แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - NONGEAR44

หน้า: [1]
1
ธรรมะ / ทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี
« เมื่อ: 26 ก.พ. 2555, 10:02:53 »
                               
                                          ทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี


    ทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี..


คุณขีด : กระผมอยากทราบเรื่องกฎแห่งกรรมเพราะเป็นกุญแจของบุญและบาป คนที่ไม่รู้จักบุญและบาปก็เพราะไม่รู้จักกฎแห่งกรรม บางคนไม่เชื่อว่าบุญมีจริงบาปมีจริง แล้วบางทีทำบุญกลายเป็นได้ผลบาป ทำบาปกลายเป็นผลดี ทั้งนี้เป็นเพราะว่าไม่ทราบชัดในเรื่องกฎแห่งกรรม เพราะฉะนั้นกระผมอยากให้หลวงพ่อสมเด็จได้โปรดขยายกฎแห่งกรรมให้กว้างขวาง ให้เป็นที่รู้ชัดสักหน่อยครับว่ามีกฎอันแท้จริงอย่างไร

สมเด็จโต : กฎแห่งกรรมนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ก็เปรียบเสมือนหนึ่งธรรมชาติของการเติบโตของผลไม้ตามฤดูกาล กรรมที่ท่านสร้างในอดีตภพย่อมนำมาสู่ท่านในปัจจุบันภพ ฉันใดก็ฉันนั้น ทีนี้กรรมเหล่านั้นที่ท่านทำไปแล้วแต่ท่านลืมไปเพราะอะไรเล่า เพราะว่ามนุษย์ที่ยึดว่าทำไมทำดีจึงไม่ได้ดี เพราะมนุษย์ผู้นั้นไม่โปร่งในขั้นสมุฏฐานของเหตุและปัจจัย

ถ้าท่านหว่านพืชชนิดใดลงดิน พืชชนิดนั้นจะขึ้นตามเหล่ากอของพืชพันธุ์นั้น กรรมใดที่ท่านสร้างมาในภพที่ท่านลืมไปแล้ว แต่กรรมนั้นยังตามเสวยตามภพชาติต่างๆ อยู่ ยกตัวอย่าง ซึ่งเปรียบง่ายๆ สมมติว่าเมื่อสองปีก่อนท่านได้ฆ่าคนตายในที่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แล้วท่านหนีไปอยู่ที่หนองคาย (เปรียบเหมือนท่านฆ่าคนตายในภพก่อนแล้วมาเกิดใหม่ในภพนี้) เรียกว่าท่านเกิดภพนี้ทั้งที่เป็นคนเดิมคือจิตวิญญาณเดิมจากภพก่อน แต่มาอยู่ภพนี้หรือเมืองนี้

ในขณะที่ท่านหนีจากกรุงเทพฯ (ภพก่อน) ไปอยู่หนองคาย (ภพนี้) เกิดสำนึกผิดขึ้นมา จึงถือศีลทำบุญให้ทาน เป็นมิตรกับชาวบ้านที่หนองคาย ชาวบ้านที่หนองคายก็ยกย่องสรรเสริญว่าท่านเป็นคนดีมีศีลธรรมน่าเคารพนับถือ แต่กรรมที่ท่านสร้างไว้คือฆ่าคนตายที่กรุงเทพฯ เมื่อสองปีก่อนนั้น ชาวบ้านที่หนองคายไม่รู้กับท่านด้วย และตำรวจ (กรรม) นั้นก็กำลังตามหาท่านอยู่ เปรียบเสมือนการตามของภพของกรรมไปถึงที่นั่น

แม้ว่าท่านกำลังถือศีลถืออุโบสถอยู่ในโบสถ์ หรือแม้ว่าบางคนมาบวชเป็นพระเพื่อหนีคุกหนีตารางก็ตามที เมื่อตำรวจสืบพบเจอตัวท่าน แม้จะอยู่ที่วัดถือศีลหรือบวชเป็นพระอยู่ ตำรวจก็จับท่านทันทีเพื่อไปลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง คนที่หนองคายแถวที่ท่านอยู่ย่อมไม่พอใจ หรือด่าทอตำรวจที่มาจับคนดีที่ถือศีลในอุโบสถอยู่

ก็เหมือนกรรมที่ไม่ดีที่ตามมาทันท่านตอนที่ท่านกำลังทำดี ทำให้ท่านคิดว่าทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี กลับพบเจอและได้รับแต่สิ่งที่ไม่ดี ท่านอาจลืมกรรมที่ท่านทำไว้ในภพชาติก่อนแล้ว เพราะมันผ่านมานานแล้ว ข้ามภพข้ามชาติมาจนจำไม่ได้ว่าทำกรรมไม่ดีอะไรไปบ้าง จึงทำให้คิดว่าภพนี้ชาตินี้ทำแต่ความดี แล้วทำไมไม่ได้ดี

คล้ายกันกับคนทำชั่วหรือทำไม่ดีในปัจจุบัน แต่กลับได้ดิบได้ดี เพราะภพชาติก่อนเขาเคยทำดีไว้ แล้วกรรมดีนี้ตามมาทันและส่งผลให้เขาได้ดิบได้ดี แม้ในขณะปัจจุบันเขากำลังทำกรรมไม่ดีอยู่ก็ตามที เพราะเป็นกรรมคนละส่วนกับกรรมเก่าที่เขาทำดีในภพชาติก่อน ส่วนกรรมใหม่ที่เขาทำไม่ดีในขณะนี้ยังไม่ส่งผล ต้องรอให้ผลในกาลต่อไป เปรียบเหมือนเราเพิ่งปลูกข้าวดำนาเสร็จ จะให้กล้าในนาออกดอกออกรวงข้าวในวันนี้หรือพรุ่งนี้เลยย่อมเป็นไม่ได้ จะต้องรอเดือนรอเวลาจนกว่าต้นกล้าจะครบกำหนดที่จะออกรวงให้ผลิตผลเป็นเมล็ดข้าว จึงจะเก็บเกี่ยวได้ ฉันใดก็ฉันนั้น กฎแห่งกรรมก็เช่นเดียวกันกับกฎธรรมชาติ

เช่น การปลูกพืชปลูกต้นไม้ชนิดต่างกัน ย่อมต้องจะรอการออกดอกออกผลเป็นเวลาไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นไปตามพันธุกรรมของพืชชนิดนั้นๆ ที่จะใช้เวลาไม่เท่ากันนานเป็นเดือนหรือนานเป็นปีจึงจะให้ผล เช่น ปลูกพริกย่อมให้ผลิตผลเร็วกว่าปลูกมะม่วง ปลูกข้าวย่อมให้ผลเร็วกว่าปลูกมะพร้าว เป็นต้น เช่นเดียวกันกับผลของกรรมแต่ละชนิด กรรมหนักกรรมเบา มีเจตนาหรือไม่เจตนา เป็นต้น จึงให้ผลกรรมหนักเบาต่างกันต่างเวลาตามเหตุปัจจัย

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งละเอียด กฎแห่งกรรมคือกฎแห่งธรรมชาติ ย่อมทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ท่านสร้างกรรมดีไว้ในปัจจุบันนี้ กรรมนั้นอาจจะให้ท่านเสวยผลในภพอีกภพหนึ่งก็ได้ เพราะว่ามันเป็นกงล้อแห่งกงกรรมกงเกวียนที่จะแยกแยะออกมา ชาติไหน ชาติอะไร ชาติโน้น ชาตินี้ เป็นสิ่งยาก เพราะว่ามนุษย์เราแต่ละคนที่เกิดมาในปัจจุบันชาตินี้ เกิดมาเป็นร้อยๆ พันๆ ภพชาติเป็นกงกรรมกงเวียนที่ทับถมทั้งดีและชั่ว โดยเจ้าตัวก็แยกแยะไม่ออก

ยกตัวอย่างง่ายๆ เสมือนหนึ่งท่านคิดตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น พอตกเย็นท่านมานั่งทบทวน ท่านก็แยกแยะทบทวนไม่ค่อยออกว่าเวลาไหนท่านมีอกุศลอารมณ์ เวลาไหนมีโทสจริต เวลาไหนมีเมตตาจิต เพราะว่าการเคลื่อนไหวแห่งจิตวิญญาณนี้เร็วยิ่งกว่าอณูปรมาณูทั้งหลาย เร็วยิ่งกว่าปรอท เพราะฉะนั้นจึงแยกได้ว่า ท่านสร้างกรรมใดไว้ ท่านย่อมจะต้องเสวยกรรมนั้นในภพชาติแน่นอน ..

โอวาทจากดวงพระวิญญาณบริสุทธิ์สมเด็จโต     
                                                                                                                                                                 
       ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด  dhammajak.net

2
                         พระอรหันต์อยู่ในบ้าน.... อมตะธรรม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

   สมเด็จโต ท่านเป็นยอดนักเทศน์ ท่านเทศน์ได้จับใจคนฟัง ธรรมเทศนาของท่าน เข้าใจง่ายไม่ต้องมานั่งแปลไทยให้เป็นไทย เพราะท่านใช้คำไทยตรง ๆ เป็นภาษาพื้น ๆ ที่คนทั่วไปได้ฟังก็เข้าใจ เป็นที่นิยมของชนทุกชั้น ฟังไปก็สนุกเพลิดเพลิน และยังได้คติธรรม ไม่ง่วงเหงาหาวนอนเหมือนักเทศน์ท่านอื่น ๆ

สมเด็จโตท่านได้เล่าว่า มีคราวหนึ่ง ท่านได้รับนิมนต์ให้แสดงธรรม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกมาท่ามกลางเหล่าขุนนาง ข้าราชการและข้าราชบริพาร ครั้นพอพบหน้าท่าน เจ้าผู้ครองแผ่นดินก็ทรงสัพยอกว่า ? ท่านเจ้าคุณ เห็นเขาชมกันทั้งเมืองว่าท่านเทศน์ดีนักนี่ วันนี้ต้องขอพิสูจน์หน่อย?

สมเด็จโตทรงทูลว่า? ผู้ที่ไม่เคยฟังในธรรม ครั้นเขาฟังธรรมและได้รู้ได้เห็นในธรรมนี้แล้วเขาก็ชมว่าดี ขอถวายพระพรมหาบพิตร? และในวันนี้อาตมาจะมาเทศนาเรื่อง ? พระอรหันต์อยู่ในบ้าน?

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเหล่าขุนนาง ข้าราการและข้าราชบริพาร ต่างก็มีความสงสัย เพราะเคยได้ยินแต่ว่าพระอรหันต์ท่านจะอยู่แต่ในถ้ำ ในป่า ในเขา ในที่เงียบสงัด หรือที่วัดวาอารามเท่านั้น แต่ทำไมสมเด็จโต จึงกล่าวว่าจะเทศนาเรื่องพระอรหันต์อยู่ในบ้าน ในขณะที่ทุกคนพากันคิดสงสัยอยู่นั้น ฝ่ายสมเด็จโตทรงทราบด้วยญาณวิถีของทุกคน

ท่านจึงขยายความต่อไปว่า จิตพระอรหันต์ เป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านละจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ยินดีและยินร้าย ในเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม หากใครได้ทำบุญกับพระอรหันต์แล้วไซร้ ก็ถือได้ว่าเป็นลาภอันประเสริฐที่สุด บุญที่ได้ทำกับท่านจะให้ผลในชาติปัจจุบันทันที่ไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้า ทุก ๆ คนจึงมุ่งเสาะแสวงหาแต่พระอรหันต์ที่อยู่นอกบ้าน แต่ไม่เคยมองพระอรหันต์ที่อยู่ในบ้านเลย

ทุก ๆ คนที่นั่งฟังเทศนาอยู่ในที่แห่งนั้นต่างทำสีหน้างุนงงไปตามกัน เพราะไม่เข้าใจความหมาย สมเด็จโตจึงเทศนาต่อไปว่า? พระอรหันต์คือพระผู้ประเสริฐ คนเราทั้งหลายพยายามค้นหาพระผู้ประเสริฐ เพียงหวังที่จะยึดท่าน เกาะผ้าเหลืองท่าน เกาะหลังของท่าน เพื่อให้ท่านพาไปสู่ความสุข แม้ว่าท่านจะอยู่ไกลสุดขอบฟ้า คนเราก็ยังอุตสาห์ดั้นด้นดิ้นรนไปหา เพียงหวังเพื่อยึดเหนี่ยวและบูชาท่าน แต่พระที่อยู่ภายในที่ใกล้ตัวที่สุดกลับมองข้าม มองไม่เห็นเหมือนใกล้เกลือแต่กับไปกินด่าง อันน้ำใจของพ่อแม่ที่ให้ต่อลูก มีแต่ความบริสุทธิ์ ไม่คิดหวังสิ่งใดตอบแทน เช่นเดียวกับน้ำใจของพระอรหันต์ที่ให้ต่อมนุษย์ ก็มีความบริสุทธิ์เช่นเดียวกัน

พ่อแม่จึงเปรียบเสมือน พระอรหันต์ของลูก ท่านมีน้ำใจบริสุทธิ์ต่อลูกมากมายนัก ท่านเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่อยู่ในท้องของท่าน ทนทุกข์ทรมานร่วมเก้าเดือนบ้างสิบเดือนบ้าง แต่ท่านก็ไม่เคยปริปากบ่นสักนิด มีแต่ความสุขใจ แม้ลูกเกิดออกมาแล้วพิกลพิการ หูหนวก ตาบอด ท่านก็ยังรักยังสงสารเพราะท่านคิดเสมอว่านั้นคือสายเลือด ถือว่าเป็นลูกไม่เคยคิดรังเกียจและทอดทิ้ง แต่ท่านกลับจะเพิ่มความรักความสงสารมากยิ่งขึ้น ครั้นตอนที่เราเป็นเด็กเล็ก ๆ ก็ซุกซนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราเคยหยิก เคยข่วน ทุบ ตี เตะ ต่อย กัด หรือด่าทอพ่อแม่ต่าง ๆ นานา เพราะความไร้เดียงสา ท่านก็ไม่เคยโกรธเคือง กลับยิ้มร่าชอบใจ เพิ่มความรักความเอ็นดูให้ท่านเสียอีก แม้เราจะเป็นผู้ใหญ่รู้ผิดชอบชั่วดี แต่บางครั้ง ด้วยความโกรธ ความหลง เราก็ยังทุบตีหรือด่าทอท่านอยู่ แทนที่ท่านจะโกรธถือโทษเอาผิดต่อเรา ท่านกลับยอมนิ่งเฉยยอมที่จะทนรับทุกข์เพียงฝ่ายเดียว ยอมเสียน้ำตา ยอมเป็นเครื่องรองรับมือ รับเท้า และปากของเรา สำหรับลูกแล้ว ท่านเสียสละให้ทุกอย่าง ท่านให้อภัย ในการกระทำของเราเสมอเพราะท่านกลัว เราจะมีบาปมีกรรมติดตัว จึงยอมที่จะเจ็บยอมทุกข์เสียเอง ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะรักเรา และหวังดีต่อเราอย่างจริงจังและจริงใจเหมือนพ่อแม่ ท่านเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็กจนเราเติบใหญ่ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ และกำลังทรัพย์ ให้แก่เราอย่างมากมาย จนไม่อาจประมาณค่าเป็นตัวเลขได้ ทั้งนี้เพราะมันมากมายจนเกินกว่าจะประมาณค่าได้ และในบางครั้ง ลูกหลงผิดเป็นคนชั่วด้วยอารมณ์แห่งโทสะ เป็นคนเมาขาดสติ ก่อกรรมทำเข็ญเป็นที่เดือนร้อนแก่ชาวบ้าน ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของบ้านเมือง ในสายตาของท่านแล้ว เมื่อมีภัยสู่ลูกก็ยังโอบไปปกป้องรักษาช่วยเหลือลูกอย่างเต็มกำลัง และสุดความสามารถ ยอมเสียทรัพย์สินและเงินมากมายเพื่อให้ลูกได้พ้นผิด ถึงแม้ว่าบางครั้งลูกต้องถูกจองจำหมดแล้วซึ่งอิสรภาพด้วยอาญาแห่งแผ่นดิน ก็คงมีแต่พ่อแม่เท่านั้นที่คอยหมั่นดูแลไปเยี่ยมไปเยียน คอยส่งน้ำส่งข้าวปลาอาหาร คอยให้กำลังใจแก่ลูก ให้ต่อสู้กับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานของจิตใจที่ลูกได้รับ และรอนับเวลาที่ลูกจะกลับมาสู่อ้อมกอดอีกครั้งหนึ่ง

น้ำใจที่มีต่อลูกเช่นนี้เปรียบเท่ากับน้ำใจของพระอรหันต์โดยแท้ พ่อแม่จึงเป็นพระอรหันต์ในบ้านของเราจริง ๆ ทำไมพวกท่านจึงไม่คิดที่จะบุญกับพระอรหันต์ที่อยู่ในบ้านของท่านเล่า

สำหรับลูก ถึงแม้พ่อแม่จะเป็นโจรเป็นคนชั่วในสายตาของบุคคลอื่น แต่สำหรับลูกแล้ว ท่านเสียสละได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง แม้แต่ชีวิตท่านก็สามารถเสียสละให้ลูกได้ พ่อแม่มีลูกนับ ๑๐ คนเลี้ยงดูมาเติบใหญ่ แต่ลูกทั้ง ๑๐ คนกลับเลี้ยงดูพ่อแม่เพียง ๒ คนไม่ได้ ชอบเกี่ยงกันเพราะลูกเหล่านั้นกำลังลืมคำว่า พระคุณของพ่อแม่

ยามที่พ่อแม่ท่านมีชีวิตอยู่เราควรที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่ โดยการซื้อหาอาหารการกิน ซื้อเสื้อผ้า พาท่านไปทำบุญทำทาน เข้าวัดเข้าวา อะไรก็ตามที่ทำแล้วให้ท่านมีความสุขก็ควรทำให้ท่าน ดูแลความทุกข์สุขและเลี้ยงดูจิตใจท่าน เชื่อฟังในโอวาทคำเตือนของท่าน คำพูดคำจาที่จะพูดกับท่านก็ต้องระมัดระวัง เพราะคนแก่นั้นใจน้อย ต้องรักษาน้ำใจท่าน ไว้ด้วยคำพูดที่นิ่มหู ฟังดูแล้วไม่ทำให้ท่านไม่สบายใจ ไม่ปล่อยทิ้งท่านอยู่อย่างว้าเหว่ คอยเอาใจใส่ปรนนิบัติดูแลท่านอย่างใกล้ชิด แต่คนส่วนมากมักจะทำบุญให้พ่อแม่ เมื่อยามที่ท่านตายจากเราไปแล้ว เพราะนั่นคือการพลาด และเป็นการพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเราเอง ซึ่งความจริงแล้วเราควรที่จะทำบุญให้กับพ่อแม่ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้กตัญญูกตเวที

ขอให้สาธุชนทั้งหลายผู้มาได้ฟังธรรมในวันนี้ จงกลับไปทำบุญกับพ่อแม่ผู้เป็นพระอรหันต์ในบ้าน การทำบุญแบบนี้จะได้อานิสงส์ทันตาเห็นในชาติปัจจุบัน บุญที่ให้ผลในชาติปัจจุบัน คือบุญที่ทำกับพระอรหันต์ผู้ประเสริฐ แต่พระอรหันต์ที่อยู่นอกบ้าน พวกท่านไม่อาจจะล่วงรู้ได้ว่าองค์ใดจริงหรือไม่จริง แต่ที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดและเป็นของจริง และบูชาได้อย่างแน่นอน ไม่เคยเห็นผู้ใดเลยที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่แล้ว ต้องพบกับความวิบัติไม่เคยมี มีแต่จะทำมาหากินอาชีพอะไรก็จะเจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟก็ไม่ไหม้ มีแต่ความสุข อายุยืนยาวตายตามกาลเวลา

ขอให้ท่านทั้งหลายที่อยู่ในที่นี้ จงใช้สติและพิจารณาในเรื่องราวต่าง ๆ ที่อาตมาได้เทศนาให้ฟังในครั้งนี้ได้ดี แล้วประโยชน์และความสุข ก็จะบังเกิดแก่ท่านทั้งหลายอย่างทันตาเห็น เอวัง...ก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหล่าขุนนางข้าราชการ และข้าราชบริพารทั้งปวง ได้ฟังคำเทศนาของสมเด็จโตจบลง บ้างน้ำตาก็คลอเบ้าทั้งสอง บ้างน้ำตาก็หลั่งไหลออกมาสุดที่จะกลั้นได้ ด้วยความรู้สึกรักสงสารและคิดถึงพระคุณของพ่อแม่ขึ้นมาอย่างจับจิตจับใจ อย่างที่ไม่เคยมีความรู้สึกเช่นนี้มาก่อนเลย


เจ้าผู้ครองแผ่นดินแห่งสยามประเทศจึงตรัสด้วยพระสุรเสียงอันสั่นเครือ ปนน้ำพระเนตรว่า? ท่านเจ้าคุณท่านเทศน์ได้จับใจยิ่งนัก และขอให้ทุกคนจงกลับไปทำบุญกับพ่อแม่ผู้เป็นพระอรหันต์เถิด?

   ขอบคุณที่มา : อมตะธรรม หลวงปู่โต

3
                                        “คิดมาก..ก็ทุกข์มาก สุขทุกข์อยู่ที่ใจ”


“คิดมาก..ก็ทุกข์มาก สุขทุกข์อยู่ที่ใจ”

สนทนาธรรมโดย อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม


กราบนมัสการ หลวงพ่อคำเขียน และพระคุณเจ้าที่เคารพอย่างสูง
และสวัสดีญาติธรรม ผู้ที่มีจิตใจฝักใฝ่ในธรรม ผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน


วันนี้ผมรู้สึกยินดีมาก ที่ได้มีโอกาสมาทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ให้พระธรรม
ก็ตั้งใจว่าจะมาพูดในสิ่งที่เป็นสาระเป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟัง
โดยปกติแล้ว ผมไม่ค่อยจะมีโอกาสจะมาในลักษณะเช่นนี้
คนพิการไม่ค่อยได้ออกไปไหน มักจะอยู่ในบ้าน
จึงไม่ค่อยมีความรู้อะไรกว้างขวางนัก
ส่วนใหญ่ก็จะรู้แต่เรื่องร่างกาย เรื่องจิต เรื่องใจ
ของตัวเองเสียเป็นส่วนมาก เพราะคอยเฝ้าดูสิ่งนี้อยู่
และที่ผมมาวันนี้ ก็ตั้งใจไว้ว่าจะมาพูดธรรมะในลักษณะที่มาเล่าสู่กันฟัง
ขอให้ท่านผู้ฟังทุกท่าน จงมีความสุขในการฟังในวันนี้


หลายท่านก็อยากจะทราบว่า ทำไมผมจึงตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
มันมีเหตุ มีเหตุความเป็นมา ก็จำเป็นที่จะต้องเล่าเรื่อง
ย้อนรอยไปในอดีตสักเล็กน้อยเพื่อประกอบกับการพูดธรรมะ
สู่กันฟังในวันนี้ คือเมื่อประมาณ 22 ปีที่ผ่านมา
ผมเคยรับราชการเป็นอาจารย์สอนอยู่ในวิทยาลัยพละศึกษา
จังหวัดอ่างทอง ผมรับราชการได้แค่ 3 ปี ก็โชคไม่ดี
แล้วประสบอุบัติเหตุในขณะที่กำลังสอนว่ายน้ำอยู่
คือ ผมได้กระโดดน้ำลงไปในสระว่ายน้ำ ในท่าที่พุ่งหลาวลงไป
มันเกิดพลาดท่า เพราะมีความประมาทอยู่ด้วย พุ่งแรงไปหน่อย
ศีรษะไปกระแทกถึงพื้นก้นสระ ทำให้เป็นอัมพาตไปทั้งร่างกาย
จมไปที่ก้นสระ ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้
ลูกศิษย์ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็เห็นว่า อาจารย์กระโดดน้ำลงไปนานผิดปกติ
จึงลงไปช่วยชีวิตขึ้นมาได้ แล้วก็นำส่งโรงพยาบาลกลางที่กรุงเทพฯ
คุณหมอที่โรงพยาบาลกลาง ท่านก็ตรวจพบว่ามีกระดูกต้นคอข้อที่ 5 หัก
แล้วไปกระทบกระเทือนถึงระบบประสาทไขสันหลัง
ทำให้ร่างกายทั้งหมดเป็นอัมพาต แล้วก็ต้องพิการไปตลอดชีวิต


คุณหมอก็ให้รักษาโดยการทำการผ่าตัด 2 แห่ง
แห่งแรกคือ เอากระดูกเชิงกรานด้านซ้าย มาต่อกระดูกต้นคอที่หัก
แล้วก็อยู่ทำกายภาพที่โรงพยาบาลกลาง ประมาณ 4 เดือน
ก็ทำให้แขนทั้งสองข้างเริ่มเคลื่อนไหวได้บ้าง
แต่ก็ยังไม่ค่อยแข็งแรง ความพิการถึงตอนนี้ ที่ท่านเห็นอยู่นี้ก็คือ
แขนทั้งสองข้างเขาอ่อนแรง นิ้วมือทั้งสองข้างนี่ ก็กระดิกไม่ได้เลย
เขาจะงออยู่ในลักษณะเช่นนี้ ตั้งแต่ต้นคอเรื่อยมาจนถึงปลายเท้า
เขาไม่สามารถเคลื่อนไหวเองได้ จะมีอาการชาไปทั้งตัว ไม่ได้รู้สึกเจ็บ
อย่าว่าแต่หยิกเลย เอาเข็มแทงก็ไม่เจ็บ ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
ทั้งปัสสาวะและอุจจาระ ต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นส่วนมาก
ก็จะลงมานั่งบนรถเข็นที่บ้านเป็นบางโอกาส
ก็ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยยกลงมาให้
สรุปแล้วก็คือ อยู่ในสภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
แล้วผมก็ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพเช่นนี้แหละ 22 ปี
ตั้งแต่อายุ 24 ตอนนี้ 46 แล้ว
ตอนเป็นใหม่ๆ รู้สึกว่า เรามีความทุกข์มาก
มีความทุกข์ทั้งร่างกายและจิตใจ
คิดว่าเรานี้ฝันไป คิดว่าเป็นความฝัน
คิดว่าในโลกนี้ คงไม่มีใครมีความทุกข์หนักเท่ากับเราอีกแล้ว
คิดไปถึงขนาดนั้น นี่คือ เรื่องในอดีต
อดีตที่แสนหวาน ก่อนที่ผมจะมาปฏิบัติธรรม
ก็เลยฉุกคิดได้ว่า
ไหนๆ เราก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพเช่นนี้ไปจนตลอดชีวิตแล้ว
เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตของเรามีสาระมีประโยชน์สำหรับเราขึ้นมาบ้าง
และใช้ความพิการที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์กับตัวเราได้อย่างไร
ถ้าเราขืนปล่อยชีวิตไปตามบุญตามกรรม ก็ต้องทุกข์ไปจนตายแน่นอน
ผมเริ่มหาที่พึ่งภายในแล้ว แต่ก็ยังหาไม่พบ
พอดีในช่วงนั้น คุณพ่อผมท่านก็มีความทุกข์มาก
ก็เพราะผมนี้แหละทำให้ท่านต้องคิดมาก


และเพราะความทุกข์ท่านก็จะหันเหชีวิตเข้าหาธรรมมะเลย
ท่านไปศึกษา แล้วก็ไปปฏิบัติธรรมตามวัตต่างๆ
ตามสำนักต่างๆที่เขามีการอบรมปฏิบัติธรรมะกัน
คุณพ่อไปมาหลายแห่ง แล้วเวลาคุณพ่อกลับมานี่
ท่านก็จะนำธรรมะมาฝากผมและครอบครัว
ผมถือว่า ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูก
เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับครอบครัว ตอนนี้ท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว


เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมานี้ ทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า
สิ่งที่คุณพ่อนำมานี้ มันน่าจะมีสาระมีประโยชน์สำหรับเรา
เราน่าจะเอาธรรมะที่คุณพ่อนำมานี้มาศึกษาและปฏิบัติ
เพื่อให้มีขึ้นในตัวเรา
อย่างน้อยความทุกข์ที่มีอยู่มันก็มีโอกาสที่จะลดน้อยลงไปได้
ดีกว่าเรามานอนคิดปล่อยจิตปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน ไร้สาระเสียเวลาชีวิต
นี้ก็เพราะความทุกข์เป็นต้นเหตุ
ทำให้ผมเกิดศรัทธาที่จะมาศึกษาและปฏิบัติธรรมะ
เพื่อนำตนให้พ้นไปจากความทุกข์
ถ้าผมไม่มีความทุกข์ ธรรมะก็ไม่จำเป็นสำหรับผม
และหลังจากนั้นผมจึงเริ่มศึกษาธรรมะจากการอ่าน
และการฟังเป็นเวลานาน แต่ไม่เคยคิดที่จะปฏิบัติ
นี่ถ้าโดยเฉพาะการอ่านหนังสือธรรมะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ทำให้คนเราบรรลุธรรมได้ ผมก็คงบรรลุธรรมไปนานแล้ว
เพราะว่าผมอ่านๆมาตั้ง 16 ปี
แต่ความทุกข์ก็ยัง กลุ้มรุมจิตใจผมอยู่มาก
นี่เพราะไม่มีการปฏิบัติ
ก็เมื่อก่อนนี้เคยมีความเห็นผิดไปว่า
คนที่พิการในสภาพอย่างเรา คงจะปฏิบัติธรรมไม่ได้หรอก
โดยเฉพาะในเรื่องของการทำกรรมฐาน
เพราะการทำกรรมฐานนี้ เราต้องมีอิริยาบถสี่ ที่สมบูรณ์แบบ
คือ การนอน การนั่ง การยืน แล้วก็การเดิน
แต่ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ นั่งสมาธิก็ไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้
และจะทำกรรมฐานได้อย่างไร ก็เคยลองฝึกดูบ้างเหมือนกัน
คุณแม่เป็นผู้ที่สอนให้ ให้ทำแบบพุทโธ
นอนปฏิบัติแล้วหลับตาด้วย
เวลาหายใจเข้าก็บริกรรมว่าพุท หายใจออกก็บริกรรมว่าโธ
ทำในสภาพนี้ จิตมันก็สงบ ต่อมาก็หลับใหลไปเลย สบาย
พอตื่นขึ้นมาก็ยังมีความทุกข์เหมือนเดิม
ยังเห็นความพิการติดอยู่ที่เรา ยังมีเราเป็นผู้พิการอยู่
และทำกรรมฐานทีไร ก็หลับทุกข์ที
เราก็มาคิดว่า กรรมฐานนี่เขาทำให้หลับรึไง
เราจะดับความทุกข์ให้กับตัวเราเองได้ ก็เฉพาะตอนหลับรึไง
เวลาเรามีความคิดมากๆ เครียดมากๆ
จะทำกรรมฐานก็ไม่เป็นกรรมฐาน มันยิ่งเบื่อยิ่งอึดอัดขัดเคือง
ท้อถอยความเพียร ยิ่งเครียดหนักเข้าไปใหญ่
สู้การอ่านหนังสือธรรมะไม่ได้
เรายังเพลิดเพลินไปกับการอ่าน ยังรู้ธรรมะจากหนังสือบ้าง
เราทำกรรมฐานหลับตาแล้วหลับก็ไปเลย ไม่รู้อะไรเลย
การทำกรรมฐานนี่
ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์คอยเป็นกัลยาณมิตรให้การแนะนำ
เราก็มักจะทำแบบหลงทิศหลงทาง
จะมีแต่ความสงสัย ลังเลใจ จะไม่มั่นใจในการปฏิบัติ
ผมเห็นว่าครูบาอาจารย์สำคัญมาก
ผมเองก็อยากมีครูบาอาจารย์
เมื่อสมัยก่อน จึงเขียนจดหมายไปกราบเรียนถามหลวงพ่อคำเขียน
เพื่อขอให้ท่านแนะนำ วิธีการปฏิบัติธรรม สำหรับผู้พิการ
ที่มีอิริยาบถเดียว คือ นอน
หลวงพ่อท่านก็เมตตาตอบจดหมายมายังผม
พร้อมทั้งแนะนำวิธีการทำกรรมฐานให้กับผม
คือหลวงพ่อท่านให้ผมทำสติปัฏฐาน 4 ในอิริยาบถนอน
ก็คือ การเจริญสติไปกับการเคลื่อนไหวนี่เอง
หลวงพ่อท่านแนะนำว่าความรู้สึกตัวนี่ แม้แต่จะนอนอยู่ก็ปฏิบัติได้
ให้เรามากำหนดรู้ วิธีการ พลิกมือเล่นไปมา ก็ให้รู้สึกตัวไป
เวลามันเกิดความคิดก็อย่าไปตามความคิด
ให้กลับมากำหนดรู้อยู่ที่กาย มีเจตนารู้อยู่ที่กายอย่างเดียว
ให้ขยันสร้างตัวรู้ให้มากๆ การขยันสร้างตัวรู้นี้แหละ เรียกว่าการภาวนา
ถ้ามันเกิดความสงบ หลวงพ่อท่านก็ว่า อย่าไปเอาความสงบ
ให้ขยันรู้สึกตัว นี่คือกรรมฐาน อาศัยการกระทำอย่างนี้เรื่อยๆไป
ถ้าเรามีความรู้สึกตัวมาก ความหลงจะลดน้อยไปหรือหมดไปเอง
ทำให้เราเกิดธรรมวิจยะ เป็นรูปธรรมนามธรรมไปเอง
เวลาปฏิบัตินี้หลวงพ่อท่านเน้นว่า ให้เป็นผู้ดู อย่าเข้าไปอยู่
อย่าเข้าไปเป็นกับอะไร
มีอะไรเกิดขึ้นกับกายกับจิตใจเราก็ให้เราดูรู้แจ้งเข้าไป
บางทีมันเกิดความสุข ท่านก็ว่าไม่ให้เอาความสุขอีก
ให้เห็นสักแต่ว่าความสุขเท่านั้น และตรงกันข้าม
ถ้ามันเกิดความทุกข์ก็อย่าเข้าไปเป็นผู้ทุกข์
ให้เห็นสักแต่ว่าคือทุกข์
ถ้ามันเกิดอาการเบื่ออึดอัดขัดเคืองในจิตใจละก็ นั่นคืออาการของจิต
อย่าเข้าไปเป็นกับอะไร
ให้ขยันปฏิบัติไป ก็จะเกิดญาณปัญญาขึ้นเรื่อยๆ
ทุกวันนี้ผมก็ได้อาศัยกรรมฐานบทนี้แหละ
มาเป็นเครื่องอยู่ของชีวิตจิตใจของผม
กรรมฐานบทนี้สามารถเปลี่ยนชีวิตจิตใจของผมไปในทางที่ดีได้
ทีนี้ท่านผู้ฟัง ก็จะได้ทราบว่า คนพิการในสภาพเช่นนี้น่ะ
เขาเจริญสติอย่างไร แล้วท่านผู้ฟังก็สามารถนำเอาไปปฏิบัติได้
ปฏิบัติแบบคนพิการนี้ก็ทำได้
การเจริญสติไปกับการเคลื่อนไหวนี้นะ ทำง่ายๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไร
ไม่ต้องหลับตา ไม่ต้องใช้คำบริกรรม
และที่สำคัญไม่ต้องใช้ความคิดด้วย ทำได้ทุกๆคนเลย
เพราะว่าหลักธรรมคำสอนในทางพุทธศาสนา


ทีนี้ท่านผู้ฟัง ก็จะได้ทราบว่า คนพิการในสภาพเช่นนี้น่ะ
เขาเจริญสติอย่างไร แล้วท่านผู้ฟังก็สามารถนำเอาไปปฏิบัติได้
ปฏิบัติแบบคนพิการนี้ก็ทำได้ การเจริญสติไปกับการเคลื่อนไหวนี้นะ
ทำง่ายๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไร ไม่ต้องหลับตา ไม่ต้องใช้คำบริกรรม
และที่สำคัญไม่ต้องใช้ความคิดด้วย ทำได้ทุกๆคนเลย
เพราะว่าหลักธรรมคำสอนในทางพุทธศาสนาถือว่า เป็นหลักสากล
ปฏิบัติได้ไม่เลือกเพศ วัย ชาติชั้น วรรณะ
นับถือศาสนาอะไร อาชีพอะไร คนปกติหรือพิการก็ย่อมปฏิบัติได้
นี่แหละคือหลักสากล
ลองนำไปปฏิบัติดูสิ จะมีแต่ประโยชน์ส่วนเดียว
อย่างผมเองก็เริ่มต้นโดยการนอน
แล้วก็พลิกมือข้างขวาได้เพียงข้างเดียวเท่านั้น
เริ่มต้นใหม่ๆ พลิกมือหงาย ก็ให้มีสติเข้าไปรู้ พลิกมือคว่ำนี้ก็ให้รู้
พลิกมือหงายนี้ก็ให้รู้ พลิกมือคว่ำนี้ ก็ให้มีสติเข้าไปรู้
ให้รู้ทุกครั้ง ที่มือเขาพลิกหงายพลิกคว่ำ
ให้รู้เฉยๆ ไม่ต้องหลับตา ไม่ต้องมีคำบริกรรม
แล้วก็ไม่ต้องใช้ความคิดอะไร แต่เวลาเราไม่ได้ใช้ความคิดนี่
ถ้าเราปฏิบัติ มันก็มีความคิดเกิดขึ้นเหมือนกัน
การทำกรรมฐานนี้ ย่อมมีความคิดเป็นธรรมดา
แต่เราก็ไม่ตามความคิด เราเพียงแต่รู้เฉยๆ
ทำใหม่ๆนี่ สติก็ไม่ค่อยจะมี
เรามักปล่อยจิตปล่อยใจให้หลงตามความคิดไป
ปล่อยจิตปล่อยใจให้ออกนอกอารมณ์กรรมฐาน
แต่พอเรามีสติเกิดขึ้น
สตินี้แหละสามารถดึงจิตเรากลับมาตั้งอยู่บนอารมณ์กรรมฐานใหม่
มันก็เกิดการชักกะเย่อกันอยู่อย่างนี้แหละ
ระหว่างความคิดลากเอาไป สติดึงกลับมา
มันเป็นประสบการณ์บางครั้งพอเราทำไป มันเกิดความง่วง
นี้เป็นเรื่องธรรมดานะ
การทำกรรมฐาน คนที่เคยปฏิบัติจะเข้าใจ
ย่อมจะมีความง่วงเป็นธรรมดา
เพราะความง่วงมันเป็นเพื่อนที่แสนดีสำหรับพวกเราทุกคนอยู่แล้ว
แต่เราไม่ยอมจำนนกับความง่วง
เรามีวิธีการแก้ไข คือ พลิกมือให้มันเร็วขึ้น แรงขึ้น
เป็นการปลุกสติให้มันตื่นขึ้น มันจะได้ไม่ง่วง
นี่คือ ประสบการณ์หนึ่งอีกเหมือนกัน
ทำใหม่ๆ อุปสรรคมันก็มีมาก
คนพิการนี้ อุปสรรคมีมาก แต่ก็ฝืนทนทำไปก่อน
กรรมฐานนี้ล้มลุกคลุกคลาน
ต้องตั้งต้นกันใหม่อยู่เรื่อยๆ แต่ก็ฝืนทนทำไปก่อน
เพื่อให้มันเกิดความเคยชิน
ถ้าเราทำจนเคยชินแล้ว เดี๋ยวมันจะเป็นไปเอง
ไม่คิดท้อแท้ มันท้อไม่ได้หรอก
ท้อแล้วเดี๋ยวกลับไปทุกข์เหมือนเดิม
เดิมพันมันสูงตรงนี้แหละ ทำอยู่มือข้างเดียวข้างขวานี้แหละ
ทำนานๆ มันก็ปวดๆมาก มันจะเกิดทุกขเวทนาทางกายแล้ว
ปวดจนกระทั่งนอนไม่หลับ
คือ ไม่รู้จะวางมือไว้ตรงไหนถูกนอนตั้งมือ แล้วก็หลับก็มี
ทีนี้พอเรามาหัดมือข้างซ้ายดูบ้าง
มือข้างซ้ายนี้แหละ เขาอ่อนแรงอยู่แล้ว พลิกไม่ค่อยถนัด
แต่เราก็พยายามฝืน พยายามพลิก ให้รู้สึกตัวไป
พอทำไปนานๆเข้า เราก็พลิกง่ายขึ้น
ทำให้แขนซ้ายแข็งแรงขึ้นด้วย
เมื่อก่อนจะยกแขนซ้าย ต้องเอามือขวาช่วยจับ
เดี๋ยวนี้สามารถยกชูได้นะ สติก็ได้ ร่างกายก็แข็งแรง
ทีนี้พอเราทำกรรมฐาน เป็นแล้ว
เรามีสติแล้ว เรามีประสบการณ์แล้ว
ก็พยายามสรรหาอิริยาบถใหม่ๆ ให้กับตนเอง
คนพิการ อิริยาบถก็มีจำกัด การเคลื่อนไหวก็มีได้น้อย
เราก็ค่อยดูว่า ร่างกายส่วนไหนที่ไม่พิการหรือพิการน้อย
เราก็จะเอาส่วนนั้นมาเคลื่อนไหว และก็ให้มีสติเข้าไปรู้เอาไว้


ในร่างกายของผมนี้
นอกจากแขนทั้งสองข้างที่พอจะเคลื่อนไหวได้แล้ว
ก็มีส่วนศีรษะนี้ ส่วนนี้เป็นปกติมาก ก็เอาส่วนนี้มาเคลื่อนไหว
แล้วก็ให้มีสติ กำหนดรู้เอาไว้
ยกตัวอย่าง เอียงซ้ายนี่ก็ให้รู้ เอียงขวาก็ให้รู้
เหลียวซ้ายแลขวา ก้ม เงย นี้ก็ให้รู้ กระพริบตาก็ให้รู้
ยักคิ้วนี้ก็เจริญสติได้นะ ขยับจมูก ขยับปาก
แม้แต่กระดิกหูนี้ ก็เจริญสติได้ ลองทำดูสิ
คือ ให้สติมันโคจรไปทั่วร่างกายที่เขาเคลื่อนไหวได้
ให้มีปัจจุบันอยู่ในตัวเรานี้ ไม่ให้ออกนอกตัวไปไหน


ผมเห็นญาติธรรมบางท่าน นั่งฟังไปด้วย ยักคิ้วไปด้วย….
ทีนี้พอเราทำจนชำนิชำนาญแล้ว
เราก็พยายามทำให้ต่อเนื่องในทุกอิริยาบถ
การปฏิบัติกรรมฐานนี่ กรรมฐานจะให้ผล
เราต้องพยายามทำให้ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ แล้วปัญญาจะเกิดขึ้น
เพราะปัญญาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้
ก็ต่อเมื่อเรามีสติตามรู้ในทุกอิริยาบถตลอดทั้งวัน
นี่คือปัญญาที่เกิดจากการภาวนาไม่ใช่ปัญญาเกิดจากการนึกคิด
หาเหตุผล ไม่ใช่อย่างนั้น
เราลืมตาตื่นขึ้นมาตอนเช้า ให้เรารู้สึกตัวทันที
จะพลิกซ้าย จะพลิกขวา จะพับผ้าห่ม ก็พยายามเติมสติลงไป
จะแปรงฟัน ล้างหน้า เช็ดหน้า ทานข้าว ดื่มน้ำ
ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ แต่งเนื้อแต่งตัวหรือเข็นรถไปมา
ก็พยายามเติมสติลงไปในอิริยาบถเหล่านี้
และสติมันเต็มเนื้อเต็มตัวเราไปหมด
เราต้องมีเจตนาที่จะเคลื่อนไหว เพื่อให้สติมันเกิด
สตินี้จะเกิดขึ้นได้ เราต้องสร้างขึ้นมา
เราทำเหตุตรงนี้ให้มากๆก่อน คือ การขยันสร้างสติ สร้างตัวรู้
แล้วเรื่องผล ไม่ต้องคำนึงถึง มันจะเกิดขึ้นมาเอง


พอเราทำไปนานๆเข้า มันก็เพลิดเพลินไปกับการปฏิบัติ
มันขยัน มันกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติอยู่เรื่อยๆ
พุทธภาษิตท่านกล่าวไว้ว่า คนมีสติย่อมขยัน
การทำกรรมฐานนี้ มันมีรสชาติมาก
ซึ่งมีรสชาติมากกว่าการอ่านหนังสือธรรมะหรือฟังธรรมะอีก
เทียบกันไม่ติดเลย เพราะจิตใจของเรา
สามารถเข้าไปสัมผัสกับสภาวธรรมจริงๆ เป็นธรรมชาติ เป็นสันทิฐิโก
สันทิฐิโกนี้ ก็แปลว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ
พึงเห็นได้ด้วยตนเอง นี้เราสัมผัสผลเลย
พอเราทำไปนานๆ นานวันๆ สติเขาก็มีการวิวัฒน์พัฒนาตัวเขาขึ้นมา
จนมีมากขึ้นๆกลายเป็นมหาสติ จะเริ่มมีกำลังแก่กล้าจะเป็นใหญ่
มีอำนาจอยู่เหนือตัวเรา
จิตใจที่เคยชอบครุ่นคิดวุ่นวายไปในอารมณ์ต่างๆ
อดีตก็ดี อนาคตก็ดี เมื่อเขาได้สัมผัสกับสตินานวันเข้านี่
ทำให้เขาสงบ เย็นลงได้


นี้ก็ได้อาศัยสติไปกับการเคลื่อนไหว
เป็นหลักของกรรมฐานเพื่อล่ามจิตล่ามใจ
ให้เป็นปกติสุขได้ในปัจจุบัน จิตเชื่องแล้ว ก็ทำให้เกิดธรรมะวิจยะ
เกิดญาณปัญญา เห็นแจ้งในเรื่องเกี่ยวกับตัวเรา
การเห็นแจ้งนี้ เราไม่ได้ไปเห็นแจ้งที่ไหน
ไม่ได้ไปเห็นแสง เห็นพระพุทธเจ้า เห็นเลข เห็นเบอร์ ไม่ใช่
อันนั้นไม่ใช่ของจริง เราเฝ้าดูตัวเราเองอยู่
เราก็ย่อมเห็นแจ้งในสัจธรรมที่มีในตัวเรา
สติสัมปชัญญะหรือตัวปัญญานี้แหละ คือ ผู้ที่เห็นแจ้ง
เรามาปฏิบัติธรรม
ก็เพื่อให้เราได้รู้ได้เห็นได้เข้าใจตัวเราอย่างชัดเจนเท่านั้น
นี่คือจุดมุ่งหมาย


ขั้นต้นเราจะเห็นว่า ชีวิตของเรานี้ประกอบไปด้วยส่วน 2 ส่วน
คือ ส่วนของกาย กับ ส่วนของจิต นี่แหละคือ ตัวเรา
ส่วนของกายคือรูปธรรม ส่วนของจิตใจคือนามธรรม
สรุปแล้วมี 2 อย่าง เท่านั้น ในชีวิตเรา
คือ มีกายกับจิต ที่มิใช่ส่วนเดียวกัน แต่เขาอาศัยกันอยู่
ขั้นต่อมา เราก็จะเห็นว่าธรรมชาติของร่างกายเป็นอย่างไร
ธรรมชาติของจิตใจเป็นอย่างไร อาการของกายเป็นอย่างไร
อาการของจิตใจเป็นอย่างไร ความคิดเป็นอย่างไร
ความรู้สึกตัวเป็นอย่างไร จะเห็นแจ้งวนเวียนในสิ่งเหล่านี้แหละ
ใครปฏิบัติอย่างนี้ก็ต้องเห็นอย่างนี้
เพราะธรรมะแท้นี้ ต้องรู้ต้องเห็นในสิ่งเดียวกัน
ธรรมะแท้ๆต้องรู้กันได้ และเห็นกันได้ ทั้งผู้พูดและผู้ฟังด้วย
จึงจะเป็นธรรมะแท้ ถ้าผู้ปฏิบัติมามีสติเป็นผู้ดู เป็นผู้เห็น
แต่ก็ไม่ได้เข้าไปเป็นกับกาย ไม่ได้เข้าไปเป็นกับจิต
และก็ไม่ได้เข้าไปเป็นกับความคิด ไม่เข้าไปเป็นกับอะไร
เป็นเพียงผู้ดู ผู้รู้ ผู้เห็นตามหน้าที่เท่านั้น


เรามีหน้าที่อะไรก็ทำตามหน้าที่ ทำตามสมมุติที่เขามอบหมายให้
จิตใจของผู้ปฏิบัติจะเป็นอิสระมาก จะเป็นปกติ
จะไม่ตกเป็นทาสของความคิดและก็อารมณ์ต่างๆที่มาปรุงแต่ง
จะทำให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติ คือ มั่นใจในชีวิตมาก
พอถึงจุดนี้แล้วมันจะเกิดการเปลี่ยนชีวิตใหม่เลยนะ
เปลี่ยนใหม่แล้ว เป็นการเปลี่ยนทางด้านจิตใจ
ไม่ใช่เปลี่ยนทางด้านร่างกาย เป็นชีวิตใหม่ในร่างเก่า


ทุกวันนี้ ผมก็ได้อาศัยในร่างกายที่พิการนี้แหละ เคลื่อนไหวไปมา
ผมอาศัยเขาเคลื่อนไหวไปมา
เพื่อให้มีสติเข้าไปรู้เป็นปัจจุบัน ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต
ก็จะทำอยู่อย่างนี้แหละ จะทำให้เป็นอาชีพเลย
จะใช้ความพิการที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ถึงที่สุด
พาเราไปสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง


ผมคิดว่าคุ้มค่าแล้ว ที่ผมได้ใช้ชีวิตที่พิการมา 22 ปี
ความทุกข์และอุปสรรคต่างๆ
มันกลับกลายมาเป็นอุปกรณ์สอนให้ผมได้เรียนรู้อะไรต่างๆ
เกี่ยวกับชีวิตของผมมากมาย
เพราะความทุกข์นี้แหละ ท่านผู้ฟัง
ทำให้ผมได้พบหนทางแห่งความดับทุกข์กับตนเอง
ขณะนี้ผมไม่ปฏิเสธแล้ว ความทุกข์ ต้องขอบคุณเขา
ทำให้เราได้มาปฏิบัติธรรม ได้รู้จักกับธรรมะ
ความพิการ ครั้งแรกนึกว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเจริญสติ
แต่พอผมปฏิบัติไป ก็ได้พบอุปสรรคเข้าจริงๆ
และก็ได้เปลี่ยนอุปสรรคมาเป็นอุปกรณ์ที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติไปเลย
มีหลายอย่าง ที่จริงแล้วรายละเอียดเรื่องการปฏิบัติมีมาก แต่เวลามีน้อย



ท่านผู้ฟังที่เคารพ ผมเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่า
จะได้มาใช้ชีวิตที่พิการอย่างนี้
จะได้มาอาศัยอยู่ในร่างกายที่พิการอย่างนี้
ซึ่งโลกแห่งจินตนาการของผมมันไม่ใช่อย่างนี้หรอก
ความไม่แน่นอนของชีวิตมันได้เกิดปรากฏชัดเจนกับตัวผมแล้ว
ดังที่ทุกท่านได้มองเห็นอยู่นี้
และท่านผู้ฟังที่มีร่างกายเป็นปกติ
ผมก็ขออวยพรให้ท่านจงเป็นปกติอย่างนี้ตลอดไป


แต่ว่าอย่าได้ประมาทในความมีความเป็นของเราอยู่
ใครจะทราบได้บ้างว่า วันเวลาข้างหน้า
จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับเราบ้าง เพราะฉะนั้นไม่ควรประมาท


ความไม่ประมาทนี้ก็คือ การมีสติอยู่ทุกเมื่อ
หรือว่ามีสติเป็นหน้ารอบ
สติ สติ นี้ ทุกๆท่านก็มีอยู่แล้ว ถ้าท่านผู้ฟังไม่มีสติ มาที่นี่ไม่ได้หรอก
แต่ว่าเป็นสติตามธรรมชาติ ที่ธรรมชาติเขาให้มา
ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาชีวิตเราได้
เราจึงต้องมาพัฒนาสติตัวนี้ให้มีมากขึ้นๆ จนกลายเป็นมหาสติ
จะทำหน้าที่ดึงเอาปัญญามาใช้ แก้ปัญหาชีวิตเราได้อย่างสิ้นเชิง


การพัฒนาสตินี้ ท่านก็ไม่ต้องไปหาจากที่ไหนหรอก
เอากายเอาจิตที่มีอยู่ของเรานี้แหละ มาเป็นฐานที่ตั้งของสติ
เอากายเอาจิตของเรานี้แหละมาเป็นอุปกรณ์
มาเป็นโรงงานเพื่อผลิตสติให้กับเรา
ถ้าท่านทำให้มาก ทำบ่อยๆ ทำจนชำนิชำนาญ แล้วละก็
ท่านจะมีที่พึ่งภายใจอันประเสริฐ แล้วจะเป็นอริยทรัพย์ที่ไม่มีวันหมด
ผมเองซึ่งเป็นผู้ที่มีร่างกายพิการ
ปฏิบัติใหม่ๆ ก็ทำได้เพียงนอนพลิกมือข้างขวา
แล้วเอาสติตามรู้ เพียงรู้เท่านี้เท่านั้น
ก็ยังปฏิบัติจนได้รับผล เป็นที่น่าพอใจ คือ ความทุกข์มันลดน้อยลง
แต่ถ้าเป็นท่านผู้ฟัง ผู้ที่มีร่างกายเป็นปกติ
แล้วก็ยังมีสติสัมปชัญญะ ดีอยู่ ก็ย่อมที่จะปฏิบัติ
และก็ได้รับผลดียิ่งกว่าผมอีกหลายเท่านัก ไม่เหลือวิสัยนะ
คนพิการยังทำได้เลย


ท่านมีโอกาสดีแล้ว ให้เริ่มปฏิบัติเสียแต่บัดนี้
ไม่ต้องรอให้พิการอย่างผมก่อนหรอก
ถ้าพิการอย่างผมนี่ อุปสรรคมันจะมีมาก
บางทีมันท้อแท้หมดกำลังใจไปเลย
พระพุทธเจ้าท่านตรัสเป็นพุทธภาษิตไว้ว่า
คนมีสติเท่ากับมีสิ่งนำโชคอยู่ตลอดเวลา
แต่จะนำโชคอย่างไร ขนาดไหนนั้น ขอเชิญท่านมาพิสูจน์ดูได้


เอาละ วันนี้ ผมก็ได้ใช้เวลามาทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ให้พระธรรม
ได้พูดในสิ่งที่เป็นสารประโยชน์ ก็หวังว่าท่านผู้ฟัง
คงจะได้รับประโยชน์ในการรับฟังครั้งนี้บ้างไม่มากก็น้อยนะ
ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา


ท้ายที่สุดนี้ ขอความมีดวงตาเห็นธรรม
นำตนให้พ้นทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์
กล่าวคือ มรรค ผล นิพพาน
จงได้บังเกิดแก่ญาติธรรม ทุกท่านทุกคนเทอญ


ถอดเทปมาตอนหนึ่งจาก
“คิดมาก…ก็ทุกข์มาก สุขทุกข์อยู่ที่ใจ”

บรรยายธรรม โดย หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ
อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม และ นายแพทย์กำพล พันธ์ชนะ

ณ ห้องต้นเจ้าพระยา แฟรี่แลนด์สรรพสินค้า จ. นครสวรรค์

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2544


โพสโดย พุทธธรรม รวบรวมธรรมะแก่นแท้

   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

4
                                   กิเลสทั้งหลายเกิดจากจิต : หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


พึงทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว
คือ "พุทโธ" เป็นของเลิศในโลก



พระพุทธศาสนาสอนให้เข้าถึงจิตถึงใจอันเดียว กิเลสทั้งหลายเกิดจากจิต จิตเป็นผู้ยึดเอากิเลสมาไว้ที่จิต จิตจึงเศร้าหมอง เมื่อจิตเห็นโทษของกิเลสแล้ว สละถอนกิเลสออกจากจิตได้แล้ว จิตก็ผ่องใสบริสุทธิ์ นี่เป็นหลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้มิใช่หรือ ถึงผู้จะเข้าสู่อริยภูมิ ก็ต้องเข้าถึงจิตเป็นหนึ่ง เรียกว่า มัคคสมังคี จิตรวม ศีล สมาธิ ปัญญา เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงจะเข้าถึงอริยภูมิได้ ปัญญาค้นคว้าหาเหตุผลของกิเลสนั้นๆ จนรู้ชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยตนเองแล้ว นั่งอยู่ในที่เดียวนั้นก็เว้นจากความชั่วนั้นๆ ได้หมดจดสิ้นเชิง แล้วจิตก็แน่วแน่นลงเป็นสมาธิไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนไปไหน

หมดจากโทษนั้นๆ ก็จิตดวงนั้น ปัญญาความรู้เห็นโทษในกิเลสนั้น ๆ ก็จิตดวงนั้น แล้วรวมลงแน่วแน่น ลงสู่ในที่เดียว ก็จิตดวงนั้น แลต้องตามไปละถอนในที่ต่างๆ อยู่เฉพาะในที่เดียวในขณะจิตเดียว จิตของพระอริยเจ้าแต่ละขั้นจะเข้าถึง มัคคสมังคี รวมเป็นศีล สมาธิ ปัญญา เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดังนี้


: หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
แสงธรรมส่องใจ

 ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

5
                                                      'ความสุข' แค่ปลายจมูก

 
   ฟังบรรยายธรรมฉบับย่อจากพระนักคิด ที่ชวนให้เราหันมา "มี" ความสุข ไม่ใช่ "หา" ความสุข เพราะจากการหานี่เอง ทำเอาคนทุกข์มานักต่อนัก

หาก พระไพศาล วิสาโล แห่งวัดป่าสุคะโต กลับถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงเนิบนุ่มและเปี่ยมไปด้วยเมตตาว่า ความสุขที่แท้อยู่ใกล้กว่านั้น...

...แค่ปลายจมูก

เส้นผมบังความสุข                                                                                                                                                               อีกกว่าสิบนาที ถึงจะได้เวลาบรรยายจริงตามกำหนดการ แต่ในร้านหนังสือไตรปิฎก ย่านอรุณอมรินทร์ ก็ถูกจับจองที่นั่งจนแทบจะไม่มีที่ยืนแล้ว

เด็ก สตรี คนชรา และ สุภาพบุรุษมากหน้าหลายตาเหล่านั้น มานั่งเพื่อรอฟังการบรรยายธรรมเรื่อง "ความสุขที่ปลายจมูก" ของพระนักคิด นักเขียน และนักเผยแผ่ผู้นี้

เมื่อได้เวลาพอดี นักเทศน์พร้อม ผู้ฟังพร้อม หลายคนยกมือขึ้นพนม นั่งนิ่งๆ แล้วหลับตา

"ความสุขอยู่ใกล้ตัวมาก จนเรามองไม่เห็น เหมือนปลายจมูก ใกล้ตามากๆ เช่น ขนตา แต่เรามองไม่เห็น เรามักจะมองเห็นอะไรไกลๆ จนละเลยสิ่งดีๆ ที่มีอยู่กับตัว รวมไปถึงความสุขที่มีอยู่แล้วแต่เราไม่เคยคิดหรือไม่เคยรู้ว่าตัวเองมี" ท่านเริ่มบรรยายด้วยการให้ความหมาย

พร้อมเล่านิทานเรื่อง "ขโมยกับเศรษฐี" ให้เข้าใจเรื่องปลายจมูกมากขึ้น

"กาลครั้งหนึ่ง มีขโมยกับเศรษฐี บังเอิญมีเรื่องให้ต้องมาพักโรงแรมเดียวกัน นอนห้องเดียวกัน เพราะห้องพักไม่พอ เศรษฐีไม่รู้ว่าขโมยเป็นขโมย แต่ฝ่ายขโมยรู้ว่าเศรษฐีมีเงิน และพยายามคิดอุบายหาทางขโมยเงิน เย็นวันแรก ขโมยแกล้งเข้าห้องน้ำและบอกเศรษฐีว่า เขาอยู่ในห้องน้ำ ให้เศรษฐีลงไปกินข้าวก่อน พอเศรษฐีลงไป ตัวเองก็รีบออกมาหากระเป๋าเงิน แต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ ใจก็สงสัย วันรุ่งขึ้น ขโมยก็พยายามสังเกตอีกว่าเศรษฐีเก็บเงินไว้ที่ไหน แล้วเย็นวันนั้นก็ใช้อุบายเดิมอีก พยายามค้นทุกที่ แต่หาไม่เจอ เป็นอย่างนี้อยู่ 3 วัน พอวันที่4 เศรษฐีจะเดินทางไปที่อื่นแล้ว ด้วยความสงสัยมากๆ ขโมยจึงยอมสารภาพทั้งหมดและเปิดเผยตัว พร้อมถามว่า เศรษฐีซ่อนเงินไว้ที่ไหน"

ก่อนจะเฉลย พระไพศาลหรือหลวงพี่เตี้ย ก็ถามกลับไปยังผู้ฟังว่า ทายได้ไหม
คนฟังมากกว่า 5 ยกมือขึ้นพร้อมกับตอบว่า "อยู่ใต้หมอนของโจร"

"อะไรยิ่งใกล้ เรายิ่งมองข้าม ประสาอะไรกับใจเรา" หลวงพี่เปรียบเปรย พร้อมชี้ให้เห็นสภาพของสังคมปัจจุบันว่า "ความสุขอยู่นอกตัว" ไม่ว่าจะเป็น บ้านหลังใหม่ รถคันใหม่ เงินก้อนใหม่ กระทั่งแฟนใหม่

ที่มาบรรยายธรรมวันนี้ หลวงพี่เพียงอยากชี้ว่า จริงๆ แล้วความสุขไม่ได้อยู่ไกลขนาดนั้น

ความสุขแบบลูบคลำได้เหล่านี้ พอได้มาจริงๆ ก็เหนื่อย เพราะผ่านการดิ้นรน แข่งขัน ฝ่าฟัน เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขชั่วคราว แล้วก็อยากได้อยากมีอีก เป็นอย่างนี้ตลอดเวลา เพราะคิดว่าความสุขทั้งหลายล้วนอยู่นอกตัว

"จริงๆ ความสุขอยู่กับเรา แต่เรามองไม่เห็น ถ้าอยากเห็นเพียงแค่เปลี่ยนมุมมองใหม่ เช่น การที่เราไม่เจ็บไม่ป่วย นั่นคือความสุขแล้ว เป็นความสุขที่มากกว่าการได้เงินได้ทองเสียอีก"
กับ "คนรัก" เรามักไปมองหาคนให้มารักเราจากที่ไกล อยู่ที่ไหนก็ยังไม่รู้ แต่กับคนใกล้ตัวกลับถูกเราผลักให้ออกห่าง แต่จะกลับรู้สึกว่าเขาใกล้ก็ต่อเมื่อเขาจากเราไปแล้ว

"วันที่ได้อยู่ใกล้ อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นวันที่เรามีโชคอย่างยิ่ง อาตมาอยากเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟังว่า นานมาแล้ว ตอนจีบกันใหม่ๆ ผู้ชายคนหนึ่งอยากเห็นหน้าฝ่ายหญิงมาก ประมาณว่าได้เห็นแค่ประตูบ้านก็ยังดี ผู้หญิงก็ใจดีให้รูปถ่ายไว้ดูต่างหน้า ฝ่ายชายก็ดีใจมาก นึกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าอยากให้รูปถ่ายกลายเป็นตัวจริง"

แต่พอร่วมหอลงโรงกันได้ 4-5 ปี ความรู้สึกที่เคยมีกลับพลิกตาลปัตร

"อยากให้ตัวจริงกลายเป็นรูปถ่าย(ยิ้ม) แต่อาตมาเชื่อว่า ถ้าภรรยาของเขาจากไป เขาจะเปลี่ยนความรู้สึก ไม่ต้องถึงกับตายจากไป แค่รูปถ่ายก็ไม่อยากให้เป็น"

ปริมาณ ความรัก ความใส่ใจ จึงต้องแปรผันตามความใกล้-ไกล ไม่ใช่ผกผันตามระยะทาง


รักคนไกล ระอาคนใกล้

หลวงพี่ยังมีเรื่องตลก(ร้าย) เล่าให้ฟังอีก

"แอม เสาวลักษณ์ (ลีละบุตร) เคยเล่าเรื่องเพื่อนคนหนึ่งให้ฟัง เพื่อนคนนั้นเพิ่งกลับจากไปปลูกป่า พร้อมกับบอกว่ามันดีเหลือเกิน ช่วยทั้งเรื่องฝน ดิน สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ แล้วก็ปลื้ม นายดาบวิชัย มากๆ ฟังอย่างนี้ แอมเลยถามกลับไปว่า ชอบปลูกป่าอย่างนี้ที่บ้านคงมีต้นไม้เยอะแน่ๆ แต่เพื่อนกลับหน้าบึ้ง ตอบกลับว่า ตัดหมดแล้ว ใบไม้มันร่วงเยอะ ขี้เกียจกวาด"
กระแทกเข้าไปในหัวใจสีเขียวของใครหลายคน ด้วยมัวแต่ชื่นชมและอุ้มชูป่านอกบ้าน หากต้นไม้ในบ้านกลับไม่เห็นค่า บอกว่าระอาและเป็นภาระ
ป่ากับต้นไม้ ไม่ต่างอะไรกับความรู้สึก "รักคนไกล ระอาคนใกล้"

"บางคนที่เบื่อพ่อแม่ เพราะท่านมีนิสัยบางอย่างที่ไม่น่าพอใจ แล้วเราก็ชอบเอาแต่ตรงนี้ไปคิดระอา ทั้งๆ ที่ข้อดีของท่านมีไม่หวาดไม่ไหว" หลวงพี่พยายามดึงให้มองด้านดีของคนใกล้ อย่าไปเสียเวลาใส่ใจกับด้านลบ แล้วมอบสิ่งดีๆ อย่าง คำขอบคุณ อ้อมกอด หรือความรัก เป็นการตอบแทน

"คนมักเห็นค่า เมื่อ 1.ยังไม่ได้มา 2.จากไปแล้ว" ท่านย้ำ พร้อมเล่าเรื่องเพื่อนที่เป็นหมอคนหนึ่ง ว่า สมัยก่อนเขาอยากได้พีดีเอโฟนมาก เลยอยู่เวรดึกหลายคืนเพื่อเก็บเงิน แต่พอใช้ไปได้ 4-5 เดือน บ่นอยากได้รุ่นใหม่ซะแล้ว แล้วจู่ๆ เครื่องเดิมเกิดหาย เสียดายมาก"

นอกจากคน สิ่งของ ความสุขระยะใกล้ยังหมายถึง "เวลา" ...นาฬิกาชีวิตที่มักถูกลืม

การที่คนๆ หนึ่งตื่นมาทุกเช้า พร้อมกับความรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะคนๆ นั้นเชื่อว่า เวลายังไม่จบสิ้น ไม่เคยเลยสักวันที่ตื่นมาขึ้นมาใน "เช้าอันแสนวิเศษ"

"แต่ถ้าเขาเป็นโรคร้าย หรือโลกใบนี้กำลังจะแตก เขาจะรู้สึกถึงว่า การมีเช้าวันใหม่นั้นเป็นของขวัญ เพราะไม่รู้ว่าจะมีวันพรุ่งนี้หรือไม่ และทำให้เขาใช้เแต่ละวันแต่ละนาทีอย่างมีคุณค่า ชีวิตมีความสุขมากขึ้น"


ขอให้มี "ลมวิเศษ"

ทั้งหมดที่พระไพศาลพยายามเล่าพร้อมยกตัวอย่างนั้น เป็นการอธิบายถึง "ความสุขที่ปลายจมูก" เชิงอุปมาอุปไมย แต่ความหมายจริงๆ ก็มีและลึกซึ้ง

"ที่ปลายจมูกมีลมหายใจเข้าออก ถ้าเรารู้สึกตัว ความรุ่มร้อนในใจจะคลายลง"
เพราะเมื่อสติกลับมาที่ลมหายใจ จิตกลับมาอยู่ที่ปลายจมูก รับรู้ลมหายใจเข้าออก ความหนักใจจะค่อยๆ หายไป

"ความรู้สึกตัวจะช่วยปัดเป่า ให้เราเย็น มันจึงเป็นลมวิเศษ"

หลวงพี่บอกต่อว่า "ลมวิเศษ" ที่ว่านี้ ใครๆ ก็มีได้ แค่เราเอาใจใส่ลมหายใจธรรมดา ไม่หายใจแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ให้สูดลมหายใจเข้าออกแบบรู้ตัวอยู่เสมอ

ลมวิเศษ จะเอาความสงบเย็นไปหล่อเลี้ยงจิตใจ ขจัดปัดเป่าความหนักใจให้กลายเป็นความโปร่งเบา

"ลมวิเศษ จะทำให้พบอีกหลายอย่าง เช่น ทำให้เกิดปัญญา เห็นความจริงของกายและใจ ไม่ต่างอะไรจากวิปัสสนาที่ก่อให้เกิดสติสัมปชัญญะ รู้ทันข้างใน ที่สำคัญที่สุดคือ ก่อให้เกิดอิสระ และเห็นความเป็นจริง ไม่เป็นตัวกูของกู ไม่มีการปรุงแต่ง เป็นอิสระจากความทุกข์ที่เกิดจากการยึดมั่น ถือมั่น และเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง"

เมื่อ "ความสุขที่ปลายจมูก" เดินทางมาถึงช่วงสุดท้าย พุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง ยกมือขึ้นถามว่า เช่นนั้นแล้ว ความสุขภายนอกยังจำเป็นอยู่ไหม และถ้ายังจำเป็น ควร "จำกัด" มันไว้แค่ไหน ไม่ให้เสพติดมัน

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ตอบว่า "ยังจำเป็นอยู่" ยกตัวอย่างเช่น ปัจจัยสี่ ที่ยังจำเป็นในชีวิตประจำวัน

"แต่จำเป็นเพราะความอยู่รอด โดยปกติ จิตใจจะโหยหาความสุข ถ้าไม่ได้ความสุข มันจะป่วน คนที่ทำตัวเกกมะเหรกเกเรเพราะเขาขาดความสุข

ความสุขมีสองประเภท คือความสุขทางวัตถุกับความสุขทางจิตใจ ถ้าเรายังไม่มีนิรันดร์สุข เราก็ต้องอิงแอบอยู่กับความสุขที่เรามี แต่เมื่อใดก็ตามที่เรามีความสุขหล่อเลี้ยงใจมากขึ้น เราก็จะต้องการความสุขทางวัตถุน้อยลง แต่ถ้าเราไม่มีความสุขภายในเลย เราก็ต้องการความสุขทางวัตถุมากจนกลายเป็นทาสของมัน เช่น คนติดยา ติดเหล้า เพราะนั่นคือ ความสุขอย่างเดียวของเค้า
เช่นนั้นแล้ว ถ้าเราต้องการเป็นอิสระจากสุขภายนอก เราก็ต้องหาสุขอย่างอื่นมาทดแทน เช่น ตอนเด็กๆ เราชอบกินกล้วยแขก เพราะมันอร่อยมาก แต่พอโตขึ้นมาเจอชอกโกแลต พบว่ามันอร่อยมาก เราก็เบื่อกล้วยแขกไปเลย เพราะเจอของอร่อยกว่า แต่ต่อไปเราก็จะหน่ายชอกโกแลตอีกเพราะเราเจอสิ่งที่ดีกว่า" หลวงพี่ตอบเป็นแนวทางกว้างๆ

กับคำถามต่อมา ปุจฉาโดยพนักงานออฟฟิศคนหนึ่ง ที่กำลังมีปัญหาในที่ทำงาน

"เราควรวางตัวอย่างไรให้มีความสุขในที่ทำงาน เพราะต้องทำตัวให้แข็งแกร่ง มีความรู้ เพื่อให้ผู้ร่วมงานให้เกียรติ และเราเองก็หวังความสุขจากตรงนั้น แต่บางทีใจเรารู้ว่ามันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง แต่ถ้าเราไม่ทำ ก็จะเกิดความกลัวว่า เพื่อนร่วมงานจะนำปัญหามาให้"

หลวงพี่วิสัชนาว่า

"ปัญหาอยู่ที่ความสัมพันธ์ เราเองต้องทำใจส่วนหนึ่ง อย่าไปอิงกับความคาดหวัง สายตา หรือความรู้สึกของคนรอบข้างมากนัก ถ้าเราพึ่งพิงหรือแคร์ เราจะไม่มีทางมีความสุขได้เลย เพราะสายตาคนรอบข้างไม่มีความแน่นอนอยู่แล้ว แคร์มากเราก็จะทุกข์ การที่เขาจะมองว่าเราไม่แข็งแกร่ง ไม่มีความรู้ ก็เป็นเรื่องของเขา อย่างน้อยให้เรามีความมั่นใจในตัวเอง ไม่หวั่นไหวต่อสายตาคนอื่น นี่เป็นสิ่งสำคัญกว่า

ส่วนที่สอง คือ ปฏิสัมพันธ์กับเขา ถ้าเราปฏิสัมพันธ์กับเขาอย่างเพื่อน ด้วยความจริงใจแล้ว ด้วยความเมตตา ถ้ามีอะไรก็กล้าพูดกับเขา จะช่วยได้ การสื่อสารระหว่างกันเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ในการช่วยลดปัญหา"
..............................................

คนเรามักมีความสุขจากการได้ มากกว่าการมี มีเท่าไหร่ก็ยังจะอยากได้มาใหม่เพราะเรามักคิดว่า ของใหม่จะให้ความสุขแก่เราได้มากกว่าสิ่งที่มีอยู่เดิม บ่อยครั้งของที่ได้มาใหม่นั้นก็เหมือนกับของเดิมไม่ผิดเพี้ยน แต่เพียงเพราะมันเป็นของใหม่ ก็ทำให้เราดีใจแล้วที่ได้มา

ถ้าหากว่าของใหม่ให้ความสุขได้มากกว่าของเก่าจริงๆ เรื่องก็น่าจะจบลงด้วยดี แต่ปัญหาก็คือ ของใหม่นั้นไม่นานก็กลายเป็นของเก่า และความสุขที่ได้มานั้นในที่สุดก็จางหายไป ผลก็คือกลับมารู้สึก "เฉยๆ" เหมือนเดิม และดังนั้นจึงต้องไล่ล่าหาของใหม่มาอีก เพื่อหวังจะให้มีความสุขมากกว่าเดิม แต่แล้วก็วกกลับมาสู่จุดเดิม เป็นเช่นนี้ไม่รู้จบ น่าคิดว่าชีวิตเช่นนี้จะมีความสุขจริงหรือ? (ตอนหนึ่งจากหนังสือความสุขที่ปลายจมูก)

เนื้อธรรมทั้งหมดที่พระไพศาลบรรยายมาทั้งหมด เชื่อว่าเป็นสิ่งที่หลายคนรู้อยู่แล้ว นี่อาจจะเพียงการช่วยตรวจทานอีกรอบว่า ความสุขมีกันอยู่แล้ว หยิบมันออกมาใช้บ้าง อย่าเอาใจออกห่าง

...อยู่ใกล้แค่นี้เอง

   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด bangkokbiznews.com

6
                                         กรรม-เวร หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี

                                   
                                                                 กรรม-เวร


                                                        หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี


                                                   วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย

 

  จะอธิบายถึงเรื่อง กรรม ให้ฟัง เพื่อจะจดจำเอาไปพูดให้หมู่ฟัง และให้ญาติโยมฟังกว้างขวางต่อไป คือเรื่อง กรรม นี้น่ะคนไม่ค่อยเข้าใจ คนยังเข้าใจผิดมากทีเดียวละ คือผมตั้งแต่บวชมาก็ได้ยินเรื่องกรรมนี้อยู่เสมอ เขาเรียกทีเดียวว่า "เจ้ากรรมนายเวร" แต่ก็ไม่กล้าที่จะเทศน์ให้คนฟัง เพราะเห็นว่าคนทั้งหลายถือเป็นอย่างนั้นเข้าใจกันเสียอย่างนั้นโดยมาก คือพูดไปแล้วก็คงจะไม่มีใครฟัง มาตอนนี้ผมอดไม่ได้แล้วจะต้องพูดแล้ว


กรรม คือเกิดจากการกระทำ ทุกคนต้องมีการกระทำ ไม่ว่าดีไม่ว่าชั่วทำกันทั้งนั้น พุทธศาสนาสอนความเป็นจริงตามเป็นจริง คนเราเกิดมาก็ต้องสอนเรื่องกรรมคนจะหนีกรรมไม่พ้น ใครๆทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วต้องอยู่ในกรรม กรรมดีเรียกว่า กุศลกรรม กรรมชั่ว เรียกว่า อกุศลกรรม กรรมดีและกรรมชั่วนี่แหละมันไม่ใช่ของเกิดเองเป็นเอง ที่คนเข้าใจว่ามันเกิดเองเป็นเอง ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่าจิตใจของเรานี่แหละ มันไปเกาะเกี่ยวเนื่องเอาเรื่องกรรมนั้นมาใส่ใจของตนเองจึงค่อยติดอยู่ในใจของตนเองค่อยเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในใจของตนเอง ทำอย่างไรก็แกะมันไม่พ้น ทำอย่างไรก็แกะไม่หลุด


กรรม คือ วิบากขันธ์ มีรูปกับนามนี่แหละเป็นพื้น เกิดขึ้นมาแล้วต้องมีรูปกับนาม ผู้ทำกรรมก็คือรูปกับนามนี่ล่ะ แต่ไม่ใช่ตัวกรรม รูปอันนี้ไม่ใช่ตัวกรรม นามเป็นตัวกรรมต่างหาก ตัวจิตนี่น่ะมันคอยคิดอยากจะทำร้าย คิดอยากจะเบียดเบียน คิดอยากจะริษยาพยาบาทคนอื่น มันปรุงแต่งขึ้นมา แต่แท้ที่จริงแล้วมันก็ไม่มีกรรมอะไรหรอกในที่นั้น มันปรุงมันแต่งขึ้น มันเกิดขึ้นในที่นั้น มันจึงค่อยเป็นเวรเป็นกรรมต่อไป แล้วก็คิดทำขึ้นมาที่นั่นมันก็ทำไม่ได้เหมือนกัน คิดเฉยๆทำไม่ได้ มันต้องแสดงออกไปทาง กาย วาจา ทางใจ พร้อมกันทั้ง ๓ อย่างจึงคอยทำกรรมนั้นได้ กรรมดี กรรมชั่วเหมือนกัน แสดงออกทางอาการทั้ง ๓ อย่างนี้ทั้งนั้น


ตัวกรรมแท้ไม่ใช่ตัวนั้น เป็นตัวแสดงแท้ๆไม่ใช่ตัวกรรม แสดงออกมาให้ปรากฏเฉยๆทาง กาย วาจา ใจครั้นเมื่อแสดงออกมาด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้วก็ประกอบกรรม นั่นแหละจึงค่อยมีกรรมเกิดขึ้นมา ทีแรกไม่มีเป็นของว่างๆเฉยอยู่นี่แหละ แต่ประกอบขึ้นมาเลยก็มี เลยเกิดขึ้นมา มีในตัวของตนคราวนี้ เมื่อกรรมมันเกิดขึ้นมาอย่างนั้นแล้ว ในขณะที่จิตคิดประทุษร้าย ร้ายกาจ กรรมมันต้องประทุษร้าย ร้ายกาจ จิตใจมันต้องอำมหิต เหี้ยมโหดที่สุด มันจึงค่อยเป็นกรรม จึงค่อยเรียกว่า กรรมดี กรรมชั่ว


กรรม ในที่นี้คนทั้งหลายโดยมากเข้าใจว่ากรรมคือ ทำชั่วทั้งนั้น แต่ในทางพระพุทธศาสนาสอนมี กรรมดี กรรมชั่ว กรรมชั่วนั้นมีทั้ง เวร ทั้ง กรรม กรรมดีนั้นไม่มีเวร ท่านเรียกว่า "บารมี" เสีย บารมีคือก่อสร้างคุณวามความดี ท่านเรียกว่าบารมี ไม่เรียกว่าเวรไม่เรียกว่ากรรม คือการบุญการกุศลนั่นก็เรียกว่ากรรม แต่ไม่มีเวร การทำกรรม เวรนี้เฉพาะใครเฉพาะมัน ทุกคนเห็นในใจของตนเอง เมื่อทำลงไปแล้วรู้สึกด้วยตนเอง ใครก็ไม่รู้สึกด้วย เฉพาะตนเองแท้ๆ


แล้วคำที่ว่า ทำบุญอุทิศให้ "เจ้ากรรมนายเวร" นั่นน่ะ ตรงนี้แหละผมสงสัยมาก เจ้ากรรมอยู่ไหน นายเวรอยู่ไหนก็ไม่ทราบ เจ้ากรรมนายเวรคือผู้รับกรรมนั้นไป เราทำแล้วผู้นั้นรับกรรมไป ให้เป็นเวรเป็นกรรมต่อกัน หรือให้ขาดเวรขาดกรรมต่อกัน อันนั้นเป็นผู้บัญชาการ เรียกว่านายเป็นผู้บัญชาการนั่น เขาคงหมายเอาตรงนั้นแหละ ตรงผู้บัญชาการนั่นแหละ แล้วคราวนี้ก็ทำบุญทำกุศลอุทิศไปให้เจ้ากรรมนายเวร ไม่ใช่ให้ตัวกรรมตัวเวรนั่นน่ะ ให้ตัวนายโน่นน่ะ นายตัวเจ้ากรรมนายเวรโน้นละ มันเป็นอีกต่อหนึ่ง เขาประสงค์อย่างนั้น คำว่า "เจ้ากรรมนายเวร" ในที่นี้เขาประสงค์อย่างนั้น


แล้วผมได้ยินได้ฟังมาก็ดี ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก็ดี ในที่ใดๆแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยเห็นเลยเจ้ากรรมนายเวร หรือว่าดูไม่ทั่วถึงก็ไม่ทราบในธรรมะทั้งหลาย หรือฟังไม่ทั่วถึงก็ไม่ทราบ แต่เท่าที่ได้ฟังได้ยินได้ศึกษามาไม่มีหรอก เจ้ากรรมนายเวร พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่า ผู้ใดทำกรรม ผู้นั้นย่อมได้รับผลของกรรม ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ท่านไม่ได้ตรัสถึงเรื่องเจ้ากรรมนายเวร ตรงนี้แหละผมสงสัยมาก จะไปให้อย่างไรให้เจ้ากรรมนายเวร เราก็ไม่ใช่ญาติพี่น้องกับเจ้ากรรมนายเวร เจ้ากรรมนายเวรก็ไม่ทราบอยู่ที่ไหน ตัวเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ชื่อเสียงก็ไม่รู้จักเจ้ากรรมนายเวรนั่นว่าไปเฉยๆ เรียกไปเฉยๆ อย่างนั้นแหละ ความเป็นจริงนั้นไม่มีตัวมีตน กรรมเวรก็ไม่มีตัวมีตนจะไปให้กันอย่างไร จะไปให้กันรักษาคุ้มครอง รักษาอย่างไร ? ไม่มีตนไม่มีตัวทั้งสองอย่าง


เหตุนั้นจึงว่าเจ้ากรรมนายเวรไม่มี ผมเข้าใจว่าไม่มี ตรงนี้แหละอยากจะสอนให้เข้าใจ ถึงเรื่องคนทั้งหลายทั่วไปหมด ที่ถือศาสนาพุทธแต่ไม่เข้าใจถึงเรื่องเหล่านี้ เมื่อกระทำด้วยใจประทุษร้ายเหี้ยมโหดจองกรรมจองเวร ครั้นเมื่อใจดีขึ้นมาแล้วก็เห็นโทษ อยากให้กรรมให้เวรนั้นหายไป ไม่อยากให้มันติดพันอีกต่อไป จึงทำบุญแล้วอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร เรื่องเจ้ากรรมนายเวรไม่มีหรอก ความเป็นจริงไม่มีอย่างที่อธิบายมานั่นแหละเหตุผลอย่างที่อธิบายมานี้


กรรมอย่างหนึ่ง เวรอีกอย่างหนึ่ง กรรมคือการกระทำทุกสิ่งทุกประการ ที่เป็นบุญเป็นบาปอะไรต่างๆ คราวนี้พูดถึงแต่เรื่องบาป ไม่ต้องพูดอธิบายถึงเรื่องบุญ บุญนั้นพิจารณาเอาตามอัตโนมัติของตน เข้าใจโดยตรงกันข้ามกับบาป บาปที่กระทำผิดเล็กๆน้อยๆ เจตนาก็ดีไม่เจตนาก็ดี ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ประพฤติผิดอะไรต่างๆ ไม่เฉพาะเจาะจงคนนั้นคนนี้ ทำมากมายหลวงหลายนั้นน่ะ อันนั้นเป็นกรรม


ส่วนเวรนั่น เฉพาะเจาะจงบุคคล เราทำเวรกับผู้ใด เราผูกพยาบาทอาฆาตกับผู้นั้นให้เป็นเวรต่อกันไป ถ้าหากผู้นั้นไม่ตอบแทน หรือผู้นั้นไม่เอาเรื่องเอาราว หรือเอาเรื่องเอาราวตอบแทนก็ดี มันเป็นเวรต่อกันและกัน อย่างเรื่องนางยักษิณี และนางกุลธิดา ในเรื่องธรรมบทนั่น เป็นเวรต่อกันไม่รู้แล้วรู้รอดกันสักที


เรื่องเดิมว่ามียายคนหนึ่ง มีลูกชายคนหนึ่งปฏิบัติแม่ดี๊ดี ครั้นต่อมาแม่คิดสงสารเอ็นดูอยากจะหาเมียให้มาปฏิบัติช่วยกัน ไปพูดกับลูกชาย ลูกชายพูดว่าอย่าเถอะทำคนเดียวได้ ครั้นมีเมียแล้วมันชอบใจ มันก็ปฏิบัติ ไม่ชอบใจมันก็ไม่ปฏิบัติ เป็นเรื่องยุ่งต่างหาก ไม่ต้องเอามาก็ได้หรอก แม่ก็เลิกแล้วกันไป นานหนักเข้าก็พูดอีก ในผลที่สุดก็เลยไปเอามาจนได้ เอามาครองไว้เป็นเมียแล้วคราวนี้หญิงคนนั้นก็ปฏิบัติดีหรอกทีแรกเบื้องต้น ต่อมาก็เลยขี้เกียจ อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไมทำ แต่เผอิญไม่มีลูก ยายแก่คนนั้นก็เลยไปหาผู้หญิงมาให้อีกคนหนึ่ง เอามาเป็นเมียลูกเพราะตระกูลไม่มีลูก นั่นเรียกว่าตระกูลฉิบหาย ไม่มีคนสืบพันธุ์


ครั้นหามาคราวนี้มันเลยมีลูกมาคนหนึ่ง เมียหลวงก็เลยคิด เอ! คนเขามีลูกเขาก็เป็นใหญ่กว่าเราน่ะซี ทำอย่างไรล่ะ ? คิดพยาบาทอาฆาตไว้ในใจ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยประการต่างๆ แต่เวลาผลที่สุดเอายาฆ่าลูกให้กิน ลูกก็เลยตกไป หนที่ ๒ ก็อีกนั่นแหละ หนที่ ๓ นี่ แม่ตายลงอีกด้วย คนที่เป็นเมียน้อยมันก็คิดว่า คงจะเป็นผู้หญิงคนนี้แน่ทีเดียวฆ่ากู ไม่ใช่คนอื่น มันก็ผูกอาฆาตพยาบาท เกิดชาติไหนก็ขอให้กูเป็นอย่างนี้เถอะ ขอให้กูได้ทำมึงอย่างนี้เถอะ มันก็เลยตายไป


เมียน้อยตายไปเกิดเป็นแมว เมียหลวงตายไปเกิดเป็นไก่ ไก่ออกไข่มาทีไร แมวก็เอาไปกินเสีย ๒ หน หนที่ ๓ นี้เอาแม่ไก่ไปกินซ้ำอีก มันก็เลยอาฆาตกันอีกแหละ เกิดชาติหน้าขอให้กูได้เป็นอย่างนี้เถอะ ทำมึงอย่างนี้เถอะ ไก่ตายไปเกิดเป็นเสือ แมวตายไปเกิดเป็นกวาง กวางออกลูกมา ๒ หน-๓ หน เสือก็เอาไปกินเสียทั้ง ๒ หน มาหนที่ ๓ นี่เลยเอาแม่ไปกินด้วยอีก คราวนี้กวางมันก็พยาบาทอาฆาตกันต่อไปอีก


ในผลที่สุด กวางตายไปเกิดเป็นนางยักษิณี เสือตายไปแล้วเกิดเป็นนางกุลธิดา พอลูกเกิดมาที่ ๑ และที่ ๒ ก็ทำอย่างนั้นอีก นางยักษิณีทำตัวเหมือนเป็นสหายของผู้หญิงคนนั้นแหละ เขาก็รู้จักกันว่าเป็นสหายกันเพราะมันเหมือนกัน รูปร่างหน้าตาอะไรต่างๆพอมาถามหาเขาก็บอกว่าอยู่บ้านนั้นๆ มันก็ไปหา อุ้มลูกเขาจูบชมจนกระทั่งพอแก่ใจแล้ว ก็เคี้ยวกินเดียวนั้นเลย ทำถึง ๒ หน หนที่๓ นี้ไม่ได้เรื่องแล้ว ผู้หญิงคนนั้นคิด โอ๊ย! ไม่ไหวหรอกอยู่บ้านนี้ นางยักษิณีก็จะมาเอาลูกของเราไปกินอีกละเลยไปหาตระกูลผัว


พอเดินทางไปพอดีนางยักษิณีก็มีธุระมาไม่ทัน คนนั้นเดินไป ไปอาบน้ำตามทางอยู่ เวลานั้นมันร้อน ไปอาบน้ำกลางทาง ให้สามีอุ้มลูกไว้ให้ ตัวลงไปอาบน้ำ พอขึ้นมาก็อุ้มลูกให้ ให้สามีไปอาบน้ำ พอเห็นนางยักษิณีเท่านั้นแหละวิ่งเลย มาแล้วมาแล้ว นางยักษิณีวิ่งตามไป ผู้หญิงคนนั้นก็วิ่งใหญ่วิ่งน้อย จนกระทั่งเข้าไปในวัดเชตุพนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเทศนาอยู่ เมื่อเขาไปหา พระองค์ทรงเทศน์ให้ฟังตรัสถึงเรื่องกรรมเรื่องเวรที่พัวพันกัน ผูกกันไม่รู้แล้วรู้รอดกันสักที อันนี้บุญเหลือหลายมาพบตถาคต พระองค์เลยทรงเทศน์ให้พากันประนีประนอมอ่อนน้อม ยินยอมเป็นมิตรเป็นสหายกัน ตอนนั้นจึงได้ขาดกรรมขาดเวร


เวรนั้นไม่มีที่สิ้นสุด กรรมนั้นก็ไม่มีที่สิ้นที่สุด อย่างพระพุทธเจ้าเกิดมาก็ต้องหลายกัปป์หลายกัลป์ กับพระเทวทัตนั่นเป็นเวรต่อกันไม่รู้แล้วรู้รอดสักที พระองค์ก็พยายามทำดีทุกอย่าง แต่ว่าพระเทวทัตไม่ละไม่ถอน คอยที่จะทำเวรอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งมาเกิดที่ทศชาติ ก็ยังพยาบาททำกรรมทำเวรมาเกิดเป็นจันทกุมาร นี่แหละเรื่องกรรมเรื่องเวรมันเป็นอย่างนี้แหละ ยากที่สุดที่จะพ้นจากกรรมจากเวรได้น่ะ เราไม่พ้นจากกรรมจากเวร เราเกิดมาเพราะกรรม เพราะเวร จึงว่า


กมฺมโยนิ กรรมเป็นกำเนิดให้เกิดมา


กมฺมพนฺธุ มันติดพันเรามาตลอดเวลา


กมฺมปฏิสรณา เราอาศัยกรรมอยู่เดี๋ยวนี้


ทุกสิ่งทุกประการมันจะหมดสิ้นอย่างไรได้ ? มันจะหมดสิ้นก็ต่อเมื่อสิ้นสังขารร่างกายนี้ พระพุทธเจ้าก็ดี สาวกทั้งหลายก็ดี ท่านบำเพ็ญเพียรถึงที่สุดแล้ว สังขารร่างกายนี้แตกดับ กรรมตามไม่ทันแล้วคราวนี้ กรรมอันนี้เรียกวิบากขันธ์ วิบากนี้ต้องตามทันอยู่ตลอดเวลา ส่วนจิตนั้นตามไม่ทัน จิตใจของพระองค์หมดจดบริสุทธิ์ จิตใจของสาวกหมดจดบริสุทธิ์แล้ว คราวนี้แหละกรรมตามไม่ทัน กรรมที่ตามไม่ทันเพราะจิตใจหลุดพ้น เพราะจิตปราศจากความกังวลเกี่ยวข้อง จิตที่เป็นหนึ่ง


อย่างที่เคยพูดให้ฟังว่า จิตที่เป็นหนึ่ง ที่รู้เท่ารู้ตัวอยู่ตลอดเวลาเป็นนิจ ไม่คิดถึงเรื่องอดีต อนาคต ไม่คิดถึงเรื่องวุ่นวายสิ่งทั้งปวงหมด บริสุทธิ์อยู่คนเดียว จิตอันอยู่คนเดียวนั้นไม่มีอะไรถูกต้อง อะไรถูกต้องก็รู้เท่ารู้เรื่อง อันนั้นแหละเรียกจิตบริสุทธิ์ อันนั้นแหละจึงจะหลุดพ้นจากกรรมจากเวรได้


ทุกๆคนพากันจำไว้ อธิบายอย่างนี้แหละให้เขาฟัง เพื่อประโยชน์แก่โลก เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น แล้วก็เพื่อประโยชน์พระพุทธศาสนา ถ้าหากเขาเข้าใจก็เป็นประโยชน์แก่เขาด้วย แล้วก็ประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาด้วย อย่างที่อธิบายมานี่แหละ

    ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต


7
ศิษย์เศร้าหลวงปู่พรหม “อมตะมหาเถระแห่งลุ่มลำน้ำพอง” อายุ 101 ปี มรณภาพแล้วด้วยอาการปอดติดเชื้อรุนแรง


วันนี้ (29มี.ค.)ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า หลวงปู่เจ้าคุณพระมงคลพรหมสาร (พรหมสรมหาเถร) หรือ หลวงปู่พรหม  เจ้าอาวาสวัดเขื่อนอุบลรัตน์ (ถ้ำผาเจาะ) บ้านท่าเรือ ต.อุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ได้มรณภาพด้วยภาวะติดเชื้อในปอดรุนแรง ที่ รพ.ศรีนครินทร์ ม.ขอนแก่น รวมสิริอายุได้ 101 ปี 8 เดือน 13 วัน พรรษา 81 

โดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ผอ.รพ.ศรีนครินทร์  พ.อ.กุศล สิงห์สาย ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 6 ค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น พร้อมด้วย พระมหาจริทธิ์ วชิรเมธี รองเจ้าอาวาสวัดเขื่อนอุบลรัตน์ และพุทธศาสนิกชน  ได้เดินทางมาร่วมเคารพสรีระและเคลื่อนสังขาลหลวงปู่พรหมจาก รพ.ศรีนครินทร์  กลับไปยังวัดเขื่อนอุบลรัตน์  โดยจะตั้งสรีระสังขารไว้ที่พลับพลามหาสาร 100 ปี ชาตตระการ เพื่อให้คณะสงฆ์   พุทธศาสนิกชนถวายน้ำสรงหลวงปู่พรหม  ก่อนตั้งบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 7 วัน  เพื่อรอความพร้อมขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป


  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด เดลินิวส์

8
                                     “สมเด็จพระมหาธีราจารย์”มรณภาพแล้ว



  วันนี้ ( 11 มี.ค.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแจ้งว่า สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม กรรมการมหาเถรสมาคม ได้มรณภาพลงแล้ว เมื่อเวลา 01.05 น.ยังกุฎิในวัดชนะสงคราม โดยคณะสงฆ์และศิษยานุศิษย์ เตรียมที่จะเคลื่อนย้ายร่างของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ไปยังกุฎิคณะ 2 ที่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้จัดเตรียมไว้ เพื่อจัดพิธีศพ อย่างไรก็ตาม สำหรับกำหนดการของพิธีจะต้องรอกำหนดการอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เนื่องจากจะต้องมีพิธีหลวงด้วย

สำหรับประวัติ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) (นามเดิม: นิยม จันทนินทร) เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 11 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 ณ บ้านท่าหิน อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นามบิดา นายโหร่ง จันทนินทร นามมารดา นางฮิ่ม จันทนินทร เมื่ออายุได้ 14 ปี บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดกระสังข์ ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2479 โดยมีพระเทพวงศาจารย์ (ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูโบราณคณิสสร) วัดตองปุ เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดพระญาติการาม ต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2487โดยมีพระเทพวงศาจารย์ (ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระโบราณคณิสสร) วัดพนัญเชิง ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสาธุกิจการี (ขม) วัดประดู่ทรงธรรม ต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูอุทัยคณารักษ์ (ใหญ่) วัดสะแก ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฐานิสฺสโร”

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร โดยได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และเป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี พ.ศ. 2535 มีนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระมหาธีราจารย์ พรหมวิหารวราธิมุต วิสุทธศีลาจารนิวิฐ พิพิธกิจจานุกิจโกศล วิมลหิตานุหิตดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี

   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

9
                                        การให้อภัย ไม่ใช่ยอมแพ้ ไม่ใช่เสียเปรียบ


การให้อภัย ไม่ใช่ยอมแพ้ ไม่ใช่เสียเปรียบ

ยอมกันเสียบ้าง ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง การยอมแพ้อาจหมายถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ คือ การให้อภัย การให้อภัย ดูเหมือนว่า เรายอม ไม่ติดใจ ไม่เอาเรื่อง แล้วเขาจะได้กำเริบ ส่วนเราเสียเปรียบ ความจริงแล้วไม่ใช่ เรากำลังบำเพ็ญบารมี คือ"อภัยทาน" อันเป็นทานบารมีที่สูงส่ง

บางคนรักมากหลงมาก เพราะเขาดี ก็ปรารถนาพบกันทุกชาติ หรือต้องการพบกันอีก บางคนก็อธิษฐานไม่ขอพบขอเจอกันอีกและไม่ให้อภัยผลของการไม่อภัย ก็เหมือนการผูกสิ่งที่เราไม่ชอบไว้กับตัวตลอดเวลา คล้ายๆ ผูกเวร จองเวร ไม่มีที่สิ้นสุด

การให้อภัย เป็นการฝึกจิต อบรมจิต เป็นการชำระใจ เป็นการยุติปัญหาต่างๆ เป็นการแสดงกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่การเสียหน้าหรือเสียรู้ ไม่ใช่การได้เปรียบเสียเปรียบ แต่เป็นการชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีออกจากใจ เหมือนล้างภาชนะที่สกปรก ฉันนั้น

การให้อภัยพูดง่ายแต่ทำยาก แม้จะยากเพราะใจไม่อยากทำ ก็ต้องฝืนใจ เพราะเมตตาและการให้อภัย เป็นคุณประโยชน์แก่เรา เป็นความสงบร่มเย็นของเราเอง ไม่ใช่ของใครอื่น

การให้อภัย จึงเป็นชัยชนะของผู้มีปัญญา


   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

10
                                                                 เสริมดวงประจำวันเกิด


สำหรับผู้เกิดวันอาทิตย์
การ เสริมดวง ควรมีรูปปั้น พระยาครุฑบูชา หรือรูปสิงห์ เชื่อว่าจะเสริมดวง ให้มีอำนาจ ชนะศัตรู หมู่มาร หรือหาครุฑมาห้อยคอ หรือบูชาไว้ประจำบ้าน จะทำให้ชีวิตรุ่งเรืองขึ้น
 อัญมณีเสริมราศี คือ แร่หินคราม ทับทิม หินสีแดง
-คบคนทำธุรกิจดี คนเกิดวันพฤหัส ห้ามวันอังคาร
-พระ-เทพบูชาเสริมดวง คือพระปางถวายเนตร พระแก้ว รัชกาลที่ 5 พระแม่อุมาเทวี พระโพธิสัตว์กวนอิม
-ถวายเครื่องสักการะเสริมดวง ฉัตรคู่ ข้าวตอกดอกไม้ กุหลาบชมพู ส้ม
-ทำบุญเสริมดวงท่าน ปล่อยสัตว์ลงน้ำ วันเด ข้างขึ้น 5-15 ค่ำ เชื่อว่าปล่อยทุกข์ปล่อยโศกลงแม่นำเจ้าพระยา ทำให้คลายทุกข์ได้
-ปลูกต้นไม้เสริมดวง ต้นมะพร้าว ขิงข่า ว่านมหาลาภ


สำหรับผู้เกิดวันจันทร์
การ เสริมดวง ควรมีรูปปั้น เสือ หรือสิงห์ ประดับไว้ที่บ้านหรือที่ทำงาน จะทำให้ก้าวหน้าขึ้น และแก้เคล็ดเรื่องเลวร้ายได้ หรือหารูปปั้นสิงห์โตคาบดาบ หรือรูปปั้นเสือทอง มาตั้ง จะทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้น
                                                                                   -อัญมณีเสริมราศี คือ ไลปะการัง ทอง เพชร
-คบคนที่เสริมดวง คือ คนเกิดวันพะ ศุกร์ ห้ามวันพฤหัส
-ถวายเครื่องสักการะเสริมดวง คือดอกบัวขาว แอปเปิ้ลบูชาพระและเทพ
-พระ-เทพบูชาเสริมดวง คือ หลวงปู่โต ปางห้ามญาติ พระโพธิสัตว์ กวนอิม พระแม่ลักษมี ปู่ฤาษี
-ทำบุญเสริมดวงท่าน ให้ไปนมัสการขอพรที่วัดแขก สีลม หรือ เทวสถาน ไปวันพฤหัส ข้างขึ้น 7-15 ค่ำ ไปขอพรขอให้ชีวิตรุ่งเรืองขึ้น
-ปลูกต้นไม้เสริมดวง ต้นยอ โหรพา ว่านมหาหงส์


สำหรับผู้เกิดวันอังคาร
การ เสริมดวง ควรมีรูปปั้นราชสีห์ขลิบทอง ตั้งหรือประดับไว้ทางทิศตะวันออกเชื่อว่า จะทำให้ชีวิตมั่นคงขึ้น เพราะว่าวันอังคารดวงแข็ง หากมีราชสิงห์ไว้ดวงจะดีขึ้น มีอำนาจขึ้น
 
  อัญมณีเสริมราศี คือ แร่เหล็ก เพชร พวงชมพู มรกต
-คบคนที่เสริมดวง คือ คนเกิดวันศุกร์ ห้ามวันอาทิตย์
-สิ่งศักดิ์สิทธิ์บูชาเสริมดวง คือ ฤาษี องค์พรหม รัชกาลที่ 5
-ถวายเครื่องสักการะเสริมดวง คือ เมี่ยงหมาก ดอกไม้ชมพู่ ใบมะม่วง
-ทำบุญเสริมดวงท่าน ไปนมัสการขอพรที่วัดโพธิ์ วันอังคารข้างขึ้น 7-15 ค่ำ มีพระประจำวันเกิดท่าน จะทำให้ชีวิตดีขึ้น
-ปลูกต้นไม้เสริมดวงท่าน ปลูกแตงโม ว่านมหานิยม


สำหรับผู้เกิดวันพุธ
การ เสริมดวง ควรมีรูปปั้น สุนัขคู่ หรือ ปลาอุ้มมุก ไว้ที่บ้านเพราะจะทำให้มีความร่มเย็นและสมหวังในชีวิต เพราะเชื่อว่า สุนัขเป็นสัตว์ที่เป็นเหมือนคนรู้ใจ และทำให้คุณก้าวหน้าได้

-อัญมณีเสริมราศี คือ มรกต โอปอล์ หยก
-คบคนที่เสริมดวง คือ คนเกิดวันจันทร์เป็นคู่มิตร ห้ามวันศุกร์
-สิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมดวง คือ พระปางอุ้มบาตร หลวงปู่โต พระแก้วมรกต
-ถวายเครื่องสักการะเสริมดวง คือ ข้าวสวย ส้ม ใบขนุน
-ทำบุญเสริมดวงท่าน ถวายนีออน ในวันเกิดข้างขึ้น 5-15 ค่ำ เสริมแสงสว่างให้ชีวิต อธิษฐานขอพระเสริมความรุ่งเรืองในชีวิต
-ปลูกต้นไม้เสริมดวง ต้นขนุน กุหลาบ ว่านสี่ทิศ


สำหรับผู้เกิดวันพุธกลางคืน ราหู
การเสริมดวง ควรบูชาพญาครุฑ หรือ ราหู จะทำให้ร่ำรวยขึ้นและไหว้ของดำทุกวันพุธ เชื่อว่าจะทำให้มีโชคลาภมากขึ้น ร่ำรวยขึ้น

-อัญมณีเสริมดวง คือ โกเมน หินดำ
-คบคนที่เสริมดวง คือ วันเสาร์ วันพุธ ห้ามวันพฤหัส
-บูชาพระ-เทพเสริมดวง คือ พระราหู ครุฑ รัชกาลที่ 5 พระนารายณ์
-ถวายเครื่องสักการะเสริมบารมี ข้าวสวย ดอกไม้เขียว ใบขนุน แอปเปิ้ล นม น้ำ
-ถ้าเข้าเสวยราหู ของดำ 8 อย่าง ดอกไม้ดำ ใบยอ ขนุน กุหลาบ ไข่เยี่ยวม้า อื่น ๆ สีดำ
-ทำบุญเสริมดวงท่าน ไหว้พระราหู ทุกวันพุธ ขอพร
-ต้นไม้เสริมดวง กุหลาบ ว่านธรณีสาร


สำหรับผู้เกิดวันพฤหัส
การ เสริมดวง ท่านควรมีรูปปั้น หนูขลิบทองคู่ ตั้งหรือแขวนไว้ที่บ้านหรือที่ทำงาน จะเสริมดวงด้าน ความสุข ความสมหวังในชีวิตได้ เพราะเชื่อว่า หนู เป็นสัตว์ที่ให้ชีวิตใหม่ ๆ ได้

-อัญมณีเสริมราศี คือ เพชร ทอง ลูกแก้ว บุษราคัม พลอยแดง
-คบคนเสริมดวงชีวิต คือ คนเกิดวันอาทิตย์ ศุกร์ ห้ามวันจันทร์
-บูชาด้วยเครื่องสักการะเสริมดวง คือ ข้าวตอกดอกไม้ ใบขนุน ดอกไม้ สีเมฆ ใบกล้วย ฟักทอง
- พระบูชาเสริมดวง พระปางพุทธชินราช ปู่ฤาษี พระแม่อุมาเทวี พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 พระโพธิสัตว์กวนอิม
-ทำบุญเสริมดวงท่าน ไปปฏิบัติธรรม ปีละครั้งจะเสริมชีวิตดีขึ้น
-ปลูกต้นไม้เสริมดวง ว่านเพชรนารายณ์ ไผ่กวนอิม


สำหรับผู้เกิดวันศุกร์
การเสริมดวง ควรมีรูปปั้น หนู หรืองูใหญ่ ตั้งหรือประดับไว้ที่บ้าน จะทำให้ชีวิตท่านก้าวหน้าขึ้น

-อัญมณีเสริมราศี คือ ทอง โมรา
-คบคนที่เสริมดวง คือ คนเกิดวันอังคาร วันศุกร์ ห้ามวันเสาร์ วันอื่น ไม่เป็นไร
-พระเทพเสริมดวง ปางรำพึง พระพุทธชินราช รัชกาลที่ 5 พระโพธิสัตว์ กวนอิม พระแม่อุมาเทวี พระแม่ลักษมี
-ถวายเครื่องสักการะเสริมดวง คือ ฉัตรคู่พระ ข้าวตอกดอกไม้ เมี่ยงหมาก ดอกมะลิ กล้วย ดอกไม้เหลือง ใบเงิน ใบทอง
-ทำบุญวันเกิดเสริมดวง ปฏิบัติธรรมตามลมหายใจ ไม่ใช่ตามสามี จะทำให้จิตสงบ ได้บุญมาก
-ปลูกต้นไม้เสริมดวง กุหลาบ ว่านเศรษฐีเรือนกลาง


สำหรับผู้เกิดวันเสาร์
การ เสริมดวง ควรบูชา พญานาคราช หรือมีรูปพญานาคจะทำให้มีเดฃ มีอำนาจมากดุจดั่งราชสีห์ครองเมือง เชื่อว่าคนเกิดวันเสาร์ มีนาคราชคุ้ม ควรบูชานาคราชชีวิตจะร่ำรวยขึ้น

-อัญมณีเสริมดวง คือ นิลดำ ทับทิม หินดำ
-คบคนเสริมดวง คนเกิดวันพุธกลางคืน พฤหัส ห้ามวันศุกร์
-บูชาพระ - เทพเสริมบารมี ปางนาคปรก แก้ว รัชกาลที่ 5 พระนารายณ์ พระพรหม
-ถวายเครื่องสักการะ คือ กล้วย น้ำอบ ดอกไม้ดำ ใบมะตูม
-ทำบุญวันเกิดเสริมดวง บูชาเทพทุกวันเสาร์ จะทำชีวิตรุ่งเรือง อยากได้สิ่งใดก็ได้
-ปลูกต้นไม้ ต้นขนุน ต้นมหากาฬ ไผ่มงคล

     ขอบคุณข้อมูลจาก FW Mail
  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต


11
                                  บุญที่ให้ผลในชาติปัจจุบัน (สมเด็จโต พรหมรังสี)


วันนี้อาตมาจะเทศน์เรื่อง “บุญที่ให้ผลในชาติปัจจุบัน” คำว่าบุญ แปลแบบไทยๆ ว่าความดี ความสะอาดแห่งจิต เวลาให้ของแก่พระสงฆ์เรียกว่าทำบุญ ส่วนการทำบุญในพุทธศาสนาเรียกว่าทำบุญ ส่วนการทำบุญในพุทธศาสนามีอยู่ด้วยกันมากมายหลายวิธี แต่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในธรรมะเรียกว่า บุญกริยาวัตถุ 3 ซึ่งประกอบด้วย ทาน ศีล ภาวนา เคยมีคนถามอาตมาว่าเกิดมาเป็นคนยากจนไร้ทรัพย์จะทำบุญอย่างไร

อาตมา ก็ตอบเขาไปว่าการทำบุญ ไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์สินเงินทอง ก็สามารถที่จะร่วมทำบุญได้ แถมยังประหยัดอีกด้วยนั่นคือ การรักษาศีลและการเจริญภาวนา ซึ่ง 2 อย่างนี้จะได้อานิสงส์ผลบุญมากกว่าการให้ทานเสียอีกเพียงแต่ญาติโยมมองข้าม กันไป โยมมักจะคิดทำบุญแต่การให้เท่านั้นเพราะว่ามันง่ายดีแต่การรักษาศีลและภาวนา ต้องเสียสละเวลาในการปฏิบัติ จึงรู้สึกว่าทำยากกว่า การทำบุญทุกอย่าง โยมต้องเข้าใจด้วยว่าเพียงแต่เราตั้งใจหรือมีเจตนาที่จะทำบุญเท่านั้น โยมก็ได้กุศลแล้ว แต่บุญที่ได้รับยังเป็นส่วนน้อย ถ้าอยากได้บุญเต็มที่ต้องทำบุญให้ครบ 3 อย่าง

• ทาน คือ การให้ ถ้ามีเงินทองมากก็ทำมาก มีเงินน้อยก็ทำน้อยตามกำลังตนถ้าไม่มีเงินทองใช้แรงกายก็ให้เป็นทานได้

• ศีล พวกท่านทั้งหลายสังเกตหรือไม่ว่าเวลาที่ญาติโยมจะมาทำบุญ ทำไมพระท่านถึงให้พวกญาติโยมรับศีลก่อน เพราะท่านต้องการที่จะทำให้ผู้ให้มีจิตใจที่บริสุทธิ์ เมื่อทำบุญขณะนั้นก็จะได้รับผลเต็มกำลัง จริงอยู่ที่บางคนไม่อาจถือศีลได้ตลอดเวลา อาจเป็นเพราะหน้าที่การงาน ทำให้ต้องผิดศีล แต่เราก็สามารถที่จะถือศีลได้ในขณะที่เรานอนในเวลากลางคืน และถือได้ครบทั้ง 5 ข้อด้วยเพียงแต่เราอาราธนารับศีลทั้ง 5 ด้วยตนเองที่หน้าพระพุทธรูปที่บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญที่ง่ายมากได้รับผลเต็มกำลัง ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ จิตใจเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา แต่ถ้าเกิดเราต้องตายในขณะนั้นก็ส่งผลให้เราไปสู่สุคติทันที

• ภาวนาหรือการสวดมนต์ คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกันว่า การภาวนาสวดมนต์มีประโยชน์น้อย และเสียเวลามาก แต่ความจริงแล้วการสวดมนต์ภาวนา มีประโยชน์อย่างมากมาย เพราะการสวดมนต์ภาวนาเป็นการกล่าวถึงคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ การสวดมนต์ภาวนาด้วยความตั้งใจจนจิตเป็นสมาธิ และใช้สติพิจารณาเกิดเป็นปัญญา เป็นความรู้ความเข้าใจ ประโยชน์สูงสุดของการสวดมนต์ภาวนา ทำให้บรรลุไปสู่พระนิพพาน

“หัวใจของการทำบุญทุกครั้ง” ขอให้ญาติโยมจงแผ่เมตตา และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลทุกครั้งตามนี้


“ข้าพเจ้า ขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลนี้ไปให้ทุกรูปทุกนามทั้ง 20 ชั้นพรหมโลก 6 ชั้นเทวะโลก มนุษย์โลก มารโลก ยมโลก อบายภูมิทั้ง 4 มี นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน และในหมื่นโลกธาตุกับอีกแสนจักรวาลพิภพ ทั้งที่เป็นมนุษย์ อมนุษย์ รูปวิญญาณ อรูปวิญญาณและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นมิตรและศัตรู ตลอดจนเจ้ากรรมนายเวรของข้าพเจ้า ขอให้ทุกรูปทุกนาม จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ขอให้ทุกรูปทุกนาม จงโมทนาในส่วนกุศลนี้ พึงได้รับประโยชน์ความสุขเช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าจะพึงได้รับ ณ กาลบัดนี้ด้วยเทอญ”

บุญที่ทำไปจะส่งผลให้ได้รับบุญในชาติปัจจุบันทันที ไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้ากันหรอกนะจ๊ะ ขอเจริญพร


จากหนังสืออมตะธรรม สมเด็จโต พรหมรังสี

    ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด dhammakid

12
                                             แจ้งข่าวด่วน หลวงปู่ผ่าน มรณะภาพแล้ว

แจ้งข่าวด่วน หลวงปู่ผ่าน มรณะภาพแล้ว เวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง
วันนี้ 24 มค 54 จะมีพิธีรดน้ำประมาณ 9 โมงเช้า ถึงประมาณ 5 โมงเย็น

สืบเนื่องมาจากเมื่อ วันที่ 13 พ.ย. 53 ที่ผ่านมาหลวงปู่ผ่าน ได้เข้ารับการรักษาอาการอาพาธด้วยโรคเนื้องอกในกระเพาะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะที่ รพ.สกลนคร โดยคณะแพทย์ได้มีการวินิจฉัยวิธีการรักษา 2 วิธี คือ 1.ผ่าตัดเอาเนื้องอกออก(จำเป็นต้องตัดอวัยวะภายในบางส่วน) 2.ผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องเพื่อจี้

ระงับการเจริญเติบโตของชิ้นเนื้อ โดยทางคณะกรรมการวัด และพระอาจารย์สัมพันธ์ ปภัสโร วัดป่าดอนประดู่มงคลทิพย์ปรึกษาหารือกันโดยเลือกวิธีที่ 2
ภายหลังการผ่าตัดทำการรักษาอาการขององค์หลวงปู่มีแต่ทรงกับทรุด ไตหลวงปู่ไม่ตอบสนอง และในวันนี้คณะกรรมการวัดได้ปรึกษาหารือกัน
จึง ได้กราบอาราธนานิมนต์องค์หลวงปู่มาพักรักษาที่วัด ตั้งแต่เวลา 18.00น.ของวันนี้(17 พ.ย. 53)ใครที่ยังไม่ได้ไปกราบหลวงปู่ ท่านที่อยากกราบหลวงปู่รีบด่วนเลยนะครับ.....กราบหลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป กราบ กราบ กราบ

...บัดนี้หลวงปู่ได้ละสังขารไปแล้ว(24 ม.ค. 2554)ด้วยอาการสงบ ทิ้งไว้เพียงคุณงามความดี ธรรมะและคำสั่งสอนของหลวงปู่ ให้พวกเรานำไปปฏิบัติ
เพื่อเป็นการระลึกถึงองค์ท่านจึงจะได้ชื่อว่าเป็น ศิษย์ของตถาคต.......โอ้สิ้นแล้วพระอริยะสงฆ์ สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม
....................................................กราบน้อมส่งหลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป สู่แดนนิพพาน

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป


วัดป่าปทีปปุญญาราม
ต.เซือม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร



๏ อัตโนประวัติ

หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป มีนามเดิมว่า ผ่าน หัตถสาร เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๒ ปีจอ ณ บ้านเซือม ตำบลเซือม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายด่าง และนางจันทร์เพ็ง หัตถสาร


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ อายุ ๑๕ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดทุ่ง ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร โดยมีพระครูวิรุฬห์นวกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์

ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา ฝ่ายมหานิกาย ณ พัทธสีมาวัดทุ่ง ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร โดยมีพระครูวิรุฬห์นวกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมาก เป็นพระกรรมวาจาจารย์


๏ ญัตติเป็นธรรมยุต

หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป ท่านได้ญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ณ พัทธสีมาวัดจอมศรี ตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระครูพิทักษ์คณานุการ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระสมุห์ภา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ปัญญาปทีโป”

หลังจากที่ได้ญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตแล้ว ท่านก็ได้ไปอยู่ศึกษาธรรม รวมทั้งข้อวัตรปฏิบัติกับพระเถราจารย์กรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อาทิเช่น หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม วัดอรัญญวิเวก อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร, หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม วัดอุดมรัตนาราม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เป็นต้น

๏ ถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงปู่ผ่านท่านได้ไปพำนักจำพรรษากับหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม ณ วัดอุดมรัตนาราม ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และหลวงปู่อุ่นได้พาหลวงปู่ผ่าน ไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ประมาณ ๒-๓ ครั้ง

ครั้นออกพรรษาแล้ว ท่านได้กราบลาหลวงปู่อุ่น เพื่อไปอยู่ศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) โดยเดินทางไปกับสามเณรน้อยองค์หนึ่ง พอไปถึงกราบนมัสการหลวงปู่มั่นแล้ว ท่านพูดว่า “ท่านผ่านมากับเณรน้อยแท้ มันไข้ได๋” (พาสามเณรอายุน้อยมาด้วย สามเณรจะเป็นไข้ป่าได้ง่าย)

หลวงปู่ผ่านตอบว่า “ครับผม ไม่มีคนมา กระผมจึงมากับเณรน้อย”

ในครั้งนั้นมีพระเณรพำนักจำพรรษากับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ๑๐-๒๐ องค์ อาทิเช่น
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน (ปัจจุบันพำนักที่วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี)
พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร (ปัจจุบันพำนักที่วัดป่าสีทน อ.เมือง จ.อุดรธานี)
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม (มรณภาพแล้ว วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (ถ้ำพวง) อ.ส่องดาว จ.สกลนคร)
พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร (มรณภาพแล้ว วัดถ้ำผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย)
พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส (มรรภาพแล้ว วัดถ้ำกกดู่ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี)
พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต (มรณภาพแล้ว วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร)
สามเณรบุญเพ็ง จันใด (หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู) เป็นต้น

๏ เสาหลักในร่มธรรมแห่งบวรพระพุทธศาสนา

หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป พระมหาเถระพระป่านักปฏิบัติกรรมฐานอีกรูปหนึ่ง ที่มีศีลาจารวัตรที่งดงามน่าเลื่อมใสศรัทธา เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อีกองค์หนึ่ง เป็นพระสุปฏิปันโนเนื้อนาบุญของชาวโลก เป็นเสาหลักในร่มธรรมแห่งบวรพระพุทธศาสนา แม้สังขารจะเข้าล่วงปีที่ ๘๕ ปี ครบรอบปีที่ ๗ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ด้วยสุขภาพที่แข็งแรง ท่านยังได้ออกมาต้อนรับคณะศรัทธาญาติโยมที่เดินทางมาจากแดนใกล้ไกลเป็นจำนวน มาก เพื่อมาคารวะนมัสการทุกวันไม่เว้นมิได้ขาด

ทุกครั้งที่คณะศรัทธาญาติโยมขอพรขอศีล ท่านจะบอกว่า มีหลักอยู่ ๓ อย่าง คือ “ขออย่าได้เจ็บ อย่าได้ป่วยไข้ และสุดท้ายอย่าลืมหายใจ” ครั้นเมื่อได้สดับตรับฟังหลักธรรมจากท่านแล้ว จะทำให้จิตใจสงบและร่มเย็นเป็นสุข

ปัจจุบันนี้ หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป ท่านได้พำนักจำพรรษา ณ วัดป่าปทีปปุญญาราม บ้านเซือม ตำบลเซือม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร

ประสบการณ์ทิพยอำนาจจิตของ “หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป”

จากคำบอกเล่าของศิษย์ท่านหนึ่ง


เรื่องราวที่ข้าพเจ้าจะเล่าให้สมาชิกทุกท่านได้ทราบถึงประสบการณ์ที่ได้ผ่าน มาเกี่ยวกับประสบการณ์ทางจิตนั้นมีมากมายนัก ทว่าขอยกขึ้นให้ฟังกันเกี่ยวกับเรื่องที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสกับหลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป สักหนึ่งเรื่อง

เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้รู้จักกับน้องคนหนึ่งซึ่งได้บวชรุ่นเดียวกับน้องชายของข้าพเจ้า ที่วัดบวรนิเวศน์ น้องคนนี้เป็นคนที่คร่ำเคร่งในเรื่องอภิญญา ประสบการณ์ทางจิต พลังจิต ฯลฯ เป็นผู้ที่เดินทางแสวงหาความเป็นเลิศทางจิต ส่วนตัวผมนั้นไม่ค่อยจะเข้าทางนี้สักเท่าไหร่

วันหนึ่ง น้องเขาได้โทรมาหา แล้วบอกว่า พี่ยุทธ หลวงปู่ผ่านจะเดินทางลงมากรุงเทพฯ ท่านรับกิจนิมนต์โยมที่กรุงเทพฯ

ได้ยินดังนั้นข้าพเจ้ายังเฉยๆ แต่น้ำเสียงของน้องเขาดีใจมาก ตอนแรกก็สวสัยว่าทำไมน้ำเสียงถึงดีใจขนาดนั้น

แล้วน้องเขาได้ชวนผมว่า ไปกราบหลวงปู่กันไหม ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบองค์หนึ่งเลยนะ

เอ๊ะ...ใช้สรรพนามแทนว่า “องค์” เลยรึ ในใจคิดว่า น้องเขาก็ทราบดีอยู่ว่าสรรพนามนี้ใช้แทนองค์อรหันต์....งงงวยอยู่ในใจ แต่ก็ไม่คิดอะไรให้เลยเถิด

ก่อนวันที่หลวงปู่จะเดินทางมา น้องได้โทรมากำชับอีกครั้ง ว่าพรุ่งนี้ให้ไปเจอ ผมก็เออ...ออ...ห่อหมกไป เพราะภาระกิจช่วงนั้นค่อนข้างมากนัก

พอถึงวัน ใกล้เวลาที่นัดหมาย ผมได้เดินทางไปยังสถานที่นัดหมาย ไปบ้านหลังหนึ่งแถวลาดพร้าว เมื่อไปถึง...แม่บ้านบอกว่า หลวงปู่ยังไม่กลับมาจากกิจนิมนต์เลย

รอสักแค่เพียงไม่กี่อึดใจ รถก็เลี้ยวเข้ามาในบ้าน น้องเขารีบกุลีกุจอลงเรือนไปรับหลวงปู่ถึงที่รถ ส่วนผมก็เป็นเหมือนไอ้ปื๊ดเดินตาม เพราะไม่รู้จักใคร...ฮึ...หลวงปู่ยังไม่รู้จักเลย...เชยชมัด

เมื่อหลวงปู่ผ่านลงจากรถ ท่านจัดแจงห่มจีวรใหม่ให้งามเรียบร้อย น้องเขายกมือขึ้นพนม นมัสการหลวงปู่ มือผมก็อัตโนมัติ ยกขึ้นนมัสการหลวงปู่

จากนั้นหลวงปู่กับบรรดาศิษย์ประมาณ 4-5 คน ก็เดินขึ้นเรือน ไปที่ห้องหนึ่งที่โยมหลวงปู่ได้จัดแจงเตรียมการต้อนรับ ในห้องนั้นมีคนนั่งสมาธิรอหลวงปู่อยู่ประมาณ 2-3 คน

ในห้องเปิดแอร์เย็นสบาย หลวงปู่เดินไปที่อาสนะ ขยับจีวร นั่งลงยังอาสนะนั้น

ส่วนลูกศิษย์ทั้งหลายก็เดินตามไปใกล้หลวงปู่ นั่งลง ก้มลงกราบหลวงปู่กันถ้วนหน้า

ส่วนผมนั้นเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบไปนั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋ออยู่ข้างหน้า... ประมาณว่าไม่ค่อยชอบคนเยอะ จึงนั่งรั้งท้ายสุดปลายห้อง ครั้นก้มลงกราบพระพุทธ 3 ครั้งแล้ว ก็หันมากราบหลวงปู่อีก 3 ครั้ง...แฮะ โดยอัตโนมัติอีกละ

เมื่อหลวงปู่และศิษย์นั่งเข้าที่เหมาะทาง บรรดาศิษย์ก็เริ่มการสนทนากับหลวงปู่ หลวงปู่ก็สนทนาอย่างโอภาปราศัย น้ำเสียงหลวงปู่นั้นช่างเปี่ยมไปด้วยเมตตาจิตเสียนี่กระไร ในใจคิด...

ส่วนลูกศิษย์ที่นั่งสมาธิอยู่ได้ลุกขึ้นกราบหลวงปู่ แล้วก็เข้าสมาธิกันต่อ โดยไม่พูดอะไร

เรื่องราวการสนทนากันนั้นผมก็ฟังบ้างไม่ฟังบาง เพราะตามัวแต่มองไปรอบๆ เพ่งจิตไปที่คนนั่งสมาธิบาง ดูหลวงปู่หลับตาเป็นระยะๆ

สักพัก...เริ่มเย็นค่ำ แอร์ที่เปิดก็เริ่มเย็นขึ้น ในใจคิดว่า...ทำไมแอร์มันโคตะระหนาวขนาดนี้ว๊ะ...

อะนะ...ฮืม...ฮืม หลวงปู่ ซึ่งนั่งสนทนากับบรรดาศิษย์อยู่ หันมาบอกว่า “ถ้าแอร์หนาวเกินก็ไปหรี่ซิ” ไอ้หยา...โดนเข้าแล้วซิ หลวงปู่อ่านจิตเข้าให้แล้ว คงเพราะมั่วแต่นั่งเหม่อมองซุกซนไปทั่ว ไม่ทันระวังจิตให้ดี...โดนซะ...

พอสิ้นเสียงหลวงปู่ ผมก็เดินเข่าไปยังสวิตปิด-เปิดแอร์ เอื้อมมือขึ้นไปที่ตัวหรี่หมุนองศาความเย็นให้ลดลง จาก 19 ไป 20 ไป 21 ไป 22 พอถึง 23 ในใจก็คิดว่า “แค่นี้คงพอแล้วมั้ง”

เท่านั้นละหลวงปู่ส่งเสียงมาว่า “นั้นแหละ...แค่นั้นพอดีแล้ว”

(เหงื่อตกละงานนี้) เดินเข่ากลับมาที่เดิม ไม่พูดไม่จาอะไร

สักพัก รวมสติจิตกลับมาสู่ฐานดังเดิม ก็ยังไม่วายจะซุกซนต่อ

ในใจคิดว่า เห็นโดยทั่วไปบรรดาญาติโยมเขาชอบขอของดีจากพระกัน ไหงเราไม่เคยได้ขอของดีจากใครเลย...วันนี้น่าจะขอบ้างเนอะ

นั้นเลยคิดในใจว่า “หลวงปู่..ผมอยากได้ชานหมากหลวงปู่ไปบูชา เพื่อเป็นสิริมงคล” คิดได้สักพัก หลวงปู่ก็จัดแจงหมาก เคี้ยวๆๆๆๆๆๆ

ปกติแล้ว...เมื่อคนทั่วไปหรือพระรูปใดเคี้ยวหมากแหลก จะบ่วนทิ้งที่กระโถน ทว่า ตอนนั้น...เมื่อหลวงปู่เคี้ยวหมากจนแหลก ได้บ่วนเฉพาะน้ำหมาก ส่วนเนื้อหมากนั้น ผมเห็หลวงปู่ปั้นเป็นคำๆ อยู่ในปาก แต่ยังไม่คาย แล้วหลวงปู่ก็เข้าสมาธิ ไปถึงไหน ตามไม่เจอครับท่านผู้ชม

เมื่อหลวงปู่ออกจากสมาธิแล้ว...หลวงปู่ก็พูดว่า ทุกวันเมื่อหลวงปู่เข้าสมาธิ หลวงปู่จะไปที่วิหารเล็กวิหารหนึ่ง เข้าไปนั่ง กำหนดเพลิงเข้าเผากิเลสทุกวัน ด้านหน้าวิหารเล็กนั้น มีวิหารใหญ่อยู่วิหารหนึ่ง ภายในมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ กำลังแสดงพระธรรมเรื่องอริยสัจ 4 อยู่ แต่หลวงปู่ยังไม่เดินเข้าไป ทุกวันที่หลวงปู่ไปที่นั้น มีคนมากมายเดินเข้าไปในวิหารใหญ่นั้น เมื่อได้สดับฟังพระธรรมแล้ว ก็ไม่ออกมาอีกเลย

พอหลวงปู่เล่าจบ หลวงปู่ก็คายชานหมากที่ปั้นเป็นก่อนกลมเล็กๆ ออกมาวางไว้ที่ฝากระป๋อง ที่หลวงปู่เก็บของ ผมนึกในใจ...ตอนนี้คนเยอะ ถามเรื่องร้อยแปด เดี๋ยวให้สงบๆ ก่อนจะเอ่ยปากขอ...

สักพักเมื่อคนเริ่มสงบ ผมก็เอ่ยปากขอชานหมากหลวงปู่ หลวงปู่ก็ตอบว่า “เข้ามา” ผมก็คลานเข่า เข้าไป แบสองมือรับ พนมมือ คลานเข่าออก กลับมานั่งที่เดิม

เมื่อกลับมานั่งประจำที่หลวงปู่กล่าวต่อว่า “ไปตากแดดก่อน ราจะได้ไม่ขึ้น”

ผมก็ตอบไปสั้นๆ ว่า “ครับ”

หลวงปู่ผ่านท่านเป็นอริยสงฆ์โดยแท้ แต่ท่านถ่อมตัวครับ ผมขอพรจากท่านประการหนึ่ง ท่านก็บอกว่า “โอ๊ย อันนั้นต้องเป็นพระอรหันต์ถึงจะให้ได้ อาตมาไม่ใช่หรอก” สงสัยท่านคงนึกในใจว่า ไอ้นี่มันขอมากไป (เดี๋ยวไปขอใหม่ อิอิ)

ท่านถามผมว่า บวชมานานหรือยัง ตอนนั้นไม่รู้ความนัย ก็บอกไปว่า บวชประมาณ 2 อาทิตย์ครับ แต่ต่อมาได้มารู้ภายหลังว่า ที่ท่านถาม ท่านถามลึกกว่านั้น แต่ตอนนั้นเราตามไม่ทันเอง

รอยยิ้มของท่านเมตตามากๆ ส่วนเรื่องชานหมากเนี่ย ลูกศิษย์ตากแดดไว้เลย เตรียมแจกคนที่จะมาขอ

พระสุปฏิปันโนในประเทศไทยเยอะจริงๆ มีทั่วทุกภาค ทางปราจีนบุรีก็มีเยอะนะครับ แต่ผมยังไม่ได้ไป ทางเหนือก็มี โดยเฉพาะทางอีสานมีเยอะมากที่สุด พระสุปฏิปันโนบางรูปนั้น ท่านอยากอยู่เงียบๆ ไม่เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปมากนัก แต่บางท่านก็ต้องการสงเคราะห์คนนะครับ นี่แหละครับ ถ้าพระสงฆ์ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนอย่างจริงจัง ก็ไม่ไร้ซึ่งพระสุปฏิปันโน ไม่ว่าจะบนผืนแผ่นดินไทย หรือที่ไหนในโลกนี้

   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ดพลังจิต

13
                                เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต )


...ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) กล่าวว่า เคล็ดลับสู่ความสำเร็จสุดยอดในทางธรรม คือ จะต้องมีสัจจะอันแน่วแน่และมีขันติธรรมอันมั่นคง จึงจะฝ่าฟันอุปสรรค บรรลุความสำเร็จได้
... อาตมามีกฎอยู่ว่า เช้าตีห้าไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง อากาศจะหนาว ต้องตื่นทันที ไม่มีการผัดเวลา แล้วเข้าสรงน้ำ ชำระกายให้สะอาด แล้วจึงได้สวดมนต์และปฏิบัติสมถกรรมฐานหนึ่งชั่วโมง พอหกโมงตรงก็ออกบิณฑบาต เพื่อปฏิบัติตามปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

... ฝึกจิตให้ได้ผลต้องตรงต่อเวลา กลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็เอาอาหารตั้งไว้ ตักน้ำใส่ตุ่ม เสร็จแล้วฉันอาหารเช้า โดยปกติอาตมาฉันมื้อเดียวเว้นไว้มีกิจนิมนต์ จึงฉันสองมื้อ สี่โมงเช้าถึงเที่ยง ถ้ามีรายการไปเทศน์ ก็ไปเทศน์ตามที่นัดไว้ วันไหนไม่ติดเทศน์ก็จะปิดประตูกุฏิทันที ไม่ให้ใครๆเข้าไป ในช่วงเวลานั้นเป็นเวลาศึกษาตำรา เวลาบ่ายโมงจึงออกรับแขก บ่ายสามโมงไม่ว่าใครจะมาอาตมาจะให้ออกจากกุฏิไปหมด เพราะถึงเวลาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ฉะนั้น จุดสำคัญจงจำไว้ เราจะปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น ต้องมีสัจจะเพื่อตน โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร ถึงเวลาทำสมาธิต้องทำ ไม่มีการผัดผ่อนใดๆ ทั้งสิน

หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

1.จะต้องมีสัจจะต่อตนเอง
2.จะต้องไม่คล้อยตามอารมณ์ของมนุษย์
3.พยายามตัดงานในด้านสังคมออก และไม่นัดหมายใครในเวลาปฏิบัติกรรมฐาน

ดังนั้นเมื่อจะเป็นนักปฏิบัติธรรมจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ของเราเพื่อฝึกจิตให้เข้มแข็ง
ทางแห่งความหลุดพ้น

... เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักจะกล่าวกับสานุศิษย์ทั้งหลายอยู่เสมอว่าชีวิตมนุษย์อยู่ได้ไม่ถึงหนึ่ง ร้อยปีก็ต้องตายและถูกหามเข้าป่าช้า ดังนั้นจึงควรประพฤติปฏิบัติอยู่ใน ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏท่านเปรียบเทียบว่า มนุษย์อาบน้ำ ชำระกายวันละสองครั้งเพื่อกำจัดเหงื่อไคลสิ่งโสโครกที่เกาะร่างกาย แต่ไม่เคยคิดจะชำระจิตให้สะอาดแม้เพียงนาที ด้วยเหตุนี้ ทำให้จิตใจของมนุษย์ ยุคปัจจุบันเศร้าหมองเคร่งเครียดและดุดัน ก่อให้เกิดปัญหาความพิการในสังคมความแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน จนกระทั่งเกิดความขัดแย้ง และกลายเป็นสงครามมนุษย์ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน
แต่งใจ

... ขอให้ท่านได้พิจารณาไตร่ตรองให้จงดีเถิดว่า ร่างกายของเรานี้ไฉนจึงต้องชำระทุกวันทั้งเช้าและเย็นจะขาดเสียไม่ได้ทั้ง ที่หมั่นทำความสะอาดอยู่เป็นนิจ แต่ยังมีกลิ่นไม่น่าอภิรมย์ออกมา แม้จะพยายามหาของหอมมาทาทับ ก็ปกปิดกลิ่นนั้นไม่ได้ ...ใจของเราล่ะ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าร่างกายเป็นผู้สั่งบัญชางาน ให้กายแท้ๆ มีใครเอาใจใส่ชำระสิ่งสกปรกออกบ้าง ตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันสั่งสมสิ่งไม่ดีไว้มากเพียงใด หรือว่ามองไม่เห็นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง ทำความสะอาดหรือ?

