอยู่
ดังภาพที่จะนำเสนอต่อไปนี้...







164
นำมาให้ชมกัน มีด้วยกัน ๓ แบบ เน้นไปทางด้านเมตตามหานิยม
(อยากให้คนหันหน้ามารักกัน สังคมจะได้อยู่กันอย่างสงบสุข )





165
บรรยากาศก่อนงาน...พิธีสมโภช





166
รอบพระอุโบสถจะเป็น " นาคเงิน-นาคทอง " เลื้อยโอบล้อมพระอุโบสถ
เพราะว่าวัดอยู่ติดกับแม่น้ำโขง ซึ่งมีตำนานผูกพันเกี่ยวกับเรื่องพญานาค
จึงได้ให้ช่างปั้นพญานาคและทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญเพื่อมาคุ้มครองรักษา




ส่วนหน้าประตูพระธาตุนั้น ได้ปั้น " ท้าวเวสสุวัณและพระธนบดี " ไว้รักษา
ซึ่งท้าวเวสสุวัณนั้นจะช่วยคุ้มครองป้องกัน สิ่งที่ไม่ดี ภูตผีปิศาจทั้งหลาย
และพระธนบดี ( ท้าวเวสสุวัณหน้าเทวดา ) จะคุ้มครองรักษาเรื่องโชคลาภ
ทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งได้ปั้นเสร็จเมื่อวานนี้ ( ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ )




ซึ่งจะทำพิธีบวงสรวงและอัญเชิญในวันงานทอดกฐิน ( ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ )





 

167
ณ ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
        มีผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมจำนวนมาก ที่มาขอคำแนะนำเรื่องวิธีการและขั้นตอนปฏิบัติธรรม
ซึ่งจะเน้นย้ำคำถามกลับไปเสมอว่า " ถามใจตนเองเสียก่อนว่า เป้าหมายของการปฏิบัติคืออะไร "
ที่ถามไปอย่างนั้น ก็เพราะว่าเราอยากจะได้รู้เป้าหมายในการปฏิบัติของเขา เพื่อที่จะเลือกเฟ้นธรรม
ให้เหมาะสมกับสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งให้เขาตอบคำถามจากความต้องการและความรู้สึกที่แท้จริง
ไม่ใช่ตอบแบบปรุงแต่งคำพูดให้สวยหรูดูดี ซึ่งเป็นคำพูดที่หลอกตนเองและผู้ฟัง ไม่ได้ตอบจากใจ
ความต้องการที่แท้จริง ตำตอบและความต้องการมันขัดแย้งกัน ความเจริญในธรรมนั้นย่อมจะไม่เกิด
ซึ่งพอจะสรุปเป้าหมายของผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ได้ดังนี้คือ
 ๑.ต้องการความสงบ เพื่อหลบปัญหา
 ๒.ต้องการความเจริญก้าวหน้า เสริมบารมี
 ๓.ต้องการมีอิทธิปาฏิหารย์ ต้องการความยอมรับจากสังคม เพื่อสร้างปมเด่น ลบปมด้อย
 ๔.ต้องการสร้างบารมี ช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้คน สร้างบุญกุศลบารมี
 ๕.ต้องการที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ ลดกิเลสตัณหา มานะ อัตตา ปรารถนาความพ้นทุกข์
       ซึ่งผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ที่มักจะมีปัญหานั้น ก็คือกลุ่มที่มีความต้องการจิตเชิงพลังงาน อิทธิปาฏิหารย์
ฝึกกสิน ฝึกฌาน ฝึกลมปราณ ฝึกพลังงานธรรมชาติ เพราะต้องการให้จิตนั้นมีพลัง มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์
การฝึกจิตนั้นเกิดมาจากความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ทำให้เกิดความกดดัน กดจิต จนผิดปกติธรรมชาติไป
ทำให้ธาตุในกายไม่สัมพันธ์กัน เกิดอาการปวดศรีษะ แน่นในอก ร้อนในกาย การขับถ่ายผิดปกติจากที่เคยเป็น
หน้าเป็นมัน เส้นเลือดนูนขึ้น ตาแข็งหลับตาไม่ลง มีนิมิตให้เห็น (ซึ่งเกิดจากการปรุ่งแต่งของจิตที่คิดให้เป็นคิดให้มี)
เป็นอาการที่เริ่มแรก ก่อนนำไปสู่จิตวิปลาส หลงอารมณ์ หลงนิมิต ซึ่งเกิดจากการกดจิต ทำให้ธาตุในกายผิดปกติ
เพราะเกิดจากการตั้งจิต ตั้งเจตนาที่ผิดทาง
       จิตในเชิงพลังงานนั้น เป็นจิตในอารมณ์สมถะกรรมฐาน และการที่จะได้จิตนั้นมันเป็นผลพลอยได้ในการปฏิบัติ
ซึ่งในภาษาพระนั้นเรียกว่า " ต้องมีของเก่า " จึงจะได้พบได้มีได้เป็น มันจะเป็นไปโดยธรรมชาติ ตามจังหวะเวลาที่
เหมาะสมตามเหตุและปัจจัย แต่ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่นั้น เมื่อไม่มี ไม่เป็น ไม่เห็น ก็จะสร้างจินตนาการ สะกดจิตตนเอง
เพื่อให้รู้ เพื่อให้เห็น เพื่อให้เป็น ตามที่ตนเองนั้นต้องการ  จนหลงไปในอารมณ์ที่เขานั้นได้สร้างขึ้น คิดว่าเป็นจริง
ทั้งที่เป็นสิ่งที่เราสร้างภาพขึ้นมาเอง  เรียกว่าหลงนิมิต หลงอารมณ์ ซึ่งถ้าไม่รีบแก้ไขปรับจิตเสียใหม่ ก็จะเป็นอันตราย
แก้ไขได้ยาก เพราะจิตเกิดความคุ้นเคยกับอารมณ์นั้น ไม่สามารถที่จะควบคุมความคิดของตนเองได้ พูดในสิ่งที่คนอื่น
เขาไม่รู้ไม่เห็น มิติลี้ลับที่ไม่สามารถจะพิสูจน์ได้เป็นรูปธรรม ภาษาชาวบ้านเรียกว่า " อาการเพี้ยน " ผิดปกติ
     ฉะนั้นผู้ฝึกจิตทั้งหลายจึงพึงระวัง อย่าให้พลาดพลั้ง หลงทางหลงอารมณ์ ปฏิบัติไปตามปกติอย่าไปอยากให้มาก
เกินไป จนกลายเป็นการกดจิต ให้คิดว่า " ถ้าเป็นของ ของเรา เราเคยมี เราเคยได้ มันก็ไมา่ไปไหน มันย่อมเป็นของเรา "
ได้ก็ดี ไม่ได้ ไม่มีก็ไม่เป็นไร ทำของเราไปเรื่อยๆ แล้วแต่วาสนาบารมีที่เราเคยทำมา ได้มาก็อย่าไปลำพอง ลิงโลดดีใจ
ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ใจอย่าไปเสีย   ทุกคนนั้นมีทางที่เคยเดินมาแล้ว เพียงแต่เรานั้นต้องค้นหาทางเก่าของเราให้เจอให้พบ
และเมื่อเจอเมื่อพบแล้ว ก้าวเดินต่อไปในเส้นทางที่เรานั้นเคยได้ทำมา เรียกว่าต่อยอดจากของเก่า บุญเก่าของตัวเราเอง
" ตราบใดที่คุณนั้นยังก้าวไปข้างหน้า ระยะทางที่จะไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นย่อมจะสั้นลงใกล้ลงทุกขณะ ที่คุณก้าวเดิน "
                                    ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๒๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย


168
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
     เป็นการนำประสพการณ์ของครั้งหนึ่งในชีวิต มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เป็นข้อคิด คติเตือนใจ
ไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวล่วงเกินท่านผู้ใดหรือทำให้ใครต้องเสียผลประโยชน์ แต่เป็นเรื่องที่เรา
ท่านทั้งหลายควรจะฟังไว้ แล้วนำไปคิด วิเคราะห์ เพื่อผลประโยชน์ของตัวท่านเอง....
      ครั้งหนึ่งในชีวิต...ที่ได้เข้าไปรู้เห็นในกระบวนการ " ปั่นราคา "พระเครื่องและวัตถุมงคล
เพื่อผลประโยชน์กำไร โดยกระทำกันเป็นขบวนการ มีการวางแผนที่แยบยล เป็นขั้นเป็นตอน
เพื่อปั่นราคา" พระหลักร้อยให้เป็นพระหลักล้าน " ซึ่งขั้นตอนมีดังนี้
 ๑.ระดมเงินทุนให้ได้เป็นหลักล้าน เพื่อใช้ในการดำเนินการ
 ๒.แบ่งงานกันทำ ใช้ทุนตะเวณเช่าซื้อมาเข้าคอก ( ภาษาเซียน )
 ๓.ออกราคาเช่าซื้อ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามกำลังทุน
 ๔.เมื่อกักตุนของได้ตามเป้าที่วางไว้ ก็ใช้ออกสื่อ
 ๕.ลงปกหนังสือ เขียนบรรยาย ความขลังความศักดิ์สิทธิ์
 ๖.สร้างอิทธิ ปาฏิหารย์ สร้างประสพการณ์ออกมาให้เห็น เช่นบูชาแล้วถูกล๊อตเตอรี รางวัลที่ ๑ (ซึ่งไปซื้อจากผู้ที่ถูกรางวัล )
   ไปถ่ายภาพหน้ารถที่ชนยับ พร้อมกับโชว์วัตถุมงคล จ้างคนดังมาเป็นนายแบบ นางแบบ ฯลฯ
 ๗.ปล่อยกระแสออกสื่อ ซื้อเข้าขายออก ( บอกว่ามีออร์เดอร์สั่งจอง )
 ๘.ทะยอยออกของที่เก็บกักตุนไว้ ( ปล่อยออกไปทีละชิ้น ) พร้อมบอกว่า ช่วงนี้หายากมาก ไม่มีคนปล่อย
 ๙.ค่อยๆถอยเมื่อคืนทุนและได้กำไรตามเป้าหมายที่วางไว้ ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกระแสค่านิยม
๑๐.นั่งรอชมแมงเม่าที่บินเข้ากองไฟ หลงเข้ามาในวังวนของผลประโยชน์ ด้วยความโลภทั้งหลาย
    :059: แต่ผลสรุปสุดท้ายของผู้ที่กระทำ คือรอรับผลกรรมที่จะส่งผล ซึ่งอาจจะมาเร็วหรือมาช้านั้น ขึ้นอยู่กับบุญเก่าของเขา
เงินทองทรัพย์สินที่ได้มา จากการ "ปั่นราคา"พระเครื่องนั้น ก็จะมีอันหมดไปด้วยสาเหตุต่างๆ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่มากมาย
 :069: ฉะนั้นอย่าได้สะสมตามกระแสนิยม ให้สะสมพระเครื่องและวัตถุมงคลด้วยใจศรัทธา อย่าไปยึดติดอยู่กับราคาค่านิยม
ให้สะสมด้วยความเคารพศรัทธาและคุณค่าทางจิตใจ " ท่านจึงจะไม่เป็นแมงเม่าที่บินเข้ากองไฟ " เป็นเหยื่อของนักปั่นราคาทั้งหลาย
ผู้อาศัยความเชื่อและความศรัทธาของพุทธบริษัท นำมาหากิน หาผลประโยชน์ โดยไม่กลัวซึ่งบาปกรรม
  :054: เคารพและศรัทธาในครูบาอาจารย์ " พระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ )และศิษย์วัดบางพระทุกท่าน
ที่ไม่มีขบวนการอย่างนี้ เกิดที่วัดบางพระและกับศิษย์หลวงพ่อเปิ่น ตั้งแต่เริ่มต้นจนมาถึงทุกวันนี้ ด้วยคุณงามความดีและบารมี
ของหลวงปู่หิ่นและหลวงพ่อเปิ่น ความเจริญแห่งพลังศรัทธาจึงนับวันจะเพิ่มขึ้น ไม่เสื่อมสลายลดน้อยถอยลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น
คิดถึงภาพก่อนงานไหว้ครูวัดบางพระปี พ.ศ.๒๕๔๖ หลังสิ้นหลวงพ่อ ก่อนวันงานเงียบเหงาจนน่าใจหาย กลางคืนก่อนงานนั้น
ผู้คนมากันน้อยมาก นั่งมองทางกันอยู่บนกุฏิทรงไทยชายน้ำ ว่าลูกศิษย์หลวงพ่อเก่าๆใครจะมาบ้าง ตั้งแต่เช้าจนดึก ยังไม่มีใครมา
 :059: ตีสี่กว่าๆผู้คนเริ่มทะยอยมามากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเวลาทำพิธี ลานวัดหน้าประรำพิธีแน่นจนไม่มีที่จะยืน ตื่นเต้นกันจนน้ำตาใหล
ด้วยความปลื้มปิติในใจ ที่ศิษย์หลวงพ่อเปิ่นทั้งหลายไม่ได้ลืมครูบาอาจารย์ แม้ว่าท่านจะละสังขารไปแล้ว ศิษย์ทุกคนยังเคารพศรัทธา
ไม่เสื่อมคลายและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สืบสานเจตนารมณ์ของหลวงพ่อเปิ่นและวัดบางพระมาจนเท่าถึงทุกวันนี้ นี้คือความดีและ
ของดี ที่ไม่ได้มาจากการสร้างกระแส แต่มาด้วยจิตศรัทธาที่แท้จริง เป็นสิ่งที่เราท่านทั้งหลายได้รู้และได้เห็นในวันนี้
 :059: จึงขอฝากไว้เพื่อเป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจ ศิษย์หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระทั้งหลาย ขอให้ยึดมั่นในคุณงามความดีที่มีหลวงพ่อ
ท่านเป็นแบบอย่างและที่ท่านได้วางไว้ดีแล้ว เป็นแนวทางของชีวิต รักษาสืบทอดกันต่อไป เพื่อให้เป็นการปฏิบัติบูชาต่อครูบาอาจารย์...
                         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแต่มวลมิตรทุกผู้คน
                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๓๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
 


169
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๒เป็นต้นมา ได้ศึกษาและเก็บข้อมูลเรื่องมวลสาร การสร้าง การปลุกเสก
หลวงพ่อทวดเนื้อว่านปี ๒๔๙๗ วัดช้างให้ โดยได้ขอคำแนะนำจากครูบาอาจารย์และผู้เฒ่า
ที่ท่านนั้นมีส่วนร่วมได้เห็นการสร้างและการปลุกเสก อาทิเช่น หลวงพ่อนอง วัดทรายขาว
หลวงพ่อแดง วัดศรีมหาโพธิ์ หลวงพ่อสุข วัดตุยง และญาติโยมผู้เฒ่าข้างวัดอีกหลายท่าน
เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำมาสร้างหลวงพ่อทวด วัดเก่าเจริญธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ทำให้รู้ข้อมูล
เบื้องลึกเรื่องมวลสาร พิมพ์พระ การสร้าง การปลุกเสก พวกเนื้อพิเศษ พิมพ์พิเศษ ที่ทำใช้
กันเอง (เรียกว่าเนื้อแอบกด พิมพ์แอบทำ )เอามวลสารพิเศษของตนที่เก็บไว้มาผสมเสริม
กดพิมพ์ไว้ใช้เอง แกะพิมพ์เลียนแบบ เอามวลสารของวัดมากดพิมพ์เพื่อเก็บเอาไว้ใช้เอง
ส่วนการปลุกเสกนั้น เริ่มแรกเป็นการภายในใครว่างก็นิมนต์กันมา ตามวาระต่างๆที่ครูบาอาจารย์
ท่านว่างและมีเวลา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสหธรรมิกที่สนิทและคุ้นเคยของหลวงพ่อทิม วัดช้างให้
และพระในเขตจังหวัดปัตตานีที่รู้ข่าวการสร้างพระหลวงพ่อทวดมาเยี่ยมชมและช่วยสร้างช่วยทำ
จึงอาจจะพูดได้ว่า " พระที่บวชก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ในเขตใกล้เคียงวัดช้างให้นั้น มีส่วนร่วมเกือบทุกรูป"
พระพรรษาน้อยก็ช่วยสร้าง  พรรษามากขึ้นหน่อยก็ช่วยสวด พรรษามากก็ช่วยเสก สร้างกันไปเสกกันไป
และการสร้างพระเนื้อว่านตำมือกดมือนั้น จะพิเศษจากการสร้างพระเนื้ออื่น แต่ละครกเนื้อจะมีเอกลักษณ์
ที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับส่วนผสม มวลสาร ระยะเวลา น้ำหนักในการตำผสม ระยะเวลาในการกดพิมพ์
ความแห้ง ความเหนียว ของลูกกระสุน (เมื่อตำผสมเสร็จแล้วจะปั้นเป็นลูกกระสุนกลมๆขนาดพอกดเต็มพิมพ์)
ปั้นกันเป็นร้อยๆลูกใส่ถาดไว้ ลูกที่เอามากดก่อนก็จะเต็มพิมพ์กดง่าย ลูกหลังๆก็จะแห้งและกดยากไม่เต็มพิมพ์
ลูกที่ตำไม่ถึงก็จะเหนียวน้อยแตกลาน ลูกที่ตำเหลวไปพิมพ์ก็จะบิดเบี้ยวเมื่อเนื้อแห้งแล้ว ลูกกระสุนที่แห้งนั้น
เวลากดพิมพ์ หน้าจะไม่เต็ม หลังจะนูน เพราะกดไม่ลงเต็มพิมพ์ จึงผิดเพี้ยนกันไปในแต่ละองค์ทั้งที่พิมพ์เดียวกัน
มวลสารครกเดียวกัน หลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ๙๗ ทุกองค์จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
    การจะบูชาพระหลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ นั้น ถ้าจะให้แน่นอนที่สุดก็คือที่มาที่เชื่อถือได้เป็นอันดับแรก
รองลงมาก็เรื่องความเก่า(อายุว่านถึง ความแห้งถึง) ส่วนเรื่องคราบไขนั้นขึ้นอยู่กับความชื้นในแต่ละสถานที่ที่พระ
ไปอยู่ พิมพ์พระนั้นจะใกล้เคียงกันในแต่ละบล๊อกแต่ละพิมพ์ แต่จะไม่เหมือนกัน(เดะ)ทุกอย่าง ทุกองค์จะมีเอกลักษณ์
เฉพาะตน จากประสพการณ์ที่สร้างหลวงพ่อทวดเนื้อว่านมา ๔ รุ่น ประมาณ ๓ แสนกว่าองค์ (รุ่นละ ๘๔,๐๐๐ องค์)
หามวลสาร ผสมมวลสาร ตำผสมมวลสาร กดพิมพ์ ทำมาทุกอย่างด้วยตัวเองมาแล้ว ทำให้รู้และเข้าใจในเรื่องพระเนื้อว่าน
พอสมควร และรูปเหมือนตัวแทนของหลวงพ่อทวดนั้นจะมีข้อพิเศษ คือความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง มีพลังเพราะมีเทวดารักษา
และขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้สร้างและผู้ทำที่บริสุทธิ์ เพราะหลวงพ่อทวดท่านเป็นมหาโพธิสัตย์ มีบุญฤทธิ์สำเร็จด้วยจิตอธิษฐาน
เทวดาที่เป็นบริวารจะร่วมสร้างบารมี เป็นพระที่ไม่มีคำว่าปลอม(ของปลอมนำมาปลุกเสกใหม่ก็จะกลายเป็นของจริง มีพลัง)
แต่คุณค่าในเชิงพานิชนั้น เขาจะเล่นกันตามค่านิยมของผู้ที่เรียกตนเองว่า " เซียน " เอาสิ่งที่ตนรู้และตนมีมาเป็นบรรทัดฐาน
ว่าเป็นพระแท้หรือพระปลอม   :059: หลวงพ่อทวดเนื้อวา่น ปี๒๔๙๗ นั้น ไม่มีใครเป็น "เซียน"ที่รู้จริงและชัดเจน  :059:
 :059: คนที่บอกว่าตนเองเป็น "เซียน"นั้น โดนกันมามากแล้วทุกคน (แต่ไม่ออกอาการ) กลัวเสียฟอร์ม " เซียน " :059:
 :059: ที่กล้าพูดก็เพราะว่า  เคยส่งทีมงานไปลองของ ผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็น " เซียนหลวงพ่อทวด ๙๗ " มาแล้วเกือบทุกคน  :059:
 :054: แม้แต่ตัวผู้เขียนเอง ก็ยังไม่กล้าที่จะบอกว่าตนเองนั้นเป็นเซียน ทั้งที่ได้ศึกษามาทั้งในทางทฤษฎีและการปฏบัติมาแล้ว  :054:
                       จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดให้นำไปพิจารณาด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๕๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย


170
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
              ในช่วงใกล้ออกพรรษาของทุกปี วิถีแห่งสมณะชายโขงที่กระทำอยู่เป็นประจำทุกปี
ก็คือการปลูกผักพืชสวนครัว เพื่อเตรียมไว้รับงานกฐินที่จะมาถึง โดยญาติโยมจะมาช่วยปลูกให้
พระมีหน้าที่ช่วยกันรดน้ำผักในตอนเช้าและในตอนเย็น ผักที่ปลุกนั้นปลอดสารพิษ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี
ญาติโยมที่มางานกฐินสามารถที่จะเลือกผักไปประกอบอาหารได้ โดยตัดสดๆจากแปลงผักได้เลย
ผักที่ปลูกนั้น ก็มี คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดหอม ผักบุ้งจีน ต้นหอม ผักชี กึ้นฉ่าย ตะไคร้ พริกขี้หนู
มะละกอ กล้วยน้ำหว้า กระเพรา โหระพา แมงลัก เป็นพืชผักสวนครัว ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย
ได้ปีละหลายพันบาท พระท่านก็ได้ออกกำลังกายไปในตัวด้วย(ได้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน)

   แปลงผักที่ปลูกไว้



  โยธากรรมฐานในเวลากลางวัน ห้องน้ำ ที่อาบน้ำ แท็งค์เก็บน้ำ สำหรับใช้ในงานปริวาส



 :059: ปัจจัยของท่านคือที่มาผลงานที่ได้เห็น  :059:
เป็นที่มาของ...วิถีแห่งสมณะ ที่เรียบง่าย(แต่ไม่มักง่าย)

171
เป็นย่ามพิเศษที่น้องๆสร้างถวาย
      ใบที่ ๑ มหาปราบพิชิตศึก


      ใบที่ ๒ เสือตีนโต


      ใบที่ ๓ หน้าเสือใหญ่


      


172
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
             อากาศเปลี่ยน อุณหภูมิลดลงเรื่อยๆ จาก ๒๗ องศาในตอนกลางวัน  ๒๐ องศาในตอนกลางคืน
ลดลงเหลือ ๒๓ องศาในตอนกลางวันและ ๑๗ องศาในตอนกลางคืน แต่ริมฝั่งโขงนั้นจะแตกต่างจากที่อื่น
เพราะจะมีลมพัดแรง พัดผ่านแม่น้ำโขงขึ้นฝั่งฝ่ายไทย มันจะทำให้เิกิดอาการ "หนาวสะท้าน " เย็นยะเยือก
แตกต่างจากความหนาวในท้องที่อื่น เพราะสมัยที่อาศัยอยู่บนดอยที่แม่ฮ่องสอนนั้น เคยเจออากาศที่หนาว
กว่านี้ ประมาณ ๔-๖ องศา แต่ก็สามารถที่จะหาความอบอุ่นได้โดยการก่อไฟผิง แต่ที่ชายโขงนั้นไม่สามารถ
ที่จะก่อไฟผิงได้ เพราะลมพัดแรง เป็นความหนาวที่แตกต่างกัน ปีนี้ลมหนาวมาเร็วและหนาวนานกว่าที่ผ่านมา
ซึ่งจะสังเกตุได้ว่า ถ้าปีไหนภาคใต้มีฝนตกหนักและน้ำท่วม ปีนั้นภาคอีสานจะลมแรง หนาวมากและหนาวนาน
นั่นคือเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศ ที่เฝ้าสังเกตุมาเป็นเวลาหลายปีที่ผ่านมา
               สมัยที่อาศัยจำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำเสือฯนั้น หลวงพ่อจำเนียร ท่านได้สอนเรื่องการฝึกวิชาลมปราณ
การควบคุมพลังงานและกล้ามเนื้อ ซึ่งได้นำมาฝึกหัดปฏิบัติสมัยที่จำพรรษาอยู่บนดอย เพื่อต่อสู้กับความหนาว
โดยใช้การบังคับลมหายใจ ดึงลมเข้าไปในร่างกายและบังคับลมให้หมุนที่หน้าท้อง เพิ่มกำลังการหมุนให้มากขึ้น
จากหมุนลม ๓ รอบ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนหมุนถึง ๙ รอบหรือ ๑๖ รอบ ตามกำลังสมาธิของแต่ละคนที่ได้ฝึกฝนกันมา
ลมที่หมุนในร่างกายนั้นจะทำให้เกิดพลังงานความร้อนในร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น เลือดลมเดินได้สะดวก
ซึ่งวิชาลมปราณนั้นเป็นกรรมฐานในกลุ่มของกสิน คือ " วาโยกสิน " เป็นกสินลม ซึ่งแตกต่างจากอานาปากรรมฐาน
อานาปานั้นเป็นการดูลม แต่กสินลมนั้นเป็นการบังคับลม คล้า่ยกันแต่ไม่เหมือนกัน เพราะเจตนาแห่งการปฏิบัตินั้น
แตกต่างกัน ผลที่ได้จากการปฏิบัตินั้นจึงแตกต่างกัน ซึ่งมีกรรมฐานอีกกองหนึ่งซึ่งใช้ปฏิบัติเพื่อต่อสู้กับความหนาว
ได้เหมือนกัน คือการฝึกกสินไฟ ซึ่งหลวงปู่โง่น โสรโย ท่านได้เคยเล่าให้ฟังสมัยที่ท่านไปปฏิบัติอยู่ที่ประเทศอินเดีย
ที่เมืองฤาษีเกต จนเป็นที่ฮือฮาในหมู่นักพรตฤาษีทั้งหลายและเป็นที่ยอมรับของฤาษีที่มาชุมนุมในเมืองนั้นมาแล้ว
ซึ่งเรื่อง "กสินไฟ "นั้นจะได้อธิบายในโอกาสต่อไป ในเรื่องของ " กสิน ๑๐ " ตามความเหมาะสมในโอกาสต่อไป
              :059: ชีวิต คือการเดินทาง
                        เพื่อสร้างกุศลกรรม สั่งสมบารมี
                        ด้วยจิตสำนึกแห่งคุณธรรมความดี
                        ปรารถนาไปถึงซึ่งความพ้นทุกข์
                        ฝันไว้ไกลและต้องไปให้ถึงซึ่งความฝัน
                        ตราบใดที่เรายังก้าวเดินไปข้างหน้านั้น
                        ระยะทางสู่จุดหมายปลายทางย่อมสั้นลง
                        อย่าไปกังวลว่าเหลือระยะทางมากหรือน้อย
                        ขอเพียงให้รู้ไว้ว่าใกล้เข้าไปทุกขณะแล้ว
                        ไม่ว่าจะยาวนานสักเท่าไรจะกี่ภพกี่ชาติก็ตาม
                        จะพยายามก้าวเดินไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง
                        สั่งสมอบรมกำลังให้มีอินทรีย์ที่แก่กล้า
                        ความหวังที่ตั้งไว้...นั่นคงจะไม่ไกลเกินจริง....
                                  ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๙ พฤษจิกายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๐๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

173
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
            เดินทางไปหลายพื้นที่ เจอกับสภาพอากาศที่แตกต่างกัน มีทั้งร้อน มีทั้งฝนและความหนาว
ภาคใต้เจอสภาพฝนตกอากาศชื้น ภาคตะวันออกแดดจ้าอากาศร้อน กลับถึงภาคอีสานเจออากาศหนาว
เลยต้องพักเพื่อปรับสภาพร่างกายให้มีภูมิต้านทาน ด้วยการปลุกธาตุ ปรับธาตุโดยใช้หลักของกรรมฐาน
คือกายคตานุสติ ใช้จิตไปฟอกกาย แยกกายออกเป็นธาตุ สลายธาตุคืนสู่ธรรมชาติ รวมธาตุในธรรมชาติ
กลับเข้ามาสู่กาย ให้ธาตุในกายเราเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ คล้ายกับการฝึกวิชาลมปราณของชาติจีน
เพียงแต่ดึงธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ เพิ่มเติมเข้าไป ไม่เฉพาะแต่ธาตุลมเพียงอย่างเดียวเหมือนลมปราณ
เพราะการทำงานทางจิตนั้น ต้องใช้พลังงานของจิตที่เป็นสมาธิและใช้พลังงานของธาตุทั้งหลายในกาย
การที่จะเป็นนักเลงจิตนั้น จึงต้องศึกษาและฝึกเรื่องธาตุให้ชำนาญ มีพื้นฐานในเรื่องกายเรื่องธาตุที่ชัดเจน
เพราะจิตนั้นต้องอาศัยกายเป็นที่ตั้งที่รองรับ จึงต้องฝึกปรับกายและจิตให้สัมพันธ์กัน เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น
ธาตุในกายจะเสื่อมสภาพไปเร็วกว่ากำหนด เพราะเกิดการกดธาตุขับธาตุในขณะเข้าสมาธิและอธิษฐานจิต
ซึ่งจะเห็นได้ชัดหลังจากทำพิธีหรือใช้สมาธิแล้ว จะเกิดความอ่อนเพลียอ่อนล้าและหมดเรี่ยวแรง เพราะว่าใช้
พลังงานทางจิตมากเกินไป ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นสาเหตุทำให้ร่า่งกายเป็นอัมพฤต อัมพาต เมื่อมีอายุมากขึ้น
เรื่องธาตุจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักเลงจิต ผู้ที่ใช้พลังจิตในการเสก การสวดทั้งหลายที่จะต้องศึกษาและฝึกฝน
เพื่อปรับสภาพร่างกาย ปรับธาตุในร่างกายให้มีความสมดุลย์กัน เพราะอาการเจ็บป่วยของร่างกายนั้นมันเกิดมาจาก
ธาตุในกายที่มีความบกพร่องไม่สมดุลย์กัน หรือเกิดจากการแตกสลายของธาตุ ทำให้ร่างกายบาดเจ็บ ซึ่งเป็นผลจาก
วิบากกรรมที่เคยทำมา ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพร่างกาย และเราได้ชดใช้ซึ่งกรรมนั้นแล้วคือการเสวยทุกขเวทนา
จากอาการบาดเจ็บ อาการเจ็บป่วยนั้น แต่ถ้าเราไม่มีพื้นฐานในเรื่องธาตุเรื่องกาย ก็จะทำให้การฟื้นตัวนั้นช้าไปหรืออาจ
จะไม่ฟื้นตัวขึ้นมาได้ อาการเจ็บป่วย เจ็บไข้ก็จะไม่หายกลายเป็นอาการเรื้อรัง พลังงานในกายก็จะหมดไป
          จึงขอฝากไว้สำหรับผู้ที่สนใจในการประพฤติปฏิบัติ ที่คิดจะเป็นนักเลงจิต ชอบการปลุกเสกทั้งหลาย ให้นำไปคิด
และพิจารณา ศึกษาค้นคว้าในเรื่องธาตุและเรื่องกาย ทำความรู้ความเข้าใจในการใช้พลังจิต ปลุกเสกตนเองให้ได้เสียก่อน
แล้วจึงจะไปปลุกเสกวัตถุสิ่งอื่น เพราะว่าไม่อย่างนั้นแล้วธาตุในกายของผู้ใช้พลังจิตก็จะเกิดความบกพร่องและจะเสื่อมไป
ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เพราะเกิดจากธาตุในกายขาดความสมดุลย์ จิตกับการไม่สัมพันธ์กัน ระยะการใช้งานของกายก็จะสั้นลง
กรรมฐานที่เป็นพื้นฐานสำคัญของนักเลงจิตก็คือ " กายคตานุสติ " ซึ่งเป็นเรื่องของกายของธาตุ เป็นกรรมฐานบำบัด ใช้ในการ
รักษากายรักษาธาตุ " ใช้จิตฟอกกาย " ปรับกาย ปรับธาตุ ปรับจิต ทุกครั้งก่อนที่จะคิดและจะทำ...
                              ด้วยความปรารถนาดีและไมตรจิตแด่มวลมิตรผู้ใฝ่ธรรม
                                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๕๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

174
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
              ห่างหายไปหลายวัน เพราะมีกิจธุระที่รับนิมนต์ไว้หลายที่หลายจังหวัด ซึ่งรับนิมนต์ไว้
ตั้งแต่ในช่วงเข้าพรรษา เมื่อมีเวลาจึงต้องออกไปเคลียร์กิจนิมนต์ที่ได้รับไว้ให้เรียบร้อยทุกรายการ
ออกเดินทางจากมุกดาหารตอนเย็นของวันที่ ๒๘ ตุลาคม ไม่ได้เอารถวัดลงไป เลยใช้บริการรถทัวร์
ของบริษัทรุ่งเรืองทัวร์ สายมุกดาหาร-ระยอง ไปลงที่ศรีราชา จ.ชลบุรี ออกจากวัดเวลา ๑๘.๐๐ น.
ไปถึงศรีราชาเวลา ๐๖.๓๐ น. โยมมารอรับที่ขนส่ง เพื่อเดินทางต่อไปเกาะสมุย ออกจาก อ.ศรีราชา
เวลา ๐๗.๔๕ น. เข้ากรุงเทพฯไปรับโยมที่จะไปเกาะสมุยด้วยกัน ไปถึงท่าเรือเฟอร์รี่ ที่อ.ดอนสัก
เวลาประมาณ ๑๘.๒๐ น. รอลงเรือเที่ยวสุดท้ายคือเรือเที่ยวหนึ่งทุ่ม คลื่นลมแรงมากไปถึงเกาะสมุย
เวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น.เพราะเรือทำความเร็วไม่ได้ มีญาติโยมมารอรับที่ท่าเรือเกาะสมุย เพื่อนำไป
ที่พัก แวะให้ญาติโยมทานอาหารที่บ้านแม่น้ำ เข้าที่พักเวลาประมาณ ๒๒.๓๐ น. นั่งคุยธุระกันต่อจนถึง
เวลาประมาณ ตีสองกว่าๆ จึงขอตัวจำวัตรเพราะเดินทางนั่งรถมาทั้งวันทั้งคืน
            เช้าวันที่ ๓๐ ตุลาคม  ตื่นเช้าตามปกติ เจ้าภาพเตรียมอาหารเช้าไว้ต้อนรับอย่างเต็มที่ ฉันเช้า
แล้วโทรศัพท์ติดต่อทีมงานในเกาะสมุย เพื่อมาพบปะพูดคุยธุระกัน ออกจากที่พักเวลาประมาณ ๐๘.๓๐ น.
ตะเวณไปรอบเกาะเพื่อดูสถานที่และโครงการต่างๆ กว่าจะครบทุกโครงการก็ประมาณบ่ายสองกว่าๆ จึงได้เิดน
ทางกลับเรือเที่ยว ๑๕.๐๐ น. คลื่นลมแรงมาก เรือเข้าเทียบท่าไม่ได้ต้องรอคลื่นลมสงบ เรือเช้าเทียบท่าได้
เวลาประมาณ ๑๗.๒๐ น. เดินทางต่อเข้าตัวจังหวัดสุราษฏร์ธานี แวะเยี่ยมเพื่อนที่เป็น นายก อ.บ.ต.ที่ อ.กาญจนดิษฐ์
นั่งคุยฉันกาแฟกันจนถึงเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น.จึงขอตัวเดินทางต่อไปเยี่ยมโยมพ่อโยมแม่ของเพื่อนสมัยเรียนซึ่งนับถือ
เหมือนโยมพ่อโยมแม่ของเราเอง เพราะสมัยเป็นเด็กนั้นเคยไปกินไปนอนบ้านท่าน ได้รับความรักความเมตตาจากท่าน
เหมือนลูกคนหนึ่งของท่าน นั่งสนทนาพูดคุยกับโยมพ่อโยมแม่จนดึกและมีเพื่อนๆสมัยเรียนรู้ข่าวว่าเราเข้ามาในพื้นที่
ต่างก็ส่งข่าวบอกต่อๆกัน เพื่อนๆเลยมาสมทบกันเป็นคณะใหญ่ เลยต้องย้ายออกจากนั่งในบ้านมาตั้งโต๊ะคุยกันที่หน้าบ้าน
เพราะเพื่อนๆทยอยมากันเยอะขึ้นเรื่อยๆ นั่งคุยกันระลึกความหลังเรื่องสัพเพเหระ สอดแทรกธรรมะบ้าง เฮอากันไป
จนถึงประมาณเที่ยงคืนจึงได้แยกย้ายกัน เพราะมีอีกคณะหนึ่งมารออยู่ที่บ้านเพื่อนที่เป็นหมอ ซึ่งได้สร้างเรือนรับรองไว้
สำหรับพระและจะไปพักที่นั่นทุกครั้งที่เดินทางเข้าสุราษฏร์ธานี นั่งคุยกันต่อจนถึงตีสามกว่าๆ จึงได้แยกย้ายกันไปพักผ่อน
        เช้าวันที่ ๓๑ ตุลาคม นัดรวมตัวกันที่ร้านข้าวผัดปู ซึ่งเป็นร้านของเพื่อนกัน ไปฉันเช้าและนัดพบพูดคุยกันกับเพื่อนๆ
สมัยเรียนมัธยม เช้านี้ทั้งพระทั้งโยมรวมกันเกือบยี่สิบคน ฉันข้าวเสร็จจึงได้แยกย้ายกัน เดินทางต่อไปจังหวัดนครศรีธรรมราช
ไปร่วมงานกฐินที่เจ้าภาพกฐินเขานิมนต์ให้ไปเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ที่วัดปากจัง บ้านกระทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช
ไปถึงวัดปากจังเวลา ๑๐.๓๐ น.มีญาติโยมมารอรับอยู่แล้ว นั่งสนทนาต้อนรับโยมอยู่จนถึงเวลา ๑๓.๐๐ น.จึงได้เข้าโบสถ์
เพื่อไปร่วมอนุโมทนากฐินกับเจ้าภาพ ได้พบกับพระสหธรรมิกรูปหนึ่ง ซึ่งเคยรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย
และไม่ได้พบกันอีกเลย ได้มาพบกันอีกครั้งก็เปลี่ยนสถานะบวชเป็นพระเหมือนกัน ซึ่งท่านก็ได้บวชมา ๒๐ พรรษาแล้ว
ได้สนทนาธรรมกับพระสหธรรมมิกเพลินไปจนเกือบลืมเวลา โยมต้องมาเตือนว่า มีกิจนิมนต์ที่อื่นอีก จึงได้แยกย้ายลากัน
ออกจากวัดปากจังเวลา ๑๖.๓๐ น. เดินทางต่อเข้าจังหวัดสุราษฏร์ธานี พายุฝนเริ่มเข้า ฝนตกหนักมาตลอดทาง แวะฉันกาแฟ
ที่ปั๊มน้ำมันในตัวเมืองสุราษฏร์เพราะเพื่อนๆที่ยังไม่ได้เจอกันมารออยู่ที่ร้านกาแฟแล้ว นั่งคุยกันจนถึงทุ่มหนึ่งจึงได้แยกย้ายกัน
เพราะเจ้าภาพที่นิมนต์ไว้กังวลใจโทรศัพท์มาตามหลายครั้งแล้ว ถึงที่พักเวลาประมาณสองทุ่ม มีญาติโยมมานั่งรออยู่หลายท่าน
ทำพิธีต่างๆเพื่อสงเคราะห์ญาติโยม จนถึงเวลาประมาณตีสองกว่าๆญาติโยมจึงได้ลากันกลับ จงได้จำวัตรพักผ่อน
      เช้าวันที่ ๑ พฤศจิกายน ตื่นเช้าฉันข้าวแล้ว ทำพิธีสงเคราะห์ให้แก่ญาติโยมต่อจนเสร็จหมดทุกคน โยมนิมนต์ให้ไปตรวจดู
โครงการต่างๆรอบเมืองสุราษฏร์ประมาณ ๗ โครงการ แวะฉันเพลกันที่ร้านอาหารบนภูเขา นั่งชมวิวฉันข้าว ฉันกาแฟดูสภาพบ้านเมือง
พูดคุยสรุปงานกันจนถึงเวลา ๑๓.๓๐ น.จึงแยกย้ายกัน เดินทางต่อไปจังหวัดกระบี่ตามที่เจ้าภาพได้นิมนต์ไว้ ฝนตกตลอดเส้นทาง
ไปถึงกระบี่ประมาณ ๑๕.๓๐ น. แวะไปที่อ่าวนางและสุสานหอย ให้ญาติโยมที่ตามไปด้วยได้เที่ยวชมสถานที่ ส่วนตัวเราก็จะได้ทำธุระ
กิจนิมนต์สงเคราะห์ญาติโยม เสร็จพิธีที่อ่่าวนาง ส่งโยมเข้าที่พักในตัวเมืองกระบี่เสร็จแล้ว จึงได้เข้าไปพักที่วัดถ้ำเสือฯเพื่อนิมนต์พระ
ไปร่วมพิธี ไปพักกับเพื่อนสหธรรมิกในวัดถ้ำเสือ ซึ่งท่านนั้นเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก เรียนมาด้วยกันตั้งแต่สมัยมัธยมและมหาวิทยาลัย
และเป็นเจ้าภาพบวชให้ท่านเองด้วย นั่งคุยสนทนาธรรมกันจนดึกเผลอหลับไปตอนไหนก็ไม่รู้เพราะว่าร่างกายอ่อนเพลียจากการเดินทาง
     เช้าวันที่ ๒ พฤศจิกายน รู้สึกตัวตื่นตอนตีสองกว่าๆ ฝนตกหนักลมแรง กิ่งไม้หักตกใส่หลังคากุฏิ เพราะพายุฝนเข้าจังหวัดกระบี่
ตื่นขึ้นมาก็สนทนาธรรมกันต่อจนถึงเวลาประมาณ ๘.๐๐ น. เจ้าภาพมารับไปกิจนิมนต์ทำบุญรอบปีของแมนชั่น เพราะว่าแมนชั่นแห่งนี้นั้น
เราได้มีส่วนมาตั้งแต่เริ่มแรก คือหาสถานที่ก่อสร้าง แบบแปลนโครงสร้าง วันวางศิลาฤกษ์ วันเปิดดำเนินกิจการ เจ้าของแมนชั่นจึงเจาะจง
นิมนต์ให้มาในงานทำบุญรอบปีทุกครั้ง มีญาติโยมลูกศิษย์ในจังหวัดกระบี่มารออยู่ที่งานเป็นจำนวนมาก เพราะว่าเคยอยู่จำพรรษาที่วัด
ถ้ำเสือฯช่วยเหลืองานหลวงพ่อจำเนียรมาหลายปี จึงมีญาติโยมรู้จักเยอะ เจริญพุทธมนต์ ฉันข้าวเสร็จ ส่งพระที่นิมนต์มากลับวัดถ้ำเสือฯ
ทำพิธีสงเคราะห์ญาติโยมต่อ จนถึงเวลาประมาณ ๑๓.๓๐ น.จึงลาญาติโยมเดินทางกลับจังหวัดสุราษฏร์ เพื่อแวะรับญาติโยมที่มาด้วยกัน
แต่รถของโยมเกิดเสียเพราะโดนน้ำท่วม ต้องให้บริษัทประกันมายกไปเข้าศูนย์ที่กรุงเทพฯ ฝนตกหนักมาตลอดทางตั้งแต่ จ.กระบี่
จนถึงจังหวัดสุราษฏร์ กลับถึงสุราษฏร์เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. มีญาติโยมมาขอให้สงเคราะห์อีกหลายราย จึงต้องอยู่ทำพิธีให้โยม
จนเสร็จหมดทุกคน ออกจากสุราษฏร์ธานีเวลา ๑๗.๔๕ น. ฝนยังตกหนักอยู่ แวะซื้อของฝากที่ อ.ไชยา แล้วจึงเดินทางกันต่อ
พอพ้น อ.เมืองชุมพร เลยศาลพ่อตาหินช้างมาแล้ว ไม่มีฝนเลย เดินทางกลับถึง อ.ศรีราชา เวลาประมาณ ๐๑.๓๐ น.ถนนโล่งรถน้อย
ทำความเร็วได้ดีจึงถึงที่พักเร็ว ถึงที่พักกันแล้วก็นั่งคุยกันต่อ สรุปงานการเดินทาง ภาพรวมทั้งหมด คุยกันจนถึงตีสามกว่าๆจงได้พักผ่อน
   เช้าวันที่ ๓ พฤศจิกายน ตื่นเช้าตามปกติเพราะหลับไม่เกินสองชั่วโมง ตื่นเช้ามาทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติเพราะว่ามีความเป็นส่วนตัว
โยมเขามีบ้านรับรองพระแยกออกจากบ้านที่โยมอยู่อาศัย จึงสามารถที่จะทำกิจได้เพราะมีความเป็นส่วนตัว ฉันเช้าแล้ว โยมมารับไปดู
โครงการที่ จ.ระยอง เสร็จจากระยองก็มาดูโครงการต่อที่ จ.ชลบุรี กลับถึงที่พักเวลาประมาณ ๑๕.๓๐น.ขอตัวญาติโยมจำวัตรก่อนเพราะ
ตอนกลางคืนจะมีญาิติโยมลูกศิษย์อีกหลายคณะใน อ.ศรีราชาที่จะมาหาให้ช่วยสงเคราะห์ หลับไปประมาณ ชั่วโมงกว่าๆ ตื่นขึ้นมาสรงน้ำ
ฉันกาแฟให้ร่างกายสดชื่น เวลา ๑๘.๐๐ น.ญาติโยมเริ่มทะยอยกันมาขอความสงเคราะห์ สงเคราะห์ญาติโยมเสร็จหมดทุกคนประมาณ
๒๒.๐๐ น. นั่งสนทนากันต่อ จนถึงเวลาประมาณตีสามกว่าๆ ญาติโยมจึงได้ลากลับ จึงได้จำวัตรพักผ่อน
   เช้าวันที่ ๔ พฤศจิกายน ตื่นเช้าทำกิจวัตรของสงฆ์เสร็จ ลงไปดูข่าวน้ำท่วมภาคใต้ ปรากฏว่าทุกที่ ที่ได้ไปมานั้นน้ำท่วมเกือบทั้งหมด
ฉันเช้าแล้ว นั่งพูดคุยสรุปงานกันอีกครั้ง จนถึงเวลา ๐๙.๒๐ น. จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อแวะเยี่ยมทีมงานลูกศิษย์หลวงพ่อเปิ่นสาย
รามอินทรา ( ชุดที่ทำผ้ายันต์ให้วัดบางพระ ตั้งแต่สมัยที่หลวงพ่อเปิ่นยังอยู่ จนถึงบัดนี้ ) ถึงรามอินทราเวลา ๑๑.๐๐ น. น้องๆมารอ
อยู่แล้ว สนทนากันตามประสาพี่น้อง สลับกันใครมีงานก็ไปทำกันใครว่างก็เข้ามา นั่งคุยกันจนถึงทุ่มหนึ่ง พวกน้องๆจึงได้ไปส่งที่หมอชิต
เพื่อนั่งรถทัวร์กลับมุกดาหาร ซึ่งน้องเขาจองตั๋วรถเที่ยวสามทุ่มครึ่งไว้ให้ ตอนเย็นรถติดมากกว่าจะถึงหมอชิตเกือบสามทุ่ม นั่งฉันกาแฟรอ
เวลารอออก รถเสียเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง กว่าจะออกได้ก็สี่ทุ่มพอดี รถมาถึงมุกดาหารเวลาประมาณ ๐๗.๓๐ น.
  เช้าวันที่ ๕ พฤศจิกายน กลับถึงวัดเวลาประมาณ ๐๘.๐๐น.ใช้เวลาในการเดินทางไปกิจนิมนต์รอบนี้๘วัน๘ คืน เดินทางไปเดินทางมา
นั่งรถดูสถานที่โครงการต่างๆรวมแล้วระยะทาง ๕๔๒๘ กิโลเมตร กว่าจะเสร็จสิ้นการเดินทางในครั้งนี้ มีทุกรสชาติของชีวิต เมื่อเราได้
คิดและพิจารณา ได้ทั้งประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม สงเคราะห์อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เดินไปคู่กันเพราะเราอยู่บนโลกใบเดียวกัน
โลกและธรรมจึงต้องเดินไปด้วยกัน ปรับโลกเข้าหาธรรม ปรับธรรมเข้าหาโลก หาความเหมาะสมพอดีที่จะอยู่ด้วยกัน ให้เกิดความเจริญทั้ง
ทางโลกและทางธรรม ตามภูมิปัญญาและบารมีที่สะสมมาของแต่ละคนแ ประสานให้เกิดความลงตัว ความพอดี ชีวิตก็ย่อมมีความสุข
ทั้งในทางโลกและทางธรรม ก้าวไปพร้อมกันไม่ขัดแย้งกัน เพราะทุกคนนั้นมีธรรมะสัปปายะ คือการปฏิบัติธรรมที่เหมาะสมกับตัวเอง....
                          ขอบคุณการเดินทางที่ช่วยสร้างโลกทัศน์ ชีวทัศน์ ทำให้เกิดวิสัยทัศน์
                                          จึงขอเก็บความทรงจำนำมาเล่าสู่กันฟัง
                                             ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เวลา ๒๐.๐๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

175
 :059: ผ้ายันต์ ๔ คณาจารย์ ชุด สองเสือ สองสิงห์ มีสองสี  :054:




 :059: ผ้ายันต์เทพศิวลึงค์  :059:



 :059: ผ้ายันต์มหายันต์เทพศิวลึึงค์  :059:





176
 

                  เชิญร่วมงานทอดกฐินสามัคคี-บวชชีพราหมณ์
                                    ณ วัดทุ่งเว้า
                บ้านท่าไคร้-นาแล ต.นาสีนวน อ.เมือง มุกดาหาร
                     วันที่ ๒๐-๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓
                            ...............................
          วันเสาร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓
                     เวลา ๑๙.๐๐ น. ทำพิธีบวชชีพราหมณ์
                     เวลา ๒๐.๐๐ น. ทำพิธีสวดเสริมอายุ สะเดาะพระเคราะห์
                                         เสริมบารมี ขอขมาอโหสิกรรม
                     เวลา ๒๔.๐๐ น. ทำพิธีลอยเคราะห์ ลอยกรรม
                     หลังจากนั้นร่วมปฏิบัติธรรม สวดมนต์ ฟังธรรม เจริญภาวนา ไปจนฟ้าสว่าง
          วันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓
                     เวลา ๐๖.๐๐ น. ทำพิธีสึกชีพราหมณ์ รับประทานอาหารเช้าร่วมกัน
                     เวลา ๐๘.๐๐ น. ตั้งขบวนแห่พุ่มกฐิน
                     เวลา ๐๙.๐๐ น. ทำพิธีทอดถวายผ้ากฐิน เสร็จพิธี รับประทานอาหารร่วมกัน
       จึงขอเชิญชวนญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาและมีเวลามาร่วมงานกันในครั้งนี้ เพื่อความสุขสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล
ความสมบูรณ์พูนผลและสิ่งที่เป็นมงคลไ้ด้บังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลายทุกท่านเทอญ...
       :059: ผู้ที่มีจิตศรัทธาแต่ไม่สามารถจะมาร่วมงานนี้ได้ ติดต่ออนุโมทนาไปที่
                   ธนาคารกรุงไทย สาขามุกดาหาร
                   บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 420-0-095432
                   พระอาจารย์เมสันติ์ คมฺภีโร (สุวรรณศิริ)

177


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๓
              ช่วงนี้อากาศเริ่มจะกลับมาหนาวอีกครั้ง หลังจากหายไปหลายวัน อุณหภูมิอยู่ประมาณ ๑๘-๒๖ องศา
ช่วงนี้ลงไปช่วยทำงานก่อสร้างทุกวัน เพื่อจะเร่งให้เสร็จก่อนงานกฐิน คือวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ( วันลอยกระทง )
ซึ่งคงจะใช้เวลาอีกประมาณ ๑๐ วันก็น่าจะเสร็จ อาจจะหายไปจากบอร์ดประมาณ๕-๖วันเพราะต้องเดินทางลงภาคใต้
ไปกิจนิมนต์ในหลายที่และไม่ได้นำโน๊ตบุ๊คไปด้วย เพราะไม่สะดวกในการเดินทางและคงจะไม่มีเวลาว่างที่จะเข้ามา
แต่ก็จะพยายามหาเวลาที่จะเขียนงานมาให้ท่านได้อ่านกัน เมื่อมีโอกาสและเวลาที่เหมาะสม....
                           :059: ปณิธานในการเป็นสมณะ  :059:
                              ใช่หวัง  จะดังเด่น       จึงมาเป็น  สมณะ
                            เพียงหวัง  จะลดละ       ซึ่งมานะ  และอัตตา
                           เร่ร่อน  และรอนแรม       ไปแต่งแต้ม  แสวงหา
                            สัญจร ร่อนเร่มา            ผ่านร้อยป่า  และภูดอย
                          ลาภยศ  และสรรเสริญ      ถ้าหลงเพลิน  จิตเสื่อมถอย
                          พาใจ   ให้เลื่อนลอย        จิตเสื่อมถอย  คุณธรรม
                          ยึดถือ   คือผูกมัด            เป็นบ่วงรัด  ให้ถลำ
                          ติดใน    โลกธรรม           เหมือนเดินย่ำ  ในรอยเดิม
                          เวียนว่าย  ในวังวน           ไม่หลุดพ้น  ไม่สร้างเสริม
                          กุศล   ไม่ต่อเติม             แต่กลับเพิ่ม  ซึ่งอัตตา
                          อัตตา  ก่อมานะ              แล้วก็จะ   เพิ่มตัณหา
                          ติดอยู่  ในมายา              เสียเวลา   ในทางธรรม
                          ลาภยศ สุขสรรเสริญ         ถ้าหลงเพลิน จิตตกต่ำ
                          ออกห่าง  จากทางธรรม     กุศลกรรม  ถูกรุกราน
                           สติ    ระลึกรู้                 ไม่ควรอยู่  ที่ใดนาน
                          เสร็จกิจ  ก็ถึงกาล             กล่าวคำขาน  ว่าจากลา
                          จากลา  หาแหล่งใหม่        เดินทางไป  แสวงหา
                          ฝึกจิต   ภาวนา                ปรารถนา  บรรลุธรรม...
                                 ..........................................
                         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
                                      ๐๗.๐๒ น./ ๒๘ ต.ค.๕๓
 :059: ที่ไม่นำไปลงในหมวดบทความ บทกวี ก็เพื่อจะง่ายในการค้นหา จึงนำมารวมกันไว้ในหมวดนี้แทน  :059:

178


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
  ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๓
                หลักออกพรรษาก็ถึงฤดูเก็บเกี่ยว ปีนี้เป็นโชคดีของชาวบ้านแถบนี้ ที่นาข้าวได้ผลผลิตดี
ไม่โดนน้ำท่วมหรือเพลี้ยลง ส่งผลให้ได้รับผลเต็มที่ ข้าวก็ได้ราคาดี ชาวนายิ้มออก มีเงินพอจะใช้จ่าย
เพราะอาชีพหลักของชาวบ้านก็คือการทำนา การประมงในลำน้ำโขงและมีส่วนหนึ่งที่ออกไปขายแรงงาน
หลังสิ้นฤดูกาลทำนา จังหวัดมุกดาหารปี้นี้ปลอดภัยจากน้ำท่วม เพราะเป็นพื้นที่สูงและตั้งอยู่อีสานกลาง
จึงไม่ค่อยจะมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมมากนัก จะมีบ้างแต่ก็ไม่ท่วมขัง ไม่เกิน ๕ ชั่วโมงก็ระบายลงแม่น้ำโขง
ช่วงเวลานี้จะญาติโยมลงมาวัดน้อย เพราะว่าต้องออกไปเกี่ยวข้่าวกัน ซึ่งข้าวจะสุกพร้อมๆกันเกือบทุกนา
ทำให้บางครั้งขาดแรงงาน เกี่ยวข้าวกันไม่ทัน ต้องจ้างคนลาวมาช่วยเกี่ยวข้าว คือวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่
รอบๆวัด ปีไหนข้าวดีชาวบ้านก็มีความสุข ไม่เป็นหนี้เป็นสิน พออยู่พอกิน มีเงินใช้หนี้ ธ.ก.ส.ที่กู้มาลงทุน
งานบุญกฐิน งานบุญผ้าป่าก็มีกำลังทรัพย์กำลังศรัทธาที่จะมาร่วมบุญกัน นั่งดูท้องนาหน้าวัด ดูโยมเขาเกี่ยว
ข้าวกัน จึงเขียนรำพันบรรยายมาเป็นบทกวี....
                         :059: ท้องทุ่งนายามหน้าเกี่ยว :059:
                          เหลืองอร่าม   งามตา    ยามหน้าเกี่ยว
                         ข้าวรอเคียว   เกี่ยวรวง   ก่อนร่วงหล่น
                         เสียงตะโกน   รวมพลัง   กำลังพล
                         ช่วยกันขน  ช่วยกันเกี่ยว เรียวรวงงาม
                                       เมื่อสิ้นฝน      ลมหนาว    เข้ามาสู่
                                       เป็นฤดู         เก็บเกี่ยว    เหลืองอร่าม
                                       ข้าวในนา      ได้เวลา      กำหนดยาม
                                       เป็นไปตาม      วิถี          ชาวนาไทย
                         ข้าวรอลาน  งานรอคน     ผลผลิต
                         คือชีวิต      ชาวนา        รอฟ้าใหม่
                         ข้าวได้ผล   ราคาดี        มีกำไร
                         ต่างหน้าใส  มีสุข          กันทุกคน
                                        เสียงเฮฮา    ดังแว่วมา   จากนาข้าว
                                        คนหนุ่มสาว   ร่วมแรง     ทุกแห่งหน
                                        ช่วยกันเกี่ยว  ช่วยกันมัด  จัดแบ่งคน
                                        ช่วยกันขน     ช่วยกันทำ  ตามกำลัง
                         ข้าวสู่ลาน     รอการ       ตีนวดข้าว
                         คนหนุ่มสาว  ร่วมแรง      แต่งความหวัง
                        ขนข้าวเปลือก ตากในลาน  ตามกำลัง
                        รวมพลัง      ลงแขก       แยกกันทำ
                                       เก็บข้าวแห้ง  ขึ้นยุ้งฉาง   รอวันขาย
                                       ด้วยใจหมาย  รอราคา     มาหนุนค้ำ
                                       มีกำไร         คุ้มค่า       ที่ได้ทำ
                                       บุญหนุนนำ     ปีนี้         มีราคา
                         ขายข้าวแล้ว    ใช้หนี้     ธอกอสอ
                         ไม่ต้องรอ        ใช้หนี้    ในปีหน้า
                         เพราะปีนี้        ขายดี     มีราคา
                         คนทำนา        มีสุข       กันทุกคน
                                       คือวิถี        ชีวิต     ชาวนาไทย
                                      ที่ฝากไว้    กับเวลา  กับฟ้าฝน
                                      คือวิถี         ชีวิต     ของคนจน
                                      ที่ต้องทน   หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน....
                                           ..............................
                 แด่ชาวนาไทยผู้ปลุูกข้าวให้เรากิน ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
                                     ๐๘.๑๗ น./๒๗ ต.ค. ๕๓
          

179


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
  ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๓
         เช้าหลังวันปวารณาออกพรรษา ( แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ) ออกไปรับบิณฑบาตร
ข้าวสารอาหารแห้ง งานบุญประเพณีตักบาตรเทโวฯ ซึ่งจัดในหมู่บ้านเป็นประจำมาทุกปี
นิมนต์พระทั้งตำบลมารับบาตร ไปฉันข้าวต้มรวมกันที่วัดในหมู่บ้าน เพื่อที่รอความพร้อม
ทั้งของพระและของโยม กว่าจะได้ออกบิณฑบาตรก็ ๐๗.๓๐ น. ซึ่งถือว่าตะวันสายแล้ว
และกว่าจะรับบาตรเสร็จก็ ๐๘.๔๕ น. ปีนี้มีญาติโยมมาร่วมตักบาตรเทโวมากเหมือนทุกปี
แต่มีพระมารับบาตรน้อยกว่าทุกปี เพราะถูกเกณฑ์ให้ไปรับบาตรที่วัดของเจ้าคณะจังหวัด
บนเขามโนรมณ์ มีพระมารับบาตรเพียงสามสิบกว่ารูป โยมมาตักบาตรพันกว่าคนและโยม
เตรียมของมาเยอะ พระน้อยโยมเลยใส่เยอะ รับได้ไม่เกินสามคนก็เต็มบาตรแล้ว ต้องรีบ
ถ่ายบาตร มีพวกเด็กๆฝีพายมาช่วยรับบาตร พระ ๗ รูป ได้ของบิณฑบาตรมาล้นรถกะบะ
กลับมาถึงวัดมีญาติโยมมาช่วยกันแยกของ ได้น้ำตาลประมาณ ๗๐ ก.ก. ข้าวสารเหนียว
ประมาณ ๑๐๐ ก.ก. ข้าวสารเจ้าหอมมะลิประมาณ ๕๐ ก.ก. ขนมประมาณ ๑๐ กระสอบปุ๋ย
พริกแห้งประมาณ ๑๕ ก.ก. เกลือประมาณ ๑๐ ก.ก.น้ำปลา น้ำมัน อย่างละประมาณ ๑๐ โหล
หอม กระเทียมอีกประมาณ ๒๐ ก.ก. บะหมี่สำเร็จรูปอีกประมาณ ๑๐ กระสอบ นมกล่อง น้ำดื่ม
น้ำหวานอีกประมาณ ๑๐ กระสอบ ซึ่งกว่าจะคัดแยกกันเสร็จก็เกือบเที่ยง แจกถุงให้โยมและเด็กๆ
คนละใบ ใส่ขนมแบ่งๆกันไป เพราะมันมากเกินไปและพระท่านก็ไม่ได้ฉัน แยกของเสร็จพระท่าน
ไปเที่ยวเมืองสะหวันนะเขต ประเทศลาวกัน เพราะเป็นวันที่ข้ามไปมาหากันได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือ
เดินทาง ไม่ต้องเสียค่าเหยียบดิน  ไม่ได้ข้ามไปฝั่งลาวกับเขาเพราะว่าข้ามไปมาบ่อย เลยอยู่เฝ้าวัด
นั่งถอดแบบวัสดุอุปกรณ์ที่จะทำที่สรงน้ำพระปริวาส คำนวนวัสดุและประเมินราคาค่าวัสดุ ระยะเวลา
สามวันที่ผ่านมานี้ยุ่งอยู่กับเรื่องการก่อสร้าง ออกไปสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ ช่วยกันทำงานเพื่อเร่งให้เสร็จ
ก่อนงานกฐิน เพราะหลังจากรับกฐินแล้วจะออกเดินทางไปปลีกวิเวกเก็บตัวแต่ผู้เดียวในป่าสักสองเดือน
จึงเร่งเก็บงานที่ค้างคาเสียให้เรียบร้อย จะได้ไม่กังวลใจ (กัมมะปลิโพธ) เมื่อออกไปเก็บตัวปฏิบัติธรรม
ดั่งสุภาษิตที่ว่า" อนากุลา จะ กัมมันตา เอตัมมังคะละมุตตะมัง " การทำงานไม่คั่งค้างเป็นมงคลของชีวิต
ซึ่งตามแผนงานการบูรณะสร้างวัดทุ่งเว้าขึ้นมาใหม่นั้นยังเหลืองานอีกไม่กี่อย่างที่ยังทำไม่เสร็จตามที่ตั้งใจไว้
เหลือระบบไฟฟ้าของพระธาตุเจดีย์และอุโบสถ ซึ่งตอนนี้วัสดุอุปกรณ์นั้นเตรียมไว้ครบแล้ว รอช่างมาดำเนินการ
งานทาสีเสนาสนะทั้งหมด (รอให้สร้างเสร็จหมด ทาทีเดียวพร้อมกัน จะได้ใหม่เหมือนกันและเก่าพร้อมกัน )
ซึ่งตอนนี้สีที่จะใช้ทั้งหมดก็เอามาเตรียมไว้แล้ว รอแต่เพียงจังหวะเวลาดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมจึงจะได้ลงมือทำ
กับงานชิ้นสุดท้ายก็คือ งานเขียนผนังภายในพระอุโบสถ ซึ่งจะเขียน ยันต์ ๑๐๘  นะ๑๐๘ หัวใจ ๑๐๘ และบทสวด
มนต์พระปริตทั้งหมด ไม่ได้เขียนรูปภาพพุทธประว้ติ รูปภาพพระเจ้าสิบชาติหรือพระเวสสันดรชาดก เพราะวัดอื่นเขา
เขียนกันเขามีกันเกือบทุกวัดแล้ว เลยต้องหาเอกลักษณ์ให้แก่วัดทุ่งเว้าใหม่ ฉีกแนวจากวัดอื่นไป เป็นทางเลือกใหม่
ให้แก่ผู้ที่จะมาเยี่ยมชม และมีรายได้พอที่จะเลี้ยงวัดเมื่อเราไม่อยู่ ไปอยู่ที่อื่นแล้ว
             นับวันเวลาที่เข้ามาบูรณะสร้างวัดทุ่งเว้าขึ้นมาใหม่นี้ เป็นเวลา ๖ ปี ๓ เดือน จากไม่มีสิ่งก่อสร้างอะไรเลย
มีเพียงเนินดิน กองอืฐ กองหินและป่าไม้ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ ๒๐ ล้าน ยอมรับว่ามีบ้างที่เหนื่อยล้า
ทั้งกายและใจ แต่ไม่เคยท้อและถอย หกปีกว่าที่ผ่านมานั้นได้อะไรมากมาย ทั้งในสิ่งที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมทั้งหลาย
และสิ่งที่จับต้องไม่ได้แต่รู้ได้ด้วยใจ อันเป็นนามธรรมทั้งหลาย คุ้มค่ากับวันเวลาที่ผ่านไป เมื่อสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้นั้น
มันบรรลุผลตามที่วางไว้ ก็คงถึงเวลาที่จะต้องไป " ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ไป " ซึ่งถ้าเราไม่ไปพวกเขา
ก็ไม่โต เมื่อเราไม่อยู่ เขาต้องคิดเองเป็นและทำเองเป็น เพื่อที่จะพาสำนักให้ไปรอดได้ " ไม่มีเราเขาก็อยู่กันได้ อย่าให้
ความสำคัญต่อตัวเองมากไป มันจะกลายเป็นการยึดติด " ชีวิตนั้นต้องเดินต่อไป ตราบที่ยังมีลมหายใจและยังไม่สิ้นกิเลส
ไปเพื่อสร้างเหตุและปัจจัย ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้ "ฝันให้ไกล ไปให้ถึง ซึ่งความฝัน "......
                                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
                                         ๒๖ ต.ค.๕๓ /๒๐.๑๓ น.

180
 :059: ยันต์ออมน้ำ  :059:



ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๓
....รอยทาง....
                       ตื่นเช้ากว่าปกติ เพราะเป็นพระใหญ่และเป็นวันปวารณาออกพรรษา ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้าที่บนศาลาที่พักเสร็จแล้ว ลงไปช่วยกันจัดสถานที่ในโบสถ์ในศาลาการเปรียญ
ช่วยกันกวาดวิหารลานวัด เวลา๐๗.๓๐ น. เริ่มพิธีนำญาติโยมไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้าเสร็จแล้วไหว้พระ
รับศีล สวดบทถวายพรพระให้ญาติโยมตักบาตรกัน แล้วจึงถวายสังฆทาน นำญาติโยมกล่าวคำอธิษฐานจิต
อุทิศทาน แผ่เมตตา ขอขมา ขออโหสิกรรม กล่าวสัมโมทนียกถา เสร็จแล้วจึงให้พร แล้วจึงฉันภัตราหาร
เป็นอันเสร็จพิธีในภาคเช้า ตอนสายๆลงไปซักผ้าจีวร สบง อังสะและผ้าห่มเพื่อเตรียมไว้ต้อนรับลมหนาว
ที่ใกล้จะมาถึง ซักผ้าตากผ้าเสร็จ ลงไปช่วยกันขุดหลุมเสาที่สรงน้ำพระ ผสมปูนเทรองพื้นก้นหลุมซึ่งกว่า
จะเสร็จก็เวลาใกล้ค่ำ สรงน้ำเสร็จตีระฆังไปรวนกันที่ใพระอุโบสถ สวดมนต์ทำวัตรเย็น เสร็จแล้วจึงสวดบท
บุพรกิจปวารณาออกพรรษา ว่ากล่าวตักเตือนกันตามธรรมตามวินัย นำขอขมา ขออโหสิกรรมซึ่งกันและกัน
เสร็จแล้วจึงกลับขึ้นศาลาที่พักมาเจริญจิตตภาวนาต่อ จนถึงเที่ยงคืน จึงได้จำวัตรพักผ่อน
.....รอยธรรมบทอำลา.....
                     เขียนบันทึก รอยทางและรอยธรรม มาครบ ๙๐วัน คือตลอดทั้งพรรษาโดยมิได้ว่างเว้น
เขียนไว้เพื่อเป็นบันทึกเตือนความทรงจำของตนเอง ว่าในเวลาที่ผ่านมานั้น เราทำอะไรมาบ้าง คิดอย่างไร
มีความรู้และความเข้าใจในขณะนั้นเป็นอย่างไร เพราะเมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งที่เราได้บันทึกไว้มันคือตำนาน
ให้คนรุ่นหลังได้เอามาเป็นแบบอย่าง ในการดำเนินชีวิต ในการคิดและการกระทำ เพื่อจะได้นำไปปรับใช้กับ
ชีวิตประจำวันของตน ขอขอบคุณและอนุโมทนากับทุกผู้ทุกคนที่ได้เข้ามาอ่านบทบันทึก รอยทางและรอยธรรม
ซึ่งบางท่านก็ได้ติดตามงานเขียนนั้นมาโดยตลอดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๕๒ ซึ่งได้เขียนบทความ บทกวี
และตอบคำถามต่างๆมามากมายรวมแล้วพันกว่าครั้ง ซึ่งงานเขียนที่ผ่านมานั้นได้เขียนครอบคลุมไว้เกือบทุกเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นธรรมะเพื่อการปฏิบัติ การดำเนินชีวิต หลักการคิดทั้งในทางโลกและทางธรรม หรืออีกหลายเรื่องทั่วๆไป
ได้เขียนไว้และเป็นคำตอบให้แก่ผู้ที่สงสัยได้มากมาย ถ้าท่านต้องกลับไปย้อนอ่านดู เพราะบทความธรรมะนั้น
จะเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ท่านต้องไปดูที่มาของธรรมะนั้น ว่ามีเหตุมีปัจจัยเป็นมาอย่างไร จึงได้มีทัศนะความคิดเห็น
อย่างเช่นทุกวันนี้ เพราะว่าหลังจากออกพรรษาแล้ว จะต้องเดินทางบ่อยครั้ง ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สะดวกในการที่จะเขียน
บทความบทบันทึกต่่างๆ อาจจะเว้นว่างไปตามจังหวะเวลาและโอกาส เท่าที่สามารถจะทำได้ และสำหรับผู้ที่สนใจใน
การประพฤติปฏิบัติหรือมีปัญหาข้อสงสัยในเรื่องต่างๆ ทั้งในทางโลกและทางธรรม ในชีวิตครอบครัว ในธุรกิจการงาน
ก็สามารถที่จะฝากคำถามไว้ที่ข้อความส่วนตัวได้ ซึ่งเมื่อมีเวลาก็จะมาตอบให้ แต่บางครั้งอาจจะช้าไปบ้างแล้วแต่โอกาส
(ถามได้ทุกเรื่อง ตอบได้ทุกเรื่องที่ไม่ผิดธรรมวินัย ) สุดท้ายนี้ขอความสุขสวัสดี ความมีสิริมงคล ทั้งลาภและผล ความสุข
ความสำเร็จ ความเจริญทั้งหลาย ขอให้บังเกิดแก่ท่านและครอบครัวตลอดไปเทอญ...
.....รอยกวี.....
                        วันเวลา      ผ่านไป       ไม่หยุดนิ่ง
                       สรรพสิ่ง      เกิดดับ        และลับหาย
                       ผ่านเรื่องราว  หลายหลาก  และมากมาย
                       บทสุดท้าย   งานเลี้ยง      ย่อมเลิกลา
                                       ชีวิตเรา        มีทั้งเศร้า     และทั้งสุข
                                      บางครั้งทุกข์   เพราะใจ      นั้นใฝ่หา
                                      หลงผิดไป     ในกิเลส       และอัตตา
                                      เพราะตัณหา   ความอยาก  ที่มากมาย
                     เมื่อพบทุกข์    ควรหันมา    เข้าหาธรรม
                     เพื่อจะนำ       จิตสู้          สู่ความหมาย
                     เพื่อวางจิต      วางใจ        ให้ผ่อนคลาย
                     จิตสบาย       กายสุข         ก็เห็นทาง
                                      เมื่อจิตโปร่ง    โล่งเบา     เอาจิตรู้
                                     และตามดู      จิตนั้น        อยู่มิห่าง
                                     เมื่อเห็นกาย    เห็นจิต      ก็เห็นทาง
                                     เมื่อจิตว่าง     ก็เห็นธรรม   กำหนดไป
                     รู้อะไร      ไม่สู้      รู้กายจิต
                    รู้ความคิด   ของตน  ตั้งต้นใหม่
                   มาดูกาย     มาดูจิต   มาดูใจ
                   ทำอะไร    คิดอะไร  ให้รู้ทัน
                                         มีสติ    ระลึกรู้    อยู่ทั่วพร้อม
                                     แล้วก็น้อม  นำจิต    คิดสร้างสรรค์
                                    อยู่กับธรรม  ให้รู้      ปัจจุบัน
                                    เมื่อรู้ทัน    ก็ไม่หลง มั่นคงไป
                    จงศรัทธา    ในความดี    ที่มีอยู่
                   และเรียนรู้     พัฒนา       หาสิ่งใหม่
                   เพื่อให้ธรรม   ก้าวหน้า    ยิ่งขึ้นไป
                   แล้วจะได้    พบสุข        ไม่ทุกข์ทน
                                    สุขในธรรม    ล้ำค่า   หาใดเปรียบ
                                    ไม่อาจเทียบ  กับสุข  ในทุกหน
                                    เป็นความสุข   ที่รู้ได้  เฉพาะตน
                                    ต้องฝึกฝน    ภาวนา  หาให้เจอ...
                                   ...............................................
                                       ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๑๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                        

181


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                    อากาศหนาวรู้สึกตัวเลยตื่น ไม่นอนต่อ ทำภาระกิจส่วนตัวเสร็จ จงทำกิจวัตรสงฆ์ต่อ
ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เจริญจิตตภาวนา อธิษฐานจิต แผ่เมตตา ขอขมา ขออโหสิกรรมตามลำดับ
ตอนสายๆลงไปดูที่สร้างที่อาบน้ำพระ ที่จะใช้ตอนงานปริวาสกรรม วัดระยะความสูงของหลังคาเพื่อจะ
ให้เชื่อมต่อกับหลังคาของห้องน้ำ กำหนดจุดที่จะขุดหลุมวางเสา ทั้งขนาดของความกว้่างและความลึก
ช่วยกันตีผังที่จะทำที่สรงน้ำพระปริวาส เสร็จแล้วกลับมาศาลาที่พักเพื่อโกนหัวปลงผม เพราะเป็นวันโกน
( วันก่อนวันพระใหญ ๑๕ ค่ำ )ปลงผมเสร็จแล้วกวาดถูศาลาการเปรียญ จับลูกแมวออกจากศาลาที่พัก
ให้ไปอยู่ที่โรงครัวแทน เพราะถ้าไม่อยู่ต้องปิดประตูหน้าต่างซึ่งจะขังลูกแมวไว้ข้างในออกมากินข้าวไม่ได้
จึงต้องเอาออกไปไว้ที่โรงครัวแทน(แมวมันมาเกิดที่ใต้เตียงนอนตอนกลางพรรษา) กว่าจะจับเอาออกไปได้
ต้องใช้เวลานาน เล่นเอาเหนื่อยได้เหงื่อ จึงลงไปสรงน้ำ กลับขึ้นมาเปิดเว็บบอร์ดดูบทความบทกวีเก่าๆที่ได้
เขียนไว้ในบอร์ดวัดบางพระและในบอร์ดที่อื่นๆ เพื่อดูความคิดเห็นมุมมองในช่วงเวลาที่ต่างกรรมต่างวาระกัน
นั่งอ่านจนเย็น จึงลงไปกวาดวิหารลานวัดลานธรรม เพื่อให้ดูสะอาดตาเพราะว่าวันออกพรรษาจะมีญาติโยม
มาทำบุญตักบาตรที่วัดกัน  กวาดขยะเสร็จจึงไปสรงน้ำแล้วกลับขึ้นมาไหว้พระทำวัตรสวดมนต์เย็นปฏิบัติต่อ
จนสมควรแก่เวลาจึงได้จำวัตรพักผ่อน..
.....รอยธรรม.....
                    อย่าได้รีบด่วนสรุปในการปฏิบัติธรรม ว่าเรารู้ธรรมแล้ว เข้าใจธรรมหมดแล้ว เพราะสิ่งที่เรารู้
และเราเห็นในขณะนี้นั้น มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัยในปัจจุบันนี้ที่เราได้ทำมา ซึ่งถ้าเราทำไปให้ยิ่งกว่านี้
เราก็จะรู้ จะเห็นและเข้าใจไปมากกว่านี้ ตราบใดที่เรายังไม่สิ้นกิเลส จงอย่ารีบด่วนสรุปว่าเรารู้และเข้าใจธรรม
หมดแล้ว เพราะยังมีอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ ยังไม่เห็นและยังไม่เข้าใจ ผู้ที่จะฟันธงชี้ชัดได้ มีแต่พระพุทธเจ้า
แต่เพียงผู้เดียว ที่คำตรัสของพระองค์เป็นหนึ่งเสมอไม่มีผิดเพี้ยน ฉะนั้นเราอย่าไปอวดเก่งกว่าพระพุทธเจ้า
อย่าไปฟันธงชี้ชัด ว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนี้ เพราะการที่ไปฟันธงชี้ชัดนั้นมันเกิดมาจากทิฏฐิ
มานะและอัตตาของตัวเราเอง การสำคัญตน ว่าเราเก่ง เรารู้ ดีกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นการจะนำไปสู่ความคิดที่ผิดทาง
คิดเข้าข้างตนเอง หลงอารมณ์กรรมฐาน กลายเป็นเจ้าลัทธิไป ไม่ใช่สาวกของพระพุทธเจ้่า ซึ่งเป็นการปฏิบัติ
ที่ผิดพลาดและอาจจะนำไปสู่อบายได้เพราะจะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไป จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจ
ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายพึงสังวร เพราะหลักคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น ท่านไม่ให้เชื่อทันทีและก็ไม่ให้ปฏิเสธ
ในทันที่ ท่านให้ลองนำไปประพฤติปฏิบัติ ฝึกหัดทดลองทำเสียก่อน จึงจะเชื่อหรือปฏิเสธ ตามเหตุและผลแห่ง
ความเป็นจริงทั้งหลาย ดั่งที่เคยได้กล่าวไว้ว่า..." ถ้าเชื่อทันที เรียกว่า งมงาย ถ้าปฏิเสธทันที เรียกว่า ขาดประโยชน์
ควรคิดพิจารณา ไตร่ตรองให้รอบคอบ ควรจะทดลองพิสูจน์ ฝึกฝนที่ใจตน ให้เกิดความกระจ่างชัด ขึ้นด้วยใจตน
แล้วจึงจะเชื่อหรือปฏิเสธ โดยเอาเหตุและผลที่เป็นจริงมาเป็นที่ตั้ง แล้วทุกอย่างก็จะเกิดที่ใจ ".....
.....รอยกวี.....
                       มองโลก  และมองธรรม          แล้วน้อมนำ  มาใคร่ครวญ
                      ฝึกฝน  และทบทวน               อย่ารีบด่วน   สรุปลง
                      ที่รู้  และที่เห็น                     อาจไม่เป็น  เพราะเราหลง
                      สติ  ไม่มั่นคง                       ทำให้หลง  อารมณ์ธรรม
                      พินิจ และไตร่ตรอง                และจงมอง  ให้ลึกล้ำ
                      มองธรรม  จากที่ทำ               มาน้อมนำ   คิดใคร่ครวญ
                      ที่รู้  และที่เห็น                     และที่เป็น   นั้นมีส่วน
                      ให้รู้  สิ่งที่ควร                      อย่ารีบด่วน  ว่าเข้าใจ
                      ธรรมะ นั้นมากมาย                 มีอีกหลาย  ข้อสงสัย
                      ธรรมะ มีทั่วไป                      สัมผัสได้   ถ้าใคร่ครวญ
                      ธรรมะ คือความจริง                 สรรพสิ่ง   ล้วนมีส่วน
                      ตามเหตุ ตามสมควร               ทุกสิ่งล้วน ธรรมดา
                      มันเป็น  เช่นนั้นเอง                 จงรีบเร่ง  ภาวนา
                      จิตนิ่ง   เกิดปัญญา                 เห็นปัญหา ที่แท้จริง
                      ปัญหา  เกิดจากจิต                 จากความคิด ที่ไม่นิ่ง
                      ไม่รับ   ความเป็นจริง               ของทุกสิ่ง  ที่ควรเป็น
                      ฝีนกฏ  ธรรมชาติ                   จึงได้พลาด อย่างที่เห็น
                      ชอกช้ำ  และลำเค็ญ               อย่างที่เป็น เพราะหลงทาง
                      หลงทาง ในความคิด              เพราะว่าจิต  นั้นออกห่าง
                      ไม่ลด  และละวาง                 มีแต่สร้าง   กิเลสตน
                      กิเลส  และตัณหา                 ที่นำพา   ใจสับสน
                      เวียนว่าย ในวังวน                  ไม่หลุดพ้น  จากเวรกรรม
                      เอาธรรม นั้นนำทาง                 ส่องสว่าง   พบสุขล้ำ
                      รอยทาง  และรอยธรรม           รอยที่นำ   สู่ความจริง....
                                   .....................................
                                  ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๐๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

182


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                      อุณหภูมิลดลงเรื่อยๆตอนนี้ต่ำกว่า ๒๐ องศาแล้ว ทำให้ตื่นเร็วกว่าปกติที่เป็นมา
เพราะว่าอากาศมันเริ่มจะหนาว รู้สึกตัวแล้วไม่อยากจะนอนต่อ เลยต้องลุกขึ้นมาทำกิจวัตรของสงฆ์
ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิเจริญจิตตภาวนา อธิษฐานจิตแผ่เมตตา ขออโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร
ตอนเช้าลงไปนำลูกเรือบวงสรวงแม่ย่านางก่อนนำเรือออกไปร่วมแข่งขัน ที่สนามหน้าตลาดอินโดจีน
เสร็จแล้วกลับขึ้นมาที่พักมาทบทวนบทสวดมนต์ต่างๆ เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน บุพรกิจแห่งปวารณา
นั่งดูข่าวน้ำท่วม อยู่บนศาลาตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น จึงได้ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็นและปฏิบัติกิจในภาค
ค่ำต่อไป เวลาประมาณเที่ยงคืนกว่าๆจึงได้จำวัตรพักผ่อน
.....รอยธรรม.....
                    พยายามอบรมตนเองให้รู้จักข้อวัตรปฏิบัติ เพื่อให้รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่และมีจิตสำนึก
ต่อส่วนรวม อะไรที่ผิดเราก็พยายามละพยายามลด ไม่ทำตามความคิดฝ่ายต่ำ สร้างแต่สิ่งที่เป็นคุณงามดี
ดั่งที่ได้ตั้งปณิภานไว้ " ไม่เก็บ ไม่กำ ไม่กอบ ไม่โกง ไม่กิน ไม่เอาเปรียบผู้ใด ทุกอย่างทำไปเพื่อสร้างบารมี "
ชีวิตนี้มันเป็นของน้อยทุกวินาทีที่ผ่านไป คือการเดินไปสู่ความตาย จึงจำเป็นต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
"การทำความเพียรนั้น อย่าหลอกตนเอง ทำให้จริงจัง ตั้งสติกำหนดให้สตินั้นมีกำลังแก่กล้า ทำสัมปชัญญะให้มันแจ้ง "
ทาน ศีล ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญภาวนานั้นเป็นเครื่องชำระจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ที่ทำนั้นมีความหมาย
เพื่อที่จะกำจัดกิเลสภายในใจของเรา ไม่ใช่ทำไปเพื่อให้ก่อเกิดมานะอัตตา เป็นไปเพื่อความลดละแห่งกิเลสตัณหา
พิจารณาดูกาย ดูจิต ดูความคิดของตัวเราเอง ดูตัวเราว่ามีปัญญาพิจารณาเป็นไหมและทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเจริญ
ในธรรม พิจารณาไตร่ตรองด้วยสติปัญญา ค้นหาความจริงในกายในจิตของเรา ยอมรับความเป็นจริงในสิ่งที่เรามีและเราเป็น
มองให้เห็นความเสื่อมทั้งหลายอันได้แก่กิเลสตัณหา อัตตามานะที่่มีอยู่ในจิตของเรา ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องรู้และต้องเห็น
เสียก่อน จึงจะเข้าไปลดละมันได้ เพราะไม่มีใครที่จะรู้จักตัวเราเท่ากับตัวของเราเอง ขอเพียงเราให้เวลาแก่ชีวิตจิตวิญญาณ
ของตัวเราเองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ " ดูหนัง ดูละคร แล้วจงย้อนมาดูตัวเอง " นรกหรือสวรรค์ นั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่เห็นในวันนี้
แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่คือความสุขและความทุกข์ทั้งหลาย ที่เราสัมผัสได้ในปัจจุบัน ทำอย่างไรที่เราจะอยู่กับมัน อยู่เหนือมัน
ทำอย่างไรให้ใจของเรานั้น ไม่สับสนและวุ่นวาย นั้นคือสิ่งที่เราต้องทำในวันนี้ เป็นสิ่งที่เห็นและสัมผัสได้ ถ้าคุณคิดที่จะทำ...
.....รอยกวี.....
                     "สวรรค์ อยู่ในอก       และนรก  อยู่ในใจ "
                      เราทำ  สิ่งใดไว้        รู้แก่ใจ   ของเราเอง
                      ดีชั่ว    ตัวกำหนด     จะละลด ควรรีบเร่ง
                     ความชั่ว จงกลัวเกรง   อย่าอวดเบ่ง เพราะถือดี
                     บาปกรรม อันน้อยนิด   จะตามติด ไปทุกที่
                     ส่งผล   ทางไม่ดี        ให้เรามี   ความทุกข์ใจ
                     ความดี ควรรีบทำ        เพื่อจะนำ จิตสดใส
                     ความดี ที่ทำไป         ส่งผลให้  ได้เจริญ
                     เมื่อใจ  ไม่คิดชั่ว        และทำตัว น่าสรรเสริญ
                    พาใจ  ให้เพลิดเพลิน   จิตเจริญ  ในทางธรรม
                    มองโลก ในแง่ดี         ก็จะมี  ความสุขล้ำ
                    ความชั่ว  ไม่ครอบงำ    ก็จะทำ แต่สิ่งดี
                    สิ่งดี   เริ่มที่จิต          อยู่ที่คิด  ไม่ผิดที่
                    คิดดี  และทำดี          เพียงเท่านี้  ดีก็มา
                    ใจดี  ก็มีสุข             เพราะว่าทุกข์  ไม่มาหา
                    ใจสุข  ภาวนา           เกิดปัญญา  เห็นความจริง
                    ความจริง ของชีวิต      เห็นเมื่อจิต  นั้นอยู่นิ่ง
                    มองเห็น สรรพสิ่ง       เห็นความจริง คือเห็นธรรม....
                           ............................................
                             ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๑๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

183


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                 ได้พักผ่อนร่างกายเต็มที่ หลังจากต้องเดินทางและอดนอนสะสมมาหลายวัน
ตื่นขึ้นมาร่างกายปรับสภาพกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้แล้ว ทำภาระกิจในภาคเช้าตามปกติ
เสร็จเก็บผ้าสบง จีวร อังสะ ผ้าอาบน้ำฝนไปซัก เพราะว่าได้ใช้สวมใส่และห่มมาหลายวันแล้ว
ซักผ้าตากผ้าเสร็จลงไปกวาดลานวัด ลานธรรม เราไม่อยู่ก็ไม่มีใครทำ ใกล้จะออกพรรษาแล้ว
พระท่านเริ่มฟุ้งซ่าน ลืมข้อวัตรปฏิบัติที่เคยทำมา ซึ่งโดยนิสัยส่วนตัวแล้ว จะว่ากล่าวตักเตือน
เพียงสามครั้ง หลังจากนั้นก็จะปล่อยไปตามกรรมของเขา เพราะว่าเราได้ทำหน้าที่ของเรานั้น
ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ในการแนะนำตักเตือนสั่งสอน เขาจะทำตามหรือไม่นั้นมันเป็นเรื่องของเขา
หมดหน้าที่ของเราแล้ว ปล่อยให้เขาอยู่ส่วนของเขา ไม่ไปยุ่งเกี่ยวคลุกคลีหรือคบหาสนทนาด้วย
ซึ่งเป็นนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส กวาดวิหาร ลานวัด ลานธรรมเสร็จ กลับขึ้นศาลาที่พัก
ฉันกาแฟ เข้าเน็ตดูความเคลื่อนไหวในเวปบอร์ด เสร็จแล้วเอาเข็มสักมาล้างมาแต่งใหม่ เพราะใช้มา
หลายครั้งแล้วเข็มเริ่มจะไม่คมแล้ว ฝนเข็มแต่งเข็มเสร็จก็ได้เวลาไหว้พระทำวัตรสวดมนต์เย็นพอดี
ทำกิจเสร็จเจริญจิตตภาวนาต่อ จนถึงเที่ยงคืน ก่อนจำวัตรเข้าเน็ตดูความเคลื่อนไหวในบอร์ดอีกครั้ง
เสร็จแล้วจึงได้จำวัตรนอนดูกายดูจิตจนหลับไป
.....รอยธรรม.....
               ได้กล่าวไว้เสมอเมื่อได้พบปะเจอะเจอได้สนทนาธรรมกับคนต่างชาติหรือคนต่างศาสนา
ว่า " ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องศรัทธาเปลี่ยนศาสนา ขอเพียงให้คุณเป็นคนดีของสังคมนั้นก็พอแล้ว "
เพราะจะพูดและแนะนำเรื่องการดำเนินชีวิต หลักการคิด การพิจารณา ทำอย่างไรชีวิตนี้จะมีความสุข
ทำอย่างไรจะให้ประสพความสำเร็จในชีวิตทั้งทางธุรกิจ หน้าที่การงานและครอบครัว เพียงให้เขานำ
ไปประพฤติปฏิบัติ กล่าวธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยที่เขาไม่รู้ว่าเรากล่าวธรรมของพุทธศาสนา
ไม่อ้างบาลีหรือพระไตรปิฏก เพื่อลดช่องว่างระหว่างศาสนาที่ศรัทธานั้นแตกต่างกัน ลดความกดดัน
นำธรรมมาประยุกค์ใช้ให้เหมาะสมกับ จังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคล โดยเน้นที่เหตุและผล
ที่สามารถอธิบายหาข้อสรุปได้ สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติตามได้โดยไม่ขัดกับศรัทธาศาสนาที่เขานับถือ
นี่คือแนวทางการเผยแผ่ธรรมะ " ที่ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ " ทำให้ได้รู้จักและคบหากับญาติโยมมากมาย
หลายชาติหลายศาสนา ทั้งคริสต์ อิสลาม ซิกส์ ฮินดู นั่งคุยร่วมวงกันได้โดยไม่มีปัญหา เพราะว่าเราไม่ได้
เอาศาสนามาเป็นตัวแบ่งแยกกัน เอาความเป็นจริงตามธรรมชาติ เอาเหตุและผล มาพูดคุยกัน เราก็จะอยู่ร่วมกัน
โดยสันติสุข " ทำตัวสบายๆเรียบง่าย แต่ไม่มักง่าย และไม่ผิดธรรมวินัยจนเสียสมณะรูป " ไม่เคร่งจนเกร็งเกินไป
เพราะมันจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างพระกับโยม ไม่เกิดความคุ้นเคยสนิทสนมกัน ไม่สร้างภาพเพื่อให้เขาศรัทธา
อยู่กับความเป็นจริง ตัวตนที่แท้จริงของเรา ใครจะเชื่อใครจะศรัทธาหรือไม่ศรัทธา มันเป็นเรื่องของเขาไม่ไปกังวล
เรารู้ในสิ่งที่เราคิด เรารู้ในสิ่งที่เราทำและรู้ถึงผลของการกระทำ มันก็จะทำให้เราไม่ทุกข์ เพราะถ้าเรานั้นสร้างภาพ
ให้ดูว่าเป็นผู้มีจริยวัตรที่งดงามเพื่อให้ญาติโยมศรัทธา มันก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน วันหนึ่งตัวตนที่แท้จริงมันเปิดเผยออกมา
ศรัทธาทั้งหลายก็จะหมดไป เพราะสิ่งที่ซ่อนไว้นั้นได้ถูกเปิดเผย จงเป็นตัวของของเอง ความเสมอต้นเสมอปลายใน
การใช้ชีวิต ในการประพฤติปฏิบัติ "กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คน ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน " นั่นคือสิ่งที่ควรกระทำ...
.....รอยกวี.....
                        วิถี  แห่งชีวิต      เราลิขิต  เพื่อก้าวเดิน
                    ไปสู่ ความเจริญ       และเพลิดเพลิน ในทางธรรม
                   ทุกทาง ที่ย่างก้าว     เก็บเรื่องราว  มากล่าวนำ
                   สิ่งคิด และสิ่งทำ       ได้จดจำ   บันทึกมา
                   เพื่อให้ เป็นข้อคิด      เพื่อเตือนจิต เพิ่มปัญญา
                   เรียนรู้  และศึกษา      เพื่อนำมา  ปรับใช้กัน
                   แนวทาง ของชีวิต      เพื่อความคิด ที่ใฝ่ฝัน
                   ก้าวเดิน ไปด้วยกัน     เพื่อสร้างสรรค์ สู่ทางดี
                        ชีวิต  ลิขิตได้      มีมากมาย  หลายวิธี
                   เอาธรรม  มานำชี้      ขอให้มี    ใจใฝ่ธรรม
                   อย่าให้  อกุศล         อัปมงคล  มาครอบงำ
                   ทำจิต   ให้ตกต่ำ      จงเอาธรรม มานำทาง
                   เอาธรรม นำความคิด  เพื่อให้จิต นั้นสว่าง
                   รู้ลด  และละวาง       ให้จิตห่าง จากอบาย
                   พอดี และพอเพียง    ในการเลี้ยง ใจและกาย
                   ใจสุข กายสบาย       นิมิตหมาย  ที่ดีงาม
                 ทางธรรม ทำไม่ยาก     ถ้าเราหาก  จะทำตาม
                 ความเพียร พยายาม    และทำตาม ที่รู้มา
                 ปรับจิต คิดแบบใหม่    เริ่มที่ใจ  ปรารถนา
                   สติ  เป็นสัมมา        ภาวนา  สงบใจ
                 เมื่อใจ  สงบนิ่ง          จะเห็นสิ่ง ควรแก้ไข
                 เห็นทาง  ที่จะไป       เพราะเห็นใน สัจจธรรม...
                        .......................................
                        ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๔๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย         
                       

184


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                    ตื่นนอนตอนตีสามกว่าๆ นั่งสมาธิเจริญจิตตภาวนา อธิษฐานจิต แผ่เมตตา
จนถึงตีห้ากว่าๆจึงได้เขียนบันทึก เสร็จแล้วลงมาฉันอาหารเช้า เตรียมตัวออกเดินทางกลับ
มีญาติโยมมาคุยธุระขอคำแนะนำ คุยกับโยมจนถึงเวลา ๐๘.๓๕ น.จึงได้ออกเดินทางกลับ
ใช้เส้นทางสาย 331 ออกจากศรีราชา วิ่งมาจนถึงเขตกบิณฯเปลี่ยนทางเข้าไปทางสระแก้ว
ใช้เส้นทางผ่าน อ.ตาพระยา อ.โนนดินแดง มาออกที่ อ.ประโคนชัย วิ่งรถต่อเข้า จ.สุรินทร์
อ.จอมพระ อ.ท่าตูม มาออกที่ อ.สุวรรณภูมิ วิ่งรถต่อเข้า จ.ยโสธร แยกไปมุกดาหารที่สี่แยก
ตับเต่า วิ่งผ่าน อ.ทรายมูล อ.กุดชุม อ.ไทยเจริญ ออกถนนชยางกูลที่ อ.เลิงนกทา วิ่งผ่าน
อ.นิคมคำสร้อย เข้า จ.มุกดาหาร ถึงวัดทุ่งเว้าเวลา ๑๙.๓๐ น. ใช้เวลาในการเดินทาง ๑๑ ช.ม.
การเดินทางผ่านไปโดยสวัสดิภาพ ไม่เจอฝนหรือน้ำท่วม เพราะใช้เส้นทางที่เลิี่ยงจุดที่น้ำท่วม
อ้อมสักนิดแต่ไปได้สะดวกไม่ติดขัด ถึงวัดแล้วช่วยกันขนสิ่งของสัมภาระที่บรรทุกมาเข้าโรงเก็บ
จัดของให้เข้าที่เสร็จจึงสรงน้ำ ร่างกายอ่อนเพลียมากเพราะนั่งรถมาเกือบทั้งวัน จึงได้นอนพัก
พิจารณาร่างการปรับธาตุ ปลุกธาตุ เผลอหลับไปตอนไหนก็ไม่รู้ มารู้สึกตัวอีกครั้งตอนตีสามกว่าๆ
เพราะว่าอากาศหนาวและไม่ได้ห่มผ้านอน...
.....รอยธรรม.....
                        ขณะที่ใช้ชีวิตเดินทางอยู่บนท้องถนนนั้น ต้องมีสติและสัมปชัญญะเป็นอย่างมาก
ต้องควบคุมอารมณ์ความรู้สึกให้มากที่สุด ต้องพยายามมองโลกในแง่ดีให้มากที่สุด เพื่อรักษาอารมณ์
ความรู้สึกของเราให้เป็นกุศลจิตอยู่ตลอดเวลา และต้องเป็นผู้ไม่ประมาทขาดสติ อุบัติเหตุก็จะไม่เกิดขึ้น
เขาจะแซงซ้าย แซงขวา เลี้ยวปาดหน้า เราก็คิดว่าเขามีธุระด่วนต้องรีบไป เมียจะเกิด พ่อจะตาย แม่ยายป่วย
ปวดท้องอยากจะถ่าย จึงทำให้เขาต้องรีบไป คิดอย่างนี้เราก็จะสะบายใจและมองว่ามันเป็นเรื่องตลก เฮอา
ไม่ไปเสียความรู้สึก เสียอารมณ์กับพฤติกรรมของพวกเขาเหล่านั้น เราไปของเราเรื่อยๆ ช้าแต่ชัวร์ถึงจุดหมาย
แน่นอน มันไม่ได้หนีเราไปไหน จะถึงจุดหมายช้าหรือเร็วมันก็มีผลเท่ากัน ทำให้การเดินทางนั้นไม่กดดันให้เกิด
ความเครียด ไปแบบสบายๆชมนกชมไม้ ดูวิถีชีวิตของผู้คนสองข้างทางไปเรื่อยๆ เราจะได้มุมมองใหม่ๆ เกิดไอเดีย
ใหม่ๆขึ้นมาเสมอ การค้าของริมถนนตามชุมชนต่างๆ การจัดร้านจัดสวน ชื่อของสถานที่ ร้านค้าต่างๆ ร)ทรงของบ้าน
และสิ่งก่อสร้างต่างๆสองข้างทาง ซึ่งถ้าเรานั้นได้เก็บรายละเอียดบันทึกไว้ในความทรงจำ เราก็สามารถที่จะนำมาเป็น
ข้อมูลประยุกค์ใช้ได้ตลอดเวลา เป็นภูมิปัญญา เพิ่มโลกทัศน์และชีวทัศน์ให้แก่ตัวเรา ทำให้เรานั้นมีวิศัยทัศน์ที่กว้างขึ้น
บางครั้งยังรู้สึกเสียดายแทนผู้เดินทางทั้งหลาย ที่เขาไม่ได้เก็บเกี่ยวอะไรในการเดินทางนั้นเลย เพราะเขาคิดแต่เพียง
จะไปให้ถึงจุดหมายเท่านั้น ให้ความสำคัญแต่ที่ปลายทาง ลืมเก็บเกี่ยวทุกอย่างที่ได้ผ่านมา ทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่า
ประโยชน์ในการเดินทาง ดั่งที่ได้กล่าวไว้ " เพียงแต่คุณเปลี่ยนมุมมองและความคิด ชีวิตของคุณก็จะเปลี่ยนแปลงไป "
ซึ่งเป็นไปได้ทั้งทางดีและทางร้าย มันอยู่ที่ใจของคุณว่าจะมองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้าย ทุกอย่างมันขึ้นอยู่ที่ใจของคุณ....
.....รอยกวี.....
                         ถนน....
                         คือเส้นทางที่นำไปสู่จุดหมาย
                         มีอยู่มากมายหลายเส้นทาง
                         ให้คุณเลือกใช้ในการเดินทาง
                         มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือก
                         ว่าคุณจะใช้เส้นทางไหนในการเดินทาง
                         เพราะทุกอย่างนั้นมันขึ้นอยู่กับใจคุณ
                         ถนน...
                         แต่ละสายนั้นแตกต่างกัน
                         ตรงบ้างโค้งบ้างกว้างบ้างแคบบ้าง
                         สภาพสองข้างทางนั้นแตกต่างกัน
                         อยู่ที่เรานั้นจะเก็บเกี่ยวเรื่องราว
                         นำมาบอกเล่าเป็นตำนานของการเดินทาง
                         ทุกก้าวย่างอย่าให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์
                         ถนน....
                         คือเส้นทางแห่งชีวิต
                         ที่คุณลิขิตชีวิตให้ก้าวเดิน
                         ซึ่งคุณนั้นสามารถจะเลือกเดินได้
                         อย่าให้ผู้อื่นมากำหนดอนาคตของคุณ
                         อย่าเอาชีวิตไปผูกติดกับความคิดของผู้อื่น
                         จงมีความศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวของคุณเอง.....
                               ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๓๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

                    

 

185


มณีรินทร์ ศรีราชา ชลบุรี
  ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                    ฝนตกหนักตื่นตั้งแต่ตีสามกว่าๆ ทำกิจวัตรส่วนตัวเสร็จแล้วนั่งสมาธิภาวนา
จนเวลาประมาณตีห้ากว่าๆจึงเขียนบันทึกบทความบทกวี เสร็จแล้วจึงลงไปฉันภัตราหารเช้า
นั่งดูข่า่วทีวี น้ำยังท่วมหนักเดินทางกลับไม่ได้ รู้สึกสงสารคนขับรถที่อยากกลับบ้านเต็มที่แล้ว
เพราะคิดถึงลูกเมีย  โยมที่กรุงเทพฯรู้ว่ายังไม่กลับจึงโทรฯมานิมนต์ให้ไปฉันเพลที่ดอนเมือง
เปิดเข็มลงน้ำมันและช่วยสงเคราะห์รักษา อยู่ที่ดอนเมืองจนถึงเวลา ๑๕.๔๐ น. จึงเดินทางต่อ
แวะไปเยี่ยมสมาชิกของเวปบอร์ดวัดบางพระ ที่เปิดร้านกาแฟสด " รำมะนาคาเฟ่ ศิษย์หลวงโด่ง "
ที่ซอยนวลจันทร์ เกษตร-นวมินทร์ นั่งคุยสนทนาฉันกาแฟกันจนถึงเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น.
จึงได้เดินทางกลับศรีราชา ถึงที่พักเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. นั่งคุยสนทนากันต่อกับโยมเพื่อน
เจ้าของบ้าน จนถึงเวลาประมาณ ๒๓.๔๕ น.จึงได้แยกย้ายกันไปพักผ่อน เข้าที่พักเปิดดูข้อมูล
ความเคลื่อนไหวในเวปบอร์ด เสร็จแล้วจึงสรงน้ำเพื่อปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา จำวัตรเวลา ๐๑.๔๕ น.
.....รอยธรรม.....
                   " เพียงคุณเปลี่ยนมุมมองและความคิด ชีวิตคุณก็จะเปลี่ยน " คือคำที่เน้นย้ำอยู่เสมอ
เมื่อมีการสนทนาธรรม การมองโลกในแง่ดีจะทำให้ชีวิตของเรานั้น ลดความกดดันและความเครียดได้
ใจจะไม่กังวล เพราะรู้และเข้าใจว่าสิ่งทั้งหลาย " มันเป็นเช่นนั้นเอง " มันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เรา
ไม่สามารถที่จะไปกำหนดมันได้ ให้มันเป็นไปตามความพึงพอใจของเรา และเมื่อเราได้พิจารณาจิตของเรา
ว่าทำไมมันจึงอยากให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้ พิจารณาความอยากความต้องการของเราโดยเหตุและปัจจัย
ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้ความอยากความต้องการของเรานั้นได้รับการตอบสนอง ความอยากความต้องการ
ของเรานั้น ว่ามันเป็นความสุขหรือความทุกข์ และเมื่อเราได้มาดููจิต ความคิดของเราก็จะเปลี่ยน ได้เห็นและเข้าใจ
ในสิ่งที่เป็นไปได้และในสิ่งที่น่าจะเป็น แยกแยะปัญหาออกมาให้ละเอียด แก้ไขปัญหาใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส
ทำในสิ่งที่สามารถจะทำได้ในทันที ทำในสิ่งที่มีความพร้อมด้วยเหตุและปัจจัย แก้ไขจากสิ่งที่ง่ายไปสู่สิ่งที่ยาก
เพื่อเพิ่มกำลังความศรัทธาในตนเองให้มีกำลังยิ่งขึ้น เป็นการฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์และฝึกทำ จากสิ่งที่ง่ายไปสู่สิ่งที่ยาก
จนเกิดความชำนาญในการแก้ไขปัญหา " อย่าไปมองภาพรวมทั้งหมด มันจะกดดันตัวเราเองมากขึ้น " แยกแยะปัญหา
ออกมาให้ละเอียด เพื่อลดความเครียดและความกดดันต่อตนเอง แก้ไขและทำในสิ่งที่มันง่าย ที่สามารถจะทำได้ในทันที
ปัญหาที่มีก็จะเบาบางและลดลง " ดูกาย ดูจิต ดูความคิด แล้วนำไปกระทำ " ทำจากน้อยไปหามาก ลดความอยากความต้องการ
ให้น้อยลง มันก็จะส่งผลให้มีสุขภาพจิตและความคิดที่ดี เมื่อจิตดีย่อมส่งผลให้การเด่น ความคิดโลดแล่น เพราะความกดดันนั้น
ลดลง ส่งผลให้รู้และเข้าใจในสิ่งที่คิดและสิ่งที่จะกระทำ เป็นการฝึกสติและสัมปชัญญะปฏิบัติธรรมโดยที่เราไม่รู้ตัวว่าเราได้ปฏิบัติธรรมอยู่
 " อย่าไปยึดติดกับรูปแบบ นิยามความหมาย จนมากเกินไป เพราะจะทำให้คิดว่าการปฏิบัติธรรมนั้นทำได้ยาก เป็นเรื่องใหญ่ ยากเกินไป
เป็นเรื่องของคนที่มีเวลาว่าง ไม่มีภาระหน้าที่ มีวาสนาบารมี จึงจะทำได้ " ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องง่าย ที่สามารถจะทำได้ตลอดเวลา
เพราะเป็นเรื่องของการมีสติและสัมปชัญญะ การยอมรับในสิ่งที่เป็นจริงทั้งหลาย ความพึงพอใจในสิ่งที่ควรได้และในสิ่งควรจะที่เป็น
การกระทำเช่นนี้คือการปฏิบัติธรรม...
.....รอยกวี....
                      เมื่อใจทุกข์    จงมอง    ประคองจิต
                      ดูความคิด      ดูจิต      ที่เศร้าหมอง
                      จงพินิจ        ใคร่ครวญ  และตริตรอง
                      และเฝ้ามอง   ให้เห็น    ความเป็นจริง
                                       สรรพสิ่ง   ล้วนตั้ง    อยู่ในหลัก
                               พระไตรลักษณ์    คือหลัก  สรรพสิ่ง
                               พระไตรลักษณ์    คือหลัก  แห่งความจริง
                                      สรรพสิ่ง ไม่เที่ยงแท้  และแน่นอน
                      มีเกิดขึ้น   ตั้งอยู่   แล้วก็ดับ
                    เปลี่ยนสลับ  กันไป  เป็นคำสอน
                    อนิจจัง  ไม่เที่ยงแท้  และแน่นอน
               ทุกข์รานรอน  เพราะใจ    ไปยึดมัน
                                      ไม่ยอมลด   ยอมละ  ซึ่งความอยาก
                                       ต้องการมาก   ยึดติด ไม่แปรผัน
                                     ไม่อยากสูญ ไม่อยากเสีย อยากได้มัน
                                      ทุกสิ่งนั้น    ล้วนเป็น    อนัตตา
                    นี่เป็นกฏ    ธรรมชาติ     พระไตรลักษณ์
                    นี่คือหลัก   ของพุทธะ        ศาสนา
                    อนิจจัง      ทุกขัง            อนัตตา
                    ใช้ปัญญา   มองให้เห็น    ความเป็นจริง
                                       เข้าใจโลก   ก็เห็นธรรม   เมื่อนำคิด
                                       ทำให้จิต      นั้นสงบ      และหยุดนิ่ง
                                       เพราะได้รู้     ได้เห็น      ความเป็นจริง
                                       สรรพสิ่ง        มันเป็น      เช่นนั้นเอง....
                                          ......................................
                                          ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๒๔ น. ณ หมู่บ้านมณีรินทร์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
                   


186
ทีมงานที่เดินทางไปดูสถานที่ ที่ริมเขื่อนสียัด


หมู่บ้านมณีรินทร์ ศรีราชา
   ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                     ตื่นตามเวลาปกติ ทำภาระกิจส่วนตัวเสร็จแล้ว กลับมานั่งสมาธิเจริญจิตตภาวนา
จนสมควรแก่เวลา จึงได้เขียนบันทึก รอยทางและรอยธรรม เพราะมีกิจนิมนต์ที่รับไว้หลายรายการ
เขียนบันทึกเสร็จ ลงมาฉันข้าวเพื่อเตรียมตัวออกเดินทาง โยมเปิดทีวีให้ดูข่าวเรื่องน้ำท่วมเส้นทาง
ที่จะกลับไปภาคอีสานนั้น ปรากฏว่าน้ำท่วมทุกเส้นทาง รถเล็กไม่สามารถที่จะไปได้เพราะน้ำท่วมสูง
เวลาประมาณ ๐๗.๔๕ น. โยมมารับเพื่อไปดูเรื่องที่ดิน ไปประเมินราคาที่ดินเพื่อหาความเหมาะสม
สำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย พิจารณาเรื่องการพัฒนาที่ดินให้มีมูลค่าเพิ่ม กำหนดวางผังวางแปลนดูทิศทาง
ที่จะทำให้โครงการนั้นสำเร็จไปได้ด้วยดี ไปดูเรื่องที่ทั้งหมด ๔ โครงการ เสร็จเรื่องโครงการหมู่บ้าน
จัดสรรค์แล้ว โยมนิมนต์ให้ไปดูสถานที่ ที่จะใช้ทำสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่ริมเขื่อนสียัด อ.ท่าตะเกียบ
จ.ฉะเชิงเทรา แวะฉันเพลที่ร้าน " ครัวพักรถ " ข้างวัดสุวรรณคีรี ที่ อ.แปลงยาว ก่อนที่จะตัดเข้าไป
ทางลัดที่จะไปอ.ท่าตะเกียบ ถึงเขื่อนสียัดประมาณเที่ยงกว่าๆ ผู้พันฯหัวหน้าทหารพรานมารอต้อนรับ
ไปแวะพักที่กองร้อยทหารพรานเพื่อฉันน้ำ ฉันกาแฟ เข้าห้องน้ำ เสร็จแล้วจึงออกไปตะเวณดูสถานที่
รอบอ่างเก็บน้ำ เพื่อหามุมที่เหมาะสม ที่จะสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ผู้พันและช่างกรมชลนำไปดู
หลายแห่งเพื่อให้เราเลือกดู ไปสะดุดตาอยู่ที่หนึ่งซึ่งอยู่ติดกับชายน้ำ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรีสอร์ทสียัด
เนื้อที่ประมาณ ๑๐ไร่ ด้านหลังเป็นภูเขา ด้านหน้าติดน้ำมองเห็นเป็นมุมกว้างไม่มีอะไรมาบดบังทัศนวิสัย
ริมน้ำด้านหน้ามีบัวขึ้นอยู่มากมายเป็นป่าบัวกลางน้ำ เป็นไร่มันสำปะหลัง ไม่มีต้นไม้ใหญ่ ซึ่งพิจารณาแล้ว
เหมาะที่จะสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม สร้างเป็นศุนย์วิปัสสนากรรมฐาน เสร็จจากการดูสถานที่แล้วแวะเยี่ยม
บ้านลูกศิษย์ในตัว อ.ท่าตะเกียบ เดินทางออกจาก อ.ท่าตะเกียบ เวลา ๑๕.๔๕ น.เพื่อจะเช็ดเวลาเดินทาง
ท่าตะเกียบ-ศรีราชา และ ท่าตะเกียบ-กรุงเทพฯ ให้โยมตั้งเข็มไมล์วัดระยะทางทั้งสองชุด คือคณะที่มาจาก
กรุงเทพฯและคณะที่มาจากศรีราชา ปรากฏว่ามีระยะทางประมาณ ๑๕๐ ก.ม.และใช้เวลาเดินทางชั่วโมงกว่าๆ
ไม่ถึงสองชั่วโมง ทั้งไปกรุงเทพฯและไปศรีราชา กลับถงที่พักที่ศรีราชามานั่งคุยสรุปและวางแผนดำเนินการ
แบ่งหน้าที่ให้ญาติโยมไปดำเนินการ นั่งสนทนากันจนถึงประมาณสี่ทุ่มกว่าๆ ญาติโยมจึงแยกย้ายกันลากลับ
ตลอดทั้งวันมีญาติโยมลูกศิษย์โทรมาแจ้งข่าวเรื่องน้ำท่วมเส้นทางกลับภาคอีสานไม่ได้ มีสายเดียวที่พอจะไปได้
คือต้องวิ่งไปสายลพบุรี ไปเพชรบูรณ์ ขึ้นเขาพังเหย ผ่าน อ.ภักดีชุมพล ชัยภูมิ ขอนแก่น จึงจะกลับไปมุกดาหารได้
จึงตัดสินใจรอฟังผลอีกสักระยะว่าน้ำจะลดเมื่อไหร่และจะใช้เส้นทางไหนกลับมุกดาหารในตอนสายๆของวันนี้อีกครั้ง
.....รอยธรรม....
                         พระช่วยโยม โยมช่วยพระ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โยมมีรายได้มีฐานะที่มั่นคง โยมก็มีกำลังที่
จะช่วยพระ เพราะว่าศรัทธานั้นมีอยู่แล้วในทุกผู้คน แต่บางครั้งยังติดขัดด้วยเหตุและปัจจัย จึงต้องสงเคราะห์อนุเคราะห์
ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามกำลังความรู้ความสามารถ ตามเหตุและปัจจัยที่พอจะช่วยเหลือกันได้ แต่สิ่งนั้นต้องไม่ขัด
ต่อพระธรรมวินัย เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศล เป็นมงคลต่อชีวิตและไม่ผิดศีลธรรมประเพณีที่ดีงาม อยู่ในความพอดี
และพอเพียง ในสิ่งที่ควรจะได้และในสิ่งที่ควรจะเป็น การเผยแผ่ธรรมะที่จะให้ได้ผลนั้น อันดับแรกคือทำอย่างไรเพื่อให้เขา
สนใจศรัทธาและเข้ามาหาเรา และเมื่อเขามีศรัทธาเข้ามาหาเราแล้ว ทำอย่างไรเพื่อจะรักษาศรัทธานั้นให้มั่นคงและจะต่อยอด
ศรัทธานั้นอย่างไรให้เกิดความเจริญในธรรมแก่เขา เพื่อให้เขารู้และเข้าใจในธรรมะและพัฒนาจากความศรัทธามาสู่การปฏิบัติ
การเลือกเฟ้นธรรมที่เหมาะสมให้แก่เขา เพื่อให้เขานำไปประพฤติปฏิบัติโดยไม่ขัดกับวิถีชีวิตของเขา จึงเป็นหน้าที่ของพระเรา
ที่ต้องค้นหาและกระทำ อย่าเพียงมุ่งหวังเอกลาภหากินกับศรัทธาของญาติโยมเพียงอย่างเดียว จงส่งเสริมแนะนำเขาให้มีความ
ก้าวหน้าเจริญในธรรม อย่าได้ไปหวงแหนยึดติดในลูกศิษย์คิดกลัวว่าเขาจะจากเราไป ไปศรัทธาที่ใหม่ ครูบาอาจารย์ท่านใหม่
ซึ่งพระเรานั้นต้องทำใจให้เปิดกว้าง อย่าหวงลูกศิษย์ จงส่งเสริมแนะนำเขาให้เขาได้มีตัวเลือกตามกำลังศรัทธาและจริตของเขา
เพื่อให้เขานั้นได้พบกับความเจริญก้าวหน้าในธรรม ส่งเสริมแนะนำสถานที่และครูบาอาจารย์ให้เขาได้ไปศึกษาปฏิบัติ ให้เขาได้
ศึกษาข้อวัตรการปฏิบัติตามสำนักและครูบาอาจารย์ต่างๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์และชีวทัศน์ของเขาให้กว้าง เป็นการสร้างวิศัยทัศน์
ให้แก่เขา สอนเขาไม่ให้ยึดติดในตัวบุคคล ให้เชื่อมั่นศรัทธาในพระธรรมคำสอนที่เป็นของพระพุทธเจ้า ที่มีผู้นำมากล่าวธรรม
เพื่อให้เขาได้มีความเจริญก้าวหน้าในธรรม "ไม่มีทานใด ยิ่งใหญ่ไปกว่า ธรรมทาน "
.....รอยกวี.....
                   เดินทาง  ไปทั่วถิ่น       ทุกแผ่นดิน  ของเมืองไทย
                   ผ่านไป   ก็สร้างไป       จารึกไว้     ในแผ่นดิน
                  ไม่หวัง     จะดังเด่น      อย่างเฉกเช่น ที่ได้ยิน
                  เหมือนนก ชอบโบยบิน   ไม่ติดถิ่น   ที่ถาวร
                  รอยทาง  ที่ย่างผ่าน       เป็นตำนาน  อุทาหรณ์
                 เป็นเพียง  คนสัญจร        หยุดพักนอน ตื่นแล้วไป
                 หลายร้อย สายวารี          หลายนที  ที่รินใหล
                 ร้อยป่า   ร้อยพงไพร       ก้าวเดินไป สร้างรอยธรรม
                  เอาธรรม  นั้นนำทาง       ทุกก้าวย่าง ทุกเช้าค่ำ
                 กล่าวถ้อย แสดงธรรม       เพื่อให้นำ  ไปทำตาม
                 แนะนำ  และส่งเสริม        ช่วยต่อเติม ตอบคำถาม
                 ให้ธรรม นั้นงดงาม           ผู้เดินตาม  ไม่หลงทาง
                 ทางเดิน ของชีวิต            ได้ลิขิต     เป็นแบบอย่าง
                 สอนให้  ใจละวาง           ให้ออกห่าง จากอบาย
                 ทำจิต    เป็นกุศล            เป็นมงคล  ไม่ขาดหาย
                 ใจสุข    กายสบาย          จุดมุ่งหมาย ในทางธรรม
                 ก้าวเดิน  อย่างมั่นคง        ไม่มัวหลง   เพราะเตือนย้ำ
                 ความคิด สิ่งที่ทำ             โดยน้อมนำ ธรรมคุ้มครอง
                 สติ  รักษาจิต                 ไม่พลาดผิด จิตเศร้าหมอง
                 ใคร่ครวญ และไตร่ตรอง     สิ่งถูกต้อง  มี่ควรทำ....
                          ........................................
                         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๓๘ น. ณ หมู่บ้านมณีรินทร์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี            


187


มุมหนึ่งของ อ.ศรีราชา
 ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   พักจำวัตรที่บ้านโยมซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น ตื่นสายกว่าปกติเล็กน้อย
เพราะร่างกายอ่อนเพลีย จากการนั่งรถมาทั้งวันและเข้าจำวัตรดึกไปหน่อย คือตื่นเวลาประมาณ ๐๔.๓๐ น.
ทำภาระกิจส่วนตัวเสร็จแล้ว นั่งสมาธิ อธิษฐานจิต แผ่เมตตา จนสมควรแก่เวลา จึงได้เขียนบันทึกประจำวัน
เสร็จแล้วลงไปฉันภัตราหารเช้า ที่มีญาติโยมเอามาถวาย ฉันข้าวเสร็จ จึงเข้าไปที่วัดนามะพร้าม เพื่อร่วมพิธี
ทำบุญครบรอบมรณะภาพ ๑ ปี ของหลวงพ่อเฉลิม ปิยนนฺโท ได้ประชุมปรึกษาหารือกันเรื่องงานฌาปนกิจศพ
ของหลวงพ่อท่าน กับลูกหลานของหลวงพ่อเฉลิม ปิยนนฺโท ซึ่งมีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า จะเลื่อนไป
เป็นต้นปี ๒๕๕๕ เพื่อให้ทุกคนได้มีเวลาเตรียมตัว ้ตรียมปััจจัยที่จะใช้ในงานฌาปนกิจศพให้ท่าน ให้สมฐานะ
ออกจากวัดนามะพร้าวประมาณใกล้เที่ยง กลับมาที่บ้านของโยมเพื่อนกันเพราะมีญาติโยมมารออยู่หลายท่าน
เพื่อจะลงน้ำมันและทำพิธีต่างๆให้ ชุดแรกเสร็จไปประมาณเที่ยง ชุดต่อมาเป็นรุ่นพี่ เพื่อน ที่สนิทกัน ซึ่งนัดมา
เจอกัน เพื่อพูดคุยหาแนวทางและสรุปกันในเรื่องการทำธุรกิจ โดยมีเราเป็นคนกลาง เป็นคนประสานให้ได้เจอกัน
คุยกันเรื่องงานจนได้ข้อสรุป จึงได้แยกย้ายลากลับกัน ให้คนขับรถวัดเข้ากรุงเทพฯไปเอาสีทาวัดที่โยมได้ถวายให้
โดยเอารถของโยมที่ศรีราชาไปบรรทุกแทนไอ้แก่ช้างเหยียบ นั่งต้อนรับและทำพิธีให้ญาติโยมตั้งแต่เที่ยงวันจนถึง
เที่ยงคืน จึงได้พัก สรงน้ำ นั่งสมาธิปลุกธาตุ ปรับธาตุและเข้าจำวัตรพักผ่อนตอนประมาณ ตีหนึ่งกว่าๆ
.....รอยธรรม.....
                       เอาหลักของธรรมทั้งหลายมาประยุกค์ใช้ในการทำงาน เข้าใจหลักการเรื่องความพอดีและพอเพียง
ไม่เสี่ยงเกินไปในการลงทุน ให้มีเงินหมุนได้ตลอด เพื่อลดภาระไม่ให้เกิดความกดดัน แบ่งปันผลประโยชน์กำไรให้ลงตัว
ประสานกันในหมู่คณะให้ได้มีส่วนร่วมกัน ช่วยกันผลักดันให้ทุกคนมีรายได้และผลกำไรในสิ่งที่ทำ โดยมีหลักธรรมเป็นตัว
นำประสานในกิจการงานทั้งปวง สิ่งนั้นคือแนวทางในการทำงานร่วมกันของหมู่คณะ ที่ได้มาพบปะพุดคุยแลกเปลี่ยนกัน
มิตรภาพ ความจริงใจ ความเข้าใจกัน สิ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญกว่าเรื่องผลประโยชน์ จึงทำให้คบหาและร่วมงานกันมาเป็นเวลา
อันยาวนานและจะยั่งยืนกันต่อไป ถ้าทุกคนมีใจให้แก่กัน เป็นสิ่งที่ทำเพื่อรวบรวมประสานเพื่อนพ้องน้องพี่ให้ได้มาพบปะ
ร่วมงานกัน เพื่อให้มีกำลังที่จะช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เสริมสร้างศรัทธาในบุญกุศลให้แก่เขาเหล่านั้น เป็นการ
เผยแผ่ธรรมในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่มีรูปแบบ แต่มีสาระ ได้ทั้งในทางโลกและทางธรรม....
.....รอยกวี......
                          ศรัทธา  เป็นที่ตั้ง        คือพลัง  ของทุกสิ่ง
                       เรียนรู้   จากความจริง      จากทุกสิ่ง  ที่ได้ทำ
                      หลักการ  ของชีวิต           แนวความคิด  ที่ชี้นำ
                      สอดแทรก  ด้วยหลักธรรม  เพื่อให้นำ    ไปทำจริง
                     สอนให้    ไม่ประมาท        จะไม่พลาด   ในทุกสิ่ง
                     หยุดคิด    ให้จิตนิ่ง           เห็นความจริง  สิ่งควรทำ
                     พอดี   และพอเพียง          ไม่สุ่มเสี่ยง   อาจเพลี้ยงพล้ำ
                    ก้าวเดิน  ตามหลักธรรม       ที่ชี้นำ   เป็นแนวทาง
                    แนวทาง  สร้างชีวิต            ชี้ถูกผิด และแบบอย่าง
                    กำหนด  และจัดวาง            เป็นแนวทาง  ให้ก้าวเดิน
                    ก้าวเดิน  ไปด้วยกัน            ร่วมสร้างสรรค์ คนสรรเสริญ
                    พบสุข   ความเจริญ            จึงได้เชิญ   มาร่วมกัน
                    ร่วมกัน  เพื่อสรรค์สร้าง         เป้นแบบอย่าง  สมานฉันท์
                    ช่วยเหลือ  เอื้อเฟื้อกัน         และแบ่งปัน แก่ทุกคน
                    มากน้อย   ตามฐานะ           ตามภาระ   นั้นคือผล
                    เพื่อให้     ทุกทุกคน           นั้นหลุดพ้น  จากความจน
                    สร้างงาน   สร้างชีวิต            และสร้างจิต  เป็นกุศล
                    ก่อเกิด    สิ่่งมงคล              จึงส่งผล   ให้เจริญ...
                                ...................................
                               ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
 ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๐๒ น. ณ หมุ๋บ้านมณีรินทร์ มุมหนึ่งของอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี


188


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                  ช่วงนี้อากาศเริ่มจะเย็นลงเรื่อยๆ ตื่นนอนประมาณ ๐๓.๔๐ น.ทำกิจส่วนตัวเสร็จแล้ว
จึงได้ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ อธิษฐานจิต แผ่เมตตา ขออโหสิกรรมตามปกติที่ทำมา
สมควรแก่เวลาจึงได้วันทาลาพระ นั่งเขียนบันทึก " รอยทางและรอยธรรม " ฉันกาแฟกับขนมปัง
รองท้องในยามเช้า เพราะจะต้องลาพรรษาลงไปงานทำบุญครบรอบปีของหลวงพ่อเฉลิม ปิยนนฺโท
ที่วัดนาพร้าว อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และลงไปเอาสีที่โยมเขาได้บริจาดมาที่กรุงเทพฯด้วย ซึ่งมีจำนวน
มาก ประมาณ ๒๕ ถังใหญ่ ซึ่งตอนแรกได้ไปติดต่อที่บริษัทรับส่งของ เขาคิดค่าส่งถังละ ๒๐๐ บาท
รวมแล้ว ๕,๐๐๐ บาท และเพราะว่าเราต้องเอารถลงมางานที่ชลบุรีอยู่แล้ว จึงตัดสินใจที่จะมาขนไปเอง
เอารถกะบะนิสสันช้างเหยียบ(ไอ้แก่คู่ใจ)ซึ่งไปติดตั้งถังแก๊สมาแล้ว ลงมาแทนรถตู้ เพราะบรรทุกหนักได้
และประหยัดค่าใช้จ่าย ไป-กลับ มุกดาหาร-กรุงเทพฯ ค่าแก๊สไม่ถึงสองพัน เดินทางออกจากวัดทุ่งเว้า
ตอนเวลา ๐๙.๔๕ น. มาแวะฉันข้าวที่อำเภอกุดชุม เปลี่ยนเส้นทางใหม่ ใช้เส้นทางสาย อ.สุวรรณภูมิ
ไป จ.สุรินทร์ ผ่าน อ.นางรอง อ.หนองกี่ ไปขึ้นเขาปักธงชัย ไปทาง อ.พนมสารคาม วิ่งไปทางแหลมฉบัง
แยกเข้าศรีราชา ฝนตกมาตั้งแต่เข้าเขต อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ตกมาตลอดทาง จนถึง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ทำให้ต้องขับมาช้าๆทำความเร็วไม่ได้ มาถึง อ.ศรีราชา เวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น. ใช้เวลาเดืินทางเกือบ
๑๒ ชั่วโมง เพราะว่าฝนตกมาตลอดทาง มีญาติโยมมารออยู่แล้วที่ศรีราชา นั่งคุยธุระกับญาติโยมจนถึง
เวลาประมาณเกือบตีหนึ่ง ญาติโยมจึงลากลับกันหมด จึงได้เข้าจำวัตรพักผ่อน คุยธุระกันเพลินจนลืมดูเวลา
ก่อนจำวัตรได้เข้าเน็ต เพื่อตอบปัญหาข้อสงสัยที่มีญาติโยมฝากข้อความคำถามไว้  เสร็จประมาณตีหนึ่งกว่าๆ
จึงได้เข้าจำวัตรพักผ่อน...
.....รอยธรรม.....
                    ในการเดินทางทุกครั้งที่เอารถส่วนตัวไปนั้น เป็นการฝึกสติที่ดีมาก เพราะต้องนั่งดูมากับคนขับ
ช่วยดูทาง บอกเส้นทาง ต้องมีสติอยู่ทุกขณะ ต้องควบคุมอารมณ์กระทบที่ต้องเจอะเจอบนถนนตลอดเส้นทาง
ต้องนั่งคุยเป็นเพื่อนคนขับ เพื่อกระตุ้นให้เขามีสติรู้ตัวอยู่เสมอ การนั่งรถในระยะทางไกลๆจึงได้ประโยชน์ต่อตัวเรา
เป็นอย่างมากเพราะได้เจริญสติไปในตัว ได้พิจารณาดูจิตของเราเมื่อมีผัสสะทั้งหลายมากระทบ ได้ใช้สติปัญญา
ในการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้คนรอบข้าง(คือคนขับ)มีอารมณ์ขุ่นมัว เมือเจอปัญหาผู้ร่วมเส้นทางไร้มารยาทบนท้องถนน
คือต้องควบคุมอารมณ์ของเราเองและควบคุมอารมณ์ของคนรอบข้างไปพร้อมกัน  เรียกว่าได้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
และทุกครั้งที่ได้สนทนาธรรมนั้น มันจะเกิดความปิติเพลิดเพลิน เกิดอาการธรรมะลื่นใหล จนทำให้ลืมนึกถึงเวลาที่ผ่านไป
เพราะในขณะที่สนทนาธรรมนั้น เราได้ทบทวนความรู้ ความจำและความเข้าใจในธรรมของเราทุกขณะ เกิดการเรียบเรียงธรรมะ
ให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อสงเคราะห์ อนุเคราะห์ซึ่งกันและกันในธรรมทั้งหลาย การที่จะสนทนาธรรมให้ได้นานๆนั้น เราต้องมีสมาธิ
ในระดับหนึ่ง คือทำให้มีอารมณืปิติในธรรม แล้วธรรมะทั้งหลายที่เรารู้ เราเข้าใจ ที่เคยได้ผ่านมา ก็จะมาปรากฏข้นในความรู้สึก
หัวข้อธรรมจะต่อเนื่อง สงเคราะห์ อนุเคราะห์ เป็นเหตุ เป็นปัจจัยรองรับและเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน ซึ่งทุกอย่างนั้นก้ต้องผ่านการฝึกฝน
คือการฝึกคิด ฝึกภาวนา ฝึกพิจารณา ฝึกสติและสัมปชัญญะ จนเกิดเป็นความเคยชินของจิต ที่เรียกว่าเป็น " วสี "มีความชำนาญมาแล้ว
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีมาตั้งแต่เิกิด แต่สิ่งเหล่านี้นั้นเกิดจากการฝึกฝน ซึ่งทุกคนสามารถที่จะทำได้ ถ้าได้ลงมือทำ ไม่ใช่เพียงแต่ศรัทธา
เพียงแต่คิด เพียงแต่ชอบ แต่ไม่ได้ลงมือกระทำ มันจึงเป็นเพีียงนามธรรม เป็นเพียงความฝันและจินตนาการ เพราะท่านนั้นยังไม่ได้ทำ
ยังไม่เป็นรุปธรรม คือสิ่งที่จับต้องได้ รับรู้ได้และเห็นผลได้ในสิ่งที่ได้ทำ และขอฝากทิ้งท้ายไว้ให้เป็นข้อคิด " คืออย่าเอาชีวิตไปยึดติด
กับผู้ใด ขอให้ศรัทธาในธรรมะที่เขากล่าว ให้มากกว่าตัวของผู้กล่าวธรรม  แล้วท่านจะไม่เสียใจ เมื่อผู้กล่าวธรรมนั้นแปรเปลี่ยนไป
จงให้ความสำคัญในธรรมของพระพุทธองค์ที่มีผู้นำมากล่าว มากกว่าตัวของผู้กล่าวธรรม จงเอาที่ธรรมะ อย่าไปเอาที่พฤติกรรม แล้วจะทำ
ให้ท่านไม่เสียใจ เสียความรู้สึก เมื่อผู้ที่กล่าวธรรมนั้นมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป " ...
.....รอยกวี.....
                     ได้พบ  ได้เห็น  หลายสิ่ง
                    เรื่องจริง  จึงมา   บอกกล่าว
                    ให้รู้     รับทราบ  เรื่องราว
                    ทุกก้าว  ที่เดิน    ผ่านมา
                               รอยเท้า  ที่ได้    ก้าวย่าง
                              รอยทาง   ทีเคย   ฟันฝ่า
                              รอยทาง แห่งความ ศรัทธา
                              ที่มา     ให้่เกิด   รอยธรรม
                                        รอยธรรม  เกิดจาก    รอยทาง
                                        ก้าวย่าง    สู่ทาง      สุขล้ำ
                                        โดยมี      หลักธรรม  ชี้นำ
                                         ให้ทำ    ในสิ่ง      ที่ควร
                                                    รอยทาง   นั้นสร้าง  รอยธรรม
                                                    บุญกรรม   ที่ดี       มีส่วน
                                                    ให้รู้       ในสิ่ง      ที่ควร
                                                    เชิญชวน  สร้างบุญ  ความดี
                 รอยทาง   ที่เคย  ย่างผ่าน
                 ตามกาล  เวลา    บ่งชี้
                 ให้รู้     ให้เห็น   ให้มี
                 สิ่งที่    ได้ทำ    ผ่านมา
                          ใคร่ครวญ  ทบทวน    นึกคิด
                           ย้อนจิต   แก้ไข       ปัญหา
                           ตามเหตุ   ปัจจัย      ที่มา
                           มองหา    ให้รู้        ตัวตน
                                       มองกาย   มองจิต   คิดใหม่
                                       มองไป     ให้ทั่ว    ทุกหน
                                       มองไป     ให้รู้       จักตน
                                       มองคน     แล้วมา   มองธรรม
                                                    เมื่อมอง   แล้วต้อง   ครวญคิืด
                                                     พินิจ      ละเอียด    ลึกล้ำ
                                                     เอาธรรม   นั้นมา     ชี้นำ
                                                      รอยธรรม  เกิดจาก  รอยทาง....
                            ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๓๐ น. ณ มุมหนึ่งของ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
                     

189


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   ฝนพรำตั้งแต่ย่ำรุ่ง จึงต้องตื่นนอนก่อนเวลาปกติ เพราะอากาศที่เริ่มจะหนาว
ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิเจริญจิตตภาวนา อธิษฐานจิต แผ่เมตตา ขออโหสิกรรม
ทำกิจวัตรเสร็จเวลาประมาณ ๐๕.๓๐ น. กวาดศาลาที่พักและลานวัด เสร็จแล้วกลับขึ้นศาลา
ฉันกาแฟกับขนมปังและผลไม้ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ควบคุมปริมาณอาหาร เพื่อให้กายนั้นโปร่ง
จัดเตรียมของที่จะเอาติดตัวลงไปกิจนิมนต์ที่ชลบุรี ตอนเย็นลงไปกวาดรอบพระธาตุเจดีย์รอบโบสถ์
เสร็จแล้วกลับข้นศาลาที่พัก ฉันกาแฟ เปิดทีวี ดูข่าวสารบ้านเมือง เพราะว่าเป็นวันครบรอบ ๓๗ ปี
ของวันที่ ๑๔ ตุลาคม วันเรียกร้องประชาธิปไตยของนิสิต นักศึกษา ประชาชน เมื่อครั้งในอดีต
ซึ่งเราได้เติบโตมาในยุคสมัยนั้น ได้เห็นและรับรู้ในเรื่องราวข่าวสาร ในยุคนั้นเขาเรียกว่ายุคแสวงหา
มีการศึกษาและเรียนรู้ในเรื่องลัทธิการเมืองแบบต่างๆ ซึ่งทำให้ได้รับการปลูกฝัง ใหรั้กความเป็นธรรม
มีจิตอาสาและจิตสำนึกต่อสังคม ทำให้สนใจและเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗
หลงติดอยู่ในวังวนแห่งโลกในจินตนาการนานสิบกว่าปี แต่เมื่อได้เข้ามาสู่ทางธรรมจึงได้รู้ว่าสิ่งที่เรานั้นเคย
แสวงหา มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าตราบใดยังมีคนมากมายยังไร้คุณธรรม ความเหลื่อมล้ำในสังคมย่อมจะมีอยู่
" สถานะการณ์สร้างวีรชน แต่ปัจเจกชนนั้นสร้างสถานะการณ์ " การเมืองในอดีตกับปัจจุบันนั้นแตกต่างกัน
เพราะพื้นฐานความคิดและจิตสำนึกที่แตกต่างกัน มันกลายเป็นธุระกิจทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องของจิตอาสา
มันเป็นการแสวงหาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน โดยแอบอ้างประชาชนมาเป็นเครื่องมือ อาศัยสถานะการณ์เพื่อเป็นฐาน
เข้าสู่เวทีการเมือง มันเป็นเรื่องของกิเลสและตัณหา ไม่ใช่จิตอาสา ไม่ใช่ทำเพื่อประชาชน...
.....รอยธรรม.....
                    การปฎิบัติธรรมที่ให้เริ่มต้นจากการให้ทานนั้น ก็๋เพื่อให้เป็นพื้นฐานในการปรับจิต ให้รู้จักคิดเสียสละ
ลดละซึ่งความเห็นแก่ตัว เพื่อให้มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟือเผื่อแผ่ มีพรหมวิหาร ๔ เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต
จิตนั้นจะอ่อนโยนลง ไม่แข็งกระด้าง เป็นการสร้างคุณธรรมให้แก่จิต แต่ก็ไม่ให้ไปยึดติดในทานนั้นจนเกินไป จนกลายเป็น
ทิฏฐิมานะและอัตตา โดยคิดว่าเราดี เราเด่นกว่าผู้อื่น " แม้นน้อยนิดด้วยปัจจัย แต่ยิ่งใหญ่ด้วยอานิสงส์ ถ้าจิตจำนงค์นั้นบริสุทธิ์ "
ไตรสิกขา ๓ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้สำหรับประชาชนทั้งหลาย จึงเริ่มต้นด้วย ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งต้องปฏิบัติให้สอดคล้องต้องกัน
เพื่อเป็นพื้นฐานให้เกิดความเจริญในธรรมที่ยิ่งขึ้นไป สู่ไตรสิกขา ๓ สำหรับบรรพชิต อันได้แก่ ศีล สมาธิและปัญญา สมถะและวิปัสสนา
ในขั้นต่อไป ทานนั้นจึงเป็นพื้นฐานให้ลดละซึ่งทิฏฐิมานะและอัตตา เพราะว่าจะได้ไม่สำคัญผิดคิดเข้าข้างตนเอง ในสิ่งที่รู้ ในสิ่งที่เห็น
และในสิ่งที่ทำ จิตที่แข็งกระด้างก่อให้เกิดทิฏฐิมานะและอัตตา ดั่งที่ได้เคยกล่าวไว้ว่า  " อย่าโอ้อวดว่าเราเก่งกว่าผู้อื่น วิเศษกว่าผู้อื่น
อย่าคืดว่าเรารู้มากกว่าผู้อื่น รู้ดีกว่าผู้อื่น จะเป็นเหตุให้ก่อเกิดมานะทิฏฐิ เกิดความถือตัวถือตน " ...."  อย่าใช้ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่ง
ของเรา ไปผูกยึดหรือผูกมัดผู้อื่น ให้ผู้อื่นต้องเป็นไปตามความต้องการของเรา ตามความอยากของเรา เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตใคร
เรามีแต่เพียงหน้าที่ ที่ต้องทำเท่านั้น ทำหน้าที่ของเรานั้นให้สมบูรณ์ เต็มกำลังความรู้ ความสามารถของเรา ผลจะเป็นเช่นไรเป็นเรื่องของ
วิบากกรรมที่เคยได้กระทำมา " ทุกอย่างจึงต้องเริ่มต้นที่เจตนาอันบริสุทธิ์...
.....รอยกวี.....
                       รอยทาง  สร้างรอยธรรม       
                       รอยที่ย่ำ    คือรอยทาง
                       รอยธรรม  คือแบบอย่าง       
                       เป็นแนวทาง ที่ก้าวนำ
                                      เรียบเรียง    มาบอกเล่า
                                     เพื่อให้เข้า   ใจในธรรม
                                     ออกจาก      ความมืดดำ
                                     จากจิตต่ำ     สู่ทางดี
                                                     หลายหลาก   มากมุมมอง
                                                     ตอบสนอง     ในทุกที่
                                                     แนวทาง       และวิธี
                                                     นั้นมากมี      ให้เดินตาม
                                                                      เดินตาม     เส้นทางธรรม
                                                                       ที่ชี้นำ       ให้ก้าวข้าม
                                                                       หุบเหว      และขวากหนาม
                                                                       พยายาม    สร้างกรรมดี
                                                                                     กรรมดี   จะส่งผล
                                                                                    เป็นมงคล  เสริมราศรี
                                                                                    จิตดี       ส่งกายดี
                                                                                    ก็จะมี     ความสุขใจ
                                                                                                สุขใจ   เพราะไร้ทุกข์
                                                                                               ได้พบสุข  ที่สดใส
                                                                                                ชีวิต    ก้าวเดินไป
                                                                                               เพราะว่าได้  เดินตามธรรม...
                             ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
 ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๕๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                 

190


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                    ช่วงนี้ยังเก็บตัวอยู่บนศาลา งดคลุกคลีกับหมู่คณะ ปฏิบัติกิจอยู่บนศาลาเป็นส่วนใหญ่
จะลงไปข้างล่างเฉพาะที่จำเป็น เช่นลงไปดูงานและสั่งงาน หรือลงไปกวาดวิหารลานวัด พระธาตุเจดีย์
เพราะช่วงนี้ใกล้จะออกพรรษา กิจวัตรการปฏิบัติของหมู่คณะบางท่านเริ่มจะหย่อน ขาดจิตสำนึกความรู้สึก
จิตอาสา ขาดจิตสาธารณะ เมื่อไม่มีใครทำเราก็ต้องทำเอง ไม่ไปเรียกร้องและร้องขอให้เขาทำให้เขาช่วย
เพราะมันเป็นเรื่องของจิตสำนึกต่อส่วนรวม ตื่นนอนและทำกิจวัตรอย่างที่เคยทำมาในภาคเช้า ตอนสายๆ
ลงไปซักผ้าจีวร สบง อังสะและเสื้อกันหนาวเพราะช่วงนี้อากาศเริ่มจะเย็นลงอีกแล้ว เสร็จจากการซักผ้าแล้ว
ลงไปนั่งดูงานการก่อสร้าง ตรวจดูความเรียบร้อยของงาน กลับขึ้นมาศาลาที่พักฉันกาแฟ อ่านหนังสือ ฟังธรรม
จนถึงประมาณ ๑๕.๐๐ น.จึงลงไปกวาดลานวัดเพราะช่วงนี้ลมแรงใบไม้ร่วงมาก กว่าจะกวาดลานวัดเสร็จก็มืด
ประมาณ ๑๙.๐๐ น. นั่งพักให้หายเหนื่อยแล้วลงไปสรงน้ำ เพื่อเตรียมตัวไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็นและปฏิบัติ
ในภาคค่ำต่อไปจนถึงประมาณเที่ยงคืน จึงได้จำวัตรพักผ่อน
.....รอยธรรม.....
                 การปฏิบัติธรรมนั้นคือการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ให้สมบูรณ์ที่สุด โดยมีสติและสัมปชัญญะ
ที่เป็นสัมมาทิฏฐิคุ้มครองอยู่ มีการระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อมและน้อมจิตให้เป็นกุศล ทั่งเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
การทำงานจึงเป็นการปฏิบัติธรรม คือทำให้เหมาะสมกับสถานะและสภาวะของตน ตามบทบาทและหน้าที่ ที่ตนนั้นมีอยู่
ปัญหาของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ การไม่รู้จักบทบาทและหน้าที่ของตนเอง สิ่งที่ตนเองนั้นควรกระทำ
มันจึงทำให้บกพร่องในบทบาทและหน้าที่ของตน เรียกว่าธรรมะไม่สัปปายะ คือเลือกธรรมมาปฏิบัติไม่เหมาะสมกับตน
เป็นฆราวาสผู้ครองเรือนแต่อยากจะปฏิบัติให้เหมือนพระ ทำให้บทบาทและหน้าที่ของการเป็นสามี ภรรยานั้นบกพร่องไป
หรือทำให้หน้าที่การงานนั้นเสียหายไป ธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสอนไว้นั้น มีหลายขั้นหลายตอน ตามความเหมาะสม
ของแต่ละบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกันทั้งในทางโลกและในทางธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข ตามกำลังของแต่ละคน
ที่สะสมอบรมมา " ธรรมะนั้นมีมากมาย ประดุจใบประดู่ลายทั้งราวป่า แต่ตถาคตมีเวลาที่จะเอามาชี้นำ เพียงกำมือเดียว "
คือความเป็น " อนัตตา " ของธรรมทั้งหลายทั้งปวง แปรเปลี่ยนไปเพื่อความเหมาะสม ตามจังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่ บุคคล
เป็นไปตามเหตุและปัจจัยในขณะนั้น อย่างเช่นไตรสิกขา ๓ สำหรับประชาชนคนทั่วไปอันได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา หรือฆราวาสธรรม ๔
ธรรมะสำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน อันได้แก่ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ซึ่งมีให้ศึกษา่มาในพระไตรปิฏก ฉะนั้นการเลือกเฟ้นธรรม
ที่จะนำมาปฏิบัติให้เหมาะสมกับสภาวะสถานะของตนนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะทำให้ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายไม่หลงประเด็น
" ไม่เป็นภัยต่อชีวิต ไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น ไม่ฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีงาม เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศล เป็นมงคลต่อชีวิตและสังคม "
นั่นคือสิ่งที่ควรจะศึกษาและนำมาปฏิบัติ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะและสถานะของตน...
.....รอยกวี.....
                            ทุกชีวิต    คิดฝัน   ถึงวันสุข
                      ไม่อยากทุกข์  ทรมาน  การใฝ่หา
                      จึงดิ้นรน       ขวนขวาย  ให้ได้มา
                     เข้าใจว่า       คือสุข      สำหรับตน
                         เพราะดิ้นรน  เรียกร้อง   แสวงหา
                     จึงนำพา      ให้จิต        คิดสับสน
                   เพราะความโลภ  ความอยาก ในใจคน
                   จึงต้องทน     ทุกข์กัน    ทุกวันคืน
                       เมื่อได้มา   ก็อยาก    จะได้อีก
                  ไม่ยอมหลีก   ทางไป     ให้ผู้อื่น
                  อยากจะดี   อยากจะเด่น อย่างยั่งยืน
                  ข่มผู้อื่น   ด้วยลาภยศ    กดข่มกัน
                      ไม่รู้จัก   ความพอดี   และพอเพียง
                  ในการเลื้ยง    ชีวิต       ที่คิดฝัน
                  จึงเบียดเบียน  แก่งแย่ง  แข่งขันกัน
                  จึงไร้วัน     ที่จะสุข      เพราะทุกข์ใจ
                     เมื่อไม่มี   ศีลธรรม    นำชีวิต
                  ก็พลาดผิด  ดวงจิต       ไม่สดใส
                  เมื่อไม่มี     คุณธรรม    ประจำใจ
                  ก็ทำให้     ออกห่าง      จากทางบุญ
                     สร้างเวรกรรม  ทำบาป   ที่หยาบช้า
                  หลงคิดว่า    บาปกรรม     ไม่นำหนุน
                  ไม่ส่งผล     อะไร         ให้เกิดคุณ
                  จึงละบุญ  มาสร้างบาป    จนเคยชิน
                      เมื่อศีลธรรม   ไม่กลับมา  น่ากลัวนัก
                  คนไร้หลัก       คุณธรรม    นิจศีล
                  จึงก่อกรรม     ทำร้าย       ทั่วแผ่นดิน
                  ไม่สุดสิ้น     ก่อกรรม       ทำร้ายกัน
                     เพราะโลกขาด   คุณธรรม  นำชีวิต
                  จึงพลาดผิด      ชีวิต      ไม่สร้างสรรค์
                  จึงวุ่นวาย       ไร้สุข       อยู่ทุกวัน
                  เพราะโลกนั้น  ขาดศีลธรรม  มานำทาง.....
                        ...................................
                      ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
 ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๕๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                  

191


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   อากาศเริ่มกลับมาหนาวอีกครั้ง ตอนที่เข้าจำวัตรไม่ได้นอนห่มผ้าเลยตื่นขึ้นมาเร็วกว่าปกติ
เพราะอากาศที่หนาว เมื่อรู้สึกตัวแล้วก็ไม่นอนต่อ ทำกิจวัตรล้างหน้าแปรงฟัน ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า
นั่งสมาธิ อธิษฐานจิต แผ่เมตตา จนสมควรแก่เวลาจึงได้วันทาลาพระ ญาติโยมมาธุระขอความอนุเคราะห์
ตั้งแต่เช้า ทำพิธีให้โยมเสร็จตอนสายๆ แล้วลงไปดูงานก่อสร้างในส่วนป่า อธิบายวิธีการทำงานและสั่งงาน
ให้คนงานเข้าใจ กลับมาถางป่าริมถนนหน้าป้ายวัด เพราะต้นไม้และหญ้าขึ้นปกคลุม จนมองไม่เห็นป้ายวัด
โยมที่มาจากต่างจังหวัดจะขับรถพ้นทางเข้าวัดเสมอ เพราะมองไม่เห็นป้าย จึงต้องลงไปแผ้วถางให้มันโล่ง
เพื่อจะได้เห็นป้ายวัดและทางเข้าวัดชัดเจน เสร็จงานตอนเที่ยงกว่าๆ กลับขึ้นศาลาที่พัก ฉันกาแฟยามบ่าย
ร่างกายอ่อนเพลีย จึงต้องนอนพิจารณาร่างกายจนหลับไป ตื่นมารู้สึกสดชื่นเพราะได้หลับไปประมาณ ๒ ช.ม.
ลงไปกวาดวิหารลานวัด กวาดไปได้นิดเดียว ฝนตกลงมา ลมพัดแรง จึงต้องหยุด กลับขึ้นศาลาที่พักเข้าเวป
เปิดดูกระทู้ต่างๆ ตอบปัญหาที่มีผู้ถามมา จนได้เวลาจึงได้ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็นและปฏิบัติธรรมต่อไป
อย่างที่ได้เคยกระทำมา จนสมควรแก่เวลาจึงได้จำวัตรพักผ่อน นอนพิจารณาร่างกายจนหลับไป
.....รอยธรรม.....
            ในการตอบปัญหาธรรมะหรือเขียนบทความ บทกวีธรรมะนั้น คือการทบทวนในธรรมที่ได้เคยปฏิบัติมา
ไม่ใช่ภาระ ไม่ใช่หน้าที่ แต่เป็นการฝึกหัดปฏิบัติตน เพราะในบางครั้งเรานั้นอาจจะไม่ได้ทบทวนในข้อธรรมนั้นๆ
แต่เมื่อมีผู้มาถาม มันจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้เราได้คิดและพิจารณาในธรรมข้อนั้นๆ ซึ่งเป็นการฟื้นความทรงจำ
ให้แก่ตัวเราเอง และคำตอบที่จะย้ำเตือนผู้ปฏิบัติธรรมอยู่เสมอนั้นก็คือ การตั้งเจตนาในการกระทำ ในการปฏิบัติ
ว่าต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ปฏิบัติไปไม่หลงทาง ไม่สำคัญผิดคิดคลาดเคลื่อน
ในการปฏิบัติ เพราะถ้ามันผิดตั้งแ่ต่ก้าวแรกที่ก้าวเดินแล้ว ทางที่เดินไปมันก็จะออกห่างจากความเป็นจริงยิ่งขึ้นไป
และถ้าไม่ได้หันมามองรอยทางที่เรานั้นผ่านมา เราก็จะคิดว่า มันดีแล้ว ตรงแล้ว ถูกต้องแล้วเสมอ หลงไปในสิ่งที่ทำ
จึงต้องเน้นย้ำเรื่องการคิดพิจารณาใคร่ครวญทบทวนในสิ่งที่ได้กระทำมาอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้เห็นสิ่งที่ผ่านมา
เพราะเป็นองค์ประกอบในการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ตามหลักธรรมแห่งอิทธิบาท ๔ ที่ต้องมีเสมอกัน ในการปฏิบัติ
คือ ฉันทะ วิริยะ จิต วิมังสา ความชอบความพึงพอใจในสิ่งที่ทำ ความเพียรพยายามที่จะกระทำในสิ่งที่ชอบในสิ่งที่ใช่
ทำเรื่อยไปไม่ทอดทิ้งธุระ ทำทุกขณะที่สามารถจะกระทำได้ และสุดท้ายก็คือดูสิ่งที่ได้กระทำมาพิจารณาว่าเป็นอย่างไร
เราจึงจะรู้และเข้าใจว่าทำไมมันไม่ก้าวหน้า เป็นเพราะว่าเราขาดหรือย่อหย่อนในข้อใด หรือมันเจริญก้าวหน้ามาอย่างไร
อะไรเป็นเหตุและเป็นปัจจัยที่มันทำให้เกิดความเจริญในธรรม " ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต " ไม่ต้องให้ผู้อื่นมาสอบอารมณ์ของเรา
ตัวเราเองต้องรู้จักตัวเราเอง เน้นเรื่องการดูกาย ดูจิต ดูความคิดและการกระทำของตัวเราเอง เพื่อให้รู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง
" ดูหนัง ดูละคร แล้วจงย้อนมาดูตัวเอง " นั้นคือสิ่งที่ต้องฝึกหัดกระทำให้เป็นความเคยชินและกลายเป็นนิสัย นั่นคือสิ่งที่เน้นย้ำ
ให้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายพึงกระทำ พึงคิดและพิจารณาให้สม่ำเสมอ...
.....รอยกวี.....
                                    ร้อยเรียง  ตัวอักษร            เป็นกาพย์กลอน  ให้ศึกษา
                                   เสริมสร้าง  ทางปัญญา         เพื่อรักษา  ความเป็นไทย
                                   สอดแทรก ข้อธรรมะ            เพื่อที่จะ    ได้เข้าใจ
                                   เพื่อคิด     และแก้ไข          เพื่อให้ใจ   นั้นมีธรรม
                                   มีธรรม      นั้นนำทาง          เพื่อออกห่าง ไม่ใฝ่ต่ำ
                                   ออกจาก   สิ่งครอบงำ         ของอธรรม   ที่คุกคาม
                                   ให้ใจ      ได้พบสุข            ออกจากทุกข์ พยายาม
                                   น้อมนำ    แล้วทำตาม         ทำให้งาม    เดินตามธรรม
                                   ตามธรรม  พระสัมมาฯ         นั้นมีค่า       ที่เลิศล้ำ
                                   ก่อเกิด    กุศลกรรม           เพราะมีธรรม  นั้นคุ้มครอง
                                   ธรรมะ     คุ้มครองจิต         ไม่พลาดผิด   จิตเศร้าหมอง
                                   ถูกต้อง   ตามครรลอง         ธรรมคุ้มครอง  ไม่หมองมัว
                                   ทุกอย่าง เริ่มที่จิต              คือฝึกคิด       ฝึกดูตัว
                                   ระลึก     รู้ให้ทั่ว                อย่าได้กล้ว   จงน้อมนำ
                                   ทำดี      นั้นไม่ยาก            ทำได้มาก    ถ้าจะทำ
                                   ทำดี      กุศลกรรม             บุญจะนำ     ส่งผลดี
                                   ดีนอก    และดีใน               ดีทั่วไป      ในทุกที่
                                   คิดดี     และทำดี               ก็จะมี        ความสุขใจ
                                   ความสุข เกิดจากธรรม          นั้นเลิศล้ำ   กว่าสุขใด
                                   ความสุข  เกิดที่ใจ               สุขเรื่อยไป ในทางธรรม...
                                               ......................................
                                              ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
  ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๕๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                   
                                   

192


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                         ตื่นนอนตามเวลาปกติ ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ อธิษฐานจิต แผ่เมตตา
เจริญจิตตภาวนา จนสมควรแก่เวลา จึงได้วันทาลาพระ ลงไปกวาดวิหารลาดวัด ปฏิบัติกิจอย่างที่เคยทำมา
ตอนสายๆลงไปทาสีเรือด้านใน ใช้เวลาไปสามชั่วโมงกว่าๆจึงจะทาสีเสร็จ กลับที่พักฉันกาแฟ ทบทวนมนต์
ตอนบ่ายลงไปดูงานการก่อสร้างที่เก็บน้ำในสวนป่า สั่งซื้อวัสดุมาเพิ่ม มีสมาชิกในเวปบอร์ดบางพระมาเยี่ยม
นั่งสนทนากัน แจกวัตถุมงคล สักน้ำมัน สนทนาธรรมให้แนวคิดในการดำเนินชีวิต อธิบายตอบปัญหาข้อสงสัย
จนเป็นที่เข้าใจระดับหนึ่ง คุยกันถึงเวลา ๑๖.๓๐ น. โยมจึงลากลับเพื่อเดินทางต่อไปทีนครพนม ลงไปดูพวก
ฝีพายที่มาซ้อมเรือกันที่ท่าน้ำ เสร็จแล้วกลับขึ้นศาลาเพื่อไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็น ตามเวลาปกติที่เคยทำ
ทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว มานั่งทวนบทสวดบุพรกิจแห่งปวารณา เพราะใกล้จะออกพรรษาแล้ว ต้องใช้สวดในวัน
ปวารณาออกพรรษา ซึ่งปีหนึ่งนั้นจะใช้สวดครั้งเดียวในวันปวารณาออกพรรษา ทิ้งมาเกือบปี จึงต้องมาทวนใหม่
เพื่อให้สวดคล่องไม่ผิดและติดขัด จนได้เวลาจึงได้จำวัตรพักผ่อน
.....รอยธรรม.....
                         มีผู้สอบถามกันมามากในเรื่องการปฏิบัติธรรม " การเพ่งกสิน " และได้อธิบายขยายความ
ตอบคำถามข้อสงสัยนั้นมาหลายครั้งแล้ว แต่เป็นการตอบคำถามที่เป็นข้อความส่วนตัว ไม่ได้นำมาโพสต์ลงไว้
จึงยังมีผู้สงสัยและถามมาอยู่เสมอ จึงขออธิบายขยายความให้เป็นที่รู้และเข้าใจในการปฏิบัติเรื่อง " การเพ่งกสิน "
การเพ่งกสินนั้นเป็นกรรมฐานหมวดหนึ่ง ในกรรมฐาน ๔๐ ซึ่งตามตำรานั้นแบ่งออกเป็น ๑๐ กอง เป็นเรื่องธาตุและสี
ซึ่งเป็นวิธีที่เอาสติและจิตไปจับอยู่กับภาพนิมิต ให้ติดตาและติดใจ จนเห็นภาพนิมิตนั้นชัดเจนด้วยตาใน เห็นด้วยใจ
และในการปฏิบัติจริงนั้น เราสามารถที่จะเอาภาพอะไรก็ได้มาเป็นภาพนิมิต ที่จะให้จิตนั้นไปเพ่งอยู่ แต่สิ่งที่จะเอามา
เป็นภาพนิมิตนั้น เราต้องมีความชอบความพึงพอใจชื่นชมในภาพนั้น เพราะเมื่อเราระลึกนึกถึงมันจะเห็นภาพนั้นชัดเจน
ภาพอะไรก็ได้ที่เราชอบ เราชื่นชม เราพึงพอใจ เช่นภาพครูบาอาจารย์ ภาพดอกไม้ ภาพวัตถุมงคล ภาพอะไรก็ได้ที่ใจ
เรานั้นชอบ เราสามารถที่จะเอามาเป็นนิมิตได้ทั้งหมด ระลึกนึกคิดเอาจิตไปจับอยู่กับภาพนั้น จนปรากฏภาพนั้นขึ้นชัดเจน
แจ่มชัด จนสามารถที่จะบังคับภาพนิมิตนั้นได้ ขยายให้ใหญ่ ย่อให้เล็ก เปลี่ยนรูปทรงของภาพนิมิตนั้นได้ การกระทำอย่างนี้
เรียกว่าจิตลงฐานแล้ว จิตเป็นสมาธิแล้ว ขั้นต่อไปนั้นผู้ปฏิบัติก็ต้องปรับจิต ปรับนิมิตนั้นเสียใหม่ โดยเปลี่ยนไปสู่ภาพนิมิตแห่ง
กสิน ๑๐ คือสีต่างๆ ธาตุต่างๆ ไล่เรียงไปตามที่เรามีความชอบ ความพึงพอใจ เราก็จะเข้าอารมณ์สมาธิได้ในกสินทั้ง ๑๐ กอง
แต่ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นของผู้ที่ฝึกกสินนั้น คือการหลงอารมณ์ ทำให้เกิดความเพี้ยน จิตวิปลาส ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุมาจาก
เจตนาดำริ การริเริ่มที่ผิดพลาด ที่เรียกว่า " ความปรารถนาลามก " คือเจตนาในการฝึกนั้นมันไม่บริสุทธิ์ คือความต้องการฝึกเพื่อ
ความอยากจะได้ฤทธิ์ อยากเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ อยากเป็นผู้วิเศษ อยากจะให้คนมาเคารพนับถือ อยากจะได้มาซึ่งเอกลาภจากการฝึกนั้น
มันจึงเกิดความหลงอารมณ์ เพราะจิตมันไปปรุงแต่งในความอยากเหล่านั้น เพราะในช่วงที่จิตกำลังเปลี่ยนอารมณ์สมาธินั้น มันจะมี
ช่องว่างระหว่างอารมณ์และในช่องว่างของอารมณ์นั้น ความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในจิตสำนกจะผุดขึ้น ซึ่งถ้าเป็นกุศลจิตก็จะเป็นนิมิตที่ดี
แต่ถ้าเป็นอกุศลจิต ความคิดที่ผิดทาง มันก็จะสร้างภาพนิมิตที่ไม่ดีผุดขึ้นมา ทำให้เกิด "สัญญาวิปลาส" ไม่สามารถที่จะควบคุมจิตได้
ทำให้ตกใจสติแตก หรือหลงไปกับภาพนิมิตจนคิดว่ามันเป็นเรื่องจริง จิตเข้าไปยึดถือและปรุงแต่งว่ามันเป็นเรื่องจริง และบางครั้งเพราะ
ความอยากที่จะได้อารมณ์กสินมากเกินไปนั้น ทำให้ผู้ปฏิบัติไปกดจิต กดดันตนเองมากจนเกินไป ทำให้ธาตุในกายไม่ปกติ ไม่สมดุลย์
ที่เรียกว่า " ธาตุแตก " ธาตุในกายไม่สัมพันธ์กัน " ธาตุน้ำแตก ธาตุไฟเข้าแทรก ธาตุลมกระจาย ธาตุดินสะลาย " จิตไม่สามารถที่จะ
ควบคุมได้ นั้นคืออันตรายของผู้ที่ฝึกกสินที่เกิดจากการตั้งเจตนาที่ผิด และการปฏิบัติที่ผิดขั้นตอน จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิด สำหรับผู้
ที่คิดจะปฏิบัติในแนวกสินนี้ พึงต้องระวังและต้องตั้งเจตนาในการปฏิบัติให้ถูกต้อง ซ่งเรื่องฤทธิ์เรื่องอภิญญานั้นมันเป็นเพียงผลพลอยได้
ไม่ใช่เป้าหมายของการปฏิบัติที่แท้จริง จิตที่นิ่ง จิตที่สงบ นันคือเป้าหมายของการปฏิบัติ....
.....รอยกวี.....
                   พรสวรรค์    นั้นมี     แต่กำเนิด
                 เพราะว่าเกิด  จากบุญ  ที่สะสม
                 เพราะจิตนั้น   ได้ผ่าน  การอบรม
                 และสั่งสม     สืบต่อ   ปัจจุบัน
                                 พรสวรรค์  อาจหายไป   ถ้าไม่ต่อ
                                มัวแต่รอ     วาสนา       เฝ้าแต่ฝัน
                                ไม่สานต่อ   ทำเพิ่ม      เติมเต็มมัน
                                พรสวรรค์    ก็หมด       หดหายไป
                                              พรสวรรค์     นั้นแพ้    พรแสวง
                                              เสาะหาแหล่ง เีรียนรู้    สู่สิ่งใหม่
                                               พัฒนา       ตนเอง   ขึ้นเรื่อยไป
                                              เพื่อจะได้    ฝึกฝน    จนชำนาญ
                                                              ทุกสิ่งอย่าง     มันยาก    ตอนเริ่มต้น
                                                              เพราะทุกคน  เพียงแต่คิด จิตไม่หาญ
                                                              เมื่อไม่ทำ      ก็ไม่รู้        ไม่สู้งาน
                                                              ปล่อยให้ผ่าน  เปล่าไป     ไม่ได้ทำ
                   การฝึกฝน   เริ่มต้น     ตรงที่จิต
                   ต้องฝึกคิด  ปลุกจิต    ไม่คิดต่ำ
                   คิดให้ดี     คิดให้ชอบ แล้วกระทำ
                   โดยการนำ ทำความคิด  ให้เป็นจริง
                                  ความคิดนั้น  เป็นเพียง  นามธรรม
                                  ต้องน้ิอมนำ  ทำไป       ในทุกสิ่ง
                                  ทำให้ดู   ทำให้เห็น     ให้เป็นจริง
                                  อย่าเฉยนิ่ง  ทำทุกสิ่ง    เพื่อทางธรรม
                                                 เอาธรรมนั้น   มานำทาง   สร้างชีวิต
                                                 เพื่อนำจิต    ออกจาก    สิ่งตกต่ำ
                                                 ลดและละ   ความชั่ว     ที่ครอบงำ
                                                 เดินตามธรรม  ตามทาง  สร้างความดี
                                                                 สร้างความดี  ฝากไว้  ให้คนคิด
                                                                 เป็นนิมิต      ฝากไว้   ในทุกที่
                                                                 เกิดเป็นคน  ควรสร้าง  เส้นทางดี
                                                                 ชี้วิตนี้     เกิดมา      ค่าคู่ควร.....
                             ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๕๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย   

193


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                     ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติที่เคยเป็น ตื่นเช้าทำกิจวัตรของสงฆ์ตามเวลาปกติ
เสร็จแล้วออกไปกิจนิมนต์ในหมู่บ้าน เสร็จแล้วกลับมาดูงานถมดินปรับทางเข้าวัด ซึ่งเขามาส่งดิน
ผิดจากที่ได้สั่งไว้ จึงถมไปเพียง ๒ รถแล้วสั่งหยุดรอดินบ่อใหม่ ลงไปช่วยกันยาเรือหางยาวด้านใน
ซึ่งทำกันเสร็จตอนใกล้เที่ยง กลับที่พักฉันกาแฟ อ่านหนังสือ ทบทวนบทสวดมนต์บทต่างๆ ฟังธรรม
จนถึงเย็นได้เวลาทำกิจในภาคค่ำต่อไปตมที่เคยปฏิบัติมา จนสมควรแก่เวลา จึงได้จำวัตรพักผ่อน..
.....รอยธรรม......
                     " การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม เรียกว่าทำความเพียร ไม่จำเป็นว่าต้องนั่งสมาธิ เดินจงกรม
จึงจะเรียกว่าทำความเพียร ถ้าไม่มีสติรู้ตัว ฟุ้งซ่านไป คิดไปเรื่อย ก็ไม่เรียกว่าทำความเพียร ไม่ว่าจะอยู่
ในอิริยาบทใดจะยืน เดิน นัง นอน ถ้าเรามีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ในขณะนั้น จึงเรียกว่าเรากำลังทำความเพียร "
" ให้มีสติอยู่กับ กาย เวทนา จิต ธรรม เอาจิตพิจารณาอยู่กับสิ่งทั้งสี่ืตลอดเวลา พิจารณาอย่างแยบคาย
ทำอย่างนี้ให้เป็นนิสัย จนกลายเป็นความเคยชิน เอาธรรมเป็นผู้ตัดสินในทุกสิ่งอยู่เสมอๆแล้วใจจะสบาย "
" การปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อพอจะเริ่มรู้และเข้าใจในธรรม ให้ระวังตัวมานะทิฏฐิเป็นอย่างมาก เพราะจะหลง
ไปคิดว่า คนอื่นไ่ม่ดีเท่าเรา ไม่เก่งเท่าเรา เราดีกว่าผู้อื่น เก่งกว่าผู้อื่น จะทำให้ขาดความเคารพต่อครูบาอาจารย์
ลบหลู่ครูบาอาจารย์และผู้ปฏิบัติธรรมท่านอื่น แม้จะดูภายนอกอ่อนน้อมแต่จิตใจเย่อหยิ่ง มันเป็นจิตวิปลาส สัญญาวิปลาส "
" เมื่อเราเพียรเพ่งดูจิต ดูความคิด ให้จิตอยู่กับตนเองตลอดเวลา เราก็จะเข้าใจในสังขาร ร่างกายและจิตของเรา "
" ความว่างทางจิตนั้น คือความว่างจากอารมณ์ยินดี ยินร้าย แต่ไม่ว่างจากตัวรู้ ยังตามดูตามเห็น แต่จิตไม่ไปคิดปรุงแต่ง "
.....รอยกวี.....
                  วันเวลา    ผ่านไป    ไม่หยุดนิ่ง
                 สรรพสิ่ง   ผันแปร      และเปลี่ยนผัน
                กาลเวลา   ไม่หยุดนิ่ง  ทุกคืนวัน
                ความแปรผัน  คือกฏ    อนิจจัง
                             มีเกิดขึ้น    ตั้งอยู่     แล้วก็ดับ
                            เปลี่ยนสลับ  เรื่อยไป  อย่าได้หวัง
                            ให้ทุกอย่าง  คงที่      และจริงจัง
                            อาจพลาดหวัง  ไม่เป็น  เช่นต้องการ
                                             ทุกอย่างนั้น   อยู่ในกฏ   พระไตรลักษณ์
                                             นั้นคือหลัก    ของธรรม   ที่กล่าวขาน
                                             อยู่กับโลก    และธรรม   ตลอดกาล
                                             โลกและธรรม  ประสาน    เป็นหนึ่งเดียว
                                                               อยู่กับกาย   และจิต    พินิจธรรม
                                                               เพื่อจะนำ   ให้จิต       คิดเฉลียว
                                                               โลกและธรรม  ผสม    เข้ากลมเกลียว
                                                               เป็นหนึ่งเดียว  คือธรรม  พระสัมมาฯ
                  เอาพระธรรม   นำมา    ใช้เป็นหลัก
                 เดินตามมรรค   แนวทาง ให้ศึกษา
                 มรรคคือทาง    สายกลาง สร้างปัญญา
                 พัฒนา          ทางจิต     นิมิตดี
                                  เพื่อน้อมนำ  ทำจิต    เป็นกุศล
                                  จะมีผล      เป็นสง่า   มีราศรี
                                  เพราะมีธรรม นำจิต    ให้คิดดี
                                  ก็จะมี    ความสุข     ไม่ทุกข์ใจ
                                             สุขในธรรม   นำทาง    สร้างชีวิต
                                             สุขเพราะจิต  นั้นคิด    ถึงสิ่งใหม่
                                             สุขเพราะจิต  เป็นกุศล  นั้นดลใจ
                                             สุขเพราะได้   มีธรรม    นั้นนำทาง
                                                             เพราะมีธรรม  นำทาง   สว่างจิต
                                                             นำชีวิต     ก้าวไป      ในแบบอย่าง
                                                             ให้เข้าใจ   ในจิต        คิดละวาง
                                                             จิตสว่าง   ใจสงบ       เมื่อพบธรรม...
                           ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๔๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง  ชายขอบประเทศไทย

194


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
             ตื่นเช้าทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคเช้าตามปกติบนศาลาที่พัก
ตอนสายๆลงไปช่วยพระทาสีเรือหางยาวที่ซ่อมใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ทาสีเรือเสร็จประมาณเที่ยง มีญาติโยมจากขอนแก่นมาขอให้ช่วยเหลือ
ขอคำปรึกษา ต้อนรับและให้คำแนะนำปรึกษาพร้อมทั้งทำพิธีให้ญาติโยม
ประมาณเวลา ๑๖.๐๐ น.โยมที่มาจากขอนแก่นจึงลากลับ ลงไปตรวจงาน
มุ้งลวดที่ให้ช่างมาติดที่กุฏิรับรอง กลับที่พักมาไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็น
นังสมาธิ เดินจงกรม ฟังธรรม จนถึงเที่ยงคืนจึงเข้าจำวัตรพักผ่อน นอนทำ
กรรมฐานดูกายจนหลับไป
.....รอยธรรม....
                        การฝึกให้ใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัวนั้น เราต้องหมั่นดูกาย
ของเราให้เป็นนิสัย ให้เป็นความเคยชิน เรียกว่าการเอาจิตมาคุมกาย อยู่กับกาย
ฝึกให้จิตเป็นสมาธิอยู่กับกาย การฝึกกรรมฐานวิธีนี้ ทำให้เราสามารถที่จะหลบ
อารมณ์ความรู้สึกกระทบทั้งหลายได้ โดยเอาสติและจิตมาอยู่ในกาย ย้ายอารมณ์
การดูร่างกายของตัวเราเองนั้น จะเป็นการเอาจิตไปฝอกกาย หลับตาแล้วระลึกรูปร่าง
หน้าตาของตัวเราเอง จนรูปของตัวเรานั้นเห็นเด่นชัดด้วยตาใน มองต่อไปแยกกายเนื้อ
ออกไปจนเหลือเพียงโครงกระดูก เพ่งดูโครงกระดูกนั้นจนเห็นกระดูกนั้นขาวใสเป็นแก้ว
พระกรรมฐานที่ปฏิบัติในแนวนี้ทุกรูป เมื่อมรณะภาพไป ร่างกายทั้งหลายทุกส่วนนั้น
จะกลายเป็นพระธาตุ เพราะร่างกายนั้นถูกฝอกด้วยจิตที่มีพลังของสมาธิจนสะอาด
บริสุทธิ์ จึกกลายเป็นผลึกแก้วใส อย่างที่่เคยได้เห็นกันมา ว่ากระดูกและเถ้าถ่าน
ของครูบาอาจารย์พระอริยเจ้าทั้งหลายได้กลายเป็นพระธาตุ แต่ก็มีกระดูกของพระอริยสงฆ์
บางท่าน ที่กระดูกและเถ้าถ่านไม่ได้กลายเป็นพระธาตุ เพราะท่านไม่ได้มาตามแนวของกายคตานุสติ
ท่านเพ่งดูที่ิจิตใช้จิตฝอกจิต จนถึงความวิมุติ หลุดพ้น กระดูกของท่านจึงไม่ได้เป็นพระธาตุ
ฉะนั้นเราอย่ารีบด่วนสรุปว่าครูบาอาจารย์ที่กระดูกไม่ได้เป็นพระธาตุนั้น ว่าไม่ได้เป็นพระอริยสงฆ์
ซึ่งจะทำให้เป็นการจาบจ้วงหลบหลู่ พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นวิบากกรรมแก่ตนเอง การเป็นพระอริยะนั้น
ผู้ที่สามารถจะชี้ชัดได้นั้นมีเพียงพระพุทธเจ้าเพียงผู้เดียว ที่คำตรัสของท่านเป็นหนึ่งเสมอ จึงขอฝากไว้ให้เป็น
ข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อจะได้ไม่สร้างกรรมจาบจ้วงลบหลู่พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลาย
และเราต้องแยกกันให้ได้ระหว่างพระอภิญญากับพระอริยะ ซึ่งบางครั้งพระผู้มีอภิญญาก็ไม่ได้เป็นพระอริยะ
และบางครั้งพระอริยะก็ไม่มีอภิญญา  เพราะอภิญญานั้นมันเป็นเรื่องฤทธิ์ ส่วนความเป็นอริยะนั้นคือการหมดไป
ของกิเลสทั้งหลาย...
.....รอยกวี.....
                   ท้องฟ้า    เมื่อหลังฝน
                 ฟ้าเบื้องบน  นั้นแจ่มใส
                 เมฆดำ       นั้นหายไป
              เปลี่ยนฟ้าใหม่ ให้งามตา
                                เหมือนคน   ที่ทนทุกข์
                               ได้พบสุข     ที่เฝ้าหา
                                ทุกข์จาง    ทุกข์ร้างลา
                                ความสุขมา  ก็ดีใจ
                                                ใจดี   ส่งกายเด่น
                                        อย่างที่เห็น  ความสดใส
                                        ราศรี          ดีทันใด
                                       เพราะว่าใจ   นั้นมันดี
                                                       ใจทุกข์   เพราะยึดถือ
                                                      สิ่งนั้นคือ  ทุกข์วิถี
                                                      ทุกข์มาก  เพราะอยากมี
                                                      ทุกข์อีกที เพราะเสียไป
                                                                   ตัวกู     และของกู
                                                                ต้องเรียนรู้ และแก้ไข
                                                                เรียนรู้      อยู่ที่ใจ
                                                                เรียนรู้ไป  ในตัวกู
                                                                             ตัวกู      คืออัตตา
                                                                          ต้องศึกษา  และเรียนรู้
                                                                          เข้าใจ       ในตัวกู
                                                                         เราก็อยู่      สุขสบาย...
                                 ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๑๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                                   

195


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๙ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                     เมื่อวานนี้ ( ๘ ตุลาคม ๒๕๕๓ )เป็นวันพระใหญ่ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
ตื่นนอนตามเวลาปกติ ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้าบนศาลาที่พัก เสร็จแล้วลงไปจัดสถานที่
ให้ญาติโยมที่จะมาทำบุญตักบาตรที่วัด ออกไปรับวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ญาติโยมถวายและส่ง
มาจากกรุงเทพฯที่ บ.ข.ส. เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้่ที่จะนำไปติดตั้งในพระอุโบสถและพระธาตุเจดีย์
กลับมาจากไปรับของแล้ว ชักชวนญาติโยมให้ไปช่วยกัน " ยาเรือ " อุดรอยรั่วของเรือหางยาว
ตอนบ่ายนำพระไปลงอุโบสถเพื่อฟังพระปาฏิโมกข์ ร่วมกับพระภิกษุที่จำพรรษาในเขตตำบล
เดียวกัน กลับจากฟังพระปาฏิโมกข์ถึงวัดประมาณบ่ายสองกว่าๆ  มาเปิดกล่องวัสดุอุปกรณ์ไ้ฟฟ้า
ที่โยมส่งมาจากกรุงเทพฯเพื่อตรวจเช็ครายการที่ระบุมาในใบส่งของ ปรากฏว่าถูกต้องครบทุกรายการ
ได้เวลาจึงไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็นนั่งสมาธิ อธิษฐานจิต แผ่เมตตา ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง
เปิดฟังเสียงธรรมบรรยายของหลวงพ่อพุทธทาสในขณะที่เดินจงกรม ใช้เวลาในการเดินจงกรมประมาณ
๒ ชั่วโมงจึงได้หยุดพักมานอนพิจารณาร่างกาย ทำกายคตานุสติกรรมฐาน คือการดูร่างกายของตนเอง
จนสมควรแก่เวลาจึงได้จำวัตรพักผ่อน
.....รอยธรรม.....
                    การเดินจงกรมนั้น เป็นการเจริญสติและสัมปชัญญะพร้อมกันไปในตัว เป็นได้ทั้งสมถะ
และวิปัสสนา ซึ่งถ้าจะให้เป็นสมถะนั้นเราก็เน้นที่สติ คือสติอยู่กับองค์ภาวนาในขณะที่เรากำลังก้าวเดิน
แต่ถ้าจะให้เป็นวิปัสสนานั้น เปลี่ยนมาเป็นการใช้สตินั้นพิจารณาตามดู ตามรู้ความเคลื่อนไหวของร่างกาย
มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิต ปัญหาของผู้ปฏิบัติธรรมที่มักจะเกิดขึ้นนั้น คือขาดความต่อเนื่องในอารมณ์
กรรมฐาน ไม่เสมอกันในอิริยาบท เพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน คิดว่าการเสมอกันในอิริยาบทนั้นคือการที่
ปฏิบัติในอิริยาบท ยืน เดิน นั่ง นอน ในระยะเวลาที่เท่ากัน ซึ่งเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะความหมาย
ของคำว่า " การเสมอกันในอิริยาบท "นั้น หมายถึงการปฏิบัติในกรรมฐานกองเดียวกันในอิริยาบททั้งหลาย
คืออารมณ์กรรมฐานนั้นเสมอกันในทุกอิรยาบท เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของอารมณ์กรรมฐานตามหลักของ
" อิทธิบาท ๔ "  อันได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิต วิมังสา  ซึ่งเราต้องค้นหาตัวเองให้ได้ว่า เราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร
ต้องการเพียงความสงบ เพื่อหลบปัญหา หรือว่าปรารถนาซึ่งความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย เพื่อ มรรค
ผล นิพพาน หรือเพื่อความต้องการที่จะมีอิทธิฤทธิ์  เราต้องถามตนเองให้ได้คำตอบเสียก่อนว่า " เราทำเพื่ออะไร "
และเมื่อได้คำตอบให้ตนเองแล้ว จึงมาคิดต่อไปว่าทำอย่างไร ศึกษาหาข้อมูลของการปฏิบัติธรรม ว่าควรทำอย่างไร
ถามผู้รู้ ดูตำรา หาครูบาอาจารย์ นั้นคือแนวทางต่อไป และสิ่งที่จะทำให้เกิดความเจริญในธรรมได้เร็วนั้น ก็คือแนวทาง
ที่จะปฏิบัตินั้น ต้องเหมาะสมกับจริตของเรา " ธรรมะสัปปายะ " อันมี " ฉันทะ " ความพึงพอใจในสิ่งที่ทำ เป็นพื้นฐาน
คือการมีศรัทธาในสิ่งที่กระทำ มีความเพียรพยายามที่จะกระทำในสิ่งที่ชอบ ในสิ่งที่ใช่ ตั้งใจทำไปโดยไม่ทอดทิ้งธุระ
กระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ มีการคิดพิจารณาใคร่ครวญว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันเป็นอย่างไร  สิ่งนี้คือ   " อิทธิบาท ๔ "
สิ่งนี้คือแนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จทั้งหลาย...



.....รอยกวี.....
                   มองผ่าน  ช่องหน้าต่าง
               เห็นฟ้ากว้าง  และทางไกล
               มองเมฆ      ที่ลอยใหล
               ทำให้ใจ      ไร้กังวล
                              ปล่อยจิต   และปล่อยใจ
                           ปล่อยออกไป ไม่สับสน
                           ผ่อนคลาย     ไร้กังวล
                           ปล่อยตัวตน   ไม่กดดัน
                                              ปล่อยใจ    ให้จิตว่าง
                                            หยุดทุกอย่าง ที่คิดฝัน
                                              อยู่กับ      ปัจจุบัน
                                            ไม่เฝ้อฝัน   จนเกินจริง
                                                           เรียนรู้     การเกิดดับ
                                                         เรียนรูู้กับ    สรรพสิ่ง
                                                         วางใจ       ให้หยุดนิ่ง
                                                        พบความจริง สัจจธรรม
                                                                        สัจจะ   ที่แอบแฝง
                                                                      มีทุกแห่ง ให้จดจำ
                                                                      ให้คิด     และน้อมนำ
                                                                     เอามาทำ  ให้เป็นจริง
                                                                                  ธรรมะ     ต้องกระทำ
                                                                               เพียงแต่จำ  จิตไม่นิ่ง
                                                                               จิตนั้น       เหมือนกับลิง
                                                                              ไม่หยุดนิ่ง   ล่อหลอกเรา
                                                                                                 ตามดู     ให้รู้เห็น
                                                                                               รู้ที่เป็น      ไม่โง่เขลา
                                                                                              เรียนรู้         จากจิตเรา
                                                                                             เพื่อให้เข้า    ใจในธรรม....
                                     ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
 ๙ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๔๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย   
                  
  

196


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
  ๘ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
              อากาศอุ่นขึ้นเล็กน้อย อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ ๒๐-๒๕ องศา อากาศเย็นสบาย
ช่วงนี้เก็บตัวอยู่บนศาลา งดคลุกคลีกับหมู่คณะ สวดมนต์ไหว้พระทำวัตรเช้า-เย็นแต่ผู้เดียว
ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เจริญสติและสัมปชัญญะ ใคร่ครวญทบทวนพิจารณาธรรม
บริหารร่างกายด้วยการเดินจงกรมบนศาลา สลับกับการลงไปกวาดวิหารลานวัดพระธาตุเจดีย์
ปฏิบัติแบบนี้มาได้ ๑๕ วันแล้ว ตอนบ่ายลงไปกวาดลานวัด ลานธรรม เริ่มตั้งแต่บ่ายสองโมง
เสร็จเวลาประมาณหกโมงเย็น ใช้เวลาไปประมาณ ๔ ชั่วโมง เนื้อที่ทั้งหมดประมาณสามไร่
"ทำให้ดูอยู่ให้เห็นสอนให้เป็นแล้วก็ปล่อย"ใช้หลักการนี้ในการสอนให้มีจิตสำนึกต่อสวนรวม
ไม่ไปเรียกร้องขอความช่วยเหลือหรือใช้ใคร ให้เขาสมัครใจทำเอง ให้เขาเกิดจิตสำนึกเอง
ซึ่งได้ยึดหลัก " ตักเตือน แนะนำ ครบสามครั้ง แล้วจะไม่มีการตักเตือนอีกต่อไป  " ปล่อย
เขาไปตามวิบากกกรรม เราทำหน้าที่ของเราสมบูรณ์แล้ว ในการแนะนำ สั่งสอนและตักเตือน
ส่วนพวกเขาจะทำหรือไม่ทำนั้น มันเป็นเรื่องของเขา หมดหน้าที่ของเราแล้ว ไม่ไปกังวลใจ
วุ่นวายใจในพฤติกรรมของเขาเหล่านั้น ทำอยา่งนี้ตลอดมาตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส จนเป็นที่
รู้กันในหมู่คณะ
.....รอยธรรม.....
                    สติและสัมปชัญญะนั้นต้องมีควบคู่กันในการเจริญสติภาวนา เพื่อให้ไม่หลง
อารมณ์ หลงสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น การเจริญสมถะสมาธินั้น อาจจะทำให้หลงอารมณ์ได้ง่าย
เพราะว่าเน้นไปที่กำลังของสติแต่เพียงอย่างเดียว คือดู รู้ เห็น แต่เฉพาะที่ที่กำลังเพ่งดูอยู่
ไม่รับรู้ในปัจจุบันธรรมทั้งหลาย  สมาธิที่ไม่มีศีลเป็นพื้นฐานนั้น มันจะขาดคุณธรรมคุ้มครอง
ขาดซึ่งหิริและโอตตัปปะ ทำให้เกิดอัตตาและมานะทิฏฐิ คือการหลงตัวเอง คิดว่าตนเองนั้น
บริสุทธิ์กว่าผู้อื่น เก่งกว่าผู้อื่น ดีกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นการผิดทาง เพราะสมาธิที่เป็นพื้นฐานแห่ง
ปัญญาในหลักของพระพุทธศาสนานั้น เป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่อความจางคลายแห่งอัตตามานะ
เป็นไปเพื่อความลดละซึ่งมานะทิฏฐิทั้งหลาย เพื่อความจางคลายของกิเลสตัณหา จึงต้องมา
จากพื้นฐานแห่งศีลทั้งหลาย เพื่อให้ได้มาซึ่ง " สัมมาสมาธิ "ถูกต้องตามหลักของมรรค ๘
ดั่งพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ว่า... " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาซึ่งมีสมาธิเป็นรากฐานนั้น ย่อม
ปรากฏดุจไฟกองใหญ่ กำจัดความมืดให้ปลาสนาการ มีแสงสว่างรุ่งเรืองอำไพ ขับฝุ่นละออง
คือกิเลสให้ปลิวหาย ปัญญาจึงเป็นประดุจประทีปแห่งดวงใจ " (ซึ่งต้องย้อนไปอ่าน รอยทาง
และรอยธรรม ตั้งแต่วันที่ ๖-๗ ตุลาคม ซึ่งได้กล่าวถึง ศีลและสมาธิมาก่อนแล้ว )
.....รอยกวี.....
                  ร้อยเรียง   บทกวี       มานำชี้   ซึ่งทางธรรม
                ร้อยเรื่อง   ร้อยลำนำ     แต่งแต้มคำ  เพื่อนำทาง
                รอยทาง   ที่ย่างผ่าน     คือตำนาน    ที่จัดวาง
                ให้เห็น  เป็นแบบอย่าง   เพื่อสรรค์สร้าง  สู่ทางดี
                พอดี    และพอเพียง    ในการเลี้ยง   ชีวิตนี้
                ตัวอย่าง  นั้นมากมี        มันอยู่ที่   จะใคร่ครวญ
                ใคร่ครวญ ทบทวนดู       มองให้รู้   ในทุกส่วน
                สิ่งใด    ควรไม่ควร        จงทบทวน ให้ถ้วนถี่
                  ทุกคน  มีความคิด       แต่ขาดจิต  สำนึกดี
                ทำไป     ทั้งรู้ที่            มันไม่ดี    แต่ยังทำ
                พ่ายแพ้   ต่อกิเลส        จึงเป็นเหตุ  ให้ถลำ
                จิตชั่ว     เข้าครอบงำ     จึงรับกรรม   ที่ทำไป
                หากเรา   มีสติ             ควรดำริ    ตั้งจิตใหม่
                คิดดี    กันเข้าใว้          เพื่อจะให้  จิตนั้นดี
                จิตดี    ส่งกายเด่น        อย่างที่เห็น  เป็นเช่นนี้
                กายดี   และจิตดี          ก็เพราะมี   คุณธรรม
                หิริ      โอตตัปปะ         คือธรรมะ ที่เลิศล้ำ
                องค์แห่ง เทวธรรม         ที่จะนำ   ให้เจริญ
                ละอาย   และเกรงกลัว    สิ่งที่ชั่ว   ไม่สรรเสริญ
                มีธรรม   นำก้าวเดิน        จิตเพลิดเพลิน  เจริญธรรม...
                          .........................................
                           ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
 ๘ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๓๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

197
 :059: เป็นผ้ายันต์ขนาดใหญ่ ( กว้าง ๑.๒๐ เมตร ยาว ๑.๖๐ เมตร )
       จัดสร้างเป็นที่ระลึกทำบุญฉลอง ๗ รอบ ๘๔ ปี
            วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
       พระครูสังวรสมณกิจ (หลวงปู่ทิม อตฺตสนฺโน)
 วัดพระขาว ต.พระขาว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา







  ใช้เป็นผ้ายันต์ครู เอาไว้ดูเป็นแบบ ในเวลาเขียนยันต์หรือสักยันต์ นำมาให้ชมกัน



198


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
  ๗ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                        อากาศอุ่นขึ้นมาเล็กน้อย อุณหภูิมิเพิ่มขึ้นเป็น ๒๑ องศา ร่างกายเริ่มปรับสภาพได้
ตื่นนอนตามเวลาปกติ ทำกิจวัตรอย่างที่เคยทำมาเช่นทุกวัน ตอนสายๆลงไปดูพระท่านซ่อมเรือหางยาว
ให้คำแนะนำและชี้แนะเรืองการเข้าไม้ เสร็จแล้วกลับขึ้นศาลาที่พัก นั่งสมาธิเจริญจิตตภาวนา แผ่เมตตา
อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก " วีรชน ๖ ตุลา ๑๙ " เนื่องในวาระครบรอบ ๓๓ ปี แห่งเหตุการณ์นองเลือด
ที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง ซึ่งในครั้งนั้นตัวเราเองได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์
" อดีตที่เป็นบทเรียน " ช่วงหนึ่งของชีวิตกับแนวความคิดทางการเมือง เพราะช่วงชีวิตเติบโตมาในยุคของ
การแสวงหา การศึกษาลัทธิการเมืองแบบต่างๆ การเรียกร้องประชาธิปไตยที่มาจากใจที่บริสุทธิ์ เกิดจาก
จิตสำนึกต่อสังคม การเรียกร้องความเป็นธรรมทั้งหลาย ซึ่งใช้วิธี " อหิงสา " ใช้พลังแห่งความสามัคคี
ไม่มีการใช้ความรุนแรง มองดูยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ที่มีผลประโยชน์เข้ามาแอบแฝง การใช้ความรุนแรง
ในการชุมนุมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างกันกับในอดีต คนรุ่นใหม่ชอบใช้ความรุนแรงและมีผลประโยชน์
เข้ามาแอบแฝง ไม่ใช่การชุมนุมเรียกร้องที่เกิดจากจิตสำนึก จิตอาสา แต่เป็นการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์
ของตนเองและพวกพ้อง เป็นการเรียกร้องเพื่อตนเอง เพราะแกนนำในการชุมนุมเกือบทุกคนนั้น เรารู้ประวัติ
และแนวความคิดของพวกเขาดี ว่ามีที่มาของแต่ละคนเป็นอย่างไร เพราะหลายคนเคยได้ร่วมงานกันมาในอดีต
จึงได้แต่ทำใจ สงสารประเทศไทย ประชาชนยังถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมืออยู่เช่นเดิม....นั่งทบทวนเรื่องราวใน
อดีต แผ่เมตตา อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ทุกคนที่ต้องสังเวยชีวิตในการชุมนุมที่ผ่านมา  ตอนเย็นจึงลงไปกวาด
ศาลา วิหาร ลานวัด ปฏิบัติอย่างที่เคยทำมา จนได้เวลาทำกิจในภาคค่ำ กลับขึ้นศาลาที่พัก ไหว้พระสวดมนต์
ทำวัตรเย็น ปฏิบัติธรรมตามที่เคยทำมา สมควรแก่เวลาจึงได้จำวัตรพักผ่อน..
.....รอยธรรม.....
                     การเรียกร้องทั้งหลายนั้นคือ " ตัณหา " คือความอยากจะได้มา อยากจะให้เป็น ตามที่ตนเอง
นั้นต้องการ เป็นเรื่องของอัตตา มานะทิฏฐิ  ความอยากที่จะจัดระเบียบสังคม แต่ลืมจัดระเบียบตนเอง เรียกร้องให้
ผู้อื่นทำตามที่ตนอยากจะให้เป็น แต่ไม่เคยเรียกร้องตนเอง เป็นเพราะว่าขาดการเอาหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต
ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดโดยเอาอัตตาของตนมาเป็นที่ตั้ง  บางคนนั้นรู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม แต่ไม่เคยที่จะเอามาทำ
จึงไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ เพราะไม่ได้อยู่กับธรรม เพียงแต่จำได้ พูดได้ แต่ไม่ได้ทำ สังคมจึงสับสนวุ่นวาย มากมายด้วยปัญหา
เกิดจากอัตตา " ตัวกูและของกู " คิดถึงคำของหลวงพ่อพุทธทาส แห่งสวนโมกข์ ที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า ..." เมื่อศีลธรรมไม่กลับมา
โลกาจะวินาศ " ซึ่งสังคมไทยในทุกวันนี้ใกล้จะถึงจุดนั้นแล้ว ถ้าเราหันมาดูกาย ดูจิต ดูความคิดและการกระทำของตนเอง
รู้จักควบคุมความอยากทั้งหลายของตนเอง รู้จักความพอดีพอเพียงในการเลี้ยงชีวิต มีจิตสำนึกแห่งคุณธรรม ปัญหาทั้งหลาย
ก็จะคลี่คลายลง ถ้าเรารู้จักควบคุมตนเอง....
.....รอยกวี....
                        อดีต  คือบทเรียน
                    นำมาเขียน  เพื่อเล่าขาน
                    บอกเล่า  ถึงตำนาน
                    บอกเหตุการณ์  ที่ผ่านมา
                                 ผ่านร้อน  และผ่านหนาว
                           หลายเรื่องราว  มาหนักหนา
                           ผ่านกาล    ผ่านเวลา
                           จึงนำมา    เล่าให้ฟัง
                                     เมื่อคิด  และใคร่ครวญ
                                    ได้ทบทวน  ถึงความหลัง
                                     เคยผิด    เคยพลาดพลั้ง
                                     เคยสิ้นหวัง  สิ้นศรัทธา
                                              เคยเขียน  บทกวี
                                             ในยุคที่  แสวงหา
                                             บอกเล่า เรื่องผ่านมา
                                             ให้รู้ว่า  เป็นเช่นไร....
                      :059: เสียศุนย์   หรือฉัน    สูญเสีย
                                ฉันเหนื่อย  ฉันเพลีย  ไฉน
                                ฉันพ่าย   ฉันแพ้     หรือไร
                                หวังไว้     ไม่สม    ซมซาน
                                             หวังคิด   จะสร้าง  โลกใหม่
                                             ด้วยใจ    ฮึกเหิม  ห้าวหาญ
                                             มุ่งมั่น     มากด้วย  อุดมการณ์
                                             สร้างงาน  ด้วยแรง  ศรัทธา
                                                         ชุมนุม    เรียกร้อง   ต่อสู้
                                                         เคียงคู่     ผู้มี       ปัญหา
                                                         กรรมกร   ชาวไร่   ชาวนา
                                                         ร้องหา   ซึ่งความ  เป็นธรรม
                                                                     ความคิด  และจิต   อาสา
                                                                     นำมา    ซึ่งความ   ชอกช้ำ
                                                                     ก้าวเดิน  สู่ความ    มืดดำ
                                                                     ถลำ      เข้าสู่       วังวน
                                                                                การเมือง   คือเรื่อง   ตัณหา
                                                                                 อัตตา     นั้นคือ     เหตุผล
                                                                                แอบอ้าง   ว่าเพื่อ     ประชาชน
                                                                                แต่ตน     ได้ผล       ตอบแทน....
                                                                                             การเมือง   ไม่มี   มิตรแท้
                                                                                             ผันแปร    ไม่เป็น  ปึกแผ่น
                                                                                             มุ่งหวัง    เพียงสิ่ง  ตอบแทน
                                                                                             ทั่วแดน    ต่างรู้      กันดี....
                    :059: นี่คือ      นิยาม      การเมือง
                             เป็นเรื่อง   เกิดได้    ทุกที่
                             เพราะว่า   ศีลธรรม   ไม่มี
                             โลกนี้       จึงได้      วุ่นวาย
                                          เกิดจาก    กิเลส        ตัณหา
                                           อัตตา    ความอยาก   ทั้งหลาย
                                           ความอยาก  ที่มี        มากมาย
                                           สุดท้าย    ไม่พ้น      เวรกรรม
                                                         ใครทำ    ก็ต้อง    ชดใช้
                                                         ทำให้    ชีวิต      ตกต่ำ
                                                         กิเลส    ที่เข้า     ครอบงำ
                                                         เรื่องกรรม  ไม่อาจ  ต่อรอง
                                                                      ทำดี    ดีนั้น   ส่งเสริม
                                                                      ต่อเติม  ไม่มี   หม่นหมอง
                                                                      ชีวิต    ไปตาม   ครรลอง
                                                                      คุ้มครอง  ชีวิต    ด้วยธรรม....
                              ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
 ๗ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๓๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย 
                               

                                 

199


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
  ๖ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   ฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืน อากาศหนาว อุณหภูมิอยู่ประมาณ ๑๘-๒๑ องศา
ตื่นนอนเร็วกว่าปกติเพราะอากาศหนาว ทำภาระกิจส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว จึงไหว้พระสวดมนต์
ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ เจริญจิตตภาวนา อธิษฐานจิต แผ่เมตตา จนฟ้าสว่างจึงได้วันทาลาพระ
ลงไปทำพิธีให้แก่ญาติโยมที่มารออยู่ เสร็จแล้วกลับขึ้นศาลาที่พัก เขียนบันทึกตามปกติที่ทำมา
ตอนสายๆพระมาขอเบิกเงินไปซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จะมาซ่อมเรือหางยาวและออกไปติดต่อเรื่องที่ดิน
เพื่อออกโฉนด ตอนบ่ายสองกว่าๆมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานที่ดินมาขอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ดินของวัด
พร้อมทั้งเดินตรวจสอบพื้นที่ เพื่อที่จะนำไปเป็นข้อมูลในการออกโฉนด ลงไปให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ที่ดิน
พร้อมทั้งนำไปเดินดูพื้นที่โดยรอบของบริเวณวัด ตอนเย็นออกไปดูรถตู้วัดที่เอาไปซ่อม ปรากฏว่าเสียหาย
ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่เพราะว่าฝาสูบแตก ลูกสูบ ครัช เบรค ใช้การไม่ได้หมดสภาพ ต้องยกเครื่องใหม่ทั้งชุด
ได้เวลาจึงกลับวัดเพื่อมาไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็นปฏิบัติธรรมตามปกติอย่างที่เคยทำมา
.....รอยธรรม.....
                    อากาศหนาวถ้าเราอยู่นอนมากมันจะปวดข้อปวดกระดูก จึงต้องพยายามที่จะเคลื่อนไหวร่างกาย
ให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อปรับสภาพร่างกายให้มีภูมิต้านทานต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
จึงใช้การบริหารร่างกายโดยการเดินจงกรม เป็นการเจริญสติภาวนาและบริหารร่างกายไปพร้อมกัน ซึ่งในการเดินจงกรมนั้น
เราจะได้กำลังของสติและสัมปชัญญะทั้งสองอย่างพร้อมกัน  และเมื่อจิตเริ่มเข้าสู่สมาธิอารมณ์กรรมฐาน วิตก-วิจารณ์ จะเกิดขึ้น
คือจิตจะยกหัวข้อธรรมขึ้นมาคิดและพิจารณาแยกแยะหัวข้อธรรมตีความหมายในหัวข้อธรรมนั้นๆ จะเกิดสภาวะธรรมะลื่นใหล
คือคิดอะไรจะเป็นธรรมะไปหมด เดินไปเทศน์ไป เทศน์ให้ตนเองฟัง ซึ่งอารมณ์ธรรมตัวนี้ถ้าเราตามไม่ทันก็จะเกิดการหลงใน
อารมณ์ได้ ทำให้คิดว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม และถ้าควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ก็จะเกิดอาการฟุ้งซ่านในธรรม คืออยากจะออกไปเทศน์
ไปบรรยายให้ผู้อื่นได้รู้ในธรรมที่ตนเองรู้และเข้าใจ เพราะหลงคิดไปว่าตัวเองนั้นบรรลุธรรมแล้ว ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วนั้น
เป็นเพียงอารมณ์เบื้องต้นแห่งองค์ฌาณ คืออารมณ์วิตกวิจารณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายต้องพึงระวังไม่ให้หลงในอารมณ์นี้
ด้วยการมีสติและสัมปชัญญะ รู้ให้เท่าทันอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้น อันต้องมีพื้นฐานจากการฝึกสติและสัมปชัญญะที่ถูกต้องมาก่อน
ตามหลักของไตรสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ดั่งพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า..." ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศีลนี้เองเป็นพื้นฐานให้
เกิดสมาธิคือความสงบใจ สมาธิที่มีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นสมาธิที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก บุคคลผู้มีสมาธิย่อมอยู่อย่างสงบ เหมือนเรือน
ที่มีฝาผนัง มีประตูหน้าต่างปิดเปิดได้เรียบร้อย มีหลังคาป้องกันลมแดดและฝน ผู้อยู่ในเรือนเช่นนี้ ฝนตกก็ไม่เปียก แดดออกก็ไม่ร้อน
ฉันใด บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิดีก็ฉันนั้น ย่อมสงบอยู่ได้ไม่กระวนกระวายเมื่อลมแดดและฝน กล่่าวคือโลกธรรมแผดเผา กระพือพัดซัดสาด
เข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า สมาธิอย่างนี้ย่อมก่อให้เกิดปัญญา ในการฟาดฟันย่ำยีและเชือดเฉือนกิเลสอาสาวะต่างๆให้เบาบางและหมดสิ้นไป
เหมือนบุคคลผู้มีกำลังจับศาสตราอันคมกริบแล้วถางป่าให้โล่งเตียนก็ปานกัน "...นั่นคืออานิสงส์แห่งการฝึกสติโดยการรักษาศีล มีศีลเป็น
พื้นฐานในการเจริญจิตตภาวนา ตามหลักของพระพุทธศาสนาในไตรสิกขาทั้ง ๓ ประการ...
.....รอยกวี.....
                  ปลายฝน  ก็ถึง  ต้นหนาว
                ต้นข้าว   ออกรวง เอนไหว
                ลมพัด    รวงข้าว  แกว่งไกว
                เอนไป   ตามสาย  ลมแรง
                           เมฆฝน   บนฟ้า  กระจาย
                           สลาย    เมื่อเมฆ พบแสง
                           ฟ้าครึ้ม  อากาศ  เปลี่ยนแปลง
                           แสดง    ถึงกาล  เวลา
                                      เปลี่ยนแปลง  ไปตาม  วิถี
                                      ที่มี   มานาน   หนักหนา
                                      คู่โลก   คู่กาล  นานมา
                                      ดินฟ้า   อากาศ  ฤดู
                                               โลกนี้  มันเป็น  เช่นนั้น
                                               แปรผัน  ตามที่  เป็นอยู่
                                               เอาโลก  นั้นมา  เป็นครู
                                               เรียนรู้   กับโลก  และธรรม
                                                         จึงต้อง ปรับกาย  ปรับจิต
                                                         เพื่อคิด ให้พบ   สุขล้ำ
                                                         น้อมกาย  น้อมจิต น้อมนำ
                                                         เอาธรรม  มาเป็น  อารมณ์
                    เรียนรู้  ฝึกทำ กรรมฐาน
                    ตามกาล เพื่อความ เหมาะสม
                    ทางโลก  ทางธรรม  กลืนกลม
                    ผสม     ให้เป็น  หนึ่งเดียว
                          เอาธรรม  นำทาง  สร้างสรรค์
                          ร่วมกัน  เข้ามา   เกาะเกี่ยว
                          รวมกาย  รวมจิต  กลมเกลียว
                          กายเดียว  จิตเดียว  รู้ทัน
                                       ตามดู  ตามรู้  กายจิต
                                       พินิจ   ด้วยจิต  สร้างสรค์
                                       ดูกาย  ดูใจ    ทุกวัน
                                       ให้ทัน  กับความ  เปลี่ยนแปลง
                                                 ทุกอย่าง  มีเกิด  และดับ
                                                 สลับ      ไปทุก  หนแห่ง
                                                 ทำไป    ตามที่   มีแรง
                                                  แสดง    ให้เห็น  เป็นจริง
                                                             ความจริง  คือพระ  ไตรลักษณ์
                                                             คือหลัก   ในสรรพ (ะ)สิ่ง
                                                             คือโลก   แห่งความ  เป็นจริง
                                                             จิตนิ่ง     สงบ     พบธรรม.....
                              ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๖ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๓๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

200


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
  ๕ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   อากาศหนาว ฝนตกหนัก ลมพัดแรง ทุกอย่างมาพร้อมกัน ที่เรียกกันว่า " ฝนสั่งฟ้า "
เพราะเมื่อสิ้นฝนก็ต้นหนาว เป็นช่วงเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ตื่นตั้งแต่ตีสองกว่าเพราะว่าอากาศนั้น
มันหนาว ตื่นขึ้นมาเพื่อหาชุดกันหนาวมาสวม หมวกไหมพรม ถุงเท้า ถุงมือ เสื้อยืดแขนยาวกันหนาว
เปิดตู้ค้นหาผ้าห่มนวมกันหนาว เรียกว่าขนมาครบชุด ปีนี้ฤดูหนาวมาเร็วมากและอุณหภูมิลดลงเร็วมาก
ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้าแล้ว นั่งสมาธิเจริญจิตตภาวนา ปลุกธาตุปรับธาตุให้กับตัวเอง เพื่อให้ร่างกาย
ปรับสภาพกับความหนาว  กลางวันอยู่แต่บนศาลาลงไปล่างไม่ได้เพราะฝนตกหนักตลอดทั้งวัน หาอะไรทำ
ไปเรื่อยๆเพื่อไม่ให้ร่างกายอยู่นิ่ง เป็นการเจริญสติ ดูสัมปชัญญะการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อเพิ่มกำลัง
ของสติและสัมปชัญญะ เอาไม้มาเหลามาเจาะทำเหล็กจาร ตัดหัวน๊อตเอามาฝนให้แหลมเป็นปลายเหล็กจาร
เสร็จแล้วเข้าเน็ตเปิดดูในบอร์ด ดูกระทู้ต่างๆ จนกระทั่งถึงตอนเย็นได้เวลาจึงพักไปไหว้พระทำวัตรสวดมนต์เย็น
นั่งสมาธิเจริญจิตตภาวนาจนสมควรแก่เวลา จึงได้จำวัตรพักผ่อน
.....รอยธรรม.....
                     การเจริญจิตตภาวนานั้น เราสามารถที่จะทำได้ในทุกอิริยาบท คือ ยืน เดิน นั่ง นอน เพราะเป็นเรื่อง
ของการมีสติ คือการทำที่จิต แต่ในอิริยาบทต่างๆนั้น จะมีผลต่างกัน เช่นการเจริญสติภาวนาในท่านอนนั้น ทำได้ง่าย
เข้าสมาธิได้เร็ว แต่จะไม่ตั้งอยู่นาน เพราะนิวรณ์จะเข้ามารบกวนได้ง่ายคือนิวรณ์ตัวถีนมิทธะ อาการง่วงเหงาหาวนอน
สมาธิจะกล้าแต่สติจะมีกำลังน้อย มันจะทำให้เผลอหลับไป ส่วนในอิริยาบทยืนนั้นจะทำได้ยากกว่าการนั่ง เพราะต้องทรง
ร่างกายให้ตรงเพื่อไม่ให้ล้ม และในอิริยาบทเดินนั้นทำได้ยากที่สุด แต่ถ้าเข้าสมาธิได้แล้ว จะตั้งได้อยู่นาน ทรงได้อยู่นาน
เพราะว่ามีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จึงต้องใช้กำลังของสติเป็นอย่างมาก ในการจดจ่ออยู่กับองค์ภาวนาอยู่ตลอดเวลา
การรักษาศีลนั้นคือการเจริญสติ เพราะผู้ที่รักษาศีลนั้นต้องมีสติอยู่กับกายและจิต ในการที่จะคิด จะพูดและจะทำ เรียกว่า
ต้องสำรวมอินทรีย์อยู่ทุกขณะจิต เพื่อไม่ให้ล่วงละเมิดข้อห้ามของศีลที่รักษา ศีลจึงคือที่มาของสติพละ และสิ่งที่ได้มา
ควบคู่กับสติในการรักษาศีล ก็คือองค์แห่งคุณธรรม " หิริและโอตตัปปะ " สิ่งนั้นก็คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
เพราะการที่เราไม่กล้าที่จะล่วงละเมิดข้อห้ามของศีลนั้น เพราะเรามีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปเป็นตัวกระตุ้นเตือน
เพื่อให้เกิดจิตสำนึก ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ดั่งคำพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ว่า..."ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ศีลเป็นพื้นฐาน เป็นที่
รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่งแผ่นดินเป็นที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่มีชีพและหาชีพมิได้ เป็นต้นว่า พฤกษา
ลดาวัลย์ มหาสิงขร และสัตว์จตุบาท ทวิบาทนานาชนิด บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจย่อมอยู่สบาย มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือน
ที่ปัดกวาด เช็ดถูเรียบร้อย ปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน " ....
.....รอยกวี.....
                 ร้อยเดือน  ร้อยดวงดาว
                 ร้อยเรื่องราว  มาเล่าขาน
                 บอกเล่า   มายาวนาน
                 ตลอดกาล  ที่ผ่านมา
                                สอดแทรก  ซึ่งธรรมะ
                                เป็นสาระ    ให้ศึกษา
                                แนวทาง     ภาวนา
                                เห็นคุณค่า  ในทางธรรม
                                               ทางธรรม   นำชีวิต
                                               ชี้ถูกผิด     มีแบบนำ
                                               บำเพ็ญ     กุศลกรรม
                                               เพราะมีธรรม  นั้นนำทาง
                                                              นำทาง  เพื่อสร้างจิต
                                                              ทางชีวิต ที่สว่าง
                                                              รู้ลด  และละวาง
                                                              ให้ออกห่าง  จากอัตตา
                 อัตตา  และมานะ
                 ควรลดละ  ต้นปัญหา
                 ที่ยึด   และถือมา
                 ต้นปัญหา แห่งบาปกรรม
                              บาปกรรม   เกิดจากจิต
                              ที่คิดผิด    เข้าครอบงำ
                              ก้าวสู่      ความมืดดำ
                              จิตตกต่ำ  กรรมจึงมา
                                         ทุกข์กาย  และทุกข์จิต
                                         ทุกข์เพราะผิด จิตใฝ่หา
                                         ความสุข  ในกามา
                                         ทุกข์เพราะว่า ขาดทางธรรม
                                                       ดูกาย  และดูจิต
                                                       ดูความคิด ที่ครอบงำ
                                                       ดูสิ่ง  ที่เราทำ
                                                       ดูแล้วนำ  มาใคร่ครวญ
                                                                   ถูกผิด  จิตนั้นรู้
                                                                   ถ้าตามดู  ในทุกส่วน
                                                                   รู้ควร  และไม่ควร
                                                                   รู้ในส่วน  ที่ควรทำ....
                            ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๒๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                                   
                 

201




ฝนตกหนักทั้งวัน ลมแรงด้วย เขาเรียกว่าฝนสั่งฟ้า อากาศเริ่มจะหนาวแล้ว ขณะที่พิมพ์งานอยู่นี้
อุณหภูมิอยู่ที่ 19 องศา ซึ่งปีไหนฝนดีน้ำดี ปีนั้นหน้าหนาวจะมาเร็ว และหนาวมากด้วย
ฝนตกหนักออกไปไหนไม่ได้และอากาศหนาวดัวย จึงถ่ายรูปผ้ายันต์นำมาให้ชมกัน
เป็นผ้ายันต์ที่ทำสำหรับแจกพวกฝีพายศิษย์หลวงพ่อเปิ่นสายชายโขง ชุด อ.เชียงคาน จ.เลย
และชุดวัดทุ่งเว้า จ.มุกดาหาร

202
                      

ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
  ๔ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                 ตื่นนอนเร็วกว่าปกติ เพราะมีโยมจากจันทบุรีมาเยี่ยมและขอความอนุเคราะห์
ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว ทำพิธีให้โยมที่มาจากจันทบุรี แจกวัตถุมงคลให้โยม
เสร็จแล้วลงไปดูพระท่านซ่อมเรือหางยาวลำเก่า เอาปัจจัยให้พระท่านออกไปซื้อวัสดุอุปกรณ์
ที่จะมาซ่อมเรือ เอารถไปเติมน้ำมันและซื้อกาแฟ น้ำตาล ครีม มาไว้กองกลาง เสร็จแล้วจึงเอา
จีวร  สบง อังสะไปซัก อากาศครึ้มฝนตกพรำๆไม่มีแสงแดด เลยต้องเอาผ้ามาตากบนศาลาที่พัก
ตอนบ่ายๆโยมต้อ( to.2o )และครอบครัวมาถวายสังฆทาน นั่งสนทนากันสักครู่หนึ่งแล้วจึงทำพิธี
พร้อมทั้งแจกวัตถุมงคลของที่ระลก โยมต้อลากลับ คณะญาติโยมจากจังหวัดกระบี่ก็ได้เดินทางมาถึง
ทำพิธีให้ญาติโยมที่มาจากกระบี่เสร็จประมาณสามทุ่มกว่าๆ จึงได้พักผ่อนฉันกาแฟ เสร็จแล้วจึงไหว้พระ
สวดมนต์ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิต่อ จนถึงเวลาประมาณเที่ยงคืนจึงได้จำวัตรพักผ่อน
.....รอยธรรม.....
                    :059: "ปุตตํ  วตฺถุ  มนุสฺสานํ "  :059:
 บุตร คือฐานรองรับของมวลมนุษย์ การพัฒนาของเยาวชนนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำ เพื่อที่จะชี้นำ
เยาวชนเหล่านั้นไปสู่ทิศทางที่ดี จึงจำเป็นต้องมีแนวทางและแบบอย่างที่ดี ในการที่จะให้เยาวชนนั้นได้
เรียนรู้และดูเป็นแบบอย่าง ซึ่งจะมีหลักในการสอนการชี้แนะหลักๆอยู่ ๗ ประการคือ
๑.สอนให้รู้จักหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี
๒.สอนให้รู้จักการใช้ชีวิตรวมหมู่และอยู่ในสังคมอย่างมีระเบียบวินัย
๓.พยายามสร้างแรงจูงใจในการใฝ่ความรู้และความคิดจิตสร้างสรรค์
๔.สร้างความเชื่อมั่นให้แก่เขาเอง ให้เขามุ่งมั่นพัฒนาตัวเขาเองให้เต็มศักยภาพ
๕.ปรับทัศนคติและค่านิยมของเขาให้รู้จักการใช้เหตุและผล
๖.กระตุ้นให้เขามีความกระตือรือร้นตื่นตัวทุกเวลามีความพร้อมที่จะทำงานทุกเมื่อ
๗.สอนให้เขารู้จักการแก้ปัญหาและพึ่งพาตนเองก่อนที่จะไปหวังพึ่งผู้อื่น
    หลักทั้ง ๗ ประการนี้เรียกว่า "ธรรมที่เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา หรือเป็นประดุจแสงเงินแสงทองของชีวิต
เพื่อความเจริญรุ่งเรืองดีงาม ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างให้บังเกิดขึ้นแก่เยาวชนทั้งหลาย ช่วยให้เขานั้น
ได้รับการพัฒนาทางจิต และเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายที่จะต้องเป็นกัลยาณมิตรให้แก่เขาเหล่านั้น
บุคคลรอบข้างทั้งหลายอันได้แก บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ เพื่อนบ้านสื่อมวลชนทั้งหลาย ที่อยู่ในสังคมนั้น
ที่จะต้องรวมมือช่วยเหลือกัน เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์พัฒนาเยาวชนทั้งหลาย
   ธรรมหมวดนี้พระพุทธเจ้า ทรงตรัสไว้บ่อย ในพระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๙ มหาวรรค สังยุตตนิกายในตอนต้นๆ
จงขอยกมาให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อให้ได้นำไปช่วยเหลือกัน สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่
สังคม เพราะในสังคมปัจจุบันนี้อนาคตของเยาวชนนั้น กำลังไร้ทิศทางขาดแบบอย่างที่ดี ไม่ได้เน้นที่การมีคุณธรรม
สอนให้รู้จักแต่การแข่งขัน การชิงดีชิงเด่น อันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ไม่ได้สอนให้มีจิตสำนึก ความรู้สึกจิตอาสา
ต่อสังคม สังคมทุกวันนี้จึงสับสนวุ่นวาย เพราะไร้ซึ่งคุณธรรม...
.....รอยกวี.....
                   ปลายฝนก็ต้นหนาว....
                   ข้าวในนากำลังออกรวง
                   ลมหนาวเริ่มพัดมาเยือน
                   สัญญาณเตือนให้รู้ว่า
                   หน้าฝนกำลังจะผ่านไป
                   ฤดูกาลใหม่กำลังมาเยือน
                   เปลียนไปตามฤดูกาล.....
                   กาลเวลาที่ผ่านไป
                   เก็บเกี่ยวอะไรได้มากมาย
                   ได้รู้และเข้าใจในชีวิต
                   เห็นความถูกผิดในความคิด
                   และสิ่งที่ได้กระทำที่ผ่านมา
                   ได้รู้ว่าจุดหมายปลายทางนั้นยังไกล
                   และต้องก้าวเดินต่อไปสู่จุดหมาย.....
                   ในอ้อมกอดแห่งขุนเขา
                   ใต้ร่มเงาหมู่มวลพฤกษา
                    บนจุดหนึ่งของกาลเวลา
                    ถามตนเองเสมอว่าแสวงหาสิ่งใด
                    ทบทวนดูถึงสิ่งที่ผ่านไป
                    จงรู้ว่าความหวังที่ตั้งไว้
                    นั้นก้าวไกลถึงไหนแล้ว......
                                                         ชีวิตคือการเดินทาง.....
                                                         เพื่อสร้างกุศลกรรม สั่งสมบารมี
                                                         ด้วยจิตสำนึกแห่งคุณธรรม
                                                         ปรารถนาไปถึงซึ่งความหลุดพ้น
                                                         ฝันไว้ไกลและต้องไปให้ถึง
                                                         ไม่ว่าจะกี่ภพกี่ชาติก็ตาม
                                                         จะพยายามก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง
                                                          สั่งสมกำลังให้เป็นพละและเป็นอินทรีย์
                                                          และความฝันทีี่่มีนั้นคงไม่ไกลเกินจริง...
                                                                           ไปในที่ ที่เขาต้องการให้ไป
                                                                            พักอยู่อาศัยแล้วใจเป็นสุข
                                                                            ใจไม่เป็นทุกข์ ทุกอย่างก็สบาย
                                                                            ขอให้เมื่ออยู่อาศัยสถานที่นั้น
                                                                            มีความเจริญในธรรมงอกงามเพิ่มพูน
                                                                            ก็เป็นบุญกุศลของตัวเราแล้ว....
                                     ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๔ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๐๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                                                           

                   

203
 :059: ฐานพระธาตุเจดีย์ศรีมุกดานาคาพิทักษ์ ก่อนบูรณะ  :059:



ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๓ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                 ตื่นนอนตั้งแต่ตีสามกว่าๆ ซึ่งเป็นเวลาปกติที่จะตื่นอยู่แล้ว
เขานิมนต์ไปพักที่บ้านโยม ซึ่งห่างจากบ้านที่ตั้งศพประมาณ ๑๐๐ เมตร
รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้ว นอนกำหนดจิตภาวนาดูกายต่อ ไม่สะดวกที่จะลุกขึ้น
มาไหว้พระสวดมนต์ หรือนั่งสมาธิ เพราะสถานที่ไม่อำนวย จึงใช้การนอน
ดูกาย ทำกายคตานุสติ พิจารณาร่างกายแทน ประมาณตีสี่กว่าำ ญาติโยม
พากันตื่น จึงได้เปิดไฟขึ้นมานั่งพิมพ์งาน เสร็จเอาใกล้จะสว่าง ทำภาระกิจ
ส่วนตัวเสร็จแล้ว เจ้าภาพมานิมนต์ไปฉันเช้า แต่ปฏิเสธไปเพราะว่าฉันมื้อเดียว
เอาไว้เพลก็แล้วกัน เจ้าภาพจึงถวายกาแฟ น้ำเต้าหู้กับขนมปังแทน นั่งคุยกับ
ญาติโยมจนกระทั่งใกล้เที่ยงจึงได้ฉันเพล เสร็จแล้วไปเป็นเจ้าภาพสวดมาติกาบังสกุล
จูงศพออกจากบ้านไปวัด เป็นเจ้าภาพถวายกัณฑ์เทศน์หน้าไฟ พิธีฌาปนกิจเสร็จ
เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. กลับมาเก็บของที่บ้านโยมที่ไปจำวัตร ออกจาก อ.โนนดินแดง
เวลาประมาณ ๑๔.๓๐ น. เปลี่ยนเส้นทางใหม่ ใช้เส้นทาง โนนดินแดง- ประคำ-นางรอง
ประโคนชัย-ปราสาท-สุรินทร์-จอมพระ-ท่าตูม-สุวรรณภูมิ-พนมไพร-ยโสธร-ทรายมูล
กุดชุม-ไทยเจริญ-เลิงนกทา-นิคมคำสร้อย-มุกดาหาร ระยะทาง ๔๐๐กิโลเมตรกว่าๆ
เจอฝนมาตลอดทางและเป็นเวลาเย็น คนเลิกงาน จึงทำความเร็วไม่ได้ ต้องวิ่งมาช้าๆ
ถึงวัดเวลาประมาณสามทุ่มกว่าๆ โยมจากจันทบุรีโทรฯมา บอกว่ากำลังเดินทางมาที่วัด
ซึ่งจะถึงวัดทุ่งเว้าเวลาประมาณตีสองกว่าๆ จึงไม่กล้าจำวัตรเพราะกลัวจะหลับยาวหลับลึก
เพราะนั่งรถมานาน จึงหาอะไรทำไปเรื่อยๆเพื่อที่จะรอโยมจากจันทบุรี โยมมาถึงตีสองตรง
จัดที่พักให้ญาติโยมแล้ว จึงเข้าจำวัตรเวลาประมาณ ตีสองกว่าๆ
.....รอยธรรม.....
               สิ่งสำคัญที่ญาติโยมขาดหายไปนั้น คือความมั่นใจในตนเอง ขาดความเชื่อมั่น
ทุกคนมีพลังอยู่ในตัวเองกันทุกคน เพียงแต่บางครั้งนำมาใช้ไม่เป็น จึงต้องหาที่พึ่งทางใจ
พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคล ครูบาอาจารย์ เพื่อเพิ่มความมั่นใจและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ตน
และสิ่งที่จะเสริมศรัทธา ความเชื่อมั่นให้แก่เขาได้นั้น มันต้องเป็นสิ่งที่จับต้องได้และเห็นได้
ด้วยตาเนื้อ เขาจึงจะเชื่อและศรัทธา จึงจำเป็นต้องใช้พิธีกรรมและวัตถุมงคลเป็นตัวนำ เอามาใช้
เป็นกุศโลบาย ในการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เขา เพราะการให้ธรรมะล้วนๆนั้นมันเป็นสิ่งที่
ไม่สามารถเห็นผลได้ในทันที่ มันยังเป็นเพียงรูปธรรม ต้องนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมเสียก่อน
จึงจะเห็นผล และบุคคลนั้นต้องมีพื้นฐานในทางธรรมมาก่อนด้วย จึงจะเข้าใจและง่ายต่อการแสดงธรรม
วัตถุมงคลและพิธีกรรมจึงเป็นเบื้องต้นที่จะทำให้คนนั้นสนใจศรัทธาและเข้าหา จึงเป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้
จำเป็นต้องมีและต้องทำ  แต่ต้องไม่เข้าไปยึดติดจนกลายเป็นความงมงาย และไม่ใช้ที่สุดของการปฏิบัติธรรม
ซึ่งเรื่องนี้ได้เคยสนทนาธรรมกับพระสายปฏิบัติสายที่เรียกตัวเองว่า " สายปัญญา " อธิบายให้ท่านเข้าใจ
ว่าทำไมจึงต้องมีพิธีกรรมและวัตถุมงคล จนท่านจำนนด้วยเหตุผลไม่มีข้อโต้เถียงและข้อสงสัย เพราะได้บอกถึงเจตนา
ในการกระทำนั้นๆ เพราะต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ญาติโยม สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวของเขาเอง
และศรัทธาในบุญกุศลให้แก่เขา เพราะว่าศรัทธานั้นคือบ่อเกิดแห่งความสพเร็จในทุกสิ่ง แม้แต่ มรรคผล นิพพาน
ก็ต้องผ่านและส่งด้วยศรัทธา...
.....รอยกวี.....
                 นั่งเรียงร้อย  ถ้อยคำ   นำมาเขียน
                 ตั้งใจเพียร   สืบสาน   ซึ่งงานศิลป์
                 ทั้งกาพย์กลอน  จารึกไว้  ในแผ่นดิน
                 สืบงานศิลป์   คำกวี   ที่มีมา
                              เพื่อความเป็น   เอกลักษณ์   ในงานศิลป์
                              ของท้องถิ่น     ในชาติ        เชิงภาษา
                              บทกวี       เรียงร้อย     ที่เขียนมา
                              เพื่อรักษา   อนุรักษ์      ภาษาไทย
                                             บทกวี   ชี้ทาง  สว่างจิต
                                             ให้ครวญคิด  ปรับจิต   ให้คิดใหม่
                                             ถึงแนวทาง   ชีวิต    ที่เป็นไป
                                             จึงแฝงไว้   ด้วยธรรมะ คละเคล้ากัน
                                                           สอนให้มี  จิตสำนึก  ระลึกรู้
                                                           ให้มาดู   ต้นเหตุ    แห่งปัญหา
                                                           เป็นแนวทาง  เจริญจิต   ภาวนา
                                                           เพื่อนำพา    ชีวิต    ไม่ผิดทาง
                                                                        เพราะโลกนี้   สับสน   และวุ่นวาย
                                                                        มีมากมาย    ปัญหา    เป็นตัวอย่าง
                                                                        สอนให้คิด   ปล่อยปละ และละวาง
                                                                        เพื่อออกห่าง  จากทุกข์  ที่วุ่นวาย
                                                                                      ให้ใจนั้น  สงบ  พบทางสุข
                                                                                      ออกจากทุกข์  นั้นคือ  สิ่งมุ่งหมาย
                                                                                      อยากจะให้   ทุกคน    นั้นสบาย
                                                                                      ให้ทุกข์หาย  หมดโศก  หมดโรคภัย
                                                                                                     ให้ใจนั้น  มีธรรม  นำกุศล
                                                                                                      จะส่งผล  ให้จิต  นั้นแจ่มใส
                                                                                                      มีความสุข   ทั้งภายนอก  และภายใน
                                                                                                      เพราะสุขใน  ทางธรรม    ล้ำเลิศเอย....
                             ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                  รวีสัจจะ-สมณะไร้นาม
๓ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๔๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                            
                            
                

204
 :059: ยามเช้าที่ริมฝั่งโขง  :059:


 :059: ดอกจานในยามหน้าแล้ง  :059:


มุมหนึ่งของ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์
   ๒ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                    เมือ่วานนี้ ( ๑ ต.ค.๕๓ ) เป็นวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ตื่นเช้าตามปกติ
ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ เจริญจิตตภาวนา แผ่เมตตา อธิษฐานจิต บนศาลาที่พัก
จนได้เวลา ๐๕.๓๐ น.จึงวันทาลาพระ ลงไปจัดศาลาเตรียมไว้สำหรับญาติโยมที่จะมาทำบุญ
เสร็จแล้วกวาดลานวัดต่อ จนถึงเวลา ๐๗.๓๐ น.จึงได้หยุดพัก วันพระนี้ไม่ได้ลงไปทำกิจที่
ศาลาหอฉันให้พระที่อยู่ท่านทำพิธี ตอนสายๆได้รับการแจ้งข่าวว่าโยมพ่อของคนขับรถวัด
นั้นได้เสียชีวิต ซึ่งอยู่ที่บ้านส้มป่อย อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ จึงได้ลงไปมอบหมายงานภายในวัด
ให้ท่านเจ้าอาวาสและมัคทายกวัดช่วยดูแล เพราะว่าจะต้องลาพรรษาไปช่วยเป็นเจ้าภาพสวดศพ
โยมพ่อของคนขับรถวัดที่บุรีรัมย์ ซึ่งจะทำการฌาปนกิจศพในวันเสาร์นี้ ( ๒ ต.ค.๕๓ ) ออกเดินทาง
จากวัดตอนประมาณใกล้เที่ยง ใช้เส้นทาง มุกดาหาร-ยโสธร แล้วต่อเข้าเส้นทาง ยโสธร-โคราช
มาแยกที่ อ.พยัคภูมิวิสัย ไปอ.สตึก ต่อเข้าตัวจังหวัดบุรีรัมย์ วิ่งต่อไปทาง อ.นางรอง เลี้ยวไปทาง
อ.ปะคำวิ่งต่อไปถึง อ.โนนดินแดง  ที่ไม่ใช่เส้นทางสาย อ.ท่าตูม และผ่าน จ.สุรินทร์นั้น เพราะว่า
เส้นทางวิ่งยากถนนไม่ค่อยจะดี จึงมาใช้เส้นทางสายนี้ซึ่งสะดวกกว่า ถึงบ้านงานศพเวลาประมาณ
๑๘.๐๐ น. นั่งพักพอหายเหนื่อย ก็ได้เวลาที่พระท่านมาสวดพระอภิธรรมพอดี นั่งเป็นเจ้าภาพฟังพระสวด
ให้ลูกศิษย์ที่มาด้วยเป็นตัวแทนถวายปัจจัยไทยทานแก่พระคุณเจ้าที่นิมนต์มาสวด เอาปัจจัยให้คนขับรถ
วัดลูกชายของผู้ตามเพื่อใช้จ่ายในงาน นั่งคุยสนทนากับญาติโยมต่อหลังจากพระสวดพระอภิธรรมเสร็จแล้ว
โยมนิมนต์ไปที่พักเวลาประมาณ ๒๐.๓๐ น. ไปรอลูกศิษย์อีกชุดที่กำลังเดินทางตามมา ซึ่งชุดหลังนั้นมาทาง
จ.สุรินทร์และไปหลงทางกันอยู่ จึงมาไม่ทันฟังพระสวด ตามมาถึงที่พักประมาณสามทุ่มกว่าๆ นั่งคุยสนทนากัน
กับญาติโยมจนได้เวลาอันสมควรคือประมาณใกล้เที่ยงคืน จึงแยกย้ายกันไปพักผ่อน
.....รอยธรรม.....
                     " ยามดีใช้  ยามเจ็บไข้ช่วยรักษา และเมื่อมีปัญหาก็ช่วยเหลือ " นั้นคือสิ่งที่กระทำมาตลอด
ต่อลูกศิษย์ คนใกล้ชิด และเพื่อนสหธรรมิกที่คุ้นเคยกัน และเป็นเรื่องที่กระทำมานานแล้วตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส
คือการเป็นผู้ให้มาตลอด ไม่เคยหวังสิ่งตอบแทนในการกระทำ จึงทำให้เป็นที่ยอมรับของหมู่คณะมาตั้งแต่สมัย
เป็นฆราวาส มีเพื่อนฝูงมากมายที่ไม่ทอดทิ้งกัน มีหลายชุดหลายคณะ ตั้งแต่เพื่อนชุดเรียนประถม เพื่อนชุดเรียน
มัธยมต้น เพื่อนชุดเรียนมัธยมปลาย เพื่อนชุดเรียนมหาวิทยาลัยและเพื่อนสมัยที่ทำงาน ซึ่งในปัจจุบันยังติดต่อ
พบปะกันอยู่เสมอ และเป็นกำลังหลักในร่วมการบริจาคปัจจัยที่ใช้ในการสร้างวัด บูรณะวัดมาตลอด ซึ่งมียอดเงิน
รวมแล้วปีละไม่ต่ำกว่าสองล้านบาท ที่เพื่อนๆนั้นได้ร่วมบริจาคทำบุญมา โดยที่เราไม่ได้ร้องขอและบอกบุญเขา
เป็นความสมัครใจที่เขานั้นอยากจะร่วมสร้างบารมีกับเรา สิ่งนี้คืออานิสงส์ที่เราได้ช่วยเหลือเขามาตั้งแต่สมัยเป็น
ฆราวาส " ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน " คือคำสอนของผู้ใหญ่ท่า่นหนึ่งที่สอนมาตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส
และการที่เราวางตัวเสมอต้นเสมอปลายไม่เคยเปลี่ยนแปลงในการคบเพื่อน เป็นผู้ให้ไม่เคยเอาเปรียบใครและไม่
แสวงผลประโยชน์จากการคบหา จึงได้ส่งผลมายังทุกวันนี้  สิ่งสำคัญในการผูกมิตรก็คือมิตรภาพและความจริงใจ
ที่มีให้แก่กัน สิ่งนั้นจะยืนยงและคงทน อย่าไปหวังผลประโยชน์การการคบหามิตรสหาย ถ้าท่านหวังจะได้ความจริงใจ
จงเป็นผู้ให้ ซึ่งบางครั้งนั้น " รู้ว่าเขาหลอก แต่เต็มใจให้หลอก " ทำไปจนเขาละอายใจและไม่กล้าหลอก เหมือกับคำ
โบราณที่ท่านว่า " ระยะทางพิสูจน์ม้า  กาลเวลาพิสูนจ์คน "  อย่าคาดหวังผลในการกระทำในทันที เวลาจะเป็นเครื่องชี้
ในสิ่งที่เราได้กระทำไป จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจต่อท่านทั้งหลาย ในการที่จะคบหาใครสักคนไว้เป็นเพื่อน
เพราะว่าคำว่า " เพื่อน " กับคำว่า " คนรู้จักกัน " ความหมายมันแตกต่างกันมากมาย
.....รอยกวี.....
                  เร่ร่อน  และรอนแรม
                  ไปแต่งแต้ม  ต่อเติมฝัน
                  ผ่านคืน  และผ่านวัน
                  ต่อเติมฝัน  ที่สวยงาม
                              ร้อยป่า  และภูดอย
                              ทางนับร้อย  ที่เดินข้าม
                              พากเพียร  พยายาม
                              เพื่อเดินตาม ความฝันเรา
                                          เหนื่อยนัก  ก็พักผ่อน
                                          หยุดสัญจร เพื่อบรรเทา
                                          ให้เหนื่อย  นั้นทุเลา
                                          ก่อนรุกเร้า  ก้าวต่อไป
                                                    ทางเดิน  ของชีวิต
                                                    เราลิขิต  เส้นทางได้
                                                    อยู่ที่   ความตั้งใจ
                                                    ที่จะให้  มันนั้นเป็น
               ไม่ใช่  โชคชะตา
               ลิขิตฟ้า อย่างที่เห็น
               สิ่งที่   เรานั้นเป็น
               สิ่งที่เห็น  นั้นเราทำ
                       ชีวิต  ลิขิตได้
                       สู่จุดหมาย  โดยก้าวนำ
                       คิดชอบ  ประกอบกรรม
                       โดยกระทำ  ในสิ่งดี
                                 สิ่งดี  ของชีวิต
                                 อยู่ที่จิต  คิดถูกที่
                                 ตั้งใจ  ใฝ่ทำดี
                                 ชีวิตนี้  ก้าวถูกทาง
                                         ก้าวสู่  เส้นทางธรรม
                                         มีแบบนำ  เป็นตัวอย่า่ง
                                         รู้ลด  และละวาง
                                         เมื่อจิตว่าง  ก็พบธรรม...
                                             .................
                                    ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๓๒ น. ณ มุมหนึ่งของ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ประเทศไทย

205
 :059: พระธาตุเจดีย์ศรีมุกดานาคาพิทักษ์ วัดทุ่งเว้า มุกดาหาร  :059:


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   ช่วงนี้เก็บตัวอยู่บนศาลางดการคลุกคลีกับหมู่คณะ ตื่นนอนประมาณตีสามกว่าๆ
ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิเจริญสติภาวนา แผ่เมตตา อธิษฐานจิต แล้ววันทาลาพระ
ตอนประมาณ ๐๕.๓๐ น. ลงไปกวาดลานวัด เพราะช่วงนี้ลมพัดแรงใบไม้ร่วงมาก กวาดจนถึง
เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น.กลับขึ้นศาลาที่พักฉันกาแฟ เขียนบันทึก" รอยทางและรอยธรรม "
เสร็จแล้วจึงฉันข้าว ตอนบ่ายลงไปถอนหญ้าดายหญ้าในลานวัด เพราะว่าฝนตกมาหลายวัน
ทำให้หญ้าขึ้นเกือบเต็มลานวัด ทำให้กวาดลานวัดยาก รู้อยู่ว่าเป็นอาบัติ " พรากของเขียว "
แต่เมื่อไม่มีใครทำก็จำเป็นที่จะต้องทำเอง ค่อยไปแสดงอาบัติเอาทีหลัง ทำให้เสร็จเสียก่อน
นึกถึงคำสอนของหลวงพ่อชาเรื่อง " การปล่อยวางกับการทอดทิ้งธุระ " จึงจำเป็นที่ต้องทำ
เสร็จเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น. จึงไปสรงน้ำแล้วกลับขึ้นมาพักผ่อนบนศาลา ได้เวลาจึงไหว้พระ
สวดมนต์ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ เจริญสติภาวนา สมควรแก่เวลาจึงได้หยุดพัก เปิดดูบอร์ดของวัด
บางพระ ตอบปัญหาข้อสงสัยที่มีญาติโยมถามมา จนสมควรแก่เวลาจึงได้เข้าจำวัตรพักผ่อน
นอนพิจารณาร่างกาย ดูกายตนเองจนหลับไป
.....รอยธรรม.....
                    พิจารณาถึงความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้น พบว่าลึกๆในความรู้สึกเช่นนั้น มันมี
สาเหตุมาจาก การที่เราทำงานหนักมาตลอดเวลา ๖ ปีกว่า ตั้งแต่มาบูรณะวัดทุ่งเว้าแห่งนี้
จากวัดร้างที่ไม่มีอะไร มาสร้างใหม่หมดเกือบทุกอย่าง ต้องเดินทางและทำงานตลอดเวลา
เพื่อหาปัจจัยมาสร้างวัดและดูแลหมู่คณะ ไม่มีเวลาปลีกวิเวกออกเดินธุดงค์อย่างที่เคยทำมา
และอีกอย่างหนึ่งก็คือการบูรณะวัดทุ่งเว้านั้น ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว และมีความคิดที่จะจากไป
หาที่อยู่แห่งใหม่ มันเลยทำให้เกิดความเบื่อหน่ายต่อสถานที่และบุคคลรอบข้าง ต้องการความสงบ
สรุปสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ได้ว่า " จิตกลับไปติดอยู่กับอารมณ์ของสมาธิ พึงพอใจอยู่ในความสงบ "
เพราะช่วงนี้เข้าสมาธิบ่อยมาก เวลาที่ร่างกายอ่อนเพลีย เราใช้การเข้าสมาธิเพื่อปรับธาตุให้ร่างกาย
จึงเผลอไปติดในความสงบ ความวิเวกทางจิต ลืมพิจารณาธรรม กำลังของสติมากเกินไปจึงติดอยู่ใน
อารมณ์ของสมาธิ สัมปชัญญะตามสติไม่ทัน อารมณ์ของวิปัสสนาจึงขาดหายไป
                  เมื่อรู้ เห็น เข้าใจ ในสิ่งที่เป็น จึงต้องมาเริ่มใหม่ เพิ่มกำลังของสัมปชัญญะให้มากขึ้น
ให้เกิดความพอดีพอเหมาะกับกำลังของสติและกำลังของสมาธิ บางครั้งผงเข้าตาตนเองเราเอาออกไม่ได้
ทั้งที่เรื่องนนี้เราเคยบรรยายให้ผู้ปฏิบัติธรรมฟังมาแล้ว แต่พอเราเผลอ มันกลับมาเล่นงานตัวเราเองจนได้
 :059: ธรรมะที่เคยบรรยายเกียวกับเรื่องนี้  :059:
...ศรัทธามาก ปัญญาหย่อน ความโลภจะเข้าครอบงำจิต
...ปัญญามาก  แต่ศรัทธาหย่อน  ความสงสัยลังเลจะเข้าครอบงำ
...วิริยะกล้า  สมาธิหย่อน  ความฟุ้งซ่านจะเข้าครอบงำ
...สมาธิกล้า  วิริยะหย่อน  ความง่วงจะเข้าครอบงำ
...สมาธิกล้า  สัมปชัญญะหย่อน  วิปัสสนาจะหายไป
...สติและสัมปชัญญะ เป็นตัวเข้าไปปรับอินทรีย์พละให้เสมอกัน
 :059: องค์คุณ ๓  :059:
...อาตาปี...เพียรตั้งใจจริง
...สติมา...มีสติระลึกรู้เท่าทันอารมณ์
...สัมปชาโณ...มีความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะ
นี้คือธรรมะที่เคยบรรยายสอนผู้อื่นมาแล้ว แต่ในวันนี้ เวลานี้เรากลับหลงลืมไป ต้องมาทบทวนใหม่
เพื่อให้ทุกอย่างเกิดความพอดี แล้วความเบื่อทั้งหลายนี้ก็จะหมดไป
.....รอยกวี.....
                  ในบางครั้ง...
                  ขณะที่เรากำลังก้าวเดินไปข้างหน้า
                  เรามักจะคิดว่าทางที่เดินมานั้นมันตรง
                  แต่เมื่อเราหันกลับไปมองรอยทางที่เดินมา
                  จึงได้รู้ว่าทางที่เดินมานั้นมันไม่ตรง
                  เพราะเราหลงเข้าใจผิดคิดว่ามันตรง
                  มองไปข้างหน้าอย่างเดียวลืมเหลียวกับมาดูข้างหลัง
                  โบราณท่านกล่าวไว้ว่า....
                  สื่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
                  เพราะว่าทุกคนนั้นยังไม่หมดกิเลส
                  ยังหนาแน่นไปด้วยอัตตามานะทิฏฐิ
                  ยึดถือเอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่
                  คิดว่าสิ่งที่ตนนั้นทำไปถูกต้องเสมอ
                  อัตตาและมานะทิฏฐิคือเหตุแห่งความประมาท
                  สติและสัมปชัญญะ...
                  เป็นตัวเข้าไปลดละซึ่งอัตตาและมานะทิฏฐิ
                  มีหิริและโอตตัปปะเป็นเครื่องเตือนสติ
                  มีทาน ศีล ภาวนา เป็นเครื่องพาไปสู่กุศล
                  เพื่อความหลุดพ้นออกจากกองทุกข์
                  ให้พบกับความสุขในรสพระธรรม
                  น้อมนำชีวิตไปสู่สุคติเป็นนิมิตหมาย
                  ...สิ่งนั้นคือปลายทางของชีวิต...
                        .......................
                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๒๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

206
 :059: พิธีบรวงสรวงไหว้ครูบูรพาจารย์  :059:


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓
....รอยทาง.....
              ช่วงนี้เก็บตัวปฏบัติอยู่บนศาลา เว้นการคลุกคลีกับหมู่คณะ ทำวัตรสวดมนต์ไหว้พระอยู่บนศาลาที่พักรูปเดียว
ทบทวนบทสวดมนต์บทต่างๆ ทวนคำสวนบุพรกิจแห่งปวารณา อ่านหนังสือพระไตรปฏิก ฟังเทปธรรมะของครูบาอาจารย์
เจริญสติ พิจารณาธรรม ทบทวนดูกายและจิต ดูความประมาทและความผิดพลาดของตนเองที่ผ่านมา ว่าเรานั้นย่อหย่อน
ในข้อไหน ในเรื่องอะไรที่เราประมาท  บริหารร่างกายด้วยการลงไปกวาดลานวัด ปัดกวาดเสนาสนะ โต๊ะหมู่บูชา ใช้เวลา
ทำกิจ พิจารณาธรรมอยู่แต่เพียงผู้เดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับหมู่คณะ ตั้งแต่ตื่นนอนรู้สึกตัวขึ้นมา จนกระทั้งได้เวลาจำวัตรพักผ่อน
รู้สึกตัวตอนไหนก็ทำตอนนั้น เน้นเรื่องการมีสติและสัมปชัญญะ ระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อม อยู่กับกายและจิตตลอดเวลา
.....รอยธรรม.....
                    " เอกาสนํ  เอกเสยยํ  เอโก  จรมตนฺทิโต
                      เอโก   ทมยมตฺตานํ   วนนฺเตรมิโต สิยา "
   " พึงนั่งคนเดียว  นอนคนเดียว  ยืนคนเดียว  มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน
      ฝึกฝนตนเองอยู่ผู้เดียว  พอใจอยู่ในแดนป่า อันสงัดเงียบ "
" เอกายโน  อยํ  ภิกฺขเว  มคฺโค  สตฺตานํ
   วิสุทฺธิยา  โสกปริเทวนํ  สมติกฺกมาย
   ทุกฺขโทมนสฺสานํ  อตฺถงฺคมาย ยายสฺส
   อธิคมาย  นิพฺพานสฺส สจฺฉิกรณตฺถาย
   ยทิทํ   จตฺตาโร  สติปฏฺฐานาติฯ "
                               " ดูกรภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย  ทางนี้เป็นทางไปอันเอก
                 เป็นทางบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เป็นหนทางที่ก้าวล่วงซึ่งความเศร้าโศก
                 เสียใจ  พิไรรำพัน  เป็นหนทางที่กำจักเสียซึ่งทุกข์กายทุกข์ใจ  เป็นทางที่เข้าไป
                 ถึงความจริงของชีวิตคืออริยมรรค  เป็นหนทางที่รู้แจ้งแทงตลอด คือมรรคผลนิพพาน
                 อย่างนี้คือ สติปัฏฐานทั้ง ๔ ดังนี้ "
" ดูก่อน สุภัทธะ  ในธรรมวินัยนี้  ถ้ายังมีมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อยู่ตราบใด แม้พระโสดาบัน
  พระสกิทาคามี  พระอนาคามีและพระอรหันต์ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น  ถ้าภิกษุทั้งหลายพากันประพฤติ
  ปฏิบัติอยู่โดยชอบ  โลกนี้ก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ "
                   :059: สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่าง  :059:
๑. พุทธวิสัย...วิสัยของพระพุทฑเจ้า
๒.ฌาณวิสัย...วิสัยของผู้ที่ได้ฌาณ
๓.กรรมวิสัย...วิสัยที่เป็นกรรม  วิบากแห่งกรรม
๔.โลกาวิสัย...ความคิดเรื่องโลกทั้งหมด
       เป็นเรื่องอจินไตย หมายถึงวิสัยที่ไม่ควรคิดของบุคคลทั้งหลาย
สิ่งที่ควรคิดก็คือความพ้นทุกข์ จะทำอย่างไรให้พ้นจากทุกข์..
        " การเจริญวิปัสสนา คือการเจริญสติปัฏฐาน ๔
           การเจริญสติปัฏฐาน ๔ คือการบำเพ็ญภาวนากุศล
           การบำเพ็ญภาวนากุศล คือการฝึกตนให้มีสติอยู่กับรูปนาม
           การมีสติอยู่กับรูปนาม คือความเป็นผู้ไม่ประมาท
           ความเป็นผู้ไม่ประมาท คือความเป็นผู้ไม่อยู่ปราศจากสติ
           ผู้ไม่อยู่ปราศจากสติ ผู้นั้นชื่อว่า ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ
           ปฏิบัติเป็นมัชฌิมา คือทางสายกลาง  ปกิบัติถูกต้องตาม
           พุทธพจน์ที่ได้ตรัสไว้ชอยบแล้ว "
รวบรวมข้อธรรมที่นำมาคิดพิจารณา เพื่อเพิ่มกำลังศรัทธาในการปฏิบัติ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ
ให้กับตนเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์ต่อไป...
.....รอยกวี....
                    รอยทาง   และรอยธรรม
                    รอยลำนำ  คำกวี
                    รอยทาง   นั้นบ่งชี้
                    ว่าทางนี้   คือทางธรรม
                                 แนวทาง   มีมากมาย
                                 ที่จะให้    เรานั้นทำ
                                 เรียนรู้      และจดจำ
                                 แล้วน้อมนำ  มาทำตาม
                                              ก้าวพ้น    ออกจากทุกข์
                                              ได้พบสุข  ทุกโมงยาม
                                               ทางธรรม  นั้นงดงาม
                                               ก้าวเดินตาม  เส้นทางธรรม
                                                              ทางธรรม    นำชีวิต
                                                              ไม่พลาดผิด จิตใฝ่ต่ำ
                                                               กิเลส    ไม่ครอบงำ
                                                               เพราะมีธรรม  นั้นนำทาง
                        นำทาง  สว่างจิต
                        นำชีวิต  ให้ออกห่าง
                        จากชั่ว   คือละวาง
                        ทำทุกอย่าง  ในทางดี
                                   ทางดี  คือกุศล
                                   จะเพิ่มผล   บารมี
                                   เอาธรรม    มานำชี้
                                   สร้างความดี  ไว้แก่ตน
                                                 ความดี   ของชีวิต
                                                 เป็นนิมิต  แห่งกุศล
                                                 ความดี    คือมงคล
                                                 ติดตามตน ทุกภพไป
                                                              ชีวิต   ที่ผ่านมา
                                                              สร้างคุณค่า  แล้วหรือไร
                                                              ก่อนที่  จะสิ้นไป
                                                              จงสร้างไว้  ซึ่งความดี...
                               ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓๐ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๒.๐๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย  