กรรมลิขิต

... เราทั้งหลายเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติแล้ว ล้วนแต่มีกรรมผูกพันกันมาทั้งสิ้น ผูกพันในความเป็นมิตรบ้างเป็นศัตรูบ้าง แต่ละชีวิตก็ย่อมที่จะเดินไปตามกรรมวิบากของตนที่ได้กระทำไว้ ทุกชีวิตล้วนมีกรรมเป็นเครื่องลิขิต
อดีตกรรม ถ้ากรรมดี เสวยอยู่
ปัจจุบันกรรม สร้างกรรมชั่ว ย่อมลบล้าง
อดีตกรรม กรรมแห่งอกุศล วิบากตน

ปัจจุบัน สร้างกรรมดี ย่อมผดุง

เรื่องกฎแห่งกรรม ถ้าเป็นชาวพุทธแล้ว เขาถือว่าเป็นกฎแห่งปัจจังตัง ผู้ที่ต้องการรู้ ต้องทำเอง รู้เอง ถึงเอง แล้วจึงจะเข้าใจ
นักบุญ

... การทำบุญก็ดี การทำสิ่งใดก็ดี ถ้าเป็นการทำตนให้ละทิฏฐิมานะทำเพื่อให้จิตเบิกบาน ย่อมเสวยบุญนั้นในปรภพ มนุษย์ทุกวันนี้ทำแบบมีกิเลส ดังนั้น บางคนนึกว่าเข้าสร้างโบสถ์เป็นหลังๆ แล้วเขาจะไปสวรรค์หรือเปล่า เขาตายไปอาจจะต้องตกนรก เพราะอะไรเล่า เพราะถ้าเขาสร้างด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ เป็นการทำเพื่อเอาบุญบังหน้าในการเสวยความสุขส่วนตัวก็มี บางคนอาจเรียกได้ว่าหน้าเนื้อใจเสือ คือข้างหน้าเป็นนักบุญ ข้างหลังเป็นนักปล้น

ละความตระหนี่มีสุข

... ดังนั้นบุญที่เขาทำนี้ถือว่า ไม่เป็นสุข หากมาจากการก่อกรรม บุญนั้นจึงมีกระแสคลื่นน้อยกว่าบาปที่เขาทำเอาไว้หากมีใครเข้าใจคำว่า บุญ นี้ดีแล้ว การทำบุญนี้จุดแรกในการทำก็เพื่อไม่ให้เรานี้เป็นคนตระหนี่ รู้จักเสียสละเพื่อความสุขของผู้อื่น ธรรมดาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อมีทุกข์ก็ควรจะทุกข์ด้วย เมื่อมีความสุขก็ควรสุขด้วยกัน

อย่าเอาเปรียบเทวดา

... ในการทำบุญ สิ่งที่จะได้ก็คือ ระหว่างเราผู้เป็นมนุษย์เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำนี้จะเป็นมงคล ทำให้จิตใจเบิกบานดีนี่คือการเสวยผลแห่งบุญในปัจจุบัน ทีนี้การทำบุญเพื่อจะเอาผลตอบแทนนั้น มนุษย์นี้ออกจะเอาเปรียบเทวดา ทำบุญครั้งใด ก็ปรารถนาเอาวิมานหนึ่งหลังสองหลัง การทำบุญแบบนี้เรียกว่า ทำเพราะหวังผลตอบแทนด้วยความโลภ บุญนั้นก็ย่อมจะไม่มีผล ท่านอย่าลืมว่า ในโลกวิญญาณเขามีกระแสทิพย์รับทราบในการทำของมนุษย์แต่ละคนเขามีห้องเก็บบุญ และบาปแห่งหนึ่งอันเป็นที่เก็บบุญและบาปของใครต่อใครและของเรื่องราวนั้นๆ กรรมของใครก็จะติดตามความเคลื่อนไหวของตนๆนั้น ไปตลอดระหว่างที่เขายังไม่สิ้นอายุขัย

บุญบริสุทธิ์

... การที่สอนให้ทำบุญโดยไม่ปรารถนานั้นก็เพื่อให้กระแสบุญนั้นบริสุทธิเป็นขั้น ที่นึ่ง จะได้ตามให้ผลทันในปัจจุบันชาติ แต่ถ้าตามไม่ทันในปัจจุบันชาติ ก็ติดตามไปให้เสวยผลในปรภพ คือ เมื่อสิ้นอายุขัยจากโลกมนุษย์ไปแล้ว ฉะนั้น เขาจึงสอนไม่ให้ทำบุญเอาหน้า ทำบุญอย่าหวังผลตอบแทน สิ่งดีที่ท่านทำไปย่อมได้รับสนองดีแน่นอน

สั่งสมบารมี

... โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับนักปฏิบัติธรรมแล้ว การทำบุญทำทานย่อมเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติจิตให้บรรลุธรรมได้เร็วขึ้นเป็น บารมีอย่างหนึ่ง ในบารมีสิบทัศที่ต้องสั่งสม เพื่อให้สำเร็จมรรคผลนิพพาน

เมตตาบารมี

... การทำบุญให้ทานเพียงแต่เรียกว่า ทานบารมี หากบำเพ็ญสมาธิจิตจนได้ญาณบารมี และโดยเฉพาะการบำเพ็ญทุกอย่างนั้น ถ้าท่านให้โดยไม่มีเจตนาแห่งการให้ ให้สักแต่ว่าให้เขาท่านก็ย่อมได้กุศลเรียกว่าไม่มากและทัศนคติของอาตมาว่า การบำเพ็ญเมตตาบารมีในภาวนาบารมีนั้นได้กุศลกรรมกว่าการให้ทาน

แผ่เมตตาจิต

... ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสัมฤทธิ์ผลนั้น เกิดจากกรรม 3 อย่าง คือ มโนกรรม เป็นใหญ่ แล้วค่อยแสดงออกมาทางวจีกรรม หรือกายกรรมที่เป็นรูป การบำเพ็ญสมาธิจิตเป็นกุศลดีกว่า เพราะว่า การแผ่เมตตา 1 ครั้ง ได้กุศลมากกว่าสร้างโบสถ์ 1 หลัง ขณะจิตที่แผ่เมตตานั้น จะเกิดอารมณ์แจ่มใส สรรพสัตว์ไม่มีโทษภัย ตัวท่านก็ไม่มีโทษภัย ฉะนั้น เขาจึงว่านามธรรมมีความสำคัญกว่า

อานิสงส์การแผ่เมตตา

... ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ต้องรู้จักคำว่า แผ่เมตตา คือต้องเข้าใจว่า ความวิเวกวังเวงแห่งการคิดนึกของเราแต่ละบุคคลนั้น มีกระแสแห่งธาตุไฟผสมอยู่ในจิตและวิญญาณกระจายออกไปเมื่อจิตของเรามี เจตนาบริสุทธิ์ เมื่อจิตของเราเป็นมิตรกับทุกคน เมื่อนั้นเขาก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา เสมือนหนึ่งเราให้เขากินอาหาร คนที่กินอาหารนั้นย่อมคิดถึงคุณของเรา หรืออีกนัยหนึ่งว่าเราผูกมิตรกับเขาๆก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา แม้แต่คนอันธพาล เราแผ่เมตตาจิตให้ทุกๆวัน สักวันหนึ่งเขาก็ต้องเป็นมิตรกับเราจนได้ เมื่อจิตเรามีเจตนาดีต่อดวงวิญญาณทุกๆดวง ดวงวิญญาณทุกๆดวงย่อมรู้กระแสแห่งจิตของเรา เรียกว่ามนุษย์เรานี้มีกระแสธาตุไฟออกจากสังขาร เพราะเป็นพลังแห่งการนั่งสมาธิจิต วิญญาณจะสงบ ธาตุทั้ง 4 นั้น จะเสมอแล้วจะเปล่งเป็นพลังงานออกไป ฉะนั้น ผู้ที่นั่งสมาธิปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จิตแน่วแน่แล้ว โรคที่เป็นอยู่มันจะหายไป ถ้าสังขารนั้นไม่ใช่จะพังเต็มทีแล้ว คือไม่ถึงวาระสิ้นอายุขัย หรือว่าสังขารนั้นร่วงโรยเกินไปแล้ว ก็จะรักษาให้มันกระชุ่มกระชวยได้หรือจะให้มันสบายหายเป็นปกติดั่งเดิมได้

ประโยชน์จากการฝึกจิต

... ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนมีสมาธิแน่วแน่ เมื่อจิตนิ่งก็รู้ตน เริ่มพิจารณาตน รู้ตนเองได้ ปัญญาก็เกิดขึ้น ปัญญานี้เรียกว่า ปัญญาภายในจากจิตวิญญาณ ซึ่งเราจะใช้ปัญญานี้ได้แน่นอน เมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นในชีวิตตลอดระยะเวลาอันยาวนานข้างหน้า นี่คือประโยชน์ของการฝึกจิตแล้ว คุณของสมาธิยังเป็นพลังป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัย เจ็บป่วยได้ กล่าวคือ

การบำเพ็ญจิต จนจิตสงบนิ่งแล้ว ระบบต่างๆทางประสาทจะได้รับการพักผ่อน เป็นการปรับธาตุในกายให้เกิดพลังจิตเข้มแข็ง กายเนื้อก็จะแข็งแรงกระชุ่มกระชวยด้วย โลหิตในร่างกายจะหมุนเวียนสะดวกขึ้น ความตึงเครียดตามร่างกายและประสาทต่างๆ จะผ่อนคลายเป็นปกติ โรคต่างๆจะลดน้อยลงโดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง หายป่วยได้ด้วยการฝึกจิตและเดินจงกรม

คัดลอกจากหนังสือ เรียน ธรรมะบูชาพระสุปฏิปันโน เล่มของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โตพรหมรังสี

   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

14
                                             อานิสงส์จากการทำบุญแบบต่างๆ


อานิสงส์จากการทำบุญแบบต่างๆ
อานิสงส์ผลบุญจากการทำบุญแบบต่างๆ

1.การทำบุญด้วยการถวายจีวร

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายจีวรแด่พระสงฆ์ จะได้รับอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ จะเป็นผู้ที่พร้อมด้วยเสื้อผ้า อาภรณ์ และเครื่องประดับ มีแต่ผู้คนให้ความเคารพยกย่อง มีเกียรติ เป็นที่ยอมรับของคนทุกหมู่เหล่าเมื่อใดก็ตามจะต้องพบกับความมีอุปสรรค อุปสรรคนั้นจะผ่านพ้นไปด้วยดี ภยันตรายอื่นๆ อย่างสัตว์มีพิษและของมีคมต่างๆ ก็ทำร้ายไม่ได้ อานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นในชาติหน้า จะเกิดมาเป็นผู้ที่มีความเพียบพร้อมด้วยหน้าตาที่งดงาม และสติปัญญาที่น่านับถืออย่างยิ่ง

2.การทำบุญด้วยการถวายเตียงนอน
  
 ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายเตียงนอนแด่พระสงฆ์ จะได้รับอานิสงส์ผลบุญในเรื่องของความเป็นอยู่ที่สุขสบาย จะได้นอนหลับในที่ที่อุ่นในยามหนาว เย็นสบายในช่วงฤดูร้อน ในเรื่อง ของสุขภาพก็มักจะไม่เจ็บป่วยง่าย ร่างกายแข็งแรงหากคิดจะเอาดีทางด้านการกีฬา ก็จะโด่งดังในระดับโลก เพราะจะเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ในด้านนี้มาก เมื่อชีวิตเข้าสู่วัยชรา ก็จะมีลูกหลานมาดูแล ไม่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว นับว่าสบายตั้งแต่เกิดจนตาย

3.การทำบุญด้วยการถวายหมอน

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายหมอน จะได้รับอานิสงส์ในเรื่องของการเป็นผู้ที่มีความอดทนอดกลั้นเหนือผู้อื่น หากอยู่ในการแข่งขันจะเป็นบุคคลที่สร้างความกดดันให้แก่คู่ต่อสู้อย่างมาก ทำการงานใดก็จะสำเร็จ เพราะไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือท้อแท้ง่าย อีกทั้งหากจะทำการงานใดก็จะมีคนคอยอุปถัมภ์ค้ำชูอยู่เสมอ

4.การทำบุญด้วยยาดม ยานัตถุ์

ผู้ที่ทำ บุญด้วยยาดม หรือยานัตถุ์ จะได้รับอานิสงส์ผลบุญส่งให้เป็นผู้ปลอดภัยจากโรคเกี่ยวกับจมูกทั้งปวง จะได้รับรส และกลิ่นที่งดงามอย่างกลิ่นของพระธรรม เกียรติยศ ชื่อเสียงต่างๆ จะขจรขจายไปทั่ว จนผู้คนต่างพากันชื่นชมในคุณงามความดีที่คุณได้สั่งสมเอาไว้ บริวารต่างพากันเคารพ และคอยปกป้องไม่ให้ได้รับอันตราย จึงเป็นผู้ที่ได้รับการปกป้องเป็นอย่างดีจากผู้อื่น

5.การทำบุญด้วยร่ม

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายร่ม จะได้รับอานิสงส์ส่งผลให้ชีวิตมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข แม้ในยามที่ตกทุกข์ชะตาดับ ก็จะเกิดปาฏิหาริย์กลายเป็นดีได้ในทุกครั้ง
นอกจาก นี้ยังเป็นผู้อุดมด้วยบุญบารมี แผ่ขยายไปทั่วจนเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ผู้อื่นได้ด้วย จึงมีแต่คนเคารพนับถือ และยอมรับในความกรุณาอย่างดียิ่ง ในบั้นปลายชีวิตก็จะพบแต่ความสุขที่แท้จริง ไม่ต้องอยู่โดดเดี่ยวแน่นอน

6.การทำบุญด้วยไม้กลอนประตู

ผู้ที่ทำบุญด้วยการถวายไม้กลอนประตู จะได้รับอานิสงส์ส่งผลให้เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญในทุกๆ เรื่อง จึงได้รับโอกาสดีๆ อยู่เสมอ จะได้รับ การปกป้องคุ้มครองเป็นอย่างดีจากคนรอบข้าง ไม่ต้องทุกข์กาย ทุกข์ใจ ชีวิตจะสุขสบายตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะหนทางโรยด้วยกลีบกุหลาบอยู่แล้ว นับว่าเป็นความโชคดีอย่างมาก

7.การทำบุญด้วยน้ำมันนวด

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายน้ำมันนวด จะได้รับอานิสงส์ผลบุญทำให้เป็นผู้ที่พรั่งพร้อมไปด้วยบริวารที่คอย ปรนนิบัติพัดวีอย่างใกล้ชิด หากจะทำสิ่งใดก็จะมีที่ปรึกษา ส่งเสริมทั้งกำลังกาย ใจ สติปัญญาและกำลังทรัพย์ ส่วนการ เจ็บไข้โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยต่างๆ จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน จะเป็นผู้ที่มีกำลังวังชาดี หากจะเป็นนักกีฬา ก็จะโด่งดังระดับโลก หรือหากจะรับราชการทหารหรือตำรวจก็น่าสนับสนุนส่งเสริม เพราะจะได้เป็นผู้บัญชาการอย่างรวดเร็ว

8.การทำบุญด้วยพัด

ผู้ที่ทำ บุญด้วยพัด จะได้รับผลบุญในเรื่องของสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ชีวิตจะมีเรื่องสบายใจ ลูกหลานก็เป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่สร้างเรื่องทุกข์กาย ทุกข์ใจใดๆ ให้เลยแม้แต่น้อย เกียรติยศและชื่อเสียงจะโด่งดัง และมีแต่คนยอมรับนับถือจำนวนมาก ในโลกหน้าก็จะพบแต่ความสุขสำราญกายใจเช่นชาตินี้

9.การทำบุญด้วยรองเท้า

ผู้ที่ทำบุญด้วยรองเท้า จะเป็นผู้ที่ได้รับอานิสงส์ของการเป็นผู้มีบริวารมาก จะมีคนคอยให้ความช่วยเหลือและยกย่องเชิดชูเป็นอย่างดี ในเรื่อง ของโรคเกี่ยวกับเท้าก็หมดไป ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ และหากจะท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ก็ทำได้ง่าย ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัยเพราะจะได้เป็นนักเดินทางที่มีชื่อเสียง ตลอดการเดินทางก็จะได้เรียนรู้ และศึกษาสิ่งต่างๆ เสมอ จะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงมากคนหนึ่ง

10.การทำบุญด้วยกุญแจ

ผู้ที่ทำบุญด้วยกุญแจจะเป็นผู้ที่มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน คิดอะไรก็แตกฉาน ไม่มีปัญหาอะไรที่แก้ไขไม่ได้หากคิดจะทำ อีกทั้ง ชีวิตยังมีแต่ความปลอดภัย ภยันตรายก็ไม่กล้ามากล้ำกรายอย่างแน่นอน ส่วนในชาติหน้าก็จะเกิดเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักทั่วทั้งแผ่นดิน

11.การทำบุญด้วยการถวายที่ดิน

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายที่ดินแด่พระสงฆ์ นับว่าเป็นการสร้างบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ จะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นผู้ปกครองแผ่นดินหรือบริหารประเทศ ความที่ เป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่จึงมีคนพากันยกย่องสรรเสริญจำนวนมาก ในเรื่องของความมั่นคงทางกายและใจ ไม่มีปัญหาอะไรเลยเพราะเป็นผู้ที่หนักแน่น ทำการใดก็เจริญและได้รับการยอมรับอยู่ตลอด จะมีความสุขทั้งชีวิตเลยทีเดียว

12.การทำบุญด้วยการทำความสะอาดเจดีย์

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการทำความสะอาดเจดีย์ นับว่าได้รับอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน เพราะจะทำให้ชีวิตมีแต่ความสงบราบรื่น คิดจะทำสิ่งใดก็ไร้อุปสรรค หากตายไปแล้วก็จะได้ไปจุติในแดนสวรรค์ มีผู้คนและบริวารห้อมล้อมและปรนนิบัติตลอด นับว่าจะได้รับอานิสงส์นี้ทุกชาติๆ ไปเลยทีเดียว
จิตใจนั้นก็ค่อนข้างดีงาม พ้นจากกิเลส ใครๆ ก็อยากอยู่ใกล้เสมอ เพราะมีแต่ความเมตตานั่นเอง

13.การทำบุญด้วยการถวายไม้เท้าค้ำยัน

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายไม้เท้าค้ำยันแด่พระสงฆ์ ผลบุญนี้จะทำให้ได้รับความสบายใจในการครองชีวิต ไม่ต้องพบเจอกับปัญหาอุปสรรค จะมีคนคอยปกป้องรักษาให้แคล้วคลาดจากภยันตรายต่างๆ
จะมีลูกก็จะพึ่งพิงได้ ลูกจะดี ไม่นำเรื่องหนักใจมาให้ จะเป็นคน ที่มีชีวิตที่มั่นคง เหมือนไม้เท้าคอยค้ำยันไว้ กล้าหาญในการทำกิจต่างๆ ทำให้คนรอบข้างที่คิดร้ายหวาดกลัวและพ่ายแพ้ไปในที่สุด โดยส่วนใหญ่แล้วผลบุญนี้จะส่งผลให้เป็นคนดวงแข็ง

14.การทำบุญด้วยการไหว้พระพุทธรูปด้วยจิตศรัทธา

ผู้ที่ทำบุญด้วยการไหว้พระพุทธรูปด้วยจิตที่ศรัทธานั้นจะได้รับอานิสงส์ คือ อานิสงส์นี้จะไปเสริมดวงให้เป็นที่เคารพนับถือ ชีวิตครอบครัวก็จะสุขสบาย เป็นตระกูลที่มีชื่อเสียงและน่าสรรเสริญ
ปราศจากศัตรูที่คิดร้าย คนคิดร้ายก็จะสำนึกในความดีต่างๆ แล้วพ่ายแพ้ไป เส้นทางชีวิตมีแต่ความสุข สงบ พบเจอแต่เรื่องดีๆ ในชีวิต จะมีสติดี ทำให้ประสบความสำเร็จในเรื่องที่หวังได้ง่าย

15.การทำบุญด้วยดอกไม้ ธูปเทียน

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายดอกไม้ ธูปเทียน จะได้รับอานิสงส์ผลบุญในส่วนของการมีสติปัญญาที่ฉลาดปราดเปรื่อง รู้จักแก้ไขปัญหาจัดการเรื่องต่างๆ กับชีวิตของตนได้เป็นอย่างดี หากคิดจะวางแผนก็เป็นนักวางแผนตัวสำคัญ ในเรื่องของรูปร่างหน้าตาก็สง่างาม เป็นหญิงอย่างกุลสตรี เป็นชายก็สมชายชาตรี ใครเห็นก็รักใคร่ชอบพอกันทุกคน ส่วนใหญ่ แล้วอานิสงส์นี้จะผลักดันให้ผู้ที่ทำบุญพบกับความสำเร็จ ชื่อเสียงโด่งดัง จนเป็นที่ยอมรับของคนทุกเพศทุกวัย นับเป็นบุญกุศลที่สูงส่งยิ่ง

16.การทำบุญด้วยกรรไกรตัดเล็บ

ผู้ที่ทำ บุญด้วยกรรไกรตัดเล็บนั้น จะได้รับผลบุญส่งให้ชีวิตของคุณพบกับความบริสุทธิ์ ปราศจากความเศร้าหมองใดๆ อันตรายต่างๆ ที่จะเข้าใกล้ก็จะไม่กล้ำกราย ชีวิตจะมีแต่ความสุข อานิสงส์นี้ยังส่งผลถึงครอบครัวให้ได้รับความสุขมากขึ้นด้วย นอกจาก นี้ยังจะเป็นผลดีในส่วนของการได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากผู้ใหญ่ที่เขา เอ็นดูคุณเป็นอย่างดี ในยามที่ตกต่ำ ไม่นานจะกลับมามีชีวิตสดใสได้ทุกครั้ง นับว่าเป็นบุคคลที่โชคดีมากคนหนึ่ง

17.การทำบุญด้วยการถวายมีดโกน

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายมีดโกนแด่พระภิกษุสงฆ์ อานิสงส์ที่ได้รับจะส่งผลต่อการดำรงชีวิต เพราะจะเป็นผู้ที่มีสมาธิ ทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างละเอียดรอบคอบ จะเป็นผู้ที่ขยันขันแข็ง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทั้งหลาย ทำให้ประสบความสำเร็จในบั้นปลาย สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยได้ง่ายๆ มีจิตใจที่ผ่องแผ้ว สุขทั้งกายและใจ อุปสรรคที่ต้องเผชิญก็มลายหาย

18.การทำบุญด้วยการถวายตะเกียง

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายตะเกียงแด่พระสงฆ์จะได้รับอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ จะเป็นผู้ที่มีชีวิตที่ราบรื่น เหมือนมีไฟส่องทางให้ ทำให้ไม่พบเจอปัญหาหรืออุปสรรคที่ยากจะผ่านไปได้ การเรียนหรือการทำงานก็จะเป็นเลิศ เพราะสติปัญญาดีมาก หัวไว และแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดี แม้ศึกษาธรรมก็จะรู้ได้อย่างแตกฉาน เป็นผู้ที่วางตัวดี คนรอบข้างเคารพและเชื่อถือในคำพูด ทำดีจะเห็นผลเร็ว มีชีวิตที่รุ่งโรจน์ไม่มีตก

19.ทำบุญด้วยการถวายตู้ใส่พระไตรปิฎก

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายตู้ใส่พระไตรปิฎก จะได้รับอานิสงส์ผลบุญอย่างมากมายในเรื่องของความพร้อมด้านรูปโฉม และความเจริญทางด้านสติปัญญา จะเป็นผู้ที่มีไหวพริบ ชาญฉลาด สามารถหาทางออกที่ดีให้กับชีวิตได้ตลอด ความงดงามทางรูปร่างหน้าตา ทำให้เป็นคนที่มีเสน่ห์ เป็นที่รักและชื่นชมของคนทั่วไป นอกจากนี้แล้วการทำบุญด้วยวิธีนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ชีวิตของคุณไม่โดดเดี่ยว จะมีคนมาอยู่ใกล้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูงหรือว่าญาติ ทั้งในยามทุกข์และสุข จะไม่มีวันตกต่ำอย่างแน่นอน นับว่าการทำบุญด้วยวิธีนี้ เป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งทีเดียว

20.การทำบุญด้วยการสร้างพระพุทธรูป
 
 ผู้ที่ทำ บุญด้วยการสร้างพระพุทธรูป ให้เป็นที่สักการบูชาจะเป็นผู้ที่ได้รับอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะไม่ว่าจะเกิดในชาติใดก็ตาม จะเป็นผู้ที่พร้อมด้วยทรัพย์ สติปัญญา และรูปโฉม
ทำสิ่งใด ก็ตามจะมีบริวาร ผู้คอยช่วยเหลือ และสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่ง ในด้านของจิตใจนั้น จะเป็นผู้ที่มีจิตใจดีงาม ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนเป็นอย่างดี หากเป็นผู้นำในเรื่องใดก็จะสำเร็จและพาลูกน้องพบกับความสุขได้เสมอ การวางแผนก็จะเป็นนักคิดที่แยบคาย รู้ทันเหตุการณ์ต่างๆ เป็นอย่างดี อานิสงส์นี้จะทำให้คุณใช้ชีวิตสุขสบายอย่างมาก

21.การทำบุญด้วยการสร้างกุฏิ  

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการสร้างกุฏิถวายแด่พระสงฆ์ จะได้รับอานิสงส์กลับคืนมาในเรื่องของความเป็นอยู่ จะมีชีวิตที่สุขสบายไม่ลำบาก ครอบครัวก็จะรักใคร่ปรองดองกัน มีความมั่นคงในชีวิต
ด้านร่างกาย ก็จะเป็นผู้ที่มีความรู้ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเรียนทางด้านใดก็จะเรียนรู้ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
บุคคลที่คิดร้ายก็จะต้องแพ้ภัยตนเอง จะปลอดภัยจากสัตว์ร้ายและอาวุธต่างๆ มีอายุยืนยาว

22.การทำบุญด้วยการบูรณะพระพุทธรูป

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการบูรณะพระพุทธรูปแด่พระสงฆ์ จะได้รับอานิสงส์อันแรงกล้า สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ร่างกายสมบูรณ์ครบอาการ 32 ผิวพรรณงามเปล่งปลั่ง ไม่แก่เร็ว ความเป็นอยู่ดี มั่งคั่ง ทำมาค้าขึ้น มักจะได้ลาภลอยอยู่บ่อยๆ ไปไหนก็มักจะเป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้พบเห็น ใครเห็นใครก็รัก พูดจาอะไรก็จะเป็นที่เชื่อถือ เป็นที่นับหน้าถือตา ชาติหน้าก็จะเป็นผู้ที่สวยทั้งรูปกายและรูปสมบัติ

23.การทำบุญด้วยการถวายภาชนะต่างๆ

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายภาชนะต่างๆ แด่พระภิกษุสงฆ์ บุคคลผู้นั้นจะได้รับอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ ชีวิตพรั่งพร้อมไปด้วยบริวาร มีแต่คนอาสาที่จะช่วยเหลือ หากประสบปัญหาใดก็ตาม บริวารจะเป็นที่รับฟังและเป็นที่ปรึกษาที่ดีอย่างยิ่ง ในการติดต่อ เจรจา จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้ที่มีทักษะในการพูดเป็นเลิศ เรียนด้านใดก็มักจะได้ดีกว่าผู้อื่น หัวไว และมีพรสวรรค์ในทุกๆ ด้าน เมื่อมุ่งไปทางใดแล้วก็จะทำได้ดี ยามแก่เฒ่าก็จะมีคนดูแล ชีวิตไม่ขัดสน

24.การทำบุญด้วยการสร้างสะพาน

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการสร้างสะพาน จะได้รับอานิสงส์ในผลบุญนั้นอย่างสูงส่ง คือในยามยาก็มีผู้เข้ามาช่วยเหลือ จะมีแต่คนหยิบยื่นน้ำใจให้อยู่เสมอ เป็นที่รักของคนรอบข้าง การงานก็จะมีความมั่นคง ถึงเริ่มกระทำสิ่งใดไม่นาน ก็จะมีผู้ใหญ่เห็นความตั้งใจ และหยิบยื่นตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นให้
ชีวิตครอบครัวก็เหมือนกับสะพาน ซึ่งแข็งแกร่ง มั่นคง อานิสงส์นี้ส่งผลให้เห็นทางสว่างทุกครั้งที่มืดมนเหมือนมีคนมาชี้ทางให้

25.การทำบุญด้วยการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ จะเป็นผู้ที่ได้รับอานิสงส์อย่างแรงกล้า การบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ถือเป็นการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อานิสงส์ผลบุญดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ที่ทำบุญด้วยวิธีนี้มีอำนาจ บุญวาสนามีสูง ทำการงานก็สำเร็จเจริญก้าวหน้าอย่างไร้อุปสรรค
ชีวิตของ คุณจะมีชื่อเสียง มีผู้คนยอมรับนับถือ ทำอะไรก็ตามจะมีคนสนับสนุนส่งเสริมเป็นอย่างดี หากชีวิตมีเคราะห์ ก็จะผ่านพ้นและกลับมาพบกับความสำเร็จได้อีกครั้ง ชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้าก็จะพบแต่ความสุขสดชื่นเสมอ

26.การทำบุญด้วยการถวายเชิงรองก้นบาตร

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายเชิงรองก้นบาตร จะได้รับอานิสงส์ในเรื่องของการมีคนอุปถัมภ์เกื้อหนุน ไม่ว่าจะเดินทางไปที่แห่งใดก็จะมีคนคอยแนะนำ ยามใดที่พลาดพลั้งก็ไม่มีวันที่อยู่โดดเดี่ยว เพื่อนและญาติมิตรจะอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น คนรอบข้างจะเป็นคนที่ไว้ใจได้ เขาจะมอบแต่ความจริงใจให้และจะช่วยแบ่งเบาภาระของคุณได้เป็นอย่างดี นอกจากอานิสงส์ของการอุปถัมภ์แล้ว จะส่งผลให้ผู้ทำบุญจิตใจสงบ จะทำสิ่งใดก็คิดออกและเกิดความผิดพลาดน้อย

27.การทำบุญด้วยการสร้างศาลาโรงฉัน

ผู้ที่มี จิตศรัทธาทำบุญด้วยการสร้างศาลาโรงฉันถวายพระสงฆ์นั้น จะได้รับอานิสงส์ผลบุญทั้งชาตินี้และชาติหน้า คุณจะเป็นผู้พรั่งพร้อมสมบูรณ์ด้วยเครื่องอุปโภค บริโภคครบครัน ครั้นเกิดในชาติภพหน้าก็จะเกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง ไม่มีวันที่จะตกต่ำ สุขภาพ ร่างกายจะแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน จิตใจก็จะสมบูรณ์ ไม่มีเรื่องเดือดร้อนกายและใจ เมื่อร่างกายและจิตใจพร้อมแล้ว อายุของคุณก็จะยืนยาว อยู่เป็นหัวหน้าครอบครัวจนประสบความสำเร็จสูงสุดได้อย่างง่ายดาย
ชีวิตของผู้ที่ทำบุญด้วยวิธีนี้นั้น จะคิดอ่านทำสิ่งใดก็ไม่มีอุปสรรคเลย ซึ่งนับเป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่อย่างยิ่ง

28.การทำบุญด้วยรัดประคด

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายรัดประคดแด่พระสงฆ์ จะเป็นผู้ที่ได้รับอานิสงส์ในเรื่องของความมั่นคงทั้งทางจิตใจ ที่ไม่หลงในทางผิดและร่างกายที่พร้อมด้วยฐานะที่เจริญรุ่งเรือง จะเป็น ผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ คำพูดมีความศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนพร้อมที่จะยอมรับคำแนะนำต่างๆ นอกจากนี้จะมีความสมบูรณ์ในเรื่องของญาติมิตร และบริวารที่เป็นคนดี และอยู่กันด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจต่อกัน
ในเรื่อง ของสติปัญญา จะเป็นผู้ที่มีสมาธิดีมาก และไหวพริบปฏิภาณเหนือผู้อื่น อนาคตจะได้เป็นใหญ่เป็นโต มั่งคั่งด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี

29.การทำบุญด้วยการสนับสนุนศึกษาพระธรรม
                                                                                  ผู้ที่ทำ บุญด้วยการสนับสนุนศึกษาพระธรรม จะได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ ส่งเสริมให้การศึกษาหาความรู้ไร้อุปสรรค ได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างในทุกๆ ทาง และจะประสบความสำเร็จอย่างมากหากมีความตั้งใจจริง เป็นคนที่ทำความดีขึ้น และเห็นผลทันตา คนรอบข้างไม่กล้าคิดร้าย
อานิสงส์ นี้จะส่งผลให้สุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยเป็นโรคร้าย มีชีวิตยามแก่ที่สุขสบาย เพราะจะมีบุตรหลานบริวารที่รักใคร่รายล้อมและไม่เจอกับปัญหาให้ต้องวิตก

30.การทำบุญด้วยการปิดทององค์พระ

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการปิดทององค์พระ จะเป็นผู้ที่ได้รับอานิสงส์ผลบุญทางด้านทรัพย์ ถือได้ว่าจะมีความมั่งคั่ง รวยทรัพย์ หยิบจับอะไรก็ทำให้เป็นเงินเป็นทองได้อย่างง่ายดาย อานิสงส์นี้จะทำให้เป็นที่ยกย่องของบุคคลรอบข้าง เจ้านายก็รักใคร่ชื่นชอบ ทำอะไรจะดูดีไปทุกๆ ด้านเหมือนแสงทองอันรุ่งโรจน์ จะมีรูปงาม สวยสะดุดตา เป็นที่น่านับถือและรักใคร่ ดูมีสง่าราศี ในชาติหน้าก็จะเป็นใหญ่เป็นโต ไม่พบเจอผู้ที่คิดร้ายด้วย

31.การทำบุญด้วยการถวายบาตร

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายบาตรแด่พระสงฆ์ จะได้รับอานิสงส์อันแรงกล้า กล่าวคือความเป็นอยู่จะมั่งคั่ง มีชีวิตสมบูรณ์พูนสุข ปรารถนาสิ่งใดก็จะได้โดยไม่ต้องลงแรงมาก ยามที่พบกับอุปสรรค ก็จะพบกับทางแก้ หรือมีที่พึ่งเข้ามาอยู่เสมอ อันตรายไม่มากล้ำกราย คิดทำ สิ่งใดมีความหนักแน่น และมีความพยายามมากทำให้การนั้นๆ ส่งผลในทุกครา ไม่ค่อยพบกับความผิดหวังเท่าใด ตัดสินใจสิ่งใดจะมีแต่คนให้คำปรึกษาที่ดีอยู่เสมอ

32.ทำบุญด้วยการถวายผ้าปูลาด

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายผ้าปูลาดแด่พระสงฆ์ ผู้นั้นก็จะได้รับอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ ทั้งลาภยศและชื่อเสียง ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหรือฐานะใดก็จะเป็นที่นับหน้าถือตา มีบารมีเป็นที่ยำเกรงของบริวารและคนรอบข้าง มักเป็นที่พึ่งให้กับผู้อื่นได้ เพราะจะเป็นคนที่มีพื้นฐานความคิดอ่านดี และมีความรอบคอบ ผู้ที่ได้รับอานิสงส์นี้จะไม่ตกต่ำ แม้เกิดมาอย่างไม่มีทรัพย์สมบัติ ก็จะสร้างขึ้นได้เองไม่ยากนัก

33.การทำบุญด้วยเข็มเย็บผ้า

ผู้ที่ทำบุญด้วยเข็มเย็บผ้า จะได้รับอานิสงส์ผลบุญส่งให้คุณเป็นผู้ที่มีปัญญาเฉียบแหลม คิดจะทำการใดก็สัมฤทธิ์ผลเป็นอย่างดี แม้ในยาม เกิดอุปสรรคก็จะมีผู้ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ประกอบกับปัญญาที่เหนือผู้อื่น จึงสามารถผ่านพ้นอุปสรรคได้อย่างง่ายดาย ใครก็ตามที่คิดจะทำร้ายจะได้รับผลกรรมอันเจ็บปวด แต่ด้วยความที่เป็นคนมีจิตใจดี จึงมักจะรู้จักให้อภัย และได้มิตรเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

34.การทำบุญด้วยสายโยก

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายสายโยกแด่พระสงฆ์ จะได้รับอานิสงส์ผลบุญในเรื่องของการเป็นผู้มีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับ สิ่งต่างๆ รอบตัว ทำสิ่งใดก็ตามจะไม่ประมาท แล้วจะรู้จักพิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วน จึงเป็นไปได้ยากที่จะเกิดการผิดพลาด นอกจากนี้ยังได้รับการรักใคร่เอ็นดูจากญาติมิตรทั้งหลายอย่างจริงใจ และสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้เป็นอย่างดี

35.การทำบุญด้วยน้ำยาดับกลิ่นปาก

การทำบุญด้วยน้ำยาดับกลิ่นปาก จะได้รับอานิสงส์ผลบุญในส่วนของการมีสุขภาพฟันที่แข็งแรง ไม่มีทางที่จะมีปัญหาในช่องปาก นอกจาก นี้ยังมีพรสวรรค์ในเรื่องของการใช้คำพูด จะมีวาจาที่ไพเราะน่าฟังอย่างยิ่ง พูดจามักจะน่าเชื่อถือ และหากจะเอาดีในเรื่องของอาชีพที่เกี่ยวกับการพูดก็จะยิ่งดีมาก เช่น นักการทูต หรือการค้าขายต่างๆ จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ชื่อ เสียงต่างๆ ก็จะเป็นที่รู้จักโด่งดัง มีแต่คนรัก และอยากรู้จักเป็นมิตรด้วยทั้งสิ้น การทำบุญด้วยสิ่งนี้จะเป็นการสร้างเสน่ห์ให้กับชีวิตโดยตรง

36.การทำบุญด้วยกระดาษทราย

อานิสงส์ ของการทำบุญด้วยกระดาษทรายนั้น จะน้อมนำให้ชีวิตของผู้ทำบุญยั่งยืน อยู่เป็นมิ่งขวัญของลูกหลานและวงศ์ตระกูลไปนานแสนนาน เรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็ไม่มาเบียดเบียน สุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจ หากใครคิดจะทำร้ายก็จะแพ้ภัยไปเอง เพราะคุณจะเป็นคนที่มีจิตใจบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสตัณหาทั้งปวง และมักจะเป็นผู้คิดดีทำดีอยู่เสมอ

37.การทำบุญด้วยการสร้างพระไตรปิฎก
                                                                                          ผู้ที่ทำ บุญด้วยการสร้างพระไตรปิฎกแด่พระสงฆ์ จะได้รับอานิสงส์ผลบุญทั้งในชาตินี้และชาติหน้า จะเป็นผู้มีสติปัญญาดี เป็นผู้นำให้กับบุคคลอื่นอยู่เสมอ คิดอ่านสิ่งใดก็ไม่ค่อยผิดพลาด ความจำดี
ด้านการงาน ก็จะเป็นที่นับหน้าถือตา เป็นเจ้าคนนายคน ถึงพร้อมด้วยบริวารรายล้อมรอบกาย
ถึงแม้จะเป็นหญิงก็จะได้เป็นใหญ่ ผู้ที่ทำบุญด้วยการถวายพระไตรปิฎกนี้ มักเป็นนักวิชาการหรือเกี่ยวข้องกับงานใหญ่หากเจออุปสรรค ก็จะเห็นทางออกอยู่เบื้องหน้า ไม่ต้องนั่งกลุ้มหรือไปปรึกษาใคร

38.การทำบุญด้วยการถวายผ้าคลุมองค์พระ
                                                                                      ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายผ้าคลุมองค์พระแด่พระสงฆ์ จะได้รับอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ในด้านความเป็นอยู่ จะพรั่งพร้อมไปด้วยอาภรณ์เครื่องประดับ มีเครื่องใช้ไม้สอยสะดวกสบาย
สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีผิวพรรณงามสะดุดตา เป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้ที่พบเห็น จะเป็นที่รักใคร่ของเจ้านาย ผู้บังคับบัญชา บุตรหลานบริวารจะเกรงใจ เป็นที่นับหน้าถือตาของคนในสังคม อานิสงส์ผลบุญนี้จะส่งผลให้มีชีวิตที่สุขสบาย

39.การทำบุญด้วยการถวายเสา

ผู้ที่ทำ บุญด้วยการถวายเสาแด่พระสงฆ์ จะได้รับอานิสงส์ผลบุญที่ยิ่งใหญ่ กล่าวคือในด้านความเป็นอยู่ก็จะสุขสบายถึงขนาดเป็นที่พึ่งให้กับผู้อื่นได้ มีเงินทองมากมายไม่ขาดมือ อาชีพการงานก็มั่นคง ไม่ว่าจะหยิบจับหรือคิดเริ่มการใดก็ไม่ค่อยพบกับอุปสรรค เพราะมีรากฐานที่มั่นคง สุขภาพร่างกาย ถึงจะเจ็บไข้ก็จะหายพลัน และจะเจ็บป่วยได้ยากกว่าผู้อื่น ด้านความคิดอ่าน ก็จะเป็นคนมีสติ ไม่ว่าจะตัดสินใจอะไรก็จะทำได้อย่างรอบคอบ มีความหนักแน่นและมั่นคง

40.การทำบุญด้วยการถวายยารักษาโรค

ผู้ ที่ทำบุญด้วยการถวายยารักษาโรคแด่พระสงฆ์ จะได้รับอานิสงส์ในเรื่องของสุขภาพอย่างมาก จะเป็นผู้ที่ไม่ต้องประสบกับโรคร้าย เจ็บไข้เล็กน้อยก็จะไม่กล้ำกราย จะมีอายุยืน การเดินทางจะไร้อุปสรรค หากพบพานความติดขัดก็จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เพราะจะมีที่พึ่งเข้ามาอยู่เสมอ อันตรายมักจะหนีหาย สำหรับ ผู้ที่ทำบุญด้วยการถวายยารักษาโรค ทำสิ่งใดก็จะได้รับความเมตตาจากคนรอบข้าง หากไปไหว้วานขอความช่วยเหลือจากใคร เขาก็จะเต็มใจช่วยเหลือเป็นอย่างยิ่ง

   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

15
                                       ของศักดิ์สิทธิ์(คำสอนท่านก.เขาสวนหลวง)



ของศักดิ์สิทธิ์(คำสอนท่านก.เขาสวนหลวง)

คนส่วนมาชอบเรื่องของศักดิ์สิทธิ์ ของขลัง เพราะมันเป็นเรื่องของลาภสักการะ
สมัยนี้จึงมีระบาดทั่วไปกันหมด
ถ้าใครเชื่ออย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าได้เข้ามาอยุ่ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า
เป็นคนนอกธรรมวินัย เพียงความเชื่ออย่างนี้เท่านั้น
ก็ทำให้ไตรสรณาคมน์เศร้าหมองแล้ว
ถ้าใครเชื่ออยู่ถึงจะมาบวชเรียน มาสวมเครื่องแบบชาวพุทธ
ก็คงเป็นได้เฉพาะเครื่องแบบ
แต่ความเชื่อของเขาเป็นความเชื่ออย่างพวกชาวผี
เป็นชาวปีศาจที่จะคอยหลอกหลอนอยู่ ไม่มีธรรมวินัย เชื่อเรื่อยไป
อยู่วัดไปจนตาย ก็อยู่ไปอย่างนั้นเอง เหมือนกับแมว ไก่ มด ปลวก
มันก็อยู่กัน แต่มันก็ไม่รุ้อะไร ไม่เข้าใจธรรมวินัยคำสอนอะไร
ทำไปทำมาคนพวกนี้ เสร็จแล้วก็ไปตอดอยู่กับเวทย์มนต์ติดอยู่กับภูตผีปีศาจอยู่นั่นเอง
ไม่ทำศีลให้บริสุทธิ์ขึ้นมาได้โสมมจนโคลน จะเชื่อคำสอนอยู่บ้างก็เชื่อนิดๆ หน่อยๆ
ไมได้ถูกช่องร่องรอยคำสอนแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
ไม่ต่างกับพวกหน้าไหว้หลังหลอก เดี๋ยวก็เชื่อพระเดี๋ยวก็เชื่อผี
จิตใจอ่อนแอกลับกลอกหลอกลวง แล้วจะได้ประโยชน์อะไร
การที่จะเข้ามาศึกษาอบรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น
ก็ควรจะทำความเห็นได้ถูกตรงและทำศีลให้บริสุทธิ์เป็นพื้นฐานขึ้นมาเสียก่อน
นั่นแหละจึงจะพ้นอบายภูมิได้ ถ้ายิ่งปฏิบัตินานๆ แล้ว
ยิ่งหมักหมมหนักเข้า โลภก็จัด โกรธก็จัด หลงก็จัด มันก็แย่!
จิตใจมัวคล้อยไปในการหวังพึ่งแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็จึงไม่ยอมที่จะคิดพึ่งตัวเอง
ถ้าไม่เชื่อว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตน
มีกรรมเป็นมรดกตกทอดมาจากการกระทำของตน
ความเชื่ออย่างนั้นมันก็ปีนเกลียวคำสอนของพระพุทธเจ้า
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวิเศษที่ไหนก็จะมาทำลายล้างกรรมของตนไปไม่ได้
ทางถูก ทางเจริญที่เราควรชอบ ควรเชื่อ

คือ พยายามละชั่ว หมั่นทำความดี
และพยายาฝึกใจให้บริสุทธิ์ สงบ


ตามแนวทางพระพุทธศาสนา

  ขอบคุณที่มาเว็บบอร์ด พลังจิต

16
                                         ในหลวงพระราชทานพรปีใหม่ชาวไทย








คมชัดลึก :พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพรปีใหม่ ทรงปรารถนาเห็นคนไทยมีสุขด้วยการให้ความรัก ความเมตตาต่อกัน พร้อมร่วมมือร่วมคิดเพื่อประเทศชาติและพระราชทาน ส.ค.ส.2554 แก่ประชาชนชาวไทย นายกฯวอนชาวไทยน้อมนำกระแสพระราชดำรัส มีสติไปปฏิบัติ พร้อมขอบ้านเมืองสงบ เศรษฐกิจดี

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 เวลา 20.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรชาวไทย ความว่า บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คน ให้มีความสำเร็จสมประสงค์ในสิ่งที่ปรารถนา ความปรารถนาของทุกคน คงไม่แตกต่างกันนัก คือต้องการให้ตนเอง มีความสุขความเจริญ และให้บ้านเมืองมีความสงบร่มเย็น

 ในปีใหม่นี้ ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นคนมีความสุขถ้วนหน้ากัน ด้วยการให้ คือ ให้ความรัก ความเมตตากัน ให้น้ำใจไมตรีกัน ให้อภัยกัน ให้การสงเคราะห์อนุเคราะห์กัน โดยมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ด้วยความบริสุทธิ์และจริงใจ ทุกคนทุกฝ่าย จะได้สามารถร่วมมือ ร่วมความคิดอ่านกัน สร้างสรรค์ความสุข ความเจริญมั่นคง ให้แก่ตนประเทศชาติ อันเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องการให้สำเร็จผลได้ ดังที่ตั้งใจปรารถนา ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคน ให้มีความสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีภัย ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน

 โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน ส.ค.ส.แก่ประชาชนชาวไทย เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉลองพระองค์สากลสีครีม ผ้าปักกระเป๋าฉลองพระองค์สูทและเนกไทเป็นลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตขาว ประทับพระเก้าอี้ ด้านข้างพระเก้าอี้ทั้งสองข้างมีโต๊ะสูง โต๊ะด้านซ้ายวางแจกันแก้วก้านสูงปักดอกไม้หลากสี โต๊ะด้านขวาวางแจกันแก้วขนาดเล็กปักดอกไม้หลากสีเช่นกัน ทรงฉายกับสุนัขทรงเลี้ยง 2 สุนัข คือ คุณทองแดง ที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2541 โดยหมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านซ้ายพระหัตถ์ และคุณทองแท้ ที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2542 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านขวาพระหัตถ์

 ด้านหลังพระเก้าอี้ที่ประทับเป็นผ้าม่านสีเทาอ่อน มีแจกันดอกไม้ขนาดใหญ่ปักดอกกุหลาบและดอกไฮเดรนเยียหลากสีตั้งอยู่ 2 แจกัน แจกันด้านขวาพระหัตถ์มีตราพระมหาพิชัยมงกุฎประดับอยู่ แจกันดอกไม้ด้านซ้ายพระหัตถ์มีผอบทองประดับอยู่ ถัดไปทางด้านหลังทั้งสองด้านมีกระถางไม้ประดับอยู่

 มุมบนด้านซ้าย มีตัวอักษรสีเหลืองข้อความว่า ส.ค.ส.สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๔ มุมบนด้านขวามีข้อความภาษาอังกฤษ Happy New Year 2011 ด้านล่างของ ส.ค.ส.มีข้อความเป็นตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีน้ำเงินว่า ขอจงมีความสุข ความเจริญ มุมล่างขวา มีข้อความ ก.ส.9 ปรุง 1211923 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท. พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad publishing, D Bramaputra, Publisher

 กรอบ ส.ค.ส.พระราชทานเป็นภาพใบหน้าคนเล็กๆ เรียงกันด้านละ 3 แถว ทุกหน้ามีแต่รอยยิ้ม

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด คมชัดลึก

17


  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

18
                                                กรรมร่วมกันมาแต่อดีตชาติ


กรรมที่ทำร่วมกันมาแต่อดีตชาติ

คำว่า กรรมร่วมกันมาแต่อดีตชาติ หมายความว่าอย่างไร

เพราะ บางคนพ่อแม่ดี แต่ลูกไม่ดี บางคนครอบครัวดี แต่มีบริวารนำความเดือดร้อนมาให้ บางคนลูกดีแต่บุพพการีไม่ดี

ถ้าจะถือว่าชาติก่อนมีความสัมพันธ์กับชาตินี้ ก็จะต้องหมายความว่า
พ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อนฝูง ที่เคย พัวพันกันมา จะต้องไปพบกันทุกชาติเช่นนั้นหรือ จึงมีการกล่าวถึงคำว่า "ทำกรรมร่วมกันมา"

คำว่า "กรรมร่วมกันมาแต่อดีตชาติ" เป็น คำที่หมายถึงคนสองคน หรือสองฝ่ายเคยทำอะไร ร่วมกันมา จะเป็นทางดีก็ได้ ทางไม่ดีก็ได้
เช่น เคยทำบุญร่วมกันมา เคยร่วมปล้นฆ่าคนมาด้วยกัน เป็นต้น

การกระทำที่ทำร่วมกันอย่างนี้แหละ ที่เรียกว่า “กรรมร่วมกันมา”
ถ้าเป็นกรรมในชาติก่อนๆ ก็เรียกว่า เป็นกรรมในอดีตชาติ ความจริงมิใช่ เพราะกรรมเท่านั้นที่จะส่งผลให้มา พบกันในชาตินี้
แม้เวรที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผูกกันไว้ หรือผูกไว้ทั้งสองฝ่าย ก็เป็นเหตุส่งให้มาพบกันในชาตินี้ได้เหมือนกัน
ดังนั้นเราจึงมักพูดติดต่อกันว่า "กรรมเวร"

ความเข้าใจที่ว่า ถ้าถือว่าชาติก่อนมีความสัมพันธ์กับชาตินี้ ก็จะต้องหมายความว่า
พ่อแม่ พี่น้องเพื่อนฝูงที่เคย พัวพันกันมาจะต้องไปพบกันทุกชาตินั้น ยังเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด
อันที่จริงชาติก่อน มีความสัมพันธ์กับชาตินี้จริง ในฐานะเป็นชาติที่เป็นเหตุให้เกิดมีชาตินี้ขึ้น
แต่พ่อแม่พี่น้อง ญาติมิตรในชาติก่อนนั้น หาได้เกิดพบกันทุกชาติไม่
ทั้งนี้ก็ขึ้นกับเงื่อนไขที่ว่า เมื่อพ่อแม่พี่น้อง ญาติมิตรนั้นๆ ได้ทำกรรมจะดีหรือไม่ก็ตาม หรือได้มีเวรต่อกันมา
กรรมและเวรอันนั้นแหละ ก็จะส่งผลให้เกิดมาพบกันในชาติต่อไป แต่จะทุกชาติหรือไม่ ก็แล้วแต่กรรมเวรที่จะก่อใหม่อีก

นัยยะตรงข้าม หากพ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตร มีความผูกพันกันเพียงสายเลือดซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ หาได้ทำกรรมดีกรรมชั่ว หรือผูกเวรกันไว้ไม่
อย่างนี้ก็ไม่มีสาเหตุอันใดที่จะทำให้ ไปเกิดพบกันอีก คือไม่มีกรรมเวรร่วมกันนั่นเอง
เรื่องกรรมเรื่องเวร เป็นเรื่องลึกซึ้งและละเอียดอ่อนมาก ยากที่จะอธิบายให้เห็นแจ้ง ด้วยหน้ากระดาษเพียงเท่านี้ได้
แต่ผู้สนใจในเรื่องนี้ศึกษา ได้จากตำราและจากการสังเกตชีวิตจริงของตนและของคนอื่น จะช่วยความเข้าใจได้มาก


เราอาจแบ่งบุคคลในกรณีนี้ ได้ ๓ ประเภทด้วยกัน คือ

๑. ประเภทดีด้วยกัน คือทั้งสองฝ่ายหรือทั้งหมดได้เคยทำบุญทำความดี สร้างบารมีร่วมกันมา เรียกว่ามีดีเท่ากันว่างั้นเถอะ
ประเภทนี้ก็มักจะเกิดมาดีด้วยกัน ได้ดีพอๆกัน
เช่น ตำนานเรื่อง มฆมาณพสร้างถนนสร้างศาลามาด้วยกัน กับพวกอีก ๓๒ คน ตายไปแล้วได้เสวยสุขอยู่บน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นต้น
ประเภทนี้ ความดีมีเท่ากัน จึงได้ดี ได้พบความดีมีสุขและเสวย ความดีอยู่ด้วยกันได้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้มีคุณธรรมเสมอกันนั่นเอง
ที่เห็นง่ายๆ ในประเทศนี้ก็คือ ถ้าเป็นสามีภรรยากัน สามีก็ดี ภรรยาก็ดี ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง กันเห็นอกเห็นใจกัน เรียกว่า ดีทั้งคู่
ถ้าเป็นพ่อแม่ลูกกัน ก็ดีทั้งพ่อ ทั้งแม่ ทั้งลูกพ่อแม่ก็รักลูก ทำเพื่อลูก และเป็นผู้นำที่ดีของลูก
ฝ่ายลูกก็เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เชื่อฟังตั้งอยู่ในโอวาท รักเคารพพ่อแม่ด้วยใจจริง
ถ้าเป็นเพื่อน ก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือกันด้วยน้ำใจ ไม่ชักชวนกันไปในทางเสียหาย เป็นต้น


๒. ประเภทเสียด้วยกัน คือ ทั้งสองฝ่ายเคยทำบาปทำกรรมร่วมกันมา มีความชั่วพอๆกัน ชอบเรื่องร้ายๆพอกัน
อย่างนี้ก็เกิดมาพบกันอีก และอยู่ด้วยกันได้ แม้จะลุ่มๆดอนๆก็ไม่ค่อยแยกกัน ถึงคราวสุขก็สุขด้วยกัน ถึงคราวทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกันได้
ประเภทนี้ก็เช่นกัน ถ้าเป็นสามีภรรยากันก็ประเภทหญิงร้ายชายเลวนั่นแหละ
หรืออย่างพวกนักเลงเที่ยว นักเลงพนัน นักเลงสุรา จนกระทั่งนักเลงปล้นจี้ เป็นต้น คือชอบอย่างเดียวกัน ย่อมไปด้วยกันได้


๓. ประเภทมีเวรต่อกัน
คือ ประเภทที่อีกฝ่ายหนึ่งอาจดี แต่อีกฝ่ายอาจเสีย ฝ่ายดีก็จะถูกฝ่ายเสียคอยรบกวน คอยรังควาน คอยทำลายอยู่เรื่อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม
อย่างกรณีที่ยกตัวอย่างมา เช่น บางรายพ่อแม่ดี แต่ลูกไม่ดี บางรายครอบครัวดี แต่บริวารนำความเดือดร้อนมาให้นั่นแหละ
กรณีอย่างนี้เกิดขึ้น เพราะทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยังผูกเวรจองกรรมไว้ จึงต้องมาพบกัน คอยขัดขวางกันอยู่ร่ำไป
ไม่ต้องอื่นไกลหรอก แม้แต่พระพุทธองค์ยังทรงมีมารคอยผจญ มีพระเทวทัตคอยทำลาย และมีนักบวชต่างศาสนาคอยล้างผลาญเลย

นี่แหละอำนาจของเวรล่ะ ลองได้ก่อไว้ หรือถูกก่อไว้ ก็เป็นได้ตามผจญกันไม่สิ้นสุดสักที ประดุจเวรของงูกับพังพอน เวรของกากับนกเค้า
และเวรของมนุษย์ผู้ถือตัวจัดในเรื่องศาสนากับผิวในปัจจุบัน

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ละเวรเสีย อย่างน้อยก็ด้วยการรักษาศีล ตั้งมั่นอยู่ในศีล เพราะศีลเป็นเวรมณี เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้หมดเวรได้
แม้อย่างกรรมก็เช่นกัน ไม่ว่าจะทำคนเดียว หรือร่วมทำกับใคร หากเป็นกรรมชั่วกรรมเสียแล้ว ท่านว่าไม่ควรทำทั้งนั้น

ที่มา agalico.com

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต


19
บทความ บทกวี / ชีวิตเป็นของเรา...
« เมื่อ: 18 ธ.ค. 2553, 09:27:24 »
                                                            ชีวิตเป็นของเรา...

เราสามารถวาดฝันและลิขิตให้เป็นไปได้...
เช่นเดียวกับวิศวกร....
แต่แตกต่างกันที่วิศวกรออกแบบถนน..
โดยพยายามเลี่ยงอุปสรรค...
ส่วนมนุษย์ออกแบบชีวิต..
โดยการเผชิญกับอุปสรรคที่ขวางกั้น...

ถ้าจะเปรียบกับนักเดินทาง...
การตัดสินใจ...
และการกระทำที่ถูกต้อง...
ก็เหมือนกับการวางแผน..
เลือกเส้นทางที่ถูก..
ทำให้ไม่อ้อมค้อม..หรือพลัดหลงทาง...

คนเป็นจำนวนมาก...ดำเนินชีวิตไปตามยถากรรม...ไปวัน ๆ...
โดยไม่มีการวางแผนชีวิต..
เพื่อเป็นแปลนไปสู่ความสำเร็จ...
และที่แย่ไปกว่านั้น...
ก็คือ...ยอมให้คนอื่นมาบงการชีวิต..

หรือไม่ก็ลอกเลียนแบบเอาอย่างคนอื่น..
เพื่อหลอกลวงว่า...
ตนเอง...มีความสุข...

การประเมินหรือกำหนดคุณค่า...ของตนเอง..
ขึ้นอยู่กับ... “ระดับการนับถือตนเอง”....
และ... “ความเชื่อมั่นในตนเอง”....
ถ้าราปล่อยให้ความเชื่อมั่น...
ความนับถือ...ตนเอง...ของเรา...
แบบขึ้น ๆ ลง ๆ ...
ตามความคิดของคนอื่น...
นั่นเพราะ...
เราไม่สามารถประเมินค่าตนเองได้ถูกต้อง...

ทิศทางของเส้นทางชีวิตของเรา...
ถูกกำหนดโดยคนอื่น...
เราจึงไม่สามารถ..ยืนหยัด..อยู่ได้ด้วยตนเอง...

การรู้จักคุณค่า..
และความสามารถของตนเอง..
จะทำให้เรา...สามารถสร้างหนทาง...
สู่จุดหมายที่เราใฝ่ฝันได้....


ดังนั้น...คุณสมบัติของผู้ที่จะประสบความสำเร็จ..
จะต้องประกอบด้วย..
>>>…ความตั้งใจแน่วแน่
>>>…ความมั่นใจ...ความต้องการที่จะพัฒนาตนเอง...
>>>…และเปิดกว้าง..พร้อมที่จะศึกษาและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ...


และขอให้เราพึงระลึกอยู่เสมอว่า...
เราสามารถทำได้...
ตราบใดที่เรา...ยังมีลมหายใจอยู่...


บทความ..โดย..ชายน้อย..
 ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด tamdee.net

20
              เรื่องเล่ากฏแห่งกรรม ตอน กรรมของผู้ทำลายพระพุทธรูปและอภินิหารเปลี่ยนศาสนา


วันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนรุ่นพี่จากฝั่งธนบุรี บอกว่าอยากจะให้ไปพบกับเรื่องที่ประหลาดมหัศจรรย์ ด้วยมีนายทหารผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง มีความประสงค์จะให้ข้าพเจ้าไปพบกับ “ท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสวัดหนึ่งทางฝั่งธนบุรี”

เมื่อข้าพเจ้าทราบความประสงค์เพื่อนรุ่นพี่แล้ว ตกลงนัดวันเวลาที่จะไป ครั้นถึงวันนัดจำได้ว่าเป็นวันเสาร์ ข้าพเจ้าจึงได้เดินทาง โดยมีนายทหารผู้นั้นพร้อมด้วยภรรยาของท่านเป็นผู้นำทาง และรถของข้าพเจ้าพร้อมทั้งคุณพี่กับภรรยาเป็นผู้ตาม วันนั้นเราได้ไปถึงวัด และขึ้นไปบนกุฏิท่านเจ้าคุณ แล้วก็ได้พบท่านผู้มีเกียรติหลายท่านมาคอยพบท่านเจ้าคุณอยู่ก่อนแล้ว

ปรากฏว่าท่านเจ้าคุณไม่อยู่ในที่นั้น ได้ทราบว่าท่านได้ลงไปฉันเพลที่ศาลา เนื่องในวันเกิดหรืองานมงคลอะไรข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ เราได้รับการแนะนำให้รู้จักกับท่านที่รอคอยท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาส เมื่อได้สนทนาก็ได้ทราบว่า ท่านผู้มีเกียรติเหล่านั้น ได้ติดตามอ่านหนังสือ “กฎแห่งกรรม” หรือ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” มาแล้วทุกท่าน ข้าพเจ้าตอบขอบคุณที่ท่านได้สนใจในหนังสือของข้าพเจ้า และได้ให้การสนับสนุน

บนกุฏิท่านเจ้าคุณมีพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก ท่านผู้ที่นำข้าพเจ้าไปนั้น ได้ชี้ให้ดูพระพุทธรูปสององค์ขนาดคนยืนสองข้าง สูงต่ำเท่ากัน ท่านได้อธิบายว่า

“พระพุทธรูปสององค์นี่แหละ ผมมีความประสงค์จะให้มารู้มาเห็น และทราบประวัติจากท่านเจ้าคุณหลวงพ่อ ผมจะเล่าเองก็คงจะได้เนื้อความไม่ละเอียดนัก อยากจะให้มาพบและได้ทราบจากปากคำของหลวงพ่อ นำไปนึกไปคิดก็คงจะได้เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อไป”

ข้าพเจ้าตอบขอบคุณที่ได้กรุณาสละเวลา ที่ท่านได้เห็นประโยชน์ส่วนรวม เมื่อข้าพเจ้าได้ก้มลงกราบนมัสการพระพุทธรูปทั้งสองแล้ว ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วยความเคารพ และทราบถึงความศักดิ์สิทธิ์แฝงอยู่ในพระองค์ท่าน

ไม่ช้าท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสได้ขึ้นมาบนกุฏิ เมื่อได้รับคำแนะนำแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้นมัสการท่านด้วยเคารพ ถามถึงพระพุทธรูป ท่านเจ้าคุณได้กรุณาชี้แจงให้ทราบ และได้อธิบายถึงประวัติการเป็นมาของพระพุทธรูปทั้งสอง เมื่อย้อนหลังจากวันที่ข้าพเจ้าได้ไปพบสนทนากับท่านเจ้าคุณประมาณ ๔ - ๕ ปี ได้มีผู้นำพระพุทธรูปท่อนล่างมาถวายท่าน

พระพุทธรูปองค์นี้ได้ถูกเลื่อยเป็นสองท่อน ส่วนท่อนบนเขานำไปขายให้ฝรั่ง ท่านเจ้าคุณได้รับพระพุทธรูปท่อนล่างไว้ด้วยความสังเวชใจ ที่มนุษย์ในยุคนี้ช่างมีจิตใจโหดร้าย แม้พระพุทธรูปเป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวไทยทั้งชาติ ก็ยังทำลายเพื่อเห็นประโยชน์ส่วนตัว ไม่ได้นึกถึงเวรกรรมบุญบาปที่จะตามสนอง มิไยที่จะมีผู้โกรธแค้น เมื่อใครรู้ใครด่า ใครรู้ใครแช่ง มนุษย์ใจร้ายเหล่านั้นจะอยู่ด้วยความสุขได้อย่างไรท่ามกลางคนสาปแช่ง

เมื่อท่านเจ้าคุณได้พระพุทธรูปท่อนล่างมาแล้ว ท่านก็ได้จัดการบูรณะ โดยจัดการหล่อพระเศียรติดต่อเชื่อมส่วนบนให้สมบูรณ์เป็นองค์พระตามเดิม แล้วตั้งไว้เคารพบูชาบนกุฏิท่าน แต่แล้วต่อมาไม่นาน ท่านผู้นำพระพุทธรูปส่วนล่างมาถวายนั้นก็ได้นำพระพุทธรูปส่วนบนมาถวายท่านอีก แต่ท่อนล่างท่านก็ได้บูรณะหล่อส่วนบนให้เป็นองค์สมบูรณ์แล้ว แต่คราวนี้เมื่อได้ส่วนบนมา ท่านก็ต้องบูรณะส่วนล่างเชื่อมติดต่อกับส่วนบนให้สมบูรณ์เช่นเดียวกัน

ฉะนั้น จึงเกิดเป็นพระพุทธรูปยืนสององค์ ยืนเด่นอยู่บนกุฏิท่านเจ้าคุณในหมู่พระพุทธรูปจำนวนมาก ที่ตั้งไว้บูชา ผู้ที่ได้ขึ้นไปบนกุฏิท่านเจ้าคุณก็จะพบเห็นทุกท่าน ประวัติของพระพุทธรูปยืนทั้งสองนี้มีว่า

ทางพระนครมีผู้นำพระพุทธรูปมาเลื่อยท่อนล่างออกแล้ว ก็นำเอาท่อนบนไปขายให้ฝรั่ง ซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยผู้หนึ่งเพื่อสะดวกที่จะนำออกนอกประเทศ ถ้าจะนำไปทั้งองค์ก็ไม่สะดวก ฉะนั้นเมื่อเลื่อยท่อนบนไปขายแล้ว ส่วนท่อนล่างก็ไม่สนใจทิ้งไว้ข้างบ้าน คนข้างบ้านเห็นแล้วก็สังเวชใจยิ่งนัก จึงขอนำมาถวายท่านเจ้าคุณที่ท่านผู้นี้เคารพ แต่เหตุการณ์ก็มิได้สุดสิ้นลงเพียงนี้

ต่อมาเวลาผ่านไป วันหนึ่งผู้ที่เลื่อยพระพุทธรูปไปธุระในซอยแห่งหนึ่งในเขตพระนคร เมื่อรถที่นั่งไปนั้นออกจากซอยก็ชนกับรถอีกคันหนึ่งอย่างแรง รถพังยับเยินลงที่ปากซอย ทำให้ผู้ฆาตกรรมพระพุทธรูปผู้นั้นนั่งมาด้วย ต้องรับบาดเจ็บสาหัสหนังหัวถลกมาข้างหน้า ความเจ็บปวดทำให้ร้องครวญครางออกมาอย่างเวทนา ทำให้ผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์ครั้งนั้นอดสังเวชและสงสารมิได้ เพราะเห็นกิริยาแสดงถึงอาการปวดร้าว ไม่สามารถจะทนอยู่ได้ ดิ้นรนทุกข์ทรมาน ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้พยายามช่วยเหลือผู้บาดเจ็บสาหัสผู้นั้น เพื่อรีบจัดส่งโรงพยาบาลด่วน คนป่วยบิดตัวหน้าเบี้ยวบูดด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว ร้องไห้ครวญครางเหมือนทารก พิษบาดแผลสาหัส ทำให้คลั่งเพ้อร้องออกมาว่า

“ผมเจ็บปวดทนไม่ไหวแล้ว ขอกรุณาเอาเลื่อยมาเลื่อยหน้าอกที” คนป่วยร้องย้ำคำว่า “ขอเลื่อยหน้าอกที ผมทนไม่ไหวแล้ว เลื่อยหน้าอกทีๆ ๆ ผมทนไม่ได้มันทรมานเหลือเกิน”

ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ในเวลานั้น ต่างก็รู้ว่าบุคคลเคราะห์ร้ายผู้นี้ ต้องทนทุกข์ทรมานเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสจากขั้วหัวใจจนน้ำตาไหลอาบหน้า ทั้งกิริยาท่าทางและการดิ้นรนตลอดจนหน้าตาบิดเบี้ยว ก่อนร้องคำแรกก็แผ่วเบา แล้วก็ค่อยดังขึ้นจนที่สุดก็ตะโกนออกมา ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครทราบว่า คำพูดที่ตะโกนออกมานั้นหมายความว่าอะไร บางคนคงจะเข้าใจว่าเป็นเพราะความเจ็บปวดเพ้อคลั่ง อยากให้เลื่อยกายออกสองท่อน เพื่อจะได้ตายเร็วขึ้น เพื่อให้พ้นความทุกข์ทรมาน และบางคนอาจคิดว่าคงจะเป็นเพราะพิษบาดแผลทำให้หมดสติ แล้วพูดอะไรออกมาโดยไม่รู้สึกตัว

ฉะนั้น คำพูดจึงไม่มีความหมายสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้เบื้องหลังชีวิตของบุคคลผู้นี้ เมื่อได้เห็นได้ยินก็เพียงให้ความสมเพชสงสาร ที่บุคคลผู้นี้ได้ประสบเคราะห์กรรมแล้ว ความรู้สึกก็ผ่านไปไม่รู้สึกแปลกประหลาดอันใด และบางท่านที่ใจอ่อนผ่านมาก็ไม่กล้าดู ไม่กล้าฟังคำโอดครวญของคนป่วย เพราะกลัวจะเป็นลม เมื่อเห็นเลือดต้องหันหน้าไปทางอื่นรีบผ่านไป

หากมีผู้ที่ติดตามไปรู้เบื้องหลังบุคคลผู้นี้แล้ว คงจะตื่นเต้นทุกคำพูดเขย่าขวัญเสียดแทงเข้าไปในความรู้สึก เพราะในชีวิตของผู้สร้างกรรมของบุคคลผู้นี้ ที่สุดก็หนีกรรมที่ตนประกอบขึ้นไม่พ้น ทำให้น่าคิดในชีวิตของบุคคลทำชั่วทั่วๆ ไป หากได้มีโอกาสได้ติดตามชีวิตถึงบั้นปลายของบุคคลผู้นี้ ก็คงจะได้พบสิ่งแปลกๆ และอัศจรรย์อีกมาก
เหตุการณ์เกิดขึ้นครั้งนั้น ได้ทราบถึงฝรั่งผู้ได้ซื้อพระพุทธรูปท่อนบนไว้ เมื่อได้มีผู้เล่าให้ฟังเหตุเกิดขึ้นแก่ผู้เลื่อยพระพุทธรูป ฝรั่งผู้นี้ก็เกิดตกใจกลัวหวาดภัยที่อาจเกิดขึ้นแก่ตัวต่อไป จึงรีบไปพบท่านผู้ที่นำพระพุทธรูปส่วนล่างไปถวายท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาส แล้วหวังจะมอบพระพุทธรูปส่วนบนที่ตนได้เสียเงินซื้อมาด้วยราคาสูง หวังจะส่งไปประเทศของตน ก็ต้องเลิกล้มความคิดรีบนำมามอบให้ท่านผู้นั้น เพื่อจะได้นำไปถวายท่านเจ้าคุณประกอบกับท่อนล่างให้เป็นองค์พระสมบูรณ์ตามเดิม แล้วจึงทราบว่าท่อนล่างได้บูรณะแล้ว ก็อยากจะนำไปให้พ้นบ้านเพราะความกลัว และบอกว่าเข็ดแล้วจะไม่ขอแตะต้องพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป ทั้งได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในบ้านให้ฟังว่า

นับตั้งแต่แกได้นำพระพุทธรูปครึ่งองค์ที่เลื่อยครึ่งท่อนมาไว้ในบ้าน เหตุการณ์แปลกๆ ก็เกิดขึ้น ในความรู้สึก แต่ก่อนที่จะนำพระพุทธรูปเข้ามาในบ้าน ครอบครัวของแกเคยได้รับความสุข บุตรและภรรยามีแต่ความสนุกเบิกบานร่าเริง เมื่อนำพระพุทธรูปครึ่งท่อนบนเข้ามาอยู่ในบ้านแล้ว ก็เปลี่ยนแปลงภาพตรงกันข้าม ภายในบ้านเกิดปั่นป่วน ประเดี๋ยวคนนั้นป่วยคนนี้ป่วยไม่ว่างเว้นจากโรคภัย ความรู้สึกมีแต่ความเคร่งเครียด จิตใจไม่มีสบายอยู่ตลอดเวลา มองดูอะไรไม่ถูกใจไม่ถูกตา สิ่งที่ไม่น่ามีเรื่องก็มี มีแต่ความทุกข์หนักอยู่ในอก ไม่มีความสงบสุข

พอมารู้ข่าวคนที่เลื่อยพระพุทธรูปขายให้แก ก่อนตายร้องตะโกนให้เลื่อยหน้าอกก็เกิดความตกใจหวาดหวั่น นึกถึงความปั่นป่วนในครอบครัว แล้วนึกถึงพระพุทธรูปองค์นี้คงจะให้โทษแน่ เมื่อยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นชัดเจนขึ้น และบัดนี้แกก็ยิ่งหนักใจ เมื่อได้รับความตำหนิติเตียนในการงานว่าบกพร่องไม่เหมือนแต่ก่อน ทางการต่างประทศของแกได้มีคำสั่งให้แกกลับไป

แกเชื่อแน่ว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นนี้คงเป็นด้วยอภินิหารของพระพุทธรูปที่แกซื้อมา ไม่มีข้อสงสัย แกไม่ยอมนำพระพุทธรูปนี้ไปด้วย ฉะนั้นท่านผู้นั้นจึงรับพระพุทธรูปที่ฝรั่งฝากมาถวายท่านเจ้าคุณ แล้วท่านก็บูรณะให้สมบูรณ์อีกองค์หนึ่ง ดังที่ข้าพเจ้าได้เห็นในกุฏิท่าน

เรื่องอภินิหารของพระพุทธรูปนี้ ข้าพเจ้าได้พยายามพิจารณาหาเหตุผลคิดแล้วคิดอีกว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ท่านมีแต่ความเมตตากรุณา มุ่งหวังจะนำสัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นห้วงมหันตทุกข์ หลุดพ้นเวียนว่ายตายเกิด ไปสู่ความสุขสงบ พระองค์ไม่เป็นโทษภัยผู้ใด มีแต่ทรงสั่งสอนให้ประกอบแต่กรรมดี

แต่เหตุใดจึงให้โทษแก่ผู้ที่ทำลายพระพุทธรูป ข้อนี้เห็นจะเป็นเหตุเพราะพวกเทพหรือเทวดาอารักษ์ หรือวิญญาณต่างๆ ที่ได้รักษาองค์พระพุทธรูป เป็นผู้คอยคุ้มครองเกิดความเคียดแค้นที่มีมารศาสนามาทำลายพระพุทธรูป ซึ่งเป็นที่เคารพบูชากราบไหว้ของมหาชนที่นับถือทั่วไปก็เป็นได้ นี่ก็เป็นไปตามกฎแห่งกรรม ใครจะทำดีชั่วย่อมเกิดผล แม้พระท่านจะไม่เอาโทษ ธรรมชาติของหลักกรรมก็ไม่ยกเว้น

เมื่อได้พยายามนึกว่า พระพุทธศาสนาพิจารณาดูทุกแง่ทุกมุมก็มีแต่ให้ความร่มเย็นเป็นสุข ด้วยความเมตตากรุณาปรานีไม่ว่าคนดีคนชั่วและสัตว์ทั้งหลาย มุ่งหวังสอนให้ประชาชนชาวโลกประกอบกรรมดี สละทิ้งความชั่ว มิได้ให้ร้ายเป็นภัยให้โทษผู้ใด ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงครั้งหนึ่งได้เคยอ่าน “บันทึกเรื่องของคุณพาณี รัตนสมบัติ” เป็นหนังสือพิมพ์แจกในงานศพ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๐๗

ข้าพเจ้ามีความสนใจเรื่องที่คุณพาณีหมดลมหายใจไปแล้วสามครั้ง ตายอย่างอวัยวะส่วนต่างๆ หยุดทำงานตัวเย็นชืด แต่แล้วกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมา และเหตุการณ์ที่ได้ประสบมาในระหว่างจิตดับได้เข้าไปในเขตดินแดนเมืองสวรรค์ โดยมีรถที่สวยงามมีผู้คนแวดล้อมพาไป และก่อนที่คุณพาณีจะหมดลมนั้นก็รู้ล่วงหน้าทุกครั้ง แต่สิ่งที่ประทับใจข้าพเจ้าในหนังสือฉบับนั้น ก่อนตอนต้นที่คุณพาณีได้ตัดสินใจจากประสบการณ์ในนิมิต เปลี่ยนใจจากการนับถือศาสนาคริสต์มานับถือศาสนาพุทธด้วยแรงอธิษฐาน

เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านแล้ว ก็เกิดสนใจในชีวิตอันประหลาดมหัศจรรย์ของคุณพาณีมาก รู้สึกมีความเลื่อมใสอยากจะติดตามเรื่องนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถจะติดตามเรื่องนี้ได้ เพราะข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักกับญาติของคุณพาณีพอที่จะให้ความกระจ่างแจ้งในเรื่องนี้ ก็ได้แต่เก็บความสนใจเรื่องนี้ไว้ในความรู้สึก หวังคอยเวลาและโอกาสข้างหน้า

แต่แล้วต่อมาเมื่อเทศกาลกฐินปี ๒๕๐๙ ข้าพเจ้าได้ไปงานทอดกฐินที่วัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีผู้แนะนำให้รู้จักกับ คุณสาย รัตนสมบัติ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักท่านผู้นี้มาก่อนเลย นับว่าเป็นโชคดีโดยบังเอิญ ข้าพเจ้าเรียนถามถึงคุณพาณี ตามที่ข้าพเจ้าได้อ่านในหนังสือบันทึกที่พิมพ์แจก และอยากทราบนอกเหนือกว่านั้น คุณสายเป็นผู้ที่คุยสนุกได้กรุณาเล่าให้ฟังในเวลาตอนเลี้ยงอาหารเที่ยง ที่บนศาลาวัดประดู่ทรงธรรม หลังจากทอดกฐินแล้ว รวมทั้งผู้มีเกียรติอีกหลายท่าน เรามีเวลาสนทนากันไม่มากนักในระหว่างอาหาร และหลังอาหารเราก็ยังสนทนากันอีกนาน แต่ยังไม่สิ้นเรื่อง

ข้าพเจ้าจะขอย่อแต่ต้นเรื่อง คือ การเปลี่ยนศาสนาของคุณพาณี เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาไม่เป็นพิษภัยให้โทษแก่ใคร การที่คนใจชั่วทำลายพระพุทธรูปที่ได้รับภัยก็เป็นไปตามกฎแห่งกรรม ใครทำดีทำชั่วย่อมหนีไม่พ้นกรรมที่ทำไว้ คุณพาณีเคยอยู่โรงเรียนกินนอนมาแต่เด็กๆ ได้ถูกอบรมให้ถือศาสนาคริสต์ไปด้วย เมื่อกลับมาอยู่บ้านก็แยกเป็นสองศาสนา คือ มีพุทธและคริสต์ในบ้านเดียวกัน แต่ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาเสรี ก็มิได้รังเกียจใครจะถือศาสนาใดก็เข้ากันได้ ให้ความรักใคร่เอ็นดู เห็นอกเห็นใจเช่นเดียวกันไม่ลบหลู่ดูหมิ่น เพราะเห็นว่าทุกศาสนาสอนให้คนทำความดีแต่คุณพาณีไม่สบายใจ เพราะปัญหาเรื่องศาสนาที่ต้องแยกกันนับถือในบ้านเดียวกัน ตัดสินใจไม่ถูก เพราะมองเห็นดีทั้งศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ แต่เมื่ออยู่บ้านเดียวกัน ก็ควรจะนับถือศาสนาเดียวกัน จะได้มีจิตใจร่วมสามัคคีสนิทเพื่อความสุขทางครอบครัว ถ้าคนละศาสนาจะทำอะไรก็ต้องคอยระวัง เกรงว่าจะกระทบกระเทือนจิตใจกัน ต้องคอยถนอมน้ำใจกันตลอดไป คุณพาณีคิดว่าถ้าถือพุทธก็ควรจะถือกันทั้งหมดบ้าน ไม่ควรจะถือแยกกัน แต่ก็คิดไม่ตกว่าจะชวนคนในบ้านให้นับถือคริสต์ทั้งหมด หรือตนเองจะร่วมนับถือพุทธด้วย

แล้วคืนหนึ่งก่อนเข้านอนก็ตัดสินใจว่า คืนนี้จะขออธิษฐานให้พระพุทธเจ้า และพระเยซูเจ้า ขอให้มาแสดงอภินิหารต่อสู้กัน ถ้าฝ่ายใดชนะก็จะตัดสินใจเด็ดขาดยอมนับถือศาสนานั้น ไม่มีข้อสงสัยใดๆ อีก มุ่งหน้าปฏิบัตินับถือตลอดไป

ฉะนั้น ก่อนนอนจึงบูชาอ้อนวอนบอกกล่าวถึงความประสงค์ ทั้งฝ่ายพระเยซูคริสต์และพระพุทธเจ้าตามที่ตนปรารถนาไว้ เมื่อตัดสินใจเด็ดขาด ในคืนนั้นก่อนสว่างเกิดฝันเห็นพระสงฆ์สูงอายุห่มจีวรเก่าๆ มายืนเทศน์อยู่ที่หัวนอนว่า

“ดูก่อนสีกา การที่ประสงค์จะให้พระเยซูคริสต์กับพระพุทธเจ้า มาแสดงอภินิหารหรือใช้กำลังชิงชัยต่อสู้กันนั้น ทางพระพุทธศาสนาไม่มีการสอนให้ต่อสู้ ผิดศีล ศาสนาพุทธมีแต่สอนให้มีความเมตตากรุณา สอนให้จิตใจสงบจะเกิดสุข สอนไม่ให้เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สอนให้ละความชั่วสร้างความดี ให้ทำบุญสร้างกุศลเป็นทางละความโลภ โกรธ หลง นำไปสู่ความร่มเย็น ศาสนาพุทธมีแต่ชี้ทางให้ปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธองค์ เพื่อจะกำจัดกิเลสตัณหา ฟอกจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์ มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์”  
                                                                                                                                                                       รุ่งเช้า คุณพาณีได้เล่าเรื่องนี้ให้คุณแม่ฟังว่า ในฝันได้พบพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ได้บอกถึงศาสนาพุทธไม่มีการต่อสู้มีแต่ความสงบ แต่พระเยซูคริสต์ไม่ปรากฏว่ามา

คุณแม่บอกว่า “พระท่านมาโปรดแล้ว เป็นนิมิตที่ดีควรจะตัดสินใจเคารพนับถือพระพุทธศาสนา” และวันนั้นคุณแม่ก็นำตัวคุณพาณีไปที่วัดพระแก้ว พร้อมด้วยดอกไม้ ธูป เทียนให้ถวายตัวเป็นลูกพระแก้วมรกต เริ่มฟังธรรมและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ได้ศึกษาธรรมและทำสมาธิจนเกิดอำนาจจิตขึ้นอย่างอัศจรรย์ นี่ข้าพเจ้าได้ย่อมาจากหนังสือและคำบอกเล่าของคุณสาย รัตนสมบัติ

ขอเพียงยกตัวอย่างในเรื่องนี้ให้เห็นว่า พระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าท่านเปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตากรุณา มีแต่ให้คุณไม่มีให้โทษให้ร้ายต่อใคร แต่พวกทำลายพระพุทธรูปเพื่อหาประโยชน์ใส่ตนนั้นเหมือนถูกสาป ถ้าได้มีโอกาสติดตามอย่างใกล้ชิดก็จะรู้เห็นว่าพวกนี้จะทำอะไรก็ไม่เจริญรุ่งเรือง มีแต่ตกต่ำเสื่อมทรามลง บั้นปลายของชีวิตก็พบจุดจบด้วยกรรมตามสนอง

หากยังมีผู้ใดสงสัยในเรื่องกรรม ก็ขอให้ไปนมัสการถามพระคุณเจ้าท่านเจ้าอาวาสวัดโพธินิมิตร ฝั่งธนบุรี ท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสผู้ทรงคุณธรรมสูงพร้อมด้วยเมตตากรุณา คงจะประทานความรู้เรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วหลายเรื่อง และจะได้มนัสการพระพุทธรูปยืนสององค์ซึ่งอยู่บนกุฏิของท่าน เป็นต้นเรื่องที่ข้าพเจ้านำมาเล่า เมื่อรู้เรื่องของกรรมดีแล้วจะได้มีโอกาสสำรวมสติตั้งใจเป็นสมาธิ และระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ด้วยอำนาจกุศล จิตใจเราผ่องใส เกิดความร่มเย็นเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง ด้วยหลักธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้มีแต่ความสงบสุขตลอดไป

มารศาสนา
โดย ท.เลียงพิบูลย์

จากหนังสือกฎแห่งกรรม
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เล่ม ๑

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

21
                                           คนที่ใช่ กับคนที่ใช่กว่า

คนที่ใช่..กับ..คนที่ใช่กว่า


บังเอิญไปอ่านเจอมา แล้วต้องบอกว่าชอบๆๆๆๆๆๆๆๆๆ เลยเอามาแบ่งปันค่ะ

เรามีเรื่องของคู่รัก 2 คู่มาเล่าให้ฟัง …

ทั้ง 2 คู่ต่างก็เป็นคู่รักที่รักกันมาก ดูแลเอาใจใส่และเข้าอกเข้าใจกันมานาน 7- 8 ปี
เป็นคู่รักที่คนรู้จักต่างก็แน่ใจว่า อีกไม่นานก็คงได้ยินข่าวดีจากคู่รัก 2 คู่นี้แน่ๆ


แต่แล้ววันนึงก็เกิดเหตุการณ์เดียวกันขึ้นกับคู่รักท ั้ง 2 คู่

….. เมื่อฝ่ายชายก็ได้พบใครใหม่ที่คิดว่า 'ใช่' มากกว่า ผู้หญิงคนใหม่ที่สวยกว่าและมีเสน่ห์มากกว่า
ฝ่ายชายตัดสินใจคบดูใจด้วย โดยที่ยังไม่เลิกกับคู่รักเดิม …. ยิ่งคบเขาก็ยิ่งรู้สึกว่าใช่

ผู้หญิงคนใหม่ที่คบกันมา 2 - 3 เดือน กับคนรักคนเดิมใน 7- 8 ปีที่ผ่านมา เริ่มถ่วงดุลน้ำหนักที่เท่ากันบนตาชั่งการตัดสินใจของเขา

ทายสิว่า ชายหนุ่มทั้งคู่เลือกใคร


เขาทั้งคู่เลือกผู้หญิงคนใหม่ ….


สิ่งที่ผู้ชายทั้งคู่ต่างหยิบยกมากล่าวถึงก็คือ คนรักคนเดิมที่่เคยคบด้วย มีอะไรบางอย่างที่?? เขาไม่ค่อยชอบใจ
อาจจะเป็นนิสัยส่วนตัวบางประการ แต่ในขณะที่คบกันมานั้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาพอรับได้
เมื่อเทียบกับความดีอื่นๆ ที่เธอทำให้เขา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักอย่างหมดใจที่เธอมีให้เขา

แต่วันนึงที่พบผู้หญิงคนใหม่ อะไรที่เคยทนได้ก็กลับทนไม่ได้ขึ้นมา โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงคนใหม่ไม่ได้มีข้อเสียในจุดนั้น เหมือนคนรักเก่


แต่ข้อแตกต่างอยู่ที่ … [/size] ผู้ชายคนที่ 1 ถูกคนรักของเขาจับได้เองว่าเขามีผู้หญิงคนใหม่ และเมื่อขาบอกว่าเ ขาเลือกผู้หญิงคนใหม่ เขาให้เหตุผลว่า

' เขาดีกว่าคุณทุกอย่าง เขาคอยดูแลผม เขาเข้าใจผม(และที่สำคัญเขาสวยกว่า และใหม่กว่าคุณด้วย) '

ส่วนผู้ชายคนที่ 2 … เลือกสารภาพกับคนรักว่า


' ผมเป็นคนผิดเองที่นอกใจคุณ แต่คนที่ผมเลือกก็เป็นเขา ขอโทษนะ ผมผิดเอง ขอโทษจริงๆ'

ถามคุณว่า ถ้าต้องเลือกระหว่างการปฏิบัติของผู้ชาย 2 คนนี้ …. แบบไหนที่ดูเป็น ' ลูกผู้ชาย' มากกว่ากัน


แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ถ้ามีทางเลือก … ผู้หญิงเราคงไม่เลือกสักทาง จริงไหม เพราะถ้าเราเลือกได้จริงๆ เราก็ขอเลือกให้เขามีเราคนเดียวมากกว่า
เราเชื่อว่า สิ่งที่คนส่วนใหญ่(อาจจะไม่ทุกคน … แต่ก็เชื่อว่าเป็นจำนวนมาก) ต้องการมากที่สุดในการตัดสินใจที่จะรักและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับใครสักคนแล้ว
'ก็คือความจงรัก' และ'ภักดี'

คุณทมยันตี เคยกล่าวถึงคำทั้ง 2 คำไว้ และเราสรุปเป็นใจความได้ว่า ' จงรัก' อาจจะมากมายในวัยหนุ่มสาว อาจจะร้อนแรง อาจท่วมท้นในยามแรกรัก!
แต่วันนึงอาจจะจืดจางได้ตามกาลเวลา แต่คนรักคู่ใดๆในโลกก็มักเริ่มชีวิตคู่ด้วยคำๆ นี้ แต่
'ภักดี' นั้นชั่วชีวิต
ความจงรักหรือความรักนั้น เราเชื่อว่ามันไม่เข้มข้น ร้อนแรงตลอดไปก็จริง แต่มันคงเหลืออวลไอเป็นใยบางๆ ไว้ตราตรึงใจบ้างกระมังในยามที่เราหวนนึกถึงมัน
แต่การที่คนสองคนอยู่กันมานานแสนนานขนาดนี้ ย่อมต้องมีความผูกพัน ความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจซึ่งกันและกันบ้างไม่มากก็น้อย

สิ่งที่เราเห็นจากคู่รักทั้ง 2 คู่ก็คือ
… ฝ่ายชายหมดความ 'จงรัก' ลงไป แต่ความรู้สึกอื่นๆ ล่ะ ความผูกพันของคนสองคน
ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าอกเข้าใจที่เคยมี มันไม่เหลือพอที่จะผูกใจเขาให้อยู่กับเราแล้วหรือ

คู่รักทั้ง 2 คู่ เป็นคู่ที่เรารู้จักดีทั้ง 2 คู่ ตอนที่เขารักกัน เขาก็รักกันมาก เขาดูแลกันเป็นอย่างดี ตอนนี้เมื่อถึงจุดแตกหัก
เราพอรู้ว่าฝ่ายหญิงจะเป็นอย่างไร พอเข้าใจว่าผู้หญิงที่รักและภักดีต่อฝ่ายชายแต่เพียง ผู้เดียวจะรู้สึกอย่างไร

ผู้หญิง 1 ใน 2 คนนี้บอกกับฝ่ายชายตอนที่เขามาขอเลิกว่า

' ไม่เป็นไร ฉันจะอยู่กับคุณก่อน จะอยู่ดูแลคุณอีกสักพักเพราะตอนนี้
คนรอบข้างคุณและ! เพื่อนๆ ของเราไม่ค่อยมีใครอยู่ข้างคุณแล้ว
พอเพื่อนๆ ของเรายอมรับผู้หญิงคนใหม่ของคุณได้แล้วฉันก็จะไป'


แต่ฝ่ายชาย เราไม่รู้ว่าตอนนี้เขาจะคิดอย่างไร

อาจจะกำลังมีความสุขกับผ ู้หญิงคนใหม่ ความรักอาจกำลังท่วมท้น
อาจกำลังวางแผนสร้างอนาคตที่สดใสกันอยู่ เขาอาจจะมีความรักที่รุ่งโรจน์กว่าที่ผ่านมาก็เป็นได้

เราก็หวังไว้แต่ว่าวันนึง เขาคงจะไม่เจอคนที่ 'ใช่มากกว่า' อีก เพราะนั่นหมายถึง ผู้หญิงที่ต้องเสียใจจะเพิ่มขึ้นอีก 2 คน

ถ้าเราคิดจะมองหาคนที่ถูกใจ คนที่ ' ใช่ ' คุณเชื่อไหมว่า เราหาได้เกือบชั่วชีวิต
แต่คนที่จะตรงใจคุณจริงๆ นั้น ไม่มีหรอก นอกจากคุณจะหยุดความต้องการที่ไม่มีข้อสิ้นสุดของตัว คุณเองลง




เราเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นมา ไม่ได้ต้องการบอกว่าใครผิดใครถูก แต่ต้องการให้คุณหยุดคิดสักนิดว่า
อะไรในชีวิตที่คุณต้องการ อะไรที่เป็นสิ่งที่ยั่งยืนกว่ากัน


มนุษย์เรา หากจะรักและคิดจะใช้ชีวิตร่วมกับใคร ก็คงจะต้องกา รเพียงแต่ ' เพื่อนคู่ชีวิต' สักคน
คนที่อยู่กับเราเสมอไม่ว่ายามทุกข์ยาก ลำบาก หรือผ่านความเป็นความตายมาด้วยกัน
คนที่มองเห็นข้อเสียและข้อผิดพลาดของคุณ แต่ก็ยังรักและยังอภัยให้คุณได้เสมอ คนที่พร้อมจะอยู่กับคุณ
แม้คุณจะกลายเป็นตาแก่หัวล้าน พุงยาน หนังเหี่ยว เขาก็พร้อมที่จะแก่เฒ่าไปพร้อมกับคุณ แต่คนที่ว่ามานี้

คุณมักลืมเขาในยามที่คุณยัง มีความสุขอยู่ ในยามที่ชีวิตของคุณยังเป็น 'ผู้เลือก' ที่ถูกห้อมล้อมด้วยผู้ถูกเลือกได้อยู่
ในยามที่คุณยังมีหน้าตา มีเครื่องประกอบชีวิตที่เป็นที่สนใจจากคนเหล่านั้นอยู่


คุณอาจจะต้องนึกถึงเขาอีกที ในยามที่คุณไม่มีใครแล้ว
ในยามที่คนที่คุณคิดว่า ' ใช่ ' เขาก็ไปกับคนใหม่ที่เขาก็คิดว่า ' ใช่ ' แล้วเหมือนกัน


  ขอบคุณที่มา  www.siamsouth.com

22
                                               มันไม่เที่ยง (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)


มันไม่เที่ยง
โดย หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ


พระ ท่านบอกว่ามันไม่ เที่ยง ของที่มันแตกได้มันก็ต้องแตก ของตายได้มันก็ต้องตาย ของที่มันอาจจะหายได้มันก็ต้องหาย มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ เอามาไว้เป็นเครื่องปลอบประโลมใจปลอบโยนใจไม่ให้เสียใจในเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้น เช่นว่าของที่เรารักตกแตก ถ้าเราไม่รู้ธรรมะก็ไปเสียดมเสียดาย บางทีก็ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับเอาเลยทีเดียวเพราะว่าของนั้นเก่าราคาแพง เราไปติดใจในสิ่งเหล่านั้น

แต่ถ้าเรานึกถึงธรรมะว่าสิ่งทั้งหลายมัน เปลี่ยนแปลงแล้วมันก็แตกได้ พอนึกได้อย่างนั้นมันก็สบายใจว่าโอ้ธรรมดามันเป็นอย่างนั้นนั่นแหละธรรมชาติ มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเราไปทุกข์มันจะได้อะไรขึ้นมา เราทุกข์ของนั้นมันก็ไม่คืนมา ของตายแล้วมันก็ไม่ฟื้น เช่นว่ามีใครตายขึ้นมาในครอบครัว แล้วเราไปนั่งร้องไห้อยู่หน้าศพ ร้องทำไมร้องไปศพก็ไม่ฟื้นแล้ว ตายแล้วไม่ฟื้นแล้วไปนั่งร้องไห้เสียน้ำตาเปล่าเป็นทุกข์ไปเปล่าๆ

ความจริงเราไม่ควรร้องไห้เราควรพิจารณาว่าคนเราเกิดมาแล้วชีวิตมันก็ไหล ไปเรื่อยๆ ผลที่สุดมันก็หยุดไหลมันก็เป็นอย่างนี้แหละ อย่าว่าแต่คนนี้เลยแม้แต่ตัวฉันเองวันหนึ่งก็ต้องเป็นอย่างนี้ เราหนีจากความเป็นอย่างนี้ไม่ได้ พอคิดได้อย่างนั้นก็หยุดร้องไห้ เพราะเกิดปัญญาเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเราก็ไม่ต้องนั่งร้องไห้ต่อไป

บางทีมันคิดไม่ได้คิดไม่ทันพอเจอปัญหาเข้าก็กระทบกระเทือนจิตใจ บางคนเป็นลมไปเลย เป็นลมเพราะคิดไม่ทันเพราะไม่ได้คิดไว้ก่อนนั่นเอง แต่ นี่พระพุทธเจ้าสอนให้เราคิดไว้ล่วงหน้า เช่นหลักธรรม ๕ ประการสอนให้คิดว่า เราต้องแก่เป็นธรรมดาหนีความแก่ไปไม่ได้ เราต้องเจ็บไข้เป็นธรรมดาหนีความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เราต้องตายไปวันหนึ่งหนีความตายไม่พ้น เราต้องพลัดพรากจากของรัก เราทำกรรมอย่างไรเราได้อย่างนั้น ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว

คิดไว้บ่อยๆ คิดไว้บ้างเป็นเครื่องเตือนใจ เป็นเครื่องช่วยให้เกิดปัญญารู้ว่าอะไรเป็นอะไร พอมีอะไรเกิดขึ้น เราก็...อ้อ มันเป็นอย่างนี้ธรรมชาติเป็นอย่างนั้นเอง ธรรมดาเป็นอย่างนั้นเองเราก็ไม่ต้องร้องไห้เพราะร้องไห้ก็ไม่ได้อะไรคืนมา เสียเวลาเปล่า

ในสมัยโบราณมีตัวอย่าง พ่อคนหนึ่งลูกตาย ลูกตายแล้วไปนั่งร้องไห้ที่ป่าช้าทุกวันๆ ที่หลุมศพ ลูกที่ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดาเพราะทำกรรมดี เห็นพ่อไปนั่งร้องไห้ที่หลุมศพในป่าช้าทุกวัน ก็อยากให้พ่อคิดได้ ก็เลยมาปรากฏตัวเป็นชายนั่งป้อนหญ้าให้วัวที่ตายแล้วอยู่ตรงปากทางที่พ่อจะ ไปป่าช้า เอาหญ้ามาป้อนเอาน้ำมาให้วัวที่ตายแล้วกิน แล้วบอกวัวว่าลุกขึ้นเถิดกินหญ้าที่ฉันนำมามอบไว้

พ่อเดินมาเห็นเข้าก็เลยถามว่า “เธอกำลังทำอะไร”

“กำลังเอาหญ้าให้วัวตัวนี้กิน”

“วัวมันตายแล้วเอาหญ้าให้กินได้อย่างไร มันจะกินได้อย่างไร”

“อย่าง นั้นหรือ ผมเอาหญ้าให้วัวตายกิน ท่านเอาอาหารไปให้ลูกชายที่ตาย วัวตายนอนอยู่ฉันเห็นตัวมัน แต่ลูกชายของท่านนี่ตายแล้วไปไหนก็ไม่รู้ ไม่เคยเห็นแล้วจะกินได้อย่างไร”

พอพ่อได้ยินอย่างนั้นพ่อก็ นึกขึ้นมาได้ว่า อ้อ..เรานี่มันไม่เข้าเรื่อง เอาอาหารไปวางให้ศพที่อยู่ใต้ดินมากินนี่มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็เลยรู้สึกตัวแล้วก็ไม่เศร้าโศก และไม่ทำอย่างนั้นต่อไป เกิดความละวางและความคิดที่ถูกต้องขึ้นมา

คนอื่นทำนี่เรามองเห็น ตัวเองทำนี่ไม่รู้ตัว โบราณเขาว่า “หัวเราแตกเรามองไม่เห็น แต่หัวคนอื่นแตกนี่เรามองเห็นง่าย”

มันไม่เที่ยง (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) : ศาลาธรรม
__________________
"สิ่งทั้งปวงมีเสื่อมและสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด"

        ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

23
                          พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววันที่ 5 ธันวาคม 2553


ในหลวงทรงให้คนไทยมีสติไม่ประมาท

ในหลวงพระราชทานพระราชดำรัส

"ขอขอบพระทัยและขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ที่มีไมตรีจิตพรั่งพร้อมมาให้พรวันเกิด รวมทั้งให้คำมั่นสัญญาโดยประการต่างๆ ข้าพเจ้าของสนองพร และไมตรีทั้งนั้นด้วยใจจริงเช่นกัน บ้านเมืองของเราเป็นปึกแผ่นมั่นคง และร่มเย็นเป็นปกติสุขสืบมาช้านาน เพราะเรามีความยึดมั่นในชาติและต่างร่วมแรงร่วมใจกันบำเพ็ญกรณียกิจต่างๆ ตามหน้าที่โดยถือประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นเป้าหมายสูงสุด

 ท่านทั้งหลายในมหาสมาคมนี้ ตลอดจนคนไทยทุกหมู่เหล่าจึงควรจะได้ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่างแล้วตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ด้วยความไม่ประมาท และด้วยความมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพราะการกระทำโดยไม่ประมาทขาดความรอบคอบ เป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาดเสียหายในหน้าที่ และการกระทำโดยขาดสติยั้งคิด ขาดเหตุผลความรู้จักถูกผิดนั้น เป็นเหตุให้เกิดความหลงความลืมตัว นำพาให้กระทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่โดยชอบได้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก อาจนำความเสื่อมสลายมาสู่ตนเอง ตลอดถึงประเทศชาติได้ จึงขอให้ทุกคนได้สังวร ระวังให้มาก และประคับประคองกายใจให้เที่ยงตรงหนักแน่นในอันที่จะปฏิบัติภารกิจของตนให้ถูกตรงตามหน้าที่ เพื่อความมั่นคงและเพื่อประโยชน์สุขอันยั่งยืนของชาติไทยเรา ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จงคุ้มครองรักษาท่าน ให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย และอำนวยสุขสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคล ให้สัมฤทธิ์แก่ท่านทั่วหน้ากัน"


  ขอบคุณที่มา คม ชัด ลึก

24
                                  คุณค่าของกาลเวลา - หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


อจฺเจนฺติ อโรหรตฺตา ชีวิตํ อุปฺรุชฺชติ กุณฺฑที ทมิโวทกํ ติฯ

กาลเวลาเป็นของมิใช่จะให้ประโยชน์แก่โลกทั่วไปเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้มีปัญญาสนใจในธรรมปฏิบัติ รีบเร่งฝึกหัดใจของตนๆ ให้ทันกับกาลเวลาอีกด้วย แท้จริงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ ต้องขึ้นอยู่กับกาลเวลาทั้งนั้น เช่น ดินฟ้าอากาศ ฤดู ปี เดือน ต้นไม้ ผลไม้ และธุระการงานที่สัตว์โลกทำอยู่ แม้แต่ความเกิด ความแก่ และความตาย ถึงแม้สิ่งเหล่านั้นจะเป็นอยู่ตามหน้าที่ของเขาก็ตาม แต่ต้องอยู่กับกาลเวลา ถ้าหากกาลเวลาไม่ปรากฏแล้ว สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ก็จะไม่ปรากฏเลย จะมีแต่สูญเรื่อยไปเท่านั้น

กาลเวลาได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาวโลกนี้มิใช่น้อย ชาวกสิกรก็ต้องอาศัยวัสสานฤดู ปลูกพืชพันธุ์ในไร่นาของตนๆ เมื่อฝนไม่ตกก็พากันเฝ้าบ่นว่าเมื่อไรหนอพระพิรุณจะประทานน้ำฝนมาให้ ใจก็ละห้อย ตาก็จับจ้องดูท้องฟ้า เมื่อฝนตกลงมาให้ต่างก็พากันชื่นใจระเริงด้วยความเบิกบาน แม้ที่สุดแต่ต้นไม้ซึ่งเป็นของหาวิญญาณมิได้ ก็อดที่จะแสดงความดีใจด้วยอาการสดชื่นไม่ได้ ต่างก็พากันผลิดอกออกประชันขันแข่งกัน ชาวกสิกรตื่นดึกลุกเช้าเฝ้าแต่จะประกอบการงานของตนๆ ตากแดด กรำฝน ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเย็นร้อนอนาทร

ชาวพ่อค้าวาณิชนักธุรกิจ ก็คอยหาโอกาสแต่ฤดูแล้ง เพื่อสะดวกแก่การคมนาคมและขนส่ง เมื่อแล้งแล้วต่างก็พากันจัดแจงเตรียมสินค้าไม่ว่าทางน้ำและทางบก

ฝ่ายอุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาตั้งมั่นในบุญกุศล ก็พากันมีจิตจดจ่อเฉพาะเช่นเดียวกันว่า เมื่อไรหนอจะถึงวันมาฆะ-วิสาขะ-อาสาฬหะ เวียนเทียนประทักษิณนอบ น้อมต่อพระรัตนตรัย เมื่อไรหนอจะถึงวันเข้าพรรษา-ออกพรรษา-เทโวโรหนะตักบาตรประจำปี

วันทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เนื่องด้วยกาลเวลา ทั้งนั้น และเป็นวันสำคัญของชาวพุทธเสียด้วย เมื่อถึงวันเวลาเช่นนั้นเข้าแล้ว ชาวพุทธทั้งหลายไม่ว่าหญิงชายน้อยใหญ่ แม้จะฐานะเช่นไร อยู่กินกันเช่นไรก็ตาม จำต้องสละหน้าที่การงานของตน เข้าวัดทำบุญตักบาตร อย่างน้อยวันหนึ่ง หากคนใดไม่ได้เข้าวัดทำบุญสังสรรค์กับมิตรในวันดังกล่าวแล้ว ถือว่าเป็นคนอาภัพ

ส่วนนักภาวนาเจริญสติปัฏฐาน ย่อมพิจารณาเห็นอายุสังขารของตนเป็นของน้อยนิดเดียว เปรียบเหมือนกับน้ำตกอยู่บนใบบัว เมื่อถูกแสงแดดแล้วพลันที่จะเหือด แห้งอย่างไม่ปรากฏ แล้วก็เกิดความสลดสังเวช ปลงปัญญาสู่พระไตรลักษณญาณ 
 
กาลเวลาจึงว่าเป็นของดีมีประโยชน์แก่คนทุกๆ ชั้นในโลกนี้และโลกหน้า ดังพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นนั้นว่า

อจฺเจนฺติ อโรหรตฺตา ชีวิตํ อุปฺรุชฺชติ กุณฺฑที ทมิโวทกํ

แปลว่า โอ้ชีวิตเป็นของน้อย ย่อมรุกร่นเข้าไปหาความตายทุกที เหมือนกับน้ำในรอยโค เมื่อถูกแสงพระอาทิตย์แล้ว ก็มีแต่จะแห้งไปทุกวันฉะนั้นฯ

โดยอธิบายว่า ชีวิตอายุของเรา ถึงแม้ว่าจะมีอายุอยู่ได้ตั้งร้อยปี ก็นับว่าเป็นของน้อยกว่าสัตว์จำพวกอื่นๆ เช่นเต่าและปลาในทะเลเป็นต้น ซึ่งเขาเหล่านั้นมีอายุตัวละมากๆ เป็นร้อยๆ ปี ตั๊กแตน แมลงวัน เขามีอายุเพียง ๗-๑๐ วันเขาก็ถือว่าเขามีอายุโขอยู่แล้ว แต่มนุษย์เราเห็น ว่าเขามีอายุน้อยเดียว

ผู้มีอัปมาทธรรมเป็นเครื่องอยู่ เมื่อมาเพ่งพิจารณาถึงอายุของน้อย พลันหมดสิ้นไปๆใกล้ต่อความตายเข้ามาทุกที กิจหน้าที่การงานของตนที่ประกอบอยู่จะไม่ทันสำเร็จ ถึงไม่ตายก็ทุพพลภาพเพราะความแก่ แล้วก็ได้ขวนขวายประกอบกิจหน้าที่ของตนเพื่อให้สำเร็จโดยเร็วพลัน กาลเวลาจึงอุปมาเหมือนกับนายผู้ควบคุมกรรมกรให้ทำงานแข่งกับเวลา ฉะนั้นฯ

ทาน การสละวัตถุสิ่งของของตนที่มีอยู่ให้แก่บุคคลอื่น นอกจากผู้ให้จะได้ความอิ่มใจ เพราะความดีของตน แล้ว ผู้รับยังได้บริโภคใช้สอยวัตถุสิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์แก่ตนอีกด้วย นับว่าไม่มีเสียผลทั้งสองฝ่าย แต่กาลเวลาที่สละทิ้งชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายแล้วไม่เป็นผลแก่ทั้งสองฝ่าย คือกาลเวลาก็หมดไป ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เสื่อมสูญไป ยังเหลือแต่ความคร่ำคร่าเหี่ยวแห้งระทมทุกข์ อันใครๆไม่พึงปรารถนาทั้งนั้น นอกจากบัณฑิตผู้ฉลาดในอุบาย น้อมนำเอาความเสื่อมสิ้นไปแห่งชีวิตนั้นเข้ามาพิจารณา ให้เห็นสภาพสังขารเป็นของไม่เที่ยง จนให้เกิดปัญญาสลดสังเวช อันเป็นเหตุจะให้เบื่อหน่าย คลายเสียจากความยึดมั่นในสังขารทั้งปวง

ฉะนั้น ทาน การสละให้ปันสิ่งของของตนที่หามาได้ในทางที่ชอบให้แก่ผู้อื่น ในเมื่อกาลเวลากำลังคร่าเอาชีวิตของเราไปอยู่ จึงเป็นของควรทำเพื่อชดใช้ชีวิตที่หมดไปนั้นให้ได้ทุน (คือบุญ)กลับคืนมา

การรักษาศีล ก็เป็นทานอันหนึ่ง เรียกว่า อภัยทาน นอกจากจะเป็นการจาคะสละความชั่วของตนแล้ว ยังเป็นการให้อภัยแก่สัตว์ที่เราจะต้องฆ่า และสิ่งของที่เราจะต้องขโมยเขาเป็นต้นอีกด้วย นี้ก็เป็นการทำความดี เพื่อชดใช้ชีวิตของเราที่กาลเวลาคร่าไปอีกด้วย

ผู้กระทำชั่วพระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นผู้มีหนี้ติดตัว ผู้มีหนี้ติดตัวย่อมได้รับความทุกข์เดือดร้อน ฉะนั้น บาปกรรมชั่วเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ แต่ผู้ใดทำลงไปแล้วแม้คนอื่นทั้งโลกเขาจะไม่เห็นก็ตาม แต่ความชั่วที่ตนกระทำลงไป แล้วนั่นแล เป็นเจ้าของมาทวงเอาหนี้ (คือความเดือดร้อน ภายหลัง) อยู่เสมอ ยิ่งซ้ำร้ายกว่าหนี้ที่มีเจ้าของเสียอีก

เป็นที่น่าเสียดาย บางคนผู้ประมาทแล้วด้วยยศด้วยลาภก็ตาม ไม่ได้นึกคิดถึงชีวิตอัตภาพของตน กลัวอย่างเดียวแต่กาลเวลาจะผ่านพ้นไป แล้วตัวของเขาเองจะไม่ได้ทำความชั่ว ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นของดีแล้ว เช่น สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ฯลฯ เป็นต้น นำเอาชีวิตของตนที่ยังเหลืออยู่นั้น ไปทุ่มเทลงในหลุมแห่งอบายมุขหมดบุญกรรมนำส่งมาให้ได้ดิบได้ดี มีสมบัติอัครฐานอย่างมโหฬาร เตรียมพร้อมทุกสิ่งทุกอย่างไม่ขัดสน แต่เห็นความพร้อมมูลเหล่านั้นเป็นเรื่องความทุกข์ไป สู้ความชั่วอบายมุขไม่ได้

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต



25
รบกวนสอบถามยันต์นี้ยันต์อะไรครับ ได้รับความเมตตาจากหลวงพี่แป๊วครับ





     กราบนมัสการหลวงพี่แป๊วครับ ขอบพระคุณมากครับที่เมตตาครับ

              ขออภัยรูปไม่ชัดถ่ายจากมือถือครับ

26
                                                              เพิ่มกำลังใจให้ชีวิต

Be strong enough to face the word each day.
จง... เข้มแข็งพอที่จะเผชิญหน้ากับความจริง


Be weak enough to know you cannot do everything alone.
จง... อ่อนแอพอที่จะรับรู้ว่าลำพังเรานั้นทำอะไรไม่ได้ทุกอ ย่าง


Be generous to those who need your help.
จง... ฟุ่มเฟือยน้ำใจ เมื่อมีใครต้องการความช่วยเหลือ


Be frugal with what you need yourself.
จง... ประหยัดสิ่งที่จำเป็นไว้


Be wise enough to know that you do not know everything.
จง... จงฉลาดพอที่จะรู้ว่าเราไม่ได้รู้ทุกสิ่ง


Be foolish enough to believe in miracles.
จง... โง่พอที่จะเชื่อในปาฎิหาริย์


Be willing to share your joys.
จง... เต็มใจจะแบ่งปันความสุขของตัวเอง


Be willing to share the sorrows of others.
จง... เต็มใจที่จะแบ่งรับความทุกข์ของผู้อื่น


Be a leader when you see a path of others have missed.
จง... เป็นผู้นำหากทางที่ผู้อื่นทิ้งไว้ให้นั้นเลือนลาง


Be a follower when you are shrouded in the midst of uncertainly.
จง... เป็นผู้ตามหากตกอยู่ในวงล้อมแห่งความไม่แน่นอน


Be the first to congratulate an opponent who succeeds.
จง... เป็นคนแรกที่แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของคู่แข่ง


Be the last to criticize a colleague who fails.
จง... เป็นคนสุดท้ายที่จะวิจารณ์ความผิดพลาดของเพื่อน


Be sure where you next step will fall, so that you will not stumble.
จง... มองเพียงแค่ก้าวถัดไปเพราะมันจะทำให้เราไม่ล้ม


Be sure of your final destination, in case you are going to the wring way.
จง... มองไปยังจุดหมายปลายทางให้แน่ใจ ว่าไม่ได้กำลังเดินผิดทาง


Be loving to those who love you.
จง... รักคนที่รักคุณ


Be loving to those who do not love you, and they may change.
จง... รักคนที่ไม่รักคุณแล้วสักวันหนึ่ง ...เค้าอาจจะเปลี่ยนใจ


Above all, be yourself.
แต่เหนือสิ่งอื่นใด จงเป็นตัวของตัวเอง


   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด tamdee

27
                                              เปลี่ยนวิธีเผชิญหน้ากับปัญหา

ครั้งหนึ่ง...
ขณะที่กำลังนั่งอ่านหนังสือเพลินๆ อยู่ในสวนสาธารณะ
ฉันได้ยินเสียงร้องไห้ ดังใกล้เข้ามา
หลังจากเงยหน้าขึ้นมาดู
ก็เห็นผู้ชายวัยคุณพ่อคนหนึ่งกำลังปั่นจักรยานผ่านตรงหน้า
ตามหลังมาด้วยหนูน้อยเจ้าของเสียงอายุประมาณ 7-8 ขวบ
ที่ขานั้น...กำลังปั่นจักรยานคันน้อย
แต่ปาก...ก็ตะเบ็งเสียงร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจ
หวังจะให้คุณพ่อ หันกลับมาช่วย
จากการประเมินสถานการณ์
ฉันคิดว่าเด็กน้อยคนนี้กำลังอยากถอดใจ
เพราะคิดว่าตัวเองคงปั่นจักรยานต่อไปไม่ไหวแล้ว
แต่งานนี้- -ดูเหมือนคุณพ่อจะไม่ใจอ่อนง่ายๆ
กลับปั่นจักรยานของตัวเองต่อไปเรื่อยๆ
ส่วนคุณลูก...ก็ตะเบ็งเสียงต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน

จนกระทั่ง อีกอึดใจหนึ่ง คุณพ่อก็เลี้ยวรถกลับมา
แต่สิ่งที่เกินความคาดหมายของฉันก็คือ
คุณพ่อ...ไม่ได้กลับมาช่วย แต่เขากลับมาเพื่อบอกประโยคหนึ่งกับลูกตัวเองว่า
“ น้อง......ครับ พ่อว่า ให้ลูกเปลี่ยนจากออกแรงตะเบ็งเสียง
มาเป็นออกแรงปั่นจักรยานดีกว่านะครับ”
แล้วคุณพ่อใจเด็ด ก็ปั่นจักรยานต่อไป...
ส่วนลูกชาย...ก็ค่อยๆลดเสียงลง แล้วปั่นจักรยานคันน้อยต่อไปอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก

.........................................


หลายครั้ง...ที่บางคนอาจเคยทำตัวคล้ายๆกับเด็กน้อยคนนี้
แต่เราจะรู้บ้างมั้ยว่า
ในตัวเรา ก็สามารถเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเอง
จาก ‘เด็กน้อย’ เป็น ‘คุณพ่อ’ ได้ในเวลาเดียวกัน


เมื่อไหร่ที่เกิดความรู้สึกว่าตัวเองกำลัง ‘ไม่ไหว’ อยากให้ลองถามตัวเองดูใหม่ว่า
ที่ ‘ ไม่ไหว ’ นั้นน่ะ เป็นเพราะเรา...แค่ไม่อยากจะสู้รึเปล่า
มีความจริงอันหนึ่งที่หลายคนอาจจะลืม ก็คือ
ก่อนที่ทุกคนจะหมดแรงนั้น
ธรรมชาติยังมอบ ‘ กำลังเฮือกสุดท้าย ’ ให้เสมอ
และที่เราไม่หยิบมันออกมาใช้
ก็เพราะเราลืมหรือกำลังเหนื่อยกับการตีโพยตีพายอยู่รึเปล่า

ในทุกปัญหาย่อมมีวิธีคลี่คลายที่ถูกจุดและมีช่วงเวลาแก้ที่เหมาะสม
อยู่ที่เราเองเท่านั้น ว่าจะเริ่มต้นเมื่อไหร่ และเปลี่ยนแปลงมันอย่างไร
ที่สำคัญอย่ายอมแพ้...ถ้ายังไม่หมดเวลา.

 
   จากหนังสือ : แปลงเพาะชำ วันดีๆ โดย ปูปรุง สำนักพิมพ์ใยไหม
   ขอบคุณบทความจาก...ทำดีดอทเน็ต

   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด dhammajak

28
                      วัดไทยกุสินาราฯ จัดสร้างพระบรมรูป “ในหลวง” ประดิษฐานประเทศอินเดีย





“สมเด็จพระบรมฯ” จะเสด็จฯ ไปประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันอาทิตย์นี้ (21 พ.ย.) ก่อนมูลนิธิวัดไทยกุสินาราฯ ผู้จัดสร้าง จะนำไปประดิษฐานที่วัดไทยกุสินาราฯ ประเทศอินเดีย เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเปิดโอกาสประชาชนร่วมสมทบทุนสร้างกุศล




วันนี้ (17 พ.ย.) นายธวัชชัย ทวีศรี อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอินเดีย พร้อมด้วย นายณรงค์ฤทธิ์ เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์-อินเดีย จัดงานแถลงข่าว “โครงการจัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่อาคาร (มจร) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีพระราชรัตนรังษี เจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ร่วมสนทนาผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

ทั้งนี้ การจัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทำการเททองหล่อพระบรมรูปที่ประเทศไทย จากนั้นจะนำไปประกอบและประดิษฐาน ณ พระเจดีย์มหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา

สำหรับพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมรูปที่หล่อด้วยบรอนซ์ ขนาดความสูง 2.30 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 2 ตัน ส่วนอาคารประดิษฐานพระบรมรูปออกแบบโดย อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) รวมถึงได้รับความร่วมมือและการตรวจสอบการปั้นต้นแบบจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูป ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในวันอาทิตย์นี้ (21 พ.ย.) เวลา 14.00 น. โดยการหล่อพระบรมรูปคาดว่าแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ และจะทำการขนส่งไปประดิษฐานที่ประเทศอินเดียในเดือนมกราคม 2554


 ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต












 




29
                                รักยิ่งใหญ่จากใจแม่ แบกลูกขึ้นหลังส่งเรียนถึงมหาวิทยาลัย

รักยิ่งใหญ่จากใจแม่ แบกลูกขึ้นหลังส่งเรียนถึงมหาวิทยาลัย



รักยิ่งใหญ่จากใจ แม่ แบกลูกขึ้นหลังส่งเรียนถึงมหาวิทยาลัย
เนื่อง จากการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อบกพร่องมาตั้งแต่กำเนิด ส่งผลให้หวงเสี่ยว์จวินต้องให้ซีสุ่ยอิงผู้เป็นแม่ แบกขึ้นหลังไปโรงเรียนมากว่า 13 ปี ตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาล ประถมศึกษา จนกระทั่งจบมัธยมศึกษา และวันนี้ด้วยคะแนนสอบ 587 คะแนนในแผนวิทย์ ส่งผลได้เสี่ยว์จวิน ได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิกเจ้อเจียง ให้เข้ารายงานตัวเป็นนักศึกษา แม่ของเขากล่าวอย่างภาคภูมิ ว่าจะแบกลูกชายคนนี้ไปเรียน จนกว่าจะจบมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน

ซี สุ่ยอิงผู้เป็นแม่แบกลูกชายคน เดียวไปเรียนมานานกว่า 13 ปี ตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาล จนกระทั่งจบมัธยมศึกษา และวันนี้ผลของความพยายาม หวงเสี่ยว์จวิน ได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิกเจ้อเจียง



ใบตอบรับจากทางมหาวิทยาลัย ที่แลกมาด้วยความมุ่งมั่นกว่า 13 ปีของแม่ลูกคู่นี้

คำ ถามหนึ่งที่หลายคนอยากจะถามซี สุ่ยอิง คือ แรงผลักดันดันใดกัน ที่ทำให้แม่คนหนึ่งยินยอมพร้อมใจ มาเป็นเท้าทั้งสองข้างของลูกชาย ซึ่งต้องเดินทางจากถนนเล็กๆ บนภูเขาซึ่งเฉอะแฉะไปด้วยโคลนตมจนกระทั่งขึ้นมาสู่ตึกใหญ่ในเมืองทีละชั้น ละชั้น เป็นอย่างนี้มากว่า 10 ปี
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด แต่คาดว่าคำตอบของคำถามนี้ จะต้องเต็มไปด้วยความรักที่เปี่ยมล้นอย่างแน่นอน

ซี สุ่ยอิง ตรงหน้า คือหญิงชาวบ้านที่แต่งกายเรียบง่ายคนหนึ่ง เธอเป็นชาวเมืองฟู่หยัง ซึ่งคำตอบของคำถามข้างต้น ก็ออกมาจากปากของเธออย่างเรียบง่าย ทว่าหนักแน่นว่า“ฉัน ดูทีวียังไม่เข้าใจ อ่านหนังสือพิมพ์ยิ่งอ่านไม่ออก แต่ฉันไม่มีทางยอมให้ลูกชายพิการของฉันเป็นอย่างที่ฉันเป็น”

หลัง จากนั้น ซีสุ่ยอิง ได้เล่าถึงเส้นทางชีวิตอันยากลำบาก ที่ต้องฝ่าฟันของเธอกับลูกชายคนเดียวว่า “ตอนนั้น คนในหมู่บ้านพากันเตือนฉันว่า ลูกชายพิการถึงขนาดนี้แล้ว เอาไปทิ้งที่สถานีรถไฟให้คนอื่นมาเก็บไปเลี้ยง อาจจะดีกว่า”แน่นอน ว่าซีสุ่ยอิงไม่เห็นด้วย เธอยังคงก้มหน้าก้มตาแบกลูกชายขึ้นหลัง เพื่อไปเข้าเรียนอนุบาล ไปเข้าเรียนชั้นประถม... ต่อไป และต่อไป



เสี่ยว์จวิน พยายามฝึกหัดเดินขึ้นลงบันไดด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ซีสุ่ยอิง ไม่เคยลืมโรงเรียนมัธยมที่สองแห่งเมืองฟู่หยัง ที่ให้ความช่วยเหลือเธอและลูก ด้วยการให้ห้องพักฟรีแก่สองแม่ลูกหนึ่งห้อง นอกจากนั้นยังรับซีสุ่ยอิงเข้าเป็นพนักงานทำความสะอาดของโรงเรียนอีกด้วย

กระนั้น ในเวลาประมาณ 6 โมงเช้าของทุกๆ วันเรียน ซีสุ่ยอิงจะต้องแบกลูกชายจากห้องพักชั้น 3 ลงมาข้างล่าง และแบกขึ้นไปส่งยังชั้น 5 ของตึกเรียนอีกตึกหนึ่ง

“ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว ยังไงฉันก็จะแบกเขาไปเรียนต่อไป” ซีสุ่ยอิง กล่าวอย่างแข็งขัน

เมื่อเล่าถึงเส้นทางชีวิตอันแสน ลำบากของลูกชายคนนี้ ที่ต้องฝ่าฟัน ผู้เป็นแม่อดไม่ได้ที่จะร้องไห้ออกมา

อย่างไรก็ตามความแข็งขันดังกล่าว ได้ลดทอนลงไป ตามจำนวนเงินในกระเป๋าของสองแม่ลูก ที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย

แต่ หลังจากการลงข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายเฉียนเจียง ส่งผลให้มีผู้อ่านใจบุญทะยอยยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ซีสุ่ยอิงกล่าวว่า“ต้องขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายเฉียนเจียงที่ช่วยเหลือ ทำให้ฉันสะสมค่าเทอมในปีแรกของลูกชายได้ครบแล้ว”

“ฉันจะแบกลูกชาย ไปจนกว่าเขาจะเรียนจบมหาวิทยาลัย” ซีสุ่ยอิง จบการสนทนาลงตรงคำกล่าวที่มุ่งมั่นนี้ ราวกับจะตอกย้ำกับตัวเองไปพร้อมกัน

แหล่งที่มา
http://board.postjung.com/517707.html

   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

30
                                          50 คำคมดีๆที่เอามาเคาะหัวใจคุณ


1.คาดหวังให้สูงเข้าไว้และแน่นอนว่าต้องเตรียมใจที่จะพบกับความผิดหวังด้วย

2.ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

3.ถ้าเชื่อว่าไม่แพ้ เราก็จะไม่แพ้

4.คนเข้มแข็งเท่านั้นที่จะอยู่บนโลกใบนี้ได้

5.อุปสรรคล้วนเป็นยาขม ไม่มีใครอยากลิ้มลอง แต่ขึ้นชื่อว่ายาขม ส่วนใหญ่มักเป็นยาดีเสมอ

6.ขอบคุณความทุกข์ที่ทำให้ความสุขในคราวต่อ มาเป็นความสุขที่แท้จริง

7.เพื่ออะไรกับการรอคอยที่ไม่มีความหมาย

8.ยิ่งบทเรียนยากขึ้นเท่าไหร่ ถ้าเราผ่านมันไปได้เราก็จะยิ่งเก่งขึ้นเท่านั้น

9.กุหลาบไร้หนามมีเพียงมิตรภาพเท่านั้น

10.อย่ากังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่ให้คำนึงถึงสิ่งที่กำลังทำ

11.แม้แต่นิ้วของคนเรายังยาวไม่เท่ากัน นับประสาอะไรกับความยั่งยืนของชีวิต

12.โลกใบนี้เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ ถ้าไม่ออกเดินทางก็ไม่มีวันค้นพบ

13.ไม่มีใครสะดุดภูเขาล้ม มีแต่สะดุดก้อนหินล้ม

14.ไม่มีใครเข้มแข็งตลอดไปและไม่มีใคร อ่อนแอตลอดกาล

15.บางครั้งเราก็เหมือนคนตาบอดมีวิธีเดียวที่จะพาเรา มุ่งหน้าไปได้คือการคลำทางเดินหน้าต่อไป

16.อย่าเกลียดน้ำตาเพราะมันคือเพื่อนแท้ อย่าเกลียดความอ่อนแอเพียงเพราะมันไม่ใช่ความเข้มแข็ง

17.มีเพียงชีวิตที่ทำเพื่อคนอื่นเท่านั้นที่ควรค่าแก่การมีชีวิต

18.ทุกอย่างมีค่าเสมอ อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่าไม่ควรจะทำมันอีก

19.คนฉลาดย่อมไม่นำแต่ตาม ย่อมไม่พูดแต่ฟัง

20.ทุกคนได้ยินในสิ่งที่คุณพูด เเต่เพื่อนที่ดีที่สุดจะได้ยินแม้ในสิ่งที่คุณไม่ได้พูด

21.อวดโง่ดีกว่าอวดฉลาด

22.คนที่ว่าคนอื่นโง่ บุคคลนั้นโง่ยิ่งกว่า คนที่ว่าคนอื่นฉลาด บุคคลนั้นคือผู้ฉลาดอย่างแท้จริง

23.ฝันได้แต่อย่าหวัง

24.เรียนรู้ที่จะแพ้อย่างผู้ชนะ แล้วจะรู้จักกับคำว่าชัยชนะที่แท้จริง

25.นักปราชญ์ควรรู้ว่าเมื่อไหร่ควรหยุด

26.ความยึดถือคือความเจ็บปวด

27.พระเจ้าไม่ได้รักเรามากกว่าคนอื่น และไม่ได้รักคนอื่นมากกว่าเรา

28.อุปสรรคคือแบบทดสอบของชีวิต

29.ไม่มีอะไรแน่นอนในชีวิต

30.สิ่งร้ายๆจะมาพร้อมกับสิ่งดีๆเสมอ

31.โลกใบนี้ยังมีมุมดีๆให้มอง

32.ตัวเรายังไม่ได้ดั่งใจเรา แล้วคนอื่นจะเป็นได้อย่างไร

33.ถนนบางสายไกล หน่อยแต่ก็ยังมีวันถึง

34.แต่งหน้าด้วยเครื่องสำอาง แต่งใจด้วยความดี

35.ความเจ็บปวดทำให้หัวใจแข็งแกร่ง

36.เดินคนเดียวอาจไม่รู้สึกดีอะไร แต่อย่างน้อยก็มีที่แกว่งแขนมากขึ้น

37.ทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วทำวันพรุ่งนี้ให้ดีกว่าเดิม

38.ความผิดพลาด เกิดขึ้นได้เพราะทุกปัญหาแก้ไขได้

39.ถ้าไม่ลองก้าวจะรู้ได้อย่างไร ว่าตัวเองวิ่งได้

40.ตึกสูงระฟ้ามาจากก้อนอิฐ

41.ใช้ชีวิตอยู่กับความจริง ยอมรับสิ่งที่เป็น มองเห็นข้อดีคนอื่น หยัดยืนด้วยขาตัวเอง

42.เราจะรู้รสชาติของความสุขก็ต่อเมื่อเราผ่านความทุกข์มาก่อน

43.ปัญหามีไว้แก้ และต้องแก้ด้วยตัวเองไม่ใช่ยืมมือคนอื่นมาแก้

44.จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์คือความเชื่อใจ

45.ทุกคนมีคุณค่าเพียงแต่มีโอกาสแสดง คุณค่าไม่เท่ากัน

46.บางทีการได้เจอปัญหามันก็ดีเหมือนกัน

47.สิ่งที่ผ่านมาแล้วจะกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้อีก

48.ไม่ว่าใครจะตายหรือหายไป สุดท้ายโลกก็ยังหมุนต่ออยู่ดี

49.น้ำตาให้ได้แค่ความเห็นใจ

50.ในการที่จะเริ่มต้นทำสิ่งใดทุกครั้งควรคิดถึงจุดจบด้วย

     ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

31
                        “หลวงพ่อคูณ”อาพาธ ลูกศิษย์นำส่ง“รพ.มหาราช” ด่วน!กลางดึก


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “หลวงพ่อคูณ” อาพาธ ! ลูกศิษย์นำส่ง รพ.มหาราชนครราชสีมา ด่วนกลางดึก หลังมีอาการซึม สับสนจำใครไม่ได้ ด้านแพทย์เผย ผลตรวจสมองไม่พบมีเลือดออกหรือมีโรคใหม่เกิดขึ้นในสมอง ส่วนหัวใจ และปอดปกติดี ไม่มีไข้ คาดอาจเป็นอาการสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ต้องรอผลตรวจเลือดอีกครั้งจึงจะระบุได้ชัดเจน พร้อมให้หลวงพ่อพักรักษาที่รพ.เพื่อดูอาการสักระยะ

วันนี้ (12 พ.ย.) เมื่อเวลา 00.20 น. ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดได้นำพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เดินทางโดยรถโรงพยาบาลด่านขุนทด จากวัดบ้านไร่ เข้ารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ. นครราชสีมา เป็นการด่วน หลังมีอาการอาพาธ ซึม เบลอสับสน และจำใครไม่ได้

โดยทันทีที่เดินทางถึงโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาคณะแพทย์และเจ้าหน้าที่พยาบาลได้นำหลวงพ่อคูณ เข้าตรวจเอ็กซเรย์สมอง และ ปอด ที่ห้องเอ็กซเรย์ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร. 9 ก่อนนำขึ้นไปตรวจหัวใจที่ห้องตรวจพิเศษเฉพาะทางโรคหัวใจและหลอดเลือด บริเวณชั้น 4 ใช้เวลาตรวจนานกว่า 30 นาที จากนั้นแพทย์ได้ให้หลวงพ่อคูณ พักรักษาอยู่ที่ห้องผู้ป่วยพิเศษ 9821 ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร. 9 โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เพื่อรอดูอาการ

นพ.พินิศจัย นาคพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาซึ่งเป็นแพทย์ประจำตัวหลวงพ่อคูณ เปิดเผยว่า หลวงพ่อคูณ มีอาการสับสน จำลูกศิษย์ใกล้ชิดไม่ได้ และมีอาการเหมือนมีอะไรมาหลอน ซึ่งหลวงพ่อเริ่มมีอาการเช่นนี้ตอนประมาณ 22.00 น. ( 11 พ.ย.)ที่ผ่านมา

ทั้งนี้จากการตรวจอาการของหลวงพ่อคูณเมื่อมาถึงโรงพยาบาลโดยเฉพาะทางด้านหัวใจ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ความดันโลหิตเป็นปกติ โดยวัดได้ 140/77 หัวใจเต้น 67 ครั้งต่อนาที ซึ่งถือว่าปกติสำหรับผู้สูงอายุ

นพ.พินิศจัย กล่าวอีกว่า แพทย์ค่อนข้างซีเรียสทุกครั้งที่หลวงพ่อคูณมีอาการอาพาธ เนื่องจากท่านอายุมากแล้วปีนี้ก็ย่างเข้า 89 ปี และยังมีโรคประจำตัวหลายอย่างทั้งเคยผ่านการผ่าตัดสมองมาเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เคยผ่านการบายพาสหัวใจมาแล้วเมื่อ 10 ปีก่อน เคยมีอาการเลือดออกทางเดินอาหาร และเป็นโรคเบาหวานด้วย ซึ่งหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับผู้มีอายุมากเราก็ไม่สบายใจ ซึ่งการรักษาขณะนี้จะรอดูอาการก่อน และรอผลการตรวจเลือดให้แน่ชัดอีกครั้งว่าอาพาธเป็นอะไรแน่ เนื่องจากครั้งล่าสุดที่หลวงพ่ออาพาธก็มีอาการคลาย ๆ กัน ในช่วงแรกไม่มีไข้ และไม่แสดงอาการอะไรมากแต่ต่อมาก็แสดงอาการให้เห็นว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น ฉะนั้นตอนนี้จึงต้องนิมนต์หลวงพ่อพักรักษาอาการอยู่ที่โรงพยาบาลก่อนเพื่อแพทย์จะได้สังเกตอาการ ส่วนจะนานแค่ไหนนั้นยังตอบไม่ได้จะต้องประเมินอาการกันวันต่อวัน

ด้าน นพ.สุรินทร์ แซ่ตั้ง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมประสาท โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า จากการตรวจสมองหลวงพ่อคูณ ไม่พบมีเลือดออกหรือผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนอาการสับสนที่เกิดขึ้นแพทย์คาดการณ์เบื้องต้นว่าอาจเกิดจากโรคสมองที่เป็นอยู่เดิมก็ได้ เนื่องจากหลวงพ่อคูณเคยผ่านการผ่าตัดสมองมาแล้วหรืออาจมีโรคใหม่ในสมองเกิดขึ้น แต่จากการตรวจเอ็กซเรย์สมอง ไม่พบว่ามีโรคใหม่เกิดขึ้นในสมอง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะมีโรคใหม่เกิดขึ้นนอกสมองที่อาจจะรบกวนสมองได้ ซึ่งคนไข้ที่อายุมากก็อาจมีอาการสับสนได้เช่นกันแต่ยังระบุชัดเจนไม่ได้

“ตอนนี้คงต้องรอผลการตรวจเลือดก่อนเพื่อจะได้ดูว่ามีเชื้ออะไรอยู่ในเลือดหรือไม่ เบื้องต้นคาดว่าการสับสนอาจจะเป็นอาการสมองเสื่อมในผู้สูงอายุเมื่อมีอะไรมากระทบก็ทำให้มีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้” นพ.สุรินทร์ กล่าว

ขอให้หลวงพ่อคูณหายจากอาการอาพาธโดยเร็วด้วยเถิด....


  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต
 

32
บทความ บทกวี / สูตรแห่งความสุข
« เมื่อ: 11 พ.ย. 2553, 04:12:37 »
                                                          สูตรแห่งความสุข


ส่วนใหญ่ บิวตี้ มักจะเห็นเค้าเขียนบทความเกี่ยวกับ สูตรแห่งความสำเร็จ กันซะส่วนใหญ่ ที่คนเราต้องการไปให้ถึงจุดหมายหรือบรรลุเป้าหมายกัน แต่ในจุดมุ่งหมายนั้น บิวตี้ว่าก็ควรควบคู่ไปกับ สูตรแห่งความสุข ด้วย เพื่อที่จะเป็นสิ่งให้เรามีพลังในการทำงานเพื่อองค์กรหรือชีวิตครอบครัว หรือชีวิตประจำวัน โดยการรักษาสุขภาพกายและใจของตัวเรา ให้มีสุขภาพแข็งแรง และก็ทำงานอย่างมีความสุขในชีวิต ลองอ่านเคล็ดลับสูตรแห่งความสุข ที่นำมาฝากกันนะค่ะ

สูตรแห่งความสุข...ตำราชีวิตประจำวัน

๑.ดื่มน้ำให้มาก
๒.กินอาหารเช้าเหมือนราชา, รับประทานอาหารเที่ยงเหมือนเจ้าชายและเมื่อถึงอาหารเย็น, ให้วาดภาพว่าตัวเองเป็นแค่ขอทาน (แปลว่ากินมือหนักที่สุดตอนเช้า, และกลาง ๆ ตอนเที่ยงและ
ตก เย็นแล้ว, ทำตัวเป็นยาจก, ไม่มีอะไรจะกิน...สุขภาพจะเป็นอย่างเทวดาทีเดียวเชียวแหละ)
๓.กินอาหารที่โตบนต้นและบนดิน, พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ผลิตจากโรงงาน
๔.ใช้ชีวิตบนหลักการ 3 E...นั่นคือ energy หรือพลังงาน,enthusiasm หรือกระตือตือร้น และ empathy คือเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก ๆ
๕.หาเวลาทำสมาธิหรือสวดมนต์เสมอ
๖.เล่นเกมสนุก ๆ เสียบ้าง, อย่าเครียดกันนักเลย
๗.อ่านหนังสือให้มากขึ้น...ตั้งเป้าว่าปีนี้จะอ่านมากกว่าปีที่ผ่านมา
๘.นั่งเงียบ ๆ อยู่กับตัวเองสักวันละ 10 นาทีให้ได้
๙.นอนวันละ 7 ชั่วโมง
๑๐.เดินสักวันละ 10 ถึง 30 นาที, แล้วแต่จะสะดวก, ไม่ต้องเครียดกับมัน, วันไหนไม่ได้เดิน, ก็อย่าหงุดหงิดกับมัน
๑๑.ระหว่างเดิน, อย่าลืมยิ้ม
นั่นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพกายและใจที่ผสมปนเปกันได้เสมอ, หากทำเป็นกิจวัตร, ชีวิตก็จะแจ่มใส, แต่อย่าทำให้ตัวเองเครียดด้วยการรู้สึกผิดถ้าหากวันไหนทำไม่ได้ตามที่วางกำหนดเวลาของตนเอาไว้ วันนี้ทำไม่ได้, พรุ่งนี้ทำก็ได้ แต่การไม่เอาจริงเอาจังกับตัวเองเกินไปไม่ได้หมายถึงการผัดวันประกันพรุ่ง, ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

สูตรเกี่ยวกับบุคลิกของตัวเองที่ควรไปจะคู่กับสูตรสุขภาพ

๑.อย่าเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองกับคนอื่น คุณไม่รู้หรอกว่าคนที่คุณอิจฉานั้นเขามีความทุกข์ยิ่งกว่าคุณอย่างไรบ้าง
๒.อย่าคิดทางลบเกี่ยวกับเรื่องที่คุณควบคุมหรือกำหนดไม่ได้ แทนที่จะมองโลกในแง่ร้าย, ก็ทุ่มเทกำลังและพลังงานให้กับความคิดทางบวก ณ ปัจจุบันเสีย
๓.อย่าทำอะไรเกินกว่าที่ตัวเองทำได้...รู้ว่าขีดจำกัดของตัวเองอยู่ที่ไหน
๔.อย่าเอาจริงเอาจังกับตัวเองนัก เพราะคนอื่นเขาไม่ได้ซีเรียสกับคุณเท่าไหร่หรอก
๕.อย่าเสียเวลาและพลังงานอันมีค่าของคุณกับเรื่องหยุมหยิมหรือเรื่องซุบซิบ....นอกเสียจากว่ามันจะทำให้คุณผ่อนคลายได้อย่างจริงจัง
๖.จงฝันตอนตื่นมากกว่าตอนหลับ
๗.ความรู้สึกอิจฉาริษยาเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า ๆ ปลี้ ๆ...คิดให้ดีก็จะรู้ว่าคุณมีทุกอย่างที่คุณจำเป็นต้องมีแล้ว
๘.ลืม เรื่องขัดแย้งในอดีตเสีย และอย่าได้เตือนสามีหรือภรรยาคุณเกี่ยวกับความผิดพลาดในอดีตของอีกฝ่ายหนึ่ง เลย เพราะมันจะทำลายความสุขปัจจุบันของคุณ
๙.ชีวิตนี้สั้นเกินกว่าที่เราจะไปโกรธเกลียดใคร...จงอย่าเกลียดคนอื่น
๑๐.ประกาศสงบศึกกับอดีตให้สิ้น, จะได้ไม่ทำลายปัจจุบันของคุณ
๑๑.ไม่มีใครกำหนดความสุขของคุณได้นอกจากคุณเอง
๑๒. จงเข้าใจเสียว่าชีวิตก็คือโรงเรียน คุณมาเพื่อเรียนรู้ และปัญหาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหลักสูตรซึ่งมาแล้วก็หายไป...เหมือนโจทย์วิชา พีชคณิต...แต่สิ่งที่คุณเรียนรู้นั้นอยู่กับคุณตลอดชีวิต
๑๓.จงยิ้มและหัวเราะมากขึ้น
๑๔.คุณ ไม่จำเป็นต้องชนะทุกครั้งที่ถกแถลงกับคนอื่นหรอก...บางครั้งก็ยอมรับว่าเรา เห็นแตกต่างกันได้...เห็นพ้องที่จะเห็นต่างก็ไม่เห็นเสียหายแต่อย่างไร

ทัศนคติอย่างไรต่อชุมชนและคนรอบข้าง

๑. อย่าลืมโทรฯหาครอบครัวบ่อย ๆ
๒. จงหาอะไรดี ๆ ให้คนอื่นทุกวัน
๓. จงให้อภัยทุกคนสำหรับทุกอย่าง
๔. จงหาเวลาอยู่กับคนอายุเกิน 70 และต่ำกว่า 6 ขวบ
๕. พยายามทำให้อย่างน้อย 3 คนยิ้มได้ทุกวัน
๖. คนอื่นเขาคิดอย่างไรกับคุณไม่ใช่เรื่องของคุณสัก หน่อย
๗.งานของคุณไม่ดูแลคุณตอนคุณป่วยหรอก แต่ครอบครัวและเพื่อนคุณต่าง

หากเล่าที่จะดูแลคุณในยามคุณมีปัญหาสุขภาพ ดังนั้น, อย่าได้ห่างเหินกับคนใกล้ชิดเป็นอันขาด

และถ้าหากสามารถดำรงชีวิตให้มีความหมายได้, ก็ควรจะทำดังต่อไปนี้

๑.ทำสิ่งที่ควรทำ
๒.อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์, ไม่สวย, ไม่น่ารื่นรมย์, จงทิ้งไปเสีย...เก็บไว้ทำไม?
๓.เวลาและพระเจ้าย่อมรักษาแผลทุกอย่างได้
๔.ไม่ว่าสถานการณ์จะดีหรือเลวปานใด, เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน
๕.ไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรในตอนเช้าของทุกวัน, จงลุกจากเตียง, แต่งตัวและปรากฎตัวต่อหน้าคนที่เราร่วมงานด้วย...get up, dress up and show up.
๖.สิ่งที่ดีที่สุดยังมาไม่ถึง
๗.ถ้าคุณยังลุกขึ้นตอนเช้าได้, อย่าลืมขอบคุณพระเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุณนับถือเสียด้วย
๘.เชื่อเถอะว่าส่วนลึก ๆ ในใจของคุณนั้นมีความสุขเสมอ... ดังนั้น ส่วนนอกของคุณทุกข์โศกไปทำไมเล่า?


และสุดท้ายที่สำคัญที่สุด
ส่งบทความที่ต่อไปให้คนที่คุณรักและห่วงหาอาทรด้วย

    ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต


33
         ไสยศาสตร์ ความหมายของคำว่า ไสยศาสตร์ ประวัติไสยศาสตร์ ไสยเวทย์ ลัทธิไสยศาสตร์


ไสยศาสตร์ เป็นวิชาเกี่ยวกับเวทมนตร์ คาถา และ เลขยันต์ ประกอบกับการใช้อำนาจสมาธิจิต การสาธยายเวทมนตร์คาถา การภาวนา และการปลุกเสก ไสยศาสตร์ หรือ ศาสตร์มืด คือการทำ "คุณไสย" ในพจนานุกรมไทยให้คำจำกัดความ คุณไสย ว่า "เป็นพิธีกรรมเพื่อทำร้ายอมิตร" เป็นศาสตร์ที่ทางวิทยาศาสตร์ไม่อาจจะพิสูจน์ได้ แต่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป และมีคนเชื่อและผู้ปฏิบัติทั่วโลก

ในแต่ละชุมชนจะมีรูปแบบของไสยศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป แต่สรุปแล้วไสยศาสตร์ก็คือการทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น โดยผิดแปลกจากกฏของธรรมชาติ เช่น ทำให้สามีภรรยาที่ดี กันทะเลาะและแยกทางกัน ทำให้สาวหลงรักหนุ่มที่เคยเกลียด ซึ่งปกติแล้วจะใช้ไสยศาสตร์มาใช้ในทางที่ชั่วร้าย โดยเฉพาะการทำ "คุณไสย" ที่เป็นพิธีกรรมเพื่อทำร้ายผู้ไม่เป็นมิตรด้วย

การปลุกเสกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไปในตัว หรือฝังรูปฝังรอย หรือการทำเสน่ห์ยาแฝด ลงนะ จากผู้ที่อ้างตัวว่ามีอาคม ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นพวกที่ทำมาหากินด้วยการหลอกลวงผู้คน หรือที่เรียกว่าพวกสิบแปดมงกุฎ ถึงกระนั้นก็ตาม“คุณไสย” หรือ “มนต์ดำ” ยังมีผู้หลงงมงายมากมาย

ไสยศาสตร์ถือเป็นศาสตร์ที่ลี้ลับมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ และมีทั่วโลกแม้กระทั่งในเวลาปัจจุบัน แม้รูปแบบจะแตกต่างกัน แต่ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การทำอันตรายต่อผู้คนด้วยวิธีที่ลี้ลับลัทธิไสยศาสตร์ คือการรวมอำนาจจิต รวมพลังงานทางจิตซึ่งได้ทำการอบรมจิตใจให้มีความยึดมั่น เชื่อถือ อย่างจริงจัง ดำเนินไปตามหลักทางไสยศาสตร์ ตามวิธีการนั้น ๆ ก็จะสามารถแสดงฤทธิ์ปาฎิหารย์ได้ด้วยกระแสคลื่นแห่งพลังอำนาจจิตอันแรงกล้า ของ มโนภาพ สมาธิ จิตตานุภาพ ทั้งสามประการนี้ จึงเป็นบ่อเกิดแห่งอำนาจที่ประหลาดมหัศจรรย์ขึ้นได้

ลัทธิไสยศาสตร์ ได้เกิดขึ้นมาก่อนพุทธกาล ในคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ไตรเพท ในลัทธิของพราหมณ์ ได้แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ

ฤคเวทย์ เป็นคำฉันท์ใช้สำหรับสวดมนต์และสรรเสริญพระเจ้า

ยชุรเวทย์ เป็นคำร้อยแก้วให้สำหรับท่องบ่นเวลาบวงสรวงบูชาพระเจ้า

สามเวทย์ เป็นคำฉันท์ใช้สำหรับสวดมนต์ทำพิธีถวายน้ำโสม

อาถรรพเวทย์ เป็นคัมภีร์ประกอบด้วยเวทยมนต์คาถาเรียกผีสาง เทวดาให้ช่วยป้องกันอันตรายให้ และให้มีการแก้อาถรรพ์ ทำพิธีสาปแช่งให้เป็นอันตรายได้ด้วย


ประวัติไสยศาสตร์ ไสยเวทย์ ลัทธิไสยศาสตร์

คำว่า ไสย หมายถึง ลัทธิอันเนื่องด้วยเวทย์มนต์ คาถา และวิทยาคม ไสยนั้นแบ่งออกเป็นไสยขาว อันหมายถึงวิชชาอันลึกลับใช้เวทย์มนต์ไปในทางที่ดี เช่นการทำเครื่องราง ของขลังและวัตถุมงคลต่างๆ เพื่อป้องกันภัยอันตราย หรือเพื่อเป็นเมตตามหานิยม เมตตามหาเสน่ห์และอิทธิวิธี ส่วนไสยดำหมายถึงวิชชาที่กระทำคนให้เป็นไปต่างๆนาๆเช่น ปล่อยคุณไสย ปล่อยตะปูเข้าท้องคนอื่น ปล่อยหนังควายเข้าท้อง บิดลำใส้ ปล่อยผีไปทำร้ายผู้อื่นให้มีอันเป็นไปต่างๆนาๆ นำบาตรวัดร้างไปฝังเพื่อทำให้บ้านแตกสาแหรกขาด เป็นต้น

คำว่า ไสย นี้แปลความหมายอีกอย่างก็หมายถึงสิ่งที่ลึกลับที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเนื้อได้นอกจากเมื่อมันได้ออกมาเป็นผลลับแล้วเท่านั้น ส่วนคำว่า ศาสตร์ หมายถึง ตำรา วิชา วิทยาคำสั่ง ข้อบังคับบัญชา ศาสนา รวมเข้ากับไสย เป็นไสยศาสตร์ อันหมายถึง ตำราทางไสยยาศาสตร์ลึกลับเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ เวทย์มนต์ คาถา อำนาจจิต เป็นต้น

ไสยเวทย์ ไสยศาสตร์ หมายถึงตำราทางไสย วิชาทางไสย ไสยศาสตร์ เป็นวิชาว่าด้วยลัทธิเวทย์มนต์คาถาและวิยาคมเป็นศาสตร์ๆหนึ่งที่แยกย่อยมาจากศาสตร์ 18 ประการของอินเดียโบราณไสยศาสตร์แทรกอยู่ในความเชื่อของคนไทยมาตราบนานเท่านานกว่า7,000 ปี และแทรกอยู่กับความเป็นอยู่ของคนไทยตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย เช่นการเสกทำน้ำมนต์ให้คลอดง่าย โกนผมไฟ ทำขวัญ สร้างบ้านใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ ทำขวัญ สวดบ้าน ตราสังข์ ทำโลงศพ เอาศพลงจากเรือน ทำประตูป่า ทำบันไดผี นำศพขึ้น เผา การเสกน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์

และประเพณีไทยหลายๆอย่างล้วนแต่แทรกด้วยไสยศาสตร์ทั้งสิ้น ไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะเจริญไปถึงไหนเพียงใดวิทยาการอินฟอเมชั่นเทคโนโลยี่จะก้าวหน้าไปเพียงใดขนาดไหน แต่ความเชื่อทางไสยศาสตร์ไม่มีวันที่จะหมดไปจากมนุษย์ชาติได้เหตุผลเพราะว่าเป็นศาสตร์ๆหนึ่งที่ดำรงอยู่ในโลกมนุษย์มานาน มากแล้วและมิใช่เพียงแต่เมืองไทยเท่านั้นที่มีความเชื่อในด้านไสยศาสตร์หลายๆประเทศที่เจริญและพัฒนาแล้วก็ยังมีความเชื่อในด้านไสยศาสตร์ของประเทศนั้นนั้นอยู่

ส่วน พิธีกรรม ไสยกรรมนั้นอาจไม่เหมือนกัน ในเมืองไทยในแต่ละภาคนั้นการประกอบพิธีกรรมต่างๆในแต่ละภาคนั้นก็ไม่เหมือนกัน สรุปแล้วไสยศาสตร์และไสยเวทย์มิใช่สิ่งที่ เลวร้ายขึ้นอยู่กับผู้ที่นำไปใช้เช่นการสกยันต์หากสักแล้วไม่ไปเป็นโจรผู้ร้ายไม่ไปปลิ้นชิงรบราฆ่าฟันเบียดเบียนเขาและตั้งตนอยู่ในศีลธรรมของนั้นก็จะคงทนถาวรไม่เสื่อม และยิ่งเข้มขลังยิ่งนัก และเป็นไสยศาสตร์ที่ประดับบารมีชายชาตรีมาแต่โบราณกาล

ดังหลักฐานบันทึก .ความทรงจำ.พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า....? ส่วนตัวฉันเองจะเป็นใครแนะนำจำไม่ได้เสียแล้ว เกิดอยากเรียนวิชาอาคม คือวิชาที่ทำให้อยู่ยงคงกระพันชาตรีด้วยเวทย์มนต์และเครื่องรางต่างๆ มีผู้พาอาจารย์มาให้รู้จัก หลายคน ที่เป็นตัวสำคัญนั้นคือนักองค์วัตถา น้องสมเด็จพระนโรดมเจ้ากรุงกัมพูชา...การศึกษาวิทยาคมในสมัยนั้น โดยเฉพาะเด็กกำลังรุ่นหนุ่มเช่นตัวฉัน ด้วยได้ฟังเขาเล่า เรื่องและบางทีทดลองให้เห็นอิทธิฤทธ์ กับทั้งได้สะสมมีเครื่องรางแปลกๆประหลาดที่ไม่เคยเห็น....?

ไสยศาสตร์เป็นลัทธิความเชื่อ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่จริง คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ในโลกใบนี้ไร้มนุษย์ที่เชื่อไสยศาสตร์ บุคคลที่มีญาณทัศนะลึกล้ำ เข้า ใจเหตุปัจจัยแห่งการก่อเกิดสรรพสิ่ง ทั้งชีวิต สังคม และจิตวิญญาณ จะไม่มองเหตุที่เกิดขึ้นเพียงด้านใดด้านหนึ่งแล้วปฏิเสธโดยสิ้นเชิง หากไสยศาสตร์แล้วที่ทำให้ผู้เชื่อมั่น นั้นสามารถคลายทุกข์ไปได้ มีความสุข ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เวทย์มนต์ไสยศาสตร์ก็มิใช่สิ่งที่เลวร้าย ความงมงายในสิ่งที่ดีงามทำแล้วให้ตนเองสมหวังมีความสุขย่อมไม่ใช่สิ่งที่ ไม่มีเหตุผล

ข้อห้ามทางกาละ

1.ห้ามผิวปากเวลากลางคืนเชื่อว่าจะโดนคุณไสยที่ล่องลอยอยู่
2.ห้ามโพกหัวหรือสวมหมวกในวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เชื่อว่าหัวจะล้าน
3.ห้ามบ้วนน้ำลายลงโถส้วมเชื่อว่าวาจาจะเสื่อม
4.ห้ามนั่งบนขั้นบันไดเพราะผีบ้านผีเรือนไม่ชอบ
5.ห้ามนั่งบนหมอนเชื่อว่าคาถาจะเสื่อม
6.ห้ามเล่าความฝันในขณะทานข้าวเชื่อว่าแม่โพสพท่านไม่ชอบ
7.ห้ามเดินข้ามหนังสือเพราะเชื่อว่าจะเรียนไม่จำ
8.ห้ามนุ่งผ้าเปียกเข้าบ้านเพราะเชื่อว่าผีไม่กลัวและจะทำให้ปวดท้อง
9.ห้ามหญิงมีครรภ์ทำหน้าบึ้งเวลาจะหลับเชื่อกันว่าลูกออกมาจะไม่สวยไม่หล่อ
10.ห้ามดมดอกไม้ที่จะนำไปถวายพระเชื่อกันว่าจมูกจะเป็นไซนัสหรือริดสีดวงจมูก
11.ห้ามหลับเวลาฟังพระเทศเชื่อว่าชาติหน้าจะเกิดเป็นงู
12.ห้ามเอาของคืนเมื่อให้ผู้ใดไปแล้วเชื่อว่าจะเป็นเปรต(นอกจากให้ยืม)
13.ห้ามกวาดขยะกลางคืนเชื่อว่าผีไม่คุ้มและกวาดทรัพย์ออกหมด
14.ห้ามตัดเล็บกลางคืนเชื่อว่าอายุจะสั้น
15.ห้ามลอดไม้ค้ำต้นกล้วยและไม้ค้ำบ้านและห้ามลอดราวผ้าและห้ามลอดใต้แขนคนอื่นเพราะจะทำให้ของเสื่อม
16.อย่าให้ใครข้ามหัวเพราะจะทำให้อาคมเสื่อมและของทุกอย่างเสื่อม
17.ห้ามด่าแม่ผู้อื่นเพราะสาริกาลิ้นทองจะเสื่อม
18.คนสักยันต์ห้ามกินฟักแฟงบวบน้ำเต้าและปลาไม่มีเกล็ดเพราะเชื่อว่าหนังจะไม่เหนียว
19.หากไปในที่สถานที่แปลกๆห้ามทักเมื่อได้ยินเสียงแปลกๆเพราะเชื่อกันว่านั่นคือคุณไสย หรือของไม่ดีหากใครทักจะเข้าตัวทันที
20. ห้ามนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตกเพราะเชื่อว่าวิญญาณจะออกจากร่าง(อีกอย่างหนึ่งเป็นทิศที่หันหัวคนที่ตายไปแล้ว)
21.ห้ามขึ้นบ้านวันเสาร์ เผาศพวันศุกร์ โกนจุกวันอังคาร แต่งงานวันพุธ เพราะเป็นอัปมงคล


                         ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

34
                                                   วิธีทดแทนคุณบุพการี จาก สมเด็จโต

"การให้ธรรมะพ่อแม่ เป็นการทดแทนพระคุณที่สูงสุด"


ลูกเอ๋ย....

ยามที่พ่อแม่ของเจ้ามีอายุมากขึ้น

ย่อมมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน

ความแข็งแรงของร่างกายก็ลดลง ใจน้อย โกรธง่าย ความจำก็เสื่อม

ขี้หลงขี้ลืม จิตใจก็หมดความสุขสดชื่น


...ถึงแม้พวกเจ้าจะคอยจะคอยดูแลเอาใจใส่ดูแลใกล้ชิดสักเพียงใดก็ตาม
ก็ไม่อาจช่วยให้พ่อแม่ของเจ้ามีความสุขได้เต็มที่ เพราะพวกเจ้าทุกคนต่างก็มีภาระหน้าที่
ต้องรับผิดชอบ

เจ้าช่วยให้ท่นได้รับความสุขเพียงการให้กินอยู่หลับนอนอันเป็นความสุขทางกายเท่านั้น
แต่จิตใจของท่านหาได้ร่าเริงสดชื่นผ่องใสไม่

..........


เจ้าจงจำไว้ว่า

การให้ความสุขแก่พ่อแม่อย่างแท้จริงก็คือ การให้ธรรมะด้วยการสอนหลักธรรมะ
อย่างง่ายๆให้กับพ่อแม่ของเจ้า

พาท่านไปทำบุญทำทาน

สอนท่านให้รู้จักการปฏิบัติบูชา

สวดมนต์ ภาวนา แผ่เมตตา

ธรรมะ จะอยู่ในจิตใจของพ่อแม่เจ้าทุกภพทุกชาติ

ถือว่า เป็นการทดแทนพระคุณที่สูงสุด


................................เจ้าจงจำไว้ นะลูกเอ๋ย...............................



 ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

35
                                            ในแต่ละวันเราสามารถทำบุญได้ง่ายมากกว่าร้อยครั้ง


การทำบุญในชีวิตประจำวันนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก ปฏิบัติง่าย
การทำบุญที่เราทำได้มากในแต่ละวันนี้ คือการอ่อนน้อมถ่อมตน

ในแต่ละวันเราพบปะผู้คนมากมายหลายคน ตั้งแต่ตื่นนอนเราพบเจอพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เราก็สามารถทำบุญได้แล้ว คือการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อท่าน เมื่อออกไปภายนอก เราพบเจอคนมากมาย เราก็ทำบุญได้ตลอดเวลาเช่นกัน


ความอ่อนน้อมถ่อมตนนั้น ต้องเป็นไปด้วยความจริงใจ ไม่ใช่การเสแสร้ง
ต้องประกอบไปด้วยความจริงใจทางกาย-ทางวาจา-และทางใจ
ความจริงใจทางกาย คือ แสดงความเคารพ เช่น การไหว้ หรือการโค้งคำนับ เป็นต้น
ความจริงใจทางวาจา คือ พูดจาไพเราะ สุภาพ อ่อนโยน พูดด้วยความสัตย์จริงและมีประโยชน์
ความจริงใจทางใจ คือ มีความเคารพนอบน้อมด้วยใจจริง มีความหวังดีและไม่ต้องการหวังผลตอบแทน


ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ประกอบด้วยความจริงใจทั้ง ๓ อย่างนี้ คือความอ่อนน้อมถ่อมตนที่แท้จริง สามารถทำได้ทุกที่-ทุกเวลา-ทุกวัน ทำบ่อยๆ เพื่อสั่งสมบุญบารมี ในการทำเป็นร้อยครั้งในแต่ละวัน ไม่ใช่ต้องอ่อนน้อมถ่อมตนต่อร้อยคน ในแต่ละคนที่เราพบเจอเราแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนได้หลายๆ ครั้ง เช่น พ่อแม่ เราเจอท่านตั้งแต่ตื่นนอนกลับมาบ้านเราก็เจอท่านอีก เราจึงทำบุญด้วยวิธีนี้ได้อย่างมากมาย ทำได้แม้แต่ความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อตนเองครับ


ตามหลักพุทธศาสนา มีการทำบุญด้วยกัน ๑๐ วิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ) คือ


๑. ให้ทาน (ทานมัย) แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ การให้ทานเป็นการช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ถี่เหนียว และความยึดติดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไปก็จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลหรือชุมชนโดยส่วนรวม


๒. รักษาศีล (ศีลมัย) ก็เป็นบุญ เป็นการฝึกฝนที่จะ ลด ละ เลิกความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นเป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงามและพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ


๓. เจริญภาวนา (ภาวนามัย) ก็เป็นบุญ การภาวนาเป็นการพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น


๔. อ่อนน้อมถ่อมตน (อปจายนมัย) ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรมรวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกันทั้งในความคิด ความเชื่อและวิถีปฏิบัติของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ


๕. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง (ไวยาวัจจมัย) ช่วยเหลือสละแรงกาย เพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นบุญ


๖. เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญกับเรา (ปัตติทานมัย) หรือในการทำงานก็เปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วมทำ ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นบุญ


๗. ยอมรับและยินดีในการทำความดี (ปัตตานุโมทนามัย) หรือทำบุญของผู้อื่น การชื่นชมยินดีหรืออนุโมทนา ไม่อิจฉาหรือระแวงสงสัยในการกระทำความดีของผู้อื่น ก็เป็นบุญ


๘. ฟังธรรม (ธรรมสวนมัย) บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ก็เป็นบุญ


๙. แสดงธรรม (ธรรมเทศนามัย) ให้ธรรมะและข้อคิดที่ดีกับผู้อื่น แสดงธรรมนำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ก็เป็นบุญ


๑๐. ทำความเห็นให้ถูกต้องและเหมาะสม (ทิฏฐุชุกรรม) มีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น ความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญ ถือเป็นบุญด้วยเช่นกัน


การทำบุญ ๑๐ ประการนี้ สามารถสรุปเป็นข้อความคล้องจองกันว่า

๑. แบ่งปันกันกิน


๒. รักษาศีล ใจ กาย วาจา

๓. เจริญสมาธิภาวนา

๔. กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม

๕. ยอมตนรับใช้

๖. แบ่งให้ความดี

๗. มีใจอนุโมทนา

๘. ใฝ่หาฟังธรรม

๙. นำแสดงออกไม่ได้เว้น

๑๐. ทำความเห็นให้ถูกต้อง


  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

36
                                       ความสุขง่ายๆ จาก พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


ความสุขง่ายๆ จาก พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

เมื่อไม่นานมานี้ พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก มาบรรยายธรรมที่ห้องประชุม นสพ.ข่าวสด ถนนประชาชื่น มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

...จิตของคนเราดูแล้วหลากหลายแตกต่างกันราวฟ้าดิน
ชีวิตของคนแก่เฒ่ากับคนหนุ่มสาว คนรวยเป็นมหาเศรษฐีกับยาจก
คนเก่งระดับดอกเตอร์กับคนไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
คนดีที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ หรืออาชญากรชั่วร้ายที่มีคนสาปแช่ง
ไม่ว่าคนเราจะมีสถานะภายนอกแตกต่างกันมากเพียงใด

ไม่ว่าคนเราจะนับถือศาสนาใด ผิวขาว ผิวดำ เชื้อชาติไหน พูดภาษาใดก็ตาม
แต่ธรรมชาติของจิตสำหรับมนุษย์เราทุกคนที่มีความเหมือนกัน คือ ประภัสสร
สะอาด สงบ ผ่องใสก็มีอยู่แต่ดั้งเดิม เหมือนน้ำใสสะอาดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
__________

ลมหายใจยาวๆ เป็นปฐมพยาบาลทางจิตใจ

ธรรมชาติของจิตแต่ดั้งเดิมนั้น ประภัสสร บริสุทธิ์ ผ่องใสโดยธรรมชาติ แต่จิตเศร้าหมองเพราะอุปกิเลสครอบงำจิต
โลกธรรมฝ่ายน่าปรารถนา มีลาภ มียศ สรรเสริญ สุข ทำให้เกิดอารมณ์พอใจ ยินดี
โลกธรรมฝ่ายไม่น่าปรารถนา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ทำให้เกิดอารมณ์ไม่พอใจ ยินร้าย
อารมณ์พอใจ ไม่พอใจ ยินดี ยินร้าย ขี้เกียจ ขี้ฟุ้งซ่าน ขี้น้อยใจ ขี้อิจฉา ขี้โกรธ ขี้กลัว เหล่านี้เป็นอาการของโรคทางใจ
ทุกข์ ไม่สบายใจเกิดขึ้นเมื่อไร เราควรมีความเห็นถูกต้องว่า ความไม่สบายใจ ทุกข์ใจนี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เพราะธรรมชาติของจิตที่แท้จริงนั้น ผ่องใส ทุกข์ไม่สบายใจเกิดขึ้น ก็ให้รักษาด้วยการ "หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ"
เมื่อมีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วถึง ลมหายใจเข้ายาว ลมหายใจออกยาวแล้ว อารมณ์พอใจ ไม่พอใจ ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นการรักษาสุขภาพใจดีของเรา เป็นปฐมพยาบาลให้แก่จิตใจของเรา

หายใจสั้น

เมื่อกระหายร้อน กระสับกระส่าย ไม่สงบ
เมื่อเจ็บไข้ ป่วย เป็นโรค
เมื่อเหนื่อย
เมื่ออารมณ์หงุดหงิด โกรธ
เมื่อใจร้อน ตื่นเต้น เพราะกลัว ดีใจ เสียใจ

หายใจยาว

เมื่อกายได้พักผ่อน
เมื่อกายสงบเย็น เป็นปกติ สุขภาพแข็งแรง
เมื่ออารมณ์ดี
เมื่อใจดี ใจสบาย

พยายามแก้ไขตนเอง

เมื่อเราสังเกตดูจิตใจ ความคิดของตนองแล้ว จะเห็นว่าจิตใจของเราคิดแต่เรื่องของคนอื่นเป็นส่วนใหญ่ ว่าเขาดี เขาไม่ดี น่ารัก น่าชัง
คิดเรื่องคนอื่นมากกว่า 90% คิดเรื่องของตนเองน้อยกว่า 10%
อยากจะให้คนอื่นละความชั่วที่ไม่ถูกใจเรา อยากจะให้คนอื่นทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อจะไม่กระทบเรา แต่จิตใจของเรากลับปล่อยให้ขุ่นมัว เศร้าหมอง เครียด ฟุ้งซ่าน

"โทษคนอื่นเห็นเป็นภูเขา โทษของเราแลไม่เห็นเท่าเส้นผม
ตดคนอื่นเหม็นเหลือทน ตดของตนถึงเหม็นไม่เป็นไร"


สนใจ เอาใจใส่ ดูตนเองเพิ่มขึ้น มากขึ้น จนดูตนเอง 90% ดูคนอื่น 10%
เราดูคนอื่นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง
เห็นตนเองในคนอื่น และเห็นคนอื่นในตัวเอง
เพราะไม่มากก็น้อย เราก็เหมือนๆกับคนอื่น
เป็นการเจริญสติ สัมปชัญญะ ทำให้มีเมตตากรุณา
ตำหนิ ติเตียนคนอื่น ดูหมิ่น ดูถูกคนอื่น น้อยลง
ตำหนิติเตียนตนด้วยสติปัญญา แก้ไขพัฒนาตน มากขึ้น
ความคิดที่จะแก้ไขปรับปรุงตนเองนี้ เป็นกุศลกรรม
เมื่อสำรวจตนเองแล้ว พบว่ามีข้อที่คิดว่าน่าจะแก้ไข
ให้ตั้งใจทุกวัน พยายามแก้ไขอยู่อย่างนั้น
ผิดพลาดเป็นร้อยเป็นพันครั้งก็ช่างมัน
พยายามคิดตั้งใจจะแก้ไขอยู่อย่างนั้นก็ใช้ได้

ความโกรธ

ความโกรธ เกิดขึ้นจาก
เขาพูดจริงโดยหวังดีต่อเรา แต่ไม่ถูกใจเรา ------เราโกรธ
เขาพูดธรรมดา แต่ไม่ถูกใจเรา ------เราโกรธ
เขาไม่พูด ไม่ถูกใจเรา ------เราโกรธ
เราคิดว่าเขานินทาเรา (ที่จริงเขาไม่ได้นินทาเรา) ------เราโกรธ
เขาว่าเรานินทาเขา (แต่เราไม่ได้นินทาเขา) ------เราโกรธ
เราเข้าใจผิดว่าเขาทำผิด (ทั้งๆที่เขาทำดี) ------เราโกรธ
เขาเข้าใจผิดว่าเราทำผิด (ทั้งๆที่เราทำดี) ------เราโกรธ
เขาหน้าบึ้ง ใจไม่ดี เรารู้สึกว่าเขาไม่พอใจเรา ------เราโกรธ

ความโกรธเปรียบเหมือนอาหารไม่อร่อย
หากมีใครนำมาให้เราแล้วเราไม่รับ ผู้ที่นำมาให้ก็จะต้องรับกลับไปเอง
ความโกรธก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขาโกรธเรา แล้วเราเฉยๆก็เท่ากับเขาโกรธตัวเอง
หากเราโกรธตอบ ก็เหมือนกินอาหารไม่อร่อยนั้นด้วยกัน

ความรักต่อตัวเอง เมตตาต่อตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ

มนุษย์เรา คนเรานี้ ไม่มีเมตตาแก่ตัวเอง ปัญหาต่างๆเกิดขึ้น ทั้งปัญหาส่วนตัว ปัญหาสังคม ปัญหาของประเทศชาติที่เรามองเห็นอยู่ ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกโกรธ รู้สึกอาฆาตพยาบาท

ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจาก เราไม่มีเมตตา ไม่มีความรักตัวเอง ถ้าเรามีเมตตา มีความรักตัวเอง ปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้น และน้อยลง อดีตอยู่อย่างไร ปัจจุบันก็ยังอยู่อย่างนี้ เพียงเท่านี้ ความรักต่อตัวเองก็หมายถึง ทำจิตใจของตัวเองให้สบาย มีความสุข ในทุกสถานการณ์

ธรรมชาติของจิตของเราทุกคนเป็นประภัสสร ผ่องใสโดยธรรมชาติ แต่ว่ามีกิเลส อนิจจัง ความไม่รู้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อจิตใจของเรายังมีกิเลสแล้ว ความรู้สึกต่างๆที่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจก็เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปฏิกูลทางจิตใจ ความไม่สบายใจเกิดขึ้นจากภายในจิตใจของเรา

ปัญหาภายนอกตั้งแต่ขั้นกายก็ดี หรือว่ามีเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ที่ไม่น่าปรารถนา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ สิ้นเหล่านี้ก็เพียงแต่กระตุ้นจิตใจ ให้เกิดความทุกข์

ชีวิตของเราเป็นทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ชีวิตเป็นทุกข์ ความแก่ของตัวเอง หรือของสิ่งรอบตัว ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์"

ทุกวันนี้เราจำเป็นต้องอยู่กับคนที่ไม่ชอบใจ ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ ความคิดเห็นไม่ตรงกัน ต่างคนต่างรีบ ใช้อารมณ์ ใช้วาจา ใช้ความรุนแรงต่างๆ คนที่ไม่ชอบใจ สิ่งที่ไม่ชอบใจก็มีมากในชีวิต

ตรงกันข้ามก็มีอยู่ การต้องพลัดพรากจากคนที่เรารัก สิ่งที่เรารัก หรือไม่สมปรารถนาในชีวิต ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความไม่สบายใจ เป็นทุกข์ใจ

แต่เราต้องเข้าใจว่า ความไม่สบายใจนี้ เกิดขึ้นจากภายในจิตใจของเรา ไม่ใช่เกิดขึ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากกัน เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ดี หรือเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายก็ดี เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ก็เกิดอยู่กับทุกคนเช่นกัน

ถึงอย่างไรก็ตามความจริงของชีวิตก็เป็นเช่นนี้ ลองสังเกตดูว่าเรารักตัวเองมากแค่ไหน เรามีเมตตาต่อตัวเองมากน้อยขนาดไหน จิตของเราผ่องใสโดยธรรมชาติ แต่ความรู้สึกที่ไม่ดีเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเป็นข้อเสียของเราเกิดจากจิตใจ ถ้าเรายังรักตัวเอง ก็ต้องจัดการสิ่งเหล่านี้ ก่อนที่จะเดินทางจากชาตินี้ อย่างน้อยก็ต้องรู้จักว่าเรามีเมตตา ทำจิตใจให้สบาย มีความสุข มีความพอใจ
ตั้งสติ หายใจออกยาวๆสบายๆ หายใจเข้า ปล่อยตามธรรมชาติ หายใจออกยาวๆสบายๆ เพื่อคลายความรู้สึกที่ไม่ดีออกไปพร้อมกับลมหายใจออก หายใจเข้า ปล่อยตามปกติ ให้ลมหายใจเข้า ช้าๆลึกๆ พอสมควร หายใจออก ตั้งใจให้เป็นลมหายใจยาวๆสบายๆ เมื่อทำซ้ำๆอยู่เช่นนี้ ก็จะรู้สึกสบายกาย สบายใจ เกิดความสงบเย็นใจ แล้วก็เกิดความละอายต่ออารมณ์โกรธ จนกระทั่งความโกรธไม่กล้าโผล่หน้ามาให้เห็นอีก

เราลองนึกดูว่า น้ำ กับน้ำแข็ง เมื่อเราการน้ำ ในขณะที่เรามีเพียงแต่น้ำแข็ง ให้คิดเสียว่าน้ำกับน้ำแข็งเป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อได้น้ำแข็งก็ควรดีใจ และบอกตนเองว่า ทำอย่างไรจึงจะละลายน้ำแข็งได้ เราต้องหาความร้อน เพื่อให้มีความอบอุ่น และน้ำแข็งก็จะละลาย และกลายเป็นน้ำ

ความไม่สบายใจ ความสบายใจ ก็เหมือนน้ำแข็งกับน้ำ แต่ถ้าเราเจอ เรามีสิ่งที่ไม่สบายใจ ก็ดีใจได้ ที่มองเห็นความไม่สบายใจชัดเจน และมองเห็นความสบายใจชัดเจน
____________________________________________

ประวัติพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก     

 (ที่มา : นิตยสารเอสไควร์ กุมภาพันธ์ 2552)
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เป็นชาวญี่ปุ่น เป็นสัทธิวิหาริกรุ่นแรกของพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

ชาติภูมิเป็นชาวจังหวัดอีวาเต้ ประเทศญี่ปุ่น เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2494 จบไฮสคูลสาขาเคมี

ออกเดินทางค้นหาความหมายของชีวิตทั่วโลกตั้งแต่อายุ 18 ปี จนตัดสินใจบวชเป็นพระภิกษุที่เมืองไทย ท่านคือพระนักปฏิบัติเผยแผ่ธรรมะด้วยภาษาเข้าใจง่าย หนังสือของท่านหลายๆ เล่มล้วนเข้าถึงความทุกข์ของคนในปัจจุบันได้ตรงจุดที่สุด

พระอาจารย์มิตซูโอะเล่าถึงเส้นทางของตัวเองก่อนจะเดินทางมาเมืองไทยว่า หลังเดินทางออกจากญี่ปุ่น เป้าหมายแรกคือปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่ไม่สำเร็จ ปีนต่อไม่ไหว เพราะหนาวและยากลำบากมาก

จากนั้นเดินทางไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งได้ไปพุทธคยา ในอินเดีย ได้เรียนรู้เรื่องราวของพระพุทธเจ้า ทำให้ได้คิดว่า การที่เราออกเดินทางไกลเพื่อแสวงหาความหมายของชีวิตนั้น แท้จริงแล้วเป็นแค่ปัจจัยภายนอก สิ่งที่เราแสวงหานั้นอยู่ไม่ไกลเลย

แท้จริงมันอยู่ที่จิตใจของเราเอง

พระอาจารย์มิตซูโอะ เริ่มต้นศึกษาพุทธศาสนาจากการนั่งสมาธิและเล่นโยคะกับโยคีที่อินเดียประมาณ 2 ปี อยู่ไปอยู่มามีปัญหาเรื่องวีซ่า พอดีมีเพื่อนฝรั่งเศสบอกว่าให้ลองไปปฏิบัติธรรมที่เมืองไทย เพราะไม่ยุ่งยากเท่าอินเดียก็เลยมาบวชที่เมืองไทย

"มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ" คือชื่อเดิมในภาษาญี่ปุ่น หลังบวชเป็นพระภิกษุ หลวงพ่อชา (หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี) พระอุปัชฌาย์ตั้งฉายาให้ว่า "คเวสโก" (อ่าน คะ-เว-สะ-โก) แปลว่า "ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง"
ขณะที่หลวงปู่ชาเรียกลูกศิษย์ผู้นี้ว่า "สี่บาทห้าสิบ"

เพราะวันแรกที่ไปฝากตัว หลวงพ่อท่านถามชื่อ พระอาจารย์ก็ตอบไปว่า "ชิบาฮาชิ"

ออกเสียงคล้ายๆ คนพูดไทยไม่ชัดว่า "สี่บาทห้าสิบ"
ช่วงบวชแรกๆ หลวงพ่อบอกว่าพบอุปสรรคมากมาย คิดว่าจะได้นั่งสมาธิกับเล่นโยคะเหมือนตอนที่อยู่ในอินเดียก็ไม่ได้ทำ

เพราะต้องตื่นตี 3 บิณฑบาต สวดมนต์ ภาษาไทยก็ไม่รู้เรื่อง

"กว่าจะได้นั่งสมาธิหรือเล่นโยคะก็เหนื่อยเสียแล้ว คิดจะสึกกลับญี่ปุ่นอยู่หลายหน แต่เมื่อปฏิบัติไปก็เริ่มมีความอดทนมากขึ้น
รู้ว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ"

http://www.prachachat.net/news_detai...id=07&catid=no

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต


37
                                        แจ้งข่าวหลวงปู่แฟ๊บ วัดป่าดงหวาย มรณภาพแล้วครับ

แจ้งข่าว หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโธ วัดป่าดงหวาย อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร ได้ละสังขารแล้วครับ ราว 4 ทุ่มที่ผ่านมา ที่รพ.สกลนคร รายละเอียดยังไม่ทราบครับ ต้องรอตอนเช้าครับ



ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่แฟ้บ สุภัทโท


วัดป่าดงหวาย
ต.ม่วง อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร


๏ อัตโนประวัติ

“หลวงปู่แฟ้บ สุภัทโท” มีนามเดิมว่า ญาติ กุลวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช๒๔๖๕ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสอง ปีจอ ณ บ้านคำชะอี ตำบลคำชะอี อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (จังหวัดมุกดาหาร ในปัจจุบัน) โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายพรหมมา และทุมมา กุลวงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา ตามวิถีชีวิตชาวชนบทอีสาน ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน โดยท่านเป็นบุตรคนที่ ๕

เพราะเหตุบางประการในการแจ้งชื่อในทะเบียนทหารกองเกิน เมื่อช่วงอายุ ๑๗-๑๘ ปี ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “แฟบ” และวันเวลาเกิดก็ผิดพลาดไปด้วย จึงต้องใช้ชื่อวันและเวลาเกิดใหม่จากนั้นเป็นต้นมา ต่อมาลูกศิษย์ลูกหาได้เรียกชื่อเพี้ยนเป็นหลวงปู่ “แฟ้บ” หรือ “แฟ๊บ” หรือ “แฟ็บ” ไป

หลวงปู่เป็นพระกัมมัฏฐานที่วัตรปฏิบัติเรียบง่ายปฏิปทาอันงดงาม ด้วยครองตนอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์อย่างสมถะ ไม่สะสมทรัพย์สินใดๆ มักน้อย ถือสันโดษ มีเมตตาธรรมสูง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้ได้พบเห็น และเป็นร่มโพธิ์ทองของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย


๏ การศึกษาเบื้องต้น

หลวงปู่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ เมื่อโยมมารดาถึงแก่กรรมตอนอายุได้ ๗ ปี โยมบิดาก็ได้แต่งงานใหม่ ทำให้หลวงปู่ต้องย้ายไปอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ในสมัยนั้นหมู่บ้านอยู่ในชนบทห่างไกลมาก จึงไม่มีโรงเรียนทำไม่ได้รับการศึกษาต่อ ดังนั้นท่านจึงช่วยเหลืองานของโยมบิดาเรื่อยมา จนกระทั่งถึงอายุ ๑๖ ปี จึงย้ายกลับมาอยู่กับพี่ชายคนที่ ๒ คือ นายบุญ กุลวงศ์ ที่บ้านเดิม

ในวัยเยาว์นั้น มีเหตุการณ์ที่สร้างความประทับใจและปลูกศรัทธาความเลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนาและพระธุดงค์กรรมฐานเป็นอย่างมาก เมื่อได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการพระบูรพาจารย์ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีลมหาเถร และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร ณ ถ้ำจำปากันตสีลาวาส (ถ้ำจำปา) บนภูผากูด บ้านคันแท ตำบลหนองสูง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ในปัจจุบัน

เนื่องจากหลวงปู่มั่นเห็นว่าการที่หลวงปู่เสาร์ปรารถนาบำเพ็ญบารมีเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น จะทำให้ล่าช้าต่อการบรรลุมรรคผลและนิพพาน เพื่อแนะแนวทางให้กับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นจึงได้เดินทางมาที่ถ้ำจำปา บนภูผากูด ซึ่งหลวงปู่เสาร์ได้จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้น ต่อมาท่านทั้งสองได้ออกเดินธุดงค์มาแวะใกล้บริเวณหมู่บ้าน หลวงปู่จึงมีโอกาสได้พบกับท่านทั้งสอง เพราะชาวบ้านไปถางป่าจัดทำสถานที่พักไปฟังเทศน์ หลวงปู่ก็ตามชาวบ้านไปด้วย หลวงปู่มีโอกาสช่วยงานต่างๆ และทำทางเดินจงกรมให้กับหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นด้วย



หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล    



หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

๏ การอุปสมบทครั้งแรก

ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ หลวงปู่ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ญัตติฝ่ายมหานิกาย เป็นครั้งแรก ณ วัดในหมู่บ้าน ได้รับนามฉายาว่า “จันตโชโต” อุปสมบทได้เพียง ๒ พรรษาเท่านั้น โดยในพรรษาแรกได้เรียนภาษาบาลีจนสามารถอ่านออกเขียนได้ และในพรรษาที่ ๒ หลวงปู่อยากจะเรียนนักธรรมเพราะเมื่อได้นักธรรมโทแล้วก็จะลาสิกขาเพื่อไปเป็นครูสอนนักเรียน แต่พระครูต้องการให้เรียนพระปาฏิโมกข์ หลวงปู่ไม่ชอบจึงได้ลาสิกขา


๏ ชีวิตครอบครัว

หลังจากนั้นหลวงปู่ก็ได้ประกอบอาชีพค้าไหมจนมีเงินสะสมมากพอ จึงแต่งงานกับนางคำมา สุวรรณไตร พออายุได้ ๓๒ ปี จึงเปลี่ยนอาชีพมาทำนา และย้ายครอบครัวมาอยู่ที่บ้านบุ่งเลิศ ตำบลบุ่งเลิศ อำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด มีบุตร-ธิดารวมทั้งหมด ๑๒ คน คือ

๑. นางเหมือน กุลวงศ์ อาชีพแม่บ้าน
๒. พระอาจารย์ทองมาย อริโย
วัดป่ากลางทุ่ง อำเภอบ้ายนดุง จังหวัดอุดรธานี
๓. นางทองสาย แก้วมาก อาชีพทำนา
๔. แม่ชีสมหมาย กุลวงศ์ ปัจจุบันอยู่ ณ วัดป่าดงหวาย
๕. นายอุดม กุลวงศ์ อาชีพรับราชการครู
๖. นายสมศักดิ์ กุลวงศ์ อาชีพรับราชการครู
๗. นายภักดี กุลวงศ์ อาชีพรับราชการทหาร
๘. พระอาจารย์ศรีธาตุ ฐานรโต
วัดถ้ำมะค่า ตำบลคำเพิ่ม อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร
๙. นายผดุง กุลวงศ์ อาชีพรับราชการตำรวจ
๑๐. นางคำซ้อน อินทัง อาชีพช่างเสริมสวย
๑๑. นางอ่อนจันทร์ ประเสริฐสังข์ อาชีพช่างเย็บผ้า
๑๒. นางวรรณา กุลวงศ์ อาชีพค้าขาย

การดำเนินชีวิตในขณะนั้น หลวงปู่ประพฤติตนเป็นพุทธมามกะ โดยเป็นมัคทายกของวัดในหมู่บ้าน และยังเป็นหัวหน้าช่างก่อสร้าง ได้ออกแบบควบคุมการก่อสร้าง รวมถึงลงมือก่อสร้างกุฏิศาลา และกำแพงของวัดเองทั้งหมด โดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆ เลย

เมื่อครั้งที่นางคำมา ภรรยาของหลวงปู่ ตั้งครรภ์ที่ ๒ ได้ ๖ เดือน ในคืนหนึ่งหลวงปู่ฝันว่า กำลังจะเดินทางกลับบ้านหลังจากทำนาเสร็จแล้ว เกิดมีน้ำป่าไหลมา มองไปทางไหนก็มีแต่น้ำท่วมจนสุดสายตา แต่มีเนินดินที่น้ำท่วมไม่ถึงพอที่จะให้ขึ้นไปอยู่ได้ จึงไปอยู่ที่เนินดินนั้น ขณะที่หลวงปู่กำลังคิดว่าจะทำไงดีจะกลับบ้านได้อย่างไร ก็มีมีดพร้าเก่าๆ ลอยตามน้ำมาติดอยู่ใกล้ๆ กับท่าน หลวงปู่จึงหยิบขึ้นมาดูก็เห็นว่าเป็นมีดพร้าของท่านเอง จึงนำไปล้างน้ำจนมีดพร้านั้นเปลี่ยนเป็นเรือทองคำ หลวงปู่จึงขึ้นไปนั่งบนเรือทองคำนั้น แล้วเรือก็พาแล่นไปจนสามารถข้ามน้ำผ่านไปจนเจอถนนหนทาง เรือทองคำแล่นไปบนถนนราวกับเป็นรถยนต์

เมื่อพิจารณาความฝันนั้นก็เห็นว่า “ลูกคนนี้คงเป็นผู้พาให้เราพ้นจากกองทุกข์เป็นแน่” ซึ่งลูกคนที่ ๒ นี้ คือ พระอาจารย์ทองมาย อริโย นั่นเอง

ต่อมาหลวงปู่เห็นว่าลูกๆ เริ่มโตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว แต่ละคนก็ได้รับการศึกษาที่ดีคงไม่มีใครคิดที่จะทำนา จึงคิดหาทำเลที่เหมาะสมสำหรับประกอบอาชีพ หลวงปู่เห็นว่า อำเภอบานดุง จังหวัดอุดรธานี เหมาะสม หลวงปู่จึงได้มาซื้อบ้านแล้วย้ายถิ่นฐานครอบครัวมาอยู่ที่นี่ พร้อมกับได้สร้างห้องแถวสำหรับให้เช่าขึ้น ๖ ห้อง ซึ่งหลวงปู่ลงมือสร้างด้วยตนเอง

ในขณะที่วัยของหลวงปู่เริ่มมากขึ้น ร่างกายก็อ่อนแอลงไปด้วย แต่ยังต้องทำนาเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวอยู่ ในวันหนึ่งขณะที่หลวงปู่กำลังจูงควายไปทำนา ๒ ตัว ควายตัวหนึ่งหยุดยืนเพื่อถ่ายมูล ส่วนควายอีกตัวหนึ่งกลับดึงตัวหลวงปู่เซจนล้มลง เพื่อนบ้านมองเห็นเข้าจึงพูดกับหลวงปู่ว่า

“เฒ่าแล้วจะทำไปทำไมนักหนา ไปทำบุญเข้าวัดเข้าวาได้แล้ว”

เมื่อหลวงปู่ได้ยินเช่นนั้น ก็เกิดความสลดสังเวชตัวเองเป็นอย่างมากถึงกับน้ำตาไหลออกมา หลังจากนั้นมาทุกวันพระหลวงปู่จะไปทำบุญรักษาศีลที่วัดตลอด และได้ศึกษาการปฏิบัติภาวนา เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิ จนเกิดอัศจรรย์เป็นครั้งแรก ขณะภาวนาในเวลากลางคืน จู่ๆ ก็เห็นแสงขึ้นเหมือนฟ้าแลบ เป็นช่วงๆ แล้วเริ่มถี่ขึ้นๆ จนสว่างจ้าไปหมด หลังจากนั้นมาก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก จึงไม่ได้สนใจเพราะไม่รู้จักอะไรลึกซึ้งนัก และไม่มีผู้ให้คำสอน

ในขณะนั้นความรู้สึกของหลวงปู่มีแต่ความอยากบวช แต่ก็ติดอยู่ที่ครอบครัวจึงยังไม่มีโอกาส ครั้นต่อมานางคำมา สุวรรณไตร ภรรยาของหลวงปู่ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรควัณโรค ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เมื่ออายุได้ ๕๒ ปี ส่วนหลวงปู่อายุได้ ๕๙ ปี


  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด dhammajak





38
ธรรมะ / เป็นสุขทุกเวลา
« เมื่อ: 30 ต.ค. 2553, 09:20:40 »
                                                                   เป็นสุขทุกเวลา


สุข กับ ทุกข์ นั้นมีรสชาติต่างกันลิบลับราวกับอยู่คนละขั้วเลย
แต่ที่จริงแล้วมันอยู่ใกล้กันมาก
ไม่ต่างจากภูเขากับหุบเหว
ภูเขาอยู่ที่โน่น มองลงมาจากยอดเขาก็เห็นหุบเหวที่นั่น

ฉันใดก็ฉันนั้น
สุขย่อมมีทุกข์พ่วงติดมาด้วยเสมอราวกับฝาแฝดอินจัน
เราสุขด้วยอะไร...
...ก็มักจะทุกข์เพราะสิ่งนั้นเสมอ

ถ้าเงินทอง บ้าน ที่ดิน และรถยนต์ทำให้เราเป็นสุข
ไม่นานมันก็จะนำความทุกข์มาให้
ความทุกข์บางครั้งก็เข้ามาประชิดตัวอย่างรวดเร็ว
ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันมีใครมาแย่งมาขโมยทรัพย์สมบัติเหล่านั้นเลย
เราก็เป็นทุกข์เสียแล้ว
เราอาจจะทุกข์เพราะความห่วงกังวล
ทุกข์เพราะต้องคอยเฝ้าดูแล
ทุกข์เพราะมันไม่เป็นดังใจ ฯลฯ
เรื่องที่จะทำให้ทุกข์นั้นมีมากมายสารพัด


ใครๆ ก็อยากหล่ออยากสวย เป็นปลื้มทุกครั้งที่ได้ยินคนชม
แต่ลึกๆ แล้วก็เป็นทุกข์ที่รู้สึกว่ายังสวยยังหล่อไม่พอ
กังวลว่าต้องเป็นคนสวยคนหล่อตลอดเวลา
แถมยังกลัวอีกว่าไม่ช้าก็เร็วความสวยนั้นก็จะเลือนหายไป
คนหล่อคนสวยที่ไม่ทุกข์เลยนั้นหายากพอๆ กับพระอรหันต์เลย

คนเราเป็นสุขที่ได้เที่ยว
แต่ก็มีถมถืดไปที่เป็นทุกข์เพราะเที่ยวนั่นเอง
บางทียังไม่ทันได้เที่ยวเลยก็เครียดเสียแล้ว
เพราะมัวทะเลาะกันว่าจะไปเที่ยวที่ไหนถึงจะสนุกที่สุด
บางคนดีใจที่จะได้ไปเที่ยว
เพราะเป็นโอกาสที่จะได้พักผ่อนและใกล้ชิดกับครอบครัว
แต่ไม่ทันออกเดินทางก็หงุดหงิดกับแฟนกับลูกๆ เสียแล้ว
เพราะพวกเขาพากันโอ้เอ้ล่าช้าจนผิดเวลาไปมาก
ความที่เจ้าตัวหวังจะตักตวงความสุขจากการไปเที่ยวให้ได้มากๆ
เลยเป็นทุกข์เมื่อไม่เป็นไปตามแผน

ขณะเดียวกัน...
แทนที่ครอบครัวจะสนิทสนมกันมากขึ้น
การไปเที่ยวกลับทำให้ตึงเครียดกันทั้งบ้าน
เพราะเจ้าตัวทำหน้าบึ้งตึงกับคนอื่นๆ ไปตลอดทาง


อันที่จริง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ให้ความสุขเรานั้น
เปรียบไปก็ไม่ต่างจากเหยื่อที่มีเบ็ดแหลมซ่อนอยู่
ส่วนเราก็ไม่ต่างจากปลาที่หลงไหลเหยื่อ
เวลาเราฮุบเหยื่อนั้น คำแรกจะรู้สึกอร่อย
แต่อีกซักพักก็จะเจ็บ เพราะถูกเบ็ดแทงเอา
บางคนสะบัดหลุดมาได้เพราะเบ็ดแทงไม่ลึก
หรือไม่ก็เป็นเพราะเบ็ดทื่อ
บางคนก็ได้แผลเหวอะหวะกว่าจะรอดมาได้
แต่มีไม่น้อยที่ฮุบเข้าไปเต็มแรง เบ็ดเลยฝังลึกจนสะบัดไม่หลุด
และกลายเป็นอาหารของผู้วางเหยื่อ


คนที่หลงไหลติดยึดอย่างเต็มที่กับอะไรก็ตาม
ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เวลาสุขก็สุขมาก
แต่เวลาทุกข์ก็ทุกข์หนักเช่นกัน
ทั้งนี้เพราะเอาตัวไปผูกติดกับสิ่งนั้นอย่างหมดเนื้อหมดตัว
พอสิ่งนั้นเกิดอันเป็นไปขึ้นมา เช่น
บ้านถูกยึด หลุดจากตำแหน่ง
หรือหมดสวยหมดงาม ก็เท่ากับชีวิตพังพินาศไปด้วย
จึงเกิดอาการทุรนทุราย สิ้นหวัง สลัดความทุกข์ออกไปไม่ได้
บางทีถึงกับคิดสั้น ซ่าตัวตาย หรือทำยิ่งกว่านั้น ดังที่เป็นข่าวน่าตกใจว่า
พนักงานรัฐวิสาหกิจคนหนึ่งถูกยึดรถขณะที่กำลังจะพาครอบครัวไปเฉลิมฉลองปีใหม่

ด้วยความผิดหวังอย่างรุนแรงจึงบันดาลโทสะฆ่าคนที่มายึดรถ....
แล้วก็ฆ่าตัวตายตกตามกัน


เมื่อใดก็ตามที่เราติดยึดหลงไหลกับอะไรบางอย่าง
เราก็ไม่แตกต่างจากปลาที่ฮุบเหยื่อเข้าไปเต็มที่
แม้จะได้ความอร่อยเต็มปากเต็มคำ
...แต่ก็โดนเบ็ดแทงเข้าเต็มๆ
หากโชคดีหลุดออกมาได้ก็เหวอะหวะน่าดู
เหยื่อนั้นใช่ว่าแตะต้องไม่ได้
วิธีกินเหยื่อโดยไม่ติดเบ็ดนั้นมีอยู่
แต่ต้องค่อยๆ กินด้วยความระมัดระวัง
ไม่ลืมตัวสวาปามด้วยความตะกละหรือด้วยความประมาท
ระลึกเสมอว่าอาจมีเบ็ดซ่อนอยู่


ฉันใดก็ฉันนั้น เวลาเราจะแสวงหาความสุขจากสิ่งใด
ก็อย่าโถมเข้าหาจนหมดเนื้อหมดตัว หรือเสพสุขจนลืมตัว
หากควรเผื่อใจไว้บ้างว่าอะไรๆ ก็ไม่จีรัง
ไม่มีอะไรที่ทำให้เราสุขไปได้ตลอด
หรือให้ความสุขแก่เราอย่างเดียวโดยไม่มีความทุกข์แฝงอยู่
ที่สำคัญคือ....
อย่าไปคิดเป็นเจ้าของเอากับสิ่งทั้งหลายที่นำความสุขมาให้เรา
มันไม่ใช่ของเรา...
หากเป็นของที่หยิบยืมมาจากธรรมชาติ
เราเองเป็นผู้อาศัยที่หยิบยืมของนั้นมาใช้เพียงชั่วคราว...
เมื่อใดก็ตามที่เราคิดว่ามันเป็นของเรา
เราก็ไม่ต่างจากขโมย
จึงยากที่จะมีความสุขได้
เพราะต้องถูกตำรวจไล่ล่าเอาตัวมาลงโทษ
ถ้าไม่เป็นเจ้าของอะไรเลย
...ก็ไม่มีอะไรต้องสูญเสีย
ดังนั้นจึงมีความสุขทุกเวลา

จาก ธารน้ำใสกลางใจ โดย รินใจ
เป็นสุขทุกเวลา | พระไพศาล วิสาโล/รินใจ - Tamdee.net ค่ายพุทธบุตธทำดี - Powered by PHPWind

ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด  พลังจิต

39
ธรรมะ / วิธีฝึกใจให้เข้มแข็ง
« เมื่อ: 30 ต.ค. 2553, 07:19:08 »
                                                            วิธีฝึกใจให้เข้มแข็ง


                     วิธีฝึกใจให้เข้มแข็ง


ผู้ถาม  หลวงพ่อเจ้าขา ไม่รู้ว่าเป็นเวรกรรมอะไร เกิดมาในชาตินี้รู้สึกว่า ไม่มีความเข้มแข็งในดวงจิตเลย ใช้คาถาก็ไม่แข็ง มาทำบุญกับหลวงพ่อก็ไม่เข้ม เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อยากจะขอคำแนะนำจากหลวงพ่อว่า วิธีฝึกให้จิตใจเข้มแข็งเพื่อพระนิพพานชานินี้ ลูกควรจะฝึกด้วยวิธีไหน

หลวงพ่อ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ใช้เบ้าหลอมเหล็ก คนเหลวแล้วก็กินต่อไปใจจะแข็ง ร่างกายก็แข็ง กินเหล็กได้ เข้มแข็งไงล่ะ เนื้อเหล็กกินไม่ไหวนะ กินขี้เหล็กก่อน...(หัวเราะ)


เอาอย่างนี้ซิค่อย ๆ นะ ค่อย ๆ คิด ใช้เวลาน้อย ๆ เราทำอารมณ์ทำสมาธิใช่ไหม ใช้เวลานิดหน่อย ๑-๑๐ เราก็เลิก แค่นี้พอใช้ได้ ไม่ช้าก็ชิน


                           นิสัยไม่ดี

ผู้ถาม กราบเท้าหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง คือว่าลูกมีนิสัยไม่ดีอยู่อย่างหนึ่ง คือว่าต้นดีกลางกับปลายคด

หลวงพ่อ ดีมาก

ผู้ถาม ดีอีกแล้ว ปัญหาทุกอย่างมาหาหลวงพ่อนี่

หลวงพ่อ ดีหมด...อย่างเทวทัตไง ต้นดีปลายคด

ผู้ถาม นี่เขาเรียก “ดีหมด” นะครับ หรือว่า “หมดดี”


หลวงพ่อ หมดดี


ผู้ถาม เขาว่ามาอย่างนี้ คือเวลาฟังหลวงพ่อเทศน์ใหม่ ๆ มันปีติ เอาจริงเอาจัง ปฏิบัติคร่ำเคร่งนั่งหูดับตับไหม้เลย

แต่พอหลวงพ่อกลับไปแล้วซิคะ จิตมันเลวระยำคิดจะทำโน่น คำความชั่วต่าง ๆ นานา อารมณ์อย่างนี้ ลูกแก้ไม่ตกเลยเจ้าค่ะ ขอบารมีหลวงพ่อโปรดช่วยความสว่างกระจ่างใจสักครั้งเถิดเจ้าค่ะ

หลวงพ่อ ก็ดีแล้วนี่

ผู้ถาม ดีอีกแล้ว ผิด...เลว...ก็ดี


หลวงพ่อ อ้าว...ทำไม่เล่า ก็เวลาฟังเทศน์จิตเขาดี ทำไมจำว่า เขาไม่ดีล่ะ

ผู้ถาม นี่เขากล่าวหมายถึง ตอนที่หลวงพ่อกลับไปแล้วจิตไม่ดีครับ

หลวงพ่อ ก็ช่างมัน...เราก็มาดีใหม่ แต่เวลาจะตายความดีอาจเข้าถึงตัวได้นะ ถ้ามันจะตายธรรมดาของคนมันเป็นอย่างนั้นแหละ

 จะให้ดีทุกวันเป็นไปไม่ได้หรอก ต้องดีบ้างชั่วบ้าง ทำความดีคราวละน้อย ๆ ทำบ่อย ๆ ก็เต็ม เหมือนน้ำฝนตกทีละหยาด ๆ สามารถทำให้ภาชนะเต็มได้ใช่ไหม


อย่างนี้ที่หลวงพ่อมามีปีติ ไอ้ปีติเป็นตัวสำคัญมาก เป็นมหากุศล และจงอย่าลืมว่าเวลาจะตายนะมันจะช่วย ปีตินี่จะช่วย เมื่อปีติช่วยเข้าสนองใจปั๊บเห็นภาพพระทันที นี่ตายแบบนี้ลงนรกไม่ได้


เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน แก้ตัวใหม่ ก่อนจะหลับภาวนา “พุทโธ” ๓ ครั้ง ตื่นขั้นก่อนจะลุกขึ้นภาวนา “พุทโธ” ๓ ครั้ง

แค่นี้พอแล้วเอาแค่ฉันเมื่อเป็นเด็ก ฉันเมื่อเป็นเด็กแม่บังคับแค่นี้ ก่อนจะหลับ


หัวถึงหมอนปั๊บภาวนาพุทโธ ต้องว่าดัง ๆ นะ ให้ท่านได้ยิน พอตื่นขึ้นปั๊บ “พุทโธ...พุทโธ...พุทโธ” แล้วก็ไป เราก็ว่าตามประสาเด็ก


ที่ว่าเมื่อกี้หลวงพ่อกลับไปแล้วชั่ว ความจริงเขายังไม่ชั่วหรอกบางวันเขาก็ภาวนา บางวันเขาก็ไหว้พระ ยังไม่ชั่ว ยังนึกถึงหลวงพ่อยู่ ถ้าทางที่ดีนะ ควรจะรับหนี้จากหลวงพ่อไปเสียบ้าง จะได้นึกถึงหลวงพ่อทุกวัน ๆ ใช่ไหม (หัวเราะ)

ผู้ถาม เรียกว่าถ้ารับหนี้จากหลวงพ่อไปได้ไอ้เรื่องอะไร ๆ


หลวงพ่อ ก็นึกถึงหลวงพ่อทุกวันไง...เป็นสังฆานุสสติ ตายแล้วไปสวรรค์ทันที

ผู้ถาม อ๋อ การนึกถึงว่าจะช่วยใช้หนี้หลวงพ่อ เป็นสังฆานุสสติ

หลวงพ่อ ใช่ เป็นการช่วยสงฆ์ นึกถึงพระสงฆ์ไงเล่า สังฆานุสสติ แปลว่า นึกถึงพระสงฆ์


ผู้ถาม นี่ถ้าเกิดนึกอะไรไม่ได้ จับนึกถึงกล้องยานัตถุ์หลวงพ่อ เป่าปู้ด ๆ ๆ เห็นกล้องยานัตถุ์ นึกถึงกล้องยานัตถุ์อย่านี้ ตายแล้วไปไหนครับ

หลวงพ่อ ตายแล้วไปเกิดเป็นกล้อง (หัวเราะ) อันนี้ก็เป็นสังฆานุสสติเหมือนกัน เพราะกล้องยานัตถุ์ของหลวงพ่อ อย่าลืมว่าลงคำหลวงพ่อ หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์ใช่ไหม

ผู้ถาม เรียกว่าอะไรแล้วแต่ เกี่ยวกับหลวงพ่อนี่เป็น


หลวงพ่อ เกี่ยวกับหลวงพ่อ หรือพระองค์ใดองค์หนึ่งก็ตาม...เหมือนกัน เป็นสังฆานุสสติเหมือนกัน ถ้าเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งเป็นพุทธานุสสติ เกี่ยวกับการสวดมนต์หรือฟังเทศน์เป็นธัมมานุสสติ

ผู้ถาม นั่งสมาธินิดหน่อย ๆ ก็เป็นธัมมานุสสติ


หลวงพ่อ อย่าลืม นิดหน่อยนี่ มีความสำคัญมาก มันสะสมตัวเอง ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า แม้ทำบุญคราวละเล็กคราวละน้อย แต่ทำบ่อย ๆ มันก็สามารถทำบารมีให้เต็มได้

เหมือนน้ำฝนที่ตกทีละหยาด ๆ สามารถทำภาชนะให้เต็มได้ เห็นไหมด...ได้นี่เวลาหลวงพ่อมาปีติดีมาก ก็ไหลไปบ้างไหลมาบ้าง


ไม่ได้เสียทุกวัน ฉันรู้นะที่พูดมาน่ะโกหก เขาไม่เสียทั้งวันหรอก เขาเสียบ้างไม่เสียบ้างเท่านั้นเอง เฉพาะเวลาบางเวลา


ผู้ถาม โอ๊ะ! หลวงพ่อรู้เสียด้วย เป็นอันว่าก็เป็นคนดีคนหนึ่ง

หลวงพ่อ ฉันขอแช่งคนนี้ไว้ ตายแล้วห้ามเกิดเป็นมนุษย์ ไปสวรรค์ เป็นเทวดา เป็นนางฟ้าไป

                                        ท้อแท้ทำความดี

ผู้ถาม หลวงพ่อเจ้าขา ลูกอยากจะทำความเพียรเพื่อทำความดี แต่บางครั้งก็มีอารมณ์ท้อแท้จะทำอย่างไรดีคะ

หลวงพ่อ ถ้าท้อแท้ต่อความเพียรก็แสดงว่าขี้เกียจ คนที่มีความเพียรคือคนขยัน


ความเพียร เพียรต่อสู้กับความชั่ว เพื่อหวังให้มีผลในความดี เป็นเรื่องธรรมดาของคน ไอ้การต่อสู้ความขยันหมั่นเพียร มันจะมีทุกเวลาไม่ได้นะ


ในบางครั้งกรรมที่เป็นอกุศลเดิม มันเข้ามาครอบงำจิต เวลานั้นจะตัดความดีของเราให้รู้สึกท้อแท้ไม่กล้าต่อสู้...เบื่อ


พอกุศลเข้ามาสนองปั๊บ กุศลเตะไอ้นั่นออกไปนี่ขยันแล้วสร้างความดี ต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกันทุกคน หนักเข้าๆ กุศลมีกำลังแรงก็เตะได้นั่นกระเด็นออกไป

             พอถึงพระโสดาบันปั๊บ อกุศลยังเข้ามาได้ แต่เข้าก็เข้าแรงไม่ได้ ถ้าถึงพระโสดาบันอกุศลเข้าแรงไม่ได้ มันจะสร้างความขุ่นมัวบ้าง


แต่จะถึงทำบาปไม่ได้ คำว่า “ขุ่นมัว” อาจจะต้องโกรธ ใช่ไหม...พระโสดาบันยังมีโกรธ พระโสดาบันยังมีความรักในระหว่างเพศ พระโสดาบันยังมีความอยากร่ำรวย


แต่เรื่องละเมิดศีลไม่มี แต่มีอารมณ์ที่แจ่มใสจริง ๆ คือพระอรหันต์ ถ้ายังไม่ถึงพระอรหันต์เพียงใด ก็ยังเตะกันใหม่ แต่ว่า เตะเบา ๆ

                                     พระอรหันต์ไม่โกรธ
 

ผู้ถาม หลวงพ่อได้พูดไว้ว่า พระอรหันต์มีอารมณ์โกรธ แต่ดับอารมณ์ได้ฉับพลัน


หลวงพ่อ ฉันสงสัย...ฉันเขียนผิดหรือคนอ่านจำผิด อารมณ์โกรธ ไม่มีตั้งแต่อนาคามี แต่ท่าทางแสดงความโกรธน่ะมีอยู่


ไม่ใช่อารมณ์โกรธ ที่แสดงแบบนั้นกลัวคนนั้นจะเสีย ก็แสดงท่าว่าโกรธ อย่างที่พระพุทธเจ้าลงโทษพระสงฆ์ มีคำสั่งลงโทษนั่นไม่ใช่โกรธนะ...หวังดี


นี่จำผิดแล้ว ถ้าอารมณ์โกรธมีและดับได้เร็วเป็นพระสกิทาคามี อนาคามีนี่เขาไม่มีแล้ว แต่ถ้าความโกรธเกิดขึ้นจะดับไม่ยาก ซื้อรถดับเพลิงไว้ พอเริ่มโกรธปั๊บ...สตาร์ทพรืด นำพ่นพรวด หกคะเมนเกนเก้ หายไปเอง


นั่นไม่ใช่อรหันต์นะ ฉันคงไม่เขียนผิดละมั้ง ต้องกลับไปอ่านใหม่ แต่ว่าแสดงความโกรธนั้นมีอยู่ เพราะว่าจ่ะลงโทษ คือไม่ลงโทษก็ยับยั้ง ไม่ยังงั้นคนนั้นจะเสีย

อย่างพระพุทธเจ้าลงโทษพระต่าง ๆ อย่าง พระฉันนะ ก็เหมือนกัน หนักมาก ที่สั่งให้พระสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ


อันนี้เรื่องใหญ่มาเชียว ไม่ใช่พระพุทธเจ้าโกรธ แต่ต้องการให้พระฉันนะดี แต่ในเมื่อพระสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ท่านก็เสียใจ


คิดว่าตอนพระพุทธเจ้าอยู่ใคร ๆ ก็คุยด้วย พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว จะไปหาใครก็ไม่มีใครคุยด้วย พระอรหันต์ก็เยอะ เพราะพระพุทธเจ้าสั่ง เพราะการรู้ตัวตอนนี้ เป็นเหตุให้พระฉันนะเป็นพระอรหันต์

เขาทำเพื่อประโยชน์ ไอ้คนถูกลงโทษใหม่ ๆ อาจจะนึกว่าเราไม่น่าถูกลงโทษเลย ไอ้คนที่ทำความผิด ไม่รู้ตัวว่าผิดเป็นเรื่องธรรมดา


                        หลวงพ่อตอบปัญหา... หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

       ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต
                             


40
                                            ความสุขในปัจจุบัน และในอนาคต


ถาม : ตอนนี้มีเคราะห์กรรมเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องทำบุญอะไร ที่ว่ามีอานิสงส์สูงมากเพื่อที่จะให้เจ้ากรรมนายเวร

ตอบ : คืออันนี้จริง ๆ มันไม่ใช่ว่าทำบุญที่มีอานิสงส์สูง แต่ว่าทำให้ถูกคือว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยส่วนใหญ่ เป็นเศษกรรมปาณาติบาต

คือการเคยฆ่าคนฆ่าสัตว์มาก่อนในอดีต อันนี้ต้องใช้ชีวิตให้เขาอย่างเช่นว่า ปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยไก่ที่เขาจะฆ่า ต้องเป็นที่ ๆ เขาจะฆ่ากินด้วยนะ หรือไม่ก็จะทำร้ายที่ให้มันถึงแก่ชีวิตพวกนั้น

เราช่วยให้เขารอดชีวิตไปได้ กุศลตัวนี้จะไปบรรเทาเบาบางกรรมตัวนั้นได้เยอะ

อาตมาเองสมัยเป็นฆราวาสมันป่วยเรียกว่าหัวอาทิตย์ท้ายอาทิตย์เลย แล้ววันหนึ่งหลวงพ่อก็แนะนำให้ว่า แกเองเป็นทหารมาทุกชาติฆ่าเขาไว้เยอะ เศษกรรมตัวนี้จะทำให้ป่วยบ่อย

แกควรจะไปปล่อยปลาซะเดือนละตัว สองตัวก็ได้ เป็นปลาที่เขาจะขายเพื่อให้เขาฆ่า ให้ฆ่าส่วนใหญ่จะไปทำอาหาร

ก็กราบเรียนหลวงพ่อว่า หลวงพ่อครับการปล่อยปลามันเป็นการต่ออายุไม่ใช่เหรอครับ ผมเองไม่อยากจะอยู่ ๆ แล้ว ๆ จะไปปล่อยทำไม

ท่านบอกว่าแกอย่าพึ่งเข้าใจผิดอย่างนั้น การปล่อยปลาจะเป็นการต่ออายุก็ต่อเมื่ออุปฆาตกรรมคือกรรมที่เราเคยฆ่าคนฆ่าสัตว์ใหญ่ในอดีตมันตามทันมาช่วงนั้นจะมาตัดรอนชีวิตของเราลง

ถ้าอย่างนั้นการปล่อยชีวิตเขาก็จะเป็นการต่ออายุของเรา แต่ถ้าหากว่าในช่วงนั้นไม่มีอุปฆาตกรรมเราเองได้ปล่อยชีวิตเขาให้รอดไปให้ได้รับความสุขให้ได้รับความสะดวกสบายต่อไปทำอะไรก็สบายก็ง่ายไปหมด

เลยปล่อยมาเรื่อย ๆ จะ ๒๐ ปีเต็มอยู่แล้ว ปล่อยทุกเดือน ๆ ละเยอะ ๆ เดี๋ยวพรุ่งนี้แม่ค้าก็ยืดคอรอแล้ว (หัวเราะ) เดือนหนึ่งหลายพัน บางทีถึง เจ็ดแปดพัน ถ้าปล่อยวัวด้วยก็ตัวละหมื่นกว่า ปล่อยวัวนี่ชอบใจของมูลนิธิ....(ไม่ชัด)

ก็มีสัญญากันว่าจะต้องเลี้ยงดูเขาให้ดีแล้วก็ห้ามขายห้ามฆ่า ยกเว้นว่าแก่ตายเอง

ถาม : อย่างสมมติว่าการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ถ้าสมมติเรารู้ว่าจะมีการเกิดอุบัติเหตุอะไร เราควรจะแก้ไขด้วยวิธีนี้

ตอบ : ใช้วิธีนี้ คือการตัดเคราะห์กรรมมันมีตั้งแต่ถวายสังฆทานตั้งใจอธิษฐานโดยเฉพาะเลย

ปล่อยชีวิตสัตว์ที่จะถูกฆ่า ทำบังสุกุลตายบังสุกุลเป็น หรือไม่ก็อันดับสุดท้ายเลยจัดงานศพตัวเอง

หลวงพ่อพระครูโวทานธรรมาจารย์ เป็นอาจารย์สอนเทศน์ให้หลวงพ่อฤๅษีลิงดำของเราท่านจัดงานเผาศพตัวเอง ลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นนักเทศน์มากันที ๔-๕ ร้อยองค์

เพราะฉะนั้นปกติท่านจัดเทศน์กัน ๒ ธรรมาสน์ ๓ ธรรมาสน์ แต่งานศพหลวงพระครูโวนี่จัดกันที ๕๐๐ ธรรมาสน์ ลูกศิษย์ถวายเงินองค์ละร้อยพร้อมกับผ้าไตรชุดหนึ่ง

โยมลองคิดดู...เงินคนละร้อยพร้อมกับผ้าไตรชุดหนึ่งสมัยก๋วยเตี๋ยว ๒ ชาม ๕ สตางค์ เงินร้อยหนึ่งมันเท่าไหร่ของสมัยนี้โยมต้องคิดให้ดี คงเป็นแสนของสมัยนี้

เพราะว่าลูกศิษย์นักเทศน์ของท่านทั่วประเทศไทยจริง ๆ แล้วท่านเองท่านก็เป็นพระที่ปฏิภาณเฉียบแหลมชนิดที่ใครก็ต้อนไม่อยู่ คนก็ไปถามท่านว่าทำไมถึงจัดงานศพตัวเอง

บอกว่าถ้ากูตายแล้วกูก็ไม่ได้เห็น เพราะฉะนั้นกูต้องจัดตอนเป็นถึงจะได้เห็นว่ามันทำอะไรให้บ้าง

แต่ความจริงไม่ใช่ อันนั้นท่านก็พูดไปเรื่อย แต่จริง ๆ แล้วก็คือเป็นการต่ออายุ โยมจะเห็นว่ามีคนจีนหลายคนที่ซื้อโลงเตรียมไว้เลย เตรียมไว้ในบ้านเลยถึงเวลาตายได้ใช้โลงใบนั้น

พวกเตรียมตัวตายซื้อโลงเตรียมไว้พร้อมนี่ อาตมาเห็นมาเยอะบางทีประแหงบ ๆ พอซื้อโลงเข้าบ้านมาหายป่วยแข็งแรงดีไปเลย มันเหมือนอย่างกับตัดเคราะห์ไปอย่างหนึ่ง

ถาม : เป็นการแก้เคล็ด

ตอบ : จ้ะ...ลักษณะนั้น อันนั้นวิธีการตัดเคราะห์กรรมอะไรใหญ่ที่จะมาถึงก็มีตั้งแต่ถวายสังฆทาน ปล่อยชีวิตสัตว์ที่ถูกฆ่า ทำบังสุกุกลตายบังสุกุลเป็น จัดงานศพตัวเองแล้วแต่หนักเบา ปล่อยชีวิตสัตว์ที่ถูกฆ่าถ้าเราคิดว่าเคราะห์กรรมมันใหญ่ก็ปล่อยสัตว์ใหญ่หน่อย

ถาม : ..........................

ตอบ : เรื่องของทาน ศีล ภาวนา ทุกสิ่งที่เราทำคนได้ก็คือเราเอง ถามว่าดีอย่างไรก็ต้องดูว่าตัวผลคืออานิสงส์ที่จะได้เป็นอย่างไร

เอาเรื่องของศีลเป็นตัวอย่าง ทุกคนไม่มีใครอยากให้คนอื่นมาฆ่าเราทำร้ายเรา เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรที่จะฆ่าใครไม่ควรที่จะทำร้ายใคร

เราไม่อยากให้ใครมาลักขโมยของเรา เราก็ไม่ควรจะลักขโมยของ ๆ ใคร คนที่เรารักเราไม่อยากให้คนอื่นมาแย่งไป เราก็อย่าแย่งคนอื่นเขา

เราไม่อยากให้ใครมาโกหกเรา เราก็ไม่ควรที่จะโกหกใคร เป็นคนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์รู้ผิดรู้ถูกรู้อะไรควรรู้อะไรไม่ควรเป็นสิ่งที่ดี ยังไงก็อย่าไปเอายาเสพติดมาย้อมใจตัวเองให้มันมึนเมาจนขาดสติสัมปชัญญะไป

ทุกสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมา ท่านสอนเพื่อให้ตัวเราได้เองทั้งนั้น สิ่งที่เราทำคือเราได้ก่อนแล้ว หลังจากนั้นพอเราทำแล้วตัวเราดี สิ่งที่เราทำดีพอตัวเราดีเสร็จมันก็จะส่งผลไปถึงคนรอบข้างด้วย คนรอบข้างก็เออ...เห็นตัวอย่างที่ดีก็เลียนแบบทำตาม

มันก็เป็นสังคมที่อยู่เย็นในวงเล็ก ๆ อาจจะเป็นว่าเฉพาะครอบครัวของเราก่อน แต่อย่าลืมว่าทุกครอบครัวตั้งใจทำดีอย่างนี้ หมู่บ้านนั้นทั้งหมู่บ้านก็ดี ทุก ๆ หมู่บ้านถ้าตั้งใจทำตำบลนั้นก็จะดี ถ้าทุกตำบลตั้งใจทำอำเภอนั้นก็ดี ทุกอำเภอตั้งใจทำจังหวัดนั้นก็ดี ถ้าทุกจังหวัดพร้อมใจกันทำประเทศของเราต้องดี

ทุกสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนท่านสอนเพื่อประโยชน์สุขของเราทั้งนั้น

สุขในปัจจุบัน คือไม่ต้องไประแวดระวังไม่ต้องไปกลัวภัยอะไร เพราะทุกคนไม่เบียดเบียนกัน

สุขในอนาคต ผลที่เราทำ ถ้าหากว่าเกิดจากการให้ทานต่อไปในภายภาคหน้าก็จะเป็นผู้ที่มีฐานะร่ำรวย ผลของการที่เรารักษาศีลก็จะเป็นผู้ที่มีรูปสวย มีจิตใจที่ดีงาม ผลของการเจริญภาวนาเกิดมาก็จะมีปัญญามาก ถ้าหากว่าเป็นทางโลกมีอุปสรรคอะไรก็แก้ไขได้ ถ้าเป็นทางธรรมต้องการจะต้ดกิเลสก็มีปัญญาสามารถตัดกิเลสได้เหล่านี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านสอนท่านสอนให้อยู่สุขทั้งปัจจุบันและสุขทั้งอนาคตค่อย ๆ ดูไปค่อย ๆ ทำไป สิ่งทั้งหลายเหล่านี้พิสูจน์ได้ในระยะยาว ๆ อย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่าย ๆ

ตามพิสูจน์ตามค่อย ๆ ดูไป เขาบอกว่าพระองค์นี้ดีหลวงปู่องค์นี้ดีหลวงพ่อองค์นี้ดีค่อย ๆ ดูไป ถ้าหากว่าไม่ดีจริงถึงเวลาก็จะมีสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรไม่เหมาะไม่สมหลุดออกมาให้เราเห็นจนได้

แต่ถ้าหากว่าเป็นสิ่งที่ดีจริง กายวาจาใจของท่านเป็นผู้ที่บริสุทธิ์จริงต่อให้ระยะเวลายาวนานแค่ไหน ไม่ว่าระยะใกล้ไกล ใกล้ชิดหรือห่างไกลขนาดไหนก็ตามเราไม่สามารถที่จะหาจุดบกพร่องของท่านได้

สิ่งที่จะต้องมาตำหนิกันมันไม่มี ค่อย ๆ ดูไปนาน ๆ โบราณเขาว่าหนทางพิสูจน์ม้า เวลาพิสูจน์คนใช่มั้ย มันเกิดจากอะไรล่ะต้องใช้คำว่าประสบการณ์ ประสบการณ์ที่ตกผลึกลงมาจนกระทั่งกลายเป็นข้อคิด กลายเป็นคำคม กลายเป็นคำพังเพยขึ้นมา

ฉะนั้นสิ่งที่ท่านพูดส่วนใหญ่มันก็แฝงไปด้วยความจริงเกือบ ๆ จะ ๑๐๐ เปอร์เซนต์เต็ม ท่านบอกหนทางพิสูจน์ม้าใช่มั้ย ม้าไม่ดีจริงมันเดินทางไกลไม่ไหวหรอก หรือไม่ก็เจอหนทางที่ทุรกันดารหน่อยหนึ่งก็ไปไม่รอดแล้ว มันต้องม้าดีถึงไปได้

ขณะเดียวกันเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คน จะดีจะชั่วยังไงไดูไปนาน ๆ คบกันไปนาน ๆ เดี๋ยวก็เห็นเอง


สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ


เดือนธันวาคม ๒๕๔๔
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

         ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด  พลังจิต

41


ยันต์สร้อยสังวาลย์  ได้รับความเมตตาจากหลวงพี่แป๊วครับ
 กราบขอบพระคุณหลวงพี่แป๊วที่เมตตาครับ

ขออภัยที่รูปไม่ชัดถ่ายจากมือถือครับ

42
ธรรมะ / อานิสงส์ของศีล ๕
« เมื่อ: 28 ต.ค. 2553, 08:24:50 »
                                                              อานิสงส์ของศีล ๕

ผู้ประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม อย่างน้อยอยู่ในศีล ๕ ย่อมได้รับผล เรียกว่า ได้อานิสงส์ ดังต่อไปนี้

อานิสงส์ของศีลสิกขาบทที่ ๑

ผู้รักษาศีลข้อ ๑ คือ เว้นจากฆ่าสัตว์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดี ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย จากโลกนี้แล้วไปสู่สุคติ ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้อานิสงส์ ๒๓ ประการ คือ มีร่างกายสมประกอบไม่พิการ, มีรูปร่างสูงต่ำพอสมส่วน, มีเชาว์ว่องไว, มีเท้าถูกส่วนเหมาะเจาะ, มีท่าทางสง่าราศี, มีองคาพยพสะอาดปราศจากตำหนิแผลไฝ, มีลักษณะอ่อนละมุนละม่อน, มีความสุขสมบูรณ์, มีลักษณะกล้าหาญ, มีกำลังมาก, มีถ้อยคำสละสลวยเพราะพริ้ง, มีบริษัทที่ใครๆ จะทำลายไม่ได้, มีลักษณะไม่สะดุ้งตื่นเต้นตกใจ, ไม่มีศัตรูคิดทำร้ายได้, ไม่ตายด้วยความเพียรของคนอื่น, มีบริวารอยู่ทุกแห่งหน, มีรูปสวยงาม, มีทรวดทรงงาม, มีความเจ็บไข้น้อย, ไม่มีเรื่องเศร้าใจ, เป็นที่รักของชาวโลก, ไม่พลัดพรากจากผู้คนและสิ่งที่รักที่ชอบใจ, มีอายุยืน

อานิสงส์ของศีลสิกขาบทที่ ๒

ผู้รักษาศีลข้อ ๒ คือ เว้นจากลักฉ้อ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดี ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย จากโลกนี้แล้วไปสู่สุคติ ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้อานิสงส์ ๑๑ ประการ คือ มีทรัพย์สมบัติมาก, มีข้าวของและอาหารเพียงพอ, หาโภคทรัพย์ได้ไม่ขาดสาย, โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ ก็จะได้, โภคทรัพย์ที่ได้ไว้แล้ว ก็ยั่งยืน, หาสิ่งที่ต้องการได้รวดเร็ว, โภคสมบัติไม่กระจัดกระจายด้วยราชภัย โจรภัย อุทกภัย อัคคีภัย หรือถูกฉ้อโกง, หาทรัพย์ได้โดยไม่ถูกแบ่ง, จะได้โลกุตตรทรัพย์, ไม่เคยรู้ ไม่เคยได้ยิน คำว่าไม่มี, อยู่ที่ไหนเป็นสุขสำราญ

อานิสงส์ของศีลสิกขาบทที่ ๓

ผู้รักษาศีลข้อ ๓ คือ เว้นจากประพฤติผิดในกาม ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดี ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย จากโลกนี้แล้วไปสู่สุคติ ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้อานิสงส์ ๒๐ ประการ คือ ไม่มีศัตรู, เป็นที่รักของปวงชน, หาข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม ที่อยู่ได้ง่าย, หลับนอนเป็นสุข, ตื่นขึ้นเป็นสุข, ปลอดภัยในอบาย, เกิดเป็นหญิงชายสมบูรณ์, ไม่มักโกรธ, ทำอะไรเป็นระเบียบเรียบร้อย, ทำอะไรโดยเปิดเผย คือ มีคนไว้วางใจไม่ระแวงสงสัย, มีท่าทางสง่าคอไม่ตก, มีหน้าไม่ก้ม คือ หน้ารับแขก, เป็นที่รักของเพื่อนฝูง, มีตา หู จมูก ลิ้น กาย บริบูรณ์, มีลักษณะสมเป็นชายเป็นหญิง, ไม่มีใครรังเกียจ, หากินได้ง่ายไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย, อยู่เป็นสุขทุกแห่งหน, ไม่มีภัยแต่ใครๆ, ไม่ค่อยพลัดพรากจากคู่รัก

อานิสงส์ของศีลสิกขาบทที่ ๔


ผู้รักษาศีลข้อ ๔ คือ เว้นจากพูดเท็จล่อลวง ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดี ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย จากโลกนี้แล้วไปสู่สุคติ ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้อานิสงส์ ๑๔ ประการ คือ มีตา หู จมูก กลิ่นกายผ่องใส, มีวาจาสละสลวยไพเราะ, มีฟันเสมอแนบสนิทสะอาด, ไม่อ้วนนัก, ไม่ผอมนัก, ไม่ต่ำนัก, ไม่สูงนัก, ได้สัมผัสสบาย, ปากหอมเหมือนดอกบัว, มีบริวารเชื่อฟัง, มีถ้อยคำที่คนอื่นเอื้อเฟื้อเชื่อถือ, มีลิ้นบางอ่อนแดงเหมือนกลีบดอกบัว, มีใจหนักแน่นมั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน, ไม่ติดอ่าง, ไม่เป็นใบ้

อานิสงส์ของศีลสิกขาบทที่ ๕


ผู้รักษาศีลข้อ ๕ คือ เว้นจากดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัย ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดี ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย จากโลกนี้แล้วไปสู่สุคติ ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะได้อานิสงส์ ๓๕ ประการ คือ รู้ทันในกรณียกิจได้เร็วทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน, มีสติมั่นคงทุกเมื่อ, ไม่เป็นบ้า, มีความรู้สึกง่าย, ไม่หวั่นไหวตามใครในทางผิด, ไม่งุนงงเซอะซะเซ่อซ่า, ไม่เป็นใบ้ ไม่มัวเมา, ไม่พลั้งเผลอ, ไม่หลงใหล, ไม่สะดุ้งหวาดกลัว, ไม่มีเรื่องรำคาญใจ, ไม่มีใครริษยา, มีความขวนขวายพอสมตัว, มีแต่ความสุข, มีคนนับถือยำเกรง, ชอบพูดแต่คำสัตย์จริง, ไม่มีใครส่อเสียด, ไม่มีใครพูดหยาบด้วย, ไม่ชอบพูดเล่นโปรยประโยชน์, ไม่เกียจคร้านทุกคืนวัน, มีความกตัญญู, มีความกตเวที, ไม่ตระหนี่, รู้จักเฉลี่ยเจือจาน, มีศีลธรรม, ซื่อตรง, ไม่มักโกรธ, มีความละอายแก่ใจ, รู้จักกลัวบาป, มีความเห็นถูกทาง, มีปัญญามาก, มีความเฉลียวฉลาด, มีลักษณะเป็นบัณฑิต, ฉลาดรู้เท่าทันในความเจริญและความเสื่อม

สำหรับโทษที่เกิดจากการประพฤติผิดศีลทั้ง ๕ ข้อ กล่าวคือไม่รักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดี เป็นศีลขาด ทะลุ ด่าง และพร้อย ก็ย่อมจะได้รับผลกรรมตรงกันข้ามกับอานิสงส์ดังกล่าวข้างต้น

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด  พลังจิต

43
                                                     คุณธรรมของมนุษย์ที่แท้ ๗ ประการ

ในความหมายของพระพุทธศาสนาจะต้องเป็นผู้ประกอบด้วยหลักธรรม ๗ ประการ ดังนี้

๑.ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่าการทำความดีเป็นเหตุแห่งความสุข ความขยันเป็นเหตุแห่งความสำเร็จ ความเกียจคร้านเป็นเหตุแห่งความล้มเหลว การทำความชั่วเป็นความทุกข์ เป็นต้นและรู้ว่าเมื่อเกิดมีผลขึ้นมาแล้วมันจะต้องมีเหตุ ไม่ใช่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีเหตุเลย เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดผลดี อะไรเป็นเหตุให้เกิดผลชั่ว แล้วพยายามหลีกเลี่ยง หรือละเหตุที่จะให้เกิดผลชั่ว แล้วหันมาทำแต่เหตุที่จะให้เกิดผลดี

๒.อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่น รู้จักว่าความสุข เป็นผลแห่งการทำความดี ทุกข์เป็นผลแห่งการทำความชั่ว สอบไล่ได้เป็นผลแห่งความขยันความตั้งใจเรียน สอบไล่ตกก็ทราบว่านั่นเป็นผลแห่งความเกียจคร้าน ความไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น แล้วพยายามแสวงหาแต่ผลดีโดยการทำเหตุที่ดี

๓.อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน คือ ต้องรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า เรามีชาติ มีเพศ มีตระกูล ยศ ศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้ความสามารถ กำลัง ความถนัด และคุณธรรม แค่ไหน เพียงไร แล้วต้องประพฤติตนให้สมกับภาวะนั้นๆ และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

๔.มัตตญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีเช่นในการแสวงหาเครื่องยังชีพก็ต้องแสวงหาในทางที่ชอบธรรม ไม่โลภมากเกินไปเมื่อหามาได้แล้วก็ต้องรู้จักประมาณในการใช้จ่ายด้วย ด้องไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินไปนัก และต้องไม่ฝืดเคืองจนเกินไปด้วย

๕.กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสมและระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจกระทำหน้าที่การงานต่างๆ
เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะแก่เวลา เป็นต้น ถ้าผิดพลาดในเรื่องกาลเวลาดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้รับผลสำเร็จแล้ว ยังอาจจะได้รับผลเดือดร้อนในภายหลังอีกด้วย เช่น การไปสอบไม่ทันเวลา เป็นต้น

๖.ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบริษัท ประชุมชน และสังคม ว่าสังคมใดควรที่จะเข้าไปร่วมด้วย สังคมใดควรหลีกเลี่ยงให้ห่างไกล รวมทั้งรู้กิริยาที่ประพฤติต่อชุมชนหรือสังคมนั้น ๆ ว่า เมื่อเข้าสังคมนี้จะต้องประพฤติตัววางตัวอย่างใด จะต้องพูดอย่างไร ต้องรู้มารยาทในสังคมนั้นๆ จะได้ไม่เคอะเขินเวลาสู่ที่ประชุมชน คือ ต้องทำตัวเข้ากับสังคมได้โดยถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

๗.ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล ว่า บุคคลนี้เป็นคนดี ควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น เพราะในสังคมทั่วๆไปย่อมมีทั้งคนดีคนชั่วด้วยกันทั้งนั้น จึงต้องรู้จักเลือกคบคน เพราะการคบคนดีย่อมเป็นศรีแก่ตน คบคนชั่วจะพาตัวให้บรรลัย รวมทั้งรู้ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลที่จะสนทนากับบุคคลด้วยดีว่าจะใช้ถ้อยคำ จะตำหนิ ยกย่อง หรือแนะนำพร่ำสอนอย่างไรจึงจะได้ผลดี เป็นต้น

ในชีวิตประจำวันนั้น ถ้าใครมีคุณธรรมของมนุษย์ที่แท้ ๗ ประการ(สัปปุริสธรรม ๗)และสามารถประพฤติได้อย่างถูกต้องตามหลักการเหล่านี้โดยสมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นย่อมชื่อว่า เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็น "สัตบุรุษ" หรือ "คนดีแท้" หรือ "มนุษย์โดยสมบูรณ์" การกระทำหรือพฤติกรรมของเขาย่อมเหมาะสมถูกต้องปราศจากความผิดพลาด นำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนเองและสังคมโดยส่วนรวม คนดีแท้อยู่ในสังคมใดย่อมเอื้ออำนวยประโยชน์สันติสุขแก่สังคมนั้น ผู้ประสงค์จะให้การดำเนินชีวิตประจำวันไปโดยราบรื่นเรียบร้อย เป็นสุขช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติได้ จะต้องมีคุณธรรมของมนุษย์โดยสมบูรณ์ดังกล่าว.

ที่มา:หลักธรรม ๗ ประการ : ศาลาธรรม

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

44
บทความ บทกวี / ผู้ชนะ ผู้แพ้
« เมื่อ: 27 ต.ค. 2553, 09:42:24 »
                                                              ผู้ชนะ ผู้แพ้

1


ผู้ชนะ ก้าวไปข้างหน้าอย่างสม่ำเสมอ

ผู้แพ้ มีสองระดับความเร็วคือ

อารมณ์ที่รุนแรงและความหม่นหมอง

2

ผู้ชนะ หวั่นไหวต่อบรรยากาศรอบตัวได้ง่าย

ผู้แพ้ หวั่นไหวก็เฉพาะความรู้สึกของตนเอง


3


ผู้ชนะ ทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำด้วยความฉลาด

สงวนกำลังไว้ใช้ในสถานการณ์ที่มีทางเลือก

ผู้แพ้ ทำในสิ่งจำเป็นต้องทำด้วยความไม่พอใจ

จึงไม่เหลือพลังงานไว้ใช้ในสถานการณ์ที่มีทางเลือก


4


ผู้ชนะ ทำงานหนัก ได้งานและมีเวลาเหลือ

ผู้แพ้ ยุ่งอยู่ตลอดเวลากับสิ่งที่เรียกว่าจำเป็น

แต่ไม่ได้งานได้การ


5


ผู้ชนะ รู้ว่าการให้โอกาส ทำให้คนอ่อนโยนขึ้น

ผู้แพ้ มองว่ายิ่งให้โอกาส ก็ยิ่งทำให้คนแข็งกระด้าง



6


ผู้ชนะ พยายามไม่ทำร้ายผู้อื่น

และทำบ้างก็อย่างมีเป้าหมายที่สูงกว่า

ผู้แพ้ ไม่ต้องการทำร้ายใครเลย

แต่ทำร้ายผู้คนอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่รู้ตัว


7


ผู้ชนะ ทำผิดเขาพูดว่า " ฉันผิดจริงๆ "

ผู้แพ้ ทำผิดเขาพูดว่า " ไม่ใช่ความผิดของฉัน "


8


ผู้ชนะ พูดว่า " เรามาหาความจริงกันดีกว่า "

ผู้แพ้ พูดว่า " ไม่มีใครรู้ความจริง "


9


ผู้ชนะ ใช้ข้อบกพร่องของตนให้เป็นผลดี

ผู้แพ้ กลับทำลายข้อดีของตน

เพื่อรักษาข้อบกพร่องเอาไว้


10


ผู้ชนะ เผชิญปัญหา

ผู้แพ้ ได้แต่ก้มมอง



ผู้แพ้ผู้ชนะมีอยู่ในตัวเราทุกคน
ทำอย่างไรเราจะเป็นผู้ชนะ
ได้มากกว่าเป็นผู้แพ้
นี่คือคำถามที่ควรค่าแก่การหาคำตอบ?



คัดจาก ผู้แพ้ ผู้ชนะ เรียบเรียงโดย นิดดา หงษ์วิวัฒน์

เครดิต : ที่นี่ดอทคอม ผู้ชนะ ผู้แพ้ : อาหารสมอง

  ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด พลังจิต

45
                                                          7 วิธี รับมือกับการทะเลาะกัน

เชื่อว่าหลายคนคงต้องเคยผ่านเหตุการณ์การทะเลาะกับคนรอบข้างมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกับเพื่อน คนในครอบครัว หรือคนรัก คุณมีวิธีการรับมือกับเหตุการณ์นั้นอย่างไรกันบ้างคะ วันนี้เรามีเทคนิคง่ายๆ มาฝากกันค่ะ


1. รับฟังและไม่ขัดจังหวะ

เชื่อ เถอะว่าไม่มีใครชอบที่จะถูกขัดจังหวะในขณะที่เขาพูดหรอก ลองเปลี่ยนบทบาทเป็นฝ่ายนั่งฟังเขาพูดตั้งแต่ต้นจนจบๆ ดูสิ นอกจากเขาจะรู้สึกที่ดีที่คุณรับฟังแล้วยังจะช่วยลดอารมณ์ร้อนในตัวเขาให้ เย็นลงได้อีกด้วยนะ


2. ทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาพูด

นอก จากการรับฟังแล้วสิ่งที่คุณควรทำต่อมา คือ พยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาพูด แม้ว่ามันจะดูไม่มีเหตุผลก็ตาม แต่เชื่อเถอะว่าถ้าเขารู้สึกว่าคุณเข้าใจเขา การทะเลาะก็ย่อมจะจบลงเร็วกว่าที่คุณคิดไว้แน่นอน


3.เก็บถ้อยคำอันร้ายกาจไว้

บ่อย ครั้งในยามโมโหเรามักจะลืมตัวหลุดถ้อยคำที่ไม่ทันคิดออกไป แล้วก็ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง อย่าปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับคุณเชียว เพราะเมื่อพูดไปแล้วมันก็เป็นการยากที่จะเรียกคำนั้นกลับคืนมา ทำใจเย็นๆ และเตือนสติตัวเองทุกครั้งก่อนที่จะปล่อยถ้อยคำรุนแรงออกไป เรื่องที่ว่าแย่ จะได้ไม่ดูแย่ไปกว่านี้ไงล่ะคะ


4. ลืมอดีตซะบ้าง

อดีต ก็คืออดีต ปล่อยมันทิ้งไปซะ เพราะหากว่าคุณยังจมอยู่กับเรื่องราวความผิดพลาดในครั้งก่อนๆ แล้วหยิบมาโต้แย้งในยามที่ทะเลาะกัน นอกจากจะทำให้คุณไม่สามารถแก้ปัญหาของคุณกับเขาได้แล้วยังจะทำให้การทะเลาะ บานปลายขึ้นไปอีก ให้นึกซะว่าไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาด ให้โอกาสเขาได้ปรับปรุงตัว และทำลืมๆ ที่จะพูดถึงมันย่อมจะดีกว่านะ


5. เรียนรู้ที่จะประนีประนอม

ลอง เปลี่ยนมาใช้วิธีการประนีประนอมแทนการพยายามที่จะเอาชนะกันดู แล้วคุณจะพบว่าความขัดแย้งนั้นลดน้อยลงอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ถ้ายังมีบางสิ่งที่ยังไง๊ยังไงคุณก็ไม่เห็นด้วย ก็ให้ลองใช้วิธีพบกันครึ่งทาง คงไม่ทำให้คุณเสียศักดิ์ศรีเท่าไรหรอก


6. รับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย

การ โต้เถียงกันส่วนใหญ่มักเป็นการโต้เถียงที่ต้องการให้อีกฝ่ายเห็นด้วยกับความ คิดของตน ซึ่งก็คงเป็นไปไม่ได้ที่คนอื่นจะมีความคิดเห็นเหมือนกับคุณซะทุกเรื่องไป แม้ว่าคุณจะพยายามแล้วพยายามอีกที่จะอธิบายให้เขาคล้อยตามไปกับคุณ ในทางกลับกันถ้าคุณลองเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายรับเอาความคิดเห็นของเขามาทำความ เข้าใจ นอกจากคุณจะได้แสดงให้เขาเห็นถึงการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นของคุณแล้ว ยังจะทำให้ลดปัญหาที่จะนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งได้อีกต่างหาก


7. นึกถึงความสัมพันธ์อันดีเข้าไว้

บาง ครั้งอารมณ์ในยามทะเลาะกันมักทำให้คุณลืมเลือนความสัมพันธ์ของอีกฝ่ายทิ้งไป ชั่วขณะ โดยมุ่งแต่จะสรรหาถ้อยคำดุเด็ดเผ็ดร้อนมาโต้ตอบกันแทน ลองเปลี่ยนเป็นนำความสัมพันธ์อันดีที่เคยมีระหว่างเขากับคุณมานึกถึงเป็น อันดับแรกในยามที่ทะเลาะกันดูสิคะ ถึงจะดูเหมือนคุณต้องเป็นฝ่ายยอมเขา แต่มันก็จะดูมีค่ากว่าการต้องมานั่งทำร้ายจิตใจของกันและกันนะ

ที่มา : ที่นี่ดอทคอม 7 วิธี รับมือกับการทะเลาะกัน : อาหารสมอง

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

46
ธรรมะ / บุญ ๑๐ วิธี
« เมื่อ: 26 ต.ค. 2553, 11:14:29 »
                                                                บุญ ๑๐ วิธี

ตามหลักพุทธศาสนา มีการทำบุญด้วยกัน ๑๐ วิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ) คือ
๑. ให้ทาน แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ (ทานมัย) การให้ทานเป็นการช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ความคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว และความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไปก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคลหรือชุมชนโดยส่วนรวม

๒. รักษาศีล ก็เป็นบุญ (ศีลมัย) เป็นการฝึกฝนที่จะ ลด ละ เลิกความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นเป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงามและพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ

๓. เจริญภาวนา ก็เป็นบุญ (ภาวนามัย) การภาวนาเป็นการพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น

๔. อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรมรวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกันทั้งในความคิด ความเชื่อและวิถีปฏิบัติของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ (อปจายนมัย)

๕. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง ช่วยเหลือสละแรงกาย เพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นบุญ (ไวยาวัจจมัย)

๖. เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือในการทำงานก็เปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วมทำ ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นบุญ (ปัตติทานมัย)

๗. ยอมรับและยินดีในการทำความดี หรือทำบุญของผู้อื่น การชื่นชมยินดีหรืออนุโมทนาไม่อิจฉาหรือระแวงสงสัยในการกระทำความดีของผู้อื่น ก็เป็นบุญ (ปัตตานุโมทนามัย)

๘. ฟังธรรม บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมสวนมัย)

๙. แสดงธรรม ให้ธรรมะและข้อคิดที่ดีกับผู้อื่น แสดงธรรมนำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงามก็เป็นบุญ (ธรรมเทศนามัย)

๑๐. ทำความเห็นให้ถูกต้องและเหมาะสม มีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น ความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญ ถือเป็นบุญด้วยเช่นกัน (ทิฏฐุชุกรรม)

ทิฏฐุชุกรรมหรือสัมมาทัศนะ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิดและทุกโอกาส จะต้องประกบและประกอบเข้ากับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เพื่อให้งานบุญข้อนั้น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมาย พร้อมทั้งได้ผลถูกทาง

การทำบุญ ๑๐ ประการนี้ สามารถสรุปเป็นข้อความคล้องจองกันว่า

๑. แบ่งปันกันกิน
๒. รักษาศีล คือ กาย วาจา

๓. เจริญสมาธิภาวนา
๔. กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม

๕. ยอมตนรับใช้
๖. แบ่งให้ความดี

๗. มีใจอนุโมทนา
๘. ใฝ่หาฟังธรรม

๙. นำแสดงออกไม่ได้เว้น
๑๐. ทำความเห็นให้ถูกต้อง

ทว่า บุคคลจะสร้างบุญกุศลทั้งสิบข้อดังกล่าวให้เพิ่มพูนได้อย่างดีมีประสิทธิภาพเต็มที่นั้น พึงเริ่มต้นจากการชำระตนเองคือทำตนเว้นจากการทำความชั่วทั้งปวงก่อน กล่าวคือ บุคคลพึงเว้นจากการกระทำไม่ดีทั้งทางกาย วาจาและใจ ก่อน รวมทั้งเพียรพยายามเสาะแสวงหาวิธีทำตนให้เป็นคนที่มีความคิดเห็นถูกต้อง สั้นๆ คือ ทำตัวให้มีศีลและมีปัญญาก่อนเป็นลำดับแรกที่สำคัญ เมื่อมีตนเป็นผู้มีศีลแล้วและยังมีปัญญารู้เหตุรู้ผลควรไม่ควรต่างๆ ด้วย การจะเพิ่มพูนความดีในตนให้มากขึ้นด้วยบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ วีธี ก็จะเป็นไปอย่างสะดวกง่ายดายขึ้น ทำให้ยิ่งสามารถทำความดีทั้งสิบ (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) ได้อย่างมั่นใจ เข้าใจ ทำได้ถูกและตามที่ควรจะทำได้ยิ่งๆ ขึ้นไป ทำให้ ‘ฉลาดในบุญ' ยิ่งๆ ขึ้นไป ได้บุญมากหนักแน่นและเต็มที่ยิ่งๆ ขึ้นไป

การตั้งใจและเว้นจากการไม่ทำความชั่วทั้งปวงนี้เรียกว่า ‘กุศลกรรมบถ' พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ๑๐ ประการต่อไปนี้

กุศลกรรมบถ ๑๐

๑)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางกาย ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์อื่นให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อน
(ปาณาติปาตา เวรมณี)

(๒)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางกาย ด้วยการไม่ลักทรัพย์ ถือเอาของที่เขาไม่ให้ด้วยอาการขโมย
(อทินนาทานา เวรมณี)

(๓)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางกาย ด้วยการไม่ประพฤติผิดในกาม
(กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี)

(๔)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา ด้วยการไม่พูดเท็จ
(มุสาวาทา เวรมณี)

(๕)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา ด้วยการไม่พูดจายุยงส่อเสียด
(ปิสุณาวาจา เวรมณี)

(๖)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา ด้วยการไม่พูดจาร้าย หยาบคายด่าทอ
(ผรุสวาจา เวรมณี)

(๗)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางวาจา ด้วยการไม่พูดเพ้อเจ้อ กล่าววาจาไม่เป็นประโยชน์ หรือกล่าววาจาโปรยประโยชน์
(สัมผัปปลาปา เวรมณี)

(๘)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางใจ ด้วยการไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น
(อนภิชฌา)

(๙)
ตั้งใจและเพียรระวังเพื่อเว้นจากการทำไม่ดีทางใจ ด้วยการไม่คิดไม่ดี คิดไม่พอใจ โกรธ คิดร้าย คิดพยาบาทอาฆาตจองเวรผู้อื่น
(อพยาบาท)

(๑๐)
ตั้งใจและเพียรพัฒนาใจของตนเอง ด้วยการพยายามศึกษาหาความรู้เพื่อให้ตนเป็นผู้มีปัญญา มีความเห็นชอบ คิดเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
(สัมมาทิฏฐิ)

กุศลกรรมบถ ๑๐ จึงเป็นจุดเริ่มต้น และบุญจึงไม่ใช่เฉพาะต้องมีวัตถุเงินทองถึงจะทำได้ บุญอยู่ที่ความตั้งใจ อยู่ที่เจตนา การทำบุญด้วยวัตถุเงินทอง (ในข้อทานมัย) นั้น ก็เป็นเพียงส่วนเดียว แท้ที่จริงแล้วบุญนั้นสามารถเพิ่มพูนได้ตลอดในแทบทุกอย่าง ในชีวิตประจำวัน บุญอยู่ที่ความเข้าใจ รู้ว่าอะไรอย่างไรคือบุญ ทุกครั้งที่มีโอกาส โดยไม่ต้องใช้เงิน ไม่ต้องมีเงินทองวัตถุข้าวของมากมายเสมอไป ก็สามารถสะสมเพิ่มพูน ‘บุญ' ได้มากมายมหาศาลเท่าเทียมกันทุกคน

ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)
ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ปริจเฉทที่ ๕ เล่ม ๒
กัมมจตุกกะ - มรณุปัตติจตุกกะรจนาโดย พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ
๖๐ คำถามที่ต้องการคำตอบ เล่มที่ ๒ โดย คนเดินทาง ชมรมอนุรักษ์ธรรม

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

47
                                  เคล็ดลับในการสวดและการใช้พระคาถาชินบัญชร

ในปัจจุบันการสวดพระคาถาชินบัญชร (การอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสถิตอยู่กับเรา) พุทธคุณ ๙ ประการ มีดังนี้เมตตามหานิยม แคล้วคลาด ปราศจากโรค ได้ลาภ ได้ยศ ค้าขายดี มีวิชา เจริญรุ่งเรือง

คาถาชินบัญชร โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์
(โต พรหมรังสี)



พระคาถานี้เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ตกทอดมาจากลังกา ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯค้นพบในคัมภีร์โบราณและได้ดัดแปลงแต่งเติมให้ดีขึ้นเป็นเอกลักษณ์พิเศษ ผู้ใดสวดภาวนาพระคาถานี้เป็นประจำสม่ำเสมอจะทำให้เกิดความสิริมงคลแก่ตนเอง ศัตรูไม่กล้ากล้ำกราย มีเมตตามหานิยม ขจัดภัยตลอดจนคุณไสยต่างๆ เพื่อให้เกิดอานุภาพยิ่งขึ้น ก่อนเจริญภาวนาให้ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วระลึกถึงและตั้งคำอธิษฐานว่า

ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง
อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานังปิยะตังสุตตะวา
อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ
มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ


เริ่มบทพระคาถาชินบัญชร
พระคาถาชินบัญชร

๑. ชะยาสะนากะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา.

๒. ตัณหัง กะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา
สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา.

๓. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน
สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร.

๔. หะทะเย เม อนุรุทโธ สารีปุตโต จะ ทักขิเณ
โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะวามะเก.

๕. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุโล
กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก.

๖. เกสะโต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโย วะ ปะภังกะโร
นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิ ปุงคะโล.

๗. กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก
โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร.

๘. ปุณโณ อังคุลิมาโลจะ อุปะลี นันทะสีวะลี
เถรา ปัญจะอิเมชาตา นะลาเต ติละกา มะมะ.

๙. เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา
เอเตสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา
ชะลันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.

๑๐. ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง
ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง.

๑๑. ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะ สุตตะกัง
อากาเล ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา.

๑๒. ชินานานาวะระสังยุตตา สัตตัปปาการะลังกะตา
วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา.

๑๓. อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา
วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร.

๑๔. ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะฮี ตะเล
สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา.

๑๕. อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข
ชินานุภาเวนะ ชิตูปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ
สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย
สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิชินะปัญชะเรติ.


เคล็ดลับการสวดการใช้พระคาถาชินบัญชร (โดยมากนิยมสวดทั้งหมด 15 คาถา) จึงขอแนะนำ ดังนี้

๑.อาราธนาพระสมเด็จไปกับตัว ให้ใช้พระคาถาที่ ๓                                                                          คาถาที่ ๓
สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโรจะเน
สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร
หรือให้ใช้พระคาถานำ (๔ วรรคแรกของพระคาถาชินบัญชร) เป็น คาถาบูชาพระสมเด็จดังนี้
ปุตตะกาโม ละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง
อัตถิกาเย กายะ ญายะ เทวานัง ปิยะตัง สุตะวา

๒. สำหรับ ศิลปิน นักพูด นักแสดง ให้ใช้พระคาถาที่ ๗ ดังนี้
คาถาที่ ๗
กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก
โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร

๓. สำหรับเสกน้ำล้างหน้า หรือ เสกแป้ง เพื่อความเป็นสิริมงคล เมตตามหานิยม ให้ใช้พระคาถาที่ ๘ ดังนี้

คาถาที่ ๘
ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลีนันทะสีวะลี
เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเต ติละกา มะมะ

๔. แคล้วคลาดภัยอันตรายต่างๆ ให้ใช้พระคาถาที่ ๙ ดังนี้
คาถาที่ ๙
เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา
เอตาสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา
ชะลันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา

๕.การคงกระพัน ป้องกันการถูกทำร้ายด้วยอาวุธต่างๆ ให้ใช้พระคาถาที่ ๑๐ ดังนี้

คาถาที่ ๑๐
ระตะนัง ปุรุโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะ สุตตะกัง
ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง

๖.ป้องกันโรคการเจ็บป่วย ให้ใช้พระคาถาที่ ๑๓ ดังนี้

คาถาที่ ๑๓
อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะ ชินะ เตชะสา
วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะ ปัญชะเร

๗.อาราธนาให้พระคุ้มครองเพื่อความปลอดภัย ขณะไปในที่ต่างๆ ติดต่อการงาน ฯลฯ ให้ใช้ พระคาถาที่ ๑๔ ดังนี้ คาถาที่ ๑๔
ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะฮีตะเล
สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา

๘.ภาวนาให้เล่าเรียนสำเร็จให้ใช้พระคาถาที่ ๕ ดังนี้                                                                           คาถาที่ ๕
ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุลา
กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก

๙. ภาวนาให้สง่าราศี เมื่อต้องออกงาน ไปร่วมพิธีการต่างๆ หรือปรากฏตัวในที่สาธารณะให้ใช้พระคาถาที่ ๖ ดังนี้
 
  คาถาที่ ๖
เกสัณโต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโย วะ ปะภังกะโร
นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว

๑๐.ป้องกันภูติผีปีศาจต่างๆ ให้ใช้พระคาถาที่ ๑๐-๑๑ ดังนี้                                                                  คาถาที่ ๑๐-๑๑
ระตะนัง ปุรุโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะ สุตตะกัง
ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง
ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง
อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา

๑๑.สำหรับทำน้ำมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล เมตตามหานิยม ให้ใช้พระคาถาที่ ๘ ดังนี้
คาถาที่ ๘
ปุณโณ อังคุลิมาโลจะ อุปะลี นันทะสีวะลี
เถรา ปัญจะอิเมชาตา นะลาเต ติละกา มะมะ.

ท่านใดมีประสบการณ์ดีๆที่ได้สวด "พระคาถาชินบัญชร" ?

ความศักดิ์สิทธิ์ของการสวดพระคาถาชินบัญชร เกิดประสบการณ์ดีๆประสพการณ์แปลกๆผมอ่านเจอในกระทู้ต่างๆๆเลยขออนุญาติมาเล่าสู่กันฟัง


ส่วนครอบครัวผมเองได้ในเรื่องครอบครัวมีความสุขพี่น้องรักกัน มีโชคมาเรื่อยๆๆๆ(โชคไม่จำเป็นที่ถูกหวยนะครับ) และปลอดภัยทุกครั้งในการขับรถยนต์
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว สมัยนั้นยังเรียนมหาลัยอยู่ ผมไม่สบายปวดหลังแถวๆเอวมาก เมื่อไปหาหมอพบว่าเป็นนิ่ว ในไตข้างขวา เนื่องจากว่าต้องใช้เงินในการยิงแสงเข้าไปสลายนิ่ว ซึ่งต้องใช้เงินในการยิงต่อครั้ง ประมาณ 30000 บาท ช่วงนั้นผมเพิ่งเริ่มทำงาน เข้าทำงานก็ช่วง15 วัน ได้เงินเดือนแค่ 8000 บาท ก็จ่ายเงินค่ายาทั้งหมด (ยังไม่ได้ยิงแสง) ในใจอยากจะบอกทางบ้าน (บ้านผมอยู่ภูเก็ต) แต่ก็ไม่บอกเก็บเอาไว้ในใจ แต่ก็ขอเงินใช้จ่ายในเดือนนั้น ผมไม่รู้ทำไง จึงลองอธิษฐานว่า ขอสิ่งศักดิ์ทั้งหลายและสมเด็จพระพุทธจารย์โต ช่วยลูกด้วย ช่วยให้ลูกหายจากอาการเจ็บ และให้หายจากโรคนี้ด้วยเถิด ถ้าหากหายลูกจะสวดพระคาถาชินบัญชร 100 จบ หลังจากนั้นไม่เกินอาทิตย์ (จำไม่ได้ว่ากี่วัน) ผมก็หายจริงๆ ไม่ปวดเอวอีกเลย และก็ไม่ไปหาหมอด้วย ผมจึงแน่ใจว่า สิ่งศักดิ์ทั้งหลายและสมเด็จพระพุทธจารย์โต ต้องช่วยผมแน่นอน ผมจึงทำตามที่อธิษฐาน คือ สวดพระคาถาชินบัญชร 100 จบ ซึ่งผมก็บอกว่า ขอสวดคืนนึง 5-10 จบต่อคืน จนครบ ซึ่งปัจจุบันนี้ผมก็สวดอยู่ครับ ....เป็นคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์มากๆ
ผมเคยสวดพระคาถาชินบัญชร แล้วอธิษฐานเสี่ยงทายโดยใช้หยดเทียนแบบทำน้ำมนต์ คือบ้างสิ่งที่เราจะทำไม่แน่ใจว่าจะดีหรือไม่ดี ก็อธิษฐานว่าต่อไปข้างหน้า หรือว่าต่อไปอนาคตชีวิตของลูกจะดีหรือไม่อะไรแบบเนี้ย แล้วก็ท่องพร้อมทั้งหยดเทียนให้มือนิ่งๆอยู่กับที่ ผลปรากฎว่าเทียนหยดออกมาเป็นตัวหนังสือคำว่า "ดี" หลังจากนั้นชีวิตของผมก็ดีขึ้นจริงจากที่เมื่อก่อนเป็นพนักงานตามโรงงานก็มาสอบรับราชการได้ ผมเชื่อมั่นและศรัทธาองค์หลวงพ่อโตมาก เคยรอดพ้นจากการถูกไฟซ็อตก้เพราะการสวดพระคาถาชินบัญชรเป็นประจำนี่แหละครับ


 ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

48
บทความ บทกวี / ดวงปี 2554
« เมื่อ: 25 ต.ค. 2553, 10:21:05 »
                                                              ดวงปี 2554

ดวงปี 2554

ผู้ที่เกิดระหว่าง 21 มี.ค.– 20 เม.ย.
สัญลักษณ์ราศี แกะตัวผู้
ดาวประจำราศี ดาวอังคาร
ธาตุ ไฟ
วันดีประจำสัปดาห์ วันอังคาร
เดือนที่ส่งสริม เดือนพฤษภาคม สิงหาคม และพฤศจิกายน
ราศีที่เป็นมิตร ราศีสิงห์
ตัวเลขนำโชค เลข 5 และ 8
เวลาที่เหมาะกับการมงคล เริ่มตั้งแต่ 05.00 – 17.00 น.
ต้นไม้เสริมมงคล ต้นขนุน จำปี โป๊ยเซียน และกล้วยไม้
สีมงคลสำหรับปีนี้ เขียว น้ำตาล และสีเลือดหมู
ของตกแต่งเสริมมงคลในบ้าน/ที่ทำงาน พีระมิดหรือรูปปั้นทองเหลือง วัสดุที่ทำจากโลหะและเหล็ก
หินสีและอัญมณีเสริมบารมีสำหรับปีนี้ หยก มรกต อำพัน และโกเมน

ดูดวง ภาพรวมปี 2554
ปีนี้สำหรับชาวราศีเมษค่อนข้างดีในเรื่องการงาน ซึ่งมักจะสำเร็จผล ด้วยความสามารถของตัวเองล้วนๆ และโชคลาภใหญ่ที่จะมีเข้ามา จากการติดต่อ เป็นตัวกลาง ส่วนปัญหาในปีนี้จะเกิดจากการสื่อสารกับผู้คน และการแสดงออกทางอารมณ์ของคุณ ขอให้ระงับจิตใจให้ดี อย่ามีปากเสียงกับผู้อื่น รายจ่ายค่อนข้างมาก มาจากภาษีสังคม ส่วนความรักไม่ค่อยราบรื่น ไม่ว่าโสดหรือมีคู่แล้ว ระวังจะถูกกล่าวหาว่าเป็นมือที่สามในความรักของคนอื่น เพราะฉะนั้นพยายามอย่าไปยุ่งเรื่องของชาวบ้านเขา ดีที่สุด

ดูดวง การงาน
ปีนี้ทำงานหนักมาก มีงานและความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น หากเป็นหัวหน้ามีเกณฑ์โยกย้ายแผนก ต้นปีอาจต้องรับหน้าที่ใหม่ที่คุณไม่เคยทำมาก่อน และก็จะผ่านพ้นไปด้วยดี ธุรกิจการค้าต้องใช้ไหวพริบรอบด้าน ต้องวางแผนการค้าให้ดี ถ้าทำงานบริษัทจะมีคนคอยอิจฉา ให้ร้าย อย่าไปสนใจหรือมีปากเสียงด้วย
กลางปีผลงานจะปรากฎ เจ้านายพอใจ ส่วนถ้าใครค้าขาย จะขายดิบขายดี และมีคู่แข่ง ใครที่ทำงานให้คุณให้โทษคนอื่น เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ฝ่ายบุคคล หรือผู้รักษากฏหมาย จะพบเจอคนข่มขู่ ปีนี้ชาวราศีเมษระวังจะทำของหล่นหาย เช่น เอกสารสำคัญ หรือโทรศัพท์มือถือ ...ส่วนปลายปีมีเกณฑ์ทำธุรกิจค้าขายกับต่างชาติ ซึ่งจะติดปัญหาค่อนข้างเยอะ ขอให้รอบคอบ

ดูดวง การเงิน
ปีนี้เงินทองจะได้มาจากการลงทุน ซึ่งต้องกล้าเสี่ยง กล้าลงทุน ห้ามทำการค้ำประกันการซื้อรถซื้อบ้านให้ใครๆ เด็ดขาด ต้นปีจะมีรายจ่ายให้หนักใจ สามเดือนแรกอย่าคิดลงทุนเพิ่มเติมเด็ดขาด เพราะดวงการเงินไม่สดใสเท่าที่ควร ใครที่ทำงานประจำ อาจต้องเปลี่ยนงาน เพราะขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานบ่อยจน
กลาง ปีรายจ่ายมากกว่ารายรับ โดยเฉพาะใครที่หน้าใหญ่ใจโตยิ่งหมดเยอะ ผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการหรือทำงานเป็นหัวหน้า จะมีดวงต้องเสียเงินแบบไม่ควรเสีย เพราะบริวารบางส่วนทำให้เดือดร้อน มีเกณฑ์ได้รับเงินก้อนใหญ่จากผู้หลักผู้ใหญ่ นำมาให้ หรือให้คุณหยิบยืม ...ให้วางแผนใช้เงินก้อนนี้ให้ดี อย่าใช้เงินเกินตัว ให้นำมาลงทุนอย่างรอบคอบ จะมีเงินเก็บภายหลัง ปลายปีนี้หลายคน อาจได้เปลี่ยนรถใหม่ หรือมีคนมาชวนลงทุนทำธุรกิจด้วย น่าสนใจดีและมีโอกาสได้กำไร ก็ศึกษาให้ละเอียด ปลายปีอาจต้องเสียเงินซ่อมแซมสุขภาพของตัวเอง ทำประกันไว้หน่อยก็ดี จะได้เสียน้อยหน่อย

ดูดวงความรัก
ปีนี้ความรักของชาวราศีเมษ เป็นไปแบบเรื่อยๆ ไม่มีความคืบหน้า ...ต้นปีคุณจะได้ข่าวดีของบุตรหลาน เช่น ลูกหลานสอบได้คะแนนดี หรือได้รับรางวัลอย่างใดอย่างหนึ่ง สาวราศีเมษอาจมีการทะเลาะเบาะแว้งกับคนรักบ่อยครั้ง ให้ระวังคำพูดกันให้ดี อย่าเอาแต่อารมณ์ กลางปีบางคนอาจเพิ่งพบว่า คนที่กำลังคบอยู่มีคู่แล้ว คนที่มีแฟนเป็นผู้ใหญ่กว่า ระวังเรื่องหึงหวงเกินกว่าเหตุ ส่วนคนที่มีครอบครัวแล้ว อย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวของคนอื่น ถึงแม้จะเป็นครอบครัวของเพื่อนก็ตาม ดวงปีนี้มีเกณฑ์ขัดใจกันด้วยเรื่องในครอบครัวแน่นอน เฉยไว้ดีที่สุด ไม่ต้องแม้แต่แนะนำ ให้ครอบครัวเค้าจัดการกันเอง
ปลายปีผู้ที่เป็นคนโสดจะได้พบเพื่อนใหม่ที่ดี ขอให้รับไว้พิจารณา เพราะคุณเจอคนดีเข้าให้แล้ว ส่วนสาวโสด ช่วงนี้อย่าไปไหนลำพัง จะมีอันตราย โดยเฉพาะยามค่ำคืน ปลายปีคนในครอบครัวจะเจ็บป่วย ให้ใส่ใจดูแลให้ดี เดือนสุดท้ายของปีนี้ความสัมพันธ์กับคู่รักจะดีขึ้น ให้ไปวัดทำบุญทำทานร่วมกัน บรรยากาศจะดีขึ้นกว่าเก่ามากเลย

ดูดวง สุขภาพ
แข็งแรง สมบูรณ์ดี จะมีแค่ปวดเอว ปวดหลัง บ้างเท่านั้น ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ เช่น เบาหวาน ความดัน หรือโรคหัวใจ ระวังโรคจะกำเริบขึ้นมา หมั่นออกกำลังกายบ้าง ส่วนสุขภาพจิต ปีนี้อ่อนล้า บ่อยๆ หมั่นเติมเต็มจิตใจตัวเองดีๆ ฝึกนั่งสมาธิบ้าง จะช่วยได้ดีมาก

ดูดวง โชคลาภ
ปีนี้โชคดีมีลาภลอยบ่อยๆ แม้ว่าจะเล็กน้อยก็ตาม อาจมีผู้หลักผู้ใหญ่ให้ แต่ถ้าเป็นก้อนโต จะได้จากการเป็นนายหน้า ปีนี้ได้ค่าคอมมิชชั่นแน่ๆ เพราะเรื่องที่ติดต่อไว้จะสำเร็จ


ผู้ที่เกิดระหว่าง 21 เม.ย.– 20 พ.ค                                                                                                สัญลักษณ์ราศี วัวตัวผู้
ดาวประจำราศี ดาวพระศุกร์
ธาตุ ดิน
วันดีประจำสัปดาห์ วันศุกร์
เดือนที่ส่งเสริม เดือนกุมภาพันธ์ มิถุนายน และกันยายน
ราศีที่เป็นมิตร ราศีกันย์
ตัวเลขนำโชค เลข 1 , 5 และ 7
ต้นไม้เสริมมงคล ต้นโมก ไม้ดอกสีขาว และต้นส้มโอ
สีมงคลสำหรับปีนี้ ส้ม น้ำตาล เหลือง และสีเอิร์ทโทน
ของตกแต่งเสริมมงคลในบ้าน/ที่ทำงาน โคมไฟ ระย้าหลายสี
หินสีและอัญมณีเสริมบารมีสำหรับปีนี้ ปะการัง อำพัน เพทายสีส้ม และอาเกต

ดูดวง ภาพรวมปี 2554
ปีนี้จัดเป็นปีทองของชาวพฤษภ โดยเฉพาะด้านการงาน จะทำอะไรก็จะสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง โดยเฉพาะงานเบื้องหลังจะ มีผลงานโดดเด่นมากๆ แต่ตัวเองไม่เป็นที่รู้จัก เป็นปีแห่งการทำงานหาเงินแล้วจะได้ในสิ่งที่หวัง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรม หรือเป็นเอเยนซี ยกเว้นเรื่องความรัก ที่ยังไม่สมหวังสักที ....ปีนี้ถ้าสาวพฤษภมีลูก ลูกจะส่งเสริมดวงได้มากทีเดียว

ดูดวง การงาน
การงานปีนี้ดีทีเดียว ถ้าทำงานประจำคุณจะได้เลื่อนตำแหน่ง ใครตกงานหรือกำลังหางานอยู่ปีนี้จะได้งานดีๆ จะได้ทำงานเบื้องหลังในวงการศิลปะหรือบันเทิง จะมีคนมาชวนไปทำงานต่างประเทศ ใครที่ยังอยู่ในวัยเรียน นักเรียน นักศึกษา ประกวดอะไรก็ชนะ จะมีกิจกรรมให้ทำตลอด
ต้นปีชาวพฤษภจะพบเจ้านายใหม่ หรืออาจได้โยกย้ายไปทำหน้าที่ใหม่ ที่ไม่ตรงกับความรู้ ความสามารถของตัวเอง อย่ากังวลใจไป เพราะคุณสามารถทำได้ ส่วนผู้ที่ทำธุรกิจส่วนตัว จะได้ติดต่อลูกค้ารายใหญ่ ได้งานโครงการใหญ่แบบเร่งด่วน ส่วนผู้ที่ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียบรรเจิดตั้งแต่ต้นปีเลย ผลงานเป็นที่ชื่นชอบของผู้จ้าง ปีนี้ชาวราศีพฤษภมีเกณฑ์ไปดูงานต่างประเทศ หรือได้เรียนต่อ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พบผู้คนใหม่ๆ มากขึ้น ใครทำธุรกิจขายตรง ปีนี้ขายดี

ดูดวง การเงิน
รายรับพอๆกับรายจ่าย ไม่ควรลงทุนโดยใช้เงินก้อนของตัวเอง ค่อยๆลงทุนทีละนิด หรือหาผู้ร่วมทุนด้วยจะดีกว่า ปีนี้คุณจะเสียเงินก้อนไปกับค่ารักษาพยาบาลตัวเอง และญาติพี่น้องสร้างหนี้สินไว้ให้รับผิดชอบ อาจขาดเงินบางช่วง
ช่วงต้นปีผู้ที่ทำงานประจำ อาจมีโอกาสได้งานอิสระซึ่งมีรายได้ดีกว่างานประจำ ใครที่ทำงานเกี่ยวกับการแข่งขัน จะเสียเบี้ยบ้ายรายทางเยอะ แต่ก็จะได้เงินคุ้มค่า
ช่วงกลางปี ไม่ควรเสี่ยงโชค เล่นการพนัน หรือเล่นหุ้น เพราะดวงไม่ดีไม่ได้เงินแน่ ทางที่ดีลองวิ่งเต้นเป็นนายหน้าดู คุณจะได้ส่วนแบ่งเป็นกอบเป็นกำทีเดียว
ปลายปีมีรายจ่ายมาก กับของฟุ่มเฟือยที่อยากได้ เช่น เพชรพลอย โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ บางคนใช้เงินท่องเที่ยวต่างแดน หรือเสียเงินกับการปรับปรุงที่อยู่ ร้านค้า จ่ายใต้โต๊ะ แต่ก็จะได้ผลประโยชน์กลับมาภายหลัง

ดูดวงความรัก                                                                                                                          ปีนี้ความสัมพันธ์ของคนรักและคู่ครองไม่ค่อยน่าพอใจนัก ไม่ว่าจะมีคู่แล้วหรือมีแค่แฟน จะทะเลาะกันบ่อยครั้งเพราะความเจ้าอารมณ์ทั้งสองฝ่าย ต้นปีจะเกิดอาการเบื่อหน่ายคู่ครองคนรักแบบไม่มีสาเหตุ ทำให้ต้องทุกข์ใจ คนโสด จะได้เริ่มต้นคบหากับใครซักคนหนึ่งที่อาจไม่ใช่สเปก ให้ดูใจกันไปก่อน
สำหรับสาวโสด หรือมีคู่กลางปีนี้ ระวังจะมีปัญหาเรื่องชู้สาวในที่ทำงาน และอย่าปล่อยให้คู่ของตัวเองไปไหนตามลำพังกับคนอื่นบ่อยๆ มีปัญหาทะเลาะกันแน่ ...ส่วนหนุ่มพฤษภวัยกลางคน ที่ไม่เคยมีแฟน จะมีเพื่อนฝูงหาคู่ให้
ปลายปีคู่ครองคนรักไม่ค่อยดูแล ยามเจ็บไข้ได้ป่วยทำให้คุณต้องน้อยอกน้อยใจ สาวราศีพฤษภบางคนจะมีปัญหาการเงิน มีคนมาช่วยโดยหวังสิ่งตอบแทน ให้ระวังให้ดี ส่วนวัยรุ่นจะหลงรักเพศตรงข้ามอย่างหัวปักหัวปำ ทำเอาการเรียนเสีย

ดูดวง สุขภาพ
ปีนี้ชาวพฤษภจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ระวังโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เส้นประสาทสมองอักเสบ หรือมีเนื้องอกที่ใดที่หนึ่งที่ไม่สำคัญมากนัก

ดูดวง โชคลาภ
ปีนี้โชคลาภดี มีเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่ง ผลกำไร ค่านายหน้า ....ผู้ใหญ่จะให้โชคลาภ แบบหวังสิ่งตอบแทน

49
                                               สติ คือความไม่ประมาท   หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


อปฺปมาเทน อณฺณวํ
ความไม่ประมาท คือว่าไม่ลืมตัว
บุคคลจะพ้นจากมหรรณพภพสงสารได้ เพราะความไม่ประมาท

ความไม่ประมาทนั้นหมายถึง เรื่องจิตอันเดียว คือ มีสติไม่พลั้งเผลอหลงลืม อย่างเช่นเราเดินตามถนนหนทางไปไม่เพลินไม่หลงมัวเมา หมายถึงว่าเราต้องเดินด้วยความระมัดระวังกลัวรถจะชนเอา กลัวขโมยเขาจะมาตีชิงวิ่งราวอะไรต่างๆ อันนั้นเรียกว่าความไม่ประมาท ความไม่ประมาทนี้เป็นเหตุให้รักษาตัวได้

อย่างชั้นดีขึ้นไปกว่านั้นอีก ความไม่ประมาท
คือมีสติควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจของตน ไม่หลงพลั้งเผลอ
สติ คือความไม่ประมาทนี้ สามารถที่จะป้องกันภัยอันตรายหลายอย่าง
ป้องกันกิเลสไม่ให้เกิดขึ้นก็ได้ รักษากิเลสของตนก็ได้

ถ้าไม่เชื่อก็ลองคิดดู เราคิดจะทำลายคนอื่นเพราะเผลอสติ เมื่อมีสติตั้งมั่นแล้วไม่สามารถจะทำลายคนอื่นได้ เรามีสติอยู่ทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถ นั่นแหละ คือความไม่ประมาท

ความไม่ประมาท คือมีสตินี้ แม้แต่ความเจ็บ ความปวด ความเมื่อยล้าสารพัดทุกอย่าง เอาสติตัวนั้นแหละไปควบคุม เอาสติไปมองดู เอาสติตัวนั้นแหละไปกำจัดหายไปเลย สติตั้งมั่นในที่ใดกิเลสเหล่านั้นต้องหายไปในที่นั้น ถ้าหากสติตั้งมั่นอยู่ทุกอิริยาบถ กิเลสมันก็ไม่เกิดเท่านั้นซี ทีนี้เราตั้งมั่นแต่ในขณะที่เราเจ็บปวด ในเวลาที่เราเมื่อยล้า เอาสติไปตั้งมั่นแล้วมันก็หายไป แต่พอมันหายไปแล้วก็ลืมสติอันนั้นเสีย มันก็เลยประมาทต่อไปอีก นั่นแหละจึงว่า อปฺปมาเทน อณฺณวํ                                                                             ครั้นเมื่อมี สติแล้วคราวนี้เกิด อุบายปัญญา คือปัรู้จักจิตของตน รู้จักว่าจิตคิดดีคิดชั่ว คิดหยาบคิดละเอียดรู้เท่ารู้ทันอยู่ตลอดเวลา นั่นเรียกว่าปัญญา ปัญญาในขั้นนี้ไม่ใช่ปัญญาวิปัสสนา แต่เป็นปัญญาที่รู้เท่ารู้ตัวของเราระมัดระวังไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น ไม่ให้ทำความชั่ว ส่วนปัญญาวิปัสสนานั้นอีกอย่างหนึ่งต่างหาก ผู้ที่เจริญวิปัสสนามันต้องเกิดเองเป็นเอง เราต้องรักษาสติเรียกว่าไม่ประมาทเสียก่อน เมื่อรักษาสติตัวนี้แก่กล้าแล้วมันเกิดปัญญาของมันเองหรอก

ปัญญาวิปัสสนาไม่ได้ตั้งใจให้เกิดแต่เกิดเอง
(ปัญญาที่ตั้งใจเรียกว่าปัญญารักษาตัวเบื้องต้น)
ของมันเกิดเองเป็นเองจึงเป็นของอัศจรรย์นัก
เป็นของเหลือวิสัยที่มนุษย์ปุถุชนจะให้มันเกิดขึ้น

ปัญญาวิปัสสนาพิจารณาเห็น ไตรลักษณ์ชัดแจ่มแจ้งด้วยตนเอง
ไม่มีใครบอกใครสอนและไม่ต้องปรารมภ์ถึงเรื่องอะไรทั้งหมด
มันเป็นเอง ปัญญานั้นเป็นของสูงสุด

ปัญญาวิปัสสนาเป็นชั้นของพระอริยะเจ้า
ไม่ใช่ของที่จะเกิดบ่อยๆ และแต่ละชั้นๆ นั้น
(โสดาบัน สกทาคา อนาคามีและอรหันต์) ก็เกิดครั้งเดียว
ไม่ใช่เกิดได้ถึงสองสามครั้ง นั้นแหละคือปัญญาวิปัสสนาแท้

: ศรัทธา ความไม่ประมาทและความบริสุทธิ์หมดจด
: หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
: วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔

   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

50
                                                                วิธีดูเจ้ากรรมนายเวร

เจ้ากรรมนายเวรนั้นเกิดขึ้นจากแรงอาฆาตหากเราเคยทำอะไรที่เบียดเบียน? สร้างความไม่พอใจแก่อะไรก็ตาม ทั้งที่เป็นคน สัตว์ หรือวิญญาณ แล้วเขาเหล่านั้นได้ตั้งจิตว่าถ้าเจอเราจะต้องทำคืนตรงนี้ก็เกิดกรรมได้แล้วครับ บางคนถามว่าถ้าเราทำไปโดยไม่เจตนาเกิดผลกรรมตามมาไหม ตรงนี้อย่าเอาเราเป็นคนตัดสินครับ เอาคู่กรณีเราเป็นคนตัดสินว่าการกระทำของเราก่อให้เกิดความอาฆาตที่มีต่อเราหรือไม่

เจ้ากรรมนายเวรของเรามีอยู่ 2 แบบทั้งที่มีชีวิตและเป็นจิตวิญญาณ เจ้ากรรมนายเวรที่มีชีวิตอาจเป็นคนในครอบครัว สามี ภรรยา ลูก หลาน เพื่อนร่วมงาน หรืออื่น ๆ เราจะรู้ได้ยังไงว่าใครเป็นเจ้ากรรมนายเวรที่มีชีวิต หลักการดูง่าย ๆ ใครก็ตามที่คอยสร้างความเดือดร้อนให้เรา เบียดเบียนเรา อาจจะใช่หนึ่งในเจ้ากรรมนายเวรเราก็เป็นได้

ส่วนเจ้ากรรมนายเวรที่เป็นวิญญาณอาจจะยากในการดูต้องทำจิตให้นิ่งคุณถึงจะรู้ได้ด้วยตัวเองครับ โดยการทำสมาธิเป็นการรวมจิต ยิ่งคุณนิ่งมากเท่าไหร่จิตคุณยิ่งรวมได้มากเท่านั้น เมื่อคุณรวมจิตได้ คุณก็จะแยกสิ่งที่มันอยู่ด้วยกันตั้งแต่เกิดได้ คือจิตกับร่างกายคนเราที่มันผสมกันอยู่ แยกจิตออกมาได้คุณก็สามารถอยู่ที่สภาพเดียวกันกับเจ้ากรรมนายเวรได้แล้ว สภาวะของคนต่างกับวิญญาณตรงที่คนมี 2 ส่วนคือจิตกับร่างกาย แต่วิญญาณมีแต่จิตไม่มีร่างกาย
เมื่อเราทำสมาธิได้สามารถรวมจิตได้แล้วเราก็จะสื่อถึงเจ้ากรรมนายเวรที่เป็นวิญญาณได้ บางคนที่เริ่มทำสมาธิอาจนิ่งน้อยก็รวมจิตได้น้อยสื่อไปเขารับรู้แต่เราสัมผัสไม่ได้ทั้งที่อยู่สภาพเดียวกันคือจิตเหมือนกันแต่ขนาดไม่เท่ากัน แต่ถ้าหากได้ฝึกสมาธิมานานแล้วรวมจิตได้มากก็สามารถสัมผัสได้ซึ่งบางคนสามารถเห็นการกระทำที่ตนทำไว้ในอดีตได้จากการที่เจ้ากรรมนายเวรมาแสดงให้เราเห็นก็มี ซึ่งเมื่อเราสัมผัสได้ก็พยายามสื่อถึงเขาบอกเขาว่าเราได้รับผลกรรมแล้วขอให้เขามาอโหสิกรรมให้แก่เรา

ในกรณีที่เจ้ากรรมนายเวรที่มีชีวิตเหมือนเราการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทำได้ง่ายๆ โดยการที่เราเอ่ยปากขออโหสิกรรมสิ่งที่เราเคยทำผิดมาไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน แต่ต้องออกมาจากใจจริงของเราไม่ใช่แกล้งพูด และเมื่อคู่กรณีของเราได้ฟังถ้าเขาเอ่ยปากอโหสิให้ หรือให้อภัยแก่เราจากใจจริงเช่นกัน กรรมที่ไม่ดีก็สามารถยุติได้ ปัญหาที่มีมาก็คลี่คลายได้เพราะต่างฝ่ายต่างยุติ แล้วในอนาคตจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะเลือกทำกรรมดีหรือกรรมไม่ดี แต่หากเราไปพูดขออโหสิกรรมแล้วคู่กรณีเราไม่พอใจก็ต้องใช้วิธีกล่าวชื่อของคนนั้นลงไปในใบแก้กรรม ซึ่งเป็นการใช้จิตของเราสื่อถึงจิตลึก ๆ ของคนผู้นั้น จากที่เขามีพฤติกรรมไม่ดีต่อเรา เบียดเบียนเราก็จะเปลี่ยนการกระทำเหล่านั้นไปในทางที่ดีการทำสมาธิแก้กรรมไม่ได้เป็นการลบล้างกรรม แต่เป็นการขอโทษ เราไม่เริ่มขอโทษก่อนก็คงไม่มีใครมายกโทษให้เราแน่นอน เราอย่านึกว่าเราไม่ผิด ทุกอย่างล้วนมีเหตุมีผลในตัวของมันเองครับ ทำมากน้อยแค่ไหนถึงจะเกิดผลอยู่ที่การปฏิบัติของเราเองและอยู่ที่เจ้ากรรมนายเวรว่าพอใจรึยัง การแก้กรรมของผม

ไม่ใช่การแผ่เมตตาแต่เป็นการกล่าวขอโทษ การที่เราประสบปัญหา ผมเปรียบเหมือนตัวเราเป็นแก้วน้ำนะครับเจ้ากรรมนายเวรเล่นงานเราตามแรงอาฆาต เปรียบเหมือนทุบแก้วเราแตกไปแล้ว บางคนอาจเจอทุบจนละเอียด บางคนแตกเป็นชิ้นใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าเราทำให้เขาอาฆาตมากน้อยแค่ไหน

การที่เราตั้งจิตสื่อถึงเจ้ากรรมนายเวรนั้นเพื่อให้เขากลับมาหาเราและเราก็บอกว่าเราสำนึกแล้ว ซึ่งขอให้เขานำสิ่งที่เกิดขึ้นกลับไป ก็เหมือนให้เขามาต่อแก้วคืนให้เป็นทรงเดิม ซึ่งจะต่อได้รึเปล่าขึ้นอยู่กับบุญที่เคยทำมาด้วย และสิ่งที่เราประสบอยู่เหมือนแก้วว่าแตกละเอียดไปแล้วแค่ไหน การขออโหสิกรรมควรทำควบคู่ไปกับการทำบุญ บางคนทำแต่บุญตรงนี้คุณได้บุญแต่ว่ากรรมคุณก็มี การที่คนเรามีเจ้ากรรมนายเวรเปรียบเหมือนเราติดหนี้ เรามีเจ้าหนี้ หากเราทำบุญอย่างเดียวก็เหมือนกับเร่งหาเงินแต่ไม่เคยนึกถึงเลยว่ายังติดหนี้ใครไว้บ้าง

ดังนั้นการอโหสิกรรมคือการเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้จะปล่อยเรารึเปล่า อยู่ที่การตัดสินใจของเจ้าหนี้ครับ

การทำสมาธิสื่อถึงเจ้ากรรมนายเวรสำหรับผู้ที่เริ่มปฏิบัติควรทำช่วงที่จิตและร่างกายสมบูรณ์ ซึ่งช่วงที่ว่านั้นส่วนมากเป็นช่วงเช้าหรืออยู่ในช่วงกลางวัน ช่วงกลางคืนจิตคนเราอาจจะอ่อนตามร่างกายที่ทำงานมาทั้งวันเพราะคนเราจิตกับร่างกายสัมพันธ์กันเมื่อร่างกายอ่อนเพลียจิตก็อาจจะอ่อนตามกัน ไม่ใช่ว่ากลางคืนวิญญาณจะมีพลังมากกว่าเรา วิญญาณมีพลังได้ทุกเวลาครับ เดี๋ยวจะพากันกลัวเหมือนหนังผีไปอีกแต่อยู่ที่จิตเรามากกว่าว่าสมบูรณ์รึเปล่า ในขณะที่เราสื่อจิตไปหาเจ้ากรรมนายเวรของเราอาจจะมีพวกวิญญาณอื่นเห็นเราทำสมาธิก็ก็คิดว่ามาขอส่วนบุญได้ซึ่ง ผลบุญที่เราจะให้ได้นั้นให้ได้จากการทำทานทุกชนิด แต่ผลบุญที่เกิดจากสมาธิใครทำคนนั้นได้เอง ส่วนการแผ่เมตตาเมื่อเราตั้งจิตถึงเจ้ากรรมนายเวรเขาก็ได้รับความรู้สึกดีจากเรา แต่ไม่ได้เป็นการให้บุญ บารมีจากการปฏิบัติของเรา เราต้องสื่อถึงเขาให้เขาปฏิบัติด้วยตัวเองจะเป็นการดีต่อจิตของเขาเอง

แต่สำหรับผู้ที่ปฏิบัติสมาธิมาพอสมควรแล้วคุณจะทำเวลาไหนก็ได้ขึ้นอยู่กับจิตของคุณว่าสมบูรณ์พร้อมหรือเปล่า ซึ่งวิธีการขออโหสิกรรมในใบแก้กรรมของผมนั้น สามารถทำต่อจากการที่คุณไหว้พระ สวดมนต์ แผ่เมตตา หรือว่าคุณจะทำเดี่ยว ๆ เลยก็ได้ จะทำสถานที่ใดก็ได้ ในห้องพระ ห้องทำงาน แล้วแต่คุณแต่ควรเลือกสถานที่ซึ่งสงบและสะดวกในการทำสมาธิ แต่ที่สำคัญขอให้จิตคุณสงบก่อนที่จะทำเพื่อให้การขออโหสิกรรมนั้นเกิดผล


วิธีดูเจ้ากรรมนายเวร | ซุปเปอร์ริชชี่

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

51
                                                  บัญญัติ 9 ประการของการลุกขึ้นสู้ใหม่


บัญญัติ 9 ประการของการลุกขึ้นสู้ใหม่


1...ลืมอดีตทิ้งไป เหมือนคุณเพิ่งเกิดใหม่เมื่อเช้านี้

2...เข้ามารับผิดชอบชีวิตตัวเองอย่างเต็มที่

3...ปลดล็อกความคิดที่ขังคุณไว้ในบ้านอันมืดมน

4...ขจัดความกลัวในจิตใจให้หมด โดยใช้หลักมรณานุสุติเป็นเครื่องกำกับใจ

5...เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างที่กำลังเผชิญ เป็นหินรองก้าวไปสู่บันใดแห่งการ พัฒนาศักยภาพของตนเอง

6..ใช้ความผิดพลาดทั้งหมดในอดีต ที่ผ่านมาเป็นบทเรียน

7...หาแรงจูงใจจากแหล่งพลังในบาดาลใจที่คุณขุดพบ

8...ใช้สัมมาทิฐิหรือการคิดชอบเป็นหลักนำชีวิตคุณ

9...ทำตามฝันโดยฟังเสียงเล็ก ๆ เงียบ ๆ ที่ร่ำร้องอยู่ในใจและจดจ้อง อยู่ที่ดาวนำทางชีวิตคุณ โดยไม่เปลี่ยนความตั้งใจ



ที่มา : ที่นี่ดอทคอม บัญญัติ 9 ประการของการลุกขึ้นสู้ใหม่ : อาหารสมอง

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

52
                                                      ทำ อย่างไรจึงจะอยู่อย่างมีความสุข

    ความเอ๋ย ความสุข

 ใครๆทุกคน ชอบเจ้า เฝ้าวิ่งหา
“แกก็สุข ฉันก็สุข ทุกเวลา”
แต่ดูหน้า ตาแห้ง ยังแคลงใจ

ถ้าเราเผา ตัวตัณหา ก็น่าจะสุข
ถ้ามันเผา เราก็ “สุก” หรือเกรียมได้
เขาว่าสุข สุขเน้อ อย่าเห่อไป
มันสุขเย็น หรือสุกไหม้ ให้แน่เอ่ยฯ

ความสุข เป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ที่สามารถแสวงหาได้ ซึ่งแนวทางในการทำตัวให้มีความสุข มีดังต่อไปนี้

1. การรักษาสุขภาพทางกายให้แข็งแรง

สุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตมีอิทธิพลต่อกัน และกัน คนที่มีสุขภาพกายดีย่อมส่งผลให้มีจิตใจร่าเริงเข้มแข็ง การทำให้สุขภาพแข็งแรง ได้แก่การรับประทานอาหารถูกส่วน การพักผ่อนเพียงพอ การรักษาความสะอาดของร่างกาย ตลอดจนการออกกำลังกายอย่างพอเพียง

2. มีความสุขกับการทำงาน

การเลือกทำงานที่ชอบหรือการสร้างความพึงพอใจ ในงานที่ทำ หาวิธีการทำงานให้มีความสุข พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายหลายอย่างภายในขอบเขตที่สังคมยอมรับ ตามความสามารถของตนเอง และมองเห็นหนทางไปสู่ความสำเร็จได้ แล้วลงมือปฏิบัติอย่างตั้งใจก็ย่อมจะเกิดความสุข เกิดความปิติจากความสำเร็จในงานตามมา

3. รู้จักตัวเองอย่างแท้จริง

ควรได้สำรวจตัวเองว่าเป็นคนอย่างไร ต้องยอมรับว่าคนเรามีทั้ง ส่วนดีและส่วนเสีย เราต้องมองหาส่วนดี เห็นคุณค่า ชื่นชม พยายามพัฒนาส่วนดี พร้อมทั้งยอมรับในข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แล้วหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข คนที่มีความสุขนั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่เคยพบอุปสรรค ข้อขัดแย้งในใจ หรือไม่เคยพบปัญหา แต่อาจจะเป็นคนที่บางครั้งแก้ปัญหาไม่ได้ จึงต้องใช้ความพยายาม ความอดทน ก็จะสามารถเผชิญปัญหาไปได้

4. มีอารมณ์ขัน มองโลกในแง่ดี

ควรมองหาความสุข ความเพลิดเพลิน เพื่อช่วยลดความตึงเครียดต่างๆ ทำให้อารมณ์ผ่อนคลาย การหัวเราะทำให้จิตใจเบิกบาน มีการกระเพื่อมของหน้าท้อง หัวใจปอดได้ออกกำลัง มีผลถึงกล้ามเนื้อหัวไหล่ แขน หลัง กระบังลม และขา เกิดความพึงพอใจในความสุข นอกจากนี้ไม่ควร มองโลกในแง่ร้าย เวลาจะทำอะไรต้องหาจุดดีของเรื่องนั้นให้พบ เมื่อพบแล้วทำความพอใจและชื่นชม ก็จะเกิดแต่ความดีงาม

5. ไม่ควรเก็บอารมณ์ขุ่นมัว

การเก็บกดอารมณ์ทำให้เกิดความ ขุ่นมัว สับสน วุ่นวายใจ เป็นการก่อให้เกิดความตึงเครียด ทางอารมณ์ ผลทำให้สีหน้าหม่นหมอง น่าเกลียด ขากรรไกรประกบกันแน่น ใบหน้าเต็มไปด้วยริ้วรอย เหี่ยวย่น ผมสีเทา-ขาว ผมร่วง โรคผื่นคัน พุพอง และสิวตามมา เราควรต้องหาทางระบายอารมณ์ที่ขุ่นมัว โดยการแสดงออกในทางที่สังคมยอมรับและได้ตอบสนองตามความต้องการของเรา แต่ถ้าพบความยุ่งยากใจเพิ่มขึ้น ก็ควรหาวิธีหลีกเลี่ยงเสียก่อน เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์จะเผชิญความตึงเครียดทางอารมณ์ได้ถึง ขีดหนึ่งเท่านั้น จากนั้นต้องหาทางผ่อนคลาย ดังคำกลอนที่ว่า


เหนื่อยก็พัก หนักก็วาง
วุ่นก็ให้ว่าง ทุกอย่างก็สบาย



6. ควรมีงานอดิเรกและการพักผ่อนหย่อนใจ

ควรหาอะไรที่ชอบและพอใจทำ ทำในเวลาว่างที่เหลือจากกิจวัตรประจำวัน การทำอะไรในสิ่งที่พึงพอใจย่อมเกิดความสุขเพลิดเพลิน ทำให้ไม่มีเวลาว่าง ที่จะคิดกังวลเรื่องต่างๆ เป็นการฝึกการใช้เวลาว่างนั้นๆให้มีสมาธิในการทำสิ่งที่พอใจ ซึ่งจิตมีสมาธิจะเป็นจิตที่เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวง่าย พบว่า งานอดิเรกที่เกี่ยวกับกีฬาจะช่วยให้มีความสุข สนุกสนาน ร่าเริง แจ่มใส นอกจากนั้นการได้ท่องเที่ยวไปกับธรรมชาติที่กว้างใหญ่ เช่น ท้องฟ้า ทะเล ป่าเขาลำเนาไพร จะก่อให้เกิดความปลอดโปร่ง สดชื่น มีความสุข และถ้าต้องการทำจิตให้เป็นสมาธิในทางศาสนาจะก่อให้เกิดความสงบสุขทางใจเป็น อย่างมาก

7. หาสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ

แต่ละชีวิตย่อมมีทั้งสุขและทุกข์ปะปนกันไป เราจึงควรหาเพื่อนหรือใครสักคนที่สามารถร่วมทุกข์ร่วมสุขได้ ค้นหาคนที่คุณรักและเขารักคุณ ช่วยเหลือเกื้อกูล ปลอบขวัญ บำรุงจิตใจซึ่งกันและกัน สามารถที่จะระบายทุกข์ ปรึกษาขอความคิดเห็น การแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือในที่สุดอาจจะต้องไปขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแนะแนวและการ บำบัดทางจิตโดยเฉพาะ ทั้งนี้ขึ้นกับปัญหาความซับซ้อน ซึ่งนับเป็นวิธีการแก้ปัญหาการปรับตัวตั้งแต่ต้นที่ชาญฉลาด

8. พร้อมที่จะเผชิญปัญหาและความกังวลใจ

เมื่อพบอุปสรรค พึงพิจารณาปัญหาอย่างใช้เหตุและผล โดยค้นหาข้อเท็จจริง มองปัญหานั้นๆและหาวิธีการต่างๆในการแก้ปัญหา ทำการตัดสินใจ แล้วปฏิบัติตามที่ได้ตัดสินใจไว้ หรือถ้าปัญหารุมเร้ามากจนต้องการหลีกให้พ้น “จงใช้ชีวิต อยู่เพื่อวันนี้เท่านั้น” ดังคำสอนว่า


สิ่งล่วงแล้ว แล้วไป อย่าใฝ่หา
ที่ไม่มา ก็อย่าพึง คนึงหวัง
อันวันวาน ผ่านพ้น ไม่วนวัง
วันข้างหน้า หรือก็ยัง ไม่มาเลย



หรือถ้าปัญหาต้อนท่านไปจนมุม ให้มองพิจารณาดูผลร้ายที่เกิดขึ้นแล้วทำใจให้ยินดีเผชิญกับสิ่งนั้นๆ เมื่อเวลาผ่านไปให้พิจารณาว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้ทำลายความสุขแห่งชีวิต มามาก เพียงพอแล้ว แล้วหันกลับใช้เหตุผลในการพิจารณาแก้ไขสิ่งร้ายๆให้กลายเป็นดีด้วยใจสุขุม เยือกเย็น ท่านก็จะผ่านพ้นอุปสรรคไปได้

9. ใช้เวลาเป็นยารักษาความเจ็บปวด

เมื่อพบกับความผิดหวังจงใช้เวลาเป็นเครื่อง ช่วยเยียวยา เมื่อพลาดหวังแล้วจงอดทน และมีความหวังต่อไป ความหวังเป็นพลังหรือแรงจูงใจ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต เมื่อประสบความผิดหวัง ไม่ควรใช้วิธีถอยหนีหรือเลี่ยงปัญหา ควรคิดเสมอว่า “ท้อแท้-หงอย ท้อถอย-แพ้” เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ไม่ควรแก้ปัญหาโดยใช้สิ่งเสพย์ติด เช่นสุรา หรือยาบางชนิด เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลืมความทุกข์ ได้เพียงชั่วขณะ ไม่ทำให้เราพิจารณาใช้ความคิดในการแก้ปัญหา เป็นการหลีกหนีปัญหาที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

10. ค้นหาเป้าหมายของชีวิต

การคิดฝันไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความคิดฝันที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ซึ่งความคิดฝันจะทำให้เรามีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ มีแรงจูงใจ มีการตั้งเป้าหมายในชีวิตใกล้เคียง กับความสามารถที่แท้จริงและสอดคล้อง กับความเชื่อและอุดมคติ แล้วทำการลงมือปฏิบัติเพื่อไปสู่ เป้าหมาย ถ้าทำเช่นนี้ได้เราก็จะประสบความสำเร็จและความสมหวัง เกิดความสุขทางใจได้
จากสิ่งที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นการเสนอแนวทาง ในการปฏิบัติอย่างกว้างๆการทำตัวให้มีความสุขได้เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ ต้องอาศัยการเรียนรู้ และหาวิธีการ แล้วนำไปดัดแปลง ปรับปรุงให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการของผู้ต้องการแสวงหาความสุขนั่นเอง

ในท้ายที่สุดขอฝาก

อันทุกข์สุขอยู่ที่ ใจ มิใช่หรือ ใจเราถือเป็นทุกข์ไม่สุกใส
ใจไม่ถือเป็นสุขไม่ ทุกข์ใจ เราอยากได้ความทุกข์หรือสุขนา



“ขอให้ท่านผู้อ่านจงประสบแต่ ความสุข.......”


ramamental.com

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต


53
                                              
                              รวมคาถา 79 บทของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ  วัดท่าซุง


รวมคาถา 79 บท ของหลวงพ่อฤาษี เช่น สูตรเร่งรัดอภิญญา ฝึกมโนกันตายโหงตายอย่างสุคติสวรรค์ที่ไป และคาถาอีก 70 บท


คำสวดธัมมะจักร


ธัมมะจักรนี้ถ้าท่านใดได้สวดจะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นกิจการงาน แขนงไหนที่ทำอยู่จะมีความเจริญก้าวหน้า เพราะว่าธัมมะจักรเป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโปรดนัก บวชปัญจวคีย์ และยังเป็นวงล้อที่หมุนเป็นครั้งแรกของพระพุทธศาสนา จึงนับว่าเป็นการลำบากที่ผู้คนทั้งหลายจะได้สวด และยังจะเป็นการเปลื้องทุกข์ภัยต่างๆ นานาได้อีกด้วย สิ่งร้ายจะกลายเป็นดีและยังทำให้มีอายุยืน มีความสุขกาย สุขใจ ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย

ภุมมานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
จาตุมมะหาราชิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง จาตุมมะหาราชิกานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
ตาวะติงสา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ตาวะติงสานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
ยามา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ยามานัง เทวานัง
ตุสิตา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ตุสิตานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
นิมมานะระตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง นิมมานะระตีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา
ปะระนิมมิตะวะสะวัตตี เทวา สัททะ มะนุสสาเวสุง ปะระนิมมิตะวะสะวัตตีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา
พรหมะกายิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง พรหมะกายิกานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
พรหมะปาริสัชชา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง พรหมะปาริสัชชานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
พรหมะปุโรหิตา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง พรหมะปุโร หิตานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
มะหาพรหมา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง มะหาพรหมานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
ปะริตตาภา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ปะริตตาภานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
อัปปะมาณาภา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง อัปปะมาณาภานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
อาภัสสะระ เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง อาภัสสะรานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
ปะริตตะสุภา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ปะริตตะสุภานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
อัปปะมาณะสุภา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง อัปปะมาณะสุภานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
สุภะกิณหะกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง สุภะกิณหะกานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
อสัญญะสัตตา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง อสัญญะสัตตานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
เวหัปผะลา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง เวหัปผะลานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
อะวิหา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง อะวิหานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
อะตัปปา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง อะตัปปานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
สุทัสสา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง สุทัสสานัง เทวานัง สัททัง สุตวา
สุทัสสี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง สุทัสสีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา
อะกะนิฏฐะกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง
เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสสะมินติ


พุทธชัยมงคลคาถา


พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท,
(พระจอมมุนี ได้เอาชนะพระยามารผู้เนรมิตแขนมากตั้งพัน ถืออาวุธครบทุกมือ ขี่ช้าง
ครีเมขละ มาพร้อมกับเหล่าเสนามารซึ่งโห่ร้องกึกก้อง ด้วยวิธีอธิษฐานถึงทานบารมี เป็นต้น,)
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิดฯ)
มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง
โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท,
(อนึ่ง พระจอมมุนี ได้เอาชนะยักษ์ชื่อ อาฬวกะ ผู้มีจิตหยาบกระด้าง ผู้ไม่มีความอดทน
มีความพิลึกน่ากลัวกว่าพระยามาร ซึ่งได้เข้ามาต่อสู้อย่างยิ่งยวดจนตลอดคืนยันรุ่ง ด้วยวิธีทรมานอันดี คือขันติความอดทน,)
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิด ฯ)
นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง
ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท,
(พระจอมมุนี ได้เอาชนะช้างตัวประเสริฐชื่อ นาฬาคิรี ที่เมายิ่งนัก และแสนจะดุร้าย ประดุจ
ไฟป่าและจักราวุธและสายฟ้า ด้วยวิธีรดลงด้วยน้ำคือ ความมีพระทัยเมตตา, )
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิดฯ)
อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะ สุทารุณันตัง
ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท,
(พระจอมมุนี ทรงคิดจะแสดงฤทธิ์ปาฏิหารย์ จึงได้เอาชนะโจรชื่อ องคุลิ-มาล ผู้แสนจะดุร้าย
มีฝีมือ ถือดาบวิ่งไล่พระองค์ไปสิ้นระยะทาง ๓ โยชน์, )
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิด ฯ)
กัตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา
จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท,
(พระจอมมุนี ได้เอาชนะคำกล่าวใส่ร้ายของ นางจิญจมาณวิกา ซึ่งทำอาการเหมือนดั่งมีครรภ์
เพราะเอาท่อนไม้กลมผูกไว้ที่หน้าท้อง ด้วยวิธีทรงสมาธิอันงาม คือความกระทำพระทัยให้ตั้งมั่นนิ่งเฉย ในท่ามกลางหมู่ชน,)
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ
(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิด ฯ)
สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง
วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท,
(พระจอมมุนีผู้รุ่งเรืองด้วยแสงสว่างคือปัญญา ได้เอาชนะ สัจจกะนิครนถ์ ผู้มีความคิดมุ่งหมาย
ในอันจะละทิ้งความสัตย์ มีใจคิดจะยกถ้อยคำของตนให้สูงประดุจยกธง และมีใจมืดมนยิ่งนัก ด้วยการแสดงเทศนาให้ถูกใจ,)
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิด ฯ)
นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง
ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท,
(พระจอมมุนี ได้เอาชนะพญานาคราชชื่อ นันโทปนันทะ ผู้มีความรู้ผิดมีฤทธิ์มาก ด้วยวิธี
บอกอุบายให้พระโมคคัลลานเถระพุทธชิโนรส แสดงฤทธิ์เนรมิตกายเป็นนาคราช ไปทรมานพญานาค ชื่อ นันโทปนันทะนั้น,)
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิด ฯ)
ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง
พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท,
(พระจอมมุนี ได้เอาชนะพระพรหมผู้มีนามว่า ท้าวพกาพรหม ผู้มีฤทธิ์ คิดว่าตนเป็นผู้รุ่งเรือง
ด้วยคุณอันบริสุทธิ์ ผู้ถูกพญานาครัดมือไว้แน่น เพราะมีจิตคิดถือเอาความเห็นผิด ด้วยวิธีวางยาคือทรงแสดงเทศนาให้ถูกใจ,)
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิด ฯ)
เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา
โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที
หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ
โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญฯ
(บุคคลใดมีปัญญา ไม่เกียจคร้าน สวดและระลึกถึงพระพุทธชัยมงคล ๘ คาถาเหล่านี้ทุก ๆ
วัน บุคคลนั้นจะพึงละความจัญไรอันตรายทั้งหลายทุกอย่างเสียได้ และเข้าถึงความหลุดพ้นคือ พระนิพพานอันบรมสุขแล ฯ)

เสริมสร้างทางสวรรค์-นิพพาน


พุทธะ พุทธา พุทเธพุทโธ
พุทธังอะระหังพุทโธ
อิติปิโสภะคะวา
นะโมพุทธายะ
จะทำให้ท่านมีความสุข - อายุยืน - นิพพาน


สืบสร้างทางสวรรค์-นิพพาน


พุทธะ พุทธา พุทเธ พุทโธ พุทธัง อะระหัง พุทโธ อิติปิโส ภะคะวา นะโมพุทธายะ


พระคาถาชินบัญชร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
เพื่อให้เกิดอานุภาพยิ่งขึ้น ก่อนเจริญภาวนาชินบัณชรให้ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วระลึกถึงและบูชาเจ้าประคุณสมเด็จด้วยคำว่า

ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง อัตถิกาเยกายะณายะ
เทวานังปิยะตังสุตตะวา อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ
มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ



ชะยาสะนาคะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง จะตุสัจจาสะภัง ระสังเย ปิวิงสุ นะราสะภา.



ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา.



สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร.



หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะ ทักขิเณ โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะวามะเก.



ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุโล กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก.



๑เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโย วะ ปะภังกะโร นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว.



กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก โส มัยหัง วะทะเนนิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร.



ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลี นันทะสีวะลี เถรา ปัญจะ อิเม ชาตานะลาเฏ ตีละกา มะมะ.



๒เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา เอเตสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา ชะลันตา สีละเต เชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.

๑๐

ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิวาเม อังคุลิมาละกัง.

๑๑

ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง อากาเส ฉะธะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา.

๑๒

ชินนานา วะระสังยุตตา สัตตะปาการะลังกะตา วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา.

๑๓

อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร.

๑๔

ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะฮีตะเล สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา.

๑๕

อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะปัญชะเรติ.

อานุภาพแห่งพระคาถาชินบัญชร


ผู้ใดได้สวดภาวนาพระคาถาชินบัญชรนี้ เป็นประจำอยู่สม่ำเสมอ จะทำให้เกิดความศิริมงคลสมบูรณ์พูนผล ศัตรูหมู่พาลไม่กล้ากล้ำกลาย ไปทางใดย่อมเกิดเมตตามหานิยม เกิดลาภผลพูลทวี ขจัดภัยจากภูตผีปีศาจ ตลอดจนคุณไสยต่างๆ ทำน้ำมนต์รดแก้วิกลจริต แก้สรรพโรคภัยหายสิ้น เป็นศิริมงคลแก่ชีวิต มีคุณานุภาพตามแต่จะปรารถนา ดังคำโบราณว่า "ฝอยท่วมหลังช้าง" จะเดินทางไปที่ใดๆ สวด ๑๐ จบ แล้วอธิษฐานจะสำเร็จสมดังใจ

พระคาถาอิติปิโส ๘ ทิศ สำเร็จลุน แห่งนครจำปาศักดิ์


ตั้งนะโม ๓ จบ

๑. อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา บทนี้ชื่อ กระทู้ ๗ แบก ประจำอยู่ทิศบูรพา (ทิศตะวันออก)
๒. ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง บทนี้ชื่อว่า ฝนแสนห่า ประจำอยู่ทิศอาคเณย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้)
๓. ปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุท บทนี้ชื่อ นารายณ์เกลื่อนสมุทร ประจำอยู่ทิศทักษิณ (ทิศใต้)
๔. โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ บทนี้ชื่อ นารายณ์ถอดจักร์ ประจำอยู่ทิศหรดี (ทิศตะวันตกเฉียงใต้)
๕. ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ บทนี้ชื่อ นารายณ์ขว้างจักร์ตรึงไตรภพ ประจำอยู่ทิศประจิม (ทิศตะวันตก)
๖. คะ พุท ปัน ทู ทัม วะ คะ บทนี้ชื่อ นารายณ์พลิกแผ่นดิน ประจำอยู่ทิศพายัพ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ)
๗. วา โธ โน อะ มะ มะ วา บทนี้ชื่อ ตวาดฟ้าป่าหิมพานต์ ประจำอยู่ทิศอุดร (ทิศเหนือ)
๘. อา วิช สุ นุต สา นุส ติ บทนี้ชื่อ นารายณ์แปลงรูป ประจำอยู่ทิศอีสาน (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ)


ยอดพระกัณฑ์พระไตรปิฎก

ยอดพระกัณฑ์ฉบับนี้ ได้มาจากต้นฉบับเดิมที่จารไว้บนใบลานเป็นอักษรขอมซึ่ง เปิดกรุครั้งแรกที่เมืองสวรรคโลก มีบันทึกเอาไว้ว่าผู้ใดสวดมนต์เป็นประจำทุกเช้าเย็น จะป้องกันภัยอันตรายต่างๆได้รอบด้าน ภาวนาพระคาถาอื่นสัก ๑๐๐ปีก็ไม่เท่ากับอานิสงส์ของการสวดยอดพระกัณฑ์พระไตรปิฎกนี้เพียงครั้ง เดียว ผู้ใดที่สวดครบ ๗ วัน หรือครบอายุปัจจุบันของตัวเอง จะมีโชคลาภ ทำมาค้าขายรุ่งเรือง ปราศจากภัยพิบัติทั้งปวง

ก่อนสวดยอดพระกัณฑ์พระไตรปิฏก พึงคุกเข่าพนมมือตั้งใจบูชาพระรัตนตรัย นมัสการพระรัตนตรัย นมัสการพระพุทธเจ้า นมัสการพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ขอให้ตั้งจิตมั่นในบทสวดมนต์จะมีเทพยดาอารักษ์ทั้งหลายร่วมอนุโมทนาสาธุการ อย่าได้ทำเล่นจะเกิดโทษแก่ตัว


คำบูชาพระรัตนตรัย

โย โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ อิเมหิ สักกาเรหิ ตัง ภะคะวันตัง อะภิปูชะยามิ
โย โส สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม อิเมหิ สักกาเรหิ ตัง ภะคะวันตัง อะภิปูชะยามิ
โย โส สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อิเมหิ สักกาเรหิ ตัง ภะคะวันตัง อะภิปูชะยามิ


นมัสการพระพุทธเจ้า

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ


๑. พุทธคุณ

อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะ สัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อนุตตะโร ปุริสะธัมมะสาระถิ สัตถาเทวมนุสสานัง พุทโธภะคะวาติ


๒. ธรรมคุณ

สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหิติ


๓. สังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทังจัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ


ยอดพระกัณฑ์พระไตรปิฎกมีดังนี้

๑.
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง วัจจะโส ภะคะวา
อิติปิ โส ภะคะวา สัมมาสัมพุทโธ วัจจะโส ภะคะวา
อิติปิ โส ภะคะวา วิชชาจะระณะสัมปันโน วัจจะโส ภะคะวา
อิติปิ โส ภะคะวา สุคะโต วัจจะโส ภะคะวา
อิติปิ โส ภะคะวา โลกะวิทู วัจจะโส ภะคะวา

๒.
อะระหันตัง สะระณัง คัจฉามิ
อะระหันตัง สิระสา นะมามิ
สัมมาสัมพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
สัมมาสัมพุทธัง สิระสา นะมามิ
วิชชาจะระณะสัมปันนัง สะระนัง คัจฉามิ
วิชชาจะระณะสัมปันนัง สิระสา นะมามิ
สุคะตัง สะระณัง คัจฉามิ
สุคะตัง สิระสา นะมามิ
โลกะวิทัง สะระณัง คัจฉามิ
โลกะวิทัง สิระสา นะมามิ

๓.
อิติปิ โส ภะคะวา อะนุตตะโร วัจจะโส ภะคะวา
อิติปิ โส ภะคะวา ปุริสะธัมมะสาระถิ วัจจะโส ภะคะวา
อิติปิ โส ภะคะวา สัตถา เทวะมะนุสสานัง วัจจะโส ภะคะวา
อิติปิ โส ภะคะวา พุทโธ วัจจะโส ภะคะวา

๔.
อะนุตตะรัง สะระณัง คัจฉามิ
อะนุตตะรัง สิระสา นะมามิ
ปุริสะทัมมะสาระถิ สะระณัง คัจฉามิ
ปุริสะทัมมะสาระถิ สิระสา นะมามิ
สัตถา เทวะมะนุสสานัง สะระณัง คัจฉามิ
สัตถา เทวะมะนุสสานัง สิระสา นะมามิ
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
พุทธัง สิระสา นะมามิ

๕.
อิติปิ โส ภะคะวา รูปะขันโธ อะนิจจะลักขะณะปาระมี จะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา เวทะนาขันโธ อะนิจจะลักขะณะปาระมี จะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา สัญญาขันโธ อะนิจจะลักขะณะปาระมี จะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา สังขาระขันโธ อะนิจจะลักขะณะปาระมี จะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา วิญญาณะขันโธ อะนิจจะลักขะณะปาระมี จะ สัมปันโน

๖.
อิติปิ โส ภะคะวา ปะถะวีจักกะวาฬะ จาตุมะหาราชิกา ตาวะติงสา
ธาตุสัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา เตโชจักกะวาฬะ จาตุมะหาราชิกา ตาวะติงสา
ธาตุสัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา วาโยจักกะวาฬะ จาตุมะหาราชิกา ตาวะติงสา
ธาตุสัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา อาโปจักกะวาฬะ จาตุมะหาราชิกา ตาวะติงสา
ธาตุสัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา อากาสะจักกะวาฬะ จาตุมะหาราชิกา ตาวะติงสา
ธาตุสัมมาทิยานะ สัมปันโน

๗.
อิติปิ โส ภะคะวา ยามาธาตุสัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา ตุสิตาธาตุสัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา นิมมานะระติธาตุ สัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา กามาวะจะระธาตุ สัมมาทิยานะ สัมปันโน

๘.
อิติปิ โส ภะคะวา รูปาวะจะระธาตุ สัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา ปะฐะมะฌานะธาตุ สัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา ทุติยะฌานะธาตุ สัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา ตะติยะฌานะธาตุ สัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา จะตุตถะฌานะธาตุ สัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา ปัญจะมาฌานะธาตุ สัมมาทิยานะ สัมปันโน

๙.
อิติปิ โส ภะคะวา อากาสานัญจายะตะนะเนวะสัญญานา
สัญญายะตะนะอะรูปาวะจะระธาตุ สัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา วิญญาณัญจายะตะนะ เนวะสัญญานา
สัญญายะตะนะอะรูปาวะ จะระธาตุ สัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา อากิญจัญญายะตะนะ เนวะสัญญานา
สัญญายะตะนะ อะรูปาวะ จะระธาตุสัมมาทิยานะ สัมปันโน

๑๐.
อิติปิ โส ภะคะวา โสตาปะฏิมัคคะธาตุ สัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา สะกิทาคาปะฏิมัคคะ ธาตุสัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา อะนาคาปะฏิมัคคะ ธาตุสัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัตตะปะฏิมัคคะ ธาตุสัมมาทิยานะ สัมปันโน

๑๑.
อิติปิ โส ภะคะวา โสตาอะระหัตตะ ปะฏิผะละธาตุ สัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา สะกิทาคาอะระหัตตะ ปะฏิผะละธาตุ สัมมาทิยานะ สัมปันโน
อิติปิ โส ภะคะวา อะนาคาอะระหัตตะ ปะฏิผะละธาตุ สัมมาทิยานะ สัมปันโน

๑๒.
กุสะลา ธัมมา
อิติปิ โส ภะคะวา
อะ อา ยาวะชีวัง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ชมภูทีปัญจะอิสสะโร
กุสะลา ธัมมา
นะโม พุทธายะ
นะโม ธัมมายะ
นะโม สังฆายะ
ปัญจะ พุทธา นะมามิหัง
อา ปา มะ จุ ปะ
ที มะ สัง อัง ขุ
สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ
อุ ปะ สะ ชะ สุ เห ปา สา ยะ
โส โส สะ สะ อะ อะ อะ อะ นิ
เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว
อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ ภุ พะ
อิ สวา สุ สุ สวา อิ
กุสะลา ธัมมา
จิตติวิอัตถิ

๑๓.
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง
อะ อา ยาวะชีวัง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
สา โพธิ ปัญจะ อิสาะโร ธัมมา

๑๔.
กุสะลา ธัมมา
นันทะวิวังโก
อิติ สัมมาพุทโธ
สุ คะ ลา โน ยาวะชีวัง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
จาตุมะหาราชิกา อิสสะโร
กุสะลา ธัมมา
อิติ วิชชาจะระณะสัมปันโน
อุ อุ ยาวะชีวัง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตาวะติงสา อิสสะโร
กุสะลา ธัมมา
นันทะ ปัญจะ สุคะโต โลกะวิทู
มะหาเอโอ ยาวะชีวัง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ยามา อิสสะโร
กุสะลา ธัมมา
พรหมมาสัททะ
ปัญจะ สัตตะ
สัตตาปาระมี
อะนุตตะโร
ยะมะกะขะ
ยาวะชีวัง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

๑๕.
ตุสิตา อิสสะโร
กุสะลา ธัมมา
ปุ ยะ ปะ กะ
ปุริสะทัมมะสาระถิ
ยาวะชีวัง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

๑๖.
นิมมานะระติ อิสสะโร
กุสะลา ธัมมา
เหตุโปวะ
สัตถา เทวะมะนุสสานัง
ตะถา ยาวะชีวัง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

๑๗.
ปะระนิมมิตะ อิสสะโร
กุสะลา ธัมมา
สังขาระขันโธ
ทุกขัง อะนิจจัง อะนัตตา
รูปะขันโธ พุทธะปะผะ
ยาวะชีวัง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

๑๘.
พรหมมา อิสสะโร
กุสะลา ธัมมา
นัจจิปัจจะยา วินะปัญจะ ภะคะวะตา ยาวะนิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ
นะโม พุทธัสสะ
นะโม ธัมมัสสะ
นะโม สังฆัสสะ
พุทธิลา โลกะลา กะระกะนา
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหนตุ
หุลู หุลู หุลู สะวาหายะ ฯ

๑๙.
นะโม พุทธัสสะ นะโม ธัมมัสสะ นะโม สังฆัสสะ
วิตติ วิตติ วิตติ มิตติ มิตติ จิตติ จิตติ
อัตติ อัตติ มะยะสุ สุวัตถิ โหนตุ
หุลู หุลู หุลู สะวาหายะ

๒๐.
อินทะสาวัง มะหาอินทะสาวัง
พรหมะสาวัง มะหาพรหมะสาวัง
จักกะวัตติสาวัง มะหาจักกะวัตติสาวัง
เทวาสาวัง มะหาเทวาสาวัง
อิสิสาวัง มะหาอิสิสาวัง
มุนีสาวัง มะหามุนีสาวัง
สัปปุริสาวัง มะหาสัปปุริสาวัง
พุทธะสาวัง ปัจเจกะพุทธะสาวัง
อะระหัตตะสาวัง สัพพะสิทธิวิชชาธะรานังสาวัง สัพพะโลกา
อิริยานังสาวัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ

๒๑.
สาวัง คุณัง วะชะพะลัง เตชัง วิริยัง สิทธิกัมมัง นิพพานัง
โมกขัง คุยหะกัง
ถานัง สีลัง ปัญญานิกขัง ปุญญัง ภาคะยัง ตัปปัง สุขัง
สิริรูปัง จะตุวีสะติเสนัง
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหนตุ
หุลู หุลู หุลู สะวาหายะ

๒๒.
นะโม พุทธัสสะ นะโม ธัมมัสสะ นะโม สังฆัสสะ
ทุกขัง อะนิจจัง อะนัตตา รูปะขันโธ เวทะนาขันโธ
สัญญาขันโธ สังขาระขันโธ วิญญาณะขันโธ
นะโม อิติปิโส ภะคะวา

๒๓.
นะโม พุทธัสสะ
ทุกขัง อะนิจจัง อะนัตตา รูปะขันโธ เวทะนาขันโธ
สัญญาขันโธ สังขาระขันโธ วิญญาณะขันโธ
นะโม สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม

๒๔.
นะโม ธัมมัสสะ
ทุกขัง อะนิจจัง อะนัตตา รูปะขันโธ เวทะนาขันโธ
สัญญาขันโธ สังขาระขันโธ วิญญาณะขันโธ
นะโม สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม

๒๕.
นะโม ธัมมัสสะ
ทุกขัง อะนิจจัง อะนัตตา รูปะขันโธ เวทะนาขันโธ
สัญญาขันโธ สังขาระขันโธ วิญญาณะขันโธ
นะโม สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

๒๖.
นะโม สังฆัสสะ
ทุกขัง อะนิจจัง อะนัตตา รูปะขันโธ เวทะนาขันโธ สัญญาขันโธ
สังขาระขันโธ วิญญาณะขันโธ
นะโม สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ วาหะปะริตตัง

๒๗.
นะโม พุทธายะ
มะอะอุ
ทุกขัง อะนิจจัง อะนัตตา
ยาวะ ตัสสะ หาโย
นะโม อุอะมะ
ทุกขัง อะนิจจัง อะนัตตา
อุ อะมะ อาวันทา
นะโม พุทธายะ
นะ อะ กะ ติ นิ สะ ระ นะ
อา ระ ปะ ขุ ธัง มะ อะ อุ
ทุกขัง อะนิจจัง อะนัตตา


พระคาถายอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก (แปล)

๑. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้รู้แจ้งโลก


๒. ข้าพเจ้าขอถึงพระองค์ผู้เป็นพระอรหันต์ว่า เป็นที่พึ่งกำจัดภัยได้จริง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระองค์ผู้เป็นพระอรหันต์ ด้วยเศียรเกล้า

ข้าพเจ้าขอถึงพระองค์ผู้ทรงตรัสรู้เองโดยชอบว่า เป็นที่พึ่งกำจัดภัยได้จริง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระองค์ผู้ทรงตรัสรู้เอง ด้วยเศียรเกล้า

ข้าพเจ้าขอถึงพระองค์ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ ว่าเป็นที่พึ่งกำจัดภัยได้จริง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระองค์ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ ด้วยเศียรเกล้า

ข้าพเจ้าขอถึงพระองค์ผู้เสด็จไปดีแล้ว ว่าเป็นที่พึ่งกำจัดภัยได้จริง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระองค์ผู้เสด็จไปดีแล้ว ด้วยเศียรเกล้า

ข้าพเจ้าขอถึงพระองค์ผู้รู้แจ้งโลก ว่าเป็นที่พึ่งกำจัดภัยได้จริง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระองค์ผู้รู้แจ้งโลก ด้วยเศียรเกล้า


๓. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นอนุตตะโร คือ ยอดเยี่ยม

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นนายสารถีผู้ฝึกบุรุษ

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ตื่นจากกิเลส


๔. ข้าพเจ้าขอถึงพระองค์ผู้ยอดเยี่ยม ว่าเป็นที่พึ่งกำจัดภัยได้จริง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระองค์ผู้ยอดเยี่ยม ด้วยเศียรเกล้า

ข้าพเจ้าขอถึงพระองค์ผู้เป็นนายสารถีผู้ฝึกบุรุษ ว่าเป็นที่พึ่งกำจัดภัยได้จริง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระองค์ผู้เป็นนายสารถีผู้ฝึกบุรุษ

ด้วยเศียรเกล้า

ข้าพเจ้าขอถึงพระองค์ผู้เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ว่าเป็นที่พึ่งกำจัดภัยได้จริง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระองค์ผู้เป็น

ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยเศียรเกล้า

ข้าพเจ้าขอถึงพระองค์ผู้ตื่นจากกิเลส ว่าเป็นที่พึ่งกำจัดภัยได้จริง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระองค์ผู้ตื่นจากกิเลส ด้วยเศียรเกล้า


๕. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น รูปขันธ์ เป็นอนิจจลักษณะ แต่พระบารมีถึงพร้อมแล้ว

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เวทนาขันธ์ เป็นอนิจจลักษณะ แต่พระบารมีถึงพร้อมแล้ว

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น สัญญาขันธ์ เป็นอนิจจลักษณะ แต่พระบารมีถึงพร้อมแล้ว

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น สังขารขันธ์ เป็นอนิจจลักษณะ แต่พระบารมีถึงพร้อมแล้ว

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น วิญญาณขันธ์ เป็นอนิจจลักษณะ แต่พระบารมีถึงพร้อมแล้ว


๖. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ ดินจักรวาล เทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาและชั้นดาวดึงส์

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ ไฟจักรวาล เทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาและชั้นดาวดึงส์

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ ลมจักรวาล เทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาและชั้นดาวดึงส์

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ น้ำจักรวาล เทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาและชั้นดาวดึงส์

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ อากาศจักรวาล เทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาและชั้นดาวดึงส์


๗. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ สวรรค์ชั้นยามา

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ สวรรค์ชั้นดุสิต

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ สวรรค์ชั้นนิมมานรดี

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ อันเป็นไปในกามาวจรภูมิ

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ อันเป็นไปในรูปาวจรภูมิ


๘. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ ปฐมญาน

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ ทุติยญาน

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ ตติยญาน

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ จตุตถญาน

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ ปัญจมญาน


๙. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ อันเป็นไปในอรูปาวจรภูมิ คือ อากาสานัญจายตนะและเนวสัญญานาสัญญายตนะ

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ อันเป็นไปในอรูปาวจรภูมิ คือ วิญญาณัญจายตนะและเนวสัญญานาสัญญายตนะ

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ อันเป็นไปในอรูปาวจรภูมิ คือ อากิญจัญญายตนะและเนวสัญญานาสัญญายตนะ


๑๐. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ พระโสดาปัตติมรรค

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ พระสกิทาคามิมรรค

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ พระอนาคามิมรรค

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ พระอรหัตตมรรค


๑๑. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ พระโสดาปัตติผล และ พระอรหัตตผล

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ พระสกิทาคามิผล และ พระอรหัตตผล

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยธรรมที่เป็นธาตุ คือ พระอนาคามิผล และ พระอรหัตตผล


๑๒. ธรรมะฝ่ายกุศล พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นอิสสระแห่งชมภูทวีป

ธรรมะฝ่ายกุศล ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระธรรมเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระสังฆเจ้า

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ด้วยหัวใจพระวินัยปิฎก ด้วยหัวใจพระสุตตันตปิฎก ด้วยหัวใจพระอภิธรรมปิฎก

ด้วยมนต์คาถา ด้วยหัวใจมรรคสี่ ผลสี่ และ นิพพานหนึ่ง ด้วยหัวใจพระเจ้าสิบชาติทรงแสดงการบำเพ็ญบารมีสิบ

ด้วยหัวใจพระพุทธคุณเก้า ด้วยหัวใจพระไตรรัตนคุณ ธรรมะฝ่ายกุศล มีนัยอันวิจิตรพิสดาร


๑๓. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต


๑๔. ธรรมะฝ่ายกุศล ของผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต เป็นอิสสระถึงเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา

ธรรมะฝ่ายกุศล พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต เป็นอิสสระถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ธรรมะฝ่ายกุศล พระพุทธเจ้าเป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต เป็นอิสสระถึงสวรรค์ชั้นยามา

ธรรมะฝ่ายกุศล ด้วยความศรัทธาต่อพระพรหม ด้วยพระบารมีอันยอดเยี่ยมของพระโพธิสัตว์ทั้งห้า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต


๑๕. ธรรมะฝ่ายกุศล พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นนายสารถีผู้ฝึกบุรุษ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต เป็นอิสสระถึงสวรรค์ชั้นดุสิต


๑๖. ธรรมะฝ่ายกุศล พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ผู้เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต เป็นอิสสระถึงสวรรค์ชั้นนิมมานรดี


๑๗. ธรรมฝ่ายกุศล พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้รู้แจ้ง สังขารขันธ์ รูปขันธ์ เป็นของไม่เที่ยง เป็นความทุกข์ มิใช่เป็นตัวตนของเราจริง ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต เป็นอิสสระถึงสวรรค์ชั้นปรนิมมิตตวสวัสดี


๑๘. ธรรมะฝ่ายกุศล ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต เป็นอิสสระถึงสวรรค์ชั้นพรหมโลก ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระธรรมเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระสังฆเจ้า ด้วยคำสัตย์ปฏิญาณนี้ ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งตราบเข้าสู่พระนิพพาน


๑๙. ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระธรรมเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระสังฆเจ้า ด้วยการสวดมนต์พระคาถานี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด


๒๐. ด้วยการสวดพระคาถามหาทิพมนต์นี้ และด้วยการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณนี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด


๒๑. ด้วยการสวดพระคาถามหาทิพมนต์นี้ และด้วยการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณนี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด


๒๒. ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า ผู้เข้าถึงรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง มิใช่ตัวตนของเราจริง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น


๒๓. ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า ผู้เข้าถึงรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง มิใช่ตัวตนของเราจริง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว


๒๔. ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระธรรมเจ้า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง มิใช่ตัวตนของเราจริง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว


๒๕. ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระธรรมเจ้า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง มิใช่ตัวตนของเราจริง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติดีแล้ว


๒๖. ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระสังฆเจ้า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง มิใช่ตัวตนของเราจริง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติดีแล้ว


๒๗. ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า ด้วยคำสอนของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตนของเราจริง ข้าพเจ้าขอกราบไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า ด้วยพระธรรมคำสั่งสอน ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตนของเราจริง


คาถาพาหุง
พุทธคุณ พาหุง มหากา


จากคำสอนหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน

หลวงพ่อจรัญ " พระพุทธคุณ อาตมาสังเกตมาว่า บางคนเขาไปหาหมอดูเคราะห์ร้ายก็ต้องสะเดาะเคราะห์ อาตมาก็มาดูเหตุการณ์โชคลางไม่ดีก็เป็นความจริงของหมอดู อาตมาก็ตั้งตำราขึ้นมาด้วยสติ บอกว่าโยมไปสวดพุทธคุณเท่าอายุให้เกินกว่า ๑ ให้ได้ เพื่อให้สติดี แล้วสวด "พาหุงมหากา" หายเลยสติก็ดีขึ้นเท่าที่ใช้ได้ผลสวดตั้งแต่ นะโม พุทธัง ธัมมัง สังฆัง พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ พาหุงมหากา จบแล้วย้อนกลับมาข้างต้น เอาพุทธคุณห้องเดียว ห้องละ ๑ จบ ต่อ ๑ อายุ อายุ ๔๐ สวด ๔๑ ก็ได้ผล "

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

๑. พุทธคุณ
อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะ สัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อนุตตะโร ปุริสะธัมมะสาระถิ สัตถาเทวมนุสสานัง พุทโธภะคะวาติ

๒. ธรรมคุณ
สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหิติ

๓. สังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทังจัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

๔. พุทธชัยมงคลคาถา (ถวายพรพระ)    
                                                                                      

 ๑. พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ

๒. มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ

๓. นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ

๔. อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง ธาวันติโย ชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ

๕. กัตตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ

๖. สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ

๗. นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ

๘. ทุคคาหะ ทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถาโย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที
หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ


* ถ้าสวดให้คนอื่นใช้คำว่า เต สวดให้ตัวเองใช้คำว่า เม (เต แปลว่าท่าน - เม แปลว่าข้าพเจ้า)


๕. มหาการุณิโก

มหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง ปูเรตวา
ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
โหตุ เต ชะยะมังคะลังฯ
ชะยันโต โพธิยา มูเล สักยานัง
นันทิวัฑฒะโน เอวัง ตะวัง วิชะโย โหหิ ชะยัสสุ ชะยะมังคะเล
อะปะราชิตะปัลลังเก สีเส ปะฐะวิโปกขะเร อะภิเสเก สัพพะ
พุทธานัง อัคคัปปัตโต ปะโมทะติฯ สุนักขัตตัง สุมังคะลัง
สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง สุขะโณ สุมุหุตโต จะ สุยิฏฐัง พรัหมะ
จารีสุ ปะทักขิณัง กายะกัมมัง วาจากัมมัง ปะทักขิณัง ปะทักขิณัง
มโนกัมมัง ปะณิธี เต ปะทักขิณา ปะทักขิณานิ กัตวานะ ละภันตัดเถ ปะทักขิเณฯ
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะพุทธา นุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต*
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะธัมมา นุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต*
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะสังฆา นุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต*

) * ถ้าสวดให้คนอื่นใช้คำว่า เต สวดให้ตัวเองใช้คำว่า เม (เต แปลว่าท่าน - เม แปลว่าข้าพเจ้า


กราบ ๓ ครั้ง เสร็จแล้วสวดเฉพาะพุทธคุณ ดังต่อไปนี้


อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชา จาระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อะนุตตะโร ปุริสะทัม มะสาระถิ สัตถาเทวะ มะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

ให้สวดพุทธคุณเกินอายุ ๑ จบ เช่น อายุ ๒๘ ปี ให้สวด ๒๙ จบ
เมื่อสวดพุทธคุณครบตามจำนวนจบที่ต้องการแล้ว จึงตั้งจิตแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศลดังนี้

คาถาแผ่เมตตาตนเอง    
                                                                                                    
 อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข
อะหัง นิททุกโข โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์
อะหัง อะเวโร โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวร
อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรคอันตรายทั้งปวง
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ
ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขกายสุขใจ รักษากายวาจาใจให้พันจากความทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด

แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์

สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อนีฆา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขีอัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิดฯ

บทกรวดน้ำ (อุทิศส่วนกุศล)

อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร
- ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้า จงมีความสุข
อิทัง เม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
- ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุข
อิทัง เม คุรูปัชฌายาจริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ คุรูปัชฌายาจริยา
- ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แด่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ เทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา
- ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลาย ขอให้เทวดาทั้งหลายจงมีความสุข
อิทัง สัพพะเปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา
- ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เปรตทั้งหลาย ขอให้เปรตทั้งหลาย จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ เวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเวรี
- ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงมีความสุข
อิทัง สัพพะสัตตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพสัตตา
- ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข

<<จบบทสวด>>


-------------------

คำแปล "พาหุงมหากา" หรือ "พุทธชัยมงคลคาถา" มีอยู่ ๘ บท และมีความมุ่งหมายแตกต่างกันทั้งแปดบท กล่าวคือ