207
 :059: ศรัทธาในการปฏิบัติธรรมของญาติโยม  :059:


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๙ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                    ตื่นนอนเวลาประมาณตีสามกว่าๆทำกิจวัตรตามปกติ ไหว้พระสวดมนต์
นั่งสมาธิเจริญสติภาวนา แผ่เมตตา อธิษฐานจิต จนถึงสว่างอารมณ์แต่ยังมีธรรมยังค้างอยู่
เกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากที่จะทำอะไร จึงได้นั่งพิจารณาจิตเพื่อค้นหาที่มาของความ
เบื่อหน่ายที่เป็นอยู่ หาเหตุที่เกิดของอารมณ์นั้น นั่งพิจารณาจนเข้าใจถึงที่มาของอารมณ์นั้น
ตั้งแต่เช้ามืดจนเกือบถึงเที่ยง ไม่ได้ลงไปทำกิจไหว้พระสวดมนต์ ทำวัตรเช้าและฉันภัตราหาร
ใกล้เที่ยงจึงได้ฉันเพล ตอนบ่ายลงไปดูพระและพวกฝีพายที่ช่วยกันแก้ไขรถพ่วงบรรทุกเรือยาว
ลงไปให้คำแนะนำปรับปรุงแก้ไขแก่พวกเขา เสร็จแล้วไปดูช่างทำมุ้งลวดที่เขามาวัดและประเมิน
ราคาค่าติดมุ้งลวดที่กุฏิรับรอง  ตกลงราคาและจ่ายเงินกัน กลับขึ้นที่พักเปิดดูเวปบอร์ดตอบปัญหา
ที่มีญาติโยมถามมา พิจารณาปฏิบัติธรรมต่อ เพลิดเพลินในธรรมจนเลยเวลา ไม่ได้ลงไปทำวัตรสวดมนต์
ร่วมกับพระที่อยู่ด้วยกัน เลยทำวัตรสวดมนต์ปฏิบัติธรรมต่อบนศาลาที่พัก จนสมควรแก่เวลาจึงได้จำวัตร
.....รอยธรรม.....
                เจริญสติพิจารณาธรรมตามแนวของมหาสติปัฏฐาน ๔ พิจารณาใน กาย เวทนา จิต ธรรม
เห็นการเกิดดับของรูปนามตามแนวของสติปัฏฐาน ๔  แยกรูปนามออกจากกัน รู้เหตุและผลของรูปนาม
เห็นความเป็นพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของรูปนาม เห็นความเกิดดับของรูปนาม เห็นความ
ดับไปของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม
แล้วเกิดความเบื่อหน่าย เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้วเกิดความเบื่อหน่ายแล้วอยากหลุดออกจากรูปนาม
เห็นที่มาของอารมณ์ความเบื่อหน่ายที่เรียกว่า " นิพพิทาญาณ " รักษาทรงไว้ซึ่งอารมณ์ธรรมตามกำลังของ
สติ ปัญญาและศรัทธาที่มีเท่าที่จะทรงอารมณ์ไว้ได้ น้อมระลึกนึกถงหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้...
...ความไม่ประมาทเป็นคุณธรรมของนักปฏิบัติ...
             ความไม่ประมาทพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มีอยู่ ๔ ประการ
๑.ไม่มีความอาฆาตใคร
๒.มีสติอยู่ทุกเมื่อ
๓.มีสมาธิอยู่ภายใน
๔.บรรเทาความอยากในจิตใจ
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า " บุคคลผู้ใด ได้มีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ บุคคลผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในคำสอนของเราตลอดกาล "
                       " ปิฏกํ  พุทฺธวจนํ  อาหริตฺตวา  กถิยมานํ  อุปฺปมาทํ  โอตรติ "
" พระไตรปิฏกทั้งหมดทั้งสิ้น อันพระธรรมกถึกได้เทศนาสั่งสอนนั้น ก็รวมลงอยู่ในที่ความมีสติอย่างเดียว "
.....รอยกวี.....
                     เสียศูนย์    ฤาฉัน   สูญเสีย
                    ฉันเหนื่อย  ฉันเพลีย ไฉน
                    ฉันพ่าย     ฉันแพ้    หรือไร
                    จึงได้      เบื่อหน่าย  ขึ้นมา
                                 ทบทวน   ดูกาย   ดูจิต
                                 ค้นคิด     สืบเสาะ  ค้นหา
                                 ถึงเหตุ    ที่เกิด     ขึ้นมา
                                 เพื่อหา    ต้นตอ    อารมณ์
                                             เห็นทุกข์   เห็นภัย  เห็นโทษ
                                             ประโยชน์  และความ  เหมาะสม
                                             แยกรูป     แยกนาม   อารมณ์
                                             ผสม       ตั้งอยู่        ดับไป
                                                         เข้าใจ     ในพระ   ไตรลักษณ์
                                                         รู้หลัก     เปลี่ยนจิต  คิดใหม่
                                                         รูปนาม    ดำเนิน     ต่อไป
                                                         เข้าใจ     ที่มา       อารมณ์
                   เบื่อหน่าย  เพราะเห็น   เกิดดับ
                   สลับ       กับความ      เหมาะสม
                   ตามดู     รู้ตาม      อารมณ์
                   สั่งสม     อารมณ์   แห่งธรรม
                              รักษา   ดำรงค์    ทรงไว้
                              ให้ใจ   ไม่ให้     ใฝ่ต่ำ
                              ไม่ให้  ความชั่ว   ครอบงำ
                              น้อมนำ  ธรรมมา  คุ้มครอง
                                        ให้จิต   อยู่กับ   กุศล
                                        ส่งผล   ให้ใจ    ไม่หมอง
                                        ใคร่ครวญ  ดำริ    ตริตรอง
                                        และมอง  ทุกอย่าง   เป็นธรรม
                                                    รวมลง  ตรงที่   สติ
                                                   เริ่มริ     ก็ใจ   สุขล้ำ
                                                   คิดดี    คิดชอบ  แล้วทำ
                                                   น้อมนำ  สุขใจ   ในธรรม....
                         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๙ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๒๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                                    
                  

208


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๘ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   ตื่นเช้าตามเวลาปกติ ไหวัพระสวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิเจริญจิตภาวนา แผ่เมตตา
จนได้เวลาจึงลงไปทำทำกิจของสงฆ์ในภาคเช้า เสร็จแล้วกลับขึ้นที่พัก เอาเข็มสักมาผ่าใหม่แต่งใหม่
นั่งแต่งเข็มจนถึงเที่ยง จึงหยุดพักฉันกาแฟ ท่องหนังสือคำบุพรกิจปวารณา จนถึงบ่ายสองกว่าๆจึงพัก
มาแต่งเข็มสักต่อจนถึงเย็น จึงลงไปทำกิจไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็น เสร็จแล้วกลับมาปฏิบัติต่อที่บน
ศาลาที่พักจนถึงเวลาประมาณเที่ยงคืน จึงหยุดพักมานั่งเขียนแปลน เขียนแผนผัง สถานที่ปฏิบัติธรรม
ที่จะไปสร้างใหม่หลังออกพรรษา ซึ่งทีมงานเพื่อนๆสมัยเรียนมัธยมกำลังจัดหาสถานที่อยู่ พวกเขารวม
ทุนลงขันกันซื้อถวาย ใช้เนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯและเขตปริมณฑลจนเกินไป
เดินทางไปกลับได้ภายในวันเดียว เพราะพวกเพื่อนๆนั้นตอนนี้หันมาสนใจในเรื่องการปฏิบัติธรรมกันมาก
พวกเขาจึงอยากจะนิมนต์ให้มาอยู่ใกล้ๆกัน โดยจะรวมตัวกันสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมถวายและพวกเขา
จะได้มีสถานที่ปฏิบัติธรรมส่วนตัวกัน เพราะทุกคนนั้นถึงจุดของความอิ่มตัวในทางโลก จึงหันมาสนใจใน
ทางธรรมกัน โดยมีตัวเรานั้นเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างเพื่อนๆ ตั้งแต่สมัยประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย
เพื่อนๆสมัยเรียนมหาวิทยาลัย และมิตรสหายในทางธรรมทั้งหลาย สร้างไว้เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมและเป็นที่
พบปะพูดคุยกัน ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนนั้นจะนัดกันไปเที่ยวไปกินเหล้าเฮอาสังสรรค์ แต่ปัจจุบันนัดเจอกันเพื่อ
สนทนาทางธรรม กินน้ำชากาแฟ พูดคุยแลกเปลี่ยน ปลื้มปิติดีใจที่เพื่อนๆทั้งหลายได้ปรับเปลี่ยนความคิด
เข้าใจชีวิตและรู้จักคำว่าพอเพียง...
.....รอยธรรม.....
                    " ทำให้ดู  อยู่ให้เห็น  สอนให้เป็น  แล้วจึงปล่อย " การที่จะให้ผู้อื่นมาศรัทธาในตัวเรานั้น
มันอยู่ที่การกระทำ การปฏิบัติของตัวเรา คือเราต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เป็นแนวทางให้เขาเห็น ในการอยู่
การเป็นของตัวเรา และตัวเราต้องมีความมุ่งมั่นพากเพียร คือทำให้จริงไม่ทอดทิ้งธุระ ทำให้เห็นผลของสิ่งที่ทำ
ก่อนที่จะให้ผู้อื่นมาศรัทธาในตัวของเรานั้น ตัวเราเองต้องมีความศรัทธาในตัวของเราเองเีสียก่อน ศรัทธาในสิ่ง
ที่เราคิดและเราทำ ศรัทธาในกุศลทั้งหลายที่เราได้กระทำมา จึงจะไม่เป็นการลวงโลก ไม่เป็นการหลอกตนเอง
และหลอกลวงผู้อื่น  การสอนธรรมะนั้นต้องเริ่มที่การกระทำที่ตัวเราก่อน ทำเป็นตัวอย่างให้เขาสนใจว่าทำได้
อย่างไร ให้เขาเข้ามาหาเรา มาถามเรา อย่าเอาธรรมะไปยัดเหยียดให้เขา อย่าเอาธรรมะไปเร่ขาย เพราะมันจะ
ได้ผลตอบรับนั้นน้อยมาก รอให้เขามีความอยาก เขามีความสนใจ เราจึงจะถ่ายทอดธรรมะให้เขา เพราะว่าใจ
ของเขานั้นมีความพร้อมและเปิดรับธรรมะแล้ว ซึ่งจะได้ผลการตอบรับและการปฏิบัติตามที่ดีกว่า ไม่เสียเวลา
ในการที่จะเผยแผ่ธรรมะ เหมือนดั่งที่เคยเขียนโฉลกธรรมไว้ว่า..." เมื่อยังไม่ถึงกาลเวลาที่เหมาะสม จิตย่อมไม่
เข้าถึงธรรม จึงยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ อดทนรอให้เขาพร้อม จึงกล่าวธรรม " และโฉลกธรรมอีกบทหนึ่ง
ที่เขียนไว้ว่า..." ตราบใดที่ยังมีหนทางไป ใจย่อมไม่นึกถึงพระธรรม แต่เมื่อคุณชอกช้ำ พระธรรมคือที่พึ่งสำหรับคุณ "
การเรียนรู้ของแต่ละคนนั้น แตกต่างกันโดยอุปนิสัยและวิบากกรรมของแต่ละคน จะให้เสมอกันนั้นมิได้ แล้วแต่วาสนา
และบารมีของแต่ละคน คำพูด คำสอน การกระทำที่เหมือนกัน แต่ความรู้ ความเข้าใจ การตีความหมายอาจจะแตกต่างกัน
อยู่ที่ภูมิธรรมและภูมิปัญญาของแต่ละคนแต่ละท่าน อย่าได้คาดหวังในการกระทำจนเกินไป เพียงแต่ทำหน้าที่ของเรานั้น
ให้สมบูรณ์ ให้ครบถ้วน เต็มกำลังความรู้ ความสามารถของเราก็เพียงพอ เพื่อธรรม เพื่อวินัยเป็นไปโดยสภาวะแห่งธรรม...
.....รอยกวี.....
                   คนไร้ราก   ร่อนเร่    พเนจร
                   ไร้ถิ่นฐาน   ถาวร     อยู่อาศัย
                 เพราะเกิดมา  มีกรรม  จึงทำใจ
                 ร่อนเร่ไป     ตามหน้าที่  เพราะมีกรรม
                                เคยคิดหยุด   ปักหลัก   อยากพักบ้าง
                                หยุดการสร้าง  การสอน  ที่ซ้ำซ้ำ
                                ปลีกวิเวก    ภาวนา     ศึกษาธรรม
                                แต่ว่ากรรม  ยังไม่หมด  ต้องอดทน
                                                ฝันไว้ไกล  ยังไม่ถึง   ซึ่งที่ฝัน
                                                เพราะสิ่งนั้น  เปลี่ยนไป  ในทุกหน
                                                ต้องพบปะ   มากมาย    หลายผู้คน
                                                ต้องคิดค้น   สงเคราะห์  ให้เหมาะงาน
                                                               จึงทำใจ    ทำจิต    คิดแบบใหม่
                                                               มาฝึกใจ    ฝึกจิต    คิดประสาน
                                                               เอาธรรมะ  มาใช้     ในการงาน
                                                               ให้เป็นการ  เจริญจิต  ภาวนา
                                                                              มีสติ   ระลึกรู้    อยู่กับกาย
                                                                              ไม่วุ่นวาย  กับการ  แสวงหา
                                                                               พึ่งพอใจ  ในสิ่ง    ที่ได้มา
                                                                               เอาตัณหา ละตัณหา ตั้งหน้าทำ
                                                                                            ทำหน้าที่   ของตน  ตามบทบาท
                                                                                            ไม่ประมาท  พาใจ   ให้ตกต่ำ
                                                                                            ให้กิเลส    ตัณหา    เข้าครอบงำ
                                                                                            เจริญธรรม  เจริญจิต  ด้วยคิดดี
                                                                                                           การเดินทาง  นั้นยัง   ไม่สิ้นสุด
                                                                                                           ยังไม่หยุด   หายใจ   ไม่ถึงที่
                                                                                                           ยังให้เรา     ได้สร้าง    บารมี
                                                                                                           ทำความดี   ต่อไป    ให้มันเต็ม.....
                                         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๘ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๕๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย 

209



ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๗ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                 ตื่นนอนตามเวลาปกติคือตีสามกว่าๆ ทำกิจวัตรส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว
ไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิ เจริญจิตภาวนา แผ่เมตตา อธิษฐานจิต ทำกิจของสงฆ์
จนได้เวลาลงไปทำกิจอื่นต่อ กวาดวิหารลานวัด จนได้เวลาจึงได้หยุดพักลงศาลา
ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า ฉันข้าว เสร็จแล้วลงไปกวาดลานวัดต่อ เื่พื่อย่อยอาหาร
กวาดถึงประมาณ ๑๐.๓๐ น. จึงหยุดพักขึ้นมาฉันกาแฟ ทบทวนท่องบุพรกิจปวารณา
จนถึงเวลาบ่ายสามจึงลงไปกวาดลานวัดต่อ เพราะเนื้อทีลานวัดนั้นประมาณไร่กว่าๆ
ปลูกต้นไม้ไว้เต็มลานวัดเพื่อเอาร่มเงา และไม่ได้กวาดมาหลายวันเพราะไปกิจนิมนต์
ต่างจังหวัดแลละก่อนหน้านี้ฝนตกหนักลมแรง จึงทำให้มีใบไม้กิ่งไม้ร่วงมากเต็มลาน
จึงต้องใช้เวลานานในการกวาดและขนใบไม้ไปทิ้ง กว่าจะกวาดใบไม้เศษไม้เสร็จนั้น
ก็ใกล้ค่ำแล้ว จึงได้หยุดพักลงศาลาไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็น เสร็จแล้วกลับที่พัก
ปฏิบัติต่อตามที่เคยทำมา จนได้เวลาอันสมควร จึงได้จำวัดพักผ่อน
.....รอยธรรม.....
                    ขณะทำงานไปเจริญสติไป คิดและพิจารณาให้เป็นธรรมะ ทุกขณะที่ทำงาน
พิจารณาใบไม้ทั้งหลายเศษขยะทั้งหลายเปรียบเหมือนกิเลสในใจเรา ถ้าเราไม่หมั่นปัดกวาด
มันก็จะสะสมเพิ่มขึ้นทุกขณะ ต้องใช้เวลานานในการที่ปัดกวาดทำให้หมดไป ทำให้สะอาด
ถ้าเราประมาทและทอดทิ้งธุระ ไม่หมั่นชำระจิตของเรา ปล่อยให้ใจหลงเพลินไปกับกิเลสทั้งหลาย
ให้มันสะสมอยู่ในจิตของเรา เหมือนกับใบไม้ในลานวัดที่เราปล่อยทิ้งไม่กวาดมานาน มันย่อมมี
มากขึ้นทุกๆวัน เพราะใบไม้นั้นคือของเสื่อม ที่หล่นลงสู้พื้นดินเมื่อสิ้นอายุไข เหมือนกับกิเลสทั้งหลาย
ที่จรมากระทบจิตของเรา และเราก็รับเอากิเลสเหล่านั้นมาไว้ในจิต มาคิดมาปรุงแต่ง เิพิ่่มแรงของกิเลสนั้น
นานวันมันก็จะเกาะติดจิตของเรา กลายเป็นความเคยชิน กลายเป็นนิสัย และต่อไปก็จะกลายเป็นสันดาน
ซึ่งอยากต่อการที่จะแก้ไข ต้องใช้เวลามากมายในการที่จะละลายความคิด ปรับจิตให้กลับมาเป็นกุศลจิต
เราจึงต้องคิดและพิจารณา ค้นหากิเลสทั้งหลายในกายและจิตของเราให้เห็น ต้องเห็นและรู้จักกับกิเลสนั้น
เสียก่อน แล้วจึงจะเข้าไปลด ไปละ ไปเลิก ในสิ่งที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ใช้เหตุการณ์ที่เราประสพพบเห็นและ
เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เอามาคิดพิจารณาปรับเข้าหาหลักของธรรมะ เพื่อที่จะลดละกิเลสทั้งหลาย
.....รอยกวี.....
                        ยกกวี   ลำนำ   คำครูสอน
                 เป็นบทกลอน สอนใจ ให้ครวญคิด
                 อย่าประมาท  บาปกรรม  อันน้อยนิด
                 ที่เกาะจิต     เกาะใจ    ในผู้คน
                            " อย่าดูหมิ่น   บาปกรรม   อันน้อยนิด
                               จะไม่ติด    ตามต้อง     สนองผล
                               เหมือนตุ่มน้ำ  เปิดหงาย รับสายชล
                               ย่อมเปี่ยมล้น  ด้วยอุทก ที่ตกลง "
                                               คือกวี    คำสอน  แต่ก่อนเก่า
                                             สอนให้เรา ได้คิด   จิตไม่หลง
                                             มีสติ    จัดวาง     อย่างมั่นคง
                                             เพื่อเสริมส่ง  ให้คิด  ด้วยจิตดี
                                                            ฝึกทำดี  เริ่มที่ ใจเราคิด
                                                            คือฝึกจิต วางใจ ให้ถูกที่
                                                            ให้จิตเป็น  กุศล  ส่งผลดี
                                                            ใจเรานี้  ก็จะห่าง  ทางอบาย
                                                                       ใจที่มี   ธรรมะ   คุ้มครองอยู่
                                                                       ทำให้รู้  ถึงชีวิต  นิมิตหมาย
                                                                        กำหนดที่  จะไป  เมื่อใกล้ตาย
                                                                        สุคติ   คือที่หมาย  ปลายทางเรา
                                                                                   วันเวลา  ของชีวิต  นั้นนิดหน่อย
                                                                                   อย่าได้ปล่อย เผลอใจ  ในทางเขลา
                                                                                   หลงกิเลส   ตัณหา   พามัวเมา
                                                                                   ให้ต้องเศร้า  ต้องทุกข์  ไม่สุขใจ
                                                                                                  สุขในธรรม   ล้ำค่า  กว่าสุขอื่น
                                                                                                  เมื่อจิตตื่น   ด้วยธรรรม นำสดใส
                                                                                                  เพราะว่ามี   คุณธรรม    ประจำใจ
                                                                                                  ก็จะได้    พบสุข   สงบเย็น.....
                                              ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๗ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๐๐น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                                    


210
 :059: ถ้ำลอดกลางทะเลอ่าวพังงา  :059:


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๖ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                ตื่นขึ้นทำกิจวัตรตามเวลาปกติที่เป็นมา ได้เวลาจึงลงไปศาลาสวดมนต์ทำวัตรเช้า
ร่วมกับคณะสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาร่วมกัน เพราะได้ตั้งกฏกติกาไว้ว่า หลังกลับจากบิณฑบาตรแล้ว
พระทุกรูปต้องมารวมกันทำวัตรสวดมนต์ก่อนที่จะฉันภัตราหารเช้า เพราะว่าจะได้เจอหน้าเจอตา
สนทนากัน และจะได้ชี้แจงมอบหมายงานกันไปทำ หลังจากฉันเช้าแล้วได้ให้โอวาทพวกฝีพาย
ทั้งทีมชายและทีมหญิงที่จะไปแข่งในรอบต่อไป ฝีพายและกองเชียร์ไปกันเกือบหมดวัด เหลือแต่เรา
ผู้เดียวอยู่เฝ้าวัด กลับขึ้นศาลาที่พัก เอาหนังสือบุรพกิจปวารณามาท่องทบทวน เพราะเหลือไม่ถึงเดือน
แล้วที่จะออกพรรษา และในวันปวารณานั้นจะทำกันที่วัดที่จำพรรษาอยู่ ไม่ได้ไปทำร่วมกันกับพระทั้งตำบล
เพราะจะได้ว่ากล่าวตักเตือนชี้แนะและขอขมาโทษซึ่งกันและกันของพระที่จำพรรษาร่วมกัน จึงจำเป็นที่จะต้อง
ทบทวนคำสวดบุรพกิจปวารณาให้คล่อง เพราะว่าในปีหนึ่งสวดเพียงครั้งเดียว ทิ้งมาเป็นปี ทวนคำสวดบุรพกิจ
ปวารณาจนถึงบ่าย จึงลงไปหาไม้มาทำที่วางเข็มสัก ไสกบไม้ ตัดไม้ เจาะไม้ ประกอบเป็นขาตั้งสำหรับวางเข็ม
เสร็จตอนเย็นได้เวลาทำวัตรสวดมนต์เย็นพอดี ลงไปทำกิจเสร็จแล้วกลับที่พัก เพื่อเจริญสติภาวนาต่อจนถึงสี่ทุ่ม
จึงได้ออกจากสมาธิ มาทบทวนคำสวดบุรพกิจปวารณาต่อจนถึงเที่ยงคืน จึงได้จำวัตรนอนกำหนดสติพิจารณากาย
จนหลับไปเวลาประมาณตีหนึ่งกว่าๆ
.....รอยธรรม.....
                    การทำงานทุกอย่างเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว เพราะว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือการเจริญกุศลจิต
เจริญสติและสัมปชัญญะอยู่ทุกขณะจิต มีความระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา ทั้งในการคิดและการกระทำ
ซึ่งคนทุกคนนั้นล้วนแล้วแต่มีความคิด มีสติ แต่สิ่งที่ขาดไปคือกุศลจิต ซึ่งเป็นคุณธรรมคุ้มครองจิตไม่ให้คิดไปในทาง
ที่ผิด รู้จักหักห้ามจิตไม่ให้คิดอกุศล รู้จักวางตนอยู่ในสัมมาทิฏฐิ ซึ่งสิ่งที่ขาดหายไปนั้นเกิดจากพื้นฐานของคุณธรรม
ที่แตกต่างกันของแต่ละคน ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า...บุคคลแตกต่างด้วยธาตุและอินทรีย์ บารมีที่สร้างสมกันมา
การเจริญกุศลจิต เจริญสติภาวนา ก็เพื่อเพิ่มพูนกำลังของบุญกุศล ให้รู้จักกายและใจของตน เพื่อให้เห็นคุณ เห็นโทษ
เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งภายนอกและภายใน ทั้งกายและจิตของเรา เพื่อเพิ่มคุณธรรม
ความละอายและเกรงกลัวต่อบาปให้มากขึ้นแก่จิตของเรา เพื่อที่จะเข้าไปยับยั้งและข่ม ความต้องการในโลกธรรมทั้งหลาย
อันได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และความเสื่อมในโลกธรรมทั้งหลายอันได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ คำนินทา และความทุกข์
ให้รู้จักความพอเหมาะพอดีในสิ่งที่ควรจะได้ ไม่หวั่นไหวกับโลกธรรมทั้งแปด การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นไปเพื่อความ ลด ละ เลิก
ในกิเลส ตัณหา อัตตา อุปาทานทั้งหลาย เพื่อความจางคลายของกิเลสทั้งหลาย นั้นคือเป้าหมายของการปฏิบัติธรรม...
.....รอยกวี.....
                  มองไป  ผ่านช่อง   หน้าต่าง
                  ระหว่าง  นั่งพัก      คลายเหนื่อย
                  ปล่อยใจ  คิดไป    เรื่อยเปลื่อย
                  ความเหนื่อย ก็เริ่ม  ผ่อนคลาย
                             มองดู  หมู่เมฆ  ลอยใหล
                             ลอยไป  เป็นทิว  แถวสาย
                             บนฟ้า   มีเมฆ    มากมาย
                             กระจาย  ไปทั่ว   นภา
                                      มองฟ้า   แล้วมา  มองใจ
                                      มองให้   พบเหตุ  ปัญหา
                                      ที่เกิด    ก่อเป็น    อัตตา
                                      นำมา    ซึ่งความ   วุ่นวาย
                                                 อัตตา  ยึดมั่น  ยึดถือ
                                                 นั้นคือ  ปัญหา ทั้งหลาย
                                                 ถือตัว   ถือตน มากมาย
                                                 สุดท้าย ก็ต้อง  ทุกข์ทน
                                                           ความทุกข์  เกิดจาก  กิเลส
                                                           เป็นเหตุ    ให้ไร้      เหตุผล
                                                           อยากได้   อยากมี    เกินตน
                                                           ดิ้นรน       ไขว่คว้า   หามัน
                                                                    ได้แล้ว    ก็ยัง  ไม่พอ
                                                                     อยากต่อ  ให้มาก  กว่านั้น
                                                                     ความอยาก  เพิ่มขึ้น  ทุกวัน
                                                                     อยากนั้น    ไม่รู้    จักพอ
                                                                                ตัณหา  นั้นคือ  ความอยาก
                                                                                โลภมาก  อยากได้  อยากขอ
                                                                                 ไม่รู้     ถึงการ    เพียงพอ
                                                                                นี่หนอ   คือความ  ดิ้นรน
                                                                                          ดิ้นรน  ไขว่คว้า  หาทุกข์
                                                                                          ไร้สุข  เพราะจิต  สับสน
                                                                                           เวียนว่าย  อยู่ใน  วังวน
                                                                                           ทุกข์ทน  ไปจน   วันตาย....
                                        ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๖ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๔๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                                                                                       
                                               
                 
                 

211


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๕ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ ตื่นขึ้นมาแล้วก็ทำกิจวัตรตามปกติที่เคยทำมา
ได้เวลาก็ลงไปทำกิจของสงฆ์ในภาคเช้าตามปกติ ตอนสายๆโยมมาขอใช้รถเพื่อไปส่ง
ฝีพาย แม่ครัว และกองเชียร์ เพราะวันนี้มีงานแข่งเรือยาวที่หมู่บ้านใกล้ๆกัน ซึ่งทางวัด
ได้ส่งเรือไปร่วมแข่งด้วย จำนวนสามทีม คือเรือฝีพายผู้หญิงหนึ่งลำ เรือฝีพายผู้ชายสองลำ
ซึ่งฝีพายทั้งหมดเป็นแม่ครัว เด็กวัดและคนที่ช่วยงานอยู่ในวัดทั้งหมด ทำให้มีกองเชียร์ไปกัน
เกือบหมดวัด ทั้งพระทั้งโยม เหลือแต่พระอาจารย์รูปเดียวที่อยู่เฝ้าวัด นอกนั้นไปกันหมดทุกรูป
ส่งทีมงานไปดูการแข่งเรือเสร็จแล้ว กลับขึ้นศาลาที่พัก อ่านหนังสือธรรมะ ค้นพระไตรปิฏก
ฟังธรรมะบรรยายของครูบาอาจารย์ เจริญสติภาวนา จนเวลาประมาณ ๑๔.๓๐ น. ทีมงานที่ไป
แข่งเรือก็กลับมารายงานผลการแข่งขัน ว่าเรือของวัดผ่านเข้ารอบทุกลำ รอเข้าชิงชนะเลิศในวัดต่อไป
ให้โอวาทพวกฝีพายเรื่องความไม่ประมาท ความสามัคคีและความมีน้ำใจของนักกีฬา คือรู้แพ้ รู้ชนะ
รู้อภัย ขอให้ทุกคนทำให้เต็มที่ ให้มีความสนุกและความสุขกับการแข่งขัน ผลการแข่งจะเป็นอย่างไรนั้น
มันเป็นเรื่องของการกีฬาที่มีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ สาระสำคัญก็คือการที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม
ให้ความร่วมมือกับชุมชนในท้องถิ่น เป็นการช่วยเหลือกัน เราไปร่วมงานเขา เวลางานของเราเขาก็จะมาร่วม
เรียกว่าไปช่วยแรงกัน เพื่อให้งานนั้นออกมาสมบูรณ์ ตอนเย็นลงไปทำกิจของสงฆ์ตามปกติ ประมาณสี่ทุ่มกว่าๆ
มีญาติโยมมาขอความช่วยเหลือให้ช่วยรักษา โดนทำของมา ช่วยรักษาสงเคราะห์ญาติโยมให้หายจากอาการเจ็บ
และทรมาน จนอาการเป็นปกติ เสร็จประมาณห้าทุ่มกว่าๆ ญาติโยมจงพากันกลับ เจริญสติภาวนาปฏิบัติต่อจนสมควร
แก่เวลาจึงได้จำวัตรพักผ่อน นอนกำหนดจิตภาวนาจนหลับไป
.....รอยธรรม.....
                    ทบทวนพิจารณาเรื่องสติปัฏฐานสี่ ในกาย เวทนา จิต ธรรม ดูความเป็นอยู่ในปัจจุบันของเรานั้น
สงเคราะห์เข้าหาหลักธรรม ดูความเจริญก้าวหน้าในธรรมและความย่อหย่อนในธรรม ที่เกิดขึ้นในกายและจิตของเรา
วิเคราะห์หาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เป็นไปอย่างนั้น ทั้งในความเสื่อมและความเจริญ ยอมรับในความเป็นจริงในสิ่งที่เป็น
ไม่ลำเอียงเข้าข้างตนเอง โดยหาข้ออ้างว่าเป็นเพราะอย่างนั้น เป็นเพราะอย่างนี้ ที่มาเป็นอุปสรรค มาเป็นปัญหาทำให้
เราไม่เจริญก้าวหน้าในทางธรรม ไม่ไปโทษผู้อื่นและสิ่งอื่น ดูที่กายและใจของเราที่หวั่นไหวคล้อยตามไปกับกิเลสตัณหา
ความประมาทขาดสติของตัวเรา ไม่ไปเพ่งโทษผู้อื่น หรือหาผู้อื่นมารับโทษแทนเรา ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วเกิดที่ตัวเรา
จึงต้องมาพิจารณาที่ตัวเรา ที่กายและจิตของเรา รู้จักการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวเรา มีสติและสัมปชัญญะ
ระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา ตั้งเจตนาให้เป็นกุศลจิต คือการฝึกนึกคิดให้จิตอยู่กับความดีและการมีคุณธรรม
น้อมนำธรรมะมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับปัจจุบันธรรมที่กำลังดำเนินไป ให้ใจเรานั้นอยู่กับธรรม รักษาธรรมไว้ให้ใจเป็นกุศล
เมื่อเรารักษาธรรมและอยู่ในธรรม ธรรมนั้นก็จะรักษาเรา
.....รอยกวี.....
                  มองโลกและมองธรรม
                  แล้วน้อมนำมาศึกษา
                  เสริมสร้างทางปัญญา
                  พัฒนาจิตของเรา
                        เรียนรู้จากความจริง
                        จากทุกสิ่งเพื่อขัดเกลา
                        ลบล้างความโง่เขลา
                        เพื่อบรรเทาให้ทุกข์คลาย
                               ทุกข์นั้นเกิดที่ใจ
                               เพราะเข้าไปยึดมั่นหมาย
                               ยึดมั่นในใจกาย
                               ไม่ยอมคลายจากอัตตา
                                       อัตตาและทิฏฐิ
                                       ตัวดำริแห่งปัญหา
                                       ความโลภและกามา
                                       คือตัณหาพาทุกข์ใจ
                                              รู้กายและรู้จิต
                                              ปรับความคิดของเราใหม่
                                              ให้รู้และเข้าใจ
                                              ให้รู้ในกายใจเรา
                                                    เห็นกายและเห็นจิต
                                                    เห็นความคิดที่โง่เขลา
                                                    เห็นแล้วจึงขัดเกลา
                                                    ให้มันเบาจากอัตตา
                                                          ตัวกูและของกู
                                                          ที่เป็นอยู่คือปัญหา
                                                          กิเลสคือมายา
                                                          หลงคิดว่าคือความจริง
                                                                 เรียนรู้เพื่อลดละ
                                                                 คือธรรมะสรรพสิ่ง
                                                                 ที่เห็นและเป็นจริง
                                                                 เมื่อใจนิ่งก็เห็นธรรม
                                                                         เมื่อใจนิ่งสงบ
                                                                         ก็จะพบความสุขล้ำ
                                                                         กรรมดีที่เคยทำ
                                                                         จะน้อมนำส่งผลมา
                                                                                ต้นทุนบุญกุศล
                                                                                คือเหตุผลที่ค้นหา
                                                                                ฝึกฝนภาวนา
                                                                                เสริมปัญญาให้พบธรรม
                                                                                      เอาธรรมมานำทาง
                                                                                      เป็นแบบอย่างที่ชี้นำ
                                                                                      เพื่อคิดและเพื่อทำ
                                                                                      เพื่อจะนำสู่ทางดี
                                                                                            ทางดีของชีวิต
                                                                                            เราลิขิตได้ทุกที่
                                                                                            คิดดีและทำดี
                                                                                            คือสิ่งที่เราควรทำ....
                                     ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๕ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๔๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                 

212


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   เมื่อวาน (๒๓ กันยายน ๒๕๕๓ ) เป็นวันพระใหญ่ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ปีขาล
เป็นงานบุญประเพณีอุทิศบุญกุศลให้แก่บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว กลับจากกิจนิมนต์ที่กรุงเทพฯ
ถึงวัดประมาณ ๐๗.๐๐ น. เข้าศาลาทำพิธีต่อ เสร็จประมาณ ๐๙.๓๐ น.ลงไปดูความคืบหน้าของ
งานก่อสร้างที่สั่งงานไว้ก่อนลงไปกิจนิมนต์ที่ต่างจังหวัด เสร็จแล้วกลับขึ้นมาที่พักเขียนบันทึกธรรม
เที่ยงตรงไปลงพระอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์ ร่วมกับคณะสงฆ์ในตำบล กลับมาถึงวัดเวลาประมาณ
๑๕.๐๐ น. มาซักสบง อังสะ จีวร ซัก ตาก เก็บ เสร็จเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น. ขึ้นมากวาดถูศาลา
ที่พัก เพราะว่าลงไปหลายวัน ทำให้มีฝุ่นละออง เสร็จเวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น. ร่างกายอ่อนเพลีย
เพราะเดินทางตลอดและพักผ่อนน้อยมาก จึงพักผ่อนร่างกาย จำวัตรเร็วตั้งแต่ประมาณ ๑๙.๐๐ น.
มารู้สึกตัวตื่นอีกครั้งประมาณเที่ยงคืน ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ ตื่นขึ้นมาจัดเก็บข้าวของบริขารเข้าที่
อ่านหนังสือธรรมะของครูบาอาจารย์ นั่งสมาธิเจริญสติภาวนา จนถึงเช้า จึงได้ลงไปทำกิจของสงฆ์ต่อ
.....รอยธรรม.....
                    เมื่อก่อนนั้น สมัยปฏิบัติธรรมใหม่ๆ เราชอบใช้การหนีปัญหา มาเป็นทางออกเวลาที่มี
ปัญหามากระทบ มักจะหลบเข้าป่า เข้าถ้ำ ไปจำศีลภาวนา เบื่อความวุ่นวาย ซึ่งมันก็แก้ได้ชั่วขณะหนึ่ง
และเมื่อเรากลับออกมาจากป่า จากถ้ำ เราก็ต้องเจอกับปัญหาใหม่ๆเข้ามาอีก เราจะหลีกหนีปัญหาต่างๆ
นั้นไม่ได้เลย เพราะเราต้องอยู่ในสังคม ต้องอาศัยศรัทธาของพุทธบริษัทในการเลี้ยงชีพ ต้องพบปะกับ
ผู้คน และเมื่อรู้และเข้าใจในจุดนี้ จึงต้องเปลี่ยนแนวคิดและการปฏิบัติใหม่ มาทำความรู้ความเข้าใจกับ
กายและจิต กับความคิดของสังคม เจริญสติวิปัสสนา เพื่อที่จะอยู่กับปัจจุบันธรรมทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อ
ก่อนนั้นเราไปเน้นหนักในเรื่องของสมถะสมาธิ ซึ่งสมถะกรรมฐานนั้นเป็นเรื่องของความสงบ อาศัยความวิเวก
เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน จงไม่ชอบความวุ่นวาย แต่วิปัสนากรรมฐานนั้น อยู่กับปัจจุบันธรรม สิ่งที่กำลังเคลื่อนไหว
ตามดู ตามรู้ ตามเห็น แต่ไม่เอามาเป็นอารมณ์และติดอยู่ มีสติและสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งจะต่างจากอารมณ์ของสมถะกรรมฐาน ที่ต้องการความวิเวก ความสงบเงียบ มีสติแนบแน่นอยู่กับการภาวนา
จนอารมณ์นั้นเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่เพ่งอยู่ คือรู้เฉพาะสิ่งที่กำลังเพ่งอยู่เท่านั้น แต่อารมณ์ของวิปัสสนานั้น
จะรู้เห็นในสิ่งที่เป็นไปรอบกายทั้งหลาย แต่ไม่เข้าไปยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น พิจารณาเข้าสู่หลักธรรมทั้งหลาย
วางจิตวางใจอยู่กับธรรม มีธรรมคุ้มครองจิตในการคิดและการกระทำ รู้เห็นในสิ่งที่เป็นจริงตามหลักธรรม
.....รอยกวี.....
                   เหนื่อยล้าเพราะแรมรอน    
                   ได้พักผ่อนเหนื่อยก็หาย
                   เหนื่อยล้าเกิดที่กาย
                   ความสบายเกิดที่ใจ
                           เหนื่อยกายอย่าเหนื่อยจิต
                           เพราะชีวิตต้องก้าวไป
                           ถ้าเกิดเราเหนื่อยใจ
                           จะทำให้สิ้นกำลัง
                                จิตดีส่งกายเด่น
                                จึงต้องเน้นอย่างจริงจัง
                                ให้จิตมีพลัง
                                เติมความหวังด้วยศรัทธา
                                        ศรัทธาในความดี
                                        ที่เรามีและทำมา
                                        ความดีในเบื้องหน้า
                                        ภาวนาทำให้มี
                                               ปลุกจิตอย่าคิดท้อ
                                               อย่ารีรอเร่งทำดี
                                               ผลบุญจะนำชี้
                                               ให้เรานี้ได้สุขใจ
                                                     พอดีและพอเพียง
                                                     ทำหาเลี้ยงชีวิตไป
                                                     ความสุขเกิดที่ใจ
                                                     รู้สึกได้เมื่อใจพอ
                                                           พอใจในที่เป็น
                                                           ในที่เห็นไม่อยากต่อ
                                                           เมื่อใจบอกว่าพอ
                                                           เท่านี้หนอก็พอใจ
                                                                  พอใจในสิ่งมี
                                                                  และสิ่งที่ควรจะได้
                                                                  ชีวิตไม่วุ่นวาย
                                                                  สุขสบายเพราะใจพอ...
                               ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๓๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                                                  
                                                                  
                                                          

213

 
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๓ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   ตื่นนอนประมาณตีสามกว่าๆไหว้พระ สวดมนต์ เจริญจิตภาวนา แผ่เมตตา
เพื่อให้เป็นสิริมงคลต่อบ้านหลังใหม่ ที่ได้ไปพักจำวัตร ตอนเช้าฉันข้าวต้มแล้ว มีญาติโยม
มายกพานครูขอลงน้ำมัน ขอยันต์เมตตามหานิยม จึงสักน้ำมัน ลงยันต์ "นะลือชา " ให้ไป
เสร็จจากการสักยันต์แล้ว ออกไปกิจนิมนต์ดูคอนโดฯที่หาดจอมเทียนซอย 6 ซึ่งทีมงาน
จะเข้าไปซื้อกิจการมาดำเนินงานต่อ ติดต่อขอดูแบบแปลนโครงสร้าง ประเมินราคา ค่าที่ดิน
ค่าก่อสร้าง ส่วนต่างของราคาที่ทางโครงการตั้งไว้ กับราคาที่ผู้ซื้อนั้นพอใจ ส่งข้อมูลทั้งหมด
ไปให้ทีมงานที่อเมริกา ให้เขาตัดสินใจ ซึ่งถ้าผู้ซื้อพอใจสรุปได้ลงตัว ก็จะให้ทีมงานทางเมืองไทย
เข้าไปติดต่อกับเจ้าของโครงการ สรุปราคากันให้ลงตัว ซึ่งเขานิมนต์เราให้มาเป็นตัวประสานระหว่าง
ทีมงานที่อเมริกากับทีมงานที่เมืองไทย เสร็จจากเรื่องคอนโดฯที่หาดจอมเทียนพัทยาแล้ว จึงเข้า
กรุงเทพฯแวะเยี่ยมน้องๆลูกศิษย์หลวงพ่อเปิ่น ทีมงานรามอินทรา สนทนาสาระทุกข์สุขดิบกัน
จนได้เวลาพวกน้องๆจึงมาส่งที่หมอชิต เพื่อเดินทางกลับมุกดาหาร รถ 999 วี.ไอ.พี ออกจาก
ขนส่งหมอชิตเวลา ๒๐.๓๐ น. ถึงขนส่งมุกดาหารเวลา ๐๖.๓๐ น.โยมมารอรับอยู่ที่ บ.ข.ส.
กลับถึงวัดเวลา ๐๗.๐๐ น.ล้างหน้าแปรงฟัน แล้วเข้าศาลาทำพิธีต่อ เพราะว่าวันนี้เป็นวันพระใหญ่
มีญาติโยมลงมาทำบุญกันมากกว่าปกติ เสร็จพิธีในภาคเช้าเวลา ๐๙.๓๐ น. ลงไปดูความคืบหน้า
ของงานก่อสร้างที่สั่งงานไว้ก่อนลงไปกิจนิมนต์ที่ต่างจังหวัด เสร็จแล้วจึงกลับขึ้นมาเขียนบันทึก
.....รอยธรรม.....
                     " ภายนอกเคลื่อนไหว  ภายในสงบนิ่ง " คำว่าสงบนิ่งนั้นหมายถึงการไม่หวั่นไหว
ไปตามกระแสโลกทั้งหลาย ไม่ยินดียินร้าย กับสิ่งที่ประสพพบเห็น วางใจให้เป็นกลาง มองทุกอย่าง
ด้วยเหตุและผล ซึ่งอยู่บนหลักธรรม นำมาประยุกค์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์  อย่างที่ครูบาอาจารย์
ท่านได้กล่าวสอนไว้ว่า " ให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง " คือว่างจากกิเลส ตัณหาและอัตตา พิจารณา
ทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นธรรมะ สอดคล้องกันทั้งในทางโลกและทางธรรม นำมาใช้และปฏิบัติได้จริงกับชีวิต
ประจำวัน ใช้ได้กับทุกเรื่องราว อยู่บนพื้นฐานของความพอดี พอเพียง ไม่เป็นภัยต่อชีวิต ไม่เป็นพิษกับผู้อื่น
ไม่ฝ่าฝืนศีลธรรมประเณีอันดีงาม เป็นไปโดยชอบและประกอบด้วยกุศล นั่นคือแนวทางของการปฏิบัติธรรม
ที่นำมาประยุกค์ใช้กับชีวิตประจำวัน ที่ต้องมีความสัมพันธ์ ต้องพบปะกับผู้คนมากมาย ต่างจิตต่างใจต่างปัญหา
ซึ่งไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ จึงต้องฝึกทำใจให้อยู่เหนือปัญหา ฝึกจิตนั้นให้ว่างจากกิเลส ตัณหาและอัตตา
ฝึกพิจารณาปรับเข้าหาหลักธรรมทั้งหลาย เอให้ชีวิตนั้นก้าวเดินไป พร้อมกันได้ ทั้งทางโลกและทางธรรม...
 :059: " มีสติแนบอยู่กับตัวรู้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน พิจารณาลมหายใจเป็นพระไตรลักษณ์ พิจารณากายคตานุสติ
คือพิจารณาร่างกายของเราเอง ให้มันชัดแจ้ง ทั้งกายภายนอกและกายภายใน เมื่อเราเห็นกายและจิตของเราแล้ว
เราก็จะเห็นและเข้าใจในกายและจิตของผู้อื่นเช่นกัน "
.....รอยกวี.....
                    ชีวิตคือการเดินทาง   
                    ทุกก้าวย่าง ที่ผ่านมานั้น
                    พบเจอปัญหาสาระพัน
                    เก็บมันมาเป็นบทเรียน
                    คือบทเรียนของชีวิต
                    ทั่งสิ่งที่ถูกและผิดที่ต้องเปลี่ยน
                    เหมือนกับกงล้อของเกวียน
                    หมุนเวียนสู่การเปลี่ยนแปลง
                               เรียนรู้ธรรมะจากชีวิต
                               เรียนรู้ถูกผิดทุกหนแห่ง
                               ตามกำลังของสติที่มีแรง
                               แสวงหาซึ่งสัจจธรรม
                               สัจจธรรมในโลกคือพระไตรลักษณ์
                               ทุกอย่างอยู่บนหลักหนีไม่พ้น
                               เวียนว่ายอยู่ในวังวน
                               รอวันหลุดพ้นจากโลกมายา
                                          กลับสู่จิตแท้จิตเดิม
                                          ไม่เสริมปรุงแต่งแสวงหา
                                          คือความสิ้นสุดของกิเลสและอัตตา
                                          หมดสิ้นตัณหากามารมณ์
                                          ชื่นชมด่ำดื่มอยู่กับรสพระธรรม
                                          หมดเวรหมดกรรมจากที่เคยทำมา
                                          นั่นคือสิ่งที่มุ่งหวังและแสวงหา
                                          รอวันเวลาที่จะได้พบพาน...
                                             ........................
                                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๓ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๔๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                  

214


มุมหนึ่งของอำเภอศรีราชา
  ๒๒ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   รู้สึกตัวตื่นตั้งแต่ตีสามกว่าๆ เพราะว่าฝนตกและมีเสียงฟ้าผ่า ฟ้าร้องดังมาก
เมื่อรู้สึกตัวตื่นแล้วจึงลุกขึ้นไปทำกิจวัตรส่วนตัว เสร็จแล้วกลับมาไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า
นั่งสมาธิเจริญสติภาวนา แผ่เมตตาให้แก่สรรพวิญญาณทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายที่อยู่ในบริเวณ
บ้านหลังที่มาพักนี้ เพราะว่าเป็นบ้านที่เจ้าภาพที่นิมนต์มานั้น ได้ซื้อมาใหม่เป็นบ้านที่อยู่ติดกัน
กับบ้านหลังเก่า ซื้อไว้เพื่อต้อนรับครูบาอาจารย์และญาติพี่น้องเพื่อนฝูงหมู่คณะที่แวะมาเยี่ยมเยือน
เขาเลยนิมนต์มาเพื่อให้มาพักเป็นองค์แรกเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวของเขาและบ้านหลังใหม่
ซึ่งเราก็ได้ทำหน้าที่สงเคราะห์เขาไปตามเจตนาของเจ้าภาพที่ได้นิมนต์มา เชิญพระเข้าบ้าน ให้คำแนะนำ
เรื่องห้องพระ การจัดวางโต๊ะหมู่บูชา เจริญพุทธมนต์ แผ่เมตตา เจริญจิตภาวนา เจิมหน้าบ้านเพื่อเป็นสิริมงคล
จนเป็นที่พอใจของเจ้าภาพทุกประการ ประมาณตีห้ากว่าๆ ผู้จัดการโรงงานผลิตไฟฟ้า ที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน
กับเจ้าภาพที่นิมนต์มานั้น ได้มานิมนต์ให้ไปช่วยเจิมบ้าน เสร็จเวลาประมาณ ๐๖.๓๐ น. กลับที่พักมาฉันเช้า
เพราะว่าสายๆนั้นนัดญาติโยมไว้หลายราย ที่จะมาขอให้สักยันต์ลงน้ำมัน เริ่มสักตั้งแต่ สองโมงเช้าไปจนถึง
เวลา ๑๑.๓๐ น. จึงได้หยุดพักฉันเพล ตอนบ่ายนั่งสนทนาธรรมตอบปัญหาข้อสงสัยต่างๆให้แก่ญาติโยม
จนถึงเวลาเย็นขอตัวขึ้นมาสรงน้ำและพิมพ์งานใหม่ เพราะว่าเมื่อตอนเช้าที่พิมพ์ไปนั้น แอร์การ์ดมีปัญหา
ส่งข้อความไม่ได้ ข้อมูลที่พิมพ์ไว้นั้นหายหมด ต้องพิมพ์ใหม่ถึงสามครั้ง จึงจะตั้งกระทู้ได้ พิมพ์งานเสร็จ
ประมาณตอนเย็นๆ มีญาติโยมอีกคณะหนึ่งมารออยู่  เพื่อที่จะมาขอกราบและขอคำแนะนำเรื่องการสร้าง
อาคารพานิชญ์ขาย นั่งสนทนาให้คำแนะนำเรื่องรูปแบบ โครงสร้าง การตั้งราคาที่จะขาย การติดต่อสถาบันการเงิน
สนทนากับญาติโยมจนถึงเวลาประมาณเกือบเที่ยงคืน ญาติโยมจึงได้ลากันกลับ เราก็ได้เวลาพักผ่อน หมดภาระกิจ
ในการสงเคราะห์ญาติโยมไปอีกหนึ่งวัน
....รอยธรรม.....
                    เพราะเป็นคนที่มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวง ชอบการศึกษาและค้นคว้า เมื่อศึกษาเรื่องอะไรนั้น
ก็ทำอย่างเต็มที่ เลยทำให้มีความรู้และความเข้าใจในทุกเรื่อง รู้เห็น เข้าใจ ทำได้ ทั้งเรื่องทางโลกและทางธรรม
เพราะเหตุนี้จึงต้องทำหน้าที่หลายอย่างและไม่มีเวลาว่างตลอดเวลา อาศัยความเมตตาที่พระอาจารย์ทั้งหลายได้
สั่งสอนอบรมมา ให้รู้จักการเจริญจิตภาวนา ให้รู้จักการมีสติและสัมปชัญญะ ทุกขณะเมื่อรู้สึกตัวตื่นอยู่ สอนให้มีสติ
ในการทำงาน สอนให้รู้ว่าการที่เรามีสติและสัมปชัญญะ อยู่กับกายและจิตขณะคิด พูด เคลื่อนไหวหรือการทำอะไรนั้น
คือการปฏิบัติธรรม เจริญสติภาวนา จงได้นำมาปรับใช้กับชีวิตจริง ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น คือของจริง เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้
ด้วยการศึกษาค้นคว้าแล้วนำมาปฏิบัติ สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ธรรมะของพระพุทธเจ้าทันสมัยอยู่เสมอ
ถ้าเรารู้จักการนำมาปรับใช้และไม่ติดอยู่ในตัวอักษร แต่ให้เราเข้าใจถึงเจตนาและความหมายของหลักธรรมทั้งหลายนั้นๆ
ว่าพระพุทธเจ้าท่านมีเจตนาที่จะสอนเรื่องอะไร กับใคร ในจังหวะไหน เพื่อให้รู้และเข้าใจในเรื่องอะไร เราจงจะสมารถที่
จะนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับ จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และบุคคล  รู้จักคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
รู้จักคิดและวิเคราะห์เพื่อหาความเหมาะสม ความพอดีและพอเพียง สิ่งที่ควรกระทำและสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ในกิจกรรม
ทั้งหลาย ทางกาย วาจาและจิต  ธรรมะนั้นสอนให้คิดวิเคราะห์ถึงเหตุและผล สอนให้รู้จักตนและรู้จักประมาณ รุ้จักกาล
รู้จักเวลา ว่าควรคิดและทำสิ่งใด เพื่อให้ความเจริญในธรรมทั้งหลายนั้นเกิดขึ้น ดำเนินชีวิตไปได้ไม่ขัดกันทั้งในทางโลก
และทางธรรม ธรรมะทั้งหลายนั้นจึงไม่ใช่เพียงความจำจากตำรา เพื่อที่จะเอามาพูดคุย อวดรู้และข่มกัน ธรรมะนั้นเกิดที่จิต
จากการคิดพิจารณา การเจริญสติภาวนา ดั่งคำที่ว่า...เมื่อจิตนั้นนิ่ง ความเป็นจริงทั้งหลายก็จะปรากฏ....
.....รอยกวี.....
                   ร้อยคน ร้อยเรื่องราว     ร้อยข่าวคราว  ที่พบเจอ
                   รู้ตัว  อยู่เสมอ            ไม่เผลอเรอ    ไปหลงมัน
                   ทำจิต  นั้นให้นิ่ง          มองทุกสิ่ง     อย่างครบครัน
                   จิตใจ   ไม่หุนหัน         สรุปกัน        โดยเร็วไว 
                   ควรคิด  และวิเคราะห์    ตามความเหมาะ  เหตุปัจจัย
                   ว่าเป็น  อยู่เช่นไร         มีสิ่งไหน   ที่ควรทำ
                              หลายคน  หลายปัญหา     ให้ศึกษา  และชี้นำ
                              เอาหลัก   ของพระธรรม     มาน้อมนำ ปรับให้เป็น
                              สอนให้   รู้จักคิด              และพินิจ  เมื่อพบเห็น
                              คิดเป็น    และทำเป็น         ความลำเค็ญ จะหมดไป
                              ให้รู้   คุณและโทษ            เป็นประโยชน์ ใช่หรือไม่
                               สิ่งที่  กระทำไป               ผลที่ได้  อย่างไรกัน
                                        หลักธรรม  นำปรับใช้       ให้เป็นไป  เพื่อสร้างสรรค์
                                        สงเคราะห์  เกื้อกูลกัน      เอาธรรมนั้น   เป็นแนวทาง
                                        ทุกอย่าง   ปรับสู่หลัก      ให้รู้จัก    การปล่อยวาง
                                        เอาธรรม   มานำอ้าง        เป็นตัวอย่าง สิ่งที่ควร
                                        ควรคิด    และควรทำ       การชี้นำ   นั้นมีส่วน
                                        ให้คิด    และใคร่ครวญ     ไม่รีบด่วน  ทำลงไป
                                                   ทำอย่าง   มีสติ         ตามดำริ  ที่ตั้งไว้
                                                   ทำสิ่ง   ที่พอใจ         แต่ไม่ให้ ขัดกับธรรม
                                                   เป็นไป  ทั้งสองอย่าง   เป็นแนวทาง  กุศลกรรม
                                                   แล้วบุญ  จะหนุนนำ     สิ่งที่ทำ   ส่งผลดี
                                                   ผลดี   ต่อชีวิต           เมื่อวางจิต  ให้ถูกที่
                                                   คิดดี   และทำดี         คือสิ่งที่  ควรเริ่มทำ.....
                                                        ...........................................
                                                           ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๒ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๔๓ น. ณ มุมหนึ่งของอำเภอศรีรชา จังหวัดชลบุรี   


215


มุมหนึ่งของอำเภอศรีราชา
  ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                 เดินทางถึงศรีราชาประมาณเวลา ๐๕.๓๐ น.นั่งคุยต่อกับเจ้าภาพจนสว่าง
ตอนเช้ามีญาติโยมมาถวายอาหารเช้า ขอคำปรึกษาและสนทนาธรรม รับแจกวัตถุมงคล
จนถึงเวลาประมาณสามโมงเช้า (๙.๐๐ น.)ออกไปกิจนิมนต์ข้างนอก งานแรกไปที่บริษัท
คอนเทนเนอร์(ประเทศไทย)จำกัด ไปดูการนำตู้คอนเทนเนอร์มาทำเป็นห้องพักในรีสอร์ท
ซึ่งมีหลายแบบหลายราคา เข้าไปสอบถามราคาค่าประกอบและค่าขนส่ง จนเป็นที่เข้าใจแล้ว
แจกวัตถุมงคลแก่พนักงานทั้งบริษัท เสร็จแล้วไปกิจนิมนต์ต่อรายที่สองซึ่งเป็นร้านอาหารปักษ์ใต้
ที่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง สวดมนต์ทำน้ำมนต์ แจกวัตถุมงคล แล้วจึงฉันเพล เสร็จแล้วพรมน้ำมนต์
ให้พรเจ้าภาพ ไปกิจนิมนต์ต่อรายที่สามคือบริษัทสหโคเจน(ชลบุรี)จำกัด(มหาชน) เป็นบริษัท
เกี่ยวกับงานสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทน ที่นิคมอุตสาหกรรมสหพัฒน์ แจกวัตถุมงคล
เดินชมแบบโรงงานไฟฟ้า ฟังการบรรยายจากวิทยากรของโรงงานเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า
พลังงานทดแทนชนิดต่างๆ เช่นพลังลม พลังแสงอาทิตย์ พลังงานจากชีวมวล พลังงานจากน้ำ
ออกจากโรงงานไฟฟ้าประมาณบ่ายสาม ไปดูที่ดินที่อำเภอบ้านบึง ซึ่งมีผู้นำมาเสนอขายให้แก่
โยมเจ้าภาพที่นิมนต์มา ไปถึงที่ดินที่เขาบอกขายลงไปสำรวจสภาพพื้นที่ ตระเวณดูพื้นที่บริเวณ
ใกล้เคียง วิเคราะจากทั้งภายนอกและภายในแล้ว ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน จึงให้คำแนะนำไปตามที่เห็น
กลับจากดูที่ดินที่บ้านบึงแล้ว แวะไปกราบศพหลวงพ่อเฉลิม ที่วัดนาพร้าวเพราะว่าเป็นสหธรรมมิกกัน
อยู่จำพรรษากันมาหลายปีและหลายที่ด้วยกัน และท่านมามรณะภาพที่วัดนาพร้าวซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน
ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ ลูกหลานบรรจุศพเก็บไว้เพื่อรอความพร้อมในการที่จะจัดงานฌาปนกิจให้ท่าน
ในโอกาศที่เหมาะสม นั่งสนทนาธรรมกับพระที่วัดนาพร้าวที่คุ้นเคยกัน จนถึงเวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น.
จึงได้กลับมาที่พัก ปรากฏว่ามีญาติโยมมารออยู่จำนวนหนึ่งแล้ว อยู่ต้อนรับสงเคราะห์ญาติโยมจนถึงเวลา
ประมาณเกือบเที่ยงคืน จึงได้เข้าพักผ่อนสรงน้ำ สวดมนต์ เจริญสติภาวนา จนหลับไป....
.....รอยธรรม.....
                    ในสภาวะที่เรากำลังทำพิธีหรือสงเคราะห์ญาติโยมอยู่นั้น เราต้องมีสติและสัมปชัญญะ
อยู่ตลอดเวลา พยายามรักษาจิตให้เป็นกุศลจิต วางใจให้เป็นกลางกับทุกอย่างที่พบเห็น ได้ยินหรือได้ฟัง
วิเคราะห์ทุกอย่างตามเหตุและปัจจัย ตาไว หูไว ใส่ใจ จดจำ ไม่เอาใจไปมีส่วนได้เสียกับผลประโยชน์ทั้งหลาย
ใช้หลักธรรมนำการคิดและวิเคราะห์ปัญหาทุกอย่าง ตามหลักธรรมของอริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
โดยปรับหลักเสียใหม่ให้เหมาะสม ทุกข์คือคำถามคือโจทย์ ที่จะให้คิดและแก้ไข ต้องวิเคราะห์ไปถึงต้นตอ
ที่เกิดของปัญหาให้เห็นที่มาคือสมุทัย วิเคราะห์ต่อไปให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาว่าจะให้มันจบอย่างไรคือ
ให้เข้าใจถึงที่จบคือนิโรธ  กำหนดแนวทางวิธีการในการดำเนินการที่จะให้มันสำเร็จตามที่ได้วิเคราะห์ไว้คือ
ให้เขาเอาไปปฏิบัติลงมือทำนั้นคือมรรค อาศัยหลักธรรมความรู้ประมาณในตน ความเหมาะสม ความพอดี
พอเพียง ในลาภที่ควรจะได้ กำไรที่พึงจะมี หาความพอดีตามเหตุและปัจจัย จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่
และบุคคล เป็นองค์ประกอบในการคิดและวิเคราะห์ ใช้หลักจิตวิทยาโน้มน้าวให้เขาศรัทธานำไปปฏิบัติตาม
ทำในสิ่งที่เราเสนอแนะ โดยชี้เหตุและผลที่จะได้รับในการกระทำอย่างนั้นให้เขาเข้าใจ ก็หมดหน้าที่ของเรา
ไปวาระหนึ่ง เป็นการทำหน้าที่สงเคราะห์ญาติโยมทั้งทางโลกและทางธรรม
 :059:  "เมื่อน้ำนั้นนิ่งใส ก็จะเห็นสิ่งที่อยู่ภายในนั้นชัดเจน ถ้าน้ำนั้นยังกระเพื่อมอยู่ก็เห็นได้ไม่ชัดเจน
           เปรียบกับจิตที่เป็นหนึ่ง หยุดนิ่งย่อมรู้หมด มีอะไรรู้หมด เห็นกายเห็นจิตของตนเองได้แล้ว
           ก็ย่อมจะรู้และเข้าใจในกายและจิตของผู้อื่นเช่นกัน "
 :059: "อย่าไปหวั่นไหวกับกระแสโลกจนเกินไป คืออย่าไปยินดี ยินร้ายกับคำสรรเสริญและคำนินทา
           ความสุขหรือความทุกข์ และลาภยศทั้งหลาย อย่าไปหวั่นไหวกับมัน เพราะว่าความหวั่นไหวนั้น
           มันจะทำให้เราขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง เรียกว่าเป็นคนไม่แน่นอน ทำอะไรไม่แน่นอน
           จิตนั้นย่อมทุรนทุรายหวั่นไหวไปกับโลกธรรม นำมาซึ่งความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเราวางใจให้อยู่เหนือ
           โลกธรรมได้เมื่อไร ใจของเรานั้นก็จะเป็นสุข"
 :059: " เรียนทางโลกนั้น เรียนไปๆก็ยิ่งทำให้กิเลสหนาขึ้นทุกขณะ แต่ถ้าเรามาเรียนธรรมะมาเรียนเรื่องละ
             ละโลภ ละโกรธ ละหลง ละกิเลสตัณหา มันก็มีแต่จะเบาบางลง จนไม่มีภาระ เมื่อเข้าถึงธรรมะแล้ว
             ใจนั้นก็จะเป็นสุข ไม่ทุกข์อยู่กับโลกธรรมทั้งหลาย "
.....รอยกวี.....
                   อยู่กับโลก  ด้วยธรรม   นำความคิด
                   ปรับชีวิต    เข้ากับธรรม นำเหตุผล
                   มีสติ        ระลึกทั่ว     ทั้งตัวตน
                   วิญญูชน   ควรที่         จะกระทำ
                                 พึงพอใจ    ในสิ่ง   ที่ตนมี
                                 ความพอดี  พอเพียง  มาหนุนค้ำ
                                 ไม่ปล่อยใจ ให้ความโลภ เข้าครอบงำ
                                  สิ่งที่ทำ    สิ่งที่ได้   ใจเพียงพอ
                                              ทำหน้าที่  ของตน ให้เต็มที่
                                              อย่าให้มี  จิตใจ  ที่ย่อท้อ
                                              อย่าเพียงหวัง  โชคชะตา  มานั่งรอ
                                              เพียงแต่ขอ  แต่ไม่ทำ  กรรมของคน
                                                           เพียงหวังพึ่ง  เทวดา และอาจารย์
                                                           อยากให้ท่าน  มาช่วย ให้ได้ผล
                                                           นั่งงอมือ  งอเท้า  ไม่ดิ้นรน
                                                           รอกุศล  จากครูบา  และอาจารย์
                                                                       ความสำเร็จ  จะเกิดได้  ต้องหมายมั่น
                                                                       ต้องช่วยกัน   ทำกิจ   คิดประสาน
                                                                       ทั้งภายนอก  และภายใน ให้ทันการ
                                                                        ผลของงาน  นั้นจึงออก น่าพอใจ
                                                                                      ตนเองนั้น  ต้องช่วย  ตนเองก่อน
                                                                                      บุญจะย้อน  กลับมา  หาเราใหม่
                                                                                      บารมี     ครูอาจารย์  ท่านให้ไป
                                                                                      ส่งผลให้  ได้พบ   ประสพดี
                                                                                                   ประสพสุข  สำเร็จ  และเสร็จกิจ
                                                                                                   นำชีวิต   ก้าวไป   ได้ถูกที่
                                                                                                    ทั้งทางโลก  และทางธรรม  นำชีวี
                                                                                                    ก็จะมี  แต่ความสุข ไม่ทุกข์เอย....
                                     ด้วยความปราถนาดีและไมตรีจิต
                                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๖.๔๕ น. ณ มุมหนึ่งของอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
                                                                                                 

216


มุมหนึ่งของประเทศไทย
 ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   ตื่นเช้าทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติที่เคยกระทำมา ตอนสายๆมีพระมาขอคำปรึกษา
เรื่องงานพุทธาภิเษกวัตถุมงคล เพื่อหาทุนสร้างศาลาการเปรียญ นั่งคุยกันจนถึงเที่ยงท่านจึงลากลับ
ได้ให้คำแนะนำเรื่องการวางแผนงาน การจัดระบบการทำงาน รูปแบบของงาน จนเป็นที่เข้าในกันแล้ว
จึงให้ท่านไปดำเนินการ ซึ่งทางวัดทุ่งเว้าจะเป็นที่ปรึกษาให้ มีปัญหาอะไรจะได้ช่วยกันวางแผนแก้ไข
เพื่อให้งานลุล่วงไปด้วยดี เพราะเห็นในเจตนาดีของท่านเจ้าอาวาส ที่ท่านจะสร้างถาวรวัตถุเพื่อศาสนา
ตอนบ่ายออกไปตลาดเพื่อสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างและซื้อเสบียงให้แก่พวกฝีพายที่จะไปแข่งกันในวันพระหน้า
เพราะว่าตอนเย็นจะต้องเดินทางลงไปกิจนิมนต์ที่ศรีราชาจังหวัดชลบุรี และจะกลับถึงวัดวันที่ ๒๓ ตอนเช้า
ซึ่งเป็นวันพระ กลับจากตลาดมาสั่งงานเรื่องการก่อสร้าง และมอบหมายงานให้แก่พระที่อยู่เรื่องการนำเรือ
ไปแข่งขัน ตอนเย็นออกเดินทางจากมุกดาหารไปศรีราชา รถออกจากมุกดาหารเวลา ๑๘.๓๐ น. ถึงศรีราชา
เวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. โยมไปรอรับที่ท่ารถ บ.ข.ส.ถึงที่พักเวลา ๐๕.๓๐ น.
.....รอยธรรม.....
                    การฝึกจิตนั้น สิ่งที่เน้นย้ำคือการวางจิตให้เป็นสัมมาสติก่อนเข้าสู่การปฏิบัติเจริญภาวนา
เพราะว่าทุกอย่างต้องเริ่มด้วยความเป็นสัมมาตามหลักของมรรคองค์ ๘ คือการคิดดี เจตนาดี เพื่อจะทำดี
ทำให้ถูกวิธี ผลก็จะออกมาดี มีผู้ถามมาเรื่องการปลุกจิตให้ตื่นว่าทำอย่างไร  การที่จิตจะตื่นนั้นต้องมีกำลัง
ของศรัทธาเต็มที่ มีความปิติยินดีในบุญกุศล เมื่อปิติเกิดขึ้นจิตก็จะตื่นและเบิกบานอยู่ในธรรม เราต้องสร้าง
ปิติภายนอก เพื่อจะเข้าสู่ปิติภายใน การสร้างปิติภายนอกนั้น ทำได้โดยการนึกถึงความดีที่ตนได้เคยกระทำ
เพราะเมื่อเราคิดถึงบุญกุศลที่เราได้เคยกระทำมาแล้วนั้น ใจของเราก็จะเป็นสุข มีความเอิบอิ่มและภาคภูมิใจ
ในความดีที่ตนนั้นได้กระทำมา มันจะมีความเพลิดเพลินและเป็นสุขใจ เพราะว่าใจของตนนั้นกำลังอยู่กับความดี
เรียกว่าการสร้างปิติตัวนอก และเมื่อจิตใจเป็นกุศลจิตแล้ว ให้น้อมจิตมาสู่การเจริญจิตภาวนา เพื่อให้ความรู้สึกดีๆ
ที่เป็นอยู่นั้นมันพัฒนายิ่งขึ้นต่อไป เพราะคำว่า "ภาวนา " นั้นแปลว่าทำให้ดีขึ้น เจริญขึ้น อารมณ์ความรู้สึกสดชื่น
เบิกบาน สบาย โปร่ง โล่งเบา ที่เกิดขึ้นจากการเจริญสติภาวนานั้น เราเรียกว่า " ปิติตัวใน " ซึ่งจะทำให้จิตนั้นรู้ตื่น
และเบิกบานอยู่กับกุศลธรรม ไม่หิวกระหาย ไม่ง่วงเหงาหาวนอน เพราะจิตนั้นปราศจากนิวรณ์รบกวนแล้ว
 :059:" ความโมโหจะนำไปสู่ความตกต่ำ อย่าไปโมโห โกรธผู้อื่น เพราะความโกรธคือไฟ ซึ่งมันจะเผาไหม้เจ้าของเอง
           ถ้าเขาทำตัวไม่ดี มันก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา การที่เราไปโกรธเขา โมโหเขา จึงเท่ากับเราไปแบกรับ
           เอาทุกข์ เอากิเลสของเขามา ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า...การเพ่งโทษผู้อื่นเขา  มันเป็นการเพิ่มกิเลสให้ตัวเราเอง "
.....รอยกวี.....
                  ปลุกจิต ปลุกใจ ให้ตื่น
                  พลิกฟื้น ขึ้นสู่  ความหวัง
                  รวบรวม แรงกาย กำลัง
                  อีกทั้ง  แรงใจ   ให้มี
                           วางจิต  ให้เป็น  กุศล
                           ทำตน   ให้มี    ราศี
                            ด้วยการ  คิดดี  ทำดี
                            เพื่อที่  จะได้  เจริญ
                                      เจริญ   ก้าวหน้า  ในธรรม
                                      สุขล้ำ  ด้วยคำ   สรรเสริญ
                                      มีคน   รักใคร่    ชวนเชิญ
                                      เจริญ   ด้วยจิต   เมตตา
                                               เมตตา   คือธรรม   ค้ำโลก
                                               วิโมกข์   คือสิ่ง    ค้นหา
                                               กุศล    จิตนั้น     นำพา
                                               ให้มา  ซึ่งความ   สุขใจ
                                                         ความสุข ในธรรม  ล้ำค่า
                                                         ยิ่งกว่า   ความสุข  ไหนไหน
                                                         ความสุข  เกิดจาก  ภายใน
                                                         สุขได้    ด้วยรส    พระธรรม
                                                                    พระธรรม   นำทาง  สร้างจิต
                                                                     ชีวิต      จะไม่    ตกต่ำ
                                                                     หลุดจาก  โลกที่  มืดดำ
                                                                     มีธรรม เป็นเครื่อง  นำทาง
                                                                               นำทาง  ให้พ้น  จากทุกข์
                                                                               พบสุข   กุศล    สรรค์สร้าง
                                                                               เพราะจิต  นั้นได้  ละวาง
                                                                               ออกห่าง  กิเลส   อัตตา
                                                                                           ไม่ยึด  ไม่ถือ  ไม่ทุกข์
                                                                                            พบสุข สมปรารถ(ะ)นา
                                                                                            กุศล  ผลบุญ  นำพา
                                                                                            ก้าวหน้า เจริญ ในธรรม....
                                         ด้วยความปรารถนาดี และไมตรีจิต
                                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๐ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๕๕ น. ณ มุมหนึ่งของอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
                                                                                           
                                                                                 
                                     
 

217


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                      ช่วงนี้อากาศแปรปรวน ฝนตกเกือบทุกวัน ลมหนาวเริ่มจะมา
กลางวันลมพัดแรง กลางคืนอากาศหนาว ทำให้ต้องปรับสภาพร่างกายให้รับได้
กับสภาพอากาศที่แปรปรวน ก็คือการหมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
การออกกำลังกายของพระก็คือการทำงาน กวาดวิหารลานวัด เคลื่อนไหวร่างกาย
ให้เหงื่อมันได้ระบายออกมา หลังจากทำกิจวัตรของสงฆ์ในช่วงเช้าแล้ว ลงไปดูงาน
ก่อสร้างและสั่งงานให้พระช่วยกันทำามความถนัดของแ่ละท่าน เช่นตัดหญ้าในสวนป่า
ปลูกต้นไม้ประดับรอบอุโบสถและลานธรรม ต่อรถเข็น ตอนบ่ายมีญาิติโยมเอาเสื้อมา
ถวายเพื่อไว้แจกฝีพายชุดผู้หญิง จึงลงไปคุมเด็กๆสกรีนส์เสื้อทีม เด็กๆที่สอนไว้เริ่ม
ที่จะทำกันเป็นแล้ว เพียงแ่ต่ต้องคอยแนะนำเทคนิคอีกเล็กน้อยเวลามีปัญหาและการ
ลงน้ำหนักเวลาปาดสกรีนส์ ซึ่งเด็กๆเริ่มเข้าใจและทำกันได้ ตอนเย็นลงไปดูฝีพายซ้อม
เพราะว่าเพิ่มทีมฝีพายผู้หญิงมาอีกสองชุด จึงต้องลงไปชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ที่มาใหม่
ได้เวลาทำวัตรสวดมนต์เย็นจึงกลับขึ้นมาทำกิจของสงฆ์ เสร็จแล้วกลับที่พักปฏิธรรมต่อ
ตามปกติที่ทำมา สมควรแก่เวลาจึงได้จำวัตรพักผ่อน
.....รอยธรรม.....
                    ทบทวนสภาวะธรรมต่างๆที่เคยผ่านมา โดยการน้อมจิตพิจารณาธรรม
ในกรรมฐานแต่ละกอง ลำดับสภาวะธรรมต่างๆที่เกิดขึ้น ว่าเป็นอย่างไร อะไรเกิดขึ้นบ้าง
อะไรเกิดขึ้นก่อน อะไรเกิดขึ้นที่หลัง เพื่อป้องกันไม่ให้สับสน เป็นการเจริญวิมังสาใคร่ครวญ
พิจารณาในธรรมทั้งหลายตามหลักของอิทธิบาท ๔  ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติธรรม
ที่จะทำให้รู้และเข้าใจจดจำได้ ถึงที่มาและที่ไป เหตุปัจจัยที่ทำให้สภาวะธรรมต่างๆนั้นเกิดขึ้น
เพราะเมื่อรู้และเข้าใจ จำทางเดินของจิตได้นั้น มันจะทำให้เข้าอารมณ์สมาธิได้ง่าย และเร็วขึ้น
เป็นการฝึกจิตให้เป็นวสี คือมีความชำนาญในการเข้าออกอารมณ์ จึงจำเป็นที่้ต้องกระทำในทุกครั้ง
หลังจากการเจริญสติภาวนา ต้องมาทบทวนว่ามันเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ทำไมมันจึงเกิด เกิดขึ้นได้
อย่างไร อะไรเป็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้มันเกิด นักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่จะขาดในสิ่งนี้ คือการทบทวน
เพราะเมื่อเลิกปฏิบัิติแล้ว ก็เลิกแล้วเลิกเลยลืมการทบทวนพิจารณา ทำให้จำไม่ได้ว่าจิตนั้นเดินมาอย่างไร
พอกลับมาปฏิบัิิติใหม่ ก็ต้องมาเริ่มคลำทางใหม่ ไม่ได้ต่ออารมณ์จากที่เคยปฏิบัติมา ทำให้ความเจริญก้าว
หน้าในการปฏิบัิตินั้นช้าลง
 :059: พุทธสุภาษิต  :059:
  " ผู้ใดทุศีล มีจิตไม่มั่งคง แม้มีอายุอยู่ร้อยปี ก็สู้คนมีศีล แม้มีชีวิตอยู่วันเดียวยังดีเสียกว่า "
     " โย จ วสฺสสตํ ชีเว ทุสฺสีโล อสมาหิโต   เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย สีลวนฺตสฺส ฌายิโน "
.....รอยกวี....
                ในอ้อมกอดของขุนเขา
                ใ้ต้ร่มเงาหมู่มวลพฤกษา
                ท่ามกลางสายลมที่พัดโชยมา
                บนจุดหนึ่งของกาลเวลา
                จงถามตัวเองอยู่เสมอว่า...
                แสวงหาให้ได้มาซึ่งสิ่งใด
                ทบทวนในสิ่งที่ได้ผ่านไป
                ว่าความมุ่งหวังที่ตั้งใจไว้
                นั้นก้าวไกลถึงไหนแล้ว....
                             ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้น
                              มันอยู่ที่ทุกคนจะคิดและทำหรือไม่
                              อย่าได้น้อยใจและโทษวาสนาบารมี
                              ต่อว่าัตัวเรานั้นไม่ดีไม่มีอำนาจวาสนา
                              เพราะว่าการทำอย่างนั้นเท่ากับการแช่งตัวเอง
                              ขาดความศรัทธาเชื่อมั่นในการกระทำของตนเอง
                              ซึ่งมันจะทำให้มีแ่ต่ความเสื่อมถอยไม่มีความเจริญ
                                               จงมีความศรัทธาเชื่อมั่นในตนเอง
                                               ศรัทธาและเชื่อมั่นในความดีที่ได้กระทำมา
                                               ทบทวนมองหาความดีที่เราได้เคยกระทำ
                                               น้อมนำมาคิดและพิจารณาเพื่อให้ศรัทธานั้นเกิด
                                               เพราะว่าชีวิตของแต่ละคนที่ผ่านมาย่อมมีคุณค่า
                                               คุณค่าของชีวิตคือจิตที่ใฝ่หาซึ่งความดีของชีวิต
                                               จงคิดใคร่ครวญทบทวนว่า...เรามีคุณค่าของชีวิตแล้วหรือยัง....
                                                               .........................................
                                                                ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๙ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๒๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                         


                   

218


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๘ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   ฝนหยุดๆตกๆเกือบทั้งวันทั้งคืน ตื่นขึ้นมาทำกิจวัตรของสงฆ์ตามเวลาปกติ
ตอนสายๆลงไปย้อมผ้าเพื่อเอามาทำผ้าโพกหัวให้ลูกเรือฝีพายผู้หญิงและทีมงานกองเชียร์
ย้อมเสร็จแล้วเอาไปตาก รอให้ผ้าแห้งแล้วเอามาัช่วยกันตัดเป็นชิ้นๆ แล้วสกรีนส์ชื่อทีมลงไป
กำลังสกรีนส์ผ้ากันอยู่ ฝนตกลงมาต้องช่วยกันขนย้ายและเก็บผ้าที่ตากไว้ เข้าไปทำกันต่อ
ในศาลาเล็ก กว่าจะเสร็จก็ได้เวลาทำวัตรเย็นพอดี จึ่งไปทำกิจวัตรของสงฆ์ตามหน้าที่ต่อไป
เสร็จแล้วกลับขึ้นที่พักปฏิบัติธรรมต่อตามที่เคยกระทำมา จนสมควรแก่เวลาจึงได้เข้าจำวัตร
เรื่องงานสกรีนส์นั้น เคยทำมาั้ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา เพราะว่าต้องดูแลเรื่องงานประชาสัมพันธ์
ขององค์การนักศึกษามาตลอด ต้องทำสกรีนส์ เขียนป้าย ถ่ายรูป เขียนบทความ บทกวี ทำหนังสือ
วารสาร จัดบอร์ดนิทรรศการต่างๆ เป็นโฆษก จัดสถานที่เวที จึงทำให้พอจะมีความรู้และความเข้่าใจ
และนำมาถ่ายทอดสอนให้พวกเด็กๆทีมาช่วยงานอยู่ในวัดให้ทำสกรีนส์เป็น เป็นการสอนการทำงาน
สกรีนส์ให้แก่เด็กๆไปในตัว ให้รู้จักเทคนิคต่างๆของงานสกรีนส์ เพราะเมื่อเด็กๆทำสกรีนส์เป็นแล้ว
มันก็หมดหน้าที่ของเรา ปล่อยให้เด็กๆทำกันเองต่อไปได้
.....รอยธรรม.....
                    " ทำงานทุกชนิดให้จิตนั้นอยู่กับธรรม " คือพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างด้วยหลักธรรม
มีสติระลึกรู้และความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา รู้จักแยกแยะถูกผิด ชั่วดี รู้จักข่มจิตข่มใจไม่คล้อย
ตามกิเลสความอยากทั้งหลายที่เป็นอกุศล มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปคุ้มครองจิตอยู่ทุกขณะ
ทำหน้าที่ของตนไปตามบทบาทและหน้าที่ ให้เต็มกำลังความรู้ความสามารถของตนเอง ทำอยู่อย่างนี้
ก็ได้ชื่อว่าท่านนั้นกำลังปฏิบัิติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมนั้น คือการทำหน้าที่อย่างมีสติและสัมปชัญญะ
ระลึกรู้และรู้ัตัวทั่วพร้อมอยู่ลอดเวลา มีเจตนาคือกุศลจิตในขณะกระทำ ไม่ก้าวล่วงศีลธรรมและประเพณี
ที่ดีงาม ทำตามหน้าที่และความรับผิดชอบของตน รู้จักเหตุและผลในการกระทำนั้นๆ ก็ได้ชื่อว่าท่านเป็น
ผู้ปฏิบัิติธรรม เป็นผู้มีธรรมและอยู่กับธรรม...
 :059: บันทึกธรรมจากหลวงปู่ท่อน ญาณธโร วัดศรีอภัยวัน จ.เลย  :059:
   "  เวลาพูด ให้พูดด้วยความมีสติ มันจึงเป็นสาระประโยชน์ ถ้าพูดด้วยความไม่มีสติมันเฟ้อ ดูอย่างเวลา
ที่หลวงปู่มั่นท่านพูด ไม่ว่าที่ไหนๆเป็นสาระออกมาน่าฟังทั้งนั้น เพราะท่านพูดด้วยความมีสติ "
   " ถ้าคนมีสติแล้วไม่พูดพล่ามอะไรหรอก อยู่กับสติของตัว ไม่พูด...เสียเวลา "
   " ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา ให้เคารพ่อการฟังธรรมด้วยจริงใจ ไม่ส่งจิตไปทางอื่น เพื่อให้ได้เนื้อหาสาระ
     เข้ามาสู่ใจของเราจริงๆ "
   " เรื่องการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอะไร ปฏิบัติจิตปฏิบัติใจของเรานี่แหละ ทำอย่างไรใจของเราจะสะอาดหมดจด
     ปราศจากมลทิน ปราศจากโทษทั้งปวง "
   " ผู้ที่มีจิตใจผ่องใส สะอาด ไม่มีโทษ จะมีหน้าตาผ่องใส ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่น ไม่มัว เป็นที่น่าคบค้าสมาคมด้วย
     บุคลิกลักษณะนั้นบ่งบอกถึงความสุขของใจ "
.....รอยกวี.....
                  .....ชีวิต.....
                  คือการเดินทางของจิตวิญญาณ
                  ที่ต้องผ่านบททดสอบมามากมาย
                  กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต
                  เรียนรู้ความถูกผิดและดีชั่วอยู่ตลอดเวลา
                  แสวงหาซึ่งความสำเร็จของชีวิตที่คิดไว้
                  แตกต่างกันไปตามความปรารถนาของแต่ละคน
                  .....รางวัลของชีวิต.....
                  มิได้วางไว้ที่จุดเริ่มต้น
                  และหนทางนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
                  ย่อมมีอุปสรรคขวากหนามอยู่บนเส้นทาง
                  ทุกอย่างที่พานพบล้วนเป็นประสพการณ์ของชีวิต
                  ความพลาดผิดพลาดพลั้งจึงไม่ใช่ความล้มเหลว
                  แ่ต่มันเป็นบทเรียนของชีวิตที่สอนให้เราเรียนรู้
                  .....ชีวิตที่เหลืออยู่.....
                  เรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านมา
                  เพื่อที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า
                  แสวงหาในสิ่งทีดีให้แก่ชีวิต
                  ไม่ให้พลาดผิดอย่างที่เคยผ่านมา
                  เพราะว่าเราได้เรียนรู้และมีบทเรียนมาแล้ว
                  ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ การเดินทางของชีวิตนั้นยังไม่สิ้นสุด....
                               ...........................................
                                  ด้วยควาปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๘ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๐๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                 
                 
                 

219


ตถาอาศรม ริมฝั่งโขง
๑๗ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   เมื่อวานเป็นวันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐  ตื่นนอนตามเวลาปกติ
ทำกิจวัตรส่วนตัวเสร็จแล้ว ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิเจริญจิตภาวนาจนถึงเช้า
ลงไปช่วยจัดเก็บกวาดจัดศาลา เพราะญาติโยมจะลงมาทำบุญตักบาตรกันที่วัด
ทำพิธีในภาคเช้าเสร็จประมาณ ๐๘.๔๕ น. แล้วลงไปดูช่างทำงานการก่อสร้าง
ัแท็งค์น้ำ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการก่ออิฐ ลงไปกำหนดจุดวางท่อน้ำทิ้งและท่อส่งน้ำ
ตอนบ่ายช่างมาย้ายจานดาวเทียม เพราะจุดเดิมนั้นไม่มีสัญญาน เนื่องจากต้นไม้บัง
กำลังทำงานกันอยู่เกิดฝนตกลงมา ต้องหยุดพักกันไประยะหนึ่ง ฝนหยุดตกจึงทำ่ต่อ
ไปเสร็จเอาตอนเวลา ๑๘.๓๐ น. ได้เวลาทำวัตรสวดมนต์เย็นพอดี จึงลงไปทำกิจ
วัตรของสงฆ์ในภาคค่ำ เสร็จแล้วกลับขึ้นศาลาที่พัก ปฏิบัิติ่อจนสมควรแก่เวลา
จึงได้เข้าจำวัตรพักผ่อน
.....รอยธรรม....
              " ทุกข์ไม่มา ปัญญาไม่มี บารมีไม่เกิด " เป็นคำสอนที่กล่าวกันมานานแล้ว
และเป็นความจริงมาตลอด เพราะว่ามนุษย์นั้นในยามที่มีความสุขมักจะหลงเพลิดเพลิน
ลืมคิดถึงธรรม ดั่งที่เคยเขียนโศลกธรรมบทหนึ่งไว้ว่า...ตราบใดที่ยังมีหนทางไป ใจย่อม
ไม่นึกถึงพระธรรม แ่ต่เมื่อคุณชอกช้ำ พระธรรมคือที่พึ่งสำหรับคุณ ...และโศลกธรรมอีก
บทหนึ่งที่เขียนไว้ว่า...เมื่อยังไม่ถึงกาลเวลาที่เหมาะสม จิตย่อมเข้าไม่ถึงธรรม จึงยากที่
จะอธิบายให้เข้าใจได้ อดทนรอให้เขามีความพร้อมจึงกล่าวธรรม...เหตุที่ยกโศลกธรรม
ทั้งสองบทมากล่าวอ้างถึงก็เพราะว่า มีญาิติโยมมาถามว่าทำไมไม่รับเทศน์ตามงานต่างๆ
ที่เขานิมนต์ ก็ตอบญาติโยมไปว่าเทศน์ไม่เป็น เป็นแ่ต่บรรยายธรรม เพราะว่าการเทศน์นั้น
้ต้องมีรูปแบบและพิธีการ และส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้นกลายเป็นเพียงกิจกรรมประกอบพิธี
เพราะว่าผู้ที่มาฟังนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้ั้ตั้งใจที่จะมาฟังธรรม แ่ต่จะมาเพื่อร่วมงานกับเจ้าภาพ
เป็นส่วนใหญ่ แ่ต่งานบรรยายธรรมนั้น มันบอกชัดว่า้คนที่มานั้นต้องมาฟังธรรม คือคนที่ไม่
พร้อมจะไม่มา การกล่าวธรรมจึงมีประโยชน์กว่า เพราะว่าผู้ฟังมีความตั้งใจและใคร่ที่จะฟัง
ซึ่งมันตรงกับลักษณะของเราคือ...ไร้รูปแบบ แ่ต่ไม่ไร้สาระ ธรรมะที่ไร้รูปแบบ เรียบง่าย
แต่ไม่ใช่มักง่าย...จะเน้นเป็นรายบุคคลที่เขาสนใจและเข้ามาหาเพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำ
เพราะว่าแต่ละคนนั้นมีภูมิธรรมที่แตกต่างกัน ปฏิบัติมาไม่เหมือนกัน จะไม่ใช้การบรรยาแบบ
เหวี่ยงแห แ่ต่จะเน้นเป็นรายบุคคล ซึ่งจะได้ผลที่แตกต่างกันมาก เพราะได้สรุปมาจากการที่
เคยเป็นพระนักเทศน์มาระยะหนึ่ง และได้หยุดรับงานเทศน์ รับแต่งานบรรยายธรรมเพียงอย่างเดียว
 :059: ธรรมะจากหลวงพ่อจำเนียร สีลเสฏโฐ วัดถ้ำเสือฯ  :059:
     " ทุกอย่างล้วนเป็นครูที่สอนธรรมให้แก่เรา ไม่ว่าความดีหรือความชั่ว ล้วนแล้วแ่ต่เป็นครู
สอนให้เรารู้ว่านี่คือความไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ สอนให้รู้ว่านี่คือความดี เป็นสิ่งที่ควรกระทำ
ความดีและความเลว มีไว้ให้เปรียบเทียบกัน ธรรมะนั้นเป็นของที่เกิดขึ้นเอง เกิดขึ้นทางจิต
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ทางจิต บรรลุธรรมทางจิต ด้วยการฝึกจิต ธรรมะต้องเกิดจากการภาวนา
จึงจะมีประโยชน์ ส่วนธรรมะที่จำเขามา อันเกิดจากสัญญามีค่าน้อยกว่า ธรรมะที่เกิดจากจิต "
.....รอยกวี.....
                  มากมายหลายหลากเรื่องราว
                  ข่าวคราวของโลกที่สับสน
                  ล้วนเกิดจากกิเลสของคน
                  วุ่นวายสับสนเพราะไม่รู้จักพอ
                  ไม่มีก็อยากจะได้ มีแล้วก็อยากจะได้ต่อ
                  เพราะว่าใจนั้นไม่รู้จักการเพียงพอ
                  จึงก่อให้เกิดความวุ่นวาย...
                             กิเลสทั้งหลายนั้นเกิดที่จิต
                             เกิดจากความคิดที่หลากหลาย
                             ความอยากที่มีอยู่มากมาย
                             ขวนขวายเพื่อให้ซึ่งได้มา
                             สนองความปรารถนาของตนเอง
                             ไม่เกรงกลัวและละอายต่อบาปกรรม
                             ทำทุกวิถีทางเพื่อให้จะได้มาซึ่งตัณหาของตนเอง
                                           ความสุขและความสำเร็จของชีวิต
                                           อยู่ที่จิตนั้นคิดว่าเพียงพอแล้ว
                                           ไม่ดิ้นรนขวนขวายแสวงหา
                                           เพื่อให้ได้มาเพื่อสนองกิเลส
                                           ดำเนินชีวิตไปตามบทบาทและหน้าที่
                                           รู้จักความพอดีพอประมาณในตน
                                           ชีวิตของทุกคนก็จะพบกับความสุข....
                                                .............................
                                           ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๗ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐.๕๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                           

                             

220


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๖ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   ตื่นนอนตามเวลาปกติ ทำกิจวัตรส่วนตัวแล้ว ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิเจริญภาวนา
จนได้เวลาจึงลงไปทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคเช้าตามปกติ ตอนสายๆลงไปปลูกต้นไม้ที่ได้ขุดล้อมไว้
จากหน้าพระธาตุย้ายไปปลูกที่ใหม่ เป็นต้นพิกุลอายุประมาณ ๑๐ ปี จำนวน ๘ ต้น ซึ่งต้องใช้กำลังคน
ในการขนย้ายและการปลูกใหม่ กว่าจะเสร็จก็ประมาณเที่ยง แสงแดดดีเลยเอาผ้าห่ม ที่นอนและหมอน
ที่มีไว้สำหรับต้อนรับญาติโยมออกไปตากแดด เพราะว่าฝนตกมาหลายวันอากาศชื้นและกลัวผ้าจะขึ้นรา
จึงนำออกมาตากให้แห้งสนิท เสร็จแล้วมาอ่านหนังสือธรรมะคำสอนของหลวงพ่อชาและฟังธรรมบรรยาย
ของหลวงพ่อชาท่านด้วย ตอนเย็นหมดแดดเก็บผ้าผับผ้าจัดเก็บเรียบร้อยแล้ว ลงไปดูงานก่อสร้างแท็งค์น้ำ
เอาน้ำยากันซึมไปให้ช่างผสมปูน เพื่อป้องกันน้ำรั่วน้ำซึมเวลาสร้างเสร็จและเก็บน้ำแล้ว จนได้เวลาไหว้พระ
ทำวัตรเย็น จึงลงไปทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติ เสร็จแล้วกลับขึ้นมาปฏิบัติบนศาลาที่พักต่อ
.....รอยธรรม.....ธรรมะและหลักธรรมต่างๆนั้น เราเคยรู้เคยเข้่าใจเคยได้ประสพมา ถ้าเราไม่หมั่นรักษาและ
ปฏิบัติทบทวนอยู่อย่างสม่ำเสมอ อาจจะทำให้หลงลืมไป จึ่งต้องพยายามใคร่ครวญทบทวนอยู่ให้เนืองนิจ
ได้อ่านบันทึกธรรมเก่าๆที่เคยเขียนไว้และอ่านหนังสือธรรมบรรยายของครูบาอาจารย์ เป็นการทบทวนความรู้
เพราะว่าในขณะที่เราอ่านหรือฟังนั้น เราต้องตั้งสติและมีสมาธิในการฟังและการอ่าน ต้องน้อมจิตตามธรรมะ
ที่กำลังรับรู้ ได้พิจารณาใคร่ครวญตาม จึงเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว ครบองค์ ๓ในไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา
และเมื่อเราได้อ่านได้ฟังซ้ำๆกันหลายครั้ง ได้คิดพิจารณาอยู่บ่่อยๆในหัวข้อธรรมนั้นๆ มันจะเกิดมุมมองที่กว้างขึ้น
ทุกครั้ง ได้รู้และเข้าใจละเอียดไปยิ่งขึ้น จากที่เคยรู้เคยเข้าใจมาก่อน  นั้นคืออานิสงส์ของการฟังธรรมศึกษาธรรมะ
คือทำให้เราได้รู้ได้เห็นในความโง่ ความหลงของเรา เห็นกิเลสของตัวเราเอง อย่างที่ได้เคยกล่าวไว้ว่า การปฏิบัติ
ธรรมนั้น ไม่ได้ทำให้เราฉลาดขึ้น เก่งขึ้น หรือทำให้เราดีกว่าผู้อื่น เก่งกว่าผู้อื่น เพราะถ้าเราไปคิดอย่างนั้นมันจะเป็น
การสร้างมานะทิฏฐิเพิ่มอัตตาแก่ตัวเราเอง แต่การปฏิบัติธรรมนั้นทำให้เรารู้และเข้าใจในตัวของเราเอง เห็นความโง่
ความหลง ความผิดพลาดและกิเลสทั้งหลายที่มีอยู่ในตัวของเราเอง ซึ่งเราต้องรู้ต้องเห็นและเข้าใจในสิ่งนั้นเสียก่อน
จึงจะเข้าไปลด ละเลิก มันได้
 :059: ธรรมจากหลวงพ่อชาแห่งวัดหนองป่าพง  :059:
  " เราเคยเรียนธรรมะในกระดาษ รู้ธรรมะตามกระดาษ สอบความรู้ในกระดาษและท่านก็รับรองความรู้ด้วยกระดาษ
ซึ่งเราเคยผ่านมาแล้ว เมื่อเรามาปฏิบัติก็จะทราบได้เองว่า ธรรมะที่เกิดจากสัญญา (เรียน จำได้) กับธรรมะที่เกิดจาก
การภวนา มันต่างกันมากอยู่ มันมีความหมายละเอียดต่างกัน....มันเหมือนกับคนหนึ่งมีรูปม้าหลายๆแผ่น อีกคนหนึ่ง
มีม้าอยู่ตัวเดียว ถึงคราวออกเดินทาง คนที่มีม้าตัวเดียวยังดีกว่าคนที่มีรูปม้าหลายแผ่น เพราะอันหนึ่งมันใช้ได้ อันหนึ่งใช้ไม่ได้
เรื่องนี้ผู้มาประพฤติปฏิบัติย่อมรู้เองได้ ไม่ใช่เรื่องบอกกัน "
.....รอยกวี.....
                 น้อมนำ  เอาคำสอน
               อุทาหรณ์ แต่ก่อนเก่า
               มากล่าว   เพื่อบอกเล่า
               ให้พวกเรา ได้เข้าใจ
                            ธรรมะ  ธรรมชาติ
                            ธรรมประกาศ  แถลงไข
                            ธรรมะ  ที่เป็นไป
                            ธรรมนั้นไซร้ อยู่รอบกาย
                                          ธรรมะ   คือความจริง
                                          สรรพสิ่ง มีความหมาย
                                          ธรรมะ  มีมากมาย
                                          อยู่รอบกาย ที่พบเจอ
                                                       เพียงเรา นั้นครวญคิด
                                                       มีสติ  อยู่เสมอ
                                                       ไม่หลง และเผลอเรอ
                                                        ก็จะเจอ กับความจริง
             ความจริง คือสัจจะ
             เป็นธรรมะ ประเสริฐยิ่ง
             อยู่ใน  สรรพสิ่ง
             คือความจริง ในจิตเรา
                        เห็นกาย และเห็นจิต
                        เห็นความคิด ที่โง่เขลา
                        รู้ใน  กายใจเรา
                        ไม่มัวเมา กามารมณ์
                                  เอาธรรม นำความคิด
                                  กุศลจิต  เข้ามาข่ม
                                  หักห้าม  กามารมณ์
                                  ให้ชื่นชม กุศลธรรม
                                               เมื่อจิต เป็นกุศล
                                               ก็หลุดพ้น จากบาปกรรม
                                               สิ่งชั่ว ไม่กระทำ
                                               กุศลนำ สู่ทางดี
                                                         ทางดี ของชีวิต
                                                         อยู่ที่จิต นั้นคิดดี
                                                         คิดดี  และทำดี
                                                         เพียงเท่านี้ ก็สุขใจ...
                            ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๖ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๓๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
               

221


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๕ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
              เช้านี้ตื่นเร็วกว่าปกติ เพราะว่าจำวัตรเร็วประมาณสี่ทุ่ม จะใช้เวลาในการหลับ
ประมาณคืนละไม่เกินสี่ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งเป็นอย่างนั้นมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส
เพราะถูกฝึกให้ตื่นเช้าจนเป็นความเคยชินของชีวิตไปแล้ว จึงทำให้มีเวลาทำกิจวัตรใน
ภาคเช้ามากกว่าปกติ ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิเจริญสติภาวนา ซึ่งวันนี้นั่งภาวนาเพลิน
จนเลยเวลาไม่ได้ลงไปทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคเช้า เพราะว่านั่งเพลินไปออกจากอารมณ์
สมาธิเวลาประมาณ เกือบสี่โมงเช้า ใช้เวลาในการนั่งสมาธิภาวนาไปประมาณ ๕ ชั่วโมงกว่าๆ
เมื่อเลยเวลาทำกิจไปแล้ว จึงเก็บตัวอยู่บนศาลาพยายามทรงอารมณ์กรรมฐานต่อไปเรื่อยๆ
ตอนบ่ายๆมีญาติโยมจากในตัวจังหวัดมาถวายสังฆทานและสนทนาธรรมปรึกษาเรื่องการปฏิบัติ
สนทนาธรรมแนะนำญาติโยมเรื่องการปฏิบัติจนเย็นโยมจึงลากลับ ได้เวลาลงไปทำวัตรเย็นพอดี
ทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคค่ำเสร็จแล้วกลับที่พักตอบปัญหาธรรมะในเน็ต เสร็จแล้วเจริญสติภาวนา
ต่อจนได้เวลาจงได้จำวัตรพักผ่อน
....รอยธรรม.....
                   ในขณะที่กล่าวธรรมนั้น เราต้องวางอารมณ์ให้เป็นสมาธิในกรรมฐานกองที่เรานั้น
กำลังกล่าวถึง มันจะเกิดสภาวะธรรมะลื่นใหล อารมณ์ธรรมนั้นจะต่อเนื่องกันไป ทำให้เราบรรยาย
ธรรมได้ไม่ติดขัด เป็นธรรมะที่เกิดจากสภาวะของจิตในขณะนั้น มันจะเป็นธรรมชาติเพราะว่าเรา
ไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะบรรยายเรื่องอะไร มันจึงเป็นการกล่าวปัจจุบันธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
ซึ่งมันจะสอดคล้องกับจังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และบุคคลในขณะนั้น ซึ่งเป็นอานิสงส์ของการที่
ได้ฝึกปฏิบัติธรรมในกรรมฐานมาทุกกองและทุกแนว ทำให้พอจะมีความรู้และความเข้าใจในอารมณ์
ของกรรมฐานแต่ละกองแต่ละแนวที่มีการปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน เพราะว่าแต่ละคนที่มาปรึกษานั้น
ปฏิบัติธรรมแตกต่างกันคนละแนวคนละกรรมฐาน และอินทรีย์แตกต่างกันตามกำลังที่ได้ปฏิบัติกันมา
เราต้องเข้าอารมณ์กรรมฐานในกองเดียวแนวทางเดียวกับเขา และเข้าอารมณ์ไปให้ถึงจุดที่เขาติดขัด
สงสัยและเป็นปัญหาสำหรับเขา มันจะทำให้เราเห็นถึงความผิดพลาดเห็นที่เกิดของปัญหาและสภาวะ
ธรรมข้างหน้าที่เขาจะพบต่อไป เมื่อรู้และเข้าใจจึงจะแก้ปัญหาให้เขาได้
 :059: อานิสงส์แห่งเมตตา ๑๑ ประการ  :059:
๑.สุขัง สุปะติ...หลับอยู่ก็เป็นสุขสบาย
๒.สุขัง ปะฏิพุชฌะติ...ตื่นขึ้นก็เป็นสุขสบาย
๓.นะ ปาปะกัง สุปินัง ปัสสะติ...ไม่ฝันร้าย
๔.มะนุสสานัง ปิโย โหติ...เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
๕.อะมะนุสสานัง ปิโย โหติ...เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖.เทวะตารักขันติ...เทวดาย่อมคุ้มครองรักษา
๗.นาสสะ อัคคิ วา วิสัง วา สัตถัง วา กะมะติ...ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี ศัตราก็ดี ทำอันตรายไม่ได้
๘.ตุวะตัง จิตตัง สะมาธิยะติ...จิตย่อมเป็นสมาธิได้รวดเร็ว
๙.มุขะวัณโณ วิปปะสีทะติ...ผิวพรรณย่อมผ่องใส
๑๐.อะสัมมุฬ์์โห กาลัง กะโรติ...เป็นผู้ไม่ลุ่มหลงทำกาลกิริยา
๑๑.อุตตะรัง อัปปะฏิวิชฌันโต พรหมะ โลกูปะโค โหติ...เมื่อยังไม่บรรลุคุณธรรมวิเศษอันยิ่งๆขึ้นไป ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก
.....รอยกวี.....
                  สรรพสิ่งไม่หยุดนิ่งเคลื่อนไหว
                  แปรเปลี่ยนไปตามจังหวะและฤดูกาล
                  เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ไม่นานก็ดับสะลายไป
                  สิ่งใหม่ก็เคลื่อนไหวเกิดข้นแทนที่
                  เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องสืบต่อเรื่อยมา
                  จนไม่รู้ว่ามีการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป
                  เพราะว่าจิตใจนั้นหลงใหลเผลอสติ
                  ลืมกายลืมจิตไม่ได้คิดพิจารณา
                  จึงไม่รู้ว่ามีการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปทุกขณะ
                              ธรรมะเป็นเรื่องของการกระทำ
                              ไม่ใช่คำสอนที่อยู่ในคัมภีร์หรือใบลาน
                              ไม่ใช่การอ่านให้จำได้แล้วเอาไปอวดรู้
                              ธรรมะทั้งหลายอยู่ที่กายและที่จิต
                              อยู่ในทุกความคิดและทุกอย่างที่ทำ
                              เพราะว่าธรรมะนั้นคือธรรมชาติของจิต
                              ที่เปลี่ยนแปลงไปตามจังหวะเวลาและโอกาศ
                              สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหลาย
                                              ดูหนังดูละครแล้วจงย้อนมาดูกาย
                                              ให้ใจนั้นมาอยู่กับเนื้อกับตัว
                                              ไม่หลงเมามัวไปตามกิเลสและตัณหา
                                               มีสติสัมปชัญญะระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อม
                                               น้อมเข้ามาระลึกรู้ถึงกายและจิตของตัวเอง
                                               ดูกาย ดูจิต ให้รู้ความคิด ให้รู้การกระทำ
                                               มีคุณธรรมคือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
                                               คุ้มครองจิตในการที่จะคิดและในการที่จะกระทำ
                                               ทำได้อย่างนั้นแล้วท่านจะพบกับความสุขในชีวิต...
                                                         .......................................
                                      ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๕ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๕๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

                 



222


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๔ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   ค่ำลงมาฝนตกหนัก ลมพัดแรง ทำให้ไฟฟ้าดับตั้งแต่สามทุ่มจนถึงประมาณตีสามกว่าๆ
ตื่นเช้าตามปกติ ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิเจริญสติภาวนา จนได้เวลาจึงลงไปทำกิจของสงฆ์
ในภาคเช้าตามปกติ ช่วงสายๆเก็บกวาดศาลาที่พัก จัดข้าวของให้เข้าที่ลงตัว ตั้งแต่ตอนสายๆจนกระทั่งเย็น
ใช้เวลาเกือบทั้งวันในการเก็บกวาดจัดศาลาที่พัก ตอนเย็นลงไปทำกิจของสงฆ์ตามปกติ เสร็จแล้วกลับขึ้น
ศาลาที่พัก จำวัตรประมาณสามทุ่มกว่าๆ เพราะว่าร่างกายอ่อนเพลียจากการที่ทำงานมาทั้งวันไม่ได้พักผ่อน
นอนภาวนาดูกายดูจิตจนหลับไปกับอารมณ์กรรมฐาน
.....รอยธรรม.....
                    ทำงานร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เจริญสติสัมปชัญญะ ตามแนวของสติปัฏฐาน ๔
ในอิริยาบทบรรพและสัมปชัญญบรรพ คือพิจารณาดูอิริยาบทของกายและพิจารณารู็ตัวในความเคลื่อนไหว
ทำงานไปพิจารณาไปจนไม่ได้สนใจกับเวลาที่ผ่านไป ทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้ดูนาฬิกาจึงได้รู้ว่า
เวลาผ่านไปจนถึงห้าโมงเย็นแล้ว จึงลงไปสรงน้ำเตรียมตัวไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็น พยายามทรงอารมณ์
กรรมฐานไว้ โดยการมีสติและสัมปชัญญะอยู่กับกาย เวทนา จิต ธรรม อยู่ตลอดเวลา พิจารณาในหัวข้อธรรม
 :059: ถ้าจิตใจเศร้าโศกไม่เบิกบานร่าเริงแล้ว ความเป็นมงคลทั้งหลายก็จะหายไปหมด  แต่ถ้าจิตใจไม่เศร้า
โศก มีแต่ความร่าเริงแจ่มใสเกษมสำราญ ความเป็นมงคลทั้งหลายก็จะปรากฏขึ้น ดั่งคำที่ว่า " จิตดี กายเด่น
จิตด้อย กายดับ " เมื่อจิตใจเป็นกุศลความเป็นมงคลทั้งหลายก็จะเกิดขึ้น
 :059: อย่าลุอำนาจแก่ความโกรธเป็นอันขาด เพราะเมื่อความโกรธนั้นเกิดขึ้นแล้วมันจะมืดมิดปิดบังปัญญา
คิดแต่จะเอาชนะเพียงอย่างเดียว ทั้งที่จริงแล้วมันกำลังแพ้ตัวเอง แพ้ความโกรธของตัวเอง ถ้าระงับความโกรธ
ไม่ได้ ใจก็ไม่เป็นสุข เพราะฉะนั้นอย่าเอาความโกรธมาเป็นอารมณ์มาเป็นตัวของตัวเป็นอันขาด พึงข่มความโกรธ
ด้วยการเจริญสติ การลดทิฏฐิ การให้อภัย แล้วใจของเรานั้นจะสบาย
 :059: ผู้เจริญย่อมไม่เบียดเบียนใคร ไม่อาฆาตใคร ไม่พยาบาทใคร ให้อภัยแก่คนทุกจำพวก เจริญเมตตาจิต
เป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั้งหลาย ไม่เอา้เรื่องเอาราวกับใคร ใจพร้อมที่จะให้อภัยอยู่เสมอ วางใจได้อย่างนี้ ใจเรา
ก็จะมีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์เพราะการให้อภัย
 :059: ให้มีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา มีสัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมออย่าให้เผลอ จิตนิ่งสงบก็รู้อยู่ในความ
นิ่งสงบนั้น เป็นหนึ่งอยู่ รู้ตัวอยู่ ไม่เผลอ ไม่หลง ไม่ส่ง ไม่ส่าย ไม่วุ่น ไม่วาย ไม่ปล่อยใจให้ไปออกนอกลู่นอกทาง
อยู่กับอารมณ์กรรมฐานตลอดเวลา อย่าให้มีช่องว่างที่กิเลสจะแทรกเข้ามาได้ เราก็จะได้พบกับสภาวะธรรมที่แท้จริง
 :059: ต้องรวมจิต ให้ไปอยู่ ณ จุดเดียว จิตนั้นจึงจะมีพลัง ที่เรียกว่าพลังจิต แล้วพิจารณาในพลังจิตนั้นอย่างแยบคาย
เราก็จะได้เห็นธรรม ธรรมอันเกิดจากจิต ที่พิจารณาในอารมณ์สมาธิ เห็นกาย เห็นจิต ก็เห็นธรรม
.....รอยกวี.....
                 ครืน ครืน เสียงฟ้าครวญ
                 ลมพัดหวน ใบไม้ปลิว
                 สายฝน สัมผัสผิว
                 ลอยละลิ่ว หล่นลงมา
                             ฟ้าดำ  ยามค่ำคืน
                             จนดกดื่น จึงเคลื่อนคลา
                             ลมหนาว พัดแผ่วมา
                             ต้องกายา สะท้านกาย
                นั่งฟัง  เสียงสายฝน
                ที่ร่วงหล่น จนลับหาย
                สายฝน  ที่โปรยปราย
                นิมิตหมาย ภาวนา
                            เอาเสียง  เป็นนิมิต
                            โดยใช้จิต จับเสียงมา
                             โสตะ คือวิญญา
                             เอาเสียงมา เป็นอารมณ์
               จับอยู่  จนรู้จิต
               เป็นนิมิต เอาจิตข่ม
               จนเกิด ธรรมารมณ์
               จิตชื่นชม ปิติธรรม
                            ธรรมะ  อยู่รอบกาย
                           จุดมุ่งหมาย คือน้อมนำ
                            เอามา  เพื่อกระทำ
                            ประกอบกรรม คุณความดี
              ความดี  เกิดที่จิต
              เมื่อเราคิด ให้ถูกที่
              คิดดี  และทำดี
              เพียงเท่านี้ ก็สุขใจ...
                                           ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๔ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๖.๔๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                            
                            

223


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๓ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   ฝนยังตกอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน ตื่นตามเวลาปกติ ทำกิจวัตรในภาคเช้าอย่างที่เคยทำมา
ตอนสายๆหลังจากฉันเช้าแล้ว ลงไปสงเคราะห์ญาติโยมที่มากันหลายคณะ ญาติโยมกลับกันหมดประมาณ
ใกล้เที่ยง กลับขึ้นศาลาที่พัก ฝนตกหนักมาก น้ำในลานวัดระบายไม่ทัน ทำให้น้ำเจิ่งนองทั่วบริเวณลานวัด
ลงไปช่วยกันเปิดทางน้ำและเก็บของขึ้นไว้ที่สูง เพราะน้ำท่วมห้องเก็บของ สูงประมาณ ๓๐ ซ.ม. ทำให้ข้าว
เปลือกที่เก็บไว้เปียกน้ำ น้ำท่วมอยู่ประมาณชั่วโมงกว่าๆจึงจะระบายหมด ตอนเย็นลงไปทำกิจวัตรตามปกติ
อากาศเริ่มจะเย็นลง ปีนี้ความหนาวน่าจะมาเร็วและอากาศคงจะหนาวมาก เพราะว่าปีนี้ฝนตกหนัก ซึ่งเท่าที่ได้
สังเกตุมาหลายปีแล้วนั้น ประมาณได้ว่าถ้าปีไหนฝนตกหนัก ปีนั้นอากาศจะหนาวมากและหนาวนาน
.....รอยธรรม.....
                    โรคที่รักษายากที่สุดคือโรคอุปาทาน เพราะว่ามันเกิดที่จิต มันยึดติดอยู่ ใจมันคิดอยู่ตลอดว่า
โรคนั้นยังไม่หาย มันยังเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ จิตมันจะสร้างภาพและอาการของโรคที่คิดว่าเป็นอยู่ขึ้นมาตลอด
การที่จะรักษาโรคอุปาทานนั้น จึงจำเป็นต้องมีพิธีกรรม เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ให้เขาเกิดความศรัทธาในการ
รักษา เพื่อให้เชื่อว่าอาการที่เขาเป็นอยู่นั้น ได้รับการรักษาและแก้ไขให้แล้ว พิธีกรรมนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีและ
ต้องทำ แต่สิ่งที่สำคัญนั้นก็คือ ผู้ประกอบพิธีต้องระลึกรู้และเข้าใจในพิธีกรรมนั้นว่าเป็นไปเพื่ออะไร ทำไมต้องทำ
เจตนาของผู้ประกอบพิธีกรรมนั้นต้องบริสุทธิ์ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อแสวงหาเอกลาภ หลอกลวง มอมเมาให้หลงงมงาย
เพื่อให้ได้มาซึ่งความศรัทธาและเอกลาภจากการทำพิธีนั้น พิธีกรรมนั้นจึงเป็นการรักษาในเชิงจิตวิทยา เพื่อรักษาโรค
ทางจิตชนิดหนึ่ง ที่พึงต้องกระทำ
 :059: โลภัง ธัมมานัง ปริปันโถ...ความโลภเป็นอันตรายต่อธรรมท้งหลาย เป็นอันตรายต่อความเจริญในธรรม
โกโธ ธัมมานัง ปริปันโถ...ความโกรธเป็นอันตรายต่อสติและปัญญาของตนเอง ถ้าเผลอสติหลงไปกับอารมณ์นั้น
มันจะเป็นการทำลายตนเอง ความโลภและความโกรธจึงเป็นอันตรายต่อธรรมทั้งหลาย ทำลายชื่อเสียง เกียรติยศ
และความดีทั้งหลายให้พังทะลายลง
 :059: หากคนเราประพฤติปฏิบัติตามธรรมะที่เป็นจริง และทำให้จริงได้แล้ว สังคมก็จะไม่เดือดร้อนวุ่นวาย เหตุที่
ทำให้สังคมมีปัญหาอย่างที่เป็นอยู่นั้น เพราะว่าสังคมไม่ยอมรับนับถือบทบาทและหน้าที่ในบทบาทของแต่ละคน
ไม่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของแต่ละศาสนาที่ตนนับถือ เอาทิฏฐิมานะและอัตตาของตนเองเป็นใหญ่
สังคมจึ่งวุ่นวาย เหมือนที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านได้กล่าวไว้ว่า...เมื่อศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ....เพราะว่าคน
นั้นขาดซึ่งหลักธรรมในการดำรงค์ชีวิต จึงคิดผิด ทำผิด ไปตามอำนาจของกิเลสและตัณหา
 :059: ทานัง เทติ...การให้ทานนั้นเป็นเครื่องขัดเกลาอันดับแรก ทำบ่อยๆแล้วความเห็นแก่ตัวก็จะเบาบางลง
รู้จักเสียสละ ไม่ตระหนี่หวงแหน แล้วคุณธรรมที่สูงกว่าดีกว่าก็จะปรากฏขึ้นมาในจิตของผู้นั้นเอง
.....รอยกวี.....
                  สายลม......
                  โอบกอดเมฆหมอกบนฟ้า
                  เริงร่าเคลื่อนคล้อยลอยใหล
                  ใบไม้ต้องลมแกว่งไกว
                  เมฆน้อยลอยใหลไปมา
                  ท้องฟ้าเมื่อคราหลังฝน
                  ที่เคยหมองหม่นก็แจ่มใส
                  เมฆหมอกครึ้มดำก็เปลี่ยนไป
                  กลายเป็นเมฆใหม่นวลตา
                  สายน้ำ.....
                  ใหลรินเรื่อยไปไม่ขาดสาย
                  หลังฝนสายน้ำก็กลับกลาย
                  จากที่เคยใสเป็นขุ่นแดง
                  ใหลแรงและสูงขึ้นกว่าเดิม
                  ฝนเติมกำลังให้กับสายน้ำ
                  สายน้ำเมื่อยามหลังฝน
                  ขุ่นข้นและใหลเชี่ยวแรง
                  แสงแดด.....
                  สาดส่องผ่านม่านเมฆหมอก
                  บ่งบอกให้รู้ว่าฟ้าแจ่มใส
                  คือฟ้าหลังฝนที่เปลี่ยนไป
                  กลับมาแจ่มใสหลังมืดมน
                  ปลุกปลอบใจคนให้ตื่นฟื้นมา
                  ผีเสื้อ แมงปอเริงร่าออกโบยบิน
                  ไอกลิ่นของดินลอยโชยมา
                  สายลม...สายน้ำ...แสงแดด...
                  เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล
                  เป็นอย่างนั้นมานานและต่อไป
                  แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่ใจ
                  ขึ้นอยู่กับจิตและวิจารณญาน
                  ความอยากและความต้องการ
                  ของแต่ละคนในเวลาขณะนั้น
                  ที่แตกต่างกันด้วยสติและคุณธรรม.....
                   ......................................
                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๓ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๕๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                   
                  

224


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๒ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                    ฝนตกหนักทั้งคืน ตื่นตั้งแต่ตีสามกว่าๆ ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิเจริญสติภาวนา
จนถึงเวลา ๐๕.๓๐ น. ญาติโยมที่มาจากชลบุรีมาลากลับ แจกวัตถุมงคลให้ญาติโยมที่มาและฝาก
ไปให้ญาติโยมที่ร่วมทำบุญมาด้วย ญาติโยมลากลับไปเวลาประมาณ ๐๖.๓๐ น. ลงไปทำกิจของสงฆ์
ตามปกติต่อ ตอนกลางคืนฝนตกหนักพื้นแฉะ ทำให้ทำงานได้ไม่สะดวกเลยบอกให้หยุดพักงานก่อน
รอให้อากาศดีมีแสงแดดจึงค่อยทำงานกันต่อ จึงใช้เวลาเกือบทั้งวันทำวัตถุมงคลเตรียมไว้แจกญาติโยม
ในงานกฐิน เขียนตะกรุด ออกแบบผ้ายันต์ ตอนเย็นลงไปทำวัตรสวดมนต์ตามปกติ เสร็จแล้วกลับขึ้นศาลา
ที่พัก เจริญสติภาวนาต่อ จนได้เวลาจึงจำวัตรพักผ่อน
.....รอยธรรม.....
                    ในการทำงานแต่ละอย่างนั้น เราต้องปลุกจิตปลุกใจให้มีฉันทะ คือความพึงพอใจในงานนั้น
มีความปิติยินดีในสิ่งที่กระทำ มีสติอยู่ทุกขณะจิตในขณะที่ทำงานนั้นๆ งานที่ทำนั้นก็จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ตามหลักธรรมของอิทธิบาท ๔ คือต้องมี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา งานนั้นจึงจะก้าวหน้าและนำไปสู่ความสำเร็จ
การที่จะทำให้จิตเจริญอยู่ในอิทธิบาท ๔ ได้นั้น เกิดได้จากการใช้สติพิจารณา ให้เห็นถึงคุณ ถึงโทษ ถึงประโยชน์
และมิใช่ประโยชน์ในสิ่งที่จะกระทำ คิดถึงประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านที่จะได้รับ ถ้าสิ่งที่กระทำนั้นสำเร็จผลแล้ว
จิตจะเกิดศรัทธามีกำลังใจที่จะกระทำในสิ่งนั้น ความปิติยินดีที่ได้กระทำก็จะเกิดขึ้น มีความเพลิดเพลินในการกระทำ
จิตในขณะที่กระทำก็จะเป็นกุศลจิตเพราะมีอารมณ์ธรรมแห่งพรหมวิหารคุ้มครองอยู่ การทำงานนั้นจึงเป็นการปฏิบัติธรรม
 :059:  ถ้ามีศรัทธาความเชื่อมั่นในความดีแล้ว จะทำให้ไม่ลำบากที่จะกระทำในสิ่งที่เป็นบุญกุศล เพราะว่าใจของเรานั้น
มีความพร้อมที่จะกระทำ ทุกอย่างเริ่มที่ใจ
 :059: เมื่อใจของเราสงบลงได้แล้ว เราจะเห็นถึงสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศลทั้งหลาย แยกบุญแยกบาปได้อย่างชัดเจน
และมีกำลังที่จะข่มซึ่งอกุศลทั้งหลาย ไม่ให้กำเริบเสิบสานมีกำลังมากขึ้นไป
 :059: ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวย้ำเตือนอยู่เสมอว่า ไม่เผลอ ไม่หลง ไม่ส่ง ไม่ส่าย ไม่วุ่น ไม่วาย กับเรื่องทั้งหลาย
ที่ประสพพบเห็น เมื่อใจนิ่งและเย็น ก็จะพบกับความสุขสบาย
 :059: ไม่เก็บ ไม่กำ ไม่กอบ ไม่โกย ไม่โกง ไม่กิน ไม่เอาเปรียบผู้ใด พึงพอใจในสิ่งที่มีและที่เป็น ใจของเราก็จะมี
ความสุขไม่วุ่นวาย แต่ถ้าเราเก็บ กำ กอบ โกย โกง กิน ตัวเราเองก็มีแต่จะเสื่อมลง หมดสง่าราศี วุ่นวายและทุกข์ใจ
 :059: ธรรมะนั้นมีอยู่ทุกที่และทุกเวลา เกิดขึ้นอยู่เสมอ ผู้มีปัญญาย่อมน้อมเข้ามาสู่ตนเอง คือน้อมเข้ามาพิจารณา
ในตัวเอง เมื่อพิจารณามากเข้าก็จะถึงซึ่งความเป็นปัจจัตตัง คือสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน ทำเองเห็นเองและรู้เองในสิ่งที่ทำ
.....รอยกวี.....
                  ใบไม้......
                  ยามเจ้าอยู่บนกิ่งใบ
                  เจ้านั้นช่วยสร้างสีสรรค์
                  และมีประโยชน์อนันต์
                  ต่อพืชพรรณและธรรมชาติ
                  ถึงคราวที่เจ้าร่วงหล่น
                  เจ้ายังมีผลประโยชน์ต่อพื้นดิน
                  ย่อยสะลายเป็นปุ๋ยให้พืชได้ดูดกิน
                  เจ้าไม่เคยสิ้นประโยชน์เลย...ใบไม้เอย
                  คนเอย.....
                  วันเวลาที่ผ่านไป
                  เจ้าได้สร้างประโยชน์อะไรรึยัง
                  ให้คนข้างหลังได้ภาคภูมิใจ
                  เจ้าได้สร้างประโยชน์อะไร
                  ให้กับตนเองและสังคม
                  ให้เขาทั้งหลายได้ชื่นชม
                  หลังจากเจ้านั้นได้ตายไปแล้ว
                  หรือให้เจ้าได้ภาคภูมิใจก่อนตาย
                  คนเอย.....
                  อย่าให้ชีวิตไร้ค่ากว่าใบไม้
                  อย่าให้เวลาที่ผ่านไปนั้นเปล่าประโยชน์
                  สร้างแต่สิ่งที่เป็นโทษอันก่อให้เกิดบาปกรรม
                  เจ้าควรที่จะคิดและควรทำในสิ่งที่เป็นกุศล
                  ให้เป็นมงคลแก่ชีวิตให้เป็นนิมิตที่ดีแกตนเอง
                  จงใคร่ครวญทบทวนในสิ่งที่เจ้านั้นได้ผ่านมา
                  อย่าให้ชีวิตของเจ้านั้นไร้ค่ากว่าใบไม้...คนเอย
                         ......................................
                         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๒ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๐๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                 

225


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๑ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   ตื่นนอนตั้งแต่ตีสาม เพราะว่ามีคณะญาติโยมจากชลบุรีเดินทางมาเยี่ยม
เพื่อนำชุดไฟระย้าและโคมไฟมาถวาย ออกจากชลบุรีประมาณสองทุ่มกว่าๆถึงมุกดาหาร
ประมาณตีสองกว่าๆ ลงไปต้อนรับจัดที่พักให้ญาติโยม แล้วกลับที่พักไหว้พระสวดมนต์
นั่งสมาธิเจริญภาวนาต่อจนสว่าง ลงไปสั่งแม่ครัวให้ทำข้าวต้ม ให้ญาติโยมที่มาจากชลบุรี
เพราะว่าโยมทำพิธีถวายไฟระย้าและโคมไฟแล้วจะรีบเดินทางไปไหว้พระธาตุพนมและ
ไหว้เที่ยววัดธรรมเจดีย์ชัยมงคลต่อ ตอนเย็นๆจึงจะกลับมาค้างที่วัดทุ่งเว้า ตอนเช้าทำกิจสงฆ์
เสร็จแล้ว ให้ญาติโยมชาวบ้านที่มาทำบุญไปทำความสะอาดเรือนรับรอง จัดที่พักให้โยม
เสร็จแล้วกลับที่พักมาเขียนผ้ายันต์ ตะกรุด ทำเบี้ยแก้ เพื่อเตรียมไว้แจกญาติโยมที่มาจาก
ชลบุรี ทำเสร็จตามจำนวนที่ญาติโยมขอไว้ก็ใกล้จะค่ำแล้ว ได้เวลาทำวัตรสวดมนต์เย็นพอดี
ทำวัตรเสร็จญาติโยมมาคุยด้วย จนถึงเวลาประมาณสี่ทุ่มญาติโยมจึงลากลับที่พักไปนอนกัน
โยมลากลับไปได้ประมาณสิบห้านาที ฝนตกหนักลมพัดแรง ตกจนถึงใกล้สว่าง
.....รอยธรรม.....
                    ในการรับฟังปัญหาที่ญาติโยมมาปรึกษานั้น เราต้องวางอารมณ์ให้เป็นกลาง
ไม่เข้าไปมีอารมณ์ร่วมในปัญหาที่ได้ยินได้ฟัง วิเคราะห์ปัญหาทุกอย่างนั้นด้วยเหตุและผล
ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราก็จะเห็นทางออกของปัญหาและวิธีดำเนินการในการแก้ปัญหา
ปัญหาที่เราคิดว่ามันยิ่งใหญ่แก้ไขไม่ได้นั้น ก็เพราะเราเข้าไปยึดมั่นในตัวกูของกู กลัวจะสูญเสีย
ในสิ่งที่มีอยู่ อยากจะได้ให้มากที่สุด มันเลยไม่มีความพอดี พอเพียง มันจึงวุ่นวายใจเป็นทุกข์
เราเป็นผู้ที่รับฟังปัญหา ไม่ใช่เจ้าของปัญหา จึงต้องทำใจให้อยู่เหนือปัญหา ไม่เข้าไปมีส่วนได้เสีย
ในปัญหานั้น มองและวิเคราะห์อย่างเป็นกลาง เราก็จะเห็นความพอดีพอเหมาะ สิ่งที่ควรจะเป็น
และแนวทางการแก้ไขในปัญหานั้น และสิ่งที่สำคัญก็คือการที่จะชี้แจงแนะนำโน้มน้าวให้เจ้าของ
ปัญหานั้นรู้และเข้าใจ ยอมลด ยอมละในสิ่งที่มีในสิ่งที่เป็น ให้เขาเชื่อในเหตุและผลในแนวทาง
ที่เราเสนอ พูดอย่างไรจึงให้เขาเชื่อและทำตาม เป็นเรื่องที่ทำยากที่สุด ต้องใช้จิตวิทยาอย่างมาก
ในการนำเสนอชี้แจงแนะนำให้เขาคล้อยตามและทำตามสิ่งที่เราแนะนำ
 :059: ขัดเกลากิเลสในจิตใจด้วยการภาวนา ภาวนาเป็นบุญอันยิ่งใหญ่สูงสุด เพราะทำให้จิตไม่ติด
ไม่ข้องอะไร บุญนั้นเกิดที่ใจ มันก็ได้บุญแล้ว กิเลสมีอยู่ในตัวเราทุกคน การรักษาศีล เจริญภาวนานั้น
เพื่อต้องการชำระกิเลส ความชั่ว ความมัวหมองให้ออกจากจิตใจของเรา พระธรรมคำสอนในพระพุทธ
ศาสนาทั้งหลายนั้น ก็เพื่อให้นำมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้ชำระ กาย วาจา ใจ ให้ถึงความบริสุทธิ์เท่านั้น
 :059: การละบาปนั้น บาปมันมาอย่างไร บาปมันเกิดที่จิตใจ ความโกรธ ความโลภ ความหลงเป็นบาป
การชำระบาปทั้งหลายนั้น ชำระด้วยการปฏิบัติธรรม รักษาศีล เจริญสติภาวนา เพื่อไม่ให้บาปนั้นกำเริบเสิบสาน
ไม่ให้มันมีกำลังมากขึ้น แก่กล้าขึ้น ซึ่งหากปล่อยให้ไปตามอำนาจของกิเลสนั้น จะทำให้เดือดร้อนทำลายตัวเราเอง
 :059: จิตมีพลังอำนาจยิ่งใหญ่ ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยจิต เราจึงต้องพัฒนาจิตของเรา ด้วยการใช้สติ สมาธิ
วิริยะ ปัญญาและศรัทธาที่มั่นคง รักษาศีล เจริญสติภาวนา รักษาจิตให้อยู่ในกุศลกรรมบท ๑๐ ฝึกใจให้รู้จัก
การฝืนกิเลส ให้มีสติ อย่าให้เผลอ อย่าให้หลงไปตามกิเลสตัณหา ซึ่งเป็นอกุศล เป็นบาปทั้งหลาย ให้ใจนั้น
มีความมั่นคงด้วยสติ แล้วความเป็นสมาธินั้นย่อมมีแก่เรา จิตที่รวมเป็นหนึ่งนั้น ก็จะมีพลังอำนาจยิ่งใหญ่
.....รอยกวี.....
                 .....ชีวิต.....
                 ย่อมก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา
                 อยู่ที่ว่าเราจะเลือกเส้นทางเดิน
                 ว่าให้ชีวิตเดินไปในทิศทางใด
                 มันอยู่ที่การตัดสินใจของตัวเราเอง
                 ตามความคิดความเห็นและสิ่งที่เป็นอยู่รอบกาย
                 เส้นทางชีวิตจึงมีหลายสายให้เราเลือกเดิน
                 ซึ่งมันขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและคุณธรรมของเรา
                 ว่าจะเลือกเอาเส้นทางไหนที่จะก้าวเดินไป
                 ....ทางแยก....
                 คือจุดเปลี่ยนของชีวิต
                 ถ้าเราเลือกเส้นทางผิด
                 อาจจะทำเราหลงทางและเสียเวลา
                 บางครั้งทำให้จุดหมายปลายทางนั้นเปลี่ยนไป
                 จากจุดหมายที่เคยคาดหวังและตั้งใจไว้
                 จึงต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบเมื่ิอเจอทางแยก
                 ให้มีสติในการคิดและพิจารณาว่าจะเลือกทางไหน
                 อย่าด่วนตัดสินใจ มันอาจจะทำให้เสียเวลาและโอกาศ
                 หากชีวิตตั้งอยู่บนความประมาทอาจทำให้พลาดและผิดทาง...
                        ............................................
                          ด้วยความปราถนาดีและไมตรีจิต
                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๑ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๓๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

                
                

226


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๐ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                   ช่วงนี้ฝนหยุดตกมาหลายวันแล้ว ตื่นเช้าตามเวลาปกติ ทำกิจวัตรส่วนตัวเสร็จแล้ว
ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิเจริญภาวนา จนได้เวลาจึงลงไปทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคเช้าตามปกติ
เสร็จกิจวัตรในภาคเช้า เก็บสบง จีวร อังสะ ผ้าอาบน้ำฝนไปซัก เพราะที่ผ่านมานั้นครึ้มฟ้าครึ้มฝน
ไม่มีแสงแดดมาหลายวัน วันนี้อากาศดีจึงถือโอกาศเก็บผ้าทั้งหมดไปซัก เสร็จจากซักผ้าตากผ้าแล้ว
กลับขึ้นศาลาที่พัก อ่านหนังสือพระไตรปิฏก ฟังธรรมะบรรยายของครูบาอาจารย์ ตั้งแต่ตอนเที่ยงๆ
จนถึงเวลาเย็น เพราะวันนี้ไม่ได้ทำงานก่อสร้างหยุดพักกันหนึ่งวัน จึงได้มีเวลาพักผ่อน อ่านหนังสือ
ฟังธรรมเกือบทั้งวัน ตอนเย็นลงไปทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติ หลังจากไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็นแล้ว
ก็กลับที่พัก มาเจริญสติภาวนาต่อ จนได้เวลาจึงได้จำวัตรพักผ่อน
.....รอยธรรม.....
                    ได้มีเวลาค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฏก ทำความรู้ความเข้าใจในหัวข้อธรรม ที่ยังสงสัย
ไม่เข้าใจในภาษาธรรม ปรับให้เป็นภาษาพูดเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ในการที่จะเอาไปนำเสนอเผยแผ่ั
เพราะถ้าใช้คำศัพท์ภาษาธรรมนั้น จะทำให้ผู้ฟังจะเข้าใจได้ยาก บางครั้งฟังแล้วยิ่งเกิดความสงสัย
ไม่เข้าใจมากขึ้น เพราะติดอยู่กับความหมายของคำศัพท์ในภาษาธรรม และบางครั้งก็อาจจะตีความ
แปลความหมายของคำศัพท์นั้นผิดพลาดไป จึงต้องใช้ภาษาที่เรียบง่าย เพื่อให้ฟังสบายๆง่ายแก่การ
ที่จะเข้าใจและทำให้ดูว่าไม่เป็นพิธีการจนเกินไป การฟังธรรม พิจารณาธรรม ทำให้เข้าใจสภาวะธรรม
 :059: จิตปรุงแต่งในกิเลส คือจิตเริ่มคิดก่อน คิดชอบ คิดไม่ชอบ เมื่อความคิดเกิดจึงปรุงแต่งให้เกิด
กิเลส ความโกรธ โลภ หลง เมื่อกิเลสเกิดขึ้นและเราไม่มีสติสัมปชัญญะพอจะดับกิเลส มันก็ปรุงแต่งจิต
ให้คิดวุ่นวายไปเรื่อย ไม่ผ่องใส พอจิตมันคิดปรุงแต่ง มันก็จะปรุงให้กิเลสเพิ่มขึ้นๆ จนกว่าเราจะได้สติ
มันจึงจะหยุดปรุง
 :059: การปฏิบัติธรรมนั้น อย่าไปอยากรู้อยากเห็นอยากเป็นในสิ่งใดๆ ให้มันรู้อยู่อย่างเดียว มีอะไรก็ช่าง
รู้อยู่อย่างเดียว ความอยากนั้นทำให้จิตวุ่นวาย หลุดออกจากสมาธิ เราปฏิบัติเพื่อความปล่อยวาง เพื่อจะละ
จะลดซึ่งความยึดมั่นถือมั่นต่างๆให้เบาบางลง เพื่อละความยินดียินร้าย เราเป็นผู้ดูไม่ใช่ผู้บังคับให้มันเป็น
 :059: การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิตนั้น เรียกว่ากำลังทำความเพียร กำลังปฏิบัติธรรม ไม่จำเป็นว่า
จะต้องนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมจึงจะเรียกว่าปฏิบัติธรรมทำความเพียร ถ้าไม่มีสติระลึกรู้ ฟุ้งซ่านคิดไปเรื่อย
ก็ไม่เรียกว่าทำความเพียร แม้จะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมอยู่ก็ตาม เมื่อไหร่ที่จิตนั้นมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่
ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่งจะนอน ก็ได้ชื่อว่ากำลังปฏิบัติธรรมทำความเพียรอยู่
.....รอยกวี.....
                 มองโลก  และมองธรรม     แล้วน้อมนำ มาปรับใช้
                 กับสิ่ง   ที่เป็นไป             เพื่อจะให้   เหมาะกับกาล
                     สติ  ระลึกรู้                การตามดู   จิตเป็นงาน
                   รู้ตน  รู้ประมาณ             นั้นคือการ   ประพฤติธรรม
                   รู้กาย  และรู้จิต              รู้ที่คิด       รู้ที่ทำ
                   รู้ชอบ  ประกอบกรรม       ประพฤติธรรม คือความดี
                   ความดี เริ่มที่จิต             เริ่มจากคิด  ไม่ผิดที่
                   คิดดี  และพูดดี             เป็นตัวชี้    การกระทำ
                   รู้ธรรม และเห็นธรรม        ถ้าไม่ทำ   ก็ก่อกรรม
                   รู้แล้ว  ไม่น้อมนำ           มากระทำ  ก็เสียงาน
                     รอยทางและรอยธรรม    ได้น้อมนำ  ธรรมกล่าวขาน
                   บอกเล่า ประสพการณ์      ที่ได้ผ่าน  มาชี้แจง
                   มากมาย หลายมุมมอง     ที่ทดลอง  มาแถลง
                 บอกเล่า ความเปลี่ยนแปลง  ทุกหนแห่ง ที่พบมา
                       ให้รู้  และให้คิด         ให้พินิจ ให้ศึกษา
                   เสริมสร้าง ทางปัญญา       เพิ่มคุณค่า ให้แก่ตน
                   เป็นคน  ควรจะคิด           ให้ชีวิต มีเหตุผล
                   คุ้มค่า   คำว่าคน             ควรสร้างผล  ในทางดี
                           ............................................
                              ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต  
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๐ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๕.๓๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย  

227


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๙ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                  เมื่อวานเป็นวันพระแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ตื่นเช้าตามปกติ ช่วยกันกวาดวิหาร
ลานวัด จัดศาลา เพื่อรอญาติโยมลงมาทำบุญตักบาตรที่วัด ซึ่งวันพระแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๙
ของทุกปีนั้น เป็นงานบุญประเพณีของภาคอีสาน เรียกว่างาน " บุญข้าวประดับดิน " ซึ่งเป็น
การทำบุญอุทิศให้แก่บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว ญาติโยมจะห่อข้าวด้วยใบตอง มีดอกไม้ ธูป
เทียน เอาลงมาที่วัดให้พระสวดมาติกาบังสกุล อุทิศให้ญาติที่เสียไป เสร็จแล้วจะเอาห่อข้าวนั้น
ไปวางไว้ตามโคนต้นไม้ ตามเถียงนา ตามบัวที่บรรจุกระดูกบรรพชน เป็นประเพณีของภาคอีสาน
และชาวลาวที่เขาจัดขึ้นทุกปี วันพระนี้จึงมีญาติโยมลงมาทำบุญตักบาตรที่วัดจำนวนมากล้นศาลา
ตอนเที่ยงนำพระไปลงอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์ที่วัดใกล้กัน เพราะจะเวียนกันไปจนหมดวัดในตำบล
ตอนค่ำหลังไหว้พระสวดมนต์เย็นแล้ว มีญาติโยมแห่ต้นบุญมาถวายเพื่อให้พระมีปัจจัยที่จะใช้จ่าย
ระหว่างอยู่จำพรรษา เพราะว่าเป็นวัดบ้านนอกไม่มีเอกลาภกิจนิมนต์ ญาติโยมกลับกันประมาณสี่ทุ่ม
กลับขึ้นศาลาที่พัก ทำกิจส่วนตัว เจริญสติภาวนา จนได้เวลาจึงเข้าจำวัตร
....รอยธรรม....
                  การปฏิบัติธรรมนั้น จงมีความพากเพียร อย่าหลอกตัวเอง ทำให้จริง ให้สติมันแก่กล้า
ทำสัมปชัญญะให้มันแจ้งชัด แล้วจะพบกับสภาวะธรรมที่แท้จริง
                  จงดูตัวเราเอง ว่าปัญญาเรามีไหม เราพิจารณาได้ไหม ทำอย่างนี้จะเจริญจริงไหม
ทำอย่างนี้จะเสื่อมไหม พิจารณาไตร่ตรอง โดยมีสติและสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ แล้วปัญญาอันชาญ
ฉลาดก็จะเกิดขึ้นแก่เราเอง
                 สัปปายะ ๕ อันได้แก่ อาหารที่ถูกจริต อากาศที่สบาย ที่อยู่อาศัยที่สะดวกสบาย
มีมิตรสหายครูบาอาจารย์ที่ดีคอยช่วยเหลือ ได้ปฏิบัติที่ถูกกับจริต จิตของเรา ย่อมส่งผลให้การเจริญ
ภาวนานั้นมีความเจริญก้าวหน้า
                ลูกศิษย์ทั้งหลาย ถ้าฝ่าฝืนครูบาอาจารย์ ไม่ทำตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอน เป็นคน
หัวดื้อ หัวรั้น บุคคลเช่นนั้นนับวันก็จะมีแต่ความเสื่อม แต่ถ้าบุคคลใดเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ปฏิบัติตาม
คำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ บุคคลนั้นย่อมจะพบแต่ความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป
               เวลาพูด ให้พูดด้วยความมีสติ มันจึงจะเป็นสาระเป็นประโยชน์ แต่ถ้าพูดด้วยความขาดสติ
มันก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และจะสร้่างโทษให้แก่ตัวผู้พูดเอง
.....รอยกวี....
                 วันเวลา  ผ่านไป  ให้ครวญคิด
                 ถึงชีวิต   ของเรา  ที่ก้าวย่าง
                 ว่าเป็นไป ถูกทิศ  และถูกทาง
             หรือออกห่าง จากกุศล หนทางดี
                             ไม่มีใคร  รู้ซึ้ง     เท่าหนึ่งจิต
                              สิ่งที่คิด  ที่ทำ   ในทุกที่
                            เท่ากับตัว เราเอง ที่รู้ดี
                            ในสิ่งที่    เราทำ  กรรมของเรา
                                         ดีหรือชั่ว  เรารู้ตัว  อยู่แก่จิต
                                         ที่พลาดผิด  เพราะจิต  นั้นโง่เขลา
                                          เพราะกิเลส  ครอบงำ  ให้มึนเมา
                                          ทำให้เรา  พลาดผิด    คิดไม่เป็น
                                                      เห็นกงจักร  เป็นดอกบัว   เพราะตัวหลง
                                                      ไม่มั่นคง   ในธรรม      อย่างที่เห็น
                                                      ไม่แยกแยะ  ดีชั่ว       ที่ควรเป็น
                                                      เพราะไม่เห็น  กิเลสใน  ใจตนเอง
                                                                      เพราะความโลภ ความรัก  ความมักมาก
                                                                      และความอยาก มีกำลัง    เข้าข่มเหง
                                                                      หลงทำบาป  หยาบช้า     ไม่กลัวเกรง
                                                                      จนตัวเอง    ออกห่าง      เส้นทางธรรม
                                                                                   เมื่อไม่มี    ธรรมะ   คุ้มครองจิต
                                                                                   ก็พลาดผิด  ชีวิต     จึงตกต่ำ
                                                                                   ก้าวหลงไป  ในเส้นทาง  ที่มืดดำ
                                                                                   ก่อเวรกรรม   ทำชีวิต    ให้ผิดทาง
                                                                                                  สังคมโลก  วันนี้   มีให้เห็น
                                                                                                  สังคมเป็น  เช่นนี้   มีแบบอย่าง
                                                                                                  สังคมเสื่อม  เพราะคน  นั้นหลงทาง
                                                                                                  คนออกห่าง  จากธรรม  กรรมของคน...
                                         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๙ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๑๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                                                                   
                                                             

228

ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๘ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                    ได้พักผ่อนเต็มที่ หลังจากนั่งรถมาเกือบทั้งวัน ตื่นเช้ามาทำกิจวัตรสงฆ์ตามปกติ
ตอนสายๆลงไปสั่งงานเทปูนก่อถังเก็บน้ำ เสร็จแล้วกลับมานั่งดูเด็กๆตกแต่งเรือ สกรีนส์เสื้อฝีพาย
ตอนเย็นรับนิมนต์ไปช่วยเจริญพุทธมนต์สมโภชผ้าป่า ของวัดที่อยู่ใกล้ๆกัน เพราะท่านจำพรรษา
อยู่รูปเดียว เลยต้องไปช่วยเหลือสงเคราะห์กัน กลับจากกิจนิมนต์แล้วมาสั่งงานพระให้ช่วยกันเปลี่ยน
ไฟส่องทาง เพราะที่ผ่านมานั้นฝนตกหนัก ลมแรง ทำให้หลอดไฟเสียไปหลายหลอด จึงต้องช่วยกัน
เปลี่ยนขาหลอดและเปลี่ยนหลอดกันใหม่ ทำงานกันจนใกล้ค่ำจึงเสร็จ ได้เวลาทำวัตรสวดมนต์เย็น
ทำกิจสงฆ์เสร็จแล้วกลับขึ้นศาลาที่พัก ลูกศิษย์จากสุราษฎร์ธานี โทรศัพท์มาแจ้งข่าวด่วนให้ทราบว่า
โบสถ์ที่วัดของพระกรรมวาจาได้ถูกไฟไหม้ เสียหายทั้งหลัง จึงโทรศัพท์ไปสอบถามข่าวที่วัดนั้น
จึงทราบว่าสาเหตุมาจากไฟฟ้าลัดวงจร เพราะเป็นโบสถ์เก่า ครึ่งปูนครึ่งไม้ จึงทำให้เสียหายทั้งหลัง
ให้กำลังใจพระที่อยู่จำพรรษาที่นั่น สนทนากันพอสมควรแก่เวลา จึงได้จำวัตร นอนภาวนาตามปกติ
ดูกาย ดูจิต จนหลับไป
.....รอยธรรม....
            การฟังธรรมนั้น ต้องตั้งใจฟังและพิจารณาตาม จึงจะเข้าใจและได้รับประโยชน์จากการฟังธรรม
ภาชนะที่รองรับธรรมะนั้นคือใจเรา ถ้าใจยังวอกแวกสอดส่าย ไม่นิ่ง ใจยังแตกร้าวอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะรับรู้
และซึมซาบเอาธรรมะนั้นได้ เหมือนภาชนะที่รั่วและร้าว เทน้ำลงไป ก็ไม่สามารถที่จะเก็บรองรับเอาน้ำไว้ได้
ใจของเราก็เหมือนกัน ถ้ามันไม่นิ่ง ความจริงทั้งหลายก็จะไม่ปรากฏ ไม่สามารถที่จะรับเอาสภาวะธรรมทั้งหลาย
ที่เกิดขึ้น ให้คงอยู่ในใจของเราได้ เราจึงต้องมาทำกายใจของเราให้สงบนิ่ง เพื่อจะได้รับรู้ความเป็นจริงของสภาวะ
ธรรมทั้งหลายนั้น .....อบรมตนเองให้รู้จักข้อวัตรปฏิบัติ ให้รู้จักผิดชอบชั่วดี อะไรผิดเราก็จะต้องพยายามลดละ
แก้ไข ไม่ทำตามความคิดฝ่ายต่ำของตัวเราเอง อะไรที่ดีแล้วถูกต้องแล้วก็พยายามขวนขวายกระทำต่อไปให้ยิ่งขึ้น
....ทรัพย์สมบัติใดๆในโลกนี้ที่มีอยู่ ก็ไม่สู้ธรรมะสมบัติได้ ถ้าเรามีทรัพย์คือธรรมะประดับใจของเราแล้ว ย่อมเป็นผู้
เจริญรุ่งเรืองขึ้นไปแน่นอน....พระคุณต้องทดแทน ความแค้นต้องอโหสิ อะเวรัง อะสะปัตตัง  พระพุทธเจ้าทรงสอน
ให้พวกเราเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่จองเวร เป็นผู้อโหสิ...
.....รอยกวี....
                  ขุนเขา  เมฆหมอก  สายลม
                  ได้ชม   เมื่อใน     ยามเช้า
                   สายลม  พัดมา    แผ่วเบา
                  ขุนเขา   เมฆหมอก  ปกคลุม
                             สดชื่น   ในยาม  รุ่งเช้า
                             บรรเืทา  ลดความ ร้อนรุ่ม
                             ปลดปล่อย  ซึ่งการ เกาะกุม
                             สร้างขุม    กำลัง  วังชา
                                         ปลุกกาย  ปลุกใจ  ให้ตื่น
                                          ลุกยืน    ขึ้นสู้      ปัญหา
                                          เพิ่มแรง  กำลัง    ศรัทธา
                                          ค้นหา    แก้ไข    ใจตน
                                                     รู้กาย    รู้ใจ      รู้จิต
                                                     ค้นคิด  เสาะหา  เหตุผล
                                                     ศึกษา   เรียนรู้   ใจตน
                                                     ฝึกฝน   จนให้   ชำนาญ
                 สติ    นั้นต้อง   มีอยู่
                ให้รู้    อยู่ทุก    สถาน
                สติ     ต้องมี    ในงาน
               ทำการ  สิ่งใด     ให้มี
                         มีความ   รู้ตัว   ทั่วพร้อม
                         แล้วน้อม  ดูใจ  ทุกที่
                         วางจิต   วางใจ  ให้ดี
                         รู้ที่       ซึ่งควร  กระทำ
                                    แยกแยะ  ถูกผิด   ดีชั่ว
                                    รู้ตัว       ไม่ก้าว   ถลำ
                                   ครองตัว   อยู่ใน   กรอบธรรม
                                   น้อมนำ    จิตให้   ใฝ่ดี
                                              จิตดี   ส่งให้   กายเด่น
                                              ให้เป็น  สง่า   ราศรี
                                              ผิวพรรณ  หน้าตา  ดูดี
                                              สิ่งนี้  เกิดจาก  คุณธรรม....
                                                  ....................
                                         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๘ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๖.๑๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                         
                   

229


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๗ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                    ใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่บนรถ ออกจากภูเขียว จ.ชัยภูมิ ตอนตีสี่
กลับถึงวัดทุ่งเว้าใกล้ค่ำ ๑๘.๓๐ น. สรงน้ำแล้วเขียนบทความ บทกวี จดบันทึก
เปิดดูข้อมูลข่าวสาร ประมาณห้าทุ่มกว่าๆ ก็จำวัตรพักผ่อน นอนพิจารนาดูกาย ดูจิต
จนหลับไป เพราะว่านั่งรถมาพันกว่ากิโล ร่างกายมันเพลีย เลยต้องจำวัตรเร็วกว่าปกติ
ตื่นมาตอนตีสามกว่าๆ ไหว้พระสวดมนต์บนศาลาที่พัก นั่งสมาะฺภาวนาต่อจนฟ้าสว่าง
ไม่ได้ออกไปบิณฑบาตร เพราะบอกปิดสายบิณฑบาตรไว้ ตอนไปงานศพที่ภูเขียว
มีญาติโยมลงมาทำกับข้าวถวายในตอนเช้าตามปกติ
.....รอยธรรม.....
                    การฝึกภาวนาท่ามกลางความวุ่นวายนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ถ้าเรา
สามารถฝึกได้ สมาธินั้นจะมั่นคงกว่าการที่เราไปฝึกอยู่ในป่า หรือในที่เงียบสงบผู้เดียว
เพราะว่ามันได้ผ่านการทดสอบอยู่ตลอดเวลา สิ่งกระทบมันมากกว่าการที่อยู่ผู้เดียว
แต่สำหรับผู้ฝึกใหม่ๆนั้น จำเป็นที่จะต้องฝึกพื้นฐานสมาธิในที่ ที่มีความสงบเสียก่อน
เมื่อจิตมันลงฐานแล้ว จึงค่อยออกมาทดสอบจิต ว่ามีความมั่นคงเพีียงใด กับสิ่งกระทบ
ทั้งหลายในที่ ที่มันวุ่นวาย ว่าเราสามารถที่จะทรงอารมณ์สมาธิ มีสติอยู่ได้ตลอดหรือไม่
ทำอย่างนี้สลับไป สลับมา จนจิตนั้นแก่กล้าต่อสิ่งกระทบได้แล้ว จึงออกมาอยู่ในที่ ที่วุ่นวาย
สมัยบวชและปฏิบัติใหม่ๆนั้น ทุกปีจะออกไปอยู่ผู้เดียว ตามถ้ำ ตามเกาะ เพื่อฝึกจิตเจริญภาวนา
ประมาณครั้งละหกเดือน ตั้งแต่หลังรับกฐินแล้ว และจะกลับเข้าวัดมาช่วยงานหลวงพ่อจนออกพรรษา
ใช้เวลาทำอย่างนั้นมาประมาณสิบปี จนมีความมั่นใจแล้วว่าเราทนต่อสิ่งกระทบได้ จึงออกมาเปิดตัว
สร้างวัดและสงเคราะห์ญาติโยม สิ่งที่รู้ที่เห็นอันเกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้น เราอย่าได้รีบด่วนสรุปว่า
รู้แล้ว เข้าใจแล้ว เพราะสิ่งที่เรารู้และเราเห็นในขณะนี้นั้น มันเป็นความเหมาะสมของกำลังสติ กำลังสมาธิ
ที่เรากำลังเป็นอยู่ เมื่อเราปฏิบัติต่อไป กำลังของสติ กำลังของสมาธิก็จะเพิ่มขึ้น การพิจารณาก็จะมากขึ้น
ไปตามลำดับ สิ่งที่จะรู้และจะเห็นมันก็จะชัดเจนและละเอียดมากขึ้นไปอีก ฉะนั้นจึงอย่าได้รีบด่วนสรุป
หรือไปฟันธงว่า มันต้องเป็นอย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนี้ ผู้ที่สามารถจะชี้ชัดฟันธงได้นั้นมีเพียงพระพุทธเจ้า
เพียงผู้เดียวเท่านั้น ฉะนั้นเราจึงต้องเตือนสติตัวเราอยู่ตลอดเวลาไม่ให้หลงสติไปยึดถือในสิ่งที่รู้และเห็นจนเกินไป
และเมื่อรู้อะไร เห็นอะไร ให้เราเอาไปเทียบกับหลักธรรม ว่าตรงกันหรือไม่ และถ้าไม่ตรงกับหลักธรรมก็อย่าไปพยายาม
ตีความหลักธรรมให้มาตรง มารองรับความเห็นของเรา เราต้องกลับมาดูที่ตัวเรา การปฏิบัติของเรา ว่ามันคลาดเคลื่อน
ไปจากหลักธรรมตอนไหน ตรงไหน ให้มาปรับที่ตัวเรา อย่าไปปรับที่หลักธรรม ซึ่งถ้าเราทำอย่างนั้นได้ก็จะทำให้ไม่หลงทาง....
.....รอยกวี.....
                  สัญจร ร่อนเร่มา      ผ่านร้อยป่า  และภูดอย
                 ฝึกฝน  ทนรอคอย    ไม่ท้อถอย  ความหมั่นเพียร
                 ฝึกฝน  สมถะ          ลดมานะ    ที่เบียดเบียน
                 บันทึก และขีดเขียน  เป็นบทเรียน สำหรับตน
                 เตือนตน เตือนสติ     ลดทิฏฐิ   ลดกังวล
                 ค้นหา    ซึ่งเหตุผล   หาตัวตน  ที่เกิดมา
                 ลองถูก  และลองผิด  ก็ด้วยจิต แสวงหา
                 เจริญ     ภาวนา       ตามตำรา ที่เล่าเรียน
                 กรรมฐาน ทั้งสี่สิบ     ก็ได้หยิบ มาพากเพียร
                 เอามา  เป็นบทเรียน  ทำซ้ำเวียน ในทุกกอง
                 รู้กาย  และรู้จิต        รู้ถูกผิด    ด้วยทดลอง
                 มีธรรม  นั้นคุ้มครอง   ไม่เศร้าหมอง ครองจิตดี
                 ให้จิต   เป็นกุศล      คุ้มครองตน   ไปทุกที่
                 กายดี   และจิตดี      ก็ไม่มี  สิ่งกังวล
                 รักษา  ธรรมวินัย       ให้เป็นไป  ตามเหตุผล
                 สงเคราะห์ ต่อชุมชน   ช่วยเหลือคน ตามเหตุการณ์
                 เรียนรู้  ในทุกศาสตร์   ไม่ประมาท  จนชำนาญ
                 เพราะคิด  ว่าคืองาน    และเป็นการ ประพฤติธรรม
                 ทำงาน  ทุกชนิด        ทำด้วยจิต   สตินำ
                 ธรรมะ  ก็คือทำ         ที่น้อมนำ   กุศลมา
                 อย่าเคร่ง มันจะเครียด  เป็นการเบียด  เบียนกายา
                 เคร่งไป  ไม่ก้าวหน้า    เพราะจะพา ให้หลงทาง
                 หย่อนไป ก็ไม่ดี         เพราะมันมี   ซึ่งแบบอย่าง
                 จงเดิน    ในสายกลาง  ทำทุกอย่าง  ให้พอดี...
                              ..............................
                           ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม 
๗ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๕.๕๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย     

230


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๖ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                    ทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคเช้าเสร็จแล้ว สั่งให้พระทั้งวัดกลับไปจัดของใช้จำเป็นส่วนตัว
เพื่อจะสัตตาหะ(ลาพรรษา)ไปร่วมงานศพโยมแม่ของพระอาจารย์ที่อยู่จำพรรษาด้วยกัน ที่อำเภอภูเขียว
จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งโยมแม่ที่เสียนั้น ในพรรษาที่แล้ว ท่านได้มาปฏิบัติธรรมด้วยกันตลอดพรรษาที่วัดทุ่งเว้า
จ.มุกดาหาร จึงคุ้นเคยกันดี ปีนี้ท่านสุขภาพไม่ดี จึงไม่ได้มาปฏิบัติธรรมด้วยกันในพรรษานี้ และเมื่อทราบข่าว
ว่าท่านเสียชีวิต จากพระอาจารย์ที่ท่านลาพรรษาไปเฝ้าไข้โยมแม่ล่วงหน้าก่อนแล้ว คณะสงฆ์จึงมีมติร่วมกัน
ว่าควรที่จะไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลศพโยมแม่ของพระอาจารย์ท่าน เพราะคุ้นเคยกันและอยู่จำพรรษาด้วยกัน
มานานแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๙ เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจต่อกัน ออกจากวัดที่มุกดาหารประมาณสี่โมงเช้า
ไปถึงที่ภูเขียวประมาณ ๑๖.๓๐ น. เข้าไปพักสรงน้ำที่ป่าช้าวัดบ้านบัวพักเกวียน ตอนค่ำเวลา ๑๘.๐๐ น.
ออกมาเป็นเจ้าภาพพระสวดอภิธรรม หลังจาำพระที่นิมนต์มาสวดพระอภิธรรมสวดเสร็จและกลับวัดแล้วนั้น
ก็นิมนต์พระที่จำพรรษาด้วยกันจำนวน ๘ รูป ขึ้นสวดพระสะหัสสะนัยเพื่อแผ่บุญกุศลแด่โยมแม่ที่ทำกาละไป
ปัจจัยที่ญาติโยมถวายมานั้นพระที่สวดทุกรูปก็ถวายพระอาจารย์ลูกชายเพื่อร่วมบุญต่อไปทั้งหมดด้วยความเต็มใจ
สวดพระสะหัสสะนัยเสร็จ กลับมาจำวัตรที่ป่าช้าวัดบ้านบัวพักเกวียน เพราะพักในวัดนั้นดูแล้วไม่สะดวกเท่าที่ควร
กลัวจะเป็นการรบกวนพระในวัดท่าน จึงขอมาพักที่ศาลาปฏิบัติธรรมในป่าช้าจะสะดวกกว่าเพราะจะได้พักอยู่ที่เดียว
กันหมดทั้ง ๙ รูป  ตื่นกันประมาณตีสามกว่า เพราะว่ามีกิจนิมนต์ที่ อ. ปากคาด จ.หนองคาย เจ้าภาพเขานิมนต์ไว้
ล่วงหน้านานแล้ว จึงไม่ได้อยู่ร่วมพิธีฌาปนกิจศพ ออกจากภูเขียวประมาณตีสี่กว่าๆ ไปแวะฉันเช้าที่ จ. อุดรธานี
เวลาประมาณ ๐๗.๓๐ น. เจ้าของร้านมีศรัทธาเพราะว่าพระ ๙ รูป มาลูกค้าประเดิมเปิดร้านให้ เลยไม่คิดเงิน
ถวายภัตราหารเช้าแก่พระคุณเจ้า เลยให้พรและแจกวัตถุมงคลให้แก่เจ้าของร้านและเด็กๆในร้านทั่วกันทุกคน
เป็นการตอบแทน ไปถึงบ้านงานที่นิมนต์ไว้ประมาณ ๐๙.๓๐ น. ทำพิธีบวงสรวงและสวดถอนของในพื้นที่ก่อน
แล้วจึงเจริญพระพุทธมนต์ สวดเสริมอายุ สะเดาะพระเคราะห์ เสริมบารมี ให้แก่เจ้าภาพและครอบครัว เจ้าภาพ
ถวายสังฆทานแล้ว กล่าวนำคำ อุทิศทาน อธิษฐานจิต ขออโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร ให้พรเสร็จแล้ว จึงได้
ฉันภัตราหารเพลกัน ออกจาก อ.ปากคาดเที่ยงตรง วิ่งรถเลาะเลียบแม่น้ำโขงกลับมุกดาหาร กลับมาถึงวัดทุ่งเว้า
เวลา ๑๘.๑๖ น. จึงได้มาเขียนบันทึก รอยทางและรอยธรรม
....รอยธรรม....
                   ในการเดินทางแต่ละครั้งนั้น มีหน้าที่พิเศษคือ ต้องเป็นคนนำทาง คอยบอกเส้นทางให้แกคนขับรถ
เพราะคนขับรถวัดนั้นเก่งเส้นทางแต่ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ถ้าออกพ้นเขตจังหวัดมุกดาหารแล้วไปไม่เป็นเพราะไม่
รู้จักเส้นทาง จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคอยบอกเส้นทาง เวลาเจอทางแยกให้เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา และต้องบอก
เส้นทางข้างหน้าว่าจะไปทางอำเภอไหน ทำให้ต้องมีสติและสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลาในขณะเดินทาง เป็นการปฏิบัติ
ธรรมไปในตัว เพราะต้องมีความรู้ตัวทั่วพร้อมลืมตาอยู่ตลอดเวลา เผลอหลับหรือเข้าสมาธิไม่ได้เลย จึงใชเวลาให้เป็น
ประโยชน์ในขณะเดินทางด้วยการเจริญสติและพิจารณาธรรมไปพร้อมกัน...
....ชีวิตเป็นของน้อยนิด ทุกขณะจิต กำลังเดินไปสู่ความตาย จึงต้องฝึกวางจิตก่อนตาย ฝึกปล่อยวางธาตุขันธ์ก่อนตาย
ไม่ไปโวยวายตกใจกลัวกับธาตุขันธ์ที่มันเสื่อมไป ธาตุมันจะแตกจะดับก็เป็นเรื่องของธาตุ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ต้อง
เป็นไป แต่ใจเรานั้นไม่ได้ดับ ยังรับรู้และเห็นความเสื่อมของธาตุนั้นอยู่ ที่เราไปโวยวายตกใจกลัวนั้น ก็เพราะว่าเราเข้าไปยึดถือ
มันจึงเป็นอุปาทานขันธ์ ซึ่งถ้าเราละวางอุปทานเสียได้ ไม่เข้าไปยึดถือจนเกินไป ใจเราก็จะสงบและไม่เป็นทุกข์กับความเสื่อมไป
ของธาตุทั้งหลายนั้น เพราะทุกอย่างในโลกนี้ มันเป็นเช่นนั้นเอง คืออยู่ภายใต้กฏของพระไตรลักษณ์ การเกิดขึ้น การตั้งอยู่
และการดับไปนั้น มันเป็นเรื่องของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
....รอยกวี....
                สรรพสิ่ง  เคลื่อนไหว  ไม่หยุดนิ่ง
            คือความจริง   ที่เห็น       และเป็นอยู่
            ใช้สติ         ใคร่ครวญ    ทบทวนดู
            ก็จะรู้          และเข้าใจ   ในหลักธรรม
                            มีเกิดขึ้น      ตั้งอยู่    แล้วก็ดับ
                           เปลี่ยนสลับ   กันไป    เหมือนเช้า-ค่ำ
                           มีสีขาว        ก็ย่อมมี  ทั้งสีดำ
                          เพื่อเตือนย้ำ   ความแตกต่าง  สองอย่างกัน
                                            และเมื่อเรา    วางใจ   ไม่ยึดถือ
                                            สิ่งนั้นคือ      ของเรา   เข้าถือมั่น
                                            เมื่อใจว่าง    ก็วางได้   โดยเร็วพลัน
                                            สิ่งสำคัญ     คือใจ      เป็นประธาน
                                                            เริ่มที่ใจ    ที่จิต     ต้องคิดก่อน
                                                         โดยการย้อน  มองสิ่ง  ที่พ้นผ่าน
                                                          เอาเป็นครู    เรียนรู้     ประสพการณ์
                                                          นั่นคืองาน    ของจิต    ที่คิดทำ
           การทำดี  ต้องเริ่มที่   การฝึกคิด
           ฝึกทำจิต    คิดดี      หลายทีซ้ำ
           คิดอะไร    ก็ให้ดี     มาชี้นำ
           คือฝึกทำ  ฝึกจิต     ให้คิดเป็น
                        คิดเพื่อหา   เหตุผล   ต้นความคิด
                        คือฝึกจิต     ให้รู้       ดูให้เห็น
                        ทำประจำ    จากเช้า   จนถึงเย็น
                        และไม่เว้น   ฝึกทำ     จนชำนาญ
                                        ให้ใจเรา    นั้นอยู่   กับกุศล
                                         เป็นมงคล  ชีวิต     จิตอาจหาญ
                                         ทำสิ่งใด  ก็รู้เท่า    ทันเหตุการณ์
                                         นี่คือการ   ฝึกสติ   ให้รู้ทัน
                                                      ระลึกรู้     ให้เห็น   ความเป็นอยู่
                                                      โดยตามดู  ความคิด  จิตเรานั้น
                                                      แยกถูกผิด  ชั่วดี      ออกจากกัน
                                                      ให้ใจนั้น   มีสติ       มาคุ้มครอง
                                                              .......................
                                                      ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๖ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๒๑.๓๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                                           
                                                         

231


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๕ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                    ทำกิจวัตรของสงฆ์ในช่วงเช้าตามปกติอย่างที่เป็นมา ตอนสายๆลงไปช่วยกันทำงาน
เทคานปูนถังเก็บน้ำ และส่งลูกศิษย์ไปจับฉลากแบ่งสายเรือแข่ง ที่บ้านหนองหล่ม อ.ดอนตาล ซึ่งเป็น
หมู่บ้านที่อยู่ใกล้กัน เทคานปูนเสร็จแล้ว นำทีมงานไปดูการแข่งขันเรือยาวที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว
กลับวัดประมาณบ่าย ๓ กว่าๆ คุมเยาวชนฝีพายซ้อมเรือต่อจนถึงใกล้ค่ำ ได้เวลาไหว้พระสวดมนต์ทำวัตร
เสร็จแล้วกลับที่พัก  ฟังธรรมบรรยายของหลวงพ่อพุทธทาส เจริญสติภาวนา ดูกาย ดูจิต จนหลับไป....
.....รอยธรรม.....
                     เมื่อจิตของเราอยู่กับปัจจุบันธรรม ทุกอย่างรอบกายที่ได้พบเห็น ก็จะเป็นธรรมะไปหมด
โศลกธรรมต่างๆก็จะเกิดขึ้นแก่จิต ซึ่งเรียกว่า " อุทานธรรม " เพราะจิตกำลังพิจารณาอยู่กับปัจจุบันธรรม
ทำให้อกุศลจิตไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะใจของเรานั้นเป็นกุศล ความเป็นมงคลก็ย่อมมีแก่เรา...
.....เรื่องของจิต ไม่ต้องไปคิดให้วุ่นวายใจ ขอเพียงให้เรามีสติ ไม่ให้เผลอ จะทำกิจอันใดให้ใจมันรู้ทัน
ไม่ใช่ทำไปด้วยความหลง ความไม่รู้ เพราะเมื่อไม่รู้และหลง ทุกอย่างจึงเป็นการปรุงแต่ง...
.....ทำตนให้เป็นคนเลี้ยงง่าย มีกิจวัตรประจำวันที่เรียบง่าย ใจก็จะสบาย ทำให้การภาวนาปฏิบัติจึงทำได้ง่าย
สมาธิก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย ความวุ่นวายก็น้อยลง ความกังวลยึดติดก็จะเบาบางลง..
.....อย่าไปวุ่นวายใจกับคำนินทา เราไม่เก็บคำนินทามาคิด  จิตเราก็จะสบาย คำติฉินนินทานั้นคือยาชูกำลัง
ที่จะยับยั้งไม่ให้เราหลงระเริง คำนินนทานั้นคือสิ่งกระตุ้นเตือนตัวเรา เขาติดีกว่าเขาชม ทำให้เรารู้ตัวว่าเขาคิด
อย่างไรกับเรา ซึ่งถ้าเราอย่างที่เขานินทา เราก็จะได้รู้และปรับปรุงแก้ไข แล้วเราจะไปโกรธเขาทำไม ซึ่งถ้าเรา
ไปโกรธเขา ก็เท่ากับเรานั้นกำลังแพ้ภัยกิเลสในใจของเรานั้นเอง....
.......รอยกวี......
                     มองโลก อย่างเที่ยงธรรม      แล้วจงนำ มาขบคิด
                    เตือนใจ  และเตือนจิต          ไม่หลงผิด และกระทำ
                    รู้เห็น    ความเป็นจริง           มองทุกสิ่ง ว่าเป็นกรรม
                    เกิดจาก สิ่งที่ทำ                 วิบากกรรม จึงตามมา
                    กรรมชั่ว นั้นส่งผล                ให้ทุกข์ทน เวทนา
                    กรรมดี   มีเมตตา                 ก็นำมา   ซึ่งสิ่งดี
                    ทุกอย่าง เกิดจากเหตุ            ถ้าสังเกตุ ตามวิธี
                     เอาธรรม มานำชี้                 ให้รู้ที่  เหตุเกิดมา
                     รู้เห็น  การเกิดดับ                ที่สลับ ทุกเวลา
                     ตามดู  ให้รู้ว่า                     เห็นที่มา และที่ไป
                     ตามกฏ พระไตรลักษณ์         นั้นคือหลัก อย่าสงสัย
                     ทุกอย่าง ที่เป็นไป               ล้วนอยู่ใน  พระไตรลักษณ์
                     ชีวิต   อนิจจัง                     และทุกขัง ต้องรู้จัก
                     ตั้งอยู่  ไม่นานนัก                เข้ากับหลัก  อนัตตา
                     ยึดถือ  และยึดติด               ทำให้จิต  นั้นห่วงหา
                     วุ่นวาย อยู่เรื่อยมา               ก็เพราะว่า ไม่รู้จริง
                     อัตตา และมานะ                 ไม่ยอมละ  ในทุกสิ่ง
                     ยึดถือ ว่าเป็นจริง                 ไม่ยอมทิ้ง ละอัตตา
                     "ตัวกู  และของกู "              เมื่อไม่รู้    ก่อปัญหา
                     ยึดถือ กันเรื่อยมา                ก็เพราะว่า ไม่เขาใจ
                     ไม่เห็น กายและจิต               จึงไม่คิด  จะแก้ไข
                     ปล่อยให้ มันเป็นไป              จึงทุกข์ใจ  กันเรื่อยมา
                     อยากให้  ใจสงบ                 ไม่ต้องพบ ความโศกา
                      ก็ต้อง   ภาวนา                    สติมา    ปัญญามี...
                             .........................................
                              ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๕ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๑๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                   
                     

                   
 

232


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๔ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                       พายุฝนผ่านพ้นไป ท้องฟ้าแจ่มใส ทำให้คิดถึงคำโบราณที่ท่านกล่าวไว้ว่า...
"ฟ้่าหลังฝน นั้นย่อมแจ่มใส" ทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติ ตอนสายคุมเด็กๆฝีพายให้เอาเรือขึ้นจากน้ำ
เพื่อเอามาตกแต่งและตากให้แห้ง เพราะใกล้จะถึงวันแข่งแล้ว อบรมและแนะนำเทคนิคการพาย
ชี้แนะและแก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อให้นำไปปรับปรุงใหม่ ตอนใกล้เที่ยงนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัย
รามคำแหง มาขอพบเพื่อขอคำแนะนำเรื่องการออกค่ายอาสาพัฒนา และมาสำรวจพื้นที่หาข้อมูล
เพื่อจะนำไปทำโครงการค่ายอาสาพัฒนาของมหาวิทยาลัย พูดคุยสนทนาให้ข้อมูลเกี่ยวกับงาน
ค่ายอาสาพัฒนา เพราะว่าในอดีตสมัยที่เป็นนักศึกษาานั้น ทำกิจกรรมด้านค่ายอาสาพัฒนามาตลอด
ผ่านการออกค่ายอาสาพัฒนามาประมาณ ๓๐ กว่าครั้ง สร้างอาคารเรียน ห้องสมุด สะพาน สนามเด็กเล่น
ศาลาเอนกประสงค์ สถานีอนามัย และสิ่งก่อสร้างอื่นๆมามากมายในท้องถิ่นชนบทที่กันดาร ทั่วทุกภาค
ของประเทศไทย ทำให้มีความรู้ความเข้าใจและมีความชำนาญในเรื่องงานค่ายอาสาพัฒนาชนบทเป็นอย่างดี
วันนี้น้องๆส่งภาพที่เขาตกแต่งเพื่อจะจะนำมาพิมพ์เป็นภาพที่ระลึกมาให้ดู (ตามภาพที่อยู่ด้านบน) ดูแล้วก็บอก
เขาไปว่า..แล้วแต่พวกเขาจะพิจารณาแต่อย่าให้มันดูแล้วไม่เหมาะสมกับสมณะรูปก็พอแล้ว  ตอนบ่ายๆลงไปดู
งานก่อสร้าง ตรวจดูโครงสร้างแบบคาน นั่งร้านไม้ค้ำยัน ดูความแข็งแรง เพื่อป้องกันความผิดพลาดเมื่อเทคาน
ซึ่งก็ผ่านไปด้วยดี ตอนเย็นทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติ
.....รอยธรรม.....
                    การที่เราได้เจริญสติพิจารณาธรรมอย่างต่อเนื่องนั้น มันจะเกิดสภาวะธรรมลื่นใหล คิดอะไร ทำอะไร
มองอะไรก็เป็นธรรมะไปหมด โศลกธรรมจะเกิดขึ้นในความคิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางครั้งก็สามารถที่จะจดบันทึกไว้ทัน
ถ้าอยู่ในสภาวะที่มีอุปกรณ์ กระดาษ ดินสอ ปากกาพร้อม แต่บางครั้งเกิดขึ้นในขณะที่ทำงาน ไม่สามารถทีจะจดบันทึกได้
ก็บเขียนบันทึกที่หลัง บางครั้งเกิดขึ้นแล้วและจำไม่ได้ก็มี อย่างเช่นโศลกธรรมบทนี้...อวดดี ที่ไม่มีดีในตัว อวดเก่งทั้งที่
ไม่มีความเก่งในตัว อวดรู้ ทั้งที่ไม่มีความรู้อะไรในตัว คนโง่ชอบอวดฉลาด คนขี้ขลาด มักจะอวดความกล้า....หรือบทที่ว่า
...วางใจให้มันมั่งคง ไม่กังวล ไม่สนใจใคร ทำให้เหมือนกับอยู่คนเดียว ภายนอกเคลื่อนไหว ภายในทำใจให้สงบ พิจารณา
ร่างกาย พิจารณาดูจิต มันฟุ้งซ่านไปไหนก็ให้รู้จักมัน รู้เท่าทันกับกิเลส สู้กับกิเลสที่เกิดขึ้นในใจเรา เอาชนะมันให้ได้ เท่านี้ก็
เพียงพอแล้ว สำหรับวันๆหนึ่ง.....ให้รู้อยู่กับปัจจุบัน อดีตล่วงไปแล้วไม่ไปคิดถึง อนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็อย่าไปคิดกังวล อยู่กับ
ปัจจุบันธรรม หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้  ลมหายใจมันสั้นก็รู้ ลมหายใจยาวมันก็รู้ หายใจโปร่งโล่งเบาสบายก็รู้ อยู่กับลมหายใจ
เพียงเท่านั้นก็เพียงพอ ต่อการปฏิบัติธรรม สติและปัญญาจะแก่กล้าขึ้นมาเอง  ถ้าเราได้กระทำและฝึกฝนอยู่อย่างสม่ำเสมอ...
เมื่อเราอยู่กับธรรม ธรรมนั้นก็อยู่กับเรา เมื่อเรารักษาธรรม ธรรมนั้นจะรักษาเรา ธรรมะคือตัวเรา ตัวเราคือธรรมะ เพราะธรรมะนั้น
คือธรรมชาติที่เป็นจริงของสรรพสิ่งในโลกนี้...นี่คือตัวอย่างบางบทบางตอนของสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น เท่าที่จะจำได้และบันทึกได้
ในแต่ละวัน แต่ละเวลา เมื่อจิตของเราอยู่กับธรรม...
....รอยกวี....
                   ฝนตกมา   ฟ้าครึ้ม  และมืดดำ
                  ฟ้ายามค่ำ  ซึมเซา   ให้เหงาหงอย
                  นั่งมองเมฆ  บนฟ้า   ที่เลื่อนลอย
               เหมือนดั่งคอย  เวลา    ที่ฟ้างาม
                                ฟ้าหลังฝน  ทุกแห่งหน  ย่อมสดใส
                                สิ่งใหม่ใหม่  ตามมา     อย่ามองข้าม
                                เมื่อพินิจ     และคิด     ใคร่ครวญตาม
                                ทุกเขตคาม  ล้วนเป็น    เช่นนั้นเอง             
                                                ในโลกนี้    มีด้านมืด  และสว่าง
                                                ทุกทุกอย่าง อย่าเอาใจ  ไปข่มเหง
                                                 ให้รู้จัก     ความชั่ว    และกลัวเกรง
                                                 ตัวเราเอง   นั้นรู้        อยู่แก่ใจ
                                                               ทำอะไร   คิดอะไร   ใจนั้นรู้
                                                               ถ้าเฝ้าดู    ตามจิต     คิดแก้ไข
                                                               ต้องตามดู  รู้เห็น      ความเป็นไป
                                                                รู้อะไร     ไม่สู้        รู้จิตเรา
                 รู้เรื่องโลก  มากมาย  ให้ปวดหัว
                 มารู้ตัว     รู้ใจ         ไม่โง่เขลา
                 รู้ภายใจ   ทำให้       ใจเราเบา
                 และบรรเทา ลดทุกข์  ให้สุขใจ
                               คือรู้กาย    รู้จิต    ที่คิดอยู่
                               เพราะตามดู  ความคิด  จิตตัวใหม่
                               ตามให้ทัน   ดูให้เห็น  ความเป็นไป
                               เราจะได้     รู้เห็น       ความเป็นจริง
                                             สัจจธรรม    นั้นอยู่  คู่กับโลก
                                             มีสุขโศก    คู่กัน    สรรพสิ่ง
                                             จงแยกแยะ ให้เห็น  ความเป็นจริง
                                             ใจต้องนิ่ง   สมาธิ     สติมา
                                                            รู้อะไร    ไม่สู้   รู้กายจิต
                                                            รู้ความคิด ด้วยจิต  แสวงหา
                                                            เป็นหนทาง ที่สร้าง  ทางปัญญา
                                                            รู้ที่มา   รู้ที่ไป   ใจสบาย...
                                                             ........................
                                                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๔ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๒๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
     

                   

233
เป็นปากโพรงทางเข้ารังของ " ชันนะโรง " ซึ่งเริ่มก่อตัวตั้งเข้าพรรษา
เห็นรูปร่างแปลกและมีขนาดใหญ่ ปากโพรงกว้างประมาณ  ๘ นิ้ว
ยาวออกมาประมาณ ๑๒ นิ้ว ประมาณเดือนกว่าๆที่เริ่มมาทำรังอยู่
ที่โคนต้นตะค้อข้างโบสถ์ จึงถ่ายภาพมาให้ชม





234
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๓ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง......
                     เมื่อวานเป็นวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือน ๙ ตรงกับวันพฤหัสบดี มีญาติโยมลงมาทำบุญตักบาตร
ถวายสังฆทานที่วัดกันประมาณ ๓๐ กว่าคน เพราะว่าตรงกับวันตลาดนัดของหมู่บ้าน มีญาติโยมส่วนหนึ่งที่ต้อง
ไปเปิดแผงขายของในตลาดนัด ซึ่งจะมีคนฝั่งลาวข้ามมาซื้อสินค้าและเอาของป่ามาขาย จงทำให้โยมลงมาน้อย
เสร็จจากทำพิธีในช่วงเช้าแล้ว ตอนสายๆเข้าไปในเมืองเพื่อสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง สั่งอิฐมอญเพื่อเอามาก่อแท็งค์น้ำ
และซื้อน้ำยากันซึมมาผสมปูนที่จะใช้เทพื้นแท็งค์น้ำ แวะไปดูสนามแข่งเรือที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ไปดูเรือ
ที่ชักลากมารอแข่งในวันเสาร์ที่จะมาถึงนี้ เป็นสนามที่แข่งเฉพาะเรือรุ่นกลาง ๓๕ ฝีพาย กับเรือรุ่นใหญ่ ๕๕ ฝีพาย
ซึ่งทางวัดเราไม่มีเรือในรุ่นนั้น มีแต่เฉพาะเรือรุ่นจิ๋ว ๑๒ ฝีพายเพียง ๒ ลำ ดูเรือเพลินกลับถึงวัดประมาณบ่ายสองกว่าๆ
ลงไปริมน้ำเพื่อแก้ไขเรือหางยาว ทำแท่นวางเครื่องเรือใหม่ ขยับไปทางท้ายเรือเพื่อให้ใบพัดเรือจมน้ำได้เต็มที่
เสร็จทันเวลาซ้อมเรือพอดี เพราะในการซ้อมเรือนั้นต้องมีเรือพี่เลี้ยงคอยดูแลและช่วยเหลือ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ทำวัตรเย็นเสร็จ มีญาติโยมแห่ต้นกัณฑ์มาถวายเพื่อให้พระที่จำพรรษาได้มีปัจจัยไว้ใช้จ่าย
เพราะว่าเป็นวัดที่ไม่มีรายได้ไม่ค่อยจะมีกิจนิมนต์ นานๆถึงจะมีสักครั้ง จึงมีการทำต้นกัณฑ์ผ้าป่า เพื่อให้พระมี
ปัจจัยไว้ใช้จ่าย เดือนละหนึ่งครั้งซึ่งจะได้ประมาณรูปละ ๕๐๐ บาท ต่อเดือนพอจะได้มีปัจจัยใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น
.....รอยธรรม.....
                    เจริญสติพิจารณาธรรม ทำเท่าที่จะทำได้ตามกำลังของสติที่จะระลึกรู้ ดูกาย ดูจิต ดูความคิด
ดูอารมณ์ ยกหัวข้อธรรมขึ้นมาพิจารณาตามกาลตามเวลาที่เหมาะสม พิจารณาย้อนกลับไปถึงเรื่องราวของตนเอง
ที่ผ่านมา จึงได้รู้ว่า เมื่อก่อนนั้นสมัยที่บวชใหม่ๆเราชอบเิดนทางไปหาครูบาอาจารย์ไปขอพึ่งบารมีของครูบาอาจารย์
ไปชื่นชมบารมีของครูบาอาจารย์ จนได้รับคำเตือนสติจากครูบาอาจารย์ที่เราไปหาว่า...ท่านกับผมเป็นพระเหมือนกัน
ท่านมาชื่นชมบารมีของผม หวังพึ่งบารมีของผม ทำไมท่านจึงไม่กลับไปสร้างบารมีให้แก่ตัวท่านเองบ้างละ เราก็เป็น
พระเหมือนกัน มีอาการ ๓๒ เท่ากัน ท่านไม่ต้องมาไหว้ผม ท่านกลับไปไหว้ตัวท่านเองให้ได้จะดีกว่า...คำเตือนของ
ครูบาอาจารย์ท่านนั้น ทำให้มีสติ ทำให้ได้คิดว่า...คนเราชอบขอพึ่งบารมีของครูบาอาจารย์ ไม่รู้จักพึ่งตนเอง ไม่ขัดเกลา
ตนเอง ไม่ชำระตัวเองให้จิตสะอาดบริสุทธิ์จากราคะ โทสะ โมหะ ต้องการได้ของดีๆแต่ไม่ได้กระทำตนเองให้ดีเสียก่อน
เป็นคำสอนที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งสำหรับตัวเรา ที่ทำให้เราก้าวเดินจนมาถึงวันนี้
.....รอยกวี....
                      ร้อยเรียง  ถ้อยคำ  นำกล่าว
                      เรื่องราว   ที่ได้      พบเห็น
                       รวบรวม  เรียงร้อย  เช้าเย็น
                       มาเป็น    ซึ่งบท     กวี
                                   บอกเล่า  เรื่องราว  ที่พบ
                                   ประสพ    กับตัว     เองนี้
                                   บอกเล่า   ถึงความ  ชั่วดี
                                   บอกชี้     เพื่อเป็น   แนวทาง
                                                เป็นกาพย์   เป็นกลอน  สอนใจ
                                                เขียนไว้      เพื่อเป็น    แบบอย่าง
                                                เรียบเรียง   ถ้อยคำ      จัดวาง
                                                เสริมสร้าง   ตามอย่าง   คำไทย
                                                               หลายหลาก  มากมาย  ให้คิด
                                                               เตือนจิต      เตือนใน   น้องพี่
                                                               ปลุกใจ       เพื่อให้     ใฝ่ดี
                                                               ให้มี          ซึ่งคุณ    (ะ)ธรรม
                     รักษา   ไว้ซึ่ง   ภาษา
                     คุณค่า  ภาษา   เลิศล้ำ
                     ศึกษา   และให้  จดจำ
                     น้อมนำ  ไว้เป็น  แนวทาง
                                 ขอวอน   ให้หวน  ครวญคิด
                                  ดูจิต       ดูใจ    เสียบ้าง
                                  อย่าได้  ปล่อยปละ  ละวาง
                                 เพื่อสร้าง  ทางสุข   แก่ตน
                                              ไม่มี   สุขใด  ใหญ่ยิ่ง
                                              ความจริง  นั้นคือ  เหตุผล
                                             สร้างคน   นั้นให้   เป็นคน
                                             ทำตน     ให้เป็น   คนดี
                                                         เริ่มต้น   จากการ  นึกคิด
                                                         ทำจิต    นั้นให้    ถูกที่
                                                         สติ        นั้นต้อง  พึงมี
                                                         ก่อนที่    จะพูด    และทำ...
                                        เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๐๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

                                                        
                                
 
                      
                  

235
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒ กันยายน ๒๕๕๓
....รอยทาง....
                  ฝนหยุดตกแล้ว หลังเสร็จกิจวัตรของสงฆ์ จึงได้ลงไปดูเรื่องการก่อสร้าง
เพราะว่าหยุดมาหลายวันแล้ว ออกไปสั่งของวัสดุก่อสร้าง ไม้แบบ ปูนซีเมนต์ ยากันซึม
เพราะจะต้องรีบทำแบบเทคาน เทพื้นถังเก็บน้ำ ออกไปหาซื้อเสื้อให้พวกฝีพายเรือแข่ง
ซื้อกาแฟ นม โอวัลติน เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ให้พวกฝีพาย กลับถึงวัดตอนบ่ายๆ สั่งงาน
ให้พวกเด็กๆฝีพายช่วยกันขัดไม้พาย ทาน้ำยารักษาเนื้อไม้ เคลือบเงาใหม่ เตรียมตัวกันไว้
เพราะอาทิตย์หน้าจะเปิดฤดูกาลแข่งขันเรือยาวลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเริ่มแข่งสนามแรกวันพระหน้า
ช่วงนี้พวกเด็กๆฝีพายมานอนที่วัดกันประมาณ ๒๐ กว่าคน เพราะจะต้องลงซ้อมในตอนเช้า
ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ น.จนถึงเวลา ๐๖.๓๐ น.และในตอนเย็นตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ น.จนถึง
เวลา ๑๙.๓๐ น. เพราะช่วงนี้ต้องฝึกความเร็วจังหวะเร่ง ทดลองวางตำแหน่งจัดน้ำหนักเรือ
การแข่งขันพายเรือยาวนั้น เป็นการฝึกให้ทุกคนรู้จักเคารพกฏกติกา มีความพร้อมเพรียงและ
ต้องมีความสามัตคื รู้จักเชื่อฟังผู้นำคือคนให้จังหวะพาย ฝีพายทั้งลำต้องมีใจเป็นหนึ่งเดียวกัน
เรือถึงจะเดินดีและมีชัยชนะ เป็นการสอนธรรมะให้แก่เยาวชนอย่างหนึ่ง
....รอยธรรม....
                การควบคุมคนจำนวนมากนั้น เราต้องใช้หลักของจิตวิทยา มาประกอบใช้เป็นอย่างมาก
ต้องรู้และเข้าใจอุปนิสัยของคนแต่ละคน ใช้วาทะศิลป์ในการโน้มน้าวให้เขาเชื่อฟังและปฏิบัติตามเรา
"ตาดู หูฟังและต้องคอยสังเกตุ " เหตุการณ์รอบด้านที่กำลังเป็นไป ต้องรีบแก้ไขในทันที่ถ้าเห็นว่าจะมีปัญหา
อย่าให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วจึงจะเข้าไปแก้ไข ต้องมีสติและสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา แก้ไขปัญหาได้ทุกขณะ
การเป็นผู้นำนั้นต้องคิดเป็น ทำเป็นและใช้คนเป็น คือเลือกใช้คนให้เหมาะสมกับงาน ประสานกับทุกส่วนได้
ทุกอย่างจะมีขึ้นได้นั้น ก็ต้องผ่านการฝึกฝน คือฝึกคิด ฝึกทำ ฝึดวิเคราะห์ ให้รู้และเข้าใจในความเหมาะสม
ความพอดี พอเพียง ในสิ่งนั้นๆ ไม่ตึงเกินไปจนทำให้เกิดเครียด ไม่หย่อนเกิดไปจนทำให้ติดนิสัยขี้เกียจ
เิดินในทางสายกลาง คือความพอดี พอควร ตามความเหมาะสม ของจังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และบุคคล
ในการดำเนินชีวิตของบุคคลทุกคนนั้น ในแต่ละวันต้องมีหลักธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอด แต่ที่เราไม่รู้ไม่เห็น
ไม่เข้าใจ ว่าเรากำลังใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิตนั้น เพราะเราไปติดภาพ ติดในรูปแบบ ภาษาและคำศัพท์
ว่าการปฏิบัติธรรมนั้น มันต้องมีรูปแบบ มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ มันเป็นของสูง ต้องนุ่งขาวห่มขาว ต้องสมาทาน
รักษาศีล ต้องไหว้พระสวดมนต์ ต้องนั่งสมาธิ ต้องเดินจรงกรม มันจึงเป็นเรื่องยากที่คนธรรมดาอย่างเราจะทำได้
ส่วนใหญ่เราไปเข้าใจและคิดอย่างนั้น จึงไม่กล้าที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมกัน อ้างว่ามีภาระหน้าที่ อ้างว่าไม่มีเวลา
แต่การปฏิบัติที่แท้จริงนั้นสามารถที่จะกระทำได้ในทุกขณะจิต เพราะเป็นเรื่องของการมีสติและการมีสัมปชัญญะ
การรู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี รู้ในสิ่งที่ควรและในสิ่งที่ไม่ควร มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปในสิ่งที่ไม่ควร
มีความปิติยินดีในสิ่งที่ควรในสิ่งที่ดีทั้งหลาย ก็เป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว " ธรรมะสัปปายะคือการรู้จักเลือกทำในสิ่ง
ที่เหมาะสมกับตน " แล้วความเจริญก้าวหน้าในธรรมก็จะเกิดขึ้น เมื่อทุกอย่างมันลงตัวคือมีความพอดีพอเหมาะของมัน....
.....รอยกวี....
                            เมื่อฝนซา ฟ้าใส  ใจเป็นสุข
                   เพราะว่าทุกข์  ผ่านพ้น  เริ่มต้นใหม่
                   เรื่องร้ายร้าย    คลี่คลาย ผ่านพ้นไป
                   เริ่มต้นใหม่    ยังไม่สาย  อย่ารั้งรอ
                                    อย่ามัวรอ   ร้องขอ  ต่อโอกาศ
                                    ไม่สามารถ  เป็นได้  ใจจะท้อ
                                    เริ่มที่เรา    ต้องขวนขวาย ไม่นอนรอ
                                    ต้องสานต่อ  สร้างให้ฝัน   นั้นเป็นจริง
                                                    วิ่งเขาหา    สร้างโอกาศ  อย่างอาจหาญ
                                                    จงสู้งาน      ทำไป     ไม่หยุดนิ่ง
                                                    ทำให้ดู      อยู่ให้เห็น  เป็นของจริง
                                                    อย่าประวิง    รอเวลา    จะช้ากาล
                                                                   ทำให้จริง    ทำให้ดี    ถึงที่สุด
                                                                   อย่าได้หยุด  ทำไป     อย่าเกียจคร้าน
                                                                   ความสำเร็จ   ของคน   คือผลงาน
                                                                   คนกล่าวขาน  ยกย่อง  เพราะของดี
                    ทำอะไร    ลงไป   ใจจงรู้
                  และตามดู  ตามเห็น ในทุกที่
                  สติมา    ปัญญาเกิด  ประเสริฐดี
                  เพราะว่ามี  คุณธรรม  ประจำใจ
                                  คุณธรรม    นำพา  ซึ่งชีวิต
                                ไม่พลาดผิด  พาจิต ให้หลงใหล
                                 ให้เจริญ    ก้าวหน้า ตลอดไป
                                 ชีวิตใหม่   เกิดได้   เพราะทางธรรม
                                              ความละอาย  และเกรงกลัว  ต่อบาปนั้น
                                              จะสร้างสรรค์    ชีวิต          ให้สุขล้ำ
                                              ไม่ทำบาป    สร้างเวร        และก่อกรรม
                                              "เทวธรรม"   คุ้มครอง        กายวาจา
                                                              เพราะ"หิริ     และโอต-ตัปปะนั้น
                                                              คือสวรรค์      ในใจ   มีใฝ่หา
                                                              เป็นธรรมะ     ที่ทำให้  เป็นเทวดา
                                                              มีชื่อว่า     " เทวธรรม" นำสู่ดี....
                                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๒๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                 
                 
                                                   
                   

236
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑ กันยายน ๒๕๕๓
......รอยทาง.....
                     ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าเรากระทำอยู่บ่อยๆ มันก็จะกลายเป็นความเคยชิน
และเป็นกิจวัตรเป็นนิสัยในที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างจึงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ เพราะว่าเคยพบ
เคยกระทำมาแล้วทั้งนั้น แต่ละวันที่ผ่านไปมันจึงเหมือนเราไม่ได้ทำอะไร เพราะมันเป็น
ไปตามปกติของมันเหมือนทุกๆวันที่ผ่านมา คือตื่นนอนประมาณตีสามกว่าๆ เข้าห้องน้ำ
ล้างหน้าแปรงฟัน ฉันกาแฟ เปิดทีวีช่อง ๓ ดูข่าวภาคเช้า ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ
ออกรับบิณฑบาตร กลับถึงวัดกวาดวิหารลานวัด สวดมนต์ทำวัตรเช้าร่วมกัน ฉันภัตราหาร
เขียนบทความ บทกวี ลงไปดูงานสั่งงานก่อสร้าง หรือดูแลความเรียบร้อยในบริเวณวัด
ตามจังหวะและโอกาศ ตอนเย็นคุมเด็กๆวัยรุ่นออกกำลังกาย ซ้อมพายเรือ เสร็จแล้วก็
ได้เวลาทำวัตรสวดมนต์เย็นต่อ กลับที่พักเปิดคอมฯเข้าเน็ต ดูข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหว
ในบอร์ดวัดบางพระ ตอบปัญหาที่มีผู้ขอคำแนะนำ ขอคำปรึกษา เสร็จแล้วก็เจริญสติภาวนา
จนได้เวลาประมาณ ๐๐.๓๐ น. ก็ได้เวลาจำวัตร ผ่านไปอีกวันหนึ่งที่ได้มีโอกาศตื่นขึ้นมาหายใจ
เป็นวิถึชีวิตตามปกติที่เป็นมา...
.....รอยธรรม.....
                     อย่าได้ปฏิเสธในศาสตร์และวิชาต่างๆที่มีในโลกนี้ ศึกษาค้นคว้าให้เข้าใจ
ถึงที่มาและที่ไปในทุกๆศาสตร์ ให้รู้ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมจึงสอนกันอย่างนี้ ทำไม
เขาจึงเข้าใจมันอย่างนี้ มีเจตนาเป็นอย่างไร อะไรเป็นกุศโลบายในศาสตร์นั้นๆ โดยการทดลอง
ประปฏิบัติตามในหลักของศาสตร์นั้นๆ  แล้วใช้สติพิจารณาใคร่ครวญโดยจิตที่ละเอียดแยบคาย
" โยนิโสมนสิการ " คือการคิดวิเคราะห์อย่างมีระบบ อย่างถูกวิธี พิจารณาไตร่ตรองสาไปหาซึ่ง
สาเหตุหรือต้นตอที่เกิดของเรื่องที่เรากำลังพิจารณา ให้เห็นที่มาและที่ไป คิดให้ถึงรากถึงโคน
แล้วประมวลความคิดรอบด้านจนกระทั่งสรุปออกมาได้ว่า สิ่งนั้นควรหรือไม่ควร ดีหรือไม่ดี เป็นต้น
เป็นวิถีทางแห่งปัญญา เป็นธรรมสำหรับกลั่นกรองข้อมูลหรือแหล่งข่าวอีกชั้นหนึ่งเป็นพื้นฐานของจิต
ที่จะนำมาซึ่งสัมมาทิฏฐิ ทำให้รู้จักเหตุผล ไม่หลงงมงาย ทุกๆศาสตร์ในโกนี้ล้วนแต่มีทั้งคุณและโทษ
ทั้งประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ มันอยู่ที่เราจะแยกแยะจะมองหรือหยิบฉวยมาใช้ ทำความรู้ความเข้าใจ
กับทุกๆศาสตร์และทุกสรรพสิ่ง แล้วเราจะเห็นความเป็นจริง ทั้งในทางโลกและทางธรรม...
.......รอยกวี.....
                    เวลา  ผ่านไป  ไม่หยุด       มนุษย์  ดิ้นรน  ขวนขวาย
                    ตั้งแต่ เกิดมา   จนตาย       มุ่งหมาย หาสุข  ใส่ตัว
                    หลงเพลิน ไปตาม กระแส    ผันแปร  จนน่า  เวียนหัว
                    เพราะความ หน้ามืด ตามัว    ลืมตัว ลืมตน   ลืมตาย
                    ติดอยู่ กับกิน กามเกียรติ     จนเครียด เพราะความ มุ่งหมาย
                    อยากให้ อยู่สุข สบาย        จึงกลาย  เป็นสร้าง เวรกรรม
                    ชีวิต  จึงไม่  สงบ              ไม่พบ  กับสิ่ง  ค่าล้ำ
                    ชีวิต  อยู่ห่าง ทางธรรม        เคราะห์กรรม จึงมา เยี่ยมเยือน
                                                       ชีวิต   จึงมี   แต่ทุกข์         ไร้สุข เหมือนไม่  มีเพื่อน
                                                       ไร้คน  จะมา  ปลอบเตือน     เสมือน  โดดเดี่ยว เดียวดาย
                                                       สังคม  นับวัน  เสื่อมทราม     หลงตาม ไร้ซึ่ง  จุดหมาย
                                                       วัตถุ   เพิ่มขึ้น  มากมาย       ที่หาย   คือคุณ  ความดี
                                                       ศีลธรรม กำลัง  หดหาย        จางคลาย ไปทุก ถิ่นที่
                                                       แก่งแย่ง แข่งขัน ชิงดี          ไม่มี  น้ำใจ  ให้กัน
                                                       สังคม  แห่งภาพ  มายา        ให้ค่า  วัตถุ  เท่านั้น
                                                       ใครมี  ทรัพย์มาก กว่ากัน      ผู้นั้น  ได้รับ คำเชิญ
                   คนดี    มีศีล   มีธรรม          ไม่นำ  มากล่าว สรรเสริญ
                   คนดี    ไม่มี    ที่เดิน           ถูกเมิน  ว่าโง่  งมงาย
                   คนดี    ถูกเขา  เอาเปรียบ     หยามเหยียบ ไร้ซึ่ง ความหมาย
                   สังคม  นับวัน  กลับกลาย       มากมาย  ด้วยเล่ห์ ลมลวง
                   ศีลธรรม  หากไม่  กลับมา      โลกา  นี้น่า  เป็นห่วง
                   เพราะว่า  มนุษย์  ทั้งปวง       หลอกลวง  คดโกง  ฆ่ากัน
                   ทุกคน  จะเห็น  แก่ตัว           เมามัว   แก่งแย่ง  แข่งขัน
                   ไม่มี   น้ำใจ  แบ่งปัน            โลกนั้น  คงดับ  ลับลง....
                            ...............................................
                            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                      รวี สัจจะ- สมณะไร้นาม
๑ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๔.๒๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                   

237
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                    ฝนพรำทั้งคืนทั้งวัน ไม่เห็นแสงแดดเลย เพราะเป็นช่วงมรสุมเข้า
และมักจะเป็นผู้ที่โชดดีตลอดเรื่องฝนตกและน้ำท่วม เพราะว่าไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน
มักจะเจอฝนตกหนัก น้ำป่าและน้ำท่วมตลอด ทำบุญกับน้ำมามาก สมัยอยู่ที่สุราษฎร์
เจอน้ำท่วมใหญ่ " ดินถล่มที่กระทูน " วัดที่จำพรรษานั้นเป็นเกาะอยู่กลางแม่น้ำตาปี
ชื่อ " วัดเกาะธรรมปทีป " กำลังรับกฐินซึ่งเป็นวันสุดท้ายของฤดูกฐิน (๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ )
เวลา ๑๒.๓๐ น.น้ำป่ามาถึงพอดี น้ำท่วมทั้งเกาะจมอยู่ใต้น้ำ หลังจากนั้นไม่กี่ปี ออกพรรษา
แล้ว แวะไปเยี่ยมสหธรรมมิกที่ท่าแซะ จ.ชุมพร ไปเจอ " พายุเกย์ " เต็มๆที่ถ้ำกระโหลก
ไปจำพรรษาที่พังงาก็เจอน้ำป่าท่วมตลาดกระโสม วัดเก่าเจริญธรรมก็รับไปเต็มๆคือน้ำท่วมวัด
ปีต่อมาเขานิมนต์ไปอยู่ที่ อ.กระปง ที่น้ำตกปลายพู่ ก็เจอน้ำป่าดินถล่มอีก ไปจำพรรษาที่เชียงใหม่
ก็เจอฝนตกหนักน้ำปิงท่วม ดินถล่มถนนขึ้นดอยสุเทพโดยน้ำป่าขาด ไปอยู่แม่ฮ่องสอนบนดอย
ก็เจอพายุเข้า ฝนตกหนักน้ำป่าทะลัก ดินถล่ม  มาอยู่มุกดาหารก็เจอพายุมรสุมเข้าเกือบทุกปี
จึงทำให้มีความเคยชิน กับฝนตก พายุเข้า น้ำท่วม ดินถล่ม เพราะที่ผ่านมานั้น หนักกว่านี้เยอะ
ทั้ง " ดินถล่มที่กระทูน พายุเกย์ที่ชุมพร " จึงไม่กังวลหรืออารมณ์เสียกับเรื่องฝนตกเพราะทำใจ
ได้แล้ว ทำตัวตามปกติไม่ตื่นเต้นหรือตกใจ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง
ทำหน้าที่ของเราไปตามปกติทั้งทางโลกและทางธรรม...
......รอยธรรม.....
                      ฝนตกเกือบทั้งวัน ทำให้การเดินทางไปไหนมาไหนลำบาก จึงไม่มีญาติโยม
ลงมาที่วัด และลงไปทำงานก่อสร้างไม่ได้ จึงอยู่แต่บนศาลาที่พัก เงียบสงบดีไม่มีใครมารบกวน
ทำให้มีเวลาเจริญสติทำสมาธิให้เกิดขึ้นและทรงอารมณ์ได้นานโดยไม่มีใครมารบกวน ทำให้ได้
ทบทวนในอารมณ์สมาธิมากขึ้น เพราะที่ผ่านมานั้นจะมีเวลาทำสมาธิเฉพาะตอนกลางคืนหลังจาก
ทำวัตรสวดมนต์เย็นแล้วเท่านั้น เพราะว่ากลางวันนั้น ต้องทำงานต้องต้อนรับสงเคราะห์ญาติโยม
เรียกว่า " ทำวิกฤตให้เป็นโอกาศ " พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปให้เหมาะสมกับสถานะการณ์ที่เป็น
ถ้าเรามองโลกในแง่ดี เราก็จะเห็นสิ่งที่ดีและโอกาศที่ดีอยูเสมอ ขอให้เรามีสติและสัมปชัญญะที่เป็น
กุศล คิดดี ทำดี มองโลกในแง่ดี แล้วทุกอย่างก็จะดีไปเอง คนเราทุกคนอยากจะได้พบกับสิ่งที่ดี
อยากจะให้สิ่งที่ดีเกิดขึ้นกับตนเอง อยากจะให้ตนเองพบแต่สิ่งที่ดีๆ แต่ลืมทำกายและจิตของตนให้ดี
เสียก่อน เรียกว่าไม่ได้ทำเครื่องรับให้มันดีเสียก่อน เมื่อเครื่องรับคือกายและจิตของเรานั้นมันยังไม่ดี
สิ่งที่ดีหรือคลื่นที่ดีก็ไม่อาจที่จะเกิดขึ้นแก่เราได้ ไม่สามารถที่จะรับสิ่งที่ดีๆนั้นได้ เพราะว่าเครื่องรับนั้น
มันยังไม่ดี จึงรับไม่ได้ ฉะนั้นถ้าอยากให้สิ่งที่ดีๆเกิดขึ้นกับตัวเรา เราก็ต้องมาทำเครื่องรับของเราให้มันดี
คือมาปรับจิตปรับใจของเราให้มันดี คือทำจิตทำใจให้เป็นบุญกุศลเสียก่อน เมื่อกายและใจของเรานั้น
อยู่กับบุญกุลแล้ว สิ่งที่ดีย่อมบังเกิดขึ้นแก่เรา เพราะใจเรานั้นเป็นสื่อที่จะดึงดูดสิ่งที่ดีให้มาสู่กายและจิต
ของเรา ในทางตรงข้ามกัน ถ้าจิตใจของเราไม่ดีเป็นอกุศลจิต มันก็จะดูดเอาสิ่งที่ไม่ดีสิ่งที่เป็นอกุศลนั้น
เข้ามาสู่ตัวเราเพราะคลื่นที่เราส่งออกไปนั้นมันไม่ดี และเครื่องรับของเรามันไม่ดี มันจึงรับเอาคลื่นที่ไม่ดี
ทุกอย่างจึงเริ่มที่จิตของเรา คิดดี พูดดี ทำดี แล้วสิ่งที่ดีก็จะเกิดขึ้นแก่เรา...
.......รอยกวี......
                      สายฝนหล่นจากฟ้า   ตกลงมาสู่ื้พื้นดิน
                   ลมพัดหอบเอากลิ่น      อุ่นไอดินยามฝนพรำ
                   เมฆครึ้มปกคลุมฟ้า       ท้องนภาจึงมืดดำ
                   จากเช้าจนถึงค่ำ          ฝนตกพรำตลอดมา
                   มองผ่านช่องหน้าต่าง    มองทุกอย่างสุดสายตา
                   ทบทวนสิ่งผ่านมา        แสวงหาเพื่อบรรเทา
                   โลกนี้เป็นเช่นนั้น         ที่แปรผันคือใจเรา
                   เกิดจากความโง่เขลา     หลงมัวเมาในกามา
                   ลาภยศและสรรเสริญ     มัวหลงเพลินแสวงหา
                   หลงติดภาพมายา         โดยคิดว่าเป็นของจริง
                   เพลินในกินกามเกียรติ   และหยามเยียดสรรพสิ่ง
                   ไม่รู้ซึ่งความจริง           เพราะละทิ้งเส้นทางธรรม
                        ชีวิตอนิจจัง           เกิดพลาดพลั้งให้ตกต่ำ
                   ความชั่วเข้าครอบงำ      ก้าวถลำไปผิดทาง
                   สร้างกรรมทำบาปหนัก   จมในปลักที่เราสร้าง
                   ทรชนคือหนทาง          ที่ก้าวย่างเดินพลาดไป
                   เวรกรรมตามมาทัน        เพราะกรรมนั้นต้องชดใช้
                   ทุกอย่างจึงเปลี่ยนไป     ได้เข้าใจในทางธรรม
                   ออกห่างเส้นทางผิด       ก็ด้วยจิตกุศลนำ
                   หยุดสร้างซึ่งบาปกรรม    มาสร้างทำแต่กรรมดี
                         มาเป็นสมณะ        บวชเป็นพระเพื่อเปลี่ยนสี
                   เปลี่ยนใจมาใฝ่ดี          ละสิ่งที่ผิดพลาดมา
                   ศึกษาปฏิบัติ               และฝึกหัดภาวนา
                   เจริญจิตแผ่เมตตา         ขอขมาอโหสิกรรม
                   ยอมรับซึ่งวิบาก           ที่เกิดจากสิ่งที่ทำ
                   เอาบุญมาหนุนนำ         ชะลอกรรมที่ทำมา
                   สั่่งสมซึ่งบุญใหม่          เจริญใจภาวนา
                   ดูจิตดูกายา                พัฒนาจิตของเรา
                   ให้จิตนิ่งสงบ              เพื่อล้างลบความโง่เขลา
                   ลดละเพื่อให้เบา          และกล่อมเกลาจิตให้งาม
                   จิตงามด้วยกุศล           นั้นคือผลที่ติดตาม
                   เกิดเพราะพยายาม       ก้าวเดินตามเส้นทางธรรม....
                            ......................................
                         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๓๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                   
                             
                               
                   
                 

238
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๓
......รอยทาง......
                        ฝนยังตกอยู่เกือบทั้งวัน เพราะช่วงนี้มีพายุเข้าหลายลูก เป็นเรื่องปกติในช่วงเข้าพรรษา
ถ้าไม่มีฤดูฝน ไม่มีฝนตกก็ไม่คงมีการเข้าพรรษา จึงเป็นเรื่องปกติที่ฝนจะต้องตก ถ้าฝนไม่ตกมันจึงเป็นเรื่อง
ไม่ปกติ ทุกอย่างมันเป็นเช่นนั้นเอง จึงใช้เวลาที่ฝนตก ลงไปทำงานก่อสร้างไม่ได้ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ
ทำวัตถุมงคลที่จะใช้แจกในงานกฐินหลังออกพรรษา จนถึงตอนเย็นฝนหยุดตก จึงลงไปลองเรือหางยาวลำใหม่
ทดลองวางเครื่องใหม่ คุมฝีพายซ้อมเรือ ฝนตกเกือบทั้งวันฝีพายเลยมาไม่พร้อมกัน ซึ่งกว่าจะพร้อมกันก็เกือบ
จะค่ำแล้ว จึงต้องซ้อมกันจนถึงทุ่มครึ่งจึงจะเลิกซ้อม ไม่ได้ลงไปทำวัตรสวดมนต์เย็นเพราะติดอยู่กลางน้ำโขง
และต้องผูกเรือล่ามโซ่เครื่องเรือ เก็บเรือให้เรียบร้อย จึงทำให้เสียเวลาไปมากเลยเวลาทำกิจไป...
.....รอยธรรม.....
                       เมื่อศรัทธาเกิดขึ้น จงรักษาศรัทธานั้นให้เพิ่มกำลังยิ่งๆขึ้นไป เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ
ให้กับตัวของเราเอง  และเราต้องมีความศรัทธาในตัวของเราก่อนเป็นลำดับแรก  คือเชื่อในสิ่งที่คิดและในสิ่งที่ทำ
ศรัทธาในตนเองนั้น แตกต่างกันกับการยึดถือในตนเอง ซึ่งการยึดมั่นถือมั่นในตนเองนั้นเรียกว่า อัตตา มานะทิฏฐิ
คือเชื่อในสิ่งที่ผิดเป็นการคิดเข้าข้างตนเอง โดยเอาความรู้สึกนึกคิดของตนเองมาเป็นตัวตัดสิน แต่ความมีศรัทธา
ในตนเองนั้น คือความภาคภูมิใจในสิ่งที่ดี ที่ได้กระทำมา เชื่อในความดีในสิ่งที่คิดและที่ทำ นั้นคือความศรัทธาใน
ตนเอง ศรัทธานั้นเป็นเพียงความคิด เกิดขึ้นที่จิตเป็นเพียงนามธรรม เราจึงต้องต่อยอดศรัทธานั้น โดยการนำความคิด
ที่ดีนั้น มาทำให้เป็นรูปธรรม ทำให้เห็นและเป็นจริง และเมื่อสิ่งที่ทำนั้นสำเร็จผล มันก็จะเพิ่มขวัญและกำลังใจให้แก่
ตัวเราเพิ่มขึ้น ทำให้เรามีกำลังใจที่จะกระทำในสิ่งที่ดีต่อไป ทุกอย่างต้องเริ่มที่ใจ ปลุกศรัทธาในจิตของเราให้ตื่นขึ้น
เพราะในส่วนลึกของจิตของทุกคนนั้น ล้วนแต่อยากจะเป็นคนดี อยากจะทำความดี แต่ส่วนใหญ่ได้แต่คิด แต่ไม่กล้าที่
จะทำ เพราะว่าขาดความมั่นใจและความศรัทธาในตนเอง จึงต้องให้มองย้อนกลับไป ว่าในชีวิตที่ผ่านมานั้น มีอะไรบ้าง
ที่เราได้ทำลงไปและสิ่งนั้นมันเป็นความภาคภูมิใจของเรา คิดถึงสิ่งนั้นครั้งใด ทำให้ใจเรามีความสุขและมีความภาคภูมิใจ
สิ่งที่คิดนั้นคือการปลุกศรัทธาให้กับตัวเรา....
......รอยกวี.....
                   จงเชื่อมั่น  ศรัทธา  ในกุศล
                   จะส่งผล   ให้ใจ     นั้นอาจหาญ
                   เพิ่มกำลัง  เพิ่มขวัญ ต่อการงาน
                   จะทำการ   สิ่งใด     ไปได้ดี
                                เมื่อคิดดี    และทำดี  อย่างที่คิด
                                กำหนดจิต  เป็นกุศล  ในทุกที่
                                เพิ่มกำลัง    ศรัทธา   ให้มากมี
                                เมื่อคิดดี    และทำดี   ก็สุขใจ
                                              ใจเป็นสุข  อยู่กับ    บุญกุศล
                                              ก็หลีกพ้น  จากบาป  ไม่เข้าใกล้
                                              มีความดี    คุ้มครอง  ทั้งกายใจ
                                              จะช่วยให้   ชีวิต       นั้นรุ่งเรือง
                                                           จะรุ่งเรือง   ก้าวหน้า   เพราะกุศล
                                                            บุญส่งผล  ให้ก้าวหน้า อย่างต่อเนื่่อง
                                                            รักษาจิต    รักษาใจ    ไม่ขุ่นเคือง
                                                            บุญหนุนเนื่อง  ให้รุ่งเรือง  ยิ่งขึ้นไป
                                                                          ถ้ากินแต่  บุญเก่า    นั้นอาจหมด
                                                                          บุญจะลด  ถ้าไม่สร้าง ทางบุญใหม่
                                                                          ทำวันนี้    ให้ดี  ยิ่งขึ้นไป
                                                                          สั่งสมไว้  ซึ่งต้นทุน  บุญหนุนนำ
                                                                                      จงเชื่อมั่น  ศรัทธา  ในความดี
                                                                                      เป็นสิ่งที่  ประเสริฐ  และเลิศล้ำ
                                                                                      อยู่กับโลก บนเส้นทาง  แห่งสายธรรม
                                                                                      บุญหนุนนำ  ให้ประสพ  พบสิ่งดี...
                                     เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๒๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                               

239
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๓
....รอยทาง....
                  ช่วงนี้ฝนยังตกอยู่เกือบทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะตกตั้งแต่ตอนกลางคืน จนถึงเที่ยงวัน
ในเวลาช่วงเช้าจึงต้องอยู่บนศาลาที่พัก หาอะไรทำไปเรื่อยๆ เป็นการฝึกจิตให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
ตอนบ่ายโยมมานิมนต์ไปเก็บธาตุ เอากระดูกเข้าบัว สวดมนต์เย็น ประเพณีอีสานเรียกว่า " เก็บธาตุ
เอากระดูกเขาบัว ห่อข้่าว แจกข้่าว " เป็นการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไป หลังจากงานฌาปนกิจ
เสร็จแล้ว ซึ่งเจ้าภาพจะจัดทำกองทาน ซึ่งจะมีอัฐบริขาร ปราสาทผึ้ง เสื่อ หมอน ของกินของใช้ที่จำเป็น
เรียกรวมว่า " กองทาน " นำไปถวายวัดเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ตายไป ซึ่งเจ้าภาพในงานนี้เป็นคนที่
ช่วยงานอยู่ในวัด จึงต้องออกไปทำพิธีเองเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เจ้าภาพ ให้คนขับรถวัดเอารถไปใช้
ในงาน รถตู้เอาไว้รับส่งพระ รถกะบะเอาไปขนของ เอาไปออกตลาดซื้อกับข้่าว และให้มาเอาของในวัดไป
ใช้ในงาน โต๊ะ เต็นท์ เก้าอี้ เครื่องขยายเสียง เครื่องครัวทั้งหมด เป็นการสงเคราะห์ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน
" ยามดีใช้ ยามไข้รักษา ตายมาก็จัดงานให้ " มันเป็นการทำงานมวลชนสัมพันธ์อย่างหนึ่งสำหรับญาติโยม
ในชุมชนที่วัดตั้งอยู่ ซึ่งพระภิกษุสามเณรต้องพึงกระทำ
.....รอยธรรม.....
                     มีพระเคยมาถามว่า... เราเอาเวลาไหนปฏิบัติธรรม เจริญสติ ทำสมาธิ เพราะวันๆหนึ่งนั้น
เขาไม่เคยเห็นเรานั่งสมาธิ ไม่เคยเห็นเราเดินจงกรม เห็นเราทำงานตลอด เคลื่อนไหวอยู่ตลอด หรือไม่ก็เห็น
เรานอนนิ่งๆไม่เคลื่อนไหวหรือทำอะไรเลย...ซึ่งที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเขายังติดอยู่ในรูปแบบของการปฏิบัติ
คิดว่าการปฏิบัติธรรมนั้น มันต้องนั่งสมาธิ มันต้องเดินจงกรม เพียงอย่างเดียว จึงจะเรียกว่าการเจริญสติภาวนา
ก็ได้อธิบายให้เขาเข้าใจว่า ก่อนจะถึงจุดนี้นั้นเราผ่านการกระทำอย่างนั้นมามากจนรู้เข้าใจและมีความชำนาญ
การปฏิบัติธรรมนั้นมันเหมือนกับการฝึกเขียนหนังสือ เริ่มแรกที่เรายังเขียนไม่เป็นนั้น ครูบาอาจารย์พ่อแม่นั้น
ต้องจับมือเราเขียนตัวหนังสือ ตัว ก.ไก่ ตัว ข.ไข่ พร้อมทั้งบอกให้เรารู้ว่าตัวนี้เรียกว่า ก.ไก่ ตัวนี้เรียกว่า ข.ไข่
และเมื่อเรารู้จักตัวอักษรแล้ว เขาก็ให้เราฝึกเขียนไปตามแบบที่เขาร่างไว้ให้ ฝึกเขียนจากตัวบรรจงเต็มบรรทัด
ฝึกคัดลายมือตามแบบ ฝึกเขียนตัวบรรจงครึ่งบรรทัด ฝึกเขียนด้วยดินสอ แล้วต่อด้วยการฝึกเขียนด้วยปากกา
เมื่อเรารู้จักและเข้าใจ อ่านออกและเขียนได้แล้วนั้น ท่านก็ปล่อยให้เราเขียนตามที่เราถนัด ตามที่เราเข้าใจ
และเมื่อเรามีความชำนาญมีความรู้ความเข้าใจ เราก็รู้จักที่จะเขียนแบบย่อ เขียนแต่เฉพาะสิ่งที่สำคัญๆ บันทึกไว้
ซึ่งผู้อื่นอาจจะไม่รู้และเข้าใจในสิ่งที่เราเขียน แต่เรารู้และเข้าใจในสิ่งที่เราเขียนนั้น เพราะมันเป็นการเขียนจากสิ่ง
ที่เรารู้และเข้าใจ มันจึงเป็นการไร้รูปแบบ...การปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องกระทำไปตามแบบอย่างที่มี ที่ครูบาอาจารย์
ท่านสั่งสอนแนะนำมาก่อน จนมีความรู้ความเข้าใจ มีความชำนาญเสียก่อน จึงค่อยมาวิเคราะห์หาการปฏิบัติที่เหมาะ
สมกับตัวเรา การปฏิบัตินั้นต้องเป็นไปตามขั้นตอน ใจร้อนและข้ามขั้นตอนไม่ได้ ต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป ทำให้เกิด
ความเคยชิน รู้และเข้าใจชำนาญเสียก่อนในรูปแบบ แล้วจึงจะละรูปแบบนั้นได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนและ
แบบแผนทั้งในทางโลกและทางธรรม...
......รอยกวี.....
                   ยกบทกลอน  ก่อนเก่า  มาเล่าอ้าง
                   เป็นแบบอย่าง ให้คิด   และศึกษา
                   คนโบราณ    รุ่นเก่า   ท่านเขียนมา
                   มีคุณค่า     ควรคิด    ให้เข้าใจ
                                 " วัดจะยืนยง    คงอยู่   คู่กับบ้าน
                                    ก็ด้วยการ    พัฒนา   หาหยุดไม่
                                     วัดโรยร้าง  เพราะห่าง ความร่วมใจ
                                    เชิญชวนไป  ช่วยวัด     พัฒนา
                                                   วัดจะร้าง    โรยรา  ถ้าถูกร้าง
                                                   จะอ้างว้าง  ร้างโรย ให้โหยหา
                                                   เกิดทุกข์ภัย ไร้ศีล  สิ้นเมตตา
                                                   ทั้งโลกา   พากันทุกข์  ไม่สุขเลย
                                                                 วัดไม่ร้าง   ช่วยกันสร้าง  อย่าร้างวัด
                                                                 ช่วยเร่งรัด     พัฒนา     อย่าอยู่เฉย
                                                                 คอยสอดส่อง  ดูแล      อย่าละเลย
                                                                 อย่าเฉยเมย    ช่วยวัด     พัฒนา
                                                                                  วัดจะดี    มิใช่ดี    ที่โบสถ์สวย
                                                                                  หรือร่ำรวย ด้วยทรัพย์ แสวงหา
                                                                                  วัดจะดี     เพราะพระเณร มีศรัทธา
                                                                                  ภาวนา    รักษาศีล  เคร่งวินัย
                                                                                              วัดจะดี    มีหลักฐาน  ชาวบ้านช่วย
                                                                                               บ้านจะสวย  ก็เพราะวัด  ดััดนิสัย
                                                                                               บ้านกับวัด  ผลักกันช่วย  จึงอวยชัย
                                                                                               หากขัดกัน   ก็บรรลัย     ทั้งสองทาง "
                  คือบทกลอน  สอนใจ   ให้ครวญคิด
                  ให้พินิจ         เอามา    เป็นแบบอย่าง
                  ช่วยให้วัด      พัฒนา     อย่าลาร้าง
                  ช่วยกันสร้าง   ช่วยกันทำ  นำสิ่งดี
                                    ความร่วมมือ   ร่วมแรง  และร่วมใจ
                                    จะทำให้       สำเร็จ    เสร็จทุกที่
                                    ชุมชนใด     มีความรัก  สามัคคี
                                    ก็จะมี        ชื่อเสียง    ขจรไกล
                                                  ต้องช่วยกัน   ประสาน  บ้านและวัด
                                                  อย่าให้ขัด    จงช่วย     กันแก้ไข
                                                  โลกและธรรม บ้านกับวัด คู่กันไป
                                                  จงร่วมใจ     ร่วมทำ   ในกรรมดี...
                                                       ............................
                                              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๑๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                   
                 

240
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๓
.......รอยทาง......
                        ฝนยังตกอยู่เกือบตลอดวันตลอดคืน แต่ตกไม่หนัก เป็นเพราะอิทธิพลของพายุ
ฤดูฝน " มิลดอนเล " ยังไม่หมดฤทธิ์ ทำให้ฝนยังตกอยู่ ช่วงนี้จึงต้องหยุดพักงานก่อสร้างไว้ชั่วคราว
อยู่แต่บนศาลาเกือบทั้งวัน เพราะเดินไปไหนมาไหนลำบากน้ำฝนเต็มลานวัด จึงใช้เวลาที่ว่างไปกับการ
อ่านหนังสือ ทวนปาฏิโมกข์บุพพกรณ์และบุพพกิจปวารณา ฟังธรรมบรรยายของครูบาอาจารย์ที่บันทึกไว้
ตั้งแต่เช้าจนเย็น แล้วจึงลงไปดูเด็กๆซ้อมพายเรือ เสร็จแล้วเตรียมตัวทำกิจในภาคค่ำต่อไป
......รอยธรรม......
                       ทบทวนแนวทางการปฏิบัติในมหาสติปัฏฐานสูตร  พิจารณาสภาวะธรรมในแต่ละฐาน
ทำความรู้ความเข้าใจในการพิจารณาในกาย เวทนา จิต ธรรม กำหนดรู้การเกิดขึ้น  ตั้งอยู่ และการดับไป
ทั้งภายนอกและภายใน คือที่เกิดขึ้นทางกายและทางจืต มีสติและสัมปชัญญะควบคู่เสมอกันอยู่ทุกขณะ
เพราะว่าถ้าไปเน้นสติแต่เพียงอย่างเดียวนั้น มันจะนำจิตไปสู่สภาวะธรรมของสมถะกรรมฐาน คือความนิ่งสงบ
มหาสติปัฏฐานนั้นเป็นการปฏิบัติของวิปัสสนากรรมฐาน จึงต้องมีความรู้ตัวทั่วพร้อม คือต้องมีสัมปชัญญะประกอบ
คอยควบคุมจิต มีสมาธิอยู่ในระดับขณิกสมาธิไม่ปล่อยให้ลงลึกจนเกินไปในองค์ฌาน เพราะจะทำให้การพิจารณา
นั้นมันขาดหายไป จิตจะติดอยู่ในความสงบ สภาวะธรรมของสมถะนั้นเป็นไปในองค์แห่งฌานทั้ง ๔ มีสมาธิควบคุมอยู่
จึงรู้เฉพาะที่สิ่งเพ่ง  สิ่งที่พิจารณา แต่วิปัสสนานั้นมันจะเห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง คือก่อนที่จะเกิดขึ้น ขณะเกิดขึ้น
สภาวะที่ตั้งอยู่ และเหตุที่ทำให้ดับไป คือรู้นอก รู้ใน รู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้การกระทำ มีความรู้ตัวทั่วพร้อมกับกายและจิต
มันเป็นการตามดู ตามรู้ ตามเห็น มันไม่ตื่นเต้นเหมือนการเจริญสมถะกรรมฐาน ที่มี วิตก วิจาร ปิติ สุข และเอตคตารมณ์
จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่เคยปฏิบัติสมถะกรรมฐานมาก่อนในการที่จะยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา เพราะส่วนใหญ่จะติดอยู่ในอารมณ์
ของสมถะ พึงพอใจในความสงบนิ่งของอารมณ์สมาธิ ไม่อยากจะคิด ไม่อยากจะพิจารณา เหมือนที่เคยกล่าวไว้ในเรื่องการปฏิบัติ
ที่ว่า " ทำสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้น  รักษาสิ่งที่มีนั้นไม่ให้เสื่อมหาย ทำสิ่งที่มีนั้นให้เหมือนกับไม่มี " นี้คือขบวนการทางจิตแห่งการปฏิบัติ
" สูงสุดคืนสู่สามัญ " เพราะการเจริญวิปัสสนานั้นดูจากภายนอกแล้ว เหมือนกับไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะเป็นการกระทำที่จิต....
มันไม่มีรูปแบบภายนอกที่ตายตัว ว่าต้องมีท่าทางอย่างนั้น ท่าทางอย่างนี้ จึงจะเป็นการปฏิบัติวิปัสสนา มันอยู่ที่จิตคือการมีสติและ
สัมปชัญญะ ควบคุมการจิต ควบคุมความคิดและการกระทำ มันเป็นการทำภายใน รู้ได้เฉพาะตนเท่านั้นเอง ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่
กำลังคิดอะไรอยู่ และสิ่งที่คิดและที่ทำนั้นเรามีเจตนาอย่างไร เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศลหรือไม่ " ไม่มีใครรู้ซึ้ง เท่าหนึ่งจิต "
ในสิ่งที่กำลังคิดและกำลังกระทำเท่าตัวของเราเอง ถ้าเรามีสติและสัมปชัญญะที่สมบูรณ์อยู่ทุกขณะจิต...
......รอยกวี......
                      ใช่หวัง จะดังเด่น    จึงมาเป็น สมณะ
                    เพียงหวัง จะลดละ    ซึ่งมานะ อุปาทาน
                    ดูกาย   และดูจิต      ดูความคิด และการงาน
                    ดูธรรม  นำประสาน    นี่คือการ   เจริญธรรม
                    ไม่หวัง  ซึ่งคำชม      ความนิยม ว่าเลิศล้ำ
                    สิ่งที่  เรากระทำ       เพื่อจะนำ  สู่ความดี
                    ความดี  อยู่ที่จิต      อยู่ที่คิด    ไม่ผิดที่
                    คิดดี   และทำดี       ใจเรานี้    รู้แก่ใจ
                                              ดูกาย และดูจิต     ปรับความคิด  เราเสียใหม่
                                              สิ่งที่  กระทำไป     เป็นอย่างไร   ดีหรือเลว
                                              ชีวิต เคยผิดพลาด   แต่ไม่อาจ   ให้ล้มเหลว
                                              รู้ตน  ให้รวดเร็ว      แล้วละเลว   มาทำดี
                                              สร้างคุณ บุญกุศล    เป็นมงคล   แก่ชีวี
                                              สร้างบุญ บารมี        ในทุกที่   ทุกเวลา
                                              ทุกอย่าง เริ่มที่ใจ     แล้วแผ่ไป ทั่วกายา
                                              ให้จิต เป็นสัมมา       กล่าววาจา ที่ดีงาม
                   พูดแล้ว  ต้องกระทำ   ไม่กล่าวคำ  ที่ต้องห้าม
                   แทะโลม และลวยลาม กล่าวคำพล่าม คำไม่ดี
                   ดูกาย และดูจิต         ดูความคิด  ไปทุกที่
                   รักษา  ซึ่งความดี       ให้มันมี   ในใจเรา
                   ละซึ่ง  ความงมงาย     ที่จะกลาย เป็นโง่เขลา
                   ทำใจ  ให้โปร่งเบา      โดยไม่เอา เป็นอารมณ์
                   ความโลภ เราต้องละ    เอาธรรมะ เข้ามาข่ม
                   ละทุกข์ ที่โศกตรม      แล้วชื่นชม อยู่กับธรรม
                                              เอาธรรม นั้นนำทาง   เป็นแบบอย่าง  ที่เลิศล้ำ
                                              ให้บุญ   กุศลนำ       โดยเอาธรรม   นั้นนำทาง
                                              นำทาง สร้างชีวิต      เปลี่ยนความคิด ตามแบบอย่าง
                                              ก้าวเดิน ให้ถูกทาง    ไปเพื่อสร้าง  ซึ่งกรรมดี
                                              ต้นทุน บุญกุศล         จะตามตน   ไปทุกที่
                                              ทส    บารมี             คือสิ่งที่   ต้องบำเพ็ญ
                                              สะสม  วันละนิด        ทำให้ติด  ทำให้เป็น
                                              ตามดู  และรู้เห็น        ให้มันเป็น ความเคยชิน....
                                                      ......................................
                                                  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๔๐ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                                       
                                               

241
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                         ทำกิจวัตรสงฆ์ในภาคเช้าตามปกติ หลังจากนั้นก็ต้องออกไปสงเคราะห์ญาติโยม
ที่งานฌาปนกิจศพ จูงศพ สวดมาติกา บังสกุล สวดหน้าไฟ เจริญพุทธมนต์เย็นที่บ้านโยมเป็นอันเสร็จ
ซึ่งประเพณีงานบำเพ็ญกุศลศพในชนบทของภาคอีสานนั้น จะตั้งบำเพ็ญกุศลศพอย่างมากไม่เกินสามวัน
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าค่าใช้จ่ายจะสูงมากในการเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งตกประมาณคืนละ ๔-๕๐,๐๐๐ บาท
และปัจจัยที่แขกมาช่วยงานนั้นก็ไม่มาก คนละ ๒๐-๑๐๐ บาทที่นำเงินมาร่วมบุญ ถ้าเจ้าภาพไม่มีฐานะจริงแล้ว
มันเป็นภาระหนักมาก จึงทำให้ตั้งบำเพ็ญกุศลศพได้ไม่กี่วัน ซ่งพยายามจะเข้าไปแก้ไข เรื่องการเลี้ยงอาหาร
ในงานศพ ลดการเลี้ยงสุราของมึนเมาให้น้อยลง โดยไม่เข้าไปห้ามไม่ให้ดื่ม แต่ขอให้ดื่มกันเลี้ยงกัน หลังพิธี
ทางศาสนาเสร็จพระกลับวัดแล้ว จากที่เคยเลี้ยงเหล้ากันทั้งวันทั้งคืน ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้มากกว่าที่เคยเป็น
ซึ่งต้องค่อยๆแก้ค่อยๆปรับกันไป ถ้าเราไปห้ามเขาทันทีนั้น มันจะเกิดกระแสต่อต้าน เพราะมันเป็นประเพณีและความ
เคยชินของสังคมในชนบทที่เขาเคยกระทำมา จึงต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขา เสร็จจากงานศพ
กลับวัดมาคุมฝีพายซ่อมเรือแข่ง จนได้เวลาที่จะกิจวัตรของสงฆ์ในภาคค่ำต่อไป
.....รอยธรรม.....
                    ในการที่จะเผยแผ่ธรรมะนั้น เราต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับชุมชนที่เราอยู่อาศัยและชุมชนที่เราจะไป
และอย่าได้เข้าไปทำลายลบล้่างความเชื่อหรือประเพณีที่เขาเคยมี เคยกระทำมาในทันที อย่างที่สุภาษิตโบราณที่ท่านว่า
" อย่าหักด้ามพร้า ด้วยหัวเข่า " เพราะเราจะได้รับการต่อต้านและความรู้สึกที่เป็นอคติจากชุมชนนั้นๆ เราต้องสร้างความคุ้นเคย
ความศรัทธา ให้เขาเชื่อถือและยอมรับในตัวเราเสียก่อน และพยายามสอดแทรกธรรมะเข้าไปโดยที่เขาไม่รู้ตัว ว่ากำลังถูกสอน
ซึ่งต้องใช้ความอดทนและความพยายามในการกระทำเป็นอย่างสูง เราต้องดูใจของเราเสียก่อน คืออย่าไปสอนด้วยตัณหาของเรา
คือเอาความคิดความอยากของเราไปยัดเยียดให้เขาตอบสนองกระทำตามความต้องการของเรา ที่อยากจะให้มันเป็นอย่างนั้น
อยากจะให้มันเป็นอย่างนี้  ไม่อยากจะให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากจะให้มันเป็นอย่างนี้ โดยเอาความรู้สึก ความต้องการของเรา
ไปนำเสนอ จงกล่าวธรรม เพื่อธรรม  กล่าวธรรม โดยธรรม ทำหน้าที่ โดยการกล่าวธรรม ซึ่งต้องให้เหมาะสมกับ จังหวะ เวลา
โอกาศ สถานที่และบุคคล คือต้องรู้จักกาละเทศะ ไม่กล่าวธรรมพร่ำเพรื่อต้องให้เหมาะกับกาล การกล่าวธรรมนั้นจึงจะบังเกิดผล
ก่อให้เกิดความเจริญในธรรมและได้รับการสนองตอบ เพราะชอบด้วยกาลและเวลา คือถูกที่ ถูกทางและถูกธรรม...
......รอยกวี.......
                     มีเกิดขึ้น   ตั้งอยู่   แล้วก็ดับ
                     หมุนสลับ  กันไป   ทุกแห่งหน
                    เพราะว่ายัง  เวียนว่าย  ในวังวน
                    ยังไม่พ้น    จากวัฏฏะ  สังขารา
                                  เก่าดับไป   สิ่งใหม่  ก็แทนที่
                                  เป็นอย่างนี้  มานาน  กันหนักหนา
                                  เพราะโลกนี้  ล้วนแล้ว  แต่มายา
                                  จึงเวียนว่าย   กันมา    ไม่หมดกรรม
                    เมื่อมีเกิด    ก็ย่อม    จะมีดับ
                    เปลี่ยนสลับ  กันไป   ให้น่าขำ
                    เพราะกิเลส  ตัณหา   ชักพานำ
                    ก่อเกิดกรรม  เวียนว่าย ในสายธาร
                                  คือสายธาร  ของมนุษย์   ไม่หลุดพ้น
                                  จึงเวียนวน    เกิดดับ       กับสังขาร
                                   ไม่สิ้นสุด   เวียนว่าย      มานมนาน
                                   คือสังสาร    วัฏฏะ        ที่หมุนวน
                   แต่แนวทาง   พุทธะ   นั้นละได้
                   โดยฝึกใจ    ให้ชอบ   ประกอบผล
                   ละกิเลส      ตัณหา    และตัวตน
                   ก็หลุดพ้น    จากกรรม  ที่ทำมา
                                  ไม่ต้องกลับ   มาเกิด  ประเสริฐสุด
                                  ก็เพราะหลุด  จากกิเลส  และตัณหา
                                 เพราะเห็นทุกข์  เห็นภัย   ในมายา
                                   ละอัตตา    ละมานะ    ละตัวตน
                   ไม่ก่อกรรม  ทำบาป  ทีหยาบช้า
                   ปรารถนา    อยู่กับ   บุญกุศล
                   เพิ่มกำลัง   บารมี    ให้แก่ตน
                   และฝึกฝน  เจริญจิต  ภาวนา
                                 มีสติ  อยู่กับตัว  รู้ทั่วพร้อม
                               แล้วก็น้อม  ตั้งจิต  ปรารถนา
                               ดูความคิด   ดูกาย  ที่เป็นมา
                               ให้ปัญญา  เห็นทุกข์  และเข้าใจ
                  เมื่อเห็นทุกข์  เห็นธรรม  เพราะทำจิต
                  เปลี่ยนความคิด  ตั้งจิต   กับสิ่งใหม่
                  อยู่กับธรรม    มีธรรม   ประจำใจ
                  ก้าวเดินไป  ตามทางธรรม  พระสัมมา
                                ปริยัติ    ปฏิบัติ   ปฏิเวท
                               เอาเป็นเหตุ  ฝึกฝน  และค้นหา
                               เพื่อให้เกิด  สมาธิ    และปัญญา
                               จะนำพา    ชีวิต     พ้นวังวน...
                                    ........................
                          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๔๒ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                       

242
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๓
.......รอยทาง......
                        เมื่อวานที่ผ่านมาเป็นวันพระใหญ่ (วันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ)ไม่ต้องออกไปบิณฑบาตร
เพราะญาติโยมจะมาทำบุญตักบาตรกันที่วัด มีญาติโยมลงมาทำบุญตักบาตรที่วัดประมาณ ๕๐ กว่าคน
เป็นวาระของวัดทุ่งเว้าที่จะต้องเป็นเจ้าภาพสถานที่ลงอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์ในวันพระ ๑๕ ค่ำนี้ ซึ่งจะ
เวียนกันไปทั้งตำบล และจะมีการถวายภัตราหารเพลพระที่มาร่วมลงอุโบสถ จึงมีญาติโยมลงมาช่วยงาน
เตรียมอาหาร จัดสถานที่ ต้อนรับพระที่จะมากันหลังทำกิจวัตรสงฆ์ที่อาวาสของตนในภาคเช้าเสร็จแล้ว
พระเริ่มทะยอยกันมาตั้งแต่สามโมงเช้ากว่าๆ ต้อนรับพูดคุยสนทนากับพระอาคันตุกะ ดูแลสั่งงานแม่ครัว
ฉันเพลเสร็จพักผ่อนกันพอให้อาหารย่อย จึงตีระฆังเรียกพระเข้าโบสถ์ ปลงอาบัติ ทำวัตรสวดมนต์เย็น
แล้วจึงฟังพระปาฏิโมกข์ เริ่มสวดเวลา ๑๓.๓๐ น.ใช้เวลา ๔๕ นาทีในการสวดพระปาฏิโมกข์ ซึ่งองค์สวด
ของตำบลนาสีนวนนี้แปลกกว่าที่อื่น คือท่านตาบอดสนิททั้งสองข้าง แต่ความจำเป็นเยี่ยมมาก ดีมาก
สวดพระปาฏิโมกข์ไม่ผิดและติดขัดเลย น่าอนุโมทนากับท่าน ตอนบ่ายหลังลงอุโบสถแล้ว ให้คนขับรถ
เอารถตู้ไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ เอารถกะบะไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และซื้อไม้มาตีคาดขนาบข้างเรือ
ช่วยกันทาสีเรือหางยาวซ้ำอีกรอบ เสร็จตอนใกล้ๆค่ำ เตรียมตัวทำกิจทำวัตรสวดมนต์เย็นต่อ
.....รอยธรรม.....
                    การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น เราต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ต่อชุมชนและคนรอบกาย พึ่งพา
อาศัยซึ่งกันและกัน ก่อนที่เราจะร้องขอจากเขานั้น เราต้องแบ่งปันและให้เขาก่อน จงเป็นผู้ให้แล้วท่านจะ
รับการให้ตอบแทน เป็นคำสอนของครูบาอาจารย์ การมีน้ำใจต่อหมู่คณะนั้น จะทำให้ท่านได้รับความเกรงใจ
สรุปลงได้ในหลักธรรมเรื่อง "พรหมวิหาร " ซึ่งแปลว่าเป็นธรรมอันเป็นเครื่องอยู่ของพรหม ธรรมอันเป็นหลัก
ประจำใจของผู้ใหญ่ ธรรมที่ผู้ใหญ่ควรประพฤติ พรหมวิหารนั้นเป็นธรรมที่เกิดขึ้นในใจ เป็นธรรมที่กระตุ้นให้
เกิดการกระทำ เช่น สงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ซึ่งมีอยู ๔ ประการอันได้แก่...
    ๑.เมตตา คือความรัก ความปรารถนาดี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข
    ๒.กรุณา คือ ความหวั่นไหว ความสงสารเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ คิดจะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์
    ๓.มุทิตา คือ ความพลอยยินดี ความดีใจด้วย ที่ผู้อื่นมีความสุข ได้รับความสำเร็จ
    ๔.อุเบกขา คือความวางใจเป็นกลาง ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เมื่อผู้อื่นได้รับความวิบัติ
ธรรมในหมวดพรหมวิหารนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่หรือผู้นำต้องกระทำต้องมี เพื่อให้เกิดความพอดี เสมอกันของ
ผู้ร่วมงาน เป็นธรรมที่จะประสานใจ ทำให้เกิดความรักใคร่สามัคคีของหมู่คณะ..
.......รอยกวี......
                     "ท่านมา  เราดีใจ    ท่านกลับไป  เราคิดถึง "
                           ........................................
                   เป็นคำคม   ที่ดี    มีความหมาย
                   ทั้งคมคาย  ลึกซึ้ง ติดตรึงจิต
                   เมื่อได้ฟัง  ให้หวน  มาครวญคิด
                   ถึงหมู่มิตร  ที่ห่างหาย  ไม่เจอกัน
                                  เคยร่วมทุกข์  ร่วมสุข   ในครั้งเก่า
                                  เมื่อวัยเยาว์    รักใคร่    ไม่เดียจฉันท์
                                  เคยช่วยเหลือ  เอื้อเฟื้อ  และแบ่งปัน
                                  ความสัมพันธ์ ฉันท์เพื่อน นั้นเตือนใจ
                    วันเวลา    ผ่านไป   ให้พลัดพราก
                   ต้องมาจาก  แยกย้าย เพื่อสิ่งใหม่
                   เพราะต่างคน  ต่างวิถี  และที่ไป
                   แต่ในใจ     คิดถึงเพื่อน  ไม่เลือนลาง
                                  เพราะต่างคน  มีภาระ  และหน้าที่
                                  จึ่งไม่มี     เวลา   ที่จะว่าง
                                  และเพราะอยู่  ห่างไกล  ในเส้นทาง
                                  ที่อยู่่ห่าง    ไกลกัน   มันจำเป็น
                   ความเป็นเพื่อน   ไม่ลืมเลือน   ไปจากจิต
                    คิดถึงมิตร     ยามเมื่อ   ไม่พบเห็น
                   อยากจะรู้    ความเป็นอยู่  ที่เพื่อนเป็น
                   อยากจะเห็น  พบปะ     สนทนา
                                  ยามเพื่อนมา  เยี่ยมเยือน  เหมือนเตือนจิต
                                  ทำให้คิด     คำว่าเพื่อน    นั้นมีค่า
                                  ความจริงใจ    ของเพื่อน    ที่ให้มา
                                  นั้นมีค่า       มากกว่า      ทรัพย์เงินทอง
                  กำลังใจ   คือสิ่ง    สำคัญสุด
                 จะช่วยฉุด  ให้ใจ    ไม่เศร้าหมอง
                 ยามท้อแท้  กำลังใจ ใช้ประคอง
                 ช่วยปกป้อง  ปลุกใจ  ให้มั่นคง
                                 " เสียอะไร   เสียได้   ใจอย่าเสีย
                                   ถึงจะอ่อน  จะเพลีย   อย่าได้หลง
                                   มีสติ    กำลังใจ     ที่มั่นคง
                                   จะเสริมส่ง  ปลุกใจ  ให้กลับมา "
                                      .............................
                            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๔๒ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