 บทที่ ๑ สำหรับเอาชนะศัตรูหมู่มาก เช่น ในการสู้รบ
บทที่ ๒ สำหรับเอาชนะใจคนที่กระด้างกระเดื่องเป็นปฏิปักษ์
บทที่ ๓ สำหรับเอาชนะสัตว์ร้ายหรือคู่ต่อสู้
บทที่ ๔ สำหรับเอาชนะโจร
บทที่ ๕ สำหรับเอาชนะการแกล้ง ใส่ร้ายกล่าวโทษหรือคดีความ
บทที่ ๖ สำหรับเอาชนะการโต้ตอบ
บทที่ ๗ สำหรับเอาชนะเล่ห์เหลี่ยมกุศโลบาย
บทที่ ๘ สำหรับเอาชนะทิฏฐิมานะของคน

เราจะเห็นได้ว่า ของดีวิเศษอยู่ในนี้ และถ้าพูดถึงการที่จะเอาชนะหรือการแสวงหาความมีชัย ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรนอกเหนือไปจาก ๘ ประการที่กล่าวข้างต้น ก่อนที่จะนำเอาตัวคาถาบทสวดมนต์และคำแปลมาไว้ให้จำจะต้องทำความเข้าใจคำ อธิบายบทต่างๆ
ไว้พอสมควรก่อน เพราะความในคาถาเองเข้าใจยาก ถึงจะแปลออกมาก็ยังเข้าใจยากอยู่นั่นเอง เมื่อเราไม่เข้าใจเราอาจจะไม่เกิดความเลื่อมใส จึงควรจะหาทางทำความเข้าใจกันให้แจ่มแจ้งไว้ก่อน

ในบทที่ ๑. เป็นเรื่องผจญมาร ซึ่งมีเรื่องว่าพระยามารยกพลใหญ่หลวงมา พระพุทธเจ้าก็ทรงสามารถเอาชนะได้
จึงถือเป็นบทสำหรับเอาชนะศัตรูหมู่มาก เช่น ในการสู้รบ
คำแปล - พระยามารผู้นิรมิตแขนได้ตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ ขี่ช้างชื่อ ครีเมขละ พร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องมาองค์พระจอมมุนีก็เอาชนะมารได้ ด้วยทานบารมีด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ในบทที่ ๒. เรื่องเล่าว่า มียักษ์ตนหนึ่ง ชื่ออาฬะวกะ เป็นผู้มีจิตกระด้างและมีกำลังยิ่งกว่าพระยามาร พยายามมาใช้กำลังทำร้ายพระองค์อยู่จนตลอดรุ่ง ก็ทรงทรมานยักษ์ตนนี้ให้พ่ายแพ้ไปได้จึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะปฏิปักษ์หรือ คู่ต่อสู้
คำแปล - อาฬะวกะยักษ์ผู้มีจิตกระด้าง ปราศจากความยับยั้ง มีฤทธิ์ใหญ่ยิ่งกว่าพระยามารเข้ามาประทุษร้ายอยู่ตลอดรุ่ง องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยขันติบารมี ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ในบทที่ ๓. มีเรื่องว่าเมื่อพระเทวทัตทรยศต่อพระพุทธเจ้า ได้จัดการให้คนปล่อยช้างสาร ที่กำลังตกมันชื่อนาฬาคีรี เพื่อมาทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่เมื่อช้างมาถึงก็ไม่ทำร้าย จึงถือเป็นบทที่เอาชนะสัตว์ร้าย
คำแปล - ช้างตัวประเสริฐ ชื่อนาฬาคีรี เป็นช้างเมามัน โหดร้ายเหมือนไฟไหม้ป่า มีกำลังเหมือนจักราวุธ และสายฟ้า องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยพระเมตตาบารมีด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ในบทที่ ๔. เป็นเรื่องขององคุลีมาล ซึ่งเรารู้กันแพร่หลาย คือ องคุลีมาลนั้นอาจารย์บอกไว้ว่าถ้าฆ่าคนและตัดนิ้วมือมาร้อยเป็นสร้อยคอ ให้ได้ครบพัน ก็จะมีฤทธิ์เดชยิ่งใหญ่ องคุลีมาลฆ่าคนและตัดนิ้วมือได้ ๙๙๙ เหลืออีกนิ้วเดียวจะครบพัน ก็มาพบพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าทรงสามารถเอาชนะถึงกับองคุลีมาลเลิกเป็นโจรและ ยอมเข้ามาบวช กลายเป็นสาวกองค์สำคัญองค์หนึ่งจึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะโจรผู้ร้าย
คำแปล - โจร ชื่อ องคุลีมาล มีฝีมือเก่งกล้า ถือดาบเงื้อวิ่งไล่พระองค์ไปตลอดทาง ๓ โยชน์
องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยการกระทำปาฏิหาริย์ ด้วยเดชะอันนี้ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ในบทที่ ๕. หญิงคนหนึ่งมีนามว่า จิญจมาณวิกา ใส่ร้ายพระพุทธเจ้า โดยเอาไม้กลมๆ ใส่เข้าที่ท้องแล้วก็ไปเที่ยวป่าวข่าวให้เล่าลือว่าตั้งครรภ์กับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะ ให้ความจริงปรากฏแก่คนทั้งหลายว่าเป็นเรื่องกล่าวร้ายใส่โทษพระองค์โดยแท้ จึงถือเป็นบทที่เอาชนะคดีความหรือการกล่าวร้ายใส่โทษ
คำแปล - นางจิญจมาณวิกาใช้ไม้มีสัณฐานกลมใส่ที่ท้อง ทำอาการประหนึ่งว่ามีครรภ์ เพื่อกล่าวร้ายพระพุทธเจ้าองค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยวิธีสงบ ระงับพระทัยในท่ามกลางหมู่คน ด้วยเดชะอันนี้ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ในบทที่ ๖. เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะสัจจะกะนิครนถ์ ซึ่งเป็นคนเจ้าโวหาร เข้ามาโต้ตอบกับพระพุทธเจ้าจึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะในการโต้ตอบ
คำแปล - สัจจะกะนิครนถ์ ผู้มีนิสัยละทิ้งความสัตย์ใฝ่ใจจะยกย่องถ้อยคำของตนให้สูงประหนึ่งว่ายกธง เป็นผู้มืดมัวเมาองค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยรู้นิสัยแล้วตรัสเทศนาด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ในบทที่ ๗. เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้า ให้พระโมคคัลลาน์ อัครมหาสาวกไปต่อสู้เอาชนะพระยานาคชื่อ นันโทปนันทะ ผู้มีเล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้มากหลาย จึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะเล่ห์เหลี่ยมกุศโลบาย
คำแปล - องค์พระจอมมุนี ได้โปรดให้พระโมคคัลลาน์เถระ นิรมิตกายเป็นนาคราช ไปทรมานพระยานาคชื่อ นันโทปนันทะ ผู้มีฤทธิ์มากให้พ่ายแพ้ด้วยวิธีอันเป็นอุปเท่ห์แห่งฤทธิ์ ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ในบทที่ ๘. เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะ ผกาพรหม ผู้มีทิฏฐิแรงกล้าสำคัญว่าตนเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุด แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงสามารถทำให้ผกาพรหมยอมละทิ้งทิฏฐิมานะ และยอมว่าพระพุทธเจ้าสูงกว่า จึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะทิฏฐิมานะของตน
คำแปล - พรหม ผู้มีนามว่า ท้าวผกา มีฤทธิ์และสำคัญตน ว่าเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยคุณอันบริสุทธิ์มีทิฏฐิที่ถือผิดรัดรึงอยู่อย่าง แน่นแฟ้น องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ด้วยวิธีเทศนาญาณ ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา


คำแปล มหาการุณิโก

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณา ทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้งปวง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุด ด้วยการกล่าวสัจจวาจานี้ ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ข้าพเจ้าขอข้าพเจ้าจงมีชัยชนะในชัยมงคลพิธี ดุจพระจอมมุนีผู้ยังความปีติยินดีให้เพิ่มพูนแก่ชาวศากยะ ทรงมีชัยชนะมาร ณ โคนต้นมหาโพธิ์ทรงถึงความเป็นเลิศยอดเยี่ยม ทรงปีติปราโมทย์อยู่เหนืออชิตบัลลังก์อันไม่รู้พ่าย ณ โปกขรปฐพี อันเป็นที่อภิเษกของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ฉะนั้นเถิด เวลาที่กำหนดไว้ดี งานมงคลดี รุ่งแจ้งดี ความพยายามดี ชั่วขณะหนึ่งดี ชั่วครู่หนึ่งดี การบูชาดี แด่พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ กายกรรมอันเป็นกุศล วจีกรรมอันเป็นกุศล มโนกรรมอันเป็นกุศล ความปรารถนาดีอันเป็นกุศล ผู้ได้ประพฤติกรรมอันเป็นกุศล ย่อมประสบความสุขโชคดี เทอญ

ขอสรรพมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า ขอเหล่าเทพยดาทั้งปวงจงรักษาข้าพเจ้า ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า ขอความสุขสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ

ขอสรรพมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า ขอเหล่าเทพยดาทั้งปวงจงรักษาข้าพเจ้า ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ขอความสุขสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ

ขอสรรพมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า ขอเหล่าเทพยดาทั้งปวงจงรักษาข้าพเจ้า ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ขอความสุขสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อที่มาและอานิสงส์ของบทสวดมนต์ ชัยมงคลคาถา หรือพาหุงมหาการุณิโก ที่มาของบทสวดมนต์ชัยมงคลคาถา อาตมาได้ตำราเก่าแก่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นใบลานทองคำจารึกของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ปัจจุบันเรียกว่า วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา ได้รจนาถวายพระพรชัยมงคลคาถาแก่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระพนรัตน์เป็นอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อานิสงส์ของบทสวดมนต์ชัยมงคลคาถา หรือพาหุงมหากา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่เคยแพ้ทัพ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ไม่เคยแพ้ทัพ พระชัยหลังช้างของ ร.๑ นั้นมาจากบทพาหุง มหากา ผู้ใดสวดมนต์ชัยมงคลคาถา หรือพาหุงมหากา เป็นประจำทุก ๆ วันแล้ว มีแต่ชัยชนะทุกประการ เรียนหนังสือก็เกิดปัญญา มีแต่ความเก่งกล้าสามารถ ผู้ใดสวดทุกเช้า ค่ำ คิดสิ่งใดที่ดีเป็นมงคล จะสมความปรารถนาทุกประการ


เมื่ออาตมา(หลวงพ่อจรัญ)ได้พบกับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว


คืนวันหนึ่งอาตมานอนหลับแล้ว ฝันไปว่า อาตมาได้เดินไปในสถานที่แห่งหนึ่งได้พบกับพระสงฆ์รูปหนึ่งครองจีวรคร่ำ สมณสารูปเรียบร้อยน่าเลื่อมใส อาตมาเห็นว่าเป็นพระอาวุโสผู้รัตตัญญูจึงน้อมนมัสการท่าน ท่านหยุดยืนตรงหน้าอาตมาแล้วกล่าวกับอาตมาว่า "ฉันคือสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้วแห่งกรุงศรีอยุธยา ฉันต้องการให้เธอได้ไปที่วัดใหญ่ชัยมงคล เพื่อดูจารึกที่ฉันได้จารึกถวายพระเกียรติแก่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้เป็น เจ้า เนื่องในวาระที่สร้างพระเจดีย์ฉลองชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาแห่งพม่าและ ประกาศความเป็นอิสระของประเทศไทย จากหงสาวดีเป็นครั้งแรก เธอไปดูไว้แล้วจดจำมาเผยแพร่ออกไป ถึงเวลาที่เธอจะได้รับรู้แล้ว" ในฝันอาตมารับปากท่าน ท่านก็บอกตำแหน่งให้แล้วก็ตกใจตื่นนอนใกล้รุ่ง อาตมาก็ทบทวนความฝันก็นึกอยู่ในใจว่าเราเองนั้นกำหนดจิตด้วยพระกรรมฐานมีสติ อยู่เสมอเรื่องฝันฟุ้งซ่านก็เป็นไม่ อาตมาก็ได้ข่าวในวันนั้นแหละว่า ทางกรมศิลปากรทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ใหญ่ในวัดใหญ่ชัยมงคล และจะทำการบรรจุบัวยอดพระเจดีย์ อันเป็นนิมิตหมายการสิ้นสุดการบูรณะ และจะรื้อนั่งร้านทั้งหมดออกเสร็จสิ้น อาตมาจึงได้ขอร้อง ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร ให้เลื่อนการปิดยอดบัวไปอีกวันหนึ่งเพื่อที่อาตมาจะได้นำพระซุ้มเสมาชัย ซุ้มเสมาขอ ที่อาตมาได้สร้างขึ้นตามแบบดั้งเดิมที่พบในเจดีย์ใหญ่ใกล้กับวัดอัมพวัน ซึ่งพังลงน้ำ ที่ก๋งเหล็งเป็นคนรวบรวมเอาให้อาตมาตั้งแต่เมื่อเริ่มมาพัฒนาวัดใหม่ๆ แต่แตกหักผุพังทั้งนั้น หลายสิบปี๊บ อาตมาได้ป่นเอามาผสมสร้างเป็นองค์พระใหม่ ไปร่วมบรรจุไว้ที่ยอดพระเจดีย์บ้าง

วันนั้นอาตมาเดินทางไปถึงก็ได้เดินขึ้นไปบนเจดีย์ตอนที่สุดบันไดแล้ว มองเห็นโพรงที่ทางเขาทำไว้สำหรับลงไปด้านล่างมีร้านไม้พอไต่ลงไปภายใน ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าลงไปคราวนี้ ถ้าพลาดตกลงไปจากนั่งร้านม้าก็ยอมตายคนที่ร่วมเดินทางมาเขามัวแต่ไปบนลาน ชั้นบน อาตมาก็ดิ่งลงไปชั้นล่าง มีไฟฉายดวงหนึ่ง เวลานั้นประมาณ ๐๙.๐๐ น. อาตมาลงไปภายในแล้วก็พบนิมิตดังที่สมเด็จพระพนรัตน์ได้บอกไว้จริง ๆ อาตมาจึงได้พบว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่สมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้วท่านได้จารึกถวายพระพร ก็คือบทสวดที่เรียกว่า "พาหุงมหาการุณิโก" ท้ายของนิมิตนั้นระบุว่า "เราสมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้วศรีอโยธเยศ คือผู้จารึกนิมิตรจนาเอาไว้ถวายพระพรแด่มหาบพิตรเจ้าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

พาหุงมหากาก็คือบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วก็พรพาหุงอันเริ่มด้วย "พาหุงสหัสไปจนถึงทุคคาหทิฏฐิ แล้วเรื่อยไปจนถึงมหาการุณิโกนาโถหิตายะและจบลงด้วยภาวะตุ สัพพะมังคะลัง สัพพะพุทธา สัพพะธัมมา สัพพะสังฆา นุภาเวนะสะทาโสตถี ภะวันตุเต" อาตมา เรียกรวมกันว่าพาหุงมหากา อาตมาจึงเข้าใจในบัดนั้นเองว่า บทพาหุงนี้คือบทสวดมนต์ที่สมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้วได้ถวายให้พระบาท สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไว้สวดเป็นประจำเวลาอยู่กับพระมหาราชวังและในระหว่างศึกสงคราม จึงปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้าทรงรบ ณ ที่ใด ทรงมีชัยชนะอยู่ตลอดมามิได้ทรงเพลี่ยงพล้ำเลยแม้จะเพียงลำพังสองพระองค์กับ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ท่ามกลางกองทัพพม่าจำนวนนับแสนคนก็ทรงมีชัยชนะเหนือกองทัพพม่าด้วยการกระทำ ยุทธหัตถีมีชัยเหนือพระมหาอุปราชาที่ดอนเจดีย์ปูชนียสถานแม้ข้าศึกจะยิงปืน ไฟเข้าใส่พระองค์ในตอนที่เข้ากันพระศพของพระมหาอุปราชาออกไปราวกับห่าฝนก็มิ ปานแต่ก็มิได้ต้องพระองค์ ด้วยเดชะพาหุงมหากาที่ทรงเจริญอยู่เป็นประจำนั่นเอง

อาตมาพบนิมิตแล้วก็ไต่ขึ้นมา ด้วยความสบายใจถึงปากปล่องที่ลงไปเกือบสามชั่วโมง เนื้อตัวมีแต่หยากไย่ เดินลงมาแม่ชีเห็นเข้ายังร้องว่า หลวงพ่อเข้าไปในโพรงนั่นมาหรือ แต่อาตมาไม่ตอบ ตั้งแต่นั้นมา อาตมาจึงสอนการสวดพาหุงมหากาให้แก่ญาติโยมเป็นต้นมา เพราะอะไร เพราะพาหุงมหากานั้นเป็นบทสวดมนต์ที่มีค่าที่สุด มีผลดีที่สุด เพราะเป็นชัยชนะอย่างสูงสุดของพระบรมศาสดาจากพญาวัสวดีมาร จากอาฬาวกะยักษ์ จากช้างนาฬาคิรี จากองคุลีมาล จากนางจิญมาณวิกา จากสัจจะกะนิครนถ์ จากพญานันโทปนันทนาคราช และท่านท้าวผกาพรหม เป็นชัยชนะที่พระพุทธองค์ทรงได้มาด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ และด้วยอำนาจแห่งบารมีธรรมโดยแท้ ผู้ใดได้สวดไว้ประจำทุกวัน จะมีชัยชนะมีความเจริญรุ่งเรืองตลอดกาลนาน มีสติระลึกได้ จะตายก็ไปสู่สุคติภูมิ ขอให้ญาติโยมสวดพาหุงมหากากันให้ทั่วหน้า นอกจากจะคุ้มตัวแล้ว ยังคุ้มครอบครัวได้ สวดมากๆ เข้า สวดกันทั้งประเทศก็ทำให้ประเทศมีแต่ความรุ่งเรือง พวกคนพาลสันดานหยาบก็แพ้ภัยไปอย่างถ้วนหน้า ไม่ใช่แต่พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่านั้นที่พบความมหัศจรรย์ของบท พาหุงมหากา แม้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงพบเช่นกัน โดยมีบันทึกโบราณบอกไว้ว่าดังนี้

"เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชตีเมืองจันทบุรีได้แล้วก็ทรงเห็นว่าสงครามกู้ชาติ ต่อจากนี้ไปจะต้องหนักหนา และยืดยาวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระยอดธงแบบศรีอยุธยาขึ้นแล้วนิมนต์พระเถระทั้งหลายมาสวดบทพาหุง มหากาบรรจุไว้ในองค์พระและพระองค์ก็ทรงเจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระนเรศวร มหาราชด้วยการเจริญพาหุงมหากาจึงบันดาลให้ทรงกู้ชาติสำเร็จ"

สวดพาหุงมหากากันให้ได้ทุกบ้าน สวดให้ได้มากๆ จะมีแต่ความรุ่งเรือง สวดพาหุงมหากาก่อนแล้วจึงสวดชินบัญชร เพราะชินบัญชรนั้นเจ้าประคุณสมเด็จท่านได้สวดบูชาพระอรหันต์ของท่าน ต้องสวดพาหุงมหากาก่อนแล้วจึงมาถึงชินบัญชรให้จดจำกันเอาไว้ นั่นแหละมงคลในชีวิต อันที่จริงถ้าเราทำบุญ เราจะได้ยินพระสวดคาถา "พาหุงมหากา" หรือ "พุทธชัยมงคลคาถา" ให้เราฟังทุกครั้ง บางทีเราจะเคยได้ยินพระสวดเจนหูเกินไปจนไม่นึกว่ามีความสำคัญ แท้จริงแล้วคาถาดังกล่าวนี้ มีของดีอยู่ในตัวให้เราใช้มากทุกบททุกตอน เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า อ้างอานุภาพของพระพุทธเจ้า เพื่อนำชัยมงคลมาให้แก่เรา ทุกตอนลงท้ายว่า "ตันเตชะสา ภะวะตุเต ชะยะมังคะลานิ" เวลาพระสวดให้เรา ท่านต้องใช้คำว่า "เต" ซึ่งแปลว่า "แก่ท่าน" แต่ถ้าเราจะเอามาสวดหรือภาวนาของเราเอง เพื่อให้ชัยชนะเกิดแก่ตัวเราเอง เราก็จะต้องใช้ว่า "เม" ซึ่งแปลว่า "แก่ข้า" คือสวดว่า "ตันเตชะสา ภะวะตุเม ชะยะมังคะลานิ"


คาถาสมเด็จพระพุฒาจารย์

พุทธมังคลคาถาถือเป็น อีกหนึ่งบทคาถา ของท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
คำว่าพุทธมังคลคาถานี้ คือการนมัสการบูชาพระอรหันต์แปดทิศ ซึ่งล้วนแต่เป็นพระมหาเถระที่ยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น

พุทธมังคลคาถา

สัมพุทโธ ทิปะทัง เสฏโฐ นิสินโน เจวะ มัชฌิเม
โกณฑัญโญ ปุพพะภาเค จะ อาคเณยเย จะ กัสสะโป
สารีปุตโต จะ ทักขิเณ หะระติเย อุปาลิ จะ
ปัจฉิมเมปิ จะ อานันโท พายัพเพ จะ คะวัมปะติ
โมคคัลลาโน จะ อุตตะเร อีสาเนปิ จะ ราหุโล
อิเม โข มังคะลา พุทธา สัพเพ อิธะ ปะติฏฐิตา
วันทิตา เต จะ อัมเหหิ สักกาเรหิ จะ ปูชิตา
เอเตสัง อานุภาเวนะ สัพพะโสตถี ภะวันตุ โน
อิจเจวะมัจจันตะนะมัสสะเนยยัง
นะมัสสะมาโน ระตะนัตตะยัง ยัง
ปุญญาภิสันทัง วิปุลัง อะลัตถัง
ตัสสานุภาเวนะ หะตันตะราโยฯ

-----------------

คาถาบูชาพระสมเด็จ


ปุตตะกาโม ละเภ ปุตตัง
ธะนะกาโม ละเภ ธะนัง
อัตถิ กาเย กายะญายะ
เทวานัง ปิยะตัง สุตะวา

คาถาอารธนาพระสมเด็จ

โตเสนโต วะระธัมเมนะ
โตสัฏฐาเน สิเว วะเร
โตสัง อะกาสิ ชันตูนัง
โตสะจิตตัง นะมามิหัง


คาถาบูชาพระสมเด็จ

โตเสนโต วะระธัมเมนะ โตสัฏฐาเน สิเว วะเร
โตสัง อะกาสิ ชันตูนัง โตสะจิตตัง นะมามิหัง

(เมตตามหานิยมประเสริฐนัก)



คาถาชุมนุมเทวดา

ชุมนุมเทวดา
สะรัชชัง สะเสนัง สะพันธุง นะรินทัง
ปะริตตานุภาโว สะทา รักขะตูติ ผะริตวานะ
เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา อะวิกขิตตะจิตตา
ปะริตตัง ภะณันตุ
สัคเค กาเม จะรูเป คิริสิขะระตะเฏ
จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป รัฏเฐ จะ
คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะ
วัตถุมหิ เขตเต ภุมมา จายันตุ เทวา
ชะละถะละ วิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา
ติฏฐันตา สันติเกยัง มุนิวะระวะ จะนัง
สาธะโว เม สุณันตุ
ธัมมัสสะวะ นะกาโล อะยัมภะทันตา
ธัมมัสสะวะ นะกาโล อะยัมภะทันตา
ธัมมัสสะวะ นะกาโล อะยัมภะทันตา
โองการเทพชุมนุม
สาธุ อุกาสะ ข้าพเจ้าขอนมัสการ พระพุทธะคุณณัง
พระธัมมะคุณณัง พระสังฆะคุณณัง พระศรีรัตนตรัย
และสมณาจารย์ ครูอาจารย์ เดชะบรมโพธิสมภารมาอยู่
เหนือเกศเกล้าแห่งข้าพเจ้า ผู้จะตั้งนมัสการ
เชิญพระพุทธองค์ ทรงพระสูตร พระวินัย
พระอภิธรรม พระกัมมัฏฐาน พระธัมมามูล
ทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ จนทั้งพระไตรปิฎก
กัณฑ์ไตร พระเตมียน์ใบ้ พระมหาชนก
พระมโหสถ พระโพธิสัตย์ พระพุทธสิหิง
พระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ
พระจตุโลกบาล พระโมกคัลลาณญาณ
พระสารีบุตร พระพุทธกุ กุกสันโธ
พระโกนาคุมะโน พระพุทธกัสสโป พุทโธ
พระศรีสากะยะมุนีโคดม พระพุทธบรรทม
พระนารอด ยอดพระตัณหัง
อัฏฐะอรหันตัง พระสุวรรณสามปัณฑิตา
พระแท่นศิลาอาสน์ พระมุนีนาถ
พระศาสดา พระยาธรรมิกราช
พระศรีอารินไมตรี พระฤาษีทั้งแปดหมื่นพระองค์
อันนั่งจมกรมภาวนาอยู่ในถ้ำพระคูหาสวรรค์
พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระไตรสรรณคมน์
พระบรรทม พระโกณทัญญาณาณสุวรรณเสน
พระสุเมรุราช พระธาตุจุฬามณี
พระศรีมหาโพธิ พระหัตถ์ พระโอษฐ
พระหฤทัย พระไตรปิฎก พระปัจเจกโพธิ์
ท้าวสิริสุทโทธนะ พระนางสิริมหามายาอันเป็น
พระพุทธมารดาแห่งพระพุทธองค์
อันทรงพระนามกรชื่อพระสิทธารถชาติ
เป็นที่สุด พระพุธ พระพฤหัส พระสัชชนู
พระเสาร์ พระราหู พระสมุทรทั้งห้า
ทั้งแผ่นฟ้า ทั้งพสุธาชล ทั้งปลาอานนท์
นางเมขลา พระยาพาลีทรพี อินทรชิต
สุครีพ ทศกัณฑ์ กุมภัณฑ์ พระลักษณ์
พระราม พระหนุมาณ พระรามสูร
พระวิฑูรบูริกา สุนันทยักษา พระยานาค
พระยาครุฑ พระราหู พิเภก ชมภูทีเปหิมะอันตัง
พระพุทธเทวดาอยู่ในชั้นฟ้า จตุมหาราชิกาสวรรค์
เทพยดาอยู่ในชั้นฟ้าดาวดึงสวรรค์
เทพยดาอยู่ในชั้นฟ้ายามาสวรรค์
เทพยดาอยู่ในชั้นฟ้าดุสิตาสวรรค์
เทพยดาอยู่ในชั้นฟ้านิมมานรดีสวรรค์
เทพยดาอยู่ในชั้นฟ้าปรนิมมิตวสวัดดีสวรรค์
เทพยดาอยู่ในชั้นฟ้าอกนิฏฐโลกมหาสวรรค์
พระตัณหัง พระพุทธวิปัสสี ปิตุมารดา วาสุกรี
มังกร ครุฑ กินนร กินรี การเวก ปักษา
มหากุมภัณฑ์อนันทยักษา มหากะบิลราช
พระโคอุสุภราช พระสารีริกธาตุ
พระเพลิงอันรุ่งเรืองรัศมี
พระศรีรัตนตรัยแก้วและสมณาจารย์
ทั้งพระรัตนญาณ พระบารมีตาวติงสาตีสูน
นะโมพุทธายะ ธัมโมพุทธายะ สังโฆพุทธายะ
ธัมมะปัชชา จะวันทะนา เมตตาติ


คำไหว้พระธาตุรวม

วันทามิ เจติยัง สัพพัฏฐาเนสุ
ปะติฏฐิตา สะรีระธาตุง มะหาโพธิง
พุทธะรูปัง สะกะลัง สะทา นาคะโลเก
เทวะโลเก ตาวะติงเส พรัหมะโลเก
ชัมภูทีเป ลังกาทีเป
สะรีระธาตุโย เกสาธาตุโย อะระหันตา
ธาตุโย เจติยัง คันธะกุฏิ จตุราสี-
ติสะหัสสะธัมมักขันธา ปาทะเจติยัง
นะระเทเวหิ ปูชิตา อะหัง วันทามิ
ธาตโย อะหัง วันทามิ ทูระโต
อะหัง วันทามิ สัพพะโส


คำไหว้ปาระมี 30 ทัส

ทานะ ปาระมี สัมปันโน , ทานะอุปะปาระมี สัมปันโน , ทานะปะรามัตถะปาระมี สัมปันโน , เมตตา ไมตรี กรุณา มุฑิตา อะเปกขา ปาระมี สัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
สีละปาระมี สัมปันโน , สีละอุปะปาระมี สัมปันโน , สีละปะระมัตถะปาระมี สัมปันโน , เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมี สัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
เนขัมมะปาระมี สัมปันโน , เนกขัมมะอุปะปาระมี สัมปันโน , เนกขัมมะปะระมัตถะปาระมี สัมปันโน , เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมี สัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
ปัญญาปาระมี สัมปันโน , ปัญญาอุปะปารมี สัมปันโน , ปัญญาปะระมัตถะปาระมี สัมปันโน , เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมี สัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
ขันตีปาระมี สัมปันโน , ขันตีอุปะปาระมี สัมปันโน , ขันตีปะระมัตถะปาระมี สัมปันโน , เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมี สัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
สัจจะปาระมี สัมปันโน , สัจจะอุปะปาระมี สัมปันโน , สัจจะปะระมัตถะปาระมี สัมปันโน , เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมี สัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
อะธิฏฐานะปาระมี สัมปันโน , อะธิฏฐานะอุปะปาระมี สัมปันโน , อะธิฏฐานะปะระมัตถะปาระมี สัมปันโน , เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมี สัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
เมตตาปาระมี สัมปันโน , เมตตาอุปะปาระมี สัมปันโน , เมตตาปะระมัตถะปาระมี สัมปันโน , เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมี สัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
อุเปกขาปาระมี สัมปันโน , อุเปกขาอุปะปาระมี สัมปันโน , อุเปกขาปะระมัตถะปาระมี สัมปันโน , เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมี สัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
ทะสะปาระมี สัมปันโน , ทะสะอุปะปาระมี สัมปันโน , ทะสะปะระมัตถะปาระมี สัมปันโน , เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกขา ปาระมี สัมปันโน , อิติปิ โส ภะคะวา
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ นะมามิหังฯ

คำพรรณนาพระบรมธาตุ

อะหัง วันทามิ ทูระโต
อะหัง วันทามิ ธาตุโย
อะหัง วันทามิ สัพพะโสฯ

มงคลจักรวาฬทั้ง 8 ทิศ


มงคลจักรวาฬใหญ่

สิริธิติมะติเตโชชะยะสิทธิมะหิทธิมะหาคุณาปะริมิตะปุญญาธิการัสสะ สัพพันตะรายะนิวาระณะสะมัตถัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ทวัตติงสะมะหาปุริสะลักขะณานุภาเวนะ อะสีตยานุพยัญชะนานุภาเวนะ อัฏฐุตตะระสะตะมังคะลานุภาเวนะ ฉัพพัณณะรังสิยานุภาเวนะ เกตุมาลานุภาเวนะ ทะสะปาระมิตานุภาเวนะ ทะสะอุปะปาระมิตานุภาเวนะ ทะสะปะระมัตถะปาระมิตานุภาะเวนะ สีละสะมาธิปัญญานุภาเวนะ พุทธานุภาเวนะ ธัมมานุภาเวนะ สังฆานุภาเวนะ เตชานุภาเวนะ อิทธานุภาเวนะ พะลานุภาเวนะ เญยยะธัมมานุภาเวนะ จะตุราสีติสะหัสสะ ธัมมักขันธานุภาเวนะ นะวะโลกุตตะระธัมมานุภาเวนะ อัฏฐังคิกะมัคคานุภาเวนะ อัฏฐะสะมาปัตติยานุภาเวนะ ฉะฬะภิญญานุภาเวนะ จะตุสัจจะญาณานุภาเวนะ ทะสะพะละญาณานุภาเวนะ สัพพัญญุตะญาณานุภาเวนะ เมตตากะรุณามุทิตาอุเปกขานุภาเวนะ สัพพะปะริตตานุภาเวนะ ระตะนัตตะยะสะระณานุภาเวนะ ตุยหัง สัพพะโรคะโสกุปัททะวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา วินัสสันตุ สัพพะอันตะรายาปิ วินัสสันตุ สัพพะสังกัปปา ตุยหัง สะมิชฌันตุ ทีฆายุตา ตุยหัง โหตุ สะตะวัสสะชีเวนะ สะมังคิโก โหตุ สัพพะทา ฯ อากาสะปัพพะตะวะนะภูมิคังคามะหาสะมุททา อารักขะกา เทวะตา สะทา ตุมเห อะนุรักขันตุ ฯ

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะพุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะธัมมานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต
ภะวะตุ สัพพะ มังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะสังฆานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต ฯ
นักขัตตะยักขะภูตานัง ปาปัคคะหะนิวาระณา
ปะริตตัสสานุภาเวนะ หันตวา เตสัง อุปัททะเว
นักขัตตะยักขะภูตานัง ปาปัคคะหะนิวาระณา
ปะริตตัสสานุภาเวนะ หันตวา เตสัง อุปัททะเว
นักขัตตะยักขะภูตานัง ปาปัคคะหะนิวาระณา
ปะริตตัสสานุภาเวนะ หันตวา เตสัง อุปัททะเว ฯ

เทวะตาอุยโยชะนะคาถา
ทุกขัปปัตตา จะ นิททุกขา ภะยัปปัตตา จะ นิพภะยา
โสกัปปัตตา จะ นิสโสกา โหนตุ สัพเพปิ ปาณิโน
เอตตาวะตา จะ อัมเหหิ สัมภะตัง ปุญญะสัมปะทัง
สัพเพ เทวานุโมทันตุ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
ทานัง ทะทันตุ สัทธายะ สีลัง รักขันตุ สัพพะทา
ภาวะนาภิระตา โหนตุ คัจฉันตุ เทวะตาคะตา ฯ
สัพเพ พุทธา พะลัปปัตตา ปัจเจกานัญจะ ยัง พะลัง
อะระหันตานัญจะ เตเชนะ รักขัง พันธามิ สัพพะโส ฯ
เมตตานิสังสะสุตตะปาโฐ
เอวัมเม สุตัง ฯ เอกัง สะมะยัง ภะคะวา สาวัตถิยัง วิหะระติ เชตะวะเน อะนาถะปิณฑิกัสสะ อาราเม ฯ ตัตระ โข ภะคะวา ภิกขู อามันเตสิ ภิกขะโวติ ฯ ภะทันเตติ เต ภิกขู ภะคะวะโต ปัจจัสโสสุง ภะคะวา เอตะทะโวจะ ฯ
เมตตายะ ภิกขะเว เจโตวิมุตติยา อาเสวิตายะ ภาวิตายะ พะหุลีกะตายะ ยานีกะตายะ วัตถุกะตายะ อะนุฏฐิตายะ ปะริจิตายะ สุสะมารัทธายะ เอกาทะสานิสังสา ปาฏิกังขา ฯ กะตะเม เอกาทะสะ ฯ สุขัง สุปะติ สุขัง ปะฏิพุชฌะติ ฯ นะ ปาปะกัง สุปินัง ปัสสะติ ฯ มะนุสสานัง ปิโย โหติ ฯ อะมะนุสสานัง ปิโย โหติฯ เทวะตา รักขันติ ฯ นาสสะ อัคคิ วา วิสัง วา สัตถัง วา กะมะติ ฯ ตุวะฏัง จิตตัง สะมาธิยะติ ฯ มุขะวัณโณ วิปปะสีทะติ ฯ อะสัมมุฬโห กาลัง กะโรติฯ อุตตะริง อัปปะฏิวิชฌันโต พรัหมะโลกูปะโค โหติ ฯ
เมตตายะ ภิกขะเว เจโตวิมุตติยา อาเสวิตายะ ภาวิตายะ พะหุลีกะตายะ ยานีกะตายะ วัตถุกะตายะ อะนุฏฐิตายะ ปะริจิตายะ สุสะมารัทธายะ อิเม เอกาทะสานิสังสา ปาฏิกังขาติ ฯ อิทะมะโวจะ ภะคะวา ฯ อัตตะมะนา เต ภิกขู ภะคะวะโต ภาสิตัง อะภินันทุนติ ฯ

คาถาบูชาพระพุทธเจ้าหลวง    
 
 พระสยามมินโธ วะโรอิติ พุทธสังมิ อิติอรหัง สะหัสสะกายัง วะรังพุทโธ นะโม พุทธายะ
(หรืออาจว่าคาถาแบบเต็มรูปแบบดังนี้)
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
อิติปิ โส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ
อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ
พระสยามมินโท วะโรอิติ
พุทธะสังมิ อิติอะระหัง
สะหัสสะกายัง วะรังพุทโธ
นะโม พุทธายะ มาสีสะมานัง
(หรือจะช่วยกันรวมจิตอธิษฐานภาวนาพระคาถาบูชาพระพุทธเจ้าหลวง
โดยขอพรจากพระองค์ท่านเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้)
ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า ...(ชื่อ) ขอถวายบังคมองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
ขออัญเชิญพระบารมีแห่งพระองค์โปรดดลบันดาล ให้ข้าพระพุทธเจ้า
มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าทั้งชีวิตครอบครัว และธุรกิจการงาน
หวังสิ่งใดขอให้สมปรารถนา ขออัญเชิญพระบารมีแห่งพระองค์
โปรดดลบันดาลพิทักษ์รักษา ปกแผ่ให้ปวงชนชาวไทยทั้งชาติ
ปราศจากภยันตราย อันก่อความแตกแยกสามัคคี ให้มีแต่สันติสุข
ขอให้ชาติไทยอันมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ธำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตย เพื่อให้ปวงชนชาวไทยอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
ภายใต้พระบารมีของล้นเกล้าล้นกระหม่อมแห่งองค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระมหากษัตราธิราชไทยทุกพระองค์ด้วยเทอญ


คาถาบูชาเจ้าแม่กวนอิม


(เป็นการออกเสียงตามภาษาจีนแต้จิ๋วที่ชาวไทยเชื้อสายจีนในไทยแปลไว้ทั้ง สองบท แต่ในความเป็นจริงแล้ว ท่านสามารถอธิษฐานเป็นภาษาไทยหรือภาษาอะไรก็ได้ เพราะว่าการสื่อความหมายจะใช้แรงอธิษฐาน ที่เกิดจากความตั้งใจอันแน่วแน่ของผู้กราบไหว้ในขณะสวดบริกรรมนั่นเองที่ สำคัญที่สุด)
บทสรรเสริญพระคุณ
นะโมกวงซิอิม ผ่อสัก
นำโมไต๋ชื้อ ไต๋ปุย กิวโคว่ กิวหลั่ง กวงไต๋เล่งก้ำ กวงสี่อิมผู่สัก (กราบ)
นำโมไต๋ชื้อ ไต๋ปุย กิวโคว่ กิวหลั่ง กวงไต๋เล่งก้ำ กวงสี่อิมผู่สัก (กราบ)
นำโมไต๋ชื้อ ไต๋ปุย กิวโคว่ กิวหลั่ง กวงไต๋เล่งก้ำ กวงสี่อิมผู่สัก (กราบ)
นำโมฮูก นำโมหวบ นำโมเจ็ง นำโมกิวโคว่ กิวหลั่ง กวงสี่อิมผู่สัก ทั่งจี้โต
โอม เกียล้อฮวดโต เกียล้อฮวดโต เกียล้อฮวดโต ล้อเกียฮวดโต ล้อเกียฮวดโต
ซาผ่อออ เทียงล้อซิ้ง ตี่ล้อซิ้ง นั้งลี่หลั่ง หลั่งลี่ซิ้ง เจ็กเฉียก ใจเอียง ห่วยอุ่ยติ๊ง
นำโมม่อออป่อเยี๊ยปอล้อบิ๊ก (กราบ)
บทมหากรุณาธารณีสูตร
โชยชิ่ว โชยงั่ง บ่อไหง๋ ไต่ปุยซิมทอลอ นีจิ่ว (๓ จบ)
ปึงซือออนีทอ ยูไล้ (๓ จบ)
นำมอ ฮอลาตัน นอตอลา เหย่ เย
นำมอ ออลีเย ผ่อลูกิดตีซอปอลาเย
ผู่ทีสัตตอพอเย หม่อฮอสัตตอพอเย
หม่อ ฮอเกียลูนี เกียเยงัน สัตพันลาฮัวอี
ซูตัน นอตันเซ
นำมอ สิดกิด ลีตออีหม่งออลีเย
ผ่อลูกิด ตีสิด ฮูลาเลงถ่อพอ
นำมอ นอลา กินซี
ซีลี หม่อฮอพันตอซาเม
สะพอ ออทอ เตาซีพง
ออซีเย็น สะพอ สะตอ นอมอ พอสะตอ
นอมอ พอเค มอฮัว เตอเตา
ตันจิต ทองัน ออพอ ลูซี
ลูเกียตี เกียลอตี อีซีลี
หม่อฮอ ผู่ทีสัตตอ สัตพอ สัตพอ
มอลา มอลา มอซี มอซี ลีทอยิน
กีลูกีลูกิดมง ตูลู ตูลู ฟาเซเยตี
หม่อ ฮอฮัว เซเยตี ทอลา ทอลา
ตีลีนี สิด ฮูลาเย เจลา เจลา มอมอ ฮัวมอลา หมกตีลี
อีซี อีซี สิดนอ สิดนอ ออลาซัน ฮูลาเซลี
ฮัวซอ ฮัวซัน ฮูลา เซเย
ฮูลู ฮูลู มอลา ฮูลู ฮูลู ซีลี ซอลา ซอลา
สิดลี สิดลี ซูลู ซูลู ผู่ถี่เย ผู่ถี่เย ผู่ถ่อเย ผู่ถ่อเย
มีตีลีเย นอลา กินซี ตีลีสิด นีนอ
ผ่อเย มอนอ ซอผ่อฮอ สิดถ่อเย ซอผ่อฮอ
หม่อฮอ สิดถ่อเย ซอผ่อฮอ สิดทอยีอี
สิดพันลาเย ซอผ่อฮอ นอลากินซี ซอผ่อฮอ
มอลานอลา ซอผ่อฮอ สิดลาเซง ออหมกเคเย
ซอผ่อฮอ ซอผ่อหม่อฮอ ออสิดถ่อเย ซอผ่อฮอ
เจกิดลา ออสิดถ่อเย ซอผ่อฮอ ปอทอมอกิดสิดถ่อเย
ซอผ่อฮอ นอลากินซี พันเคลาเย ซอผ่อฮอ
มอพอลี เซงกิดลาเย ซอผ่อฮอ
นำมอห่อลาตัน นอตอลาเยเย
นำมอออลีเย ผ่อลูกิตตี ชอพันลาเย ซอผ่อฮอ
งันสิดตินตู มันตอลา ปัดถ่อเย ซอผ่อฮอ
(เจ้าแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์ (อวโลกิเตศวร) ผู้ทรงแบ่งภาคได้หลายภาค เพื่อมาโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลาย และทรงเอื้ออารีย์แก่มวลมนุษย์ที่ได้กราบไหว้บูชาให้ประสบผลสำเร็จอันพึง ปรารถนาได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ท่านสามารถช่วยปัดเป่าความทุกข์ภัยพยันตรายให้ท่านที่เดือดร้อน ท่านสามารถสวดคาถาบูชาเจ้าแม่กวนอิมให้ครบ ๑๐๘ จบทุกวันโดยตั้งจิตอธิษฐานให้แน่วแน่ ก็จะได้ผลสำเร็จอันพึงปรารถนาทุกประการ)


54
                                               บทสวดมนต์ กรณียเมตตาสูตร

--------------------------------------------------------------------------------

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุท ธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุท ธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุท ธัสสะ

บทขัดกะระณียะเมตตะสุตตัง

ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง
ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโต
สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ
เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ




กะระณียะเมตตะสุตตัง

กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ
สักโก อุชู จะ สุหุชู จะ สุวะโจ จัสสะ มุทุ อะนะติมานี
สันตุสสะโก จะ สุภะโร จะ อัปปะกิจโจ จะ สัลละหุกะวุตติ
สันตินทริโย จะ นิปะโก จะ อัปปะคัพโภ กุเลสุ อะนะนุคิทโธ
นะ จะ ขุททัง สะมาจะเร กิญจิ เยนะ วิญญู ปะเร อุปะวะเทยยุง
สุขิโน วา เขมิโน โหตุ สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา


เย เกจิ ปาณะภูตัตถิ ตะสา วา ถาวะรา วา อะนะวะเสสา
ทีฆา วา เย มะหันตา วา มัชฌิยา รัสสะกา อะณุกะถูลา
ทิฏฐา วา เย จะ อะทิฏฐา เย จะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเร
ภูตา วา สัมภะเวสี วา สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
นะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ นาติมัญเญถะ กัตถะจิ นัง กิญจิ
พยาโรสะนา ปะฏีฆะสัญญา นาญญะมัญญัสสะ ทุกขะมิจเฉยยะ
มาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง อายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข
เอวัมปิ สัพพะภุเตสุ มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง
เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง
อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ อะสัมพาธัง อะเวรัง อะสะปัตตัง
ติฏฐัญจะรัง นิสินโน วา สะยาโน วา ยาวะตัสสะ วิคะตะมิทโธ
เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ พรัหมะเมตัง วิหารัง อิธะมาหุ
ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน
กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ ฯ


(ขอกราบขอบพระคุณ ผู้รวบรวม หนังสือ มนต์พิธี )


คาถาแผ่เมตตา (กรณียเมตตาสูตร) แบบย่อ หลวงปู่่ขาว อนาลโย วัดถ่ำกลองเพล ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ดังนี้

พุทธะ เมตตัง จิตตังมะมะ พุทธะ พุทธานุภาเวนะ
ธัมมะ เมตตัง จิตตังมะมะ ธัมมะ ธัมมานุภาเวนะ
สังฆะ เมตตัง จิตตังมะมะ สังฆะ สังฆานุภาเวนะ


ใช้ภาวนาก่อนจบการปฏิบัติภาวนา เป็นการแผ่เมตตาไปทั่วจักรวาล หรือภาวนาบ่อย ๆเป็นพรหมวิหารภาวนา มีอานิสงค์มาก หลวงปู่เคยภาวนาคุยกับพญาช้างในป่่ามาแล้วครับ กำไรชีวิต สำหรับผู้มีบุญในชาตินี้ครับ แบ่งปันเพื่อน ๆ ทุกท่านคราบ

 
    ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด  พลังจิต

55
                                                        เจดีย์ยุทธหัตถี


(คัดจากเทปที่หลวงพ่อ เล่า ในเดือนเมษายน 2522)

วันหนึ่ง เดินผ่านอำเภอศรีประจันต์ คำว่า ศรีประจันต์ เป็นชื่อของบุคคลคนหนึ่งในเรื่องขุนช้างขุนแผน อำเภอนี้ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ตอนหนึ่ง คือ พระนเรศวรมหาราช ยาตราทัพ ทำยุทธหัตถี กับ พระมหาอุปราชคู่ปรับ

มีคนเขาถามว่า เจดียุทธหัตถี เป็นจุดที่ทำยุทธหัตถีกันจริงๆ ใช่ไหม ครั้งหนึ่ง ก็เป็นการบังเอิญ นอนๆ อยู่ อยากจะอ่านประวัติศาสตร์ อยากจะอ่านเรื่องของ ขุนเหล็ก และ เรื่องพระนเรศวรมหาราช อ่านไปก็มีอารมณ์เคลิ้ม เมื่อเคลิ้ม ก็มีภาพปรากฏ เป็นชาย รูปร่าง หน้าตาสวย เอวบางร่างน้อย อ้อนแอ้น คล้ายสตรี แต่แข็งแรง ผิวกายนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นคนผิวดำ แต่ว่า ดำกว่าอีกคนหนึ่งซึ่งขาวกว่า ที่ชาวบ้านเรียกว่า ท่านเอกาทศรถ

ทั้งสองท่าน ปรากฏ ยกมือพนม บอกว่า ที่เจดีย์ยุทธหัตถีที่ทำไว้ในปัจจุบันนี้ ความจริงไม่ใช่ จุดที่ชนช้างกัน แต่ที่ทำเจดีย์ไว้ เป็นอนุสรณ์นั้น ใช่องค์นี้ ถ้าขุดลงไปกลางเจดีย์ จะมีเป็นอุโมงค์ ที่เก็บอาวุธยุทธหัตถีของพระมหาอุปราช แล้วก็มีแผ่นจารึกประวัติศาสตร์ไว้เป็นหลักฐาน

ถามท่านว่า จุดที่ทำยุทธหัตถีจริง ๆ อยู่ตรงไหน ท่านบอกให้ตั้งศูนย์จากอำเภอศรีประจันต์ จากตัวอำเภอ ลากเส้นไปยังที่ว่าการจังหวัดกาญจนบุรี เดินทางไป 60 กิโลเมตรแล้วทำมุมเฉียงออกไป 15 องศาเดิน ไปอีก 6 กิโลเมตร บริเวณนั้น จะเป็นบริเวณที่รบกัน กับ พระมหาอุปราช ที่เรียกว่า ยุทธหัตถี นี่ ประวัติศาสตร์ของผีในเรื่อง ที่คนเถียงกัน จะถูกหรือไม่ถูกไม่รับรอง


อ้างอิง .. เรื่องจริงอิงนิทาน ๓


***************เจดีย์ยุทธหัตถี อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี***********************


เจดีย์ยุทธหัตถี อยู่ที่ไหน?


เจดีย์ยุทธหัตถี ตั้งอยู่ที่บ้านดอนเจดีย์ ม.2 ต.ดอนเจดีย์ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เชื่อกันว่า
เป็นเจดีย์ยุทธหัตถี ที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะสมเด็จพระมหาอุปราชา กษัตริย์แห่งพม่า
ดังปรากฎหลักฐานพอสรุปได้ดังนี้

1. ในพื้นที่บริเวณเจดีย์ยุทธหัตถี และ บริเวณใกล้เคียง ชาวบ้านพบ กระดูกช้าง กระดูกม้า
กรามช้าง กระโหลกช้าง และกระดูกคน มากมาย ซึ่งแสดงว่า สถานที่แห่งนี้ จะด้องเป็นสถานที่กระทำสงคราม
ครั้งยิ่งใหญ่ หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้วคงไม่มีกระดูกมากมายเช่นนี้

2. ชาวบ้านดอนเจดีย์ พบ เครื่องศาสตรวุธ เครื่องม้า เครื่องช้าง ซึ่งประกอบด้วย หอก ดาบ ยอดฉัตร
โกลนม้า ขอสับช้าง โซ่ล่ามช้าง แป้นครุฑจับนาค ปัจจุบันสิ่งของเหล่านี้แสดงไว้ที่ ศูนย์วัฒนธรรมสถาบันราชภัฎกาญจนบุรี

3. ชาวบ้านดอนเจีย์ส่วนใหญ่ ใช้นามสกุล คชายุทธ มาลาพงษ์ และ ดอนเจดีย์ นามสกุลเหล่านี้มีความหมาย
เกี่ยวข้องกับองค์เจดีย์แห่งนี้ และการตั้งนามสกุลได้ตั้งในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มในการค้นหาเจดีย์ยุทธหัตถี

4. ชื่อตำบล ตะพังตรุ หนองสาหร่าย ที่ระบุใน พระราชพงศาวดารเป็นสถานที่ ที่มีอยู่ใน อ. พนมทวน จ.กาญจนบุรี
ซึ่งแต่เดิมขึ้นอยู่กับแขวง เมืองสุพรรณบุรี ต่อมาภายหลังได้มีการแบ่งเขตการปกครอง โดย อ.พนมทวน มาขึ้นอยู่กับ
จ.กาญจนบุรี เมื่อสมัยรัชกาลที่ 3

5. เส้นทางการเดินทัพของ พม่า-ไทย โดยทัพ พม่า จะข้ามมาทางด่านเจดีย์ 3 องค์ ผ่านทุ่งลาดหญ้า ผ่านเขาชนไก่
ผ่านเมืองกาญจนบุรีเก่า ผ่านปากแพรก ผ่านบ้านทวน ผ่านอู่ทอง สุพรรณบุรี ผ่านป่าโมก เข้า อยุธยา จะเห็นได้ว่า เจดีย์ยุทธหัตถี
องค์นี้ตั้งอยู่ในเส้นทางการเดินทัพ คือ ที่อำเภอ พนมทวน

6. เจดีย์ยุทธหัตถีองค์นี้ มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดช้าง จ.อยุธยา ซึ่งเป็นที่เชื่อถือได้ว่า เจดีย์องค์นี่
น่าจะสร้างในสมัย อยุธยา

7.ในพงศาวดาร ได้กล่าวไว้ว่า ช้างศีกได้กลิ่นน้ำมันคชสารก็ ตกมัน ตลบปะปนกันเป็นอลหม่าน พลพม่ารามัญ ก็โหมยิงธนู หน้าไม้ ปืนไฟ
ระดมเอาพระคชสารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ และ ธุมาการตลบมืด เป็นหมอกมัวไป แสดงว่าที่ทรงกระทำยุทธหัตถี
พื้นที่จะด้องเป็น ดินปนทราย จึงมีฝุ่นคลุ้งไปทั่ว จากพงศาวดารที่กล่าวมา ทำให้สอดคล้องกับพื้นที่บริเวณเจดีย์ยุทธหัตถีแห่งนี้
เนื่องจากบริเวณรอบองค์เจดีย์ เป็นที่ดอน และดินปนทรายซึ่งมีหลักฐานประจักษ์คือ หมู่บ้านที่ติดกับองค์พระเจดีย์
ชื่อว่า หมู่บ้านหลุมทราย แสดงว่าพื้นที่แถบนั้นต้องมีทรายมาก

8. ที่ดอนเจดีย์แห่งนี้มีต้นข่อย ขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นข่อยที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
อยู่ห่างจากเจดีย์ประมาณ 100 เมตร ดังพระราชพงศาวดาร กล่าวไว้ว่าครั้งเหลือบไป ฝ่ายทิศขวาของพระหัตถ์
ก็เห็นช้างเศวตฉัตรหนึ่งยืนอยู่ ณ ฉายาข่อย มีเครื่องสูงและทหารหน้าช้างมากก็เข้าพระทัยถนัดว่า ช้างมหาอุปราชา
พระเจ้าอยู่หัวทั้งสอง ก็ขับพระคชสารตรงเข้าไป ทหารหน้าข้าศึกก็วางปืนจ่ารงคมณฑกนกสับตระแบงแก้ว ระดมยิง
มิได้ต้องพระองค์และคชสาร สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ตรัสร้องเรียกด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า
" พระเจ้าพี่ ใยจะยืนอยู่ในร่มเล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็น เกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิดภายหน้าไป
ไม่มีกษัตริย์ที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว" พระมหาอุปราชา ได้ฟังดังนั้นแล้วละอายพระทัย มีขัตติยราชมานะก็ป้ายพระคชสารออกรบ

9. เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฟันพระมหาอุปราชา ขาดคาคอช้างแล้ว ทัพไทยได้ไปทันพอดี จึงไล่ฆ่าฟัน
ทหารพม่าอย่างหนัก จาก ตะพังตรุ ถึง กาญจนบุรี คาดว่า ทหารไทยฆ่าทหารพม่า ประมาณ 20,000 คน
จับช้างใหญ่สูง 6 ศอก ได้ 300 เชือก ช้างพลายพัง 500 เชือก ม้าอีก 2,000 เศษ
จะเห็นได้ว่า จากเจดีย์ยุทธหัตถี บ้านดอนเจดีย์ไปกาญจนบุรี มีระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร จึงเป็นไปได้ที่ทหารไทย
จะไล่ฆ่าฟัน ทหารพม่าในวันเดียวถึงเมืองกาญจนบุรี ซึ่งระยะทางห่างกันไม่มากนัก

10. ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วันวลิต ได้กล่าวไว้ว่า ในการกระทำยุทธหัตถี ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
กับพระมหาอุปราชาได้ กระทำใกล้กับวัดร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งจะตรงกับสภาพพื้นที่เจดีย์ยุทธหัตถี บ้านดอนเจดีย์แห่งนี้
ยังมีวัดร้าง อยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ปัจจุบันคือ วัดบ้านน้อย และยังมีเจดีย์ โบสถ์เก่าแก่
ให้เห็นตราบเท่าทุกวันนี้

จากหลักฐานดังที่ได้กล่าวอ้างมานี้ น่าจะเป็นที่ยืนยันได้ว่า เจดีย์ยุทธหัตถีบ้านดอนเจดีย์ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
เป็นเจดีย์องค์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างขึ้นหลังจากที่พระองค์ ทรงกระทำยุทธหัตถี ชนะสมเด็จพระมหาอุปราชาเมื่อ พ.ศ.2135

(จากหนังสือ "เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ไหน เขียนโดย นเรศ นโรปกรณ์ และ คณะ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2516 และคัดเนื้อความบางส่วน

จากหนังสือกระแสพระ ฉบับที่ 38 เดือน ตุลาคม 2548)

สาธุ ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูงครับ
เว็บทางนิพพาน เว็บไซด์ เผยแพร่ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น
ที่รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

   ผิดถูกประการใดต้องขออภัยด้วยครับ

  ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด พลังจิต



56
                                                ทรมานใจกับการไม่รักพ่อแม่...เรื่องที่หลายคนกำลังเผชิญ

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่ง ซึ่งสงสัยอยู่ว่าอกตัญญูไหมที่ไม่รักพ่อ? เนรคุณไหมที่เกลียดแม่? ผิดไหมถ้ารักพ่อมากกว่าแม่? บาปไหมที่ดีใจเมื่อรู้ว่าแม่กำลังจะตาย?

วันนี้เรามาดูกันว่าจะสบายใจขึ้นได้อย่างไร หรือดีกว่านั้นคือเปลี่ยนใจตัวเองได้ด้วยวิธีไหน

ก่อนอื่นให้มองตามจริงว่าความรู้สึกเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ คนเรามีหูตาอยู่อย่างนี้ ถ้ากระทบเข้าภาพแย่ๆ เสียงแย่ๆ ความรู้สึกก็ต้องแย่ตาม มิใช่วิสัยที่จะสั่งห้ามใจไม่ให้แย่ไปด้วย
ฉะนั้น ถ้าตัดคำว่าพ่อ
ตัดคำว่าแม่ออกไป เหลือแต่ความกระทบกระทั่งระหว่างคนกับคน ก็อย่าแปลกใจถ้าจะมีอารมณ์ต่อกัน
เป็นความขัดเคืองบ้าง ความโกรธบ้าง ความแหนงหน่ายไม่อยากรักบ้าง หรือกระทั่งความชิงชัง รังเกียจเดียดฉันท์บ้าง

ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับใครแล้วรักกันนั้นง่าย แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะรักคนให้ทุกข์ให้โทษกับเราถ่ายเดียว!

ถ้าจะกล่าวโทษ ก็ต้องโทษธรรมชาติที่บีบให้คนเราต้องอยู่ร่วมกัน กระทบกระทั่งได้ เกิดความขัดเคืองได้ สะสมความรู้สึกไม่ดีต่อกันได้ ไม่ยอมให้เราเกิดเอง โตเอง สบายเอง

มิฉะนั้นก็คงเลือกได้ตามอิสระ เห็นใครอยู่ในฐานะอะไร ควรรักเขามากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่ความผิดของสังคม ที่คนส่วนใหญ่พากันชื่นชม รำลึกนึกถึงพระคุณของพ่อแม่ ถึงขนาดที่เกือบทุกชาติทุกภาษา จัดให้มีวันพ่อ วันแม่ เป็นประจำทุกปี
สะท้อนให้เห็นว่าโลกของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงนั้น เขามองกันว่าพ่อแม่เป็นผู้มีบุญคุณยิ่งใหญ่ ขนาดสมควรที่จะไม่ลืมจัดวันพิเศษเพื่อบูชาพวกท่าน


พ่อแม่มีชีวิตต่อได้ถ้าไม่มีคุณ แต่คุณมีชีวิตขึ้นมาไม่ได้ถ้าขาดพ่อแม่!


กล่าวแบบรวบรัด ถ้าจะถามว่าใครเป็นคนกำหนดให้ต้องนึกถึงบุญคุณพ่อแม่ ก็ต้องตอบว่าธรรมชาตินั่นแหละที่กำหนด และฝังไว้ในสำนึกว่าการรู้คุณพ่อแม่เป็นคุณสมบัติของผู้มีใจสูง
คนเราจะทราบว่าตนมีใจสูงหรือใจต่ำ ก็ดูง่ายๆว่าจำได้หรือเปล่าว่าพ่อแม่สำคัญแค่ไหน

ถึงตรงนี้สรุปได้สั้นๆว่า อย่ารู้สึกผิดถ้าไม่รักพ่อแม่ แต่จะแย่มากถ้าไม่คิดตอบแทนบุญคุณพวกท่านเลย!


ต่อให้เป็นโจรชั่ว เมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษประหารจากองค์ราชา ก็ยังสำนึกคุณ ทุ่มกายถวายชีวิตรับใช้องค์ราชาได้ แม้ต่อมาภายหลังจะถูกกดขี่ข่มเหงอย่างไรก็ก้มหน้าก้มตายอมรับ

เพราะจดจำอยู่ว่ามีชีวิตต่อก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม


แล้วใครจะอ้างได้เต็มปากเล่า ว่าตัวเองย่ำแย่แค่ไหน เกินกว่าจะทำใจรับพ่อแม่อย่างไร จึงนึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ไม่ออก ที่ให้ชีวิตมาทั้งชีวิตตั้งแต่แรก
เห็นได้ชัดเจนว่ายิ่งกว่าพระราชาประทานชีวิตแก่นักโทษประหารไม่รู้กี่ร้อยเท่า
หาค่าของชีวิตให้เจอ แล้วคุณจะได้ตระหนักว่า คุณมีชีวิตขึ้นมาหาค่าของชีวิตไม่ได้ ถ้าปราศจากพ่อแม่


เมื่อเห็นค่าของพ่อแม่ แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะตอบแทนอย่างไร อย่างน้อยก็รู้จักความหมายของคำว่า "กตัญญู" ให้ได้ก่อน
ความกตัญญูเป็นอาการของใจที่มีความสามารถรู้คุณคน ทราบว่าใครมีอุปการคุณต่อเราไว้อย่างไร กล่าวโดยย่นย่อที่สุดคือนึกออก บอกถูก และทำไว้ในใจว่าผู้นั้นผู้นี้ มีบุญคุณกับเราไว้เมื่อครั้งไหน

ถ้ากตัญญูเป็น ก็เหมือนจุดพลุ จุดชนวนให้เกิด "กตเวที" ตามมาเอง เพราะความมีใจสูงของมนุษย์ ย่อมเกิดแรงดันให้อยากตอบแทนคุณ โดยไม่ต้องมีใครเอาหอกดาบมาบังคับ


สำหรับคนเกลียดพ่อแม่ แค่มีแก่ใจ ทำความเข้าใจที่มาที่ไปของพ่อแม่ ให้อภัยในความร้ายกาจของพวกท่านได้ ก็นับว่าปรับใจเข้ากับความประเสริฐแบบมนุษย์ อันเป็นธาตุแท้ของคุณได้แล้ว

สำหรับคนรักพ่อแม่ไม่เท่ากัน แค่มีแก่ใจ นึกสงสารท่านที่ได้รับความรักจากเราน้อยกว่าอีกท่าน เห็นค่าว่าครึ่งหนึ่งที่ประกอบขึ้นเป็นเรา ได้มาจากท่าน หาใช่รับเต็มตัวมาจากฝ่ายไหน

ก็จะก่อให้เกิดกำลังใจในการคิดตอบแทนท่าน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอีกท่านหนึ่ง ความคิดอยากตอบแทนเท่าๆกัน จะค่อยๆปรับความรู้สึกรักไม่ให้ทิ้งระดับห่างจากกันเกินไปนัก


สำหรับคนรักพ่อแม่มากอยู่แล้ว ควรมีแก่ใจ ดูตามจริงว่าพวกท่านมีที่พึ่งให้ตนเองหรือยัง ในทางพุทธ หากชักชวนโดยละม่อม ให้พวกท่านมีใจยินดี ตั้งมั่นในการให้ทาน รักษาศีล
ปลูกศรัทธาในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้หยั่งรากลึกมั่นคงพอ จะนับเป็นการตอบแทนอย่างแท้จริง สมน้ำสมเนื้อ เพราะพวกท่านจะมีหลักประกันให้ตนเองได้ไปดี ไปสว่าง ตลอดจนไปถึงที่สุดทุกข์ได้เป็นแน่แท้

อย่าเค้นใจให้รักพ่อแม่ เพราะจะเหนื่อยเปล่า และยิ่งทรมานใจขึ้น แต่เข้าใจเพื่อเห็นค่าพ่อแม่ แล้ววันหนึ่งจะเข้าถึงความรู้สึกที่ถูกต้อง เป็นสุขที่ได้เป็นมนุษย์เต็มตัว สมเกียรติภูมิกัน

ที่มา : ธรรมะใกล้ตัวฉบับ Lite ฉบับวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๓‏ (ดังตฤณ)

     ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด  พลังจิต



เรื่อง การสร้างบุญกุศลด้วยการดูแลพ่อแม่...ขณะมีชีวิตอยู่


การสร้างบุญกุศลให้กับพ่อแม่ยามแก่เฒ่า คือ การทำความดีให้กับพ่อแม่ เช่น ดูเอาใจใส่เมื่อพ่อแม่ยามแก่เฒ่า ผู้สูงอายุ โดยการหาซื้ออาหารมาให้ท่านทาน ดูแลให้การช่วยเหลือพาไปรักษาพยาบาล นั่งคุยกับท่านยามท่านเหงาในวันหยุดสัปดาห์ การพาท่านไปกราบไหว้พระ ตามวัดต่างๆใกล้ๆบ้าน ถือเป็นบุญกุศลอย่างหนึ่งที่ลูกๆ สามารถกระทำได้ เพื่อตอบสนองบุญคุณ ที่ท่านได้อุปการะเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เยาว์วัย สิ่งนี่แหละทำให้ท่านมีจิตยินดีอันเป็นกุศลจิต และเป็นความทรงจำของท่านทีดีๆ ในปั้นปลายชีวิตของท่าน สำหรับเวลาที่เหลือในขณะท่านมีชีวิตอยู่ก่อนท่านจะจากลูกๆไป....ก่อนที่ลูกๆ จะไม่มีโอกาสสร้างความดีให้กับท่าน
เมื่อเราในขณะมีหน้าที่เป็นลูก และมีหน้าทีประกอบอาชีพทำงาน แสวงหาเงินนำมาเพ่อเลี้ยงดูบุตรและครอบครัว ไหนงานสังคม ในช่วงนี้เอง จะอ้างว่า ลูก ไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า มีงานรัดตัว ไม่ว่าง มีอีกหลายๆ คน ยังอ้างว่า ยังไม่มีเวลาว่าง แต่มันอาจสายเกินไป เมื่อเวลานั้นมาถึง....จะหมดโอกาสดูแล...
การทำบุญ สร้างกุศลดูแลพ่อแม่ เป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่มหาศาล ท่านถือเป็นพระในบ้าน ไฉน.....เราทั้งหลาย จึงขาดการเอาใจใส่ดูแล.....ในสังคมปัจจุบัน เป็นสังคมพุทธศาสนา มีความเมตตากรุณาต่อพ่อแม่ ผู้มีอุปการะคุณ .....แต่ไฉน...ลูกทีมีพ่อแม่ ยังบกพร่อง ต่อการดูแลพ่อแม่และปล่อยให้พ่อแม่อยู่อย่างโดดเดี่ยว..... ขาดความอบอุ่น.... ขาดการเอาใจใส่ดูแล.....
ปัญหานี้ ในสังคมปัจจุบัน .....สามารถพบเห็นได้บ่อยๆ.....
สิ่งที่ได้พบเห็น..การขาดเอาใจใส่พ่อแม่..มุ่งแต่เอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่...ไม่เคารพผู้มีพระคุณ...ถือเป็นการสร้างบาปให้แก่ตนเอง....
การแก้ไขปัญหานี้ อยู่ที่จิตสำนึกแต่ละบุคคล ที่ถูกขาดการอบรม ศีลธรรม จริยธรรม เหตุผลที่โรงเรียนชาวพุทธ ได้ถูกยกเลิกการเรียนการสอนศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมทางพุทธ โดยปัจจุบันมีแนวคิดนำพระมาสอนในโรงเรียนเพียงไม่กี่ชั่วโมง ต่อเดือน ต่อปี แล้วเด็กนักเรียน ผู้จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ก็บกพร่องเรื่อง ศีลธรรม วัฒนธรรม จริยธรรม รวมทั้งการห้ามการลงโทษตีเด็กนักเรียน นี่คือ มิใช่วิถีวัฒนธรรมไทย ดังสุภาษิต " รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี " คือการป้องปราบ มิให้เด็กกระทำความผิดอีก
ปัญหานี้ย่อมนำไปสู่การขาดเอกลักษณ์ของเยาวชนรุ่นใหม่ ที่อ้างว่านับถือพุทธศาสนาแต่เพียงปาก!!!

   ขอบคุณที่มา  หนังสือ..พระในบ้าน http://www.vithi.com/menu04-11-01.htm



57
                                             แจ้งข่าวการมรณภาพของเจ้าอาวาสวัดชิโนรสหรือพระครูระเบียบ
 


สืบเนื่องจากเจ้าอาวาสวัดชิโนรสหรือที่ชาวบ้านต่างรู้จักท่านในนามว่า "พระครูระเบียบ" ท่านได้มรณะภาพ ทางวัดจึงมีกำหนดการรดน้ำศพในวันที่ 20 ตุลาคม 2553 เวลา 14.00 - 17.00 น. จึงเรียนมาเพื่อทราบกันทั่วกัน ส่วนกำหนดการอื่นขอให้ติดตามได้จากประกาศของทางวัดโดยตรง

ประวัติโดยย่อ
                                                                                                                       เจ้าอาวาสวัดชิโนรสหรือพระครู โสภณพัฒนกิจ (เกสโร) หรือ พระครูระเบียบชาติภูมิ ต.เสาธง อ.บางประหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เดิมเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดอัมพวา เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดชิโนรสาราม เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๕ จนกระทั่งปัจจุบัน ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระชินวงศ์พิพัฒน์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ และเป็นพระราชพัฒนโสภณ จนล่าสุดทราบว่าท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระเทพสิริภิมณฑ์

แม้ว่าท่านจะเจ็บป่วยเพียงใดท่านก็ไม่เคยที่จะละกิจของสงฆ์ ท่านได้กล่าวต่อชาวบ้านในวันที่ไปเทศนาที่วัดบางเสาธงว่าวันนี้ท่านไม่ค่อยสบาย เสียงท่านจึงสั่นไปบ้าง ญาติโยมเองก็สังเกตได้ว่าเสียงของท่านไม่เป็นปกติ แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าการเจ็บป่วยในครั้งนี้ของท่านจะเป็นเหตุที่ทำให้ท่านมรณภาพ ต่อมาท่านได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและได้จากไปอย่างสงบที่โรงพยาบาล นับแต่นี้ยามเช้าชาวบ้านย่านบ้านช่างหล่อก็คงไม่มีโอกาสได้เห็นภาพพระสงฆ์สูงวัยออกเดินบิณฑบาตรไปพร้อมกับสามเณรอีกแล้ว สิริอายุของท่านพระครูระเบียบ 80 ปี

อนึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น สมณศักดิ์และข้อมูลต่างๆจึงอาจมีการเปลี่ยนแปลง จึงขออภัยไว้ ณ โอกาสนี้

ส่วนตัวแล้วกระผมใคร่อยากจะกราบเรียนต่อท่านพระครูระเบียบไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า การใดที่กระผมล่วงเกินท่านไปไม่ว่าทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ขอให้ท่านซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของกระผมได้โปรดงดเว้นโทษกระผมด้วย

สุดท้ายนี้กระผมขอแสดงความเคารพต่อท่านในฐานะที่ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของกระผมครับ

   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด  พลังจิต

58
                                                               โทษของการเป็นชู้ - ผิดศีลข้อที่สาม

โทษของการเป็นชู้

๑) ทุกข์ทางใจ

จิต ที่เป็นปกติสุขไม่อาจคิดลงมือคบชู้ การจะคบชู้ได้ต้องใช้จิตที่เป็นทุกข์เท่านั้น เพราะรู้ ๆ กันทั้งโลก ทุกชาติทุกภาษาว่าเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องบาดใจ แม้แต่การแตะเนื้อต้องตัวคนมีเจ้าของด้วยความกำหนัด ก็นับว่าสมควรอดสูใจได้แล้ว เพราะรู้อยู่เต็มอกว่าจะมากหรือน้อยก็เป็นการล่วงละเมิดสมบัติต้องห้ามของ ผู้อื่นอยู่ดี

ฝ่ายหญิงมีรูปเป็นทรัพย์ เมื่อยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้ก็ต้องถือว่าทรัพย์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ ปกครองเลี้ยงดู แต่เมื่อเติบใหญ่ขึ้นในสังคมประชาธิปไตยที่ชายหญิงต่างเลี้ยงดูตนเองได้ อันนำไปสู่การมีสิทธิเท่าเทียมกัน ชายหญิงต้องถือกรรมสิทธิ์ร่วม กล่าวคือนับแต่การหมั้นหมายประกาศจองตัวกันและกันอย่างเป็นทางการ ให้นับว่าทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในร่างกายของอีกฝ่ายเสมอกัน ห้ามฝ่ายใดละเมิดสัญญาด้วยการมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น ขณะเดียวกันถ้าคนอื่นมามีเพศสัมพันธ์ทั้งรู้ว่าหมั้นหมายแล้ว ก็นับว่าผิดศีลเช่นกัน

เนื้อหนังคนเราเปรียบเสมือนอาหารอันโอชะที่ น่าแหนหวงสำหรับเจ้าของ ถ้าต้องลักกินขโมยกินเพียงเพื่อให้หายอยาก ใจเราจะเป็นสุขไปได้อย่างไร แม้เหมือนอิ่มหมีพีมัน ใจก็อดคิดไม่ได้ว่าเรากำลังใช้มือที่สกปรกหยิบอาหารใส่ปาก ทุกคำย่อมเจืออยู่ด้วยพิษหรือเชื้อโรคอันเป็นโทษ ให้ผลเป็นทุกข์ การสังเกตเข้ามาในตนเองจะทำให้เห็นทุกข์เป็นขณะ ๆ อย่างชัดเจน

ทุกข์ เริ่มต้นตั้งแต่เมื่ออยากมีเพศสัมพันธ์กับคนมีเจ้าของ สังเกตเข้ามาในตนเอง จะเห็นขัดแย้งกับส่วนลึกที่ยังมีมโนธรรม และมโนธรรมจะส่งแรงต้านความอยากได้ในสิ่งที่ไม่ควรได้เสมอ

ทุกข์จะ ทวีตัวขึ้นเมื่อตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์กับคนมีเจ้าของ สังเกตเข้ามาในตนเอง จะเห็นเหมือนใจเริ่มก้าวพ้นเขตสว่างเข้าสู่แนวสนธยา ถึงแม้รู้สึกว่ามืดลงทุกที แต่ความตื่นเพริดไปกับจินตนาการที่เร้าใจ ก็รุนหลังเราให้มุ่งหน้าไปเรื่อย เยี่ยงคนไม่กลัวความมืดในป่ารกชัฏ เพียงเพราะได้กลิ่นยวนใจของเหยื่อล่อจากที่นั่น

ทุกข์จะทวีตัวขึ้น อีกเมื่อพยายามมีเพศสัมพันธ์กับคนมีเจ้าของ สังเกตเข้ามาในตนเอง จะเห็นเป็นการฝืนใจ เค้นราคะขึ้นมาเอาชนะความกลัวถูกปฏิเสธ หรือกลัวถูกด่าทอ หรือกลัวถูกจับได้

ทุกข์จะทวีตัวขึ้นถึงขีดสุด เมื่อลงมือมีเพศสัมพันธ์กับคนมีเจ้าของ สังเกตเข้ามาในตนเอง จะเห็นความหน้ามืด ดับสำนึกผิดชอบชั่วดีลง ราวกับทั้งชีวิตเหลือแต่การเคลื่อนไหวตามสัญชาตญาณไม่ต่างจากสัตว์โลกทั่วไป

ทุกข์จะไม่จบโดยง่ายแม้เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับคนมีเจ้าของสำเร็จ สังเกตเข้ามาในตนเอง จะเห็นเป็นความรู้สึกไม่ดี น่าดูถูก ผิดที่ผิดทาง หรือกระทั่งชวนให้ขยะแขยง และที่สำคัญคือรู้สึกว่าต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ จะให้ใครรู้ไม่ได้ โดยเฉพาะผู้เป็นเจ้าของ

ถ้าคนมีเจ้าของไม่ค่อย มีเสน่ห์ทางเพศนัก สำนึกผิดชอบชั่วดีของเราจะกลับมาเร็ว และรู้สึกแย่กับพฤติกรรมของตนเต็มที่ แต่ถ้าคนมีเจ้าของเป็นพวกมีเสน่ห์ทางเพศสูง สำนึกผิดชอบชั่วดีของเราจะถูกกดไว้ ใจจะทะยานต่อตามแรงฉุดจากเสน่ห์ทางเพศของฝ่ายนั้น กระทั่งพุ่งลิ่วไปบนเส้นทางเห็นผิดเป็นชอบ สำคัญว่ากงจักรเป็นดอกบัว กว่าจะรู้สึกตัวว่าหลงเดินบนเส้นทางอันเน่าเหม็นและระทมทุกข์ ก็ตกอยู่ในเงามืดจนยากจะคลำหาเส้นทางใหม่เสียแล้ว

๒) การสั่งสมบาป

ดัง ที่ทราบแล้วว่าความมืดเป็นเครื่องหมายของบาป เราก็สามารถสำรวจใจตนเองแล้วทราบได้ว่าการผิดประเวณีเป็นบาป เพราะไม่มีการผิดประเวณีครั้งใดที่ทำให้จิตของเราสว่างขึ้น มีแต่จะหม่นหมองลง กับทั้งไม่มีแก่ใจคิดอะไรในทางดี ในทางที่เจริญเอาเลย

แรง ผลักดันให้ผิดประเวณีได้คือราคะ ราคะต้องชนะความยับยั้งชั่งใจทางเพศ จึงขับให้เราก่อบาปด้วยการผิดประเวณี ความยับยั้งชั่งใจทางเพศเป็นสิ่งที่มนุษย์มีกันโดยธรรมชาติ แม้แต่เด็กเพิ่งรู้ความก็ทราบว่าไม่ควรให้คนแปลกหน้ามาจับต้องอวัยวะเพศของ ตน และตนก็ไม่ควรถือวิสาสะไปลูบคลำอวัยวะเพศของใคร การกล้าทำถือเป็นความทะลึ่งผิดธรรมดา

ที่น่ากลัวก็คือบาปสามารถ สั่งสมตัวได้ นั่นหมายความว่ายิ่งผิดประเวณีมากขึ้นเท่าไร ใจก็ยิ่งยับยั้งชั่งใจน้อยลงเท่านั้น มองไปทางไหนใครต่อใครกลายเป็นวัตถุทางเพศที่น่าลิ้มลองไปหมด ต่อให้รู้ทั้งรู้ว่ามีเจ้าของแล้วก็ไม่สน ไม่รู้สึกว่าเป็นกำแพงกีดขวางที่มีสาระสำคัญอันใดเลย

แม้แกล้งเอา ไหล่ไปเฉียดแขนคนที่เราเห็น ๆ อยู่ว่าเดินมากับคู่ครอง ไหล่ของเราก็ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องรับเชื้อโรคทางวิญญาณแล้ว เมื่อเพาะเชื้อโรคแล้วลุกลามใหญ่โตจนครอบใจได้ทั้งดวง เราจะรู้สึกว่าตัวเราสกปรก แม้อาบน้ำชำระสะสางกายได้สะอาดสะอ้าน ก็เหมือนทั้งตัวเต็มไปด้วยยางเหนียวเหนอะหนะที่แกะไม่ออก บางคนถึงขั้นที่กลิ่นตัวเหม็นแปลก ๆ ฟอกถูด้วยสบู่หอม กลิ่นเหม็นก็ไม่หายเลยทีเดียว

ความคิดในทางผิดประเวณีจะลดความฉลาด ในการหาคู่แท้ให้ตัวเอง หรือแม้เจอคู่แท้แล้วก็จะไม่ฉลาดในการรักษาไว้ บาปที่พอกพูนขึ้นจะทำให้เราสำคัญไปว่าชีวิตจะมีสีสันต่อเมื่อได้ลิ้มรสเพศ สัมพันธ์แปลกใหม่ไม่รู้จบ

ฉะนั้น เพียงไม่ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะเว้นขาดจากการผิดประเวณี ก็นับว่ามีโทษแล้ว เพราะเมื่อถูกเร้าใจให้เกิดราคะอย่างแรงกล้า ความยับยั้งชั่งใจทางเพศย่อมลดระดับแทบไม่เหลือ ยังผลให้สติพร่าเลือนลง เปิดช่องให้ราคะเข้าครอบงำจนโง่เขลา หลงนึกว่าบาปแห่งการผิดประเวณีเป็นสิ่งสมควรทำยิ่งกว่าบุญแห่งการระงับราคะ ผิด ๆ ขอเพียงสบโอกาสเหมาะ แม้แต่ก่อคดีข่มขืนชำเราก็ยังเป็นไปได้

๓) ความเป็นอยู่ที่เลวร้าย

ไม่ มีความรู้สึกอ่อนแออันใดย่ำแย่ไปกว่าความรู้สึกอ่อนแออันเกิดจากการเป็นชู้ เพราะบาปข้ออื่นยังทำลงไปด้วยจิตใจแกร่งกล้ากันได้ เช่น เราอาจฆ่าสัตว์ตัดชีวิตด้วยกำลังกายและกำลังใจที่เหนือกว่าคู่ต่อสู้ เราอาจขโมยของด้วยการตั้งใจระมัดระวัง เราอาจโกหกด้วยความคิดอ่านฉลาดแหลมคม เราอาจกินเหล้าเพื่อกระตุ้นความฮึกเหิม แต่ถ้ายอมถอดเสื้อผ้าทิ้งความอายลงพื้น และเอากำลังกายกับสติปัญญาไปทิ้งในบ่อกามสกปรก เราจะพบว่าความเปลี้ยเพลียอ่อนล้าทางกายหลังเสร็จกิจทางเพศ จะเกิดขึ้นพร้อมกับความไร้สำนึกยับยั้งทางเพศ ก่อให้เกิดผลเป็นความมึนงง ปวกเปียก และเฉื่อยแฉะไร้แรง เหมือนกำลังใจจะทำอะไรดี ๆ หรือกำลังใจจะต่อต้านความคิดที่ชั่วร้าย ดูเหือดแห้งไปจากเราเสียเกือบหมด

เมื่อ บาปจากการผิดประเวณีถูกสั่งสมมากแล้ว ผู้ผิดประเวณีย่อมเลื่อนฐานะเป็นหญิงร้ายหรือชายโฉด ดูเผิน ๆ เหมือนกร้านโลกไม่หยี่หระกับความประพฤติผิดใด ๆ แต่ที่แท้บาปหนาจนความรู้สึกด้านชากว่าใคร ๆ ต่างหาก ความด้านชาของหญิงร้ายและชายโฉดเกิดจากการหมักหมมคราบสกปรกทั้งทางกายและ วิญญาณ จึงย่อมก่อให้เกิดกระแสในตัวที่น่ารังเกียจ ชวนให้รู้สึกคลื่นเหียนกับความสกปรกเน่าเหม็น เฉกเช่นหมูในเล้าที่จำต้องกินอยู่อย่างสกปรกเกือบตลอดเวลา

การผิด ประเวณีแต่ละครั้งคือการไม่ให้เกียรติผู้อื่น ซึ่งก็มีผลสะท้อนให้นับถือตนเองน้อยลง พูดง่าย ๆ ว่าได้สมบัติทางเพศของคนอื่นมา เพื่อเสียความนับถือตัวเองไป

จิต ของหญิงร้ายและชายโฉดเปรียบเหมือนคนที่จุ่มศีรษะลงไปในเมือกลื่นจนชุ่มโชก ย่อมไม่ได้รู้สึกถึงความแห้งสบาย แม้จมูกได้กลิ่นหอมของสวนดอกไม้ แต่ใจลึก ๆ ก็เหมือนได้กลิ่นเหม็นของกามผิด ๆ อยู่เกือบตลอดเวลา

จิตที่ชุ่ม ด้วยเมือกลื่นย่อมเหมาะกับภพใหม่ที่สกปรก ต่ำชั้น เต็มไปด้วยความน่ารังเกียจ น่าอึดอัดระอา และอาจถึงขั้นเน่าเฟะ ถ้ายังมีวาสนาพอจะเกิดใหม่ในโลกมนุษย์ ก็ย่อมเป็นที่ชิงชังของผู้พบเห็น ราวกับว่าใครเห็นก็อยากเขี่ยทิ้งด้วยเท้ากันหมด สภาพเช่นนั้นย่อมยากที่จะผูกมิตร แต่ง่ายที่จะผูกเวร ดึงดูดคนและสัตว์ให้อยากเข้ามาด่า เข้ามาว่า เข้ามาทำร้ายเป็นขบวน

ความ ผิดทางเพศย่อมนำไปสู่ความผิดปกติทางเพศ ถ้ามีวาสนาได้เป็นมนุษย์ก็อาจรังเกียจเพศของตน และอยากเป็นอีกเพศหนึ่งแทน หรือโตขึ้นถูกดึงดูดเข้าสู่วิถีทางของการเบี่ยงเบนทางเพศได้ เป็นที่ทรมานใจของตนเองเนิ่นนาน

หากตายเยี่ยงชู้ผู้ยังไม่อิ่มไม่ พอกับการผิดประเวณี ไม่มีโอกาสกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก แต่ยังพอมีบุญพยุงไม่ให้ร่วงหล่นถึงนรก ก็อาจไปเสวยภพของพวกรักความสกปรกระดับเดรัจฉานภูมิ เช่น หนอนในส้วม เป็นต้น

แต่หากตายเยี่ยงหญิงร้ายและชายโฉดผู้ล่อลวงใครต่อใครเข้า มาร่วมบาปแห่งการผิดประเวณี ไม่เห็นแก่หัวอกหัวใจเจ้าของบ้างเลย ก็จัดว่ามีความเหมาะกับสภาพความเป็นอยู่อันเสียดแทงเจ็บแสบ ดังเช่นนรกภูมิสถานเดียว!

นำมาจาก ผิดที่ไม่รู้ - ดังตฤณ

   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด  dhammakid

59
ธรรมะ / แผ่เมตตาให้ศัตรู
« เมื่อ: 17 ต.ค. 2553, 07:00:25 »
                                                            แผ่เมตตาให้ศัตรู (ท่านปิยโสภณ วัดพระรามเก้า)

แผ่เมตตาให้ศัตรู

สัพเพ สัตตา แปลว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง :
ในที่สุด คนที่เคยเป็นศัตรูเราก็จะกลับกลายเป็นมิตร ไม่ช้าก็เร็ว
การก่อเวรข้ามภพข้ามชาติกันก็จะหมดไป

โดย ปิยโสภณ


คำนำ

การผูกอาฆาตพยาบาท จองเวร ให้ผลข้ามพบข้ามชาติ
ถ้าเราเปรียบภพชาติ เหมือนคืนวัน
การนอนหลับ เหมือนการตาย
การตื่นจากหลับ เหมือนการเกิด
ภพชาติก็ใกล้ตัวเราเข้ามา
การผูกอาฆาตพยาบาท
เหมือนการเข้านอนโดยไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกาย
หลับก็ไม่เป็นสุข ตื่นขึ้นมาก็ไม่สดชื่น

ในแต่ละวัน จิตใจของเราเก็บเกี่ยวเฉี่ยวโฉบ
อารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง อิจฉา นินทา
อาฆาตพยาบาท ขุ่นแค้น ขัดเคือง นานาชนิดเอาไว้
ถ้าไม่มีวิธีชำระใจ ก็จะเกิดสนิมใจขึ้นมา
คนไม่อาจนอนได้อย่างมีความสุข หากไม่ชำระร่างกายฉันใด
ใจที่ไม่ถูกชำระ จะทำให้ฝันร้าย อารมณ์หงุดหงิด หลับไม่สนิท ฉันนั้น

ข้าพเจ้าเขียนหนังสือเล่มน้อยนี้ขึ้นมาจากเรื่องจริง
ประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับตนเอง
เมื่อหนังสือนี้พิมพ์เผยแพร่ออกไป
ปรากฏว่ามีผู้คนจำนวนมากเข้ามาพูดคุยสนทนาด้วย
บางคนบอกว่าอ่านแล้วทำให้ได้สติ

มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งมาจากต่างประเทศ
มีสนิมใจเกิดขึ้นหมักหมมมานานกว่า ๒๐ ปี
ไม่มีทางแก้ มันตามหลอกหลอนทุกอริยาบถ
เข้านอน เข้าห้องน้ำ อารมณ์โกรธ
เกลียดพยาบาทก็ยังตามหลอน
ต้องถอนหายใจตลอดเวลา

ข้าพเจ้าแนะนำว่า เราต้องหาวิธีปลดปล่อยอารมณ์นั้นให้ได้
เพื่อเราจะได้ไม่ต้องผูกอาฆาตพยาบาทใคร
หรือให้ใครตามมาจองเวรเราข้ามภพข้ามชาติ
แปลว่า กาลข้างหน้า เราไม่ต้องมารองรับสู้รบกับใครอีกต่อไป
แต่ทว่า การอโหสิกรรมให้แก่คนที่เรารัก...ทำได้ง่าย
แต่คนที่เราชัง ทำได้ยาก...ถึงกระนั้น เราก็ต้องทำให้ได้

การ “แผ่เมตตาให้ศัตรู” ที่เขียนไว้นี้
พอเป็นแนวทางให้ท่านทั้งหลายฝึกปฏิบัติ
เพื่อวันหน้า ภพหน้า เราจะได้ไม่มีใครเป็นศัตรูต่อไป
เป็นการชำระใจของเราให้สะอาดทุกวันๆ
เพื่อให้มั่นใจว่า แม้วันนี้เราจะต้องตายจากไป
เราก็รู้สึกไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ไม่มีใครเป็นศัตรูกับเรา
ไม่มีหนี้กรรมเวรใดๆ จะต้องไปชดใช้กับใครในภพอื่นชาติโน้น
ใจเราก็เป็นสุขสบาย ใจเขาก็เอิบอิ่มเป็นบุญ
เริ่มต้นที่เรา มิใช่รอให้เขาเริ่มต้น
เริ่มต้นวันนี้ มิใช่รอให้ถึงวันพรุ่งนี้...เพราะพรุ่งนี้อาจไม่มีเรา

ขออนุโมทนาบุญและแสดงความยินดีกับท่าน
ที่ได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มน้อยของข้าพเจ้านี้
ขอให้ท่านจงคิดว่า
เราเกิดมาลงทุน แม้ยังไม่ได้กำไร...ก็อย่าให้ขาดทุนในชีวิต
ขอจงเป็นผู้ปราศจากเวรภัยต่อกันทุกเมื่อ
อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนกัน
ขอจงอยู่ด้วยกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ตลอดไปเถิด

ปิยโสภณ


แผ่เมตตาให้ศัตรู

เจ้ากรรมนายเวร คือ สัตว์น้อยใหญ่ที่เรากินเป็นอาหาร
เราชอบกินหมู เจ้ากรรมนายเวรของเรา คือ หมู
เราชอบกินไก่ เจ้ากรรมนายเวรของเรา คือ ไก่
เราชอบกินเป็ด เจ้ากรรมนายเวรของเรา คือ เป็ด
แม้กุ้ง หอย ปู ปลา ที่เรากินมาตั้งแต่เกิด
กระทั่งถึงวันนี้ นับไม่ถ้วนว่ากี่ร้อยกี่พันชีวิต
ก็คือ เจ้ากรรมนายเวรของเราทั้งสิ้น

เนื้อหนังมังสาของเรา อวัยวะทุกส่วน
ล้วนแล้วแต่มีหุ้นส่วนของชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ทั้งสิ้น
บางครั้ง เราคิดว่าเป็นของเราคนเดียว
ไม่เคยแผ่เมตตาให้สัตว์น้อยใหญ่
ที่เรากินเข้าไปทุกวันๆ
ทั้งๆ ที่เขาสละชีวิตของเขา เพื่อต่อชีวิตเราให้ยืนยาวออกไป

เขาก็รู้สึกน้อยใจที่ถูกเพิกเฉย
ความน้อยใจของเขา บางครั้งทำให้เราเกิดโรคร้าย
เช่น มะเร็ง เป็นต้นได้
บางทีก็ป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ หมอหาเหตุไม่พบ
แต่พอแผ่เมตตากลับหาย
เรื่องเช่นนี้ มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย

ทุกครั้งที่เราไหว้พระสวดมนต์
ขอให้เราแผ่เมตตาให้สัตว์น้อยใหญ่ ที่เรากินเป็นอาหาร
การแผ่เมตตาให้เขา แท้จริง ก็คือ แผ่ให้ตัวเรานั่นเอง
การให้เขา คือ การให้เรา เพราะเขาอยู่กับเรา
เขา คือ ร่างกายของเรา
เขาสละชีวิตเลือดเนื้อ มาเป็นพลังงานชีวิตเรา
แม้ขณะที่เราอ่านหนังสือหรือทำอะไรอยู่
ก็มีพลังงานของเขา คอยสนับสนุนทุกส่วน

การแผ่เมตตาทำได้ง่าย เพียงแต่ให้นึกถึงเขาเสมอๆ
คิดถึงความดีของเขา ที่ส่งเสริมให้เรามีชีวิตอยู่ได้ถึงวันนี้
หลับตาน้อมจิตอธิษฐาน
ขออย่าให้เราเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ให้มีความปลอดภัยในชีวิต

การแผ่เมตตา ถือเป็นการแสดงความขอบคุณต่อหลายชีวิต
ที่ถูกปรุงเป็นอาหารอร่อยวางบนโต๊ะอาหาร
รอคอยเรามาร่วมวงขบเคี้ยว
ดูเหมือนเราไม่ค่อยคิดกันในเรื่องนี้
หากแต่มองเห็นทุกอย่างบนโต๊ะเป็นความอร่อย
ทั้งๆ ที่ความจริง เรากำลังกินศพหมู ศพไก่ ศพเป็ด
ศพวัว ศพกุ้ง ศพปู ศพปลา
คิดดูเถิด คล้อยหลังจากเราอิ่มเพียงชั่วโมงเดียว
เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา หูฉลามที่เรากินเข้าไป
ก็ถูกย่อยเป็นพลังงาน
ส่วนกากอาหารก็เน่าเหม็น เป็นอันตราย
กระทั่งเราต้องขับถ่ายออกมาทุกวันๆ
เราอาจคิดไม่ถึงว่า เรากำลังกินสัตว์อื่น
ชีวิตเราถูกเลี้ยงด้วยชีวิตของสัตว์อื่น
การกิน คือ การต่ออายุ
วันหนึ่งเราต่ออายุ ๓ เวลา
แต่ละเวลา เราต้องรับประทานสัตว์อื่นหลายสิบชีวิต
ขนาดใหญ่บ้าง ขนาดเล็กบ้าง
บางทีไข่ในท้องปลาที่เรากิน
หากเขาได้เกิดมาเป็นตัว ก็คงเป็นปลาจำนวนมหาศาล
แต่เราเคี้ยวกินเป็นกับข้าวเพียงคำเดียว
การแผ่เมตตาให้สัตว์น้อยใหญ่ที่เรากินเป็นอาหาร
จึงเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง
เพราะเป้นการแสดงความขอบคุณ
และให้อภัยต่อกันและกัน
ให้เขามีความรู้สึกว่า เขามีส่วนร่วมในชีวิตของเรา
เหมือนเรายินดีต้อนรับแขก ที่เดินเข้ามาพักในบ้านเรา
แขกก็จะรู้สึกอบอุ่น เพราะการตอนรับที่ดีของเจ้าบ้าน

ต่อมาก็มาถึงการแผ่เมตตาถึงคนที่เรารัก
และคนที่เรารู้สึกว่า เขาเป็นศัตรูกับเรา
คือ เรารู้สึกเกลียดชังเหลือเกิน
ไม่อยากพูดด้วย ไม่อยากร่วมงานด้วย
ไม่อยากเกี่ยวข้อง ไม่อยากเห็นหน้า

โดยธรรมชาติของมนุษย์
ยิ่งเกลียดยิ่งได้อยู่ใกล้
ยิ่งโกรธก็ยิ่งถูกแกล้ง
เขาทำอะไรลงไป
ดูเหมือนจะขัดใจขวางหูขวางตาไปหมด
เพราะเราตั้งใจไว้ผิดเสียแล้ว
เพียงแต่เห็นก็เป็นทุกข์
เขาทำปากขมุบขมิบอยู่ไกล ไม่ได้ยินเสียง
เรายังคิดว่าเขากำลังด่าเราได้

เราเป็นทุกข์เพราะความคิด
ทุกข์เพราะจินตนาการ
เป็นความผิดของเราเอง มิใช่ความผิดของเขา
บางทีเขาก็แกล้งให้เราเป็นทุกข์
เพราะรู้ว่าให้ยาพิษแล้ว
เรายินดีรับมาดื่ม เป็นความผิดของเราเอง
เรากำลังจุดไฟภายในเผาเราเองต่างหาก

เป็นเรื่องน่าคิดว่า มนุษย์เราชอบมองหาความผิด
ชอบจับเอาความผิด เค้นหาความผิดของคนอื่น
ส่วนความผิดของตนกลับกลบเกลื่อน ไม่ค่อยจับถูก
เมื่อจับผิด เขาจึงพลาดความดีตลอดเวลา
อะไรที่เป็นขยะ จึงขนเข้ามากองในใจทั้งหมด
สุดท้ายหัวใจของเขา ก็กลายเป็นกองขยะที่เน่าเหม็น
มิใช่หิ้งบูชาที่งดงามอย่างแต่ก่อนอีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้ได้
ปรับวิธีดำรงชีวิตเสียใหม่ ไม่ให้ใจเป็นถังขยะ
แต่ให้ใจเป็นหิ้งบูชาพระที่งดงามทุกวัน
ด้วยการมองหาดีของคนให้พบ
มองบวก คิดบวก พูดบวก
เพราะการทำอะไรเป็นบวก จะทำให้ได้กำไร และใจสบาย

ส่วนการมองลบ คิดลบ พูดในทางลบ
นอกจากตัวเองเกิดทุกข์แล้ว
ยังทำให้ผู้อยู่รอบตัวเราเป็นทุกข์ตามไปด้วย
เราควรหลีกเลี่ยงคนที่คิดในทางลบ
เพราะทำให้ชีวิตเราติดลบไปด้วย

การแผ่เมตตา คือ การคิดบวก พูดบวก มองหาดี
ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก
แต่ความจริงหากฝึกให้เป็นนิสัย ก็เป็นเรื่องง่าย
เพราะโดยธรรมชาติแล้ว
เราชอบใคร เราก็อยากไปหาคนนั้น
เรารักใครมาก ก็อยากยกให้เขาหมด
มีอะรก็ให้หมดได้โดยไม่รู้สึกเสียดาย
แม้บางครั้ง เขาไม่อยากได้
เรายังอุตส่าห์ยัดเยียดให้เลย ถ้าพอใจ ภูมิใจ
พอเขาไม่รับ ก็อาจเสียใจลึกๆ
หาว่าไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ไม่ยินดีตอนรับ
จากรักก็พาล จะกลายเป็นร้ายไปได้

มาถึงคนที่เราเกลียดชัง
เรื่องจะแบ่งใจให้ไม่มีอยู่แล้ว
เรื่องง่ายก็มักเป็นเรื่องยากเสมอ
จึงจำเป็นต้องหาวิธีแผ่เมตตาที่แยบคาย

โดยธรรมชาติมนุษย์ เกลียดชังใคร
แม้แต่เงา เราก็ไม่อยากเห็น มีอะไร ก็ไม่อยากให้
เราไม่ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนๆ นั้น
ต้องการเดินคนละเส้นทาง ห่างได้ยิ่งดี
แต่เขาลืมคิดไปว่า ทางอารมณ์เราหนีตัวเองไม่ได้
ยิ่งเดินหนีก็ยิ่งวิ่งตาม
อารมณ์โกรธเกลียด ก็มักจะวิ่งตามขนาบเราไป
บางทีก็วิ่งข้ามภพข้ามชาติไปกับเรา
ก่อเหตุร้ายไม่สิ้นสุด
ยุติพยาบาทในชาตินี้ให้ได้
แผ่เมตตาให้ อโหสิกรรมกันให้ได้ในชาตินี้

จะมีใครคิดบ้างว่า
ศัตรูบางคน ตั้งความปรารถนาขอไปเกิดเป็นลูกของเราก็มี
เพื่อจะได้เผาผลาญจิตใจของเราให้ถึงที่สุด
เช่น ลูกบางคนเกิดมา เพื่อผลาญทรัพย์สินสมบัติของพ่อแม่
ทำให้พ่อแม่เกิดทุกข์ สอนไม่ได้ บอกไม่ฟัง
ทำให้พ่อแม่นอนเป็นทุกข์ กินไม่ได้
ไม่เคยมีความภูมิใจในลูก มีแต่ความกลัดกลุ้มใจ

บางคนพ่อแม่ถึงขนาดตัดขาดจากความเป็นพ่อแม่ลูกกันก็มี
สิ่งเหล่านี้ เราต้องมองให้ออก
และหาวิธีแก้ต้นเหตุที่ระบบความคิดของเราให้ได้

แต่ช่างน่าแปลกเหลือเกินที่คนเราชังใครมากๆ
มักจะต้องได้เกี่ยวข้องกับคนนั้น
ไม่อยากเห็นหน้าใคร ก็มักจะได้เห็นเขาอยู่บ่อยๆ
ยิ่งเกลียดยิ่งได้อยู่ใกล้
ถึงขนาดบางคนต้องมาอยู่เป็นคู่ชีวิตก็มี
กรรมเวรมีจริง ผลของการอาฆาตพยาบาท ให้ผลร้ายขนาดนี้

อะไรทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้
พลังงานความคิดที่เรา ไม่ยอมปลดปล่อยอารมณ์ออกไปนั้นเอง เป็นเหตุ
สังเกตดูให้ดีจะเห็นว่า เราคิดเกลียดเมื่อใด
ก็เท่ากับเราทาสีลงบนผ้า ที่สีกำลังจะเลือนหายไป
เราคิดโกรธเมื่อใด
เท่ากับเราตอกย้ำให้เกิดความคมชัดทางความรู้สึกขึ้นมาอีกเท่านั้น
เป็นการเติมมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม
ที่มีต่อคนๆ นั้น ให้คงเหลืออยู่ตลอดเวลา
ทั้งๆ ที่ใกล้จะเลือนหายไปแล้ว

คนเราชอบพูดถึงคนที่เราเกลียด
เมื่อพูดบ่อยๆ อารมณ์นั้นก็จะฝังแน่นในใจ
แม้ไม่ปรารถนาจะเก็บความไม่ดีของคนนั้นไว้
เขาหารู้ไม่ว่า นั่นคือ การนำขยะที่เน่าเหม็นมาเก็บไว้ในใจตัวเอง

ในที่สุด ใจเราก็เต็มไปด้วยอารมณ์เกลียด
อารมณ์เน่าเฟะอยู่ในใจเรา
พึงจำไว้ว่า คนที่เราเกลียดชังหรือโกรธแค้น
หยุดพูด...ก็หยุดคิด
หยุดคิด...ก็เลือนหาย
เพียงแต่เราอดใจไม่ได้ มักย้ำคิด ย้ำทำ ย้ำพูด
สติเราไม่พอกับความรุนแรงของอารมณ์
การยับยั้งชั่งใจไม่เข้มแข็ง
จึงต้องเหยียบย่ำทำกรรมในใจตัวเอง

ขอให้สังเกตดูให้ดี เรื่องนิดเดียวสามารถบานปลาย
ได้ด้วยคำพูดเพียงคำเดียว
บางทีเราพูดนิดเดียว แต่คนฟังนำไปขยายต่ออีกสิบ
พูด ๒ ครั้ง ก็นำไปขยายต่ออีกนับไม่ถ้วน
ความเกลียดชัง อาจเริ่มต้นจากจุดนิดเดียว
แต่กลายเป็นเชื้อไวรัสมากมาย
เพราะคำพูดของเรา เพราะปากของเราเอง
เพราะเห็นแก่ความสนุกปาก

การปรับทุกข์ในบางครั้ง
ก็ไม่ต่างอะไรกับการเติมเชื้อเพลิงความทุกข์ ให้ตัวเอง
เติมเชื้อแห่งความอาฆาตพยาบาท ลงไปในจิตใจเราเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องหาวิธีแผ่เมตตาให้ถูกต้อง
คือ แผ่ให้ถึงศัตรูให้ได้
เพื่อให้ความเป็นศัตรูในใจเขาและเราหมดไปจากกัน
ยุติบทบาทกรรมข้ามภพข้ามชาติให้ได้

ในทางพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงสอน
ให้เราแผ่เมตตาด้วยการใช้คำว่า
“สัพเพ สัตตา แปลว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง”
คำนี้มีนัยที่สำคัญมาก
นั่นคือ ทรงสอนให้เราแผ่เมตตาให้ถึงศัตรูได้ โดยไม่รู้สึกติดขัด

ให้คิดว่าคนทุกคนเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่มาเยือนโลก
ชาติชั้นวรรณะ เขาสมมติเรียกให้
เผอิญเกิดบนแผ่นดินไทย ก็เรียก คนไทย
หากเกิดที่จีน ก็เรียก คนจีน
เกิดญี่ปุ่น ก็เรียกว่า คนญี่ปุ่น
แต่ความเป็นคนเป็นสัตว์เท่ากัน
มีความเสมอกันในการได้ชีวิต
จริงๆ แล้ว เราก็อยู่ในโลกนี้ได้ไม่นาน...ก็ต้องจากโลกนี้ไปทั้งนั้น

การมาเกิดจึงไม่ต่างจากการมาเที่ยว
เมื่อวีซ่าหมดอายุ ก็ต้องรีบกลับ
ถ้าเราคิดกว้างๆ ได้อย่างนี้
คือ คิดว่าทุกคนเป็นเพียงสรรพสัตว์เท่านั้น ไม่ได้คิดว่าเป็นศัตรู
ใจของเราก็จะรู้สึกสบายขึ้น เบาโปร่ง หายใจโล่ง
เราก็เริ่มจะแผ่เมตตาได้

ธรรมดามนุษย์เรา เวลาแผ่เมตตาให้คนที่เรารัก
พลังจิตจะถูกดึงออกไปอย่างแรง
เหมือนเทน้ำลงไปในที่ลุ่ม
น้ำจะใหลลงไปที่ลุ่มอย่างรวดเร็ว
ส่วนการส่งกระแสจิตแผ่เมตตาไปให้คนที่เราเกลียดชัง
เหมือนเทน้ำให้ไหลไปที่ดอน ย่อมเป็นไปไม่ได้

อารมณ์ที่ส่งไปถึงคนที่เราเกลียด จึงมักจะติดขัด
เพราะพลังจิตไม่ยอมเดินทาง
เนื่องจากมีความคิดว่า จะแผ่เมตตาให้ศัตรูทำไม
ในเมื่อเขาทำเราเจ็บ
เมื่อคิดเพียงเท่านี้ คนที่เป็นศัตรู ก็ยังคงเป็นศัตรูอยู่ต่อไป
และอาจเพิ่มความเป็นศัตรูมากขึ้นทุกครั้ง
ที่แผ่เมตตาให้คนที่รารักเราชอบ

เหมือนมีเด็กสองคนยืนอยู่ต่อหน้าเรา
คนหนึ่งเรารักมาก อีกคนเราไม่รักเลย
เวลายื่นของให้เด็ก เรายื่นให้เฉพาะเด็กที่เรารัก
ไม่ยื่นให้คนที่เราชัง เด็กก็รู้สึกต่างกัน
ทุกครั้งที่เรายื่นของให้เด็กที่เรารัก
ก็จะเพิ่มความเกลียดชังในใจของเด็กอีกคน
การอิ่มครั้งที่สองของเด็กคนหนึ่ง
ย่อมหมายถึงความหิวทวีคูรของเด็กอีกคน

วิธีแผ่เมตตา ท่านจึงสอนไม่ให้คิดว่า เป็นคนที่เรารักหรือชัง
หากแต่ให้คิดว่า เป็นสรรพสัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย
ร่วมโลกเดียวกัน ทุกชีวิตเป็นเพียงธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เท่านั้น
การคิดเช่นนี้ เป็นการปรับอารมณ์ให้สมดุลกันก่อน
ปรับให้ถึงธาตุเดิมของชิวิต
ยกเชื้อชาติศาสนาวัฒนธรรมเผ่าพันธุ์ออกไปก่อน
เพื่อไม่ให้เกิดความสุดโต่งทั้งรักและชัง
เหมือนกับการปรับพื้นดินไม่ให้สูงหรือต่ำ
แต่ปรับให้พื้นทุกตารางนิ้วได้ระดับเดียวกันหมดเสียก่อน
แล้วจึงเทน้ำลงไป น้ำที่เทลงไปก็จะกระจายไปทุกพื้นที่ได้ง่าย
ที่ดอนก็ไม่มี ที่ลุ่มก็ไม่เกิดขึ้น
การแผ่เมตตาก็เช่นเดียวกัน

การแผ่เมตตาให้คนที่เราเกลียดทำได้ยาก
แต่จำเป็นยิ่งกว่าแผ่เมตตาให้คนที่เรารัก
เพราะปัญหาอยู่ที่ความรู้สึกเป็นศัตรู มิใช่ความรู้สึกรัก
ยิ่งเกลียดมากยิ่งต้องใช้พลังจิตสูง
แต่ถ้าทำได้แล้ว ก็สบายใจไปตลอดชีวิต
อาจจะยากเพียงครั้งแรกครั้งเดียว...ครั้งต่อไปก็ง่าย
ยิ่งเราได้ปฏิบัติเป็นประจำจนเคยชิน...ของยากก็เป็นของง่าย
ทุกอย่างก็ถือเป็นปกติ ไม่มีอุปสรรคขัดข้อง
และความรู้สึกเป็นศัตรูหรือโกรธเกลียด อาฆาตพยาบาท...ก็จะหมดไป
ก็จะเลือนหายไปจากใจเรา...กระทั่งหมดสิ้น

ในที่สุด คนที่เคยเป็นศัตรูเราก็จะกลับกลายเป็นมิตร...ไม่ช้าก็เร็ว
การก่อเวรข้ามภพข้ามชาติกัน...ก็จะหมดไป
ทุกชีวิตก็จะปลอดจากภัยเวรในสงสารวัฏ
เกิดภพใดชาติใด ก็จะพบแต่คนดี
มีคนอุ้มชูช่วยเหลือ จะทำให้มีครอบครัวดี มีลูกดี
มีรูปสมบัติ มีสติปัญญาดี
เพราะทุกอย่างเริ่มต้นที่ “ทำใจดี” ให้ได้ในวันนีh

   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด dhammajak


60
                                                  กรรมทันตาเห็นหรือกรรมที่ให้ผลชาตินี้(ทิฐธรรมเวทนียกรรม)

กรรมที่ให้ผลในชาติปัจจุบันหรือกรรมที่ให้ผลทันตา (ทิฐธรรมเวทนียกรรม) เป็นกรรมที่มีพลังอำนาจให้ผลในชาตินี้เลยทีเดียว ไม่มีแรงกรรมไปถึงชาติหน้าหรือชาติอื่นๆ มี 2 อย่าง
1.กรรมที่ให้ผลทันตาภายในเจ็ดวัน (ปริปักกทิฐธรรมเวทนียกรรม)มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว เช่น

ชายยากจนเข็ญใจคนหนึ่ง ซึ่งมีนามว่า นายปุณณะพร้อมกับภรรยาของเขา ได้มีโอกาสถวายภัตตาหารแด่องค์พระสารีบุตรมหาเถรเจ้า ซึ่งเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ พอถวายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้รับผลกรรมทันตาเห็น คือ ได้กลายเป็นเศรษฐีมีสมบัติมาก เกิดความร่ำรวยมหาศาลภายในเจ็ดวัน นี่เป็นกรรมฝ่ายดี

สมเด็จพระเจ้าสุปพุทธะราชาธิบดี แห่งเทวทหะนคร ซึ่งเป็นพระราชบิดรองค์เจ้าชายเทวทัตและฟ้าหญิงยโสธรา ผู้มีจิตอาฆาตพยาบาทต่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้า ภายหลังได้เสวยน้ำจัณฑ์จนมีพระอาการมึนเมา แล้วเข้าปิดกั้นทางโคจรบิณฑบาตรแสดงอาการไม่เคารพขับไล่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ สำเร็จ เป็นกรรมทันตาเห็น แล้วถูกธรณีสูบไปเสวยทุกข์อยู่ในนรก ภายในเวลาเจ็ดวัน นี่เป็นกรรมฝ่ายชั่ว

2.กรรมที่ให้ผลหลังเจ็ดวันล่วงไปแล้ว แต่ไม่ข้ามภาพข้ามชาติคงให้ผลเฉพาะในชาตินี้เท่านั้น (อปริปักกทิฐธรรมเวทนียกรรม) มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วเหมือนกัน

ตี๋ใหญ่ปล้นร้านทอง ฆ่าเจ้าทรัพย์ ทำกรรมชั่วนี้ นานติดต่อกันถึง 7 ปี สุดท้ายก็โดนฆ่าตายเหมือนกันนี่เป็นกรรมฝ่ายชั่ว

 ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด  ลานธรรมสวนะ


61
                                                       เมตตาเป็นเหตุ กรุณาเป็นผล (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

“โลโก ปตฺถมฺภิกา เมตฺตา - เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก”

พระพุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ให้ความรู้สึกชัดเจนว่า เมตตายิ่งใหญ่นัก แม้เมตตาไม่ยิ่งใหญ่จะเป็นเครื่องค้ำจุนโลกได้อย่างไรเล่า  เพราะโลกนั้นมิใช่เล็ก มิใช่ยิ่งใหญ่ธรรมดา แต่ยิ่งใหญ่เป็นพิเศษที่เดียว ดังนั้นสิ่งที่ค้ำจุนโลกได้จึงต้องมีความยิ่งใหญ่เป็นพิเศษมิได้น้อยกว่า ความยิ่งใหญ่ของโลก และสิ่งนั้นคือเมตตา เมตตาจึงยิ่งใหญ่ที่สุด สำคัญที่สุด ควรเป็นที่ได้รับความเทิดทูนถนอมรักษาเหนือสิ่งอื่นใดทั้งนั้น

โลกคือทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งมนุษย์ ทั้งสัตว์ ทั้งบุคคล ทั้งสิ่งของ ทั้งตัวเรา ทั้งตัวเขา กล่าวได้ว่าอะไรทั้งนั้นที่มีอยู่ เห็นได้อยู่ ล้วนเป็นโลก ตัวเขาก็คือโลก ตัวเราก็คือโลก ทั้งหมดทั้งสิ้นคือโลก ควรจะอัศจรรย์นักที่สิ่งเหล่านี้ทรงตัวอยู่ได้ ไม่สูญสลายไป ก็เพราะมีเครื่องค้ำจุน ที่คิดเพียงผิวเผินแล้วเป็นสิ่งเล็กน้อยนักคือความเมตตา

เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก เมตตาใหญ่ยิ่งนักจริงๆ สำคัญนักจริงๆ  เมตตาคือความปรารถนาดีปรารถนาให้เป็นสุข คำที่คู่กับเมตตาคือกรุณา กรุณาที่เป็นความลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดความพ้นจากทุกข์ ได้เป็นสุข พูดไปแล้วเมตตากับกรุณาแยกกันไม่ได้ เหมือนเป็นคำเดียวกัน เพียงแต่ว่าเมตตาเป็นเหตุและกรุณาเป็นผล เมื่อมีเหตุต้องมีผล เป็นธรรมดาเสมอไป เช่นที่พูดกันเสมอว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว  ดังที่ปรากฏเป็นสัจธรรมในพระพุทธศาสนา

: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
: พระชนมายุ ๘๗ พรรษา วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๓
  
  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด dhammajak

62
                                                      การปล่อยวาง กับ ความไม่รับผิดชอบ


สวัสดีค่ะ ดิฉันเป็นผู้หนึ่งที่เลื่อมใสและศัทธาในพระพุทธศาสนา เลื่อมใสในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดิฉันเกิดความสงสัยและอยากให้ผู้ที่ศึกษาและเข้าใจมากกว่าดิฉัน ได้โปรดช่วยชี้แนะดิฉันด้วย
การที่พระพุทธเจ้าท่านได้เดินทางออกค้นหาหนทางดับทุกข์นั้น ท่านได้ปล่อยวางซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง อันได้แก่ ทรัพย์สมบัติ ภรรยา ลูก และพ่อแม่ไป เพื่อหาทางหลุดพ้น และหากในตอนนี้เราทำอย่างที่ท่านทำบ้าง เราจะถูกเรียกว่าเป็นคนที่ละทิ้งหน้าที่และความรับผิดชอบหรือไม่
หากคำถามนี้ไม่ถูกไม่ควร ดิฉันต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย มิได้มีเจตนาจะลบหลู่ซึ่งสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น หากแต่เป็นสิ่งที่ดิฉันสับสนและวอนขอผู้ที่เข้าใจ ช่วยชี้แนะดำฉันด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง ขอบคุณค่ะ

ปล่อยวาง หมายความว่าความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ติด ไม่หลง ไม่เกาะเกี่ยวในสิ่งใด คือ จิตเราที่ไม่ไปผูกติดกับทิฐิใด เรื่องใด สิ่งใด เหตุการณ์ใด อันจะนำให้จิตของเรานั้นหนักหน่วงกับมัน ไม่มีที่สิ้นสุด

ฉะนั้น การปล่อยวางจึงเป็นการปฏิบัติที่นำไปสู่ความสุขขั้นสุดยอด จิตเราจะอิสรเสรีอย่างยิ่ง สอดคล้องกับพระไตรปิฎกที่ว่า สัพเพธัมมานาลังอภินิเวสายะ" ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

ลองอ่านธรรมะจากพระอาจารย์ไพศาล วิศาโล ดูนะคะท่านบรรยายไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้
ไว้ดังนี้ค่ะ


             ปล่อยวางอย่างรับผิดชอบ

             พระไพศาล วิสาโล


คำสอนทั้งปวงในพุทธศาสนา ถึงที่สุดแล้วมุ่งไปสู่การปล่อยวาง เพราะปล่อยวางได้เมื่อไร ก็หมดทุกข์เมื่อนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการปล่อยวาง คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจไปว่า หมายถึงถึงอยู่เฉย ๆ งอมืองอเท้า นี่เป็นความเข้าใจผิด ปล่อยวางแบบพุทธหมายถึงปล่อยวางที่ใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา หรือยึดมั่นให้มันเป็นไปตามใจเราก็จริง แต่ก็ต้องดูแลเอาใจใส่ด้วยความรับผิดชอบ เช่น ร่างกายนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ใช่ตัวเราของเรา จึงควรปล่อยวาง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องดูแล ร่างกายไม่ใช่ของเราก็จริง แต่เราต้องดูแลเอาใจใส่ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยเราในการทำความดี เหมือนกับเรือที่จะพาเราข้ามฟาก เราก็ต้องดูแลเอาใจใส่ ถ้ารั่วก็ต้องอุด ถ้าเสียก็ต้องรู้จักซ่อมแซม เรารู้อยู่ว่าเมื่อถึงฝั่งแล้วเราจะไม่แบกเอาเรือไปด้วย แต่ในขณะที่ยังไม่ถึงฝั่งเราก็ต้องดูแล คอยซ่อมแซมเพื่อนำเราไปถึงจุดหมายให้ได้ เรามีหน้าที่ต้องซ่อมแซมดูแลเรือ ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่ใช่เรือของเราก็เลยปล่อยวางไม่สนใจ ถ้าเช่นนั้นเราจะถึงจุดหมายได้อย่างไร

มีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่งหลวงพ่อชา สุภัทโท เดินไปตรวจตราตามกุฏิพระ เห็นพระรูปหนึ่งนั่งหลบฝน เนื่องจากหลังคารั่ว ฝนจึงหยดลงมา หลวงพ่อชาก็เลยถามว่า ทำไมไม่ซ่อมหลังคาล่ะ พระรูปนั้นบอกว่าผมปล่อยวางครับ หลวงพ่อชาก็เลยบอกว่า ปล่อยวางกับวางเฉยแบบงัวแบบควายนั้นไม่เหมือนกัน

ผู้คนมักคิดว่าวางเฉยแบบงัวแบบควายเป็นการปล่อยวางแบบพุทธ นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด ปล่อยวางเป็นเรื่องภายในใจ แต่หน้าที่การงานเราก็ต้องทำตามสมควรแก่เหตุปัจจัย โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งแก่ตัวเราเองและต่อผู้อื่นด้วย พระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตโต)ได้สรุปสั้นๆ ว่า ปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องการทำ “จิต” ส่วนการทำงานต่าง ๆ ด้วยความรับผิดชอบนั้นเป็นเรื่องการทำ “กิจ” ในเมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนเป็นนิจ ในแง่จิตใจเราจึงควรปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง แต่ขณะเดียวกันอะไรที่สมควรทำเราต้องรีบทำ ไม่เฉื่อยแฉะเฉื่อยเนือย เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียตามมา การทำกิจนั้นบางทีท่านก็เรียกว่าความไม่ประมาท

ความไม่ประมาทกับการปล่อยวางเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ แม้อากัปกิริยาภายนอกทำงานด้วยความขยันขันแข็ง แต่ภายในใจไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา พร้อมอยู่เสมอที่จะเผชิญกับความผันผวน พร้อมที่จะเจอความล้มเหลว เพราะรู้ว่าเหตุปัจจัยต่างๆ มีมากมายที่เราควบคุมไม่ได้ เวลาทำงานก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่านี่มันเป็นงานของเรา ใครจะมาแตะต้องหรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เวลาทำอะไรก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าผลต้องออกมาอย่างนี้อย่างนั้น ถ้าไม่ออกมาตามที่หวัง ฉันโมโห ฉันโกรธ ฉันท้อแท้ ผิดหวัง ท่าทีเช่นนี้จะทำให้เป็นทุกข์ได้ง่าย

เดี๋ยวนี้เราทำด้วยความยึดมั่นกันมาก ยึดมั่นว่าเป็นของเราก็เลยทำ ถ้าไม่ใช่ของเราก็ไม่ทำ หรือว่ายึดมั่นในผล เวลาทำอะไรก็ตามก็วาดหวังหรือหมายมั่นว่าผลจะต้องออกมาอย่างนี้จึงจะมีกำลังใจทำ ถ้าทำโดยไม่ต้องพะวงถึงผลข้างหน้า แต่ทำตามเหตุตามปัจจัยหรือมุ่งประกอบเหตุให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ แบบนี้ทำไม่เป็น ต้องมีแรงจูงใจคือเอารางวัลหรือเอาผลที่สวยงามมาล่อให้มีกำลังใจ นี้ไม่ใช่วิธีการทำงานแบบพุทธ ท่าทีที่ถูกต้องแบบพุทธคือทำงานโดยไม่จำเป็นต้องเอาความสำเร็จหรือรางวัลมาล่อ แต่ทำเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ มีคุณค่า และน่าทำ ขณะที่ทำจิตก็อยู่กับปัจจุบัน พร้อมเผชิญกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา ล้มเหลวก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นเอง แต่งานล้มเหลว ก็ไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลว เพราะว่าเราไม่ได้เอาตัวตนไปผูกติดไว้กับงาน ใครมาวิจารณ์งานก็ไม่ทุกข์ไม่เสียใจ เพราะไม่ได้ยึดติดว่างานนี้เป็นตัวกูของกู

ทำงานอะไรก็ตาม พึงทำด้วยความใส่ใจและรับผิดชอบ โดยไม่ถือว่างานนั้นเป็นตัวกูของกู ทำเสร็จแล้วก็มอบผลงานให้เป็นของธรรมชาติไป ไม่ยึดว่าเป็นเราหรือของเรา คำสรรเสริญเยินยอและชื่อเสียงเกียรติยศที่เกิดขึ้นก็มอบให้แก่ธรรมชาติ หรือมอบให้แก่ผู้คนที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นของเรา ใครสรรเสริญก็ไม่ได้หลงใหลได้ปลื้ม ใครมาตำหนินินทาก็ไม่ได้ทุกข์ร้อน เพราะไม่ได้ยึดว่าเป็นของเราตั้งแต่ต้น ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าเวลาทำงานเรามักคาดหวังผล แถมยังไปยึดติดกับคำสรรเสริญเยินยอและคำนินทาว่ากล่าว จึงทำงานอย่างไม่มีความสุข

การปล่อยวางหมายถึงว่าเราไม่เข้าไปยึดในผลที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบวกหรือลบ แม้ภายนอกอาจจะไม่ได้ปฏิเสธ แต่ภายในใจนั้นไม่รับอยู่แล้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสทั้งพูดทั้งเขียนมาตลอดว่าสมณศักดิ์เป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีความหมายสำหรับท่าน ท่านขอเป็นทาสของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว แต่ว่าเมื่อท่านทำงานให้พระศาสนา จนเจริญในสมณศักดิ์เป็นลำดับ จากพระครู เลื่อนเป็นพระราชาคณะสามัญ แล้วก็เป็นชั้นราช ชั้นเทพ ชั้นธรรม สุดที่พระธรรมโกศาจารย์ เคยมีลูกศิษย์มาแนะอาจารย์พุทธทาสว่า สมณศักดิ์เหล่านี้ท่านน่าจะคืนเขาไป ท่านอาจารย์พุทธทาสก็บอกว่า จะคืนได้อย่างไร ก็เรายังไม่ได้รับมาตั้งแต่แรกจะคืนได้อย่างไร คือแม้ทางราชการจะให้สมณศักดิ์และพัดยศมาแต่ใจท่านไม่ได้รับเลย จะเป็นชั้นไหนก็ไม่เคยรับมาตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปคืนเขา

ถ้าเราวางใจได้อย่างนี้ เวลาทำงาน ได้รับคำสรรเสริญเราก็ไม่รับมาเป็นของเรา หรืออาจจะถือไว้แต่ไม่ได้เอามาสวมใส่ ทำได้แบบนี้จะรู้สึกสบาย โปร่งเบา เมื่อถึงเวลาที่เขาตำหนิติฉินเราก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจเพราะว่าเราไม่ได้รับตั้งแต่แรก เมื่อมีคนชมก็ไม่เพลินหรือหลงตัว เมื่อถูกตำหนิก็ไม่เสียใจ สองอย่างนี้ไปด้วยกัน ถ้าเราทำใจด้วยใจที่ปล่อยวางแล้ว เราจะทำงานด้วยใจที่สบาย อิสระ โปร่งเบา และทำด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่ใช่สบายแล้วเฉื่อยชาเฉื่อยแฉะ ตรงข้าม เราทำเต็มที่ เพราะความสุขคือการอยู่กับปัจจุบัน แม้ทำงานก็มีความสุข สุขอยู่ที่งานไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน ยิ่งมีสติและสมาธิด้วยแล้ว จะทำงานอย่างมีความสุขมาก แม้ผลจะยังไม่ปรากฏก็ตาม ถ้าทำงานด้วยท่าทีเช่นนี้ ผลของงานจะไม่มีอิทธิพลต่อเรามากนัก เราจะทำด้วยความสุข และด้วยสำนึกว่า มันเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่ทำเพราะว่ามันเป็นของเรา

การปล่อยวางและการทำงานด้วยความรับผิดชอบ หรือทำด้วยความไม่ประมาท เป็นสิ่งที่เราต้องเชื่อมให้เป็นอันเดียวกันให้ได้ อย่าไปแยกกัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการปล่อยวางตามอำนาจของกิเลสหรือความหลง มิใช่ปล่อยวางเพราะมีปัญญา

   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต
         

63
กฎแห่งกรรม / กรรมชั่วตกถึงลูก
« เมื่อ: 15 ต.ค. 2553, 01:08:24 »
                                                                      กรรมชั่วตกถึงลูก

กฎแห่งกรรม : กรรมชั่วตกถึงลูก

กรรมและผลของกรรมนั้น เป็นสิ่งที่สลับซับซ้อนยากที่จะเข้าใจได้อย่างละเอียด บางครั้งพ่อเป็นคนสร้างกรรม แต่ผลของกรรมกลับไปแสดงผลกับลูก กับครอบครัว เป็นต้น อย่างไรก็ตามพระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ นอกจากทุกคนจะมีกรรมเป็นของตนเองแล้ว แต่ละคนยังมีกรรมร่วมกันด้วย เมื่ออยู่ในครอบครัวเดียวกัน ก็จะมีกรรมที่ทุกคนเคยทำร่วมกัน จึงได้รับผลร่วมกันก็มี ดังเรื่องราวของ “ประยงค์” ชายรับจ้างวัย 51 ปี เป็นคนสามพราน นครปฐม เขามีฐานะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มีรายได้แค่พอเลี้ยงครอบครัวไปวันๆเท่านั้น

วันหนึ่งมีร้านอาหารมาเปิดแถวพุทธมณฑลสาย 5 ซึ่งไม่ไกลจากบ้านของประยงค์เท่าใดนัก และเจ้าของร้านก็รู้จักกันดีกับประยงค์ ที่ร้านนี้มีเมนูอาหารหลายอย่าง แต่ที่ขึ้นชื่อน่าจะเป็นปลาช่อนลุยสวน ซึ่งมีรสชาติอร่อยมาก เพราะใช้ปลาช่อนสดๆที่เพิ่งถูกฆ่าใหม่ๆ เมื่อร้านอาหารมีคนมาอุดหนุนมากขึ้นเรื่อยๆ ปลาช่อนลุยสวนเมนูเด็ดของร้านจึงทำไม่ค่อยทัน หลายครั้งปลาก็หมดอย่างรวดเร็ว เจ้าของร้านจึงคิดสั่งปลามาเพิ่ม เพื่อจะได้ตอบสนองลูกค้าอย่างเพียงพอ

เจ้าของร้านเห็นประยงค์ไปรับจ้างได้ค่าแรงไม่มาก จึงคิดอยากจะหาทางช่วยเหลือ วันหนึ่งเมื่อได้เจอประยงค์ เขาก็ถามว่าสนใจที่จะทำงานให้กับร้านหรือไม่ ประยงค์ก็รีบรับปากทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เจ้าของร้านบอกว่า ทำอยู่ที่บ้านก็ได้ ทำเสร็จค่อยเอาไปส่งที่ร้าน จะทำกี่คนก็ได้ ช่วยกันทำ ยิ่งทำได้มาก ก็ยิ่งจะได้ค่าตอบแทนมาก งานนั้นก็คือ เป็นเพชฌฆาตฆ่าปลาช่อน พร้อมขอดเกล็ดให้เรียบร้อย

ประยงค์ไม่ได้นึกอะไรไปมากกว่าได้รับค่าตอบแทนที่ดี มีเงินเพิ่มเพื่อเลี้ยงครอบครัว เพราะตอนนี้เขาก็มีลูกสาวอยู่คนเดียว อายุเพิ่ง 7 ขวบ ความหวังของประยงค์ นั้นอยากจะให้ลูกได้มีโอกาสเรียนสูงๆ จะได้ไม่ลำบากเหมือนพ่อแม่ เขาจึงตกปากรับคำกับเจ้าของร้าน

วันรุ่งขึ้นก็มีรถขนปลาช่อนตัวเป็นๆ มาที่บ้านเขาจำนวนมาก ตอนแรกที่เห็นปลาทั้งหมดดิ้นในถัง ทำเอาประยงค์รู้สึกกลัวเหมือนกันที่ต้องฆ่าปลาเหล่านี้ เพราะขนาดของปลามีแต่ตัวใหญ่ๆ หากเป็นปลาตัวเล็กๆ เขาก็คงไม่หวาดเสียวเท่าใดนัก แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะได้รับปากไว้แล้ว

ประยงค์จึงเริ่มทำงานโดยทุบหัวปลาช่อนให้ตายทีละตัวๆ บางตัวก็ต้องทุบหลายครั้งกว่าจะตาย เนื่องจากตัวใหญ่หัวแข็ง ในแต่ละวันกว่าจะทุบหัวปลาและขอดเกล็ดหมดก็ใช้เวลานานพอสมควร และตามแขนขาหน้าตาของเขาเต็มไปด้วยเลือดปลาที่กระเด็นใส่!!

เมื่อวันแรกของการเป็นเพชฌฆาตปลาช่อนผ่านไปและมีรายได้ดี ประยงค์ก็ไม่รู้สึกอะไรอีก นอกจากทุบหัวปลาให้ได้มากขึ้น หลายครั้งเขาก็เรียกลูกเมียมาช่วย ซึ่งตอนแรกๆทุกคนรู้สึกกลัว ไม่กล้าทำ แต่เมื่อเห็นจนเป็นความเคยชิน จึงได้เริ่มลองทำดูบ้าง จนทำให้งานของเขาเสร็จเร็ว ได้เงินมากขึ้น และเหลือเวลาไปรับจ้างทำอย่างอื่นได้อีก
 
บ้านของประยงค์อยู่ริมคลอง ทุกเช้าเขาจะมานั่งทุบหัวปลาอยู่ริมคลองพร้อมกับครอบครัว หลังจากทุบเสร็จ ขอดเกล็ดแล้ว ก็จะตักน้ำคลองมาล้างปลาจนสะอาด และทุกเช้าจะมีพระเดินบิณฑบาตรผ่านบ้านเขาทุกวัน บางครั้งพระที่เดินผ่าน มาก็ตกใจ เพราะเห็นปลาที่ประยงค์กำลังทุบอยู่นั้นดิ้นอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช ทุกข์ทรมานกับการถูกทุบหัวเป็นยิ่งนัก บางครั้งดิ้นแรงมากจนถึงกับกระเด็นมาใกล้เท้าพระ หลายครั้งที่พระได้เตือนประยงค์ไปว่า หากเลี่ยงอาชีพนี้ได้ก็ให้เลี่ยงซะ อย่าทำเลย เพราะมันเป็น บาปเป็นกรรม ประยงค์ก็รับฟังสิ่งที่หลวงพ่อสอน แต่ว่าจะให้เขาทำอย่างไร จะเปลี่ยนอาชีพก็ไม่รู้จะไปทำอะไร จึงคิดว่าทำอาชีพนี้ต่อไปก่อน หากหาอาชีพใหม่ที่ดีกว่านี้ได้แล้ว ค่อยเปลี่ยนไปทำ

เวลาผ่านไป ครอบครัวของประยงค์เริ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากคนที่กลัวการฆ่า แต่วันนี้ทุกคนไม่กลัว และเห็นการฆ่าปลาเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย จนกลายเป็นความเคยชิน เพราะอาชีพนี้ช่วยให้ครอบครัวเขาดีขึ้น

ประยงค์และครอบครัวไม่เคยคิดเลยว่า สิ่งที่เขากำลังทำอยู่นี้ ผลกรรมมันจะตามมาทันอย่างรวดเร็วในชาตินี้... แล้วกฎแห่งกรรมก็เดินทางมาถึงในช่วงเย็นของวันหนึ่ง ลูกสาวของประยงค์ได้ลงไปเล่นน้ำในคลองหน้าบ้านตามลำพัง ซึ่งตามปกติเธอก็มักจะโดดน้ำคลองเล่นเป็นประจำมาตั้งแต่ตัวเล็กๆ จนกระทั่งอายุ 7 ขวบ เธอจึงมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับการเล่นน้ำในคลอง พ่อแม่ก็ปล่อยให้เล่นตามสบาย เพราะเห็นลูกเล่นอย่างนี้มานานแล้ว


แต่วันนี้ไม่เหมือนวันก่อนๆ น้องเจนจิราได้ปีนขึ้นต้นไม้ริมคลองแล้วกระโดดลงน้ำ เหมือนอย่างที่เคยเห็น เด็กแถวบ้านทำกัน เธอกระโดดพุ่งหัวลงไปในคลองอย่างรวดเร็ว ทันใดนั้นหัวของเธอก็ไปกระทบเข้ากับตอไม้ท่อนใหญ่ที่อยู่ในน้ำอย่างแรง จนหัวแตก คอหัก ทำให้เธอจมดิ่งลงใต้น้ำ!! กว่าที่พ่อแม่จะรู้ว่าลูกจมหายไปในน้ำ แล้วลงไปช่วยกันงมหา น้องเจนจิราก็ได้กลายเป็นศพไปเสียแล้ว...

ประยงค์และภรรยาต่างร้องไห้คร่ำครวญด้วยความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่าง มาก เพราะมีลูกสาวเพียงคนเดียว แถมยังมาตายอย่างน่าอนาถ ความฝันของประยงค์ ที่จะทำให้ลูกสาวได้เรียนสูงๆนั้นจึงหายวับไปกับตา เมื่อเขาได้สติก็ ระลึกถึงคำเตือนของพระ ว่าสิ่งที่เขากับครอบครัวช่วยกันทำนั้นเป็นบาปกรรม พวกปลาที่ถูกเขาฆ่าคงอาฆาตแค้นอยู่ไม่น้อย จึงทำให้ลูกสาวต้องตายในสภาพเช่นเดียวกับปลาช่อนที่ถูกทุบหัวนั้น!!

นี่คือผลของกรรมที่เห็นได้ทันทีในชาตินี้ ถึงแม้ว่ากรรมที่ทำจะไม่ได้แสดงผลกับประยงค์โดยตรง แต่การที่มันให้ผลกับลูกของเขา ก็ยิ่งเป็นเหมือนกับมีดโกนที่บาดลงกลางใจของผู้เป็นพ่อ เพราะลูกเป็นเหมือนแก้วตาดวงใจ เขายอมทำทุกสิ่งทุกอย่างได้เพื่อลูก แต่เมื่อเห็นลูกมาตายเช่นนี้ ชีวิตเขาก็เหมือนกับตายทั้งเป็น

การฆ่าสัตว์ใดๆ ก็ตาม ล้วนแต่เป็นบาป ผิดศีล และผลกรรมจากการฆ่าสัตว์จะทำให้อายุสั้นลงด้วย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 118 กันยายน 2553 โดย มาลาวชิโร)

  ขอบคุณที่มา  ผู้จัดการออนไลน์

64
บทความ บทกวี / ทายนิสัยจากใบหน้า
« เมื่อ: 15 ต.ค. 2553, 09:52:53 »
                                                                 ทายนิสัยจากใบหน้า

‘รู้หน้า ไม่รู้ใจ’ คำนี้ได้ยินบ่อย ๆ ส่วนใหญ่มักใช้ในเชิงลบ วันนี้ เดลินิวส์ออนไลน์ มีวิธีอ่านใจคนจากใบหน้ามาเล่าสู่กันฟัง 
                                                                                                                                                                         ใบหน้ารูปกลม ลักษณะความกว้างและความยาวบนใบหน้าเกือบจะเท่ากัน แต่หน้าผากและคางจะกลม มองได้ว่าคนรูปหน้ากลมเป็นคนมองโลกในแง่ดี ใจเย็น ใจดี แต่เป็นคนเรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ ไม่กระตือรือร้น ไม่ค่อยอดทน ไม่หนักแน่น และไม่ชอบชิงดีชิงเด่นกับใคร มักปล่อยให้ชีวิตลอยตามลมไม่มีจุดมุ่งหมาย ซึ่งบางครั้งนิยสัยแบบนี้ก็ทำให้ชีวิตจืดชืดน่าเบื่อ อาชีพที่เหมาะสมที่สุดคือ ‘แม่บ้าน’

ใบหน้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะใบหน้าจะดูยาวกว่ากว้าง นับเป็นรูปหน้าที่ดีที่สุด เพราะแสดงถึงความน่าคบ น่าสนใจ รักเดียวใจเดียว เป็นคนทำอะไรด้วยใจเต็มร้อย เป็นคนเข้มแข็งแต่ไม่ก้าวร้าว ฉะนั้นคนรูปหน้าสี่เหลี่ยมผืนผ้าจะไม่มีวันร้องไห้กับเรื่องไร้สาระเด็ดขาด เพราะความฉลาดทำให้รู้จักวางตัว มีภาวะผู้นำสูง ชอบเป็นนักการทูต ชอบสันติภาพ ความชอบเหล่านี้คือความสุขของคุณ ‘ผู้มีน้ำใจ’

ใบหน้ารูปสามเหลี่ยม ลักษณะหน้าผากกว้างและสูง คางแหลมเห็นได้ชัด รูปหน้าบ่งบอกว่าเป็นคนคล่องแคล่วว่องไว ตัดสินใจเร็ว ใจร้อน ชอบคิดชอบฝัน ช่างจินตนาการไปไกล และเป็นคนอ่อนไหว บางครั้งรู้สึกเจ็บปวดกับฝันที่ไม่เป็นจริง นั่นเพราะได้แต่ฝัน ไม่ยอมลงมือทำ

ใบหน้ารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะหน้าผากและรูปกรามกว้างจนเกือบเท่ากัน รวมทั้งความกว้างและความยาวบนใบหน้าก็ยาวเท่ากัน แสดงว่าคุณเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง หลงตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเองสูง ทำให้เป็นคนทำอะไรตรงไปตรงมา คิดอย่างไรก็พูดไปอย่างนั้น เรื่องนินทาชาวบ้านไม่ใช่นิสัย จุดเด่นของคนใบหน้ารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสคือ เข้มแข็ง มีความอดทนสูง สามารถรับมือกับปัญหาสารพัดรูปแบบได้อย่างสบาย กระตือรือร้น ขยันทำงาน ไม่หยิบโหย่ง มีความมุมานะเป็นที่สุด

ใบหน้ารูปไข่ บริเวณแก้มจะกว้าง หน้าผากและคางจะกลมมนเป็นรูปไข่ นับเป็นรูปหน้าของคนสวย จุดเด่นคือสวยสะดุดตา เป็นคนรักสวยรักงาม ช่างแต่งตัว เป็นคนฉลาด ไม่อ่อนแอ รักความสบายเหนือสิ่งอื่นใด ความรักต้องมาคู่กับฐานะทางการเงินที่ดี เพราะความฉลาดทำให้ปรับตัวเข้ากับสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ดี และมักโชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้างอยู่เสมอ มีความสามารถทางศิลปะ รสนิยมดี ช่างฝันและมุ่งมั่นทำฝันให้เป็นจริง

ใบหน้ารูปข้าวหลามตัดหรือรูปเพชร ลักษณะโหนกแก้มเป็นกระดูกที่เห็นเด่นชัด หน้าผากและคางจะแคบ ใบหน้าบ่งบอกว่าเป็นคนหยิ่งถือตัวและชอบใช้อำนาจ แต่ความจริงแล้วคุณเป็นคนเข้มแข็งและเชื่อมั่นในตัวเองมากจนเกินไปทำให้ใบหน้าไม่ยิ้มแย้ม คุณเป็นคนขี้ระแวง ใจแคบ ระมัดระวังตัวมาก จนบางครั้งทำให้ต้องโดดเดี่ยว เพราะใคร ๆ ก็ถอยห่าง คุณมักยึดถือตัวเองเป็นใหญ่ ไม่ยอมอ่อนข้อให้ใคร จุดเด่นคือใจกล้า มีความพรสวรรค์ด้านศิลปะ รสนิยมหรู ฉลาดและเจ้าเล่ห์

ใบหน้ารูปชมพู่ ลักษณะหน้าผากแคบ คางและกรามเป็นสันดูแข็งแรง บ่งบอกว่าคุณเป็นคนแข็งแรง มีความอดทนสูง ไม่ชอบง้อใคร รักความอิสระ แต่ชอบเรียกร้องความสนใจ เป็นคนขยันในทุกด้าน ทั้งการเรียน การงาน ทำได้ดีทั้งหมด แม้ว่าเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่คนก้าวร้าว ตรงข้ามกับบุคลิกภาพที่สุภาพเรียบร้อย รู้กาลเทศะ แต่ดื้อไปหน่อยเท่านั้นเอง

ใบหน้ารูปหัวใจ ลักษณะโหนกแก้มกว้าง คางแหลม ที่เห็นชัดคือตีนผมตรงหน้าผากจะยื่นแหลมออกมาตรงกลาง ดูแล้วเป็นรูปหัวใจ ใบหน้ารูปนี้จะดึงดูดใจคนรอบข้าง เป็นคนมีเสน่ห์ เจ้าชู้ สนุกกับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ชีวิตแพรวพราว ชอบเรื่องตื่นเต้นผจญภัย มีความสุขกับชีวิตนอกบ้าน เข้าสังคมเก่ง เป็นคนสนุก สดใส ไม่น่าเบื่อ และยังเป็นคนฉลาด คล่องแคล่วว่องไว อ่อนไหวและช่างฝัน ขณะเดียวกันก็เข้มแข็ง ทะเยอทะยาน มีความมั่นใจในตัวเองสูง

Daily News Online > โทรโข่ง > หน้าเกร็ดความรู้ > ทายนิสัยจากใบหน้า

  ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด พลังจิต

65
"หลวงปู่จันทา"เกจิอาจารย์ปราจีนบุรีมรณภาพอย่างสงบคนแห่รดน้ำศพ


เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 14 ตุลาคม 53 ที่วัดป่าเกษมสุข ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ประชาชนต่างหลั่งไปรดน้ำศพหลวงปู่จันทา อนากุโล พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดปราจีนบุรี หลังจากที่มรณภาพด้วยอาการสงบ หลังจากที่เข้ารับรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี ด้วยโรคระบบการหายใจล้มเหลว และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เมื่อเวลา 22.04 น.ของวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา รวมสิริอายุได้ 87 ปี

ศพของหลวงปู่ได้ตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลาการเปรียญวัดป่าเกษมสุข และทุกคืนจะมีการสวดพระอภิธรรมเป็นเวลา 19 วัน จากนั้นก็จะเก็บศพไว้ที่กุฏิของท่านที่จำพรรษาอยู่ ทางคณะกรรมการวัดจึงใคร่ขอเรียนเชิญประชาชนที่เคารพนับถือในตัวของหลวงปู่ ไปร่วมงานโดยพร้อมเพียงกัน หลวงปู่จันทา เป็นพระนักปฏิบัติสายธรรมยุต ที่ธุดงค์ไปแสวงหาธรรมมะและแผ่เมตตาโปรดดวงวิญญาณตามป่าช้าป่าเขาลำเนาไพร ไม่จำพรรษาซ้ำที่เดิมจนเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน จนกระทั่งมีชาวบ้านบริจาคที่ดินสร้างวัดดังกล่าว

  ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด พลังจิต

66
                                                        ลดบางอย่าง...ได้หลายสิ่ง


หากท่านลดความโกรธให้น้อยลง
ท่านจะได้สติกลับมามากขึ้น


หากท่านลดความคิดที่จะหาคนที่ถูกน้อยลง
ท่านจะได้คำตอบสำหรับทำเรื่องที่ถูกต้องมากขึ้น
หากท่านลดการพูดให้น้อยลง
ท่านจะทำหลายอย่างได้มากขึ้น
หากท่านคิดถึงคนที่ท่านรักให้น้อยลง
ท่านจะเข้าใจคนที่ท่านรักได้มากขึ้น
หากท่านรักตัวท่านเองให้น้อยลง
คนอื่นรักท่านมากขึ้น
หากท่านพูดให้ร้ายคนอื่นให้น้อยลง
มีคนพูดถึงท่านในแง่ดีมากขึ้น
หากท่านแสดงความฉลาดให้น้อยลง
ท่านจะได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น
หากท่านออกนอกบ้านให้น้อยลง
ท่านจะได้ความอบอุ่นในครอบครัวมากขึ้น
หากท่านนอนให้น้อยลง
ท่านจะทำหลายอย่างได้มากขึ้น
หากท่านคิดเรื่องเครียดให้น้อยลง
ท่านจะยิ้มได้มากขึ้น
หากท่านลดความอายให้น้อยลง
ท่านจะได้ความกล้ามากขึ้น
หากท่านดูละครให้น้อยลง
ท่านจะอ่านหนังสือได้มากขึ้น
หากท่านวิ่งให้ช้าลง
ท่านจะมองเห็นคนข้างหลังมากขึ้น
หากท่านเชื่อให้น้อยลง
ท่านจะมองเห็นอะไรได้มากขึ้น
หากท่านลดทิฐิให้น้อยลง
ท่านจะรู้จักอภัยมากขึ้น
หากท่านกระโดดให้น้อยลง
ท่านจะเดินได้มั่นคงมากขึ้น
หากท่านกินให้น้อยลง
ท่านจะอิ่มได้มากขึ้น
หากท่านก้มหน้าให้น้อยลง
ท่านจะมองเห็นได้ไกลขึ้น
หากท่านพักเหนื่อยให้น้อยลง
ท่านรู้จักความสบายมากขึ้น
หากท่านเห็นแก่ตัวให้น้อยลง
จะมีคนรอดชีวิตมากขึ้น
หากท่านแบกของหนักให้น้อยลง
ชีวิตของท่านเบามากขึ้น
หากท่านทะเลาะกับเด็กให้น้อยลง
ท่านจะโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
หากท่านทะเลาะกับผู้ใหญ่ให้น้อยลง
ท่านจะได้รับการเอ็นดูมากขึ้น
หากท่านเป่าลมออกให้น้อยลง
ท่านจะสูดลมเข้าได้มากขึ้น
หากท่านแอบฟังให้น้อยลง
ท่านจะได้ยินอะไรมากขึ้น
หากท่านคิดคำถามให้น้อยลง
ท่านเห็นคำตอบมากขึ้น


ที่มา : ลดบางอย่าง ...ได้หลายสิ่ง : อาหารสมอง

   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

67
                                                      ลำดับความรุนแรงแห่งการให้ผลของกรรมชั่ว

พระพุทธเจ้าตรัสถึงกรรมหนัก ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ไปเกิดในอบายไว้ โดยทรงลำดับความรุนแรงแห่งการให้ผลไว้ดังนี้ คือ

๑.นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม เป็นกรรมที่รุนแรงที่สุด และให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ ทั้งหมด

๒.อนันตริยกรรม ๕ ประการ โดยความรุนแรง รองจาก นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม โดยทรงตรัสว่า ในอนันตริยกรรม ๕ อย่างนี้ เริ่มต้นแต่ สังฆเภทกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่หนักที่สุด ,รองมาคือ ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต ,รองมาคือ ฆ่าพระอรหันต์, รองมาคือ ฆ่ามารดา และสุดท้ายคือ ฆ่าบิดา

๓.อัตตวินิบาตกรรม ได้แก่ การฆ่าตัวตาย ซึ่งมีผลรุนแรงมาก รองจาก อนันตริยกรรม


กรรมชั่วหรือกรรมไม่ดีหรืออกุศลกรรม
หรือการกระทำที่เป็นอกุศลที่จะทำให้ได้รับผลกรรมนั้น (ที่เรียกว่า
เสวยผลของกรรม) ทันทีตาย โดยไม่มีกรรมอื่นๆ มาแทรกได้เลย
เรียกว่า มิจฉัตตนิยตธรรม

มิจฉัตตนิยตธรรม
คือสิ่งที่เป็นสิ่งไม่ดี การกระทำหรือความคิดที่ไม่ดี เป็นความชั่ว
และจะทำให้ผู้กระทำได้รับผลหรือต้องเสวยผลของกรรมนั้นทันที
ที่ตายลง (คือ ไปอบาย) โดยไม่มีกรรมไม่ว่าชั่วหรือดีแค่ไหนก็ตาม
อย่างอื่น มาคั่นกลางหรือแทรกระหว่างได้เลย

มิจฉัตตนิยตธรรม มี ๒ อย่างคือ
(๑) นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม
(๒) ปัญจานันตริยกรรม

- นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม -
นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม มี ๓ อย่างคือ

(ก)นัตถิกทิฏฐิ
คือ การมีความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายที่จะได้รับความดีความชั่ว
ที่จะได้มีความสุขหรือความทุกข์ ฯลฯ ในภพข้างหน้านั้น
ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องไปจากการกระทำอันเป็นบุญหรือเป็นบาป
ของตนเองที่ตนทำไว้ในชีวิตปัจจุบัน

(ข)อเหตุกทิฏฐิ
คือ การมีความเห็นว่าความดี ความชั่ว ความสุข ความทุกข์ ฯลฯ
ที่สัตว์ทั้งหลายได้รับอยู่ในชีวิตปัจจุบันนี้ ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่อง
มาจากการกระทำอันเป็นบุญหรือเป็นบาปของตนเอง
ในภพก่อน

(ค)อกริยทิฏฐิ
คือ มีความเห็นว่าการกระทำของสัตว์ทั้งหลาย
ถึงแม้ว่าจะทำดีก็ไม่ชื่อว่าเป็นบุญ ถึงแม้กระทำชั่วก็ไม่ชื่อว่าเป็นบาป
แต่เชื่อว่าการกระทำไม่ว่าดีหรือไม่ดีก็แค่เป็นไปตามธรรมดา
ไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาป


-ปัญจานันตริยกรรม -

ปัญจานันตริยกรรม มี ๕ คือ

มาตุฆาต - ฆ่ามารดา
ปิตุฆาต - ฆ่าบิดา
อรหันตฆาต - ฆ่าพระอรหันต์
โลหิตุปบาท - ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต
สังฆเภท - ยุให้พระสงฆ์แตกหมู่แตกคณะกัน

อันนี้ ท่านอธิบายว่า อกุศลกรรมทั้ง ๘ ประเภทนี้ (นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม ๓
และปัญจานันตริยกรรม ๕) ถ้าหากใครกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในนี้แล้ว
เมื่อสิ้นชีวิตก็จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นทันที ถึงแม้ว่าก่อนตายจะสร้าง
บุญใหญ่บุญดีเลิศขนาดไหน บุญทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่อาจช่วยให้พ้น
ไปจากการต้องรับผลกรรมชั่วเหล่านี้ทันทีที่ตายลงได้เลย

ถ้าหากใครได้กระทำกรรมไว้ทั้งสองอย่าง คือทั้งปัญจานันตริยกรรมข้อใด
ข้อหนึ่งกับนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรมข้อใดข้อหนึ่ง ในชีวิตนั้นแล้ว
กรรมจากนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรมจะเป็นกรรมที่ส่งให้ได้รับผลทันทีที่ตาย

นี่ก็แสดงว่า กรรมจากความเห็นผิดทั้ง ๓ ประการ อันเห็นผิดถาวร เห็นผิด
อย่างมั่นคง ปักใจอย่างแน่วแน่ ใน ๓ ประการข้างบนนี้ เป็นกรรมหนักที่สุด
หนักยิ่งกว่าปัญจานันตริยกรรม

ความเห็นผิด จึงน่ากลัวนัก และนอกจากนี้ เมื่อเห็นผิดแล้ว
ก็จะทำให้คิดผิด เชื่อผิด กระทำอะไรต่ออะไรผิดๆ
เช่น เมื่อไม่เชื่อบาปบุญก็เลยไม่ทำบุญ ไม่เชื่อบาปก็เลยทำบาปได้
ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม ก็จะทำได้ทั้งดีและไม่ดี
เพราะว่าไม่เชื่อว่าความดีจะส่งผลเป็นสิ่งทีดี
เพราะไม่เชื่อว่าความชั่วจะส่งผลเป็นสิ่งที่ชั่ว
ชีวิตก็จะมีแต่ตกต่ำดิ่งลึกลงไปในหุบเหวแห่งความเห็นผิด
และการกระทำกรรมไม่ดี ยิ่งๆ ขึ้นไปได้
ไกลออกไปทุกทีจากกรรมดี จากเส้นทางแห่งปัญญา
และจากการชำระจนให้มีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์
เปี่ยมไปด้วยปัญญา ไกลออกไปยิ่งๆ จากแสงสว่างทางธรรม
ไกลออกไปจากการพ้นทุกข์

+ + + + + + + + + +

ตามที่ได้เล่าไว้ว่าโดยหลักการแล้ว
หากบุคคลใดละเมิดกรรมทั้งสองอย่าง
คือกระทำทั้งนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม
และปัญจานันตริยกรรม ในชีวิตนั้นๆ
กรรมที่จะส่งผลก่อนเพราะถือเป็นกรรมหนักกว่า
ก็คือกรรมจากนิยตมิจฉาทิฏฐิ

สิ่งที่จะมาขอเพิ่มเติมให้ครบถ้วนก็คือ
ในกรณีนี้ เมื่อนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรมให้ผลไปก่อนแล้ว
แต่กรรมที่กระทำอนันตริยกรรม (คือ กระทำ
ปัญจานันตริยกรรมข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ)
ก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้กลายเป็นอโหสิกรรมไป
แต่อย่างใด

ตรงกันข้าม อนันตริยกรรมที่ได้กระทำไปนั้นๆ
จะรอส่งผลต่อๆ ไปเรื่อยๆ ขณะใดก็ตามที่มีโอกาส

  ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด dserver

68
ปาฏิหาริย์การขออโหสิกรรม
โดย สุวิไล บุญธวัชชัย



ก่อนอื่นดิฉันขอขอบ คุณสามีที่อนุญาตให้นำเรื่องนี้มาเล่า เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่มีคู่ครองติดสุราหรืออบายมุขอื่นๆ ที่กำลังท้อแท้กับชีวิต ได้มีกำลังใจสู้ชีวิตต่อไป

ชีวิตของดิฉันตั้งแต่เล็กจนโต มีแต่ความสุขสบาย ได้รับความอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่ ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนดีๆจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี หลังจากจบการศึกษาไม่นาน ก็ได้แต่งงานกับสามีซึ่งมีฐานะและพื้นฐานทางครอบครัวที่ใกล้เคียงกัน คุณพ่อของสามีมีกิจการค้าส่วนตัว เมื่อเข้าไปเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวสามี คุณพ่อคุณแม่และน้องสาวของสามีดีต่อดิฉันมาก สามีก็ช่วยกิจการค้าของคุณพ่อ

ชีวิตสมรสของดิฉันราบรื่น ขณะที่มีลูกสาว ๓ คนที่น่ารัก (ลูกชายคนเล็กเกิดภายหลังวิกฤตการณ์ของครอบครัว) สามีเป็นคุณพ่อที่ดีของลูกๆ ไปไหนมาไหนจะไปทั้งครอบครัว วันหยุดส่วนใหญ่จะทำกิจกรรมร่วมกัน ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปเที่ยวสวนสนุก แต่ความสุขทางโลกเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเกิดมารวยหรือจน ต้องมาใช้กรรมที่ทำไว้ทั้งนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดิฉันก็เช่นเดียวกัน หนีกฎแห่งกรรมไม่พ้น เหตุการณ์ที่ทำให้ดิฉันเป็นทุกข์อยู่หลายปีเกิดขึ้นหลังจากแต่งงานประมาณ ๑๐ ปี สามีไปเข้าหุ้นทำการค้ากับเพื่อนๆ ตัวเขาไม่ได้เข้าไปบริหารแต่เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับบริษัท ทำไปได้ไม่นานก็เกิดขาดทุน ไม่มีใครเข้าไปรับผิดชอบ สามีดิฉันซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้จึงต้องเข้าไปสะสางหนี้สินทั้งหลาย

ชีวิตของดิฉันแปรเปลี่ยนไปชั่วข้ามคืน เพราะสามีต้องไปทำงานที่บริษัทใหม่ หน้าที่การงานที่เขาเคยรับผิดชอบอยู่ที่กิจการของคุณพ่อก็ต้องโอนให้ดิฉัน ดูแลแทนทั้งหมด ตอนกลางวันดิฉันต้องดูแลร้าน มีปัญหาเกี่ยวกับการค้าก็ต้องหาทางแก้ไขเอง เพราะคุณพ่อป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง เข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ ไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาได้ ตอนกลางคืนก็ต้องดูแลลูกสาว ๓ คน และลุกชายคนเล็กซึ่งยังเล็กอยู่

เหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายเข้าไปอีก เมื่อสามีดิฉันเข้าไปสะสางปัญหาต่างๆมากมายในบริษัทใหม่ ความเครียดกับงานก็เพิ่มมากขึ้น เขาเริ่มดื่มเหล้าเพื่อให้หลับในตอนกลางคืน จนกลายเป็นคนติดเหล้า ต้องดื่มทุกวัน เริ่มขาดสติและมีอารมณ์แปรปรวนเป็นประจำ บ่อยครั้งที่เขาไปงานสังคมและกลับบ้านดึก ดิฉันจะเป็นห่วงและไม่เข้านอนจนกว่าเขาจะกลับมา โรคปวดหลังที่เคยเป็นมาก่อนก็รุมเร้าดิฉันหนักขึ้น ถึงกลับเดินไม่ได้ต้องไปโรงพยาบาล ต้องทำกายภาพบำบัดเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ถึงจะหาย ดิฉันได้แต่ทุกข์กายทุกข์ใจอยู่คนเดียว ทุกครั้งที่กลุ้มใจมากๆก็จะเข้าห้องพระ จุดธูปอธิฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดิฉัน แม้จะสวดมนต์บทชินบัญชรคาถา เพื่อให้คลายทุกข์ ก็ยังช่วยอะไรไม่ได้ เนื่องจากดิฉันไม่ทราบวิธีการสวดมนต์ที่ถูกต้อง และไม่เข้าใจว่าสวดมนต์เพื่ออะไร ขณะที่ดิฉันแทบจะหมดอาลัยตายอยาก

อาจจะเป็นเพราะได้ทำบุญกุศลร่วมกับพี่สาวของดิฉัน อยู่มาวันหนึ่งพีสาวโทรศัพท์มาเล่าว่า ตั้งแต่ลูกๆ เขาไปเรียนเมืองนอก เขาว่างมาก จึงหยิบหนังสือสวดมนต์เล่มหนึ่งที่ได้จากงานศพของคนรู้จัก มาสวดทุกเย็นหลังเลิกงาน เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว และรู้สึกว่าตัวเองใจเย็นลง จิตใจแจ่มใสขึ้น ตั้งแต่นั้นมาดิฉันก็หยิบหนังสือสวดมนต์ที่ได้รับจากงานศพเดียวกันมาสวดบ้าง (เป็นบทสวดมนต์เดียวกับที่หลวงพ่อจรัญแนะนำให้สวด)

การสวดมนต์และแผ่เมตตาที่จะทำให้เป็นกิจวัตรประจำวันนั้น ทำได้ยากมาก เพราะการที่จะสำรวมกายสำรวมใจสวดมนต์ในตอนแรกๆ ต้องอดทนและฝืนใจตัวเองอย่างมากๆ คนส่วนใหญ่รวมทั้งตัวดิฉันเองมักจะพูดว่าไม่มีเวลาสวดมนต์ ทำงานเหนื่อยทั้งวัน สวดมนต์ทีไรง่วงทุกที แต่อย่างที่เขาพูดว่า เมื่อใดมีทุกข์เมื่อนั้นก็จะพบธรรมะ เมื่อความทุกข์เพิ่มทวีคูณ ดิฉันก็พยายามหาทางขจัดทุกข์ให้เร็วที่สุด จากที่เคยสวดบทง่ายๆและไม่เคยแผ่บทเมตตา ในช่วงแรกๆก็ได้เริ่มสวดบทพาหุงมหากา บทพุทธคุณ (อายุของตัวเองบวกหนึ่งจบ) พร้อมทั้งอโหสิกรรมและแผ่เมตตาทุกครั้ง อานิสงฆ์จากการสวดมนต์ ทำให้ดิฉันมีสติอยู่กับตัวเองมากขึ้นและคลายจากความทุกข์ความกังวลเกี่ยวกับ สามีลงมาก แต่ที่น่าอัศจรรย์คือ อานิสงฆ์จากการสวดมนต์ ทำให้ดิฉันได้พบวิธีการปฏิบัติธรรมเพื่อเจริญสติเป็นขั้นเป็นตอนเหมือนกับ ธรรมะจัดสรรให้

หลังจากได้สวดมนต์ไม่นาน พี่สาวของดิฉันก็ได้นำหุงสือเล่มหนึ่งชื่อ "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" ของคุณสุทัสสา อ่อนค้อม มาให้อ่าน มีหลายอย่างในหนังสือเล่มนั้นที่เป็นพลังผลักดันให้ดิฉันใฝ่หาความรู้ทาง ธรรมะมากขึ้น ความศรัทธาต่อหลวงพ่อจรัญจากหนังสือเล่มดังกล่าว ทำให้พี่สาวและดิฉันขับรถไปที่วัดอัมพวันเพื่อฟังธรรมะจากหลวงพ่อโดยตรง ทุกครั้งที่ได้ฟังธรรมจากท่าน ดิฉันจะนำคำสอนจากท่านมาประยุกต์ใช้กับชีวิตตัวเอง

ดิฉันเริ่มมองตัวเองและแก้ไขสิ่งที่ตัวเองบกพร่อง ซึ่งแต่ก่อนมักจะโทษว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะคนอื่นทำมากกว่า โดยเฉพาะปัญหาสามีติดเหล้า จะโทษว่าเป็นเพราะเขาที่ทำให้เราเป็นทุกข์ และจะโกรธเขาทุกข์ครั้งที่เห็นเขาดื่มเหล้า แต่หลังจากได้สวดมนต์ปฏิบัติธรรม และฟังธรรมจากหลวงพ่อทำให้ดิฉันอยู่กับตัวเองมากขึ้น กลับมองปัญหาที่เกิดขึ้นว่า คงเป็นกฎแห่งกรรมที่เราทำไว้ชาติที่แล้ว จึงต้องมาประสบปัญหาเช่นนี้

ฉะนั้น เราควรอดทนใช้กรรมที่เราทำไว้ในอดีตอย่างมีสติ และไม่ควรเพิ่มกรรมใหม่ที่ไม่ดีในปัจจุบัน ดิฉันได้เริ่มต้นโดยขออโหสิกรรมจากสามี และอโหสิกรรมให้เขาเช่นกัน ไม่รื้อฟื้นสิ่งที่ไม่ดีในอดีต ปรับปรุงตัวเอง ลดทิฐิ พูดจาดีๆ กับเขา ไม่เอ่ยถึงเรื่องที่จะให้เขาเลิกเหล้า หลังจากที่ดิฉันปรับปรุงแก้ไขตัวเองไม่นาน สามีของดิฉันก็ค่อยๆ ลดการดื่มเหล้าลง จนถึงขณะนี้เขาเลิกดื่มแล้วและกลับมาเป็นคุณพ่อที่ดีของลูกๆ และเป็นสามีที่ดีของดิฉัน

การปฏิบัติธรรมนอกจากทำให้ดิฉันมีชีวิตครอบครัวที่ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ดิฉันได้ระลึกถึงกรรมที่ได้ทำไว้กับผีเสื้อเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ดิฉันได้จับผีเสื้อมา ๔ ตัว และให้เพื่อนคนหนึ่งฉีดยากลางหลังทุกตัวเพื่อสต๊าฟไว้ส่งครูในวิชาชีวะ แต่หลังจากนั้นไม่นานดิฉันก็ฝันเห็นผีเสื้อยักษ์ตัวใหญ่บินเข้ามาหาดิฉัน เพื่อจะมาทำร้าย จนดิฉันตกใจตื่น โดยไม่ทราบว่านี่คือความอาฆาตแค้นที่ผีเสื้อเหล่านั้นมีต่อดิฉัน จนกลายเป็นกรรมที่ดิฉันต้องชดใช้นานถึง ๑๐ ปี กับอาการปวดหลัง ที่ต้องทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ทุกครั้งที่ปวดหลังดิฉันจะเดินไม่ได้ จะนั่งจะนอนก็ทรมานไปหมด กว่าจะดีขึ้นก็ต้องทำกายภาพบำบัดเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ จนกระทั่งได้มานั่งกรรมฐาน จึงระลึกได้ว่า ที่ปวดหลังมาเป็นเวลา ๑๐ ปีนั้นเป็นเพราะกฎแห่งกรรมที่ทำไว้กับผีเสื้อ

ดิฉันจึงขออโหสิกรรมและแผ่เมตตาให้กับผีเสื้อเหล่านั้น หลังจากนั่งกรรมฐานติดต่อกันเป็นเวลาหลานเดือน ในที่สุดพวกเขาก็ยอมอโหสิให้กับดิฉัน เพราะอาการปวดหลังของดิฉันได้หายเป็นปลิดทิ้งตั้งแต่ตอนนั้นเป็นเวลา ๔ ปีแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนปาฏิหาริย์ที่เกิดจากการขออโหสิกรรมโดยการเจริญ กรรมฐาน

ดิฉันขอสรุปว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรามีทางออกที่ดีได้ ถ้าเรายอมลดทิฐิลง มองดูตัวเองก่อนเพื่อแก้ไขความบกพร่อง ให้อภัยและอโหสิกรรมผู้อื่น เรื่องในอดีตอย่าไปรื้อฟื้น ขอให้ตั้งสติเพื่อแก้ไขปัญหาในปัจจุบันการที่จะทำเช่นนั้นได้ ก็โดยการเจริญกรรมฐานเท่านั้น จากประสบการณ์ชีวิตของดิฉันเอง การที่จะได้ของดีมักจะมีอุปสรรค ขอให้อดทน เริ่มจากสวดมนต์ อโหสิกรรม และแผ่เมตตาทุกวัน แล้วธรรมะก็จะจัดสรรเป็นขั้นเป็นตอนให้ได้มีโอกาสเจริญกรรมฐานในที่สุด ถึงแม้ต้องต่อสู้กับตัวเองและใช้ความอดทนอย่างสูงเพื่อทำให้เป็นกิจวัตร แต่พอทำได้แล้วจะรู้สึกไม่ยากเลย และจะพบแต่สิ่งดีๆ ที่รู้ได้เฉพาะตนจริงๆ (ปัจจังตัง เวทิตัพโพ วิญญฺหิ)

คัดลอกมาจาก ::
หนังสือกฎแห่งกรรมเล่มที่ ๑๘
วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด  dhammajak

69
                                                           คิดดีเพิ่มพูนบารมี

 
จินตนาการ ของมวลมนุษย์ชาตินั้นไม่มีขอบเขตจำกัด

ด้วยเหตุนี้โลกจึงสดใส แต่บางครั้งก็เศร้าหมอง เพราะความคิดหลากหลายเหล่านั้น

โลกจึงตกอยู่ในความเปลี่ยนแปลงเป็นนิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

การมีความสุขระคนความทุกข์ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ

และมีสรรเสริญก็มีนินทาควบคู่กันไป เพราะผลทั้งหลายล้วนแล้วเกิดแต่เหต

การสร้างแต่สิ่งที่ดีงาม หรือการทำลายล้างในโลกก็ล้วนเกิดจากความคิดของคนทั้งสิ้น

สังคมใด ชุมชนใด ที่มีความคิดทำลายล้าง มีความเห็นที่แตกต่างไม่ลงรอยกัน

สังคมนั้น ชุมชนนั้นย่อมอันตราย แม้คนเราอาจมีความเห็นที่แตกต่างกันไป

แต่ความจริงย่อมมีเพียงสิ่งเดียว

คือ ความถูกต้อง ดีงาม เหมาะสม และมีเหตุมีผลเท่านั้น

ผู้รู้จึงกล่าวว่า "ความคิดเห็นถูกต้องดีงาม แม้เกิดขึ้นเพียงคนเดียว

ย่อมนำความสุขความเจริญมาสู่ชุมชนนั้นได้ ฉันใด คนคิดเห็นที่ชั่วร้ายเพียงคนเดียว

ก็นำมาซึ่งความเสื่อมและเป็นอันตรายต่อชุมชนนั้น"

ความคิดเห็นที่ดีงามจึงเป็นสิ่งสำคัญ มาคิดเรื่องดีดีกันเถิด เพราะเป็นของฟรีไม่ต้องเสียสตางค์

เมื่อคิดแล้วต้องทำทันที ผลย่อมนำมาซึ่งคุณความดีบารมีเพิ่มพูน

วันเวลาของเราในโลกนี้น้อยนิด

หากไม่คิดสร้างบุญบารมี กระแสบาปและความชั่วร้ายก็จะเข้ามาแทนที่อยู่ในใจทีละนิดๆ

จนในที่สุดเราคุ้นเคยชินชากับบาปแล้ว

เมื่อถึงยามนั้นเราจะคิดถึงความดีไม่ออกเลย ชีวิตที่เกิดมาจะสูญเปล่า


 
     ขอขอบคุณ : ข้อมูลสาระประโยชน์

                 จาก ธรรมะจักร ดอทเน็ท
 

70
                                                              วิบากกรรมมีจริงหรือ?