243
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                      พายุเข้าฝนตกตั้งแต่หลังทำวัตรเย็น" มิลดอนเล " คือชื่อของพายุลูกนี้
จังหวัดมุกดาหารจะโดนพายุทุกปีแต่จะไม่หนัก เพราะจะโดนเพียงส่วนหางของพายุที่เกิด
เพราะอยู่ตรงกลางของภาคอีสาน ซึ่งพายุ " มิลดอนเล " ลูกนี้เข้าอีสานเหนือ คือจะตกหนัก
แถบอุดรธานีและหนองคาย มุกดาหารจึงโดนปลายๆพายุ ฝนหยุดตกประมาณสามทุ่มกว่าๆ
กรมอุตุฯประกาศว่าพายุขึ้นฝั่งที่เวียดนามแล้วและพัดเฉียงขึ้นไปทางอีสานเหนือ เนื่องจาก
ฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืน ไม่สามารถที่จะลงไปทำงานได้ ทำวัตรเช้า ฉันข้าวแล้ว ก็กลับที่พัก
เก็บตัวอยู่บนศาลาทั้งวัน ใช้เวลาว่างในการอ่านพระไตรปิฏกและฟังธรรมะบรรยายเก่าๆของ
หลวงพ่อจำเนียร สีลเสฏโฐ ที่เก็บบันทึกไว้ ใช้ระบบตาดูหูฟัง จนได้เวลาลงไปทำกิจในภาคค่ำ
จึงหยุดอ่านหนังสือและฟังธรรม ลงไปทำกิจสงฆ์เสร็จกลับที่พักนอนดูกายดูจิตจนหลับไป
.....รอยธรรม....
                    ค้นคว้า ใคร่ครวญ ทบทวน พิจารณา แล้วนำมาประยุกค์ปฏิบัติให้เหมาะสม
กับตนเอง คือหลักของการปฏิบัติธรรม ที่กระทำมาโดยตลอด ทำให้ได้เข้าใจในธรรมที่เราได้
ประพฤติปฏิบัติมา ว่าสิ่งที่พบสิ่งที่เห็นนั้นเป็นสภาวะธรรมของอะไร เป็นสภาวะสมถะหรือวิปัสสนา
และทำให้รู้เหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดของอารมณ์นั้นๆ เพราะเมื่อก่อนนั้นจะมีปัญหาในการปฏิบัติ
สืบเนื่องมาจากการที่เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือชอบค้นคว้าทางตำรา อ่านมามาก อ่านหมดห้องสมุด
มาหลายห้อง อ่านพระไตรปิฏกหมดทั้งสี่สิบหน้าเล่มมาแล้วสามรอบ ทำให้มีข้อมูลมากในสมอง
และเมื่อเข้าสู่ภาคปฏิบัติ จิตมันจะปรุงแต่งในสัญญา ( ความจำ ) ทำให้เกิดสภาวะ " รู้ก่อนเกิด "
คือจิตมันจะปรุงแต่งไปก่อนว่า...เดี๋ยวมันต้องเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวมันต้องเป็นอย่างนี้ มันคิดไปก่อน
จิตก็เลยไม่สงบ หรือสงบก็เพราะเราไปสะกดจิตตัวเองให้มันสงบ มันไม่ได้สงบโดยธรรมชาติของจิต
ที่แท้จริง มันเป็นสภาวะธรรมที่เราสร้าง เรากำหนดขึ้นมา เราเอาอุปปทานมาจินตนาการให้มันเกิด
ให้มันเป็น มันจึงเป็นเพียงสิ่งที่เราสร้างขึ้น ไม่ใช่สภาวะธรรมที่แท้จริง และเมื่อได้ฟังธรรมของหลวงพ่อชา
แห่งวัดหนองป่าพง อุบลราชธานี จึงได้รู้และเข้าใจ จึงฝึกวางความจำทั้งหลายเมื่อเราเข้าสู่การปฏิบัติ
ให้จิตมันเป็นไปโดยธรรมชาติของจิตในการเจริญสติภาวนา อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ไม่ไปปรุงแต่งมัน
เมื่อออกจากสมาธิแล้วจึงมาทบทวนว่า สิ่งที่พบมาคืออารณ์อะไร ไม่ไปรู้ก่อนเกิด ให้มันเกิดแล้วจึงรู้
ซึ่งกว่าจะละวางความจำเก่าๆได้นั้นต้องใช้เวลาเป็นปีในการปรับจิต ปรับความคิดเสียใหม่
......รอยกวี.....
                     เพราะอ่านมาก  รู้มาก  จึงยากนาน
                     จิตฟุ้งซ่าน      เพราะคิด  จิตปรุงแต่ง
                     เพราะความจำ  มันมาก    และรุนแรง
                     มันปรุงแต่ง     ก่อนเกิด   ทุกครั้งไป
                                       มันจึงเป็น  ความคิด  จิตกำหนด
                                       จึงปรากฏ   ให้เห็น   ต้องแก้ไข
                                       ต้องละวาง  ความจำ  นั้นออกไป
                                       เริ่มต้นใหม่  ทิ้งสัญญา มาทำจริง
                    ให้ทุกอย่าง    เป็นไป  ตามเหตุผล
                    ฝึกทำตน     อยู่กับ     สรรพสิ่ง
                    ให้สงบ      พบธรรม    ที่เป็นจริง
                    ให้จิตนิ่ง    โดยธรรม    ที่ทำมา
                                       อย่าไปรู้   ก่อนเกิด   ประเสริฐสุด
                                       จิตมนุษย์  นั้นชอบ    แสวงหา
                                       เป็นความฝัน  และจิต  จินตนา
                                       สร้างมายา    หลอกจิต  คิดไปกัน
                    เพราะอัตตา   มานะ   และทิฏฐิ
                    จึงดำริ       ปรุงแต่ง  และแข่งขัน
                    อยากจะมี   อยากจะเห็น ที่เป็นกัน
                    อยู่กับฝัน    สร้างภาพ   คือมายา
                                       เมื่อละวาง   ความคิด  จิตปรุงแต่ง
                                       ก็พบแสง    แห่งธรรม  ที่ใฝ่หา
                                       ได้รู้ธรรม     เห็นธรรม  พระสัมมา
                                       จึงรู้ว่า    ที่ผ่านมา     นั้นผิดทาง
                   เริ่มต้นใหม่    ตั้งใจ    ปฏิบัติ
                   ฝึกขจัด       ความคิด  ทำจิตว่าง
                   ละอัตตา      ตัวตน      ให้เบาบาง
                   ให้ทุกอย่าง  คืนสู่        ธรรมดา
                                      ปริยัติ    ปฏิบัติ  ปฏิเวท
                                    ให้รู้เหตุ  ที่เกิด   ของปัญหา
                                    เจริญจิต  เจริญธรรม  ภาวนา
                                    และค้นคว้า  ทบทวน  ในทางธรรม....
                                      ...............................
                                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๕๘ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
     
                                       

244
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๓
........รอยทาง........
                           เมื่อวานที่ผ่านมา( ๒๓ สิงหา ) มีภาระกิจมากมาย ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย
จึงจะมีเวลาว่างมานั่งเขียนบันทึก ตอนเช้าหลังจากฉันข้าวแล้ว รีบเข้าเมืองเพื่อซื้อวัสดุอุปกรณ์
เพื่อจะเอามาซ่อมเรือหางยาวที่ได้ไปประมูลมา เพราะเด็กๆฝีพายมารอช่วยงานกันตั้งแต่เช้าแล้ว
กลับจากซื้อวัสดุอุปกรณ์ ก็ต้องมานั่งคุมเด็กๆทำงาน แนะนำการทำงาน คอยเตือนสติไม่ให้ประมาท
ในเวลาทำงาน เริ่มลงมือทำงานตั้งแต่ช่วยกันขัดเรือ แกะชันเก่าที่ยาเรือไว้ ตอกหมันยึดเรือใหม่ให้แข็งแรง
ขัดเรือตอกหมันเสร็จ ก็ต้องช่วยกันยาเรือใหม่ อุดรอยรั่วรอยแตก โป๊ะสีตามหัวน๊อตหัวตะปู ลงสีกันสนิม
ทิ้งไว้จนสีโป๊ะและกาวยาเรือแห้ง จึงช่วยกันทาสีรองพื้นเรือด้านภายนอกเพื่อรักษาเนื้อไม้ มีเด็กๆมาช่วย
ทำงานประมาณสิบกว่าคน ประมาณบ่ายสี่โมงกว่าๆจึงเสร็จ กลับที่พักมาเขียนบันทึกธรรม แล้วเตรียมตัว
ทำกิจวัตรสงฆ์ในภาคค่ำในเวลาต่อไป ประมาณสี่ทุ่มกว่าๆมีญาติโยมเข้ามายืมเต้นท์และชุดเครื่องไฟฟ้า
เพราะว่ามีคนในหมู่บ้านได้ตาย เป็นผู้เฒ่าอายุ ๙๐กว่าปี ลงไปพูดคุยสนทนากับญาติโยมจนดึก จึงกลับที่พัก
ทำกิจของตนต่อ
.....รอยธรรม.....
                    ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วในวันก่อนๆเรื่อง " ปริสัญญุตา ความเป็นรู้จักชุมชน " เพราะการทำงาน
กับคนหมู่มากนั้น เราต้องรู้และเข้าใจอุปนิสัยและความชอบความต้องการของแต่ละคนและแต่ละวัยที่แตกต่างกัน
การทำงานกับวัยรุ่นเราก็ต้องเข้าใจกับวัยรุ่น ว่าพวกเขาชอบอะไร ทำงานกันไปพูดคุยกันไป ให้พวกเขาเพลิดเพลิน
สอดแทรกธรรมะลงไปบ้างตามโอกาศ ยกนิทานมาเล่าให้เด็กฟังสลับกันไปเฮอาไร้สาระบ้าง แฝงคติธรรมบ้าง
เพื่อไม่ให้เด็กเบื่อหน่าย ทำความคุ้นเคยใกล้ชิดกัน ทำให้เด็กไม่เกร็งจนไม่กล้าเข้าใกล้ เมื่อเด็กไว้ใจไปมาหาสู่
คุ้นเคยกับเราแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะสั่งสอนอบรมพวกเขาอย่างไร เป็นขั้นตอนต่อไป ซึ่งเราเป็นผู้ใหญ่
เป็นครูบาอาจารย์นั้นต้องไม่มี " อคติ "คือความลำเอียง ความเอนเอียงเข้าข้าง ความไม่ยุติธรรม ความไม่เป็นกลาง
ต้องวางตัวให้ความสำคัญเสมอกัน ไม่เอาใจใครมากเป็นพิเศษ พูดคุยกับทุกคนเท่าๆกัน ใช้งานให้ทั่วกันเท่าๆกัน
ไม่ให้พวกเขาเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าพระอาจารย์ให้ความสำคัญผู้ใดเป็นพิเศษ เราจึงจะปกครองและควบคุม
พวกเขาได้ ซึ่งความมี  " อคติ " นั้น เกิดจากสาเหตุ ๔ ประการคือ...
   ๑.ฉันทาคติ  ลำเอียงเพราะรักใคร่ชอบพอ
   ๒.โทสาคติ  ลำเอียงเพราะความไม่ชอบทั้งหลาย
   ๓.ภยาคติ    ลำเอียงเพราะความหวาดกลัว
   ๔. โมหาคติ ลำเอียงเพราะความหลง ความเชื่อและสำคัญผิด
การเป็นผู้นำนั้นเราต้องมีคุณธรรม รู้จักผูกมิตร ผูกจิตผูกใจผู้ร่วมงาน เพื่อให้องค์กรที่เราดูแลอยู่นั้น มีความเข้มแข็ง
รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือสงเคราะห์กันในสิ่งที่ดี คือการสอนให้เขามีคุณธรรม สิ่งนั้นคือหน้าที่ของผู้นำ...
......รอยกวี......
                    วันเวลา  ผ่านไป  ไม่หยุดนิ่ง
                    มีหลายสิ่ง  ที่ทำ  ตามสมัย
                    ให้เข้ากับ  เหตุการณ์ ที่เป็นไป
                    และทรงไว้  ซึ่งธรรม  แห่งสัมมา
                                   มรรคองค์แปด  คือทาง  ที่วางไว้
                                   ก้าวเดินไป   ตามทาง    เพื่อค้นหา
                                   ให้รู้จัก       ตัวตน        คืออัตตา
                                   รู้จักว่า      ตัวกู           และของกู
                   รู้อะไร   ไม่รู้เท่า   เข้าใจจิต
                   รู้ความคิด  น้อมธรรม นำมาสู่
                   ทำให้ดู     อยู่ให้เห็น  เอาเป็นครู
                   สอนให้รู้    สอนให้ทำ  ในกรรมดี
                                   ประสานใจ  ประสานชน  คนรุ่นใหม่
                                   ให้ร่วมมือ    ร่วมใจ      ในทุกที่
                                   ให้เกิดความ  รักใคร่     สามัคคี
                                   สอนให้มี     น้ำใจ      ช่วยเหลือกัน
                   ต้องเลือกธรรม  นำมาใช้   ให้เหมาะสม
                   กับสังคม      ที่อาศัย       ให้สร้างสรรค์
                   ให้มีความ    เอื้อเฟื้อ       และแบ่งปัน
                   ให้ร่วมกัน    ทำความดี     เพื่อสังคม
                                   เพราะร่วมมือ  ร่วมใจ  จึงสำเร็จ
                                   งานจึงเสร็จ    ทำไป   ได้เหมาะสม
                                   จึงทำให้       มีคนชอบ  และชื่นชม
                                   เพราะสังคม    เอื้อเฟื้อ   ช่วยเหลือกัน...
                                         .................................
                                     เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๕๓ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

245
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๓
......รอยทาง......
                        สำหรับวันอาทิตย์ที่ ๒๑ สิงหาที่ผ่านมานั้น มีภาระกิจให้กระทำตลอดวัน
ตั้งแต่หลังจากทำภัตรกิจในภาคเช้าแล้ว มีโยมมานิมนต์ไปงานฌาปนกิจศพ ฉันเพลที่งานศพ
ตอนบ่ายก็นำศพไปวัดเพื่อมาติกาบังสกุล สวดหน้าไฟ เสร็จแล้วก็ไปเจริญพุทธมนต์เย็นที่บ้าน
กว่าจะเสร็จก็ประมาณ ๑๖.๓๐ น.โยมจึงมาส่งที่วัด กลับมาคุมฝีพายซ้อมเรือ ให้กำลังใจเด็กๆ
จนได้เวลา ๑๘.๓๐ น.จึงได้ทำวัตรสวดมนต์เย็น ทำกิจของสงฆ์เสร็จแล้วจึงกลับที่ัพัก มาเจริญจิต
ภาวนาตามสมควรแก่เวลาจึงได้พักผ่อน
......รอยธรรม......
                         ออกไปกิจนิมนต์ต้องเจอกับผู้คนมากมาย จึงต้องคุมจิตคุมใจ ควบคุมอารมณ์
เป็นอย่างยิ่ง เพราะประเพณีงานศพในภาคอีสานนั้น ย่อมมีคนเมาเหล้าเป็นเรื่องธรรมดาของท้องถิ่น
และก็เป็นเรื่องแปลกอีกอย่างหนึ่งของคนก็คือ เมื่อเมาแล้วคิดถึงพระชอบเข้ามาปรับทุกข์ระบายให้
พระฟัง ซึ่งตอนที่ไม่เมานั้นจะไม่กล้าเข้าใกล้พระ เมื่อเมาแล้วจึงคิดถึงพระ เข้ามากราบแทบเท้าพระ
ระบายความทุกข์ให้พระฟัง พระจึงต้องทำใจและต้องอดทนฟัง พร้อมทั้งต้องควบคุมอารมณ์ให้ดีด้วย
ไม่ไปเมากิเลสตามโยม ไปเกิดปฏิฆะขุ่นใจกับโยมที่เมามา ซึ่งสำหรับตัวเรานั้นรับได้และเข้าใจกับคนเมา
เพราะเมื่อก่อนนั้นเราก็เคยดื่มเหล้าเคยเมาและเป็นอย่างนั้นมาก่อน จึงเข้าใจพวกเขาคนเมาเหล่านั้น
ว่าเขาเพียงต้องการที่จะระบายสิ่งที่อัดอั้นในใจของเขาให้พระฟัง ซึ่งถ้าเขาไม่เมาเขาก็จะไม่กล้าเข้าใกล้
ไม่กล้ามาพูดมาระบายกับเรา เพราะเขาเคารพและเกรงกลัวเรา สืบเนื่องจากประวัติเก่าๆที่เราเคยกระทำมา
ทั้งที่เขาได้ยินได้ฟังมาและที่ได้เห็นกับตา ญาติโยมจึงไม่ค่อยกล้าที่จะเข้าใกล้ เวลามีอะไรก็จะต้องผ่านพระ
ลูกศิษย์ที่อยู่ด้วยกันก่อน ไม่กล้าที่จะเข้าหาตรงๆ ซึ่งจริงๆแล้วที่เรานิ่งเฉยไม่ค่อยจะพูดอะไรนั้น เรากำลัง
เจริญสติ ดูกายดูจิตอยู่ สีหน้าที่แสดงออกมาจึงนิ่งเฉย ญาติโยมไม่รู้จึงกลัว ไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะไม่รู้ว่า
ที่เรานิ่งเฉยนั้น เรากำลังคิดอะไร อารมณ์ของเราเป็นอย่างไร มันจึงเป็นการ " นิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว "
ซึ่งนำมาใช้ได้ผล คือไม่ค่อยมีใครกล้ามาวุ่นวายกับเรา ทำให้เรามีเวลาที่จะเจริญสติมากขึ้น
......รอยกวี.....
                        เมื่อรู้เขา  รู้เรา  เข้าใจหมด
                      ก็กำหนด  แนวทาง  ที่วางไว้
                      ว่าจะให้    มันเป็น   อย่างเช่นไร
                     กำหนดได้  ถ้าเข้าใจ ในบุคคล
                                    บทกวี    ของหลวงพ่อ   พุทธทาส
                                  ผู้เป็นปราชญ์ กล่าวไว้      ให้น่าสน
                                  เกี่ยวกับความ  เป็นอยู่      ของผู้คน
                                  ทุกแห่งหน   ควรตรอง      และมองดู
                    " เขามีส่วน เลวบ้าง  ช่างหัวเขา
                      จงเลือกเอา  ส่วนดี  ที่มีอยู่
                      เป็นประโยชน์  แก่โลกบ้าง  ยังน่าดู
                      ส่วนที่ชั่ว    อย่าไปรู้  ของเขาเลย "
                                 นี่คือบท   กวี  ที่กล่าวสอน
                                 เป็นบทกลอน ให้คิด  อย่านิ่งเฉย
                                 การมองคน    ไม่ควร  จะละเลย
                                 จงคุ้นเคย     มองคน  ที่ผลงาน
                   องค์รพี   บิดา  แห่งกฏหมาย
                   ท่านกล่าวไว้  เป็นกลอน  สอนลูกหลาน
                   เรื่องกินเหล้า  เมายา      มาเนิ่นนาน
                   ให้รู้การ    รู้ค่า   คำว่าคน
                                  " เอ็งกินเหล้า  เมายา  ไม่ว่าดอก
                                     แต่อย่าออก  นอกทาง  ให้เสียผล
                                    เอ็งอย่ากิน  สินบาท    คาบสินบน
                                    เรามันชน    ชั้นปัญญา  ตุลาการ "
                  อยู่กับโลก   ด้วยธรรม  นำความคิด
                  อยู่กับมิตร   เอาวาจา   มาประสาน
                  อยู่คนเดียว  ระวังจิต    คิดเกินการ
                  จนฟุ้งซ่าน    สับสน    จนทุกข์ใจ
                                  อยู่อย่างไร  ก็ให้  มีสติ
                                  และดำริ    ให้จิต  นั้นผ่องใส
                                  อย่าวุ่นวาย   ตามโลก  ที่เปลี่ยนไป
                                  จงดูกาย    ดูใจ    ให้รู้ทัน
                 โลกเคลื่อนไหว  อย่าหวั่นไหว   ไปตามโลก
                 จะทุกข์โศก    เพราะโลก   นั้นแปรผัน
                 กระแสโลก    เปลี่ยนไป     ทุกคืนวัน
                 แต่เรานั้น      หยุดได้       โดยใช้ธรรม
                                  กระแสธรรม   นำมา  ซึ่งความสุข
                                  ก้าวพ้นทุกข์  พาใจ  ไม่ตกต่ำ
                                  ทำกุศล   ให้ถึงพร้อม  แล้วน้อมนำ
                                  เดินตามธรรม  ขององค์  พระสัมมาฯ....
                                  ...................................
                               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๗.๑๗ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
 
                   

 

246
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๓
......รอยทาง......
                        ฝนตกหนักตั้งแต่ประมาณตีสามกว่าๆ ทำให้กิจวัตรในยามเช้าบางอย่างขาดหายไป
ฝนตกจนถึงเกือบเที่ยงจึงหยุดตก ทำให้ในช่วงเช้าไม่ได้ลงกิจ นั่งอ่านหนังสือ ฟังธรรมอยู่บนศาลาที่พัก
จนถึงใกล้เที่ยงจึงลงไปตรวจดูความเรียบร้อย จัดเก็บเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ก่อสร้าง ที่กระจัดกระจาย
อยู่ตามกุฏิต่างๆเพื่อเอามารวมกันให้มันอยู่ที่เดียวกัน คือเอามารวมกันที่ห้องเก็บเครื่องมือก่อสร้างส่วนกลาง
เพราะจะทำให้ง่ายต่อการค้นหาในเวลาที่จะใช้ เพราะถ้ามันอยู่กระจัดกระจาย ต่างตนต่างเอาไปเก็บไว้ในที่พัก
ของตนเองนั้น เวลาจะใช้งานมันจะทำให้หาไม่เจอ ต้องเที่ยวถามกันว่า...ใครเห็นบ้าง...ใครเอาไปเก็บไว้บ้าง
วุ่นวายกันไปทั้งวัด ซึ่งมันเป็นนิสัยส่วนตัวของแต่ละคนที่แตกต่างกัน พยายามชี้แนะตักเตือนให้ปรับปรุงตัวแล้ว
แต่มันเป็นนิสัยถาวรของเขาไปแล้ว คือพวกที่เอาเครื่องมือไปใช้แล้วไม่เอามาเก็บไว้ที่เดิม นั้นเป็นประเภทหนึ่ง
กับอีกประเภทคือ พวกปรารถนาดีเห็นเขาไม่เก็บก็เลยเอาไปเก็บไว้เอง และลืมว่าตนเองเอาไปเก็บซ่อนไว้ที่ไหน
เวลาจะใช้ไปถามก็จำไม่ได้ บอกว่าไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้เอาไป เพราะตัวเองเอาไปเก็บไว้จนจำไม่ได้ว่าเอาไปเก็บที่ไหน
จึงต้องทำใจกับบุคคลทั้งสองประเภท ปล่อยพวกเขาไปตามกรรม ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
ตอนเย็นๆลงไปดูพวกฝีพายซ้อมเรือแข่งกัน ทดลองจัดตำแหน่งฝีพาย สับเปลี่ยนที่นั่งเพื่อหาน้ำหนักเรือที่ลงตัว
จนได้เวลาทำกิจวัตรสงฆ์ในภาคค่ำ จึงกลับขึ้นมาจากน้ำโขง เตรียมตัวทำกิจกันต่อไป
......รอยธรรม.....
                     การที่เราอยู่ร่วมกับหมู่คณะในสังคมนั้น เราต้องทำความรู้ ความเข้าใจกับสถานที่และตัวบุคคลในที่นั้นๆ
เพราะว่าคนแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน ด้วยธาตุและอินทรีย์ จึงทำให้มีความคิดและพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป
ทำให้เราต้องทำความเข้าใจกับบุคคลและสถานที่นั้นๆ ทำให้ระลึกถึงหัวข้อธรรมข้อหนึ่งขึ้นมา คือข้อธรรมที่ว่าด้วยชุมชน
ธรรมนั้นคือ...ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชน....ปริสัญญุตานั้นหมายถึง ความเป็นผู้รู้จักชุมชนหรือสังคมที่เราอยู่อาศัย
ชุมชนในที่ทำงาน ชุมชนที่เราจะเข้าไปหา ว่าผู้คนในที่นั้นเป็นอย่างไร มีความต้องการหรือไม่ต้องการอะไร มีความคิดเห็น
มีข้อตกลงกันว่าอย่างไร การที่จะเข้าไปหาหรือการที่จะต้อนรับต้องทำอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือ
จากชุมชนนั้นได้อย่างถูกต้อง เพื่ออยู่ในสังคมนั้นได้อย่างสงบสุข ไม่ไปทะเลาะหรือขัดแย้งกับชุมชนนั้น
              ปริสัญญุตา เป็นเหตุให้ทำตัวได้ถูกต้องอยู่ในชุมชนนั้นๆ ด้วยความสบายใจไม่มีเรื่องราวและได้รับความไว้วางใจ
ไม่หวาดระแวงจากชุมชน มีความองอาจในการเข้าชุมชน ผู้ใดประกอบด้วยปริสัญญุตาจัดว่าผู้นั้นเป็นสัตบุรุษ คือเป็นคนดี คนฉลาด
น่ายกย่องนับถือและเหมาะสมที่จะคบหาสมาคมเอามาเป็นแบบอย่างได้
              การทำงานคือการปฏิบัติธรรมและต้องระลึกถึงข้อธรรม นำธรรมนั้นมาสงเคราะห์ให้เหมาะสมกับงานที่เรากำลังกระทำ
นั่นคือการปฏิบัติธรรมและอยู่กับธรรม โดยการกระทำและทำได้จริงในชีวิตประจำวัน
.....รอยกวี.....
                  มีหลายหลาก   มากมาย   หลายความคิด
                  เพราะต่างจิต    ต่างใจ     ในทุกที่
                  เมื่อหลายคน   หลายเรื่อง  จึงได้มี
                  ความพอดี      พอประมาณ สานสัมพันธ์
                                   ต้องรู้เขา    รู้เรา   เอาทุกอย่าง
                                  เป็นแนวทาง  มาคิด  จิตสร้างสรรค์
                                  ให้สังคม      อยู่ด้วย และช่วยกัน
                                  ไม่แบ่งชั้น    แบ่งกลุ่ม ให้กล้มใจ
                 ปริสัญ    ญุตา   มาเป็นหลัก
                 คือรู้จัก   ชุมชน เริ่มต้นใหม่
                 รู้บุคคล   รู้จักที่  ว่าอย่างไร
                 ให้เข้าใจ บุคคล  ในสังคม
                                   รู้นิสัย   รู้ใจ   รู้ความคิด
                                   และรู้จิต รู้ใจ  ให้เหมาะสม
                                   ทำในสิ่ง  ที่เขาชอบ และชื่นชม
                                   ประสานสม  สังคม  เป็นหนึ่งเดียว
                ให้เกิดความ   ร่วมแรง    และร่วมใจ
                 ให้ทุกคน     นั้นได้      มีส่วนเกี่ยว
                 ให้เกิดความ  รักใคร่     และกลมเกลียว
                 อย่าโดดเดี่ยว  เพราะถือตัว  และถือตน
                                   เอาหลักธรรม  นำมา  ประกอบใช้
                                   และให้ใจ     มีธรรมะ ไปทุกหน
                                   ระลึกรู้      ตั้งใจ      ไม่กังวล
                                   คือฝึกฝน   เอาธรรม   มานำทาง
                ธรรมนั้นอยู่   คู่โลก  มานานแล้ว
                เอาเป็นแนว  ให้เห็น  เป็นแบบอย่าง
                เพื่อฝึกจิต    ฝึกใจ    ให้ละวาง
                ฝึกให้ว่าง    จากอัตตา และตัวตน
                                  รู้จักโลก  รู้จักธรรม  นำมาใช้
                                  ให้เป็นไป  โดยชอบ ในกุศล
                                  รู้จักโลก  รู้จักธรรม   แล้วทำตน
                                  ให้หลุดพ้น  จากโลก  ที่วุ่นวาย...
                                       .............................
                                     เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๒๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                   
                                     

247
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๓
......รอยทาง.....
                     " ชีวิตคือการทำงานและการทำงานคือการปฏิบัติธรรม " คือคำสอนของหลวงพ่อพุทธทาส
แห่งสวนโมกขพลาราม ไชยา สุราษฏร์ธานี พยายามนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ปรับใช้ให้เหมาะสม
กับวิถีชีวิตของตัวเรา เพราะชีวิตต้องดำเนินไปทั้งในทางโลกและทางธรรม เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
หลังจากเสร็จจากกิจวัตรของสงฆ์ในภาคเช้าแล้ว ขอแรงหมู่คณะให้มาช่วยกันยกเสาปูน ตั้งเสาเพื่อทำแท็งค์น้ำ
คุมเด็กๆไปตัดไม้มาทำนั่งร้านและไม้ค้ำยัน ผูกเหล็กโครงคาน ตอนบ่ายๆจึงขึ้นมาพักผ่อนฉันกาแฟ อ่านหนังสือ
ตอนเย็นลงไปคุมการฝึกซ้อมพวกฝีพายเรือแข่ง จัดฝีพายแบ่งลงเรือของวัดทั้งสองลำ คือลำที่ทำด้วยไม้ตะเคียน
ชื่อเรือ...นาคาพิทักษ์...และเรือที่ทำด้วยไม้สัก ชื่อเรือ...เจ้าแม่สายวารี...ซึ่งเรือทั้งสองลำนี้มีเทคนิคการพายที่
แตกต่างกัน เพราะน้ำหนักและรูปทรงของเรือที่ต่างกัน จึงต้องลงไปอธิบายให้พวกฝีพายเข้าใจในเทคนิคการพาย
และลงไปดูการนั่งของฝีพาย ซึ่งต้องจัดวางตำแหน่งน้ำหนักให้เหมาะกับสภาพเรือ เพื่อให้เรือลอยตัวและเดินได้ดี
เสร็จจากคุมฝีพายซ้อมเรือแล้ว เตรียมตัวทำกิจวัตรในภาคค่ำต่อไป
.....รอยธรรม....
                    มีสติระลึกรู้อยู่กับกายและจิต พยายามคิดและมองทุกอย่างให้เป็นธรรมะ ระลึกถึงหัวข้อธรรม
ในหมวดต่างๆ นำมาสงเคราะห์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์คือสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ เพื่อให้เป็นธรรมะสัปปายะ
คือการเลือกเฟ้นธรรมให้เหมาะสม กับจังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และบุคคล ทุกอย่างนั้นไม่มีอะไรดีที่สุด
มีเพียงความเหมาะสมที่สุดตามเหตุและปัจจัย นี่คือความเป็น " อนิจจังและอนัตตาของธรรมทั้งหลายทั้งปวง "
ธรรมะทั้งหลายเป็นสัจจธรรมแต่ที่ไม่เที่ยงและไม่ใช่ตัวตนคือการปรับใช้ที่ต้องแปรเปลี่ยนไป เพื่อให้เหมาะสม
กับเหตุและปัจจัยที่เห็นและเป็นอยู่ ซึ่งถ้าเราไม่รู้จักปรับใช้ให้เหมาะสมมันก็จะกลายเป็น" สีลพรตปรามาส "
คือการยึดถือในข้อวัตรที่เคร่งครัดสุดโต่งจนเกินไป กลายเป็นการยึดถือเพราะอัตตาซึ่งจะนำมา ซึ่งมานะทิฏฐิ
คือการถือตัวถือตนในโอกาศต่อไป พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาของเหตุและผล ซึ่งจะพิสูจน์ได้ด้วยการกระทำ
ไม่ใช่ศาสนาที่เป็นเรื่องของศรัทธา ที่สอนให้เชื่อแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแสดง
ไว้แก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตติยนิคม คือ " กาลามสูตร " อันเป็นหลักแห่งความเชื่อ ไม่ให้เชื่ออย่างงมงาย
โดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริง ถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ ซ่งมีหลักอยู่ ๑๐ ประการคือ....
     ๑. อย่าเชื่อตามที่ฟังๆกันมา
     ๒.อย่าเชื่อตามที่ทำต่อๆกันมา
     ๓.อย่าเชื่อตามคำเล่าลือ
     ๔.อย่าเชื่อโดยอ้างตำรา
     ๕.อย่าเชื่อดดยนึกเอา
     ๖.อย่าเชื่อโดยคาดคะเนเอา
     ๗.อย่าเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
     ๘.อย่าเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
     ๙.อย่าเชื่อเพราะรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
    ๑๐.อย่าเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูอาจารย์ของตน
คือหลักการสอนให้ทุกคนคิดและพิจารณา ค้นคว้าและทดลองปฏิบัติ เพื่อความเห็นชัดคือสอนให้คิดเป็น ทำเป็น
เพราะว่า  การเชื่่อทันทีนั้น มันอาจจะนำไปสู่ความงมงายและความโง่ เพราะคิดเองไม่เป็น ต้องให้ผู้อื่นคิดให้
หรือชี้แนะอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในชีวิตจริงนั้นเราต้องช่วยเหลือตัวของเราเอง คือต้องทำด้วยตัวของเราเองตลอด
ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า " อัตตา หิ อัตตา โน นาโถ...ตนเป็นที่พึ่งของตน " ผู้อื่นเป็นได้เพียงผู้ชี้แนะและนำทาง
แต่การจะก้าวเดินไปข้างหน้าอยู่ที่ตัวเรา ว่าจะก้าวขาเดินตามไปหรือไม่ ซึ่งมันขึ้นอยู่กับตัวเรา ที่จะทำหรือไม่ทำ
......รอยกวี.....
                    ไม่ใช่โชคชะตา
                    ไม่ใช่ฟ้าลิขิต
                    ไม่ใช่นิมิตของสวรรค์
                    ไม่ใช่พรหมนั้นบันดาล
                    แต่สิ่งที่ต้องประสพพบพาน
                    นั้นล้วนแล้วเกิดแต่กรรมที่ทำมา
                    ทั้งในอดีตชาติและปัจจุบันชาติ
                    ล้วนมาเป็นเหตุและปัจจัยให้เกิดขึ้น
                            ในอ้อมกอดของขุนเขา
                            ใต้ร่มเงาของมวลพฤกษา
                            บนเส้นทางแห่งกาลเวลา
                            จงถามตัวเองว่า...แสวงหาสิ่งใด..?
                            ทบทวนสิ่งที่ผ่านมาของตนเองเสียใหม่
                            ว่าความหวังที่ตั้งใจไว้...นั้นก้าวไกลถึงไหนแล้ว
                            เหมือนคำที่กล่าวว่า " ดูหนังดูละคร แล้วจงย้อนมาดูตัว "
                   ให้ดูจิตที่กำลังเคลื่อนไหว
                   เหมือนกับการดูหนังดูละคร
                   ให้ดูจิตที่กำลังเคลื่อนไหว
                   แต่อย่าไปหวั่นไหวตามจิต
                   จิตนั้นไม่มีตัวตนไม่เป็นรูปธรรม
                   แต่สามารถกลิ้งกลอกหยอกล้อเราได้
                   ให้เราหลงคล้อยตามไปในความเคลื่อนไหวนั้น
                   แต่เมื่อเรารู้เท่าทัน จิตนั้นก็ไม่อาจจะหลอกเราได้
                   ใจของเราก็จะสงบและมั่นคงขึ้นไปตามลำดับ....
                         ..........................................
                          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๓๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
         

248
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๓
.......รอยทาง......
                      หลังจากทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติในภาคเช้าแล้ว สั่งงานให้ลูกศิษย์เด็กวัด
ให้เข้าไปในเมือง เพื่อไปร่วมประมูลเรือที่ด่านศุลกากร ไปประมูลเรือหางยาวเพื่อเอามาใช้ในวัด
ซึ่งเป็นเรือหางยาวที่ใช้ในการทำผิดกฏหมายคือเรือที่ใช้ลักลอบขนของหนีภาษีตามแนวริมน้ำโขง
ที่ถูกตำรวจและศุลกากรจับได้  ซึ่งเขาจะเปิดประมูลกันทุกเดือนหลังคดีสิ้นสุด ซึ่งเรือลำที่ทางวัด
จะไปประมูลนั้น ได้ส่งคนไปดูสภาพของเรือมาก่อนแล้ว เป็นเรือที่เขาใช้บรรทุกกระเทียมข้ามโขง
ยาว ๑๒ เมตร กว้าง ๑.๒๐ เมตร บรรทุกน้ำหนักได้ถึง ๓ ตัน เป็นเรือขนาดใหญ่ทำจากไม้ตะเคียน
สภาพเรือยังดีอยู่ ใช้ไม้กระดานเพียง ๓ แผ่น ซึ่งกว้างแผ่นละประมาณ ๘๐ ซ.ม. ยาว ๑๒ เมตร
มาต่อกัน ราคาที่เปิดไว้คือ ๓,๕๐๐ บาท สั่งเด็กที่ไปประมูลให้บอกผู้ร่วมเข้าประมูลและเจ้าหน้าที่
ศุลกากรว่า เรือลำนี้พระอาจารย์ขอเอาไปใช้ในวัด ทุกคนจึงหลบให้ไม่มีใครประมูลแข่ง จึงได้มาใน
ราคาที่เปิดไว้ ซึ่งเรือขนาดนี้และสภาพนี้ ราคาซื้อขายตามปกติอยู่ที่ประมาณ ๑๘,๐๐๐ บาทต่อลำ
ที่ต้องไปประมูลเรือมานั้น ก็เพราะว่าจำเป็นที่จะต้องมีเรือใช้ในวัด ใช้ลากเรือแข่ง เป็นเรือพี่เลี้ยง
และใช้ต้อนรับหมู่คณะที่มาเยี่ยม พาไปนั่งเรือชมทิวทัศน์สองฝั่งโขง เสร็จจากเรื่องเรือก็ลงไปสั่งงาน
การก่อสร้าง คุมเด็กวัยรุ่นให้ช่วยกันทำงาน ปรับพื้นที่ริมโขงที่จะใช้เป็นจุดจอดเรือ จนเย็นจึงหยุดพัก
เตรียมตัวทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคค่ำต่อไป
......รอยธรรม.....
                     ทบทวนเรื่องการปฏิบัติ ในกรรมฐานแต่ละกอง แต่ละวิธีที่เคยปฏิบัติมา ซึ่งวันนี้ได้
ฟังธรรมะบรรยายของหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ วัดสนามใน ซึ่งเป็นการปฏิบัติแนวของสติปัฏฐาน ๔
ที่เน้นเรื่องการพิจารณาอิริยาบทของกายและพิจารณารู้ตัวในความเคลื่อนไหวของกายเป็นหลักในการ
เจริญสติภาวนา คือพิจารณาในอิริยาบทบรรพและสัมปชัญญบรรพ ซึ่งเคยได้ศึกษาและปฏิบัติมานานแล้ว
ตั้งแต่สมัยที่หลวงพ่อเทียน ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่ได้ทิ้งไปนานแล้ว ซึ่งการปฏิบัติตามแนวทางนี้เหมาะแก่
ผู้ที่เริ่มฝึกหัดเจริญสติเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเพิ่มกำลังของสติและสัมปชัญญะ ทั้งสองอย่างพร้อมกัน
เหมาะสำหรับพวกที่มีสมาธิสั้น ทำให้คิดถึงหัวข้อธรรมะที่เคยได้รู้และปฏิบัติมา ซึ่งเคยเขียนเป็นโศลกธรรมว่า
" ศรัทธามาก  ปัญญาหย่อน ความโลภจะเข้าครอบงำ "
" ปัญญามาก  แต่ศรัทธาหย่อน  ความสงสัยลังเลจะเข้าครอบงำ "
" วิริยะความเพียรกล้า  สมาธิหย่อน  ความฟุ้งซ่านจะเข้าครอบงำ "
" สมาธิกล้า  วิริยะความเพียรหย่อน ความง่วงจะเข้าครอบงำ "
" สติและส้มปชัญญะเป็นตัวเข้าไปปรับอินทรีย์พละให้เสมอกัน "
คิดถึงองค์แห่งคุณธรรม ๓ อันได้แก่..
   ๑.อาตาปี...ความเพียรตั้งใจจริง
   ๒.สติมา....การมีสติระลึกรู้เท่าทันอารมณ์
   ๓.สัมปชาโน...มีความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะ
องค์คุณธรรมทั้ง ๓ นี้คือหลักและหัวใจของการปฏิบัติธรรมที่ต้องมีและทำให้มีเสมอกัน ความเจริญในธรรมนั้น
จึงจะบังเกิดขึ้นซึ่งต้องมีและใช้ควบคู่ไปกับองค์แห่งอิทธิบาท ๔ มันจึงจะมีความเจริญก้าวหน้าในธรรม
.....รอยกวี....
                 รู้กาย   รู้ตัว    รู้จิต
                 รู้คิด   รู้พร้อม  รู้ทั่ว
                 รู้ใจ     รู้กาย   รู้ตัว
                 รู้ทั่ว    รู้เท่า    รู้ทัน
                          รู้ธรรม    เห็นธรรม  แล้วทำ
                          น้อมนำ   ธรรมมา   สร้างสรรค์
                          ดูกาย     ดูใจ       ให้ทัน
                          ธรรมนั้น  เป็นจริง    โดยทำ
                ฝึกฝน   เริ่มต้น    ที่จิต
                ฝึกคิด   ฝึกจิต    เช้าค่ำ
                ฝึกไว้    ทำให้    ประจำ
                ฝึกทำ   เพื่อธรรม นำทาง
                          อดทน    ฝึกฝน   ที่จิต
                          ฝึกคิด    อย่างมี  แบบอย่าง
                          ฝึกลด    ฝึกละ   ฝึกวาง
                          ฝึกสร้าง   สติ     สัมมา
               สัมมา    สติ    ริเริ่ม
              ต่อเติม  ธรรมะ  เนื้อหา
              สัมปะ   ชัญญะ  ตามมา
              ปัญญา  คือเห็น เป็นจริง
                         รู้จริง   รู้แจ้ง   รู้ชัด
                        ฝึกหัด โดยเอา  ทุกสิ่ง
                        ฝึกจิต  ฝึกใจ    ให้นิ่ง
                        ทำจริง  เห็นจริง โดยทำ
                          ........................
                    ด้วยความศรัทธา ปรารถนาดีและไมตรีจิต
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๕๘ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

249
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๓
.......รอยทาง........
                       เมื่อวานเป็นวันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ตอนเช้าลงศาลาไปทำกิจวัตรของสงฆ์
มีญาติโยมลงมาทำบุญตักบาตรที่วัดประมาณสามสิบกว่าคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและผู้สูงอายุ
เพราะในชนบทของภาคอีสานนั้น หลังเสร็จจากฤดูการดำนาแล้ว คนหนุ่มสาวก็จะเข้าเมืองไปหางาน
ทำกันเกือบทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานก่อสร้างใช้แรงงาน ตอนเช้าๆจะมีรถของผู้รับเหมามารอรับ
คนงานในหมู่บ้านและจะมาส่งตอนเย็นหลังเลิกงาน ทำกิจวัตรสงฆ์ในภาคเช้าเสร็จ เข้าไปในตัวเมือง
เพื่อสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เหล็ก หิน ปูน ทรายและเสาปูน เพื่อจะนำมาก่อสร้างทำแท็งค์เก็บน้ำ
เพื่อใช้ในป่าปริวาส เพราะว่าต้องสูบน้ำขึ้นมาจากแม่น้ำโขง มากักเก็บไว้ให้ตกตระกอน แล้วจึงปล่อย
ไปสู่ห้องน้ำและที่สรงน้ำ กลับจากในเมืองใกล้เที่ยง ขึ้นมาเก็บกราดถูศาลาที่พักจนเสร็จแล้วจึงพักผ่อน
ตอนเย็นก่อนสรงน้ำ คุมพวกวัยรุ่นฝีพายลงไปชายโขงเพื่อปรับสถานที่เก็บเรือยาวที่จะใช้ซ้อมไว้แข่ง
แบ่งกำลังส่วนหนึ่งมาช่วยจัดสวนหย่อมริมโขง เสร็จแล้วสรงน้ำเตรียมตัวทำกิจวัตรสงฆ์ในภาคค่ำต่อไป
......รอยธรรม.....
                      ในภาคเช้าลงไปทำกิจวัตรสงฆ์เนื่องในวันพระ กล่าวสัมโมฯเพื่อเพืิ่มศรัทธาความเชื่อ
ปสาทะความเลื่อมใส ในบุญกุศลให้ญาติโยมฟัง โดยจะเน้นเรื่องความสามัคคีของหมู่คณะและการรู้จัก
เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม เพราะธรรมส่วนนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและเป็นธรรมที่จะเป็นพื้นฐาน
ของการปฏิบัติธรรมที่สูงขึ้นไปกว่านี้ เพราะการรู้จักเสียสละ ลดละความเห็นแก่ตัวนั้น ใจมันต้องเปิดกว้าง
มีความเมตตา กรุณา ปราณีและมิตรไมตรีเป็นพื้นฐาน เมื่อเราสอนให้เขามีจิตใจที่ดีงามได้แล้ว จึงค่อย
สอดแทรกธรรมะที่สูงขึ้นกว่าไปให้เขา ให้เขามีเวลาปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิดขึ้นมาใหม่ ละลาย
พฤติกรรมเก่าๆที่เขาเคยทำมา ซึ่งต้องใช้เวลาในการละลายพฤติกรรม ซึ่งเป็นการสอนโดยที่เขาไม่รู้ตัว
ว่ากำลังถูกสอนอยู่ และปฏิบัติกันได้ทั้งเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ซึ่งต้องใช้หลักของจิตวิทยามาเป็นแนวทาง
สร้างความคุ้นเคยกันระหว่างพระและโยม สร้างความศรัทธาให้เขายอมรับ ซึ่งต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ
ใช้ทั้งบู๊และบุ๋น จึงจะปกครองคนได้ " แกล้งโง่บางโอกาศ อย่าทำตัวฉลาดตลอดไป...โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก "
" แกล้งโง่และแกล้งบ้า เพื่อศึกษาพฤติกรรมและความคิดของเขา " แล้วเราจะรู้ว่าเขาคิดอย่างไรกับเราหรือ
เขามีความคิดอย่างไรในเรื่องเหล่านั้น ให้เขามส่วนในการเสนอความคิด อย่าไปปิดกั้นความคิดของเขา โดยเอา
ความคิดของเรามาเป็นตัวตัดสิน เขาจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจเพราะว่าเขานั้นได้มีส่วนร่วมในงานนั้น
......รอยกวี.....
                   " อย่าใช้ความนึกคิดปรุงแต่งของเราไปผูกติดหรือผูกมัดผู้อื่น
                     ให้ผู้อื่นต้องเป็นไปตามความต้องการของเรา ความอยากของเรา
                     เพราะว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตใคร เรามีแต่หน้าที่ ที่ต้องทำเท่านั้น"
                     
                   " อย่าโอ้อวดว่าเราเก่งกว่าผู้อื่น วิเศษกว่าผู้อื่น
                     อย่าคิดว่าเรานั้นรู้ดีมากกว่าผู้อื่น รู้ดีกว่าผู้อื่น
                     เพราะมันจะเป็นเหตุให้ก่อเกิดอัตตามานะทิฏฐิ
                     การเย่อหยิ่ง ถือตัวถือตน นั้นจะเกิดขึ้นตามมา
                     ซึ่งสิ่งที่ว่ามานั้นคือการแสดงความโง่ของตัวเราเอง "

                     " เมื่อเราหยุดคิดปรุงแต่ง
                      และวางใจกับทุกสิ่งลงได้
                      ทั้งสิ่งที่รู้และสิ่งที่ถูกรู้ทั้งปวง
                      สัจจธรรมที่แท้จริงก็จะปรากฏ
                      ให้เรารู้และเราเห็นเองตามธรรมชาติ
                       คิดเท่าไหร่ๆก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงจะีรู้
                      แต่ก่อนที่จะรู้นั้น เราต้องอาศัยซึ่งการคิด
                      และเมื่อเราหยุดคิด ทำจิตของเราให้ว่าง
                      ทุกอย่างที่อยากจะรู้นั้น ก็จะบังเกิดขึ้น "
                            ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
                         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๓๙ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

250
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓
.......รอยทาง......
                         คือบันทึกเหตุการณ์ที่ผ่านมาของเมื่อวานนี้ ที่ได้พบเห็นและเป็นไป
บันทึกไว้เพื่อย้ำเตือนความทรงจำ ในสิ่งที่พบเห็นและได้ทำ ทั้งในทางโลกและทางธรรม
เป็นการฝึกตนเองให้มีวินัยในการใช้ชีวิต ฝึกสติให้รู้จักคิด รู้จักจำ ป้องกันโรคสมองเสื่อม
เมื่อชีวิตเข้าสู่วัยชรา จึงเป็นที่มาของการบันทึกธรรม ซึ่งใช้ชื่อหัวข้อแตกต่างกันในแต่ละปี
เมื่อวานนี้ลงไปทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติ กวาดวิหารลานวัด จัดเสนาสนะ เพราะวันนี้เป็น
วันพระ ๘ ค่ำ เป็นกิจวัตรประจำของหมู่คณะที่ต้องทำร่วมกัน ทั้งการตัดหญ้ารอบบริเวณวัด
ขุดล้อมแยกต้นไม้หน้าพระธาตุเจดีย์ เพื่อเอาไปปลูกที่ใหม่ เพราะอยู่ใกล้กับพระธาตุเกินไป
ลงมือทำงานกันตอนบ่าย ใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมงกว่าๆจึงจะเสร็จ พักผ่อนฉันกาแฟเพื่อเตรียม
ตัวที่จะทำกิจวัตรในภาคค่ำต่อไป
......รอยธรรม.....
                     ใช้เวลาในภาคเช้ากับการฟังธรรมะบรรยายของหลวงพ่อพุทธทาสซึ่งได้เก็บ
บันทึกไว้ ในหัวข้อ...ชีวิตที่ต้องพัฒนาไป... เพื่อทำความรู้ความเข้าใจสร้างขวัญและกำลังใจ
เพื่อให้มีศรัทธาเพิ่มขึ้น ฟังแล้วคิดพิจารณาตามไป ซึ่งในการฟังธรรมแต่ละครั้งนั้นเราจะได้มุมมอง
ใหม่ๆขึ้นมาทุกครั้ง แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะว่าเมื่อวันเวลาผ่านไปนั้น เราได้สั่งสมประสพการณ์
ขึ้นมาตลอดเวลา การพัฒนาของความคิด ทำให้จิตของเราละเอียดขึ้นกว่าที่ผ่านมา ทำให้มีมุมมอง
ใหม่ๆเกิดขึ้นมาเสมอ ฉะนั้นเราจึงไม่ควรที่จะด่วนสรุปอะไรในสิ่งที่ผ่านมา ว่าเรานั้นรู้แล้ว เข้าใจแล้ว
เมื่อได้ฟัง ได้อ่านและได้ทำ เพราะว่าในเวลานั้นความรู้ความเข้าใจของเรามันมีอยู่เท่านั้น จึงรู้และเข้าใจ
ได้เพียงขนาดนั้น แต่เมื่อเราประพฤติปฏิบัติต่อไป กำลังของสติและกำลังของปัญญาของเราก็จะเพิ่มขึ้น
มุมมองก็จะกว้างขึ้น เห็นแง่มุมต่างๆที่เราเคยมองข้ามไป ทุกสิ่งอย่างนั้นเป็นไปตามความเหมาะสมของ
จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และบุคคล ซึ่งตราบใดที่เรายังไม่หมดกิเลส เราจึงไม่ควรที่จะด่วนสรุปว่า
เรารู้แล้ว เข้าใจแล้วและไม่ต้องทำต่อไปแล้ว เพราะเรานั้นยังเป็นเสขะบุคคล ที่ยังต้องฝึกฝนอีกยาวไกล
......รอยกวี.....
                   .....วันเวลาที่ผ่านไปทุกขณะจิตนั้น
                   มันเป็นการสั่งสมประสพการณ์ของชีวิต
                   สอนให้เรานั้นได้คิดได้พิจารณาเพิ่มขึ้น
                   ขอให้เรานั้นมั่นคงในจุดยืนของการดำเนินชีวิต
                   ที่คิดจะสร้างจะทำก่อกรรมดีสร้างมงคลให้กับชีวิต
                   เพื่อจะได้พัฒนาทางจิตให้เจริญก้าวหน้าในทางธรรม
                   การเจริญสตินั้นจึงเป็นงานที่ต้องกระทำอยู่ตลอดเวลา
                   .....กาลเวลานั้นย่อมหมุนเวียนและเปลี่ยนไป
                   ไม่มีเวลาที่จะสิ้นสุดและหยุดนิ่งสรรพสิ่งย่อมเคลื่อนไหว
                   โลกนั้นแปรเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง
                   กระแสแห่งโลกนั้นจึงไม่มีวันที่จะสิ้นสุดและหยุดอยู่
                   แต่จิตของมนุษย์นั้นย่อมมีวันที่จะสิ้นสุดและหยุดนิ่ง
                   ถ้าได้รู้และได้เห็นความเป็นจริงของชีวิตจิตวิญญาน
                   สิ้นสุดด้วยการที่รู้จักพอโดยไม่ร้องขอและแสวงหาอีกต่อไป
                   ....ความสำเร็จของชีวิตนั้นคือรางวัลของชีวิต
                   ซึ่งมิได้วางไว้ในจุดเริ่มต้นของการเดินทาง
                   การทำงานทุกสิ่งอย่างย่อมมีอุปสรรคและปัญหา
                   เหมือนกับคำที่กล่าวว่า...เส้นทางนั้นมิได้โรยด้วยดอกกุหลาบ
                   ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ การเดินทางของชีวิตนั้นยังไม่จบ
                   ไม่มีคำว่าล้มเหลวในชีวิตเพราะสิ่งที่ผ่านมานั้นคือบทเรียน
                   บทเรียนของชีวิตที่จะพัฒนาจิตของเราให้ก้าวเดินต่อไป....
                              ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๔๖ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

                 

251
ผ้า่ยันต์มหาจักรพรรดิ์ผืนนี้ เป็นผ้ายันต์ติดเพดาน เหนือโต๊ะหมู่บูชา
ใช้ในงานพิธีพุทธาภิเสก หรือในโอกาศสำคัญๆ ขนาดกว้าง 1.50 เมตร
ยาว 2.00 เมตร ใช้มาตั้งแต่ปี 2540 ผ่านการอธิษฐานจิต ปลุกเสก
จากพระเกจิ ครูบาอาจารย์เกือบทั่วประเทศไทยมานับครั้งไม่ถ้วน...







252
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๓
......รอยทาง......
                         หลังจากเสร็จภาระกิจการก่อสร้าง ก็ถึงเวลาแห่งการหยุดพัก
เก็บตัวเงียบๆอยู่บนศาลาผู้เดียว งดเว้นการคลุกคลีกับหมู่คณะชั่วคราว เพื่อทบทวน
ถึงสิ่งที่ได้ผ่านมา ทั้งในทางโลกและทางธรรม สรุปทำบัญชีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง
ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าอยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้ ไม่บานปลายเกินงบ ทำให้มีปัจจัยเหลือ
ที่จะทำการก่อสร้างแท็งค์เก็บน้ำและที่สรงน้ำได้อีกต่อไป ซึ่งตั้งงบไว้ประมาณหนึ่งแสน
สำหรับแท็งค์น้ำและที่สรงน้ำในป่าปริวาส โดยได้เงินทุนสมทบส่วนหนึ่งจากลูกศิษย์ที่อยู่
เยอรมันโอนปัจจัยมาบูชาวัตถุมงคลของวัดที่จัดสร้างไว้ ทำให้มีปัจจัยเงินทุนก่อสร้างต่อได้
ต้องดูแลควบคุมค่าใช้จ่ายภายในวัดทั้งหมด บริหารการเงินให้ลงตัว และต้องมีวินัยในการเงิน
อย่างเคร่งครัด เพราะว่าวัดไม่มีรายได้อะไร ต้องอาศัยปัจจัยจากกิจนิมนต์และรายได้ส่วนตัว
มาใช้จ่ายในการก่อสร้างและค่าใช้จ่ายในวัดทั้งหมด ซึ่งบางครั้งเงินทุนหมดก็ต้องโทรไปเอา
ปัจจัยของโยมแม่มาสำรองจ่ายก่อนและใช้คืนเมื่อได้ปัจจัยมาสมทบใหม่ เพื่อให้งานเดินไป
ตามแผนงานที่วางไว้ ไม่สะดุดหยุดชะงัก จึงจำเป็นต้องบริหารการเงินให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
โดยการมีวินัยในการเงินอย่างเคร่งครัด ทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ตลอดมา
......รอยธรรม......
            สรุปสิ่งที่ผ่านมาทั้งในทางโลกและทางธรรม ได้เห็นความประมาทและความผิดพลาด
ที่ผ่านมา บางครั้งในเรื่องราวที่เราคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่มีความสำคัญอะไร เรามองข้ามไป
ไม่ได้คิดและพิจารณา  แต่นำมาซึ่งความประมาทในธรรม โดยมันสั่งสมมาที่ละเล็กที่ละน้อย
จนกลายเป็นนิสัยและความเคยชินไปในที่สุด เมื่อระลึกได้ มันก็ต้องใช้เวลาในการละลายพฤติกรรม
จัดระเบียบตัวเองใหม่ สร้างความเคยชินตัวใหม่ขึ้นมา โดยการคิดใหม่ทำใหม่และต้องกระทำบ่อยๆ
จนกลายเป็นความเคยชินเป็นนิสัยขึ้นมาใหม่ เพื่อละลายพฤติกรรมที่ผิดพลาดเก่าๆที่เคยกระทำมา
เพราะที่ผ่านมาเกือบทุกปีนั้น จะมีเวลาปลีกตัวจากหมู่คณะไปเก็บตัวปฏิบัติธรรมแต่ผู้เดียว งดการยุ่ง
เกี่ยวคลุกคลีกับหมู่คณะ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน ในการเก็บตัวปฏิบัติธรรมเพื่อสรุปตนเอง
แต่ในปีที่ผ่านมา (ปี ๒๕๕๒ ) งานก่อสร้างนั้นต่อเนื่องกันไม่สามารถที่จะมีเวลาปลีกตัวไปปลีกวืเวก
เพราะต้องดูแลควบคุมเรื่องการก่อสร้าง ทั้งในเรื่องแบบก่อสร้างและเรื่องปัจจัยเงินทุน ซึ่งมันอยู่กับ
เราทั้งหมด ทั้งการออกแบบ เขียนแบบ และหาทุนที่จะมาก่อสร้าง ทำให้ไม่สามารถที่จะทิ้งงานไปได้
จึงต้องปรับเรื่องการปฏิบัติของตนเองเสียใหม่ ใช้การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม โดยการเพิ่มกำลังสติ
ให้มากขึ้นในการทำงาน และต้องสรุปตนเองทุกๆวันที่ผ่านไป ไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นดินพอกหางหมู
เพราะบางครั้งก่อนที่เราจะรู้ตัวระลึกได้ ในความประมาทผิดพลาดของเรานั้น มันก็สะสมจนมีกำลังมาก
ซึ่งทำให้ยากในการที่จะแก้ไขและต้องใช้ระยะเวลาในการละลายพฤติกรรม มันจะทำให้เสียเวลา
........รอยกวี......
                                วันเวลา   ผ่านไป   ให้ครวญคิด
                          ความพลาดผิด ประมาท  และพลาดพลั้ง
                          ขาดสติ        ไม่สำรวม   ไม่ระวัง
                          ไม่ยับยั้ง        ชั่งใจ     ในสิ่งควร
                                       คิดว่าเรื่อง     เล็กน้อย    จึงปล่อยทิ้ง
                                       แท้ที่จริง       สิ่งนั้น       มันมีส่วน
                                       เพราะขาดการ  ไตร่ตรอง  และใคร่ครวญ
                                       ทุกสิ่งล้วน     เป็นเหตุ     และปัจจัย
                         กิเลสนั้น    มันเกิด     ขึ้นที่จิต
                         จงพินิจ     ตรวจดู     แล้วแก้ไข
                         เพ่งให้รู้     ดูให้เห็น  ความเป็นไป
                         ว่าสิ่งไหน   เกิดก่อน  ให้ถอนวาง
                                        เพราะหลักธรรม  แท้จริง   อยู่ที่จิต
                                        ควรพินิจ        ดูจิต       อย่าทิ้งห่าง
                                        ให้รู้จัก        ตัวตน       ให้ถูกทาง
                                       แล้วละวาง    อัตตา       เข้าหาธรรม
                         จงยินดี     ในเพศ    สมณะ
                         สภาวะ     ของตน    ทุกเช้าค่ำ
                         ก้าวเดินไป  ในกรอบ  ที่ชอบธรรม
                         กุศลนำ     ทางสุข    ให้ทุกคน
                                      ไม่กังวล    ยึดถือ   คือวิหาร
                                    ธรรมประสาน นำมา   ซึ่งเหตุผล
                                    เพราะยึดถือ  ยึดติด  จิตกังวล
                                    จึงสับสน     วุ่นวาย   ไม่ละวาง
                        คิดเท่าไหร่   เท่าไหร่   ก็ไม่รู้
                        จึงต้องดู     ความคิด   ด้วยจิตว่าง
                        เมื่อหยุดคิด   จึงจะรู้   สู่เส้นทาง
                        ก่อนละวาง   ต้องรู้     ดูให้จริง
                                    คือหลักธรรม  คำสอน  แต่ก่อนเก่า
                                    นำมาเล่า    ขยาย      เป็นหลายสิ่ง
                                    เพื่อบอกเล่า เรืองราย  แห่งความจริง
                                    สรรพสิ่ง     คือธรรม    ที่นำทาง...
                                        ..............................
                      :059: คติธรรมหลวงปู่ดุลย์ อตุโล...

          " กิเลสทั้งหมดเกิดรวมที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน "

            " หลักธรรมที่แท้จริงนั้นคือจิต ให้กำหนดดูจิต ให้เข้าใจจิตตนเองให้ลึกซึ้ง
               เมื่อเข้าใจจิตตนเองได้ลึกซึ้งแล้ว นั้นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม "

           " การไม่กังวล การไม่ยึดติด นั่นแหละคือวิหารธรรมของนักปฏิบัติ "

          " ภิกษุเรา ถ้าปลูกความยินดีในเพศภาวะของตนได้แล้ว ก็จะมีแต่ความสุข เยือกเย็น
             ถ้าตนอยู่ในเพศภิกษุ แต่กลับไปยินดีในเพศอื่น ภาวะอื่น ความทุกข์ก็จะทับถมอยู่ร่ำไป
             หยุดกระหาย หยุดแสวงหาได้ นั้นคือภิกษุภาวะโดยแท้ ความเป็นพระนั้น ยิ่งจน ยิ่งมีความสุข "

          " คิดเท่าไหร่ๆก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิด จึงรู้ แต่ต้องอาศัยคิด "

                            ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๒๙ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                             

                         
                         

253
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๓
........รอยทาง.......
                         ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ ทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติที่เคยทำมา
เสร็จจากกิจวัตรของสงฆ์ ก็มาปฏิบัติกิจวัตรของการเป็นผู้นำของหมู่คณะ คือการตรวจตรา
ดูแลการก่อสร้าง ดูความเรียบร้อยในอาวาสที่อยู่อาศัย จดบันทึกทำบัญชีรับ-จ่ายในแต่ละวัน
คิดโครงการวางแผนงานที่จะทำต่อไป นี่คืองานในทางโลก ส่วนงานในทางธรรมก็คือการเจริญ
สติภาวนา ตามเวลาและโอกาศที่สามารถจะทำได้ ใช้เวลาที่ผ่านไปกับการทำงาน เพราะถือว่า
การทำงานคือการปฏิบัติธรรม เป็นการฝึกเจริญสติ ฝึกควบคุมความรู้สึกและอารมณ์ กับสิ่งกระทบ
ทั้งหลาย เพราะการทำงานนั้น ต้องมีความสัมพันธ์กับหมู่คณะ ต้องพบปะพูดคุยและทำงานร่วมกัน
หลายคนก็หลายความคิดและแตกต่างกันด้วยจิตและอารมณ์ ทำให้ต้องควบคุมตนเองให้มากขึ้น
มีสติระลึกรู้ก่อนที่จะพูดและทำ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ทั้งทางกายและทางจิตกับผู้ร่วมงาน
การทำงานนั้นก็กลายเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว เพราะว่าเราต้องอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง ต้องพบปะ
กับผู้คน ต้องทำงาน ต้องทำกิจเพื่อเลี้ยงชีวิตตามอัตภาพของสงฆ์ ไม่ใช่จะมีเวลานั่งหลับตาภาวนาเพียง
อย่างเดียวหรือไม่พบปะกับผู้คนเลย เราต้องอยู่กับโลกกับสังคม นี่คือความเป็นจริงของชีวิต
.......รอยธรรม......
                       ดูกาย ดูจิต ดูความคิด ดูการกระทำ ของตนเองอยู่ตลอดเวลา เป็นการฝึกเจริญสติ
น้อมจิตระลึกถึงธรรมคำสอนของหลวงปู่บุดดา ถาวโร เรื่อง " กายเดียว จิตเดียว " นำมาคิดและวิเคราะห์
พิจารณาธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมนั้น เป็น " โอปะนะยิโก " คือการน้อมเขามาใส่ตัว ศึกษาและปฏิบัติ
เพื่อทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกายและจิตของเรา ความรู้ในทางโลกนั้นเป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องภายนอก
กายและจิตของเรา ส่วนความรู้ในทางธรรมนั้น ศึกษาค้นหาภายในตัวเรา เกี่ยวกับกายและจิต คือความคิดและ
การกระทำของตัวเราเอง เพื่อให้เข้าใจกายและจิต เข้าใจความคิด ความรู้สึกและการกระทำของตัวเรา แยกแยะ
ในสิ่งที่เป็นกุศลและความเป็นอกุศล รู้จักข่มจิตข่มใจ ควบคุมความคิดและจิตที่เป็นอกุศล ด้วยองค์แห่งคุณธรรม
คือความมี "หิริและโอตตัปปะ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป " การมีสติและสัมปชัญญะที่เป็นฝ่ายกุศลธรรม
ยกข้อธรรมของครูบาอาจารย์ที่เคยได้ยินได้ฟังมา ขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้เกิดปิติ ให้มีศรัทธาเพิ่มขึ้นในการประพฤติ
ปฏิบัติธรรม เอาการปฏิบัติของครูบาอาจารย์มาเป็นแบบอย่าง มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยปรับใช้ให้เข้ากับตัวเรา
ตามจังหวะและโอกาศ เวลา สถานที่และบุคคลที่พึงจะกระทำได้ ใช้เวลาที่ผ่านไปให้เกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
เพราะการทำงานคือการปฏิบัติธรรม
........รอยกวี.......
                          น้อมเอาธรรม   คำสอน   แต่ก่อนกาล
                          พระอาจารย์   ท่านสอน  แต่ก่อนเก่า
                          ให้ดูกาย       ให้ดูจิต    ความคิดเรา
                          ดูแล้วเอา      มาเป็น     เส้นแนวทาง
                                         " ทุกข์เท่านั้น    เกิดมา   พาหลงใหล
                                              สมุทัย       ที่กำเนิด   เกิดทุกอย่าง
                                             นิโรธธรรม    นำไป      ให้ถูกทาง
                                             มรรคนั้นสร้าง ทางสัจจะ  สู่พระธรรม
                                                              เป็นของจริง   จากสัจจะ   อริยะ
                                                              องค์พุทธะ    เลิศล้น     ชนดื่มด่ำ
                                                              บอกโลกรู้     ดูให้เป็น   จึงเห็นธรรม
                                                              เพื่อจะนำ      ชีวิต        ไม่ผิดทาง "
                                                                              คือบทกลอน   สอนใจ   ชวนให้คิด
                                                                                ชี้ถูกผิด      นำมา      เป็นแบบอย่าง
                                                                               ปฏิบัติ        ได้ตรง      ไม่หลงทาง
                                                                               คือแบบอย่าง  ของครูบา  พระอาจารย์
                        สอนให้คิด    สอนให้ทำ   และนำชี้
                          รู้ชั่วดี         มีความคิด   จิตอาจหาญ
                        ทำให้ดี       ทำให้ชอบ    ประกอบการ
                       การทำงาน    ทั้งทางโลก   และทางธรรม
                                           ไม่มีใคร     รู้ซึ้ง    เท่าหนึ่งจิต
                                           เห็นสิ่งผิด  ทางชั่ว  ไม่ถลำ
                                           มุ่งทางดี    ทางชอบ ประกอบกรรม
                                           สิ่งที่ทำ     นำสุข    เพื่อทุกคน
                                                         เอาพระธรรม   นำทาง  สร้างชีวิต
                                                         นำความคิด     นำจิต    สู่กุศล
                                                         เพื่อให้เกิด   ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ตน
                                                         เพื่อฝึกฝน    เจริญจิต   ภาวนา
                                                                             เพราะส่งจิต  ไปนอกกาย   ทำให้ทุกข์
                                                                             คิดว่าสุข      ทำไป       ตามตัณหา
                                                                             เพราะโลภหลง  รักใคร่   ในกามา
                                                                             จึงนำพา    ให้เวียนว่าย  ในวังวน
                                                                                   ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
                                    ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๒๕ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                           

254
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๓
.......รอยทาง........
                           วิถีชีวิตที่ดำเนินในแต่ละวันไปของเหล่าสมณะชายขอบ เป็นไปแบบเรียบง่าย
เป็นไปตามข้อวัตรในกิจของสงฆ์ที่พึงปฏิบัติ จะมีส่วนที่แตกต่างออกไปบ้างก็คือเกี่ยวกับการก่อสร้าง
ที่ต้องใช้แรงงานช่วยกันทำ เพราะว่าเป็นวัดที่ฟื้นฟูบูรณะขึ้นมาใหม่ จากวัดที่ถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน
จนไม่เหลือสภาพวัด มีเพียงเนินดิน กองอิฐ และป่าไม้ พอให้รู้ว่าเคยเป็นที่ตั้งวัดมาก่อน ต้องเริ่มกันใหม่
ทุกอย่างในการก่อสร้างเสนาสนะ จากวันที่เริ่มก่อสร้างมาถึงวันนี้ก็เป็นเวลา ๖ ปี ๒๔ วัน ความฝันที่ตั้งไว้
ใกล้จะสำเร็จลง เป็นไปตามโครงการที่วางไว้ ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งผลงานที่ออกมาเป็นรูปธรรมได้นี้
เกิดจากศรัทธาสามัคคี ความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจ ของพระภิกษุสงฆ์และญาติโยมทั้งในพื้นที่และต่างถิ่น
ที่ได้ร่วมกันสละแรงกายแรงใจและกำลังทรัพย์ ร่วมด้วยช่วยกันจนมาถึงวันนี้ อย่างที่ได้เห็นและเป็นอยู่
" ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ นำมาสู่ความสำเร็จ ความสำเร็จย่ิอมนำมาซึ่งชื่อเสียงของหมู่คณะและชุมชน "
แต่ชีวิตนั้นยังต้องดำเนินต่อไป มองหาสถานที่ใหม่ที่จะไปสร้างต่อ กำลังรอและวิเคราะห์ข้อมูลของสถานที่ใหม่
"ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ปล่อย " คือสิ่งที่คิดและกระทำเสมอมา
.......รอยธรรม.......
                         งานก่อสร้างเสนาสนะหยุดพักลงชั่วคราว ทำให้มีเวลาที่จะทบทวนในสิ่งที่ได้ผ่านมา
สิ่งที่มุ่งหวังและตั้งใจไว้ สิ่งที่ได้กระทำลงไป และสิ่งที่ยังไม่ได้กระทำ การทำงานทุกอย่างนั้นต้องมีแผนงาน
มีแบบแผนและโครงสร้างที่เราต้องวางไว้ล่วงหน้า ซึ่งที่ผ่านมานั้นเกิดจากการคิดและวิเคราะห์หาความเหมาะสม
กับเวลา โอกาศ สถานที่ บุคคล เอามาเป็นเหตุและผลของการกำหนดแผนงาน วางใจให้เป็นกลาง มองทุกอย่าง
โดยความเป็นจริง ไม่เอาความคิดของตนเองมาเป็นบรรทัดฐานในการคิดและวิเคราะห์ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม
กับเหตุและปัจจัยที่มีและเป็นอยู่ คิดงานจากพื้นฐานที่มีอยู่ " คือคิดได้และทำได้ " ไม่ใช่คิดไปแบบจินตนาการ
คือการที่คิดได้แต่ทำไม่ได้ เพราะขาดซึ่งเหตุและปัจจัย มันเป็นความคิดความฝันที่เลื่อนลอย ไม่สามารถทำให้เป็น
รูปธรรมขึ้นมาได้ แต่ถ้าเราคิดงานจากเหตุและปัจจัยที่มีอยู่ สิ่งที่เราคิดนั้นสามารถที่จะทำให้เป็นรูปธรรมได้ขึ้นมาทันที
เพราะคิดจากสิ่งที่มีและที่เป็น ไม่ได้ไปคอยเหตุและปัจจัยในอนาคตที่ยังไม่มีและยังไม่มา สิ่งที่คิดจึงสามารถที่จะทำได้
สิ่งที่สำคัญในการคิดก็คือการรู้จักกำลังของตนเอง รู้ประมาณในกำลังความรู้ความสามารถและโอกาศที่ตนมี ไม่ทำในสิ่งที่
เกินกำลังของตนเอง เพราะการทำงานที่เกินกำลังของตนเองนั้นอาจนำมาซึ่งความทุกข์กายและทุกข์ใจ
........รอยกวี........
                          จงทำงาน  ทุกชนิด    ด้วยจิตว่าง
                          คือละวาง   อัตตา      และทิฏฐิ
                          เพื่อวางแผน  ก่อนงาน การเริ่มริ
                          ด้วยการตริ    การตรอง  มองดูงาน
                                          การทำงาน   ต้องประสาน  สรรพสิ่ง
                                           ให้เป็นจริง     ไปได้      ทุกสถาน
                                           ให้เหมาะสม  กับปัจจัย  และเหตุการณ์
                                           การทำงาน    คือการ    ประพฤติธรรม
                                                            คือการเอา   หลักธรรม  นำความคิด
                                                            และฝึกจิต     ฝึกใจ      ไม่ใฝ่ต่ำ
                                                            จงอย่าให้    อัตตา       เข้าครอบงำ
                                                            จงน้อมนำ    เอาธรรมะ   เป็นแนวทาง
                                                                           โลกกับธรรม    นั้นอยู่  เป็นคู่กัน
                                                                            จงจัดสรรค์    เอาธรรม เป็นแบบอย่าง
                                                                            อยู่กับโลก     จงเดิน    ในสายกลาง
                                                                            คือเส้นทาง   ที่พอเหมาะ  และพอควร
                       ความพอดี    พอเพียง    เลี้ยงชีวิต
                       รู้ถูกผิด         ชั่วดี        นั้นมีส่วน
                       ทำในสิ่ง       ที่ดี          และที่ควร
                       ทุกสิ่งล้วน    สัมพันธ์      กันสืบมา
                                         ทั้งทางโลก  ทางธรรม   นำประสาน
                                         ในชีวิต       การงาน     แก้ปัญหา
                                         ใช้สติ        สมาธิ        และปัญญา
                                         ละอัตตา    วางใจ         ให้เป็นกลาง
                                                        จงอย่าเอา    ตัวเรา   มาเป็นใหญ่
                                                        ทำอะไร     ควรคิด    ด้วยจิตว่าง
                                                         คือทิฏฐิ      มานะ     ควรละวาง
                                                         มองทุกอย่าง เป็นธรรมะ  ละอัตตา
                                                                            อยู่กับโลก  กับธรรม   นำชีวิต
                                                                            อยู่กับจิต   ความคิด    แสวงหา
                                                                            ความใฝ่ดี    ใฝ่รู้        สู่ปัญญา
                                                                            จะนำพา     ชีวิต        จิตเจริญ
                                                                                 ...........................
                                    ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๐๙ น. ณ ศาลาน้อน ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                                                       
                   
                                                                           
                         

255
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๓
........รอยทาง.......
                          ชีวิตที่ผ่านไปในแต่ละวันนั้น มีเรื่องราวมากมายที่เราต้องประสพพบเห็น
เพราะโลกนั้นเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ตื่นเช้ามาทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติอย่างที่เคยทำมา
เสร็จจากกิจของสงฆ์ ลงไปสั่งงานการก่อสร้างที่ยังค้างคาอยู่ ตรวจดูวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ในการ
ทำงานว่ามีสิ่งใดต้องซื้อเพิ่มเติมหร์อไม่ เสร็จจากสั่งงานตรวจงาน กลับที่พักมานั่งอ่านบันทึกเก่าๆ
ที่เขียนไว้ในแต่ละพรรษา ย้อนไปอ่านตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ สมัยจำพรรษาอยู่บนดอยที่หมู่บ้านกระเหรี่ยง
ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และปี๒๕๔๖ เมื่อครั้งจำพรรษาที่หุบเขาสำนึกบาป วัดถ้าเสือ จังหวัดกระบี่
และบันทึกของปี ๒๕๕๒ พรรษาที่๕ของการมาอยู่ที่วัดทุ่งเว้า จังหวัดมุกดาหาร นั่งอ่านบันทึก
อยู่เกือบทั้งวัน อ่านแล้วระลึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ สถานที่ บุคคลสิ่งที่กระทำตามวันเวลาดังกล่าว
ทำให้เห็นความก้าวหน้าและความเสื่อมถอยของกายและจิต ได้เห็นความคิดและมุมมองที่เปลี่ยนไป
ใช้เวลาเกือบทั้งวันในการอ่านบันทึก จนได้เวลาที่จะลงไปทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคค่ำ จงหยุดอ่าน
ลงไปทำกิจวัตรสวดมนต์ทำวัตรเย็นในภาคค่ำต่อไป
.......รอยธรรม......
                  อดีตที่ผ่านมานั้นคือบทเรียน บทเรียนของชีวิต มีทั้งการลองผิดและลองถูกสลับกันไป
ความผิดพลาดทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น มันไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็นประสพการณ์ของชีวิตและเป็นการ
เรียนรู้กับชีวิต ไม่ยึดติดฝังใจอยู่กับความผิดพลาดที่ผ่านมา นำสิ่งนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์
สิ่งใหม่ๆทำให้ดีกว่าที่ผ่านมา ชีวิตนั้นต้องเดินไปข้างหน้า สิ่งที่ผ่านมาทั้งหลายคือประสพการณ์ของชีวิต
ดังที่เคยกล่าวไว้อยู่เสมอว่า " เพียงแต่เราปรับความคิด ชีวิตของเราก็เปลี่ยนไป " ทั้งในทางร้ายและทางดี
มันอยู่ที่ใจของเราเป็นตัวกำหนด ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ว่า " จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว " ทุกอย่างเริ่มจากจิต
เริ่มจากความคิดแล้วนำไปสู่การกระทำ ซึ่งถ้าเรามีสติและดำริที่เป็นกุศล ผลที่ออกมาก็เป็นในทางบวกคือฝ่ายดี
แต่ถ้าเราขาดสติหรือมีดำริที่เป็นอกุศล ผลที่ออกมาก็เป็นในทางลบคือทางชั่ว ทุกสิ่งอยู่ที่ตัวของเราเองทั้งหมด
แต่ธรรมชาติของมนุษย์ทั้งหลายนั้น ต่างมีทิฏฐิมานะ ชอบผละภาระความผิดไปให้ผู้อื่น ไม่ยอมรับความผิดในสิ่ง
ที่ตนได้กระทำไป มักอ้างว่า เพราะสิ่งนั้น เพราะสิ่งนี้ เพราะคนนั้น เพราะคนนี้ มันจึงเป็นเช่นนี้ และเมื่อหาคนมา
รับผิดแทนตนไม่ได้ ก็ไปโทษสิ่งที่ไม่มีชีวิต สิ่งที่มองไม่เห็นตัวตน โทษสถานที่ โทษผีสาง เทวดา ให้มารับผิด
แทนตน คอยแต่จะโทษผู้อื่นและสิ่งอื่น ไม่ยอมที่จะมามองตนเอง ปรับปรุงและแก้ไขตนเอง มันจึงเกิดความวุ่นวาย
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วมาจากกรรม คือการกระทำของตัวเราเองทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งที่จำได้
และจำไม่ได้ ทุกอย่างล้วนมีเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นและสิ่งนี้ ขอเพียงให้เรามีสติในการคิดและทบทวน
เราก็จะเห็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดของสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งทางดีและทางร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา
.........รอยกวี......
                       เรียงร้อย   ถ้อยคำ  นำกล่าว
                       เรื่องราว    ชีวิต     เขียนไว้
                       เหตุการณ์  ที่ได้     ผ่านไป
                       นำมา      อ่านใหม่ ได้ความ
                                    ใคร่ครวญ    ทบทวน   นึกคิด
                                     ถูกผิด      อย่าได้     มองข้าม
                                     เฝ้าดู      เฝ้ารู้         เฝ้าตาม
                                     ทุกยาม    สติ         ต้องมี
                                                    สติ    ระลึก    นึกรู้
                                                  ตามอยู่ กับกาย  ใจนี้
                                                    สติ     ที่ฝึก    มาดี
                                                    บ่งชี้    ในสิ่ง  ที่ทำ
                                                              หิระ   และโอต-ตัปปะ
                                                              ธรรมะ  มีค่า   เลิศล้ำ
                                                              นำมา   ซึ่งคุณ(ะ)ธรรม
                                                              ตอกย้ำ  ถึงความ เป็นคน
                          ยอมรับ  ในสิ่ง   พลาดผิด
                          ค้นคิด    หาซึ่ง   เหตุผล
                          อย่าคิด   เข้าข้าง ฝ่ายตน
                          ฝึกค้น    เป็นกลาง วางใจ
                                      วางใจ  นั้นให้   เป็นกลาง
                                      ทุกอย่าง  นั้นควร  คิดใหม่
                                      ปรับเปลี่ยน ความคิด  ภายใน
                                      เปลี่ยนใจ   มองโลก  แง่ดี
                                                    อย่าโทษ  ผู้อื่น  ว่าผิด
                                                    มองจิต    มองกาย  เรานี้
                                                    ยอมรับ    ในสิ่ง   ที่มี
                                                     ชั่วดี       อยู่ที่   เราทำ
                                                                ทุกอย่าง  ล้วนเกิด  จากจิต
                                                                อย่าให้    ความคิด  ใฝ่ต่ำ
                                                                 กิเลส      ตัณหา    ครอบงำ
                                                                 จะนำ       ไปสู่      อบาย
                                                                      ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
                                       ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                            รวี สัจจะ- สมณะไร้นาม
๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๒๐ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
   



256
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๓
.......รอยทาง......
                         เมื่อวานนี้เป็น " วันแม่แห่งชาติ " ไม่ได้ออกบิณฑบาตรนอกวัด
เพราะญาติโยมมาทำบุญตักบาตรที่วัด  ซึ่งมากันจำนวนมากเพราะเป็นวันหยุดราชการ
และหยุดงานทั้งหมด จึงทำให้มีเวลาว่างที่จะได้เข้าวัดทำบุญและช่วยเหลืองานในวัดกัน
ญาติโยมช่วยกันทำงานหลังจากทานอาหารกันแล้ว กวาดลานวัด จัดเสนาสนะ ช่วยกัน
ทาสีตกแต่งซ่อมแซมเรือยาวและรถพ่วง จนกระทั่งถึงเที่ยงจึงแยกย้ายกลับบ้านกันและ
ตอนเย็นทดลองเอารถพ่วงมาลากดู ทดลองลากเข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นเส้นทางแคบๆ
มีมุมเลี้ยวหักศอก ทดลองลากเลี้ยวผ่านดู ผลปรากฏออกมาเป็นที่น่าพอใจ เพราะผ่านไปได้
ตลอดเส้นทาง แต่ยังต้องแก้ไขอีกเล็กน้อย ตรงข้อต่อคันส่งหัวลากที่ยังแข็งแรงไม่พอ
กลับจากลองลากรถพ่วงแล้ว เตรียมตัวทำกิจวัตรสงฆ์ในภาคค่ำต่อไป
........รอยธรรม......
                        ควบคุมความคิด ปรับจิตให้เป็นปกติ มองทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นธรรมะ
ว่า " มันเป็นเช่นนั้นเอง...ตถตา " จะให้ทุกคนเสมอกันในความรู้สึกนึกคิดและจิตสำนึกนั้น
มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่า " บุคคลนั้นแตกต่างกันด้วยธาตุและอินทรีย์ " บารมีธรรม
ที่สั่งสมกันมาและกรรมเก่าของแต่ละคน เขาจึงทำได้และเข้าใจในธรรมไปตามอัตภาพของเขา
ซึ่งจะเอาตัวเราคือ ความคิดและการกระทำของเรานั้น มาเป็นบรรทัดฐานไม่ได้ และเมื่อเราเข้าใจ
ในจุดนี้ ทุกอย่างในโลกนี้ " ล้วนเป็นเช่นนั้นเอง "   หน้าที่ของเราก็คือ ดูกาย ดูจิต ดูความคิด
และควบคุม จัดระเบียบตัวเราเองให้ดีที่สุด นั่นคือทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ ตามบทบาทและหน้าที่
ที่เรารับผิดชอบอยู่ ไม่ทอดทิ้งธุระ วางเฉยเพราะจิตปฏิฆะ หรือว่าเพราะมันไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ
การปล่อยวางกับการทอดทิ้งธุระนั้น อาการภายนอกคล้ายกัน ดูไม่ออกว่าเป็นการปล่อยวางหรือทอดทิ้งธุระ
แต่แตกต่างกันที่เจตนาและสาเหตุที่มาของอาการอย่างนั้น ซึ่งถ้าเกิดขึ้นเพราะความรู้และความเข้าใจในธรรม
และทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว ยกจิตไม่ติดอยู่ในสิ่งที่กระทำ นั้นคือการปล่อยวาง แต่ถ้าเกิดจากความรู้สึกที่ไม่ได้
ดังที่หวังและตั้งใจไว้ มาจากความน้อยใจ เสียใจ ไม่ได้ดังใจ ไม่อยากที่จะทำ เพราะความเกียจคร้านเบื่อหน่าย
ที่เป็นอกุศลจิตทั้งหลาย อารมณ์เหล่านั้นไม่ใช่การปล่อยวางแต่เป็นการทอดทิ้งธุระ
........รอยกวี.......
                         มีสติ   ระลึก    นึกให้รู้
                     จงตามดู  กายจิต  อย่างชิดใกล้
                     มีสติ       อยู่กับ   ลมหายใจ
                   กำหนดไป  ให้รู้      ดูทั่วกาย
                                  รู้ลมเข้า    ลมออก   บอกตัวถูก
                                  รู้จักผูก     รู้จักแก้    รู้ความหมาย
                                  เตรียมเสบียง  กุศล   ไว้ก่อนตาย
                                  ให้จิตคลาย   ลดละ   จากอัตตา
                                                  ศึกษาธรรม  นำมา   ปฏิบัติ
                                                  เพื่อขจัด  ตัวกิเลส  ต้นปัญหา
                                                  ลดความหลง  ความโลภ และโกรธา
                                                  ภาวนา    เจริญจิต   เจริญธรรม
                                                               ทำกายใจ  ให้โปร่ง  และโล่งเบา
                                                               โดยไม่เอา  ความคิด  จิตใฝ่ต่ำ
                                                               ให้กิเลส    ตัณหา   เข้าครอบงำ
                                                                เดินตามธรรม ตามทาง  สร้างมงคล
                    เชื่อ...เมื่อคิด   พินิจ   และศึกษา
                    มั่น...คงมา     เมื่อเห็น เป็นเหตุผล
                  ศรัทธา...มี     อย่าเพียงเห็น  เป็นของตน
                  สามัคคี ...      จะชี้ชน    หนทางชัย
                                  อย่าเพียงคิด   เพียงฝัน  วันวันหนึ่ง
                                   รู้ให้ซึ้ง   เมื่อผิด    คิดแก้ไข
                                   จงมาดู  ความคิด   จิตกายใจ
                                   รู้อะไร   ไม่สู้    รู้ตัวเอง
                                              เมื่อรู้ธรรม  จงเอาธรรม  นำความคิด
                                              อย่าให้จิต   ฝ่ายต่ำ      มาข่มเหง
                                              การทำดี    เพื่อละชั่ว    อย่ากลัวเกรง
                                              ตัวเราเอง   เป็นที่พึ่ง     พึงกระทำ
                                                              อย่าเพียงแต่  ชื่นชม  ผู้อื่นเขา
                                                              แต่ตัวเรา   ไม่สร้างเสริม  กลับตกต่ำ
                                                              เพราะรู้ธรรม เห็นธรรม   แต่ไม่ทำ
                                                              จึงเกิดกรรม  เป็นได้   เพียงใบลาน
                 "ไม่มีใคร    รู้ซึ้ง   เท่าหนึ่งจิต
                รู้ความคิด   รู้ธรรม  นำประสาน
             ให้เหมาะสม  หน้าที่   และการงาน
              จะทำการ    สิ่งใด    ให้มีธรรม "
                                  ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๑๒ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

257
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๓
.......เขียนถึงแม่.....
                   ๑๒ สิงหาคม...วันนี้สำหรับชาวไทย เขาสมมุติให้เป็น" วันแม่แห่งชาติ "
เลยถือโอกาศเขียนถึงแม่ตามความรู้สึกที่เป็นจริง จากใจไม่เสริมแต่ง แม่เป็นผู้หญิงแกร่ง
แม่เลี้ยงลูกสี่คนด้วยแรงของแม่เอง ส่งเสียลูกทั้งสี่คนให้ได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
ทุกคน ตั้งแต่ข้าพเจ้ากำเนิดมา แม่กับพ่อก็ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แม่เลือกที่จะอยู่กับลูกทั้งสี่
ไม่ยอมย้ายตามพ่อที่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด หลังจากทุกคนเติบโต จบการศึกษาแล้ว
แม่จงมีเวลาว่างมากขึ้น และได้มีโอกาศได้ปฏิบัติธรรมตามกำลังศรัทธาของท่าน ที่สวนโมกข์
กับหลวงพ่อพุทธทาส ตั้งแต่ปี ๒๕๒๐
            ข้าพเจ้าได้รับรู้ถึงการปฏิบัติธรรมของท่านอย่างชัดเจน  ในวันที่พระพี่ชายมรณภาพ
แม่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ดี มีสติอยู่ตลอดเวลา ไม่มีน้ำตาของแม่ใหลออกมาให้เห็นเลย
แม่คอยเตือนสติพระพี่ชายให้ภาวนาอยู่ตลอดเวลา ภาพที่ข้าพเจ้าได้เห็นนั้น ทำให้ข้าพเจ้าเบาใจ
ไม่เป็นห่วงท่าน เพราะว่าแม่ท่านเข้าใจธรรมและทำได้มาระดับหนึ่งแล้ว
            ครั้งที่ข้าพเจ้าบอกท่านว่าจะบวชนั้น แม่ดีใจมากที่จะได้บวชลูกชาย ได้เห็นชายผ้าเหลือง
และเมื่อข้าพเจ้าบอกว่าจะไม่สึก ท่านเสียใจเล็กน้อยเพราะเสียดายหน้าที่การงานที่ข้าพเจ้าทำอยู่
เสียดายความรู้ที่ร่ำเรียนมา เสียดายความก้าวหน้าที่กำลังดำเนินไป ยังไม่ได้ทำงานให้คุ้มค่ากับเวลา
ที่เสียไปในการศึกษา แต่ก็เป็นเวลาเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เมื่อท่านระลึกได้  แม่ได้กล่าวกับข้าพเจ้าว่า
" เมื่อคิดจะบวชไม่สึก แม่ก็ไม่ว่า แต่ขอให้ปฏิบัติและศึกษาหลักธรรมให้จริงจัง อย่าบวชและอยู่ไปวันๆไม่ได้ทำอะไร "
นี่คือคำกล่าวสอนของแม่ครั้งสุดท้ายที่ข้าพเจ้าได้ยินจากปากท่าน
        แต่เมื่อมาถึงวันนี้แม่ท่านได้เห็นในสิ่งที่ข้าพเจ้าเป็น และในสิ่งที่ข้าพเจ้าทำ  ท่านเข้าใจและได้กล่าวอนุโมทนา
กับข้าพเจ้าในสิ่งที่ข้าพเจ้าเป็นและในสิ่งที่ข้าพเจ้าทำ  สำหรับข้าพเจ้านั้น จะไม่ทำให้ท่านเสียใจและทุกข์ใจ จะตั้งใจ
ศึกษาและปฏิบัติธรรม  สร้างคุณงามความดี สร้างบารมีต่อไป ให้แม่ท่านได้ภาคภูมิใจในตัวพระลูกชาย....
                               ด้วยรักและศรัทธา ปรารถนาดี ระลึกสำนึกถึงพระคุณของแม่เสมอ
                                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๐๙ น ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

258
ตถตาอาสรม ริมฝั่งโขง
 ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๓
........รอยทาง........
                           ตื่นนอนตามเวลาปกติ ไม่ได้ออกไปบิณฑบาตร
เพราะทางโรงเรียนเขานิมนต์ไปรับบิณฑบาตรงานวันแม่ที่โรงเรียนจัดขึ้น
เพื่อให้เด็กนักเรียนและผู้ปกครองได้ทำบุญร่วมกัน  ซึ่งได้จัดมาทุกปี
ตอนสายๆมีเด็กวัยรุ่นมาสมัครเป็นฝีพายเรือยาว ประมาณ ๓๐ กว่าคน
เลยให้ทดลองงานกันก่อน คือทาสีเรือใหม่ ทาสีรถพ่วงที่ต่อข้นมาใหม่
ช่วยกันทำงานจนกระทั่งถึงบ่ายจึงแยกย้ายกันไป ตอนเย็นได้ทดลอง
เอารถพ่วงที่ต่อใหม่มาลองลากดู พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับล้อคู่หน้าที่ไม่
เลี้ยวตามรถยนต์ที่ใช้ลาก และอีกปัญหาก็คือข้อต่อตัวลากสูงไปนิดหนึ่ง
ทำให้ตัวต่อพ่วงหมุนไม่ได้ไม่ทำงาน แข็งเกินไป ต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่
.......รอยธรรม.......
                        ตื่นเช้ามาเจอปัญหาบางประการ ที่ทำให้จิตเกิดปฏิฆะ
มีอารมณ์ขุ่นมัว แต่รู้ตัวได้ทันเวลา พยายามรักษาจิต ปรับเปลี่ยนความคิด
และมุมมองใหม่ ปลีกตัวออกจากหมู่คณะกลับที่พัก นั่งดูกายดูจิตดูความคิด
ของตนเอง เพราะว่าถ้าเราไม่หลีกออกมาจากจุดนั้น ยังติดอยู่กับปัญหาและ
บุคคล สถานที่นั้น มันก็จะเพิ่มความกดดัน เพราะมีผัสสะสิ่งกระทบอยู่ตลอดเวลา
จงต้องถอยออกมาตั้งหลัก พักกาย พักใจ ปรับจิตเสียใหม่ แล้วจึงเข้าไปแก้ไขปัญหา
การที่จะแก้ไขปัญหานั้น เราต้องทำใจให้อยู่เหนือปัญหา คือละวางปัญหานั้นเสียก่อน
อย่ามองว่ามันเป็นปัญหาของเรา ของพวกเรา หรือว่าเรามีส่วนร่วมในปัญหาเหล่านั้น
ยกจิตออกจากปัญหา ปรับความคิดเสียใหม่ แล้วมองย้อนไปที่ปัญหา มองแบบคนนอก
ที่ไม่มีส่วนได้เสียกับปัญหาเหล่านั้น พิจารณาให้เห็นที่ถึงเกิดของปัญหา และผลกระทบ
ที่เกิดจากปัญหานั้น ตั้งสมมุติฐานใหม่ในหลายๆแนวทางที่จะแก้ไขปัญหานั้น  ดูองค์ประกอบ
สิ่งรอบกาย ปัจจัยที่มีอยู่ ที่สามารถจะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา เราก็จะเห็นทางออกของปัญหา
" อย่าคิดแก้ไขปัญหา ในขณะที่มีความกดดัน เพราะจะทำให้มุมมองของเรานั้น มันคับแคบลง "
ละวางปัญหาไว้ชั่วคราว ทำกาย ทำจิต ให้โปร่งโล่งเบา จนรู้สกสบายใจ แล้วจึงมองย้อนกลับไปใหม่
เราจะได้เห็นแง่มุมต่างๆอย่างชัดเจน
........รอยกวี.......
                       จงดูกาย  ดูจิต  พร้อมดูธรรม
                       ดูแล้วนำ  มาคิด  วินิจฉัย
                       ดูให้เห็น  ในสิ่ง  ที่เป็นไป
                       ให้เข้าใจ  ในสิ่ง ที่เป็นมา
                                    มองหาเหตุ   ปัจจัย   มองให้เห็น
                                    สิ่งที่เป็น      บ่อเกิด  ของปัญหา
                                    ใช้ความคิด  ใช้สติ     ใช้ปัญญา
                                   จงมองหา   มองให้เห็น  ความเป็นจริง
                                                     ชีวิตนี้     ย่อมมี   อุปสรรค
                                                  เป็นตามหลัก เปลี่ยนไป  ในทุกสิ่ง
                                                  อนิจจา         ไม่เที่ยง    คือความจริง
                                                  สรรพสิ่ง        ย่อมผันแปร  ไม่แน่นอน
                                                                 เมื่อมีได้    ก็ย่อม   จะมีเสีย
                                                                 เมื่ออ่อนเพลีย  ควรตั้งหลัก  หยุดพักผ่อน
                                                                 ให้จิตใจ    เข้มแข็ง    และแน่นอน
                                                                  แล้วค่อยย้อน  มาแก้ไข  ให้ทันการ
                    การกดดัน    ตนเอง  เกรงจะเสีย
                    กายอ่อนเพลีย และใจ  ที่ไม่นิ่ง
                    จะทำให้   ไม่เห็น     ความเป็นจริง
                    มองทุกสิ่ง  ไม่ชัด     เพราะอัตตา
                                   ทุกปัญหา   มีทาง   จะแก้ไข
                                   อยู่ที่ใจ    ยอมละ   ซึ่งตัณหา
                               ความอยากมี  อยากได้  เพราะโลภา
                               คือตัณหา     ความโลภ  เข้าครอบงำ
                                                 เมื่อไม่ยอม   เสียสละ  ก็ละอยาก
                                                 ต้องลำบาก   ทำชีวิต    ให้ตกต่ำ
                                                 ก่อให้เกิด     จองเวร    และจองกรรม
                                                 บุญไมทำ     กรรมจึงเกิด ขึ้นแก่ตน
                                                                  เพราะตัณหา  อัตตา  และมานะ
                                                                  ที่ไม่ละ      ไม่วาง   จึงให้ผล
                                                                  ต้องกลุ้มใจ  ไร้สุข    ต้องทุกข์ทน
                                                                  นั้นคือผล     ของกรรม  ที่ทำมา
               "  ความพอดี   พอเพียง   เลี้ยงชีวิต
                 รู้ถูกผิด       ในกิเลส   และตัณหา
                 รู้แล้วละ      รู้แล้ววาง   ด้วยปัญญา
                 จะนำพา     ชีวิต        ให้รุ่งเรือง "
                                                  ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๐๙ น. ณศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

                                   
                                     
 


259
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๓
........รอยทาง......
                       เมื่อวานนี้เป็นวันพระแรม ๑๕ ค่ำ เดือนแปดหลัง ไม่ได้ออกบิณฑบาตร
เพราะญาติโยมจะมาใส่บาตรและทำบุญที่วัดกัน  ซึ่งวันพระที่ผ่านมานี้ มีญาติโยมมาทำบุญ
เพิ่มขึ้นเพราะเสร็จจากการดำนาแล้ว ฝนตกลงมาหนักมาก ตกตั้งแต่สามทุ่มกว่าจนถึงตีสี่กว่า
ทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคเช้าเสร็จประมาณสามโมงเช้า มีญาติโยมมาช่วยงานก่อสร้างในวัด
ลงไปชี้แจงงานให้กับญาติโยม แล้วจึงนำพระไปลงอุโบสถ เพื่อฟังปาฏิโมกข์ร่วมกับพระใน
ตำบล ซึ่งในพรรษานี้มีพระที่อยู่จำพรรษารวมทั้งตำบล ๕๐ รูป ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติของคณะสงฆ์
ในเขตตำบลนาสีนวน ที่พระภิกษุในเขตปกครองจะมาลงอุโบสถร่วมกัน เพื่อจะได้พบปะพูดคุย
ประชุมปรึกษาหารือกัน หลังจากฟังพระปาฏิโมกข์เสร็จแล้ว กลับจากลงปาฏิโมกข์ถึงวัดประมาณ
บ่ายสามกว่าๆ กลับมาถอดล้อรถพ่วงที่รั่วเอาไปส่งให้ร้านปะยางให้ กลับมาทันทำกิจวัตรสงฆ์
ในภาคค่ำ  ทำวัตรสวดมนต์เสร็จกลับที่พักเจริญภาวนาตามปกติ ไฟฟ้าดับเวลาประมาณสามทุ่มกว่าๆ
ไฟมาอีกครั้งประมาณตีสามกว่า
.......รอยธรรม......
                       เนื่องจากเป็นวันพระ ๑๕ ค่ำ จึงไม่ได้ลงไปทำงานก่อสร้าง เพราะต้องไปลง
อุโบสถเพื่อฟังพระปาฏิโมกข์ และในภาคเช้าจะมีญาติโยมมาทำบุญตักบาตรที่วัดกัน ซึ่งตั้งแต่มา
อยู่ที่มุกดาหารนั้น ไม่เคยขึ้นเทศน์ในวันพระเลย เพียงแต่กล่าวสัมโมทนียกถา เพื่อเพิ่มศรัทธา
ในการสร้างบุญกุศลให้แก่ญาติโยมฟังเท่านั้น แต่จะใช้การสอนกันโดยการทำงานและพูดคุยกัน
ในระหว่างที่ทำงานร่วมกัน เพราะการเทศน์นั้นมันเป็นรูปแบบมากเกินไป ทำให้ผู้ฟังเกิดอาการเกร็ง
ได้แต่ฟังธรรม แต่ทำไม่ได้ ทำให้ได้ผลน้อยมาก แต่จะใช้การสอนแบบที่เขาไม่รู้ตัวว่าเรากำลังสอนอยู่
ซึ่งจะได้ผลมากกว่า เพราะมีความเป็นธรรมชาติและเป็นกันเองมากกว่า ทำให้ผู้ฟังไม่เครียดในการฟัง
ไปร่วมลงอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์กับพระที่จำพรรษาในเขตตำบลเดียวกัน ได้พบปะพูดคุยทำความรู้จักกัน
เพราะครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ก่อนที่จะออกมาจากวัดที่บวชว่า " ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ไหน เราควรให้เกียรติ
พระในพื้นที่ และจงมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้ความร่วมมือกับคณะสงฆ์ที่เราอยู่ในเขตปกครองของเขา "
ความอ่อนน้อมถ่อมตนนำมาซึ่งความเป็นมิตร และการที่เราไปอยู่ในถิ่นอื่นนั้นเราต้องสร้างความสัมพันธ์
อันดีกับเจ้าของท้องที่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาขัดแย้งกัน " มังกรพลัดถิ่น ฤาจะสู้งูดินเจ้าที่ " นี่คือคำสอน
ของครูบาอาจารย์ ที่ท่านสั่งสอนไว้ก่อนที่จะออกมาอยู่ในต่างถิ่น
........รอยกวี......
                       ความอ่ิอนน้อม   ถ่อมตน   คนจึงชอบ
                       และประกอบ     เมตตา    มาประสาน
                       ไม่เย่อหยิ่ง       ถือตน     จนเสียการ
                       จงร่วมงาน       ทำไป      ด้วยใจเรา
                                          ผูกไมตรี   สร้างมิตร    ผูกจิตไว้
                                          มีน้ำใจ     เอื้อเฟื้อ     ช่วยเหลือเขา
                                          และจงเป็น  ผู้ให้        อย่าหวังเอา
                                          ช่วยแบ่งเบา  ช่วยเขา  อย่างเต็มใจ
                                                          อ่อนเมื่อพบ  ลมแรง  อย่าแข็งขืน
                                                          น้อมแล้วยืน  ขึ้นสู้     สู่สิ่งใหม่
                                                          ถ่อมลงหา    ผู้คน     อย่างเต็มใจ
                                                          ตนควรมี     ความหมาย ต่อผู้คน
                                                                         สร้างประโยชน์   แก่ตน  และคนอื่น
                                                                         ปลุกให้ตื่น      ขึ้นมา   หาเหตุผล
                                                                         เพื่อให้เป็น  ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ตน
                                                                         ให้ทุกคน     ได้รับ   โดยทั่วกัน
                     การถือตัว  ถือตน   คนไม่ชอบ
               เพราะประกอบ ด้วยทิฏฐิ คนหยามหยัน
               ไม่ได้สร้าง   ไมตรี   มิตรสัมพันธ์
               อยู่ร่วมกัน   ควรรัก   สามัคคี
                              หมั่นประชุม  ร่วมกัน  ให้เนืองนิจ
                              ร่วมทำกิจ     กันไป   ในทุกที่
                             ร่วมสรรค์สร้าง เส้นทาง สู่ความดี
                             ร่วมสร้างมิตร   ไมตรี   ดีต่อกัน
                                              สิ่งที่จะ   ผูกใจ  ในหมู่มิตร
                                              คือรวมจิต รวมใจ  สมานฉันท์
                                              มีน้ำใจ   เอื้อเฟื้อ  ช่วยเหลือกัน
                                              การแบ่งปัน  การให้  ได้ใจคน
                                                               อย่าได้เพียง    ร้องขอ  ต่อผู้อื่น
                                                               จงหยิบยื่น     ยามเขา   นั้นขัดสน
                                                               ให้เขาพ้น     จากทุกข์  ทั่วทุกคน
                                                           ประโยชน์ตน   ประโยชน์ท่าน  ควรกระทำ
                              ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๑๖ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                                                 
                 

260
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓
........รอยทาง.......
           ชีวิตดำเนินไปตามปกติตื่นเช้า ออกบิณฑบาตร กลับมาแล้วก็ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า
 ฉันข้าว เสร็จแล้วกลับที่พักกวาดถูศาลา จากนั้นจึงลงไปดูงานก่อสร้างห้องน้ำและงานเชื่อมเหล็ก
ต่อรถพ่วง ช่วยกันทำงานจนถึงเที่ยงวัน พักฉันกาแฟ แล้วลงไปทำงานต่อ จนกระทั่งงานเชื่อมเหล็ก
ต่อรถพ่วงเสร็จสมบูรณ์ในเวลาประมาณบ่ายสามกว่าๆ เหลือเพียงงานก่อสร้างทำห้องน้ำที่ยังไม่เสร็จ
เหลืองานฉาบปูนและเทพื้น ปูกระเบื้อง ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกประมาณ ๕ วัน จึงจะเสร็จสมบูรณ์และ
เหลืองานที่จะต้องทำต่อก็คือ ศาลาสรงน้ำพระและถังเก็บน้ำที่จะใช้ในป่าปริวาส กลับมาที่พักนั่งถอดแบบ
ที่สรงน้ำและแท็งค์น้ำ คำนวนหาจำนวนเหล็ก อิฐ ปูน สังกะสี วัสดุที่ต้องใช้ทั้งหมด เพื่อจะคำนวนค่าก่อสร้าง
และระยะเวลาในการทำงาน เสร็จแล้วเตรียมตัวทำกิจวัตรในภาคค่ำต่อไป
.........รอยธรรม.......
          ในการทำงานนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสติและมีสมาธิในการทำงาน เพราะในการทำงานแต่ละอย่างนั้น
ย่อมมีอุปสรรคและปัญหาอยู่ตลอดเวลา การที่เรามีสตินั้นจะช่วยให้เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและสามรถที่จะควบคุม
อารมณ์ความรู้สึกได้ และทำให้สามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะว่าเรามีสมาธิในการทำงาน
ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ ไม่ตื่นตกใจหรืออารมณ์เสียเมื่อเจอปัญหา ทำให้สามารถที่จะแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้
หลังจากทำวัตรสวดมนต์เย็นแล้ว ฝนตกหนักมาก กลับที่พักแล้วเจริญสติภาวนาโดยใช้ " โสตกรรมฐาน "คือการใช้
โสตสัมผัส ( เสียง )เป็นอารมณ์กรรมฐาน เอาสติไปจับที่เสียงที่เราได้ยิน จนสามารถที่จะแยกเสียงที่ได้ยินนั้นได้
และจิตจับอยู่กับเสียงเพียงเสียงเดียวที่เราสนใจ จนจิตเป็นสมาธิอยู่กับเสียงนั้น ซึ่งการปฏิบัติแบบนี้ได้ทำอยู่บ่อยครั้ง
ตามโอกาศที่เหมาะสม ซึ่งวิธีนี้ได้เจอโดยบังเอิญตั้งแต่สมัยที่เป็นฆราวาส ตอนที่นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯไปสุราษฎร์
เมื่อปี ๒๕๒๙ ตอนนั้นเดินทางคนเดียวและในเที่ยวนั้นผู้โดยสารมีน้อยมาก ทำให้มีที่นั่งว่างเยอะ สามารถที่จะเอา
เบาะที่นั่งมาปูนอนได้ เพราะว่าว่างไม่รู้จะทำอะไร นอนก็ไม่หลับ จึงนอนฟังเสียงล้อรถไฟกระทบข้อต่อของรางไป
นอนฟังตั้งแต่รถไฟออกจากสถานีนครปฐม ไปรู้สึกตัวอีกครั้งเมื่อรถไฟถึงสถานีไชยา เมื่อรู้สึกตัวและเลกฟังเสียงล้อ
รถไฟแล้วนั้น มีความรู้สึกเอิบอิ่ม เป็นสุขอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งมันเป็นความสุขที่เราไม่เคยเจอมาก่อนเลยตั้งแต่เกิดมา
( สมัยเป็นฆราวาส ไม่เคยสนใจเรื่องศาสนา เป็นพวกหัวก้าวหน้า เอียงซ้ายสุดๆ ) แต่เมื่อได้เข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรม
จึงได้รู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคือความเป็นสมาธิ คืออารมณ์ปิติ สุขและเอตคตารมณ์ ซึ่งเราพบมันโดยบังเอิญและนำมาปฏิบัติ
อยู่เสมอตามจังหวะและโอกาศที่เหมาะสม
.........รอยกวี.......
                         นอนฟัง เสียงสายฝน     ที่ร่วงหล่น  ตกลงมา
                         เสียงฝน บนหลังคา       ดังเรื่อยมา ให้ได้ยิน
                         จิตอยู่   กับเสียงนั้น      จับเสียงมัน เป็นอาจินณ์
                         เอาเสียง ที่ได้ยิน         มาเป็นศิลป์ ในทางธรรม
                                                      โสตะ  กรรมฐาน      คือการงาน ที่เลิศล้ำ
                                                      ฝึกฝน อยู่ประจำ      ได้กระทำ  อยู่เรื่อยมา
                                                      ฟังเสียง จนสงบ       จะได้พบ  ซึ่งปัญญา
                                                     เอาเสียง  เป็นสัญญา  สติมา   ปัญญามี
                        ทางธรรม  นั้นทำได้      ขอเพียงให้  จิตใฝ่ดี
                        ไม่เลือก สถานที่          ทำให้ดี   ทำให้ควร
                        เหมาะสม  กับเวลา        เฉพาะหน้า สถานที่
                        โอกาศ    ที่เรามี          เลือกสิ่งที่  ควรกระทำ
                                                     เลือกธรรม   กรรมฐาน    เหมาะกับงาน เพื่อตอกย้ำ
                                                      ให้จิต   อยู่กับธรรม      ให้จิตนำ  สู่สัมมา
                                                      สัมมา   ปฏิบัติ            ควรฝึกหัด  ภาวนา
                                                      เรียนรู้  และศึกษา        แล้วนำมา  ทำให้จริง
                        ทางธรรม  กรรมฐาน      จะประสาน  สรรพสิ่ง
                        ให้เห็น    และเป็นจริง    อย่าทอดทิ้ง ทำต่อไป
                        ตามหลัก  อิทธิบาท      อย่า่ให้ขาด  จงตั้งใจ
                        ความหวัง ที่ตั้งไว้         คงไม่ไกล  เกินความจริง
                                   ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
                                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๑๓ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                       
                                                     
                                     
         

261
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๙ สิงหาคม ๒๕๕๓
........รอยทาง......
                         ทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคเช้าเสร็จตามเวลาปกติ แล้วลงไปช่วยหมู่คณะทำงาน
ทำห้องน้ำ  ต่อรถพ่วง ขุดต้นไม้ปรับลานวัด ตั้งแต่ตอนสายๆจนกระทั่งถึงเวลาประมาณบ่ายสามโมง
จึงได้หยุดพักกัน เพื่อรอเวลาที่จะทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคค่ำต่อไป ซึ่งเป็นไปตามวิถีชีวิตประจำวัน
ของเหล่าสมณะชายขอบ  คือใช้เวลาที่ผ่านไปในแต่ละวันให้คุ้มค่าที่สุด เพราะได้ย้ำเตือนหมู่คณะ
อยู่เสมอว่า " กินข้าวเขา แล้วมาขี้  ทำความดี คุ้มค่าข้าว  เขารึยัง " และเป็นการฝึกให้ทุกท่านมีความ
ขยัน มีจิตอาสา การมีน้ำใจซึ่งกันและกัน เป็นผู้ไม่นิ่งดูดาย ขวนขวายในกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม
เป็นการสร้างจิตสำนึกต่อส่วนรวม รู้บทบาทและหน้าที่ของตนเอง และเคารพบทบาทและหน้าที่ของผู้อื่น
........รอยธรรม.......
                               " คนพูดมักจะไม่ค่อยจะทำ  คนทำมักจะไม่ค่อยจะพูด " เรื่องแบบนี้มีอยู่มาก
ในสังคมนี้ เกิดทุกที่ที่มีการทำงาน คือพวกที่ชอบวิจารณ์ ชอบเสนอแนะ แต่ไม่เคยช่วยเหลือลงมือกระทำ
ผ่านมาเห็น แวะเข้ามาดู ยืนอยู่เฉยๆ ติโน่นตินี่ ว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้น ทำไมไม่ทำอย่างนี้ แล้วก็จากไป
ซึ่งผู้ทำงานทุกคนต้องมีความอดทนอย่างสูงกับเรื่องนี้ และต้องมีความมั่นคงทางความคิดไม่หวั่นไหวต่อ
คำพูดเหล่านั้น พร้อมกับวิเคราะห์ตามในคำพูดเหล่านั้น ว่ามีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่
ในสิ่งที่เขาเสนอมา " อย่าปฏิเสธทันที ที่ได้ยินและได้ฟัง เพราะอาจจะทำให้เสียโอกาศได้ " และควรที่
" อย่าเชื่อทันที ที่ได้ยินหรือได้ฟัง เพราะอาจจะทำให้นำมาซึ่งความงมงาย และความผิดพลาดได้ "
ควรที่จะ " รับฟัง พินิจ พิจารณา ไตร่ตรอง หาเหตุและผล ข้อดีและข้อเสีย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น "
และสิ่งที่สำคัญนั้นก็คือ " ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ตามจังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และบุคคล "
ซึ่งบางครั้งความคิดที่ดีๆนั้น ก็ไม่สามารถที่จะนำมาทำให้เป็นรูปธรรมได้ เพราะความไม่พร้อมขององค์ประกอบ
ไม่มีเงินทุน ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีบุคลากร ไม่มีสถานที่ ไม่เหมาะสมกับฤดูกาล ซึ่งในการทำงานหรือคิดงานแต่ละครั้งนั้น
เราต้องนำสิ่งนี้มาเป็นองค์ประกอบในการคิดงานในการวางแผนงาน " ไม่ต้องคิดให้ดีที่สุด แต่คิดให้ใช้ได้ก็พอแล้ว "
คิดใช้ได้คือคิดแล้วสามารถที่จะทำให้เป็นรูปธรรมได้ เพราะบางครั้งการคิดดีนั้น มันเป็นได้เพียงความฝันและจินตนาการ
ไม่สามารถที่จะทำให้เป็นรูปธรรมได้ เพราะคิดดีเกินไป เกินกำลังที่จะทำได้ " แต่ถ้าเราคิดให้ใช้ได้ คือคิดจากองค์ประกอบ
ที่มีอยู่ในขณะนั้น มันก็สามารถที่จะทำได้ในทันที เพราะว่ามีองค์ประกอบที่ครบถ้วนแล้ว "
.........รอยกวี.......
                         คนพูด  มักไม่ทำ     ชอบกล่าวคำ เสนอแนะ
                         คนทำ  จึงเป็นแพะ   เหมือนลูกแกะ เพราะต้องทำ
                         ชอบติ  เสนองาน     ชอบวิจารณ์  กล่าวถ้อยคำ
                         ชอบพูด ไม่ชอบทำ   มีประจำ   ในส้งคม
                                    คนทำ   นั้นต้องทน     ต้องฝึกฝน  ให้เหมาะสม
                                    ทำไป   ให้กลืนกลม    ให้เหมาะสม กับเหตุการณ์
                                    จังหวะ  และเวลา        โอกาศมา   ให้ประสาน
                                    เงินทุน ต้องพอการ      คนทำงาน   ต้องมีพอ
                        คิดดี  ทำไม่ได้        เมื่อคิดไป  ได้แต่รอ
                      ความคิด  ไม่เติมต่อ    ไม่ได่ก่อ    รูปธรรม
                       เป็นได้ เพียงความฝัน  ไม่มีวัน      จะได้ทำ
                       ความคิด ที่เลิศล้ำ       ไม่อาจนำ  มาทำจริง
                                   ควรคิด  ให้เหมาะสม    ให้กลืนกลม  กับทุกสิ่ง
                                   คิดแล้ว  ทำได้จริง        ใช่คิดทิ้ง    คิดเลื่อนลอย
                                   คิดได้  และทำได้        คือคิดไป  เพื่อใช้สอย
                                   คิดแล้ว  ไม่ต้องคอย     คิดให้น้อย  ให้พอดี...
                                            ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
                                           ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๒๖ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                   
                                         
                       
                     

262
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๘ สิงหาคม ๒๕๕๓
.......รอยทาง.......
                      ฝนหยุดตกแล้ว การสัญจรสะดวกขึ้น ไม่ต้องถือร่มไปบิณฑบาตร
ตื่นนอนตามเวลาปกติ ทำกิจวัตรสงฆ์ในภาคเช้าเสร็จแล้ว ลงไปสั่งงานการก่อสร้างต่อ
เพราะว่าหยุดพักมาหลายวัน เนื่องจากคนที่ช่วยงานต้องไปทำนา ทำนาเสร็จแล้วจึง
เข้ามาช่วยงานในวัดกัน ช่วยกันทำห้องน้ำเพื่อใช้ในงานปริวาสกรรมเพิ่มอีก ๑๒ ห้อง
ซึ่งตอนนี้งานโครงสร้างทั้งหลายเสร็จแล้ว เหลือแต่เพียงเก็บงาน เสร็จจากสั่งงานทำ
ห้องน้ำแล้ว แวะมาสั่งงานอธิบายแบบให้แผนกช่างเชื่อม ต่อรถพ่วงที่จะใช้บรรทุกเรือยาว
อธิบายจนเป็นที่เข้าใจแล้ว จึงกลับมาที่พักเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อจะทำวัตถุมงคล
เพราะได้รับปากญาติโยมไว้ว่าจะทำให้  นั่งทำวัตถุมงคลตั้งแต่เริ่มต้น กว่าจะเสร็จก็บ่ายแล้ว
ลงไปตรวจงานการก่อสร้างอีกครั้ง เพื่อติดตามการทำงานของแต่ละแผนก ซึ่งถ้าเกิดความผิด
พลาดอะไร เราก็จะได้แก้ไขทัน เสร็จจากการตรวจงานแล้วกลับมาสรงน้ำ เพื่อเตรียมตัวที่จะ
ทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคค่ำต่อไป
........รอยธรรม......
                      การทำงานแต่ละอย่างนั้น เราต้องพยายามทำให้สำเร็จ ทำให้ต่อเนื่องกัน
ไม่ทอดทิ้งธุระ ทิ้งงานให้ค้างคา ตามหลักธรรมของมงคลสูตรในข้อที่ว่าด้วยเรื่องการทำงาน
" อนากุลา จะ กัมมันตา เอตัมมังคะละมุตตะมัง  การทำงานไม่คั่งค้าง เป็นมงคลของชีวิต "
เพราะการทำงานแบบทำๆหยุดๆนั้น มันจะก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายและขี้เกียจ และมันจะติด
เป็นนิสัย คือจะทำให้ทำอะไรไม่สำเร็จ เพราะไม่มีความอดทน ไม่มีความเพียรในการกระทำ
พอเจออุปสรรคปัญหาอะไรก็ทิ้งงาน ใช้การหนีปัญหาเป็นทางออก ทอดทิ้งธุระไม่กระทำต่อไป
เมื่อกระทำแบบนี้หลายๆครั้ง ในหลายๆกรณี มันจะทำให้ขาดความเชื่อถือ ขาดศรัทธาจากผู้คน
เพราะทำอะไรไม่เคยสำเร็จ ไม่เคยเสร็จสักครั้งเลย ซึ่งมันจะเป็นความทรงจำใต้จิตสำนึกในเวลา
ต่อไป เพราะว่าจิตนั้นยังติดอยู่ มันยังค้างคาใจ เพราะว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันยังไม่สำเร็จ
........รอยกวี......
                      ยกธรรม มานำอ้าง    เป็นแบบอย่าง  ในการงาน
                      ยกธรรม นำประสาน   ให้เกิดการ     พัฒนา
                      ทำงาน  ไม่คั่งค้าง     ไม่ทิ้งวาง    เพราะระอา
             ความเหนื่อย ความเมื่อยล้า    ธรรมดา     ของการงาน
                    อุปสรรค  และปัญหา    ย่อมมีมา   ทุกสถาน
                    แก้ไข     ให้ทันการ     ไม่ทิ้งงาน  เพราะท้อใจ
                    ใช้ธรรม   เป็นแนวทาง   มองทุกอย่า่ง  แล้วแก้ไข
                     ให้งาน    ลุล่วงไป       อย่าทิ้งไว้  ให้ค้างคา
                     งานเสร็จ  สำเร็จผล      เป็นมงคล แก่กายา
                         ปิติ จะมีมา            ในอุรา จะชื่นบาน
                     เบิกบาน ด้วยปิติ         เพราะได้ตริ  ตรึกตรองการ
                     ลุล่วง   ในผลงาน        เกิดจากการ  พยายาม
                     ขันติ    วิริยะ              คือธรรมะ   อย่ามองข้าม
                     ตรวจสอบ และติดตาม   อย่าผลีผลาม เลิกกลางคัน
                     ทิ้งงาน   ใช่การแก้       มันจะแย่  ไม่สร้างสรรค์
                     ทิ้งงาน   ลงกลางคัน     ให้งานนั้น  มันค้างคา
                      จะติด   เป็นนิสัย         ครั้งต่อไป  มีปัญหา
                     จะสิ้น  ซึ่งศรัทธา         คนตราหน้า ว่าไม่จริง
                      ไม่เคย จะสำเร็จ         ไม่เคยเสร็จ ในทุกสิ่ง
                      เป้นคน ที่ไม่จริง          ทำทุกสิ่ง  ไว้ค้างคา
                      ชีวิต  ที่มีนั้น               เมื่อนับวัน  จะไร้ค่า
                      สูญสิ้น  ซึ่งศรัทธา       ก็เพราะว่า  ไม่เสร็จเลย
                              ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
                               ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๓๓ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย               


263
ภาพแรกเป็นภาพถ่ายของหลวงพ่อเปิ่นในอิริยาบทแบบสบายๆ



ภาพที่สองเป็นภาพถ่ายต้นแบบสติ๊กเกอร์และผ้ายันต์



ภาพที่สามเป็น ล็อคเก็ตหลวงพ่อเปิ่น ด้านหลังบรรจุเกศาของหลวงพ่อเปิ่น






264
พระกรุนาดูนเก็บไว้นานแล้ว เอามาให้ชมกัน









265
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๗ สิงหาคม ๒๕๕๓
........รอยทาง.......
                        ฝนยังตกอยู่ออกบิณฑบาตรต้องใช้ร่ม ทางเดินบนคันนาลื่นกว่าปกติ
ต้องใช้สติในการเดินบิณฑบาตรมากขึ้น ศรัทธาของญาติโยมเริ่มเพิ่มขึ้น เพราะเสร็จจาก
การปักดำทำนาแล้ว ทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคเช้าเสร็จแล้ว ชวนพระไปช่วยกันเชื่อมเหล็ก
ยกเหล็ก เพื่อต่อรถพ่วงที่จะใช้บรรทุกเรือแข่ง อีกส่วนก็ไปช่วยกันซ่อมเตียงไม้ไผ่ที่ชำรุด
ช่วยกันทำงานภายในวัด จนกระทั่งบ่ายสามกว่าๆ ฝนตกลงมา เลยหยุดทำงานพักผ่อนกัน
รอเวลาทำกิจของสงฆ์ในภาคค่ำต่อไป ซึ่งได้ปรึกษากันใหม่ ว่าควรจะทำวัตร สวดมนต์เย็น
เร็วขึ้น จากเวลา ๑๙.๐๐ น. มาเป็นเวลา ๑๘.๓๐ น. เพื่อความสะดวกในการกลับกุฏิที่พัก
ซึ่งได้ตกลงกันตามนั้น ทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคค่ำเสร็จแล้ว กลับที่พักค้นหาข้อมูลเรื่อง
คำศัพท์ โดยการเปิดพจนานุกรมนั่งอ่านคำศัพท์ภาษาไทยเพื่อให้คุ้นตา ซึ่งจะทำให้เกิด
ความผิดพลาดน้อยที่สุดในการใช้ภาษาไทย จนถึงเวลาห้่าทุ่มกว่า จึงพักผ่อนนอนเจริญ
ภาวนา กำหนดดูกายจนหลับไป
........รอยธรรม.......
                           การทำงานที่ใช้แรงงานร่่วมกับคนหมู่มากนั้น ต้องควบคุมอารมณ์
ความรู้สึกให้มากกว่าปกติ เพราะอาจจะเกิดกระทบกระทั่งกันได้ทางอารมณ์ ถ้าขาดสติ
ดั่งคำครูที่ได้กล่าวไว้ว่า " อยู่คนเดียวให้ระวังจิต  อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา " นั้นเป็นสิ่งที่
ควรจดจำและควรปฏิบัติตาม เพื่อความอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เพราะความเหนื่อย ความหิว
ความร้อน ทุกขเวทนาทางกายนั้น ทำให้กิเลสที่ซ่อนอยู่ในจิต ผุดขึ้นมาได้ง่ายถ้าเราเผลอสติ
ทำให้ระลึกถึงอานิสงส์ของการเดินธุดงค์ การเดินธุดงค์นั้นเป็นการฝึกสติ ฝึกความอดทน
ฝึกการควบคุมอารมณ์ ที่ดีมาก เพราะในเวลาที่เราเดินธุดงค์นั้น ต้องแบกสัมภาระอยู่บนบ่า
มีความเหนื่อยเมื่อยล้า จากอากาศที่ร้อน สัมภาระที่หนัก ความหิวกระหาย ที่เกิดขึ้นในระหว่าง
การเดินธุดงค์ ความเห็นแก่ตัวจะเกิดขึ้น ความขี้เกียจจะตามมา อัตตาความเอาแต่ใจตนเองเพิ่มขึ้น
ซึ่งถ้าไม่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกให้ดีแล้ว กิเลสทั้งหลายก็จะแสดงออกมา จากการที่เคยผ่านการ
เดินธุดงค์มามากนั้น ทำให้หมู่คณะเพื่อนสหธรรมิกทุกรูป เข้าใจในเรื่องนี้ดี เพราะได้พูดคุยกันสมัยที่เดิน
ธุดงค์ร่วมกันมาก่อนแล้ว จึงทำให้ทุกท่านควบคุมอารมณ์กันได้ในเวลาที่ทำงานร่วมกัน มากน้อยตามกำลัง
สติของแต่ละท่าน นี่คืออานิสงส์แห่งการเดินธุดงค์ที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเหล่าสมณะชายโขง
.......รอยกวี......
                      เหนื่อยนัก  อยากพักผ่อน    เอนกายนอน   แนบพื้นดิน
                      สููดดม   ซึ่งไอกลิ่น            ของผืนดิน      ที่เกิดมา
                      เดียวดาย ใต้ฟ้ากว้าง          บนเส้นทาง     แสวงหา
                      ก้าวผ่าน  กาลเวลา            ผ่านร้อยป่า      และภูดอย
                      ฝึกตน    และฝึกจิต           เพื่อหมู่มิตร      ที่รอคอย
                      ฝันไว้    ใช่เลื่อนลอย         จิตไม่ถอย       ซึ่งศรัทธา
                      เรียนรู้    ปริยัติ                 ปฏิบัติ           ภาวนา
                      สติ     และปัญญา             เพื่อค้นหา      สัจจธรรม
                          น้อมใจ  มาดูจิต            ดูความคิด     และกฏกรรม
                     สิ่งที่ ควรกระทำ                 เป็นประจำ      สืบกันมา
                     รู้ธรรม และเห็นธรรม             ถ้าไม่ทำ       ก็ไร้ค่า
                     ความรู้  ในตำรา                 ต้องนำมา    ใช้ได้จริง
                     นำธรรม  มาประยุกค์            ใช้กับทุก     สรรพสิ่ง
                     ในโลก  แห่งความจริง          ไม่หยุดนิ่ง   มีเปลี่ยนแปลง
                          ทุกสิ่ง  ล้วนเคลื่อนไหว    เหมือนใบไม้  ที่กวัดแกว่ง
                      โดนลม ที่พัดแรง               กิ่งไม้แห้ง    ย่อมร่วงลง
                      ชีวิต   ก็เหมือนกัน             เมื่อถึงวัน     ไม่มั่นคง
                      ชีวิต   ย่อมดับลง               จึงฝึกปลง    ก่อนจะตาย
                      ชีวิต   ที่เหลืออยู่               ควรจะรู้       ซึ่งความหมาย
                      เตรียมตน ก่อนจะตาย          ยังไม่สาย    ที่จะทำ
                               ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
                                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๓๗ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                     

266
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๖ สิงหาคม ๒๕๕๓
......รอยทาง.......
                   ฝนตกตลอดคืน ตื่นตามปกติ ออกไปทำกิจวัตรของสงฆ์
กลับจากบิณฑบาตรแล้ว ขึ้นมาเขียนบันทึกตามเวลาปกติคือ ๐๗.๔๕ น.
ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาทีในการเขียนบันทึก ซึ่งจะช้าเสียเวลาตอนเขียน
บทกวี ซึ่งต้องคิดหาคำสัมผัสและต้องวางโครงเรื่อง ว่าจะนำเสนอเรื่ิองอะไร
ซึ่งต้องใช้เวลา จึงทำให้บางวันเขียนไม่ทันในเวลา ต้องพักลงไปทำกิจก่อน
เสร็จแล้วจึงกลับมาเขียนใหม่ ฝนตกตลอดวันลงไปทำงานไม่ได้ เลยต้องอยู่
แต่บนศาลาที่พัก นั่งอ่านหนังสือ ค้นหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ จนได้เวลาที่จะทำ
กิจในภาคค่ำต่อไป
........รอยธรรม......
                             สมัยที่จำพรรษาที่วัดถ้ำเสือ ได้มีโอกาศช่วยงานและใกล้ชิด
กับหลวงพ่อจำเนียร สีลเสฏโฐ ตอนใหม่ๆมีความสงสัยว่าทำไมหลวงพ่อไม่ค่อยจะนอน
ท่านหาอะไรทำอยู่เสมอไม่หยุดนิ่ง ทำไมท่านไม่เดินจงกรม ทำไมท่านไม่นั่งสมาธิภาวนา
ท่านเอาเวลาไหนปฏิบัติธรรม แต่เมื่อเราได้ศึกษาและได้ปฏิบัติจึงรู้ว่า ทุกเวลา ทุกขณะนั้น
ท่านปฏิบัติธรรม เจริญสติอยู่ตลอดเวลา ตามแนวทางของสติปัฏฐาน ๔ คือมีสติอยู่กับกาย
เวทนา จิตและธรรม จึงได้ยึดถือมาเป็นแนวทางของการปฏิบัติตลอดมา การปฏิบัติธรรมนั้น
ไม่ได้อยู่แต่เพียงรูปแบบ คือต้องนั่งสมาธิ ต้องเดินจงกรมเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญของการปฏิบัติ
ก็คือการมีสติและสัมปชัญญะ อยู่กับ กาย เวทนา จิต ธรรม ตามความเหมาะสม ของจังหวะ
เวลา โอกาศ สถานที่ และบุคคล ซึ่งถ้าเราไปยึดติดว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ จึงจะเป็น
การปฏิบัติธรรม มันก็จะเป็นสีลพรตปรามาสไปทันที
........รอยกวี........
                        ฝนพรำ แต่ค่ำคืน     จากดึกดื่น  จนฟ้าสาย
                   เปียกปอน ไปทั่วกาย     เพราะต้องสาย ฝนพัดมา
                   กายหนาว  สั่นสะท้าน    แต่ใจนั้น    ไม่นำพา
                   เจริญ   ภาวนา             ทุกเวลา    ที่รู้ตัว
                   ดูกาย  และดูจิต           ดูความคิด  ดูไปทั่ว
                   รู้กาย   และรู้ตัว           ไม่เมามัว   ตามอารมณ์
                   รู้ทัน    การเกิดดับ        ทุกสิ่งสรรพ ตามเหมาะสม
                   ให้เกิด  ความกลืนกลม   ให้เหมาะสม กับเหตุการณ์
                        ศึกษา  ปริยัติ         ปฏิบัติ  กรรมฐาน
                   ปฏิเวท  คือผลงาน        เกิดจากการ  ภาวนา
                   ศีลนั้น   คือสติ             สมาธิ  ขั้นต่อมา
                   ก่อเกิด  ซึ่งปัญญา         ไตรสิกขา  ที่ต้องทำ
                   นั่นคือ  กิจวัตร              ปฏิบัติ    อยู่ประจำ
                   ศึกษา ในข้อธรรม          แล้วน้อมนำ กระทำตาม
                   เดินตาม เส้นทางธรรม     ไม่ล่วงล้ำ  สิ่งเลวทราม
                   ศีลนั้น   ทำให้งาม         เดินก้าวตาม ครูอาจารย์
                   แบบอย่าง ในทางพุทธ    บริสุทธิ์   ควรเล่าขาน
                   แบบอย่าง มีมานาน        ครูอาจารย์ ท่านทำมา
                   เรียนรู้  ดูแบบอย่าง        เป็นแนวทาง ให้ศึกษา
                   สืบต่อ  กันเรื่อยมา         ศาสนา  พุทธของเรา...
                           ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
                            ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต 
                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๒๙ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย       
                         
                   

267
นำมาให้ชมกัน....ชุดแรกเป็นผ้ายันต์บูชาครู
ทำถวายหลวงพ่อเปิ่น เมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ ถอดแบบมาจากเสื้อในวันงาน
ขนาดกว้าง ๔๐ ซ.ม.ยาว ๖๐ ซ.ม. มี ๓ สี จัดสร้างโดยศิษย์หลวงพ่อเปิ่นรามอินทรา





ชุดที่สองเป็นผ้ายันต์ เพทธยาธรตัวพ่อ
ขนาดกว้าง ๓๖ ซ.ม. ยาว ๕๐ ซ.ม.
มีด้วยกัน ๓ สี  คือ ม่วง เหลือง ขาว
ทำถวายโดยคณะศิษย์หลวงพ่อเปิ่นรามอินทรา










268
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๕ สิงหาคม ๒๕๕๓
.......รอยทาง......
                   ฝนตกหนักตั้งแต่ตีสองกว่า ตื่นขึ้นมาปิดหน้าต่าง เพราะฝนสาดเข้ามา
เมื่อตื่นแล้วไม่กลับไปนอนต่อ เพราะกลัวจะหลับยาว เลยเวลาที่จะออกไปบิณฑบาตร
นั่งพิจารณาธรรม ดูจิต ดูความคิดของตนเอง จนได้เวลาจึงออกไปบิณฑบาตรตามปกติ
กลับมาจากบิณฑบาตรทำกิจวัตรของสงฆ์ตามปกติ สายๆเข้าไปในเมืองเพื่อซื้อวัสดุอุปกรณ์
ที่จะมาต่อรถพ่วงบรรทุกเรือยาว เพื่อนำไปแข่งตามที่ต่างๆ มีคนสงสัยและถามอยู่เสมอว่า
ทำไมต้องไปเสียเงินเสียเวลากับการทำเรือแข่ง ก็ตอบเขาไปว่า มันเป็นการทำงานมวลชน
ญาติโยม วัยรุ่นจะได้เข้าวัด เพราะเวลาเช้าและเวลาเย็นจะต้องมาซ้อมพายเรือกันที่หน้าวัด
ทำให้เกิดความคุ้นเคยกัน และสามารถที่จะเรียกใช้แรงงานของกลุ่มวัยรุ่นนั้นได้ เพราะคุ้นเคย
เห็นหน้ากันทุกวัน ให้เขามาเล่นอยู่ในวัด ดีกว่าปล่อยพวกเขาให้ไปเที่ยวเตร่อยู่ข้างนอกวัด
จะได้มีเวลาพูดคุยสนทนา สอดแทรกธรรมะให้แก่พวกเขาเหล่านั้น
.......รอยธรรม.......
                   ตื่นตั้งแต่ตีสองกว่า เพราะว่าฝนตกและลมพัดแรง ทำให้ฝนสาดเข้ามาในศาลา
เมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว ก็ไม่กลับไปนอนต่อ นั่งพิจารณาธรรม ดูกาย ดูจิต ดูความคิดของตนเองที่เกิดขึ้น
เพราะเกิดความขัดแย้งกันขึ้นในใจของเรา ว่าจะออกไปบิณฑบาตรดีหรือไม่ เพราะว่าฝนกำลังตกอยู่
จิตที่ประกอบด้วยถีนมิทธะคือความขี้เกียจ ให้เหตุผลว่า...ฝนตกเดินบิณฑบาตรลำบาก เปียกและลื่น
ญาติโยมเขาคงจะไม่ออกมาใส่บาตรกันหรอก  ส่วนจิตที่เป็นกุศลก็ให้เหตุผลว่า...เอาร่มไปด้วยป้องกัน
ไม่ให้เปียก เดินให้มีสติเพิ่มขึ้น ถ้าเราไม่ออกไปบิณฑบาตร ญาติโยมเขาจะรอ ทำให้เขาเสียเวลาเสีย
ศรัทธา ความรู้สึกของคนที่เฝ้ารอมันเป็นอย่างไร ซึ่งเราก็รู้อยู่ ต่อสู้กับความคิดของตนเองจนได้ข้อสรุป
คือออกไปบิณฑบาตร มีญาติโยมมานั่งกางร่มเฝ้ารอใส่บาตรเท่าเดิม ศรัทธาของโยมมิได้ถอยลงเพราะ
ฝนตก เกิดความปิติขึ้นมา ที่ไม่ได้ทำลายศรัทธาของญาติโยม ไม่ทำให้เขาผิดหวัง ไม่ทำให้่เขาต้องรอ
บางครั้งการที่เรามองอะไรด้านเดียว โดยเอาความรู้สึกของเรามาเป็นตัวตัดสินใจนั้น ก็อาจจะทำให้เิกิด
ความผิดพลาดขึ้นมาได้ เราควรมองอะไรๆให้รอบด้าน ใช้วิจารณญาณเหตุและผล ในการตัดสินใจที่จะ
ทำอะไรลงไป ทำให้คิดถึงคำสอนของสมเด็จโตขึ้นมา เรื่อง "กระจกหกด้าน " เดินพิจารณาธรรมตลอด
เส้นทางของการบิณฑบาตร
........รอยกวี........
                        มองอะไร  มองไป  ให้ทุกด้าน
                        ตั้งสมมุติ  (ติ)ฐาน  ขึ้นมาใหม่
                        มองทั้งดี   ทั้งร้าย   คู่กันไป
                        มองโดยใช้่  เหตุผล เป็นต้นทุน
                                       ใช้เหตุผล  หักล้าง ในทางก่อ
                                        แล้วเติมต่อ  ใช้ธรรมะ  มาเกื้อหนุน
                                        ละความชอบ ส่วนตัว    มาเป็นทุน
                                        คิดถึงบุญ    กุศล     เป็นหนทาง
                      สมเด็จโต   กล่าวไว้   ในครั้งก่อน
                      ท่านได้สอน ให้มอง   ทั้งสองอย่าง
                      เอากระจก    หกด้าน  เป็นแนวทาง
                      มองทุกอย่าง  ให้เห็น  ความเป็นจริง
                                       เมื่อเห็นธรรม   เข้าใจธรรม  จงทำต่อ
                                        ธรรมนั้นหนอ   จะประสาน  ในทุกสิ่ง
                                        สัจจธรรม       นั้นหรือ      คือความจริง
                                        สรรพสิ่ง         คือธรรม    ที่นำทาง
                      มองทุกสิ่ง    เป็นธรรม   นำความคิด
                      มองทั้งถูก    และผิด     เป็นแบบอย่าง
                      มองให้เห็น    มองให้รอบ  ไปทุกทาง
                      มองทุกอย่าง  โดยสติ     แล้วตริตรอง
                                         ในโลกนี้    มีทั้งมืด  และสว่าง
                                         ทั้งสองอย่าง คิดไว้  ในสมอง
                                         ก่อนจะทำ  ควรคิด   และตริตรอง
                                         อย่าได้ลอง  ทำไป  ใช้อารมณ์
                     จงครวญคิด   พินิจ   และศึกษา
                     ไตร่่ตรองมา  ให้เห็น  เป็นเหมาะสม
                     อย่าทำไป     ด้วยว่า  ค่านิยม
                     จงชื่นชม      คุณธรรม ทำให้ดี
                                     ตามจังหวะ   เวลา   และโอกาศ
                                     อย่าประมาท  ทำไป  ให้ถูกที่
                                     ถูกบุคคล    ถูกสถาน  ถูกวิธี
                                     จงทำดี   ให้ถูกดี   จะดีเอย...
                                           ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
                                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๕ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๕๓ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                     

269
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๔ สิงหาคม ๒๕๕๓
........รอยทาง.......
                      เมื่อวานเป็นวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือนแปดหลัง ไม่ต้องออกไปบิณฑบาตร
เพราะญาติโยมจะมาใส่บาตรที่วัด ตื่นตามปกติร่วมกันทำกิจ กวาดวิหารลานวัด จัดเสนาสนะ
มีญาติโยมมาทำบุญกันประมาณ ๓๐ กว่าคน ยังอยู่ในช่วงดำนามีบางส่วนที่ยังปักดำไม่เสร็จ
ทำกิจวัตรของสงฆ์ในวันพระเสร็จประมาณ ๐๙.๓๐ น. กลับที่พักมาถอดแบบรถลากเรือยาว
คำนวนเหล็กและอุปกรณ์ในการต่อรถลากบรรทุกเรือยาว ออกแบบคำนวนการรับน้ำหนักเรือ
เสร็จประมาณบ่าย ลงไปขนทรายมาถมพื้นที่ลานวัดที่เป็นหลุมเป็นบ่อทำให้เกิดน้ำขังจนเสร็จ
สรงน้ำเตรียมตัวทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคค่ำต่อ ประมาณ ๒ ทุ่มครึ่งญาติโยมแห่ต้นกัณฑ์มา
ถวาย เพื่อให้พระได้มีปัจจัยใช้จ่ายระหว่างอยู่จำพรรษา ได้มาประมาณ ๕,๐๐๐บาท แบ่งเฉลี่ย
ถวายพระรูปละ ๔๐๐ บาท ที่เหลือเข้ากองกลาง
......รอยธรรม......
                      ได้บอกกับหมู่คณะเพื่อนสหธรรมิกก่อนแล้วว่า วัดทุ่งเว้า เป็นวัดป่าอยู่ชายแดน
ไม่มีเอกลาภใดๆ อาศัยการบิณฑบาตร ซึ่งได้เพียงอาหารเท่านั้น บางปีตลอดพรรษามีกิจนิมนต์
เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ของกืินของใช้เครื่องดื่มทั้งหลายมีให้ที่ส่วนกลาง อยู่กันอย่างแบบพอเพียง
พระคุณเจ้าทุกรูปรับรู้และเข้าใจ จึงง่ายแก่การดูแลและปกครอง อยู่กันแบบพี่น้อง ปกครองกันด้วย
ธรรมวินัย " ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ กันทำกิจวัตรของสงฆ์ เพื่อธรรม เพื่อวินัย " เพราะพระคุณเจ้า
ทุกรูปเป็นพระผู้ใหญ่ รู้ธรรมรู้วินัย ดูแลตนเองได้ ไม่ต้องสอนอะไรกันมาก ปฏิบัติกันเองได้แล้วทุกรูป
และถ้ามีปัญหาอะไรก็มาพูดคุยแลกเปลี่ยน ชี้แนะแก้ไขกัน ในเรื่องการปฏิบัติ  เมื่อทุกรูปรู้บทบาทและ
หน้าที่ของตนเองแล้ว การอยู่ร่วมกันก็ไม่มีปัญหา เพราะได้กล่าวกับหมู่คณะเสมอว่า การใช้ชีวิตรวมหมู่นั้น
เราต้อง " แสวงหาจุดร่วม  สงวนจุดต่าง " อะไรที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งกันไม่นำมากล่าวเป็นหัวข้อสนทนา
และอะไรที่ไปกันได้ มีความเห็นที่คล้ายกัน นำสิ่งนั้นมาเป็นหัวข้อสนทนา ปัญหาก็จะไมาเกิดขึ้น
........รอยกวี......
                       โลกธรรม   นำมา  ซึ่งสะสม
                        ค่านิยม    สังคม  ในยุคใหม่
                    เพื่อโอ้อวด  แข่งขัน  กันเรื่อยไป
                    ต่างกอบโกย  กำไร   ไม่ระวัง
                                ทั้งลาภยศ   สรรเสริญ  เพลินในสุข
                                ทำให้ทุกข์  ตามมา     ในภายหลัง
                              เมื่อเสื่อมยศ  เสื่อมลาภ  ให้ล้มพัง
                              มีคนชัง     ไม่สรรเสริญ   และเยินยอ
                   กินกามเกียรติ  กอบโกย  และโหยหา
                    ให้ได้มา      ในสิ่ง   ที่ร้องขอ
                    เพราะความที่  อยากได้  ไม่รู้พอ
                    จึงเกิดก่อ   ความทุกข์  ไม่สุขใจ
                              ความสำเร็จ  ของชีวิต   ที่คิดหา
                              คือทรัพย์สิน  เงินตรา   นั้นหาไม่
                              ความสำเร็จ   ของชีวิต  อยู่ที่ใจ
                              บอกว่าพอ   เมื่อไหร่    ก็ใช่เลย
                   เมื่อมุ่่งหวัง  มาเป็น สมณะ
                   เพื่อลดละ  ทุกสิ่ง  ไม่นิ่งเฉย
                   ทั้งอัตตา   ตัวตน    ที่คุ้นเคย
                    กิเลสเอย  ตัณหาเอย  ควรละวาง
                              อยู่กันแบบ   พอเพียง   ก็เพียงพอ
                              การร้องขอ     เกินไป     ออกให้ห่าง
                              เดินตามธรรม  มีธรรม      เป็นแนวทาง
                             ตามแบบอย่าง พระอาจารย์  ท่านทำมา
                    ทำให้ดู   อยู่ให้เห็น  เป็นตัวอย่า่ง
                    ท่านได้สร้าง  แบบไว้  ให้ศึกษา
                    ตามหลักธรรม  ขององค์  พระสัมมา
                    ใช้ปัญญา    มีสติ  และตริตรอง
                            " คุณ...คิดดี   แล้วหรือ  ที่กระทำ
                              มา...ถลำ     ทำชั่ว      ให้มัวหมอง
                              ทำ...เพื่อใคร  โปรดคิด   ด้วยจิตตรอง
                             อะไร...ถูก     อะไรต้อง   จงตรองดู "
                                   ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
                                ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๔๕ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                                

270
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓
......รอยทาง......
                  ตื่นตามเวลาปกติคือ ๐๓.๔๕ น.ทำกิจวัตรของสงฆ์เสร็จในภาคเช้า
หลังฉันข้าวแล้วหาอะไรทำ เพื่อให้ย่อยอาหาร ติดนิสัยมาจากสมัยอยู่ที่สวนโมกข์
เพราะหลวงพ่อพุทธทาสท่านย้ำสอนเสมอ ว่าหลังฉันอาหารแล้วอย่ากลับไปนอน
ให้หาอะไรทำ ซึ่งมันจะทำให้อาหารที่ฉันเข้าไปนั้นย่อยงาย ฝึกจนเป็นนิสัยติดตัวมา
จึงลงไปทำความสะอาดกวาดลานวัด ซึ่งกว่าจะเสร็จก็ปาเข้าไปบ่ายสาม กลับที่พัก
ขึ้นมาฉันกาแฟพักผ่อน ลงไปสรงน้ำ เตรียมตัวปฏิบัติกิจวัตรของสงฆ์ในภาคค่ำต่อ
......รอยธรรม......
                      " ทำให้ดู  อยู่ให้เห็น  สอนให้เป็น  แล้วก็ปล่อย " คือคติธรรม
ในการสอนลูกศิษย์ทั้งหลาย ไม่ไปจัดระเบียบ เรียกร้องผู้อื่น ให้กระทำตามความ
ต้องการของเรา  จัดระเบียบของตัวเราเอง เรียกร้องตัวเราเอง ในการประพฤติปฏิบัติ
ใครจะทำหรือไม่ทำนั้นเป็นเรื่องของเขา  แต่ตัวเราต้องกระทำให้เป็นตัวอย่างแก่เขา
ในกิจวัตรของสงฆ์ทั้ง ๑๐ ประการให้สมบูรณ์ครบถ้วน สอนแบบไม่ได้สอน ก็คือการ
ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง สร้างจิตสำนึกให้แก่เขา  เขาเห็นเราทำงาน เขาก็อดไม่ได้ที่
จะเข้ามาช่วย จะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม เขาจะปล่อยให้พระอาจารย์ทำงานอยู่องค์
เดียวได้อย่างไร ใครจะทำหรือไม่ทำ เราก็ไม่ไปน้อยใจ ไปขุ่นใจปฏิฆะกับเขา ใจของเรา
ก็เป็นสุข เพลินกับการทำงาน ฝึกสติไปในตัวโดยการทำงาน มีสติและสัมปชัญญะตลอดเวลา
ในการทำงาน ซึ่งถ้าเราไปคาดหวัง ไปสั่งให้เขาทำ เมื่อไม่เป็นไปตามที่เราหวัง เราก็จะทุกข์ใจ
และเป็นการไปกดดัน บังคับเขาให้กระทำ ซึ่งบางครั้งเขายังไม่พร้อมที่จะทำ ให้เกิดจากจิตสำนึก
ของเขาเองจะดีกว่า งานและการกระทำนั้นมันจึงจะออกมาดี
.......รอยกวี......
                      จงอย่าไป   เรียกร้อง   ผู้อื่นเขา
                      จงเรียกร้อง    ตัวเรา    จะดีกว่า
                      อย่าไปตั้ง     กฏเกณฑ์  กติกา
                      เพื่อสนอง      ตัณหา   ของตัวเอง
                                      ทำให้ดู     ให้เห็น    เป็นตัวอย่าง
                                      เป็นแนวทาง  อย่าได้  ไปข่มเหง
                                      ใช้อำนาจ      ข่มขู่     ให้กลัวเกรง
                                       อย่าไปเพ่ง   โทษเขา  ให้เศร้าใจ
                     จัดระเบียบ   ตนเอง   ในกฏกิจ
                     ทำเป็นนิจ    ให้ติด    เป็นนิสัย
                     ทำให้ดู      อยู่ให้เห็น  ความเป็นไป
                     กระตุ้นให้    จิตสำนึก   รู้สึกตาม
                                     การทำงาน  คือการ  ปฏิบัติ
                                     คือฝึกหัด    สติ      ไม่มองข้าม
                                     มีสติ        อยู่กับตัว  ทุกชั่วยาม
                                     ก้าวเดินตาม  มรรคา   ปัญญามี
                     เมื่อเสียหนึ่ง   ก็อย่าให้   ไปเสียสอง
                     เมื่อเสียของ   อย่าเสียใจ  ไม่สดศรี
                     เมื่อเสียแล้ว     เสียไป     ใจยังดี
                     อย่าเสียที     เสียศรัทธา   ตั้งหน้าทำ
                                     คือคำสอน   ของพระ  อาจารย์ท่าน
                                     สอนมานาน  เมื่อครั้ง   ยังอยู่ถ้ำ
                                     คือถ้ำเสือ    กระบี่      ที่สอนธรรม
                                     ซึ่งจดจำ     ทำตาม     ทุกค่ำคืน
                     เมื่อเสียใจ     อะไร    ก็เสียหมด
                     ศรัทธาถด     ท้อถอย  ไม่สดชื่น
                     หมดกำลัง    แรงกาย   ไม่กลับคืน
                     จิตไม่ตื่น     ทุกข์ใจ     ไม่มีแรง
                                    เสียอะไร    ก็ได้     ใจอย่า่เสีย
                                    จะเมื่อยเพลีย  ก็อย่าให้  ใจนั้นแกว่ง
                                    ศรัทธามั่น   ใจดี   ก็มีแรง
                                    ใจคือแหล่ง  แห่งพลัง  ตั้งให้ดี...
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๓๒ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

271


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒ สิงหาคม ๒๕๕๓
......รอยทาง.......
                      ทำกิจวัตรสงฆ์ในภาคเช้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขึ้นมากราดถูศาลาเพื่อให้อาหารย่อย
เสร็จแล้วลงไปทำงาน เทพื้นศาลาสภากาแฟ ซึ่งมีเนื้อที่ ๒๕ ต.ร.ม. ฟุตบาทรอบศาลาอีก ๒๐ ต.ร.ม.
ใช้ปูนไป ๒๘ กระสอบ ซึ่งกว่าจะเทปูนและขัดพื้นเสร็จก็ประมาณบ่ายสองกว่า มีญาติโยมลงมาช่วย
เทพื้นกวนปูน ๖ คน ทำงานกันไปคุยกันไป สัพเพเหระสอดแทรกธรรมะกันไปบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความ
เครียดในเวลาทำงาน เสร็จจากงานเทพื้นศาลาสภากาแฟ กลับขึ้นมานั่งฉันกาแฟพักผ่อนคลายเหนื่อย
ตอนเย็นก่อนสรงน้ำ  ลงไปซ่อมไฟส่องทางที่ป้ายวัดริมถนน สาเหตุเกิดจากลิงกระโดดโหนสายไฟเล่น
ทำให้สายไฟขาดข้างใน เกิดไฟลัดวงจร จึงต้องเปลี่ยนสายไฟใหม่โดยใช้สายที่ใหญ่กว่าเดิมมาแทน
ทำไฟเสร็จ กวาดลานวัดต่อจนถึงเวลา ๑๘.๓๐ น. จึงไปสรงน้ำเพื่อเตรียมตัวทำวัตรสวดมนต์เย็นต่อไป
......รอยธรรม......
                      ทำงานหนักและทำร่วมกับผู้อื่นนั้น ต้องควบคุมอารมณ์ความรู้สึกตลอดเวลา มีสติ
และสัมปชัญญะ อยู่กับกายและจิต คิดก่อนพูดและทำ เพราะการทำงานนั้นมันจะมีความเหนื่อย ความล้า
ความหิว เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่ควบคุมจิตของเรา กิเลสมันจะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะการทำงานนั้นบางครั้งมัน
ไม่เป็นไปตามที่ใจเราต้องการ จะเกิดปฏิฆะ ขัดใจ และต้องระวังวาจา ซึ่งถ้าพูดผิดไปหรือใช้อารมณ์ก็จะทำ
ให้เกิดปัญหา และต้องสังเกตุผู้ร่วมงานตลอดเวลา ว่าเขามีอาการ ความรู้สึกเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้บรรยากาศ
การทำงานร่วมกันนั้นเสียไป ต้องรีบแก้ไขทันที ถ้าผู้ร่วมงานออกอาการไม่ดี มีอารมณ์ขุ่นมัว ต้องรีบสร้าง
บรรยากาศใหม่ เปลี่ยนเรื่องคุยให้เกิดความสนุก ภาษาวัยรุ่นเขาเรียกว่า " ยิงมุข " พูดคุยเรื่องตลก ขำๆ
เพื่อให้อารมณ์ของผู้ร่วมงานนั้นดีขึ้น " ตาดู หูฟัง เฝ้าสังเกตุ ก่อนที่เหตุจะเกิด " เป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว
เพราะต้องมีสติและสัมปชัญญะตลอดเวลาในการทำงาน
.......รอยกวี.......
                      ร่วมมือ  ร่วมแรง   ร่วมใจ
                                เพื่อให้    สมัคร   สมาน
                                             ร่วมแรง   ร่วมใจ   ทำงาน
                                                         ประสาน    แรงกาย   แรงใจ
                      ร่วมกัน  สรรค์สร้าง   กุศล
                                ทำตน    ให้สุข    สดใส
                                             มีธรรม    นำทาง   ก้าวไป
                                                         ร่วมแรง   ร่วมใจ   ทำดี
                      ทำงาน   อย่างมี    สติ
                                 เริ่มริ       ตริตรอง   ถ้วนถี่
                                             รู้ตัว       ทั่วพร้อม   ต้องมี
                                                        รู้ดี      รู้ชั่ว    ก่อนทำ
                      ก่อนกล่าว  วาจา  ควรคิด
                                    พลาดผิด   จิตอาจ   ตกต่ำ
                                                   โทสะ   เข้ามา    ครองงำ
                                                             อาจทำ   ให้เสีย     การงาน
                     พูดดี   เป็นศรี   แก่ปาก
                              พูดมาก  อาจเกิด    ร้าวฉาน
                                          ควรพูด    ให้เหมาะ  กับกาล
                                                       ประสาน    สร้างมิตร   ไมตรี
                    ปิยะ     วาจา     ผูกจิต
                              ผูกมิตร   พวกพ้อง   น้องพี่่
                                          ผูกใจ     ไว้ด้วย   ความดี
                                                      ผูกมิตร   ไมตรี    ยืนยาว....
                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๕๒ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
  

272


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๑ สิงหาคม ๒๕๕๓
.......รอยทาง......
                      เสร็จจากทำกิจของสงฆ์ในยามเช้าแล้ว ออกไปสั่งวัสดุก่อสร้างในตัวเมือง
กลับจากในเมืองมีญาติโยมจากอุบล มาเยี่ยมสนทนาธรรมและถวายสังฆทาน ช่วงบ่ายลงไป
ทำงานเตรียมสถานที่ ปรับพื้นที่ ผูกตะแกรงไม้ไผ่ เตรียมไว้สำหรับการเทพื้น ศาลาสภากาแฟ
ซึ่งศาลากาแฟนี้จะเป็นสถานที่ ที่จะรองรับเพื่อนพระภิกษุสหธรรมิกที่จะมาเยี่ยมเยือนและเป็น
จุดนัดพบพูดคุย ฉันกาแฟกัน สำหรับพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในวัด เพราะมีกติกาในการอยู่ร่วมกันว่า
กุฏิคือสถานที่ส่วนบุคคล เพื่อให้มีความเป็นส่วนตัว จึงไม่เป็นการสมควรที่จะไปนั่งคุยกันที่กุฏิผู้อื่น
เพราะบางครั้ง ท่านอาจจะต้องการความเป็นส่วนตัว แต่ด้วยความเกรงใจ จงต้องออกมาสนทนาด้วย
แต่ถ้ามาอยู่ที่ศาลาสภากาแฟ แสดงว่าท่านพร้อมที่จะพูดคุยสนทนาด้วย เป็นกติกาที่แนะนำต่อหมู่คณะ
มาตลอด ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน จะจัดสร้างศาลาสภากาแฟไว้เป็นที่ส่วนกลางเสมอ
.......รอยธรรม......
                        กลับจากบิณฑบาตร จิตเกิดปฏิฆะ (ขุ่นมัว ) กับลิง ที่เขาปล่อยมา และมาอยู่ในวัด
เพราะว่าลืมปิดประตูหน้าต่าง ตอนออกไปบิณฑบาตร ลิงเข้ามาในศาลา รื้อค้นหาของกิน จนเลอะไปหมด
ไล่ลิงออกจากศาลาแล้ว สติระลึกได้ ว่าใจเราเศร้าหมองขุ่นมัว เกิดปฏิฆะขุ่นมัว ไม่พอใจ โกรธต่อลิง
ลิงมันเป็นสัตว์ มันก็หากินตามสัญชาติญานของสัตว์ เป็นความผิดของเราเอง ที่ไม่ป้องกัน ดูแลให้ดี
ผิดที่เราไม่ได้ผิดที่ลิง เมื่อคิดอย่างนี้ ความรู้สึกไม่ดีที่มีต่อลิงก็หายไป ไม่ไปโกรธ ไปอาฆาตต่อลิง
อารมณ์ขุ่นมัวและรุ่มร้อนก็หายไป เกิดความโปร่ง โล่ง เบา สบาย ขึ้นมาทันที่ เพราะว่าอารมณ์นั้นได้ดับไปแล้ว
ดั่งที่เคยได้เขียนไว้ " เพียงเราเปลี่ยนความคิด ชีวิตเราก็เปลี่ยนแปลง " สิ่งที่สำคัญนั้นคือ การที่จะระลึกรู้ได้ทันนั้น
มันช้าหรือเร็ว ถ้าระลึกรู้ตัวได้ช้า ก็มีเวลาให้อกุุศลเกิดขึ้นได้มาก แต่ถ้าระลึกรู้เท่าทันอารมณ์ได้เร็ว เวลาที่อกุศลจิต
จะตั้งอยู่ก็มีน้อย ดับได้เร็วเท่าไหร่ ใจก็เป็นสุขเร็วขึ้นเท่านั้น
......รอยกวี.....
                   รู้ตัว  รู้ทัน  ความคิด
                          รู้จิต   รู้กาย   ถ้วนทั่ว
                                  สติ      คู่กาย  คู่ตัว
                                            รู้ทั่ว    รู้พร้อม   น้อมตาม
                  รู้ธรรม  มีธรรม   นำจิต
                           พินิจ    ศึกษา   สอบถาม
                                     ค้นคว้า  ค้นหา    พยายาม
                                                นิยาม    ความหมาย   แห่งตน
                 รู้ธรรม   เห็นธรรม   ทำพร้อม
                           โดยน้อม    เข้าหา   เหตุผล
                                         รู้ธรรม    ไม่ทำ   คือคน
                                                    รู้พ้น   ไม่รู้    ตนเอง
                  กิเลส   ผู้อื่น    รู้หมด
                           กำหนด  คนอื่น  นั้นเก่ง
                                      แต่ไม่   กำหนด  ตนเอง
                                                ชอบเพ่ง  โทษเขา  เศร้าใจ
                เพ่งโทษ   ผู้อื่น  นั้นหรือ
                              ก็คือ  เพิ่มโทษ  ตัวใหม่
                                      กิเลส   เพิ่มพูล   เรื่อยไป
                                               กิเลส    ตัวใหม่   เกิดมา
                มองกาย    มองใจ  มองจิต
                              มองหา   ความผิด  ตนหนา
                                         กิเลส   ของตน  มีมา
                                                   ค้นหา  กิเลส  ในตน
               รู้เห็น  แล้วจึง  ลดละ
                       ธรรมะ  นั้นมี   เหตุผล
                                 สอนให้  รู้จัก   ตัวตน
                                            มีเหตุ  มีผล   เป็นจริง
              ทุกอย่าง  เริ่มที่  สติ
                           ดำริ   กำหนด  ให้นิ่ง
                                   รู้เห็น  ตามความ เป็นจริง
                                            ทุกสิ่ง   คือธรรม   นำทาง....
               ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๒๙ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                          

273


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง......
                      ตื่นนอนเวลา ๐๓.๔๕ น. เป็นเวลาปกติที่เคยปฏิบัติตลอดมา
ทำภาระกิจส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว มีเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงที่จะได้เจริญสติภาวนา
ตี ๕ ตรง ฉันกาแฟ ออกบิณฑบาตรเวลา ๐๕.๒๐ น. เพราะริมฝั่งโขงนั้นสว่างเร็ว
และฤดูนี้เป็นฤดูฝน เป็นหน้านา ญาติโยมจะออกไปนากันตั้งแต่เช้า จึงต้องรีบออก
ไปรับบิณฑบาตร  ซึ่งถ้าออกไปสายจะทำให้โยมต้องเสียเวลารอและออกไปนาช้า
ปีนี้ชาวนามีปัญหาเรื่องน้ำทำนา เพราะฝนมาช้า ธรรมดาแล้วก่อนเข้าพรรษานั้น
การปักดำจะเสร็จกันเรียบร้อยแล้ว แต่ปีนี้การปักดำยังทำกันไม่เสร็จ ไม่พร้อมกัน
ซึ่งจะส่งผลต่อการเก็บเกี่ยว ที่ต้องล่าช้าออกไป  การออกไปบิณฑบาตรนั้นเป็น
การสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้านญาติโยมไปในตัว ได้พูดคุยถามสาระทุกข์สุขดิบ
สภาพความเป็นอยู่ ซึ่งในสังคมชนบทนั้น มีความใกล้ชิดสัมพันธ์มากกว่าในเมือง
พระและญาติโยมจะรู้จักและคุ้นเคยกัน เสร็จนาก็มีเวลาว่างที่จะมาช่วยงานในวัด
ซึ่งเป็นการพึ่งพาอาศัยกัน จึงมีความผูกพันกันมากกว่าสังคมในเมือง
.......รอยธรรม......
                       หยุดพักการก่อสร้างชั่วคราว มีเวลาเป็นส่วนตัว อยู่คนเดียว
ทำให้มีเวลาที่จะพิจารณาหัวข้อธรรม ได้ทบทวนความรู้ในทางปริยัติ และสภาวะ
ธรรมที่ผ่า่นมา ทบทวนสภาวะธรรมของกรรมฐานแต่ละกองที่เคยปฏิบัติผ่านมา
เรียบเรียงข้อมูลและใช้ภาษาที่เหมาะสม จดบันทึกไว้เพื่อใช้ในการบรรยายใน
โอกาศต่อไป เพราะหลังออกพรรษาแล้ว ต้องออกไปบรรยายตามงานปฏิบัติธรรม
งานปริวาสกรรมในที่ต่างๆที่เขานิมนต์ไว้ ใช้เวลาทุกนาทีให้มีประโยชน์ทั้งทางโลก
และทางธรรม วางแผนการอบรมนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงจะส่งมาให้อบรม
โดยใช้หลัก " ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ " สอนธรรมะโดยการทำงานที่ประสานด้วยหลักธรรม
ทำงานกันไปพูดคุยกันไป สอดแทรกแนวความคิด เสริมสร้างจิตสำนึกให้แก่คนรุ่นใหม่่
ให้เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ และเน้นให้มีจิตสำนึกต่อสังคมและส่วนรวม
......รอยกวี......
                    วันเวลา   ผ่านไป   ไม่หวนกลับ
                 เกิดแล้วดับ สลับกัน    นั้นเสมอ
                 มีเรื่องราว   มากมาย    ให้เจอะเจอ
              อย่าพลั้งเผลอ  มีสติ       แล้วตริตรอง
                                ดีหรือชั่ว    นั้นรู้       อยู่แก่จิต
                                ถูกหรือผิด  จำไว้      ในสมอง
                                ให้ถูกต้อง  ตามธรรม  ตามครรลอง
                                อะไรถูก    อะไรต้อง   จงตรองดู
                 มีสติ   อยู่กับกาย  และกับจิต
                 ควรพินิจ  ศึกษา    และใฝ่รู้
                 มีตัวอย่าง  มากมาย  ให้เป็นครู
                 ให้เรารู้    กายจิต     ก่อนคิดทำ
                              จะไม่พลาด  ไม่พลั้ง    เพราะยั้งคิด
                              ไม่เผลอจิต   ปล่อยไป  ให้ถลำ
                               ให้โมหะ     อัตตา       เข้าครอบงำ
                               ประกอบกรรม  ทำบาป   ที่หยาบคาย
                 มีสติ    เตือนตน   จึงพ้นผิด
              มีความคิด  คุณธรรม  นำจุดหมาย
              มีศรัทธา    แต่อย่าเชื่อ  อย่างงมงาย
              มีจุดหมาย   จุดยืน    ที่แน่นอน
                                ยึดถือหลัก  พรหมวิหาร  ประการสี่
                                มีเมตตา      ไมตรี       ไม่หลอกหลอน
                                กรุณา       ปราณี        ตามขั้นตอน
                                มุทิตา      โอนอ่อน     เมื่อทำดี
              อุเบกขา   นั้นมา    เป็นสุดท้าย
         ไม่คาดหมาย   ทำไป   ตามหน้าที่
          ไม่หวังสิ่ง    ตอบแทน  เมื่อทำดี
          อุเบกขา   เมื่ิอหน้าที่   เราสมบูรณ์
                                 พรหมวิหาร    คือฐาน   แห่งพุทธะ
                                 ในทส          บารมี      มิเสื่อมสูญ
                                  ยิ่งให้มาก   ยิ่งได้มา    ทวีคูณ
                                  จะเพิ่มพูล   บุญกุศล    ให้ตนเอง...
                 ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๓๐ น. ณ ศาลาน้ิอยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
  
                    

274


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง......
                    หยุดพักงานโยธากรรมฐาน รองบประมาณชุดใหม่ ทำให้มีเวลาพักผ่อน
เตรียมงานใหม่ เขียนแบบ ถอดแบบ สร้างถังเก็บน้ำและที่สรงน้ำพระ คำนวนวัสดุอุปกรณ์
และราคาที่จะต้องใช้ในการก่อสร้าง วางแผนงานอบรมนักศึกษาที่ทางมหาวิทยาลัยจะส่งมา
ใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่่กับเขียนโครงงาน เพื่อให้ออกมาเหมาะสมที่่สุด โดยการตั้งสมมุติฐาน
มองให้เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น และถ้าปัญหาเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขอย่างไร มองทั้งสองด้าน
คือในเชิงบวกและในเชิงลบ เพื่อที่จะรับมือกับปัญหา ถ้ามันเกิดขึ้น  การวางแผนตระเตรียม
งานไว้ล่วงหน้านั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการทำงาน เพราะจะทำให้งานนั้นเดินไปได้
ตามที่เรากำหนดไว้ และเมื่อมีปัญหาเราก็จะแก้ไขได้ทันที เพราะว่ามีแผนรองรับอยู่แล้ว
 " มองงานให้แตก แยกงานให้เป็น มองให้เห็นปัญหา เตรียมการล่วงหน้า จดบันทึกไว้ "
นี้คือแนวทางในการทำงานที่ยึดถือปฏิบัติมา
....รอยธรรม.....
                     ทำงานไปด้วยการเจริญสติไปในตัว เจริญสติในฐานกาย ดูลมหายใจ
ดูการเคลื่อนไหว ดูในอิริยาบททั้งหลาย แล้วแต่จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และบุคคล
พิจารณาอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้ง ๙ อย่างในฐานเวทนา พิจารณาจิตที่เป็นอยู่ทั้ง ๑๖ อย่าง
พิจารณาธรรมทั้งหลายที่เกิดกับกายและจิต ลดเรื่องสมาธิ เหลือเพียงสติและสัมปชัญญะ
พยายามยกจิตให้เป็นวิปัสสนา คือการตามดู ตามรู้ตามเห็น ความเป็นไปของกายและจิต
ไม่ติดอยู่ในอารมณ์สมาธิคือความนิ่งสงบ  ความสงบนั้นคืออารมณ์ของสมาธิ ซึ่งต้องอาศัย
เหตุและปัจจัย คือความวิเวก สถานที่วิเวก กายวิเวก จิตวิเวก ทำให้เกิดอุปธิวิเวก แต่อารมณ์
วิปัสสนานั้นอาศัยผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัย มองให้เห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง จากอย่างหยาบ
ไปสู่อย่างละเอียด จากสิ่งที่เป็นรูปไปสู่สิ่งที่เป็นนาม คือสิ่งที่สามารถเห็นได้ สัมผัสได้ ไปสู่สิ่ง
ที่เป็นเพียงความรู้สึก  อารมณ์ของสมาธินั้นเป็นไปในองค์ของฌานทั้ง ๔ แต่อารมณ์ของวิปัสสนานั้น
เป็นไปในญาณ ๑๖ เมื่อแยกอารมณ์ออกจากกันได้ชัดเจนแล้ว ก็จะทำให้ไม่หลงอารมณ์ปฏิบัติ
วิปัสสนูกิเลสก็จะไม่เกิดขึ้น วิปัสสนูกิเลสนั้น เกิดขึ้นเพราะผู้ปฏิบัติหลงในอารมณ์กรรมฐาน
.....รอยกวี.....
                  เตรียมกาย  เตรียมจิต  คิดทำ
                  น้อมนำ   ทำด้วย   สติ
                  ทำจิต     ให้เป็น   สมาธิ
                  ดำริ        คือคิด    ก่อนทำ
                          มองงาน   ให้แตก   แยกงาน
                          อย่าผ่าน    พินิจ      คิดซ้ำ
                          มองงาน    มองด้วย  หลักธรรม
                          เพลี่ยงพล้ำ  ไม่เกิด   แก่เรา
                 รู้เห็น    เข้าใจ   ปัญหา
                 ปัญญา   ทำให้   ไม่เขลา
                 ทำกาย   ทำจิต   โปร่งเบา
                 รู้เท่า      รู้ทัน     อารมณ์
                          ชีวิต    คือการ   ทำงาน
                          ต้องผ่าน  ซึ่งการ  สะสม
                          เรียนรู้     สู่โลก   สังคม
                          เหมาะสม  กับวัน  เวลา
                 รู้โลก    รู้ธรรม   นำจิต
                 พินิจ    และหมั่น  ศึกษา
                 เจริญ    สติ      ภาวนา
                 ปัญญา  เกิดได้  จากธรรม....
               .....................................
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๓๐ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

275


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓
......รอยทาง...........เปิดสายบิณฑบาตรใหม่ เดินข้ามไปบิณฑบาตรอีกหมู่บ้านหนึ่ง
ซึ่งไม่เคยมีพระไปบิณฑบาตร เพราะเป็นชุนชนใหม่ที่ย้ายออกมาอยู่ที่นานอกหมู่บ้าน
เป็นการเดินข้ามเขตอำเภอเมือง ไปบิณฑบาตรในเขตอำเภอดอนตาล เิดินไปตามคันนา
ระยะทางไป-กลับ ประมาณ ๖ ก.ม. ริมฝั่งโขงฟ้าจะสว่างเร็วกว่าที่อื่นของประเทศไทย
เวลาประมาณ ๐๕.๑๕ น.ฟ้าจะสว่างแล้ว รับอรุณแล้วจึงออกบิณฑบาตร เวลา ๐๕.๒๐ น.
ใช้เวลาในการออกรับิณฑบาตรไป-กลับ ประมาณ ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที  บรรยายกาศยาม
เช้าในชนบทงดงามมาก ทุ่งนาที่เขียวขจี เสียงกบเขียดตามท้องทุ่งนา อากาศที่บริสุทธิ์
การออกรับบิณฑบาตรในยามเช้าทำให้ได้ปฏิบัติธรรมไปในตัว เดินกำหนดสติไปตลอดทาง
เหมือนกับการเดินจงกรมไปในตัว  กลับมาถึงวัดทำกิจวัตรตามปกติ เสร็จแล้วจึงลงไปเคลียร์
งานการก่อสร้างกุฏิ เก็บงานรายละเอียดของกุฏิที่สร้างใหม่ เรื่องระบบไฟฟ้าและน้ำประปา
จนเป็นที่เรียบร้อย สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
......รอยธรรม........เพิ่มกำลังของสติให้มากกว่า้ที่ผ่านมา พิจารณาธรรมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
เพราะที่ผ่านมาเกือบตลอดปีนั้น มีภาระกิจต้องเดินทางและงานก่อสร้างอยู่เป็นประจำ เลยทำให้
การเจริญสติภาวนานั้นลดลง ทำได้เพียงทรงไว้ซึ่งสภาวะธรรมที่เคยผ่านมา ไม่มีความก้าวหน้า
สภาวะธรรมตัวใหม่ๆไม่ได้เกิดขึ้น และบางครั้งการทำงานที่ใช้แรงงานนั้น ทำให้จิตเราหยาบขึ้น
สาเหตุมาจากความเหนื่อย ความเพลียของร่างกาย ทำให้บางครั้งก็มีการเผลอสติ ตามอารมณ์
ไม่ทัน แต่ก็สามารถที่จะดงกลับมาได้ทุกครั้ง ไม่พลั้งเผลอจนทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งตนเอง
และส่วนรวม จงตั้งใจว่าในพรรษานี้ จะใช้การทำงานเป็นการฝึกสติ ฝึกสมาธิ และพิจารณาธรรม
เพราะในชีวิตจริงนั้น เราต้องอยู่กับสังคม ต้องทำงาน ต้องพบปะสงเคราะห์ญาติโยมอยู่ตลอด
ไม่มีเวลาที่จะมานั่งหลับตาภาวนา หรือมีเวลาที่จะไปเดินจงกรม จึงต้องใช้การทำงานให้เป็นการปฏิบัติ
มีสติในอิริยาบททั้งหลาย เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอดเวลาที่เราตื่นอยู่ ให้มีสติ มีความรู้ตัวทั่วพร้ิอมตลอดเวลา
.....รอยกวี.......
                    ฟ้าสาง  สว่างแล้ว     เสียงเจื้อยแจ้ว  ของนกกา
                    กบเขียด ตามคันนา    ต่างเริงร่า   รับตะวัน
               เขียวเขียว เรียวข้าวห่ม     ใบลู่ลม   ชวนให้ฝัน
               เรียงราย  คล้ายคลึงกัน     กอข้าวนั้น ต่างแตกกอ
               มองกาย  แล้วมองจิต       มองแล้วคิด  พินิจต่อ
               ทำใจ    ให้รู้พอ             รู้ที่ก่อ เกิดอัตตา
               มานะ  และทิฏฐิ             มีสติ   รู้ปัญหา
               ใช้ธรรม นำปัญญา           สติมา  ปัญญามี
               รู้กาย  และรู้จิต               รู้ความคิด ให้ถ้วนถี่
               รู้ชอบ  และชั่วดี              รู้สิ่งที่  ควรกระทำ
               มองสิ่ง ที่พบเห็น            มองให้เป็น กุศลกรรม
               มองเห็น  ให้เป็นธรรม       เพื่อน้อมนำ สู่ทางดี
               ก่อนพูด  ควรจะคิด          จะไม่ผิด  กล่าววจี
               พูดแต่  สิ่งที่ดี                กล่าววจี  เป็นสัมมา
               สัมมา วาจานั้น                สื่อสารกัน ด้วยภาษา
               กล่าวดี  มีเมตตา             ลดปัญหา ทะเลาะกัน
               เพ่งโทษ ผู้อื่นเขา            เพิ่มโทษเรา อย่างมหันต์
               อย่าติ  ทำลายกัน            จงสร้างสรรค์ ด้วยปัญญา
               เป็นผู้  รู้สติ                    มีดำริ เป็นสัมมา
               ตามแนว แห่งมรรคา          องค์แปดนั้น ท่านว่าดี
               สายกลาง ของชีวิต           ชี้ถูกผิด อย่างถ้วนถี่
               มรรคมี องค์แปดนี้             จะนำชี้  เจริญธรรม...
                         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๓๒ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                
              

276


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓
     รอยทาง... วันปวารณาเข้าพรรษาปี๒๕๕๓ ได้ผ่านไป  ทุกอย่างก็ผ่านไปตามปกติ
เฉกเช่นทุกวันที่ผ่านมา อาจจะเป็นเพราะว่าในพรรษานี้มีแต่พระมหาเถระเป็นส่วนใหญ่
ที่มาอยู่จำพรรษาด้วยกัน ซ่งในพรรษานี้ มีพระปวารณาอยู่ร่วมจำพรรษาด้วยกัน ๙ รูป
เป็นพระมหาเถระ ๖ รูป พระเถระ ๑ รูป พระมัชฌิมะ ๑ รูปและมีพระนวกะเพียง ๑ รูป
ซึ่งพระทั้งหมดนี้เป็นสหธรรมิกด้วยกันทั้งนั้น รู้จักกันมาเป็นเวลานานเคยร่วมงานกันมา
จึงไม่มีปัญหาในการดูแลและปกครอง เพราะทุกท่านรู้หน้าที่และบทบาทของตนเอง
ส่วนเรื่องการสอนธรรมะนั้น ไม่ต้องสอนกันเพราะทุกท่านเป็นผู้ผ่านการศึกษาและปฏิบัติธรรม
กันมาทุกท่าน มีเพียงหน้าที่ในการดูแลอำนวยความสะดวกต่อเพื่อนสหธรรมิกเท่านั้น
   รอยธรรม...ทำวัตรสวดมนต์เย็นเสร็จแล้ว ก็ร่วมกันปวารณาเข้าพรรษาในพระอุโบสถ
ตั้งสัจจะอธิษฐาน เพื่อสร้างสัจจะบารมีและอธิษฐานบารมี ว่าในพรรษานี้จะปฏิบัติธรรม
ถือธุดงควัตร... ถือเที่ยวบิณฑบาตรเป็นวัตร...ถือนั่งฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร สมาทาน
ธุดงค์ ๒ ข้อและเพิ่มการอธิษฐานอีกข้อหนึ่งก็คืองดงานนอนพักผ่อนตอนกลางวัน
ตลอดฤดูพรรษา นี้คือสิ่งที่ตั้งใจอธิษฐานไว้ในพรรษานี้...

              :059: คืนสู่ความเป็นสามัญ  :059:
     อดีต  โดดเด่น  โด่งดัง     ความหลัง  แห่งยุค  สมัย
     เมื่อวัน  เวลา  ผ่านไป      จึงได้       รับรู้     ความจริง
     สิ่งที่  เคยคิด  ว่าสุข        กลับทุกข์  ไปเสีย  ทุกสิ่ง
     มายา  หาใช่  ความจริง     จิตนิ่ง      รู้ได้   ด้วยธรรม
     ฝึกฝน  เจริญ   สติ           ทิฏฐิ  ทำให้   ใฝ่ต่ำ
     ละบาป  ละชั่ว  ที่ทำ        น้อมนำ   จิตสู่    สัมมา
  เดินตาม แนวทาง แห่งมรรค   ตามหลัก ของศาสนา
     ฝึกฝน  จนเกิด  ปัญญา      กลับมา  อยู่กับ  ตัวตน
     ดูกาย   ดูจิต  คิดใหม่       คิดไป  หาเหตุ  และผล
     ลดละ  อัตตา  ตัวตน         เริ่มต้น  ที่กาย  และใจ
     สูงสุด  คืนสู่ สามัญ           คำนั้น   คุณค่า  ยิ่งใหญ่
     สิ่งที่ จะให้  เป็นไป           ทำได้   โดยลด  อัตตา
           ................................................    
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๑๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                

277
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓
      วันนี้เป็นวันปวารณาเข้าพรรษา ของพระภิกษุสงฆ์ จึงถือเป็นนิมิตดี ในการที่จะเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ
และคนไทยชาวพุทธนั้น ก็นิยมกันที่จะอธืิษฐานในการปฏิบัติตน เพื่อให้เป็นมงคลแก่ชีวิตของตนเอง
โดยการอธิษฐานที่จะลดละในสิ่งที่ไม่ดี และอธิษฐานที่จะทำในสิ่งที่ดี จึงขออนุโมทนากับทุกท่านด้วย
และขอใช้โอกาศนี้ เปิดหน้าใหม่แห่งการบันทึกธรรมปีพรราษา ๒๕๕๓ ในนามของ...รอยทางและรอยธรรม..
      :059: รอยทางและรอยธรรม  :059:
    รอยทาง และรอยธรรม   ผู้ชี้นำ องค์สัมมา
    ตามพระ ศาสดา          ให้ศึกษา และเดินตาม
    ทางธรรม นำชีวิต         กุศลจิต  พยายาม
    แบบอย่าง  ที่ดีงาม       ขอเดินตาม  พระสัมมาฯ

                                 แนวทาง แห่งความสุข    เพื่อดับทุกข์  อวิชชา
                                 โมหะ และอัตตา           ทั้งตัณหา อุปาทาน
                                 ออกจาก โลกธรรม         ด้วยการนำ ธรรมประสาน
                                 สงเคราะห์ กับเหตุการณ์   ก้าวพ้นผ่าน โลกมายา
  
    บันทึก ตัวอักษร          เป็นกาพย์กลอน ลิขิตมา
    ฝึกฝน ทางปัญญา        เพื่อรักษา ความเป็นไทย
    บทความ บทกวี           จะบ่งชี้ ยุคสมัย
    เหตุการณ์ ที่ผ่านไป      เพื่อจะได้ เป็นบทเรียน
                                
                                 บทเรียน แห่งชีวิต        ที่ลิขิต และขีดเขียน
                                 กงกรรม และกงเกวียน   ที่แวะเวียน ผ่านเข้ามา
                                 ยิ้มรับ  วิบากกรรม        ที่เคยทำ ไม่บ่นด่่า
                                 เพราะกรรม ที่ทำมา      จึงนำพา ให้เป็นไป
    
   กรรมดี นำชีวิต            เป็นนิมิต แห่งวันใหม่
   กรรมชั่ว ต้องชดใช้        แต่อย่าไป ผูกใจจำ
   เมตตา อโหสิ              ลดทิฏฐิ ก็ลดกรรม
   เดินตาม เส้นทางธรรม    ซึ่งชี้นำ สู่ทางดี

                                 รอยทาง และรอยธรรม   บุญหนุนนำ กำหนดชี้
                                 ทางธรรม นำสู่ดี           นำชีวี พ้นอบาย
                                 ตามแนว ของพุทธะ      เพื่อลดละ สิ่งชั่วร้าย
                                 ฝึกตน ไว้ก่อนตาย        เพื่อจะได้ ตายแล้วดี....
          
                 ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต แด่มิตรผู้ใฝ่ธรรม
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๓๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
        


                                
              

278


ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓
เจริญพร...ท่านผู้เยี่ยมชมทั้งหลาย
                  ก่อนอื่นก็ขอทำความเข้าใจกับท่านสมาชิกใหม่ทั้งหลาย เกี่ยวกับบทความที่จะลงครั้งต่อไป
ในกระทู้ " รอยทางและรอยธรรม " ซึ่งจะเป็นบันทึกประจำวันในช่วงฤดูกาลพรรษา อย่างที่เคยได้กระทำมา
ทุกพรรษาตั้งแต่บวชมา ซึ่งจะจดบันทึกไว้ทุกวันตลอดพรรษา ( ๙๐ วัน ) เพื่อเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติ
ของตนเอง และเพื่อเป็นแนวทางสำหรับท่านผู้สนใจในการปฏิบัติทั้งหลาย ซึ่งในพรรษาที่แล้วนั้น (ปี๕๒)
ใช้ชื่อบทบันทึกไว้ว่า " บันทึกธรรม..." และในพรรษานี้จะใช้ชื่อบทบันทึกว่า " รอยทางและรอยธรรม "
                การจดบันทึกนั้น ได้แบบอย่างมาจาก หลวงพ่อพุทธทาส แห่งสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา
จ.สุราษฎร์ธานี จากหนังสือ " อนุทินชีวิตของหลวงพ่อพุทธทาส " ซึ่งจากการที่ได้ศึกษาธรรมะที่ท่าน
หลวงพ่อพุทธทาสบรรยายและเขียนไว้ จึงเล็งเห็นประโยชน์ของการจดบันทึกเรื่องราวที่ผ่านไปในแต่ละวัน
เพื่อเป็นการย้ำเตือนตนเอง เมื่อวันเวลาผ่านไป เรานำบทบันทึกที่เราได้เขียนไว้ขึ้นมาอ่าน เราก็จะรู้ได้ว่า
วันเวลาที่ผ่านพ้นไปนั้น เราเป็นอย่างไร พัฒนาขึ้น คงที่ หรือเสื่อมลง และอย่างน้อยก็ใช้เป็นหลักฐานยืนยัน
ว่าวันที่เท่านั้น เดือนนั้น ปีนั้น เราอยู่ที่ไหน เราได้ทำอะไรลงไปบ้าง สภาวะจิตของเราในวันนั้นเป็นอย่างไร
                ซึ่งการบันทึกนั้นจะเริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้ คือ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา
และจะลงต่อไปจนถึงวันสุดท้าย คือวันปวารณาออกพรรษา อย่างที่เคยกระทำมา จึงขอโอกาศบอกกล่าวแก่ท่าน
สมาชิกใหม่ ที่สมัครเข้ามาหลังออกพรรษาปี ๕๒ ได้เข้าใจและรับทราบ เพื่อจะได้ไม่เป็นบาปเป็นกรรมซึ่งกันและกัน
ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ท่านทั้งหลายผู้ใฝ่ธรรม
                         เจริญพร  เจริญสุข  เจริญธรรม
                        ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๒๑ .๓๒ น. ณ ศาลาน้ิอยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

279
งานหล่อพระประธานของวัดทุ่งเว้า...วันที่เททองหล่อพระ




 
ญาติโยมที่มาร่วนในงานเททองหล่อพระ



และแล้ววันที่เฝ้ารอก็มาถึง...ตกแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว
พระประธานหน้าตัก 52 นิ้ว


พระบูชาหน้าตัก 9 นิ้ว


นำเข้าประดิษฐานในพระอุโบสถ






282
 " เงินทุนนั้นของท่าน...แรงงานนั้นของเรา "
วลีนี้เป็นคำขวัญของเหล่าสมณะชายขอบ สิ่งก่อสร้างต่างๆจึงได้ปรากฏให้เห็น

 " ทำให้ดู   อยู่ให้เห็น   สอนให้เป็น   แล้วก็ปล่อย "

 " ไร้รูปแบบ  แต่ไม่ไร้สาระ  เรียบง่าย  แต่ไม่มักง่าย "

 " ไม่ต้องเดินจงกรม ไม่ต้องนั่งสมาธิ ขอเพียงแต่มีสติทุกขณะ ในการทำงาน ก็คือการปฏิบัติธรรม "

 " ธรรมะนั้นเป็น..อกาลิโก คือไม่จำกัดกาล...ทำงานกันไปคุยกันไป สอดแทรกธรรมะลงไปบ้าง"
อยู่กันอย่างสบายๆ " ไม่เคร่ง ไม่เกร็ง ไม่เครียด ไม่เบียดเบียน ตนเองและผู้อื่น "

 อีก 3 วันก็จะเห็นเป็นแบบนี้ เกิดจากความสามัคคี ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จึงทำให้เป็นผลสำเร็จ
ใช้ระยะเวลา 5 วัน ในการก่อสร้าง ใช้แรงงานพระจำนวน 7 รูป ได้กุฏิกรรมฐานแบบนี้ 2 หลัง
โดยการทำงานอย่างมีระบบ แบ่งหน้าที่กันชัดเจน เป็นแผนกต่างๆคือ..แต่ง..ตัด...ตี
แผนกแต่ง..มีหน้าที่ไสกบไม้ให้เรียบร้อย
แผนกตัด...มีหน้าที่วัดและตัดไม้ตามขนาดที่วางไว้
แผนกตี...มีหน้าที่ตีตาปู ประกอบไม้ให้เป็นรูปเป็นร่าง
ทุกอย่างจึงลงตัวและสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
...ขออนุโมทนากับผู้มีจิตศรัทธาที่บริจาคปัจจัยร่วมสร้างกุฏิกรรมฐานมาทุกท่าน...

283
ก่อนจะมาเป็นผีเสื้อที่สวยงามให้ผู้คนได้ชื่นชม
ก็ต้องผ่านความขื่นขม เป็นสิ่งที่สังคมรังเกียจมาก่อน
เฉกเช่นกับชีวิตของคน  กว่าจะได้รับความยอมรับจากสังคม
ก็ต้องผ่านกาลเวลา ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน
       " ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน "







 สดสวยและสดใส   บินร่อนไปในพนา
 แต่งแต้มหมู่มาลา   ดูงามตาน่าชื่นชม
 ผีเสื้อปีกแสนสวย   เจ้านั้นช่วยให้รื่นรม
 เพลินตาเมื่อได้ชม  เจ้าเล่นลมชมมาลา
 ผีเสื้อกับดอกไม้     คู่กันไปในพนา
 พึ่งพิงและพึ่งพา    คือคุณค่าคู่พงไพร





   



284
บทความ บทกวี / ...คน ควาย และสายฝน...
« เมื่อ: 21 ก.ค. 2553, 12:57:47 »
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓
                       หยุดพักตอนเที่ยงวัน กลับมาฉันกาแฟและน้ำชาที่กุฏิ
จะกลับลงไปทำงานต่อ ฝนก็ตกลงมา ทำให้มีเวลาเขียนบทกวีและบทความ
ทบทวนความจำ ในฉันทลักษณ์ตัวอักษร เป็นการผ่อนคลายให้หายเหนื่อย...

 :059: เรื่อย เรื่อย มา รอน รอน
              หยุด พัก ผ่อน ตอน เที่ยง วัน
                   มอง หา กา แฟ ฉัน
                        ตอน เที่ยง วัน เพื่อ ผ่อน คลาย
           ครืน ครืน เสียง ฟ้า ครวญ
                ลม พัด หวล เมฆ สะ ลาย
                      สาย ฝน ตก ต้อง กาย
                            มอง เห็น ควาย กลาง ทุ่ง นา
           ฝน มา ใบ หญ้า เขียว
                ควาย ขบ เคี้ยว เลาะ เล็ม หญ้า
                      สาย ฝน โปรย ลง มา
                            ควาย กิน หญ้า เพลิน อา รมณ์
           เห็น ควาย มี ความ สุข
                  แต่ คน ทุกข์ ไม่ สุข สม
                         แตก ต่าง ทาง อา รมณ์
                                คน ขื่น ขม ควาย รื่น เริง
           คน ทุกข์ เพราะ ความ คิด
                 ทำ ให้ จิต นั้น ยุ่ง เหยิง
                      หลาย หลาก มาก ชั้น เชิง
                            หลง ระ เริง กับ มา ยา
          มอง คน แล้ว มอง ควาย
                มอง โดน ไร้ ซึ่ง อัต ตา
                      มอง เห็น และ มอง หา
                            ใช้ ปัญ ญา มอง หา ธรรม
          มอง โลก ใน แง่ ดี
                มอง โลก นี้ เป็น เรื่อง กรรม
                       เกิด จาก การ กระ ทำ
                              เรียก ว่า กรรม ที่ ทำ มา
          กรรม นั้น คือ ที่ เกิด
                 จึง กำ เนิด เกิด ปัญ หา
                        บุญ กรรม ที่ นำ พา
                             ให้ เกิด มา แตก ต่าง กัน....
                     .................................................
                     ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๒.๕๖ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
         
               
                         
           

285
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓
                    หยุดพักการทำงานเมื่อใกล้เพล กลับที่พักมาหากาแฟน้ำชาฉัน
เปิดดูความเคลื่อนไหวในเว็บบอร์ดวัดบางพระ  ใจคิดถึงบทกวีธรรมะที่เคยเขียนไว้
นั่งทบทวนแก้ไขการใช้ภาษาใหม่  จึงขอฝากไว้...อุทานธรรม...ในเที่ยงวัน...
   
 :059: ยังไม่ถึงกาลเวลาที่เหมาะสม
                    จิตนั้นย่อมเข้าไม่ถึงธรรม
                          จึงยากที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจได้
                                อดทนรอให้เขาพร้อม  จึงกล่าวธรรม....
 :059: ตราบใดที่ยังมีหนทางไป
                 ใจย่อมไม่นึกถึงพระธรรม
                          แต่เมื่อใจของคุณชอกช้ำ
                                 พระธรรมคือที่พึ่งสำหรับคุณ....
 :059: กาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป
                  ไม่มีเวลาที่จะสิ้นสุด
                         แต่จิตของมนุษย์
                                สิ้นสุดได้...ถ้ารู้จักพอ....
 :059: ก้าวเดินไปข้างหน้า
                อย่าได้หวั่นต่ออุปสรรคและปัญหา
                       การเดินทางนั้นยังไม่สิ้นสุด
                              ตราบที่เรายังมีลมหายใจ.....ฝันให้ไกล ไปให้ถึง ซึ่งความฝัน....
 :059: ชีวิตที่กำเนิดมา
                    ทุกเวลาที่ผ่านไปนั้น
                           คือตำนานและบทเรียนของชีวิต
                                   ที่เราลิขิตและเลือกที่จะเดิน
            ไม่ใช่โชคชะตา
                   ไม่ใช่ฟ้่าลิขิต
                         ไม่ใช่นิมิตแห่งสวรรค์
                               ไม่ใช่พรหมนั้นบันดาล
                                      แต่สิ่งที่ประสพพบพาน
                                            ล้วนเกิดแต่กรรมที่ทำมา
            เมื่อใจเรายอมรับ
                  กับอุปสรรคและปัญหาที่เข้ามา
                         สิ่งนั้นก็ไม่อาจทำให้เราทุกข์ได้
                                 หรือเมื่อยามที่เราสุขสมหวัง
                                        ก็ไม่อาจทำให้เราหลงระเริง
                                                เพราะเราเข้าใจในชีวิต
                                                        ที่ถูกลิขิตไว้ในกฏพระไตรลักษณ์
                                                                 ชีวิตเดินอยู่บนหลัก...อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา....
                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม 
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๒.๑๑ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย


286
ธรรมะ / เหตุที่ทำให้ได้บุญ
« เมื่อ: 20 ก.ค. 2553, 09:52:59 »
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓
             ช่วงนี้ก็ใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว ไปไหนมาไหนก็พบแต่คนชวนกันทำบุญ
ซึ่งส่วนใหญ่นั้นก็จะเน้นไปในเรื่องการบริจาคทานกันเป้นส่วนมาก ชวนกันไปทำบุญ
ถวายเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
ก็ขออนุโมทนาในกุศลจิตศรัทธาของท่านทั้งหลาย ที่ขวนขวายในสิ่งที่เป็นบุญกุศล
            วิธีการทำบุญนั้น ภาษาพระ ภาษาธรรมะ เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ คือเหตุที่ทำ
ให้เกิดบุญ หรือวิธีที่จะได้บุญนั้นเอง หมายถึงวิธีที่กระทำแล้วได้ชื่อว่าทำบุญและจะได้รับ
ผลบุญคือการนำมาซึ่งความสุข ซึ่งพอจะแบ่งเป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆได้ ๑๐ วิธี หรือที่เรียกว่า
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อันประกอบด้วย
 ๑.ทานมัย     คือการทำบุญด้วยการให้ทาน
 ๒.สีลมัย       คือการสร้างบุญด้วยการรักษาศีล
 ๓.ภาวนามัย   คือบุญที่ทำด้วยการอบรมจิตใจให้มีสติ
 ๔.อปจายนมัย คือบุญที่เกิดจากการอ่อนน้อมถ่อมตน
 ๕.เวยยาวัจมัย คือบุญที่เกิดจากการขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่น
 ๖.ปัตติทานมัย คือบุญที่เกิดจากการแผ่ส่วนบุญ
 ๗.ปัตตานุโมทนามัย คือบุญที่เกิดจากการอนุโมทนากับความดีที่ผู้อื่นทำ
 ๘.ธัมมัสสวนมัย คือบุญที่ได้จากจากรับฟังธรรม
 ๙.ธัมมเทสนามัย คือบุญที่ได้จากการแสดงธรรม แนะนำสั่งสอนผู้อื่น
๑๐.ทิฏฐุชุกรรม คือบุญที่เกิดจากการทำความเห็นให้ตรง
      ซึ่งวิธีที่จะได้มาซึ่งบุญนั้น มีเพียงทานมัยอย่างเดียวที่ต้องใช้วัตถุสิ่งของและปัจจัยเงินทอง
ในการให้ได้มาซึ่งบุญ ส่วนวิธีที่จะได้มาซึ่งบุญส่วนอื่นนั้น เป็นการกระทำที่กายและใจ เพื่อจะได้
มาซึ่งบุญ ทุกคนสามารถที่จะทำบุญได้สร้างบุญได้ ตามความเหมาะสมของ เวลา จังหวะ โอกาศ
สถานที่และตัวบุญคน ทุกเวลาเราสามารถที่จะสร้างบุญให้เกิดขึ้นแก่ตัวเราได้เสมอถ้าเราคิดจะทำ
และมิใช่เป็นเรื่องยากเลยที่จะทำ เพราะบุญนั้นสำเร็จได้ด้วยใจ ไม่ได้หวังซึ่งคำสรรเสริญยกย่อง
จึงไม่ต้องป่าวประกาศให้ใครรู้ ซึ่งเราจะรู้ิอยู่แก่ใจ ว่าในสิ่งที่เราทำไปว่าเป็นบุญรึเปล่า โดยการมาดูใจ
ของเราว่ามีความสุขหรือไม่ เพราะบุญนั้นนำมาซึ่งความสุข ถ้าทำแล้วใจเป็นทุกข์ บุญนั้นก็หายไป
บุญจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น สำคัญที่ใจคือเจตนา ว่าเราหวังประโยชน์ตอบแทนในสิ่งที่เราทำหรือไม่
เพราะเราไปมุ่งหวังสิ่งตอบแทนในการกระทำ เมื่อไม่ได้ดั่งที่หวัง ย่อมเกิดความน้อยใจและเสียใจ
หรือถ้าได้ดั่งที่เราหวัง เราก็จะเกิดความลำพอง หยิ่งผยองและถือดี ซึ่งก่อให้เกิดมานะทิฏฐิ อัตตา
      สิ่งที่จะได้มาซึ่งบุญนั้น คือการกระทำที่บริสุทธิ์ใจ ทำแล้วสบายใจ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร
ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น  บุญนั้นจะสมบูรณ์ได้ด้วยจิตที่อยู่ในพรหมวิหาร ๔ มีความปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง
ไม่ได้มุ่งหวังการตอบแทนจากผู้อื่นเขา ในลาภ ยศสรรเสริญ สักการะ ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นหน้าที่ของ
มนุษย์ผู้หนึ่งที่ต้องสร้างความดีตอบแทนสังคมและสร้างกรรมดีให้กับตนเอง...
                        ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๕๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

287
นำภาพมาให้ชมสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องลูกปัดโบราณ...
ซึ่งลูกปัดชุดนี้เป็นชุดใหญ่ ดูได้จากขนาดเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของพระ 25 ศตวรรต
เป็นชุดที่นักสะสมลูกปัดกำลังเสาะหา...เพราะว่ามีครบทุกชนิด และมีขนาดใหญ่






288
คำขวัญของจังหวัดพังงา...
แร่หมื่นล้าน...บ้านกลางน้ำ...ถ้ำงามตา...ภูผาแปลก...แมกไม้จำปูน...บริบูรณ์ด้วยทรัพยากร
        ปันหยีบ้านกลางน้ำ  คุณค่าล้ำคู่พังงา
        โดดเด่นตระการตา   ผู้ที่มาเห็นแปลกใจ
        ร้านค้าตั้งเรียงราย    อยู่กลางสายคลื่นพัดไหว
      อยู่รอดและปลอดภัย   จากคลื่นใหญ่และลมแรง
            แหล่งทำกะปิดี    เกาะปันหยีนี้คือแหล่ง
           กะปิกุ้งตัวแดง      ราคาแพงของพังงา


         แวะชมเขาพิงกัน    ภูเขานั้นเอนเข้าหา
       เป็นภาพที่แปลกตา   เขาเอนหามาพิงกัน       
    ธรรมชาตินั้นสรรค์สร้าง   ทุกสิ่งอย่างล้วนผูกพันธ์
    จัดการและจัดสรรค์       ให้สิ่งนั้นงดงามตา
          มีของที่ระลึก        ถ้าเรานึกจะซื้อหา
    ของฝากเมื่อจากมา      คือระย้าหอยโมบาย


        โดดเด่นและเห็นชัด   เห็นถนัดมีจุดหมาย
        ตั้งเด่นอยู่เดียวดาย    ดูแล้วคล้ายกับตาปู
       คอดกิ่วใกล้จะขาด      เราไม่อาจจะรับรู้
            วันที่เขาตาปู        นั้นไม่อยู่ให้เราชม




289
สมัยที่สร้างวัดอยู่ที่ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่งทุ่ง จังหวัดพังงา
จะมีสหธรรมิกแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ ในการต้อนรับนั้น
เกือบทุกครั้งก็คือ การพาไปนั่งเรือชมบรรยากาศของอ่าวพังงา
จึงขอนำภาพเก่าๆมานำเสนอ...
...เพื่อรำลึกอดีตกัน สำหรับท่านที่ได้ไปเที่ยวมาแล้ว...

          มุ่งหน้าสู่ท่าเรือ  ออกไปเพื่อชมความงาม
      ทะเลและฟ้าคราม   ป่าไม้ตามสองฝั่งทาง
      เรียงรายไว้ต้อนรับ   ตามลำดับที่จัดวาง
    เทียบท่ารอเดินทาง   คือเรือจ้างรับผู้คน



        ป่าจากป่าโกงกาง  สองฝั่งทางมีทุกหน
           อยู่คู่กับสายชล  ให้ได้ยลจนชินตา
        ป่าไม้ชายเลนนั้น   แหล่งเพาะพันธ์กุ้งปูปลา
        ป้องกันและรักษา   เมื่อภัยมาต้านคลื่นลม 


        ออกสู่ทะเลใหญ่   คลื่นพริ้วไหวใจสุขสม
      ธรรมชาติน่ารื่นรมณ์  ได้มาชมอ่าวพังงา
      ชมถ้ำและชมเกาะ    ดูเหมาะเจาะตระการตา
      ถ้ำลอดเรือลอดมา    มองข้างหน้าเกาะหมาจู


...โปรดติดตามตอนต่อไป...เกาะปันหยี...เขาพิงกัน...เขาตะปู

       
 

290


     
     โบยบินขึ้นสู่ฟ้า    แสวงหาภักษาหาร
อิ่มหนำสุขสำราญ      ก็กลับบ้านสู่รวงรัง
รวงรังที่ตั้งอยู่           ยังมีผู้รอความหวัง
อาหารมาประทัง        ผู้อยู่หลังตั้งตารอ
แม่นกและพ่อนก       ต่างป้องปกไม่ย่อท้อ
ความฝันวันที่รอ         ลูกของพ่อเจริญวัย
ปีกกล้าและขาแข็ง      มีเรี่ยวแรงชีวิตใหม่
สืบทอดเผ่าพันธ์ไป     อยู่คู่ไพรคู่พนา...




     ผืนป่าที่กว้างใหญ่    มวลหมู่ไม้ไพรพฤกษา
หลายหลากเกินพรรณา   คือผืนป่าของเมืองไทย
         ป่าไม้คู่สายน้ำ     ป่าเย็นฉ่ำน้ำรินใหล
หล่อเลี้ยงพืชพงไพร      ต่างอาศัยเกื้อกูลกัน
      ป่าหมดน้ำก็หมด     นั้นคือกฏความสัมพันธ์
น้ำ-ป่าสมานฉันท์           เกื้อกูลกันมานานปี
      มนุษย์รุกรานป่า       ด้วยตัณหาที่มากมี
กอบโกยไปทุกที่           ด้วยหวังมีผลกำไร
    กำไรเพราะทำลาย     มันจึงสายเกินแก้ไข
ป่าไม้ใกล้หมดไป          ป่าเมืองไทยใกล้วอดวาย...




        รอนแรมมาเรียงราย   สู่จุดหมายที่เดียวกัน
        ตามล่าหาความฝัน    จึงบากบั่นดั้นด้นมา
        ตามแนวของพุทธะ   สมณะผู้ค้นหา
        สำรวมกายวาจา       ตั้งใจมาสู่ทางธรรม
        ฝึกฝนปฏิบัติ           อย่างเคร่งครัดไม่ใฝ่ต่ำ
   คิดชอบประกอบกรรม      กุศลนำจึงได้มา
        ฝึกกายให้อดทน      บทเริ่มต้นแสวงหา
        สติคุมกายา            ภาวนาขณะเดิน
        พุทโธคือพุทธะ       เป็นธรรมะคิดให้เพลิน
        จะพบความเจริญ      และเพลิดเพลินในทางธรรม..
          .......................................................
             ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๓๘ น. ณ ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย       



291
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓
      การเจริญภาวนาในเรื่องพุทธานุสสตินั้น คือการระลึกนึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าอยู่เนืองๆ
โดยจะใช้คำบริกรรมภาวนาหรือ สำรวมจิตน้อมระลึกนึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้ง ๙ ประการ
คือบทสวดพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้าที่ว่า " อิติปิโส ภะคะวา....ไปจนถึง..พุทโธ ภะคะวา ติ "
จะสวดทั้งหมดหรือเแอาเฉพาะบทใดบทหนึ่งก็ได้ นึกภาวนาสวดไป จนจิตสงบนิ่งอยู่กับอารมณ์
คือบทสวดหรือคำภาวนานั้น
        พุทธานุสสตินั้น เป็นกรรมฐานที่เป็นพื้นฐานของการเจริญภาวนาตามหลักของพระพุทธศาสนา
เพราะทำให้เรามีใจศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นศาสดาเป็นบรมครู ผู้ตรัสรู้หลักธรรมของพุทธศาสนา
ซึ่งถือว่าเป็นพระอาจารย์ใหญ่ ที่เราต้องให้ความเคารพ กราบไหว้และบูชา เป็นเบื้องต้น
       พุทธานุสสตินั้น เมื่อเราระลึกนึกถึงอยู่เนืองๆในทุกอิริยาบท ทุกเวลา ทุกสถานที่ ได้แล้วนั้น
ย่อมส่งผลให้จิตของเราเป็นกุศลจิต สงบระงับซึ่ง ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นกิเลสฝ่ายต่ำได้ จิตใจมีคุณธรรม
เกิดหิริโอตตัปปะ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาปขึ้นในจิต เสมือนหนึ่งเราหมอบกราบอยู่หน้าพระพักตร์
ของพระพุทธองค์ ส่งผลให้เราเกิดศรัทธา สติ ปัญญา บุญบารมี ก็จะเพิ่มขึ้น เกิดความปิติปราโมทย์ยิ่งขึ้น
และเมื่อจิตมีกำลังศรัทธาเต็มเปี่ยมแล้ว ความกลัวทั้งหลายก็จะหายไป ทุกข์ทั้งหลายก็จะบรรเทาลง
      เมื่อใจของเรามีศรัทธาในพระพุทธเจ้าแล้ว ความศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะบังเกิดขึ้น
และส่งผลไปยังพระสงค์สาวกของพระพุทธองค์ ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ สืบทอดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามา
พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสสติ นั้น เป็นอนุสสติที่เกื้อกูลกัน สืบเนื่องกัน เป็นการระลึกนึกคิดที่เป็นพื้นฐานของ
กุศลธรรมทั้งหลาย ที่จะเจริญยิ่งขึ้นในโอกาศต่อไป ถ้าเราทั้งหลายมีศรัทธาตั้งมั่นไ ม่ละความเพียรในการประกอบกรรมดี
     ซึ่งการระลึกนึกถึงที่กล่าวมานี้นั้น ยังเป็นอารมณ์ของสมถะกรรมฐาน คือการที่ทำให้จิตสงบนิ่งอยู่กับสิ่งที่เป็นกุศล
มีผลเป็นปิติสุข รู้สึกสดชื่น เอิบอิ่ม เบิกบาน กล้าหาญและมีความมั่นใจในความดีที่ตนได้กระทำมาแล้ว  เมื่อขวัญและกำลังใจ
เต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมมีพลังที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า ความเจริญในธรรมทั้งหลายก็จะบังเกิดขึ้น
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๓๗ น. ณ ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย
     

292
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๐๘ น.
      ช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ได้รับนิมนต์ให้ไปบรรยายธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสถานที่ต่างๆอยู่เสมอ
ซึ่งในสมัยปัจจัจุบันนี้ มีผู้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการปฏิบัติเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และมีความเปลี่ยนแปลง
ไปในทางที่ดี มีคนหนุ่มสาวและเยาวชนหันมาศึกษาและปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น ผิดกับในอดีตที่ผ่านมา
ที่จะมีเฉพาะคนมีอายุเป็นส่วนใหญ่ที่ให้ความสนใจและมาปฏิบัติธรรมกัน ซึ่งอาจจะสืบเนื่องมาจากสื่อสาร
ที่รวดเร็วและมีการนำเสนอธรรมมะในสังคมออนไลน์โลกของไอที ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทำให้เข้าถึงข้อมูล
ได้ง่าย รวดเร็ว และมีหลากหลายรูปแบบในการนำเสนอ
    การปฏิบัติธรรมที่เกี่ยวกับการเจริญสติภาวนานั้น ในหลักของพระพุทธศาสนามีอยู่ ๔๐ แนวทางด้วยกัน
เรียกกันว่า กรรมฐาน ๔๐ ซึ่งถ้าผิดแผกแตกต่างไปจากนี้ ถือว่าเป็นแนวทางนอกพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์
ไม่ได้บัญญัติไว้ ซึ่งในสมัยยุคปัจจุบันนี้ ได้มีผู้ค้นคิดวิธีปฏิบัติแบบใหม่ๆเกิดขึ้นมามากมาย และได้มีการเผยแผ่
เปิดสอนเปิดอบรมกัน มีการโฆษณาชักชวนกันอย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้โยนิโสมนสิการคือการพิจารณา
โดยแยบคาย สำหรับการกลั่นกรองข้อมูลหรือแหล่งข่าวในแนวทางการปฏิบัติของแต่ละสำนักให้ละเอียดถี่ถ้วน
เสียก่อน โดยหาเหตุและผล เทียบเคียงกับหลักของพระพุทธศาสนา ว่าจัดอยู่ในกรรมฐานทั้ง ๔๐ กองหรือไม่
เพื่อจะได้ไม่หลงทางและเกิดความงมงายในการประพฤติปฏิบัติธรรม
    กรรมฐานที่จะกล่าวถึงในวันนี้ก็คือ กรรมฐานในหมวดของ อนุสสติ ๑๐ ซึ่งเป็นการเจริญสติตั้งแต่พื้นฐานง่ายๆ
และในขั้นที่สูงขึ้นไป " อนุสสติ " นั้น คือการระลึกถึงเนืองๆหรืออารมณ์ที่ควรระลึกถึงอยู่บ่อยๆ เพื่อให้จิตมีความสงบ
เพลิดเพลินในการระลึกอยู่กับสิ่งเหล่านั้น และในสิ่งที่ระลึกถึงนั้น ต้องเป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศล เป็นมงคลต่อชีวิต
เป็นกุศลจิต คือไม่เป็นภัยต่อชีวิต ไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น ไม่ฝ่าฝืนธรรมวินัยและศีลธรรมอันดีงาม
    อนุสสตินั้น มีอยู่ ๑๐ อย่างด้วยกัน คือ
 ๑.พุทธานุสสติ การระลึกถึงพระพุทธเจ้าและพระคุณของพระองค์
 ๒.ธัมมานุสสติ  การระลึกพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ที่ทรงตรัสสอนไว้
 ๓.สังฆานุสสติ  การระลึกนึกถึงพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์  ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
 ๔.สีลานุสสติ   การระลึกนึกถึงศีลและอานิสงส์ของศีลที่เราประพฤติปฏิบัติมา
 ๕.จาคานุสสติ  การระลึกนึกถึงบุญกุศลในเรื่องทานการบริจาคที่เราได้ทำมา
 ๖.เทวตานุสสติ การระลึกนึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดาก็คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ที่เราได้กระทำมาแล้ว
 ๗.มรณานุสสติ การระลึกนึกถึงความตายที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า เพื่อให้เราไม่ประมาทในเวลาที่เหลืออยู่
 ๘.กายคตานุสสติ การระลึกนึกถึงร่างกายของเรานี้ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และไม่เข้าไปยึดถือในกายนี้จนเกินไป
 ๙.อานาปานุสสติ  การระลึกอยู่กับลมหายใจเข้าออกของเรา เพื่อให้มีสติอยู่กับกาย ไม่ส่งจิตไปวุ่นวายกับสิ่งอื่น
๑๐.อุปสมานุสสติ  การระลึกนึกถึงความสงบ ความดับของทุกข์ คือการระลึกนึกถึงคุณของพระนิพพาน
   การระลึกนึกคิดทั้ง ๑๐ ประการนี้ก็เพื่อให้เกิดความสงบ ยังอยู่ในหมวดของสมถะกรรมฐาน คือความเป็นสมาธิ จิตสงบ
ซึ่งเราสามารถที่จะเริ่มจากการระลึกถึงจากสิ่งที่ง่ายๆไปก่อน เช่นเรื่องทานการบริจาค เรื่องของความดีที่เราได้กระทำมาแล้ว
เรื่องของการที่เราสามารถหักห้ามใจไม่กระทำในสิ่งที่ผิดทั้งหลาย เพื่อเป็นการปรับจิตปรับใจของเราให้มีพื้นฐานแห่งกุศลจิต
คือมีความคิดอยู่กับสิ่งที่ดี เรียกว่าฝึกคิดให้ดี ให้เวลาอยู่กับความคิดที่ดีให้มากขึ้น เพราะความดีและเรื่องดีๆนั้น เมื่อเราระลึกนึกคิด
มันจะทำให้จิตของเราเพลิดเพลิน เพลิดเพลิดอยู่กับสิ่งที่เป็นกุศล ทำให้เกิดความศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใสเพิ่มขึ้น
ใจของเรานั้นก็จะมีความสุขอยู่กับบุญกุศลที่เราได้ทำมา เรียกว่าเป็นการสร้างพื้นฐานแห่งการระลึกนึกคิดเพื่อให้จิตอยู่กับความดี
แล้วจึงฝึกระลึกนึกคิดในขั้นต่อไปที่ละเอียดกว่าเช่นเรื่องกายคตานุสสติ อานาปานุสสติ มรณานุสติ อุปสมานุสติ ซึ่งเป็นการระลึก
ที่ละเอียดยิ่งขึ้น และต้องมีพื้นฐานกำลังของสติและกุศลจิตดีแล้วจึงจะระลึกได้และทรงไว้ได้นานในการระลึกรู้ในสิ่งเหล่านั้น
    สิ่งที่สำคัญของการระลึกรู้ก็คือต้องมีพื้นฐานแห่งกุศลจิตเป็นที่ตั้ง เพื่อให้มีพลังแห่งสติที่เป็นกุศล จึงควรที่จะเริ่มต้นในการฝึก
การระลึกรู้ในสิ่งที่ง่ายๆให้ได้เสียก่อน คือในเรื่องของศีล เรื่องของทาน เพื่อให้มีพื้นฐานของความสงบและความเพลิดเพลินในกุศล
ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่พื้นฐาน แล้วเราค่อยต่อยอดให้สูงยิ่งๆขึ้นไปในสิ่งที่ดีทั้งหลาย
     จึงขอฝากไว้ให้คิด พิจารณา และอย่าได้เชื่อทันที ที่ได้อ่านบทความนี้ จงนำไปทดลอง ใตร่ตรอง ใคร่ครวญ ทบทวน ปฏิบัติดู
แล้วจึงจะเชื่อหรือจะปฏิเสธ ตามเหตุและผลที่ท่่านได้ทดลองฝึกหัดปฏิบัติมา
             เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๒๑ น. ณ ศาลาน้อย ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชายขอบประเทศไทย



293
ตัวแรกที่จะนำเสนอในภาคนี้ก็คือ...แพนซีมยุรา


ตัวนี้มีชื่อว่า...หนอนใบรักลายเสือ


ตัวต่อไปนี้มีชื่อว่า...ฟ้าไม้ก่อกระขาว


ตามมาด้วย...กะลาสีแดงเขมร


ตัวสุดท้ายในภาคนี้ก็คือ..ตาลแดงโคนขีด


แถมให้อีกสักนิดอีกตัวก็คือ...อาชดุ้ด


โปรดติดตามชม...ภาพผี..ครั้งต่อไป

294
บรรยากาศยามเช้าที่ริมฝั่งโขง...


เรือประมงลำน้อยออกหาปลากลางน้ำโขง


พลังศรัทธาช่วยกันดึงรอกยกฉัตรสู่ยอดพระธาตุเจดีย์



สำเร็จลุล่วงด้วยพลังแห่งศรัทธา...แม้นน้อยนิดด้วยปัจจัย แต่ยิ่งใหญ่ด้วยอานิสงส์
พระธาตุเจดีย์ศรีมุกดานาคาพิทักษ์และโบสถ์มหาอุดแห่งวัดทุ่งเว้า




กุฏิรับรองเพื่อนพ้องและน้องพี่ที่ชายโขง(ทุ่งเว้ารีสอร์ท..คำที่ผู้มาเยือนเรียกขาน)


กุฏิกรรมฐานของเหล่าสมณะชายขอบอยู่กันแบบพอเพียง...เรียบง่ายแต่ไม่มักง่าย


295
ตัวแรกที่นำเสนอคือ...เหลืองสยามธรรมดา

ตัวที่สองที่นำเสนอก็คือ...เหลืองหนามธรรมดา

ตัวที่สามตามมาก็คือ...ถุงทองธรรมดา

ตัวที่สี่ตัวนี้ทีเด็ด....ชื่อทองเฉียงพร้า

ส่วนตัวสุดท้ายของชุดนี้ก็คือ....หางตุ้มจุดชมพู

 
ดูของสวยๆงามๆตามธรรมชาติแล้วสบายใจ...
ไม่เป็นภัยต่อชีวิต ไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น ไม่ฝ่าฝืนธรรมวินัย
เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศล เป็นมงคลแก่ชีวิต
ทำให้จิตใจนั้นอ่อนโยนและมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
สรุปแล้ว...ดูแล้วสบายใจและจะมีให้ดูต่อไปเรื่อยๆ

297

     
       เด็กน้อย....
       บริสุทธิ์สดใสไร้เดียงสา
       ไร้มายาเกิดมาในป่าใหญ่
       วันเวลาแห่งชีวิตลิขิตไว้
       ต้องเป็นไปตามกรรมที่ทำมา
       เด็กน้อย.....
       เกิดบนดอยพบเห็นแต่ผืนป่า
       บนดอยสูงห่างการพัฒนา
       เป็นเด็กป่าเด็กดงของพงไพร
       เด็กน้อย....
       คงรอคอยวันเจ้าจะเติบใหญ่
       วันเวลาแห่งชีวิตที่เปลี่ยนไป
       มีอะไรมากมายให้พบเจอ
       เด็กน้อย....
       เจ้าเด็กดอยที่ฉันนำเสนอ
       คือเด็กดอยที่ฉันนั้นได้เจอ
       เก็บภาพเธอมาไว้ในความจำ....
          ด้วยรัก-ศรัทธา-ปรารถนาดี
             วจีพเนจร-คนรอนแรม

       
       
     

298
ชมเบื้องหน้าและเบื้องหลังของการสร้างมาแล้ว ก็มาชมพิธีบวงสรวงกันต่อ




299
งานปริวาสกรรมวัดเพชรน้ำผึ้ง ลานสัก อุทัยธานี
วันอังคารที่ ๑๓ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓
         เมื่อมีการกล่าวถึงการเริ่มต้นปฏิบัติเจริญสติเจริญภาวนาแล้ว
ลำดับต่อไปก็จะกล่าวถึงวิธีการออกจากอารมณ์สมาธิอย่างถูกต้อง
สาเหตุที่เว้นจะกล่าวถึงเรื่องของสภาวะธรรมขณะปฏิบัตินั้น ก็เพราะว่า
สภาวะธรรมที่จะเกิดขึ้นนั้น เป็นของเฉพาะตน ซึ่งผู้ปฏิบัติแต่ละคนนั้น
จะพบเจอที่แตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน มีแต่ความคล้ายและใกล้เคียงกัน
ซึ่งสภาวะธรรมที่จะเกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยทั้งก่อนการปฏิบัติ
และขณะกำลังปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับธาตุในกายขณะนั้น บุญบารมีของเก่าที่ทำมา
และกรรมฐานที่ปฏิบัติ สภาวะธรรมของแต่ละท่านทีี่่เกิดขึ้ีนนั้นจึงแตกต่างกัน
และถ้าสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นนั้นไปเหมือนกับของผู้อื่นทุกประการไม่แตกต่างกันเลยนั้น
มันมีสาเหตุที่มาก็คือเราไปสะกดจิตของเราสร้างอุปทานให้เหมือนเขา โดยเอาสัญญา
ความจำของเราที่ได้อ่านได้ฟัง มาสร้างภาพจินตนาการในเหมือนกับสภาวะธรรมที่จำมา
เป็นสิ่งที่เราสร้างภาพจินตนาการขึ้น ไม่ใช่สภาวะธรรมแห่งความเป็นจริงของกรรมฐาน
จึงปล่อยให้ท่านได้ปฏิบัติกันไป เมื่อพบเจอสภาวะธรรมแบบไหน จึงจะมาอธิบายที่หลัง
ไม่อยากให้ท่านรู้ก่อนที่สภาวะธรรมนั้นจะเกิด ให้สภาวะธรรมนั้นเกิดขึ้นแล้วจึงค่อยมารู้
เพราะถ้ารู้ก่อนและละวางตัวรู้นั้นไม่ได้ จิตมันจะปรุงแต่งไปในสัญญาความจำนั้น มันจะไม่สงบ
ดั่งคำโบราณที่ท่านกล่าวไว้ว่า " รู้มากแล้วยากนาน  " ให้มันเกิดขึ้นมาก่อนแล้วจึงไปศึกษาว่า
มันเป็นสภาวะธรรมตัวไหน เกิดขึ้นในอารมณ์อะไรกันดีกว่า
       การออกจากอารมณ์ภาวนา สมาธินั้น ต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป เข้าทางไหนก็ต้องออกทางนั้น
อย่าลืมตาออกมาทันที เพราะจะทำให้กายและจิตไม่สัมพันธ์กัน เกิดอาการค้างในอารมณ์สมาธิ
ทำให้มีอาการดังต่อไปนี้คือ ตาพร่ามัวหัวมึนงง หายใจไม่โล่งกายไม่โปร่งสบาย มีสติแต่ขาดสัมปชัญญะ
คือมีอาการเน็บชา ไม่สามารถที่จะบังคับร่างกายได้ ซึ่งถ้าเข้าสมาธิลึกลงไปมากแล้วจู่ๆออกมาทันทีนั้น
อาจจะทำให้ธาตุในการแปรปรวนปั่นป่วนได้ (ที่เรียกกันว่าธาตุแตก ธาตุไฟเข้าแทรก ธาตุดินพิการ)
ฉะนั้นเราจึงต้องเคลียร์จิตออกมาอย่างช้าๆ ถอนจิตกลับมาตามทางเดิมที่เราเข้าไป เพื่อปรับกายปรับจิต
ปรับธาตุให้สัมพันธ์กัน ก่อนที่จะลืมตานั้น ต้องทบทวนใคร่ครวญพิจารณาว่า ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติมานั้น
อารมณ์มันเป็นอย่างไรบ้างก่อนที่ตัวนี้จะเกิดมันเป็นอย่างไร เกิดแล้วมันเป็นอย่างไร และมันดับไปตอนไหน
อะไรเป็นเหตุให้อารมณ์ตัวนี้มันดับไป ทำความรู้ความเข้าใจ (วิมังสา) ทบทวนใคร่ครวญพิจารณาในสิ่งที่ทำ
เพื่อให้เราจำทางเดินของสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นนั้นได้ เพื่อให้ครั้งต่อไปจะเข้าอารมณ์ได้ง่ายและเดินได้ถูกทาง
เมื่อพิจารณาทบทวนจนเข้าใจแล้ว ก็กลับมาโคจรจิตไปทั่วกายเสียก่อน ทำความรู้ตัวทั่วพร้อมตรวจดูกาย
ปรับลมหายใจให้เป็นปกติ โดยการหายใจเข้าให้ยาวสุดกำลัง หายใจออกช้าๆจนหมดลม ขยับนิ้วมือนิ้วเท้า
ขยับคาง กระพริบตา เรียกสติกลับมา เพื่อให้มีสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อมที่สมบูุรณ์ แล้วจึงจะลืมตาขึ้น
แล้วท่านจะรู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย ตาไม่พร่ามัว หัวไม่มึนงง รู้สึกสดชื่น กระปรี่กระเปร่า เอิบอิ่มสบายใจ
เพราะการปฏิบัติธรรมเจริญสติ เจริญภาวนานั้น ย่อมมีอานิสงส์คือนำมาซึ่งความสุข ถ้าทำแล้วเิกิดทุกข์
ถือว่าการปฏิบัตินั้นผิดทาง จึงขอฝากไว้แก่ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้เจริญสติ เจริญภาวนาทุกท่านได้นำไปพิจารณา
และนำไปปฏิบัติ เพื่อให้มีความชำนาญในการเข้าออกอารมณ์กรรมฐานที่ถูกต้องและจะไม่หลงทางในการปฏิบัติ
เพื่อความเจริญก้าวหน้าในทางธรรมของท่านทั้งหลาย
            ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มิตรผู้ใฝ่ธรรม
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๓๑ น. ณ วัดเพชรน้ำผึ้ง ลานสัก อุทัยธานี



300
งานปริวาสกรรมวัดเพชรน้ำผึ้ง ลานสัก อุทัยธานี
วันจันทร์ที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
        ขออนุโมทนากับท่านผู้ใฝ่ในธรรมทั้งหลาย ที่ได้เสียสละความสุขส่วนตัว
สละเวลา กำลังทรัพย์และกำลังกาย เพื่อมาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรมในครั้งนี้
โดยมีกุศลจิตเป็นเครื่องนำพา โดยที่ทุกท่านต่างก็ปรารถนาเพื่อสร้างบุญบารมี
เพิ่มคุณงามความดีให้แก่ชีวิตของตน ขอบุญกุศลนี้จงบันดาลให้ท่านทั้งหลาย
ได้รับความสุขทั้งทางใจและทางกาย และขอให้ทุกท่านมีความเจริญในธรรม
       ก่อนที่เราจะเจริญสติ เจริญภาวนานั้น เราต้องเตรียมกาย เตรียมจิตให้มี
ความพร้อมเสียก่อน โดยการปรับกายปรับจิตปรับความคิดแล้วจึงเข้าสู่การปฏิบัติ
การปรับกายนั้น ให้เราสำรวจตรวจดูร่างกายของเรา ท่านั่งของเรา ว่าอยู่ในท่าที่
เหมาะสมหรือไม่ เส้นเอ็นเส้นประสาทถูกกดทับอยู่หรือไม่ หายใจคล่องหรือเปล่า
ขยับร่างกายให้กล้ามเนื้อคลายตัว สูดลมหายใจเข้าสุดกำลังเพื่อให้กล้ามเนื้อที่
หน้าท้องได้ขยายตัวเต็มที่ หายใจออกช้าๆจนสุดกำลังลม เพื่อล้างลมที่ติดขัด
ในท้องและปอด เพื่อให้หายใจได้โล่ง โปร่งเบาสบาย เรียกว่า..การปรับกาย
     เมื่อเราปรับกายให้เป็นปกติได้แล้ว ก็มาปรับจิต ปรับความคิดของเราเสียใหม่
เพื่อให้ลืมความคิดเก่าๆที่เป็นอกุศล โดยการเริ่มต้นคิดถึงสิ่งที่ดีงาม ที่เราได้เคย
กระทำมาแล้ว นึกย้อนทบทวนไป ว่าเราเคยทำความดีอะไรมาบ้างในชีวิตนี้ที่เราจำได้
มีความดีอะไรที่เราภาคภูมิใจในสิ่งที่เราได้ทำมาแล้วบ้าง ระลึกนึกไปเรื่อยๆจนรู้สึก
สบายใจ สดชื่น เอิบอิ่มใจ เพลิดเพลินใจในสิ่งที่เรากำลังคิดกำลังนึก
     การระลึกนึกคิดอย่างนี้ ก็เพื่อให้จิตของเราเป็นกุศลจิต คือการคิดในสิ่งที่ดี
การระลึกนึกคิดอย่างนี้เป็นการทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง คือถ้าเราคิดถึงเรื่องทาน
ก็เป็น...จาคะนุสสติ  ถ้าเราคิดถึงศีลที่เรารักษาปฏิบัติมา ก็เป็น...สีละนุสสติ
ถ้าเราคิดถึงการที่เราหักห้ามใจไม่ให้กระทำผิดได้ ก็เป็น...เทวตานุสสติ คือ
เรามีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป อันเป็นคุณธรรมของการเป็นเทวดา
     การระลึกนึกคิดอย่างนี้  จะทำให้ใจของเรามีความสุขและใจเกิดปิติขึ้น
เพราะว่าบุญนั้น ระลึกนึกถึงครั้งใดใจเป็นสุข เกิดสมาธิเบื้องต้นในระดับขนิกสมาธิขึ้น
เมื่อจิตของเราเป็นกุศลจิตและมีความปิติเอิบอิ่มใจแล้ว เราจึงน้อมจิตมาสู่การภาวนา
ในลำดับต่อไป  การภาวนานั้นคือการทำให้ดีขึ้น เจริญขึ้น ขึ้นพัฒนาขึ้นในสิ่งที่ดี
เมื่อเราเริ่มภาวนาด้วยจิตที่ดีที่เป็นกุศลจิตแล้ว  ความเจริญของกุศลจิตก็จะเพิ่มขึ้น
ความสุขความเอิบใจใจในบุญกุศลก็จะเพิ่มขึ้น เกิดความเพลิดเพลินในธรรมมากขึ้น
ลืมอาการปวดเมื่อย แล้วเราจะนั่งได้ทนนั่งได้นานยิ่งขึ้น
     การเจริญภาวนานั้นต้องเริ่มต้นด้วยพื้นฐานที่ถูกต้องแล้วความเจริญในธรรมก็จะเกิดขึ้น
การปฏิบัตินั้นอย่าได้ใจร้อน หวังผลโดยเร็ว ต้องค่อยเป็นค่อยไป สร้างพื้นฐานให้มั่นคงเสียก่อน
เมื่อพื้นฐานมั่นคงชำนาญแล้ว ก็จะมีแต่ความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป ไม่มีทางที่จะเสื่อมลง
ฝึกระลึกนึกคิด ปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิดทุกครั้งก่อนที่จะเข้าสู่การภาวนา ทำอย่างสม่ำเสมอ
ทำให้เป็นความเคยชิน จนกลายเป็นนิสัยและเป็นอุปนิสัย ขั้นตอนต่อไปนั้นมันจะเป็นของมันเอง
เมื่อจิตของเราเข้าสู่กระแสธรรม จิตจะเดินไปตามสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องตามหลักแห่งธรรม
ตามที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ชอบแล้ว
     ขอความเจริญในธรรมทั้งหลายจงบังเกิดมีแก่ท่านผู้ใฝ่ธรรม
                  เจริญพร  เจริญสุข  เจริญธรรม
                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๒๓.๐๘ น. ณ วัดเพชรน้ำผึ้ง ลานสัก อุทัยธานี

303
:059: วันออกพรรษาของทุกปี  ชายแดนไทย-ลาว เปิดเสรี
คนไทย คนลาว ข้ามไปมาหาสู่กันได้โดยไม่ต้องทำบัตรผ่าน
คนไทยข้ามไปกราบพระธาตุ" อิงฮัง "ที่ฝั่งลาวซึ่งมีอายุเก่าแก่
สร้างสมัยเดียวกันกับพระธาตุพนม ที่อำเภอธาตุพนมของฝั่งไทย
ผู้หญิงที่จะเข้าไปไหว้พระธาตุนั้นต้องนุ่งซิ่น (ผ้าถุงแบบลาว)
ซึ่งทางวัดเขาจะจัดไว้ให้นักท่องเที่ยวผู้หญิงที่นุ่งกางเกงหรือกระโปรงเช่า
จึงจะเข้าไปกราบพระธาตุได้(ผู้หญิงกราบได้จากข้างนอก ไม่ได้เข้าไปในองค์พระธาตุ)
จึงภูมิใจนำเสนอให้ชมกัน...ศิลปะและวัฒนธรรมในแบบของชาติลาว  :054:










304






       อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ตั้งอยู่ ณ ต.นาสีนวน อ.เมือง จ.มุกดาหาร ห่างจากวัดทุ่งเว้าประมาณ 4 ก.ม.
เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดมุกดาหาร ที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องแวะมาชมความงามของผลาญหิน

307

  ลายสักและการวางรูปยันต์สายวัดบางพระซึ่งสักให้โดยพระอาจารย์องค์เดียวทั้งหลัง

  ลายสักและการวางยันต์สายหลวงปู่หน่ายและสายอื่นๆรวมกันโดยการสักให้จากหลายพระอาจารย์

309








     เรื่องเล่าจากราวป่า     บันทึกมาให้ได้ชม
    บางครั้งก็ขื่นขม         เพราะสังคมเห็นแก่ตัว
    หลายร่างต้องลาลับ    กายแตกดับเพราะคนชั่ว
    โลภหลงและเมามัว    ไม่หวาดกลัวซึ่งเวรกรรม
    บุกรุกทำลายป่า         อีกทั้งล่าสัตว์ด้วยซ้ำ
    ก่อเวรและสร้างกรรม   ป่าชอกช้ำเพราะมือคน
    ป่าไม้สายชีวิต          ป่าคือมิตรทุกแห่งหน
    ป่าไม้ต้นสายชล        ป่าสร้างฝนบนพื้นดิน
    ช่วยกันรักษาป่า        ให้งามตาไปทุกถิ่น
    ป่าไม้สายชีวิน          ถ้าป่าสิ้นโลกบรรลัย...
         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๕๓ น. ณ มุมหนึ่งของป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี
       

310






 ใกล้รุ่งแจ้ง  แสงทอง  ส่องขอบฟ้า
 เรือหาปลา  ลำน้อย    ลอยโต้คลื่น
 กลางสายน้ำ กว้างใหญ่  ในค่ำคืน
 ดาวดาษดื่น  ลอยหาย  ใต้แสงทอง
              เห็นหมู่เมฆ  ลอยมา  เมื่อฟ้าเปลี่ยน
              เมฆลอยเวียน  ครึ้มมา  ให้ฟ้าหมอง
              ตัดกับแสง  อาทิตย์   ที่สีทอง
              ฟ้าเรืองรอง  ความหมองเศร้า  นั้นจางไป
 อรุณรุ่ง   เข้ามา  เมื่อฟ้าสาง
 ส่องเห็นทาง  ชีวิต  ที่สดใส
 ผ่านวิกฤต  ชีวิต  ก็เปลี่ยนไป
 รับฟ้าใหม่  ที่สดใส  และเสรี
              เพราะโลกนี้  มีอยู่  เป็นคู่เปรียบ
              ให้เปรียบเทียบ  แตกต่าง  ไปทุกที่
              มีความเลว  นั้นคู่  กับความดี
              และก็มี  กลางวัน  คู่กลางคืน
 มีความสุข  นั้นคู่  กับความเศร้า
 ชีวิตเรา     มีหลับ  คู่กับตื่น
 ชะตากรรม  นำไป  ไม่อาจฝืน
 ไม่ยั่งยืน   ตามหลัก  อนิจจา
             เปรียบท้องฟ้่า   นั้นเป็น   เช่นชีวิต
             ความถูกผิด   เกิดขึ้น    จากตัณหา
             ความไม่รู้     เกิดจาก   อวิชา
             และอัตตา    เกิดขึ้น     จากตัวกู
เห็นฟ้าสาง  เห็นทาง  สว่างจิต
เห็นความคิด  ทางธรรม  นำมาสู่
เห็นสัจจะ   ความจริง   ในสิ่งรู้
เอาทุกอย่าง  เป็นครู  มาสอนธรรม
             สรรพสิ่ง  รอบกาย   มากมายนัก
             เปรียบกับหลัก  ธรรมมะ  ได้ลึกล้ำ
             เมื่อคิดดี   คิดชอบ   กุศลกรรม
             ก็จะนำ   ชีวิต   ไม่ผิดทาง....
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๔๑ น. ณ วัดเพชรน้ำผึ้ง  ลานสัก  อุทัยธานี
             
             

311












                       ชีวิตที่แปรเปลี่ยนไป
                เริ่มแรกอาจไม่สดใสและสวยงาม
                แต่เมื่อก้าวข้ามผ่านพ้นวิกฤต
                ชีวิตนั้นย่อมแปรเปลี่ยนไป
                สีสรรค์ความสดใสเริ่มมีมา
                โดดเด่นตระการตาน่าชื่นชม
                      เฉกเช่นชีวิตของคนเรา
                ประวัติความเป็นมาอาจไม่สวยงาม
                ไม่โดดเด่นต้องตาเมื่อแรกพบเห็น
                แต่เมื่อสัมผัสคบหากันเป็นเวลานาน
                ความโดดเด่นที่ซ่อนเร้นย่อมเปิดออกมา
                      อย่าด่วนสรุปเพียงรูปร่างหน้าตาเมื่อพบเห็น
                อาจมีความดีที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน
                เพราะส่วนลึกของจิตใจทุกคนนั้น
                ต่างใฝ่ฝันอยากจะสร้างซึ่งความดี
                จงให้พื้นที่และโอกาศแก่เขาเหล่านั้น
                เพื่อให้ความใฝ่ฝันของเขานั้นเป็นจริง.....
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๕๔ น. ณ มุมหนึ่งของห้วยขาแข้ง ลานสัก  อุทัยธานี
        :054: ต้องขออภัยเป็นอย่างสูง ที่พิมพ์ผิดพลาดไป เพราะมีเวลาจำกัด ต้องรีบลงไปบรรยายธรรม เลยไม่ได้ทาน หัวข้อกระทู้
" จากหนอนน้อยที่น่ารังเกียจ สู่ผีเสื้อทีี่สวยงาม "

*** แก้หัวข้อให้แล้วนะครับ...  :001:

313
            งานปริวาสกรรมวัดเพชรน้ำผึ้ง บ้านเพชรน้ำผึ้ง ต.ลานสัก อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี
                     วันที่ ๖ -๑๕  กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ( สิบวัน เก้าราตรี )
              ขออาราธนาพระภิกษุสงฆ์ผู้ใคร่ในการประพฤติปฏิบัติธรรม มาร่วมงานปริวาสกรรมประพฤติวุฒฐานะวิธี
เพื่อชำระศีลและรักษาไว้ซึ่งธรรมวินัย สืบทอดไว้ซึ่งการประพฤติปฏิบัติ รักษาไว้ซึ่งข้อวัตรการปฏิบัติทั้ง ๑๐ ประการ
              ขอเชิญชวนญาติโยมผู้สนใจใฝ่ในธรรมทั้งหลาย มาร่วมปฏิบัติธรรม รักษาศีล ฟังธรรม บวชชีพราหมณ์
ถวายสังฆทาน ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์หมู่ใหญ่ ร่วมเป็นเจ้าภาพถวายอาหาร น้ำปานะ แด่พระคุณเจ้าและผู้ปฏิบัติธรรม
ผู้ใดมีศรัทธาปรารถนาซึ่งบุญกุศล  ติดต่อจองเป็นเจ้าภาพได้ตามกำลังศรัทธาได้ที่ ณ วัดเพชรน้ำผึ้ง บ้านเพชรน้ำผึ้ง
ต.ลานสัก อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี หรือญาติโยมท่านใดไม่สะดวกในการเดินทางมาเป็นเจ้าภาพที่วัดเพชรน้ำผึ้งได้
แต่มีศรัทธาก็ให้ติดต่อมาได้ที่พระอาจารย์โสฬส ฐิติกโร เบอร์ ๐๘๑-๘๓๔๔๘๔๔
     ขออนุโมทนาในจิตศรัทธาของบรรดาท่านทั้งหลาย ขอความสุขความเจริญจงบังเกิดมีแ่ก่ท่านทั้งหลาย
                                      ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
                             ประธานสงฆ์และเจ้าพิธีงานปริวาสกรรมวัดเพชรน้ำผึ้ง






314



      ได้มีโอกาศกลับไปที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกครั้งหนึ่ง เนื่องในโอกาศครบรอบ ๔๐ ปี ที่มีชื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ซึ่งสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประเพณีสังสรรค์ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ครั้งที่ ๒
โดยใช้ชื่องานว่า " ๔๐ ปี ที่มีชื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหง " ได้รับนิมนต์จากนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง
ให้เป็นเจ้าพิธีบวงสรวงสักการะและขอขมาพ่อขุนรามคำแหงมหาราชในเช้าวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๔๐ น.
ซึ่งนับว่าเป็นโอกาศที่ดีที่จะได้ทำพิธีขอขมาต่อองค์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งในสมัยที่เป็นนักศึกษานั้น ได้ล่วงเกินต่อ
องค์พ่อขุนฯนั้น อยู่บ่อยครั้งโดยไม่เจตนา เอาของไหว้อาทิ พวงมาลัย ธูปเทียน ช้าง ม้า อาหารหวานคาว มาแจกจ่ายน้องๆ
อยู่เป็นประจำ ทำให้คิดถึงบรรยายกาศเก่าๆสมัยที่ใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหงแห่งนี้
     มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้อะไรมากมายแก่ชีวิต เป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต มีความรักความสามัคคีสืบสานมาจนถึงวันนี้
การได้กลับมาครั้งนี้ มาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ"ลูกพ่อขุน"ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยได้เขียนคำกล่าวโองการบวงสรวงบูชา
สักการะขอขมาต่อองค์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพื่อใช้ในงานพิธีนี้
 ขั้นตอนพิธีกรรม
 ๑.จัดเตรียมเครื่องสักการะ ของไหว้ ของบูชา เสร็จเรียบร้อยในเวลาฤกษ์ที่กำหนด
 ๒.จุดธูปเทียน สักการะ ตั้งนะโม ๓ จบ ไหว้ครูบาอาจารย์
 ๓.กล่าวโองการชุมนุมเทวดา เชิญมาร่วมเป็นสักขีพยานในงานพิธี
 ๔.กล่าวโองการบวงสรวงสักการะต่อองค์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
 ๕.กล่าวคำบูชาและคำถวายเครื่องสังเวย
 ๖.ผู้ร่วมพิธีจุดธูปปักที่เครื่องสังเวย
 ๗.ตั้งนะโม ๓ จบ กล่าวนำคำขอขมาต่อองค์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
 ๘.ให้พร สวดชยันโตเพื่อเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้ร่วมพิธี
          ...
               โองการบวงสรวงบูชาสักการะขอขมาพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
     อายันตุโภนโต เทวะสังขาโย ข้าแต่ฝูงเทพนิกร อมรพรหมินธ์ อำมรินทราธิราช
สัคเคกาเม  ซึ่งสิงสถิตย์ ทิพย์พิมานมาศ เมืองสวรรค์ ฉ้อชั้นกามาวจร ทั้งเทพเจ้าอันมี มเหศรศักดาเดช
อันสิงอยู่ในขอบเขต เขาจักรวาล  จันตะลิเขวิมาเน อีกทั้งอากาศพิมาน ภูมะเทวดาเป็นอาทิ ทั้งท้าววตรัฐ
ท้าววิรุณหก ท้าววิรุณปัก ท้าวกุเวรราช อันเป็นใหญ่แก่คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ อนันตนาค ยักษ์เสนาบดี ฝูงผี
โขมดมารยา แม่ห่าเหวโหงพราย อสุรกายอันร้ายกาจ พวกภูติผีปีศาจ ผีเสื้อน้ำ เจ้าประเทศเถื่อนถ้ำ
 ทุกถิ่นแถวลำเนา ห้วยหนองคลองละหาร ธารท่าแลป่าชัฏ ทั้งพระพนัสบดี ศรีพรหมรักษา ยักษ์กุมาร
พระกาฬพระกาลี พระแม่ธรณี พระแม่คงคา พระเพลิงพระพาย เทพยดาทั้งหลาย เสื้อเมืองทรงเมือง
หลักเมือง ผู้มีมหิทธิฤทธิ์ เทพเจ้าอันสถิตย์ ทุกประเทศแว่นแคว้น  แสนโกฏิจักรวาล ทวีปน้อยใหญ่
ไตรโลกธาตุ ขอเชิญเสด็จลงมาสันนิบาต ประชุมให้พร้อมกัน ร่วมกันเป็นสักขีพยาน  ข้าพเจ้าจะทำการ
บวงสรวงสักการะบูชา องค์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพื่อประกาศซึ่งพระเกียรติคุณที่ทรงการุณเมตตาปราณี
     วันนี้วันดี วันศรีมงคล วันอันเป็นกุศล ข้าพเจ้าทุกคน ขออัญเชิญนมัสการ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชธิบดี
ผู้มากมีด้วยอิทธิฤทธฺ์และบารมี ผู้มีดวงจิตแห่งโพธิสัตย์ เชิญเสด็จมาสถิตย์เป็นประธาน ณ อาศน์อันปูลาด
วิจิตรบรรจง สู่มงคลตำแหน่ง ที่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตกแต่งถวาย เพื่อความสบาย เป็นมงคลเจริญ ขออัญเชิญ
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช จงทรงปราโมทย์ ทรงโปรดรับเครื่องสักการะสังเวยพลี  ขอจงทรงมีพระทัยเมตตา
รับเครื่องบูชา ทั้งธูปเทียนมาลา ข้าวปลาภักษาหารทั้งหวานคาว อันข้าพเจ้าทั้งหลาย จำนงคืเนียน น้อมนำถวาย
ขอให้สรรพอุปทวภัยอันตราย อย่าได้มาแผ้วพาน ในขอบเขตสถาน มหาวิทยาลัยรามคำแหงแห่งนี้
    ขอองค์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โปรดให้ศรีสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล คุ้มครองปกปักรักษา บรรดาหมู่ศิษย์ทั้งหลาย
อันมี รองศาสตราจารย์ คิม ไชยแสนสุข ผู้เป็นอธิการบดี นายชัยมงคล เสน่หา นายกสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยรามคำแหง
แห่งนี้ และบรรดาศิษย์ทั้งหลาย ให้มีความสุขเกษมสำราญ จะทำการสิ่งใดขอให้สัมฤทธิ์ผล เจริญชนมายุ บรรลุสมดังความปรารถนา
ทั้งโรคร้ายโรคา อุปสรรคปัญหาและอันตราย อย่าได้มาแผ้วพาน ให้เกิดความรำคาญ เดือดเนื้อร้อนใจ จะทำการสิ่งใดขอให้สถาผล
สำเร็จดั่งความมุ่งมาศปรารถนาทุกประการเทอญ..
       พะยะเก  มะพะยะ...พะยะเก  มะพะยะ...พะยะเก  มะพะยะ...พะยะเก  มะพะยะ...พะยะเก  มะพะยะ
รามคำแหงมหาราชา จะ บูระพาเย  จะเรวะโส  สุขัง นะกัสสะโป  สูปะพะยัญชนะ สัมปันนัง ปริภุญชันตุ  เทวะตา สัพพะโสตถี ภะวันตุเต...
       กายกรรม ๓  วจีกรรม ๔  มโนกรรม ๓  กรรมอันใด ที่ข้าพเจ้าทั้งหลาย  ได้สบประมาทพลาดพลั้ง ล่วงเกินต่อองค์พ่อขุนรามคำแหง
มหาราช  ด้วยกายก็ดี  ด้วยวาจาก็ดี  ด้วยใจก็ดี เจตนาก็ดี  ไม่เจตนาก็ดี รู้ก็ดี  ไม่รู้ก็ดี ต่อหน้าก็ดี  ลับหลังก็ดี  ข้าพเจ้าทั้งหลาย
กราบขอขมาลาโทษ  และขออโหสิกรรม  ต่อองค์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้เป็นจอมปราชญ์มากด้วยบารมี ขอทรงมีพระเมตตา
โปรดอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ขอทรงโปรดช่วยคุ้มครองรักษา บรรดาศิษย์ผู้เคารพบูชาพ่อขุนรามคำแหงทั้งหลาย
ให้พ้นจากภัยอันตราย โรคร้ายโรคาอุปสรรคปัญหา  อย่าได้มาแผ้วพาน  จะทำการสิ่งใดขอให้สัมฤทธิ์ผล มีความสุขความเจริญ
ในชีวิตครอบครัวและหน้าที่การงาน  เพื่อให้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ขจรเกริกก้องเกรียงไกรไพศาล ให้สมกับเป็นลูกหลาน
ศิษย์ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยทั่วหน้ากันเทอญ...
    อายุ วรรณะ  สุขะ พละ
    พุทธังรักษา ธัมมังรักษา  สังฆังรักษา เทวดารักษา  พ่อขุนรามคำแหงมหาราชรักษา
    พุทธังประสิทธิ  ธัมมังประสิทธิ  สังฆังประสิทธิ  ประสิทธิด้วยนะโมพุทธายะ โสธายะ วิกรึงคะเร...
             ....................................................................................
                ด้วยความเคารพ-เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร

 
 

316
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๓
     คนทุกคนมีสมาธิพื้นฐาน(สมาธิตามธรรมชาติ)กันทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง
ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นฐานการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน  เพราะคำว่าสมาธินั้นคือ
จิตที่จดจ่อ สนใจ แนบแน่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นสมาธิตามธรรมชาติที่ทุกคนมีกัน
สมาธินั้นมิได้เกิดจากการภาวนาเพียงอย่างเดียว การที่มีความคิดอยู่กับสิ่งเดียวเป็น
เวลานานๆโดยไม่มีความคิดอื่นมารบกวนนั้น ก็เป็นสมาธิโดยธรรมชาติอย่างหนึ่งด้วย
    เมื่อจิตสงบนิ่งเป็นสมาธิ จิตนั้นย่อมมีพลังมากขึ้นกว่าปกติ ที่เรียกกันวา่ "พลังจิต"
สิ่งที่ตามมาก็คือจะมี"สัมผัสที่หก"มากขึ้นกว่าปกติ เพราะเมื่อจิตเข้าสู่ระบบแห่งความ
สงบ การรับคลื่นสัญญานทางจิตย่อมจะชัดเจนขึ้น เป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้มีสมาธิ
ซึ่งขึ้นอยู่กับกับจริตของแต่ละคนที่สะสมมาจากอดีตชาติ(ของเก่าบุญเก่าที่เคยสร้างมา)
เป็นอภิญญาชนิดหนึ่ง ภาษานักเลงจิตเรียกว่า"ตัวรู้ตัวเห็น" ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นจิตที่โปร่ง
โล่งเบา เป็นสมาธิตามธรรมชาติ มิใช่เกิดจากการภาวนา
    สมาธิที่เกิดจากภาวนานั้นเป็นจิตเชิงพลังงาน มีความหนาแน่นซึ่งเกิดจากการรวมตัวของจิต
ทำให้พลังงานของธาตุในร่างกายนัี้นมีกำลังเพิ่มขึ้น มีพลังงานเป็นเกราะคุ้มครองจิตอยู่
จึงไม่รับรู้ซึ่งพลังงานภายนอกที่มาสัมผัส เพราะความหนาแน่นของพลังงานทางจิตที่รวมกันอยู่
ทำให้ตัวรู้ตัวเห็นไม่เด่นชัด เหมือนสมาธิตามธรรมชาติที่มีความโปร่ง โล่ง เบา เป็นพื้นฐาน
จึงทำให้ผู้ที่มีสมาธินั้นมีผลแตกต่างกัน เพราะสมาธินั้นเป็นของเฉพาะตัว
     มีสิ่งหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมผู้ฝึกสมาธิพึงระวังก็คือ "สัญญาความจำในอดีต "ที่จะผุดขึ้นเกิดขึ้น
ในสภาวะขององค์ฌาน ระหว่างช่วงการเปลี่ยนอารมณ์ ที่เรียกว่า " ช่องว่างระหว่างฌาน "
ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างอารมณ์สุขกับเอตัคตตารมณ์(ระหว่างฌาน ๓ กับฌาน ๔ )คือก่อนที่จิตจะเข้าสู่
ความสงบ ถ้าเราเผลอสติหรือสติตามอารมณ์ไม่ทัน จะมีนิมิตเกิดขึ้น ซึ่งนิมิตนั้นมีที่มาหลายประการ
แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจาก"สัญญาความทรงจำใต้จิตสำนึก" ที่เราเคยคิดเคยนึกและเคยศึกษามา
บางครั้งปรากฏเป็นภาพมายาหลอกตัวเราเองว่าเคยเป็นอะไรมาในอดีตชาติ ทำให้เราหลงอารมณ์
คิดว่าเราระลึกชาติได้ หรือบางครั้งก็จะเกิดมโนภาพเป็นทวยเทพเทวดาครูบาอาจารย์มาสอนธรรม
มาประทับทรง ซึ่งถ้าเราไปหลงในนิมิต ยึดติดในอารมณ์นั้น คิดว่าเป็นเรื่องจริง มันก็จะทำให้เราหลง
อารมณ์ ติดอยู่่ในอารมณ์นั้น การปฏิบัติธรรมก็จะไม่ก้าวหน้า
     การแก้ปัญหาก็คือ เราต้องมาเพิ่มกำลังสติให้มากขึ้น ให้สติตามทันและรู้ทันกับสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น
ให้เห็นที่มาและที่ไป เห็นเหตุและปัจจัยของการเกิดสภาวะธรรมนิมิตทั้งหลาย จึงจะไม่ไปหลงยึดติดใน
อารมณ์นิมิตทั้งหลายนั้น ดังคำครูบาอาจารยืที่ท่านกล่าวไว้เสมอว่า "รู้จริง เห็นจริง แต่สิ่งที่รู้และเห็นอาจจะไม่จริง"
เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติธรรมพึงควรระวัง ให้เราเพียงตามดูตามรู้ตามเห็นในความเป็นไปของสภาวะธรรมทั้งหลาย
แต่ไม่เข้าไปยึดถือ คือไม่เข้าไปปรุงแต่งในอารมณ์เหล่านั้น ให้ดูอารมณ์เหล่านั้นเหมือนเราดูหนังดูละคร
คือเป็นเพียงผู้ชมที่ดี อย่าเอาจิตของเราเข้าไปเป็นผู้กำกับหรือเข้าไปเป็นผู้แสดง ดูจบแล้วให้มันจบไป
อย่าไปอาลัยเสียดายที่มันหายไป อย่าไปหลงดีใจที่ได้รู้และได้เห็น เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเพียง
ทางผ่านของอารมณ์ ทางผ่านของสภาวะธรรม เป็นเรื่องธรรมดาปกติที่ต้องพบเจอในขณะปฏิบัติธรรม
    จิตที่เป็นสมาธินั้นย่อมมีพลังงาน สามารถที่จะสร้างภาพนิมิตขึ้นมาได้ และนิมิตทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่
อันตรายสำหรับผู้ฝึกจิต ถ้าหลงเข้าไปยึดติดในนิมิตนั้น บางครั้งมันเป็นจิตซ้อนจิต คือจิตปัจจุบันและจิตในอดีต
เพราะในช่วงระหว่างอารมณ์ฌาน ๓ ฌาน ๔ นั้น สัญญาในอดีตชาติจะผุดขึ้น เป็นช่วงการเชื่อมต่อระหว่าง
อดีตและปัจจุบัน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเกิดจากจิตของเราเอง เกิดจากพลังสมาธิของเราเองที่สร้างขึ้น จึงควรพึงระวัง
อย่าไปหลงยึดติดคิดว่าเป็นเรื่องจริงจังเพราะจะนำไปสู่ความหลงงมงาย สัญญาวิปลาสได้
             เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรผู้ใฝ่ธรรม
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๓ เวลา ๒๐.๓๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย


317
บทความ บทกวี / อุทานธรรมในยามเย็น
« เมื่อ: 24 มิ.ย. 2553, 06:38:30 »
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๓
           แต่ละวันที่ผ่านไป มีเรื่องราวมากมายผ่านเข้ามาในชีวิต ให้เราคิดและเราทำ
จดจำเพียงสิ่งที่เป็นสาระ สิ่งที่เป็นขยะทางความคิดลบมันไปไม่จดจำ ใช้สติใคร่ครวญ
ทบทวนสิ่งผ่านเข้ามา ว่าสิ่งไหนเป็นสาระ สิ่งไหนไม่เป็นสาระ พิจารณาให้เห็นคุณ
เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามา พิจารณาเข้าสู่่่
ความเป็นกุศลและอกุศล มีสติเตือนตนให้อยู่ในความไม่ประมาท ไม่ปรุงแต่งในอกุศล
ประคองจิตของตนให้อยู่ในธรรม น้อมนำจิตเข้าสู่ความสงบนิ่ง มองทุกสิ่งให้เป็นธรรมะ
        เมื่อจิตเข้าสู่ความเป็นสมาธิ มีความสงบนิ่งอยู่ มีสติระลึกรู้ในสภาวะแห่งความสงบ
เราก็จะพบกับความเป็นจริง ทุกสิ่งจะเข้าสู่ความเป็นระบบ จิตที่ทำหน้าที่บันทึกความจำ
จะทำหน้าที่ แยกแยะข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่่และบันทึกไว้ในความทรงจำ ข้อมูลไม่สับสน
ความคิดของเรานั้นจะเป็นระบบ เพราะมีความสงบควบคุมอยู่ รู้ในสิ่งที่ควรรู้ จำในสิ่งที่ควรจำ
ทำในสิ่งที่ควรทำ สิ่งนั้นเกิดจากจิตที่มีสมาธิ และมีสติระลึกรู้ควบคุมอยู่
       สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่ความฝันหรือจินตนาการ แต่เป็นการที่เกิดจากการฝึกจิต ฝึกคิด
ฝึกทำอย่างสม่ำเสมอ จนเกิดความชำนาญในการคิดและการทำ เกิดจากการเจริญรักษาสติ
สมดั่งคำที่ว่า " เมื่อเรารักษาสติให้ดีแล้ว สตินั้นจะรักษาเรา " กายและจิตจะเป็นหนึ่งเดียวกัน
เพราะการรู้เท่าทันในกายและจิต รู้เท่าทันความคิดและการกระทำ รู้ในสิ่งที่ควรจำและไม่ควรจำ
คือการปฏิบัติอย่างเรียบง่ายสบายๆ เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการทำที่จิต เพราะไม่มีความคิด
ที่จะแสดงให้ใครรู้ว่าเราปฏิบัติธรรมอยู่
       การปฏิบัติธรรมนั้น เป็นการกระทำเฉพาะตน ไม่ได้หวังผลที่จะโอ้อวดใคร มิได้เป็นไปเพื่อ
หวังในโลกธรรม ๘ อันได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นไปเพื่อความดับทุกข์และความสุขในธรรม
รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม แต่ยังไม่ได้ทำ ยังไม่เรียกว่าผู้ปฏิบัติธรรม เป็นได้เพียงผู้ชื่นชมในธรรม
 ผู้วิจารน์ธรรมเท่านั้นเอง หาใช่ผู้ปฏิบัติธรรมไม่ เพราะยังมิได้ทรงไว้ในธรรม
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดีในทางธรรม
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๘.๓๘ น. ณ ศาลาน้อยริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย

         
         

318
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓
    ว่างเว้นจากการเขียนบทกวีมานานพอสมควร เพราะติดภาระกิจงานก่อสร้าง
เพราะการสร้างงานกวีนั้น สิ่งจำเป็นคือต้องมีจินตนาการ ใช้การปรุงแต่งของจิต
ในการคิดคำสร้่างภาษาที่สวยงาม ตามแบบอัตตลักษณ์ของบทกวีที่เราเขียน
มีคนถามเสมอว่า " คิดได้อย่างไร ทำไมจึงจะเขียนบทความและแต่งบทกวีได้"
ก็ตอบเขาไปว่า "หลักการง่ายๆคือเป็นผู้อ่านที่ดีมาก่อน จงอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า"
เพราะการอ่านมากๆนั้น เราจะได้ภาษาคำศัพย์ สำนวนและมุมมองของผู้เขียนแต่ละท่าน
ที่สร้างสรรค์ผลงานออกมา " อักษรแต่ละตัวมีคุณค่ามหาศาลและเป็นอาจารย์ของเรา"
    ภาษาไทยนั้นเป็นภาษาที่สวยงาม จงช่วยกันสืบสานภาษาและวัฒนธรรมอันดีงาม
ของไทย อย่าได้มักง่ายในการใช้ภาษา ซึ่งในปัจจุบันนี้มีความสับสนในการใช้ภาษา
เอาภาษาพูดมาเป็นภาษาเขียน และเข้าใจความหมายของศัพย์แต่ละคำผิดเพี้ยนไป
ไม่เข้าใจคำพ้องรูป พ้องเสียงและสำเนียงภาษาพูดของแต่ละท้องถิ่น ทำให้ภาษาวิบัติ
ซึ่งเป็นการทำลายวัฒนธรรมภาษาที่ดีงามในการใช้ภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไป
    เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยจะสนใจในภาษาไทย ไม่ให้ความสนใจในบทกวี
มีความคิดเห็นว่า การเขียนบทกวีนั้นมันเป็นเรื่องที่ล้าสมัยน่าเบื่อ เป็นเรื่องของคนหัวโบราณ
เป็นเรื่องที่ไม่ทันสมัย ทำให้เกิดความมักง่ายในการใช้ภาษา เพราะว่าต้องการความรวดเร็ว
ในการโต้ตอบกัน ทำให้ไม่ให้ความสำคัญในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง
จึงขอวิงวอนทุกท่านโปรดช่วยกันสืบสานภาษาและวัฒนธรรมที่ดีของไทยสืบต่อไปให้ยืนยาว
ด้วยการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง " ภาษาไทยถ้าตั้งใจ มีสติในการใช้ จะไม่มีคำว่าผิด "
    ขอฝากเป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจต่อท่านทั้งหลาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งการเขียนภาษาไทยให้ถูกต้อง
โดยเริ่มจากตัวเรา ขอเพียงเราไม่เป็นผู้ทำลายภาษาอันสวยงามของเรา มีจิตสำนึกในความเป็นไทย
ก็เป็นการรักษาไว้ซึ่งชาติพันธ์ความเป็นคนไทยของเรา
             เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๖.๔๐ น. ณ ศาลาน้อยริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไำทย





319
ตถตาอาศรม  ริมฝั่งโขง
 ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓
      การยกจิตขึ้นสู่การพิจารณาธรรมนั้น เป็นขั้นตอนในการปฏิบัติหลังจากจิตนั้นนิ่งสงบแล้ว
เมื่อจิตเข้าสู่สภาวะความโปร่ง โล่ง เบา สว่าง สงบ สบาย และทรงไว้ในอารมณ์นั้นจนเต็มที่
จึงถอนจิตกลับมาสู่การพิจารณาธรรม การพิจารณาธรรมนั้นให้เริ่มจากการพิจารณาร่างกาย
เป็นลำดับแรก โดยการกำหนดรู้ไปทั่วกาย กำหนดภาพร่างกายภายนอกของเราให้เห็นชัด
วิธีการนี้เรียกว่าเอาจิตมาคุมกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งจิตออกไปนอกกาย เอาจิตมาไว้กับกาย
ดูกายด้วยตาใน คือความรู้สึกของเรา จนเห็นรูปกายนั้นเด่นชัด เมื่อเห็นรูปกายภายนอกเด่นชัดแล้ว
ให้กำหนดระลึกรู้เข้าไปสู่ภายในกายของเรา กำหนดรู้ในอาการ ๓๒ ของกายเรา จนเห็นซึ่งอาการ ๓๒นั้น
     เมื่อเห็นอาการ ๓๒ ของกายเด่นชัดแล้ว จึงพิจารณาอาการ ๓๒ นั้นไปสู่การเป็นธาตุ คือ ดินน้ำลมไฟ
แยกธาตุที่ประกอบเป็นกายนั้นแล้วคืนสู่ธรรมชาติ  เพราะธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ในร่างกายเรานั้น
เป็นธาตุเหมือนกันกับธาตุในธรรมชาติทั้งหลาย แต่แตกต่างกันไปเพียงสภาวะการตั้งอยู่เท่านั้น เป็นธาตุตัวเดียวกัน
พิจารณาจนธาตุนั้นสลายไป แยกจิตแยกกายออกจากกัน เหลือเพียงจิตรู้คือวิญญาณธาตุ ที่มาอาศัยกายนี้เท่านั้น
พิจารณาอย่างนั้นกลับไปกลับมา จนมีความชำนาญเข้าใจในกาย สามารถกำหนดรู้ได้ทุกครั้งเมื่อจิตผ่านความสงบ
     การพิจารณาธรรมในเรื่องกายนี้ คืออารมณ์ธรรมในองค์ฌาน คือองค์แห่งวิตกวิจาร การตริตรองใคร่ครวญในธรรม
ยังเป็นอารมณ์ของสมถะกรรมฐาน เพราะยังอยู่ในอารมณ์ฌาน มีสมาธิควบคุมอยู่ อย่าหลงคิดว่าเป็นวิปัสสนาเป็นปัญญา
เพราะว่ายังอยู่ในองค์แห่งฌาน ยังอยู่ในอารมณ์สมาธิอยู่ เป็นการทำความรู้ความเข้าใจในกายของเรา ให้เห็นในกายทั้งหลาย
ทั้งภายนอกและภายใน " ดูกายภายนอก ดูกายภายใน " จนเข้าใจกายว่ามันเป็นอย่างไร มันประกอบด้วยอะไร ไม่มีความสงสัย
เพราะเข้าใจในกายนี้ ซึ่งการพิจารณาอย่างนี้ผลที่ตามมาคือจะทำให้การยึดถือในกาย ในตัวตนของเรานั้นเบาบางลง ลดลง
มานะทิฐิและอัตตานั้นจะลดลงเมื่อเราเข้าใจในกายและไม่เข้าไปยึดถือ
    เพียรพิจารณากายของเราอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนมีความชำนาญในกาย ซึ่งการพิจารณาอย่างนี้จะมีผลเมื่อเรายกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา
ในสติปัฏฐาน ๔ ในฐานกาย ซึ่งเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ให้พิจารณากายให้ชำนาญเสียก่อน อย่าใจร้อนรีบไปพิจารณา
เวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เพราะเราต้องสร้างฐานให้มั่นคงเสียก่อน เพราะฐานของจิตของธรรมทั้งหลายนั้นก็คือกายของเรา
ซึ่งการพิจารณาธรรมขั้นต่อไปนั้นจะอธิบายในลำดับชั้นต่อไป หลังจากเรารู้เราเข้าใจในฐานกายชัดเจนชำนาญแล้ว
                 ด้วยความปรารถดีและไมตรีจิตแด่มิตรผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลาย
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๒๐ น. ณ ศาลาน้อย ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย

320
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๓
    ในยุคสมัยแห่งความสับสนวุ่นวาย ผู้คนขาดที่พึ่งทางใจเพราะหลงใหลติดอยู่กับวัตถุนิยม
ห่างเหินจากหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเมื่อชีวิตประสพกับปัญหา
ไม่เป็นไปอย่างที่มุ่งหวังตั่งใจไว้ ใจก็เกิดความทุกข์ความวุ่นวาย เพราะหาทางออกไม่ได้
จึงหันกลับมาสนใจคำสอนในพระบวรพุทธศาสนา หันเข้าศึกษาและปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น
ซึ่งในปัจจุบันนี้มีความสะดวกสบายหาข้อมูลได้ง่าย เกี่ยวกับหลักธรรมและแนวทางปฏิบัติ
ซึ่งในการศึกษาหาข้อมูลสำหรับการปฏิบัตินั้น เราต้องใช้วิจารณญานเลือกเฟ้นให้เหมาะสม
กับจริตของเรา  " อย่าเชื่อทันที ที่ได้ยินได้ฟังได้อ่าน เพราะอาจจะนำไปสู่ความงมงาย "
 " อย่าปฏิเสธทันที ที่ได้ยินได้ฟังได้อ่าน เพราะอาจจะทำให้เราเสียโอกาศขาดประโยชน์ "
" ควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบครอบ ควรจะทดลองพิสูจน์ฝึกฝนที่ใจตนให้เกิดความกระจ่างชัด
แล้วจึงเชื่อหรือปฏิเสธ " ขบวนการที่กล่าวมานั้นเรียกว่า " ปริยัติ " เพราะเราต้องมีความรู้พื้นฐาน
มีข้อมูล และมีแนวทางในการปฏิบัติ รู้ว่าการปฏิบัตินั้นเป็นกรรมฐานในกองใดในกรรมฐาน ๔๐
และการปฏิบัตินั้น เป็นสมถะภาวนา หรือเป็นวิปัสสนา เพื่อจะไม่ได้หลงทาง
      เมื่อเข้าสู่การปฏิบัติเจริญภาวนานั้น เราต้องปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิดของเราเสียก่อน
เพื่อให้กายและใจของเรามีความพร้อมที่จะรองรับสภาวะธรรมที่จะเกิดขึ้้น  การปรับกายนั้นคือ
การสำรวจตรวจดูร่างกายของเรา ลมหายใจของเรา หายใจสะดวกหรือไม่  อุณหภูมิในร่างกาย
สูงเกินไปหรือไม่ กล้ามเนื้อ เอ็นกระดูก มันตึง มันปวดหรือไม่ ปรับร่างกายของเราให้เข้าสู่สภาวะปกติ
จัดร่างกายของเราให้อยู่ในท่าที่สะดวกสบาย ปรับความร้อนในร่างกายของเราลงให้เป็นปกติ
ถ้ามันร้อนเกินไปก็ให้หายใจเข้าออกให้ลึกสุดกำลังลมอย่างช้าๆ ยืดกายของเราขึ้นให้ตรง
เพื่อให้เลือดลมเดินได้สะดวก ถ้ามีอาการปวดเมื่อย ก็ให้ขยับแขนขา บริหารร่างกายเพื่อคลายกล้ามเนื้อ
เมื่อเราปรับกายของเราให้เข้าสู่สภาวะปกติได้แล้ว จึงเข้าสู่ขบวนการปรับจิต ปรับความคิดของเรา
      การปรับจิตนั้นก็เพื่อที่จะลดความกังวล(ปลิโพธ) ปรับจิตของเราเข้ามาสู่ความเป็นกุศลจิต
คือคิดถึงสิ่งที่ดีงาม คิดถึงความดีทั้งหลาย เพื่อคลายความโกรธ ความอาฆาต ความพยาบาท
ความโลภ ความกำหนัดในกามทั้งหลาย ความวุ่นวายฟุ้งซ่าน ปลุกใจให้ตื่นจาดกความซึมเซา
หอหู่ อ่อนล้า เพื่อให้มีศรัทธาในการทำความดีทั้งหลาย โยการนั่่งระลึกคิดถึงความดีที่เราได้เคยทำมา
มองย้อนกลับไปว่าในชีวิตของเราที่ผ่านมานั้น เราได้เคยทำความดีอะไรที่มันประทับใจของเรา
จำได้เสมอไม่เคยลืม มองย้อนคิดกลับไปถึงความดีที่เราเคยกระทำมา จนรู้สึกว่าจิตมันมีความเพลิดเพลิน
และมีความภาคภูมิใจในสิ่งที่เราได้กระทำลงไป  การระลึกนึกถึงความดีที่เราได้เคยกระทำมานั้น
มันจะทำให้ใจของเราเป็นสุข เกิดปิติยินดีในกุศลกรรมที่เคยทำมา จิตของเราก็จะเป็นกุศลจิต
เพราะว่าคิดถึงแต่สิ่งที่ดีงาม ที่เป็นบุญเป็นกุศล มันจะรู้สึกสดชื่นเบิกบานในจิต อิ่มอยู่ภายในจิต
     เมื่อความรู้สึกอย่างนั้นเกิดขึ้นแล้ว เราจึงน้อมจิตเข้าสู่การภาวนาตามกรรมฐานที่เราศรัทธา
ศึกษาและมีแนวทางแล้ว ให้เริ่มภาวนาจากจิตที่โปร่ง โล่ง เบา สบาย คลายความกังวลทั้งหลาย
ทำแบบสบายๆ อย่าไปตั้งใจมุ่งหวังจนเกินไป ซึ่งมันจะกลายเป็นการกดจิตและกดดันตัวเองจนเกินไป
 " อย่าเกร็ง อย่าเคร่ง เพราะมันจะทำให้เครียด " เพราะถ้าเกร็งและเคร่งเกินไปมันจะทำให้เครียด
ปฏิบัติภาวนาไปไม่นานมันจะเกิดอาการอึดอัด ปวดเมื่อย และมึนงง และนำไปสู่ความฟุ้งซ่าน
ปฏิบัติไม่ได้นาน เกิดความรำคาญ เบื่อหน่าย และเลิกปฏิบัติไปในที่สุด
      คำวา่ " ภาวนา "นั้น คือการทำให้ดีขึ้น เจริญขึ้น พัฒนาขึ้น ถ้าจิตเริ่มต้นของเราเป็นกุศลจิต
เมื่อเราเจริญภาวนา ความเป็นกุศลจิตนั้นก็จะเพิ่มขึ้น พัฒนายิ่งขึ้น ความสุขในธรรมก็จะเพิ่มขึ้น
จะเกิดความโปร่ง โล่ง เบา สบาย สงบ จิตจะเกิดความปิติในธรรมมีความเอิบอิ่ม เบิกบานในจิต
เราจึงควรมาปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิด ของเราเสียก่อนที่จะเข้าสู่การภาวนา อย่าไปกดจิต
ในสภาวะที่ร่างกายและจิตของเรายังไม่พร้อม เพราะว่าเรามีกำลังที่จะข่มอารมณ์นั้นมิได้นาน
พอหมดกำลังที่จะข่ม จิตมันก็จะฟุ้งซ่านระเบิดออกมา ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาทางจิตเพิ่มขึ้น
เพราะว่าเราขากพื้นฐานที่ดีและถูกต้องในการปฏิบัติ
      จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิด ให้ท่านนำไปพิจารณา สำรวจตรวจสอบดูว่า การภาวนาของเรานั้น
มีความเจริญก้าวหน้าในธรรมหรือไม่ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความเจริญก้าวหน้าในธรรมไม่เกิดขึ้น
การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องทำโดยมีสติ แล้วความเป็นสมาธิจะเกิดขึ้นเอง
         ขอความสุข ความเจริญในธรรมจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลายผู้ใฝ่ธรรม
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๖.๕๖ น. ณ ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย

     


321
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง
 ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๓
           ผู้ที่สักยันต์มักจะเจอคำถามเหล่านี้อยู่เป็นประจำ " สักยันต์กันทำไม " " ทำไมต้องสักยันต์ "
" สักยันต์แล้วได้อะไร "เป็นคำถามยอดนิยม ก็ต้องตอบกันอธิบายกันไปทุกครั้งที่ถูกถามคำถามเหล่านี้
เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ถาม เพื่อเปลี่ยนทัศนะคติของเขาในการมองผู้สักยันต์เสียใหม่
ซึ่งต้องใช้เวลานานในการทำความรู้ความเข้าใจ อธิบายขยายความให้ผู้ฟังได้เข้าใจ จึงได้เขียนบรรยาย
ไว้และพิมพ์แจกให้เขาเอาไปอ่าน เพื่อการประหยัดเวลาในการอธิบายขยายความ...
                 :059: สักยันต์กันทำไม.? ทำไมต้องสักยันต์.? สักยันต์แล้วได้อะไร.? :059:
        การสักนั้นมีมาแต่โบราณ มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก แตกต่างไปตามความเชื่อและวัฒนธรรมของแต่ละถิ่น
ซึ่งในสมัยโบราณนั้น มีเหตุมาจากความเชื่อและความศรัทธา เพื่อเป็นขวัญเป็นกำลังใจและเป็นสัญลักษณ์ของเผ่า
ตามความเชื่อและวัฒนธรรมของแต่ละถิ่น ซึ่งในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า เขมร ลาว เวียดนาม
การสักในสมัยโบราณนั้น เป็นการสักยันต์เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ มีความเชื่อมั่น ศรัทธา เพื่อให้เข้มขลังมีปาฏิหารย์
สัมฤทธิ์ผลดังยันต์ที่สักไว้บนร่างกาย โดยมีการเสกเป่าเชิญครูบาอาจารย์มาคุ้มครองรักษากำกับไว้ทุกครั้งที่สักยันต์
       ในสมัยโบราณนั้นนิยมสักยันต์กันเฉพาะผู้ชาย เพราะผู้ชายนั้นมีหน้าที่คุ้มครองรักษาชุมชนหมู่บ้านและต้อง
ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารไปออกทัพจับศึก และบางครั้งไม่สะดวกที่จะพกพาเอาเครื่องราง ของขลังติดตัวไปออกศึก
และเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้ฮึกเหิมไม่หวั่นกลัวต่อข้าศึกและภัยอันตรายทั้งหลาย จึงนิยมสักยันต์กัน
ซึ่งมีทั้งการสักด้วยหมึกเพื่อให้เห็นอักขระเลขยันต์และการสักด้วยน้ำมันเพื่อซ่อนอักขระเลขยันต์บนร่างกาย
      วิชาสักยันต์นั้นสืบทอดกันมาแต่โบราณ ซึ่งสมัยนั้นครูบาอาจารย์ผู้สักยันต์ให้เป็นฤาษีผู้บำเพ็ญตบะแก่กล้า
และสืบทอดวิชากันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ทำให้ก่อนที่เราจะสักยันต์นั้น เราจะต้องมีการบูชาครู เพื่อระลึกถึงครูบาอาจารย์
ทุกครั้งก่อนที่เราจะสักยันต์ และเมื่อสักยันต์เสร็จแล้วก็จะมีการปลุกเสก เป่ามนต์คาถา เชิญครูบาอาจารย์มาคุ้มครอง
กำกับอักขระเลขยันต์ทุกครั้ง เพื่อความขลังและเสริมสร้างศรัทธาความเชื่อมั่นในยันต์ที่สักลงไปให้แก่ผู้ที่ถูกสักยันต์
การเป่ามนต์คาถานั้น เป็นการบริกรรมภาวนาเพื่อให้เกิดสมาธิและมีการอธิษฐานจิตหลอมไปตามความหมายมนต์คาถานั้น
ยันต์ที่สักลงไปนั้นจึงมีความขลังมีพลังประจุอยู่
     เพื่อเป็นการควบคุมต่อศิษย์ที่สักยันต์ให้ ครูบาอาจารย์ท่านจึงตั้งกฏข้อปฏิบัติให้แก่ศิษย์เพื่อวัดศรัทธาของศิษย์
ว่าจะมีความเคารพศรัทธาต่อครูบาอาจารย์หรือไม่ ซึ่งกฏข้อปฏิบัติส่วนใหญ่จะเป็นไปในกรอบของศีลธรรมอันดีงาม
และเป็นการฝึกสติให้แก่ศิษย์ เพราะการรักษาข้อห้ามกฏกติกานั้นจำเป็นต้องมีสติและความเคารพศรัทธาควบคุมอยู่
เมื่อเขามีสติ มีศรัทธาเชื่อมั่นในยันต์ที่สักมา ในครูบาอาจารย์ที่สักมา มันก่อให้เกิดสมาธิและปาฏิหารย์ย่อมเกิดขึ้น
     แต่ในยุคสมัยปัจจุบันนั้นการสักยันต์ส่วนใหญ่ได้เปลียนแปลงไป เป็นสมัยกระแสนิยมคือสักยันต์ไปตามกระแส
เป็นแฟร์ชั่นนิยม ขาดซึ่งศรัทธาที่แท้จริง เป็นการสักเพื่อโอ้อวด แข่งขัน ประชันความสวยงามกัน ย่อหย่อนในข้อวัตร
ปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์ท่านได้กำหนดและปฏิบัติกันมา ทั้วผู้ที่ตั้งตนเป็นอาจารย์สัก และผู้ที่ถูกสักขาดการศึกษา
ในข้อห้ามข้อปฏิบัติเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ภาพพจน์ของผู้สักยันต์นั้นต่ำลง เพราะผู้ที่สักยันต์นั้นไม่ปฏิบัติตามข้อห้าม
ข้อปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ท่านกำหนดไว้ ประพฤติตนไม่เหมาะสม ทำตัวเสื่อมเสีย ไม่อยู่ในศีลธรรมดั่งเจตนาของครูบาอาจารย์
ทำให้คนทั่วไปที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ มองผู้สักยันต์ในทางที่ลบ
     การสักยันต์นั้น เราต้องมีความเคารพศรัทธา เชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์และมีคุณธรรมประจำใจ
ปาฏิหารย์เกิดจากศรัทธา ความเจริญก้าวหน้าเกิดจากคุณธรรม การสักยันต์นั้นเพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้เพิ่มขึ้น
และเป็นการระลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ประสาทประสิทธฺ์ยันต์นั้นให้แก่เรา เพื่อให้เรามีสติและคุณธรรมในการดำรงค์ชีวิต
คนที่เคารพเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าและประสพกับความสำเร็จในชีวิต
ถ้าเราสักยันต์ไปแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามข้อห้ามข้อกำหนดที่เรียกว่า" ผิดครู" ยันต์ที่สักไปนั้นก็ไม่มีความขลัง
ไม่มีปาฏิหารย์ เป็นเพียงรอยสีรอยหมึกรูปภาพบนร่างกายเท่านั้น แต่ถ้าผู้ที่สักยันต์มานั้นนำข้อวัตรข้อปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์
ท่านกำหนดไว้ไปประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรม ก็ย่อมมีความสำเร็จดังปรารถนาสมกับยันต์ที่ได้สักลงมาบนร่างกาย
เพราะมีความเคารพ เชื่อมั่น ศรัทธา มีสติและคุณธรรมคุ้มครองจิต ชีวิตของเขาย่อมมีความสุขความเจริญ
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๒๘ น. ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

322
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๓
     การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังซึ่งบุญกุศล เพื่อความเป็นมงคลของชีวิต
ซึ่งต้องดูที่ดำริ เจตนาในการปฏิบัติ ว่าผู้ปฏิบัตินั้นปรารถนาอะไรจากการปฏิบัติธรรมนั้น
และสิ่งที่ตั้งใจปรารถนานั้น เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศลหรือไม่ หรือเป็นไปเพื่ออกุศล
คือความอยากดี อยากเด่น อยากดัง มุ่งหวังคำสรรเสริญ ลาภสักการะ ประโยชน์ส่วนตน
ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นต้องทำความรู้ความเข้าใจในเจตนาของตนเองเสียก่อน เพื่อให้ไม่หลงทาง
เพราะว่าถ้าผิดแต่เริ่มต้น ผลต่อไปมันก็จะออกมาผิดทาง ไปผิดทาง
     การปฏิบัติธรรมนั้นท่านให้เป็นไปตามลำดับ เพื่อปรับธาตุ ปรับอินทรีย์ให้มีความพร้อม
โดยเริ่มจากการให้ทานก่อน เพื่อปรับจิตใจให้มีความอ่อนโยน มีความเมตตา โอบอ้อมอารี
มีความเสียสละ ละความเห็นแก่ตัวลงเสียก่อน ควบคู่กับการรักษาศีล เพราะการรักษาศีลนั้น
คือการเจริญสติ ควบคุมกายและจิตไม่ให้ผิดข้อวัตรปฏิบัติ มีสติควบคุมอยู่เพื่อให้ไม่ผิดศีล
สิ่งที่ได้จากการรักษาศีล คือสติและองค์แห่งคุณธรรม คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
เพราะเรามีคุณธรรมข้อนี้ เราจึงไม่ล่วงละเมิดผิดศีลทั่งในที่ลับและในที่แจ้ง
    เมื่อเข้าสู่การภาวนาเพื่อให้เกิดสมาธินั้น ก็เป็นไปตามกรรมฐานที่เรามีความชอบมีความศรัทธา
คือศรัทธาในครูบาอาจารย์ที่เป็นต้นแบบ ศรัทธาในการประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่ครูบาอาจารย์
ท่านแนะนำ คือทำในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่ใช่ แล้วเราจะทำได้อย่างมีความสุขและจะมีความเจริญ
และควรลองปฏิบัติให้ทุกแนวทาง ทุกกองกรรมฐาน เพื่อหาธรรมะที่เหมาะสมกับจริตของเรา
ซึ่งถ้าถูกกับจริตของเราแล้ว กรรมฐานแนวนั้นจะมีความเจริญในธรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเรา
อย่าไปปฏิบัติตามกระแสนิยม อาจารย์ท่านนั้นมีชื่อเสียงคนขึ้นมาก ดังมากแล้วเราก็ไปปฏิบัติตาม
สำนักนั้น พอมีสำนักอื่น อาจารย์ท่านอื่นดังขึ้นมาใหม่ก็เปลี่ยนไปปฏิบัติตามแนวของอาจารย์ท่านใหม่
เรียกว่าแห่กันไปตามกระแสนิยม ติดอยู่ในตัวบุคคล ไม่ได้สนใจในธรรมอย่างแท้จริง
    สิ่งที่ควรจะระวังก็คือเมื่อปฏิบัติพอเริ่มรู้เริ่มเข้าใจธรรม ให้ระวังตัวมานะทิฐิว่าคนอื่นนั้นไม่ดีเท่าเรา
เราดีเรากว่าเขาขาดความเคารพ แม้ภายนอกจะดูอ่อนน้อม แต่ภายในจิตใจนั้นเย่อหยิ่งถือตัวถือตน
มันเป็นจิตวิปลาส สัญญาวิปลาส อันเกิดจากการปฏิบัติที่ลัดขั้นตอน คือข้ามเรื่องทานและศีลไป
มาเริ่มที่สติ ที่สมาธิ ที่ธรรม ขาดพื้นฐานแห่งคุณธรรม  คือสติที่มีองค์แห่งคุณธรรมคุ้มครองจิต
และจิตใจที่ยังไม่ถูกขัดเกลาให้มีความเมตตาเสียสละ ละความเห็นแก่ตัว คือจิตของผู้ปฏิบัตินั้น
ยังหยาบกระด้างอยู่ เมื่อปฏิบัติพอเริ่มรู้ เริ่มเข้าใจจึงเกิดอัตตามานะทิฐิ คิดว่าตนดีกว่าผู้อื่นเก่งกว่า
ผู้อื่น จาบจ้วงล่วงเกินผู้อื่นทางจิต ไม่มีความเคารพ ศรัทธาอยู่ภายในจิต เรียกว่าจิตวิปลาส สัญญาวิปลาส
เพราะขาดการเริ่มต้นที่ถูกวิธี ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน ไม่ได้ปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิด ให้มีความพร้อม
เสียก่อน จิตนั้นจึงไม่สามารถที่จะรองรับสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นได้ และตามอารมณ์ธรรมที่เกิดขึ้นได้ไม่ทัน
ไม่เห็นการเกิดดับของอารมณ์ธรรมที่เกิดขึ้น นำไปสู่ความหลงตัวหลงตน เพิ่มพูนซึ่งอัตตามานะทิฐิ
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรพึงจะสังวรระวังมิให้เกิดขึ้นแก่ตน
    สำรวจกาย สำรวจจิต ดูความคิด ดูการกระทำ คือหัวใจของผู้ปฏิบัติธรรมที่ควรกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ
เพื่อไม่ให้เกิดการหลงทาง หลงอารมณ์ เพื่อความเจริญในธรรมที่ถูกต้องตามธรรมตามวินัยในหลักของ
พระพุทธศาสนา การภาวนานั้นคือการทำให้ดีขึ้นเจริญขึ้น สิ่งที่ดีขึ้นเจริญขึ้นนั้นก็คือความเป็นกุศลทั้งหลาย
ความดีทั้งหลาย ทั้งภายนอกและภายใน คือความเจริญของคุณธรรมที่เพิ่มขึ้น
   จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ให้นำไปคิดพิจารณา เพื่อให้เกิดปัญญา
มีความเจริญก้าวหน้าในทางธรรม น้อมนำไปประพฤติปฏิบัติกัน ตามกำลังศรัทธาของแต่ละท่าน
             ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มิตรในทางธรรม
                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๒๐ น. ณ ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย
   

323
บทความ บทกวี / ฐิตคุโณทักษิณา
« เมื่อ: 10 มิ.ย. 2553, 10:51:51 »
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง
   ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๓
     วันเวลาผ่านไปไม่เคยหยุดนิ่ง   สรรพสิ่งเสื่อมทรามตามสมัย
เมื่อศีลธรรมไม่กลับมาโลกบรรลัย   เพราะจิตใจเสื่อมทรามตามเวลา
แม้นสายลมสายน้ำจะเปลี่ยนทิศ    แต่ดวงจิตนั้นควรจะรักษา
ให้มั่นคงดำรงค์ซึ่งศรัทธา            แล้วศีลธรรมจะกลับมาสู่จิตใจ
    ....................................................................
 เวลาผ่านไปใกล้จะครบ ๘ ปี ที่หลวงพ่อท่านได้จากพวกเราไป เหลือไว้แต่บารมีธรรม
ความทรงจำที่ดีงาม ที่หลวงพ่อเมตตามอบให้แก่ศิษย์ทั้งหลาย ไม่เคยลืมเลือนจากใจ
เหล่าศิษย์ทั้งหลายระลึกถึงซึ่งเมตตาธรรมคำสอนของหลวงพ่ออยู่เสมอไม่เคยเปลี่ยนแปลง
และร่วมแรงร่วมใจสืบทอดเจตนาธรรมของหลวงพ่อตลอดมา พร้อมทั้งรักษาและประกาศ
เกียรติคุณของหลวงพ่อและวัดบางพระให้เป็นที่ประจักษ์ต่อคนรุ่นหลังให้ได้รู้ได้เข้าใจ
ในสิ่งทั้งหลายที่หลวงพ่อได้บำเพ็ญมา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทั้งทางโลกและทางธรรม
เป็นแบบอย่างชี้นำในทางธรรมแก่ศิษย์ทั้งหลาย ให้ประพฤติปฏิบัติตามเพื่อความเจริญ
งอกงามในทางโลกและทางธรรม สิ่งนั้นคือบารมีธรรมที่หลวงพ่อท่านได้มอบให้แก่ศิษย์
อยู่ในจิตในใจไม่เคยลืมเลือน ย้ำเตือนให้ระลึกถึงอยู่เสมอ หลวงพ่อท่านจากศิษย์ไป
เพียงสรีระร่างกาย แต่บารมีธรรมทั้งหลายที่ท่านมอบให้ยังอยู่ในใจของศิษย์เสมอ...
                        ............................................
                             ฐิตคุโณทักษิณา
                   ฐิตคุณาสักการะ       กราบพระอุดมประชานาถ
พระอาจารย์ผู้ซึ่งประสิทธิ์ประสาท      ขอประกาศซึ่งนาม"ฐิตคุโณ"
หลวงพ่อเปิ่นพระอาจารย์วัดบางพระ   อักขระเลขยันต์นั้นเขื่องโข
ได้สร้างวัดบางพระจนใหญ่โต           เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้พึ่งพิง
เกียรติคุณเลื่องลือเป็นประจักษ์         ท่านเป็นนักพัฒนาสรรพสิ่ง
รูปธรรมให้เห็นความเป็นจริง            ไม่หยุดนิ่งเพราะเมตตาบารมี
คนกล่าวขานร่ำลือและบอกเล่า         "เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำนครชัยศรี"
คือผลงานคุณค่าแห่งความดี            ที่ท่านมีเมตตาสาธุชน
   อันสังขารร่างกายไม่เที่ยงแท้        มีเกิดแก่เจ็บตายไปทุกหน
พระไตรลักษณ์คือหลักแห่งสากล      คนทุกคนเกิดแก่และเจ็บตาย
เมื่อสามสิบมิถุนาปีสี่ห้า                  หลวงพ่อลาสังขารกาลสลาย
ท่านจากไปเพียงตัวและเพียงกาย     ศิษย์ทั้งหลายระลึกนึกถึงคุณ
วันเวลาผ่านมาถึงห้าสาม                แปดปีตามการนับสนับสนุน
ให้ระลึกถึงเมตตาและการุณ            จึงแทนคุณทักษิณาพระอาจารย์
       ..................................................................
                กตัญญูููู บูชาครู ด้วยจิตศรัทธามั่นไม่ผันแปร
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๕๑ น. ณ ศาลาน้อยริมฝั่งแม่น้ำโขง ชายขอบประเทศไทย


324
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
วันอังคารที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓
                      :059:ลอยล่อง  เคว้งคว้าง  กลางสมุทร
                               หาจุด      มุ่งหมาย   ใฝ่คว้า
                               หนทาง    ยังไกล     สุดตา
                               มองหา     มองเห็น   เส้นทาง
                    เรือน้อย     ลอยล่อง    ล่าฝัน
                    ผ่านวัน       เวลา       ร่วมสร้าง
                    ฝันไว้         คงไม่     เลือนลาง
                    รุ่งสาง        คงเห็น    แสงทอง
                              คลื่นลม   พัดโหม    กระหน่ำ
                              เมฆดำ    ทำฟ้า     หม่นหมอง
                              เรือน้อย    ต้องคอย  ประคอง
                              ให้ล่อง       ถึงฝั่ง     ดังใจ
                    เก็บภาพ    ริมทาง    สร้างฝัน
                    แบ่งปัน      ความสุข   สดใส
                    เชื่อมั่น      ศรัทธา     ห่วงใย
                    อยากให้     มีสุข       ทุกคน
                              เก็บดาว  เก็บเดือน   ที่เกลื่อนฟ้า
                              เก็บหยด    น้ำตา     คือสายฝน
                              เก็บลม     เก็บหมอก  ที่ลอยวน
                              เก็บรัก      ทุกหน     ที่ได้มา
                   แบ่งปัน   สรรค์สร้าง   สู่ทางสุข
                   ลบรอย    แห่งทุกข์   ร่วมฟันฝ่า
                   ลบรอย    ของคราบ  แห่งน้ำตา
                   ศรัทธา     คงอยู่     และยืนยง
                              เรือน้อย    ลอยล่อง   ทะเลฝัน
                              คืนวัน       ผ่านไป     ไม่ใหลหลง
                              ศรัทธา      ที่มี         ยังมั่นคง
                              ซื่อตรง      ต่อฝัน      ไม่ผันแปร
                  ประคองเรือ     ลำน้อย    ให้ลอยล่อง
                  สองตามอง     สองฝั่ง     ตามกระแส
                  แม้นสายลม    สายน้ำ     จะปรวนแปร
                  ไม่ท้อแท้      ท้อถอย    ปล่อยเรือไป
                             การเดินทาง   นั้นยัง   ไม่สิ้นสุด
                             ยังไม่หยุด     สร้างฝัน  อันสดใส
                             ตราบเท่าที่     ยังมี      ลมหายใจ
                             ฝันไว้ไกล     ไปให้ถึง   พึงกระทำ
                  ขอมอบกาย   มอบใจ    ให้ธรรมะ
                  เป็นพุทธะ     ตื่นอยู่     ทุกเช้าค่ำ
                  ก้าวเดินออก   จากจิต    ที่มืดดำ
                  ก้าวตามธรรม  ขององค์  พระสัมมา....
        :059:เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต :059:
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ เวลา ๒๐.๔๙ น. ณ ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย
                 
                                 

325
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย
วันจันทร์ที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓
                ห่างหายจากการเขียนบทความบทกวีมานานพอสมควร
เพราะว่ามีภาระกิจมากมายที่ต้องกระทำและบางครั้งต้องเดินทางไกล
วันเวลาล่วงเลยไป สังขารร่วงโรยไปตามกาลเวลา ร่างกายเหนื่อยล้ากับ
การเดินทางและการทำงาน ร่างกายสังขารของเรานี้เปรียบเหมือนเครื่องยนต์
ที่ผ่านการใช้งานมานานปี ย่อมมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เครื่องไม่ฟิต
เหมือนตอนที่ออกมาใหม่ๆ ซึ่งต้องคอยดูแลรักษาและซ่อมบำรุงอยู่บ่อยครั้ง
เจ้าของเครื่องนั้นใจยังสู้เต็มร้อย แต่เครื่องยนต์มันไม่อำนวย มันก็เลยทำงานไม่ได้
" กายพร้อม ใจพร้อม " การทำงานนั้นก็ย่อมดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่มีปัญหาติดขัด
           ชีวิตของสมณะนั้น มีกรอบ มีกฏ มีระเบียบปฏิบัติ มีข้อจำกัดในการกระทำ
ดำเนินชีวิตไปตามธรรมและวินัยที่บัญญัติไว้ในพระพุทธศาสนา และเป็นบุคคลสาธารณะ
อยู่ในสายตาของญาติโยมตลอดเวลา พร้อมที่จะถูกตรวจสอบถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกเวลา
และพร้อมที่จะถูกขอความช่วยเหลือ เรียกใช้(นิมนต์)ได้ทุกเวลา โดยเหตุผลว่า"สงเคราะห์ญาติโยม"
ไม่มีวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดอื่นใด ทุกวันต้องเป็นไปตามภาระและหน้าที่ไม่เคยมีวันหยุด
ทั้งทางโลกและทางธรรมต้องดำเนินไปพร้อมกัน
          มีคนเคยพูดให้ได้ยินเสมอว่า " เป็นพระนั้นสบายที่สุด บ้านก็ไม่ต้องเช่า ขายก็ไม่ต้องซื้อ
กินของเขาแล้ว เขายังให้เงินอีก ได้กินแต่ของดีๆ กินก่อนคนอื่นเขา " ก็เลยย้อนถามเขาไปว่า "ทำไม
ไม่มาบวชเป็นพระบ้างละ จะได้สบาย" หรือถามเขาไปว่า "แล้วทำไมตอนบวชเป็นพระรีบสึกไปละ ทำไม
ไม่บวชอยู่ต่อละ " คนที่ไม่เคยบวชเรียนหรือบวชเรียนแล้วไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนตาม
หลักของพระพุทธศาสนา จะมองว่าชีวิตของพระนั้นแสนสบาย ไม่มีภาระ ไม่มีปัญหา ก็เพราะว่าเขาเหล่านั้น
ไม่ได้ศึกษาและยังไม่เข้าใจในความเป็นพระในสมณะรูป จึงมองเพียงภาพภายนอกเท่านั้น ไม่ได้ศึกษาให้ถ่องแท้
จึงก่อให้เกิด วจีกรรมและมโนกรรมโดยไม่รู้ตัว
         คำโบราณท่านกล่าวไว้ว่า " สิบปากว่า ไม่เืท่าตาเห็น สิบตาเห็น ไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำ ไม่เท่าทำเอง "
ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ต้องรู้ ต้องเห็น ต้องทำ มันจึงจะเข้าใจ ไม่ใช่คิดไป จินตนาการณ์ไป ว่ามันคงจะเป็นอย่างนั้น
มันคงจะเป็นอย่างนี้ โดยเอาความรู้สึกของตัวเราเองมาเป็นตัวตัดสิน ว่าสิ่งนั้นใช่หรือมิใช่ ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
ทุกสิ่งทุกอย่างต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำด้วยตัวของเราเอง โดยการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลในสิ่งที่เราจะกระทำ
เสียก่อน แล้วตระเตรียมความพร้อมทั้งภายนอกและภายในให้ครบถ้วน แล้วจึงลงมือกระทำไปตามแนวทางที่ได้
ศึกษาค้นคว้ามา และเมื่อกระทำเต็มที่แล้ว จึงมาสรุปว่ามันเป็นอย่างไร ซึ่งในหลักของพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า
" ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท " เพื่อให้เข้าใจซึ่งเหตุ ปัจจัยและผลที่ออกมา
         จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อไม่ให้เกิดความประมาทและผิดพลาดซึ่งจะก่อ
ให้เกิดเป็นบาปกรรม(กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ )ในการที่จะวิพากษ์วิจารณ์พระหรือวิพากษฺ์วิจารณ์ศาสนา
ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวสอนเสมอว่า " การเฝ้าเพ่งโทษติเตียนผู้อื่นนั้น เป็นการเพิ่มพูนกิเลสและบาปกรรมแก่ตนเอง "
จงรับเอาแต่สิ่งที่เป็นบุญ ส่วนที่เป็นบาปนั้นใครทำก็รับไป อย่าเข้าไปมีส่วนแบ่งในบาปนั้น แล้วใจของท่านก็จะเป็นสุข
                                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๒๐.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย

326
เพชรน้ำผึ้ง ลานสัก อุทัยธานี
๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓
        อีกไม่นานก็จะถึงฤดูกาลเข้าพรรษา ก็จะมีผู้ที่บวชเข้ามาตามประเพณีของชาวพุทธ
คือผู้ที่มีบุตรชายก็หวังจะได้เห็นชายผ้าเหลือง เมื่อลูกชายอายุได้ครบบวชคือยี่สิบปีบริบูรณ์
หรือเมื่อลูกชายเกณฑ์ทหารแล้ว จบการศึกษาแล้ว หรือก่อนที่ลูกชายจะแต่งงานมีครอบครัว
สิ่งนั้นคือความหวังของคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ ที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาตั้งปรารถนาู้ไว้
จึงต้องมาทำความรู้ความเข้าใจ สำหรับผู้ที่จะบวชเข้ามาใหม่ในบวรพระพุทธศาสนาและตั้งใจว่า
จะบวชเพียงหนึ่งพรรษาหรือว่าบวชไม่นานไม่เข้าพรรษาได้รู้ได้เข้าใจเพื่อเป็นแนวทางในการบวช
       การบวชนั้นมิใช่เรื่องง่าย หรือว่าทำกันเล่นๆ ผู้ที่จะบวชนั้นต้องมีความศรัทธาและตั้งใจจริง
มิเช่นนั้นแล้วจะไม่เกิดประโยชน์อันใดในการบวช และจะเป็นการทำลายพระศาสนาโดยไม่รู้ตัว
ของผู้ที่บวชเข้ามา แต่สำหรับเจ้าภาพและผู้ร่วมอนุโมทนานั้นได้บุญไปแล้วเมื่อบวชพระเสร็จ
การบวชนั้นทุกคนบวชมาก็เพื่อเอาบุญเอากุศลเพื่อให้เป็นมงคลของชีวิตของตนเองและผู้อื่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่บวชเข้ามาและตั้งใจว่าจะบวชไม่นานทั้งที่เอาพรรษาและไม่เอาพรรษา
เมื่อบวชเข้ามาแล้วต้องเร่งสร้างบุญกุศล รักษาซึ่งข้อวัตรทั้งพระธรรมและพระวินัยไมให้บกพร่อง
ขวนขวายในสิ่งที่เป็นบุญกุศล หลีกเลี่ยงซึ่งอาบัติอันเป็นบาปทั้งหลาย เพราะเมื่อลาสิกขาออกไป
จะได้มีต้นทุนบุญกุศลติดตัวออกไป และบุญกุศลนั้นจะส่งผลให้กระทำกิจการงานใดก็มีแต่ความเจริญ
ก้าวหน้า ประสพกับความสำเร็จในชีวิต หน้าที่การงานและครอบครัว
       แต่ถ้าขณะที่ครองเพศเป็นสมณะนั้นบุญไม่ทำแต่กรรมนั้นสร้าง ประพฤติผิดพระธรรมพระวินัย
มีอาบัติและบาปติดตัวไป เมื่อลาสิกขาเพศจากสมณะออกไป จะทำการสิ่งใดก็จะไม่ประสพความสำเร็จ
ไม่มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ทั้งหน้าที่การงานและครอบครัว เพราะว่าบาปกรรมที่ติดตัวไปนั้นมันจะถ่วงไว้
ทำให้ไม่ประสพกับความสำเร็จในชีวิต เพราะว่าไม่มีสิทธิ์ที่จะแก้ตัวต้องกลับมาบวชใหม่และทำให้ดีกว่าเดิม
จึงจะแก้ไขได้ จากประสพการณ์และสถิติที่เฝ้าสังเกตุมายี่สิบกว่าปีที่เห็นผู้ที่บวชเข้ามาและสึกออกไปมากมาย
ตอนบวชเป็นพระเขาทำตัวอย่างไร ถูกต้องดีงามหรือไม่ หรือว่าประพฤติผิดพระธรรมวินัยสร้างบาปกรรมอย่างไร
และเฝ้าติดตามผลว่าเมื่อเขาลาสิกขาออกไปแล้วเป็นอย่างไร มีความเจริญก้าวหน้าหรือไม่ ประสพควาัมสำเร็จ
ในชีวิตหรือไม่ ผลที่ได้ก็เป็นดั่งที่กล่าวมา คือคนที่บวชเข้ามาแล้วปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ในกรอบของธรรมวินัย
เมื่อลาสิกขาออกไป จะทำการสิ่งใดที่ชอบประกอบด้วยกุศลก็มีความสำเร็จและเจริญก้าวหน้า แต่ผู้ที่บวชเข้ามา
แล้วทำตัวผิดธรรมผิดวินัยไม่อยู่ในกรอบชอบแต่แหกกฏต้องอาบัติผิดธรรมผิดวินัย เมื่อลาสิกขาเพศออกไป
จะทำกิจการงานอะไรก็ไม่ประสพกับความสำเร็จ มีแต่ความผิดพลาดและล้มเหลวในชีวิตเพราะบาปกรรมที่ติดตัวไป
      ที่ได้ปรารภเรื่องนี้มาก็เพราะว่าได้ยินพระบวชใหม่เขาพูดกันว่า " ผมบวชไม่นานก็สึกแล้ว จะปฏิบัติไปทำไม
ไม่ได้หวังบรรลุมรรค บรรลุผล จะปฏิบัติไปทำไม " ซึ่งเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วเกิดความสงสารและสลดใจในสิ่งที่เขาพูด
จึงได้เข้าไปอธิบายแนะนำให้เขารู้และเข้าใจ เพื่อมิให้เป็นบาปเป็นกรรมแก่เขา...จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง...
                ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรผู้ร่วมชะตากรรมบนโลกใบนี้
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๐๓.๐๖ น. ณ วัดเพชรน้ำผึ้ง ลานสัก อุทัยธานี


327
กุฏิน้อยในป่าไทร วัดทุ่งเซียด พุนพิน สุราษฏร์ธานี
   ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ เวลา๐๔.๓๐ น.
         เจริญสุข เจริญธรรมท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายลำดับต่อไปเป็นภาคปฏิบัติภาวนา
หลังจากที่เราท่านทั้งหลายได้ร่วมกันสวดมนต์ทำวัตรเช้าแล้ว เราก็มาเพิ่มกำลังบุญกุศล
ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในไตรสิกขาสาม คือ ทาน ศีัล ภาวนา และศีล สมาธิ ปัญญา ตามหน้าที่
และบทบาทของแต่ละท่านแต่ละคน เพื่อสร้างบุญกุศลเพิ่มพูลบารมีให้แก่ตัวของเราเอง
          ซึ่งการเจริญภาวนาในภาคเช้านี้ จะมีอุปสรรคนิวรณ์มาเป็นมารขวางกั้นการเจริญทางธรรม
นิวรณ์ที่ว่านั้นคคือ"ถีนะมิทธะ" ความซึมเซาง่วงเหงาหาวนอน เป็นนิวรณ์ที่มีกำลังมากในภาคเช้า
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า จิตของเรายังอาลัยยินดีในการหลับนอน จิตยังไม่ถอนออกมาจากอารมณ์นั้น
เมื่อเราเจริญภาวนาอารมณ์นั้นก็จะเพิ่มพูลมีกำลังมากขึ้น ความง่วงความซึมเซาจะเข้ามาครอบงำจิตของเรา
ถ้าเราเผลอสติตามองค์ภาวนาไม่ทัน มันก็จะทำให้เราเผลอหลับไป
          การแก้ปัญหาในกรณีนี้ก็คือเราต้องเคลียร์จิตของเราเสียก่อน คือปลุกจิตปลุกใจของเราให้มีกำลัง
ศรัทธาเพิ่มขึ้น ในการประพฤติปฏิบัติ ขจัดความอาลัยในการหลับนอนออกไปเสียก่อน ฆ่านิวรณ์ให้หมดกำลัง
ด้วยการเคลื่อนไหวทางกาย สลายทางจิต ทำความคิดให้เป็นกุศล สวดมนต์ด้วยเสียงที่ดังมีพลังเพื่อปลุกจิต
ให้ตื่น ฟื้นจากการซึมเซา ความง่วงเหงาหาวนอน ให้ความร้อนเกิดข้นในกายขณะสาธยายมนต์ ด้วยการสวดมนต์
ด้วยพลังปราณ คือสวดด้วยพลังลมขับขึ้นมาจากหน้าท้อง ขณะที่เราสาธยายมนต์นั้นสมาธิขั้นขนิกสมาธิก็เกิดขึ้น
เพราะว่าจิตของเราจดจ่ออยู่กับมนต์อักขระทั้งหลายนั้น และเมื่อเข้าสู่การภาวนาเราก็รักษาอารมณ์สมาธินั้นให้เจริญ
ก้าวหน้ายิ่่งขึ้นไป เพราะว่าคำว่าภาวนานั้นก็คือการพัฒนา ทำให้ดียิ่งขึ้นๆต่อไป
         ถ้าในขณะที่เราเจริญภาวนาอยู่นั้น นิวรณ์มันเข้ามา ก็ให้ใช้วิธีการเคลื่อนไหวทางกาย สลายทางจิต ตั้งสติใหม่
โดยการเปลี่ยนอิริยาบททางกาย จากการนั่งมาเป็นการยืนกำหนด การยืนกำหนดภาวนานั้น ให้เราตั้งสติเอาจิตมาคุมกาย
เสียก่อน การเอาจิตมาคุมกายนั้น ก็คือการระลึกนึกไปให้ทั่วกายของเรา ตั้งแต่เบื้องบนคือศรีษะลงมาไปจนถึงเบื้องล่าง
คือฝ่าเท้า ทำความรู้ตัวทั่วพร้อมให้บังเกิด คือความถึงพร้อมซึ่งสติและสัมปชัญญะให้ทั่วกาย สูดลมหายใจเข้าไปให้เต็มกำลัง
ขณะที่หายใจออกนั้นให้ทำความรู้สึกเทน้ำหนักของกายเราไปสู่ฝ่าเท้าที่สัมผัสผื้น เพื่อให้การยืนของเรานั้นมั่นคงไม่ซวนเซ
เหมือนวิชากำลังภายในของหนังจีน คือวิชาทองพันชั่ง จะทำให้การยืนกำหนดของเรานั้นมั่นคง ไม่ซวนเซเสียสมดุลย์ในการยืน
         เมื่อเรากำหนดท่ายืนของเราได้มั่นคงแล้ว ก็เข้าสู่องค์ภาวนาที่เคยประพฤติปฏิบัติมา ที่เรียกว่้าเสมอกันในอิริยาบทนั้น
คือการเสมอกันในทางปฏิบัติกรรมฐานที่ต่อเนื่องเสมอกัน กองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบท ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นไปในกอง
เดียวกัน ไม่ใช่ว่า ต้องนั่งเวลาเท่ากับการยืน เท่ากับการเดิน เท่ากับการนอน คือไม่ได้เอาเวลามาเป็นตัวกำหนดความเสมอกัน
แต่เสมอกันด้วยการเจริญกรรมฐานในกองเดียวกันให้ต่อเนื่อง
         ขอฝากไว้ว่า ในความเป็นสมาธินั้น สติเรายังมีอยู่และเห็นอยู่ เพียงแต่จิตนั้นไม่ได้เข้าไปปรุงแต่ง คือเห็นและรู้ว่ามันสงบ
เห็นและรู้ว่าปิติ สุข และสงบนิ่ง ถ้าเราขาดสติเผลอลงพวังค์ สงบนิ่งโดยไม่รู้สึกตัวไม่มีสตินั้น มันเป็นสมาธินอกระบบที่ไม่มีพลังงาน
เพราะว่าขาดซึ่งสติที่จะควบคุมจิต สาเหตุเกิดจากการที่สติของเรานั้นอ่อนกำลัง ตามองค์ภาวนาไม่ทัน เพราะเมื่อเข้าสู่ความเป็นสมาธ
นั้นจิตมันจะละเอียดลงเรื่อยๆ จนถึงความสงบเป็เอตัคตารมณ์เข้าสู่องค์ฌาน
        ขอให้การเจริญภาวนาของท่านจงบังเกิดความเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป จะไม่ใช่เสียงบรรยายรบกวนอารมณ์สมาธิของท่านทั้งหลาย
ให้ท่านได้รับความวิเวกทางกาย เพื่อให้เกิดความวิเวกทางจิตในลำดับต่อไปตามสมควรแก่เวลา ขอเจริญสุข เจริญธรรม
                           .................................................................................................
เป็นคำบรรยายในยามเช้าเพื่อปลุกศรัทธาให้แก่เพื่อนนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หลังจากการสวดมนต์ทำวัตรเช้าแล้ว โดยจะเป็นการเจริญ
ภาวนาในยามเช้าเป็นเวลาประมาณ ๔๕ นาที ก่อนที่จะแผ่เมตตา ขอขมา อธิษฐานจิต วันทาลาพระ จบการปฏิบัติภาคเช้าเวลา ๐๖.๐๐ น.
โดยเริ่มตั้งแต่ ๐๔.๐๐ น.-๐๖.๐๐ น. สองชั่วโมงในยายเช้า
               ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๒ เมษายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๕๒ น. ณ กุฏิน้อยในป่าไทร วัดทุ่งเซียด พุนพิน สุราษฎร์ธานี
       

328
วัดทุ่งเซียด ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี
วันพุธที่ ๒๑ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓
          มีภาระกิจมากมายที่ต้องกระทำ ทั้งทางโลกและทางธรรมตลอดสัปดาห์
ทำให้ว่างเว้นไปหลายวัน เดินทางจากอีสานลงสู่ภาคใต้เพื่อไปช่วยบรรยายธรรม
งานปริวาสกรรมของวัดทุ่งเซียดที่อำเภอพุนพินจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งจัดเป็นปีแรก
และได้ขึ้นบรรยายธรรมถวายพระปริวาสิกะและสงเคราะห์สอนธรรมะแก่ญาติโยม
ซึ่งคิดว่ามีสาระและพอจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกและผู้เยี่ยมชมของเว็บวัดบางพระ
จึงขอนำมาเสนอเพื่อเป็นธรรมทานแก่ทานทั้งหลาย
           ................................................................................
              ธรรมที่บรรยายวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ ณ ลานธรรมวัดทุ่งเซียด
          ขอนอบน้อมแด่คุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรมและคุณของพระอริยสงฆ์
ขอกราบคารวะครูบาอาจารย์ เพื่อนสหธรรมิก ภิกษุหนุ่ม สามเณรน้อยที่เคารพรักทั้งหลาย
ขอเจริญพร เจริญธรรมบรรดาศรัทธาญาติโยมพุทธบริษัทผู้สนใจใคร่ในธรรมปฏิบัติทั้งหลาย
      ขออนุโมทนาในศรัทธาของท่านทั้งหลายที่ได้เห็นคุณค่า น้อมกายน้อมจิตมาประพฤติ
ปฏิบัติธรรม อันเป็นการปฏิบัติบูชา ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสรรเสริญว่า เป็นการบูชาที่น่าสรรเสริญ
เป็นการกระทำที่เลิศประเสริฐ ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำได้ยากในสภาวะของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
เพราะก่อนที่ท่านจะมาถึงสถานที่นี้ได้นั้น ท่านต้องฟันฝ่าอุปสรรคปัญหานานับประการที่มาขวางกั้น
ไม่ให้ท่านได้ประกอบกรรมดี เวลานี้ท่านได้ชนะแล้วซึ่งข้าศึกของกุศล ความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่
ความสุขสบายในทางโลก มาประพฤติปฏิบัติธรรม นอนกลางดิน กินกลางทราย สละความสุขสบาย
ในทางโลก เพื่อมุ่งหวังประโยชน์ในทางธรรม จึงขออนุโมทนาต่อศรัทธาของทุกๆท่าน
     การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ท่านต้องถามใจของท่านว่า ท่านปรารถนาสิ่งใดในการปฏิบัติธรรม
และสิ่งที่ท่านปรารถนานั้นเป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศลหรือไม่ เพื่อจะได้ไม่หลงทางในการปฏิบัติ
เพราะว่าการเจริญภาวนานั้นคือการทำให้งอกงามให้เจริญขึ้นพัฒนายิ่งขึ้นไป ถ้าเหตุและปัจจัยที่เราตั้งไว้
เป็นบุญกุศลผลก็จะออกมา พัฒนาให้บุญกุศลนั้นเพิ่มพูลยิ่งขึ้น แต่ถ้าจิตและเจตนาเป็นอกุศลผลที่ได้รับ
ก็จะออกมาเป็นทางลบ คือจะเป็นการเพิ่มพูลซึ่งกิเลสตัณหา มานะอุปทานยิ่งขึ้นไป เราจึงต้องทำความเข้าใจ
ในเจตนาความปรารถนาของเราเสียก่อน ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล และถ้าความปรารถนาของเรานั้นเป็นอกุศล
เราต้องปรับจิตปรับความคิดของเราเสียใหม่ เพื่อให้เป็นกุศลจิต เป็นนิมิตของการเริ่มต้นภาวนาสร้างบารมี
    การปฏิบัติธรรมนั้นต้องค่อยเป็นค่อยไป คือฝึกร่างกายและจิตใจให้มีความคุ้นเคยและเคยชินกับพฤติกรรม
ตัวใหม่ อย่าไปมุ่งหวังผลให้ได้โดยทันทีและทันใด ค่อยๆเป็นค่อยๆไป สั่งสมไว้ที่ละนิดที่ละน้อยและไม่ปล่อย
ให้เวลาผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ ภาษาธรรมะเรียกว่า"จิตตะ" คือไม่ทอดทิ้งธุระกระทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
จนกลายเป็นนิสัยและความเคยชินของกายและจิตในความคิดและการกระทำที่เป็นกุศลกรรมทั้งหลายให้เจริญขึ้น
การขึ้นกรรมฐาน สมาทานกรรมฐานนั้นก็เพื่อเป็นการให้สัจจะอธิษฐานแก่ตัวเราเอง ว่าเราจะกระทำในสิ่งที่เราได้กล่าวปฏิญาณ
สมาทานไว้ให้สำเร็จ เราจะไม่ทอดทิ้งธุระ เราจะไม่ละความพยายาม เราจะทำตามที่เราได้กล่าวไว้ เป็นการให้สัจจะแก่ตัวเอง
ซึ่งถ้าเราทำได้ในสิ่งที่เรากล่าวไว้นั้น ก็จะเป็นการเพิ่มพูลบารมีทั้งสิบประการ คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี
ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี ครบทั้งสิบประการในครั้งเดียวกัน
จึงขอให้ท่านตั้งอกตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติ เก็บเกี่ยวบุญกุศลให้มากที่จะทำได้ ให้สมคุณค่าที่ท่านเสียสละเวลา กำลังกาย
กำลังทรัพย์ น้อมกายน้อมจิตมาประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นการสร้างเสบียงให้แก่ชีวิตจิตวิญญาณของท่านในภพนี้และภพหน้า
ขอกุศลศรัทธาของท่านทั้งหลายจงตั้งมั่นอย่าหวั่นไหว คล้อยตามไปกับกิเลสสิ่งยั่วยวนทั้งหลาย ที่จะนำท่านไปสู่อบายคือความต่ำ
จงน้อมนำพระธรรมคำสั่งสอนของพระศาสดาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อขจัดซึ่งกิเลสตัณหาอุปาทานทั้งหลาย
อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ให้หมดไปสิ้นไป ฝึกจิตฝึกใจให้เข้าสู่ขบวนการ ลด ละ เลิก ซึ่งสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย เพื่อให้ใจของเราอยู่กับ
สิ่งที่เป็นกุศล สร้างมงคลให้แก่ชีวิต เป็นนิมิตสำหรับจิตวิญญาณของท่นในโอกาศต่อไป
       ฉะนั้นในโอกาศนี้ ขออ้างอิงเอาคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ขอบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวง ที่ได้สร้างสมมาและที่จะ
สร้างต่อไป บุญกุศลอันใดที่พระคุณเจ้าและญาติโยมทั้งหลายได้สร้างมาในอดีตและในปัจจุบัน ขอบุญกุศลทั้งปวงนั้น จงมาร่วมกัน
ให้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ไพศาล อภิบาลปกป้องรักษาให้ศรัทธาสาธุชนคนดีทั้งหลาย ปราศจากโรคภัยนานัปการ ปรารถนาสิ่งใดที่เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศลเป็นสิริมงคล เป็นความดีงาม ความบริสุทธิ์ผ่องใส สงบเยือกเย็น ก็ขอให้ความปรารถนาที่เป็นสิริมงคลนั้น
จงสัมฤทธิ์ผล จงสัมฤทธิ์ผล ด้วยกันทุกท่านเทอญ ขอเจริญพร เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
         ...
ธรรมบรรยายในค่ำคืนหนึ่งของงานปริวาสกรรมวัดทุ่งเซียด ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ที่นำมาเสนอแก่ท่านทั้งหลาย
ให้นำไปคิดพิจารณา"อย่าเชื่อทันที่ที่ได้ยินได้ฟังได้อ่าน เพราะอาจจะนำไปสู่ความงมงาย และอย่าได้ปฏิเสธทันที ที่ได้ยินได้ฟัง
ได้อ่าน เพราะอาจจะทำให้ท่านเสียโอกาศ" จงใช้สติและปัญญาพิจารณาให้ละเอียดแล้วจึงเชื่อหรือปฏิเสธในสิ่งนั้น
           ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ เวลา ๒๓.๔๒ น. ณ ป่าไทรวัดทุ่งเซียด ท่าโรงช้าง พุนพิน สุราษฎร์ธานี

329
วันอาทิตย์ที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓
ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชายขอบประเทศ"ทย
            ในสังคมที่แสนจะวุ่นวายและสับสน ความคิดของผู้คนแตกต่างกันไป
สงครามข่าวสารมากมายที่ ที่แพร่หลายออกมาให้ต้องรับรู้รับทราบกันอยู่ทุกวัน
ปัญหานั้นจึงตกแก่ผู้เสพข่าวสาร ซึ่งนานวันเข้ามันจะก่อให้เกิดเป็นความเครียด
ความกังวล และถ้าเราเผลอสติคล้อยตามข่าวสาร เข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์
มันก็จะก่อให้เกิดทุกข์ตามมา ข้อเรียกร้องต่างๆนั้นคือการแสดงออกซึ่ง"ตัณหา"
เพราะว่าอยากจะให้มีอยากจะให้เป็น หรืออยากจะไม่ให้มีไม่ให้เป็นนั้นคือ"ตัณหา"
       ปัญหาที่เกิดขึ้นมานั้นก็เพราะว่าไม่รู้จักควบคุม"ตัณหา"ความอยากของตนเอง
และเอาความอยากของตนเองนั้น ไปยัดเยียดให้ผู้อื่นสนองตอบใน"ตัณหา"ของตน
การเมืองจึงเป็นเรื่องของ"ตัณหา"  การแสดงออกมาซึ่งความอยาก ความต้องการ
พระสงฆ์นั้นจึงไม่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมือง เพราะว่ามันเป็นเรื่องของ"ตัณหา"
บทบาทและหน้าที่ของพระสงฆ์นั้นคือชี้ให้เห็นโทษของ" มานะ อัตตา ตัณหา อุปาทาน"
สอนให้รู้จักขบวนการ "ลด ละ เลิก" ถอนออกจากสิ่งนั้นเสีย ไม่ใช่เข้าไปส่งเสริมเติมต่อ
ก่อให้กิเลสตัณหานั้นเพิ่มพูนขึ้น จึงควรรู้หน้าที่และบทบาทของความเป็น"พระสงฆ์"
ดำรงค์ตนให้เป็นแบบอย่าง มีความเป็นกลาง ไม่มีอคติเข้าข้างฝ่ายหนึ่งหรือฝ่ายใด
ชี้ให้เห็นโทษเห็นภัยของกิเลสตัณหาความอยากทั้งหลายเหล่านั้น
       เมื่อเราปรับความคิด ชีวิตของเราก็จะเปลี่ยน ทุกข์ทั้งหลายก็จะคลายลงเบาลง
ขอเพียงแต่ให้เราหยุดคิดแล้วพิจารณาด้วยปัญญา เอาธรรมะเข้ามาเป็นเหตุและผล
เราก็จะเข้าใจในสิ่งที่เป็นไปว่า" มันเป็นเช่นนั้นเอง...ตถตา..." ถอนอัตตาและคติ
พิจารณาอย่างเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เราจะได้เห็นอะไรอีกมากมาย
และทำใจได้กับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อเกิดความเข้าใจ
และทำใจได้ ทุกข์ทั้งหลายก็จะคลายลงเบาลง เมื่อใจไม่เป็นทุกข์สุขภาพจิตดี
ชีวิตเราก็เปลี่ยน "จิตดี กายเด่น จิตด้อย กายดับ" เมื่อจิตใจดี ราศรีก็จะตามมา
ดั่งคำพูดที่ว่า"หน้าตามีราศรี " เกิดจากความรู้สึกที่ดีภายในที่เปล่งประกายออกมา
ทำให้ธาตุในกายนั้นมีความสัมพันธ์และมีความสมดุลย์
      "เพียงคุณปรับความคิด แล้วชีวิตของคุณจะเปลี่ยน" และเปลี่ยนไปในทางที่ดี
จึงขอฝากบทความนี้ให้นำไปคิดและพิจารณา ใช้สติและปัญญา ถอนทิฏฐิ มานะ อัตตา
พิจารณาอย่างไม่มีอคติ โดยนำหลักธรรมมาปรับใช้ในการคิด มองให้เห็นเป็นธรรมะ
แล้วจิตของคุณจะพัฒนาเจริญก้าวหน้าในทางธรรม
            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๕๒ น. ณ ริ่มฝั่งแม่น้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

330
วันพุธที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓
ณ ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย
         จากการที่ได้ศึกษาค้นคว้าและคลุกคลีกับผู้ที่มีความทุกข์มานาน
จึงพอประมาณได้ว่า ความทุกข์ของคนส่วนใหญ่ที่มาหาให้ช่วยแก้ไขนั้น
เรื่องปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ การเงินนั้น เป็นปัญหาที่พบบ่อยมากที่สุด
เป็นความทุกข์ของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมนี้ ซึ่งปัญหาเกิดจากความไม่พอดี
เพราะไม่มีวินัยในการเงิน ไม่รู้จักพอเพียงและเพียงพอในอัตภาพของตน
ไม่รู้ตน รู้กาล รู้ประมาณในการใช้จ่าย มักง่ายและฟุ้งเฟ้อขาดวินัยในการเงิน
        ไม่ว่าคุณจะทำดีมากี่ร้อยครั้ง แต่ถ้าคุณพลาดพลั้งขาดความโปร่งใส
ไม่มีวินัยเรื่องการเงิน แม้เพียงครั้งเดียว ศรัทธาที่ผู้คนเคยมอบให้แก่คุณนั้น
ก็จะสั่นคลอน ถึงผู้คนเขาจะให้อภัย แต่ความไว้วางใจนั้นจะลดลง ซึ่งเรื่องนี้
เป็นสาเหตุใหญ่ คือเรื่องความโปร่งใสและวินัยเรื่องการเงิน ซึ่งถ้าคุณก้าวเดิน
พลาดไปในเรื่องนี้ มันจะทำให้คุณถูกสิ้นศรัทธา ฉะนั้นต้องศึกษาและทำความ
เข้าใจ เพื่อนำไปปฏิบัติรักษาซึ่งวินัยเรื่องการเงินให้มั่นคง ซื่อตรงและซื่อสัตย์
เพราะว่าเมื่อเราเสียวินัยเรื่องการเงินแล้ว ปัญหาต่างๆจะตามมาเป็นลูกโซ่
        การรักษาวินัยเรื่องการเงินนั้น ต้องอาศัยจิตใจที่มั่นคง รู้จักหน้าที่ ความพอดี
และพอเพียงในอัตภาพของตน รู้จักบริหารการเงินที่มีอยู่ รู้ซึ่งรายรับและรายจ่าย
ไม่มักง่ายใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อเกินกำลังของตน การเป็นผู้โปร่งใสมีวินัยเรื่องการเงินนั้น
เป็นต้นทุนที่สำคัญในสังคมนี้ เราจึงควรมีสัจจะวินัยเรื่องการเงินทั้งต่อตนเองและ
ผู้อื่นด้วย เหมือนลูกหนี้ที่ชำระต้นและดอกตรงตามเวลา ย่อมได้รับความไว้วางใจ
จากเจ้าหนี้ และจะได้รับการพิจารณาให้กู้ในครั้งต่อไปเสมอ เพราะเป็นลูกค้าชั้นดี
        ผู้ที่มีวินัยและโปร่งใสเรื่องการเงินนั้น เป็นผู้มีต้นทุนทางสังคม เป็นที่ยอมรับ
ของผู้คนทั้งหลาย และจะได้รับความไว้วางใจจากผู้คน เป็นธรรมะของฆราสธรรม
คือเรื่องความสัจ ธรรมของฆราวาส ๔ ประการนั้นคือ
           สัจจะ...ความซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อกัน
           ทมะ... การรู้จักข่มจิตของตนต่อกิเลส
           ขันติ....ความอดทน อดกลั้นต่อทุกข์
           จาคะ...การสละแบ่งปันสิ่งของๆตนแก่คนที่ควรให้
จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดเพื่อนำไปพิจารณา
              ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๗ เมษายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๑๓ น. ณ ริ่มฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย

331
วันอาทิตย์ที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓
ริมฝั่งโขง มุกดาหาร ชายขอบประเทศไทย
       ในยุคแห่งความสับสนวุ่นวายและสิ่งยั่วยวนที่มากมาย คุณธรรมข้อหนึ่งกำลังจะหายไป
จากจิตใจของชาวโลกทั้งหลาย คุณธรรมที่ว่านั้น คือ ขันติ ความอดทน อดกลั้นและอดออม
ทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ คือทั้งภายนอกและภายใน จึงต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำๆนี้
       ความหมายของคำว่าขันติ หมายถึงความอดทนต่อสิ่งที่ไม่ดี เพื่อจะยืนหยัดในทางที่ดี
อันมีลักษณะ ๒ อย่างคือ ๑.อดทนเพื่อให้พ้นจากสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย
                              ๒.อดทนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ดี หนีจากสิ่งที่ไม่ดี
       อันว่าขันติความอดทน อดกลั้นนั้น มิใช่หมายความว่า เราอยู่ในสภาพอย่างไร ก็ทนอยู่
ในสภาพอย่างนั้น ไม่รู้จักขวนขวายเสาะแสวงหาพัฒนา พยายามทำให้ดีขึ้นกว่าสภาพที่เป็นอยู่
ความอดทนอย่างนั้น ไม่เรียกว่าขันติธรรม แต่เป้นการปล่อยวางธุระ ความดื้อด้าน ขี้เกียจมักง่าย
      ลักษณะที่จะจัดว่าเป็นขันติธรรมนั้น ต้องประกอบด้วย ความรู้สำนึกผิดชอบ ชั่วดี บาปบุญ
คุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ อันประกอบด้วยเหตุและผล ซึ่งเกิดขึ้นกับใจของเราเอง
แล้วรู้จักระงับยับยั้ง โทสะความเดือดดาลเร้าร้อนในใจของเราลงเสียให้ได้ โดยการมีสติระลึกรู้
อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น แล้วขับไล่อารมณ์ฝ่ายต่ำคือความรุ่มร้อน ความโกรธความขุ่นเคือง
ให้มันดับไป จากจิตจากความคิดของเราให้ได้ อย่างนี้แหละคือ ขันติธรรมความอดทนอย่างแท้จริง
ซึ่งสิ่งที่เราต้องอดกลั้นอดทนนั้นคือ  อดทนต่อความยากลำบากตรากตรำทางกายความเจ็บไข้ได้ป่วย
ความร้อน ความหนาว ความเหนื่อยล้่าในการทำงานและความอดทนต่ออำนาจกิเลสฝ่ายต่ำอันได้แก่
โลภะ โทสะ และโมหะ สิ่งกระตุ้นฝ่ายต่ำทั้งหลาย
      สิ่งที่จะได้รับจากความอดกลั้นอดทนหรือที่เรียกว่าอานิสงค์ของขันติธรรมนั้นก็คือ เป็นเหตุให้
งานสำเร็จลุล่วงไป  เป็นเหตุให้ไม่เสียสติสัมปชัญญะและเป็นเหตุให้ไม่ทำอะไรพลาดพลั้งตามกำลัง
ของกิเลสตัณหา ความโกรธ ความโลภ ความหลง เพื่อให้เราดำรงค์อยู่ในคุณธรรมความดี ซึ่งการที่จะ
กระทำให้เกิดขันติธรรมขึ้นมาได้นั้น ต้องกลับไปที่การมีสติสัมปชัญญะ การระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อม
ซึ่งต้องเกิดจากฝึกฝน เจริญสติอยู่เนืองๆ เมื่อสติมีกำลังคือระลึกรู้ได้รวดเร็วกับสิ่งที่มากระทบทั้งภาย
นอกและภายใน คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและจิตของตนเอง ได้ทันท่วงที รู้จักคิดและพิจารณาหาเหตุผล
ให้เห็นคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ เราก็จะยับยั้งอดทน อดกลั้น กับอกุศลฝ่ายต่ำนั้นได้
แต่ทุกอย่างนั้นต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยการหมั่นฝึกฝนเจริญสติอยู่อย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นความเคยชิน
เมื่อเรารักษาสติได้จนดีมีกำลังดีแล้ว สตินั้นจะกลับมารักษาคุ้มครองเรา....
                         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตในทางธรรม
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๘ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๒๑.๓๗ น. ณ ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย

332
วันเสาร์ที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ณ ริมฝั่งโขง มุกดาหาร ชายขอบประเทศไทย
                  แม่น้ำโขงเหือดแห้งลงไปทุกขณะ
             วิถีชีวิตของคนริมฝั่งน้ำกำลังเปลี่ยนไป
             เรือประมงจอดเทียบท่าอยู่เรียงราย
             ผู้คนสูญหายไปจากตลาดแพปลา
             ไม่มีพ่อค้าแม่ค้าและเสียงพูดคุยสนทนา
             กาลเวลากำลังเปลี่ยนแปลงไปไม่แน่นอน
             ลมร้อนของเดือนมีนาพัดมาต้องกาย
             ฤดูร้อนกำลังมาเยือนอีกครั้งหนึ่ง
                 ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไปอะไรก็เกิดขึ้นได้
             อากาศที่ร้อนอบอ้าวก็พลันหายไป
            ความหนาวได้เข้ามาแทนที่โดยฉับพลัน
            สายลมหนาวพัดผ่านมาอย่างรุนแรง
            อุณหภูมิของอากาศลดลงอย่างรวดเร็ว
            กลางวันจากสี่สิบองศาลดลงมาเหลื่อเพียงยี่สิบแปด
            กลางคืนจากยี่สิบแปดองศามาเป็นสิบหกองศา
            เดือนมีนาต้องใส่เสื้อหนาวแล่ห่มผ้านวมนอน
            ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป...อะไรก็เิกิดขึ้นได้เสมอ
                 โลกมันเป็นเช่นนั้นเอง
            เป็นไปตามกฏของพระไตรลักษณ์
           คือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
           ไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ ยึดถืออะไรไม่ได้
           ฤดูกาลอาจเปลี่ยนแปลงไปแต่จิตใจอย่าเปลี่ยนแปลง
           ขอให้ความศรัทธามั่นคงในคุณงามความดีจงคงอยู่
           อยู่กับธรรมและจงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่คุ้มครองจิต
           ถึงโลกนี้จะวิปริตแต่จิตใจอย่าหวั่นไหวไปตามมัน
           ขอให้ศรัทธาในธรรมนั้นจงมั่นคงและยืนยาว
               เพียงรู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม
           แต่ยังไม่ได้ทำไม่ได้นำมาปฏิบัติ
           ถือว่ายังอยู่นอกธรรม เพราะยังไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่
           เป้นเพียงผู้ดูผู้รู้ผู้เห็นแต่ยังไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติธรรม
           เหมือนกับคนที่ยืนดูอยู่นอกตัวอาคาร
           เมื่อสายฝนตกลงมาย่อมจะเปียกปอน
           เพราะว่าไม่มีที่มุงที่บังหลังคาที่จะป้องกันฝน
           เหมือนกับคนที่ไม่ได้อยู่ในธรรมไม่มีธรรมเป้นเครื่องอยู่
           เมื่อโลกนี้วุ่นวายใจของเขาย่อมเป็นทุกข์ไปกับมัน....
                เชื่อมั่นและศรัทธา ปรารถนาอยู่ในธรรม
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๗ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๔๐ น. ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                 
             

333
          

                               :059: ปู่ฤาษีนาคา :059:
       ประวัติปู่ฤาษีนาคา เป็นฤาษีผู้มีตะบะเดชะ  บำเพ็ญจนสามารถจำแลงแปลงกาย
เป็นครึ่งคนครึ่งนาคได้ เป็นที่เคารพของปวงชนทั้งหลาย ท่านเป็นฤาษีที่มีเมตตาจิตสูง
ชอบช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก และท่านเป็นฤาษีที่มีจิตใจโอนอ่อนมาทางพระพุทธศาสนา
ท่านยังเป็นผู้ที่ปกป้องดูแลคุ้มครองพระพุทธศาสนา หากว่าบุคคลใดมีจิตใจศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว
ปู่ฤาษีนาคา จักปกป้องคุ้มครองดูแล ประทานโชคลาภอยู่เนืองๆ
    คาถาบูชาปู่ฤาษีนาคา
ตั้งนะโม ๓ จบ ระลึกคุณพระรัตนตรัย คุณบิดา มารดา ระลึกถึงปู่ฤาษีนาคา แล้วภาวนาคาถาบูชาปู่ฤาษีนาคา
     " นะติตัง  พญามะ  นาคายะ  อภินัง  นาคา  สาธุโนภันเต  ยะมะยะมะ "
ผู้ใดมีฤาษีนาคาไว้บูชาหรือศรัทธาในปู่ฤาษีนาคา จักมีโชคลาภเงินทองไม่ขาดมือ มีความเจริญรุ่งเรืองในเรื่อง
หน้าที่การงาน มีความสำเร็จสมปรารถนาทุกประการ  แต่ผู้นั้นต้องมีจิตใจศรัทธาในพระพุทธศาสนา และสิ่งที่
ปรารถนานั้นต้องเป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศล ปู่ฤาษีนาคาท่านจึงจะคุ้มครองรักษา คุ้มครองดูแลท่าน
    ซึ่งในงานไหว้ครูบูรพาจารย์ของวัดทุ่งเว้านั้น จะมีการครอบครูปู่ฤาษีนาคาให้แก่บรรรดาผู้ที่ศรัทธาทั้งหลาย
เพราะว่าวัดทุ่งเว้านั้น ตั้งอยู่ริมฝั่งโขง ซึ่งตำนานของแม่น้ำโขงนั้นจะเกี่ยวข้องกล่าวถึงพญานาคอยู่เสมอ
จึงได้มีการบวงสรวงเชิญปู่ฤาษีนาคา มาช่วยคุ้มครองพระพุทธศาสนา ช่วยรักษาดูแลวัดและผู้ที่ศรัทธา
ช่วยสร้างวัดวาให้สำเร็จสมบูรณ์ โดยการดลจิตดลใจให้ผู้คนหลั่งใหลมาทำบุญ ช่วยค้ำจุนพระพุทธศาสนา
จนลุล่วงสำเร็จมาด้วยดีไม่มีติดขัด จนเป็นผลสำเร็จลุล่วงไปอย่างที่เห็นได้ทุกวันนี้
               เรียบเรียงและค้นคว้าเสาะหามาโดย รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
                            ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๖ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๒๗ น. ณ ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย

       

334
วันศุกร์ที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓
วัดทุ่งเว้าริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย
           รับรู้และรับฟังข่าวสารของบ้านเมือง คิดและพิจารณาตามจนทำให้เกิดธรรมสังเวช
คือความสลดใจ คิดถึงคำกล่าวสอนของหลวงพ่อพุทธทาสขึ้นมาทันที ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า
" เมื่อศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ " ซึ่งในเวลานี้ก็เริ่มจะเห็นขึ้นมาแล้ว ว่ามันเป็นเช่นไร
การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไป เมื่อใช้ระบบธุรกิจการเมืองเข้ามาบริหาร เพราะธุรกิจนั้นมันต้อง
ได้มาซึ่งผลประโยชน์กำไรของผู้บริหารเป็นหลัก ประชาชนคือผู้บริโภค ย่อมเป็นผู้ถูกเอาเปรียบในสังคม
และธุรกิจนั้นมันต้องมีการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งบางครั้งอาจจะเกินจริงและเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นการตลาด
ที่ผู้ประกอบการธุรกิจที่ต้องกระทำ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักธุรกิจที่ตนกระทำ รู้จักสินค้าที่นำมาเสนอ
         ดั่งที่เคยกล่าวไว้ว่า "ความสำเร็จของชีวิต อยู่ที่จิตคิดว่าพอ" ถ้าเราเข้าใจธรรมะและปฏิบัติตามธรรม
ปัญหาทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ในโลกนี้ดั่งที่ท่านสัญชัยปริพาชกอดีตอาจารย์ของพระโมคคัญลาและ
พระสารีบุตรได้ถามท่านทั้งสองที่มาชักชวนให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าว่า "ในโลกนี้คนโง่กับคนฉลาดใครมี
มากกว่ากัน" พระสารีบุตรตอบว่า" คนโง่มีมากกว่า " ท่านสัญชัยจึงบอกว่า"เธอเป็นผู้มีปัญญาจงไปหา
พระพุทธเจ้าเถิด เราจะอยู่กับคนโง่เหล่านี้เอง" ทั้งที่ท่านรู้ว่าผิดแต่ความมีทิฏฐิท่านเลยไม่ยอมทำตาม
คำชักชวนของพระโมคคัญลาและพระสารีบุตร ทำให้คิดถึงสุภาษิตบทหนึ่งขึ้นมา เป็นโพธิสัตว์คาถาที่ว่า
" อนยํ  นยติ ทุมฺเมโธ    อธุรายํ  นิยุญํํชติ
ทุนฺนโย  เสยฺยโส โหติ   สมฺมา  วุตฺโต  ปกุปฺปติ
  วินยํ  โส  น  ชานาติ    สาธุ  ตสฺส  อทสฺสนํ "
แปลความว่า  " คนพาลชอบชักนำในทางที่ผิด
                   คนพาลมักทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ
                   คนพาลมักเห็นผิดเป็นชอบ
                   คนพาลแม้พูดดีๆก็โกรธ
                   คนพาลไม่ยอมรับระเบียบวินัย
          ดังนั้น การไม่พบเห็นคนพาลจึงเป็นการดี "
              โพธิสัตว์คาถา  อกิตติชาดก ๒๗/๓๓๗
ฉะนั้นในการรับฟังข่าวสารทั้งหลาย จงใช้จิตพิจารณา ใคร่ครวญไตร่ตรองเสียก่อน จึงจะเชื่อหรือปฏิเสธ
 " ถ้าเชื่อทันที เรียกว่างมงาย
    ถ้าปฏิเสธทันที เรียกว่าขาดประโยชน์
    ควรพิจารณา ไตร่ตรอง ให้รอบคอบ
    ควรทดลองพิสูจน์ฝึกฝนที่ใจตน
    ให้เกิดความกระจ่างชัดเจนขึ้นด้วยใจตน
    แล้วจึงเชื่อ หรือปฏิเสธ ในสิ่งที่รับรู้นั้น
    มันจะทำให้เราไม่งมงายและไม่ขาดประโยชน์ "
จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดในการรับฟังข่าวสาร เหตุการณ์บ้านเมืองในยุคปัจจุบันนี้
ทำใจให้มีธรรมคุ้มครองจิตเสียก่อน จึงจะคิดและพิจารณา เสพในข่าวสารเหล่านั้น
เมื่อวางใจเป็นกลางไม่มีอคติกับทั้งสองฝ่าย ใจเราก็จะสบายไม่เป็นทุกขืกับข่าวสารนั้น
เพราะว่าโลกนี้มันเป็นเช่นนั้นเอง...กมฺมุนา วตฺตติโลโก  สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม...
              ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๖ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๔๔ น. ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
  
อาฮุยลูกศิษย์จากสิงคโปร์ถ่ายกับสามเณรฤดูร้อนรุ่นแรกของวัดทุ่งเว้า































































335
๒๕ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๑๖ น.
ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย
  " คนเขียนกลอนนอนเปล่าก็เศร้าจิต "จึงใช้เวลาที่ว่างจากภาระกิจ
มาฝึกฝน ทบทวนความจำในเรื่องฉันทลักษณ์ สำนวนและตัวอักษร
เขียนกาพย์เขียนกลอน บทความบทกวี ดีกว่านอนอยู่เปล่าๆ...
                   สุดท้ายของการเดินทาง
เหนื่อยนักอยากพักผ่อน   เพราะแรมรอนมายาวไกล
ทั่วทุกท้องถิ่นไทย         ก้าวเดินไปตามเวลา
หยุดพักริมฝั่งโขง           จุดเชื่อมโยงเมืองมุกดา
เร่งรัดพัฒนา                 บุกเบิกป่าสร้างอาราม
เพื่อนพ้องและน้องพี่       ทุกถิ่นที่เฝ้าติดตาม
ดูแลและไถ่ถาม             อยู่ทุกยามไม่ร้างลา
ห้าปีที่สรรค์สร้าง             จากรกร้างเป็นวัดวา
วิหารตระการตา              โบสถ์ศาลาพระเจดีย์
ร่วมแรงและร่วมใจ           สำเร็จได้ทุกถิ่นที่
ด้วยความสามัคคี            จึงได้มีวัดขึ้นมา
เหนือใต้กลางอีสาน         ก้าวเิดินผ่านตลอดมา
ร้อยป่าร้อยภูผา              ก้าวผ่านมาทุกถิ่นไทย
  วันนี้อยากจะพัก           เป็นแหล่งหลักเพื่อพักใจ
รอนแรมมายาวไกล         อยากพักใจภาวนา
ดูกายและดูจิต               ดูความคิดดูปัญหา
สำรวมกายวาจา             เพื่อรักษากายและใจ
ดูกายและดูจิต              เห็นความคิดแล้วแก้ไข
ให้เห็นทั้งนอกใน           กายและใจของตนเอง
เหนื่อยนักอยากพักผ่อน   เขียนกาพย์กลอนกล่อมบรรเลง
ร้อยเรียงเป็นเสียงเพลง    กล่อมบรรรเลงก่อนนิทรา
นิทราไปกับธรรม            ทุกเช้าค่ำภาวนา
ตามธรรมองค์สัมมา         ปรารถนาซึ่งนิพพาน...
        ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๕ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๒๗ น. ณ ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย

336
๒๔ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๓๙ น.
ริมฝั่งแม่น้ำโขง วัดทุ่งเว้า มุกดาหาร
          เหนื่อยล้ากับการเดินทางที่ผ่านมา ทำภาระกิจที่จำเป็นให้ลุล่วงไป ตามหน้าที่ของศิษย์
เมื่อเสร็จภาระกิจ ชีวิตก็กลับมาเหมือนเดิม คือการเดินตามความใฝ่ฝันที่ได้ตั้งใจไว้ในทางธรรม
มีบางครั้งที่รู้สึกท้อแท้และเบื่อหน่าย แต่เมื่อสติระลึกได้ก็ปรับความรู้สึกได้ทัน ละวางซึ่งอารมณ์นั้น
เป็นธรรมดาของชีวิตและความคิดที่เกิดขึ้น เพราะมันมีเหตุและปัจจัย"ธรรมารมณ์สิ่งที่มากระทบจิต"
ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิด เรียกว่าจิตไปเสพรับรู้ซึ่งอารมณ์นั้น และปรุงแต่งมันให้มีกำลังเพิ่มขึ้น
ถ้าไม่รู้จักควบคุมใจหมั่นดูจิต ปล่อยให้ความคิดมันปรุงแต่งไป ใจนั้นก็จะเป็นทุกข์เพราะเข้าไปยึดถือ
ครูบาอาจารย์ท่านสอนเสมอว่า "ดูหนังดูละคร แล้วให้ย้อนมาดูจิต มาดูความคิดของตัวเราเอง"
เป็นการเจริญสติปัฏฐานสี่ มีสติอยู่กับ กาย เวทนา จิต ธรรม มีความสำรวมอินทรีย์โดยมีสติกำกับอยู่
เพื่อให้รู้กาย รู้จิต รู้ความคิด และรู้การกระทำ ในปัจจุบันธรรมทั้งหลาย
       คำครูบาอาจารย์ท่านได้กล่าวไว้ "จิตที่ส่งออก เป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกเป็นทุกข์
จิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตเป็นนิโรธ"   การเจริญวิปัสสนาคือการเจริญสติปัฏฐานสี่
คือการบำเพ็ญภาวนากุศล การฝึกตนให้มีสติอยู่กับรูปและนาม คือความเป็นผู้ไม่ประมาทไม่อยู่ปราศจากสติ
ผู้นั้นจึงได้ชื่อว่า ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเป็นมัชฌิมาคือสายกลาง ปฏิบัติถูกต้องตามพุทธพจน์
ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ชอบแล้ว
      การมองปัญหานั้นให้เรามองทุกแง่มุม ตั้งสมมุติฐานทั้งสองอย่าง คือมองทั้งแง่ดีและแง่ร้าย
เจาะลึกลงไปถึงที่ีมาของปัญหา อย่าเอาคติความรักความชอบ หรือความไม่พอใจของเรามาเป็นที่ตั้ง
คืออย่าไปตั้งธงคำตอบก่อนที่จะพิจารณา แล้วเราจะเห็นที่เกิดที่มาของปัญหาเหล่านั้นโดยความเป็นจริง
เมื่อรู้และเห็นแล้ว ก้ต้องทำความเข้าใจในปัญหา โดยการหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น ซึ่งต้องใช้สติพิจารณา
มองให้รอบด้าน ละวางอัตตา ตัวกูของกู ดูให้เห็นถึงความเหมาะสมของเหตุและปัจจัยในปัจจุบันที่มี
ดูผลกระทบที่จะมีต่อผู้ที่ได้รับผลประโยชน์และผู้สูญเสียผลประโยชน์ ให้เห็นความพอดี ความเหมาะสม
ที่สามารถจะกระทำได้และรับได้ทั้งสองฝ่าย การแก้ไขปัญหาจึงจะเกิดขึ้นได้ถ้าทุกฝ่ายยอมรับความจริง
ไม่ยึดติดยึดถือจนเกินไป วิธีการนี้ใช้ได้ทั้งในทางโลกและทางธรรม ถ้ารู้จักนำไปปฏิบัติประยุกต์ใช้
     แต่อะไรๆในโลกนี้"มันก็เป็นเช่นนั้นเอง" ตามที่พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ไว้ว่า "จิตใจคนจะเสื่อม
ไปจากคุณธรรมตามกาลและเวลา จนสิ้นสุดพระศาสนาเมื่อครบ ๕,๐๐๐ ปี" เพราะโลกนี้เปลี่ยนแปลงไป
ตามกฏของพระไตรลักษณ์ "ขอเพียงความเสื่อมนั้นอย่าเกิดจากเราเป็นผู้กระทำก็เพียงพอแล้ว"
          ขอฝากไว้เป็นข้อคิดเพื่อสะกิดเตือนใจ ก่อนที่จะคิดและทำอะไรให้ดูใจของเราก่อน
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๔ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๙ น. ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

337
                    ขอเชิญร่วมงาน ไหว้ครูบูรพาจารย์-สรงน้ำพระธาตุ-สมโภชพระ-บวชชีพราหมณ์-ทอดผ้าป่า-แข่งเรือยาว
                                   ณ วัดทุ่งเว้า บ้านท่าไคร้-นาแล ตำบลนาสีนวน อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร
                                       ในวันเสาร์ที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ โดยพระอาจารย์เมสันติื คมฺภีโร
             เพื่อเป็นการแสดงถึงความเคารพศรัทธาต่อครูบูรพาจารย์ซึ่งได้ประสิทธิ์ประสาทสรรพวิทยา เมตตาสั่งสอนอบรมมา
             จึงเป็นหน้าที่ของศิษย์ที่จะต้องแสดงถึงความเคารพศรัทธาต่อคุณครูบูรพาจารย์ ยกย่องสรรเสริญท่านให้เกิยรติยศ
             ชื่อเสียงระบือไกล และเ็ป็นการบำเพ็ญบุญกุศลเพื่ออุทิศไปให้ครูบูรพาจารย์ทั้งหลาย ที่ได้ทำกาลไปสู่ปรโลกแล้ว
             จึงได้พร้อมใจกันจัดงานพิธีไหว้ครูบูรพาจารย์เพื่อระลึกถึงคุณของท่านทั้งหลายและเพื่อประกาศเกียรตินามของท่าน
             อาทิ หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก(ปลัดขิก) หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ(อักขระเลขยันต์สายสัก) ครูบาอาจารย์สายลุ่มน้ำ
             พุมดวง สุราษฎร์ธานี(หมอเส้น หมอเอ็น หมอว่าน หมอยา หมอกระดูก หมองูหมอโหราศาสตร์ ครูลาย ครูบายศรี )
             ครูบาอาจารย์สายเขาอ้อ(พิธีกรรมและคาถาว่านยา)และครูบาอาจารย์อีกมากมายที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา
                                                .........................................................
                                                        กำหนดการงานไหว้ครูบูรพาจารย์
            วันเสาร์ที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓
                       เวลา ๐๘.๓๙ น.   ทำพิธีบวงสรวงไหว้ครูบูรพาจารย์
                       เวลา ๐๙.๓๐ น.    กล่าวเปิดงานแข่งเรือยาว-ชกมวยทะเล
                       เวลา ๒๐.๐๐ น.    ทำพิธีบวชชีพราหมณ์-สวดสมโภชพระ-สวดเสริมอายุสะเดาะห์พระเคราะห์
                       เวลา ๒๔.๐๐ น. ถึงเวลา ๐๖.๐๐ น. ร่วมปฏิบัติธรรมตลอดคืน
            วันอาทิตยฺที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓
                       เวลา ๐๘.๐๐ น.   แห่ผ้าป่ารอบพระอุโบสถและพระธาตุเจดีย์
                       เวลา ๐๙.๐๐ น.   ร่วมกันถวายผ้าป่า
                       เวลา ๐๙.๓๐ น.   สรงน้ำพระธาตุ-สรงน้ำพระ-แข่งเรือยาว-ชกมวยทะเล
          จึงขอเชิญชวนท่านทั้งหลายผู้มีจิตศรัทธา มาร่วมพิธีกรรมและปฏิบัติธรรมร่วมกันในครั้งนี้ และขอกุสลผลบุญแห่งความดี
          ที่ได้ร่วมกระทำบำเพ็ญมา จงบังเกิดมีพลานุภาพ ให้สัมฤทธิ์ผลดั่งกุศลจิตที่ท่านคิดปรารถนา โดยทั่วหน้ากัน
                           พระอาจารย์เมสันติ์ คมฺภีโร (หลวงโ่ด่ง-รวี สัจจะ)เจ้าพิธีผู้ดำเนินการ

338
"เสียหนึ่ง อย่าเสียสอง
  เสียของ  อย่าเสียใจ
  เสียแล้ว  ให้เสียไป
      ใจอย่าเสีย"
    ..................
     เป็นคำสอนของหลวงพ่อจำเนียร สีลเสฏโฐ ประธานสงฆ์วัดถ้ำเสือ
ซึ่งท่านได้กล่าวเตือนสติบรรดาศิษย์ทั้งหลาย ให้นำไปพิจารณาปฏิบัติ
ตามแนวของสติปัฏฐานสี่ ในเรืองของจิต คือการมีสติพิจารณาความรู้สึก
ที่เกิดขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติ เมื่อมีสิ่งมากระทบแล้วจิตเข้าไปปรุงแต่งตาม
     สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นไปตามกฏของพระไตรลักษณ์ คือความเป็น
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ไม่มีอะไรที่ที่จะหนีกฏนี้
ไปได้ สิ่งที่สำคัญก็คือการทำใจ รับกับสภาวะที่จะเกิดขึ้นนั้น ว่าเราจะรับได้
ขนาดไหน ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวของเราเอง
     การสูญเสียนั้น ถ้าเป็นสิ่งของ วัตถุที่จับต้องได้ มันก็ไม่หนักหนาเท่าไหร่
เพราะว่าเรายังมีโอกาศที่จะหามาชดใช้ มาทดแทนได้เพราะเป็นของนอกกาย
แต่สิ่งที่หามาทดแทนไม่ได้ ก็คือความรู้สึกนึกคิดที่เสียไป เสียความรู้สึกที่ดีต่อกัน
สิ่งนั้นไม่อาจจะหามาทดแทนได้ เช่นความรู้สึกที่ดีที่เคยดีต่อกัน เมื่อความรู้สึกนั้น
มันเปลี่ยนแปลงไป มันยากที่จะทำให้กลับมาเหมือนเดิม มันเป็นบาดแผลในจิต
ที่ยากเกินแก้ไข ถึงจะประสานอย่างไร มันก็ยังมีรอยร้าว เหมือนสังคมไทยในปัจจุบันนี้
คือความรู้สึกที่ดีที่เคยมีต่อกันนั้นสูญเสียไป เพราะขาดซึ่งความจริงใจที่มีให้แก่กัน
     ถ้าเราขาดสติไม่พิจารณาดูจิต ปล่อยให้ความคิด รัก โลภ โกรธ หลง เข้าครอบงำ
เราจะขาดคุณธรรมและสูญเสียมิตรไป เพราะว่าใจของเรานั้นไม่มั่นคง หลงไปตามกระแส
ของโลกธรรมทั้งหลาย อันได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  ทำให้จิตใจของคนเปลี่ยนแปลงไป
เพราะความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว จนทำให้ขาดซึ่งหิริและโอตตัปปะไม่มีความละอายและ
เกรงกลัวต่อบาป กระทำในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ซึ่งมีเหตุมาจากการที่ไม่มีคุณธรรมคุ้มครองจิต
เพียงแต่รู้ธรรม เข้าใจธรรม จำเนื้อหาของธรรมได้ แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ในธรรม
มันจึงขาดซึ่งคุณธรรมประจำจิต แยกแยะถูกผิดกันไม่ได้ เพราะพ่ายแพ้ต่อกิเลสที่ยั่วยวน
   ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจึงต้องหมั่นดูจิต ควบคุมความคิดและรู้จักการข่มใจ อดกลั้นต่อสิ่งยั่วยวน
ทั้งหลาย  อย่าให้ใจของเรานั้นเสียไป เสียไปจากคุณธรรมที่ดีงาม เพราะว่าถ้าใจของเราสูญเสีย
ไปจากคุณธรรมแล้ว มันจะทำให้เราหลงทางเดินออกห่างจากคุณงามความดี มีความคิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ
จนนำไปสู่อบายได้ในที่สุด ถ้าเราไม่รู้จักควบคุมจิตของเรา ให้มั่นคงอยู่ในคุณธรรม...
              เป้นเพียงส่วนหนึ่งของความรู้สึกและจิตสำนึกของผู้ปฏิบัตธรรม
                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตเป็นมิตรต่อทุกคน
                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๒ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๔๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

339
                                              พระราชดำรัส
                                        ในพระราชพิธีบวงสรวง
                                  สมเด็จพระบุรพมหากษัติยาธิราชเจ้า
                                          ณ ท้องสนามหลวง
                             วันจันทร์ที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕
                                           .......................
      ข้าพเจ้ามีความปิติชื่นชมยินดี  ที่ประชาชาติไทยจัดงานเฉลิมสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ได้งดงามยิ่งใหญ่
และพร้อมเพรียงกันทุกฝ่ายเช่นนี้  เป็นนิมิตหมายสำคัญ  แสดงความจริงให้ประจักษ์โยปราศจากข้อสงสัยว่า
คนไทยนั้นยังมีความจงรักภักดีในแผ่นดินอยู่อย่างมั่นคงลึกซึ้ง  ทั้งมีความสมัครสามัคคีอันแน่นแฟ้น  พร้อมที่
จะร่วมแรงร่วมใจกันประกอบกิจทั้งปวงที่เป็นกรรมสุจริต  พร้อมเพรียงกันในการทำความดีนี้   ช่วยให้ไทยรักษา
อิสรภาพอันไพบูลย์มาได้สองร้อยปีแล้ว  จึงเชื่อว่าชาติไทยจะดำรงความเป็นไทยอยู่ตลอดไป
     ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวพรรนาในนานของประชาชน  ถึงความสำนึกตระหนักในพระเดชพระคุณ
แห่งสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์  พร้อมทั้งแสดงความประสงค์อันแรงกล้า  ที่จะเทิดทูน
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกให้สูงส่งขึ้น  โดยถวายพระราชสมัญญาเป็น"มหาราช"นั้น
เป็นข้อยืนยันอย่างสำคัญว่า  คนไทยทุกๆฝ่าย  มีความนิยมเลื่อมใสในคุณความดี  และปรารภปรารถนาที่จะตั้งตน
อยู่ในคุณงามความดีนั้น
     การรักษาอิสรภาพและความเป็นไทยให้ดำรงมั่นคงยืนยาวไป  ถือว่าเป็นกรณียกิจอันสำคัญสูงสุด  นอกจากต้อง
อาศัยการบริหารประเทศที่ฉลาดสามารถ  และสุจริตเป็นธรรมแล้ว  ยังต้องอาศัยความร่วมสนับสนุนจากประชาชนทั้ง
ประเทศด้วย  คือประชาชนแต่ละคน  จะต้องขวนขวายสร้างสรรค์ประโยชน์และดำรงอยู่ในคุณธรรมอันสมควรแก่ฐานะ
ของตนๆ "คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติมีอยูู่่สี่ประการ  ประการแรก คือ การรักษาสัจ  ความจริงใจ
ต่อตัวเอง  ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม  ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง  ฝึกใจตนเอง
ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดี  ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม  ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจ
สุจริต  ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด  ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว  ความทุจริต  และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน
เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง  คุณธรรมสี่ประการนี้  ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดย
ทั่วกันแล้ว  จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข  ความร่มเย็น  และมีโอกาศที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไป
ได้ดังประสงค์"
     ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย  และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลพิภพ  จงอภิบาลรักษาท่านทั้งหลายให้มีความสุขสวัสดี
แคล้วคลาดจากภัยอันตรายและสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง  บันดาลให้มีกำลังกายกำลังใจและกำลังปัญญาอันเข้มแข็งสมบูรณ์  สามารถ
ที่จะประกอบกิจการงานน้อยใหญ่ในหน้าที่ให้บรรลุประโยชน์และความเจริญก้าวหน้าตามที่มุ่งหมายได้ทุกประการ..
          ...
                 ที่มาจากพระบรมราโชวาท  ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน 
ซึ่งปรากฏอยู่ในพระราชดำรัส ในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า
 ณ ท้องสนามหลวง  เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ เมษายน  พุทธศักราช ๒๕๒๕

340
สำนักสงฆ์ถ้ำเบื้องแบบ ต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราฎร์ธานี
วันจันทร์ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๔๕ น.
           เสร็จสิ้นจากงานพระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์พระครูประดิษฐ์ธรรมโชติ(หลวงพ่อชิต ธมฺมโชโต)
พระกรรมวาจาจารย์ ที่วัดจันทร์ประดิษฐาราม(วัดบางเดือน)แล้ว จึงได้เดินทางแวะไปเยี่ยมสำนักเก่าที่ได้ร่วมสร้าง
ไว้กับพระพี่ชาย คือสำนักสงฆ์ถ้ำเบื้องแบบ ที่อำเภอคีรีรัฐนิคม ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงการพัฒนาที่เจริญก้าวหน้า
อนุโมทนากับพระลูกศิษย์ที่ท่านได้เข้ามาดูแลรักษาสำนัก ที่ท่านได้รักษาบำรุงสำนักให้เจริญก้าวหน้าพัฒนาขึ้นเรื่อยมา
           เพื่อนๆรู้ข่าวการกลับมาสุราษฎร์ธานี ต่างก็ยินดีแวะมาเยี่ยมพูดคุย ซึ่งมากันหลายคณะ ทั้งเป็นพระและเป็นโยม
มานิมนต์ไปฉันอาหาร เพื่อจะได้พบปะสนทนากัน ซึ่งแต่ละวันก็เป็นคิวของแต่ละคณะ ที่ได้นัดรวมตัวกันถวายอาหารเพล
ได้พบปะกับเพื่อนเก่าๆหลายรุ่นด้วยกัน เช่นเพื่อนสมัยเรียนประถมตั้งแต่สมัยเด็ก เพื่อนสมัยเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลาย
เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทุกคนดีใจทีได้พบปะกัน พระฉันอาหารเสร็จแล้ว ญาติโยมทานกันต่อ ได้พูดคุยสนทนากัน
           "พูดเรื่องเก่า เล่าความหลัง"เป็นบรรยายกาศของการพูดคุยกัน เรื่องราวที่นำมาสนทนากันคือสิ่งประทับใจไม่ลืม
สิ่งนั้นคือมิตรภาพและความทรงจำที่ดีงาม สิ่งหนึ่งที่ทำให้ความผูกพันของความเป็นเพื่อนไม่จางคลาย แม้เวลาจะผ่านมา
เป็นเวลาอันยาวนาน ก็คือความจริงใจความบริสุทธ์ใจที่มีให้แก่กัน ไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องกัน เป็นความผูกพัน
ที่บริสุทธิ์ใจและความจริงใจที่มีให้แก่กัน...มิตรภาพและความทรงจำที่ดีงาม...ขอเก็บความประทับใจนั้นไว้ในส่วนหนึ่ง
ของความทรงจำและขอขอบคุณสำหรับความรู้สึกที่ดี ที่มีให้แก่กัน ซึ่งได้ผ่านวันเวลามายาวนาน....
          ขอเก็บความประทับใจทั้งหลายไว้ในความทรงจำ
            เชื่อมั่นศรัทธาในความปรารถนาดีที่มีให้แก่กัน
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๕ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๑๒ น. ณ สำนักสงฆ์ถ้ำเบื้องแบบ ต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี




341
บทความ บทกวี / ...คนจรย้อนคืนถิ่น...
« เมื่อ: 12 มี.ค. 2553, 12:32:19 »
หอสมุดวัดบางเดือน ข้างมณฑปหลวงพ่อพัว สุราษฎร์ธานี
๑๒ มีนาคม พ.ศ๒๕๕๓ เวลา ๐๐.๑๘ น.
           :059:คนจรย้อนคืนถิ่น :059:
    ห่างเหินและห่างหาย   จากมาหลายวันเดือนปี
    ได้กลับคืนถิ่นที่          ธรณีที่จากมา
    กราบศพครูอาจารย์      อาลัยท่านที่จากลา
    เคยรับความเมตตา       จากท่านมามิลืมเลือน
    สอนมนต์สอนคาถา      ภาวนาคอยย้ำเตือน
    สอนให้ไม่แชเชือน      ให้วันเดือนผ่านเลยไป
    สอนให้ใฝ่ศึกษา          รู้คุณค่าธรรมวินัย
    ท่านรักและห่วงใย        อยากจะให้เราได้ดี
          วิถีแห่งคนจร        จึงเร่ร่อนไปทุกที่
    จากไปนานหลายปี       ตามวิถีแห่งคนจร
    สายลมอาจเปลี่ยนทิศ   แต่ดวงจิตไม่สั่นคลอน
    ศรัทธาไม่ถอดถอน       จำคำสอนครูอาจารย์
    "ยามอยู่ให้เขารัก         อยู่เป็นหลักช่วยเจือจาน
    กล่าวธรรมนำขับขาน     อยู่ประสานสามัคคี
    ถึงคราวที่จะจาก          เราต้องฝากซึ่งความดี
    คำสอนของท่านนี้        คือสิ่งที่ต้องจดจำ
    จดจำนำมาใช้             สิ่งชั่วร้ายไม่กลายกล้ำ
    เดินตามเส้นทางธรรม    เดินตามคำครูอาจารย์
          คนจรย้อนคืนถิ่น    คืนวันสิ้นไปตามกาล
    เรื่องราวที่เล่าขาน         คือตำนานการเดินทาง
           .....................................
               เคารพ-ศรัทธา-อาลัย
         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร  
๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๐๐.๓๒ น. ณ วัดบางเดือน พุนพิน สุราษฏร์ธานี    
              
    
    

342
ริมฝั่งแม่น้ำพุมดวง วัดบางเดือน พุนพิน สุราษฎร์ธานี
๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๘.๑๐ น.
              " วิถีทางสู่ความเป็นจอมยุทธ" เป็นคำพูดหรือวลีหนึ่งที่มักจะเอ่ยถึงสำหรับนักปฏิบัติธรรม
คือการกระทำการปฏิบัติ คล้ายกับการฝึกวิทยายุทธในนิยายกำลังภายในของจีน ซึ่งนิยายกำลังภายใน
ของจีนนั้น ก็เอาหลักการของพุทธศาสนามาเป็นแนวทาง มีหลักคุณธรรมเข้ามาสอดแทรกให้คติเตือนใจ
การปฏิบัติธรรมนั้นก็เช่นกันคือ"ทำของที่ยังไม่มีให้มีขึ้นเกิดขึ้น  ของที่มีแล้วเกิดขึ้นแล้วนั้น รักษาไว้ไม่ให้เสื่อม
ไม่ให้สูญหายสลายไป ทำของที่มีที่เกิดขึ้นแล้ว รักษาไว้ดีแล้ว ให้เหมือนกับไม่มี" นี้คือกระบวนยุทธของการ
ปฏิบัติธรรม...ทำของที่ไม่มีให้มีขึ้นให้เกิดขึ้น คือการฝึกฝนปฏิบัติ เจริญสติเพื่อให้มีสมาธิจิตที่สงบนิ่ง นั่นคือ
การเจริญภาวนาปฏิบัติกรรมฐานตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนมา ตามแนววิชากรรมฐานของแต่ละสำนัก
เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแก่นักปฏิบัติแล้ว ก็ต้องรักษาทรงไว้ซึ่งสมาธินั้นให้มั่นคง มีความชำนาญแคล่วคล่องในการ
เข้าออกในอารมณ์สมาธินั้น คือความเป็นวสี รู้วิธีเข้าออกในอารมณ์ฌาน ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนอยู่อย่างสม่ำเสมอ
เมื่อจิตมีสมาธิที่มั่นคงแล้ว เข้าใจในสภาวะขององค์ฌาน เข้าออกอธิษฐานเข้าออกได้ตามที่ต้องการแล้ว
ก็ถึงกระบวนการยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนากรรมฐาน คือเห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง เห็นความเป็นจริงในพระไตรลักษณ์
เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสรรพสิ่ง เห็นรูปเห็นนาม ตามความเป็นจริง
จิตละทิ้งจากการยึดถือ เข้าสู่ขบวนการ ลดมานะ ละทิฏฐิ ถอนอุปาทาน ตามรู้เห็นดูจิตอยู่กับปัจจุบันธรรม
        การปฏิบัติธรรมนั้นเปรียบได้กับ การแสวงหา ยกตัวอย่างให้เห็นได้ดังนี้ว่า เหมือนเราแสวงหาของที่เรายังไม่มี
เราอยากจะได้สิ่งของสิ่งนี้ เราต้องมีความพยายาม หาเหตุหาปัจจัยเพื่อที่จะได้มา สะสมเงินทองเพื่อให้พอที่จะซื้อหา
หรือพยายามกระทำสร้างมันขึ้นมา จนมันสำเร็จตามความปรารถนาได้สิ่งที่ต้องการมา และเราต้องเก็บรักษาสิ่งของสิ่งนั้น
ทำความรู้จักกับมัน ใช้งานมันจนชำนาญแคล่วคล่องคุ้นเคย เก็บรักษามันไว้ในที่อันสมควร เมื่อถึงเวลาก็หยิบขึ้นมาใช้ได้ทันที
ไม่ต้องถืออวดอยู่ตลอดเวลา เก็บรักษาไว้ในที่อันเหมาะสม
         นักปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน ต้องรู้จักครอบงำประกาย ไม่ใช่โอ้อวดตัวโชว์อวดให้เขารู้ว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
เพราะการปฏิบัตธรรมนั้น มิใช่การแสดง มิใช่เป็นไปเพื่อการโอ้อวดประกวดกัน เพื่อให้เขากล่าวสรรเสริญยกย่อง
แต่เป็นไปเพื่อความสงบ สะอาด สว่าง ละวางจากมานะและอัตตา เพื่อความจางคลายของกิเลส ตัณหา อุปาทาน
ซึ่งการปฏิบัติธรรมนั้นต้องเกิดจากความคิดจิตที่เป็นกุศลการเริ่มต้นที่ที่ต้องและดีงาม ความเจริญในธรรมจึงบังเกิด
เพราะคำว่า"ภาวนานั้นคือการกระทำให้ดีขึ้น พัฒนาขึ้น สิ่งที่เรียกว่าพัฒนาขึ้นดีขึ้นนั้น ก็คือความดี คือกุศลทั้งหลาย
จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลาย โปรดได้นำไปคิดและพิจารณาใคร่ครวญดูว่า
    "เรามีความปรารถนาในการปฏิบัติธรรมเพราะอะไร สิ่งที่เราคาดหวังตั้งใจไว้นั้น มันเป็นกุศลจิตหรือไม่" 
ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต สิ่งที่เรานึกคิดเรารู้อยู่แก่ใจ ว่าเราคิด เราหวังอะไร ในการปฏิบัติธรรม...
          เชื่อมั่น-ศรัทธาในธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                 ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๘.๓๓ น. ณ  ริมฝั่งแม่น้ำพุมดวง วัดบางเดือน พุนพิน สุราษฎร์ธานี

343
หอสมุดวัดบางเดือน ข้างมณฑปหลวงพ่อพัว สุราษฎร์ธานี
วันอังคารที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๕๐ น.
          มีผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมหลายท่านมาขอคำชี้แนะเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
และได้ให้คำแนะนำเพื่อให้นำไปปฏิบัติ ตามที่ศึกษาและปฏิบัติมา โดยให้ยึดหลัก
ในการปฏิบัติว่า" อย่าเกร็ง อย่าเคร่ง อย่าเครียด" ให้ปฏิบัติอย่างเรียบง่ายสบายๆ
ค่อยๆเป็นค่อยๆไป เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ปรับสภาพและมีความพร้อมมีความ
เคยชินกับวิถีการดำเนินชีวิตและความคิดใหม่ๆ ที่เป็นไปโดยชอบและประกอบด้วยกุศล
โดยให้ถามตัวเองก่อนว่า...อะไรเป็นสาเหตุให้เราอยากปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร
ให้ค้นหาตัวเองให้เจอเสียก่อน ว่าอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เกิดจากความคิดจิตที่เป็นกุศลหรือไม่
หรือเป็นไปโดยความคิดจิตที่เป็นอกุศล คือหวังผลเพื่อลาภสักการะและชื่อเสียงหน้าตาคำยกย่อง
ผู้ปฏิบัติต้องมองให้เห็นในจุดนี้ ว่าที่เราต้องการปฏิบัติธรรมนั้นมาจากเหตุอะไร เป็นไปโดยชอบหรือไม่
        เป้าหมายของการปฏิบัติคืออะไร เพียงเพื่อต้องการความสงบเพื่อหลบความวุ่นวาย หรือว่าเพื่อให้
จางคลายจากกิเลสตัณหา ปรารถนาความพ้นทุกข์ โดยเราต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของตัวเราด้วยว่า
"จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่ บุคคล" นั้นมันควรจะกระทำอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้ไม่เป็นการ
"เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อผู้อื่น ฝ่าฝืนศีลธรรมประเพณี วิถีของกฏหมายและสังคม" เพราะการปฏิบัติธรรม
นั้นอาจจะเป็นการ"ทอดทิ้งธุระ ละเลยต่อหน้าที่"ถ้าเราไม่รู้จักความพอดี บทบาทหน้าที่ของตัวเรา
การปฏิบัติธรรมนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้เพื่อให้เหมาะสมกับตัวบุคคล คือสำหรับสมณะนักบวช
ผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์ และฆราวาสผู้ครองเรือน เพื่อให้ตรงกับวิถีชีวิตและสิ่งที่ปรารถนาเจตนา
เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามในธรรม "เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศล" ให้รู้จักตัวตนของตัวเองเสียก่อน
       จึงขอฝากไว้ให้เป้นข้อคิด นำไปพิจารณา และอย่าได้เชื่อทันที ที่ได้ฟังหรือได้อ่าน จงใช้วิจารณญาณ
ในการเสพข่าวสารและข้อมูล เพื่อเป็นการเพิ่มพูลสติปัญญาให้แก่ตนเอง โดยการฝึกคิดพิจารณาและวิเคราะห์
ก่อนที่จะเชื่อหรือปฏิเสธ ประโยชน์นั้นจะเกิดแก่ตัวท่านเอง..
             เชื่อมั่นและศรัทธาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                             ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๙ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๑๖ น. ณ หอสมุดวัดบางเดือน ข้างมณฑปหลวงพ่อพัว สุราษฎร์ธานี

344
หอสมุดวัดบางเดือน ข้างมณฑปหลวงพ่อพัว สุราษฎร์ธานี
เช้าวันจันทร์ที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๕๖ น.
       อยู่บนเส้นทางสายนี้มายาวนาน มีประสพการณ์จากชีวิตจริง มีหลายสิ่งที่ได้เรียนรู้
จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมและปัญหาที่มักจะเจอกันในการปฏิบัติธรรม
เพราะส่วนใหญ่ของผู้ปฏิบัตินั้นมักจะทำกันลัดขั้นตอน เพราะความใจร้อนหวังผลในการปฏิบัติ
อยากจะเห็นผลโดยเร็วไว การปฏิบัติจึงไม่เป็นไปตามขั้นตอน ตามหลักคือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ส่วนใหญ่จะไปเน้นที่สติเพื่อให้เกิดสมาธิโดยเร็วไว้ ข้ามเรื่องศีลไป ซึ่งนั้นคืออันตรายของนัก
ปฏิบัติ เพราะศีลนั้นคือบาทฐานของความเป็นสัมมาสติ เจตนาของการรักษาศีลนั้นก็เพื่อการ
เจริญสติ มีการสำรวมอินทรีย์ ผู้ที่จะรักษาศีลได้นั้นต้องมีสติอยู่กับกายและจิต ดูความคิด
ดูการกระทำ ไม่ก้าวล่วงล้ำข้อห้ามทั้งหลาย มีความละอายและเกรงกลัวต่อการประพฤติผิด
ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง การกระทำอย่างนั้นก่อให้เกิดคุณธรรมประจำจิตคือการมีหิริโอตตัปปะ
สิ่งที่ได้จากการรักษาศีลก็คือการมีสติและคุณธรรม เมื่อเข้าสู่กระบวนการภาวนาเพื่อให้เกิดสมาธิ
สติที่ใช้ในการภาวนานั้นคือสัมมาสติ สมาธิที่เกิดขึ้นจึงเป็นสัมมาสมาธิเพราะเกิดจากสติที่เป็นสัมมา
ปัญหาของการภาวนาที่ไม่ได้ผ่านการรักษาศีลนั้น ก็คือการก่อให้เกิดอัตตา การยกตัวถือตัวถือตน
สำคัญตนว่าเราดีกว่าผู้อื่น เก่งกว่าผู้อื่น วิเศษกว่าผู้อื่น หลงตัวเอง สบประมาทลบหลู่ครูบาอาจารย์
ยกตนขึ้นเทียบท่าน ก่อให้เกิด กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ต่อครูบาอาจารย์ เพราะขาดซึ่งคุณธรรม
          ความเจริญในธรรมนั้น เหมือนกับต้นไม้ คือต้องค่อยเป็นค่อยไปตามกาลเวลาและลำดับชั้น
เหมือนเราปลูกต้นไม้ เราอยากจะให้มันโตไวๆให้ดอกออกผลโดยเร็ว แต่มันเป็นไปไม่ได้ ต้นไม้มัน
ต้องเจริญเติบโตไปตามระยะเวลาและอายุของมัน การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน มันต้องผ่านกาลเวลา
การสั่งสม เพิ่มพูลกำลังไปตามลำดับชั้น การปฏิบัตินั้นจึงจะเป็นไปด้วยดี มีความเจริญในธรรมที่มั่นคง
และถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา ตามที่พระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนไว้
        จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจสำหรับนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ให้ใคร่ครวญคิดพิจารณา
เพื่อความก้าวหน้าเจริญในธรรม ไม่หลงปฏิบัติผิดทาง ซึ่งจะนำออกห่างจากกุศลธรรมทั้งหลาย...
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๘ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๙ น. ณ หอสมุดวัดบางเดือน ข้างมณฑปหลวงพ่อพัว สุราษฎร์ธานี

           
     

345
หอสมุดวัดบางเดือน ข้างมณฑปหลวงพ่อพัว สุราษฎร์ธานี
วันอาทิตย์ที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๔๘ น.
         ตั้งแต่กลับจากงานไหว้ครูหลวงพ่อเปิ่น ที่วัดบางพระ มีภาระกิจมากมายที่ต้องกระทำ
ทั้งงานภายในวััดและงานภายนอกวัด จึงขาดงานเขียนมาระยะหนึ่ง และต้องเดินทางลงภาคใต้
เพื่อมางานพิธีพระราชทานเพลิงศพของ"พระครูประดิษฐ์ธรรมโชติ-หลวงพ่อชิต ธมฺฺมโชโต"
ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของข้าพเจ้า ต้องเดินทางอย่างรีบด่วน ใช้เวลาอยู่บนรถ 20 ชั่วโมง
จากมุกดาหารถึงสุราษฎร์ธานี เพื่อมาแสดงความไว้อาลัยและร่วมพิธีงานศพของครูบาอาจารย์
และหลังจากเสร็จสิ้นงานสวดพระอภิธรรมในยามค่ำคืนแล้ว เวลากลางวันจึงพอจะมีเวลาว่าง
ที่จะมีผลงานออกมา.....
                  :090:นิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว :090:
            วันเวลา ผ่านไป ไม่หยุดนิ่ง    สรรพสิ่ง ผันแปร เกินแก้ไข
      ทุกสิ่งอย่าง ผ่านมา แล้วจากไป    มันเป็นไป ตามกรรม ที่นำไป
 โลกเคลื่อนไหว แต่ใจ อย่าไหวหวั่น    อย่าไปเต้น ตามมัน จะหวั่นไหว
 กำหนดจิต  ดูกาย อยู่ภายใน            สำรวมใจ  มีสติ  แล้ววิจารน์
 มีศรัทธา ปสาทะ อย่าละถอย            จิตต้องคอย คุมไว้ ให้อาจหาญ
 ให้รื่นเริง  พอใจ ในธรรมทาน            จิตเบิกบาน ตื่นอยู่ รู้คืนวัน
          จงรู้กาย รู้จิต รู้คิดนึก             จิตต้องฝึก  ให้นิ่ง  อย่าไหวหวั่น
          มีสติ รู้ธรรม  ปัจจุบัน             ว่าปล่อยวัน เวลา ให้ล่วงไป
       ชีวิตนี้ สั้นลง  ทุกขณะ              อย่าเลยละ  ฝึกสติ เป็นนิสัย
   มีสติ อยู่กับกาย และกับใจ             โลกเคลื่อนไหว ใจสงบ สยบมัน
ถ้าหลงเดิน ตามโลก จะโศกเศร้า         ทุกข์รุมเร้า  เพราะโลก มันแปรผัน
โลกเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนไป ทุกคืนวัน   เกินตามทัน เพราะโลก มันผันแปร
     ความพอเพียง อยู่ที่ เราเพียงพอ    อย่านอนรอ  วาสนา ไม่เืีที่่ยงแท้
พรสวรรค์  พรแสวง แหล่งตัวแปร         อย่าท้อแท้   ตั้งใจ   ทำให้จริง
ความสำเร็จ ของชีวิต ที่คิดฝัน             อยู่ที่ใจ  เรานั้น  เลิกร้องขอ
เมื่อจิตใจ   รู้สึก  บอกว่าพอ               ความสำเร็จ นั้นหนอ คือพอใจ...
            .........................................................
          ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๗ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๑๙ น. ณ หอสมุดวัดบางเดือน ข้าวมณฑปหลวงพ่อพัว สุราษฎร์ธานี

   
     

346
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง
๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓
        ขอแจ้งให้ทราบจากกุฏิทรงไทยชายน้ำ เนื่องในงานพิธีไหว้ครูบูรพาจารย์ที่ผ่านมานั้น
ได้มีการสักยันต์ถวายแด่ครูบาอาจารย์"หลวงพ่อเปิ่น" ที่กุฏิทรงไทยชายน้ำของหลวงพี่เว็บ
ซึ่งในปีนี้ ได้มีพระอาจารย์โด่ง- อ.สาธิต จากรามอินทรา-อ.โอ๋ จากภูเก็ต ร่วมกันสักยันต์
ซึ่งในปีนี้มียอดเงินพานครูของกุฏิทรงไทยชายน้ำรวมแล้ว ๑๕,ู๖๕๐.๐๐บาท ซึ่งยอดเงิน
จำนวนนี้ อาจารย์สาธิตและอาจารย์โอ๋ ได้ร่วมบุญกับพระอาจารย์โด่ง(รวี สัจจะ)ถวายแด่วัด
ทุ่งเว้า จ.มุกดาหาร เพื่อร่วมสร้างห้องอาบน้ำ-ห้องสุขาใช้ในงานปฏิบัติธรรมอยู่ปริวาสกรรม
       ทางวัดทุ่งเว้า จึงขออนุโมทนาในจิตศรัทธาที่เป็นบุญกุศลของ อ.สาธิต-อ.โอ๋และศิษย์
หลวงพ่อเปิ่นทั้งหลายด้วย ขอบุญกุศลในครั้งนี้ที่ท่านทั้งหลายได้ถวายค่าพานครูมาทุกๆท่าน
จงประสพกับสิ่งที่ดีงามตามที่ท่านปรารถนาทุกประการ
       จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
                                     ขอเจริญพร เจริญสุข เจริญธรรม
                                             วัดทุ่งเว้า-มุกดาหาร

347
กุฏิทรงไทยชายน้ำนครชัยศรี วัดบางพระ
๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓
         :059:"คุณมาเราดีใจ คุณกลับไปเราคิดถึง"เป็นวลีที่ใช้กันในหมู่คณะ
ทุกครั้งที่มีการพบปะเยี่ยมเยือนกัน  เหมือนในโอกาศนี้ ที่ทุกคนได้มาพบปะกัน
โดยมีความศรัทธาที่ตั้งมั่นในครูบาอาจารย์"หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ"เป็นศูนย์
รวมจิตใจของเราท่านทั้งหลาย ที่ได้นำพา้เราท่านมารวมกันในงานพิธีไหว้ครู
บูรพาจารย์ เพื่อเป็นการระลึกนึกถึงคุณของท่าน ที่ได้เมตตาประสิทธิ์ประสาทวิชา
แก่เราท่านทั้งหลาย การไหว้ครูบูรพาจารย์นั้น เป็นการแสดงความเคารพศรัทธา
ในครูบาอาจารย์ ซึ่งมีมาแต่โบราณสืบทอดกันมา ตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์
ที่ว่า "ศิษย์ที่ลบหลู่ครูบาอาจารย์ย่อมไม่มีความเจริญ" บุคลผู้มีปกติอ่อนน้อมถ่อมตน
ต่อผู้ใหญ่ย่อมมีความสุขความเ้จริญ ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละและปฎิภานในกาลต่อไป
        :054:ดังที่ได้ยกคำในหนังสือเรื่องพันธ์หมาบ้า ของชาติ กอบกิตติ ที่มีว่า
"หลายหลากผองเพื่อน ล้วนพันธ์เดียว" เพราะไม่ว่าเราจะเป็นใคร มีฐานะอย่างไร
แต่ในงานนี้เราท่านทั้งหลายมีสถานะที่เท่าเทียมกัน คือเป็นศิษย์ครูบาอาจารย์เดียวกัน
นั่นคือศิษย์"หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพรัะ" ไม่มีชนชั้นหรือวรรณะในงานนี้ เพราะเรามีใจ
เดียวกัน นั่นคือความเคารพศรัทธาในครูบาอาจารย์ของเรา เป็นที่รวมจิตใจให้เราได้มาร่วมกัน
"รวมจิต ร่วมใจ สายสัมพันธ์ ศรัทธา เชื่อมั่น ในครูบูรพาจารย์" สืบสายสืบทอดตำนาน
สรรพสิทธิ์วิทยา สักเสก เลขยันต์ เวทมนต์และคาถา มีศรัทธาตั้งมั่นไม่เสื่อมคลาย
       :059:ขอให้สิ่งนี้จงสถิตย์ยืนยงคงอยู่ต่อไป ร่วมกันรักษาไว้ซึ่งประเพณีที่ดีงาม
ทำตามครูบูรพาจารย์ที่ท่านได้สั่งสอนสืบทอดกันมาแต่โบราณนั้น่นคืองาน"ไหว้ครูบูรพาจารย์"
เพื่อระลึกนึกถึงคุณของท่าน เป็นการแสดงความเคารพและศรัทธา ประกาศเกียรติคุณของท่าน
ด้วยการประพฤติปฏิบัติ เป็นคนดีมีศีลธรรม ตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ แล้วท่านจะมีความสุข
มีความเจริญ "ความขลัง ความศักสิทธิ์ อยู่ที่จิตท่านศรัทธา เชื่อมั่นในคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์"   
จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ท่านทั้งหลาย ผู้ที่เคารพศรัทธาประกาศตัวว่า"เป็นศิษย์
หลวงพ่อเปิ่น เป็นศิษย์สายวัดบางพระ"ที่ควรจะประพฤติปฏิบัติ ด้วยความเคารพ ศรัทธาและเชื่อมั่น
แล้วท่านจะพบ จะประสพกับความสุขและความเจริญ....
         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรศิษย์วัดบางพระทุกคน
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๒๐.๑๖ น. ณ กุฏิทรงไทยชายน้ำนครชัยศรี วัดบางพระ นครปฐม

348
กุฏิทรงไทยชายน้ำ วัดบางพระ นครชัยศรี
  ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓
 :059:ว่างเว้นจากงานเขียนมาหลายวัน เพราะมีภาระกิจมากมายที่ต้องสะสาง
และอยู่ระหว่างการเดินทาง จึงไม่มีเวลาว่างที่จะเขียนงาน จนใกล้จะถึงวันงาน
ไหว้ครู จึงรูู้สึกว่ามันยังขาดอะไรไปสักอย่างที่เรายังมิได้ทำ นั่นคืองานเขียนคำ
บูชาครูบูรพาจารย์ เมื่อเดินทางมาถึงวัดบางพระจึงระลึกได้ ซึ่งคงจะไม่สายเกินไป
ที่จะเขียนบทกวี คำบูชาครูบูรพาจารย์ ณ โอกาศนี้...
               :054:สิบนิ้วประนมน้อม      ดวงจิตพร้อมอภิวา
                      ระลึกคุณบูรพา           ขอบูชาซึ่งคุณครู
                      สืบสายตำนานศาสตร์   ขอประกาศและเชิดชู
                      ศึกษาและเรียนรู้         สืบจากครูบูรพา
                      สักเสกแลเลขยันต์      สารพันวิทยา
                      ได้รับความเมตตา       ถ่ายทอดมาจากอาจารย์
                      โดดเด่นเรื่องสักเสก    ยกเป็นเอกแห่งตำนาน
                       เสื่อเผ่นเด่นตระการ    คนกล่าวขานและร่ำลือ
                  :059:เวียนรอบในราศรี    ถึงเดือนสี่ที่เชื่อถือ
                       สำคัญวันนั้นคือ         ประกาศชื่อบูชาครู
                       ไหว้ครู"หลวงปู่เปิ่น"   ประกาศเชิญให้รับรู้
                       บวงสรวงบูชาครู        เชิญมาอยู่คุ้มครองกาย
                       รอยมันและลายหมึก   ที่จารึกมีความหมาย
                       ป้องกันอันตราย         สิ่งชั่วร้ายไม่แผ้วพาน
                       สิ่งดีให้มีมา              คนเมตตารักสงสาร
                       สำเรํจเรื่องการงาน      ได้พบพานสิ่งดีดี
                 :054:เลขยันต์อักขระ       เราควรจะรู้วิธี
                       รักษายันต์ตรานี้         ก็ต้องมีคุณธรรม
                       ถือศีลและถือสัตย์      ข้อบัญญัติควรกระทำ
                       สิ่งที่ครูชี้นำ              จงจดจำและทำตาม
                       เชื่อมั่นและศรัทธา      ภาวนาทุกโมงยาม
                       อย่าผิดในข้อห้าม       พยายามเป็นคนดี
                       ยันต์นั้นจะเข้มขลัง      มีพลังด้วยสิ่งนี้
                       นั่นคือคุณความดี        ศรัทธามีในอาจารย์
                 :059:ไหว้ครูบูชาครู         เพื่อเรียนรู้และสืบสาน
                       ของดีแต่โบราณ         สืบตำนานวิทยา
                       พ่อแก่แลฤาษี           พระคัมภีร์แห่งคาถา
                       สืบทอดตลอดมา        ควรรักษาให้สืบไป.....
                             .....................................
 :054:เชื่อมั่น-เคารพ-ศรัทธา-ต่อครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณทั้งหลาย :054:
                          ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เวลา ๐๐.๑๖ น. ณ กุฏิทรงไทยชายน้ำ วัดบางพระ นครชัยศรี นครปฐม
                      

349
ชายขอบห้วยขาแข้ง ลานสัก อุทัยธานี
๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓
           ชีวิตที่ผ่านไปในแต่ละวัน สารพันเรื่องราวที่เข้ามาให้รับรู้และสัมผัส
ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ทั้งที่เป็นมงคลและอวมงคล ความสับสนของสังคม
ที่แสนจะวุ่นวายไร้ทิศทางที่แน่นอน มองย้อนกลับไปในอดีตชีวิตที่ผ่านมา
สมัยที่ยังไม่เข้าสู่เส้นทางธรรม ยังอยู่ในวังวนของปุถุชนผู้มากด้วยกิเลสตัณหา
มีปัญญามีความคิด แต่ขาดจิตสำนึกและวิจารณญาณ จึงใช้ความฉลาดในทางที่ผิด
คิดทุกอย่างเข้าข้างตนเอง ยึดถือความคิดตนเองเป็นใหญ่ สร้างความวุ่นวายให้สังคม
ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องหมู่คณะ
หลงติดอยู่ในวังวนของกิเลสตัณหา เพื่อให้ได้มาและตอบสนองซึ่ง"กิน กาม เกียรติ"
เบียดเบียนตัวเองและสังคม หลงเพลินในคำสรรเสริญชื่นชมของหมู่คนพาลสันดานหยาบ
       วันเวลาผ่านไปได้เข้าสู่เส้นทางธรรม นำชีวิตที่ผ่านมาเป็นบทเรียนในการคิดพิจารณา
ถามตัวเองเพื่อหาคำตอบ (จิตถามจิต) จนเห็นความคิดและการเปลี่ยนแปลงแหล่งที่มา
จึงรู้ได้ว่า"คนทุกคนนั้นมีความคิด"จิตไม่เคยหยุดนิ่งจากการปรุงแต่งแสวงหาทะยานอยาก
และความคิดนั้นเป็นทั้งกุศลและอกุศล ตามผลแห่งกรรมที่ทำมา ความคิดที่เป็นปัญหานั้น
คือความคิดที่ไร้จิตสำนึกแห่งคุณธรรม จึงคิดเพื่อตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จใน
"โลกธรรม คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข" จนลืมนึกถึงความทุกข์ของผู้อื่น จิตจึงไร้คุณธรรม
ไม่ละอายและเกรงกลัวต่อบาปกรรม
       แต่บางครั้งนั้น มีความคิด มีจิตสำนึกแห่งคุณธรรมก็ยังไม่เพียงพอเพราะว่าขาดซึ่ง
วิจารณญาณ ทำให้ไม่รู้จักกาลและเวลา กลายเป็นความศรัทธาที่งมงายแล้วเข้าไปยึดถือ
สังคมในทุกวันนี้จึงสับสนและวุ่นวาย ไร้ซึ่งความรักและสามัคคี มีการแบ่งสี แบ่งพวกกัน
โดยการปลุกปั่นของผู้ที่แสวงหาซึ่งผลประโยชน์ การโฆษณาชวนเชื่อ สงครามข่าวสาร
      วิถีแห่งชีวิตของผู้คนในสังคมนี้ จึงมีเพียงความคิด แต่ไร้จิตสำนึกและวิจารณญาณ
ไม่รู้จักกาลเวลาจังหวะโอกาศสถานที่และบุคคล ขาดความเคารพซึ่งเหตุผลของกันและกัน
ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเราเคยได้มีประสพการณ์ ได้ผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาแล้ว ในช่วงหนึ่งของชีวิต
ไม่มีใครถูกและไม่มีใครผิด แต่ทุกคนต่างขาดความคิดที่มีจิตสำนึกแห่งคุณธรรมและวิจารณญาณ
เหตุการณ์จึงได้เห็นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้...
        ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต อยากจะให้ทุกคนมีความคิด มีจิตสำนึกและมีวิจารณญาณ
ในการเสพข่าวสารการรับทราบข้อมูล ที่ต่างฝ่ายต่างโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์
ของตนเองเป็นใหญ่ "ดีใส่ตัว ชั่วให้คนอื่น"หรือ"การพูดความจริงไม่หมด" ไม่อย่างนั้นแล้วท่านทั้งหลาย
จะกลายเป็นจิ้งหรีดที่เขาปั่นให้กัดกัน ผลประโยชน์นั้นตกแก่ผู้ชมผู้เชียร์และผู้มีส่วนได้เสียในเกมส์พนัน
      เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-สมณะชายขอบ
๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๒๓.๔๗ น. ณ ชายขอบป่าห้วยขาแข้ง ลานสัก อุทัยธานี
 
 :059:หมายเหตุ...เล่าสู่กันฟังจากประสพการณ์ที่เคยคลุกคลีและทำงานการเมืองมาก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางธรรม
และจดจำอยู่เสมอกับคำนิยามของนักการเมือง "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร  ผลประโยชน์เท่านั้นนิรันดรน์"

350
ประกาศแจ้งข่าวแก่เพื่อนสหธรรมิกและผู้ที่เคารพศรัทธาในพระอาจารย์บรรทม กนฺตสีโล เจ้าอาวาสวัดเพชรน้ำผึ้ง
เรื่อง การมรณะภาพของพระอาจารย์บรรทม กนฺตสีโล เจ้าอาวาสวัดเพชรน้ำผึ้ง ต.ลานสัก อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี
       ทางวัดเพชรน้ำผึ้งได้แจ้งข่าวการมรณะภาพของพระอาจารย์บรรทม กนฺตสีโล ว่าได้มรณะภาพลงในเช้าของ
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เวลา04.00 น.ที่วัดเพชรน้ำผึ้ง หลังจากได้ล้มป่วยด้วยโรคเบาหวาน-ความดัน
และมีสภาวะโรคแทรกซ้อน ตั้งแต่ในพรรรษาที่ผ่านมา ได้มรณะภาพลงแล้ว
      ทางวัดเพชรน้ำผึ้งได้ตั้งบำเพ็ญกุศลศพ ณ ศาลาธรรมสังเวช วัดเพชรน้ำผึ้ง ต.ลานสัก อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี
และจะทำพิธีฌาปนกิจศพในวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 เวลา 15.00 น. ณ เมรุจำลองวัดเพชรน้ำผึ้ง
     จึงขอแจ้งข่าวมายังเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายและญาติโยมศิษยาณุศิษย์ของพระอาจารย์บรรทม กนฺตสีโล ทุกท่าน
ได้รับทราบข่าวสารการมรณะภาพให้ทราบโดยทั่วกัน
                          ขอเจริญพร เจริญสุข เจริญธรรม
                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
                                   17 ก.พ. 53


351
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง
 ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓
      เสียงลือเสียงเล่าอ้าง ดังกระจายไปตามริมฝั่งโขง เรื่องพญานาคปรากฏกายที่มุกดาหาร
หลังจากงาน"นมัสการไหว้พระธาตุพนม"เสร็จสิ้นลง เรื่องนี้เกิดจากมีร่างทรงเป็นผู้กระจายข่าว
ว่าพญานาคจากจังหวัดหนองคาย จะลงมาไหว้พระธาตุพนม แล้วจะเลยลงมาที่จังหวัดมุกดาหาร
จึงมีการทำพิธีบวงสรวงต้อนรับพญานาค ที่สะพานมิตรภาพ๒ จังหวัดมุกดาหาร และข่าวนี้ก็กระจาย
ออกไป มีผู้คนมากมายมาชมพิธีบายศรีบวงสรวงต้อนรับพญานาค และเพื่ออยากที่จะได้เห็นตัวเป็นๆ
ของพญานาค ตามคำบอกเล่าปากต่อปากว่าพญานาคจะมาปรากฏตัวที่สะพานมิตรภาพ๒มุกดาหาร
ซึ่งข่าวนี้ได้ผ่านมาอาทิตย์หนึ่งแล้ว แต่กระแสความสนใจยังไม่ลดลง
     ข่าวล่าสุดจากเมื่อวานนี้( ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓) ว่าพญานาคจะปรากฏตัวเป็นครั้งสุดท้ายที่สะพาน
มิตรภาพ๒ แล้วจะล่องน้ำลงมาเยี่ยมสหายนาค ที่วัดทุ่งเว้า และจะมาเยี่ยมวัดเก่าที่กลางแม่น้ำโขง
ฝั่งตรงข้ามวัดทุ่งเว้า ข่าวนี้ก็ได้กระจายไป มีผู้คนมากมายโทรฯมาสอบถามทางวัดทุ่งเว้าว่าเรื่องราว
นั้นเป็นอย่างไร จึงขออธิบายเล่าสู่กันฟัง ถึงที่มาที่ไปของข่าวนี้ ว่ามีที่มาจากพระและร่างทรงจาก
จังหวัดหนองคาย ที่ลงมางานไหว้พระธาตุพนม เป็นผู้ทำพิธีและมีคนกระจายข่าวกันไป ส่วนเรื่องจริง
จะเป็นอย่างไรนั้น ทางวัดทุ่งเว้ายังไม่ได้เข้าไปพิสูจน์และไปชม
     จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง...ด้วยความปรารถนาดี
               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๕๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

352
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง
 ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓
        วันเวลาแห่งชีวิตลิขิตไปตามกฏแห่งกรรม
     สิ่งที่เราเคยได้กระทำมาในอดีตและปัจจุบัน
     ส่งผลมาสู่วันนี้ทั้งกรรมดีที่เป็นกุศลส่งผลให้พบสิ่งดี
     และกรรมที่เป็นอกุศลที่ส่งผลมาเป็นอุปสรรคปัญหา
     สิ่งที่ผ่านมาแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วเพราะเป็นอดีต
     ยืดอกยิ้มสู้ยอมรับในกฏแห่งกรรมที่ทำมา...
        อดีตคือบทเรียนของชีวิต....
     ถูกหรือผิดล้วนแล้วคือบทเรียน
     ทบทวนใคร่ครวญพิจารณาในสิ่งที่ผ่านมา
     ให้เห็นที่มาและความเป็นไปในชีวิต
     เพื่อที่จะกำหนดทิศทางใหม่ที่จะก้าวเดิน
     โดยเอาอดีตนั้นมาเป็นบทเรียน...บทเรียนแห่งชีวิต
         ชีวิตนั้นเป็นของอันน้อยนิด....
     ชีวิตแขวนอยู่ฝากไว้กับลมหายใจ
     ลมหายใจสิ้นไปหมดไปเมื่อไหร่
     ภพนี้ชาตินี้ก็จบสิ้นไป...แสวงหาภพใหม่
     เวียนว่ายในภพในชาติไม่มีที่สิ้นสุด
     ตราบใดที่ยังไม่หลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร
          ปรารถนาซึ่งความพ้นทุกข์
    หวังเสวยสุขในวิมุติธรรมตามองค์พระสัมมาฯ
    แต่ถ้าเพียงปรารถนาแต่ยังไม่ลงมือกระทำ
    มันจึงเป็นเพียงความฝันเป็นเพียงจินตนาการ
    วันเวลานั้นผ่านไปไม่เคยหยุดนิ่งหยุดพัก
    ทุกขณะจิตกำลังเดินทางไปสู่ความตาย
    สิ่งที่ท่านมุ่งหมาย...ท่านได้ทำแล้วหรือยัง..?
        เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๒๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
   

353
๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓
ตถตาอาศรม ริมแม่น้ำโขง
         เป็นประเพณีปฏิบัติของเหล่าศิษย์ทั้งหลาย ในรอบหนึ่งปีที่จะต้องไหว้ครู
ซึ่งจะปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ โดยจะเลือกเอา เดือนยี่ เดือนสี่ หรือเดือนหก
ของไทยเป็นประเพณีนิยมที่จะทำพิธีระลึกถึงคุณของครูบูรพาจารย์ ที่ได้สั่งสอน
และร่ำเรียนมา เพื่อทำความเคารพระลึกถึงและประกาศเกียรติคุณของครูบาอาจารย์
และเพื่อการที่จะได้รวมตัวกันของบรรดาคนที่เคารพศรัทธาสานุศิษย์ในสายเดียวกัน
เพื่อสร้างสายสัมพันธ์และสืบต่อรักษาซึ่งสรรพวิทยาของครูบาอาจารย์ให้สืบต่อยืนยาว
และเพื่อให้สานุศิษย์ทั้งหลายได้สร้างบุญกุศลร่วมกัน เพื่อส่งบุญนั้นให้ถึงครูบาอาจารย์
จึงได้สืบสานเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตราบเท่าทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ดีที่น่ายกย่องสรรเสริญ
จึงขอกล่าวคำระลึกถึงคุณครูบูรพาจารย์ เป็น"อาจาริยะบูชา" ณ โอกาศนี้......
            ..........................................................
                      :054:อาจาริยะบูชาครูบูรพาจารย์ :054:
          :054: ข้า่พเจ้าทั้งหลาย  ข้าขอประนมน้อม นมัสการ  ครูอาจารย์  ผู้ฝึกสอน ให้เรียนรู้ปกรณ์
สัก เสก อักขระ เลข ยันต์ โหราศาสตร์ คณะวิทยกิจ ขอจงประสิทธิ สรรพมงคลสวัสดี จงมีแก่ข้าพเจ้า
ผู้มุ่งกมลประสาท โสมนัสจัดด้วยเจตน์ บวงสรวงสิทธิเคารพ นบน้อมด้วยกาย ใจ จิต บรรจงสรรพสักการวามิส
อุทิศแด่ท่านบรมครู บูรพาจารย์ อ้างเดิมกาลพรหมทั้ง ๔ มีกสิณพรหมเป็นอาทิเหตุ ผู้บำเพ็ญฌานประเภท
เลขคำนวนอักขระกิจ เสริมประสิทธิ สฤษฏิสรรพคัมภีร์ โดยวิถีทางจิตศาสตร์ ตั้งอสีติธาตุ สุริยาตร สารัมภะ
สุริยจันทร ประจำลัคราศรี จักรทีปนี สักเสกด้วยเลขยันต์ ทบทวนธาตุแบ่งปัน ปักษ์ดิถี เดือนวันฤดูกาล
สิบสองฐานนพเคราะห์ รู้แม่นเหมาะอักขระเลขยันต์วิธี  แจ้งจบญาณวิถี
         :054:จงโปรดปราณี รับสักการะ สรรพพิธานพลีกิจ ซึ่งผจงจิตน้อมอภิวันท์ สบประโยชน์พลันเชิญช่วย
เอื้ออำนวยพรพิสุทธิ์ แก่กุลบุตรผู้ศึกษาและศรัทธา ในอักขระเลขยันต์ปกรณ์ ทั้งผู้สอนผู้สักผู้เรียน จงเพียร
เพิ่มพูลสวัสดิ์ ให้แจ้งจัดเจตน์จำนงค์ แม่นมั่นคงทุกคัมภีร์ ขออย่าให้มีวิปลาส ด้วยอำนาจประนมนต
น้อมเคารพคุณครูบูรพาจารย์ จงบันดาลให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย ได้สมหมายดั่งประสงค์ มั่นคงประสิทธิ ดั่งดำริเจตนา
ขอน้อมวันทา นมัสการบูรพาจารย์ทุกท่านเทอญ...
         .................................................................................................
  เชื่อมั่น-ศรัทธา-เคารพครูบูรพาจารย์-ทุกท่านที่มีพระคุณ
          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-สมณะชายขอบ
๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๕.๒๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
 :059:หมายเหตุ เป็นบทกล่าวไหว้ครูที่แต่งขึ้นใหม่ เป็นบทร่ายด้น โดยแก้ไขจากของเก่าให้เหมาะสมกับสรรพสิทธฺ์วิทยา
ที่เล่าเรียนมาจากบูรพาจารย์หลายท่านที่ได้เมตตาอบรมสั่งสอนมา ....

354
๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕
ตถตาอาศรม ริมแม่น้ำโขง
         พักผ่อนยามบ่ายหลังจากใช้แรงงานปฏิบัติธรรมโยธากรรมฐาน เพราะความร้อนของแสงแดดและสายลม
แสงแดดที่แผดเผา สายลมพัดเอาไอร้อน มากระทบกาย ใบไม้แก่เริ่มร่วงหล่นเมื่อต้องลม กระจายบนพิ้นลานวัด
พิจารณาให้เป็นสัจจธรรม รำพันออกมาเป็นบทกวี ชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริง ของสรรพสิ่งที่อยู่รอบข้างกาย....
               ใบไม้เอย.....
               ยามเจ้าอยู่บนกิ่งต้น
               เจ้ามีคุณค่ามากมาย
               สังเคราะห์แสงเป็นอาหาร
               หล่อเลี้ยงลำต้นพืชพันธ์
               สร้างสีสรรค์ให้ร่มเงา
               ใบไม้เอย.....
               เมื่อหมดสิ้ยอายุไขย
               ก็ร่วงหล่นไปตามวัย
               ทิ้งใบลงสู่พื้นดิน
               ทับถมกันนานวัน
               ย่อยสลายไปตามกาลเวลา
               มีคุณค่าเป็นปุ๋ยให้ดูดกิน
               คนเอย....
               ตั้งแต่เจ้ากำเนิดเกิดมา
               เจ้าเคยสร้างสิ่งที่มีคุณค่าแล้วหรือไม่
               เคยทำอะไรเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน
               ถิ่นที่เจ้าได้อยู่อาศัยได้ใช้ประโยชน์
               จงได้โปรดพิจารณาดูเพราะเจ้ารู้แก่ใจ
               อย่าให้วันเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์
               คนเอย......
               ชีวิตคือของน้อยแขวนห้อยอยู่กับลมหายใจ
               ตั้งอยู่มินานก็ต้องถึงกาลที่จะต้องจากไป
               ทรัพย์สินความรู้ทั้งหลายเอาติดตัวไปไม่ได้
               สิ่งที่เหลือไว้คือการกระทำที่ผู้คนจดจำ
               ทำดีคนก็กล่าวสรรเสริญยกย่องอาลัย
               ทำชั่วไว้คนก็สาปแช่งนินทาสมน้ำหน้า
               กาลเวลาผ่านไปผู้คนก็หลงลืม
               คนเอย......
               ชีวิตเจ้าอย่าไร้ค่ากว่าใบไม้
               ยังไม่สายสำหรับการเริ่มต้นใหม่
               สร้างประโยชน์ไว้แก่ตนและสังคม
               สั่งสมคุณงามความดีจารึกไว้ในแผ่นดิน
               เมื่อชีวิตเจ้าสูญสิ้นไป คนทั้งหลายระลึกถึง
               อย่าให้ครั้งหนึ่งที่เกิดมา...ชีวิตไร้ค่ากว่าใบไม้...
คำสอนในพระพุทธศาสนา นั้นสอนให้หันมาสู่ภายใน"โอปะนะยิโก"น้อมเข้ามาพิจารณา กาย ใจและการกระทำ
ของตัวเราเอง " จิตที่ส่งออกคิดแต่เรื่องภายนอก เป็นสมุหทัยคือเหตุให้เป็นทุกข์
                    จิตจะเป็นสุขเมื่อจิตเห็นจิต เห็นความคิดเห็นการกระทำ
                    ยอมรับในความเป็นจริงของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป
                    ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตเป็นนิโรธคือเห็นความดับไปเห็นที่สิ้นสุด
                    บทพิสูจน์ไม่ใช่เพียงความคิดหรือคำพูด แต่เป็นการกระทำ
                    น้อมนำสิ่งเหล่านั้นมาประพฤติปฏิบัติ ให้เห็นใน"ปัจจัตตัง"
                    ท่านก็จะเข้าถึงและเห็นความเป็น"ตถตา"รู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง"
จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแด่ท่านทั้งหลายให้คิดพิจารณา อย่าให้เวลาผ่านไปโดยไร้ประโยช์
ทั้งในทางโลกและทางธรรม"คิดดี พูดดี ทำดี และมีเจตนาที่ดี ผลย่อมออกมาดี"
          ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-สมณะชายขอบ
๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๔.๒๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
           

355
๓๐  มกราคม พ.ศ.๒๕๕
ตถตาอาศรม ริมฝั่งน้ำโขง
      "อยู่คนเดียวระวังจิต อยู่กับมิตรระวังวาจา"เป็นคำสอนของครูบาอาจารย์ที่กล่าวสืบต่อกันมา
และเป็นคำสอนที่ไม่เคยตกยุค ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ขอให้เราเพียงคิดพิจารณาและนำมาปรับใช้
เพราะการใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้น ต้องพบปะและสนทนากับผู้คนมากมาย หลากหลายเรื่องราว
และคำพูดของเรานั้นอาจจะเป็นคุณและเป็นโทษได้ จึงจำเป็นที่จะต้องคิดก่อนที่จะกล่าววาจาออกมา
เพื่อให้ถูกกาละเทศะ ให้เหมาะสมกับจังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และบุคคล เพราะถ้าเราไม่สำรวม
วาจา ไม่รู้กาละเทศะ คำพูดของเรานั้นอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งและปัญหา
     การที่เราจะคิดพิจารณาก่อนที่จะกล่าววาจาได้นั้น มันต้องผ่านการฝึกสติมาก่อน ให้สติมีกำลัง
พอที่จะยับยั้งความเคยชินที่เคยกระทำมา ดั่งคำโบราณที่กล่าวเป็นคำกลอนสอนสืบต่อกันมาว่า
"อันอ้อยตาล หวานลิ้น ยังสิ้นซาก...แต่ลมปาก หวานหู ไม่รู้หาย" การกล่าวปิยะวาจาจึงเป็นสิ่งที่
สมควรกระทำให้สม่ำเสมอ เมื่อเราอยู่กับผู้คนในสังคมที่หลากหลาย
     แต่เมื่อเราอยู่คนเดียว ไม่มีผู้คนรอบข้าง สิ่งที่เราต้องพึงระวังก็คือ"จิตและความคิดของเรา"
ที่มันปรุงแต่งไปสารพัดสารพัน สร้างจินตนาการ จนกลายเป็นอุปทานเข้าไปยึดถือในความคิดนั้น
เราต้องรู้จักที่จะควบคุมความคิดของเรา โดยการฝึกให้มีสติและสัมปชัญญะ เพื่อควบคุมจิตของเรา
สติและสัมปชัญญะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการควบคุม กาย วาจา ใจ ของเรา ทุกอย่างจึงรวมลงที่สติ
และสตินั้นต้องเป็นสัมมาสติ มีองค์แห่งคุณธรรมคือความละอายและเกรงกลัวต่อบาปควบคุมอยู่
เพื่อที่จะไห้คิดดี พูดดีและทำดี"บทสรุปมิได้อยู่ที่ความคิดหรือคำพูด แต่พิสูจน์ด้วยการกระทำ"
เพราะเพียงแต่คิดและพูดนั้น มันยังไม่เห็นผลที่เป็นรูปธรรม เราจึงต้องนำความคิดคำพูดนั้นมาปฏิบัติ
คำสอนในพระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติ จึงจะเห็นผลเพราะมันเป็น"ปัตจัตตัง"
และก่อนที่เราจะหวังในคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่นั้น จงถามตัวท่านเองเสียก่อนว่า"สติสัมปชัญะของเรานั้น
มีกำลังเพียงพอแล้วหรือยัง"มีสติเต็มรอบแล้วหรือยัง"ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต ขอเพียงเราคิดและพิจารณา"
         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                     รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๓๐  มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๒๐.๐๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

356
๒๗  มกราคม พ.ศ.๒๕๕
ตถตาอาศรม ริมแม่น้ำโขง
           รับฟังข่าวสารบ้านเมืองที่กำลังเป็นเป็น ทำให้ห่วงใยประเทศชาติและคนรุ่นต่อไป
ปัญหาสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางความคิด ที่แตกต่างกันของคนในสังคมที่สวนทางกัน
โดยมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างจากยุคสมัยปี ๒๕๑๖และปี ๒๕๑๙
ซึ่งเป็นเรื่องของแนวความคิดเพียงอย่างเดียว ไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือแอบแฝง
และลงท้ายด้วยการใช้ความรุนแรงใช้อาวุธเข้าตัดสิน ผู้คนล้มตายลงมากมาย ไร้ผู้รับผิดชอบ
          ไม่ขอกล่าวโทษใคร ขอให้เป็นเรื่องของเวรกรรม ทั้งผู้ที่กระทำและผู้ที่ได้ถูกกระทำ
มันเป้นเรื่องของกรรมรวมหมู่ ที่จะต้องรับรู้และชดใช่ร่วมกัน  เมื่อคิดได้อย่างนั้น มันก็สบายใจ
ไม่วุ่นวายเดือดร้อนไม่อาฆาตแค้นผู้ใด ได้แต่อุทิศบุญกุศลไปให้และขออโหสิกรรมซึ่งกันและกัน
เพื่อให้เกิดความสันติสุขขึ้นในสังคม
          วันเวลาผ่านไป ทำให้เราเข้าใจสังคมมากขึ้น มีมุมมองและความคิดที่กว้างไกลขึ้น
รู้และเข้าใจในวิถีชีวิตและความคิดของแต่ละบุคคล  ที่ต้องดำเนินไปตามกระแสของสังคม
ตามกระแสของโลกธรรม วันและวัยทำให้เราเข้าใจอะไรๆมากขึ้น ทำใจได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
และเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าที่จะมาถึง จากการที่เราได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม
ตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากคนหยาบไม่มีศาสนา
จากคนบาปหยาบช้า กลายมาเป็นสาวกของพระศาสดา มาเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
         บุญคุณของพระพุทธศาสนา คือคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ที่ช่วยดำรงค์
พระพุทธศาสนามาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เราได้รู้และเข้าใจ ได้อาศัยในร่มบารมีของพระพุทธศาสนานั้น
มันมากเกินจะบรรยายเป็นคำพูดและตัวอักษรได้ ไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ กระแสธรรมนั้นสวนทางกัน
กับกระแสโลก "วุ่นวายแต่ไม่สับสน นอกเคลื่อนไหว ในสงบนิ่ง" คือความเป็นจริงของผู้ปฏิบัตธรรม
เมื่อเข้าใจธรรม ย่อมจะเข้าใจโลก และไม่ติดอยู่กับโลกธรรม...
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๒๗  มกราคม พ.ศ๒๕๕ เวลา ๐๙.๔๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

357
๒๕  มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง
        ทุกสิ่งทุกอย่าง"มันเป็นเช่นนั้นเอง" ไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้าเราพิจารณาเข้าหาพระไตรลักษณ์
มันก็ไม่หนักใจ เพราะเราไม่เข้าไปยึดถือ มันก็เลยไม่เป็นทุกข์ ที่เราทุกข์ก็เพราะเราเข้าไปยึดถือ
การปฏิบัติธรรมคือการศึกษาฝึกฝน เพื่อให้หลุดพ้นจากการยึดถือ ฝึกจากสิ่งทำได้ง่ายไปสู่สิ่งที่ทำได้ยาก
จากสิ่งที่หยาบไปสู่สิ่งที่ละเอียด เพื่อความรู้ความชำนาญ สั่งสมประสพการณ์ไปเรื่อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป
สร้างเหตุสร้างปัจจัย อย่าได้ลดละความพยายามในการกระทำความดี
      ความเจริญในธรรมจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยของเจตนาที่เป็นกุศลจิตเป็นพื้นฐาน
คิดและทำไปตามลำดับชั้น แต่ละขั้นแต่ละตอน อย่างเป็นระบบและมีระเบียบวินัยกับชีวิตให้เป็นนิจ
จิตจึงจะมั่นคง ทรงอยู่ได้ในสภาวะธรรมทั้งหลายนั้น แต่ถ้าเราละเลยข้ามขั้นตอนไป รากฐานมันจะไม่มั่นคง
ดำรงค์ทรงอยู่ได้ไม่นานก็เสื่อมไป เพราะไม่มีพื้นฐานที่ดีและมั่นคงที่จะมารองรับสภาวะธรรมอันดีงาม
      กรรมฐานคือการกระทำจากรากฐานขึ้นไป ไม่ใช่ทำจากส่วนที่สูงลงมา ฐานที่ว่าก็คือต้องมีศรัทธา
เป็นพื้นฐาน ศรัทธาคือบ่อเกิด จุดกำเนิดของคุณธรรมทั้งหลาย  การสร้างศรัทธารักษาเพิ่มพูนศรัทธา
ให้ยิ่งขึ้นและมั่นคง คือสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องกระทำต้องสร้างให้เกิดขึ้นในจิตใจเรา
     ศรัทธาในพระรัตนตรัย ศรัทธาในกุศลความดีทั้งหลาย คือพื้นฐานที่ดีของนักปฏิบัติธรรมและผู้สนใจ
ในธรรมทั้งหลาย ที่จะน้อมนำไปสู่คุณธรรมอันยิ่งใหญ่ในโอกาศต่อไป...
                         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                  รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๒๕  มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๓๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

358
๑๙  มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง
       ว่างเว้นจากการเขียนบทกวีมานาน จึงขอทบทวนเคาะสนิมเพื่อย้ำเตือนความจำและภาษา
ในฉันทลักษณ์เชิงกวี รักษาไว้ซึ่งคุณค่าความสวยงามของภาษาไทย สืบต่อคุณค่าเชิงวรรณศิลป์
ซึ่งการเขียนบทกวีนั้น บางครั้งอาจจะใช้คำศัพท์เพื่อความสัมผัสตามฉันทลักษณ์ตามหลักของบทกวี
ซึ่งในเชิงกวีจะเรียกกันว่า"กลอนมันพาไป"จึงต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้...
            :059:หนาวลมที่ริมหน้าต่าง :059:
         สายลมที่พัดผ่าน    หนาวสะท้านทั่วทั้งกาย
   สายลมสื่อความหมาย    บอกให้รู้ฤดูกาล
   ยามเช้าที่หนาวเหน็บ     จึงขอเก็บมาเล่าขาน
   เรื่องราวของวันวาน        เล่าให้รู้สู่กันฟัง
   ห่างหายและเหินห่าง     เพราะไม่ว่างมีเบื้องหลัง
   ภาระที่รุงรัง                ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม
   งานหลวงมิให้ขาด        และงานราษฎร์ก็ไม่หลวม
   เร่งสร้างเพื่อส่วนรวม     จารึกไว้ในแผ่นดิน
   ศาลาโบสถ์วิหาร          นั้นเป็นงานในเชิงศิลป์
   ผู้คนได้ยลยิน             สืบสานต่อเจตนา
   บูชาคุณพระพุทธ         สิ่งสูงสุดศาสนา
   บูชาพระธัมมา             ซึ่งคำสอนสัจจธรรม
   บูชาซึ่งพระสงฆ์           ที่ดำรงค์คุณค่าล้ำ
   ตัวอย่างที่ก้าวนำ          ปฏิบัติกันสืบมา
   งานนอกคือก่อสร้าง      ทุกสิ่งอย่างต้องเสาะหา
   งานในภาวนา              สำรวมจิตให้มั่นคง
   ไม่ว่างภาระกิจ             แต่ดวงจิตไม่ลืมหลง
   ยึดมั่นและดำรงค์          ภายในว่างจากอัตตา
   ทำงานทุกชนิด            เจริญจิตภาวนา
   รู้กาลรู้เวลา                ว่ากระทำเพื่อสิ่งใด
   ขอบคุณสายลมหนาว    ให้ตื่นเช้ารับวันใหม่
   สายลมอาจเปลี่ยนไป    แต่ดวงจิตไม่เปลี่ยนแปลง
   ตอบแทนคุณแผ่นดิน     ทั่วทุกถิ่นและหนแห่ง
   ทำไปตามเรี่ยวแรง        ความสามารถเท่าที่มี
   สืบต่อศาสนา              สืบรักษาซึ่งวิถี
   สืบต่อสิ่งที่ดี               คือพระธรรมองค์สัมมา
   ละเว้นสิ่งมิชอบ           ไม่ประกอบซึ่งมิจฉา
   มรรคแปดที่มีมา           ทางสายเอกให้เดินตาม
   เป็นทางมัชฌิมา          มีคุณค่าอย่ามองข้าม
  ไม่เกินพยายาม            ปฏิบัติตามแนวทาง
   ธรรมะในยามเช้า          จากลมหนาวริมหน้าต่าง
  ฟ้าเริ่มจะรางราง            เช้าวันใหม่ใกล้จะมา
  เช้าใหม่ชีวิตใหม่           ดำเนินไปให้มีค่า
  ตามธรรมองค์สัมมา        ในทางโลกและทางธรรม
      ธรรมะอยู่คู่โลก         ลบรอยโศกและรอยช้ำ
  เพียงเรานั้นน้อมนำ        ปฏิบัติและเดินตาม
  ฝากไว้เป็นข้อคิด          แต่มวลมิตรทุกผู้นาม
  ฝึกใจให้งดงาม            เป็นพุทธะ"ปัจจัตตัง"
          (ปัจจัตตังคือการรู้ได้เฉพาะตน)
            ...............................
        ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
            รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๑๙  มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๓๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย                           

359
๑๘  มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง
      วันเวลาผ่านไปไม่หยุดนิ่ง....
      สรรพสิ่งแปรเปลี่ยนตามสมัย...
      ช่วงชีวิตนั้นอาจไม่ยาวไกล...
      สร้างอะไรให้ชีวิตคิดรึยัง...
               ชีวิตอย่าไร้ค่ากว่าใบไม้...
               จงก้าวเดินต่อไปอย่าสิ้นหวัง...
               อย่าท้อแท้ให้หัวใจไร้พลัง...
               ลืมความหลังที่พลั้งพลาดให้ขาดไป...
      อย่าไปโทษโชคชะตาว่าฟ้าแกล้ง...
      อย่าเสแสร้งกลบเกลื่อนจงแก้ไข...
      ที่ผ่านมานั้นผิดพลาดจากเหตุใด...
      อย่าโทษใครมองที่เราเจ้าของงาน...
               เมื่อยอมรับความจริงสิ่งที่เกิด...
               ไม่ละเมิดศีลธรรมที่พร่ำขาน...
               ก็จะเห็นที่มาของเหตุการณ์...
               สิ่งที่ผ่านมานั้นมันเป็นกรรม...
      จงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเร่งแก้ไข....
      ชีวิตใหม่จะได้ไม่ตกต่ำ...
      เดินคู่ไปในทางโลกและทางธรรม...
      สติย้ำเตือนจิตอย่าผิดทาง...
              จงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่...
              จงเรียนรู้ในสิ่งจะเสริมสร้าง...
              ให้เจริญก้าวหน้าดั่งที่วาง...
              ตามแบบอย่างชีวิตที่คิดครอง...
     คุณ...คิดดีแล้วหรือที่กระทำ...
     มา...ถลำทำชั่วให้มัวหมอง...
     ทำ...สิ่งใดโปรดคิดใช้จิตตรอง...
     อะไร...ถูกอะไร้ต้องจงตรองดู...
.....................................................
       ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
           รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา๐๙.๑๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

     
               

360
๑๒  มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง
                "การปฏิบัติธรรมคือการทำกิจ ชีวิตจึงมีกิจที่ต้องทำ" คนเรานั้นมีการสื่อสารกันด้วยภาษา
ทั้งภาษาพูดและภาษากาย สื่อความหมายเพื่อให้เข้าใจกัน และการพูดของคนเรานั้นก็มีหลายประเภท
เช่น คิดดี พูดดี ทำดี...คิดดี พูดดี แต่ทำไม่ได้...คิดดี พูดไม่่ดี แต่ทำได้...คิดดี พูดไม่ดี และทำไม่ได้
คิดไม่ดี พูดดี แต่ทำไม่ได้...คิดไม่ดี พูดไม่ดี และไม่ทำอะไร  โปรดลองคิดเล่นๆดูว่าเราอยู่ประเภทไหน
(ห้ามคิดเข้าข้างตัวเองนะ) คนบางคนพูดดี จนกลายเป็นดีแต่พูด เพราะพูดแล้วไม่เคยทำได้อย่างที่พูดเลย
               การพูดหรือการแสดงออกทางกายนั้น บางครั้งทำให้เรารู้ถึงความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของเขา
เพราะคำพูด สีหน้า แววตา มันสื่อถึงความรู้สึกภายในของเขา ซึ่งถ้าเราเป็นผู้ฟังหรือคู่สนทนา ควรที่จะสังเกตุ
ในอาการเหล่านั้น และการพูดนั้นมันสื่อให้รู้ถึงภูมิปัญญาของผู้พูด ว่ารู้จริงหรือไม่ หรือว่าได้แต่พูดโดยไม่รู้จริง
แต่คนที่นิ่ง ไม่พูด ไม่แสดงออกนั้น เราอ่านความรู้สึกนึกคิดเขายาก เพราะเขาไม่ยอมเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา
เหมือนดั่งคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า " น้ำนิ่งไหลลึก " เราไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไร เหมือนสายน้ำที่ลึกและกว้างใหญ่
ผืนน้ำด้านบนคล้ายดั่งสงบนิ่ง แต่เบื้องล่างกระแสน้ำไหลเชี่ยวและแรง ฉะนั้นอย่าได้รีบตัดสินโดยสายตาที่มองเห็น
จงคิดและพิจารณาให้ถ้วนถี่ รอบคอบเสียก่อน จึงตัดสินว่ามันเป็นอย่างไร
              คนเรานั้นอย่ารีบด่วนสรุปว่าเขาเป็นอย่างไร โดยเพียงคำพูดและการกระทำที่เราพึ่งจะเห็น พึ่งจะรู้หรือ
พึ่งจะได้ยิน ต้องศึกษากันไปก่อนให้คุ้นเคยกัน แล้วจึงจะสรุปว่าเขาเป็นอย่างไร ซึ่งจะขอยกคำคมมากล่าวอ้างเพื่อ
ให้เป็นแบบอย่างในการคิดและพิจารณาว่าเขาเป็นอย่างไร ก่อนที่จะตัดสินใจในตัวบุคคลเหล่านั้น ซึ่งมีดั่งนี้คือ...
         " จะรู้ว่าใครมีศีลหรือไม่   ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ
           จะรู้ว่าใครมือสะอาดหรือไม่ ต้องดูที่การทำงาน
           จะรู้ว่าใครมีปัญญาหรือไม่  ต้องดูที่การสนทนา
           จะรู้ว่าใครมีกำลังใจเข้มแข็งหรือไม่  ต้องดูที่คราวคับขัน "
ซึ่งที่ได้กล่าวมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งสำหรับข้อคิดที่นำมาเสนอให้ท่านพิจารณา...แต่คนทีี่แกล้งโง่ แกล้งบ้า นั้นมันน่ากลัว
กว่าคนที่โง่และบ้าจริง ยิ่งกว่าพวกที่เป็นน้ำนิ่งไหลลึกเสียอีก เพราะคนพวกนี้จะฉลาดเกินกว่าที่เราจะคาดคิด และเป็นพวกที่
กล้าทำและกล้าลงทุน เพราะเขามีเป้าหมายในการกระทำ ซึ่งบางครั้งลึกซึ้งเกินกว่าที่เราคิดไว้ ฉะนั้นจงอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ
โปรดคิดและพิจารณาให้รอบคอบถ้วนถี่เสียก่อนแล้วจึงเชื่อหรือปฏิเสธ ตามหลักของกามาลสูตรในพระพุทธศาสนาที่ได้กล่าว
สอนไว้ในเรื่องต่างๆที่ไม่ควรเชื่อทั้ง ๑๐ ประการ ซึ่งจะนำมาเสนอให้ทราบในโอกาศต่อไป...
                ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                            รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๐๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย


361
๙  มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง
       เป็นยามเช้าที่หนาวเหน็บ อุณหภูิมิลดลงอย่างรวดเร็วจาก ๒๐ องศาลดลงมาเหลือ ๑๖ องศา
หนาวจนนอนไม่หลับ ตื่นขึ้นมาพิจารณาธรรม เจริญสติเจริญภาวนา เปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาศ
พิจารณาเรื่องโลกธรรม ๘ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข...เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
คู่มากับโลก คิดถึงคำคมของคนรุ่นเก่าที่ท่านกล่าวไว้ " คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ " ซึ่งเป็นเรื่อง
จริงที่เกิดขึ้นในสังคมบนโลกใบนี้ เป็นเรื่องยากที่เราจะทำให้คนทุกคนมาชอบเรา มาชื่นชมรักเรา เห็นด้วยกับเรา
คนที่เห็นด้วยกับเรา ชื่นชมชอบเรา ก็จะกล่าวสรรเสริญยกย่องเรา คนที่ไม่ชอบเรา ไม่เห็นด้วยกับเรา ก็กล่าวให้ร้าย
ต่อเรา เป็นเรื่องปกติของโลก ซึ่งถ้าเราเก็บเรื่องเหล่านั้นมาเป็นอารมณ์ ทั้งสรรเสริญและนินทา เราก็จะวุ่นวายไม่สงบ
คำกล่าวสรรเสริญอาจจะนำไปสู่มานะทิฏฐิคือความถือตัวถือตนก่อให้เกิดอัตตา ส่วนคำนินทานั้นถ้าเราเอามาใส่ใจ
ก็อาจจะก่อให้เกิดจิตปฏิฆะ อารมณ์ขุ่นมัว เกิดโทสะและนำไปสู่ความพยาบาท อาฆาตจองเวรซึ่งกันและกันขึ้นได้
      แต่ถ้าเรามีสติระลึกรู้และพิจารณาอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอารมณ์ร่วมในสิ่งเหล่านั้น ทั้งคำสรรเสริญและคำนินทา
พิจารณาว่ามันเป็นเรื่องของโลกธรรม เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป เป็นไปตามกฏพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ใจเราก็๋จะไม่คล้อยตามมีอารมณ์ร่วม ทั้งคำสรรเสริญและคำนินทา เพราะมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของโลกธรรม ๘
การที่เราจะคิดและพิจารณาอย่างนั้นได้ เราต้องมีสติและสัมปชัญญะที่เป็นสัมมาสติ มีองค์แห่งคุณธรรมคุ้มครองจิต
เจริญจิตในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เจริญจิตในเทวธรรมคือมี หิริและโอตตัปปะธรรมของเทวดา
การที่จะเจริญจิตเป็นเทวดานั้นไม่ใช่เรื่องยากถ้าเรามีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปแล้ว จิตในขณะนั้นเราเป็นเทวดา
และถ้าเรามีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาแล้ว เราก็เป็นพรหมในขณะนั้น
     ทุกอย่างอยู่ที่การเริ่มต้น"It is never too late to mend...ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น "ถ้าเรามีความตั้งใจ
ที่จะทำและมีความรับผิดชอบในความคิดของเราเอง คือมีสัจจะต่อตนเองแล้ว ทุกอย่างเริ่มต้นได้ทันทีและทุกเวลาทุกโอกาศ
แต่ที่เรายังไม่เริ่มต้นลงมือกระทำนั้นเพราะว่าเรามี นิวรณ์เป็นตัวถ่วงนิวรณ์นั้นคือ ความขี้เกียจมักง่าย ความสงสัย ความลังเล
ความอาฆาตพยาบาท ความซึมเซาติดอยู่ในกิเลสทั้งหลายเป็นตัวถ่วงไม่ให้ความเจริญในธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น....
    โปรดคิดและพิจารณาว่าถึงเวลาที่เราจะเริ่มต้นในสิ่งที่ดีแล้วหรือยังและจงทบทวนในสิ่งที่ผ่านมาว่าเราได้สร้างสิ่งที่ดีให้แก่ชีวิต
ของเราแล้วหรือยัง วันเวลาแห่งชีวิตนั้นสั้นลงไปทุกวัน โปรดคิดและพิจารณา.....
       ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                     รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๙  มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๐๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

362
๘  มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง
     วันนี้เป็นวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๒ ตื่นนอนตอนตีสามกว่าๆทำภาระกิจส่วนตัวเสร็จแล้ว
ก็เปิดทีวีดูข่าวสารในยามเช้า เพื่อให้รู้เห็นความเป็นไปของสังคม (ทันโลกทันเหตุการณ์)
ดูเพื่อให้รู้ว่ามันมีอะไร แต่ไม่มีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ข่าวสารนั้น เป็นเพียงผู้ชมไม่ไปเป็นผู้แสดง
เช้านี้ฝนตกเล็กน้อยเนื่องจากความกดอากาศต่ำที่พัดมาจากประเทศจีน อากาศเลยเย็นสบาย
ลงไปจัดเตรียมสถานที่ปัดกวาด ปูอาสนะ ในศาลาหอฉัน เสร็จแล้วจึงออกมากวาดใบไม้ที่ลานวัด
เพราะเมื่อคืนที่ผ่านมานั้นลมพัดแรงใบไม้ร่วงเยอะ กวาดตั้งแต่ ๐๖.๐๐น.-๐๘.๐๐น.เสียงระฆัง
ทำวัตรเช้าและทำพิธีในศาลาหอฉันก็ดังขึ้น พักการกวาดลานวัดไว้ชั่วคราว เตรียมตัวลงศาลา
   ทำวัตรเช้าเสร็จญาติโยมไหว้พระรับศีล ตักบาตร ถวายสังฆทาน นำกล่าวอุทิศทาน และให้พร
เป็นอันจบพิธี ฉันเช้าเวลา ๐๙.๐๐น. ญาติโยมไปกวาดใบไม้ในลานวัดต่อในขณะที่พระกำลังฉัน
ฉันเช้าเสร็จเวลาประมาณ ๐๙.๓๐ น.ตีฆ้องเรียกโยมมาทานข้าวกัน แล้วออกไปกวาดลานวัดต่อจากโยม
ลานวัดเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ต้นไม้เยอะ จึงต้องใช้เวลานาน กว่าจะกวาดเสร็จก็เวลา ๑๑.๐๐น.
ออกไปสั่งงานช่างต่อเรือยาวที่ใช้สำหรับแข่ง อธิบายทำความเข้าใจกันจนเป็นที่เรียบร้อย
จึงกลับขึ้นมาบนศาลาที่พัก เพื่อจะได้มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งหนึ่ง....
    มีคนถามอยู่บ่อยครั้ง ว่าทำไมต้องไปวุ่นวายกับการทำเรือแข่ง สร้างทีมพายเรือแข่งอยู่เสมอ
ไม่ว่าสมัยที่อยู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือว่าสมัยที่ไปอยู่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา หรือว่ามาอยู่
ที่มุกดาหาร  ถ้าจะถามว่าชอบเรือแข่งหรือไม่ ตอบว่ารู้สึกเฉยๆไม่ได้ชอบและไม่ได้ปฏิเสธต่อต้าน
แต่ที่ทำลงไปนั้น มันเป็นเรื่องของ"จิตวิทยาสังคม" เพราะเป็นความชอบของคนในท้องถิ่นนั้น
เป็นการทำงาน"สัมพันธ์ชาวบ้าน" เด็กวัยรุ่นมาซ้อมพายเรือที่ท่าน้ำหน้าวัด เด็กมันก็คุ้นเคยกับวัด
คุ้นเคยกับพระ เรียกใช้งานหรือว่ากล่าวตักเตือนได้ เพราะว่าคุ้นเคยสนิทกัน เป็นมวลชนของวัด
เป็นการหากิจกรรมให้เด็กทำในยามว่าง เพื่อไม่ให้พวกเขาไปมั่วสุมกันในทางที่ผิดที่ไร้สาระ
เย็นๆก็เข้ามาวัดเพื่อซ้อมพายเรือกัน ระหว่างที่รอฝีพายมาพร้อม เด็กๆก็ช่วยกันกวาดลานวัด
ช่วยเหลืองานในวัด ทำงานกันไปคุยกันไป สอดแทรกธรรมะไปในตัวโดยที่เด็กไม่รู้ตัวว่าเรากำลัง
สอนธรรมะเขาอยู่ พูดเรื่องความพร้อมเพรียงสามัคคี ในการซ้อมในการพาย พูดถึงเรื่องยาเสพติด
ที่จะทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง เหล้า บุหรี่ กัญชา ยาเสพติด เป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักกีฬา
ถ้าอยากจะชนะ ต้องมีความพร้อมเพรียงสามัคคี ต้องไม่ไปยุ่งกับยาเสพติด ให้ข้อคิดแก่พวกเขา
    ดั่งที่เคยกล่าวไว้" ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ปล่อย " สอนธรรมะแบบไร้รูปแบบ
แต่ไม่ไร้สาระ สอนแบบที่ไม่ให้เขารู้ว่าเรากำลังสอน เพราะการพูดอย่างเดียวนั้นมันได้ผลน้อยมาก
ถ้าเราไม่ได้ทำอย่างที่เราพูด "ทำดีกว่าพูด"เพราะจะเป้นการพิสูจน์ในสิ่งที่พูดว่าทำได้หรือไม่..
       บางครั้งเราคิดดีเกินไป พูดดีเกินไป แต่ไม่สามารถที่จะทำได้ ในสิ่งที่คิดและสิ่งที่พูด
เพราะว่าเหตุและปัจจัยยังไม่พร้อม จงคิดและพูดในสิ่งที่สามารถจะทำได้ทันทีในสิ่งที่เหตุและปัจจัย
มีพร้อม แล้วสิ่งที่เราคิดและเราพูดก้จะกลายเป็นความจริง เป็นสิ่งที่จับต้องได้....
            จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดสำหรับทุกๆท่าน
             ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                 รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๘  มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๕๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

363
๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง
       ว่างเว้นหยุดพักจากโยธากรรมฐาน เพราะว่าทีมงานติดภาระกิจงานสังคม จึงมีเวลาที่จะใคร่ครวญ
ทบทวนถึงสิ่งต่างๆที่ผ่านมา และเห็นว่าบางสิ่งบางอย่าง สามารถที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นประโยชน์
แก่ท่านทั้งหลายที่จะได้นำไปคิดพิจารณาและเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินชีวิต เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจ
ได้บ้างไม่มากก็น้อย และก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆ ขอให้คิดและพิจารณาทำความเข้าใจในเนื้อหา
และเจตนาที่ได้นำเสนอเสียก่อน แล้วจึงแสดงความคิดเห็น เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายบรรยากาศในทางธรรม
และจะไม่เป็นบาปกรรมซึ่งกันและกัน
     ขอเริ่มเล่าสู่กันฟัง...ตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาสมาแล้วนั้น เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ชอบจดบันทึกและชอบ
ฟังพวกผู้ใหญ่เขาคุยกัน อ่านหนังสือทุกชนิดและทุกแนว อ่านกระทั่งกระดาษห่อของที่มีตัวอักษร อ่านหมด
จากประสพการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งเติบใหญ่ ทำให้เป็นคนที่อ่านหนังสือได้เร็วและจำได้แม่น
สามารถที่จะสรุปเนื้อหาสาระที่สำคัญของเรื่องนั้นๆได้รวดเร็วและทันทีที่อ่านจบ และเมื่อได้เข้ามาบวชเรียนใหม่ๆ
จึงทำให้สามารถที่จะขึ้นเทศน์ได้ทันที(วันที่ ๒ ของการบวชก็ขึ้นเทศน์แล้วเพราะมีพื้นฐานเป็นนักพูดมาก่อนแล้ว)
ซึ่งการเป็นพระนักเทศน์นั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลในทางธรรม สมัยบวชใหม่ๆนั้นจึงได้อ่านหนังสือธรรมะอย่างมาก
พระไครปิฏกอ่านหมดทั้ง ๔๕เล่ม หนังสือธรรมะของหลวงพ่อพุทธทาสอ่านหมดทุกเล่ม หนังสือธรรมะของครู-
บาอาจารย์ต่างๆที่พิมพ์ออกมาอ่านหมด หนังสือธรรมะที่เขาแจกตามงานศพก็ไม่รอดพ้นสายตา จึงทำให้สามารถ
ที่จะเทศน์ที่จะบรรยายได้ตตั้งแต่บวชมาใหม่ๆและเริ่มที่จะเป็นที่รู้จักของญาติโยมทั่วไป และเมื่อได้มาอยู่วัดถ้ำเสือฯ
ที่จังหวัดกระบี่เพียงหนึ่งปี พอขึ้นปีสองก็ได้รับการวางตัวให้เป็นองค์สัมโมทนียกถาทุกวันในตอนเช้าก่อนฉันข้าว
และก่อนที่จะทำพิธี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที เป็นอย่างนี้ทุกวันทำอยู่อย่างนั้นมาสองปีและเพื่อไม่ให้เกิด
การพูดซ้ำกันในแต่ละวัน จึงทำให้ต้องศึกษาอ่านพระไตรปิฏกและอ่านเรื่องการปฏิบัติเป็นอย่างมากและทุกวัน
จนกระทั่งก่อนเข้าพรรษาปี ๒๕๓๔ ได้เข้าไปขออนญาตจากพระอาจารย์จำเนียร สีลเสฐโฐ พระอาจารย์ใหญ่
เพื่อขอไปอยู่ปฏิบัติธรรมและจำพรรษาในถ้านอกเขตวัด ซึ่งท่านก็สนับสนุนและอนุญาตให้ไปประพฤติปฏิบัติ
ตามที่ขอท่านไป ซึ่งในวันนั้นได้กราบเรียนถามท่านว่า"ในพรรษานี้ผมควรที่จะปฏิบัติอย่างไรและกรรมฐานกองไหน"
ซึ่งคำตอบที่ได้รับจากพระอาจารย์จำเนียร สีลเสฐโฐ พระอาจารย์ใหญ่ก็คือ " ธรรมะทั้งหลายนั้น คุณรู้มันหมดแล้ว
รู้ถึงพระนิพพาน แต่ว่าคุณยังไม่ได้ทำ เพียงแต่รู้ เข้าใจและจำได้  แต่คุณนั้นยังไม่ได้ทำ กลับไปทำตามที่คุณรู้
และที่คุณเข้าใจให้ได้ก็พอแล้ว" นี่คือธรรมะที่ได้รับจากพระอาจารย์
         ที่ผ่านมานั้นเราเป็นเพียงใบลานเปล่า เป็นเหมือนนกแก้ว นกขุนทอง ที่อ่าน ท่องแล้วเอามาพูด แต่ไม่ได้เข้าถึง
ตั้งแต่วันนั้นจึงทิ้งเรื่องตำราหันมาปฏบัติเพียงอย่างเดียว เลิกเป็นนัเทศน์นักพูด เริ่มต้นชีวิตของการเป็นสมณะนักบวชใหม่
ทำความรู้และเข้าใจโดยการปฏิบัติเพื่อให้ชัดเจนในสภาวะธรรมทั้งหลาย "ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น" ขอเพียงเรามี
ความตั้งใจและรักษาสัจจะที่ให้ไว้กับตัวเรา ในสิ่งที่เราคิดและหวังไว้ ลงมือกระทำไปในสิ่งที่เราปรารถนาตามแนวของ
"อิทธิบาท ๔" มีฉันทะ มีวิริยะ มีจิตตะและมีวิมังสา จงอย่าเพลินติดอยู่กับความฝันและจินตนาการที่เป็นเพียงนามธรรม
จงเอาความคิดความฝันนั้นมาทำให้เป็นจริง ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา แล้วไม่ช้าฝันนั้นก็จะกลายเป็นจริง
        ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะหาข้ออ้างที่เข้าข้างตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่ายังไม่พร้อม โดยอ้างเงื่อนไขต่างๆมาเป็นข้อผูกมัด
แต่ถ้าเราได้เจาะลึกถึงความรู้สึกอย่างนั้น เราก็จะพบกับความจริงที่ว่า มันเกิดมาจากความขี้เกียจ มักง่าย กลัวความลำบาก
ใจเราจึงไม่อยากที่จะทำ ได้เพียงคิดและพูด แต่ไม่เคยลงมือกระทำขึ้นมาเลย " It is never too late to mend "
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น...ถ้าเรารักษาสัจจะและทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์....
           ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                   รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๔๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

364
๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ตถตาอาศรม ริ่มฝั่งโขง
      การดำเนินชีวิตในสังคมมนุษย์อันกว้างใหญ่นั้น ย่อมมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อกัน
เพราะมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม เกี่ยวเนื่องกันตามบทบาทและหน้าที่ของแต่ละคนแต่ละสังคม
มีความสัมพันธ์กันตามสายโลหิตเครือญาติ หน้าที่การงาน การศึกษา ภาษาและท้องถิ่นที่อาศัย
ทำให้คนเราต้องรู้จักต้องพบปะกัน มีความสัมพันธ์กันในแต่ละสถานะ เป็นเครือญาติพี่น้องกัน
เป็นครูบาอาจารย์และศิษย์ เป็นเจ้านายกับลูกน้อง เป็นผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้อำนาจการปกครอง
เป้นพวกพ้อง เป้นเพื่อน หรือเป็นคนรู้จักกัน มีความสัมพันธ์กันในสังคม สมาคม ชมรมต่างๆ
และคำๆหนึ่ง ซึ่งเรามักจะได้ยินอยู่เสมอก็คือคำว่า"เป็นเพื่อนกัน" ซึ่งคำว่าเพื่อนนั้นมีความหมาย
ที่ยิ่งใหญ่ เพราะหมายถึงกัลยาณมิตร คือผู้ที่คิดและหวังดีต่อเรา จึงเหมาะที่จะเรียกว่าเป็นเพื่อน
เพราะถ้ามิใช่"กัลยาณมิตร"แล้ว คงเป็นได้เพียง"คนรู้จักกัน" หรือ"คนคุ้นเคยกัน"เป็นได้เท่านั้น
    เราคงจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า"มีอะไรให้ผมรับใช้ บอกได้เลย"หรือ"มีปัญหาอะไรบอกผมได้"
จากคนที่รู้จักกันอยู่เสมอ ซึ่งมักจะเป็นคำพูดในธรรมเนียมปฏิบัติตามมารยาทของคนที่พึ่งจะรู้จักกัน
แต่ในความเป็นจริงนั้น เมื่อในยามที่มีปัญหาเกิดขึ้นมาจริงๆแล้ว มีน้อยมากที่จะพึ่งพาอาศัยได้
ในยามที่เราล้มเหลว ผิดพลาด หมดอำนาจวาสนาบารมี ไม่มีสมบัติทรัพย์สินฐานะทางสังคมแล้ว
ไม่มีผลประโยชน์ต่อเขาแล้ว คำพูดที่เขาได้เคยกล่าวไว้ก็ลืมหายไป ดั่งคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า
    "เมื่อมั่งมี  มิตรมากมาย  มุ่งหมายมอง
     เมื่อมัวหมอง  มิตรมอง  เหมือนหมูหมา
     เมื่อมอดม้วย  มิตรเมิน  ไม่มองมา
     แม้นมวลมิตร  หมูหมา   ไม่มามอง"
แต่ในวิกฤตนั้นย่อมมีโอกาศ ในยามที่เรายากไร้หมดอำนาจวาสนาบารมี มีความผิดพลาดและล้มเหลว
เป็นช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์มิตรแท้ พิสูจน์คำว่าเพื่อน ว่าจะมีใครบ้างที่ยังยืนเคียงข้างไม่ทอดทิ้งเรา
คอยช่วย้เหลือและปลอบขวัญให้กำลังใจเรา จะมีใครสักกี่คนที่ยังเหลืออยู่และเหมาะสมกับคำว่า"เพื่อน"
     จะขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมนี้และได้มีส่วนร่วมในการรับรู้เหตุการณ์นั้น
เรื่องนั้นมีอยู่ว่า"บิดาของเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ซึ่งนับถือท่านเหมือนบิดาแท้ๆของเรา ท่านเป็นข้าราชการผู้ใหญ่
มีอำนาจและบทบาทในสังคม สมัยที่ท่านรับราชการอยู่นั้น ทุกคนต่างไปพึ่งพาขอความช่วยเหลือจากท่าน
อยู่ไม่เคยขาด มีของขวัญของกำนัลไปให้ ยามที่ไปติดต่อขอความช่วยเหลือจากท่าน พร้อมกับคำพูดที่สวยหรู
"มีอะไรให้ผมรับใช้ ให้ผมตอบแทน บอกได้เลยครับ" เป็นอยู่อย่างนั้นเป็นประจำสำหรับคนที่มาหาท่านให้ท่านช่วย
จนท่านเกษียนอายุราชการ หมดอำนาจหมดหน้าที่ กลับมาเป็นสามัญชนคนธรรมดา จากการใส่สูทผูกไทค์ไปไหน
มีคนขับรถให้มีคนติดตาม จากบ้านพักข้าราชการหลังใหญ่ กลับมาอาศัยบ้านไม้เก่าๆหลังน้อย จากที่มีคนรับใช้มากมาย
มาอยู่กันสองตายายในบ้านสวน ชีวิตที่เปลี่ยนไป นุ่งขาสั่น ใส่เสื้อเชิตเก่าๆ รองเท้าแตะ ปั่นจักรยานไปทานกาแฟริมถนน
อยู่แบบยากจนอย่างข้าราชการเกษียนอายุ ใหม่ๆยังมีคนทักทายและสนทนาแต่พอวันเวลาผ่านไปไม่ค่อยจะมีใครสนใจ
และไปมาหาสู่ จะเหลืออยู่ก็เฉพาะลูกน้องเก่า เพื่อนสนิท ญาติใกล้ชิดเพียงไม่กี่คน
   ผ่านไปประมาณสามปีหลังเกษียนอายุราชการและที่ท่านทำตัวอย่างนั้น พอย่างเข้าปีที่สี่ ท่านลงมือสร้างบ้านหลังใหม่
ราคาสิบกว่าล้าน(ในสมัยปี'2529) เปิดสวนอาหารในเนื้อที่สิบกว่าไร่ เปลี่ยนการดำเนินชีวิตกลับไปสู่อย่างเดิมก่อนเกษียน
จัดงานขึ้นบ้านใหม่และเปิดสวนอาหารอย่างใหญ่โต  คำพูดของท่านที่ยังจำไม่เคยลืม"ผมยอมโง่ ยอมบ้า ยอมให้เขาดูถูกด่าว่า
เพื่อที่จะพิสูจน์ว่า ใครบ้างที่จริงใจกับเรา สามปีที่ยอมลำบากถูกเขาดูหมิ่นเยียดหยาม มันคุ้มกับการที่จะได้รู้ว่าใครเป็นเพื่อนแท้"
เป็นคำพูดและการกระทำที่ประทับใจ เป็นบทเรียนที่สอนข้าพเจ้าได้อย่างมากมาย เมื่อได้ระลึกนึกถึงท่าน จึงได้เขียนบทความนี้ออกมา
เพื่อนำมาเป็นวิทยาทาน ให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณา "ไม้ล้มข้ามได้ คนล้มอย่าข้าม (เพราะไม่รู้ว่าล้มจริง หรือว่าแกล้งล้ม)"
ในวิกฤตนั้นย่อมมีโอกาศ อย่าขาดสติและตื่นเต้นตกใจ ตั้งสติให้มั่นคง ค่อยๆคิดและพิจารณา มองหาสิ่งที่ดีและมีคุณของวิกฤตนั้น
แล้วนำมันมาเป็นโอกาศในการสร้างขวัญและกำลังใจ ที่จะก้าวเดินต่อไปสู่ความสำเร็จในภายภาคหน้า อย่ารอโอกาศ จงแสวงหาโอกาศ
        :059:"A friend in need is a frien indeed"แปลความได้ว่า"เพื่อนแท้คือเพื่อนในยามยาก" :059:
นำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นแบบอย่างในกานรดำเนินชีวิต โรดคิดและพิจารณาตาม แล้วท่านจะได้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตบนโลกใบนี้
               ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต แด่มวลมิตรผู้ร่วมชะตากรรมบนโลกใบนี้
                                รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ-วจีพเนจร
๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๐๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

365
๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง
             "ชีวิตคือการทำงาน การทำงานคือส่วนหนึ่งของชีวิต" ชีวิตต้องดำเนินไปตามกระแสของกรรม
ทุกคนเกิดมาต่างมีภาระหน้าที่และบทบาทที่แตกต่างกัน ตามที่กรรมเก่าได้จัดสรรค์ไปตามเหตุและปัจจัย
ซึ่งที่มานั้นเราไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ เพราะมันเป็นเรื่องของอดีตที่ผ่านมาแล้ว แต่เรื่องราวในอนาคตนั้น
เราสามารถที่จะกำหนดได้ โดยการสร้างเหตุและปัจจัยในวันนี้ ดำเนินชีวิตตามภาระและหน้าที่ของเราที่มี
ให้สมบูรณ์ ทำในสิ่งที่ไม่เป็นภัยต่อชีวิตไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น ไม่ฝ่าฝืนศีลธรรมกฏหมายและประเพณีที่ดีงาม
เดินตามอริยมรรคอันมีองค์๘ ตามสถานะและสภาวะของเรา
            อริยมรรคมีองค์๘นั้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลางแห่งการดำเนินชีวิตที่ไม่ผิดทำนอง
คลองธรรม ซึ่งมีหลายระดับชั้นตามกำลังของผู้ปฏิบัติ อย่างหยาบปานกลางและละเอียดตามความเหมาะสม
ของภูมิธรรมของแต่ละบุคคล อันได้แก่
    ๑.สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้อง รู้จักผิดชอบชั่วดี เห็นในความเป็นจริงแยกแยะกุศลและอกุศล
    ๒.สัมมาสังกัปปะ คือความรู้สึกนึกคิดที่จะไม่ทำในสิ่งที่ผิด อันเป็นอกุศลทั้งหลาย
    ๓.สัมมาวาจา คือการสำรวมในการพูดการเจรจา ไม่ก่อให้เกิดปัญหา มีวาจาที่สุภาพอ่อนโยน
   ๔.สัมมากัมมันตะ คือการทำงานที่ไม่สร้างความเดือดร้อนเบียดเบียนผู้อื่น และไม่ผิดกฏหมายศีลธรรม
   ๕.สัมมาอาชีวะ คือการประกอบอาชีพที่สุจริตไม่ผิดกฏหมายและศีลธรรม
   ๖.สัมมาวายามะ คือความเพียรพยายามควบคุมจิต ระวังบาปอันเป็นอกุศลธรรมไม่ให้เกิดขึ้น
                       ละบาปอันเป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป พยายามสร้างกุศลตัวใหม่ให้เกิดขึ้น
                       กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วรักษาให้เจริญยิ่งขึ้น
   ๗.สัมมาสติ คือการมีสติระลึกรู้อยู่เสมอในสิ่งที่เป็นบุญและบาป และเตือนสติไม่ให้คล้อยไปในอกุศลธรรม
   ๘.สัมาสมาธิ คือการมีความแน่วแน่ตั้งมั่นในสิ่งที่กำลังกระทำ โดยมีสัมมาสติควบคุมอยู่
ที่กล่าวมานี้คือมรรคอันมีองค์๘ สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือนที่สามารถจะนำไปประพฤติปฏิบัติได้ โดยที่ไม่ขัดกัน
ทั้งในทางโลกและทางธรรม ส่วนอริยมรรคอันมีองค์๘ ของสมณะนั้นจะละเอียดยิ่งไปกว่านี้เพราะบทบาทและหน้าที่
สถานะนั้นแตกต่างกัน ซึ่งถ้าเรารู้บทบาทและหน้าที่ของเราแล้ว การดำเนินชีวิตก็จะไม่ผิดทำนองคลองธรรม
      การทำงานทุกอย่างคือการปฏิบัติธรรม ถ้าเรามีสติและสัมปชัญญะในการทำงาน "ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง"
คือคำกล่าวสอนของหลวงพ่อพุทธทาส ความว่างนั้นคือว่างจากอกุศลจิต ว่างจากอัตตา "ความเป็นตัวกูของกู"
ดำเนินชีวิตทำงานไปตามมรรคองค์๘ ความเป็นสัมมาทั้งหลาย ชีวิตจึงไม่เคยว่างจากการทำงาน ทั้งทางกาย
และทางจิต ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่ชีวิตไม่เคยว่างจากการงาน"เป็นความว่างจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
แต่ไม่เคยว่างจากภาระกิจและหน้าที่ที่ต้องกระทำ" ไม่เคยว่างจากการเจริญสติแต่ว่างจากอกุศลจิตทั้งหลาย"
      การปฏิบัติธรรมตามธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่เราคิดว่ายากก็เพราะเราไม่รู้จักบทบาทและหน้าที่ของเรา
ไม่รู้ตน ไม่รู้ประมาณ ไม่รู้กาลเวลา ว่าเราควรกระทำในสิ่งใด และอะไรที่เหมาะสมกับตัวของเราที่จะกระทำ
ความเป็นฆราวาสผู้ครองเรือนและสมณะนั้นแตกต่างกัน เราจึงต้องเลือกธรรมที่จะปฏิบัตินั้นให้เหมาะสมกับตัว
ของเรา ซึ่งเรียกว่า"ธรรมะสัปปายะ"แล้วความเจริญในธรรมจะเกิดขึ้นแก่เรา ไปด้วยกันได้ทั้งทางโลกและทางธรรม
จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดและจงพิจารณาก่อนที่จะเชื่อหรือปฏิเสธ...
            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มิตรผู้ร่วมชะตากรรม
                              รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ

       

366
๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง
       ผ่านพ้นไปสำหรับเทศกาล"ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่" วัดทุ่งเว้าไม่เคยเงียบเหงา
มีผู้มาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอไม่เคยขาดในเทศกาลนี้"ท่านมาเราดีใจ ท่านกลับไปเราคิดถึง"
เก็บรักษามิตรภาพและความรู้สึกที่ดีต่อกันไว้ในความรู้สึก ทุกคนย่อมมีวิถีทางของแต่ละชีวิต
เมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจ ทุกชีวิตก็ต้องกลับไปดำเนินต่อในสิ่งที่ได้สร้างและทำมาตามหน้าที่ของแต่ละคน
การพบปะกันนั้น เหมือนสายลมที่พัดผ่าน เมื่อมากระทบสัมผัสต้องกาย ย่อมก่อให้เกิดความรู้สึก
แต่เมื่อสายลมผัดผ่านพ้นไป ทุกอย่างก็กลับสู่สภาวะเดิม เหลือเพียงความทรงจำของความรู้สึกนั้น
       ทุกวันสิ้นปีของวัดทุ่งเว้านั้น ญาติโยมเขาลงมติกันไว้ว่า"เป็นวันทำบุญทอดผ้าป่าข้าวเปลือก"
ซึ่งญาติโยมชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา เขาจะนำข้าวเปลือกมารวมกันที่วัด ตามกำลังศรัทธาของแต่ละท่าน
มากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าในปีนั้นผลผลิตจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งแต่ละปีนั้นรวมกันได้ประมาณ
3,000กว่ากิโลกรัม มีทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้าซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิ สิ่งที่ญาติโยมนำมาร่วมบุญนั้น
ก็จะมี ข้าวเปลือก หมอน ปัจจัยติดต้นผ้าป่า ข้าวเปลือกที่ได้มานั้น ก็จะนำมาจัดสรรค์แบ่งปันกันไป
ข้่าวเจ้าหอมมะลิทางวัดจะเก็บไว้บริโภคภายในวัด ไว้ต้อนรับหุงเลี้ยงญาติโยมในเทศกาลต่างๆ
ส่วนข้าวเหนียวนั้นก็จะแบ่งปันขายให้ญาติโยมที่ไม่ได้ทำนาหรือว่าทำนาแล้วได้ผลผลิตน้อย
และผู้ที่ยากจนไม่มีนาที่จะทำโดยขายในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด เพื่อเป็นการช่วยเหลือกัน
ซึ่งในแต่ละปีนั้น"งานบุญกองข้าว(ผ้าป่าข้าวเปลือก)" ก้จะมีรายได้เข้าวัดประมาณ 50,000.บาท
หมอนประมาณ 300ใบ ซึ่งหมอนนั้นจะเก็บไว้เพื่อมอบเป็นของที่ระลึกสำหรับญาติโยมที่มาจากภูมิภาคอื่น
ที่แวะมาเยี่ยมเยือนและร่วมบุญกับทางวัด (เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของภาคอีสานใครมาเยี่ยมก็จะให้หมอนเป็นของที่ระลึก)
      สำหรับความเป็นสมณะนั้น ทุกวันสำคัญเหมือนกันหมด คือการทำหน้าที่ให้สมบูรณ์เสมอกัน ไม่มีวันหยุด
ไม่มีเทศกาลอะไรพิเศษ วันทุกวันจึงเหมือนกันหมด แต่สำหรับญาติโยมแล้วมันมีผลต่อความรู้สึกทางจิตใจ
เป็นขวัญและกำลังใจสำหรับเขาเหล่านั้น การอยู่ร่วมกันในสังคม จึงต้องปรับเข้าหากัน ทั้งทางโลกและทางธรรม
อยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีการแปลกแยก "แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง" แล้วสังคมหมู่คณะนั้นจะอยู่ร่วมกันด้วยดี
การสอนธรรมะและให้ธรรมะแก่เขานั้น ต้องค่อยเป็นค่อยไปให้เขาซึมซับไปที่ละเล็กที่ละน้อยโดยที่เขาไม่รู้ตัว
โดยการ"ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วจึงปล่อย" อย่าไปยัดเยียดบังคับให้เขาปฏิบัติตามหรือให้เขาเชื่อ
ให้เขาเชือ ให้เขาศรัทธา ให้เขาปฏิบัติตาม โดยความสมัครใจ ผลที่ได้จะมั่นคงและยืนยาว...
      เล่าสู่กันฟัง สัพเพเหระ แฝงธรรมะและข้อคิด เพื่อเตือนจิตสะกิดใจ สำหรับผู้เข้าใจและใฝ่ธรรมทั้งหลาย
เป็นความรู้และข้อมูลสำหรับผู้ที่ใฝ่รู้ทั้งหลาย และเพื่อความเพลิดเพลินสบายใจของผู้ที่เข้ามาอ่านทั้งหลาย
ขอให้ได้รับความสุขกายสบายใจ มีเงินใช้ไม่ขาดมือ(ต้องทำเอานะ)สุขภาพพลานามัยร่างกายแข็งแรง
เจริญพร เจริญสุข เจริญธรรมแด่ทุกท่าน...
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                       รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๒๑.๕๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย


367
ณ ตถตาอาศรม(มันเป็นเช่นนั้นเอง) ริมฝั่งแม่น้ำโขง
๓๑  ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
         ใกล้จะสิ้นไปอีกปีแล้ว วันเวลาผ่านไปตามปกติไม่เคยหยุดนิ่ง สรรพสิ่งแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
เป็นไปตามกฏพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผ่านมาแล้วจากไป สิ่งที่เหลือไว้นั้นคือความทรงจำ
ประทับใจบ้าง ขัดข้องขุ่นใจบ้าง ตามกิเลสตัณหาและอารมณ์ ของแต่ละคนแต่ละท่าน และมุมมองที่แตกต่างกัน
"มันเป็นเช่นนั้นเอง" ปีเก่าหรือปีใหม่ล้วนแล้วแต่สมมุติบัญญัติ ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อให้รู้ว่าเวลาผ่านไปเท่าไหร่แล้ว
แต่สิ่งที่สำคัญนั้นคือ ทุกวันทุกเวลาทุกขณะและทุกโอกาศ เราได้ทำหน้าที่ของเราให้ถึงพร้อมสมบูรณ์แล้วหรือยัง
ทบทวนใคร่ครวญพิจารณาว่าวันเวลาที่ผ่านไปนั้น เราได้สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่ชีวิตของเราแล้วรึยัง สมบูรณ์แล้วหรือยัง
ลองชั่งดูระหว่างบุญกุศลและบาปกรรมที่เราได้กระทำมาแล้วนั้น ที่เราพอจะระลึกได้ ว่าอย่างไหนจะมีกำลังมากกว่ากัน
แล้วลองคิดสมมุติดูว่าถ้าเราไม่มีโอกาศที่จะได้ลืมตาตื่นและหายใจในวันพรุ่งนี้ เราจะไปอยู่ที่ไหน เราจะเป็นอย่างไร
กรรมที่เราได้เคยกระทำมาจะเป็นตัวส่งผลให้จิตของเราไป กรรมที่เป็นกุศลย่อมส่งผลไปสู่สุขคติคือไปในทิศทางที่ดี
กรรมที่เป็นอกุศลย่อมส่งผลไปสู่ทุคติคือทิศทางที่ไม่ดี วันสิ้นปีจึงเป็นวันที่เราจะควรสรุปการกระทำของเราที่ผ่านมา
ว่าอะไรคือความเจริญก้าวหน้า อะไรคือความเสื่อมถอย จงเอาอดีตที่ผ่านมาเป็นบทเรียนของชีวิต คิดและพิจารณา
เพื่อกำหนดอนาคตในภายภาคหน้าของชีวิตเรา ว่าจะเดินไปในทิศทางใดและอย่างไร
      อย่าให้วันเวลาผ่านไปโดยไร้ค่า เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ และเป็นโทษต่อชีวิตของเราเลย ทุกสิ่งทุกอย่าง
เรากำหนดขึ้นมาได้ด้วยตัวของเราเอง คือการกระทำที่เรียกว่ากรรมของเราในวันนี้ ซึ่งพรุ่งนี้ก็จะกลายเป็นอดีตไปแล้ว
ยอมรับในความเป็นจริงของสรรพสิ่งที่เผชิญอยู่ รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาลเวลา ว่าเราควรจะปรารถนาได้ในสิ่งใด เพียงใด
ที่เราคิดว่ามันไม่สำเร็จ ไม่สมปรารถนา ก็เพราะว่าเราไม่ได้สร้างเหตุและปัจจัย และอาจจะมุ่งหวังมากเกินไปเกินประมาณ
กับเหตุและปัจจัยที่เราได้กระทำไว้ในอดีต แต่ถ้าเรารู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้โอกาศ และทำหน้าที่สร้างเหตุและปัจจัยให้
สมบูรณ์ในวันนี้ สิ่งที่เรามุ่งหวังตั้งใจไว้คงจะไม่ไกลเกินปรารถนา "อย่ามัวหลงติดอยู่กับความคิดซึ่งเป็นเพียงจินตนาการ
เป็นเพียงนามธรรมที่จับต้องมิได้ จงเอาความคิดนั้นมาแปรเปลี่ยนเป็นการกระทำให้เป็นรูปธรรมที่จับต้องและเห็นได้"
อย่าได้กระทำเพียงน้อยนิดแล้วคิดหวังผลที่ยิ่งใหญ่ เพราะจะเป็นค้ากำไรเกินควร และมันจะสำเร็จได้ยากต้องใช้เวลา
ในการสะสมสั่งสมกำลังของเหตุและปัจจัยอีกยาวนาน
     ทุกวันของชีวิต เมื่อคิดดีและทำดี ก็เป็นวันที่เป็นมงคลต่อชีวิตของเรา ไม่มีคำอวยพรอันใดที่จะประเสริญล้ำเลิศ
ไปยิ่งกว่าการที่เราได้สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่ชีวิตของเรา เพราะพรนั้นคือคำชี้แนะแนวทางที่เป็นกุศลให้เราประพฤติปฏิบัติ
เพื่อจะให้ชีวิตของเราเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ไปในทำนองคลองธรรมอันประกอบด้วยกุศลเป็นที่ตั้ง ซึ่งจะทำให้สมหวังดั่งที่
ใจของท่านปรารถนา ขอฝากบทความนี้เป็นคำอวยพรเพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ย้อนคิดพิจารณา ในวาระที่เรียกกันว่าวันสิ้นปี
ขอความสุขสวัสดี ความมีสิริมงคลและสิ่งที่เป็นบุุญกุศลจงบังเกิดแก่ท่าน เมื่อท่านได้คิดพิจารณาและนำไปปฏิบัติ...
    เชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา-ศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระศาสดา-ปรารถนาดีที่จะเดินตามแบบอย่างของพระอริยสงฆ์
                                             (เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี)
                                       พระอาจารย์เมสันติ์  คมฺภีโร(หลวงโด่ง)
                                 รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะไร้นาม-สมณะชายขอบ
๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เวลา ๑๑.๑๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

368
ณ ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๒
           ได้รับฟังข่าวสารจากญาติโยมเรื่องการเอาวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังไปลองกันอยู่บ่อยครั้ง
ได้ฟังแล้วรู้สึกเป็นห่วง เพราะบางครั้งผู้ที่เอาของไปลองนั้น ไม่เข้าใจและรู้จักในพลังงานของวัตถุนั้น
ว่าเป็นพลังงานในทางใด และการสร้างการอธิษฐานจิตปลุกเสกเขาทำมาอย่างไร จึงทำให้ต้องเสียของ
วัตถุมงคล เครื่องราง ของขลัง แต่ละอย่างนั้นมีคุณสมบัติและพลังงานที่แตกต่างกัน ทั้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
และสิ่งที่ได้สร้างและทำใหม่ขึ้นมา ซึ่งการสร้างขึ้นมานั้นก็มีเคล็ดวิชาของแต่ละสำนักแต่ละสายที่แตกต่างกัน
ในการสร้าง การปลุกเสก การอธิษฐานจิต บางอย่างสร้างทำขึ้นมาตามวิชาไสยเวทย์ซึ่งมีทั้งฝ่ายขาวและฝ่ายดำ
บางอย่างก็สร้างขึ้นมาตามวิชาสายพุทธจิต บางอย่างมีการเชิญครูบาอาจารย์ วิญญาณหรือเทวดามาคุ้มครองรักษา
บางอย่างก็สร้างมาด้วยบุญฤทธิ์สำเร็จด้วยการอธิษฐานจิตเพียงอย่างเดียว
         วัตถุมงคล เครื่องราง ของขลัง ทุกอย่างนั้นมีความโดดเด่นที่แตกต่างกันตามเจตนาของผู้สร้างหรือผู้รักษา
ซึ่งบางครั้งก็เป็นไปตามรูปร่างและชื่อนามของวัตถุมงคล เครื่องราง ของขลังเหล่านั้น ว่าจะมีสรรพคุณพลังงาน
ไปในทิศทางใด ซึ่งพอจะจัดหมวดหมู่อย่างกว้างๆได้พอประมาณดังนี้คือ มหาอุด คงกระพัน แคล้วคลาด มหาอำนาจ
คุ้มครองป้องกันอันตรายจากไสย์ศาสตร์วิญญาณชั่วร้าย เมตตามหานิยม เมตตามหาลาภ เมตตามหาเสน่ห์ เสริมดวง
เสริมธาตุซึ่งการจัดสร้างหรือการอธิษฐานจิตปลุกเสกในสมัยโบราณนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจะเน้นไปในแต่ละชิ้นแต่ละอย่าง
ที่แตกต่างกัน เพื่อความโดดเด่นและพลังงานที่เข้มขลัง วัตถุมงคลเหล่านั้นจึงมีความขลังและความศักดิ์สิทธิ์
เป็นที่เลื่องลือและนับถือบูชากันมาจนถึงทุกวันนี้ และส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์ท่านจะอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว
เพื่อให้พลังงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือจะร่วมกันอธิษฐานจิตในสายครูบาอาจารย์เดียวกันเพราะจะรู้กัน
ในการเดินจิตเดินพลังไปในทิศทางเดียวกันประสานกันเป็นหนึ่งเดียว
        ซึ่งในสมัยก่อนนั้น ในการปลุกเสกอธิษฐานจิตแต่ละครั้งนั้น ทางผู้จัดหรือเจ้าของงานเขาจะจัดเตรียม
วัตถุมงคลเครื่องรางของขลังที่จะปลุกเสกทุกอย่างๆละชิ้นสองชิ้น ใส่พานให้ครูบาอาจารย์ท่านได้ทราบว่า
วัตถุมงคลที่จะปลุกเสกอธิษฐานจิตนั้นมีอะไรบ้างและรูปร่างหน้าตาลักษณะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เอามาเป็นนิมิต
และอธิษฐานจิตได้ถูกต้องสอดคล้องกับรูปร่างลักษณะและเจตนาของผู้สร้างนั้น วัคถุมงคลเครื่องรางของขลัง
ที่สร้างกันมาในสมัยก่อนนั้นจึงโดดเด่นและเข้มขลังเพราะได้รับการประจุพลังอย่างเต็มเปี่ยมและยอดเยี่ยมน่าบูชา
ถ้าเป็นมหาอุดก็อุดจริงๆปืนยิงไม่ออก ถ้าเป็นคงกระพันออกแต่ไม่เข้าหรือที่เรียกกันว่าเหนียว ถ้าเป็นตบะมหาอำนาจ
ก็น่าเกรงขามมีตบะ ถ้าเป็นแคล้วคลาดก็จะไม่ได้รับอันตราย ถ้าเป็นเมตตาค้าขายมหานิยมก็เป็นที่ชื่นชมต่อคนรอบข้าง
ถ้าเป็นเมตตามหาเสน่ห์จะไปที่ไหนมีแต่คนรักใคร่ไม่มีศัตรูและถ้าเป็นเมตตาเจ้าชู้ก็จะมีผู้มาหลงใหลรักใคร่และเอ็นดู
      ฉะนั้นเราจึงต้องรู้ว่าของแต่ละชิ้น แต่ละครูบาอาจารย์นั้นท่านโดดเด่นในทางไหนเจตนาท่านสร้างมาเพื่ออะไร
เราจึงจะนำไปใช้ได้ถูกทางและมีประสิทธิภาพได้ผล เพราะครูบาอาจารย์แต่ละท่านแต่ละคนนั้น มีความชำนาญและ
ความสามารถพิเศษที่แตกต่างกัน ท่านอาจจะทำได้ทุกอย่าง แต่จะมีบางอย่างที่เป็นวิชาเอกเฉพาะตนของท่าน
เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ในสิ่งนั้น โดยการค้นคว้าศึกษาสอบถามท่านผู้รู้หรือท่านผู้เป็นเจ้าของผู้สร้างยังมีชีวิตอยู่
ก็ถามท่านดูว่าวัตถุมงคลที่ท่านสร้างมานั้นใช้ในทางไหนและวิธีใช้ทำอย่างไร เพราะเคล็ดวิชาของแต่ละสำนักนั้น
อาจจะแตกต่างกัน แม้จะมีรูปร่างลักษณธที่คล้ายคลึงกัน
     การที่เราเอาวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังไปลองกันนั้น โบราณเขาถือกันว่าไม่ให้ความเคารพลบหลู่ครูบาอาจารย์
และเป็นการไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังบางอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจะอธิษฐานจิต
ประสานใจไว้กับศรัทธาของผู้บูชา (เมื่อใจเราเคารพบูชาระลึกถึงครูบาอาจารย์หรือวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังนั้น
เป็นการเปิดประตูพลังงาน) และวัตถุมงคลบางอย่างนั้นครูบาอาจารย์ท่่านได้เชิญครูบาอาจารย์ของท่าน เทวดาหรือ
วิญญาณบริวารของท่านที่จะร่วมสร้างบารมี มาช่วยคุ้มครองรักษาวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังและผู้นับถือบูชาวัตถุนั้น
ซึ่งบางครั้งผู้ที่ครอบครองประพฤติตัวไม่ดี ไม่มีศีลไม่มีธรรม สิ่งที่มาคุ้มครองรักษานั้นก็จะหนีไปไม่อยู่ด้วย
    จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจสำหรับนักลองของทั้งหลาย โปรดอย่าได้กระทำเพราะมันจะเป็นบาปกรรม
จาบจ้วงลบหลู่ครูบาอาจารย์ เทวดาครูบาอาจารย์ที่คุ้มครองรักษาก็จะหนีจากท่านไป อาจจะเหลือไว้เพียงวัตถุที่ไร้พลังงาน
เพราะว่าใจของท่านขาดศรัทธาขาดความเคารพ " อภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน, จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ,
อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง" ธรรมสี่ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ, ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบ,มีปกติอ่อนน้อม
(ต่อผู้ใหญ่)เป็นนิตย์...โปรดคิดให้รอบคอบแล้วจึงกระทำหรืองดเว้นการกระทำ...
             เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                         รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๓๐  ธันวาคม  ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๕๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

369
๒๙  ธันวาคม  ๒๕๕๒
ณ ตถตาอาศรม ริมแม่น้ำโขง
          ศรัทธาในการปฏิบัติเกิดขึ้นในจิตตั้งแต่รู้สึกตัวตื่นนอน พยายามรักษาทรงไว้ซึ่งศรัทธาแห่งกุศลจิต
นอนเจริญสติดูกาย เจริญกายคตานุสติ เอาจิตคุมกาย โดยการระลึกรู้โคจรจิตไปทั่วกาย มองให้เห็นซึ่งกาย
ภายนอกที่เป้นรูปร่างหน้าตาของตัวเราด้วยตาใน โดยเอากายของเรามาเป็นนิมิต ในการเจริญสติปฏิบัติธรรม
เมื่อตั้งรูปกายภายนอกได้แล้ว พิจารณาต่อไปในอาการ ๓๒ แยกกายออกเป็นอาการ ๓๒ จนไม่เหลือรูปกาย
พิจารณาอาการ ๓๒ เข้าสู่หมวดหมู่ของธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สลายอาการ ๓๒ คืนกลับไปให้เป็นธาตุ
เหลือเพียงจิตรู้คือวิญญาณธาตุที่มาอาศัยอยู่ แล้วย้อนจิตพิจารณากลับมาแยกธาตุให้เป็นอาการ ๓๒ อีกครั้ง
รวมอาการ ๓๒นั้นให้เป็นรูปร่าง แล้วน้อมจิตเข้าไปรับรู้ทรงอยู่ในกาย ทบทวนอยู่ไปมา สลายแล้วก่อขึ้นมาใหม่
    ผลที่ได้ในการปฏิบัติอย่างนี้ก็คือ เจริญสติปัฏฐาน ๔ ในฐานกาย (ธาตุบรรพ) และกายคตานุสติไปพร้อมกัน
ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาไปในตัว และเมื่อเราสลายกายของเราคืนสู่ธรรมชาติความเป็นธาตุนั้น จิตก็จะคลายความ
ยึดถือในตัวตน เห็นความเป็นสัจจธรรมของร่างกายว่าไม่นานต้องสลายคืนสู่ธรรมชาติไป จิตเพียงเข้ามาอยู่อาศัย
ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในกายของเรากับธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในธรรมชาติคือตัวเดียวกัน เพียงแต่แตกต่างกันที่รูป
กายเรากับธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน พลังแห่งธาตุในกายเรากับพลังของธาตุในธรรมชาติคือตัวเดียวกัน เราเป็นหนึ่ง
เดียวกันกับธรรมชาติ จึงสามารถที่จะหยิบยืมพลังงานในธรรมชาติมาใช้ได้ เป็นการฝึกดูดพลังธรรมชาติไปในตัว
ทำให้สามารถที่จะนำมาปรับธาตุในตัวของเราได้ รักษาตัวเองและสงเคราะห์ผู้อื่นได้
     ไม่ว่าเราจะปฏิบัติธรรมโดยวิธีใดก็ตาม เราต้องเริ่มที่กายของเรา เพราะกายคือฐานคือที่ตั้ง ที่อาศัยของจิต
ถ้าฐานที่ตั้งมั่นคงดีแล้ว ย่อมไม่มีความเสื่อม ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเริ่มจากพื้นฐานที่ดีและถูกต้อง ซึ่งฐานนั้นคือกาย
และเมื่อจิตอยู่กับกาย จิตนั้นก็จะปลอดภัยเพราะอยู่ในที่ตั้งคือฐาน เราจึงต้องมาฝึกจิตให้ใกล้ชิดอยู่กับกายอยู่เสมอ
การที่จิตจะอยู่กับกายได้นั้น มันต้องมีสติและสัมปชัญญะ การระลึกรู้และความรู้ตัวทั่วพร้อมในกาย อยู่อย่างสม่ำเสมอ
จนกลายเป็นความเคยชิน เป็นอุปนิสัย ในการเจริญสติปฏิบัติธรรมทุกครั้ง
    การปฏิบัติธรรมนั้นทำได้ทุกขณะ ทุกอิริยาบท ไม่จำกัดกาลและสถานที่ ของให้เรามีสติระลึกรู้และมีความรู้ตัวทั่วพร้อม
อย่าไปติดยึดในรูปแบบและท่าทาง เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่การแสดง การโชว์หรือโอ้อวดกัน แต่เป็นการกระทำภายใน
จิตใจของเรา ซึ่งถ้าเรามีสติและสัมปชัญญะแล้ว เราจะรู้ว่าเรากำลังทำอะไรและเพื่ออะไร " ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต "ว่าเราคิด
และเรากำลังทำอะไร เพื่ออะไร ดีไปกว่าตัวของเราเอง " รู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้สิ่งที่กระทำ "นั่นคือการปฏิบัติธรรม..
       ฝากไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลาย เพื่อให้ได้ศึกษาเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับการปฏิบัติ
และอย่าเชื่อหรือปฏิเสธทันทีที่ได้อ่าน ลองใคร่ครวญพิจารณาและนำไปปฏิบัติทดลองดู แล้วจึงเชื่อหรือปฏิเสธในแนวทางนี้
เพราะถ้าเชื่อทันที่อาจจะทำให้เกิดความงมงายและถ้าปฏิเสธในทันทีอาจจะทำให้เสียโอกาศ ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะลองปฏิบัติดู
อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่าสิ่งนั้นมันจริงหรือไม่ จะได้คลายความสงสัย ใช่หรือมิใช่มันจะได้ชัดเจน......
           เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรผู้ร่วมชะตากรรมบนโลกใบนี้
                          รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะไร้นาม-สมณะชายขอบ
๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๑๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย



370
๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๒
ณ ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง ชายขอบประเทศไทย
                         ในช่วงที่ไปอยู่ปริวาสกรรมนั้น ได้มีเวลาปฏิบัติธรรมเต็มที่ เพราะไม่ต้องมีภาระที่จะต้องต้อนรับสงเคราะห์ญาติโยม
จึงทำให้มีเวลาที่จะปฏิบัติและทบทวนใคร่ครวญ เจริญวิมังสาธรรม ทบทวนสภาวะธรรมของอารมณ์กรรมฐานแต่ละกองที่เคยได้ปฏิบัติมา
เรียบเรียงลำดับความจำสัญญาบันทึกไว้ในสมองเสียใหม่ เพื่อไม่ให้สับสนกันในกรรมฐานแต่ละกอง เพราะเมื่อมีเพื่อนนักปฏิบัติมาขอคำ
แนะนำ สามารถที่จะสงเคราะห์เขาได้โดยไม่สับสนในสภาวะธรรมแต่ละกอง ซึ่งถ้าไม่แม่นยำแล้วอาจจะทำให้แนะนำเขาผิดพลาดไปได้
จึงจำเป็นที่จะต้องทบทวนใคร่ครวญ เรียงลำดับ อารมณ์กรรมฐานนั้นให้แม่นยำในแต่ละกอง เวลาสิบกว่าวันที่ผ่านมานั้นเป้นช่วงเวลาที่มี
คุณค่าสำหรับการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เราได้เห็นสิ่งที่เราได้ประมาทและผิดพลาด ซึ่งที่ผ่านมานั้นเราลืมพิจารณาไปเพราะความ
เคยชินและสิ่งที่คุ้นเคย ทำให้ละเลยลืมพิจารณา ลืมพิจารณาถึงบทบาทและหน้าที่ว่ามันมีอะไรบ้างที่เราต้องกระทำและไม่ควรกระทำ
ทั้งทางกายและทางจิต ทั้งความคิดและการกระทำ  มันเหมือนกับเราอยู่ในบ้านในห้อง มุมมองของเราจึงคับแคบ เห็นแต่เพียงภายใน
บ้านในห้อง มองเห็นแต่สิ่งเฉพาะหน้า แต่เมื่อเราออกมาอยู่ข้างนอก แล้วมองย้อนกลับเข้าไป เราจะมองเห็นได้ทั้งภายนอกและภายใน
ว่ามันเป็นอย่างไร มีอะไรที่ต้องแก้ไขปรับปรุงหรือไม่ มีอะไรที่เสื่อมถอยหรือมีอะไรที่เจริญก้าวหน้า เมือเราออกมาแล้วจึงจะมองเห็น
     ซึ่งมันเหมือนกับขณะที่เรากำลังเผชิญอยู่กับปัญหา มันมีสภาวะกดดันอยู่ ทำให้เราคิดอะไรไม่ออก หาทางออกไม่เจอ แก้ปัญหา
ไม่ได้ เพราะว่าเราเข้าไปอยู่ในปัญหาซึ่งมีสภาวะกดดันบีบคั้นอยู่ ทำให้มุมมองของเรานั้นคับแคบ สมองของเรามึนงงไม่โปร่งโล่งเบา
ทำให้เราไม่เข้าใจปัญหาและตีปัญหาไม่แตก แต่เมื่อเราวางปัญหาไว้ชั่วคราว ออกมาจากปัญหา ทำกายให้สดชื่นแจ่มใส ทำใจให้โปร่ง
โล่งเบาสบาย ให้กายและจิตนั้นมีกำลังมีความพร้อม แล้วจึงน้อมจิตกลับเข้าไปดูปัญหา ค้นให้เจอที่มาคือต้นเหตุแห่งปัญหาให้เห็นที่มา
และที่เกิดของปัญหา มองผลกระทบที่ตามมาว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเราและคนรอบข้างอย่างไรและทำความเข้าใจกับปัญหา
นั้นให้แตกและชัดเจน ยอมรับในความผิดพลาดและล้มเหลวของเรา อย่าไปโทษผู้อื่นหรือไปโทษโชคชะตา เพราะว่ามันเป็นกรรมของเรา
เมื่อใจเรายอมรับในผลของกรรมนั้นแล้ว ความทุกข์ทั้งหลายก็จะคลายลง และเมื่อความทุกข์ทั้งหลายคลายลง ใจของเราก็จะสบายขึ้น
แล้วมองย้อนกลับไปสู่ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่เข้าข้างตัวเองคือมองอย่างคนนอกมอง อย่าไปคิดว่าสิ่งนั้นมันเป็นปัญหาเป็นทุกข์ของเรา
(คือการละความเป็นตัวกูของกูชั่วคราว) ที่เราไม่สามารถที่จะแก้ปัญหานั้นได้ก็เพราะเราเข้าไปยึดถือในปัญหาว่ามันเป็นมีความเป็นตัวกู
ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์นั้น ย่อมที่จะไม่ยอมสูญเสียในสิ่งที่เคยเป็นของตน มีความรักความหวงแหนในสิ่งที่เคยครอบครองว่าเป็นของกู
ไม่ยอมเสียหรือถ้าจะเสียก็ให้เสียน้อยที่สุด มีความยึดถือและหวงแหน ซึ่งเกิดจากความเป็นตัวกูและของกู
      แต่ถ้าเป็นปัญหาของผู้อื่นแล้ว เราจะวิจารน์ขาดแนะนำแก้ไขให้เขาได้ เพราะมันไม่มีความเป็นของกู ดั่งคำโบราณที่กล่าวสอนมาว่า
"ผงเข้าตาตัวเองแก้ไม่ได้ ต้องให้คนอื่นช่วยเอาออกให้" ฟ้ารู้ครึ่ง ดินรู้หมด ทะเลรู้ลึกถึงหกวา แต่ว่าไม่รู้จักตัวของเราเอง การที่เราจะรู้จัก
ตัวของเราเองนั้น มันต้องมีสติอยู่กับกายและจิตของเรา ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ดูหนังดูละครแล้วย้อนมาดูตัว ทำความรู้ตัวทั่วพร้อมให้เกิด
เมื่อใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ต้องเพิ่มคุณธรรมให้กับจิต คือความรู้จักผิดชอบและชั่วดี มีการยับยั้งและควบคุมจิตไม่ให้คล้อยตามในสิ่งผิด
มีความคิดที่เป็นกุศลคือรู้จักละอายและเกรงกลัวต่อบาป ย้ำเตือนจิตไม่ให้ก้าวเดินผิดพลาดไป แล้วอุปสรรคปัญหาทั้งหลายก็จะแก้ไขได้
"อย่าปฏิเสธในทุกข์และปัญหา เพราะว่าทุกข์และปัญหานั้นจะช่วยพัฒนาจิตและความคิดของเรา"ดั่งคำผู้รู้ที่กล่าวไว้ว่า "ทุกข์ไม่มา
ปัญญาไม่มี บารมีไม่เกิด" จงตั้งสติทุกครั้งเมื่อเจอปัญหา โดยถอยออกมาตั้งหลักพักกายพักใจให้มีกำลัง แล้วจึงกลับไปแก้ไขปัญหา
อย่าเผชิญหน้าและแก้ปัญหาในสภาวะที่เครียดกดดัน เพราะสมองมันจะตันวิศัยทัศน์นั้นจะแคบลง ทำให้มองไม่เห็นทางออกของปัญหา
ตั้งสติแล้วพิจารณาอย่างรอบคอบมองให้เห็นที่เกิดของปัญหา การตั้งอยู่ของปัญหาผลกระทบของปัญหาแล้วกลับมาดูต้นทุนกำลังของเรา
ว่ามีเท่าไหร่ มีอะไรบ้าง อะไรที่สามารถที่จะเข้าไปแก้ไขได้ในขณะนั้น มองปัญหาให้แตก แยกปัญหาให้ออก แล้วเข้าไปจัดการกับปัญหา
โดยทำจากสิ่งที่ง่ายแล้วค่อยไปสู่ที่ยาก "ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ถ้าเรายอมรับและยอมเสียไม่ยึดติดในความเป็นตัวกูและของกู"
 :059:ฝากไว้เป็นข้อคิดให้นำไปพิจารณา อย่าได้เชื่อทันทีและอย่าได้ปฏิเสธทันที ใคร่ครวญเสียก่อน แล้วจึงจะเชื่อหรือปฏิเสธ :059:
                           เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรผู้ร่วมชะตากรรมบนโลกใบนี้
                                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีเพเนจร-สมณะชายขอบ
๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๓.๒๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

371
ณ ตถตาอาศรม ริมฝั่งแม่น้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
         27  ธันวาคม  2552
     :059:ห่างหายไปนานเพราะมีภาระกิจหลายประการ ซึ่งจะเคลียร์งานต่างๆลงตัวก็ผ่านไปหลายวัน
ตั้งแต่วันที่ 9  ธันวาคมจนถึงวันที่ 18 ธันวาคมนั้น ไปเข้าอยู่ปริวาสกรรมปฏิบัติธรรมที่เขต อ.ดอนตาล
กลับมาจากงานปริวาสกรรมก็มีเพื่อนสหธรรมิกติดตามมาจำนวนหลายรูป จึงต้องอยู่ดูแลต้อนรับหมู่คณะ
สงเคราะห์อนุเคราะห์ตามเหตุตามปัจจัย นำเที่ยวชมสถานที่สำคัญต่างทางพระพุทธศาสนาในเขตภาคอีสาน
และต้องไปช่วยงานปริวาสกรรมในเขตใกล้เคียง ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นภาระกิจส่งหมู่คณะกลับสู่อาวาสของแต่ละท่าน
ก็ผ่านไปเกือบยี่สิบวัน จนมาถึงเวลานี้จึงพอจะมีโอกาศที่จะได้กลับมา เล่าสู่กันฟังอีกครั้งหนึ่ง....
     :059:เล่าสู่กันฟัง...กายเดียวจิตเดียว...
                          กายและจิตต้องมีความสัมพันธ์ที่เหมาะสมต่อกัน กายดีจิตต้องเด่น จิตดีกายต้องมีความพร้อม
ดั่งที่เคยกล่าวไว้เสมอว่า"จิตดีกายเด่น จิตด้อยกายดับ" การปกิบัติธรรมคือการที่เรามาฝึกจิตของเราให้อยู่และรู้จักกับกาย
มีสติระลึกรู้อยู่กับกายและจิตและความคิดที่แปรเปลี่ยนไป เห็นเหตุและปัจจัยของการเกิดดับของสรรพสิ่งทั้งภายนอกและภายใน
โดยมีคุณธรรมควบคุมและคุ้มครองกายและจิต คุณธรรมที่จะคุ้มครองควบคุมกายและจิตนั้นคือ"ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป"
สิ่งที่เราได้จากการปฏิบัติธรรมก็คือองค์แห่งคุณธรรม ที่เรียกกันว่า"ภูมิธรรม"ซึ่งเป็นจิตสำนึกแห่งการใฝ่ดีและทำในสิ่งที่ดี
 :059:แต่ที่มันมีปัญหาก็เพราะว่า"มันไม่พอดี"คือการที่ไม่รู้จักหน้าที่ของแต่ละบุคคล ไม่รู้ตน ไม่รู้ประมาณ ในการกระทำ
ฆราวาสผู้ครองเรือนอยากจะปฏิบัติอย่างสมณะพระผู้ครองศีล พระสอนให้ญาติโยมปฏิบัติตามข้อวัตรของสมณะพระภิกษุ
มันก็เลยทำให้การทำหน้าที่ของแต่ละคนไม่สมบูรณ์ เพราะไม่รู้จักบทบาทและหน้าที่ของแต่ละคน มันไม่เหมาะสมกับบุคคล
"ธรรมะสัปปายะ"จึงไม่เกิดขึ้น การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่การกระทำเพื่อตอบสนองความอยากของผู้ให้และผู้รับ แต่เป็นการทำหน้าที่
ของแต่ละคนให้ถูกต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ บทบาทและหน้าที่ ให้รู้จักความพอดี พอประมาณ ในการดำรงค์ชีวิต ในการคิด
และการกระทำ ซึ่งถ้าทุกคนรู้จักความพอดีพอประมาณ ในการดำรงค์ชีวิต ในธุระกิจหน้าที่การงานแล้ว ปัญหาต่างๆก็จะไม่มี
เพราะมีความพอดีและพอเพียง...
 :059:ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็คือความไม่พอดีและไม่พอเพียง ลงทุนน้อยหวังผลกำไรสูง ซึ่งเกิดมาจากความโลภเข้าครอบงำ
ขาดคุณธรรมของความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ทุกคนมีสติและสัมปชัญญะในการคิด การพุด การกระทำ แต่สติและสัมปชัญญะนั้น
ขาดคุณธรรมควบคุมและคุ้มครอง จึงเป็นมิจฉาสติคือคิดในทางที่ผิด เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิาต่อผู้อื่น ฝ่าฝืนศีลธรรมและประเพณีที่ดีงาม
กระทำไปตามอำนาจของกิเลสฝ่ายต่ำ มองดำเป็นขาว มองขาวเป็นดำ ...คุณธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ...ท่านหลวงพ่อพุทธทาส
ท่านได้กล่าวเตือนไว้ ซึ่งในวันนี้สิ่งที่ท่านได้กล่าวเตือนไว้ นั้นใกล้จะเป็นจริงแล้ว...
 :059:เวรกรรม เวรกรรม ใครที่กระทำก็ต้องรับไป แต่มีคนสงสัยว่าทำไมเราจึงต้องมารับกรรมกับเขาด้วยทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำ
ก้คงจะตอบให้เข้าใจได้ว่า...ก็เพราะมีกรรมร่วมกัน จึงต้องมาร่วมชะตากรรม มีกรรมร่วมกัน...กรรมเป็นทายาทกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
กรรมเป็นพวกพ้อง ทุกคนล้วนเกิดมามีกรรมร่วมกัน จึงต้องมาร่วมชะตากรรม ดั่งคำพระที่กล่าวไว้ว่า"สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม"
และเมื่อเราเข้าใจในเรื่องของกรรม และยอมรับผลของกรรม ใจเราก็ไม่เป็นทุกข์กับกรรมนั้น มาอยู่กับปัจจุบันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เป็น
กุศลกรรมขึ้นมาทดแทน ซึ่งกรรมดีในวันนี้จะเป็นเหตุและปัจจัยในวันข้างหน้า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาล้วนแล้วเป็นผลของกรรม
 :069:ไม่ใช่โชคชะตา หรือว่าฟ้าลิขิต
          ไม่ใช่นิมิตแห่งสวรรค์ หรือว่าพรหมนั้นบันดาล
          แต่สิ่งที่ชีวิตต้องพบพาน ล้วนแล้วคือผลของกรรม....
                 ...........................................
 :054:เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรผู้ร่วมชะตากรรม :054:
                          รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ-วจีพเนจร
27 ธันวาคม 2552 เวลา 18.49 น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