ถาม – วิบากกรรมมีจริงหรือ?
 

ตอบ - หลายท่านที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟทะยานแรงอ่านกรรมพยากรณ์แล้วเกิดความรู้สึกเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ก็มักส่งคำถามนี้มาเสมอ ถ้าผมตอบแค่ ‘จริง’ ไปเฉยๆ ก็มักมีข้อสงสัยอื่นตามมาอีกเป็นพรวน เช่นทำไมคนทำชั่วยังเห็นได้ดีลอยนวลอยู่ นี่เป็นความกังขาที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และบางครั้งคำตอบที่เป็นคำพูดช่วยเหลืออะไรไม่ได้
 

เช่นต่อข้อกังขาข้างต้นนั้น ผมมักอุปมาอุปไมยว่าถ้าเขาสร้างเรือมาเป็นลำใหญ่แข็งแรง เขาต้องใช้เวลาเจาะ ใช้เวลาทุบ ใช้เวลารื้อเรือของตัวเองเนิ่นนานกว่าที่มันจะจม เราไปหวังเห็นเรือล่มทันทีที่เขาเอาค้อนปอนด์ทุบพื้นเรือแรงๆโป้งเดียวมันไม่ได้ แต่การเปรียบเปรยก็เป็นแค่โวหาร สะกิดใจเดี๋ยวเดียวก็ลืม ไม่ช่วยคลายกังขาในระยะยาวแต่ประการใด
 

 
สิ่งที่ผมนิยมมากกว่าการพูดตอบจึงมักเป็นคำแนะนำให้ทำกรรมอะไรสักอย่างที่เห็นผลชัดเจนทันตาทันใจที่สุด เอาให้รู้สึกเหมือนนักทดลองในห้องวิจัยพิสูจน์ถูกผิดทางวิทยาศาสตร์ ใส่เหตุเข้าไปอย่างนี้ ดูซิจะได้ผลออกมาอย่างนั้นๆตามทฤษฎีหรือไม่ เมื่อปรากฏการณ์ธรรมชาติเกิดขึ้นให้รู้ประจักษ์กับตัว ก็จะได้ทำลายความสงสัยลงได้มากระดับหนึ่ง เพียงพอให้เต็มใจพากเพียรก่อร่างสร้างกรรมดีเพื่อเห็นผลชัดยิ่งๆขึ้นไป สมกับที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้สั่งสมบุญย่อมเป็นสุข และนั่นก็หมายถึงการได้มีเสบียงชั้นดีไว้ติดตัวในยามต้องเดินทางไกลกันต่อไป
 

วันนี้ผมก็อยากเชิญชวนพ่อแม่พี่น้องทุกท่านได้ร่วมแรงร่วมใจทำอะไรอย่างหนึ่ง อันอาจเป็นความประทับใจ ทำให้ทรงจำไปตลอดชีวิตของพวกท่าน!
 

ก่อนอื่นขอให้ข้อมูลเป็นการปูพื้นเบื้องต้นสักนิดหนึ่ง นับตั้งแต่นิตยสารบางกอกฉบับนี้วางจำหน่าย จะมีคนอ่านเฉลี่ยวันละประมาณแสนคนไปจนถึงอาทิตย์หน้า โดยมีกระจุกคนอ่านมากเป็นพิเศษในช่วงเช้าตรู่และช่วงเย็นหลังเลิกงาน
 

โดยการประมาณอย่างคร่าวที่สุด ชั่วโมงเดียวกับที่คุณกำลังอ่านคอลัมน์นี้ จะมีเพื่อนชาวบางกอกอื่นๆอ่านเนื้อความเดียวกันอยู่เป็นหลักหมื่น เพียงคุณนึกสบายๆถึงความจริงที่เกิดขึ้นรอบด้านดังกล่าว ก็น่าจะเกิด ‘ความรู้สึกร่วม’ ขึ้นมาได้วูบหนึ่ง อาจเป็นความรู้สึกอบอุ่นใจ อาจเป็นอาการขนลุกแผ่ว หรืออาจรู้สึกเป็นจริงเป็นจังคล้ายกำลังร่วมประชุมใหญ่กับเพื่อนร่วมชมรม
 

ความรู้สึกร่วมมีพลังในตัวเอง คุณเคยเห็นหนังสือพิมพ์ที่มาส่งเหมือนเค้กร้อนๆก้อนใหม่ น่าให้บริโภคข่าวสารไหม? เคยรู้สึกไหมว่าถ้าเห็นหนังสือพิมพ์เก่าไปแม้แต่เพียงวันเดียวจะน่าเหม็นเบื่อ ทำให้เราไม่อยากหยิบขึ้นอ่าน?
 

ตอนดูทีวีเชียร์บอลหรือเชียร์กีฬาใดๆ แม้ไม่ได้ดูแบบติดปลายนวม คุณก็อยากชมการถ่ายทอดสดมากกว่าแบบบันทึกเทป โดยเฉพาะถ้าเป็นประเภทมวยคู่หยุดโลก ชนิดที่ทำให้เรารู้สึกได้เลยว่ากำลังมีเพื่อนร่วมโลกปักเก้าอี้ตั้งตาดูด้วยความระทึกใจในเวลาเดียวกับเรา ใครเอาช้างมาฉุดก็ไม่มีทางได้ตัวเราไปไหนอื่นแน่ แม้เกมจบอารมณ์ก็ยังไม่จบ อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนอภิมหาความมันเข้าไส้กับใครต่อใครไปทั้งวัน
 

นี่เป็นความจริงที่ทุกคนสัมผัสได้อยู่ในส่วนลึกมาตลอด แต่ไม่มีใครพูดออกมา และไม่มีใครเห็นว่ามีสาระสำคัญอย่างไร จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้ แต่วันนี้ถ้าทุกคนมีใจสมัครสมานพร้อมกันปรารถนาจะพิสูจน์วิบากกรรม คุณๆอาจจำไว้บอกต่อกับญาติๆว่าปาฏิหาริย์มีจริง!
 

คอลัมน์ ‘เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว’ ฉบับนี้จะบอกคุณว่า เมื่อใดที่คิดรักษาศีลให้ได้เพียง ๑ ข้อด้วยความรู้สึกเด็ดเดี่ยว เมื่อนั้นคุณจะได้รับผลกรรมทันที เป็นความสุขใจ สุขเบา สุขเย็น และถ้าหากรับรู้ว่ากำลังมีกลุ่มคนอีกจำนวนมากกำหนดจิต ตั้งเจตนาเช่นเดียวกันด้วยความซื่อสัตย์ คุณจะยิ่งบังเกิดความปลาบปลื้มเป็นทวีคูณ เพราะได้รับผลกรรมจากการร่วมยินดีอนุโมทนาบุญของกลุ่มชนจำนวนมหาศาล
 

ถึงแม้ว่าหลายคนที่กำลังอ่านอยู่จะไปที่วัดเป็นประจำ และมีประสบการณ์ขอถือศีลพร้อมกับเพื่อนพ้องน้องพี่ประชาชีชาวพุทธ ก็ไม่ได้มีความหมายยิ่งใหญ่อะไรนัก เพราะจิตแต่ละคนไม่ได้ตั้งใจรักษาศีลเป็นข้อๆอย่างแท้จริง หรือแม้ขณะกล่าว ก็อาจไม่รับทราบด้วยซ้ำว่าตนกำลังตั้งสัจจะต่อหน้าพระ จะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง!
 

ถ้าเรามาตกลงร่วมกัน เมื่ออ่านคอลัมน์นี้อยู่พร้อมกับแฟนบางกอกท่านอื่น ขอแค่ศีลข้อแรกข้อเดียว เพียงตั้งเจตนาอย่างเด็ดเดี่ยวว่าจะงดฆ่าสัตว์ งดเบียดเบียนชีวิตเพื่อนร่วมโลกเป็นเวลาหนึ่งวัน ผลกรรมที่จะเกิดขึ้นประจักษ์จิตทันทีโดยไม่ต้องให้ใครมาช่วยบอก คือปีติสุขโปร่งเบาอย่างใหญ่ หรืออย่างน้อยที่สุดคือความเบากายเบาใจต่างจากปกติ แม้ผู้ที่รู้สึกว่าตนไม่ฆ่าสัตว์อยู่แล้ว ถ้าลองตั้งใจสำทับลงไปเพื่อให้เกิดความหนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น ก็จะรู้สึกถึงกระแสสุขร่วมกันได้เช่นกัน
 

แต่เท่านี้เห็นจะยังไม่ทำให้เกิดศรัทธาในกรรมดีสักเพียงใด ลองมองไกลไปกว่านั้นอีกหน่อย ขออัญเชิญพระพุทธพจน์อันเป็นสัจจะมาแสดง คือ
 

หญิงชายใดก็ตาม เบียดเบียนสัตว์เป็นประจำด้วยฝ่ามือ หรือด้วยก้อนดิน หรือด้วยท่อนไม้ หรือด้วยอาวุธ เมื่อเขาตายไปจะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก และเพราะตั้งจิตคิดก่อกรรมไว้อย่างนั้น แม้เมื่อมาเป็นมนุษย์ในภายหลัง เขาก็จะเป็นคนมีโรคมาก
 

สรุปคือแม้ตบยุง บี้มด ฆ่าแมลง ถึงเห็นเป็นสัตว์เล็กที่ไม่น่าจะบาปหนักพอส่งเราไปลงนรก อย่างน้อยก็ย่อมทำให้เป็นโรคกวนใจเรื้อรังไม่หายขาด แต่หากเป็นตรงข้าม คือแม้โดนแมลงรบกวนอย่างไรก็ข่มใจไม่ฆ่าด้วยมือ ไม่ฆ่าด้วยสารพิษ ทำอย่างมากเพียงหาวิธีขับไล่มันไปพ้นๆ เช่นนี้จะมีวิบากเป็นผู้มีโรคน้อย
 

พูดง่ายๆ ขอแค่วันที่คุณอ่านนี้ ตั้งใจจะไม่ตบแม้แต่ยุงสักตัวเดียว ก็มีสิทธิ์เห็นผลได้ อย่าประหลาดใจถ้ากำหนดเจตนาแน่วแน่แล้วรู้สึกถึงน้ำจิตที่หลั่งกระแสเมตตาออกมาไพศาล เพราะเมื่อเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกระแสย่อมรู้สึกสัมผัสชัดถึงกระแสใหญ่นั้นไปด้วย
 

อาศัยความจริงเกี่ยวกับผลกรรมข้อนี้เป็นตัวตั้ง อนุโมทนาร่วมกันว่าจะมีสัตว์รอดจากการถูกฆ่าจำนวนมากในวันที่กำลังอ่านนี้ คุณจะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนก่อกรรมประเภทไม่เบียดเบียน เมื่อร่วมก่อกรรมก็ต้องได้ร่วมเสวยผลกรรม ยอมทดลองเพื่อพิสูจน์ผล ไม่เสียอะไรมากไปกว่าการตั้งใจจริงเพียงวันเดียวเท่านั้น
 

ปริมาณสัตว์ที่รอดเพราะการอธิษฐานร่วมกัน จะก่อตัวเป็นพลังใหญ่ ใช้อ้างในการทดลองอธิษฐานพิสูจน์กรรมได้ โดยคิดว่าถ้าผลของการให้อภัยสัตว์เป็นทานร่วมกันนี้มีความไพบูลย์จริง ขอให้โรคภัยไข้เจ็บเล็กใหญ่ที่เป็นอยู่ทุเลาลง ทรมานน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดโดยเร็วที่สุด
 

อย่าอธิษฐานแบบที่จะทำให้เสียกำลังใจ เช่นขอให้หายขาด ขอให้ไม่เป็นโรคอีกเลย เพราะกำลังบุญที่คุณทำนั้นมีกำหนดชั่วระยะวันเดียว ยังอาจสู้กับกรรมเก่าที่ทำมาเป็นปีๆเป็นชาติๆไม่ได้ อีกอย่างแม้พระพุทธองค์ก็ทรงจำแนกไว้ ว่าความป่วยไข้เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทั้งลมฟ้าอากาศ ทั้งการบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ ทั้งการทำงานหนักเกินกำลัง และทั้งการเสวยวิบากแห่งกรรม ฉะนั้นถ้าคุณเป็นโรคที่เกี่ยวกับความเฉื่อยชาไม่ออกกำลังกาย วิธีแก้ตรงๆคือออกกำลังกายให้มากขึ้น
 

แต่อย่างน้อยการเป็นหนึ่งในผู้เข้าโครงการอธิษฐานงดปลงชีวิตสัตว์หนึ่งวันนี้ จะมีผลให้สุขภาพของคุณดีขึ้นกว่าที่เป็นอย่างแน่นอน ไม่ว่าใครจะถูกโรคใดโรคหนึ่งรบกวนอยู่ เพราะวิบากของการงดปลงชีวิตสัตว์แม้ถูกกวนใจนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าจะทำให้เป็นผู้มีโรคน้อย (คือแข็งแรงนั่นเอง) ในที่นี้เราทำกันแบบมีตัวคูณ ไม่ได้แยกทำเดี่ยวๆ ก็ย่อมมีแนวโน้มสูงยิ่งที่จะเห็นผลทันตา

  ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด  dhammajak

71
                                                      ความเข้าใจเกี่ยวกับ “กฎแห่งกรรม” (ธรรมรักษา)


ความเข้าใจเกี่ยวกับ “กฎแห่งกรรม”

กฎ แห่งกรรม คือ กฎแห่งการกระทำ หมายถึงการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา หรือความตั้งใจ จงใจ ที่เราทำไว้เอง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แล้วเราก็รับผลแห่งกรรมนั้น เรียกว่า “กฎแห่งกรรม”

เรื่องของกรรมเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนมาก ลำพังปุถุชนคนธรรมดา ไม่อาจที่จะรู้ให้ตลอดสายได้ อย่าว่าแต่กรรมในอดีต ที่ข้ามภพข้ามชาติหลายชาติเลย แม้กรรมในปัจจุบันเราก็ยังรู้ได้ยาก เช่น บางคนทำแต่ความดีมาตลอด แต่ก็ได้รับความทุกข์ หรือความเดือดร้อนต่างๆ เป็นต้น บางคนทำแต่ความชั่ว แต่ก็ได้รับยกย่อง มีเกียรติ เป็นต้น

ในที่นี้ไม่มีความประสงค์จะเขียนเรื่องกรรม เพราะมันยุ่งยากและเสียเวลามาก แต่จากการที่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม มาเป็นเวลานาน จนเกิดความมั่นใจว่า กฎแห่งกรรมนี้ยุติธรรมยิ่ง อยากขอให้ท่านผู้อ่านเชื่อพระพุทธเจ้าเถิดว่า “ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่วแน่”

การไม่เชื่อกรรม หรือกฎแห่งกรรม มีผลเสียมาก ที่บางคนท้อใจไม่อยากทำดี ก็เพราะไม่เข้าใจกฎแห่งกรรมอย่างถูกต้อง เมื่อไม่เข้าใจก็ไม่อยากทำความดี เมื่อไม่ทำความดี ชีวิตก็หมดความสุข การเชื่อกฎแห่งกรรมเพียงประการเดียว ทำให้คนเราตั้งหน้าตั้งตาทำแต่ความดี ชีวิตก็ย่อมจะประสบความสุข ทั้งในชาตินี้และชาติต่อๆ ไป

บางคนอาจจะสงสัยว่า ก็เราไม่เคยทำความชั่ว และได้ทำแต่ความดีมาโดยตลอด แต่ทำไมจึงได้รับความเดือดร้อนต่างๆ อยู่เป็นประจำ ? อย่าได้สงสัยให้เสียกำลังใจในการทำความดีเลย นั่นเป็นผลของความชั่ว ที่เราได้ทำไว้ในอดียกำลังให้ผลอยู่ จงยินดีรับและทำความดีเรื่อยไป ในวันหนึ่งมันก็ย่อมหมด และกรรมดีก็ย่อมจะให้ผลเราบ้าง คราวนี้เราก็ย่อมจะได้รับผลของความดี คือความสุขอื้อซ่าไปเลยเชียวละ

ก็คิดดูหรือเอาอะไรตรองดูเถอะ !! ขนาดในชาตินี้เราไม่ทำชั่ว เรายังเดือดร้อนถึงเพียงนี้ แล้วถ้าเราขืนไปทำชั่วต่อเข้าอีก นอกจากในชาตินี้เราจะเดือดร้อนแล้ว ในชาติต่อไปเราก็ยิ่งจะเดือดร้อนใหญ่ อย่าสงสัยเลย กรรมกับการให้ผลของกรรม ย่อมลงตัวกันเสมอ เช่น เราทำบุญ เราก็ย่อมสบายใจ เราทำบาป เช่น ฆ่าเขา เราก็ย่อมจะทุกข์ใจ กลัวผลกรรมจะตามสนองก็เห็นกันอยู่เจ๋งๆ แล้ว ยังจะสงสัยอะไรกันอีกเล่า ? เราไหว้เขา เขาก็ไหว้เรา เราด่าเขา เขาก็ด่าตอบ ก็เห็นเหตุและผลกันอยู่ทนโท่แล้วนี่นา จะมัวชักช้าอยู่ไย ?

ที่คนส่วนมาก มักจะเข้าใจการให้ผลของกรรมผิด ก็โดยการเอาการให้ผลกรรมฝ่ายรูปหรือวัตถุ ไปรวมกับการให้ผลกรรมฝ่ายนามหรือจิตใจไปเสีย คือเข้าใจเพี้ยนไปว่าคนทำบุญให้ทาน จะต้องร่ำรวยทันตาเห็น เพราะทางพระสอนว่า คนให้ทาน เกิดชาติใดจะร่ำรวยมีเงินทองมากมายเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นต้น

แต่แล้วเหตุไฉนคนยิ่งทำบุญมาก ก็ยิ่งยากจนลง ? และคนเข้าวัดส่วนมากก็ล้วนแต่เป็นคนจนเล่า ? หรือว่าพระท่านจะหลอกให้คนทำบุญ ท่านจะได้ร่ำรวย กินดีอยู่สบาย ? ขอชี้แจงเรื่องผลของบุญ หรือผลของกรรมประเภทรูปและนามดังนี้

ผลบุญหรือกรรมประเภทรูป (วัตถุ) นี้ ค่อนข้างจะพิสูจน์ยาก เพราะรู้สึกว่าผลของกรรมหรือบุญฝ่ายนี้ค่อนข้างจะเดินทางช้า ไม่ค่อยจะทันใจคนที่คิดมากเลย
แต่ก็ขอให้มั่นใจเถอะว่า เรื่องของการให้ผลของกรรมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบุญหรือบาปก็ตาม ย่อมจะลงตัวกันเสมอ จะมีตัวแปรให้เสียคิวไปบ้าง ก็ย่อมจะไม่พ้นวงจรของกรรมอีกเช่นกัน

ที่เราเห็นว่า คนรวยเข้าวัดทำบุญน้อย ก็เกิดจากเหตุ ๒ ประการ คือ หาเวลาว่างยาก กับประมาทมัวเมาในความมีทรัพย์ ตรงข้ามกับคนจน ซึ่งมีเวลาว่างมาก (ลูกจึงมาก) และมักจะเห็นโทษของความจน จึงตั้งหน้าแต่ทำบุญ หวังว่าชาติหน้าจะได้ร่ำรวยกับเขาบ้าง

ส่วนผลบุญหรือกรรมประเภทนาม (จิตใจ) นี้ เราสามารถเห็นได้ทันทีทันใดทั้งที่นี่และเดี๋ยวนี้เลยว่า คนทำบุญหรือทำความดี จิตใจย่อมจะสดชื่นและแจ่มใสในทันที หรือแม้เพียงแต่คิดเท่านั้น บุญก็เกิดแล้ว

ยกเว้นแต่คนที่ “มือถือสาก ปากถือศีล” หรือ “ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ” หรือ “ทำบุญเอาหน้า ภาวนาตอแหล” เท่านั้นแหละ ที่การกระทำมักจะสวนทางกับความคิดอยู่ตลอดเวลา

การเชื่อกฎแห่งกรรมอย่างถูกต้อง จะช่วยตัดหรือปัดความผิดไปให้คนอื่นจนหมดสิ้น ทำให้เรายอมรับความจริงอันเกิดขึ้นจากผลกรรมว่า เป็นการกระทำของเราเอง เราทำไว้ด้วยตัวเราเอง ความทุกข์อันเกิดจากความคั่งแค้น ว่าคนอื่นมาทำให้เรานั้น ก็เป็นอันว่าหมดไป

เพราะว่าโดยแท้จริงแล้ว เราทำของเราเอาไว้เองทั้งนั้น แล้วเราจะไปตีโพยตีพายเอากับใคร ? ยิ่งเอะอะมะเทิ่งมากไป ก็จะยิ่งขายหน้าท่านผู้รู้เขาเปล่าๆ เสียภูมิของบัณฑิตหมด

“ก็เขามาทำให้ฉัน ฉันไม่ได้ทำอะไรให้เขานี่นา”

บางคนอาจจะยังปากแข็งไม่ยอมเชื่อ ใช่ !! นั่นแหละ ? เราได้ไปทำกะเขาเอาไว้ก่อน ชาติก่อนๆ โน้น !! ชาติไหนก็ไม่รู้ แต่ว่าเราต้องไปทำเขาไว้ก่อนแน่ อย่าได้ไปโต้ตอบเขาเลย มันจะได้หายหรือเจ๊ากันไป ขืนไปตอบโต้เขาก็จะทำให้ผลกรรมใหม่นี้ มันก็จะติดตามไปชาติหน้าอีกไม่รู้จักหมดกรรมหมดเวรกันสักที

ก็เหมือนเรื่องสมเด็จ (โต) ท่านตัดสินคำฟ้องที่ว่า มีพระสองรูปไปบิณฑบาตทางเรือ องค์หนึ่งพายหัว องค์หนึ่งพายท้าย แต่แล้วเหตุใดไม่ทราบ องค์พายท้ายเกิดเอาพายไปไปตีหัวองค์พายหัวเรือเข้า ท่านก็ไปฟ้องสมเด็จฯ สมเด็จฯ ท่านก็ตัดสินว่า “ก็คุณไปตีเขาก่อนนี่ เขาจึงตีเอา”

พระรูปพายหัวเรือก็แย้งว่า “กระผมไม่ได้ตีเขา เขาตีผมข้างเดียว”

สมเด็จฯ ท่านก็ยังยืนยันอย่างนั้น จนต้องไปฟ้องพระผู้ใหญ่ที่ปกครองเหนือกว่า สมเด็จ (โต) ท่านก็จึงได้เฉลยว่า “ถ้าพระองค์นี้ไม่ไปตีเขาไว้ในชาติก่อนแล้ว เหตุใดเขาจึงได้มาถูกตีในชาตินี้เล่า ?”

เรื่องนี้ก็ยุติกันไป เพราะสมเด็จฯ ท่านเล่นยกไปให้กรรมเก่าในชาติก่อน มันก็เอวังกันเท่านั้นเอง เอาเป็นว่า การที่เราได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน ความยากจน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจทั้งหมดเหล่านั้น ล้วนเป็นผลมาจากกรรมชั่วของเราในอดีตโน้นกำลังให้ผลอยู่ (อย่าถามว่าชาติไหนนะ ? ผู้เขียนก็ไม่รู้เหมือนกัน เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าท่านน่ะ)

ส่วนว่าเราได้รับความสุข ความสบาย ความร่ำรวย.... นั่นก็เป็นผลของกรรมฝ่ายดี ทั้งในอดีตและในปัจจุบันกำลังให้ผลอยู่ ผสมผสานกันจนแยกไม่ออก แต่ก็เห็นได้ง่ายๆ ว่า แม้ว่าคนนั้นจะมีบุญมากปานใด ? ก็จะส่งให้มาเกิดในตระกูลที่ร่ำรวยเท่านั้น แต่ถ้าโง่และขี้เกียจในชาตินี้ มันก็ไม่พ้นความยากจนไปได้

เป็นอันว่า การเชื่อกฎแห่งกรรมนั้น มีแต่ผลดี คือช่วยเป็นกำลังใจ ให้ทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป และความดีนั้นย่อมมีผลเป็นความสุข ผู้ทำความดีก็ย่อมจะมีความสุขในปัจจุบัน และแม้สิ้นชีพไปแล้ว ก็ย่อมจะไปเกิดในสุคติอย่างไม่ต้องสงสัยเลย.


คัดลอกจาก
หนังสือสู่ความสุข ธรรมรักษา เรียบเรียง


    ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด  dhammajak

72
ธรรมะ / อานิสงส์การให้ทาน
« เมื่อ: 11 ต.ค. 2553, 01:33:15 »
                                                                      อานิสงส์การให้ทาน

  บรรดาท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่ามีอานิสงส์เป็นประการใด ทั้งนี้ก็ขอให้ดูเรื่องราวของ อังกุรเทพบุตร ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชมน์อยู่ ในขณะนั้นที่องค์สมเด็จพระบรมครู ขึ้นไปแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา


เมื่อไปถึงดาวดึงส์ครั้งแรก แรกไปถึงก็ปรากฏว่ามีเทวดา๒ องค์ คือ อินทกเทพบุตร กับ อังกุรเทพบุตร ทั้ง ๒ ท่านมาก่อนเทวดาอื่น ทั้งนี้พระอินทร์ท่านรับอยู่ก่อนนะ เมื่อพระอินทร์ท่านรับอยู่ก่อน แต่ว่า ๒ องค์นี่อยู่ใกล้ เมื่อเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นไป ก็มาก่อนเทวดาอื่น ท่านอังกุรเทพบุตร นั่งข้างพระบาทข้างซ้าย อินทกเทพบุตร นั่งข้างพระบาทข้างขวา


ต่อมาเมื่อเทวดาองค์อื่นมา อังกุรเทพบุตรก็ถอย อินทกเทพบุตรนั่งที่เดิม เมื่อเทวดามาหมดดาวดึงส์ ปรากฏว่า อังกุรเทพบุตรอยู่ท้ายสุด เป็นเทวดาหางแถว อินทกเทพบุตรเป็นเทวดาหัวแถวตามเดิม พระพุทธเจ้าหวังจะประกาศผลของการบำเพ็ญกุศลนอกพระพุทธศาสนากับในพระพุทธศาสนาให้บรรดาประชาชนทราบ


จึงทรงบันดาลเสียงของพระองค์ด้วย เสียงของเทวดาด้วยที่สนทนากัน ให้ดังถึงเมืองมนุษย์ ให้คนที่อยู่ที่เมืองพาราณสีทั้งหมด คอยพระองค์อยู่หลายโกฏิได้ยินได้ฟังทั้งหมดสมเด็จพระบรมสุคตจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า


“อังกุระ เมื่อตถาคตมาถึงตอนแรก เธอนั่งข้างพระบาทข้างซ้ายของตถาคต ครั้นเทวดาองค์อื่นมาหมดดาวดึงส์ เธอเป็นเทวดาท้ายแถว นั่งไกลที่สุด อยากจะถามว่าในสมัยที่เป็นมนุษย์เธอทำบุญอะไรไว้”


อังกุรเทพบุตรจึงกราบทูลองค์สมเด็จพระจอมไตรว่า “ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญพระพุทธเจ้าข้า ในสมัยที่เป็นมนุษย์ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นมหาเศรษฐี เวลานั้นคนมีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี อีก ๒๐,๐๐๐ ปีท้าย ใกล้จะตาย ให้ตั้งโรงทาน ๘๐ แห่ง ๑ โยชน์ ตั้ง ๑ แห่ง ๑ โยชน์ ตั้ง ๑ แห่ง


ให้ทานคนยากจน คนกำพร้า คนเดินทาง ทั้งกลางวันและกลางคืน สิ้นเวลา ๒๐,๐๐๐ ปี แต่อาศัยว่าเวลานั้นไม่มีพระพุทธศาสนา คนทั้งหมดไม่มีศีล ไม่มีธรรม จึงได้อานิสงส์น้อย ตายจากความเป็นมนุษย์ มาเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทวดาที่มีบุญน้อยที่สุด แต่ว่าก็มี วิมานทองคำเกลี้ยง มีนางฟ้า ๑,๐๐๐ เป็นบริวาร”


นี่แหละบรรดาท่านผู้รับฟัง แม้แต่การบำเพ็ญกุศลแจกแก่คนที่ไร้ศีล ไร้ธรรม ยังเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้ มีวิมานทองคำเกลี้ยง มีนางฟ้า๑,๐๐๐ เป็นบริวาร


แต่ทว่า สำหรับเด็กที่ท่านแจก เด็กนักเรียนโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา วัดท่าซุง เด็กทั้งหมดที่จะเข้าโรงเรียน จะต้องสอบการฝึกกรรมฐานให้ได้ก่อน ถ้าได้กำลังมโนมยิทธิได้พอสมควรจึงจะเข้าได้ และก็ต้องมีการซักซ้อมกันทุกกึ่งเดือน ครึ่งเดือนจะมีการซ้อมกรรมฐานกันครั้งหนึ่ง และกฎระเบียบของโรงเรียนนี้


อันดับแรก นักเรียนทุกคนต้องปฏิบัติอยู่ใน สังคหวัตถุ ๔ ได้ คือ

๑. รู้จักการสงเคราะห์

๒. พูดดี

๓. ช่วยเหลือการงาน

๔. ไม่ถือตัว


และก็ต้องพยายามทรงใน พรหมวิหาร ๔ คือ

๑. เมตตา ความรัก

๒. กรุณา ความสงสาร

๓. มุทิตา ไม่อิจฉาริษยาใคร เห็นใครได้ดีพลอยยินดีด้วย

๔. อุเบกขา วางเฉยเมื่อเคราะห์กรรมเข้ามาถึง


และก็ต้องมี กรรมบถ ๑๐ ปฏิบัติ คือ

ทางกาย

ไม่ฆ่าสัตว์

ไม่ลักทรัพย์

ไม่ประพฤติผิดในกาม

และไม่ดื่มสุราเมรัย


ทางวาจา

ไม่พูดปด

ไม่พูดคำหยาบ

ไม่ยุให้เขาแตกกัน

ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล


ทางใจ

ไม่อยากได้ทรัพย์สินของใครโดยไม่ชอบธรรม

ไม่พยาบาทจองล้างจองผลาญใคร

และมีความเห็นตรงตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


นี่เป็น คุณธรรมของนักเรียนโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา วัดท่าซุง ก็รวมความว่าเด็กทั้งหมดมีศีล มีธรรม มีสมาธิ พอสมควร การพลั้งพลาดไปบ้าง เป็นของธรรมดาของปุถุชน ฉะนั้นการบำเพ็ญกุศลของบรรดาท่านพุทธบริษัท


ถึงแม้ว่าบิดามารดาของเธอจะบกพร่องบ้าง แต่ว่าเด็กก็ตั้งอยู่ในเกณฑ์มีความประพฤติดี มีศีล มีธรรมพอสมควร ฉะนั้นอานิสงส์ที่จะพึงได้รับจากการแจกเด็ก ก็เห็นจะเป็นอย่างน้อยที่สุดท่านต้องได้สวรรค์ชั้นดาวดึงส์แน่นอน


และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงหรือลูกหลานทุกคนที่บำเพ็ญกุศลมา สงเคราะห์มา ก็เป็นคนมีศีลธรรมอยู่แล้ว มีศีลเป็นปกติ มีสมาธิเป็นปกติ มีการให้ทานเป็นปกติ เจริญภาวนาเป็นปกติ ตนเองมีอานิสงส์ใหญ่อยู่แล้ว ครั้นมาเสริมด้วยการให้ทานอย่างนี้ ผลแห่งความดีก็จะยิ่ง ๆ ขึ้น ไป ก็รวมความว่า การให้ทานกับเด็กที่ทรงศีล ทรงธรรม ทรงสมาธิ ตามสมควร ย่อมมีอานิสงส์สูงกว่าผลของ อังกุรเทพบุตร


ทีนี้เมื่อพูดถึง อังกุรเทพบุตร ก็ขอพูดถึง อินทกเทพบุตร ด้วย เป็นเทวดาที่สมัยพระพุทธเจ้าพบ ท่านอินทกเทพบุตรนั่นเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ เข้าไปถึงใหม่ ๆ เธอนั่งข้างขวามือ ใกล้พระบาทของพระพุทธเจ้า ในเมื่อเทวดามาทั้งหมดดาวดึงส์ ท่านอินทกเทพบุตรก็ไม่ถอยให้ใคร ก็ถือว่าเป็นเทวดาผู้มีศักดิ์ศรีใหญ่ในดาวดึงส์ ถ้ายกพระอินทร์เสียแล้วไม่มีใครใหญ่กว่า ไม่มีใครมีบุญมากกว่า


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใคร่จะประกาศอานิสงส์แห่งการทำบุญในพระพุทธศาสนาให้ทราบ

จึงถามอินทกเทพบุตรว่า “อินทกะ เมื่อตถาคตมาใหม่ ๆ เธอก็นั่งตรงนี้ แต่ว่าเมื่อตถาคตนั่งอยู่นานเข้า เทวดามาหมดดาวดึงส์ เธอก็นั่งตรงนี้ เธอเป็นเทวดาที่มีมเหสักขา (คือ มีฤทธิ์มาก มีบุญมาก) มากกว่าเทวดาองค์อื่น นอกจากพระอินทร์แล้วไม่มีใครยิ่งไปกว่าเธอ อยากจะถามว่า ในสมัยที่เป็นมนุษย์ เธอทำบุญอะไรไว้ จึงเป็นเทวดาที่มีอานุภาพมากอย่างนี้”


อินทกะได้กราบทูลองค์สมเด็จพระชินสีห์ว่า “ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ พระพุทธเจ้าข้า ในสมัยที่ข้าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ เป็นลูกคนจน ต่อมาบิดาตายก็ต้องเลี้ยงแม่”

คำว่า เลี้ยงแม่ บรรดาท่านพุทธบริษัท เป็นการกตัญญูรู้คุณ สนองความดีของแม่ที่ท่านเลี้ยงมา อันนี้มีอานิสงส์สำคัญมาก สูงมาก


ต่อมา พระสงฆ์ในสำนักขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เดินเฉียดบ้านเข้าไปก่อนเพล ได้นิมนต์พระสงฆ์ทั้งหมดประมาณ ๔ รูป มาถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน ในชีวิตของท่าน ท่านบอกว่าท่านจนมาก โอกาสที่จะบำเพ็ญกุศลไม่มี มีโอกาสคราวเดียว การบำเพ็ญสังฆทานคราวนี้คราวเดียวและก็เลี้ยงแม่ให้มีความสุขตามฐานะ


เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าตายจากความเป็นมนุษย์ มาเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก มีวิมานแก้ว ๗ ประการเป็นที่อยู่ มีนางฟ้า ๑ แสน เป็นบริวาร และก็มีวิมานสวยสดงดงามมีความสุขมาก


นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย การบำเพ็ญกุศลในศาสนาขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมมีอานิสงส์สูงกว่าการบำเพ็ญกุศลแก่คนนอกศาสนามาก อย่างอินทกเทพบุตร การที่กล่าวมาอย่างนี้ก็เพราะว่า ในกาลต่อไปก็จะได้พูดถึงบุคคลที่บำเพ็ญกุศลในพุทธศาสนา ที่กล่าวมานี้


แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงรับรองว่าเทวดามีจริง นางฟ้ามีจริง สวรรค์มีจริง นรกมีจริง พรหมโลกมีจริง นิพพานมีจริง ตายแล้วมีสภาพไม่สูญจริง อันนี้เป็นหนังสืออ่านเล่น


  ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด  พลังจิต

73
ธรรมะ / ขันติธรรม
« เมื่อ: 10 ต.ค. 2553, 04:36:17 »
                                                                          ขันติธรรม

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด

(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ๙)

บุคคลผู้มีความอดทน ย่อมไม่มีอันตรายแก่ใครๆ มีแต่จะนำประโยชน์สุขมาให้แก่บุคคลผู้ที่คบหาเสวนาด้วยอย่างเดียว เพราะบุคคลผู้มีความอดทน ย่อมเป็นผู้มีมงคลคือเหตุแห่งความเจริญในตนอยู่แล้ว จะประ กอบกิจการทุกสิ่งล้วนทำด้วยปัญญาอันประกอบด้วยเหตุผลทั้งสิ้น อีกทั้งเป็นผู้หนักแน่น ไม่หวั่นไหวได้ง่าย

ส่วนบุคคลผู้ที่ไม่มีความอดทน ย่อมตรงกันข้าม คือ เมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเข้า ก็อาจจะแสดงกิริยาอาการอันไม่งาม ไม่น่าชมออกมาได้ทุกเวลา ทุกโอกาสสถานที่ และเมื่อเป็นเช่นนี้ การประกอบกิจการทุกสิ่งทุกอย่าง หรือการคบหาสมาคมกัน เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์สุขต่อกันนั้น ก็ย่อมจะถึงกาลเสื่อมเสียไป

ขันติธรรม คือ ความอดทน ท่านจำแนกไว้ 3 ประการ คือ

ประการที่ 1 อดทนต่อความยากลำบาก หมายความว่า อดทนต่อทุกข เวทนาที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะทุกชีวิตที่เกิดมาแล้ว ย่อมไม่พ้นจากความแก่ ความเจ็บ และความตายไปได้ จำต้องประสบพบกับบุคคลทุกประเภท ไม่ว่าจะยากจน หรือ ร่ำรวยก็ตาม ล้วนแล้วแต่ได้พบด้วยกันทั้งนั้น

ประการที่ 2 อดทนต่อความตรากตรำ หมายความว่า อดทนต่อความทุกข์ยากจากการทำงาน เพราะคนทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งบุคคลจะได้สิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต ก็จะต้องขยันประกอบอาชีพการงาน แต่ถ้าบุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่ประกอบการงาน ก็จะมีความเป็นอยู่อย่างลำบาก หากมีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้านแล้ว ก็จะหาทรัพย์ได้ ดั่งพุทธพจน์ที่ว่า บุคคลผู้มีหน้าที่ หมั่นขยันทำสมควร ย่อมหาทรัพย์ได้"

เมื่อมีหน้าที่การงานแล้ว ควรเป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ทำให้เหมาะสมกับหน้าที่ ไม่ทอดทิ้งการงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ควรเพียรพยายามทำให้เต็มกำลังความสามารถและสติปัญญา

การประกอบอาชีพการงานนั้น ย่อมประสบกับอุปสรรค ท่านที่มีปัญญาสามารถ ต้องการที่จะได้รับประโยชน์และความสุข ก็ไม่ควรทอดทิ้งหรือท้อถอย ควรใช้ความอดทนเป็นเบื้องหน้า ก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้

ประการที่ 3 อดทนต่อความเจ็บใจ หมายความว่า อดทนต่อความโกรธที่มากระทบกระทั่ง เพราะบุคคลทุกคน จะอยู่คนเดียวลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นหมู่คณะ เป็นครอบครัว ตลอดถึงเป็นประเทศชาติ

บุคคลผู้อยู่ร่วมกันเช่นนี้ บางครั้งอาจมีความกระทบกระทั่งกัน ทะเลาะวิวาทบาดหมางกันบ้าง เพราะต่างก็มีกิเลสอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดความอดทนแล้ว ความทะเลาะวิวาทบาดหมาง ก็จะแตกแยกแผ่ขยายกว้างออกไป จนทำให้เสียหน้าที่การงานได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ประโยชน์สุขก็จะไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น ผู้ที่มีขันติธรรม คือ ความอดทน เป็นผู้ปราศจากเวร นอกจากจะเป็นที่รักใคร่นับถือสำหรับมนุษย์ทั้งหลายแล้ว ยังเป็นที่รักใคร่นับถือของทวยเทพเทวดาทั้งหลาย ย่อมสามารถนำประโยชน์สุขมาให้แก่ตนเองและคนเหล่าอื่นได้อีกด้วย

   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด khaosod

74
ธรรมะ / คติธรรม 20 พระอาจารย์
« เมื่อ: 09 ต.ค. 2553, 07:36:02 »
                                                                  คติธรรม 20 พระอาจารย์

พัฒนาจิต ชีวิตพัฒนา เพิ่มสุข ลดสุก
ด้วยคติธรรม 20 พระอาจารย์
 
๑. หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล   
                                                                                                  วิปัสสนา นี้ มีผลอานิสงส์ใหญ่ยิ่งกว่าทาน ศีล พรหมวิหารภาวนา ย่อมทำให้ผู้เจริญนั้นมีสติไม่หลงเมื่อทำกาลกิริยา มีสุคติภพ คือ มนุษย์และโลกสวรรค์เป็นไปในเบื้องหน้า หากยังไม่บรรลุผลทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ถ้าอุปนิสัยมรรคผลมี ก็ย่อมทำให้ผู้นั้นบรรลุมรรคผล ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้ในชาตินี้นั่นเทียว

อนึ่ง ยากนักที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ เพราะต้องตั้งอยู่ในธรรมของมนุษย์ คือ ศีล ๕ และกุศลกรรมบท ๑๐ จึงจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ชีวิตที่เป็นมานี้ ก็ได้ด้วยยากยิ่งนักเพราะอันตรายชีวิตทั้งภายใน ภายนอกมีมากต่างๆ การที่ได้ฟังธรรมของสัตตบุรุษคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ก็ได้ยากยิ่งนัก เพราะกาลที่ว่างเปล่าอยู่ ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกยืดยาวนานนัก บางคาบ บางสมัย จึงจะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกสักครั้งสักคราวหนึ่ง เหตุนั้นเราทั้งหลายพึงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้เลย

๒. หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

การบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลก...การบำรุงรักษาตนคือ ใจเป็นเยี่ยม จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือ ใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี

ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญ "ตน" ว่าเสวยเป็นอันผิดทั้งนั้น

ติดดี นี่แก้ยากกว่าติดชั่วเสียอีก


๓. หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ส่วน ธรรมะ ให้ดูที่จิตของตัวเอง ปฏิบัติที่จิต เมื่อเข้าใจจิตแล้ว อย่างอื่นก็เข้าใจเอง หลักธรรมที่แท้จริงนั้นคือ จิต ให้กำหนดดูจิต ให้เข้าใจจิตตัวเองสึกซึ้งแล้ว นั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม

ถึงจิตไม่สงบก็ไม่ควรให้มันออกไปไกลใช้สติระลึกไปแต่ในภายในกายนี้ ดูให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภสัญญา หาสาระ แก่นสารไม่ได้ เมื่อจิตมองเห็นชัดแล้ว จิตก็เกิดความสลดสังเวช เกิดนิพพิทา ความหน่ายคลายกำหนัด ย่อมตัดอุปาทานขันธ์ได้เช่นเดียวกัน

การศึกษาธรรมด้วยการอ่านการฟัง สิ่งที่ได้ก็คือ สัญญา (ความจำได้) การศึกษาธรรมด้วยการลงมือปฏิบัติ สิ่งที่เป็นผลของการปฏิบัติคือ ภูมิธรรม

การปฏิบัติ ให้มุ่งปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละ เพื่อความคลายกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์วิมาน หรือแม้พระนิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพพานมันเป็นของว่าง ไม่มีตัวตน หาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง

ผู้ที่ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้าชาติหลัง หรือนรก สวรรค์อะไรก็ได้ ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามมตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้วย่อมได้เลื่อนฐานะของตนโดยลำดับ หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุข เป็นมนุษย์ชั้นเลิศ

๔. หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี 
                                                                                                       ตาม กระแสพระธรรมเทศนาของสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทุกข์เป็นของไม่ควรละ แต่เป็นของควรต่อสู้ ความทะยานอยากได้สุขหรือไม่อยากให้มีทุกข์ต่างหาก เป็นของควรละ ผู้ที่จะพ้นจากทุกข์ได้ในโลกนี้ ก็ล้วนแล้วแต่ยกทุกข์ขึ้นมาเป็นเหตุทั้งนั้น

ทุกข์กับความเพียรเท่านั้นที่มีค่ามากในโลกนี้ หากไม่มีทุกข์กับความเพียรเสียแล้ว ใครๆ ในโลกนี้ จะไม่ทำความดีเพื่อพ้นทุกข์ในโลกนี้และโลกหน้า ตลอดถึงพระนิพพาน

แท้จริงความนึกคิดไม่ใช่ทุกข์ แต่การไปยึดความนึกคิดมาเป็นของตน จึงเป็นทุกข์

หลักอนัตตา ในทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญาอันชอบ พระองค์มิได้ตรัสว่าอนัตตาเป็นของไม่มีตนไมมีตัว เป็นของว่างเปล่า พระองค์ตรัสว่า ตนตัวคือ ร่างกายของคนเรา อันได้แก่ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ มันมีอยู่แล้ว แต่จะหาสิ่งเป็นสาระในขันธ์ ๕ นั้นไม่มี ดังนี้ต่างหาก

การเห็นความฟุ้งซ่านของจิตนั้นคือ "ปัญญาชั้นต้น"

คนใดว่าตนดี คนนั้นยังไม่ดี ใครว่าตนวิเศษวิโส หรือฉลาดเฉียบแหลม คนนั้นคือ คนโง่

๕. หลวงปู่ขาว อนาลโย


สติเป็นแก่นของธรรม แก่นของธรรมแท้อยู่ที่สติ ให้พากัน หัดทำให้ดี ครั้นมีสติแก่กล้าดีแล้ว ทำก็ไม่พลาด คิดก็ไม่พลาด กุศลธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้น เมื่อบุคคลอยู่กับสติแล้ว สติเป็นใหญ่ สติมีกำลังดีแล้ว จิตมันรวม เพราะสติคุ้มครองจิต

๖. หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
เวลากิเลสมันเกิดขึ้น เกิดขึ้นทางกาย เกิดขึ้นทางวาจา เกิดขึ้นทางใจ รู้ทันมันเดี๋ยวนี้ มันก็ดับไปเดี๋ยวนี้แหละ

ตัวสติมันปกครองอยู่เสมอ ถ้ามีสติอยู่ทุกเมื่อ มันบ่ได้คุบมันหละ ครั้นเกิดขึ้น รู้ทันมันก็ดับ รู้ทันก็ดับ รู้ทันก็ดับ คิดผิดก็ดับ คิดถูกก็ดับ พอไจไม่พอไจก็ดับลงทันทีที่ตัวสติ

๗. ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
เมื่อมนุษย์เป็นคนไม่ดี แม้วัตถุเหล่านั้นจะเป็นของดีก็ตาม มันจะกลับกลายเป็นโทษแก่ปวงชนได้เหมือนกัน

ถ้ามนุษย์มีธรรมประจำใจ สิ่งทั้งหลายที่ให้โทษก็จะกลายเป็นประโยชน์

พวกเราทั้งหลายไม่มีความสัตย์ความจริงต่อดัวเอง จึงมิได้ประสบสุขอันแท้จริงเหมือนอย่างพระพุทธองค์ เราบอกกับตัวเองว่า อยากได้ความสุข แต่เราก็โดดเข้าไปสู่กองไฟร้อน เรารู้ว่าสิ่งนั้นๆ เป็นยาพิษ แต่เราก็ดื่มมันเข้าไป นี่แหละเป็นการทรยศต่อตัวเอง

๘. ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต

คำว่า "ไม่สบายใจ" อย่าใช้ และอย่าให้มีขึ้นในใจต่อไป "Let it go, and get it out !" ก่อนมันจะเกิด ต้อง "Let it go" ปล่อยให้มันผ่านไป อย่ารับเอาความไม่สบายใจไว้

ที่จะทำอะไรไม่ผิดนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่สติถ้ามีสติคุ้มครองกาย วาจา ใจ อยู่ทุกขณะ จะทำอะไรไม่ผิดพลาดเลย ที่ผิดพลาดเพราะขาดสติคือ เผลอ เหม่อ เลินเล่อ ประมาท ระเริง หลงลืมจึงผิดพลาด จงนึกถึงคติพจน์ว่า "กุมสติต่างโล่ป้อง อาจแกล้วกลางสนาม"

ต้องฝึกหัดแก้ไขปรับปรุงจิตใจเสียใหม่ทั้งก่อนที่จะทำอะไร หรือกำลังกระทำอยู่ และเมื่อเวลากระทำเสร็จแล้ว ต้องหัดให้จิตใจ แช่มชื่นรื่นเริง เกิดปีติปราโมทย์ เป็นสุขสบายอยู่เสมอเป็นเหตุให้เกิดกำลังกาย กำลังใจ "Enjoy living" มีชีวิตอยู่ด้วยความเบิกบาน สมองจึงจะเบิกบาน จะศึกษาเล่าเรียนก็เข้าใจง่ายเหมือนดอกไม่ที่แย้มบานต้องรับหยาดน้ำค้าง และอากาศอันบริสุทธิ์ฉะนั้น

"จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีๆ นะ" เป็นคำแทนคำอวยพรอย่างสูงสุด ประกอบด้วยเหตุผล เมื่อทำกรรมดีแล้ว ไม่ให้พรก็ต้องดี เมื่อทำชั่วแล้ว จะมาเสกสรรปั้นแต่งอวยพรอย่างไร ก็ดีไม่ได้ ทำชั่วเหมือนก้อนหินจะต้องจมทันที ไม่มีผู้วิเศษใดๆ จะเสกเป่าอวยพร ขอร้องให้หินลอยขึ้นมาได้ ทำกรรมชั่วต้องล่นจมป่นปี้เสียราศีเกียรติคุณชื่อเสียง เหมือนก้อนหินหนักจมลงไปอยู่กับโคลนใต้น้ำ

๙. หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

เราเป็นผู้ก่อกรรม ก่อเวร ก่อภัย ไม่มีใครก่อให้ ไม่ใช่เทวบุตร เทวธิดาสร้างให้ พี่น้องสร้างให้ บิดามารดาสร้างให้ เราสร้างเอง


๑๐. หลวงปู่คำดี ปภาโส


ความ จริงจิตใจของเราเองเป็นตัวก่อทุกข์ สังเกตได้จากพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เมื่อท่านมีความรู้ มีปัญญาคุ้มครองรักษาใจท่านดีแล้ว ท่านก็ไม่มีทุกข์ เพราะท่านไม่ปรารถนาในสิ่งต่างๆ เมื่อเราประสบกับรูป กลิ่น เสียง หรืออื่นๆ ก็เพราะใจเรามีตัณหา ปรารถนา ทะเยอทะยาน ยินดียินร้ายในสิ่งเหล่านั้น ทำให้เราเป็นทุกข์

ไม่ใช่ว่ารูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ หรือสิ่งอื่นๆ ที่จะได้มาเผาเราให้ร้อนเป็นทุกข์ ตัวของเราเองที่เป็นไฟมาคอยเผาตัวเอง

การภาวนา ท่านต้องการให้เราปราบกิเลสของเราเท่านั้น คือเห็นความโลภ เห็นความโกรธของตน เห็นความหลงของตน เห็นราคะตัณหาของตน เห็นมานะทิฏฐิของตน

นี่แหละ บรรดาสิ่งสมมติที่เราไปยึดถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของเรานั้น ก็จะได้เพียงชีวิตหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยา หรือสมบัติต่างๆ เมื่อเราตายไปแล้ว เราจะยึดถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเราอีกไม่ได้ เราจะเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นติดตามไปสวรรค์ นรก หรือที่ไหนๆ ก็ไม่ได้ ตรงกับคำว่า "สมบัติของโลก ก็ต้องอยู่ในโลก"


๑๑. หลวงพ่อดู่ พฺรหฺมปญฺโญ


"โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม" เรื่องโลกมีแต่เรื่องยุ่งของคนอื่นทั้งนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขเขาไม่ได้

ส่วนเรื่องธรรมนั้นมีที่สุด มาจบที่ตัวเรา ให้มาไล่ดูตัวเองแก้ไขตัวเราเอง ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง

ถ้าเป็นโลกแล้ว จะมีแต่ส่งออกไปข้างนอกตลอดเวลา แต่ถ้าคิดสิ่งที่เป็นธรรมแล้ว ต้องวกกลับเข้ามาหาตัวเอง เพราะธรรมแท้ๆ ย่อมเกิดในตัวของเรานี่ทั้งนั้น

รอให้แก่เฒ่าหรือจวนตัวแล้วจึงสนใจภาวนา ก็เหมือนคนหัดว่ายน้ำเอาตอนเรือหรือแพใกล้แตก มันจะไม่ทันการณ์

๑๒. หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
เมื่อ สิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นแหละมาถึงบุคคลใด บุคคลนั้นจะต้องรู้เท่าทัน อย่าไปยึดเอาถือเอา เมื่อไปยึดสิ่งได ถือสิ่งไดสิ่งนั้นไม่เป็นไปตามใจหวัง ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าไม่ยึดเอาถือเอา เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีความไม่เที่ยงอย่างนี้ มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป เกิดขึ้นใหม่ ตั้งอยู่ ก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอยู่อย่างนี้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าคน สัตว์ วัตถุธาตุทั้งหลาย มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอนอย่างนี้

วันเวลาที่หมดไปสิ้นไปโดยไม่ได้ทำอะไรที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตัวเองบ้าง ในชีวิตที่เกิดมาในโลก และได้พบพระพุทธศาสนานี้ช่างเป็นชีวิตที่น่าเสียดายยิ่งนัก เวลาแม้เพียงหนึ่งนาทีที่ผ่านไปนั้น แม้ว่าจะทุ่มเงินจำนวนมหาศาลสักสิบล้าน ร้อยล้านบาท ก็ไม่สามารถซื้อกลับคืนมาได้ ฉะนั้น สิ่งที่น่าเสียดายในโลกนี้ จะมีอะไรน่าเสียดายเท่ากับปล่อยวันเวลาผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ แม้ว่าจะเพียงแค่นาทีเดียว

"มรณกรรมฐาน" นี้เป็นยอดกรรมฐานก็ว่าได้ คนเราเมื่ออาศัยความประมาทมัวเมา ไม่ได้มองเห็นภัยอันตรายจะมาถึงตน คิดเอาเอง หมายเอาเองว่า เราคงไม่เป็นอะไรง่ายๆ เราสบายดีอยู่เรายังเด็กยังหนุ่มอยู่ ความตายคงไม่กล้ำกรายได้ง่าย อันนี้เป็นความประมาทมัวเมา

๑๓. ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
ธัมมะท่านสอนให้ดูตัวเอง ระวังตัวเอง จะได้เห็นความบกพร่องของตัวเอง แล้วแก้ไขตัวเองไปเรื่อยๆ จนสมบูรณ์ได้

๑๔. ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก

ก่อน ที่จะพูดอะไร ให้ถามตัวเองว่าที่จะพูดนี้จำเป็นหรือเปล่า ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าพูด นี่เป็นขั้นต้นของการอบรมใจ เพราะถ้าเราควบคุมปากตัวเองไม่ได้ เราจะควบคุมใจได้อย่างไร

ไปกี่วัดกี่วัด รวมแล้วก็วัดเดียวนั่นหละคือ วัดตัวเรา

จิตเปรียบเหมือนพระราชา อารมณ์ทั้งหลายเปรียบเหมือนเสนา เราอย่าเป็นพระราชาที่หูเบา

มัวแต่นึกถึงวันเกิด ให้นึกถึงวันตายเสียบ้าง

ของดีจริงไม่ต้องโฆษณา คนชอบขายความดีตัวเอง ที่จริงขายความโง่ของตัวเองมากกว่า คมให้มีในฝัก ให้ถึงเวลาที่จะต้องใช้จริงๆ จึงค่อยชักออกมา จะได้ไม่เสียคม

สักวันหนึ่งความตายจะมาถึงเรา มาบีบบังคับให้เราปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้น เราต้องหัดปล่อยวางล่วงหน้าให้มันเคย ไม่อย่างนั้น พอถึงเวลาไปจะลำบาก

เวลาเราทำงานอะไรอยู่ ถ้าเราสังเกตว่าใจเราเสีย ก็ให้หยุดทันที แล้วกลับมาดูใจของตนเอง เราต้องรักษาใจของเราไว้เป็นงานอันดับแรก

คนอื่นเขาด่าเรา เขาก็ลืมไป แต่เราไปเก็บมาคิด เหมือนเขาคายเศษอาหารทิ้งไปแล้ว เราไปเก็บมากิน แล้วจะว่าใครโง่

๑๕. หลวงพ่อชา สุภทฺโท

ผู้ไปยึดอารมณ์จะเป็นทุกข์ เพราะอารมณ์มันไม่เที่ยง

ดูซิ...เราข้ามกันไปหมด พากันทำบุญ แต่ว่าไม่พากันละบาป ผ้าสกปรกไม่ฟอก แต่อยากจะรับน้ำย้อมนะ

ที่เรามาปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อให้เห็นจิตเดิม เราคิดว่าจิตเป็นสุขจิตเป็นทุกข์ แต่ความจริงจิตไม่ได้สร้างสุขสร้างทุกข์ อารมณ์มาหลอกลวงต่างหาก มันจึงหลงอารมณ์ ฉะนั้น เราจึงต้องมาฝึกจิตใจให้ฉลาดขึ้น ให้รู้จักอารมณ์ ไม่ให้เป็นไปตามอารมณ์ จิตก็สงบ

การทำจิตใจของเราให้มีกำลัง กับการทำกายของเราให้มีกำลัง มันต่างกัน การทำกายให้มีกำลังก็คือ การออกกำลังกายทำกายบริหาร มีการกระโดด การวิ่ง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง การทำจิตใจให้มีกำลังก็คือ ทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่น คิดนี่ไปต่างๆ ให้อยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตของเรานั้นไม่เคยได้สงบ ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังทางด้านสมาธิภายใน


๑๖. หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต

มอง ตัวเองให้มากจึงจะกลายเป็นคนดีได้ มัวแต่มองท่านผู้อื่นแล้วไซร้ ก็กลายเป็นคนพาลไป ไม่รู้ตัว เพราะนิสัยคนพาลย่อมเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวัตร โบราณท่านกล่าวว่า อุจจาระของตนนั่งดมอยู่ก็พอดม อุจจาระท่านผู้อื่นเล่า มากระทบจมูกเข้าก็เกิดเป็นพิษเป็นภัยขึ้น (โลกทั้งปวงย่อมเป็นแบบนี้เป็นส่วนมาก)

ถ้าหากโลกทั้งปวงหนักไปทางสอนตนเองเป็นชั้นหนึ่ง และเป็นของจำเป็นมากกว่าสิ่งใดๆ แล้ว การโต้เถียงเกี่ยงงอนรังเกียจเบียดสีกัน ก็คงสงบไปในตัวเท่าที่ควร และพุทธศาสนาก็ยืนยันว่า "สอนตนดีแล้ว จึงสอนท่านผู้อื่น" จึงไม่เดือดร้อนในภายหลัง

เรื่องอุปสรรคในโลกทั้งปวง และก็เป็นยาวิเศษทั้งปวงไปในตัว เป็นเหตุให้เข็ดหลาบโลกทั้งปวงไปในตัว แบบถี่ถ้วนแยบคายด้วยซ้ำ

มุ่งดีในโลกีย์เป็นทางวนเวียน มุ่งดีในทางโลกุตตระเป็นทางพ้นทุกข์


๑๗. พระอาจารย์บุญกู้ อนุวฑฺฒโน

เราไปเข้าโรงเรียน เพียรศึกษาวิชาการ แล้วมุ่งทำงานอาชีพ เราย่อมได้เงินทองเพื่อมาเลี้ยงร่างกาย เราเข้าวัดเพียรศึกษาธรรมะ แล้วมุ่งทำบุญกุศล เราย่อมเสียเงินทองเพื่อเลี้ยงจิตใจ ผู้ใดมุ่งเลี้ยงแต่ร่างกาย หรือบำรุงแต่จิตใจเพียงอย่างเดียว ความเจริญของชีวิตย่อมขาดตกบกพร่องไป หากผู้ใดเข้าใจเลี้ยงทั้งร่างกายและบำรุงจิตใจพร้อมกัน ความเจริญของชีวิตย่อมเพิ่มพูนยิ่งขึ้น ยังมีชีวิตอยู่ก็สบาย ตายไปก็ต้องเป็นสุข


18.หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
การที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นพระโสดาบัน เราก็ต้องนึกถึงความตายเป็นปกติ ถ้าพวกเราเป็นพระโสดาบันไม่ได้ ก็รู้สึกว่าเป็นที่น่าเสียดาย อยู่ในสถานที่เช่นนี้ รับฟังธรรมะกันทุกวัน วันละหลายเวลา ยังจะคบกับความชั่ว คือ ขาดหิริและโอตตัปปะ เข้ามาเป็นประจำ ตามที่เคยปฏิบัติกันมาในกาลก่อน ก็รู้สึกว่าจะเลวเกินไปสำหรับการเกิดเป็นคน ไม่สมควรจะเอาภาคของมนุษย์เข้ามาสวมกาย เอาใจเข้ามาสิงในภาคของมนุษย์


19. พุทธทาสภิกขุ


วิธี ชุบชีวิตยามมีทุกข์ คนเราเกิดมาชาติหนึ่ง ถ้ารูจักแต่ทำมาหากินเลี้ยงร่างกายอย่างเดียว ไม่รู้จักแสวงหาธรรมะมาหล่อเลี้ยงจิตใจให้สุขสงบเย็นด้วยแล้ว การเกิดมานั้น ก็จะเป็นการเกิดมาเพื่อทนทุกข์ทรมานติดคุกติดตาราง ในทางวิญญาณชนิดหนึ่งไปจนตาย ทุกๆ ชาติทีเดียว เพราะถ้าไม่รู้จักทำจิตใจให้สงบตามธรรมบ้างแล้ว แม้คนรวยที่อยู่ตึกก็มีความสุขสู้คนจนที่อยู่กระท่อมซอมซ่อไม่ได้


20.พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
หนทางยังมีอยู่ ผู้เดินทางยังไม่ขาดสายลงมือเสียแต่วันนี้
ก่อนที่กระแสลมแห่งกาลเวลาจะพัดพารอยพระบาทของท่านหายไป
เพราะถึงเวลานั้นพวกเราก็จะต้องระหกระเหินไร้ทิศทางไปอีกนานแสนนาน


     ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด  พลังจิต





75
ธรรมะ / ตัวรู้-รู้ตัว
« เมื่อ: 08 ต.ค. 2553, 04:43:42 »
                                                      ตัวรู้-รู้ตัว (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)


ตัวรู้-รู้ตัว

พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
(พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)

ในการนั่งภาวนานี้ ถึงแม้เราจะไม่มีความรู้อะไรเลย ก็ให้รู้เพียงว่า ลมเข้าเราก็รู้ ลมออกเราก็รู้ ลมยาวเราก็รู้ ลมสั้นเราก็รู้ ลมสบายเราก็รู้ หรือลมไม่สบายเราก็รู้ เท่านี้ก็เป็นอันใช้ได้ ส่วน "สัญญา" ในเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในใจของเรานั้น ก็ให้ปัดทิ้งเสีย ทั้งดีและชั่ว ทั้งอดีตอนาคต ไม่ให้นำมายุ่งเกี่ยวและก็ไม่ต้องต้องไปแก้ไข

เมื่อสัญญาผ่านเข้ามา ก็ปล่อยให้ผ่านไปตามเรื่องของมัน ความรู้ของเราก็ให้เฉยอยู่กับปัจจุบันอย่างเดียว

ข้อที่ว่าใจเราไปอย่างนั้นไปอย่างนี้มันก็ไม่ใช่ตัวจริง เป็นเพียงแต่สัญญามันพาไป เท่านั้น สัญญา นี้เปรียบเหมือนกับ "เงา" ส่วนตัวจริงของมันนั้นก็คือ "จิต" ต่างหาก ถ้ากายของเราเฉยไม่มีอาการเคลื่อนไหวไปมาแล้ว เงาของเราจะเคลื่อนไหวไปได้อย่างไร ?

เพราะกายของเรามันไหวไม่อยู่นิ่ง เงาของเราจึงไหวไปด้วย และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราจะไปจับเอาเงามาอย่างไร? เงานี้จะจับมันก็ยาก จะละมันก็ยาก จะตั้งให้เที่ยงก็ยาก ความรู้ที่เป็นตัวปัจจุบัน นั่นแหละคือ "ตัวจริง" ส่วนความรู้ที่เป็นไปตามสัญญานั้น ก็คือ .."เงา"

ความรู้ตัวจริงนั้น ย่อมเป็นตัวที่อยู่คงที่ ไม่มีอาการยืน เดิน ไปมา ส่วนจิต ก็คือ "ตัวรู้" ซึ่งไม่มีอาการไปอาการมา ไม่มีไปข้างหน้า ไม่มีมาข้างหลัง มันก็สงบเฉยอยู่ และเมื่อตัวจิตราบเรียบอยู่ในปกติไม่มีความคิดนึกวอกแวกไปอย่างนี้ ตัวเราก็ย่อมสบาย คือ จิตไม่มีเงา

ถ้าจิตของเราไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไหวตัวไปมาอยู่ก็ย่อมจะเกิดสัญญาขึ้นมา และเมื่อสัญญาเกิดขึ้น มันก็ฉายแสงออกมา และเราก็จะไหลไปตามมัน จะไปเหนี่ยวดึงเข้ามา การที่เราไปตามเข้ามานั่นแหละมันเสีย ใช้ไม่ได้ จึงให้ทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า "ตัวรู้" นั้น ไม่เป็นไรดอก แต่ "เงา" สัญญานั้นแหละสำคัญ

เราจะมุ่งไปทำให้ "เงา" มันดีขึ้นก็ไม่ได้ เช่น "เงา" มันดำเราจะเอาสบู่ไปขัดฟอกจนตายมันก็ไม่หายดำเพราะเงามันไม่มีตัว ฉะนั้น สัญญาความคิดนึกต่าง ๆ เราจะทำให้ดีเลว ย่อมได้ เพราะมันเป็นเพียง "หุ่น" หลอกเราเท่านั้น

พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงว่า ใครไม่รู้จัก ตัว ไม่รู้จัก กาย ไม่รู้จัก ใจ ไม่รู้จัก เงา ของตัวเอง นั่นคือ อวิชชา คนที่สำคัญว่าจิต เป็นตน ตนเป็นจิต จิตเป็นสัญญา ปนเปกันไปหมดเช่นนี้ เขาเรียกว่า.. "คนหลง" ... คือเหมือนกับคนที่หลงป่า

การหลงป่านั้นย่อมจะต้องลำบากทุก ๆ อย่าง ทั้งอันตรายในสัตว์ป่า ทั้งลำบากในเรื่องอาหารการกิน และการหลับการนอนจะมองไปทางไหนก็หาทางออกไม่พบ

แต่ที่เรา "หลงโลก" นี้ก็ยิ่งจะร้ายไปกว่า "หลงป่า" ตั้งหลายเท่า เพราะจะไม่รู้จักทั้งกลางวันกลางคืน และไม่ได้พบกับความสว่างไสวเลย เพราะดวงจิตมันมืดไปด้วย "อวิชชา"

ฉะนั้น การที่เรามาทำความสงบอย่างนี้ ก็เพื่อจะให้เรื่องราวต่าง ๆ ลดน้อยลง เมื่อเรื่องราวต่าง ๆ น้อยไปแล้ว จิตก็จะมีความสงบ เมื่อจิตได้รับความสงบก็จะค่อย ๆ สว่างขึ้นในตัว เกิด "วิชชา" เป็นความรู้ขึ้น ถ้าความยุ่งยากมากขึ้น ความรู้ก็จะไม่เกิดขึ้นได้ นั่นเป็นความมืด

ดวงจิตที่เจือปนอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ นั่นก็เหมือนกับเรือที่ถูกลมพายุอันพัดมาจากข้างหลัง ข้างหน้า ข้างซ้าย ข้างขวา ทั้ง ๘ ด้าน ๘ ทิศ มันก็จะไม่ทำให้เรือนั้นตั้งลำตรงอยู่ได้ มีแต่จะทำให้เรือจมลง ๆ ไฟที่จะใช้สอยก็ดับหมดด้วยอำนาจความแรงของกระแสลมที่พัดมานั้น

สัญญานี้เหมือนกับระลอกคลื่น ที่วิ่งไปมาในมหาสมุทร ใจนั้นก็เปรียบเหมือนกับปลาที่ดำผุดดำว่ายอยู่ในน้ำ ธรรมดาของปลาย่อมเห็นน้ำเป็นของสนุกเพลิดเพลินฉันใด บุคคลผู้หนาแน่นไปด้วยอวิชชา ก็ย่อมเห็นเรื่องยุ่ง ๆ เป็นของเพลิดเพลินเป็นของสนุก เหมือนกับปลาที่เห็นคลื่นในน้ำเค็มเป็นของสนุกสนานสำหรับตัวมันฉันนั้น

ตามใดที่เราทำความสงบให้เรื่องต่าง ๆ บรรเทาเบาบางไปจากใจได้ ก็ย่อมทำอารมณ์ของเราให้เป็นไปใน "กรรมฐาน" คือฝังแต่ "พุทธานุสติ" เป็นเบื้องต้นจนถึง "สังฆานุสสติ" เป็นปริโยสานไว้ในจิตใจ

เมื่อเป็นไปดังนี้ ก็จะถ่ายอารมณ์ที่ชั่วให้หมดไปจากใจได้ เหมือนกับเราถ่ายของที่ไม่มีประโยชน์ออกจากเรือ และนำของที่มีประโยชน์เข้ามาใส่แทน ถึงเรือนั้นจะหนักก็ตาม แต่ใจของเราก็เบา เพราะเรื่องของบุญกุศลเป็นของเบา เมื่อใจของเราเบาอย่างนี้ภาระทั้งหลายก็น้อยลง

สัญญาต่าง ๆ ก็ไม่มี นิวรณ์ก็ไม่ปรากฏ ดวงจิตก็จะเข้าไปสู่ "กรรมฐาน" ได้ทันที

เราก็ต้องมี สติสัมปชัญญะ คอยสำรวจว่าลมที่หายใจเข้าออกนี้ มันเกิดผลแก่ร่างกายอย่างไร จิตของเราได้ผลอย่างไรบ้าง ถ้าลมอ่อนก็ให้ถอนลมเสียใหม่ อย่าให้เผลอตัว ปรับปรุงลมหายใจจนรู้สึกว่า กายและจิตได้รับความสะดวกสบาย (การถอนลม คือการสร้างความรู้สึก) เมื่อเกิดความสะดวกสบายอย่างนี้ จิตก็สงบ เมื่อจิตสงบแล้วก็ย่อมเกิดผล ๆ ได้หลายอย่าง

๑. ผลเกิดขึ้นในทางร่างกาย

๒. ผลที่เกิดในทางใจ

ผลทางกาย คือ กายโปร่งเบาคล่องแคล่ว ไม่อึดอัดเดือดร้อน นั่งอยู่ก็ไม่แน่น ไม่จุก ไม่เสียด ส่วนจิตก็ไม่มีความยุ่งยากอะไร โล่งโถงว่างเปล่า ปราศจากสัญญาอารมณ์ภายนอก ผลอันนี้แหละรักษาไว้ให้ดี รักษาไว้ให้นาน

ส่วนผลอื่น ๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมาอีก กล่าวตามความรู้ก็คือ "วิชชา" ส่วนรูปได้แก่ "อุคคหนิมิต" นี่เป็นผลเกิดในส่วนร่างกาย นิมิตชนิดไหนก็ตามซึ่งปรากฏเป็นรูปในใจ ย่อมเป็นผลซึ่งเกิดซ้อนขึ้นมาอีก
ถ้าพื้นของร่างกายสบาย พื้นใจก็ย่อมสบาย และผลก็จะเกิดขึ้นในทางจิตใจ เรียกว่า "วิชชา" เป็นต้นว่า เราไม่เคยศึกษาเล่าเรียนอะไรเลย แต่มันผุดขึ้นมาได้ อีกอย่างหนึ่งเวลาที่จิตสงบดี ถ้าเราประสงค์จะทราบเรื่องราวอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ขยับจิตเพียงนิดเดียว ก็สามารถจะรู้เรื่องราวนั้น ๆ ได้ทันที

เหมือนเข็มที่จ่อลงในแผ่นจานเสียง พอจ่อลงไปเสียงก็จะปรากฏบอกเรื่องราวในจานนั้น ๆ ให้รู้ได้โดยแจ่มชัด

ความรู้ตอนนี้แหละจะเป็น "วิปัสสนาญาณ" ถ้าเป็นความรู้เบื้องต่ำเกี่ยวกับสัญญาอดีต อนาคต เราสาวไปยาวนักก็เป็น "โลกิยวิชชา" คือ เล่นในส่วนกายมากไปก็ทำให้จิตต่ำ เพราะไม่แก่ใน "นาม" ตัวอย่างเช่น นิมิตเกิดขึ้น ก็ไปติดอยู่ในนิมิต เช่น "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ"

เห็นชาติภพที่ล่วงมาแล้วของตัวเองก็เกิดความดีอกดีใจ ว่าเราไม่เคยรู้ เคยเห็น ไม่เคยมีเคยเป็น ก็มามีขึ้นอย่างนี้ก็มี อันเป็นเหตุให้ดีใจเกินไปหรือเสียใจเกินไปก็ได้ ในระหว่างที่เรากำลังสาวไปในเรื่องนิมิต ทำไมจึงเกิดดีใจหรือเสียใจได้?

นั่นก็เพราะจิตเข้าไปยึดถือในเรื่องนั้น ๆ เป็นจริงเป็นจัง คือบางทีไปเห็นภาพตัวเองในฝ่ายที่เจริญ เช่นเป็นเจ้าเป็นนาย เป็นพระราชามหากษัตริย์ อันอุดมไปด้วยศฤงคารบริวารใหญ่โต ก็เป็นเหตุให้พอใจยินดี เพลิดเพลินไปในอารมณ์นั้น ๆ

อย่างนี้ก็เป็น "กามสุขัลลิกานุโยค" พลาดไปจากมัชฌิมาปฏิปทา ก็เป็นการผิด บางทีเห็นตัวเองไปปรากฏในรูปภพที่ไม่พึงปรารถนา เช่น เป็นหมู เป็นหมา เป็นนก เป็นหนู กระจอกงอกง่อยก็เกิดใจเหี่ยวแห้ง สลดหดหู่ นี่ก็เป็น "อัตตกิลมถานุโยค" พลาดไปจากมรรคอีก ไม่ตรงกับคำสอนของพระองค์

บางคนก็สำคัญผิด พอได้ไปพบสิ่งที่ตัวไม่เคย ได้รู้ได้เห็นเข้าก็นึกว่าตัวเป็น "ผู้วิเศษ" เกิดความเหลิงขึ้นในใจ ใจมี "อัสมิมานะ" เกิดขึ้น มรรคที่ถูกอันเป็น "สัมมามรรค" ก็หายไปโดยไม่รู้ตัว นี่ "วิชชาโลกีย์" ย่อมเป็นอย่างนี้

ถ้าเรามีหลักวิจารณ์แล้วเราก็จะเดินไปถูกต้องตามมรรคโดยไม่พลาด คือความรู้ต่าง ๆ มันจะจริงในฝ่ายดีก็ตาม ในรูปนิมิตที่ปรากฏดีหรือไม่ดีก็ตาม จริงก็ตามไม่จริงก็ตาม เราไม่ต้องดีใจ หรือเสียใจ ทำจิตใจให้เป็นกลาง มัธยัสถ์ลงในธรรม เราก็จะเกิดปัญญาให้เห็นว่า นิมิตนั้น ก็เป็นทุกขสัจ ความเกิดก็เป็นชาติ ที่เสื่อมไปก็เป็นชรา ที่ดับไปก็เป็นมรณะ

เมื่อรู้อย่างนี้ เราก็จะวางเฉยเป็นกลาง จิตก็จะปล่อยนิมิต ทิ้งออกจากใจได้ นิมิตนั้นก็จะดับ แต่ไม่ใช่ดับสูญ นิมิตนั้นก็มีความจริงอยู่อย่างนั้น เหมือนไฟที่มีอยู่ในโลก แสงไฟแดงก็มี แต่มือของเราไม่จับไม่เกี่ยว ไม่แตะต้อง รูปทั้งหลายมันก็ดับจริง ๆ แต่ไม่สูญ

ถึงเราจะไปอยู่ที่ไหน มันก็มีอยู่ แต่เราไม่ยึดเท่านั้น มันจะเกิดก็เกิดไป จะดับก็ดับไป ตามสภาพของมันแต่ "ตัวรู้" ของเราก็ยืนอยู่อย่างธรรมดา

นี่เป็นตัว "มรรค" เมื่อมรรคตั้งขึ้นอย่างนี้ "สมุทัย" ก็ดับ แต่นิมิตก็ยังอยู่ คือ "ความรู้ธรรม" เช่น เราอยากรู้เรื่องนรกสวรรค์เป็นอย่างไร จะมีจริงหรือไม่จริง นิมิตก็จะปรากฏขึ้นมาทันที

บางทีก็รู้ในเรื่องของคนอื่น เช่น คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ แล้วต่อไปก็ตายไป เป็นอย่างนั้น ๆ ตลอดจนที่เกิดที่อยู่เป็นอย่างไร ๆ เมื่อรู้อย่างนี้ ก็เพลินไปในเรื่องของเขา เพลินไปในความรู้ของตัว บางทีก็ไปเห็นหน้าศัตรูที่มันเคยเบียดเบียนข่มเหงเราอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา จิตก็ตกไปใน "อัตตกิลมถานุโยค"

ทางที่ถูกเราจะต้องไม่แสดงความดีใจ หรือเสียใจ ทั้งในสิ่งที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนา ต้องคิดว่าคนเรานั้น ก็ย่อมมีดีบ้าง เลวบ้างเป็นธรรมดา เรื่องของความเกิดมันก็วนไปเวียนมาอย่างนี้ ไม่มีอะไรแน่ ไม่มีอะไรจริง ดีก็ดีไม่จริง ชั่วก็ชั่วไม่จริง แล้วมันก็กลับกลอกไปอีกตัวเราก็อย่างนี้ คนอื่นก็อย่างนี้

เมื่อเห็นความจริงเป็นดังนี้แล้ว จิตก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เพราะเห็นชัดว่าทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดขึ้นแล้วก็แปรไป แปรไปแล้วก็ดับ จิตก็จะว่างเฉยเป็นมรรคขึ้น ดวงใจก็ยืนตัวคงที่อยู่เฉย ๆ ไม่มีอะไรไปเกาะเกี่ยวกังวล จิตก็จะพ้นไปจากรูปนิมิตอันเรื่องของตัวเอง และคนอื่น

พ้นไปจากความรู้ไม่ยึดความรู้ในเรื่องของตน คือ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" ในเรื่องของคนอื่น คือ "จุตูปปาตญาณ" เมื่อเราไม่เกี่ยวข้องในเรื่องของตน อันมีความจริงหรือไม่จริงก็ตาม ดีหรือไม่ดีก็ตาม รู้หรือไม่รู้ก็ตาม

จิตก็จะพ้น "โลกิยะ" กลายเป็น "อาสวักขยญาณ" แต่บางคนที่ไปยึดก็หลงไปเลย ส่วนผู้ที่มีวาสนาบารมีแก่กล้าก็จะรู้จัก ยับยั้งความรู้ของตน จิตก็เข้าไปสู่กระแสธรรม ขั้นต่ำที่สุดคือ "โสดา"

บางคนไปได้ "วิชชา" เกิดขึ้นในส่วนนามคือ บางทีก็มีญาณรู้ขึ้นมาในเรื่องจิต นิมิตของนามเป็นความรู้ซึ่งผุดขึ้นมาจากความสงบ โดยที่เรามิได้นึกคิด แต่มันก็ผุดขึ้นมาได้ พอเรานึกถึงอะไร สิ่งนั้นก็ผุดขึ้นมาได้อย่างเรานึกทันที เหมือนกับเราเปิดวิทยุรับฟังเสียง และเรื่องราวต่าง ๆ นั้น

บางทีก็รู้อย่างโน้น บางทีก็รู้อย่างนี้ บางทีก็ไม่รู้ บางทีก็ผุดขึ้นมาเองเลยเป็น "วิปัสสนูปกิเลส" ไปก็มี
เพราะฉะนั้น ถึงเรื่องที่เรารู้จริง ก็อย่าไปยึดถือเอา เรื่องไม่จริงเราก็ไม่ยึดไม่ถือเอา ยึดในความเห็นก็มีโทษ ยึดในความรู้ที่ไม่จริงก็มีโทษ ยึดในความรู้ที่จริงก็มีโทษ ฒความรู้จริงน่ะแหละมีโทษมาก

ตัวอย่างเช่น ตัวรู้จริงแล้ว กล่าวไปก็เป็น "อุตตริมนุสสธรรม" รู้ไม่จริง กล่าวไปก็มีโทษ เพราะฉะนั้น นักปราชญ์ท่านจึงเห็นว่า ความรู้ความเห็นก็เป็นตัวทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร? เพราะมันมีโทษ "รู้" ตัวนี้เป็น "ทิฏฐิโอฆะ" ถ้าเข้าไปยึดก็ผิด รู้ก็ต้องสักแต่ว่ารู้ เห็นก็สักแต่ว่าเห็นเท่านั้น ไม่ต้องไปตื่นเต้น ชื่นชม ยินดี หรือโอ้อวดใคร

คนที่เขาไปเรียนสำเร็จวิชาชั้นสูงสุดมาจากเมืองนอกนั้น เมื่อเขาไปเที่ยวตามชนบท ตามท้องไร่ท้องนา เขาก็ไม่เคยเล่าให้พวกบ้านนอกฟังถึงเรื่องราวที่เขาได้ไปรู้ไปเห็นมา เขาจะพูดคุยไปตามภาษาของชาวบ้านเท่านั้น การที่เขาไม่เล่าก็เพราะ

๑. คนที่จะรับวิชาจากเขาไม่มี

๒. การเล่าให้เขาฟังนั้นไม่ได้รับประโยชน์

ใช่แต่เท่านั้น แม้กับคนที่สามารถจะรู้ได้ เขาก็ยังไม่เล่า ในทางธรรมก็เหมือนกัน ถึงรู้ก็ต้องทำเป็นไม่รู้ ทำเหมือนกับคนโง่ ๆ

ที่ไม่รู้อะไร เพราะธรรมดาคนดีจริงแล้วเขาก็ต้องทำอย่างนั้น คนที่รู้อะไรแล้ว ก็ไปเที่ยวพูดคุยโม้ โอ้อวดใครต่อใครเขานั้น ถ้าเขาว่า "ไม่จริง" หรือ "ขี้ปด" ก็ยิ่งร้ายไปอีก ถึงเราจะรู้ก็รู้ไป ต้องปล่อยวางตามสภาพ ความสำคัญว่า ตนรู้ก็ไม่มี

เมื่อเป็นไปอย่างนี้ จิตนั้นก็จะเป็นโลกุตตระ พ้นจากความยึดสิ่งทั้งหลายในโลก ย่อมมีความจริงในตัวของมันเองทุกอย่าง ถึงจะไม่จริงมันก็จริงคือ จริงที่มันไม่จริงนั่นแหละ ฉะนั้น เราจะต้องละทั้งความจริง ทั้งความไม่จริง แต่ถึงกระนั้น ก็เป็น "ทุกขสัจ"

เมื่อเรามีความจริงและละความจริงของเราได้ เราก็จะสบาย ไม่ยากจน เพราะเรามีจริง ไม่ใช่เหลว ๆ ใหล ๆ เหมือนเรามีเงินทองมาก ๆ เราก็กองไว้ในบ้านของเรา เราก็ยังมีอยู่ ไม่ยากจน ผู้ที่ความรู้ก็เช่นเดียวกัน ถึงเขาจะทิ้งก็มีไม่ทิ้งก็มี

ดังนั้น จิตของพระอริยเจ้าทั้งหลายจึงไม่ขาดลอย เพราะท่านไม่ได้ทิ้งอย่างฉิบหาย ท่านทิ้งอย่างคนมั่งคนมี ถึงแม้ท่านจะทิ้งแต่สมบัติของท่านก็ยังกองมากมายอยู่อย่างนั้น

คนที่ทิ้งอย่างอนาถายากจนก็คือ ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นของดี และของไม่ดี เมื่อทิ้งของดีเสียแล้วก็ต้องเกิดความฉิบหายเท่านั้น เช่น อะไร ๆ ก็เห็นเป็นของไม่จริงไปทั้งหมด ขันธ์ ๕ ก็ไม่จริง รูปก็ไม่จริง ทุกข์ก็ไม่จริง สมุทัย ก็ไม่จริง มรรคก็ไม่จริง นิโรธก็ไม่จริง นิพพานก็ไม่จริง

ไม่ใช้ความพินิจพิจารณาไตร่ตรองอะไร ๆ ก็ขี้เกียจขี้คร้าน ไม่อยากทำ ปล่อยวางทิ้งหมด ทิ้งอย่างนี้เขาเรียกว่า ทิ้งอย่างอนาถายากจน เช่นอย่างนักปราชญ์สมัยใหม่นั้น ตายไปแล้วเกิดมาก็ยังจนอีก ส่วนพระพุทธเจ้าท่านทิ้งแต่ของจริง ไม่จริง ที่ปรากฏในส่วนรูปนาม

ท่านไม่ให้ทิ้งรูปทิ้งนาม ท่านจึงร่ำรวยไม่อดไม่อยาก แล้วท่านก็ยังมีสมบัติแจกจ่ายให้ลูกหลานของท่านอีก เพราะฉะนั้น ลูกหลานของท่านจึงไม่ยากไม่จน ไปถึงไหน ๆ ก็มีข้าวเต็มบาตรอยู่เสมอ ไม่ต้องกลัวอดกลัวอยาก สมบัติอย่างนี้ย่อมประเสริฐยิ่งเสียกว่าที่จะขี่วอช่อฟ้า หรือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์นั้นก็ยังสู้ไม่ได้

ฉะนั้น เราทั้งหลายจึงควรดูแบบอย่างที่พระองค์ทรงกระทำ ถ้าใครเห็นว่า ขันธ์ ๕ ไม่ดี มีแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว ก็พากันทิ้งขันธ์ ๕ เสียหมด ดังนี้ เขาก็จะต้องเป็นผู้ยากจนอย่างแน่ ๆ

เหมือนคนโง่ที่รังเกียจบาดแผลเปื่อยเน่าที่เกิดขึ้นในร่างกาย ไม่กล้าเอามือไปแตะต้องเลยทิ้งไว้ไม่รักษา ปล่อยให้เน่าเหม็นอยู่กับตัวอย่างนั้น แผลมันก็ไม่มีโอกาสจะหายได้ ส่วนคนฉลาด ก็จะรู้จักรักษาบาดแผลของตนโดยการชำระล้างและหายามาใส่ แล้วก็หาผ้ามาปกปิดพันไว้ไม่ให้เป็นที่น่ารังเกียจ ในที่สุดแผลนั้นก็จะหายเป็นปกติได้

ฉันใดคนที่รังเกียจในขันธ์ ๕ ของตัวเอง มองเห็นแต่ส่วนที่เป็นโทษฝ่ายเดียว ไม่มองเห็นฝ่ายดี ทิ้งขันธ์ ๕ ของตนเสีย ไม่ทำให้เป็นบุญเป็นกุศลขึ้น เช่นนี้ก็ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใดได้เลย คนมีปัญญาย่อมเห็นว่า ขันธ์ ๕ มีทั้งคุณทั้งโทษ จึงควรบำเพ็ญบุญกุศล ให้ปัญญาเกิดขึ้นในรูปนาม

เมื่อปัญญานี้เกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องร่ำรวยเป็นสุข นั่งกินนอนกินสบาย จะอยู่หลายคนก็เป็นสุข อยู่คนเดียวก็เป็นสุข คนจนนั้นถึงมีเพื่อน ก็เป็นทุกข์ ไม่มีก็เป็นทุกข์ ถ้าเรามี "ความจริง" คือ "ธรรมะ" เป็นทรัพย์ของเราแล้ว ถึงจะมีเงิน ก็ไม่ทุกข์ ไม่มีก็ไม่ทุกข์ เพราะจิตของเราเป็นโลกุตตระแล้ว

ส่วนขี้ต่าง ๆ เช่น "โลภะ" ความขี้โมโห อยากได้ของของเขา "โทสะ" ความขี้โกรธ ขี้ชัง "โมหะ" ความขี้หลงซึ่งเป็นขี้สนิมต่าง ๆ ที่เคยเปรอะเปื้อนปกปิดอายตนะของเราไว้ดังนี้ ก็จะหลุดออกไป

คราวนี้ ตา หู จมูก ปาก คอ ของเราก็จะสะอาดและสว่างไสวไปหมด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ธมฺโม ปทีโป" ธรรมเป็นแสงสว่าง (คือ ดวง "ปัญญา") จิตของเราก็จะไกลจากโทษจากทุกข์ทั้งปวง ไหลไปสู่กระแสนิพพานทุกเวลา


จาก:ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๗ ฉบับที่ ๑๒ เดือนกันยายน ๒๕๔๖


   ขอบคุณที่มา   เว็บบอร์ด  thaimisc

76
                                          สันโดษ คือ วิธีสร้างความสุข และ ยอมรับกฎแห่งกรรมด้วยปัญญาชอบ

สันโดษ มาจากภาษาบาลีว่า สันโตสะ
สัน แปลว่า ตน
โตสะ แปลว่า ยินดี

สันโดษ จึงแปลว่า ยินดี พอใจ อิ่มใจ สุขใจ กับของของตน กล่าวโดยย่อคือ ให้รู้จักพอ ให้รู้จักประมาณตน

เมื่อเราเข้าใจกฎแห่งกรรม
ยอมรับกฎแห่งกรรมด้วยปัญญาชอบ แล้วก็จะพอใจ
ในสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ ตามฐานะของตนในปัจจุบัน
ยอมรับว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน สมบูรณ์แล้วด้วยเหตุผล


อดีต........เป็น........เหตุ
ปัจจุบัน....เป็น........ผล
.....มันเป็นกรรมเก่า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร่างกายจิตใจของเรา
รวมทั้งสิ่งที่เป็นที่พึ่งอาศัยของกาย
เช่น พ่อแม่ พี่น้อง สามีภรรยา ลูกๆ บุคคลต่างๆ
ตลอดจนทรัพย์สมบัติ สถานที่ บ้าน สังคม ประเทศชาติ
ที่เราต้องไปเกี่ยวข้องล้วนเป็นกรรมเก่า


ลักษณะของสันโดษมี 3 ประการคือ

1. ยินดีตามมี

โลกธรรม 8 ที่เราประสบอยู่ในปัจจุบัน
โลกธรรมฝ่ายน่าปรารถนา ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข
โลกธรรมฝ่ายไม่น่าปรารถนา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
ล้วนเป็นผลจากการกระทำของเราทั้งสิ้น
ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏมีอยู่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
จึงสมบูรณ์ด้วยเหตุและผล เราจึงต้องยินดีพอใจ

แม้มีบางสิ่งบางอย่าง “ไม่ถูกใจ”
ก็ต้องอาศัยปัญญาชอบที่จะยอมรับความจริง
จนทำใจให้สงบ สบายได้


2. ยินดีตามได้

ยินดีกับของส่วนที่ได้มา
คือ เมื่อแสวงหาประโยชน์อันใดแล้ว
ได้เท่าไรก็พอใจเท่านั้นยินดีพอใจในสิ่งที่ได้
เมื่อเราใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เราย่อมมีความปรารถนา
อยากได้ อยากมี อยากเป็น
และเมื่อเราแสวงหาสิ่งที่ต้องการด้วยความตั้งใจ
ความพยายามอย่างดีที่สุดตามกำลังตนแล้ว
เราต้องยอมรับผลที่ได้ เพราะเราก็ได้อาศัยบุญเก่า
ได้ใช้ความขยันหมั่นเพียร ความมานะอดทน ความสามารถ
กำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาเต็มที่แล้ว
มันเป็นเพราะการกระทำทั้งในอดีตและปัจจุบันร่วมกันออกผล
เรียกว่าสิ่งที่ได้มันก็พอดีๆ กับการกระทำของตนเองทั้งนั้น
เมื่อเข้าใจจุดนี้ก็จะสบายใจ มีความยินดีพอใจในสิ่งที่ได้


3. ยินดีตามควร

--> ควรแก่ฐานะ

ให้พิจารณาว่าปัจจุบัน เราอยู่ในฐานะอะไร
เช่น เป็นฆราวาส หรือ เป็นนักบวช
เป็นผู้ใหญ่ หรือผู้น้อย
เช่น เมื่อเราเป็นฆราวาส มีใครเอาบาตร
เอาจีวรมาให้ เราก็ไม่ควรใช้
หรือเมื่อเราเป็นพระ
ก็ไม่ควรรับของที่ไม่เหมาะสมแก่ฐานะตน
เช่น อาวุธ บุหรี่ เหล้า หนังสือโป๊
วิดีโอเกมส์ เป็นต้น

-->ควรแก่ความสามารถ

คนเราเกิดมามีกำลังความสามารถไม่เท่ากัน
ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา
ดังนั้น เราควรรู้กำลังความสามารถของตนเอง
และแสวงหา หรือยอมรับเฉพาะของที่ควรแก่กำลัง
ความสามารถของตนเองเท่านั้น เช่น
ถึงแม้ว่าครอบครัวเราจะมีอำนาจบารมี
สามารถฝากงานในตำแหน่งสูงๆ ให้กับเราได้
แต่ถ้าเราพิจารณาถึงกำลังสติปัญญาและประสบการณ์
ของเราแล้วว่า ยังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบงานได้
ก็ไม่ควรยินดีรับตำแหน่ง เป็นต้น


-->ควรแก่ศีลธรรม

ของใดก็ตามแม้ควรแก่ฐานะของเรา
ควรแก่ความสามารถของเรา
แต่ถ้าไปยินดีกับของนั้นแล้ว ทำให้เราผิดศีลธรรม
เสียชื่อเสียงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี
ก็ไม่ควรยินดีกับสิ่งของนั้น
เช่นของที่ลักขโมย ฉ้อโกงเขามา
ของผิดกฎหมาย เช่น อาวุธเถื่อน ยาเสพติด
ของที่เขาให้เพื่อเป็นสินจ้างรางวัลในทางที่ผิด
หรือในกรณีที่เราแต่งงานมีครอบครัวแล้ว
เมื่อมีใครมารักมาชอบเราแบบชู้สาว
แม้เราพอใจในตัวเขามากแค่ไหนก็ตาม
ก็ไม่ควรรับ ไม่ควรตอบสนอง เป็นต้น

-----------------------------------------
๏ การฝึกตนให้สันโดษ

• พิจารณาความแก่ เจ็บ ตาย
• พิจารณากฎแห่งกรรม
• ให้ทาน
• รักษาศีล
• เจริญอานาปานสติและเมตตาภาวนา


1. พิจารณาความแก่ ความเจ็บ ความตายอยู่เป็นประจำ

เพราะเป็นความจริงของชีวิตที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้
ไม่ว่าจะดิ้นรนแสวงหาเงินทอง
สะสมทรัพย์สมบัติไว้มากเพียงใด
วันหนึ่งเราก็ต้องพลัดพรากจากสมบัติที่เราหาไว้
ทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องมือที่ช่วยเราในการดำเนินชีวิต
เป็นทรัพย์ภายนอก
เมื่อตายแล้วก็ไม่สามารถนำติดตัวไปได้
เมื่อพิจารณาแบบนี้บ่อยๆ
ความโลภในทรัพย์สมบัติก็จะลดลง
มุ่งหน้าทำความดี คือให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา
เป็นการสะสมอริยทรัพย์
ซึ่งหมายถึงคุณความดี 7 ประการ
ประกอบด้วย

1. ศรัทธา

ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
ประกอบด้วย ศรัทธา 4 ประการคือ

- กรรมศรัทธา เชื่อในเรื่องกรรมว่า
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม กรรมเป็นผู้จำแนกสัตว์

- วิบากศรัทธา เชื่อว่าผลดีมาจากเหตุดี ผลชั่วมาจากเหตุชั่ว
ดังนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว

- กรรมมัสสกตาศรัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตนเอง
เมื่อทำกรรมอันใดไว้ จะหนีผลของกรรมนั้นไม่พ้น

- ตถาคตโพธิศรัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

2. ศีล คือการรักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย

3. หิริ คือความละอายต่อบาป ทุจริต

4. โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป

5. พาหุสัจจะ คือความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังธรรมมาก
และจำธรรมเหล่านั้นได้อย่างดี
รู้ศิลปวิทยามาก

6. จาคะ รู้จักสละ แบ่งปันสิ่งของตนให้แก่คนที่ควรได้

7. ปัญญา รอบรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์

อริยทรัพย์นี้ดีกว่าทรัพย์สินเงินทอง
เพราะเป็นทรัพย์ภายในที่เราพึ่งพาอาศัยได้
ไม่เพียงแต่ชาตินี้
แต่อาศัยได้หลายภพ หลายชาติต่อๆ ไป


2. พิจารณากฎแห่งกรรม


ให้หมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า
เรามีกรรมเป็นของตน
เรามีกรรมเป็นผู้ให้ผล
เรามีกรรมเป็นแดนเกิด
เรามีกรรมเป็นผู้ติดตาม
เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

ไม่ว่าทำกรรมใดไว้
เราจะต้องเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้นๆ สืบไป
เมื่อเข้าใจกฎแห่งกรรมจริงๆ แล้ว
เราจะสามารถทำใจและรักษาใจดีไว้ได้ในทุกสถานการณ์
มีความสุขใจ พอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
พอใจในการสร้างความดี ละความชั่ว
ยินดีในการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา


3. การให้ทาน

หมั่นให้ทานอยู่เสมอ อานิสงส์ของการให้ทาน
ที่ผู้ให้จะได้รับทันที
คือ ได้ลิ้มรสความสุขอันเกิดจากการให้
การสละและแบ่งปันเพื่อความสุขแก่ผู้อื่น
การให้ทานเป็นการฆ่าความตระหนี่ ขี้เหนียว
ความโลภในจิตใจไปทีละน้อย
มองเห็นคุณค่าแห่งความสุขจากการคิดให้
แล้วความสันโดษก็จะเกิดขึ้น


4. การรักษาศีล

ตั้งใจในการรักษาศีล 5 ให้สมบูรณ์
ศีล 5 เป็นกรอบทำให้เราไม่เบียดเบียนผู้อื่น
และหาโอกาสในการรักษาศีล 8 เพื่อฝึกหัดขัดเกลาจิตใจ
ผู้ที่รักษาศีล 8 ได้จะช่วยให้เกิดความสันโดษในหลายๆ เรื่อง
เช่น เรื่องกามคุณ เรื่องอาหาร การแต่งกาย เป็นต้น
ทำให้มองเห็นว่า แม้กินง่าย นอนง่าย อยู่ง่าย ก็มีความสุขได้


5. การเจริญภาวนา

ให้หมั่นเจริญอานาปานสติและเมตตาภาวนาอยู่เป็นประจำ
โดยเฉพาะเวลาก่อนนอน และตอนเช้า
ก่อนที่จะเริ่มภารกิจอย่างอื่น


คัดลอกบางส่วนจาก: สันโดษ...เคล็ดลับของความสุข
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
 
        ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด   พลังจิต

77
                                                              วิธีพิจารณาร่างกายให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง

ถาม : จะพิจารณาร่างกายอย่างไร เพื่อให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง ?

ตอบ : ต้องพิจารณาร่างกายให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง ๔ อย่างคือ ประกอบด้วยดิน ด้วยน้ำ ด้วยลม ด้วยไฟ เป็นปกติอย่างนั้น

ส่วนที่แข็ง เป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน จับได้ ต้องได้คือ ธาตุดิน มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด อวัยวะภายในใหญ่น้อย ทั้งหลายทั้งปวง

ส่วนที่เหลวไป ไหลมาได้ เรียกว่า ธาตุน้ำ คือ เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ เหล่านี้เป็นต้น


ส่วนที่พัดเคลื่อนไปมาในร่างกายเรียกว่าธาตุลม ก็คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมที่อยู่ในท้องในไส้ ที่เรียกว่าแก๊ส ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย ที่เรียกว่าความดันโลหิต

ส่วนที่ให้ความอบอุ่นในร่างกาย เรียกว่า ธาตุไฟ ได้แก่ ไฟธาตุที่ช่วยสันดาปย่อยอาหาร ไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต ไฟธาตุที่เผาผลาญร่างกายของเราให้ทรุดโทรมลง เป็นต้น

พอลักษณะ ๔ อย่างนี้ แยกออกมา ต่างคนต่างอยู่ กองนี้เป็นดิน กองนี้เป็นน้ำ กองนี้เป็นลม กองนี้เป็นไฟ เราจะเห็นชัดเลยว่าไม่มีส่วนไหนเป็นเรา เป็นของเราเลย

แต่ถ้าเอา ๔ ส่วนนี้รวมกันเข้าไปใหม่ ขยำๆ ปั้นขึ้นมา ใส่หัว หู หน้าตาลงไป ทันทีที่จิตคือตัวเราเข้าไปจับ เราก็ไปยึดว่า ร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา เพราะฉะนั้น สภาพแท้จริง ๔ อย่างคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นี้ มีให้เราอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพังไป วัตถุทั้งหลายเหล่านี้ เรายืมโลกมาใช้แค่ชั่วคราว

มารยาทของการยืม ก็ต้องดูแลรักษาให้ดี เขาหิวก็หาให้กิน เขากระหายก็หาให้ดื่ม เขาร้อนก็หาเครื่องบรรเทาให้ เขาหนาวก็หาเสื้อผ้าให้นุ่งห่ม เขาเจ็บไข้ได้ป่วยก็รักษาพยาบาลไป เพื่อถึงเวลาจะได้คืนเขาไปในสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะพึงมีพึงเป็น แต่ถ้าหากว่าเขาพังลงไปเมื่อใด เราก็พร้อมที่จะไปพระนิพพานของเรา อยู่กับเขาอย่างมีสติ รู้อยู่เสมอ ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

เขาเหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง ที่เราเป็นคนขับไปเรื่อย พอถึงเวลาเราก็ทิ้งรถคันนั้นไปเพื่อเปลี่ยนรถคันใหม่ ถ้าทำความดีไว้ ก็ได้รถยี่ห้อดีๆ ใหม่ๆ อย่างเช่นเทวดา เป็นพรหม หรือดีที่สุดก็เข้าพระนิพพานไปเลย ถ้าทำสิ่งที่ไม่ดีไว้มาก ก็ได้รถโปเก พังๆ ผุๆ ก็อย่างเช่น สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น

ต้องมี สติ รู้อยู่ตลอดเวลาว่า สภาพแท้จริงของร่างกายเป็นอย่างนี้ เสร็จแล้วก็ถามตัวเองว่า ร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เช่นนี้ ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืนอย่างนี้ มีแต่สภาพเป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอันอย่างนี้ เรายังอยากได้อีกไหม ? เรายังรัก ยังปรารถนาอีกไหม ?

ถ้าตัวเรา เรายังไม่รัก ไม่ปรารถนาอีกแล้ว เราจะไปต้องการคนอื่นไว้ทำอะไร ในเมื่อต่างคนก็ต่างเกิด ต่างคนก็ต่างเจ็บ ต่างคนก็ต่างตาย ถึงเวลาก็ต่างคนต่างไป ดังนั้น..เราก็ควรที่จะยึดเกาะในสิ่งที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะพึงมีพึงได้ตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็คือ พระนิพพาน ไว้แทน

ร่างกายนี้เราอาศัยอยู่เพื่อประกอบความดีเท่านั้น ถึงเวลาถ้าตายลงไป เราขอไปนิพพาน ให้ตั้งใจไว้อย่างนี้ แล้วพยายามพิจารณาดูบ่อยๆ


แรกๆ เราบอกร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา นั้นพูดยาก จิตใจไม่ค่อยจะยอมรับ แต่ถ้าเราแยกออกเป็นส่วนๆ อย่างนี้ แยกเข้า แยกออก แยกออก แยกเข้าอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งเห็นชัดเจน ก็จะยอมรับเองว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไปทีละน้อย


แรกๆ เราต้องใส่รายละเอียดให้มากที่สุด ค่อยๆ ดูไปทีละส่วน ๆ หลังจากที่ดูจนจิตเรายอมรับแล้ว เมื่อเราบอกว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จิตยอมรับเลยโดยไม่เถียงอีก โดยไม่ดื้ออีก ก็เป็นอันว่าใช้ได้

พยายามทบทวนรักษาอารมณ์นั้นไว้เรื่อยๆ ยากไปไหม ? ไม่ยากนะ..กรรมฐาน ๔๐..แค่ปล้ำกันแทบตายเท่านั้น..!

สมัยก่อนทำได้ครั้งหนึ่งก็วิ่งไปอวดหลวงพ่อครั้งหนึ่ง หลังจากที่ซ้อมอนุสติ ๑๐ จน คล่องแล้ว ไปถึงก็กราบเรียนท่านว่า "หลวงพ่อครับ ตอนนี้อนุสติ ๑๐ ของผมสามารถไล่อารมณ์เต็มได้ภายในครึ่งชั่วโมง" หลวงพ่อบอกว่า "ยังใช้ไม่ได้ลูก..สมัยที่พ่อทำอยู่ กรรมฐาน ๔๐ กอง ถ้าต้องใช้เวลาถึง ๒ นาทีนี่แย่มากแล้ว..!"

โอ้โฮ...เราแค่ ๑๐ กอง ใช้เวลา ๓๐ นาที ถ้า ๔๐ กอง ท่านบอก ๒ นาทีนี่แย่มากแล้ว มาตอนหลังพอไล่ไปไล่มา อ๋อ..จริงของท่าน ถ้าเราต้องการจะทำในลักษณะที่หลวงพ่อว่าจริง ๆ ก็ตั้งอารมณ์ขึ้นมาให้ทรงฌานสูงสุดเท่าที่เราทำได้ เสร็จแล้วก็แค่เปลี่ยนกอง เปลี่ยนวิธีคิดนิดเดียวเอง อารมณ์ใจนั้นเต็มอยู่แล้ว ฉะนั้น ๒ นาทีคิด ๔๐ อย่างนี่ จัดว่าช้ามากเลย


สนทนากับพระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔

   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด  watthakhanun


78
บทความ บทกวี / ค ว า ม เ ป็ น ก ล า ง
« เมื่อ: 07 ต.ค. 2553, 01:51:47 »
                                                        ค ว า ม เ ป็ น ก ล า ง : ศิยะ ณัญฐสวามี

ค ว า ม เ ป็ น ก ล า ง
ศิยะ ณัญฐสวามี

• ถาม

มีอะไรบ้างครับที่เป็นกลาง

• อาจารย์

ธรรมชาติเป็นกลาง วัตถุทั้งหมดเป็นกลาง
ไม่มีความดีความชั่วใดใดในวัตถุทั้งปวง

เงินก็เป็นกลางและทำหน้าที่เป็นตัวกลางด้วย
เงินไม่มีความดีความชั่วใดใดเลย
เป็นสมมติตามที่คนสมมติให้เป็น ไม่สมมติมันก็ไม่เป็น

แต่ความดีความชั่วอาจได้มาซึ่งการได้เงิน วิธีการรักษาเงิน
รวมทั้งความหลงมันเกินจริง หรือดูหมิ่นมันมากเกินไป
และหรือวิธีการที่ใช้เงินที่มันไม่ถูกต้อง

เหล่านี้ต่างหากที่อาจดีหรือชั่ว
ในเมื่อมันเป็นเพียงกระดาษหรือโลหะ
ไม่รู้อิโหน่อิเหน่กับใครหรอก

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นกลางและสำคัญมากคือความเป็นธรรม
ความเป็นธรรมเป็นกลางระหว่างความดีบวกความชั่ว กับความบริสุทธิ์

• ถาม

อาจารย์หมายความว่าอย่างไรครับ

• อาจารย์

หมายความว่าความดีกับความชั่วมันเป็นเรื่องของโลก
ส่วนความบริสุทธิ์เหนือดีเหนือชั่วนั้น เป็นเรื่องของโลกุตตระ
ความเป็นธรรมนั้นอยู่ตรงกลาง

เรื่องนี้อาจเข้าใจยากสักหน่อย ลองทำใจอย่างนี้

หากเรารักใครสักคนหนึ่งจริงๆ เราจะอยากให้ทุกสิ่งกับเขา
ไม่อยากอะไรตอบแทนเลย
นั่นเป็นความดีใช่ไหม
เอ้าตอบ ยอมรับไหมว่านั่นเป็นความดี

• ถาม

ครับ

• อาจารย์

ถามว่าความดีอย่างนั้นเป็นธรรมไหม
เวลาลูกจะให้อะไรก็ไม่รับ เพราะไม่ต้องการได้อะไรตอบแทน
ลูกก็จะกลายเป็นคนเนรคุณไปใช่ไหม
แล้วพอลูกเนรคุณแล้วลูกเจริญไหม คงไม่เจริญอาจลำบากด้วย

รวมทั้งพ่อแม่ที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกๆ ก็เช่นกัน
ก็จะทุกข์ระทมไปตลอดกัลป์ความบาดหมางของลูกๆ
จนกว่าจะปรับเช้าสู่ความเป็นธรรมได้

ดังนั้น การบ้าดี หลงดี นั่นแท้ที่จริงเป็นความชั่ว

คนเมาดีก็จะหลงตนคิดว่าตัววิเศษ และดูหมิ่นผู้อื่น
พอดูหมิ่นกล่าวร้ายผู้อื่นก็ชั่วแล้ว

สงครามทั้งหลายในโลกก็เกิดเพราะคนประเภทนี้แหละ
เมาดีจนลงผิดคิดว่าตนดีกว่าคนอื่น จริงไหมลองวิเคราะห์ดูสิ

คนที่บ้าดี อยากดี อยากให้ใครเข้าใจ
ว่าฉันเป็นคนดีก็จะเบียดเบียนตนเอง เพื่อบำเรอกิเลสคนอื่น
เหมือนพ่อแม่ที่ตามใจกิเลสลูกตลอด
จนทำให้ลูกทรพีหรือเป็นโจรได้ในที่สุด

เห็นไหม อันตรายของคนที่บ้าดี เมาดี จนเกินดีตกขอบไปสู่ที่ชั่ว
ถ้าการเสียสละส่วนเดียวเป็นความดีจริง
ทำไมสร้างความชั่วล่ะ ถ้าดีจริงต้องสร้างความดีสิ

นี่คนจำนวนมากยังหลงผิดเมาดี บ้าดีจนสร้างชั่ว
บางคนจึงหลอกตัวเองด้วยความดีที่ชั่ว
คือฉันจะให้อะไรอย่างเดียวไม่รับอะไรจากใคร

หรือบางคนที่ชั่วเลยอ้างความดี
มาหลอกให้คนอื่นทำดีเพื่อตนจะได้เอาเปรียบผู้อื่น
คุณเป็นคนดีคุณต้องให้โดยไม่รับสิ นี่หลงแล้วทั้งคู่

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ความดีไม่ดีนะ

ความดีน่ะดี แต่การทำความดีให้ดีจริงนั้น ต้องทำอย่างพอดี
หากหลงดีบ้าดีเมา ดีน่ะมันเกินดี และจำตกไปเขตความชั่ว

ตัวความชั่วก็เช่นกัน
เพราะชั่วจึงหวังดีต่อตนเอง ไม่หวังดีต่อคนอื่นอยู่เลย
จึงเอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่น

ดังนั้นในความบ้าดีนั้น มันสร้างความชั่ว
คนที่ชั่วก็เพราะเขาจะทำความดีเพื่อตนเอง จึงเบียดเบียนคนอื่น
และมักไปทำดีกับคนดีๆ นั่นแหละ

โจรน่ะมันอยู่ได้เพราะใคร
มันอยู่ได้เพราะคนไม่เป็นโจรให้มันบีฑาใช่ไหม
ถ้าโลกนี้มีแต่โจรหมด
มันก็จะฆ่ากันตายหมด ไม่มีใครเหลือให้มันเบียดเบียน
ด้วยเหตุนี้ดีกับชั่วมันจึงอยู่ด้วยกัน

แต่ถ้าไม่บ้าดีไม่มีชั่ว
ก็จะเป็นกลางและเห็นระบบความเป็นธรรมได้

ลองมาพิสูจน์กันดู ลองเพิกความอยากดีออกจากใจซิ
เพิกออกทีละชั้นๆ จนไม่อยากดี
เอ้าลองทำดู ทำจริงๆ นะ จะได้เห็นจริงๆ

แล้วเพิกความชั่วออกไปไม่เหลือแม้เสี้ยนอันเล็กน้อย
เอ้าทำ เมื่อไม่ดี ไม่ชั่วแล้ว คราวนี้จะทำอะไรล่ะ

• ถาม

อยู่เฉยๆ

• อาจารย์

นี่แสดงว่าความบ้าดีมัวชั่วใช่ไหมที่ดึงชีวิตไปทำสิ่งต่างๆ
และหากไม่อยากดี ไม่อยากชั่วแล้ว
และจำต้องทำไปตามกิจแห่งชีวิตล่ะ จะทำอย่างไร

• ถาม

เข้าใจแล้วครับ

• อาจารย์

เข้าใจอะไร

พอเราไม่อยากดี ไม่อยากชั่วแล้ว
ก็คงเลือกทำแต่สิ่งที่เป็นธรรม
เพราะเราก็ไม่อยากให้ใครมาคิดว่าเราเป็นคนดี
และเราก็ไม่อยากชั่วแล้ว

• อาจารย์

ความเป็นธรรมนั่นแหละ คือรากฐานของความเจริญ

ด้วยเหตุนี้ลูกที่กตัญญูต่อพ่อแม่จึงเจริญ ใช่ไหม

เพราะมันสมดุลกัน มีการรับและให้ ธรรมจักรจึงหมุนได้

ถ้าความดีล้วนๆ ทำให้ใครเจริญจริง
ก็จงให้แล้วอย่ารับสิ เพื่อให้เขาได้ทำความดีให้เต็มที่
ในที่สุดจะพังทั้งคู่

ด้วยเหตุนี้ แม้พระก็ยังต้องสนองคุณโยม

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า

ภิกษุผู้ฉันข้าวของญาติโยมแล้ว
ไม่รักษาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา
และแผ่จิตแผ่ธรรมให้ญาติโยมแล้วไซร้

ทุกคำข้าวที่กลืนกินไป
คือเหล็กก้อนแดงที่จะแผดเผาชีวิตให้หมองไหม้ จิตใจตกต่ำ

ดูสิ พระก็ยังต้องอยู่ในความเป็นธรรม

หากที่ใดไร้ความเป็นธรรม
บอกได้เลยว่าที่นั่นมีการเบียดเบียนกันอยู่
โดยใช้ความดีเป็นเครื่องมือก็ตาม
โดยอารมณ์เป็นลูกล่อลูกชนก็ตาม
หรือโดยใช้อำนาจใดอำนาจหนึ่งบีบบังคับก็ตาม

ดูซี ประเทศที่ยิ่งใหญ่ หากไม่เป็นธรรมต่อประเทศอื่นก็ต้องถูกทำร้าย
แม้ประเทศเล็กน้อยที่ไม่เป็นธรรมกันเองก็เช่นกัน ก็ต้องหายนะในที่สุด

ดังนั้น ความเป็นธรรมเป็นสิ่งสำคัญมาก

• ถาม

แล้วความไม่เป็นธรรมมันเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ

• อาจารย์

เพราะความลำเอียงเข้าข้างตน (โมหคติ)
ความลำเอียงเข้าข้างคนที่เรารัก (ฉันทาคติ)
ความลำเอียงเข้าข้างคนที่ตนกลัว (ภยาคติ)
หรือความลำเอียงไม่เข้าข้างไม่เป็นกลางต่อคนที่ตนโกรธ (โทสาคติ)

เห็นไหมตัวลำเอียงอยู่ที่ไหน ก็สร้างความไม่เป็นธรรมที่นั่น

หรืออีกนัยยะหนึ่งเพราะความเมาดีเมาชั่วนั่นแหละ จึงไม่เป็นธรรม

คือพยายามดีเกินพอดี หรือชั่วโดยอาศัยความดีของคนอื่น
จึงสร้างความไม่เป็นธรรมนานาประการขึ้นมาทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
พอความไม่เป็นธรรมอยู่ที่ไหน หายนะก็มาถึงที่นั่น

ดังนั้นอยู่กับความเป็นธรรมปลอดภัยที่สุด
ในความเป็นธรรมไม่เป็นความชั่วแน่
และไม่มีความอวดดีที่เกินพอดี

ในความเป็นธรรมเป็นกลางเสมอ
แต่เป็นที่อาศัยของความดีและคนดีทั้งหลาย
เสมือนนิวตรอนเป็นกลางเสมอ
แต่เป็นที่อยู่ของโปรตรอนทั้งหลาย
เมื่อเป็นเช่นนี้จงอยู่กับความเป็นธรรม
ซึ่งเป็นกลางเสมอโดยธรรมชาติ

อย่าไปทำในสิ่งที่ไม่เป็นธรรมกับใคร
และอย่าเปิดโอกาสให้คนอื่นมาทำในสิ่งที่ไม่เป็นธรรมกับตน
และอย่าไปยินดีหรือไปยอมรับกับความไม่เป็นธรรมใดใด
ในโลกจะพัวพันกรรมชั่ว

กระนั้นเมื่อมีจุดยืนอยู่ที่ความเป็นธรรม
ทำทุกอย่างอย่างเป็นธรรมเสมอ
ก็อย่ายึดความเป็นธรรมจนบ้าความเป็นธรรมขึ้นมา

เพราะพอติดความเป็นธรรม
ยามเจอกับสิ่งที่ไม่เป็นธรรมแม้เล็กน้อย มันจะเดือดร้อนจัด
จริงๆแล้วยังมีระดับให้ไต่ต่อไปอีก

หากวางความเป็นธรรมได้ก็เข้าถึงความบริสุทธิ์ได้
ความเป็นธรรมนั้นเป็นฐานที่แข็งแรงที่สุด
ที่จะส่งสู่ความบริสุทธิ์ได้โดยง่าย

พอถึงความบริสุทธิ์ ครานี้จะเหนือความเป็นธรรมแล้วนะ...เหนือทุกสิ่ง



(ที่มา : “ความเป็นกลาง” ใน สั่งอารมณ์ให้ได้ดังใจปรารถนา
(Remoting Emotion) โดย ศิยะ ณัญฐสวามี, หน้า ๓๓๖-๓๔๐)

   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด dhammajak

79
กฎแห่งกรรม / ผลของกรรม
« เมื่อ: 07 ต.ค. 2553, 09:29:00 »
                                                                   ผลของกรรม

จูฬกัมมวิภังคสูตร(๑๔/๕๗๙)พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลของกรรมดีกรรมชั่ว ๗ คู่ ดังนี้
๑. ผลการฆ่าสัตว์ ตายไปจะเข้าถึงอบาย หากไม่เข้าถึงอบายถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีอายุสั้น ผลการไม่ฆ่าสัตว์ ตายไปจะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หากไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีอายุยืน
๒. ผลการเบียดเบียนสัตว์ … ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีโรคมาก ผลการไม่เบียดเบียนสัตว์ … ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็มีโรคน้อย
๓. ผลการเป็นคนมักโกรธ … ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีผิวพรรณทราม ผลการเป็นคนไม่มักโกรธ … ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีผิวพรรณงาม
๔. ผลการริษยาในลาภสักการะของคนอื่น … ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีศักดิ์ต่ำ ผลการไม่ริษยาในลาภสักการะของคนอื่น … ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีศักดิ์สูง
๕. ผลการไม่ให้ทาน … ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็ยากจน ผลการให้ทาน … ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็ร่ำรวย
๖. ผลของความกระด้างเย่อหยิ่ง ไม่ไหว้คนที่ควรไหว้ … ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในตระกูลต่ำ ผลของความไม่กระด้างเย่อหยิ่ง ไหว้คนที่ควรไหว้ … ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในตระกูลสูง
๗. ผลการไม่เข้าไปหาผู้รู้ ไม่สนใจถามเรื่องบาป บุญ ดี ชั่ว … ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็โง่เขลา ผลการเข้าไปหาผู้รู้ สนใจถามเรื่องบาป บุญ ดี ชั่ว … ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีปัญญาดี

ทักขิณาวิภังคสูตร (๑๔/๗๑๑) พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลการให้ทานว่า
๑. ให้ทานในสัตว์เดรัจฉานได้ผลร้อยเท่า
๒. ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีลได้ผลพันเท่า
๓. ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีลได้ผลแสนเท่า
๔. ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกามได้ผลแสนโกฏิเท่า
๕. ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้งได้ผล นับประมาณไม่ได้
๖. ถ้าให้ทานในพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลยิ่งไม่อาจนับประมาณได้เลย
สัปปุริสทานสูตร (๒๒/๑๔๘) พระพุทธเจ้าตรัสถึงทาน ๕ ประการ
๑. ทานที่ให้ด้วยศรัทธา ทำให้ร่ำรวยและมีรูปงาม
๒. ทานที่ให้โดยเคารพ ทำให้ร่ำรวยและมีบุตร ภรรยา บริวาร ที่เชื่อฟัง
๓. ทานที่ให้โดยกาลอันควร ทำให้ร่ำรวยตั้งแต่ปฐมวัย
๔. ทานที่ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ทำให้ร่ำรวยและพอใจใช้ของดีๆ
๕. ทานที่ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ทำให้ร่ำรวยและทรัพย์นั้นปลอดภัยจากไฟ น้ำ หรือการแย่งชิงของผู้อื่น
ทานสูตร (๒๓/๔๙) พระพุทธเจ้าตรัสถึงการให้ทาน ๗ อย่าง
๑. การให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปจักได้เสวยผลทานนี้ เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
๒. การให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
๓. การให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้ เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นยามา
๔. การให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
๕. การให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤษีครั้งก่อน เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
๖. การให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจสุขใจ เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
๗. การให้ทานเพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เมื่อตายแล้วย่อมเกิด ในพรหมโลก (ชั้นสุทธาวาส) ภายหลังย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง (อรรถกถาอธิบายว่า เขาไม่อาจไปเกิดในพรหมโลกด้วยทาน แต่ด้วยจิตอันประดับด้วยทานนั้น เขาทำฌานและอริยมรรคให้บังเกิด ย่อมเกิดในพรหมโลกด้วยฌาน)
อรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ กล่าวถึงทาน ๔ ประการ คือ
๑. ให้ทานด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
๒. ชักชวนผู้อื่น ไม่ให้ด้วยตน ย่อมได้บริวารสมบัติ ไม่ได้โภคสมบัติ
๓. ไม่ให้ด้วยตน ทั้งไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมไม่ได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
๔. ให้ด้วยตน ทั้งชักชวนผู้อื่น ย่อมได้ทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติ
อรรถกถากล่าวว่า ทานที่มีผลมากประกอบด้วยองค์ ๓ คือ
๑. ผู้รับมีศีลมีคุณธรรม
๒. ของที่ให้ได้มาอย่างสุจริต มีประโยชน์และสมควรแก่ผู้รับ
๓. มีเจตนาบริสุทธิ์ มีจิตใจที่ยินดี แจ่มใส เบิกบาน ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และเมื่อให้แล้ว
อรรถกถากล่าวว่า ผลแห่งบาปจะมากหรือน้อยขึ้นกับองค์ ๓ คือ
๑. ถ้าคน สัตว์ หรือสิ่งของที่ล่วงละเมิด มีความดี ประโยชน์ หรือมูลค่ามาก บาปก็มาก ถ้าความดี ประโยชน์หรือมูลค่าน้อย บาปก็น้อย
๒. ถ้าความพยายามมากก็บาปมาก ถ้าความพยายามน้อยก็บาปน้อย
๓. ถ้าเหตุจูงใจคือราคะโทสะโมหะมากก็บาปมาก ถ้าราคะโทสะโมหะน้อยก็บาปน้อย


                 จากเวป: ธรรมะทูโฮม ผลของกรรม
                 ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด  พลังจิต
 

80
                                                     พระยอดกตัญญูเลี้ยงดูแม่ป่วยอัมพาตน้องสติไม่ดี


 





ภาพประกอบข่าว

คมชัดลึก :"พระศิริ รัตนชัย" พระยอดกตัญญู เลี้ยงดูแม่ที่ป่วยเป็นอัมพาต และน้องชายสติไม่สมประกอบ ที่สำนักสงฆ์ถ้ำนางพญาเลือดขาวโมกขธรรม ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา


(6ต.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการติดต่อจากชาวบ้านในพื้นที่ ม.11 บ้านเขารูปช้าง ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ว่า ที่สำนักสงฆ์ถ้ำนางพญาเลือดขาวโมกขธรรม ต.ปาดังเบซาร์ มีพระสงฆ์รูปหนึ่งซึ่งเป็นพระยอดกตัญญู คอยดูแลแม่ที่ป่วยเป็นอัมพาต และน้องชายที่มีสติไม่สมประกอบ โดยนำมาเลี้ยงดูที่สำนักปฏิบัติธรรมดังกล่าวทั้งสองคน จนทำให้ประชาชนที่มาทำบุญกับทางสำนักสงฆ์แห่งนี้พบเห็นรู้สึกสงสารและซาบซึ้งในความกตัญญูของพระสงฆ์รูปดังกล่าว จึงได้แจ้งให้ทราบ


เมื่อผู้สื่อข่าวได้รับข้อมูลดังกล่าว จึงได้เดินทางไปยังที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ตามที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้าน จึงพบกับพระยอดกตัญญูรูปที่ชาวบ้านบอกกล่าวมา ทราบชื่อคือ พระศิริ รัตนชัย อายุ 56 ปี โดยพระศิริเปิดเผยว่า ได้บวชมาแล้ว 24 พรรษา จำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำนางพญาเลือดขาวโมกขธรรม แห่งนี้เมื่อปี พ.ศ.2531
"อาตมาได้นำพาแม่ที่ป่วยเป็นอัมพาตและน้องชายที่มีสติไม่สมประกอบมาเลี้ยงดูที่สำนักปฏิบัติธรรมถ้ำนางพญาเลือดขาวโมกขธรรม เมื่อวันที่ 26 ก.ค.53 ที่ผ่านมา ก่อนวันเข้าพรรษาเพียง 1 วัน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปดูแลเลี้ยงดูแม่ที่บ้านพักใน อ.บางแก้ว จ.พัทลุง โดยอาตมาจะช่วยหุงข้าว ป้อนข้าว ซักผ้า ทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องถ่ายหนักถ่ายเบาของแม่และน้องชาย ต่อมาทางญาติพี่น้องและหลาน บอกว่า ไม่มีเวลาเลี้ยงดูแม่และน้องชาย อาตมาจึงตัดสินใจนำแม่ที่ป่วยและน้องชายมาเลี้ยงดูที่สำนักปฏิบัติธรรม จนถึงปัจจุบันนี้" พระศิริ กล่าวและว่า
โยมแม่ของอาตมาชื่อ นางคล่อง รัตนชัย อายุ 77 ปี ป่วยเป็นอัมพาต และก่อนนี้มีอาการสติไม่ดีร่วมด้วย แต่ปัจจุบันเริ่มดีขึ้น พูดคุยรู้เรื่องมากขึ้น ส่วนน้องชายชื่อนายสมเกียรติ์ รัตนชัย อายุ 51 ปี สติไม่สมประกอบ ความจำเลอะเลือน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยทุกวันอาตมาต้องซักเสื้อผ้าของแม่และน้องชาย พร้อมกับหุงข้าว ทำกับข้าว ล้างถ้วยล้างชาม แปรงฟันล้างหน้าให้แม่ ป้อนข้าว เช็ดตัว เปลี่ยนผ้าอ้อมผู้ใหญ่แบบสำเร็จรูปให้ และยังทำความสะอาดแผลจากอาการดิ้นคลุ้มคลั่ง จนเกิดเป็นแผลที่ก้น โดยจะทำให้ทั้งเช้าและเย็น
ส่วนน้องชายนั้น อาตมาก็ต้องช่วยเหลือในการเปลี่ยนกางเกงให้ แปรงฟันให้ นำพาไปถ่ายหนัก ถ่ายเบา อาบน้ำให้ หาข้าวปลาอาหารให้กิน และทุกวันนี้อาตมาก็ไม่ได้ออกบิณฑบาตร เนื่องจากมีภารกิจต้องดูแลแม่และน้องชาย แต่แม้อาตมาไม่ได้ออกบิณฑบาตร ก็ได้มีญาติโยมผู้ใจบุญที่มีความเมตตา สงสาร ยื่นมือให้การช่วยเหลือโดยนำข้าวสารอาหารแห้งหรืออาหารสดมาให้ โดยเก็บไว้ในตู้เย็นที่สำนักสงฆ์
" ทุกวันนี้อาตมายึดคำสอนของท่านพระพุทธทาสภิกขุที่ว่า ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี นิมิตตัง สาธุ รูปานัง กตัญญูกตเวทิตา ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี วัวควายสัตว์เดรัจฉาน ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ยังตอบแทนผู้เลี้ยงด้วยกำลังกายที่เหนื่อยยาก สุดท้ายยังอุทิศเนื้อ หนัง กระดูก เขา เป็นเครื่องตอบแทนที่อยู่อาศัย อาหาร น้ำ หญ้า เราเป็นสัตว์ประเสริฐ ไม่สามารถหาหนทางตอบแทนพระคุณผู้มีอุปการะคุณได้ ไม่มีเครื่องหมายของความดีประดับกาย ก็คงเรียกว่า คนไม่ได้ เพราะเลวยิ่งกว่าเดรัจฉาน จิตที่คิดจะให้นั้น มันสูงกว่าจิตที่คิดจะเอา”
พระสงฆ์ยอดกตัญญูรูปนี้กล่าวอีกว่า อาตมาอยู่ในสถานะบรรพชิต การเลี้ยงดูพ่อแม่บังเกิดเกล้า ตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว ไม่มีความผิดทางวินัยสงฆ์ เพราะบุพการีคือ พระพรหม พระอาจารย์ของลูก ลูกก็ต้องทำหน้าที่ของลูกเพื่อดูแลท่านยามท่านเจ็บไข้ แก่ชรา ตอบแทนบุญคุณบุพการี ด้วยเหตุนี้อาตมาจึงไม่ต้องสึกจากการเป็นบรรพชิต เพื่อมาดูแลแม่และน้องชาย
ขณะที่นางคล่อง รัตนชัย โยมแม่ของพระศิริ กล่าวทั้งน้ำตาว่า รู้สึกดีและสบายใจ ที่เห็นลูกซึ่งเป็นพระ ไม่ทอดทิ้งตนเอง ความสุขที่แม่ได้รับจากลูก ก็ขอให้ลูกเป็นสุขๆ มีวาสนาดีมากกว่าแม่หลายเท่า
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หากท่านผู้ใจบุญรายใด อยากยื่นมือเข้าช่วยเหลือพระศิริ และแม่ พร้อมด้วยน้องชาย ก็สามารถติดต่อมาที่หมายเลขโทรศัพท์ของพระศิริ 08-4965-7356 หรือเดินทางมาช่วยเหลือที่สำนักสงฆ์แห่งนี้โดยตรง หากไม่สะดวก ก็สามารถบริจาคเงินช่วยเหลือได้ที่หมายเลขบัญชี 02-000-506-2003 "พระศิริ รัตนชัย" ธนาคารออมสิน สาขาตะโหมด จ.พัทลุง ประเภทบัญชีเผื่อเรียก

  ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด พลังจิต

81
                                                การทำบุญด้วยการดูแลพ่อแม่

  การทำบุญด้วยการดูแลพ่อแม่นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่ง เพราะนอกเหนือจากเป็นการสั่งสมบุญบารมีแล้ว ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ เป็นการทดแทนบุญคุณที่พ่อ

แม่เลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เรายังเล็ก

เราคงจะได้ยินคำกล่าวที่บอกว่า บุญคุณพ่อแม่ใช้เท่าไรก็ไม่มีทางหมด นั่นเป็นคำกล่าวที่จริงแท้แน่นอนที่สุด เพราะพ่อแม่นั้นเลี้ยงดูฟูมฟักให้ความรักความ

อบอุ่นเราเป็นอย่างดีแต่ก็มีบางคนที่อกตัญญู ชอบเถียงตบตี หรือด่าทอพ่อแม่ เช่นนี้ถือว่าเป็นบาปหนาต้องตกนรกหมกไหม้

การดูแลพ่อแม่ให้ดีนั้น จะต้องดูแลทั้งภายนอกและภายในนั่นก็คือให้กินอยู่หลับนอนสบาย มีกินมีใช้ไม่ลำบาก ได้นอนอย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังต้องรักษา

น้ำใจ ไม่พูดจาถกเถียงหรือให้ร้ายพ่อแม่ ให้ท่านต้องขุ่นข้องหมองใจเป็นอันขาด

ตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนานั้น เชื่อว่าหากว่าเราทำบุญด้วยการดูแลพ่อแม่เป็นอย่างดีนั้น เราจะทำมาค้าขึ้น เจริญรุ่งเรืองไม่มีอับจน หรือว่าต้องตกระกำ

ลำบาก แม้ว่าต้องชดใช้กรรมอื่น ก็จะผ่อนหนักให้เป็นเบา ไม่มีเรื่องอะไรหนักหนามาก เกิดภพไหนก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ไม่มีอับจน

   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด พลังจิต

82
                                                          ลางบอกเหตุ (รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม)



ห้ามใส่ชุดดำเยี่ยมคนป่วย

ชุดสีดำเป็นสีที่คนโบราณถือนักถือหนาว่า เป็นสีแห่งความทุกข์โศก
ใช้ใส่เฉพาะงานศพเท่านั้น หรือหากจะใช้แต่งกายสีดำ ก็ไม่ควรเป็นสีดำทั้งชุด
ควรเป็นครึ่งท่องใส่ผสมกับสีอื่นๆ
ชุดสีดำ จึงไม่นิยมใส่เข้าไปในงานมงคลต่างๆ เช่นงานวันเกิด งาน
แต่งงาน หรือแม้กระทั่งไป เยี่ยมผู้ป่วยก็เหมือนกัน เท่ากับว่า เป็นการแช่งหรือ
เดาเหตุการณ์ล่วงหน้าให้ผู้ป่วยนั้นตายเร็วขึ้น ทำให้จิตใจผู้ป่วยหดหู่และหมด
กำลังใจ เกิดอาการทรุดลงได้ง่ายจึงไม่ให้ใช้สีดำ ควรเป็นสีที่สดใสและแสดง
ใบหน้าที่สดชื่นอีกด้วย


จิ้งจกร้องทัก ห้ามออกจากบ้าน

จิ้งจกในปัจจุบันหาพบได้ง่ายกว่าตุ๊กแก มักจะเกาะอยู่ตามฝาผนัง
ของบ้าน โดยปกติทั่วๆ ไป เรามักจะไม่ค่อยได้ยินเสียงจิ้งจกร้องมากนัก จะ
เป็นเพราะมีจำนวนน้อย หรือบางบ้านไม่มีให้เห็นเสียแล้ว หรือไม่ค่อยมีเวลาอยู่
บ้านมากนัก จึงไม่ได้ยินเสียงของมัน
ตามคำเชื่อของคนโบราณกล่าวว่า หากจิ้งจกร้อทัก จะกี่ครั้งก็ตาม
ทว่าเสียงนั้นอยู่ด้านหลังหรือตรงศรีษะของคุณ ให้พยายามเลื่อนการเดินทาง
เป็นเวลาอืน อาจจะเป็นภายในวันเดียวกันก็ได้ แต่ไม่ใช่เวลานั้น เพราะอาจทำให้ คุณได้รับอุบัติเหตุหรือไม่มีโชคลาภ แต่หากเสียงร้องทักอยู่ด้านหน้า หรือซ้าย มือ ให้เดินทางได้ จะทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกสบาย จะได้พบโชค ลาภ หรือติดต่อธุรกิจเป็นผลสำเร็จ


ตุ๊กแกร้องกลางวัน มีเหตุร้าย

ตามปกติแล้วตุ๊กแกที่อาศัยอยู่ในบ้าน มักจะร้องตอนกลางคืน แต่
ถ้าวันดีคืนดีเกิดร้องลางวันขึ้นมาไม่ว่าจะร้องกี่ครั้งก็ตาม ให้ถือว่า เป็นการ
บอกเหตุร้ายว่า กำลังจะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว หรือภายในบ้าน ซึ่งโดย
ปกติแล้วตุ๊กแกจะไม่ค่อยร้องในช่วยกลางวันอยู่แล้ว ( กลางวันในที่นี้หมายถึง
ตั้งแต่เวลาเริ่มสว่างจนถึงมืดลง )
คนโบราณเชื่อว่าตุ๊กแกคือ ร่างที่วิญญาณของปู่ย่าตายายที่ตายไป
แล้วมาอาศัยอยู่ คอยดูแลคุ้มครองเพื่อให้สัญญาณบอกเหตุแก่ลูกหลาน และ
จะไม่เคยเห็นตุ๊กแกทำร้ายใครเลย


นกแสกเกาะหลังคาบ้าน เกิดลางร้าย

นกแสกเป็นนกที่ถือว่า ให้ความอัปมงคลเป็นอย่างยิ่ง ไม่แต่เฉพาะ
คนไทยเท่านั้นที่ถือในเรื่องนี้ฝรั่งเองก็ถือเคล็ดนี้เช่นกัน ก็เพราะโดยธรรมชาติ
ของนกแซกมักจะไม่มาปะปนอยู่ตามที่อยู่อาศัยของคนให้เห็นนัก
หากเมื่อใดมีนกแสกมาเกาะที่หลังคาบ้านใดแล้ว ก็มักจะมีอะไรไม่ดี
แก่บ้านนั้น เช่น คนป่วยเอยคนเจ็บอยู่ก็อาจเสียชีวิตก็ได้ จึงมักจะมีคนนิยมแก้
เคล็ดให้ร้ายกลายเป็นดี ด้วยการนำเอาดอกไม้ ธูปเทียน สุรา บอกเล่าก็เพียง
พอแล้ว คนโบราณบางท่านที่เคร่งมากๆ ก็อาจเพิ่มด้วย ข้าวสาร ข้าวตอก
ผ้าแดง ผ้าขาวและเงินทอง


นกถ่ายรดศรีษะ จะมีโชคร้าย

ปกติแล้วนกนี่มันก็บินไปทั่ว ถ้าไม่ใช่นกเลี้ยง จะชอบมาบินเกาะบน ท้องฟ้า ไม่ชอบมาอยู่กะคนเท่าไหร่และเมื่อใดที่คุณกำลังจะออกเดินทางแล้วจู่ๆ นกก็ถ่ายรดที่ศรีษะ คนโบราณว่าไว้ ให้หยุดการเดินทางทันที หรือเลื่อนกำหนด
ออกไปวันรุ่งขึ้น ไม่เช่นนั้น อาจได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุได้
ในกรณีเดียวกัน หากอยู่ในบริเวณบ้าน นกบินมาถ่ายรดศีรษะซึ่ง
โอกาสจะมีน้อยมาก แต่หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็ให้เตรียมตัวรับเหตุการณ์ได้เลย
เพราะจะต้องมีเรื่องเดือดร้อนใจ หรือเกิดเหตุร้ายกะตัวเองแน่นอน ระวังเด้อ....


เมื่อตัวเงินตัวทองคลานเข้าบ้าน

บ้านใดที่มีต้นไม้มากๆนั้น จะมีที่ที่ตัวเงินตัวทองมักจะปรากฎให้เห็น
ตามที่ดังกล่าว มักจะไม่คลานในที่โล่งแจ้ง และก็หาแหล่งที่มาไม่พบอีกด้วยว่ามา จากที่ใด เพราะในหมู่บ้านกลางเมืองก็ยังมีปรากฎให้เห็นบ้าง ลักษณะตัวเงินตัวทอง บางคนว่าคล้ายจระเข้ แต่มีหางยาวมาก มี ขนาดตั้งแต่ตัวเล็กๆ เท่าจิ้งเหลนจนไปถึงตัวโดมากๆเท่ากับลูกจระเข้เลยทีเดียว ปกติตัวเงินตัวทองนี้จะไม่ทำร้ายใคร แต่คนโบราณท่านว่าเป็นตัว อัปมงคลอยู่ดี จึงมีชื่อเรียกเสียเพราะแก้เคล็ด หากบ้านใดมีเข้ามาให้เห็น ท่านว่า ให้พูดแต่สิ่งดีๆ ไม่ให้ไล่ บางท่านก็ให้หาดอกไม้ธูปเทียนจุดบอกเล่า ให้กลายเป็นการนำเอาสิ่งดีๆ เข้ามาในบ้าน


กลางคืนได้ยินเสียงร้องเรียก ห้ามขานรับ

สำหรับบ้านในสมัยโบราณ ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้สะดวกเหมือนในปัจจุบัน ค่ำลงต่างคนก็ต่างดับตะเกียงปิดฟงปิดไฟกันเลย คนโบราณจึงว่าว่า หากปิดบง ปิดบ้านแล้วมีเสียงคนมาร้องเรียก ให้เงียบเสีย เพราะนั่นเป็นเสียงของดวง วิญญาณ อาจจะมาหลอกมาหลอนก็เป็นได้ แต่หากมองกันให้ลึกลงไปอีก อาจเป็นการป้องกันขโมยมาเข้าบ้านใน ยามวิกาลก็เป็นได้ เพราะขโมยอาจมาหลายรูปแบบ บางคนก็ว่า หากมีเสียงเรียก แล้วยังขานรับ จะทำให้วิญญาณนั้นเข้ามาหรือเข้ามาในบ้านได้


เลขนั้นสำคัญไฉน

เลขต่างๆ ตั้งแต่ 1 - 10 หรือแม้กระทั่งเลขเกิน 10 ก็ตามมีความเชื่อ ไปต่างๆกัน บ้างก็เหมือนกันแล้วแต่ความถูกโฉลกของแต่ละบุคคล นั่นเป็นความ เชื่อ เช่น บางคนไม่ชอบเลข 13 เพราะถือเป็นเลขของความโชคร้ายของฝรั่ง ซึ่ง จะสังเกตว่าตามตึกใหญ่สูงๆ ภายในลิฟต์จะไม่มีชั้น 13 เนื่องจากคนก่อสร้างหรือ สถาปนิกเป็นฝรั่งจ้า เค้าว่ากันว่าทะเบียนเลขรถเนี้ยะ


ผมหยิก หน้าก้อ คอต่อ คิ้วสั้น คบไม่ได้เด้อ

คำกล่าวนี้ได้ยินมาน๊านนน นาน... .ซึ่งหากดูให้ครบลักษณะที่กล่าวมาก คนใดที่มีลักษณะผมหยิกๆ หน้าสั้นๆ หักๆ คอหาแทบไม่เจอ จะด้วยเพราะอ้วนหรือ
เหตุใดก็ตาม ประกอบกับมีคิ้วก็สั้นๆ รวมดูแล้ว ไม่ค่อยน่ามองเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ตามอย่าดูแค่รูปกายภายนอก ให้ศึกษานิสัยใจคอด้วยจ๊ะ


ไทยเล็ก เจ็กดำ คบบ่ได้ จิงหรือ?