372
 :059:เพราะว่าจะไปหลายวัน กลัวท่านจะเหงา ก็เลยต้องเล่าทิ้งไว้ ก่อนจะไปหลายวัน :059:
                     ......................................................................
ธุดงคสถานบ่อน้ำทิพย์เจริญธรรม ภูเก้ายอด เมืองสามหมอก
 1  สิงหาคม  2545
        เกิดธรรมสังเวชขึ้นในจิตขณะที่ปฏิบัติธรรม เพราะจิตพิจารณาในขันธ์ 5 เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในขันธ์ 5
ล้วนนำมาซึ่งความทุกข์ และที่เราเคยคิดว่าสุขนั้นก็มิใช่ เพียงแต่เราได้สนองตอบกิเลสตัณหาความอยากของเรา
ซึ่งเราคิดว่านั้นคือความสุข แท้จริงมันเป็นความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ แต่เราไม่รู้เพราะเพลินอยู่กับการสนองตอบตัณหา
เมื่อตัณหาได้รับการสนองตอบ เราจึงคิดว่ามันเป็นความสุข ซึ่งแท้จริงแล้วมันเป็นโลกียสุขที่มีทุกแอบแฝงอยู่
       ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแต่สมมุติกันขึ้นมา บัญญัติกันตามชาติและภาษาจึงมีชื่อแตกต่างกันออกไป
ไม่มีอะไรจะฝืนกฏของพระไตรลักษณ์ได้เลย " อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา " ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมา คือมายา
ของโลกสมมุติ ที่เราหลงไปติดอยู่ หลงเข้าไปยึดถือ จนไม่เห็นสัจจธรรมที่แท้จริง ของสรรพสิ่งที่อยู่รอบกาย
และภายในจิตภายในใจของเรา
       ความบริสุทธิ์ของจิตอยู่ที่ไหน อะไรที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ สภาวะนั้นมันเป็นอย่างไร ได้แต่ถามตัวเอง
เคยได้ยินได้ฟัง ได้อ่านได้รู้ ก็เพียงที่เขาเล่ามา หรือในตำราที่ได้อ่าน มันเป็นเพียงสัญญาคือการจำได้หมายรู้
ที่บันทึกไว้ในสมองเท่านั้น เพียงท่องได้ จำได้ พูดได้ เหมือนว่าจะเข้าใจแต่มันยังไม่ใช่ เพราะมันเป็นเพียงสัญญา
ซึ่งเป็นปริยัติ ตามตัวอักษร ที่เราตีความขยายความ
      สภาวะธรรมที่แท้จริงนั้น เรายังไม่พบ ยังไม่ประสพกับตัวเอง เราจึงต้องเร่งความเพียรให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
เพื่อทำความพร้อมของกายและจิต สร้างพละให้กลายเป็นอินทรีย์ ให้มีความเหมาะสมที่จะรองรับสภาวะธรรมนั้น
อย่าอยู่กับจินตนาการและความฝัน จงทำสิ่งนั้นให้ปรากฏ ซึ่งจะเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับกรรม การกระทำของตัวเรา
           ...................................................................................................
 :059:มองย้อนกลับไปจากวันนี้...เจ็ดปีที่ผ่านไป เราได้เห็นอะไรมากมาย เมื่อเราได้นำบันทึกเก่าๆกลับมาอ่าน
ได้เห็นถึงพัฒนาการของจิต ความรู้สึกนึกคิดที่แปรเปลี่ยนไป ซึ่งเกิดจากการสั่งสมอบรมจิตอย่างต่อเนื่องไม่ทิ้งธุระ
ไม่ละศรัทธา พิจารณาอยู่เนืองนิจ จิตจึงได้พัฒนา ความเจริญก้าวหน้านั้นต้องประกอบด้วยปัจจัยสี่ที่เรียกว่า...
" อิทธิบาท 4 อันประกอบด้วย 1.ฉันทะ ความยินดีพึงพอใจในสิ่งที่กระทำ(ทำในสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่)
                                     2.วิริยะ  ความเพียรพยายามทำในสิ่งนั้น (คือสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่)
                                     3.จิตตะ  ไม่ละความเพียรพยายามทำอยู่สม่ำเสมอไป(ในสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่)
                                     4.วิมังสา พิจารณา ใคร่ครวญ ทบทวนในสิ่งที่ทำ ว่ามันเป็นเช่นไร (ในสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่)
แล้วเราจะเห็นความแปรเปลี่ยนไปทั้งในความเสื่อมและความเจริญ ด้วยองค์แห่งอิทธิบาท 4 ซึ่งถ้ามีความพอดีก็จะนำไปสู่ความเจริญ
แต่ถ้าตัวใดขาดหรือตัวใดเกิน จนเกิดความไม่พอดี ก็จะไม่มีการพัฒนาก้าวหน้าเจริญขึ้นได้ และเมื่อไหร่ที่ความเจริญในธรรมไม่ก้าวหน้า
ให้กลับมาพิจารณาที่" อิทธิบาท 4 " เพราะคำนี้แปลว่าทางสู่ความสำเร็จ....
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                  รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๙  ธันวาคม  ๒๕๕๒ เวลา ๐๑.๓๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

373
 :059:นั่งสนทนาธรรมกับท่านปุญญานุสสติ (สิบทัศน์)ตั้งแต่ทุ่มหนึ่งจนถึงห้าทุ่ม
และพรุ่งนี้เช้าจะเดินทางไปปฏิบัติธรรมเข้าปริวาสกรรมกัน เป็นเวลา สิบวันเก้าราตรี
และคงไม่มีเวลาที่จะเข้ามาในบอร์ด เพราะต้องปฏิบัติอยู่ในกรอบระเบียบกฏเกณฑ์
ที่ทางสำนักเขาวางไว้ ไปเพื่อลดมานะ ละทิฐิ และเพื่อชำระศีลของเราให้บริสุทธิ์
ตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ในการออกจากอาบัติ ซึ่งจะต้องอาบัติก็ดี ไม่ต้องอาบัติก็ดี
และรู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี แต่เพื่อความสบายใจและรักษาไว้ซึ่งกิจวัตร 10 ประการของพระสงฆ์
จึงได้ชักชวนกันไปปฏิบัติธรรม อยู่ปริวาสกรรม เพื่อทำกิจวัตรของความเป็นพระให้สมบูรณ์
รักษาไว้ซึ่งพระธรรมวินัยไม่ให้เสื่อมสูญ และเป็นแบบอย่างให้แก่พระใหม่ได้รู้และได้เห็น
ได้เข้าใจในการประพฤติปฏิบัติในกิจวัตรของความเป็นพระสงฆ์...
 :059:การไปอยู่ปริวาสกรรมนั้น ทำให้เราได้มีเวลาประพฤติปฏิบัติอย่างเต็มที่เต็มเวลา
เพราะว่าต้องอยู่ในระเบียบกฏเกณฑ์ที่เขาวางไว้ งดเว้นจากการคลุกคลีต้อนรับญาติโยม
และได้ลดทิฐิมานะไปในตัวด้วย เพราะเมื่อเราอยู่ที่วัดเราเป็นพระมหาเถระ เราเป็นผู้นำ
เป็นผู้วางกฏระเบียบให้ผู้อืนปฏิบัติตาม เป็นผู้ควบคุมดูแลผู้อื่นให้ปฏิบัติตามกฏระเบียบ
แต่เมื่อมาอยู่ปริวาสกรรม เราต้องทำตามกฏระเบียบของสำนักที่เขาวางไว้ อยู่ในความดูแล
และควบคุมของพระอาจารย์กรรม ซึ่งอาจจะมีอายุพรรษาน้อยกว่าเรา และเป็นศิษย์ของเรา
เราต้องกราบไหว้แม้นท่านจะเป็นพระบวชใหม่ซึ่งเป็นพระปกติ(ไม่ได้เข้าอยู่ปริวาสกรรม)
ซึ่งจะให้เกียรติเรียกท่านว่าพระอาจารย์กรรม ซึ่งเราต้องลดมานะทิฐิ ความเป็นครูบาอารย์วางไว้
เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ไม่มีปากคำ แล้วแต่พระอาจารย์กรรมท่านจะใช้ให้ทำ(ตามธรรมตามวินัย)
เพราะคำว่าปริวาสกรรมนั้นแปลว่าการอยู่ชดใช้ ชดใช้ในอาบัติที่กระทำ ซึ่งเราจะต้องอาบัติก็ดี
ไม่ต้องอาบัติก็ดี แต่เมื่อเรากล่าวคำขออยู่ปริวาสกรรมแล้ว เท่ากับเรายอมรับผิดยอมรับกรรม
 :059:บางท่านอาจจะไม่เข้าใจหรือเข้าใจยังไม่หมด คิดว่าพระที่มาอยู่ปริวาสกรรมนั้นคือ
พระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทั้งหมด เป็นพระที่มีศีลด่างพร้อย จึงต้องมาอยู่ปริวาสกรรมชำระศีล
ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นทั้งหมดไม่ บางรูปท่านอาจจะต้องอาบัติจริง บางรูปท่านอาจจะสงสัย
ว่าท่านต้องอาบัติหรือไม่ หรือบางรูปท่านไม่ได้ต้องอาบัติเลย แต่เพื่อความสบายใจในข้ออาบัตินั้น
ท่านจึงมาขออยู่ปริวาสกรรมเพื่อความบริสุทธิ์ของตัวท่าน และบางรูปท่านก็มาขออยู่ปริวาสกรรม
เพื่อมาลดมานะมาละทิฐิของท่าน และมาเพื่อการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะบางท่านเมื่ออยู่ที่วัด
หรือที่สำนัก ท่านมีภาระหน้าที่ที่ต้องสงเคราะห์อนุเคราะห์ญาติโยม หรืองานบริหารในกิจของสงฆ์
การเรียนการศึกษา มีภาระหน้าที่จนไม่มีเวลาสำหรับการปฏืบัติ ท่านจึงปลีกตัวมาขออยู่ปริวาสกรรม
เพื่อจะได้มีเวลาทบทวนใคร่ครวญและเจริญสติเจริญภาวนา....
          เพื่อไม่ให้เป็นกรรมซึ่งกันและกัน กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม จึงนำมาอธิบายขยายความ
ให้ท่านทั้งหลายได้รู้และเข้าใจ ว่าปริวาสกรรมนั้นคืออะไร และทำไมพระจึงต้องไปอยู่ปริวาสกรรม
โปรดคิดพิจารณาและทำความเข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดอกุศลกรรม..
             ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่ทุกผู้คน
                 รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะไร้นาม
๙  ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๐.๒๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
 
 



374
ธุดงคสถานบ่อน้ำทิพย์เจริญธรรม ภูเก้ายอด เมืองสามหมอก
              31  กรกฎาคม  2545
       ทบทวนใคร่ครวญในสิ่งที่ผ่านมา ในการถ่ายทอดสื่อธรรมะแสดงธรรม ได้เห็นถึงความผิดพลาดที่ผ่านมา
เพราะว่าเราเอาความรู้สึก ความปรารถนาของเรา ไปเป็นเจตนาตัวกำหนดในการกล่าวธรรม โดยจิตนั้นหวังผล
ให้ผู้ฟังรับรู้ในหลักธรรมแล้วนำไปปฏิบัติตาม พูดง่ายๆก็คือเอาตัณหาของเราไปยัดเยียดให้เขาปฏิบัติตามที่เรา
ปรารถนาจะให้เป็น คืออยากให้เขาได้ฟังได้รู้และได้เข้าใจ ได้นำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนากายและจิตของเขาให้ดีขึ้น
แต่เมื่อเขาไม่ฟัง หรือไม่ปฏิบัติตาม ทำให้ใจเราเกิดอกุศลจิตคือเกิดความเสียใจ น้อยใจ ไม่พอใจ ใจของเราจึงเป็นทุกข์
หรือเมื่อเขาเชื่อฟังนำไปปฏิบัติตามที่เรากล่่าวแล้วได้ผลดี มีความเจริญในธรรม เราก็หลงดีใจปลื้มใจ พอใจในสิ่งนั้น
เกิดมานะทิฐิ ภาคภูมิใจในความสามารถของตัวเอง
     นั่นคือความผิดพลาดในการถ่ายทอดธรรมในการกล่าวธรรมที่ผ่านมา เพราะว่าใจเรานั้นไปหวังผลในการกล่าวธรรม
มิได้กล่าวธรรมเพื่อธรรม เรากล่าวธรรมเพื่อสนองตัณหาความอยากให้มี อยากให้เป็นของเรา ทำให้มันมีอารมณ์ร่วม
แต่ถ้าเรากล่าวธรรมตามธรรม เพื่อธรรม ตามหน้าที่และบทบาทที่ได้รับ คือการทำหน้าที่เป็นผู้กล่าวธรรม ถ่ายทอดธรรม
ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์แบบ โดยไม่หวังผลที่จะเป็นไปที่จะเกิดขึ้น ใจเราก็เป็นสุข ใจเราก็จะเกิดปิติ ปิติในธรรม
ที่ได้นำเสนอและการทำหน้าที่ของเราที่สมบูรณ์
    รูปแบบวิธีการทุกอย่างนั้นเหมือนเดิม เพียงแต่เราเปลี่ยนความรู้สึก เปลี่ยนเจตนาเท่านั้น ผลที่เกิดขึ้นทางใจนั้น
แตกต่างกันมากมาย การกระทำที่มุ่งหวังผล ใจจะกังวลและวุ่นวาย แต่ถ้ากระทำไปโดยไม่หวังผลใจจะไม่กังวลไม่วุ่นวาย
ใจก็จะสบายเพราะได้ทำหน้าที่ของเรานั้นได้สมบูรณ์แล้ว.....
       ...
 :059:มองย้อนกลับไป...เพียงแต่เปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดวางจิตใหม่ สิ่งที่ได้รับนั้นแตกต่างกันมากมาย ทำให้เราได้รู้ว่า
ที่ผ่านมานั้นเราวางจิตไม่ถูกต้อง เรากล่าวธรรม แสดงธรรมโดยมีตัณหาเข้าไปเป็นตัวกำหนด คืออยากให้เป็นแบบนั้น
อยากจะให้เป็นแบบนี้ ไม่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น ไม่อยากจะให้เป็นอย่างนี้ ซึ่งความคิดอย่างนั้นมันคือ ตัวตัณหา ภวตัณหา
และวิภวตัณหา เมื่อมันมีตัณหาเข้ามามีส่วนร่วม มันจึงนำมาซึ่งความทุกข์ และเมื่อขจัดตัดตัณหาออกไปได้ใจเราก็เป็นสุข
เพียงแต่เปลี่ยนแปลงที่ใจ เปลี่ยนแปลงภายใน สิ่งที่เกิดขึ้นกับใจนั้นแตกต่างกันมากมาย...
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะไร้นาม
๘  ธันวาคม  ๒๕๕๒ เวลา ๐๔.๓๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

375
ธุดงคสถานบ่อน้ำทิพย์เจริญธรรม ดอยห้วยกล้วย ภูเก้ายอด เมืองสามหมอก
30 กรกฎาคม 2545
                ทดลองปฏิบัติกรรมฐานกองใหม่ ซึ่งเมื่อก่อนนั้้นเพียงแต่ได้เรียนรู้ในตำราเท่านั้น
ยังไม่เคยนำมาปฏิบัติ รู้เพียงตามตำรา แต่ไม่ได้รู้ถึงสภาวะธรรมที่แท้จริง เพราะยังไม่ได้ปฏิบัติ
ลองปฏิบัติดูก็รู้สึกว่าดี จิตมันละเอียดขึ้น ความฉับไวของสติเพิ่มขึ้น คือการเจริญมหาสติปัฏฐาน
ในฐานกายโดยการพิจารณาอิริยาบทของกาย(อิริยาบทบรรพ)และพิจารณารู้ตัวในความเคลื่อนไหว
(สัมปชัญญบรรพ)ซึ่งเริ่มจากอาการทางกายอย่างหยาบๆไปสู่ความละเอียดปลีกย่อยที่ต้องพิจารณา
จากสิ่งที่รวดเร็วกลับไปสู่สิ่งที่ช้าและละเอียดอ่อน ตามดูตามรู้และตามเห็นในสิ่งที่เป็นไปทุกขณะจิต
เป็นไปตามขั้นตอนของการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาทางจิต
             ไม่ว่าจะเป็นกรรมฐานกองใด ถ้าเราเข้าใจในหลักการ และนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว
มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะปฏิบัติ แต่สิ่งที่ทำได้ยากก็คือใจของเรา การที่จะทำให้ใจเรานั้นยอมรับความจริง
ลดความถือตัวถือตน ความยึดถือในความคิดของตน ให้ใจมันยอมละพยศความดื้อรั้นเท่านั้นก็เพียงพอ
ต่อการเข้าสู่พื้นฐานการพัฒนาทางจิต ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติในขั้นต่อไป
          ซึ่งสิ่งนั้นฟังดูง่าย พูดได้ง่ายแต่ทำได้ยาก เพราะก่อนที่จะทำให้จิตมันเชื่องได้นั้นมันต้องใช้เวลา
ต้องทำความรู้จัก ทำความเข้าใจและทำความคุ้นเคยกับมันเสียก่อน เราต้องรู้จักใจของเรา เห็นกิเลสของเรา
คือเห็นตัวตนที่แท้จริงของเราเสียก่อนว่ามันเป็นอย่างไร จึงจะเข้าไปจัดการจัดระเบียบใหม่ให้กับมันได้
โดยให้เป็นไปตามความเหมาะสม ตามกำลังความสามารถ ความพร้อมของกายและจิตของเราให้เหมาะกับ
กาลเวลา จังหวะ โอกาศ สถานที่และบุคคล...
          ...
 :059:มุมมองในวันนี้...เหมือนดั่งโบราณที่ท่านว่า " สิบปากว่า ไม่เท่าหนึ่งตาเห็น สิบตาเห็น ไม่เท่าหนึ่งมือคลำ
สิบมือคลำ ไม่เท่ากับทำเอง" การเรียนรู้และการเข้าใจในตำรานั้น มันเป็นเพียงกระบวนการในความคิด ความจำ
แต่มันไม่ถึงสภาวะธรรมที่แท้จริง เพราะเรายังไม่ได้ธรรม และสภาวะธรรมนั้นเป็นของเฉพาะตนคือความเป็น"ปัจจัตตัง"
สภาวะธรรมนั้นมีเพียงความคล้ายคลึงกัน แต่จะไม่เหมือนกันไปทุกอย่าง เพราะความเป็นของเฉพาะตนนั้นเอง
แต่ถ้ามันเหมือนกันไปเสียทุกอย่างแล้ว แสดงว่าเรากำลังสะกดจิตของเราสร้างอุปาทานให้เหมือนกับสิ่งที่เราเคยได้ยิน
ได้ฟังมา คือสร้างสภาวะธรรมให้เหมือนกับที่ครูบาอาจารย์ท่านได้พบมา ซึ่งมันไม่ใช่สภาวะธรรมที่แท้จริงของตัวเรา
"บุคคลแตกต่างกันด้วยธาตุและอินทรีย์ บารมีธรรมจึงแตกต่างกัน จึงเพียงแต่คล้ายและใกล้เคียง แต่จะไม่เหมือนกัน"
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                              รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๑๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

376
ธุดงคสถานบ่อน้ำทิพย์เจริญธรรม ภูเก้ายอด เมืองสามหมอก
29 กรกฎาคม 2545
     นิวรณ์เข้าครอบงำทำให้ความเจริญในธรรมต้องเสื่อมถอย เกิดขึ้นเพราะความไม่พอดีของอิืินทรีย์พละ
เพราะว่าตั้งใจในการปฏิบัติมากเกินไป ภาษานักปฏิบัติเขาเรียกว่า"ตั้งจิตหนัก" ทำให้การปฏิบัติมีปัญหา
วิริยะกล้า ศรัทธามาก จิตจึงหนักเข้าไปพักในอารมณ์สมาธิไม่ยกขึ้นพิจารณา เพราะกำลังของสัมปชัญญะนั้นอ่อน
ขาดความรู้ตัวทั่วพร้ิอมปัญญาจึงไม่เกิด เพราะเพลิดเพลินอยู่กับความสงบในอารมณ์ของสมาธิซึ่งเป็นอารมณ์สมถะ
ซึ่งเกิดจากความเคยชินที่ได้ปฏิบัติมา เมื่อได้ทบทวนพิจารณา ย้อนกลับไปถึงตำราที่เราเคยเรียนรู้และศึกษามานั้น
จึงเห็นที่มาของปัญหา เพราะว่าหลักของการปฏิบัตินั้น ต้องมีความเสมอกันในอินทรีย์พละ ซึ่งมีหลักอยู่ว่า
 :059:ศรัทธามาก ปัญญาหย่อน ความโลภจะเข้าครอบงำจิต
 :059:ปัญญามาก แต่ศรัทธาหย่อน ความสงสัยลังเลจะเข้าครอบงำ
 :059:วิริยะกล้า สมาธิหย่อน ความฟุ้งซ่านจะเข้าครอบงำ
 :059:สมาธิกล้า วิริยะหย่อน ความง่วงจะเข้าครอบงำ
 :059:สติและสัมปชัญญะเป็นตัวเข้าไปปรับอินทรีย์พละให้เสมอกัน
เมื่อจิตรู้เท่าทันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงต้องปรับกายปรับจิตใหม่ เพื่อให้เป็นไปสอดคล้องต้องกันในอินทรีย์พละทั้งหลาย
โดยการสร้างความเคยชินตัวใหม่ขึ้นมา นึกถึงคำสอนของหลวงพ่อชาขึ้นมาทันที ที่ท่านได้กล่าวสอนไว้ว่า...
"ให้ระวังความคิด เพราะคิดมากๆแล้วมันจะกลายเป็นการกระทำ
 ให้ระวังการกระทำ เพราะกระทำบ่อยๆมันจะกลายเป็นความเคยชิน
 ให้นะวังความเคยชินที่มีอยู่ เพราะจะนำไปสู่การเป็นนิสัย
 และให้ระวังนิสัยนั้นเพราะมันจะกลายเป็นอุปนิสัย ติดภพติดชาติไป"
      ฉะนั้น เราจึงต้องสร้างความคิดและการกระทำตัวใหม่ ที่เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศล อยู่ในองค์แห่งมรรค 8
คือความเป็นสัมมาทั้งหลาย ในการคิดและการปฏิบัติ เพื่อเป็นการฝึกหัดพัฒนาตัวของเรา เีรียกว่าต้องสร้างความคุ้นเคย
ให้กับกายและจิต ในการคิดและการปฏิบัติขึ้นมาใหม่...
        ...
 :059:ภาคขยาย....บางครั้งเมื่อเราอยู่ใกล้ชิดกับมันจนเกินไป ทำให้เรามองไม่เห็นมัน แต่เมื่อเราออกจากมันมาแล้ว
และมองย้อนกลับไปใหม่ เราจะเห็นอะไรอีกมากมาย ที่เราประมาทมองข้ามมันไป จึงจำเป้นต้องให้เวลาแก่ชีวิตในการ
ที่จะทบทวนสิ่งที่ผ่านมานั้น อดีตคือบทเรียนของชีวิต นำมาคิดและพิจารณาเพื่อแก้ไข เพื่อที่จะก้าวเดินต่อไปสู่อนาคต...
         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                      รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๔๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

377
ธุดงคสถานบ่อน้ำทิพย์เจริญธรรม  ภูเก้ายอด แม่ฮ่องสอน
28 กรกฎาคม 2545
         มีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิต แต่ยังไม่อาจจะหยุดคิดปรุงแต่งในอกุศลได้
เพราะว่าองค์แห่งคุณธรรมนั้นยังไม่มีกำลังเพียงพอ ที่จะเข้าไปหักห้ามและข่มใจไม่ให้คิดได้
ทบทวนพิจารณาดูว่ามาจากสาเหตุอะไร ที่ทำให้เราต้องคล้อยตามกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นมานั้น
พบว่าสาระสำคัญนั้นเกิดมาจากจิตสำนึกแห่งคุณธรรมของเรานั้น ยังไม่มีกำลังเพียงพอที่จะต่อสู้
กับกิเลสนั้นได้ จึงต้องคล้อยตามและเสพในอารมณ์อกุศลเหล่านั้น  ทั้งที่รู้ว่ามันเป็นอกุศลจิต
จึงได้รู้ว่ามันมีที่มาของของปัญหาเหล่านั้น ซึ่งเกิดจากพื้นฐานแห่งการปฏิบัติที่เราได้กระทำมา
เพราะว่าเราไปเน้นเรื่องสติเพื่อให้เกิดสมาธิมากเกินไป เรื่องศีลเรื่องวินัยเพียงแต่รู้และเข้าใจ
ในตัวอักษรตามตำรา ไม่ได้คิดและพิจารณาถึงที่มาและเจตนาของเรื่องศีลขอวัตรและพระวินัย
ว่าเป็นไปเพื่อการเจริญสติและสัมปชัญญะ โดยมีหิริและโอตตัปปะซึ่งเป็นองค์แห่งคุณธรรมนั้น
ควบคุมคุ้มครองอยู่ การที่เราจะทรงไว้ซึ่งศีลและวินัยนั้นได้ เราต้องมีสติและสัมปชัญญะอยู่ทุกขณะ
ระลึกรู้ในทางกายและทางจิต ในสิ่งที่คิดและในสิ่งที่ทำ และการที่เราไม่ก้าวล่วงล้ำพระธรรมพระวินัย
ศีลและข้อวัตรทั้งหลายนั้น เพราะเรามีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปกรรมการล่วงละเมิดทั้งหลาย
การรักษาศีลจึงเป็นการเจริญสติสัมปชัญญะและเพิ่มกำลังขององค์แห่งคุณธรรมอยูทุกขณะจิต
ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในหลักของการปฏิบัติเรื่องไตรสิกขา
อันได้แก่"ศีล สมาธิ ปัญญา" แต่เรากลับทำลัดขั้นตอนเพราะใจร้อน อยากจะเห็นผลสำเร็จโดยเร็วไว
จึงไม่ค่อยจะใส่ใจในเรื่องของศีล มาเน้นหนักเรื่องสมาธิมากเกินไป จึงทำให้จิตสำนึกแห่งคุณธรรม
นั้นมีกำลังไม่เพียงพอ ที่จะเข้าไปต่อสู้กับกิเลสตัณหาทั้งหลายได้
     นึกถึงคำครูบาอาจารย์ที่ท่านได้เคยกล่าวสอนไว้ "รู้ไปหมด แต่อดไม่ได้"ซึ่งมันได้เกิดขึ้นแล้ว
กับตัวของเราเอง ขบวนการทางจิตนั้นมันละเอียดอ่อน ทุกขั้นตอนของการปฏิบัติพัฒนาทางจิตนั้น
ต้องทำอย่างสม่ำเสมอข้ามและลัดขั้นตอนนั้นไม่ได้เลย มันทำให้เกิดการสั่งสมอบรมจิต ให้รู้จักคิด
รู้จักการพิจารณาเหมือนดั่งคำที่ว่า"ทุกข์ไม่มา ปัญญาไม่มี บารมีไม่เกิด" คือเราต้องเรียนรู้เรื่องทุกข์จากทุกข์
เรียนรู้ตัณหาจากตัณหา ทุกข์ละทุกข์ ตัณหาละตัณหา คือต้องเห็นของจริงเสียก่อน เมื่อเห็นแล้วต้องทำความ
เข้าใจในสิ่งนั้นให้ชัดแจ้ง เห็นที่เกิดของสิ่งนั้น รู้และเข้าใจแล้วจึงเข้าไปจัดการกับมัน ซึ่งการที่จะเข้าไปจัดการนั้น
ขึ้นอยู่กับภูมิธรรมของแต่ละท่านในขณะนั้น ว่ามีกำลังมากน้อยเพียงใด
    การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่แต่เพียงการนึกคิดและจินตนาการ แต่มันเป็นเหตูการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในจิตของเรา
ที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปทุกขณะจิต ไม่ใช่อดีตหรือว่าเป็นอนาคต แต่มันเป็นปัจจุบันธรรมที่เรากำลังสัมผัส
เรียนรู้จากของเกาเพื่อเอามาใช้ในปัจจุบัน เพื่อที่จะสร้างสรรค์กำหนดอนาคตที่จะก้าวเดินต่อไป...
               ..............................................................................
 :059:ภาคขยาย...เพราะเมื่อก่อนนั้นเราไปเน้นเรื่องสมาธิเชิงพลังงานมากเกินไป เพื่อจะนำมาสงเคราะห์
ช่วยเหลือญาติโยม มันจึงทำให้เราหลงตัวเองเกิดอัตตามานะขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยคิดว่าสมาธิของเราดีแล้ว
จิตของเราดีแล้ว ทุกอย่างก็จะดีตามไปด้วย เพราะอำนาจพลังของสมาธินั้นมันกดทับกิเลสอยู่ทำให้เราไม่เห็นมัน
จนเราคิดว่ากิเลสนั้นมันหมดไปแล้ว แต่เมื่อไหร่ที่สมาธินั้นอ่อนกำลังลง กิเลสที่ถูกทับถมไว้ก็จะปรากฏแสดงออกมา
จึงทำให้เรารู้ว่า เรานั้นต้องปฏิบัติพัฒนาจิตของเราให้ยิ่งไปกว่านี้ที่มันเป็นอยู่......
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                      รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๕.๓๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

378
 :059:ว่างเว้นจากการเขียนบทกวีมาหลายเวลาแล้ว จึงต้องทบทวนในการเขียนบทกวี
ป้องกันสมองเสื่อม ความจำเลอะเลือน เพราะถ้าทิ้งไปนานๆมันจะนึกคำสัมผัสไม่ออก
นึกคำศัพย์ที่มีความหมายใช้แทนกันไม่ได้ เหมือนกับมีดดาบถ้าไม่ได้ใช้ ไม่ได้ลับ
ปล่อยทิ้งไว้สนิมก็จับ และความคมมันก็จะหายไปเพราะโดนสนิมมันเกาะกินมีแต่เสื่อม
สมองของเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่หมั่นคิด หมั่นวิเคราะห์ มันก็ตื้อคิดอะไรไม่ออกเมื่อเราเจอปัญหา
สติและสัมปชัญญะก็เช่นกัน เราต้องเจริญสติและสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ทั้งหลาย
ที่เกิดขึ้นและจรมา มีความรู้ตัวทั่วพร้อม เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกแห่งคุณธรรมหิริโอตัปปะให้ตื่นอยู่ตลอดเวลา
เพื่อคุ้มครองจิตของเราไม่ให้เผลอไผลไปกับกิเลสสิ่งยั่วยวนทั้งหลาย ดำรงค์กายและจิตของเราให้อยู่กับ
สิ่งอันเป็นกุศลทั้งหลาย ไม่ให้จิตเราตกต่ำถลำลงไปในทางชั่ว คุ้มครองกายและจิตโดยสติและสัมปชัญญะ
ที่เป็นสัมมาสติ มีองค์แห่งคุณธรรมคุ้มครองอยู่...
  :054:เขียนแล้วเพลินมันใหลไป เข้าเรื่องกันดีกว่า..บทกวีที่จะนำเสนอนั้นอาจจะหลายหลากอารมณ์
ไม่ได้เน้นแต่แนวธรรมะเพียงอย่างเดียว คำบางคำ ประโยคบางประโยคกลอนอาจจะพาไปเพื่อความลื่นใหล
และการสัมผัสในกาพย์กลอนนั้น เมื่อท่านอ่านแล้วก็อย่าไปจริงจังกับมันให้มากมาย อ่านไปแบบสบายๆ
แล้วท่านจะได้อรรถรสและอารมณ์...
         ...................................................................................................
                             :059:ปลิโพธของพระนักพัฒนา :059:
            มีเรื่องราว  หลายอย่าง  ที่ค้างคา       ไม่รู้ว่า  จะทำ    สำเร็จไม่
          เพราะมีเพียง  ความคิด  และจิตใจ       แต่ยังไม่  มีทุน  มาหนุนนำ
          รอกฐิน       ผ้าป่า    มาสมทบ           จึงจะครบ  ปัจจัย ให้น่าขำ
       ต้องปล่อยไป ตามบุญ และตามกรรม        อยากจะทำ เหตุปัจจัย  ไม่นำพา
       อยู่ชายแดน  แสนไกล  ไม่มีกิจ             ใช้ชีวิต   พอเพียง  ไม่เสาะหา
       บิณฑบาตร  กวาดวัด   ภาวนา                รอศรัทธา  สาธุชน  คนใจบุญ
       มาร่วมสร้่าง ร่วมเสริม  ช่วยเติมแต่ง          มาร่วมแรง  ร่วมใจ  ช่วยเกื้อหนุน
       สละทรัพย์   ปัจจัย    มาเป็นทุน             ตอบแทนคุณ  ศาสนา  ทั้วหน้ากัน
       ขอกุศล   ผลบุญ   จงหนุนส่ง                ให้มั่นคง    ไร้ทุกข์   พบสุขสรรค์
       สุขเกษม   เปรมปรีดิ์ ทุกคืนวัน               ขอให้ฝัน   นั้นสม    อารมณ์เทอญ..
                   ................................................................
                          :059:ในค่ำคืนที่เหน็บหนาว :059:
             เหน็บหนาว  ในคืน  ฟ้าหม่น       สิ้นฝน   ต้นหนาว   มาถึง
             ดวงจิต   ให้คิด    คำนึง            ครั้งหนึ่ง  ของกาล  เวลา
             ลมหนาว  พัดต้อง  ยอดไผ่        สั่นไหว   เอนไป  ซ้ายขวา
             ไผ่นั้น     ไม่ล้ม    ลงมา           เพราะว่า  อ่อนน้อม  ถ่อมตน
             สายลม   พัดโหม  กระหน่ำ        ซ้ำซ้ำ    ปะทะ    ต้นสน
             สั่นไหว   ไม่อาจ   คงทน           ร่วงหล่น  ล้มครืน  ลงมา
             จังหวะ    เวลา     โอกาศ          สามารถ   ที่จะ    ศึกษา
             จงใช้     สติ       ปัญญา           นำพา    ชีวิต    ปลอดภัย...
                   ........................................................
                            :059:ผ้าห่มกับลมหนาว :059:
                    ซุกกาย ใต้ผ้าห่ม     หลบสายลม ที่พัดผ่าน
                  คืนหนาว ที่ยาวนาน    รัตติกาล ที่ยาวไกล
                  ผ้าห่ม  กับลมหนาว    คือเรื่องราว ที่กล่าวไว้
               หนาวกาย ไม่หนาวใจ    เพราะไม่ไร้ คนศรัทธา
               จัดส่ง  เครื่องกันหนาว   และบอกกล่าว ช่วยจัดหา
               รวบรวม และส่งมา        ได้พึ่งพา ให้หนาวคลาย
               เอื้อเฟื้อ และแบ่งปัน     สายสัมพันธ์ ที่มุ่งหมาย
               แรงใจ และแรงกาย      ไม่เคยหาย  จากใจคน
                        ...............................
 :054:ที่นำเสนอมานั้น เป็นกลอนแปด กลอนหก และกาพย์ยานี ที่เขียนแบบสบายๆตามสไตล์หลวงโ่ด่ง
แล้วแต่สัมผัสจะพาไป คิดอะไรออกก็เขียนไป ไม่ได้จริงจังและตั้งใจ เขียนไปเพื่อฝึกสมองลองปัญญา
                 ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                        รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๙.๑๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                             

379
บ่อน้ำทิพย์เจริญธรรม บ้านห้วยกล้วย ภูเก้ายอด เมืองสามหมอก
27 กรกฎาคม 2545
        การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้ทำให้เราฉลาดขึ้นกว่าคนอื่น แต่ทำให้เราได้เห็นความโง่ ความหลงผิด
ในอดีตของเราที่ผ่านมา ยิ่งปฏิบัติก็ทำให้เราได้เห็น ในสิ่งที่เรายังไม่รู้ ในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมานั้น
เราคิดว่าเรารู้ถูกต้องและเข้าใจหมดแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นเลย เรายังไม่รู้จริง เรายังไม่เข้าใจในความจริง
อย่างที่เราเคยคิด ยังมีอีกมากมายที่เรายังไม่รู้และไม่เข้าใจ
        การปฏิบัติธรรมนั้นทำให้เราเห็นกิเลสของเรา ที่เรายังไม่เคยเห็นหรือไม่เคยสนใจ ทำให้เรารู้เท่าทัน
กิเลสที่เกิดขึ้นและกิเลสที่มีอยู่แล้วในกายในจิตในความคิดของเรา ซึ่งเมื่อก่อนนั้นเราคิดว่าการปฏิบัติธรรม
ทำให้เราฉลาดขึ้น ทำให้เราหมดกิเลส กิเลสเบาบางลง ทำให้เราหลงตัวเองเพราะการที่เรามีความคิดอย่างนั้น
มันเป็นการก่อเกิดและเพิ่มซึ่งอัตตา มานะ การถือตัวถือตนโดยเราไม่รู้ตัว คิดว่าตนเองบริสุทธิ์และสมบูรณ์ด้วยศีล
ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบกว่าผู้อื่น เกิดการหลงตัวเองโดยที่เรารู้ไม่เท่าทัน ขึ้นมาที่ละน้อย ซึ่งนานเข้ามันจะมากขึ้น
จนอาจจะยากในการแก้ไขและปรับปรุงตัวเองได้
        เมื่อเราได้มีเวลาทบทวนพิจารณา สิ่งที่ผ่านมาในอดีตของเรา ทำให้เราได้เห็นความประมาท ความผิดพลาด
ในการดำเนินชีวิตของเราที่ผ่านมา เราไปติดอยู่เพลินอยู่กับความสะดวกสบายในสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย
ทำให้เราไม่เห็นทุกข์ คลุกคลีกับหมู่คณะเกินไป จนทำให้การปฏิบัติย่อหย่อน ซึ่งเมื่อเราได้พิจารณาและเห็นในสิ่งนั้น
เห็นในความประมาทและผิดพลาดของตัวเรา จึงทำให้เราระลึกได้ในหลักธรรมเรื่อง " อัตตา ตัวกู ของกู "ที่เคยได้ศึกษามา
เพราะว่าอัตตานั้น มันจะบดบังสัจจธรรมที่แท้จริง เราต้องเปิดโลกทัศน์ ชีวทัศน์ ทำลายอัตตาลบภาพมายาทั้งหลายให้หายไป
แล้วเราจะได้พบกับ "สัจจธรรม" ธรรมชาติของจิตที่แท้จริง......
         ...
 :059:มุมมองในวันนี้......ที่นำเอาบันทึกเก่ามานำเสนอนั้น เพื่อเป็นการย้ำเตือนแก่ตนเอง ให้ระลึกถึงสิ่งที่เรามุ่งหวัง
และตั้งใจไว้ ในการประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งการบันทึกเรื่องราวไว้นั้น เมื่อวันเวลาผ่านไป นำกลับมาอ่านใหม่ มันให้อะไร
แก่เรามากมาย ได้รู้ถึงความแปรเปลี่ยนไป ทั้งในความคิดและการกระทำ จึงได้นำมาเสนอให้ท่านทั้งหลายได้รู้และเข้าใจ
เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตทั้งในความคิดและการกระทำ......
                         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                            รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๔.๕๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

380
บ่อน้ำทิพย์เจริญธรรม บ้านห้วยกล้วย ภูเก้ายอด แม่ฮ่องสอน
26 กรกฎาคม 2545
     เข้าพรรษาผ่านไป เริ่มต้นใหม่ของการปฏิบัติธรรม หลังจากเตรียมกายปรับจิตลงตัว
เพื่อทำความพร้อม จัดการกับความปลิโพธ(ความกังวล)ในเรื่องต่างๆลงเกือบได้หมดแล้ว
เหลือเพียงการปฏิบัติให้จริงจังเท่านั้นก็สมบูรณ์แล้ว
     จิตติดอยู่กับอารมณ์สมถะคือพอใจในความนิ่งสงบ เพราะความเคยชินที่ทำมานาน
พอเปลี่ยนการปฏิบัติมาเป็นการยกจิตขึ้นพิจารณา สร้างความรู้ตัวทั่วพร้อมไม่ให้จิตหยุดนิ่ง
เสพอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ตามดู ตามรู้ ตามเห็น ความเป็นไปในปัจจุบันธรรม ดูให้เห็น
ดูให้ทันในการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การดับไปของสิ่งทั้งหลายที่มากระทบและเกิดขึ้นในจิต
จิตมันไม่ค่อยจะยอมรับอารมณ์ธรรมอย่างนี้ คอยแต่จะหนีไปสงบนิ่ง มันเป็นความสงบที่
หลบหนีความเป็นจริงของธรรมชาติ ซึ่งเราจะต้องพยายามสร้างความเคยชินตัวใหม่ๆ
ให้กับจิตของเรากับสภาวะธรรมตัวใหม่ให้ได้โดยเร็ววัน โดยการเร่งปรารภความเพียร
เพิ่มเวลา เพิ่มกำลังให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราเชื่อในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา
ที่มีข้อหนึ่งกล่าวไว้ว่า "วิริเยนะ ทุกขะ มะเจติ" บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
   "ปลายทางย่อมจะใกล้เข้ามาทุกขณะ ตราบใดที่เราได้ก้าวเดินเข้าไปหามัน"
        .............................................................................
 :059:อธิบายขยายความ...เจตนาที่ขึ้นไปปฏิบัติอยู่บนดอยนั้นก็เพื่อการฝึกจิตตัวใหม่
โดยการฝึกยกจิตจากสมถะขึ้นสู่การพิจารณาใ้ห้เป็นจิตวิปัสสนา เพราะที่ผ่านมาตลอดนั้น
เราไปเน้นเรืองสมถะ จิตเชิงพลังงานมากเกินไป ทำให้กำลังของสติกล้าแต่ว่าสัมปชัญญะ
นั้นยังมีกำลังน้อย เพราะการที่เราอยู่ในเมืองนั้นทำให้เราต้องคลุกคลีสงเคราะห์ญาติโยม
อยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งลืมสงเคราะห์ตัวเอง ความเจริญในธรรมไม่ก้าวหน้าเพียงแต่ทรงไว้
เรียกว่ากินของเก่า และเมื่อภาระหน้าที่ที่เรารับปากครูบาอาจารย์ไว้นั้นได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว
ทำให้เรามีเวลาให้แก่การปฏิบัติมากขึ้น จึงตัดสินใจทิ้งทุกอย่างไว้ ณ ที่นั้น แล้วออกจากสำนักมา
มีเพียงกรดและบาตร และบริขารสำหรับการเดินธุดงค์เพียงชุดเดียว คืนกลับสู่ความเป็นสามัญ
ทิ้งเอกลาภวันละหมื่นกว่าบาท รถยนต์ส่วนตัว และเครื่องอำนวยความสะดวกสบายทั้งหลาย
ยกของเหล่านั้นถวายให้เป็นของสงฆ์ ออกจากสำนักมาตัวเปล่าเหมือนกับตอนที่เราเข้าไปอยู่
เพื่อความก้าวหน้า เพื่อความเจริญในธรรม เราจำเป็นต้องละทิ้งความสุขความสบายภายนอก
เพื่อมาสร้างความสุขสบายภายใน ซึ่งเป็นความสุขที่แท้จริงของชีวิต....
       เล่าสู่กันฟัง ถึงความหวังที่ตั้งไว้ในการเข้าสู่เส้นทางสายธรรม
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                    รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๓ ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๕.๒๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

381
25 กรกฏาคม 2545
บ่อน้ำทิพย์เจริญธรรม บ้านห้วยกล้วย ภูเก้ายอด แม่ฮ่องสอน
     เมื่อวานเป็นวันพระ วันอาสาฬหบูชา ไม่ต้องออกไปบิณฑบาตรเพราะญาติโยมมาทำบุญกันที่สถานที่ปฏิบัติธรรม
ญาติโยมมารวมกันเวลาประมาณ 07.00 น. ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงและเด็กนักเรียน เพราะพวกผู้ชายนั้นไม่ได้มา
เพราะว่าต้องออกไปเฝ้าไร่ ซึ่งจะอยู่ห่างจากหมู่บ้านออกไปพอประมาณ เพื่อป้องกันสัตว์ป่าคือหมูป่าและลิงมาทำลาย
พวกผู้ชายจึงต้องออกไปนอนเฝ้าไร่กันเกือบทุกคน จึงเหลือเพียงคนแก่ ผู้หญิงและเด็กที่อยู่เฝ้าบ้านในตอนกลางคืน
    ไหว้พระทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้ว ให้ญาติโยมไหว้พระรับศีล และถวายสังฆทาน ซึ่งเราจะต้องกล่าวนำให้แก่พวกเขา
เพราะภาษาไทยของเขาไม่แข็งแรง ซึ่งถ้าเป็นผู้เฒ่าผู้แก่แล้วพูดภาษาไทยไม่ได้เลย มีเพียงพวกเด็กๆที่พอจะพูดภาษาไทยได้
เราจึงต้องกล่าวนำเขาที่ละคำ ให้เขาว่าตาม สวดถวายพรพระขณะที่ญาติโยมใส่บาตร กล่าวสัมโมทนียกถาพอประมาณ
กล่าวนำอุทิศทานแล้วจึงให้พร เป็นอันเสร็จพิธีในภาคเช้าของวันพระ
    เวลา 10.30 น.พระจากทุกดอยมาพร้อมกัน เพื่อทำสังฆกรรมลงอุโบสถสวดและฟังพระปาฏิโมกข์อันเป็นกิจของสงฆ์
สวดสมมุติศาลาเป็นพระอุโบสถเพื่อใช้ทำสังฆกรรมกัน เสร็จเวลาประมาณก่อนเที่ยง นั่งคุยสนทนาธรรม ฉันกาแฟกัน
ก่อนจะแยกย้ายกลับไปสู่ฐานที่ตั้งของแต่ละชุด ซึ่งแต่ละชุดจะมีเด็กๆร่วมขบวนมาด้วยกันทุกชุด แสดงว่าพวกเขาเข้ากับเด็กๆได้
จึงมีพวกเด็กๆที่ไม่ได้ไปโรงเรียนเดินมาเป็นเพื่อนและช่วยถือของให้
    ทำกิจวัตรกวาดทางเดินทำความสะอาดศาลาเสนาสนะแล้ว ฉันกาแฟ พูดคุยสนทนาธรรมกันจนได้เวลา จึงลงไปสรงน้ำกัน
น้ำดื่มน้ำใช้นั้น เป็นน้ำซับที่ออกมาจากภูเขา แล้วเราทำบ่อเก็บกักน้ำไว้ ใช้ไม้ไผ่ต่อเป็นท่อส่งน้ำมายังที่พักศาลาและห้องน้ำ
และทุกจุดที่ส่งพระไปอยู่นั้นจะมีแหล่งน้ำทุกที่ จึงไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ แต่จะมีปัญหาก็ตรงที่น้ำนั้นเย็นมาก ต้องรีบสรงน้ำกันก่อนมืด
เพราะถ้ามืดค่ำแล้วอากาศจะเย็นมากสรงน้ำกันไม่ได้เพราะมันจะหนาวมาก
    เวลาประมาณ 18.00 น.ญาติโยมมาร่วมกันทำวัตรสวดมนต์และเวียนเทียนร่วมกัน เวลาประมาณทุ่มกว่าๆเกิดฝนตกหนักมาก
ลงไปเดินเวียนเทียนรอบศาลาไม่ได้ จึงต้องแก้ปัญหา โดยยกพระมาตั้งกันกลางศาลาให้สูงพอประมาณแล้วเดินเวียนเทียนกัน
รอบองค์พระบนศาลา สวดนำบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ซึ่งพวกเด็กๆจะสวดตามกันได้เพราะที่โรงเรียนได้สอนให้ไหว้พระกัน
เวียนเทียนเสร็จแล้วก็ให้ญาติโยมเด็กๆมานั่งรวมกัน กล่าวนำบทขึ้นกรรมฐาน สอนการเจริญภาวนา ให้แก่ญาตฺิโยมและเด็กนักเรียน
จนถึงเวลา 20.00น.เป็นอันเสร็จพิธี ญาติโยมลากลับกัน กลับขึ้นที่พักทำความเพียรเจริญภาวนาต่อจนถึงเวลาประมาณเที่ยงคืน
จึงได้จำวัตรพักผ่อน...
    ...
 :059:อธิบายขยายความ...นั่งนึกย้อนไปให้เห็นภาพในวันนั้น วันพระอาสาฬหบูชาที่บนดอย ได้เห็นศรัทธาของคนป่าคนดอย
เห็นความใสซื่อและบริสุทธิ์ใจของเขา หลังจากเวียนเทียนแล้วเวลาเขาจะกลับกันเราก็สงสัยว่าเขาจะกลับกันอย่างไรเพราะมืดแล้ว
มองทางไม่เห็น และพวกเขาก็ไม่มีไฟฉายกัน จึงนั่งสังเกตุดูพวกเขา ซึ่งปรากฏว่าเขาเอาเศษไม้ที่ถือกันมาเอามารวมกันแล้วจุดไฟ
เป็นคบไฟส่องทางเดินกลับบ้านกัน ไม้ที่เขาถือกันมานั้นคือไม้สนเกี๊ยะ ซึ่งติดไฟดีมาก เป็นภูมิปัญญาของคนบนที่สูง..
..... จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง ถึงประสพการณ์ที่ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวเขาชาวดอยและการใช้ชีวิตบนดอยของพระภิกษุสงฆ์.....
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                              รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๒ ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๐๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

382
 :059:บันทึกต่างนั้น เมื่อวันเวลาผ่านไป เรานำกลับมาอ่านใหม่ มันจะได้อรรถรสและอารมณ์
ในขณะที่อ่านก็ย้อนจิตคิดกลับไป นึกถึงเวลาและบรรยายกาศ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่บันทึก
แล้วนำมาเทียบเคียงกับภาวะปัจจุบันที่เป็นอยู่ จึงจะได้รู้ถึงความแตกต่างทางอารมณ์และความคิด
วันเวลาผ่านไป ได้พบเห็นอะไรมามากมายได้ประสพการณ์ มุมมองและความคิดก็จะเปลี่ยนแปลงไป
เมื่อ"โลกทัศน์เปิดกว้าง ชีวทัศน์เปิดกว้าง ย่อมนำมาซึ่งวิศัยทัศน์ที่กว้างไกล"นั่นคือสิ่งที่ได้จากการเดินทาง
             .........................................................................................
24 กรกฎาคม 2545
บ่ิอน้ำทิพย์เจริญธรรม บ้านห้วยกล้วย ภูเก้ายอด แม่ฮ่องสอน
     ตั้งแต่มาอยู่บนดอยตื่นนอนตอนประมาณตีสามกว่าๆทุกคืน คือตื่นก่อนสัญญาณระฆัง ทั้งที่นอนประมาณเที่ยงคืน
จิตมันตื่นเพราะมีศรัทธา จึงตื่นมาทำความเพียรเจริญภาวนาจนถึงตีสี่กว่าๆ จึงลงไปศาลาอเนกประสงค์เพื่อไปเดินจงกรม
จนถึงตีห้าครึ่ง ซึ่งฟ้าเริ่มสว่างแล้ว สมาชิกจะมารวมตัวกันเพื่อฉันกาแฟ ก่อนที่ออกรับบิณฑบาตรพร้อมกันในยามเช้า
เส้นทางการเดินบิณฑบาตรนั้นลำบากมาก ต้องใส่รองเท้ายางที่เรียกกันว่าโฟร์วิลย์ คือรองเท้าที่ใช้ในการเดินดอย
ซึ่งพื้นรองเท้าจะเป็นปุ่มๆคล้ายรองเท้าที่ใช้เตะฟุตบอล เพราะฝนตกทางเดินลื่นมากและเป็นโคลมตมตลอดเส้นทาง
เนื่องจากใช้เส้นทางร่วมกับหมูและวัวที่กระเหรี่ยงเลี้ยงแบบปล่อย
   ตกลงทำกติกากันว่า บิณฑบาตรกลับมาแล้วจึงทำวัตรเช้า ทำวัตรเสร็จจึงจะฉันข้าวกันเพราะจะได้อยู่กันครบทุกรูป
ก่อนสว่างทำไม่ได้เพราะกุฏิอยู่ไกลกันและอยู่บนไหล่เขา เดินขึ้นลงลำบากและถ้าฝนตกจะเป็นปัญหามากในการเดินทาง
จึงตกลงกันตามนั้น เพราะกลับจากบิณฑบาตรแล้วต้องรวมอาหารทั้งหมดลงในหม้อเดียวกันแล้วตั้งไฟอุ่นใหม่ให้กับข้าวเดือด
ซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง พอดีกับเวลาที่ใช้ในการทำวัตรสวดมนต์ทำวัตรเช้า เพื่อไม่ให้ขาดกิจวัตรของพระภิกษุสงฆ์
   ฉันข้าวแล้วจึงได้มาประชุมกันเพื่อตกลงเรื่องระเบียบและกฏกติกาในกิจวัตรประจำวัน ซึ่งสรุปร่วมกันได้ดังนี้คือ
เวลา ๐๓.๓๐ น.สัญญาณระฆังปลุก
เวลา ๐๕.๓๐ น.สัญญาณเตรียมตัวออกรับบิณฑบาตร
เวลา ๐๗.๐๐ น.สวดมนต์ ทำวัตรเช้า ฉันข้าว
เวลา ๑๖.๐๐ น.สัญญาณระฆังร่วมกันทำความสะอาดเสนาสนะ
เวลา ๑๘.๐๐ น.สวดมนต์ ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ ฟังธรรม
เวลา ๒๐.๐๐ น.เลิกประชุม แยกย้ายกันไปปฏิบัติตามอัทธยาศัย
   กฏระเบียบนี้เป็นการร่วมกันเสนอและลงมติร่วมกันของพระทุกรูป โดยเป็นกฏกติกาที่ทุกรูปเป็นผู้เสนอและยอมรับกัน
ที่ต้องมีกฏระเบียบนั้นก็เพื่อความพร้อมเพรียงกันของพระภิกษุสงฆ์ในการใช้ชีวิตร่วมกัน...
          ..................................................................................
 :059:เจตนาที่นำพระมาจำพรรษาอยู่บนดอยนั้นก็คือ ๑.เพื่อหาที่สงบให้พระได้ฝึกท่องปาฏิโมกข์ ซึ่งมีพระฝึกท่องปาฏิโมกข์
ในพรรษานี้จำนวน 4 รูป ๒.เพื่อให้พระได้ฝึกความอดทนและได้ปรารภความเพียรเพิ่มขึ้น ๓.เพื่อปลีกวิเวกเว้นจากการคลุกคลี
กับหมู่คณะและญาติโยม มีเวลาทำความเพียรได้เต็มที่ ๔.เพื่อทบทวนตัวของเราเองในการประพฤติปฏิบัติ ๕.เพื่อเป็นการสอน
ธรรมะให้แก่พระภิกษุที่อย่ร่วมกันโดยการ"ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ปล่อย" คือการเรียนรู้ด้วยของจริง...
.....นำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นแบบอย่างในการเขียนบันทึกประจำวัน และบอกเล่าถึงเรื่องราวของการใช้ชีวิตบนดอย....
                          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                        รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๔.๕๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย


383
23 กรกฎาคม 2545
บ่อน้ำทิพย์เจริญธรรม บ้านห้วยกล้วย ภูเก้ายอด แม่ฮ่องสอน
     ตื่นเช้าออกไปบิณฑบาตร กลับมาสำนักไหว้พระทำวัตรเช้าแล้วจึงฉันเช้ากัน
ทำภาระกิจส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว เรียกพระมาประชุมรวมกันเพื่อแบ่งของใช้ที่จำเป็น
โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เพื่อนำไปใช้ยังที่ตั้งของแต่ละฐาน ตามความจำเป็น
เมื่อแบ่งสัมภาระของใช้เรียบร้อยแล้ว ก็ออกเดินทางกันโดยไปส่งพระชุดแรก
ที่ดอยปมฝาด ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร(แต่เป็นกิโลแม้วอย่างที่พูดเล่นกัน)
ออกจากดอยห้วยกล้วยต้องเดินขึ้นดอยอย่างเดียวไม่มีลงประมาณ 3 กิโลจากกลางดอยถึงยอดดอย
ความสูงชันประมาณ 45 องศา เดินผ่านป่าไผ่และไร่ข้าวของชาวกระเหรี่ยงซึ่งปลูกกันบนไหล่ดอย
ซึ่งลาดชันมาก ใช้เวลาประมาณ 40 นาที(เดินไม่หยุดพักเลย)ถึงทางแยกบนสันดอยภูเก้ายอด
ถ้าเราแยกไปซ้ายมือจะลงไปบ้านป่าคา ถ้าเราไปทางขวาจะไปบ้านปมฝาด ซึ่งเดินลงดอยอย่างเดียว
เอาสัมภาระของชุดดอยป่าคาวางไว้ที่สามแยก แล้วทั้งหมดก็ช่วยกันขนสัมภาระไปส่งชุดดอยปมฝาด
เดินลงดอยอย่างเดียวประมาณ 2 กิโลเมตรถึงโรงเรียนบ้านปมฝาด เดินขึ้นดอยประมาณ 500เมตร
ความสูงชันประมาณ 70 องศา จึงถึงที่พักสงฆ์ปมฝาด ใช้เวลาจากยอดดอยเดินลงมาประมาณ 20 นาที
กำลังเริ่มจะอยู่ตัวคือไม่ปวดขาแล้ว ไปถึงก่อไฟต้มน้ำฉันกาแฟกันนั่งพักคุยกันประมาณครึ่งชั่วโมง
จึงเดินทางกลับเพื่อไปส่งหมู่คณะที่ดอยป่าคาต่อ โดยเดินย้อนกลับมาที่สามแยกยอดดอยอีกครั้ง
เดินลงจากยอดดอยภูเก้ายอดประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงที่พักสงฆ์ดอยป่าคา(เดินลงอย่างเดียว)
ส่งพระเข้าที่พักหลังจากแนะนำเรื่องธรรมะเรื่องพระวินัยและการใช้ชีวิตบนดอยอีกครั้งเพื่อเป็นการย้ำเตือน
จึงลากลับมาที่ดอยห้วยกล้วย ตอนเดินกลับเจอพวกเด็กนักเรียนระหว่างทางที่กำลังจะเดินกลับบ้าน
เดินมาพร้อมกับเด็กนักเรียน ซึ่งพวกเด็กเขาเดินเร็วกว่าเราเพราะร่างกายเขาชินแล้ว เราเลยต้องเร่งฝีเท้าตาม
ซึ่งเป็นคการเดินที่เร็วเกินพิกัดของเรา เล่นเอาเหงื่อโชกไปเลย แต่ก็ได้กำลังขาดี ถือว่าเป็นการออกกำลังไปในตัว
กลับถึงที่พักแล้ว นั่งพอให้หายเหนื่อยเหงื่อแห้ง แล้วจึงไปสรงน้ำเพื่อเตรียมตัวทำวัตรสวดมนต์เย็นต่อไป
เสร็จจากทำวัตรแล้วกลับไปกุฏิเพื่อปฏิบัติต่อจนถึงเวลาประมาณเที่ยงคืน จึงได้จำวัตรพักผ่อน...
       ................................................................................................
 :059:อธิบายขยายความ....การทำวัตรเช้านั้นเราจะทำกันก่อนฉันอาหารเช้า เพราะพระทุกรูปจะต้องมารวมกัน
ซึ่งเราจะตีระฆังปลุกกันตอนเวลา 03.30 น.เพื่อปลุกให้พระตื่นขึ้นมาทำความเพียรและฝึกท่องปาฏิโมกข์กัน
จนถึงเวลา 05.45 น. จึงตีระฆังเพื่อรวมตัวกันออกรับบิณฑบาตร ซึ่งการขบฉันนั้นจะฉันกันมื้อเดียว อาหารที่เหลือ
จะให้ชาวบ้านไปทานกัน ไม่มีการเก็บตุนไว้ ทำให้ทุกรูปต้องมารวมกันในตอนฉันเช้า และได้ทำวัตรสวดมนต์พร้อมกัน
ทุกวันโดยจะไม่มีใครขาด เพราะถ้าใครขาดก็เท่ากับว่า วันนั้นไม่ได้ฉันอาหารเลย ซึ่งหลังจากฉันข้าวแล้วในเวลาล้างบาตร
เราจะได้พูดคุยสนทนากัน มีปัญหาอะไรก็เปิดให้สอบถาม เพราะหลังจากนั้นก็จะแยกย้ายกันไปปฏิบัติธรรมหรือท่องปาฏิโมกข์กัน
จะมารวมตัวกันอีกครั้งตอนเวลา 16.00 น.เพื่อร่วมกันกวาดลานธรรมและทางเดิน ทำความสะอาดศาลาที่ใช้ทำวัตรสวดมนต์
และฉันน้ำร้อนกาแฟ พูดคุยสนทนาธรรมกัน หลังจากนั้นก็จะไปสรงน้ำเพื่อเตรียมตัวทำวัตรสวดมนต์เย็นกันในเวลา 18.00 น.
ซึ่งจะใช้เวลาทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิเจริญภาวนา และฟังธรรมกันจนถึงเวลา 20.00 น.จึงจะแยกย้ายไปปฏิบัติกันต่อที่กุฏิของตน
ซึ่งเราจะวนไปตรวจดูทุกดอยเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่หมู่คณะพระภิกษุที่มาอยู่ร่วมกับเรา...
     ................................................................................................
 :059:นำมาเล่าสู่กันฟัง ถึงความหลังเมื่อครั้งไปปฏิบัติอยู่บนดอย เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้รู้และเข้าใจในวิถีแห่งความเป็นพระ
ว่ามันยังมีอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งท่านอาจจะไม่เคยรู้และไม่เคยเห็น ไม่เคยสัมผัสมาก่อน ขอให้ท่านลองติดตามดู แล้วจะรู้อะไรอีกมากมาย...
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                 รวี สัจจะ-วจีพเนจร-คนรอนแรม-สมณะไร้นาม-สมณะชายขอบ
๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๑๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

384
      22  กรกฎาคม  2545
บ่อน้ำทิพย์เจริญธรรม  ภูเก้ายอด  บ้านห้วยกล้วย  แม่ฮ่องสอน
    ออกรับบิณฑบาตรในหมู่บ้านซึ่งอยู่ห่างจากที่พักประมาณ 1 กิโลเมตร มีบ้านเรือนอยู่ประมาณ 18 หลัง
ซึ่งตั้งอยู่ต่ำกว่าที่ตั้งของธุดงคสถาน จึงต้องเดินลงดอยไปรับบิณฑบาตร ซึ่งช่วงนี้ฝนตกหนักเดินลำบาก
เพราะพื้นดินลื่นและเต็มไปด้วยโคลน ต้องใส่รองเท้ายางที่กระเหรี่ยงเรียกว่า"รองเท้าโฟร์วิลย์" มีพื้นรองเท้า
เป็นปุ่มๆคล้ายรองเท้าเตะฟุตบอล ถึงจะเดินกันได้ไม่ลื่น มีพระที่ไปด้วยไม่กล้าใส่รองเท้า"โฟร์วิลย์"ออกไป
บิณฑบาตร เพราะกลัวว่าจะผิดพระวินัย เดินเท้าเปล่าออกไปรับบิณฑบาตร ปรากฏว่ากว่าจะถึงหมู่บ้านนั้น
ลื่นล้มไปสามครั้ง จีวรเลอะโคลนไปทั้งตัว ต้องเดินกลับที่พักก่อนลงไปรับบิณฑบาตรไม่ได้เพราะจีวรนั้น
เปื้อนโคลนไปทั้งตัว เมื่อเข้าเขตหมู่บ้านจึงถอดรองเท้าทิ้งไว้ที่ชายป่าทางเข้าหมู่บ้าน
   อาหารการกินของชาวกระเหรี่ยงบนดอยนั้นก็ง่ายๆ คือต้มหน่อไม้ ต้มยอดฟักทอง ต้มมะเขือใส่เกลือ
ไม่มีเนื้อปลา เนื้อหมู มีแต่ผักล้วนๆ ส่วนขนมหวานนั้นไม่ต้องเอ่ยถึง คือไม่มีเลย ถ้าอยากจะฉันต้องทำกันเอง
มีคำทักทายกันของคนบนดอยคำหนึ่งก็คือ " อยู่ดี กินหวาน " คือใครได้ทานขนมหวานแสดงว่าอยู่ดีกินดี
   เช้านี้ไม่ได้ทำวัตรเช้า เพราะว่านั่งไม่ลง ขาตึงไปหมดเพราะเดินขึ้นดอย กล้ามเนื้อขายังไม่แข็งแรงพอ
ปวดไปทั้งตัว มีอาการไข้เล็กน้อยต้องฉันยาแก้ไข้ไปชุดหนึ่งอาการเลยดีขึ้น ฉันเช้าเสร็จแล้วเรียกพระมารวมกัน
เพื่อจะแบ่งพระออกไปจำพรรษาตามดอยต่างๆ ถามความสมัครใจของพระทุกรูปว่าจะเลือกเอาดอยไหน
โดยให้ไปอยู่กันดอยละสองรูป ซึ่งแต่ละดอยนั้นอยู่ห่างกันประมาณ 5 กิโลเมตร มีบ้านเรือนดอยละประมาณสิบกว่าหลัง
แบ่งพระออกเป็นสามชุด ไปอยู่กันสามดอย คือ ดอยป่าคา ดอยปมฝาด และดอยห้วยกล้วย ซึ่งทั้งสามดอยนั้น
จะอยู่กันคล้ายคล้ายจุดมุมของสามเหลี่ยม มีเส้นทางเดินไปมาหากันเป็นรูปสามเหลี่ยม มียอดดอยกั้นกลางอยู่ทุกเส้นทาง
แบ่งพระกันลงตัว โดยตัวเราอยู่จุดศูนย์กลางคือจำพรรษาอยู่ที่ธุดงคสถานบ่อน้ำทิพย์เจริญธรรม ดอยห้วยกล้วย
   อากาศเย็นมาก ท้องฟ้ามืดครึ้มทั้งวัน ไม่รู้ว่าเวลาเท่าไหร่แล้วถ้าไม่ดูนาฬิกา เพราะว่าอากาศเหมือนกันตลอดวัน
ตั้งแต่เช้ายันค่ำฟ้าครึ้มเหมือนกันหมด ที่บนดอยนี้จะสว่างเร็วมากตีห้ากว่าๆฟ้าสว่างแล้ว แต่จะมืดช้ามากเช่นกัน
เกือบสองทุ่มท้องฟ้าจึงจะมืด คงเป็นเพราะอยู่บนดอยสูงบนยอดเขา จึงเห็นพระอาทิตย์ได้มากกว่าคนอื่นเขา
ที่อยู่ตามพื้นราบ มันจึงสว่างเร็วและมืดช้ากว่าที่อื่น กลับขึ้นกุฏิมานั่งสมาธิตั้งแต่ทุ่มครึ่งจนถึงสี่ทุ่ม จึงได้จำวัตร....
       ...
 :059:อธิบายขยายความ...การที่เราแยกพระให้ไปอยู่ตามดอยนั้น ก็เพื่อให้เขาไปฝึกกัน ถ้าอยู่รวมกันมากๆนั้น
อาจจะทำให้คลุกคลีกันมากเกินไป การทำความเพียรนั้นอาจจะย่ิอหย่อน เพราะจะจับกลุ่มคุยกันเสียมากกว่า
และอีกเจตนาของการพาพระมาอยู่บนดอยนั้น ก็เพื่อให้พระเหล่านั้นมาฝึกท่องพระปาฏิโมกข์ให้ได้กันในพรรษา
โดยเราให้แยกกันอยู่ จับคู่ไปท่องกัน เพื่อให้เกิดการแข่งขัน พระท่านจึงจะได้มีความเพียรในการเรียนพระปาฏิโมกข์
เพราะตัวเราจะเดินไปทานพระปาฏิโมกข์ให้ทุกสามวัน สลับกันในแต่ละดอย และการที่เราปล่อยให้พระออกไปอยู่ตาม
ดอยนั้นก็เพราะให้ท่านไปฝึกเป็นผู้นำ ฝึกการแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยมีเราคอยดูเป็นพี่เลี้ยงอยู่ห่างๆ ปล่อยให้เขาทำกันไป
ให้รู้จักใช้ชีวิตในที่ที่กันดารและขาดแคลน ที่เต็มไปด้วยความยากลำบากในการดำเนินชีวิต...
          ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตเพื่อให้คิดและพิจารณา
                    รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๕.๒๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
 :059:หมายเหตุ...บทท้ายนั้นเป็นการอธิบายขยายความในวันนี้ เพื่อให้รู้ให้เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน..

385
21 กรกฎาคม 2545
บ่่อน้ำทิพย์เจริญธรรม ภูเก้ายอด  แม่ฮ่องสอน
     ออกเดินทางขึ้นดอยมาพร้อมกัน มานั่งพักรอหมู่คณะที่จุดพักจุดแรก
แล้วออกเดินทางกันต่อจนถึงจุดพักต่อไปคือที่คอกวัวป่าสน ก่อนที่จะแบ่ง
หมู่คณะออกเป็น 4 ชุด เพื่อให้สะดวกในการเดินทาง ไม่ต้องเดินรอกัน
  ชุดแรก เป็นโยมกระเหรี่ยงสองคนที่ลงมาช่วยขนสัมภาระ ให้ออกเดินทางไปก่อน
            เพราะพวกเขามีความชำนาญในเส้นทาง และมีร่างกายที่แข็งแรง
  ชุดที่สอง เป็นพระที่เคยอยู่จำพรรษาบนดอยมาแล้ว ร่างกายของท่านปรับได้แล้ว
             กับสภาพอากาศบนดอยและคุ้นเคยกับเส้นทางบนดอยแล้ว
  ชุดที่สาม คือตัวเราซึ่งเคยเดินผ่านเส้นทางสายนี้มาแล้ว มีความเคยชินกับสภาพบนดอย
             ปรับร่างกายและลมหายใจ ในการเดินบนที่สูงได้แล้ว
  ชุดที่สี่   เป็นพระที่ยังไม่เคยเดินผ่านเส้นทางสายนี้และยังไม่สามารถที่จะสะภาพร่างกาย
             และระบบการหายใจ ในการเดินบนที่่สูง ทำให้เดินช้าและต้องหยุดพักเกือบตลอดเวลา
ออกจากจุดพักที่คอกวัวป่าสนเวลา 16.30 น.ลดน้ำหนักสัมภาระ เหลือเพียงย่ามบริขารใบเดียว
ของอื่นโยมกระเหรี่ยงช่วยแบกไปหมดแล้ว ทำให้เดินสะดวกเพราะไม่ต้องแบกน้ำหนักมากเกินไป
เดินถึงดอยหัวช้างฝนตกหนักมาก ซึ่งจะหยุดพักก็ไม่ได้เพราะไม่มีที่หลบฝนและอากาศก็เริ่มจะหนาว
เลยตัดสินใจลุยเดี่ยวฝ่าฝนเดินลงไปจนถึงป่าไผ่ อากาศมืดลงพอดี ไฟฉายก็ไม่ได้ติดตัวมาเพราะว่าติดไปกับโยม
กระเหรี่ยงชุดแรกแล้ว อาศัยสายตาเดินฝ่าฝนและความมืดไปเรื่อยๆจนถึงที่ลำธาร ตกใจเมื่อได้ยินเสียงน้ำที่ไหลแรง
เพราะฝนตกหนัก หาทางข้ามห้วยจนได้ เดินตัดไร่เก่าขึ้นดอยไปจนถึงธุดงคสถานบ่อน้ำทิพย์เจริญธรรมในเวลาประมาณ
20.30 น. เปียกทั้งตัวเพราะฝนตกมาตลอดทาง หนาวมากต้องรีบเปลี่ยนผ้าหาน้ำอุ่นมาฉันเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
จัดของเข้าที่พัก นอนรอหมู่คณะชุดที่สี่ที่ยังมาไม่ถึง เป็นห่วงพวกเขาเพราะฝนตกหนักและค่ำมืดแล้วด้วย รอจนดึกจนหลับไป
ตื่นขึ้นมาตอนตีสาม ออกไปเดินดูที่ศาลายังไม่เห็นใครมา รู้สึกเป็นห่วงเขา ตอนเช้าออกบิณฑบาตร ฉันเช้าแล้วก็ออกไปตามพวกเขา
ไปเจอหมู่คณะที่ลำธารเลยหมดความกังวลเพราะพวกเขาปลอดภัยดี เพราะฝนตกหนักและอากาศมืดเดินลงเขาไม่สะดวกพวกเขาจึง
ตัดสินใจนอนพักกันที่ป่าไผ่หลังจากลงจากดอยหัวช้างมาได้ระยะหนึ่ง การเดินทางขึ้นดอยเพื่อมาจำพรรษาปฏิบัติธรรมก็ผ่านไปด้วยดี
ให้หมู่คณะไปพักผ่อนกัน เพราะเดินทางมาเหนื่อยกันทุกคน พรุ่งนี้จึงจะประชุมกันเพื่อแบ่งพระออกไปอยู่ตามดอยต่างๆ...
              ...
 :059:ว่างๆจึงนำบันทึกเก่าๆที่เขียนไว้มาอ่านดู ทำให้เรารู้ว่าที่ผ่านมานั้นเราได้ทำอะไร อยู่ที่ไหน สภาวะจิตเป็นอย่างไร
วันเวลาที่ผ่านไป มีอะไรเกิดขึ้นกับเราบ้าง ความเจริญในธรรมก้าวหน้ายิ่งขึ้น หรือเสื่อมถอยลงมา ศรัทธาในธรรมของเรายังมั่นคง
อยู่หรือไม่ เมื่อเราได้อ่านบันทึกของเราแล้วนำมาคิดพิจารณา มันมีคุณค่าแก่ตัวเรามากมาย จึงขอนำบันทึกที่ได้เขียนไว้
มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นตัวอย่างของการเขียนบันทึกการเดิน...ท่านละเขียนบันทึกของท่านรึยัง..?
          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                รวี สัจจะ-วจีพเนจร-คนรอนแรม-สมณะชายขอบ
๒๘  พฤศจิกายน  ๒๕๕๒ เวลา ๐๕.๑๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
 :059:หมายเหตุ...โปรดติดตามตอนต่อไป...การใช้ชีวิตของพระดอย

386
          :059:ชื่อนั้นเป็นเพียงสิ่งสมมุติเรียกว่า"สมมุติบัญญัติ" เพื่อใช้แยกแยะผุ้คนและสิ่งของ
ให้รู้ว่าหมายถึงใครและสิ่งใด และบางครั้งชื่อนั้นก็ช่วยเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าของชื่อ
คือเมื่อเรารักชอบและพอใจในชื่อของเราแล้ว เราย่อมมีความภูมิใจและยินดีในชื่อของเราที่ได้รับมา
ใจเราก็สบายไม่มีความกังวลในยามที่มีผู้คนมาเอ่ยถึงชื่อของเรา เรียกชื่อเรา  แต่ถ้าเราไม่ยินดีและพอใจ
ในชื่อของเราแล้ว ใจเราย่อมเศร้าหมองและขุ่นมัวไม่สบายใจ ในยามที่ใครมาเอ่ยชื่อเรา เรียกชื่อของเรา
แต่สิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือ เราจงมีความศรัทธาและเชื่อมั่นในกุศลผลบุญและความดีที่เราได้ทำมา
ดั่งคำของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้กล่าวว่า " ดีชั่ว อยู่ที่ตัวเราทำ  สูงต่ำ อยู่ที่เราทำตัว "ชื่อนั้นเพียงเสริม
สร้างขวัญและกำลังใจ เพื่อให้เรามีศรัทธาในตัวของเรายิ่งขึ้น
         :059:บางคนบางท่านชื่อนั้นอาจจะประกอบด้วยตัวอักษรหรือสระที่ไม่เหมาะไม่เป็นมงคลกับวันเกิด
แต่ชีวิตเขากลับพบกับสิ่งที่ประเสริฐ มีความสุขความสำเร็จในชีวิต ก็เป็นเพราะลิขิตแห่งกรรมดีที่เขาได้กระทำมา
ในอดีตชาติหรือปัจจุบันชาตินี้ และเรื่องโหราศาสตร์นี้ เป็นเรื่องของสถิติและความน่าจะเป็นที่คนรุ่นเก่าๆเขาได้
รวบรวมมา ถ่ายทอดเขียนเป็นตำราสืบมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันนี้ โชคชะตาวาสนานั้นเราสามารถ ที่จะเปลี่ยนแปลงได้
โดยอาศัยกุศลกรรมในชาตินี้มาเป็นเหตุเป็นปัจจัย ซึ่งได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฏก ซึ่งจะหยิบยกมาให้ฟังดังนี้
          :059:ในสมัยพุทธกาล มีสามเณรรูปหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์ซึ่งท่านเป็นพระอรหันต์
พระอาจารย์ท่านได้ตรวจดูดวงชะตาของสามเณรแล้วว่าจะหมดอายุภายในเจ็ดวัน พระอาจารย์ท่านจึงให้เณรนั้น
กลับไปเยี่ยมบอกลาบิดามารดา  สามเณรจึงกราบลาพระอาจารย์เพื่อกลับไปบ้านเยี่ยมและบอกลาบิดามารดา
ในระหว่างที่เดินทางกลับไปบ้านนั้น สามเณรได้ไปพบปลาและสัตว์น้ำที่กำลังจะแห้งตายเพราะติดอยู่ในหนองน้ำ
ที่กำลังแห้งขอด สามเณรเกิดความสงสารจึงเอาจีวรช้อนปลาและสัตว์น้ำทั้งหลายนั้น ไปปล่อยยังแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์
หลังจากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมบิดามารดาและบอกลาทุกคน เสร็จแล้วจึงกลับมาหาพระอาจารย์ผู้เป็นพระอรหันต์
ครั้นครบวันที่พระอาจารย์ท่านได้ตรวจดวงชะตาของสามเณรว่าต้องหมดอายุ แต่สามเณรกลับไม่เป็นอะไรมีชีวิตอยู่ต่อไป
เป็นที่สงสัยของพระอาจารย์ซึ่งท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้ว จึงได้ไปเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามต่อพระพุทธเจ้าถึงเรื่องของสามเณร
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงได้อธิบายให้พระอาจารย์ของสามเณรฟังว่าเป็นเพราะกุศลผลบุญใหม่ที่สามเณรได้ทำขึ้นในปัจจุบันชาตินี้
จึงทำให้สามเณรอยู่รอดปลอดภัยไม่สิ้นอายุตามที่พระอาจารย์ของสามเณรที่พยากรณ์ไว้
      หรือในปัจจุบันนี้เวลาที่เราดวงชะตาไม่ดี ก็มีผู้แนะนำให้ ไปถวายสังฆทาน ไถ่ชีวิตสัตว์ ไปถือศีลภาวนา หรือสร้างบารมีต่างๆ
เพื่อจะให้์ทุกอย่างคลี่คลายไป จากร้ายให้กลายเป็นดี ทั้งนี้ก็เพื่อจะเอาบุญใหม่ที่เราทำมาค้ำชู มาสงเคราะห์ อนุเคราะห์แก่เรา
ให้ผ่านพ้นอุปสรรคปัญหา หรือให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป " คนเราไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงที่มาได้ แต่เรามีสิทธิ์ที่จะกำหนดที่ไป "
อาศัยบุญใหม่ที่เราได้ทำเป็นตัวชี้นำชีวิตของเรา....
     ฝากไว้เพื่อเป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจสำหรับผู้ที่จะเปลี่ยนชื่อใหม่และท่านผู้ใฝ่ในความรู้ทั้งหลาย
                        เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                รวี สัจจะ-วจีพเนจร-คนรอนแรม-สมณะชาขอบ
๒๗  พฤศจิกายน  ๒๕๕๒ เวลา ๑๒.๐๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
 :059:หมายเหตุ...ชื่อนั้นสำคัญไฉน...ได้ยุติลง ณ ตรงนี้ (มีอะไรสงสัยให้สอบถามมา)

387
 :054:ออกรับบิณฑบาตรในยามเช้าที่แสนจะหนาวเหน็บ ท่ามกลางสายลมที่พัดล่องโขงและไอหมอกที่ปกคลุม
ในยามเช้าที่หนาวเย็น กิเลสก็เกิดขึ้นในจิตใจ มีความห่วงหาอาลัยต่อที่นอน ไม่อยากจะตื่น ไม่อยากจะลุกไปทำกิจ
ภาษาพระเขาว่านิวรณ์มันเกิด คือตัว"ถีนมิทธะ" ความเกียจคร้าน ง่วงเหงา หาวนอน มันมีกำลังต่อเนื่องมาจากก่อนเราตื่น
ต่อสู้กับกิเลสภายในใจของเราอยู่ประมาณ 5 นาที โดยคิดถึงหน้าที่และกิจวัตรข้อปฏิบัติของพระสงฆ์ที่เราต้องกระทำ
คิดถึงญาติโยมที่มานั่งรอใส่บาตรในยามเช้า โยมเขาก็หนาวเหมือนเราแต่เขาก็ยังออกมารอใส่บาตรเพราะเขามีศรัทธา
ถ้าเราไม่ออกไปก็เท่ากับเราทำลายศรัทธาของญาติโยม และในที่สุดเกมส์นี้ฝ่ายกุศลจิตก็เป็นฝ่ายชนะไป
    ขณะที่กำลังออกรับบิณฑบาตรนั้น หูพลันไปได้ยินเสียงเพลงที่ญาติโยมเขาเปิดกันฟังในยามเช้า ซึ่งเป็นบทเพลง
ของ"พงษ์เทพ  กระโดนชำนาญ" เพลงนั้นคือเพลง"นกเขาไฟ" ท่อนที่ได้ยินคือ"ภูบ่สูงแต่ว่าห้วยมันลึก ภูบ่ลึกแต่ว่าเมืองมันไกล
ภูบ่เล็กแต่ว่าฟ้ามันใหญ่ นกเขาไฟบินไปล่องลม" หลังจากบิณฑบาตรกลับมาถึงวัด ไหว้พระสวดมนต์ ทำวัตรเช้า ฉันเช้าแล้ว
ใจก็หวนนึกถึงบทเพลงที่ได้ยินในยามเช้าและคิดต่อไปถึงสมัยที่เราเดินธุดงค์อยู่ตามบนดอยที่แม่ฮ่องสอนมันเห็นภาพอย่างนั้นเลย
 :059:จึงได้เปิดดูสมุดบันทึกที่ได้เคยเขียนไว้เมื่อสมัยไปอยู่บนดอยในปี 2545ที่ได้เขียนบรรยายเส้นทางในการเดินไว้
จึงจะได้นำมาเล่าสู่กันฟัง........
ธุดงคสถาน"บ่อน้ำทิพย์" ภูเก้ายอด บ้านห้วยกล้วย ต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
    20  กรกฎาคม  2545
        เช้าวันที่ 19 กรกฎาคม 2545 ออกบิณฑบาตรในตลาดแม่ฮ่องสอน ได้อาหารมาพอประมาณ ฉันเช้าเสร็จแล้ว
ออกไปซื้อของใช้ที่จำเป็นที่จะใช้สอยบนดอยตลอดพรรษา ซื้อของเสร็จกลับมาจัดสัมภาระสิ่งของเตรียมตัวขึ้นดอย
มีโยมกระเหรี่ยงลงมาจากดอยเพื่อมาช่วยแบกของ 2 คน ชื่อโยมโตกับโยมพะลูที มีพระที่ร่วมเดินทางกับเราอีก 6 รูป
ออกจากวัดจองคำเวลา 12.30 น.เดินผ่านสนามบินแม่ฮ่องสอน ผ่านฝายน้ำถึงหมู่บ้านพะโขโล๊ะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านกระเหรี่ยง
ต้องเดินลัดเลาะไปตามลำธารระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร จนถึงจุดกรอกน้ำเพราะต่อไปต้องเดินขึ้นเขาตลอดไม่มีน้ำแล้ว
ตัดขึ้นจากลำธารเดินขึ้นเขาที่มีความสูงชันประมาณ 60 องศา อีกประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงจุดพักที่แรกเพื่อนั่งพักคลายเหนื่อย
หลังจากนั้นต้องเดินเลาะไปตามสันเขาที่มีความสูงชันประมาณ 45 องศา ระยะทางอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงคอกวัวป่าสน
จุดพักแห่งที่สอง จากคอกวัวป่าสนเดินเลาะสันเขาไหปอีกประมาณ 4 กิโลเมตรจึงถึงหมู่บ้านห้วยเป๊าะซึ่งเป็นหมู่บ้านกระเหรี่ยง
จากบ้านห้วยเป็าะเดินตามสันเขาที่มีความลาดชันประมาณ 40 องศาระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตรถึงดอยหัวช้างที่เป็นจุดสูงสุด
ของแม่ฮ่องสอน จากดอยหัวช้างต้องเดินลงเขาที่มีความลาดชันประมาณ 60 องศาอีกประมาณ 6 กิโลเมตร(ลงอย่างเดียว)ก็จะถึง
ลำธารห้วยกล้วย จากลำธารเดินขึ้นดอยที่มีความสูงชันประมาณ 45 องศาอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงที่หมายที่ตั้งใจไว้คือ
ธุดงคสถาน"บ่อน้ำทิพย์เจริญธรรม"....
 :059:หมายเหตุ...ท่านที่เคยไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน เคยไปเที่ยวพระธาตุกองมู ถ้าท่านมองผ่านไปฝั่งสนามบินแม่ฮ่องสอน
ท่านจะเห็นภูเขาที่สูงที่สุดเป็นรูปหัวช้างตั้งเด่นตระหง่านอยู่ นั่นคือ"ดอยหัวช้าง" ซึ่งการเดินทางนั้นเราต้องเดินขึ้นทางงวงช้าง
และกว่าจะถึงหัวช้า่งนั้นมันจะสูงขนาดไหนท่านลองคิดดู และเมื่อถึงหัวช้างแล้ว เราก็ต้องเดินไปตามหลังช้างจนถึงโคนหางช้าง
และที่เดินยากที่สุดก็คือเดินลงจากหางช้างไปสู่พื้นดินเพราะมันลาดชันมากและระยะทางยาวไกล(ลองนึกถึงลักษณะของช้างดู)
ตอนที่พวกเราอยู่ที่แม่ฮ่องสอนบนพระธาตุกองมู ดูแล้วว่ามันไม่ไกลสักเท่าไหร่ แต่พอเราเดินกันไปมันช่างไกลซะเหลือเกิน
เหมือนดั่งคำที่เขาว่า....ใกล้ตาแต่ไกลตีน...
  เรื่องราวความหลังนำมาเล่าสู่กันฟังและยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ได้ประสพพบเจอบนดอยสูงซึ่งจะนำมาเล่าในตอนต่อไป
             ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                     รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๒๗  พฤศจิกายน  ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๒๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
 :059:...โปรดติดตามตอนต่อไป...

 

388
    :059:สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้ มันไม่ใช่บทความ เรื่องสั้นหรือว่าเป็นสมุดบันทึก
แต่มันเป็นคำบอกเล่าจากความรู้สึกในชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งคือความเป็นจริงในขณะนั้น
ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่ามันเป็นปัจจุบันธรรม เป็นภาษาถ้อยคำที่เรียบง่ายไร้การปรุงแต่ง
หรือกลั่นกรอง เพราะมันเป็นมุมมองในขณะนั้น อาจจะถูกต้องหรือผิดพลาดคลาดเคลื่อน
จากความเป็นจริงก็ไม่อาจจะสรุปได้ เพราะมันเป็นความรูัสึกส่วนตัวที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับในสิ่งนั้น พยายามปกปิดหรือปฏิเสธมันอยู่ตลอดเวลา
เพราะมันคือกิเลสที่แท้จริง ซึ่งมันอยู่ใต้จิตของเรา ทันทีที่ตากระทบรูปหรือรูปกระทบตา
หูได้ยินเสียงหรือเสียงมากระทบหู จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรู้รส กายได้สัมผัส ใจรองรับอารมณ์
ความรู้สึกก็เกิดขึ้นที่ใจ ดีบ้า่ง ชั่วบ้าง ต่างกรรมต่างวาระ แล้วแต่เหตุและปัจจัยในขณะนั้น
ถ้าในขณะนั้นจิตเป็นกุศลอยู่ผลก็ออกมาในทางที่ดี แต่ถ้าจิตในขณะนั้นเป็นอกุศลจิตอยู่
ความคิดความรู้สึกก็ออกมาในทางที่ไม่ดี และถ้าจิตในขณะนั้นเป็นกลางๆคือวางเฉยอยู่
อารมณ์ที่เกิดขึ้นคือพื้นฐานของจิตในปัจจุบัน ซึ่งถ้าพื้นฐานดีมีองค์แห่งคุณธรรมคุ้มครองอยู่
ก็จะมีมุมมองในทางที่ดี แต่ถ้าพื้นฐานของจิตนั้นยังขาดคุณธรรมความเป็นกุศลไม่เพียงพอ
ความรู้สึกนึกคิดก็จะออกมาในทางชั่วร้ายคล้อยตามกิเลสทั้งหลายที่จรมาในขณะนั้น
     :059:ท่านทั้งหลายเคยคิดพิจารณาบ้างหรือไม่ในเรื่องนี้ จงให้เวลาแก่ชีวิตลองคิดพิจารณา
แล้วท่านจะเห็นตัวตนที่แท้จริง รู้จักตัวตนที่แท้จริงของตัวท่านเอง....
           เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
                 รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๒๖  พฤศจิกายน  ๒๕๕๒ เวลา ๑๘.๔๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
 :059:หมายเหตุ...โปรดติดตามตอนต่อไป มหากาพย์เรื่องใหม่กำลังจะเริ่มแล้ว :059:
เพราะตั้งแต่ออกพรรษามา ไม่ค่อยจะมีเวลาให้กับงานเขียนสักเท่าไหร่ ต้องเดินทางตลอด
เพื่อสะสางภาระกิจทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน และถึงตอนนี้ทุกอย่างก็ลงตัวกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
จึงมีเวลาที่จะคิดและเขียนผลงานออกมา โดยให้ชื่อว่า "เล่าสู่กันฟัง" ซึ่งจะบอกเล่าถึงความรู้สึกนึกคิด
ของจิตในแต่ละเหตุการที่ได้ประสพพบพานมานำมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง......

389
 :059:การตั้งชื่อนั้น หากเป็นการตั้งชื่อพระ(ฉายา)ครูบาอาจารย์ท่านมักจะเอาอักษรในกลุ่ม"บริวาร"ขึ้นต้น
แต่ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปมักจะนิยมใช้อักษรในกลุ่ม "เดช" เป็นอักษรนำหน้าสำหรับบุตรหลานที่เป้นผู้ชาย
และถ้าเป็นผู้หญิงจะนิยมใช้อักษรในกลุ่ม " ศรี "เป็นอักษรตัวนำ หรือจะเอาอักษรมงคลกลุ่มไหนก็ได้
มาเป็นอักษรนำ จะสลับที่อยู่หน้าอยู่หลังกันก็ได้ หรือจะไม่นิยมถือ" เดช " ถือ " ศรี"ใช้อักษรตัวใดก็ได้
แต่จะไม่นิยมเอาอักษรที่เป็นกาลกิณีมาผสมอยู่ด้วยเท่านั้น

อักษรที่เป็น "เดช" สำหรับผู้ชาย
       คนที่เกิดวันอาทิตย์    อักษร   จ ฉ ช ซ ฌ ญ
       คนที่เกิดวันจันทร์      อักษร   ฏ ฎ ฐ ฑ ฒ ณ
       คนที่เกิดวันอังคาร     อักษร   ด ต ถ ท ธ น
       คนที่เกิดวันพุธ         อักษร   บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม
       คนที่เกิดวันพฤหัสบดี อักษร   ศ ษ ส ห ฬ ฮ
       คนที่เกิดวันศุกร์       อักษร   ก ข ค ฆ ง
       คนที่เกิดวันเสาร์      อักษร   ย ร ล ว
       คนที่เกิดวันพุธกลางคืน   สระ  อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
อักษรที่เป็น " ศรี " สำหรับผู้หญิง
       คนที่เกิดวันอาทิตย์  อักษร  ฏ ฎ ฐ ฑ ฒ ณ
       คนที่เกิดวันจันทร์    อักษร  ด ต ถ ท ธ น
       คนที่เกิดวันอังคาร   อักษร  บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม
       คนที่เกิดวันพุธ       อักษร  ย ร ล ว
       คนที่เกิดวันพฤหัสบดี  สระ อะ อา อุ อู อิ อี เอ โอ
       คนที่เกิดวันศุกร์      อักษร  จ ฉ ช ซ ฌ ญ
       คนที่เกิดวันเสาร์     อักษร   ศ ษ ส ห ฬ ฮ
       คนที่เกิดวันพุธกลางคืน  อักษร  ก ขค ฆ ง
อักษรที่เป็น "กาลกิณี"ทั้งผุ้หญิงและผู้ชาย
       คนที่เกิดวันอาทิตย์  อักษร   ศ ษ ส ห ฬ ฮ
       คนที่เกิดวันจันทร์    สระ      อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
       คนที่เกิดวันอังคาร   อักษร    ก ข ค ฆ ง
       คนที่เกิดวันพุธ       อักษร    จ ฉ ช ซ ฌ ญ
       คนที่เกิดวันพฤหัสบดี   อักษร  ด ต ถ ท ธ น
       คนที่เกิดวันศุกร์      อักษร   ย ร ล ว
       คนที่เกิดวันเสาร์      อักษร   ฏ ฎ ฐ ฑ ฒ ณ
       คนที่เกิดวันพุธกลางคืน  อักษร  บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม
 :059:ไม่ว่าเราจะตั้งชื่อให้ไพเราะ หรือเป็นมงคลมีความหมายที่ดีงามอย่างไร มันก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญของชีวิต
มันเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ประสพกับความสำเร็จได้นั้น มันอยู่ที่ตัวเจ้าของชื่อ
ที่จะดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม มีความรับผิดชอบในภาระและหน้าที่ มีความคิดและจิตที่ใฝ่ดี
มีความขยันหมั่นเพียร รู้จักความเพียงพอในชีวิต ไม่คิดทะเยอทะยานจนเกินความเป็นจริง ประหยัดและอดทน
              "ความสำเร็จของชีวิต อยู่ที่จิตคิดว่าเพียงพอแล้ว"
จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ท่านทั้งหลายให้รู้และเข้าใจให้คิดและพิจารณา
            ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มิตรผู่ใคร่ใฝ่ในความรู้ทั้งหลาย
                          รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๕.๓๒ น. ณ ศาลาน้ิอยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
 :059:หมายเหตุ...โปรดติดตามบทต่อไป(ยังมีอะไรอีกมากมายที่จะนำมาเสนอเกี่ยวกับการตั้งชื่อ)

390
 :059:เมื่อเรารู้เราเข้าใจและเข้าใจในองค์ประกอบคือเหตุและปัจจัยที่จะให้ชีวิตประสพความสำเร็จแล้ว
ไม่ไปเชื่อถืออย่างงมงายว่าชื่อและนามนั้นจะบันดาลให้เราทุกอย่าง เป็นเพียงส่วนประกอบในความสำเร็จ
และถ้าเรารู้ความหมายของอักษรแต่ละตัวที่ประกอบรวมกันเป็นชื่อเราแล้ว ยิ่งจะเพิ่มขวัญและกำลังใจให้เรา
  วิธีตั้งชื่อตามหลักทักษาปกรณ์นั้นได้แบ่งสระและพยัญชนะออกเป็น  ๘ ชุด ตามจำนวนวันที่มีการจัดไว้
เลข ๑ หมายถึงวันอาทิตย์ ประกอบด้วย สระทั้งหลายคือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
เลข ๒ หมายถึงวันจันทร์ ประกอบด้วยอักษรคือ ก ข ค ฆ ง
เลข ๓ หมายถึงวันอังคาร ประกอบด้วยอักษร จ ฉ ช ซ ฌ ญ
เลข ๔ หมายถึงวันพุธ    ประกอบด้วยอักษร ฏ ฎ ฐ ฑ ฒ ณ
เลข ๕ หมายถึงวันพฤหัสบดี ประกอบด้วยอักษร บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม
เลข ๖ หมายถึง วันศุกร์ ประกอบด้วยอักษร ศ ส ษ ห ฬ ฮ
เลข ๗ หมายถึงวันเสาร์ ประกอบด้วยอักษร ด ต ถ ท ธ น
เลข ๘ หมายถึงวันพุธกลางคืน(วันราหู) ประกอบด้วยอักษร ย ร ล ว
  การนับทักษานั้นให้นับตามลำดับเวียนตามเข็มนาฬิกา ซึ่งมีการจัดวางไว้ดังนี้คือ ๑..๒..๓..๔..๗..๕..๘..๖
คือ บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี กาลกิณี ซึ่งแต่ละอย่างมีความหมายดังต่อไปนี้คือ
   บริวาร..หมายถึง สามี ภรรยา บุตร ญาติพี่น้อง มิตรสหาย คนรับใช้ และทุกคนในบ้านที่อยู่ในความอุปการะช่ยเหลือ
   อายุ..หมายถึง การมีอายุยืนยาว สุขภาพร่างกาย มีอายุมั่นขวัญยืน
   เดช..หมายถึง อำนาจวาสนา บารมี เกียรติยศชื่อเสียง ตำแหน่งหน้าที่การงาน ที่ทำให้คนเคารพนับถือหรือยำเกรง
   ศรี..หมายถึง สิริมงคล เสน่ห์ โชคลาภ ทรัพย์สมบัติ เงินทอง
   มูละ..หมายถึง มรดก หลักทรัพย์ดั้งเดิมที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ตลอดจนญาติพี่น้อง
   อุตสาหะ..หมายถึง ความขยันหมั่นเพียร มานะอดทน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จนประสพผลสำเร็จในหน้าที่การงาน
   มนตรี..หมายถึง ผู้ให้การอุปถัมภ์ค้ำชู ให้คำแนะนำและการช่วยเหลือต่างๆ
   กาลกิณี..หมายถึง อัปมงคล โชคร้าย ศัตรู ปัญหา อุปสรรคต่างๆในการดำเนินชีวิต
ซึ่งการนับนั้นให้เริ่มจากวันเกิดของเรา(ตามหมายเลขที่แทนวันเกิด) นับไปข้างหน้าตามลำดับ เพื่อดูความหมายของแต่ละอักษร
มีการจัดเรียงกันไว้ดังนี้คือ

  วันเกิด    บริวาร   อายุ   เดช   ศรี   มูละ   อุตสาหะ   มนตรี   กาลกิณี
 อาทิตย์      ๑       ๒      ๓     ๔    ๗       ๕           ๘        ๖
 จันทร์        ๒       ๓      ๔     ๗    ๕       ๘           ๖        ๑
 อังคาร       ๓       ๔      ๗     ๕    ๘       ๖           ๑         ๒
  พุธ          ๔       ๗     ๕      ๘    ๖       ๑           ๒        ๓
พฤหัสบดี    ๕       ๘      ๖      ๑     ๒      ๓           ๔        ๗
  ศุกร์         ๖       ๑       ๒     ๓     ๔      ๗          ๕         ๘
 เสาร์         ๗       ๕      ๘     ๖     ๑       ๒          ๓         ๔
ราหู           ๘       ๖      ๑      ๒     ๓      ๔          ๗         ๕

 ซึ่งถ้าเราอยากทราบว่าอักษรใดเป็น บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี กาลกิณีก็ให้ลองนับดู
ตามตารางที่ได้แสดงไว้ข้างบนนี้
   จึงขอนำมาเป็นวิทยาทานให้แก่ท่านทั้งหลายให้ได้ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อ
และจะได้รู้ความหมายของอักษรแต่ละตัวในชื่อของท่าน...ไม่เชื่ออย่างงมงาย ควรเชื่อในเรื่องของเหตุและผล
         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรผู้ใคร่รู้ทั้งหลาย
                    รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๕.๕๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
 :059:หมายเหตุ...โปรดติดตามตอนต่อไป..

391
บทความ บทกวี / ชื่อนั้นสำคัญไฉน..?
« เมื่อ: 24 พ.ย. 2552, 09:16:00 »
     ในช่วงระยะนี้มักจะมีญาติโยมมาขอความช่วยเหลือให้ตั้งชื่อให้เด็กเกิดใหม่
หรือเพื่อจะเปลี่ยนชื่อใหม่ หรือไม่ก็ขอให้ตั้งชื่อบริษัท ห้างร้่าน  ร้านอาหารอยู่เสมอ
ซึ่งเราต้องสงเคราะห์ช่วยเหลือ เพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจแก่ญาติโยมเหล่านั้น
และการตั้งชื่อแต่ละครั้งนั้นก็ต้องใช้หลัก"ทักษาปกรณ์"ซึ่งสืบทอดกันมาแต่โบราณ
การเลือกชื่อที่จะนำมาตั้งให้แก่เขานั้น มักจะมีค่านิยมถึงความไพเราะ ฟังแล้วรื่นหู
มีความหมายเหมาะสมกับบุคคล วันเดือนปีเกิดของคนนั้นๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญ
และกำลังใจให้แก่เขา ช่วยให้เขาผู้เป็นเจ้าของชื่อมีชีวิตที่ราบรื่น มีความสุข และประสพ
กับความสำเร็จในชีวิตครอบครัวและหน้าที่การงาน และให้เป็นศิริมงคลแก่เขา
    การตั้งชื่อโดยทั่วไปนั้นเป็นศาสตร์ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีมาแต่โบราณกาล เป็นคติความเชื่อ
ที่สืบทอดกันมาเรียกกันว่า "ทักษาปกรณ์" ซึ่งเป็นศาสตร์ของศาสนาพราหมณ์ ที่มีมาก่อน
พุทธกาล แม้แต่นามเดิมของพระพุทธเจ้า พราหมณ์ทั้ง ๘ ก็เป็นผู้ถวายพระนามให้ว่า
"สิทธัตถะ"ซึ่งแปลว่าผู้ประสพผลสำเร็จ
    แต่การที่จะให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่เจ้าของชื่อแต่ละท่านนั้น มันขึ้นอยู่กับความเชื่อ
เพราะผู้ที่จะประสพความสำเร็จในชีวตนั้นมิได้เกี่ยวข้องกับชื่อเพียงอย่างเดียวมันมีปัจจัยอื่นๆ
เป็นส่วนประกอบ ชื่อนั้นมีส่วนในการสร้างความมั่นใจ สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ตัวเขา
ทำให้เขามีความขยันหมั่นเพียรยิ่งขึ้น มีความรอบคอบยิ่งขึ้น มีความเชื่อมั่นในตัวเองยิ่งขึ้น
มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และการงานยิ่งขึ้น มีความซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบอาชีพ
ปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนเสริมให้เจ้าของชื่อประสพกับความสำเร็จในชีวิตโชคลาภหน้าที่การงาน
    แต่ถ้าเราหวังว่าชื่อนั้นจะเป็นส่วนเสริมให้มีโชคลาภ ความสุข ความสำเร็จโดยอย่างเดียว
จนไม่ทำอะไรในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตของตนและผู้อื่นแล้ว ความสุข ความสำเร็จ
ย่อมไม่เกิดขึ้นแน่นอน ฉะนั้นจึงต้องควรมีคติพจน์ประจำใจไว้ว่า"ไม่เชื่ออย่างงมงาย ควรเชื่อในเรื่องของเหตุและผล"
ความเป็นมงคลของชื่อนั้นจึงจะส่งผล ให้ประสพความสุข ความสำเร็จในชีวิตของเจ้าของชื่อนั้นยิ่งๆขึ้นไป
    จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดเพื่อสะกิดเตือนใจ ให้คิดพิจารณาอย่างมีเหตุผลและไม่เชื่ออย่างงมงาย
                 ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรผู้ร่วมชะตากรรม
                              รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๑๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
 :059:หมายเหตุ...โปรดติดตามตอนต่อไปเรื่อยๆ

392
บทความ บทกวี / กรรมตกที่พระ..?
« เมื่อ: 23 พ.ย. 2552, 09:34:10 »
 :059:ในช่วงปี 38-40 หลังจากออกพรรษารับกฐินเรียบร้อยแล้ว
มักจะเดินทางไปเก็บตัวปฏิบัติธรรมที่พระบาทขุนยวม ซึ่งอยู่ในป่า
ห่างจากตัวอำเภอตลาดขุนยวมประมาณ 7 กิโลเมตรห่างจากหมู่บ้าน
หมู่บ้านที่ใกล้สุดคือบ้านแม่แก ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวกระเหรี่ยงมีอยู่สามหลังคาเรือน
ซึ่งการบิณฑบาตรนั้นต้องเดินลงดอยมารับบิณฑบาตรที่ตลาดขุนยวม
ตอนลงมานั้นเดินง่ายเพราะเดินลงดอยอย่างเดียว ออกจากสำนักตีห้าครึ่ง
ถึงตลาดขุนยวมเวลาประมาณเจ็ดนาฬิกาใช้เวลารับบาตรในตลาดประมาณครึ่งชั่วโมง
แต่ตอนกลับขึ้นสำนักต้องใช้เวลานานเพราะเดินขึ้นดอยอย่างเดียวและมีอาหารเต็มบาตร
จะกลับถึงสำนักพระบาทขุนยวมเวลาประมาณ 10.00น. เป็นประจำทุกวัน
เวลาประมาณเที่ยงกระเหรี่ยงที่บ้านแม่แกก็จะขึ้นมาเอาอาหารที่เหลือ
 :059:สิ่งที่ได้จากการไปปฏิบัติบนดอยในถิ่นที่ห่างไกลความเจริญก็คือ
ความวิเวก วามเงียบสงบ เพราะอยู่ไกลไม่มีใครมารบกวนเวลาปฏิบัติ
และเป็นการฝึกความอดทนต่อความอยากลำบากในการเดินขึ้นลงดอยทุกวัน
และประการสุดท้ายก็คือเป็นการฝึกฝนร่างกายให้มีความแข็งแรง
ซึ่งในปีแรกปีสองนั้นไม่มีปัญหาการปฏิบัติก้าวหน้าเพราะไม่มีผัสสะรบกวน
จึงปฏิบัติได้เต็มที่มีเวลาอยู่กับตัวเองมากกว่าที่อยู่ในสถานที่อื่น
 :059:แต่ในปีที่สามปัญหาก็ตามมา มีการตัดไม้ทำลายป่าใกล้ๆกับสำนัก
เพราะเป็นป่าไม้สักที่สมบูรณ์ มีต้นสักมากมายและมีขนาดใหญ่จำนวนมาก
นายทุนเลยจ้างชาวบ้านชาวกระเหรี่ยงเข้ามาลักลอบตักไม้สักกันเป็นประจำ
ทางฝ่ายบ้านเมืองพวกตำรวจ ป่าไม้ก็เข้ามาจับกุม พร้อมทั้งต่อว่าพระว่ารู้เห็นเป็นใจ
เห็นการทำผิดกฏหมายแล้วไม่แจ้งให้ทางการรับทราบ รับรู้ ทั้งที่รู้ ที่เห็นอยู่ทุกวัน
หลังจากฝ่ายทางการกลับไป  ฝ่ายนายทุนและชาวบ้านก็ขึ้นมา พร้อมทั้งต่อว่าพระ
ว่าเป็นสายให้ทางการ เป็นผู้แจ้งข่าวให้ฝ่ายทางการคือป่าไม้และตำรวจขึ้นมาจับกุม
พระเลยโดนทั้งขึ้นทั้งล่องฝ่ายทางการตำรวจป่าไม้ก็หาว่าพระเป็นพวกเดียวกับนายทุน
นายทุนก็หาว่าพระเป็นสายให้กับฝ่ายทางการพวกเดียวกับป่าไม้และตำรวจ
เวลาลงไปรับบิณฑบาตรก็เจอกับสายตาที่ไม่เป็นมิตรของฝ่ายนายทุนและลูกน้อง
เวลาฝ่ายทางการบ้านเมืองขึ้นมาตรวจป่าก็ถูกต่อว่า ว่าไม่ช่วยดูแลรักษาป่า
จะอธิบายอย่างไรทั้งสองฝ่ายก็ไม่เข้าใจ ทำให้เกิดการระแวงซึ่งกันและกัน
 :059:จึงต้องตัดสินใจทิ้งสำนักพระบาทขุนยวม ไปหาที่ปฏิบัติแห่งใหม่
ปล่อยให้เขาแก้ไขกันเอง ให้มันเป็นไปตามเวรตามกรรมของแต่ละคน
  "ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ความวุ่นวายและปัญาหา ย่อมตามมาถึง"
กรรมจึงต้องมาตกที่พระ ทั้งที่ไม่ได้ทำ และไม่มีส่วนรู้เห็นในสิ่งที่เขาทำ
"กรรมตกที่พระ"คงเป็นเพราะวิบากกรรมที่เคยทำมาในอดีตชาติ"จึงต้องมารับกรรม"
         ถ่ายทอดจากประสพการณ์ที่ได้ผ่านมาในอดีต นำมาเล่่าสู่กันฟัง
                        ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                      รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๓๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

393
จิตเกิดปลิโพธ สติตามไม่ทัน หลงปรุงแต่งไปในอารมณ์อกุศลจิตทำให้เกิดปฏิฆะจนเพิ่มเป็นโทสะ
เสียเวลาไปประมาณครึ่งชั่วโมง จึงได้สติระลึกรู้ว่า  เรากำลังเสพอยู่กับอารมณ์ของอกุศลจิต
ซึ่งมีเหตุมาจากการที่เราเข้าไปยึดถือในสิ่งของ ว่ามันเป็นของ ของเรา จิตเข้าไปรักเข้าไปหวง
ไปกังวลกับของนอกกาย เมื่อมันเสียหาย เลยทำให้จิตของเราเศร้าหมอง
       ตั้งสติพิจารณาทบทวนในพระไตรลักษณ์ ให้เห็นในความเป็นอนิจจัง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา
ว่าทรัพย์สินทั้งหลาย ล้วนเป็นสิ่งนอกกาย ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ มันไม่ใช่ของเราโดยแท้จริง
เราหลงไปยึดติด ยึดถือในวัตถุ ติดอยู่ในสิ่งสมมุติ จิตของเราเลยเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะเข้าไปยึดถือ
เมื่อจิตระลึกรู้ในอารมณ์ที่เสพอยู่ ว่ามันคืออกุศลจิต เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ ในอกุศลจิตนั้น
จิตก็คลายจากการยึดถือ ใจก็ไม่เป็นทุกข์ ที่ทุกข์ก็เพราะเข้าไปยึดถือ พอเราปล่อยวางมันก็ไม่เป็นทุกข์
เกิดปิติ ใจก็โปร่่งโล่งเบาสบาย เพราะคลายจากการยึดถือ
      วันเวลาผ่านไป กับสิ่งรอบกาย ทั้งภายนอกและภายในที่เราได้เจอะเจอ ล้วนแล้วแต่เป็นครู
ที่สอนให้เรารู้และเข้าใจในหลักธรรม ทำให้นึกถึงคำกล่าวสอนเน้นย้ำของหลวงพ่อพุทธทาส
ที่ท่านได้กล่าวอยู่เสมอ เกี่ยวกับเรื่อง"ตัวกู-ของกู"เพื่อเป็นการเน้นย้ำเตือนสติมิให้หลงลืม
คือต้องรู้ต้องเข้าใจและทำให้ได้ โดยการมีสติและสัมปชัญญะ เตือนตนเตือนจิตอยู่ตลอดเวลา
ดั่งที่เคยกล่าวไว้ว่า"กิเลสทั้งหลายนั้นยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น รัก โลภ โกรธ หลง เพราะมันเป็นอาคันตุกะที่จรมา"
เราต้องคอยเตือนสติระลึกอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้จิตเข้าไปยึดถือติดอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น...
       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
         รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๔.๕๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย













394
พฤศจิกา ๒๕๔๖
กลับจากปฏิบัติธรรมที่วัดทุ่งนางามแวะพักที่วัดเพชรน้ำผึ้ง อ.ลานสัก
พร้อมกับพระภิกษุที่ร่วมในกลุ่มยุทธธรรมสัญจรจำนวน ๒๘ รูป
เพื่อรอชมฝนดาวตกและเมื่อถึงวันที่กำหนดไว้จึงได้เดินทางไปยังจุดนัดหมาย
ปักกรดกันที่อ่างเก็บน้ำทับเสลา ในเขตอุทยานห้วยขาแข้ง เขตอำเภอลานสัก
เป็นค่ำคืนที่เหน็บหนาวท่ามกลางสายลมที่พัดแรงอยู่ในที่โล่งแจ้งไร้ที่มุงที่กำบัง
และสิ่งที่มุ่งหวังก็บังเกืดขึ้นหลังเที่ยงคืนได้ผ่านไป ท่ามกลางท้องฟ้าที่แจ่มใส
ไร้ซึ่งเมฆมาบดบัง "ฝนดาวตก"ก็ได้บังเกิดขึ้นบนท้องฟ้าตกลงมามากมายไม่ขาดสาย
 เป็นภาพที่งดงามในยามค่ำคืน เป็นที่ตื่นเต้นและยินดีสมกับที่ได้รอคอย
พฤศจิกา ๒๕๕๒
กลับจากกิจนิมนต์ที่ภาคใต้ ภาคกลางและภาคตะวันออก
พักผ่อนฟื้นฟูร่างกายเพื่อปรับสภาพให้เข้ากับอากาศของท้องถิ่น
หลังจากเดินทางมาตลอดไม่มีเวลาพักผ่อนเลยตั้งแต่ออกพรรษามา
ดูข่าวจากทีวีว่าเดือนนี้จะมีฝนดาวตกปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้าอีกครั้ง
จึงได้ตั้งใจรอเพื่อที่จะได้เห็นภาพที่ประทับใจเหมือนที่เคยได้เห็นมา
คืนนี้ท้องฟ้าโปร่งอากาศหนาวและลมแรงอยู่ที่ประมาณ ๑๔-๑๖ องศา
พยายามนอนตั้งแต่ประมาณ สามทุ่มกว่าๆเพื่อที่จะตื่นมาในตอนตีสาม
เพราะเขาประกาศว่าเป็นช่วงเวลาที่จะเห็นปรากฏการฝนดาวตกได้ดี
ตื่นมาตอนตีสองกว่าๆล้างหน้าล้างตาชงกาแฟแล้วออกไปที่ลานพระธาตุเจดีย์
ท่ามกลางสายลมหนาวที่พัดกระหน่ำข้ามลำน้ำโขงมา ท้องฟ้าแจ่มใสไม่มีเมฆหมอก
หมู่ดาวมากมายส่งแสงประกายบนท้องฟ้า จิบกาแฟและตั้งตารอ เมื่อไหร่หนอดาวจะตกลงมา
เวลาล่วงเลยผ่านไปจนใกล้จะตีห้า ฟ้าเริ่มสาง ตามสว่างเริ่มมาเยือน กาแฟหมดไปสองแก้ว
และแล้วก็ยังไม่เห็นฝนดาวตกชุดใหญ่ เพราะที่ผ่านไปนับได้ประมาณไม่เกิน ๒๐ ดวง
สายลมหนาวกับฝนดาวตก ปีนี้ไม่เหมือน ๒๕๔๖ นี้คือกฏของพระไตรลักษณ์
คือเป็นอนิจจัง สิ่งที่คาดหวังอาจจะไม่เป็นดังที่หวัง คือกฏแห่งความเป็นอนิจจัง
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยงแท้และแน่นอน.....
         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
       รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๓๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

395
"น ปณฺฑิตา อตฺตสุขสฺส เหตุ
ปาปานิ กมฺมานิ สมาจรนฺติ"
"บัณฑิตไม่ประกอบกรรมชั่ว
เพราะเห็นแก่ความสุขส่วนตัว"
   .............................

ยกข้อธรรม  นำมา  สาธยาย
สื่อความหมาย  แห่งธรรม  นำวิถี
ให้ใคร่ครวญ  ทวนทบ  พบสิ่งดี
บทกวี  ชี้ทาง  ห่างอบาย
      ทุกถ้อยคำ  เน้นย้ำ  เรื่องสติ
      สมาธิ   ตังมั่น   มีจุดหมาย
      มีสติ   คุ้มครอง รองรับกาย
      เดินตามสาย  เส้นทาง  อย่างมั่นคง
ดำรงค์ตน  อยู่ใน  ศีลธรรม
ไม่ก่อกรรม  ทำชั่ว ด้วยมัวหลง
ซึ่งกิเลส  ตัณหา   พาพะวง
ให้ต่ำลง  สู่อบาย  ตายทั้งเป็น
     ยกจิตสู่  กุศล  เป็นผลดี
     ฝึกให้มี  หิริ    ระลึกเห็น
     โอตัปปะ คุ้มครอง  ให้ร่มเย็น
     มองให้เห็น  ดีชั่ว  กลัวบาปกรรม
ปลุกสำนึก  ความคิด   จิตมนุษย์
เป็นชาวพุทธ  ไม่ควร  จะใฝ่ต่ำ
จงอย่าให้   กิเลส    มาครอบงำ
ศึกษาธรรม  นำทาง  สว่างใจ
    รู้จักความ  พอดี   เป็นที่ตั้ง
    ควรระวัง   ความโลภ  อย่าหลงไหล
    ให้อยู่ดี   มีสุข      ไม่ทุกข์ใจ
    อย่าอยากได้  เกินไป  ให้ทุกข์ทน
เมื่อมีน้อย  ใช้น้อย  คอยประหยัด
เราควรจัด   บริหาร  ให้เกิดผล
อย่าใช้เกิน  กำลัง   ระวังตน
เกิดเป็นคน   อย่ามีหนี้  จะดีเอย...
       ฝากไว้เป็นข้อคิดเพื่อเตือนจิตสะกิดใจ
                   รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๕๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

"ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย
เพราะคำว่าบุญนี้ เป็นชื่อของความสุข
เราย่อมรู้ชัดซึ่งผลแห่งบุญ ที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน"
                      ปุญญวิปากสูตร ๒๓/๘๔
             .....................................
  

396
บทความ บทกวี / ...ธรรมะตามรายทาง...
« เมื่อ: 15 พ.ย. 2552, 09:32:17 »
      ตั้งแต่ออกพรรษามาต้องเดินทางตลอด มีทั้งกิจที่รับนิมนต์ไว้และกิจที่ไม่ได้รับนิมนต์ไว้
ได้พบปะกับผู้คนมากมาย ได้สนทนาทั้งในเรื่องทางโลกและทางธรรม ตามกรรมตามวาระ
อาศัยหลักธรรมะเป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัย ปรับใช้กับชีวิตในแต่ละวัน แต่ละสถานที่และบุคคล
เพราะทุกคนที่เราพบปะนั้น มีเหตุผลของแต่ละคนที่แตกต่างกัน จึงต้องเลือกสรรค์ธรรมะให้เหมาะสม
ให้สอดคล้องกับจังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และตัวบุคคล สิ่งที่ต้องขบคิดและพิจารณาคือการใช้ภาษา
ในการสนทนาธรรม ว่าจะทำอย่างไรในการถ่ายทอดที่จะให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ใช้ภาษาอย่างไรที่จะให้เขาเข้าใจ
ซึ่งบางครั้งการที่เราใช้ภาษาในเชิงวิชาการนั้น บางครั้งก็เพิ่มความไม่เข้าใจให้แก่ผู้ฟังเพราะเป็นภาษาที่เข้าใจได้ยาก
เช่นคำศัพท์ภาษาบาลี หรือคำศัพท์ภาษาธรรมะ เพราะว่าฟังแล้วต้องหาคำแปล คำอธิบายคำศัพท์อีกรอบหนึ่ง
ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก มึนทั้งผู้พูดและผู้ฟัง
     ซึ่งบางครั้งเราต้องละทิ้งรุปแบบในพยัญชนะ มาเน้นในเรื่องความหมายความเข้าใจให้มากที่สุด
เพื่อความรู้ความเข้าใจในธรรมะทั้งหลาย เพื่อให้ฟังแบบสบายๆ ไม่เกร็งไม่เคร่งและไม่เครียดในการสนทนาธรรม
จึงเป็นที่มาของคำว่า" ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ " คือการถ่ายทอดธรรมะเพื่อให้ง่ายแก่การเข้าใจโดยไม่ยึดติดในรูปแบบ
ซึ่งทุกอย่างต้องใช้การคิดและพิจารณา ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ทบทวน อยู่ตลอดเวลา ปรับเข้าหาหลักธรรมะเพื่อความเหมาะสม
มองทุกสิ่งทุกอย่างรอบกายให้เป็นธรรมะ ใช้หลักแห่งความเป็นจริงตามหลักของธรรมชาติ โดยการลดละซึ่งอัตตาและคติ
ไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาใช้ในการคิดและวิเคราะห์ แล้วเราจะเข้าถึงสภาวะแห่งธรรมะที่แท้จริง...
            ฝากไว้เป็นข้อคิดในการพินิจและวิเคราะห์หลักธรรม
                   รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๑.๓๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
   

397
ต้องขออภัยสมาชิกทุกท่านที่ส่งที่อยู่มาให้
เพื่อให้ทางวัดจัดส่งวัตถุมงคลไปให้ท่านนั้น
เกิดการล้าช้าสักนิดเพราะว่าพระอาจารย์นั้น
ตั้งแต่หลังงานทอดกฐินมีกิจนิมนต์นอกสถานที่
มาตลอดไม่ได้อยู่ที่วัดเลย พึ่งจะได้กลับมาถึงวัด
เมื่อวานนี้(๑๓ พฤศจิกา)จึงยังไม่มีเวลาที่จะจัดส่งให้
คิดว่าวันจันทร์นี้(๑๖ พฤศจิกา)จะออกไปจัดส่งให้
จึงต้องขออภัยสมาชิกที่ส่งที่อยู่มาให้ทุกท่านด้วย
ที่ทางวัดจัดส่งให้ช้าไปสักนิด...
        ด้วยความปรารถนาดี
                  พระอาจารย์เมสันติ์ คมฺภีโร
                          (หลวงโด่ง)
                      ๑๔ พฤศจิกายน  ๒๕๕๒

398
การศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้น ในทางพุทธศาสตร์ เป็นไปเพื่อการ ลด ละ เลิก
ซึ่งอัตตา มานะ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และขบวนการทางจิตในการคิดและทำ
ซึ่งเราต้องเริ่มจากฐานกายเป็นที่ตั้ง ต้องทำความเข้าใจในเรื่องของกายเป็นเบื้องต้น
อันว่ากายนั้นประกอบขึ้นมาด้วยธาตุทั้ง ๔ คือมหาภูตรูป อันได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ
ธาตุลม ธาตุไฟ มาประชุมรวมกัน เกิดช่องว่างระหว่างธาตุ คือ อากาศธาตุ และมีจิต
เข้ามารับรู้อยู่อาศัยและควบคุมคือ วิญญาณธาตุ ธาตุทั้ง ๔ มาประชุมรวมกันก่อเกิดให้เป็น
อวัยวะน้อยใหญ่คืออาการ ๓๒ ซึ่งนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจำเป็นต้องรู้และเข้าใจในเรื่องกายและ
เรื่องธาตุเป็นเบื้องต้น โดยการฝึกจิตให้มีสติระลึกรู้อยู่กับกาย ให้มีความรู้ความเข้าใจในความสัมพันธ์
ของธาตุในกายทั้งหลาย และเมื่อจิตชัดเจนในฐานกาย จิตก็มีที่อยู่ที่อาศัยมีฐานที่มั่นคง การหลงในสภาวะทั้งหลาย
ก็เกิดขึ้นได้น้อย เพราะมีสติคอยดูแลและควบคุมอยู่ เมื่อจิตรู้ชัดในฐานกาย จิตก็จะจางคลายในการยึดถือซึ่งตัวตน
เพราะเหตุที่ว่าเห็นกายนี้สักแต่ว่าเป็นธาตุที่ประชุมรวมกัน และไม่นานก็ต้องสลายไป คืนทุกสิ่งกลับไปสู่ธรรมชาติ
จิตนี้เป็นเพียงผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัย หาใช่เจ้าของแห่งกายนี้ เมื่อเห็นและเข้าใจเช่นนี้ การยึดถือในตัวตนก็จะจางคลาย
ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในจิตแยกแยะความคิดที่เป็นกุศลและอกุศลของตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รู้จักคิดและพิจารณา
ให้เห็นคุณ เห็นโทษ เห็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ของความคิดทั้งหลาย จนเกิดความรู้และเข้าใจ ว่าสิ่งใดที่ควรคิดและควรทำ
เพราะเข้าใจในกุศลและอกุศล มองเห็นความเป็นสาระของธรรมะทั้งหลายที่อยู่รอบกายของเรา รู้ในสิ่งที่ควรและไม่ควร
ของกาย ของจิต ของความคิด ของการกระทำ จิตนี้ก็จะไม่ตกต่ำ เพราะมีธรรมคุ้มครองและรักษา มีสติและปัญญาคอยควบคุม
มีองค์แห่งคุณธรรม คือหิริและโอตตัปปะคอยเกื้อหนุนและดูแล ในการดำรงค์ชีวิต ไม่ให้เดินผิดทางไปสู่อบาย จิตก็ไม่ตกต่ำ
เพราะมีธรรมะเป็นที่อยู่ที่อาศัย เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ และเมื่อเรารักษาธรรม ธรรมนั้นจะรักษาเรา....
          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มิตรผู้ใคร่และใฝ่ธรรมทั้งหลาย
                                รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะไร้นาม
๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๓๔ น. ณ หมู่บ้านจัดสรรค์แห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต ปักษ์ใต้ ประเทศไทย

399
 :059:กลับมาสู่อ้อมอก    ที่ป้องปกและคุ้มครอง
      ซุกกายริมชายคลอง    ลมหนาวต้องสะท้านกาย
     อ่อนล้าเพราะแรมรอน   ได้พักผ่อนให้เหนื่อยคลาย
     หลับลงอย่างสบาย       ที่ริมชายน้ำแห่งเดิม
     กลับมาเพื่อเติมฝัน        ถึงคืนวันที่ริเริ่ม
     ทบทวนเพื่อต่อเติม       กลับมาเสริมกำลังใจ
     กราบร่างไร้วิญญาญ      ครูอาจารย์เพื่อเติมไฟ
     เพื่อก้าวเดินต่อไป        ที่หวังไว้อุดมการณ์
    ร่อนเร่และแรมรอน         หยุดพักผ่อนเพียงไม่นาน
    คิดชอบประกอบการ       สร้างตำนานนักเดินทาง
        " วจีพเนจร "           ฝากกาพย์กลอนที่สรรค์สร้าง
    บอกเล่าเรื่องรายทาง      ถึงทุกอย่างที่พบมา
   เดินทางมายาวไกล         ตามที่ใจปรารถนา
   ก้าวผ่านกาลเวลา           เจอปัญหาสารพัน
   ให้คิดให้แก้ไข              ผ่านพ้นไปหลายครั้งนั้น
   ก่อเกิดสายสัมพันธ์         ช่วยเหลือกันตามเส้นทาง
   ฝึกกายและฝึกจิต           ฝึกความคิดเพื่อสรรค์สร้าง
   ลดละและปล่อยวาง        เดินตามทางแห่งมรรคา
   มรรคาสมณะ                 คือลดละซึ่งตัณหา
   กิเลสและอััตตา             สติมาปัญญามี
   ใช้หลักของพุทธะ          ในการละสิ่งเหล่านี้
   ศีลธรรมนำชีวี               เป็นสิ่งชี้คุณธรรม
      ลมพัดโพธิ์พริ้วไหว      สายน้ำไหลใจเย็นฉ่ำ
   ก่อเกิดบทลำนำ             อุทานธรรมริมสายธาร...
                .............................
" อ่อน   เมื่อพบลมแรงอย่างแข็งขืน
  น้อม   แล้วยืนขึ้นสู้สู่จุดหมาย
  ถ่อม   ลงหาประชาอย่างมงาย
  ตน     ควรมีความหมายแห่งตัวตน "
     ........................................
ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
        รวี สัจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๖ พฤศจิายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๔๘ น. ณ กุฏิทรงไทยชายน้ำนครชัยศรี  วัดบางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
 
   

400
     วันเพ็ญเดือนสิบสอง...
ปีนี้ไม่มีน้ำนอง(เพราะจีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง)
ไม่มีเรือไฟ ไม่มีกระทง
ลมหนาวมาเร็วกว่าทุกปี
สายลมที่พัดผ่านมาจากฝั่งลาว
ทำให้ความหนาวรุนแรงขึ้น
ผิวน้ำเกิดละลอกคลื่นคล้ายกับชายทะเล
กระทงน้อยพลิกคว้ำจมลงในสายน้ำ
ตะเกียงดวงน้อยบนเรือไฟดับสนิท
แสงจันทร์สาดส่องต้องท้องน้ำ
ระยิบระยับดูงามตา
     สมณะชายขอบซุกกายที่มุมศาลา
หลบลมหนาวที่ถาโถมมาไม่ขาดสาย
ซุกกายหาไออุ่นใต้จีวรที่ผ่านกาลเวลา
ความปรารถนาที่จะนอนชมดาวกลางแม่น้ำยกเลิกไป
ได้แต่ซุกกายใต้จีวรนอนดูกิ่งไม้ไหวในสายลม
....วันเพ็ญเดือนสิบสอง
ไม่มีน้ำนอง ไม่มีกระทง....
ณ ริมฝั่งโขง...ทุกอย่างเงียบสงบ
มีเพียงเสียงคลื่นกระทบฝั่งดังแว่วมา...

401
 :059:ชีวิตคือการเดินทาง
          เพื่อสร้างกุศลกรรม สั่งสมบารมี
          ด้วยจิตสำนึกแห่งคุณธรรม
          ปรารถนาไปถึงซึ่งความพ้นทุกข์
          ฝันไว้ไกลและต้องไปให้ถึง
          ไม่ว่าจะกี่ภพกี่ชาติก็ตาม
          จะพยายามก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง
          สั่งสมกำลังให้เป็นอินทรีย์
          ฝันที่มีคงไม่ไกลเกินจริง......
           .........................
 :059:ไปในที่ ที่เขาต้องการให้ไป
          พักอยู่อาศัย แล้วใจเป็นสุข
          ใจไม่เป็นทุกข์ ทุกอย่างย่อมสบาย
          ขอให้สถานที่นั้น มีความเจริญในธรรม
          งอกงามเพิ่มพูน ก็เป็นบุญกุศลขแงตัวเรา...
               .....................................
 :059:นักเดินทาง...
          ทุกย่างก้าวที่เดินผ่าน
          คือบทเรียนตำนานของชีวิต
          ที่เราได้ลิขิตขึ้นมาเอง
          ไม่ใช่โชคชะตา...
          ไม่ใช่ฟ้าลิขิต...
          ไม่ใช่นิมิตแห่งสวรรค์...
          ไม่ใช่พรหมนั้นบันคาล...
          แต่สิ่งที่ชีวิตต้องพบพาน
          ล้วนเกิดมาแต่กระแสกรรม
          เมือใจเรายอมรับ...
          ในอุปสรรคหรือปัญหาที่เข้ามา
          สิ่งนั้นก็ไม่อาจจะทำให้เราทุกข์
          หรือเมื่อยามที่เราสุขสมหวัง
          ก็ไม่อาจจะทำให้เราหงระเริง
          เพราะเราเข้าใจในชีวิต
          ที่ถูกลิขิตบนเส้นทางพระไตรลักษณ์
          เดินอยู่บนหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา...
              ................................
      ด้วยความเชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
           รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๔๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

402
"ใจของเรามันเป็นปกติอยู่  เปรียบเหมือนน้ำฝน
เป็นน้ำที่ใสสะอาด มีความใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นปกติ
   ถ้าเราเอาสีเขียวใส่ลงไป เอาสีเหลืองใส่เข้าไป
น้ำก้จะกลายเป็นสีเขียว สีเหลืองไป
   จิตของเรานี้ก้เหมือนกัน เมือ่ไปถูกอารมณ์ที่ชอบใจ
ใจก็ดี ใจก็สบาย เมื่อถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจแล้ว
ใจนั้นก็ขุ่นมัว ไม่สบาย เหมือนกันกับน้ำที่ถูกสีเขียว
ก็เขียวไป ถูกสีเหลือง ก็เหลืองไป เปลี่ยนสีไปเรื่อย
   จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าถูกอารมณ์มาถูก มันก็กวัดแกว่ง
ไปตามอารมณ์ ยิ่งมันไม่รู้เรื่องธรรมะแล้ว ก็ยิ่งปล่อยไปตามอารมณ์
ของเจ้าของเรื่อยไป อารมณ์สุขก็ปล่อยไปตามไป วุ่นวายไปเรื่อยๆ
จนมนุษย์ทั้งหลายเป็นโรคประสาท"
...รวบรวมคำอุปมาของหลวงพ่อชา สุภัทโท(พระโพธิญาณเถร)...
....มุมมองของผู้นำเสนอ...
     ตั้งแต่ออกพรรษามานี้ ต้องเดินทางอยู่ตลอดเวลา ทั้งงานกิจนิมนต์ที่รับไว้
และงานกุศลเฉพาะตัว ซึ่งในการเดินทางแต่ละครั้งนั้น ได้พบเห็นสิ่งต่างๆมากมาย
เก็บเกี่ยวไว้เป็นประสพการณ์ของชีวิต นำมาพิจารณาเป็นข้อคิดตามหลักธรรม
แล้วนำมาเสนอเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เห็นสาระประโยชน์ในการเดินทางแต่ละครั้ง
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นธรรมะเป็นสภาวะธรรม ถ้าเรามองให้เห็นว่าเป็นธรรมะ
ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้ ทั้งสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ
พิจารณาให้เห็นคุณ เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสิ่งเหล่านั้น
แต่ถ้าเราปล่อยใจไปตามกระแสของผัสสะ(สิ่งที่มากระทบ)ใจเราก็จะวุ่นวาย
ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะอารมณ์กระทบนั้นมันมีอยู่มากมายและตลอดเวลาที่ผ่านมา
เราจึงต้องหันมาดูกายดูจิตของเรา เมื่อได้รับอารมณ์กระทบเหล่านั้นว่ามันเป็นอย่า่งไร
       "ให้ดูจิตเคลื่อนไหวเหมือนดูหนังดูละคร ให้ดูจิตเคลื่อนไหวอย่าหวั่นไหวตามจิต
        จิตไม่มีตัวตน แต่สามารถกลิ้งกลอกหยอกล้อให้คล้อยตาม เมื่อเรารู้เท่าทัน
       ใจเราก็จะสงบสูงขึ้นตามลำดับ"
เมื่อเราเห็นจิตของเรา เข้าใจจิตของเราแล้ว เราก็จะเข้าใจโลกและเข้าใจธรรม
เข้าใจผู้คนรอบข้างทั้งหลาย ว่าธรรมชาติของมนุษย์ มันเป็นเช่นนั้นเอง
เมื่อเรารู้และเข้าใจ จิตเราก็ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสของโลกและอารมณ์กระทบ
เราจะพบซึ่งความสงบอยู่ภายใน ใจเราก็จะสบาย ไม่วุ่นวายไปตามกระแสของสังคม
"ภายนอกเคลื่อนไหว แต่ภายในสงบนิ่ง ความเป็นจริงของธรรมชาติก็จะปรากฏ"
     จงให้เวลาแก่ชีวิตจิตวิญญาณของเรา โดยอาศัยหลักธรรมะเป็นเครื่องอยู่
เครื่องอาศัย เป็นที่พักใจพักจิตของเรา เมื่อจิตได้พักผ่อน จิตนั้นย่อมมีพลัง
"จิตดี กายเด่น จิตด้อย กายดับ"  ก่อนที่เราจะไปสงเคราะห์ผู้อื่น เราต้องสงเคราะห์
ตัวเราเองเสียก่อน เพื่อให้มีกำลังทั้งภายนอกและภายใน เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนทั้งหลาย
     จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดให้ท่านได้พิจารณา ยังปัญญาให้เกิดขึ้น เป็นการเพิ่มพูลบุญกุศล
ของตัวเราให้ยิ่งขึ้น เพื่อยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้สำเร็จ...
            ด้วยความปรารถนาดีและไมตรจิตแด่มิตรผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลาย
                      รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๑๐ น. ณ ศาลลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย 

403
"ธรรมะก็เป็นเรื่องเดียวอย่างนี้ จึงอุปมาให้ฟัง
 เพราะว่ามันไม่มีรูปแบบบอกไม่ได้ว่ามันเป็นรูปกลมหรือเหลื่ยม
มันไม่รู้จัก นอกจากจะเปรียบเทียบอย่างนี้ ถ้าเข้าใจอันนี้ก็เข้าใจธรรมะ
มันเป็นเสียอย่างนี้ อย่าเข้าใจว่าธรรมะมันอยู่ห่างจากเรา
มันอยู่กับเราก็เป็นเรื่ิองของเรานี่แหละลองดูซิ เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ
เดี๋ยวก็พอใจบ้าง เดี๋ยวโกรธคนนั้น เดี๋ยวเกลียดคนนี้ ธรรมะทั้งนั้นแหละโยม"
          คำปรารภธรรม จากหลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง
                          .........................................
...ใบไม้...
                ขณะนี้เรานั่งอยู่ในป่าที่สงบ ที่นี่ไม่มีลม ใบไม้จึงนิ่ง
             เมื่อใดที่มีลมพัด ใบไม้จึงปลิวไหว
                 จิตก็ทำนองเดียวกับใบไม้ เมื่อสัมผัสกับอารมณ์
             มันก็กระเทือนไปตามธรรมชาติของจิต เรายิ่งรู้ธรรมะน้อยเพียงไร
             ใจก็จะรับความสะเทือนได้มากเพียงนั้น รู้สึกเป็นสุข ก็ตายด้วยความสุข
             รู้สึกเป็นทุกข์ ก็ตายด้วยความทุกข์อีก มันจะไหลไปเรื่อยๆ...
...น้ำเจือสี...
                    ใจของเราขณะที่เป็นปกติอยู่ เปรียบเหมือนน้ำฝน
                 เป็นน้ำที่สะอาด มีความใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นปกติ
                     ถ้าเราเอาสีเขียวใส่ลงไป เอาสีเหลืองใส่เข้าไป
                 น้ำก็จะกลายเป็นสีเขียว สีเหลืองไป
                       จิตของเราก็เหมือนกัน เมื่อไปถูกอารมณ์ที่ชอบใจ
                 ใจก็ดี ใจก็สบาย เมื่อถูกอารมณ์ไม่ชอบใจแล้ว ใจนั้นก็ขุ่นมัว
                 ไม่สบาย เหมือนกันกับน้ำที่ถูกสีเขียวก็เขียวไป ถูกสีเหลือง
                  ก็เหลืองไป เปลี่ยนสีไปเรื่อย...
...อนาถา...
                  จิตของเรานี้ เมื่อไม่มีใครตามรักษา มันก็เหมือนคนที่ปราศจากพ่อแม่ที่จะดูแล
              เป็นคนอนาถา เป็นคนที่ขาดที่พึ่ง
                   คนที่ขาดที่พึ่งก็เป็นทุกข์ จิตก็เหมือนกัน ถ้าหากขาดการอบรมบ่มนิสัย
              ทำความเห็นให้ถูกต้องแล้ว จิตนี้ก็ลำบากมาก...
ที่มา...จากหนังสือ"เหมือนใจ คล้ายกับจิต" รวบรวมคำอุปมาของ หลวงพ่อชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร)
                      ...............................................................
...ความคิดเห็นมุมมองของผู้นำเสนอ...
   "ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต
     สิ่งที่คิดที่ทำนำสู่ผล
     ถูกหรือผิดเจตนาเป็นของตน
     รู้อยู่คนเดียวนั้นคือท่านเอง"
           "จิตที่อบรมทำให้มากแล้วย่อมนำสุขมาให้"
           "จิตฺตํ  ภาวิตํ  พหุลีกตํ  สุขาธิวาหํ  โหติ"
                              พุทธสุภาษิต เอกนิบาต ๒๐/๖
           พฤติกรรมภายนอกอาจจะแยกแยะกันไม่ออกว่าเป็นกุศลหรืออกุศล
     และผลที่ออกมานั้นย่อมแตกต่างกัน สิ่งที่สำคัญก็คือเจตนาของผู้กระทำ
     ว่ามีดำริชอบปะกอบด้วยกุศลหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน ของคนที่กระทำ
     เหมือนการปล่อยวางกับการทอดทิ้งธุระื สภาวะภายนอกนั้นดูไม่ออกมันคล้ายกัน
     แต่ที่มาของอาการอย่างนั้นมันแตกต่างกัน เิกิดจากกุศลและอกุศลคนละทางกัน
          การปล่อยวางนั้น มันเกิดจากธรรมสังเวช เข้าใจถึงเหตุและผล เข้าถึงสภาวะธรรม
     เห็นซึ่งความเป็น"ตถตา"ว่าธรรมชาติมันเป็นเช่นนั้นเอง เกิดความเบื่อหน่ายจางคลาย
     ในอัตตา ตัณหาและอุปาทาน จิตไม่ไปข้องอยู่ในสิ่งนั้นและสิ่งอื่นอีกเลย
          ส่วนการทอดทิ้งธุระนั้น เกิดจากการที่ไม่ชอบใจ เบื่อหน่ายเพราะความมักง่ายหรือเกียจคร้าน
     จิตเลยปฏิเสธในสิ่งนั้น ไม่ให้ความสนใจ แต่ถ้ามีสิ่งใหม่ที่ถูกใจ สนองตอบกิเลสตัณหาแล้ว
     จิตจะเข้าไปยึดถือและปฏิบัติตาม พูดง่ายๆก็คือถ้าไม่ชอบใจก็ปฏิเสธ ถ้าชอบใจก็เข้าไปยึดถือ
     นี่คือการทอดทิ้งธุระ ซึ่งมีสภาวะภายนอกคล้ายกับการปล่อยวาง แต่มันต่างกันที่"เจตนา"
...สุภาษิตก่อนจาก...ฝากให้นำไปพิจารณา...
             "คนฉลาดไม่ถูกเรื่อง ถึงจะพยายยามทำประโยชน์ ก็ไม่สัมฤทธิ์ผลให้เกิดสุข"
                                " น เว  อนตฺถกุสเลน  อตฺถจริยา  สุขาวหา "
                                          โพธิสัตว์สุภาษิต อารามทูกชาดก ๒๗/๑๕
                                                    ............................
         ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่หมู่มิตรผู้ใฝ่ธรรม
                 รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะชายขอบ
๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๒.๑๕ น. ณ มาตุภูมิ  อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
                 

404
   "การเปรียบเทียบสิ่งที่เรารู้จักกับสิ่งทีี่เราไม่รู้จัก หรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมกับสิ่งที่เป็นนามธรรม
 ย่อมเป็นวิธีการอธิบายคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ได้ผลดี เพราะช่วยให้ผู้ศึกษาได้เห็น
 หลักความจริงต่างๆชัดเจนขึ้น รู้สึกบันเทิงในธรรม และจำคำสั่งสอนได้ง่าย ทั้งเป็นการยืนยัน
 ว่าธรรมะเป็นเรื่องธรรมดาไม่เหลือวิสัยของใครที่จะเข้าใจ
    หลวงพ่อชา เป็นอัจฉริยะในการสื่อหลักธรรมด้วยการอุปมาอุปไมยอย่างยิ่งองค์หนึ่ง
คณะผู้จัดพิมพ์จึงพิจารณาเห็นว่า การคัดเลือกเฉพาะคำอุปมาของท่านมาจากหนังสือต่างๆ
ที่เคยพิมพ์เผยแพร่ น่าจะเป็นประโยชน์และเกิดธรรมหรรษาในใจของผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลายไม่มากก็น้อย
อาจจะเหมือนกับการหงายสิ่งที่คว่ำแล้วเปิดสิ่งที่ปิดแล้ว หรือส่องแสงสว่างในทางที่มืดแล้วก็ได้"
   คำนำของคณะผู้จัดพิมพ์หนังสือ"เหมือนใจ คล้ายกับจิต" ธันวาคม ๒๕๓๘
          .....................................................................
...สตังหาย...
                       เหมือนกับญาติโยมทั้งหลาย ออกไปจากบ้านเป็นต้น
                 แล้วกระเป๋าสตางค์หาย มันหล่นอยู่กลางทางโน่น ยังไม่ทัน
                 รู้จักพากันสบายอยู่ สบายเพราะยังไม่รู้จักว่าสบายนี้เพื่ออะไร
                 สบายเพื่อจะไม่สบายอีกต่อไป เมื่อต่อไปเราได้เห็นว่าเงินเสีย
                 ไปแล้วจริงๆก็เกิดความไม่สบายขึ้น คือมันเกิดขึ้นมาเมื่อเรา
                 รู้จักต่อหน้า บาปบุญคุณโทษนี้ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้า
                 ท่านจึงทรงสอนให้รู้จัก ถ้ามันไม่รู้จัก มันก็ไม่รู้จักผิด
                 ไม่รู้จักถูก ไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว....
...ล้อเกวียน-รอยเกวียน...
                                    วัฏฏะก็เหมือนกับล้อเกวียน โคลากเกวียนไป ล้อเกวียนมันไม่ยาว
                               ถ้าโคตัวนั้นมันลากไปไม่หยุด รอยเกวียนมันก็ทับรอยโคไปไม่หยุด
                               มันกลมแต่ว่ามันยาว จะว่ามันยาวก็ได้ แต่ว่ามันกลม เราเห็นความกลมเช่นนี้
                               ก็ไม่เห็นความยาว ในวงเกวียนอันนั้นเมื่อโคลากไปไม่หยุด ล้อเกวียนก็หมุนไปไม่หยุด
                                   อีกวันหนึ่ง โคมันหยุด มันเหนื่อย สลัดแอกออกไปเสีย โคไปโค เกวียนไปเกวียน
                               ล้อเกวียนก็หยุดเอง ทิ้งอยู่นาน พอนานไปมันก็เป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ถมทับเป็นดินหญ้าอย่างเดิม
                                    คนทำกรรมก็เหมือนกัน มันไม่จบเรื่อง คนพูดความจริงก็ไม่จบ คนมิจฉาทิฏฐิก็ไม่จบ.....
...ก้อนน้ำแข็ง...
                         ก้อนน้ำแข็งใหญ่เอาไปวางไว้กลางแจ้ง  จะดูความเสื่อมของก้อนน้ำแข็ง
                    ก็เหมือนสังขารนี้มันจะเสื่อมทีละน้อย ทีละน้อย ไม่กี่นาที ไม่กี่ชั่วโมง
                    ก้อนน้ำแข็งนี้ก็จะละลายหมดเป็นน้ำไป ที่เรียกว่าเป็น"ขัยยะวัยยัง"
                         ความสิ้นไป ความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลายเป็นมานานแล้ว
                    ตั้งแต่มีโลกขึ้นมา เราเกิดมาเราเก็บเอาสิ่งเหล่านี้มาด้วย ไม่ใช่ว่าเราทิ้งไปไหน
                    พอเกิดมา เราก็เก็บเอาความเจ็บ ความแก่ ความตาย มาพร้อมกัน
                         ดูอาการที่มันเสื่อมซิ ร่างกายของเรานี้ ทุกส่วนมันเสื่อม ผมมันก็เสื่อมไป
                    ขนมันก็เสื่อมไป เล็บมันก้เสื่อมไป หนังมันก็เสื่อมไป อะไรทุกอย่างมันเสื่อแมไปทั้งนั้น
                    เสื่อมไปตามธรรมชาติของมัน...
ที่มา"เหมือนใจ คล้ายกับจิต"รวบรวมคำอุปมาของ หลวงพ่อชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร)
                 ..........................................................
...ความคิดเห็นของผู้นำมาถ่ายทอดเผยแพร่...
   " เมือเราอยู่กับธรรม ทุกสิ่งรอบกายย่อมเห็นเป็นธรรมะ
    เมื่อเราหยิบยกขึ้นมาพิจารณาให้เห็นคุณ เห็นโทษ
    เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ของสิ่งเหล่านั้น
    เราย่อมเข้าถึงธรรมะ ถึงสภาวะแห่งสัจธรรมที่แท้จริง
    เมื่อจิตของเรานิ่ง ความเป็นจริงตามธรรมชาติก็จะปรากฏ"
   "อย่าโอ้อวดว่าเราเก่งกว่าผู้อื่น วิเศษกว่าผู้อื่น
     อย่าคิดว่าเรารู้มากกว่าผู้อื่น รู้ดีกว่าผู้อื่น
     จะเป็นเหตุให้ก่อเกิดมานะทิฏฐิ เกิดความถือตัวถือตน"
               .........................................
             ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                 รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๒๓.๔๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                   

405
"ธรรมะก็เรื่องเดียวกันอย่างนี้ จึงอุปมาให้ฟัง เพราะว่ามันไม่มีรูปแบบ
 บอกไม่ได้ว่ามันเป็นรูปกลมหรือเหลี่ยม มันไม่รู้จัก นอกจากจะเปรียบเทียบอย่างนี้
 ถ้าเข้าใจอันนี้ก็เข้าใจธรรมะ มันเป็นเสียอย่างนี้ อย่าเข้าใจว่าธรรมะมันอยู่ห่างเรา
 มันอยู่กับเราก็เป็นเรื่องของเรานี่แหละลองดูซิ เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ เดี๋ยวก็พอใจบ้าง
 เดี๋ยวก็โกรธคนนั้น เดี๋ยวก็เกลียดคนนี้ ธรรมะทั้งนั้นแหละโยม"
                                       ปรารภธรรม หลวงพ่อชา สุภัทโท(พระโพธิญาณเถร)
                                             ...............................................
...วิชาไม่หาย...
                   พระพุทธเจ้าคือธรรมะ ธรรมะก็คือพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้
                   ตรัสรู้นี่ท่านไม่เอาไปไหนหรอก ท่านก็ทิ้งไว้ในนี้แหละ
                   ถ้าพูดง่ายๆอย่างพวกครูเรานะ ครูในโรงเรียนไม่ได้เป็นครูมาแต่กำเนิดหรอก
                   มาเรียนวิชาครูถึงได้เป็นครูกัน ได้สอนในโรงเรียนได้เงินเดือนกับเขา
                   อยู่ไปนานๆก็เลยตายซะ ตายจากครูไปซะ ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็ว่า
                   ครูนั้นยังไม่ตาย คือคุณธรรมที่ทำครูให้เป็นครูนั้นยังอยู่
                   อย่างพระพุทธเจ้าของเราน่ะ สัจธรรมที่ทำให้คนๆนั้นเป็นพระพุทธเจ้านี่ยังอยู่ไม่หนีไปไหน....
...ช้าง วัว ควาย...
                          การฝึกจิตให้ดีย่อมสำเร็จประโยชน์ เราสังเกตุดูแต่สัตว์พาหนะ เช่น ช้าง วัว ควาย
                      ก่อนที่เราจะเอามาใช้งานต้องฝึกเสียก่อน เมื่อฝึกดีแล้วเราจึงได้อาศัยแรงงานมัน
                      ทำประโยชน์นานาประการ ท่านทั้งหลายก็ทราบแล้ว จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมมีคุณค่ามากมาย
                      กว่ากันหลายเท่า ดูแต่พระพุทธองค์และพระอริยสาวกได้เปลี่ยนภาวะจากปุถุชนมาเป็นพระอริยบุคคล
                      จนเป็นที่กราบไหว้ของคนทั่วไป และท่านได้ทำประโยชน์อย่างกว้างขวางเหลือประมาณที่เราๆจะกำหนด
                      เพราะพระพุทธองค์และสาวกได้ผ่านการฝึกจิตมาด้วยดีแล้วทั้งนั้น...
                         จิตที่เราฝึกดีแล้วย่อมเป็นประโยชน์แก่การประกอบอาชีพทุกอย่าง
                      ยังเป็นหนทางให้รู้จักทำงานด้วยความรอบคอบ ไม่เป็นผู้หุนหันพลันแล่น
                      ทำให้ตนเองมีเหตุผลและได้รับความสุขตามสมควรแก่ฐานะ....
...ต้นไม้กับกายเรา...
                              เหมือนกับต้นไม้ต้นหนึ่ง มันมีราก โคน ลำต้น ใบ
                         ใบทุกใบ กิ่งทุกกิ่งทั้งลำต้น อาศัยรากดูดกินอาหารส่งขึ้นไปหล่อเลี้ยง
                              ร่างกายของเรา ทั้งกายทั้งวาจานี้ หรืออายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
                          นี้เปรียบเหมือนกิ่ง ก้าน ลำต้น ใจเปรียบเป็นรากดูดอาหาร แล้วแบ่งขึ้นสู่ลำต้น
                          แบ่งไปหากิ่ง หาใบ ให้เป็นดอกเป็นผล...
                   ......................................................................................
จากหนังสือ"เหมือนใจ คล้ายกับจิต"รวบรวมคำอุปมาของ หลวงพ่อชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร)
...
...ความคิดเห็นของผู้นำมาเผยแผ่...
"รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม" สิ่งนั้นยังไม่เพียงพอ " ต้องอยู่ในธรรม รักษาธรรม มีธรรมเป็นเครื่องอยู"
เมื่อเรารักษาธรรม ธรรมนั้นจะรักษาเรา สรรพสิ่งรอบกายเรา ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะ อยู่ที่เราจะคิดและพิจารณา
มองทุกอย่าง ปรับทุกอย่าง เข้าหาหลักธรรม มองให้เป็นธรรมะ แล้วจะเข้าถึง " ตถตา" ความเป็นเช่นนั้นเอง...
           เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                  รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๙.๒๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
                         
 

406
"ธรรมะก็เรื่องเดียวอย่างนี้ จึงอุปมาให้ฟัง เพราะว่ามันไม่มีรูปแบบ บอกไม่ได้ว่ามันเป็นรูปกลมหรือเหลี่ยม มันไม่รู้จัก
 นอกจากจะเปรียบเทียบอย่างนี้ ถ้าเข้าใจอันนี้ก็เข้าใจธรรมะ มันเป็นเสียอย่างนี้ อย่าเข้าใจว่าธรรมะอยู่ห่างจากเรา
 มันอยู่กับเราก็เป็นเรื่องของเรานี่แหละลองดูซิ เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ เดี่ยวก็พอใจบ้าง เดี๋ยวก็โกรธคนนั้น
 เดี๋ยวก็เกลียดคนนี้ ธรรมะทั้งนั้นแหละโยม"
   ......................................
...บ้านที่แท้จริง...
                  บ้านข้างนอก ไม่ใช่บ้านที่แท้จริง
                  เป็นบ้านสมมุติ บ้านอยู่ในโลก
                  ส่วนบ้านที่แท้จริงของเรา คือ ความสงบ
                  พระพุทธเจ้าทรงให้สร้างบ้านเรือนตัวเอง
                  โดยวิธีปล่อยวางให้ถึงความสงบ...
...สู่ทะเล...
                  ห้วยหนองคลองบึงต่างๆที่มันไหลลงสู่ทะเล
                  เมื่อมันไปตกถึงทะเลแล้ว มันก็มีสีคราม รสเค็มด้วยกัน
                  มนุษย์เราทั้งหลายก็เช่นกัน จะอยู่คนละทิศคนละทางก็ช่าง
                  จะอยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อลงสู่กระแสของธรรมะแล้ว
                  มันก็ลงสู่ธรรมะอันเดียวกัน....
...น้ำใต้ดิน...
                 พระพุทธเจ้าคือพระธรรม และพระธรรมก็คือพระพุทธเจ้า
                 ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น เป็นธรรมะที่มีอยู่ประจำโลก
                 ไม่สูญหาย เหมือนกับน้ำที่มีอยู่ในพื้นแผ่นดิน ผู้ขุดบ่อลงไปให้ถึงน้ำ
                 ก็จะเห็นน้ำ ไม่ใช่ผู้นั้นไปแต่งขึ้น ทำให้มีน้ำขึ้น บุรุษนั้นลงกำลังขุดบ่อเท่านั้น
                 ให้ลึกไปให้ถึงน้ำ น้ำก็มีอยู่แล้ว...
                  ฉะนั้น...ถ้าเรามีปัญญาก็จะเห็นได้ว่าไม่ได้อยู่ห่างพระพุทธเจ้าเลย
                  เดี๋ยวนี้เราก็ยังนั่งอยู่ตรงหน้าพระพุทธเจ้า เราเข้าใจธรรมะเมื่อใด
                  เราก็เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น ผู้ใดที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ
                  ไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน อยู่ ณ ที่ใด ผู้นั้นย่อมได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าตลอดเวลา...
                      ...........................................................................
ที่มา...จากหนังสือ"เหมือนใจ คล้ายกับจิต" รวบรวมคำอุปมาของ หลวงพ่อชา สุภัทโท(พระโพธิญาณเถร)
               ......................................................................................
....ความคิดเห็นของผู้นำมาเผยแผ่.....
การที่เราจะศึกษาธรรมะนั้น เราต้องละวางอัตตา ความยึดถือในตัวตนของเรา เปิดใจให้กว้าง มองทุกอย่างด้วยเหตุและผล
พิจารณา ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ถึงอรรรถเนื้อหาของหลักธรรมนั้น อย่าจำเพียงพยัญชนะข้อความของหลักธรรมนั้นอย่างเดียว
วิเคราะห์ธรรมแล้วนำไปสงเคราะห์กับหลักธรรมทั้งหลาย ถ้าเป็นความเข้าใจที่แท้จริงแล้วจะไม่ขัดแย้งกันในหลักธรรมทุกหมวดหมู่
จะสงเคราะห์ อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน ไม่มีการขัดแย้งกัน แต่ถ้าเมื่อเรานำไปเทียบเคียงกับหลักธรรมแล้ว เกิดการขัดแย้งกัน
ให้เรากลับมาพิจารณาถึงความคิดเห็นของเราเสียใหม่ ว่าทำไมจึงมีความเห็นเช่นนั้น อย่าไปพยายามขยายหลักธรรมเหล่านั้น
ให้รองรับความคิดเห็นของเรา เพราะหลักธรรมทั่ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ถูกต้องสอดคล้องกันดีแล้วทุกหลักธรรม
จงปรับความคิดเห็นของเราเข้าหาหลักธรรม อย่าปรับหลักธรรมเข้าหาความคิดเห็นของเรา ดูกาย ดูจิต ดูความคิดของเรา
ว่าทำไม่จึงไม่สอดคล้องกับหลักธรรมทั้งหลาย
      ที่ได้กล่าวมานี้คือหลักการในการศึกษาและปฏิบัติธรรม เพื่อให้มีความคิดเห็นที่สอดคล้องต้องกันและไม่ขัดแย้งกัน
ดั่งคำอุปมาของหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่ว่า...เมื่อลงสู่กระแสธรรมแล้ว มันก็ลงสู่ธรรมะอันเดียวกัน...
                     ........................................................................
             เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มิตรผู้ใฝ่ธรรม
                               รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๒๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

407
การที่เราจะรู้ว่ากายกับจิตมีความสัมพันธ์กันหรือไม่นั้น ให้เราดูจากอาการของกายและจิตของเราในขณะที่กำลังเิดินอยู่
การเคลื่อนไหวของกายจะพร้อมกับการที่จิตระลึกรู้ (กายเคลื่อนไหว จิตระลึกรู้ทันที)เกิดความพอดีตรงกันของกายและจิต
ซึ่งเราต้องฝึกจากการเดินอย่างช้าๆในแต่ละระยะ เพื่อให้จิตตามกายทัน หรือกายกับจิตมันพร้อมกัน ฝึกไปจนกระทั่งจิตตามทัน
ในการเดินตามปกติของเรา เหมือนเราเดินตามปกติที่เป็นอยู่ ถ้าเป็นเช่นนั้นแสดงว่ากายกับจิตมีความสัมพันธ์สอดคล้องต้องกันดีแล้ว
จากนั้นเราจึงค่อยเปลี่ยนไประยะต่อไป โดยเริ่มใหม่จากการเดินอย่างช้าๆ จนสติตามทันกาย ระลึกรู้ตามทันในการเดินตามปกติของเรา
ทำแบบนี้ตลอดไปในการเดินจงกรมแต่ละระยะ จนกระทั่งจิตระลึกรู้ตามทันในการเดินตามปกติของเราโดยเราสามารถกำหนดระลึกรู้ได้
ครบทั้ง ๖ ระยะ(ถ้าจิตกับกายไม่มีความพร้อมสัมพันธ์กันดีแล้ว เวลาเราเดินจะเกิดอาการซวนเซและเกร็ง เกิดการค้างจังหวะ ก้าวขาค้าง)
...สิ่งที่เราต้องจดจำไว้เสมอก็คือ...ต้องเริ่มจากระยะที่ ๑ และเริ่มจากการเดินอย่างช้าๆทุกครั้ง ก่อนที่เราจะเปลี่ยนไปกำหนดในระยะต่อไป)
                   ...

"เมื่อหยุดคิดปรุงแต่งและวางทุกสิ่งลงได้ (ทั้งสิ่งที่รู้และสิ่งที่ถูกรู้ทั้งปวง)สัจจธรรมความจริงแท้ก็จะปรากฏขึ้นมาให้รู้เห็นเอง"
"รู้จริง เห็นจริง แต่สิ่งที่รู้ที่เห็นนั้นอาจจะไม่จริง อย่ารีบเชื่อในสิ่งที่เห็นและที่รู้ เพราะอาจจะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความงมงาย"
"เชื่อทันที อาจจะนำไปสู่ความงมงาย
 ถ้าปฏิเสธทันที อาจจะทำให้เสียประโยชน์
 ควรพิจารณา ไตร่ตรอง ให้รอบคอบ
 ควรจะทดลองพิสูจน์ ฝึกฝนที่ใจตน
 ให้เกิดความกระจ่างชัดขึ้นด้วยใจตน
 เทียบเคียงสงเคราะห์ให้เข้ากับทุกหลักธรรม
 ถ้าสอดคล้องต้องกันแล้ว จึงเชื่อในสิ่งนั้น"
   .........................................
 ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่ผู้ใคร่สนใจธรรมทั้งหลาย
                 รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

408
การเดินจงกรมเป็นการฝึกสติในฐานกายตามแนวของมหาสติปัฏฐาน โดยให้มีสติอยู่กับอิริยาบทความเคลื่อนไหวของร่างกาย
เป็นทั้ง"อิริยาบถบรรพ"และ"สัมปชัญญะบรรพ" คือการพิจารณาอิริยาบทของกายและพิจารณารู้ตัวในความเคลื่อนไหวของกาย
ซึ่งมีวิธีกำหนดการเดินไว้ ๖ ระยะ ซึ่งผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติไปตามขั้นตอนในแต่ละระยะ เพื่อเป็นการปรับจิต เพิ่มกำลังของสติ
ให้มีความสัมพันธ์กับกาย ซึ่งถ้าจิตไม่สัมพันธ์กับกายแล้ว จะเกิดอากายเกร็งเดินซวนเซไม่ตรงทางการยกย่างจะผิดปกติ
ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มีอาการสะดุดผิดจังหวะในการเดิน ผู้ปฏิบัติต้องเดินในแต่ละระยะจนจิตกับกายสัมพันธ์กันดีแล้ว
จึงค่อยเปลี่ยนเป็นระยะต่อไป และการปฏิบัติแต่ละครั้งนั้นต้องมาเริ่มใหม่ที่ระยะที่หนึ่งทุกครั้ง จนกายและจิตสัมพันธ์กัน
แล้วจึงเปลี่ยนเป็นระยะต่อไป..
           วิธีเดินจงกรม
จงกรม ๑ ระยะ
                ซ้ายย่างหนอ-ขวาย่างหนอ
จงกรม ๒ ระยะ
                ยกหนอ-เหยียบหนอ
จงกรม ๓ ระยะ
                ยกหนอ-ย่างหนอ-เหยียบหนอ
จงกรม ๔ ระยะ
                ยกซ่นหนอ-ยกหนอ-ย่างหนอ-เหยียบหนอ
จงกรม ๕ ระยะ
                ยกซ่นหนอ-ยกหนอ-ย่างหนอ-ลงหนอ-ถูกหนอ
จงกรม ๖ ระยะ
                ยกซ่นหนอ-ยกหนอ-ย่างหนอ-ลงหนอ-ถูกหนอ-กดหนอ
      .....................................................................
      ยกขาจะก้าวย่าง     สติวางมิลืมหลง
   ตั้งจิตพินิจลง            เดินให้ตรงตามมรรคา
   ระลึกกำหนดรู้           จิตตามดูอิริยา
   อาการของกายา        สติมาปัญญามี
   เฝ้าดูการเคลื่อนไหว    กำหนดไปตามวิถี
   สติปัฏฐานสี่              จงกรมนี้คือฐานกาย
   ยกย่างวางระยะ         ตามจังหวะขวาและซ้าย
   วางใจให้สบาย          อย่ามุ่งหมายจนเกินไป
   ไม่เกร็งเคร่งจนเครียด  อย่าขี้เกียจกำหนดไว้
    ฝึกฝนทั้งกายใจ        มั่นคงในเส้นทางธรรม...
"เอกาสนํ  เอกเสยฺฺยํ  เอโก  จรมตนฺทิโต 
 เอโก  ทมยมตฺฺตานํ  วนนฺเตรมิโต  สิยา"
"พึงนั่งคนเดียว นอนคนเดียว ยืนคนเดียว
มีความเพียรไม่เกียจคร้าน ฝึกฝนตนเองอยู่ผู้เดียว
พอใจอยู่ในแดนป่าอันสงัดเงียบ"
  .......................................
 ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
    รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๒๒.๓๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย

409
          หลักการตั้งพระบูชาหันหน้าไปตามทิศ
                พุทฺธปฺฺป  มุโข  ภิกขุสํโฆ
                      ..................
หันหน้าไปทิศ อีสาน...ดีนักหนา จะมีทรัพย์สมบัติ เจริญยิ่งๆขึ้น
หันหน้าไปทิศ บูรพา...ดีเลิศ จะมีอาชีพหลัก ชื่อเสียง  ลาภยศ ปรากฏไกล
หันหน้าไปทิศอาคเณย์...ไม่ดี จะทำงานใดๆมีแต่ผลเสียหาย มากกว่าได้ผลดี
หันหน้าไปทิศทักษิณ...ไม่ดี จะประกอบการใดๆมีแต่ล่มจม
หันหน้าไปทิศหรดี...ไม่ดี จะนำความเดือดร้อนมาสู่ตนและญาติ
หันหน้าไปทิศปัจฉิม...ไม่ดี จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล มีแต่อุปสรรคปัญหา
หันหน้าไปทิศพายัพ...กลางๆจะทำการสิ่งใดมีผลไม่แน่นอน
หันหน้าไปทิศอุดร...ดี ทำการสิ่งใดได้ผลเสมอต้นเสมอปลาย
    และควรจะมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยบูชา คือขัดสมาธิราบหรือขัดสมาธิเพชร
พระหัตถ์ซ้ายวางหงายไว้ที่หน้าตัก พระหัตถ์ขวาคว่ำไว้ที่หัวเข่า นิ้วทั้ง ๕ ชี้ลงที่พื้น
พระปางนี้นิยมเชื่อกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่ป้องกันภยันตราย ป้องกันเสนียดจัญไร
และจะรักษาคุ้มครองป้องกันให้ผู้บูชา ได้รับความสุขความเจริญในชีวิต
และควรจะมีพระประจำวันบูชาด้วยเพื่อเสริมชะตาชีิวิตให้ดีขึ้น...
......เป็นตำราโบราณที่ครูบาอาจารย์ท่านได้บอกกล่าวและสอนมา จึงขอนำมาเสนอให้ท่านทั้งหลาย
ได้รู้และพิจารณา(โปรดใช้วิจารณญาณ)ตามความเหมาะสม...
          ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
             รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๓.๑๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
         

410
"คนเราควรมองผู้มีปัญญาใดๆ
ที่คอยชี้โทษและกล่าวคำขนาบอยู่เสมอไป
ว่าผู้นั้นแหละ คือผู้ชี้ขุมทรัพย์ละ
ควรคบหาบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น
เพราะเมื่อคบหากับบัณฑิตเช่นนั้นอยู่
ย่อมมีแต่คุณอันประเสริฐส่วนเดียว ไม่มีเสื่อมเลย"
"นิธีนํว  ปวตฺตารํ  ยํ  ปสฺเส  วชฺชทสฺสินํ
 นิคฺคยฺหวาทึ  เมธาวี  ตาทิสํ  ปณฺฑิตํ  ภเช
 ตาทิสํ  ภชมานสฺส  เสยฺโย  โหติ  น  ปาปิโย"
                พุทธสุภาษิต ธรรมบท ๒๕/๒๑
          ...............................
ทุกคนเมื่อลงมือทำธุรกิจ ก็มุ่งหวังผลกำไร ความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงของธุรกิจที่ทำ
ทุ่มเทเวลาและแรงกายให้กับธุรกิจที่กระทำ จนทำให้เวลาของชีวิตครอบครัวต้องขาดหายไป
โดยส่วนใหญ่มีความคิดว่า เมื่อมีฐานะทางสังคมที่มั่นคงแล้ว จึงหันมาให้ความสุขแก่ครอบครัว
และในสังคมที่เป็นอยู่มักเป็นเช่นนั้น ทำให้เกิดมีปัญหาทางสังคมและครอบครัวที่แตกแยกให้เห็นกันอยู่
เพราะช่วงเวลาของชีวิตที่ขาดหายไป ความสัมพันธ์ในครอบครอบที่ห่างเหินไม่มีเวลาให้แก่กัน
ความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา บิดากับบุตร คนในครอบครัวขาดหายไป เพราะเราเอาเวลาไปทุ่มเทให้กับธุรกิจที่กระทำ
ซึ่งเวลาสำหรับครอบครัวที่สูญหายไปนั้น ไม่อาจจะประเมินค่าเป็นตัวเงินหรือมูลค่าทางทรัพย์สินได้ เพราะมีค่ามากมาย
"กำไรในเชิงธุรกิจแต่ขาดทุนในชีวิตและครอบครัว"มักเป็นสิ่งที่เราทั้งหลายมองข้ามกันไปลืมคิดและพิจารณา
...ที่มาของบทความนี้...
มีญาติโยมท่านหนึ่งมาขอคำปรึกษา ขอคำแนะนำในการทำธุรกิจ
จึงได้ให้แนวความคิดในลงทุนการทำธุรกิจเพื่อให้นำไปคิดและเป็นแนวทาง
การมองโลกให้กว้าง วิเคราะห์ทุกอย่าง ทั้งในเชิองบวกและเชิงลบ
และสิ่งที่กระทำนั้นไม่กระทบต่อศีลธรรมและความสุขของครอบครัว
โดยอย่ามองตัวเลขและผลกำไรจนมากเกินไป จนทำให้เวลาของชีวิตนั้นขาดหาย
ธุรกิจที่กระทำนั้นต้องเดินไปควบคู่กันได้ทั้งทางโลก ทางธรรมและครอบครัว
สรุปแล้วคือให้รู้จักความพอดีและความเพียงพอในชีวิตในทางธุรกิจและครอบครัว
จากประสพการณ์ที่ผ่านมา เราจะมักเห็นกันว่าปัญหาต่างๆนั้นเกิดจากการที่เราให้ความสำคัญกับธุระกิจจนเกินไป
ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในครอบครัวตามมา สามีมีภรรยาน้อย ภรรยามีชู้ ลูกเป็นเด็กมีปัญหา ขาดความอบอุ่นในครอบครัว
พ่อต้องเดินทางไปทำธุรกิจติดต่องานจนไม่มีเวลาให้กับครอบครัว แม่ต้องออกงานสังคมเพื่อสร้างภาพทางธุรกิจ
ลูกได้รับการเลี้ยงดูด้วยเงินทองและทรัพย์สิน ขาดความใกล้ชิดกันในครอบครัว เพราะไม่มีเวลาที่จะได้อยู่ร่วมกัน
...จึงได้แนะนำและให้ข้อคิดแก่ญาติโยมที่มาขอคำปรึกษา
และเห็นว่าสิ่งที่ได้กล่าวไปนั้น คงจะมีประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย
จึงได้นำมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง หลังจากที่ขาดหายไปตั้งแต่ออกพรรษามา
เพราะว่ามีภาระกิจหน้าที่ตามที่เขานิมนต์มาและเวลาที่ต้องสงเคราะห์หมู่คณะ
และเมื่อว่างจากภาระหน้าที่จึงมีเวลาที่จะนำเสนอข้อคิดและคติธรรมแก่ท่านทั้งหลาย...
        ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
           รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๖.๕๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
         ..............................................................................
"กุศลธรรมทั้งปวง มีความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท
 ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งกุศลธรรมเหล่านั้น"
"เยเกจิ  กุสลา  ธมฺมา  สพฺเพ  เต  อปฺปมาทมูลกา
อปฺปมาทสโมสรณา  อปฺปมาโท  เตสํ  อคฺคมกฺขายติ"
                  พุทธสุภาษิต อัปปมาทสูตร ๒๔/๒๕
          ............................................................

411
"วันคืน ไม่ควรให้ผ่านไปเปล่า"
  "รตฺโย  อโมฆา  คจฺฉนฺติ"
  โพธิสัตว์สุภาษิต เตมิยชาดก ๒๘/๑๓๙
         .............................
"โลกนี้มืดมน ในโลกนี้มีน้อยคนที่จะเห็นแจ้ง"
"อนฺธภูโต  อยํ  โลโก  ตนุเกตฺถ  วิปสฺสติ"
          พุทธสุภาษิต ธรรมบท ๒๕/๓๒
             ..........................
"นักบวชมีความอดทนเป็นกำลัง"
 "ขนฺติพลา  สมณพฺราหฺมณา"
    พุทธสุภาษิต พลสูตร ๒๓/๑๙๘
          .............................
ออกจากวัดที่มุกดาหารเวลาสายๆของวันที่ ๕ ตุลาคม
กดเข็มกำหนดระยะทางตั้งไว้ที่ ๐๐๐๐๐ ก่อนออกเดินทาง
แวะพักค้างคืนถึงวัดบางพระเวลาประมาณสองทุ่มกว่าๆเกือบสามทุ่ม
รับหลวงพี่เว็บกับท่านสิบทัศน์และนำวัตถุมงคลถวายหลวงพี่ยาหลวงพี่ต้อย
ออกจากวัดบางพระตอนสายๆของวันที่ ๖ ตุลา ถึงสุราษฎร์เวลาสองทุ่มกว่าๆ
แวะจำวัตรที่สำนักสงฆ์ถ้ำเบื้องแบบ ตื่นเช้าพาพระไปกราบหลวงพ่อเอ็น วัดเขาราหู
ออกจากสำนักสงฆ์ถ้ำเบื้องแบบไปจังหวัดพังงาตอนบ่ายสองกว่าๆถึงพังงาเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น.
ให้พระลงไปพักที่ศาลาในป่าไทร ลงไปอุโบสถ อธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคลของสถานที่ปฏิบัติธรรมวัดเก่าเจริญธรรม
อยู่ต้อนรับญาติโยม แจกวัตถุมงคล ลงไปพุทธาภิเษกอธิษฐานจิตวัตถุมงคล จนถึงเที่ยงของวันที่ ๑๐ ตุลา
เดินทางต่อไปวัดถ้ำเสือฯจังหวัดกระบี่ ถึงกระบี่ตอนเย็นๆเพราะฝนตกมาตลอดทาง พักที่กุฏิรับรองที่เขาจัดไว้
เช้าวันที่ ๑๑ ตุลา ออกไปเยี่ยมญาติโยมที่เขานิมนต์ไว้และพาพระไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆในจังหวัดกระบี่
ตอนบ่ายๆจึงได้เดินทางต่อไปจังหวัดสุราษฏร์ฯตามที่เพื่อนๆเขานิมนต์ไว้ ถึงสุราษฎร์เวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น.
แวะพักจำวัตรที่บ้านโยมขุนเดช(เขามีบ้านไว้สำหรับพระที่นิมนต์มา)พบปะสนทนากับเพื่อนๆสมัยเรียนมัธยม
ออกเดินทางจากจังหวัดสุราษฎร์เวลาประมาณ ๐๗.๐๐น.ของวันที่ ๑๒ตุลา เดินทางต่อกลับวัดบางพระ นครชัยศรี
แวะเที่ยวชมสถานที่ต่างๆระหว่างเส้นทาง เช่น สวนฑโมกขพลาราม พระบรมธาตุไชยา สวนนายดำ ด่านสิงขร
วัดห้วยมงคล แวะไปรับผ้าม่านที่อำเภอดำเนินสะดวก กลับถึงวัดบางพระเวลาประมาณสามทุ่มกว่าๆเกือบสี่ทุ่ม
ฉันเช้าและเพลวันที่ ๑๓ ตุลาที่วัดบางพระแล้วเดินทางต่อไปจังหวัดสุพรรณบุรี ทำภาระกิจหน้าที่จนถึงเวลาเย็นจึงเดินทางต่อ
ไปอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ถึงวัดนาพร้าวเวลาประมาณสี่ทุ่มกว่าๆ สนทนากับหลวงพ่อเฉลิมเจ้าบ้านจนดึก
เช้าวันที่ ๑๔ ตุลา ฉันเช้าแล้วออกไปทำภาระกิจหน้าที่ตามที่เขานิมนต์ไว้ ออกเดินทางจากศรีราชาเวลา ๑๔.๓๐ น.
เดินทางต่อกลับมุกดาหาร แวะพักรถเติมน้ำมัน ฉันกาแฟมาตลอดทาง ถึงมุกดาหารเวลา ๐๐.๒๘ น.ของวันที่ ๑๕ ตุลา
ดูเข็มที่หน้าปัดวัดระยะทาง เลขที่ปรากฏที่หน้าปัดคือ ๔,๑๒๘ กิโลเมตร เป็นการเสร็จสิ้นการเดินทางในทริปนี้
หมดค่าน้ำมันไป ๑๐,๒๐๐ บาท ค่าอาหารและเครื่องดื่มระหว่างทาง ๔,๙๒๐ บาท ให้เบี้ยเลี้ยงคนขับรถ ๔,๐๐๐ บาท
ร่วมทำบุญตามสถานที่ต่างๆระหว่างทาง ๑๐,๐๐๐ บาท รวมค่าใชจ่ายตลอดเส้นทาง ๒๙,๑๒๐ บาท
แจกวัตถุมงคลที่นำติดไปจนหมด(น้ำหนักประมาณ ๕๐ กิโล ประมาณ๑๐,๐๐๐กว่าชิ้น)ไม่เหลือกลับวัดเลย
ยอดเงินที่ญาติโยมมีศรัทธาร่วมถวายมาตลอดทางเป็นเงิน ๒๑๖,๔๘๕ บาท ซึ่งจะได้นำไปใช้จ่ายในการสร้างวัดที่ยังค้างคา
ตลอดเวลาแห่งการเดินทาง ๑๐ คืน ๑๐ วันนั้น มีเวลาได้นอนหลับประมาณไม่ถึง ๓๐ ชั่วโมง เมื่อกลับถึงวัดจึงขอตัวพระและญาติโยม
จำวัตรพักตั้งแต่เวลา ๐๒.๓๐ น.จนถึงเวลา ๑๑.๐๐ น. หลับไป ๘ ชั่วโมงครึ่ง เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ หลังจากตรากตรำมานาน
สรุปทุกอย่างจากการเดินทางทั้งสิ่งที่ได้ทั้งทางโลกและทางธรรม นำมาพิจารณาและวิเคราะห์ในสิ่งที่ได้กระทำไปในการเดินทางครั้งนี้
ได้เห็นทั้งข้อดีและข้อผิดพลาด ทั้งการมีสติและการประมาทขาดสติในบางเรื่องที่ผ่านมา ได้เห็นถึงคุณค่าแห่งการเดินทาง....
 :059:ทุกสิ่งทุกอย่างคือประสพการณ์ของชีวิตที่ไม่ใช่เพียงความคิดแต่เกิดจากการกระทำ :059:
                             เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                     รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๒๐.๓๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

412
บทความ บทกวี / ...นาคราชคืนโขง...
« เมื่อ: 15 ต.ค. 2552, 07:15:42 »
"การสะสมบุญทำให้มีความสุข"
  "สุโข  ปุญฺญสฺส  อุจฺจโย"                                                                                                                                   พุทธสุภาษิต ธรรมบท ๒๕/๒๖
      ........................
"จิตที่ตั้งไว้ชอบ ย่อมเป็นปัจจัยแก่การทำกัลยาณธรรม"
"สมฺมาปณิหิตํ  จิตตํ  ปจฺจโย  กลฺยาณสฺส  กมฺมสฺส  กิริยาย"
                               พุทธสุภาษิต มหาลิสูตร ๒๔/๙๐
         ...........................................................
"คนนั่งนิ่งเขาก็นินทา คนพูดมากเขาก็นินทา"
"นินฺทนฺติ  ตุณฺหิมาสินํ  นินฺทนฺติ  พหุภาสินํ"
            พุทธสุภาษิต ธรรมบท ๒๕/๓๘
         ....................................
ออกจากวัดบางพระเวลา ๑๒.๓๐ น.ของวันที่ ๑๓ ตุลาคม
เดินทางต่อไปยังบ้านมะขามล้ม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
ลูกศิษย์ที่เคยบวชเป็นพระและเคยอยู่ด้วยกันมาหลายปีนิมนต์มาเพื่อจะตกแต่งรถถวาย
ระหว่างที่รอแต่งรถเสร็จพวกลูกศิษย์ในสุพรรณรู้ข่าวเลยโทรศัพท์มานิมนต์ให้ไปเยี่ยมบ้าน
ได้พบปะสนทนาธรรม สอบถามความเป็นอยู่ซึ่งกันและกัน จนเวลาใกล้จะค่ำจึงแยกย้ายกัน
ออกเดินทางไป อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพราะรับนิมนต์ไว้ให้ช่วยไปดูโครงการหมู่บ้านจัดสรรค์
ถึงศรีราชาเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น.แวะพักที่วัดนาพร้าว พักจำวัตรกับหลวงพ่อเฉลิม ปิยนนฺโท
ซึ่งเมื่อก่อนนั้นเคยอยู่ด้วยกันมาเป็นเวลาสิบกว่าปี พึ่งจะแยกกันมาได้ ๗ ปี เพราะสุขภาพท่านไม่ดี
เลยต้องกลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดนาพร้าว บ้านเดิมของท่าน เพื่ออยู่ใกล้ลูกหลานและดูแลท่านยามเจ็บป่วย
สนทนาธรรมกันกับหลวงพ่อจนถึงเวลาเที่ยงคืน จึงแยกย้ายกันจำวัตร(กางเต้นท์นอนกันหน้ากุฏิหลวงพ่อเฉลิม)
ตื่นเช้ามา(๑๔ ตุลา)ให้พระซักผ้าสบงจีวรกัน เพราะผ่านมาเกือบสิบวันแล้วที่เดินทางกันมาตลอดไม่มีเวลาซักผ้า
ฉันข้าวเช้าเสร็จแล้ว ให้คนขับรถเอารถไปซ่อมเพราะเข็มความร้อนและเข็มน้ำมันไม่ขึ้น(ฟิวส์ขาด)
โยมมารับไปดูโครงการหมู่บ้านจัดสรรค์ที่นิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน วิเคราะห์แบบแปลนก่อสร้าง และปัญหาของโครงการ
แนะนำการปรับระดับพื้นที่ การจัดสวนย่อม กำแพงกันดิน การวางระบบท่อส่งน้ำและคูระบายน้ำ ปรับราคาตัวอาคาร
วางแผนการตลาดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จัดโปรโมชั่น เพื่อให้โครงการดำเนินไปได้ด้วยดี โดยที่มีกำไรและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
การทำธุรกิจนั้นถ้าเราไม่โลภหวังกำไรจนเกินไป จนเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ย่อมจะเดินไปได้เพราะเป็นการพึงพาอาศัยซึ่งกันและกัน
อย่าอยู่กับความฝันตัวเลขกำไรในอากาศ ต้องใช้โอกาศปรับราคาให้เหมาะสมกับเวลา โอกาศ สถานที่และตัวบุคลอยู่ตลอดเวลา
เก็บเงินสดไว้ในกระเป๋า ดีกว่าเฝ้ารอตัวเลขกำไรในอากาศ เพราะเราโอกาศที่จะจับธุระกิจตัวใหม่ได้ตลอดเวลา เพราะว่าเรามีทุนอยู่ในมือ
นี่คือหลักการทำธุระกิจที่แนะนำให้แก่เพื่อนๆที่ทำธุระกิจกัน และเป็นหลักการที่ใช้มาได้ผลดีตลอด ในการทำธุระกิจทุกอย่างที่ผ่ามา
ออกจากศรีราชาเวลา ๑๔.๓๐ น.เพื่อเดินทางต่อกลับจังหวัดมุกดาหาร โดยใช้เส้นทางสาย ๓๓๑ ข้ามเขาปักธงชัยไปโคราช
ไปแยกเข้าที่สามแยกบ้านวัดวิ่งผ่านโนนแดง ประทาย พุทไธสง พยัคภูมิฯ เกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ พนมไพร ยโสธร
เลี้ยวขวาที่สี่แยกตับเต่าเข้าเส้นยโสธร-มุกดาหาร ผ่านกุดชุม ทรายมูล ไทยเจริญ เข้าเลิงนกทา เลี้ยวซ้ายไปนิคมคำสร้อย เข้ามุกดาหาร
ซึ่งเส้นทางสายนี้เป็นเส้นที่ใกล้และตรงที่สุดที่จะไปมุกดาหาร แต่มีเส้นทางถนนบางช่วงที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ต้องใช้ความระมัดระวัง
รถจอดหน้าศาลาดับเครื่องยนต์เวลา ๐๐.๒๘ น.ของวันที่ ๑๕ ตุลาคม จบการเดินทาง ๑๐ คืน ๑๐ วันกับ ๔,๐๐๐กว่ากิโลเมตร
 :059:เล่าสู่กันฟังถึงส่วนหนึ่งของการเดินทางของชีวิต :059:
                      ด้วยจิตที่ปรารถนาดี
                  รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๙.๑๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย



413
"ไม่ควรใส่ใจคำพูดแสลงหูของผู้อื่น
 ไม่ควรแส่มองธุระที่เขาทำและยังไม่ทำ
 ควรตั้งใจตรวจตราธุระของตนนี่แหละ
      ทั้งที่ทำไปแล้วและยังไม่ได้ทำ"
"น  ปเรสํ  วิโลมานิ  น  ปเรสํ  กตากตํ
 อตฺตโน  ว  อเวกฺเขยฺย  กตานิ  อกตานิ  จ"
               พุทธสุภาษิต ธรรมบท ๒๕/๑๙
             .......................................
"เมื่อบุคคลไม่ประมาทแล้ว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น
            และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป"
"อปฺปมตฺตสฺส  อนุปฺปนฺนา  เจว  กุสลา  ธมฺมา  อุปฺปชฺชนฺติ
          อุปฺปนฺนา  จ  อกุสลา  ธมฺมา  ปริหายนฺติ"
                     พุทธสุภาษิต เอกนิบาต ๒๐/๑๑
                     ........................................
"ผู้มีปัญญาย่อมเว้นสิ่งไม่เป็นประโยชน์
    และถือเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์"
"อนตฺถํ  ปริวชฺเชติ  อตฺถํ  คณฺหาติ  ปณฺฑิโต"
            พุทธสุภาษิต ปัญหาสูตร ๒๑/๕๔
           ................................................
เดินทางถึงจังหวัดสุราษฎร์เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น.ของวันที่ ๑๑ ตุลา
เพราะว่ามีเพื่อนๆสมัยเรียนมัธยมด้วยกันนิมนต์เอาไว้เพื่อจะได้พบปะกัน
เป็นเวลานานมากแล้วที่ไม่ได้เจอกันซึ่งบางท่านนานถึง ๓๐กว่าปีตั้งแต่สมัยจบมัธยม
ที่มีความสนิทสนมกันมากนั้นก็เพราะเรียนมาด้วยกันอย่างน้อยท่านละ ๓ ปีเป็นอย่างน้อย
ซึ่งในสมัยนั้นทุกคนต้องเรียนร่วมกัน(เป็นการเดินเรียนตามห้องต่างๆไม่มีห้องประจำ)
และเป็นโรงเรียนชายล้วนจึงทำให้สนิทสนมกันในบรรดาเพื่อนร่วมรุ่นสมัยนั้นเกือบทุกคน
และการที่เป็นนักกีฬาตัวแทนของโรงเรียนในเกือบทุกประเภทจึงเป็นที่รู้จักของทุกคน
จึงมีการโทรศัพท์บอกข่าวการเดินทางมาของเรากันในบรรดาเพื่อนๆร่วมรุ่นร่วมสถาบัน
ได้พบปะพูดคุยสนทนากันตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเวลาประมาณ ๐๒.๓๐ น.ของวันใหม่
มีเพื่อนๆมาร่วมพูดคุยกันประมาณ ๓๐ กว่าท่าน โดยสลับกันมาหลังจากเสร็จภาระกิจหน้าที่ของตน
จนเหลือชุดสุดท้ายที่คุยกันจนถึงตีสองกว่าอยู่ ๘ คน ร่างกายอ่อนเพลียเพราะไม่ได้พักผ่อนจึงต้องแยกย้ายจากกัน
ตื่นนอนตอนตีสี่ ทำภาระกิจส่วนตัวเสร็จแล้วนั่งกำหนดพิจารณาธรรม โดยยกเหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นหัวข้อพิจารณา
ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งที่เป็นจริงและเห็นได้ชัดเจน ทั้งสถานที่และตัวบุคคล ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป
แต่สิ่งที่ดำรงค์ทรงไว้คือความรู้สึกที่ดีต่อกัน ความสัมพันธ์ของเพื่อนที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ยังเกาะกลุ่มรวมตัวกันเหมือนเดิม
ยินดีในหมู่คณะที่ยังคงเอาใจใส่ช่วยเหลือกันไม่ทอดทิ้งกัน คนที่ประสพความสำเร็จก็คอยช่วยเหลือเพื่อที่ยังไม่ประสพความสำเร็จ
เป็นภาพแห่งมิตรภาพที่ดีงามของความเป็นเพื่อน ไม่ใช่เพียงคนที่รู้จักกัน มันเป็นความผูกพันธ์ที่เกินจะบรรยายเป็นข้อความหรือคำพูดได้
เวลาประมาณ ๐๕.๓๐ น.เพื่อนๆนำอาหารเช้ามาถวายและมาส่งกันหลายท่าน ก่อนที่จะแยกย้ายไปทำงานตามภาระกิจหน้าที่ของตน
ออกจากที่พักเวลา ๐๗.๐๐ น.แวะไปเจิมร้านอาหารให้เพื่อนในตัวเมืองและแวะไปเจิมรถให้รุ่นน้องที่กองกำกับตำรวจภาค ๘
แวะที่สวนโมกขพลาราม กราบรำลึกนึกถึงหลวงพ่อพุทธทาส ขอบคุณธรรมะและสถานที่เพราะเคยได้อยู่อาศัยและได้ปฏิบัติธรรมมา
แวะไปกราบพระธาตุไชยาแล้วออกเดินทางต่อไปแวะฉันเพลที่สวนส้มโชกุนของนายดำ ดูธรรมชาติและการจัดสวนจัดสถานที่
เพราะว่าสวนนายดำแห่งนี้เป็นสวนที่ได้รับรางวัลห้องน้ำคุณภาพแห่งปี ซึ่งเขาจัดสถานที่ได้สวยงามเป็นธรรมชาติได้ดีมาก
ออกจากสวนส้มนายดำแวะเข้าไปเที่ยวชมด่านสิงขรชายแดนประเทศไทยที่ติดกับประเทศพม่า เดินดูสินค้าที่เขานำมาวางขายกัน
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกล้วยไม้และของใช้ที่ทำมาจากไม้ที่นำมาวางขาย ส่วนของที่ระลึกอื่นๆนั้นส่วนใหญ่เหมือนกันกับทุกชายแดน
ออกจากด่านสิงขรแวะกราบหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ที่วัดห้วยมงคล ฝนตกลงมาเล็กน้อย ร่วมบุญอนุโมทนาในบารมีของท่านเจ้าสำนัก
ที่สามารถสร้างวัดได้สวยงามและกว้างขวางใหญ่โตจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ร่มรื่นและสวยงามมีผู้เข้าเยี่ยมชมไม่เคยขาด
ด้วยบุญบารมีของมหาโพธิสัตว์องค์หลวงปู่ทวดที่ได้อธิษฐานไว้ ไม่เคยเสื่อมสลายจึงได้บังเกิดสัมฤทธิ์ผลแก่ผู้คนที่เคารพศรัทธา
ออกจากห้วยมงคลแล้วแวะมาที่อำเภอดำเนินสะดวกเพื่อมารับผ้าที่จะนำไปทำผ้าม่านหลังพระประธานที่โยมเขามีศรัทธาถวาย
กลับถึงวัดบางพระเวลาประมาณ ๒๒ .๐๐ น.นั่งคุยสนทนากันจนเวลาประมาณ ๐๑.๓๐ น.จึงขอตัวจำวัตรเพราะว่าร่างกายอ่อนเพลีย
นอนกำหนดภาวนาและพิจารณาธรรมจากการเดินทางที่ผ่านมา หลับไปตอนไหนไม่สามารถที่จะกำหนดเวลาได้เพราะร่างกายอ่อนเพลีย
ตื่นนอนมาตอนเวลา ๐๔.๐๐ น.ตามเวลาปกติที่เคยตื่นมา นั่งพิมพ์ถึงการเดินทางที่ผ่านมาจนใกล้จะจบ คอมฯเกิดแฮงค์ดิสส์มีปัญหา
งานที่กำลังเขียนมาหายหมด...จึงต้องนั่งกำหนดเขียนขึ้นมาใหม่ เพื่อจะได้เป็นการเล่าสู่กันฟัง......
 :059:เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มิตรสหายตามรายทาง :059:
                                รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๓๒ น. ณ กฏิทรงไทยชายน้ำวัดบางพระ นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม



                 

414
"ศีลที่เป็นกุศล มีความเย็นใจเป็นผล"
"กุสลานิ  สีลานิ  อวิปฺปฏิสารตฺถานิ"
     พุทธสุภาษิต เจตนาสูตร ๒๔/๔
"ผู้ให้สิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมได้สิ่งอันเป็นที่รัก"
"ปิยทานิโน  เทว  ปิยํ  ลภนฺติ"
   โพธิสัตว์สุภาษิต อุมมาทันตีชาดก ๒๘/๑๒
"จงตามรักษาจิตของตน"
     "สจิตฺตมนุรกฺขถ"
        พุทธสุภาษิต ธรรมบท ๒๕/๔๙

เสร็จจากงานพิธีพุทธาภิเสกที่สถานที่ปฏิบัติธรรมวัดเก่าเจริญธรรม
ในพิธีนั้นได้พบปะครูบาอาจารย์และเพื่อนสหธรรมิกกันหลายท่าน
คืนวันสุดท้าย( ๙ ตุลา )มีหลวงพ่อจำเนียรมานั่งเป็นประธานเพื่อดับเทียนชัย
พระอาจารย์พรหมจากวัดบ้านสวนและสายเขาอ้ออีกหลายท่านที่ร่วมพุทธาภิเสก
และในพื้นที่จังหวัดพังงาอย่างเช่นพระอาจารย์ธงชัย วัดไตรมาศสภิตย์โคกกลอย
ท่านหรีดวัดป่าโมกข์กะปง ดีใจที่ได้พบกันเพราะว่าเรานั้นออกจากพื้นที่ไปเสียนาน
เมื่อก่อนนั้นไปมาหาสู่กันเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นหลวงพ่อพรหมวัดบ้านสวนพัทลุง
ท่านหรีดวัดป่าโมกข์ พระอาจารย์ธงชัยวัดไตรมาศฯหลวงพ่อพราหมณ์ระนอง
ได้พบปะสนทนาธรรมกันจนหายคิดถึงและจึงได้แยกย้ายลากันกลับอาราม
อยู่สนทนาธรรมกับหลวงพ่อจำเนียรจนกระทั่งดึกจึงได้ลาหลวงพ่อกลับมาต้อนรับญาติโยมต่อ
ส่วนพระที่ไปด้วยนั้นให้ลูกศิษย์พาท่านไปเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ไปวัดพระผุด วัดฉลอง วัดหลวงปู่สุภา
แหลมพรหมเทพ หาดราไว หาดป่าตองและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในจังหวัดภูเก็ต
เช้าวันที่ ๑๐ ตุลา ร่วมพิธีต้อนรับพระธาตุและบรรจุหัวใจโพธิสัตว์ที่รูปปั้นหลวงปู่ทวดที่ทางสำนักได้จัดสร้าง
ออกเดินทางจากพังงาเวลาประมาณ ๑๓.๓๐ น.ไปวัดถ้ำเสือฯที่จังหวัดกระบี่ เพื่อร่วมงานกฐินสามัคคีในวันที่ ๑๑ ตุลา
ถึงจังหวัดกระบี่เวลา ๑๕.๓๐ น.นำคณะเข้าสู่ที่พักที่ทางวัดเขาจัดเตรัยมไว้ให้ ให้พระที่มาด้วยกันไปเดินเที่ยวชมวัด
ส่วนตัวเราออกไปพบปะพระและญาติโยม เพราะคุ้นเคยกับสถานที่และบุคคลที่นี่เพราะเคยอยู่จำพรรษาช่วยงานหลวงพ่อมา
ตอนกลางคืนมีพระรุ่นน้องๆมาสนทนาธรรมกันมากมายจนกระทั่งดึกจึงได้แยกย้ายกันไปพักผ่อน คืนนี้ได้จำวัตรเต็มที่
นอนกำหนดภาวนาจนหลับไปเวลาประมาญ ๐๑.๓๐ น.และมารู้สึกตัวอีกที่เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น.เพราะเสียงระฆังทำวัตรเช้า
ไม่ได้ขึ้นไปร่วมทำวัตรเช้าที่บนศาลา นั่งภาวนาฟังพระ ชี สวดมนต์ทำวัตรเช้ากัน คิดถึงบรรยากาศเก่าๆสมัยที่อยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำเสือฯ
วันนี้ (๑๑ ตุลา )ตั้งใจไว้ว่าเสร็จพิธีแล้วจะพาพระไปเที่ยวชมสุสานหอย ๗๐ ล้านปี หาดนพรัตน์ธารา อ่าวไร่เลย์ อ่าวพระนาง
เสร็จแล้วจะเดินทางกลับไปพักที่จังหวัดสุราษฏร์ฯเพราะมีญาติโยมที่นั่นนิมนตืไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนๆสมัยเรียนด้วยกัน
ทุกคนบ่นคิดถึงเพราะบางคนไม่ได้เจอกันมาเป็นเวลา ๓๐ กว่าปี พอรู้ว่าเราบวชเป็นพระจึงอยากจะเจอเพื่อสนทนาธรรม
และตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะเดินทางออกจากสุราษฏร์ฯตอนเช้าวันที่ ๑๒ ตุลา เพื่อจะได้พาพระแวะชมสถานที่ต่างๆระหว่างทาง
เช่นสวนโมกข์พลาราม พระธาตุไชยา สวนส้มโชกุนนายดำที่ชุมพร ด่านสิงขร  และหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ที่จังหวัดประจวบฯ
ก่อนที่จะกลับมาส่งพระที่วัดบางพระในคืนวันที่ ๑๒ ตุลา นี้คือกำหนดการเดนทางที่วางไว้ในการเดินทางในครั้งนี้...
 :059:เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต :059:
                รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๑๕ น. ณ กุฏิรับรองหน้าเขา วัดถ้ำเสือฯ จังหวัดกระบี่ "เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก"
           



415
"ถ้ากำจัด..ความมีตัวกู..นี้ออกเสียได้
 นั่นแหละ คือ ยอดแห่งความสุข"
"อสฺมิมานสฺส  วินโย  เอตํ  เว  ปรมํ  สุขํ"
     พุทธสุภาษิต มุจจลินทสูตร ๒๕/๗๔
         .....................................
"การมีกัลยาณมิตร เป็นชีวิตประเสริฐทั้งหมด"
"สกลเมว  หิทํ  พฺรหฺมจริยํ  ยทิทํ  กลฺยาณมิตฺตตา"
                   พุทธสุภาษิต อุปัฑฒสูตร ๑๙/๒
                .......................................
"ความไม่ประมาท เป็นยอดแห่งธรรมทั้งปวง"
"อปฺปมาโท  เตสํ  ธมฺมานํ  อคฺคมกฺขายติ"
             พุทธสุภาษิต คถาคตสูตร ๑๙/๖๗
              .....................................
ญาติโยมมาเยี่ยมตั้งแต่เวลา ๐๖.๑๕ น.
เอาอาหารเช้ามาถวายและนั่งพูดคุยกันจนกระทั่งสายๆ
ญาติโยมคณะใหญ่จากตัวจังหวัดพังงาก็มาเยี่ยม มาถวายของ
รับแขกตั้งแต่เวลา ๐๖.๑๕ น.จนถึงเวลา ๑๘.๐๐ น.
ทางสถานที่ปฏิบัติธรรมนิมนต์ลงไปนั่งอธิษฐานจิตพุทธาภิเสกในวาระ ๒
ซึ่งในวาระนี้นั่งร่วมพิธีกับครูบาอาจารย์ชุดสายใต้จากเข้าอ้อและพระในพื้นที่
เสร็จพิธีจากพระอุโบสถเวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น.กลับมารับญาติโยมต่อที่กุฏิรับรอง
จนถึงเวลา ๐๒.๓๐ น.ของเช้าวันใหม่ มีญาติโยมมานอนด้วย ๓ รายที่กุฏิรับรอง
ตื่นนอนตอนเวลา ๐๔.๐๐ น.ตามเวลาปกติของเราที่เคยทำมาตลอด
ที่ญาติโยมมาหากันมากก็เพราะว่าเราจากสถานที่ปฏิบัติธรรมวัดเก่าเจริญธรรมไปเสียนาน
ญาติโยมเขาเลยคิดถึงและเมื่อรู้ว่าเราได้มาร่วมพิธีจึงได้มาเยี่ยมกันมากมายไม่ขาดสาย
เมื่อวานฝนตกหนักโปรแกรมของหมู่คณะเลยต้องเปลี่ยนแปลงไปตามความเหาะสม
เพราะตอนแรกนั้นตั้งใจว่าจะให้ลูกศิษย์พาพระไปเที่ยวทะเลอ่าวพังงา
ไปเที่ยวชมเขาตะปู ถ้ำลอด เกาะปันหยี ถ้ำแก้วมรกต ในอ่าวพังงา
ฝนตกหนักเลยต้องอยู่แต่ที่สำนักออกไปไหนไม่ได้ พลาดรายการไปอีกหนึ่งวัน
เหลือพิธีการพุทธาภิเสกอีกหนึ่งวาระในวันนี้(๙ตุลา)ซึ่งจะมีหลวงพ่อจำเนียรมาเป็นประธานดับเทียนชัย
ลูกศิษย์มารับพระไปเที่ยวอ่าวพังงาแต่เรานั้นไม่ได้ไปเพราะมีญาติโยมนิมนต์ไว้ให้ช่วยสงเคราะห์ที่สำนักต่อ
วันนี้ตอนกลางวันจะมีญาติโยมจากหาดใหญ่ ภูเก็ต กระบี่จะมาหา จึงต้องอยู่รอต้อนรับสงเคราะห์ญาติโยม
สิ่งที่เราได้เคยทำไว้สร้างไว้เมื่อสมัยที่อยู่สร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมวัดเก่าเจริญธรรมเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา
เป็นบทพิสูจน์ตัวเราว่า"คุณค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน" กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวของเรา
ความเสมอต้นเสมอปลาย เรียบง่ายไร้รูปแบบ ไม่มากพิธี และความมีน้ำใจที่เราให้แก่ญาติโยม
ในอดีตนั้นจึงส่งผลมาสู่วันนี้"การจะเป็นที่รักของคนทั่วไป จงเป็นผู้ให้ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน"
 :059:เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต :059:
                 รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๔๔ น. ณ กุฏิรับรอง สถานที่วัดเก่าเจริญธรรม ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา
 

416
"ความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน
      คนอื่นจะทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้"
"สุทฺธิ  อสุทฺธิ  ปจฺจตฺตํ  นาญฺโญ  อญฺญํ  วิโสธเย"
                     พุทธสุภาษิต  ธรรมบท ๒๕/๓๑
               .............................................
"ผู้ใด  เมื่อคนอื่นล่วงเกินกันอยู่  ตนเองกลับหาทาง  เชื่อมเขาให้ดีกัน
        ผู้นั้นแล  ชื่อว่าเป็นคนเอาภาระ  เป็นคนจัดธุระที่ดียอดเยี่ยม"
"เอโส  หิ  อุตฺตริตโร  ภาราวโห  ธุรนฺธโร
 โย  ปเรสาธิปนฺนานํ  สยํ  สนฺธาตุมรหติ"
        โพธิสัตว์สุภาษิต กัสสปมันทิยชาดก ๒๗/๑๓๓
               .................................................
"คนฉลาดไม่ถูกเรื่อง  ถึงจะพยายามทำประโยชน์
                 ก็ไม่สัมฤทธิ์ผลให้เกิดสุข"
"น  เว  อนตฺถกุสเลน  อตฺถจริยา  สุขาวหา"
        โพธิสัตว์สุภาษิต อารามทูสกชาดก ๒๗/๑๕
              ...............................................
ออกเดินทางจากวัดบางพระเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ของวันที่ ๖ ตุลาคม
ไปกันเรื่อยๆแบบสบายๆแวะพักเข้าห้องน้ำ ทานกาแฟ ตามปั๊มน้ำมัน
สนทนาธรรมและเรื่องสัพเพเหระกันมาตลอดทาง เพื่อไม่ให้หลับ
นั่งเป็นเพื่อนคนขับ และคอยบอกเส้นทางเพราะโชเฟอร์ไม่เคยมา
เข้าเขตสุราษฎร์เวลาประมาณ   ๑๖.๐๐ น.เจอฝนตกหนักตั้งแต่เริ่มเข้าเขตสุราษฎร์
ตอนแรกตั้งใจไว้ว่าจะพาพระเข้าตัวจังหวัดไปดุเรือพนมพระที่เขานำมาประกวดกัน
แต่ได้รับแจ้งข่าวจากเพื่อนสหธรรมิกที่ดูแลเรื่องเรือพนมพระว่าฝกตกหนักเลยไม่สะดวก
จึงปรับแผนใหม่แวะไปพักที่สำนักสงฆ์ถ้ำเบื้องแบบที่เคยสร้างไว้ที่อำเภอคีรีรัฐนิคมแทน
และจะได้เยี่ยมลูกศิษย์ที่มอบหมายให้ดูแลสำนักสงฆ์แทนหลังจากที่ได้ออกมาจากสำนัก
ถึงที่พักเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. จัดหาที่พักให้แก่เพื่อนร่วมเดินทางทุกท่านจนเรียบร้อย
สนทนากับเจ้าสำนักคนใหม่จนเวลาล่วงเลยไปจนถึง ๐๑.๔๕ น.จึงแยกย้ายกันไปจำวัตร
ตื่นนอนเวลาประมาณ ๐๔.๔๕ น.ของเช้าวันใหม่....
ปลุกพระให้ทำภาระกิจส่วนตัวของแต่ละท่าน เพื่อจะได้เดินทางไปกราบครูบาอาจารย์ในเขตอำเภอคีรีรัฐนิคม
ออกจากสำนักสงฆ์ถ้ำเบื้องแบบเพื่อไปวัดเขาราหู กราบครูบาอาจารย์ท่านพ่อหลวงเอ็น วัดเขาราหู
ถึงวัดเขาราหูเวลาประมาณ ๗.๐๐ น. หลวงพ่อกำลังจะลงไปฉันเช้า ท่านเลยนิมนต์ให้ฉันเช้าร่วมกัน
ฉันข้าวเสร็จ จึงเดินตามหลวงพ่อกลับไปที่พักและนำพระไปกราบนมัสการหลวงพ่ออย่างเป็นทางการ
ร่วมกันถวายปัจจัยร่วมสร้างอุโบสถกับหลวงพ่อและปัจจัยที่พระอาจารย์อภิญญาฝากมาร่วมทอดกฐินแด่หลวงพ่อ
ถวายวัตถุมงคลแด่หลวงพ่อเพื่อให้ทางวัดเอาไปออกให้ญาติโยมบูชาเพื่อหารายได้ร่วมสร้างอุโบสถจำนวนหนึ่ง
พูดคุยสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเอ็นจนถึงเวลา ๑๐.๐๐ น.จึงกราบลาหลวงพ่อขึ้นไปดูช่างที่กำลังสร้างโบสถ์
ให้คำปรึกษาและแนะนำช่างเรื่องแบบแปลนก่อสร้างและวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ เพื่อให้ได้ของดีมีคุณภาพและราคาถูก
จนเป็นที่เข้าใจทั้งฝ่ายช่างผู้รับเหมาและกรรมการวัดผู้ดูแลเรื่องการสร้างอุโบสถ จึงลากลับไปสำนักสงฆ์ถ้ำเบื้องแบบ
เพราะมีเพื่อนพระสหธรรมิกและญาติโยมรอถวายภัตราหารเพลอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำเบื้องแบบโทรศัพท์มาตาม
ฉันเพลเสร็จนัดประชุมญาติโยมเรื่องงานกฐินของสำนักสงฆ์ถ้ำเบื้องแบบเพื่อหาทุนมาสร้างโรงครัวหอฉันใหม่
เพราะที่สร้างไว้เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนนั้นมันชำรุดและคับแคบไป ไม่สามารถที่จะรองรับญาติโยมได้
และปรึกษากันเรื่องที่จะสร้างมณฑปเก็บรูปหล่อพระพี่ชายที่ร่วมสร้างสำนักกันมาและได้มรณะภาพไป
สนทนาปรึกษากันไปกับพระและญาติโยมจนเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น.ทางสำนักปฏิบัติธรรมที่พังงาโทรศัพท์มาตาม
เพราะเวลาที่รับนิมนต์ไปพุทธาภิเษกนั้นใกล้จะมาถึงแล้ว คณะของเรายังเดินทางไปไม่ถึง เขาจึงเป็นห่วงเลยโทรศัพท์มาตาม
ออกจากสำนักสงฆ์ถ้ำเบื้องแบบเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น.ถึงสำนักปฏิบัติธรรมวัดเก่าเจริญธรรมเวลาประมาณ ๑๖.๕๐ น.
พระและโยมมารอนิมนต์เข้าอุโบสถทันที เพราะเวลาเริ่มพิธีคือ ๑๗.๐๐ น.เป็นอันว่าไม่ต้องพักกันเลย
นั่งอธิษฐานจิตในอุโบสถจนถึงเวลา ๒๐.๐๐ น.เป็นอันเสร็จพิธี มีญาติโยมมารอพบอยู่เป็นจำนวนมาก
ต้อนรับญาติโยมแจกวัตถุมงคลจนถึงเวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น.ญาติโยมคณะสุดท้ายจึงได้ลากลับ
ส่งญาติโยมคณะสุดท้ายเสร็จเดินลงไปดูหมู่คณะที่จำวัตรกันในศาลาป่าไทร ปรากฏว่าหลับกันไปหมดแล้ว
สถานที่ปฏิบัติธรรมวัดเก่าเจริญธรรมนี้เป็นสถานที่หนึ่งที่เราได้เคยมาบุกเบิกสร้างไว้จึงมีญาติโยมมากมายที่มารอต้อนรับเมื่อเรากลับมา
ซึ่งเรามีเวลาอยู่ที่นี่อีก ๓ วัน ๒ คืน เพราะงานพุทธาภิเษกนั้นกำหนดไว้สามคืน ซึ่งจะต้องลงไปนั่งอธิษฐานจิตให้ทั้ง ๓ คืน
จิตตื่นเพราะเลยเวลาที่เคยจำวัตรมาแล้ว จึงใช้เวลานี้มาเขียนเรื่องราวบอกเล่าถึงการเดินทางที่ผ่านมา เพื่อบันทึกไว้ในความทรงจำ
....เสียงระฆังสัญญานทำวัตรเช้าดังขึ้นมาพอดี....จึงขอยุติจบลง ณ ตรงนี้...ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่านเทอญ....
                         :059:เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต :059:
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๘ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๓.๕๙ น. ณ กุฏิรับรอง สถานที่ปฏิบัติธรรม วัดเก่าเจริญธรรม ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

417
    .....รอยทางที่ย่างผ่าน....
         .....................
"ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ
  พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น"
"ปญฺญํ  นปฺปมชฺเมยฺย  สจฺจมนุรกฺเขยฺย
 จาคมนุพฺรูเหยฺย  สนฺติเมว  โส  สิกฺเขยฺย"
      พุทธสุภาษิต ธาตุวิภังคสูตร ๑๔/๓๗๑
            .....................................
"กำหนดเป้าหมายของตนให้แน่ชัดแล้ว
พึงขวนขวายแน่วในจุดหมายของตน"
"อตฺตทตฺถมภิญฺญาย  สทตฺถปสุโต  สิยา"
         พุทธสุภาษิต ธรรมบท ๒๕/๓๑
         ........................................
"สิ่งใดเกิดแต่เหตุ ทรงแสดงเหตุและความดับของสิ่งนั้น
              พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้"
"เย  ธมฺมา  เหตุปฺปภวา  เตสํ  เหตํ  คถาคโต
 เตสญฺจ  โย  นิโรโธ  จ  เอวํวาที  มหาสมโณ"
                         เถระสุภาษิต วินัย ๔/๖๙
            .............................................
ออกพรรษาแล้ว......
มีภาระกิจเดินทางไกลในทันที
ไปทำหน้าที่ตามที่เขาได้นิมนต์เอาไว้
เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ญาติโยม
เหมือนดั่งคำที่เคยกล่าวไว้ว่า"ยามอยู่ให้เขาสบายใจ ยามจากไปให้เขาคิดถึง"
ซึ่งสิ่งที่จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติตัวของเราให้มีคุณค่าต่อสังคม
ไม่ว่าจะไปอยู่ ณ ที่ใด จงเป็นผู้ให้ อย่าไปเป็นผู้ร้องขอ และจงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสถานที่และบุคคล
จงยอมสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อบุคคลรอบข้าง แล้วทุกอย่างจะกลับคืนมาหาตัวเราในภายหลัง
การเป็นผู้ให้ย่อมได้รับการให้ตอบในภายหลัง ถ้าเราให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนในการให้ของเรานั้น
วันเวลาที่ผ่านพ้นไปคือบททดสอบตวามอดทนของเรา ว่าเรามีศรัทธามั่นคงเพียงใดในสิ่งที่เรากระทำ
การดำเนินชีวิตของเรานั้นต้องเป็นไปโดยชอบและประกอบด้วยกุศลเพื่อให้เป็นมงคลต่อชีวิต
โดยมีคติที่ว่า"ไม่เป็นภัยต่อชีวิต ไม่เป็นพิษต่อต่อผู้อื่น ไม่ฝ่าฝืนธรรมวินัยและศีลธรรมอันดีงาม"
สิ่งที่มีความสำคัญของชีวิตก็คือการมีสติและสัมปชัญญะที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความคิดที่เป็นกุศล
มีความเพียรและความอดทน หมั่นอบรมกายและจิตของตนให้ทรงอยู่ในกุศลธรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน
อย่าพยายามสร้างความกดดันให้แก่ตนเองมากจนเิกินไป โดยการที่มุ่งหวังจะได้ผลสำเร็จในการกระทำโดยเร็ว
ทุกสิ่งทุกอย่างต้องอาศัยเหตุและปัจจัยที่เหมาะสมและลงตัว ความสำเร็จนั้้นมันจึงจะบังเกิดขึ้นเป็นความสำเร็จ.....
 :059:ฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจและโปรดนำไปพิจารณา :059:
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๐๓ น. ณ กุฏิทรงไทยชายน้ำวัดบางพระ นครชัยศรี นครปฐม ประเทศไทย

418
"ภิกษุทั้งหลาย!เราประพฤติพรหมจรรย์นี้
 มิใช่เพื่อหลอกลวงคน เพื่อให้คนบ่นถึง
    เพื่อผลคือลาภสักการะและชื่อเสียง
เพื่อเป็นเจ้าลัทธิ เพื่อให้คนทั้งหลายรู้จักเรา
ก็หามิได้ แต่ที่แท้จริงแล้ว เราประพฤติพรหมจรรย์นี้
เพื่อความสังวรระวัง เพื่อละกิเลส
เพื่อคลายกิเลส และเพื่อดับกิเลสเท่านั้น"
"นยิทํ  ภิกขเว  พฺรหฺมจริยํ  วุสฺสติ
ชนกุหนตฺถํ  น  ชนลปนตฺถํ
น  ลาภสกฺการสิโลกานิสํสตฺถํ
น  อิติวาทปฺปโมกฺขานิสํสตฺถํ
น  อิติ  มํ  ชโน  ชานาตูติ
อถโข  อิทํ  ภิกฺขเว  พฺรหฺมจริยํ  วุสฺสติ
สํวรตฺถํ  ปหานตฺถํ  วิราคตฺถํ  นิโรธตฺถนฺติ"
    พุทธสุภาษิต พรหมจริยสูตร ๒๑/๒๙
     ...........................................
"กิเลสย่อมพอกพูนแก่ผู้ที่ชอบเพ่งโทษของผู้อื่น
ให้ความสนใจในการเพ่งโทษของผู้อื่นเป็นนิตย์
บุคคลผู้ประพฤติดังนั้น ย่อมสิ้นอาสวะช้า"
"ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส  นิจฺจํ  อุชฺฌานสญฺญิโน
 อาสวา  ตสฺส  วฑฺฒนฺ  อารา  โส  อาสวกฺขยา"
              พุทธสุภาษิต ธรรมบท ๒๕/๔๑
            ...................................
"ความเป็นอิสระ ย่อมมีแก่นักบวชทุกเมื่อ"
        "สมณานํ  โภชิสิยํ  สทา"
              พุทธสุภาษิต อรณสูตร ๑๕/๖๒
          .....................................
วันนี้เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
เป็นวันปวารณาออกพรรษาของพระภิกษุสงฆ์
หลังจากอธิษฐานอยู่จำพรรษาครบสามเดือน
เปิดโอกาศให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ตามธรรม ตามวินัย
แต่ให้เป็นไปโดยชอบซึ่งประกอบด้วยกุศลไม่มีอคติต่อกัน
เพราะว่าวันเวลาที่อยู่ร่วมจำพรรษากันนั้น อาจจะมีข้อผิดพลาด
ในการประพฤติปฏิบัติ ข้อกิจวัตร และธรรมวินัย หรือมีความไม่สบายใจต่อกัน
จึงได้เปิดโอกาศให้มีการว่ากล่าวตักเตือนกัน ปรับความข้าใจกันในปวารณาออกพรรษา
เพราะว่าหลักจากนี้อาจจะต้องแยกย้ายจากกัน ไปตามภาระและหน้าที่ของแต่ละท่าน
เพื่อไม่ให้ค้างคาใจซึ่งกันและกัน ซึ่งมีผลเป็นวิบากกรรมต่อกันนั้น ท่านจึงอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกัน
สำหรับฤดูกาลพรรษานี้มีพระอยู่ร่วมกันจำนวนหกรูป ซึ่งทุกรูปนั้นคุ้นเคยกันเพราะอยู่ร่วมกันมานาน
จึงไม่มีปัญหาในการที่จะอยู่ร่วมกันเพราะรู้ใจ เข้าใจกันและรู้บทบาทหน้าที่ของแต่ละท่านกันดี
จึงไม่มีอะไรต้องชี้แนะและว่ากล่าวตักเตือนกัน เพราะทุกท่านทำหน้าที่ของตนสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว
นับว่าเป็นความโชคดีของเราที่มีหมู่คณะที่ดีมาอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยดีตามบทบาทและหน้าที่
.........ส่วนการเขียนบันทึกธรรมนั้น............
 ก็ทำมาจนครบ ๙๐ วันตลอดพรรษา ตามที่ตั้งใจไว้ว่าบันทึกไว้เพื่อเป็นแนวทางต่อผู้ที่สนใจ
เพื่อเป็นข้อคิด สะกิดเตือนใจ ในการดำเนินชีวิต ทั้งในทางโลกและทางธรรม โดยไม่ขัดกัน
ความคิดเห็นและมุมมองทั้งทางโลกและทางธรรมที่บันทึกไว้นั้น มาจากประสพการณ์ของชีวิต
ที่สะสมมาตั้งแต่เป็นฆราวาส จนเข้ามาสู่ความเป็นสมณะและเกิดจากการที่ได้ปฏิบัติธรรมมา
จากการที่ได้ค้นคว้าศึกษาจากในตำราและจากชีวิตจริง ถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้และประสพมา
การเขียนบันทึกธรรมนั้น เพื่อเป็นการย้ำเตือนตนเองในสิ่งที่ได้ผ่านมาในวันเวลาที่ผ่านไป
เราได้ทำอะไรที่ไหน เมื่อไหร่ ความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้นเป็นอย่างไร เมื่อวันเวลาผ่านไป
เราเปิดอ่านบันทึกเหล่านั้น เราจะได้เห็นความก้าวหน้าหรือความเสื่อมถอยของเรา เมื่อวันเวลามันผ่านไป
และขอขอบคุณเวปบอร์ดวัดบางพระที่เปิดโอกาศให้ได้ใช้พื้นที่ในการเขียนบันทึกธรรมตลอดพรรษา
และขออนุโมทนากับทุกท่านที่ได้เข้ามาอ่านและร่วมแสดงความคิดเห็นในบทความแห่งการบันทึกธรรมทุกท่าน
การเขียนบันทึกธรรมคงต้องหยุดพักไว้เพียงเท่านี้....แต่จะมีบทความต่อๆไปในหัวข้อใหม่มาให้ท่านได้อ่านกัน
สุดท้ายนี้...ขอความสุขสวัสดี ความมีศิริมงคลทั้งลาภและผลสำเร็จจงบังเกิดมีแก่ทุกท่านทุกคน........
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา- ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๕.๐๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

419
"ความพยายามพวกเธอต้องทำเอาเอง
  ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้บอกเท่านั้น"
"ตุมฺเหหิ  กิจฺ  อาตปฺปํ  อกฺขาตาโร ตถาคตา"
             พุทธภาษิต ธรรมบท ๒๕/๔๓
          ...............................
"จิตเศร้าหมองพึงหวังแต่ทางชั่ว
   เมื่อจิตผ่องใสพึงหวังแต่ทางดี"
"จิตฺเต  สงฺกิลิฏฺเฐ  สุคติ  ปาฏิกงฺขา
  จิตฺเต  อสงฺกิลิฏฺเฐ  สุคติ  ปาฏิกงฺขา"
      พุทธสุภาษิต วัตถูปมสูตร ๑๒/๕๕
         ..................................
"ผู้ใด มีปัญญาทราม อาศัยทิฏฐิลามก
คัดค้านคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีปกติเป็นธรรม
พฤติกรรมของผู้นั้นย่อมเป็นไปเพื่อฆ่าตน เหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่"
"โยสาสนํ  อรหนฺตํ  อริยานํ  ธมฺมชีวินํ
 ปฏิกฺโกสติ  ทุมฺเมโธ  ทิฏฺฐึ  นิสฺสาย  ปาปกํ
ผลานิ กณฺฏกสฺเสว  อตฺตฆญฺญาย  ผลฺลติ"
            พุทธสุภาษิต ธรรมบท ๒๕/๓๑
       .....................................
วันเสาร์ที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๒...
ครบกำหนดเวลา ๑๕ วันแห่งการเข้ากรรมฐานอยู่ปริวาสกรรม
เป็นวันที่สงฆ์เรียกเข้าหมู่ หลังจากอยู่ชดใช้ครบตามวันที่กำหนด
นิมนต์พระเกือบทั้งตำบลมานั่งหัตถบาทเพื่อขอออกอัพภาน
และเป็นการที่จะได้ทำบุญเลี้ยงพระที่อยู่ร่วมจำพรรษาในตำบลเดียวกัน
เพราะออกพรรษาแล้วอาจจะแยกย้ายกันไปตามภูมิลำเนาของแต่ละท่าน
หลังจากออกอัพภานแล้วฉันท์ข้าวร่วมกัน เสวนาธรรมกันจนสมควรแก่เวลา
พระท่านจึงลากลับเพื่อไปทำกิจต่อที่อาวาสของท่านเพราะพรุ่งนี้เป็นวันออกพรรษา
ถวายปัจจัยและวัตถุมงคลแก่พระคุณเจ้าทั้งหลายที่มาร่วมตามกำลังศรัทธา
ให้โยมเอารถวัดไปส่งพระคุณเจ้าตามอาวาสที่นิมนต์ท่านมาทุกรูป
ออกตรวจตราดูความเรียบร้อยภายในวัดและจัดซื้ออุปกรณ์วัสดุก่อสร้างที่ยังขาด
ทบทวนดูในแผนงานที่วางไว้ว่าเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่ในพรรษานี้
ปรากฏว่าทุกอย่างผ่านไปด้วยดี เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดวางไว้และผลงานได้ดีเกินกว่าที่กำหนด
งานด้านการก่อสร้างเสนาสนะ งานด้านจัดทำวัตถุมงคล งานด้านการเกษตรสวนผัก งานการกุศลต่อชุมชนและส่วนรวม
ทุกอย่างลุล่วงสำเร็จไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของพระคุณเจ้าและญาติโยม
ซึ่งมีตัวเราเป็นคนกลางที่คอยประสานดูแลทุกอย่างในการดำเนินการเพื่อให้ทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
โดยมีหลักการทำงานที่ว่า...ตาไว หูไว ใส่ใจ พิจารณา ป้องกันปัญหา สนทนาพูดคุย...ในการควบคุมดูแล
คือต้องคอยตรวจสอบดูแลและรับฟังข้อเสนอแนะเข้าไปพูดคุยสนทนากับผู้ร่วมงานอยู่ตลอดเวลาไม่ทอดทิ้งธุระ
พิจารณาอยู่ตลอดเวลาเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นและหาวิธีการป้องกันและแก้ไขก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น
ซึ่งทุกอย่างนั้นต้องอาศัยความเพียรเอาใจใส่ในการกระทำ ไม่ทอดทิ้งธุระปล่อยปละละเลย ปล่อยให้ปัญหามันเกิด
ซึ่งถ้ามันเกิดมีปัญหาขึ้นมาแล้วมันจะแก้ไขได้ยากและเสียเวลา เสียความรู้สึกของผู้ร่วมงาน ขวัญและกำลังใจของผู้ร่วมงาน
เราจึงต้องคอยประสานดูแลอยู่ตลอดเวลา โดยใช้สติ สมาธิและปัญญา เป็นฝึกหัดพัฒนาและปฏิบัติธรรมไปในตัวอยู่ทุกขณะ
อาศัยหลักของธรรมะที่ได้ศึกษาและปฏิบัติมาเอามาใช้ในชีวิตประจำวันและต้องปรับให้ทันให้เข้ากับสภวะปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา
ดั่งพุทธสุภาษิตที่กล่าวไว้ใน"อุฏฐานสูตร"ที่ว่า...อย่าปล่อยให้โอกาศผ่านไปเสียเปล่า  ขโณ  โว  อุปจฺจคา...
ใช้เวลาทุกขณะให้มีค่า อย่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า โดยมีอกุศลธรรมเข้าครอบงำจิตของเรา เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน....
 :059:ขอบคุณหลักธรรมที่นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตที่สอนให้ได้คิดและได้ทำจนสำเร็จมาถึงวันนี้ :059:
                                  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๔ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๓๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

420
"ภิกษุจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลอันดี
จงมีความดำริตั้งมั่นตามรักษาจิตของตนเถิด"
"อปฺปมตฺตา  สตีมนฺโต สุสีลา  โหถ ภิกฺขโว
      สุสมาหิตสงฺกปฺปา  สจิตฺตมนุรกฺขถ"
                พุทธสุภาษิต มหาปรินิพพานสูตร ๑๐/๑๒๐
         ..........................................
"เมื่อกายสงบ ย่อมพบความสุข
เมื่อมีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น"
"ปสฺสทฺธกาโย  สุขํ เวทยติ
  สุขิโน  จิตฺตํ  สมาธิยติ"
  พุทธสุภาษิต ปาฏลิยสูตร ๑๘/๓๘๑
     ................................
"จงทำความเพียรเสียแต่ในวันนี้
ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมีในวันพรุ่งนี้"
"อชฺเชว  กิจฺจมาตปฺปํ  โก  ชญฺญา  มรณํ  สุเว"
        พุทธสุภาษิต ภัทเทกรัตตสูตร ๑๔/๒๙๗
          ........................................
พายุผ่านพ้นไป...
ท้องฟ้าแจ่มใส ฝนหยุดตกแล้ว
ฟ้าหลังฝนที่คนเขากล่าวกันมันเป็นเป็นเช่นนี้เอง
เมื่อก่อนนั้นเราเพียงมองผ่านไปแต่ไม่ได้พิจารณา
เพราะคิดเสียว่า เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปเป็นเรื่องธรรมดา
แต่เมื่อเราได้พิจารณาถึงสภาพของฟ้าหลังฝนหยุดตกแล้ว
ได้รู้ได้เห็น ได้เข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นอีกมากมายเมื่อเราพิจารณาเป็นธรรมะ
มันเป็นสภาวะแห่งสัจจธรรม ที่เรียบง่าย ถ้าเราได้คิดพิจารณาให้เป็นธรรมะ
ทุกอย่างรอบกายไม่ไร้สาระ ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะ ล้วนแล้วคือสภาวะธรรม
เคยรู้เคยเข้าใจว่าสิ่งรอบกายทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะเป็นสภาวะธรรม
แต่เรามักจะพิจารณาเฉพาะสิ่งที่เราสนใจโดยความชอบความพอใจในสิ่งนั้น
จิตยังปิดกั้นยังมีข้อจำกัดในการคิดและพิจารณาไม่เป็นไปตามธรรมชาติโดยแท้
แต่เมื่อเราเปิดจิตของเราให้กว้างขึ้นมองธรรมชาติรอบกายให้เป็นธรรมะอย่างแท้จริง
เราจึงได้รู้ว่ายังมีหลายสิ่งที่เรายังไม่รู้และเข้าใจ เพียงแต่จำได้แต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในสภาวะธรรม
การปฏิบัติธรรมคือการทำสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้น แล้วรักษาสิ่งที่มีมิให้เสื่อมสลาย ให้ดำรงค์ทรงไว้
และขั้นสุดท้ายคือการสลายทำเหมือนมันไม่มีอะไร...สูงสุดคืนสู่สามัญ..คือเข้าสู่อารมณ์วิปัสสนา
มีสติและสัมปชัญญะ ความระลึกรู้ ความรู้ตัวทั่วพร้อมคุ้มครองกายคุ้มครองจิดอยู่ทุกขณะ
เป็นสภาวะของความเป็นปกติ ไม่มีรูปแบบ ไม่มีกระบวนท่า...กระบี่อยู่ที่ใจ...
เก็บงำประกาย รู้อยู่ภายใน ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงออก การปฏิบัติธรรมนั้นคือการทำที่จิต
ไม่ใช่อยู่ที่รูปแบบทางกาย มิได้ทำไปเพื่อให้ผู้อื่นมาชื่นชม ยกย่องสรรเสริญ มิใช้การแสดง
สภาวะธรรมทั้งหลายเป็นของเฉพาะตน รู้ได้ด้วยตน...สภาวะธรรมนั้นเป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน...
 :059:แด่ธรรมชาติรอบกายที่ทำให้ได้พิจารณาธรรม :059:
            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๔๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

421
"จงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงค่อยทำ...อนุวิจฺจการํ  กโรหิ..."
                พุทธสุภาษิต  อุปาลีวาทสูตร ๑๓/๖๒
                    ............................
"ภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด
ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมเห็นตามความเป็นจริง"
"สมาธึ  ภิกฺขเว  ภาเวถ  สมาหิโต ภิกฺขเว ภิกฺขุ  ยถาภูตํ  ปชานาติ"
                           พุทธสุภาษิต  สมาธิสูตร ๑๙/๔๗๐
                  .........................................
"ผู้ใด มีสติพิจารณาร่างกายอยู่เนืองนิตย์
      ทั้งกลางวันและทั้งกลางคืน
ผู้นั้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็นสาวกผู้ตื่นของพระพุทธเจ้า"
"สุปฺปพุทฺธํ   ปพุชฺฌนฺติ  สทา  โคตมสาวกา
เยสํ  ทิวา  จ  รตฺโต  จ  นิจฺจํ  กายคตา  สติ"
                     พุทธสุภาษิต  ธรรมบท ๒๕/๔๖
               ........................................
ฝนยังตกอยู่เกือบทั้งวัน....
ใช้เวลาทุกนาทีให้มีประโยชน์ให้มากที่สุด
เตรียมกายเตรียมจิดทบทวนความทรงจำในหัวข้อธรรมทั้งหลาย
อ่านแล้วทำความเข้าใจบันทึกไว้ในหมวดของความทรงจำของสมอง
ใคร่ครวญไตร่ตรองพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงอรรถะความหมายของบทธรรม
ว่าพระองค์ทรงตรัสที่ไหน แก่ใคร ปรารภเหตุจากอะไร มุ่งหมายเพื่อสิ่งใด
จะได้ไม่สับสนในหัวข้อธรรม เมื่อนำไปกล่าว ไปบรรยาย จะได้ชัดเจน
ทุกอย่างในการทำงานแต่ละขั้นตอนเราต้องมีการวางแผนงานไว้ล่วงหน้า
ต้องค้นหาข้อมูลรายละเอียดให้ถูกต้องและชัดเจนเพื่อความไม่ผิดพลาด
เพราะการกล่าวธรรมนั้นไม่อาจที่จะผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมได้
ซึ่งถ้าเรากล่าวผิดไปพลาดไปทำให้ผู้ฟังเข้าใจคลาดเคลื่อนและนำไปปฏิบัติตาม
มันจะเป็นกรรมที่หนักต่อตัวเรา ซึ่งเท่ากับชี้ทางผิดให้เขาเดินไปสู่อบาย
เป็นการปิดกั้นกระแสพระนิพพานของเขา กรรมของเราผู้กล่าวแนะนำนั้นจึงหนัก
ซึ่งเรื่องนี้ได้เรียนรู้มาจากหลวงพ่อชาแห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี
ที่ท่านได้เคยกล่าวสอนแก่ศิษย์ไว้...ว่าในสมัยหนึ่งเคยมีพระมาถามเรื่องธรรมวินัย
และท่านได้ตอบผิดพลาดไป แต่เมื่อมาทบทวนดูใหม่ ท่านได้รีบไปหาเพื่อแก้ไข
บอกข้อธรรมใหม่ที่ถูกต้องให้แก่พระท่านนั้น แม้นว่าจะเป็นเวลากลางคืนดึกดื่นแล้ว
และท่านได้ย้ำเตือนศิษย์ทั้งหลายให้ตระหนักและจดจำไว้ในการที่จะกล่าวธรรม
จึงได้นำมาปฏิบัติเตือนจิตเตือนใจทุกคร้งในการที่เราจะกล่าวธรรมบรรยายธรรม
เราต้องทำการบ้านมาก่อนทุกครั้ง และถ้าคำถามใดที่เรายังไม่ชัดเจนก็จะไม่ตอบไป
โดยขอเวลาค้นหาและทำความเข้าใจเสียก่อนจึงจะตอบในหัวข้อธรรมที่เขาถาม
การทำความรู้ความเข้าใจนั้น ต้องใช้สติและสัมปชัญญะ เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ
แล้วทำจิตให้ว่าง ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ให้ปัญญาเกิดขึ้นในจิตแล้วพิจารณาหัวข้อธรรม
เราจึงจะเห็นสภาวะธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่จิตเราปรุงแต่งและคิดเข้าใจไปเอง
โดยเอาอัตตามานะทิฏฐิของเราเป็นที่ตั้งในการคิดและพิจารณาหัวข้อธรรมทั้งหลาย
และถ้าไม่เข้าใจและไม่ชัดเจนก็ต้องบอกให้ผู้ฟังรู้ว่า..นี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว
ผู้ฟังอย่าพึ่งเชื่อให้ลองคิดพิจารณาดูซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ เพราะเป็นความเห็นส่วนตัว
อย่าสอนให้ผู้ฟังงมงายเชื่อทันทีที่ได้ยินได้ฟัง จงสอนให้เขารู้จักการคิด รู้จักการพิจารณา
เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้นแก่ผู้ฟัง ฝึกให้เขาคิดเป็น คิดเองได้ เพราะไม่มีใครจะเข้าใจในตัวเขาเท่ากับตัวเขาเอง...
 :016:แด่การเตรียมกายเตรียมจิด ทบทวนความคิดและความทรงจำในหัวข้อธรรมทั้งหลาย :015:
                               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๕๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

422
"ธรรมชาติของจิตย่อมผุดผ่อง
แต่เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา"
"ปภสฺสรมิทํ  ภิกฺขเว  จิตฺตํ  ตญฺจ  โข
อาคนฺตุเกหิ  อุปกฺกิเลเสหิ  อุปกฺกิลิฏฺฐํ"
      พุทธสุภาษิต  เอกนิบาต ๒๐/๙
       ...........................
ฝนตกติดต่อกันมา ๓ วันแล้ว...
ลานวัดชื้นแฉะ น้ำระบายไม่ทันเดินลำบาก
จึงต้องอยู่แต่บนศาลาลงไปข้างล่างไม่ได้
จึงใชเวลาเกือบทั้งวานเคลียร์งานที่คั่งค้างอยู่
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องวัตถุมงคลที่เขานำมาฝากไว้
ให้ช่วยลงอักขระปลุกเสกอธิษฐานจิตให้เขาตามที่เขาศรัทธา
ซึ่งก่อนจะลงมือทำวัตถุมงคลแต่ละครั้งนั้น เราต้องปรับจิตทุกครั้ง
ตั้งอารมณ์อยู่ในสภาวะปิติแห่งกุศลธรรม เพื่อความเป็นมงคลของสิ่งของ
ซึ่งเราเรียกว่าวัตถุมงคล จิตของผู้สร้างผู้ทำต้องเป็นมงคลเป็นกุศลในขณะทำ
ซึ่งเรื่องนี้ได้เคยประสพมาด้วยตนเองสมัยอยู่ที่วัดถ้ำเสือฯจังหวัดกระบี่
เมื่อก่อนนั้นทุกปีในช่วงเข้าพรรษา หลวงพ่อจำเนียร สีลเสฏโฐ
ท่านจะนำพระอธิษฐานจิตวัตถุมงคลทุกวันพระใหญ่ (๑๕ค่ำ)เป็นประจำ
เป็นการสอนลูกศิษย์ให้รู้จักการอธิษฐานจิต ปลุกเสกวัตถุมงคล
เริ่มจากการปลุกธาตุของตนเองเสียก่อนให้มีกำลัง แล้วตั้งจิตให้เป็นกุศล
จำนิมิตของวัตถุมงคลที่เราจะอธิษฐานจิตให้ได้เสียก่อน แล้วจึงตั้งอารมณ์สมาธิ
อธิษฐานจิตให้เป็นอะไรในวัตถุมงคลนั้น สร้างพลังขึ้นภายในจิตของเราให้ได้เสียก่อน
แล้วเพ่งจิตแผ่พลังนั้นไปสู่วัตถุมงคลที่เราจำภาพนิมิตไว้แล้วให้เป็นไปตามที่เราอธิษฐานไว้
มีอยู่วันหนึ่งขณะที่ร่วมกันอธิษฐานจิตปลุกเสกสิ่งของอยู่นั้น หมามันเกิดกัดกันที่หน้าศาลาพิธี
เป็นจังหวะพอดีที่กำลังถอยจิตออกมา ได้ยินเสียงหมากำลังกัดกัน จิตเผลอส่งไปดูภาพหมากำลังกัดกัน
ว่ามันเป็นหมาตัวไหน หมาสีอะไร มันกัดกันกี่ตัว จิตไปรับเอานิมิตภาพนั้นกลับมาและส่งภาพนิมิตนั้นไปยังวัตถุมงคล
ในขณะที่กำลังจะเดินจิตอธิษฐานจิตในครั้งต่อไปในอารมณ์ตัวใหม่ ภาพหมากัดกันมันยังติดอยู่ในนิมิต ในความคิดอยู่
ทันใดนั้นเสียงของหลวงพ่อจำเนียรท่านก็ดังขึ้นเตือนสติ ท่านกล่าวว่า...ท่าน...อย่าเสกหมากัดกันสิครับ มันไม่เป็นมงคล
ถ้าคุณเสกหมากัดกันลงไป ใครนำไปใช้ไปบูชาก็ทำให้เขาทะเลาะกัน กัดกันไปทั่ว อธิษฐานถอยเสียภาพหมากัดกัน
คำเตือนในครั้งนั้นจึงจำได้ขึ้นใจไม่มีลืมและนำไปปฏิบัติทุกครั้งที่จะทำวัตถุมงคลหรืออธิษฐานจิตวัตถุมงคล
คือเราต้องทำใจให้เป็นกุศลในขณะที่ทำที่สร้าง เพราะพลังความคิดของเรานั้นจะถูกถ่ายทอดไปยังวัตถุที่เรากำลังทำกำลังสร้าง
พลังจิตพลังความคิดและพลังปราณจะซึมซับไว้ในวัตถุเหล่านั้น...ฉะนั้นเราจึงต้องระวังจิตของเราอย่าให้อกุศลเกิดขึ้นในขณะนั้น
ซึ่งการทำวัตถุมงคลนั้นให้เราถือว่านั้นคือการปฏิบัติธรรมและฝึกจิตของเราอยู่โดยมีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิตขณะทำ
....การฝึกจิตเป็นสิ่งที่ดีที่สุด...จิตฺตสฺส ทมโถ  สาธุ...พุทธสุภาษิต ธรรมบท ๒๕/๑๗....
 :059:แด่การทำงานที่เป็นการปฏิบัติธรรมและการฝึกจิตอยู่ทุกขณะ :059:
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๑๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย




423
"ภิกษุทั้งหลาย! เราประพฤติพรหมจรรย์นี้
มิใช่เพื่อหลอกลวงคน เพื่อให้คนบ่นถึง
เพื่อผลคือลาภสักการะและชื่อเสียง
เพื่อเป็นเจ้าลัทธิ เพื่อให้คนทั้งหลายรู้จักเรา
       ก็หามิได้ แต่ที่จริงแล้ว
  เพื่อความสังวรระวัง เพื่อละกิเลส
เพื่อคลายกิเลส และเพื่อดับกิเลสเท่านั้น"
"นยิทํ  ภิกฺขเว  พฺรหฺมจริยํ  วุสฺสติ
    ชนกุหนตฺถํ  น  ชนลปนตฺถํ
  น ลาภสกฺการสิโลกานิสํสตฺถํ
  น อิติวาทปฺปโมกฺขานิสํสตฺถํ
  น อิติ  มํ  ชโน  ชานาตูติ
อถโข  อิทํ  ภิกฺขเว  พฺรหฺมจริยํ  วุสฺสติ
สํวรตฺถํ  ปหานตฺถํ  วิราคตฺถํ  นิโรธตฺถนุติ"
       พุทธสุภาษิต พรหมจริยสูตร ๒๑/๒๙
     ......................................
ลมหนาวพัดผ่านมาแล้ว....
มาพร้อมกับพายุ"กิสนา"ทำให้เกิดลมแรงและฝนตกหนัก
กรมอุตุฯพยากรณ์อากาศประกาศเตือนแจ้งว่าระวังฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลาก
จังหวัดทางภาคอีสานริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้งหลาย ให้ระมัดระวังพายุ"กิสนา"ที่จะเข้ามา
เพื่อนสหธรรมิกและญาติโยมได้โทรศัพท์มาสอบถามสารทุกข์สุกดิบด้วยความห่วงใย
กลัวว่าจะได้รับอันตรายจากพายุที่จะพัดผ่าน จังหวัดมุกดาหารในเย็นวันนี้
ขอบคุณในความห่วงใย กำลังใจและความหวังดีของบรรดาท่านทั้งหลาย
และได้ตอบเขาเหล่านั้นไปว่า"อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด แล้วแต่บุญแต่กรรมที่ทำมา"
ตั้งสติอยูในไม่ประมาทและหวั่นไหวต่อภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า
สวดมนต์ภาวนาอธิษฐานจิตขอให้ญาติโยมทั้งหลายจงพ้นจากวาตภัยที่จะเข้ามา
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ไม่เที่ยงแท้และแน่นอน
อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดขอเพียงเรามีสติและสัมปชัญญะตั่งมั่นไม่หวั่นไหว ทุกอย่างก็จะผ่านไปด้วยดี
ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ที่สุดดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้...ผลจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของวิบากกรรม
เมื่อใจเรายอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ตื่นตกใจ ใจเราก็ไม่หวั่นไหว ใจเราก็เป็นทุกข์
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแล้วไปตามกฏของพระไตรลักษณ์...อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา...
 :059:แด่อุปสรรคปัญหาที่มาเป็นบททดสอบจิต :059:
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓๐ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๑๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

424
"ทำความเพียรมากเกินไปจิตใจก็ฟุ้งซ่าน
ทำความเพียรอ่อนไปก็กลายเป็นเกียจคร้าน"
 "อจฺจารทฺธํ  วิริยํ  อุทฺธจฺจาย  สํวตฺตติ
    อติลีนํ  วิริยํ  โกสชฺชายํ  สํวตฺตติ"
   พุทธสุภาษิต  โสณสูตร ๒๒/๓๘๗
         ..........................
การเจริญบริกรรมภาวนา....
เมื่อถึงจิตเข้าสู่ความเป็นสมาธิ คำบริกรรมภาวนานั้นจะหายไป
สิ่งที่จะเป็นต่อไปคือจิตจะมากำหนดรู้สภาวะธรรมในองค์ภาวนา
และจะชัดเจนขึ้น ละเอียดขึ้น ตามกำลังของความสงบ ตามกำลังของสมาธิ
จนถึงระดับหนึ่ง จิตจะหยุดนิ่งเป็นหนึ่งในอารมณ์แห่งสมาธิ เหลือเพียงธาตุรู้
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป มันจะเป้นไปตามเจตนาความปรารถนาสิ่งที่อธิษฐานจิตไว้
จิตจะนิ่งสงบหรือจะยกขึ้นสู่การพิจารณาธรรม หรือว่าจะเข้าสู่มิติของนิมิตนั้น
มันเกิดขึ้นมาในอารมณ์นี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับบารมีที่สั่งสมมา ไม่ใช่ว่าจะเป็นเหมือนกันทุกคน
แต่ก่อนที่จิตจะเข้าสู่ความสงบนั้น มันจะมีอารมณ์มาทดสอบกล้า กำลังศรัทธา กำลังสติของเรา
สิ่งนั้นคือความกลัว กลัวตาย กลัวบ้า กลัวนั่งแล้วจิตหลุดไม่กลับมา กลัวไม่รู้ว่าจะต้องพบจะเห็นอะไร
ความหวั่นไหวหวาดกลัวจะเกิดขึ้นในจิต ซึ่งถ้าศรัทธาของเราไม่มั่นคง เราก็จะหยุดภาวนาไม่กล้าที่จะปฏิบัติต่อไป
ความกลัวนั้นมีสาเหตุมาจากความพร่องแห่งบุญกุศลของเรา อาจจะเป็นเพราะศรัทธายังไม่มั่นคง
หรือว่ามาจากความวิบัติแห่งศีล ทำให้จิตของเราติดอยู่กับบาปกรรมที่เคยกระทำไว้ ทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง
มันจึงเกิดความกลัว ความหวาดหวั่น เกิดความลังเล ใจไม่เข้มแข็งพอที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้
การปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องยินยอมพร้อมใจ มอบกายถวายชีวิตต่อพระรัตนตรัย
ยอมรับในวิบากกรรมที่เคยทำมา เอาชีวิตเข้าแลกกับคุณธรรม...มันจึงจะสำเร็จในการปฏิบัติธรรม....
 :059:แด่ความพอดีตามกำลังของอัตภาพในการปฏิบัติธรรม :059:
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๙ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๒๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

425
       "บัณฑิตควรตั้งตนไว้ในคุณธรรมก่อน
แล้วจึงค่อยสอนผู้อื่นภายหลัง ตนจึงจะไม่มัวหมอง"
        "อตฺตานเมว  ปฐมํ  ปฏิรูเป  นิเวสเย
   อถญฺญมนุสาเสยฺย  น  กิลิสฺเสยฺย  ปณฺฑิโต"
          ......................................
วันนี้เป็นวันพระขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๑๑
ตื่นเช้าตามปกติทำภาระกิจส่วนตัวเสร็จลงไปช่วยพระจัดศาลา
เพราะจะมีญาติโยมมาทำบุญตักบาตรที่วัดกันเหมือนทุกวันพระที่ผ่านมา
เสร็จพิธีจากศาลาหอฉันเวลาก็ประมาณ ๐๙.๐๐น.แล้วจึงไปเข้าโบสถ์ขอขึ้นมานัตต์
เพื่อที่จะปฏิบัติในขั้นต่อไปตามพระวินัยที่กำหนด เพื่อความบริสุทธิ์ของศีล
ซึ่งการเข้าอยู่ปริวาสกรรมนั้นเป็นหนึ่งในกิจวัตร ๑๐ อย่างที่พระต้องกระทำ
กิจวัตร ๑๐ อย่างที่พระภิกษุจะต้องศึกษาให้ทราบความชัดและจำไว้เพื่อปฏิบัติ
ให้สมกับสมณสารูปแห่งความเป็นสมณะก็คือ...
     ๑.ลงอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์
     ๒.บิณฑบาตรเลี้ยงชีพของตน
     ๓.สวดมนต์ทำวัตรไหว้พระเช้า-เย็น
     ๔.ชวยเหลือกิจการงานในวัด กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์
     ๕.รักษาผ้าครอง(ผ้าไตรที่อธิษฐานใช้นุ่งห่ม)
     ๖.อยู่ปริวาสกรรมชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์จากครุอาบัติและเพื่อการลดมานะละทิฏฐิ การถือตัวถือตน
     ๗.โกนผมปลงหนวดตัดเล็บภายในเวลาที่พระวินัยบัญญัติ
     ๘.ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์
     ๙.เทศนาบัติ กล่าวธรรมสั่งสอนญาติโยม
    ๑๐.พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง ๔ มีสติในการนุ่งห่มจีวร ขณะฉันอาหาร ขณะใช้สอยเสนาสนะ ขณะที่ฉันยารักษาโรค
ทั้งสิบข้อนี้คือสิ่งที่พระภิกษุพึงต้องปฏิบัติเป็นกิจวัตรของสงฆ์
     ออกจากพระอุโบสถแล้วแวะไปให้กำลังใจพวกเด็กๆที่จะไปแข่งเรือกัน เอาเสื้อและปัจจัยไปให้เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ
ให้โอวาทแก่เหล่าฝีพายถึงเรื่องความมีน้ำใจของนักกีฬา การเคารพกฏกติกาและผลของการตัดสิน เสร็จแล้วจึงกลับวัด
กลับมาซักสบงจีวรเครื่องนุ่งห่ม ทำความสะอาดศาลาที่อยู่อาศัย ซึ่งกว่จะเสร็จนั้นเวลาก็ผ่านไปถึงบ่านสองกว่าๆ
เดินตรวจดูรอบๆบริเวณวัดในระหว่างที่รอผ้าสบงจีวรแห้ง เพราะว่าช่วงนี้ยังมีฝนอยู่ จึงตากทิ้งไว้ไม่ได้ต้องคอยดู
ชีวิตแต่ละวันที่ผ่านไปเหมือนไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพราะใช้ชีวิตและทำงานตามปกติ ไม่ได้นั่งสมาธิ ไม่ได้เดินจงกรม
จนมีพระและโยมมาถามว่า...ท่านเอาเวลาไหนไปปฏิบัติธรรม..?ซึ่งได้ตอบเขาเหล่านั้นไปว่า...เอาเวลาที่มีสติไปปฏิบัติธรรม
เมื่อเรามีสติและสัมปชัญญะอยู่กับกาย อยู่กับจิต อยู่กับความคิด อยู่กับการกระทำ นั้นแหละคือการปฏิบัติธรรม
เหมือนดั่งคำของหลวงพ่อพุทธทาสที่กล่าวไว้ว่า...การทำงานคือการปฏิบัติธรรม...เพราะมีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิตอยู่
   การเขียนบทความหรือการบันทึกธรรมนั้น ไม่ได้หวังจะสอนผู้ใด แต่ที่ได้ทำลงไปนั้น เพื่อเป็นการย้ำเตือนและสอนตัวเราเอง
ส่วนที่มีผู้มาอ่าน มาทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามนั้น เป็นผลพลอยได้ เพราะจุดมุ่งหมายของการบันทึกไว้เพื่อเตือนตนสอนตน
เพราะก่อนที่เราจะไปสอนคนอื่นได้นั้น เราต้องรู้และเข้าใจ ทำได้และเคยทำมาแล้ว ไม่ใช่ท่องตำราให้จำได้แล้วไปกล่าวธรรม
เพราะการทำเช่นนั้นมันเหมือนนกแก้วนกขุนทอง จำได้พูดได้ แต่ไม่รู้ความหมายและเนื้อหา พระพุทธเจ้าตรัสว่า...ใบลานเปล่า..
ทุกครั้งที่เขียนหรือบรรยายธรรมก็เพื่อย้ำเตือนและสอนตัวเองทุกครั้ง...ไม่ได้หวังว่าคนฟังจะรู้จะเข้าใจและปฏิบัติตามหรือไม่
เพราะถ้าเราไปหวังและตั้งใจให้ผู้ฟังเข้าใจและปฏิบัติตามนั้น...มันเป็นตัณหาคือความอยากมี อยากเป็น อยากเห็น อยากได้
และเมื่อไม่เป็นไปตามที่ใจเราปรารถนา มันก็จะพาให้ใจเป็นทุกข์ เพราะตัณหาไม่ได้รับการสนองตอบ......
 :059:ขอบคุณสติและสัมปชัญญะที่เตือนกายเตือนจิตในการคิดและการกระทำ :059:
                          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๘ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๑.๔๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย


     



426
"ยสฺสกสฺสจิ กายคตาสติ อภาวิตา อพหุลีกตา
ลภติ ตสฺส มาโร โอตารํ ลภติ ตสฺส มาโร อารมฺมณํ"
   ภิกษุไม่เจริญกายคตาสติอยู่ประจำแล้ว
ย่อมตกเป็นทาสของมาร มารอยู่เหนืออารมณ์
              ...กายคตาสติสูตร ๑๕/๑๘๖...
ทบทวนในสติปัฏฐาน ๔...
เริ่มจากฐานกายในแต่ละบรรพ
โดยเจริญกายคตาสติควบคู่กันไปในบางอารมณ์
เริ่มจากกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก รู้ลมสั้น รู้ลมยาว รู้ลมหายใจปกติ
เจิญอยู่ในอานาปานบรรพจนจิตพบความสงบระงับแห่งลมหายใจ
จดจำทางเดินของจิตในแต่ละขั้นของอารมณ์ธรรมกรรมฐาน
เวลาเราเปลี่ยนอิริยาบทของกายก็ให้มีสติกำหนดรู้อยู่ตลอด
เป็นการเจริญสติพิจารณาอยู่ในอิริยาบทบรรพทุกขณะ
มีสัมปชัญญะรู้ตัวในการเคลื่อนไหวจิตอยู่ในสัมปชัญญะบรรพ
จิตพิจารณากายให้เห็นถึงความน่าเกลียดของร่างกาย
จนเกิดความจางคลายเบื่อหน่ายในตัวตนเป็นการเจริญสติในปฏิกูลปนสิการ
แยกกายของเราให้เห็นเป็นอาการสามสิบสอง ซึ่งประกอบมาจากธาตุทั้ง ๔
คืนร่างกายของเรานี้สู่ธรรมชาติเห็นกายเป็นเพียงธาตุที่จิตมาอาศัย
ไม่นานก็ต้องทิ้งไปตามกาลเวลาพิจารณาอยู่ในธาตุบรรพ
เมื่อจิตออกจากกายด้วยความสลายเสื่อมไปของธาตุที่รวมกัน
กายนั้นย่อมมีความเสื่อมสลายกลายเป็นซากศพมีลักษณะต่างๆ
๙อย่างของการเสื่อมสลายจนเกิดความจางคลายในกายนี้
จิตพิจารณาในนวสีถิกาบรรพลักษณะของกายที่เป็นซากศพ
จิตก็พบกับความเป็นจริงของกายนี้ที่จิตเข้ามาอยู่อาศัย
เกิดความรู้ความเข้าใจ จิตจางคลายจากการยึดถือในตัวตน
ฝึกฝนพิจารณาในฐานกายให้มีความช่ำชองในทุกบรรพของฐานกาย
เมื่อพื้นฐานหนักแน่นมั่นคงแล้วความเสื่อมในธรรมทั้งหลายย่อมไม่เกิดขึ้น
มีแต่ความเพิ่มพูนงอกงามเจริญในธรรมเพราะมีพื้นฐานที่ดีและถูกต้องมั่นคง
การปฏิบัติธรรมทั้งหลายต้องเริ่มจากพื้นฐานซึ่งคือกายของเรานี้เอง....
 :059:แด่กายคตานุสติกรรมฐานที่เป็นพื้นฐานแห่งสติปัฏฐาน ๔ :059:
                  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๗ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๒.๑๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

427
ช่วงนี้ฝนตกพายุเข้า...
ลมหนาวก็เริ่มจะพัดมา
ทำให้หวนคิดถึงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา
สมัยที่เป็นนักศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย
หน้าหนาวมาถึงครั้งใดจะชวนน้องๆออกไปรับบริจาคเสื้อผ้า
เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ยากไร้ในถิ่นธุระกันดารเป็นประจำทำอยู่ทุกปี
โดยมีตัวเราเป็นผู้วางแผนและเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมทุกครั้ง
โดยทำหนังสือเพื่อขอใช้สถานที่ต่างในการตั้งโต๊ะรับบริจาคเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มกันหนาว
ตามหน้ามหาวิทยาลัย ศูนย์การค้า หรือหน้าหน่วยงานสถานที่ราชการต่างๆที่มีคนเดินผ่านจำนวนมาก
ในการรับบริจาคแต่ละครั้งก็ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ พ่อค้า นักศึกษา ประชาชนด้วยดี
ซึ่งเมื่อได้รับบริจาคมาแล้วก็จะเอามารวมกันเพื่อคัดแยกเป็นกองๆ เสื้ออยู่ส่วนเสื้อ กางเกงอยู่ส่วนกางเกง
ของเด็ก ของผู้ใหญ่ ของผู้หญิง ของผู้ชาย แยกไว้เป็นกองๆเพื่อส่งไปแผนกซักและให้ทราบจำนวน
ซึ่งขั้นตอนทุกอย่างนั้นเราจะเป็นผู้ควบคุมดูแลโดยตลอด ซึ่งมีบ้างในบางครั้งที่เจอเสื้อผ้าที่โดนใจเรา
เช่นเสื้อสูท หรือเสื้อโค๊ดกันหนาวของเมืองนอก เราก็ใช้สิทธิของความเป็นพี่ใหญ่เอามาใส่เอง
ซึ่งในสมัยนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะถือว่าเอามาใส่ตัวสองตัวคงไม่เป็นไร ที่เอาไปแจกชาวบ้านมากมายเป็นร้อยเป็นพันตัว
ทำอยู่แบบนั้นมาทุกปีเมื่อถึงหน้าหนาว หรือเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมไฟไหม้ เราก็จัดโครงการรับบริจาคช่วยเหลือไปทุกที่
แต่ว่ากรรมมันมีจริง ในสิ่งที่เราทำย่อมส่งผลกลับมาหาเราไม่ช้าก็เร็ว ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส บุญกรรมที่ทำมา
กรรมตามมาทันในวันที่จะบวชเป็นพระ....
เพราะว่าเมื่อก่อนนั้น เราไม่ได้สนใจในเรื่องศาสนา บ้าอุดมการณ์และลัทธิการเมืองฝ่ายซ้าย ปฏิเสธเรื่องศาสนา
จึงไม่มีใครเชื่อว่าเราจะคิดบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา ใครเตือนใครว่าก็ไม่ยอมรับฟัง ญาติพี่น้องเขาเลยปล่อยไปตามกรรม
จนกระทั่งวันหนึ่งได้พบความสงบที่แท้จริง จิตเลยคิดถึงการบวช จึงได้เดินทางกลับใต้ลงไปหาพระพี่ชายที่บวชอยู่ก่อนแล้ว
ซึ่งท่านสร้างวัดและจำพรรษาอยู่ในป่า ห่างจากถนนใหญ่ประมาณ ๕ กิโลเมตร ซึ่งต้องเดินเท้าเข้าไปเพราะในสมัยนั้นยังกันดารอยู่
นั่งรถไปถึงปากทางเข้าวัดประมาณเที่ยงแวะซื้อเหล้าแม่โขงหนึ่งกลมบุหรี่กรุงทอง85หนึ่งซองที่ร้านค้าปากทางเข้าวัดพระพี่ชาย
เดินไปกินไปตลอดทางถึงประตูทางเข้าวัดเหล้าหมดขวดพอดี โยนขวดเหล้าทิ้งเข้าป่าแล้วจึงเข้าไปหาพระพี่ชาย(กลิ่นเหล้ายังฟุ้งอยู่)
ไปกราบท่านแล้วบอกกับท่านว่าจะบวช ท่านมองหน้าด้วยสายตาที่ไม่เชื่อถือในคำพูดของเรา แล้วท่านก็บอกว่าถ้าจะบวชต้องอยู่วัดก่อน
ต้องฝึกท่องขานนาคคำขอบวชให้ได้เสียก่อน จึงจะบวชได้ ซึ่งในขณะนั้นมีเจ้านาคมาอยู่ที่วัดกำลังฝึกหัดขานนาคกันอยู่จำนวน ๓ นาค
ซึ่งนาคเหล่านั้นเขาจะบวชกันในวันรุ่งขึ้นจึงฝึกท่องฝึกกราบกันให้คล่องเพื่อความพร้อมเพรียง ซึ่งเราก็นอนดูนอนฟังเขาท่องและฝึกกัน
คืนนั้นก็นอนที่วัดกับพระพี่ชาย จนกระทั่งถึงตอนตีสี่พระตีระฆังเพื่อทำวัตรสวดมนต์เช้า และหลังจากทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้ว
พระพี่ชายท่านก็มาฝึกนาคเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะนำนาคไปบวชที่วัดต้นสังกัดของท่าน นั่งดูเขาฝึกขานนาคกัน ท่องในใจตามไป
ปรากฏว่าเราจำได้ทั้งหมด ทั้งคำขานนาค วิธีกราบ ขั้นตอนการบวชทุกอย่าง จึงบอกกับพระพี่ชายว่าจำได้หมดแล้ว ท่านไม่เชื่อ
จึงสั่งให้ท่องให้ฟัง ซึ่งเราก็ท่องได้หมดไม่มีผิด ท่านก็เลยให้ลองกราบลองประคองผ้าการเข้าหาอุปัชฌาย์ การประเคนซึ่งเราก็ทำได่ไม่ผิด
เลยถามท่านว่าบวชพร้อนนาคเหล่านี้ได้ไหม ท่านตอบว่าได้ แต่มีปัญหาอยู่ที่ว่ายังไม่ได้บอกแม่ ยังไม่ได้เตรียมผ้าไตรอัฎฐะบริขาร
จึงถามท่านว่าใช้ของเก่าอุปัชฌาย์ท่านจะบวชให้ไหม ผิดวินัยหรือเปล่า ถ้าเราจะใช้ของเก่าบวช พระพี่ชายตอบว่าบวชได้และไม่มีห้าม
ในพระวินัยว่าห้ามใช้ของเก่าบวช จึงขอจีวรเก่าของพระพี่ชายที่ท่านใช้แล้วมาหนึ่งไตร ขอบาตรที่ท่านใช้อีกหนึ่งลูก ครบอัฏฐะบริขาร
ให้หลานชายไปบอกแม่ที่บ้านและให้ไปขอใบรับรองความประพฤติจากตำรวจมาให้ด้วย แล้วจึงเดินทางไปวัดต้นสังกัดของพระพี่ชาย
นาคอื่นเขาแห่กลองยาวรอบโบสถ์กันส่วนเรานั้นต้องนั่งรอแม่มาโกนผมและรอใบรับรองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้ไปร่วมในขบวนแห่กับเขา
แม่มาโกนหัวให้ที่หน้าโบสถ์ โกนหัวเสร็จอาบน้ำเปลี่ยนผ้า ไหว้สีมาหน้าโบสถ์เสร็จก็เข้าโบสถ์เลย ไม่ต้องแห่ไม่ต้องเวียนโบสถ์สามรอบ
ขอบวชเป็นนาคแรก อุปัชฌาย์แปลกใจ ผ้าไตรที่ใช้บวชมันเก่าเหลือเกิน อังสะที่จะใส่ก็มีรอยขาด สีจีวรก็แสนจะซีดและมีรอยปะรอยชุน
แต่ในที่สุดก็ได้บวชเป็นพระจนสำเร็จซึ่งคงจะไม่มีใครที่ไหนอนาถาเท่ากับเราอีกแล้วในการบวชพระมีญาติเพียงสองคนคือแม่กับพระพี่ชาย
และคงจะไม่มีนาดที่ไหนเอาผ้าไตรเก่าๆใช้แล้วมาบวชเป็นแน่นอน...สรุปแล้วเครื่องบวชทั้งหลายเป็นของเก่าใช้แล้วทั้งหมด
แต่วิบากกรรมยังไม่หมด...หลังจากบวชแล้วโยมแม่ก็ไปซื้อจีวรใหม่มาถวายให้พระลูกชาย...แต่เมื่อรับประเคนมาแล้วปรากฏว่าห่มไม่ได้
เกิดอาการแพ้ของใหม่ คันไปทั้งตัว ขึ้นเป็นผื่นแดงคันไปทั้งตัว ห่มไม่ได้เลยต้องถวายพระพี่ชายท่านไป
 อาการโรคแพ้ของใหม่เป็นอยู่นานถึงแปดปี...นี่คือวิบากกรรมที่เราเคยทำมามันส่งผลกลับมาให้เราต้องชดใช้กรรม...
...กรรมที่ยักยอกเสื้อผ้าบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ต้านภัยลมหนาว...ระหว่างแปดปีที่เป็นโรคแพ้จีรฃวรใหม่นั้น มีผู้ถวายผ้าไตรมากมาย
ก็ได้ถวายต่อให้พระให้เณรไปหมดไม่เคยเก็บไว้...แปดปีที่ยักยอกเสื้อผ้าบริจาค...แปดปีที่เป็นโรคแพ้จีวรใหม่...เราได้ใช้กรรมไปแล้ว...
 :059:นำมาเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องราวหนหลังที่เคยประสพพบมา ให้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจแก่ท่านทั้งหลาย :059:
                               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มิตรในทางธรรม
                                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๒๖ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๓.๔๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
ป.ล.ยังมีอีกมากมายในเรื่องของวิบากกรรมที่จะนำมาเล่าให้ฟังในครั้งต่อไป...

428
พายุเข้าที่อ่าวเวียดนาม....
มีผลต่อภาคอีสานของไทย
ฝนตกลงมาตั้งแต่เช้า ฟ้าครึ้มตลอดทั้งวัน
วันนี้เลยมิได้ลงไปทำงานภาคสนาม อยู่แต่บนศาลาเกือบทั้งวัน
มีเวลาว่างเลยทวนคำสวดปวารณาออกพรรษาเพื่อให้คล่อง
นั่งคิดพิจารณาธรรมดูกายดูจิตพยายามไม่ส่งจิตคิดออกนอกกาย
ทำตามครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนไว้คือไม่ส่งจิตคิดออกนอกกาย
"จิตที่ส่งออก เป็นสมุทัยให้เกิดทุกข์"เพราะมันจะเก็บเรื่องราวต่างๆกลับมา
และบางครั้งก็ไปเก็บกิเลสของผู้อื่นกลับมาด้วย เป็นการเพิ่มกิเลสให้แก่ตนเอง
ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมส่วนมากพอจิตสงบก็อยากจะเห็นภพภูมินิมิตต่างๆส่งจิตออกไปควานหา
อยากจะเห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์ ซึ่งความอยากนั้นมันเป็นตัณหาไม่มีวันสิ้นสุด
เป็นการเพิ่มพูนกิเลสให้แก่จิตของเรายิ่งขึ้นเพราะความอยากรู้อยากเห็นอยากเป็นอยากไป
แต่สิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้คือให้กลับมาดูภายในทำความเข้าใจกับกายและจิตของเรา
มองให้เห็นกายภาบนอกคือรูปร่างหน้าตาของเรา แล้วมองต่อไปให้เห็นถึงภายในน้อยใหญ่
แยกกายออกตามอาการสามสิบสอง มองให้เห็นว่าเป็นธาตุที่ประชุมรวมกันเป็นรูปเป็นร่าง
พิจารณาสักแต่ว่าเป็นธาตุ ดินในกายของเรา น้ำในกายของเรา ลมในกายของเรา ธาตุไฟความร้อนในกายของเรา
กับธาตุทั้งสี่ที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้นคือธาตุตัวเดียวกัน จิตเราเพียงเข้ามาอยู่อาศัย ไม่นานเราก็ต้องคืนกลับไปสู่ธรรมชาติ
มองให้เห็นจนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ คืนกลับไปสู่ธรรมชาติจนไม่มีกายของเราเหลือเพียงวิญญาณธาตุคือจิตของเรา
แล้วพิจารณาดูจิตของเราที่แปรเปลี่ยนไปในทุกขณะจิต เวทนาความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิตของเรา ความสุข ความทุกข์
หรือความไม่สุขไม่ทุกข์ที่จิตนั้นทรงอยู่ ดูให้เห็นถึงเหตุและปัจจัย ว่าประกอบด้วยอามิสหรือไม่ หรือไม่ประกอบด้วยอามิส
ทำความรู้และความเข้าใจกับจิตแล้วพิจารณาให้เห็นถึงความเป็นอยู่และแปรเปลี่ยนไปจนเข้าใจในสภาวะธรรมทั้งหลาย
เหลือเพียงกายเดียวจิตเดียว ท่องเที่ยวอยู่ในกายและจิตของเราจนมีความชำนาญและเกิดการเบื่อหน่ายจิตก็จะคลายจากการยึดถือ
ในตัวตนของเรา ทิฏฐิมานะก็จะจางคลาย การถือตัวถือตนก็จะหมดไป ความจางคลายของกิเลสและตัณหาจะตามมาปัญญาจะเกิดขึ้น
นั้นคือการพิจารณาดูกายดูจิตพิจารณาในสติปัฏฐาน ๔ โดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่ทุกขณะจิต ในการคิดและพิจารณา.....
 :059:แด่พายุและสายฝนที่ตกลงมาทำให้มีเวลาที่จะได้พิจารณาในหัวข้อธรรม :059:
                        เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๖ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๐๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

429
ว่างเว้นจากการเขียนบทกวีมาหลายวันแล้ว
เนื่องจากมีภาระกิจให้ทำมากมาย ทั้งเรื่องภายในและภายนอก
วันนี้มีโอกาศได้พัก...เพราะว่าฝนตกลงมาตั้งแต่เช้าลงไปปฏืบัติโยธากรรมฐานภาคสนามกลางแจ้งไม่ได้
ฉันเช้าแล้วจึงมีเวลานั่งพักอยู่บนศาลาน้อย...นั่งมองท้องฟ้าผ่านช่องหน้าต่าง...วันนี้ฟ้าครึ้มฝนไม่เห็นแสงแดดเลย
อารมณ์ศิลปินก็บังเกิดขึ้น....นี่คือที่มาของกวีลำนำ...ในยามฟ้าหม่น...เชิญชมและอ่านได้เลย....
             :059:ในยามฟ้าหม่น :059:
   เหม่อมองฟ้า  หน้าฝน  ให้หม่นหมอง
ไร้แดดส่อง       ลงมา     ฟ้าสลัว
มีม่านเมฆ       เต็มฟ้า     พาหมองมัว
ฟ้าสลัว          ซึมเซา     ให้เศร้าใจ
  ละอองฝน      ปลิวมา     ผ่านหน้าต่าง
มาต้องร่าง       ต้องกาย    ให้หวั่นไหว
หนาวสะท้าน     ทั่วกาย     ถึงภายใน
นั่งดูใจ             ดูจิต       พิจารณา
  ธรรมชาติ       มันเป็น     อยู่เช่นนี้
ไม่ควรที่          ยึดติด      และห่วงหา
ปล่อยให้ไป    ตามสายธาร  กาลเวลา
เกิดขึ้นมา      ตั้งอยู่         แล้วดับไป
   ใจไม่ชอบ   เพราะจิต     อนิฐา
เวทนา          ในจิต        นั้นหวั่นไหว
ให้เกิดความ    รักชอบ      และพอใจ
เมื่อไม่ได้       ดังคิด       จิตขุ่นมัว
  ทุกข์เกิดจาก  อามิส       ที่ติดอยู่
เพราะลืมดู      กายใจ      ให้ถ้วนทั่ว
ขาดสติ          ลืมตน       และลืมตัว
จิตขุ่นมัว        เสพทุกข์    ไม่สุขใจ
  เพราะเกิดจาก   กัมมะ     ปลิโพธิ
หวังประโยชน์     ในงาน     นั้นเป็นใหญ่
เพราะอยากให้  งานเสร็จ    โดยเร็วไว
เมื่อไม่ได้         ดั่งคิด       จิตกังวล
  เผลอสติ       เพียงนิด     จิตเศร้าหมอง
เมื่อไตร่ตรอง    จึงเห็น       เป็นเหตุผล
ปลิโพธิ          คือใจ         ที่กังวล
อยากหลุดพ้น ต้องปล่อยวาง โดยทางธรรม
  มองให้เห็น   ให้เป็น        พระไตรลักษณ์
ให้รู้จัก           หนทาง       ที่เลิศล้ำ
และเตือนจิต     เตือนใจ      ให้จดจำ
และจงนำ       มาคิด           พิจารณา
  มองให้เห็น   ว่าเป็น         สิ่งไม่เทียง
อย่าลำเอียง  เข้าข้าง         ด้วยตัณหา
มองให้เห็น    ความเป็น      อนิจจา
ให้รู้ว่า         มันเป็น         เช่นนั้นเอง
  เพราะกังวล    ใจตน       เลยเป็นทุกข์
ไร้ซึ่งสุข       เพราะกิเลส   มันข่มเหง
ถ้ายอมมัน     ตามมัน       นั้นน่าเกรง
เช่นนั้นเอง     ทุกขัง         ดั่งที่เป็น
  เพราะยึดถือ  ยึดมั่น        เลยหวั่นไหว
จึงขุ่นใจ        เศร้าใจ        อย่างที่เห็น
อยากให้มัน    เป็นไป        ใจอยากเป็น
จนลืมเห็น     ความเป็น       อนัตตา
    อนิจจัง       ทุกขัง        อนัตตา
หลักธัมมา      ควรคิด        และศึกษา
การเกิดขึ้น      ตั้งอยู่         และลับลา
เกิดปัญญา     เข้าใจ          พระไตรลักษณ์..
        .................................
 :059:แด่อารมณ์กวีในเช้าที่ฟ้าครึ้มฝน แด่ความกังวลปลิโพธิในจิต :059:
                 รู้เห็นและเข้าใจในกฏของธรรมชาติใจก็ไม่ทุกข์
                   ด้วยความปรารถดี... รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๕ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๕๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
หมายเหตุ...ฝนหยุดตกแล้ว ลงไปทำงานภาคสนามได้แล้ว...


             


430
ทบทวนการปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔
เริ่มจากเดินจงกรม ๖ ระยะและการนั่งกำหนด
การเดินจงกรมนั้นต้องเริ่มจากระยะที่ ๑ ทุกครั้ง
จนกายและจิตมีความสัมพันธ์เสมอกัน รู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของกาย
จึงได้การเดินจงกรมระยะที่ ๒ เป็นลำดับต่อไปจนกายและจิตมีความสัมพันธ์เสมอกัน
ทำเช่นนั้นจนถึงการเดินจงกรมระยะที่ ๖ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการกำหนดในท่าเดิน
   วิธีเดินจงกรม ๖ ระยะ
๑.จงกรม ๑ ระยะ กำหนดว่า....
   ซ้ายย่างหนอ-ขวาย่างหนอ
๒.จงกรม ๒ ระยะ กำหนดว่า....
   ยกหนอ-เหยียบหนอ
๓.จงกรม ๓ ระยะ กำหนดว่า....
   ยกหนอ-ย่างหนอ-เหยียบหนอ
๔.จงกรม ๔ ระยะ กำหนดว่า....
   ยกส้นหนอ-ยกหนอ-ย่างหนอ-เหยียบหนอ
๕.จงกรม ๕ ระยะ กำหนดว่า....
   ยกส้นหนอ-ยกหนอ-ย่างหนอ-ลงหนอ-ถูกหนอ
๖.จงกรม ๖ ระยะ กำหนดว่า....
   ยกส้นหนอ-ยกหนอ-ย่างหนอ-ลงหนอ-ถูกหนอ-กดหนอ
           ซึ่งการเดินจงกรมนั้น ต้องเริ่มจาก ๑ ระยะเสมอไป
เพื่อปรับกายปรับจิตให้สอดคล้องกัน มีความสัมพันธ์ที่เสมอกัน
ซึ่งเราจะรู้ได้จากอาการเดินของเรานั้น ถ้ากายและจิตไม่สัมพันธ์กัน
การเดินนั้นจะเกิดอาการเกร็ง มีการซวนเซ และไม่เป็นธรรมชาติ
เพราะจิตที่กำหนดภาวนากับการเคลื่อนไหวไม่ตรงกัน การเคลื่อนไหวนั้นจึงมีการสะดุด
มีการหยุดเพื่อรอจังหวะของกาย จึงมีอาการคล้ายนกกระยางกำลังย่างเดิน คือมีการค้างในจังหวะ
ยกแล้วค้าง ย่างแล้วหยุด สะดุดในจังหวะการเดิน เพราะกายไม่ทันจิต หรือไม่ก็จิตไม่ทันกาย
ซึ่งเราต้องปรับกายปรับจิตตั้งแต่การเดินจงกรม ๑ ระยะ จนจังหวะมันลงตัว
คือพร้อมกันของกายและจิตจนมีท่าเดินที่เป็นปกติเหมือนที่เราเราเดินอยู่ในชีวิตประจำวัน
ทำจนมีความชำนาญ รู้การเคลื่อนไหวของกายขณะเดินทุกขณะจิต เป็นหนึ่งเดียวกัน
แล้วจึงจะปฏิบัติในขั้นต่อไป คือดูการเคลื่อนไหวของการเดินจงกรม ๒ ระยะ ในโอกาศต่อไป
จนกำหนดได้ทันในการเดินตามปกติของเรา ให้กายและจิตมีความสอดคล้องสัมพันธ์เสมอกัน
การปฏิบัติธรรมทุกอย่างนั้น อย่าได้ใจร้อนหวังผลในระยะเวลาอันสั้นและเร็วเกินไป
ค่อยๆเป็นค่อยๆไปเพื่อสร้างความเคยชินให้กับกายและจิต ให้มีพละกำลังและสั่งสมจนเป็นอินทรีย์
ทุกคนต่างมีบุญและบาปเก่าไม่เท่ากัน ความเจริญก้าวหน้าในธรรมนั้นจึงแตกต่างกันเอามาเปรียบเทียบกันมิได้
อย่าน้อยใจและดีใจในบุญและบาปเก่าของเราที่เคยทำมา หน้าที่ของเราคือการปฏิบัติธรรมต่อไปให้เกิดความเจริญในธรรม
คือทำวันนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ตามกำลังและสติปัญญาของเรา จงอย่าได้เอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น
ถ้าเราเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่าเราอาจจะหลงลำพองใจว่าเราดีกว่าเขา เก่งกว่าเขา ฉลาดกว่าเขา
ถ้าเราไปเปรียบเทียบกับคนที่ดีกว่าสูงกว่า อาจจะเกิดความน้อยใจ อิจฉาในวาสนาและบารมี เกิดความไม่พอดีขึ้นในจิต
และถ้าเราไปเปรียบเทียบกับคนที่เสมอกัน ก็อาจจะเกิดการแข่งขัน อยากจะดีกว่าเขา อยากจะเก่งกว่าเขา
กิเลสทั้งหลายจะเกิดขึ้นในใจของเราโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว เพราะว่าเราลืมดูกายดูจิตดูความคิดของตัวเรา.....
 :059:ฝากไว้เป็นข้อคิดสำหรับมิตรสหายผู้ใฝ่ในการปฏิบัติธรรม :059:
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๕ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๕๑ น. ณ ศาล่าน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

431
สมัยที่บวชใหม่ๆ....
ได้ศึกษาพระธรรมวินัยเพราะมีใจศรัทธาในพระพุทธศาสนา
อยากจะเห็นวงการศาสนามีความเจริญก้าวหน้าและมีภาพที่ดี
และได้มีโอกาศเข้าไปทำงานเพื่อศาสนาเป็นพระวินยาธิการ
ช่วยเหลืองานของวงการคณะสงฆ์ดูแลเรื่องความประพฤติของพระ
ในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดสุราษฎร์ธานีร่วมกับพระครูสุวิมลสิริธรรม
ซึ่งมีหน้าที่ประจำคือเมื่อมีพระหรือโยมรายงานมาว่ามีพระประพฤติตัวไม่เหมาะสม
ก็ต้องออกไปตรวจสอบ ว่ากล่าว ตักเตือน ถ้าผิดวินัยรุนแรงถึงขั้นปาราชิกก็จับสึก
หรือบางครั้งทำผิดกฏหมายบ้านเมืองที่มีโทษถึงจำคุกก็ต้องจับสึกส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ซึ่งบางครั้งเมื่อเราไปตรวจก็มีการขัดขืนและต่อสู้ จึงมีการลงไม้ลงมือเพื่อให้อยู่ในความสงบ
โดยอาศัยประสพการณ์ของการนักกีฬาสมัครเล่นและอาชีพ มวยไทย มวยสากล มวยปล้ำ ยูโด
ศิลปะการต่อสู้ที่เคยได้ร่ำเรียนและฝึกฝนมา ปราบพระอันธพาลนอกรีตทั้งหลาย
ซึ่งบางครั้งก็พลั้งมือทำลงไปถึงขั้นสลบหรือเกิดเลือดตกยางออกเป็นแผล
และใช้วิชากฏหมายในการสืบสวน สอบสวนและวินิจฉัยในความผิดที่เขากระทำ
ทำงานในตำแหน่งพระวินยาธิการอยู่ ๒ ปี จัดการชำระคดีของพระหลายสิบราย
จนเกิดความเบื่อหน่ายและไม่สบายใจ เพราะบางคร้งเราก็ก็ทำเกินเหตุไป
ความผิดในพระธรรมวินัยไม่ร้ายแรงถึงขั้นปาราชิกแต่ผิดที่เป็นโลกวัตรชะที่ชาวโลกเขาติเตียนรับไม่ได้
แต่เราก็ไปจับเขาสึกตามกระแสของสังคมที่บีบบังคับเรา จึงตัดสินใจขอลาออกจากการเป็นพระวินยาธิการ
ตัดสินใจออกเดินธุดงค์เข้าป่าและออกเสาะหาครูบาอาจารย์และเน้นเรื่องการปฏบัติเพียงอย่างเดียว
เวลาล่วงเลยผ่านมาสิบกว่าปีจนถึงปี พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งขณะนั้นกำลังสร้างวัดอยู่ที่จังหวัดพังงา
ใกล้ออกพรรษาเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ....
ทำวัตรสวดมนต์เย็นเสร็จแล้วลงไปนั่งสมาธฺที่ศาลาในป่าไทร
นั่งตั้งแต่สองทุ่มจนถึงตีสี่กว่าพระท่านตีระฆังให้สัญญานทำวัตรเช้า
จึงได้ออกจากอารมณ์สมาธิเพื่อที่จะล้างหน้าแปรงฟันและลงไปทำวัตรเช้า
แต่ปรากฏว่าลุกขึ้นไม่ได้เพราะว่าขาข้างขวาไม่มีแรงและไม่มีความรู้สึกเสียแล้ว
เกิดนิมิตรแว๊บขึ้นมาทันทีคือเห็นภาพที่เรากำลังเตะพระที่เมายาเสพติดและกำลังเสพอยู่
เลยนั่งพิจารณาต่อไปว่าเราทำไปเพื่อรักษาพระศาสนาและพระที่เราทำร้ายก็ผิดธรรมวินัย
แต่สิ่งที่เราลืมไปคือผ้าเหลืองธงชัยพระอรหันต์ที่เขาสวมใส่นุ่งห่มอยู่ซึ่งเราลืมให้ความเคารพ
สิ่งที่เราทำไปเหมือนเราทำร้ายผ้าเหลือง ไม่ให้เกียรติผ้าเหลืองซึ่งเป็นยูนิฟอร์มเครื่องแบบของพระ
เมื่อจิตระลึกได้เห็นที่มาของวิบากกรรม เราก็ไม่ตกใจ เสียใจหรือหวาดกลัว ยอมรับในผลกรรม
ขาขวาเป็นอัมพฤกต์ใช้การไม่ได้อยู่ ๗ เดือนจึงจะรักษาหายและเดินได้ตามปกติ
ล่วงเลยมาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๕๑....
ใกล้ออกพรรษาเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๑
ทำวัตรสวดมนต์เย็นเสร็จแล้วลาพรรษาเพื่อจะไปดูหินแกะที่บุรีรัมย์
เพื่อที่จะเอามาทำเป็นทับหลังซุ้มประตูโบสถ์มหาอุดวัดทุ่งเว้า ที่มุกดาหาร
นั่งสมาธิเจริญภาวนาบนรถตู้ตั้งแต่ออกจากวัตรเวลาประมาณสองทุ่มกว่าๆ
จนรถไปถึงอำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ เวลาประมาณตีห้ากว่ากว่าๆ
รถจอดหน้าบ้านลูกศิษย์จึงออกจากสมาธิเพื่อจะลงไปล้างหน้าแปรงฟัน
เอี้ยวตัวหันไปจะหยิบย่ามปรากฏว่าแขนข้างขวาไม่มีแรง ไม่มีความรู้สึก สั่งให้หยิบจับอะไรไม่ได้แล้ว
จิตคิดถึงภาพที่เรากำลังตบพระที่กำลังเมาเหล้าและต่อสู้ไม่ยอมอยู่ในความสงบ ขึ้นมาทันที
และรู้ตัวเองทันทีว่าวิบากกรรมตามมาทันเราแล้ว จิตไม่หวั่นไหว ไม่ตกใจ ยอมรับในวิบากกรรม
คิดว่าเป็นได้ก็หายได้ ถ้าไม่หายแขนข้างซ้าย มือข้างซ้ายเรายังมี ยังใช้ได้อยู่ จึงไม่ตกใจกลัว
และก็รักษาแขนข้างซ้ายไปตามอัตภาพ ฝังเข็ม ฉีดยา นวดจับเส้น กินยา ทาน้ำมัน ไม่ขัดศรัทธาของญาติโยม
ขณะที่มือขวาใช้งานไม่ได้เราก็มาฝึกการใช้มือซ้าย ให้คล่องกว่าเดิม เพราะปกติของเรานั้นถนัดทั้งสองมืออยู่แล้ว
จึงไม่ค่อยจะมีปัญหาในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันมากสักเท่าไหร่และใจเราก็ไม่เป็นทุกข์กับอาการอัมพฤกต์ที่เป็นอยู่
จนถึงวันนี้ เหลือเวลาอีก ๓๐ วันจะครบปี ที่มือข้างขวาได้เป็นอัมพฤกต์ ซึ่งตอนนี้ก็ใกล้จะเป็นปกติเหมือนเดิมแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรานั้นล้วนแล้วเกิดแต่กรรมที่เราเคยทำมา ทั้งในชาติที่แล้ว และในชาตินี้ เราไม่อาจจะหนีพ้นกรรมที่ทำได้
จึงยืดอกน้อมรับผลกรรม ไม่หวั่นไหวและตกใจต่อวิบากกรรมทั้งหลายที่จะให้ผลในวันนี้ ด้วยความยินดีและเต็มใจ
เมื่อจิตไม่หวั่นไหว ใจเราก็จะสงบ เพราะว่าเราเคารพซึ่งกฏแห่งกรรม สิ่งที่เราได้ทำลงไป จะดีหรือร้าย ยอมรับในกรรม...
 :059:แด่วิบากกรรมที่ส่งผลในวันนี้และสำหรับความโชคดีที่ได้ชดใช้กรรม :059:
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๔ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๑.๕๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย






432
วันที่ ๕ ของการเข้ากรรมฐาน...
ทบทวนอารมณ์สภาวะธรรมของกรรมฐานผ่านมาหลายกอง
จิตเริ่มคล่องในกองกรรมฐานที่ผ่านมาเพราะว่าได้ทบทวน
จิตละเอียดยิ่งขึ้นรู้และเข้าใจในสภาวะธรรมของกรรมฐานแต่ละกองเพิ่มขึ้น
อุปมาเหมือนเราอ่านหนังสือเรื่องที่เคยอ่านมาแล้วอ่านซ้ำอีกหลายๆครั้ง
แต่ละครั้งก็จะมีมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิมทุกครั้งและเข้าใจเนื้อหามากขึ้นทุกครั้ง
เมื่อก่อนนั้นสมัยปฏิบัติธรรมใหม่ๆพอรู้และเห็นก็เข้าใจว่าเรารู้หมดแล้วเข้าใจหมดแล้ว
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปจึงได้เข้าใจว่าที่เรารู้ที่เราเห็นและเข้าใจนั้นมันยังไม่หมด
สิ่งที่เรารู้เราเห็นและเข้าใจนั้นมันเป็นไปตามภูมิธรรมของเราในขณะนั้น
เมื่อวันเวลาผ่านไปเราได้สั่งสมอินทรีย์ให้มีกำลังมากขึ้น จิตละเอียดขึ้น
การวิเคราะห์พิจารณาก็จะละเอียดขึ้น ได้เห็นได้รู้ในสิ่งที่เรายังไม่รู้ไม่เห็นเพิ่มขึ้น
ใจที่เคยส่งออกไปนอกกายก็กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น
เหมือนเราดูหนังดูละครแล้วย้อนกลับมาดูเรา มาดูกายดูจิตดูความคิดดูการกระทำของเรา
ความรู้ในสิ่งนอกกายนั้นไม่มีวันสิ้นสุด เพราะความรู้นั้นเกิดจากตัณหาคือความอยากรู้อยากเห็น
รู้เห็นสิ่งนี้แล้วมันก็อยากจะรู้เห็นในสิ่งอื่นต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดขยายออกไปเรื่อย
แต่ความรู้ที่ดูจากภายในกายและจิตของเรานั้นมันมีวันสิ้นสุด เมื่อจิตของเราหลุดพ้นจากอัตตา ตัณหา อุปาทาน
เมื่อไหร่ที่เราเข้าใจกายและจิตของเรา เห็นกายและจิตของเรา เราย่อมที่จะเข้าใจและเห็น กายและจิตของผู้อื่น
เพราะว่าเราจะเข้าใจในสภาวะธรรมที่ว่า"ตถตา...มันเป็นเช่นนั้นเอง"มันเป็นธรรมชาติของโลกและธรรมที่เป็นอยู่
เรียนรู้ทุกอย่างจากกายและจิตของเรา เพียรเผาให้กิเลสที่มันซ่อนอยู่ในจิตของเราให้มันแสดงออกมาให้เห็น
ซึ่งเราต้องรู้ต้องเห็นและทำความเข้าใจกับมันเสียก่อน จึงจะเข้าไปจัดการ ลด ละ เลิก ทำลายมันลงได้
ต้องพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสิ่งเหล่านั้น
จนจิตเกิดธรรมสังเวช ไม่ยึดติดยึดถือ เกิดเบื่อหน่ายในสิ่งนั้นเป็นนิพพาญาณ จิตจะถอยห่าง ลด ละ เลิกและวางในสิ่งนั้น
เพียง"รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม"แต่ยังไม่ได้อยู่ในธรรมและยังไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ จึงได้เพียงรู้และเข้าใจ
แต่ยังไม่ได้อยู่ในธรรม เราต้องอยู่และรักษาสภาวะธรรมนั้นให้ตลอด เมื่อเรารักษาธรรม ธรรมนั้นจะรักษาเรา...
 :059:แด่การดูกายดูจิตดูความคิดดูการกระทำของตัวเราเอง :059:
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๔ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๑๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

433
ใกล้จะออกพรรษาแล้ว...
ทบทวนแผนงานที่วางไว้ว่าจะทำในพรรษานี้
ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีตามที่ตั้งเป้าวางแผนงานไว้
ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของพระและญาติโยม
งานฝ่ายก่อสร้างก็สำเร็จและรุดหน้าไปเกินเป้าที่ตั้งไว้
งานฝ่ายวัตถุมงคลก็เสร็จก่อนกำหนดที่ตั้งไว้และได้เพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง
ปัจจัยค่าใช้จ่ายในงานก่อสร้างและใช้จ่ายในวัดก็ไม่มีติดขัดผ่านไปได้ด้วยดี
ส่วนกฐินพรรษานี้ก็มีผู้มาจองเป็นเจ้าภาพพระที่อยู่จำพรรษาก็จะได้รับอานิสงค์กฐิน
งานด้านการเกษตรก็ไปได้ด้วยดีต้นไม้ที่ปลูกไว้เจริญงอกงามโตขึ้นเยอะไม่เสียหาย
พืชผักที่ปลูกไว้เช่น พริก ข่า ตะไคร้ มะเขือ มะละกอ ต้นแค ต้นมะกรูด ก็ให้ผลผลิต
ส่วนพืชผักที่จะปลูกใหม่ญาติโยมได้เอารถไถมาปรับที่ยกร่องเตรียมดินเพาะต้นกล้าเรียบร้อยแล้ว
ส่วนการปฏิบัติธรรมนั้นก็ได้ทำต่อเนื่องมาตลอดไม่มีอุปสรรคและปัญหา มีความก้าวหน้าและเจริญในธรรม
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านไปด้วยดีนั้นเพราะอาศัยหลักธรรมคือ" อิทธิบาท ๔"มาเป็นแนวทางในการทำงาน
"อืทธิบาท ๔"คือทางสู่ความสำเร็จซึ่งต้องอาศัยเหตุและปัจจัย ๔ ประการคือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
ฉันทะคือความพึงพอใจในสิ่งที่จะกระทำ ทำในสิ่งที่รัก ทำในสิ่งที่ชอบที่ประกอบไปด้วยกุศลผลย่อมออกมาดี
เพราะใจเรามีความพึงพอใจไม่ได้ฝืนทำ เมื่อได้ทำในสิ่งที่รักที่ชอบก็จะเกิดความเพลิดเพลิน ไม่เบื่อหน่าย
วิริยะคือความเพียรพยายามลงมือกระทำในสิ่งที่หวังและตั้งใจไว้ ฉันทะคือความพึงพอใจที่อยู่ภายในความรู้สึกนึกคิด
เป็นนามธรรม วิริยะ คือการลงมือกระทำให้ความคิดนั้นเป็นรูปธรรมขึ้นมา ไม่อยู่กับความฝันและจินตนาการ
จิตตะ คือความใส่ใจทำไปอย่างต่อเนื่องไม่ทอดทิ้งธุระเลิกล้มเสียกลางคัน อาศัยขันติความอดทนมาเป็นที่ตั้ง
ไม่ท้อแท้ท้อถอยเมื่อเจออุปสรรคหรือปัญหา ความลำบากทางกายทั้งหลาย เราก็จะไม่ทอดทิ้งในสิ่งที่เราทำอยู่
วิมังสา คือการหมั่นทบทวนใครครวญพิจารณา ดูความก้าวหน้าและความเสื่อมถอย ว่ามันมาจากสาเหตุอะไร
อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มันเป็นเช่นนั้น คือติดตามตรวจดูผลงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น
หรือเกิดขึ้นแล้วจะได้แก้ไขให้ทันท่วงที ไม่ปล่อยให้ปัญหานั้นมันหมักหมม เป็นดินพอกหางหมูหรือบานปลาย
ลุกลามต่อไปจนเกินจะแก้ไขหากเราปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป ซึ่งมันจะมีผลกระทบกับสิ่งอื่นๆรอบข้างได้
และอาจจะทำให้ระบบที่ตั้งไว้นั้นเสียไป เราจึงต้องใส่ใจคอยตรวจดูความแปรเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา
นี่คือหลักธรรมที่เรียกว่า"อิทธิบาท ๔"อันเป็นองค์ประกอบนำไปสู่ความสำเร็จเป็นหลักธรรมในการทำงาน
ซึ่งใช้ได้ทั้งในทางโลกและทางธรรม อยู่ที่การนำมาปรับใช้ให้เมาะสมกับจังหวะเวลาโอกาศสถานที่และตัวบุคคล....
....กลางวันทำงานโยธากรรมฐานตามปกติ
ปรับสถานที่รอบศาลาหอพระหอธรรมนำญาติโยมช่วยกันทำงาน
คอยให้กำลังใจ ให้ญาติโยมได้เห็นหน้า พูดจาสนทนากับญาติโยมที่มาช่วยงาน
นำโยมไปปรับที่ ไถที่ เตรียมดินยกร่องที่จะปลูกผัก ชวนพระเอาต้นไม้ไปปลูกรอบวัด
ตอนเย็นญาติโยมลากลับ ก็ลงไปกวาดวิหารและลานวัด ทำกิจวัตรของสงฆ์ต่อไป
ทำวัตรสวดมนต์เย็นเสร็จก็กลับขึ้นศาลา เขียนยันต์ อักขระคาถาลงตะกรุด ไว้แจกจ่ายญาติโยม
จนถึงเที่ยงคืนจึงลงไปเดินจงกรม นั่งสมาธิ อธิษฐานจิต วัตถุมงคลในพระอุโบสถ
จนถึงเวลาประมาณตีสามกว่าๆจึงได้พักผ่อนจำวัตร นอนกำหนดกายคตาดูกายจนหลับไป
 :059:แด่หลักธรรม"อิทธิบาท ๔"ที่นำมาสู่ความสำเร็จในวันนี้ :059:
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๓ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๒๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

434
ช่วงนี้กระแสการเมืองกำลังร้อนแรง
ความขัดแย้งกำลังลุกลามและขยายตัว
ซึ่งมีเหตุมาจากผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวของคนบางกลุ่ม
นำมาสู่การชุมนุมเดินขบวนประท้วงกันอย่างที่เห็นและเป็นอยู่
ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยก็ยังใช้รูปแบบเดิมๆที่ไม่แตกต่างกันในการประท้วง
จากประสพการณ์ที่เคยทำงานการเมืองภาคประชาชนมาตั้งแต่เป็นเด็กมัธยมจนจบมหาวิทยาลัย
เคยร่วมในขบวนการนักศึกษาเป็นแนวหน้าในการชุมนุมประท้วงมามากมายหลายครั้ง
จึงขอเอาประสพการณ์ต่างๆที่เคยได้ประสพพบมาในการก่อม็อบเดินขบวนประท้วงมาเล่าสู่กันฟัง
ในการประท้วงแต่ละครั้งนั้น สิ่งที่สำคัญคือจำนวนคนที่จะมาเข้าร่วมชุมนุม
คนกลุ่มแรกคือหน้าม้าที่จะต้องจัดหามาสร้างภาพหน้าเวที คนกลุ่มนี้จะสำคัญที่สุด
ในการชุมนุมแต่ละครั้งนั้นจะมีนายทุนอยู่เบื้องหลัง
ซึ่งนายทุนนั้นก็คือผู้ที่เสียผลประโยชน์จากรัฐบาลที่ครองอำนาจอยู่
หรือผู้ที่หวังผลประโยชน์จากการเรียกร้องประท้วงชุมนุม จากรัฐบาล
จึงมีการให้ทุนสนับสนุนการเงินในการประท้วงเรียกร้องแต่ละครั้ง
ส่วนคนที่รับงานมาก็จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนทั้งการเงินและชื่อเสียง
ได้มีโอกาศเปิดตัวให้คนรู้จักเพื่อหวังผลในอนาคตบนถนนนักการเมือง
และผลประโยชน์เงินค่าหัวส่วนแบ่งที่นายทุนจ่ายมาให้เป็นค่าใช้จ่ายในการชุมนุม
จึงมีการจ้างและเกณฑ์คนมาจากที่ต่างๆโดยผ่านผู้ใหญ่บ้านและหัวคะแนนของนักการเมือง
โดยใช้เล่ห์กลต่างๆหว่านล้อมและหลอกล่อเอาผลประโยชน์มาล่อให้เขาคล้อยตามเรา
ซึ่งเมื่อก่อนนั้นได้เคยกระทำมาเพราะว่ามีคนมาจ้างให้จัดการเดินขบวนประท้วง
ได้เงินมามากมายจากการประท้วงแต่ละครั้ง นำมาใช้จ่ายและซื้อของใช้ได้สบายไม่เดือดร้อน
แต่เงินนั้นเป็นของร้อน ไม่นานก็หมดไป ของที่ซื้อไว้ก็สูญหาย คนยืมไปก็ไม่คืน
...เมื่อมาบวชเป็นพระกรรมก็ตามมาทัน...
ในปี ๒๕๓๔ นั้นมีคนมานิมนต์ให้ไปจัดงานและบรรยายธรรมในจังหวัดหนึ่งของภาคใต้
ตอนมานิมนต์และมารับก็จัดรถอย่างดีมีราคามารับถึงที่บริการอย่างดีจนต้องยอมรับนิมนต์ไป
ไปวางแผนจัดงานหาเงินและบรรยายให้เขา ๙ วัน ๙ คืน จนเสร็จงาน
เมื่องานเสร็จคนที่นิมนต์มาก็หายไป ถามใครก็บอกว่าเขากลับไปแล้ว
เบิกเงินค่ารถ ค่าน้ำมัน ปัจจัยถวายพระบรรยายธรรมไปแล้ว เจ้าภาพเขาไม่เกี่ยวข้องแล้ว
ซึ่งในสมัยนั้นยังเคร่งอยู่ ปัจจัยไม่จับ รองเท้าไม่ใส่ เลยไม่มีปัจัยจะกลับวัด
ซึ่งจะเดินกลับก็ไม่ไหวเพราะไกลกับวัดที่อยู่หลายร้อยกิโล
เลยนั่งพิจารณาธรรมใต้ต้นพิกุลหน้าโบสถ์ คิดถึงกรรมที่เคยทำมา
หลอกคนมาให้ร่วมประท้วงประท้วงเสร็จเราชิ่งหนีลอยแพเขาไว้ที่สนามหลวง
ให้รัฐบาลจัดรถส่งเขากลับภูมิลำเนากันเอง เงินส่วนนั้นเราก็เอาเก็บไว้ใช้เอง
กรรมมันเลยตามทัน เป็นพระเขานิมนต์มาใช้งาน เสร็จงานก็ถูกปล่อยทิ้งลอยแพ
โยมเขาเดินผ่านไปผ่านมาเห็นเรายังนั่งอยู่ใต้ต้นพิกุลตั้งแต่เช้าจนบ่าย
ก็เลยเข้ามาถามว่ามานั่งอยู่ทำไม ไม่กลับไปวัดไปว่าละพระคุณเจ้า
ก็เล่าเรื่องราวให้โยมเขารับรู้ โยมเขาสงสารเลยรวบรวมปัจจัยเหมารถให้ส่งกลับวัด
อุทาหรณ์เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า"กรรมมีจริง ไม่ต้องรอชาติหน้า"ทำอะไรไว้ย่อมได้รับผลอย่างนั้น
 :059:ยังมีอีกมากมายหลายเรื่องเกี่ยวกับวิบากกรรมที่ประสพพบมากับตัวเอง :059:
                       นำมาเล่าสู่กันฟัง ด้วยความหวังดีและไมตรีจิต
                                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๒ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๑๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย


435
อดีตคือความทรงจำ...
ปัจจุบันคือความเป็นจริง...
อนาคตคือความฝันและจินตนาการ...
คือคำพูดและโวหารในเชิงกวีที่กล่าวกันมา
แต่ในความเป็นจริง...จงทำจิตให้หยุดนิ่ง
แล้วขจัดสิ่งที่เป็นขยะของอารมณ์ออกไป
คงเหลือไว้แต่สิ่งที่ดีมีสาระ มีประโยชน์
ไม่เป็นทุกข์ เป็นภัย เป็นโทษต่อกุศลทั้งหลาย
เพื่อให้มีความเจริญในธรรมรุดหน้ายิ่งๆขึ้นไป
...มองดูโลกที่สับสนวุ่นวายให้คล้ายดูหนังดูละคร
ทุกบททุกตอนล้วนแล้วแต่มายา ที่ถูกกำหนดมาด้วยกฏแห่งกรรม
พยายามทำจิตใจให้อยู่โลกธรรม ๘ ทวนกระแสแห่งโลกมายา
แล้วเราจะพ้นจากความทุกข์ความเศร้าความโศกจากโลกมายานี้ได้
...เพิ่มกำลังทั้ง ๕ประการ
เพื่อให้เกิดผลงานให้เป็นรูปธรรม
พร้อมที่จะนำไปถ่ายทอดเผยแผ่แก่ผู้ที่สนใจ
พยายามทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆขึ้นในจิต
เพื่อพัฒนาความคิดให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปในกุศลธรรม
จะได้นำไปช่วยเหลือผู้อื่นให้เห็นหนทางเห็นแสงสว่างเส้นทางของชีวิต
ชี้นำให้ไปขบคิดพิจารณาให้เกิดปัญญาออกจากกองทุกข์พบสุขที่แท้จริง
 :059:แด่ทุกสิ่งทุกอย่างรอบข้างกายที่ได้นำมาพิจารณาเป็นธรรมะ :059:
                     เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๒ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๓๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

436
      ตอนกลางวันทำงานตามปกติ
เจริญสติพิจารณาธรรมตามกำลังเท่าที่สติจะระลึกได้
ใช้เวลาที่ผ่านไปให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ต่อส่วนรวม...
      มองภาพภายนอกแล้วย้อนกลับเข้ามาสู่ภายใน
ถามตัวเองว่าเข้าใจกฏของธรรมชาติได้ดีเพียงใด
ทำใจได้หรือไม่กับสิ่งที่แปรเปลี่ยนไปทุกขณะ
จึงได้รู้ว่าบางครั้งเรายังหวั่นไหวสะเทือนใจบ้างเล็กน้อย
แต่ก็ปรับจิตพิจารณาได้ทัน ไม่เสพในอารมณ์นั้นนานเกินไป...
    เราจะฝืนกฏของพระไตรลักษณ์นั้นไม่ได้
ทุกอย่างมันต้องเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ
"สูงสุดย่อมร่วงโรย"นั้นคือสัจจธรรมของสรรพสิ่ง
สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือการเตรียมใจไว้สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
และพร้อมที่จะยอมรับซึ่งความเป็นจริงของสรรพสิ่งที่เปลี่ยนแปลง
   เราไม่ใช่วีรบุรุษผู้กอบกู้ทุกสิ่งได้
จงอย่าให้ความสำคัญต่อตนเองมากจนเกินไป
มันจะทำให้เราหลงตัวเองได้ถ้าหากเราประมาท
จึงต้องพยายามควบคุมความรู้สึกนึกคิดไม่ปรุงแต่งจิตจนเกินไป
ควบคุมได้มากเท่าไหร่ ความเข้าใจในเรื่องจิตก็จะมากขึ้นตามลำดับ...
 :059:ขอบคุณวันเวลาที่ผ่านไปที่ให้โอกาศได้มีลมหายใจ :059:
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๑ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๐๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
   

437
ธรรมะ / ...อจินไตย...
« เมื่อ: 21 ก.ย. 2552, 06:22:45 »
         :059:สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่าง :059:
๑.พุทธวิสัย=วิสัยของพระพุทธเจ้า
๒.ญาณวิสัย=วิสัยของบุคคลผู้ได้ฌาณ
๓.กรรมวิสัย=วิสัยที่เป็นกรรม วิบากแห่งกรรม
๔.โลกาวิสัย=ความคิดเรื่องโลกทั้งหมด
       เป็นเรื่อง อจินไตย หมายถึงวิสัยที่ไม่ควรคิดของบุคคลทั้งหลาย
สิ่งที่ควรคิดก็คือ ความพ้นทุกข์ จะทำอย่างไรให้พ้นจากทุกข์
        :059:ความไม่ประมาทเป็นคุณธรรมของนักปฏิบัติ :059:
ความไม่ประมาท พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มีอยู่ ๔ ประการ
  ๑.ไม่มมีความอาฆาตใคร
  ๒.มีสติอยู่ทุกเมื่อ
  ๓.มีสมาธิอยู่ภายใน
  ๔.บรรเทาความอยากในจิตใจ
      พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "บุคคลผู้ใดได้มีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้
บุคคลผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในคำสอนของเราตลอดกาล"
       :059:อปัณณกปฏิปทา :059:
   หมายถึงการปฏิบัติไม่ผิด ๓ อย่าง ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้
เป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติ
๑.สำรวมอินทรีย์
๒.โภชเนมัตตัญญุตา
๓.ชาคริยานุโยค
"สติ นิวารณํ เสฏฐํ =สติเป็นเครื่องกั้นบาปกรรมทั้งหลาย"
"ปิฏกํ พุทธวจนํ อาหริตฺ กถิยมานํ อุปฺปมาทํ โอตรติ=พระไตรปิฏกทั้งหมดทั้งสิ้น
อันพระธรรมกถึกได้เทศนาสั่งสอนนั้น ก็รวมลงอยู่ในที่ ความมีสติอย่างเดียว"
 :059:รวบรวมและเรียบเรียงจากพระไตรปิฏกมาบางส่วนเพื่อนำมาทำความรู้ความเข้าใจ
เพื่อใช้ในการบรรยายธรรมแก่ผู้ปฏิบัติธรรมในโอกาศต่อไป
          ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๑ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๒๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
           

438
ขอฝากไว้เป็นข้อคิด....
เรื่องนี้มาจากประสพการณ์จริงของชีวิต
ที่เกิดขึ้นกับตัวผู้เขียนเองสมัยที่บวชใหม่ๆ
ในช่วงสมัยปี ๒๕๓๐-๒๕๓๔ วงการพระเครื่องกำลังบูมและมีราคา
เพราะว่าช่วงนั้นเศรษฐกิจกำลังดี ทำให้มีกำลังที่จะเช่าบูชา
และสมัยนั้นใครบวชเข้ามาแล้วไม่สะสมพระเครื่องวัตถุมงคลถือว่าเชย
ไม่ทันสมัย คุยกับใครไม่รู้เรื่อง จึงต้องตามกระแสเขาไป คือสนใจและศึกษา
เก็บพระเครื่องและวัตถุมงคลมาบูชาไว้ในครอบครอง เพื่อเสริมบารมี
และการที่จะได้ของดีมาไว้ในครอบครองนั้น มันต้องใช้เทคนิคและลีลา
อาศัยการศึกษาค้นคว้าและสายตาที่เฉียบคมบวกกับความจำที่ดีจนมีความชำนาญ
เช่ามาบ้าง แลกเปลี่ยนกันมาบ้าง ขอเขามาบ้าง แล้วแต่จังหวะเวลาบุคคลโอกาศสถานที่
ถ้าเช่าเขามาก็กดราคาสวดเสียจนเจ้าของใจเสียจนเกิดความไม่มั่นใจและให้เช่าบูชาในที่สุด
ถ้าขอเขามาก็พรรณาถึงบุญกุศลของผู้ให้ที่จะได้รับจนเคลิ้มไปและใจอ่อนให้ในที่สุด
ถ้าเป็นการแลกเปลี่ยนกันก็สวดของเขาแล้วยกของเราให้ดีกว่า มีราคากว่า เรียกว่าต้องได้เปรียบเสมอไป
บางครั้งก็อาศัยชั้นเชิงและลีลาที่เหนือกว่า คัดเอาของฝิ่นมาแลกกันกับผู้ที่ไม่รู้และดูไม่เป็น
เพราะว่าพระบวชใหม่ๆจะเห่อตามพระรุ่นพี่ ขนเอาของดีๆที่พ่อแม่เก็บไว้มาโชว์โอ้อวด
จึงเข้าทางโจร(ในคราบผ้าเหลือง)สวดจนพระใหม่ใจเสีย และเชียร์จนพระใหม่เคลิ้ม
เวลาจะไปส่องพระก็เลือกเวลาใกล้จะมืด เพื่อให้เซียนตาลายเพราะแสงไฟสว่างไม่พอ
ตำหนิจุดตายสีสรรค์มองดูไม่ชัดเจน เรียกว่าไม่กล้าฟันธง แต่เราก็อาศัยการเชียร์ให้เขาได้ใจ
ให้เขาหลงตัวเอง ว่าตัวเองเก่ง โดยแกล้งยกให้เขาเป็นเซียนพระ ตาดี ตาถึง ดูเก่ง แม่นยำ
และแกล้งทำเป็นโง่ เหมือนคนเล่นพระดูพระไม่เป็น หลอกให้เขาตายใจ แล้วก็ตกควายเขา เชือดเขา
ทำอยู่อย่างนี้มาเป็นปีที่อยู่ในวงการพระเครื่อง จนได้พระเครื่องและวัตถุมงคลดีๆไว้ในครอบครองมากมาย
ซึ่งเป็นการได้มาโดยมิชอบ ไม่ประกอบด้วยกุศล จึงมีผลตามมา....
....ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ มีการจัดงานประกวดพระเครื่องและวัตถุมงคล
ในงานเปิดตัวโรงแรมกระบี่เมอรี่ไทร์ของท่าน อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง
ญาติโยมเขารู้ว่าเรามีพระเครื่องดีๆเก็บไว้มากมาย จึงมาขอให้ช่วยเอาออกไปประกวด
เพื่อให้งานมันครึกครื้นและมีของดีๆมาโชว์มาประกวดกันให้มากเพื่อเสริมบารมีเจ้าภาพผู้จัดงาน
ขัดคำขอร้องของญาติโยมไม่ได้จึงจำใจเอาออกไปประกวดเอาไปช่วยงานเขา
ซึ่งผลการประกวดนั้นของๆเราติดรางวัลทุกชิ้นประมาณ ๓๘ รายการ
ได้รับรางวัลที่ ๑บ้าง ที่ ๒ บ้าง ที่๓บ้างไม่หลุดรางวัลเลยทุกชิ้นที่ส่งเข้าไป
เพราะว่าเราได้คัดของที่ดีๆมีคุณภาพส่งเข้าไปประกวดทุกชิ้น
จึงได้รับรางวัลหมดทุกชิ้นมีใบประกาศใบรับรองและถ้วยรางวัลเป็นของขวัญของปลอบใจ
ทำให้พระของเรามีราคาเพิ่มขึ้นและเป็นที่สนใจของผู้นิยมสะสมพระเครื่อง
หลังจากงานประกวดก็รู้สึกกังวล จึงนำพระไปฝากไว้ที่บ้านโยมแม่เพื่อเก็บรักษา
และแล้ววิบากกรรมที่ไปเอาเปรียบโกงเขาได้ตามมา....
ปรากฏว่ามีขโมยขึ้นบ้านมาลักเอาพระและใบประกาศที่เก็บไว้ทั้งหมด
โดยไม่แตะต้องทรัพย์สินมีค่าอย่างอื่นเลย คือตั้งใจมาเอาเฉพาะพระเครื่องตามใบสั่ง
ซึ่งจะนับมูลค่าความเสียหายก็ตกประมาณเป็นหลักล้าน เพราะในสมัยนั้นวงการพระเครื่องกำลังบูมสุดๆ
ทราบข่าวจากโยมแม่ตอนแรกก็ตกใจ แค้นใจ เสียใจ แต่พอตั้งสติได้ เลยพิจารณาถึงผลกรรมที่เราทำมา
เพราะว่าของเหล่านั้นได้มาโดยมิชอบตามทำนองคลองธรรม จึงต้องรับกรรมที่เราได้ทำมา
เลยได้คิดและพิจารณาถึงที่มาของการสะสมพระเครื่องของเรา มันเหมาะกับความเป็นพระของเราหรือไม่
เพราะมันเกิดจากความอยากได้คือตัณหา และเมื่อมีการเจรจาธุระกิจมันต้องมีกำไรและได้เปรียบ
จิตใจเริ่มออกห่างจากความเป็นพระลืมสมณะรูป เพลิดเพลินไปในกิเลสและตัณหา
จึงตัดสินใจเลิกสะสมพระเครื่องและวัตถุมงคล ของที่มีอยู่นำมาแจกจ่ายตั้งกองไว้ ให้พระให้เณรเข้าแถว
แล้วเดินมาหยิบกันคนละองค์จนหมดกอง ไม่เหลือสะสมไว้อีกต่อไป
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจึงเพียงแต่ศึกษาเพื่อประดับความรู้แต่ไม่สะสมหรือซื้อหาเช่าบูชา
แล้วตั้งจิตเจตนาใหม่คือสร้างวัตถุมงคลเพื่อแจกจ่าย ถวายวัดวาต่างๆและญาติโยม
ตั้งแต่วันนั้นจนบัดนี้ ๑๗ ปีกว่าแล้วที่สร้างพระทำวัตถุมงคลแจกจ่ายเพื่อไถ่โทษไถ่บาปที่เคยทำมา
นี่คือที่มาของการทำพระและวัตถุมงคลแจกจ่ายและได้ถวายไปทั่วประเทศไทยในทุกภาค ทุกพื้นที่
...ฝากไว้เป็นข้อคิด...ของที่ได้มาโดยมิชอบนั้น มันเป็นของร้อน และจะอยู่กับเราไม่นาน
สักวันหนึ่งกรรมจะตามทันแล้วของเหล่านั้นมันจะจากเราไป เพราะมิใช่ของๆเรา
และถ้าเป็นของๆเรา ไม่ว่าอย่างไร สักวันหนึ่งก็คงได้กลับมาเป็นของเรา.....
  :059:ฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจผู้นิยมพระเครื่องและวัตถุมงคลทั้งหลาย :059:
                            ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๒๐ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๔๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

439
วันนี้เป็นวันพระแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
ญาติโยมมาทำบุญตักบาตรที่วัดพอประมาณ
ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้าแล้วญาติโยมรับศีลถวายสังฆทาน
รับสังฆทาน สนทนาธรรม ให้พรญาติโยม เสร็จแล้วฉันอาหารเช้า
เสร็จพิธีที่ศาลาหอฉันเวลาประมาณ  ๐๙.๐๐ น. จึงกลับขึ้นศาลาที่พัก
ญาติโยมทานข้าวเสร็จแล้วลงไปช่วยกันขนทรายปรับพื้นหอพระหอธรรม
ขนทรายปรับพื้นเสร็จเรียบร้อยเวลาประมาณ ๑๑.๓๐ น. ญาติโยมลากลับ
สรงน้ำแล้วออกไปลงอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์ร่วมกับพระทั้งตำบล
เพื่อพบปะพูดคุยและทำสังฆกรรมร่วมกันของพระที่จำพรรษาในเขตตำบลเดียวกัน
กลับจากลงอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์แล้วเข้าโบสถ์ขออยู่ปริวาสกรรม เข้ากรรมฐาน
เพื่อชำระศีลของเราให้บริสุทธิ์ โดยจะอยู่ปริวาสกรรม เข้ากรรมฐาน ๑๕ วัน
ซึ่งจะครบกำหนดออกอัพภาน ออกกรรมฐานในวันขึ้น ๑๔ ค่ำหน้า ก่อนวันปวารณา
เพราะว่าหลังออกพรรษาจะต้องออกไปบรรยายธรรม สอนกรรมฐานและไปร่วมงานพุทธาภิเสก
เราจึงต้องเข้าอยู่ปริวาสกรรม เข้ากรรมฐาน เพื่อชำระศีลของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน
และเพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติทบทวนสภาวะธรรมทั้งหลายที่จะต้องใช้ในการบรรยาย
เร่งความเพียรเคี่ยวจิต เพิ่มกำลังสมาธิ ทบทวนฝึกจิตในเชิงพลังงาน ให้กลับมาเหมือนเดิม
ย้ายลงไปจำวัตรปฏิบัติในพระอุโบสถ เดินจงกรม นั่งสมาธิ อธิษฐานจิตวัตถุมงคล
การอธิษฐานจิตวัตถุมงคลนั้น เราต้องจำภาพนิมิตรของวัตถุมงคลที่จะอธิษฐานจิตทุกชิ้นให้ได้ทุกชิ้น
รูปทรงสัณฐาน อักขณะเลขยันต์ สีสรรค์ มวลสาร และเจตนาในการสร้างว่าวัตถุมงคลนั้นเพื่อด้านใด
เป็นวัตถุมงคลทางเมตตามหานิยม เมตตามหาลาภ แคล้วคลาด คุ้มครอง หรือมหาอุด คงกระพัน
เพราะว่ารูปยันต์ อักขระคาถา และรูปพรรณสัณฐานของวัตถุมงคลแต่ละอย่างนั้นแตกต่างกัน
การปลุกเสกในสมัยโบราณก่อนนั้น ทางเจ้าภาพเขาจะเตรียมวัตถุมงคลที่จะปลุกเสกใส่พาน
ถวายตั้งหน้าครูบาอาจารย์ที่มาร่วมปลุกเสกทุกท่านเพื่อให้รู้ว่าต้องอธิษฐานจิตวัตถุอะไรบ้าง
และวัตถุแต่ละอย่างควรจะไปในทิศทางใด ให้เด่นด้านไหน เพราะเมื่อท่านได้เห็นวัตถุมงคลแล้วท่านจะเข้าใจ
เพื่อที่จะได้อธิษฐานจิตไปในทิศทางเดียวกันในแต่ละคาบ ซึ่งมีสัญญาญเสียงฆ้องเป็นตัวกำหนด
เริ่มเดินจิตจากอ่อนโยนคือเดินจิตจากเมตตามหานิยม เมตตามหาลาภ แคล้วคลาด คุ้มครองป้องกันคุณไสย์
มหาอุด คงกระพัน แล้วกลับมาสู่เมตตามหานิยมอีกครั้งก่อนถอนจิตออกจากอารมณ์สมาธิจบการอธิษฐาน
ซึ่งมีการเรียกรูปอาการ ๓๒ เดินธาตุ เสริมธาตุ ปลุกธาตุ เชิญเทวดามาช่วยรักษาวัตถุมงคลนั้นๆทุกชิ้น
จบด้วยการอธิษฐานจิตประจุตรึงพลังงานเพื่อป้องกันการคัดของ การสลายพลังงาน มิให้พลังงานนั้นเสื่อมถอย
และในสมัยก่อนนั้นครูบาอาจารย์ท่านจะเป็นสายเดียวกัน ศิษย์อาจารย์เดียวกัน หรือมีภูมิธรรมสมาธิที่สูง
การปลุกเสกอธิษฐานจิตจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพราะท่านมีภูมิธรรมและสมาธิที่แก่กล้าเสมอกัน
แต่ปัจจุบันงานพุทธาภิเสกส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อสร้างภาพเพื่อหวังผลเชิงพาณิชย์เป็นธุระกิจเสียส่วนมาก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการสร้างจตุคามเมื่อครั้งที่ผ่านมา หาครูบาอาจารย์ไม่ได้ก็สร้างและเชียร์เกจิใหม่ขึ้นมา
จึงมีแต่เพียงภาพ แต่ขาดซึ่งคุณภาพและพลังงาน ทำให้เกิดการเสื่อมศรัทธาโดยเร็วไว เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ
จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ท่านทั้งหลายให้คิดและพิจารณา....
           :059:ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต :059:
             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๒๐ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๑๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

440
ธรรมะ / ...อกุศลธรรม...
« เมื่อ: 19 ก.ย. 2552, 10:43:23 »
                  :059:อกุศลธรรม :059:
    อกุศลธรรมเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ที่เป็นเครื่องกีดขวางความเจริญของวิปัสนา
มีเครื่องวินิจฉัยอกุศลธรรมอยู่ ๓ ประการคือ
๑.อะกุสะลัง=ไม่เป็นกุศล
๒.สาวัชชะ=มีโทษ
๓.ทุกขวิปากะ=ให้ผลเป็นทุกข์
    องค์แห่งอกุศลธรรมได้แก่ อกุศลจิต ๑๒และเจตสิก ๒๗
อกุศลจิต ๑๒ ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ ,โทษมูลจิต ๒,โมหมูลจิต ๒,
เจตสิก ๒๗ ได้แก่ อัญญสมานเจตสิก ๑๓และอกุศลเจตสิก ๑๔
อัญญสมานเจตสิก ๑๓ ได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ และปภิณณะกะเจตสิก ๖
อกุศลเจตสิก ๑๔ ได้แก โมจตุกเจตสิก ๔,โลติกเจตสิก๓,โทจตุกเจตสิก๔,ถีทุกเจตสิก ๒และวิเอกเจตสิก๑
    อกุศลธรรมแบ่งออกเป็น ๙ กอง คือ
๑.อาสวะ ๔=สิ่งที่สั่งสมหมักดองไว้ในสันดานของสัตว์โลก
๒.โอฆะ ๔=เป็นธรรมชาติดุจห้วงน้ำที่ท่วมทับใจสรรพสัตว์ไว้
๓.โยคะ ๔=ธรรมชาติที่ประกอบสัตว์ไว้ในภพภูมิต่างๆ
๔.คันธะ ๔=ธรรมชาติที่ผูกมัดรัดจิตไว้ให้ติดอยู่
๕.อุปาทาน ๔=ความยึดมั่นถือมั่นที่เหนียวแน่นอยู่ในจิต
๖.นิวรณ์ ๕=เป็นธรรมชาติที่กั้นไว้มิให้บรรลุความดี
๗.อนุสัย ๗=เป็นธรรมชาติที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
๘.กิเลส ๑๐=เครื่องเศร้าหมองของจิต
๙.สัญโญชน์ ๑๐=เครื่องผูกมัดพันธนาการเอาไว้ในภพ
              :059:อาสวะ ๔ ประการ :059:
   อาสวะคือเครื่องมักดองอยู่ในสันดานเป็นเครื่องทำให้เสื่อม อันได้แก่
๑.กามาสวะ คือ กามอารมณ์อันได้แก่รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทางกาย
๒.ภวาสวะ คือ ความอยากได้ในภพที่เป็นอุปปัติภพและกัมมภพ
๓.ทิฏฐาสวะ คือ ความเห็นผืด เป็นมิจฉาทิฏฐิ
๔.อวิชชาสวะ คือ ความไม่รู้ เผลอ หลง ลืม เมา อยู่เสมอ
    โอฆะ ๔และโยคะ ๔ คือตัวเดียวกันกับอาสวะ ๔ เพียงแต่เปลี่ยนตัวหลัง
แต่ความหมายและลักษณะอาการคล้ายกันอันได้แก่
    โอฆะ ๔=กาโมฆะ,ภโวฆะ,ทิฏโฐฆะ,อวิชโชฆะ
    โยคะ ๔=กามโยคะ,ภวโยคะ,ทิฏฐิโยฆะ,อวิชชาโยคะ
            :059:คันธะ ๔ ประการ :059:
  คันธะคือธรรมชาติที่ผูกมัดรัดจิตไว้ให้ติดอยู่ อันได้แก่
๑.สีลัพพปรามาสกายคันธะ=ผูกมัดด้วยการถือศีลพรตนอกพระพุทธศาสนาด้วยอำนาจของทิฏฐิเจตสิก
๒.อิทังสัจจาภิทิเวสกายคันธะ=ผูกใจไว้ด้วยการถือมั่นมติความเห็นของตน ของผู้อื่นผิดหมด
๓.พยาปาทกายคันธะ=ผูกมัดใจด้วยความพยาบาทปองร้าย ด้วยอำนาจโทสจริต
๔.อภิชฌากายคันธะ=ผูกมัดใจให้เพ่งเล็งอยู่ด้วยอำนาจโลภเจตสิก
           :059:อุปาทาน ๔ ประการ :059:
  อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นที่เหนียวแน่นอยู่ในจิตใจ อันได้แก่
๑.กามุปาทาน คือ ความยึดมั่นในกาม ด้วยอำนาจโลภเจตสิก
๒.ทิฏฐปาทาน คือ ยึดมั่นในความเห็นผิดจากความเป็นจริง
๓.สีลพัตตุปาทาน คือยึดมั่นในศีลและพรตนอกพระพุทธศาสนา
๔.อัตตวาทุปาทาน คือ ยึดมั่นในวาทะของตนจนปฏิเสธเหตุผลของพระพุทธองค์
   ทั้งที่วาทะของตนไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม แม้จะทำฌานได้ก็มักจะเกิดเป็นอสัญญสัตตา
หรือเป็นอรูปพรหมตามวาทะของตนไปนิพพานไม่ได้
           :059:นิวรณ์ ๕ ประการ :059:
   นิวรณ์คือธรรมชาติที่กั้นจิตไว้มิให้บรรลุความดี อันได้แก่
๑.กามฉันทนิวรณ์ คือ ความพอใจในกามคุณทั้งหลาย
๒.พยาบาทนิวรณ์ คือ ความพยาบาทปองร้าย ความไม่พอใจ
๓.ถีนมิทธนิวรณ์ คือ ความหดหู่ท้อถอยและง่วงเหงาหาวนอน
๔.อุทธัจจะ กุกกุจจะนิวรณ์ คือ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
๕.วิจิกิจฉานิวรณ์ คือความสงสัยลังเลไม่มั่นใจ
    นิวรณ์ย่อมระงับโดยอำนาจแห่งสมาธิองค์ฌานข่มไว้คือ
๑.วิตกข่มถีนมิทธนิวรณ์
๒.วิจารข่มวิจิกิจฉานิวรณ์
๓.ปิติข่มพยาบาทนิวรณ์
๔.สุขข่มอุทธัจจะ กุกกุจจะนิวรณ์
๕.เอกัคคตาข่มกามะฉันทะนิวรณ์
            :059:อนุสัย ๗ ประการ :059:
   อนุสัยคือสิ่งที่เป็นธรรมชาตินอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน อันได้แก่
๑.กามราคานุสัย คือ ความอยากได้ในกามารมณ์ กำหนัดรักใคร่
๒.ภวราคานุสัย คือความรักใคร่พอใจในภพภูมิ
๓.ปฏิฆานุสัย คือ ความขุ่นมัวด้วยอำนาจโทสะเป็นอนุสัย
๔.มานานุสัย คือ ความถือตัวถือตน
๕.ทิฏฐานุสัย คือ ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
๖.วิจิกิจฉานุสัย คือ ความสงสัยลังเลไม่แน่ใจ
๗.อวิชชานุสัย คือ ความไม่รู้สัจจะธรรมที่แท้จริง
    การประหารอนุสัยนั้นต้องใช้ปัญญาเจตสิก การรู้แจ้งแทงตลอด
ในสภาวะธรรมทั้งปวง แล้วอนุสัยจะหายไปเอง
            :059:กิเลส ๑๐ ประการ :059:
      กิเลสคือเครื่องเศร้าหมองของจิต อันได้แก่
๑.ทิฏฐิกิเลส คือ ทิฏฐิเจตสิกความเห็นผิดเป็นเครื่องเศร้าหมอง
๒.วิจิกิจฉากิเลส คือ ความสงสัยที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง
๓.โทสะกิเลส คือ ความโกรธ ความขุ่นมัวใจที่ทำให้เศร้าหมอง
๔.โลภะกิเลส คือ ความอยากได้ที่ทำให้ใจเศร้าหมอง
๕.โมหะกิเลส คือ ความหลงลืมไม่รู้ความจริงเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ
๖.ถีนะกิเลส คือ ความหดหู่ ท้อถอยเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ
๗.อุทธัจจะกิเลส คือความฟุ้งซ่านรำคาญเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ
๘.อหิริกะกิเลส คือ ความไม่ละอายต่อบาปทำให้ใจเศร้าหมอง
๙.มานะกิเลส คือ การถือตัว ถือตนทำให้ใจเศร้าหมอง
๑๐.อโนตตัปปะกิเลส คือ ความไม่เกรงกลัวต่อบาปทำให้ใจเศร้าหมอง
    กิเลส ๑๐ ประการนี้ เป็นอกุศลเจตสิก ประกอบให้จิตเศร้าหมองขุ้นมัว
เป็นนามธรรม ควรที่จะประหารเสีย ทำลายให้สิ้นไป จึงจะถึงความสุขสงบเสวยวิมุตติ
            :059:สัญโญชน์ ๑๐ ประการ :059:
   สัญโญชน์คือเครื่องผูกมัดพันธนาการให้ติดอยู่ในภพ  อันได้แก่
๑.ทิฏฐิสัญโญชน์ คือ ความเห็นผิดอันประกอบการผูกใจให้ไหลไปสู่อบายภูมิ
๒.วิจิกิจฉาสัญโญชน์ คือ ความสงสัยเป็นเครื่องผูกใจไว้ให้ไหลไปสู่อบายภูมิ
๓.สีลพัตตปรามาสสัญโญชน์ คือ ความเห็นผิดถือมั่นศีลพรตนอกพระพุทธศาสนา
๔.กามราคะสัญโญชน์ คือ ความอยากได้ กำหนัดในกามารมณ์ผูกใจไว้
๕.ปฏิฆะสัญโญชน์ คือ โทสะเจตสิก ความทุกข์ที่กระทบใจให้ขุ่นมัวเป็นทุกข์
๖.รูปราคะสัญโญชน์ คือ อยากได้ชอบใจในรูปกรรมฐานต่างๆ
๗.อรูปราคะสัญโญชน์ คือ ความยินดีในอรูปกรรมฐานต่างๆ
๘.มานะสัญโญชน์ คือ การถือตัวถือตนเปรียบเทียบผู้อื่น
๙.อุทธัจจะสัญโญชน์ คือ ความฟุ้งซ่านกังวลใจในเรื่องต่างๆ
๑๐.อวิชชาสัญโญชน์ คือ ความไม่รู้ หลงลืม เผลอสติ....
(ยังมี อกุศลธรรม อีก ๙ ประการ ซึ่งจะนำมาอธิบายในคร้งต่อไป)
 :054:เรียบเรียงหัวข้อธรรมเรื่องอกุศลธรรมเพื่อที่จะทบทวน ทำความรู้ความเข้าใจให้แจ่มแจ้งและชัดเจน
เพื่อใช้ในการบรรยายธรรมต่อผู้ที่สนใจในการปฏิบัติที่มีพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะหลังออกพรรษาจะมีงานบรรยายธรรม
ที่เขานิมนต์ไว้หลายที่ จึงต้องเตรียมตัว ทบทวน สภาวะธรรม และปริยัติธรรม เพื่อใช้ในการบรรยาย...
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๑๙ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๒.๔๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย



441
อดีตที่ผ่านมาและวันเวลาที่ผ่านพ้นไป....
ได้พบสิ่งแปลกใหม่ที่ซ่อนอยู่ในใต้จิตสำนึก
เป็นความรู้สึกที่เราเคยมองข้ามไปไม่สนใจเมื่อครั้งที่ผ่านมา
เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต หลงผิดคิดไปว่าไม่เป็นสาระ
แท้จริงคือธรรมะ...คือสัจจธรรมของชีวิต...
....ความรู้สึกของอารมณ์ภายในจิตภาษาธรรมเรียกว่า"เวทนา"
คือสุข-ทุกข์-ไม่สุขไม่ทุกข์-ประกอบด้วยอามิส-ไม่ประกอบด้วยอามิส
คือความหวั่นไหวทางจิตของเราต่อผัสสะสิ่งที่มากระทบ
ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะจิตของเราในขณะนั้นว่ามีสติสัมปชัญญะมากน้อยเพียงใด
ภายนอกเคลื่นไหว ภายในสงบนิ่ง ก็จะเห็นความเป็นจริงของสภาวะจิต
ความวุ่นวายเราไม่ต้องออกไปแสวงหา เดี๋ยวมันก็จะมาหาเราเอง
ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เราไปถึงมันก็ไปถึงเหมือนเรา
หน้าที่ของเราคือเตรียมตัวเตรียมใจรับกับความวุ่นวายที่จะมา
ทุกขณะทุกเวลาโดยการยึดหลักธรรมเป็นเครื่องอยู่...
...การเป็นหัวหน้าหรือผู้นำนั้น
ต้องดูแลพวกพ้องบริวารให้อยู่ดีมีสุขทั่วหน้ากัน
ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ยามดีใช้ยามไข้รักษา
เดือดร้อนมาพึ่งพาอาศัยต้องช่วยเหลือกัน
ต้องยอมสละความสุขส่วนตนเพื่อคนอื่น
คือหัวใจของผู้นำซึ่งทำให้เราได้ทั้งตัวและหัวใจของผู้ร่วมงาน....
...วางแผนการงานทุกอย่างไว้ล่วงหน้า
เหลือเวลาอีกสี่สิบห้าวันจะถึงงานกฐินของวัดทุ่งเว้า
คิดเมนูอาหารที่จะต้องจัดทำเพื่อต้อนรับญาติโยมที่จะมา
นัดญาติโยมเข้ามาปรึกษาแบ่งงานกันไปทำตามความถนัด
สั่งญาติโยมเตรียมที่ทำแปลงปลูกผักที่จะต้องใช้ในงานกฐิน
เหมือนทุกปีที่ผ่านมาผักสดทั้งหลายเราไม่ต้องไปซื้อหาที่ตลาด
เพราะเราปลูกเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนงานทุกครั้ง
เมื่อถึงวันงานผักจะโตเต็มที่เก็บเกี่ยวได้พอดีทันเวลา
ญาติโยมที่มาในงานจะได้ทานผักสดๆปลอดสารพิษ
มีพริก ข่า ตะไคร้ ต้นหอม ผักชี คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน
กึ้นไฉ้ ผักสลัด ผักชีฝรั่ง ถั่วพลู ถั่วฝักยาว หอม กระเทียม
ปลูกทุกอย่างเตรียมไว้ให้พร้อม เวลาจะทำอาหารก็ไปตัดมาสดๆจากแปลง
ญาติโยมที่มาวัดก็ช่วยกันรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยที่หมักเตรียมกันไว้ไม่ใช้สารเคมี
สิ่งที่จะต้องซื้อก็มีเพียงพวกเนื้อสัตว์หมู ไก่ ปลา เพราะว่าเลี้ยงและฆ่าเองไม่ได้
ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารต้อนรับได้ประมาณปีละเป็นหมื่นบาท
และผลพลอยได้ก็คือความคุ้นเคยสนิทกันระหว่างพระกับญาติโยมและญาติโยมกับญาติโยมด้วยกัน
ผักที่เหลือหลังจากเสร็จงานก็แจกจ่ายแบ่งปันให้ญาติโยมที่มาช่วยกันทำเอากลับไปบ้าน
สอนให้ญาติโยมทำงานและรู้จักการใช้เงินอย่างประหยัด ให้รู้จักการอยู่อย่างพอเพียง
งานทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จลุล่วงไปได้ดีนั้น อยู่ที่การวางแผนไว้ล่วงหน้า
มีแนวทางของการแก้ปัญหาถ้ามันจะเกิดขึ้นมาในอนาคต มองออกให้หมด ในสิ่งที่จะทำ
แล้วความสำเร็จนั้นก็จะมาถึง.....
 :059:ขอบคุณประสพการณ์ของชีวิตที่ผ่านมาที่ทำให้ชีวิตไม่ไร้ค่าในวันนี้ :059:
                         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๑๙ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๓๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย


442
ค้นคว้าอ่านตำราศึกษาพระปริยัติ...
เพื่อหาหลักมาเทียบกับสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น
ว่าถูกต้องหรือไม่ในสิ่งที่พบเห็นและเป็นอยู่
ยึดเอาวิสุทธิมรรคมาเป็นหลักเปรียบเทียบแนวทางปฏิบัติ
เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักของพระพุทธศาสนา
ทำความเข้าใจให้ถูกต้องสอดคล้องกับหลักธรรม
โดยการใคร่ครวญทบทวนพิจารณาถึงสิ่งที่ผ่านมา
เห็นความเสื่อมและความเจริญก้าวหน้าของสภาวะธรรม
เจริญวิมังสาธรรม.....
ทบทวนสภาวะของอารมณ์กรรมฐานแต่ละกองที่เคยปฏิบัติมา
เรียบเรียงลำดับความจำสัญญาบันทึกไว้ในสมองเสียใหม่
ให้เป็นหมวดหมู่เพื่อไม่ให้สับสนกันในอารมณ์กรรมฐานแต่ละกอง
เพราะใกล้จะออกพรรษาแล้วมีงานบรรยายธรรมรออยู่
หรือในเวลาที่มีผู้ปฏิบัติธรรมมาขอคำแนะนำ คำปรึกษา
เพราะถ้าเราไม่ทบทวนบางครั้งก็จะเกิดความสับสนในสภาวะธรรม
ของแต่ละอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งอาจจะแนะนำผิดพลาดไปได้
อ่านหนังสือมากไป.....
สมองมึนงงตื้อไปหมดเลยต้องผ่อนคลาย
โดยการเคลื่อนไหวทางกาย เพื่อสลายทางจิต
กวาดถูศาลาที่พักทำงานให้เหงื่อออกแล้วจึงไปสรงน้ำ
เพื่อให้เกิดความโปร่ง โล่ง เบาขึ้นในกายและจิตของเรา
สมองรับข้อมูลบันทึกไว้มากเกินไป จึงต้องผ่อนคลาย
ตึงเกินไปก็ทำให้เครียด หย่อนเกินไปทำให้ขี้เกียจ
ทุกอย่างต้องอยู่ที่ความพอดีและความเหมาะสม
ให้ดำเนินอยู่บน...มัชฌิมาปฏิปทา... คือทางสายกลาง
จัดการบริหารทุกอย่างให้เกิดความลงตัวและเหมาะสม
ความก้าวหน้าและเจริญในธรรมย่อมเกิดขึ้น.....
 :059:เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต :059:
                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๘ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๓๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

443
บทความ บทกวี / ...เพลงดาบสายลมไหว...
« เมื่อ: 17 ก.ย. 2552, 05:53:02 »
บทที่ ๑....
...ชีวิตคือการเดินทาง
เพื่อสร้างกุศลกรรม สั่งสมบารมี
ด้วยจิตสำนึกแห่งคุณธรรม
ปรารถนาไปถึงซึ่งความพ้นทุกข์
ฝันไว้ไกลและต้องไปให้ถึง
ไม่ว่าจะใช้เวลาเดินทางกี่ภพกี่ชาติก็ตาม
จะพยายามก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง
สั่งสมกำลังบารมีให้มีอินทรีย์แก่กล้า
ความหวังที่ตั้งไว้....คงไม่ไกลเกินจริง...
บทที่ ๒...
...ไปในที่ที่เขาต้องการให้ไป
พักอาศัยแล้วใจเป็นสุข
ใจไม่ทุกข์ ทุกอย่างย่อมสบาย
ขอให้สถานที่นั้น มีความเจริญในธรรม
งอกงามเพิ่มพูนก็เป็นบุญของเราแล้ว....
บทที่ ๓...
...รู้จริง เห็นจริง
แต่สิ่งที่รู้ที่เห็นอาจะไม่จริง
อย่ารีบเชื่อในสิ่งที่เห็น
เพราะอาจจะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความงมงาย...
บทที่ ๔...
...เชื่อทันที เรียกว่างมงาย
ถ้าปฏิเสธทันที่ เรียกว่าขาดประโยชน์
ควรพิจารณา ไตร่ตรอง ให้รอบคอบ
ควรจะทดลองพิสูจน์ฝึกฝนที่ใจตน
ให้เกิดความกระจ่างชัดขึ้นด้วยใจตน
แล้วจึงจะเชื่อหรือจะปฏิเสธ...
บทที่ ๕...
...อย่าใช้ความรู้สึกนึกคิดจิตปรุงแต่งตัณหาของเรา
ไปยัดเยียดหรือผูกมัดผู้อื่น ให้สนองตอบความต้องการของเรา
เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตใคร เรามีแต่หน้าที่เท่านั้น
หน้าที่ของคนชี้ทางหรือคนนำทาง
การก้าวย่างและก้าวเดินมันเป็นหน้าที่ของเขา
เขาคือผู้กำหนดอนาคตของเขาเอง
เราคือผู้ชี้ทาง แนะนำและให้คำปรึกษา
ส่วนเขาจะทำตามหรือไม่นั้น มันเป็นเรื่องของเขา
เราทำหน้าที่ของเราสมบูรณ์แล้ว...
บทที่ ๖...
...เมื่อหยุดคิดปรุงแต่งและวางทุกสิ่งลงได้
ทั้งสิ่งที่รู้และสิ่งที่ถูกรู้ทั้งปวง
สัจจธรรมความจริงแท้ก็จะปรากฏขึ้นมาให้รู้เอง
ในความโปร่งในความว่างในความนิ่งจะมองเห็นทุกสิ่งอย่างชัดเจนชัดเจน
อุปมาเหมือนน้ำที่ขุ่นไปด้วยโคลนตมและกระเพื่อม
เราย่อมมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ในน้ำได้ชัดเจน
แต่ถ้าทำให้น้ำนั้นมันนิ่ง โคลนตมตกตระกอน
เราย่อมมองเห็นสิ่งที่อยู่ในน้ำนั้นได้ชัดเจน
ฉันใดก็ฉันนั้น จิตของเราเหมือนกัน
ต้องทำให้มันนิ่ง ให้มันโปร่ง ให้มันโล่ง ให้มันใส
แล้วเราก็จะเห็นอะไรที่เป็นสัจจธรรม...
:059:แด่อารมณ์ธรรมที่นำเอาข้อคิดที่ผ่านมา ยกขึ้นมาพิจารณาทบทวน :059:
                          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๑๗ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๗.๕๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

444
"นิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว"
วิธีการอย่างนี้ต้องใช้ให้เหมาะสมกับจังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และตัวบุคคล
มันจึงจะได้ผล ทุกอย่างต้องมีการวิเคราะห์และพิจารณาว่าควรจะทำอย่างไร
ซึ่งเราต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และแก้ไข ให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ
"สัพเพ ธัมมา อนัตตา"สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นสังขารและมิใช่สังขาร
ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ควรถือว่าเรา ว่าของเรา ว่าตัวว่าตนของเรา
"ธรรมเป็นสัจจธรรมที่อยู่คู่กับโลกและธรรมชาติตลอดมา....
แต่ความเป็นอนัตตานั้นคือการนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติ
ซึ่งเราจะไปยึดติดกับข้อใดข้อหนึ่งอยู่ตลอดไม่ได้
ต้องมีการปรับใช้ให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลาตามสถานการณ์
เพราะเงื่อนไข เหตุและปัจจัยของเหตุการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปเสมอ
ทุกสิ่งทุกอย่างจึงขึ้นกับ จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และตัวบุคคล
มาเป็นเหตุผลในการพิจารณาเพื่อจะหาข้อธรรมมาสงเคราะห์ให้เหมาะสม
....การที่เรานิ่งสงบไม่แสดงออก ไม่มีการตอบโต้ใดๆ
มันทำให้เขาอ่านใจเราไม่ออก ไม่รู้ว่าเราคิดอะไรและจะทำอะไร
แต่ถ้าเราเคลื่อนไหวเขาจะอ่านเราออกได้ว่าเรารู้สึกอย่างไร
การนิ่งสงบและการแกล้งโง่.....
บางครั้งมันบอกอะไรเราได้มากมายหลายอย่าง
เราจะได้รู้ ได้เห็นและเข้าใจในพฤติกรรมของคนรอบข้าง
ว่ามีอุปนิสัยอย่างไร ภูมิธรรม ภูมิปัญญา ระดับไหน
มันจะบอกเราได้โดยการนิ่งสงบและแกล้งโง่แกล้งบ้า
ดั่งที่เคยกล่าวว่า"นิ่งไม่เป็น โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก"
เพราะบางครั้งที่เราแสดงความคิดอวดฉลาด อวดรู้ออกไปนั้น
เป็นการเอาความโง่ของเราออกมาประจานตัวเราเอง
คำพูดและการกระทำมันสามารถที่จะนำมาวิเคราะห์ว่าเขาเป็นอย่างไร
ภูมิธรรม ภูมิปัญญาระดับไหน มาจากความจริงใจหรือว่าเป็นมายา
เมื่อเรานิ่งย่อมจะมีเวลาที่จะตั้งสติและมีสมาธิในการคิดพิจารณา
สติ สมาธิ ปัญญา คือแนวทางของการแก้ปัญหาทุกอย่างของชีวิต....
 :059:แด่ความนิ่งสงบที่จะสยบความเคลื่อนไหว :059:
                    ด้วยความปรารถนาดี
    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๑๗ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๐๐น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

445
ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป......
เมื่อใจไม่ไปยึดติดยึดถือ ความห่วงหาอาลัยก็ไมมี
อยู่กับสภาวะแห่งปัจจุบันธรรมตามวิถีที่เป็นไปในแต่ละวัน
ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ตามบทบาทและหน้าที่ที่เป็นอยู่
จิตตามดู ตามรู้ ตามเห็นในความเป็นไปของกายและจิต
มีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิตคิดให้เป็นกุศล
วันเวลาก็จะผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วเพราะใจเราไม่ไปยึดถือ
จิตโปร่ง กายเบา ไม่ซึมเซาเพราะมีอารมณ์ปิติทรงอยู่
เรียนรู้และพิจารณาทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา..................
........สังคมที่กำลังสับสนวุ่นวาย
ความรัก ความเอื้ออาทร จริยธรรม คุณธรรมอันดีงาม
การพึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ค่านิยม"พออยู่พอกิน" ของคนในสังคม
โดยเฉพาะในสังคมเมืองถูกทำลายไปอย่างย่อยยับด้วย"ลัทธิเสพสุข"
และ"ลัทธิบริโภคนิยม" จากความต้องการความสะดวกสบาย
ลุกลามไปสู่ความฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยาน และความอยากอย่างไม่รู้จบสิ้น
จนกระทั่งได้กลายไปเป็นความเชื่อและค่านิยมที่ฝังแน่นในสังคมไทย
สังคมดั้งเดิมของคนไทยได้หายไปเพราะกระแสใหม่ๆที่เกิดจากกิเลสและตัณหา
ดั่งคำที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านเคยกล่าวว่า"เมื่อศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะพินาศ"
เพราะสังคมกำลังขาดซึ่งคุณธรรม.....
 :059:แด่ความแปรเปลี่ยนไปของจิตใจมนุษย์ในยุคโลกาภิวัฒน์ :059:
                          ด้วยความปรารถนาดี
              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรรมสัญจร
๑๖ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๒๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

446
ได้จำวัตรหลับนอนตอน ๑๒.๐๐ น.
ตื่นประมาณ ๑๔.๓๐ น.ทำภาระกิจส่วนตัวเสร็จแล้วลงไปดูงาน
และเดินดูความเรียบร้อยภายในวัด อะไรขาดหรืออะไรบกพร่องจะได้แก้ไข
จนกระทั่งได้เวลาทำวัตรสวดมนต์เย็นจึงได้ลงไปศาลาเพื่อทำกิจของสงฆ์
ทำวัตรเย็นเสร็จกลับขึ้นศาลาที่พักเพื่อจารอักขระลงยันต์ในแผ่นทอง
เพื่อที่จะเอาไปทำตะกรุดฝังที่องค์พระหลวงปู่ทวดพิมพ์สี่เหลียม
แผนกทำวัตถุมงคลแจ้งมาว่ามวลสารที่ผสมไว้ทำได้อีกประมาณ ๑๐ ครก
เลยขอออกรุ่นพิเศษฝังตะกรุดไว้ใช้กันเองประมาณ ๒๕๐ องค์
ซึ่งฝังตะกรุดองค์ละ ๒ ดอก รวมแล้ว ๕๐๐ ดอก
เนื่องจากแผ่นทองที่ทำตะกรุดนั้นมีขนาดเล็กจึงลงอักขระได้เพียงตัวเดียว
จึงตัดสินใจลงตัว "พุท "และตัว "โธ"อย่างละดอกเพื่อเอาไปฝังที่องค์พระ
เขียนไปก็ภาวนา "พุทโธ"ในตัวทั้งขณะเขียนและม้วนตะกรุด
ตั้งจิตระลึกถึงพุทธานุสสติขอบารมีของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตย์ทั้งหลาย
ให้ช่วยปกปักรักษาและคุ้มครองวัตถุมงคลและผู้ที่ครอบครองวัตถุมงคลนั้น
เริ่มทำตั้งแต่ตอนทุ่มครึ่งจนกระทั่งถึงเวลา ๐๕ ๐๐ น.ของวันใหม่
เพราะทำแล้วเกิดความเพลิดเพลินจนลืมดูเวลาผ่านไปเกือบ ๑๐ ชั่วโมง
เพราะว่าเมื่อลงมือทำงานแล้วจะไม่ปล่อยให้ค้างคาคือจะทำให้เสร็จไป
เพราะเมื่อเสร็จแล้วเราจะได้ไปทำสิ่งอื่นต่อไปอีก ไม่ต้องมาคอยกังวลใจ
กับการงานที่ยังทำไม่เสร็จ" อนากุลา จะ กัมมันตา"การทำงานไม่คั่งค้างเป็นมงคลของชีวิต
และขณะที่เราทำงานนั้น จิตมันจะเป็นสมาธิ และมีอารมณ์ต่อเนื่อง
แต่ถ้าเราทำแล้วหยุดทิ้งไว้ แล้วกลับมาทำใหม่ เราก็ต้องมาเริ่มตั้งจิตใหม่
ซึ่งมันจะขาดความต่อเนื่องและสม่ำเสมอในอารมณ์....
 :059:งานเข้าอีกแล้ว......
เขียนบันทึกธรรมยังไม่ทันได้สรุป
มีญาติโยมคนป่วยมาขอความสงเคราะห์ให้ช่วยเหลือ
เพราะไปหาหมอมาทั่วแล้วแต่รักษาไม่หายและหมอก็หาสาเหตุไม่ได้ว่าเป็นโรคอะไร
ไปหามาหมดทั่งหมอหลวง หมอผ๊ หมอทรงเจ้า สุดท้ายจึงจะมาหาพระเพราะว่าหมดตัวมาแล้ว
จึงต้องสงเคราะห์ช่วยเหลือเขาไปตามกำลังและสติปัญญาของเรา
วิเคราะห์อาการของโรคตามวิชาแพทย์ศาสตร์สมัยปัจจุบัน จึงรู้ว่าเกิดจากการอักเสบของลำใส้
วิเคราะห์ต่อไปว่าทำไมรักษากับหมอหลวงจึงไม่หาย จึงรู้ว่าเกิดจากผลกรรมที่ทำมา
วิเคราะห์ต่อไปว่ากรรมอย่างนี้มีผลมาจากกรรมใด โดยการใช้จิตถามจิต แล้ววางจิตให้ว่าง
เพื่อรอรับคลื่นสัญญานของกรรมที่เขาทำมาให้ปรากฏ ขึ้นในความว่างของจิต
เป็นเทคนิคในการฝึกตัวดู ตัวรู้ ตัวเห็น โดยการป้อนข้อมูลในสิ่งที่อยากจะรู้ แล้วจึงเข้าสู่ความว่าง
สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกในความว่างนั้น คือสิ่งที่เราอธิษฐานจิตอยากจะรู้
และสิ่งที่เกิดขึ้นในอันดับต่อไปส่วนใหญ่จะเป็นการปรุงแต่งของจิต(สิ่งที่เราคิดไปเอง)
สติต้องมีความฉับไวในการบันทึกข้อมูลที่เกิดขึ้น เพราะมันเพียงชั่วระยะช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น
ที่คลื่นสัญญานในสิ่งที่เราอธิษฐานไว้มันปรากฏ นี่คือเทคนิคของการฝึกตัวดู ตัวรู้ ตัวเห็น
ส่วนสมาธิในการรักษานั้นเป็นจิตที่มีพลังงานและต้องชำนาญในเรื่องธาตุ
เพราะการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น เกิดมาจากความบกพร่องของธาตุในกายมากเกินไป หรือน้อยเกินไป
ต้องเข้าใจเรื่องการปรับธาตุ แต่งธาตุ หนุนธาตุ เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ขึ้นในกาย
ซึ่งต้องใช้สมาธิจิตที่มีพลังงาน ส่วนการดูนั้นเป็นจิตที่โปร่งโล่งเบาและว่างไม่มีพลังงาน
นี่คือกระบวนการในการฝึกจิตฝึกสมาธิเพื่อใช้งานในการสงเคราะห์ญาติโยมเพื่อสร้างบารมี
.....สงเคราะห์ญาติโยมตามหน้าที่ สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เขา ให้เขามีความหวัง
แล้วกำลังใจเขาจะกลับมา ความเชื่อมั่นศรัทธาก็เกิดขึ้น และเป็นการง่ายที่จะช่วยเหลือเขา
รักษาเสร็จแจกยาให้ไปต้มทานเพื่อช่วยเสริมและปรับธาตุในกายของเขาให้มีความสมดุลย์
กำลังใจกลับมาอาการก็ดีขึ้น หน้าตาก็แจ่มใส เพราะว่าใจเขามีกำลังขึ้นมาแล้ว
การเป็นพระนั้นต้องเข้าใจและใช้หลักจิตวิยาอยู่เสมอ..เพื่อที่จะสร้างศรัทธา...
 :059:แด่การทำงานที่คือการปฏิบัติธรรม :059:
            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๑๕ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๔๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

447
ญาติโยมลากลับตอน ๑๐.๓๐ น.
ลงไปสรงน้ำ ฉันข้าว แล้วกลับขึ้นมาพักผ่อนตอน ๑๒.๐๐ น.
ตื่นมาอีกทีเวลาประมาณ ๑๔.๓๐ น.สรงน้ำแล้วลงไปเดินดูเขาทำงานกัน
ฝ่ายก่อสร้างวันนี้เทคานเสร็จหมดทุกตัว ฝ่ายทำวัตถุมงคลทำลูกสะกดเนื้อยากัน
จนกระทั่งถึงเย็นจึงสรงน้ำแล้วลงไปทำวัตรสวดมนต์เย็นกันตามปกติ
ทราบข่าวการมรณะภาพของหลวงปู่กาหลง เขี้ยวแก้วจากบอร์ดวัดบางพระ
เกิดธรรมสังเวชในการเกิดแก่เจ็บตายของชีวิตจึงยกขึ้นมาพิจารณาเป็นกรรมฐาน
โดยการพิจารณาถึงกฏพระไตรลักษณ์ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เพื่อเตือนสติไม่ให้ประมาทในชีวิตที่เหลืออยู่ของเรา
  ...กายดับลับสูญหาย...คงเหลือไว้แต่ความดี
    ด้วยบุญบารมี...คือสิ่งที่คนจดจำ
    หลวงปู่ลาลับแล้ว...ปู่เขี้ยวแก้วบุญหนุนนำ
    สิ่งที่หลวงปู่ทำ...มีค่าล้ำเกินบรรยาย...
ขอร่วมไว้อาลัยกับการจากไปของหลวงปู่ กาหลง เขี้ยวแก้ว
ได้คิดและพิจารณาในมหาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม
การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ของสรรพสิ่ง และอารมณ์ทั้งหลาย
ได้เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความที่เข้าไปยึดถือไม่ได้
ปรับเข้าสู่พระไตรลักษณ์จนเกิดธรรมสังเวชในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ทบทวนใคร่ครวญพิจารณาสภาวะธรรมที่เคยได้กระทำและที่ผ่านมาตามสภาวะจิตในขณะนั้น
จนถึงเวลาประมาณตีสามกว่าๆญาติโยมจากกรุงเทพฯอีกคณะก็เดินทางมาถึง
เอาเต้นท์มาถวายเพื่อที่จะใช้เวลาที่มีญาติโยมมาพักจำนวนสี่หลัง
พูดคุยสนทนากันตั้งแต่เวลา ๐๔.๐๐ น. จนถึงเวลา ๑๐.๐๐ น.
ญาติโยมขอตัวไปทำธุระที่จังหวัดนครพนม แล้วจะกลับมาในตอนเย็น
การที่ได้สนทนาธรรมนั้น มันเป็นการทบทวนในสภาวะธรรมทุกครั้ง
เพราะเราต้องเข้าไปสู่สภาวะอารมณ์กรรมฐานที่เขาได้ปฏิบัติมา
เพื่อจะได้รู้ว่าเขาติดอยู่ในอารมณ์สภาวะตรงจุดไหน อะไรเป็นเหตุและอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ติดขัด
หรือสิ่งที่เขาสงสัยมันคืออารมณ์อะไร มันมีสภาวะเป็นอย่างไร เท่ากับว่าเราได้ปฏิบัติไปในตัว
ทุกอย่างแก้ไขได้โดยใช้การพิจารณาจนเป็นมหาพิจารณา....
 :059:แด่การสนทนาธรรมที่นำมาสู่การพิจารณาจนเป็นมหาพิจารณา :059:
 เชื่อมั่นและศรัทธาในพระธรรมคำสั่งสอนของพระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๑๔ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๑.๒๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย



448
วันเสาร์ที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒
ตื่นเช้าทำกิจวัตรของสงฆ์ในภาคเช้าตามปกติ
ตอนสายๆลงไปดูญาติโยมเขาทำงานกันที่หอพระ หอธรรม
ฝนตกหนักในตอนบ่ายกลับขึ้นศาลาทำความสะอาดปัดกราดศาลา
พิจารณาธรรมไปตามสภาวะปัจจุบันธรรมกำหนดดูอิริยาบทของกายในขณะทำงาน
ทรงไว้ในสภาวะธรรมจนกระทั่งสวดมนต์ทำวัตรเย็นเสร็จเวลา ๑๙.๐๐ น.
เพื่อนวิศวะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยเกษตรฯขึ้นมาเยี่ยม
โดยมีเป้าหมายที่ได้นัดกันไว้ว่าจะมาสนทนาเรื่องธรรมะปฏิบัติและสภาวะธรรม
ซึ่งคนเหล่านี้ในสมัยที่เรียนมหาวิทยาลัยนั้น ไม่เคยสนใจในธรรมะและเรื่องศาสนามาก่อนเลย
ซึ่งเหมือนกับตัวของข้าพเจ้าในสมัยนั้นที่ห่างไกลจากศาสนา ไม่เคยศึกษาและสนใจธรรมะ
แต่เมื่อข้าพเจ้าบวชเป็นพระและอยู่มาได้นาน ทุกคนจึงเริ่มจะสงสัยกันว่าอยู่ในผ้าเหลืองนานได้อย่างไร
จึงได้แวะมาเยี่ยมเยือนกัน และได้มีโอกาศที่จะกล่าวธรรมให้เขาเหล่านั้นได้รับรู้และรับทราบ
และแนะนำการประพฤติปฏิบัติให้แก่เขาเหล่านั้น จนมีความรู้และความเข้าใจในธรรม
โดยการสอนที่ไม่เน้นรูปแบบและพิธีกรรม ให้ดูที่การกระทำของกายและจิตโดยมีสติและสัมปชัญญะ
ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นมีสมาธิโดยธรรมชาติเป็นพื้นฐานอยู่แล้วทุกคน ซึ่งสมาธินั้นเกิดจากการทำงาน
การอ่าน การเรียนหนังสือ เพราะว่าคำว่าสมาธินั้นคือจิตใจที่ตั้งมั่นและจดจ่อกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเวลานาน
เพียงแต่เราเข้าไปชี้แนะเพือปรับแนวทางให้เข้าสู่หลักของพระพุทธศาสนา พวกเขาก็สามารถที่จะต่ออารมณ์ได้
เพราะบุคคลเหล่านี้มีพื้นฐานในการคิดและวิเคราะห์อยู่แล้วและเป็นพวกที่มี"ไอคิวสูง"ฉลาดในทางโลกกันทุกคน
จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากแก่การอธิบายโดยมีเหตุ มีผล มีที่มาและที่ไป และยกตัวอย่างอุปมาอุปมัยให้เห็นเป็นรูปธรรมได้
พวกเขาเหล่านั้นจึงมีความสนใจและได้เข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมากจากปากต่อปากที่เล่าสู่กันฟัง
และทุกคนก็สามารถดำเนินชีวิตทำธุระกิจและหน้าที่การงานได้ตามปกติ ไม่ขัดทั้งทางโลกและทางธรรม
แต่สิ่งที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปคือแนวความคิดและมุมมองต่อโลก รู้จักหน้าที่ ความพอดีและพอเพียง
สนทนาธรรมกันตั้งแต่เวลา ๑๙.๓๐ น. ตอบปัญหาสิ่งที่ค้างคาใจและสงสัย จนเป็นที่เข้าใจหายสงสัย
และชี้แนะแนวทางที่จะปฏิบัติต่อไปทั้งในทางโลกและทางธรรม ให้เดินไปคู่กันได้โดยไม่ขัดแย้งกัน
จากเวลา ๑๙.๓๐ น.ของวันที่ ๑๒ กันยายนจนถึงเวลา ๑๐.๐๐ น.ของวันที่ ๑๓ กันยายน
ใช้เวลาทีพูดคุยสนทนาธรรมกัน ๑๔ ชั่วโมงครึ่ง ใครง่วงก็นอนไป ใครตื่นขึ้นมาใหม่ก็สนทนากันต่อ
ตอบปัญหาทุกข้อทุกเรื่องที่สงสัย ทรงไว้ในอารมณ์ปิติที่ได้กล่าวธรรม จิตตื่นอยู่ตลอดเวลา
มีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกาย ในการคิด การพิจารณา และการตอบปัญหาธรรมะทุกข้อ
เวลา ๑๐.๓๐ น.ส่งหมู่คณะพรรคพวกเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯกัน
ลงไปฉันข้าวแล้วจึ่งกลับขึ้นมาเขียนบันทึกธรรม......
 :059:แด่ความก้าวหน้าและเจริญในธรรมของหมู่เพื่อนผู้เคยร่วมชะตากรรมกันมาในวัยเยาว์ :059:
                         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิตแด่มิตรสหาย
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๑๓ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๑.๒๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

449
วันนี้มีญาติโยมลงมาช่วยทำงานที่วัดกันมาก
เพราะเป็นงานที่ต้องใช้จำนวนคนมาก เลยบอกบุญไป
ญาติโยมลงมาช่วยขนทราย ส่งกระเบื้อง ผูกโครงเหล็ก
ลงไปทำงานร่วมกับญาติโยม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่เขา
พูดคุยสนทนาธรรมกันไปในเวลาทำงานโดยการชี้ให้เห็นถึ่งที่เรากำลังทำ
ว่ามันจะเป็นความภาคภูมิใจในวันข้างหน้า ว่าวัดนี้เราสร้างมากับมือ
ต่อไปจะได้บอกเล่าแก่ลูกหลานได้อย่างเต็มปากเต็มคำและภาคภูมิใจ
เสนาสนะในวัดทั้งหลายนี้ ญาติโยมชาวบ้านทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้าง
กำลังทรัพย์ กำลังกาย ที่ได้เสียสละกันมา คือคุณค่าทางจิตใจของญาติโยม
เขาจะมีความรัก ความหวงแหน และความผูกพันธ์ ในสิ่งที่เขาได้สร้างมา
หน้าที่ของเราคือการรวมศรัทธาของญาติโยมให้มาร่วมด้วยช่วยกัน
สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เขา ในการทำงานโดยการบอกกล่าวถึงอานิสงค์ของบุญกุศล
เอาสวนดีของทุกคนมากล่าวสรรเสริญ เพื่อให้เขาเพลิดเพลินและมีกำลังใจ
งานทุกอย่างจึงสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ไม่มีปัญหาติดขัด เพราะมีการวางแผนที่ดี
เราเป็นผู้นำของเขา เราต้องเป็นผู้คุมเกมส์ ผู้กำหนดทิศทางที่จะให้เป็นไป
โดยใช้หลักจิตวิทยา การวางแผนในการทำงาน การประสานกับทุกส่วน
การคาดการและคำนวนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการทำงาน ไว้ล่วงหน้าแล้ว
ความรอบคอบและไม่ประมาทในการคิดและการทำงานได้มาจากการที่เราฝึก"สติ"
ฝึกคิดพิจารณา กับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา ไม่ปล่อยให้ผ่านไปโดยไร้ค่า
มันจึงเป็นที่มาของการพัฒนาทางจิต มีความคิดที่ละเอียดรอบคอบขึ้น
"ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จะนำไปสู่ความสำเร็จ ความสำเร็จจะนำมาซึ่งเกียรติยศและชื่อเสียงของหมู่คณะ"
เป็นคำกล่าวที่ได้ยินมาจากอดีตท่านผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์ธานีเมื่อ สามสิบปีที่แล้ว
สมัยยังเป็นนักเรียนมัธยม ที่ท่านมักจะกล่าวให้โอวาทในตอนเช้าก่อนเข้าเรียนเสมอ
คำกล่าว คำสอนของท่านยังจำได้มาจนเท่าทุกวันนี้และนำมาปรับใช้ในการทำงานอยู่เสมอ
ตอนเย็นฝนตกหนัก ลมแรง......
เนื่องจากมีพายุเข้าที่ประเทศเวียดนาม
และมีผลต่อสภาพดินฟ้าอากาศของภาคอีสานและภาคเหนือของไทย
ฝนตกหนักมากน้ำระบายไม่ทันเอ่อล้นพื้นท่วมเข้ามาในศาลาที่พัก
ต้องตักน้ำออกจากศาลาซึ่งคาดว่ามีประมาณไม่ต่ำกว่าสองร้อยลิตร
เพราะตักออกไปถึงสามสิบกว่าถังเหลือง(ถังจุได้ประมาณสิบลิตร)
กว่าจะเสร็จก็ประมาณสองทุ่มกว่าไม่ได้ลงศาลาไปทำวัตรเย็น
ถือโอกาศทำความสะอาดล้างกวาดถูศาลาไปในตัว
ร่างกายใช้พลังงานไปเยอะเลยอ่อนเพลีย จึงสรงน้ำแล้วเข้าจำวัตร
นอนพิจารณาธรรมกรรมฐานจนหลับไป...
 :054:แด่ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของพระคุณเจ้าและญาติโยม :054:
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๑๒ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๕๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

450
สภาพอากาศแปรปรวน......
กลางวันร้อนจัดแดดจ้า กลางคืนอากาศหนาวลมแรง
ธาตุในกายปรับไม่ทันทำให้พระเกือบหมดวัดมีอาการไข้
ที่ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า"ไข้หัวลม"ซึ่งเกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศ
โยมเก็บยอดแค ดอกแค มาต้มให้ฉันเพื่อแก้อาการไข้หัวลม
ฉันยาแล้วพักผ่อนนอนดู เดินลมปรานปรับธาตุในกายให้มีสมดุลย์
จนถึงเที่ยงจึงได้ลงไปดูงานการก่อสร้างและงานฝ่ายทำวัตถุมงคล
เป็นความประมาท...
เพราะเราไปเน้นเรื่องจิต เรื่องสติและสัมปชัญญะมากเกินไป
เรื่องธาตุ เรื่องกาย ปล่อยให้มันเป็นไปตามสภาพ ขาดการดูแลเอาใจใส่
ลืมหลักการที่ว่า บริหารกาย บริหารจิต บริหารขันธ์ เราพร่องในหน้าที่
ทั้งที่เมื่อก่อนนั้นเราต้องสงเคราะห์ญาติโยมวันละไม่ต่ำกว่า ๘ ชั่วโมง
และพักผ่อนไม่เกนวันละ ๔ ชั่วโมง แต่เราอยู่ได้ไม่เจ็บไข้หรืออ่อนเพลีย
เพราะว่าเราฝึกลมปราน ปลุกธาตุ เดินธาตุอยู่ทุกวันหลังเสร็จกิจสงเคราะห์โยม
และวัยของเราที่ล่วงเลยเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้ธาตุ ให้ขันธ์ มันพร่องลง
เมื่อพิจารณาได้เช่นนั้นจึงทำการแก้ไข ปรับปรุงกายและจิตของเราใหม่
ร่างกายก็กลับมาเป็นปกติ พร้อมที่จะทำงานได้ต่อไป อาการไข้ก็หายไป
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเหมือนจะมากระตุ้นเตือนเราว่าอย่าได้ประมาทในชีวิต
กายและจิตต้องมีความสัมพันธ์กัน เราต้องบริหารขันธ์ บริหารจิต ให้เกิดความพอดี
เพราะกายนี้เราต้องใช้และอาศัย เพื่อการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง
สิ่งที่เรามุ่งหวังและตั้งใจไว้...ต้องอาศัยทั้งกายและจิตในการที่จะไปสู่จุดนั้น
 :059:แด่ธาตุ แด่ขันธ์ ในกายนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ได้พิจารณาธรรม :059:
                      เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๑๑ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๑๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

451
นั่งทบทวนพิจารณาเรื่องกระแสนิยม มงคลตื่นข่าวของชาวไทย
ซึ่งอ่อนไหวและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วตามกระแสสังคม
ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นไปเช่นนั้นคือการคล้อยตามกระแส
จึงพอจะรู้และเข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มันมีที่มาจากจริตของคนไทย
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น"ศรัทธาจริต"มีจิตใจที่อ่อนไหวเชื่ออะไรได้ง่าย
และมีพื้นฐานจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก และระบบการศึกษาของไทย
ที่สอนให้ เชื่อฟัง และทำตามผู้ใหญ่ และจดจำในสิ่งที่สอน ที่สั่ง
ทำให้เกิดการเคยชินในระบบความคิดและความจำเมื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
เพราะสังคมการศึกษาและวิถีชีวิตของคนไทยนั้นไม่ได้สอนเรื่องเหตุและผล
ไม่ได้สอนให้คิดค้น วิเคราะห์ และพิจารณา สอนแต่ให้จำได้หมายรู้เพียงอย่างเดียว
เมื่อได้พิจารณาจนได้รู้และเข้าใจ จิตก็คลายสงสัยเพราะรู้ว่า"มันเป็นเช่นนั้นเอง"
เวลาส่วนใหญ่ในตอนกลางวัน......
หมดไปกับงานโยธากรรมฐาน การทำงาน บริหารคน บริหารงาน
ประสานให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่มีปัญหาและอุปสรรค์
โดยใช้หลักการคิด วิเคราะห์และวางแผนการทำงานไว้ล่วงหน้า
มองงานทุกอย่างให้ละเอียดให้ชัดแจ้งในองค์ประกอบของงาน
ว่ามีขบวนการในการกระทำเป็นอย่างไร ใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง
ต้องใช้แรงงานมากน้อยขนาดไหน ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง
ซึ่งเราต้องคิดและวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะลงมือทำงานทุกครั้ง
คิดที่ละเรื่อง ที่ละอย่าง ให้มันจบเป็นเรื่องๆไป แล้วบันทึกไว้ในส่วนของความจำ
คือมองภาพกว้างๆแล้วมาแยกแยะออกเป็นอย่างๆเป็นเรื่องๆไป
โดยให้ความสำคัญที่เหตุและปัจจัย ว่าอะไรควรทำก่อน และทำที่หลัง
ทำในสิ่งที่คิดและทำได้ในทันที เพราะมีเหตุและปัจจัยที่พร้อม
เวลา โอกาศ สภาพดินฟ้าอากาศ และความพร้อมของบุคคลากร
ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ซึ่งเราได้วางแผนงานไว้
และมีแนวทางของการแก้ไข้ไว้ล่วงหน้า ถ้าเกิดมีอุปสรรค์และปัญหาขึ้นมา
ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากการฝึกคิด ฝึกพิจารณา โดยการมีสติและสมาธิเป็นพื้นฐาน
คือการทำจิตให้นิ่ง แล้วจะมองเห็นทุกสิ่งอย่างละเอียดและชัดเจน
ทุกอย่างสามารถที่จะฝึกฝนกันได้ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด
ขอเพียงเราเริ่มต้นและลงมือทำ.........
 :059:แด่การฝึกฝนหาเหตุและผลของสรรพสิ่งรอบกาย :059:
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๑๐ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๐๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

452
บทความ บทกวี / ....9/9/09....?
« เมื่อ: 09 ก.ย. 2552, 12:18:20 »
เช้านี้ออกไปซื้อวัสดุก่อสร้างที่ในตัวจังหวัด....
เจอคนที่รู้จักกัน เลยพูดคุยสนทนากันเรื่องสัพเพเหระ
มีตอนหนึ่ง โยมเขาถามอาตมาว่า...เช้านี้ที่วัดไม่ได้ทำพิธีเจริญพุทธมนต์หรือ..?
อาตมาเลยถามกลับไปว่า...เนื่องในโอกาศอะไรรึโยม..?
โยมตอบอาตมาว่า...วันนี้เป็นวันดี เก้าเรียงกันสามตัวเลยพระอาจารย์
วันที่เก้าเดือนเก้าปีสองพันเก้า...อะไรก็ก้าวหน้าไปหมดครับพระอาจารย์
อาตมาก็ตอบโยมเขาไปว่า...พอดีที่วัดงานมันยุ่งๆเลยไม่มีเวลาทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์จ๊ะ
และอาตมาไม่ได้นับวันเวลาแบบชาวคริสต์ เพราะปี 2009 นั้นมันเป็นคริสต์ศรักราช...
คุยกันได้สักพักก็แยกย้ายกัน เพราะทางร้านจัดของที่สั่งซื้อให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว
...9/9/09...?
มันไม่ใช่ของชาวพุทธเรา
เพราะว่า ค.ศ.2009 นั้นมันคือ"คริสต์ศักราชที่ 2009"
แต่ของชาวพุทธเราคือวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๐ปีฉลู "พุทธศักราชที่ ๒๕๕๒"
และถ้าพระเราไปเชื่อในปี ค.ศ.2009 ก็เท่ากับเราไปเชื่อและศรัทธาในศาสนาคริสต์
ผิดหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่พุทธศาสนิกชนที่ดี
แต่ที่อาตมาไม่ตอบและอธิบายโยมในตอนนั้นก็เพราะว่า...
ไม่อยากจะฉีกหน้าหรือทำให้เขาขายหน้าต่อหน้าสาธารณะชน
และมันต้องใช้เวลานานในการอธิบาย ซึ่งสถานที่นั้นไม่อำนวย
การกล่าวธรรมนั้นเราต้องดู จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่ และบุคคลเป็นหลัก
คือต้องรู้จักกาละเทศะ ว่าควรกล่าวหรือไม่ควรกล่าว และถ้ากล่าวแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร
เพราะที่วัดนั้นอาตมาได้อธิบายให้ญาติโยมที่มาได้เข้าใจแล้วในเรื่อง...9/9/09...ว่าเป็นมาอย่างไร
จึงอยากจะอธิบายและทำความเข้าใจกับท่านทั้งหลายว่า ที่ไปที่มาของ ...9/9/09 นั้นมันคืออะไร
และเราเป็นชาวพุทธควรที่จะเข้าไปยึดถือในสิ่งนั้นหรือไม่...
...........โปรดคิดและพิจารณาดู...........
       ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๙ กันย่ายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๒.๑๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

เพราะอยู่ในที่ชุมชนและมีคนจำนวนมากที่นั่งฟังกันอยู่

453
นอนตอนตีสี่กว่าๆ....
ตื่นมาเวลาประมาณ๐๖.๐๐ น.
มีญาติโยมมารอทำพิธีตั้งแต่เช้า
ทำกิจวัตรในภาคเช้าเสร็จเวลาประมาณ ๐๙.๐๐น.
ญาติโยมลงมาช่วยมุงกระเบื้องหลังคาหอพระ หอธรรม
ชักชวนพระช่วยกันซ่อมแซมกุฏิหลังเก่า รื้อพื้นกระดานกุฏิ
เพราะปลวกขึ้นมากินไม้เครื่องด้านล่างจนผุกร่อนแล้ว
ตอนบ่ายลงไปช่วยพระตำมวลสารและช่วยปั๊มพระและวัตถุมงคล
จนถึงตอนเย็นจึงได้แยกย้ายกันไปทำภาระกิจส่วนตัว
และกลับมารวมตัวกันเพื่อไหว้พระสวดมนต์ ทำวัตรเย็น
การทำงานที่ใช้แรงงานนั้น....
ทำให้เสียกำลังกาย เหนื่อย เพลีย หิว อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย
ถ้าเราไม่ควบคุมกายและจิตของเราด้วยสติและสัมปชัญญะแล้ว
อารมณ์ปฏิฆะ(ความขุ่นใจ)อารมณ์ถีนมิทธ(ความง่วง ความเกียจคร้าน)
จะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะว่าร่างกายมันอ่อนเพลีย เสียพลังงาน
เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการมันก็จะเกิดความขุ่นใจไม่พอใจ(ปฏิฆะ)
เมื่อร่างกายมันเพลียเสียพลังงานมันก็ต้องการพักผ่อน อยากจะนอน ไม่อยากจะทำงาน
ซึ่งแก้ไขด้วยการสร้างอารมณ์ปิติให้เกิดขึ้นและทรงไว้ เพื่อให้กายและจิตมีกำลัง
โดยใช้การปรุงแต่งในปุญญาภิสังขาร มาเป็นตัวสร้างซึ่งอารมณ์ปิติให้เกิดขึ้น
โดยคิดว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้คือการสร้างบารมี สร้างความดีให้กับชีวิต
คิดถึงสิ่งที่เป็นกุศลและผลประโยชน์ของส่วนรวม ของศาสนาที่จะได้รับในสิ่งที่เราทำ
มันจะทำให้เรามีกำลังใจ (ความปิติ เอิบอิ่ม ในใจเราจะเกิดขึ้น)ทำให้เรามีกำลังทำงาน
โยธากรรมฐานจึงเป็นการฝึกควบคุมจิตโดยการมีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิต
 :054:แด่การทำงานและการฝึกจิต :054:
          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๙ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๒๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย


454
ลงไปช่วยงานโยธากรรมฐาน....
ปั๊มพระ สร้างศาลาหอพระ เกือบทั้งวัน
ทำงานไปดูกายดูจิตของเราในขณะที่ทำงาน
พยายามทรงไว้ซึ่งกุศลจิต คิดถึงแต่เรื่องที่ดี
ตัดความคิดอกุศลที่เกิดขึ้นให้ดับไปอย่างรวดเร็ว
ทำให้เอิบอิ่มและเพลิดเพลินในการทำงาน
ตอนเย็นโยมจากกรุงเทพฯแวะมาเยี่ยมวัด
คุยธุระและสนทนาธรรมะกันจนเป็นที่เข้าใจ
ในสิ่งที่ญาติโยมสงสัยและค้างคาใจในการปฏิบัติธรรม
โยมมีศรัทธาปวารณาขอเป็นเจ้าภาพร่วมในกฐินสามัคคี
เพื่อนจากกรุงเทพฯโทรมาสนทนาธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติ
เห็นการพัฒนาทางจิตทางความคิดของเพื่อนที่เปลี่ยนแปลงไป
การรู้ การเข้าใจและสามารถนำธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน
โดยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติกับครอบครัวและผู้ร่วมงาน
ตามที่เคยบอกเขาไปว่าการปฏิบัติธรรมนั้นไร้รูปแบบแต่ไม่ไร้สาระ
ธรรมะอยู่ที่ใจไม่ใชการแสดงออก อยู่ที่การมีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายคุ้มครองจิต
สนทนาธรรมกันทางโทรศัพท์กันเป็นเวลานานพอสมควร
ทุกครั้งที่ได้กล่าวธรรมและสนทนาธรรมอารมณ์ปิติจะเกิดขึ้นเสมอ
ธรรมที่รู้ที่เข้าใจจะหลั่งใหลพรั่งพรูออกมาตามสภาวะธรรมที่ทรงอยู่
อารมณ์ปิติทำให้จิตตื่นกายตื่นไม่มีนิวรณ์เพราะอยู่ในอารมณ์สมาธิ
นั่งดูกายดูจิตพิจารณาธรรมจนเวลาผ่านไปจนใกล้จะสว่าง
ออกจากอารมณ์สมาธิเขียนบท...สัมโมทนียกถาให้พระที่ท่านขอมา
นอนดูกายดูจิตพิจารณาธรรมจนหลับไปกับอารมณ์กรรมฐาน....
 :054:แด่อารมณ์ปิติในธรรมที่นำมาสู่การตื่นของกายและจิต :054:
             เชื่อมั่นและศรัทธาในธรรมะของพระพุทธองค์
             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๘ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๒๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

455
    ขอนอบน้อมคุณของพระพุทธเจ้า...คุณของพระธรรมแลคุณของพระอริยะสงฆ์....
ขอกราบคารวะครูบาอาจารย์ เพื่อนสหธรรมิก ภิกษุหนุ่ม สามเณรน้อย ที่เคารพรักทั้งหลาย
ขอเจริญพร เจริญสุข เจริญธรรมบรรดาศรัทธาญาติโยมพุทธบริษัทผู้สนใจใคร่ในธรรมปฏิบัติทั้งหลาย
    ณ โอกาศนี้ถือว่าเป็นวันดี วันมงคล วันมหากุศล ที่เราท่านทั้งหลายได้มาพบปะ มาประชุมโดยพร้อมกัน
ด้วยจิตใจมุ่งมั่นมากด้วยศรัทธา ได้สละเวลา กำลังทรัพย์ กำลังกาย ขวนขวายกันมา ด้วยจิตศรัทธา
ที่จะมาร่วมประพฤติปฏิบัติธรรม รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาและฟังธรรม ขอกุศลจงน้อมนำ ให้ท่านทั้งหลาย
จงได้รับความเจริญในธรรม มีดวงตาเห็นธรรม เพื่อจะน้อมนำชีวิตไปสู่สุคตินิมิตหมายอันดีงาม
มีมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ เป็นที่สุดของชีวิต
   การปฏิบัติคือการทำหน้าที่ ที่ดีงาม ทำชีวิตของเราให้มีคุณค่า ให้สมกับว่าที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
มีเพศที่บริสุทธิ์ เพราะคำว่ามนุษย์นั้นมาจากคำว่า"มนะ"คือใจ "อุษยะ"คือความดีงาม ความสูงส่ง
รวมแล้วแปลความได้ว่าผู้มีใจสูงส่งดีงาม คือสูงจากกิเลสตัณหาและอกุศลทั้งหลาย
ดั่งที่ท่านพระอาจารย์หลวงพ่อพุทธทาสได้ประพันธ์ไว้เป็นบทกลอนว่า...
              เป็นมนุษย์    เป็นได้    เพราะใจสูง
           เหมือนดั่งยูง     มีดี        ที่แววขน
           ถ้าใจต่ำ        เป็นได้      ก็เพียงคน
           อย่าเสียที      ที่ตน        ได้เกิดมา
    ซึ่งเราท่านทั้งหลายทุกคนก็คงจะอยากที่จะได้ชื่อเป็นมนุษย์ ยากจะเป็นคนดีกันทุกคน
อย่าเพียงเกิดมาเป็นคน เพราะว่าคนนั้น มันวุ่นวายและสับสน ไม่มีที่สิ้นสุด ดั่งบทกวีที่กล่าวไว้ว่า
           คำว่าคน      คือคลุกเคล้า    ให้เข้ากัน
          สารพัน        สารพัด           จะจัดหา
          มาหล่อรวม   ร่วมไว้            ในโลก
          นี่ละนา        ที่มา              คำว่าคน
    วันนี้เราท่านทั้งหลายจึงมาทำตนของเราให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ด้วยการเพิ่มพูนซึ่งบุญกุศล
ด้วยผลแห่งทาน ผลแห่งศีล ผลแห่งการภาวนา ผลแห่งการแผ่เมตตา ที่เราท่านได้กระทำมา
จะนำพาชีวิตของเราท่านทั้งหลายให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
     ขออนุโมทนา ในศรัทธาของสาธุชนทุกท่านทุกคน ที่ได้เห็นคุณค่าของบุญกุศล
น้อมกายน้อมจิตมา ประพฤติปฏิบัติธรรมเจริญสติ เจริญภาวนา อันเป็นการปฏิบัติบูชา
ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวสรรเสริญว่าเป็นการบูชาที่น่าสรรเสริญ เป็นการกระทำที่เลิศประเสริฐ
    ฉะนั้นในโอกาศนี้ ขออ้างเอาคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ขอบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวง
ที่ได้สร้างสม อบรมมาและที่จะสร้างต่อไป บุญกุศลอันใดที่ญาติโยมทั้งหลายได้สร้างมาทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ขอบุญกุศลทั้งปวงนั้น จงมารวมกันให้มีอานุภาพยิ่งใหญ่ไพศาล อภิบาลปกป้องรักษา ให้ศรัทธาสาธุชนคนดีทั้งหลาย
ปราศจากทุกข์โศกโรคภัยและอันตรายทั้งหลาย ปรารถนาสิ่งใดที่เป็นสิริมงคล เป็นความดีงาม ความบริสุทธิ์ผ่องใส
สงบเยือกเย็น ก็ขอให้ความปรารถนาที่เป็นสิริมงคลนั้น จงสัมฤทธิ์ผล ด้วยกันทุกท่านเทอญ...ขอเจริญพร..
     ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐...........................๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐.........................๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 :054:แด่อารมณ์ธรรมในยามค่ำคืนที่จิตตื่นปิติในธรรม :054:
                ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๘ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๔.๐๐น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
   

456
ตื่นเช้าทรงอารมณ์ปิติไว้....
ปฏิบัติตัวแบบสบายๆไม่ตึงเกินไปและไม่หย่อนเกินไป
ศรัทธาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เสริมต่อ รักษาไว้ทันที
ใช้เวลาพักผ่อนด้วยการค้นคว้าตำราธรรมะ
ที่เป็นปริยัติเพื่อทำความเข้าใจในธรรมให้ถูกต้อง
ยกโพชฌงค์ ๗ ขึ้นมาพิจารณาตามลำดับชั้น
ไล่เรียงสภาวะธรรมขององค์โพชฌงค์ ๗
เชื่อมโยงไปสู่ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ที่เป็นสัมปยุตตธรรม
พิจารณาอิทธิบาท ๔ ข้อวิมังสา ทบทวนใคร่ครวญ
การปฏิบัติที่ผ่านมา และสภาวะธรรมต่างๆของกรรมฐานแต่ละกอง
ที่ได้เคยปฏิบัติมาแยกแยะหมวดหมู่ของการปฏิบัติแต่ละอย่างได้ชัดเจน
เกิดสภาวะปิติเอิบอิ่มในธรรม....
การปรุงแต่งในปุญญาภิสังขารบางครั้งก็เป็นทุกข์ได้
เพราะว่าเกินความพอดีทำให้เกิดความฟุ้งซ่านได้
จะทำอะไรก็ตามต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอดีและความเหมาะสม
ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้เป็นทุกข์เป็นโทษได้
จึงต้องพยายามควบคุมตวามคิคความอยาก
ให้อยู่ในกรอบในกฏเกณฑ์ของความพอดี
ประคับประคองจิตไว้ให้เป็นกุศลจิตตลอดเวลา
ทรงไว้ในอารมณ์ปิติกำหนดสติและสัมปชัญะ
พิจารณาธรรมตามดูตามรู้ตามเห็นในอารมณ์ที่เกิดขึ้น
ทำความรู้ตัวทั่วพร้อม โปร่ง โล่ง เบา สบาย เจริญในธรรรม...
 :054:แด่โพชฌงค์ ๗ องค์ปัญญาตรัสรู้และโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ที่เป็นสัมปยุตตธรรม :054:
                  ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาในธรรม ปรารถนาดีและไมตรีจิต
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๗ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๕๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

457
โพชฌงค์ ๗ (องค์ปัญญาตรัสรู้)
อันบระกอบด้วย..
๑.สติ...การระลึกรู้
๒.ธัมมวิจยะ...การเลือกเฟ้นธรรม
๓.วิริยะ...ความเพียรพยายาม
๔.ปิติ...ความเอิบอิ่ม
๕.ปัสสัทธิ...ความสงบอิ่มใจ
๖.สมาธิ...ความตั้งใจมั่น
๗.อุเบกขา...วางเฉยอย่างมีสติกำกับ
              ....สติ....
    สติระลึกรู้        การตั้งอยู่ของกายใจ
สิ่งที่ได้ทำไป       จงครวญใคร่ระลึกตาม
ถูกผิดคิดรอบคอบ  สิ่งใดชอบจึงทำการ
เตือนตนตลอดกาล ให้ชำนาญอย่าหลงลืม
          ....ธัมมวิจยะ....
   ธัมมวิจยะ      เลือกธรรมะให้เหมาะสม
อย่าตามค่านิยม  ของสังคมที่เห่อกัน
เหมาะสมกับจริต  และดวงจิตศรัทธามั่น
ก้าวหน้าทุกคืนวัน ธรรมะนั้นเหมาะกับเรา
                ....วิริยะ....
    ความเพียรวิริยะ    ไม่ปล่อยปละศรัทธามั่น
ทำอยู่ทุกคืนวัน        ศรัทธามั่นเร่งความเพียร
เพียรชอบประกอบกิจ อย่าให้จิตนั้นผิดเพี้ยน
ศึกษาและเล่าเรียน    ให้แนบเนียนเพียรใฝ่ดี
               .....ปิติ.....
   เมื่อจิตนั้นสงบ    ก็จะพบกับปิติ
เกิดจากสมาธิ        และดำริกุศลธรรม
เอิบอิ่มในอารมณ์    ได้ชื่นชมบุญหนุนนำ
สดชื่นในทางธรรม   กุศลกรรมนำทางดี
             .....ปัสสัทธิ....
   ผ่านพ้นจากปิติ    ปัสสัทธิย่อมตามมา
อิ่มใจสุขอุรา          มีธรรมาคุ้มครองใจ
อิ่มใจในความสุข     ไม่มีทุกข์จิตแจ่มใส
นิ่งอยู่ ณ ภายใน     เอิบอิ่มใจในธรรมา
            .....สมาธิ.....
   เอิบอิ่มแล้วสงบ    ก็จะพบสมาธิ
จิตนั้นหยุดดำริ        มีสติคุ้มกายา
ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว     สงบในจิตวิญญา
สติเป็นสัมมา          จะนำพาไม่ผิดทาง
           ....อุเบกขา....
   จิตมีอุเบกขา    หยุดไขว้คว้าแล้ววางเฉย
สติไม่ละเลย       เพราะวางเฉยด้วยปัญญา
วางเฉยละปรุ่งแต่ง จิตไม่แกว่งแสวงหา
รู้เห็นด้วยปัญญา   องค์ธัมมาสัมโพชฌงค์
          ๐๐๐............๐๐๐
 :054:แด่การพิจารณาโพชฌงค์ ๗ องค์ปัญญาตรัสรู้ :059:
                    เชื่อมั่นและศรัทธาในธรรม
        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๗ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๑.๔๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

458
    เช้ามาอากาศแจ่มใส       คือเช้าวันใหม่
อาทิตย์ที่หกกันยา
    แว่วแว่วเสียงโฆษณา      เจื้อยแจ้วแว่วมา
ชักชวนไปลงคะแนน
    เลือกตั้งสภาตำบล         ชักชวนผู้คน
ออกไปใช้สิทธิ์เสียงกัน
    วันนี้เป็นวันสำคัญ          เลือกตั้งแข่งขัน
หวังว่าได้เป็นตัวแทน
    หลายคนคิดอ่านวางแผน  จ้างหัวคะแนน
ออกไปซื้อเสียงแจกเงิน
    บางกลุ่มก็พากันเดิน       ชักชวนเชื้อเชิญ
เรียกร้องขอความเห็นใจ
    เลือกตั้งเพื่อหาคนใหม่    ที่จะเข้าไป
ทำงานใน อ.บ.ต.
    ต่างคนต่างตั้งใจรอ        ไม่นานละหนอ
เย็นนี้ก็รู้ผลกัน
    เลือกตั้งคือการแข่งขัน    แพ้ชนะกัน
มีทั้งสมหวังเสียใจ
    นี่คือเรื่องราววันใหม่       ที่มันเป็นไป
เช้าวันที่หกกันยา
    ได้ยินจากโฆษณา         จึงได้นำมา
บอกกล่าวเล่าสู่กันฟัง
.............................................
 :059:แด่เสียงโฆษณาชักชวนออกไปเลือกตั้งสมาชิก อ.บ.ต.ในเช้าวันใหม่ :059:
    ด้วยความสบายใจและไม่คิดอะไรใครจะได้ใครจะเป็นไม่สำคัญ เราก็อยู่ของเรา
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๖ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๑๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย



459
จิตเปลี่ยน กายเปลี่ยน...
จิตกับกายมีความสัมพันธ์กัน การสวดมนต์ เสียงทำนองเปลี่ยนไป
ลายมือและตัวหนังสือที่เขียนก็เปลี่ยนไป เกิดจากการปรับกายและปรับจิต
การคิด การทำงาน ก็มีสติรอบคอบละเอียดขึ้น การเดินการพูดก็สำรวมขึ้น
สติและสัมปชัญญะ หิริและโอตัปปะ มีกำลังเพิ่มขึ้น ทำให้มีความสำรวมอินทรีย์เพิ่มขึ้น
การปฏิบัติธรรมทั้งหลายนั้น.....
มีกุศโลบายเฉพาะตัว อาจจะแตกต่างกันในการทำให้จิตรวม(เป็นสมาธิ)
แต่ว่าจะเป็นวิธีใดก้ตามต้องอยู่ในหลักของพระพุทธศาสนา
คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มีองค์แห่งคุณธรรมหิริและโอตัปปะคุ้มครองอยู่
ถ้าขาดหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว สมาธินั้นจะเป็นสมาธินอกระบบของพระพุทธศาสนา
แต่ก็สามารถนำมาเป็นพื้นฐานได้ถ้าเรามีกุศลจิต ปรับจิตให้เข้ากับหลักของพระพุทธศาสนา
สมาธินั้นก็จะกลับมาเป็นสัมมาสมาธิได้ ถ้าเรารู้จักการปรับใช้และเข้าใจในความเป็นสมาธิ
อันตรายของการฝึกจิตเชิงพลังงาน.....
ก็คือตัวอัตตาและมานะพร้อมทั้งอุปาทาน
ถ้าขาดศีลวินัยและหิริโอตัปปะแล้ว จะทำให้หลงอารมณ์ได้ง่าย
หลงตัวเอง เกิดการยกตน คิดว่าตนเองนั้นเก่งเท่าครูบาอาจารย์
และจะใช้จิตในทางที่ผิดได้ จนกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ
เพราะขาดองค์แห่งคุณธรรมหิริและโอตัปปะคุ้มครองจิต
การสร้างสมบารมีทั้ง ๓๐ ประการนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของพรหมวิหาร ๔
คือต้องมีที่มาจาก เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาคุ้มครองจิต....
 :059:แต่ความเปลี่ยนแปลงทางกายและทางจิต :059:
               ด้วยจิตปรารถนาดีและไมตรีจิต
        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๖ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๔๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

460
 
           :059:กวีลำนำ ธรรมะลีลา :059:
        เสร็จกิจลิขิตถ้อย        มาเรียงร้อยบทกวี
        ยกธรรมมานำชี้          ถึงสิ่งดีที่ควรจำ
        ธรรมะมีมากมาย         มีความหมายอันเลิศล้ำ
        หากได้เอาไปทำ        ใช่จดจำเพียงตำรา
        มีธรรมนำชีวิต            สร้างดวงจิตมีคุณค่า
        รู้แจ้งมีปัญญา            จะนำพาให้รุ่งเรือง
       ไม่หลงเดินทางผิด       พาชีวิตให้ขุ่นเคือง
        ชีวิตไม่สิ้นเปลือง        ไปกับเรื่องของมายา
        รู้จักความพอดี           ชีวิตนี้จะมีค่า
        พอใจที่ได้มา            อย่าร้องหาเกินพอดี
        หิริคือละอาย             อย่ากล้ำกรายจงหลีกหนี
        สิ่งชั่วไม่ควรมี            เพราะใจนี้มันละอาย
        อีกทั้งโอตัปปะ           ก็ควรจะเร่งขวนขวาย
        เกรงกลัวต่ออบาย       คือความหมาย"เทวธรรม"
        สติระลึกรู้                นำไปสู่ซึ่งความจำ
        สิ่งที่เราได้ทำ           นั้นคือกรรมที่ทำมา
        มีสัมปชัญญะ           รู้วาระกาลเวลา
        รู้ทั่วทั้งกายา            สติมาปัญญามี
        รู้จักตอบแทนคุณ       ผู้การุณที่ปราณี
        ตอบแทนด้วยสิ่งดี      เป็นผู้ที่กตัญญู
        อ่อนน้อมและถ่อมตน  ต่อผู้คนควรเชิดชู
        นับถือผู้เป็นครู          กตัญญูต่ออาจารย์
        รักมั่นในครอบครัว      ไม่พาตัวเริงสำราญย์
        เล่นชู้สู่ชาวบ้าน          เขาประจานให้เสียคน
        กล่าวมาเพียงเล็กน้อย  ยกคำถ้อยเป็นเหตุผล
        การเกิดมาเป็นคน       จงรู้ตนรู้ประมาณ...
   :059:ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต :059:
     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๕ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๒.๐๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
                     


       
       

461
ที่ผ่านมาเราไปยึดถือสิ่งที่ไร้สาระเอามาเป็นสาระ
ทำให้เสียเวลาในการปฏิบัติธรรม การพัฒนาทางจิตเลยไม่ก้าวหน้า
เพราะมัวแต่เสียเวลาอยู่กับสิ่งไร้สาระตามกระแสของโลก
ซึ่งเมือได้ทบทวนพิจารณาดูแล้ว จึงได้รู้ว่าเราประมาทในชีวิต
การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นไปเพื่อออกจากกระแสโลก
คือให้หลุดออกจากโลกธรรม ๘ ซึ่งเป็นกระแสโลกอันได้แก่
สุข-ทุกข์...ลาภ-เสื่อมลาภ...ยศ-เสื่อมยศ...สรรเสริญ-นินทา
ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งความทุกข์ ความเร้าร้อน ความวุ่นวาย
ชีวิตในกระแสโลกนั้นดำเนินไปเพื่อสนองตอบกิเลสและตัณหา
ของตัวเราและคนรอบข้าง เป็นไปเพื่อ กิน กาม เกียรติ
ก่อให้เกิดการเบียดเบียน แข่งขัน แย่งชิง ซึ่งกันและกัน
เพื่อสนองตอบความต้องการของเราเป็นไปอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
เป็นไปเพื่อความอยากมี อยากเป็น อยากได้ เพื่อการสะสมซึ่งกิเลส
.....แต่การปฏิบัติธรรมนั้น.....
เป็นไปเพื่อการ ลดละและปล่อยวาง ทำให้ว่าง ทำให้เบา
จากทิฏฐิมานะ อัตตา กิเลส ตัณหาและอุปาทาน
เป็นไปเพื่อความไม่มี เพื่อความละวางให้จิตเราว่างจากอกุศล
เพื่อความหลุดพ้นออกจากกองทุกข์ทั้งปวง
มัมคงจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาพิจารณาตัวเรา
เรียกร้องตัวเรา บังคับตัวเรา ให้ดำเนินชีวิตไปในกรอบของศีลธรรม
ตามพระธรรมคำสอนของพระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
.....ได้เวลาแล้ว.....
 :059:แด่ความหลงใหลในกระแสโลกที่ผ่านมาของตัวเรา :059:
                   ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๕ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๑๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

462
เหตุการณ์ในอนาคตนั้น.....
เรามิอาจจะกำหนดได้ตามใจเราปรารถนา
ต้องปล่อยให้มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัย
อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เตรียมใจไว้สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง
ไม่ว่าจะมีผลในทางบวกหรือทางลบ เรายอมรับกับมันได้
ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ว่า"เสียอะไรเสียได้แต่อย่าให้ใจเสีย"
ถ้าใจเสียเมื่อไหร่ก็จบกัน อยากที่จะแก้ไขเพราะใจมันไม่สู้แล้ว
แต่ถ้าเราตั้งใจมั่นไม่หวั่นไหวเมื่อภัยมามีสติและสัมปชัญญะ
เราย่อมมีโอกาศที่จะหาหนทางแก้ไขได้ เรียกว่า"สูญเสียแต่ไม่เสียศูนย์"
เราจึงต้องฝึกจิตให้นิ่ง ให้สงบ มีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิต
โดยการเจริญสติ เจริญภาวนาให้เห็นถึงพระไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยงแท้
ความทุกข์ ความเข้าไปยึดถือไม่ได้ของธรรมชาติทั้งหลาย
ที่เราเข้าไปควบคุมมันไม่ได้ตลอดเวลา ทำให้เกิดธรรมสังเวชในกองทุกข์
เมื่อจิตเรารู้ เราเห็น เราเข้าใจ เราทำได้ ใจเราก็ไม่ไปยึดติดในสิ่งเหล่านั้น
เมื่อจิตไม่เข้าไปยึดติด ยึดถือ มันก็ไม่เป็นทุกข์ เมื่อไม่มีความทุกข์ จิตย่อมหลุดพ้น
ไม่กลับมาอีก เพราะออกจากกองทุกข์เสียแล้ว คือถึงพระนิพพาน
...พูดง่าย คิดง่าย แต่ทำได้ยาก...
เพราะว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องฝึกฝนสั่งสมบารมี
สร้างอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้นมาทีละเเล็กทีละน้อยอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีการขาดตอน
เพื่อให้สติและสัมปชัญญะมันเต็มรอบ เต็มกำลังบุญกุศลบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว
มันจึงจะถึงจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติธรรม
ต้องใช้เวลาและความอดทนในการสั่งสมบารมีอินทรีย์ให้แก่กล้า
ต้องใช้เวลาไม่รู้ว่ากี่ภพกี่ชาติ บุญบารมีนั้นจึงจะถึงพร้อม
แต่ว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น
ตราบใดที่เรายังเดินก้าวไปข้างหน้าอย่างถูกต้องและมั่นคง
จุดหมายปลายทางนั้นย่อมใกล้เข้ามาทุกขณะ
ขอจงอย่าท้อใจเลิกล้มเสียกลางคัน
จุดหมายปลายทางนั้นคงจะไม่ไกล......
 :054:แด่การประพฤติปฏิบัติที่ผ่านมา :054:
            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๔ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๒๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

463
                     ยกธรรมกล่าวอ้าง            ให้เป็นแบบอย่าง             อักษรวิธี
กาพย์กลอนโคลงฉันท์        สิ่งนั้นควรมี            เพราะเป็นของดี              มาแต่โบราณ
                     การใช้ภาษา                   สืบทอดกันมา                 ครูบาอาจารย์
เขียนให้ถูกต้อง                สอดคล้องกับงาน     เพื่อจะสืบสาน                ภาษาของไทย
                    อย่าได้มักง่าย                เพราะว่าความหมาย           มันจะเปลี่ยนไป
คิดก่อนจะเขียน                จงเพียรแก้ไข         ภาษาที่ใช้                      ตามหลักตำรา
                    คำพูดคำเขียน                 จงเพียรใส่ใจ                 ไว้เสริมปัญญา
ภาษาวิบัติ         อย่าหัดมาใช้                 ไม่ใช่ของไทย                     มันไม่งดงาม
                    เตือนจิตเตือนใจ             รักษากันไว้                     อย่าได้มองข้าม
ภาษาของชาติ      ประกาศชื่อนาม             อย่าให้เขาหยาม                 ภาษาของเรา
                     ภาษาที่ใช้                   คือภาษาไทย                   อย่าอายใครเขา
สดสวยงดงาม         ติดตามตัวเรา               อย่าให้ใครเขา                    ติฉินนินทา
                               .................................................
             :054:โปรดช่วยกันอนุรักษ์ภาษาไทยและใช้ให้ถูกต้อง :054:           
                              ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๓ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๑.๕๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย   

464
       :059:เสียงบ่น บนเถียงนา :059:
ฟ้ามืดเดือนหม่นดาวดับ          ล่วงเลยลาลับ
สิ้นแล้วซึ่งฤดูฝน
แดดจ้าแผดเผาร้อนรน           ข้าวกล้าหมองหม่น
รอฝนจากฟ้าปราณี
นาแล้งแห้งไปทุกที่              ชอกช้ำชีวี
ปีนี้คงต้องขาดทุน
ไร้ซึ่งคนช่วยอุดหนุน             ช่วยเหลือเจือจุน
ข้าวกล้ากำลังแห้งตาย
ชีวิตไร้ซึ่งจุดหมาย               โดดเดี่ยวเดียวดาย
ข้าวคงไม่พอจะกิน
ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน                หรือขายผืนดิน
สิ้นสุดชีวิตชาวนา
เหนื่อยกายเหนื่อยใจอ่อนล้า    ชีวิตผ่านมา
มีแต่แย่ลงทุกที
เพิ่มขึ้นทุกวันคือหนี้              ดอกเบี้ยทวี
ทิ้งนาหางานในเมือง
หนักเบาเอาแทบทุกเรื่อง        ชีวิตฝืดเคือง
หาได้พอใช้รายวัน
พบเห็นเป็นอยู่เช่นนั้น            เสียงบ่นรำพัน
แว่วดังมาจากเถียงนา
เหม่อมองไปบนท้องฟ้า          รอฝนตกมา
บนบานสานกล่าวอ้อนวอน
ฝนฟ้าทิ้งช่วงขาดตอน            ชาวนาเดือดร้อน
หวังพึ่งทวยเทพเทวา
นั่งบ่นอยู่บนเถียงนา              กับโชคชะตา
จึงมาเล่าสู่กันฟัง
 ..................................................
 :059:สงสารและเห็นใจแต่ช่วยอะไรไม่ได้ คงต้องหวังพึ่งเทวดา :059:
                      ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๓ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๐.๐๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
ป.ล.ไม่ได้แต่งกาพย์ฉบัง ๑๖ มานานแล้ว เลยลองแต่งดู เพื่อทบทวนความจำ

465
ตื่นนอนรู้สึกตัวขึ้นมา....
พยายามทำจิตให้ว่าง ให้โปร่งโล่งเบา
เพื่อดึงข้อมูลเก่าๆกลับมา โดยใช้อารมณ์สมาธิเป็นแนวทาง
ปรับเครื่องรับของเราให้ว่างจากข้อมูล เพื่อรอรับคลื่นที่จะเข้ามา
ซึ่งถ้าเราทำให้ว่างไม่ได้ คลื่นสัญญาณที่รับก็จะไม่ชัดเจน
ซึ่งวิธีการนี้ได้มาจากฝึกจิต ตัวดู ตัวรู้ ตัวเห็น ที่เคยผ่านมา
ภาวนาให้จิตสงบนิ่ง แล้วถอยจิตออกมา อธิษฐานจิต แล้วปรับจิตสู่ความว่าง
คือว่างจากความคิดปรุงแต่งใดๆ ลักศณะคล้ายเรากำลังเหม่อลอย
แต่สติและสัมปชัญญะนั้นคงมีอยู่สมบูรณ์กับปัจจุบันธรรม
สัญญาความทรงจำในอดีตที่อธิษฐานไว้ ที่เราอยากจะรู้ ก็จะผุดขึ้นมา
สติต้องมีความฉับไว้ในการบันทึกข้อมูลสัญญาความจำเก่าที่ผุดขึ้น
เพราะสิ่งนั้นจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่เพียงชั่วขณะ และดับไปอย่างรวดเร็ว
ดั่งคำโบราณของครูบาอาจารย์ที่ว่า"ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น"
เพราะมโนภาพหลังจากนั้นแล้วเป็นการปรุงแต่งของจิตเรา
จิตที่ใช้ในการรักษาโรค ปรับธาตูนั้น เป็นจิตหนัก จิตเชิงพลังงาน
ต้องอยู่ในอารมณ์ของฌาน อารมณ์ของสมาธิ และกสิน
ส่วนจิตที่ใช้ในการดู เพื่อให้รู้ เพื่อให้เห็น นั้นเป็นจิตเบา
คือความว่างในอารมณ์สมาธิ ซึ่งเป็นความว่างภายใน
เหมือนขวดน้ำที่ว่างเปล่า ภายในไม่มีน้ำอยู่ แต่ยังมีรูปทรงของขวดอยู่
ขวดคือสมาธิที่ทรงไว้ ภายในขวดที่ว่างเปล่าไม่มีน้ำคือความว่าง
ส่วนความว่างในอารมณ์วิปัสสนานั้น เป็นความว่างเปล่า
ไม่มีน้ำ ไม่มีขวดน้ำ ดัง่โฉลกธรรมของท่านเหวยหล่างที่กล่าวไว้
"ไม่มีต้นโพธิ์ ไม่มีกระจกเงา" นั้นคือความว่างในอารมณ์วิปัสสนา
ฟื้นสัญญาข้อมูลเก่าได้สำเร็จ บันทึกเสร็จก่อนเที่ยงวัน
ออกไปตลาดเพื่อซื้อไม้มาทำเชิงชายและป้านลม
กลับมาถึงวัดมีญาติโยมมารออยู่เพื่อขอความช่วยเหลือ
สงเคราะห์ญาติโยมเสร็จเวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น.แล้วลงศาลาไปทำวัตรเย็น
กลับขึ้นศาลาเพื่อมาโพสกระทู้บันทึกธรรมตั้งแต่เวลา ๑๙.๔๕ น.
กว่าจะเสร็จครบที่ขาดหายไปก็เวลา ตีสองกว่าของวันใหม่
ลงไปสรงน้ำ เพื่อให้ร่างกายสดชื่นแจ่มใส แล้วจึงเข้าจำวัตร
นอนภาวนาดูกายจนหลับไป...เอาสติคุมกายไว้ในเวลานอน
เพื่อที่จะไม่ให้ฝันและจิตจะไม่ออกไปท่องเที่ยวในยามที่เราหลับ....
 :054:ขอบคุณมิตรสหายทั้งหลายที่ให้กำลังใจมาตลอดเวลา :054:
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๓ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๑๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

466
ตั่งแต่ตืนนอนมา....
ใช้เวลาอยู่กับการทบทวนระลึกนึกถึงสิ่งที่ผ่านมา
ซึ่งวันนี้ก้าวหน้ากว่าเมื่อวาน เพราะมีประสพการณ์มาแล้ว
จึงทำได้ง่ายกว่าที่ผ่านมาเพราะว่าเรารู้ทางแล้ว
วันนี้เลยกล้าลงไปทำวัตรเช้า-เย็นที่ศาลา
กล้าที่จะออกไปเดินดูงานการก่อสร้างและสนทนากับพระกับโยม
เพราะว่าเราจำทางเดินของจิตได้แล้ว ว่าจะต้องตั้งอารมณ์อย่างไร
เพื่อให้จิตไปสู่จุดนั้น อารมณ์ที่เราต้องการ และการอธิษฐานจิต
ออกไปตลาดเพื่อซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำพระ
ซึ่งหมดลงพอดีและจำเป็นที่จะต้องใช้ในวันนี้
เพราะถ้าของขาดไปก็ต้องหยุดพักการทำพระกัน
และแผนกทำพระทำวัตถุมงคลนั้นกำลังมีศรัทธา
เรียกว่าเครื่องกำลังร้อน กำลังเพลิน กำลังเข้าที่
ถ้าหยุดพักไปอารมณ์ของท่านเหล่านั้นจะไม่ต่อเนื่อง
ต้องมาเริ่มสร้างอารมณ์กันใหม่ ซึ่งกว่าจะเข้าที่ก็ต้องใช้เวลา
ซึ่งจัดว่าโชคดีที่งานหลวงก็ไม่ขาด งานราษฎร์ก็ไม่เสีย
ทันเวลาได้ทั้งทางโลกและทางธรรม ส่วนตัวและส่วนรวม
เหมือนกับคำที่ว่า"ทุกข์ไม่มา ปัญญาไม่มี บารมีไม่เกิด"
คือถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นให้สะเทือนใจแล้ว
เราจะกินแต่ของเก่า รักษาทรงไว้แต่ของเก่า
ไม่ได้สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาไม่ได้พัฒนาทางจิต
แต่พอมีเรื่องให้คิด ให้พิจารณา มีปัญหาให้แก้ไข
เราได้ฝึกจิตตัวใหม่ขึ้นมาทุกครั้งและเป็นอย่างนี้ตลอดมา
ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติธรรมมา เจอเรื่องแบบนี้มาตลอด
"ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม" คือคติธรรมประจำใจ...
 :059:ขอบคุณเหตุการณ์ทั้งหลายที่สอนให้ได้พัฒนาทางธรรม :059:
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๓ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๑.๔๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

467
ใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่คนเดียว....
กำหนดสติเจริญภาวนาเพื่อให้จิตสงบ
แล้วยกจิตขึ้นทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมา
ในเวลาสิบวันที่ผ่านพ้นไปว่าเราได้ทำอะไร คิดอะไรไว้บ้าง
ไล่เรียงมาที่ละวันพอระลึกนึกได้ก็จดบันทึกไว้ที่ละวัน
ทำอยู่อย่างนั้นตั้งแต่ตื่นนอนมา จนหลับไป
ขอโอกาศพระที่อยู่ด้วยกันไม่ลงไปศาลา
ไม่ได้ทำวัตรเช้าและวัตรเย็นเพราะอารมณ์กำลังต่อเนื่อง
กลัวว่าถ้าทิ้งไปคงยากที่จะฟื้นขึ้นมาใหม่ เลยตัดใจหยุดทำกิจหนึ่งวัน
การที่จะฟื้นความทรงจำเรื่องอารมณ์ความคิดนั้นเป็นเรื่องยากมาก
เพราะมันเป็นเรื่องภายในใจเป็นนามธรรม ไม่ใช่พฤติกรรมภายนอก
มันไม่มีหลักฐานและไม่มีพยานที่จะมายืนยันว่าเราได้คิดอะไรไปบ้าง
จะถามใครปรึกษาใครก็ไม่ได้เพราะมันเป็นความรู้สึกภายในของเราคนเดียว
จึงต้องใช้สมาธิ ทำจิตให้นิ่ง ให้โปร่งโล่งเบา แล้วย้อนจิตกลับไปสู่วันเวลาดังกล่าว
ใช้การอธิษฐานจิต ต้องทำจิตให้ว่างจากการปรุงแต่ง จับเอาความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น
และต้องบันทึกไว้ในความทรงจำ เพื่อที่จะนำมาเขียนเป็นตัวอักษร
ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยหลักธรรม....
 :059:ขอบคุณเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทำให้ได้ฝึกจิตได้ทบทวน :059:
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๓ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๑.๑๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
               

468
สับสนและมึนงง...
กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบอร์ดวัดบางพระ
เพราะข้อมูลบางอย่างนั้นหายไปไม่ได้เก็บเซฟไว้
บันทึกธรรมที่เขียนไว้นั้นถูกลบไป จะทำอย่างดี
ประกาศขอความช่วยเหลือ เผื่อมีใครเก็บเซฟไว้
ถ้ามีจะได้เขียนต่อไป หรือถ้าไม่มีจะหยุดเขียนไว้เพียงเท่านี้
หรือจะเขียนขึ้นมาใหม่ แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะจำได้หมดหรือไม่
มึนงงและสับสนอยู่เป็นเวลานาน......
หลังจากทำใจได้แล้ว ตั้งสติใหม่.....
ได้เห็นอารมณ์ความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาจากใต้จิตสำนึก
ทำให้รู้ว่าลึกๆแล้วในใจของเรานั้นมันมีความน้อยใจและเสียใจ
เพราะเราไปหวังและตั้งใจไว้มากเกินในสิ่งนั้น
และเมื่อมันไม่ได้ดั่งใจเรา เหมือนที่เราอยากจะให้มันเป็น
อารมณ์ความรู้สึกนั้นจึงผุดขึ้นมา....
สิ่งนั้นคือตัณหาที่ซ่อนตัวอยู่ในจิตของเรา
โดยที่เราไม่รู้ไม่เห็นและคิดว่ามันไม่มี อยู่ในจิตใจของเรา
อารมณ์ความรู้สึกใต้จิตสำนึกนั้นอันตราย น่ากลัวมาก
ถ้าเราตามมันไม่ทัน เราอาจจะหลงทาง หลงอารมณ์ เพี้ยนไปได้
เพราะตอนที่มันตั้งอยู่นั้นเรารู้ไม่เท่าทันมัน และไม่เห็นมัน
มันเป็นสิ่งที่อันตรายและน่ากลัวสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม
เพราะบางครั้งเหมือนคนสละแล้วทุกอย่าง
ไม่ยึดติด ไม่ยึดถือ แม้นชีวิตก็สละได้ มันไม่เอาอะไรแล้ว
แต่เมื่อเราได้มองย้อนกลับไปหาเหตุแล้ว
มันไม่ใช่ของจริงเพราะมันไม่ได้เกิดจากกุศลธรรม กุศลจิต
แต่มันเกิดจากอุปกิเลส ๑๖ ที่ซ่อนอยู่ในจิต
บุญยังมีที่สติสัมปชัญญะกลับคืนมา พิจารณาได้ทันเวลา
ไม่ปล่อยจิตไปกับอารมณ์เหล่านั้นให้มันมีกำลังมากขึ้น
คิดถึงสภาพจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกของคนที่กำลังจะฆ่าตัวตาย
ก่อนที่จะฆ่าตัวตายนั้นเขามีอารมณ์ความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ เบื่อหน่าย ท้อแท้
มันมีกำลังเพิ่มขึ้นๆและเข้าครอบงำเขา จนเกินไป ยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
ไม่มีใครมาให้สติเขา เตือนเขา ให้อารมณ์เขาเปลี่ยน มันเลยเป็นเช่นนั้น.....
 :059:แด่อารมณ์ความรู้สึกใต้จิตสำนึกที่ผุดขึ้นมา :059:
           เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๓ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๐.๕๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

469
สภาพดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ ฝนตกหนัก
จิตเกิดปฏิฆะต่อสภาพดินฟ้าอากาศ
สติระลึกได้ทัน เห็นการเกิดของอารมณ์ความรู้สึก
เจาะลึกเห็นการเกิดของอารมณ์ปฏิฆะนั้น
พิจารณาธรรมตามสภาวะเกิดความรู้ความเข้าใจในธรรม
ในสภาพของดินฟ้าอากาศว่า"มันเป็นเช่นนั้นเอง"
เพราะว่าฤดูนี้เป็นฤดูฝน อยู่ในช่วงเข้าพรรษา
ฤดูฝนย่อมมีฝนตกเป็นเรื่องธรรมดา
พระเข้าพรรษาก็เพราะว่าเป็นฤดูฝน
ฤดูฝนถ้าไม่มีฝนตก ก็ผิดธรรมชาติของฤดูฝน
เหตุผลง่ายๆแต่เรามองข้ามไป ไม่ได้พิจารณา
เรากลับเอาตัณหาความต้องการของเรามาเป็นอารมณ์
มันก็เลยทำให้เกิดความทุกข์ใจ แต่เมื่อเราระลึกได้
รู้เท่าทัน ความทุกข์อันนั้นก็สลายไป
จิตใจปลอดโปร่งโล่งเบาไม่หนักอกหนักใจไร้ความกังวล
เพราะเราวางอารมณืนั้นได้แล้ว ไม่แบกไม่ถือ เลยไม่หนัก
"ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ..ย่อมดับไปที่เหตุ"
เห็นจริงตามธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้
ใจเกิดสภาวะปิติ ซาบซึ้งในพระธรรม
ศรัทธาปสาทะในธรรมะของพระพุทธองค์
เชื่อมั่นในพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมคำสอน
เหตุเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อได้คิดพิจารณา
ย่อมนำมาซึ่งความเจริญในธรรม.....
 :059:ขอบคุณสายฝนที่ตกมา..ขอบคุณอารมณ์ปฏิฆะที่เกิดขึ้น :059:
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๓ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๐.๑๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

470
คนที่เขาคิดว่าตัวเขาเป็นปราชญ์
เป็นผู้ฉลาดในทางโลก มีความรู้ความสามารถ
เป็นครูบาอาจารย์ เป็นนักวิชาการทางโลก
มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เป็นทีรู้จักของคนทั่วไปนั้น
เมื่อเข้าสู่ทางธรรมต้องถอดวางให้หมดเสียก่อน
เพราะส่วนใหญ่เมื่อมาศึกษาธรรมะแล้วก็เป็นได้เพียงนักวิจารน์ธรรม
เพราะชื่อเสียงและศักดิ์ศรี อัตตามันมาบังอยู่ จึงทำให้ไม่รู้สภาวะธรรมที่แท้จริง
คนฉลาดกับคนมีปัญญานั้นแตกต่างกัน ภาษาโลกและภาษาธรรมความหมายต่างกัน
ความฉลาดและมีปัญญาทางโลกนั้นวัดกันด้วยไอคิวสมอง
แต่ความฉลาดและปัญญาทางธรรมนั้นรู้กันที่ใครมีสติและสัมปชัญญะมากกว่ากัน
ปัญญาทางโลกนั้นรอบรู้ในเรื่องนอกกายและการจำได้หมายรู้
ส่วนปัญญาทางธรรมคือรอบรู้ในกองสังขาร รู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้การกระทำ
มีองค์แห่งคุณธรรมหิริโอตัปปะ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาปคุ้มครองอยู่
ความหมายของศัพย์ในภาษาโลกและภาษาธรรมจึงแตกต่างกัน
ฉะนั้น เพียงแต่ศึกษาธรรมะในเชิงปริยัติ ก็อย่าคิดว่าเข้าใจหมดแล้ว รู้หมดแล้ว
เพราะการเข้าใจโดยการตีความ การวิภาค วิจารน์ธรรม
โดยเอาอัตตาของตนเข้าไปวิเคราะห์ธรรมนั้นยังไม่ถูกต้อง
อย่าพยายามตีความขยายความเพื่อรองรับและเข้าข้างความคิดของตนเอง
การศึกษาและการปฏิบัติธรรมนั้น มีหลักที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้
ต้องทำตามหลักศึกษาตามหลัก ตามลำดับขั้นตอนไป
ซึ่งธรรมะทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะไม่มีการขัดแย้งกัน
แต่จะสงเคราะห์และอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นเหตุและผลซึ่งกันและกัน
เพราะฉะนั้น เราต้องปรับความรู้ความเข้าใจของเราเข้าสู่หลักธรรม
ไม่ใช่ตีความขยายความหลักธรรมให้มารองรับความคิดเห็นของเรา
สิ่งที่รู้ สิ่งที่เห็น สิ่งที่เข้าใจ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า
ไม่มีการขัดแย้งกัน สงเคราะห์กันได้กับธรรมทุกหมวดหมู่
สิ่งที่รู้ สิ่งที่เห็น สิ่งที่เข้าใจ นั้นจึงถูกต้องตามหลักธรรม....
 :059:แด่ความเห็นในทางธรรมที่แตกต่างกัน :059:
        เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๒ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๓.๔๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

471
ฤดูกาลแห่งพรรษาผ่านมาเกือบสองเดือนแล้ว
รู้สึกธรรมดากับวันเวลาที่ผ่านไปเพราะว่าใจเราไม่ได้มีความกังวล
สมัยเมื่อแรกบวชนั้น เรายังทำใจไม่ได้ ไม่เข้าใจธรรม ไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่
พอถึงฤดูเข้าพรรษา ใจเรามันเร้าร้อน มีความกังวลกับวันเวลา
นั่งนับวัน นับคืน ดูปฏิทิน อยากจะให้ถึงวันออกพรรษาเร็วๆ
เพื่อจะได้เดินทางท่องเทียวเปลี่ยนสถานที่ ไปหาครูบาอาจารย์ต่างๆ
แต่เมื่อรู้ เมื่อเข้าใจ ความรู้สึกเช่นนั้นก็หายไป ใจก็สบาย ไม่กังวล ไม่รุ่มร้อน
มีบ้างในบางครั้งที่จิตเกิดปลิโพธถึงหมู่คณะ ถึงการงาน ถึงกาลเดินทาง
แต่เราสามารถตัดอารมณ์เหล่านั้นได้เร็วขึ้นไม่ปล่อยให้มันอยู่นาน
เพราะจิตได้ผ่านการฝึกฝนอบรมควบคุมมามากขึ้น
ทำให้รู้ภาระและหน้าที่ว่าเวลานี้เราควรจะทำอะไรและคิดอะไรในตอนนี้
เพราะบางอย่างนั้นเราคิดปรุงแต่งไป ก็ทำไม่ได้ในตอนนี้
จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่ และบุคคลมันยังไม่พร้อม
เหตุและปัจจัยยังไม่เอื้ออำนวย คิดไปก็เสียเวลาเปล่า
เอาสมองมาคิดอยู่กับปัจจุบันธรรมสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ดีกว่า
ถามตัวเองเสมอว่า......
วันเวลาที่ผ่านไป เราได้อะไรจากวันเวลา
และคุ้มค่ากับวันเวลาที่ผ่านไปหรือไม่
เพื่อไม่ให้เราหลงกับวัยและเวลา
ชีวิตที่เหลืออยู่จะได้เร่งสร้างคุณค่าให้กับชีวิต
แม้นเพียงสักน้อยนิดก็ยังดีกว่าที่จะไม่ได้ทำอะไร
ไม่ได้หวังว่าจะต้องได้ในชาตินี้หรือชาติหน้า
เพียงแต่ตั้งใจว่าจะทำเรื่อยๆไป ถึงเมื่อไหร่ไปเมื่อนั้น
จะไม่สร้างความกดดันให้กับตัวเองเหมือนที่เคยผ่านมา
เพราะว่าจะทำให้เกิดอาการเกร็ง เพราะไปเคร่งแล้วมันจะเครียด....
 :059:ขอบคุณลมหายใจที่ยังมีอยู่และขอบคุณกาลเวลาที่ให้โอกาศ :059:
                     เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๒ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๓.๑๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย


472
"เบื่อกับอยากเป็นของคู่กัน"
เมื่อความอยากเกิดขึ้นจิตก็ดิ้นรนขวนขวาย
หาเหตุและปัจจัยมาสนองตอบความอยาก
ถ้าสนองตอบตัณหาความอยากได้ จิตก็ยินดี
ถ้าไม่ได้ตามที่ปราถนา จิตมันก็เกิดปฏิฆะ
และเมื่อเสพในความอยากจนเต็มที่แล้ว
จิตมันก็จะเบื่อในอารมณ์นั้น ความอยากในสิ่งอื่นก็เข้ามาแทนที่
เป็นเช่นนี้เรื่อยมาคือ"อยากๆเบื่อๆแล้วก็เบื่อๆอยากๆ"
ตามกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงของอารมณ์
ถ้าเราไม่รู้เท่าทันอารมณ์เหล่านี้ ชีวิตของเราก็จะไม่มีความสุข
เพราะเราต้องดิ้นรนขวนขวายหาปัจจัยมาสนองตอบตัณหาไม่สิ้นสุด
แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์
รู้เท่าทันอารมณ์ รู้จักข่มกิเลส ดับตัณหาลงได้
ใจเราก็จะไม่เร้าร้อนไม่วุ่นวายทุรนทุรายเพราะตามใจกิเลส
การที่จะข่มกิเลส ดับตัณหาลงได้นั้น ต้องอาศัยปัญญา
การคิดพิจารณา ให้เห็นทุกข์ เห็นโทษของกิเลสตัณหา
จนเกิดความเกรงกลัวและละอายในกิเลสตัณหานั้นขึ้นในจิต
มันจะเกิดความยับยั้งขึ้นในจิตทำให้เราไม่กล้าคิดและกล้าทำ
องค์แห่งคุณธรรมได้เกิดขึ้นในจิตของเราแล้ว
และถ้าเราเพียงแต่คิดได้ แต่ยังทำไม่ได้นั้น
แสดงว่าเรายังอ่อนกำลัง ยังเป็นผู้พ่ายแพ้
แพ้ต่อกิเลส แพ้ต่อตัณหา ยังเป็นผู้ห่างไกลจากองค์ธรรม
เป็นได้เพียงใบลานเปล่า เป็นเช่นภาชนะที่มีรอยรั่ว
มีประโยชน์ใช้สอยเพียงน้อยนิด...เพราะคิดแต่ไม่ทำ....
 :059:ขอบคุณกิเลสตัณหาที่มาเป็นแบบทดสอบอารมณ์ :059:
              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๒ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๒.๔๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย


473
อายุพรรษาเพิ่มขึ้นทุกปี.....
จากหลวงพี่ เป็นหลวงน้า เป็นหลวงอา เป็นหลวงพ่อ เป็นหลวงลุง
สูงขึ้นทุกปีแต่อายุ ส่วนภูมิธรรมนั้นคงที่มีแต่ทรงไว้และเสื่อมไป
ของใหม่พัฒนาขึ้นช้ามาก หากินอยู่กับของเก่าๆที่เคยได้มา
ทบทวนดูแล้วละอายแก่ใจ สูงขึ้นเร็วแต่วัย แต่ภายในพัฒนาช้ามาก
นับว่าเป็นโอกาศดีของเราที่หลุดออกจากจุดนั้นมาได้
มาใช้ชีวิตอย่างที่เราปรารถนา คืนมาสู่ความเป็นสามัญ
มีเวลาให้กับชีวิต จิตวิญญาณมากขึ้น ทำเพื่อคนอื่นมามากแล้ว
ต่อไปเป็นการกระทำเพื่อตนเองบ้าง ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว
แต่เราต้องเอาตัวเราให้รอดเสียก่อน จึ่งจะไปช่วยคนอื่นเขา
ยังมีกิเลส ตัณหา อุปาทาน อีกมากมายในจิตเรา
ที่ยังไม่ได้เข้าไปจัดการ ทั้งที่เห็นแล้วและยังไม่เห็น
พลังจิต ฤทธิ์ อภิญญา กับขบวนการลดละกิเลสนั้นมันคนละเรื่องกัน
ขบวนการลดละกิเลสตัณหานั้น เป็นเรื่องของสติสัมปชัญญะ หิริโอตัปปะ
ส่วนพลังจิตและฤทธิ์นั้นเป็นเรื่องของสมาธิ ซึ่งทำได้ทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ
คือสมาธิในระบบพระพุทธศาสนาและสมาธินอกระบบพระพุทธศาสนา
สมาธิในระบบพระพุทธศาสนานั้น มีเจตนาเพื่อความดับทุกข์
เพื่อถอนมานะ ละตัณหา ลดอัตตา ฆ่าอุปทาน เป็นบาทฐานของปัญญา
เพื่อยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา รอบรู้ในกองสังขาร คือสติปัฏฐาน ๔
ส่วนสมาธิที่ปฏิบัติเพื่อความอยากมีอยากได้ทั้งหลายนั้น
เป็นสมาธินอกระบบของพระพุทธศาสนา เพราะมีเจตนาแตกต่างกันในการกระทำ.....
 :059:แด่สัมมาสมาธิที่เป็นบาทฐานของวิปัสสนาญาณ :059:
              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๒ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๒.๒๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

474
แต่ละวันที่ผ่านพ้นไป....
อารมณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุและปัจจัยที่ปรุงแต่ง
กุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้างปะปนกันไปแล้วแต่ปัจจัยที่มากระทบ
ซึ่งส่วนใหญ่เราจะรู้เท่าทันเฉพาะอกุศลจิต เพราะเรากลัวโทษภัยของมัน
ส่วนกุศลจิตนั้นเราไม่ค่อยจะพิจารณาถึงโทษของมัน
เพราะจิตเราไปยินดีเพลิดเพลินหลงในอารมณ์นั้น
ทำให้เกิดความประมาทขาดสติและสัมปชัญญะ
ไม่รู้เท่าทันปัจจุบันธรรม อยู่กับความคิดความฝันและจินตนาการ
ของการสร้างบุญ สร้างบารมี เพลินในความคิดแต่จิตไม่ได้พัฒนา
คือเพียงแต่ได้คิดและสิ่งที่คิดนั้นไม่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้
เพราะว่าเหตุและปัจจัยยังไม่พร้อม เรายังไม่ได้สร้างเหตุและปัจจัยเลย
แต่เราไปนึกถึงความสำเร็จและประโยชน์ที่จะได้รับในสิ่งนั้น
มันเลยทำให้เราประมาทขาดสติและสัมปชัญญะ ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันธรรม
การปฏิบัติธรรมคือการทำหน้าที่.......
ก่อนที่จะทำหน้าที่นั้น เราต้องรู้จักหน้าที่และขอบเขตของหน้าที่ ลำดับชั้นของหน้าที่เสียก่อน
แล้วจึงลงมือกระทำไปตามหน้าที่ในขอบเขต ตามลำดับไป
ควรรู้ว่าเราจะต้องทำอะไรในขณะนี้ ตามหน้าที่ของเรา
"รู้ตน รู้ตัว รู้ทั่ว รู้พร้อม"คือองค์ประกอบของความเจริญก้าวหน้า การพัฒนาของจิต.....
 :059:ขอบคุณความคิดและจิตวิญญาณในการพิจารณาธรรม :059:
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๒ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๑.๔๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

475
นิวรณ์เข้าครอบงำ....
มำให้ความเจริญในธรรมต้องเสื่อมถอย
เพราะยอมแพ้ต่อกิเลสตัณหาที่เรียกว่า"ตามใจปากลำบากกาย"
ไม่รู้จักการประมาณในการบริโภค เพราะอยู่ในช่วงที่คุมอาหาร
เริ่มลดปริมาณอาหาร กระเพาะอาหารหดตัว
เราปริโภคอาหารเข้าไปในปริมาณปกติ
ทำให้เกิดการขยายตัวของกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหน้าท้อง
จึงรู้สึกอึดอัดแน่นท้อง จะเดินจงกรมก็ไม่ได้มันปวด
จะนั่งสมาธิก็ไม่ได้มันง่วงเพราะเมาอาหาร
จึงได้แต่นอนดูเวทนา พิจารณาร่างกาย
เห็นคุณและโทษของการบริโภคอาหาร
มากเกินไปก็เป็นโทษ น้อยเกินไปก็เป็นโทษ
ปริมาณต้องพอเหมาะพอประมาณต่อร่างกายของเรา
แล้วความพอเหมาะพอประมาณของเรามันอยู่ตรงไหนละ
มันอยู่ที่กาย ที่ใจ ที่ความรู้สึกของเรา
ถ้าเราได้พิจารณาในขณะขบฉัน เราจะเห็นความพอดี
แต่ถ้าเราเอาจิตไปไว้ที่ลิ้นที่มันรับรู้รสชาติของอาหาร
และจิตไปปรุงแต่งในรสชาติอาหาร พอใจในรสชาติของอาหาร
มันก็เกิดกิเลสเพราะรส และเมื่อเราตามใจกิเลส ตามใจตัณหา
ขาดสติและสัมปชัญญะในขณะบริโภคอาหาร
ผลที่ออกมามันจึงเป็นทุกข์ เป็นภัยและเป็นโทษ
คนเรามักจะคิดถึงธรรมเมื่อเป็นทุกข์ ขณะที่เสวยสุขมักจะลืมธรรม...
 :059:ขอบคุณนิวรณ์ธรรมที่นำมาสู่การพิจารณา :059:
           เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๒ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๑.๒๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

476
ควบคุมกิเลสที่เกิดจากการบริโภคทางปาก
เช่นอาหารและเครื่องดื่มต่างๆให้อยู่ในความพอดี
ให้เป็นไปตามบทปัจเวกคือการพิจารณาที่ท่องอยู่ทุกเช้า-เย็น
เพราะที่ผ่านมานั้น เราบริโภคเพื่อสนองตัณหาคือความอยากและความหิวของเรา
มิได้เป็นไปตามบทพิจารณาข้อบิณฑบาตเลย
เรารู้ตัวว่ายังพร่องในเรื่องนี้มากคือเรื่องการบริโภคอาหาร
ยิ่งปฏิบัติมากขึ้นก็ยิ่งเห็นกิเลสมากขึ้น
กิเลสบางชนิดเราตามใจมันจนกลายเป็นความเคยชิน
เป็นนิสัยหรือจะเรียกให้ชัดว่ากลายเป็นสันดานไปแล้ว
จึงต้องควบคุม ลด ละ และเลิกให้ได้ในที่สุดของการปฏิบัติ
เรามองข้ามละเลยมานานโดยการเข้าข้างกิเลส
หาเหตุผลมาอ้างต่างต่างนานาเพื่อเสพสนองตัณหากิเลสของเรา
เรื่องเล็กน้อยเรายังละไม่ได้ แล้วเราจะหวังคุณวิเศษที่ยิ่งใหญ่สูงกว่านี้ได้อย่างไร
เราต้องทำให้ได้ในเรื่องเหล่านี้ เราต้องชนะกิเลสในใจเราให้ได้
เราต้องตรวจสอบค้นหาความบกพร่องของเราให้พบ
แล้วเข้าไปจัดการกับมันตามขบวนการ ลดละ เลิก ตามกำลังของเรา.....
 :059:แด่ทุกขเวทนาที่นำมาสู่การพิจารณาธรรม :059:
            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๒ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๑.๐๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

477
"อร่อยปาก ลำบากตูด"
อาจจะไม่สุภาพและหยาบคาย
แต่มันเป็นเรื่องจริงคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
เพราะเราไปติดในรสชาติอาหารที่รสจัด
ตามกิเลสนิสัย ความเคยชินที่ผ่านมา
ทำให้อยากปรุงแต่งในรสอาหารตามกิเลส
และบริโภคแบบสนองกิเลสตามใจตัณหาขาดสติลืมการพิจารณา
ทำให้ผลที่ตามมาเกิดเป็นโทษต่อร่างกายและระบบขับถ่าย
เพราะว่าเติมธาตุไฟมากเกินไป ธาตุในกายจึงเกิดแปรปรวน
ผิดปกติเพราะขาดความสมดุลย์ของธาตุทั้ง ๔ ในกาย
"ทุกข์ไม่มา ปัญญาไม่มี บารมืไม่เกิด"
ผลเลยออกมาเป็นทุกข์ เป็นภัย เป็นโทษ ไม่เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย
แต่กว่าเราจะระลึกได้ มันก็สายเสียแล้ว
นี่เป็นเรื่องที่มีผลต่อตนเอง....
เพียงเราขาดสติเผลอสติให้กิเลสเข้ามาครอบงำมันก็ทำให้เกิดโทษถึงขนาดนี้
และถ้าเราขาดสติมากกว่านี้จะมีโทษขนาดไหน
ทำให้ได้คิดพิจารณา ได้เห็นโทษภัยของกิเลส
ถ้าเรามีสติที่สมบูรณ์กว่านี้ เราคงสามารถที่จะระลึกรู้เท่าทัน
และยับยั้งข่มใจไมให้คล้อยตามกิเลสตั้งแต่แรกเริ่มที่กิเลสจรมา
และเหตุการณ์อย่างนี้คงจะไม่เกิดขึ้น
แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็นำสิ่งนั้นมาพิจารณาเป็นธรรมะ
มันก็มีสาระและมีประโยชน์ต่อตัวเรา...
 :059:ขอบคุณทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นทำให้ได้พิจารณาธรรม :059:
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๒ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๐.๔๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

478
ร่างกายเหนื่อยล้าจากการเดินทาง....
ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพักผ่อน ฟื้นฟูร่างกาย
โดยการภาวนานั่งสมาธิเพื่อปรับธาตุในกายให้เกิดความสมดุลย์
ร่างกายของเรามันก็เหมือนเครื่องยนต์ของรถที่ใช้ในการเดินทาง
รถวิ่งทางไกลเครื่องยนต์มันก็ร้อน และเราก็ต้องพักรถ
ให้เครื่องมันเย็น  เติมน้ำมัน  เติมน้ำ ให้คนขับได้พักผ่อน
ก่อนที่เราจะเดินทางต่อไป ร่างกายของเราก็เช่นกัน
ต้องมีการบริหารขันธ์ และการพักผ่อน เพื่อปรับปรุงธาตูในกาย
สังขารเสื่อมไปตามกาลเวลา...
ซึ่งบางอย่างเสื่อมไปก่อนวัยที่ควร
เพราะความประมาท รู้เท่าไม่ถึงการของเราในอดีตนั้นเอง
เมื่อรู้ตัวก็สายเสียแล้ว เปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้
สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้ก็คือการบริหารขันธ์ที่เหลืออยู่
ทำปัจจุบันให้ดี ให่เต็มที่ พรุ่งนี้อนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องของวิบากกรรม
ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ไม่เสียใจอาลัยกับอดีต ยอมรับในวิบากกรรม
นำสิ่งที่ผ่านมาเป็นบทเรียนของชีวิต ไม่ไปปรุงแต่งถึงอนาคต
พร่ำเตือนตัวเองเสมอว่า"วันนี้เราทำความดี เต็มที่แล้วหรือยัง"
อยู่กับปัจจุบันธรรมที่กำลังเกิดขึ้น....
 :059:ขอบคุณในขันธ์ ๕ ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ :059:
              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๒ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๐.๑๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

479
เนื่องจากมีการขัดข้องทางเทคนิคบางประการ
ทำให้ข้อมูลบางส่วนขาดหายไปเลยไม่ต่อเนื่องกัน
และได้ขอความช่วยเหลือจากสมาชิกไปแล้วนั้น
ปรากฏว่า... ไม่มีท่านใดได้เซฟข้อมูลไว้....
ตอนแรกตั้งใจจะหยุดเขียนบันทึกธรรมเพราะขาดความต่อเนื่องในเรื่องราว
แต่ลองนั่งทบทวน ลำดับเหตุการณ์ที่ผ่านมาดู ในแต่ละวัน ที่ได้บันทึกไว้
ซึ่งยังพอจะจำได้ ว่าบันทึกอะไรไว้บ้าง ในแต่ละวัน
จึงได้เขียนบันทึกขึ้นมาใหม่...ซึ่งข้อความอาจจะไม่เหมือนเก่าทั้งหมด
แต่ยังคงเค้าโครงเรื่องไว้เหมือนเดิม...
จึงขออภัยไว้ ณ ที่นี้ เพราะอาจจะมีข้อความที่ผิดแผกแตกต่างจากเดิมไปบ้าง
เพราะเหตุการณ์มันผ่านไป ๑๐ กว่าวันแล้ว
จึงต้องขออภัยท่านที่เคยได้อ่านมาแล้วด้วย
           ด้วยความปรารถนาดี
         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๙.๕๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง
 

480
ร่วมรำลึกและไว้อาลัยแด่ สืบ นาคะเสถียร
ตำนานนักอนุรักษ์ไทย ผู้รักป่าไม้ สัตว์ป่าและธรรมชาติ ด้วยกายและใจ พร้อมทั้งชีวิต
๑ กันยายน ๕๒ ครบรอบการจากไป ๑๙ ปี ของ สืบ นาคะเสถียร..ผู้ยอมสละชีวิตเพื่อปลุกจิตสำนึกให้รักษ์ป่า
ขอสดุดีและร่วมไว้อาลัยแด่คนกล้า...ตำนานแห่งห้วยขาแข้ง...สืบ นาคะเสถียร...
...

  วันที่หนึ่ง   กันยา   คราสามสาม
เวลายาม     เช้าตรู่    ของวันใหม่
เสียงปืนดัง   แว่วมา   จากแนวไพร
"สืบ"จากไป ทิ้งไว้     ความทรงจำ
  สละชีพ    เพื่อปลุก  จิตสำนึก
ให้รู้สึก       รักษ์ป่า    ใช่น่าขำ
โลกจารึก    ถึงสิ่ง       ที่"สืบ"ทำ
วีรกรรม      คนกล้า     ห้วยขาแข้ง
  พินัยกรรม   ทำไว้     หกฉบับ
พร้อมกำชัย   สั่งเสีย   ประกาศแจ้ง
ให้ร่วมมือ     ร่วมใจ    และร่วมแรง
รักษาห้วย    ขาแข้ง    ให้ยืนยง
  เป็นตำนาน  ของนัก   อนุรักษ์
ผู้พิทักษ์     ผืนป่า      น่าเสริมส่ง
ยอมสละ     แม้ชีวิต    จิตมั่นคง
เพื่อดำรงค์   ผืนป่า      ให้ถาวร
  สิบเก้าปี    ที่"สืบ"     นั้นลาจาก
"สืบ"ได้ฝาก  ข้อคิด     อุทาหรณ์
ให้โลกนี้    ได้ตระหนัก  และสังวร
"สืบ"ได้สอน  ด้วยชีวิต   จิตวิญญาณ
  ห้วยขาแข้ง คือแหล่ง   ให้เรียนรู้
ดำรงค์อยู่      สืบมา      เพราะสืบสาน
คนชื่อ"สืบ"   ได้สร้าง    ซึ่งตำนาน
การสืบสาน     รักษ์ป่า    มาทุกวัน
  ยอมสละ     ร่างกาย    และชีวิต
ยอมอุทิศ      เพื่อป่า     พนาสันต์
กาลเวลา      ล่วงเลย     มานานวัน
ชื่อ"สืบ"นั้น   ยังคงอยู่   คู่กับไพร
  คือตำนาน   การต่อสู้    คู่กับป่า
ปลุกชีวา      จิตสำนึก    คนรุ่นใหม่
ให้กลับมา    เหลียวแล   และสนใจ
กับป่าไม้      สัตว์ป่า      แลสังคม
  ห้วยขาแข้ง  สดใส      ในวสันต์
ผ่านคืนวัน     แห่งทุกข์   มาสุขสม
ป่าไม้มี       คุณค่า        น่านิยม
ได้ชื่นชม  เพราะ"สืบ"     สืบสานมา
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

 มองดู   แมกไม้   ไพรพฤก
ให้นึก    ถึง"สืบ"    คนกล้า
ยอมตาย  มอบกาย  ชีวา
รักษ์ป่า    รัก"สืบ"   ตำนาน
  ตำนาน   แห่งห้วย  ขาแข้ง
คือแหล่ง   ผืนป่า     ไพศาล
สัตว์ป่า     ป่าไม้      สายธาร
ตำนาน     ผืนป่า      เมืองไทย
  ช่วยกัน   บำรุง      รักษา
ผืนป่า      ทุกแห่ง    คงไว้
ให้ยืน      คงอยู่     ยาวไกล
คู่ไทย     คู่โลก     ยาวนาน
  สืบสาย  สืบสาน    สืบศิลป์
สืบดิน     สืบป่า      สืบสาน
สืบทอด   สืบซึ่ง      ตำนาน
สืบการ    รักษ์ป่า     ถาวร
...............................
ขอไว้อาลัยแด่ สืบ นาคะเสถียร ตำนานคนรักษ์ป่า แห่งห้วยขาแข้ง
          เชื่อมั่นและศรัทธาในความรักษ์ป่าของ"สืบ
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม"
๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๒.๒๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย   



481
เนื่องจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ ๒๑-๓๐ สิงหาคมได้สูญหายไป
ทำให้มีผลต่อการรวมเล่มในการพิมพ์(ขาดความต่อเนื่อง)
มีสมาชิกท่านใดเซฟข้อมูลส่วนที่ขาดหายไปไว้บ้างรึไม่
ถ้าท่านใดเซฟไว้ขอความกรุณาช่วยส่งมาให้ด้วย
.....ตั้งแต่วันที่ ๒๑-๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๒.....
ซึ่งขาดหายไปจำนวน ๒๒ กระทู้
จึงขอรบกวนเพื่อนสมาชิก...ถ้าใครเซฟไว้ช่วยส่งมาให้ด้วย...
  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
ขอขอบคุณล่วงหน้าไว้ ณ ที่นี้....(pm ฝากข้อความไว้ได้เลย)
...หมายเหตุ...ของดโพสกระทู้...บันทึกธรรม...ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
เพราะว่าข้อมูลขาดความต่อเนื่อง...ไม่ครบ ๙๐ วัน ของหนึ่งพรรษา
ไม่สามารถที่จะรวมเล่มเพื่อพิมพ์ได้...จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้
   ด้วยความปรารถนาดี...ขอเจริญพร...

482
ตั้งแต่เวลา ๗.๓๐ น.....
มีญาติโยมมาหาสนทนาธรรมและปรึกษาปัญหาชีวิต
ทำกิจต้อนรับญาติโยมอยู่ที่เขตดอนเมืองจนถึงบ่าย
โยมมารับออกไปตรวจดูสถานที่สร้างบ้านที่เขตรามอินทรา
วางแผนการก่อสร้างตามตำรา(ทั้งทางนอกและทางใน)
แก้ไขแบบแปลนก่อสร้างเล็กน้อยเพื่อความเหมาะสม
ตามทิศทางลม แสงแดด และถนน และประโยชน์การใช้งาน
จนเป็นที่พอใจของเจ้าภาพที่นิมนต์ไปก็ประมาณ ๑๕.๓๐ น.
ให้โยมมาส่งต่อที่ รามอินทรา ๓๔ เพื่อแวะเยี่ยมน้องๆสายวัดบางพระ
คณะดำเนินการสร้างผ้ายันต์ถวายวัดบางพระและของอาจารย์
สนทนาธรรมแนะนำการปฏิบัติกันพอประมาณจึงออกเดินทางต่อ
ถึงสถานีขนส่งหมอชิตเวลาประมาณ ๒๐ .๐๐ น.รอรถกลับมุกดาหาร
รถออกประมาณ ๒๐.๔๕ น.มีน้องๆมาส่งกันสองท่าน
ได้พักผ่อนมาตลอดเส้นทาง ถึงมุกดาหารเวลาประมาณ ๐๖.๔๐ น.
รถมารับต่อกลับเข้าวัดทุ่งเว้า คืนสู่ถิ่นเก่าที่ออกเดินทางมา
รีบสรงน้ำพื่อลงศาลาเพราะเป็นวันพระใหญ่
ญาติโยมมากันมากมายประมาณ ๑๐๐ กว่าคน
ทำวัตรสวดมนต์ให้ศีลรับสังฆทานบรรยายธรรมและฉันอาหาร
เสร็จพิธีที่ศาลาประมาณ ๐๙.๔๕ น.
กลับขึ้นมาทำบัญชี รับ-จ่ายที่ผ่านมาจนเสร็จ
จึงได้ต่อเน็ตเข้าเวปวัดบางพระเพื่อเขียนบันทึกธรรม
บันทึกธรรม....
สรุปธรรมะที่ได้จากการเดินทาง
เรียนรู้ทุกอย่างที่ประสพมา ปรับเข้าหาหลักธรรม
น้อมนำธรรมมะมาช่วยสงเคราะห์ญาติโยมในการแก้ไขปัญหาชีวิต
แนะนำหลักการคิด การทำงาน การบริหารจัดการชีวิต
ไม่ยึดติดในรูปแบบ ในภาษา และตัวอักษร
สอนเขาโดยที่เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังกล่าวแนะนำเขานั้นคือหลักธรรม
เขาจะเชื่อและจะนำไปกระทำ เพื่อให้ชีวิตของเขาดีขึ้น
แต่ถ้าเราไปบอกว่านี้คือหลักธรรมะของพระพุทธเจ้า
เขาจะเกิดอาการเกร็ง เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าธรรมมะเป็นของยิ่งใหญ่
คนที่จะปฏิบัติได้ต้องมีเวลา ต้องรักษาศีล ต้องไปวัดไปวา ต้องนุ่งขาวห่มขาว
เพราะเขาไปรับรู้และสร้างภาพไว้อลังการจนเกินไป
จนคิดว่าตนเองนั้นยังทำไม่ได้เพราะยังมีกิเลสหนาอยู่
หลักธรรมนั้นมีอยู่ทังโลกีย์และโลกุตร
ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือนและนักบวช
เราจึงต้องนำเสนอให้เหมาะสมกับตัวบุคคล
อย่าเอาธรรมะของบรรพชิตนักบวชไปยัดเยียดให้ฆราวาสผู้ครองเรือนปฏิบัติ
เพราะมันจะขัดกับวิถีการดำเนินชีวิตของเขา เราต้องรู้จักความพอดีและเหมาะสม
จังหวะ เวลา สถานที่ และตัวบุคคล ว่าสมควรจะใช้วิธีไหนและทำอย่างไร
แล้วการนำเสนอธรรมนั้นจะเป็นไปด้วยดีและมีผู้ปฏิบัติตาม...
  :054: ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่ท่านทั้งหลายตามเหตุและปัจจัยที่ท่านทำ :054:
    :059: ขอบคุณการนำเสนอที่ไร้รูปแบบแต่ไม่ไร้สาระแฝงธรรมะตลอดเวลา :059:
                  :059:ขอบคุณสติปัญญาและบุญเก่าที่ได้กระทำมา :059:
                        :054:ขอบคุณกาลเวลาที่สอนบทเรียน :054:
                         :059:ขอบคุณทุกท่านที่ได้เข้ามาอ่าน :059:
                                 ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๑ .๔๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

483
ตื่นนอนประมาณ ๐๔.๐๐ น.
เขียนบันทึกธรรมถึงเรื่องราวที่ผ่านมาในหนึ่งวัน
บันทึกไว้เพื่อย้ำเตือนความจำและทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมา
เพราะต่อไปในวันข้างหน้าสิ่งที่เราบันทึกไว้คือหลักฐานแห่งการเดินทางของชีวิต
ในช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผ่านมาว่าเราผ่านอะไรมาบ้างในแต่ละวัน
และเป็นการป้องกันโรคความจำเสื่อมได้ด้วย
เมื่อวันเวลาผ่านไป....
เรากลับมาเปิดอ่านดูจะได้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงของชีวิต ของความคิด ของสถานที่
เพราะเรามีหลักฐานคือการที่ได้บันทึกไว้เป็นตัวอักษร
นี่คือที่มาของการบันทึกธรรมที่ได้กระทำมาตลอดเวลา
แห่งความเป็นพระในขณะครองเพศสมณะที่ผ่านมา.....
เขียนบันทึกธรรมประจำวันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
มีเวลาที่จะเจริญภาวนาเพราะว่าเจ้าของบ้านเขายังไม่ตื่น
ยังไม่มีใครมาธุระหรือรบกวนเป็นเวลาส่วนตัวของเรา
เจริญภาวนาอยู่ในห้องพระเพลินไปจนเกือบจะ ๐๗.๓๐ น.
จึงได้ออกจากการภาวนา ออกมาทำภาระกิจส่วนตัว
ญาติโยมมาถวายน้ำปานะเป็นน้ำชาและกาแฟพร้อมทั้งขนม
หลังจากนั้นก็ได้พูดคุยสนทนาธรรมกับญาติโยมที่มาเยี่ยม
มาขอคำปรึกษา คำแนะนำต่างๆ เพื่อจะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต
และเพื่อหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาของชีวิตที่กำลังประสพอยู่
จนได้เวลาฉันอาหารซึ่งมีญาติโยมนำมาถวายกันมากมายหลายท่าน
หลังจากนั้นก็ได้ออกไปเยี่ยมชมดูสถานที่ต่างๆของญาติโยม
เพื่อให้คำแนะนำในการปรับปรุงสถานที่ทำให้มีมูลค่าเพิ่ม
วิเคราะห์ให้เห็นถึงความเหมาะสมของแต่ละสถานที่ว่าควรจะทำอย่างไรกับมัน
ญาติโยมรับไปดูสถานที่ต่างๆประมาณ ๑๐ กว่าแห่ง
ตั้งแต่เวลา ๑๐.๓๐ น.จนถึงเวลา ๑๗.๔๕ น.
ทั้งในอำเภอเวียงสระและอำเภอพระแสงของจังหวัดสุราษฎร์
แวะพักทักทายเยี่ยมเยือนเพื่อสมัยฆราวาสที่เป็นนายกเทศมนตรีเขานิพันธ์
แวะไปนั่งฉันกาแฟที่ห้องนายกเทศบาลเวียงสระ
ถึงสนามบินสุราษฎร์เวลา ๑๘.๒๐ น.
เจอเพื่อนที่เคยเรียนมาด้วยกันสมัยมัธยมที่สนามบิน
เลยมีเพื่อนเดินทาง มีเพื่อนสนทนาระหว่างเดินทาง
ลงเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีญาติโยมมารับต่อ
ไปแวะสนทนาธรรมและพูดคุยให้คำปรึกษาแก่ญาติโยม
จนเวลาประมาณ ๒๒.๓๐ น.จึงได้ไปที่พักที่เขตดอนเมือง
ถึงที่พักเวลาประมาณ ๒๓.๓๐ น.
เปิดคอมฯเข้าเน็ตเพื่อดูกระทู้ความเคลื่อนไหวภายในเวปวัดบางพระ
จนเวลาประมาณ ๐๑.๓๐ น.จึงได้เข้าจำวัตรพักผ่อน
ชีวิตผ่านไปอีกหนึ่งวัน....
นอนภาวนา อธิษฐานจิต บันทึกและลบสัญญา(ความจำที่ผ่านมา)
สิ่งไหนเหตุการณ์ใดมีสาระ มีประโยชน์เก็บไว้ในส่วนแห่งความจำของสมอง
สิ่งไหนสิ่งใดไร้สาระเป็นขยะทางความคิด อธิษฐานจิตลบข้อมูลความจำออกไปจากสมอง
เก็บไว้เพียงสิ่งที่ดีมีสาระเพื่อที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต
....การวิเคราะห์และให้คำปรึกษาแก่ญาติโยมนั้น....
เราต้องทำใจให้ว่าง วางใจให้เป็นกลาง มองทุกอย่างตามความเป็นจริง
ไม่มีใจไปร่วมในทุกข์ของเขาหรือไปยินดีในสุขเข้าข้างเขา
วิเคราะห์หาเหตุและผลที่มาของปัญหาให้เห็นที่มาและหาทางออกที่จะไป
โดยใช้หลักของอริยสัจ ๔ มาเป็นที่ตั้งในการวิเคราะห์ปัญหาและหาทางแก้ไข้
...ปัญหาคือทุกข์...คือ โจทย์ที่เราต้องวิเคราะห์
เราต้องวิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นที่มาของปัญหา ว่ามันเป็นมาอย่างไร...คือสมุทัย...
จนเข้าใจและเห็นทางออกแนวทางการแก้ปัญหาที่สามารถจะทำได้ในขณะนั้น..คือนิโรธ
แนะนำวิธีการปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนเพื่อให้เขานำไปใช้ในการแก้ปัญหา...คือมรรค...
ทุกสิ่งทุกอย่างปรับเข้าหาหลักธรรม...คืออริยสัจ ๔
ให้เกิดความพอดีและความเหมาะสม...ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้...
ถ้าทุกฝ่ายยอมรับและไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ฝ่ายเดียวจนเกินไป
ยอมรับในความผิดพลาด ยอมลดละอัตตาลงมาเสียบ้าง
แล้วทุกอย่างก็จะแก้ไขได้และจะเดินไปได้ด้วยดี...
 :054:ขอบคุณพระธรรมคำสอนขององค์พระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า :054:
             :059:ขอบคุณเรื่องราวทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต :059:
                     :060:ขอบคุณความคิดและหลักธรรม :060:
                                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๕.๔๓ น. ณ มุมหนึ่งของมหานครที่วุ่นวาย  ณ จุดเล็กๆจุดหนึ่งของประเทศไทย

484
ตื่นมาฟังธรรมจากหลวงพ่อจำเนียรตั้งแต่ตีสี่
เจริญสติ เจริญภาวนา จนถึงเวลา ๐๕.๓๐ น.
ออกจากกุฏิไปทักทายสนทนาธรรมกับเพื่อนสหธรรมิก
เดินเยี่ยมชมสถานที่ และสิ่งก่อสร้างใหม่ๆในวัด
เห็นการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของสถานที่และบุคคล
ที่ใดก็ตามเมื่อความเจริญทางด้านวัตถุมากจนเกินไป
ความวุ่นวายจะตามมาและจะหาความสงบได้ยาก
จากวัดป่า สำนักปฏิบัติ มาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
ทุกสิ่งอย่างเป็นไปตามกฏของพระไตรลักษณ์
โยมมารับออกไปทำพิธีเวลา ๐๗.๐๐ น.
ทำพิธีกรรมต่างๆเพื่อสงเคราะห์ญาติโยม
ตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาประมาณบ่าย......
โยมจากสุราษฎร์มารับเพื่อไปทำพิธีที่สุราษฎร์ต่อ
ใช้เวลาที่อยู่บนรถระหว่างเดินทางเจริญสติเจริญภาวนา
ถึงสุราษฎร์เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น.
มีญาติโยมมารอเพื่อที่จะขอคำปรึกษาคำแนะนำ
สนทนาธรรมให้คำปรึกษาตามที่เขามีคำถามและค้างคาใจ
ทำพิธีกรรมต่างๆตามที่เหมาะสมและสมควร เพื่อสงเคราะห์ญาติโยม
ออกจากตัวเมืองสุราษฎร์เวลาประมาณ ๒๐.๓๐ น.
เดินทางต่อไปอำเภอเวียงสระ ไปที่ตลาดบ้านส้อง
มีญาติโยมมารออยู่แล้ว....
สนทนาให้คำปรึกษาแก่ญาติโยมทั้งทางโลกและทางธรรม
จนเวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น. ญาติโยมจึงลากลับ
ก่อนจะเข้าจำวัตรแวะเข้ามาดูข้อมูลความเคลื่อนไหวของเวปวัดบางพระ
เสร็จแล้วก็กำหนดสติเจริญภาวนาพิจารณากายของเรา
หลับโดยที่มีสติคุ้มครองกายและคุ้มครองจิต
ยี่สิบเอ็ดชั่วโมงของหนึ่งวัน.....
ความเคลื่อนไหวของชีวิตที่ไม่หยุดนิ่ง ทุกสิ่งเคลื่อนไหว
แต่ใจของเราต้องมีความมั่นคง ไม่หลงไปกับภาพมายาทั้งหลาย
ไม่ไปมีส่วนร่วมในอารมณ์ที่อยู่รอบกายทั้งหลาย
พยายามทรงไว้ซึ่ง ..." สมณะจิต"...ดำเนินชีวิตอย่างไร้รูปแบบต่อไป...
 :054:ขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต...ทำให้เราได้คิดและเห็นธรรรม :059:
                             เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๐๐ น. ณ มุมหนึ่งของอำภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฏร์ธานี

485
บทความ บทกวี / ...เสือกลับถ้ำ...
« เมื่อ: 17 ส.ค. 2552, 06:13:40 »
 :059:จากถิ่นฐาน นานมา สู่ป่ากว้าง
ไปตามทาง  ที่ใจ นั้นใฝ่หา
ออกเผชิญ  ต่อโลก แห่งมายา
แสวงหา    แนวทาง  เพื่อสร้างธรรม
  ผ่านร้อยภู   ร้อยป่า  ร้อยนาคร
ผ่านขั้นตอน  ทดสอบ  เพื่อตอกย้ำ
ผ่านเรื่องราว  มากมาย  ที่ได้ทำ
ผ่านชอกช้ำ   และสำเร็จ  เสร็จในงาน
  ทำให้ดู    อยู่ให้เห็น    เป็นตัวอย่าง
ในการสร้าง   การสอน    และสืบสาน
ได้เรียนรู้      มากมาย    จากอาจารย์
สิ่งที่ท่าน     สอนสั่ง      ยังฝังใจ
   "เมือเสียหนึ่ง  อย่าให้ถึง   ต้องเสียสอง
เมื่อเสียของ   เสียแล้ว    จงหาใหม่
เสียอะไร      เสียได้      อย่าเสียใจ
เมือเสียแล้ว  เสียไป      ใจอย่าเสีย"
  คือคำสอน    คำสัง      ที่ฝังจิต
นำมาคิด     ยามจิต    นั้นละเหี่ย
ปลุกกายใจ  ยามที่     เราอ่อนเพลีย
ไม่ให้เสีย    กำลังใจ   ในการงาน
  มารไม่มี     บารมี      นั้นไม่เกิด
คือการเปิด   โลกทัศน์  ที่อาจหาญ
ชีวิตนี้        อุทิศ    แก่การงาน
เพื่อสืบสาน  สายธรรม   นั้นสืบไป
  ในวันนี้    ได้กลับ     คืนสู่ถิ่น
สู่แดนดิน   ถิ่นที่      เคยอาศัย
มาเพื่อปลุก   ศรัทธา   ทั้งกายใจ
เพื่อสุ๋ฝัน     วันใหม่   ที่รอคอย...
 :054:ขอบคุณสถานที่และบุคคล ที่มีส่วนในกุศลธรรมทั้งหลาย :054:
                  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ในทางธรรม
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๑๓ น. ณ กุฏิหน้าเขา วัดถ้ำเสือวิปัสสนา ต.กระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่


486
๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๒....
ต้อนรับญาติโยมตั้งแต่เช้า
มีทั้งเอาอาหารมาถวายมาขอคำปรึกษาและมาเยี่ยม
ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ดีมีความอบอุ่นเหมือนได้อยู่ในหมู่ญาติพี่น้อง
แปดปีที่จากไป ดีใจที่ได้กลับมา สู่ถิ่นเก่าที่เราคุ้นเคย
ได้รับการต้อนรับที่ดีจากพระและญาติโยม
ต้อนรับและสงเคราะห์ญาติโยมตั้งแต่เช้ามืดจนถึงเที่ยงวัน
ตอนบ่ายโยมจากกระบี่มารับเพื่อไปทำพิธีต่อที่กระบี่
ถึงกระบี่ประมาณบ่ายสอง....
ญาติโยมมารออยู่แล้วที่ในเมืองกระบี่เป็นจำนวนมาก
สนทนาธรรมและช่วยสงเคราะญาติโยมจนถึงเย็น
โยมไปส่งที่วัดถ้ำเสือฯเวลาประมาณ  ๑๘.๐๐ น.
แวะเยี่ยมเยือนทักทายสนทนาธรรมกับเพื่อนสหธรรมิกและญาติโยม
จนเวลาประมาณ ๒๓.๓๐ น.จึงได้กลับที่พัก
คืนนี้หลวงพ่อจำเนียร สีลเสฏโฐ ท่านขึ้นบรรยายธรรม
ฟังธรรมะบรรยายจากหลวงพ่อ...เรื่องการสร้างบารมี...
การทำความดีนั้นย่อมมีบททดสอบศรัทธาของเราตลอดเวลา
เพื่อพิสูนจ์ว่าศรัทธาของเรานั้นมั่นคงหรือไม่
"มารไม่มี บารมีไม่เกิด" ทำให้เราเกิดศรัทธาเพิ่มขึ้น
ทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมา...กว่าจะถึงวันนี้ ชีวิตเราต้องผ่านอะไรมาบ้าง
และทุกสิ่งทุกอย่างเราผ่านมาได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุและปัจจัย
รู้สึกปิติดีใจที่ได้กลับมาสู่ถิ่นเก่า...ที่ๆเราได้เรียนรู้ในการปฏิบัติธรรม
เหมือนเสือได้กลับถ้ำ...ได้กลับมาสู่ถ้ำของเสือ...วัดถ้ำเสือวิปัสสนา...
กลับสู่ถิ่นที่เราได้กำเนิดมาในทางธรรม...กลับสู่อ้อมอกของพ่อเรา...
ในอดีตที่ผ่านมา....
ตลอดเวลา ๖ ปีที่วัดถ้ำเสือแห่งนี้...ได้สอนให้เราเรียนรู้อะไรมามากมาย
ได้ดู ได้อยู่ ได้เห็น ได้เป็น ได้มี ณ ที่แห่งนี้คือที่เกิดในทางธรรมของเรา
เสือได้กลับคืนสู่ถ้ำ..เหมือนมาเพิ่มพลังให้กับเสือพเนจร...
ให้มีกำลังที่จะออกไปเผชิญชีวิตในโลกกว้างอีกต่อไป
ขวัญและกำลังใจที่ได้รับจากหลวงพ่อและเพื่อนสหธรรมิกคือพลังของชีวิต
 :054:กราบนมัสการหลวงพ่อพระอาจารย์จำเนียร สีลเสฏโฐ ประธานสงฆ์วัดถ้ำเสือวิปัสสนา ผู้มีเมตตาต่อสาธุชนทั้งหลาย :054:
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ในการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร-คนรอนแรม-คนไร้ราก
๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๕.๔๔ น. ณ กุฏิหน้าเขา วัดถ้ำเสือวิปัสสนา ต.กระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่

487
 :054:ตลอดเวลาประมาณ 6 ปี ....
ที่อยู่สงเคราะห์ญาติโยมแถบ พังงา กระบี่ ภูเก็ต
ช่วยบูรณะสร้างวัดจนแล้วเสร็จ แล้วก็จากลา
วันนี้ได้กลับมาอีกครั้ง พบปะญาติโยมที่เคยคุ้นเคยกัน
เหมือนได้กลับบ้านเพราะญาติโยมให้การต้อนรับเป็นอย่างดี
รู้ข่าวว่าเรามาต่างก็แวะเข้ามาเยี่ยมกันมากมาย
ส่งโยมคนสุดท้ายกลับตอนตีหนึ่งกว่า จึงจะได้จำวัตร
สอนน้องๆเสมอว่า...ก่อนที่เราจะจากที่ใดไปนั้น
เราต้องเคลียร์ปัญหาทุกอย่างให้จบ อย่าให้ค้างคาใจ
จากไปด้วยความรู้สึกที่ดีทั้งสองฝ่าย คือตัวเราและผู้ที่อยู่เบื้องหลัง
อย่าให้เขาด่าตามหลัง นินทาตามหลัง เมื่อเราจากมา
แล้วเมื่อเรากลับไปเยี่ยม เราก็จะได้รับความรู้สึกที่ดีๆ
ภาษาชาวบ้านว่ายืดอกได้เต็มที่ ยิ้มได้เต็มหน้า ไม้ต้องผวาหวาดระแวงสิ่งใดๆ
สอนทุกคนเสมอว่า..ให้จากไปด้วยมิตรภาพและไมตรี กับความรู้สึกที่ดีต่อกัน
อย่าจากไปแบบทิ้งปัญหาหรือหนีปัญหา เพราะว่าจะเป็นที่คาใจให้เขาสงสัยและเอาไปนินทาได้
จงเคลียร์ตัวเองให้บริสุทธิ์ในทุกเรื่องทุกกรณีย์ แล้วจึงจากลา
วันนี้เมื่อเรากลับมา....
เราจึงได้พบกับสิ่งดีๆรอยยิ้มและมิตรภาพไมตรี ความรู้สึกและสายตาที่ดี ให้แก่กัน...
เกิดความปลื้มปิติใจ...เมื่อได้เดินดูผลงานเก่าๆที่เราได้สร้างไว้
และภาคภูมิใจ...ที่ได้มอบหมายให้คนที่ดูแลต่อจากเรานั้น ไม่ผิดคน
รักษาและสร้างผลงานต่อจากเราได้ดีมาก
...สร้างวัดนั้นสร้างง่าย...แต่สร้างคนที่จะมาดูแลรักษานั้นสร้างยาก
เราจึงเห็นวัดร้าง..สำนักสงฆ์ร้างกันมากมาย
เพราะเราไปเน้นสร้างวัตถุกันมากเกินไป....
ไม่ได้สร้างจิตสำนึกและสร้างคนขึ้นมาทดแทน
 :054:ขอบคุณความรู้สึกดีๆที่ได้รับ :054:
      เชื่อมั่น-ศรัทธาในเจตนาอันบริสุทธิ์
            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๔๙ น. ณ วัดเก่าเจริญธรรม ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

488
 :059:๒๓ ชั่วโมงกับการเดินทาง....
กลางวันลงไปปฏิบัติโยธากรรมฐานคุมงานก่อสร้างตามปกติ
วันนี้เป็นวันพระเลยมีญาติโยมมาช่วยงานก่อสร้างกันมาก
งานก้าวหน้าไปมากเพราะการวางระบบแบ่งงานเป็นแผนกไป
โยมผู้หญิงช่วยกันรื้อกุฏิทำความสะอาดสถานที่และเก็บของ
โยมผู้ชายเชื่อมเหล็ก ตัดเหล็ก ขึ้นโครงหลังคาและก่ออิฐ
เลิกงานประมาณ ๑๘.๐๐น.ขึ้นมาศาลาเก็บของเตรียมตัวเดินทาง
ออกจากวัดเวลาประมาณ ๑๙.๐๐น.เพื่อเดินทางลงปักษ์ใต้
ใช้เวลาที่อยู่บนรถเจริญภาวนามาตลอดทางจนสว่าง
ถึงกรุงเทพฯเวลาประมาณ ๐๕.๓๐น.
ลูกศิษย์มารับไปสรงน้ำที่วัดปรินายก เสร็จแล้วเดินทางต่อ
รถออกจากสายใต้เวลา ๐๗.๓๐น.
หลับๆตื่นๆมาตลอดทาง จังหวะที่ตื่นก็เจริญภาวนาจนหลับ
ตื่นขึ้นมาก็เจริญภาวนาต่อจนถึงจังหวัดพังงา เวลา ๑๘.๑๕น.
แวะเอาของเก็บที่วัดเก่าเจริญธรรมที่เคยสร้างไว้
สรงน้ำแล้วรีบออกไปงานศพโยมแม่ของพระที่เคยอยู่จำพรรษาด้วยกัน
นานๆจะได้กลับไปพังงาญาติโยมรู้ข่าวจึงมาหากันมาก
นั่งพูดคุยรับแขกจนถึงเวลา ๒๓.๐๐น.จึงได้กลับที่พัก
พยายามทรงอารมณ์ปิติไว้เพื่อให้มีกำลังและไม่ง่วง
เพื่อจะได้รับแขกและสนทนากับญาติโยมที่มาเยี่ยม
๒๓ ชั่วโมงกับ ๑๔๕๒ กิโลและอีก ๔ ชั่วโมงกับการนั่งต้อนรับญาติโยม
...สิ่งที่ทำให้มีกำลังคืออารมณ์ปิติที่เราพยายามทรงไว้...
ช่วยให้เราสามารถยืนระยะได้เป็นเวลานาน
คำสั่งสอนของครูบาอาจารย์คือท่านหลวงพ่อจำเนียร สีลเสฏโฐ
วัดถ้ำเสือฯจังหวัดกระบี่ท่านสอนไว้ว่า...อารมณ์ปิติทำให้เรามีกำลังมากที่สุด...
เพราะจิตจะตื่น ไม่เหนื่อย ไม่เพลีย ไม่ง่วง ไม่หิว
 :054:ขอขอบคุณคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ที่ทำให้มีวันนี้ :054:
              ด้วยความเคารพและศรัทธาต่อครูบาอาจารย์
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐.๔๓ น. ณ วัดเก่าเจริญธรรม ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

489
 :059:สำหรับวันนี้อาจจะบันทึกช้าไป.....
เพราะมีภาระกิจหน้าที่มากมายในยามเช้า
ซึ่งกว่าจะจัดการบริหารเวลาและหน้าที่ลงตัวก็เกือบจะเที่ยง
จึงจะมีเวลากลับขึ้นมาบันทึกธรรม...สภาวะที่ผ่านมาเมื่อวันวาน
    ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๒....
ลงไปปฏิบัติโยธากรรมฐาน(คุมงานก่อสร้าง)เกีอบทั้งวัน
ลงไปทำงานเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ทำงาน
สนทนาธรรมตามกาลเวลาและจังหวะที่เหมาะสม
ลงมือทำงานด้วยตัวเองเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่พระและญาติโยม
ดั่งคำที่ว่า "ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ปล่อย"
เราทำให้ดูเป็นตัวอย่าง จับโน้น จับนี่ เดี๋ยวพระและโยมก็มาช่วยเอง
พยายามทรงอารมณืปิติไว้..โดยระลึกถึงบุญกุศลและประโยชน์ที่จะได้รับ
เมื่อสิ่งที่เรากำลังทำกำลังสร้างสำเร็จขึ้นมาแล้ว และได้ใช้งานตามที่ตั้งเจตนาไว้
ทำให้มีกำลังแรงกายแรงใจ และถ่ายทอดความรู้สึกนี้ไปยังพระและญาติโยม
เพื่อให้เขามีความสุขในการทำงาน มีใจปลื้มปิติที่ได้ร่วมกระทำ
สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เน้นเป็นหลักในการทำงานทุกครั้ง คือใจต้องเป็นกุศลจิต
สั่งและสอนแผนกสร้างวัตถุมงคลเสมอว่า..ถ้าจิตไม่ดีอย่าได้ทำ
ในการตำมวลสารและปั๊มพระ หรือทำวัตถุมงคลทุกครั้ง
และให้ตั้งจิตไว้เป็นกัลยาณจิต เป็นกุศลจิต ในการทำงาน
แล้วทุกอย่างก็จะออกมาดี เพราะพลังงานที่ถ่ายทอดลงไปนั้น เป็นพลังแห่งกุศล
ไม่ว่าจะเป็นเสนาสนะที่อยู่อาศัยหรือวัตถุมงคล ต้องมาจากกุศลจิตเป็นที่ตั้ง
และสิ่งที่สร้างที่ทำนั้นจะเป็นของมงคล...มนุษย์และเทวดาจะร่วมสาธุ...
ทุกอย่างจะบรรลุสำเร็จไปได้ด้วยดี...เพราะมีกุศลจิตเป็นที่ตั้ง..
 :054:แด่กุศลจิตของสหธรรมิกและญาติโยม :054:
           เชื่อมั่นในกุศลจิตในความคิดที่ดีงาม
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๕๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

490
 :059:ร่อนเร่มาแดนไกล...จึงทำให้ต้องเหินห่าง
ด้วยว่าระยะทาง....นั้นมาขวางเส้นทางไป
หน้าที่มีภาระ....มิอาจจะทิ้งไปได้
หน้าที่นั้นยิ่งใหญ่...จึงจำใจต้องจากมา
ทิ้งถิ่นมาแดนไกล...แต่หัวใจยังห่วงหา
คิดถึงทุกเวลา...อยากพบหน้าคนรู้ใจ
มาอยู่ริมฝั่งโขง...เขียนกลอนโคลงคอยส่งให้
เขียนมาและตอบไป...คนชอบใจในกวี
วอนลมและเมฆหมอก....ฝากลมบอกถ้อยวลี
จากใจของ"รวี"....บทกลอนมีตลอดไป
ฝากไว้เพื่อให้อ่าน...และส่งผ่านซึ่งแรงใจ
จากผู้ที่อยู่ไกล...ขอฝากให้ผ่านสายตา
น้ำใจของมวลมิตร..ปลุกปลอบจิตทุกครั้งครา
ฝากผ่านกาลเวลา...ว่าคุณค่า...คนคืองาน..
 :054:ด้วยความปรารถนาดีที่มีให้แก่ทุกคนเสมอมา :054:
        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐.๒๗ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

491
บทความ บทกวี / ...ปลอบใจคนไกลบ้าน...
« เมื่อ: 13 ส.ค. 2552, 11:54:44 »
 :053:ฝากฟ้าคอยห่มใจ....โอบคนไกลให้หายหนาว
อย่าท้อต่อเรื่องราว....ที่ปวดร้าวให้ผ่อนคลาย
ฝากดินโอบกอดไว้....เป็นแรงใจเคียงข้างกาย
โดดเดี่ยวและเดียวดาย...ห่างสหายที่เคยมี
ฝากลมที่พัดผ่าน...จงสมานมิตรไมตรี
บรรเลงบทกวี....ปลอบชีวีกล่อมดวงใจ
ฝากดาวสกาวผ่อง...ดาวช่วยส่องให้สดใส
เรื่องร้ายให้หายไป...ชีวิตใหม่จงรื่นรมย์
หนทางที่กางกั้น...ทางสายนั้นอย่าโศกตรม
รอวันขวัญภิรมย์...ได้ชื่นชมซึ่งความงาม
ขวัญเอยจงพักผ่อน..ที่ร้าวรอนอย่าลุกลาม
ขวัญเจ้าพยายาม...จงเดินตามความฝันไป
    ฝันไว้ไปให้ถึง...ให้พบซึ่งวันสดใส
ฝันเอยจงอำไพ...ส่งแรงใจ...ให้ฝันดี..
 :059:ปลอบใจคนไกลบ้าน ที่ทำงานอยู่แดนไกล :059:
                  ด้วยความปรารถนาดี
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๒๓.๕๔ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

492
                 :059:พุทธโอวาทว่าด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา :059:
 
            "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย! ศีลเป็นพื้นฐาน เป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่งแผ่นดินเป็นที่รองรับและตั้งลงของสิ่งทั้งหลาย
ทั้งมีชีพและหาชีพมิได้ เป็นต้นว่าพฤกษาลดาวัลย์ มหาสิงขร และสัตว์จตุบททวิบาทนานาชนิด  บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจย่อมอยู่สบาย
มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่บุคคลปัดกวาด เช็ดถูเรียบร้อย ปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน"

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

  "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย! ศีลนี้เองเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ คือความสงบใจ สมาธิที่มีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นสมาธิที่มีผลมากมีอานิสงส์มาก
บุคคลผู้มีศีลย่อมอยู่อย่างสงบ เหมือนเรือนที่มีฝาผนัง มีประตูหน้าต่าง ปิดเปิดได้เรียบร้อย มีหลังคาป้องกันลมแดดและฝน
ผู้อยู่ในเรือนเช่นนี้ฝนตกก็ไม่เปียก แดดออกก็ไม่ร้อนฉันใด บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิดีก็ฉันนั้น ย่อมสงบอยู่ได้ไม่กระวนกระวาย
เมื่อแดดและลม กล่าวคือโลกธรรมแผดเผา กระพือสัดสาด เข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า สมาธิอย่างนี้ย่อมก่อให้เกิดปัญญา
ในการฟาดฟันย่ำยีและเชือดเฉือนกิเลสอาสาวะต่างๆให้เบาบางและหมดสิ้นไป  เหมือนบุคคลผู้มีกำลัง จับศาสตราอันคมกริบ
แล้วถางป่าให้โล่งเตียนก็ปานกัน"

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

 "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย! ปัญญาซึ่งมีสมาธิเป็นรากฐานนั้น ย่อมปรากฎดุจไฟดวงใหญ่ กำจัดความมืดให้ปลาสนาการ มีแสงสว่าง
รุ่งเรืองอำไพ ขับฝุ่นละอองคือกิเลสให้ปลิวหาย ปัญญาจึงเป็นประดุจประทีปแห่งดวงใจ"

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

  ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงต้องเป็นไปตามขั้นตอน ในไตรสิกขา ๓ อันได้แก่ ศีล มาธิ และปัญญา เพื่อความมั่งคงทางจิต
เริ่มจากศีล คือมีสติและสัมปชัญญะ หิริโอตัปปะ องค์แห่งคุณธรรมเป็นพื้นฐานเพื่อก้าวเข้าสู่สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ
และยกจิตขึ้นพิจารณาให้เกิดปัญญา ความรอบรู้ในกองสังขารอีกต่อไป...ถ้าเราข้ามการปฏิบัติเรื่องศีล  ไปจับที่ภาวนาให้เกิดสมาธิเลย
มันจะก่อให้เกิดอัตตามานะ และอาจจะนำไปสู่ความเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะขาดองค์แห่งคุณธรรม "ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป"
จึงต้องควรระวัง ! อย่าได้มักง่ายขี้เกียจ ลัดขั้นตอนในการปฏิบัติ เพราะอาจจะทำให้เราหลงทาง และนำจิตไปสู่อบายได้.....



493
 :059:เช้าวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๒....
ครบรอบ ๕ ปีเต็ม แห่งการลงมือก่อสร้างฟื้นฟูบูรณะวัดทุ่งเว้า
๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ เริ่มงานการก่อสร้างศาลาหอฉัน
๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ เริ่มลงมือก่อสร้างศาลาการเปรียญ โรงครัว หอระฆัง
๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๙ เริ่มลงมือก่อสร้างพระอุโบสถ
๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๐ เริ่มลงมือก่อสร้างพระธาตุเจดีย์
๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ ลงมือก่อสร้างหอพระ(คุณแม่)
    ไม่ได้ถือฤกษ์ยาม แต่ที่ใช้วันนี้เป็นวันเริ่มลงมือทำงานก็เพราะว่า เป็นวันหยุด และญาติโยมจะมาทำบุญตักบาตรที่วัดกัน
และเป็นการง่ายที่จะรวบรวมศรัทธาจากญาติโยม มาร่วมสร้างกัน หลังจากที่ได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรและฟังการบรรยายธรมแล้ว
ญาติโยมจะเกิดศรัทธาอยากจะทำความดีเพื่อแม่ของตน ซึ่งการเสียสละกำลังทรัพย์ กำลังกาย สร้างถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนานั้น
เป็นบุญอันยิ่งใหญ่ในสายตาและความคิดของญาติโยม ทุกคนจึงมีจิตใจเดียวกันคืออยากที่จะสร้างบุญกุศลเพื่ออุทิศและแผ่บุญนั้น
ให้แม่ของตน จึงเกิดการ ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกัน ในการก่อสร้างเสนาสนะถาวรวัตถุ โดยไม่ต้องมีค่าจ้างแรงงาน ทุกคนทำด้วยใจกัน
และจุดประสงค์หลักในการสร้างวัดของข้าพเจ้านั้น คือให้ชาวบ้านทุกคนในท้องถิ่นมีส่วนในการก่อสร้างเสนาสนะทุกอย่างในวัดนั้นๆ
ซึ่งมันจะเป็นความภาคภูมิใจและประทับใจของพวกเขา...วันเวลาผ่านไปเขาจะบอกเล่ากับลูกหลานของเขาได้ว่า "วัดนี้สร้างมากับมือ"
และเขาจะช่วยกันดูแลบำรุงรักษา"วัดที่เขาสร้างมากับมือ"
   รูปแบบสถาปัตย์อาจจะไม่สวยงามเหมือนที่อื่นเขา แต่สิ่งที่ได้คือ"จิตวิญญาน"การมีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา เพราะว่า
เจตนาในการก่อสร้างมาจากความบริสุทธิ์ใจ...ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่ออวดบารมีหรือแข่งขันกับผู้ใด...โดยมีหลักคิดในการก่อสร้างที่ว่า
๑.ประโยชน์การใช้สอย ความจำเป็น มาเป็นอันดับแรก
๒.ความมั่นคงแข็งแรง อายุการใช้งานต้องคุ้มค่า
๓.กำลังทรัพย์ เงินทุนที่มีอยู่ในกระเป๋า(ไม่ฝันและรอตัวเงินในอนาคต...คิดจากสิ่งที่มี)
๔.รูปทรงทางสถาปัตย์ ที่สามารถทำได้โดยคนในพื้นที่(ถ้ามีการจ้างงานบางส่วนเงินก็จะหมุนเวียนในหมู่บ้าน)
๕.ญาติโยมชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการก่อสร้างนั้น
   "สร้างวัด สร้างคน สร้างผลงาน" และเมื่อมีญาติโยมมาร่วมกันทำงาน เราก็สามารถที่จะแนะนำธรรมะให้แก่เขาได้..ทำกันไปคุยกันไป
สอดแทรกธรรมมะไปในบางจังหวะและโอกาศ ตามความเหมาะสม (สอนธรรมะโดยที่เขาไม่รู้ว่าเรากำลังสอนธรรมะเขาอยู่)ซึ่งเราจะเน้น
ในเรื่องจิตสำนึกต่อส่วนรวม..ความสามัคคี..ยกข้อดีของทุกคนที่มีอยู่มากล่าวยกย่องชมเชยเขา...ข้อเสียความไม่ดีของเขาไม่กล่าวถึง
แล้วเขาจะรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับเรา "พระอาจารย์ท่านใจดี ไม่ดุไม่ด่าไม่ว่าเรา" ใช้หลักจิตวิทยาทำให้เขาศรัทธาและเชื่อถือในตัวเรา
ให้ได้เสียก่อนแล้วจึงจะสอนธรรม...
 :054:แด่ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ :054:
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๓๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย


494
 :090:ฑีฆายุกา โหตุ มหาราชินี :090:
   ยอกายส่งจิตน้อม     เทอดคุณ  แม่เอย
ทรงหนึ่งเหนือนางใด    ทั่วหล้า
ยืนยงคู่จอมไทย         เป็นหนึ่งนานมา
คือแม่ไทยทั่วหล้า        คู่ฟ้า  เมืองไทย...
            ยอกายยอจิตพร้อม
            สิบนิวน้อมอภิวา
            กราบองค์พระมารดา
            มิ่งขวัญหล้าประชาไทย
            เคียงคู่องค์ภูมินทร์
            ทั่วทุกถิ่นเสด็จไป
            ทรงเป็นศูนย์รวมใจ
            ประชาไทยทั้งแผ่นดิน.....
 :054:ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม..คณะศิษย์หลวงพ่อเปิ่นวัดบางพระ นครชัยศรี ขอถวายพระพร :054:
                จรนาโดย รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
 ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา๑๓.๕๒ น. ณ วัดทุ่งเว้า บ้านท่าไคร้-นาแล ต.นาสีนวน อ.เมือง จ.มุกดาหาร

495
 :059:รอวันเวลาแห่งพันธนาการจะหลุดพ้น....
คำมั่นและสัญญาที่เราต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ให้สมบูรณ์
เพื่อไม่ให้ค้างคาใจแล้วเราจะจากไปอย่างมีความสุข
ไม่ต้องกังวลใจต่อเหตุการณ์ในอดีต"อะนากุลาจะกัมมันตา"
การทำงานไม่คั่งค้างเป็นมงคลของชีวิต
การกลับคืนสู่สามัญนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก.....
วันเวลาที่ผ่านพ้นไปนั้นทำให้เราต้องพบปะเจอะเจอผู้คนมากมาย
สักการะนั้นมันเป็นโลกธรรมที่ละเอียดอ่อนซึมลึกในความรู้สึกของผู้คน
มันผูกมัดเป็นภาระแห่งวิถีของชีวิตที่คอยฉุดดึงไว้ไม่ให้เราจากไป
จงทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้ข้างหลัง....
แล้วก้าวเดินไปสู่ความใฝ่ฝันตามความปรารถนาของตัวเรา
"ฝันให้ไกล..ไปให้ถึง"ทุกสิ่งไม่เกินความพยายามของมนุษย์
วันเวลาของชีวิตเหลืออยู่อีกไม่มากแล้ว
ขอจงเร่งความเพียรพยายามทำความฝันนั้นให้เป็นจริงโดยเร็วไว
อย่าปล่อยวันเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์
ไม่มีใครช่วยเราได้......นอกจากตัวของเราเอง....
สำหรับเรื่องนี้...ผู้อื่นเป็นได้เพียงกำลังใจเท่านั้น
การก้าวไปสู่ความใฝ่ฝันนั้นต้องกระทำด้วยตัวเราเอง
ไม่มีอะไรจีรังและยั่งยืน...
สุขใดไหนอื่นหรือจะเท่าสุขจากพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า...
 :054:แด่การเดินทางตามความใฝ่ฝันที่ตั้งไว้ :054:
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๒๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

496
บทความ บทกวี / แม่พระในดวงใจ...
« เมื่อ: 12 ส.ค. 2552, 05:20:51 »
 :059:๑๒ สิงหาคม....
วันนี้สำหรับชาวไทยเขาสมมุติให้เป็น"วันแม่แห่งชาติ"
เลยถือโอกาศเขียนถึงแม่ตามความรู้สึกที่เป็นจริงจากใจไม่เสริมแต่ง
แม่เป็นหญิงแกร่ง....
แม่เลี้ยงลูกสี่คนด้วยแรงของแม่
ส่งเสียให้ได้รับการศึกษาถึงระดับชั้นมหาวิทยาลัยทุกคน
ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดมาพ่อกับแม่ก็ไม่ได้อยู่ด้วยกัน
แม่อยู่กับลูกทั้งสี่คน....
หลังจากทุกคนเติบใหญ่
แม่มีเวลาว่างมากขึ้น ได้มีโอกาศปฏิบัติธรรมตามที่แม่ศรัทธา
ข้าพเจ้ายังจำภาพของแม่....
วันที่พระพี่ชายมรณะภาพได้
แม่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ดีมาก
ไม่มีน้ำตาของแม่ไหลออกมาให้เห็น
ซึ่งเป็นผลของการปฏิบัติธรรมของแม่
ทำให้ข้าพเจ้าเบาใจ ไม่เป็นห่วง
เพราะแม่เข้าใจธรรมะและทำได้ระดับหนึ่งแล้ว
เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าบอกว่าจะบวช....
แม่ดีใจมากที่จะได้บวชลูกชาย
ได้เห็นชายผ้าเหลืองของลูก
แต่เมื่อข้าพเจ้าบอกว่าจะไม่สึก
ตอนแรกแม่เสียใจ เพราะเสียดายความรู้ที่เรียนมา
ยังไม่ได้ทำงานให้คุ้มค่ากับเงินที่ส่งเสียไป
แต่แม่ก็เข้าใจ....
และได้กล่าวอนุโมทนากับข้าพเจ้าในบุญกุศล
สำหรับข้าพเจ้านั้น....
จะไม่ทำให้ท่านเสียใจและทุกข์ใจ
จะตั้งใจสร้างคุณงามความดี สร้างบารมีต่อไป
ให้แม่ได้ภาคภูมิใจ...ในพระลูกชาย...
 :054:เคารพรักแม่นั้นนิรันดร :054:
         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๕.๒๐ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

497
บทความ บทกวี / ...จากใจคนไกลแม่...
« เมื่อ: 11 ส.ค. 2552, 06:28:03 »
 :054:ฝากฟ้าส่งข่าวถึง...ใครคนหนึ่งที่แสนไกล...
ฝากบอกว่าห่วงใย....มิได้เลือนเหมือนเวลา
ฝากดาวที่พราวสรวง....อย่าลาล่วงดวงใจจ๋า
ติดตามถามดารา.....ว่ามีสุขทุกข์อย่างไร
ดวงเดือนบนฟ้ากว้าง....ส่องสว่างกลางดวงใจ
ยามเหงาเปล่าฤทัย....ขับกล่อมให้แม่หลับนอน
ฝากกลอนสุนทรนี้.....ถึงแม่ที่เอื้ออาทร
ฝากถ้อยคำสุนทร.....สู่แม่นั้น..ยามห่างกัน
อยู่ไกลใจโปรดรู้.....ว่าแม่อยู่ในใจฉัน
คิดถึงทุกคืนวัน......รักแม่นั้น..ทุกวันวาร
ภาระและหน้าที่.....ของลูกมีมหาศาล
คุณค่าคือผลงาน.....งามตระการ..บนแผ่นดิน
ส่งใจไปน้อมนบ....ความเคารพไม่จบสิ้น
ดวงใจใฝ่ถวิล....รักแม่นั้นนิรันดร....
 :054:เคารพรักแม่ผู้ให้กำเนิดเสมอมา :054:
               ด้วยรักและศรัทธา
            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๘.๒๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

498
 :059:ฝนตกหนักทั้งวัน....
ออกไปรับบิณฑบาตรไม่ได้
ใช้เวลาช่วงเช้าในการพิจารณาธรรม
เสร็จจากภัตรกิจช่วงเช้ากลับขึ้นศาลาเจริญภาวนาต่อ
ทุกครั้งหลังการปฏิบัติ...
จะทบทวนใคร่ครวญพิจารณา
เริ่มจากตั้งแต่ตื่นนอนมาจนกระทั้งจะนอนใหม่
ว่าเราได้ทำอะไรมาบ้าง อารมณ์ความรู้สึกเป็นอย่างไร
เวลาที่ผ่านไปใจเราเป็นกุศลหรืออกุศล
อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตแปรเปลี่ยนไปทั้งในทางกุศลและอกุศล
ให้คะแนนความประพฤติแต่ละวันที่ผ่านมา
เพื่อให้เห็นความก้าวหน้าหรือว่าความเสื่อมของตัวเรา
เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเพียรของเรา
ความเพียรทั้ง ๔ ประการอันได้แก่...
๑.เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในความจิตของเรา เรียกว่า"สังวรปธาน"
๒.เพียรพยายามละบาปที่เกิดขึ้นแล้วในจิตของเรา  เรียกว่า"ปหานปธาน"
๓.เพียรพยายามทำให้กุศลเกิดขึ้นในความคิดในจิตของเรา เรียกว่า"ภาวนาปธาน"
๔.เพียรพยายามรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วในความคิดในจิตของเราไม่ให้เสื่อมไป เรียกว่า"อนุรักขนาปธาน"
      เป็นความเพียรในมรรคองค์แปด ที่เรียกว่า"สัมมาวายาโม" คือความเพียรชอบ สิ่งนี้เราได้ทำแล้ว
และจะกระทำต่อไป เพื่อให้ทรงไว้ซึ่งความเจริญในธรรม....
 :054:แด่สายฝนและสายธรรมที่ทำให้ได้คิดและพิจารณาในธรรม :054:
                        เชื่อมั่น-ศรัทธาในการปฏิบัติธรรม
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๑๑ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
 

499
 :059:สำหรับท่านที่ได้ส่งข้อความแสดงความคิดความรู้สึกที่มีต่อแม่ มาร่วมในกระทู้
"ลูกศิษย์ที่ดีของหลวงพ่อเปิ่น ลูกกตัญญูของแม่" ทุกท่านเป็นผู้ได้รับรางวัลกันทุกท่าน
ไม่มี รางวัลที่1 ที่2 ที่3 แต่จะได้เหมือนกันหมด คือ "หลวงปู่ทวดพิมพ์สี่เหลี่ยม หลังยันต์ห้าแถว ฝังหัวเสือหลวงพ่อเปิ่น"
ซึ่งจัดสร้างโดย วัดทุ่งเว้า บ้านท่าไคร้-นาแล ต.นาสีนวน อ.เมือง จ.มุกดาหาร...ซึ่งมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นมาทั้งหมด 47 ท่าน
กรุณาติดต่อรับรางวัลได้ที่ หลวงพี่เว็บ..ในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ ที่วัดบางพระ และท่านใดที่มารับด้วยตนเองไม่ได้ กรุณาติดต่อ..
"sho presley"...ขอเจริญพร..รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...10/8/52 เวลา 21.34น.