โบราณท่านว่าไว้ว่า คนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้คบยากเหลือเกิน หากเป็น คนไทยก็ต้องตัวไม่เล็กแคระแกรน เนื่องจากคนไทยในสมัยโบราณตัวใหญ่ทั้งผู้
หญิงและผู้ชาย หาคนตัวเล็กมีน้อยมาก และถ้าเป็นคนจีนก็ต้องตัวไม่ดำ "ไทยเล็ก เจ็กดำ" จึงติดปากมาจนทุกวันนี้ แต่หากจะพิจารณากันให้ ถ่องแท้ คงจะต้องดูที่นิสัยรวมไปด้วย นั่นเป็นเพียงแต่การสันนิษฐานเบื้องต้นให้ ได้ยินเท่านั้น ก็ลองใช้ดุลพินิจดูว่า จะเป็นจริงตามที่ท่านกล่าวมาไว้หรือไม่ ทั้งนี้ คำกล่าวที่ว่า ไม่ได้รวมหมายถึง การงานของเขาเหล่านั้น ท่านหมายแต่เพียงว่า มัก
จะมีนิสัยออกไปทางคนโกงเจ้าเล่ห์เพทุบาย เอาเปรียบประมาณนั้น


คนหลายเสียงคบไม่ได้

คนทั่วไปตามปกติแล้ว หากไม่มีเสียงธรรมดาแล้ว ก็อาจจะมีเสียง แหลมเล็ก หรือทุ้มใหญ่ไปเลย คนโบราณกล่าวไว้ว่า หากคนใดมีหลายเสียงในขณะ
ที่พูดคุยตามปกตินั้น เป็นคนคบยาก เพราะเท่ากับว่า หาความแน่นอนอะไรไม่ได้ แม้แต่เสียงของตัวเองยังบังคับให้อยู่ในระดับเดียวกันไม่ได้เลย ขณะพูดคุย เดี๋ยวทำเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงใหญ่ เสียงเล็กไปเรื่อย แต่คนในลักษณะนี้หายาก และในเมื่อหายาก ก็ดูจะยิ่งเพิ่มความขลังให้ ความเชื่อนี้แม่นยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเจอก็ให้ห่างๆ ไว้เป็นดี


คนหัวล้านมักเจ้าชู้และเจ้าเล่ห์

คำกล่าวนี้ได้ต้นแบบมาจากขุนช้างในวรรณคดีนั่นเอง ขุนช้างเป็นคน เจ้าชู้ ชอบหญิงสาวที่มีรูปงาม จุดเด่นของเรื่องในวรรณคดี มีการแย่งหญิงสาวอัน
เป็นคนรักของขุนแผน โดนขุนช้างใช้เล่ห์ทุกวิถีทาง เพื่อหลอกให้คนรักของขุนแผน มาอยู่กับตน จึงถูกมองว่า ผู้ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับขุนช้างคือ หัวล้าน มีรูปร่างอ้วน ท้วม ขาวนั้น จะต้องมีนิสัยเช่นเดียวกับขุนช้างเสมอไปแต่ขุนช้างก็เป็นคนร่ำรวยมาก ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่แปลกว่า คนหัวล้านก็มักจะรวยเสียทุกคนเหมือนขุนช้างอีกด้วยซิ
มีปาน แสดงว่าเคยเกิดมาแล้ว
เด็กทารกคนใดที่เกิดมาแล้วมีปานหรือเรียกว่า มีตำหนิ ในส่วนใดส่วน หนึ่งของร่างกาย คนโบราณถือว่า ได้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง และถูกป้ายด้วยของ ทำ เป็นตำหนิเอาไว้ หากเป็นปานแดง ก็เชื่อกันว่า ถูกป้ายด้วยปูนแดงและหากเป็นปานดำ ก็เชื่อกันว่า ถูกป้ายด้วยถ่านเพราะถ้าหากมีบุญจริง อาจจะพบกันชาติหน้าและจำกันได้ โดยให้สังเกตจากตำหนิ แต่ในหลักความเป็นจริงแล้ว การเกิดปานไม่ว่าจะมีสีใดก็ตาม เป็นเพราะ ผิวหนังผิดปกตินั่นเอง


ห้ามปลูกต้นไม้ที่วัดปลูก

เชื่อกันว่า ต้นไม้ที่ขึ้นตามวัดหรือนำไปปลูกที่วัด เป็นของสูงและสมควรอยู่
ในวัดเท่านั้น ไม่ควรนำมาปลูกที่บ้าน จะทำให้บ้านนั้นตกอับ ไม่เจริญ เท่ากับเอาของสูง มาวางไม่ถูกที่ หากเกิดขึ้นเองโดยที่ไม่ได้นำมาปลูก ก็ให้ถอนออกเสีย หากจะให้ดี ก็ให้ นำไปไว้ที่วัดเสีย ต้นไม้ดังกล่าวอันได้แก่ ต้นโพธิ์ ต้นหวาย ต้นโมกข์ ต้นไทร ต้นนนทรีย์ ต้นตะเคียน เป็นต้น
แต่ทั้งนี้จะรวมถึงต้นไม้ที่ไม่เป็นสิริมงคลดวย เช่นต้นโศก ต้นระกำ ต้นยาง
ที่มักนำมาทำโรงศพ ต้นสำโรงที่ดอกมีกลิ่นเหม็น ซึ่งเหล่านี้ดูไม่เป็นสิริมงคล จึงไม่นิยม นำมาปลูกในบริเวณบ้านกัน


ห้ามตัดผมวันพุธ

วันพุธห้ามตัดผม เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ห้ามกันนักห้ามกันหนาเชื่อกันว่า ตัดผม
วันพุธจะทำให้เกิดอัปมงคลกับชีวิตทีเดียว จะเห็นได้ว่า ร้านตัดผมมักจะปิดร้านในวัน พุธกัน บ้างก็อ้างว่า ตัดผมในวันพุธหัวกุดท้ายเน่า ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ควรเชื่อเสียบ้าง ตัดในวันรุ่งขึ้นก็คงไม่นานเกินรอไป ได้ และก็ยังไม่ได้ยินเช่นกันว่า นิยมตัดผมกันในวันพุธ


ตาเขม่น

ฮิต ฮิต ฮิต เรื่องตาเขม่นตามความเป็นจริงแล้ว เขม่นได้หลายส่วนของ
ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นริมฝีปาก แขน ขา หรือแม้กระทั่งตา ดังนั้นการเขม่นตาจะแบ่งออก เป็น 3 ช่วงคือ
หากเขม่นตาในช่วงเช้า - บ่าย คนโบราณกล่าวไว้ว่า หากเป็นข้างขวาจะมีโชค
ลาภ ได้รับข่าวดี เรียกว่า จะสมหวังในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่คอย และหากเขม่นที่ตาซ้าย ท่านว่าจะมีเคราะห์ โชคร้ายผิดหวังเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างแน่นอน เช่น มีการทะเลาะกัน เกิดขึ้น หรือจะต้องสูญเสียของรักบางอย่างไป
ถ้าเขม่นตาไม่ว่าจะเป็นข้างซ้ายหรือข้างขวา ในช่วงเวลาเย็นถือว่ามีโชคมีลาภ
จะได้พบญาติสนิทมิตรรักเดินทางมาหา แต่ถ้าเป็นในช่วงกลางคืน การเขม่นตาขวาจะได้ดี จะมีเคราะห์มีเหตุร้ายเกิด ขึ้น ตรงกันข้าม ถ้าหากเขม่นตาซ้ายจะมีโชคลาภจากเพื่อน จะสมหวังสิ่งที่รอคอย เรียกว่า ขวาร้าย-ซ้ายดี
การเขม่นตานี้ เชื่อกันว่า เป็นลางบอกเหตุที่แม่นยำมาก ท่านให้ถือเวลาที่จะเกิด
เหตุไม่ดีและร้ายภายใน 3 วันอย่างแน่นอน


เมื่อสัตว์ป่านเข้าบ้าน

เรื่องของสัตว์ป่านั้น ตามธรรมชาติแล้วสัตว์ป่าก็ควรที่จะอยู่ตามป่าตามเขาจึง
จะถูกต้อง แต่หากเมื่อใดสัตว์เหล่านี้เป็นต้นว่า งูต่างๆ ชนิด หรือแม้กระทั่งเต่า คำโบราณ ถือนักว่า ผิดธรรมชาติและหากจะให้สัตว์จำพวกนี้อยู่ในบ้านก็คงอยู่ไม่ได้ ถือว่านำความ อัปมงคลมาสู่ครัวเรือน ท่านให้แก้เคล็ดด้วยการ จุดธูปเทียน ดอกไม้บอกเล่าและเชิญให้ ออกจากบ้าน พร้อมกับขอพรให้นำพาสิ่งดีงามมาให้ สัตว์ป่าที่เข้าบ้านนี้ ตามคำโบราณยังถือรายละเอียดอีกมากมายเกี่ยวกับว่า มา ทิศใดจะนำอะไรมาให้ ยกเว้น หากเป็นทางทิศตะวันตกและทิศเหนือจะได้รับโชคลาภ แต่ก็ นั่นแหละตอนที่สัตว์ป่าเหล่านี้คลานมาคงไม่มีใครรู้ มาทางใดมารู้อีกทีก็อยู่ในบ้านเสียแล้ว ดังนั้นทางที่ดีก็อย่ามาเลยดีก่าเนอะ


ห้ามเผาศพวันศุกร์    
                                                                                                                                                                    คนโบราณถือว่า "เผาศพในวันศุกร์ให้ทุกข์กับคนเป็น" และโดยปกติทั่วไปจะ
สังเกตว่า ไม่มีผู้ใดเผาศพในวันศุกร์ให้เห็นเลย เพราะเชื่อกันว่า วันศุกร์เป็นวันแห่งโชคลาภ วันแห่งความร่มเย็นเป็นสุข เหมาะที่จะมีงานมงคลมากกว่างานเผาศพน๊ะ


หวีหัก โชคไม่ดี 

คนโบราณเชื่อกันว่า ในขณะที่กำลังสางหรือหวีผมนั้น ไม่ว่าจะใช้หวีไม้หรือหวี พลาสติกก็ตามแต่ แล้วหวีเกิดหักคาผมในขณะที่ยังหวีอยู่นั้น ท่านให้เชื่อได้เลยว่า จะเกิด เรื่องไม่ตีตามมาอย่างแน่นอน เป็นต้นว่า อาจมีเรื่องทะเลาะวิวาทเกิดขึ้น สูญเสียของรัก หรือมีเรื่องทุกข์ร้อนใจให้หงุดหงิดได้
การแก้เคล็ดด้วยการนำหวีนั้นทิ้งไปเลย ไม่ให้เก็บไว้ใช้หรือนำไปซ่อมมาใช้ใหม่ และจุดธูปบอกเล่าให้สิ่งร้ายกลายเป็นดีเรื่องหนักก็จะกลายเป็นเบาเสีย
แต่ความเชื่อของคนโบราณเรื่องหวีหักนี้ อาจจะเกิดเรื่องที่ไม่รุนแรงนักก็ได้
แล้วแต่โชคชะตาและดวงในตอนนั้นด้วย


มีกลิ่นธูป หมายถึงวิญญาณ

ในยามวิกาลเสียงเงียบสงัด เมื่อใดได้กลิ่นธูปลอยมา โดยที่ไม่มีใครจุดธูปใน
บริเวณนั้นๆ เลย คนโบราณเชื่อกันว่า เป็นวิญญาณของญาติสนิทภายใครอบครัวมาหา จะเป็นเพราะคิดถึง ห่วงใยกันหรือด้วยเหตุใดก็ตาม ท่านให้คนที่ได้กลิ่นธูปนั้น จุดธูป 1 ดอก ลอกเล่าให้ไปที่สงบๆ อย่ากังวลสิ่งใดที่จะทำให้วิญญาณไม่สงบสุขเลยบางคนอาจ ขอพรจากวิญญาณญาติสนิทนั้นให้ปกปักรักษา และให้โชคลาภด้วย แต่หากไม่มีญาติสนิทในระยะนั้นเสียชีวิต ก็เชื่อกันว่า อาจจะเป็นวิญญาณ พเนจรทั่วไป ก็ให้จุดธูปเช่นเดียวกันบอกเล่าว่า อย่ามารบกวนให้กลัว ให้ไปที่ชอบที่สงบ และนิยมใส่บาตรแผ่ส่วนกุศลให้ในวันรุ่งขึ้นด้วย


ผึ้งทำรังในบ้าน มีโชค

โดยธรรมชาติแล้ว ผึ้งมักนิยมทำรังตามต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นหนาแน่น และอยู่ในที่
สงบไม่พลุกพล่าน แต่เมื่อใดที่ผึ้งมาทำรังในบ้านจะเป็นชายคาบ้าน ใต้หลังคาบ้าน บางบ้าน มีผึ้งมาทำรังถึงห้องน้ำก็มี ท่านว่าไว้ว่า อย่าไปไล่หรือทำลายเด็ดขาด จะทำให้เกิดความหายนะขึ้นกับครอบ ครัวเรือนนั้น เพราะผึ้งเป็นสัตว์นำโชค ให้ปล่อยผึ้งทำรังต่อไป เชื่อกันว่า ยิ่งรังใหญ่มาก เท่าใด ก็จะมีโชคลาภมากขึ้นเท่านั้น และควรจุดธูปเทียนบูชา รวมทั้งดอกไม้ เพื่อความเป็น สิริมงคลด้วย


ดูดวงจากต้นว่าน

คนที่ทำอาชีพค้าขาย หรือนักธุรกิจติดต่อกับผู้คน เพื่อการค้าต่างๆ คนโบราณ
โดยเฉพาะในสมัยก่อน นิยมปลูกต้นว่านต่างๆชนิดแล้วแต่ และดูดวงชะตาตัวเองจากการ เจริญเติบโตของต้นว่าน นั้นๆว่า เติบโตงอกงามขึ้นหรือไม่ ชีวิตกำลังรุ่งเรืองและยิ่งต้น ว่านนั้นออกดอกออกผล ก็จะยิ่งทำให้ดวงชะตาพุ่งสูงมาก ท่านรีบจุดธูปขอพรให้ดวง ชะตาคงอยู่เช่นนั้น แต่หากต้นว่านที่ปลูก อยู่ๆเกิดหักงอ หรือเหี่ยวแห้งลงทุกวันๆ หรือ ปลูกมานานแล้วก็ไม่เกิดดอกออกผลเสียที ท่านให้เชื่อว่า ดวงกำลังตก การค้าขายก็กำลังแย่ ให้รีบทำบุญทำทาน หรือหาทางแก้ไขปรับปรุงการค้า หรือธุรกิจนั้นเสีย พร้อมกับบำรุงดูแล ต้นว่านนั้นด้วย


มือชนกันขณะกินข้าว จะมีแขกมาเยือน

ในสมัยโบราณ ไม่มีการติดต่อสื่อสารที่สะดวกเหมือนปัจจุบันการโทรศัพท์ก็ยังไม่ มีใครรู้จักนัก เพราะฉะนั้นเวลาจะนัดหมายกับใครรู้จักนัก เพราะฉะนั้นเวลาจะนัดหมายกับใคร สักคนก็เป็นไปได้ยาก จะต้องพบกันแล้วนัดหมายในครั้งต่ไปกันเลย แต่คนโบราณใช้วิธีการสังเกตความเป็นไปได้ว่า ในขณะที่นั่งล้อมวงรับประทาน อาหารกันนั้น หากมี 2 คนในวงเอื้อมมือไปหยิบอาหารพร้อมกัน และชนกันที่กลางสำรับอาหาร เชื่อว่าจะต้องมีแขกมาเยือนกันถึงเรือนชานอย่างแน่นอน ไม่วันนี้ก็เป็นพรุ่งนี้ ก็จะมีการเตรียม ข้าวปลาอาหารรอต้อนรับ และก็เป็นเช่นนี้ทุกครั้งไป


           อ้างอิง ความเชื่อ โบราณ

       ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ดพลังจิต

83
                                                            เพียรรักษาความดี (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)


เ พี ย ร รั ก ษ า ค ว า ม ดี

ครั้งที่แล้วได้อธิบายธรรมที่เรียกว่า “ภาวนาปธาน”
เพียรทำความดีให้เกิดมีขึ้นในใจของตน
แล้ววันนี้จะแสดงธรรมเรื่อง “อนุรักขนาปธาน” ต่อไป

อนุรักขนาปธาน
คือ การรักษาความดีที่เกิดมีขึ้นในตนไว้ไม่ให้เสื่อมสูญไป
อุปมาเหมือนปิดกั้นสระใหญ่ ไม่ให้น้ำไหลออกจากสระนั้น
พอฝนตกมามันก็จะเก็บน้ำไว้ให้เต็มเปี่ยม
ผู้สร้างคุณงามความดี คือ สร้างกุศลทั้งปวงนั้น
เรียกว่า สะสมคุณงามความดี มีน้อยก็เก็บไว้ มีมากก็เก็บไว้
เหมือนฝนที่ตกลงมา ไม่ว่าห่าใหญ่ห่าน้อย
ตกลงมากแล้วไม่รั่วไหลไปไหน มีแต่จะมากขึ้น

การที่จะรักษาคุณงามความดีของตนไว้ได้
จะต้องเห็นคุณค่าของคุณงามความดีที่เราสร้างนั้นก่อน
เห็นเป็นของมีค่ามีประโยชน์ยิ่ง
เมื่อได้มาแล้ว ก็ยินดีพอใจในการที่ได้กุศลนั้น
เช่น เรายังไม่เคยเข้าวัดฟังธรรม ไม่เคยทำบุญทำทาน
และไม่เคยรู้จักรสชาติของสัจธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ต่อมาเมื่อเราเข้าวัดจิตใจเบิกบาน แช่มชื่นปลอดโปร่ง
เพราะได้เห็นได้ฟังแต่สิ่งที่ดีที่งาม
วัดเป็นที่บำเพ็ญกุศล เป็นที่อบรมจิตใจ
เป็นที่ระงับดับเสียซึ่งความเดือดร้อนวุ่นวาย เป็นสถานที่ที่สงบ
เมื่อเข้าไปถึงวัดเห็นคุณค่าประโยชน์อย่างนี้
เราก็พยายามที่จะรักษาคุณงามความดีไว้ คือ หมั่นเข้าวัด
บางคนถึงจะไม่หมั่นก็ช่างเถิด
แต่พอได้รับความเดือดร้อน จนใจเป็นทุกข์ จะต้องดิ่งเข้าวัด
พอก้าวย่างเข้าไปในเขตวัดเท่านั้น
ยังไม่ทันทำอะไรเลย จิตใจจะสงบเยือกเย็น
ถ้าได้ไปคบค้าสมาคมกับพระสงฆ์ผู้มีศีล
มีธรรมคุณงามความดีของท่านเหนือจากเรา
เราเห็นแล้วก็อดที่จะละอายความชั่วของเราไม่ได้
หรือหากเข้าไปหาท่านผู้รู้ผู้ฉลาดครูบาอาจารย์ผู้มีความสามารถ
ท่านแนะนำให้เราเข้าใจในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ความเดือดร้อนกังวลทั้งหลาย จะหายไปอย่างเด็ดขาด
ถ้าเห็นคุณค่าประโยชน์เช่นนี้
เรียกว่า คุณงามความดีได้เกิดมีขึ้นในตนแล้ว

เมื่อเราทำกุศลแล้ว เกิดความอิ่มอกอิ่มใจ พอใจ ยินดีปีติ
เราจะรักษาคุณงามความดี คือ รักษาวัตรปฏิปทาของการทำดีนั้น
เช่น เช้าตื่นขึ้นมาทำบุญตักบาตร
หรือก่อนจะหลับจะนอนก็ไหว้พระสวดมนต์
ตื่นขึ้นกลางคืนดึกดื่นสงบสงัด ก็ทำความสงบอบรมสมาธิภาวนา
พิจารณาสังขารร่างกาย
หรือจวนจะสว่างก่อนไปทำการทำงานไหว้พระสวดมนต์
ทำความสงบอบรมสมาธิภาวนา
จิตใจของเราก็มีความสงบ ได้รับความเยือกเย็น
หากผู้ใดทำจนเห็นคุณค่าประโยชน์อย่างนี้แล้ว
ผู้นั้นจะต้องรักษากิจวัตรอันนั้นไว้ประจำในใจของตน
เรียกว่า “อนุรักขนา” เพียรพยายามรักษาความดีไม่ได้เสื่อม
เหตุนั้นท่านจึงสอนให้รู้จักดี รู้จักชั่ว รู้จักผิด รู้จักถูก
ให้มันหายจากโมหะ คือ ความหลง อวิชชา คือ ความไม่รู้
และเห็นความจริงขึ้นมาว่า ดีเป็นของดีจริง ชั่วเป็นของชั่วจริง
ที่ชั่วก็ละเสีย ที่ดีก็รักษาไว้จริงๆ

ธรรมดาทุกคนไม่ว่าใคร ถ้าไม่เห็นชัดด้วยตนเอง
ไม่เห็นคุณค่าประโยชน์ในสมบัติที่ตนได้
เหมือนไก่เห็นพลอย เหมือนลิงได้แก้ว
ไก่เห็นพลอยมันจะมีประโยชน์อะไรแก่ไก่
เพราะนำไปใช้อะไรไม่ได้ ไม่รู้จักคุณค่าของพลอยนั้น
ลิงเห็นแก้วก็เหมือนกัน
ลิงจะไปประดับที่ตัวมันตรงไหนกัน ก็ไม่มีคุณค่าประโยชน์อะไร

คนเราถ้าหากมีของดี คือ บุญกุศลคุณงามความดี
ที่เราบำเพ็ญอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนแล้ว ก็ไม่รู้จักจะรักษา
เมื่อไม่รู้จักจะรักษา ก็หายไปเสื่อมสูญไปอย่างน่าเสียดาย
เปรียบเหมือนเราทำสวนหรือไร่นา
เมื่อถากถางและขุดไถให้เรียบร้อยแล้ว จึงปลูกพืชลงไปนั้น
แล้วจำเป็นจะต้องรักษาโดยทำรั้วกั้น
ป้องกันไม่ให้สัตว์เข้าไปกินไปเหยียบย่ำ จึงจะได้รับผล
มิใช่ว่าปลูกแล้วทอดทิ้ง
ถ้าปลูกแล้วทอดทิ้ง ไม่มีหวังได้กินเลย

เราสร้างคุณงามความดีมาแต่ไหนแต่ไร
ก็เพราะต้องการคุณงามความดีบุญกุศลเวลาได้ขึ้นมาจริงๆ
แล้วกลับไม่รู้จักของดีนั้น ทิ้งขว้างไม่รู้จักของมีค่า
จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มีการรักษาคุณงามความดีที่มีอยู่
อย่าให้เสื่อมหายไป

คนที่ทำทาน แล้วทอดทิ้งปล่อยวาง
โดยคิดว่า ตนทำทาน แล้วก็แล้วไปหมดเรื่อง
แบบนี้ก็ได้ผลอยู่ แต่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
หากหมั่นพิจารณาถึงการทำทาน การสละจาคะของตน
ฝึกคิดจนเป็นอนุสสติ เรียกว่า จาคานุสสติ
เห็นประโยชน์ในการทำทาน
การสละนั้นจริงๆ แล้ว จะได้ประโยชน์มากมาย
จิตใจจะเบิกบานอิ่มเอิบปลื้มปีติอยู่ตลอดเวลา
จะมากน้อยเท่าใดเห็นได้ที่ใจของตน
แม้กาลเวลาล่วงไปแล้ว เมื่อมาระลึกถึงเรื่องเหล่านั้น
จิตใจก็จะแช่มชื่นยินดีด้วย
การทานนี่ก็เป็น “อนุรักขนา” เหมือนกัน
เมื่อผู้รับได้ประโยชน์จากทานนั้น
เราจึงจะได้รับสุข เป็นอานิสงส์จากไทยทานของตน
เช่น ให้ข้าว น้ำ หรืออาหารไป
จากทานนั้นเขาก็จะได้มีชีวิตยืนยาวสืบไป มีสุขภาพดี
หรือเรามีผ้าผ่อน ผ้านุ่งผ้าห่ม ให้ทานเขาไป
เขาจะได้หุ้มห่อร่างกาย ปกปิดไม่ให้เกิดความละอาย
เพื่อกันแดดกันฝน กันร้อนกันหนาว
เราเห็นคุณประโยชน์เพียงแค่นี้ ก็จะเกิดปลื้มปีติขึ้นในใจว่า
เราได้ช่วยคนมีทุกข์ ให้พ้นทุกข์ได้ชั่วระยะหนึ่ง
เราให้ทานความสุขแก่คนอื่นให้ทานชีวิตแก่เขา

เมื่อเราได้ทำคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้น มากน้อยก็ตาม
มีเท่าไรเราสะสมไว้ ของเล็กของน้อยนานๆ เข้ามันค่อยเพิ่มขึ้น
ผู้พิจารณาเห็นประโยชน์แล้วรักษาจริยาวัตร
คือ ประพฤติคุณงามความดีนั้นไว้ให้ติดต่อสืบเนื่องกันไป
เรียกว่า “อนุรักขนาปธาน”
ถ้าหากว่านำเอาคุณความดีที่ตนได้ปฏิบัติ
มาพิจารณากำหนดสติ ก็จะได้ความปีติอิ่มใจ
จิตสงบเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง

บุญกุศลจากการทำทานนั้น
ก่อนหน้าที่จะลงมือทำทานได้
เกิดคิดนึกที่จะทำทานก่อน
จึงแสวงหาปัจจัยไทยทานต่างๆ
เวลานั้นก็เกิดความปลื้มปีติแล้ว จึงเป็นบุญมาตั้งแต่ต้น

ขณะที่ทำทานอยู่นั้น ถ้าทำแก่ผู้มีศีล เช่น ภิกษุ สามเณร เป็นต้น
จิตใจเบิกบานอิ่มอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นบุญเป็นกุศล
หลังจากนั้นเสร็จธุระแล้ว
ก็ยังมีความอิ่มเอิบเบิกบานในการที่ได้ทำทานอยู่อีก
เป็นการได้กุศลทั้ง ๓ สมัยอย่างเต็มที่
คือ ก่อนทำทาน ขณะทำ และหลังจากได้ทำแล้ว
ทำมากหรือน้อยก็อิ่มอกอิ่มใจ
ทำน้อยกลับกลายได้ผลมากกว่าคนที่ทำบุญมากๆ
แล้วไม่รักษา ไม่ได้พยายามรักษา

คนที่เคยสร้างความดีนั้น รู้สึกเป็นของง่าย
แต่แท้ที่จริงไม่ใช่ของง่าย
คนที่ไม่เคยสร้างความดี ยิ่งมองไม่เห็น
แม้คนที่เคยสร้างความดีแล้วก็ตาม
ถ้าไม่รักษาไว้ให้ดี เมื่อสูญเสียไปแล้ว จะทำใหม่ก็ไม่ใช่ของง่าย
เช่น คนดื่มสุราพยายามละสุรา พยายามยากแสนยาก
ร้อยทั้งร้อยเกือบจะไม่ได้
หากว่าละได้แล้ว ถ้าไม่ตามระวังรักษาความดีนั้นไว้
ไปคบค้าสมาคมกับเพื่อนนักดื่มกลับติดสุราอีก
ทีนี้ยิ่งร้ายกว่าเก่า หากคบค้าเพื่อนฝูงอันธพาลยิ่งไปใหญ่โต

ความดีนั้นเป็นของสร้างได้ยาก ความชั่วสร้างได้ง่ายที่สุด
ทำเมื่อไรก็ได้ ความชั่วนั้น มีผลให้ได้รับความทุกข์
ผลของความดีเท่านั้น นำให้เกิดความสุข
คนไม่ต้องการทุกข์ ต้องการความสุข แต่ไม่อยากสร้างความดี
คนเราเป็นอย่างนี้ อยากได้แต่ผล ต้นเหตุไม่สร้าง
ถ้าหากรู้จักว่า ผลของความสุข เกิดจากเหตุที่สร้างความดี
เราก็มาสร้างความดีผล คือ ความสุขมันเกิดขึ้นเอง
เราอยากได้แต่ความสุข แต่เราไม่สร้างความดีให้เกิด
ไปกินเหล้าเมาสุรา เกกมะเหรกใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักประมาณ
ขี้เกียจขี้คร้าน แล้วจะได้ความสุขมาจากไหน
เรารู้จักแต่ “อบายมุข” ที่แปลว่า ทางเสื่อม ทางให้ถึงความฉิบหาย
ให้ถึงความล่มจม ให้ถึงความชั่วนั่นเอง มันเป็นของน่ากลัว
แต่เราพากันทำชั่วทั้งหมด โดยไม่รู้จักกลัวกัน
กลับชอบอบายมุขด้วยซ้ำ
ส่วนอุบายที่ทำให้เกิดความเจริญไม่เอา แต่ว่าชอบความเจริญ

เมื่อเข้าใจตามนี้และเห็นชัดด้วยตนเอง
มั่นใจด้วยตนเองด้วย ละความชั่วได้ง่ายที่สุด
ไม่ต้องมีใครบังคับเลย
ความดีก็เหมือนกัน บุญกุศลก็เหมือนกัน
ถ้าหากเราเห็นอำนาจอานิสงส์ของการสร้างความดี
ว่านำให้เกิดความสุขจริงๆ
ไม่ว่าจะเป็นการทำทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนากัมมัฏฐาน
ทำแล้วจิตใจเบิกบานสงบเยือกเย็น
เห็นประโยชน์อย่างชัดเจนด้วยตนเองแล้ว
มันขยันทำความเพียรอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่ตนเห็นด้วยตนเองนั้น ไม่ว่าอะไรทั้งหมด
มันเป็นของสบาย ไม่ต้องมีใครบังคับ
แต่ถ้าไม่ได้เห็นด้วยตนเองแล้ว บังคับมันยากเหลือเกิน
คิดดูตามภาษาคำพูดก็แล้วกัน “บัง” และ “คับ”
นี่มันบังไว้ไม่ให้เห็น มันคับจริงๆ
มันไม่ใช่การตักเตือนว่ากล่าวแนะนำเสียแล้ว
มันเป็นเรื่องบีบคั้นหัวใจของผู้ที่ไม่เห็นด้วย
ให้กลับเป็นทุกข์จากการบังคับ
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความสุขจะมาจากไหน
แต่การเห็นด้วยตนเองไม่ต้องบังคับ
ทำด้วยความเต็มใจ แล้วจิตใจจะเบิกบาน

การรักษาศีลก็เหมือนกัน เมื่อเห็นด้วยปัญญาของตน
ว่าศีลเป็นของดีมีค่า ระลึกถึงศีลแล้ว จิตใจจะเบิกบาน
เปรียบเหมือนเวลาที่หิว จะนึกถึงอาหารที่เคยรับประทานเคยชอบ
พอนึกแล้วจิตใจมันเบิกบาน นำลายมันฟูออกมาแล้ว
รสชาติมันเอร็ดอร่อยขึ้นมาแล้ว

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พวกเรา
เข้าใจหลักในการสร้างคุณงามความดี ให้มันเจริญให้มีขึ้นมา
ถ้าสิ่งที่ตนต้องการและปรารถนามากที่สุด คือ ความดี
และผล คือ ความสุข แล้วก็ต้องมีอนุรักขนาปธาน
การรักษาคุณงามความดีที่เกิดขึ้นแล้วในตนของตน
เพียรให้เกิดมีอยู่เสมอ

  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด dhammajak

84
                                                          ลิขิตฟ้า หรือจะสู้มานะตน....

เจาะใจดีลเลอร์ขายรถขั้นเทพ จบ ป.๕ ดัน "โตโยต้าดีเยี่ยม" ใหญ่สุดในเอเชีย!

ท่ามกลางวิกฤตของแบรนด์โตโยต้าทั่วโลกที่ต้องเรียกคืนรถยนต์หลายรุ่นนับล้านคันมาแก้ไขข้อบกพร่อง แต่ที่ประเทศไทย โตโยต้า ยังครองยอดขายอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะ โตโยต้าดีเยี่ยม อุบลราชธานี ของเสี่ย สมชาย เหล่าสายเชื้อ เจ้าของโชว์รูมใหญ่ที่สุดในเอเชีย เบื้องหลังความสำเร็จ หนุ่มเมืองจันท์ แห่ง ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ (คอลัมภ์นิสต์) จะเล่าให้ฟัง

"หนุ่มเมืองจันท์" เล่าว่า ผมเพิ่งกลับจากงาน "MICT สร้างคน สร้างชาติ" ที่จังหวัดอุบลราชธานี ผมคุยกับ "สมชาย เหล่าสายเชื้อ" เจ้าของ "โตโยต้าดีเยี่ยม" ดีลเลอร์ขายรถโตโยต้ารายใหญ่ของอุบลราชธานี

บอกตรงๆ ว่าไม่รู้จัก ตอนอ่านข้อมูลของ "สมชาย" ที่ทีมงานส่งมาให้ก็เริ่มสนใจมากขึ้น แต่พอได้เจอตัวจริง ยิ่งคุยยิ่งตะลึง...ไปอยู่ที่ไหนมา เป็นความรู้สึกเหมือนตอนที่ผมคุยกับ "หมวย" ศิริญา เทพเจริญ ของ "ณุศาศิริ"

"โตโยต้าดีเยี่ยม" เป็นโชว์รูมของโตโยต้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๒๒ไร่เศษ ใช้เงินลงทุนกว่า ๘๐๐ล้านบาท และกำลังขยายไปอีก ๖๐ ไร่

แต่ความยิ่งใหญ่ของ "โชว์รูม" นั้นไม่เท่ากับชีวิตของ "สมชาย" ผมชอบประโยคหนึ่งที่เขาบอกกับคณะกรรมการของ "โตโยต้า" ในช่วงการสัมภาษณ์ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสินว่าจะอนุมัติให้ "สมชาย" เป็น "ดีลเลอร์" ขายรถโตโยต้าหรือไม่

"ผมไม่มีอะไรที่เหนือกว่าคนอื่น ผมมีเพียงแค่ใจที่เหนือคน"

"ขนาดหัวใจ" ของ "สมชาย" คนนี้ ไม่ธรรมดาจริงๆ ครับ

"สมชาย" จบแค่ ป.๕

ตอนเรียนนั้น เขามีคุณสมบัติพิเศษเหนือกว่าเด็กนักเรียนคนอื่นตรงที่เรียนชั้นละ ๒ ปี จนถึง ป.๕ ครูประจำชั้นทนไม่ได้ ต้องแอบเอาข้อสอบมาให้ที่บ้านกลัวว่าเขาจะสอบตก "สมชาย" ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน ไปทำงานตามร้านขายของชำ ขายหนังสือพิมพ์ ฯลฯ ทำทุกอย่างที่ได้เงิน เขาเป็นคนสู้งาน ทำงานที่ไหนเถ้าแก่ก็รัก

วันหนึ่ง เขาไปทำงานที่บริษัทเสริมสุข ส่ง "เป๊ปซี่" ตามร้านต่างๆ ในจังหวัดอุบลฯ ทำงานไม่กี่เดือน เขาก็ได้เป็น "พนักงานขายดีเด่น" ที่ทำยอดขายสูงสุดในประเทศไทย ๑,๒๐๐ กว่าลังต่อวัน จำนวนลังที่ขายได้ต่อวันมากกว่าปริมาณที่รถจะบรรทุกได้ครับ เขาขาย ๒ รอบ เคล็ดลับการขายของ "สมชาย" ก็คือ ออกรถเช้ากว่าคนอื่น เขาออกรถตั้งแต่ตีห้า ๑๑ โมงเขาก็ขายหมด

กลับมาบรรทุก "เป๊ปซี่" ใหม่อีกเที่ยวหนึ่ง แล้วตระเวนไปตามร้านอื่นๆ ต่อ "ผมไม่ได้ขายแค่ร้านริมถนน แต่ในซอย หรือตามบ้าน ผมก็ส่ง"

๓ ปีผ่านไป เขาก็ยังรักษาสถิตินักขายดีเด่นเอาไว้ได้ ซึ่งตามหลักเขาควรจะได้รับการโปรโมตในตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่ "สมชาย" ไม่ได้ ด้วยเหตุผลว่าตำแหน่งผู้จัดการนั้นต้องมีอายุ ๓๖ ปีขึ้นไป "สมชาย" ตัดสินใจลาออก และเดินตามความฝันในวัยเด็กของเขา เขาชอบ "รถยนต์" "สมชาย" เดินไปสมัครงานที่ "โตโยต้าอุบลราชธานี" ดีลเลอร์ขายรถโตโยต้าเก่าแก่ในเมืองอุบลฯ คำถามแรกที่เจอก็คือ "จบอะไรมา" พอบอกว่า ป.๕ เถ้าแก่ก็ปฏิเสธ "ตอนนี้เขารับแต่ ปริญญาตรี หรือ ปวส." "สมชาย" รู้ว่าคุณสมบัติสู้ไม่ได้ เขาจึงยื่นข้อเสนอใหม่ เป็นข้อเสนอแบบ "ก๊อดฟาเธอร์" " นี่คือ ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้" "ก๊อดฟาเธอร์" นั้นใช้บารมีหรือความเหี้ยมโหดทำให้คนฟังต้องสยบยอม แต่ข้อเสนอของ "สมชาย" เป็นข้อเสนอที่คนฟังไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไร

ข้อเสนอของเขามี ๓ข้อครับ
๑.ทำงานอะไรก็ได้
๒.เงินเดือนเท่าไรก็ได้
และ ๓.ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด


"คุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้ามีคนเสนอเงื่อนไขแบบนี้" คุณสมชายถามผมบนเวที ...ทำงานอะไรก็ได้ เงินเดือนเท่าไรก็ได้ และทำงานไม่มีวันหยุด "แบบนี้ต้องมาปล้นแน่ๆ เลย" ผมตอบ ...มุข ครับ มุข

"เถ้าแก่" คนไหนเจอคนมาสมัครงานแล้วเสนอเงื่อนไขแบบนี้ อย่างน้อยเขาก็ต้องรู้สึกว่าไอ้เด็กคนนี้มันต้องขยัน และตั้งใจจริงอย่างแน่นอน นั่นคือ เหตุผลที่ "เถ้าแก่" ตัดสินใจรับ "สมชาย" เข้าทำงาน

เริ่มต้นงานแรกด้วยการปัดกวาดรถและทำทุกอย่างที่ "เถ้าแก่" ใช้ จนวันหนึ่ง "เถ้าแก่" สั่งให้เขาไปส่งรถให้ลูกค้าที่ยโสธร ให้เงินไป ๓๐บาท ๒ ชั่วโมงหลังจากนั้นเขากลับมาพร้อมกับตังค์ทอน ๑๓ บาท ขับรถไปส่ง และนั่งรถโดยสารกลับมา ไม่อู้ และซื่อสัตย์ เมื่อโชว์รูมที่ยโสธรมีปัญหา "เถ้าแก่" จึงส่ง "สมชาย" ไปดูแล ๓ เดือนแรกเขาขายไม่ได้เลยสักคันเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่ "สมชาย" ค้นพบก็คือ คนที่มีรถเก่า ส่วนใหญ่อยากซื้อรถคันใหม่ แต่จะซื้อได้ก็ต้องขายรถเก่าให้ได้ก่อน "สมชาย" จึงใช้กลยุทธ์หาพ่อค้ารถมือสองมารับซื้อรถพอขายรถเก่าได้ เขาก็จะมาซื้อรถใหม่กับ "สมชาย" ยอดขายรถโตโยต้าที่ยโสธรพุ่งขึ้นเรื่อยๆ สิ้นปี "เถ้าแก่" จัดงานปีใหม่ และบอกกับพนักงานทุกคนว่าสาขาอุบลฯ นั้นอยู่รอดได้เพราะสาขายโสธร "หนู" ช่วย "ราชสีห์" "สมชาย" ทำงานที่ "โตโยต้าอุบลฯ" ๑๕ ปี

เมื่อ "เถ้าแก่" เสียชีวิต เขาก็ตัดสินใจลาออก เลิกเป็น "ลูกจ้าง" และเริ่มต้นชีวิต "เถ้าแก่" ตั้งแต่วันนั้น เชื่อไหมครับว่าวันเปิดโชว์รูม "โตโยต้าดีเยี่ยม" เขาส่งจดหมายไปถึงผู้มีพระคุณ ๕คน

ขอเชิญมาร่วมงาน พร้อมกับ "ของขวัญ" ที่แทน "คำขอบคุณ"
เชิญเลือกรถโตโยต้า ๑ คัน รุ่นไหนก็ได้ เลือกได้เลย

"น้ำใจ" ที่ยิ่งใหญ่ของ "สมชาย" กลับได้รับ "คำตอบ" ที่งดงามยิ่งกว่า งดงามอย่างไร ฉบับหน้าจะเล่าให้ฟังครับ

สัมภาษณ์พิเศษ
กอง บ.ก.เส้นทางเศรษฐี

สมชาย เหล่าสายเชื้อ จบแค่ ป.๕ กุมอาณาจักรพันล้าน ดีลเลอร์ "โตโยต้า" ใหญ่สุดในเอเชีย

"ผมไม่ได้ขายรถถูกกว่าตัวแทนจำหน่ายอื่น แต่ลูกค้าประทับใจในบริการ พอมาจอดรถปั๊บ เจ้าหน้าที่จะประกาศว่าขณะนี้มีลูกค้าท่านนั้นท่านนี้มาออกรถใหม่ ขอให้พนักงานทุกคนที่ว่างเว้นจากการทำงานมาร่วมพิธีส่งมอบรถ ซึ่งมีพนักงานมาร่วมส่งเป็นร้อยครับ"

สมชาย เหล่าสายเชื้อ เป็นเจ้าของโชว์รูมโตโยต้าดีเยี่ยม จังหวัดอุบลราชธานี นักธุรกิจภูธร ที่มีความรู้แค่ชั้น ป.๕ รับงานทุกอย่างที่ขวางหน้าตั้งแต่เด็กล้างรถ คนขับรถน้ำอัดลม จนขยับขึ้นมาเป็นเซลส์แมน และมีความฉลาดเฉลียวชนิดหาตัวจับยากมาตั้งแต่เด็ก แม้ฐานะยากจนแต่ดิ้นรนสู้ชีวิตจนกลายเป็นเจ้าของโชว์รูมโตโยต้าใหญ่ที่สุดในเอเชีย คือตัวอย่างของความน่าสนใจ ที่อยากเชิญชวนห้ติดตาม...นับจากนี้

เซลส์ดีเด่น
เดินหน้าล่าฝัน

"ผมเป็นคนเรียนเก่งมาก คือเรียนชั้นละ ๒ ปี" คุณสมชาย เปิดประเด็นด้วยการยิงมุขเรียกเสียงหัวเราะ ก่อนเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาแบบเปิดเผยว่า ตัวเขาความจำไม่ค่อยดี ลักษณะเหมือนคนความจำสั้น เรียนได้ไม่เกิน ๑๐นาที เริ่มรู้สึกเบลอคล้ายมีอาการผิดปกติทางสมอง เวลาสอบไล่ทีไร มักได้ลำดับบ๊วยอยู่เสมอ หรืออาจได้รองบ๊วยบ้าง ถ้าเทอมนั้นมีคนขาดสอบ แต่ด้วยความที่ไม่เป็นเด็กเกเร คุณครูจึงเมตตานำข้อสอบมาให้ทำถึงที่บ้าน ไม่อย่างนั้นคงไม่จบ ป.๕
เมื่อค้นพบว่าการเอาดีทางเรียนหนังสือคงลำบาก จึงตัดสินใจยุติการเรียนในระบบแล้วออกมาหางานทำ...ทำงานสุจริตทุกอย่างที่ได้เงิน

"ขาย มาแล้วแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ หัวอาหารสัตว์ ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ย ปลาร้า ยาเส้น หนังสือพิมพ์ กระทั่งน้ำอัดลม" คุณสมชาย เล่าด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ก่อนให้ข้อมูลน่าสนใจว่า ช่วงที่เขาทำงานอยู่กับ "เป๊ปซี่" ส่งสินค้าให้ตามร้านค้าในตัวจังหวัดอุบลราชธานีนั้น เคยได้รับรางวัลเป็นพนักงานขายดีเด่น ทำยอดขายได้มากที่สุดถึง ๑,๒๒๒ ลัง ต่อวัน

คู่สนทนาแทบตกเก้าอี้ เมื่อได้ยินสถิติของยอดขายดังกล่าว จึงถามไถ่ถึงเทคนิคส่วนตัว คุณสมชาย จึงบรรยายให้เห็นภาพที่ดูเหมือนง่ายว่า "อาศัย ตื่นเช้าและกลับดึก การออกจากบ้านแต่เช้าทำให้มีโอกาสไปไกลกว่า และสามารถเพิ่มรอบการทำงานได้มากกว่าคนอื่น และต้องไม่มองว่าร้านนี้ซื้อเท่าไหร่ ผมขายให้หมด ๑๐ ลังก็ขาย ครึ่งลังก็ขาย เวลาผ่านไปร้านไหน ต้องเข้าไปสวัสดีครับ เป๊ปซี่มาเยี่ยมครับ ทำอย่างนี้ทุกร้านต้องขายได้ทุกร้าน คนอื่นเขาอาจไปเยี่ยม ๕๐-๖๐ ราย ต่อวัน แต่ผมต้องเยี่ยมให้ได้ ๓๐๐-๔๐๐ ราย ต่อวัน"

คุณสมชายเป็นพนักงานขายดีเด่น ติดต่อกันนาน ๓ ปี จึงตัดสินใจลาออก เพื่อ "ล่าฝัน" ครั้งยังเยาว์

"เป็นความฝันตั้งแต่เป็นเด็กว่าอยากเป็นเจ้าของบริษัทรถยนต์ เคยไปเกาะกระจกโชว์รูม แล้วคิดว่า จะทำอย่างไรถึงจะได้เป็น จนเข้ากรุงเทพฯ เห็นแท็กซี่ยี่ห้อโตโยต้าเต็มไปหมด เลยวิเคราะห์เองว่ารถแท็กซี่ต้องวิ่งวันละ ๒๔ ชั่วโมง รถจึงต้องทนทาน ถ้าได้เป็นตัวแทนของโตโยต้า คงทำงานไม่ยาก เพราะผลิตภัณฑ์เขาดี" เจ้าของเรื่องราว เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มธุรกิจในฝัน และก่อนก้าวขึ้นเป็นตัวแทนจำหน่าย คุณสมชายเคยทำงานเป็นเซลส์ขายรถยนต์โตโยต้าประจำดีลเลอร์แห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานีมาก่อน แต่กว่าจะได้เข้ามาจับงานขาย ด้วยความที่จบเพียงชั้น ป.๕เขาจึงต้องเริ่มต้นด้วยการทำหน้าที่ปัดกวาดและทำงานทุกอย่างตามแต่เถ้าแก่บัญชาเสียก่อน ครั้นเมื่อวันเวลาผ่านไปได้ราว ๑๕ ปี เขาจึงมีโอกาสผงาดขึ้นเป็น "เถ้าแก่" เองบ้าง

"พอ ถึงวันที่ทำได้อย่างฝัน เลยใส่ทุกอย่างเข้าไปเต็มที่ โชว์รูมของผม มีร้านอาหาร ห้องรับรอง ร้านเสริมสวย ร้านกาแฟ คาราโอเกะ เรียกว่าครบวงจร แต่เดิมมีพื้นที่ ๒๒ไร่เศษ ลงทุนไป ๘๐๐ล้านบาท และตอนนี้กำลังขยายไปอีก ๖๐ ไร่" คุณสมชาย เล่าน้ำเสียงไม่โอ้อวด แต่ท้าทายต่อว่า

"ถ้าใครเจอโชว์รูมหรือศูนย์บริการที่ไหนดีกว่าของผม ผมให้แสนนึงเลย"

ดีเยี่ยม ไม่เป็นรอง
ที่หนึ่ง...เท่านั้น

ความมั่นใจว่าอาณาจักรของเขา "ดีเยี่ยม" ไม่เป็นรองใครนั้น คุณสมชายมีข้อมูลมายืนยัน โดยแจงให้ฟังดังตัวอย่าง "ลูกค้า ที่มาซื้อรถที่ดีเยี่ยม จะรู้สึกเหมือนไปซื้อรถที่ห้างสยาม พารากอน เพราะผมสร้างโชว์รูม ที่หรูหรา สง่างาม แค่เดินผ่านห้องน้ำ ฝาชักโครกยกขึ้นอัตโนมัติ น้ำไหลใส่มือไม่ต้องบิด ทุกอย่างอัตโนมัติหมด"

"โตโยต้าดีเยี่ยมไม่ได้ขายรถถูกกว่าตัวแทนจำหน่ายอื่น แต่ลูกค้าประทับใจในบริการ พอมาจอดรถปั๊บ เจ้าหน้าที่จะประกาศว่าขณะนี้มีลูกค้าท่านนั้นท่านนี้มาออกรถใหม่ ขอให้พนักงานทุกคนที่ว่างเว้นจากการทำงานมาร่วมพิธีส่งมอบรถ ซึ่งมีพนักงานมาร่วมส่งเป็นร้อยครับ"

คุณสมชาย เล่าจบประโยคนี้ มีปฏิกิริยาตื่นเต้นจากคนฟังในวันนั้นอย่างเห็นได้ชัด ก่อนสำทับถึงความดีเยี่ยมในแบบของเขาต่อว่า

"ลูกค้าที่มาซื้อรถ ต้องรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของโชว์รูมมูลค่านับพันล้านบาทที่เปิด ๓๖๕วัน จะมาเมื่อไหร่ก็ได้ มีคาราโอเกะ ร้านเสริมสวย ไว้คอยให้บริการฟรีหมด เขาต้องรู้สึกว่าเสียเงินซื้อรถแล้วคุ้มค่า แล้วเวลาลูกค้าเข้ามาหาโชว์รูม ไม่ต้องเดินนะครับ มีรถกอล์ฟพาเที่ยวชมแต่ละจุด เรียกว่าลูกค้าทุกคนเป็นวีไอพีเหมือนกันหมด"

สนทนามาถึงตรงนี้มีคำถามทำไมต้องใช้คำว่า "ดีเยี่ยม" เจ้าของกิจการมูลค่าพันล้านบาท จึงอธิบายด้วยเสียงดังฟังชัดว่า เป็นความตั้งใจจริงของเขาที่ต้องการอยู่ใน "อันดับหนึ่ง" เท่านั้น ทั้งๆ ที่สมัยเรียนหนังสือเขาครองอันดับบ๊วยมาตลอด

"ตอนเปิดบริษัท มีการมอบนโยบาย ผมบอกกับลูกน้องว่า ต้องการที่หนึ่งอย่างเดียว ที่สองก็ไม่เอา ปรากฏว่าทุกคนในบริษัทออกอาการมึนงง และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะในประเทศไทยมีตัวแทนจำหน่ายโตโยต้าถึง ๒๐๐กว่าแห่ง"

"แต่ผมก็ฝ่าฟันจากอันดับ ๘๐กว่ามาเป็น ๕๐กว่า เดี๋ยวนี้ขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งแล้ว หมายความว่าความพึงพอใจจากลูกค้าของผมมาเป็นอันดับหนึ่งครับ" คุณสมชาย เล่าก่อนยิ้มปลื้ม ถามไถ่ถึงหลักในการบริหารคน คุณสมชายบอกเขามักพูดคุยให้คนที่เข้ามาสมัครเข้าทำงานเข้าใจว่า ชีวิตของทุกคนมีคุณค่าเหมือนกัน เมื่อเข้ามาแล้วทุกคนจะเป็นทั้งลูก ทั้งน้อง ซึ่งได้รับการดูแลอย่างดี แต่ทุกคนต้องตั้งใจทำงานด้วย

"ผมบอกลูกน้องเสมอว่าคนเราไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่สามารถเลือกเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่มีความมุ่งมั่น อะไรที่คุณกลัวอย่าไปกลัว ให้เดินเข้าหามันเลย"

"มีช่างคนหนึ่งมาปรึกษาผม บอกทำงานอยู่ ๓ปี อยากเป็นเซลส์แต่ทำไม่ได้ ผมบอกยังไม่ลอง แล้วรู้ได้ยังไงว่าทำไม่ได้ ปรากฏเดือนแรกเขาขายได้ ๒๒ คัน เดือนที่สองได้อีก เดือนที่สามก็ได้อีก เทคนิคที่ผมบอกเขาไปคือคุณต้องฉกฉวยโอกาส มาถึงแต่เช้า เที่ยงไม่กิน เย็นเพื่อนเลิกงานแล้ว ก็ยังไม่กลับรอจนค่ำมืด สุดท้ายช่างคนนั้นกลายเป็นท็อปเซลส์ไปเลย" คุณสมชายเล่าให้ฟัง

ฉกฉวยทุกโอกาส
เชื่อมั่น ทำได้
บุคลิกโดดเด่นของนักธุรกิจพันล้านท่านนี้ที่มีการกล่าวขานกันมากในหมู่ผู้ใกล้ชิด นั่นคือการใส่ใจในรายละเอียด โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับ "คนรอบตัว" ในทุกระดับ

ยกตัวอย่างเมื่อครั้งการก่อสร้างโชว์รูมใหญ่ที่สุดในเอเชียใกล้เสร็จ เขาถือโอกาสเชิญช่างอิฐ-หิน-ปูน-ทราย รวมถึงผู้รับเหมาทุกคนมารับเลี้ยงโต๊ะจีน เพื่อแทนคำขอบคุณที่ทุกคนมาช่วยสร้างให้ฝันของเขาเป็นจริง

"ผมบอกกับช่างทุกคนว่า หากไม่มีพวกท่านโชว์รูมของผมคงไม่มีทางสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง ก่อนจะออกใบประกาศให้พวกเขาเก็บไว้เป็นที่ระลึก หากวันไหนมีโอกาสผ่านไปมา สามารถเข้ามาเยี่ยมเยียนใช้บริการได้ทุกเวลา"

"ปรากฏช่างคนหนึ่งซาบซึ้งใจ อยากอุดหนุนผม จึงขอจองรถ 1 คัน กระทั่งจบงานเลี้ยง ผมขายรถให้กับผู้รับเหมาได้ทั้งหมด 55 คัน"

คุณสมชาย เล่าเหมือนไม่ตื่นเต้น แต่ทำเอาคู่สนทนาตกใจแทบจะพลัดตกจากเก้าอี้เป็นครั้งที่สอง ความละเอียดอ่อนของคุณสมชาย ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะช่วงเวลาที่เขากำลังมีความสุขกับอาณาจักรตรงหน้า แต่เขาก็ไม่เคยละเลย ระลึกถึง "ผู้มีพระคุณ" ซึ่งมีส่วนผลักดันให้เขาก้าวมาถึงฝั่งฝันดังเช่นทุกวันนี้

"ตอนจะเปิดโชว์รูมผมส่งจดหมายไปยังผู้มีพระคุณหลายๆ ท่าน ขอให้สละเวลามาเลือกรถไปใช้ตามชอบ โดยผมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง แต่ทุกท่านไม่ขอรับ ให้เหตุผลกลับมาว่า ให้ผมเก็บเอาไว้ทำทุน"

"ช่วงปีใหม่ผมจึงนำเงินสด ๒ล้านบาท ไปมอบให้กับพวกท่านอีก คราวนี้ทุกท่านรับไว้ แต่พอถึงเทศกาลตรุษจีน พวกท่านก็นำเงินก้อนนั้นกลับมามอบให้ผมเป็นแต๊ะเอีย" คุณสมชายเล่าย้อน ถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งต้องฝ่าฟันมรสุม "ต้มยำกุ้ง" เมื่อครั้งปี ๒๕๔๐ คุณสมชาย ย้อนความทรงจำให้ฟังว่า ช่วงเวลานั้นสถาบันการเงิน ๖๕แห่งต้องปิดตัวลง นักธุรกิจแทบทุกวงการ ล้วนตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ไม่เว้นแม้แต่ตัวเขา แต่หากมัวพร่ำบ่นว่าแย่ คงหมดกำลังใจไปนานแล้ว

"ผมไม่เคยท้อ เพราะท้อแล้วไม่มีประโยชน์ ท้อแล้วมันทำให้หมดกำลังใจ เราต้องรีบอาบน้ำ แล้วเติมกำลังใจให้ตัวเองใหม่ เพราะคนเราขาดกำลังใจไม่ได้ ปัญหาคือความสำเร็จปลอมตัวมาทดสอบเรา เหมือนข้อสอบ" คุณสมชาย บอกจริงจัง ก่อนเผยกลยุทธ์เมื่อครั้งนั้น

"ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี หลายคนคิดว่าไม่มีโอกาสเพราะตลาดเต็ม แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น กลับกันคือ ต้องเร่งขยายงาน เพราะคู่แข่งก็คือคู่แข่งอยู่ดี จึงต้องแตกต่างทำงานให้มากกว่าคนอื่น เมื่อมีคนตกงานมาสมัครงานกันมาก เลยสามารถคัดคนได้" คุณสมชาย เล่า ก่อนฝากมุมมองไว้ด้วยว่า คนที่ประสบความสำเร็จมักฉกฉวยโอกาสจากโชคร้าย แต่คนที่ประสบความสำเร็จมากกว่าจะฉกฉวยในทุกโอกาส

แม้จะจบการศึกษาในระบบเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ หากแต่ว่ามาวันนี้ กลับได้เป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่โตไม่น้อยหน้าใคร คงมีใครหลายคนตั้งคำถามถึงเคล็ดลับในการทำงาน ซึ่งคุณสมชายมักแนะนำให้คนเหล่านั้นจุด "ไม้ขีดไฟ" ก้านแรกให้กับชีวิตของตัวเองเสียก่อน และต้องมีความเชื่อมั่นว่าหากคนอื่นทำได้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คนอย่างเราทำไม่ได้ จากนั้นจึงลงมือปฏิบัติทันที

"ผมมักบอกทุกคนว่าไม่มีใครชอบให้คนอื่นมาดูถูก แต่เราอย่าดูถูกตัวเอง ต้องบอกกับตัวเองว่าเราเป็นคนมีศักยภาพ พ่อแม่ยังรอความหวังจากเรา ญาติพี่น้องยังรอความหวังจากเรา"

"ถ้าเราไม่จุดไม้ขีดไฟชีวิตตอนนี้ หรือไม่ปรับปรุงตัวให้มีความแตกต่างจากคนอื่น ปีหนึ่งๆ มีคนจบปริญญาตรี ๖๐๐,๐๐๐ คน ที่พร้อมจะมาเป็นคู่แข่ง ฉะนั้น คุณต้องถีบตัวเอง ไม่มีใครเขาสร้างบริษัทมูลค่าร้อยล้านพันล้านบาท เพื่อรอให้คุณทำงานให้เรื่อยๆ เฉื่อยๆ หรอก"

"คนที่รู้จักใช้เวลา คือคนที่รู้จักใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะเวลามันผ่านแล้วผ่านเลย ย้อนกลับมาไม่ได้ กลับมาเถิดวันวานมีแต่เสียงเพลง ชีวิตจริงมันไม่มีหรอกครับ" คุณสมชาย ฝากแง่คิดทิ้งท้ายอย่างนั้น

   ขอบคุณที่มา : นิตยสารเส้นทางเศรษฐี วันที่ ๑๕ มี.ค. ๕๓

85
ธรรมะ / ทางแห่งบุญที่ถูกต้อง
« เมื่อ: 04 ต.ค. 2553, 08:49:26 »
ทางแห่งบุญที่ถูกต้อง
รวบรวม-เรียบเรียงโดย พ.ต.อ.ประยูร ดิษฐานพงศ์


 
  บางคนเข้าใจว่าการทำบุญนั้น จะต้องมีเงินสำหรับการทำบุญเท่านั้นจึงจะเรียกว่าบุญ คนที่ไม่มีเงินหรือมีเงินน้อยก็หมดโอกาสที่จะทำบุญสร้างกุศลได้ หรือหมดโอกาสทำบุญอย่างคนอื่นที่มีเงิน ซึ่งการทำบุญโดยใช้เงินทำบุญนั้นเป็นหนึ่งในวิธีการทำบุญสิบอย่างเท่านั้น การทำบุญด้วยเงินเป็นการทำให้ผู้ทำรู้จักเสียสละทรัพย์ของตนเพื่อประโยชน์ แก่ผู้อื่น ละความตระหนี่ถี่เหนียว ละความเห็นแก่ตัว และละความโลภลงได้

บางคนหลงภูมิใจเข้าใจว่า ทำบุญทำทานด้วยเงินที่ตนมีมากมายในชีวิตนี้ และได้ทุ่มเททำบุญทำทานด้วยเงินมากมายขนาดนี้ จึงถือว่าเป็นบุญที่มากมายมหาศาล หาใครจะมาทำบุญมากเท่าตนมิได้ โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยมีเงินทำบุญจะมาแข่งวาสนาบารมีในเรื่องการทำบุญไม่ได้ แต่ตนไม่ได้สร้างบุญอย่างอื่นเลย เช่น รักษาศีล, ฟังธรรม, ทำสมาธิ เป็นต้น จึงเป็นความเข้าใจผิดสำหรับผู้ที่นิยมทำบุญสร้างกุศลด้วยการใช้เงิน และคิดว่าเงินนั้นซื้อบุญได้ เงินนั้นแลกเปลี่ยนเป็นบุญได้

นอกจากการทำบุญที่ต้องใช้เงินแล้ว ยังมีการทำบุญสร้างกุศลโดยไม่ต้องใช้เงินอีก ๙ วิธี คนจนคนมีเงินน้อยก็มีสิทธิ์มีโอกาสทำบุญทำกุศลมากมายหลายอย่างที่ไม่ต้องใช้เงินอย่างคนรวยเขาทำกัน บุญอีก ๙ อย่าง (คือบุญกริยาวัตถุ ๑๐ ข้อ ๒ ถึง ข้อ ๑๐) นั้นสูงมากกว่าบุญที่ทำทานด้วยเงินเพียงอย่างเดียว

บุญกริยาวัตถุ ๑๐

๑. ทานมัย คือ การทำบุญด้วยการให้ทาน

๒. ศีลมัย คือ การทำบุญด้วยการรักษาศีล สำรวมกาย วาจา ให้เรียบร้อย

๓. ภาวนามัย คือ การทำบุญด้วยการอบรมจิตใจ เช่น สวดมนต์ ทำสมาธิ

๔. อปจายนมัย คือ การอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม ผู้มีพระคุณ เป็นต้น

๕. เวยยาวัจมัย คือ การช่วยเหลือผู้อื่นในงานที่ชอบ

๖. ปัตตานุโมทนามัย คือ การอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำไว้ดีแล้ว คือเห็นดีเห็นชอบด้วย

๗. ธัมมัสสวนมัย คือ การฟังธรรม การอ่านหนังสือธรรมะ

๘. ธัมมเทสนามัย คือ การแสดงธรรม

๙. ปัตติทานมัย คือ การแผ่ส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้อื่น

๑๐. ทิฏฐุชุกรรม คือ การทำความเห็น ปรับความเห็นของตนให้ถูกต้องตามครรลองครองธรรม เช่นการโยนิโสมนสิการ การพิจารณาธรรม

ในเรื่องของทาน ศีล ภาวนา ที่คนเราปฏิบัติกันอยู่นั้น ทานได้แก่การให้คือเครื่องละงับความโลภ รักษาศีลเป็นเครื่องระงับความโกรธ ภาวนาเป็นเครื่องระงับความหลง

การปฏิบัติเพียงให้ทาน รักษาศีล เพียง ๒ อย่างนี้เป็นบุญที่มีกำลังน้อย ให้สำเร็จเพียงมรรคผลเบื้องต่ำเท่านั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เท่านั้น ถ้าเจริญภาวนาไปด้วยก็จะมีกำลังมาก ให้สำเร็จถึงมรรคผลคือพระอรหันตผล แต่ถ้าทำทาน รักษาศีล ทำภาวนา ทำด้วยตัณหาก็เป็นบุญที่มีกำลังน้อย ถ้าไม่ทำด้วยตัณหาก็มีกำลังมากให้สำเร็จมรรคผลได้

ตัณหามี ๓ อย่างด้วยกัน คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

ยกตัวอย่างการทำบุญที่แฝงไว้ด้วยตัณหาทั้งสามอย่าง

กามตัณหา ได้แก่ ความอยาก อยากได้นั่นอยากได้นี่ เช่นทำบุญอยากได้วิมานสวยในสวรรค์ ทำบุญขอให้เกิดชาติใหม่เป็นคนรวย, เป็นคนหล่อ คนสวย เป็นต้น

ภวตัณหา ได้แก่ ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น ทำบุญหวังไว้ว่าถ้าตายไปจะได้เกิดเป็นเทวดา หรือนั่งสมาธิแล้วหวังไว้ว่าถ้าตายไปจะได้เกิดเป็นพรหม เป็นใหญ่บนสวรรค์ เป็นต้น

วิภวตัณหา ได้แก่ ความอยากเหมือนกัน เป็นความอยากที่ไม่อยากเป็นนั่นไม่อยากเป็นนี่ เช่น ทำบุญไว้เพื่อชาติใหม่ไม่อยากเกิดมาจน เป็นต้น

บุคคลที่ทำทาน รักษาศีล ภาวนา ที่มีความปรารถนาในตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือทำบุญโดยหวังผลตอบแทนไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด แต่กุศลนั้นมีน้อยเรียกว่า วัฏฏคามี เป็นการทำบุญที่ทำให้ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ไม่พ้นจากทุกข์ไปได้ ส่วนบุคคลที่ทำทาน รักษาศีล ภาวนา โดยไม่มีตัณหามาเจือปน ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เรียกว่า วิวัฏฏคามี เป็นกุศลที่ทำแล้วพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องมาเกิด แก่ เจ็บ ตายอีก

ถามว่า : ทำบุญแล้วไม่อาศัยตัณหาหรือผลตอบแทนแล้วอาศัยอะไร ?

ตอบว่า : ให้อาศัยปัญญาพิจารณาถึงกองทุกข์ คือ ชาติความเกิดมาเป็นขันธ์ ๕ หรือรูปกับนาม ที่มีความแก่ชรา เจ็บไข้ได้ป่วย มีความแตกดับทำลายไป มีความโศกเศร้าเสียใจด้วยความพลัดพรากจากสังขาร และสิ่งที่เป็นที่รักที่ชอบใจ ความทุกข์ทั้งหลายจะเกิดจะมีต้องอาศัยตัณหา ความดิ้นรนอยากเกิดอยากมีต่อไปในภพหน้า

ตัณหาทั้งหลายพาสัตว์เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ต่อไปอีก ไม่ให้สัตว์ทั้งหลายถึงซึ่งนิพพานออกจากภพชาติได้ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ให้เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ต่อไปด้วยตัณหานี้เอง

เมื่ออาศัยปัญญาพิจารณาเห็นโทษของตัณหาที่พาเวียนวนตายเกิดนี้แล้ว ก็สิ้นความยินดีที่จะอาศัยตัณหาความอยากในกามคุณ คือ รูป รส กลิ่น เสียง เครื่องสัมผัส ให้เกิดความกำหนัดรักใคร่ในโลกีย์นี้อีก

  ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด  dhammajak

86
ธรรมะ / พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
« เมื่อ: 04 ต.ค. 2553, 03:20:49 »
                                                                   พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
   



ทุกชีวิตย่อมมีอุปสรรค
คอยผลาญผลักกดดันให้หวั่นไหว
หากอ่อนแอจำนนทุกหนไป
คงมิมีชีวิตใดในโลกนี้

ทุกขอริยสัจจ์สะบัดโบก
ให้สรรพสิ่งบนโลกโยกวิถี
ล้านปัญหาบ่าท่วมร่วมโจมตี
หาวิธีเหตุผลแก้กลนา

ทุกขสมุทัยอริยสัจจ์
เหตุทุกข์ซัดจากสิ่งใดให้ค้นหา
เมื่อค้นเห็นเป็นไปหายสงกา
รู้ปัญหาอุปสรรคคอยชักใย

ทุกขนิโรธอริยสัจจ์
ดับสารพัดปัญหาทั้งน้อยใหญ่
อุปสรรคทุกขังเมื่อพังไป
ย่อมได้ชัยในชีวิตอิสรา

ด้วยวิธีพากเพียรไปตามทาง
มัชฌิมาสายกลางทั้งแปดค่า
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา-
อริยสัจจาเป็นสัจนัย

ใช้ความเพียรเหมือนครามหาชนก
เรืออัปปางคว้างตกห้วงน้ำใหญ่
แม้ไม่เห็นแผ่นดินอยู่ฝั่งใด
ก็ภูมิใจได้สู้กอบกู้ตน

ไม่งอมืองอเท้าคอยร้าวรวด
ให้เจ็บปวดจ่อมจมถมเหตุผล
พลิกโอกาสพลาดพลั้งตั้งกมล
เพื่อสู้ทนฟันฝ่าประดาภัย

ยามวิกฤติควรคิดหาโอกาส
พลิกคับขันเขินขาดมาแก้ไข
อย่าจำนนทดท้อห่อเหี่ยวใจ
จะอัปราหรือได้ชัยให้ลองดู

ได้พากเพียรตามทางอริยะ
ไม่ปล่อยปละหัวใจให้อดสู
ไม่ปะทะเกรี้ยวกราดขาดวิญญู
แต่ให้สู้เอาชัยด้วยปัญญา

    ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด dhammajak

87
                                                           ทาน-ศีล-ภาวนา:พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


    ทาน-ศีล-ภาวนา เป็นรากแก้วสำคัญของความเป็นมนุษย์ และเป็นรากเหง้าของพระศาสนาที่มนุษย์ต้องคอยสั่งสมให้มาอยู่ในนิสัย ทานเป็นเครื่องแสดงน้ำใจเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ศีลเป็นเครื่องปัดเป่าความคิดของผู้มีกิเลส ภาวนาอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผลและความถูกต้อง ผู้เป็นหัวหน้างานหรือมีภารกิจมาก ควรหันมาฝึกใจอย่างยิ่ง เพราะการภาวนาแก้ความยุ่งยากลำบากใจทุกประเภทที่เป็นภาระหนัก หากปล่อยใจโดยไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้ง คงไม่ได้รับความสุข แม้จะมีสมบัติมากมายก่ายกอง
จิตเป็นสมบัติสำคัญมากที่ควรได้รับการเหลียวแล โดยฝึกหัดภาวนาในโอกาสอันควรด้วยสติตามรู้การเคลื่อนไหวของจิต สังเกตดูสังขารภายในว่าจิตมีการคิดปรุงแต่งอะไรบ้าง พิจารณาสังขารภายนอกว่าเจริญขึ้นหรือเสื่อมลง พิจารณาธรรมสังเวช และความตายเป็นอารมณ์อยู่เรื่อยๆ จะเห็นโทษแห่งความบกพร่องของตัวและพยายามแก้ไขได้เป็นลำดับ มากกว่าจะไปเห็นโทษของผู้อื่นแล้วมานินทาเขา อีกทั้งทำให้ใจสงบเย็น ไม่ลำพองผยองตัว รู้จักประมาณในหน้าที่การงานที่พอเหมาะ ไม่ลืมตัวมั่วสุมในสิ่งที่เป็นหายนะต่างๆ
การภาวนาต้องทำให้มาก อย่าพิจารณาครั้งเดียวแล้วปล่อยทิ้งตั้งเดือน ให้พิจารณาก้าวเข้าไปถอยออกมาเป็นอนุโลมปฏิโลม คือเข้าไปสงบในจิต แล้วถอยออกมาพิจารณากาย ให้สังเกตดูความเกิดขึ้นและดับไปของธาตุและสังขารที่เกิดขึ้นในจิต การพิจารณานั้นต้องให้ใจสงบ จึงจะไม่ใช้นึกใช้คิดอันเป็นชั้นสัญญา ไม่ใช่ชั้นปัญญา เมื่อปฏิบัติภาวนาอย่างอุกฤษฏ์ตามมรรค 8 ผู้ปฏิบัติย่อมจะบรรลุวิมุตติธรรมได้
---------------------------------------------


ทาน-ศีล-ภาวนา


ทานเป็นเครื่องแสดงน้ำใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจสูงและช่วยหนุนโลกให้ชุ่มเย็น
ทาน คือ เครื่องแสดงน้ำใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง มีเมตตาจิต ต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ด้วยการให้ การเสียสละแบ่งปัน มากน้อยตามกำลังของวัตถุเครื่องสังเคราะห์ที่มีอยู่ จะเป็นวัตถุทาน ธรรมทาน หรือวิทยาทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ นอกจากกุศลคือความดีที่ได้จากทานนั้น เป็นสิ่งตอบแทนที่เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น อภัยทานควรให้แก่กัน เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดพลาดหรือล่วงเกิน
คนมีทานย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผยและเด่นในปวงชน เป็นที่เคารพรักในหมู่ชน จะตกอยู่ทิศใดย่อมไม่อดอยากขาดแคลน จะมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ ไม่อับจนทนทุกข์ ผู้มีทานประดับตนย่อมเป็นคนไม่ล้าสมัย บุคคลทุกชั้นไม่รังเกียจ ผู้มีทานย่อมเป็นผู้อบอุ่น หนุนโลกให้ชุ่มเย็น การเสียสละจึงเป็นเครื่องค้ำจุนหนุนโลก การสงเคราะห์กันทำให้โลกมีความหมายตลอดไปไม่เป็นโลกที่ไร้ชาติ ขาดกระเจิง เหลือแต่ซากแผ่นดิน ไม่แห้งแล้ง แข่งกับทุกข์ตลอดไป




ศีลเป็นพืชแห่งความดีอันยอดเยี่ยมที่ควรมีประจำชาติมนุษย์
ศีล คือ รั้วกั้นความเบียดเบียน และทำลายสมบัติร่างกายและจิตใจของกันและกัน ศีลคือพืชแห่งความดีอันยอดเยี่ยมที่ควรมีประจำชาติมนุษย์ ไม่ปล่อยให้สูญหายไป เพราะมนุษย์ไม่มีศีลเป็นรั้วกั้น เป็นเครื่องประดับตัว จะไม่มีที่ให้ซุกหัวนอนหลับสนิทได้โดยปลอดภัย แม้โลกเจริญด้วยวัตถุจนกองสูงกว่าพระอาทิตย์ แต่ความรุ่มร้อน จะทวีคูณยิ่งกว่าพระอาทิตย์ ถ้ามัวคิดว่าวัตถุมีค่ามากกว่าศีลธรรม ศีลธรรมเป็นเพียงสมบัติของมนุษย์ พระพุทธเจ้าผู้ค้นพบและนำมาประดับโลกที่กำลังมืดมิด ให้สว่างไสว ร่มเย็นด้วยอำนาจศีลธรรม เป็นเครื่องปัดเป่าของมนุษย์ผู้มีกิเลส ที่ผลิตอะไรออกมาทำให้โลกร้อนจนบรรลัยอยู่แล้ว ยิ่งปล่อยให้ความคิดตามอำนาจโดยไม่มีศีลธรรม จะผลิตยักษ์ใหญ่ทรงพิษขึ้นมากว้านกินมนุษย์ จนไม่มีอะไรเหลืออยู่บ้างเลย
ความคิดของคนสิ้นกิเลสที่ทรงคุณอย่างสูง คือ พระพุทธเจ้า มีผลให้โลกรับความร่มเย็น ซาบซึ้ง กับความคิดที่เป็นกิเลส มีผลให้ตนเองและผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน จนคาดไม่ถึง ผิดกันอยู่มาก ควรหาทางแก้ไข ผ่อนหนักให้เบาลงบ้าง ก่อนจะหมดทางแก้ไข ศีลจึงเป็นเหมือนยาปราบโรค ทั้งโรคระบาดและเรื้อรัง



ภาวนาอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรง หักล้างความไม่มีเหตุผลของตนได้ดี
ภาวนา คือ การอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผลอรรถธรรม รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตัวเองและสิ่งทั้งหลาย ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้นความคิดฟุ้งของใจให้อยู่ในเหตุผล อันจะเป็นทางแห่งความสงบสุข ใจที่ยังมิได้รับการอบรบจากภาวนา จึงเปรียบเหมือนสัตว์ที่ยังมิได้รับการฝึกหัด ยังมิได้รับประโยชน์จากมันเท่าที่ควร จำต้องฝึกหัดให้ทำประโยชน์ ถึงจะได้รับประโยชน์ตามควร
ใจจึงควรได้รับการอบรมให้รู้เรื่องของตัว จะเป็นผู้ควรแก่การงานทั้งหลาย ทั้งส่วนเล็กส่วนใหญ่ ภายนอกภายใน ผู้มีภาวนาเป็นหลักใจ จะทำอะไรชอบใช้ความคิดอ่านเสมอ ไม่เสื่อมและไม่เกิดความเสียหายแก่ตนและผู้เกี่ยวข้อง การภาวนาจึงเป็นงานเพื่อผลในปัจจุบันและอนาคต การงานทุกชนิดที่ทำด้วยใจของผู้มีภาวนา จะสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ทำด้วยความใคร่ครวญเล็งถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เป็นผู้มีหลักมีเหตุผล ถือหลักความถูกต้องเป็นเข็มทิศทางเดินของกาย-วาจา-ใจ ไม่เปิดช่องให้ความอยากอันไม่มีขอบเขตเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะความอยากดั้งเดิมเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา ซึ่งไม่เคยสนใจต่อความผิด-ถูก-ดี-ชั่ว พาเราเสียไปจนนับไม่ถ้วน ประมาณไม่ถูก จะเอาโทษมันก็ไม่ได้ ยอมให้เสียไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าไม่มีสติระลึกบ้างเลยแล้ว ของเก่าก็เสียไป ของใหม่ก็พลอยจมด้วย ไม่มีวันฟื้นคืนตัวได้ ฉะนั้นการภาวนา จึงเป็นเครื่องหักล้างความไม่มีเหตุผลของตนได้ดี วิธีภาวนานั้นลำบากอยู่บ้าง เพราะเป็นวิธีบังคับใจ


-วิธีภาวนาคือการสังเกตจิตที่อยู่ไม่เป็นสุข ด้วยสติตามรู้การเคลื่อนไหวของจิต โดยบริกรรมธรรมบทที่ให้ผลดี
วิธีภาวนา ก็คือ วิธีสังเกตตัวเอง สังเกตจิตที่มีนิสัยหลุกหลิก ไม่อยู่เป็นปกติสุขด้วยมีสติตามระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของจิต โดยมีธรรมบทใดธรรมบทหนึ่งเป็นคำบริกรรม เพื่อเป็นยารักษาจิตให้ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความสงบสุขในขณะภาวนา ที่ให้ผลดีก็มี อาณาปานสติ คือ กำหนดจิตตามลมหายใจเข้าออกด้วยคำภาวนา พุทโธ พยายามบังคับใจให้อยู่กับอารมณ์แห่งธรรมบทที่นำมาบริกรรมขณะภาวนา พยายามทำอย่างนี้เสมอ ด้วยความไม่ลดละความเพียร จิตที่เคยทำบาปหาบทุกข์อยู่เสมอจะค่อยรู้สึกตัว และปล่อยวางไปเป็นลำดับ มีความสนใจหนักแน่นในหน้าที่ของตนเป็นประจำ จิตที่สงบตัวลงเป็นสมาธิ เป็นจิตที่มีความสุขเย็นใจมากและจำไม่ลืม ปลุกใจให้ตื่นตัวและตื่นใจได้อย่างประหลาด

-การภาวนาแก้ไขปัญหาใจทุกประการ ผู้เป็นหัวหน้างาน หรือมีภารกิจมาก ควรหันมาฝึกใจอย่างยิ่ง
เมื่อพูดถึงการภาวนา บางท่านรู้สึกเหงาหงอยน้อยใจว่า ตนมีวาสนาน้อยทำไม่ไหว เพราะกิจการยุ่งยากทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน ตลอดงานสังคมต่างๆที่ต้องเป็นธุระ จนมานั่งหลับตาภาวนาอยู่ เห็นจะไม่ทันอยู่ทันกินกับโลกเขา ทำให้ไม่อยากทำ ประโยชน์ที่ควรได้จึงเลยผ่านไป ควรพยายามแก้ไขเสียบัดนี้


แท้จริง การภาวนา คือ วิธีแก้ความยุ่งยากลำบากใจทุกประเภทที่เป็นภาระหนัก ให้เบาและหมดสิ้นไป ได้อุบายมาแก้ไขไล่ทุกข์ออกจากตัว การอบรมจิตด้วยการภาวนา ก็เป็นวิธีหนึ่งแห่งการรักษาตัว เป็นวิธีที่เกี่ยวกับจิตใจผู้เป็นหัวหน้างานทุกด้าน

-ใจ คือ นักต่อสู้จนไม่รู้จักตาย หากปล่อยไปโดยไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้งคงไม่ได้รับความสุข แม้จะมีสมบัติก่ายกอง
จิต จำต้องเป็นตัวการรับภาระแบกหาม โดยไม่คำนึงถึงความหนักเบา ว่าชนิดใดพอยกไหวไหม จิตต้องรับภาระทันที ดี-ชั่ว-ผิด-ถูก-หนัก-เบา เศร้าโศกเพียงใด บางเรื่องแทบเอาชีวิตไปด้วย ขณะนั้นจิตใจยังกล้าเอาตัวเข้าเสี่ยงแบกหามจนได้ มิหนำซ้ำยังหอบเอามาคิดเป็นการบ้านอีก จนนอนไม่หลับ รับประทานไม่ได้ก็มี คำว่าหนักเกินไปยกไม่ไหวเกินกำลังใจจะคิดและต้านทานนั้นไม่มี งานทางกาย ยังมีเวลาพักผ่อนนอนหลับ และยังรู้ประมาณว่าควรหรือไม่ควรแก่กำลังของตนเพียงใด ส่วนงานทางใจไม่มีเวลาได้พักผ่อนเอาเลย พักได้เล็กน้อยขณะนอนหลับเท่านั้น แม้เช่นนั้น จิตยังอุตส่าห์ทำงานด้วยการละเมอเพ้อฝันต่อไปอีก ไม่รู้จักประมาณว่า เรื่องต่างๆนั้นควรแก่กำลังของใจเพียงใด เมื่อเกิดอะไรขึ้น ทราบแต่ว่าทุกข์เหลือทน ไม่ทราบว่าทุกข์เพราะงานหนัก และเรื่องเผ็ดร้อนเหลือกำลังใจจะสู้ไหว ใจ คือ นักต่อสู้ ดีก็สู้ ชั่วก็สู้ สู้จนไม่รู้จักหยุดยั้งไตร่ตรอง สู้จนไม่รู้จักตาย หากปล่อยไปโดยไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้ง คงไม่ได้รับความสุข แม้จะมีสมบัติก่ายกอง

ธรรม เป็นเครื่องปกครองสมบัติและปกครองใจ ถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียว ความอยากของใจ จะพยายามหาทรัพย์ได้กองเท่าภูเขา ก็ยังหาความสุขไม่เจอ ไม่มีธรรมในใจเพียงอย่างเดียวจะอยู่ในโลกใด กองสมบัติใด ก็เป็นเพียงโลกเศษเดนและกองสมบัติเดนเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไรแก่จิตใจแม้แต่นิดเดียว ความทุกข์ทรมาน ความอดทน ทนทานต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่างๆไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง ใจจะกลายเป็นของประเสริฐให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจต่อเรื่องทั้งหลายทันที

จิต เป็นสมบัติสำคัญมากในตัวเราที่ควรได้รับการเหลียวแล ด้วยวิธีเก็บรักษาให้ดี ควรสนใจรับผิดชอบต่อจิตอันเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่งของตน วิธีที่ควรกับจิตโดยเฉพาะ ก็คือ ภาวนาฝึกหัดภาวนาในโอกาสอันควร ตรวจดูจิตว่ามีอะไรบกพร่องและเสียไป จะได้ซ่อมสุขภาพจิต คือ นั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายใน คือ ความคิดปรุงแต่งของจิตว่าคิดอะไรบ้าง ในวันและเวลาที่นั่ง นั่งมีสารประโยชน์ไหม คิดแส่หาเรื่อง หาโทษ ขนทุกข์มาเผาตนอยู่นั้น พอรู้ ผิด-ถูก ของตัวบ้างไหม

พิจารณาสังขารภายนอกว่ามีความเจริญขึ้นหรือเจริญลง สังขารร่างกายมีอะไรใหม่หรือมีความเก่าแก่ชราหลุดลงไป พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอจะทำได้ ตายแล้วจะเสียการ ให้ท่องอยู่ในใจเสมอว่า เรามีความแก่-เจ็บ-ตาย อยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน ป่าช้าอันเป็นที่เผาศพภายนอก และป่าช้าที่ฝังศพภายใน คือ ตัวเราเอง เป็นป่าช้าร้อยแปดพันเก้าแห่งศพที่นำมาฝังหรือบรรจุจะอยู่ในตัวเราตลอดเวลาทั้งศพเก่าศพใหม่ทุกวัน

พิจารณาธรรมสังเวช พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ ย่อมมีทางถอดถอนความเผลอเย่อหยิ่งในวัน ในชีวิต และวิทยาฐานะต่างๆออกได้ จะเห็นโทษแห่งความบกพร่องของตัวและพยายามแก้ไขได้เป็นลำดับ มากกว่าจะไปเห็นโทษของคนอื่น แล้วมานินทาเขา ซึ่งเป็นความไม่ดีใส่ตน นี่คือ การภาวนา คือ วิธีเตือนตน สั่งสอนตน ตรวจตราดูความบกพร่องของตนว่าควรแก้ไขจุดใด ตรงไหนบ้าง ใช้ความพิจารณาอยู่ทำนองนี้เรื่อยๆด้วยวิธีสมาธิภาวนาบ้าง ด้วยการรำพึงในอิริยาบถต่างๆบ้าง ใจจะสงบเย็น ไม่ลำพองผยองตัวและความทุกข์มาเผาลนตัวเอง เป็นผู้รู้จักประมาณในหน้าที่การงานที่พอเหมาะพอดีแก่ตัว ทั้งทางกายและทางใจ ไม่ลืมตัว มั่วสุมในสิ่งที่เป็นหายนะ

คุณสมบัติของผู้ภาวนานี้มีมากมาย ไม่อาจพรรณนาให้จบสิ้นได้

ทาน-ศีล-ภาวนา ธรรมทั้ง 3 นี้ เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์ และเป็นรากเหง้าของพระศาสนา ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องเป็นผู้คอยสั่งสมธรรมเหล่านี้ มาอยู่ในนิสัยของผู้จะมาสวมร่างเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ด้วยมนุษย์สมบัติอย่างแท้จริง

     ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด พลังจิต

88
                                       ตัดบาป-ตัดกรรม-ตัดเวรทำได้ไหม?: แง่คิดเตือนใจจากครูบาวงศ์ และ หลวงพ่อพุธ

ตัดบาปตัดกรรมตัดเวร....!?!
หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์)
วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ. ลี้ จ.ลำพูน

อย่าเข้าใจว่า มาทำบุญที่นี่จะตัดบาปตัดกรรมตัดเวรได้นะ ตัดไม่ได้

เว้นแต่กรรมที่เบาที่อโหสิกรรมตัดได้ พวกนั้นตัดได้

ก็พระพุทธเจ้ายังจะตัดไม่ได้
พระมหาโมคคัลลาห์มีฤทธิ์สุดขีด
ไม่มีองค์จะมาเทียมถึง ก็ตัดไม่ได้


จึงขอฝากไว้ อย่าหลับหูหลับตาฟัง
แต่คนไม่รู้หาว่าท่านครูบา หลวงพ่อวัดพระพุทธบาท
จะมาตัดกรรมตัดเวร ตัดไม่ได้หรอก

แต่ถ้าเป็นอโหสิกรรม ได้ทำผิดพูดผิดต่อใครๆ เจ้าตัวเองต้องขอตัดเอาเอง

อโหสิกรรมถือว่าตัดได้
ก็ต้องตัดเอง จะต้องขอเอง
ให้คนอื่นไปขอไม่ได้ ไม่พ้นจากกรรม
เราต้องขอเอง ต้องอ่อนน้อมกล่าวคำสารภาพกับตัวเขา
เขาจึงจะอโหสิงดโทษให้เรา

ข้อมูลจาก: อภิมหามงคลธรรม คำสอนโดยย่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารวม ๗๕ โอวาทพระสุปฏิปันโนแห่งแผ่นดินสยาม

----------------------------------------------------------------

การตัดกรรมตัดเวร
โดย พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)


การตัดกรรม คือ การหยุดทำความชั่วหยุดทำบาป
ส่วนการตัดเวร คือ การหยุดการพยาบาทอาฆาตจองเวรซึ่งกันและกัน คือไม่แก้แค้นซึ่งกัน และกันรู้จักคำว่าให้อภัยซึ่งกันและกัน และผู้ที่ทำผิดก็ให้รู้จักคำว่าขอโทษ ผู้ที่ถูกขอโทษก็รู้จักคำว่าให้อภัย อันนี้เป็นอุบายตัดกรรมตัดเวร

พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าใครทำกรรมใดไว้ย่อมได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้

กัมมัสสะโกมหิ (เรามีกรรมเป็นของๆตน)

กัมมะทายาโท (เราจะต้องรับผลของกรรมนั้น)

กัมมะโยนิ (เรามีกรรมนำเกิด)

กัมมะพันธุ (เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์พวกพ้อง)

กัมมะปะฏิสะระโน (เรามีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย)

ยัง กัมมัง กะริสสามิ (เราทำกรรมอันใดไว้)

กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา (เป็นบุญหรือเป็นบาป)

ตัสสะ ทายาโท ภะวิสสามิ (เราจะต้องรับผลของกรรมนั้น)

อภิณหัง ปัจจะเวกขิตัพพัง (พึงพิจารณาเห็นเนืองๆดังนี้)

ไปทำพิธีตัดกรรมก็เป็นการลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า

กรรมใดใครก่อไว้แล้วในเมื่อใจเป็นผู้จงใจทำลงไปแล้วเป็นกรรมอันเป็นบาป ภายหลังจึงมานึกได้และไม่ต้องการผลของบาป มันก็หลีกเลี่ยงปฏิเสธไม่ได้เพราะใจเป็นผู้สั่งให้กาย วาจา ทำลงไป พูดลงไป ใจตัวนี้ต้องรับผิดชอบโดยความเป็นธรรมโดยหลักของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการที่ไปทำพิธีตัดกรรมนี่หมายถึงตัดผลของบาปนั้นมันตัดไม่ได้ อย่าไปเข้าใจผิด

ถ้าเข้าใจว่าทำบาปทำกรรมแล้วแล้วไปทำพิธีล้างบาปได้ ทำพิธีตัดกรรมแล้วมันหมดบาปประเดี๋ยวก็ทำกรรมชั่วแล้วมาหาหลวงพ่อหลวงพี่ตัดบาปตัดกรรมให้ มันก็ไม่กลัวต่อบาปเพราะฉะนั้นอย่าไปเข้าใจผิดว่าทำกรรมอันเป็นบาปแล้วตัดกรรมให้หมดไปได้ มันเป็นไปไม่ได้



****ยกตัวอย่างเรื่องกรรมบางส่วนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า*****

ชาติหนึ่งเคยเกิดเป็นนักเลงชื่อปุนาลี ได้กล่าวใส่ความพระปัจเจกพุทธเจ้า พระนามว่าสุรภิผู้มิได้ประทุษร้ายใคร ด้วยผลแห่งกรรมนั้นต้องไปท่องนรกสิ้นกาลนาน เสวยทุกขเวทนาสิ้นพันปี ด้วยกรรมที่เหลือในภพสุดท้ายก็ถูกใส่ความ เพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา ซึ่งเป็นนักบวชหญิงถูกพวกเดียรถีย์ใช้ให้ทำเป็นไปค้างคืนกับพระสมณโคดม ให้ใครต่อใครหลงเข้าใจพระองค์ผิด

ทั้งที่นางค้างที่อื่น แต่รุ่งเช้ามาก็ทำท่าโผเผมาจากเชตวนารามที่พำนักของพระพุทธองค์ อีกสองสามวันต่อมามีคนโจษจันเรื่องนี้กันแล้ว พวกเดียรถีย์ก็จ้างนักเลงไปฆ่านางสุนทริกา เพื่อป้ายความผิดว่านางถูกพระพุทธองค์ฆ่าปิดปาก คนทั้งหลายก็สงสัยว่าอาจจะเป็นจริง ร้อนถึงพระราชาต้องส่งราชบุรุษไปสืบเรื่องดูตามร้านสุรา เมื่อได้ความชัดแจ้งก็จับนักเลงที่ฆ่านางสุนทริกา กับเดียรถีย์ที่จ้างฆ่านางสุนทริกา มาลงโทษทั้งหมด

อีกชาติหนึ่งเกิดเป็นพราหมณ์ผู้มีความรู้ มีผู้เคารพสักการะ เป็นผู้สอนมนต์แก่มานพ ๕๐๐ คน และได้ใส่ความภีมฤษีผู้มีอภิญญา มีฤทธิ์มาก หาว่าฤษีนี้เป็นผู้บริโภคกาม มานพทั้งหลายก็พลอยชื่นชมยินดีไปด้วย เมื่อไปภิกขาจารในสกุล ก็เที่ยวกล่าวแก่มหาชนว่าฤษีนี้เป็นผู้บริโภคกาม

ผลของกรรมนั้นภิกษุ ๕๐๐ คนเหล่านี้ทั้งหมดพลอยถูกใส่ความด้วย เพราะเหตุแห่งนางสุนทริกาที่ถูกนักเลงฆ่าและป้ายความผิดให้พระพุทธองค์ รวมทั้งภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในเชตวนาราม ก็พลอยถูกหาว่าร่วมกันฆ่าปิดปากนางสุนทริกาและถูกด่าว่าด้วย จนกระทั่งพระราชาจับนักเลงและเดียรถีย์ที่ร่วมกันฆ่านางได้ เรื่องราว จึงได้สงบ

อีกชาติหนึ่งไปกล่าวใส่ความพระสาวกของพระสัพพาภิภูพุทธเจ้า มีนามว่านันทะ จึงต้องท่องไปในนรกหลายหมื่นปี เมื่อเกิดเป็นมนุษย์อีกก็ถูกใส่ความมาก และด้วยกรรมที่เหลือ ชาติสุดท้ายนี้จึงถูกนางจิณจมาณวิกา ใส่ความว่าพระองค์ทำให้นางตั้งครรภ์

ชาติหนึ่งเคยฆ่าน้องชายต่างมารดาเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ได้ผลักน้องชายต่างมารดาลงในซอกเขา เอาหินทุ่มใส่ ด้วยผลแห่งกรรมนั้นจึงถูกพระเทวทัตเอาหินทุ่มใส่ที่เขาคิชกูฏ จนสะเก็ดหินกระเด็นถูกหัวแม่เท้า ห้อพระโลหิตในชาติสุดท้าย

จะเห็นว่าแม้ขณะเป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้ายท่านยังต้องได้รับผลของกรรมเก่าที่ทำไว้ในชาติก่อนมาสนองหลายอย่าง จึงเห็นได้ว่าเรื่องของกรรมนั้นตัดไม่ได้


****สรุปได้ว่า*****

แต่ตัดเวรนี้มีทางเป็นไปได้ เวรหมายถึงการผูกพยาบาทคอยแก้แค้นกันอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นฆ่าเขาตายเมื่อนึกถึงกรรมแล้วกลัวเขาจะอาฆาตจองเวร จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เขา ถ้าหากว่าเขาได้รับส่วนกุศลเขาได้รับความสุข เขาเลื่อนฐานะจากภาวะที่ทุกข์ทรมานไปสู่ฐานะที่มีความสุข เมื่อเขานึกถึงคุณความดีนึกถึงบุญคุณ เขาก็อโหสิกรรมให้ไม่ตามล้างตามผลาญกันอีกต่อไป อันนี้คือตัดเวรซึ่งตัดได้

บางท่านอาจจะคิดว่าพระพุทธเจ้าช่างโหดร้ายจริงๆ ทำอะไรก็บาป แต่แท้ที่จริงพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้โหดร้ายอย่าเข้าใจท่านผิด พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้กฎความเป็นจริงของธรรมชาติคือรู้ว่าฆ่าสัตว์เป็นบาป ลักทรัพย์เป็นบาป ผิดกาเมเป็นบาป มุสาเป็นบาป ดื่มสุราและสิ่งมอมเมาเป็นบาป

แต่บาปที่กล่าวมานั้นมันมีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะประสูติแล้ว ไม่ใช่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มาประสูติแล้วมาบัญญัติขึ้นเอง หรือมาบัญญัติบาปกรรมและโทษทัณฑ์อะไรไว้ลงโทษสัตว์ทั้งหลาย

การทำบาปทำกรรมนั้นสิ่งที่เรียกว่าเป็นบาปเป็นการกระทำด้วยกาย วาจา โดยมีใจเป็นผู้เจตนาคือมีความตั้งใจ ทำลงไปแล้วเป็นบาปทันทีคือการละเมิดศีลห้าข้อเท่านั้น เพราะฉะนั้นใครรักษาศีลห้าข้อได้บริสุทธิ์บริบูรณ์จึงเป็นการตัดทอนผลของบาป

บาปกรรมที่ทำไว้ในอดีต เมื่อวานนี้หรือเมื่อเช้านี้ ย่อมตัดกรรมไม่ได้แล้วและจะต้องให้ผลต่อไป แต่เราจะตัดการทำกรรมชั่วในปัจจุบันได้และไม่ต้องรับผลของกรรมชั่วในอนาคต เมื่อเราตั้งใจรักษาศีลห้าข้อให้บริสุทธิ์ตั้งแต่วันนี้ ตั้งแต่ขณะปัจจุบันนี้ได้ชื่อว่าตั้งใจตัดเวรตัดกรรมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติต่อๆ ไปได้จนกระทั่งตลอดชีวิตของเรา เราก็จะได้ตัดกรรมตัดเวรตลอดชีวิตเรา นี่คือการตัดกรรมตัดเวรที่ถูกต้อง

ศีลห้านี้เป็นเรื่องสำคัญเป็นแม่บทแห่งศีลทั้งหลายทั้งปวง เป็นหลักธรรมที่เป็นข้อมูลเป็นจุดเริ่มแห่งการทำความดี ผู้ใดปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดาเป็นประโยชน์ให้เกิดทางมรรคผลนิพพานอย่างแท้จริง

ขอให้ยึดมั่นในศีลห้าประการ เมื่อท่านมีศีลห้าข้อนี้ครบโดยบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ความเป็นมนุษย์ของท่านสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจะปลูกฝังความดีอันใดลงไป คุณความดีนั้นก็จะฝังแน่นในกาย วาจา และในใจของท่าน

   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

89
ธรรมะ / กาลเวลาไม่เคยคอยใคร
« เมื่อ: 02 ต.ค. 2553, 09:14:47 »
                                                              กาลเวลาไม่เคยคอยใคร

กาลเวลา..สายน้ำ..หมุนเวียนเปลี่ยนไป..ไม่เคยหยุดนิ่ง..
ชีวิตคนเราก็เช่นกัน..ต้องผ่านวัน..ผ่านคืน..ที่มีทั้งสุขสดชื่น..
ขมขื่น..และผิดหวัง..แต่ทั้งสุข..ทุกข์..จริงแล้วมันก็อยู่ที่ใจ..
เรื่องบางเรื่อง..บางสิ่ง..หากเราไปยึดติด..ไม่รู้จักคำว่า..ปล่อยวาง..
ก็เป็นทุกข์..เพราะสุดท้าย..ชีวิตของคนเรา..ก็เหลือเพียงแต่..
"ความว่างเปล่า.." ฉะนั้น..จงอย่ากลัวที่จะต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ..
ที่จะผ่านเข้ามา..ในเส้นทางเดินของชีวิต..



บางครั้งคนเรา..ก็ไม่ได้อยากทำ..ในสิ่งที่กำลังทำ..ไม่ได้อยากคิด..ในสิ่งที่กำลังคิด..แต่ทุกสิ่ง..ย่อมมีเหตุผล..และความจำเป็น..จึงอยู่ที่ว่า..เราจะทำในสิ่งที่กำลังทำให้ดีที่สุด..หรือทำเพียงแค่ให้ผ่านๆ ไปเท่านั้นเอง..
ขอให้มีความสุขกับการทำงาน..และใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้..อย่างมีความสุขในทุกๆ วัน..นะค่ะ..




ก้าวย่างในชีวิต..ไม่มีใครไม่เคยผิดพลาด..ไม่เคยมีใครที่ไม่เคยหกล้ม..แต่ล้มแล้วต้องลุกยืนให้ได้อย่างมั่นคง..และต้องระวังตัวให้มากขึ้น..แล้ววันนึง..เราจะหกล้มน้อยลง..ขอให้มีความสุข..และมีสติ..ในทุกก้าวย่างของชีวิต..นะค่ะ..



   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต


90
                                                      เลี้ยงลูกให้เป็นโจรหรือพระอรหันต์อยู่ที่พ่อแม่ (ว.วชิรเมธี)


เสียงจากท่าน ว.วชิรเมธี
เลี้ยงลูกให้เป็นโจรหรือพระอรหันต์อยู่ที่พ่อแม่

บทความโดย...สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน


สวัสดีปีใหม่ค่ะ

และแล้ว.....ก็ผ่านพ้นไปอีกหนึ่งปี
ท่ามกลางความวุ่นวายทางด้านการเมือง
ที่มันช่างตรงข้ามกับความรู้สึกของผู้คน
ที่อยู่ในช่วงแห่งการฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไปค่ะ เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป

สำหรับคนเป็นพ่อแม่ก็น่าจะถือโอกาสนี้
พูดคุยกับลูกถึงช่วงเวลาที่ผ่านไปหนึ่งปี
มีอะไรที่ลูกทำสิ่งดีๆ แล้วประทับใจ
หรือมีบางสิ่งที่ทำแล้วไม่สบายใจหรือทำไม่ดี
ก็ถือโอกาสได้พูดคุยและหันหน้าคุยกัน
ในครอบครัวซะเลยก็ไม่เลวค่ะ

ไหนๆ ก็ปีใหม่ที่เป็นปีของหนู ก็เลยอยากฝากสิ่งดีๆ
ของ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือท่าน ว. วชิรเมธี
ที่ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Mother&Care
ก็เลยขออนุญาตนำมาฝากเพื่อนผู้อ่าน
เพื่อเป็นข้อคิดและสิริมงคลให้แก่ชีวิตช่วงปีใหม่นี้ค่ะ

“พระพุทธเจ้าตรัสไว้คำหนึ่งว่า การเกิดเป็นทุกข์
แต่ประโยคนี้ไม่จบนะ มีต่อว่า เกิดดีมีสุข
การเกิดเป็นทุกข์เป็นการยอมรับความจริงตามธรรมชาติ
ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า คน
แต่ความจริงไม่ได้มีแค่นี้
ถ้าเกิดดีก็มีความสุขได้
การเกิดเป็นทุกข์นั้นเป็นความทุกข์ทางกาย
เช่น มนุษย์เกิดมาแล้วต้องกิน ต้องดื่ม ป่วยไข้ต้องรักษา
อันนี้ เป็นความทุกข์ตามธรรมชาติ
เป็นคำอธิบายของการเกิดเป็นทุกข์
แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะบำบัดความทุกข์ทางกาย
เช่น หิวก็กิน ป่วยก็รักษา
เจ็บปวดกล้ามเนื้อก็เปลี่ยนอิริยาบถ

พระพุทธเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า การเกิดนั้นเป็นทุกข์ทางกาย
แต่ทางจิตใจ เราไม่ได้แบกทุกข์มาตั้งแต่เกิด
มีคำอยู่คำหนึ่ง พระองค์ตรัสเอาไว้ว่า
ธรรมชาติเดิมแท้ของจิตนั้นเป็นประภัสสร
คือ ธรรมชาติของจิตตั้งแต่แรกเกิดมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่แล้ว
ฉะนั้น ที่บอกว่าทุกข์นั้นเป็นทุกข์ของกาย
ถ้าเราสามารถฝึกจิตให้แยกความจริงของกายไว้กองหนึ่ง
ความจริงของใจไว้กองหนึ่ง
ก็จะเห็นชัดว่าที่ทุกข์นั้น กายทุกข์
แต่ถ้าใจมีปัญญา สามารถแก้ปัญหาทางกายได้
การเกิดนั้นก็เป็นสุข

ผู้ที่จะได้ชื่อว่า เป็นพ่อเป็นแม่นั้น
ลำพังให้กำเนิดลูกยังไม่ได้ชื่อว่า เป็นพ่อเป็นแม่
แต่เป็นได้แค่ผู้ให้กำเนิด
หลายคนอาจคิดว่าแค่ให้กำเนิดก็เป็นพ่อเป็นแม่แล้ว
ทางพุทธยังไม่ยอมรับ
ถ้าเพียงแค่ให้กำเนิดแล้วได้ชื่อว่า เป็นพ่อเป็นแม่
มนุษย์ก็ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน หมู หมา กา ไก่
มันให้กำเนิดปุ๊บ มันก็ได้ชื่อว่าเป็นพ่อเป็นแม่แล้ว

ถ้าคนทำแค่นี้ก็ไม่ประเสริฐไปกว่าสัตว์เดรัจฉานเลย
ดังนั้น ถ้าให้กำเนิดมาแล้วจะได้ชื่อว่า
เป็นพ่อเป็นแม่ต้องทำหน้าที่อย่างน้อย 5 ประการ
หนึ่ง ห้ามปรามลูกจากความชั่ว
สอง แนะนำลูกให้ตั้งอยู่ในความดี
สาม ให้ลูกได้รับการศึกษา
สี่ เป็นธุระดูแลเรื่องคู่ครองของลูก
ห้า เมื่อถึงเวลาอันสมควรก็มอบมรดกให้ลูก
ถ้าพ่อแม่ทำหน้าที่ 5 ประการนี้แล้ว
พ่อแม่ก็เลื่อนสถานะจากผู้ให้กำเนิดเป็นพ่อเป็นแม่

ถ้าคุณไม่ได้ทำหน้าที่ 5 ประการนี้
ก็เป็นเพียงแค่ผู้ให้กำเนิดเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ลองย้อนกลับไปที่พ่อแม่ทุกวันนี้สิ
เป็นพ่อเป็นแม่กันหรือเปล่า
คุณห้ามลูกจากความชั่วไหม
หรือปล่อยลูกไปอยู่ในแหล่งอบายมุข
ในทางพุทธศาสนายกย่องคนเป็นพ่อเป็นแม่เอาไว้ว่า
หนึ่งเท่ากับเป็นพระพรหม
สองเท่ากับเป็นบุรพาจารย์ คือ ครูคนแรก
สามเท่ากับเป็นพระอรหันต์

ชะตากรรมของลูกจะเป็นอย่างไร ขึ้นกับพ่อกับแม่
ฉะนั้น ช่วง 0-6 ขวบ จึงเป็นช่วงที่อันตราย
และช่วงที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะใส่อะไรให้กับลูก
ถ้าในระหว่างนี้ พ่อแม่ไม่สามารถใส่สิ่งที่ดีให้กับลูกได้
พ่อแม่ก็จะกลายเป็นศัตรูกับลูก
แต่ถ้าพ่อแม่ใส่สิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก
ก็จะเป็นพระพรหมของลูก คือ เป็นผู้ลิขิตชะตากรรมให้กับลูก

สอง เป็นครูคนแรกของลูก
พ่อแม่ต้องสอนลูก ตั้งแต่การเอาตัวรอดในโลก
สอนความรู้ มารยาท หัดให้เข้าโรงเรียน
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกที่ลูกได้เรียนรู้
ล้วนแต่ได้อิทธิพลมาจากพ่อแม่
ฉะนั้น พ่อแม่จึงเป็นเบ้าหลอมของลูก เป็นครูคนแรกของลูก
ถามว่า ทุกวันนี้ พ่อแม่ให้กำเนิดลูกแล้วเป็นครูของลูกไหม
หรือให้พี่เลี้ยงทำแทน

สาม พ่อแม่เป็นพระอรหันต์
นั่นคือ คุณต้องรักลูกด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ไม่หวังผลอะไรตอบแทนทั้งสิ้น
ไม่ใช่มีลูกแล้วแต่ลูกเป็นหมากตัวหนึ่ง
เป็นหุ้นตัวหนึ่งที่พ่อแม่ส่งไปลงทุนกับบริษัทนั้น บริษัทนี้
ดันไปแต่งงานกับคนนั้นคนนี้ แล้วคอยเรียกทุนคืน
พ่อแม่แบบนี้ ไม่ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์
ฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่า
ฐานะของพ่อแม่ในทางพุทธศาสนานั้นสำคัญมาก
ถามว่าทำไมสถาบันครอบครัวทุกวันนี้จึงมีปัญหา
นั่นเป็นเพราะพ่อแม่เริ่มทอดทิ้งหน้าที่ของตนเอง

ถ้าเรากังวลว่า ลูกจะลำบากในอนาคต
ก็แก้ปัญหาให้ลูกตั้งแต่ตอนนี้
ก็คือ ควรจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก
หนึ่ง ให้ลูกเป็นคนที่มีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล
เพื่อจะได้อยู่ในสังคมที่มีความซับซ้อนได้อย่างอยู่รอดปลอดภัย

สอง ให้ลูกใฝ่เรียนใฝ่รู้ใฝ่สู้งานหนักเตรียมไว้เนิ่นๆ
ความใฝ่เรียนใฝ่รู้จะทำให้เขามีปัญญา
ใฝ่สู้งานหนักจะทำให้เขาอยู่ท่ามกลางสังคม
ที่แก่งแย่งแข่งขันสูงได้ตลอด
สาม ให้ลูกใฝ่ดีและใฝ่สูง
คือ ให้เขาใฝ่ธรรมะไว้ตั้งแต่ต้นๆ
เพื่อว่าวันหนึ่ง เมื่อเจอวิกฤตการณ์หนักๆ ในชีวิต
เขาจะได้มีภูมิคุ้มกันในการกำเนิดชีวิต
เจอทุกข์จะได้ไม่พรั่น เจออุปสรรคจะได้ไม่กลัว
ผิดหวังจะได้ไม่ทำร้ายตนเอง
แล้วก็มองเห็นปัญหาทั้งหลายเป็นที่มาของปัญญา

ทำได้ทั้ง 3 ประการนี้ก็ถือว่า
พ่อแม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกแล้ว
สำหรับภาวะโลกร้อนที่จะตามมาในอนาคต
เราต้องเรียนรู้ว่า เด็กทุกคนมีศักยภาพที่จะเป็นโจรก็ได้
มีศักยภาพที่จะเป็นพระอรหันต์ก็ได้
ลูกจะเป็นโจรหรือพระอรหันต์ก็ขึ้นอยู่กับสองมือของพ่อและแม่
เพราะเด็ก คือ บุตรธิดาของสิ่งแวดล้อม
พ่อแม่ คือ สิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดที่สุดของลูก
ถ้าพ่อแม่เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็ได้ลูกที่ดี เป็นพระอรหันต์
ถ้าพ่อแม่ทำตัวสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ลูกก็เป็นโจร
ฉะนั้น ลูกจะเป็นโจรหรือเป็นพระอรหันต์
พ่อแม่มีส่วนในคุณสมบัติของลูกด้วยเสมอไป”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสียงส่วนหนึ่งจากท่าน ว.วชิรเมธี
ที่น่าจะทำให้เราคนเป็นพ่อแม่ได้ข้อคิดดีๆ ในปีของหนูนะคะ

มีความสุขกับการเป็นพ่อแม่ในทุกวันค่ะ

    ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

91
                                                  ความสามัคคี (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)


ความสามัคคี
โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕


จงตั้งใจฟังพระธรรม เทศนา วันนี้จะอธิบายถึงเรื่องความสามัคคี เพราะเราทั้งหลายมาประชุมกันในที่นี้ ล้วนแล้วแต่มาคนละทิศละทาง ต่างจิตต่างใจต่างพ่อต่างแม่ต่างตระกูลกันทั้งนั้น ย่อมมีกิริยาอาการทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการไม่เหมือนกัน ในที่สุดแม้แต่ตัวของเราเอง ซึ่งมองดูแล้วก็ไม่ถูกต้องตามความต้องการของตนก็มีเยอะ ฉะนั้นความสามัคคีจึงได้ชื่อว่า เป็นคุณธรรมอันสูงส่งสำหรับพวกเราที่อยู่ด้วยกัน ความสามัคคีเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข พระพุทธองค์ตรัสว่า

“สุขา สํ ฆสฺส สามคฺคี”
ความพร้อมเพรียงของในหมู่คณะนำมาซึ่งความสุข

ดังนี้ ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ตั้งแต่สองคนขึ้นไปเรียกว่า คณะ สี่คนขึ้นไปเรียกว่า หมู่ ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะเป็นความสุขอย่างยิ่ง คนยิ่งมากขึ้นไปจะเป็น ๒๐–๓๐–๔๐ หรือ ๕๐ คนหรือตั้ง ๑๐๐–๒๐๐ คน มีความสามัคคีกัน ยิ่งได้ความสุขมาก ดูแต่ตัวของเราคนเดียวก็แล้วกัน ถ้าไม่สามัคคีกันก็ไม่ได้ความสุขเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ใจคิดอย่างหนึ่ง มือไม้ไม่ทำ ขาไม่เดิน ง่อยเปลี้ยเสียขา เป็นอัมพาตไป มันก็ไม่สบายใจ

ปากท้องของเราก็เหมือนกัน เราหาอาหารมาให้รับประทานลงไป ปากมันก็เคี้ยวกลืนลงไป แต่ลำไส้มันไม่ทำงาน มันไม่พร้อมเพรียงสามัคคีกัน มันจะต้องปวดท้อง อึดอัด เดือดร้อนแก่เราเพียงใด คิดเอาเถอะ ส่วนร่างกายของเราก็เหมือนกัน ทุกชิ้นทุกส่วนถ้าหากขาดความสามัคคีนิดเดียว เป็นต้นว่าแขนทั้งสองหยุดไม่ทำงาน เท่านั้นแหละเป็นอันร้องอู๊ยเลยทีเดียว

เหตุนั้น เราควรอดควรทนต่อเหตุการณ์ เมื่อมีจิตใจต่างกัน มีกิริยาอาการต่างกัน จึงควรอดอย่างยิ่ง อย่าเอาอารมณ์ของตนควรคิดถึงอกเราอกเขาบ้าง ถ้าหากเราเอาแต่อารมณ์ของตนแล้ว จะแสดงความเหลวไหลเลวทรามของตนแก่หมู่คณะเป็นเหตุให้เสียคน เพราะชื่อเสียงยังกระจายออกไปทั่วทุกทิศ เสียหายหลายอย่างหลายประการ สิ่งใดที่ไม่สบอารมณ์ของเรา อย่าผลุนผลันหันแล่น จงยับยั้งตั้งสติตั้งจิต พิจารณาให้ดีเสียก่อนว่าสิ่งนั้นถ้าเราพูดหรือทำลงแล้ว มันจะเป็นผลดีและผลเสียแก่เราและหมู่คณะน้อยมากเพียงใด

เบื้องต้นให้ตั้งสติกำหนดคำว่า “อด” คำเดียวเท่านั้นเสียก่อน จึงคิดจึงนึกและจึงทำจึงจะไม่พลาดพลั้งและจะไม่เสียคน อดที่ไหน อดที่ใจของเรา “อด” คำนี้กินความกว้างและลึกซึ้งด้วย เมื่อเราพิจารณาถึงความอดทนแล้วก็จะเห็นว่า สรรพกิเลสทั้งปวงที่จะล้นมาท่วมทับมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ในโลกนี้แหลกละเอียดเป็นจุลวิจุลไปก็เพราะความอดนี้ทั้งนั้น

เช่น โกรธจะฆ่ากัน แต่มีสติอดทนอยู่ได้จึงไม่ฆ่า เห็นสิ่งของเขา คิดอยากจะลักขโมยของ เขา มีสติอดทนยับยั้งไว้ เพราะกลัวเขาจะเห็นหรือกลัวโทษ จึงไม่ขโมย เห็นบุตรภรรยาสามีคนอื่นสวยงาม เกิดความกำหนัดรักใคร่ คิดอยากจะประพฤติผิดในกาม มีสติขึ้นมาแล้วอดทนต่อความกำหนัดหรือกลัวว่าเขาจะมาเห็น กลัวต่อโทษในปัจจุบันและอนาคต แล้วอดทนต่อความกำหนัดนั้น การที่จะพูดเท็จ พูดคำไม่จริง หรือดื่มสุราเมรัยก็เช่นกัน เมื่อมีสติขึ้นมาแล้วก็อดทนต่อความชั่วนั้นๆ ได้ แล้วไม่ทำความชั่วนั้นเสีย

ความอดทนเป็นคุณธรรม ที่จะนำบุคคลในอันที่จะละความชั่วได้ทุกประการ และเป็นเหตุให้สมานมิตรกันทั้งโลกได้อีกด้วย ถ้าเราไม่มีการอดทนปล่อยให้ประกอบกรรมชั่วดังกล่าวมาแล้ว โลกวันนี้ก็จะอยู่ไม่ได้ แตกสลายไปเลย

โทษ ๕ ประการดังอธิบายมานี้ เป็นเหตุให้มนุษย์สัตว์โลกแตกความสามัคคีปรองดองซึ่งกันและกัน วิวาททุ่มเถียงฆ่าตีซึ่งกันและกัน โลกซึ่งเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะโทษ ๕ ประการนี้ทั้งนั้น


ความอดทนมีคุณอานิสงส์อันใหญ่หลวง เป็นเหตุให้แผดเผากิเลสน้อยใหญ่ทั้งปวง ซึ่งเกิดจากใจของมนุษย์คนเรา เมื่อมันเกิดที่ใจของคนเรา คนเราคุมสติไม่อยู่ปล่อยให้มันลุกลามไปเผาผลาญคนอื่น จึงรีบดับด้วยสติตัวเดียวเท่านั้น ก็อยู่เย็นเป็นสุขทั้งแก่ตนและผู้อื่น

ผู้ที่ทำความเพียรภาวนาทั้งหลายล้วนแล้วแต่ใช้ความอดทนนี้ทั้งนั้น คนเราอยู่เฉยๆ จะดีเองไม่ได้ ต้องอดทนต่อความเจ็บหลังปวดเอวในการนั่งสมาธิภาวนา อดทนต่อการรักษาศีลตามสิกขาบทนั้นๆ ที่พระองค์บัญญัติไว้ จะเอาตามใจชอบของตนไม่ได้ ถ้าเอาตามใจชอบของตน ถ้ามันดีแล้ว มนุษย์ชาวโลกดีกันหมดแล้วแต่นาน เหตุที่มันดีนั่นแหละจึงหันมาอดทนทำตามพระพุทธเจ้า

ความสามัคคีเป็นคุณธรรมอันใหญ่ยิ่ง สามัคคีของหมู่คณะนั้นแต่สองคนขึ้นไปอย่างน้อยก็ได้พูดคุยกันพอแก้ความเหงา แต่สี่คนขึ้นไปอย่างน้อยก็จะแบกได้หามในกิจธุระการจำเป็นเกิดขึ้น ถ้าเป็นพระก็พอจะได้ทำสังฆกรรมให้สำเร็จได้ในเมื่อต้องการ ถ้ามากคนขึ้นไปความสามัคคีก็ยิ่งแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การงานทุกสิ่งทุกอย่างย่อมสำเร็จมากเป็นเงาไปตามตัว

บ้านเมืองมีคนหมู่มากอยู่ด้วยกัน มีความสามัคคีด้วยกายทำอะไรสามัคคีพร้อมกัน มีจิตใจไม่แก่งแย่งแข่งดีซึ่งกันและกัน มีความรักใคร่ซึ่งกันและกันเห็นบ้านเมืองเป็นของทุก ๆ คนที่จะต้องปกป้องรักษาเป็นที่หวงแหนของคนทุกคน ทิฐิความเห็นก็ไม่ดื้อรั้นเอาแต่ความเห็นส่วนตัว ไม่ยอมใครทั้งสิ้น เห็นความคิดความเห็นของคนอื่นผิดทั้งหมด ของเราถูกคนเดียว

พุทธศาสนาที่ยั่งยืนมานานจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะความสามัคคีนี้เอง ทีแรกพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วทรงสอนความสามัคคี ให้แก่เหล่าภิกษุพุทธบริษัท เมื่อภิกษุพุทธบริษัทเชื่อฟังคำตามมากเข้าจนเกิดเป็นหมู่คณะแล้ว จนทรงเห็นว่าพอจะรักษากันได้แล้ว จึงทรงมอบอำนาจให้แก่สงฆ์เพื่อรักษากันเอง

แม้แต่ธรรมะอันสูงที่พระองค์ทรงสอนอันจะ พึงเห็นด้วยใจของตนเอง ก็ไม่พ้นจากความสามัคคีนี้เหมือนกัน เช่น อริยมรรค แต่ละมรรคเมื่อจะเข้าถึงมรรคนั้นๆ ต้องรวมลงสู่ มัคคสมังคีรวมเอาธรรมทั้งปวงที่เป็นปัจจัยของมรรคนั้นๆ มาลงสู่มัคคสมังคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวเสียก่อน จึงจะถึงภูมินั้นๆ ได้


ธรรมที่มีอยู่ในตัว ของคนเราทุกวันนี้ ก็ต้องมีความสามัคคีกันจึงจะอยู่ได้ เช่น ตา หู จมูก ลิ้นและกาย แต่ละอย่างธรรมชาติแบ่งให้ทำงานอย่างละหน้าที่ของตนๆ ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ต่างมีความซื่อสัตย์สุจริตตรงต่อจิตคนเดียว ถ้าจะเปรียบก็เปรียบเหมือนรัฐบาลแบ่งออกเป็น ๕ กระทรวง แต่ละกระทรวงก็ทำตามหน้าที่ของตน ที่รัฐบาลแบ่งงานออกให้รับผิดชอบ

กระทรวงตา ก็รับผิดชอบทางเห็นรูป บรรดาสรรพรูปทั้งปวง จะรูปหยาบรูปละเอียด รูปดีรูปชั่ว แม้แต่รูปที่น่าอุจาดน่ารังเกียจที่สุดก็ต้องจำดูให้เห็น ตามคำบัญชาของจิตที่ต้องการ

กระทรวงหู รับทางได้ยินเสียง จะเป็นเสียงเพราะไม่เพราะ พึงพอใจหรือไม่พึงพอใจ จำต้องฟังตามคำบัญชาของจิตทั้งนั้นแม้แต่คำพูดด่าแช่งก็ต้องฟัง

กระทรวงจมูก สำหรับไว้ดมกลิ่น นี้ยิ่งร้ายกว่ากระทรวงอื่นๆ กลิ่นเหม็นกลิ่นหอม กลิ่นอะไรทั้งหมดก็ต้องยอมรับเอาทั้งนั้น และยอมรับเอาตลอดเวลาไม่มีเวลาพักผ่อน แม้แต่นอนหลับไปแล้วก็ต้องรับเอาอยู่ (คือลมหายใจยังมีอยู่)

กระทรวงลิ้น สำหรับไว้รับรสชาติ เผ็ด เค็ม หวาน เปรี้ยว กระทรวงนี้ค่อยยังชั่วหน่อย มีเวลาได้พักผ่อน แต่ก็ยังมีการงานเพิ่มเติมอีกมาก นอกจากจะมีไว้สำหรับรับรสชาติแล้ว ยังมีไว้ให้พูดคุยกัน เพื่อให้รู้จักภาษาสำเนียงเสียงสูงเสียงต่ำอีกด้วย ถ้าไม่มีลิ้นแล้วคนเราก็พูดอะไรไม่ได้ เหมือนกับหัวหลักหัวตอ จะหาความสนุกมาจากไหน

กระทรวงกาย สำหรับไว้รับรู้สัมผัส เย็น ร้อน นุ่มนวล อ่อน แข็ง กระทรวงนี้ค่อยยังชั่วหน่อย แต่งเอาได้ตามต้องการแต่รับภาระตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถไหนก็ตาม ต้องรับภาระสัมผัสอยู่อย่างนั้น แล้วก็เป็นตัวยืนของกระทรวงทั้งสี่ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นอีกด้วย ถ้ากระทรวงนี้ไม่มีแล้ว กระทรวงทั้งสี่นั้นก็มีไม่ได้

ตา หู จมูก ลิ้นและกาย ทั้ง ๕ อย่างนี้ ย่อมรับภาระหน้าที่แต่ละอย่างต่างๆ กัน ทำการงานเพื่อเสริมความสุขสามัคคีให้แก่จิตผู้เดียว ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกันและไม่ทะเลาะทุ่มเถียงแก่งแย่งแข่งดีซึ่งกันและกัน หากกระทรวงใดจำเป็นไม่สามารถจะทำหน้าที่ของตนนั้นๆ ได้แล้ว ตัวรัฐบาล (คือจิต) ก็จะเข้ารับภาระทำแทน เช่น ตาบอดลงมองไม่เห็นแล้ว จิตก็จะใช้มือหรือสิ่งอื่นอะไรพอจะสัมผัสแทนได้แล้ว จิตก็จะใช้ตรึกตรองจดจำเอาตามสัมผัสนั้นๆ

ไม่เหมือนรัฐบาลไทยเรา ทุกๆ คนที่เข้ามาเป็นรัฐบาลต่างก็ทำเพื่อชาติเพื่อประชาชน แต่เมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วส่วนมาก ก็กอบโกยเอาเพื่อเข้ากระเป๋าตนเองทั้งนั้น เป็นผู้แทนแล้วก็อยากเป็นผู้ช่วย เป็นผู้ช่วยแล้วก็อยากเป็นเลขา เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ตนเป็นแล้วก็อยากให้พวกพ้องพี่น้องญาติมิตรเป็นอีกไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ทราบว่าคุณวุฒิของตนจะมีเพียงพอหรือไม่ ขอให้ได้เป็นก็แล้วกัน มันจึงต้องยุ่งกันไม่มีที่สิ้นสุดได้ แต่ก็ยังดีที่มีนักการเมืองบางคนทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนจริงๆ จึงเป็นเครื่องยึดรั้งคนที่เห็นแก่ตัวไว้บ้าง ประเทศชาติจึงได้เป็นมาจนทุกวันนี้

สามัคคีธรรมนี้ถ้าหากผู้มีปัญญาสามารถนำไปใช้เป็นแล้ว ก็จะเกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่มหาศาลแก่ทางโลกและทางธรรม ธรรมแท้คือความสามัคคี ที่ทั้งโลกยึดถือไว้เป็นที่พึ่งใช้ตลอดกาล ความหายนะของโลก นับแต่กลุ่มเล็กที่สุดจนกระทั่งกลุ่มโตเป็นโลก ได้แก่ ความแตกแยกของสามัคคี


นั่งสมาธิ

จงตั้งใจภาวนากัน เราทุกคนเป็นลูกศิษย์พระกรรมฐานแล้ว จงตั้งใจภาวนาให้เป็นซิ ภาวนาคือตั้งสติกำหนดจิตให้เป็นหนึ่ง สติอันหนึ่ง จิตอันหนึ่ง สติคือผู้ทำการควบคุมจิต จิตคือผู้ส่งส่ายคิดนึกปรุงแต่งสัญญาอารมณ์ทั้งปวง เมื่อสติควบคุมจิต จิตจะต้องหยุดนิ่งอยู่ในที่เดียวนั่นแหละเป็นใจ สติ จิต รวมเข้ามาเป็นใจ แท้จริงก็ออกมาจากใจ จิตก็ออกมาจากใจ เมื่อรวมมาเป็นใจแล้ว ก็หมดเรื่องกันที

สิ่งเหล่านี้ทุกๆ คนก็มีกันทั้งนั้น เว้นแต่ไม่พากันพิจารณาจึงไม่เห็นจิต และไม่ตั้งสติรักษาจิตเท่านั้น ถ้าไปเห็นตัวจิตผู้คิดเมื่อไรแล้ว จะหยุดคิดนิ่งแน่วทันที อีกนั่นแหละบางคนกลับเห็นเป็นของไม่ดีเลยเป็นทุกข์เดือดร้อนว่า ภาวนามาจนจะล้มจะตาย ครูบาอาจารย์ที่ไหนดีๆ อยู่ไกลแสนไกลก็ไปให้ถึงจนได้ ภาวนาไปๆ ก็ได้เพียงแค่นิ่งเฉยเท่านั้น ขี้เกียจไม่เอาละ ความสุขของผู้มีกิเลส คือ ความวุ่นวายกับลูกหลาน การงาน ยึดว่าเป็นของกูๆ นั่นเป็นความสุขอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ว่างหมดไม่มีอะไรจะยึดถือ เลยเข้าใจว่าไม่ดีเป็นทุกข์ น่าเห็นใจมากทีเดียว

ผู้ไม่มีปัญญาเหมือนกับโบราณว่า เหมือนกับลิงได้แก้ว หรือไก่ได้พลอย สู้เมล็ดข้าวสารเมล็ดเดียวก็ไม่ได้ ถ้าผู้มีปัญญาแล้ว เมื่อจิตรวมมาเป็นใจแล้ว จะต้องตั้งสติกำหนดเอาผู้รู้นั้นไว้ว่าผู้รู้หรือธาตุรู้ ว่าเฉยนั้นยังมีอยู่ เมื่อกำหนดเอาผู้รู้หรือธาตุรู้ไว้ได้แล้ว ความรู้อันนั้นก็จะกว้างออกไป ความรู้อันนั้นก็จะแปลกต่างออกไปมากกว่าแต่ก่อนมากทีเดียว

ของเหล่านี้พูดยากพูดให้ฟังเฉยๆ ยากที่จะเข้าใจ ถ้าไม่ทำให้เห็นด้วยตนเองแล้ว จะพูดให้ฟังยังไงๆ ก็พูดไม่ถูก ฉะนั้นจงพากันทำภาวนาให้เกิดความรู้แจ้งเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง เพื่อจะให้หายความสงสัยต่อไป

   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

92
                                            วิธีล้างใจจากการจองเวร: ข้อแนะนำลดจิตอันเป็นอกุศลกับผู้อื่น

ถาม: ถ้าหมั่นไส้ใครคนหนึ่งไม่หายจะทำอย่างไรดีครับ? พยายามตั้งความนึกคิดเป็นกุศลกับเขาแล้ว แต่อย่างไรก็ต้องเวียนกลับมาหมั่นไส้อยู่ดี เหมือนใจเห็นไปแล้วว่าเขามีข้อเสียอย่างไร นึกถึงเขาเมื่อไหร่เลยเล็งอยู่แต่ข้อเสียตรงนั้นไม่เลิก ตอนนี้ไม่ค่อยอยากมีจิตเป็นอกุศลกับใครอีกแล้ว ขอคำแนะนำด้วยนะครับ


พระพุทธเจ้าตรัสว่าธรรมชาติของใจคนเรานั้นไหลลงต่ำ หมายความว่าถ้าจะขึ้นสูงก็ต้องออกแรงทวนกระแส จากความจริงนี้ ผมขอตั้งทฤษฎีขึ้นมาข้อหนึ่งนะครับ คือกำลังของใจที่ใช้ในการคิดไม่ดีมีขนาดเท่าใด ต้องใช้กำลังของใจในการคิดดีเป็นสองเท่า จึงจะลบล้างความคิดไม่ดีเดิมได้ แปลว่าถ้าคุณคิดหมั่นไส้ใคร แล้วแค่จะคิดตัดใจเลิกหมั่นไส้ดื้อๆ นั้น ไม่น่าเป็นไปได้
เว้นแต่คุณจะลงทุนออกแรงมากกว่าคิด

ลองเอาชนะกรรมทางความคิดเดิมด้วยกรรมใหม่ที่มีกำลังเหนือกว่า ซึ่งไม่ยากเกินไปดังนี้

๑) เห็นโทษของการเป็นคนมีนิสัยขี้หมั่นไส้
ว่าอาจก่อให้เกิดความคิดไม่ดี คำพูดไม่ดี และการกระทำไม่ดี แล้วตั้งใจเลิกนิสัยนี้เสีย การเห็นโทษของบาปหรืออกุศลเท่านั้น เป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้จิตฉลาดในกรรมอย่างแท้จริง เช่นหากปราศจากซึ่งการเห็นโทษของการหมั่นไส้เสียแล้ว คุณจะเอากำลังใจคิดอยากเลิกหมั่นไส้มาจากไหน?

๒) เห็นด้านดีของคนที่คุณหมั่นไส้
หมายถึงต้องเล็ง ต้องสังเกต หรือต้องสำรวจกันจริงๆ ไม่ใช่มองเล่นๆ พยายามหาให้เจอ และคุณรู้สึกออกมาจากส่วนลึกว่านั่นคือความดีของเขา นั่นคือคุณประโยชน์ของการมีเขาอยู่ในโลก จากนั้นให้เอาข้อดีที่พบไปพูดสรรเสริญให้คนอื่นฟัง เพียงแค่ครั้งสองครั้ง คุณจะเห็นใจตัวเองแตกต่างไป คือรู้สึกจดจำเขาในภาพใหม่ขึ้นมา นั่นก็เพราะคุณสร้างใจจริงดีๆ ด้วยการมองเห็นกรรมดีของเขาตามจริง แถมสำทับซ้ำให้หนักแน่นด้วยการพูดดีเชิดชูเขา เท่ากับก่อทั้งมโนสุจริตและวจีสุจริต ชนะมโนทุจริตเดิมขาดลอย เว้นแต่คุณไปว่าร้ายเขามานาน อันนี้ก็ต้องตามแก้ด้วยน้ำหนักบุญใหม่ พูดถึงเขาในด้านดีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้น้ำหนักเกินบาปเก่า ซึ่งจะรู้ได้ว่าถึงจุดนั้น ก็เมื่อใจคุณจะเบาหวิว มีแต่มุมมองด้านดี เห็นเขาแล้วอยากยิ้ม ไม่คิดเลอะเทอะเลื่อนเปื้อนอันใดอีกเลย

ความหมั่นไส้เป็นอารมณ์ที่ซับซ้อนอย่างหนึ่งของมนุษย์และสัตว์ มองหน้ากันแวบแรกสามารถเขม่นกันได้ทันที อาจเพราะรูปร่างหน้าตาดีกว่าเรา อาจเพราะได้ดีเกินที่เรารู้สึกว่าควร หรืออาจเพราะเคยมีความผูกพันทางด้านร้ายกันมาแต่ปางก่อนอย่างไรโดยธรรมชาติอันเป็นที่สุดแล้ว ต้นตอความหมั่นไส้มาจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเป็นหลักคนจนหมั่นไส้คนรวย คนตัวเหม็นหมั่นไส้คนตัวหอม คนทุศีลหมั่นไส้คนมีศีล เรียกว่าธรรมดาโลก

มนุษย์นี้นะครับ เพียงชาติเดียวก็เห็นอะไรได้หลายอย่าง ชีวิตเปิดโอกาสให้เราเคยเป็นทั้งผู้มองและผู้ถูกมอง เวลาเรามองคนอื่น เรามักไปตั้งความคาดหวัง ว่าทำไมเขาไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมเขาถึงไม่ทำอย่างนี้ ต่อเมื่อสลับที่ยืน ถึงเวลาเราไปอยู่ในจุดที่ถูกมอง เราก็อาจสงสัยว่าทำไมเขาไม่มองเราอย่างนี้
ทำไมเขาถึงมองเราเตลิดเปิดเปิงไปได้ขนาดนั้น

คนเราเข้าถึงกันได้จำกัด แต่ละคนอยู่ในกรอบของตัวเอง กรอบที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์ มุมมอง ความเชื่อ และความรู้สึก ยิ่งกว่านั้นคนเรามักจะนึกว่าเข้าใจสิ่งที่คนอื่นคิด โดยเอาความคิดของตนเองเป็นเครื่องวัด เช่นถ้าเรามาทำงานเร็วเพื่อเอาหน้า พอเห็นคนอื่นมาทำงานเร็วก็นึกว่าเขาอยากเอาหน้าเช่นกัน ทั้งที่ความคิดของเขาอาจแค่อยากเลี่ยงรถติดเท่านั้น หากมีอุบายใดที่คิด พูด และทำกับคนถูกหมั่นไส้ แล้วใจคุณรินเมตตาออกมา ก็เอาเลยครับ อย่าช้า เพราะเมตตานั่นแหละเป็นคลื่นจิตด้านบวก ที่ลบล้างมลทินทางใจได้ครอบจักรวาลแน่แท้



ถาม: อยากได้วิธีลัดๆ ในการกำจัดความคิดจองเวรออกจากใจทั้งเขาและทั้งเราครับ


คำถามข้อนี้ขอตอบด้วยคำตอบเดิมกับข้อก่อน คืออาศัยเมตตาจิต แต่อาจมีอุบายชนิดลัดสั้นตามที่คุณขอมา

ให้ไปที่หน้าหิ้งพระ (หากใครไม่มีโต๊ะหมู่บูชาที่บ้าน ก็หารูปแทนพระพุทธเจ้ามาตั้งไว้ในที่สูง เหนือศีรษะก็ได้) แล้วทำความรู้สึกว่าถ้าพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ตรงหน้าเราจริงๆ เราจะรู้สึกถึงรัศมีความปลอดภัย รัศมีความปลอดเวร เพราะพระพุทธองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่ด้วยการให้ความเกื้อกูล ไม่เคยเบียดเบียนใครด้วยเจตนาทางกาย วาจา หรือแม้กระทั่งใจคิดสักครั้ง

เมื่อสัมผัสได้ถึงกระแสเมตตามหากรุณาของพระองค์ท่าน คุณรู้สึกถึงความโปร่งเบาโล่งสบายเฉพาะหน้า จากนั้นให้เปล่งวาจาชัดถ้อยชัดคำว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ผูกเวรกับใคร ขณะกล่าวให้ทำความรู้สึกถึงความจริงนั้น หากเกิดดวงความอบอุ่น หรือสัมผัสชัดถึงความว่างจากภัยเวร ขอให้ทราบว่าด้วยการเปล่งวาจาประกาศคุณของพระพุทธองค์ของคุณ ได้เหนี่ยวนำเอาพลังแห่งความจริงดังกล่าวมาเข้าตัวคุณในบัดนั้นแล้ว

ชั่วขณะดังกล่าวจิตคุณจะปลอดจากความผูกใจพยาบาท ไม่อยากก่อเวรกับใครทั้งโลก รู้ไว้ว่าจิตของคุณเป็นดวงกุศล มีความศักดิ์สิทธิ์ด้วยพุทธคุณ ให้เป่าลมปาก เพื่อใช้ธาตุลมเป็นสื่อเหนี่ยวนำจิตให้เกิดความรู้สึกชัด น้อมนึกให้สายลมนั้นไปปะทะบุคคล อันเป็นเป้าหมายเสมือนเขานั่งอยู่ตรงหน้า ระหว่างคุณกับเขาคือความปลอดภัย ปลอดเวร


เอ่ยสามครั้ง เป่าปากสามครั้ง เพื่อสำทับอารมณ์ให้หนักแน่น หากทำเช้าเย็น (หรือถี่กว่านั้นยิ่งดี) สิ่งที่คุณจะรู้สึกชัดกับตัวคือ เหมือนมีรัศมีพุทธคุณมาป้องจิตไม่ให้หลงเข้าไปเกลือกกลั้วกับเวรใดๆ และเหมือนมีความอบอุ่นปลอดภัยห่อหุ้มกายใจเกือบตลอดเวลา แต่สิ่งที่คุณอาจไม่ตระหนักคือดวงความอบอุ่นปลอดภัยนั้น เป็นพลังเมตตาอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลกระทบกับความรู้สึกของคู่เวรของคุณโดยตรง ตามธรรมชาติกระแสจิตที่แผ่กระทบกันได้โดยไม่ต้องเห็นตัว ยิ่งดวงความอบอุ่นขยายกว้าง และจิตใจคุณสงบเยือกเย็นอยู่ภายในยิ่งขึ้นเท่าไหร่ เขาก็จะค่อยๆ รู้สึกแบบเดียวกับคุณมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าทำขณะเห็นหน้าอาจไม่ได้ผล เพราะกำแพงความเกลียดกันมาขวางบัง ต่างจากตอนทำลับหลัง ซึ่งเจ้าตัวไม่ได้ตั้งกำแพงความเกลียดกั้นไว้ การทำลับหลังอย่างบริสุทธิ์ใจจะให้ผลน่าประหลาดใจ เมื่อเจอหน้ากันครั้งต่อไป มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณแผ่เมตตาด้วยวิธีนี้จนจิตเกิดกระแสเมตตาท่วมท้น ก็อาจพบว่าการแผ่เมตตาซึ่งๆ หน้าได้ผลไม่แพ้เมื่อทำลับหลังเช่นกัน

หากเปล่งวาจาอ้างสัจจะความจริงที่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ผูกเวรกับใคร แล้วใจยังไม่นิ่ง ไม่น้อม ก็อาจสวดมนต์อิติปิโสฯ สักสองสามจบให้ใจสัมผัสกระแสพุทธคุณกว่าเดิม แล้วค่อยเปล่งวาจาก็ได้ หวังว่าคงเป็นทางลัดที่ลองแล้วประสบความสำเร็จเร็วดังใจนะครับ

   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด พลังจิต

93
                                                       ให้มีสติเตือนใจเราเรื่องเวลา
* ถ้าอยากรู้ว่าเวลา 1 ปี มีค่าเพียงใด ให้ถามนักเรียนที่สอบไล่ตก
* ถ้าอยากรู้ว่าเวลา 1 เดือน มีค่าเพียงใด ให้ถามมารดาที่ต้องคลอดบุตรก่อนกำหนด
* ถ้าอยากรู้ว่าเวลา 1 สัปดาห์ มีค่าเพียงใด ให้ถามบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์
* ถ้าอยากรู้ว่าเวลา 1 ชั่วโมง มีค่าเพียงใด ให้คู่รักรอเวลาที่จะพบกัน
* ถ้าอยากรู้ว่าเวลา 1 นาที มีค่าเพียงใด ให้ถามคนที่พลาดรถไฟ รถประจำทาง หรือ เครื่องบิน
* ถ้าอยากรู้ว่าเวลา 1 วินาที มีค่าเพียงใด ให้ถามคนที่รอดจากอุบัติเหตุอย่างหวุดหวิด
* ถ้าอยากรู้ว่าเวลาในเสี้ยววินาที มีค่าเพียงใด ให้ถามนักกีฬาโอลิมปิกที่ได้เหรียญเงิน

*** เวลาไม่เคยรอใครเราควรใช้เวลาทุกขณะอันมีค่ายิ่งให้ดีที่สุด ***
*** จงแบ่งปันเวลาให้กับใครบางคนที่เรารักเป็นพิเศษ ***


  ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด kusol


94
ธรรมะ / พุทธศาสนสุภาษิต
« เมื่อ: 29 ก.ย. 2553, 05:22:04 »
                                                        พุทธศาสนสุภาษิต
1 ตนเป็นที่พึ่งของตน
2 ปัญญาย่อมประเสริฐกว่าทรัพย์
3 คนขยัน ย่อมหาทรัพย์ได้
4 คนโง่ คนพาล ไม่ควรเป็นผู้นำ
5 ชนะตนนั่นแหละประเสริฐกว่า
6 พูดอย่างไร ทำได้อย่างนั้น
7 คำจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
8 การกู้หนี้ เป็นทุกข์ในโลก
9 บัณฑิตย่อมฝึกตน
10 ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
11 จงเตือนตน ด้วยตนเอง
12 ความสุขอื่น ยิ่งกว่าความสงบไม่มี
13 บิดามารดา เป็นบูรพาจารย์ของบุตร
14 คนเห็นแก่ตัว เป็นคนสกปรก
15 ความมีสติป้องกันความเลวร้ายได้
16 คนโกรธย่อมฆ่าได้แม้มารดาของตน
17 ฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา
18 เมื่อคบคนดีกว่าตน ตนเองก็ดีขึ้นมาทันที
19 อยู่ร่วมกับคนชั่ว ย่อมมีแต่ความทุกข์
20 คนเกียจคร้าน ย่อมไม่พบความสุข
21 สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
22 ความเป็นเพื่อนไม่มีในคนพาล
23 ผู้ฝึกตนได้เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์
24 พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
25 วาจาของคน ย่อมส่องเห็นน้ำใจ
26 ปราชญ์ว่า มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาประเสริฐที่สุด
27 ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
28 ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้
29 ถ้าจะทำ ก็ควรทำให้จริง
30 ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
31 ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
32 ความชั่วเมื่อทำแล้ว ย่อมเดือนร้อนภายหลัง
33 คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
34 บิดามารดาเป็นพรหมของบุตร
35 คบคนดี ย่อมเจริญขึ้น
36 ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้
37 ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี
38 ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะย่อมนำสุขมาให้
39 การไม่คบคนชั่วเป็นมิตร เป็นมงคลอันอุดมยิ่ง
40 ความอดทน นำสุขมาให้
41 กินคนเดียว ย่อมไม่ได้ความสุข
42 เมตตา เป็นเครื่องค้ำจุนโลก (กรมพระยาวชิรญาณวโรรส)
43 พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต พึ่งสละ ทั้งทรัพย์ อวัยวะ และ ชีวิต เพื่อรักษาธรรม (ความถูกต้อง)

   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด kusol

95
                                            อนุโมทนากับคนที่ทำบุญ เราก็ได้บุญด้วย อานิสงส์ของการอนุโมทนา


อานิสงส์ของการอนุโมทนา

ปัตตานุโมทนามัย...อนุโมทนากับคนที่ทำบุญ เราก็ได้บุญด้วย

ผู้ถาม มีคนฝากให่มาถามหลวงพ่อว่าพ่อแม่ไม่ค่อยทำบุญแต่เป็นคนดี คนซื่อ ถ้าบุตรหลานทำให้แล้วจะใส่ชื่อเขาด้วยอยากทราบว่า ท่านจะได้หรือไม่ครับ

หลวงพ่อ เขาโมทนาด้วยหรือเปล่าถ้าลูกไปบอกว่า "พ่อ(หรือแม่) ฉันทำบุญให้แล้ว ถ้าท่านยินดีด้วย ท่านได้แน่นอนถ้าบอก กูไม่รูโว้ย ด่าตะเพิด อันนี้ไม่ได้แน่

ผู้ถาม อย่างเลวาเลิกพระกรรมฐานแล้ว ก็มีคนไปถวายสังฆทานกับหลวงพ่อแต่หนูไม่มีของก็ยกมืออนุโมทนาด้วย อย่างนี้จะมีอานิสงส์ไหมคะ...?

หลวงพ่อ อานิสงส์ที่จะพึงได้ก็คือ ปัตตุนาโมทนามัยเป็นผลกำไรจากการเจริญพระกรรมฐานไม่ต้องลงทุน ถ้าตั้งใจจริงถึง 90 เปอร์เซ็นต์เจ้าของได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เราได้ครั้งละ 90 ผ่านไป 10 คนเราได้ 900 มากกว่าเจ้าของ เอ้า! เยอะจริงๆ มันทำบารมีให้เต็มเร็ว เร็วมาก
การโมทนาเขาแปลว่า ยินดีด้วย ต้องยินดีด้วยความจริงใจนะ สักแต่ว่า สาธุ มันไม่ได้อะไร คำว่า "สาธุ" ไม่จำเป็นต้องออกเสียง ไม่จำเป็นต้องยกมือไหว้ก็ได้เอาใจยินดีใช้ได้เลย
และการแสดงความยินดีมันก็คือ มุทิตา เป็นตัวหนึ่งในพรหมวิหาร 4 นี่บุญตัวใหญ่ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า "จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติปาฏิกังขา" ถ้าก่อนตายจิตผ่องใส ก็ไปสู่สุคติ หมายถึง สวรรค์ ก็ได้ พรหมก็ได้นิพพานก็ได้ สุดแล้วแต่กำลังใจเรา
และการโมทนานี่ทำให้ชุ่มชื่นใจใช่ไหม....เขาทำดีเรายินดีด้วย ยินดีกับความดีของเขา ไม่ช้าเราก็ดีตามเขาเพราะเราเห็นเขาดี เราก็ชอบดีไหม... แต่อย่าไปชอบดีเฉยๆ นะ ต้องทำดีด้วยนะทำบุญด้วยตนเองบ้าง

ผู้ถาม หลวงพ่อครับ ปัตตานุโมทนามัย กับไวยาวัจจมัย นี่เหมือนกันไหมครับ

หลวงพ่อ ไวยาวัจจมัย เขาแปลว่าขวนขวายในกิจการงาน เช่น เขาส่งสตางค์มาทำบุญ เราช่วยส่งต่อหรือพวกที่ช่วยขนสังฆทานนี่ ก็พลอยได้บุญไปด้วย มีอนิสงส์ต่ำกว่าบวรเณรนิดหนึ่งไม่เบานะ
แต่ ปัตตานุโมทนามัย ไม่ต้องลงทุน แต่พวกถือมานี่ ยังต้องออกแรงนะพวกโมทนานี่ไม่ต้องออกแรงเลย แต่อย่าลืมนะเอาแค่โมทนาอย่างเดียวไม่ดีนะต้องอาศัยคนต้นตลอด ถ้าไม่ได้อาศัยคนต้นจริงๆ จะสำเร็จมรรถผลไม่ได้ เช่นเดียวกับพระนางพิมพา ต้องอาศัยพระพุทธเจ้าตลอด

บุญจากการอนุโมทนา

ผลของบุญนั้นมีความมหัศจรรย์มากเพราะบุคคลบางคนไม่ได้สละทรัพย์เป็นเจ้าของวัตถุทานและไม่ได้เป็นผู้ถวายทานนั้นด้วยมือแต่เป็นผู้มีความยินดีเลื่อมใสในการทำบุญของบุคคลอื่นบุคคลนั้นก็จะได้รับผลของบุญประหนึ่งเป็นเจ้าของวัตถุทานหรือเป็นผู้ถวายทานนั้นเองดังเช่นผลบุญที่เกิดกับเพื่อนของนางวิสาขามหาอุบาสิกา

ครั้งหนึ่งพระอนุรุทธะเถระจาริกไปในดาวดึงส์เทวโลก เห็นทิพย์วิมานหลังใหญ่ กว้างยาวและสูง ๑๖โยชน์ แวดล้อมด้วยอุทยานและสระโบกขรณี ล่องลอยอยู่ในอากาศแผ่รัศมีไปไกลถึงร้อยโยชน์ เจ้าของวิมานนั้นเป็นเทพธิดาวรรณะงามมีรัศมีสว่างไปทั่วทุกทิศ มีกลิ่นทิพย์หอมยวนใจฟุ้งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่เมื่อยามเยื้องกรายหรือร่ายรำก็มีเสียงทิพย์อันไพเราะ น่าฟัง น่ารื่นรมย์ใจเปล่งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ พระอนุรุทธะเถระจึงถามเทพธิดานั้นว่าเธอทำบุญด้วยอะไรทิพย์สมบัตินี้จึงเกิดขึ้นแก่เธอ
นางเทพธิดาตอบพระเถระว่าข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันเป็นเพื่อนของนางวิสาขามหาอุบาสิกาเมื่อเพื่อนของดิฉันสละทรัพย์ถึง ๒๗ โกฏิ สร้างบุพพารามมหาวิหารเธอชวนดิฉันและสหายอีก ๕๐๐ คน ไปเที่ยวชมปราสาทดิฉันได้เห็นสมบัติปราสาทที่เธอสร้างถวายพระภิกษุสงฆ์ที่ดิฉันเคารพ ดิฉันเลื่อมใสจึงอนุโมทนาบุญกับเธอว่า สาธุ สาธุ
ด้วยอานิสงส์ของการอนุโมทนาบุญนี้ทิพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านี้จึงบังเกิดแก่ดิฉัน

ปัตตานุโมทนามัย

ปัตตานุโมทนา เเปลว่าการอนุโมทนาส่วนบุญคือความพลอยชื่นชมยินดีส่วนบุญที่คนอื่นทำเเล้วมาบอกให้ทราบหรือเขาไม่บอก เเต่เมื่อทราบเข้าก็เกิดมุทิตามีจิตยินดีด้วยปราศจากความอิจฉาริษยาในบุญหรือความดีของเขาเเละพร้อมเสมอที่จะปฏิบัติหรือทำบุญอย่างเขาบ้างเมื่อมีโอกาส

ปัตตานุโมทนาเป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย เเปลว่าบุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ หมายถึงบุญที่เกิดจากการอนุโมทนาในบุญในความดีที่คนอื่นทำ

ปัตตานุโมทนามัยเป็นเหตุให้มีความสุขใจ ไม่ร้อนใจเพราะไฟริษยา ได้รับความสนิทสนมกับผู้ให้ส่วนบุญเเละเป็นเหตุให้ตนปรารถนาทำบุญความดีเช่นเขาบ้าง

เมื่อตัวเองได้ทำเเล้วก็จะได้รับผลเป็นความสุขยิ่งขึ้นไป


    ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

96
                                                              ระงับโทสะและการจองเวร

    ผมมีประสบการณ์เกี่ยวกับศัตรูในปัจจุบันชาติอีกคนหนึ่ง คนนี้เริ่มเข้ามาในวงจรชีวิตของผมเมื่อ 14 ปีที่แล้ว และเพิ่งจะจบการจองเวรซึ่งกันได้ไม่นาน แต่สำหรับผมนั้นหยุดการจองเวรกับเค้านานแล้ว แต่เค้าเพิ่งจะหยุด และเริ่มกลับมาเป็นมิตรกับผม

ผมขออนุญาติเล่าให้ฟังนะครับ

คนคนนี้คือน้องเขยของผมครับ

น้องเขยของผมคนนี้เริ่มคบกับน้องสาวผมโดยที่ไม่มีใครรู้ มารู้กันก็เมื่อตอนที่มีอะไรกันแล้ว และเป็นคนที่แม่ผมไม่ชอบมาแต่แรก แรกๆที่ผมเห็นก็รู้สึกไม่ค่อยชอบเท่าไหร่เช่นกัน แต่ไม่มากมายอะไร และในหมู่พี่น้อง 3 คน มีอะไรก็ปรึกษากัน แต่ถ้าใครจะรักใคร ก็ไม่ห้าม แค่เตือนตามที่จะเตือนได้ แต่จะฟังหรือไม่ นั่นก็อีกเรื่อง

ผมขอกล่าวถึงนิสัยที่ไม่ดีบางอย่างของน้องเขยผมคนนี้ น้องเขยผมเป็นคนที่เจ้าชู้มากๆ (ลูกเขาเมียใครไม่เว้น) ขี้โม้ขี้อวด เจ้าอารมณ์ ชอบข่มผู้อื่น และไม่เคยให้ใจกับผู้ใด ประจบคนเก่ง

ส่วนข้อดีก็มี คือ รักพ่อแม่ รักลูก ขยันทำมาหากิน เข้าได้กับทุกคน

น้องเขยผมคนนี้ เจ้าชู้ ผมและพี่ชาย เคยเห็นไปเที่ยวกับผู้หญิงอื่นหลายครั้งหลายหน รวมถึงการไปได้กับผู้หญิงคนไหนบ้าง เท่าที่ผมพอจะรู้และไม่รู้อีกมาก (ในแถวๆบ้าน ผมเองก็มีคนรู้จักเยอะ และรู้จักคนในครอบครัวผม)

ทั้งผมและพี่ชายก็เคยเตือนถึงพฤติำรรมของน้องเขยให้น้องสาวฟังอยู่บ้าง แต่น้องสาวก็แค่คิดมากและเสียใจ แต่เลิกไม่ได้ พวกผมก็เลยหยุดเตือน เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่จะทำให้น้องสาวทุกข์ใจเปล่าๆ

และเหตุการณ์นี้เอง ที่ผมว่าลูกเขาเมียใครไม่เว้น เพราะว่าน้องเขยผมคนนี้ จะเอาภรรยาคนแรกของผม ช่วงนั้นผมทำงานกลางคืนอยู่ และภรรยาผมก็ชอบเที่ยว น้องเขยคงเห็นว่ามีโอกาส จึงคิดฉวยโอกาส

ผมรู้มาจากปากของภรรยาผมเอง ภรรยายอมรับแบบหมดเปลือก (หรือเปล่าไม่รู้) ว่าน้องเขยชวนภรรยาผมไปนอนด้วย และชวนหลายครั้งแล้ว (และในช่วงนั้น ก็มีคนเห็นน้องเขยของผมกับภรรยาของผมไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อยๆ และผมรู้มาจากน้องชายของภรรยา และคนในระแวกนั้น) เมื่อผมรู้ บอกตามตรงว่าผมโกรธมาก นี่เ็อ็งคิดเล่นของคนในครอบครัวเลยเชียวหรือ

และหลังจากที่ผมเลิกกับภรรยาคนแรกไปแล้ว ภรรยาผมก็ยังกลับมาเยี่ยมผมอยู่บ้าง (เพราะเค้าทิ้งผมไปตอนที่ผมยังป่วยหนักอยู่) แต่แปลก มาเยี่ยมผมแค่แป๊ปเดียว แต่กลับไปคลุกอยู่ที่ห้องของน้องสาวผมกับน้องเขยทั้งวัน แถมยังให้น้องเขยขับรถไปส่งอีก (ไม่รู้ว่าจะมาเยี่ยมใครกันแน่)

แต่ยัง ผมยังไม่ระเบิดอารมณ์ ผมเก็บข้อมูลเอาไว้ เพราะช่วงนั้น ภรรยาของผมเองก็ทำตัวไม่ดี ผมเฝ้าดูพฤติกรรมอยู่เงียบๆ

แต่มีครั้งนั้นที่น้องเขยทำให้ผมโกรธมาก เพราะตอนนั้นที่ผมป่วยเป็นฝีในลำไส้ เลือดออกอยู่ตลอด ทำให้ไม่มีแรงทำงาน น้องเขยของผม ด่าผมกับพ่อแม่และคนอื่นๆ ว่าผมเป็นคนขี้เกียจ อ้างโน่นอ้างนี่เพื่อจะได้ไม่ต้องทำงาน โดยที่ยังไม่รู้ถึงสาเหตุของผมสักนิด พ่อแม่ก็เลยพากันเห็นด้วยกันหมด แต่ว่าตอนนั้นผมไม่มีแรงจะไปสู้รบกับใคร ผมจึงแค่รู้สึกโกรธ และคืนนั้นเองที่ผมหนีออกจากบ้าน และสุดท้ายก็ไปอยู่ที่โรงพยาบาล พอแม่และคนอื่นๆไปเยี่ยม จึงได้รู้ความจริง

พอผมได้เลือดจนเริ่มกลับมามีแรงอีกครั้ง ผมกลับไปจะเอาเรื่องน้องเขยผม (เนื่องด้วยความแค้นที่สะสมมามากแล้ว) แต่น้องสาวมาห้ามไว้ และคนอื่นๆอีก ผมจึงหยุด แต่กล่าววาจาอาฆาตไว้ และบอกว่ารู้ถึงเรื่องที่แอบมีอะไรกับภรรยาของผมด้วย แล้วผมก็เดินจากออกมา (แต่ก่อนเดินจากออกมา ผมเตะต้นไม้หักไปต้นหนึ่ง) ผมเดินออกมาได้สักพัก น้องเขยรีบวิ่งมาหา คุยกับผม 2 ต่อ 2 พูดทำนองขอโทษ แต่ก็มีการเอาปืนมาขู่กันด้วย แต่ตอนนั้นสติของผมกลับมาแล้ว ผมหยุดโกรธไปแล้ว ผมจึงเฉยๆ และบอกไปว่า พอเถอะ ไม่ต้องพูดอะไรหรอก ไม่โกรธแล้ว ไม่ทำอะไรหรอก

ยังไม่พอ น้องเขย ชอบไปด่านินทาผมลับหลังให้คนอื่นฟังอยู่บ่อยๆ และคนพวกนั้นแหละที่มาบอกผม และชอบข่มเหงวางอำนาจกับผมทั้งต่อหน้าคนอื่นและเมื่อคุยกัน 2 ต่อ 2 ไม่เคยเรียกผมว่าพี่ ทั้งๆที่อายุห่างกัน 6 ปี และไม่เคยเกรงใจหรือให้ความเคารพ

ต่อมาน้องเขย เริ่มกินเหล้าหนักขึ้น และเริ่มทุบตีน้องสาวของผม แต่จะตีกันแรงๆ ตอนที่แม่ไม่อยู่ (ในช่วงนี้พ่อของผมเสียแล้ว) ทั้งผมและพี่ต้องมาคอยห้ามและพาน้องสาวหนีไปอยู่ที่อื่นสักพัก

แต่น้องสาวของผมก็ไม่เข็ด ยังกลับมาอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม แถมช่วงที่หนียังเป็นห่วงเค้าอีก (นี่แหละที่เค้าเรียกว่าคู่เวรคู่กรรม)

มีครั้งหนึ่งที่พลาด ดันเมาแล้วตีน้องสาวผมตอนที่แม่อยู่ด้วย ผมกับแม่ก็ช่วยกันห้ามพัลวัน จนแม่ผมเรียกให้ตำรวจมาช่วยจับน้องเขยผมคนนี้ เอาไประงับสติอารมณ์ ได้นอนโรงพักคืนนึง

แม่ผมบอกน้องสาวให้เลิกกับน้องเขย แต่น้องสาวผมไม่เลิก แถมตอนที่น้องเขยติดคุก น้องสาวยังไปห่วงเค้าอีก (เฮ้อ.........กรรม) ผลสุดท้ายแม่ผมเลยให้ออกไปอยู่กันที่อื่น เพราะแม่ไม่อยากเห็นลูกตัวเองถูกเค้าตีอย่างนี้

น้องสาวกับน้องเขยก็เลยไปหาเช่าห้องอยู่กันข้างนอก และในช่วงนี้เอง เมื่อผมบังเอิญไปเจอน้องเขยข้างนอก ถ้าไปทัก น้องเขยจะทำท่าเอาเรื่องทันที (ดูเหมือนกับหมาบ้า) วันหลังผมเลยไม่ทัก

ทุกท่านเองก็คงจะเคยรู้สึก เมื่อเราบังเอิญไปเจอกับคนที่เป็นศัตรูกับเรา ความรู้สึกมันจะเป็นยังไง มันจะอึมครึม รู้สึกกระวนกระวาย รู้สึกเครียดขึ้นมาทันที ผมเองก็เช่นกัน และพร้อมที่จะเข้าห้ำหั่นกันได้ทุกเมื่อ ถ้ามีอารมณ์หรือสถานการณ์พาไปแม้แต่นิดเดียว

และเมื่อต้นปีมานี้เอง น้องเขยกับน้องสาวผม ซื้อรถมาใหม่ ขับมาอวดคนที่บ้านผม มาแบบวางมาด และมีการคุยข่มผมและเยาะเย้ยถากถาง (ตามประสาของเขา)

แต่ว่าช่วงนั้น ผมได้ปฎิบัติธรรมมาพอสมควรแล้ว เริ่มปฎิบัติอย่างจริงจังมาได้ 4-5 ปีแล้ว และผลของการปฎิบัติเริ่มได้ผลเมื่อ 1-2 ปีนี้เอง ผมจึงเฉยๆ แต่ผมถามอะไรเขาบางอย่าง เพื่อที่จะดูว่า เขาเปลี่ยนนิสัยไปบ้างหรือยัง และจากที่ฟังคำตอบ หรือคำพูดบางอย่าง เขายังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ผมนั้นไม่มีอะไรแล้ว แต่น้องเขยผมยังคงมีความระแวง และไม่ชอบผมอยู่
ตลอดเวลาที่น้องเขยมาที่บ้านกับน้องสาวผม เราไม่เคยคุยกันเลย ผมเองก็ไม่เริ่มก่อน เพราะรู้ว่าทุกอย่างต้องอยู่ที่เค้าเท่านั้นเป็นผู้เริ่ม

ประมาณ 1 เดือน ที่ผ่านมานี้ น้องเขยเริ่มเข้ามาคุยดีกับผมแล้ว เราคุยกันดีปกติ ถึงจะยังไม่สนิทใจนัก เพราะความที่เคยเป็นศัตรูกันมาก่อน

แต่เรื่องราวความแค้นของผมกับน้องเขย การจองเวรพยาบาท ทุกอย่าง หยุดลงแล้ว

ผมรู้สึกยินดี ที่ความอาฆาตพยาบาทในใจผม ได้หมดลงแล้ว ความสงบสุขในใจ มีเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นเท่าทวีคูณ

ปล.ในช่วงที่ผมเริ่มปฎิบัติอย่างจริงจังช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น ถึงผมจะแผ่เมตตาไปให้กับทุกคน ทุกภพภูมิ แต่ผมก็ไม่เคยคิดที่จะแผ่ให้กับน้องเขยของผม เนื่องจาก ผมแค้นเค้ามาก จนได้อ่านเรื่องธรรมะมากขึ้น และผลจากการปฎิบัติที่เริ่มส่งผล ทำให้ผมเริ่มที่จะแผ่ให้กับน้องเขย เพื่อที่จะหยุดการจองเวรในจิตของตนเอง เมื่อประมาณต้นปีมานี้เอง และก็ส่งผลในปัจจุบันนี้


     ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด พลังจิต

97
                                                      หยุดความคิด หยุดกิเลส อยู่กับปัจจุบัน[/size

ถาม : อำนาจ ริษยา อาฆาต พยาบาท ถือตัว น้อยใจ จะแก้อย่างไร ?

ตอบ : ริษยา อาฆาต พยาบาท น้อยใจ เป็นสาขาหนึ่งของโทสะ อำนาจและถือตัวเป็นทั้งสักกายทิฐิ และ มานะ ด้วย

ถาม : เราจะแก้ไขและทำลายสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ?

ตอบ : ใช้ตัวเดียวเท่านั้น คือ ประคองสติให้อยู่เฉพาะหน้า อย่าให้ไปข้างหน้า (อนาคต) แล้วอย่าให้ไปข้างหลัง (อดีต) โดยเฉพาะตัวอดีต จะทำให้ น้อยใจ คอยจะคิดปรุงว่าเขาไม่ดีกับเราอย่างนั้น ไม่ดีกับเราอย่างนี้ ทั้งๆ ที่เราดีแสนดีแล้ว จะต้องหยุดกำลังใจให้หยุดอยู่เฉพาะหน้า ถ้าหยุดอยู่เฉพาะหน้าได้ ก็จะไม่ไปน้อยใจให้เสียเวลา


ถาม : อิจฉาเป็นอย่างไรคะ ?

ตอบ : อิจฉาเกิดจากตัวโลภ อยากได้ใคร่มีแบบเขา พอไม่มีแบบเขาก็เกิดอิจฉาขึ้นมา

ตัวโลภ(โลภะ) กับ ตัวรัก(ราคะ) เป็นตัวเดียวกัน อิจฉาริษยาเขาเพราะว่า เราจะสู้เขาไม่ได้ ในเมื่อดีสู้เขาไม่ได้ ก็กลัวว่าเราจะไม่ได้รับความรักจากคนอื่น ตัวนี้ภาษาบาลีเรียก "อิสสา" เกือบจะตรงกับคำว่าอิจฉาอยู่แล้ว

ถาม : แล้วจะแก้อย่างไร ?

ตอบ : แก้เหมือนกันเลย เพราะเป็นการฟุ้งซ่าน ส่วนใหญ่การฟุ้งซ่านไม่ไปในอดีต ก็ไปอนาคต เพราะฉะนั้น..ถ้าหยุดอยู่กับปัจจุบันได้ กิเลสทุกตัวตายเกลี้ยง..!

ถาม : แล้วตัวพยาบาท ?

ตอบ : เหมือนกันหมด ตัวพยาบาทนั้นเป็นรากที่ฝังลึกของโทสะ

แรกๆ ก็เป็น ปฎิฆะ ก่อน คือกระทบแล้วไม่พอใจ พอเราไปคิดปรุงแต่งเพิ่มเติม ก็เกิดเป็น โทสะ อาละวาดขึ้นมา พออาละวาดขึ้นมาไม่ได้อย่างใจ คราวนี้ก็จะกลายเป็นไฟสุมขอน เป็น พยาบาท เก็บเอาไว้เรื่อยๆ เดี๋ยวอกแตกตายไปเอง

ในการหยุดกิเลสทุกอย่าง ถ้าเราหยุดกำลังใจของเราได้ คือการหยุดความคิด ตัวคิดนั่นก็คือตัวจิตสังขารในการปรุงแต่ง ถ้าหยุดตัวนี้ลงได้ ตัวอื่นก็หยุดหมด ดับหมด ถ้าไม่มีน้ำมันใส่ลงไปซะอย่าง เครื่องยนต์ก็ไปไม่ได้หรอก พอเครื่องดับหมด ระบบการทำงานอื่นๆ ก็ไม่ทำงาน

ถาม : หมายความว่า ถ้ากิเลสเกิดขึ้น มีอยู่ ถ้าหยุดได้ก็จบ ?

ตอบ : ก็จบแค่นั้น แค่เลิกทำ พูดง่ายๆ เลิกทำก็จบแล้ว

ถาม : ตัวนี้มีกันทุกคนหรือเปล่าเจ้าคะ ?

ตอบ : มีทุกคน จะมากจะน้อย อยู่ที่กำลังใจของแต่ละคน ธรรมชาตินิสัยคนไม่เหมือนกัน บางคนเกิดมาอิจฉาคนไม่เป็นเลยใช่ไหม ? ดีทุกอย่าง แต่ว่าดันไปเป็นคนประเภทราคะจริต คือรักสวยรักงาม อะไรที่เป็นของสวยของงาม สะสมไว้เต็มบ้านเลย เป็นซะอย่างนั้น แต่ละคนจะมีเด่นขึ้นมาตัวใดตัวหนึ่ง แต่ก็เป็นสาขาของ รัก โลภ โกรธ หลง ทั้งนั้น

ถาม : สรุปแล้วคืออยู่กับปัจจุบัน ?

ตอบ : อยู่กับปัจจุบันจนกระทั่งวางปัจจุบันได้ก็จบ ไม่ใช่อยู่กับปัจจุบันเฉยๆ นะ ถ้าอยู่กับปัจจุบันเฉยๆ ก็แปลว่าเราแค่อาศัยกินได้ตอนนี้เท่านั้น เผลอเมื่อไรก็เสร็จอีก เพราะฉะนั้นให้ วางปัจจุบัน ลงไปด้วย

ถาม : วิธีวางปัจจุบัน ทำอย่างไร ?

ตอบ : ตรงนี้ละเอียดมาก เอาเป็นว่าค่อยๆ หยุดอยู่กับปัจจุบันให้ได้ก่อน ถ้าหยุดได้เมื่อไร จะบอกวิธีวางให้ ตอนนี้ หยุดก็ยังหยุดไม่อยู่เลย

ถาม : หยุดได้แล้วจะมาถามใหม่ ?

ตอบ : จ้ะ... จะรอ ให้เวลาสิบปีถ้วน ...(หัวเราะ)... สิบปีนี่อย่างนานที่สุด อาจประเภทเจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน อย่างนี้ก็ได้


สนทนากับพระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๔


   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด พลังจิต

98
                                                         วิธีแก้กรรมในความรัก


  1. แก้กรรมร้างคู่
คนบางคนขาดคู่แท้ คู่ถาวรเพราะวิบากกรรม
ชาติก่อนอาจเคยทำให้คู่รักต้องเลิกกันไปโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
หรืออาจเคยพรากคู่รักให้แยกจากกัน
หรือเคยยุยงให้เขาแตกกัน
หรือขัดขวางมิให้เขาได้ครองคู่กัน
การแก้กรรมดวงที่ร้างคู่ให้ปฏิบัติ ดังนี้

1.1 ถวายเทียนคู่หรือแจกันคู่
ถวายให้ครบ 9 วัดอย่างต่อเนื่อง
จะทำบุญเดือนละ 1 วัดหรือ 2 วัดก็ได้ตามแต่สะดวก
ให้ถวายในวันเกิดของตน เช่น คนเกิดวันพุธ ก็ไปทำบุญวันพุธ
อธิษฐานจิตขอทำบุญเพื่อแก้วิบากกรรม
ตั้งจิตภาวนาขอพรเรื่องคู่ตามที่หวัง
(สามารถถวายสิ่งของอื่นแก่วัดได้ แต่ควรถวายสิ่งของที่ใช่เป็นคู่
เช่น เชิงเทียน แจกัน )

2. แก้กรรมชีวิตคู่ไม่ราบรื่น

อาจเป็นเพราะชาติปางก่อน ทำบุญร่วมกันโดยไม่เต็มใจ
จึงเกิดมาเป็นคู่กัน แต่ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น
หรือเมื่อครั้งที่เคยเป็นคู่กันนั้น ขาดความปรองดองต่อกันหรือร่วมมือกัน
จึงต้องมาทะเลาะเบาะแว้ง ให้แก้กรรมโดยปฏิบัติ ดังนี้

2.1 ร่วมใจกันทำบุญตักบาตรพระสงฆ์อย่างสม่ำเสมอ ต้องเป็นประจำ
สม่ำเสมอ ทุกกเช้า วันเว้นวัน หรือทุกอาทิตย์

2.2 ร่วมกันทำบุญถวายสังฆทานสม่ำเสมอ ทุกเดือน หรือ ทุก 3 เดือน

2.3 ร่วมกันสวดพระคาถาบท ทุกวันพระเป็นเวลา 3 เดือน
จากนั้นสวดทุกวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ

2.4 เป็นเจ้าภาพหรือร่วมเป็นเจ้าภาพ เกี่ยวกับงานเลื้ยงวิวาห์ ออกแรง
หรือออกเงินช่วยงานแต่งงานของคู่บ่าวสาวที่ไม่รวยนัก ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่
ที่เรารู้จักคุ้นเคยดี

2.5 ตั้งตนชอบอยู่ในจริยธรรมอันดี คิดดี พูดดี และทำดีต่อคู่รักทุกคู่
มิว่าจะรู้จักกันดีหรือไม่ ช่วยให้คู่รักเขาได้สมรักหรือได้เข้าใจกัน ไม่ทำให้เขาแตกร้าวกัน จะได้อานิสงค์แรงมาก

3.แก้กรรมคู่ไม่สมพงศ์ดวงกัน                                                                                                       คู่ที่มีดวงไม่ถูกโฉลกกัน หรือไม่สมพงศ์กันในทางพื้นเรือนชะตา เมื่อมาครองคู่ด้วยกันแล้ว ชีวิตมักจะขรุขระไม่ราบรื่น มีอุปสรรคให้ฟันฝ่าจนเหนื่อยเสมอ หรืออาจมีความลุ่ม ๆ ดอน ๆ ก้าวหน้าช้า มีความขัดสน หรือมีปัญหาอื่น ๆ ที่ทำให้หาความสุขสบายแท้จริงไม่ได้ ให้แก้กรรม ดังนี้

3.1 ร่วมกันทำบุญ ทำทานสม่ำเสมอ ทำบุญด้วยการออกแรงแทนเงินก็ได้ นำข้าวของไปบริจาคคนยากไร้ ไปอาสาช่วยงานบุญที่วัด

3.2 ร่วมกันตักบาตรพระสงฆ์

3.3 ไปไหว้พระ ทำบุญเติมน้ำมันตะเกียงร่วมกัน

3.4 ไปไหว้ศาลหลักเมืองด้วยกัน

3.5 ร่วมกันปล่อยนก ปล่อยปลาย ปล่อยหอยขม โดบไปซื้อปลาที่ตลาดสดมาปล่อย หรือไถ่ชีวิตสัตว์

3.6 ร่วมกันล้างบ้าน จัดบ้านใหม่ ไหว้พระที่บ้าน ไหว้เจ้าที่เจ้าทาง

4. อธิษฐานขอฟ้าให้พบหน้าคู่แท้
ต้องฟังผู้หลักผู้ใหญ่หรือคนในครอบครัวที่สูงวัย ที่ให้คำแนะนำ ตรงนี้เป็นบุญประการหนึ่ง บุญนี้จะหนุนนำให้ได้คู่ที่ดี ให้ได้ลูกที่ดีในลำดับต่อไป


ต่อมาเป็นเรื่องของการทำบุญ คือไม่ทำให้คุณพ่อ คุณแม่เดือดร้อน ปู่ย่าตายายเดือดร้อน ร้อนกายร้อนใจว่าเราเอกเขรกเกเร ทั้งนี้จะเป็นบุญกุศลหนุนนำให้เราได้พบคู่รักอันเป็นคู่แท้ประการหนึ่ง อีกหลาย ๆ ประการที่กล่าวถึงดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นบุญกุศลในเรื่องที่จะให้สมหวังในความรักทั้งนั้น
การกตัญญูกตเวทิตาต่อบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูล ทำบ้านให้
ร่มเย็นเป็นสุข การทำบุญกับบ้านเด็กกำพร้า การบริจาค หรือการทำบุญกับบ้านคนชรา การบริจาค หรือการทำบุญให้กับโรงพยาบาลสงฆ์ การบริจาคหรือการทำบุญกับมูลนิธิเพื่อนหญิง หญิงที่ถูกทำร้าย การบริจาคหรือการทำบุญกับโรงพยาบาล เป็นส่วนสำคุญที่จะเป็นบุญแรง เป็นบุญใหญ่ หนุนนำให้เกิดความสุขและความสำเร็จในเรื่องความรัก เพราะสถานที่ที่ได้กล่าวถึง มีสื่อทางจิตวิญญาณอันสัมพันธ์เกี่ยวกับบุญวาสนาบารมี ที่จะเกื้อหนุนให้เกิดพลังของผลบุญที่เกื้อหนุนในเรื่องของความรักและชีวิตครอบครัว เมื่อทำบุญแล้วต้องมีการอธิษฐานบุญ ขอให้ตั้งจิตอธิษฐาน เมื่อท่านสงบนิ่งแล้วให้ระลึกถึงสิ่งที่เป็นผลบุญที่ได้กระทำอันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ท่านได้ทำบุญมา และให้อธิษฐานว่า

“ขอให้ข้าพเจ้า ชื่อ-นามสกุลของท่าน ขอให้ประสบความสุข ความสำเร็จโดยเฉพาะในเรื่องของชีวิตคู่ เรื่องของครอบครัวขอให้มีความสุข ขอให้ได้พบคู่แท้ดังที่ปรารถนา หากใครก็ตามที่เป็นคู่แท้ ก็ขอให้พบโดยเร็วพลัน
ขอให้ได้เรียนรู้ ขอให้อย่าได้พบกับคนที่หลอกลวง แต่ถ้าหากใครคิดจะหลอกลวง ทำร้าย ทำลายน้ำใจให้มีความรู้สึกเจ็บช้ำ จงอย่าได้กล้ำกลายเข้ามา ขอให้ห่างไกลหลีกลี้หนีไปจากบารมี หลีกลี้ไปจากเรา ขอให้มีบารมี บุญบารมีธรรมคุ้มครองเราด้วยเถิด หากใครเป็นคู่แท้แล้วไซร้ก็ขอให้จงมีโอกาสเข้ามาใกล้ ประดุจเทพอุ้มสม คือเทพหนุนนำ เทวดาชักพา ให้เกิดการพบหน้า มีจิตประภัสสรให้เกื้อหนุนกันต่อไป จากปัจจุบันถึงอนาคตด้วยเถิด สาธุ”

อะไรประมาณนี้ ท่านก็จะสมหวังตามที่ปรารถนา ส่วนอธิษฐานมีส่วนเหมือนกัน กล่าวคือ

ท่านที่เกิดวันอาทิตย์นั้น การอธิษฐานควรจะอธิษฐานหรือทำบุญในวันอาทิตย์หรือวันพฤหัสบดี

ท่านที่เกิดวันจันทร์ควรจะทำบุญอธิษฐานขอพรจากเทวดาฟ้าดิน ในวันจันทร์หรือวันพุธ

ส่วนท่านที่เกิดวันอังคารควรขอพรจากเทวดาฟ้าดินในวันอังคารและวันศุกร์

ท่านที่เกิดวันพุธกลางคืนควรอธิษฐานขอพรในวันพุธกลางคืนและวันเสาร์


ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของการอธิษฐานขอฟ้าให้พบหน้าคู่แท้ หวังว่าท่านคง
ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อความสุขของท่านเองและคนรอบข้าง
ให้สมหวังดังที่ปรารถนา พบรักในเร็ววัน

    ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด พลังจิต

99
บทความ บทกวี / รัก-แท้
« เมื่อ: 27 ก.ย. 2553, 08:10:42 »
                                                              รัก-แท้

                                                                     เรื่อง : ฐิตินาถ ณ พัทลุง

   หลายปีมาแล้ว เช้าวันธรรมดาวันหนึ่ง ฝนตกพรำๆ ตั้งแต่เช้ามืด สองแม่ลูกจูงมือกัน เพื่อแม่จะไปส่งลูกน้อยขึ้นเรือไปโรงเรียน

ที่โป๊ะเทียบเรือท่าน้ำศิริราช คนเบียดเสียดกันแน่น แม่กับลูกน้อยเบียดคนลงไปในโป๊ะ เพราะดีกว่าเปียกฝนที่เริ่มลงเม็ดหนาตา

พอเห็นเรือที่ขาดช่วงไปนานกำลังจะเข้าเทียบท่า คนก็ยิ่งลงมาบนโป๊ะ หลายคนตะโกนบอกให้คนถอยกลับไป เพราะโป๊ะจะรับน้ำหนักไม่ไหว

ก่อนที่ใครจะรู้ตัว โป๊ะใหญ่ทรุดตัวลงไปในแม่น้ำ ท่ามกลางคลื่นลมแรง ทุกคนตะเกียกตะกายว่ายน้ำหนีมาขึ้นฝั่ง

แม่ของเด็กน้อยถูกลากขึ้นมา

เธอร้องตะโกน "ช่วยลูกฉันด้วย ช่วยลูกฉันด้วย ลูกฉันว่ายน้ำไม่เป็น"

ฝนตกหนัก คลื่นลมแรง ทุกคนพยายามเอาชีวิตรอด ไม่มีใครทันสังเกตเห็นหัวเล็กๆ ที่ผลุบๆ โผล่ๆ อยู่กลางแม่น้ำ

ก่อนที่ใครจะทันรู้ตัว แม่คนนั้นกระโดดลงไปในแม่น้ำ ตะเกียกตะกายไปคว้าลูกน้อยไว้ ก่อนที่คลื่นจะซัดสองแม่ลูกไกลออกไปจากฝั่ง

เธอว่ายน้ำไม่เป็น ภาพสุดท้ายที่ทุกคนเห็นคือ แม่กอดลูกแนบไว้กับอก ก่อนจะค่อยๆ จมหายไป

แม่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่เธอก็เอาชีวิตโอบอุ้มลูกรักไว้ จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

ในชีวิตคนคนหนึ่ง จะมีใครสักกี่คน ที่ยอมแลกชีวิตเขาเพื่อเราได้

แม่ของเราอาจจะไม่ได้กระโดดน้ำลงไปช่วยเรา แต่ทุกครั้งที่เราจมลงไปทะเลทุกข์ แม่กระโดดลงไปอุ้มเราแนบไว้กับหัวใจแม่ตลอดเวลา

ลูกทุกข์...แม่ทุกข์กว่า ลูกเจ็บ...แม่เจ็บกว่า

เบื้องหลังความสำเร็จ การฝ่าฟันจนพ้นวิกฤติของคนมากมาย มีมือเล็กๆ ของแม่อยู่เบื้องหลัง


ถ้าวันนี้ ถามดิฉันว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการผ่านวิกฤตการณ์สำคัญทุกครั้งในชีวิต ตอบได้เลยทันทีว่า คือการมีครอบครัวอันเป็นที่รัก และรักเราอย่างที่สุด โดยไม่มีเงื่อนไข จนเราอัศจรรย์ใจว่าทำไมคนๆ หนึ่งถึงรักและถูกรักได้มากขนาดนี้

ผู้หญิงคนหนึ่งเล่าให้ดิฉันฟังว่า แม่เลิกกับพ่อทิ้งเธอไว้ในโรงเรียนประจำ ไม่มีใครเคยไปหาเธอ จนเธอต้องทำตัวเองให้แย่ที่สุด อย่างน้อยทุกครั้งที่ถูกโรงเรียนไล่ออก ก็ยังได้เจอหน้าพ่อหรือแม่บ้าง

ครั้งหนึ่งที่เธอไปเข้าหลักสูตรอบรมจิต ใจของเธอกรีดร้องว่า ทำไม ทำไมแม่ถึงทำเลวร้ายกับหนูแบบนี้ เธอเห็นภาพแม่น้ำตานองหน้า บอกเธอว่า เพราะแม่ก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะดีที่สุดกับลูก

แม่ของเราหลายคน มีเราตั้งแต่แม่ยังอายุไม่ถึง 25 เราไม่ได้เกิดมาพร้อมคู่มือส่วนตัวว่าแม่ควรพูดกับเราอย่างไร เวลาที่แม่เองก็เหนื่อย ท้อ หวาดกลัว มีปัญหาของตัวเอง

เราคาดหวังว่าพ่อแม่จะต้องรู้ ว่าจะพูดกับเราปฏิบัติกับเราอย่างไร ด้วยการกระทำคำพูดในเวลาที่เหมาะเจาะที่สุด

เมื่อถึงวันหนึ่งที่เรามีลูกของตัวเอง หรือแม้กระทั่งเพียงแค่มีคนรัก เราจะรู้เลยว่า มันไม่ง่ายเลยที่ใครสักคนจะเลือกทำ เลือกพูดได้อย่างเหมาะเจาะ เหมาะเวลา เหมาะใจอีกฝ่าย

แล้วทำไมเราถึงคาดหวังจากพ่อแม่มากมายขนาดนั้น

ผู้หญิงอีกคนเล่าว่า เธอไม่โชคดีเหมือนคนอื่น เธอมีแม่ที่โลภ เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เอาเปรียบ

แต่เชื่อเถอะ ไม่ว่าวันนี้จะดูเลวร้ายสักแค่ไหน หลายๆ ขณะในชีวิตที่คุณเติบโตมาถึงวันนี้ ผู้หญิงโลภและเห็นแก่ตัวคนนั้น ได้เสียสละหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเพื่อคุณ จนคุณเติบโต มีอะไรบางอย่างพอที่คุณคิดว่าเธออยากจะได้ และเอาเปรียบในสิ่งที่คุณมี

ถ้าคุณคิดว่าแม่โลภ เห็นแก่ตัว เอาเปรียบ หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วตัวคุณเอง...เป็นอย่างไร

ในความจริงของชีวิต ที่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นของว่างเปล่า ทุกอย่างชั่วคราว มีขึ้นแล้วหายไปเหมือนฟองอากาศในน้ำ ไม่มีอะไรเป็นสาระที่แท้จริง ยังมีความรักของพ่อแม่ที่เป็นแก่น เป็นราก เป็นของจริงในชีวิตเราตั้งแต่วันเกิดจนวันตาย เป็นความมหัศจรรย์ที่เที่ยงแท้ ไม่ว่าเราจะมีสิ่งที่ไม่น่ารักมากสักแค่ไหน พ่อแม่ก็รักเราได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
b
รู้อย่างนี้แล้ว อย่ายอมให้ชีวิตตัวเองจมลงไปในปัญหา อุปสรรค ความทุกข์ ความสัมพันธ์ ความทรงจำ ความเจ็บช้ำ หรืออะไรก็ตามแต่ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตจิตใจ

รู้ทันความรู้สึกนึกคิด จนไม่ว่าอะไรก็เป็นเพียงแค่สิ่งที่ถูกรู้ ใจจะเข้มเข็ง มั่นคง ตั้งมั่น ประคับประคองชีวิตตัวเอง

ดูแลพ่อแม่ได้ สมกับที่ท่านให้ชีวิตเรา

   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด  dhammajak

100
พุทธภาษิต เกี่ยวกับชีวิตและความตาย

๑. ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ สั้นนิดเดียว ลำบากยากเข็ญ มีทุกข์มาก แต่ก็ไม่มีเครื่องหมายให้รู้ว่าจะตายเมื่อใด



๒. สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วพยายามหาวิธีที่จะไม่ต้องตาย ก็ไม่สำเร็จ ถึงจะมีชีวิตอยู่ต่อไป จนชราภาพก็ต้องตายอยู่ดี เพราะธรรมดาของสัตว์โลกเป็นอย่างนี้



๓. สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ก็มีภัยจากการที่ต้องตายเป็นนิตย์ เปรียบเหมือน ผลไม้สุกงอม แล้วก็มีภัยจากการที่ต้องร่วงหล่นไปในเวลาเช้า



๔. ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ต้องแตกดับไปเป็นธรรมดาเปรียบเหมือนภาชนะดินทุกชนิด ที่ช่างหม้อปั้นแล้วในที่สุดก็ต้องแตกไป



๕. ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนโง่ ทั้งคนฉลาด ล้วนตกอยู่ในอำนาจของมฤตยู บ่ายหน้าไปสู่ความตายทั้งนั้น



๖. เมื่อเหล่าสัตว์จะตาย ต้องไปปรโลกแน่นอนแล้ว บิดามารดาก็ไม่สามารถช่วยบุตรธิดาของตนไว้ได้ หรือหมู่ญาติก็ไม่สามารถจะช่วยพวกญาติของตนไว้ได้



๗. จงดูเถิด ทั้ง ๆที่มีหมู่ญาติมาเฝ้ารำพึงรำพันอยู่ โดยประการต่าง ๆ แต่ผู้จะตาย กลับถูกมฤตยูคร่าตัวเอาไปแต่เพียงผู้เดียว เหมือนโคที่เขาจะฆ่าถูกนำไปแต่เพียงตัวเดียว



๘. สัตว์โลกตกอยู่ในอำนาจของความแก่และความตายอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัดถึงสภาพของสัตว์โลกแล้ว จึงไม่เศร้าโศกกัน



๙. ท่านหาได้รู้ทางของผู้มา (เกิด) หรือผู้ไป (สู่ปรโลก) ไม่ เมื่อไม่เห็นปลายสุดทั้งสองด้านถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์



๑๐. ถ้าผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อนด้วยการหลงใหลคร่ำครวญ จะทำประโยชน์อะไรให้เกิดขึ้นได้บ้าง นักปราชญ์ผู้รู้แจ้งก็คงจะทำอย่างนั้นตามไปแล้ว



๑๑. การร้องไห้ เศร้าโศก ไม่สามารถทำใจของผู้คนให้สงบได้ มีแต่จะเกิดทุกข์มากยิ่งขึ้น ทั้งร่างกายก็จะพลอยทรุดโทรม

๑๒. จะเบียดเบียนตนเอง มีร่างกายซูบผอม ผิวพรรณหมองคล้ำ การร่ำไห้คร่ำครวญ ไม่ได้ช่วยอะไรแก่คนตายไปแล้ว จึงไม่มีประโยชน์อะไรเลย



๑๓. คนที่สลัดความโศกไม่ได้ มัวทอดถอนใจถึงคนที่ตายไปแล้ว ตกอยู่ในอำนาจของความเศร้าโศก มีแต่จะทุกข์มากยิ่งขึ้น



๑๔. จงดูเถิด ถึงแม้คนอื่นก็กำลังจะตายไปตามยถากรรม สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ต่างตกอยู่ในอำนาจมฤตยู กำลังพากันดิ้นรน (กลัวตาย) ด้วยกันทั้งนั้น



๑๕. สัตว์ทั้งหลายตั้งความหวังอยากจะให้เป็นอย่างอื่น (คือไม่ตาย) แต่ก็ไม่สมหวัง ความพลัดพรากจากกันมีอยู่เป็นประจำ ท่านจงพิจารณาดูความจริงแท้ของสัตว์โลกเถิด



๑๖. แม้จะมีคนอยู่ได้ถึงร้อยปี หรือเกินกว่านั้นไปบ้าง ก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ ทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้อยู่ดี



๑๗. เพราะเหตุนั้น เมื่อได้สดับธรรมเทศนาของพระท่านแล้ว ก็พึงระงับความคร่ำครวญ ร่ำไห้เสีย ยามเมื่อเห็นคนล่วงลับดับชีวิตไป ก็ให้กำหนดรู้ว่าเขาตายไปแล้ว เราจะให้เขาฟื้นคืนมาอีกไม่ได้



๑๘. ธีรชนผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงกำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสียโดยฉับพลัน เหมือนเอาน้ำดับไฟ ที่กำลังไหม้ลุกลาม และเหมือนลมพัดปุยนุ่น



๑๙. ผู้แสวงสุขแก่ตน พึงระงับความเศร้าโศกคร่ำครวญร่ำไห้ ความโหยหาและความโทมนัส พึงถอนลูกศรคือความเศร้าโศกเสียให้ได้



๒๐. ผู้ถอนลูกศรนี้ได้แล้ว ก็จะมีอิสระ ได้ความสงบได้ ผ่านพ้นความเศร้าโศกทั้งปวง ไม่มีความเศร้าโศกมีแต่เยือกเย็นใจ



๒๑. ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายในร้อยปี ถึงใครจะอยู่เกินกว่านั้นไปบ้าง ก็ต้องตายเพราะชราเป็นแน่แท้



๒๒. ชนทั้งหลายเศร้าโศก เพราะสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเราทั้ง ๆ ที่สิ่งที่ยึดถือนั่น ไม่มีอะไรเที่ยงแท้เลย ผู้ที่มองเห็นว่า ความพลัดพรากจากกันจะต้องมีแน่นอนเช่นนี้แล้ว ก็ไม่ควรอยู่ครองเรือน



๒๓. คนที่สำคัญหมายสิ่งใดว่า “ นี้ของเรา ” ก็จะต้องจากสิ่งนั้นไปเพราะความตาย พุทธมามกะผู้เป็นบัณฑิต ทราบความข้อนี้แล้ว ก็ไม่ควรเอนเอียงไปในทาง ที่จะยึดถือว่า เป็นของเรา



๒๔. คนที่รักใคร่กัน ตายจากไปแล้ว ก็จะไม่ได้พบเห็นกันอีก เหมือนคนตื่นขึ้น ไม่เห็นสิ่งที่พบในฝัน



๒๕. (ขณะมีชีวิตอยู่) คนที่มีชื่อเรียกขาน ก็ยังพอได้พบเห็นกันบ้าง ได้ยินเสียงกันบ้าน คนที่ตายไปแล้วก็เหลือแต่ชื่อเท่านั้น ที่จะพูดถึงกันอยู่



๒๖. ผู้ที่พึงพอใจในสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมสละความเศร้าโศกความคร่ำครวญ และความหวงแหนไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้เข้าถึงธรรม (มุนี) ทั้งหลาย เห็นความปลอดโปร่ง จึงสละสิ่งที่เคยแหนหวงเที่ยวไปได้



๒๗. บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวถึงผู้ไม่แสดงตนในภพ (ผู้บรรลุแล้ว) ว่าเป็นบุคคลที่สอดคล้อง เหมาะสมกับภิกษุผู้บำเพ็ญความหลีกเร้นถอนจิต (ผู้ที่ยังไม่บรรลุ) ซึ่งอยู่ในเสนาสนะที่สงัด



๒๘. ผู้เข้าถึงธรรม (มุนี) ไม่ติดอยู่ในสิ่งทั้งปวง ไม่ทำอะไร ๆ ให้เป็นที่รักให้เป็นที่ชัง ความรำพึงรำพันและความหวงแหน จึงมิได้แปดเปื้อน เหมือนน้ำไม่แปดเปื้อนใบบัว



๒๙. หยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว วารีไม่ติดบนดอกบัวฉันใด ผู้เข้าถึงธรรม (มุนี)ก็ไม่ติดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ทราบ ฉันนั้น



๓๐. ผู้ห่างไกลจากกิเลส ผู้มีปัญญา ไม่สำคัญหมายในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับทราบ ไม่ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วยวิธีการอื่น ทั้งไม่ยินดียินร้าย



๓๑. บุคคลใด ประพฤติชั่วร้าย ไม่มีความคิด ถึงจะมีชีวิตตั้งร้อยปี ชีวิตของเขา ก็หาประเสริฐไม่ ส่วนบุคคลใด มีศีล มีความคิด แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวก็เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่า



๓๒. บุคคลใด เกียจคร้าน มีความเพียรทราม ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ชีวิตของเขา ก็หาประเสริฐไม่ ส่วนบุคคลใด มุ่งหน้าทำความเพียรอย่างมั่นคง แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ก็เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่า



๓๓. บุคคลพึงสละทรัพย์เพื่อจะรักษาอวัยวะ พึงยอมสละอวัยวะเพื่อจะรักษาชีวิต และยอมสละทุกอย่างทั้งอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิต เพื่อรักษาธรรม

๓๔. อายุสังขารจะพลอยประมาทไปกับมนุษย์ทั้งหลาย ที่ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ก็หาไม่



๓๕. เพราะฉะนั้น ในชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ คนเราควรทำกิจหน้าที่ของตนและไม่พึงประมาท



๓๖. ดอกไม้ที่สุมกันอยู่เป็นกอง นายช่างที่ฉลาด สามารถนำมาร้อย เป็นพวงมาลัย มีคุณค่ามากได้ฉันใด ชีวิตคนเราที่เกิดมานี้ ก็ควรจะใช้ ประกอบกุศลกรรม ความดีให้มาก ฉันนั้น



๓๗. บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในปรโลก



๓๘. ความตายเราก็มิได้ชื่นชอบ ชีวิตเราก็มิได้ติดใจ เราจักทอดทิ้งกายนี้อย่างมีสติ สัมปชัญญะ มีสติมั่น



๓๙. ความตายเราก็มิได้ชื่นชอบ ชีวิตเราก็มิได้ติดใจ เรารอคอยเวลาเหมือนคนรับจ้าง ทำงานเสร็จแล้วรอรับค่าจ้าง



๔๐. วันคืนล่วงไป ชีวิตของคนก็พร่องลงไป จากประโยชน์ที่จะทำ



๔๒. วันคืนไม่ผ่านไปเปล่า ๆ



๔๓. กาลเวลาล่วงไป วันคืนผ่านพ้นไป วัยก็หมดไปทีละตอน ๆ ตามลำดับ



๔๔. รูปกายของสัตว์ย่อมร่วงโรยไป แต่ชื่อและโคตรไม่เสื่อมสลาย



๔๕. เมื่อจะตาย ทรัพย์แม้แต่น้อยก็ติดตามไปไม่ได้



๔๖. กาลเวลาย่อมกลืนกินสัตว์ทั้งหลาย พร้อมกับตัวมันเอง



๔๗. ถ้าบุคคลจะเศร้าโศกถึงคนที่ไม่มีอยู่แก่ตนคือ คนที่ตายไปแล้ว ก็ควรจะเศร้าโศกถึงตนเอง ซึ่งตกอยู่ในอำนาจของพญามัจจุราชตลอดเวลาเช่นกัน



๔๘. วัยย่อมเสื่อมลงไปเรื่อย ทุกหลับตา ทุกลืมตา



๔๙. เมื่อวัยเสื่อมสิ้นไปอย่างนี้ ความพลัดพรากจากกันก็ต้องมีโดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ควรเมตตาเอื้อเอ็นดูกัน ไม่ควรจะมัวเศร้าโศกถึงผู้ที่ตายไปแล้ว

๕๐. ผู้ที่เศร้าโศกถึงคนตาย ก็เหมือนเด็กร้องไห้ขอพระจันทร์ที่โคจรอยู่ในอวกาศ คนตายถูกเผาอยู่ย่อมไม่รู้ว่าญาติคร่ำครวญถึง เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศก เขาไปแล้วตามวิถีทางของเขา



๕๑. ตอนเช้า ยังเห็นกันอยู่มากคน พอตกเย็น บางคนก็ไม่เห็นกัน เมื่อเย็นยังเห็นกันอยู่ มากคน ตกถึงเช้า บางคนก็ไม่เห็นกัน



๕๒. จะตายก็ไปคนเดียว จะเกิดก็มาคนเดียว ความสัมพันธ์ของสัตว์ทั้งหลาย ก็เพียงแค่ มาพบปะเกี่ยวข้องกันเท่านั้นเอง



๕๓. วันคืนผ่านไป อายุก็เหลือน้อยเข้าทุกที



๕๔. แม่น้ำเต็มฝั่ง ไม่ไหลทวนขึ้นสู่ที่สูงฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลายย่อมไม่เวียนกลับมาสู่วัยเด็กได้อีกฉันนั้น



๕๕. ผู้เข้าถึงธรรม ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ดำรงอยู่กับปัจจุบัน ฉะนั้นผิวพรรณจึงผ่องใส



๕๖. คืนวันผ่านไป ไม่มีอะไรให้เราเดือดร้อน ไม่เห็นมีอะไรที่เราสูญเสียในโลก ฉะนั้นเราจึงนอนสบายใจคิดแต่จะช่วยปวงสัตว์



๕๗. เวลาแต่ละวัน อย่าให้ผ่านไปเปล่า ๆ จะน้อย หรือมาก ก็ให้ทำอะไรไว้บ้าง



๕๘. เร่งทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครจะรู้ว่าพรุ่งนี้จะตายหรือจะอยู่



๕๙. คนขยันทั้งคืนวัน ไม่ซึมเซา เรียกว่า มีแต่ละวันนำโชค



๖๐. จะมีชีวิตอยู่ก็ไม่เดือดร้อน ถึงจะตายก็ไม่เศร้าโศก ถ้าเป็นปราชญ์ มองเห็นที่หมายแล้ว ถึงอยู่ท่านกลางความเศร้าโศก ก็ไม่เศร้าโศก













อาจาริโยวาทเกี่ยวกับความตาย

๑. ผู้มีโภคทรัพย์ภายนอก มัวแต่หวงไว้ ไม่ใช้เพื่อประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่นตามสมควร ก็ทำทรัพย์ให้ไม่มีประโยชน์เหมือนเศษดิน ในที่สุดก็ต้องละทรัพย์นั้นไปด้วยความตาย

(สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์)



๒. ถ้าใครกลัวตายเสียดายทุกข์ ชอบถือเอาความสนุกในการเกิดว่าเลิศเลอ ผู้นั้นต้องจัดว่าลืมตัวมัวประมาท และชอบผัดเพี้ยนเลื่อนเวลา ว่า เช้า สาย บ่าย เย็น ไม่อยากบำเพ็ญความดีสำหรับตน ในเวลาที่มีฐานะพอทำได้อยู่ ความประมาทยังจะพาให้หลั่งน้ำตาด้วยความทุกข์ในสงสาร ไม่อาจประมาณได้ว่า ยังอีกนานเท่าไหร่จึงจะผ่านพ้นแหล่งกันดารอันเป็นที่ทรมานไปได้

(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)



๓. คนเราเวลาตาย ทำให้คนร้องไห้เศร้าใจ

แต่เวลาเกิด ทำให้คนหัวเราะชอบใจ ดีใจ

คนที่หัวเราะก็หลง คนที่ร้องไห้ก็หลง ไม่รู้อะไรเป็นเหตุเป็นผล

ความจริง “ ตายและเกิด ” ก็อันเดียวกันนั่นเอง

เพียงแต่ว่าเขาเปลี่ยนกันทำหน้าที่เท่านั้นเอง

(หลวงปู่ตื้อ อาจลธมฺโม)



๔. “ ความเกิดมีแล้ว ความแก่ ความตายมันก็มีอยู่ ไม่มีใครพ้นตาย ตายก็ตายเต็มแผ่นดินอยู่ เกิดก็เกิดเต็มแผ่นดิน เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอยู่นี้แหละ สัจจธรรมข้อนี้ใคร ๆ ก็พ้นไปไม่ได้ นั่งอยู่ก็ตาย นอนอยู่ก็ตาย กินอยู่ก็ตาย ไม่กินก็ตาย เจ็บป่วยก็ตายได้ ไม่เจ็บป่วยก็ตายได้ ความตายมีอยู่ทุกฐานะสถานที่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันครอบงำเราอยู่ทุกเมื่อ

เราต้องหาที่พึ่งอันประเสริฐไว้เสียแต่บัดนี้ แต่ยังมีชีวิตอยู่อย่างนี้ ยังแข็งแรงอยู่อย่างนี้ ถ้าร่างกาย จิตใจมันไม่อำนวย แล้วจะไม่คิดถึงอะไร จะไปยึดไปถือเอาอะไร เป็นที่พึ่งมันยาก ”

(หลวงปู่แหวน สุจิณโณ)



๕. แท้ที่จริง จิต วิญญาณ มันมิใช่ของแตกของทำลาย แลไม่ใช่ของสูญหาย .. ดังนั้น ใครอยากสวย ให้รักษาศีล อยากรวยให้ทำทาน อยากปัญญาชาญให้ภาวนา

(หลวงปู่ฝั้น อาจาโร)



๖. เราเกิดขึ้นมากี่ภพกี่ชาติ ก็มาหัดสติตัวเดียวนี้ แต่ไม่สมบูรณ์กันสักที เหตุนั้นควรที่พวกเราจะพากันรีบฝึกหัดสติแต่บัดนี้ เราจวนจะตายอยู่แล้ว ไม่ทราบว่าจะตายวันไหน ควรที่จะฝึกหัดสติให้อยู่ในเงื้อมมือของตนให้ได้ อย่าให้จิตไปอยู่ในเงื้อมมือของความหลงมัวเมา ผู้ใดจิตไม่อยู่ในอำนาจของตนก็ได้ชื่อว่า เราเกิดมาเสียเปล่า ได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าเสียเปล่า ตายไปก็เปล่าจากประโยชน์

(หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)



๗. โลก คือ รูป นาม กาย ใจ ของเรา ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้แน่นอน ความไม่เที่ยง มีอยู่ที่ไหน ความเป็นทุกข์ ก็มีอยู่ที่นั้น และความตายก็ไม่มียกเว้นแก่คนใด คนหนึ่ง เรามีสิทธิ์ตายได้ทุกเวลา

(หลวงปู่สิม พุทธาจาโร)



๘. เมื่อเราเกิดมา ก็คือ เราตาย นั่นเอง ความแก่กับความตายมันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละเหมือนกับต้นไม้ เมื่อมีโคน มันก็มีปลาย เมื่อมีปลายมันก็มีโคน ไม่มีโคน ปลายก็ไม่มี มีแต่ปลาย โคนก็มีไม่ได้ ดังนั้น เกิดนั่นแหละคือตาย ตายนั้นละคือเกิด

(หลวงพ่อชา สุภทฺโท)



๙. เวลามีชีวิตอยู่ เราพึ่งอะไร เวลาตายไปเราจะพึ่งอะไร เวลาตายไปโลกหน้าไม่มีการทำไร่ ทำนา หรือว่าทำไร่ ทำสวน ซื้อถูก ขายแพง แต่อาศัยคุณงามความดีที่สร้างไว้ เป็นอาหารทิพย์ เป็นเครื่องเสวย นั่นแหละให้เราสร้างเอาไว้ นั่นแหละเป็นแก้วสารพัดนึกอย่างหนึ่ง และเป็นคู่พึ่งเป็นพึ่งตนหนึ่งพึ่งไปตลอดจนถึงอวสาน ได้ถึงนิพพาน ก็เป็นอันว่าหมดปัญหา เป็นผู้พึ่งตัวเองได้โดยสมบูรณ์

(หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)



๑๐. ความตายนี้ ใครจะเสียใจก็ตาม ไม่เสียใจก็ตาม ใครจะชอบก็ตาม ไม่ชอบก็ตาม ใครจะยินดีก็ตาม ไม่ยินดีก็ตาม เมื่อถึงวาระมีอันเป็นไป ก็จะต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ตราบใดที่เรายังปฏิเสธความจริงหรือกฎธรรมชาติ เราก็เป็นทุกข์ตราบนั้น

(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)


        ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด  dhammajak

101
                                                                  มองคนให้เข้าใจชีวิต


คนๆหนึ่ง
กว่าจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนนั้น ต้องผ่านอะไรต่อมิอะไรต่างๆ มามากพอสมควร ประสบการณ์และการสั่งสมความรู้ย่อมมีขึ้นได้เสมอ ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะมีเหตุการณ์เข้ามาในชีวิตมากกว่ากัน ซึ่งแต่ละคนก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป จะมีเหมือนกันอยู่บ้างก็น้อยเต็มที

ในบทนี้ เราจะมาว่ากันถึงเรื่องของการมองชีวิตผู้คนที่อยู่รอบตัว ทั้งกับคนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยตลอด กับคนใกล้ๆตัวที่เราพบปะอยู่เป็นประจำ เพื่อความเข้าใจในตัวตนของคนๆหนึ่ง ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจหรือการทะเลาะเบาะแว้งเกิดขึ้น

สิ่งที่เรามองเห็น มักจะไม่เป็นอย่างที่เห็นเสมอ นั่นเป็นเพราะว่า เราตัดสินอะไรบางอย่างจากภายนอกมากกว่าที่จะมองลึกเข้าไปข้างใน

โดยพื้นฐานของการปฏิบัติมักจะเป็นสิ่งที่ยากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับความเข้าใจโดยอาศัยการอธิบายเพียงเพื่อรู้เท่านั้น ในเรื่องของการทำความเข้าใจในตัวคนหนึ่งก็เช่นกัน ควรหมั่นสังเกตและจับให้ได้ถึงความเป็นจริงที่บางคนเขาสื่อออกมา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เบื้องหลังความเป็นมาของแต่ละคนเสียก่อน
 
  เรื่องการทำความเข้าใจคนอื่นนี้มีส่วนอย่างยิ่งในการลดช่องว่างของค่านิยม นั่นคือการไม่ควรตัดสินคนๆหนึ่งเพียงเพราะบุคลิกภาพภายนอก แต่เราต้องดูลึกเข้าไปถึงคุณลักษณะภายในที่แท้จริง ซึ่งนั่นหมายถึงนิสัยส่วนลึกและจิตสำนึกที่แฝงอยู่ภายใต้บุคลิกภาพภายนอกที่มองเห็นได้โดยง่าย

มีพระอริยเจ้าที่บรรลุอรหันตผลหลายองค์ในพระพุทธศาสนา ถึงแม้จะบรรลุอริยมรรค มองเห็นธรรมอันประเสริฐแล้วก็ตาม แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถทิ้งอาการเดิมของตนแต่หนหลังได้ ผู้ที่จะสามารถละทิ้งอาการทางกายได้ทุกอย่างและขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่สำรวมที่สุดก็มีเพียงพระพุทธเจ้าของเรานั่นเอง

บางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วพระอริยเจ้าจะต่างจากปุถุชนได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าทรงตรัสเกี่ยวกับลักษณะของปุถุชนกับพระอริยเจ้าว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน (คนที่ยังหนาไปด้วยกิเลส) ผู้มิได้สดับ ย่อมเสวยเวทนาที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง อริยสาวก (ศิษย์ของพระอริยะ) ผู้ได้สดับ ก็เสวยเวทนาที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อะไรเป็นความผิดแผกแตกต่างกันในบุคคลเหล่านั้น ? อะไรเป็นเครื่องทำให้อริยสาวกผู้ได้สดับต่างจากบุถุชนผู้มิได้สดับ "

 
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อทุกขเวทนาถูกต้อง ย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ คร่ำครวญ ย่อมตีอกพิไรรำพัน ย่อมมืดมน ย่อมเสวยเวทนา ๒ ทาง คือเวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ."

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อทุกขเวทนาถูกต้อง ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ย่อมไม่ตีอกพิไรรำพัน ย่อมไม่มืดมน ย่อมเสวยเวทนาเพียงทางเดียว คือ ทางกาย ไม่เสวยเวทนาทางจิต"

(สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๕๗)

แม้จะกล่าวว่า ชีวิตหนึ่งชีวิตนั้นมี “กรรม” มาเป็นตัวกำหนด โดยความหมายของคำว่า “กรรม” คือการกระทำ ฉะนั้น กรรมใดมาเป็นตัวกำหนดผลซึ่งก็คือการกระทำของเราอันเป็นเหตุนั่นเองมาเป็นตัวส่งผล ไม่ว่าจะเป็นกรรมที่เคยล่วงมาแล้วแต่หนหลังหรือกำลังจะเกิดขึ้น ล้วนส่งผลต่อผู้กระทำทั้งนั้น

ทั้งหลายเหล่านี้ กำลังจะบอกแก่ทุกท่านว่า ไม่ว่าการกระทำใดๆก็ตามของบุคคลหนึ่ง ย่อมมีสาเหตุเสมออย่างน้อยก็ในเรื่องของความคิดที่เขามีในขณะนั้น ซึ่งมันจะเป็นตัวบ่งบอกว่า ตามนิสัยโดยแท้จริงแล้วเขาเป็นคนอย่างไร

ตามหลักธรรมะท่านถือว่ามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายบนโลกนี้เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนเรื่องความเมตตาให้น้อมนำมาปฏิบัติ ซึ่งหลักของความเมตตานี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยากสำหรับมนุษย์ที่มีจิตใจที่ขุ่นมัวอันเต็มไปด้วยความอาฆาต หรือกับบุคคลที่มีความเจ็บข้องหมองใจหรือผูกอาฆาตกับใครมาก่อน ความขุ่นมัวของจิตที่เต็มไปด้วยความโกรธ ย่อมนำจิตใจของเขาต้องเต็มไปด้วยความทุกข์

   ในการเข้าใจคนโดยหลักทางจิตวิทยาทั่วไป จะกล่าวว่า คนๆหนึ่งมีพื้นฐานของการเติบโตมาไม่เหมือนกัน ทั้งการอบรมเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม และลักษณะนิสัยตามพันธุกรรมซึ่งเป็นปัจจัยภายในที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากพอเท่ากับปัจจัยภายนอก ที่สร้างให้คนหนึ่งคนเป็นไปในลักษณะที่เขาเป็น

เมื่อนำมาเทียบกับหลักของพระพุทธศาสนาตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คนหนึ่งคนนั้นเป็นไปเพราะวิบากกรรมที่เขาได้มีมาก่อน ไม่ว่าจะในอดีตชาติหรือปัจจุบันชาติก็ตาม สิ่งเหล่านี้มีกรรมเก่าเป็นตัวกำหนด บางคนเกิดมารวย บางคนเกิดมาจน บางคนรูปงาม บางคนรูปไม่งาม ฯลฯ ซึ่งล้วนมาจากผลของกรรมอันเป็นกุศลและกรรมอกุศลทั้งปวงอันเกิดการกระทำในครั้งก่อนทั้งนั้น

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วจะสังเกตได้ว่า ทุกๆลักษณะนิสัยของคนไม่ว่าจะใช้หลักของจิตวิทยามาวิเคราะห์หรือนำหลักของพระพุทธศาสนามาใช้ ล้วนแล้วเกิดจากการกระทำในอดีตทั้งสิ้น ฉะนั้นการจะตัดสินคนอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วจะต้องมองดูให้รอบด้านและลึกถึงเบื้องหลังของเขา ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจในตัวของคนๆหนึ่งมากขึ้น

การพัฒนาตัวตนของตนเองได้ต้องเริ่มจากการเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่นถึงแม้บางท่านจะมีข้อสงสัยอยู่ว่า “เป็นไปได้หรือที่เราจะเข้าใจคนทั้งหมดบนโลกใบนี้” แน่นอนที่สุดมันย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถเข้าใจคนทุกคนได้เหมือนกันหมด แต่ขอให้พิจารณาถึงความหมายของคำว่า “เข้าใจ” คนในที่นี่เสียก่อนว่า มันมีความหมายครอบคลุมเพียงใดหรือลึกขนาดไหน

  คำว่า “เข้าใจ”ในที่นี้ ดังที่ได้อธิบายมาแต่ต้นแล้ว จะสามารถตอบโจทย์ได้เลยว่า คือการมองเห็นที่มาที่ไปของคนหนึ่งคนนั้น อันจะสามารถนำมาวิเคราะห์หรือมองออกว่า คนๆนั้นที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะอะไร มีพื้นแพมาจากสิ่งแวดล้อมแบบไหน อะไรมาเป็นตัวกำหนดให้เขาต้องมีลักษณะเช่นนั้น

การนำเรื่องของการเข้าใจคนมากล่าวถึงเพียงต้องการให้ท่านมีจิตสำนึกถึงความเมตตานั่นเอง ความเมตตาอันเป็นหนึ่งในหลักของพรหมวิหาร ๔ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ซึ่งเป็นหลักของผู้นำ คนครองบ้านครองเรือน พึงยึดถือและน้อมนำมาปฏิบัติเพื่อยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่หมู่คณะ เชื่อเถอะว่า เพียงการใช้หลักของความเมตตามาปกครองคนหมู่มากเพียงเท่านี้ก็สามารถบอกได้เลยว่า บุคคลผู้นี้ได้รับการเคารพและยอมรับนับถือมากแล้วไปกว่าครึ่ง

มองให้เห็นถึงแก่นแท้ของชีวิตแล้วจะเข้าใจถึงชีวิต แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยต่อการปฏิบัติ หากเกิดจากการหมั่นฝึกฝนจิตใจให้เกิดความเมตตาขึ้นเสียก่อน แล้วจะเปิดใจเพื่อที่จะรับฟังข้อมูลบางอย่างอันจะนำมาซึ่งความเข้าใจอันดีให้เกิดขึ้นแก่ตัวตนของคนๆหนึ่งอย่างแน่แท้

การตอบสนองความคิดในหลักการเข้าใจในชีวิต อาจจะมองไมเห็นผลมากนักในกระบวนการทั่วไป แต่มันขึ้นอยู่กับว่า ในใจของเรามองเห็นและเข้าใจโดยแท้จริงแล้วหรือยัง ซึ่งนั้นก็ผูกโยงมาในเรื่องของการคาดหวังว่า คนอื่นจะต้องเข้าใจในตัวของเราด้วย

  ก่อนอื่นใดต้องถามเสียก่อนว่า เราต้องการให้คนอื่นมาเข้าใจในตัวเราใช่หรือไม่? ฉะนั้น เราปฏิบัติอย่างไรถึงจะทำให้คนอื่นเขารู้ว่า เราเป็นอย่างนี้เพราะอะไร มีสิ่งใดมาเป็นตัวกำหนด แต่ก่อนที่จะตอบคำถามเหล่านี้กับตัวเอง ก็ต้องย้อนกลับมาว่า เราเข้าใจในตัวตนของเราได้ดีแค่ไหน หากเรายังไม่เข้าใจในตัวตนที่แท้จริงของเราแล้ว มีโอกาสมากนักหรือที่คนอื่นจะมาเข้าใจในตัวของเรา

หลักการคิดง่ายๆ ที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้าม การทำความเข้าใจในตัวบุคคลมันไม่ง่ายเหมือนกับการแก้ปัญหาโจทย์สมการทางหลักคณิตศาสตร์ หรือฟิสิกส์หรือโจทย์ปัญหาอื่นๆอะไร และก็อีกเช่นกัน มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินกว่าจะเรียนรู้และศึกษาถึงแก่นแท้แห่งความต้องการของมนุษย์ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาถึงพื้นฐานของมนุษย์กันเสียก่อนว่า โดยธรรมดาของมนุษย์ยังมีความต้องการอย่างไรในการที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขสมปรารถนาในชีวิต

ตามทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ ถ้าศึกษาจากทฤษฎีของมาสโลว์แล้วจะพบว่ามนุษย์นั้นมีความต้องที่จะเข้าไปสู่จุดมุ่งหมายภายในใจของตนเอง อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมและการแสดงออกมา การค้นหาความต้องการของคนๆหนึ่งนั้นถ้าจะว่ากันตามที่อับราฮัม มาสโลว์ซึ่งกล่าวแบ่งขั้นของความต้องการของมนุษย์ออกมาดังนี้

ขั้นที่หนึ่ง ความต้องการทางด้านกายภาพหรือทางร่างกาย ซึ่งเป็นความต้องการในปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ อันได้แก่ปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค (ขั้นนี้รวมไปถึงความต้องการทางเพศด้วย)

ขั้นที่สอง ความต้องการทางด้านความปลอดภัยในชีวิต อันได้แก่ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งรวมไปถึงความมั่นคงของชีวิตด้วย

ขั้นที่สาม ความต้องการทางสังคม นั่นคือการได้รับการยอมรับจากผู้คนในกลุ่มสังคม

ขั้นที่สี่ ความต้องการทางการยกย่องและมีเกียรติในกลุ่มสังคม อันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจภายในใจของตัวเอง

ขั้นสุดท้าย ความต้องการที่เกิดจากแรงขับดันภายใน คือการเข้าใจและรู้จักตนเอง ซึ่งเป็นความต้องการขั้นสูงสุดของมนุษย์แล้วตามความทฤษฎีของมาสโลว์

ลองมาวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า มนุษย์ในปัจจุบันโดยมากแล้ว จะตกอยู่กับขั้นที่หนึ่งมากที่สุด นั้นเป็นเพราะเหตุผลง่ายๆคือ มนุษย์ยังตกอยู่ในภาวะจำยอมทางด้านกายภาพ และเห็นจะเป็นเรื่องเงินเสียส่วนมาก การต้องการคุณภาพและความปลอดภัยของชีวิตจึงดูจะเป็นเรื่องรอง และหากจะมองถึงการยอมรับและชื่อเสียงเห็นจะข้ามไปได้เลย

ไม่มีเหตุที่จะต้องสงสัยเลยว่า ทำไมมนุษย์ทุกวันนี้ถึงได้มุ่งก้มหน้าก้มตาหาเงินทอง จนท้ายที่สุดก็เกิดเจ็บป่วย ก็นำเอาเงินที่หามาได้นั่นแหละรักษาตัวจนสุดท้ายเงินเก็บที่มีอยู่ก็ไม่พอรักษาตัวชีวิตในบั้นปลายจึงลำบากซึ่งมีให้เห็นอยู่มากในสังคมปัจจุบัน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะแนะให้เข้าใจว่า เพราะเหตุจากการที่มนุษย์มีความต้องการนี้เองเป็นแรงขับดันให้เกิดพฤติกรรมหรือการกระทำอย่างหนึ่งขึ้นมาซึ่งบุคคลรอบข้างอาจจะมองว่าเป็นนิสัยส่วนตัวของเขา แต่แท้ที่จริงแล้วถ้ามองให้ลึกจริงๆจะพบว่ามีการกระทำทุกอย่างล้วนมีเหตุผลเสมอ เพียงแต่ว่าจะหามันพบหรือเปล่าเท่านั้นเอง
 
  พระพุทธเจ้าท่านสั่งสอนถึงความมีเมตตาไม่เฉพาะแต่คนอื่นเท่านั้นแม้แต่ตนเองก็เช่นกันก็สมควรได้รับคุณธรรมข้อนี้เข้าไปด้วย “อหํ สุขิโต โหมิ เราควรให้ความเมตตาต่อตัวเอง ไม่ควรถือโทษโกรธเคืองตนเอง แต่มิใช่การปล่อยให้ตนเองต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสอยู่เสมอ เป็นทางเสื่อม และไม่ควรรังเกียจตัวเองที่มีกิเลสอยู่ด้วย อันเป็นธรรมดาของปุถุชนทั่วไป ต้องเข้าใจถึงโลกธรรม และสภาวะปกติของวิบากกรรม”

สิ่งหนึ่งที่จะสามารถช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้นนั้นคือ การระงับความโกรธเสีย เพราะความโกรธนำมาซึ่งความหายนะ เป็นการตอบสนองสิ่งเร้าที่รุนแรงที่สุดและที่สำคัญ มักไม่มีเหตุผลเสมอสำหรับคนที่กำลังโกรธ

ความโกรธอันนี้เองจะทำให้เราปิดหูปิดตาไม่รับฟังเหตุผลขณะที่มีใครก็ตามทำให้เราต้องมีอารมณ์อันขุ่นมัว การตอบสนองกลับมีแต่จะส่งผลเสียกันทั้งหมด

ฉะนั้นการทำความเข้าใจคนอื่นแม้จะไม่ต้องอาศัยหลักทฤษฎีใดมาใช่เลย เพียงเรามีใจที่มีเมตตาต่อทุกคนหรือสัตว์โลก พึงระลึกเสมอว่า เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บตายด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มัวมาเสียเวลาในการถือโทษโกรธเคืองนั่นย่อมไม่เป็นการสร้างผลกรรมอันใหม่ให้เกิดขึ้นด้วย หันมาสร้างสมผลบุญให้เกิดความสงบสุขทางใจจะดีกว่า หมั่นศึกษาพระพุทธธรรมอยู่เนืองนิตย์จิตใจจะปราศจากมลทิน สมองปลอดโปร่งอันเป็นสุขอย่างยิ่ง

เพราะ ธรรมคือสิ่งอันสูงค่าควรแก่การน้อมนำมาปฏิบัติเสมอ…

    ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด พลังจิต

102
อยู่ในมุมมืดมิดคิดทวนทบ
เรื่องที่ได้ประสบสะเทือนขวัญ
หาสาเหตุตัวการพัลวัน
ว่าใครกันตัวปัญหาน่าเกลียดชัง

คิดไปตามเรื่องราวที่ร้าวจิต
คิดและคิดเพิ่มแค้นให้ยิ่งฝัง
คิดคนเดียวด้วยโกรธเป็นกำลัง
คิดจริงจังด้วยใจที่ร้อนรน

บางครั้งฟังความเห็นของผู้อื่น
ก็ไม่ชื่นเพราะตรงข้ามในเหตุผล
ก่อความชังครั้งใหม่ในบุคคล
บางครั้งชื่นกมลเขาเห็นตาม

ถือตนเองเป็นหลักในความคิด
ยากจะเห็นถูกผิดข้อควรถาม
มีแต่คำตัดสินที่วู่วาม
กลายเป็นความผิดพลาดขาดไตร่ตรอง

เมื่อคิดอยู่คนเดียวมุมเดี่ยวโดด
เห็นคุณโทษบางแง่แค่หนึ่งสอง
มองไม่เห็นสามสี่ห้าที่น่ามอง
จึงพลาดครองประโยชน์ใหญ่แก้ไขตน

บางเรื่องราวทุกคนมีส่วนผิด
ส่วนถูกคนละนิดในเหตุผล
บางเรื่องเขาผิดมากกว่าทุกคน
บางเรื่องเราไม่พ้นผิดเช่นกัน

ต้องหัดฟังผู้อื่นแม้นฝืนจิต
เพื่อป้องกันความคิดที่หุนหัน
ออกจากมุมมืดมาหาตะวัน
เพื่อเหตุผลครบครันกระจ่างตา

   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด dhammajak

103
                                                      วีรกรรมสุดยิ่งใหญ่ของแม่ที่ลูกทุกคนควรอ่าน


   ตึกเซนต์หลุยมารี แผนกประถม ราวปี พ.ศ. 2539

เสียงโทรศัพท์ ดังขึ้น ... มิสค่ะ ... ช่วงพักเที่ยงจะมีผู้ปกครองมารอพบสองท่านที่หน้าห้องนะคะ
โทรศัพท์แจ้งจากห้องประชาสัมพันธ์ ทำให้มิสอุไรพร นาคะเสถียร ครูประจำชั้น ป.4 รู้สึกแปลกใจเล็กน้อย
เพราะจำได้ว่านัดหมายแค่คุณแม่ท่านเดียวเท่านั้นในวันนี้

เอ... ใครละเนี่ย จะมีเรื่องอะไรรึปล่าวนะ เมื่อมาถึงห้อง ครูสาวแทบยกมือรับไหว้จากสุภาพสตรีทั้งสอง
ท่านไม่ทันหากแต่รูสึกแปลกใจที่เห็นคุณแม่ท่านหนึ่งยกมือไหว้แต่เพียงแขนข้างเดียว

อย่างไรก็ตาม มิสได้เชิญคุณแม่ท่านแรกเข้าไปคุยก่อนตามลำดับการนัดหมาย
โดยเก็บงำความแปลกใจไว้ หลังจากคุยกับคุณแม่ท่านแรกเสร็จ จึงได้เชิญคุณแม่อีกท่านเข้ามาคุยในห้องรับรอง

... ภาพแรกที่ได้เห็นชัด ๆ ทำให้ครูสาวตกใจเล็กน้อย แขนซ้ายของคุณแม่เป็นแขนเทียม
คุณแม่มาปรึกษาเรื่องการเรียนของลูก เพราะไม่ได้มาในวันนัดพบผู้ปกครองประจำปี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ลูกเขาไม่อยากให้มา เขาบอกว่าอายพื่อนที่แม่ใส่แขนเทียม กลัวโดนเพื่อนล้อว่า แม่แขนเดียว
แม่เป็นหุ่นยนต์หรอ อะไรนี่นะคะ เลยไม่ได้มา น้ำเสียงคุณแม่แฝงแววเอ็นดูมากกว่าที่จะโกรธหรือไม่พอใจ

มิสอุไรพร ขออนุญาตซักถามเกี่ยวกับสาเหตุที่คุณแม่ต้องใส่แขนเทียม เมื่อได้ทราบความจริง
ครูสาวตัดสินใจแน่วแน่ว่าต้องจัดการเรื่องที่ลูกไม่ยอมรับและไม่เข้าใจแม่ หากปล่อยเรื่องนี้ไป...
จะเป็นตราบาปอันหนักยิ่งติดตัวเด็กไปภายหน้า ทั้งตัวลูกชายและคนที่ล้อเพื่อนที่ล้อเพื่อนด้วย
ช่วงเย็นวันนั้นมีชั่วโมงลูกเสือแต่ฝนตกหนัก มิสอุไรพร จึงได้โอกาสนำเรื่องนี้มาเล่าให้นักเรียนฟัง

เรื่องราวที่ว่านั้น ความดังนี้...

วันที่ 21 สิงหาคม 2536 หลังวันแม่ไม่กี่วัน... ครอบครัวหนึ่งเดินทางไปเที่ยวนากุ้งที่จังหวัดสตูล
ประกอบด้วย พ่อแม่และลูกชายอีกสามคน พวกเขาเดินชมนากุ้งไปตามทางเดินซึ่งเป็นคัดดินเล็ก ๆ ท่ามกลาง
บรรยากาศสดชื่นของธรรมชาติ โดยมีคุณพ่อเดินนำหน้ากับลูกชายคนโตสองคน ส่วนคุณแม่เดินตามหลังกับลูกชายคนเล็ก

ทางเดินที่เป็นคันดินนั้นมีการแบ่งเป็นท้องร่องเพื่อติดตั้งระหัดวิดน้ำซึ่งมีใบพัดเหล็กสูงจากคันดินราว 25 ซม.
คุณพ่อและลูกชายคนโตสองคนข้ามท้องร่องแล้วเดินนำต่อไปข้างหน้า ไม่มีใครฉุกคิดระวังถึงเหตุร้าย
แต่แล้วลุกชายคนเล็กกลับก้าวพลาดล้มลงไปในท้องร่อง ขากางเกงเข้าไปติดกับร่องของระหัดวิดน้ำที่กำลังหมุนอยู่และ
ฉุดขาของลูกทั้งสองข้างเข้าไปในใบพัดเหล็ก ถ้าเป็นพวกคุณ คุณจะทำอย่างไร ...

มิส หยุดเรื่องไว้ เพื่อซักถาม มองหน้านักเรียนทั้งห้องที่นั่งเงียบกริบ หน้าซีด โดยเฉพาะลูกชายของคุณแม่ท่านนั้น
แต่นักเรียนรู้มั้ยว่า คุณแม่ท่านตัดสินใจอย่างไร คุณแม่ไม่ยอมเสียเวลาคิดอะไรเลยท่านรีบดึงตัวลูกเอาไว้
แล้วเอาแขนซ้ายที่ว่างอยู่เข้าไปขวางใบพัดไว้ก่อน...ใบพัดหมุนแขนของคุณแม่เข้าไป ...
คนงานที่เห็นเหตุการณ์จึงรีบปิดเครื่องแต่แรงเฉื่อยยังทำให้ใบพัดหมุนด้วยกำลังรง ... แรงเสียจนกระชากแขนซ้านคุณแม่ ขาดสะบั้นลง !

คุณแม่กรีดร้องด้วยความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัสสติสัมปชัญญะดับวูบลงในทันทีท้องร่องบริเวณนั้นแดงฉานไปด้วยเลือด ...
เลือดของแม่ ...ใบพัดเหล็กยังหมุนต่อไปอีกเล็กน้อยและบดเอาขาทั้งสองข้างของลูกชายคนเล็กจนกระดูกหัก แต่ไม่ขาด
ไม่ขาดเพราะ... เพราะแขนซ้ายของแม่ขาดแทน .. ไม่ขาด พราะแม้ไร้ซึ่งสติสัมปชัญญะ มือขวาของแม่ยังยึดตัวลูกเอาไว้แน่น ... ไม่ยอมปล่อย ...

คุณพ่อและลูกคนโตทั้งสองคนหันกลับมามองตามเสียงตะโกน เอะอะโวยวายของคนงาน พร้อม ๆ กับเสียงกรีดร้องของคุณแม่
ภาพที่เห็นทำให้พวกเขาช๊อกแทบสิ้นสติ ... คุณพ่อรีบกระโจนพรวดเดียวถึงตัวแม่และลูกน้อย ...

แต่... มันสายเกินไปแล้ว สิ่งเดียวที่ทำได้ คือ รีบพาทั้งสองส่งโรงพยาบาลทันที ผลการรักษา คุณแม่ต้องใส่แขนเทียมแทนที่ขาดไป
ส่วนลูกชายคนเล็ก ที่ขาหักต้องพักฟื้นนานราวสามเดือน จึงสามารถเดินได้ เป็นปกติ

มิสอุไรพร กวาดสายตามองไปรอบ ๆ ห้อง แล้วถามว่า นักเรียนคิดว่าคุณแม่ท่านนี้กล้าหาญไหมคะ
เด็ก ๆ พากันตอบเป็นเสียงเดียวกันพลางพยักหน้า หลาย ๆ คนยังหน้าซีดเซียว เมื่อนึกถึงภาพเหตุการณ์ตามที่ครูเล่า

มิส มองหน้าลูกชายของคุณแม่แล้วบอกว่า... นักเรียนทราบไหมว่าคุณแม่ท่านนั้นเป็รียนคุณแนคุณแม่ของเพื่อนเราในห้องนี้เอง
ไหน ใครเป็นลูกของคุณแม่ท่านนั้น ยืนขึ้นให้เพื่อนเห็นหน่อยสิ... เด็กคนนั้นยืนขึ้น ท่ามกลางเสียงปรบมือของเพื่อน ๆ ทั้งห้อง
"วันนี้เมื่อคุณกลับไปบ้าน มิสฝากเรียนคุณแม่ด้วยว่า พวกเราชื่นชมและยกย่องท่านมาก ๆ"

มิสได้ทราบว่ามีหลาย ๆ คนไปล้อเลียนเพื่อน ไหนคนไหนบ้างคะที่เคยล้อคุณแม่เขา ถ้ามี เราลูกผู้ชายต้องกล้ารับค่ะ
มีนักเรียน 3-4 คน ยืนขึ้น ใบหน้าของแต่ละคนรู้สึกสำนึกผิด แล้วมิสก็ถามว่า ดีมากนักเรียน ตอนนี้คุณคงมีอะไรอยากจะพูดกับเพื่อนใช่มั๊ยคะ
เด็กชายกลุ่มนั้นเดินเข้าไปโอบกอดคอ แล้วกล่าวขอโทษเพื่อนด้วยความจริงใจ ครูสาวน้ำตาคลอเบ้า ยืนมองภาพนั้นด้วยความปลาบปลื้มใจ

ใครเล่า ... จะเข้าใจความเจ็บช้ำ ขมขื่นในหัวใจเล็ก ๆ ของเด็กชายคนหนึ่ง ที่ถูกเพื่อนล้อเลียนประสาเด็กไม่ทันคิด
หากบัดนี้ ... ความรักของแม่และน้ำใจของเพื่อน ๆ ได้สลายปมด้อยในใจของเขาไปจนสิ้น เหลือเพียงความรักและความภาคภูมิใจในตัวคุณแม่เท่านั้น
เมื่อหมดชั่วโมงเรียน มิสได้เรียกลูกชายคุณแม่ เข้าไปคุยอีกครั้ง "วันนี้เรามีอะไรในใจที่คิดว่าควรพูดกับคุณแม่ม้ยคะ"
เด็กคนนั้นนิ่งคิดไปชั่วครู่ ก่อนจะตอบเสียงสั่นปนสะอื้นว่า ....

"ผม... ผม จะไปขอโทษคุณแม่ แล้ว... บอกคุณแม่ว่า ผมรักคุณแม่มากที่สุดในโลกเลยครับ"

... ใครที่ยังลังเลที่จะตอบแทนพระคุณพ่อ - แม่

อ่านไว ไว นะคะ เพราะเวลามีไม่มากแล้ว

รู้มั้ย น้ำนมหยดหนึ่งที่ไหลจากอกแม่

ต้องมาจากน้ำตาและหยาดเหงื่อเท่าไหร่

บอกเถอะนะ บอกทุกวัน ว่ารักแม่..มากมาย

กอดแม่เถอะนะให้คุ้นเคย กอดเลยไม่ต้องอาย

กอดก่อนที่จะไม่มีแม่ให้กอด

และพยายามบอกแม่ทุกวันก่อนที่จะไม่มีแม่ให้บอก

-- รักแม่ที่สุดเลยค่ะ --


    ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด พลังจิต

104
                                                                         การเรียนรู้อยู่ที่ใจ

  เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสไปฟังท่านอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช เทศน์ ตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า ท่านก็เทศน์เรื่องเดียวกันทุกครั้งนั่นแหละ คือเรื่องการฝึกสติ เทศน์กี่ครั้งๆ ก็เหมือนกัน ไม่ต้องมาฟังบ่อยๆ หรอก สมัยท่านเองเรียนรู้จากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์ นานๆ ท่านจึงจะไปกราบอาจารย์สักที ได้ข้อคิดแนวทางปฏิบัติแล้วก็กลับมาทำ มาเรียนรู้ด้วยการฝึกปฏิบัติด้วยตนเองอย่างจริงจังเป็นปีๆ จึงกลับไปกราบเรียนปรึกษาขอข้อแนะนำอีก ไม่ใช่เป็นลูกศิษย์ติดอาจารย์ คอยติดตามไปเฝ้าอยู่เรื่อยๆ




คำสอนของท่านทำให้ได้คิดว่า ปัจจุบันแม้แต่ผู้สนใจจะพัฒนาตนเองหรือผู้ใฝ่ธรรมก็ยังมีลักษณะติดอาจารย์ คอยเฝ้าแสวงหาว่ามีอาจารย์ดีที่ไหน จะได้ไปเฝ้าไปกราบบ่อยๆ คอยไปฟังเทศน์ฟังธรรม เพื่อให้ ตนเองมีธรรมะ หากจนแล้วจนรอด สำหรับหลายๆ คนธรรมะก็ไม่ค่อยก้าวหน้า ได้แต่ฟัง ได้แต่รู้ แต่ไม่มีธรรมะเกิดขึ้นในตนเองจริงๆ มากนัก

ภาพนี้สะท้อนลักษณะของ การเรียนรู้ของผู้คนในสังคมปัจจุบันที่เน้นความรู้นอกตัว คิดว่าความรู้คือข้อมูลหรือวิชาการที่สามารถแสวงหาได้หรือขอได้จากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้เกิดลักษณะพึ่งพิง คิดว่าความรู้เป็นของผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ไม่คิดแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การรับเอาความรู้จึงเป็นไปอย่างฉาบฉวย ไม่ผ่านการใคร่ครวญ และไม่ประสานกับการฝึกฝนหรือการเรียนรู้จากการปฏิบัติในชีวิตจริง เข้าใจว่าการเรียนรู้เป็นเพียงการ “ได้รับรู้” และจดจำได้

การเรียนการสอนทั้งในสถาบันการศึกษา และในภาคส่วนอื่นๆ เช่น การอบรมในองค์กรต่างๆ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่สะท้อนการเรียนรู้แบบนี้จึงเน้นการ “บอกให้รู้” โดยการบรรยายให้ฟัง ให้ข้อมูลเนื้อหาวิชาการ หรือวิเคราะห์ให้ฟัง โดยไม่ได้เน้นให้เกิดการเรียนรู้ภายในตัวผู้คน ผู้เรียนมีหน้าที่รับ ผู้สอนมีหน้าที่ถ่ายทอด ผู้เรียนไม่มีการสร้างความรู้ใหม่ขึ้นในตน มีแต่คอยรับเอา ตัวผู้สอนนั้น สอนๆ ไปก็ไม่เกิดความรู้ใหม่เหมือนกัน ต้องคอยวิ่งไปหาความรู้จากตำราบ้าง จากเมืองนอกเมืองนาบ้าง ไปรับการถ่ายทอดจากเขามาอีกทีหนึ่ง เพื่อมาบอกเล่าต่อ

สภาพของการศึกษาแบบนี้ทำให้เกิดการเสาะแสวงหาแนวทางการเรียนรู้ที่จะพัฒนาจิตและปัญญาของมนุษย์อย่างรอบด้าน เพื่อสร้างให้เป็นคนที่สมบูรณ์และสมดุล สามารถใช้ความรู้ในตนมาสร้างสรรค์สังคมที่สันติสุขและเสมอภาคได้ คือ แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) ดังที่อาจารย์ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ กล่าวถึงไปบ้างแล้วในตอนแรกของคอลัมน์นี้

กลุ่มนักวิชาการที่สนใจเรื่องนี้ได้รวมตัวกันในชื่อ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ซึ่งเริ่มเคลื่อนงานผลักดันให้กระแสการเรียนรู้แนวนี้เกิดขึ้นใหม่ในสังคมไทย ที่ใช้คำว่า “เกิดขึ้นใหม่” เพราะเดิมทีสังคมไทยก็มีการเรียนรู้ทำนองนี้อยู่แล้ว หากเป็นการเรียนหรือฝึกการปฏิบัติในวัดหรือในแง่มุมทางศาสนา มีครูบาอาจารย์ผู้เป็นที่เคารพนับถือ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติหลายท่าน เช่น หลวงปู่มั่น พระอาจารย์ชา และท่านพุทธทาส แต่การเรียนทางโลกที่อยู่นอกวัดในระบบการศึกษากลับยังไม่ค่อยมีการบูรณาการการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษาเข้าไปมากนัก

เราได้เริ่มต้นกันด้วยการตั้งคำถามว่าการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ก้าวพ้นตนเอง (Transformative Learning) นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ผ่านการเล่าเรื่องราวชีวิตของแต่ละคนว่าอะไรทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน คำตอบที่ได้มีหลายหลากมากมาย บางคนเติบโตผ่านกระบวนการของการทำกิจกรรมทางสังคม บางคนเติบโตจากการปฏิบัติธรรม บางคนเติบโตจากปัญหาที่ต้องเผชิญและได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง บางคนเรียนรู้ผ่านการคิดใคร่ครวญ บางคนเรียนรู้ผ่านการต้องเผชิญกับอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างของตนเช่นความกลัว บางคนก็ต้องเรียนรู้จากการลงมือทำ รวมความแล้วก็คือ ประตูที่เปิดให้แต่ละคนก้าวเข้าสู่โลกแห่งการเรียนรู้ภายในที่ลึกซึ้งนั้นมีได้หลายหนทาง แต่มีประเด็นร่วมที่เป็นหัวใจในหลายๆ ประสบการณ์นั้นอยู่สองสามประการ

ข้อแรกคือการมีประสบการณ์ที่ “กระทบใจ” หรือประสบการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ สำหรับบางคนก็เป็นเรื่องใหญ่ เช่น ประสบการณ์เฉียดตาย แต่บางคนอาจเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ เช่น นั่งมองดอกหญ้าดอกหนึ่ง เกิดความรู้สึกที่มากระทบใจว่ามันช่างงดงามนัก แล้วเกิดจุดประกายคำถามขึ้นในใจกับชีวิตที่รีบเร่ง เอาแต่ทำงานทำเงิน จนไม่มีเวลาชื่นชมกับชีวิต

ประสบการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีสภาวะของใจที่สงบนิ่งและเปิดรับพร้อมที่จะเรียนรู้ ทำให้เกิดการคิดใคร่ครวญ และเปิดใจให้ถูกกระทบและสัมผัสถึงความดี ความงามและความจริงในธรรมชาติได้ หรือยอมรับความจริงบางอย่างที่เคยปิดหูปิดตากับมันมาก่อน เช่น การยอมรับความน่าเกลียดของตัวเราได้อย่างตรงไปตรงมา

ข้อต่อมาคือไม่ว่าใครจะเริ่มต้นที่จุดไหน ก็จะต้องมีทั้งสามองค์ประกอบในการเรียนรู้คือ การคิดใคร่ครวญ การรับรู้ที่ใจ และการลงมือปฏิบัติ ประสานสอดคล้องกันไปเป็นวงจรที่ต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการเปิดใจรับฟัง มอง หรืออ่านอย่างลึกซึ้ง ด้วยหัวใจ ด้วยความตั้งใจ ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้ซึมซับได้ถึงรายละเอียดของสิ่งที่กำลังเรียนรู้ แล้วน้อมนำมาคิดใคร่ครวญดูโดยแยบคาย จากนั้นก็นำไปทดลองทำ ลองปฏิบัติให้เกิดประสบการณ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเฝ้าสังเกตกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายในตนอย่างต่อเนื่องด้วยสติที่รู้ตัวตามความเป็นจริง รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น และธรรมชาติของจิตใจได้ตามที่เป็นจริง

ทั้งหมดนี้ตรงกับที่วิจักขณ์ พานิช ได้ให้ความหมายของ Contemplative Education ว่าเป็นการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ และตรงกับคำไทยที่พูดถึงการเรียนรู้ว่าจะต้องเรียนรู้ให้ “เข้าใจ” ที่ปัจจุบันเราใช้กันอยู่เสมอ โดยอาจจะไม่ได้ฉุกคิดถึงความลึกซึ้งของคำๆ นี้มากนัก ทั้งที่จริงแล้วคำว่า “เข้าใจ” นี้เป็นคำไทยที่งดงามและสื่อความได้ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงจะต้องเข้าให้ถึงใจ คือเกิดความ “เข้าใจ” อย่างลึกซึ้งจนเกิดปัญญา เกิดเป็นความรู้ที่อยู่ในใจ และเชื่อมโยงกับการปฏิบัติในชีวิตจริง เป็นความรู้ที่พัฒนาต่อเนื่องอยู่ในตัวของผู้เรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด ดังที่ท่านพุทธทาสเคยอธิบายไว้ในเรื่องไตรสิกขาว่า “ปัญญา ต้องเป็นการรู้แจ้งเห็นจริง ด้วยใจจริง ๆ ด้วยการผ่านสิ่งนั้น ๆ ไปแล้ว โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ที่เรียกว่าผ่านสิ่งนั้นไปแล้ว หมายถึง อาการที่เราชอบใช้เรียกด้วยคำต่างประเทศคำหนึ่งคือคำว่าExperience”

คอลัมน์ ที่พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๙

   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด dhammajak

105
                                                              แสวงหาตน
                                                  พระนิพนธ์...สมเด็จพระญาณสังวร
                                              สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
                                                    พิมพ์ลงในนิตยสาร “ธรรมจักษุ”
                                                    ปีที่ 89 ฉบับที่ 6 มีนาคม 2548

แสวงหาตน

ในครั้งพุทธกาล เมื่อ พระเจ้ามหากัปปินะ ทรงสละราชสมบัติ
เสด็จออกจากรัฐของพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ทรงขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ

แล้วฝ่ายพระเทวีของพระองค์มีพระนามว่า อโนชา
ได้เสด็จติดตามไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ทรงสอดส่ายพระเนตรหาพระราชาว่าจะประทับอยู่ไหน
ในหมู่พระพุทธสาวกที่นั่งแวดล้อมพระพุทธองค์อยู่นั้น
เมื่อไม่ทรงเห็นก็กราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า
ได้ทรงเห็นพระราชาบ้างหรือ

พระพุทธองค์ได้ตรัสถามว่า
ทรงแสวงหาพระราชาประเสริฐ
หรือว่าแสวงหาพระองค์เอง (ตน) ประเสริฐ
พระนางจึงทรงได้สติกราบทูลว่า
แสวงหาตนประเสริฐ ทรงสงบพระทัยฟังธรรมได้

ครั้งทรงสดับธรรมไปก็ทรงเกิดธรรมจักษุ
คือ ดวงตาเห็นธรรม เรียกว่าธรรมจักษุนี้
มีแสดงไว้ในที่อื่นว่าคือเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา”
ได้แก่เห็นธรรมดาที่เป็นของคู่กันคือเกิดและดับ
จะกล่าวว่าเห็นความดับของทุกสิ่งที่เกิดมาก็ได้
ชีวิตนี้เรียกได้ว่าเป็นความเกิดสิ่งแรก
ซึ่งเป็นที่เกิดของสิ่งทั้งหลายในภายหลัง ก็ต้องมีความดับ
สิ่งที่ได้มาพร้อมกับชีวิตก็คือตนเอง
นอกจากตนเองไม่มีอะไรทั้งนั้น
สามีภริยา บุตร ธิดา ทรัพย์สิน เงินทอง ไม่มีทั้งนั้น
เรียกว่าเกิดมาตัวเปล่า มาตัวคนเดียว

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
“ตนแลเป็นคติ (ที่ไปหรือการไป) ของตน” ในเวลาดับชีวิต
ก็ตนเองเท่านั้นต้องไปแต่ผู้เดียวตามกรรม
ทิ้งทุกสิ่งไว้ในโลกนี้ แม้ชีวิตร่างกายนี้ก็นำไปด้วยไม่ได้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
“บุคคลผู้จะต้องตายทำบุญและบาปทั้งสองอันใดไว้ในโลกนี้
บุญบาปทั้งสองนั้นเป็นของผู้นั้น ผู้นั้นพาเอาบุญบาปทั้งสองนั้นไป
บุญบาปทั้งสองนั้นติดตามผู้นั้นไปเหมือนอย่างเงาที่ไม่ละตัว”

ก็เมื่อตนเองเป็นผู้มาคนเดียวไปคนเดียว
เมื่อมาก็มาตามกรรม เมื่อไปก็ไปตามกรรม เมื่อไปก็ไปตามกรรม
ถึงผู้อื่นก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น
คือจะเป็นสามี ภริยา เป็นบุตรธิดา เป็นญาติมิตร หรือแม้นเป็นศัตรู
ต่างก็มาคนเดียวตามกรรม ไปตามกรรม ฉะนั้นก็ควรที่ต้องรักตน
สงวนตน แสวงหาตนมากกว่าที่จะรักจะสงวนจะแสวงหาใครทั้งนั้น
คำว่า แสวงหาตน เป็นคำมีคติที่ซึ้ง
คิดพิจารณาให้เข้าใจให้ดี จะบังเกิดผลดียิ่งนัก
แต่ที่จะเริ่มแสวงหาตนได้ก็ต้องได้สติย้อนมานึกถึงตนในทางที่ถูกที่ควร
และคำว่าแสวงหาตนหาได้ความหมายว่าเห็นแก่ตนไม่
เพราะผู้ดีเห็นแก่ตน หาใช่ผู้ที่แสวงหาตนไม่
กลายเป็นแสวงหาสิ่งที่มิใช่ตนไปเสีย

คำสอนของพระพุทธเจ้าบางคำ
ผู้ที่ขาดความไตร่ตรองอาจฉวยเอาไปในทางผิด
ดังเช่นที่ตรัสสอนให้แสวงหาตนว่าดีกว่าแสวงหาใครอื่นฉะนั้น
ท่านจึงสอนให้พิจารณาให้รู้ทั่วถึงอรรถ (ความหรือผล)
ให้รู้ทั่วถึงธรรม (ข้อธรรมหรือเหตุ) แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ท่านสอนไว้อย่างรอบคอบดังนี้ จึงควรทำความเข้าใจกันว่า
คำว่า “แสวงหาตน” มีอรรถมีธรรมอย่างไร
ที่แรกควรจะแยกคำออกไปก่อนว่า
คำนี้ประกอบด้วยคำสองคำคือ “แสวงหา” คำหนึ่ง “ตน” อีกคำหนึ่ง
คำว่า “ตน” มีอรรถคือความหมายอย่างไร
ตนหมายถึงตัวเราเองของทุกๆ คน
และหมายถึงสิ่งที่เป็นของตน หรือเนื่องอยู่กับตนด้วย
เช่นตัวเรานี้เกิดมามีชาติตระกูลเป็นอย่างนี้
ได้เล่าเรียนศึกษามีวิชาความรู้อย่างนี้ได้ทำการงานมีฐานะตำแหน่งอย่างนี้
ได้ทำกรรมดีเป็นคนดีอย่างนี้ หรือได้ทำกรรมชั่วไม่ดีเป็นคนไม่ดีอย่างนี้
ตนหมายถึงตัวเราในตัวอย่างนี้
ส่วนชาติตระกูล วิชาความรู้ ฐานะตำแหน่งการงาน
กรรมดีหรือชั่วที่ทำ เป็นสิ่งที่เป็นของตน หรือเนื่องกับตน
ในสัปปุริสธรรมข้ออัตตัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักตน) ก็มีอธิบายโดยนัยดังกล่าว
ว่าคือรู้จักตนโดยชาติตระกูลเป็นต้น ว่าเรามีชาติตระกูล เป็นต้น อย่างนี้ๆ

คำว่า “แสวงหา” ก็คือพยายามเสาะหาค้นหาให้พบให้ได้
เพื่อที่จะเข้าใจคำว่า “แสวงหาตน” ให้ดี
ก็ควรคิดถึงเรื่องที่เป็นเหตุให้ตรัสคำนี้
สอนเรื่องหนึ่งก็คือนางอโนชาเทวี เสด็จติดตามแสวงหาพระราชสวามี
อีกเรื่องหนึ่งเมื่อต้นพุทธกาล ภัททวัคคีย์กุมาร 30 คน
เที่ยวติดตามหญิงบำเรอคนหนึ่ง ที่ลักห่อของมีค่าหนีไป
พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้แสวงหาตนทั้งสองเรื่อง

และบุคคลในเรื่องทั้งสองก็ได้สติรับรองขึ้นทันที
ว่าแสวงหาตนประเสริฐกว่า
จิตก็ถอนจากความผูกพันไขว่คว้าในบุคคลอื่นสิ่งอื่น
กลับมาตั้งสงบอยู่ได้ในทางธรรม
และก็จะได้พบตัวเองที่มีความสุขอันเกิดจากความมีจิตสงบนั้น
ข้อว่าในธรรมจะเป็นในธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
หรือในธรรมเทศนาคือคำแสดงอธิบายธรรม
หรือในทางที่ถูกที่ชอบตามเหตุผลแม่ที่เคยทราบก็ได้
เพราะถ้าจิตไม่สงบตั้งมั่นจะฟังจะอ่านธรรมหาได้ไม่
พอจิตตั้งสงบลงได้ก็จะอ่านจะฟังได้ และจะได้ปัญญาในธรรม
จะมองเห็นสัจจะในตนเอง ทั้งที่เป็นตัวทุกข์ ทั้งที่เป็นตัวเหตุเกิดทุกข์
คือความปรารถนายึดถือนี้แหละเป็นความรู้ธรรมในข้อว่า
“รู้ทั่วถึงธรรม” รู้ขึ้นดังนี้เมื่อใด จิตจะสงบลงได้เมื่อนั้น
และการปฏิบัติทุกอย่างที่เป็นไปในทางข่มใจ
ให้สงบตั้งมั่นธรรมให้ได้ปัญญาในธรรม
เรียกได้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมทุกอย่างแสวงหาตน
จึงหมายถึงแสวงหาธรรม ที่จะเป็นที่พึ่งดับทุกข์ของตนลงได้แล

   ขอบคุณที่มา   เว็บบอร์ด dhammajak

106


 

เขาสรรเสริญเหลือเกินกับการให้
ใครต่อใครจึงสละละหวงแหน
เที่ยวอุดหนุนต่อผู้ที่ขาดแคลน
บางครั้งทำเหมือนแม้นยัดเยียดกัน

ในการให้ผู้ให้ไม่หวังผล
อนุเคราะห์ผู้คนเพื่อสร้างสรรค์
แม้นพบความเหนื่อยยากไม่รำพัน
ให้ทานนั้นด้วยพยายามยิ่งกำลัง

ในการให้ไม่ใช่เหมือนหมายทิ้ง
ระบายสิ่งของเหลือใช้ในหนหลัง
เป็นการให้ที่ด้อยค่าปราศพลัง
เห็นเป็นของรุงรังไม่ไยดี

ในการให้ควรให้อย่างเหมาะกาล
บำเพ็ญทานสมสนองครองสุขศรี
ให้ในสิ่งที่ผู้รับเกิดยินดี
หรือเป็นที่ต้องการเพราะจำเป็น

ในการให้ควรใฝ่ใจอย่างยินดี
ภายหลังใจไม่มีความเคืองเข็ญ
เมื่อนึกถึงใจไม่ทุกข์และร่มเย็น
และไม่เห็นเป็นภาระการดูแล

ในการให้ไม่สุดโต่งเกินพอดี
มีความอยากของตนนี้เพิ่มกระแส
เกิดเรื่องราวยุ่งยากตามเป็นแพ
ผู้รับอาจขาดแค่เพียงนิดเดียว

ในการให้มีเงื่อนไขที่สละ
คือเพียรละสิ่งหวงแหนไม่แลเหลียว
เกิดประโยชน์แก่ผู้รับอย่างกลมเกลียว
ทุกส่วนเสี้ยวแห่งการให้ไม่ไร้บุญ
 
 

  ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด  dhammajak

107
บทความ บทกวี / ผ่านมา -ผ่านไป
« เมื่อ: 20 ก.ย. 2553, 09:40:12 »
                                                                 ผ่านมา -ผ่านไป  [/size

 
ชีวิตเป็นเพียงทางผ่าน
อยู่ในจักรวาลกว้างใหญ่
เกิดมาไม่นานจากไป
กลืนหายกับกาลเวลา

 ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
ยึดครองโลกได้หรอกหนา
ที่เห็นเป็นภาพลวงตา
หลงว่าสังคมเจริญ

 คลั่งไคล้หลงไหลสิ่งต่ำ
ศีลธรรมกลับยิ่งห่างเหิน
ความดีถูกย่ำทำเมิน
เพลิดเพลินอยู่ในอบาย

 กอบโกยเอาจากธรรมชาติ
กระทั่งพินาศสิ้นสลาย
สังคมแล้งร้างปางตาย
ไร้ใจเกื้อกูลแบ่งปัน

 ชีวิตไม่นานผ่านพ้น
ควรอยู่อย่างคนสร้างสรรค์
เห็นโลกงดงามนิรันดร์
กำนัลคนรุ่นต่อไป

   ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด dhammajak

108
                                                                  ความมั่นคงที่แท้จริง
                                                               เรื่อง ฐิตินาถ ณ พัทลุง

 
   ทุกวันนี้เรามักจะได้ยินคนบ่นดังๆ ว่า เมื่อไรจะมีเงินมากๆ จะได้มีชีวิตอย่างมีความสุข ความจริงก็คือ เราไม่จำเป็นต้องมีเงินมากๆ เพื่อจะมีความสุข และมีเงินมากๆ ไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่าชีวิตจะมีความสุข หลายคนจะรีบสวนว่า นั่นแหละขอมีเงินก่อนก็แล้วกัน

   ที่จริงแล้ว เราเลือกที่จะมีความสุขได้ตั้งแต่วันนี้ เพราะสิ่งที่ทำให้หัวใจยิ้มได้ไม่ต้องใช้เงินซื้อ การที่เราพัฒนาจิตใจให้มีความสุขที่ไม่ต้องใช้เงิน จะทำให้ใจเราสงบประณีตมั่นคง ความสุขในชีวิตคน เกิดจากสิ่งที่เราทำ เห็น เป็น ไม่ใช่เงินที่เรามี การที่คนคนหนึ่งทำงาน ทำทุกอย่างในชีวิตอย่างรู้คุณค่า เห็นประโยชน์ต่อโลก ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อการขัดเกลาจิตวิญญาณของตัวเอง เขาจะมีความสุขกับทุกขณะในชีวิต ได้เรียนรู้จากความสุข ความทุกข์ ความสำเร็จ ความล้มเหลว มีภูมิคุ้มกันป้องกันใจตัวเอง เมื่อทำทุกอย่างเต็มที่ด้วยสติปัญญา เพราะเห็นคุณค่า ผลตอบแทนเป็นเงินที่ดีตามมา ก็นำไปช่วยผู้อื่น ได้ความปิติอิ่มใจ เพราะประโยชน์ต่อผู้อื่นมากกว่าการจับจ่ายใช้สอยของตัวเอง ใจจะยิ่งมั่นคง พึ่งพาเงินน้อยลง

   ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเข้าใจผิด คิดว่าเงินเป็นเป้าหมาย เราจะยอมให้การหาเงินทำลาย กีดขวาง ความรัก ความอบอุ่น เวลาของครอบครัว ความนับถือตัวเอง ความรักโลก รักเพื่อนมนุษย์ ใจจะแห้งแล้วหดหู่ ไม่สามารถมีความสุขได้ จากความรัก ความปรารถนาดี ความดีงามรอบตัว ต้องแสวงหาความสุขจากการใช้เงินซื้อวัตถุสิ่งของ เมื่อใจหมดความสามารถที่จะมีความสุขที่ประณีต เงินก็เป็นแหล่งเดียวที่ให้ความสุขได้ ถึงมีเงินก็ต้องหาเงินมากขึ้น เพราะกลัวเงินหมด เงินหมดไปก็ทุกข์เดือนร้อนกว่าคนอื่นหลายเท่า เพราะไม่มีความสุขทางอื่น มีความทุกข์เดือดร้อนตลอดทั้งวงจร ตั้งแต่อยากมีเงิน หาเงิน ใช้เงิน กลัวเงินหมด ตกเป็นทาสของเงิน ถูกเงินครอบงำ

   ชีวิตแอบเฉลยคำตอบให้เราเสมอว่า เราต้องฝึกตัวเองให้สามารถมีความสุขจากภายในที่เป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งต่างๆ ภายนอก เพราะทุกอย่างไว้วางใจไม่ได้ เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ควบคุมให้เป็นอย่างใจเราไม่ได้ ทรัพย์สมบัติภายนอกเปลี่ยนแปลงรูปร่างอยู่ตลอดเวลา แต่สมบัติภายในใครก็แย่งไปไม่ได้ การที่คนคนหนึ่งพยายามฝึกฝนขัดเกลาตัวเอง เรียนรู้ทั้งจากการทำถูกทำผิด มีศรัทธาในเหตุและผลของการกระทำ ศึกษากลับเข้ามาภายใน จนมีปัญญาเข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่างๆ รวมถึงจิตใจตัวเอง ใจที่มีความมั่นคง กล้าหาญ รู้ว่าควรทำสิ่งต่างๆ อย่างไร เมื่อประสบผลดี ก็ทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ไม่หลงมัวเมาในความสำเร็จ พัฒนาจิตใจตัวเองยิ่งๆ ขึ้นไป มีความสุขความมั่นคงตลอดทั้งวงจร

   ชีวิตเราเหมือนยืนอยู่บนปากเหว ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นต่อไป เราควบคุมสิ่งต่างๆ ให้เป็นอย่างใจเราไม่ได้ แต่เราฝึกอบรมใจ ให้เป็นที่พึ่งที่แท้จริง เป็นทรัพย์สมบัติที่ให้ความอบอุ่น มั่นคงกับเราได้ตลอดไป

     ขอบคุณที่มา   เว็บบอร์ด dhammajak


109
 
.. เหตุผลที่เราควรรักแม่ มากกว่าแฟน ..

แม่. . . ไม่เคยหลอกให้เราหลงรัก
เพราะเราเต็มใจรักแม่ โดยไม่ต้องหลง
...
แม่. . . อาจเคยตีเราให้เจ็บ แต่ไม่เคยทำให้เราเจ็บหัวใจ
แม่. . . ส่งเสียเรา แต่เราต้องส่งเสียแฟน
 
...
แม่. . . ไม่เคยบอกเลิก
แม่. . . เป็นแบงค์ส่วนตัวที่เวลากู้ไม่เคยคิดดอกเบี้ย
และไม่ค่อยทวงคืน
...
แม่. . . เห็นเราเดินแก้ผ้าตั้งแต่เล็ก โดยไม่เคยติเรื่องรูปร่าง
แม่. . . เป็นคนที่เห็นเราดีกว่า แฟนของแม่เสมอ
ขอหอมแม่ไม่ยากเท่าขอหอมแฟน
 
...
แม่. . . ยอมตัดสะดือตัวเองเพื่อให้เราเกิดมา
แม่. . . สอนให้เราพูดได้ เพื่อจะไปบอกรักแฟนตอนโต
แม่. . . ยอมเป็นยายอ้วนลงพุงตั้ง 9 เดือน
เพื่อให้เราอาศัยอยู่ข้างใน
...

และในประเทศนี้ไม่มี . . . “วันแฟนแห่งชาติ”
เหมือนวันแม่ใช่มั้ย
...
รู้ว่าความรักของแม่ ยิ่งใหญ่กว่าแฟนแล้ว. . .
พรุ่งนี้!! คุณอยากบอกแม่ว่าอะไรดี. . .?
 
...
อย่ารอโอกาส หรือรอเวลาบอกรักแม่เฉพาะ “วันแม่” เท่านั้น
. . .เพราะวันเวลาอาจทำให้คุณ . . . ไม่มีโอกาสบอกรักแม่ก็เป็นได้
 


    ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ด dhammajak

110
                                                     หมดหวังท้อแท้ในชีวิต..คิดอย่างไรให้ใจสู้

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาของชีวิต..
หลายคนคงผ่านบทเรียนแห่งชีวิตมานับไม่ถ้วน..
ทั้งบทเรียนแห่งความผิดหวัง..
บทเรียนแห่งความท้อแท้..แพ้ชีวิต..
บทเรียนแห่งความสำเร็จ..

ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนใด ๆ ก็ตาม..
เมื่อเราเกิดความผิดหวัง...ท้อแท้..ในชีวิต..
เราต้องพยายามปรับใจ..วางใจให้ถูก..
ด้วยวิธีการคิดที่จะปรับเปลี่ยน..ชีวิตของเรา..
ให้มีกำลังใจ..สู้ต่อไป..

๔ วิธีคิดที่จะสร้างพลังใจให้สู้ คือ..
วิธีที่ ๑ คิดแบบตรงกันข้ามกับความรู้สึกในขณะนั้น เช่น
>>>…ถ้าทุกข์ ก็คิดสร้างสุข
>>>…ถ้ายากก็คิดแบบง่าย...
>>>…ถ้าเกิดปัญหา ก็คิดแก้ปัญหา..

วิธีที่ ๒ คิดแบบสร้างกำลังใจ เช่น
>>>…ปลุกปลอบใจตนเอง...ทุกครั้งที่เกิดความท้อแท้..ผิดหวัง
>>>…บอกตนเองเสมอว่า..เราต้องทำได้..เราต้องทำได้อย่างแน่นอน..
>>>…เราต้องทำได้แน่นอนที่สุด..ไม่มีคำว่า..ทำไม่ได้..
>>>…ท่องไว้ในใจว่า..ไม่มี ไม่เป็น ไม่เหนื่อย...
>>>….ไม่ทุกข์ ไม่ท้อ ไม่หนี ไม่มีปัญหา...

วิธีที่ ๓ คิดแบบมีเป้าหมายในชีวิตที่แน่นอน มุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว..
>>>…หากยังไม่ประสบความสำเร็จ..
>>>…ก็จะไม่เลิก ลด ละ ความเพียรพยายาม..
>>>…จงสู้ต่อไปจนกว่าจะประสบความสำเร็จ..
>>>…แม้จะเป็นวินาทีสุดท้ายของลมหายใจก็ตาม..

วิธีที่ ๔ คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก..
>>>…มองปัญหาออก..แก้ปัญหาเป็น..
>>>…คิดการใหญ่...ใช้คนเป็น..รู้เห็นตามความถูกต้อง..
>>>…มุ่งปรองดอง...รักษาน้ำใจ..สร้างมิตรภาพ..
>>>…อย่าลืมว่า.. “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ...
>>>…ต้องคิดดี..ทำดี..พูดดี..ทุกที่ทุกเวลา...

ดังนั้น..
ถ้าท้อแท้..หมดหวังในชีวิต..
จงพยายามคิดให้ใจสู้...
อย่าเชื่อว่า...เราทำไม่ได้..ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ..
อย่าท้อแท้..ตราบใดที่เรายังไม่ได้พยายาม..
อย่าสิ้นหวัง...ตราบใดที่เรายังมีกำลังใจ..
อย่าแพ้ชีวิต...ตราบใดที่ใจของเรายังมีหวัง..
จงอย่าทำลายความหวัง...เพียงเพราะ....
การดูหมิ่นตนเองว่า... “ทำไม่ได้”...

        ขอบคุณที่มา   http://www.dhammajak.net

111
                                                                   การอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย

   "..การอุทิศส่วนกุศลในพระพุทธศาสนาไม่ต้องใช้นํ้า การที่พระเจ้าพิมพิสารเป็นองค์แรกที่อุทิศส่วนกุศลโดยใช้นํ้า ก็เพราะท่านเพิ่งพบพระพุทธเจ้า เนื่องจากศาสนาพราหมณ์เขาถือว่า ถ้าจะให้อะไรกับใคร ต้องให้คนนั้นแบมือแล้วเอานํ้าราดลงไป ท่านยังชินอยู่กับประเพณีของพราหมณ์ แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ห้าม เพราะใจท่านตั้งตรงเวลาอุทิศส่วนกุศล "..

เรื่องการกรวดนํ้านี้ สมัยเมื่ออาตมาบวชได้วันที่สอง ขณะเจริญพระกรรมฐานได้มีผีตัวผอมก๋องเข้ามานั่งอยู่ข้างหน้า อาตมาก็สวด "อิมินา ปุญญกัมเมนะ อุปัชฌายา" หมายถึงอุปัชฌาย์ แต่อุปัชฌาย์ก็ยังไม่ตาย "คุณุตตรา อาจาริยู"ให้คู่สวดอีก คู่สวดก็ยังไม่ตาย ว่าเรื่อยไปยังไม่ทันจะจบเหลืออีกตั้งครึ่งบท เห็นเดินมา ๒ คนเอาโซ่คล้องคอลากผีที่นั่งอยู่ข้างหน้าไปเลย ผลปรากฏว่ายังไม่ได้ให้ผีเลย

พอตอนเช้าไปบิณฑบาตกลับมาฉันข้าว พอฉันเสร็จล้างบาตรเช็ดเรียบร้อย ปกติฉันเสร็จหลวงพ่อปานท่านจะยถาฯแต่วันนี้ท่านไม่ยถาฯ ท่านนั่งเฉยมองหน้าถามว่า"ไงพ่อคุณ พ่ออิมินาคล่อง สวดอย่างนั้นผีจะได้กินเหรอ"

ท่านให้แปลอิมินาแปลว่าอย่างไรบ้าง อุปัชฌาย์ก็ยังไม่ตาย คู่สวดญัตติคือท่านก็ยังไม่ตายมาให้ท่าน ผีที่อยู่ข้างหน้าทำไมไม่ให้ท่านก็บอกว่า"ทีหลังผีมาละก็ ผีมันอยู่นานไม่ได้ บางทีก็หลบหน้าเขามานิดหนึ่ง ถ้ามานั่งใกล้เรา ทุกขเวทนาอย่างเปรตนี่ ไฟไหม้ทั้งตัว หอกดาบฟัน

เวลาที่เราเจริญพระกรรมฐานอยู่ บุญของเรานี่สามารถจะช่วยให้เขามีความสุขได้ เพราะถ้ามานั่งข้างหน้าใกล้ๆเรานี่ ไฟจะดับ หอกดาบจะหลุดไป แต่ว่าจะอยู่นานไม่ได้ ต้องพูดให้เร็วเพราะเขาจะต้องไปรับโทษ เวลาอุทิศส่วนกุศลให้ว่าเป็นภาษาไทยชัดๆ และให้สั้นที่สุด"

ให้บอกว่า "บุญใดที่ฉันบำเพ็ญมาแล้วตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ผลบุญทั้งหมดนี้จะมีประโยชน์ ความสุขแก่ฉันเพียงใด ขอเธอจงโมทนาผลบุญนั้นและรับผลเช่นเดียวกับฉันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป" วันหลังผีตัวใหม่มา ตัวก่อนที่ถูกลากคอไปมาไม่ได้แล้ว ผีตัวใหม่ผอมก๋องเอาทนายมาด้วย ยืนอยู่ข้างหลังนางฟ้าที่มีทรวดทรงสวย เป็นเทวดาใหญ มากบอกว่า

"ท่านนั่งอยู่นี่ไงล่ะ จะให้ท่านช่วยอะไรก็บอกท่านสิ"ผีผอมก๋องพูดไม่ออกเพราะกรรมมันปิดปาก อาตมานึกขึ้นมาได้ ถ้าขืนให้อยู่นานเดี๋ยวโซ่คล้องคอลากไปอีก จึงอุทิศส่วนกุศลให้ตามที่หลวงพ่อปานสอน จึงบอกว่า

"ตั้งใจโมทนาตาม ทีหลังมา ข้าไม่ให้พูดแล้วข้าให้เลย" พอว่าจบผีผอมก๋องก็ก้มลงกราบ กราบไปครั้งแรกลุกขึ้นมาก็ผอมตามเดิม กราบครั้งที่สองลุกขึ้นมาก็ผอมตามเดิม พอกราบครั้งที่สามลุกขึ้นมา คราวนี้ชฎาแพรวพราวเช้งวับไปเลย

การได้รับส่วนกุศลนี้ ขึ้นอยู่กับท่านนั้นมีโอกาสโมทนา ท่านก็ได้รับ แต่ถ้าท่านนั้นไม่มีโอกาสโมทนาก็ไม่ได้รับ เปรียบเหมือนเราเอาสิ่งของไปให้ แต่ผู้รับเขาไม่รับ เขาก็จะไม่ได้ของ ถ้าพวกเขาอยู่ในนรก ไฟไหม้ทั้งวัน ถูกสรรพาวุธสับฟันทั้งวัน ถ้าเราเอาขนมไปให้กิน เขาก็ไม่มีโอกาสจะได้กินขนม


  ปรทัตตูปชีวีเปรตเป็นเปรตระดับที่ ๑๒ แบ่งเป็น ๒ พวกคือ พวกที่มีกรรมบางอยู่ข้างหน้า เราอุทิศให้แผ่กระจายเขาโมทนาได้ แต่พวกที่มีกรรมหนาอยู่ข้างหลัง ให้แผ่กระจายนี่เขาโมทนาไม่ได้ ถึงแม้จะมีสิทธิ์โมทนาก็ตาม เขาก็ไม่มีโอกาส

พวกปรทัตตูปชีวีเปรตมายืนอยู่นานไม่ได้ ส่วนสัมภเวสีก็มีความหิวแต่อยู่นานได้ จึงต้องให้เจาะจงเฉพาะตรง ถ้าไม่ให้ตรงเฉพาะก็รับไม่ได้เพราะกรรมหนัก ฉะนั้นการอุทิศส่วนกุศล เวลาจะให้ ให้ว่าเป็นภาษาไทยให้เรารู้เรื่องและให้สั้นที่สุด

การอุทิศส่วนกุศลแก่บุคคลต่างๆ ที่ตายไปแล้ว ถ้านึกได้ออกชื่อเขาก็ดี เพราะถ้ากรรมหนาอยู่นิด ถ้าออกชื่อเจาะจงเขาก็ได้รับเลย ถ้านึกไม่ออกก็ว่ารวมๆ "ญาติก็ดี ไม่ใช่ญาติก็ดี"ถ้าขืนไปนั่งไล่ชื่อน่ากลัวจะไม่หมด มีอยู่คราวหนึ่งนานมาแล้วไปเทศน์ด้วยกัน ๓ องค์ บังเอิญมีอารมณ์คล้ายคลึงกัน

วันนั้นทายกนำอุทิศส่วนกุศลออกชื่อคนตายกับบรรดาญาติทั้งหลายที่ตายไปแล้ว ปรากฏว่าบรรดาผีทั้งหลายก็เข้ามาเป็นหมื่นล้อมรอบศาลา คนที่เป็นญาติก็โมทนาแล้วผิวพรรณดีขึ้น พวกที่มิใช่ญาติก็เดินร้องไห้กลับไป ตอนท้ายมีคนถามถึงการอุทิศส่วนกุศลว่าทำอย่างไร พระองค์หนึ่งท่านเลยบอกว่า

"ญาติโยมที่นำอุทิศส่วนกุศล อย่าให้ใจแคบเกินไปนัก อย่าลืมว่าการทำบุญแต่ละคราว พวกปรทัตตูปชีวีเปรตก็ดี พวกสัมภเวสีก็ดี จะมายืนล้อมรอบคอยโมทนา แต่ถ้าเราให้แก่ญาติ ญาติก็จะได้ บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติก็จะไม่ได้ ฉะนั้นควรจะให้ทั้งหมดทั้งญาติและไม่ใช่ญาติ"

และตอนที่พระให้พร เจ้าภาพและทุกท่านที่บำเพ็ญกุศลแล้ว มีการถวายสังฆทานก็ดี การเจริญพระกรรมฐานก็ดี ควรตั้งจิตอธิษฐานตามความประสงค์ การตั้งจิตอธิษฐานเรียกว่า "อธิษฐานบารมี" ถ้าท่านตั้งใจเพื่อพระนิพพานก็ต้องอธิษฐานเผื่อไว้ โดยอธิษฐานว่า

"ขอผลบุญทั้งหมดนี้จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าเข้าถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ แต่ถ้าหากข้าพเจ้ายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด จะไปเกิดใหม่ในชาติใดก็ตาม ขอคำว่า "ไม่มี" จงอย่าปรากฏแก่ข้าพเจ้า"
ถ้าเราต้องการอะไรให้มันมีทุกอย่าง จะไม่รวยมากก็ช่าง เท่านี้ก็พอแล้ว

การทำบุญไปแล้วครั้งหนึ่งสักกี่ปีๆ บุญก็ยังมีอยู่ ถ้าทำไปแล้วสัก ๓๐ ปีก็ยังอุทิศส่วนกุศลได้ บุญไม่หาย ไม่ใช่เราทำบุญแล้วเดี๋ยวเดียวบุญหายไป ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าทำบุญแล้วไม่ได้อุทิศส่วนกุศล ผู้ทำเป็นผู้ได้บุญเต็มที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะให้เขาหรือไม่ให้ ถ้าเราไม่ให้เราก็กินคนเดียว

  ทีนี้ถ้าเราให้เขาบุญของเราก็ไม่หมด ส่วนที่เราให้ไปไม่ได้ยุบไปจากของเดิม อย่างเรื่องของ พระอนุรุทธสมัยที่ท่านเกิดเป็นคนเกี่ยวหญ้าช้างของมหาเศรษฐี เวลาที่ท่านทำบุญแล้ว เจ้านายมาขอแบ่งบุญ ท่านก็สงสัยว่าการแบ่งบุญจะแบ่งได้ไหม จึงไปถามพระปัจเจกพุทธเจ้าที่ท่านรับบาตร ท่านก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า

"สมมติว่าโยมมีคบและก็มีไฟด้วย แต่คนอื่นเขามีแต่คบไม่มีไฟ ทุกคนต้องการแสงสว่างก็มาขอต่อไฟที่คบของโยม แล้วคบของทุกคนก็สว่างไสวหมด อยากทราบว่าไฟของโยมจะยุบไปไหม"ท่านพระอนุรุทธก็ตอบว่า "ไม่ยุบ"

แล้วพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า
"การอุทิศส่วนกุศลก็เหมือนกัน เราให้เขา เขาก็โมทนา แต่บุญของเราก็ยังอยู่เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้หายไป"
ท่านพระยายมราชได้มาบอกอาตมาเรื่องการอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย เมื่อวันปวารณาออกพรรษาปีพ.ศ. ๒๕๓๑ ว่า

"ที่สำนักท่านพระยายมราชจะหยุดทำงานเรียกว่า "หยุดนรกการ ๓ วัน" คือ วันออกพรรษา วันปวารณา และวันรุ่งขึ้น รวมเป็น ๓ วัน วันมหาปวารณาเป็นวันสำคัญท่านไม่สอบสวน พวกที่คอยการสอบสวน ตามปกติเขามีอิสระอยู่แล้วจะไปไหนก็ได้ แต่ถึงเวลาสอบสวนก็จะมาเองเพราะกฏของกรรมบังคับ

คนที่มาคอยอยู่ที่นี่จะมีโอกาสพ้นนรกหรือไม่ก็ยังไม่แน่ ถ้าบรรดาญาติฉลาด หมายถึงทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศลเจาะจงให้ตรงเฉพาะคนเดียว โดยเอ่ยชื่อ นามสกุล อย่าให้คนอื่น เพราะเวลานั้นยังเป็นเวลาปลอดอยู่ มีสภาพคล้ายสัมภเวสี"

อาตมาจึงถามว่า "ทำบุญอะไร พวกนี้จึงจะไปสวรรค์ชั้นสูงและมีความสุขมาก"
ท่านตอบว่า "แดนใดที่ไม่มีบุญทำแล้วก็ไม่ได้รับเหมือนกัน หมายความว่าพระสงฆ์ที่เราไปทำบุญนั้น เป็นพระแค่ศีรษะกับห่มผ้าเหลือง ไม่ปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญาให้ครบถ้วนเรียกว่า "สมมติสงฆ์" อย่างนี้ทำไปเท่าไรก็ไม่มีผล อุทิศส่วนกุศลให้คนตายเขาก็ไม่ได้รับ ถ้าทำบุญในเขตที่มีบุญน้อย

ผู้รับก็มีอานิสงส์น้อยมีความสุขน้อย ทำบุญในเขตที่มีอานิสงส์ใหญ่ ผู้รับก็มีอานิสงส์มากได้รับผลบุญมากก็มีความสุขมาก และการสร้างบุญเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ขึ้นอยู่กับสร้างดีก็ได้บุญ ถ้าสร้างไม่ดีก็ได้บาป หมายถึงก่อนจะทำบุญก็กินเหล้าก่อน

พอพระกลับก็กินเหล้ากันอีก แต่ถ้าหากตั้งใจทำบุญโดยมีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีบาปมีแต่บุญ อย่างนี้ผู้สร้างบุญก็ได้บุญเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ คือบุญนี่จะต้องได้แก่ผู้สร้างบุญก่อน แล้วผู้สร้างจึงจะอุทิศส่วนกุศลให้คนอื่นได้"

ท่านจึงบอกว่า "สังฆทานดีที่สุด" โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ท่านจะช่วยได้จริงๆ ต้องเฉพาะคนที่ไปคอยการสอบสวนที่สำนักท่านเท่านั้น อย่างสัมภเวสี เปรต อสุรกาย ไม่ผ่านท่าน ท่านช่วยไม่ได้ และคนที่ตายแล้วลงนรกทันที ท่านก็ช่วยไม่ได้เพราะไม่ได้ผ่านสำนักท่าน
อาตมาจึงถามท่านว่า "ทำอย่างไรความแน่นอนจึงจะปรากฏ ท่านจึงจะช่วยได้"

ท่านก็เลยบอกว่า "เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ลูกหลานอาตมาคือลูกหลานของผม"
ให้บอกลูกหลานว่า "เวลาทำบุญเสร็จแล้วอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย"
ถ้ายังไม่มั่นใจให้บอกท่านว่า

"ถ้าบุคคลนั้นยังไม่มีโอกาสโมทนาเพียงใด ขอท่านพระยายมราชเป็นพยานด้วย หากว่าพบเธอผู้นั้นเมื่อใด ขอให้บอกเธอโมทนาเมื่อนั้น"

เพราะไม่แน่นัก เนื่องจากขณะที่มีชีวิตอยู่คนเราทำทั้งบุญทั้งบาป เวลาตายไปแล้ว ถ้าไปอยู่ที่สำนักท่านพระยายามราช บางทีกรรมบางอย่างมันปิดปาก เวลาถามถึงเรื่องบุญทำให้นึกไม่ออกตอบไม่ได้ หากว่าท่านถามถึง ๓ ครั้งยังนึกไม่ออกอีก ก็ต้องปล่อยให้ลงนรกไป

แต่ถ้าเวลาอุทิศส่วนกุศลขอให้ท่านเป็นพยาน เพียงแค่นี้ พอโผล่หน้าเข้าไปท่านก็จะประกาศว่า ที่เคยขอให้ท่านเป็นสักขีพยาน และท่านก็จะประกาศกุศลนั้นบอกให้โมทนา ก็จะไปสวรรค์เลยโดยไม่ต้องมีการสอบสวน.."

                                                               คำอุทิศส่วนกุศล



"อิทัง ปุญญ
ะผะลัง" ผลบุญใดที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้บำเพ็ญแล้ว ณ โอกาสนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ที่เคยล่วงเกินมาแล้ว แต่ชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ขอเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายจงโมทนาส่วนกุศลนี้ ขอจงอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าตั้งแต่วันนี้ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน


บทอุทิศส่วนกุศลท่อนแรกนี้ ให้แก่เจ้ากรรมนายเวร หลวงปู่โตท่านมาบอก และบทอุทิศส่วนกุศลอีก ๓ ท่อน ท่านพระยายมราชท่านมาบอก มีดังนี้


         ท่อนที่สอง



แล
ะข้าพเจ้าทั้งหลายขออุทิศส่วนกุศลนี้ ให้แก่เทพเจ้าทั้งหลายที่ปกปักรักษาข้าพเจ้า และเทพเจ้าทั้งหลายทั่วสากลพิภพ และพระยายมราช ขอเทพเจ้าทั้งหลายและพระยายมราชจงโมทนาส่วนกุศลนี้ ขอจงเป็นสักขีพยาน ในการบำเพ็ญกุศลของข้าพเจ้าในครั้งนี้ด้วยเถิด


        ท่อนที่สาม


และขออุทิศส่วนกุศ
ลนี้ให้แก่ท่านทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เสวยความสุขอยู่ก็ดี เสวยความทุกข์อยู่ก็ดี เป็นญาติก็ดี มิใช่ญาติก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงโมทนาส่วนกุศลนี้ พึงได้รับประโยชน์ ความสุข เช่นเดียวกับข้าพเจ้าจะพึงได้รับ ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด
         ท่อนที่สี่                                                                                                                      ผลบุญใดที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้บำเพ็ญมาแล้ว ณ โอกาสนี้ ขอผลบุญนี้จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้เถิด.

  ขอบคุณที่มา  เว็บบอร์ดพลังจิต

112
ความสงบอย่างยิ่ง

คือการดำรงอยู่เหนือกาลเวลา

ท่านสาธุชนผู้ใจในธรรมทั้งหลาย

ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ที่เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา

ความสำคัญของกาลเวลา

ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภถึงความหมายของวันที่สมมติกันว่า เป็นวันขึ้นปีใหม่เพราะฉะนั้นธรรมะที่เป็นเครื่องแสดงถึงความไม่ประมาทอันเกี่ยวกับเวลา ย่อมเหมาะสมสำหรับโอกาสเช่นนี้ดังจะได้ยกเอาหัวข้อพระพุทธพาษิตที่มีอยู่ว่า

อจฺเจฺนติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย เป็นอาทิ มาวิสัชนาในที่นี้

บทว่า “อจฺเจฺนติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย”

นั้นแปลว่า เวลาย่อมล่วงไป

วันและคืนย่อมล่วงไป

ชั้นแห่งวัยย่อมละไป

ข้อนี้หมายความว่า เมื่อกล่าวโดยส่วนรวมกว้างๆ ก็ว่า เวลาล่วงไป ถ้าจะให้แคบเข้ามาก็ว่าวันและคืนล่วงไป หรือจะขยายออกไปว่า วัยย่อมละลำดับ คือปฐมวัยย่อมเปลี่ยนเป็นมัชฌิมวัย และเปลี่ยนไปเป็นปัจฉิมวัยในที่สุด เป็นการละลำดับดังนี้

ความหมายข้อแรกนี้ เป็นเครื่องยืนยันชั้นหนึ่งก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่าเวลานั้น ไม่ได้คงที่ แต่ล่วงไปๆ

ข้อที่มีความสำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ

“กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา”

ซึ่งแปลว่า

เวลาย่อมกินซึ่งสรรพสัตว์

พร้อมทั้งตัวมันเอง

นี้หมายความว่า เวลาไม่ได้ล่วงไปเฉยๆ แต่เวลาย่อมกินสรรพสัตว์ให้ค่อยๆสิ้นไป พร้อมทั้งตัวเวลาเองด้วย

“เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน อถ โลกามิสํ ปชฺชเห สนฺติเปกฺโข”

เมื่อพิจารณาเห็นภัย

ในความตายเช่นนี้แล้ว

พึงหวังความสงบ

ละเหยื่อในโลกนี้เสีย

นี้เป็นคำสอนข้อสุดท้าย

ในเมื่อเห็นว่าเวลาเป็นอย่างนั้นแล้ว มนุษย์จะต้องทำอย่างไร มีใจความว่า...

เมื่อมองเห็นว่าเวลาล่วงไป มันกินสรรพสัตว์หมายความว่าทำให้ตาย

เมื่อเห็นภัยในความตายจะทำอย่างไรดี?

ข้อนี้มีคำตอบอยู่เป็น ๒ อย่าง คือ คนปุถุชนธรรมดาสามัญ แม้ที่สุดแต่พวกเทวดาก็ตอบว่า กยิราถปุญฺญานิ สุขาวหานิ ซึ่งแปลว่า เมื่อมองเห็นภัยในความตายแล้ว ควรรีบกระทำบุญ อันจะนำสุขมาให้

ส่วนพระพุทธเจ้าเมื่อได้ฟังพวกเทวดากล่าวดังนั้นท่านตรัสว่า เรายังไม่ถือว่าการกล่าวอย่างนั้นเป็นการกล่าวอย่างถูกต้อง แต่เรากล่าวว่า “เมื่อยิ่งเห็นภัยในความตายแล้ว พึงหวังความสงบ โดยละเหยื่อในโลกนี้เสีย”

ข้อความนี้ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือคนธรรมดาสามัญที่เป็นปุถุชนนั้น เมื่อกลัวตายก็รีบทำบุญ แต่พระอริยเจ้าผู้รู้จริงและเห็นจริงในสิ่งทั้งปวงนั้น กลับกล่าวว่าเมื่อเห็นภัยในความตายแล้ว ก็จงหวังนิพพานอันเป็นธรรมเครื่องให้สงบ โดยการละเหยื่อทั้งหลายในโลกนี้เสียซึ่งย่อมจะหมายความว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าบุญ ก็ยังจัดไว้ในพวกที่เป็นเหยื่ออยู่นั่นเอง เพราะเป็นเครื่องล่อให้บุคคลหลงใหล พอใจ ด้วยความอยาก หรือความต้องการ ว่าจะได้เกิดในสุคติ เป็นสุข สนุกสนานกันอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น จึงได้เรียกว่าเหยื่อ

สิ่งที่เรียกว่าเหยื่อ ก็มีความหมายว่าเป็นเครื่องล่อใจ ในบรรดาสิ่งเครื่องล่อใจทั้งหลาย ย่อมไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าบุญ ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า...

แม้สิ่งที่เรียกว่าบุญ ก็ได้ชื่อว่าเป็นอุปธิ คือเป็นเหยื่อของกิเลสเหมือนกัน ถึงกับจะเรียกว่าเหยื่อในโลกก็ยังเรียกได้ เพราะว่าบุญย่อมนำให้เกิดในโลกใดโลกหนึ่งเสมอ ไม่ในโลกมนุษย์ ก็เทวโลก หรือพรหมโลก เป็นเครื่องให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก ดังนั้นจึงได้เรียกว่าเหยื่อ

กำจัดเวลา สู่ภาวะเหนือโลก

ถ้าเห็นภัยอันตรายที่เกิดจากเวลา ที่เคี้ยวกินสรรพสัตว์กันจริงแล้ว ก็จะต้องทำให้ยิ่งไปกว่านั้น คือหวังความสงบรำงับจาการครอบงำของเวลา เพราะว่าไม่ต้องการเหยื่อนั่นเอง

ดังนั้นท่านจึงสรุปไว้ในขั้นสุดท้ายว่า...

ผู้ใดกำจัดความอยากเสียได้

ผู้นั้นย่อมกินซึ่งเวลา

เป็นของคู่กันว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ตามธรรมดานั้นย่อมถูกเวลากัดกิน แต่พระอริยเจ้าผู้กำจัดความอยากเสียได้นั้น กลับเป็นผู้กินซึ่งเวลา

หมายความว่า กำจัดเวลาเสียได้นั่นเอง

ข้อนี้เป็นธรรมะในขั้นที่เป็น วิวัฏฏคามินีปฏิปทาคือแสดงถึงธรรมะเครื่องออกไปจากวัฏฏะ หรือนำขึ้นสู่ภาวะที่เรียกว่าอยู่เหนือโลกโดยประการทั้งปวง

ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่าถ้าอยู่ในโลก อยู่ใต้โลก ก็ย่อมถูกเวลาครอบงำหรือกัดกิน แต่ถ้าอยู่เหนือโลก ก็เป็นฝ่ายที่กัดกินเวลา เวลาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ว่าสัตว์ธรรมดาที่ยังไม่อาจจะละความยึดมั่นถือมั่นในโลกได้ ย่อมมีความอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงถูกกัดกินอยู่ด้วยเวลาคือความที่ไม่สมใจอยาก หรือว่าสิ่งที่ได้มาแล้วสมใจอยากมันก็ยังเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา เวลาเป็นเครื่องทำให้สัตว์เดือดร้อน ทนทุกข์ทรมานอย่างนี้อยู่เสมอหมายความว่าเมื่อยังไม่ได้ ก็ร้อนใจเหมือนกับตกนรกครั้นได้มาแล้วก็กลัวจะวิบัติพลัดพรากไป และในที่สุดก็ได้

วิบัติพลัดพรากไปจริงๆ เพราะอำนาจของเวลานั้นดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า เวลาย่อมกัดกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวมันเองอยู่ตลอดเวลาดังนี้

คนธรรมดาทั่วไป มักจะแยกสิ่งทั้งหลายทั้งปวงออกเป็น ๒ ฝ่าย ในลักษณะที่ว่า เป็นบุญหรือเป็นบาปคู่กัน เป็นนรกหรือเป็นสวรรค์ คู่กัน เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ คู่กัน เป็นคู่กันอย่างนี้เสมอไป แล้วตัวก็เลือกเอาข้างหนึ่ง แล้วก็ไม่ชอบอีกข้างหนึ่ง เช่นเลือกเอาข้างบุญไม่เอาข้างบาป เลือกเอาข้างสวรรค์ ไม่เอานรก เลือกเอาข้างความสุข ไม่เอาข้างความทุกข์ อย่างนี้เป็นต้นแล้วคิดว่านี้เป็นเพียงการทำที่เพียงพอ หรือถูกต้องแล้ว

การทำเพียงเท่านั้นยังไม่เพียงพอ อาจจะถูกต้องสำหรับคนทั่วไปธรรมดาสามัญ แต่ไม่ถูกต้องสำหรับบุคคลที่ต้องการจะดับทุกข์โดยประการทั้งปวง เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าบุญหรือสุขนั้น ก็ยังเป็นเหยื่อของความอยากยังเป็นที่ตั้งของความอยาก โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าสรรค์ด้วยแล้ว ก็หมายถึงตัวที่เป็นเหยื่อโดยเฉพาะดังนั้นแม้จะได้บุญ แม้จะได้ไปสวรรค์ แม้แต่จะมีความสุขมันก็ยังถูกเวลากัดกินอยู่นั่นเอง จะมีความสุขในมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก หรือโลกไหนก็ตาม ก็ยังถูกเวลากัดกินอยู่นั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่เป็นการดับทุกข์สิ้นเชิง เป็นเพียงการเสวยสุขเวทนาคือความรู้สึกสนุกสนาน เอร็ดอร่อยตามอารมณ์ของตน แล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาด้วยกันทั้งนั้น และในที่สุดก็ต้องพลัดพรากจากกันเพราะอำนาจของเวลา

ด้วยเหตุดังนี้แหละ

ทางฝ่ายพุทธศาสนาจึงมีหลักว่า

ถ้าต้องการจะพ้นจากความตาย

หรือความทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้ว

ต้องละทิ้งสิ่งที่เป็นเหยื่อเสียให้หมด

หวังอยู่แต่สันติบท หรือพระนิพพาน

หนทางสู่การอยู่เหนืออำนาจของเวลา

ที่ว่า ละเหยื่อเสียให้หมดนี้ หมายถึงไม่มีอะไรซึ่งเป็นที่ตั้งของความอยาก มีจิตใจว่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดว่าน่ารักน่าปรารถนา อย่างนี้เรียกว่าหวังต่อนิพพานไม่ได้หวังนรกสวรรค์ ไม่ได้หวังบุญหวังบาป หวังสุข หวังทุกข์ แต่หวังความสงบอย่างยิ่ง ความว่างอย่างยิ่งความไม่มีทุกข์เลย

ถ้าจะให้ง่ายๆ ก็ต้องพูดว่า คนมีบุญก็เป็นทุกข์ไปตามประสา หรือตามแบบของคนมีบุญ ส่วนคนมีบาปก็เป็นทุกข์ไปตามประสาของคนมีบาป ไม่ใช่ว่าเป็นคนมีบุญแล้วจะไม่มีความทุกข์ เพราะว่าถ้ายังหวังยังอยากใน

บุญหรืออะไรอยู่แล้ว ก็ต้องมีความทุกข์เพราะความอยาก

นั่นเอง เพราะว่าเวลามาเบียดเบียนให้ความอยากนั้นเผาผลาญบุคคลนั้นทั้งที่ได้ตามที่ตนอยาก หรือไม่ได้ตามที่ตนอยาก

แม้ว่าได้บุญมาแล้วก็ยังกลัวว่าจะหมดสิ้นไป แต่ในที่สุดก็เป็นสิ่งที่เสื่อมสิ้นหมดไปได้จริงๆ ต้องสร้างกันใหม่ต้องทำกันใหม่ ด้วยความอยากต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า คนมีบุญก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของคนมีบุญ คนมีบาปก็มีทุกข์ไปตามแบบของคนมีบาปถ้าจะให้พ้นทุกข์สิ้นเชิง ต้องไม่หวังบุญหรือบาป แต่หวังความสงบรำงับโดยประการทั้งปวง หรือความว่างโดยประการทั้งปวง จึงเรียกกันทั่วๆไปว่านิพพาน โดยการดับความอยากทั้งหลายเสียอย่าให้มีส่วนเหลือ ไม่ว่าจะเป็นความอยากชนิดไหน จะต้องขจัดเสียจากจิตใจให้หมดสิ้น เหลืออยู่แต่สติปัญญา หรือว่าอะไร ควรทำอย่างไรก็ทำไปตามนั้น ไม่ต้องทำด้วยความอยาก แต่ว่าทำด้วยสติปัญญา อย่างนี้เรียกว่าหวังแต่สันติคือพระนิพพาน โดยละเหยื่อในโลกทั้งหลายเสีย

เมื่อเป็นผู้ไม่อยากอะไรแล้ว เวลาก็ทำอะไรไม่ได้คือเวลาจะเบียดเบียนบุคคลผู้นั้นก็ไม่ได้อีกต่อไป ท่านจึงกล่าวว่าผู้นั้นเป็นผู้กินซึ่งเวลา ตรงกันข้ามจากคนธรรมดาที่ว่าเวลาย่อมกินสรรพสัตว์ คือคนธรรมดาสามัญนั่นเอง

คนอาจจะสงสัยว่า พระอริยเจ้า หรือพระอรหันต์ในที่สุดท่านไม่ตายหรืออย่างไร ข้อนี้ต้องดูให้ดีว่าโดยร่างกายก็แตกทำลายไปตามกาลเวลา แต่ว่าโดยจิตใจหาเป็นเช่นนั้นไม่ คือเวลาไม่ได้ทำให้ท่านเดือดร้อนเป็นทุกข์ได้ ถึงแม้ว่าร่างกายจะต้องแตกต้องทำลายไป ก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเดือนร้อน หรือแม้ว่าสิ่งเป็นที่รัก ที่พอใจทั้งหลาย จะเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจของเวลาก็ไม่ได้ทำให้เดือดร้อน แปลว่าเวลาทำอะไรไม่ได้ เพราะท่านตั้งอยู่ด้วยความสงบรำงับ สามารถจะต่อต้านเวลาให้หันหลังกลับด้วยซ้ำไป คือทำอะไรท่านไม่ได้นั่นเอง

ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่าผู้หลุดพ้นถึงปานนั้น ย่อมเป็นผู้ซึ่งกินเวลา ดังนี้

ข้อคิดเกี่ยวกับเวลา

สำหรับเราทั้งหลาย ก็มีข้อที่จะต้องคิด เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่มากเหมือนกัน คือว่าถ้าเป็นคนประมาทแล้วย่อมมีความทุกข์เกี่ยวกับเวลานี้มากเกินไปหลายอย่างหลายทาง คือว่าในทางต้นที่สุด ทางแรกที่สุด ที่ให้รีบกระทำความดี หรือทำบุญไว้ก่อนก็ยังเป็นผู้ประมาท ยิ่งเป็นผู้ไม่หลงทำบาป ยิ่งได้รับความทุกข์มากกว่าที่ควรจะได้รับ ที่นี้ถ้าสูงขึ้นมา แม้ว่าจะเป็นผู้บำเพ็ญบุญอยู่เนืองนิต แต่ถ้าเป็นผู้ประมาทไม่รู้ตามที่เป็นจริง ไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งเหล่านี้โดยความเป็นตัวตนของตนแล้ว ก็จะเป็นผู้มีความทุกข์อย่างลึกซึ้ง มองเห็นได้ยากไปอีกแบบหนึ่งด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะคือคนที่ยึดมั่นในเรื่องของ

สวรรค์ แม้ว่าจะได้เกลียดกลัวเรื่องของนรก นี้ก็เรียกว่าเป็นความประมาท ถ้าเป็นผู้ไม่ประมาทก็คือหมายความว่าไม่ยึดมั่นในสิ่งใดเลย

ผู้ไม่ประมาท

ย่อมรู้ตามที่เป็นจริงว่า

ถ้าลงได้เป็นบ่าวเป็นทาสของความอยากแล้ว

นรกหรือสวรรค์ก็ย่อมจะเป็นทุกข์เท่ากัน

เป็นความทุกข์เท่ากัน

แม้ว่าจะมีรูปร่างต่างกัน

นรก หรือ สวรรค์

คนทั่วไปเห็นว่านรกกับสวรรค์นั้นต่างกันอย่างตรงกันข้าม แต่พระอริยเจ้าเห็นว่าเหมือนกัน และยังเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ไปตามแบบของตนๆ อยู่ในนรก หรืออยู่ในสภาพของนรก ก็เป็นทุกข์ตามแบบของสัตว์นรกอยู่ในสวรรค์ หรือในสภาพที่เป็นสวรรค์ ก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของเทวดาที่อยู่ในสวรรค์

ความทุกข์นั้นเมื่อกล่าวโดยปริมาณแล้ว อาจจะเท่ากัน เพราะเหตุใด? เพราะเหตุว่ามันมีความอยากในปริมาณที่เท่าๆกัน แม้ว่าจะมีรูปร่างต่างกัน แม้ว่าอันหนึ่ง

จะสวยสดงดงาม อันหนึ่งจะเร่าร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ แต่ถ้า

เป็นความอยากแล้ว ย่อมเผาผลาญจิตใจเหมือนกันหมด

ดังนั้นเมื่อเกิดความอยากขึ้นในใจแล้ว ก็ขอให้เข้าใจเถอะว่านั่นเป็นนรก ไม่ควรจะเรียกว่าสวรรค์เลยหากแต่ว่าชนิดนี้มันซ่อนเร้นปิดบังเห็นได้ยาก

ถ้ามีใครมากล่าวแม้แต่สวรรค์ก็เป็นนรกชนิดหนึ่งอย่างนี้คงจะไม่มีใครเห็นด้วย เพราะว่ามีแต่คนกล่าวว่านรกอย่างหนึ่ง สวรรค์อย่างหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น มีแต่พระอริยเจ้าที่เห็นตามที่เป็นจริงเท่านั้น ที่จะเห็นว่า นรกหรือสวรรค์ก็ตาม เมื่อยึดถือแล้วย่อมเป็นทุกข์โดยเสมอกันสวรรค์เสียอีกเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ความยึดถือยิ่งกว่านรก

เพราะฉะนั้นสวรรค์จึงมีส่วนที่ทำให้เกิดความทุกข์ได้มากกว่านรก แต่ว่าซ่อนเร้น มองไม่เห็น เป็นผู้สมัครเป็นทุกข์โดยชื่นตาเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

นี้เรียกว่าเป็นความประมาทในชั้นสูง ซึ่งยากที่จะเข้าใจ ถ้าจะตักเตือนกันในขั้นต้นๆ ก็บอกว่ารีบเว้นบาปเสีย และรีบทำบุญเพื่อจะได้ไปสวรรค์

แต่ถ้าจะตักเตือนกันในขั้นสุดท้ายแล้ว ก็ย่อมจะตักเตือนว่า...

อย่าได้หลงใหลในสิ่งใดเลย จงปล่อยความยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวง ไม่มีส่วนเหลือเมื่อนั้นก็จะอยู่เหนือนรกและเหนือสวรรค์โดยประการทั้งปวง

คือไม่มีความอยาก เมื่อไม่มีความอยากแล้วก็เป็นความสงบ หรือเป็นนิพพาน ไม่เกี่ยวข้องกับเหยื่อชนิดใดๆในโลกนี้อีกต่อไป นี้เรียกว่าเป็นความไม่ประมาทในขั้นสูง เป็นการตักเตือนกันในขั้นสูง

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะการชี้ให้เห็นชั้นหนึ่งก่อนว่า สายหรือแนวของการดับทุกข์นั้นมีอยู่อย่างไร จะไปสุดทางกันแค่ไหน เรารู้ให้หมดจดสิ้นเชิงเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาพิจารณาดูว่าเราจะเลือกเอาอย่างไร หรือเพียงไหนกันอีกทีหนึ่ง

สำหรับผู้ที่ไม่อาจจะเข้าใจได้ ก็มีการสอนให้พอใจในสวรรค์ ให้รีบทำบุญ อันจะนำความสุขมาให้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่สมมติกันว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่นี้ ก็จะตักเตือนซึ่งกันและกันให้ทำบุญให้มากให้ยิ่งขึ้นไปกว่าปีเก่า มันก็เป็นการถูกต้องแล้ว และถูกต้องสำหรับบุคคลประเภทนั้น

แต่ถ้าจะให้มากไปกว่านั้น ให้สูงไปกว่านั้น ให้ประเสริฐไปกว่านั้น อันเป็นชั้นที่พระอริยเจ้าท่านพอใจ

แล้ว เขาก็จะไม่พูดถึงเรื่องบุญเรื่องบาปเลย แต่จะพูดว่า ปีใหม่นี้ จงกินเหยื่อในโลกนี้ให้น้อยกว่าปีเก่าก็แล้วกัน คือว่าให้ละเหยื่อในโลกนี้ได้มากกว่าปีเก่าก็แล้วกัน สิ่งใดเป็นเหยื่อ สิ่งนั้นก็ต้องละให้มากขึ้น โดยมุ่งหวังต่อความสงบ สภาพของความสงบ คือความไม่ต้องกระวนกระวายไปตามเหยื่อ เป็นคนที่มีความสงบระงับอยู่ได้นั่นเอง

การที่กล่าวดังนี้ อยากจะให้คิดดูด้วยกันทุกคนว่ามันยากเกินไปหรือไม่ ถ้าจะพูดว่าปีใหม่นี้ พยายามละเหยื่อในโลกนี้ ให้มากขึ้นกว่าปีเก่า จะฟังออกหรือไม่หรือว่าจะต้องบอกว่า ให้ทำบุญให้มากกว่าปีเก่าไปตามเดิม ตามที่เคยพูดๆ บอกๆกันมา

การตกเป็นเหยื่อของบุญ

ถ้าผู้ใดมีการศึกษาและการปฏิบัติก้าวหน้า ผู้นั้นก็ควรแล้วที่จะมองเห็น หรือจะฟังออก หรือจะเข้าใจเพราะว่าการที่ตักเตือนซึ่งกันและกัน ให้ละเหยื่อในโลกเสียให้มากกว่าปีเก่านี้ ย่อมจะน่าฟังกว่าที่จะพูดว่าให้รีบทำบุญให้มากกว่าปีเก่า เพราะคำว่าบุญนี้ มันกำกวมยิ่งไปกว่าคำว่าเหยื่อเสียอีก

บางคนมองบุญในแง่ที่วิเศษสูงสุด น่าปรารถนาอย่างยิ่งกว่าสิ่งทั้งปวงเอาทีเดียว เพราะว่าไม่รู้จักความทุกข์ที่เร้นลับ หรือไม่รู้จักพระนิพพานซึ่งเป็นที่ดับทุกข์

อย่างสิ้นเชิง เพราะไปมองเห็นแต่เพียงว่า สิ่งที่เรียกว่า

บุญนั้นเป็นสิ่งสูงสุด แล้วไปยึดถือความหมายนี้เป็นเพียงสิ่งเดียว เป็นสิ่งสูงสุดไป ดังนี้ก็มี แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจจะมีคนบางคนที่อาจจะลังเลอยู่ เพราะได้เคยสังเกตเห็นว่าคนที่ทำบุญมากๆ ขนาดที่เรียกว่าบ้าบุญ เมาบุญอย่างนี้ ยังกลับจะเป็นทุกข์มากไปเสียกว่าคนที่อยู่เฉยๆ ก็เลยเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า บุญนี้คืออะไรกันแน่ อยู่ที่ตรงไหนแน่ ทำไม่จึงมีคนที่บ้าบุญ เมาบุญ กลับเป็นผู้ที่เดือนร้อนยิ่งกว่าคนที่อยู่เฉยๆ

ถ้าพิจารณาดูให้ดีก็จะเห็นได้ว่า เพราะว่าคนเหล่านั้นยังไม่เข้าใจคำว่าบุญ ยังไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าบุญจึงได้หลงสำคัญเอาสิ่งที่ตนชอบที่สุดว่าเป็นบุญ มีความยึดมั่น

ถือมั่นในบุญ เพราะเคยได้ยินเขากล่าวกันว่าบุญจะนำมาให้ซึ่งสิ่งที่รัก ที่พอใจ ที่ชอบใจ ทุกอย่างทุกประการ เพราะฉะนั้นคนจึงชอบบุญกันเป็นอันมาก ถ้าบุญมีความหมายเป็นอย่างอื่นแล้ว คนคงจะไม่ชอบบุญกันเป็นแน่

เดี๋ยวนี้เพียงแต่ได้ยินว่า บุญเป็นสิ่งที่นำมาให้ซึ่งความปรารถนาทุกประการ แล้วก็เลยชอบ แต่หากได้คิดดูไม่ว่าความอยากหรือความปรารถนานั้นเป็นความทุกข์ถ้าบุญนำความอยากหรือความปรารถนามาให้ หรือก่อให้เกิดความอยาก หรือความปรารถนาแล้ว ก็คือสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ หรือความเร่าร้อนขึ้นในจิตใจโดยไม่ต้องสงสัย ถ้ามีปัญญามองเห็นได้อย่างนี้ ก็นับว่าเป็นการเข้าใจถูกต้องขึ้นมาตามลำดับ อาจจะมองเห็นว่า การเป็นอิสระ ไม่ไปเที่ยวอยากโน่นอยากนี่ ไปตามอำนาจของความอยากนั่นและดูจะเป็นสิ่งที่น่าปรารถนากว่า คือไม่มีความทุกข์ มีแต่สติปัญญารู้ว่าควรทำอย่างไรควรทำอะไร หรือควรทำอย่างไร และควรทำเพียงไหนในวันหนึ่งๆ ก็ทำสิ่งเหล่านั้นไปตามที่ควรทำ ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นถึงกับเกิดความอยากหรือความหลง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ร้อน เพราะเวลาไม่เข้าข้างตนเพราะว่าเวลาไม่เข้าด้วยกับตน เวลาเป็นไปตามเรื่องของเวลา คนที่มีความปรารถนาจึงได้มีความทุกข์มากหรือทุกข์น้อยตามส่วนของความปรารถนานั่นเอง

อยู่เหนืออำนาจของเวลา

โดยการละความอยาก

ถ้ามีความปรารถนามาก

...เวลาก็วิ่งไปเร็วมาก

ถ้ามีความปรารถนาน้อย

...เวลาก็วิ่งไปช้าๆ

ถ้าไม่มีความปรารถนาเลย

...เวลาก็หยุดสนิท ไม่วิ่งไป

ดังนั้น เราจึงเอาชนะเวลาได้

ด้วยการทำลายความอยากเสีย

โดยประการทั้งปวง

สิ่งที่เรียกว่านิพพาน หมายถึง ภาวะที่ปราศจากความอยากโดยประการทั้งปวง ผู้บรรลุนิพานคือพระอรหันต์ โดยเฉพาะนั้นก็คือผู้ที่กำจัดความอยากเสียได้โดยประการทั้งปวง ดังนั้นเวลาจึงหยุดหมดสำหรับบุคคลเหล่านั้น เหมือนกับว่าไม่มีเลย ไม่ว่าในโลกนี้หรือในโลกไหน ไม่มีเวลาสำหรับบุคคลผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วไม่มีความยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยประการทั้งปวง ดังนี้

เมื่อเราพิจารณาดูตามลำดับที่กล่าวมานี้ ก็พอจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าเวลานั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ตายตัวเสมอไปอย่างที่คนชาวโลกเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนนอกศาสนา คือคนนอกพุทธศาสนาเขาคิดว่า เวลาเป็นสิ่งที่ตายตัว แล้วเขาก็กลัวเวลานี้มาก แข่งกับเวลามากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้นเท่านั้น

แต่ในพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เอาชนะเวลา เอาชนะเวลาให้ได้ จนเวลาหยุดสงบไปเหมือนกับไม่มี ซึ่งได้แก่ การหยุดเสียซึ่งความอยากในจิตใจของเรานั่นเอง

หยุดความอยากเสียได้เมื่อใด

เวลาก็หมดความหมายเมื่อนั้น

มีความอยากความต้องการเมื่อใด

เวลาก็มีความหมายขึ้นมาเมื่อนั้น

อยากมาก เวลาก็วิ่งไปเร็ว

อยากน้อย เวลาก็วิ่งไปช้า

อยากถึงที่สุดจนขาดใจตายไป

...เวลาก็วิ่งเร็วถึงที่สุดจนทำให้บุคคลนั้นตายไป

นี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดดูให้ดีในเรื่องเกี่ยวกับเวลา

เวลากับการดำเนินชีวิต

เรื่องปีใหม่ปีเก่านี้ก็เหมือนกัน มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเวลา ถ้าเราทำไม่ดี ทำไม่ถูก มันก็เป็นความโง่ความหลง ทำให้ปีใหม่เป็นทุกข์มากไปกว่าปีเก่าก็ยังได้

เด็กๆ ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนอะไร มองเห็นได้ชัดๆพอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รู้จักอยากโน่นอยากนี่ ทะเยอทะยานนั่นนี่มากขึ้น มันก็เป็นทุกข์มากขึ้น แล้วจะเรียกว่าปีใหม่เป็นสุขมากว่าปีเก่าได้อย่างไร ถ้าเราเอาจิตใจของเด็กๆ มาเทียบกันดู กระทั่งถึงเด็กที่ยังอยู่ในท้องของมารดา เราพอจะเห็นว่าเด็กในท้องของมารดานั้นไม่อยากอะไรเลยเพราะฉะนั้นเวลาจึงไม่มีสำหรับเด็ก หรือสำหรับจิตใจของเด็ก แต่เมื่อเด็กรู้จักต้องการนั่น ต้องการนี่ เวลาจึงจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ยิ่งต้องการมาก เวลาก็ยิ่งมีความหมายมาก จนกระทั่งจัดให้ไม่ทันก็ร้องไห้ ต้องฆ่าตัวตาย มันก็เป็นเรื่องของเวลาที่เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเร้นลับที่สุด

เมื่อจะให้ปีใหม่มีความสุขที่แท้จริงยิ่งกว่าปีเก่าอาตมามีความเห็นว่า ควรจะต้องจัดการกับสิ่งที่เรียกว่าเวลานี้ให้ดี ให้ถูกต้องยิ่งกว่าปีเก่า ไม่เพียงแต่ให้พรกันว่า ให้มีอะไรมากๆ ให้ได้อะไรมากๆ หรือว่าให้ยิ่งอยากอะไรมากๆ ซึ่งมีแต่จะทำให้เป็นทุกข์ยุ่งเหยิงขึ้นไปกว่าปีเก่า ถ้าจะให้ปีใหม่ขึ้นมาจริงๆ ไม่ซ้ำกับปีเก่า ก็ต้องจัดเรื่องเวลาให้ดี ปีใหม่ซ้ำกับปีเก่า บางทีจะไม่ซ้ำอย่างเดียว กลับจะซ้ำอย่างมาก คิดซ้ำแล้วยังกลับมีน้ำหนักมากกว่าปีเก่า ไม่ได้เป็นทุกข์เท่าๆกันกับปีเก่า แต่กลับมีความทุกข์มากยิ่งขึ้นไปกว่า

ดังนี้ทุกคนจะต้องตัดสินของตนเอง ด้วยตนเองว่ามันเป็นสุขหรือทุกข์มากกว่าปีเก่า คนอื่นจะมาช่วยดูมาช่วยรู้สึกหรือมาช่วยตัดสินให้ไม่ได้ ตนเองจะต้องดูจะต้องรู้สึก และตัดสินด้วยตนเอง และต้องฉลาดด้วยไม่ใช่กระทำไปอย่างความโง่

แล้วต้องยุติธรรม คือไม่ลำเอียงเข้าข้างกิเลส แต่ต้องทำกันอย่างยุติธรรมไปตามหลักเกณฑ์ของพระธรรมถ้าว่าร้อนก็ต้องว่าร้อน ถ้าเป็นทุกข์ก็ต้องว่าเป็นทุกข์ ถ้าว่ากระวนกระวาย กระสับกระส่าย ก็ต้องยอมรับว่ากระวนกระวายและกระสับกระส่าย เดี๋ยวนี้กำลังมีความกระสับกระส่ายใหม่ๆเกิดขึ้นเหมือนกับที่มันเป็นวันปีใหม่นี้ด้วยหรือเปล่า ใช่หรือไม่?