500
ธรรมะ / พระพุทธพจน์เตือนใจ..
« เมื่อ: 10 ส.ค. 2552, 09:45:22 »
         :059:พระพุทธพจน์เตือนใจ :059:
   "ยะถาปิ รุจิรัง ปุปผัง   วัณณะวันตัง อะคันธะกัง
เอวัง สุภาสิตา วาจา     อะผะลา โหติ อะกุพพะโต"
   .๐.ดอกไม้งาม สีสวย แต่ไม่มีกลิ่นหอม ฉันใด
คำพูดดี ก็ย่อมไม่เกิดผล แก่บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติตาม ฉันนั้น.๐.
                                             (ขุ.ธ. ๒๕/๙๑)
.....................................................................
    "ปัญญัง นัปปะมัชเมยยะ สัจจะมะนุรักเขยยะ
     จาคะมะนุพรูเหยยะ สันติเมวะ โสสิกเขยยะ"
.๐.ไม่พึงประมาทปัญญา  พึงตามรักษาสัจจะ
     พึงเพิ่มพูนจาคะ  พึงศึกษาสันติเท่านั้น.๐.
                 (พุทธ .ธาตุวิภังคสูตร ๑๔/๓๗๑)
..........................................................
    "อะตีตัง นานุโสจันติ นัปปะชัปปันติ นาคะตัง
   ปัจจุปปันเนนะ ยาเปนติ เตนะ วัณโณ ปะสีทะติ"
.๐.ผู้ถึงธรรม ย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
               อีกทั้งยังฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง
   ดำรงค์อยู่ด้วยปัจจุบันธรรม ผิวพรรณจึงผ่องใส.๐.
                          (พุทธ.อรัญญสูตร ๑๕/๖)
...........................................................
  "อักโกจฉิ มัง อะวะธิ มัง อะชินิ มัง อะหาสิ เม
    เย จะ ตัง อุปะนัยหันติ เวรัง เตสูปะสัมมะติ"
.๐.ผู้ใด ผูกใจเจ็บว่า คนโน้นได้ด่าเรา
    คนโน้นได้ตีเรา  คนโน้นได้ชนะเรา
    คนโน้นได้ลักของๆเรา ดังนี้ เวรก็ไม่มีทางระงับ.๐.
                       (พุทธ.อุปักกิเลสสูตร ๑๔/๒๕๖)
..............................................................
"ปะภัสสะระมิทัง ภิกขะเว จิตตัง ตัญจะโข
    อาคันตุเกหิ อุปักกิเลเหิ อุปักกิลิฏฐัง"
.๐.ธรรมชาติของจิตย่อมบริสุทธิ์ผุดผ่อง                                                                                                                      แต่จิตต้องเศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา.๐.
                      (พุทธ.เอกนิบาต ๒๐/๙)
...................................................
รวมรวมมาจาก...พระไตรปิฎก ฉบับสุภาษิต...
จดบันทึกไว้เพื่อเป็นพุทธพจน์เตือนใจ...
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม


501
บทความ บทกวี / สายฝนและสายธรรม...
« เมื่อ: 10 ส.ค. 2552, 06:55:12 »
 :059:พระพิรุณ   พรั่งพรู   ลงสู่พื้น
จากดึกดื่น   เรื่อยมา   จนฟ้าสาย
ให้เปียกปอน  หนาวเหน็บ  ไปทั่วกาย
เย็นพระพาย   พัดพา     มาร่วมกัน
    นั่งเพ่งมอง   สายฝน   หล่นจากฟ้า
แล้วนำมา     เป็นนิมิต     จิตสร้างสรรค์
สมาธิ      เกิดขึ้น    โดยฉับพลัน
เห็นฝนนั้น   แต่ละหยด  ที่รดมา
  จับนิมิต     อาโป     ในโอกาศ
มิให้พลาด   จากจิต    คิดสรรค์หา
เอาวิกฤต     เป็นโอกาศ  ทุกเวลา
ภาวนา       เพ่งนิมิต    จิตสงบ
  สงบนิ่ง    ตั้งมั่น     ไม่หวั่นไหว
พึงพอใจ   ในสิ่ง      ที่ได้พบ
ภาวนา       ต่อไป    ไม่รู้จบ
ทำจนครบ   เวลา     หน้าที่เรา
  แล้วถอนจิต  มาพินิจ คิดปัญหา
ให้ปัญญา     เกิดขึ้น  แก่โง่เขลา
ทำกายจิต    ให้โปร่ง  และโล่งเบา
แล้วนำเอา    ธรรมะ    พิจารณา
  ยกขันธ์ห้า   มาพินิจ   คิดวิเคราะห์
เพื่อให้เหมาะ  เหตุการณ์  และปัญหา
สังขารขันธ์     นั้นเสื่อม    ตามเวลา
เพราะผ่านมา   ยาวนาน    จึงร่วงโรย
  จากเด็กน้อย  เป็นหนุ่มสาว  จนเฒ่าแก่
สังขารแย่     เพราะผ่าน   การหิวโหย
ด้วยกิเลส     ตัณหา       ดั่งฝนโปรย
จึ่งร่วงโรย     เพราะผ่าน    กาลเวลา
  เสียงระฆัง   ดังมา      พาปลุกจิต
ถอนความคิด   ปรับจิต    รับปัญหา
มีเหตุการณ์     มากมาย  จะเข้ามา
จึงขอลา     ออกไปพบ    กับความจริง...
 :054:แด่อารมณ์ศิลป์จินตกวีในยามเช้า :054:
                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๕๕ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

502
 :059:พยายามก้าวเดินไปตามทางสายกลาง.....
ก้าวย่างตามมรรคองค์แปดไปตามกำลังที่สั่งสมมา
อาจจะช้าแต่ว่ามั่นคง พยายามทำให้ได้ ซึ่งดีกว่าไม่ได้ทำ
เตือนสติตนเองอยู่เสมอ มิให้เผลอเดินออกนอกทาง
อาจจะก้าวพลาดไปบ้าง แต่ระลึกได้ทัน
ดึงจิตนั้นกลับเข้าสู่เส้นทางได้ ไม่เยหายจนเกินไป
 :059:อ่านตัวออก...บอกตัวได้...
ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราต้องกระทำ
รู้กำลังของตัวเราเอง ว่าสามารถไปได้ไกลขนาดไหนในเวลานี้
รู้ข้อดีและข้อเสีย กำลังเพียรละและเพียรเร่ง
เพื่อสร้างความเข้มแข็งของอินทรีย์ทั้ง ๕ อันได้แก่
๑.สัทธินทรีย์ คือความเชื่อ ความศรัทธา
๒.วิริยินทรีย์ คือความเพียร ความพยายาม
๓.สตินทรีย์ คือความมีสติระลึกได้ ความรู้ตัวทั่วพร้อม
๔.สมาธินทรีย์ คือความตั้งใจมั่น ความสงบนิ่งที่มั่นคง
๕.ปัญญินทรีย์ คือความรอบรู้ในกองสังขาร ในขันธ์ ๕
    กำลังในข้อไหนที่ยังอ่อนอยู่
หรือกำลังในข้อไหนที่มากเกินไป
ปรับกำลังทั้ง ๕ ให้มีความพอดีเสมอกัน
ให้มีความพร้อมในการเดินทาง ทุกอย่างก็จะไปได้ดี ไม่มีติดขัด
ทุกอย่างนั้นสามารถทำได้โดยการน้อมจิตมาสู่ตัว
พิจารณากายและจิตของเราเองอยู่ตลอดเวลา
 :054:ศรัทธาในทางธรรมและจะนำมาประพฤติปฏิบัติ :054:
                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๑๐ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

503
ธรรมะ / กิเลส10ประการ
« เมื่อ: 09 ส.ค. 2552, 07:05:16 »
   กิเลสทั้ง10ประการนี้เป็นสิ่งที่นอนเนื่องอยู่ในจิตใจของเรา เป็นตัวขวางกั้นกุศลธรรมทั้งหลาย
ทำให้ความเจริญในธรรมไม่เกิดขึ้นในจิตของเรา อันได้แก่
๑.ทิฏฐิกิเลส อันได้แก่ทิฏฐิเจตสิกคือความเห็นผิด
๒.วิจิกิจฉากิเลส อันได้แก่ความสงสัยที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง
๓.โทสะกิเลส อันได้แก่ความโกรธความขุ่นมัวใจที่ทำให้เศร้าหมอง
๔.โลภะกิเลส อันได้แก่ความอยากได้ที่ทำให้ใจเศร้าหมอง
๕.โมหะกิเลส อันได้แก่ความหลงลืมไม่รู้ความจริงเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ
๖.ถีนะกิเลส อันได้แก่ความหดหู่ ท้อถอย ซึมเซาเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ
๗.อุทธัจจะกิเลส อันได้แก่ความฟุ้งซ่านรำคาญใจเป็นเครื่องเศร้าหมอง
๘.อหิริกะกิเลส อันได้แก่ความไม่ละอายต่อบาปเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ
๙.มานะกิเลส อันได้แก่ความถือตัวถือตนทำให้ใจเศร้าหมอง
๑๐.อโนตตัปปะกิเลส อันได้แก่ความไม่เกรงกลัวต่อบาปทำให้ใจเสร้าหมอง
        กิเลส 10 ประการนี้ เป็นอกุศลเจตสิก ประกอบให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว
เป็นนามธรรม ควรที่จะประหารเสีย ทำลายให้สิ้นไป จิตจึงจะถึงซึ่งความสงบ..เสวยวิมุตติสุข...

504
 :059:"กมฺมุนา วตฺตตีโลโก".....
สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม
ที่สุดของพรหมวิหาร ๔ ก็คือการวางอุเบกขา
เพราะเราเมตตาสงสาร จึงเข้าไปสงเคราะห์ช่วยเหลือ
ถ้าเขาดีขึ้นเราก็ยินดีด้วยกับเขา...แต่ถ้าสงเคราะห์แล้ว
ยังเหมือนเดิมหรือแย่ลงกว่าเดิมก็ต้องทำใจปล่อยวาง
เพราะว่าเราทำหน้าที่ของเรานั้นสมบูรณ์แล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นวิบากกรรมของเขาเองที่จะต้องได้รับ
.....อุเบกขา......
เพราะเราเข้าใจในวิสัยของสัตว์โลกที่มีกรรมเป็นของเฉพาะตน
มิได้เกิดความน้อยใจหรือเสียใจเพราะไม่ได้หวังอะไรจากการสงเคราะห์เขา
เราทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ก็เพียงพอแล้ว...ถือว่าเป็นการสร้างบารมี
ผลจะอกมาอย่างไรเป็นเรื่องของวิบากกรรมของแต่ละคน
เรารับเอาแต่บุญไม่ไปร่วมในบาปกรรมของเขา
สิ่งที่ทำลงไปแล้วใจเป็นสุขทุกครั้งที่คิดถึงนั้นคือบุญ
แต่ถ้าทำไปแล้วใจเป็นทุกข์ แสดงว่าการกระทำนั้นยังไม่ถูกต้อง
แม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ดีงามก็ตาม
เพราะเราทำไปโดยหวังผล ทำเพื่อตอบสนองความต้องการของเราเอง
จิตของเรานั้นยังไม่บริสุทธิ์เพียงพอใจมันเลยเศร้าหมอง
แต่ถ้าเราบริสุทธิ์ใจไม่หวังผลตอบแทนในการกระทำ...ใจของเราก็จะเกิดปิติ
....กว่าจะถึงวันนี้....
ที่เรารู้จักการวางใจให้เป็นอุเบกขาได้นั้น
ต้องผ่านวันเวลามายาวนานพบพานหลายสิ่งที่สะเทือนใจ
กว่าจะรู้กว่าจะเข้าใจเราต้องวุ่นวายใจไปหลายครั้ง
เพราะเราไปมุ่งหวังในการกระทำของเรา
ไปกำหนดผลความสำเร็จไว้ล่วงหน้า เมื่อไม่ได้มาก็เสียใจ
วันเวลาที่ผ่านไปเราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
และสอนเราให้เข้าใจในเรื่องของผลกรรม.....
 :054:กรรมแหละเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก :054:
                 เชื่อมั่นในเรื่องของกรรมและวิบาก
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๙ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๔๘ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย


505
บทความ บทกวี / สายฝนในยามเช้า...
« เมื่อ: 09 ส.ค. 2552, 06:15:45 »
    เช้านี้ฝนตกหนัก    ได้หยุดพักนั่งทบทวน
ครุ่นคิดและใคร่ครวญ   นึกย้อนทวนที่ผ่านมา
จากเด็กจนเติบใหญ่     เข้าสู่วัยการศึกษา
หัดเรียนเขียนกอกา     จนมหาวิทยาลัย
เรียนรู้ทีละนิด            เติมความคิดชีวิตใหม่
อ่านจำจนเข้าใจ         และถามไถ่เมื่อใคร่รู้
ใคร่ครวญและวิเคราะห์ อันไหนเหมาะลองทำดู
ทุกอย่างนั้นคือครู       สอนให้รู้เป็นบทเรียน
เคยเดินในทางผิด      ใช้ชีวิตที่ผิดเพี้ยน
นักเลงคราบนักเรียน    เกือบจวนเจียนคุกตะราง
เขาว่าเป็นมาเฟียร์       เพราะเข้าเคลียร์ได้ทุกอย่าง
ชีวิตจึงหลงทาง         เดินก้าวย่างเส้นทางทางโจร
ข่มขู่และรีดไถ          ใครไม่ให้ก็ต้องโดน
ระเบิดเอาไปโยน       เพราะเป็นโจรอันธพาล
สร้างกรรมและทำชั่ว   หลงเมามัวมานมนาน
นั้นคือประสพการณ์    ที่ก้าวผ่านเมื่อนานมา
   วันหนึ่งจึงได้คิด     รู้ถูกผิดและปัญหา
บุญเก่านั้นนำพา       จึงได้มาสู่ทางธรรม
ทางธรรมนำชีวิต       ปลุกดวงจิตที่มืดดำ
ให้รู้ซึ่งบาปกรรม       สิ่งที่ทำที่แล้วมา
ตั้งตนเป็นคนใหม่      และตั้งใจจะศึกษา
ธรรมะองค์สัมมา       พัฒนาจิตกายใจ
นำมาปฏิบัติ            ให้รู้ชัดความเป็นไป
ชีวิตคืออะไร           และทำไมต้องเกิดมา
เรียนรู้ปฏิบัติ           และฝึกหัดภาวนา
สติและปัญญา         ไตรสิกขาพยายาม
แบบอย่างครูอาจารย์  แต่ละท่านให้เดินตาม
สู่ธรรมที่งดงาม       ก้าวเดินตามครูอาจารย์
เดินตามเส้นทางธรรม  กุศลนำให้พ้นผ่าน
นั่นคือประสพการณ์    จึงเล่าขานให้ท่านฟัง....
 :054:ขอบคุณสายฝนในยามเช้าที่ทำให้เราไม่ได้ออกบิณฑบาตร :054:
                 :054:ขอบคุณบุญกุศลที่ได้กระทำมา :054:
            :054:ขอบคุณกาลเวลาที่สอนให้รู้ซึ่งบทเรียน :054:
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๙ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๑๖ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

 

506
 :059:เมื่อก่อนนั้น....
จิตมันหยาบมันแข็งกระด้าง
เพราะอัตตาและมานะของเรายังไม่ถูกขัดเกลา
จึงหนาแน่นไปด้วยกิเลสคือ ความรัก โลภ โกรธ หลง
เข้าครอบงำจิตเราพฤติกรรมที่แสดงออกจึงกร้าวร้าวรุนแรง
ตอบโต้ทุกครั้งที่มีอะไรเข้ามากระทบจิตไม่รู้จักผิดชอบและชั่วดี
ดำเนินชีวิตอยู่ในวิถีแห่งคนพาลสันดานหยาบ
หมกมุ่นอยู่กับกิเลสตัณหาและอุปาทานโดยคิดว่ามันคือความสุข
จากการที่ได้เสพในสิ่งที่ตอบสนองเหล่านั้น
 :059:แต่เมื่อได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม.....
ความรู้สึกนึกคิดก็เปลี่ยนไปทำให้เรารู้อะไรๆมากขึ้น
รู้จักผิดชอบชั่วดี มีสติและสัมปชัญญะในการดำรงค์ชีวิต
มีความคิดที่เป็นระบบมากขึ้น รู้จักใคร่ครวญ ทบทวน พิจารณา
หาเหตุและผลของเหตุการณ์ทุกสื่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา
รู้จักการข่มจิตข่มใจต่อสิ่งยั่วยวนทั้งหลาย ควบคุมความรู้สึกนึกคิดของเราได้
มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต จิตน้อมเข้ามาหากุศล ดำรงค์ตนอยู่ในทำนองคลองธรรม
 :059:สิ่งนี้คือคุณของพระรัตนตรัย.....
ที่เราได้รับมาจากการที่เราได้เข้ามาศึกษาอาศัยใบบุญของพระศาสนา
ทำให้ชีวิตเรามีคุณค่ากว่าที่เคยเป็นมาในอดีตของชีวิตฆราวาส
พบกับความเย็น ความสงบ ความสุข ที่เราไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต
มันเป็นความรู้สึกที่ไม่อาจจะบรรยายเป็นตัวอักษรหรือคำพูดได้
มันเป็นความรู้สึกที่อยู่ภายในใจ รู้ได้เฉพาะตน เห็นผลด้วยการปฏิบัติ
ธรรมะของพระพุทธองค์พิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติ และต้องทำให้จริง
สิ่งที่เรารู้ สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราเข้าใจเป็นเพียงเศษเสี้ยวธุลีหนึ่งของพระธรรม
 :059:ยังมีอีกมากมาย....
ยังมีหนทางอีกยาวไกล ที่เรายังไม่ได้ก้าวเข้าไปและยังไม่รู้ไม่เห็น
บนเส้นทางแห่งสายธรรมนี้ยังมีอีกมากมายให้เราได้เรียนรู้และปฏิบัติ
การเดินทางกลับไปสู่ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของจิตที่ปภัสสร
จิตแท้จิตเดิมที่เริ่มมานั้นมันบริสุทธิ์ แต่กิเลสที่เป็นอาคันตุกะได้เข้ามาอยู่อาศัย
ทำให้จิตเรานั้นต้องเศร้าหมอง เพราะกิเลสที่จรมา
จึงเป็นหน้าที่ของเราผู้เป็นเจ้าเรือน ที่จะต้องทำความสะอาดปัดกวาดกิเลสให้หมดสิ้นไป....
 :054:น้อมกายน้อมจิตแสดงความเคารพซึ่งพระรัตนตรัย :054:
                       เชื่อมั่น-ศรัทธาในสายธรรม
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๘ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๔๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย


507
 :054:นบนิ้วน้อม   มือประนม   ก้มลงกราบ
รำลึกภาพ        พระอุดม-        ประชานาถ
หลวงพ่อเปิ่น    วัดบางพระ       เกียรติประกาศ
สีหนาท          ทุกถิ่นฐาน       มานานปี
   เป็นที่พึ่ง      ของผู้คน         ทุกค่ำเช้า
 เทพเจ้า         แห่งลุ่มน้ำ        นครชัยศรี
ตลอดอายุ       ที่ผ่านมา          เนิ่นนานปี
หลวงพ่อมี       ความเมตตา      สาธุชน
  หลวงพ่อเปิ่น   พระอุดม-       ประชานาถ
เกียรติประกาศ   คนแซ่ซ้อง      ทุกแห่งหน
ขอกุศล          ผลบุญนั้น        บันดาลดล
ประสิทธิ์ผล     ซึ่งสมบัติ          พิพัฒน์ชัย
   หลวงพ่ออยู่  เป็นมิ่งเกล้า      ของเหล่าศิษย์
ชุบชีวิต           เมตตาธรรม      นำมาให้
บารมี              ช่วยปกป้อง     จากผองภัย
น้อมกายใจ       ไหว้บูชา         ครูอาจารย์...
                         รวี สัจจะ ร้อยกรองบูชาครู 
                                ๗ สิงหาคม ๒๕๕๒
                                  ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง
ป.ล.ร้อยกรองเป็นกลอน ๙ ดั้น ซึ่งอาจจะไม่คุ้นกันสักเท่าไหร่...ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม       

508
 :054:ว่างเว้นจากการเขียนบทกวีมาหลายวัน เพราะอยู่ระหว่างการเดินทาง
เขียนแต่บทความ และบันทึกการเดินทาง ซึ่งแฝงไว้ด้วยหลักธรรม นำเสนอ
การเขียนบทกวีนั้นบางครั้งเราต้องใช้อารมณ์ จิตวิญญานในงานศิลป์ เพื่อที่จะ
สร้างคำหรือภาษาที่ที่สวยงาม ซึ่งต้องเวลาและอารมณ์ เป็นหลักในการประพันธ์
 :059:พักกายพักจิต ทำชีวิตให้สบาย ทั้งภายนอกและภายใน ใจก็พร้อมที่จะทำงาน :059:
          :016:มุมมองผ่านช่องหน้าต่าง :015:
     ทุกครั้งเมื่อเสร็จจากภาระกิจ......
ก็จะขึ้นมาสู่ศาลาเพื่อนั่งพักผ่อน
บนเก้าอี้ที่โต๊ะทำงานเป็นประจำ
จะนั่งมองผ่านช่องหน้าต่าง
ปลดปล่อยความรู้สึกและความคิดไปสู่ท้องฟ้า
มองหมู่เมฆที่เคลื่อนไปมาตามกระแสลม
มองหมู่ดาวบนฟ้าในยามราตรี
ร้อยเรียงเรื่องราวมาเล่าเป็นบทกวี
เป็นการพักผ่อนที่มีความสุขทั้งทางโลกและทางธรรม.......
        จะร้อยเรียง    เรื่องราว    และข่าวสาร
      ประสพการณ์    ผ่านตา     มาให้เห็น
      สอนให้จำ       ทำให้ดู     อยู่ให้เป็น
      ไม่ยากเย็น      เกินกว่า     พยายาม
         มองหมู่เมฆ   เคลื่อนคล้อย   ลอยบนฟ้า
      แล้วแต่ลม       นำพา       ไม่ไถ่ถาม
      ไม่มีสิทธิ์        ร้องขอ      หรือต่อความ
      เจ้าลอยตาม    แรงลม      ที่พัดพา
         จากกลุ่มน้อย   ลอยมา   พาประสาน
     จึงเกิดการ      รวมตัว     บนท้องฟ้า
     เป็นก้อนใหญ่  เคลื่อนไหว   อยู่ไปมา
     อีกไม่ช้า      ก็จะกลาย     เป็นสายฝน
        แล้วร่วงหล่น  ลงมา    สู่เบื้องล่าง
     ทุกสิ่งอย่าง    ล้วนมี      ซึ่งเหตุผล
     มีที่มา      ที่ไป     ใช่วกวน
     ไม่เหมือนคน   ที่ใจ   ไม่แน่นอน
          ใจคนนั้น   ผันแปร   แล้วแต่จิต
     เปลี่ยนความคิด  จิตใจ    ให้ยอกย้อน
     ไม่มีความ     เที่ยงแท้    และแน่นอน
     จิตปลิ้นปล้อน กลับกลอก  หลอกเหมือนลิง
         เพราะกิเลส  ตัณหา   พาให้คิด
     แปรเปลี่ยนจิต   ไปกับ    ทุกทุกสิ่ง
     ไม่ยอมรับ     ความเห็น   ที่เป็นจริง
     จิตไม่นิ่ง      เพราะขาดธรรม  จะนำทาง
          จิตที่มี    คุณธรรม    นำความคิด
      รู้ถูกผิด       ดีชั่ว       ทุกสิ่งอย่าง
      รู้จักการ      ปล่อยปละ  และละวาง
      ธรรมจะสร้าง  จิตสงบ    พบความจริง
         มีสติ   และสัม-ปชัญญะ
     จิตก็จะ     พบความ   สงบนิ่ง
     ได้รู้โลก     รู้ธรรม     ที่เป็นจริง
     จิตจะนิ่ง      สงบ      เมื่อพบธรรม.....
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 :054:แด่อารมณ์กวีที่ริมหน้าต่าง :054:
              ศรัทธา-ปรารถนาดี
           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๗ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๔๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
         

509
ธรรมะ / ...สมถกรรมฐาน...
« เมื่อ: 07 ส.ค. 2552, 09:39:50 »
     การเจริญสมถกรรมฐาน คือการเจริญสติเพื่อให้จิตมีสมาธิ ซึ่งสมถกรรมฐานตามหลักของพุทธศาสนานั้น
มีอยู่ ๔๐ วิธี หรือที่เรียกกันว่า กรรมฐาน ๔๐ กอง ซึ่งทุกกองนั้นล้วนแล้วแต่ต้องใช้สติเข้าไปกำกับในอารมณ์
(สิ่งที่เอามาเป็นองค์ภาวนา) จนจิตเพ่งแน่วแน่จับแนบสนิทอยู่กับอารมณ์กรรมฐานนั้น มีความสงบนิ่ง ไม่หวั่นไหว
ไม่ส่งออกไปที่อื่น อยู่กับอารมณ์นั้น ซึ่งภาษานักปฏิบัติจะเรียกว่า "จิตลงฐาน" คือเข้าสู่อารมณ์สมาธิตามลำดับขั้น
สมาธิก็จะมั่นคงขึ้นไปเรื่อยๆ จากขณิกสมาธิ  เข้าสู่ อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ตามลำดับชั้นของอารมณ์สมาธิ
ผลของสมาธินั้นคือองค์ของอารมณ์"ฌาน" ซึ่งอารมณ์ฌานนั้นมีลำดับชั้นต่างกันไป ตามกำลังของสมาธิที่ทรงอยู่
ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ ลำดับชั้น อันได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน  ซึ่งแต่ละฌานนั้นมีองค์ธรรมดังนี้
   ๑.ปฐมฌาน มีองค์ธรรม ๕ ประการ อันประกอบด้วย วิตก วิจาร ปิติ สุข และ เอกัคคตา
   ๒.ทุติยฌาน มีองค์ธรรม ๓ ประการ อันประกอบด้วย ปิติ สุข และ เอกัคคตา
   ๓.ตติยฌาน มีองค์ธรรม ๒ ประการ อันประกอบด้วย สุข และ เอกัคคตา
   ๔.จตุตถฌาน มีองค์ธรรม ๒ ประการ อันประกอบด้วย อุเบกขา และเอกัคคตา
      อารมณ์ วิตก วิจาร นั้นคือ จิตจะยกข้อธรรมขึ้นมาขบคิดพิจารณา ตีความขยายความในธรรมที่เคยได้ยินได้ฟังมา
จนเกิดความรู้ความเข้าใจในข้อธรรมนั้น
     เมื่อจิตยกข้อธรรมขึ้นมาพิจารณาจนเข้าใจในข้อธรรมเหล่านั้น จิตก็จะมีความเอิบอิ่ม ซาบซ่านไปทั่วกาย ซึ่งเราเรียก
อาการอย่างนั้นว่าเป็นอารมณ์ "ปิติ"
     เมื่ออาการของปิติเต็มที่แล้วกะจะดับระงับลงเป็นความรู้สึกที่เย็นสบายจนไม่สามารถที่จะบรรยายได้ ซึ่งอาการอย่างนั้น
เราเรียกว่าเป็นอารมณ์ "สุข" เป็นความรู้สึกที่สบายจนบอกไม่ถูก
     เมื่ออารมณ์สุขนั้นมันเต็มที่แล้วจิตก็จะเปลี่ยนมาสู่ความสงบ และวางเฉยไม่พิจารณาอะไร เห็นแต่ความนิ่ง ความสงบ
เราเรียกอารมณ์นี้ว่า "อุเบกขา เอกัคคตา"
      ซึ่งในแต่ละอารมณ์นั้นจะเกิดขึ้นสลับกันไปมาขององค์ธรรมที่มีอยู่ในแต่ละฌาน ตามกำลังของสมาธิที่เป็นอยู่ในขณะนั้น
ซึ่งเป็นผลของสมถกรรมฐาน ที่มีสมาธิเป็นที่ตั้ง เป็นความแนบแน่นของจิตต่อกรรมฐานจนเป็นหนึ่งเดียว คือเอกัคคตารมณ์
ซึ่งสมาธิที่เกิดขึ้นในองค์แห่งฌานนั้น เป็น"โลกียฌาน" คือยังไม่ได้เข้าไปประหารกิเลส ตัณหา จนกว่าเราจะได้เจริญวิปัสสนา
ยกจิตขึ้นมาพิจารณาในอารมณ์สมาธินั้น คือ การกำหนดรู้ในอารมณ์ของฌานทั้ง ๔ ซึ่งเรียกว่าฌานที่ ๕ ซึ่งเป็นวิปัสสนา
     กำหนดรู้ในองค์ฌาน ตั้งแต่ วิตก วิจาร จนหายไป แล้วไปกำหนดรู้ในอารมณ์ ปิติ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ เป็นองค์ฌาน
เพื่อยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา จนปิตินั้นดับไปเหลือแต่สุข และ เอกัคคตา กำหนดรู้ในสุขที่เป็นเวทนาขันธ์ในองค์ฌาน ยกจิต
ขึ้นสู่วิปัสสนา จนสุขเวทนานั้นดับไป เหลือแต่ อุเบกขาและเอกัคคตา ก็ไปกำหนดรู้ในอุเบกขาความวางเฉยของจิตนั้น
จนมันดับไป เป็นสัมมาสมาธิ จิตก็จะเข้าสู่ "โลกุตตรจิตหรือโลกุตตรฌาน"....
 :054:ฝากไว้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรม เจริญสมถกรรมฐานทั้งหลาย :054:
                          ด้วยความปรารถนาดีต่อผู้ใคร่และใฝ่ในธรรมทั้งหลาย
                                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๗ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๓๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
 :059:ป.ล. อย่าเชื่อทันที ที่ได้อ่าน และอย่าได้ปฏิเสธทันที ที่ได้อ่าน ควรใช้วิจารณญานในการอ่านและการปฏิบัติ :059:

510
 :059:เรียนรู้ทางโลกมามากมาย....
แต่ล้วนแล้วเป็นไปเพื่อความมี ความได้ และความอยาก
ส่งจิตออกจากตัวเองตลอดเวลา แสวงหาสิ่งนอกกาย
เป็นไปเพื่อความเพิ่มพูนกิเลสตัณหาและอัตตา
เรียนไปๆกิเลสก็ยิ่งหนามิได้เบาบางลง
 :059:เรียนรู้ทางธรรม......
เป็นไปเพื่อความลดละซึ่งความโลภ โกรธ หลง
ละกิเลส ตัณหาและอุปาทาน ให้มันเบาบางลง
เป็นการศึกษาเข้ามาสู่ภายในจิตในกายของเรา
น้อมจิตเข้าสู่ตัวเรา เรียนรู้ให้รู้จักตัวเราเอง
 :059:จิตที่ส่งออก เป็นสมุทัย...
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออก เป็นทุกข์...
จิต เห็น จิต เป็นมรรค...
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ...
 :059:ทุกข์...เท่านั้น  เกิดมา   พาหลงไหล
สมุทัย...ที่กำเนิด   เกิดทุกอย่าง
นิโรธ...ธรรม  นำไป   ให้ถูกทาง
มรรค...สรรค์สร้าง  สัจจะ  สู่พระธรรม
    เป็นของจริง   จากสัจจะ  อริยะ
องค์พุทธะ    เลิศล้น   ชนดื่มด่ำ
บอกโลกรู้     ดูให้เป็น  จึงเห็นธรรม
เพื่อจะนำ     หนึ่งชีวิต  ไม่ผิดทาง...
 :054:แด่ธรรมะของพระพุทธองค์ :054:
                ศรัทธาในธรรม
          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๗ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๒๔ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

511
 :059:การปฏิบัติธรรมนั้น นอกจากการตั้งสติแล้ว ไม่มีอย่างอื่นยิ่งไปกว่า
ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ก็มีสติระลึกได้ ถ้าเดินนึก เดินคิด นั่งนึก นั่งคิด นอนนึก นอนคิด ไม่ชื่อว่าปฏิบัติธรรม
เขาเรียกว่าฟุ้งซ่านไปตามสัญญาอารมณ์ ถ้ามีสติระลึกได้ทุกเมื่อ มีสัมปชัญญะประกอบด้วยยิ่งดีใหญ่ เป็นการปฏิบัติธรรมโดยแท้ :059:
 :054:แม้ภูเขาแสนสูง หากบุคคลผู้มีความเพียร พยายามปีนป่ายขึ้นไปจนถึงยอด ภูเขาสูงแสนสูงก็ต้องอยู่ใต้ฝ่าตีนของคนผู้นั้น :054:
 :059:การละบาปนั้น บาปมันมายังไง บาปมาทางจิตใจ เกิดที่จิตใจ โลภ โกรธ หลง มันเป็นบาป ชำระบาปทั้งหลายได้ด้วยการปฏิบัติธรรม
รักษาศีล ไม่ให้มันกำเริบเสิบสาน ไม่ให้มันแก่กล้าขึ้น หากปล่อยไปตามอำนาจมัน ทำให้เดือดร้อน ทำลายตัวเอง :059:
 :069:กิเลสเป็นเหมือนสนิมเกาะกินใจมนุษย์อยู่ตลอดเวลา หากปล่อยให้มันเกาะกินใจไม่รู้จักระวังรักษา ใจเราย่อมหมดคุณภาพ
เป็นใจเสื่อมโทรม กิเลสมันร้อน มันเป็นไฟ ต้องระวังอย่าลุอำนาจกิเลส อันจะทำให้กระทบกระเทือนผู้อื่น :069:
 :059:อย่าไปรีบ ไปเร่ง อย่าไปเคร่ง ไปเครียด ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ เวลาจะได้ มาเองนั่นแหละ อย่าไปยึดมั่นสิ่งใดๆแม้การปฏิบัติ :059:
 :054:เคารพ-ศรัทธาในธรรม-คำสอนของหลวงปู่ :054:
                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๖ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๒๑ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
(คัดลอกมาจากหนังสือบันทึกธรรมจากหลวงปู่ เพื่อเป็นคติธรรมคอยเตือนจิตเตือนใจในการปฏิบัติธรรม)

512
 :059:กลับสู่ภาวะปกติ....
หลังจากได้พักผ่อนเต็มที่ ปรับกายปรับจิต ปรับความคิด กลับมาสู่ความเป็นสมณะ
ทำหน้าที่ของพระเจริญจิตภาวนา พิจารณาธรรม ตามกาลตามเวลา ตามสภาวะ
เกิดจิตปฏิฆะกับเสียงหมา.....
เรื่องหมาๆหรือว่าเรื่องของหมาก็มีสาระ
มีคนกล่าวไว้ว่า...จะดูนิสัยเจ้าของหมาให้ดูจากหมาที่เลี้ยง
พิจารณาแล้วเห็นจริงด้วย เพราะคนเลี้ยงหมาย่อมจะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก
ไปสู่หมาที่ตนเลี้ยง เพื่อให้หมามีพฤติกรรมที่สนองตอบตัณหาของผู้เป็นเจ้าของ
ซึ่งเจ้าของจะรัก จะชอบใจ ก็เพราะมันสนองตอบตัณหาของเจ้าของนั่นเอง
ดูวัดให้ดูที่หมา.....
ใครก็ไม่รู้เป็นผู้กล่าวไว้เป็นคนแรก
แปลกแต่จริงเพราะได้ประสพพบเห็นมามาก
จากประสพการณ์ในหลายที่ หลายอาวาส หลายจังหวัด
ว่าวัดไหนอาหารอุดมสมบูรณ์ หมาในวัดนั้นจะอ้วนพี
วัดไหนหมาผอมโซ แสดงว่าวัดนั้นการขบฉันลำบาก
หรือไม่ก็พระเณรในวัดขาดจิตเมตตา ไม่น่าอยู่อาศัย
วัดใดเข้าไปแล้วหมาไล่เห่าไล่กัด แสดงว่าวัดนั้นขาดการปฏิบัติธรรมจริงจัง
ภายในวัดมีความขัดแย้ง ต่างคนต่างอยู่ ขาดความสามัคคี
เรื่องหมาๆก็มีสาระ....
ที่มีความคิดเรื่องนี้ขึ้นมา คือเรื่องของหมา
ก็เพราะว่าในสำนักที่อาศัยจำพรรษานั้นมีหมาอยู่หลายตัว
และตอนนี้ก็ใกล้จะถึงเดือนสิบแล้วคือฤดูหมาติดสัด
หมามันมาไล่กัดกันในวัดเพื่อแย่งตัวเมียกัน
ทำให้มีเสียงดังรบกวนเวลาปฏิบัติทำวัตรสวดมนต์
ซึ่งตอนแรกก็มีจิตปฏิฆะแต่พอพิจารณาเป็นธรรมะ
จิตปฏิฆะก็หายไป ปล่อยให้หมามันเห่ามันกัดกัน
....ส่วนเรานั้นไม่ไปเห่า ไม่ไปกัดกับหมา....
....สบายใจ ไม่ไปโกรธ ไม่ไปกัดกับหมา...
....ไม่ต้องไปเป็นหมา.....
 :054:ขอบใจเรื่องของหมาที่มาสอนธรรมะแก่เรา :054:
                  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๖ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๕๓ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

513
 :059:ใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่กับการเดินทาง
แวะพักบ้างเพื่อเยี่ยมเยือนมิตรสหายตามรายทาง
เพื่อช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้พวกเขา
เอาความรู้สึกที่ดีไปให้กันแทนของขวัญหรือของฝาก
พบกันแล้วก็จากเป็นเรื่องธรรมดา
ดังคำที่ว่า"ท่านมาเราดีใจ...ท่านกลับไปเราคิดถึง"
เป็นสิ่งหนึ่งในการสร้างมิตรและผูกจิตของผู้ร่วมงาน
ช่วยเหลือสงเคราะห์กันตามกำลังความสามารถ
พบปะกันตามโอกาศและเวลาที่เหมาะสม
ทุกคนต่างมีวิถีชีวิตของตนเอง....
สรุปทบทวนกับการเดินทาง.............
เก็บทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่ระบบแห่งความจำ
โดยการพิจารณาให้เห็นเป็นธรรมะ
คิด พิจารณา ใคร่ครวญ โดยมีสติ และสมาธิ
เก็บสิ่งที่เป็นสาระและมีประโยชน์ไว้ในมุมหนึ่งของความจำ
ลบสิ่งที่ไร้สาระที่เป็นขยะของความคิดออกจากจิตแห่งความจำ
เก็บและรับสิ่งที่ดีมีคุณค่าไว้ในความทรงจำ
เพื่อจะได้นำมาใช้ในโอกาศและเวลาที่เหมาะสม
ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ทั้งทางโลกและทางธรรม
จึงนำมาบันทึกไว้เพื่อให้เป็นแนวทาง....
เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
ที่ไม่ผิดต่อทางโลกและทางธรรม
 :054:มอบแด่ผู้ที่สนใจใคร่ศึกษาและใช้สติปัญญาในการอ่าน :059:
              :059:เชื่อมั่นในการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมา :059:
                                            :060:ศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระศาสดา :060:
                             :054:น้อมนำมาปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสตัณหา :054:
                                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๕ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๑.๒๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย




514
5คืน5วันกับ4,386กิโลเมตร....
120ชั่วโมงแห่งการเดินทาง...
7,200นาทีในสถานที่ต่างๆ..
432,000วินาทีกับชีวิตและความคิดที่ต้องปรับอยู่ตลอดเวลา
ไม่ใช่การเดินทางเพื่อแสวงหาและ ไม่ใช่ภาระหรือหน้าที่
แต่เป็นวิถีที่เราต้องกระทำ....
เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากับการเดินทาง
แต่มันเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย
พยายามรักษาจิตไว้ให้มีความปิติ
...เหนื่อยกายได้พักผ่อนก็หายไป...
...แต่เหนื่อยใจถ้าหยุดคิดจิตก็หาย...
...พักความคิดให้จิตว่างอย่างสบาย...
...ก็จะหายเหนื่อยกายและเหนื่อยใจ...
เวลาและเส้นทางที่ผ่านไป....
ได้พบเห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมามากมาย
โบราณท่านว่า "สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็น ไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำ ไม่เท่าทำเอง"
สุภาษิตจีนท่านว่า"เดินทาง1,000ลี้ ดีกว่าอ่านหนังสือ 10,000เล่ม"
ได้เรียนรู้และศึกษาจากของจริง จากสิ่งที่ได้พบและได้เห็น
นำมาเป็นบทเรียนของชีวิต....
พัฒนาความคิดและมุมมอง....
ให้สอดคล้องทั้งทางโลกและทางธรรม...
แล้วนำมาเสนอเป็นแนวทาง....
เป็นตัวอย่างให้ผู้ที่สนใจและศึกษา....
ได้นำมาปรับใช้ในชีวิต...
....อย่าเชื่อทันที มันอาจจะนำไปสู่ความงมงาย....
....อย่าปฏิเสธทันที  มันอาจจะทำให้เสียโอกาศ...
....ควรที่จะคิดพิจารณาและลองนำมาปฏิบัติ...
....ก่อนที่จะเชื่อหรือจะปฏิเสธ...
นั้นคือเหตุผลที่นำมาเสนอ.....
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 :054:แด่การเดินทางที่สอนทุกอย่างให้เรียนรู้ :054:
                 :059:แด่ทุกอย่างที่เป็นครู ที่สอนให้รู้ธรรม :059:
                                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๕ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๕๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย


515
                :059:  คติธรรมจากหลวงปู่ดุลย์  อตุโล :059:
"กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน"
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
"หลักธรรมที่แท้จริงนั้นคือจิต ให้กำหนดดูจิต ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง
เมื่อเข้าใจจิตตัวเองได้ลึกซึ้งแล้ว นั้นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม"
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
"การไม่กังวล การไม่ยึดถือ นั่นแหละคือวิหารธรรมของนักปฏิบัติ"
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
"ภิกษุเรา ถ้าปลูกยินดีในเพศสภาวะของตนได้แล้ว ก็จะมีแต่ความสุข เยือกเย็น
ถ้าตัวเองอยู่ในเพศภิกษุ แต่กลับไปยินดีในเพศอื่น ภาวะอื่น ความทุกข์ก็จะทับถมอยู่ร่ำไป
หยุดกระหาย หยุดแสวงหาได้ นั้นคือภิกษุสภาวะโดยแท้...ความเป็นพระนั้น ยิ่งจน ยิ่งมีความสุข"
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
"คิดเท่าไรๆก็ไม่รู้ ต่อเมือหยุดคิดจึงรู้  แต่ต้องอาศัยคิด"
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
     นี่คือคติธรรมของท่านหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ที่นำมาใช้เป็นเครื่องเตือนสติ สำหรับการประพฤติปฏิบัติ
และดำเนินชีวิดของสมณะเพศ และใช้ในการเทศน์หรือบรรยายให้ญาติโยมฟัง ในบางครั้งคราว
ตามความเหมาะสม ในแต่ละโอกาศ...
 :054:เคารพ-ศรัทธาในคติธรรมคำของหลวงปู่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ :054:
          :059:สืบสานเจตนาสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป :059:
                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๒๙ น. ณ มุมหนึ่งของจังหวัดฉะเชิงเทรา แปดริ้ว ประเทศไทย

516
 :059:แวะเยี่ยมมิตรสหายตามรายทาง....
มองทุกสิ่งทุกอย๋างอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง
วิจารณ์ วิเคราะห์ทุกสิ่งโดยมีเหตุผลและที่มาที่ไป
ทำความรู้ความเข้าใจกับสภาวะของโลกและของธรรม
นำทั้งสองสิ่งมาประสานรวมกันในการดำเนินชีวิต
ให้ข้อคิดและคำแนะนำต่อมิตรสหายตามรายทาง
.....มองอย่างเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใด.....
หาความพึงพอใจที่ไปกันได้ทั้งสองทาง
ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็ได้รับในสิ่งที่ตนพึงพอใจ
สอนให้รู้จักคิดและมองทั้งสองทาง
ไม่เข้าข้างความโลภของตนเองจนเกินไป
ให้ธุรกิจดำเนินไปได้ในยุคที่เศรษฐกิจย่ำแย่
สอนให้ไม่ติดอยู่กับความฝันตัวเลขผลกำไรในอากาศ
จนขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ
สวมวิญญานนักธุรกิจ นักการตลาด วางแผนและวิเคราะห์ซึ่งปัญหา
ใช้สติปัญญาช่วยเหลือและสงเคราะห์ซึ่งผู้คน
ให้ธุรกิจมีผลกำไรและเดินไปได้ในยุคที่เศรษฐกิจย่ำแย่
เมื่อเขายืนอยู่ได้และเดินไปได้.....
จึงสอนให้รู้จักการแบ่งปันเพื่อสังคม
การสั่งสมบุญไว้ในบวรพระพุทธศาสนา
สร้างศรัทธาในศีลและในทาน ช่วยเหลือในการทนุบำรุงพระศาสนา
ดำเนินชีวิตอยู่ได้ทั้งในทางโลกและทางธรรม
สอนให้มีจิตสำนึกแห่งคุณธรรมในการดำเนินชีวิต
สอนให้มีจิตสำนึกแห่งการรับใช้และตอบแทนสังคม
...ผ่านไปหนึ่งวัน....
.....สำหรับการทำงานในฐานะที่ปรึกษา.....
.....ปรับจิตคืนมาสู่ความเป็นสมณะ....
.....ทำหน้าที่ของพระกันต่อไป....
 :059:แด่กุศลความดีทั้งหลายที่ได้กระทำมา :059:
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๐๐ น. ณ มุมหนึ่งของจังหวัดฉะเชิงเทรา แปดริ้ว  ประเทศไทย








517
 :059:เร่ร่อนอยู่บนถนนที่ทอดยาว...
มากมายด้วยยวดยานที่ผ่านไปมา
เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาไปตามเส้นทาง
หยุดบ้างพักบ้างเมื่อเหนื่อยล้า
พบปะเจรจากับเพื่อนผู้ร่วมทาง
ต่างคนต่างมีเป้าหมายของการเดินทาง
เก็บเกี่ยวทุกอย่างที่เป็นประสพการณ์......
เรียนรู้ชีวิตและความคิดของผู้ร่วมทาง
นำมาเป็นแบบอย่างและปรับใช้
ให้เหมาะสมกับความเป็นไปของชีวิต
จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่ และบุคคล
คือเหตุผล และความเหมาะสม ของการดำเนินการ
มองทุกสิ่งทั้งสองอย่าง ทั้งคุณและโทษ
ให้เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสิ่งเหล่านั้น
จัดสรรค์ทุกอย่างให้อยู่บนความเหมาะสม
เรียนรู้และพอใจในสิ่งที่มีและเป็นอยู่...
ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ปล่อย
ทำหน้าที่ของผู้ให้...ให้สมบูรณ์...
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป...เป็นเรื่องของ...วิบากกรรม...
 :054:แด่การเดินทางที่ยาวนาน :054:
             ด้วยความปรารถนาดี
           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๕๔ น. ณ มุมหนึ่งของจังหวัดชลบุรี

518
    อันตราย ๗ ประการต่อการปฏิบัติวิปัสสนาโดยเฉพาะ
๑.กัมมรามตา...มัวทำงานเสีย
๒.นิททารามตา...มัวนอนเสีย
๓.ภัสสารามตา...มัวคุยเสีย
๔.สังคณิการามตา...มัวสังคมรับแขกเสีย
๕.อคุตตทวารตา...ไม่สำรวมทวาร
๖.โภชเนอมัตตัญญุตา...ไม่รู้จักประมาณในโภชนาหาร
๗.จิตตัง วิมุตตัง นะปัจจเวกขติ...ไม่พิจารณาจิตที่หลุดพ้น
     อันตรายทั้ง ๗ ประการนี้ ทำให้การเจริญวิปัสสนาเป็นไปด้วยความขัดข้อง
หรือต้องล้มเลิกไปในที่สุด ฉะนั้นจึงต้องหาวิธีป้องกันและทำลายล้างอันตรายเหล่านี้
ให้หมดสิ้นไป เพื่อให้เกิดการเจริญในธรรม
    สัจจอธิษฐาน...คือตัวประหารอันตรายทั้ง ๗ ประการ
มีสติเตือนตนอยู่ตลอดเวลา บริหารจัดการเรื่องเวลา ย้ำเตือนตนเสมอว่า...เราปรารถนาสิ่งใด
ทบทวนดูสิ่งที่เป็นไป...ว่าความหวังที่ตั้งไว้...นั้นก้าวไกลถึงไหนแล้ว....
 :059:แด่ความหวังที่ตั้งไว้...ฝันไว้ไกล..ไปให้ถึง :059:
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาในธรรม
                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๓๙ น. ณ มุมหนึ่งของจังหวัดชลบุรี
           

519
 :059:พบเจอแล้วจากลา......
ทุกคนมีภาระกิจและหน้าที่ที่ต้องกระทำ
ทุกคนมีวิถีชีวิตที่ลิขิตขึ้นมาด้วยตนเอง
แวะเวียนผ่านมากราบสรีระของหลวงพ่อเปิ่น
สนทนาธรรมเพือให้เกิดความอาจหาญและร่าเริงในธรรมกับมิตรสหาย
เดินทางต่อไปเพื่อแวะเยี่ยมเยื่อนให้กำลังใจแก่น้องๆ
จากนครชัยศรีสู่กรุงเทพฯเข้าชลบุรีไปศรีราชา
แวะเยี่ยมมิตรสหายตามรายทาง
ใช้เวลาว่างที่อยู่บนรถเจริญภาวนา
สรุปเหตุการณ์ที่ผ่านมาในแต่ละช่วงเวลา
พิจารณาทุกอย่างเทียบกับหลักธรรม
นำมาประยุกค์เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตในความเป็นจริง
พยายามมองทุกสิ่งเทียบกับหลักธรรม
เพื่อควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ให้คล้อยตามกระแสโลกจนเกินไป
พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่..เรียนรู้อยู่กับการพอเพียง....
 :054:แด่น้ำใจของมิตรสหายตามรายทาง :054:
              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๒๒ น. ณ มุมหนึ่งชองจังหวัดชลบุรี

520
    ฟ้าครึ้มฝน   หมองหม่น   ตะวันดับ
แสงแดดลับ     ซ่อนกาย     ในเมฆหนา
สายลมหนาว    พัดผ่าน       กาลเวลา
ต้องกายา       หนาวเย็น      เป็นบางคราว
    มองสองข้าง   ทางที่       เรานั้นผ่าน
มีเหตุการณ์      มากมาย      ในลมหนาว
เก็บบันทึก       ต่อเนื่อง       เป็นเรื่องราว
แล้วส่งข่าว      เล่าขาน       สิ่งผ่านมา
   มองทุกสิ่ง    เป็นธรรมะ    จะได้คิด
คอยเตือนจิต    เตือนใจ       ให้ศึกษา
เพื่อเพิ่มพูล      สติ            และปัญญา
พัฒนา           ความคิด      จิตวิญญาน
   เก็บสิ่งที่      มีสาระ         มาเสนอ
สิ่งที่เจอ        มากล่าว        และเล่าขาน
สิ่งที่เห็น         ที่พบ          ประสพการณ์
ธรรมทาน       มอบให้        ด้วยใจจริง
   เป็นธรรมะ    ที่ไร้           ซึ่งรูปแบบ
ไม่คับแคบ      เปิดกว้าง      ในทุกสิ่ง
แต่ไม่ขาด       สาระ          ความเป็นจริง
ทั้งชายหญิง    อ่านได้        ไม่เลือกวัย
   ทุกบทความ    นั้นมี         ธรรมะแฝง
ให้เป็นแหล่ง      เรียนรู้        รูปแบบใหม่
บันทึกธรรม       นำเสนอ     ทุกวันไป
ก็เพื่อให้           ได้คิด       พิจารณา
   แล้วนำมา      ปรับใช้       ในชีวิต
ชี้ถูกผิด          แนวทาง      แก้ปัญหา
เตือนให้มี          สติ          และปัญญา
เพื่อให้พา       ตัวรอด        และปลอดภัย
   ใครจะคิด     อย่างไร       ไม่ไหวหวั่น
เพราะเรานั้น     เตรียมจิต     คิดแก้ไข
ปัญหามา        ปัญญามี      ทางที่ไป
เพราะว่าใจ      บริสุทธิ์       หยุดจองเวร....
 :059:แด่ทุกบทความ บทกวีที่นำเสนอมา :059:
              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๑๑ น. ณ กุฏิทรงไทยชายน้ำนครชัยศรี  วัดบางพระ  นครปฐม

521
ยามมาให้เขาดีใจ.....
ยามจากไปให้เขาคิดถึง....
ดูอาการคนป่วยสั่งตัวยาสมุนไพร
เพื่อนำมาต้มเป็นน้ำอาบให้คนป่วย
เพื่อฃ่วยให้ระบบเลือดลมในร่างกายไหลเวียนได้สะดวก
แนะนำการรักษาพยาบาลให้กับผู้ดูแลจนเป็นที่เข้าใจ
รับญาติโยมที่รู้ข่าวแล้วมากราบเยี่ยมตลอดวัน
จนกระทั่งเย็นจึงลงไปรักษาคนป่วยอีกรอบ
เสร็จแล้วจึงเดินทางต่อไปวัดบางพระ นครชัยศรี
พยายามรักษาสติอยู่ตลอดเวลา เพื่อรับกับสถานการณ์
ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้า
เพราะความประมาณนั้นเป็นหนทางสู่ความตาย
ความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว...แต่ไม่ควรตายโดยขาดสติ
และตายโดยความประมาทขาดสติเป็นเรื่องที่ไม่ควรบังเกิด
สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย.....
เจริญสติ พิจาณาธรรม ตามกาล ตามเวลาและสถานที่
พยายามรักษาจิตให้เป็นกุศลอยู่ตลอดเวลา เท่าที่จะทำได้
ยามมาจงมาอย่างมีน้ำใจ.... 
ยามที่จากไปทำเหมือนไร้ไมตรี....
คือต้องต้องตัดใจ อย่าไปอาลัยอาวรณ์ พิไรรำพัน
เมื่อเสร็จภาระกิจ...จิตควรคิดถึงสิ่งใหม่
เพราะยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากมาย..ให้เราต้องใช้สติปัญญา
การอาลัยอาวรณ์ต่อการจากลา จึงเป็นเรื่องไร้ค่าและไร้ประโยชน์
ทำให้จิตเราหงอยเหงาและเศร้าหมอง หมดกำลัง
ฉะนั้นในการจากลา จึงเหมือนไร้ไมตรี แต่ยังมีน้ำใจ
อยู่ภายใน แต่ไม่ได้แสดงออก....
 :054:ยามมาให้เขาดีใจ...ยามจากไปให้เขาคิดถึง :054:
                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๘.๒๖ น. ณ กุฏิทรงไทยชายน้ำนครชัยศรี  วัดบางพระ นครปฐม

522
 :059:ห่วงใยใจห่วงหา   จึงได้มาแวะเยี่ยมเยือน
     ห่างไกลไปนับเดือน    คิดถึงเพื่อนจึงได้มา
    ทราบข่าวเพื่อนป่วยไข้  เป็นอย่างไรกันบ้างหนา
    มาให้เห็นกับตา          ให้รู้ว่าเป็นอย่างไร
    ตรวจสอบดูอาการ        เพราะเคยผ่านการแก้ไข
    สั่งการโดยฉับไว้          ให้รีบไปหาตัวยา
    ยาทาและยาต้ม           แก้เลือดลมช่วยรักษา
    เสริมธาตุในกายา          ตามตำราครูอาจารย์
    สั่งเตือนผู้เฝ้าไข้           ให้ใส่ใจในอาการ
    และดูเรื่องอาหาร          ให้งดทานซึ่งมังสา
      เสร็จกิจจึงลาจาก        เพราะไม่อยากเห็นน้ำตา
   เอ่ยคำเพื่อร่ำลา            แล้วจากมาเร็วไว
  หน้าที่ภาระกิจ               จึงต้องคิดถึงสิ่งใหม่
  เดินทางกันต่อไป            ทำเหมือนใจไร้ไมตรี
  ..............................................................
 :054:แด่มิตรสหายด้วยความจริงใจแต่ไม่แสดงออก :054:
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๒๓.๒๕ น. ณ กุฏิทรงไทย ริมน้ำนครชัยศรี  วัดบางพระ นครปฐม
 
           

523
บทความ บทกวี / ราม-ทักษิณรำลึก...
« เมื่อ: 01 ส.ค. 2552, 09:32:49 »
 :059:บทกวีบทนี้ ได้มีเพื่อนๆสมัยเรียนรามฯขอมาให้ช่วยแต่งให้ด้วย เพื่อจะนำไปกล่าวในงานชุมนุมศิษย์เก่าประจำปี
จึงได้เขียนบทกวีนี้เป็นกลอนแปดกระทู้คำ เพื่อให้ความหมายและคำจำกัดความขององค์กรที่เคยอยู่ร่วมกันมา
และขออภัยท่านสมาชิกและผู้เยี่ยมชมทั้งหลายด้วย ที่นำมาลงไว้ ณ.ในที่นี้ แต่เพื่อเป็นตัวอย่างการเขียนงานกวี
แก่ผู้ที่สนใจในด้านนี้ จึงขอนำมาลงไว้...ขออภัยไว้ ณ ที่นี่ด้วย..
 :059:ค่ายราม-ทักษิณ..เพื่อความเป็นธรรม..อยู่เพื่อมวลชน..อ่อนน้อมถ่อมตน..เชื่อมั่น-ศรัทธา-สามัคคี :059:
 ...          
          ค่าย   แห่งนี้     มีนาม   ราม-ทักษิณ
        ราม    แดนดิน   ถิ่นงาน  การศึกษา
        ทัก    -ษะมี     ฝึกฝน   แต่ต้นมา
        ษิณ   อาสา     เสริมส่ง  อุดมการณ์
                เพื่อ   ความเป็น    เอกลักษณ์   จงรักษา
              ความ    เป็นมา      นั้นควร        จะกล่าวขาน
              เป็น      ชมรม        อาสา         มาช้านาน
              ธรรม     สมาน       ใจรัก          สามัคคี
          อยู่   เพื่อสู้    อธรรม    ที่งำโลก
         เพื่อ  จะล้าง    ลบโศก   ให้สดศรี
         มวล  ประชา    นั้นช่วย   อยู่ด้วยดี
         ชน    ผู้ที่      ทุกข์ยาก  มีมากมาย
               อ่อน  เมื่อพบ     ลมแรง   อย่าแข็งขืน
             น้อม   แล้วยืน      ขึ้นสู้      สู่จุดหมาย
             ถ่อม   ลงหา       ประชา     อย่างมงาย
             ตน     ควรมี      ความหมาย   ต่อมวลชน
        เชื่อ  เมื่อคิด   พินิจ   และศึกษา
       มั่น    คงมา   เมื่อเห็น  เป็นเหตุผล
     ศรัทธา มี       อย่าเพียงเห็น  เป็นของตน
    สามัคคี        จะชี้ชน    สู่ทางชัย...
 :054:เชื่อมั่น-ศรัทธา-สามัคคี :054:
           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
           (ปลัดโด่ง รามทักษิณ)
๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๓๑ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง  อุทัยธานี ประเทศไทย
    

524
สัมมาวาจา....  การพูดจา เจรจาโดยชอบ
ประกอบด้วย สัมมาวาจาวิรติเจตสิก อันได้แก่
๑.กถาสัมมาวาจา...การกล่าวถ้อยคำที่ชอบ
๒.เจตนาสัมมาวาจา...เจตนากล่าวชอบโดยเหตุผล
๓.วิรติสัมมาวาจา...กล่าวชอบด้วยการงดเว้นจาก "วจีทุจริต ๔ "
  วจีทุจริต ๔  อันประกอบด้วย
๑.มุสาวาทาวิรตี...เว้นจากการพูดเท็จ
๒.ปิสุณาวาจาวิรตี...เว้นจากการพูดส่อเสียด
๓.ผรุสวาจา...เว้นจากการพูดคำหยาบ
๔.สัมผัปปลาปวิรตี...เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
   องค์ของมุสาวาทมี ๔ ประการคือ
๑.อภูตวัตถุ...กล่าวเรื่องที่ไม่จริง
๒.วีสังวาทนจิตตตา...มีจิตคิดกล่าวเรื่องหลอกลวง
๓.ปโยค...ประกอบด้วยความเพียรกล่าว
๔.ตทัตถวิชานนัง...ผู้ฟังรู้เนื้อความนั้น                                                                                                                  
........ถ้าครบองค์ ๔ เป็นการกล่าวเท็จโดยแท้
      องค์ของปิสุณวาจา มี ๔ ประการคือ
๑.ภินทิตัพโพ...มีหมู่คณะที่พึงแตกกัน
๒.เภทปุเรกขาโร...มีความปรารถจะให้แตกแยกกัน
๓.ปโยค...ประกอบด้วยความเพียรเพื่อให้แตกแยกกัน
๔.ตทัตถวิชานนัง...หมู่คณะรู้ความนั้น
....เมื่อครบองค์ ๔ นับว่าเป็นการกล่าว"ปิสุณวาจา"พูดส่อเสียด ยุยงให้เกิดความแตกแยก
     องค์ของผรุสวาจา มี ๓ ประการ คือประกอบด้วยโทสะ
๑.อักโกสิตัพโพ...มีคนอื่นที่พึงจะด่า
๒.กุปปิตจิตต...มีจิตเข้าไปโกรธ
๓.อักโกสนา...กล่าวด่า บริภาษ
.....เมื่อครบองค์ทั้ง ๓ นี้ เป็นอันล่วงสัมมาวาจา เป็นผรุสวาจา
องค์ของสัมผัปปลาป มี ๒ ประการคือ
๑.นิรัตถกถาปุรักขขารตา...คำที่ไร้แก่นสาร ไม่มีประโยชน์
๒.กถนัง...กล่าวคำเหล่านั้น
....ถ้าครบองค์ ๒ นี้ เป็น"มิจฉาวาจา" พูดผิดศีลธรรมไม่มีประโยชน์
     ซึ่งในปัจจุบันนี้ ให้ขยายความรวมถึง การเขียน การพิมพ์ การเผยแผ่ สื่อสารทุกอย่างรวมเข้าไปด้วย
และทุกอย่างที่กล่าวมานั้นมันสำคัญที่มีเจตนาหรือไม่มีเจตนา ซึ่งรู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็น "วจีกรรม ๔ "
อันมีผลเป็นวิบากกรรม...

525
ใช้เวลาทั้งวันในการเดินทาง....
จากฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ไปสู่ฝั่งทิศตะวันตกของประเทศไทย
สัตตาหะไปเพื่อเยี่ยมหมู่คณะซึ่งล้มป่วย
ซึ่งทราบข่าวมาหลายวันแล้วแต่ไม่มีโอกาศที่จะลงไปเยี่ยม
ยอมรับว่าจิตมีความปลิโพธคือกังวลต่อหมู่คณะอยู่มาก
ซึ่งเป็นสิ่งที่แก้ได้ยากสำหรับตัวเราในเรื่องปลิโพธ
เมื่อบริหารจัดการภาระกิจและเวลาลงตัวได้แล้ว
จึงได้สัตตาหะ(ลาพรรษา)ลงมาดูอาการท่าน
ฝนตกมาเกือบตลอดทาง...
ตั้งแต่มุกดาหารจนเข้าเขตอำเภอบึงสามพัน
ฟ้าครี้มตลอดวันไม่เห็นแสงแดดเลย
รถทำความเร็วไม่ได้เพราะฝนตกถนนลื่นและมีหมอกลง
ใช้เวลาที่อยู่บนรถเจริญภาวนามาตลอดทาง
เพราะเวลาที่เดินทางนั้นเป็นเวลาที่เป็นส่วนตัวมากที่สุด
ไม่ต้องรับแขก ไม่ต้องรับโทรศัพย์ ไม่ต้องทำงาน
เป็นเวลาที่ได้พักผ่อนและภาวนาไปในตัว
ถึงจุดหมายปลายทางเวลาประมาณสามทุ่ม
ดูอาการคนป่วย สนทนากับพระและญาติโยมที่เฝ้าคนป่วย
จนถึงประมาณสี่ทุ่มกว่าๆจึงขอตัวไปพักผ่อน
นั่งวิเคราะห์อาการของคนป่วย ว่าจะช่วยอย่างไรได้บ้าง
พิจารณาในเรื่องความพร่องของธาตุในกาย
เรื่องการตั้งธาตุ แต่งธาตุ และปรุงธาตุ เพื่อปรับธาตุในกาย
ให้มีกำลังและมีความเป็นสมดุลย์ในร่างกายของคนป่วย
โรคทุกอย่างเกิดขึ้นจากความพร่องของธาตุในกาย
และวิบากกรรมที่ทำให้เกิดความพร่องของธาตุ
ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ในการสงเคราะห์หมู่คณะ
ผลจะออกมาเป็นอย่างไร...เป็นเรื่องของ...วิบากกรรม....
 :054:ปรารถนาดีต่อมิตรสหาย :054:
          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๑๘ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง  จังหวัดอุทัยธานี  ประเทศไทย
 :059:ขวัญกำลังใจและความรู้สึกที่ดีต่อกัน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับมิตรสหาย ในยามทุกข์ยาก มากกว่าของฝากและของเยี่ยม :059:

526
บทความ บทกวี / ทางเดินของชีวิต...?
« เมื่อ: 31 ก.ค. 2552, 08:55:31 »
 :059:นักเดินทาง....
ทุกย่างก้าวที่เราเดินผ่าน
คือตำนานของชีวิต
ที่เราลิขิตขึ้นมาเอง
ไม่ใช่โชคชะตา
ไม่ใช่ฟ้าลิขิต
ไม่ใช่นิมิตแห่งสวรรค์
ไม่ใช่พรหมนั้นบันดาล
แต่สิ่งที่ชีวิตต้องพบพาน
ล้วนเกิดมาจากกรรม
....เมื่อใจเรายอมรับ....
ในอุปสรรคและปัญหาที่เข้ามา
มันก็ไม่อาจทำให้เราทุกข์
หรือเมื่อในยามที่เราสุขสมหวัง
ก็ไม่อาจทำให้เราหลงระเริง
เพราะเราเข้าใจในชีวิต
ที่ถูกลิขิตบนเส้นทางพระไตรลักษณ์
เดินอยู่บนหลัก อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา
สิ่งที่นำมาและติดตัวไปได้
.....สิ่งนั้นไซร้คือ...กรรม...
    :059:ด้วยความเชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารณนาดี :059:
                   รวี สัจจะ-ธรรมะพเนจร
" คนไร้ราก ร่อนเร่  พเนจร
ไร้ถิ่นฐาน   ถาวร   อยู่อาศัย
เพราะเกิดมา  มีกรรม   จึงจำใจ
รอ่นเร่ไป      ทำหน้าที่   เพราะมีกรรม"
""""""""""""""""""""""""""""""""""
๐กาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป
     ไม่มีเวลาที่จะสิ้นสุด
         แต่จิตของมนุษย์
              สิ้นสุดได้..ถ้ารูจักพอ..
...........................................
 :069:เมื่อยังไม่ถึงกาลเวลาที่เหมาะสม
              จิตย่อมเข้าไม่ถึงธรรม
                  จึงยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้
                       อดทนรอให้เขาพร้อม...จึงกล่าวธรรม...
ตราบใดที่ยังมีหนทางไป
     ใจย่อมไม่นึกถึงพระธรรม
          แต่เมื่อคุณชอกช้ำ
             พระธรรมคือที่พึ่งสำหรับคุณ....
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 :054:ธรรมะวันละนิด เพื่อเติมความคิด เติมจิตให้มีคุณธรรม :054:
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๘.๕๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย 

527
 :059:วันนี้เป็นวันพระ....
ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ปีฉลู
ประเพณีของท้องถิ่น ในวันพระญาติโยมจะมาทำบุญตักบาตรที่วัดกัน
สังคมในชนบทยังสืบทอดศรัทธากันมาอย่างยืนยาว
หลังจากเสร็จนาในต้นฤดูฝน ทุกคนก็พอจะมีเวลามาช่วยงานภายในวัด
ช่วยกันพัฒนาวัดวาอารามตามกำลังเท่าที่จะทำได้
ฝนตกลงมาตั้งแค่เช้า....
ลงไปทำงานภาคสนามไม่ได้
ไม่มีใครมาหามาธุระ เพราะเป็นวันพระ งดทำกิจของโยม
เลยได้มีเวลาที่จะทบทวนหลักธรรมที่ร่ำเรียนมา
ยกเรื่องมหาสติปัฏฐานมาพิจารณาเป็นอารมณ์
เพื่อให้จำได้หมายรู้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงตั้งเป็นกระทู้ไป
ลองเปลี่ยนแนวใหม่มาเขียนแบบเชิงวิชาการ
โดยยกอ้างพุทธพจน์ที่มีมาในพระไตรปิฏก
เพื่อให้มีที่มาและที่ไปเพราะส่วนใหญ่แล้วจะเขียนเรื่องสภาวะธรรม
เพราะเห็นว่าเรื่องหลักธรรมมีผู้เขียนกันมามากมายแล้ว
ผู้สนใจสามารถที่จะค้นหาได้ในตำรับตำราที่ผู้รู้ได้รจนาไว้
แต่เรื่องสภาวะธรรมนั้น.....
มันเป็นของเฉพาะตน มีเพียงคล้ายและใกล้เคียง
และบางครั้งไม่สามารถที่จะบรรยายเป็นคำพูดได้
จึงนำมาบอกเล่าเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ
ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์บ้างสำหรับผู้ที่ได้เข้ามาอ่าน
และผู้ที่เคยผ่านการฝึกฝนปฏิบัติมาแล้วได้เข้าใจ
ในสิ่งที่ยังสงสัยและค้างคาใจ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคืออะไร
และสิ่งที่เขียนออกไปทุกครั้งนั้นเป็นการย้ำเตือนตัวเอง
เพื่อให้ใคร่ครวญทบทวนในสิ่งที่ตนได้ทำมาและกล่าวไป
ทำไปด้วยใจเจตนาที่บริสุทธิ์ไม่ได้หวังลาภยศและชื่อเสียง
เพราะพยายามหลีกเลี่ยงหนีออกจากโลกธรรม ๘ อยู่ตลอดเวลา
ศึกษาปัญหาและจิตใจมนุษย์....
ของยุคไอทีที่ไร้ขอบเขตและไร้พรมแดน
แต่ละข้อความ แต่ละกระทู้ เข้าไปดูเพื่อศึกษา
กิเลส ตัณหา มายา และความบริสุทธิ์ใจ
มีมากมายหลายหลากที่ปรากฏออกมา
เอาทุกอย่างมาเป็นครู...เรียนรู้จากอุปสรรคและปัญหา
ตัณหาละตัณหา...ทุกข์ละทุกข์...คือสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนมา...
 :054:ขอบคุณทุกสิ่งอย่างที่ได้พบเห็นและเรียนรู้มา :054:
              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ในความบริสุทธิ์ใจ
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๓๘ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

528
ธรรมะ / โสฬสญาณ..(ญาณ ๑๖)
« เมื่อ: 30 ก.ค. 2552, 02:00:27 »
                 ๐.โสฬสญาณ (ญาณ ๑๖).๐
    เมื่อเราปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จิตของเราย่อมเดินไปสู่องค์ญาณ คือตัวรู้ จากของหยาบไปสู่ของละเอียด จากภายนอกเข้าสู่ภายใน
เป็นไปตามลำดับชั้น กำลังสติ สมาธิ และปัญญา ซึ่งสิ่งที่เข้าไปรู้นั้น อยู่ที่กายและจิตของเรา
๑.นามรูปปริจเฉทญาณ กำหนดรูปนามให้แยกออกจากกัน
๒.ปัจจยปริคคหญาณ  ปัญญารู้เหตุและผลของรูปนาม
๓.สัมมสนญาณ ปัญญาที่พิจารณารูปนามเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๔.อุทยัพพยญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นการเกิดดับ ของรูปนาม
๕.ภังคญาณ  ปัญญาที่พิจารณาเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนามฝ่ายเดียว
๖.ภยญาณ  ปัญญาที่พิจารณาเห็นรูปนามเป็นสิ่งน่ากลัว
๗.อาทีนวญาณ  ปัญญาทีพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม
๘.นิพพิทาญาณ  ปัญญาที่พิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม แล้วเกิดความเบื่อหน่าย
๙.มุญจิตุกามยตาญาณ  ปัญญาที่พิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้วเกิดความเบื่อหน่าย แล้วอยากหลุดอยากพ้นจากรูปนาม
๑๐.ปฏิสังขาญาณ  ปัญญาที่ย้อนกลับไปพิจารณาพระไตรลักษณ์ แล้วเกิดความตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง
๑๑.สังขารุเปกขาญาณ  ปัญญาที่วางเฉยในรูปนาม
๑๒.สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ  ปัญญาที่พิจารณาเห็นอริยสัจ ๔ ได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง
๑๓.โคตรภูญาณ  ปัญญาที่ทิ้งรูปนาม ยึดนิพพานเป็นอารมณ์
๑๔.มัคคญาณ  ปัญญาที่ละกิเลสได้เป็นสมุจเฉทประหาน มีนิพพานเป็นอารมณ์
๑๕.ผลญาณ  เป็นผลของมรรค มีนิพพานเป็นอารมณ์
๑๖.ปัจจเวกขณญาณ  ปัญญาที่ย้อนกลับไปพิจารณากิเลสที่ละได้ ละไม่ได้ คือ มรรค ผล นิพพาน แล
        ซึ่งการปฏิบัติส่วนใหญ่แล้ว ถ้าทำกันจริง ไม่ทอดทิ้งธุระ ก็จะผ่านอารมณ์ ตัวรู้เหล่านี้ แต่เป็นเพียงแค่เห็นและแค่ผ่าน
ตั้งอยู่ไม่นานก็หายไป สิ่งที่ยากก็คือการทรงไว้ในอารมณ์ตัวรู้ทั้งหลายเหล่านี้..ผ่าน เห็น รู้ และต้องเข้าไปอยู่ในตัวรู้เหล่านั้น
ซึ่งเป็นการทำได้ยาก กว่าการเข้าไปรู้เข้าไปเห็น   เรียกว่าเห็นกระแสพระนิพพาน แต่ยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในกระแสพระนิพพาน....
ซึ่งต้องทรงไว้และปฏิบัติต่อไปเพื่อให้เข้าสู่กระแสพระนิพพาน " วิริเยนะ ทุกขะมะเจติ...บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร "

529
ธรรมะ / ทางสายเอก
« เมื่อ: 30 ก.ค. 2552, 01:11:08 »
 :059:เอกายโน  อยํ  ภิกขเว  มคฺโค สตฺตานํ  วิสุทธิยา  โสกปริเทวนํ  สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ
          อตฺถํ คมาย ยายสฺส  อธิคมาย นิพฺพานสฺส   สจฺฉิกรณตฺถาย  ยทิทํ จตฺตาโร  สติปฏฺฐานาติ ฯ :059:
คำอ่าน...เอกายะโน  อะยัง ภิกขะเว มัคโค สัตตานัง  วิสุทธิยา  โสกะปะริเทวะนัง  สะมะติกกะมายะ  ทุกขะโทมะนัสสานัง
อัตถัง คะมายะ ยายัสสะ  อะธิคะมายะ  นิพพานัสสะ สัจฉิกะระณัตถายะ  ยะทิทัง  จัตตาโร สะติปัฏฐานาติ...
คำแปล... :054:ดูกรภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางไปอันเอก เป็นทางบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย
เป็นหนทางที่ก้าวล่วงซึ่งความเศร้าโศก เสียใจ พิไรรำพัน เป็นหนทางที่กำจัดเสียซึ่งทุกข์กายทุกข์ใจ  เป็นหนทางที่เข้าถึง
ความจริงของชีวิต คืออริยมรรค เป็นหนทางที่รู้แจ้งแทงตลอด คือ มรรค  ผล  นิพพาน อย่างนี้คือ  สติปัฏฐานทั้ง ๔ ดังนี้..
                   (ตามพระบาลีในพระไตรปิฎก ทีฑนิกาย มหาวรรค เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๓๒๕)
                                         ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
  :059:บุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีล  ทำสมาธิให้เกิด ยังวิปัสสนาปัญญาให้เกิด บุคคลนั้นก็จะสางซึ่งความยุ่งเหยิงความสันสนในโลกนี้ได้ :059:
                      (สีเส  ปติฏฺ ฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ  ปญฺญญฺจ ภาวยํ  อาตาปี นิปโก ภิกขุ โส อิมํ วิชฏเย ชฏนฺติ)
   :059:สีเส ปะติฏ ฐายะ นะโร สะปัญโญ จิตตัง ปัญญัญจะ ภาวะยัง อาตาปี นิปะโก ภิกขุ โส อิมัง วิชะฏะเย ชะฏันติ :059:
                                         ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 :054:ดูกร สุภัทธะ ในธรรมวินัยนี้ ถ้ายังมีมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘  อยู่ตราบใด แม้พระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคามี
และพระอรหันต์ ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น ถ้าภิกษุทั้งหลายพากันประพฤติปฏิบัติอยู่โดยชอบ โลกนี้ก็ไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ :054:

530
 :059:นิมิตในภาษานักปฏิบัติธรรมคือ ภาพ เสียง ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ที่เรารู้เห็นจากภายใน แบ่งออกได้ ๒ประการคือ
๑.สุภนิมิต=นิมิตที่ดี เกิดจากอำนาจแห่งกุศลกรรมเป็นประการสำคัญ
๒.อสุภนิมิต=นิมิตที่ไม่ดี เกิดจากอำนาจของอกุศลกรรมเป็นส่วนใหญ่
    การเกิดนิมิตนั้น เกิดได้ใน ๔ สภาวะ อันได้แก่
๑.สุบินนิมิต คือนิมิตที่เกิดขณะหลับ นิมิตที่เกิดขึ้นจากความฝันดีบ้างร้ายบ้าง จริงบ้างไม่จริงบ้าง อันมีสาเหตุมาจาก
    ๑.๑.อาหารเป็นเหตุให้ฝัน
    ๑.๒.ธาตุเป็นเหตูให้ฝัน
    ๑.๓.จิตทำให้ฝัน
    ๑.๔.เทวดาทำให้ฝัน
๒.บริกรรมนิมิต คือนิมิตที่สร้างด้วยการปฏิบัติสมถะกรรมฐาน ๔๐ ประการ เรียกว่า บริกรรมนิมิต อุคคนิมิต และปฏิบัติภาคนิมิต
๓.อภิญญานิมิต คือนิมิตในอารมณ์ฌาน ซึ่งจะต้องได้ฌานจนถึงปัญจยฌานเสียก่อนและต้องอาศัยบุญบารมีที่เคยกระทำมา
                    และอธิษฐานไว้ในอดีตชาติเป็นปัจจัย
๔.สังขารนิมิต คือนิมิตที่สังขารปรุงแต่งขึ้นมา เป็นหนทางให้สัตว์โลกทั้งหลายท่องเที่ยวไปในวัฏฏทุกข์มีอยู่ ๒ อย่างคือ
   ๔.๑.รูปนาม เป็นสังขารนิมิต วิปัสสนานั้นเอารูปนามเป็นกรรมฐาน
   ๔.๒.กรรม  กรรมนิมิต คตินิมิต เวลาใกล้ตายจะมีนิมิตเป็นอารมณ์ ที่เกิดจากเจตนากรรม เป็นปัจจัยไปสู่ปรโลกมี ๓ ประการ
         ๔.๒.๑.กรรมอารมณ์ จะปรากฏเป็นนิมิตภาพจากการกระทำในอดีต
         ๔.๒.๒.กรรมนิมิตอารมณ์ จะปรากฏแก่ผู้ใกล้ตายเห็นสัญญาลักษณ์เครื่องหมายของกรรมที่ทำมา จะเป็นกุศลกรรมหรือ
                  อกุศลกรรมก็แล้วแต่กรรม
         ๔.๒.๓.คตินิมิตอารมณ์ จะปรากฏแก่ผู้ใกล้มรณะจะเห็นคติของที่ที่จะไป เกิดขึ้นด้วยอำนาจของกรรมซึ่งกระทำไว้
    ฉะนั้นเมื่อเกิดนิมิตขึ้นมา เราควรจะพิจารณาว่า มันมาจากสาเหตุใด เกิดขึ้นในอารมณ์ไหน ก่อนที่เราจะไปเชื่อ หรือปฏิเสธ
นิมิตเหล่านั้น ถ้าเชื่อในทันที่ก็จะพาให้เกิดความงมงาย และถ้าปฏิเสธในทันทีมันอาจจะทำให้เสียโอกาศ  จงใช้สติเข้าไปพิจารณา
หาที่มาของนิมิตนั้น ว่าที่มามันเป็นอย่างไร อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดนิมิตนั้น และนิมิตนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ ....

531
   ๐ มหาสติปัฏฐานสูตร๐
      พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ณ นิคม กัมมาสทัมมะ แคว้นกุรุ ต่อพระภิกษุ ให้รู้จักการตั้งสติ ๔ อย่าง อันได้แก่
๑.ตั้งสติกำหนดพิจารณากายในกาย
๒.ตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนาในเวทนา
๓.ตั้งสติกำหนดพิจารณาจิตในจิต
๔.ตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรมในธรรม
        การพิจารณากายแบ่งออกเป็น ๖ ส่วน อันได้แก่
๑.พิจารณากำหนดลมหายใจเข้าออก (อานาปานบรรพ)
๒.พิจารณาอิริยาบทของกาย (อิริยาบถบรรพ)
๓.พิจารณารู้ตัวในความเคลื่อนไหว (สัมปชัญญบรรพ)
๔.พิจารณาความน่าเกลียดของร่างกาย (ปฏิกูลปนสิการ)
๕.พิจารณาร่างกายโดยความเป็นธาตุ (ธาตุบรรพ)
๖.พิจารณาร่างกายที่เป็นซากศพมีลักษณะต่างๆ ๙ อย่าง (นวสีวถิกาบรรพ)
      การพิจารณาเวทนาความรู้สึก อารมณ์ ๙ อย่าง
๑.อารมณ์เป็นสุข
๒.อารมณ์เป็นทุกข์
๓.อารมณ์ไม่สุขไม่ทุกข์
๔.อารมณ์สุขที่ประกอบด้วยอามิสเหยื่อล่อ
๕.อารมณ์สุขที่ไม่ประกอบด้วยอามิสเหยื่อล่อ
๖.อารมณ์ทุกข์ที่ประกอบด้วยอามิสเหยื่อล่อ
๗.อารมณ์ทุกข์ที่ไม่ประกอบด้วยอามิสเหยื่อล่อ
๘.อารมณ์ไม่ทุกข์ไม่สุขอันประกอบด้วยอามิส
๙.อารมณ์ไมทุกข์ไม่สุขที่ไม่ประกอบด้วยอามิส
       การพิจารณาจิต ๑๖ อย่าง
๑.จิตมีราคะ
๒.จิตปราศจากราคะ
๓.จิตมีโทสะ
๔.จิตปราศจากโทสะ
๕.จิตมีโมหะ
๖.จิตปราศจากโมหะ
๗.จิตหดหู่
๘.จิตฟุ้งซ่าน
๙.จิตใหญ่ในญาณ
๑๐.จิตไม่ใหญ่จิตที่ไม่ถึงญาณ
๑๑.จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
๑๒.จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
๑๓.จิตตั้งมั่น
๑๔.จิตไม่ตั้งมั่น
๑๕.จิตหลุดพ้น
๑๖.จิตไม่หลุดพ้น
       การพิจารณาธรรมแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน อันได้แก่
๑.พิจารณาธรรมที่กั้นจิตมิให้บรรลุสมาธิที่เรียกว่า นิวรณ์ ๕ (นีวรณบรรพ)
๒.พิจารณาขันธ์ ๕ (ขันธบรรพ)
๓.พิจารณาอายตนะภายใน ๖ (อายตนบรรพ)
๔.พิจารณาธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ที่เรียกว่า โพชฌงค์ (โพชฌงคบรรพ)
๕.พิจารณาอริยสัจจ์ ๔ (สัจจบรรพ)
       การพิจารณาอีก ๖ ประการ
๑.ที่อยู่ภายใน
๒.ที่อยู่ภายนอก
๓.ที่อยู่ทั้งภายในและภายนอก
๔.ที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
๕.ที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
๖.ที่มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
          คือการตั้งสติพิจารณา ใน กาย เวทนา จิต ธรรม จนมีกำลังแห่งการพิจารณาเป็นมหาสติปัฏฐาน จิตไม่คลาดเคลื่อน
มีสติพิจารณาอยู่ทุกขณะจิต..

532
ธรรมะ / อันตราย ๔ ประการ
« เมื่อ: 30 ก.ค. 2552, 10:18:03 »
 :059:อันตราย ๔ ประการนี้ เป็นอันตรายต่อการ สำเร็จ มรรคผล นิพพาน ซึ่งเกิดจากผลกรรมอันหนัก อันได้แก่
๑.กัมมันตราย=มีกรรมเป็นอันตราย อันได้แก่ อนันตริยกรรม ฆ่าบิดา มารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำการประทุษร้ายพระพุทธเจ้า
                   จนถึงพระโลหิตไหลออกมา เป็นมิจฉาทิฏฐิ นับถึอศาสนาอื่น หรือประทุษร้ายภิกษุณี ผู้ทำกรรมหนักเช่นนี้
                  เป็นอันตรายต่อการปฏิบัติ ไม่สำเร็จ มรรคผล นิพพานได้
๒.วิปากันตราย=มีวิบากเป็นอันตราย เกิดมาด้วยกรรมไม่ดี อันได้แก่ บุคคล ๓ จำพวก คือ ทุคติบุคคล เกิดเป็นเปตร อสุรกาย
                    หรือสัตว์เดรัจฉาน สุคติบุคคล คนที่เกิดมาเป็นคนทุพพลภาพ ร่างกายวิกลวิกาล ไม่สมประกอบ พิการแต่กำเนิด
                   และทวิเหตุกบุคคล คือคนที่เกิดมาด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ไม่โลภ ไม่โกรธและขาดปัญญามาแต่กำเนิด
๓.กิเลสันตราย=มีกิเลสเป็นอันตราย ได้แก่ มิจฉาทิฏฐิ ๓ ประการ คือ อเหตุกทิฏฐิ เห็นว่าไม่มีเหตุ อกิริยทิฏฐิ เห็นว่าไม่มีผล
                    และนัตถิกะทิฏฐิ เห็นว่าไม่มีเหตุไม่มีผล เป็นความเห็นที่ปฏิเสธกรรมและผลของกรรม
๔.อริยปวาทันตราย=มีการกล่าวติเตียนพระอริยะ เป็นอันตรายแก่การปฏิบัติ ได้แก่ การติเตียนเหยียดหยามพระอริยะหรือผู้ประพฤติ
                         เหมือนพระอริยะ เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงจากวจีเภทที่ทำให้สูญเสีย มรรค ผล นิพพาน จากสิทธิ์ที่ควรจะได้
                        ในชาตินั้น
         อันตราย ๔ ประการนี้ เป็นอันตรายแก่การสำเร็จ มรรค ผล นิพพานเท่านั้น แต่ไม่ปิดโอกาศไม่ให้ปฏิบัติ หากกลับใจมาเลื่อมใส
ในพระพุทธศาสนาก็สามารถปฏิบัติได้...

533
 :059:ทบทวนคืนวันที่ผ่านมา...
เพื่อนฝูงจากลาและร่วงโรยไปตามกาลเวลา
ได้แต่แผ่เมตตาอุทิศบุญกุศลไปให้
แด่ดวงวิญญานของผู้ที่จากไป
สิ่งที่เหลือไว้คือความทรงจำที่ดีงาม
ทุกยามที่คิดถึงเขาเหล่านั้น...เราทำได้เพียงเท่านี้...
คือกรรมที่ร่วมทำกันมา....
ให้ได้มาพบปะและเจอะเจอกัน
ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ทั้งกุศลและอกุศล
ล้วนแล้วแต่เป็นผลของกรรมที่ร่วมทำกันมาในอดีต
คิดได้ทำใจได้ก็สบายใจ ทำหน้าที่ของเราต่อไปตามปกติ
เดินหน้าต่อไป เพื่อให้ถึงซึ่งสัจจธรรมที่แท้จริง
สัจจธรรมที่แท้จริง....
ไม่ใช่สิ่งที่เผ้อฝันหรือจินตนาการเมือนที่ผ่านมา
เมื่อก่อนนั้น เราแสวงหาเพื่อสนองตอบความต้องการของเรา
เราไปเรียกร้องให้ผู้อื่นปฏิบัติ เพื่อสนองตอบความต้องการของเรา
เราอยู่ในโลกแห่งความฝัน ในโลกแห่งจินตนาการ
วันเวลาผ่านไป....
เรารู้เราเข้าใจในโลกใบนี้
ในวิถีของสัตว์โลกที่แตกต่างกัน
จึงทิ้งความฝันมาสู่ความจริงของชีวิต
พยายามออกจากกระแสโลก เข้าสู่กระแสธรรม
เพื่อไปให้ถึงซึ่งความสงบสุขที่บริสุทธิ์
เดินไปในเส้นทางธรรม...
พยายามที่จะดำเนินชีวิตไปตามพระธรรม
เดินตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
เท่าที่จะทำได้ ตามสติปัญญาและบุญกุศลของเรา
ไม่ใช่เป็นการเห็นแก่ตัว แต่เราต้องเอาตัวให้รอดเสียก่อน
ก่อนที่เราจะไปช่วยผู้อื่น ก่อนที่จะไปสอน ไปแนะนำผู้อื่น
ต้องรู้ ต้องเข้าใจและทำได้...
เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการแนะนำสั่งสอนเขา...
 :054:ขอบคุณบุญเก่าที่ให้เราได้มาสู่เส้นทางธรรม :054:
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ในผลของกรรม
                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๑๕ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

534
                                      :059:คำคม...คำครู...ที่ได้นำเสนอไปทั้ง 10 บท :059:
๐๐๐ ยังไม่รวย อยู่อย่างรวย  ไม่มีวันรวย....ยังไม่จน  อยู่อย่างจน  ไม่มีวันจน ๐๐๐
...การอวดว่ารู้ ในสิ่งที่ไม่รู้ น่าละอาย  ยิ่งกว่าการสารภาพว่าไม่รู้ ในสิ่งที่ไม่รู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าละอายเลย ...
๐๐๐ เราล่วงเกินใคร...ก็หวังให้เขาให้อภัย...ครั้นใครล่วงเกินเรา...เราก็ลืมเรื่องการให้อภัย ๐๐๐
...ถ้าเอาเปรียบเขาไม่ได้ ก็ว่า "ไม่ถูก" ถ้าจูงจมูกได้ทุกที ก็ว่า "ดีเหลือ"...
๐๐๐ทำใจให้สงบ  จะพบกับความสุขที่เยือกเย็น ๐๐๐
...ศีลธรรมของยุวชน คือ สันติภาพของโลก   ...
๐๐๐ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาวินาศ มนุษย์ชาติจะเลวร้ายกว่าสัตว์เดรัจฉาน ๐๐๐
...อย่าเป็นทุกข์ให้โง่ ทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นทุกข์...
๐๐๐ไปทะเลาะถุ่มเถียงกับเสือ ดีกว่าไปทะเลาะกับคนโง่  เพราะคนโง่ไม่มีเหตุผล หรือมีแต่เหตุผลของคนโง่ ๐๐๐
....เรื่องยึดมั่น  ถือมั่น  มันเป็นทุกข์   ต้องการสุข  อย่ายึดมั่น  เท่านั้นหนา...
๐๐๐เห็นกันอยู่เมื่อเข้า   สายตาย
   สายยังอยู่สุขสบาย    บ่ายม้วย
   บ่ายชื่นรื่นรวยราย      เย็นดับ ชีพแฮ
   เย็นเล่นกับลูกด้วย     ค่ำม้วย อาสัญ ๐๐๐
....ได้เท่านี้  เอาเท่านั้น  พันธ์มนุษย์   ยากที่สุด  มิอาจเพิ่ม  เติมให้พอ ...
๐๐๐ การไม่ถูกนินทา  ไม่มีในโลก ๐๐๐
....สุขในการให้  ยิ่งกว่าสุขในการรับ ...
๐๐๐ มัวแต่มอง  จ้องผิด  คนอื่นเขา
     แต่ตัวเรา   เป็นอย่างไร  ไม่เคยรู้
    จิตคิดเลว   อย่างไร   ไม่เคยดู
    เรื่องคนอื่น  เที่ยวรู้     ไปรอบทิศ ๐๐๐
...คนดีไม่เบ่ง  คนเก่งไม่โม้  คนโตไม่อวด...
๐๐๐อย่าทำดีเพียงเพื่อ...ดีกว่าคนอื่น ๐๐๐
...ถ้าไม่ยึดอะไรในสิ่งรู้  ก็จะอยู่สงบพบเยือกเย็น...
๐๐๐๐๐๐๐๐๐......................๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 :054:เคารพในคำคม...ของคำครู...จึงนำมาขยาย... :054:
                 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๔๐ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

535
 :016:ถ้าไม่ยึดอะไรในสิ่งรู้  ก็จะอยู่อย่างสงบ  พบเยือกเย็น :015:
                  ยึดติดและยึดถือ    ผลก็คือความวุ่นวาย
              ดิ้นรนและขวนขวาย    ด้วยมุ่งหมายอยากได้มา
              มีแล้วไม่อยากเสีย     จึงละเหี่ยและโหยหา
              ยามพรากหรือจากลา  ใจก็พาให้วกวน
                  ยึดถือในสิ่งของ    จึงบกพร่องไร้เหตุผล
              ยึดถือในตัวตน         ไม่ยอมคนเพราะถือตัว
              ถือว่าตัวเองเก่ง        จึงชอบเบ่งเก่งไปทั่ว
              โมหะหลงเมามัว       จึงพาตัวไปวุ่นวาย
                 รู้มากจะยากนาน    คนโบราณให้ความหมาย
              รู้เพียงสิ่งนอกกาย     แต่ไม่ได้รู้ใจตน
              วุ่นวายเพราะไปรู้      จึงต้องอยู่อย่างสับสน
              จิตใจให้วกวน          จึงต้องทนทรมาน
                ถ้าใจไม่ยึดติด       จะมีจิตที่เบิกบาน
             ไม่ทุกข์สุขสำราญ      รู้จักการจะปล่อยวาง
        ปล่อยวางห่างจากทุกข์     จะพบสุขเพราะจิตว่าง
        เดินไปในเส้นทาง           เดินตามอย่างเส้นทางธรรม.....
---------------------------------------------------------
 :054:แด่คำคม...ของคำครู...ทำให้ดู...อยู่ให้เห็น...สอนให้เป็น...แล้วปล่อยวาง :054:
                              เคารพ-ศรัทธา-เชื่อมั่น-ในคำครู
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๔๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
       
                             

536
 :059:หนึ่งวันของชีวิต...
มีเรื่องราวมากมายหลายหลากที่เกิดขึ้น
ที่เราต้องประสพพบเจอในหนึ่งวัน
เก็บเอาทุกสิ่งที่ประสพมาเป็นครู ดูให้เป็นธรรมะ
เป็นบททดสอบ เป็นแบบเรียน ในอริยสัจ 4
อุปสรรคและปัญหาช่วยให้เราได้พัฒนาทางความคิด
ทำให้จิตของเราได้พัฒนามีมุมมองต่อปัญหาที่กว้างออกไป
ทั้งปัญหาภายในใจของเราและปัญหาของญาติโยมที่มาปรึกษา
เรียนรู้และพัฒนาทางความคิด เพื่อยกระดับจิตของเรา
เรียนรู้จากสิ่งรอบกาย....
เอาทุกอย่างมาเป็นครู สอนให้รู้ถึงสัจจธรรมของชีวิต
ทุกข์และปัญหานั้นมีอยู่ แต่เราต้องรู้จักทำใจให้อยู่เหนือทุกข์และปัญหา
อย่าไปมองว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์เป็นปัญหา พยายามมองว่ามันคือหน้าที่
เป็นหน้าที่ที่เราต้องศึกษาและเรียนรู้ เพื่อให้เราอยู่เหนืออุปสรรค์และปัญหา
ศึกษาเรื่องทุกข์จากคนที่มาหา ใช้สติปัญญาหาทางออกจากทุกข์ให้เขา
ทำใจเราให้อยู่เหนือทุกข์และปัญหา พยายามไม่ให้มีอารมณ์ร่วมในทุกข์นั้น
วางจิตให้เป็นกลาง มองทุกอย่างตามหลักธรรม และความเป็นจริง
เราจะเห็นทุกสิ่งในอุปสรรค์และปัญหา เห็นที่มา และที่ไป
ปรับเข้าไปในอริยสัจ 4  ปัญหา สาเหตุที่มาของปัญหา
วิธีการที่จะทำให้ปัญหานั้นจบลง  วิธีการในปฏิบัติเพื่อให้ปัญหานั้นจบลง
ขบวนการทางความคิด จิตพิจารณาอยู่ใน อริยสัจ 4...คือวิธีแก้ปัญหา....
 :054:ขอบคุณอุปสรรค์และปัญหาที่ช่วยให้ได้พัฒนาทางความคิด :054:
                 เชื่อมั่น-ศรัทธาในหลักธรรมของพระพุทธองค์
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๑๖ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

537
 :059:...อย่าทำดีเพียงเพื่อ...ดีกว่าคนอื่น... :059:
      ยกคำอุทาหรณ์      และบทกลอนมาขยาย
   เพื่อให้เข้าใจง่าย      ในความหมายให้จดจำ
   จดจำนำไปคิด          สิ่งที่ผิดไม่ควรทำ
   สิ่งชอบประกอบธรรม  ควรน้อมนำมาใส่ตัว
   ไม่ดีควรถอยห่าง       และละวางในสิ่งชั่ว
   อย่าไปหลงเมามัว      จะพาตัวตกอบาย
...ทำดีดีที่ใจ               และต้องไม่ไปท้าทาย
    ความดีที่ใจกาย        จุดมุ่งหมายการทำดี
    ทำดีใช่อยากเด่น      ให้ดีเช่นคนอื่นเขา
    ดีชั่วอยู่ตัวเรา           อย่าหวังเขามาเชิดชู
    ทำดีแต่อย่าเบ่ง        ยกความเก่งมาข่มขู่
    อยากให้ใครเข้ารู้      ว่าตัวกูดีกว่าใคร
    ทำดีเจตนา             เรารู้ว่าเป็นอย่างไร
    สิ่งที่เราทำไป          ไม่มีใครรู้เกินเรา
    รู้ซึ้งอยู่ในจิด           จงอย่าคิดอย่างโง่เขลา
    อัตตาอย่ามัวเมา       มันจะเศร้าไม่ได้ดี....
 :016:...การทำดีนั้นจิตใจเราต้องดีด้วย และไม่มีเจตนาแอบแฝง  โดยหวังผลประโยชน์ตอบแทนกลับมา
อย่างเช่น เพื่อให้เขาชมว่าเราดีกว่าคนนั้นคนนี้..เรียกว่าทำดีเพื่อเอาดีมาข่ม ความคิดอย่างนั้น ภาฦษาพระ
เรียกว่า..มีความปรารถนาลามก หรือทำดีเพื่อหวังเอาหน้า ให้เขาประกาศให้เขาโฆษณาชื่อเราออกไป
พอเขาไม่ประกาศชื่อก็น้อยใจ ความน้อยใจแหละมาตัดกำลังบุญ
     การทำความดีนั้น...ต้องไม่เป็นภัยต่อชีวิต..ไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น...ไม่ฝ่าฝืนธรรมวินัย..ไม่เป็นไปเพื่อความแตกแยก
เป็นไปโดยชอบ...ประกอบด้วยกุศลจิต...มีเมตตาต่อหมู่มิตร...ไม่มีจิตเป็นอกุศล...
 :054:แด่ความดีงามทั้งหลายที่ท่านได้กระทำมา :054:
                  เชื่อมั่น-ศรัทธาในความดี
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๐๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
   
   
               
   

538
 :059:จัดสรรค์บริหารเวลาลงตัวเป็นปกติ  ตื่นนอนตอนตี3.45 ล้างหน้าแปรงฟัน ฉันกาแฟ รับฟังข่าวสารของช่อง 3
ออกบิณฑบาตรเวลา 05.20 น. ใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่าๆ เดินไปภาวนา กำหนดสติไป พิจารณาธรรมไป ปฏิบัติ
ธรรรมไปในตัว กลับมาจากบิณฑบาตรเปิดคอมฯเช็คเมล์ เขียนบันทึกธรรม เวลา 07.30น.ลงศาลาสวดมนต์ทำวัตร
และฉันเช้า ซึ่งกว่าจะเสร็จก็ประมาณ 08.45 น. กลับขึ้นมาเขียนบทกวีใช้เวลาไม่เกิน30นาทีก็เสร็จ และถ้ามีผู้ถามปัญหา
ธรรมะก็จะตอบให้เรียบร้อย หลังจากนั้นจะลงไปแจงงานให้พระและญาติโยมที่มาช่วยงาน  อธิบาย ทำความเข้าใจในงาน
ที่จะทำ และลงไปช่วยงานในส่วนที่กำลังคนไม่พอ เวลา 11.30-12.30 น. เป็นเวลาพัก กลับขึ้นมาเปิดคอมฯเช็คเมล์
ถ้าไม่มีคำถามอะไร บ่ายๆก็จะลงไปตรวจดูงานของแต่ละแผนก ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อจะได้เข้าไปแก้ไขและปรับปรุง
เวลา 18.30-19.45น.ทำวัตรเย็น เสร็จแล้วกลับมาเปิดคอมฯค้นหาข้อมูล อ่านพระไตรปิฎก ฟังธรรมของพระอาจารย์
แต่ละสำนัก เพื่อเป็นแนวทางมาปรับใช้ในการปฏิบัติธรรมและการเผยแผ่ธรรมะ นั่งพิจารณาธรรม จนถึงประมาณตี 2
ก็จะเข้าจำวัตร นอนกำหนดกายคตา พิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์กรรมฐาน เพื่อเป็นการเอาจิตมาคุมกาย ทำให้ได้หลับ
สนิทไม่มีนิมิตรหรือความฝัน  หลับไปในอารมณ์ปิติ ร่างกายและจิตได้พักผ่อนเต็มที่ ใช้เวลาไม่เกิน 90นาทีก็เพียงพอ
สำหรับการหลับนอน...
       สมัยบวชใหม่ๆและได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดถ้ำเสือฯจังหวัดกระบี่ เกิดความสงสัยว่าทำไมหลวงพ่อพระอาจารย์จำเนียร
ท่านไม่หลับไม่นอน ไม่นั่งสมาธิ ไม่เดินจงกรม ท่านจะหาอะไรทำอยู่ตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง สงสัยว่าท่านเอาเวลาไหนไปปฏิบัติธรรม
ต่อมาจึงได้รู้และเข้าใจว่า ในทุกขณะทุกเวลาพระอาจารย์พลวงพ่อท่านปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา ท่านเจริญสติอยู่ตลอดเวลาใน
สติปัฏฐาน 4 พิจารณา กาย เวทนา จิต และธรรมอยู่ตลอดเวลา จึงได้ขอขมาหลวงพ่อพระอาจารย์ที่เราได้ล่วงเกินทางมโนกรรม
และเอาท่านมาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติธรรมมาจนทุกวันนี้...
 :054:เคารพ ศรัทธา บูชาพระคุณที่พระอาจารย์ได้เมตตาสั่งสอนมาไมเคยลืม :054:
                                คมฺภีโร ภิกษุ-สมณะไร้นาม
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๓๑ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

539
  :016:คนดีไม่เบ่ง คนเก่งไม่โม้ คนโตไม่อวด :015:
-------------------------------------------------
:054:ยกธรรมของคำคม  มาให้ชมและให้ดู
         ให้อ่านและให้รู้      คำของครูซึ่งแหลมคม
         กล่าวไว้ให้น่าคิด    ช่วยเตือนจิตเตือนสังคม
กล่าวตามความเหมาะสม    เป็นคำคมของคำครู
  .....คนดีไม่อวดเบ่ง        ไม่ข่มเหงและข่มขู่
       ช่วยเหลือและอุ้มชู    แก่ผู้น้อยด้วยเมตตา
            คนดีมีน้ำใจ       มีแต่ให้ไม่ร้องหา
       คนดีมีจรรยา           ใช่หน้าตาที่ดูดี
       คนดีมีคนรัก            คนเขาทักไปทุกที่
       ไปไหนใครก็ดี         และไมมีซึ่งศัตรู
  .....คนเก่งคนฉลาด      เขาสามารถจะเรียนรู้
       เอาผิดมาเป็นครู      รู้จักอยู่และเจียมตน
       ไม่อวดและไม่โม้     ไม่คุยโอ่รู้อดทน
       เพราะผ่านการฝึกฝน  เพราะเป็นคนมีปัญญา
       คนโง่อวดฉลาด        เขาจึงพลาดทุกเวลา
       ไม่จริงก็กล่าวมา       จึงขายหน้าเพราะอวดรู้
......คนโตมีตำแหน่ง        เขาก็แกล้งทำให้ดู
      ไม่อยากให้ใครรู้        เขาอยากอยู่สุขสบาย
      ทำตนไม่โอ้อวด       พร้อมทั้งตรวจความเป็นไป
      ใครคิดเห็นอย่างไร    แล้วนำไปเป็นข้อมูล
....แนวทางวางชีวิต       ที่ลิขิตก่อนดับสูญ
    กุศลจะเพิ่มพูน         ทวีคูณถ้าทำดี.....
 :054:เคารพในคำคม..ของคำครู :054:
               เชื่อมั่น-ศรัทธา
         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๔๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย                     
       



540
 :054:วันนี้บำเพ็ญโยธากรรมฐาน ใช้แรงงานช่วยพระและญาติโยมเทพื้นปูนและฉาบผนัง ลงไปทำงานร่วมกับเขา
เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งของความเป็นผู้นำ คือทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ปล่อย ทำงานกันไป คุยกันไป
สอดแทรกหลักธรรมให้แก่พระและญาติโยม โดยที่เขาไม่รู้ตัวว่าเรากำลังสอนธรรมะเขา คือสอนแบบไม่ได้สอน
คุยเรื่องประโยชน์ของส่วนรวมที่จะได้รับ บุญที่ได้จากการกระทำในสิ่งนี้ ความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันของทุกคน
พูดไปเพื่อให้เขามีกำลังใจในการทำงาน สอนให้เขารู้จักการเสียสละทำเพื่อส่วนรวม การเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือ
ซึ่งกันและกันในสังคม การทำความดีที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน  เป็นการสอนแบบไร้รูปแบบ ไม่เลือกสถานที่และเวลา
ซึ่งมันอยู่ที่การนำเสนอและกุศโลบายของเรา
     งานก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำดื่มเพื่อชุมชนใกล้จะเสร็จแล้ว เหลืองานอีกเล็กน้อย คือการติดตั้งวางระบบส่งน้ำ
อาศัยแรงงานของพระและญาติโยมช่วยกันทำ ไม่มีการจ้างแรงงาน ทำอาหารทานกันเองและอาหารที่เหลือจากพระ
ทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ประมาณ 50 % เพราะไม่มีค่าจ้างแรงงาน  มีคนถามว่าทำ ทำไม ได้อะไรขึ้นมาบ้าง
ก็ตอบเขาไปว่า ทำเพื่อเอาบุญ สงเคราะห์ญาติโยม ให้มีน้ำดื่มที่สะอาด บริสุทธิ์ ช่วยให้ไม่เป็นนิ่วในกระเพาะและไต
ไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปเอาน้ำดื่มในยามหน้าแล้ง เพื่อแจกจ่ายไปยังวัดวาอารามต่างๆที่เขามีงานบุญประเพณี
และทุกคนที่มาร่วมกันทำนี้จะได้รับผลบุญกันทุกคน เกิดมาชาติหน้าจะไม่มีอดอยาก มีแต่ความสุขความเจริญ
          :054:แด่ความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจที่ทำให้เกิดความสำเร็จ :054:                                                     
 :054:แด่ความสำเร็จที่นำมาซึ่งชื่อเสียงและเกียรติยศของหมู่คณะและองค์กร :054:
                           ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๕๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

541
 :059:ทบทวนพิจารณาธรรม ที่เคยได้ยินได้ฟังมา จากหลวงปู่ หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ แต่ละท่าน แต่ละสำนัก ที่เคยไปศึกษามา
จิตมาหยุดพิจารณาที่คำของหลวงปู่ท่อน ญาณธโร วัดศรีอภัยวัน จังหวัดเลย ที่ท่านได้กล่าวสอนไว้ เป็นข้อความที่จำได้ประทับใจ
ท่านกล่าวไว้ว่า...อย่ากินของร้อน (ราคะ โทสะ โมหะ)
                  ...อย่านอนบนไฟ (โลภ โกรธ หลง)
                  ...ให้ไปอย่างแร้ง (ไม่ยึดติด ไม่สะสม)
                  ...แสวงหาบริสุทธิ์ (ของที่ชอบธรรม)
กิเลสตัณหาทั้งหลาย ล้วนเป็นของร้อน เป็นไฟเผาไหม้อยู่ภายในจิตในใจของเราเสมอมา ใจเรารุ่มร้อนกระวนกระวายเพราะกิเลสตัณหา
ความอยากมีอยากได้ ความพอใจและไม่พอใจในสิ่งที่มี การยึดถือในตนเองจนมากเกินไป ความรัก ความใคร่ ความลุ่มหลง เสน่หา
ล้วนแล้วแต่พาให้ใจเรารุ่มร้อน เหมือนมีไฟมาสุมอยู่ในใจเรา
     พยายามเตือนตน เตือนจิต ปรับความคิด ยกเอาการประพฤติปฏิบัติของหลวงปู่หลวงพ่อครูบาอาจารย์ท่านทั้งหลายมาเป็นแบบอย่าง
ปรับให้เข้ากับตัวเราเพื่อความเหมาะสมในการประพฤติปฏิบัติธรรม แบบอย่างที่ดีมีอยู่มากมายที่จะให้เราได้ศึกษาและเรียนรู้ดูเป็นตัวอย่าง
การประพฤติปฏิบัติตนของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นพระภิกษุตามแนวทางปฏิปทาของครูบาอาจารย์ก็คือ...มีน้อยใช้น้อย มีมากเอาไว้สงเคราะห์
ผู้ที่ไม่มี อยู่ไปตามมีตามได้ พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ไม่ร้องขอใคร ยินดีกับความเพียรเพื่อหวังความพ้นทุกข์....
 :054:...เคารพศรัทธาในคำครู ที่สอนให้รู้ถึงความพอดีและความเพียงพอ... :054:
                             นำมาขยายความต่อเพื่อเป็นธรรมทาน
                                       ด้วยความปรารถนาดี
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๒๗ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
 :059:..ป.ล. บันทึกไว้แล้วแต่ไม่ได้นำมาลง...เพราะขัดข้องทางเทคนิคบางประการ...

542
 :059:เก็บคำแต่เก่าก่อน    เก็บบทกลอนบทกวี
          เก็บคำมานำชี้         บอกทางดีแก่ผู้คน
         คำเก่ามาเล่าใหม่      เพื่อไม่ให้เกิดสับสน
     บรรยายอย่างแยบยล     ยกเหตุผลมาบรรยาย
     เขียนเป็นกาพย์ยานี       มานำชี้ซึ่งความหมาย
      คำคมมีมากมาย          และหลากหลายครูอาจารย์
      ยกมาเสนอนำ            ตามถ้อยคำที่เล่าขาน
      สืบต่อมายาวนาน        แต่ก่อนกาลปัจจุบัน.....
 :016:...การไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก.... :015:
      ปากคนคล้ายปากกา    ตินินทากันไปทั่ว
     พระพุทธยังหมองมัว    อย่าได้กลัวคนนินทา
     ไม่รู้และไม่เห็น          แต่ทำเป็นเหมือนเห็นมา
     กล่าวคำที่มุสา           มากล่าวหาให้เสื่อมเสีย
    รู้มาเพียงเล็กน้อย        แล้วค่อยค่อยช่วยกันเชียร์
    เติมไปจนให้เสีย         เรื่องผัวเมียยิ่งชอบใจ
    ใจคนไม่รู้พอ             จึงเสริมต่อว่ากันไป
    คนดีชอบแก้ไข          คนจัญไรชอบแก้ตัว
    โลกนี้ไม่มีสุข            เพราะเป็นยุคที่คนชั่ว
    มากมายให้หมองมัว    ไม่เกรงกลัวซึ่งบาปกรรม....
 :016:...สุขในการให้   ยิ่งกว่าสุขในการรับ... :015:
     ผู้ให้ใจประเสริฐ      เพราะสุขเกิดจากภายใน
     สุขกายสบายใจ      จากการให้เพราะเมตตา
     ผู้รับนั้นเฝ้ารอ         การร้องขอรอเวลา
     รอไปจนได้มา        สุขนั้นหนาต้องเฝ้ารอ
     ผู้ให้ใจเป็นสุข        ไม่มีทุกข์มาเกิดก่อ
     ให้ไปไม่ต้องขอ      ไม่ต้องรอเพราะเต็มใจ
     ผู้ให้ไม่ตระหนี่        เพราะว่ามีจิตแจ่มใส
     สละส่วนตนไป        เพราะว่าใจกรุณา
     เป็นพรหมขึ้นในจิต   มีความคิดมุทิตา
     ให้แล้วอุเบกขา       ไม่นำมาให้กังวล
     ความสุขในการให้    มีมากมายหลายเหตุผล
     สร้างทานต่อผู้คน     สร้างกุศลคือความดี..
--------------------------------------------
แด่คำคม..คำครู...ที่คงอยู่มายาวนาน
     ศรัทธาในปัญญาคนโบราณ
       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๗.๐๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย   

543
 :054:รับฟังและรับรู้ซึ่งข่าวสาร ของข่าวเด่นประเด็นร้อน ที่เกิดขึ้นในเว็บบอร์ดวัดบางพระ โดยใช้หลักธรรมะเข้ามาวิเคราะห์และเทียบเคียง
หาเหตุที่มาของปัญหา การดำเนินไปของปัญหา และการจบลงของปัญหา  จึงเห็นที่มาและที่ไป เห็นทั้งคุณและโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่
ประโยชน์...ประการแรกก็คือ ท่านที่เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกนั้น ไม่เคยได้ศึกษากฏระเบียบของเว็บบอร์ด จุดประสงค์ และเป้าหมายของการ
เปิดเว็บบอร์ดขึ้นมา และเมื่อเข้ามาแล้วก็ใช้ความรู้สึกนึกคิดส่วนตัวเข้ามาแสดงความคิดเห็น สนองตัณหา (ความอยากมี อยากเป็น อยากได้)ของตนเองออกมา โดยไม่ดูกาละเทศะ เรียกว่าไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลา  ไม่ดูกระแสแนวความคิด ของสมาชิกที่อยู่ในเว็บบอร์ด ว่าเขาไปในทิศ
ทางใด และการที่นำเสนอไปนั้นเป็นการเย้ยหยัน ดูหมิ่นดูแคลน ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ใช้วาจาจาบจ้วงพาดพิงต่อบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นการที่
ไม่เหมาะสม ขัดกับกฏระเบียบและเจตนารมณ์ของเว็บบอร์ด (เพราะไม่เคยเข้าไปอ่าน) และเมื่อมีการตักเตือนจากทีมงานคณะผู้ดูแลเว็บ
บอร์ด ก็ไม่ยอมรับ ใช้อารมณ์ความคิดเห็นส่วนตัวเข้ามาโต้แย้ง ไม่รับฟังเหตุผลจากคณะผู้ดูแลเว็บบอร์ด
         ซึ่งกรณีนี้ ถ้าเป็นการนำเสนอเพื่อการปรับปรุงแก้ไข และมีเจตนาบริสุทธิ์จริงใจ ก็คงจะไม่ใช้คำที่หยามหมิ่นและดูถูกดูแคลนผู้อื่
และต้องเข้าใจว่าสมาชิกทุกท่านในเว็บบอร์ดวัดบางพระนี้เป็นผู้ที่เคารพรักและศรัทธาในหลวงพ่อเปิ่นและวัดบางพระ และสมาชิกประมาณ
90% เป็นผู้ที่มีรอยสัก(ไม่น้ำมัน ก็หมึก) ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเว็บบอร์ด"สถาบันนิยม" จึงเป็นการไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
เรียกว่า นำเสนอความคิดเห็นด้วยภาษาที่ไม่สุภาพจาบจ้วงผู้อื่น ฝืนความรู้สึกของสังคมชาวเว็บบอร์ดของวัดบางพระ (ถ้าไปแสดงความคิดเห็นที่เว็บบอร์ดอื่นคงไม่มีปัญหา)
          ประการที่สอง..เมื่อการนำเสนอของเขา ไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนสมาชิก ก็มักจะกล่าวอ้างว่าไม่เปิดกว้าง (เป็นข้ออ้างที่พบประจำ)
ซึ่งเว็บบอร์ดวัดบางพระนั้นเปิดกว้างเสมอ..."สำหรับการนำเสนอในทางสร้างสรรค์และไม่แสวงหาผลประโยชน์"...การใช้ภาษาและเจตนาจึง
ข้อควรระวัง
         ประการที่สาม..ทุกครั้งที่มีความขัดแย้งและปัญหาก็จะมีการพัฒนาปรับปรุงและแก้ไข้ เกิดสิ่งใหม่ที่ดีๆต่อเว็บบอร์ดวัดบางพระทุกครั้ง
..."ความขัดแย้งคือแรงหลัก ที่จะผลักให้กงล้อก้าวไป"...เป็นคำขวัญสมัยทำงานการเมืองภาคประชาชนในอดีต...และใช้ได้จนถึงปัจจุบัน
ทำให้เกิดความรักใคร่สามัคคีของเหล่าศิษย์หลวงพ่อเปิ่นขึ้นมาทุกครั้งที่มีปัญหา ออกมาปกป้องครูบาอาจารย์ องค์กรและสถาบันกันมากมาย
และทำให้คณะผู้ดูแลเว็บบอร์ดได้รู้ว่าใครมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร และใครเป็นใคร อยู่กลุ่มไหนและพวกใคร
         ประการสุดท้าย...ทำให้คณะผู้ดูแลเว็บบอร์ด ได้พัฒนาในการวางระบบการทำงาน การแก้ปัญหา และได้พัฒนาในทางความคิด
เพราะได้เรียนรู้จากของจริง จากสิ่งที่เกิดขึ้น ...ปัญหาคือสิ่งที่ท้าทาย ความรู้ความสามารถของเรา เป็นบททดสอบ เป็นครูผู้สอนเรา.....
.....ยิ้มรับและพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหา ทุกเวลา ทุกโอกาศ ทุกสถานที่...ทำให้มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นผู้ที่ไม่ประมาทขาดสติ...
 :054:...ขอบคุณความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่าง...ที่มาเป็นบททดสอบของชีวิต... :054:
                        :054:ขอบคุณความคิดที่ท่านสมาชิกแสดงออกมา :054:
                     :054:ขอบคุณความเชื่อมั่นและศรัทธาของท่านทั้งหลาย :054:
                                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๐๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

544
 :054:...มัวแต่มอง  จ้องผิด  คนอื่นเขา
....ตัวเราเป็น  อย่างไร  ไม่เคยรู้
....จิตคิดเลว  อย่างไร   ไม่เคยดู
....เรื่องคนอื่น  เที่ยวรู้    ไปรอบทิศ.....
 :016:มัวแต่มอง  จ้องผิด  คนอื่นเขา
กิเลสเรา    เป็นอย่างไร     ไม่เคยคิด
ไม่ถูกใจ       ก็บอก        ว่ามันผิด
ไม่เคยคิด    มองหา       กิเลสตน
 :069:ถ้าถูกใจ   ก็ชอบ   บอกว่าใช่
ไม่ถูกใจ    ก็ไร้      ซึ่งเหตุผล
มีข้ออ้าง   มาแก้     ดีใส่ตน
ปัดชั่วพ้น   จากตัว    เพราะกลัวภัย
 :069:ถ้าจะติ  ติเพื่อก่อ   พอรับได้
จะนำไป  ปรับปรุง    และแก้ไข
แต่ถ้าติ    เพื่อทำลาย  ไม่ใส่ใจ
ไม่เก็บไว้   รกสมอง   ของไม่ดี
 :059:กิเลสเรา   มากมาย   เกินจะนับ
 ยังไปรับ  กิเลสเขา  เอาทุกที่
จ้องจับผิด   กิเลสเขา   ว่าเราดี
กลับทวี     เพิ่มกิเลส   มาใส่ตัว
 :053:จงใคร่ครวญ  พินิจ   และศึกษา
อย่านำพา    ดวงจิต    ไปคิดชั่ว
เตือนสติ    เตือนตน    อย่าเมามัว
อย่าแก้ตัว   จงแก้ไข  ให้เร็วพลัน
 :054:เพราะคนดี  นั้นชอบ  การแก้ไข
คนจัญไร     แก้ตัว    เพราะโมหัน
ติเพื่อก่อ     อย่าทำลาย  ให้ร้ายกัน
มาสร้างสรรค์   กันดีกว่า   อย่าทำลาย
 :053:ไม่มีใคร   รู้ซึ้ง   เท่าหนึ่งจิต
สิ่งที่คิด   ที่ทำ  ที่มุ่งหมาย
ความดีชั่ว   อยู่กับตัว   จนวันตาย
แม้ร่างดับ   ลับหาย     คนยังชัง....
---------------------------------
 :054:มอบไว้เพื่อเตือนสติสมาชิกทุกๆท่านที่ได้อ่านบทกวีนี้ :054:
                      ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ผู้ใฝ่ธรรม
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๔๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
ป.ล...วันนี้ของด คำคม...คำครู...(เพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น)

545
 :054:ธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า เป็นเครื่องกระทำให้เป็นสมณะ
๑.พึงศึกษาว่า เราทั้งหลายจักประกอบด้วย หิริ ความละลายต่อความชั่ว โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว
๒.พึงศึกษาว่า เราจักมีกายสมาจาร คือความประพฤติทางกายที่บริสุทธิ์ ที่ตื้น ที่เปิดเผย ไม่เป็นช่อง ประกอบด้วยความสำรวม
   ทั้งจะไม่ยกตนข่มท่าน ด้วยข้อนั้น
๓.พึงศึกษาว่า เราจักมี วจีสมาจาร คือประพฤติทางวาจา ได้แก่คำพูดที่บริสุทธิ์
๔.พึงศึกษาว่า เราจักมี มโนสมาจาร คือความประพฤติทางใจ คือความคิดอันบริสุทธิ์
๕.พึงศึกษาว่า เราจักมี อาชีวะ คือความเลี้ยงชีพบริสุทธิ์
๖.พึงศึกษาว่า เราจักมีอินทรีย์สังวร ความสำรวมอินทรีย์ คือสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๗.พึงศึกษาว่า เราจักมีความรู้ประมาณในการบริโภคอาหาร
๘.พึงศึกษาว่า  เราจักประกอบธรรมของผู้ที่ตื่นอยู่ คือไม่เห็นแก่การหลับนอนมากนัก
๙.พึงศึกษาว่า เราจักประกอบสติ คือความระลึกได้ และสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อมในอริยาบทใหญ่ อริยาบทน้อยทั้งหลาย
๑๐.พึงศึกษาว่า เราจักปฏิบัติคอยชำระจิตของตนออกจากนิวรณ์ คือกิเลสเป็นเครื่องกั้นจิตทั้งหลาย
๑๑.พึงศึกษาว่า เราจักปฏิบัติทำสมาธิ คือความรวมจิต เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ซึ่งเป็นอารมณ์ของสมาธิ จนถึงสมาธิขั้นสูง
๑๒.พึงศึกษาว่า เราจักปฏิบัติอบรมจิตให้เกิดปัญญาญาณ คือปัญญาหยั่งรู้เข้าถึงสัจจะ คือความจริงขึ้นไปโดยลำดับ
    นี่คือธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนแก่พระภิกษุทั้งหลาย ว่าเป็นเครื่องกระทำให้เป็นสมณะ ซึ่งควรหมั่นคิดและพิจารณา
กาย วาจา จิต ของเราอยู่เสมอ เพื่อความเป็นสมณะในพระพุทธศาสนา..
 :054:น้อบน้อมแด่พระธรรมคำตรัสสอนของพระพุทธองค์ :054:
                      รวี  สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๒๔ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

546
บทความ บทกวี / เทพจรประจำกาย...
« เมื่อ: 23 ก.ค. 2552, 09:19:56 »
 :059:เทพจรประจำกาย เป็นตำราดูฤกษ์ยามสำหรับการเดินทาง ที่ครูบาอาจารย์ท่านสืบทอดมาแต่โบราณ เพราะคนเราทุกคนเกิดมา
จะมีเทวดารักษากันทุกคน เพื่อร่วมสร้างบารมีกัน เพราะเทวดานั้นต้องอาศัยมนุษย์ในการสร้างบารมี ทุกคนจึงมีเทวดารักษา และคุ้มครอง
เทพจรคือเทวดาที่ดูแลรักษาในการเดินทางไกล ย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย หรือไปต่างถิ่น  ซึ่งในตำรากล่าวไว้ว่า
                :059:เทพจรประจำกายข้างขึ้น :059:
ขึ้น ๑ ค่ำ   ตกที่มือ   เดินทาง    มักเสียของ
ขึ้น ๒ ค่ำ   ตกที่หลังเท้า   เดินทาง ไม่ดีมีอุบัติเหตุ
ขึ้น ๓ ค่ำ   ตกที่ศรีษะ   เดินทาง  ไปหาผู้ใหญ่จะได้ลาภ
ขึ้น ๔ ค่ำ   ตกที่ท้อง   เดินทาง  จะเสียพี่น้องในภายหลัง
ขึ้น ๕ ค่ำ   ตกที่ปาก   เดินทาง  ไปที่อื่นจะได้ลาภ
ขึ้น ๖ ค่ำ   ตกที่แขน  เดินทาง    ไปที่อื่นจะไม่ดี มีศัตรู
ขึ้น ๗ ค่ำ   ตกที่ท้อง   เดินทาง   จะได้ข้าวของ
ขึ้น ๘ ค่ำ   ตกที่ศรีษะ  เดินทาง   ไม่ดีมีอุปสรรค
ขึ้น ๙ ค่ำ   ตกที่ศรีษะ  เดินทาง    ผู้หญิงจะให้ของ
ขึ้น ๑๐ ค่ำ  ตกที่ศรีษะด้านซ้าย  เดินทาง ผู้ชายจะให้ของ
ขึ้น ๑๑ ค่ำ  ตกที่หน้าผาก  เดินทาง  ไม่ดีจะเสียของ
ขึ้น ๑๒ ค่ำ  ตกที่หน้าผาก  เดินทาง  ไม่ดีจะมีปัญหา
ขึ้น ๑๓ ค่ำ  ตกที่คาง    เดินทาง  จะมีคนให้ของ
ขึ้น ๑๔ ค่ำ ตกที่ลำตัว   เดินทาง   จะเสียของในภายหลัง
ขึ้น ๑๕ ค่ำ  ตกที่ลำตัว  เดินทาง  ไปที่อื่นจะได้ลาภ
                :059:เทพจรประจำกายข้างแรม :059:
แรม ๑ ค่ำ  ตกที่ตา  เดินทาง  จะได้ลาภ
แรม ๒ ค่ำ  ตกที่ปาก  เดินทาง จะได้ลาภ
แรม ๓ ค่ำ  ตกที่ลิ้น   เดินทาง  จะมีคนให้ของ
แรม ๔ ค่ำ  ตกที่เท้าซ้าย  เดินทาง  จะเสียของ
แรม ๕ ค่ำ  ตกที่เท้าขวา  เดินทาง  จะได้ลาภ
แรม ๖ ค่ำ  ตกที่ตา    เดินทาง  จะได้ลาภ
แรม ๗ ค่ำ  ตกที่คาง  เดินทาง  จะเสียของรัก
แรม ๘ ค่ำ  ตกที่หน้าผาก  เดินทาง  ญาติพี่น้องจะให้ของ
แรม ๙ ค่ำ  ตกที่ขา   เดินทาง   ไม่ดีจะมีอุบัติเหตุ
แรม ๑๐ ค่ำ  ตกที่ตา  เดินทาง   จะได้โชคลาภ
แรม ๑๑ ค่ำ  ตกที่ตา  เดินทาง  จะมีลาภ
แรม ๑๒ ค่ำ  ตกที่แข้งซ้าย  เดินทาง  จะมีลาภ
แรม ๑๓ ค่ำ  ตกที่แข้งขวา  เดินทาง  ไม่ดีจะมีทุกข์
แรม ๑๔ ค่ำ  ตกที่แข้งซ้าย   เดินทาง    จะเสียเงินทอง
แรม ๑๕ ค่ำ  ตกที่แข้งขวา   เดินทาง   ไม่ดีแลจะเสียเพื่อน.
.......................................................................
    นำมาให้ท่านได้ศึกษากัน และโปรดใช้วิจารณญาน ในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ  เพราะตำราหมอดูนั้น มันเป็นเรื่องของสถิติ
และความน่าจะเป็น ที่ผู้รู้แต่โบราณท่านได้รวบรวมไว้ และมันเป็นไปตามกรรมเก่าที่เราทำมา การตรวจดวงชะตา  ดูหมอนั้น
ก็เพื่อให้เรารู้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น  และจะได้แก้ไข หรือเตรียมตัวเตรียมใจ รับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น  ซึ่งการแก้ไขนั้นกระทำได้
โดยการสร้างกุศลกรรมตัวใหม่ขึ้นมา เพื่อที่จะชะลอกรรมเก่าที่เป็นอกุศลให้เบาบางลงหรือสิ้นไป ด้วยการอุทิศและอโหสิกรรม
กรรมทุกอย่างแก้ได้โดยการสร้างกรรมตัวใหม่ที่เป็นบุญกุศลขึ้นมา  หมอดูที่ดีควรมีวิธีที่จะแก้ปัญหาให้แก่ผู้ที่มาขอคำปรึกษา
ไม่ใช่สักแต่ดูอย่างเดียว และผู้ดูควรใช้วิจารณญานในการดู อย่าเชื่อทันทีแบบงมงายโดยไร้เหตุผลและคำอธิบายจากหมอดู
"""ทุกอย่างล้วนเกิดจากเหตุ  และย่อมดับไปที่เหตุ"""ทุกอย่างย่อมมีที่มาและที่ไป มีเหตุผลที่สามารถจะอธิบายได้ทุกกรณี
 :059:จงเชื่อในกุศลกรรมดีที่เรากระทำมา โชคชะตาเป็นเรื่องของวิบากกรรม :059:
                 ขอฝากไว้เป็นข้อคิด เตือนจิตเตือนใจแก่ท่านทั้งหลาย
                           ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๒๑.๑๙ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

547
 :059:เห็นกันอยู่เมื่อเช้า      สายตาย
สายยังอยู่สุขสบาย           บ่ายม้วย
บ่ายชื่นรื่นรวยราย             เย็นดับ  ชีพแฮ
เย็นเล่นกับลูกด้วย            ค่ำม้วย  อาสัญ...
      ( พระราชนิพนธ์ ของรัชกาลที่๕)
...ชีวิตช่างน้อยนิด    ถ้าเราคิดและศึกษา
ไม่นานต้องจากลา    ทิ้งกายากลับสู่ดิน
เกิดแก่และเจ็บตาย   วนเวียนว่ายนิจศิล
ลืมตามายลยิน         แล้วดับสิ้นตามเวลา
...ชีวิตอนิจจัง          ไม่จีรังยั่งยืนมา
มีพบมีจากลา           อนิจจาไม่จีรัง
เตรียมตนเสียก่อนตาย จะสบายในหนหลัง
กรรมดีมีพลัง            สู่ความหวังที่ตั้งตา
..ชีวิตอย่าประมาท     อาจพลั้งพลาดทุกเวลา
สติและปัญญา          จะนำพาสู่ทางดี
ตัวตายให้ชื่ออยู่        เขาเชิดชูทุกถิ่นที่
เหลือไว้ในสิ่งดี         ให้โลกนี้ได้ร่ำลือ....
 :059:...ได้เท่านี้  เอาเท่านั้น  พันธ์มนุษย์...ยากที่สุด  มิอาจเพิ่ม  เติมให้พอ...(พุทธธมฺโม ภิกขุ) :059:
...ความอยากของมนุษย์  มากที่สุดไม่รู้พอ
มีแล้วอยากได้ต่อ          นี่แหละหนอจิตใจคน
ดิ้นรนและขวนขวาย       กันมากมายทุกแห่งหน
รวยแล้วก็กลัวจน          ที่ทุกข์ทนอยากจะรวย
ตัณหาทะยานอยาก       ขี้เหร่มากอยากจะสวย
คนจนและคนรวย          สุดท้ายม้วยมรณา
กอบโกยกันทำไม         เมื่อตายไปมีปัญหา
ลูกหลานต่างเข้ามา       แสวงหาประโยชน์กัน
แย่งชิงมรดก               แบ่งเป็นก๊กเข้าห้ำหั่น
ตีแรงและแทงฟัน          จนตายกันตกตามไป
...ใจคนไม่รู้พอ            จึงเกิดก่อปัญหาใหญ่
อยากมีและอยากได้       เพราะว่าใจไม่รู้พอ...
--------------------------------------
 :054:คำครูแต่เก่าก่อน...อุทาหรณ์คอยสอนใจ...ไม่เคยล้าสมัย...ยังใช้ได้ตราบทุกวัน... :054:
                  แด่คำคม  ของคำคม สอนให้รู้  จิตกายใจ
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๓.๑๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

548
 :054:๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ วันนี้เป็นวันพระแรม ๑๕ ค่ำ เกิดปรากฏการณ์สุริยคราสตั้งแต่ตอนเช้า เลยต้องตื่นนอนตั้งแต่ตีสาม
เพื่อเตรียมของทำวัตถุมงคล เขียนยันต์พระราหู ทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขียนเสร็จประมาณตีห้ากว่าๆ เว้นหัวใจไว้เพื่อจะลงในฤกษ์
รีบลงไปที่โรงงานผสมผงว่าน ผงอิทธิเจ และมวลสารต่างๆเพื่อให้น้องๆตำมวลสารเพื่อจะสร้างหลวงพ่อทวดให้เสร็จก่อนฤกษ์
เพื่อเอาไว้แจกจ่ายแก่ญาติโยมที่มาทำบุญ รุ่นนี้เลยตั้งชื่อรุ่นว่า"สุริยัน-จันทรา-บารมีโพธิสัตย์" แล้วกลับเข้ามาที่อุโบสถเพื่อตรวจดู
ความเรียบร้อย เพราะวันนี้พระทั้งตำบลจะมาลงอุโบสถเพื่อฟังพระปาฏิโมกข์กันที่วัด เลยต้องจัดเตรียมสถานที่ไว้ให้เรียบร้อย
เสร็จจากในโบสถ์ก็กลับมาดูที่ศาลาการเปรียญ ให้ญาติโยมจัดการเรื่อง ธูปเทียน แจกันดอกไม้ ตั้งโต๊ะรับบาตร และจัดเตรียมอาหาร
          เวลาประมาณ ๐๗.๐๙ น. ลงอักขระหัวใจพระราหูเสร็จแล้วไปปั๊มพระนำฤกษ์ทั้งสองพิมพ์ อย่างละ ๑๒ องค์เป็นปฐมฤกษ์
แล้วกลับเข้าศาลาการเปรียญ เพื่อนำพระและญาติโยมทำวัตรสวดมนต์ ก่อนทำพิธีรับศีลและถวายสังฆทาน  กล่าวสัมโมฯพอประมาณ
เพื่อเพิ่มศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใสในบุญกุศลแก่ญาติโยม ฉันเช้าประมาณ ๐๘.๔๕ น.เป็นอันเสร็จพิธีสงฆ์ในภาคเช้า
พาพระไปปั๊มพระกันต่อ(ไปนั่งคุยให้กำลังใจน้องๆ)
         เวลา ๑๑.๐๐ น.เป็นเจ้าภาพถวายอาหารเพล พระทั้งตำบลที่มารอลงอุโบสถ ถวายวัตถุมงคลของวัด แก่พระที่มาลงอุโบสทุกรูป
ฉันเพลเสร็จนั่งพักกันพอประมาณก็เข้าโบสถ์ ทำวัตรสวดมนต์ฟังปาฏิโมกข์และพูดคุยประชุมกัน เรื่องกิจการงานของพระศาสนา
ออกจากโบสถ์มาตอนบ่ายสอง เข้าเมืองไปซื้อวัสดุก่อสร้างให้ช่าง กลับมาถึงวัดประมาณสี่โมงเย็น ตรวจงานก่อสร้างโรงงานน้ำดื่ม
นั่งพูดคุยสนทนากับพระที่เป็นช่างและญาติโยมเพื่ออธิบายแบบแปลนของโรงงานจนเป็นที่เข้าใจ แล้วแวะไปให้กำลังใจแผนกสร้าง
วัตถุมงคลต่อ เพื่อพูดคุยสอบถามว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ขาดเหลืออะไรบ้าง ผลงานออกมาเป็นอย่างไร มีอะไรที่จะเสนอแนะไหม
       เวลา ๑๘.๐๐ น.สรงน้ำ เตรีมตัวทำวัตรสวดมนต์เย็น บรรยายธรรม นำพระโยมนั่งภาวนา จนถึงสองทุ่มจึงแยกย้ายกัน กลับมากุฏิ
ปรากฏว่าเน็ตล่มต่อไม่ได้ เลยไม่ได้เขียนบทความ บทกวี ซึ่งก็ดีเหมือนกันเพราะจะได้เจริญภาวนา ทำสมาธิ และทำวัตถุมงคลต่ออีก
จนหลังเที่ยงคืน จึงเปิดทีวี ดูข่าวสารบ้านเมืองจนจบแล้ว จึงเข้าจำวัตรนอนกำหนดสติภาวนาไปจนหลับ....
 :054:แด่กาลเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่งและสรรพสิ่งที่อยู่รอบกาย...แด่ลมหายใจที่ยังมีอยู่... :054:
                                 ทำในสิ่งที่เชื่อและเชื่อในสิ่งที่ทำ
                                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๐๙ น.ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

549
 :059:...ไปทะเลาะถุ่มเถียงกับเสือดีกว่าไปทะเลาะกับคนโง่...เพราะคนโง่ไม่มีเหตุผล หรือมีแต่เหตุผลของคนโง่... :059:
        คำครูซึ่งแหลมคม   เพราะอุดมด้วยปัญญา
          ท่านนำเสนอมา   ให้ศึกษาและจดจำ
       นำไปใคร่ครวญคิด   เพื่อชีวิตไม่ตกต่ำ
       คนดีมีศีลธรรม        จะน้อมนำสู่ทางดี
       สอนให้มีสติ          สมาธิเป็นตัวชี้
    ความโกรธนั้นไม่ดี      พาชีวีให้วอดวาย
   เขาโกรธเราโกรธตอบ   มันไม่ชอบพาฉิบหาย
  ถุ่มเถียงกันแทบตาย     ผลสุดท้ายก็พอกัน
  เพราะไร้ซึ่งเหตุผล       เอาตัวตนเป็นสำคัญ
ถุ่มเถียงทะเลาะกัน        เอาโง่นั้นมาประจาน
เป็นคนมีเหตุผล            ให้ทุกคนเขากล่าวขาน
ทำชอบประกอบการ       และสมานธารน้ำใจ...
 :059:...เรื่องยึดมั่น  ถือมั่น  มันเป็นทุกข์...ต้องการสุข  อย่ายึดมั่น  เท่านั้นหนา...(พุทธธมฺโม ภิกขุ)... :059:
               ทุกข์ใจเพราะไปถือ   สิ่งนั้นคือความยึดมั่น
               ตนเองเป็นสำคัญ      ไม่ได้มันก็เสียใจ
              เพราะรักจึงหวงแหน    และยึดแน่นไม่แก้ไข
              สำคัญมั่นหมายไป      อยากจะได้ตามใจเรา
              ไม่ได้ก็เป็นทุกข์         ไร้ซึ่งสุขจิตใจเศร้า
              เพราะหลงไปมัวเมา     จึงต้องเศร้าทุกข์ระทม
              ปล่อยวางบ้างเถิดหนา  แล้วจะพาให้สุขสม
              ชีวิตไม่โศกตรม          ไม่ขื่นขมให้ทุกข์ใจ
              ถีอไปใจก็หนัก           จงหยุดพักวางลงไว้
              ผ่อนคลายระบายไป     จงอย่าได้ไปถือมัน
              ไม่ถือก็ไม่ทุกข์           จะพบสุขอย่างมหันต์
              ปล่อยวางบ้างแล้วกัน    ให้ทุกข์นั้นมันหายไป...
----------------------------------------------------------
 :054:แด่คำคมของคำครู..สอนให้รู้สัจจธรรม :054:
                   เชื่อมั่น-ศรัทธาในคำครู
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๔๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง  ชายแดนประเทศไทย
------------------------------------------------------------------------
 :059:...ป.ล.โปรดติดตามบทต่อไป................

550
 :059:เจริญสติตั้งแต่ตื่นนอน ทำภาระกิจส่วนตัวเสร็จแล้ว ครองผ้าอุ้มบาตรเดินลงจากกุฏิด้วยความมีสติ เดินภาวนาไปเรื่อย
จนถึงหมู่บ้าน รับบาตรไปพิจารณาธรรมไป มีสติสำรวมอินทรีย์ มองดูเฉพาะข้างหน้า ทอดตาลงในระยะที่พอมองเห็น อยู่กับสติ
ระยะทางไปกลับ 6 กิโลที่เดิน ได้รับรู้สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นมากมาย มีโยมถามว่าทำไมต้องออกไปบิณฑบาตรไกลอย่างนั้น
ก็ได้อธิบายให้โยมฟังว่า ประการแรก...ไปโปรดญาติโยมหมู่บ้านใหม่ที่ไม่เคยมีพระไปรับบิณฑบาตรมาก่อนเลยให้โยมได้ทำบุญ
ประการที่สอง...เพื่อเป็นการออกกำลังในยามเช้า เป็นการบริหารร่างกายไปในตัว  ประการที่สาม เป็นเวลาแห่งการปฏิบัติธรรม
เพราะเดินไปองค์เดียว ไม่มีใครรบกวน ได้ภาวนาและเดินจงกรมไปในตัว...นั้นคือเหตุผลที่ออกไปบิณฑบาตรต่างอำเภอนอกเขต
เวลาแห่งการเจริญสติเจริญภาวนาในภาคเช้าประมาณชั่วโมงครึ่ง ซึ่งเป็นเวลาส่วนตัวอย่างมากๆสำหรับเรา
    เพราะเมื่อกลับถึงวัดมันก็มีภาระกิจมารออยู่แล้ว ญาติโยมมาเจิมรถ มารดน้ำมนต์ มาถวายสังฆทาน สวดมนต์ทำวัตรเช้า ฉันเช้า
ดูแลสั่งงานการก่อสร้าง แจกงานให้พระที่อยู่ร่วมกันไปปฏิบัติการตามหน้าที่ของแต่ละท่าน เราต้องบริหารเรื่องเวลาและภาระกิจให้
ลงตัวภายในหนึ่งวัน  เวลาพักผ่อนก็คือเวลาที่เขียนบันทึกและแต่งบทกวี  กลางวันต้องรับปรึกษาแก่ญาติโยมที่มาปรึกษาในทุกเรื่อง
ชีวิตในหนึ่งวันเราต้องจัดการบริหารเรื่องเวลาให้ลงตัว ให้ได้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ทั้งงานศาสนาและงานสังคม
    คิดเสมอว่า...การทำงานคือการปฏิบัติธรรม  ทุกอย่างที่ทำลงไปนั้น คือการสร้างบารมี เพื่อให้ใจเรามีปิติ มีกำลังใจ ไม่เบื่อที่จะทำ
สิ่งสำคัญคือเราต้องสร้างขวัญและกำลังใจให้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่าคิดว่าเป็นภาระ เป็นปัญหา คิดว่าเป็นหน้าที่ ที่เราต้องกระทำ
เพื่อสงเคราะห์และอนุเคราะห์แก่ผู้คนทั้งหลาย ที่เขามาหวังพึ่งเรา
 :054:แด่ชีวิตในวันหนึ่งซึ่งไม่ไร้คุณค่า อาจจะไร้รูปแบบ แต่ไม่เคยไร้สาระ :054:
             เชื่อมั่น-ศรัทธาในสิ่งที่ทำ-ปรารถนาดีต่อผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย
                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๑๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

551
บทความ บทกวี / ยิ้มกลางสายฝน...
« เมื่อ: 21 ก.ค. 2552, 09:42:38 »
 :059:เช้าวันหนึ่ง..........
เมฆฝนบนฟ้าปกคลุมมามืดดำ
สายฝนหล่นพรำมาในยามเช้า
สายลมพัดพาความหนาวมาจากทิศตะวันออก
ซุกกายใต้ผ้าห่มไม่อยากจะลุกจากที่นอน
อาลัยอาวรณ์อยากที่จะนอนต่ออีกสักหน่อย
แล้วตัดใจลุกจากที่นอนเก็บหมอนและผับผ้าห่ม
 :053:จิตใจเริ่มสับสน........
กับสายฝนที่ตกลงมาและอากาศที่หนาวเย็น
เกิดสองความคิดขึ้นมาในจิตใจ
จะออกไปรับบิณฑบาตรดีหรือไม่
ออกไปจีวรต้องเปียกแน่เลย
ตากฝนอาจจะทำให้ไม่สบายเป็นหวัดได้
 :059:แต่อีกความคิดหนึ่ง......
ถ้าเราไม่ออกไปญาติโยมเขาจะรอเราอยู่ไหม..?
อาหารที่เขาเตรียมไว้จะเป็นอย่างไร..?
ญาติโยมเขาจะกังวลใจมากไหม..?
ความคิดสองอย่างเกิดขึ้นในใจ
จะเลือกเอาอย่างไหนกันดี..?
 :059:สายฝนโปรยปราย.....
เดินเลาะชายโขงผ่านทุ่งนามุ่งหน้าสู่หมู่บ้าน
สายลมหนาวผัดต้องกายให้หนาวสะท้าน
จีวรโดนละอองฝนเปียกกระชับกาย
ญาติโยมนั่งรอเรียงรายสองข้างทาง
.....รอยยิ้มเกิดท่ามกลางสายฝน....
 :054:ขอขอบคุณ.......
การตัดสินใจที่ถูกต้องและสายฝน
ขอบคุณผู้คนที่ไม่เสื่อมศรัทธา
ขอบคุณท้องนาและแม่น้ำโขง
ขอบคุณความคิดทั้งสองทาง
....ขอบคุณรอยยิ้มกลางสายฝน....
-----------------------------
 :054:แด่ศรัทธาของผู้คนในชนบท(จนเงินแต่ไม่จนศีลทาน) :054:
                      เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๔๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย



552
       คำคม...คำของครู   ยกให้ดูอุทาหรณ์
เขียนมาเป็นกาพย์กลอน  เพื่อให้ย้อนมามองดู
       คำคม...คนรุ่นเก่า   ท่านบอกเล่าให้เรารู้
  ทบทวนใคร่ควรดู         จะได้รู้สัจจธรรม
     นำมาปฏิบัติ            และฝึกหัดประกอบกรรม
กุศลจะหนุนนำ             มีแสงธรรมส่องนำทาง....
 :059:ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาวินาศ...มนุษย์ชาติจะเลวกว่าเดรัจฉาน(คำของหลวงพ่อพุทธทาส) :059:
      ถ้าคนขาดศีลธรรม   ก็จะนำสู่ทางชั่ว
เพราะจิตหลงเมามัว       เห็นแก่ตัวประโยชน์ตน
แก่งแย่งและแข่งขัน      หักหลังกันไปทุกหน
ในจิตคิดเล่ห์กล           ต่างฉ้อฉลเอาเปรียบกัน
โลกนี้จะวินาศ             เพราะว่าขาดสมานฉันท์
รบราและฆ่าฟัน           ทำร้ายกันทุกที่ไป
กิเลสโลภโกรธหลง      ความประสงค์อยากจะได้
ไม่มีแล้วน้ำใจ            ต่างทำไปเห็นแก่ตัว
เลวกว่าเดรัจฉาน          อันทพาลที่โฉดชั่ว
มืดหน้าและตามัว        จนลืมตัวว่าเป็นคน...
 :069:อย่าเป็นทุกข์ให้โง่ ทุกข์คนไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นทุกข์(คำของหลวงพ่อพุทธทาส) :069:
     ทุกข์นั้นมันมีอยู่    และก็รู้ว่าเป็นทุกข์
ซึ่งต่างจากความสุข    เพราะว่าทุกข์ทรมาน
ยึดถือจึงเป็นทุกข์      ไร้ซึ่งสุขตลอดกาล
ทุกข์นั้นมีมานาน        ตลอดกาลและเวลา
   เอาทุกข์มาเป็นครู    จงเรียนรู้และศึกษา
ที่ไปและที่มา            ของปัญหาให้เข้าใจ
ยกใจออกจากทุกข์     จะพบสุขในสิ่งใหม่
รู้เนและเข้าใจ            ก็จะไม่ต้องทุกข์ทน...
------------------------------------
 :054:เคารพในคำครูที่กล่าวไว้เสมอมา :054:
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา
             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๓๖ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
----------------------------------------------------------------------
 :059: ป.ล.โปรดติดตามบทต่อไป.....           

553
 :054:ปรับกายให้เป็นปกติเพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการฝึกจิตขั้นต่อไป กายพร้อม จิตพร้อมการปฏิบัติย่อมมีความเจริญในธรรม
สภาวะธรรมเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น จิตละเอียดขึ้น เห็นกิเลสภายในชัดขึ้น และดับได้เร็วขึ้น นิวรณ์เข้ามารบกวน ต้องต่อสู้กับนิวรณ์เหล่านั้น
โดยอาศัยวิริยะบารมีเข้ามาข่ม มีเพื่อนสหธรรมมิกมาสนทนาธรรมแลกเปลี่ยนธรรมะกัน สภาวะเด่นชัดขึ้น มีปิติทุกครั้งที่ได้อธิบายธรรม
ได้กล่าวธรรม จนลืมเรื่องเวลาที่มันผ่านไป เพราะการที่ได้กล่าวธรรมนั้น มันเป็นการทบทวนธรรมไปในตัว และเป็นการสอนตัวเองทุกครั้ง
     รู้สึกตึงเลยบริหารร่างกายโดยการลงไปช่วยทำงานก่อสร้าง เพื่อให้เหงื่อมันออก กล้ามเนื้อได้คลายตัว และเพื่อสะลายอารมณ์ที่เป็นอยู่
หลังเหงื่อออกจนท่วมกายแล้ว รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย  ทำความสะอาดร่างกายเสร็จเกิดศรัทธาอยากจะภาวนา เพื่อยังความสงบให้เกิดขึ้น
จิตตื่นเพราะอารมณ์ปิติจากการได้กล่าวธรรมยังค้างอยู่  จึงตามดูตามรู้ในปัจจุบันธรรม
    ดังที่เคยกล่าวไว้ในการปฏิบัติธรรม คือการสร้างปิติจากภายนอกเพื่อเข้าสู่ปิติตัวใน เรามีวิธีที่จะทำได้หลายประการ มันอยู่ที่การฝึกฝน
และการทดลองทางจิต ไม่มีคำว่าผิดในการปฏิบัติ ถ้าเรารู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา ว่าเราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร เราจะไม่หลงในอารมณ์ที่เกิดขึ้น
แต่ถ้าเราทำไปโดยไม่รู้และสำคัญผิดโดยคิดว่าใช่ นั่นแหละมันจะพาให้เราหลงอารมณ์...
 :059:จงมีสติทุกขณะจิต  ในการคิดและการทำ แล้วจะไม่หลงทาง :059:
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๐๗ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

554
                                   คำเอยคำครูสอน   แต่เก่าก่อนโบราณมา
                               ได้ยินและผ่านตา      จึงนำมาสู่กันฟัง
 :059:ถ้าเอาเปรียบเขาไม่ได้ก็ว่า "ไม่ถูก " ถ้าจูงจมูกได้ทุกทีก็ว่า "ดีเหลือ"(คำของหลวงพ่อพุทธทาส) :059: 
                             ความคิดจิตเอาเปรียบ   อย่างเงียบเงียบในใจคน
                           เห็นแต่ประโยชน์ตน       ลืมเหตุผลลืมใคร่ครวญ
                           ถูกใจก็ว่า "ใช่"             ไม่ถูกใจว่า "ไม่ควร"
                           ตัวกูมันชักชวน              ให้ใจด่วนตามใจกู
                           เอาเปรียบผู้อื่นได้           ก็ว่าใช่เลยไม่รู้
                           ไม่เห็นและไม่ดู             เพราะตัวกูมันครอบงำ...
 :059:ทำใจให้สงบ จะพบกับความสุขที่เยือกเย็น..(คำของหลวงพ่อพุทธทาส) :059:
                             โลกร้อนเพราะคนร้อน    ไม่อาทรแก่งแย่งกัน
                              โลภโมและโทสัน        ไม่แบ่งปันเอื้ออาทร
                               ทำลายธรรมชาติ        น้ำอากาศด้วยไฟฟอน
                                ทำให้ใจคนร้อน        จะหลับนอนก็วุ่นวาย
                                 ทำใจให้สงบ          ก็จะพบกับความหมาย
                                  ชุ่มเย็นทั้งใจกาย     สุขสบายและเยือกเย็น....
 :059:ศีลธรรมของยุวชน คือสันติภาพของโลก...(คำของพลวงพ่อพุทธทาส) :059:
                                 ฝึกฝนตั้งแต่เล็ก       ให้เป็นเด็กมีเหตุผล
                                ไม่เอาแต่ใจตน         มีเหตุผลและศีลธรรม
                               ต่อไปภายภาคหน้า      จะไม่พาโลกตกต่ำ
                              คนดีมีศีลธรรม             จะชี้นำสู่ทางดี
                             โลกนี้จะสงบ                การสู้รบจะไม่มี
                            ศีลธรรมจะนำชี้              ให้โลกมี "สันติภาพ"
                            -----------------------------------------
    :059:บทสองของคำคม    มาให้ชมและศึกษา
             โปรดพิจารณา        และนำมาเป็นแนวทาง
            แนวทางของชีวิต      ไม่พลาดผิดในก้าวย่าง
            เดินไปตามแนวทาง   กุศลสร้างเส้นทางธรรม...
                  เชื่อมั่น-เคารพ-ศรัทธา-ในคำครู
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๓๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
-----------------------------------------------------------------------
ป.ล.โปรดติดตามบทต่อไป.....
                               
                             

555
 :054:จิตเกิดปฏิฆะก็รู้ว่าปฏิฆะ  มองหาสาเหตุที่ทำให้เกิดปฏิฆะ จิตขุ่นมัวและเศ้ราหมอง  ตัดบทเดินหนี ไม่ต่อปากต่อคำ ไปกำหนดสติ
ปรับธาตุในกายให้มันเย็นลง โดยใช้วิธีการหายใจเข้าออกอย่างช้าๆ เพื่อให้มีสติกลับคืนมา ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน๓ นาทีธาตุในกายก็สงบลงได้
สติและสัมปชัญญะกลับคืนมา เพราะขณะที่เกิดปฏิฆะนั้น หัวใจมันจะเต้นแรง การสูบฉีดของเลือดลมก็เร็วขึ้น ทำให้เกิดความร้อนในร่างกาย
ความร้อนเกิดขึ้นบริเวณทรวงอก ใกล้กับหัวใจ และจะเคลื่อนตัวขึ้นมาสู่เบื้องบน เพราะธาตุลมเมื่อโดนความร้อนจะลอยตัวขึ้นมา ทำให้รู้สึก
มึนศีรษะ และถ้าปล่อยให้มันเป็นไปเลือดลมก็จะสูบฉีดแรงขึ้น ทำให้เส้นเลือดขยายตัว เกิดอาการปวดหัวจี๊ดขึ้นมา เพราะว่าเส้นเลือดมันเล็ก
ต้องขยายตัวอย่างมาก เมื่อเลือดลมมันมามากเกินไปที่เส้นเลือดจะรับได้ ก็จะเกิดการแตกของเส้นเลือดที่จะไปเลี้ยงสมอง และเมื่อเส้นเลือดแตก เลือดลมก็ไม่สามารถที่จะไปหล่อเลี้ยงสมองได้ เมื่อสมองขาดเลือดลมที่จะไปหล่อเลี้ยง มันก็จะหยุดทำงานและตามไป เมื่อสมองส่วน
สั่งการและควบคุมร่างกายไม่ทำงานร่างกายเราก็จะเป็นอัมพฤกษ์  ไม่สามารถที่จะสั่งให้มันเคลื่อนไหวได้และจะทำให้กลายเป็นคนพิการไป
    เห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัย ของอารมณ์ปฏิฆะความโกรธ เพราะเกิดจากการที่ฝึกจิต ให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ความโกรธ
เข้ามาครอบงำ และตั้งอยู่ได้นาน เพียงผ่านเข้ามาแล้วดับไป โดยใช้เวลาไม่นาน""กิเลสที่จรมายังจิตนี้ให้เศร้าหมอง"" เพราะเราไปรับเอา
อารมณ์ของผู้อื่นที่มากระทบจิตเรา แล้วเราเข้าไปส้องเสพปรุงแต่งในอารมณ์เหล่านั้น มันก็จะทำให้เราทุกข์กายทุกข์ใจ เพราะจิตของเราไป
ยึดติดอยู่กับอารมณ์เหล่านั้น และให้มันมีอำนาจมาครอบงำจิตเรา ให้เผลอสติคล้อยตามมัน..
     :054:แด่จิตปฏิฆะที่สอนธรรมให้มีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันอารมณ์เหล่านั้น :059:
                        เชื่อมั่น-เคารพ-ศรัทธา-ในสติมหาปัฏฐานทั้งหลาย
                                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๒๔ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

556
 :059:คำเอยคำครูสอน   แต่เก่าก่อนโบราณมา
คำนั้นมีคุณค่า      ควรศึกษาและจดจำ
จำไว้ในดวงจิต     เอามาคิดเอามาทำ
ทางดีท่านชี้นำ     กุศลกรรมเกิดตามมา....
.............ยังไม่รวย  อยู่อย่างรวย    ไม่มีวันรวย  ยังไม่จน อยู่อย่างจน   ไม่มีวันจน........
  บทนี้สอนให้คิด    ถึงชีวิตของผู้คน
อวดรวยก็เพราะจน  อยากให้คนคิดว่ารวย
ไม่จนอยู่อย่างจน    ประพฤติตนไปได้สวย
ไม่อวดว่าตนรวย     ก็เลยช่วยไม่ให้จน....
..............การอวดว่ารู้ในสิ่งที่ไม่รู้น่าละอาย  ยิ่งกว่าการสารภาพว่าไม่รู้ ในสิ่งที่ไม่รู้..........
   คนโง่อวดฉลาด   เพราะว่าขาดซึ่งปัญญา
ไม่คิดพิจารณา       สักแต่ว่าพูดออกไป
อยากให้ใครเขารู้    ว่าตัวกูปัญญาไว
รู้หมดทุกเรื่องไป    แต่ไม่ได้รู้ไรเลย
คนฟังเขาก็รู้          และนั่งดูอยู่เฉยเฉย
ปล่อยให้เลยตามเลย ไม่เฉลยกลัวเขาอาย....
............เราล่วงเกินใคร ก็หวังให้เขาให้อภัย   ครั้นใครล่วงเกินเรา เราก็ลืมเรื่องการให้อภัย.........
    ล่วงเกินต่อผู้อื่น    กลัวเอาคืนขออภัย
ความกลัวเกิดจากใจ   จึงขอให้อภัยกัน
ทำเขาเราไม่คิด        เพราะว่าจิตเรายึดมั่น
ตัวกูเป็นสำคัญ         คนอื่นนั้นไม่สนใจ....
   สามบทของคำครู   ยกให้ดูเพื่อแก้ไข
สิ่งที่เราเป็นไป         มีอะไรเหมือนคำครู
ถ้าเหมือนจงแก้ไข    จึงจะได้เป็นผู้รู้
ลองย้อนมามองดู     เห็นตัวกูแล้วหรือยัง....?
 :054:เคารพในหลักธรรมคำคมของครูบาอาจารย์ที่ท่านประพันธ์มา :054:
               เชื่อมั่น-ศรัทธาในคำครู-ไม่คิดลบหลู่กราบขออภัย
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๓๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง  ชายแดนประเทศไทย
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 :054:หมายเหตุ...โปรดติดตามบทต่อไป..........
                                   

557
 :054:ฤดูกาลเข้าพรรษาผ่านไปหลายวันแล้ว จัดการกับภาระกิจต่างๆให้เข้าสู่ระบบได้เกือบหมดแล้ว เพื่อเป็นการลดปลิโพธความกังวล
เตรียมกาย ปรับจิต ทำความพร้อมเพื่อการปฏิบัติธรรมให้จริงจังยิ่งขึ้น
      จิตยังติดในอารมณ์สมถะคือพอใจในความสงบนิ่ง เพราะความเคยชินที่ทรงอยู่ในอารมณ์นั้นมานาน พอยกจิตออกจากสมาธิ มาพิจารณา
ธรรม สร้างความรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ให้จิตหยุดนิ่งเสพในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ตามดู ตามรู้ ตามเห็น ความเป็นไปในปัจจุบันธรรม มีสติรู้ให้ทัน
การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การดับไป ของสิ่งทั้งหลายที่มากระทบ  จิตยังไม่คุ้นเคยกับอารมณ์ธรรมอย่างนี้ คอยแต่จะหนีไปสู่ความสงบนิ่ง
มันเป็นความสงบที่หลบหนีความเป็นจริงของธรรมชาติ ซึ่งจะต้องสร้างความเคยชินให้กับความจิตขึ้นมาใหม่ให้ได้โดยเร็ววัน โดยการเร่งความ
เพียร เพิ่มเวลา เพิ่มกำลังให้มากขึ้นเรื่อยๆ อาศัยหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ว่า "วิริเยน ทุกฺข มเจติ" บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
...ปลายทางย่อมอยู่ไม่ไกล ตราบใดที่เรายังก้าวเดินไปข้างหน้า....
...ชีวิตคือหน้าที่...ชีวิตที่เหลืออยู่นี้คือการทำหน้าที่ให้ดีที่สุดของความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์...
....ธรรมอยู่ที่สภาวะภายในของจิต  มิใช่อยู่ที่การแสดงออกทางกาย....
 :016:แด่อารมณ์ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในจิต :015:
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๒๔ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

558
 :059:ท้องนา.....
กลับมามีชีวิตชีวาในหน้าฝน
แผ่นดินที่เคยแห้งแล้งจนแตกระแหง
กลับชุ่มชื่นเพราะฝนที่ตกลงมา
ชาวนาเริ่มหว่านไถและปักดำ
กุ้งหอยปูปลากบเขียดก็กลับมา
ข้าวกล้าแตกกอเขียวขจี...
 :069:ต้นไม้.....
เรียงรายอยู่ตามรายทางและคันนา
จากที่เคยเหี่ยวเฉาเพราะขาดน้ำ
สลัดใบร่วงหล่นจนหมดต้น
ก็แตกใบรุ่นใหม่สีสดใสออกมา
มองดูเพลินตาสบายใจได้อารมณ์
กลิ่นหอมละไมของดอกไม้รุ่นใหม่โชยมา
 :059:สายฝน........
หล่นร่วงลงมาจากฟ้าสู่ดิน
ชุบฟื้นชีวินให้แก่ท้องนาและป่าไม้
ที่ใกล้จะแห้งเหี่ยวตายให้คืนมา
ข้าวกล้าและป่าไม้ได้งอกงาม
เสียงรถไถนา เสียงปลา เสียงกบเขียด
เสียงเพลงแห่งท้องทุ่งดังแว่วมา
 :053:คนจัญจร......
ได้หยุดพักผ่อนหลังจากการเดินทาง
ได้มีเวลาว่างที่จะทบทวนครวญคิด
สรุปชีวิตของการเดินทางที่ผ่านมา
มีเข้าพรรษาก็เพราะมีหน้าฝน
ได้เวลาที่คนสัญจรหยุดเดินทาง
ชาวนาชาวไร่ได้เวลาไถหว่าน
ทุกอย่างหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามฤดูกาล.........
...ท้องนา...ต้นไม้..สายฝน...คนสัญจร...
ทุกชีวิตล้วนผูกพันธ์กัน.....
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 :016:แด่ธรรมชาติของชนบทไทย  :015:
           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๕.๒๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย




559
 :054:ตั้งแต่รู้สึกตัวและตื่นลืมตา จนถึงเวลาหัวถึงหมอนก่อนจะหลับ เราต้องพบกับเรื่องราวมากมายหลายหลาก และถ้าหากเราไม่รู้จักคิด
และพิจารณา  มันก็จะพาให้ใจเราสับสนและวุ่นวายกลายเป็นทุกข์ เพราะใจเราไปเก็บเอามาทุกเรื่องที่เจอะเจอ  เราจึงต้องหมั่นฝึกจิตฝึกคิด
และฝึกจบเป็นเรื่องๆไป ฝึกจัดข้อมูลเสียใหม่ในส่วนความจำของเรา  ฝึกคัดแยกข้อมูลข่าวสารที่รับรู้ สิ่งไหนมีสาระ สิ่งไหนไม่มีสาระ สิ่งไหน
เป็ยขยะ สิ่งไหนที่เอากลับไปใช้ได้ สิ่งไหนมีความหมายและเป็นประโยชน์ เราต้องรู้จักแยกแยะมีประโยชน์เก็บไว้ ส่วนที่ใช้อะไรไม่ได้ก็ทิ้งไป
จัดเรียงข้อมูลไว้เป็นหมวดหมู่ ว่าสามารถอยู่ในหมวดหมู่ใด ด้วยการสงเคราะห์เทียบเคียงกับหลักธรรมทั้งหลาย ว่าสงเคราะห์กับธรรมในข้อใด
จนเราเข้าใจ แล้วจึงจัดเก็บ สมองส่วนที่เก็บความจำมันก็จะทำงานของมันเอง
 :054:การทำงานของจิตนั้น เหมือนเรากำลังทำปริญญา...เทียบเคียงได้ว่า
ปริญญาตรี...คือการฝึกความจำและฝึกตีความ เพื่อทำความเข้าใจ
ปริญญาโท...คือการฝึกหาข้อมูล หาที่มาที่ไป เพื่อให้เข้าใจในกระบวนการเหล่านั้น
ปริญญาเอก...คือการวิจัย การทดลอง ลงมือปฏิบัติ เพื่อให้รู้ชัดและเห็นจริง
    ซึ่งเทียบเคียงได้กับหลักดำเนินการทางจิต...คือ
ปริยัติ....คือการเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ การฟัง การอ่าน การพูดคุย การดู คือการเรียนรู้
ปฏิบัติ...เอาความรู้ทั้งหลายมาทดลองทำ ตามที่รู้ ตามที่เห็น  และตามที่เข้าใจ ว่ามันใช่หรือมิใช่ เหมาะสมหรือไม่ รู้ได้ด้วยการปฏิบัติ
ปฏิเวท...คือบทสรุปในข้อมูลทั้งหลายที่ได้นำมาทดลองทำมาแล้ว และออกมาเป็นผลสำเร็จ
 :054:ในวันหนึ่งๆเราต้องรับรู้เรื่องราวมากมาย  ทั้งทางดีและทางร้าย ทั้งความวุ่นวายและความสงบนิ่ง ทั้งเรื่องจริงและเรื่องไม่จริง
ถ้าเราไม่นิ่ง ไม่มีสติสัมปชัญญะ เราก็จะตามมันไม่ทัน เขาไปมีส่วนร่วนในเรื่องราวอารมณ์เหล่านั้น มันก็จะวุ่นวาย สับสน และทกข์ไปด้วย
เราคือผู้ดู ผู้ชม ไม่ใช่ผู้แสดง ไม่ใช่ผู้กำกับ...ฉะนั้นจงอย่ากระโดดเข้าไปเป็นผู้แสดงเสียเอง  ปล่อยให้เขาแสดงกันไป เรามีหน้าที่เป็นผู้ดู
ดูจนจบ และจบแล้วให้มันจบไป ดูเรื่องใหม่ต่ออีก...ดูให้จบเป็นเรื่องๆไป และเรื่องที่จบไปแล้วก็ไมต้องไปสนใจ ดูเรื่องใหม่ที่กำลังแสดง
ดูไปวิเคราะห์ไป ทำความเข้าใจกับมันไป และเมื่อมันจบ เราก็ต้องจบด้วย แต่ถ้าเรายังไม่จบ ยังค้างคาใจ พอเรื่องใหม่แสดงเราก็จะไม่มีสมาธิ
ที่จะดู เลยทำให้ไม่รู้เรื่อง และบางครั้งเอาทั้งเรื่องเก่าเรื่องใหม่มาปนกัน  มันจึงไม่ได้เรื่องและไม่รู้เรื่อง สิ้นเปลืองพลังสมองโดยใช่เหตุ
ไม่เกิดประโยชน์ ซ้ำยังเป็นโทษต่อตัวเอง....
 :059:คือข้อคิดและหลักการดำเนินชีวิตที่จะทำให้ไม่สับสนและวุ่นวาย ไม่เป็นทุกข์ :059:
                   :054:แด่สภาวะธรรมในยามเช้าและเรื่องราวที่ได้รับรู้ :054:
                     :016:แด่ทุกอย่างที่เป็นครู สอนให้รู้อารมณ์ธรรม :015:
                                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๔๒ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง  ชายแดนประเทศไทย

560
บทความ บทกวี / เสน่ห์...มหาเสน่ห์...
« เมื่อ: 17 ก.ค. 2552, 04:59:34 »
 :059:เสน่ห์ นั้น   เกิดจากใจ   ภายในจิต
เสน่ห์ นั้น   คือมิตร    ที่ชิดใกล้
เสน่ห์ นั้น   ควรมา     จากภายใน
เสน่ห์ นั้น   คือใจ      ที่ดีงาม
  มี เสน่ห์  เพราะใจ    ใสสะอาด
มี เสน่ห์    มารยาท    ไม่หยาบยาม
มี เสน่ห์    เพราะอดทน   พยายาม
มี เสน่ห์    เพราะความ    กรุณา
  เสน่ห์ นั้น   หาใช่    ความใคร่อยาก
เสน่ห์ นั้น     มาจาก   วาสนา
เสน่ห์ นั้น     มาจาก    ความเมตตา
เสน่ห์ นั้น      คือวาจา  ที่จริงใจ
  มี เสน่ห์    จากจิตใจ   ใช่ใบหน้า
มี เสน่ห์      จากวาจา    ที่สดใส
มี เสน่ห์      จากความรู้   อยู่ภายใน
มี เสน่ห์      จากน้ำใจ    ที่ใฝ่ดี
    อยากเป็นคน  มีเสน่ห์   ต้องฝึกจิต
ปรับความคิด   กายวาจา    มีราศรี
ความอิจฉา    พยาบาท    อย่าให้มี
กล่าววจี       ไพเราะ     เหมาะกับกาล
 :114:คนจะงาม   งามน้ำใจ    ใช่ใบหน้า
คนจะสวย    สวยจรรยา     ใช่ตาหวาน
คนจะแก่     แก่ความรู้       ใช่อยู่นาน
คนจะรวย    รวยศีลทาน      ใช่บ้านโต :114:
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 :016:นี่คือการทำให้มีเสน่ห์ เป็นที่รักใคร่ของผู้คน : :015:
 :059:เสน่ห์จากภายนอกตั้งอยู่ได้ไม่นาน  เสน่ห์จากภายในอยู่นั้นไซร้ อยู่ได้ยืนนาน :059:
                          :054:มอบให้ผู้ที่อยากได้มนต์มหาเสน่ห์ :054:
                                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๖.๕๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
                   

561
 :059:ตื่นนอนตอนตีสี่   ทำชีวีเป็นนักข่าว
เสพซับทุกเรื่องราว     ที่เขากล่าวในทีวี
     ฟ้าสางรุ่งอรุณ      เวลาหมุนทุกนาที
แต่งองค์ทรงเครื่องดี   จรลีจากอาราม
   ออกรับบิณฑบาตร   มิได้ขาดทั่วเขตคาม
เลาะทุ่งมุ่งไปตาม      กลับอารามตามเวลา
   กลับมาบันทึกธรรม  เป็นประจำที่ทำมา
เล่าความตามสัญญา   ที่ผ่านมาในหนึ่งวัน
   โมงครึ่งทำกิจสงฆ์   เวลาตรงไม่แปรผัน
ทำวัตรสวดมนต์กัน     หลังจากนั้นฉันภัตตา
  เสร็จจากภัตตากิจ    รวมหมู่มิตรมาปรึกษา
เรื่องราวในวัดวา        สนทนาปรึกษากัน
  เปลี่ยนจิตเป็นโฟร์แมน มาเป็นแกนสานสัมพันธ์
ร่วมด้วยและช่วยกัน   ร่วมสร้างสรรค์พัฒนา
  สั่งงานการก่อสร้าง  ทุกทุกอย่างเข้าจัดหา
ตามกาลตามเวลา      พัฒนาประกอบการ
  ออกแบบและวางผัง กุฏิตั้งโบสถ์วิหาร
วางแผนการทำงาน    เพื่อสืบสานเจตนา
  ว่างมาก็ขีดเขียน     ตามที่เรียนและศึกษา
ลิขิตรจนา              เป็นภาษาบทกวี
 บางครั้งเป็นหมอจิต  ให้ข้อคิดคอยแนะชี้
บางครั้งเป็นหมอผี     ตามที่มีผู้ขอมา
  บางคราวต้องวางแผน  เป็นตัวแทนที่ปรึกษา
ติดต่อเจรจา            เคลียร์ปัญหาให้ผู้คน
  ทำไปเพื่อฝึกจิต     ใช้ความคิดหาเหตุผล
ช่วยเหลือผู้ทุกข์ทน   ให้หลุดพ้นทรมา
   ตกเย็นเป็นพระสงฆ์ เพื่อดำรงค์ศาสนา
สวดมนต์ภาวนา      ตามเวลาทำวัตรเย็น
   กลางคืนจนดื่นดึก  ทบทวนนึกสิ่งที่เป็น
ได้รู้และได้เห็น        ทุกประเด็นที่ผ่านมา
    ตีหนึ่งจึงจำวัตร    ปฏิบัติสืบกันมา
นอนลงแล้วหลับตา   ภาวนาจนหลับไป
...หนึ่งวันของชีวิต    ภาระกิจที่ทำไว้
ตื่นมาแล้วหลับไป     ที่เหลือไว้...คือผลงาน....
   :016:แด่ชีวิตที่ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้ซึ่งสาระ :015:
 :060:แด่สายฝนที่ตกมา ทำให้มีเวลาแต่งบทกวี :060:
                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๑.๐๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
     

562
 :059:สายลม...
พัดผ่านมาในยามเช้า
ต้นไผ่ไหวเอนไปตามกระแสลม
ลมพัดรุนแรงเพิ่มกำลังขึ้น
ไผ่เอนลู่ลมเกือบถึงพื้นดิน
กิ่งมะม่วงป่าพลันหักลง
ต้นไผ่ยังเอนไหวลู่ลม...
 :059:แสงแดด.....
จากความอบอุ่นเริ่มแผดร้อน
สาดส่องลงมากระทบกาย
แผดเผาให้แสบร้อนไปทั่วร่าง
ชีวิตกลางแจ้งไร้ที่มุงบัง
หลายคนดีใจเอาผ้าออกมาตาก...
 :059:ภูเขา....
ตั้งเด่นเป็นตระง่านดูเด่นชัด
อุดมไปด้วยแมกไม้นานาพันธ์
เป็นซุปเปอร์มาเก็ตของชาวบ้าน
เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์
คนเก็บของป่าบ่นดังแว่วมา
"ขึ้นยากจังเลย..เขาสูงมากเลย"
 :059:สายน้ำ....
เพิ่มปริมาณขึ้นทุกขณะ
สูงขึ้นมาจนเกือบถึงตลิ่ง
สายน้ำไหลเชี่ยวกราดรุนแรงขึ้น
ขยะเศษไม้และขอนไม้ลอยตามน้ำมา
เรือหาปลาจอดสงบนิ่งอยู่ริมฝั่ง
คนปลูกผักริมแม่น้ำต่างยินดี...
 :069:สายลม...แสงแดด...ภูเขา...สายน้ำ
ล้วนแล้วถูกมองว่าไม่มีความพอดี
ทั้งที่มันเป็นอยู่เช่นนี้มานมนาน
เป็นไปตามฤดูกาลของเวลา
เวียนวนมาเป็นวัฏจักร
...อนิจจา..ตามไม่พอดีในใจคน.....
 :054:แด่สายลม แสงแดด ภูเขาและสายน้ำที่สอนธรรม :054:
                     เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๕๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

563
 :059:๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕  ภูเก้ายอด  แม่ฮ่องสอน
     มันเป็นวิบากกรรมของชีวิต คิดจะหลีกเลี่ยงก็ไม่เป็นผล เหตุการณ์มันบังคับให้เราต้องกระทำ เพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์ต่อเพื่อนมนุษย์
พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ อำนาจของจิต พลังลึกลับของธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ควรศึกษาและเรียนรู้  แต่ไม่ควรเข้าไปยึดถือหรือเข้าไปหลงไหล
""รู้ เห็น เข้าใจ ทำได้ แต่ไม่ไปยึดติด ทุกสิ่งล้วนเป็นประสพการณ์ของชีวิต""เป็นกำไรของชีวิต พรสวรรค์หรืออุปนิสัย เป็นของที่ลอกเลียน
แบบกันไม่ได้ เกิดจากวาสนาและบารมีที่สั่งสมกันมา..
                              ศรัทธา-ปรารถนาดี
                              รวี สัจจะ-วจีพเนจร
 :059:๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖ หุบเขาสำนึกตน ถ้ำเสือ  กระบี่
   ตื่นเช้าขึ้นมา ทำกายทำจิต ทำชีวิตให้สดชื่น  รู้ตัว รู้ตื่น แช่มชื่น เบิกบาน เป็นการให้อาหารแก่จิต เพื่อชีวิตของวันใหม่ ด้วยการปรับกาย
ปรับใจให้โปร่งโล่งเบาสบาย คลายความรู้สึกแห่งการเก็บกด ความเกร็ง เพราะความตั้งใจที่มีมากเกินไป ประคองกาย ประคองจิต รู้เท่าทัน
ความคิด จิตปรุงแต่งทั้งหลาย...
                              เชื่อมั่น-ศรัทธา
                            รวี สัจจะ-วจีพเนจร
 :059:สำรวจตรวจดูความเรียบร้อยของเสนาสนะ ที่อยู่อาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ภายในสำนัก เพื่อความเป็นระเบียบและเหมาะสม ตามหน้าที่
ของผ้อยู่อาศัย และความเป็นผู้นำ สถานที่และบุคคลถือได้ว่าเป็นผู้มีอุปการะคุณ เป็นปัจจัยในการดำรงค์ชีพของเรา เราจึงต้องตอบแทนคุณ
สถานที่และบุคคลตามกำลังของเรา ตามหลักการดำเนินชีวิตของเรา ""มาแล้วให้เขาดีใจ อยู่อาศัยแล้วเขายินดี จากไปให้มีความคิดถึงกัน""
ให้ความรู้สึกที่ดีต่อกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เราพอใจในความบริสุทธิ์ใจของเรา ส่วนเขานั้นเราไม่อาจจะรู้ได้ เพราะจะให้เราไปตอบสนอง
ความต้องการของทุกคนนั้น มันเป็นไปไม่ได้ และมิใช่วิสัยของเรา...
             :016:แด่สรรพสิ่งรอบกายที่สอนให้เข้าใจธรรม :015:
                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๑๔ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
วันเดียวกัน เดือนเดียวกัน แต่คนละปีกัน ความรู้สึกที่มีจึงแตกต่างกัน ตามเหตุและปัจจัยที่เป็นไปในเวลานั้น การจดบันทึก มันจะทำให้เราได้รู้
ถึงความแปรเปลี่ยนไป ของยุคสมัย และจิตใจของเรา เมื่อเราได้กลับไปอ่านสิ่งที่เราได้บันทึกไว้ในเวลาที่ผ่านมา ว่าเราก้าวหน้า อยู่กับที่
หรือถดถอยในทางธรรมของเรา...
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

564
 :059:""~จงใช้เวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ มาเรียนรู้ชีวิตที่เป็นจริง...ทุกสิ่งที่ผ่านมา คือมายาของชีวิต ที่ลิขิตไปตามแรงแห่งตัณหา เป็นโลกมายาของกิเลส ""~พระไตรลักษณ์คิอความเป็นจริงของชีวิต ""
 :059:""~ทดลองการปฏิบัติมาทุกรูปแบบ ทุกสำนัก ในที่สุดก็กลับมาสู่ของเก่าดั้งเดิม ที่ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านได้ปฏิบัติมาโดยยึดเอาตามพระอรรถกถา ""วิสุทธิมรรค""เป็นบาทฐานในการปฏิบัติ
 :054:คำครูบาอาจารย์ที่ท่านกล่าวสอนไว้  ยังเตือนสติอยู่เสมอไปไม่เคยลืม คำนั้นคือ"ธรรมะทั้งหลายทั้งปวง คุณก็รู้และเข้าใจมาหมดแล้ว
ยังเหลือเพียงอย่างเดียว คือคุณยังไม่ได้ "" ทำ "" ถ้าคุณไม่ลงมือกระทำ คุณก็เหมือนใบลานเปล่า เป็นได้เพียง"นักประชาสัมพันธ์" หาใชผู้ปฏิบัติธรรมไม่" คำสอนนั้นยังฝังใจมาจนทุกวันนี้ แม้เวลาจะผ่านเกือบยี่สิบปี  คำสอนนี้ศิษย์ยังจำ และทำตาม...
 :059:สอนคนอื่นมามากแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องสอนตัวเราเองบ้าง คำพูด คำสอน มันย้อนกลับมาสู่ตัวเรา เราเป็นห่วงผู้อื่นจนเกินไป ทำให้ลืมดูตัวเราเอง มองแต่ข้างนอก มองแต่ข้างหน้า ลืมหันมาดูปัจจุบันที่เรากำลังเป็นอยู่ ..ดูหนัง ดูละคร แล้วจงย้อนมาดูตัวเรา
 :059:เจริญวิมังสาธรรม ทบทวนสภาวะของอารมณ์กรรมฐานแต่ละกองที่เคยปฏิบัติมา เรียบเรียงลำดับความจำ(สัญญา)บันทึกไว้ในสมองเสียใหม่ เพื่อไม่ให้สับสนกันในอารมณ์กรรมฐานแต่ละกอง เพราะต้องนำไปใช้ในการเผยแผ่ บรรยายธรรม หรือตอบคำถามในเวลาที่เพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมมาขอคำแนะนำ เพราะถ้าเราเกิดสับสนในสภาวะธรรมของอารมณ์กรรมฐานแต่ละกอง สลับกันไปไม่ตรงกับกรรมฐานที่เขาปฏิบัติ มันทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง แนะนำเขาในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง "มันจะเป็นบาปอย่างมหันต์ คล้ายกับเราไปปิดกั้น มรรคผลนิพพานของเขา" เราจึงต้องเตือนตัวเราอยู่เสมอว่า...ถ้าไม่ชัดเจนและแจ่มชัด อย่าได้ไปแนะนำสั่งสอนเขา  เพราะมันเป็นการสร้างเวรสร้างกรรมให้กับตัวเราและตัวเขา มันจะเป็นบาปอย่างมหันต์...
 :054:แด่สภาวะธรรมทั้งหลายที่ผ่านมา :054:
            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

565
 :059:บทกวีบทนี้เกิดจากแรงบันดาลใจ ที่ได้อ่านบทกวีของ " นิรนาม "ที่ท่านผู้การเสือได้นำมาลงไว้ในภาค๑๗(หลักธรรม) ซึ่งท่านได้ระบุไว้ว่าคงจะถูกใจข้าพเจ้าและมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ...ขอบคุณผู้การเสือเป็นอย่างมาก...และขออนุญาติท่าน "นิรนาม"ไว้ ณ. ที่นี้ด้วย ที่จะขอเขียนบทกวีต่อจากบทที่ท่านผู้การได้โพสมา
     :059:สักวันหนึ่ง... :059:
  สักวันหนึ่ง  คงถึง  ซึ่งความหวัง
สักวันหนึ่ง   คงเป็นดั่ง  ที่มุ่งหมาย
สักวันหนึ่ง  หากชีวิต   ไม่วางวาย
สักวันหนึ่ง ฝันจะกลาย  เป็นความจริง
  ดอกไม้งาม  น้ำใจ    ในหมู่มิตร
บานสะพรั่ง   ปลุกจิต   สรรพสิ่ง
ให้หมู่ชน    ทั้งหลาย   ได้แอบอิง
คนจังจริง     ชายหญิง  จะกลับมา
   แผ่นดินนี้    จะมีสุข   พ้นทุกข์เข็ญ
โลกร่มเย็น   ดั่งใจ      ที่ใฝ่หา
เพราะศีลธรรม   นั้นหวล  กลับคืนมา
ช่วยโลกา   พ้นวินาส     เพราะขาดธรรม
  คือ ความหวัง   ตั้งไว้   ในหนุ่มสาว
คือ เรื่องราว    ปลุกใจ    ไม่ใฝ่ต่ำ
คือ ความดี     ความชอบ  ประกอบกรรม
คือ แสงธรรม   ส่องสว่าง  ทางชีวี
  ฝาก หนุ่มสาว  ที่ใจ    นั้นใฝ่หา
ฝาก พระธรรม   นำพา   ให้สุขศรี
ฝาก พระสงฆ์    ทรงไว้   ซึ่งความดี
ฝาก ไมตรี       น้ำใจ     ไม่เสื่อมคลาย
  (สักวันหนึ่ง    ดอกไม้งาม   บานสะพรั่ง
สักวันหนึ่ง    คนจริงจัง    จะหลากหลาย
สักวันหนึ่ง    คนดีดี       ทั้งหญิงชาย
จะมีมา    มากมาย    ทั่วแผ่นดิน)
   บทกวี   นี้เป็นของ  " นิรนาม"
จึงเขียนตาม  เพราะชอบ  ในงานศิลป์
"ท่านผู้การ"  นำมา   ให้ยลยิน
ใช่หยามหมิ่น  ที่เขียนต่อ...ขออภัย...
   เพราะความคิด  จิตหมาย   นั้นคล้ายกัน
จึงสืบสาย  สานฝัน  อันยิ่งใหญ่
หวังเห็นโลก  สีทอง   ผ่องอำไพ
คุณธรรม   กลับมาใหญ่  ในแผ่นดิน...
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 :054:ขอมอบบทกวีนี้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแด่ผู้ใฝ่ในธรรมทั้งหลาย :054:
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๔.๕๖ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง  ชายแดนประเทศไทย

566
 :059:เนื้อเพลงของบทเพลงนี้ แต่งเมือปี พ.ศ.2525 แต่ได้นำมาขับร้องเป็นเพลงเปิดตัวของวงดนตรี วง"หญ้าคา"ซึ่งเป็นวงดนตรีที่เล่นแนวเพื่อชีวิตของชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท " ราม-ทักษิณ " ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ.2527 บนเวที ลาน ส.ว.ป. มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในงาน " เบิกฟ้าชนบทไทย " ซึ่งเป็นการจัดงานร่วมกันของ 5 ชมรมค่ายอาสาพัฒนา(เรียกย่อกันว่า 5 ค่าย)อันประกอบด้วย
000ชมรมค่ายอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหง(ค่ายใหญ่)ซึ่งจะออกไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมได้ทั่วประเทศแล้วแต่ความเหมาะสม
000ชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-ทักษิณ(ค่ายทักษิณ)ออกไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ภาคใต้
000ชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน(ค่ายอีสาน)ออกไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
000ชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-ล้านนา(ค่ายชาวเหนือ)ออกไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ภาคเหนือ
000ชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-ชาวเขา(ค่ายชาวเขา)ออกไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมบนพื้นที่สูงกับชนกลุ่มน้อยในภาคเหนือ
 :059:ซึ่งทุกชมรมจะไปออกค่ายอาสากันปีละ 2 ครั้ง หลังจากสอบเสร็จ และจะไปเยี่ยมค่ายกันอีกครั้งหลังสอบซัมเมอร์เสร็จ ซึ่งในรอบ 1 ปีนั้น ทั้ง 5 ค่ายจะได้มาจัดงานร่วมกันในมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะนำเสมอปัญหาที่ได้ไปพบมาในชนบททั่วประเทศไทย ให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้รับรู้ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกต่อสังคม ให้แก่นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจทั้งหลาย ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไทย
 :059:รูปแบบของการจัดงาน จะมีการแสดงของวงดนตรีเพื่อชีวิต...การเสวนาปัญหาสังคมไทย...การอภิปรายเหตุการทางการเมืองที่เป็นประเด็นร้อนในขณะนั้น...การแสดงพื้นบ้านของแต่ละภูมิภาค(ชาวบ้านจากชนบทเป็นผู้แสดง)...การแสดงของนักศึกษาสมาชิกของแต่ละค่าย..
การออกร้านขายสินค้าที่นำมาจากชนบท(เพื่อให้ชาวบ้านได้มีรายได้) การจัดนิทัศน์การแสดงผลงานที่แต่ละค่ายได้ไปทำมา  ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดกัน 3 วัน 3 คืน โดยจะเริ่มการแสดงบนเวทีในเวลาประมาณ 15.30 น. หลังนักศึกษาเลิกเรียน และจะไปหยุดการแสดงบนเวทีในเวลาประมาณ 22.00 น. (บางครั้งถ้าติดลมก็จะมีแถมยาวไปถึงเที่ยงคืน)
 :059:ฉะนั้นทุกชมรมค่ายอาสาพัฒนาจึงจำเป็นต้องมี วงดนตรีประจำชมรม อย่างน้อยชมรมละ 1 วง ( วงโคบาล..วงฟ้าสาง..วงอัศเจรีย์..วงสามประสาน...วงหญ้าคา..ฯลฯ ) และทุกวงต้องแต่งเองร้องเองกัน จึงต้องมีนักแต่งเพลงประจำชมรมกันทุกชมรม และข้าพเจ้าก็เป็นคนหนึ่งในนักแต่งเพลงของชมรมในสมัยนั้น....และเมื่อได้กลับไปงานชุมนุมศิษย์เก่า ได้พบเจอกับเพื่อนเก่าๆที่เคยใช้ชีวิตร่วมกันในรั้วมหาวิทยาลัย ได้คุยกันถึงเรื่องราวเก่าๆในอดีต...จึงเป็นที่มาของ  :059:บทเพลงที่คุณขอมา :059: เพื่อที่จะนำไปขับร้องและเล่นกันในงานพบปะชุมนุมศิษย์เก่าในครั้งต่อๆไป...นี่คือที่มาของ  :054:บทเพลงที่คุณขอมา :054:
      :016:โลกเสรี :015:
   อยู่ อยู่ในโลกเสรี   อุดมดี ไปด้วยข้าวปลา
เรา เราจงช่วยพัฒนา  เพื่อตรา แผ่นดินสีทอง
อย่า อย่าให้ใครเข้าครอง  เราพี่น้อง ต้องช่วยรักษา
  แผ่นดิน ทั่วถิ่นไทย  อธิปไตย เราสมบูรณ์
พวกเรา หากสามัคคี  คงจะไม่มี ใครกล้ามารุกราน
  มอง มองดูข้าวในนา  สุขอุรา ข้าวกล้าเขียวขจี
ความ ความทุกข์ใดไม่มี  โลกเสรี ชีวีสุขสรรค์
  มา มาเถิดมาร่วมกัน   สร้างสรรค์ เพื่อโลกเสรี...
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 :059:อยากจะให้ทุกคนรักใคร่สามัคคีกัน
และช่วยกันสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีงาม
เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและสังคม :059:
 :016:ประสานมือ ประสานใจ ก้าวเดินไปร่วมกัน "ศิษย์วัดบางพระ" :015:
                         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                     รวี สัจจะ-วจีพเนจร-สมณะไร้นาม
๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๒๑.๒๑ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย.

567
 :059:เนื้อเพลงบทนี้ได้แต่งขึ้นเมื่อปี 2530 ให้เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง ซึ่งมาจากปักษ์ใต้ มาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เรียนไม่จบภายในเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ลืมเรื่องการศึกษา จนทำให้เรียนไม่จบ และได้มาขออาศัยอยู่ด้วยเพื่อจะหางานทำ เพราะไม่กล้าที่จะกลับไปบ้านที่ปักษ์ใต้  กลัวพ่อแม่เสียใจและอายเพื่อนบ้าน จึงหางานทำและตั้งใจจะเรียนต่อให้สำเร็จ ซึ่งได้พูดปลอบใจและให้กำลังใจข้อคิดแก่เขา...ซึ่งเขาได้เข้าใจและนำไปปฏิบัติ...สองปีต่อมาเขาได้จบการศึกษาตามที่มุ่งหวังไว้
และปัจุบันเขาได้เป็นข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่...ขอเป็นกำลังใจให้แก่ท่านผู้นั้น...คิดถึงเขาจึงหยิบเอาบทเพลงนี้มาแก้ไขปรับปรุงใหม่เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและเพื่อเตือนใจแก่คนรุ่นหลังที่กำลังศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยทุกท่าน
      :059:ขายวัวให้ควายเรียน 2009 :059:
         ทำนองบทเพลงปักษ์ใต้(หักคอไอ้เท่ง)
๐๐๐ไข่นุ้ยเรียนจบมอหก   พ่อแม่วิตกว่าจะเรียนไหรดี
เงินทองก็ไม่ค่อยมี(ซ้ำ)    จะยืมโก้ลีก็ดอกเบี้ยแพง
๐๐๐ตัดใจขายวัวหนึ่งคู่      เพื่อส่งไอ้หนูให้มันเรียนราม
ไปเรียนตั้งแต่ปีสองสาม(ซ้ำ) พักอยู่หน้ารามกับลูกโก้ลี
๐๐๐มันอยากจะเป็นทนาย   พ่อแม่ขวนขวายขายวัวให้เรียน
ขอเงินไปลงทะเบียน(ซ้ำ)   พ่อแม่พากเพียรขายวัวเอาเงิน
๐๐๐เรียนรามมาตั้งหลายปี   ไม่มีแวววี่ว่าจะจบเลย
พ่อถามมันก็ทำเฉย(ซ้ำ)      ไม่เคยบอกเลยว่าจะจบเมื่อใด
๐๐๐ขายวัวไปจนหมดคอก    เพราะถูกมันหลอกว่าจะใกล้จบ
เรียนไปจนใกล้จะครบ(ซ้ำ)   แปดปีไม่จบ...ขายวัวให้ควายเรียน
..............................................................................
แม้จะจบการศึกษาช้ากว่าคนอื่น...แตสิ่งที่ได้มาคือประสพการณ์ชีวิต..
ซึ่งเปรียบได้กับปริญญาชีวิตอีกหนึ่งใบ...และสิ่งที่ได้คืออีกอย่างก็คือหมู่มิตร
ใบปริญญาจึงไม่ใช่ที่สุดของชีวิต...แต่มันอยู่ที่แนวความคิดและการนำมาปรับใช้
ในการทำงาน การอยู่ร่วมในสังคมในโลกแห่งความเป็นจริง....
...............................................................................................
 :059:เชื่อมั่นและศรัทธาในความเพียรพยายาม :059:
 :016: แด่เพื่อนพ้องและน้องพี่ที่เคยใช้ชีวิตร่วมกันมา :015:
                  รวี สัจจะ-วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๒๐ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
 

568
 :059:วันเวลาผ่านไป รู้สึกธรรมดากับวันเวลา เพราะว่าใจไม่ได้มีความกังวล มันจึงเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเมื่อก่อนนั้นเรายังทำใจไม่ได้ ไม่เข้าใจไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ พอเข้าฤดูพรรษาใจเรามันรุ่มร้อน วุ่นวาย มีความกังวลต่อวันเวลา อยากจะให้ถึงวันออกพรรษาเร็วๆ เพื่อจะได้เดินทางท่องเที่ยวเปลี่ยนสถานที่ นั่งนับวัน นับเดือน ดูปฏิทินทุกวัน...แต่เมื่อรู้และเข้าใจ ความรู้สึกเช่นนั้นก็หายไป ใจสบายไม่รุ่มร้อน ไม่กังวล
 :059:มีบ้างในบางครั้งที่จิตเกิดปลิโพธต่อหมู่คณะ ต่อการงาน ต่อการเดินทาง แต่ว่าเราตัดได้เร็วขึ้น เพราะจิตได้ผ่านการอบรม ควบคุมได้มากขึ้น ทำให้รู้หน้าที่และเวลาว่าควรจะทำอะไร คิดอะไรในตอนนี้ เพราะว่าคิดปรุงแต่งไปก็ทำไม่ได้ในตอนนี้ จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่ และบุคคลมันยังไม่พร้อม เพราะว่าไม่ใช่เวลา โอกาศ จังหวะ สถานที่ และบุคคลที่เหมาะสมของมัน
 :059:ถามตัวเองอยู่เสมอว่า...วันเวลาผ่านไป...เราได้อะไรจากวันเวลาและคุ้มค่ากับวันเวลาที่ผ่านไปหรือไม่...เพื่อไม่ให้เราหลงไปกับวัยและเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ และจะได้รีบเร่งสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิต...แม้เพียงน้อยนิดก็ยังดีกว่าที่จะไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้มุ่งหวังว่าต้องเป็นชาตินี้หรือชาติหน้า เพียงแต่ตั้งใจไว้ว่า...ทำต่อไปเรื่อยๆ...ถึงเมื่อไหร่ก็ไปเมื่อนั้น...จะไม่สร้างความกดดันให้กับตัวเอง...เพราะจะทำให้เกิดอาการเกร็ง แล้วเข้าไปเคร่ง ซึ่งมันจะทำให้เครียด
 :054:" อนากุลา จ กมฺมนฺตา เอตมฺมํ คลมุตฺตมํ "การทำงานไม่คั่งค้างเป็นมงคลอันประเสริฐ...เพราะทำให้เราตัดกัมมะปลิโพธออกไปได้..ถ้าการงานที่เราทำนั้นยังทำไม่เสร็จ...มันทำให้ค้างคาใจอดคิดถึงมันไม่ได้ และเมื่องานนั้นเสร็จสำเร็จไปแล้ว...ปิติมันก็จะเกิดทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้น....พยายามทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง...อย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านสอนและท่านทำ...
 :016:แด่วันเวลาที่ผ่านไปและชีวิตที่เหลืออยู่ :015:
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๕.๑๐ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

569
บทความ บทกวี / คนโดนของ..?
« เมื่อ: 14 ก.ค. 2552, 04:55:34 »
 :059:ความเชื่อของคนริมสองฝั่งโขงที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ(ในสังคมชนบท) ก็คือเรื่องไสยศาสตร์ สิ่งลี้ลับ  จิตวิญญาน และเมื่อมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบายขึ้นมา เขาจะมองไปที่สิ่งลี้ลับ เป็นอันดับแรก ก่อนที่จะไปหาแพทย์สมัยใหม่ จะไปหาหมอจ้ำ ร่างทรง หรือไปหาพระเพื่อช่วยรักษา ถ้าไม่หายเขาจึงจะไปโรงพยาบาล ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความไม่สะดวกและขั้นตอนที่ยุ่งยากของสถานพยาบาล และการสื่อสารของแพทย์และพยาบาลกับคนไข้ ทำให้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆแล้ว เขาจะไม่ไปโรงพยาบาล หมอบ้าน ตำหนักทรง พระ จึงเป็นแพทย์ทางเลือกไปโดยปริยาย คิดอะไรไม่ออกก็โทษ "ปอบ โทษเจ้าที่ โทษผี โทษคุณไสย์"ไปก่อน มันจึงเดือดร้อนถึงพระ ที่ต้องรับภาระเป็นหมอโดยความจำเป็น
 :059:อย่างเช่นเมื่อเช้านี้ มีพระคุณเจ้านำญาติโยมมาหา ขอให้ช่วยรักษา "คนโดนของ " เป็นเด็กสาวอายุประมาณ 17-18 ปี ซึ่งมีอาการเซื่องซึม เหม่อลอย ใจสั่น กินข้าวไม่ค่อยจะได้ ออกไปดำนาโดนมดกัดสลบ ไปฟื้นที่โรงพยาบาล ซึ่งผิดปกติไปจากที่เคยเป็น และแพทย์ก็บอกว่าไม่มีโรคอะไร นี่คือข้อมูลที่ทางญาติของเด็กสาวให้มา และทางญาติของเด็กปักใจเชื่อว่า ต้องโดนคุณไสย์หรือวิญญานร้ายรบกวนเป็นแน่แท้  จึงนำมาหาพระให้ช่วยแก้ไข
 :059:จึงได้วิเคราะห์วินิจฉัยโรค ทั้งทางนอกและทางใน โดนอาศัยประสพการณ์ที่ผ่านมา หาเหตุและที่มาของอาการที่เกิดขึ้นนั้นว่ามันมาจากไหน จึงได้รู้และเข้าใจ จึงได้ทำพิธีรักษาไปตามที่ญาติเขาต้องการ ตามลำดับและขั้นตอน ให้พรกรวดน้ำเสร็จ จึงขอให้ญาติเขาออกไปก่อน จะขอคุยเป็นการส่วนตัวกับเด็กสาวสัก5นาที ให้ญาติไปรอที่นอกห้อง แล้วปิดประตูกระจก ซึ่งสามรถมองเห็นได้ แต่ไม่สามารถที่จะได้ยินสิ่งที่พูดคุยกัน และเมื่อญาติพี่น้องของเด็กสาวออกไป จึงได้สนทนากัน
 :059:บทสรุปแห่งการสนทนา " กลางคืนเอ็งหลับเอ็งนอนเสียบ้าง...อย่าคุยโทรศัพท์กับผู้บ่าวจนดึกเกินไป...คุยได้หลวงลุงไม่ว่า..แต่อย่าให้เกินเที่ยงคืน...เอ็งนอนตีสองตีสาม...แล้วต้องตื่นมานึ่งข้าวตอนตีห้า...อดหลับอดนอนคุยกับผู้บ่าวจนเพลิน..ร่างกายไม่ได้พักผ่อน...เวลาเอ็งออกไปดำนาอากาศมันร้อน...เอ็งเลยเป็นลม...กลางวันเอ็งเลยง่วง...อยากจะนอน..กินอะไรไม่ได้..ถ้าเอ็งไม่เชื่อหลวงลุงและทำตามที่หลวงลุงบอก...หลวงลุงจะบอกเรื่องที่เอ็งแอบคุยกับผู้ชายตอนกลางคืนให้แม่เอ็งรู้...แล้วเอ็งจะถูกแม่เอ็งด่า..แม่เอ็งตี...ชาวบ้านเขาจะรู้เรื่องนี้..แล้วเอ็งจะโดนตนนินทาเสียๆหายๆ...เอ็งไม่อายชาวบ้านรึ...เอ็งรับปากหลวงลุงแล้วนะ...งั้นสาบานต่อหน้าพระ...เอ้าโยมเข้ามาได้แล้วอาตมาไล่ผี..ถอนของให้หมดแล้ว..อีก2-3วันรับรองหาย...โยมไม่ต้องตกใจ..อย่าไปกวนมันมากนัก..ปล่อยให้มันพักเสียบ้าง..
 :016:รู้เขารู้เรา..รบร้อยครั้ง..ชนะร้อยครั้ง :015:
                เชื่อมั่นในเรื่องจิตวิทยา
                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๖.๕๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง  ชายแดนประเทศไทย

570
 :059:เมื่อวานแต่งเนื้อเพลง"แทนความห่วงใจ"จากความรู้สึกของผู้หญิงคนหนึ่ง  ที่มีต่อคนรัก ที่อยู่ไกลกัน...ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความน้อยใจในหมู่ผู้ชายทั้งหลาย จึงได้แต่งเนื้อเพลง"ใจคนึงหา" มาแทนความรู้สึกของผู้ชายทั้งหลาย ที่ต้องจากมาไกลจากคนที่รัก  เป็นเพลงที่ต้องการสื่อให้เห็นถึงความไว้วางใจในกันและกัน และความซื่อสัตย์ต่อกัน ซึ่งเป็นความรู้สึกภายในที่ไม่ได้แสดงออกมา
         :090:ใจคนึงหา :090:
 :059:ได้ฟังเพลง   ถ้อยคำ   ลำนำรัก
ได้ประจักษ์    ถึงใจ    ที่ใฝ่หา
ของคนที่    อยู่หลัง    และตั้งตา
รอเวลา     พี่กลับ      นับวันคอย
   ถึงตัวไกล  แต่ใจ    นั้นห่วงหา
เจ้ากานดา    จงรอ     อย่าท้อถอย
คำสัญญา     ให้ไว้     ไม่เลื่อนลอย
พี่ไม่ปล่อย    ให้เธอ    เก้อลำพัง
   ฝากดาวเดือน    บนฟ้า   มากล่อมฝัน
มาร่วมกัน   สรรค์สร้าง    ทางที่หวัง
อย่าน้อยใจ   เถิดหนา   อย่าชิงชัง
จะคืนรัง      กลับมา    หาบังอร
   ยามห่างไกล  ใจเธอ  อย่าร่ำไห้
เมื่อฝันไป    ยามตื่น    ให้พลิกหมอน
โอ้กานดา    น้องจ๋า     อย่าอาวรณ์
จงหลับนอน   เถิดหนา  นะพุ่มพวง
  ฝากสายลม  ลอยไป   จากใจพี่
น้องคนดี    รู้ไหม     พี่นั้นหวง
พี่ไม่เคย   แปรจิต     ไม่คิดลวง
พี่ยังห่วง   หวงเธอ    เสมอมา....
___________________________________________________________________________________
 :090:ขอมอบบทเพลงนี้แทนใจผู้ชายทั้งหลาย ที่ไปทำงานไกลจากถิ่นฐาน  และมีคนที่บ้านกำลังรอ :090:
                                   จงเชื่อมั่น มั่นคง และซื่อสัตย์ในความรักที่มีต่อกัน
                                                บทเพลงนั้นขอเป็นกำลังใจ
                                                    รวี สัจจะ-วจีพเนจร
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๒๑ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง  ชายแดนประเทศไทย
___________________________________________________________________________________

571
 :054:เวรกรรมมีจริงไม่ต้องรอชาติหน้าเห็นผลได้ในชาตินี้ เราทำกรรมอะไรไว้ มันจะส่งผลให้ไม่ช้าก็เร็ว ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ซึ่งเราต้องเตรียมตัวเตรียมใจ อย่าหวั่นไหวและตื่นตกใจ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ให้มันเป็นไปตามกรรมที่เราได้ทำมา
 :059:ธรรมะที่ว่าเป็นของยากนั้น เกิดจากกิเลสของเราที่ส้งสมมายาวนาน มันมีกำลังมาก พยายามปฏิเสธความเป็นจริงของธรรมชาติ ที่หลอกล่อให้สนองตอบกิเลสตัณหา ซึ่งเป็นโลกียสุขในโลกธรรม
 :060:นิวรณ์5 เครื่องขวางกั้นความเจริญในธรรม กามฉันทะ ความพึงพอใจใน รูป รส กลิ่น เสียง การสัมผัส ธัมมารมณ์ ที่เป็นความใคร่ความพึงพอใจ อย่างหยาบ ปานกลางและประณีต ซึ่งเมื่อเราพิจารณาในนิวรณบรรพแล้ว มันช่างมีมากมายเหลือเกิน ซึ่งเมื่อก่อนนั้นเราคิดไปเองว่า ฆ่านิวรณ์ได้แล้ว แต่ความจริงมันยังไม่หมด
 :059:ความวุ่นวายเราไม่ต้องออกไปแสวงหา เดี๋ยวมันก็จะมาหาเราเอง ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เราไปถึงไหนมันก็ตามเราไปถึงนั่น หน้าที่ของเราคือการเตรียมตัวเตรียมกายเตรียมใจ รับกับปัญหาที่มันจะมาทุกขณะ ทุกเวลา โดยการยึดหลักธรรมะเป็นเครื่องอยู่
 :054:แด่ความวุ่นวายที่จะมาเยือน :054
          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๕.๐๗ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

572
 :053:รู้เท่าทันการเกิดดับของสรรพสิ่งรอบกายมากขึ้น  เห็นทุกข์เห็นภัยเห็นโทษ ของการเกิดดับมากขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจน ยังมีความพึงพอใจในอารมณ์บางอย่างอยู่ ยังไม่ยอมรับความจริงของธรรมชาติในบางอย่าง
 :060:ยกจิตขึ้นมาพิจารณาธรรมในมหาสติปัฏฐานมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเมื่อก่อนนั้นเราพิจารณากายเสียเป็นส่วนใหญ่ การพิจารณาเรื่อง เวทนาความรู้สึก จิตความคิดนึก ธรรมะสภาวะของกายและจิต เมื่อมาได้คิดพิจารณาทำให้เกิดปัญญาเพิ่มขึ้น
 :060:เย็นสบายเพราะกายระงับ จิตพิจารณาธรรม ทำความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้อง เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ของกามตัณหาชัดเจนขึ้น หลังจากเห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง พระไตรลักษณ์ก็ปรากฏขึ้นในจิต
 :059:ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้มากยิ่งขึ้น เป็นอานิสงค์ของการมีสติในฐานเวทนา ที่ได้กระทำมา พร้อมทั้งฐานจิตด้วย เห็นการพัฒนาทางจิต...ความรู้สึกนึกคิดจิตสำนึกแห่งคุณธรรมเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความศรัทธาปสาทะในการปฏิบัติเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่...ทุกอย่างเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ...เห็นได้ด้วยตนเองความเป็นปัจจัตตัง...รู้ได้เฉพาะตน...
 :054:แด่การประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า :059:
                                   เชื่อมั่นและศรัทธาในหลักธรรม
                                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๔๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง  ชายแดนประเทศไทย

573
 :090:เนื้อเพลงบทนี้แต่งให้แก่ผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งสามีของเธอได้เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ เธอมีความคิดถึงสามีของเธอเป็นอย่างมาก
จนเป็นความทุกข์ใจ กลัวว่าสามีจะไปมีแฟนใหม่ในต่างแดน จนเกิดอาการเครียด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ คิดไปต่างต่างนานา อยากจะให้สามีเธอกลับมาเมืองไทย แต่ติดที่เงื่อนไขสัญญาที่ทำไว้กับบริษัท ไม่สามารถที่จะกลับมาก่อนกำหนดได้  ญาติของเธอจึงได้พามาหาพระอาจารย์
โดยคิดแบบคนพื้นบ้าน ว่าโดนของ โดนคุณไสย์ จึงพามาให้พระรักษา  แต่จากการที่ได้สนทนาโดยใช้หลักจิตวิทยาอย่างสูง จึงได้รู้ถึงเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะเกิดจากคนรอบข้างที่ไม่หวังดี(ชอบเห็นความขัดแย้ง ทะเลาะวิวาท ความฉิบหายของผู้อื่นเป็นเรื่องสนุก มันในอารมณ์)
มาพูดให้เธอเกิดความหวาดระแวง แคลงใจในสามีของเธอ อยู่บ่อยๆ จนทำให้ธอคล้อยตามไป  คิดว่าเรื่องที่เขามาพูดให้ฟังนั้น มันเป็นเรื่องจริง จนเป็นการย้ำทำย้ำคิด   จิตหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา (อาการใกล้จะเป็นโรคประสาท)  จึงต้องใช้หลักธรรมะเข้ามาประยุกค์ใช้  ในการพูดคุยทำความเข้าใจ อธิบายให้เธอเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ว่ามันมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร จนเธอเข้าใจในปัญหาของชีวิตที่เป็นอยู่ คลายความกังวลใจลงไปได้  ช่วยให้เธอสบายใจขึ้น....จึงได้เป็นที่มาของบทเพลง...เพลงนี้...แทนความห่วงใย...
                   :090:แทนความห่วงใย :090:
   ขอเรียงร้อย  ถ้อยคำ  ลำนำรัก
เพลงนี้จัก   แทนใจ   ส่งไปหา
ให้ถึงคน    อยู่ไกล   ใช่ร้างลา
ตัวขวัญตา  อยู่หลัง   นั้นยังคอย
  เธออยู่หน  แห่งใด  ใจห่วงหา
โปรดเมตตา  คนรอ   ท้อถดถอย
คำสัญญา   จากใจ    ใช่เลื่อนลอย
จงอย่าปล่อย  ให้เพ้อ  เก้อลำพัง
   ขอฝากเพลง   ลอยลม  ช่วยห่มขวัญ
จากคืนวัน   ฝันสวย    ด้วยความหวัง
ขอวอนพี่    เมตตา    อย่าชิงชัง
จงคืนรัง     เถิดหนา    น้องอาวรณ์
   เมื่อยามไกล  ไหวหวั่น  ไม่กลั้นได้
หยดน้ำตา   รินใหล   ลงเปื้อนหมอน
ทุกเช้าค่ำ   ร่ำไห้    ใจรอนรอน
จะกินนอน   ร้อนรุ่ม   ไฟสุมทรวง
   ขอฝากเพลง  ผ่านฟ้า   ไปหาพี่
โอ้คนดี   อยู่ไหน  รู้ไหมหวง
บทเพลงเอย  จงดลจิต   อย่าคิดลวง
เพราะพุ่มพวง รอพี่   นี้คนเดียว....
___________________________________________________________________________________
 :059:บทเพลงนี้แต่งให้เพื่อเป็นกำลังใจผู้หญิงที่อยู่ห่างไกลกับคนที่รัก แทนความรู้สึกของเธอทั้งหลาย :059:
                                             ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต   
                                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๐๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง   ชายแดนประเทศไทย
___________________________________________________________________________________

574
 :059:วิเวกกาย   จากหมู่   สู่สงบ
จึงได้พบ   วิเวกจิต   นิมิตรใหม่
สงบจิต   สงบกาย    อยู่ภายใน
เฝ้าดูใจ   ภาวนา     หาแก่นธรรม
    นิ่งแล้วดู   รู้เห็น  จึงเด่นชัด
และคอยตัด   อบาย  ไม่กรายกล้ำ
ให้เป็นไป    ตามหน  ผลแห่งกรรม
สิ่งที่ทำ     นั้นชอบ    ประกอบการ
    ผ่านวิตก  วิจารน์    การครวญคิด
แล้วดวงจิด  เกิดปิติ    ให้อาจหาญ
เข้าสู่สุข    ต่อไป    ไม่ช้านาน
จิตก็ผ่าน    สู่สงบ   พบหนทาง
    เห็นแสงทอง   แสงธรรม   นำชีวิต
เห็นถูกผิด    จิตนั้น    พลันเปิดกว้าง
รู้จักการ     ปล่อยปละ  และละวาง
จิตออกห่าง   จากอบาย  คลายกังวล
    อวิชา    มืดมิด    เคยผิดพลาด
ก็สามารถ   รู้ได้   โดยเหตุผล
เห็นอัตตา    ความยึดถือ    ในตัวตน
เห็นมรรคผล   ต้นแสง    แห่งพระธรรม
    พบหนทาง  สร้างจิต   ชีวิตใหม่
ที่จะให้  ชีวิตนี้   ไม่ตกต่ำ
เป็นหนทาง   ที่ชอบ  ประกอบกรรม
แล้วน้อมนำ ปฏิบัติ   เพื่อขัดเกลา
    ขัดเกลาจิต   และกาย   ให้สดใส
ขัดเกลาใจ    มิให้   ไปโง่เขลา
สำรวมจิต    สำรวมกาย   ในตัวเรา
นำจิตเข้า  สู่ธรรม    ดำรงค์ตน
   มีมรรคแปด   เป็นแนวทาง   ที่ย่างก้าว
เพื่อสืบสาว    ให้เห็น   เป็นเหตุผล
วิริยะ   พากเพียร    บำเพ็ญตน
ด้วยหวังความ  หลุดพ้น "พระนิพพาน".....
 :054:แด่แสงสีทองที่ส่องขอบฟ้าเวลาเช้า...ที่ทำให้เข้าใจธรรม :054:
           เชื่อมั่นและศรัททธาในหลักธรรมคำสอนของพระศาสดา
                     จะน้อมนำมาปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๒ กรกฏาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๐๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง  ชายแดนประเทศไทย



     

575
 :054:ได้รู้ ได้เห็นและเข้าใจ มันทำให้ปิติเกิด รู้สึกสดชื่น แจ่มใส ใจเบิกบาน เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่ามัน อิ่มอก อิ่มใจ แต่อยู่ได้ไม่นาน
มันก็ดับไป แต่พอเรารู้ใหม่เห็นใหม่ เข้าใจในสิ่งใหม่ มันก็ดีใจแจ่มใสสดชื่นใหม่อีกครั้ง เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้กฏของธรรมชาติ คือมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และย่อมดับไปในที่สุด ถ้าเราเข้าไปยึดถือ เข้าไปแสดงความเป็นเจ้าของในอารมณ์นั้นแล้ว
มันจะทำให้เราทุกข์ เมื่อมันเสื่อมไปหรือดับไป แต่ถ้าเรารู้เท่าทันในอารมณ์เหล่านั้น เราก็จะทำใจได้ ไม่ไปยึดติดกับมัน แต่บางครั้งก็ทำได้ยากเพราะมันมีเหยื่อล่อให้ใจเราไปรักไปชอบไปเพลินกับอารมณ์เหล่านั้น
 :059:"รู้ไปหมด...แต่อดไม่ได้" เป็นเพราะความเคยชินที่มีมา ต้องพยายามแก้ไขพฤติกรรมทางความคิดเสียใหม่ ค่อยๆคิดค่อยๆทำ สั่งสมประสพการณ์ทางจิต ทางความคิด สร้างความเคยชินให้เป็นนิสัย เปิดมุมมองของจิตให้เปิดกว้าง และต้องพยายามกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ
จนกลายเป็นพฤติกรรมปกติของจิต ในการคิด การทำและการพูด
 :069:ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ยากเกินความพยายาม ถ้าเรามีความตั้งใจจริง เราต้องทำให้จริงไม่ทอดทิ้งธุระ ต้องเอาชนะความเกียจคร้าน ความท้อแท้ท้อถอย และความยากลำบาก อุปสรรคและปัญหามีไว้ให้แก้ไข ไม่ใช่มีไว้เพื่อท้อถอย ต้องตั้งใจจริง แล้วความสำเร็จจะไม่ไกลเกินความพยายาม "จงปลุกปลอบใจตัวเองอยู่เสมอว่า...เสียอะไรก็ได้...แต่อย่าให้ใจเสีย"
 :054:แด่สภาวะธรรมทั้งหลายที่สอนให้เข้าใจธรรม :054:
              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๐๗ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

576
 :059:งานที่ใช้กำลัง...ถ้าเราไม่ระวังสำรวมสติ...จิตจะหยาบ :059:
      ในการทำงานที่ต้องใช้แรงงานนั้น มันย่อมมีผลต่อร่างกายและจิตใจ และต้องใช้ความอดทนที่สูงมาก  และถ้าขาดสติตามรู้ตามเห็นไม่ทันกิเลสนั้นจะแสดงออกมา (ความเอาแต่ใจตัวเอง ความเห็นแก่ตัว ความน้อยใจ ความเสียใจ ความมักง่าย ความขี้เกียจ ความโกรธ)จะปรากฏขึ้น
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกิเลสมันถูกเผาให้เร้าร้อน  มันถูกกระตุ้นด้วย ความเหนื่อย ความร้อน ความหิวกระหาย ความที่ไม่ได้ตามที่ใจปรารถนา
      การทำงานก็คือการสอบอารมณ์ของเรา เพราะเราต้องเผชิญกับตามเป็นจริงและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น มันคือชีวิตจริงสิ่ที่เราต้องประสพพบอยู่ทุกวันในการดำเนินชีวิตของเรา ขณะที่เรานั่งสมาธิภาวนานั้น มันไม่มีผัสสะของจริงมากระทบ เราอยู่กับความสงบ กิเลสมันถุกกดทับด้วยอารมณ์สมาธิ มันจึงมองไม่เห็นกิเลส และอาจจะหลงคิดไปว่าไม่มีกิเลสแล้ว  อารมณ์ในสมาธินั้นมันเป็นโลกส่วนตัวของเรา  เฉพาะตัวเรา
แต่เมื่อเราออกจากอารมณ์สมาธิแล้ว  กลับมาสู่ความเป็นจริง คือปัจจุบันธรรมสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งมันมีทั้งแรงดูดและแรงต้านให้เราคล้อยตามหรือปฏิเสธ ถ้าสติและสัมปชัญญะมีกำลังอ่อน เราก็จะถูกกิเลสเข้าครอบงำ คล้อยตามกิเลสที่กิดขึ้น แต่ถ้ากำลังของสติสัมปชัญญะ
มีความสมบูรณ์ เราจะรู้เท่าทันกิเลสนั้น และจะปฏิเสธไม่คล้อยตามมัน
     "ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต" เราต้องรู้จักตัวเรา เพราะไม่มีใครจะรู้เหตุและผลของตัวเราเท่ากับตัวเรา เราเองต้องเป็นผู้สอบอารมณ์ของตัวเรา
ไม่ต้องให้ใครเขามาสอบอารมณ์ของตัวเรา  "จงรู้จักกาย รู้จักจิต รู้จักความคิด และรู้ในสิ่งที่กระทำ" เราจึงจะไม่หลงทาง หลงตัวเอง หลงกิเลส
และการสอบอารมณ์ที่ดีที่สุดก็คือการทำงาน ที่ใช้กำลังแรงงานร่วมกับผู้อื่น เพราะเราจะได้เจอผัสสะ(สิ่งที่มากระทบ)ทั้งภายนอกและภายใน
เราจะได้เห็นความหวั่นไหวและความสงบนิ่งของเรา ซึ่งมันคือของจริง คือสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ แล้วเราจะได้รู้ว่าการปฏิบัติธรรมของเรานั้นมันก้าวหน้าไปถึงไหน(รู้ได้เมื่อภัยมา)(ปัญหาไม่มา ปัญญาไม่มี บารมีไม่เกิด)ไม่ใช่นั่งคิดนั่งฝันว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ มันต้องมีของจริงมาพิสูจน์ มาทดสอบอารมณ์ของเรา.....
 :054:แด่การทำงานที่สอนให้เข้าใจถึงการปฏิบัติธรรม :054:
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ในหลักธรรม
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๑.๐๑ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

577
บทความ บทกวี / ฝนพรำยามค่ำคืน...
« เมื่อ: 10 ก.ค. 2552, 11:51:19 »
 :059:พระพิรุณ พรั่งพรู ลงสู่พื้น...
ในค่ำคืน เดือนแรม ไม่แจ่มใส
เดือนและดาว บนฟ้า มาลาไป
ท้องฟ้าไร้ ซึ่งแสง แห่งดวงดาว
 :016:เสียงสายฝน หล่นประสาน เป็นงานศิลป์
กลิ่นไอดิน ฟุ้งกระจาย  ให้คลายหนาว
มีสายลม  พัดผ่าน  เป็นครั้งคราว
คือเรื่องราว  ฝนพรำ  ยามค่ำคืน
 :054:ฟ้าหลังฝน  สดใส  ให้กระจ่าง
ฟ้าสว่าง  พาใจ ให้สดชื่น
ช่วยปลุกใจ  มิให้หลับ  กลับมาตื่น
และพลิกฟื้น  หัวใจ  ให้ใฝ่ธรรม
 :059:กายวิเวก  จิตวิเวก  ปัจเจกจิต
ใคร่ครวญคิด  มิให้  ใจตกต่ำ
ละอัตตา  ตัณหา  ที่ครอบงำ
ยกข้อธรรม มาพินิจ  คิดใคร่ครวญ
 :059:"สังคห-วัตถุ๔" มีเนื้อหา
จะนำพา  สังคม ให้สมส่วน
ให้สังคม  มีความรัก  และชักชวน
สู่กระบวน  พัฒนา  มารวมกัน
 :059:หนึ่งคือทาน  การให้  ใจเอื้อเฟื้อ
และช่วยเหลือ  เผื่อแผ่ ความสุขสรรค์
เสียสละ  ส่วนตน  ไปแบ่งปัน
ช่วยเหลือกัน  ตามกำลัง   ในครั้งคราว
 :059:สองนั้นหรือ  คือวาจา  ที่อ่อนหวาน
คำกล่าวขาน  สุภาพ  ไม่สามหาว
เอา"ปิย-วาจา" มาเป็นกาว
เชื่อมรอยร้าว   ในมิตร  ให้ชิดกัน
 :060:สามขวนขวาย  ในงาน  การกุศล
บำเพ็ญตน  ด้วยจิต  คิดสร้างสรรค์
คือ"อัตถ-จริยา" สายสัมพันธ์
ร่วมใจกัน  ทำประโยชน์  เพื่อแผ่นดิน
 :016:ต้องวางตัว ให้เหมาะสม  กับโอกาศ
อย่าพลั้งพลาด  ให้คน  เขาติฉิน
เสมอต้น  เสมอปลาย  ไร้มลทิน
เป็นอาจินต์  เรียกว่า"สมานัตตา"
 :090:ธรรมเป็นเครื่อง  ยึดเหนี่ยว  เกี่ยวใจไว้
ให้เกิดความ  รักใคร่  และห่วงหา
ประสานชน  ประสานใจ ให้ศรัทธา
สร้างคุณค่า  ของตน  ด้วยผลงาน
 :054:อุทานธรรม  หลังฝนพรำ  ยามค่ำคืน
จนดึกดื่น  เที่ยงคืน  ใกล้พ้นผ่าน
ได้เวลา   ที่ชอบ ประกอบการ
สร้างผลงาน  บทกวี  ที่มีมา....
 :090:แด่ฟ้าหลังฝน...แด่คนผู้ใฝ่ธรรม :090:
           เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๒๓.๕๑ น. ณ กุฏิน้อยริมฝั่งโขง  ชายแดนประเทศไทย





578
 :054:"ปิติ" เป็นสมมุติบัญญัติที่ให้ความจำกัดความของสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นในขณะเจริญภาวนา  อาการปิตินั้นคือการปรับธาตุในตัวเราให้มีความเหมาะสมกับสภาวะจิตที่จะเกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งจะปรากฏออกมาได้มากมายหลายอย่าง หลายประการ แต่จะสรุปเป็นหัวข้อใหญ่จำกัดไว้ได้ 5 ประการ ตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ ซึ่งอาการของปิตินั้น ที่แสดงอกมาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับธาตุในกายและจิตในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร จึงไม่เป็นไปเหมือนกันในแต่ละครั้งและแต่ละคน ปิติคือการเริ่มต้นที่จะเข้าสู่ความสงบ
 :059:ถ้าอยากจะศึกษาเรื่องอารมณ์ของปิติให้ละเอียดเราต้องไปศึกษาแนวการปฏิบัติของพระสังฆราชสุก(ไก่เถื่อน)คือการปฏิบัติแบบปิติ5
ซึ่งสมัยก่อนครูบาอาจารย์ท่านเคยปฏิบัติกันมา ก่อนที่จะหันมาภาวนา"พุทโธ"ในสมัยหลวงปู่มั่น และอานาปานุสติในสมัยหลวงพ่อพุทธทาส
ซึ่งแนวปฏิบัติกรรมฐานปิติ5นั้นจะแสดงอย่างละเอียดเรื่องอาการของปิติทั้งหลาย(ฝากไว้เป็นข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการแสวงหาความรู้)
 :054:อาการที่เรารู้สึกคล้ายกับกายเราโยกคลอนนั้นเกิดจากธาตุลมในกายของเรากำลังปรับให้มีความพอดี และจิตของเราในขณะนั้นเข้าไปจับอยู่กับลมในกาย คือการหายใจของเรา และเรากำลังรวมจิตเราเข้ากับลม ซึ่งสภาวะของธาตุลมนั้นมันพัดไหวเคลื่อนที่ไปตลอดเวลา มันจึงทำให้เรารู้สึกคล้ายว่า ร่างกายของเรากำลังโยกคลอน เอนไปเอนมา ทั้งที่กายของเรายังตั้งตรงอยู่ตามปกติ (อาจจะมีอาการก้มหน้าลงและเงยหน้าขึ้นบ้างในบางครั้ง)ถ้าเราไปตามลมทีหายใจเข้าและหายใจออก
 :059:เราอย่าไปกังวลใจว่าใครจะคิดอย่างไรในการปฏิบัติของเรา ขอให้เรามีสติระลึกรู้ว่าเรากำลังทำอะไร และสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นอย่างไร
รู้เท่าทันอารมณ์ ไม่หลงไปในอารมณ์ที่เกิดขึ้น(ไปยินดีและพอใจอยากจะให้มันเกิดขึ้นอีก) ไม่ไปยึดติดในอารมณ์เหล่านั้น เพราะทุกอย่างตั้งอยู่ในพระไตรลักษณ์"เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป..อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา"อารมณ์ปิติเหล่านั้นไม่เที่ยงแท้ ถ้าเข้าไปยึดถือก็เป็นทุกข์ เป็นสิ่งที่ยึดถือไม่ได้เพราะแปรเปลี่ยนไปตามเหตุและปัจจัย "จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่ และบุคคล" จงฝึกฝนปฏิบัติต่อไปอย่าหวั่นไหวและย่อท้อ และขอให้ความเจริญในธรรมจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลายผู้ใฝ่ธรรม...
 :059:เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต-แด่มิตรผู้ใฝ่ธรรม :059:
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๔.๒๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

579
 :059:ทบทวนถึงทุกสิ่งทุกอย่างตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา เห็นความก้าวหน้าและความเสื่อมถอย ในหลายสิ่งหลายอย่าง วิเคราะห์หาเหตุและผล
ที่ทำให้เป็นไปอย่างนั้น นำมาหาข้อสรุปเพื่อจะกำหนดทิศทางที่จะก้าวเดินไปด้วยกัน ของหมู่คณะและองค์กร พิจารณาถึงหัวข้อธรรมบทหนึ่ง
ซึ่งเคยได้ศึกษาและเคยนำมาปฏิบัติ  หัวข้อธรรมนั้นคือ...
 :059:สังคหวัตถุธรรม ๔ ประการ คือธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจหมู่คณะ และประสานหมู่คณะทั้งหลายให้เกิดความสามัคคีรักใคร่ซึ่งกันและกัน อันเป็นการสงเคราะห์ด้วยธรรม อันได้แก่..
       ๑.ทาน...การให้คือการมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือแนะนำกัน
       ๒.ปิยวาจา...มีวาจาเป็นที่รัก กล่าวคำสุภาพไพเราะ วาจาที่สมานสามัคคี
       ๓.อัตถจริยา...ขวนขวายบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ร่วมกัน
      ๔.สมานัตตา...ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย เสมอในสุขและทุกข์ วางตัวให้เหมาะสมแก่ฐานะ สถานการณ์บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม
                        ให้ถูกต้องตามธรรม
 :059:ธรรมเหล่านี้เราได้นำมาประพฤติปฏิบัติสมบูรณ์แล้วรึยัง และเราได้แนะนำส่งเสริมผู้อื่นให้นำไปปฏิบัติแล้วหรือยัง การขับเคลื่อนของหมู่คณะและองค์กรนั้น มันต้องก้าวเดินไปด้วยกัน"แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ก้าวย่างไปด้วยกัน" เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านสร้างสรรค์
ประโยชน์ต่อสังคม ปลุกจิตสำนึกแห่งการใฝ่ดีและมีส่วนร่วมในสังคม "ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ไป" ไม่ติดยึดกับผลงานที่ผ่านมา
สอนทุกคนให้รู้คุณค่าของความเป็นคน สอนให้รู้จักเปิดโลกทัศน์ ชีวทัศน์ เพื่อให้เขามีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้าง แล้วเขาจะมองทุกอย่างเป็นธรรมะ
เป็นกำลังในการขับเคลื่อนกงล้อธรรมจักรต่อไป สืบสายเส้นทางธรรมเป็นกำลังในพุทธศาสนาสืบต่อไป...
 :016:แด่ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ และความสำเร็จนั้นจะนำมาซึ่งเกียรติยศและชื่อเสียงของหมู่คณะและองค์กร
                        เชื่อมั่น-ศรัทธา-สามัคคี-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต-แด่หมู่มิตรผู้ใฝ่ธรรม
                                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๓.๔๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

580
 :059:มองผ่านม่านหน้าต่าง    ท้องฟ้ากว้างครึ้มเมฆฝน
เมฆน้อยลอยลมบน     แล้วร่วงหล่นสู่ธารา
หยดน้ำจากหยดน้อย   แล้วค่อยค่อยรวมกันมา
กลายเป็นธารธารา      ไหลจากป่ามาสู่นาคร
สายน้ำสายชีวิต         รอยลิขิตตามขั้นตอน
สายน้ำไม่ไหลย้อน     จากนครสู่คงคา
แสงแดดมาแผดเผา    ให้ร้อนเร้าลอยสู่ฟ้า
ระเหยเป็นไอมา         กลับสู่ฟ้าแล้วรวมตัว
กลายเป็นก้อนเมฆน้อย  ที่ไหลลอยบนนภา
รวมกันมากขึ้นมา       บนท้องฟ้าเป็นเมฆดำ
แล้วตกลงสู่พื้น          ทุกค่ำคืนเช้าและค่ำ
ท้องฟ้าที่มืดดำ         หลังฝนพรำสว่างมา
    หมุนเวียนและเปลี่ยนแปลง   ทุกหนแห่งอนิจจา
เปลี่ยนไปตามเวลา   เมื่อผ่านมาแล้วจากไป
ท้องฟ้ายามหน้าฝน   ที่มืดมนก็สดใส 
ทุกอย่างอยู่ที่ใจ      ถ้าไม่ไปติดยึดมัน
ยึดถือก็เป็นทุกข์     ไร้ความสุขทุกข์มหันต์
ปล่อยวางบ้างแล้วกัน  แล้วทุกข์นั้นจะมะลาย
รักชอบจึงยึดมั่น       ในสิ่งนั้นกลัวสูญหาย
หายไปใจเสียดาย     อยากจะได้กลับคืนมา
    ทุกอย่างไม่เที่ยงแท้   ต่างผันแปรอนิจจา
ปล่อยวางบ้างเถิดหนา   แล้วชีวาจะสบาย....
        :059:แด่ท้องฟ้ายามหน้าฝนที่มืดมนก่อนฝนมา :059:
                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๕๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

581
 :059:ตรวจสอบกาย ตรวจสอบจิต ตรวจสอบความคิด ตรวจสอบการกระทำ ทบทวนสิ่งที่ผ่านมาในหนึ่งวัน  ว่าเวลาที่ผ่านไปนั้นจิตเราเป็นอย่างไร  ใจเราอยู่กับกุศลหรืออกุศลฝ่ายไหนมากกว่ากัน พยายามประคับประคองจิตให้อยู่ในกุศลจิต โดยมีสติและสัมปชัญญะ  พยายามตัดสิ่งที่เป็นอกุศลจิตออกไป  ไม่ไปส้องเสพในอกุศลทั้งหลาย รักษาไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นกุศล เป็นการฝึกตนอยู่ทุกขณะจิต  ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทรงไว้ได้ซึ่งสภาวะธรรมเหล่านี้  เพราะมีภาระหน้าที่ ที่ต้องกระทำ ต้องคลุกคลีกับหมู่คณะและญาติโยม ซึ่งมีลักษณะและอุปนิสัยที่แตกต่างกัน   ภูมิธรรม ภูมิปัญญาแตกต่างกัน จึงต้องเตรียมกายเตรียมใจไว้สำหรับเผชิญกับปัญหา ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้าในทุกโอกาศและสถานะการณ์  ซึ่งต้องควบคุมกายและจิต คุมความคิด ที่จะให้ไม่คล้อยตามกระแสโลกกระแสสังคมจนเกินไป ทรงรักษาไว้ซึ่ง " สมณะจิต"
        อยู่กับปัจจุบันธรรม ด้วยการเจริญสติและสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา  ไม่หนีปัญหาด้วยการเข้าอารมณ์สมาธิ ใช้สติและปัญญาพิจารณาหาเหตุ หาปัจจัยของอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น แล้วเข้าไปดับที่เหตุ โดยการพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็ยภัย เห็นโทษ เห็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของอารมณ์เหล่านั้น จนเกิดความกลัวความละอายต่ออกุศลจิตทั้งหลาย เกิดธรรมสังเวชขึ้นในจิต  เพื่อให้จิตถอดถอนจากการยึดถือ
เกิดการปล่อยวาง เมื่อจิตไม่ไปเกี่ยวข้องยึดถือแล้ว มันก็ดับเหตุไปได้ครั้งหนึ่ง ซึ่งเราจะต้องพยายามทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเกิดความเคยชิน ความชำนาญ ในการคิดพิจารณา รู้เท่าทันอารมณ์ทั้งหลาย  จนเป็นวสี เป็นอุปนิสัย แล้วเราจึงจะปลอดภัยจากกระแสโลก....
     :016:แด่วันหนึ่งที่ผ่านมาและเวลาที่เหลืออยู่ :015:
                    เชื่อมั่นและศรัทธาในธรรม
                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๐๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

582
 :059:เดือนเพ็ญ.........
ลอยเด่นบนฟ้าในยามราตรี
สาดแสงส่องกระทบพื้นน้ำ
สายลมพัดผ่านในยามค่ำคืน
ระลอกคลื่นพริ้วไหวในสายน้ำ
แสงจันทร์สีทองจับท้องน้ำ
เป็นความงดงามที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา...
.....นั่งพิจารณาธรรม......
ในค่ำคืนอาสาฬหปุณณมี
คิดถึงหัวข้อธรรมที่พระองค์ทรงแสดง
คือแสงแห่งธรรมจักษุอันบริสุทธิ์
ปราศจากมลทินที่ผู้ได้ยิน
คือท่านพระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุธรรม
....ธรรมนั้นคือ......
" สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งทั้งปวงนั้น มีความดับเป็นธรรมดา "
เพื่อลดละอัตตา ความยึดถือ
สิ่งนั้นคือ "พระไตรลักษณ์ "
" อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา "
เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  แล้วดับไป
ไม่มีอะไรเที่ยงแท้และแน่นอน
....สายลมอ่อนๆพัดผ่านมา...
ดาวและเดือนบนฟ้าหายไป
ม่านเมฆดำเข้ามาบดบัง
ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง คล้ายเสียงคำราม
สายฝนโปรยปรายลงมา
ราตรีเข้าสู่ความมืดดำ
...อนิจจัง.....
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยงแท้
ผันแปรไปตามกาลเวลา
" เกิดขึ้น แล้วดับไป "
แล้วชีวิตที่เหลืออยู่ของเรา...
ไม่นานก็คงจะต้องดับไป
วันนี้เราได้ทำอะไรให้มีค่าแล้วหรือยัง....?
 :054:ขออภิวาทองค์พระศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ขอนมัสการซึ่งพระธรรมคำสอน ขอนอบน้อมซึ่งพระสงฆ์ :054:
                              แด่พระธรรมที่ส่องแสงสว่างชี้ทางชีวิตให้ผู้ที่เคยพลาดผิดได้กลับใจ
                                            ขอบคุณร่างกายที่ยังหายใจในวันที่ผ่านมา
                                                   ขอบคุณกาลเวลาที่สอนธรรม
                                                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๒๓.๓๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง  ชายแดนประเทศไทย


583
 :059:อ้างถึง"นิมิตรสมาธิ" ที่ท่านสมาชิก"derbyrock" ได้ตั้งกระทู้ขึ้นมานั้น จึงอยากจะอธิบายขยายความ เพื่อความรู้ความเข้าใจในผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลาย โปรดใช้วิจารณญาน ในการคิดพิจารณา "อย่าเชื่อทันทีที่ได้ยินหรือได้ฟัง เพราะอาจจะทำให้ท่านงมงาย...อย่าปฏิเสธทันทีที่ได้ยินหรือได้ฟัง  เพราะอาจจะทำให้ท่านเสียประโยชน์...ควรคิดพิจารณาหาเหตุผลเสียก่อน  จึงจะเชื่อหรือปฏิเสธ"
         เมื่อเราภาวนาเพื่อให้จิตเป็นสมาธินั้น  ถ้าจิตของเราเข้าสู่ความสงบ มันจะเข้าสู่ "องค์ฌาน" ซึ่งอารมณ์ฌานนั้นประกอบด้วย
๑.รูปฌาน=อาศัยรูปหรือสัญลักษณ์เป็นอารมณ์ เช่น กสิน๑๐
๒.อรูปฌาน=อาศัยความรู้สึกและการระลึกเป็นอารมณ์ เช่น อนุสติ ๑๐
         ถ้าเราปฏิบัติโดยอาศัยสัญลักษณ์หรือรูปเป็นอารมณ์ เมื่อจิตเราเข้าสู่ความสงบภาพนั้นจะชัดเจนยิ่งขึ้น ตามสภาวะธรรมที่เกดขึ้น ซึ่งเราจะรู้จะเห็นเฉพาะรูปที่เราเพ่งมองอยู่ จะไม่มีรูปอื่นเข้ามาในอารมณ์นั้น
         หากเราปฏิบัติโดยอาศัยการระลึกรู้ เมื่อจิตเข้าสู่ความสงบ ความรู้สึก(ตัวรู้)เราจะชัดเจนยิ่งขึ้น คือรู้ในสิ่งที่ละเอียดมากขึ้น ไม่มีภาพใดๆเกิดขึ้นในอารมณ์ รู้เห็นความเป็นไปในความว่าง
         นิมิตรสมาธิจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความว่าง ว่างจากการปรุงแต่งอารมณ์ และจะเกิดขึ้นในขณะเราเผลอสติ  ซึ่งจะเป็นขณะที่กำลังเปลี่ยนอารมณ์  ระหว่าง ฌาน ๓ ไปสู่ ฌาน ๔(ระหว่างอารมณ์สุขกับเอตคตารมณ์) นิมิตรที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะมาจากสัญญาเก่าในอดีตชาติหรือปัจจุบันชาตินี้ที่ผ่านมา หรืออาจจะเกิดจากการอธิษฐานจิตของเรา ในสิ่งที่เราต้องการจะรู้(เพราะเมื่อเราเผลอสติ จิตจะออกจากกาย) อาจจะย้อนไปสู่อดีต หรือข้ามไปสู่อนาคต  หรืออาจจะไปกระทบกับคลื่นสัญญานจิตของผู้อื่น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้แล้วแต่เหตุและปัจจัยในขณะนั้น
นี่คือ"นิมิตรที่เกิดในขณะที่จิตเป็นสมาธิ"
        ส่วนใหญ่ที่เราเข้าใจว่าเป็นนิมิตรนั้น มันเกิดจากสัญญา(ความจำของเรา ที่เคยได้ยินได้ฟังได้เห็นมา) แล้วเราจินตนาการณ์สร้างมโนภาพขึ้นมาตามสิ่งนั้น(เรียกว่าอุปาทานนิมิตร)เกิดจากจิตเราไปปรุงแต่งให้มันเห็น ซึ่งจะเป็นในขณะที่จิตเริ่มเข้าสู่ความสงบ(อารมณ์ปิติ ฌาน ๒) ซึ่งในขณะนั้นจิตมีกำลังสมาธิแล้ว(มีพลังจิต) เราไปสร้างภาพนิมิตรแล้วจิตของเราเข้าไปปรุงแต่ง มันจึงเห็นเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนกับเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง(เรียกว่าการสะกดจิตตัวเองให้เห็นภาพนิมิตร) ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นมันจะเห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นนั้นอาจจะไม่จริง เพราะมันเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา(มันไม่ได้เกิดขึ้นมาในขณะที่จิตกำลังว่าง)
      ฉะนั้นเราต้องแยกแยะให้ออกว่า นิมิตรนั้นเกิดขึ้นมาในขณะใด อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย  เกิดจากสัญญาใต้จิตสำนึก หรือเกิดจากการอธิษฐานจิตของเรา (โดยการใช้วิมังสาในอิทธิบาท ๔) ใคร่ครวญ ทบทวน พิจารณาหลังจากออกมาจากอารมณ์สมาธิ แล้วเราจะเข้าใจในนิมิตรที่เกิดขึ้น ว่ามันมาจากไหน ของจริงหรือของไม่จริง
      ในสมัยที่ข้าพเจ้าเริ่มปฏิบัติธรรมใหม่ๆ(สมัยที่อยู่สวนโมกขพลาราม)ข้าพเจ้าได้ถามหลวงพ่อพุทธทาสว่าทำไมนั่งภาวนาไปไม่เห็นอะไรเลย  คนอื่นเขาเห็นโน้นเห็นนี่ แต่เรากลับไม่เห็นอะไร ซึ่งท่านได้เมตตาตอบให้ว่า " ดีแล้วที่ไม่เห็นอะไร ถ้าเห็นไปมันจะวุ่นวาย และจิตเราอาจจะไปยึดติดในสิ่งที่เห็นนั้น ทำให้มันเสียเวลาในการปฏิบัติ " จากตำตอบของพระเดชพระคุณหลวงพ่อนั้น ข้าพเจ้าจึงได้นำมาบรรยายขยายความ ให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณา
        นิมิตรทั้งหลายคล้ายกับดอกไม้ริมทางเดิน  ถ้าเราไปหลงเพลินหยุดดูมันอยู่ ก็จะทำให้เสียเวลาในการเดินทาง ทำให้ไปสู่จุดหลายล้าช้า
และอาจจะสำคัญผิดคิดว่าถึงจุดหมายแล้ว(อยู่ข้างทาง ไม่ห่างจากจุดเริ่มต้นเท่าไหร่  ยังเดินได้ไม่ไกล และไม่ใช่ที่สุดของการปฏิบัติธรรม)
 :054:ด้วยความปรารถนาดีแก่ผู้ที่ใฝ่ธรรมทั้งหลาย :054:
                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๒๑.๕๑ น. ณ กุฏิน้อยริมฝั่งโขง ชายแดนประเทศไทย

584
บทความ บทกวี / สวัสดีชาวโลก...
« เมื่อ: 06 ก.ค. 2552, 09:29:23 »
 :007:เช้าตื่นขึ้นมา  ลืมตาดูโลก 
ลืมเรื่องทุกข์โสก    โรคร้ายโรคา
ล้างหน้าแปรงฟัน    แล้วหันหน้ามา
กราบพระบูชา      ภาวนาสวดมนต์
เสร็จกิจของสงฆ์   ก้าวลงถนน
ไปโปรดผู้คน    ที่ตั้งตารอ
เรื่อยเรื่อยรายทาง   ก้าวย่างเดินต่อ
หนุ่มสาวเฝ้ารอ   ใส่บาตรร่วมกัน
เช้าเป็นนักบิณฯ หากินขบฉันท์
ญาติโยมช่วนกัน   แบ่งปันทำบุญ
เป็นสมณะ   บวชพระแทนคุณ
ผู้ที่เกื้อหนุน  การุณเรามา
ทำกิจของสงฆ์  ดำรงค์ศรัทธา
สืบเจตนา   ครูบาอาจารย์
เรียงร้อยพระธรรม  นำมากล่าวขาน
เป็นวิทยาทาน  คืองานที่ทำ
    ว่างงานเสร็จกิจ   ลิขิตบทธรรม
เอามาชี้นำ  กระทำเรื่อยมา
ปลุกจิตปลุกใจ  แด่ผู้ใฝ่หา
แสงธรรมนำพา  ชีวารื่นรมณ์
ไม่ปล่อยสมอง  ให้ล่องลอยลม
นั่งคิดคำคม   อบรมวิญญา
ทบทวนความรู้  หมั่นดูศึกษา
จิตใจกายา   ค้นคว้าหาตน
มองหากิเลส  เป็นเหตุเป็นผล
กล่าวเตือนผู้คน  ให้พ้นอบาย
เห็นทุกข์เห็นโทษ  ความโกรธมุ่งร้าย
ที่มันทำลาย   ให้หายหมดไป
   สวัสดีชาวโลก  มีโชคมีชัย
ยิ้มรับวันใหม่  สุขใจจริง...จริง...
 :016:แด่ความโชคดีที่ได้ลืมตามาดูโลกอีกวันหนึ่ง :015:
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
ตอนสายของวันจันทร์ที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๒๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง  ชายแดนประเทศไทย
 :059:ปล.เป็นการทบทวน"กลอน ๔ " ซึ่งไม่ได้เขียนมานานแล้ว (ลับสมอง ลองปัญญา)










585
 :054:เป็นธรรมดาของทุกชีวิตในโลกนี้ ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหา เพราะว่าทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่หวังไว้เสมอ ดั่งคำที่กล่าวว่า"เส้นทางของชีวิตมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป" แต่ทำอย่างไร เราจะเข้าใจ และเข้าไปแก้ไขอุปสรรคปัญหานั้นได้ "ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากเหตุ และดับไปที่เหตุ"  เราจึงต้องฝึกขบวนการคิดเพื่อเข้าไปหาเหตุ โดยเริ่มจากการฝึกใจให้นิ่งเสียก่อน "นิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว"
ซึ่งจะทำให้ใจนิ่งได้นั้นมันต้องมีสมาธิ และการที่จะมีสมาธิได้นั้น มันต้องมีสติ เราจึงต้องฝึกให้มีสติเสียก่อน ก่อนที่จะทำจิตให้สงบ
     อุปสรรคและปัญหานั้นมีอยู่ และเป็นสิ่งที่จะต้องเข้าไปแก้ไข  แต่เราต้องทำใจของเราให้อยู่เหนือปัญหาให้ได้เสียก่อน  เรียกว่าวางปัญหานั้นไว้เสียก่อน มันจะทำให้เราผ่อนคลาย และไม่เป็นการกดดันตัวเราเอง  เพราะถ้าเราไม่วางปัญหานั้นไว้เสียก่อน จิตของเราเข้าไปยึดติดยึดถือ มันจะทำให้เราเครียดหนักอกหนักใจ  สมองเราไม่ปลอดโปร่งทำให้เกิดความเครียด และเมื่อเรามีความเครียดมันจะทำให้ความคิดของเรานั้นคับแคบ  การคิดการมองปัญหาไม่เปิดกว้าง มันจึงไม่เห็นหนทางที่จะแก้ปัญหานั้นได้
    เราจึงต้องมาฝึกใจให้รู้จักการทำใจให้อยู่เหนือปัญหา(ออกห่างวางปัญหาไว้ชั่วคราว ) ทำกายทำใจของเราให้ปลอดโปร่งโล่งเบาสบายๆ
โดยการออกกำลังกายหรือหาอะไรทำให้เหงื่อมันออกให้เต็มที่ พักให้เหงื่อแห้งแล้วให้เราไปอาบน้ำ มันจะทำให้ร่างกายของเราเบาสบาย
เป็นการผ่อนคลายและปรับธาตุในกายของเรา แล้วมามองเข้าไปสู่ปัญหาที่มี โดยอย่าคิดว่าเป็นปัญหาของตัวเรา ให้เราคิดว่าเป็นปัญหาของผู้อื่น
สมมุติตัวละครขึ้นมาแทนตัวเราและคนของเรา(เพื่อลดอัตตา ความยึดถือ ว่าตัวกู ของกู)ทำเหมือนกับที่เรามองปัญหาของผู้อื่น วิจารณ์ผู้อื่น
(เรื่องของชาวบ้านเรารู้ไปหมด เข้าใจไปหมด แก้ไขได้หมด เพราะเราไม่มีความกดดัน เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา)เพราะถ้าเราคิดว่าเป็นปัญหาของเราที่เราเผชิญอยู่ มันจะมีความยึดถือและคิดเข้าข้างตัวเอง ไม่อยากจะเสียหรือเสียให้น้อยที่สุด จิตไม่เป็นกลางคิดเข้าข้างตัวเอง
    เวลาเราเครียดจงอย่าอยู่ในที่คับแคบ อย่าใช้การนอนเป็นการพักผ่อน เพราะมันจะทำให้เรายิ่งเครียดมากขึ้น (ความคิดของเรามันเป็นพลังงานไฟฟ้าสถิตย์ มันจะกระจายอยู่รอบกายเรา และถ้าอยู่ในที่แคบมันจะก่อตัวมีพลัง กลับมากดดันตัวเรา) ให้ออกไปอยู่ในที่โปร่ง ที่กว้าง
มองออกไปให้สุดสายตา ปล่อยความคิดของเราให้กระจายไปสุดกำลัง หายใจยาวๆช้าๆเพื่อปรับธาตุในกาย เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นประสาทไปในตัว แล้วจึงมองกลับไปเพื่อหาทางแก้ไขในปัญหาที่มี  ฝึกทำอย่างนี้บ่อยๆจนชำนาญ แล้วขบวนการคิดคิดเราจะพัฒนา เราจะเข้าใจซึ่งปัญหา หาเหตุที่มาของปัญหานั้นเจอ และจะเห็นช่องทางการแก้ไข เพราะเราจะเข้าไปดับมันที่เหตุ
         :016:ปรารถนาดี อยากให้ทุกท่านมีความสุข เข้าใจในทุกข์ แก้ปัญหาตัวเองได้ :015:
                                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
ยามเช้าที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๐๓ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

586
 :059:ที่ได้ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมานั้น ก็เพราะว่าคงมีนักปฏิบัติธรรมหลายท่านคงจะเคยเจอ ความรู้สึกแบบนี้ ในขณะที่กำลังภาวนา ทำสมาธิ
บางครั้งเกิดความรู้สึกกลัวตายขึ้นมา  กลัวไม่หายใจ กลัวเพี้ยน กลัวบ้า กลัวสารพัด จนไม่สามารถที่จะภาวนาปฏิบัติได้อีกต่อไป  ต้องออกจาก
การภาวนา และไม่กล้าที่จะทำต่อไป
    ที่เป็นเช่นนั้น เพราะมันมีเหตุและปัจจัย ทำให้ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นมา เป็นเพราะว่าเราขาดความศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวเรา  ในบุญเก่าที่เราทำมา  ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก ความพร่องในศีล และบาปกรรมที่เคยทำมา มันยังค้างคาอยู่ในจิตใจ  มันเลยทำให้เราขาดความกล้า ที่จะปฎิบัติ
ภาวนาต่อไป  เพราะเราไม่มั่นใจในตนเอง
    วิธีการแก้ไข ปลุกใจให้มีความกล้า เราต้องกลับมาพิจารณาตัวของเราเอง นึกถึงคุณงามความดีที่เราได้กระทำมาทั้งหมด เรื่องทาน เรื่องศีล
เรื่องบุญกุศล  เพราะเมื่อเราคิดถึงสิ่งเหล่านี้แล้ว ใจเราจะมีความสุข (บุญนึกถึงครั้งใดใจเป็นสุข)ใจเราก็จะเกิดอารมณ์ปิติ มีกำลังใจขึ้นมา และมีศรัทธาในตัวเองยิ่งขึ้น เพราะเราเชื่อมั่นในกรรมดีที่เราทำมาแล้ว และบุญนั้นจะช่วยคุ้มครองเรา ทำให้เราคิดว่า ถ้าเกิดตามขึ้นมา เราต้องไปดี
อย่างน้อยก็ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์  ได้ไปสวรรค์  ได้เป็นเทวดา ได้เป็นพรหม หรืออาจจะเข้าถึงพระนิพพาน
    แต่ถ้าเราพิจารณาแล้ว  และเห็นว่าเรายังพร่องอยู่ในบุญกุศล  เราก็มาตั้งต้นแก้ไข ปรับปรุงตัวเราใหม่ในสิ่งที่ยังพร่องอยู่ เติมให้เต็มในสิ่งที่
ยังขาดหาย แล้วเราจะได้กำลังใจกลับมา"ลบล้างความกลัว ด้วยความกล้า ด้วยความศรัทธาในบุญกุศล" แล้วเจริญภาวนาต่อไป ท่านก็จะได้พบ
ความเจริญในธรรม " จงมีศรัทธาในตนเองเสียก่อน ก่อนที่จะให้ผู้อื่นมาศรัทธาเรา  "
           :054: ด้วความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรผู้ใฝ่ธรรม  :054:
                                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๔๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

587
 :059:บทเพลงนี้มีที่มาจากสมาชิกเว็บวัดบางพระ ท่านหนึ่งคือ" cho presley " ได้ปรารภไว้เมื่อวันงาน(๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๒) ว่าอยากจะได้เนื้อเพลง ที่มีความหมาย สำหรับใช้เป็นเพลงประจำกลุ่ม ของศิษย์วัดบางพระ ใช้ขับร้องกันในยามที่พบปะทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเป็นขวัญ
และกำลังใจ ให้เกิดความรักใคร่สามัคคี จึงเป็นที่มาของบทเพลง เพลงนี้ "มาร์ชศิษย์วัดบางพระ"
                    :016:มาร์ชศิษย์วัดบางพระ :015:
...ศิษย์วัดบางพระ  เราจะร่วมกัน  ร่วมแรงแข็งขัน  มุ่งมั่นศรัทธา
ศูนย์รวมจิตใจ  หล่อรวมเรามา  พบปะเจอหน้า   "พระอุดมประชา-นาถพระอาจารย์"
...เคารพศรัทธา   บูชาพระคุณ  ที่ท่านการุณ เกื้อหนุนเมตตา                                                                                             ชี้ทางพระธรรม   พร่ำสอนเรื่อยมา   ให้รู้คุณค่า  แห่งการทำดี
...เนื้อตัวพวกเรา  นั้นมีรอยสัก   ลงอักขระ  น้ำมันและสี
แต่ในจิตใจ   พวกเราใฝ่ดี  น้ำใจไมตรี  เรามีให้กัน
...โปรดอย่ามองเรา   เป็นคนไม่ดี   เพราะรอยสักนี้  สืบสายสัมพันธ์
ศูนย์รวมจิตใจ  มั่นในอาจารย์  มีมายาวนาน   สืบสานวิชา
........ครูบาอาจารย์  ท่านสักท่านสอน  มาแต่เก่าก่อน  หลายยุคสมัย
ต้องเป็นคนดี  และมีศีลธรรม   ไม่ประกอบกรรม  ทำสิ่งชั่วร้าย
มีศีลมีธรรม   ประจำจิตใจ  พระอาจารย์สอนไว้   ก่อนจะให้ยันต์.......
...เคารพบูชา  "พระอุดมประชานาถ" จะขอประกาศ  สืบทอดเจตนา
มุ่งทำความดี   ไมตรีเมตตา    มุ่งมั่นศรัทธา  สานต่ออุดมการณ์
...ร่วมใจร่วมแรง  เข็มแข็งมุ่งมั่น   เกาะเกี่ยวกุมกัน  สร้างสรรค์สิ่งดี
หล่อรวมกายใจ    รักใคร่สามัคคี    เพราะพวกเรานี้...ศิษย์วัดบางพระ....
......................................................................................
 :059:ขอมอบบทเพลงนี้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ศิษย์"หลวงพ่อเปิ่น"ทุกๆคน :059:
                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-สามัคคี-ไมตรีจิต-แด่หมู่มิตรผู้ใฝ่ธรรม
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม 
๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๐๐ น.ศาลาน้อยริมน้ำโขง  ชายแดนประเทศไทย

588
 :054:คำอธิษฐานจิต อุทิศทาน แผ่เมตตา ขออโหสิกรรม :054:
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (๓ จบ )
  อิทัง เม ปุญญัสสะ อาสาวะ ขะยะวะหัง นิพพานัง ปะระมัง สุขัง ปัจจะโยโหนตุฯ
       ผลบุญกุศลในวันนี้  ที่ข้าพเจ้าได้กระทำมา  ขอน้อมนำบุญมา ให้ข้าพเจ้ามีความสุข มีสติและสัมปชัญญะ มีสมาธิ มีปัญญา มีธรรมะอันวิเศษ ตัดกิเลสอาสาวะ เครื่องดองในสันดาน ของข้าพเจ้า ให้หมดไปสิ้นไป เป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน
      ผลแห่งศีล ผลแห่งสังฆทาน ผลแห่งบุญกุศล ในวันนี้ ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาแล้ว ขออุทิศให้ถึง แผ่ให้ถึง บิดามารดา คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณ ท่านผู้มีบุญคุณ ญาติสนิทมิตรสหาย ศัตรูหมู่เวรทั้งหลาย เปรตอสูรกาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย สรรพวิญญานทั้งหลาย
เทวดาทั้งหลาย ที่รักษาอายุ ที่เสวยอายุ ที่แทรกอายุ ตลอดจนถึงพระภูมิเจ้าที่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย พร้อมทั้งบริวาร ที่ปกปักรักษาอยู่
ณ.อาวาสแห่งนี้ และที่บ้าน ที่ทำงาน ที่นาที่สวน บนบกและในน้ำ ที่ยวดยานพาหนะ ขอให้ได้รับผลบุญนี้
    ขออุทิศให้ถึงวิญญานบรรพชน มีปู่ ย่า ตา ยาย   ลุง ป้า น้า อา  พ่อแม่พี่น้อง วงศาคณาญาติ ทั้งฝ่ายของบิดา และฝ่ายของมารดา ฝ่าย
ของสามี และฝ่ายของภรรยา พร้อมทั้งลูกหลาน ที่อยู่ที่บ้าน และที่ทำงาน ขอให้ได้รับเอาผลบุญนี้
    กายะกรรม ๓  วจีกรรม ๔  มโนกรรม ๓ กรรมดีอันใด ที่เป็นบุญกุศล ที่ข้าพเจ้า ได้กระทำมาแล้ว ด้วยกาย วาจา ใจ  ด้วยกรรมอันใด
ในอดีตชาติก็ดี ในปัจจุบันชาตินี้ก็ดี ขออุทิศให้ถึง แผ่ให้ถึง แก่ท่านทั้งหลาย ที่มีภพมีภูมิ มีชาติเป็นแดนเกิด มีชรามรณะ มีจิตมีชีวิต มีวิญญาน
มีขันธสันดาน มีวิบากแห่งกรรม มีการกระทำ เจ้ากรรมนายเวร เจ้าการบัญชี ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ยมพบาล มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ พรหม ๒๐
อบายภูมิทั้ง ๔  บัดนี้ข้าพเจ้า ได้สร้างกองบุญกุศล  มีผลสังฆทาน ผลศีล ผลภาวนา ผลแผ่เมตตา ขอให้ถึงแก่ท่านทั้งหลาย ที่ข้าพเจ้าได้ล่วง
เกินเอาไว้ ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี เจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี ต่อหน้ากันก็ดี ลับหลังกันก็ดี ข้าพเจ้าขออโหสิกรรมนั้น
ขอให้ท่านทั้งหลาย ผู้เป็นเจ้ากรรมนานเวร ของข้าพเจ้า จงได้รับผลบุญนี้ แล้วอโหสิกรรมนั้นแก่ข้าพเจ้า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อย่ามีเวรภัย
เกิดชาติหนึ่งภพใด ขอให้ได้สร้างแต่ความดี สร้างบารมีของตน ให้พ้นภัยพาล ลุล่วงบ่วงมาร ในอนาคตกาล เบื้องหน้านี้ ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุข ปราศจากความทุกข์ ปราศจากเวร ปราศจากภัย ปราศจากอันตราย ปราศจากความลำบาก ปราศจากอุปสรรค รักษาตนของข้าพเจ้า
ให้มีความสุข ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย สรรพวิญญานทั้งหลาย เทวดาทั้งหลาย ที่อยู่ในทิศทั้งปวง จงได้รับความสุข ขอให้ข้าพเจ้า จงมีความ
เจริญในธรรม ยิ่งๆขึ้นไปเทอญ......
 :060:รวบรวม แก้ไข ปรับปรุง ประพันธ์ใหม่ โดย รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม :059:
 :054:ทุกครั้งที่เราได้กระทำความดี ถ้ามีเวลา เราควรอธิษฐาน แผ่เมตตา อุทิศ และอโหสิในทันที อย่าได้ตระหนี่ในบุญกุศล ไม่ต้องกลัวบุญจะหมด ยิ่งเราอุทิศแลแผ่เมตตาไปมากเท่าไหร่ บุญนั้นจะกลับมาหาเรา  ทบเท่าทวีคูณ แต่ถ้าเราไม่แผ่ไป อุทิศไป เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายเขาจะมาทวงบุญ ทำให้เราพบกับอุปสรรคและปัญหา (เราเป็นหนี้เขา เวลาเขารู้ว่าเรามีเงิน เขาก็จะมาทวง ถ้าเราไม่ให้เขาก็จะมีปัญหากันและถ้าเขารู้ว่าเราไม่มีเงิน ส่วนใหญ่เขาก็จะไม่มาทวง)
      คงจะเคยได้ยิน ที่เขามักจะพูดกันว่า  ทำบุญมามากมาย แต่ทำไมยังมีความลำบากและมีอุปสรรคปัญหา ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเรายังไช้
หนี้เขาไม่หมดหรือไม่ได้ใช้หนี้เขาเลย และเวลาที่เราอธิษฐานจิต อุทิศ แผ่เมตตา ขออโหสินั้น  เราต้องมีสมาธิ คือปากเราว่าอย่างไร ใจเราต้องคิดอย่างนั้น คิดให้เห็นภาพ หรือเราจะกำหนดแสงสว่างจากกายเรา ให้มันสว่างไปทั่วจักรวาล สุดกำลังของเรา.....
      ทำบ่อยๆจนเป็นความเคยชิน แล้วจิตใจของเราก็จะอ่อนโยนเพราะประกอบไปด้วยเมตตาจิต ลดความตระหนี่ถี่เหนียว ลดความเห็นแก่ตัว
มองโลกในแง่ดี เข้าใจชีวิตมากขึ้น เพราะเราอยู่กับกุศลจิต มีธรรมคุ้มครองจิต ความประมาทพลาดผิดก็จะน้อยลง...
     :016:ปราถนาดีด้วยไมตรีจิตแด่หมู่มิตรผู้ใฝ่ธรรม :015:
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๙.๕๐ น. ณ กุฏิน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

589
 :054:สำหรับผู้ที่ใฝ่ใจในการปฏิบัติ ขอแนะนำให้กลับไปเริ่มอ่าน ตั้งแต่ตอนต้นๆมาก่อน เพื่อทำความเข้าใจเป็นพื้นฐาน
เพราะได้เขียนบรรยายรายละเอียดมาเกือบหมดแล้ว เรื่องการฝึกสมาธิอย่างเรียบง่ายสบายๆตั้งแต่ภาคหนึ่ง ถึงภาคแปด
เพราะที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นล้วนเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติทั้งสิ้น เพราะการปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องเริ่มต้นจากพื้นฐาน
ปฏิบัติไปตามลำดับชั้นและขั้นตอน จะใจร้อนหวังผลโดยเร็วนั้นไม่ได้ ต้องสะสมอบรมพละอินทรีย์ให้มีกำลังไปเรื่อยๆ
ความเจริญในธรรมนั้นมันคล้ายกับต้นไม้ เราอยากจะให้มันโตงอกงามตามใจปรารถนาของเรา แต่ว่ามันเป็นไปไม่ได้
มันต้องใช้กาลเวลาในการเจริญเติบโตของมัน เป็นไปตามขั้นตอนก่อนที่จะให้ดอกออกผลหรือใช้ประโยชน์ได้
การปฏิบัติธรรมนั้นก็เช่นกัน มันต้องใช้เวลาในการสร้างสมอบรมอินทรีย์จนมีความพร้อมที่จะรองรับสภาวะธรรมที่ดีงาม
ที่ยิ่งใหญ่ในโอกาศต่อไป จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดให้นำไปพิจารณา
             ขอความเจริญในธรรม จงบังเกิดมีแก่ผู้ที่ใฝ่ธรรม
                         รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม

590
                          :090:ดวงดารา :090:
         ดาว...พร่างพราว  อยู่บนท้องฟ้า  สาดแสงลงมา  เมื่อยามทิวาลาไป
ดาวดวงน้อย  เจ้าลอยแสนไกล   เจ้าอยู่แห่งไหน   คงไกลเกินสุดจะตาม
ดาวเอย...เจ้าเคยรู้บ้างรึเปล่า   ว่าข้าปวดร้าว   รอดาวเจ้าอยู่มานาน
รอวัน...ที่แสงอาทิตย์พ้นผ่าน   รอสู่ซึ่งรัตติกาล  รอดาวเจ้านั้นกลับมา.....
       (ท่อนแยก)ดาว....เจ้าอยู่คู่เคียงนภา  คู่แสงจันทรา   คู่ฟ้าในยามราตรี
ดาว...เจ้านั้น  สร้างสรรค์สิ่งดี   ช่วยชุบชีวี  แด่ผู้ที่ร้าวระทม
กำลังใจ  ที่เจ้าให้มา   เหม่อมองท้องฟ้า  ดารานั้นน่าชื่นชม
ลืม...เรื่องราวแห่งความขื่นขม   ที่ทุกข์ระทม  เพราะชมเจ้าดวงดารา...
      ยามค่ำมา  มองหาหมู่ดาว  ในคืนเงียบเหงา  ข้าเฝ้ารอจะชื่นชม
วอนฟ้า...จงช่วยพัดพาเมฆลม  เปิดฟ้าให้ชม  ให้สมที่ข้ารอคอย
ดาว..แม้ว่าตัวเจ้าอยู่ไกล  เจ้าเป็นแรงใจ   ให้ความสดใสรื่นรมณ์
ยามราตรี  ที่แสนขื่นขม   ขอเพียงได้ชม   ก็สมก็สมที่ตั้งใจรอ.....
...................................................................................
 :054:เฮ่อ....เสร็จไปอีกเพลงหนึ่ง...ยังเหลืออีก 10 เพลง... :054:
ขอมอบบทเพลงนี้แด่ผู้ที่กำลังเศร้าหมอง และขอเป็นกำลังใจให้แก่ทุกคน
                    รวี สัจจะ-วจีพเนจร-คนรอนแรม
แต่งเมื่อเวลา๑๗.๓๑-๑๘.๐๔ น. ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง  ชายแดนประเทศไทย

           

591
 :059:เขียนบทความ บทกลอน บทกวี จนเกือบลืมหน้าที่ ที่ไปรับปากเขามา ว่าจะช่วยแต่งเพลงให้เขา(เขาขอให้เป็นเพลงหวานๆแนวความรักและให้กำลังใจแก่กัน) ซึ่งต้องนั่งปรับจิตปรับใจอยู่หลายวัน (สมมุติตนว่าเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่สมณะ) แล้วเราจะนำเสนอออกมาอย่างไร
ซึ่งกว่าจะทำใจได้ต้องใช้เวลาผ่านมาหลายวัน...
                 :090:ยอดดรุณี :090:
    หวานใจของพี่   ยอดดรุณี  พี่มีหนึ่งนี้  นางเดียว
กลางไพรพนา  กันดารบ้านป่า ขาดคนแลเหลียว 
ผูกพันธ์  รักมั่นกลมเกลียว  เกาะเกี่ยวสายใย ศรัทธา....
  สองมือเคยนุ่ม   มาเกาะมากุม  กรำงานจนร้าวระบม
ผิวพรรณกานดา  คล้ำเพราะแดดจ้าแรงลม 
พี่ชายนี้แสนชื่นชม  นิยมด้วยใจศรัทธา....
  (ท่อนแยก)ขวัญตายาใจ  มาจากถิ่นไกล  มาด้วยจิตใจอาสา
โปรดรู้เถิดว่า  คุณค่าเธอนั้น มากมาย
สมกุลสตรี  ชีวีเธอมีความหมาย  ทั้งใจและกาย เธอได้ตอบแทนแผ่นดิน ....
   หวานใจคนดี  รักเจ้ายิ่งกว่าชีวี   เธอมีความดีสรรค์สร้าง
หนึ่งเดียวคือเธอ  รักมั่นเสมอ  รักเธอแต่เพียงนวลนาง
รักมั่นไม่เคยจืดจาง  รักนางหนึ่งน้องคนเดียว...
............................................................................................
(กว่าจะจบลงได้ ทำใจลำบาก เพราะจิตวิญญานที่เป็นสมณะ)
แก้ไข แต่งขึ้นใหม่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๒.๓๕ น. ณ ศาลาน้อยริมฝั่งโขง ชายแดนประเทศไทย(ไม่สงวนลิขสิทธิ์ถ้าไม่เอาไปใช้ในเชิงพานิชณ์)


     
 

592
 :059:บทความนี้เป็นแนวคิด สำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน ในสังคมอันหลายหลาก ซึ่งมาจากคำปรารภของ "cho" จึงจัดให้ :059:
          :054:มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม คือต้องมีการรวมกลุ่ม และอยู่ร่วมกัน เป็นกลุ่มก้อน ตามเชื่อชาติและสายพันธ์ และภูมิภาค จากกลุ่มเล็กไปสู่กลุ่มใหญ่ และเมื่อมากคนก็มากความ เพราะทุกคนต่างเคารพความคิดเห็นของตนเอง ซึ่งความคิดเหล่านั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถจะคิดได้ เพราะความคิดเป็นเรื่องของภายใน อยู่ในใจไม่มีใครรู้ แต่ที่เกิดมีปัญหาก็เพราะว่าการนำเสนอ การแสดงความดิคเห็นออกมา
ต่อสาธารณะ เพราะอาจจะไปกระทบกับความคิดเห็นของผู้อื่น
       หลักการในการแสดงความคิดเห็นนั้น มันต้องเริ่มที่เรา คือตัวเราต้องหาเหตุผลมารองรับความคิดของเราเสียก่อน (ทำไมเราต้องมีความคิดเห็นเป็นอย่างนี้อย่างนี้ และจะมีผลอย่างไรถ้าเรานำเสนอไป) และเมื่อเรานำเสนอไป เราต้องทำใจต่อผลกระทบที่ตามมา(ถ้ามีความเห็นที่แตกต่างกัน) เราต้องเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของเขา  ที่เขาสามารถจะคิดเห็นที่แตกต่างไปจากเราได้  แล้วเอาความคิดที่แตกต่างกันมาประสานหาจุดที่ลงตัว โดยใช้เหตุและผล (คงความคิดของทั้งสองฝ่ายไว้ อย่าไปทำลายหรือตัดทิ้ง)แล้วมองหาสิ่งที่เป็นจุดกลางระหว่างความคิดทั้งสองฝ่าย แล้วเราจะได้ความคิดที่ลงตัว (ไม่มีฝ่ายใดเสีย มีแต่ได้ทั้งสองฝ่าย)
      สรุปแล้วมันก็คือเราต้องมีสติ ในการคิดการกระทำ คือต้องคิด ก่อนที่จะพูด (ต้องสรุปความคิดของเราให้ได้ก่อนที่จะนำเสนอ) ถ้าเราไม่เผลอสติ การคิดการกระทำก็จะมีความรอบคอบยิ่งขึ้น  และจะรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นได้มากขึ้น  เมื่อเราเข้าใจตัวเราได้แล้ว เราก็จะเข้าใจผู้อื่นได้เช่นกัน
      ความคิดเห็นของแต่ละคนนั้น เกิดจากวัยวุฒิ คุณวุฒิ  พื้นฐานของครอบครัว สังคมรอบข้าง และอารมณ์ความรู้สึกของเขาในขณะนั้น
ถ้าเราเข้าใจในเรื่อง"จิตวิทยาของมนุษย์"เราจะเข้าใจในเหตุผลของแต่ละคนที่แตกต่างกัน และสิ่งนั้นจะไม่สร้างความแตกแยก จากความเห็นที่แตกต่าง แต่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนไปสู่ความก้าวหน้า เพราะว่าเราจะได้มุมมองใหม่ๆ ในความที่แตกต่างกัน และมันจะเกิดการพัฒนาทาง
ความคิดขึ้นต่อไป"ความขัดแย้งคือแรงหลัก...ที่จะผลักให้กงล้อก้าวไกล"
 :054:เชื่อ  เมื่อคิด  พินิจ  และศึกษา
   มั่น  คงมา   เมื่อเห็น   เป็นเหตุผล
  ศรัทธา มี    อย่างเพียงเห็น  เป็นของตน
  สามัคคี    จะชี้ชน   สู่ทางชัย
 :054:อ่อน เมื่อพบ  ลมแรง  อย่าแข็งขืน
          น้อม แล้วยืน   ขึ้นสู้   สู่วันใหม่
          ถ่อม  ลงหา    ประชา  อย่างมงาย
           ตน  ควรมี     ความหมาย  ต่อสังคม...
 :059:เชื่อมั่น-ศรัทธา-สามัคคี-อ่อนน้อม-ถ่อมตน :059:
               ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๑.๒๗ น. ณ ศาลาน้อยริมฝั่งโขง ชายแดนประเทศไทย

593
 :054:มีมากมาย  หลายหลาก  มากเรื่องราว
ถ้าสืบสาว ก็จะเห็น   ที่เป็นอยู่
เอาทุกสิ่ง   รอบกาย  มาเป็นครู
และเรียนรู้   ความคิด   ชีวิตคน
   เพราะหลายหลาก  มากมาย  หลายความคิด
จะถูกผิด   ให้ดู   ที่เหตุผล
ศรัทธามี    แต่อย่าเห็น   เป็นของตน
เพราะทุกคน   มีความคิด   จิตวิญญาน
   เป็นสิทธิ    ส่วนตน  ที่ค้นคิด
และเป็นสิทธิ  ที่จะกล่าว  และเล่าขาน
แต่อย่าให้   ก่อเกิด   ความรำคาญ
อาจเป็นการ  หมิ่นประมาท  คาดโทษกัน
   แสวงหา   จุดร่วม    สงวนต่าง
ตามแนวทาง  พุทธะ   สมานฉันท์
ความคิดเห็น  นั้นอาจ   แตกต่างกัน
ขอให้คว่าม   สัมพันธ์  นั้นเหมือนเดิม
   ถึงแตกต่าง  แต่อย่าสร้าง   ความแตกแยก
ถึงจะแปลก  ติเพื่อก่อ   ต่อเพื่อเสริม
ในส่วนที่    ขาดหาย   ให้เพิ่มเติม
ความสัมพันธ์  เหมือนเดิม  อย่าลืมเลือน
    ความขัดแย้ง  นั้นหรือ   คือแรงหลัก
ที่จะผลัก   กงล้อ   ให้ขับเคลื่อน
ปัญหามา   ปัญญามี   นี้ขอเตือน
ความเป็นเพื่อน  ควรให้  อภัยกัน
   ลืมซึ่งความ  ขัดแย้ง  ที่ผ่านมา
จงหันหน้า   เข้าหา  สมานฉันท์
มาสืบสาย   สานต่อ   ความสันพันธ์
เพราะเรานั้น  ศิษย์วัดบางพระ   นะจ๊ะคุณ....
 :016:แด่ความเห็นที่แตกต่าง...แต่ไม่สร้างความแตกแยก :015:
              ปรารถนาดีต่อศิษย์วัดบางพระทุกๆท่าน
                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐.๕๔ น. ณ กุฏิน้อยริมโขง  ชายแดนประเทศไทย
 

594
 :054:การปฏิบัติธรรมคือการทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ และหน้าที่นั้นต้องเป็นโดยชอบ ประกอบด้วยกุศล เป็นมงคลต่อชีวิต ไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น ไม่ฝ่าฝืนศีลธรรมประเพณีที่ดีงาม ดำเนินตามคำสั่งสอนของพระศาสดา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเป็นไปตามลำดับและขั้นตอน
     ปัญหาที่เกิดสำหรับสำหรับผู้ที่อยากจะปฏิบัติธรรมก็คือเรายังไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักประมาณในตน ไปหวังผลถึงคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต
ลืมบทบาทและหน้าที่ของตัวเราเอง  ธรรมะคือความเหมาะสม ในจังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่ และต้องมีความพอดี ไม่เกร็ง ไม่เคร่ง ไม่เครียด
จนเกินไป จนกลายเป็นการกดดันตัวเอง เพราะเราไปเคร่งจนเกินไป เลยทำให้เกิดความเครียด
     การปฏิบัติธรรมต้องเริ่มที่คุณธรรมคือต้องมีจิตสำนึกแห่งการใฝ่ธรรมเสียก่อน และอย่าใจร้อนหวังผลในทันทีทันใด ต้องเริ่มต้นไปตามลำดับ
และขั้นตอน  สั่งสมอบรมจิตของเราไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากการฝึกให้มีสติเสียก่อน มีสติกับสิ่งที่จับต้องและเห็นได้ คืออาการความเคลื่อนไหวของร่างกายในทุกอริยาบท  เรียกว่าฝึกใจให้มันอยู่กับเนื้อกับตัวให้ได้เสียก่อน  จนมีความชำนาญ ใจไม่ฟุ้งซ่านเพราะจิตที่ส่งออก แล้วจึงค่อย
ยกจิตเข้าสู่การภาวนา
    การภาวนานั้นเราทำเพื่อให้เกิดความสงบ สิ่งที่จะตามมาก็คือ"สมาธิ" จิตที่สติมีกำลัง ย่อมส่งผลไปยังสมาธิที่มั่นคง และเมื่อจิตพบความสงบ การเป็นระบบในการคิดก็จะตามมา การรู้จักวิเคราะห์ปัญหาก็จะเกิด โดยการรู้จักเหตุและผล ไม่เอาความรักความชอบความชังของตนมาตัดสิน มองทุกอย่างตามความเป็นจริง เห็นทุกสิ่งที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป  เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และไร้
ประโยชน์ในสรรพสิ่ง ได้รู้เห็นความจริงคือ"สัจจะธรรม"
    :059: ฉนั้นการทำงานที่เรามีสติอยู่กับการเคลื่อนไหว ทำงานไปโดยมีสตินั้น ก็คือการปฏิบัติธรรม :059:
                         :016:นำเสนอมาเพื่อเป็นวิทยาทานสำหรับการปฏิบัติธรรม :015:
                                     ขอความเจริญในธรรมจงบังเกิดแก่ผู้ที่ใฝ่ธรรม
                                              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๒๑.๕๙ น. ณ ริมฝั่งโขง ชายแดนประเทศไทย
      

595
 :054:สัญจรและรอนแรม...ไปแต่งแต้มต่อเติมฝัน
รอนแรมมานานวัน...ต่อเติมฝันให้ผองชน
กล่าวธรรมนำเสมอ...เมื่อได้เจอผู้ที่สน
ธรรมะสำหรับตน...ผู้ที่สนใจในธรรม
เรียบง่ายไร้รูปแบบ...แต่อิงแอบซึ่งถ้อยคำ
วลีที่ประจำ...สอนให้ทำในสิ่งดี
สอนให้ไม่ยึดติด...ทำชีวิตในวันนี้
โอบอ้อมและอารี...มีไมตรีดีต่อกัน
ช่วยเหลือและเผื่อแผ่...เพื่อมอบแก่สายสัมพันธ์
มีจิตคิดสร้างสรรค์...และแบ่งปันให้สังคม
   ความดีทำไปเถิด...แล้วจะเกิดคำชื่นชม
ความดีที่สั่งสม...จะรื่นรมณ์สำราญใจ
คิดดีและพูดดี...ก็จะมีคนเลื่อมใส
ทำดีทำเรื่อยไป...ก็จะได้ในสิ่งดี
ความดีมีมากมาย...และทำได้ไนทุกที่
ทำได้ทุกนาที....และทุกที่ทุกเวลา
ทำดีให้มากไว้...ก็จะได้สมปรารถนา
อย่ารอวันเวลา...จงตั้งหน้าทำความดี                                                                                                                       รู้จักความเพียงพอ...อย่าร้องขอในสิ่งที่
เกินบุญบารมี...ที่เรานี้ได้ทำมา
  ทำดีทุกครั้งหน...อุทิศผลด้วยเถิดหนา
เจริญ จิตเมตตา...ภาวนาแผ่บุญไป
เจ้ากรรมและนายเวร...ให้ชัดเจนแผ่ไปให้
ล่วงเกินซึ่งกรรมใด...ก็ขอให้อภัยกัน
แผ่ไปให้ทุกทิศ....ทุกชีวิตทุกเผ่าพันธ์
ถ้วนทั่วทุกชนชั้น...ทุกคืนวันแบ่งปันไป
แล้วใจจะเป็นสุข...ไม่มีทุกข์จิตแจ่มใส
เจริญทั้งกายใจ...และจะได้ในสิ่งดี
 :016:ชื่นชมในสิ่งดีที่ท่านทั้งหลายได้ทำมา :015:
               เชื่อมั่น-ศรัทธาในความดี
                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๕.๓๗ น. ณ ริมฝั่งโขง ชายแดนประเทศไทย





596
 
 :054:ยินดีและปรีดา....ที่ได้มาพบหน้ากัน
สืบสานสายสัมพันธ์....สมานฉันท์ใจและกาย
เหล่าศิษย์วัดบางพระ...มาพบปะกันมากมาย
ได้คุยและทักทาย...มีจุดหมายที่ร่วมกัน
บูชาครูอาจารย์....คิดถึงท่านทุกคืนวัน
มาด้วยใจผูกพันธ์...เพราะเรานั้นศิษย์มีครู
ศูนย์รวมทางจิตใจ...ชักนำให้ได้เรียนรู้
ได้เห็นและได้ดู....และได้อยู่สานสัมพันธ์
ทุกครั้งที่มีงาน...ทุกทุกท่านต่างช่วยกัน
ร่วมแรงอย่างแข็งขัน...ช่วยเหลือกันทุกครั้งไป
ชื่นชมและยินดี...ที่ท่านมีซึ่งน้ำใจ
แล้วคงพบกันใหม่....คงจะได้ร่วมงานกัน
...งานเลี้ยงย่อมเลิกลา...กาลเวลาเปลี่ยนแปรผัน
ขอจงอย่าลืมกัน....สายสัมพันธ์อย่าเสื่อมคลาย
ร่วมแรงและร่วมใจ...ก้าวต่อไปเถิดหญิงชาย
เดินตามความมุ่งหมาย.....เพื่อสืบสายครูอารย์...
      :016:มอบแด่ศิยษ์วัดบางพระทุกๆท่าน...เนื่องในงานครบรอบ7ปีวันละสังขารของหลวงพ่อเปิ่น :015:
                                   :059:เชื่อมั่นและศรัทธาต่อศิษย์วัดบางพระทุกๆท่าน :059:
                                                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๙.๕๐ น. ณ กุฏิทรงไทยชายน้ำวัดบางพระ นครชัยศรี (ก่อนที่จะจากลา)

597
...ในยามดึกสงัด.....
เสียงพัดลมสี่ตัวดังประสาน
ในห้วงราตรีที่แสนจะยาวนาน(สำหรับผู้ที่กำลังรอ)
ผู้คนต่างหลับใหลด้วยความอ่อนล้า
เสียงปลาฮุบเหยื่อดังแว่วมา
แมว หมา ขดตัวซุกหาไออุ่น
ท่ามกลางความมืดมิดแห่งรติกาล
เสียงหนึ่งดังแว่วมาในราตรี
...."ยุงเยอะจริงๆ"....
แล้วทุกสิ่งก็กลับสู่ความปกติ
...เสียงพัดลม....
...เสียงบ่น...
...เสียงกรน...
...เสียงปลา...
ประสานผสมกันมาเป็นเสียงดนตรี
....ดนตรีแห่งชีวิต....
ท่วงทำนองลิขิตแห่งกระแสกรรม
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่จีรัง
เช้าวันใหม่ใกล้จะมา...
เสียงนกกาและเสียงเครื่องยนต์
ผู้คนเริ่มเคลื่อนไหวขยับกาย
ได้เวลาที่จะต้องตื่นนอน
แสงสีทองอ่อนๆเริ่มจับขอบฟ้า
เสียงสนทนาเริ่มจะดังขึ้น
"เมื่อคืนนอนไม่หลับเลย ยุงเยอะจริงๆ"
พระคุณเจ้า ญาติโยม แมว หมาต่างตื่นแล้ว
เสียงช้อนกระทบแก้วดังแว่วมา
พร้อมกับคำถามที่ว่า..."เอากาแฟสักแก้วไหมครับ"
เสีงตอบรับ"สักแก้วก็ดี เมื่อคืนนี้นอนไม่หล้บเลย"
พร้อมกับเสียงเปรยบ่นมาว่า"ยุงเยอะจริงๆ"
แล้วทุกสิ่งก็กลับสู่ความปกติ
...เสียงหัวเราะของฉันดังขึ้นในใจ...
เพราะคิดวลีใหม่ๆได้ขึ้นมาด้วยอารมณ์ขัน
วลีที่ว่านั้น"คนหลายใจไม่น่ากลัว  ยุงหลายตัวน่ากลัวกว่า"
...สวัสดีเช้าวันใหม่....
 :016:ขอบใจยุงหลายตัวที่ช่วยปลุกให้ตื่นเช้า :015:
         :059:รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม :059:
๓๐ มิถุนาน ๒๕๕๒ เวลา ๐๔.๕๗ น. ณ กุฏิทรงไทยชายน้ำวัดบางพระ  นครชัยศรี

598
บทความ บทกวี / บทเพลงจากใบไม้
« เมื่อ: 30 มิ.ย. 2552, 12:43:35 »

 :054:...ใบไม้เอย.....
ยามเจ้าอยู่บนกิ่งใบให้คุณค่า
สร้างสีสรรค์สดใสให้งามตา
ให้ผืนป่าเขียววีมีพลัง
และเจ้ายังเป็นเครื่องฟอกอากาศให้โลกด้วย
สดสวยและมีคุณค่ามหาศาล..
.........ใบไม้เอย......
ถึงกาลเวลาก็ร่วงหล่นลงสู่พื้น
ไม่ยั่งยืนเป็นไปตามกาลเวลา
แต่เจ้ายังให้คุณค่าตอบแทนแก่แผ่นดิน
ถิ่นที่ให้เจ้าได้กำเนิดมา
ร่วงหล่นทับถมมาเป็นปุ๋ยมายา
ให้ต้นไม้ได้ซึมซับและดูดกิน
..........คนเอย......
ล่วงเลยชีวิตมายาวนาน
กาลเวลาที่พ้นผ่านมานั้น
ท่านได้ทำประโยชน์อะไรต่อชีวิตมาบ้าง
เคยสร้างประโยชน์ต่อสังคมแล้วหรือยัง
จงมองย้อยไปดูข้างหลังที่ท่านได้ผ่านมา
ชีวิตนี้มีคุณค่าแล้วหรือยัง
...........คนเอย.................
ชีวิตอย่าได้ไร้ค่ากว่าใบไม้
อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไร้ประโยชน์
อย่ามัวแต่โทษดวงชะตาและวาสนาของตนเอง
จงทำชีวิตนี้ให้มีค่ากว่าใบไม้
จงเร่งขวนขวายเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
สร้างสรรค์ผลงานให้มีค่าแก่ชีวิตที่เหลืออยู่
..........คนเอย....ใบไม้เอย....
.........ต่างมีคุณค่าเท่าเทียมกัน.............
 :016:เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต :015:
           :059:รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม :015:
๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐.๔๒ น. ณ กุฏิทรงไทยชายน้ำวัดบางพระ นครชัยศรี

599

 :054:สิบนิ้วน้อย  ประนม   ก้มลงกราบ
ตรงหน้าภาพ    หลวงปู่    ผู้สั่งสอน
ขอบูชา    พระคุณครู     ด้วยบทกลอน
เมื่อกาลก่อน   ผ่านมา   ยังตราตรึง
       "พระอุดม-ประชานาถ"  ประกาศคุณ
ท่านการุณ   เมตตา  เป็นที่พึ่ง
ของผู้ที่   ศรัทธา  เดินมาถึง
เป็นที่พึ่ง   ของประชา  มานมนาน
       มาวันนี้    ที่สามสิบ    มิถุนา
เป็นเวลา   เจ็ดปี    ที่พ้นผ่าน
"หลวงพ่อเปิ่น"  ท่านละ   ซึ่งสังขาร
เหล่าลูกหลาน    จึงมา   พร้อมหน้ากัน
     บำเพ็ญบุญ    ทักษิณา   บูชาพระ
ในวาระ     ครบรอบ    สังขารขันธ์
ที่ท่านละ    เหมือนผ่านไป    ไม่กี่วัน
พระคุณท่าน   ยังอยู่    คู่กับใจ
     ความเมตตา     ปราณี    ที่ได้รับ
สุดจะนับ    คาดการ    ประมาณได้
บุญคุณนั้น    อยู่ในจิต   ประทับใจ
แม้ผ่านไป   "เจ็ดปี"นั้น  ไม่สั่นคลอน 
    จะสืบทอด    เจตนา   ครูอาจารย์
ตามที่ท่าน    เมตตา   ได้สั่งสอน
"การสักยันต์"  ตามลำดับ   และขั้นตอน
กราบขอพร   "หลวงพ่อเปิ่น"  ผู้ปราณี
    อักขระ    เลขยันต์    นั้นจงขลัง
มีพลัง     คุ้มครอง   ไปทุกที่
และส่งเสริม   ให้พบ   กับสิ่งดี
และจงมี    ฃีวิต   จิตใจงาม
    จะทำการ    สิ่งใด   ให้สำเร็จ
จนแล้วเสร็จ    อย่าให้   ใครเขาหยาม
เราศิษย์วัด-บางพระ  ประกาศนาม
จะเดินตาม เจตนา   ครูอาจารย์....
        :054:ระลึกถึงเมตตาคุณ"พระอุดมประชานาถ"(หลวงพ่อเปิ่น)เนื่องในโอกาศครบรอบเจ็ดปีที่ท่านได้ละสังขาร :054:
                                                      เชื่อมั่น-ศรัทธา-บูชาครู
                                                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๒.๒๘ น. ณ กุฏิชายน้ำวัดบางพระ  นครชัยศรี
 
   


     

       

600
บทความ บทกวี / บทเพลงแห่งสายน้ำ
« เมื่อ: 29 มิ.ย. 2552, 08:40:11 »
 :059:ล่องลอยตามกระแส.....ความผันแปรสายน้ำไหล
เคลื่อนคล้อยและลอยไป.....ตามแรงไหลของธารา
ผักตบเศษสวะ...และขยะต่างลอยมา
สายน้ำไม่งามตา...สายธารานามท่าจีน
    เลื่อนคล้อยและลอยผ่าน....มาเนิ่นนานนิจศีล
ใกล้ตาแต่ไกลตีน....น้าท่าจีนมีหลายนาม
ผ่านวัดมะขามเฒ่า...ฉันจึงเข้าไปสอบถาม
เสาะหาพยายาม...จึงทราบนาม"น้ำชัยนาท"
แวะไหว้หลวงปู่ศุข....แล้วรีบลุกตามโอกาศ
ทำตามความสามารถ...มิให้พลาดเมื่อผ่านมา
     ลอยล่องมาเรื่อยเรื่อย....เพราะเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้า
แรมรอนสัญจรมา....มีนามว่า"น้ำสุพรรณ"
เหลียวมองทั้งสองฝั่ง....มีความหลังที่น่าขัน
คนดังเมืองสุพรรณ....ชื่อว่าบรร-หารแจ่มใส
ลูกสาวชื่อหนูนา....มีหน้าตางามวิไลย์
แต่รู้ว่าลูกใคร....ก็เลยไม่กล้าสบตา
รีบจรก่อนลำบาก....เพราะไม่อยากมีปัญหา
ลาแล้วนะแก้วตา....ไว้ชาติหน้าค่อยพบกัน
    สายน้ำไหลเอื่อยเอื่อย....ไหลเรื่อยเรื่อยอยู่อย่างนั้น
ผ่านมาหลายคืนวัน....แม่น้ำนั้นนามเปลี่ยนไป
"แม่น้ำนครชัยศรี"....น้ำสายนี้มีนามใหม่
จำได้ติดตรึงใจ...เพราะว่าได้คุ้นเคยกัน
เพราะผ่าน"วัดบางพระ"....แหล่งธรรมะสมานฉันท์
ศูนย์รวมสายสัมพันธ์...สายเลขยันต์"หลวงพ่อเปิ่น"
ขอพรกราบหลวงพ่อ...ด้วยลูกขอความเจริญ
ขอให้ลูกเพลิดเพลิน....และเจริญนทางธรรม
     สายน้ำไม่หยุดนิ่ง....ทุกทุกสิ่งกระแสกรรม
เกิดจากที่เราทำ...จะน้อมนำผลตามมา
ทำดีจะมีสุข...ทำชั่วทุกข์ต้องโศกา
ผลกรรมจะนำพา...เราต้องมาชดใช้กรรม
   ผ่านไปชื่อใหม่มา...มีนามว่า"สมุทรสาคร"
ผ่านไปเป็นตอนตอน...เขียนเป็นกลอนสู่กันฟัง.....
 :016:แด่สายน้ำสายฃีวิต...แด่ความคิด....แด่การกระทำ :015:
                        ปรารถนาดีและไมตรีจิต
                         รวี สัจะ-สมณะไร้นาม
๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๘.๓๙ น. ณ ริมสายน้ำนครชัยศรี




601
 :054:"รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม"แต่ยังไม่ได้ทำ เพราะมัวไปหลงกล่าวธรรม ธรรมที่รู้ ธรรมที่เห็น และธรรมที่เข้าใจ จึงไม่เป็นรูปธรรม
 เพราะยังมิได้ตั้งไว้ทรงอยู่ใธรรมที่รู้ที่เห็นที่เข้าใจ จึงเพียงได้แต่สัญญาในธรรม คือการจำได้หมายรู้ มิได้ทรงอยู่ เพราะขาดการกระทำที่ต่อเนื่อง....กิเลสมารมันหลอกให้เราหลงทางเสียเวลาไป หลงดีใจ ภูมิใจ ตามกิเลสไม่ทัน จึงกล่าวธรรมเพื่อสนองตัณหา คืออยากที่จะให้ผู้ฟังได้รู้และเข้าใจแล้วนำไปปฏิบัติ มิได้กล่าวธรรมเพื่อธรรม เพราะจิตเข้าไปหวังผลในการกล่าวธรรม เสียเวลาไปหลายปี เพียงเพราะขาดสติไม่ถึงเสี้ยวนาที.....คงต้องกลับมาเริ่มใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะลบสัญญาเก่าๆได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว จิตมันปรุงแต่งในอารมณ์ มันไปรู้ก่อนที่สภาวะธรรมจะเกิด ต้องแก้ไขปรับปรุง ควบคุมจิตให้มากขึ้นกว่าเดิม  เพื่อจะให้พบทางเก่าที่เราเคยเดิน ซึ่งเราทิ้งไปนาน ทางมันจึงลางเลือน
ไม่ชัดเจน คงต้องค่อยเป็นค่อยไป คลำทางต่อไปจนกว่าจะเจอ...
 :059:นึกถึงน้ำในถังที่ตั้งลืมไว้กลางแดด มันมีแต่จะเหือดแห้งระเหยไป เพราะความร้อนจากแสงแดดที่แผดเผา มันจะระเหยไปทุกวัน
ซึ่งกว่าจะรู้ตัวระลึกได้ น้ำในถังมันก็เหือดแห้งไปหมดแล้ว เหลือแต่ถังเปล่าที่ไม่มีน้ำ ต้องเสาะหาน้ำมาใหม่ มาใส่ให้เต็ม และนำถังไปเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสม หมั่นดูแลรักษาและเติมน้ำให้เต็มอยู่เสมอ....
 :059:แด่ความน้อยเนื้อต่ำใจในขณะแสดงธรรม :059:
                เชื่อมั่น-ศรัทธาในทางธรรม
                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
 :054:บทความบทนี้เขียนไว้เมื่อ วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๓๖ ก่อนที่จะออกจากวัดถ้ำเสือวิปัสสนา จังหวัดกระบี่ เพื่อไปหาที่เก็บตัวปฏิบัติธรรม
 :059:และความรู้สึกนี้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง ขณะนั่งอยู่บนธรรมมาสน์เพื่อรอผู้ปฏิบัติธรรม(เพราะเลยเวลาที่กำหนดไว้ไปมาก)จึงได้พิจารณา
          อารมณ์ที่เกิดขึ้นและดับมันได้อย่างรวดเร็ว
๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๒.๐๗ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

602
        อายันตุโภนโต   เทวะสังฆาโย  ข้าแต่ฝูงเทพนิกร  อมรพรหมมินธ์  อัมรินทราธิราช   สัคเคกาเม  ซึ่งสิงสถิตย์  ทิพย์พิมานมาศ
เมืองสวรรค์  ฉ้อชั้นกามาพจร  ทั้งเทพเจ้าอันมี  มเหศวรศักดาเดช  อันสิงอยู่ในขอบเขตเขาจักวาล   จันตะลิเขวิมาเน  อีกทั้งอากาศพิมาน
ภูมิเทวดาเป็นอาทิ   ทั้งท้าววตรัฐ  ท้าววิรุณหก  ท้าววิรูปักษ์  ท้าวกุเวรุราช  อันเป็นใหญ่แก่คนธรรพ์  กุมภัณฑ์อนันตนาค  ยักษ์เสนาบดี
ฝูงผีโขมดมารยา  แม่ห่าเหวโหงพราย  อสุรกายอันร้ายกาจ  พวกภูตปีศาจ  ผีเสื้อน้ำ  เจ้าประเทศเถื่อนถ้ำ  ทุกเถินเขา  ทุกถิ่นแถวลำเนา
ห้วยหนองคลองละหาน  ธารท่าแลป่าชัฏ  ทั้งพระพนัศบดี  ศรีพรหมรักษ์  ยักษ์กุมาร  พระกาลพระกาลี  นางพระธรณี  นางพระคงคา
เทพยดา เสื้อเมือง ทรงเมือง หลักเมือง  ผู้มีมหิทธิฤทธิ์  เทพเจ้าอันสถิตย์  ทุกประเทศแว่นแคว้น  แสนโกฏิจักรวาล  ทวีปน้อยใหญ่
ไตรโลกธาตุ  เชิญเสด็จลงมา  สโมสรสันนิบาต  ประชุมให้พร้อมกัน  แล้วจงโปรดรับเครื่องสังเวยพลีกรรม  อันข้าพเจ้าน้อมนำถวาย
       ขอนมัสการ พระภูมิธิบดี  ผู้มีมหิทธิฤทธิ์  จงเสด็จมาสถิตย์  ณ.อาศน์อันปูลาดวิจิตรบรรจง  สู่มณฑลตำแหน่ง  ที่ข้าพเจ้าตกแต่งถวาย
เพื่อความสบายมงคลเจริญ  ขอเชิญพระภูมิจงปราโมทย์  โปรดรับเครื่องสังเวยพลี  จงมีพระทัยเมตตา  รับเครื่องบูชา  ทั้งธูปเทียนมาลา
อันข้าพเจ้าจำนงค์เนียน  น้อมนำถวาย  สรรพอุปัทวอันตราย  อย่าได้มาแผ้วพาน  ขอบเขตสถาน  ณ.ที่นี้  ขอพระภูมิจงให้ศรีสวัสดิ์แก่
......(ชื่อเจ้าของบ้าน).........ผู้เป็นเจ้าของบ้าน  ให้เกษมสำราญสถาผล  เจริญชนมายุ  บรรลุดังปรารถนา  ทั้งโรคาอย่าได้แผ้วพาน  ให้เกิด
ความรำคราญเดือดร้อน  จงสถาพร  เป็นสุขทุกเมื่อเทอญ  อายุ  วรรณะ  สุขะ  พละ...
        ภูมิมัส์มิง  ทิศาภาเค  สันติ  ภุมมา  มหิทธิกา  เตปิตุมเห  อะนุรักขันตุ  อาโรคะเยนะ สุเขนะจะ  สูปะพะยัญชะนะสัมปันนัง ปริภุญชันตุ
เทวะตา  ชัยยะมังคะลานุภาเวนะ  สัพพะโสตถี  ภะวันตุเต....

603
บทความ บทกวี / "แหลมมากจะหักก่อน"
« เมื่อ: 23 มิ.ย. 2552, 11:30:03 »
 :059:ที่แหลมมากจะหักก่อน       ที่คมมากจะบิ่นก่อน
          ส่วนที่ทู่อยู่ได้นาน            ส่วนที่ทื่อไม่บิ่นทันควัน
          ปทุมที่ชูช่อจะถูกเด็ดไปก่อน.........................
          ..................อุบลใต้ใบอยู่ได้จนบาน
     ผู้ที่โดดเด่นตั้งแต่หนุ่ม   จะถูกเด็ดไปในเวลาอันรวดเร็ว
         ผู้ที่อยากจะอยู่ทน        จงอย่าแหลมให้มาก
         ......อย่าคมให้มาก       อย่าชูช่อให้มาก
    รู้จักเซ่อ  ในกาละและเทศะอันสมควร.....................
    ........................จะสามรถอยู่ได้นานอย่างมั่นคง
   ชอบอวดฉลาดจะเสียผล
         แกล้งโง่ไม่เป็น           เป็นใหญ่ยาก
         แกล้งบ้าไม่เป็น           ทำงานใหญ่ไม่ได้
         มั่นใจในตนเองมากเกินไป  จะฉิบหายในเวลาอันรวดเร็ว
   เรือจะออกทะเลยังต้องดูทิศทางลม
         ยังไม่ถึงเวลาอันสมควร   อย่าแสดงความสามารถให้ปรากฏ
                                        พระชุมพล   พลปญฺโญ
                                         ๒ มิถุนายน  ๒๕๓๗
 :054:เป็นบทกวีที่เพื่อนสหธรรมิก มอบให้ไว้ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๗ ณ ถ้ำตับเตา อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะแยกย้ายจากกัน เป็นคำเตือนสติด้วยความปรารถนาดีจากสหธรรมิกที่เคยร่วมปฏิบัติกันมา เคยสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทางธรรมเป็นประจำในสมัยที่ปฏิบัติธรรมร่วมกันที่วัดถ้ำเสือวิปัสสนา จังหวัดกระบี่  ซึ่งในยุคนั้นข้าพเจ้าเป็นดาวรุ่งที่พุ่งแรงเปิดตัวมาได้ ๕ ปี กำลังมีชื่อเสียง
และหลังจากงานฉลองอายุหลวงพ่อจำเนียร สีลเสฏโฐ(วันที่ ๑ พฤษภา ๒๕๓๗)ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจออกเดินธุดงค์จากจังหวัดกระบี่ขึ้นสู่ภาคเหนือ และได้มาเจอท่านชุมพล ที่ถ้ำตับเตา อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่  ท่านชุมพลได้เขียนบทกวีบทนี้ใส่กระดาษสมุดนักเรียนมา
มอบให้ข้าพเจ้าก่อนที่เราจะจากกัน ซึ่งมันมีค่ามากสำหรับข้าพเจ้าและข้าพเจ้าได้เก็บรักษากระดาษแผ่นนั้นมาจนทุกวันนี้ และจดจำบทกวีบทนี้จนขึ้นใจ ใช้เตือนตนอยู่เสมอมาจนถึงทุกวันนี้ ขอขอบคุณความปรารถนาดีและไมตรีจิตที่เพื่อนสหธรรมิกได้มอบให้.......
                   :016:แด่ความปารถนาดีและไมตรีจิตที่มิตรมอบให้ :015:
                                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๓.๒๑ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง  อุทัยธานี
 :054:ขออภัยพระอาจารย์ชุมพล  พลปญฺโญ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย   ที่นำบทกวีนี้มาเผยแผ่ ด้วยเล็งเห็นว่าเป็นข้อคิดคติธรรมที่มีสาระและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ได้อ่านและพิจารณาตาม  :054:

604
บทความ บทกวี / ....นี่แหละคน....
« เมื่อ: 23 มิ.ย. 2552, 04:06:37 »
 :059:คำว่า"คน" คือคลุกเคล้า  ให้เข้ากัน
สารพัน สารพัด จะจัดหา
มาหล่อรวม  ร่วมไว้  ในโลกา
นี่ละนา  นี่ละหนา    คำว่า"คน"
    โลกสับสน   วุ่นวาย   มาหลายยุค
ให้เกิดทุกข์    โทษภัย   มาหลายหน
เพราะต่างคน   ต่างเอา   แต่ใจตน
ไร้เหตุผล      จนต้อง    ทะเลาะกัน
    เพราะทิฏฐิ    อัตตา   และมานะ
ไม่ยอมละ    หันมา      สมานฉันท์
ต่างยึดถือ    ความเห็น   เป็นสำคัญ
แตกแยกกัน   ไปทั่ว      ทุกมุมเมือง
    เพราะมุมมอง   สองฝ่าย   นั้นแตกต่าง
ไม่ละวาง    วุ่นวาย    ไปทุกเรื่อง
ถกเถียงกัน  จนกลาย   เป็นแค้นเคือง
ผลสืบเนื่อง    จากอัตตา   อุปาทาน
    เพราะคนเพียง   รู้ธรรม   แต่ไม่ทำ
เพียงแต่นำ    มากล่าว    และเล่าขาน
เพียงจำได้     หมายรู้     วิชาการ
จิตวิญญาน    นั้นขาด     คุณธรรม
   ขาด"หิริ"  ความอาย   ในส่งชั่ว
ไม่เกรงกลัว "โอตับปะ"   จึงถลำ
ให้ความโลภ  นั้นมา      เข้าครอบงำ
จึงตกต่ำ     จากมนุษย์   มาเป็น"คน"
  :054:"เป็นมนุษย์   เป็นได้   เพราะใจสูง
เหมือนนกยูง    มีดี     ที่แววขน
ถ้าใจต่ำ    เป็นได้   แค่เพียงคน"
จึงสับสน     วุ่นวาย    ตลอดมา...
 :059:แด่ความสับสนและวุ่นวาย :059:
            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๖.๐๔ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี
  :016:บทกวีที่เขียนมานี้เป็นเนื้อเพลงที่แต่งให้กับรุ่นน้องคนหนึ่งเพื่อนำไปใช้ขับขาน :015:


605
 :053:เพราะอัตตาและอุปาทานเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเห็นที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักธรรม คนส่วนใหญ่จะไม่ยอมเปลี่ยนความคิด
ความรู้ความเข้าใจเข้าหาหลักธรรม  แต่มักจะพยายามแก้ไขตีความหลักธรรมให้มาสงเคราะห์รองรับความคิดเห็นของตน  สิ่งนั้นทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความจริง เพราะหลักธรรมทั้งหลายนั้นมันมีมาก่อนแล้วคู่กับโลก  มันเป็นกฏของธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง ถูกต้อง
และดีงามอยู่แล้ว  แต่ความคิดความเห็นของเรานั้นมันเกิดจากการปรุงแต่งเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ของจริงตามธรรมชาติ  ความผิดพลาด  ความ
ขัดแย้งจึงเกิดขึ้น เพราะเราเข้าไปยึดถือในอัตตาและอุปาทานของเรา
     การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าจะให้พบของจริง ต้องละทิ้งอัตตาและอุปาทานที่เป็นตัวปิดบังความเป็นจริงออกเสียก่อน  ทำให้มันแจ้งมันสว่าง แล้วเราจะได้เห็นสภาพแห่งความเป็นจริงของสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง  แต่การถอนมานะ การละทิฏฐินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มันเป็นเรื่องยากสำหรับนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย  ตราบใดที่เรายังไม่เกิดธรรมสังเวชในกายมันก็ยังละไม่ได้ในอัตตา และถ้ายังไม่เกิดธรรมสังเวชในเวทนามันก็ละไม่ได้ซึ่งอุปาทาน
    เราท่านทั้งหลายต้องเพียรพยายาม ทำให้แจ้งชัดในฐานกาย แล้วเราจะเข้าใจในฐานเวทนาและจะนำพาไปสู่ฐานจิตและฐานธรรมตามลำดับ
ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่พื้นฐาน ถ้าพื้นฐานมั่นคง มันจะส่งผลสู่ชั้นต่อไปให้มั่นคงตาม  การปฏิบัติต้องเป็นไปตามขั้นตอน ไม่ควรใจร้อนหวังผลความสำเร็จโดยฉับไว ค่อยๆเป็นค่อยๆไป สั่งสมกำลัง อบรมอินทรีย์ สร้างบารมีไปเรื่อยๆจนมันเต็ม แล้วเราจะพบกับความสำเร็จอย่างแน่นอน
                   :016:แด่ความเห็นที่ขัดแย้ง...ที่ทำให้แจ้งในทางธรรม :015:
                                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๕.๑๖ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี
 :069:บทความอุทานธรรมในยามบ่าย...เกิดจากที่ต้องไปเป็นกรรมการตัดสินความ ให้กับผู้ปฏิบัติธรรมที่เกิดความเห็นขัดแย้งกัน ในสิ่งเดียวกัน
เพราะต่างคน ต่างยึดถือในสิ่งที่ตนรู้และเข้าใจ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น คิดว่าสิ่งที่ตนได้พบได้เห็นและเข้าใจนั้เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด
ถ้าเห็นแตกต่างไปจากตนแล้วสิ่งนั้นผิด เลยต้องเข้าไปอธิบายให้ทั้งสองฝ่ายได้เข้าใจ ว่าทำไมแต่ละคนจึงมีความเห็นที่แตกต่างกัน จนเป็นที่เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย จึงได้เป็นที่มาของ"อุทานธรรมในยามบ่าย"

606
บทความ บทกวี / อุทานธรรมในยามเช้า
« เมื่อ: 21 มิ.ย. 2552, 06:53:37 »
 :054:กิเลสนั้นมันยังมีอยู่คู่กับโลก แต่เราไม่รู้ไม่เห็น เพราะว่ามันซ่อนอยู่ มันหลับอยู่ มันโดนกดทับอยู่ รอเวลาที่เราเผลอและรอเวลาที่มันตื่นเมื่อมีการปลุกเร้า กิเลสมันเหมือนเชื้อโรคร้ายในกายเรา มันสั่งสมฝักตัวอยู่ รอเวลาที่ร่างกายเราอ่อนแอไร้ภูมิต้านทาน หรือว่าอาหารที่แสลงต่อโรค มันก็จะแสดงผลออกมาให้เห็น
         กิเลสก็เช่นเดียวกัน มันรอวันเวลาที่จะถูกกระตุ้นให้ตื่นโดยผัสสะ คือสิ่งที่มากระทบทั้งหลาย และบางคร้งถ้าไม่มีผัสสะที่ไม่สนองต่อกิเลสนั้น มันก็ไม่แสดงออกมา จนทำให้เราไม่เห็นมัน ไม่คุ้นเคยกับมัน จนคิดว่ามันไม่มีกิเลสแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว  ตราบใดที่สติและสัมปชัญญะของเรายังไม่เต็มรอบเป็น"มหาสติปัฏฐาน"แล้ว ก็ยังมีช่องว่างให้กิเลสที่จรมาเข้าไปพักอาศัย และถ้าองค์แห่งคุณธรรมภายในยังไม่เข้มแข็งพอ ก็ย่อมมีโอกาศที่พลาดเผลอให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตได้
       เราต้องเพิ่มกำลังของสติและสัมปชัญญะให้มากขึ้น ระลึกรู้ให้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกทั้งหลายทั้งภายนอกและภายใน รู้จักข่มใจและยับยั้ง โดยการพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นภัยเห็นโทษ และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ในอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ให้เท่าทัน รวดเร็วและฉับไวในสิ่งที่มากระทบ ให้ชำนาญจนเป็นความเคยชิน ในการคิดพิจารณาโดยการฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา ให้สมกับคำที่ว่า"เพียรเผากิเลสให้เร้าร้อน จนมันซ่อนอยู่ไม่ได้"
                :059:แด่อารมณ์ธรรมในยามเช้าที่ปลุกเร้ากิเลสให้ปรากฏออกมาให้เห็น :059:
                                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๕๔ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง  อุทัยธานี
 :016:เมฆน้อย ลอยเลื่อน  เคลื่อนไหว
ผ่านไป   ด้วยแรง    ลมส่ง
เปิดฟ้า  วันใหม่     มั่นคง
ยืนยง    คู่โลก      ยาวนาน
    โชคดี   ที่ยัง    หายใจ
วันใหม่   ยังได้     เล่าขาน
ชีวิต     ยังคง       เบิกบาน
สำราญ   ด้วยธรรม   นำทาง
   ชีวิต   ที่ยัง    เหลืออยู่
เรียนรู้   ที่จะ     สรรค์สร้าง
ถึงการ    รู้จัก    ละวาง
ตามอย่าง  แนวทาง  ข้อวัตร
   ศึกษา  พระธรรม  คำสอน
มาก่อน   จึงจะ   ปฏิบัติ
ธรรมนั้น   ไม่มี    ทางลัด
ฝึกหัด     ไปตาม  ขั้นตอน
   สั่งสม    อบรม   อินทรีย์
สติ      ต้องดี     เสียก่อน
สำรวม   อินทรีย์   สังวร
ถอดถอน   ตัณหา   อุปาทาน
   เดินตาม   แนวทาง  พุทธะ
ตามหลัก   ไปอย่าง   อาจหาญ
สิ่งนี้   นั้นคือ    การงาน
สืบสาน  เส้นทาง   สายธรรม...
    :016:แด่ความโชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่ :015:
               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม

607
 :053:เมื่อแสงเงิน  แสงทอง   ส่องขอบฟ้า
สกุณา   ขับขาน   ประสานเสียง
จึงลิขิต   คำถ้อย    มาร้อยเรียง
ด้วยหวังเพียง   บันทึกธรรม  ตามเวลา
        บรรยายธรรม   นำเสนอ   ในยามเช้า
เพื่อปลุกเร้า   เตือนใจ    ผู้ใฝ่หา
บรรยายธรรม  ตามธรรม   ที่ทำมา
ปรารถนา     ความเจริญ    ซึ่งทางธรรม
       ชี้ให้เห็น  ทุกข์ภัย    ในอกุศล
เพื่อผู้คน   จะได้    ไม่ตกต่ำ
ให้ละอาย  และกลัว  ในบาปกรรม
ช่วยชี้นำ   ตามหน้าที่   ที่มีมา
      จึงกล่าวธรรม  เพื่อธรรม   ทำหน้าที่
พรหมวิหาร    นั้นมี    อุเบกขา
ทำหน้าที่  ตามธรรม   องค์สัมมา
ตามเวลา    และโอกาศ   ที่พึงมี
      ตื่นขึ้นมา   ยามเช้า   เฝ้าดูจิต
สร้างนิมิต    ปรับใจ   ให้สดศรี
เริ่มวันใหม่   ปรับใจ   ให้มันดี
เพื่อสิ่งที่    ดีดี    จะได้มา
      เพื่อเป็นเหตุ   และปัจจัย   ในชีวิต
เพื่อปรับจิต   เครื่องรับ   ให้มีค่า
สิ่งที่ดี    ต่างต่าง    จะเข้ามา
ก็เพราะว่า   เครื่องรับ   ของเราดี
    เริ่มวันใหม่   ด้วยใจ  เป็นกุศล
สร้างมงคล    ชีวิต    ด้วยจิตที่
ประกอบด้วย  เมตตา   และปราณี
สร้างความดี   เพื่อรับ    แสงอรุณ...
             :016:แด่เช้าวันใหม่ด้วยดวงใจใฝ่หาธรรม :015:
                              รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๐๙ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง  อุทัยธานี

608
บทความ บทกวี / บทเพลงแห่งจิตสำนึก
« เมื่อ: 19 มิ.ย. 2552, 06:32:37 »
 :114:หลายหลากมากพันธุ์ไม้...ป่าพงไพรเขียวขจี
สัตว์ป่าก็มากมี...ทุกถิ่นที่อุทยาน
ฝนมาป่าสดใส...หมู่แมกไม้ก็เบ่งบาน
เรไรร้องขับขาน...เพื่อสืบสานสายสัมพันธ์
คุณค่าของป่าไม้...ช่วยโลกได้มากมหันต์
โลกร้อนขึ้นทุกวัน...เพราะป่านั้นถูกทำลาย
มนุษย์ทำลายป่า...ด้วยตัณหาพาฉิบหาย
ผืนป่ามาวอดวาย...ให้เสียหายทั่วโลกา
 :089:ปลูกไม้คนละต้น...ทุกแห่งหนกันเถิดหนา
พลิกฝื้นผืนพนา...ให้โลกาได้ร่มเย็น
ป่าไม้ให้คุณค่า...ที่ผ่านมาได้พบเห็น
ช่วยโลกให้ร่มเย็น...ให้โลกเป็นสีเขียวกัน
 :059:ปลูกป่าปลูกสำนึก...ความรู้สึกที่สร้างสรรค์
ปลูกใจสายสัมพันธ์...ให้โลกนั้นสามัคคี
เริ่มจากตัวเราก่อน...ขอวิงวอนเถิดน้องพี่
ปลูกใจให้ใฝ่ดี...ต้องเริ่มที่ตัวของเรา
 :060:รู้จักการละวาง...ทำลายล้างความโง่เขลา
อย่าเป็นคนหูเบา...ให้ใครเขาปั่นหัวกัน
เชื่อมั่นในความดี...สร้างไมตรีสมานฉันท์
อภัยให้แก่กัน...แล้วโลกนั้นจะงดงาม....
 :016:แด่ผืนป่าห้วยขาแข้งแหล่งเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม :015:
                      ด้วยความปรารถนาดีแลไมตรีจิต
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๘.๓๒ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

609
กราบนมัสการหลวงพี่ครับ อยากให้แนะนำเรื่องนั่งสมาธิอีกครับ ช่วงนี้นั่งแล้วไม่คืบหน้าไปไหน แถมเหมือนถอยหลังด้วยครับ

:053:การที่เราปฏิบัติธรรมแล้วความเจริญในธรรมไม่บังเกิดขึ้นนั้นล้วนแล้วแต่มีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้นซึ่งพอจะสรุปโดยย่อได้ดังนี้
๑.สภาวะความไม่พร้อมของใจ คือเราฝืนใจทำทั้งที่ใจเรายังไม่พร้อม มันเลยขาด"ฉันทะ"ความพึงพอใจในการปฏิบัติ ทำแล้วจะเกิดความอึดอัดฟุ้งซ่าน หงุดหงิด จิตไม่สงบ ซึ่งมีแนวทางแก้ไขดังนี้คือ เราต้องปรับใจของเราให้มีความพร้อมเสียก่อน โดยใช้กุศโลบายหลอกจิต คือว่าภาวนาทันทีที่นั่ง  ให้เรานั่งคิดระลึกนึกถึงคุณงามความดีที่เราเคยได้กระทำมาที่มันประทับใจเรา คิดถึงแล้วมันสุขใจ สบายใจเกิดปิติภาคภูมิใจในสิ่งที่เราได้ทำไปแล้ว เรียกว่าการชักนำจิตมาสู่กุศลจิต มันจะเกิดความยินดีและมีศรัทธาขึ้นมาทันที เมื่อเรารู้สึกสบายใจแล้วจึงค่อยหันมาภาวนาต่อไป
๒.ตั้งจิตหนักเกินไป(ตั้งใจทำมากเกิดไป) มันทำให้เป็นการกดดันตัวเอง เรียกว่าเราไปกดจิตของเราให้มันนิ่งในทันที เพราะเรามีความอยากมากเกินไปคืออยากจะให้มันสงบในทันที ทั้งที่มันยังไม่พร้อม  เหมือนรถยนต์เราอยากจะให้มันออกตัวเร็วเร่งความเร็วเป็น100ในทันที เข้าเกียร์5เลย มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องค่อยๆเรงความเร็วขึ้นไปตามลำดับ ไล่เกียร์ไปตามลำดับ1 2 3 4 5 เพื่อปรับเครื่องยนต์ให้มีความพร้อม ไม่งั้นเครื่องมันจะพัง เกียร์มันจะเสีย  ถ้าเราไปกดจิตมันจะเกิดอาการ แน่นอึดอัดที่ทรวงอก มึนศีรษะ ร้อนที่หน้าท้อง หายใจไม่คล่อง  ที่เป็นเช่นนี้เพราะธาตุในกายเรามันเริ่มจะผิดปกติ ปั่นปว่น เกิดจากธาตุลมที่เราเข้าไปบังคับให้มันเข้าให้มันออก มันไม่ได้เข้าออกตามปกติตามจังหวะของมัน มันเลยพลอยทำให้ธาตุอื่นปั่นป่วนไปด้วย...การแก้ไขคือให้เราทำใจสบายๆค่อยๆดูค่อยๆภาวนา ทันบ้างไม่ทันบ้างก็ตามดูไปเรื่อยๆไม่ท้งมัน จนตามทันลมหายใจของเรา
๓.เราเกร็งและเคร่งเกินไปทำให้เกิดความเครียด และอาการปวดเมื่อยตามร่างกายขึ้นมา ซึ่งเกิดจากการเกร็งกล้ามเนื้อโดยที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ดี
เช่นถ้าเราไปเกร็งที่แขน เพื่อให้ท่านั่งวงแขนมันดูดี มันก็จะปวดที่ไหล่ สะบักและต้นคอ ถ้าเราไปเกร็งกล้ามเนื้อที่หน้าท้อง เพื่อจะให้ตั้งกายให้นั่งตัวตรง เราก็จะปวดที่หลังที่สะเอว เพราะว่ากล้ามเนื้อที่หน้าท้องมันจะดึงไป  และถ้าเราไปเกร็งที่ขาเพื่อให้นั่งเรียบสนิทติดกับพื้น มันก็จะปวดหน้าขาและสะบ้าหัวเข่า  การแก้ไขก็คือเมื่อเราลงมือนั่งให้เราปรับกายของเราเสียก่อนคือให้หายใจเข้าสุดกำลังให้ท้องมันพองเต็มที่ แล้วหายใจออกให้สุดกำลังให้หน้าท้องมันยุบลงเต็มที่ เพื่อปรับกล้ามเนื้อที่หน้าท้องให้มันได้ผ่อนคลาย แล้วเดินจิตให้ทั่วกาย คือให้ระลึกนึกถึงตัวเราตั้งแต่หัวจรดเท้าทำความรู้สึกให้รู้ตัวทั่วพร้อมซึ่งเป็นการเพิ่มสัมปชัญญะ เรียกว่าเอาจิตมาคลุมกาย แล้วมาทำความรู้สึกเหมือนเราปลดปล่อยน้ำหนักของเราลงสู่เบื้องล่าง
เรียกว่าทิ้งน้ำหนักทั้งตัวลงสู่พื้นที่สัมผัส  มันจะทำให้เราลดการเกร็งลงไปได้
๔.เราดับอารมณ์เก่าได้ไม่หมดเรียกว่ายังมีอารมณ์ค้าง เวลานั่งภาวนามันจะคิดฟุ้งซ่านเรื่อยเปื่อยไม่ยอมหยุด เราต้องแก้โดยใช้จิตถามจิด แบ่งตัวเราออกเป็นสองความคิด จิตหนึ่งอยากภาวนา อีกจิตหนึ่งไม่อยากภาวนา แล้วถามกันไปถามกันมาว่า ทำไมต้องคิด คิดเพื่ออะไร  แล้วมันได้อะไร คิดแล้วทำได้ไหม เวลานี้เราควรทำอะไร ใช้เวลาที่จะต้องคิดเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ถามไปตอบไปจนให้จิตมันล้าหรือว่าจบปัญหา ไม่มีคำถามไม่มีคำตอบ
จนเห็นเหตุแห่งการคิดที่ฟุ้งซ่านว่ามันมาจากไหน เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ ของการคิดฟุ้งซ่านนั้น จนความคิดมันดับ แล้วจึงกลับมาภาวนา เรียกว่าใช้ปัญญาเข้าแก้ไข
                หากมีอะไรสงสัยให้ถามมาใหม่ได้เลยยินดีที่จะตอบคำถาม
                                  ด้วยความปรารถนาดี
                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๑.๕๒ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

610
 :054:ดึกดื่นในคืนค่ำ...ม่านเมฆดำปิดบังดาว
หลายหลากมากเรื่องราว...สายลมหนาวต้องกายา
เหนื่อยนักอยากพักผ่อน...เพราะแรมรอนจมเหนื่อยล้า
รายทางที่ย่างมา...พบปัญหาสารพัน
ก้าวพ้นช่วงวิกฤติ...ของชีวิตแห่งความฝัน
อยู่กับปัจจุบัน...ผ่านคืนวันอันยาวนาน
บันทึกการเดินทาง...ทุกทุกอย่างที่ย่างผ่าน
บอกเล่าประสพการณ์...ด้วยวิญญาณของกวี
     มุมหนึ่งของชีวิต...จะถูกผิดไม่อาจชี้
มอบให้ด้วยไมตรี...บทกวีคนเดินทาง
เดินบนเส้นทางธรรม...ที่จะนำแสงสว่าง
ปล่อยปละและละวาง...ทุกสิ่งอย่างที่ไม่ดี
เผยแผ่หลักคำสอน...เป็นบทกลอนบทกวี
ทางธรรมเพื่อนำชี้...สิ่งชั่วดีที่กระทำ
ความรู้อาจน้อยนิด...ไม่เคยคิดจะก่อกรรม
สิ่งที่ได้กระทำ...ช่วยชี้นำเพื่อนร่วมทาง
     ...ลิขิตตัวอักษร...เป็นบทกลอนเพื่อสรรค์สร้าง
ศรัทธาไม่เคยจาง...บทเส้นทางของสายธรรม....

 :090:แด่อารมณ์อันสุนทรีย์ในราตรีกาล :090:
                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐.๐๘ น.ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

611
 :059:การปฏิบัติธรรม เป็นการทำเฉพาะตน ตามกำลังความรู้ความสามารถของตน สภาวะธรรมทั้งหลายเป็นของเฉพาะตน  ครูบาอาจารย์ท่าน
กล่าวเตือนไว้ให้ดูตัวเราเอง ในข้อวัตรปฏิบัติของเรา ว่ามันเป็นอย่างไร ตึงเกินไปหรือว่าหย่อนยานเกินไป แก้ไขปรับปรุงตัวเองให้มีความพอดี
มีความเหมาะสมกับ"เวลา จังหวะ โอกาศ สถานที่ และบุคคล"
          ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ ห้ามมิให้เราเอาตัวเราหรือการปฏิบัติของเรา ไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น เพราะมันอาจจะทำให้ก่อกิเลสขึ้นได้
ถ้าเราไม่ระวังเผลอสติขาดสัมปชัญญะ  ถ้าเราเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับผู้ที่ดีกว่า มันก็อาจจะเกิดความน้อยใจหรืออิจฉาริษยาขึ้นมาได้และถ้า
เราไปเปรียบเทียบกับคนระดับเดียวกัน มันก็อาจจะเกิดความคิดอยากขันแข่ง ให้ดีกว่าหรือเหนือกว่าเขา และถ้าเราไปเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่าหรื่อต่ำกว่า มันอาจจะเกิดความลำพอง หยิ่งพยอง หลงตัวเองขึ้นมาได้
         เราต้องวางใจ วางจิตของเราไว้ในหลักธรรมคือ"พรหมวิหาร ๔" ในการศึกษาข้อวัตรการปฏิบัติของผู้อื่น สำหรับคนที่สูงกว่าดีกว่า เราต้องมี"มุทิตา"พลอยยินดีกับเขา ส่วนคนที่ต่ำกว่าด้อยกว่า เราควรมี"เมตตา กรุณา"ต่อเขาและคนที่เสมอกันเรานั้นควรมีความเคารพเขา และเมื่อช่วยเหลือเขาแล้ว เราต้องวางใจให้เป็นอุเบกขา คืออย่าไปหวังผลในการช่วยเหลือเขา เพียงทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ คนที่เราช่วยเหลือนั้นจะดีขึ้น เหมือนเดิม หรื่อแย่ลง  มันแล้วแต่วิบากกรรมของเขา
        ถ้าเราไม่วางอุเบกขาแล้วมันก็จะเกิดปัญหาตามมา คือถ้าช่วยได้เขาสำเร็จ เราก็จะดีใจและอาจหลงตัวเองไปได้ว่า"เราเก่ง เรามีความสามารถ"ซึ่งอาจจะทำให้เราหลงตัวเอง เพิ่ม"อัตตา"ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว และถ้าเราช่วยเขาแล้วมันไม่ดีขึ้นหรือไม่สำเร็จ เราอาจจะเสียใจน้อยใจ
ขาดความเชื่อมั่นและทุกข์ใจขึ้นมาได้ เพราะใจเรานั้นยังไปข้องอยู่ ไม่รู้จักการปล่อยวาง  นี่คืดแนวทางทางความคิดแห่งจิตนักปฏิบัติธรรม....
           :016:เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต :015:
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๓.๐๒ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

612
 :059:เรียงร้อย  ถ้อยคำ  พร่ำสอน
บทกลอน   บทความ   นำสู่
ให้เห็น   ให้เรียน   ให้ดู
ให้รู้    แนวทาง   แห่งธรรม
        เชื่อมั่น   ศรัทธา  ต่อท่าน
สร้างงาน  ให้เสพ    เช้าค่ำ
ไม่เคย    จองเวร    ก่อกรรม
ที่ทำ    ก็เพื่อ    พวกเรา
      ของศิษย์    ของวัด  บางพระ
อยากจะ   ส่งเสริม    พวกเขา
ช่วยเหลือ    แบ่งปัน   บรรเทา
ให้เขา      ได้รู้    ทางธรรม
      ร่วมมือ   ร่วมแรง  ร่วมใจ
เห็นแล้ว   หัวใจ   ชื่นฉ่ำ
ก็พร้อม    ที่จะ    ชี้นำ
ทางธรรม   แก่ท่าน   ทุกคน
    ปัญญา   นั้นอาจ   น้อยนิด
ไม่เคย   จะคิด    อกุศล
บอกเล่า   เหตุการณ์   ของตน
ที่ค้น    ฝึกหัด  ทำมา
     เส้นทาง    ที่ได้   เดินผ่าน
พบพาน   หลายหลาก   เนื้อหา
เหตุการณ์  ที่ได้   ผ่านตา
นำมา    เล่าสู่    กันฟัง
    ไม่อาจ   จะชี้   ถูกผิด
โปรดคิด   ตรึกตรอง    อีกครั้ง
หาเหตุ    หาผล  ทนฟัง
บางคร้ง   อาจจะ   ไม่จริง
     บางคร้ง   อาจมี   ผิดพลาด
ไม่อาจ     รู้ไป    ทุกสิ่ง
ต้องขอ   อภัย   อย่างยิ่ง
นี่คือ     ความจริง   สัจจา
     ไม่เคย   จะคิด   เคืองโกรธ
ถือโทษ    ผู้ใด    เลยหนา
สิ่งที่    ล่วงเกิน   กันมา
ถือว่า    อภัย     ให้กัน
     พวกเรา   ศิษย์วัด   บางพระ
ควรจะ   มีความ    สมานฉันท์
รักใคร่     ช่วยเหลือ    แบ่งปัน
สร้างสรรค์   สิ่งที่    ดีงาม.....
              :090:เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรจิต-ต่อมวลมิตรทุกๆท่าน :015:
                                           รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๑๘ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี
ป.ล. มิกล้าใช้ชื่อต่อท้าย"วจีพเนจร-คนรอนแรม"เพราะกลัวจะเข้าใจผิด คิดว่าเป็นฆราวาส กลัวเป็นบาปเป็นกรรมต่อกัน
   



     

613
 :054:"ขี้เกียจก็ทำ  ขยันก็ต้องทำ"หลวงพ่อชาแห่งวัดหนองป่าพงท่านได้กล่าวสอนไว้ เมื่อวานที่ผ่านมา จิตเกิดปลิโพธ(กังวล)เกี่ยวกับหน้าที่และการเดินทาง ทำให้เกิดความรู้สึกเมื่อยล้า ขี้เกียจทำความเพียรขึ้นมา จิตไปปรุงแต่งเรื่องหน้าที่การงานและการเดินทางในอนาคต
นั่งก็ปรุง ยืนก็ปรุงเดินก็ปรุง นอนแล้วก็ยังปรุงแต่ง จิตฟุ้งซ่านอยู่กับการปรุงแต่ง  จนมีสติระลึกได้ว่าเราใกล้จะบ้าแล้ว ที่หลงไปปรุงแต่งเรื่องราวในอนาคต จึงต้องมาพิจารณาหาสาเหตุที่มาของการปรุงแต่งนั้น ด้วยการพิจารณาใช้จิตถามจิตค้นหาไปสู่เหตุจนได้เห็นที่เกิดของอารมณ์นั้น
สาเหตุของมันคือ"ธรรมารมณ์"อารมณ์ของคนรอบข้างที่มากระทบ แล้วเราเผลอไปส้องเสพในอารมณ์นั้น เพราะขาดสติและสัมปชัญญะในขณะที่อารมณ์นั้นมากระทบ จิตของเรา เผลอไปปรุงแต่งต่อเติมเพิ่มกำลังให้อารมณ์นั้น จนมันมีพลังที่จะครอบงำจิตเราได้ ซึ่งกว่าจะรู้ กว่าจะเข้าใจ
ก้ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง กว่าจะดับอารมณ์ลงได้
 :059:ธรรมมารมณ์ เป็นของละเอียดอ่อน ไร้รูป ไร้รส ไร้กลิ่น ไร้เสียง ไร้การสัมผัส เป็นนามธรรมที่จับต้องมิได้ เป็นสิ่งที่เกิดภายใน มีใจเป็นตัวรับรู้ และแผ่ออกมากระทบกับจิต ทำให้จิตแปรเปลี่ยนไป จิตของเราเหมือนภาชนะที่ว่างเปล่า เอาอะไรมาใส่มันก็จะรองรับบรรจุสิ่งนั้นไว้
เป็นห้องว่างที่ใครผ่านมาก็เข้าไปพักได้ เราผู้เป็นเจ้าของห้องจึงต้องมีหน้าที่ ที่จะต้องคอยดูแลรักษาและป้องกัน มิให้สิ่งไม่ดีทั้งหลายเข้ามาอยู่อาศัย โดยการพิจารณาแยกแยะกุศลและอกุศลที่จรมา รับไว้แต่สิ่งที่ดีมีสาระ ต่อการดำเนินชีวิตทางจิตของเรา ปฏิเสธสิ่งที่ไม่เป็นสาระไม่เกิดประโชนย์เป็นทุกข์เป็นภัยเป็นโทษ มิให้เข้ามาอยู่อาศัยในจิตเรา
 :060:"จิตแท้จิตเดิมนั้นปภัสสร(งามงาม บริสุทธิ์)แต่จิตนี้เศร้าหมองแล้ว เพราะกิเลสที่เป็นอาคันตุกะได้จรมาอยู่อาศัย" เคยท่องจำนำไปพูดจนขึ้นใจแต่ไม่เคยใช้พิจารณามาก่อนกับตัวเอง พึ่งจะได้เห็นและได้ทำก็ในวันนี้ วันที่เราได้มาพบประสพด้วยตนเอง..."ขอบคุณธรรมารมณ์"
ที่จรมา"ทุกข์ไม่มา ปัญญาไม่มี บารมีไม่เกิด"
                :016:ขอบคุณความทุกข์ที่สอนให้เห็นธรรม :015:
                              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                                รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๓๕ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

614
 :054:ความชำนาญ   นั้นต้องผ่าน    การเริ่มต้น
และฝึกฝน   ปฏิบัติ     ไม่ขาดหาย
เพ่งดูจิต      ดูตัว       ให้ทั่วกาย
สู่จุดหมาย    พบธรรม    ที่นำทาง
       คือแสงทอง     แสงธรรม     นำชีวิต
ความมืดมิด     ก็จะถูก     ธรรมลบล้าง
ธรรมสอนให้     รู้จัก        การละวาง
และออกห่าง    บาปกรรม    นำสู่บุญ
      อย่ามัวคิด     ติดอยู่     กับความฝัน
เพราะคืนวัน       ผ่านไป     ไม่เกื้อหนุน
จงเร่งทำ         วันนี้       ให้มีคุณ
บุญเกื้อหนุน   ส่งผล     สู่หนทาง
     สู่เส้นทาง   สายธรรม   นำชีวิต
ชี้ถูกผิด       ดีชั่ว    ทุกสิ่งอย่าง
เพิ่มศรัทธา    หนุนเกื้อ   อย่าเจือจาง
แสงสว่าง     แห่งธรรม     นำชีวี
     เพียงเห็นธรรม   แต่ไม่นำ   ปฏิบัติ
จะถูกจัด    เป็นใบลาน   ไปทุกที่
"ใบลานเปล่า"   เขาเล่าขาน    ในคัมภีร์
เป็นผู้ที่     ดีแต่พูด    แต่ไม่"ทำ"
     เพียงอ่านมาก   ฟังมาก   เพราะอยากรู้
เพียงแต่ดู    แต่เห็น    เป็นเรื่องขำ
เพียงแต่ดู    แต่เห็น     แต่ไม่ทำ
จะก่อกรรม   เพิ่มอัตตา   น่ากลัวเกรง
     เพราะอ่านมาก    รู้มาก    จึงอวดรู้
ว่าตัวกู      รู้มาก   เป็นคนเก่ง
แต่ไม่เคย  เห็นกิเลส   ของตนเอง
ชอบจะเบ่ง    อวดความโง่   มาโชว์กัน
    ขออภัย   ที่ใช้คำ   ไม่สุภาพ
แต่กลอนกาพย์   พาไป   ในคำฉันท์
โปรดอภัย   ให้ด้วย    ก็แล้วกัน
เพราะเชื่อมั่น   ศรัทธา   ปรารถนาดี....
     :016:จงอย่าคิด  ติดอยู่  กับความฝัน
อยากให้เป็น   อย่างนั้น    เป็นอย่างนี้
แต่ไม่เคย      ลงมือทำ      เลยสักที
ชีวิตนี้      ผ่านไปเปล่า      น่าเศร้าใจ
        ลงมือทำ   ในวันนี้  จะดีกว่า
วันเวลา     จะล่วงเลย     เกินแก้ไข
ถ้าไม่รีบ     ลงมือทำ      จะช้ำใจ
เพราะวันใหม่    อาจไม่มี     สำหรับเรา.....
       :016: เขียนมาด้วยความปรารถนาดี :015:
                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
                    วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๓.๔๕ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง  อุทัยธานี

       
   

       


   
     

615
บทความ บทกวี / แด่...ห้วยขาแข้ง...
« เมื่อ: 17 มิ.ย. 2552, 09:01:09 »
 :059:แมกไม้และสายธาร...ห้วยละหารธารน้ำใส
หรีดหริ่งและเรไร...ร้องกล่อมไพรยามราตรี
ฝนมาป่าสดชื่น...ได้พลิกฟื้นไปทุกที่
มวลหมู่พนาลี...ต่างเปรมปรีชูช่อกัน
ดอกไม้ที่ชายป่า...มีนานาหลากสายพันธุ์
ชูช่อบานแข่งขัน...รับตะวันวันฟ้างาม
หมู่สัตว์ต่างมีสุข...คนบุกรุกหยุดคุกคาม
ฝนฟ้าพยายาม...เป็นไปตามวิถีทาง...
 :059:มองดู  แมกไม้  ไพรพฤก
ให้นึก  ถึง"สืบ"  คนกล้า
ยอมตาย  พิทักษ์   รักษ์ป่า
ศรัทธา    ซึ่ง"สืบ"  ตำนาน
     ตำนาน  แห่งห้วย-ขาแข้ง
คือแหล่ง   พื้นป่า    ไพศาล
สัตว์ป่า   มากมาย    สายธาร
ตำนาน    ผืนป่า     เมืองไทย
     ช่วยกัน   บำรุง    รักษา
ผืนป่า     แห่งนี้     คงไว้
ให้ยืน     คงอยู่      ยาวไกล
คู่ไทย      คู่โลก     ยาวนาน
    สืบสาย     สืบสาน    สืบศิลป์
สืบดิน     สืบป่า   สืบสาน
สืบทอด   สืบซึ่ง   ตำนาน
สืบการ    รักษ์ป่า   ถาวร .....
 :059:ห้วยขาแข้ง  คือแหล่ง    การเรียนรู้
คำรงค์อยู่    สืบมา    เพราะสืบสาน
คนชื่อ"สืบ" ได้สร้าง   ซึ่งตำนาน
การสืบสาน    รักษ์ป่า  มาทุกวัน
        ยอมสละ   ร่างกาย    และชีวิต
ยอมอุทิศ    เพื่อป่า    พนาสันต์
กาลเวลา     ล่วงเลย    มานานวัน
ชื่อ"สืบ"นั้น   ยังคงอยู่   คู่พงไพร
       คือตำนาน   การต่อสู้    คู่กับป่า
ปลุกชีวา    จิตสำนึก     คนรุ่นใหม่
ให้กลับมา   เหลียวแล    และสนใจ
กับป่าไม้    ธรรมชาติ    และสังคม
      ห้วยขาแข้ง    สดใส    ในวสันต์
ผ่านคืนวัน     แห่งทุกข์   มาสุขสม
ป่าไม้มี       คุณค่า     น่านิยม
ได้ชื่นชม     ธรรมชาติ   ที่งดงาม.....
     :090:แด่ชีวิตใหม่ในห้วยขาแข้ง :090:
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                 รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
                 วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๐๒ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

       


616
บทความ บทกวี / ความเปลี่ยนแปลง....
« เมื่อ: 17 มิ.ย. 2552, 12:24:47 »
 :059:ในอ้อมกอดของขุนเขา
ใต้ร่มเงามวลพฤกษา
ณ จุดหนึ่งแห่งกาลเวลา
ได้ถามตัวเองว่า...แสวงหาสิ่งใด.....?
      :060:อยู่กลางหุบเขาใต้เพิงผา
กับวันเวลาที่ผ่านพ้นไป
ได้พบกับสิ่งแปลกใหม่
ที่ซ่อนอยู่ในจิตสำนึก
เป็นความรู้สึกที่มองข้ามไป
ไม่ได้สนใจเมื่อครั้งที่ผ่านมา
เห็นเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต
หลงผิดคิดไปว่าไร้สาระ
แท้จริงคือธรรมะ...คือสัจจธรรมของชีวิต....
 :069:ความรู้สึกของอารมณ์ภายใน ที่ภาษาธรรมเรียกว่าเวทนา คือ สุข-ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ประกอบด้วยอามิสและไม่ประกอบด้วยอามิส
คือความหวั่นไหวทางจิตต่อผัสสะ ขึ้นอยู่กับสภาวะของจิตใจในขณะนั้น ว่าจะมีสติสัมปชัญญะมากน้อยเพียงใด "ภายนอกเคลื่อนไหว แต่ภายในสงบนิ่ง ก็จะเห็นความเป็นจริงของสภาวะจิต...ความวุ่นวายเราไม่ต้องออกไปแสวงหา เดี๋ยวมันก็มาหาเราเอง ไม่ว่าเราจะอยู๋ที่ไหนมันก็ตามไปถึง  หน้าที่ของเราคือการเตรียมตัว เตรียมใจ รับกับปัญหาที่มันจะมา ทุกเวลาทุกขณะ โดยการยึดหลักธรรมะเป็นเครื่องอยู่...
 :059:"ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี"แปลความว่า" ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม" :059:
"ผิดเป็นครู รู้แล้วจำ ไม่กระทำผิดอีกเป็นครั้งที่สอง  ท่องให้ขึ้นใจ แล้วนำไปปฏิบัติ เตือนตัว เตือนตนอยู่เสมอ ไม่ให้เพลอขาดสติ"
                  เชื่อมั่น-ศรัทธาปสาทะ-ในธรรมของพระศาสดา
                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
                            วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐.๒๕ น.ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

617
บทความ บทกวี / จากป่า...สู่นาคร...?
« เมื่อ: 16 มิ.ย. 2552, 02:51:55 »
 :059:เมื่อก่อนนั้น   ฉันเป็น   นักศึกษา
เขาเรียกว่า ปัญญาชน   คนรุ่นใหม่
มีความคิด   ที่ร้อนแรง    และกว้างไกล
หวังจะสร้าง   สังคมใหม่   อุดมการณ์
      ให้ผู้คน    ทุกแห่งหน    และชนชั้น
มีสิทธิ     เสมอกัน      ทุกสถาน
ล้มระบอบ   อำนาจ     เผด็จการ
สร้างตำนาน   สังคมใหม่   ให้รุ่งเรือง
     หวังเห็นฟ้า   สีทอง    ผ่องอำไพ
ประชาชน   เป็นใหญ่  กันสืบเนื่อง
สร้างแนวร่วม    จากป่า  ประสานเมือง
ทำทุกเรื่อง   ตามลัทธิ   อุดมการณ์
    คือความคิด  ความฝัน   เมื่อวันก่อน
เมื่อมองย้อน  กลับไป   ให้สงสาร
สิ่งที่คิด     ว่าเป็น    อุดมการณ์
คือ"วัวงาน" เขาหลอกใช้  ในการเมือง
    เมื่อเสียศูนย์   จึงเกิด   ความสูญเสีย
ให้อ่อนเพลีย   หมดแรงใจ   ในทุกเรื่อง
เก็บความแค้น   ที่ครุกรุ่น     ความขุ่นเคือง
จึงทิ้งเมือง    สู่ป่า    หาหนทาง
   มาจับปืน   ยืนหยัด    ปฏิวัติ
และฝึกหัด   อาวุธ   ทุกทุกอย่าง
เข้าต่อสู้   อำนาจรัฐ   ที่จัดวาง
เป็นหนทาง   ปฏิวัติ   ประชาชน
    แต่แล้วมา   วันหนึ่ง   จึงได้รู้
ที่ต่อสู้    นั้นไร้     ซึ่งเหตุผล
มันเป็นเพียง   ความคิด   ปัญญาชน
จึ่งดั้นด้น    จากป่า  สู่นาคร
    สังคมไทย   เปิดกว้าง   ทางความคิด
จะถูกผิด   เปิดให้นำ   เสนอก่อน
ต่อสู่กัน    ในระบบ    ตามขั้นตอน
มีองค์กร    มากมาย   ให้ชี้นำ
   เดินอยู่บน   ถนน  นักการเมือง
พบแต่เรื่อง   ผลประโยชน์  ให้น่าขำ
เรื่องดีดี   น้อยที่    จะกระทำ
ความระยำ  แอบทำ  กันทุกคน
   ทั้งกอบโกย   โกงกิน  และโป้ปด
เป็นกันหมด   ทุกยุค    ทุกแห่งหน
ไม่ได้มา    ด้วยเล่ห์  เอาด้วยกล
ทำเพื่อผล   ประโยชน์  แก่ตนเอง
     จึงละทิ้ง   ทุกอย่าง   ที่สร้างมา
กลับสู่ป่า   ศึกษาธรรม    อย่างรีบเร่ง
ให้ละอาย   ต่อบาป    จึงกลัวเกรง
ฝึกตนเอง    ในทางธรรม   นำชีวี
    บนเส้นทาง   สายธรรม  นำชีวิต
ธรรมลิขิต    ทางใหม่   ให้สดศรี
จากคนเลว    คนบาป    เป็นคนดี
ธรรมนั้นชี้     ทางใหม่   ให้เราเดิน
   เดินไปตาม   เส้นทาง    ของพุทธะ
สอนให้ละ    ลาภยศ     และสรรเสริญ
ให้รู้จัก      เพียงพอ     ไม่ขอเกิน
ให้เพลิดเพลิน  ในกุศล   ผลความดี
   ได้เห็นธรรม   รู้ธรรม   นำชีวิต
แต่ยังติด    ไม่ได้"ทำ"   ไปทุกที่
เพียงแต่รู้    แต่เห็น     ก็ยังดี
คงจะมี     เวลา   ที่ได้"ทำ"......
   ศรัทธาในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมา
               ปรารถนาในทางธรรม
                      รวี สัจจะ
              วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๖ มิถุนายน  ๒๕๕๒ เวลา ๑๔.๕๑ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี
   

   



618
 :060:ยังไม่มั่นใจในตนเองว่าจะทนต่อสภาพโลกภายนอกได้นานสักเท่าไหร่ เมื่อออกจากป่าไปสู่สังคมเมือง เพราะรู้ตัวเองดีว่า สติและสัมปชัญญะของเรายังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรต่อสิ่งกระทบทั้งหลาย จะรักษาทรงได้ไม่นานย่อมจะหวั่นไหวและคล้อยตามไปกับกระแสโลกอีก
เหมือนที่ผ่านมาในครั้งก่อนๆ แต่มีความตั้งใจที่จะรักษาทรงไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ รักษาไว้ซึ่งสติและสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ที่สุด
อยู่กับกุศลธรรม ดำเนินไปตามมรรคองค์แปดแห่งความเป็นสัมมาทั้งแปดประการให้ได้นานเท่านานเท่าที่จะทำได้
 :059:ปฏิบัติอยู่ในป่าสิ่งกระทบมันน้อยมาก กิเลสไม่ถูกกระตุ้นมันจึงไม่แสดงให้เห็น จึงอยู่เป็นปกติสุข เหมือนกับว่ากิเลสนั้นเบาบางลงแล้ว
แต่เมื่อออกไปสู่สังคมเมืองตัวกระตุ้น(ผัสสะ)มันมีมากทั้งภายนอกและภายใน ถ้าจิตของเราไม่เข้มแข็งพอย่อมจะหวั่นไหว และคล้อยตามกิเลสเหล่านั้นได้ จึงต้องพยายามเตรียมกายเตรียมใจไว้ให้พร้อมต่อสถานะการณ์ที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าที่เราจะต้องเจอ ซึ่งจากประสพการณ์ที่ผ่านมา เรารู้ดีว่าจะต้องพบต้องเจอกับอะไรบ้าง ทางตา ทางหู ทางลิ้น ทางกายและทางใจ เพราะเรารู้เหตุรู้ปัจจัยไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเจออะไรบ้าง จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องดูแลรักษากายใจควบคุมไว้ให้ได้ เพราะกิเลสที่นองเนื่องในสันดานของเรา มันรอเวลาที่จะแสดง
ออกมาเมื่อได้ เมื่อมีปัจจัยที่เหมาะสมกับกิเลส เรียกว่าโรคนั้นยังมีอยู่มิได้หมดสิ้นไป เพียงรอวันที่จะเจอของแสลงของโรค โรคนั้นก็จะปรากฏ
ขึ้นมาให้เห็น
 :059:ตรวจสอบกาย ตรวจสอบจิต ตรวจสอบความคิด ตรวจสอบการกระทำ อยู่ทุกขณะจิต พยายามตัดสิ่งที่เป็นอกุศลออกไป ไม่ส้องเสพใน
อกุศลทั้งหลาย รักษาทรงไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นกุศล เป็นการฝึกตนเพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับการออกจากป่ากลับไปสู่สังคมเมือง ซึ่งมิใช่เรื่องง่าย
ที่จะทรงไว้ได้ซึ่งสภาวะธรรมเหล่านี้  เพราะว่ามีภาระหน้าที่ ที่จะต้องออกไปกระทำนั้น มันต้องคลุกคลีกับหมู่คณะและผู้คนมากมาย ซึ่งมีลักษณะและอุปนิสัยที่แตกต่างกัน ภูมิธรรม ภูมิปัญญาแตกต่างกัน จึงต้องเตรียมกาย เตรียมใจ ไว้สำหรับการเผชิญต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นเฉพาะ
หน้าในทุกโอกาศ ทุกสถานะการณ์ ต้องควบคุมกายและใจไม่ให้คล้อยตามกระแสโลก กระแสสังคมให้ได้ ทรงไว้ซึ่งสภาวะธรรมทั้งหลาย
 :060:อยู่กับปัจจุบันธรรม ด้วยการเจริญสติและมีสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ไม่หนีปัญหาด้วยการเข้าสมาธิ ใช้การพิจารณาหาเหตุหาปัจจัย
ของอารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วเข้าไปดับที่เหตุ ที่ทำให้เกิดอารมณ์เหล่านั้น โดยการพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษและสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ของเหตุนั้น จนเกิดความละอายและเกิดธรรมสังเวชในสิ่งนั้น จิตมันก็จะถอนจากการยึดถือ เกิดการปล่อยวาง เมื่อจิตไม่เข้าไปเกี่ยวข้องยึดถือแล้ว มันก็ดับเหตุไปได้ครั้งหนึ่ง  เราต้องพยายามทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเกิดความเคยชิน ความชำนาญ จนเป็นวสี และกลายเป็นอุปนิสัย เราจึงจะปลอดภัยต่อกระแสโลก...
                :016:บันทึกบนเส้นทางธรรม...ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่น :015:
                                              รวี สัจจะ
                                      วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๓๙ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

619
 :059:มีคนมาถามเรื่อง"อานาปานุสติ"ว่าทำอย่างไร ข้าพเจ้าได้ตอบไปเท่าที่รู้และที่ได้ปฏิบัติมา มันอาจจะไม่เหมือนในตำราที่เขาเคยเรียนรู้
ได้ฟังได้อ่านมา เพราะว่าข้าพเจ้าบอกเล่าจากประสพการณ์ที่ปฏิบัติมา จะถูกหรือว่าผิดข้าพเจ้าไม่อาจจะยืนยันได้ มันเป็นความเข้าใจ ความรู้สึกของข้าพเจ้าที่ปฏิบัติแล้ว สบายกาย สบายใจ จิตสงบ
        เมื่อก่อนนั้นเคยกำหนดลมหายใจเข้าออกคือกำหนดให้ลมเข้าและลมออกตามความต้องการของเรา แต่เมื่อปฏิบัติไประยะหนึ่ง มันไม่
สงบ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ จิตฟุ้งซ่าน จึงค้นหาสาเหตุของอาการอย่างนั้น ทำให้ทราบว่าธาตุในกายของเราผิดปกติเพราะธาตุลมเป็นเหตุ
จึงเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติใหม่มาเป็นการ กำหนดระลึกรู้ลมหายใจเข้าออกแทน คือปล่อยให้ลมมันเข้าออกตามปกติธรรมชาติของมัน ไม่ไปบังคับมัน ตั้งสติและสัมปชัญญะระลึกกำหนดรู้ให้ทันมัน เริ่มทำแรกๆการระลึกกำหนดรู้ก็ทันบ้างไม่ทันบ้าง แต่เมื่อได้ทำอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว จนเกิดความชำนาญขึ้น สติและสัมปชัญญะมันตามรู้เท่าทันลมหายใจ จิตก็สงบ เกิดความสบายกาย สบายใจและเข้าใจในธรรมยิ่งขึ้น
      ลมหายใจ แม้ว่าเราจะไม่กำหนดรู้  มันก็เข้าออกของมันมาตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว มันเข้าออกตามธรรมชาติของมัน เราเพียงดูมัน เพื่อผูกจิต
ให้นิ่ง ไม่ใช่ไปวุ่นวายกับมัน ถ้าเราไปวุ่นวายปรุงแต่งกับมัน มันก็จะก่อให้เกิดความทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะมันไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ มันบังคับให้ตั้งอยู่ได้ไม่นาน มันย่อมกลับไปสู่ธรรมชาติของมัน  เพราะมันผิดปกติธรรมชาติของธาตุในกายที่เคยเป็นมา ระบบร่างกายมันจะผิดปกติ เมื่อธาตุในกายผิดปกติ มันจะทำให้เกิดการเจ็บไข้ ไม่สบาย ร่างกายไม่สมบูรณ์ โรคทางกายก็เกิดขึ้น และมีผลต่อสภาพทางจิต
     ควรศึกษาหาแนวทางของการปฏิบัติ ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ แต่ขณะปฏิบัติให้ละวางความรู้นั้น อยู่กับปัจจุบันธรรมคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น ถ้าเราไม่ละวางความรู้นั้น จิตเราจะไปปรุงแต่งในอารมณ์ เกิดความสงสัยว่าอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นอะไร เป็นฌานไหน จิตจะปรุงแต่งเรื่อยไป เลยทำให้มันไม่สงบ เพราะเราไปติดในสัญญา(ความจำได้หมายรู้ในสิ่งที่เรียนมา) เราต้องปล่อยให้สภาวะธรรมนั้นเป็นไปตามสภาวะของมัน อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด เรราเพียงตามดู ตามรู้ตามเห็นในความเป็นไปของมัน ให้รู้เท่าทันในสภาวะที่เกิดขึ้นนั้นก็เพียงพอ
     และเมื่อเราออกจากการปฏิบัติแล้ว เราจึงมาคิดเทียบเคียงสภาวะที่เกิดขึ้นนั้นกับหลักธรรม ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคืออารมณ์ สภาวะธรรมในหมวดไหน เป็นอาการของ วิตกวิจารณ์ ปิติ สุขหรือเอกตารมณ์  แต่สิ่งที่ควรจะจำไว้ก็คือ ถ้าเป็นสมาธิอารมณ์เหล่านั้นคืออารมณ์ของฌานเป็นสมถะกรรมฐาน อยู่ในสภาวะขององค์ฌาน  แต่ถ้าเป็นการตามดู ตามรู้ตามเห็น จิตไม่หยุดนิ่งต่ออารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด เกิดความรู้ความเข้าใจ
เห็นการเกิดดับของอารมณ์ทั้งหลายนั้นคือวิปัสสนาญาน เราต้องรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังปฏิบัตินั้นมันเป็นอะไรเสียก่อน เป็นสมถะหรือวิปัสสนา ต้องศึกษาให้ชัดเจนเสียก่อน ไม่งั้นเราจะหลงอารมณ์ เกิดความสับสนในสภาวะ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดวิปลาส เพี้ยนได้ จึงขอฝากไว้ให้คิดและพิจารณากัน ก่อนที่ท่านจะลงมือปฏิบัติธรรม
                 :059:ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิตแด่มวลมิตรผู้ใคร่ธรรม :059:
                                           รวี สัจจะ
                                   วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๘.๒๘ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

620
 :114:สัญจรร่อนเร่มา...ผ่านร้อยป่าและร้อยภู
ได้เห็นและได้ดู....ได้เรียนรู้ตลอดทาง
สั่งสมประสพการณ์...ได้พบพานกับทุกอย่าง
ส่งเสริมและสรรค์สร้าง...ทุกก้าวย่างที่ผ่านมา
มากมายมวลหมู่มิตร...ผู้มีจิตแสวงหา
พบพานได้พึ่งพา...ปรารถนาดีต่อกัน....
หนึ่งมิตรที่ชิดใกล้...คือสายใยสายสัมพันธ์
ร่วมใจสมานฉันท์...ร่วมสร้างฝันอันงดงาม.......
 :090:นกนั้นต้องมีขน...เราเป็นคนอย่ามองข้าม
สร้างมิตรและติดตาม...คอยสอบถามซึ่งข่าวคราว
เป็นคนต้องมีเพื่อน...เหมือนกับเดือนที่คู่ดาว
มิตรภาพจะยืนยาว...ต้องสืบสาวสายสัมพันธ์
น้ำใจไมตรีจิต...ต่อมวลมิตรมีให้กัน
เอื้อเฟื้อและแบ่งปัน...เมื่อทุกข์นั้นช่วยกันไป
เพื่อนแท้พบเมื่อทุกข์...มาทุกยุคทุกสมัย
ไมตรีและน้ำใจ...ที่มอบให้กันและกัน
เชื่อมใจประสานจิต...ความเป็นมิตรสายสัมพันธ์
ยั่งยืนมานานวัน...เพราะเรานั้นต่างจริงใจ
 :089:รายทางที่ย่างผ่าน...มายาวนานและเรื่อยไป
ด้วยตัวและหัวใจ...นั้นมอบให้การเดินทาง
ภูผาและป่าไม้...ก้าวผ่านไปเพื่อสรรค์สร้าง
ศรัทธาไม่เคยจาง...โลกไม่ร้างเพราะทางธรรม
ทางธรรมนำชีวิต...ชำระจิตที่มืดดำ
ออกห่างจากบาปกรรม...มากระทำบำเพ็ญบุญ
บุญกรรมนำชีวิต...มีหมู่มิตรคอยเกื้อหนุน
เมตตาและการุณ...ช่วยค้ำจุนตลอดมา
 :054:ฝากไว้แด่มวลมิตร...ผู้มีจิตแสวงหา
ฝากผ่านกาลเวลา...ฝากดินฟ้าและสายลม
ปลอบใจมวลหม่มิตร...ผู้มีจิตที่โศกตรม
ลบล้างความขื่นขม...ให้รื่นรมสมฤดี
ทุกข์โศกและโรคร้าย...ให้จางคลายไปทุกที่
ขอให้สิ่งดีดี...นั้นจงมีแก่เพื่อนเรา....
                   :016:เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี :015:
                                      รวี สัจจะ
                     :059:วจีพเนจร-คนรอนแรม :059:
๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๒๘ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี


621
 :059:"รวี"ที่เร้าร้อน...จะสะท้อนเป็นกลอนขับ
"สัจจะ"จะน้อมรับ...ประกาศก้องร้องเพลงชัย
 ผาดโผนยุทธจักร...จะหาญหักพวกจัญไร
กู่ก้องท่องยุทธไป...ให้โลกรู้กู "รวี"
 :054:สวัสดีครับเพื่อนสมาชิกเวป"วัดบางพระ"ทุกๆท่าน ขอบคุณสำหรับคำติชมทั้งหลาย หลังจากห่างหายไปนานสำหรับงานเขียน บทความ
บทกวี(23ปีที่ทิ้งงานเขียนไป) แต่ได้กลับมาเขียนใหม่โดยได้รับแรงจูงใจและการชักนำจากท่านประธาน(8)และท่านเวป ให้กลับมาเขียนใหม่
และต้องขออภัย เพื่อนสมาชิกด้วยนะครับ ที่บางครั้งบทความ บทกวี ที่เขียนไป อาจจะไม่ได้ใจความและเนื้อหาเท่าที่ควร เพราะว่าเรื้อเวทีมานาน ถ้าเปรียบเป็นมีดก็คงจะหมดคมแล้ว สนิมขึ้น เพราะไม่ได้ลับเลย  (ตอนนี้กำลังลับใหม่ให้คมครับ)และขอขอบพระคุณเวปวัดบางพระที่ให้โอกาศใช้พื้นที่ ในการทบทวนงานเขียน 
      เพื่อนสมาชิกอ่านผลงานแล้วมีความคิดเห็นอย่างไร แนะนำ ติชมได้นะครับ  เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข สร้างผลงานใหม่ๆให้ได้อ่านกันนะครับ ทุกคำติชมถือว่าเป็นครูผู้สอนครับ  งานที่จะนำเสนอนั้นจะมีหลายหลาก กลอนหก กลอนแปด กาพย์ โคลง บทความ และกลอนเปล่า
มีหลายแนว ทั้งเพื่อชีวิต ธรรมปฏิบัติ การเมือง และแนวหวานแหววสำหรับคนหนุ่มสาว...อยากจะให้เขียนเรื่องอะไรส่งข่าวมาได้(จะจัดให้)
เพราะบางครั้งนำเสนอไป ไม่รู้จะโดนใจเพื่อนสมาชิกหรือเปล่า อยากจะให้ท่านทั้งหลายมีส่วนร่วมในการนำเสนอครับ
 :090:ด้วยรัก-ศรัทธา-เชื่อมั่น-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต :090:
 :114:แด่มวลมิตรสมาชิกเวปวัดบางพระทั้งหลาย :114:
                          รวี สัจจะ
        :059: วจีพเนจร-คนรอนแรม :059:
๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา๑๕.๓๘ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง
 :090:คือสายลม  แห่งรัก  และห่วงหา
ลมช่วยพา  ฝากไป  ให้ถึงฝัน
ฝากทิวา   ราตรี      และแสงจันทร์
เข้าสู่ฝัน   ยามหลับ  ให้กับคุณ
 :089:ในยามหลับ   พบกับ   ภาพความสุข
เรื่องที่ทุกข์   อย่าได้   ให้เคืองขุ่น
ขอทวยเทพ  เทวา      จงการุณย์
ช่วยเกื้อหนุน   เธอให้   ได้ฝันดี
 :089:และเมื่อตื่น   ขึ้นมา  ฟ้าวันใหม่
ก็ขอให้   มีสุข   ไปทุกที่
ขอให้เจอ  แต่สิ่ง   ที่ดีดี
ให้เธอมี    สุขสรรค์    ทุกวันคืน
 :077:คือบทเพลง   จากใจ    มอบให้มิตร
จากดวงจิต    ศรัทธา   มิเป็นอื่น
หวังว่าคง      ตอบรับ    ส่งกลับคืน
จะได้ชื่น      หัวใจ      ในผลงาน
 :025:เมื่ออ่านแล้ว   โปรดส่ง   ความคิดเห็น
ว่ามันเป็น    เช่นไร     เมื่อได้อ่าน
จะนำมา     แก้ไข      คงไม่นาน
มีผลงาน    ใหม่ใหม่   ให้ท่านชม....
         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                  รวี สัจจะ
          วจีพเนจร-คนรอนแรม                                                                             

             

622
บทความ บทกวี / บทเพลงแห่งกาลเวลา...?
« เมื่อ: 14 มิ.ย. 2552, 04:03:00 »
 :016:เมื่อโลกเปลี่ยน   ผันแปร   เกินแก้ไข
ความแปลกใหม่   มากมาย   ได้เกิดขึ้น
ให้สับสน   หม่นหมอง   สมองมึน
ที่เกิดขึ้น   คือภาพ   แห่งมายา
 :059:ความเจริญ   ทางโลก   คือโชคร้าย
มุ่งทำลาย   แก่งแย่ง   แสวงหา
ซึ่งลาภยศ   สรรเสริญ   และกามา
เข้าเข่นฆ่า   คุกคาม    ตามอารมณ์
 :060:ความเจริญ   ทางวัตถุ  ทุกขณะ
แต่ธรรมะ  ห่างไกล   ให้ขื่นขม
เพราะหลงเพลิน   เดินตาม  ค่านิยม
ของสังคม   ยุคใหม่   ไร้ศีลธรรม
 :069:เมื่อศีลธรรม   เสื่อมถอย   โลกย่อยยับ
หายไปกับ   กาลเวลา   ยุคสมัย
เมื่อศีลธรรม ไม่กลับมา   โลกเปลี่ยนไป
ผู้คนไร้   คุณธรรม   จึงต่ำทราม
 :068:คุณธรรม   น้ำใจ   ไมตรีจิต
ความเป็นมิตร  อ่อนน้อม   ถูกมองข้าม
ต่างกอบโกย  แก่งแย่ง    พยายาม
ให้ได้ตาม   กิเลส   ที่ต้องการ
 :059:อันศีลธรรม   นั้นคง   ดำรงค์อยู่
แต่ขาดผู้    ปฏิบัติ   และสืบสาน
คงเหลือเพียง   คำสอน   ในใบลาน
ขาดคนอ่าน   ปฏิบัติ   ขาดศรัทธา
 :054:โลกจะเสื่อม   เราอย่าเสื่อม   ไปตามโลก
แม้นทุกข์โศก  อย่าลืม   ศาสนา
คือบทเพลง   บอกผ่าน   กาลเวลา
ด้วยศรัทธา    เชื่อมั่น    ในความดี....
               ปรารถนาดีต่อมวลมิตรมนุษย์โลก
                             รวี สัจจะ
                    วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๔.๐๔ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง  อุทัยธานี

623
 :054:ไม่เกร็ง ไม่เคร่ง ไม่เครียด ปล่อยจิตสบายๆ โดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่ ตามดูกาย ตามดูจิต ตามดูความคิด ตามดูการกระทำ
อยู่แบบปกติธรรมดาๆ ทำหน้าที่ของเราไปตามที่ต้องกระทำตามปกติ "ไร้กระบวนท่า แต่ไม่ไร้สาระ" เมื่อก่อนนั้นเรายึดติดในรูปแบบมากเกินไป
ในการปฏิบัติธรรม เราคิดนึกยึดถือว่าการปฏิบัติธรมนั้น ต้องเดินจงกรม ต้องนั่งสมาธิ ต้องยืนกำหนด ถ้าไม่ใช่อริยาบทเหล่านั้นแล้วไม่ใช่การปฏิบัติ เราจะปล่อยจิตไปตามกิเลส จะกำหนดใหม่ก็ตอนเดินจงกรม นั่งสมาธิหรือยืนกำหนดเท่านั้น การปฏิบัติจึงไม่ค่อยจะก้าวหน้า เพราะว่าเรา
ทอดทิ้งธุระนานเกินไปในวันหนึ่งๆ แต่เมื่อเรารู้ เราเข้าใจมากขึ้น เราเห็นข้อบกพร่องที่แล้วมาของเราในการปฏิบัติ จึงได้ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องเสียใหม่ คือหันมาเจริญสติในทุกอริยาบทของร่างกาย ไม่ว่าจะทำก็ตาม ทำโดยมีสติและสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ตามหลักของ
"มหาสติปัฏฐานสูตร"ในหมวด"อริยาบทบรรพ" มันจึงเป็นการปฏิบัติแบบไร้กระบวนท่า ไร้รูปแบบ"แต่ไม่ไร้สติและสัมปชัญญะ"
 :059:นึกถึงคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ที่ท่านกล่าวเปรียบเทียบว่า "การปฏิบัติเหมือนกับการหัดเขียนหนังสือ" เริ่มแรกต้องหัดเขียนไปตามแบบไปก่อน จนมีความชำนาญแล้ว จึงเขียนตามความถนัดของเราเอง ซึ่งเรียกว่าลายมือของเรา ก่อนที่จะไร้กระบวนท่านั้น มันต้องผ่านการศึกษาและปฏิบัติมาทุกรูปแบบกระบวนท่า จนมีความช่ำชองเชี่ยวชาญเสียก่อน ก่อนที่จะละทิ้งกระบวนท่าและรูปแบบ"กระบี่อยู่ที่ใจ"
 :016:จงเตือนตนเสมอในหลักธรรมเรื่องอัตตา"ตัวกู ของกู"อัตตาจะบดบังสัจจธรรมที่แท้จริง เปิดโลกทัศน์และชีวทัศน์คือการทำลายอัตตา
ภาพมายาจะหายไป สิ่งที่ได้เห็นคือ"สัจจธรรม" :015:
                 :016:เชื่อมั่น-ศรัทธาในทางธรรม :015:
                                   รวี สัจจะ
                           วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๓.๐๙ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

624
บทความ บทกวี / แด่..ยะลา...ด้วยอาลัย..
« เมื่อ: 13 มิ.ย. 2552, 08:20:18 »
 :059:เปรี้ยง เปรี้ยง เสียงปืนดัง....เลือดใหลหลั่ง ชโลมดิน
                       น้ำตา  ก็ใหลริน....ชีวิตสิ้น  พร้อมเสียงปืน
           หวาดหวั่น ขวัญผวา...ยามหลับตา และยามตื่น
                       ระแวง ทุกค่ำคืน...กับเสียงปืน  ในยะลา
           ยะลา เคยสงบ...แต่ต้องพบ กับปัญหา
                       เหตุการณ์ ที่ผ่านมา...ชาวยะลา ทุกข์ระทม
           ความโลภ ความไม่รู้...นำไปสู่ ความขื่นขม
                       ความคิด ที่โสมม...ค่านิยม ที่ผิดทาง
           ความอยาก จะเป็นใหญ่...จึงทำไป ทุกทุกอย่าง
                       เข่นฆ่า และขัดขวาง...ตามแนวทาง ความรุนแรง
           ต้องการ จะแบ่งแยก...ไทยจีนแขก ทุกหนแห่ง
                      เลือดไทย จึงใหลแดง...ความขัดแย้ง จึงตามมา
           ศาสนา มาแอบอ้าง...แบ่งกันทาง ศาสนา
                      ความเชื่อ และศรัทธา...ถูกนำมา ปั่นหัวกัน
           แผ่นดิน เคยสงบ...เพราะเคารพ สมานฉันท์
                      น้ำใจ มีให้กัน...ก็มาพลัน ไม่มั่นคง
           เปรี้ยง เปรี้ยง เสียงปืนดัง...อีกกี่ครั้ง ที่ล้มลง
                     เกิดจาก ความลุ่มหลง...ยะลาคง ต้องทุกข์ทน....
                             :054:อาลัยในชีวิตที่สิ้นไปในยะลา :059:
                                          ด้วยความปรารถนาดี
                                                 รวี สัจจะ
                                         วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๘.๒๑ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี
           
                     
                 

625
 :059:จิตเปลี่ยน...กายเปลี่ยน...จิตเป็นนาย...กายเป็นบ่าว...กายเดียว...จิตเดียว :059:
         จิตกับกายมีความสัมพันธ์กัน เมื่อจิตเข้าสู่สมาธิก็จะเกิดการปรับธาตุในกาย ให้สอดคล้องต้องกัน ความสัมพันธ์ของธาตุทั้ง๖ ก็จะเกิดความพอดี(ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ วิญญานธาตุ) เพื่อรองรับสภาวะธรรมที่จะเกิดขึ้น การคิด การทำงานก็มีสติรอบคอบละเอียดขึ้น การเดิน การพูดก็สำรวมมากขึ้น"สติและสัมปชัญญะ  หิริและโอตัปปะมีกำลังเพิ่มขึ้น"ทำให้มีความสำรวมมากขึ้น
         การปฏิบัติธรรมทั้งหลายมีกุศโลบายเฉพาะตน อาจจะมีความแตกต่างกันในการทำจิตให้รวม(เป็นสมาธิ) แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดก็ตาม
ต้องอยู่ในหลักของพระพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มีองค์แห่งคุณธรรมคือ หิริและโอตัปปะ คุ้มครองอยู่ ถ้าขาดหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว สมาธินั้นจะเป็น"สมาธินอกระบบ"ของพระพุทธศาสนา แต่ก็สามารถนำมาเป็นพื้นฐานได้ ถ้าหากเรามีกุศลจิต ปรับความคิด ปรับจิต
ให้เข้ากับหลักของพระพุทธศาสนา ก็จะกลับมาเป็น"สัมมาสมาธิ"ได้
       อันตรายของการฝึกจิตเชิงพลังงานก็คือตัวอัตตาและมานะพร้อมทั้งอุปาทาน ถ้าขาดศีลวินัยและหิริโอตัปปะแล้วจะทำให้หลงอารมณ์
หลงตัวเอง ใช้จิตในทางที่ผิดได้ กลายเป็น"มิจฉาทิฏฐิ" เพราะขาดองค์แห่งคุณธรรม การสั่งสมสร้างบารมีนั้นมีอยู่ ๓๐ ประการ และต้องอยู่บนพื้นฐานของพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีหิริ โอตัปปะ สติและสัมปชัญญะ คุ้มครองจิตอยู่
      ในส่วนลึกใต้จิตสำนึกของคนทุกคนแล้ว ปรารถนาอยากจะเป็นคนดี อยากจะทำความดี แต่บางทีสังคมไม่ให้โอกาศเขา "มนุษย์ทุกคนมีส่วนดีในจิตใจ" มองหาความดีของเขาแล้วกล่าวสรรเสริญ ให้เขาเพลินในความดี "แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง"ความไม่ดีของเขาเราอย่าเอามาคิด ให้จิตของเราเศร้าหมอง จงมองไปที่ความดีของเขา แล้วเราช่วยกันส่งเสริมเพิ่มความดีให้แก่เขา"เติมน้ำดี เพื่อไล่น้ำเสีย"ทำไปทีละนิด เพื่อให้เขาได้ปรับกาย ปรับจิตได้ทัน เมื่อเราไม่ตำนิในจุดด้อยของเขา เราก็จะได้ความเป็นมิตร มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน
      :059:เชื่อมั่นและศรัทธาในความคิดปรารถนาดีของท่านทั้งหลาย :059:
                                         รวี สัจจะ
                                 วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๕.๕๐ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

626
 :059:วันเวลาล่วงเลยผ่านไป ทุกคนเติบใหญ่หรือไม่ก็โรยรา ตามกาลเวลาของชีวิต พบปะแล้วจากลาเป็นเรื่องธรรมดาตามกฏธรรมชาติ
ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่เร็วก็ช้าก็ถึงวันเวลาที่ต้องจากกัน คงเหลือเพียงความรู้สึกที่มีต่อกัน ดีบ้างเลวบ้างก็ช่างมัน ถือว่าเป็นกรรมที่ทำร่วมกันมา คงถึงกาลเวลาที่จะต้องอโหสิกรรมให้แก่กัน
 :060:เหนื่อย เพลีย อ่อนล้ากับการเดินทาง อยากจะพักผ่อนให้เวลากับตัวเองบ้างในบางเวลา เพราะเรารู้ดีว่า สิ่งที่ผ่านมายังไม่ใช่มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา เหตุการณ์มันบังคับให้เราต้องเล่น ต้องเป็นไปตามบทบาทที่เขากำหนดเสนอให้ ซึ่งบางครั้งมันฝืนความรูสึกภายในของตัวเรา แต่ก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้
 :016:แต่วันนี้เหตุการณ์ได้ผ่านไป ทุกคนต่างเติบใหญ่ ได้เรียนรู้อะไรมาแล้วมากมาย"ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ไป" เมื่อหมดหน้าที่ของเราแล้ว คงจะต้องจากไป ใครจะเรียนรู้ได้ขนาดไหน แล้วแต่วาสนาบารมีของเขา แต่สำหรับเรา"ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดก็เพียงพอแล้ว"ไม่ได้หวังผลในการกระทำ ทำโดยบทบาทและหน้าที่ แต่ต้องทำให้ดีที่สุด ตามกำลังความสามารถของเรา
 :054:พรุ่งนี้ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป โดยเราจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเรา ว่าจะไปสู่ทิศทางใด  พยายามวางภาระ
ละทิ้งสิ่งที่ไร้สาระ ที่เป็นพันธะออกจากจิต กลับไปสู่ความไม่มีอะไร ไม่ติดยึดใน ลาภ ยศ สรรเสริญ และสถานที่ พึงพอใจในสิ่งที่มี"คือชีวิตที่เพียงพอ"
 :090:ไม่ใช่โชคชะตา หรือว่าฟ้าลิขิต
 :090:ไม่ใช่นิมิตรของสวรรค์  หรือพรหมนั้นบันดาล
 :090:สิ่งที่ประสพ และพบพานที่ผ่านมา
 :090:ล้วนแล้วเกิดจากการกระทำที่ผ่านมา
 :090:ซึ่งรวมแล้ว สรุปว่า"ล้วนแล้วเกิดจากกรรม"
                              :016:เชื่อมั่น-ศรัทธา-ในคุณธรรมและความดี :015:
                                                 :114:รวี สัจจะ :114:
                                       :059:วจีพเนจร-คนรอนแรม :059:
๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๐.๑๐ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

627
 :054:เมื่อสายลม  พัดผ่าน   ม่านหมอกเมฆ
            แว่ววิเวก  เสียงลม  ประสมสาน
         อาทิตย์ลับ  ขอบฟ้า   มาเนิ่นนาน
         เข้าสู่กาล    ราตรี      ที่มืดมน
 :059:ชีวิตดั่ง     เรือน้อย    ลอยโต้คลื่น
         ผ่านวันคืน  ตื่นหลับ     ให้สับสน
         เหมือนอยู่ใน  โลกกว้าง  และวังวน
         หลากผู้คน   ผ่านมา   แล้วจากไป
 :060:เป็นแค่เพียง  คนรู้จัก  มาพักผ่อน
         แล้วก็จร    จากลา  เมื่อฟ้าใส
         สายสัมพันธ์  เส้นนั้น  ไม่ยาวไกล
         เมื่อเขาได้    ก็จากลา  ไม่อาวรณ์
 :069:คำโบราณ  ท่านกล่าว  ให้เราคิด
         เมื่อมั่งมี    หมู่มิตร      หน้าสลอน
         ยามจนยาก  เพื่อนจาก  ดั่งคำกลอน
         ให้สะท้อน   น้อยใจ     ในบางครา
 :054:ที่เราคิด   ว่ามิตร    เพราะชิดใกล้
         แต่ใช่คน   รู้ใจ      ที่โหยหา
         คำว่ามิตร   นั้นต้องผ่าน   กาลเวลา
         พิสูจน์ว่า    เป็นมิตรแท้   จนแน่ใจ
 :016:ระยะทาง   พิสูจน์    กำลังม้า
         กาลเวลา    พิสูจน์    ยุคสมัย
         เมื่อยามทุกข์  ใครให้  กำลังใจ
         ช่วยแก้ไข    คือมิตรแท้  ที่แน่นอน
 :053:มารวมใจ   สายใย   สายสัมพันธ์
         ช่วยเหลือกัน  ยามที่  เพื่อนทุกข์ร้อน
         ตามกำลัง   ช่วยเหลือ   เอื้ออาทร
         ขออ้อนวอน  สักครั้ง   ด้วยหวังดี
 :054:มาร่วมมือ    รวมใจ    ให้ประจักษ์
         มาแสดง     ความรัก   และศักดิ์ศรี
         มาแสดง     น้ำใจ      และไมตรี
         มอบสิ่งดี     แก่เพื่อน   เตือนความจำ
 :053:มิตรภาพ    ของพวกเรา  เมื่อเก่าก่อน
         ผ่านหนาวร้อน  อดอยาก   และอิ่มหนำ
         เคยร่วมสร้าง   ความดี     วีรกรรม
         บุญที่ทำ       กันมา   พาผูกพัน
 :059:คือสายใย  สายสัมพันธ์   ที่มั่นคง
         อยู่ดำรงค์   แน่แท้    ไม่แปรผัน
         มอบความรัก  กำลังใจ  ให้แก่กัน
         เพราะเชื่อมั่น  ศรัทธา  และหวังดี.....
       :016: มอบบทกวีนี้แด่เพ่อนคนหนึ่ง ที่กำลังป่วยหนัก กำลังพักรักษาตัว :015:
                           เชื่อมั่น-ศรัทธาในผองเพื่อนทั้งหลาย
                                          รวี สัจจะ
                                  วจีพเนจร-คนรอนแรม
                            :059:๒๘ มิถุนา เลี้ยงน้ำชา ระดมทุน:059:
๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๒  เวลา ๑๔.๒๓ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง  อุทัยธานี
                                     

628
 :059:เรื่องลมหายใจเข้าออกของเรานั้น ถ้าเราไปวุ่นวายปรุ่งแต่งบังคับมัน มันก็จะก่อให้เกิดความทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร...? ทุกข์เพราะมันไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ มันบังคับตั้งอยู่ได้ไม่นาน มันย่อมกลับสู่ความเป็นธรรมชาติของมัน เพราะการที่เราเข้าไปบังคับลมหายใจนั้น ทำให้มันไม่เป็นไปตามปกติของมัน เมื่อลมหายใจไม่เป็นไปตามปกติที่เคยเป็น จะส่งผลให้ธาตุในกายแปรเปลี่ยนไปด้วย ระบบของร่างกายมันจะผิดปกติ เมื่อธาตุในกายผิดปกติ มันจะทำให้เกิดการเจ็บไข้ ไม่สบาย ร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรง โรคทางกายก็เกิดขึ้นและมีผลต่อสภาพจิตใจ
 :059:เราเพียงอาศัยลมหายใจเป็นเรื่องผูกจิตให้มันสงบ โดยการดูให้รู้เท่าทันการเข้าออกของมัน จนจิตแนบแน่นกับสภาวะนั้น ความสงบทางจิก็จะเกิดขึ้น แล้วเราก็ปล่อยวางในลมหายใจการเข้าออกโดยการพิจารณาว่า สักแต่ว่าเป็นธาตุ ที่มาประชุมรวมกันในกายนี้ ไม่นานก็ต้องสลายคืนกลับไปสู่ธรรมชาติ เป็นไปตามกฏพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสิ่งนั้น จนเกิดธรรมสังเวชในกาย ทำให้อัตตา อุปาทานในกายจางคลายเบาบางลง
 :060:เมื่อ"ตัวกู-ของกู"เบาบางลง โมหะความลุ่มหลงก็จางคลาย ไม่หน้ามืดตามัวเพราะโมหะ การพิจารณาธรรมก็จะชัดเจนขึ้น อวิชาความไม่รู้ก็จะถูกทำลาย รู้เห็นและเข้าใจในธรรมชาติทั้งหลายที่แท้จริง พบหนทางแสงสว่างในชีวิต แต่อย่าหลงดีใจ เพราะมันเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพียงแต่เห็นธรรม แต่ยังไม่ได้เข้าสู่กระแสแห่งธรรม เพราะยังไม่ได้เดินไปตาม"มรรค" เพียงแต่รู้จักและเข้าใจแต่ยังไม่ได้"ทำ"
 :059:ลมหายใจการเข้าออกของเรานั้น มันมีมาตั้งแต่เราเกิด มันเข้าออกตามสภาพของร่างกายของเรา "จงให้ร่างกายมันหายใจ  เราอย่าได้ไปหายใจแทนมัน"เพราะถ้าเราไปหายใจแทนร่างกายเมื่อไหร่ มันจะทำให้ผิดปกติธรรมชาติของกาย เกิดความอึดอัดและขัดข้องขึ้นในกาย
ทำให้ธาตุทั้งหลายเกิดปั่นป่วน ไม่เพลิดพลินในการปฏิบัติ ศรัทธาก็จะเริ่มเสื่อมถอย"ปฏิบัติให้เพลิน แล้วจะเจริญในธรรม" "ทำความดีให้เพลิดเพลิน แล้วจะมีความเจริญในธรรม" ความตั้งใจที่มากเกินไปจะทำให้เกิดความกดดันโดยเราไม่รู้ตัว...
 :016:ฝากไว้เป็นข้อคิด...แด่มวลมิตรด้วยไมตรี :015:
             เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                      รวี สัจจะ
              วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๘.๕๖น. ชายขอบป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

629
 :090:ถนน...หลายพันสาย....สู่จุดหมาย...แห่งเดียวกัน
ร้อยใจ...สายสัมพันธ์......เพราะเชื่อมั่น...และศรัทธา
หลายหลาก...แนวความคิด....ต่างมีจิต...แสวงหา
เดินผ่าน...กาลเวลา...ได้พึ่งพา...เลยผูกพัน
 :053:ร้อยเรียง...เคียงคู่เดิน...พร้อมเชื้อเชิญ...เดินร่วมกัน
สายใย...สายสัมพันธ์....ความผูกพัน...เกิดจากใจ
ร่วมทุกข์...และร่วมสุข...อยู่ร่วมยุค...ร่วมสมัย
ร่วมกาย...และร่วมใจ...แม้นห่างไกล...คิดถึงกัน
 :054:ติดตาม...ถามข่าวคราว...ถึงเรื่องราว...เพื่อแบ่งปัน
สุขทุกข์...ที่มีนั้น...พร้อมฝ่าฟัน...ร่วมกายใจ
เพื่อนทุกข์...เราทุกข์ด้วย...อยากจะช่วย...เข้าแก้ไข
เรื่องร้าย...ให้คลายไป...อยากจะให้...เพื่อนผ่อนคลาย
 :090:ศรัทธา...และเชื่อมั่น...ร้อยใจกัน...มิตรสหาย
ศรัทธา...อย่าได้คลาย...อย่าลืมสาย...ใยสัมพันธ์
ถนน...ร้อยพันสาย....มีจุดหมาย...ที่ปลายฝัน
พันคืน...หรือหมื่นวัน...ความผูกพัน...มิลืมเลือน.......
      เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
            มอบแด่มิตรสหายร่วมยุดสมัย
                      รวี สัจจะ
              วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๐.๔๕  น. มุมหนึ่งของมหานครใหญ่  ประเทศไทย

630
 :059:ไม่ใช่บทความหรือเรื่องสั้น ไม่ใช่บันทึกประจำวัน แต่มันเป็นคำบอกเล่าจากความรู้สึกในชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งมันเป็นจริงในขณะนั้น อาจจะเรียกได้ว่ามันเป็นปัจจุบันธรรม เป็นถ้อยคำที่เรียบง่าย ไร้การปรุงแต่งหรือกลั่นกรอง เพราะเป็นมุมมองในขณะนั้น อาจจะถูกต้องหรือผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก็ไม่อาจจะสรุปได้ เพราะมันเป็นความรู้สึกส่วนตัว
ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งคนส่วนมากไม่ยอมรับในสิ่งนั้น พยายามปกปิดหรือปฏิเสธมันอยู่ตลอดเวลา เพราะมันคือกิเลสที่มีอยู่จริงที่ซ่อนอยู่ใต้จิตสำนึกของเรา ทันทีที่ตากระทบรูปหรือ
รูปมากระทบตา หูได้ยินเสียง หรือเสียงมากระทบหู จมูกรับรู้กลิ่น ลิ้นรับรู้รส กายได้รับการสัมผัส ความรู้สึกก็เกิดที่ใจ ดีบ้างชั่วบ้าง ต่างกรรมต่างวาระ แล้วแต่เหตุปัจจัยในขณะนั้น
ซึ่งถ้าจิตเป็นกุศลผลที่ออกมาในทางที่ดี และถ้าจิตในขณะนั้นเป็นอกุศล ผลที่ออกมาย่อมเป็นทางลบ ทั้งหมดมาจากพื้นฐานของการฝึกฝนอบรมจิต หันมามองตัวของเรา ค้นหาตัวเรา
ทำความรู้ความเข้าใจกับตัวเรา
 :059:คุณเคยมองบ้างไหมในเรื่องนี้ ลองศึกษาดูบ้าง แล้วคุณจะรู้จักตัวตนที่แท้จริงของคุณ :059:
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๒
       ทดลองวิธีปฏิบัติตัวใหม่ ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน เพียงแต่ได้ยินได้ฟังได้เห็นมา แต่ไม่เคยปฏิบัติจริง ลองทำดูก็รู้สึกว่าดี จิตละเอียดขึ้น ความฉับไวของสติดีขึ้น ตามดูตามรู้ตามเห็น
เริ่มจากของหยาบไปสู่ของละเอียด จากช้าไปหาเร็ว ไปตามขบวนการของการพัฒนาทางจิต
       ไม่ว่ากรรมฐานกองใด ถ้าเราเข้าใจหลักการของการปฏิบัติ มันก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากก็คือใจของเรา ทำใจเราให้ยอมรับความจริง ลดความถือตัวถือตน ความยึดถือ ฝึกใจ
ให้ละพยศคือความดื้อรั้น เท่านั้นก็เพียงพอต่อการเข้าสู่พื้นฐานการพัฒนาทางจิต ไปสู่ภูมิธรรมที่ยิ่งกว่า
        ฟังดูง่าย พูดง่ายๆ แต่ทำได้ไม่ง่ายเหมือนที่พูด ที่เขียน เพราะก่อนที่จิตมันจะยอมรับ เราต้องทำความรู้จักทำความคุ้นเคยกับสิ่งนั้นเสียก่อน  เราต้องรู้จักใจของเรา เห็นกิเลส
ของเรา คือเห็นตัวตนที่แท้จริงของเราเสียก่อนว่ามันเป็นอย่างไร เราจึงจตะเข้าไปจัดการกับมันได้  เพื่อความเหมาะสมตามกำลังความสามารถ ความพร้อมของกายและจิต โดยอาศัย
จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่ และบุคคล เป็นเหตุเป็นปัจจัย....
       รอยเท้าที่ก้าวไปจะห่างไกลจากจุดเริ่มต้นไปทุกขณะ.....ถ้าเรายังก้าวเดินไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา.....

631
 :059:"รู้ไปหมด...แต่อดไม่ได้" :059:
เราทุกคนต่างก็รู้ว่า อะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด แต่เรายังคิดและเรายังทำ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะองค์แห่ง
คุณธรรมของเรายังไม่เพียงพอ เราได้แต่รู้ เราได้แต่คิด แต่ไม่ได้พิจารณาถึงคุณ ถึงโทษ ถึงประโยชน์และ
มิใช่ประโยชน์ของสิ่งนั้น และเรายังไม่ได้ลงมือทำในการฝึกจิต จึงเป็นได้เพียงความคิดและความฝันซึงเป็นเพียง"นามธรรม"อันจับต้องไม่ได้
 :016:จิตรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลสิ่งนั้นควรหรือไม่ควร แต่จิตนั้นมันอดปรุงแต่งตามไม่ได้...
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่ากำลังของกุศลจิตยังไม่เพียงพอที่จะเข้าไปยับยั้งมิให้คิดและทำได้...สตินั้นเรามีอยู่
เพราะเราระลึกรู้ได้ว่ามันเป็นอะไร ดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร แต่ความเคยชินเก่าๆที่เราเคยทำมา
เคยคิดมา มันมีกำลังมากกว่า ทำให้เราอดไม่ได้ทีจะปรุงแต่งและกระทำในสิ่งที่ผิด
 :015:ขบวนการทางจิตมันละเอียดอ่อนมาก ทุกขั้นตอนของการพัฒนาทางจิต ต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอ
ตามลำดับชั้นและขั้นตอน เพื่อเป็นการสร้างความเคยชินตัวใหม่ให้แก่จิตของเรา ซึ่งกว่าจะกลายเป็นความเคยชินได้นั้นมันต้องใช้ระยะเวลาของการสั่งสมอบรมจิต ด้วยการฝึกคิดและฝึกทำอย่างสม่ำเสมอ
 :059:คนเราส่วนใหญ่มักจะมองไปที่ผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นอันดับแรก เล็งถึงผลกำไรที่จะได้รับว่ามัน
คุ้มค่าหรือไม่ ทำให้ลืมคิดถึงความเป็นโทษของสิ่งนั้น เพราะเมื่อเราคิดถึงประโยชน์กำไรผลตอบแทนที่จะได้รับ ความโลภ ความอยาก มันจะเข้าครอบงำโดยเราไม่รู้ตัว ทำให้เราประมาท ลืมนึกถึงโทษ ถึงภัยที่จะได้รับ ถ้าหากสิ่งนั้นไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้
 :059:ที่เราทำธุรกิจแล้วล้มเหลวหรือขาดทุนนั้น เพราะเราไปมองที่กำไรที่จะได้รับเป็นอันดับแรก กิเลสมันล่อใจ ทำให้เราเกิดความประมาท แต่ถ้าเราพิจารณาถึงผลเสียหรือความล้มเหลวของการนั้นเสียก่อนแล้ว เราจะเห็นผลกระทบที่ตามมาถ้าหากว่ามันล้มเหลว ว่ามันเป็นทุกข์ เป็นภัย เป็นโทษ อย่างไรแล้ว
มันจะเกิดความกลัว ซึ่งจะทำให้เราคิดละเอียดยิ่งขึ้น ไม่ประมาทในการกระทำในสิ่งนั้น
 :059:เราต้องเห็นของจริงเสียก่อน เมื่อเห็นแล้วต้องทำความรู้ความเข้าใจกับสิ่งนั้นให้แจ่มแจ้งเสียก่อน
แล้วจึงเข้าไปจัดการกับสิ่งนั้น การเข้าไปจัดการกับสิ่งนั้นมันขึ้นอยู่กับองค์แห่งคุณธรรมของแต่ละคนว่ามีภูมิธรรม ภูมิปัญญาเป็นอย่างไร  ไม่ใช่การนึกคิดหรือจินตนาการ แต่เป็นเหตุการณ์จริงที่เราประสพพบเห็น
อยู่ทุกขณะจิต ไม่ใช่อดีตหรือว่าเป็นอนาคต แต่สิ่งนั้นคือปัจจุบันธรรมที่เรากำลังสัมผัสและเป็นอยู่ เราจึงต้องมาเรียนรู้ให้จิตของเราอยู่กับปัจจุบันธรรม
 :016:เรียนรู้จากของเก่า มาปรับใช้ให้เข้ากับปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์กำหนดอนาคตที่จะก้าวต่อไป :015:
 :054:ฝากไว้ด้วยจิตที่เป็นมิตรและปรารถนาดี :015:
          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มิตรผู้แสวงหากุศลธรรมทั้งหลาย
                                          รวี สัจจะ
                                  วจีพเนจร-คนรอนแรม
๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๖.๑๖ น. มุมหนึ่งของมหานครใหญ่ ประเทศไทย

632
 :059:ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวว่า"โง่ไม่เป็น...เป็นใหญ่ยาก.."ความฉลาดทางโลกคือความโง่ในทางธรรม
เพราะความฉลาดทางโลกนั้น ประกอบไปด้วยอัตตา เป็นไปเพื่อการยกตนข่มผู้อื่น เป็นไปเพื่อการโอ้อวด
เป็นไปเพื่อความเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น  ซึ่งสิ่งเหล่านั้นล้วนแล้วนำมาซึ่ง กิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นการเพิ่ม
พูลอกุศลจิตทั้งหลาย
 :060:ความฉลาด มีปัญญาในทางธรรมนั้น คือการมีสติ สัมปชัญญะ ที่สมบูรณ์รอบรู้ในกองกิเลสทั้งหลาย
คือรู้เท่าทันกับกิเลส เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ เห็นประโยชน์ และไม่ใช่ประโยชน์ ในสิ่งทั้งหลาย  แล้วละวางออกห่างจากอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ละอัตตาและอุปาทาน ดำรงค์ทรงจิตไว้ในกุศล
บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประกอบด้วยองค์แห่งคุณธรรม มีหิริและโอตัปปะ มีเมตตา กรุณา มุทิตา
อุเบกขา องค์แห่งคุณธรรมคุ้มครองจิต
 :060:คนพาลและคนโง่ มักคิดว่าตนเองฉลาดกว่าผู้อื่น เพราะเขาเอาเปรียบผู้อื่นได้ แสวงหาประโยชน์จากผู้อื่นได้ โดยสำคัญผิดคิดว่าผู้อื่นโง่กว่าตน รู้ไม่ทันตน ซึ่งแท้จริงแล้ว เขากำลังแสดงความโง่ ความไม่รู้
ความหลงของตนให้ปรากฏออกมา ทางธรรมท่านกล่าวว่า "โง่แล้วอวดฉลาด" คนที่คิดว่าตนเองเก่ง ตนเอง
ฉลาดนั้นคือลักษณะของคนโง่ คนที่ขาดปัญญาทางธรรมจิตใจมืดดำด้วยอวิชชา
 :059:"แกล้งโง่ แกล้งบ้า" เพื่อศึกษาความรู้สึกความคิดของคนรอบข้าง ว่าเขามีความเห็นเป็นอย่างไร
เปิดโอกาศให้เขาได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งถ้าเราแสดงตนว่าเราเก่ง เราฉลาด ไม่เปิดโอกาศให้ผู้อื่นแสดงความคิดเห็น เราจะไม่รู้เลยว่าคนรอบข้างเขาเป็นอย่างไร....
 :059:อ่อน เมื่อพบ  ลมแรง  อย่าแข็งขืน
         น้อม  แล้วยืน   ขึ้นสู้    สู่จุดหมาย
         ถ่อม  ลงหา   มวลชน   อย่างมงาย
         ตน   ควรมี    จุดหมาย  ต่อมวลชน
 :059:เชื่อ เมื่อคิด  พินิจ       และศึกษา
          มั่น   คงมา   เมื่อเห็น   เป็นเหตุผล
       ศรัทธา   มี  อย่าเพียงเห็น เป็นของตน
       สามัคคี   จะชี้ชน  สู่ทางชัย....
   :016:อ่อนน้อม ถ่อมตน เชื่อมั่น ศรัทธา สามัคคี :015:
                          รวี สัจจะ
                  วจีพเนจร-คนรอนแรม
๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เวลา๐๗.๓๐ น. ณ จุดหนึ่งของมหานครที่วุ่นวาย
       

633
 :090:นั่งมอง  สองฝั่ง  นที             ชีวี  คล้ายดั่ง  เรือน้อย
        โต้คลื่น  กลางน้ำ  ล่องลอย       เคลื่อนคล้อย  ตามสาย  ธารา
 :114:เรือน้อย  ล่องลอย ตามฝัน      คืนวัน  ผันผ่าน  โหยหา
        แดดร้อน  แผดเผา  กายา         ฝนมา หนาวเหน็บ  เจ็บกาย
 :089:คลื่นลม  ผัดโหม  สาดซัด       อึดอัด  ไม่เห็น  จุดหมาย
        มองฟ้า  เห็นดาว  พร่างพราย     ผ่อนคลาย  หายทุกข์  ลงพลัน
 :016:ปลุกจิต  ปลุกใจ  ให้ตื่น          พลิกฝื้น  ตื่นจาก  ความฝัน
       ไม่รอ  เวลา  คืนวัน                  สร้างฝัน  นั้นให้  เห็นจริง
 :015:หลงเพลิน  อยู่กับ  ความฝัน     นับคืน นับวัน  ปล่อยทิ้ง
       เลยไม่  พบกับ  ความจริง           พบสิ่ง  เพียงภาพ  มายา
 :059:ชีวิต  นั้นคือ  ชีวิต                 ลองถูก  ลองผิด  ค้นคว้า
       นั่นคือ  ผลที่  ตามมา                อย่ามัว  รอช้า  เศร้าใจ
 :069:ลงมือ  ทำตาม  ความฝัน         มุ่งมั่น  เมื่อผิด  แก้ไข
        ชีวิต  นั้นยัง  ยาวไกล              เส้นชัย  อยู่ที่  ปลายทาง
 :054:วอนลม  ฝากฟ้า  พาไป          ส่งใจ  ไปอยู่  เคียงข้าง
      เคียงคู่  อยู่ทุก  เส้นทาง            ร่วมสร้าง  ฝันใฝ่  ให้จริง......
             :090:มอบเป็นกำลังใจ ให้ไว้แก่ผู้แสวงหา :090:
                          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                 :016: รวี  สัจจะ  :015:
                           :059:วจีพเนจร-คนรอนแรม :059:
๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๕๓น. ณ ริมฝั่งโขง ประเทศไทย   

634
 :059:คนเราต้องมีความหวัง เราต้องหวังให้ไกลและเราต้องไปให้ถึง แม้ว่าหนทางนั้น ยังอีกยาวไกล
เพราะว่าความสำเร็จนั้นมิได้อยู่ที่จุดเริ่มต้น ความผิดพลาด ความล้มเหลว ความสูญเสีย มิใช่ข้อยุติ สิ่งเหล่า
นั้นล้วนแล้วนำมาซึ่งประสพการณ์ของชีวิต เป็นบทเรียนของชีวิต ที่จะทำให้เราเข้มแข็งกล้าแกร่งยิ่งขึ้น
ขอให้เรายึดมั่นในอุดมคติของเราอย่าหวั่นไหว เพราะหนทางที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้น มันต้องฟันฝ่าและ
เผชิญต่ออุปสรรคและปัญหาอยู่ตลอดเวลา  อุปสรรคและปัญหาคือบทเรียน บททดสอบ  สติปัญญาและคุณธรรมของเรา  ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า"ทุกข์ไม่มา ปัญญาไม่มี บารมีไม่เกิด" เราต้องข้ามผ่านด่าน
แต่ละด่าน เพื่อเป็นการทดสอบกำลังของเรา  การที่เราเผชิญอุปสรรคปและปัญหาและผ่านมาได้แต่ละครั้งนั้น มันทำให้จิตใจของเราพัฒนาขึ้นไปกว่าเดิมทุกครั้ง
 :069:ฉะนั้น จงอย่าตกใจ เสียใจและหวั่นไหวต่ออุปสรรค และปัญหา จงเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ถึงซึ่งจุดหมาย  รางวัลแห่งความสำเร็จของชีวิตมิได้วางไว้ที่จุดเริ่มต้น  ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ การเดินทางนั้นยังไม่สิ้นสุด  จงพยายามเตือนสติตนเองอยู่เสมอ เพื่อความพร้อมของกายและใจ ที่จะต้องเผชิญกับอุปสรรค
ปัญหา  เพราะว่าเมื่อก่อนนั้น เราต้องพบกับอุปสรรคปัญหาและเกิดความทุกข์ขึ้นมาเสียก่อน เราจึงจะระลึก
ได้คือต้องเจ็บก่อน ถึงจะจำ หรือบางครั้งพลาดเผลอสติไปแล้ว จึงจะมาระลึกได้ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เสียใจในภายหลัง ในสิ่งที่ได้กระทำลงไป
 :054:เราจึงต้องมาฝึกกันใหม่ ให้สติระลึกได้เร็วขึ้นกว่าเดิม จนมีความเต็มรอบสมบูรณ์อยู่ทุกขณะจิต
โดยการสร้างจังหวะการระลึกรู้จากอาการทางกายจากหยาบๆคือการเคลื่อนไหวเช่นการยืน การเดิน การนั่ง
การนอน การกิน การทำงานต่างๆ จนมีความชำนาญแล้ว  จึงเพิ่มกำลังสร้างจังหวะของสติการระลึกรู้กับสิ่ง
ที่ละเอียดยิ่งขึ้น เช่นลมหายใจของตัวเรา หรือความรู้สึกนึกคิดของเราเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นแนว
ทางของการฝึกจิต
 :090:ฝากไว้เป็นข้อคิด แด่มิตรสหาย ผู้ใคร่ธรรม :090:
 :016:เชื่อมั่น-ศรัทธา-สามัคคี-ปรารถนาดี-ไมตรจิต :015:
                         รวี สัจจะ
          วจีพเนจร-คนรอนแรม-คนไร้ราก
๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๐๙ น. ณ ริ่มฝั่งโขง

635
 :054:การปฏิบัติธรรมคล้ายกับการปลูกต้นไม้ เรามีหน้าที่ ที่ต้องทำคือการเตรียมสถานที่ ขุดหลุมแล้วนำเมล็ด หรือกล้าไม้มาปลูก ใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวนดิน ดูแลบำรุงรักษาต้นกล้าให้ปลอดจากโรค หนอนและแมลง
 :059:กล้าไม้มันก็จะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราเอาใจใส่ หมั่นดูแลบำรุงรักษาอย่างดี และในที่สุดเมือถึงเวลาอันสมควร มันก็จะให้ดอกผลแก่เรา ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาค่อยเป็นค่อยไป สั่งสมอาหารสร้างลำต้น
รากและกิ่งใบ สร้างความสมบูรณ์ของต้นไม้ จนถึงวัยอันเหมาะสม มันก็จะออกดอก ออกผล ให้เราได้ชื่นชม
 :060:ต้นไม้นั้น เราอยากจะให้มันโต ตามใจเราไม่ได้ มันเป็นไปของมันเองตามเหตุและปัจจัย เรามีหน้า
ที่เพียงปลูกและบำรุงรักษาเท่านั้น การเจริญเติบโตของมัน เป็นไปตามธรรมชาติ
 :016:เมล็ดพันธุ์คือศรัทธา  การปลูกคือการลงมือปฏิบัติ  การบำรุงรักษาคือการทำความเพียรเพิ่มกำลัง
แห่งกุศลไปเรื่อยๆมิให้ขาด มีความไม่ประมาท เผลอสติให้อกุศลเข้าครอบงำ รักษาศรัทธาไว้มิให้เสื่อมถอย บำรุงเพิ่มพูลด้วยบุญกุศลอันได้แก่ ทาน ศีล ภาวนาและศีล สมาธิ ปัญญา สติและสัมปชัญญะเป็นผู้ดูแลรักษา ผลที่ออกมาคือความสำเร็จ
 :015:สถานที่ ดินฟ้า อากาศดี มีเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าที่ดี ปลูกถูกวิธี มีการบำรุงรักษาที่ดี และถูกวิธี ผลที่ได้รับย่อมดีตามไปด้วย ซึ่งอาจจะเปรียบได้กับ พละ๕ อันได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เมื่อไรที่มี
ความสมบูรณ์เต็มที่ มีกำลังเป็นใหญ่คืออินทรีย์บารมีเต็มที่ ก็จะได้ประสพกับความสำเร็จในสิ่งที่หวัง
 :069:การปฏิบัติธรรม หน้าที่ของเราก็คือทำ ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์  อย่าได้ไปคาดหวังและตั้งเวลา
ต่อความสำเร็จ ว่าจะต้องเป็นวันนั้นวันนี้ หรือเดือนนั้นปีนี้  ความเจริญในธรรมต้องอาศัยการสั่งสมอบรม
ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา เหมือนต้นไม้เราอยากให้มันโต มันต้องใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตตามกาลเวลา
ความเจริญในธรรมหรือความสำเร็จนั้นก็เช่นกัน มันต้องใช้ระยะเวลาแห่งการสั่งสมอบรมอินทรีย์ เราจึงมีหน้าที่ ที่ต้องทำ ทำไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางที่วางไว้.....
                    :090:ฝากไว้ให้เป็นข้อคิด ด้วยจิตปรารถนาดี :090:
                           เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                            รวี สัจจะ
                                   วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เวลา ๒๐.๕๒ น. ณ ริมฝั่งโขง ประเทศไทย

636
 :059:ฟ้าหม่น ตะวันหมอง           เมื่อนั่งมอง ฝั่งนที
      น้ำโขง  เคยใหลรี่                 มาบัดนี้ เหือดแห้งลง
 :069:สายน้ำ ถูกเขื่อนกั้น           สายสัมพันธ์ ไม่มั่นคง
       เกิดจาก ความโลภหลง         ไม่ดำรงค์ ความพอดี
 :060:แก่งแย่ง และแข่งขัน         กอบโกยกัน ไปทุกที่
       โขงเอย โขงนที                 มาบัดนี้ ถูกทำลาย
 :016:สายน้ำ สายสัมพันธ์          ที่มีนั้น พลันสูญหาย
      โขงเจ้า  คงใกล้ตาย             เพราะมุ่งหมาย ทำลายกัน
 :053:น้ำโขง เคยเต็มฝั่ง            มีพลัง  สมานฉันท์
      ไม่เคย แบ่งแยกกัน              ทุกชนชั้น ได้ดื่มกิน
 :059:การเมือง การปกครอง        แยกพวกพ้อง ไปทุกถิ่น
      แบ่งแยก ผืนแผ่นดิน             เป็นทรัพย์สิน ส่วนของตน
 :069:ฟ้าหม่น ตะวันหมอง          น้ำตานอง ทุกแห่งหน
      จิตใจ ของผู้คน                   เกิดสับสน กับเหตุการณ์
 :054:น้ำโขง มาเหือดแห้ง         ในยามแล้ง น่าสงสาร
      คงเหลือ เพียงตำนาน            แห่งสายธาร น้ำโขงเอย.....
  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต-แด่มิตรสหายทุกผู้คน
                            รวี สัจจะ
              วจีพเนจร-คนรอนแรม-คนไร้ราก
๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๕.๑๐น. ณ ริมฝั่งโขง ประเทศไทย

637
 :016:มองฟ้า ในคื่นหม่น      หัวใจคน แสนร้าวราน
         มาไกล จากถิ่นฐาน      เพราะการงาน จึงจากมา
 :025:จำจร ต้องรอนแรม      ไปแต่งแต้ม แสวงหา
        เสริมสร้าง ทางปัญญา    ตามมรรคา คนเดินทาง
 :059:พันดอย ร้อยภูผา        ผ่านร้อยป่า ที่ก้าวย่าง
        เดินไป ในเส้นทาง        เพื่อเสริมสร้าง สังคมไทย
 :114:โดดเดี่ยว และเดียวดาย  ในจุดหมาย ที่เดินไป
       เพียงตัว และหัวใจ        พร้อมด้วยไฟ อุดมการณ์
 :053:บันทึก การเดินทาง     ที่ก้าวย่าง มาให้อ่าน
       ถึงสิ่ง ที่พบพาน           ประสพการณ์ ที่ผ่านมา
 :016:มุมหนึ่ง ของชีวิต       แด่มวลมิตร ผู้ใฝ่หา
        มิใช่ โชคชะตา           ที่ผ่านมา เรากระทำ
 :015:ชีวิต เรากำหนด        ไปตามกฏ ของผลกรรม
        วันนี้ ที่เราทำ             จะชี้นำ ผลตามมา
 :054:จงทำ ในวันนี้           ให้มันดี เสียเถิดหนา
       อย่ารอ วันเวลา            เพราะวันหน้า อาจไม่มี
 :060:ฝากไว้ เป็นข้อคิด      แด่มวลมิตร ด้วยหวังดี
        บทความ บทกวี          มอบสิ่งดี แด่ทุกคน :090:
 เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                             รวี สัจจะ
                   วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๙.๕๕ น. ณ ริมฝั่งโขง ประเทศไทย
               

638
บทความ บทกวี / รู้ได้เมื่อภัยมา
« เมื่อ: 11 พ.ค. 2552, 10:57:19 »
 :059:ในยามที่มนุษย์เจออุปสรรค ปัญหาและเหตุการณ์ในสภาวะที่มีความยากลำบาก เขาย่อมแสดงธาตุ
แท้ของเขาออกมาให้ปรากฎ เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรม เราจะรู้ได้ว่าภูมิธรรมภูมิปัญญาของเราเป็นเช่นไร
พิสูจน์ได้เมื่อเจออุปสรรคปัญหา คือต้องพบของจริงเสียก่อน ไม่ใช่การนึกคิดสมมุติเหตุการณ์ขึ้นมา ว่ามัน
เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ต้องใช้ปัจจุบันธรรมเป็นตัวตัดสินเป็นตัวพิสูจน์ ว่าเราจะแก้ไขหรือทำความเข้าใจ
กับปัญหาได้หรือไม่ นั้นคือคำตอบของการปฏิบัติธรรม
 :016:เมื่อเราเปิดกาย เปิดใจของเราให้กว้าง เราจะเห็นตัวเราชัดเจนขึ้น การเปิดกายเปิดใจคือการทำให้อัตตาอุปาทานเบาบางลง ตัวกูและของกูมันปิดบังความเป็นจริงอยู่ ทำให้เราไม่สามารถที่จะเห็นความผิดพลาด ความประมาทของตัวเรา เพราะเราจะคิดเข้าข้างตัวเราเองเสมอ ยึดถือความคิดและการกระทำของตัวเองเป็นหลักเกณฑ์ในการสรุปและพิจารณา ว่าสิ่งที่พบที่เห็นเป็นอย่างไร  เราจะเอาใจเอาความรู้สึกของเรา
มาสรุปสิ่งเหล่านั้น เพื่อสนองและรองรับความคิดเห็นของเรา ซึ่งบางครั้งมันดีสำหรับเรา แต่ไม่เข้ากับหลักธรรม เพราะมันคือความนึกคิดของจิตเราเอง ไม่ใช่สภาวะธรรมที่แท้จริง
 :054:ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัย สงเคราะห์อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน ธรรมจะไม่ขัดแย้งกัน ส่วนที่ทำให้ขัดแย้งกันนั้น เพราะเราเข้าไปยึดถือในความคิดของเรา ไม่ยอมปรับความคิดของตัวเราเข้าไปหาหลักธรรม แต่เราพยายามปรับหลักธรรมเข้ามารองรับความคิดเห็นของเรา การอธิบายและความหมายของหลักธรรมจึงคลาดเคลื่อนไป ทำให้เกิดความขัดแย้งกันในความหมายของหลักธรรม
 :059:ฉะนั้นเมื่อมีความคิดเห็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน จงหันมาพิจารณาที่ตัวเราเสียก่อน อย่าด่วนสรุปว่าของเขานั้นผิด ใช้ความคิดพิจารณว่าทำไมจึงมีความคิดเห็นเป็นอย่างนั้น ทั้งความคิดเห็นของเราและของเขา ว่ามันมีเหตุและปัจจัยมาจากอะไร เมื่อเราได้คำตอบแล้ว เราจะเข้าใจในความคิดของเราและของเขา
แล้วจึงมาหาข้อสรุปที่เหมาะสมที่พอดีสำหรับทุกฝ่าย มันจึงจะได้ความลงตัวที่ไปด้วยกันได้
 :054:ขอฝากไว้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจในการพิจารณาธรรมแด่ท่านทั้งหลาย :054:
                                  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิตแด่มิตรสหาย
                                                       รวี สัจจะ
                                               วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๕๗ น. ณ ริมฝั่งโขง ประเทศไทย ตรงข้ามประเทศลาว

639
บทความ บทกวี / บทกวีชี้ทางธรรม(๒)
« เมื่อ: 29 เม.ย. 2552, 10:45:56 »
 :059:โลกธรรม   นำไป   ให้เกิดทุกข์
คิดว่าสุข   หลงใหล   ในสรรเสริญ
เพราะลาภยศ   พาใจ   ให้เพลิดเพลิน
จึงหลงเดิน   ตามโลก    ใจโศกตรม
 :016:กินกามเกียรติ   เบียดเสียด   เข้าแข่งขัน
ทุกวี่วัน   ดิ้นรนกัน   อย่างขื่นขม
เมื่อไม่มี   หรือขาดไป   ให้โศกตรม
เพราะไม่สม   ที่หวัง   ดั่งต้องการ
 :059:แต่ความสุข   ในทางธรรม   นั้นล้ำเลิศ
เพราะสุขเกิด   จากกุศล   ผลไพศาล
และสุขนั้น   เคียงคู่   คงอยู่นาน
มีพื้นฐาน   จากความดี   ที่มั่นคง
 :015:อย่าหลงเพลิน   เดินตาม   กระแสโลก
จะทุกข์โศก   เศร้าใจ    เพราะไปหลง
สุขทางโลก   นั้นมัน   ไม่มั่นคง
ไม่ยืนยง    เหมือนทางธรรม   ที่ค้ำจุน
 :059:เป็นชาวพุทธ   อย่าเป็นพุทธ   แต่ในบัตร
จงฝึกหัด   ศึกษาธรรม   เพื่อนำหนุน
ละบาปกรรม   หันมา    หาทางบุญ
เป็นต้นทุน    คุ้มครองใจ    เมื่อภัยมา
 :054:เป็นชาวพุทธ   ควรมีธรรม   ประจำจิต
นำชีวิต    หลุดพ้น    บ่วงตัณหา
หมั่นทำทาน   รักษาศีล    ภาวนา
ให้สมค่า   ชาวพุทธ   บุตรพระองค์.......
                 :059:"ตราบใดที่การเดินทางยังไม่สิ้นสุด  อย่าด่วนสรุปในสิ่งที่เห็น" ขอฝากเป็นข้อเตือนใจไว้ให้เราคิดพิจารณา  ว่าตราบใดที่ยังไม่สิ้นกิเลส ตัณหา อย่าด่วนสรุปว่า เรารู้เราเข้าใจไปหมดแล้ว
สิ่งที่รู้ สิ่งที่เห็น สิ่งที่คิดว่าเข้าใจในวันนี้ มันยังมีอีกหลายแง่มุมที่เรายังมองไม่เห็น เรายังรู้ไม่จริง  รู้ไม่หมด
เพราะว่าเรายังมี"อวิชชา"และมี"อัตตา"มันจึงทำให้เรามี"อุปาทาน"  อัตตามันมาปิดบังปัญญา ความรู้แจ้ง
รู้จริงในสิ่งที่ควรรู้  มองแต่ในสิ่งที่เราชอบ คิดแต่สิ่งที่ถูกใจ เชื่อและภูมิใจในสิ่งที่เราเห็น  ดีใจเมื่อได้รู้ได้เห็น  หลงว่าตัวเองดีแล้ว  เก่งแล้ว  รู้แล้ว  เราเป็นผู้รู้ เราเป็นผู้เห็น สิ่งที่รู้และสิ่งที่เห็นนี้เป็นของเรา เราไปยึดถือในสิ่งนั้น  ทำให้ใจเรามันคับแคบ  แต่ถ้าเราเปิดใจให้กว้าง คิดและมองอย่างเป็นกลาง คือว่างจากตัวกูและของกู ละอัตตา สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นไปตามธรรมชาติของมัน  คือมันเป็นเช่นนั้นเอง(ตถตา) ตามเหตุตามปัจจัยของมัน เพราะว่ามันมีเหตุและปัจจัยอย่างนั้น มันจึงเป็นอย่างนี้
ถ้าเหตุและปัจจัยแปรเปลี่ยนไป ผลย่อมแปรเปลี่ยนตาม ทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมอยู่ในกฎของพระไตรลักษณ์
คือ"อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา"......
  ขอฝากไว้เป็นข้อคิด โปรดอ่านสักนิด แล้วพิจารณาตาม เพื่อความรู้และความเข้าใจในธรรม
                                  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                                  รวี สัจจะ
                                      วจีพเนจร-คนรอนแรม-คนไร้ราก
๒๙ เมษายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๔๘น. ณ ริมฝั่งโขง ประเทศไทย

640
บทความ บทกวี / บทกวีชี้ทางธรรม(๑)
« เมื่อ: 27 เม.ย. 2552, 10:51:18 »
 :059:ทุกข์เท่านั้น  เกิดมา  พาหลงไหล
สมุทัย   ที่กำเนิด  เกิดทุกอย่าง
นิโรธ ธรรม  นำไป  ให้ถูกทาง
มรรค นั้นสร้าง  สัจจะ  สู่พระธรรม
 :054:เป็นของจริง  จากสัจจะ  อริยะ
องค์พุทธะ  เลิศล้น  ชนดื่มด่ำ
บอกโลกรู้  ดูให้เป็น  จึงเห็นธรรม
เพื่อจะนำ  ชีวิต  ไม่ผิดทาง
 :016:จิตที่ส่งออก เป็นสมุทัย
 :059:ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออก  เป็นทุกข์
 :059:จิตเห็นจิต  เป็นมรรค
 :060:ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต  เป็นนิโรธ
 :054:การเจริญวิปัสสนา คือ การเจริญสติปัฏฐาน ๔
 :059:การเจริญสติปัฏฐาน ๔ คือ การบำเพ็ญภาวนากุศล
 :016:การบำเพ็ญภาวนากุศล คือการฝึกตน ให้มีสติอยู่กับรูปนาม
 :015:การมีสติอยู่กับรูปนาม คือ ความเป็นผู้ไม่ประมาท
 :059:ความเป็นผู้ไม่ประมาท คือ ความเป็นผู้ไม่อยู่ปราศจากสติ
 :069:ผู้ไม่อยู่ปราศจากสติ ผู้นั้นชื่อว่า ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเป็นมัชฌิมา คือ ทางสายกลาง
 :090:ปฏิบัติถูกต้องตามพุทธพจน์ที่ได้ตรัสไว้ชอบแล้ว :090:
 :016:ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ท่านทั้งหลาย ผู้ใคร่ธรรม  :090:
 :016:เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต-แด่มิตรในทางธรรม :090:
                                :016:รวี สัจจะ :015:
 :059:๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ เวลา ๒๒.๕๒น. ณ ริมฝั่งโขง ประเทศไทย :060:

641
 :054:ห่างหาย เพราะเหินห่าง....ระยะทาง นั้นยาวไกล....
ห่างกาย  แต่ใกล้ใจ....แม้นอยู่ไกล  ใจผูกพันธ์....
คิดถึง  มวลหมู่มิตร....จากดวงจิต  สมานฉันท์
คิดถึง  ทุกคืนวัน......เพราะเชื่อมั่น  และศรัทธา
 :059:ศรัทธา หลวงพ่อเปิ่น....มากสุดเกิน  พรรณา
หล่อรวม  ร่วมใจมา....เพราะเมตตา  บารมี
เหล่าศิษย์  ต่างสำนึก...น้อมระลึก  ถึงความดี
บุญคุณ  ที่ท่านมี...ศิษย์ผู้นี้  มิลืมคุณ
 :016:ลูกศิษย์  วัดบางพระ...อย่าได้ละ  ช่วยค้ำจุน
ศรัทธา มาเป็นทุน....มาเกื้อหนุน ร่วมศรัทธา
เด็กวัด  อย่าลืมวัด...อย่าได้ตัด  ซึ่งวัดวา
โปรดช่วย  กันรักษา...ซึ่งคำว่า"วัดบางพระ".....
 :015: วัดจะยืนยง  คงอยู่  คู่กับบ้าน
ก็ด้วยการ  พัฒนา  หาหยุดไม่
วัดโรยร้าง  เพราะห่าง  ความร่วมใจ
เชิญชวนไป  ช่วยวัด  พัฒนา
 :015:วัดจะร้าง  โรยรา  ถ้าถูกร้าง
จะอ้างว้าง  ร้างโรย  ให้โหยหา
เกิดทุกข์ภัย  ไร้ศีล  สิ้นเมตตา
ทั้งโลกา  พากันทุกข์  ยุคทมิฬ
 :059:วัดจะร้าง  ช่วยกันสร้าง  อย่าร้างวัด
ช่วยเร่งรัด  พัฒนา  อย่าอยู่เฉย
คอยสอดส่อง  ดูแล  อย่าละเลย
อย่าเฉยเมย  ช่วยวัด  พัฒนา
 :054:วัดจะดี  มิใช่ดี  ที่โบสถ์สวย
หรือร่ำรวย  ด้วยทรัพย์  อสงขัย
วัดจะดี  พระเณรเก่ง  เคร่งวินัย
ยึดหลักชัย  อรหันต์  เป็นสันดาน
 :059:วัดบางพระ  อย่าได้ละ  คำว่า"วัด"
อย่าได้ตัด  "วัด"ไป  ในข่าวสาร
ช่วยรักษา  "วัด"ไว้  ให้ยืนนาน
เพื่อสืบสาน  ศรัทธา  ครูอาจารย์......
 :090:ฝากไว้เป็นข้อคิด เพื่อสะกิดเตือนใจ ลูกศิษย์วัดบางพระทั้งหลาย :090:
         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
                       รวี  สัจจะ
          วจีพเนจร  คนรอนแรม  คนไร้ราก
๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๙.๓๗น. ณ ริมฝั่งโขง ประเทศไทย








642
 :054:ท่ามกลางความสับสนและวุ่นวาย อยากให้ท่านสบายใจ ขอมอบบทกวีให้เป็นกำลังใจ...แด่เธอ ...
 :090:แด่เธอ...ด้วยรักและศรัทธา(ปรารถนาดี) :090:
 :025:.......สาวเอย.......
แม้นเจ้าเคย เจ็บช้ำ ระกำหมอง
ใครเขาทำ น้ำตา เจ้าหลั่งนอง
จงประคอง สติมั่น หมั่นทบทวน
 :114:......สาวเอย........
แม้นเจ้าเคย พลาดพลั้ง ยังกำศรวล
ปลดความคิด เก่าเก่า ราวโซ่ตรวน
แล้วรีบด่วน กลับลำ อย่าร่ำไร
 :089:......สาวเอย.......
แม้นเจ้าเคย ยับเยิน เกินแก้ไข
ที่พบพาน ผ่านมา เกินทำใจ
จงทิ้งไป อย่าจดจำ ให้ช้ำตรม
 :026:.......สาวเอย......
แม้นไม่เคย ทิ้งใคร ให้ขื่นขม
แต่ใยเขา มาเหยียบย่ำ ด้วยคำคม
หักใจข่ม จากลา อย่าอาวรณ์
 :054:.....สาวเอย........
จงเปิดเผย หัวใจ ให้ถอดถอน
ลุกขึ้นเถิด สลัดเงา ที่ร้าวรอน
สิ่งบั่นทอน ลบล้าง สร้างฝันงาม
 :090:......สาวเอย........
อย่านิ่งเฉย ลุกขึ้นมา อย่าเกรงขาม
จงมุ่งมั่น มานะ พยายาม
ก้าวเดินตาม ความฝัน อันเรืองรอง
 :026:......สาวเอย.......
ขอชมเชย น้ำใจ ไม่มีสอง
ที่มั่นคง ยึดมั่น ตามครรลอง
ด้วยสมอง และสำนึก ที่ฝึกมา
 :025:.....สาวเอย......
อย่าละเลย หน้าที่ สตรีหนา
จงเชื่อมั่น ความดี มีศรัทธา
แล้ววันหน้า จะสมหวัง ดั่งตั้งใจ
 :016:.....สาวเอย.....
เหมือนดอกเหมย เบ่งบาน วันฟ้าใส
เมื่อหมอกเมฆ เลวร้าย นั้นผ่านไป
ชีวิตใหม่ คงได้พบ ประสพดี
 :015:......สาวเอย.......
จงเปิดเผย หัวใจ ให้สดศรี
ก้าวเดินไป เสริมสร้าง เส้นทางดี
ขอจงมี ชีวิตใหม่ สดใสเอย :090: :114: :089: :090:
........เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี........
         :016:รวี สัจจะ :015:
     วจีพเนจร-คนรอนแรม-คนไร้ราก
๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ เวลา๑๘.๑๕ น. ณ ริมฝั่งโขง ประเทศไทย

643
บทความ บทกวี / ศรัทธาและเชื่อมั่น
« เมื่อ: 07 เม.ย. 2552, 09:43:08 »
 :054:ศรัทธา และเชื่อมั่น
สมานฉันท์ เถิดผองไทย
ร่วมจิต และกายใจ
มารักใคร่ สามัคคี
 :070:ฟ้าหม่น ตะวันหมอง
น้ำตานอง ทุกถิ่นที่
น้ำใจ และไมตรี
ที่เคยมี กลับลืมเลือน
 :093:ปลุกปั่น กันไปทั่ว
ถูกปั่นหัว ทุกครัวเรือน
ไม่ฟัง ในคำเตือน
แม้นแต่เพื่อน ก็ไม่ฟัง
 :086:ใครทุกข์ ใครระทม
ใครขื่นขม ใครล้มพัง
คนไทย ควรระวัง
ควรหยุดยั้ง ความวุ่นวาย
 :069:หลงใหล ในเงินตรา
จึงนำพา สู่ฉิบหาย
บ้านเมือง ใกล้วอดวาย
คนคิดร้าย ทำลายเมือง
 :043:เสียศูนย์ เพราะสูญเสีย
พรากลูกเมีย เพราะก่อเรื่อง
ทำให้ ระคายเคือง
กระด้างเดื่อง ต่อแผ่นดิน
 :068:ร่ำรวย จึงลุ่มหลง
ว่ามั่นคง ในชีวิน
อยากใหญ่ ไม่รู้สิ้น
จึงหยามหมิ่น แผ่นดินไทย
 :054:นิยาม ความสำเร็จ
กล(ละ)เม็ด อยู่ที่ใจ
พอเพียง ลงเมื่อใด
ก็สุขใจ นิรันดรณ์ :090: :089: :026: :114: :077:
      เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
               รวี สัจจะ
       วจีพเนจร-คนรอนแรม
 ๗ เมษายน ๒๕๕๒ เวลา๐๙.๔๕ น. ณ ริมฝั่งโขง ประเทศไทย

644
 :090:เหนื่อยนัก จงพักผ่อน
ที่ร้าวรอน ให้จางหาย
เหนื่อยท้อ ขอให้คลาย
ที่มุ่งหมาย ใคร่ฝ่าฟัน
 :114:แมกไม้ ในคืนค่ำ
จะกอดคำ ถ้อยจำนรรจ์
แดนไพร พนาวัลย์
จะโอบอุ้ม คุ้มชีวา
 :025:เรไร ในพงกว้าง
คนอ้างว้าง ช่างโหยหา
หรีดหริ่ง ส่งเสียงมา
แทนวาจา เพื่อปลอบโยน
 :077:พักลง ณ ตรงนี้
ละสิ่งที่ เป็นหัวโขน
ปลุกใจ ให้ลุกโชน
แม้นไกลโพ้น กำลังใจ
 :090:หลับตา อย่าท้อแท้
คราอ่อนแอ อย่าร้องไห้
คิดถึง และห่วงใย
แม้อยู่ไกล ให้อยู่ดี
 :089:จากใจ คนไกลบ้าน
มาทำงาน อยู่ต่างที่
กล่าวถ้อย ร้อยวจี
ด้วยหวังดี มิเสื่อมคลาย
 :054:อยู่คู่ และเคียงข้าง
ในเส้นทาง สู่จุดหมาย
มอบให้ ทั้งใจกาย
แด่สหาย ร่วมแนวทาง
 :090:ฝันใฝ่ ไปให้ถึง
จะพบซึ่ง แสงสว่าง
ศรัทธา อย่าได้จาง
จงเร่งสร้าง ซึ่งทางธรรม
 :054:แสงธรรม นำชีวิต
ลบสิ่งผิด ที่ครอบงำ
ลบล้าง พฤติกรรม
แล้วชี้นำ สู่ความดี
 :089:ชีวิต ลิขิตใหม่
เราสร้างได้ ในวันนี้
เส้นทาง สู่ความดี
เป็นสิ่งที่ เราต้องทำ....
 :054:ฝากไว้ให้ทุกท่านที่เข้ามาอ่าน....เพื่อเป็นกำลังใจ...ในยามที่ท่านท้อแท้...หรือสับสน...ยังมีเราอีกหนึ่งคน...ที่อยู่เคียงข้างคุณ.....
                   ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่หมู่มิตรผู้ร่วมทาง
                                             รวี สัจจะ
                              วจีพเนจร-คนรอนแรม-คนไร้ราก
    ๕ เมษายน ๒๕๕๒ เวลา๑๘.๕๒ น. ณ ริมฝั่งโขง ประเทศไทย

645
บทความ บทกวี / รักเธอประเทศไทย
« เมื่อ: 03 เม.ย. 2552, 10:44:00 »
       แผ่นดินนี้ คือที่ ให้กำเนิด       ได้ก่อเกิด เติบกาย จนได้ใหญ่
แผ่นดินนี้ มาไร้สุข เกิดทุกข์ภัย        จึงอยากให้ มาร่วมกัน ดับมันลง
เพราะความโลภ ความหลง ของมนุษย์ ไม่สิ้นสุด ตัณหา พาให้หลง
อยากได้มา เพื่อลาภยศ ที่มั่นคง        ไม่ยอมปลง จึงสร้าง ทางระยำ
ต่างกล่าวอ้าง เพื่อคน ชนทุกชั้น       ความจริงนั้น เพื่อใคร ให้น่าขำ
ต่างก็ถูก กิเลส เข้าครอบงำ            แผ่นดินช้ำ บ้านเมืองชอก เพราะหลอกลวง
เอาประโยชน์ มาล่อ ให้ก่อติด         พันธมิตร นปช ต่างแหนหวง
อ้างว่าทำ เพื่อคน ชนทั้งปวง           ต่างหลอกลวง มวลมหา ประชาชน
ประเทศชาติ วุ่นวาย ใกล้พินาศ        ให้ต่างชาติ ซ้ำเติม เพิ่มเหตุผล
คนในชาติ ทะเลาะกัน ในวังวน         ทำเพื่อตน ได้เป็นใหญ่ ในแผ่นดิน
   ลืมบุญคุณ แผ่นดิน ถิ่นกำเนิด       จึ่งก่อเกิด ความวุ่นวาย ไม่จบสิ้น
เป็นอย่างนี้ เรื่อยมา เป็นอาจิณย์       จนเคยชิน เป็นสันดาน นักการเมือง
เมื่อสูญเสีย ไม่ยอม จะสูญเสีย        ชวนกองเชียร์ ให้ออก มาทำเรื่อง
ปลุกอารมณ์ ผู้คน ให้แค้นเคือง        ทั่วบ้านเมือง จึงขาด สามัคคี
คนเหล่านี้ เกินที่ จะแก้ไข              เพราะจิตใจ นั้นไร้ ซึ่งศักดิ์ศรี
ไม่รู้จัก ผิดชอบ และชั่วดี               ต่างมุ่งที่ จะได้มา ซึ่งพวกตน
ท่านทั้งหลาย ควรคิด และศึกษา     ถึงที่มา ด้วยเหตุ และด้วยผล
อย่าศรัทธา เพียงว่า เป็นพวกตน     ใช้เหตุผล เข้าคิด พิจารนา
ทำอย่างไร แผ่นดินไทย จะสงบ      ถ้าเคารพ เหตุผล ไร้ปัญหา
มาร่วมจิต ร่วมคิด พัฒนา              เพื่อแผ่นดิน ที่เกิดมา ได้ร่มเย็น
                      เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                               รวี สัจจะ
                        วจีพเนจร-คนรอนแรม
3 เมษายน 2552 เวลา 10.45 น. ณ ริมฝั่งโขง ประเทศไทย         

646
"อย่าได้สร้างความกดดันให้กับตัวเองในขณะปฏิบัติ" การตั้งใจมากจนเกินไปในการปฏิบัติเป็นการสร้างความกดดันให้กับตัวเอง โดยที่เราไม่รู้ตัว มันจะทำให้เกิดความเครียด ความกังวล เพราะเราไปหวังผลที่จะเกิดขึ้นมากเกินไป เมื่อไม่ได้ดั่งที่หวังมันจะทำให้เกิดความกังวล ความสับสนวุ่นวายฟุ้งซ่านจะเกิดขึ้นในใจให้เราทำใจให้สบายๆทำได้เท่าที่จะทำ ค่อยๆเป็นค่อยๆไป ทำเหมือนกับเรากำลังฝึกซ้อม เพื่อเพิ่มกำลังของเรา ให้เรามีความพร้อมที่จะลงแข่งขัน (คือการปฏิบัติอย่างจริงจัง) ร่างกายและจิตใจของเรานั้นมันต้องมีกำลัง(พละ)ซึ่งจะเกิดมีขึ้นได้ด้วยการฝึกซ้อมอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยการปฏิบัติตามหลักธรรมไตรสิกขา3คือ ทาน ศีล ภาวนา และพัฒนาเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา  การที่ให้เราเริ่มจากทานนั้นก็เพราะว่า การให้ทานทำให้จิตใจเราอ่อนโยน มีเมตตา โอบอ้อมอารี ความเห็นแก่ตัว(อัตตา)จะลดน้อยลง การให้ทานนั้นทำให้ใจของเราไม่แข็งกระด้าง ใจของเราเดินเข้าสู่กระแสแห่ง พรหมวิหาร4 คือมี เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เมื่อเราให้ทานบ่อยๆใจของเราก็จะสบายและมีความภาคภูมิใจในสิ่งที่เราได้ทำเรียกว่ามีกำลังบุญส่วนการรักษาศีลนั้น เราอย่าไปยึดติดกับถ้อยคำและตัวอักษรให้มากเกินไป มันอยู่ที่ใจของเรา เพราะว่าการรักษาศีลนั้น คือการมีสติและสัมปชัญญะอยู่กับกายและใจของเรา(ภาษาชาวบ้านเรียกว่าใจอยู่กับกับเนื้อกับตัว)รู้ว่าเรากำลังทำอะไรและสิ่งที่เราทำนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นอกุศลก็ไม่ควรกระทำ ควรงดเว้นการที่เราหักห้ามใจในอกุศลได้นั้น ทำให้เกิดคุณธรรม คือหิริและโอตัปปะ (ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป)ศีลจะสมบูรณ์ได้นั้น ต้องประกอบด้วยคุณธรรม คือมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป มีสติและสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ฉะนั้น การรักษาศีลจึงเป็นการฝึกสติไปในตัว และศีลนั้นจะสมบูรณ์ด้วยการมีสติและเมื่อเรามีกำลังของสติที่สมบูรณ์แล้วการภาวนาก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะสติที่มีกำลังนั้นสามารถที่จะเข้าไปจับองค์ภาวนา(คำบริกรรมหรือนิมิตร)ได้อย่างมั่นคง ฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องทำตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้คือทำตามไตรสิกขา ทั้งของฆราวาสหรือของบรรพชิต แล้วแต่สถานะของเรา อย่าได้ลัดขั้นตอน(อย่าไปเก่งกว่าพระพุทธเจ้า) เพียงแต่เราอย่าไปติดยึดในรูปแบบของตัวอักษรจนมากเกินไปเพราะถ้าเราไปยึดติดในสิ่งนั้นแล้ว มันจะดูว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และทำได้ยาก เกินกำลังของตัวเรา เราจึงไม่พร้อมที่จะปฏิบัติ "ธรรมะเริ่มจากใจ ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน" จึงขอให้เราท่านทั้งหลายมาทำความรู้ความเข้าใจเพื่อที่จะได้นำไปสู่การปฏิบัติ พัฒนาทางจิต เพื่อชีวิตที่ดีงามในโอกาศต่อไป
      ขอฝากไว้เป็นข้อคิดด้วยมิตรไมตรี อย่าเชื่อทันที โปรดนำไปคิดและพิจารนา
                      เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                  รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
                             วจีพเนจร-คนรอนแรม-คนไร้ราก
              3 เมษายน 2552 เวลา 10.09น. ณ.ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

647
บทความ บทกวี / วุ่นวายและสับสน
« เมื่อ: 31 มี.ค. 2552, 01:07:47 »
วุ่นวายและสับสน   เกิดจากคนไร้ศีลธรรม
ความโลภเข้าครอบงำ  จึงก่อกรรมให้บ้านเมือง
ย่อยยับและยับย่อย    พวกคนถ่อยอยากครองเมือง
สร้างเหตุและสร้างเรื่อง  ให้บ้านเมืองต้องวุ่นวาย
ลาภยศและสรรเสริญ    ถ้าหลงเพลืนพาฉิบหาย
เดือดร้อนทั้งใจกาย      เพราะมุ่งหมายประโยชน์ตน
สูญเสียอยากได้กลับ    ไม่ยอมรับซึ่งเหตุผล
หลอกลวงประชาชน      เพื่อให้ตนได้พ้นภัย
เหลืองแดงแรงทั้งนั้น    ต่างแข่งขันไม่แก้ไข
ต่างคิดเอาแต่ใจ         ไม่ฟังใครไร้ศีลธรรม
ต่างคิดว่าไม่ผิด          เพราะว่าจิตนั้นถลำ
ความโลภเข้าครอบงำ   ต่างก็ทำตามใจตัว
สังคมแบ่งฝักฝ่าย        จึงวุ่นวายไปถ้วนทั่ว
ทำเพื่อประโยชน์ตัว      ไม่เกรงกลัวจึงวุ่นวาย
บ้านเมืองจึงบอบช้ำ      ไร้ศีลธรรมจึงเสียหาย
ทะเลาะฆ่ากันตาย      ดั่งวัวควายไร้ปัญญา
หยุดเถิดเสื้อเหลืองแดง  อย่าได้แบ่งแยกเลยหนา
สังคมจะหรรษา            ถ้าหันหน้ามาร่วมกัน
ร่วมกันเพื่อสรรค์สร้าง     มาร่วมทางสมานฉันท์
ก้าวเดินไปพร้อมกัน       สังคมนั้นจะรุ่งเรือง....
    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ไมตรีจิต
                    รวี สัจจะ
       วจีพเนจร-คนรอนแรม-คนไร้ราก
30 มีนาคม 2552 เวลา 24.00น.ณ ริมฝั่งโขง

648
"ให้ระวังความคิด คิดมากๆมันจะกลายเป็นการกระทำ ให้ระวังการกระทำ กระทำมากๆจะกลายเป็นความเคยชิน ให้ระวังความเคยชิน เคยชินมากๆจะกลายเป็นนิสัย ให้ระวังนิสัยที่สังสมไว้ จะกลายเป็นอุปนิสัยติดภพติดชาติไป" นี่คือคำกล่าวของหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี ซึ่งท่านได้กล่าวสั่งสอนไว้ ให้ศิษย์ทั้งหลายได้พิจารนา ซึ่งข้าพเจ้าได้นำมาคิดและพิจารนาตาม จึงได้เข้าใจในหลักธรรมที่ท่านได้สอนไว้และอยากจะนำมาอธิบายขยายความให้ท่านทั้งหลายได้คิดและพิจารนาว่าที่ท่านได้กล่าวมามีเนื้อหาว่าอย่างไร
...เหตุที่ท่านให้ระวังความคิด ความคิดนั้นคืออกุศลจิต อกุศลกรรม เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและไม่ควรคิด ควรนำจิตออกห่าง เพราะมันจะเป็นหนทางสู่อบายภูมิ ท่านให้เราหันเข้ามาสู่กุศลจิต คือคิดถึงสิ่งที่ดีงาม เป็นการปรับเปลี่ยนแนวความคิดนำจิตเข้าสู่กุศล เป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ ให้เริ่มต้นด้วยกุศลจิต  แล้วจึงเข้าสู่การภาวนา เพราะการภาวนานั้นหมายถึงทำให้ดีขึ้น พัฒนาขึ้น ภาวนาคือพัฒนามาจากรากศัพย์ตัวเดียวกัน ฉะนั้นการภาวนาคือการทำให้ดีขึ้นเจริญขึ้น สิ่งที่ดีขึ้นและเจริญขึ้นก็คือกุศลจิต เราจึงต้องเริ่มต้นจากความคิด แล้วนำไปสู่การกระทำ นี่คือการปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิด และปรับการกระทำ ให้เป็นกุศลกรรมเพื่อให้เกิดความเจริญในธรรม หลักของการปฏิบัติธรรมอย่างเรียบง่ายสบายๆก็คือการเริ่มจากการฝึกคิดให้จิตเป็นกุศล จนเกิดความเคยชินในกุศล มีกุศลจิตคุ้มครองตน เพราะเราจะอยู่กับสิ่งที่เป็นกุศลมากกว่า
สิ่งที่เป็นอกุศล ความเป็นมงคลของชีวิตก็เกิดขึ้นในจิตใจของเรา ศรัทธาก็จะเพิ่มขึ้น จิตที่เป็นกุศลก็จะเพิ่มพูนพัฒนาน้อมเข้าหาหลักธรรม แล้วจะนำไปสู่การปฏิบัติพัฒนาทางจิต มีความคิดที่ดีงาม มีองค์แห่งคุณธรรมคุ้มครองจิต มีความอ่อนน้อมถ่อมตน จิตใจโอบอ้อมอารี มีเมตตา ไม่เย่อหยิ่งอวดดี มีสัมมาคารวะลดละซึ่งอัตตา เพราะมีธรรมะคุ้มครองจิต รู้ถูกผิดและชั่วดี เพราะจิตนี้มีคุณธรรม มีหิริคือความละอายต่อบาปแม้นเพียงความคิดที่ผิดก็ไม่กล้าคิด โอตัปปะคือความเกรงกลัวต่อความคิดที่เป็นอกุศลก็ไม่กล้าคิดจิตนั้นประกอบด้วยคุณธรรม จึงขอนำมาอธิบายขยายความเพื่อประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย ได้คิดและพิจารนา เพื่อให้เกิดปัญญาที่จะนำมาสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง.....
                เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรผู้ใคร่ธรรม
                               รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
                                วจีพเนจร-คนรอนแรม
          28 มีนาคม 2552 เวลา 22.22น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

649
รอนแรมและเร่ร่อน       เป็นคนจรรอนแรมไป
ทั่วถิ่นของแดนไทย      ก้าวเดินไปตามมรรคา
มากมายมวลหมู่มิตร     ไปด้วยจิตปรารถนา
ส่งเสริมซึ่งศรัทธา        เพิ่มปัญญาให้มวลชน
มวลชนเหล่าคนทุกข์    ไร้ซึ่งสุขเพราะสับสน
เวียนว่ายในวังวน         ในบ่วงกลโลกธรรม
ลาภยศและสรรเสริญ     หลงเพลิดเพลินจิตถลำ
ความทุกข์จึงครอบงำ    เกิดเพราะกรรมที่ทำมา
...จรไปให้ข้อคิด         เพื่อเตือนจิตและวิญญา
เตือนใจให้ศรัทธา       ยกธรรมมาเพื่อชี้นำ
ชี้นำทางความคิด        ชี้ถูกผิดสัจจธรรม
ลบล้างความมืดดำ       ด้วยแสงธรรมส่องนำทาง
นำทางสว่างจิต           ให้มวลมิตรไม่อ้างว้าง
เคียงคู่สู่แนวทาง         แสงสว่างแห่งธัมมา
ธัมมาพาชีวิต             สร้างดวงจิตให้มีค่า
กุศลจะนำพา             สู่มรรคาคุณธรรม
...เหนื่อยกายสบายจิต  เพื่อมวลมิตรพ้นเคราะห์กรรม
เหนื่อยยากก็จะทำ       เพื่อชี้นำซึ่งแนวทาง
แนวทางของชีวิต         ที่ลิขิตและสรรค์สร้าง
ศรัทธาไม่เคยจาง        มุ่งสรรค์สร้างทางความดี
กล่าวธรรมเพื่อเป็นทาน  เพื่อสมานท์สามัคคี
สมญาของ"วจี "          จึงได้มี"พเนจร"
รอนแรมและไร้ราก       จึงขอฝากซึ่งบทกลอน
บทความที่แรมรอน       ใช่จะสอนเพียงแนะนำ...
   เชื่อมั่น-ศรัทธา- ปรารถนาดี-ด้วยมิตรไมตรี
                        รวี สัจจะ
         วจีพเนจร-คนรอนแรม-คนไร้ราก
28 มีนาคม 2552 เวลา 13.09น. ณ ริมฝั่งโขง     

650
"รู้มากจะยากนาน" คนโบราณท่านกล่าวไว้ไม่มีผิด เพราะส่วนใหญ่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ไปปรุงแต่งในสัญญา(ความจำ) เลยไม่พบสภาวะธรรมที่แท้จริง พบแต่สิ่งที่สร้างขึ้นมา ขณะปฏิบัติไม่ต้องไปปรุงแต่งว่า
มันเป็นอารมณ์อะไร และไม่ต้องไปสนใจว่ามันอยู่ฌานไหน ปล่อยให้มันเป็นไปตามกระแสแห่งสภาวะธรรม
หน้าที่ของเราในขณะนั้น ก็คือดูและรู้อยู่ในองค์ภาวนา อย่าให้พลาดอย่าให้ขาดสติ
   แต่เมือเราออกจากการปฏิบัติแล้ว เราต้องมาทบทวน ใคร่ครวญ และพิจารนา ว่าอะไรได้เกิดขึ้นมาบ้างในขณะที่เราปฏิบัติ ก่อนความรู้สึกอย่างนี้จะเกิดขึ้น เรามีความรู้สึกเป็นอย่างไร และความรู้สึกอย่างนั้นมันหาย
ไปตอนไหน ขณะที่เกิดขึ้นเรามีความรู้สึกอย่างไร ได้รู้หรือเห็นอะไร เราต้องจำอารมณ์เหล่านั้นไว้ เพื่อจะได้
มาเปรียบเทียบกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าสิ่งที่เราได้พบนั้นคืออะไร อยู่ในอารมณ์ไหน"อย่าไป
รู้ก่อนเกิด ให้มันเกิดขึ้นแล้วจึงรู้"
     การเปรียบเทียบสิ่งที่พบเห็นกับหลักธรรมนั้น ถ้าเป็นสภาวะธรรมที่ถูกต้องตามคำสอนในพระพุทธศาสนา
แล้ว สิ่งนั้นจะสงเคราะห์ได้ทุกหมวดหมู่เข้าได้ทุกหลัก เป็นเหตุและปัจจัย สงเคราะห์และอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น ก็เพราะว่า เราพยายามตีความหลักธรรมให้มาสงเคราะห์ มารองรับความรู้ความคิด
ความเข้าใจของตัวเรา(ปรับหลักเข้าหาตัวเรา)ธรรมก็เลยคลาดเคลื่อน กลายเป็นการบิดเบือนซึ่งพระธรรม
    ถ้าหากว่าความรู้ความเข้าใจของเรานั้น แตกต่างจากหลักธรรม เราต้องมาพิจารนาที่ตัวเราว่า มันมาจากสาเหตุไหน เกิดขึ้นเพราะอะไร ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น (ปรับตัวเราเข้าหาหลัก) เพราะหลักธรรมนั้นเป็นของคงอยู่
คู่กับธรรมชาติ เป็นสัจจธรรม(ปรมัตถ์บัญญัติ) ความรู้ความเห็นของเราเกิดมาทีหลัง และเราเป็นเพียงนักฝึกหัดปฏิบัติ ฉะนั้นจึงต้องมีหลักและยึดหลังของพระพุทธเจ้าเป็นบรรทัดฐาน อย่าได้อาจหาญไปรู้ดีกว่าพระพุทธ
เพราะนั่นเท่ากับเรากำลังเดินหลงทาง
   เป็นเพียงมุมหนึ่งของความคิดที่จิตได้ประสพพบมา จึงขอนำเสนอมาเพื่อแลกเปลี่ยนและเล่าสู่กันฟัง.......
อาจจะมีประโยชน์บ้าง ถ้าท่านนำไปคิดและพิจารนาหาเหตุและผล อย่างน้อยท่านจะได้รู้ว่าสิ่งที่นำเสนอมานั้นมันเป็นอย่างไร ถูกใจหรือไม่ถูกใจ มันมาจากสาเหตุอะไร ประโยชน์ที่ได้คือท่านได้ฝึกคิด และฝึกอ่าน.......สิ่งที่นำเสนอมานั้นไม่กล้ายืนยันว่ามันถูกหรือผิด  มันเป็นเพียงมุมหนึ่งของจิตที่ได้สัมผัสมา
          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี -ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรผู้ใคร่ธรรม
                     รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
                วจีพเนจร คนรอนแรม คนไร้ราก
     26 มีนาคม 2552 เวลา 23.18น. อ่างศิลา ชลบุรี


651
บทความ บทกวี / มนุษย์หรือคน...?
« เมื่อ: 26 มี.ค. 2552, 09:00:00 »
....คำว่าคนคือคลุกเคล้าให้เข้ากัน .....สารพันสารพัดจะจัดหา
มาหล่อรวมร่วมไว้ในโลกา...             นี่แหละนานี่แหละหนาคำว่าคน
สารพัดความคิดจิตมนุษย์                 ไม่สิ้นสุดมากมายหลายเหตุผล
แสวงหาประโยชน์ซึ่งส่วนตน              ต่างดิ้นรนไขว่คว้ามาครอบครอง
ศีลธรรมสูญพรากจากความคิด           ความถูกผิดหมดไปในสมอง
ไร้ไมตรีไม่มีความปรองดอง              ต่างสนองตัณหามาสู่ตัว
ไร้มิตรแท้และศัตรูที่ถาวร                 ลืมคำสอนถูกผิดและดีชั่ว
เพราะว่าจิตคิดไปให้เมามัว               เห็นแก่ตัวลืมซึ่งคุณธรรม
เมื่อศีลธรรมหายไปให้เกิดทุกข์          หมดสิ้นสุขจิตใจให้ถลำ
ให้ความชั่วความโลภเข้าครอบงำ        จิตเลยต่ำหมดค่าคำว่าคน
...อันมนุษย์นั้นหมายถึงใจสูง            คล้ายนกยูงมีดีที่แววขน
สร้างประโยชน์นั้นไว้ให้มวลชน          มีเหตุผลในชีวิตไม่ผิดทาง
แต่ว่าคนนั้นหมายได้หลายสิ่ง           มีทั้งจริงและหลอกให้ออกห่าง
ให้มัวเมาหลงคิดให้ผิดทาง              มันเลยสร้างความวุ่นวายให้สังคม
โปรดสักนิดควรคิดและศึกษา            แล้วนำมาปฏิบัติให้เหมาะสม
ให้โลกนี้ได้มีความรื่นรมณ์               ให้สังคมสงบเคารพธรรม....
               เชื่อมั่น-ศรัทธา- ปรารถนาดี-ด้วยจิตมิตรไมตรี
                                     รวี สัจจะ
                       วจีพเนจร-คนรอนแรมและไร้ราก
           26 มีนาคม 2552 เวลา 08.59น. ศรีราชา ชลบุรี

652
บทความ บทกวี / มุมหนึ่งของชีวิต
« เมื่อ: 25 มี.ค. 2552, 06:54:42 »
     ....มุมหนึ่งของชีวิต  ที่ลิขิตเส้นทางเดิน
ลุ่มหลงและเพลิดเพลิน   ต้องเผชิญกับเคราะห์กรรม
เวียนว่ายในวังทุกข์        คิดว่าสุขเลยถลำ
ย้ำคิดและย้ำทำ            เป็นประจำในวังวน
ก้าวย่างในทางผิด          เพราะความคิดที่สับสน
กลายเป็นทุรชน            ในวังวนอาชญา
....วันหนึ่งจึงได้คิด        ถึงชีวิตที่ผ่านมา
ผ่านไปโดยไร้ค่า           ถูกตราหน้าว่าคนเลว
ชีวิตไร้คุณค่า               คล้ายนำพาสู่หุบเหว
ผ่านไปอย่างรวดเร็ว       คล้ายดั่งเปลวของแสงเทียน
วูบวาบและหวั่นไหว       ล่องลอยไปในวงเวียน
ละทิ้งการอ่านเขียน       ละความเพียรหลงมายา
....แต่บุญมาหนุนนำ      แสงพระธรรมส่องลงมา
เปิดใจและเปิดตา         เห็นคุณค่าของพระธรรม
แสงธรรมส่องนำทาง     แสงสว่างช่วยนี้นำ
ก้าวเดินสู่ทางธรรม       ชดใช้กรรมที่ทำมา....
....มุมหนึ่งของชีวิต      ที่พลาดผิดได้ศึกษา
เตือนจิตทุกเวลา          ให้รู้ว่าไม่ควรทำ....
      เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
               รวี สัจจะ
          วจีพเนจร-คนรอนแรม
25 มีนาคม 2552 เวลา06.54น. กรุงเทพมหานคร         

653
"ปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิด ปรับการกระทำ"
เมื่อเรามีความคิด ความตั้งใจที่จะปฏิบัติ จงลงมือกระทำในทันที โดยการปรับจิตของเรา ให้เป็นกุศลจิตเสียก่อน
ด้วยการน้อมจิตของเราไปสู่สิ่งที่เป็นบุญกุศล ที่เราได้กระทำมาแล้ว และความดีนั้นมันเป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจ
ประทับใจเราเสมอมา น้อมจิตระลึกนึกไปจนใจของเราเป็นสุข มีความรู้สึกเอิบอิ่มสบายใจ แจ่มใสและเบิกบาน
มีความสุขในการระลึกนึกถึงบุญกุศล จิตของเราจึงเป็นกุศลจิต เมือมีความรู้สึกเอิบอิ่มสบายใจแล้ว ให้เราน้อมจิตของเรามาดูที่ร่างกายของเรา ทำความรู้สึกให้รู้ตัวทั่วพร้อม น้อมจิตระลึกนึกจากส่วนบนของร่างกาย ตั้งแต่ศรีษะ เรื่อยลงมา จนถึงปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นมาสู่ศรีษะ มีสติและสัมปชัญยะ ให้รู้ตัวทั่วกาย แล้วน้อมจิตไปสู่องค์ภาวนา ที่เราศรัทธาและชอบใจ ตั้งสติไว้กับองค์ภาวนา ให้เรารู้ว่าลมหายใจของเราเข้าออกตามปกติที่เคยเป็นมา พยายามทำอย่างนี้จนมีความชำนาญ
       การที่ให้ระลึกนึกถึงความดีบุญกุศลนั้น เป็นการฝึกสร้างอารมณ์ปิติ เพราะว่าบุญนั้นคิดถึงครั้งใดใจเป็นสุข
ใจที่มีความสุขความเอิบอิ่ม มันมีพลังในการทำงานหรือการปฏิบัติ และเพิ่มศรัทธา
       ส่วนการระลึกรู้ดูร่างกายนั้น เป็นการเรียกสติและสัมปชัญยะให้มาอยู่กับกาย เรียกว่าเอาจิตมาคุมกายให้ใจ
มันอยู่กับเนื้อกับตัวจนเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม
        ส่วนการน้อมจิตไปผูกติดไว้กับองค์ภาวนานั้น ให้ท่านวางอารมณ์แบบสบายๆอย่าไปตั้งใจและมุ่งหวังจนมากเกินไป มันจะทำให้เกิดอาการเครียดและเกร็งขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว เพราะเราไปกดจิต มันจะเกิดการผิดปกติทางกายขึ้นมา เช่นมึนศรีษะ ปวดต้นคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง แน่นหน้าอก ร้อนที่หน้าท้อง ปวดเอวปวดขาและปวดเข่า เพราะว่ากำลังสมาธิของเรายังไม่แข็งพอ ที่จะเข้าไประงับอาการเจ็บปวดทางกายได้ ถ้ามีอาการอย่างนั้น ให้เรารีบสลายแล้วกลับมาตั้งจิตใหม่ "เคลื่อยไหวทางกาย สลายทางจิต" ทำจนสติและสมาธิมีกำลังเพิ่มขึ้น แล้วจึงมาฝึกข่มความรู้สึกเจ็บปวดทางกายต่อไป
             ฝากไว้ด้วยความปรารถนาดี และมิตรไมตรี
                       รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
                       วจีพเนจร-คนรอนแรม
24 มีนาคม 2552 เวลา 23.50 น. ณ มุมหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

654
      ในการปฏิบัติธรรม การเจริญสติเพื่อให้สมาธิเกิดขึ้นนั้น สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นเป็นของเฉพาะตน ฉะนั้นจงอย่าเอาไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะคล้ายและใกล้เคียงกัน แต่มันจะไม่เหมือนกันไปทุกอย่าง สื่งสำคัญที่เราควรจะรู้ก็คือ
สิ่งที่เราได้ปฏิบัติมันทำให้เราดีขึ้นหรือไม่ มันเป็นอย่างไร จิตเราสงบขึ้นหรือไม่ นั่นคืดสิ่งที่เราต้องรู้ ต้องเข้าใจในตัวเราว่าเป็น
อย่างไร  ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเราไม่ลืมความจำ(สัญญา)สิ่งที่เราได้ยินได้อ่านได้ฟังมา พอเวลาปฏิบัติใจเราอยากจะให้มันเป็นไปเหมือนกับที่เรารู้มา และจินตนาการปรุงแต่งอารมณ์ให้เป็นไปอย่างนั้น จนอาจจะกลายเป็นการสะกดจิตตัวเองไป
ทำให้ไม่ได้พบสภาวะธรรมที่แท้จริง พบแต่สิ่งที่เป็นมายา ซึ่งอาจจะพาให้เราหลงผิดติดในอารมณ์ที่ไม่ถูกต้อง เพราะมันไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงสิ่งและอารมณ์ที่เราสร้างขึ้น มันจะเกิดอาการตันไม่มีความก้าวหน้า ไม่มีการพัฒนาทางจิต ติดอยู่ในนิมิตมายา
กลายเป็นคนมีปัญหาต่อสังคม คุยกับใครไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ เพราะติดในอารมณ์และนิมิตที่เรารู้และเข้าใจอยู๋ผู้เดียว
      การปฏิบัติธรรมนำมาซึ่งความสุข สุขในสิ่งที่เป็นกุศล และนำมาซึ่งมงคลของชีวิต จิตใจที่ดีงาม ทำให้รูและเข้าใจในชีวิตของ
ตนเองและผู้อื่น เข้าใจในโลกธรรมและในกรรมของสัตว์โลก ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง(ตถตา) ดำเนินชีวิตแบบเรียบงายอยู่ในโลกที่วุ่นวาย โดยที่ไม่หวั่นไหวและวุ่นวายไปกับโลก ธรรมอยู่ที่ใจไม่ใช่ที่ร่างกายและการแสดงออก ซึ่งเป็นอาการภายนอก การปฏิบัติ
ธรรมไม่ใช่การโชว์ การโอ้อวด หรือการแข่งขัน แต่เป็นการพัฒนาทางจิต เปลี่ยนแปลงความคิด ซึ่งอยู่ภายใน ทำให้เข้าใจในชีวิต
(กระบี่อยู่ที่ใจ ไม่ต้องโชว์)ใช้ชีวิตเรียบง่ายแต่ไม่มักง่าย ไร้รูปแบบแต่ไม่ไร้สาระ ดำเนินชีวิตในสังคมได้ตามปกติสุข
    ฝากไว้เป็นข้อคิด โปรดอ่านสักนิด แล้วพิจารนาตาม วางใจให้เป็นกลาง พิจารณาอย่างมีสติ แล้วจะเห็นมิติที่แตกต่างออกไป
                                                  เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                                                     รวี สัจจะ -สมณะไร้นาม
                                                    วจีพเนจร-คนรอนแรม  
                            ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๕๔ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย

655
      "เมื่อหยุดคิดปรุงแต่ง และวางทุกสิ่งลงได้(ทั้งสิ่งที่รู้และสิ่งที่ถูกรู้ทั้งปวง)สัจจธรรมความจริงแท้ก็จะปรากฏขึ้นมาให้รู้เราเอง"
การที่จิตของเราไม่สงบนั้น เป็นเพราะเราคิด จิตของเราไปปรุงแต่ง มีความกังวลหวังผลของการปฏิบัติ อยากจะให้สมาธิเกิดขึ้นโดยเร็ว หรือไม่ก็ปรุงแต่งไปในความคิดต่างๆ เพราะเรายังละวางอารมณ์เก่าของเราไม่ได้ หรือจะกล่าวไปก็คือความกังวลยังมีอยู่
ความกังวลนั้น ภาษาธรรมะเรียกว่า"ปลิโพธิ"ซึงมีอยู่ ๑๐ ประการด้วยกันคือ
 ๑.อาวาสปลิโพธิ  คือความกังวลเกี่ยวกับที่อยู่ที่อาศัย ที่ปฏิบัติ  คือเกี่ยวกับสถานที่
 ๒.กุลปลิโพธิ      คือความกังวลเกี่ยวกับตระกูลที่มีอุปการะต่อเรา
 ๓.ลาภปลิโพธิ     คือความกังวลเกี่ยวกับลาภสักการะ หรือรายได้ของเรา
 ๔.คณปลิโพธิ     คือความกังวลเกี่ยวกับหมู่คณะเพื่อนฝูงของเรา
 ๕.กัมมปลิโพธิ    คือความกังวลเกี่ยวกับหน้าที่การงานของเรา
 ๖.ญาติปลิโพธิ    คือความกังวลเกี่ยวกับญาติพี่น้องของเรา
 ๗.อาพาธปลิโพธิ คือความกังวลเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วย
 ๘.คันธปลิโพธิ    คือความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาหาความรู้
 ๙.อัทธาปลิโพธิ  คือความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางการอยากท่องเที่ยว                                                              
๑๐.อิทธิปลิโพธิ   คือความกังวลที่เกี่ยวกับผลสำเร็จในการปฏิบัติป คาดหวังผลที่จะได้รับ                                                                สิ่งเหล่านี้คือความกังวลที่เกิดขึ้นในขณะที่เรากำลังปฏิบัติ ฉนั้นเราจึงต้องรู้ว่าเรากำลังคิดถึงเรื่องอะไรอยู๋ ที่ทำให้จิตของเราหลุดจากองค์ภาวนา และเมื่อเรารู้เท่าทัน ในสิ่งที่เราคิด เราก็พิจารนาว่าเวลานี้สิ่งที่คิดมันสมควรจะคิดหรือไม่ คิดแล้วมันได้อะไร ทำในตอนนี้ได้หรือไม่ ใช้จิตถามจิตให้มันจบ แล้วเราจะพบกับคำตอบว่าควรหรือไม่ที่จะคิดที่จะกังวล เรียกว่าเราเคลียร์จิตจบ ซึ่งถ้าเราเคลียร์ไม่จบ พอเราภาวนาไปมันจะกลับมาคิดใหม่ ให้เราปล่อยวางความกังวลไว้ชั่วคราว ในขณะที่เรากำลังปฏิบัติ เพียรพยายามทำให้เกิดความชำนาญ ในการปล่อยวางความกังวล ซึ่งมันจะปล่อยวางความกังวลได้เร็วขึ้นตามลำดับ จนในที่สุดพอเกิดขึ้นมาเราก็ดับได้วางได้ในทันที  ความสำเร็จจะมีได้ก็เพราะความเพียร ทำให้จริง อย่าทอดทิ้งธุระทำอย่างมีสติสัมปชัญยะและมีปัญญา สิ่งที่จะได้มา คือสมาธิที่แท้จริง(สัมมาสมาธิ)
      ฝากไว้เป็นข้อคิด โปรดอ่านสักนิด แล้วพิจารนาตาม ลองนำไปปฏิบัติ แล้วท่านจะรู้ว่าสิ่งที่กล่าวมานั้น มันใช่หรือไม่ ซึ่งจะพิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติ อย่าได้ตัดสินใจโดยใช้ความคิดในขณะนี้มาตัดสิน ว่าถูกหรือผิด ลองทำสักนิดผิดไม่ผิดค่อยว่ากัน
                            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                              รวี สัจจะ -สมณะไร้นาม
                              วจีพเนจร - คนรอนแรม
                  ๑๘ มีนาคม เวลา ๑๑.๐๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย 
                                                                            



656
คาถาอาคม / มนต์พระเพทยาธร
« เมื่อ: 17 มี.ค. 2552, 09:39:05 »
มอบสำหรับท่านที่สักยันต์นี้หรือมีผ้ายันต์นี้ไว้ในครอบครอง
...มนต์พระเพทยาธร....
 ....โอมพระเพทยาธร เสด็จจรอยู่บนเวหา กูจะเรียกให้มึงมา กูจะใช้ให้มึงไปสู่ห้อง (ชื่อคนที่เราต้องการ)ที่นอน กูจะให้มึงสมจรกันด้วย(ชื่อคนที่เราต้องการ)ที่กำลังหลับสนิทนิทรา เมามัวนิมิต คิดว่ากูมาสมสู่ด้วย จงรีบไป ข้ามห้วย ข้ามหนอง ข้าม
คลอง ข้ามท่า ข้ามดิน ข้ามฟ้า ข้ามมหาสมุทรสายสินธุ์ ข้ามคีรินทร์มนต์ ข้ามผ้าพยนต์ และอาถรรณ์ ไปเถิดพ่อไป ชัยยะ ชัยยะ
ประสิทธิเม  โอมจิตตัง มาเรโส โสมาเร อาคัจฉาหิ  โอมเทพรำลึก มหาเทพรำลึก ตรึกจิตตรึกใจ ตรึกในพระทัย(ชื่อคนที่เราต้อง
การ) ให้สะดุ้งยังรุ่งยังค่ำ อย่าหลับอย่านอน บนฟูกบนหมอน รำลึกตรึกถึง รำพึงจงมา นั่งท่าคอยลม คอยชมแต่เงา นั่งแอบคลึง
เคล้า ภิรมย์ชมเชย พระพายเจ้าเอ๋ย จงมาพัดเอาดวงจิต(ชื่อคนที่เราต้องการ) มาสู่จิตกู พัดเอาดวงจิตกูไปสู่ดวงจิต(ชื่อคนที่เรา
ต้องการ) นะผูกจิต โมผูกใจ พุทผูกอาลัย ธาให้คร่ำครวญ ยะให้รัญจวน ปั่นป่วนถึงกู อยู่เรือนมิได้ ร้องไห้มาหากู เอหิจิตตัง
ปิยังมะมะ โอมสิทธิ สวาโหม...
     คาถานี้ให้ลงชื่อเรากับชื่อเขา ลงใส่กระดาษก็ได้ ลงใส่ใบรักก็ได้ เอามาประกบกันเข้า เอาชื่อเราไว้บน ชื่อเขาไว้ล่าง เอามนต์
นี้บริกรรม ให้ทำเวลาดึกสงัด เอาชื่อนั้นใส่ไว้ใต้หมอนหนุนหัว เขาจะฝันเห็นเรา

657
เมื่อต้องการจะภาวนาเพื่อให้จิตของเราสงบนั้น สิ่งแรกที่ควรกระทำก็คือ ทำจิตใจให้สบายๆให้โปร่งโล่งเบาเสียก่อน โดยการสร้าง
อารมณ์ปิติภายนอกให้เกิดขึ้น คือการระลึกนึกคิดถึงสิ่งที่ดีงามที่เราเคยได้กระทำมา และมันเป็นความประทับใจภาคภูมิใจของเรา
คิดไปจนใจของเราสบายมีความสุข ความเอิบอิ่ม เพราะว่าบุญกุศลนั้นคิดถึงครั้งใดใจก็เป็นสุข และเมื่อเราคิดถึงบุญ จิตของเราก็เป็นกุศลจิต เมื่อคิดจนใจมีความสุขความเอิบอิ่มแล้ว อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นคืออารมณ์ปิติ ที่เกิดจากบุญกุศลที่เราได้กระทำมาแล้ว
และเมื่อรู้สึกว่าใจเราสบาย คลายความตึงเครียดแล้ว ให้เราน้อมจิตของเราไปสู่องค์ภาวนาที่เราตั้งใจไว้ ภาวนาไปแบบสบายๆ
อย่าไปตั้งใจมากจนเกินไป เพราะการตั้งใจจนเกิดไปนั้น ภาษานักปฏิบัติธรรมเรียกว่า"ตั้งจิตหนัก" มันจะทำให้เกิดอาการเกร็ง
ของกล้ามเนื้อโดยที่เราไม่รู้ตัว ทำให้เกิดอาการทางกายขึ้น เช่นปวดหัว ปวดหลัง ปวดเอว ปวดขา มึนหัว แน่นหน้าอก ร้อนที่
หน้าท้อง อาการต่อไปก็คือใจจะฟุ้งซ่าน ความรำคราญจะเกิดขึ้น ความเจริญในธรรมจะไม่เกิดขึ้น  วิธีการแก้ไขก็คือให้เราเริ่มใหม่
"เคลื่อนไหวทางกาย สลายทางจิต"อย่าฝืนทำต่อไปเพราะกำลังของเรายังไม่พอ ที่จะข้ามอาการของเวทนาทางกายที่เกิดขึ้นนั้น
กลับมาเริ่มต้นตั้งอารมณ์ใหม่ปรับท่านั่งของเรา ทำกายให้สบายๆ แล้วมาคิดถึงความดีที่เราได้กระทำมาในอดีตอีกครั้ง เพื่อที่จะตั้ง
อารมณ์ขึ้นใหม่ "ปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิด ปรับการกระทำ" ทำแบบนั้นจนเกิดความเคยชิน จนเป็นนิสัยในการปฏิบัติทุกครั้ง
เป็นการสร้างกำลังให้แก่จิตของเรา (การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การโชว์หรือการโอ้อวด อย่ากลัวคนอื่นเขาจะว่า ว่าเราไม่อดทนทำได้ไม่นาน นั่งได้ไม่นาน เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่าในเวลานั้นมันเป็นอย่างไร สงบหรือไม่เรารู้) ทดลองนำไปทำดู ท่านจะรู้ว่ามันใช่หรือไม่
อย่าปฏิเสธทันที ที่ได้อ่าน เพราะจะทำให้ท่านเสียโอกาศ อย่าเชื่อทันทีที่ท่านได้อ่าน มันอาจจะทำให้ท่านงมงาย พิสูจน์ได้ด้วย
การปฏิบัติ มันไม่ได้เสียหาย มีแต่ได้กับได้ คือได้รู้ว่าเหมาะกับเราหรือไม่ ใช่หรือมิใช่
       :054: อย่าอยู่กับความคิดความฝันเพราะสิ่งนั้นคือนามธรรม :054:จงนำความคิดความฝันนั้นมาทำให้เป็นรูปธรรม
 :054: ธรรมทั้งหลายรู้แล้วในจิต อย่าเป็นเพียงความคิด จงลงมือ"ทำ" :054:ธรรมขาดเพียง"ทำ"
                                ขอฝากไว้เป็นข้อคิด ด้วยจิตที่ปรารถนาดี
                                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
                                          วจีพเนจร- คนรอนแรม
           ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๗.๕๙น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย


658
สมาธิมีอยู่2อย่างคือ สัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ
แบ่งออกเป็น2ลักษณะคือ สมาธิในระบบของพระพุทธศาสนาและสมาธินอกระบบพระพุทธศาสนา
สมาธิในระบบพระพุทธศาสนาเป็นไปเพื่อเป็นพื้นฐานสู่การลดละเลิกซึ่ง อัตตา ตัณหา และอุปาทาน
สมาธินอกระบบพระพุทธศาสนานั้นเป็นไปเพื่อความเพิ่มพูนของกิเลส อัตตา ตัณหาและอุปาทาน
สัมมาสมาธิเกิดจากดำริที่เป็นกุศลเกิดจากกุศลจิตคือความคิดชอบในกรอบของพระพุทธศาสนาปรารถนาซึ่งสิ่งดีงาม
มิจฉาสมาธิเกิดจากความคิดจิตที่เป็นอกุศล ปรารถนาให้ได้มาซึ่งประโยชน์ของตนแต่ส่วนเดียวโดยเกี่ยวข้องอยู่ในโลกธรรม8
           ฉะนั้นเมื่อเราคิดจะฝึกสมาธิ เราควรถามตัวเราว่าเราปรารถนาสิ่งใด ฝึกเพื่ออะไร เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศลหรือไม่
ทำความรู้ความเข้าใจในความคิดเสียก่อน  ว่าความคิดจิตปรารถนาของเราเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เพื่อจะได้ไม่ปฏิบัติผิดทาง
และเมื่อเรารู้ในความคิด จิตดำริของเราแล้ว ลำดับต่อไปคือการค้นหาแนวทางการปฏิบัติ ให้เหมาะสมกับจริตของตัวเรา โดยการค้นคว้าหาข้อมูลจากตำรา หรือผู้รู้ ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้ผ่านการปฏิบัติมาแล้ว
  ข้อความจำ   ก็คือสมาธิคือความสงบของจิต สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นเดินไปในองค์ฌานเป็นสมถะกรรมฐาน มีวิตกวิจาร ปิติ สุข
                  และเอตัคตาเป็นอารมณ์ โดยมีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองอยู่
                  ส่วนวิปัสสนานั้น เป็นการรุ้เห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง จิตไม่หยุดนิ่งพิจารนาตาม อารมณ์อยู่ในองค์ญาน16
                  เราจึงจำเป็นต้องรู้ว่าสิ่งที่เราปฏิบัติ เป็นสมถะหรือวิปัสสนา เพื่อจะได้ไม่หลงในอารมณ์ ไม่สับสนในสภาวะธรรม
ปัญหาที่พบบ่อยในการปฏิบัติก็คือ จิตไม่สงบ สมาธิไม่เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่เราตั้งใจมากจน
เกินไป ทำให้เกิดการกดจิต กดดันตัวเอง ทำให้เกิดความตึงเครียด เป็นเหตุให้เลือดลมในกายไม่ปกติ ขาดสมดุลย์ขึ้นในกาย
ทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน เกิดรำคาญ ไม่อยากที่จะปฏิบัติ ศรัทธาถอย การแก้ปัญหาให้ปรับกายปรับจิดปรับความคิดปรับการกระทำเสียใหม่ ทำจิตทำกายให้โปร่งโล่งเบาสบายๆ ค่อยๆกระทำไปเพื่อปรับกายปรับจิตให้มีกำลังมากยิ่งขึ้น อย่าใจร้อนหวังผลสำเร็จ
อย่างรวดเร็วในการปฏิบัติ ทุกอย่างเกิดจากการสะสมและสั่งสม(นักกีฬากว่าจะสร้างสถิติขึ้นมาได้ ต้องใช้เวลาฝึกซ้อมมายาวนาน)
          จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดสำหรับนักฝึกจิตทั้งหลาย ซึ่งพอจะใช้เป็นแนวทางได้บ้างไม่มากก็น้อย
                                    เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
                                              วจีพเนจร-คนรอนแรม
                               16 มีนาคม 2552 เวลา 11.49น. ณ ริมฝั่งโขง
        

 

659
บทความ บทกวี / คำคมคำคน
« เมื่อ: 16 มี.ค. 2552, 12:31:05 »
 :054:จะรู้ว่าใครมีศีลหรือไม่   ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ
 :054:จะรู้ว่าใครมือสะอาดหรือไม่  ต้องดูที่การทำงาน
 :054:จะรู้ว่าใครมีปัญญาหรือไม่  ต้องดูที่การสนทนา
 :054:จะรู้ว่าใครมีกำลังใจเข้มแข็งหรือไม่  ต้องดูที่คราวคับขัน
 :054:ตราบใดที่ยังมีหนทางไป  ใจย่อมไม่นึกถึงพระธรรม  แต่เมื่อคุณชอกช้ำ  พระธรรมคือที่พึ่งของคุณ   
 :054:เมื่อยังไม่ถึงกาลเวลาที่เหมาะสมจิตย่อมไม่เข้าถึงธรรม จึงยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้อดทนรอให้เขาพร้อมจึงกล่าวธรรม
 :054:กาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่สิ้นสุด  แต่จิตของมนุษย์สิ้นสุดได้  ถ้ารู้จักพอ
 :054:อย่าโอ้อวดว่าเราเก่งกว่าผู้อื่น วิเศษกว่าผู้อื่น อย่าคิดว่าเรารู้มากกว่าผู้อื่น รู้ดีกว่าผู้อื่น จะเป็นเหตุก่อให้เกิดมานะทิฏฐิ
          เกิดการถือตัวถือตน เพิ่มอัตตายิ่งขึ้น
 :054:อย่าใช้ความนึกคิดปรุงแต่งของเราไปผูกยึดหรือผูกมัดผู้อื่น  ให้ผู้อื่นต้องเป็นไปตามความต้องการของเรา ตามความอยาก
          ของเรา  เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตใคร เรามีแต่หน้าที่ที่ต้องทำให้สมบูรณ์เท่านั้นเอง
 :054:ให้ดูจิตเคลื่อนไหวเหมือนดูหนัง ดูละคร ให้ดูจิตเคลื่อนไหวแต่อย่าหวั่นไหวตามจิต  จิตไม่มีตัวตนแต่สามารถกลิ้งกลอก
          หลอกให้คล้อยตามได้ เมื่อเรารู้เท่าทันความคิด จิตเราก็จะสงบสูงขึ้นตามลำดับ
    คือข้อคิดคำคมจากคำคน   โปรดอ่านแล้วคิดพิจารนาตาม  เพราะมันเป็นความเห็นในแง่มุมหนึ่ง ของคนๆหนึ่งซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากมุมที่ท่านมอง  ซึ่งมันอาจจะมีประโยชน์ต่อท่านบ้างไม่มากก็น้อย โปรดคิดและพิจารนา
                                                        เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                                                                  รวี สัจจะ
                                                         วจีพเนจร  คนรอนแรม
                                            ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๒ เวลา๐๐.๓๕น. ณ ริมฝั่งโขง
         















660
บทความ บทกวี / บทกวีในยามเช้า
« เมื่อ: 15 มี.ค. 2552, 05:41:51 »
 :090:รอนแรม มายาวนาน     ก้าวเดินผ่าน กาลเวลา
   เหน็ดเหนื่อย และเมื่อยล้า    แสวงหา สัจจธรรรม
       หมู่มิตร และผองเพื่อน    คอยย้ำเตือน ความทรงจำ
     เป็นครู ผู้ชี้นำ                 ให้กระทำ สิ่งดีงาม
   ร่วมแรง และร่วมใจ            ก้าวกันไป ไม่เกรงขาม
   ไม่ละ พยายาม                ก้าวเดินตาม ครูอาจารย์
   สั่งสม บารมี                    สร้างสิ่งดี ทุกสถาน
  เผื่อแผ่ และเจือจาน           สร้างผลงาน ฝากแผ่นดิน
   นี่คือ คำสั่งสอน               แต่กาลก่อน ที่ได้ยิน
   มีค่า กว่าทรัพย์สิน           ช่วยประทิน ภูมิปัญญา
  ชีวิต ของมนุษย์               ต้องสิ้นสุด ตามเวลา
  ชีวิต ที่ผ่านมา                 สร้างคุณค่า แล้วหรือยัง
  คุณค่า ของชีวิต               คือความคิด ความมุ่งหวัง
ทำตาม คำสอนสั่ง              รวมพลัง สร้างความดี
 มาเถิด มวลหมู่มิตร            มารวมจิต มิตรไมตรี
ทำตน เป็นคนดี                 เพื่อโลกนี้ ให้สวยงาม...
           เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                     รวี สัจจะ
             วจีพเนจร-คนรอนแรม
 ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๒ เวลา๐๕.๔๔น. ณ ริมฝั่งโขง

661
สนทนาภาษาผู้ประพฤติ / สัปปายะ4
« เมื่อ: 14 มี.ค. 2552, 07:03:59 »
 :054:สัปปายะ4คือความเหมาะสมสี่ประการที่เป็นตัวส่งเสริมให้เกิดความเจริญในธรรมอันได้แก่
          1.สถานที่สัปปายะ=สถานที่นั้นต้องมีสภาพที่ถูกกับจริตนิสัยของเราและตัวเรายินดีพอใจที่จะอาศัยในสถานที่นั้น
          2.อาหารสัปปายะ=อาหารการกินในท้องถิ่นนั้นเราสามารถที่จะทานได้และมีเพียงพอต่อการบริโภค
          3.บุคคลสัปปายะ=บุคคลรอบข้างต้องมีคุณธรรมมีน้ำใจให้ความช่วยเหลือเราได้เมื่อมีปัญหา
          4.ธรรมะสัปปายะ=ปฏิบัติธรรมให้เหมาะสมกับจริตนิสัยของตัวเรา
   ทั้งสี่ประการนั้นมีส่วนสำคัญต่อการปฏิบัติธรรม เกื้อกูลสงเคราะห์ อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นเหตุและปัจจัยในการปฏิบัติธรรม
แต่สิ่งที่สำคัญก็คือบุคคล บุคคลมีส่วนในการปฏิบัติ เพราะจะช่วยเสริมสร้างศรัทธาและความเพียรของเราให้มั่นคงและเพิ่มขึ้น
บุคคลนำมาซึ่งธรรมารมณ์ มโนสัมผัส คืออารมณ์กระทบ การที่เรารับอารมณ์กระทบซึ่งสิ่งนั้นมันละเอียดอ่อนมาก เป็นสภาวะของอารมณ์ภายใน ที่แผ่กระจายออกมากระทบคนรอบข้าง และถ้าคนรอบข้างประกอบด้วยอกุศลจิต มันจะทำให้บรรยากาศของสถานที่นั้นเป็นพิษ ทำให้เกิดความคิดความรู้สึกความคิดที่เป็นอกุศลเช่นฟุ้งซ่าน หดหู่ ขี้เกียจ เกิดอารมณ์กำหนัดในกาม เกิดความโลภ
ความเห็นแก่ตัว ความโกรธ ความไม่เป็นมิตร จิตเป็นอกุศลขึ้นมาโดยเราอาจจะรู้ไม่เท่าทัน ว่าสิ่งนั้นเป็นอารมณ์กระทบแล้วเราไปปรุงแต่งคล้อยตามอารมณ์เหล่านั้น สถานที่ใดเป็นเช่นนั้น เราควรที่จะหลีกเลี่ยงออกห่างโดยเร็ว เพราะมันจะหลอมจิตเราให้ตกอยู่
ในอำนาจของมัน โดยที่เราไม่รู้ตัว  เราจึงควรมีสติคิดพิจารนาว่าความรู้สึกที่เกิดที่เกิดขึ้นนั้นมันมาจากไหน จากอารมณ์ภายในหรือ
มาจากภายนอก ถ้าเรารู้เท่าทันแสดงว่าความเจริญในธรรมนั้นเกิดขึ้นต่อเราแล้ว....
             (ฝากไว้เป็นข้อคิด โปรดอ่านสักนิด แล้วคิดพิจารนาตาม )
                            เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                                      รวี สัจจะ
                              วจีพเนจร-คนรอนแรม
              ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๙.๐๐น. ณ ริมฝั่งโขง
   
           

662
         เสียศูนย์หรือว่าฉัน   สูญเสีย
เพราะฉันเหนื่อยฉันเพลีย    ฤาไฉน
เพราะฉันพ่ายฉันแพ้         หรือไร
หวังไว้ไม่สมต้อง             ซมซาน
.......เหนื่อยนักอยากพักผ่อน....
.......เอนกายนอนลงแนบดิน....
.......ซบพื้นธรนินท์......
......กลับสู่ถิ่นที่จากมา....
...เร่ร่อน  รอนแรม  เรื่อยเรื่อย
เหน็ดเหนื่อย  เหน็บหนาว หนักหนา
โดดเดี่ยว  เดียวดาย  ดวงดา
มุ่งมา  มีมิตร  มากมาย
.....เพราะฉันหวังตั้งใจและใฝ่ฝัน
ให้โลกนั้นมีสุขและสดใส
จึงทุ่มเทมุ่งหมายด้วยกายใจ
สร้างโลกใหม่ที่สวยสดและงดงาม
.....เป็นความฝันของกลุ่มคนหนุ่มสาว
เมื่อวัยเยาว์ฝันใฝ่ไม่เกรงขาม
เป็นกบฏต่อสังคมที่เลวทราม
ก้าวเดินตามความคิดที่ผิดทาง
....วันเวลาผ่านไปฉันได้คิด
เพราะชีวิตได้พบแสงสว่าง
มีพระธรรมชี้นำสู่แนวทาง
ให้ออกห่างจากโลกที่วุ่นวาย
....สู่เส้นทางสายธรรมนำชีวิต
เปลี่ยนความคิดมุ่งหาซึ่งจุดหมาย
ของชีวิตการเกิดแก่และเจ็บตาย
ขอถวายแด่พระพุทธเป็นบูชา
             เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                     รวี  สัจจะ
               วจีพเนจร-คนรอนแรม
๑๒ มีนาคม ๒๕๕๒เวลา๑๑.๓๖น. ณ ริมฝั่งโขง





663
.....คนเรานั้นมักยึดติดในรูปแบบ
ยึดถือในอรรถะคือตัวอักษรมากกว่าความหมาย
ทั้งที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจในเนื้อหาว่ามันเป็นมาอย่างไร
เอาความคิดความเข้าใจของตัวเองไปตัดสิน
ถ้าไม่ตรงกับกฏสมมุติบัญญัติที่กำหนดไว้
แปลว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้องไม่ใช่แนวทาง
ซึ่งความเห็นอย่างนั้นยังไม่ถูกต้องทั้งหมด
สภาวะธรรมเกิดขึ้นที่จิตกลายเป็นความคิดและความรู้สึก
...ไร้รูปแบบแต่ไม่ไร้สาระเพราะธรรมะอยู่ที่จิต
ไม่เป็นภัยต่อชีวิต ไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น ไม่ฝ่าฝืนธรรมวินัย
เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศล เป็นมงคลต่อชีวิต
นั่นคือสิ่งที่ควรคิดและควรกระทำ
อย่าเกร็ง อย่าเคร่ง มันจะเครียด มันจะเบียดเบียนตนเอง
ทำจิตทำใจให้โปร่ง โล่ง เบา สบาย ผ่อนคลายทางจิต
เริ่มจากปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิด ปรับการกระทำ
สูงสุดคืนสู่สามัญ กระบี่อยู่ที่ใจ ไร้รูปแบบแต่ไม่ไร้สาระ
 :054:อย่าเชื่อทันที่ที่ได้รู้ ได้เห็น ได้ยิน เพราะจะนำไปสู่ความงมงายไร้เหตุผล
 :054:อย่าปฏิเสธทันที ที่ได้รู้ ได้เห็น ได้ฟัง เพราะจะทำให้เสียประโยชน์
 :054:ควรคิดพิจารนา ไตร่ตรองให้รอบคอบ ทดลองพิสูจน์ฝึกฝนที่ใจตน เมื่อพบเหตุผลจะรู้ว่าควรไม่ควร.......?

664
 :054:มนุษย์ทุกคนมีความคิด
ถูกหรือผิดต่างรู้อยู่แก่ใจ
แต่ที่ยังกระทำลงไปในสิ่งผิด
เป็นเพราะขาดจิตสำนึกแห่งคุณธรรรม
ที่จะหักห้ามมิให้กระทำผิด
     จิตสำนึกต้องผ่านการฝึกฝน
ฝึกนึกฝึกคิดปรับจิตให้เป็นกุศล
ฝึกพูดในสิ่งที่เป็นมงคลแก่ตนและผู้อื่น
ฝึกกระทำในสิ่งที่คิดและพูดที่เป็นความดี
เพียรกระทำอย่างนี้อย่างสม่ำเสมอ
จนเกิดเป็นความเคยชินและติดเป็นนิสัย
    จิตสำนึกแห่งคุณธรรม
คือความรู้สึกละอายและเกรงกลัวต่อบาป
และเมื่อเราไม่กล้าทำบาปเราจะทำความดี
คนทำความดีจิตใจจะอ่อนโยนมีเมตตา
รู้จักเอื่อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ
ละความเห็นแก่ตัวลงไปได้ตามสภาวะ
   การปฏิบัติธรรม
สิ่งที่ได้มาคือคุณธรรม
ภูมิธรรมและภูมิปัญญา
...เรามิได้ฉลาดขึ้น...
แต่เราได้เห็นความโง่ของตัวเองมากขึ้น
เห็นในสิ่งที่เรายังไมรู้และเห็นในสิ่งที่เรายังหลงติดอยู่
...เรามิได้เก่งกล้า...
แต่เราได้เห็นความอ่อนแอและความขี้ขลาดหวาดกลัว
เราทำกล้าเพราะว่าเรากลัว...เพราะกลัวจึงกล้า
(อย่าเชื่อทันทีมันจะทำให้งมงาย...อย่าปฏิเสธทันทีมันจะเสียประโยชน์...พิจารนาไตร่ตรองทดลองพิสูจน์...แล้วจึงตัดสินใจ)
                                             ปรารถนาดี...รวีสัจจะ..วจีพเนจร...คนรอนแรมและไร้ราก
                                                        12มีนาคม 2552 เวลา 10.30น. ณ ริมฝั่งโขง

665
บทความ บทกวี / ช้าหรือเร็ว
« เมื่อ: 10 มี.ค. 2552, 06:42:04 »
    วันเวลาผ่านพ้นไปทุกขณะ
จะว่าเร็วหรือช้าอยู่ที่ใจของผู้คิด
หนึ่งวันมี24ชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงมี60นาที
และหนึ่งนาทีมี60วินาที นี่คือสมมุติบัญญัติ
ช่วงเวลาเท่ากันไม่เปลี่ยนแปลง
แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือความรู้สึกของเรา
มันเร็วเพราะเราชอบ...มันช้าเพราะเราชัง
ความรู้สึกพึงพอใจในเวลาที่เราชอบ
ทำให้เราเพลิดเพลินกับมัน จนลืมวันและเวลา
ทำให้รู้สึกว่าเวลาแห่งความสุขผ่านไปอย่างรวดเร็ว
   ส่วนความรู้สึกว่า วันเวลามันผ่านไปช้าเหลือเกินนั้น
มันเกิดจากความไม่ชอบ ไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู๋ขณะนั้น
จิตมันปฏิเสธกับเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ อยากจะให้มันผ่านไปหมดไป
เมื่อใจมีอคติ จิตย่อมเบื่อหน่าย เกิดปฏิคะและฟุ้งซ่าน
อยากจะให้มันผ่านไปอย่างรวดเร็วตามความต้องการของจิต
ทำให้ใจเราคิดว่าเวลามันผ่านไปอย่างช้าช้าน่าเบื่อหน่าย
   จะช้าหรือเร็วคือความคิด อยู่ที่จิตของเราขณะนั้น
ถ้าเราเข้าใจในความคิด จิตของเราก็จะสงบ
ปล่อยให้เวลามันผ่านพ้นไปตามวิถีของมัน
เมื่อใจไม่ยึดติด ชีวิตย่อมไม่วุ่นวาย
ความสุขสบายย่อมเกิดขึ้นในจิต
จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิด ในยามที่จิตของคุณวุ่นวาย
อยากจะให้คุณมีความสุขสบาย ทั้งกายและจิต
ด้วยความเป็นมิตรและปรารถนาดี ที่มอบให้
...จิตดีกายเด่น...จิตด้อยกายดับ...
          เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                   รวี สัจจะ
            วจีพเนจร-คนรอนแรม
    10/03//2552/18.40น.ณ ริมฝั่งโขง

666
    การออกธุดงค์ของพระภิกษุสงฆ์เป็นการฝึกหัดปฏิบัติตนตามข้อวัตรปฏิบัติธุดงควัตร13ข้อ เพื่อฝึกตนให้ทนต่อความยากลำบาก ทางกายและทางจิต ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ออกจากความวุ่นวายของสังคม เข้าสู่ป่าเพื่อหาสถานที่วิเวก เพื่อจะลดผัสสะสิ่งที่มากระทบ สถานที่วิเวกทำให้จิตวิเวก จิตวิเวกก่อให้เกิดสมาธิวิเวก นั่นคือสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนมา
   ในการเดินธุดงค์นั้น มันต้องพบกับอุปสรรคและปัญหา เพื่อที่จะทำให้เราได้พิจารนา ดังคำสอนที่ว่า"ทุกข์ไม่มาปัญญาไม่มีบารมีไม่เกิด"ต้องเผชิญกับความเหนื่อย ความเมื่อย ความล้าและความหิว เป็นการฝึกฝนความอดทน ขันติบารมี การเดินแต่ละก้าวของพระธุดงค์นั้นต้องมีสติและสัมปชัญญะอยู่ทุกขณะจิต เป็นการฝึกสติไปในตัว เพื่อเพียรเผากิเลสให้เร้าร้อน รู้เท่าทันในอารมณ์ที่มากระทบและเกิดขึ้นในจิต พิจารนาให้เห็นคุณเห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ในอารมณ์เหล่านั้น
    เมื่อเราเหนื่อย เมื่อเราหิว เมื่อเราร้อน เมื่อเราล้า กิเลสจะผุดขึ้นมา ความเห็นแก่ตัว ความขี้เกียจ ความมักง่ายความกลัวทั้งหลายและความเอาแต่ใจตนเองจะเกิดขึ้น ถ้าเราขาดสติที่จะเขาไปพิจารนาให้รู้เท่าทัน กิเลสเหล่านั้นมันจะครอบงำจิตเรา ให้กระทำตามความต้องการของกิเลส
    สิ่งที่ได้กล่าวมานั้น คือแนวทางปฏิบัติของพระธุดงค์กรรมฐาน ที่เป็นมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ถ่ายทอดกันมาจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เป็นพื้นฐานสำหรับพระรุ่นใหม่ที่จะเดินก้าวไปสู่การฝึกหัดปฎิบัติ ข้อวัตรของพระภิกษุสงฆ์ เพื่อทรงไว้ซึ่งพระธรรมวินัย
เป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศล ฝึกตนให้พ้นจากวัฏตะสงสาร โดยการประหารซึ่งกิเลสและตัณหา ปรารถนาซึ่งความพ้นทุกข์
ให้บรรลุสุขคือพระนิพพาน
   แต่ในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่มิได้เป็นไปอย่างเช่นนั้น ปากพากันบอกว่าไปธุดงค์ แต่ละองค์ที่เห็นมาล้วนแล้วแต่พากันไปท่องเที่ยว
เพื่อที่จะได้มาคุยอวดกันว่า "ข้าผ่านมาแล้ว" เหมือนการออกไปทำใบปริญญา ได้มาแล้วโอ้อวดกัน (ออกไปไม่เห็นกิเลส กลับได้กิเลสเพิ่มกลับมา)
   ไม่มีพระธุดงค์องค์ใดไม่หลงป่า เพราะเส้นทางในป่านั้นมันเปลี่ยนแปลงไปในทุกฤดูกาล แต่ที่ท่านผ่านมาได้นั้น เพราะท่านมี สติและปัญญา มีความเพียรและขันติ มีสมาธิที่มั่นคง  ไม่หลงตกใจเมื่อภัยมา  อุปสรรคและปัญหาคือเครื่องท้าทาย คือบททดสอบภูมิธรรมภูมิปัญญา  ว่าเราปฏิบัติถึงไหนแล้ว "พระธุดงค์หลงป่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าหลงกิเลส"
                                                                ฝากไว้เป็นข้อคิดเพื่อสะกิดเตือนใจ
                                                                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                                                                            รวี สัจจะ
                                                                     วจีพเนจร-คนรอนแรม

667
บทความ บทกวี / คติธรรมในยามเช้า
« เมื่อ: 10 มี.ค. 2552, 07:33:48 »
ชีวิตคิอการเดินทาง
เพื่อสร้างกุศลกรรม สั่งสมบารมี
ด้วยจิตสำนึกแห่งคุณธรรม
ปรารถนาไปถึงซึ่งการพ้นทุกข์
ฝันไว้ไกลและต้องไปให้ถึง
ไม่ว่าจะกี่ภพกี่ชาติก็ตาม
จะพยายามก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง
สั่งสมกำลังเป็นอินทรีย์
ฝันที่มีคงไม่ไกลเกินฝัน
ถ้าเรามุ่งมั่นไม่ละความพยายาม
         เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี
                   รวี สัจจะ
          วจีพเนจร คนรอนแรม
10/03/52 เวลา07.36น.

668
บทความ บทกวี / ข้อคิดในยามค่ำคืน
« เมื่อ: 07 มี.ค. 2552, 02:21:11 »
...ในอ้อมกอดของขุนเขา
...ใต้ร่มเงามวลพฤกษา
...ณ จุดหนึ่งแห่งกาลเวลา
...จงถามตัวเองว่า....แสวงหาสิ่งใด...?
หยุดคิด...แล้วทบทวนดูใหม่.....
ว่าความหวังที่ตั้งไว้....นั้นก้าวไกลถึงไหนแล้ว....
อย่ามัวเพลิดเพลินกับความฝัน....
เพราะวันเวลานั้นผ่านไปทุกขณะ...
จงละจากความฝันอันเป็นจินตนาการ
ลงมือทำในสิ่งที่ฝันให้มันเป็นรูปธรรมขึ้นมา
ไม่มีคำว่าช้าสำหรับการเริ่มต้น
ขอเพียงทุกคนจงลงมือกระทำ
ไม่ต้องคิดให้ดีที่สุด...ขอเพียงคิดให้ใช้ได้
และทำได้ในสิ่งที่คิด....
ชีวิตท่านก็จะประสพกับความสำเร็จ....
             ปรารถนาดี
                         รวีสัจจะ
                     วจีพเนจร  คนรอนแรม

669
คาถาอาคม / ดวงตราพุทโธมหาลาภ
« เมื่อ: 07 มี.ค. 2552, 01:33:41 »
ดวงตราพุทโธมหาลาภเป็นวัตถุมงคลของวัดทุ่งเว้า บ้านท่าไคร้-นาแล ต.นาสีนวน อ.เมือง จ.มุกดาหาร
จัดสร้างโดยพระอาจารย์เมสันติ์ คมฺภีโร(พระอาจารย์โด่ง)เพื่อเป็นพุทธานุสติสำหรับญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา ร่วมสร้างพระธาตุเจดีย์ศรีมุกดา
โดยด้านหน้าตรงกลางเป็นอักขระภาษาขอมคำว่า"พุท"ล้อมรอบด้วยองค์พระนะลือชารอบนอกล้อมด้วยคาถามงกุฏพระเจ้า
ด้านหลังตรงกลางเป็นอักขระภาษาขอมคำว่า"โธ"ล้อมรอบด้วยองค์พระนะมหาลาภรอบนอกล้อมด้วยคาถามหาลาภ
 คาถาบูชาดวงตราพุทโธมหาลาภ
นะมา มีมา มะหา ลาภา นะมา มีมา มีมา มากมาก
อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ นะชาลีติ มานิ มามา
พุทโธ พุทโธ พุทโธ ประสิทธิ์ด้วยพุทโธ
อิติปิโสวิเสเสอิ  อิเสเสพุทธะนาเมอิ
อิเมนาพุทธะตังโสอิ  อิโสตังพุทธะปิติอิ
วิธีบูชาดวงตราพุทโธ
ให้ภาวนาพุทโธ 9 ครั้งแล้วภาวนาคาถาบูชาจนจบ แล้วทำจิตให้สงบ อธิษฐานขอในสิ่งที่ต้องการโยสิ่งที่ปารถนานั้นต้องเป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศลและเป็นมงคลต่อชีวิต ไม่ผิดศีลธรรม ปฏิบัติเป็นประจำจะสมความปรารถนาในสิ่งที่ต้องการ
หมายเหตุ....
ถ้าไม่ภาวนาดวงตราพุทโธมหาลาภก็จะไม่มีความเข้มขลัง

670
.....ไม่ใช่โชคชะตาหรือว่าฟ้าลิขิต
ไม่ใช่นิมิตของสวรรค์หรือพรหมนั้นบันดาล
ทุกชีวิตต้องประสพพบพานล้วนเกิดจากการกระทำ
กรรมคือผู้กำหนด...อนาคตล้วนเกิดจากกรรม
                   ศรัทธา...ปรารถนาดี
                        รวีสัจจะ
                  วจีพเนจร  คนรอนแรม
   ทุกชีวิตต่างดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข
แม้นจะต้องแลกด้วยทุกข์อย่างแสนสาหัส
เพียงเพื่อสนองตอบความต้องการทะยานอยาก
ซึ่งมีมากอย่างไม่มีที่สิ้นสุดซ่อนอยู่ในจิตใจของมนุษย์
ทุกชีวิตต้องทนทุกข์ทรมานเพราะว่าการแสวงหา
เพื่อให้ได้มาซึ่ง...ลาภ...ยศ...และสรรเสริญ
เพลิดเพลินใน...กิน...กาม...เกียรติ
ปรารถนาให้ชีวิตประสพความสำเร็จ
ต่างคนต่างฝันไว้ไกลและอยากจะไปให้ถึง
ซึ่งไม่มีวันจะสิ้นสุด...ถ้าจิตของมนุษย์ไม่รู้จักพอ
.....ความสำเร็จของชีวิต...อยู่ที่จิตคิดว่าพอ....
                 ฝากไว้เป็นข้อคิด...เพื่อสะกิดเตือนใจ
                        ศรัทธาและปรารถนาดี
                               รวีสัจจะ
                        วจีพเนจร คนรอนแรม
   

หน้า: [1]