ขอให้ลองสังเกตดูให้ดีๆด้วยกันทุกคน ทั้งพระ ทั้งฆราวาส ไม่ใช่ว่าเป็นพระหรือเป็นบรรพชิตแล้ว จะพ้นไปจากอำนาจของเวลา เพราะยังสังเกตเห็นอยู่ว่า แม้เป็นพระเป็นพรรพชิตแล้วก็ยังอยาก ยังทะเยอทะยานไม่แพ้ฆราวาส หรือยิ่งมากไปกว่าฆราวาสก็ยังมี เวลาไม่ยกเว้นให้ว่าสำหรับเป็นพระ หรือไม่ใช่จะแกล้งให้มีฤทธิ์ มีพิษ มีเดชมากสำหรับฆราวาส โดยเฉพาะแล้วมันเหมือนกันทั้งนั้น เพราะมันขึ้นอยู่กับความอยากความอยากของฆราวาส หรือว่าของบรรพชิต มันก็ล้วนแต่เป็นความอยาก เพราะตกเป็นทาสของอารมณ์ที่ตนอยาก ดังนั้นเวลาจึงกระทำต่อบุคคลเหมือนกันทั้งที่เป็นบรรพชิตและที่เป็นฆราวาส มันจึงกัดกินแม้ผู้ที่เป็นบรรพชิตเช่นเดียวกับที่กัดกินพวกที่เป็นฆราวาส

บรรพชิตจึงไม่ควรประมาทให้มากไปกว่าฆราวาสเพราะว่าตัวอยู่ในฐานะที่เป็นบรรพชิต ควรจะมีอะไรดีกว่างดงามกว่า น่าดูกว่า หรือสูงกว่าการเป็นฆราวาส และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการเอาชนะเวลานี้ บรรพชิตควรจะทำตัวอย่างที่ดีให้ฆราวาสดูว่าเป็นผู้ที่ชนะเวลาได้อย่างไร

แต่ว่าเรื่องนี้ต้องเป็นสิ่งที่เข้าใจถูกต้อง ตามที่เป็นจริงเท่านั้นจึงจะสำเร็จประโยชน์ ถ้าสมภารเจ้าวัดดีแต่นอนเหมือนกับเวลาไม่มีค่า อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นผู้ที่เอาชนะเวลาไม่ได้ กลับเป็นผู้พ่ายแพ้แก่เวลาอย่างใหญ่หลวง เพราะมีความอยากมากในการนอน หรือการแสวงหาความสุขจากการนอน อย่าได้ไปเข้าใจว่าคนที่ได้นอนมากๆนั้นเป็นคนชนะเวลา คนที่นอนมากเท่าไหร่เป็นผู้พ่ายแพ้แก่เวลามากขึ้นเท่านั้น เพราะหลงใหลในการนอน จึงได้เป็นทาสของความสุขในการนอน จึงได้เป็นทาสของเวลา คนที่ให้เวลาอำนวยความสุขในการนอนให้แก่ตนดังนี้ อย่างนี้เป็นได้ชัดว่าไม่ใช่เราจะเอาชนะเวลาได้ด้วยการนอน ยิ่งนอนมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งพ่ายแพ้แก่เวลามากขึ้นเท่านั้น

เพราะฉะนั้นเราจะต้องจัดการอย่างอื่น คือจัดการที่จิตใจ จัดการตรงที่มีความอยาก หรือไม่มีความอยากอยู่ที่จิตใจ ให้จิตใจสงบรำงับปราศจากความอยาก เวลาจึงจะทำอะไรไม่ได้ จะตื่นอยู่ก็ตาม จะหลับอยู่ก็ตาม ถ้าปราศจากความอยากแล้ว ก็ย่อมจะเอาชนะเวลาได้ สิ่งที่จะต้องพินิจพิจารณาศึกษาให้มากที่สุด จึงอยู่ที่การเอาชนะความอยากนั่นเอง

ผู้ไม่ประมาท

ย่อมอยู่เหนืออำนาจของเวลา

เมื่อเป็นดังนี้ ท่านจะเห็นได้ทันทีทีเดียวว่า ใจความสำคัญทั้งหมดของพุทธศาสนาเรา ก็คือเรื่องเอาชนะเวลาให้ได้นั่นเอง เพราะว่าคำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ล้วนแต่เป็นไปเพื่อเอาชนะความอยากคือตัณหาหรือกิเลส ตัณหา อุปาทานเสียให้ได้ จะต้องเอาชนะกรรมเสียให้ได้ทั้งหมด ทุกอย่างทุกประการ จึงจะเรียกว่าชนะเวลา

การเอาชนะกิเลสตัณหานั้น เห็นอยู่ชัดทีเดียวว่ามันขึ้นอยู่กับเวลาโดยตรง และถึงการเอาชนะกรรมก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่อยากอะไรเลยกรรมก็หมดไป เวลาก็หมดไป กรรมเก่าก็ไม่มี กรรมใหม่ก็ไม่มี ชาตินี้ก็ไม่มีชาติหน้าก็ไม่มี กรรมทั้งหลายหมดสิ้นไป เพราะการยกเลิกของเวลา ซึ่งยกเลิกได้ด้วยอำนาจที่กำจัดความอยากเสียได้ กำจัดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน ว่าของตนเสียได้ ไม่มีความอยากสิ่งใดเป็นตัวตน หรือเป็นของของตน ดังนี้ นี้คือใจความของพระพุทธศาสนาทั้งหมดซึ่งถ้านำเข้าเทียบในทางที่เกี่ยวกับเวลาแล้ว ก็พูดได้เหมือนกันว่าพุทธศาสนาสอนให้เราเอาชนะเวลาให้ได้โดยประการทั้งปวง ถ้าเราไม่อยากพูดอย่างอื่น หรือว่าเราอยากจะพูด อย่างนักคำนวณทางคณิตศาสตร์ หรือจะพูดอย่างนักวิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็สุดแท้ เราก็ยังอาจจะพูดได้ว่า เอาชนะเวลาให้ได้เท่านั้น ก็เป็นอันหมดเรื่องของพระพุทธศาสนา

ทีนี้คนพวกอื่นอาจจะงง เพราะว่าคนพวงอื่น ลัทธิอื่น หรือว่าศาสนาอื่นนั้น อาจจะไม่เคยคิดว่าเราจะเอาชนะเวลาได้ หรือเคยสอนกันให้เอาชนะเวลา มีแต่ให้กลัวเวลาอยู่ด้วยกันทั้งนั้น นี่แหละคือข้อที่พระพุทธศาสนาไปได้ไกล ไปได้สูงกว่าศาสนาเป็นอันมากในโลกนี้ เพราะว่าสอนให้เอาชนะเวลาให้ได้ กำจัดเวลาเสียให้หมดอำนาจ และตัวเองเป็นผู้กินเวลา ไม่ใช่เวลากินตัวเรา

ลองคิดดูเถิดว่า จะเป็นความดี วิเศษ สูงสุดสักเท่าไร ถ้าเรามีอำนาจอยู่เหนือเวลา เราควรจะขอบคุณพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าสักเท่าไร ที่เสนอให้เราเป็นอย่างนี้ได้

หวังว่าท่านทั้งหลายทั้งปวง จะได้นำเอาเรื่องนี้ไปพินิจพิจารณา ในฐานะเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ให้สมกับว่าวันนี้เป็นวันปีใหม่ มาฟังเทศน์กันที่หนึ่ง ปีหนึ่งฟังเทศน์ครั้งเดียวก็ยังดี ขอให้คิดดูใหม่ คำนวณดูใหม่ว่าปีหนึ่งฟังเทศน์ครั้งเดียวก็ยังดี เป็นเวลาตั้งปี ฟังเทศน์ครั้งเดียวก็ยังดี ถ้าหากว่าฟังแล้วเข้าใจ ถ้าหากว่าสามารถที่จะให้ปีใหม่นี้ผิดแผกไปจากปีเก่าได้โดยความมีความทุกข์น้อยลงนั่นเอง หรือกล่าวโดยสำนวนโวหารก็ว่า เราชนะเวลา วัน คืน เดือน ปี นี้มีได้มากขึ้นทุกที ยิ่งกว่าปีที่แล้วมา

ปีเก่าๆที่แล้วมาเราแพ้มันเท่าไร แต่ปีต่อไปเราจะชนะเวลามากขึ้นๆทุกปี นี่แหละคือความสุขปีใหม่ที่แท้จริง ไม่ใช่ลมๆแล้งๆ อย่างที่เขียนกันในบัตรส่งความสุขปีใหม่ให้เปลืองสตางค์ ให้เปลืองสตางค์ ให้เปลืองเวลา ทั้งเป็นการพ่ายแพ้แก่เวลามากยิ่งขึ้นไปอีก

หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ฟังด้วยความตั้งใจคิดตั้งใจนึกให้เข้าใจในวิธี ที่เราจะเอาชนะเวลาให้ได้ โดยนัยดังที่แสดงมา มองดูที่ตัวเอง แล้วให้รู้จักตามที่เป็นจริงว่ามันซ้ำซากเหลือเกินแล้ว มันควรจะลืมหัวลืมตากันเสียทีว่า คนเราขึ้นสวรรค์หรือลงนรกในชาติหนึ่งๆนี้มากมายนับครั้งไม่ไหว

ฟังดูให้ดี ขณะนี้กำลังบอกแก่ท่านทั้งหลายว่าเกิดมาชาติหนึ่งนี้ ได้ตกนรกและได้ขึ้นสวรรค์ นับครั้งไม่ไหวคราวใดร้อนใจอยู่ด้วยอำนาจของเวลา คราวนั้นก็ตกนรกคราวใดสบายใจอยู่ด้วยอำนาจของเวลา คราวนั้นก็ขึ้นสวรรค์

วันหนึ่งก็ตกนรกตั้งหลายหน ขึ้นสวรรค์ก็หลายหนเดือนหนึ่งก็ยิ่งตกนรกหลายสิบหน ขึ้นสวรรค์ตั้งหลายสิบหน ปีหนึ่งหรือหลายๆปีมันก็ยิ่งมีการตกนรกหลายครั้งหลายหมื่นครั้งหลายแสนครั้ง และก็ขึ้นสวรรค์หลายหมื่นครั้งหลายแสนครั้งเช่นเดียวกัน ทำไมจึงมัวหลับหูหลับตาไม่รู้จักว่านรกสวรรค์อยู่ที่ตรงไหนกันเสียเล่า? ถ้าได้มองเห็นสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้องแล้ว ไม่นานเลยก็จะรู้เท่าทันเวลา ไม่หลงใหลขึ้นสวรรค์ของเวลา ไม่เผลอตกนรกของเวลา

คนที่ไม่ขึ้นสวรรค์ ไม่ตกนรกของเวลาอีกต่อไปนั่นแหละจึงจะเอาตัวรอดได้ เดี๋ยวนี้ความโง่มีมาก ถึงกับไปคิดว่าตายแล้วจึงจะตกนรกหรือจะขึ้นสวรรค์ ให้เขาจับใส่โลงเผาไฟไหม้หมดแล้วจึงจะไปลงนรกหรือไปขึ้นสวรรค์ ไม่รู้เลยว่าวันหนึ่งๆก็ตกนรกหรือขึ้นสวรรค์อยู่ตั้งหลายครั้งแล้ว ทำไม่จึงโง่มากถึงอย่างนั้น แล้วทำไมจึงได้ทะเยอทะยานว่าจะได้ความสุขปีใหม่ให้มากยิ่งขึ้นไปอีกทั้งๆที่ได้ๆอยู่แล้ว มีอยู่แล้ว ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร

นี้แหละคือคนที่ตาบอดหูหนวก ตามวิสัยของปุถุชนที่เรียกว่าอยู่ในโลกนี้ แต่มองไม่เห็นโลกเลย เหมือนไส้เดือนสกปรกจมอยู่ในดิน ดำอยู่ในดิน ก็หาเห็นดินไม่เหมือนหนอนอุจจาระที่อยู่ในหลุมส้วม ก็หาได้เห็นอุจจาระนั้นไม่ แม้ที่สุดแต่ว่าฝูงปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำตาของมันก็หาได้เห็นน้ำไม่ และนกที่บินอยู่บนฟ้าในอากาศก็หาได้เห็นฟ้าไม่ นี้เพราะไม่มีความรู้

นี้เรียกว่า แม้ว่าจะได้จมแช่อยู่กับสิ่งใด แต่ก็หาได้เห็นหรือได้รู้จักสิ่งนั้นๆไม่ แล้วจะไปรู้เรื่องของเวลาได้อย่างไรกัน ในที่สุดก็จะมัวหลับหูหลับตาจมอยู่ในดินเหมือนไส้เดือน หรือว่าจมอยู่ในคูถเหมือนหนอนทั้งหลายด้วยเหตุที่อารมณ์อันเป็นเหยื่อในโลกนี้มันล่อใจ ให้หลงติดอยู่ในเหยื่อไม่มีวันเสื่อมคลาย เป็นไปตามอำนาจของเวลาไม่มีที่สิ้นสุดอยู่ด้วยกันอย่างนี้

คิดดูเถิดมันน่าหัวเราะสักเท่าไร น่าสงสารสักเท่าไรถ้าคนเหล่านี้จะมาเผยปากพูดว่า เราได้รับความสุขปีใหม่มันใหม่ที่ตรงไหน? มันใหม่ตามแบบตามประสาของคนหูหนวกตาบอดใช่หรือไม่? ในที่สุดก็จะสงสารตัวเองขึ้นมาบ้าง สมเพชเวทนาสงสารตัวเองนั่นแหละ เขาเรียกว่าความไม่ประมาท จงได้รู้จักความไม่ประมาทกันในลักษณะเช่นนี้เถิด จะได้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น คือมีจิตใจสูงขึ้นๆ เหนือการครอบงำของเวลา เป็นผู้ที่หลุดพ้นจากอำนาจของเวลาได้ ในโอกาสข้างหน้า ไม่วันหนึ่งก็วันใด โดยไม่ต้องสงสัยเลย อย่ามัวแต่ตกนรกขึ้นสวรรค์วันหนึ่งตั้งหลายๆครั้ง แล้วก็ยังไม่รู้สึกกันอยู่เช่นนี้เลยดูให้ดีเถิดว่า ถ้าเป็นทาสของความอยากเสียแล้ว นรกก็เป็นทุกข์ สวรรค์ก็เป็นทุกข์ เพราะถูกเวลาบีบคั้นด้วยกันทั้งนรกและทั้งสวรรค์ แม้ว่าการบีบคั้นจะต่างกัน มันก็ให้ความทุกข์เหมือนกัน เหมือนกับเราหัวเราะมันก็เหนื่อย เราต้องร้องไห้มันก็เหนื่อย ไม่ต้องดีใจ ไม่ต้องเสียใจ จึงจะไม่เหนื่อย ดีใจก็เหนื่อยเพราะดีใจ เสียใจก็เหนื่อยเพราะเสียใจ ไม่ดีใจไม่เสียใจจึงจะไม่เหนื่อย มันก็เหมือนกับที่ว่าไม่ต้องตกนรก ไม่ต้องขึ้นสวรรค์นั่นแหละจึงจะไม่เหนื่อย ถ้ามัวตกนรกขึ้นสวรรค์กันอยู่ มันก็ยังเหนื่อยอยู่นั่นเอง

ความสงบอย่างยิ่ง

คือการดำรงอยู่เหนือกาลเวลา

การเหน็ดเหนื่อยระส่ำระสายนี้ ไม่เรียกว่าสันติไม่เรียกว่าความสงบระงับ ไม่เรียกว่าพระนิพพาน จงละทิ้งสิ่งเหล่านี้เสีย แล้วหันหน้าหรือบากหน้าไปสู่สิ่งที่เรียกว่าความสงบ หรือสันติ หรือนิพพาน ด้วยการเอาชนะเวลาให้ได้ คือ อย่าไปเที่ยวอยากในเหยื่ออย่างนั้นอย่างนี้นั่นเอง

เมื่อไม่อยาก ไม่ต้องการมันแล้ว ก็ไม่มีการได้ไม่มีการเสีย ไม่มีได้ไม่มีเสียนั่นแหละประเสริฐที่สุด ถ้ายังมีได้มีเสียอยู่แล้วมันก็ยังต้องหัวเราะ ต้องร้องไห้ และยังจะต้องเหนื่อยอยู่นั่นเอง อย่าไปหวังได้หวังเสีย ที่เสียนั้นไม่เอาก็ถูกแล้ว แต่ที่ได้นั้นก็ไม่เอาจะดีกว่า เพราะว่าจะได้ไม่เหนื่อย

การอยู่ด้วยความสงบนั้น

คือเราอยู่ด้วยสติปัญญา

แม้จะมีการได้การเสียเกิดขึ้น ก็หัวเราะได้ทั้งนั้นเมื่อมีการได้เกิดขึ้นมา ก็จัดการไปตามที่ควร มีการเสียเกิดขึ้นมา ก็จัดการไปตามที่ควร แต่จิตใจของเราไม่รู้สึกว่าได้ ไม่รู้สึกว่าเสีย เราเป็นผู้ไม่มีการได้หรือการเสียอีกต่อไป เพราะเราอยู่เหนืออำนาจของเวลาดังที่กล่าวมาแล้ว นี่เหละจึงจะเอาชนะเหยื่อในโลกนี้ เอาพระนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เวลาไม่สามารถจะฉุดกระชากเราไว้ได้ เราเป็นอิสระไปจากเวลา ไปสู่สภาวะที่อยู่เหนือโลก เหนือทุกข์โดยประการทั้งปวง เป็นผู้กัดกินซึ่งเวลา ไม่ถูกเวลากินอีกต่อไป แล้วจะมีความทุกข์ที่ตรงไหน ความทุกข์ย่อมดับไปโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุที่มีอำนาจเหนือเวลาโดยนัยที่ได้วิสัชนามา และเป็นการสมควรแก่โอกาส

  ขอบคุณที่มา  http://www.dhammajak.net

113
บทความ บทกวี / กระจกเงา
« เมื่อ: 17 ก.ย. 2553, 08:17:58 »
กระจกเงา...สะท้อน...ความเป็นจริง
เรื่องทุกสิ่ง...ชัดเจน...เด่นตรงหน้า
ไม่มีใคร...หลอกได้...ใต้แววตา
เลวชั่วช้า...ต่ำทราม...ตามใจตน

หลอกใคร - ใคร...หลอกได้...หลอกไปเถิด
อย่าเตลิด...หลอกตัว...มัวหมองหม่น
หลอกใคร - ใคร...หลอกได้...เว้นใจตน
เกิดเป็นคน...เลว - ดี...อยู่ที่ใจ

การกระทำ...เปรียบดั่ง...กระจกเงา
ฉายสะท้อน...ความเขลา...ของเราได้
คนคิดดี...ทำดี...ที่จิตใจ
แสดงออก...บอกได้...ในท่าที

คนคิดชั่ว...ทำชั่ว...ด้วยตัวเขา
กระจกเงา...สะท้อน...ตอนวิถี
คนทำดี...ต้องรับ...กลับผลดี
คนชั่วไม่ -. อาจหนี...ลี้ผลกรรม

  ขอบคุณที่มา  http://www.dhammajak.net

114
                                                     ผลแห่งความดี-ความชั่ว(หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)


เราเกิดมาได้ชื่อว่าได้ของอันมีค่า ๓ ประการคือ
ได้อัตภาพมาเป็นคน ๑
ได้มารดาบิดา ๑ และ
ได้มรดกที่มารดาบิดาหามาไว้ให้ ๑
เพราะตัวของเราก็ดี มารดาบิดาของเราคู่นี้ก็ดี
จะหาแลกเปลี่ยนซื้อขายเอาได้ที่ไหนในโลกนี้
จะชั่วดีอย่างไรพร้อมทั้งตัวของเรานี้ ก็เป็นของของเราได้มาแล้ว
จะแลกเปลี่ยนเอาอื่น เหมือนวัตถุสิ่งของอื่นไม่ได้เลย
อีกสมบัติข้าวของที่ท่านหามาให้ไม่ว่ามากหรือน้อย
ก็เป็นอันท่านหามาให้ด้วยความเมตตาและอุตสาหะอย่างยิ่ง
จึงเป็นของมีค่ามาก

อนึ่ง โคตรตระกูลเป็นของมีค่ามาก อารยชนทั้งหลายเขาถือกันนักหนา
คนใดจะดูถูกเหยียดหยามไม่ได้เด็ดขาด
การทำเช่นนั้นถือกันว่าเป็นการทำที่เลวร้ายให้อภัยกันไม่ได้เลย
แต่นั่นแหละเรื่องวงศ์ตระกูลแล้ว คนอื่นถึงเขาจะเหยียดหยามดูถูกอย่างไร
ก็ไม่สามารถจะทำวงศ์ตระกูลของเราให้เสื่อมสูญไปได้
ที่ทำลายได้ง่ายที่สุดก็คือคนในตระกูลของเราเอง อันได้แก่ลูกหลานในตระกูล
แล้วพวกเหล่านี้ตั้งใจทำลายด้วยความสมัครใจ อย่างไม่เสียดายเลย

มารดาบิดาและบรรพบุรุษของเราได้สร้างคุณงามความดีให้เกิดสิริมงคล
ตั้งตน อยู่ในสุจริต ประกอบแต่กิจในทางสัมมาอาชีพ
ตั้งมั่นอยู่ในคุณพระรัตนตรัย ให้ทานรักษาศีลเป็นกิจวัตร
ปฏิบัติตามแนวของอุบาสก อุบาสิกา เป็นลำดับมา
เมื่อมา ถึงลูกหลานเป็นคนผลาญสมบัติของตระกูล
ที่บรรพบุรุษแสวงหาไว้ให้ ตั้งใจประกอบแต่อบายมุข
เห็นความชั่วเป็นของสนุกสนาน
เหมือนแมลงเม่าเห็นไฟเป็นของสวยงามโผเข้าใส่
ถูกไฟไหม้ใกล้ตายจึงจะเห็นโทษ

ความชั่วที่ตนทำลงไปนั้น
มิใช่จะทำให้เกิดความเสียหายให้แก่ตนและทรัพย์สมบัติมรดกเท่านั้น
แต่มันเกี่ยวถึงวงศ์ตระกูลด้วย
ฉะนั้น ทุกๆ คนจึงต้องพากัน รักษาวงศ์ตระกูลของตน
ด้วยการประพฤติดีตามรอยบุพชนของตน ที่ท่านได้ทำดี
ทำชอบมาแล้วจงทุกประการ หรือจะทำดียิ่งๆ ขึ้นไป
กว่าบุพชนของเราก็ยิ่งเป็นการชอบแท้

เมื่อทำได้อย่างนั้นแล้ว
มิใช่แต่จะเป็นการรักษาวงศ์ตระกูลอันมีเกียรติของเราไว้เท่านั้น
แต่มันยังเป็นการทำความดีเพื่อความเจริญก้าวหน้าแก่ตน
อันเป็นคุณสมบัติที่ทุกๆ คนพึงปรารถนาอีกด้วย

แท้จริง ความดีที่คนอื่นทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่างนั้น
เป็นเหมือนกระจกเงาสำหรับส่องหน้า
เพื่อเราจะได้แต่งหน้าแต่งตัว ว่าที่ไหนเป็นฝ้ามัวมอม
เราจะได้ขัดจะได้แต่งให้สะอาดสวยงาม
คุณงามความดีที่คนอื่นเขาทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่าง
แล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน หากเราเห็นว่าดี ชอบแล้ว จงทำตามแบบอย่างที่ดีของเขา
แล้วระลึกเอาความดีนั้น มาเทียบกับความประพฤติเป็นอยู่ของเราอยู่เสมอๆ
และอย่าเข้าใจว่าความดีของเรานั้นเราทำตามไม่ได้
ไม่เป็นของเหลือวิสัยเลยหากเรารักและสนใจในความดีอย่างนั้น
แล้วตั้งใจประพฤติฝึกฝนอบรมตาม
เพราะนิสัยสันดานแม้แต่สัตว์ดิรัจฉานก็อาจตามได้
ทั้งๆ ที่สัตว์เหล่านั้นไม่รู้ความหมายของเจ้าของเลย

ร่างกายของคนเราสมประกอบบริบูรณ์ครบครันแล้วทุกประการ
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการเสริมสวย เพื่อให้เข้ากับสังคมเขาได้
และเมื่อขาดการตกแต่งเสริมสวยแล้ว ก็จะเป็นที่น่าเกลียดสกปรกเป็นธรรมดา
ของที่เราใช้ถึงจะเป็นของสวยสะอาดแล้วก็ตาม
เมื่อนำออกมาใช้แล้วจำจะต้องสกปรก ร่างกายมนุษย์ของคนเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ฉะนั้น จึงจำต้องตกแต่งเสริมสวยเพื่อความสะอาดอยู่เสมอ
แต่ ความสะอาดของร่างกายต้องตกแต่งไม่รู้จักจบจักสิ้นไปสักที
ตายแล้วเป็นผีเขาตกแต่งรูปกายไม่ได้ เขาก็นำไปแต่งหีบแต่งเมรุภายนอก
มันได้ประโยชน์คุ้มค่าตรงไหน ไปเผาแล้วเป็นเถ้าผงไปหมด
ถึงกระนั้นคนทั้งหลายก็ยังอุตส่าห์พากัน ลงทุนลงแรงตกแต่งกันอยู่

หากพวกเราพากันมาลงทุนด้วยการใช้อุตสาหะ
วิริยะพากเพียร อบรมกาย วาจา ใจ ของตน
ให้สุภาพเรียบร้อยดีงามตามศีลธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อเครื่องเสริมสวยแล้วจะมิดีกว่าหรือ

ผู้ที่สนใจตกแต่งกาย วาจา ใจ ของตน
ด้วยน้อมเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามาฝึกอบรมแล้ว
ไม่ว่าหญิง ชาย หนุ่ม แก่ หรือจะอยู่ในฐานะชั้นภูมิใดๆ ก็ตาม
ย่อมเป็นคนสุภาพเรียบร้อย น่าคบค้าสมาคม เป็นที่นิยมแก่คนทั่วไป
ทั้งเมื่อมีชีวิต อยู่และตายไปแล้ว
การตกแต่งชนิดนี้จึงเป็นของดีมีค่ามาก
ไม่ต้องลำบากด้วยเครื่องเสริมสวย สมกับพุทธภาษิตว่า

สีลํ ยาว ชรา สาธุ
ศีลทำให้เป็นคนดีงามตราบเท่าชรา ดังนี้
ผู้ไม่มีศีลได้ชื่อว่าเป็นผู้สกปรก ดังท่านแสดงไว้ในเรื่องโทษของศีลว่า
ผู้ล่วงละเมิดในศีลข้อนั้นๆ
นอกจากจะเป็นผู้สกปรก เดือดร้อนด้วยโทษนั้นๆ แล้ว
เมื่อตายไปแล้วจะต้องไปสู่ทุคติ มีนรกเป็นที่สุด
เมื่อเสวยผลของกรรมนั้นพอควรแล้ว จึงจะพ้นจากนรกนั้นมาเกิดเป็นคน
แล้วได้รับเศษกรรมนั้นอีก ดังนี้

โทษของการฆ่าสัตว์ ทรมานสัตว์ จะเป็นผู้มีอายุสั้นพลันตาย
เป็นคนขี้โรค ทรมาน รูปร่างก็น่าเกลียด ไม่มีใครเมตตาเอ็นดู

โทษของการฉ้อโกง ลักขโมยของเขา
จะเป็นคนจนทรัพย์อับปัญญา อนาถาหา ที่พึ่งมิได้
หาทรัพย์มาไว้ได้ ก็จะมีแต่คนมาฉ้อโกง
ลักขโมยเอา และฉิบหายด้วยภัยต่างๆ

โทษของการประพฤติมิจฉาจาร
เมื่อได้ลูกเมียมาจะได้แต่คนว่ายากสอนยาก
ประพฤตินอกใจ ทำให้ชอกช้ำใจ เป็นทุกข์มาก

โทษของการกล่าวเท็จเป็นต้น
เมื่อเกิดมาเป็นคนพูดจาสิ่งใดไม่มีคนเชื่อถ้อยฟังคำ
มีแต่เขาจะมาหลอกลวงให้เสียทรัพย์
เสียดสีด่าว่าหยาบคายต่างๆ นานา เป็นต้น

โทษของการดื่มสุราเมรัย จะเป็นคนบ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์
อีกทั้งเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญาไม่น่าคบ

นี่โทษของการไม่ตกแต่งฝึกฝนอบรม กาย วาจา ใจ
ตามศีลธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้สกปรกเศร้าหมอง ทั้งที่เป็นมนุษย์และละโลกนี้ไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้ จึงควรแต่งกาย วาจา ใจให้สะอาดเสียตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
เพราะถ้าไม่สะอาดแต่เมื่อยังอยู่ในโลกนี้
ตายไปแล้วก็จะเป็นผู้สกปรก ไม่สะอาด ในโลกหน้าต่อไปอีก

จึงไม่ควรแต่งให้สะอาดแต่เฉพาะกายอย่างเดียว
ความสะอาดและความสกปรก ของกายนั้น
จะมีได้ก็เมื่อรูปกายนี้ยังปรากฏแก่สายตาโลกนี้อยู่
ถึงอย่างนั้นทั้งความ สะอาดและความสกปรก
เมื่อกายแตกดับละโลกนี้ไปแล้ว
ความสะอาดและความสกปรกนั้นก็หาได้ติดตามตัวไปไม่

ส่วนความดี ความสะอาดของกาย วาจา และ ใจ
ที่เราชำระด้วยศีลธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
จะเป็นผู้สงบเสงี่ยมเรียบร้อยอันดีงามอยู่ในโลก
เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ก็ย่อมไปสู่สุคติสวรรค์
หากยังได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะได้รับผลบุญที่ยังเหลืออยู่

คนเราทุกๆ คนเมื่อเกิดมาแล้ว ชอบความสมบูรณ์พูนสุขทุกประการ
ถึงอายุก็อยากให้ยืนนาน ร่างกายก็อยากให้สวยงาม
พูดจาไพเราะเสนาะโสต ให้คนทั้งหลาย รักใคร่ชอบใจ มีเมตตาแก่ตน
พร้อมด้วยได้สามีได้ภรรยาและลูก ก็อยากให้ซื่อสัตย์สุจริต
คิดนึกอะไรให้มีไหวพริบปัญญาดี
แต่ไม่ชอบทำดีอันเป็นเหตุให้ได้ผลในสิ่งที่ตนปรารถนานั้น
อยากรวยแต่เกียจคร้านแสวงหาทรัพย์ มันจะไปรวยได้อย่างไร

ฉะนั้นเมื่อพากันได้สดับธรรมิกถาดังแสดงมานี้แล้ว
จงพากันจดจำนำเอาไปปฏิบัติตาม
พวกเราทุกๆ คนยังไม่สาย พอปฏิบัติให้สำเร็จได้อยู่

แสดงธรรม ณ วัดเจริญสมณกิจ จ.ภูเก็ต
จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 85 ธ.ค. 50
โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย

  ขอบคุณที่มา  http://www.dhammajak.net

115
                                                ความแตกต่างระหว่าง "บุญ" กับ "กุศล" (ท่านพุทธทาส)
 
   เมื่อใดมีการพิจารณากันให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อนั้นจะพบความแตกต่างระหว่าง สิ่งที่เรียกกันว่า "บุญ" กับ สิ่งที่เรียกว่า "กุศล" บ้างไม่มากก็น้อย แล้วแต่ความสามารถ ในการพินิจพิจารณา แต่ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว บุญ กับ กุศล ควรจะเป็น คนละอย่าง หรือ เรียกได้ว่า ตรงกันข้าม ตามความหมาย ของรูปศัพท์ แห่งคำสองคำนี้ทีเดียว


                                                                    บุญ

เป็นสิ่งที่ทำให้ ฟูใจ พอใจ ชอบใจ เช่น ทำบุญให้ทานหรือรักษาศีลก็ตาม แล้วก็ฟูใจ อิ่มเอิบ หรือ แม้ที่สุดแต่รู้สึกว่า ตัวได้ทำสิ่งที่ทำยาก ในกรณีที่ ทำบุญเอาหน้า เอาเกียรติ อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่า ได้บุญ เหมือนกัน แม้จะเป็น บุญชนิดที่ไม่สู้จะแพ้ หรือแม้ในกรณีที่ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อเอาบุญกันจริงๆ ก็ยังอดฟูใจไม่ได้ว่า ตนจะได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มีความปรารถนาอย่างนั้น อย่างนี้ ในภพนั้น ภพนี้ อันเป็น ภวตัณหา นำไปสู่การเกิดในภพใหม่ เพื่อเป็น อย่างนั้น อย่างนี้ ตามแต่ ตนจะปรารถนา ไม่ออก ไปจาก การเวียนว่ายตายเกิด ในวัฎสงสาร ได้ แม้จะไปเกิดในโลกที่เป็นสุคติ อย่างไรก็ตาม ฉะนั้น ความหมายของคำว่า บุญ จึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้ ฟูใจ และ เวียนไปเพื่อความเกิดอีก ไม่มีวันที่สิ้นสุดลงได้


                                                                  กุศล

เป็นสิ่งที่ ทำหน้าที่ แผ้วถาง สิ่งกีดขวาง ผูกรัด หรือ รกรุงรัง ไม่ข้องแวะ กับความฟูใจ หรือ พอใจ เช่นนั้น แต่มีความมุ่งหมายจะกำจัดเสียซึ่ง สิ่งต่างๆ อันเป็นเหตุ ให้พัวพัน อยู่ใน กิเลสตัณหา อันเป็น เครื่องนำให้ เกิดแล้วเกิดอีก และมีจุดมุ่งหมาย กวาดล้างสิ่งเหล่านั้นออกไปจากตัว ในเมื่อบุญต้องการโอบรัด เข้ามาหาตัว ให้มีเป็นของของตัวมากขึ้น ในเมื่อฝ่ายที่ถือข้างบุญยึดถืออะไรเอาไว้มากๆ และพอใจ ดีใจนั้น ฝ่ายที่ถือข้างกุศล ก็เห็นว่า การทำอย่างนั้น เป็นความโง่เขลา ขนาดเข้าไป กอดรัดงูเห่า ทีเดียว ฝ่ายข้างกุศล หรือ ที่เรียกว่า ฉลาด นั้น ต้องการจะ ปล่อยวาง หรือ ผ่านพ้นไป ทั้งช่วยผู้อื่น ให้ปล่อยวาง หรือ ผ่านพ้นไปด้วยกัน ฝ่ายข้างกุศล จึงถือว่า ฝ่ายข้างบุญนั้น ยังเป็นความมืดบอดอยู่

ตัวอย่าง
เพื่อจะให้เข้าใจกันง่ายๆ เราต้องพิจารณา ดูที่ตัวอย่างต่างๆ ที่เรา กระทำกัน อยู่จริงๆ คือในการให้ทาน ถ้าให้เพราะจะเอาหน้าเอาเกียรติ หรือ เอาของตอบแทน เป็นกำไร หรือ เพื่อผูกมิตร หาพวกพ้อง หรือ แม้ที่สุดแต่ เพื่อให้บังเกิดในสวรรค์ อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทานเอาบุญหรือได้บุญ ---- แต่ถ้าให้ทาน อย่างเดียวกันนั่นเอง แต่ต้องการเพื่อขูดความขี้เหนียว ของตัว ขูดความเห็นแก่ตัว หรือให้เพื่อค้ำจุนศาสนาเอาไว้ เพราะเห็นว่า ศาสนาเป็น เครื่องขูดทุกข์ ของโลก หรือ ให้เพราะ เมตตาล้วนๆ โดยบริสุทธิ์ใจ หรืออำนาจเหตุผล อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่ง ปัญญาเป็นผู้ชี้ขาดว่า ให้ไปเสีย มีประโยชน์มากกว่าเอาไว้อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทานเอากุศล หรือได้กุศล ---- ซึ่งมันแตกต่างๆ ไปคนละทิศ ละทางกับการให้ทานเอาบุญ เราจะเห็นได้กันสืบไปอีกว่า การให้ทานเอาบุญนั่นเอง ที่ทำให้เกิดการฟุ่มเฟือยขึ้นในสังคม ฝ่ายผู้รับทานจนกลายเป็นผลร้ายขึ้น ในวงพระศาสนาเอง หรือในวงสังคมรูปอื่นๆ เช่น มีคน ขอทานในประเทศมากเกินไป เป็นต้น การให้ทาน ถูกนักคิดพากันวิพากษ์วิจารณ์ในแง่เสื่อมเสีย ก็ได้แก่ การให้ทานเอาบุญนี้เอง ส่วนการให้ทานเอากุศลนั้นอยู่สูงพ้นการที่ถูกเหยียดอย่างนี้ เพราะว่ามีปัญญาหรือเหตุผลเข้าควบคุม แม้ว่าอยากจะให้ทาน เพื่อขูดเกลา ความขี้เหนียว ในจิตใจ ของเขา ก็ยังมีปัญญา รู้จักเหตุผลว่าควรให้ ไปในรูปไหน มิใช่เป็นการให้ไปในรูปละโมบบุญหรือเมาบุญ เพราะว่ากุศลไม่ได้เป็นสิ่งที่หวานเหมือนกับบุญ จึงไม่มีใครเมา และไม่ทำให้เกิดการเหลือเฟือผิดความสมดุลขึ้นในวงสังคมได้เลย นี่เราพอจะเห็นได้ว่า ให้ทานเอาบุญ กับ ให้ทานเอากุศลนั่น ผิดกันเป็นคนละอันอย่างไร


             ในการรักษาศีล ก็เป็นทำนองเดียวกันอีก

รักษาศีลเอาบุญ คือรักษาไปทั้งที่ไม่รู้จัก ความมุ่งหมายของศีล เป็นแต่ยึดถือในรูปร่างของการรักษาศีล แล้วรักษาเพื่ออวดเพื่อนฝูง หรือ เพื่อแลกเอาสวรรค์ ตามที่ นักพรรณนาอานิสงส์ เขาพรรณนากันไว้หรือ ทำอย่างละเมอไปตามความนิยมของคนที่มีอายุล่วงมาถึงวัยนั้นวัยนี้ เป็นต้น ยิ่งเคร่งเท่าใด ยิ่งส่อความเห็นแก่ตัว และความยกตัว มากขึ้น เท่านั้น ยิ่งมีความยุ่งยากในครอบครัว หรือวงสังคม เกิดขึ้นใหม่ๆ แปลกๆ เพราะ ความเคร่งครัดในศีลของบุคคลประเภทนี้อย่างนี้ เรียกว่ารักษาศีลเอาบุญ

ส่วนบุคคลอีกประเภทหนึ่ง รักษาศีลเพียงเพื่อให้เกิดการบังคับตัวเอง สำหรับจะเป็นทางให้เกิดความบริสุทธิ์ และความสงบสุขแก่ตัวเองและเพื่อนมนุษย์เพื่อใจสงบ สำหรับเกิดปัญญาชั้นสูง นี้เรียกว่า รักษาศีลเอากุศล รักษามีจำนวน เท่ากัน ลักษณะเดียวกัน ในวัดเดียวกัน แต่กลับเดินไป คนละทิศละทาง อย่างนี้เป็นเครื่องชี้ ให้เห็นภาวะ แห่งความแตกต่าง ระหว่างคำว่า บุญ กับคำว่า กุศล คำว่า กุศลนั้น ทำอย่างไรเสีย ก็ไม่มีทางตกหล่ม จมปลักได้เลย ไม่เหมือนกับคำว่า บุญ และกินเข้าไป มากเท่าไร ก็ไม่มีเมา ไม่เกิดโทษ ไม่เป็นพิษ ในขณะที่ คำว่า บุญ แปลว่า เครื่องฟูใจนั้น คำว่า กุศล แปลว่า ความฉลาดหรือ เครื่องทำให้ฉลาด และ ปลอดภัย ร้อยเปอร์เซ็นต์


ในการเจริญสมาธิ ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก คือ

สมาธิเอาบุญ ก็ได้ เอากุศลก็ได้ สมาธิเพื่อดูนั่นดูนี่ ติดต่อกับ คนโน้นคนนี้ ที่โลกอื่น ตามที่ ตนกระหาย จะทำให้เก่งกว่าคนอื่น หรือ สมาธิ เพื่อการไปเกิด ในภพนั้น ภพนี้ อย่างนี้เรียกว่า สมาธิเอาบุญ หรือ ได้บุญ เพราะทำใจให้ฟู ให้พอง ตามความหมายของมันนั่นเอง ซึ่งเป็นของที่ปรากฏว่า ทำอันตราย แก่เจ้าของ ถึงกับต้อง รับการรักษาเป็นพิเศษ หรือ รักษาไม่หาย จนตลอดชีวิต ก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะว่า สมาธิเช่นนี้ มีตัณหาและทิฎฐิเป็นสมุฎฐาน แม้จะได้ผลอย่างดีที่สุดก็เพียงได้เกิดในวัฏสงสารตามที่ตนปรารถนาเท่านั้น ไม่เป็นไป เพื่อนิพพาน

ส่วนสมาธิ ที่มีความมุ่งหมาย เพื่อการบังคับใจตัวเอง ให้อยู่ในอำนาจ เพื่อกวาดล้าง กิเลส อันกลุ้มรุมจิตให้ราบเตียน ข่มขี่มิจฉาทิฎฐิ อันจรมา ในปริมณฑลของจิต ทำจิตให้ผ่องใส เป็นทางเกิดของวิปัสสนาปัญญา อันดิ่งไปยังนิพพาน เช่นนี้เรียกว่า สมาธิได้กุศลไม่ทำอันตรายใคร ไม่ต้องหาหมอรักษา ไม่หลงวนเวียน ในวัฎสงสาร จึงตรงกันข้าม จากสมาธิเอาบุญ


**ครั้นมาถึงปัญญา** นี้ไม่มีแยกเป็นสองฝ่าย คือไม่มีปัญญาเอาบุญ เพราะตัว ปัญญานั้น เป็นตัวกุศล เสียเองแล้ว เป็นกุศลฝ่ายเดียว นำออกจากทุกข์ อย่างเดียว แม้ยังจะต้อง เกิดในโลกอีก เพราะยังไม่แก่ถึงขนาด ก็มีความ รู้สึกตัว เดินออกนอกวัฎสงสาร มีทิศทางดิ่งไปยังนิพพานเสมอ ไม่วนเวียน จนติดหล่ม จมเลน โดยความไม่รู้สึกตัว ถ้ายังไม่ถึงขนาดนี้ ก็ยังไม่เรียกว่าปัญญาในกองธรรม หรือ ธรรมขันธ์ ของพุทธศาสนา ดังเช่น ปัญญาในทางอาชีพหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นต้น


          สรุป

   ตามตัวอย่าง ที่เป็นอยู่ในเรื่องจริง ที่เกี่ยวกับ การกระทำ ของพวกเราเอง ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่า การที่เราเผลอ หรือ ถึงกับหลงเอา บุญ กับ กุศล มาปนเป เป็นอันเดียวกันนั้น ได้ทำให้เกิด ความสับสนอลเวงเพียงไร และทำให้คว้าไม่ถูกตัวสิ่งที่เราต้องการ จนเกิดความยุ่งยากสับสนอลหม่าน ในวงพวกพุทธบริษัทเองเพียงไร ถ้าเรายังขืนทำสุ่มสี่สุ่มห้า เอา ของสองอย่างนี้ เป็นของอันเดียวกัน อย่างที่ เรียกกัน พล่อยๆ ติดปากชาวบ้านว่า
"บุญกุศลๆ" เช่นนี้อยู่สืบไปแล้ว เราก็จะไม่สามารถ แก้ปัญหา ต่างๆ อันเกี่ยวกับ การทำบุญกุศล นี้ ให้ลุล่วงไป ด้วยความดี จนตลอดกัลปาวสาน ก็ได้ ถ้ากล่าวให้ชัดๆ สั้นๆ

"บุญเป็นเครื่องหุ้มห่อ กีดกั้นบาป ไม่ให้งอกงาม หรือปรากฏ หมดอำนาจบุญเมื่อใด บาปก็จะโผล่ออกมา และงอกงามสืบไปอีก"

"ส่วนกุศลนั้น เป็นเครื่องตัด รากเหง้าของบาป อยู่เรื่อยไป จนมันเหี่ยวแห้ง สูญสิ้นไม่มีเหลือ" ความต่างกัน อย่างยิ่ง ย่อมมีอยู่ ดังกล่าวนี้คนปรารถนาบุญ จงได้บุญ คนปรารถนากุศล ก็จงได้กุศล และปลอดภัย ตามความปรารถนา แล้วแต่ใคร จะมองเห็น และจะสมัครใจ จะปรารถนาอย่างไร ได้เช่นนี้ เมื่อใดจึงจะชื่อว่า พวกเรารู้จัก บุญกุศล กันจริงๆ รู้ทิศทางแห่งการก้าวหน้า และทิศทางที่วกเวียน ว่าเป็นของที่ไม่อาจจะเอามาเป็นอันเดียวกัน ได้เลย แม้จะเรียกว่า "ทางๆ" เหมือนกัน ทั้งสองฝ่าย


โดยท่านพุทธทาส: เทสก์ ณ วัดธารน้ำไหล, ๒๕ มิ.ย. ๒๔๙๓

  ขอบคุณที่มา  http://board.palungjit.com

116
บทความ บทกวี / ใครคือครู
« เมื่อ: 16 ก.ย. 2553, 08:37:01 »
                                                                             ใครคือครู

เพื่อชีวี เป็นสุข แทบทุกคน
ใครคือครู ครูคือใคร ในใจฉัน
ทุกวี่วัน พากันรู้ รู้บ้างไหม
ครูคนแรก คือแม่พ่อ รอห่วงใย
เฝ้าสอนให้ เราเรียนรู้ แลพากเพียร

อีกลุงป้า น้าอาพี่ ที่เคารพ
ตายายครบ ปู่ย่า กล้าขีดเขียน
ญาติผู้ใหญ่ ล้วนเป็นครู ผู้ติเตียน
ให้หัดเขียน หัดอ่าน มานานนม

เหนือจากนั้น คือหลวงพี่ วัดใกล้บ้าน
คอยให้ทาน ทั้งความรู้ ทั้งขนม
ทั้งข้าวปลา เหลือก้นบาตร แสนชื่นชม
ทั้งธรรมบ่ม อบรมให้ ใจมีธรรม

ถึงโรงเรียน มีวิชา ที่ครูสอน
บ้างง่วงนอน ถูกไม้ตี สุดแสนขำ
หลายวิชา สามัญ อันจูงนำ
ให้กระทำ เป็นพื้นฐาน ทุกด้านดี

ครูคือใคร ใครคือครู คงรู้แล้ว
โอ้ครูแก้ว มากหมู่ ชูศักดิ์ศรี
ต่างหวังให้ เหล่าศิษย์ วิชามี

ใครเคารพ นบกราบ ครูทั่วถิ่น
ตราบชีวิน ทั้งชีวิต ไม่ขัดสน
ปัญญาเกิด เลี้ยงชีพได้ ไม่อับจน
นั้นเพราะผล กตัญญู ต่อครูเอย

 
  จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์
ผู้ประพันธ์
๑๔ ม.ค. ๒๕๕๓

  ขอบคุณที่มา  http://www.dhammajak.net

117
                                                        คนสู้งาน

อย่าท้อแท้__ถดถอย__น้อยความหวัง
แม้ชีพ ยัง___.จงสู้__________มิรู้หนี
ใจจะยับ____กายจะเยิน_____ไม่ใยดี
อุทิศ แล้ว___.ชีพนี้______.พลีเพื่องาน

ถึงจะถูก____มรสุม______.รุม กระหน่ำ
ถึงบอบช้ำ__.ก็จะฝืน_____.ยืนส้ังขาร
ถึงโศรกเศร้า_ก็จะฝืน _____.ทำชื่นบาน
ถึงร้าวราน_...ก็จะฝืน_____.ทำชื่นใจ

แม้เหน็จ เหนื่อย___.จะขอพัก____เพียงสักครู่
เพื่อรวบรวม______แรงต่อสู้____.ใน วันใหม่
ให้เลื่องชื่อ______.ลือชา______ว่าชาญชัย
พิชิตได้_________ ทั้งใจคน____และผลงาน

พึงรำลึก________ไว้ว่า_______ฟ้าสีทอง
ยัง ผุดผ่อง______.สดสวย_____.ด้วยแก่นสาร
รักหน้าที่_______ศีลธรรม_____. ชำนาญการ
ย่อมเป็นผู้______.เบิกบาน_____ในบั้นปลาย

แม้บางครั้ง _____.ต้องหนาวเหน็บ__เจ็บดวงจิต
อย่าประชด_____ชีวิต__________ผิดทาง หลง
ใครจะเย้ย______หยามใคร______.ไม่พะวง
ขอธำรงค์______.สัตย์ซื่อ _______.ถึงความดี

อันความดี______ทำดี__________ถึงที่สุด
อย่า ยอมหยุด___.จงต่อสู้________.มิรู้หนี
ให้ประจักษ์_____ทั่วโลกหล้า _____ว่าข้าดี
ขอทำดี_______.พลีชีพ________."เพื่อแผ่นดิน"

  ขอบคุณที่มา  http://www.dhammajak.net

118
                                                 สังขารทั้งหลายมีมายาไม่น่ายึดมั่น (ก. เขาสวนหลวง)

วันนี้อยากจะแนะให้ผู้ปฏิบัติได้มีการพิจารณา
รู้จักลักษณะของสังขารให้ถูกต้องและละเอียดยิ่งขึ้น
เพราะว่าอะไรๆ ก็เป็นสังขารไปทั้งหมด

ทีนี้เรารู้จักสังขารกันนิดหน่อย
รู้แต่ความปรุงแต่ง หรือสังขารร่างกายอะไรเท่านี้
คำว่า “สัพเพ สังขารา อนิจจาติ” ตามหลักท่านว่าไว้นั้น
มีความหมายกว้างขวางลึกซึ้งมาก
ควรจะหยั่งเข้าไปทราบถึงลักษณะของสังขารทุกชนิด
ที่มันมีความรู้สึกเกิดขึ้นกับจิต

ต้องสอบดูลักษณะของสังขารว่าเป็นอย่างไร
และก็จะรู้ได้เองว่า สิ่งไหนที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ก็เรียกว่าเป็นสังขารทั้งนั้น

ถ้าจะพิจารณาดูความรู้สึก
โดยเฉพาะว่าจะมีการรู้สึกในเรื่องรูปธรรม หรือนามธรรมอย่างนี้
ก็เป็นสังขารทั้งหมด
ตัวสติก็เป็นสังขาร
ปัญญาก็เป็นสังขาร
จนกระทั่งว่าจิตที่สงบก็เป็นสังขาร
ไม่สงบก็เป็นสังขาร

ดูสังขารให้ลึก ให้ละเอียด ให้ทั่วถึงเข้าไปให้ได้
มิฉะนั้นก็เห็นสังขารนิดๆ หน่อยๆ
แล้วก็เป็นการเข้าใจเอาเองว่า
สังขารคือความปรุงแต่งอะไรต่ออะไรเท่านี้
เป็นการรู้นิดหน่อย ยังรู้ไม่ทั่วถึง

ทีนี้ตัวความรู้ จนกระทั่งว่าผู้ดู ผู้รู้ก็เป็นสังขารอีก
ล้วนแต่เป็นสังขารทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว ฝ่ายถูก ฝ่ายผิด
นี่จะต้องรู้จักสังขารเสียให้ทั่วถึง

แล้วการรู้สังขารให้ทั่วถึงลึกซึ้งเข้าไปในเรื่องภายในโดยเฉพาะ
ทำให้น่าเบื่อหน่าย
มิฉะนั้นจะไปเลือกเอาสังขารที่ดีๆ มายึดถือเอาไว้
แล้วสังขารที่ไม่ดีก็จะผลักไสไป
ทีนี้จะได้รู้เสียให้ทั่วถึง ว่า
ตัวผู้ดู ผู้รู้นั่นแหละก็เป็นสังขารเหมือนกัน
จะไปยึดถือเอาไว้ไม่ได้
หรือว่าที่จะยืนหลักความรู้เหล่านี้ก็เหมือนกัน เป็นสังขารทั้งนั้น

ที่เราได้พิจารณาเห็นลงไปว่ามันเป็นสังขารนี้
ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ปรวนแปรเปลี่ยนรูป ดับไปได้
เราจึงรู้ว่านี่พวกสังขารทั้งนั้น

เราก็มาเล่นอยู่กับของหลอกๆ ตลอดเวลา
การรู้จริงแจ่มแจ้งอะไรก็เป็นสังขารอีกนั่นแหละ
ก็เข้าไปยึดถือพออกพอใจ
แล้วมันก็เปลี่ยนรูปไปอีก
เปลี่ยนไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง
เปลี่ยนแปรไปตามเหตุตามปัจจัย ทั้งรูปธรรมนามธรรม

ทั้งความรู้สึกที่เป็นสติปัญญา หรือญาณทัศนะที่เป็นการรู้อย่างนั้นอย่างนี้
ก็เป็นสังขารทั้งนั้น
แต่ว่าเป็นสังขารฝ่ายดี
ที่จะต้องใช้อาศัยไปก่อน จะไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้

เราจะต้องรู้จักสังขาร
และต้องรู้จักใช้สังขารให้ถูกต้อง
แล้วก็ปล่อยวางเท่านั้นเอง
ไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่น

การที่จะรู้จักสังขารให้ทั่วถึงนี้
ต้องเพียรเพ่งพิจารณาให้รู้ลักษณะของความรู้
ความไม่รู้ก็เป็นสังขาร และความรู้ก็เป็นสังขาร
ที่สืบทราบได้ตามที่สอบสวนจากภายใน
ก็รู้ว่ามันเป็นของเกิดดับเหมือนกัน

ที่เรารู้ๆ อยู่นี่ ถึงจะรู้ความจริงอะไรขึ้นมา ก็อยู่ไม่นาน
ต้องเปลี่ยนแปรเป็นไม่รู้ไปอีก
เราจึงจับหลักได้ว่า
พวกสังขารนี้เล่นกลหลายชนิดหลายชั้นนัก
แล้วเราก็ไม่รู้หลงมาเล่นกับมันอยู่นี่เอง

การรู้มายาของสังขารทุกชนิดทุกชั้นเข้าไป
ถ้าใครรู้ได้ก็มีประโยชน์มาก
จะได้รู้จริงๆ เหมือนที่พระพุทธองค์ตรัสว่า สัพเพ สังขารา อนิจจาติ
บุคคลมาพิจารณาให้รู้ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง
นี่เป็นหลักสำคัญ
แล้วเราอาจจะมองทะลุไปได้ถึงความเป็นทุกข์อยู่ในตัวสังขารทุกประเภท

แม้ว่าจะเป็นสังขารฝ่ายดี ฝ่ายถูกที่เป็นสติปัญญาก็ตาม
ก็มีทุกข์อยู่ในตัวของมัน
เพราะมันต้องมีความเปลี่ยนแปรไป
เหมือนกับเป็นเครื่องมือใช้ชั่วคราว
ไม่ให้เข้าไปยึดมั่นถือมั่น

ถ้าใครหลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่น คนนั้นก็จะแย่
เรียกว่ายังไม่รู้จักสังขารให้ทั่วถึงเลย
ยังยึดถือเอาอย่างนั้นอย่างนี้
มีความเห็นอะไรขึ้นมาก็ยึดถือเอาจริงเอาจังไปทีเดียว
จึงต้องเห็นลงไปว่า ที่รู้อะไรต่ออะไรที่เกิดๆ ดับๆ อยู่นี่
มันเป็นสังขารทั้งหมด ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

แม้จะต้องรักษาหลักความรู้ หรือคุ้มครองจิตไว้ด้วยสติปัญญา
อย่างนี้ก็ต้องรู้ว่า จิตใจก็เป็นสังขาร ตัวสติปัญญาก็เป็นสังขาร
มิฉะนั้นจะนึกว่าความรู้นี่ไม่ใช่เป็นสังขาร
หรือตัวผู้ดู ผู้รู้ ผู้ปล่อยอะไรเหล่านี้ ก็นึกว่าไม่เป็นสังขาร
ที่แท้ก็เป็นสังขารทั้งหมด
เพราะตัวผู้ดูผู้รู้นั่น ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวมันเหมือนกัน

ไม่ว่าความรู้ขั้นไหนก็เป็นสังขารทั้งหมด
เพราะว่ามันไม่ได้อยู่ระดับเดียว
มันเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวของมัน
แล้วก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลง
คือความไม่เที่ยงของสังขารทุกประเภทหมด
จนกระทั่งเห็นความทุกข์อยู่ในนั้นเสร็จ
ไม่ใช่ทุกข์กายหรือทุกข์ใจ
ทุกข์นี้มันเป็นทุกข์อยู่ในความเปลี่ยนแปลง

ทุกประเภทของสังขารที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นทุกข์อยู่ในตัวเสร็จ
เช่น ตัวสติปัญญาก็เป็นสังขาร แล้วก็มีความเปลี่ยนแปลง
และตัวที่ต้องทนความเปลี่ยนแปลงนั่นแหละเป็นทุกข์อยู่ในตัว
อยู่ในตัวสติ อยู่ในตัวปัญญาเสร็จ

ถ้าอย่างนี้มันลึกเข้าไปอีก เพราะว่าเรารู้แต่เพียงเผินๆ กัน
ปล่อยวางอะไรได้ ก็พูดไปตามขั้นของการปฏิบัติเป็นขั้นๆ ไป
เรียกว่ายังไม่รู้แจ้งสังขารให้ลึกซึ้งเข้าไป
เราก็รู้กันแค่นี้ แล้วก็ว่าดี ว่าถูกกันอยู่แค่นี้
ที่ลึกละเอียดเข้าไปไม่รู้
อย่างนี้ก็ยังอยู่ในเกลียวหมุนของสังขารอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

แล้วจะน่าศึกษาให้ลึกซึ้งเข้าไปไหม
เราก็มาเล่นอยู่กับสังขารหลอกๆ ล่อๆ อยู่อย่างนี้
เดี๋ยวจะเอาอย่างนี้
สังขารฝ่ายดีก็อยากจะได้
สังขารฝ่ายชั่วก็อยากจะให้มันพ้นไป ดับไป
เรียกว่าเล่นชักคะเย่ออยู่กับสังขารทั้งนั้น
ถ้าดูให้ละเอียดๆ มันน่าเบื่อที่สุด ไม่ว่าสังขารประเภทใดทั้งหมด
ที่เป็นของเกิดดับอยู่ ทั้งความรู้ดี รู้ผิด รู้ถูก

ทีนี้ความรู้สึกที่เป็นความรู้ถูกต้อง
ที่เป็นสังขารฝ่ายดี ก็จะต้องพยายามอบรมให้มีความรู้ที่เป็นเครื่องอ่านออกทั้งภายนอกตัว หรือในตัวของมันเอง
มันสลับซับซ้อนเข้ามา
เมื่อรู้จักมองให้ทะลุถึงความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์
แล้วก็จะต้องมองเห็นความไม่มีตัวตนอยู่ในสังขารทุกประเภทหมด

ตามหลักท่านจึงได้บอกว่า อถนิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอสมคฺโค วิสุทฺธิยา
พอมาจับหลักของการพิจารณาลึกเข้าไปแล้ว
มันเป็นอย่างนี้เอง
ที่มีความเบื่อหน่าย
พอมีความเบื่อหน่ายสิ่งที่ตนเคยหลงสังขารมา และยึดถึออยู่
เพราะไม่รู้ ทีนี้รู้ด้วยปัญญาขึ้นมา จึงมีความเบื่อหน่าย

และที่เบื่อหน่าย ไม่ใช่เบื่อหน่ายไปเฉยๆ
มันเบื่อแล้วจางคลายออก
คือมันจางคลายออกไป
หรือมันหลุดออกไป
มันขาดออกไปได้
ท่านจึงบอกว่านี่แหละเป็นทางแห่งควาหมดจด

เราไปพบกับความจางคลายเข้าเท่านี้
ก็พบทางแล้ว
แม้จะยังไม่หมดจดถึงที่สุด
เราก็รู้แนวแล้ว ว่าการรู้ สัพเพ สังขารา อนิจจาติ รู้ด้วยปัญญาจริงๆ มันลึกซึ้งเข้าไป
ทำให้เบื่อหน่ายพร้อมกับคลายออกไป
ไม่ยึดมั่นถือมั่น
แล้วอย่างนี้น่าจะพิจารณาให้ซึ้งเข้าไปไหม

เพียงแต่มารู้กันล่อๆ หลอกๆ นิดๆ หน่อยๆ เท่านี้
ก็อยู่ไปแบบนั้นนั่นเอง
มันรู้ไม่จริงจังอะไร
ทั้งๆ ที่มันถูกปรุงแต่งอยู่ในปัจจุบันทั้งนั้น
ไม่ว่าฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว ฝ่ายถูก ฝ่ายผิดทั้งหมด
ก็ถูกปรุงแต่อยู่เรื่อย แต่ว่าไม่ค่อยจะรู้กันขึ้นมาได้

เพราะฉะนั้นน่าจะรู้เรื่องนี้ให้ถูกต้อง
ถ้าไม่รู้เรื่องนี้ให้ถูกต้อง
หนทางปฏิบัติเพื่อจะให้หลุดพ้นไปจากสังขารนี่ก็ไม่มีเหมือนกัน
เพราะว่ายังอยู่กับความชุลมุนของสังขารทั้งนั้น

แล้วยิ่งการพิจารณาที่มานึกเอาชั่วครั้งชั่วคราว
ยิ่งเอาตัวไม่รอด
จะต้องให้เป็นการรู้แยบคายเข้าไปทุกที ทุกขั้น ทุกชั้น
อ่านมันออกทุกขั้นทุกชั้นเข้าไป

ตัวที่มันรู้ๆ เราก็ดูมันเข้าไป
ไม่ได้ดูตัวข้างนอก ดูตัวในที่เป็นตัวในรู้ของมันเอง
ว่าตัวในรู้ของมันเปลี่ยนแปลงไหม เกิดดับไหม
ในตัวที่รู้ๆ อยู่นี่ หรือตัวจิตหรือวิญญาณก็ตาม
ที่ยืนรู้อยู่นี่ ต้องดูเข้าไปให้ตรงจุดมันทีเดียวๆ

การดูตรงจิตอย่างนี้ก็ไม่ใช่ของง่ายนักเหมือนกัน
เพราะว่ามันถนัดจะดูออกอยู่เรื่อย
มันปรุงอะไรต่ออะไรออกมาเป็นพวกสัญญาความจำหมาย ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
มันสืบอยู่เรื่อย ส่งอยู่เรื่อย
แล้วก็ปรุงไปตามนี้
ปรุงอยู่นอกๆ สมมุติว่าปรุงอยู่นอกจิต

ทีนี้ตัวในจิตเอง
ตัวมันเองก็เกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวของมันเองอย่างถี่ยิบ
เช่น จิตที่วางเฉยอยู่นั้น วางเฉยแล้วแล้วไป
ไม่ได้ดูเข้าในตัวที่วางเฉยนั่น

ตัวใน ตัวที่วางเฉยนั้นมันเกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่เสร็จในนั้น
นี่ดูกันข้างนอกทั้งนั้น
จิตที่ไม่ถูกปรุงมันยืนรู้อยู่นั่น

เหมือนที่เรารู้ๆ กันอยู่ว่า
พอสัญญาจำหมายเกิดขึ้น เราก็หยุดไม่ปรุงต่อ
ก็เรียกว่าจิตมีความสงบ หรือมีความว่างที่ไม่ถูกปรุง
เพียงเท่านี้เท่านั้นเอง
ทั้งๆ ที่ว่าตัวของความรู้ในขณะที่มันยืนรู้นั่น ตัวมันก็เป็นสังขาร
ต้องเปลี่ยนแปลงไปอีก ไม่ได้ยืนรู้อยู่ได้เป็นของถาวร

ถึงมันจะยืนรู้อยู่ได้ มันก็เปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวของความรู้เสร็จ
เหมือนขั้นญาณ
ตามหลักที่เปลี่ยนขึ้นมาตามญาณที่หนึ่งที่สอง ก็เรียกว่า ญาณทัศนะ
ญาณความรู้เหล่านั้นก็เป็นสังขารทั้งหมด
ที่สืบทราบได้ก็เพราะมันเกิดดับเปลี่ยนแปลงไม่คงที่
มันอยู่ในกลุ่มของสังขารทั้งหมด

ควรจะรู้ให้ได้ว่า ความรู้ในกลุ่มของสังขาร
คือความเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์อยู่ในตัว ไม่มีตัวตนอยู่ในตัวเองเสร็จ
หมั่นดูอย่างนี้ซ้ำๆ เอาไว้
จนกระทั่งเป็นความชัดใจ จึงจะคลายได้
เบื่อหน่ายคลายกำหนัดออกไป

สังขารที่ดีก็ไม่เข้าไปยึดถือ
ที่ชั่วก็ไม่เข้าไปผลักไส
เพราะรู้ว่ามันราคาเดียวกัน เป็นของเปลี่ยนแปลงเท่ากัน

แม้ว่าเราจะให้มันเป็นการยืนรู้
หรือเป็นการคุ้มครองจิตใจ ในด้านที่จะไม่ให้ถูกปรุงภายนอกมากขึ้น
แต่เราก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นในความรู้อย่างนี้
เพราะว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงไปอีก

เหมือนกับความรู้ขั้นนี้เป็นการรู้อยู่อย่างนี้
เราก็ว่าเรารู้จริงในเรื่องนี้
แต่ครั้นว่าสมัยอื่นหรือขณะอื่น เราเกิดมีความรู้อะไรที่แจ่มแจ้งชัดใจมากไปกว่านี้อีก
เราจึงจะรู้ว่าที่รู้ลักษณะนั้น ที่เรายืนยันว่าเป็นความรู้จริง ที่แท้ไม่ใช่

ความรู้นี่มันเปลี่ยนได้ มันเปลี่ยนแปลงขึ้นมาแล้ว
แม้มันจะเปลี่ยนสูงขึ้นมาเท่าไรๆ ก็ต้องเห็น ต้องตามเห็นอยู่วันยังค่ำ
ว่ามันเป็นสังขาร มันเปลี่ยนแปลงทุกประเภท
ไม่ว่าจะเป็นหยาบ ละเอียด อะไรทั้งหมด
จะต้องรู้ให้ทั่วถึงหมดให้ได้
มิฉะนั้นไปยึดถืออยู่แต่อย่างนั้นเอง
แล้วก็จะไปอยากอย่างนี้อย่างนั้นขึ้นมาสลับซับซ้อนหมด

ถ้าดูแบบที่เห็นสังขารทั้งหมดได้ทั่วถึง ทั้งดี ชั่ว ถูก ผิด
ทั้งตัวผู้รู้ ตัวไม่รู้
ทั้งหมดเป็นสังขารประเภทเดียวกัน
ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว ความรู้มันค่อยๆ เหนือขึ้นมาได้

ถึงแม้ว่าความรู้ที่จะเหนือขึ้นมา
ก็เป็นสังขารอีกเหมือนกัน
ยังไม่พ้นความเป็นสังขารไปได้
ถึงมรรคก็เป็นสังขาร
แม้ว่าเราจะมีการเจริญมรรค มีสัมมาทิฎฐิ ปัญญาเห็นชอบ
ควรจะเห็นชอบในเรื่องนี้
ควรจะเห็นให้แจ้งชัดเข้าไปทุกประเภทหมด

ที่เป็นความรู้อะไรออกมาในลักษณะไหน
ไม่ว่าจะดูรูปธรรม นามธรรม ที่เกิดๆ ดับๆ อยู่ เป็นลักษณะของสังขารทั้งหมด
แม้แต่จิตที่กำลังตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็เป็นสังขาร
พวกฌานก็เป็นสังขารทั้งหมด

ตามในหลักสัพเพสังขารา จนกระทั่งสัพเพธัมมา
เรื่องสัพเพ ธัมมา อนัตตา นี้เป็นการรวบยอด
ที่ว่าเห็นสภาพของสังขารที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วก็เป็นอนัตตา
นี่เป็นฝ่ายสังขตะ เป็นฝ่ายสังขารที่มีการปรุงแต่ง

ทีนี้เรื่องสัพเพธัมมานี้
ตามหลักท่านมีเรื่องของการพ้นสังขาร เป็นวิสังขารหรืออสังเขตธรรม
ก็หมายถึงนิพพานอย่างนี้
ถ้าเราไม่รู้จักสังขารให้ทั่วถึงทุกประเภท
เราก็ไม่รู้ถึงวิสังขาร หรือสิ่งที่มันไม่ปรุงแต่ง

จิตที่ตั้งมั่นนี้ ยิ่งดูสังขารได้ชัดดี
มันตั้งมั่นเดี่ยวอยู่ได้อย่างไร
ความรู้ที่ควบคู่อยู่กับจิตที่ตั้งมั่น
จะเป็นเครื่องอ่านออกในลักษณะจิตที่มีการไหวรับอารมณ์ขึ้นมาทุกๆ ขณะ

และตัวที่มันควบคุมอยู่นั่น
มันจะได้รู้ตัวของมันเองว่า
ตัวของมันเองก็พวกเดียวกัน
มันเปลี่ยนแปลง
และแม้ว่าในขณะนี้บางคนอาจจะฟังไม่เข้าใจ
ก็นำไปพิจารณาดูเรื่อยๆ ไปก่อนก็ได้

เพราะว่าแค่ที่จะให้พิจารณาเห็นรูปธรรม นามธรรม
ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดดับ
ก็ยังไม่ค่อยจะรู้ได้ง่ายๆ เลย
ยิ่งเอาเรื่องนี้มาพูด
ที่เป็นการรวบยอด ก็คงจะเข้าใจยากสักหน่อย

แต่ถึงอย่างไร ก็อยากจะให้เข้าใจในเรื่องนี้ที่เป็นการรวบยอด
เพราะได้ประโยชน์ที่เราจะได้ไม่ต้องเล่นกับพวกสังขารมากเกินไป
หรือว่ามัวแต่งมอยู่กับสังขารมากเกินไป
ถ้าจะรู้จักปล่อยวางอะไรออกไปได้แง่ ได้แยบคายอะไรขึ้นมา
ในเรื่องนี้เรื่องเดียว ก็จะแก้ปัญหาอื่นๆ ไปได้เรื่อยๆ

โดยเฉพาะที่ได้มีการอบรมมา
เป็นการติดต่อมาอย่างไร
เป็นการพินิจพิจารณารู้เรื่องของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ของรูปนามมาอย่างไร
นี่ก็นับว่าเป็นกิจกรรมที่จะต้องจัดทำอยู่ตลอดเวลา

และการเพ่งพิจารณาอย่างนี้จะได้ลึกซึ้งเข้าไปในตัวของความรู้เอง
อ่านแบบนี้เรื่อยไปในตัวความรู้เองนั้น
ดูมันเข้าไป
มันก็เปลี่ยนแปลง
จึงจะทำให้ความรู้ความเห็นแจ่มแจ้งว่า
มันเป็นมายาหลายชั้นอย่างนี้เอง
จะได้ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นทั้งหมด ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่วทั้งหมด

และทีนี้จะมีการพิจารณากันให้รู้ด้วยปัญญาจริงๆ
ถ้าเราไม่สนใจเรื่องนี้
การเจริญกัมมัฎฐานวิปัสสนา มันไปเรื่องอื่น
ที่แท้มันเป็นเรื่องนี้ทั้งหมด
ตลอดจนว่าจะมีการศึกษา ก็ต้องศึกษาให้รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
จะมีการปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติให้รู้ความจริงในเรื่องความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ของนามรูป หรือของสังขารทุกประเภท

เราจะพูดกันเฉพาะเรื่องเดียว สิ่งเดียวเท่านี้เอง
แต่ให้พูดไปจนตาย ก็ไม่รู้จักจบอีกเหมือนกัน
เพราะว่าความรู้ภายในที่ยังรู้ไม่ได้ ยังเปลี่ยนตัวอยู่เรื่อย
มันกลับกลอกหลอกหลอนอยู่ในตัวรู้เรื่อย
ถ้าเราไม่จับหลักเข้าไปดูมันแบบนี้ ก็ถูกหลอกแย่อยู่นั่นเอง
ก็เป็นอันว่าหลงสังขาร ไม่รู้จักสังขารตามความเป็นจริง
อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะให้รู้
เราก็ไปรู้ผิดเห็นผิดกันเสียหมดอย่างนี้

แท้จริงที่พระองค์ตรัสรู้มาอย่างละเอียดสุขุม
แล้วก็ทรงเผยแพร่ให้ตื้นขึ้น
ที่ลึกทรงทำให้ตื้นขึ้น
ที่เป็นของเร้นลับเห็นยากก็ทำให้เปิดเผยเห็นง่าย เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
เรากลับไม่มีความสนใจในเรื่องนี้
ไปสนใจเรื่องอื่นๆ กันเสียหมด

พูดเรื่องอื่นๆ ก็เลยไม่รู้อะไรเป็นอะไรไปทั้งหมด
ยิ่งรู้มากก็ยากนาน รู้น้อยพลอยรำคาญ
รู้น้อยพลอยรำคาญก็อยากจะรู้มากนั่นเอง
เกิดรำคาญขึ้นมา อยากจะรู้ให้มากๆ

อันที่จริงการปฏิบัตินี้ไม่ใช่เรื่องหอบฟาง อย่างที่เขาเรียกกันว่าบ้าหอบฟาง
หอบแต่ฟางไปมากมาย ไม่ได้ข้าวสักเม็ด
ใครขยันหอบฟางก็หอบไปเถอะ เหนื่อยตายอยู่นั่น
ที่ไม่ต้องหอบอะไร ไม่ต้องหิ้วอะไร ไม่ต้องแบกอะไรนั่นจะดีไหม
มาทำอย่างนี้กัน
หรืออยากจะแบกหาม อยากจะหิ้วก็ตามใจ

แต่ว่าถ้าใครแบกมามากๆ แล้ว
เกิดความรู้สึกว่าเหนื่อยเต็มทีแล้ว ทนไม่ไหวแล้ว
ทีนี้จะต้องหาช่องปล่อยวาง
มีช่องปล่อยวางได้เหมือนกัน
มันมีช่องออก ไม่ใช่ว่าปิดแปดด้านสิบด้านหมด ก็แย่ตายอยู่ในนั้นเอง

นี่ยังเป็นโชคดีของเราอยู่มาก
ที่ได้มามีส่วนได้รับธรรมะของพระพุทธเจ้า
ถ้าเราจะมองออกไปไกลๆ ถึงคนจำนวนมาก ที่อยู่ในประเทศที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
คือพวกที่เขานับถือพระพรหม พระศิวะ พระวิษณุ
ที่เขาบูชาศิวลึงค์นั้น ไม่ใช่คนนิดหน่อยที่ทำการบูชาอย่างนั้น
ทำไมบูชากันมาได้ไม่รู้กี่สมัยมาแล้ว กี่ร้อยปีมาแล้ว

และก็ดูในสมัยที่มนุษย์มีความเจริญในวิชาการทางโลกอย่างนี้
มีการพิสูจน์ด้วยเหตุผลอะไรต่างๆ ก็ตาม
แต่ว่าพวกนั้นก็ยังจนปัญญาอยู่นั่นเอง
ยังจนปัญญาอยู่ทั้งนั้น
ที่จะเล็ดลอดออกมารู้ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีจำนวนนิดเดียว
ส่วนใหญ่ยังหลงอยู่

เท่านี้ก็ทำให้เห็นว่า
ธรรมะมีความเป็นอัศจรรย์อยู่ในตัวธรรมะเสร็จ
จะทำให้หายโง่หายหลง
แทนที่จะไปเชื่อถืออะไรต่ออะไรที่ไม่มีประโยชน์

เมื่อสอบเข้ามาทางเหตุผลในทางเชื่อกรรม
เท่านี้ก็หักล้างไปเสียแล้ว ที่ไปเชื่อพระเจ้าต่างๆ นั้น
นี่ก็เพียงแต่นำมาพูดสู่กันฟังในวงแคบๆ
เราไม่ต้องไปพูดอะไรที่จะกระทบกระเทือนคนที่เขานับถือศาสนาของเขา
เขาก็เห็นดิบเห็นดีไปตามเรื่องของเขา
แต่นี่นำมาเป็นเครื่องสอบสวนดูว่า
ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ
ได้มีการปฏิบัติตามแนวของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้องขึ้นมาได้
ในกลุ่มน้อยๆ หรือว่าเป็นความรู้สึกของสติปัญญาอย่างน้อยๆ
เท่านี้ ก็ยังนับว่าประเสริฐเหมือนกัน

ทีนี้ในวงกว้างๆ ออกไป
แล้วก็ไปดูสภาพของสัตว์ทุกๆ ชนิด
มันเป็นของต้องทรมานมาอย่างไร
เป็นการเวียนว่ายตายเกิดมาอย่างไร
แม้จะดูให้ละเอียดเข้ามา
ทุกๆ ขณะที่มีการปรุงแต่ง ดี ชั่ว ตัวตนขึ้นมา
เป็นอะไรต่ออะไรยุบยิบอยู่นี่
มีภพชาติก่อเกิดอยู่ในจิตใจของเราหลายอย่างถี่เข้ามา ใกล้เข้ามาเท่านี้
ก็จะเป็นเครื่องให้เรารู้ว่า
ในวัฎฎสงสารไม่มีอะไรดีเลย
เต็มไปด้วยความเป็นมายาของสังขารทุกประเภท
และตลอดไปหมดอีกเหมือนกัน

ไม่ว่าพวกนรก สวรรค์ชั้นฟ้าอะไรทั้งหมด
ก็เป็นพวกสังขารที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยถากรรมทั้งนั้น
นี้จะทำให้เรายิ่งรู้สึกเห็นคุณค่าของธรรมะประเภทที่ท่านชี้แนวเอาไว้
ให้รู้เห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงด้วยปัญญา
แล้วก็มีความเบื่อหน่ายในทุกข์ที่ตนหลงยึดถือมาแต่กาลก่อนได้
เท่านี้ก็เป็นผู้มีทางแล้ว
เป็นทางแห่งความหมดจดขึ้นมาแล้วภายในจิต

เราควรจะมีทางแห่งความหมดจดภายในจิต
ที่มีความรู้ความเห็นที่ถูกตรง
และไม่ยึดมั่นถือมั่น
ต้องสอบกันอยู่เรื่อย
เพราะสังขารเกิดดับเรื่อย ไม่ว่าง
ถ้าไปเจอว่าง ก็ว่างของสังขารอีก
ประเดี๋ยวก็ไม่ว่างไปอย่างนั้น
ทีนี้การพิจารณาให้เห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยงให้ทั่วถึงแล้ว
จะได้เห็นทุกข์อยู่ในตัวเสร็จ

ทีนี้จะต้องรู้ให้สูงขึ้น
ไม่รู้แต่เพียงทุกข์ของกาย
กายก็เป็นสังขาร แล้วก็รู้เพียงเท่านี้
รู้แต่ทุกข์ของสังขารร่างกายนิดๆ หน่อยๆ
แล้วก็ไม่ได้รู้อะไรอื่นไปอีกได้
ทีนี้รู้มันให้ทั่วให้ได้

แม้แต่ตัวจิตที่จะรู้อะไรต่ออะไร เกิดๆ ดับๆ วุ่นๆ วายๆ ก็ล้วนแต่สังขารทั้งนั้น
อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเข้า

ไม่ว่าลักษณะไหนก็ต้องดูให้ละเอียด ให้ลึกเข้าไปด้วย
ทุกๆ ขณะปัจจุบันนี้
พระพุทธเจ้าทรงชี้อยู่ในเรื่องนี้
ทรงชี้ให้เห็นรูปทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน
รูปใกล้ รูปไกล หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ก็ให้ดูให้ทั่วถึง
ให้เห็นทั้งรูปธรรม นามธรรม ก็แบบเดียวกัน ต้องดูให้ละเอียด

ทีนี้การปฏิบัติ ถ้าไม่รู้แยบคาย หรือไม่ได้รู้ละเอียดไปแล้ว
ข้อปฏิบัติก็ทำให้เฉื่อยชาง่ายเหมือนกัน
หรือว่าอยากจะรู้จัดเกินไป จะเพียรจัดเกินไป ก็อีกเหมือนกัน
จะไปเล่นกับสังขาร จะบังคับบัญชามันเกินไป
เมื่อไม่ได้สมหวังก็เกิดความรวนเรขึ้นมา
จะต้องพยายามดู พยายามรู้ไปให้เหมาะสม

ตามหลักท่านจึงเปรียบเทียบข้อปฏิบัติด้านจิตใจเหมือนการจับนก
สมมุติว่าจับนกตัวเล็กๆ ที่มันอาจจะลอดช่องนิ้วมือได้
ถ้าจะกำแน่น นกก็จะตายคามือ
ถ้ากำอย่างหลวมๆ มันก็ลอดนิ้วมือบินหนีไป
จะกำอย่างไรให้นกไม่ตาย และไม่บินหนีไปด้วย

และวิธีกำหนดจิต จะต้องกำหนดโดยวิธีใด
จะต้องคอยสังเกต
ถ้าเป็นการรุนแรงนัก บีบคั้นเกินไป
จิตก็ดิ้นรนกระวนกระวายมาก
เพราะถูกบังคับมากเกินไป
ถ้าหละหลวมจิตก็พร้อมที่จะล่องลอยตามอารมณ์ไปหมด
ไปคิดนึกปรุงแต่งอะไรเรื่อยเปื่อยไปได้ง่ายๆ
ทีนี้จะทำให้มันรู้เฉพาะตัวมันอย่างไร

ในการฝึกสติสัมปชัญญะก็ดี อยู่อินทรียสังวรก็ดี
ก็ไม่ใช่เพื่ออะไรอื่น ไม่ใช่เป็นการสังวรอยู่เฉยๆ แบบนั้นตะพึดไป
ที่มีการสังวรและพิจารณาประกอบอยู่ด้วย
จึงจะได้ จึงจะเป็นเครื่องอ่านออก
และรู้ลักษณะของความรู้สึกที่เกิดดับไปอย่างไรตามผัสสะ

เพราะว่างานปฏิบัติที่จะอบรมจิตภาวนาเป็นของลึกซึ้งอยู่ในตัว
ถ้าไม่มีการพูดอะไรกันบ้าง
ก็ทำกันไปทื่อๆ
ไม่มีความรู้แยบคาย ที่จะแสดงออกให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนปฏิบัติด้วยกัน
และไม่มีการพูดจาหารืออะไรก็ทื่อๆ ไปอย่างนั้น
จะมีการรู้แจ้งอะไรเสร็จแล้วก็ไปแบบนั้น

การพูดก็เพื่อจะเป็นการคุ้ยเขี่ยเหมือนที่เขาจุดไต้
ไต้ที่เขาจุดแล้วนานๆ มันชักมอดไป
เพราะขี้เถ้าเกรอะกรังขึ้นมา
ก็ต้องเขี่ยมัน
เขี่ยมันทีมันก็ลุกโพลงขึ้นมาได้
จิตใจก็ชอบให้เขี่ยเหมือนกัน
แต่ต้องคุ้ยเขี่ยให้ถูกวิธี
ถ้าคุ้ยเขี่ยผิดๆ ถูกๆ ก็ไม่โพลงขึ้นมาได้
ไม่แจ้ง ไม่รู้
ถ้าถูกวิธีขึ้นมา เนื่องจากหลักความรู้ก็อยู่กับจิตแล้ว พอถูกผัสสะอะไรที่เป็นการตรงเข้าหาตัวมัน มันก็แจ้งขึ้นมาในตัวของมันเองเสร็จ

การรับฟังอย่างนี้ ก็เป็นของเฉพาะคนๆ ไป
อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้
แต่ถึงอย่างไรก็ดี
ถ้าหลักของจิตมีสติปัญญาเป็นเครื่องควบคุมอยู่ตลอดเวลาแล้ว
ทำอย่างไรเสียก็ต้องได้รู้แยบคาย
และบางทีก็แจ้งอยู่ในขณะนั้นได้ไม่ลำบาก

บางทีเราไปทำความเพียรความสงบ
มันไปตื้อไปตันไปวางเฉยเสียในขั้นนั้นขั้นนี้
หรือว่าสงบมากเกินไป
ก็ไม่รู้อะไรเป็นอะไรอีกเหมือนกัน

ทีนี้จะรู้ออกมา
ประเดี๋ยวมันปรุงเป็นฟุ้งซ่านไปอีกแล้ว
กลายเป็นปัญญามากเกินไป
ไม่สมดุลกับสมาธิ
สมาธิจัดเกินไปก็ทื่อ
ไม่รู้อะไรเหมือนกัน
มันสงบเฉยอยู่ได้ หรือบางทีมีนิมิตอะไรก็ไปเพลิดเพลิน
ได้แต่รู้ออก

การทำข้อปฏิบัติในเรื่องจิต
เวลาที่ทำความสงบอย่าเอาตาเพ่ง
ถ้าเอาตาเพ่งมันจะรู้ออก
ถ้าจะเป็นความรู้ของจิต
ก็ต้องเอาจิตรู้จิต
ไม่ใช่เอาตาเข้าไปเพ่ง
ขืนไปเพ่งแล้วก็พาออกนอก

เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้ถูกแต่ต้นๆ
ที่เขาทำสมาธิกัน
ไปเที่ยวกันไกลๆ ไปรู้อะไร เห็นอะไรมา
เอามาเป็นดีไป
ที่ไปเห็นดีๆ ก็เอามายึดถือในนิมิตนั้น
เพราะเรื่องไม่รู้ในสังขารทุกประเภท
จึงทำให้ไปยึดถืออะไรต่ออะไรมาก
ถ้ารู้ล่วงหน้าไปอย่างนี้ก่อนก็ดี
เมื่อไปรู้อะไรขึ้นมา
จะได้ไม่ไปยึดมั่นถือมั่น
รู้จักปล่อยวางเรื่อยไปก็ไม่ผิด

ความรู้อะไรที่เป็นการทรงตัวได้
ก็ควรจะพยายามเหมือนกัน
ถ้าไม่พยายามอย่างนี้
จิตมันชอบท่องเที่ยว
และเป็นการฟุ้งซ่านจนบังคับไม่อยู่

บางทีตามแบบท่าน ก็มีการพูดเปรียบเทียบถึงลักษณะของจิต
เปรียบเหมือนเขาพรากเอาลูกโคจากแม่
ก็เหมือนพรากจิตออกจากบ้านเรือน
จากอารมณ์ต่างๆ นานาที่เคยลุ่มหลง เพลิดเพลิน เอร็ดอร่อย
เอามาผูก
เหมือนเขาพรากลูกโคจากแม่เอามาผูกกับหลัก
เขาต้องการจะฝึกเพื่อใช้งาน
ในวันสองวันแรกมันร้องหาแม่ของมันแทบตาย
เพราะอยู่กับแม่มันเคยเพลิดเพลินดี
พอมาอยู่ตัวเดียวมันชักจะว่าเหว่

แล้วลองพิจารณาดูจิตใจของเรา
ที่ออกจากบ้านเรือนหรือโลกียารมณ์ทั้งหลาย
ซึ่งเปรียบเหมือนแม่โค
ที่จะออกมาได้นี้
จิตมันเหงาหงอยไหม
ว้าเหว่ไหม ที่ออกมาไกลลูกหลานบ้านเรือน
มันว้าเหว่ไหม
ถ้ามันจะมาว้าเหว่อยู่สักสองสามวัน
ก็ช่างมันเถอะ
จับเอามันผูกกับหลัก คือสติไว้ก่อน

ทีนี้มันจะร้องหาแม่ของมัน สักสองสามาวันมันคงลดลง
พอมันจะไป
ก็มารู้จิตไว้
พอจะไปก็มารู้จิตไว้แบบนี้ เรียกว่าจับเอาลูกโค คือจิตผูกกับหลัก
แล้วก็ลงมือฝึก
เช่น ทำกรรมฐานหรือเจริญวิปัสสนา
เป็นเครื่องฝึกลูกโคคือจิต
แล้วดูว่ามันค่อยๆ อยู่ในอำนาจของสติปัญญาหรือยัง

ในขั้นต้น ต้องมีสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องฝึกก่อน

เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เป็นประจำ
หลักนี้ต้องทำก่อน ต้องรู้ก่อน
จนกระทั่งมีการสังวรอินทรีย์เป็นเครื่องปิดกั้น
ไม่ให้หลงใหลเพลิดเพลินไป

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็ต้องสังเกตเอาเอง
และพิจารณาเอาเอง
ถ้าพิจารณาเองได้
ความชัดใจในลักษณะไหน ก็จะได้ประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง

ขอให้ผู้ปฏิบัติตั้งหน้าพยายามพินิจพิจารณากันให้เป็นการรู้จริง
ให้ได้ความจริงที่เป็นเครื่องชัดใจให้จงได้เถิด

  ขอบคุณที่มา  http://board.palungjit.com

119
ธรรมะ / - เทคนิคมองโลกในแง่ดี -
« เมื่อ: 15 ก.ย. 2553, 09:34:03 »
                                                                 - เทคนิคมองโลกในแง่ดี -

  คนไทยสมัยนี้เครียดกันง่ายจัง วันๆ หนึ่งต้องพบกับความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ กังวลใจ กันหลายๆ ครั้ง ไม่เหมือนกับคนไทยสมัยโบราณที่กว่าจะเกิดความเครียดขึ้นมาได้ โน่น..ต้องมีเสือบุกเข้ามากินวัว โจรบุกเข้ามาปล้น ถึงจะเกิดความเครียดกันทีหนึ่ง เรียกว่าวันๆ หนึ่งแทบจะไม่รู้จักความเครียดกันเลย ใบหน้าคนไทยสมัยก่อนจึงมีแต่รอยยิ้ม พวกฝรั่งซึ่งเป็นคนมาจากวัฒนธรรมอื่นมาเห็นเข้าพากันแปลกใจว่าทำไมคนไทยอารมณ์ดีกันจัง ก็เลยตั้งชื่อว่าให้ว่า "สยามเมืองยิ้ม"

นอกจากนี้คนไทยยังมีวิธีคิดที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ให้รู้จักคิดปล่อยวาง คิดให้สบายใจ ในยามที่ต้องพบกับปัญหาหนักๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัจจุบันนี้ยังเหลือร่องรอยวิธีคิดเหล่านี้อยู่ในนิสัยคนไทยทั่วๆ ไปบ้าง แต่บางคนก็ลืมไปแล้ว หรือคนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จัก วันนี้เครือข่ายฯจึงขอนำวิธีคิดเหล่านี้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้มีความเป็นพุทธ และ ให้มีความทันสมัย เหมาะกับคนยุคปัจจุบันมากขึ้น นำเสนอเป็นเทคนิควิธีคิดมองโลกในแง่ดีสำหรับคนยุคไอที ดังต่อไปนี้


ยามพบอุปสรรคในการทำงาน

ไม่เป็นไร..เอาใหม่ : คำพูดนี้สำคัญมากครับ เอาไว้ใช้อุทาน เวลาท่านต้องประสบกับปัญหาความล้มเหลวในการทำงานหรือ เจอข้อผิดพลาดอะไรขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน หรือ เวลาเพื่อนร่วมงานทำงานผิดพลาด คำพูดนี้จะเป็นเครื่องปลอบใจและให้กำลังใจได้เป็นอย่างดี คำว่า "ไม่เป็นไร" เป็นคำที่ทำให้จิตใจปล่อยวางจากปัญหา ไม่ถูกบีบคั้นจากปัญหา คำว่า "เอาใหม่" เป็น คำพูดที่ปลุกคุณธรรมข้อ "วิริยะ" แปลว่า เพียรสู้งาน ปลุกใจให้เราคิดสู้ปัญหา ไม่ท้อถอย


ยามพบกับเหตุการณ์ร้ายที่ไม่พึงปรารถนา

โชคดีนะเนี่ย : ไม่ว่าคุณเจอะเจอกับความทุกข์กายทุกข์ใจอะไรในชีวิตประจำวัน ให้คิดเสียว่าสิ่งเลวร้ายที่เราต้องประสบทุกๆ ครั้ง มันไม่ได้ร้ายกาจจนถึงที่สุดแม้สักอย่างเดียว มันเป็นความ"โชคดี"ของเราจริงๆ ที่ไม่เจอหนักกว่านี้

ยกตัวอย่าง

เดินหัวชนเสาหัวปูด อุทานว่า "อูย ! ..โชคดีนะเรา หัวยังไม่แตก"
โดนตัดเงินเดือน พูดกับตัวเองว่า "เขาไม่ไล่เราออก ก็บุญแล้ว ถือว่ายังโชคดีนะเนี่ย"
ทำกาแฟร้อนๆ หกรดขากางเกง พูดกับตัวเองว่า "เหอ..ๆ โชคดี ที่มันไม่หกรดเป้ากางเกงเรา"


ยามมีปัญหากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

เขายังดีนะ : เวลาคุณมีปัญหากับเพื่อนมนุษย์ เช่นเพื่อนร่วมงาน คนข้างบ้าน ฯลฯ เช่น บางคนอาจจะทำงานไม่ถูกใจ บางคนอาจจะทำอะไรผิดใจคุณ หรือ บางคนอาจจะมีเจตนาไม่ดีกับคุณ ให้คิดเช่นเดียวกันว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมันก็ยัง ไม่ได้ร้ายกาจถึงที่สุดกับคุณแต่อย่างใด มันยังมีแง่ดีๆ ให้เราคิดถึงเขาอยู่เสมอ

ยกตัวอย่าง

คนข้างบ้านนินทาเรา เราก็บอกกับตัวเองว่า โอ้... นี่เขายังดีนะที่ไม่ถึงกับมาดักทำร้ายเรา
มีคนมาขโมยปากกาที่โต๊ะทำงานเราไป เราก็คิดว่า เจ้าขโมยนี่ยังดี ที่ไม่ยกเครื่องคอมพ์เราไป
สาวหักอก เราก็คิดว่า เธอยังดีนะเนี่ย ที่ไม่ควงคู่แข่งมาเย้ยเราให้เจ็บใจหนักไปกว่านี้
เพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ เราก็คิดว่า เขาก็ยังดีที่ไม่ใส่ร้ายป้ายสีเราข้างหลัง


เทคนิคคิดเมื่อเจอปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

เอ๊ะ...! ตรงนี้เราได้อะไร : เป็นการตั้งคำถามเพื่อให้จิตตั้งแง่คิดเพื่อมุ่งหาความรู้ทันทีที่ได้พบกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น นาย ก. เดินตกท่อ ขาแข้งถลอก นาย ก. ทั้งๆ ที่เจ็บปวด กลับตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่า เราเดินตกท่อตรงนี้ เราได้อะไร ! เท่านั้นเองคำตอบต่างๆ ก็พรั่งพรูออกมามากมาย อาทิเช่น

ก. เราได้ดูแลรักษาตัวเองอีกแล้วดีจัง ไม่ได้ดูแลตัวเองมานาน
ข. เราได้บทเรียนซาบซึ้งกับคำว่า "อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง"
(เคยเดินมาดีๆ ทุกวัน วันนี้ใครกันดันมาเปิดฝาท่อ)

ค. มันทำให้เราได้ไอเดียเกี่ยวการทาแถบสีสะท้อนแสงตรงขอบท่อ เพื่อคนจะได้สังเกตเห็นได้แต่ไกลๆ

วิธีคิดเช่นนี้จะทำให้เรารู้สึกเลยว่า ชีวิตนี้มีแต่ได้ ไม่มีเสีย คือ แม้ว่าเราจะพบกับสิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนาก็ตาม แต่ถ้าหากว่าเรารู้จักตั้งคำถามเช่นนี้เป็นนิสัย เราก็จะได้สิ่งที่ดีๆ มากมายจนบางครั้งเราอาจจะต้องนึกขอบคุณที่ได้เจอกับปัญหาบ่อยๆ เลยทีเดียว

ขอบคุณที่มา  http://www.dhammajak.net/

120
ความสุขที่ถูกมองข้าม
(พระไพศาล วิสาโล)

คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ที่เชื่อว่า ยิ่งมีเงินทองมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น ความเชื่อดังกล่าวดูเผิน ๆ ก็น่าจะถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ประเทศไทยน่าจะมีคนป่วยด้วยโรคจิตน้อยลง มิใช่เพิ่มมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่รายได้ของคนไทยสูงขึ้นทุกปี ในทำนองเดียวกันผู้จัดการก็น่าจะมีความสุขมากกว่าพนักงานระดับล ่าง ๆ เนื่องจากมีเงินเดือนมากกว่า แต่ความจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

ไม่นานมานี้มหาเศรษฐีคนหนึ่งของไทยได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว ่า เขารู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิต เขาพูดถึงตัวเองว่า "ชีวิต(ของผม)เริ่มหมดค่าทางธุรกิจ" ลึกลงไปกว่านั้นเขายังรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความหมาย เขาเคยพูดว่า "ผมจะมีความหมายอะไร ก็เป็นแค่....มหาเศรษฐีหมื่นล้านคนหนึ่ง" เมื่อเงินหมื่นล้านไม่ทำให้มีความสุข เขาจึงอยู่เฉยไม่ได้ ในที่สุดวิ่งเต้นจนได้เป็นรัฐมนตรี ขณะที่เศรษฐีหมื่นล้านคนอื่น ๆ ยังคงมุ่งหน้าหาเงินต่อไป ด้วยความหวังว่าถ้าเป็นเศรษฐีแสนล้านจะมีความสุขมากกว่านี้ คำถามก็คือ เขาจะมีความสุขเพิ่มขึ้นจริงหรือ ?

คำถามข้างต้นคงมีประโยชน์ไม่มากนักสำหรับคนทั่วไป เพราะชาตินี้คงไม่มีวาสนาแม้แต่จะเป็นเศรษฐีร้อยล้านด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยก็คงตอบคำถามที่อยู่ในใจของคนจำนวนไม่น้อยได้บ้างว ่า ทำไมอัครมหาเศรษฐีทั้งหลาย รวมทั้งบิล เกตส์ จึงไม่หยุดหาเงินเสียที ทั้ง ๆ ที่มีสมบัติมหาศาล ขนาดนั่งกินนอนกินไป ๗ ชาติก็ยังไม่หมด

แต่ถ้าเราอยากจะค้นพบคำตอบให้มากกว่านี้ ก็น่าจะย้อนถามตัวเองด้วยว่า ทำไมถึงไม่หยุดซื้อแผ่นซีดีเสียทีทั้ง ๆ ที่มีอยู่แล้วนับหมื่นแผ่น ทำไมถึงไม่หยุดซื้อเสื้อผ้าเสียทีทั้ง ๆ ที่มีอยู่แล้วเกือบพันตัว ทำไมถึงไม่หยุดซื้อรองเท้าเสียทีทั้ง ๆ ที่มีอยู่แล้วนับร้อยคู่
แผ่นซีดีที่มีอยู่มากมายนั้น บางคนฟังทั้งชาติก็ยังไม่หมด ในทำนองเดียวกัน เสื้อผ้า หรือรองเท้า ที่มีอยู่มากมายนั้น บางคนก็เอามาใส่ไม่ครบทุกตัวหรือทุกคู่ด้วยซ้ำ มีหลายตัวหลายคู่ที่ซื้อมาโดยไม่ได้ใช้เลย แต่ทำไมเราถึงยังอยากจะได้อีกไม่หยุดหย่อน

ใช่หรือไม่ว่า สิ่งที่เรามีอยู่แล้วในมือนั้นไม่ทำให้เรามีความสุขได้มากกว่าส ิ่งที่ได้มาใหม่ มีเสื้อผ้าอยู่แล้วนับร้อยก็ไม่ทำให้จิตใจเบ่งบานได้เท่ากับเสื ้อ ๑ ตัวที่ได้มาใหม่ มีซีดีอยู่แล้วนับพันก็ไม่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นได้เท่ากับซีดี ๑ แผ่นที่ได้มาใหม่ ในทำนองเดียวกันมีเงินนับร้อยล้านในธนาคารก็ไม่ทำให้รู้สึกปลาบ ปลื้มใจเท่ากับเมื่อได้มาใหม่อีก ๑ ล้าน

พูดอีกอย่างก็คือ คนเรานั้นมักมีความสุขจากการได้ มากกว่าความสุขจากการ มี มีเท่าไรก็ยังอยากจะได้มาใหม่ เพราะเรามักคิดว่าของใหม่จะให้ความสุขแก่เราได้มากกว่าสิ่งที่ม ีอยู่เดิม

บ่อยครั้งของที่ได้มาใหม่นั้นก็เหมือนกับของเดิมไม่ผิดเพี้ยน แต่เพียงเพราะว่ามันเป็นของใหม่ ก็ทำให้เราดีใจแล้วที่ได้มา
จะว่าไปนี่อาจเป็นสัญชาตญาณที่มีอยู่กับสัตว์หลายชนิดไม่เฉพาะแ ต่มนุษย์เท่านั้น ถ้าโยนน่องไก่ให้หมา หมาก็จะวิ่งไปคาบ แต่ถ้าโยนน่องไก่ชิ้นใหม่ไปให้ มันจะรีบคายของเก่าและคาบชิ้นใหม่แทน ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองชิ้นก็มีขนาดเท่ากัน ไม่ว่าหมาตัวไหนก็ตาม ของเก่าที่มีอยู่ในปากไม่น่าสนใจเท่ากับของใหม่ที่ได้มา

ถ้าหากว่าของใหม่ให้ความสุขได้มากกว่าของเก่าจริง ๆ เรื่องก็น่าจะจบลงด้วยดี แต่ปัญหาก็คือของใหม่นั้นไม่นานก็กลายเป็นของเก่า และความสุขที่ได้มานั้นในที่สุดก็จางหายไป ผลก็คือกลับมารู้สึก "เฉย ๆ" เหมือนเดิม และดังนั้นจึงต้องไล่ล่าหาของใหม่มาอีก เพื่อหวังจะให้มีความสุขมากกว่าเดิม แต่แล้วก็วกกลับมาสู่จุดเดิม เป็นเช่นนี้ไม่รู้จบ น่าคิดว่าชีวิตเช่นนี้จะมีความสุขจริงหรือ ?


เพราะไล่ล่าแต่ละครั้งก็ต้องเหนื่อย ไหนจะต้องขวนขวายหาเงินหาทอง ไหนจะต้องแข่งกับผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ ครั้นได้มาแล้วก็ต้องรักษาเอาไว้ให้ได้ ไม่ให้ใครมาแย่งไป แถมยังต้องเปลืองสมองหาเรื่องใช้มันเพื่อให้รู้สึกคุ้มค่า ยิ่งมีมากชิ้นก็ยิ่งต้องเสียเวลาในการเลือกว่าจะใช้อันไหนก่อน ทำนองเดียวกับคนที่มีเงินมาก ๆ ก็ต้องยุ่งยากกับการตัดสินใจว่าจะไปเที่ยวลอนดอน นิวยอร์ค เวกัส โตเกียว มาเก๊า หรือซิดนีย์ดี

ถ้าเราเพียงแต่รู้จักแสวงหาความสุขจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ชีวิตจะยุ่งยากน้อยลงและโปร่งเบามากขึ้น อันที่จริงความพอใจในสิ่งที่เรามีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่เป็นปัญหาก็เพราะเราชอบมองออกไปนอกตัว และเอาสิ่งใหม่มาเทียบกับของที่เรามีอยู่ หาไม่ก็เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เมื่อเห็นเขามีของใหม่ ก็อยากมีบ้าง คงไม่มีอะไรที่จะทำให้เราทุกข์ได้บ่อยครั้งเท่ากับการชอบเปรียบ เทียบตัวเองกับคนอื่น การเปรียบเทียบจึงเป็นหนทางลัดไปสู่ความทุกข์ที่ใคร ๆ ก็นิยมใช้กัน

นิสัยชอบเปรียบเทียบกับคนอื่น ทำให้เราไม่เคยมีความพอใจในสิ่งที่ตนมีเสียที แม้จะมีหน้าตาดี ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่สวย เพราะไปเปรียบเทียบตัวเองกับดาราหรือพรีเซนเตอร์ในหนังโฆษณา

การมองแบบนี้ทำให้ "ขาดทุน" สองสถาน คือนอกจากจะไม่มีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ยังเป็นทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งที่อยาก พูดอีกอย่างคือไม่มีความสุขกับปัจจุบัน แถมยังเป็นทุกข์เพราะอนาคตที่พึงปรารถนายังมาไม่ถึง ไม่มีอะไรที่เป็นอุทธาหรณ์สอนใจได้ดีเท่ากับนิทานอีสปเรื่องหมา คาบเนื้อ คงจำได้ว่า มีหมาตัวหนึ่งได้เนื้อชิ้นใหญ่มา ขณะที่กำลังเดินข้ามสะพาน มันมองลงมาที่ลำธาร เห็นเงาของหมาตัวหนึ่ง (ซึ่งก็คือตัวมันเอง) กำลังคาบเนื้อชิ้นใหญ่ เนื้อชิ้นนั้นดูใหญ่กว่าชิ้นที่มันกำลังคาบเสียอีก ด้วยความโลภ (และหลง) มันจึงคายเนื้อที่คาบอยู่ เพื่อจะไปคาบชิ้นเนื้อที่เห็นในน้ำ ผลก็คือเมื่อเนื้อตกน้ำ ชิ้นเนื้อในน้ำก็หายไป มันจึงสูญทั้งเนื้อที่คาบอยู่และเนื้อที่เห็นในน้ำ

บ่อเกิดแห่งความสุขมีอยู่กับเราทุกคนในขณะนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เรามองข้ามไปหรือไม่รู้จักใช้เท่านั้น เมื่อใดที่เรามีความทุกข์ แทนที่จะมองหาสิ่งนอกตัว ลองพิจารณาสิ่งที่เรามีอยู่และเป็นอยู่ ไม่ว่า มิตรภาพ ครอบครัว สุขภาพ ทรัพย์สิน รวมทั้งจิตใจของเรา ล้วนสามารถบันดาลความสุขให้แก่เราได้ทั้งนั้น ขอเพียงแต่เรารู้จักชื่นชม รู้จักมอง และจัดการอย่างถูกต้องเท่านั้น

แทนที่จะแสวงหาแต่ความสุขจากการได้ ลองหันมาแสวงหาความสุขจากการ มี หรือจากสิ่งที่ มี ขั้นต่อไปคือการแสวงหาความสุขจากการ ให้ กล่าวคือยิ่งให้ความสุข ก็ยิ่งได้รับความสุข สุขเพราะเห็นน้ำตาของผู้อื่นเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม และสุขเพราะภาคภูมิใจที่ได้ทำความดีและทำให้ชีวิตมีความหมาย จากจุดนั้นแหละก็ไม่ยากที่เราจะค้นพบความสุขจากการ ไม่มี นั่นคือสุขจากการปล่อยวาง ไม่ยึดถือในสิ่งที่มี และเพราะเหตุนั้น แม้ไม่มีหรือสูญเสียไป ก็ยังเป็นสุขอยู่ได้
เกิดมาทั้งที น่าจะมีโอกาสได้สัมผัสกับความสุขจากการ ให้ และ การ ไม่มี เพราะนั่นคือสุขที่สงบเย็นและยั่งยืนอย่างแท้จริง

ขอบคุณที่มา  http://www.dhammajak.net

121
ธรรมะ / ขันติ ความข่มใจ
« เมื่อ: 15 ก.ย. 2553, 07:33:26 »
                                                    ขันติ ความข่มใจ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

 
พลังการให้คะแนน: 1960
 ขันติ ความข่มใจ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

--------------------------------------------------------------------------------



ผู้มีขันติคือผู้ที่ แม้มี ความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ในใจมากมายเพียงใดก็ตาม เมื่อมีขันติ ไม่แสดง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ออกมาอย่างรุนแรง โดยไม่คำนึงถึงความถูกความผิด ความหนักความเบา

ขันติเป็นความมีใจอดทน อดกลั้น หรือจะกล่าวว่า ทนเก็บความรู้สึกไม่ ว่าโลภ ไม่ว่าโกรธ ไม่ว่าหลง ที่เกิดขึ้นรุนแรงเพียงใดก็ตาม ให้อยู่แต่ภายในใจตน ไม่ให้พ้นใจออกปรากฏเป็นการ ติเตียน ทะเลาะวิวาท ฆ่าฟันกันถึงเป็นถึงตายอันเป็นบาปกรรมทั้งหลาย เป็นไปตามพระศาสนสุภาษิตในพระพุทธศาสนาจริงที่ว่า “ขันติตัดรากแห่งมารได้”

ผู้ที่ไม่ได้แสดงความมีขันติให้กลายเป็นความไม่มีขันติ หรือ ขันติแตก อาจไม่ใช่ผู้มีขันติจริง เมื่อเกิดอะไรขึ้นที่น่าจะก่อให้เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ผู้มีขันติอดทนอดกลั้นจริงไม่ต้องใช้กำลังใจมากมาย เป็นไปง่ายๆ สบายๆ แต่ก็เป็นขันติ

จึงน่าจะแบ่งขั้นได้ว่าเป็นชั้นสูงเหนือขันติธรรมดาทั่วไป ผู้มุ่งมีขันติทั้งหลายอาจต้องข่มใจมาก ถ้าข่มได้สำเร็จ ขันติก็จะเป็นขันติ ไม่เป็นขันแตกให้น่ากลัว

ขันติจะเข้าสู่ระดับไม่ต้องข่มใจหนักหนาได้ ต้องอยู่ที่การพยายามฝึกเสมอ เมื่อ กระทบอารมณ์ใดก็ให้ระวังใจให้ดีที่สุด คือนึกให้เกิดมงคลสูงสุดแก่ชีวิต ว่าเราจะบูชาสมเด็จพระบรมศาสดาด้วยบูชาอันยิ่ง คือด้วยการมีขันติ

ดังในพระศาสนสุภาษิตในพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่า “ผู้มีขันติชื่อว่าทำตามคำทรงสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา” นี้เป็นคำทรงสอนท่ให้คุณแก่ชีวิตสัตว์โลกเป็นอย่างยิ่ง

: แสงส่องใจ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ที่มา::
 

122
บทความ บทกวี / ค ว า ม ผู ก พ ัน
« เมื่อ: 15 ก.ย. 2553, 09:06:20 »
ค ว า ม ผู ก พ ัน

โดย รศ.พญ.จิรพรรณ มัธยมจันทร์
***************

ความผูกพัน หมายถึง การเกาะเกี่ยวกันทางใจด้วยความรักหรือความโกรธเกลียด หรือความหลง ทำให้ปล่อยวางหรือลืมเรืองนั้นเสียไม่ได้ สิ่งนั้นก็จะเกาะติดอยู่ในใจติดตามตัวไปทุกแห่งทุกหน ทำให้หาความผาสุก ความเป็นอิสระไม่ได้ เหมือนขาที่ถูกคล้องไว้ด้วยโซ่ตรวน ย่อมจะหนักและเดินลำบาก การมีความผูกพันกับสิ่งใด คนใด เรื่องใด ก็ไม่ต่างกับการมีโซ่ตรวนล่ามขาอยู่ฉะนั้น การผูกพันกันด้วยความรัก ใช่ว่าจะทำให้เกิดความสุขเสมอไป เมือมีความรักก็ย่อมมีความห่วงใยเป็นธรรมดา อยากให้คนที่ตนรักเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความอยากของคนเราใช่ว่าจะได้ดังที่อยากเสมอไปก็หาไม่ บางครั้งก็ไม่สมอยาก พระพุทธองค์จึงได้ทรงตรัสสอนว่า "ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง แปลว่า ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์" ผูกพันด้วยความโกรธ ความเกลียด โดยไม่ละ ไม่วาง ยังผูกใจเจ็บแค้นกันอยู่ตลอดเวลา ก็เหมือน เอาโซ่ตรวนล่ามกันไว้เช่นกัน การที่จะอธิษฐานจิตว่า "เกิดชาติใดขออย่าให้ได้พบได้เจอคนอย่างนี้อีกเลย" ก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะใจเราผูกพันกับเขาด้วยความโกรธ ความเกลียด ความชิงชังอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยแกะโซ่ตรวนที่ล่ามติดกับเขาไว้ แล้วจะพ้นจากคนที่เราไม่ชอบได้อย่างไร ตราบใดที่ยังไม่แกะโซ่ตรวนออกก็ต้องตามผจญกรรมกันไปทุกภพทุกชาติ ไม่ว่าจะอธิษฐานอย่างไร ถ้าไม่ชอบใคร ไม่อยากเจอใคร ต้องทำใจไม่ให้นึกถึงคนนั้น เรื่องเกี่ยวกับคนนั้น หรือถ้านึกถึงก็ให้น้อยที่สุด ยิ่งอโหสิกรรมหรือให้อภัยกันเสีย ก็จะมีโอกาสหนีพ้นจากกัน เปรียบเหมือนแกะโซ่ตรวนออกแล้ว ก็ย่อมเป็นอิสระ ไม่ต้องไปเผชิญเวรเผชิญกรรมกันอีกทุกภพทุกชาติ ยิ่งทำดี มีเมตตากรุณากับผู้ที่เราไม่ชอบ ผลแห่กรรมดีที่เรากระทำยิ่งสูงกว่าคนที่เราไม่ชอบเท่าใด ภพ ภูมิก็จะต่างกันเท่านั้น ยิ่งเกลียด ยิ่งไม่อยากเห็นหน้ากัน ก็อย่าฝังใจอยู่ทุกวี่วัน ยิ่งจะดึงเขาเข้ามาหาเรามากขึ้นเท่านั้น จึงต้องตามผจญกันไปทุกชาติ อยากให้พ้นจากใคร ก็จงให้อภัยทาน จะได้หมดเวรหมดกรรมกัน

การผูกพันด้วยความหลง เป็นเรื่องหนักกว่าเพื่อน เพราะผู้ที่มีความหลงก็คือ เห็นสิ่งที่ผิดเป็นถูก เห็นสิ่งที่ไม่งามเป็นสิ่งที่งาม ฯลฯ ที่โบราณเรียกว่า "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว" คือเห็นสิ่งที่เป็นอันตราย (กงจักรเป็นอาวุธที่อันตราย) ว่าเป็นของที่น่ารัก น่าบูชา แม้ใครจะบอก ใครจะเตือน ก็ไม่สามารถจะเอาชนะความงมงายหรือความหลงได้ ผู้ที่มีความผูกพันด้วยความหลง จึงจัดเป็นผู้ที่น่าสงสารที่สุด จะอยู่ในสภาพที่เรียกว่า "มดไต่ขอบกระด้ง" หาทางออกไม่ได้ ก็วนเวียนอยู่อย่างนั้นไม่รู้จบ ชีวิตที่มีความผูกพันกับสิ่งใดมากเกินไป ไม่เคยให้ความสุขแก่ผู้ใดเลย รักมากก็ห่วงมาก กลุ้มมาก เกลียดมากก็ร้อนใจมาก จะเห็นว่าล้วนเป็นบ่อเกิดแหงทุกข์ทั้งสิ้น

การเดินสายกลาง อย่าไปผูกพันยึดติดกับสิ่งใด และรู้จักปล่อยวาง จะเป็นหนทางดับทุกข์ได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าเราเลี้ยงสุนัข เรารักเขามาก ผูกพันกับเขาเหลือเกิน แต่อายุขัยของสุนัขน้อยกว่าคนมาก จึงมักตายก่อน เจ้าของผู้มีความผูกพันกับสุนัขตัวนั้น ก็จะเศร้าสร้อยไปพักหนึ่งทีเดียว ความรักความปรานีเราจะให้แก่ใครก็ได้ และเป็นสิ่งที่ควรให้ แต่การผูกพัน การยึดติดนั้นเป็นเรื่องอันตราย เป็นเหตุแห่งทุกข์ ไม่อยากมีทุกข์ ก็อย่ายึดติด หรือผูกพันกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด รู้จักปล่อยวาง รู้จักหาอิสรภาพให้แก่ตนเอง จะเป็นสุขในที่สุด...


  ขอบคุณที่มา http://www.dhammajak.net

123
ทุกข์ที่สุด จะหลุดได้อย่างไร


อย่ากลัวว่าความทุกข์นั้น จะมีตลอดไป... อย่าคิดว่าไม่มีทางแก้ไข... หนทางที่เร็วที่สุดคือ เปลี่ยนอารมณ์... ท่านใดมีทุกข์ ขอให้มันผ่านไปโดยไวครับ.....

เมื่อเราเกิดมาย่อมได้รับ ทั้งสุขและทุกข์ ปะปนกันไปอยู่แล้ว แต่เมื่อทุกข์ที่สุดเราควรจะทำอย่างไร ปัจจุบันเราได้ยินข่าวเรื่อง การฆ่าตัวตายบ่อยมาก ในชีวิตของความเป็นหมอ ก็เจอคนที่ฆ่าตัวตายบ่อยมาก ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ หมอได้พูดได้คุยกับคนเหล่านี้มากมาย คำถามที่น่ารู้ก็คือ...

การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ควรกระทำหรือไม่ และเราควรจะทำอย่างไรดี

บทความนี้จะไม่สนใจว่าการกระทำอย่างนั้นจะมีผลในอนาคตอย่างไร ทำลายตนเองจะบาปมากแค่ไหน ต้องเกิดมาฆ่าตัวตายใช้กรรมอีก 500 ชาติจริงหรือ เพราะถ้าบอกไป ต้องใช้ความเชื่อและศรัทธาในตัวศาสนามาพูดคุยกัน แต่ต้องการจะบอกว่า การทำลายตนเอง เป็นสิ่งที่น่าเสียดายนัก เสียดายโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดีอีกมากที่จะตามมา และเสียดายแทนญาติมิตรที่เกี่ยวข้องที่จะต้องได้รับผลกระทบกายและใจตลอดไป

ในเรื่องความทุกข์ที่สุดนี้ ธรรมะในพระพุทธศาสนาสอนให้เราแก้เรื่องนี้ได้ทันที ด้วยความเข้าใจ ด้วยความรู้ที่เราไตร่ตรองเองได้ และด้วยประสบการณ์ในอดีตของเราทุกคน ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อด้วยเหตุ 10 อย่าง เช่นด้วยเหตุผลว่าผู้สอนเป็นครูของเรา และอื่นๆ รวมสิบประการ แต่จะให้เชื่อก็ต่อเมื่อไตร่ตรองรู้ได้ด้วยตนเองจึงเชื่อ การจะไตร่ตรองให้รู้ได้ด้วยตนเอง จะมีได้ก็ต่อเมื่อเรามีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมาแล้ว ดังนั้นประสบการณ์ในอดีตจึงเป็นธรรมะที่เราตรึกตรองได้เช่นกัน

เมื่อความทุกข์ที่สุดมาถึง สิ่งที่ควรระลึกถึงมีสองสามอย่างคือ หนึ่ง อย่ากลัวว่าความทุกข์นั้นจะมีตลอดไป เพราะมันจะไม่คงอยู่ตลอดไป เดี๋ยวมันก็จางไป สอง อย่าคิดว่าไม่มีทางแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เพราะจะมีทางแก้ไขเสมอ เพียงแต่ตอนนี้ยังนึกไม่ออกเท่านั้น สาม อย่านึกว่าต่อไปนี้เราจะไม่ได้รับสิ่งดีๆ อีก เพราะเมื่อทุกข์ผ่านไป เราจะยังมีความสุข สนุกสนาน ได้อย่างเดิมแน่นอน และสุดท้ายคือ ให้นึกถึงคนข้างหลัง ที่เขาจะต้องเศร้า ได้รับการกระทบกระเทือน จากการกระทำด้วยอารมณ์ของเรา เมื่อทุกข์ที่สุดมาถึงสิ่งที่เราต้องทำทันที ในขณะที่ยังตั้งตัวปรับใจไม่ทันก็คือ รีบหาทางเปลี่ยนอารมณ์ เมื่อเราไปเจอคนอื่นทุกข์สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือช่วยเปลี่ยนอารมณ์เขาก่อน จากนั้นสติจึงจะตามมา

ความทุกข์ที่มากสุดจะแก้ได้เร็วและง่ายที่สุด ด้วยการเปลี่ยนอารมณ์ ดึงอารมณ์ออกจากสถานการณ์นั้นก่อน อาจง่ายๆ เพียงแค่ทำอะไรที่ชอบ ฟังเพลง ดูหนัง หาของอร่อยกิน ชวนเพื่อนไปเที่ยว ชวนคุยเรื่องอื่น ลืมเรื่องทุกข์ไปชั่วคราวก่อน บางทีก็เบาบางได้เอง ที่สำคัญถ้ามีเพื่อนดี จะเบาบางไปได้มากที่สุด ที่ไม่ควรทำคือดื่มสุรา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ควรหันไปดื่มเหล้าเบียร์ เพราะการกินเหล้าก็ดับทุกข์ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่จะมีข้อเสียกว่าคือ จะยิ่งโกรธง่าย น้อยใจง่ายและโมโหง่ายกว่าเดิม และไม่มีสติยับยั้งความโกรธ หรืออารมณ์ที่รุนแรงเหล่านั้น เมื่อเปลี่ยนอารมณ์ได้ ใจจะเข็มแข็งมากพอที่จะแก้ในขั้นต่อไป

ขั้นต่อไปคือพยายามตั้งใจใช้สติคิดว่าจะแก้ได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล สายไปแค่ไหนแล้วและแก้ได้หรือไม่ ทำให้ดีขึ้นได้หรือไม่ ถ้าแก้ไม่ได้ ขั้นสุดท้ายคือ ทำให้ใจของเรายอมรับสิ่งนั้นให้ ได้ ใจของเราจะยอมรับได้ คิดได้ ปลงตกได้ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ

ท่านพุทธทาสภิกขุ สอนว่า โดยสรุปรวมในธรรมะของพระพุทธเจ้า อาจสรุปเป็นแบบหนึ่งได้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นั่นเป็นเพราะในความเป็นจริง สิ่งทั้งหลายย่อมไม่ได้ดั่งใจเรา มีความไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลาด้วยเหตุและปัจจัย จึงไม่สมควรที่จะไปหลงยึดมั่นหมายว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา หรือเป็นของของเรา สิ่งทั้งหลายไม่ได้ดั่งใจทั้งนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นใคร รวยเพียงใด อำนาจล้นฟ้าขนาดไหน ต่างก็มีความทุกข์ประจำตัวประจำอยู่ทุกคนทั้งสิ้น

เมื่อคนคนหนึ่งประสพอุบัติเหตุขาขาดสองข้าง เขาจะรู้สึกอยากตายไม่อยากอยู่ จะรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว แต่ผ่านไปสักสองปี ไปดูอีกทีกำลังหัวเราะอยู่เพราะดูละคร ส่วนเรื่องขาขาดก็นั่งรถเข็นเอา และก็ชินเสียแล้ว ไม่เสียใจมากเหมือนตอนขาขาดใหม่ๆ บางคนแฟนตายไปเสียใจแทบตายตาม ผ่านไป 3 ปี มีแฟนใหม่แล้ว มีความสุขดีมากเลย ความทุกข์จึงเป็นของไม่เที่ยงเสมอ เช่นเดียวกับความสุข เพียงแต่ว่าตอนทุกข์ ให้ผ่านวันเวลาไปได้ ไม่ด่วนตายไปเสียก่อน เมื่อทุกข์ผ่านไป จะมีสิ่งดีๆ ตามมาได้แน่นอน

และเมื่อมองย้อนไป ความทุกข์เหล่านั้นมันก็เท่านั้นเอง เมื่อเราอ่านมาถึงตอนนี้ ก็ขอให้ลองใช้เวลานี้ นึกถึงอดีตที่มีทั้งทุกข์และสุขของเราดู อดีตนั่นแหละที่จะสอนตัวเราในความจริงแห่งธรรมะ ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ แต่สอนว่าเมื่อเราพิจารณาได้เอง ว่านี้เป็นสิ่งดีหรือไม่ดีแก่จิตใจจึงค่อยเชื่อ การจะพิจารณาได้อย่างนั้น จะต้องมีประสบการณ์ในความรู้สึก แบบนั้นในอดีตมาก่อน อดีตจึงเป็นธรรมะที่สอนใจได้เป็นอย่างดี

ทุกข์ที่สุดจะเกิดจาก ความยึดมั่นถือมั่นที่สุด สิ่งใดที่เรารักมากยึดมากว่าเป็นตัวเราหรือของเรา สิ่งนั้นถ้าขาดหายไปจะทำให้ทุกข์ถึงที่สุด ถ้าเรารักความสวยงาม เมื่อเสียโฉมจะทุกข์ที่สุด ถ้าเรารักสามีหรือภรรยา เมื่อเขานอกใจ หรือเสียเขาไปจะทุกข์ที่สุด ถ้ารักลูก ลูกหายหรือพิการหรือตายจะทุกข์ที่สุด ถ้ารักยศถาบรรดาศักดิ์เมื่อสูญเสียจะทุกข์ที่สุด ถ้ารักตนเอง เมื่อทราบว่าตนป่วยเป็นมะเร็ง เป็นเอดส์ หรือโรคที่รักษาไม่หายก็จะทุกข์ที่สุด

แต่ถ้าเราไม่มีสิ่งนั้นเลย ก็ไม่มีอะไรจะทุกข์กับสิ่งนั้น ไม่มีลูกก็ไม่ทุกข์กับลูก ไม่มีแฟนก็ไม่มีทุกข์จากแฟน ไม่มีทรัพย์สิน ก็ไม่ทุกข์กับทรัพย์สิน หรือถ้าเรามีแต่ทำใจไว้เสมือนไม่มี หรือทำใจไว้ว่าของที่มีมันไม่เที่ยงย่อมแปรปรวนไป ก็จะทุกข์น้อยลง ยิ่งยึดมั่นได้น้อยลงเท่าไรก็ทุกข์น้อยลงเท่านั้นเป็นสัดส่วนไป เมื่อไม่ยึดมั่นก็ไม่ทุกข์เลย หมายความว่าไม่มีอะไรทำให้ทุกข์ใจได้อีกเลย แต่ความเจ็บปวดยังมีตราบเท่าที่มีสังขารร่างกายอยู่ เพียงแต่ความทุกข์กายอันนั้น จะไม่สามารถมากินใจให้ทุกข์ใจได้เลย

ความทุกข์ที่เกิดขึ้น มักเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนคิดจะทำความดี เพราะธรรมชาติของเราจะหลงลืมและเพลินในสุข ซึ่งความสุขส่วนมากที่เราชอบ มักจะตั้งอยู่บนความไม่เที่ยงทั้งสิ้น พระพุทธองค์เห็นข้อนี้จึงสละทุกสิ่งออกบวชแสวงหาธรรมะ แต่อย่างเราๆ มักจะไม่คิดเรื่องนี้จนกว่าจะทุกข์ เสียก่อน เราจึงพบว่าคนจำนวนมาก ได้ประพฤติธรรมะ ได้ทำสิ่งดีๆ แก่ตนและผู้อื่นเพราะประสพกับความทุกข์มาแล้ว ดังนั้นเมื่อมีทุกข์นั่นคือเราได้อยู่ใกล้ธรรมะแล้ว ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ก็มักจะมีสิ่งดีโอกาสดี และเราเองก็จะดำรงอยู่ในความดีมากขึ้น ความทุกข์และความสุขเป็นของคู่โลกเช่นนี้มาตลอด

เมื่อเราทุกข์หรือพบคนที่ทุกข์ อย่าลืมเปลี่ยนอารมณ์ ตั้งสติหาทางแก้ไข ใช้ความดีเอาชนะสิ่งไม่ดี ทุกข์ย่อมไม่เที่ยง ย่อมผ่านไป เป็นธรรมดา และเราก็มีโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดี ได้ปรับปรุงตนเป็นคนดีเสมอ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน

    ขอบคุฯที่มา   http://www.dhammajak.net

124
บทความ บทกวี / ความพอดี ของชีวิต
« เมื่อ: 14 ก.ย. 2553, 08:35:32 »
                                                        ความพอดี ของชีวิต


คนทุกคนมีความทะเยอทะยานเหมือนกันหมด...
หากต่างกันก็คงเพียงแค่...ใครจะมากใครจะน้อยกว่ากันเท่านั้น...

ความทะเยอทะยานที่ว่าน่าจะหมายถึง...
ความคิดที่อยากจะนำพาชีวิตไปสู่จุดที่สูงที่สุด...ดีที่สุด
ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่

บางครั้งความทะเยอทะยานที่ว่า ก็กลายเป็นกิเลส
ที่ทำให้คนเราอยากได้อยากมี
เมื่อได้แล้ว เมื่อมีแล้ว ก็อยากได้ อยากมีอีก ไม่มีความพอดีในชีวิต

ไม่มีคำว่าดีที่สุด...อะไร ๆ ก็ไม่สมบูรณ์แบบสำหรับชีวิตเสียที...

แทนที่ความทะเยอทะยาน จะช่วยเป็นแรงขับให้ชีวิตเดินทางไปถึงเป้าหมาย..
เป็นยานพาหนะ ที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จของชีวิต...

กลับกลายเป็นหอกที่คอยทิ่มแทง ชีวิตให้ทุกข์ทรมาน
ให้เจ็บปวด ให้ชีวิตต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา...
เพราะความอยากที่คอยจะทะยานอย่างไม่มีที่หยุด

ลองย้อนกลับไปมองต้นทุนของชีวิตคนเรา...

แท้จริงแล้วเราก็ตัวเปล่าเล่าเปลือยมาตั้งแต่เกิด
สิ่งที่ติดตัวมาก็เป็นเพียงวัตถุนอกกาย ที่สักวันก็ต้องสูญสลายหายไป
หรือตัวเราเองนั่นแหละที่จะเป็นฝ่ายจากลาวัตถุเหล่านั้น
โดยไม่มีวันกลับมาชื่นชมมันอีก

หากเราไม่ยึดติดอยู่กับความสะดวกสบาย...
และไม่ยึดติดอยู่กับจำนวนเงินตราที่เราต้องหามาเพิ่มมากขึ้น ๆ ทุกวัน ...
จนทำให้เราหลงคิดว่า...สิ่งเหล่านี้จะบันดาลให้เราเป็นพระเจ้าได้
ทำให้เราอยู่เหนือคนอื่นและทำให้เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่...

เราจะค้นพบว่าจริง ๆ แล้วเราก็แค่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง
ที่มีความสุขในชีวิตได้ ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายได้...
ทานอาหารแต่ละมื้อ ได้อย่างอิ่มหนำสำราญ
มีเวลาได้ดูหนังดี ๆ มีโอกาสฟังเพลงเพราะ ๆ
มีห้วงเวลาที่ได้อยู่กับคนที่เรารัก ได้ทำอะไรดี ๆ แก่เขา
ได้สังสรรค์กับครอบครัว ทำให้คนในครอบครัวมีความสุข
และไม่ต้องใช้ชีวิตด้วยการวิ่ง วิ่งและก็วิ่งเร็วขึ้นไปเรื่อย ๆ

หากวันนี้เราต้องเหนื่อยกับการวิ่งอยู่ตลอดเวลา
ลองแวะพักเพื่อให้ตัวเองได้ชื่นชมสิ่งต่าง ๆ เสียบ้าง
เราจะได้มีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น

ไม่ต้องกังวลและเป็นทุกข์เป็นร้อน
ที่จะต้องรีบไปให้ถึงปลายทาง..
ปล่อยใจเพลิดเพลิน ไปกับการหาความสุขของชีวิตจะดีกว่า

เมื่อเรามีความสุขแล้ว เราก็จะพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่
เมื่อเราพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ เราก็จะเห็นตัวตนของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น...

มีความสนุกกับการใช้ชีวิตมากขึ้น
เมื่อนั้นเราก็จะได้ไม่ต้อง วิ่ง วิ่ง วิ่งให้เหนื่อยแรง
และทุกข์อก ทุกข์ใจเหมือนที่เคยเป็นมา...

"ความรักจะสมบูรณ์แบบได้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนสองคน
ชีวิตจะสมบูรณ์แบบได้...ก็ต้องอยู่ที่ความพอดีของการใช้ชีวิต.."

ว่ากันว่า...
"บางทีความสมบูรณ์แบบของชีวิต ก็ไม่ได้อยู่ที่ความเร็วของการเดินทาง
แต่อยู่ที่เราสนุกกับการเก็บเกี่ยวความสุข ระหว่างการเดินทางต่างหาก..."

  ขอบคุณที่มา  http://board.palungjit.com

125
                                                  วันนี้ดี... เพราะเมื่อวาน
หลายครั้งที่การตัดสินใจในชีวิต
เราก็อธิบายไม่ได้เหมือนกันว่า
ทำไมถึงเลือกทางนี้...
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะสำคัญมากกว่าการหาสาเหตุก็คือ


การยอมรับว่า คนเรามีสิทธิ์ผิดพลาดกันได้
เพียงแต่ขอให้รู้ตัวเองว่า
เราผิดพลาดเรื่องอะไร และใช้บทเรียนที่ได้นั้น
เป็นประสบการณ์ไว้สอนตัวเอง


ไม่มีประโยชน์กับการนั่งกล่าวโทษตัวเอง หรือ
มัวหวั่นไหวกับภาพร้ายๆที่คนอื่นสร้างให้
จนทำให้เรารู้สึกแย่ไปกันใหญ่

เมื่อวานนี้ของฉัน อาจเคยสร้างความรู้สึกสีเทาให้กับตัวเอง
และคนที่รักฉันอยู่ไม่น้อย
แม้มันจะต้องใช้เวลาที่ยาวนานเหมือนกัน
กว่าจะจัดการระบายสีให้กับชีวิตวันนี้ของตัวเองเสียใหม่

อย่างไรเสีย... วันนี้ของฉันก็ดีกว่าเมื่อวาน
ด้วยแรงเสียดทานหนักๆที่เคยผ่าน
ทำให้เราเข้าใจอะไรๆมากขึ้น
ทำให้เรากลายเป็นคนหนักแน่นและมีความอดทน
ไม่ท้อง่ายต่อเรื่องยากในชีวิต
ฉันได้กลับมาเป็นลูกที่ดีพอใช้ได้คนหนึ่งของพ่อแม่

เป็นแม่ที่พึ่งพาได้ของลูกตัวเอง
และเป็นคนที่พอใช้ได้อีกคนหนึ่งในสังคม

เท่านี้ก็เพียงพอที่ควรจะขอบคุณ "เมื่อวาน"
ที่ทำให้ฉันวันนี้ "คิดได้" ในหลายๆเรื่อง

- - - - - - - - - - - - - - - - - -

ไม่ว่าอะไรก็ตามจะเกิดขึ้นในชีวิตคุณ
มันขึ้นอยู่กับตัวคุณว่า จะตีความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร
และไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะมีความหมายหรือคุณค่าอย่างไรกับคุณ

คุณเองแหละที่จะเป็นคนให้ความหมาย
หรือคุณค่ากับสถานการณ์นั้นๆเอง. . .

- - - - - - - - - - - - - - - - - -

หากคุณมีเรื่องเมื่อวันวาน ...
ที่ยังสร้างความรู้สึกแง่ลบให้กับตัวเองจนถึงวันนี้อยู่ละก็...

ทุกๆเช้าที่เราตื่นนอน
ลองบอกกับตัวเองว่า

"เรามีทางเลือกอยู่สองทาง
คือ จะเลือกว่ารู้สึกดีต่อตัวเอง
หรือรู้สึกไม่ดี..."

และเราจะเลือกอย่างหลัง
ไปเพื่ออะไร...?

 ขอบคุณที่มา http://board.palungjit.com

126
                                         คติธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ทวด
              ธรรมประจำใจ

พูดมาก เสียมาก พูดน้อย เสียน้อย ไม่พูด ไม่เสีย
นิ่งเสีย โพธิสัตว์ละได้ย่อมสงบ

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้
ล้วนแต่เคลื่อนที่ไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ทุกอย่างในโลกนี้ เคลื่อนไปสู่การสลายตัวทั้งสิ้น
ไม่ยึด ไม่ทุกข์ ไม่สุข ละได้ย่อมสงบ

 สันดาน
ภูเขาถูกมนุษย์ทำลายลงมาได้
แต่สันดานของคนเราที่นอนนิ่งอยู่ในก้นบึ้ง
ซึ่งไม่เหมือนกันย่อมขัดเกลาให้ดีเหมือนกันได้ยาก

 ชีวิตทุกข์
การเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง จะว่าประเสริฐก็ประเสริฐ
จะว่าไม่ประเสริฐก็ไม่ประเสริฐ
จะเห็นได้ว่า ตื่นเช้าก็มีความทุกข์เข้าครอบงำ
จะต้องล้างหน้า ล้างปาก ล้างฟัน ล้างมือ
เสร็จแล้วจะต้องกินต้องถ่าย นี่คือความทุกข์แห่งกายเนื้อ
เมื่อเราจะออกจากบ้าน
ก็จะประสบความทุกข์ในหมู่คณะ ในการงาน
ในสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงตนชอบ
นี่คือ ความทุกข์ในการแสวงหา

 ปัจจัยบรรเทาทุกข์
การที่เราจะไม่ต้องทุกข์มากนั้น
เราจะต้องรู้ว่า เรานี้จะต้องไม่เอาชีวิตไปฝากสังคม
เราต้องเป็นตัวของเราเอง
และเราจะต้องวินิจฉัยในเหตุการณ์
ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเราว่า
สิ่งใดเราควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ

 ยากกว่าการเกิด
ในการที่เราเกิดมา ชีวิตแห่งการเกิดนั้นง่าย
แต่ชีวิตแห่งการอยู่นั้นสิยาก
เราจะทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างสุขสบาย

 ไม่สิ้นสุด
แม่น้ำทะเล และมหาสมุทร ไม่มีที่สิ้นสุดของน้ำ ฉันใด
กิเลสตัณหาของมนุษย์ก็ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ฉันนั้น

 ยึดจึงเดือดร้อน
ทุกวันนี้ เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน
ก็เพราะมนุษย์ไปยึดโนน่ ยึดนี่
ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่ยึดคณะ ยึดประเทศเป็นสรณะ
โดยไม่คำนึงถึงธรรมสากล
จักรวาลโลกมนุษยนี้ ทุกคนมีกรรมจึงเกิดมาเป็นสัตว์โลก
สัตว์โลกทุนคนต้องใช้กรรมตามวาระ ตามกรรม
ถ้าทุกคนยึดถือเป็นอารมณ์ ก็จะเกิดการเข่นฆ่ากัน
เกิดการฆ่าฟันกัน
เพราะอารมณ์แห่งการยึดถืออายตนะ
ฉะนั้น ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า
สิ่งใดทำแล้ว สัตว์โลกมีความสุข สิ่งนั้นควรทำ
นี่คือ หลักความจริงของธรรม

 อยู่ให้สบาย
ในภาวะแห่งการที่จะอยู่อย่างสบายนั้น
เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด
อยู่กันอย่างไม่ยินดี อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย
อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณ
ของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์
เหนือคำสรรเสริญ เหนือนินทา
เหนือความผิดหวัง เหนือความสำเร็จ เหนือรัก เหนือชัง

 ธรรมารมณ์
การอยู่อย่างมีธรรมารมณ์ คือ
การอยู่เหนือความรู้สึกทั้งปวง
อยู่อย่างรู้หน้าที่การเป็นคน และรู้หน้าที่ในการงาน
คือ รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำ
ไม่ใช่ทำเพื่อหวังผลตอบแทน
เพราะถ้าเราทำงานเพื่อหวังผลตอบแทนต่างๆ แล้ว
ถ้าสิ่งต่างๆไม่สัมฤทธิ์ผลตามความหวังนั้น
เราย่อมเกิดความโทมนัส เสียใจน้อยใจ

 เป็นทุกข์กรรม
ถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างที่ว่า
เกิดเพราะกรรม อยู่เพื่อกรรม ทำเพราะกรรม
ตายเพราะกรรมแล้ว
ชีวิตการเป็นมนุษย์ย่อมมีความภิรมย์ มีความรื่นเริง

 มารยาทของผู้เป็นใหญ่
ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เกิดก่อน ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูง
มารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่
ก็คือต้องสุขุมรอบคอบ และไม่ยึดติดเสียงเป็นหลัก
คือ ต้องไม่หวั่นไหวกับคำนินทาและสรรเสริญ

 โลกิยะ หรือ โลกุตระ
คนที่เดินทางโลกุตระ ย่อมไปดีทางโลกิยะไม่ได้
คนที่เดินทางโลกิยะ ย่อมสำเร็จทางโลกุตระได้ยาก
เพราะอะไร ?
ถ้าคนหนึ่งสำเร็จได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตระง่ายแล้ว
ทำไม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดม
ต้องสละราชบัลลังก์แห่งจักรพรรดิไปเป็นธรรมราชาเล่า ?
ถ้าเป็นไปได้
พระองค์เป็นมหาจักรพรรดิพร้อมทั้งธรรมราชา ไม่ดีหรือ?
แต่มันเป็นไปไม่ได้
เพราะโลกของโลกิยะและโลกุตระเดินคู่ขนานกัน
เราต้องตัดสินใจ ต้องมีความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ

ในการที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง

 ศิษย์แท้
พิจารณากายในกาย พิจารณาธรรมในธรรม
พิจารณาวิญญาณ ในวิญญาณ
นั่นแหละ คือ สานุศิษย์อันแท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 รู้ซึ้ง
ทุกอย่างจะต้องมีเหตุ เมื่อมีเหตุจึงจะมีผล
ผลนั้นเกิดจากเหตุ
เราได้วินิจฉัยข้อนี้แล้ว
เราจึงรู้ซึ้งถึงพุทธศาสนา

 ใจสำคัญ
การทำบุญนั้น จะต้องทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์
จะต้องทำด้วยความศรัทธา
ผลสะท้อนมันจะเกิดขึ้นเกินความคาดหมาย

 หยุดพิจารณา
คนเรานี้ ถ้าไม่มีอะไรทำอยู่ในที่วิเวกคนเดียว
จิตมันจะฟุ้งซ่าน
และถ้าภาวะนั้น
ตนไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ คือ หยุดพิจารณา
แล้วค้นสัจจะของ ศีล สมาธิ ปัญญา
ย่อมที่จะค้นหาสัจจะในธรรมะได้

 บริจาค
ทำบุญสังฆทานเป็นจาคะ
จาคะเป็นการบริจาคโภคทรัพย์ภายนอก
การสวดมนต์เป็นการภาวนา
การภาวนาเป็นการบริจาคภายใน
เพราะฉะนั้น ถ้านับในด้านทิพย์อำนาจ
การบริจาคภายในย่อมได้กุศล
มากกว่า การบริจาคภายนอก
นี่คือเรื่องของนามธรรม

 ทำด้วยใจสงบ
เราจะทำบุญก็ดี เราจะทำอะไรก็ดี
จงทำด้วยความสงบ
อย่าทำด้วยอารมณ์แห่งความร้อน
เพราะการทำด้วยอารมณ์ร้อนนั้น มันจะพาเราไปสู่หายนะ
เมื่อเกิดอารมณ์ร้อน เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จงอย่าทำ
นั่งให้จิตใจมันสบายเสียก่อน
เมื่อจิตใจสบายแล้ว ปัญญาก็เกิด
เมื่อเกิดปัญญาแล้ว
จะทำสิ่งใดก็เป็นไปโดยความสะดวก

 มีสติพร้อม
จะทำสิ่งใดก็ตาม เราต้องมีสติพร้อม
คือ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้อารมณ์เข้ามาควบคุมสติ
อย่าให้เรื่องส่วนตัวและขาดเหตุผล
มาอยู่เหนือความจริง

เตือนมนุษย์
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่งานส่วนตัว
มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีงานทำในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่ทรัพย์ส่วนตัว
มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีทรัพย์ครองในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่นอนมาก
มนุษย์ผู้นั้น จะไม่ได้นอนในไม่ช้า

 พิจารณาตัวเอง
คืนหนึ่งก็ดี วันหนึ่งก็ดี
ควรให้มีเวลาว่างสัก 5 นาที หรือ 10 นาที ไม่ติดต่อกับใคร
ให้นั่งเฉยๆ คิดถึงเหตุการณ์ที่เราทำไปแต่ละวันๆ ว่า
ที่เราทำไปนั้นเป็นอย่างไร
คือให้ปลีกตัวมีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง
คิดเอาแต่เรื่องของตัว อย่าไปคิดเรื่องของคนอื่น
เพราะมนุษย์เราส่วนมากทุกวันนี้
มักเอาแต่เรื่องของคนอื่นมาคิด ไม่ค่อยคิดเรื่องของตัวเอง

ขอบคุณที่มา http://www.dhammajak.net

127
                                               ใบลาออกจากความทุกข์


ไม่สำคัญว่า..
...มีทรัพย์มากหรือน้อย

แต่สิ่งสำคัญคือ...
...ต้องใช้ให้น้อยต่างหาก..
...ชีวิตจึงจะมีเหลือมากกว่าขาด...

คนจนยิ่งจน...เพราะทำรวย...
คนรวยยิ่งรวย...เพราะทำจน..
...ทำตัวให้เป็นปกติ..
...ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น..
...ชีวิตก็จะเป็นปกติ

ไม่ยินดีในสิ่งที่ตนได้
ไม่พอใจในสิ่งที่ตนมี
...เป็นคนอาภัพอับโชคที่สุดในโลก

ยินดีในสิ่งที่ตนได้
พอใจในสิ่งที่ตนมี
...เป็นคนโชคดีที่สุดในโลก

อดทนได้...จงอดทน
อดใจได้....จงอดใจ
...ไม่อดทน ไม่อดใจ
...เรื่องเล็กจักกลายเป็นเรื่องใหญ่

คนที่มีความสุข
มิใช่คนที่มีมากที่สุด
...แต่เป็นคนที่ต้องการน้อยที่สุด
...ยิ่งมีความต้องการน้อยลง
...สมบัติที่มีอยู่เดิม
...ก็ดูเหมือนมีมากขึ้น...

ความสุขหรือความทุกข์ของชีวิต
บางครั้งเหมือนการมองผ่านกระจก
...หากกระจกใสสะอาด
...เมื่อมองสิ่งใดย่อมมีแต่ความสุข
...ปราศจากความขุ่นมัว
...หากกระจกขุ่นมัว
เมื่อมองสิ่งใด...
แม้เป็นสิ่งเดียวกัน..
ก็มีแต่ความทุกข์ใจ

ขอบคุณที่มา http://board.palungjit.com
จงจำไว้ว่า..
...ความสุขอยู่ไม่ไกล
...เพียงเช็ดกระจกให้ใส
...เช็ดใจให้สะอาดเท่านั้นเอง..

ทุกข์อยู่ที่ใจ...
...ทุกข์ของใครก็ของมัน..
ทุกข์อยู่ที่ใจ...
...ใครจะเก็บไว้ก็ช่างมัน...
สุขอยู่ที่ใจ...
...ฉันเก็บมันไว้ทุกวัน..
สุขอยู่ที่ใจ...
...ฉันจะให้กันและกัน...

128
ธรรมะ / ความสุขจากการ"ให้อภัย"
« เมื่อ: 13 ก.ย. 2553, 07:24:59 »
                                             ความสุขจากการ"ให้อภัย"
 “ ผู้ที่อ่อนแอไม่สามารถให้อภัยใครได้ เพราะการให้อภัยได้นั้นนับเป็นความเข้มแข็งแท้จริง ” มหาตมะคานธี

  มาลองช่วยกันพิจารณาข้อความนี้

หาก คุณให้ความรัก ความไว้วางใจ ช่วยเหลือใครสักคน แต่ภายหลังเขากลับไปคบคิดกับคนอื่นให้ร้ายคุณ พูดถึงคุณในทางที่เสียหาย จนคุณต้องได้รับความอับอาย คุณจะให้อภัยเขาคนนั้นได้ไหม
๑. ให้อภัยได้ ถ้าคนนั้นได้รับโทษอย่าสาสมเสียก่อน
๒. ให้อภัยได้ เพราะเป็นสิ่งดีที่จะให้อภัย ดังเช่นที่พ่อแม่ หรือศาสนาสั่งสอนมา
๓. ให้อภัยได้ เพราะจะช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข
๔. ให้อภัยได้ เพราะเป็นการแสดงออกของความรักที่ไม่มีเงื่อนไข

ท่านผู้อ่านจะเลือกข้อใดที่ตรงใจท่านมากที่สุด

ผม ได้ลองถามนักศึกษาแพทย์ปี ๕ ที่เรียนวิชาจิตเวชศาสตร์อยู่รวม ๓๓ คน คำตอบที่ได้จากลูกศิษย์แพทย์กลุ่มนี้น่าสนใจทีเดียวครับมีตอบข้อหนึ่งอยู่ ๑๓ คน ตอบข้อสองอยู่ ๑๒ คน ตอบข้อสามอยู่ ๕ คน และตอบข้อสี่อีก ๓ คน ที่กล่าวมานี้คงไม่ถึงกับเป็นโพลสำรวจนะครับ เพียงอยากจะให้เห็นว่าคนเราแต่ละคนมีมุมมองในเรื่องการให้อภัยที่แตกต่างกัน มาก

มนุษย์มีแนวโน้มในจิต ใจแต่กำเนิดที่จะโต้ตอบทางลบมากขึ้นต่อคนที่แสดงออกทางลบต่อเรา ธรรมชาตินี้เองเป็นที่มาของการแก้แค้นกันและตอบโต้กันจนไม่รู้จบสิ้น สิ่ง นี้เกิดจากอะไร นอกจากมนุษย์แล้ว สิ่งมีชีวิตอื่นมีพฤติกรรมการแก้แค้นเช่นมนุษย์หรือไม่ จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบปรากฏการณ์ของการแก้แค้น เกิดขึ้นได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูงบางชนิดด้วย เช่น ลิงชิมแปนซี และพบต่ออีกว่า เมื่อการแก้แค้นเกิดขึ้น การกระทำนั้นมักจะมีความรุนแรงมากกว่าที่ถูกกระทำในตอนแรก จึงมีแนวโน้มให้เกิดวงจรการล้างแค้น ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราพบเห็นตัวอย่างการโต้ตอบที่รุนแรงมากมายในสงครามและประวัติศาสตร์ ของมนุษยชาติ การให้อภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยตัดและลดทอนการแก้แค้น ซึ่งมีแต่จะเพิ่มความสูญเสียทั้งสองฝ่าย

พัฒนาการ ของการให้อภัยผู้อื่น เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางจิตใจด้วย พบว่า คนเราสามารถให้อภัยได้มากขึ้นตามอายุ คือคนในวัยสูงอายุจะให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายกว่าคนในวัยผู้ใหญ่และมากกว่าคนใน วัยรุ่น ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงโลกทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปในคนที่ผ่านชีวิตมานานกว่า มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น นอกจากนี้พัฒนาการของการให้อภัยยังมีลักษณะที่เป็นลำดับขั้นเหมือนที่มนุษย์ เรามีพัฒนาการทางร่างกาย จากคลานเป็นนั่ง จนถึงการยืนและเดินตามลำดับ คือใน ขั้นต้น การให้อภัยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ที่กระทำผิดได้รับการล้างแค้นหรือการลงโทษอย่างสาสมเสียก่อน ขั้นกลาง คือ การให้อภัย เป็นสิ่งควรทำเนื่อง จากเป็นสิ่งที่สังคมและคำสั่งสอนของพ่อแม่หรือศาสนาสอนไว้ ในขั้นสูงคือ การให้อภัยควรทำเพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมและในขั้นสูงสุดคือเป็นการ แสดงออกของความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ( Unconditional love )

ความ จริงแล้วการให้อภัยกลับกลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่ให้อภัย เอง เพราะการให้อภัยคือการปลดปล่อยตนเองจากซากอดีตที่เจ็บปวดเพื่อเริ่มต้นชีวิต ใหม่ ดังที่ คอร์รี่ เทน บูม ( Corrie ten Boom ) ผู้ช่วยเหลือชาวยิวจากค่ายกักกันของนาซีได้กล่าวว่า “ การให้อภัยคือการปลดปล่อยนักโทษ และนักโทษผู้นั้นก็คือคุณนั่นเอง ” และจากประสบการณ์ตรงของเธอเองที่ได้บันทึกไว้ว่า “ ใน ท่ามกลางเหยื่อที่ถูกนาซีทำทารุณกรรมนั้น ผู้ที่สามารถสร้างชีวิตใหม่ได้ดีและสามารถดำรงชีวิตที่เป็นสุขได้คือ ผู้ที่สามารถให้อภัยต่อความเลวร้ายเหล่านั้น ”

ผลดี อีกประการคือผู้ที่มักให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายจะมีความเป็นปฏิปักษ์น้อย ไม่หลงตัวเอง ไม่ชอบครุ่นคิดวนเวียน เป็นคนที่มีนิสัยพูดง่าย ไม่เรื่องมาก ทำให้กังวลและซึมเศร้าน้อยกว่า ป่วยเป็นโรคประสาทน้อยกว่า มีลักษณะที่เข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากกว่า การให้อภัยจึงเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันโรคทางจิต เพิ่มสุขภาพจิตที่ดีสำหรับตัวผู้ให้อภัยนั้นเอง ผมจึงอยากชวนท่าน ผู้อ่านได้ทบทวนไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งและตั้งใจอย่างแน่วแน่ เพื่อที่จะช่วยกันปลดปล่อยความเคืองแค้นที่ยังฝังใจ เพื่อให้จิตใจได้รับอิสรภาพและเกิดความสุขสงบทางใจ

การที่จะให้อภัยแก่บุคคลผู้ที่เคยทำให้เราเจ็บปวด แม่ชีเทเรซ่าสอนว่า

“ เพื่อ ที่จะให้อภัยใครบางคนที่ทำให้เราปวดร้าว เพื่อที่จะเริ่มต้นใหม่กับผู้ที่เคยทำให้เราผิดหวัง เพื่อที่จะคงความเสียสละไว้แม้เคยถูกหลอกลวง เหล่านี้แม้หากจะเจ็บปวด แต่เป็นการให้อภัยและเป็นรักที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ”

Secret Box
• การให้อภัยเป็นเครื่องพัฒนาการของจิตใจ
• การให้อภัยที่สูงที่สุดเป็นการแสดงออกของความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข
• จงเริ่มด้วยการตั้งจิตที่แน่วแน่ในการให้อภัยใครบางคนที่เคยทำให้เราเจ็บปวด
• การให้อภัยจะนำให้เกิดอิสรภาพและความสุขในชีวิต

-----------
ที่มา:ชมรมกัลยาณธรรม


129
                                                   บุพกรรมของพระอัครสาวก : หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
  สำหรับวันนี้ ก็จะขอนำเอาบุพกรรมของพระอัครสาวกมาเล่าสู่กันฟัง ตามพระบาลีท่านกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า “พระอัครสาวกทั้งสอง ได้ทำกรรมอะไรไว้พระเจ้าข้า”

องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้ตรัสว่า “อัครสาวกทั้งสองทำความปรารถนาไว้พื่อเป็นอัครสาวก”

พระองค์ทรงกล่าวว่า ในที่สุดแห่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปนี้ไป พระสารีบุตรเกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาล มีนามว่า สรทมาณพ พระโมคคัลลานะ เกิดในตระกูลคหบีมหาศาล มีนามว่า สิริวัฑฒกฎุมพี มาณพทั้งสองนั้นได้เป็นสหายเล่นฝุ่นมาด้วยกัน สรทมาณพ เมื่อบิดาตายแล้วได้ครอบครองทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก อันเป็นมรดกของตระกูล

ในวันหนึ่งอยู่ในที่ลับตา คิดว่า เราย่อมรู้อัตภาพโลกนี้เท่านั้น หารู้จักอัตภาพโลกหน้าไม่ (หมายความว่า ชาตินี้เราเกิดเป็นคน แต่ชาติหน้าเราจะเกิดเป็นอะไรนี่เราไม่รู้)

อันธรรมดาความตายของสัตว์เกิดแล้วย่อมเป็นของเที่ยง (หมายความว่าสัตว์ทุกคนที่เกิดมาแล้วในโลก ต้องตายเหมือนกันหมด ไม่มีใครหนีได้) ควรที่เราจะบวชเป็นบรรพชิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำการแสวงหาโมกขธรรม

คำว่า โมกขธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องพ้นแห่งความตาย

สรทมาณพนั้นเข้าไปหาสหายแล้วพูดว่า “สิริวัฑฒะผู้สหาย ข้าพเจ้าจักบวชแสวงหาโมกขธรรม ท่านจักบวชกับเราหรือไม่ หรือว่าไม่อาจจักบวช”

ท่านสิริวัฑฒะก็ตอบว่า “ข้าพเจ้าจักไม่อาจ สหาย ท่านบวชคนเดียวเถิด”

สรทมาณพนั้นคิดว่า ธรรมดาผู้ไปสู่ปรโลก จะพาสหายหรือญาติมิตรไปด้วยได้ ไม่มี

นี่หมายความถึงว่า คนเราน่ะจะรักกันขนาดไหนก็ตาม เวลาตายไม่สามารถจะพาใครเขาตายไปพร้อมกันได้ คนที่บอกว่ารักเรามากที่สุดน่ะ ความจริงเวลาเราตายเขาไม่ได้ตายไปด้วย เราตายของเราคนเดียว

ท่านคิดต่อไปว่า กรรมที่ตนทำแล้วย่อมเป็นของตนเอง ดังนั้น ท่านสรทมาณพจึงไปเปิดเรือนคลังแก้วออกให้ทานเป็นการใหญ่ แก่คนกำพร้า คนเดินทาง และวณิพก คือคนยากจนเข็ญใจทั้งหลาย แล้วเข้าไปสู่เชิงเขา บวชเป็นฤาษี บรรดาชนทั้งหลายที่มีความรักในท่าน บวชตามท่านสรทะนั้นด้วยอาการอย่างนี้คือ หนึ่งคน สองคน สามคน จนกระทั่งมีชฎิลประมาณเจ็ดหมื่นสี่พันคน

สรทชฎิลหรือสรทดาบส (ท่านใช้นามว่าชฎิลนะ) ทำอภิญญา 5 และสมาบัติ 8 ให้เกิดแล้ว บอกกสิณบริกรรมแก่ชฎิลทั้งหลายเหล่านั้น บรรดาชฎิลที่เป็นลูกศิษย์ทั้งหลายทั้งหมดก็ทำอภิญญา 5 และสมาบัติ 8 ให้เกิดขึ้น

ท่านกล่าวต่อไปว่า ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ในนครที่มีชื่อว่า จันทวดี มีพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า ยสวันตะ เป็นพระราชบิดา พระราชเทวีมีนามว่า ยโสธรา เป็นพระราชมารดา มีไม้รกฟ้า เป็นที่ตรัสรู้ (ต้นไม้ เดิมเขาเรียกว่าต้นไม้รกฟ้า แต่พอตรัสรู้ ที่ตรงนั้นเขาเรียกว่า ต้นโพธิ์ เหมือนกัน โพธิ แปลว่า รู้)

มีพระอัครสาวกทั้งสอง ชื่อ นิสภะ และ อโนมะ อุปัฏฐากชื่อว่า วรุณะ อัครสาวิกาเป็นอัครสาวกซ้ายขวาเหมือนกัน มีนามว่า สุมนา และ สุนทรา (อัครสาวิกา หมายความว่าภิกษุณี คือพระผู้หญิงน่ะ) พระชนมายุพระองค์มีแสนปี พระสรีระนั้นสูงถึง 58 ศอก พระรัศมีแห่งพระสรีระแผ่ไปได้ 12 โยชน์ มีภิกษุแสนหนึ่งเป็นบริวาร

วันหนึ่ง เวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี นั้นเสด็จออกจากมหากรุณาสมาบัติ
หมายความว่า ตอนเช้ามืด พระพุทธเจ้าย่อมเข้าสมาบัติ อันหนึ่งที่เราเรียกกันว่า พระพุทธญาณ เป็นญาณเฉพาะของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ พระสาวกหรืออัครสาวกไม่สามารถจะทำได้ พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ทำอย่างนี้เหมือนกันหมด

ทรงพิจารณาดูสัตว์ในโลกอยู่แล้ว ก็ทอดพระเนตรเห็นสรทดาบส แล้วทรงมีพระพุทธดำริว่า “เพราะเราไปสู่สำนักสรทดาบสในวันนี้ จะเป็นปัจจัยให้เธอได้ฟังพระธรรมเทศนา จักมีคุณใหญ่ และสรทดาบสนั้นจะปรารถนาตำแหน่งพระอัครสาวก สิริวัฑฒกฎุมพีผู้สหายดาบสนั้น จักปรารถนาตำแหน่งพระอัครสาวกที่สอง (หมายความว่าอัครสาวกเบื้องซ้าย) ทั้งในการเทศนาชฎิลเจ็ดหมื่นสี่พันบริวารของดาบสนั้น จักบรรลุอรหันต์ เราควรไปที่นั้น”

เมื่อทรงดำริดังนี้แล้ว จึงได้ถือบาตรและจีวรของพระองค์ ไม่ตรัสเรียกใครอื่น เสด็จไปแต่พระองค์เดียวเหมือนพญาราชสีห์ เมื่ออันเตวาสิกทั้งหลายของสรทดาบสไปแล้วเพื่อต้องการผลาผล ทรงอธิษฐานว่า “ขอสรทดาบสจงทราบความที่เราเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อสรทดาบสเห็นอยู่นั่นแหละ” และก็ทรงเสด็จลงจากอากาศประทับยืนบนแผ่นดิน

ขณะนั้น ท่านสรทดาบสเห็นพระพุทธานุภาพและความสำเร็จแห่งสรีระ สอบสวนมนต์สำหรับทำนายลักษณะก็ทราบว่า อันผู้ประกอบลักษณะอย่างนี้ เมื่ออยู่ในท่ามกลางเรือน ย่อมเป็นพระเจ้าจักพรรดิ เมื่อออกบวชก็จะต้องเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกิเลสเครื่องมุงบังอันเปิดแล้วในโลก (คำว่าเปิดแล้ว หมายความว่าหมดไป) บุรุษนี้จักเป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย จึงทำการต้อนรับถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ได้จัดอาสนะถวายแล้ว พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ สรทดาบสนั่งในที่อันตนเห็นสมควร คือต่ำกว่าในส่วนข้างหน้า

ในสมัยนั้น บรรดาชฎิลเจ็ดหมื่นสี่พัน ถือผลไม้ต่าง ๆ อันประณีต มีรสอันโอชะ มาถึงสำนักของอาจารย์ แลดูอาสนะที่พระพุทธเจ้าประทับและอาจารย์นั่งแล้ว จึงได้พูดขึ้นว่า “ท่านอาจารย์ พวกผมเที่ยวไปด้วยเข้าใจว่า ในโลกนี้ ผู้เป็นใหญ่กว่าอาจารย์ย่อมไม่มี และบุรุษผู้นี้เห็นจะเป็นใหญ่กว่าอาจารย์กระมังขอรับ”

ท่านสรทดาบสก็ตอบว่า “พ่อทั้งหลาย พวกเจ้าพูดอะไร พวกเจ้าปรารถนาเพื่อทำเขาสิเนรุซึ่งสูง 68 แสนโยชน์ให้เสมอกับเมล็ดพันธุ์ผักกาดกระนั้นหรือ”

นี่ท่านหมายความว่า ตัวท่านน่ะเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคมีอานุภาพเหมือนกับเขาพระสุเมรุสูง 68 แสนโยชน์

ท่านจึงกล่าวว่า “ลูกทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าทำการเปรียบเทียบเรากับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย” ครั้งนั้นดาบสเหล่านั้นคิดว่า “ถ้าบุรุษผู้นี้จักเป็นคนเล็กน้อยแล้วไซร้ ท่านอาจารย์ของพวกเราคงไม่ชักสิ่งเหล่านี้มาอุปมา บุรุษผู้นี้จักเป็นใหญ่เพียงไรหนอ” เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว เขาทั้งหมดนั่นแหละหมอบลงแทบพระบาททั้งสอง ถวายบังคมด้วยเศียรเกล้า

ครั้งนั้น พระอาจารย์กล่าวกับดาบสเหล่านั้นว่า “ไทยธรรมที่สมควรแก่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราไม่มี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จมาในเวลานี้ เป็นเวลาภิกขาจาร (คือเป็นเวลาบิณฑบาต) พวกเราจักถวายไทยธรรมตามสติตามกำลัง พวกเราจงนำผลไม้อันประณีตมีรสอร่อยที่สุดที่มีอยู่มาถวายเถิด” ครั้นนำมาแล้ว ล้างมือทั้งสองแล้ว ตั้งไว้ในบาตรของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตนเอง

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับผลไม้แล้ว บรรดาเทวดาทั้งหลายก็โปรยโอชะอันเป็นทิพย์ลง ดาบสนั้นได้กรองน้ำถวายด้วยตนเอง

เห็นไหม เทวดาย่องผสมเขาเสมอ เวลาที่ใครเขาถวายทานแก่พระพุทธเจ้า เทวดาท่านก็ย่อง ๆ เอาของทิพย์มาโปรยให้เสมอ เป็นอันว่าทำบุญร่วมกัน

ตอนนั้น เมื่อองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาทรงประทับทำภัตกิจ (คือฉัน) แล้ว ดาบสนั้นเรียกอันเตวาสิกทั้งสิ้นมานั่ง กล่าวสาราณียกถา ใกล้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สาราณียกถา คือ ชม จะไปนั่งกล่าวบนศาลาไม่ใช่อย่างนั้นนะ ชมเชยความดีของพระพุทธเจ้า
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำริว่า “ขออัครสาวกทั้งสองจงมาพร้อมด้วยบรรดาพระภิกษุสงฆ์”
พระอัครสาวกทั้งสองนั้น ทราบดำริขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า อโนมทัสสีแล้ว บรรดาพระขีณาสพหรือพระอรหันต์แสนรูปเป็นบริวาร ก็มาถวายบังคมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ลำดับนั้น สรทดาบสเรียกอันเตวาสิกคือลูกศิษย์ทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า “พ่อทั้งหลาย แม้อาสนะที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งต่ำ ซ้ำอาสนะสำหรับสมณะตั้งแสนก็ไม่มี พวกเจ้าควรทำพุทธสัการะให้โอฬารในวันนี้ จงนำดอกไม้ทั้งหลายที่ถึงพร้อมไปด้วยสีและกลิ่นมาแต่งเชิงเขา”

เวลาที่พูดดูเหมือนกับเนิ่นช้า แต่ความจริงเรื่องผู้มีฤทธิ์แผลบเดียวก็ได้ จำให้ดีนะ เพราะเรื่องของท่านมีฤทธิ์ คนอื่นที่ไม่มีฤทธิ์อย่าเข้าไปคิด คิดแล้วเป็นบ้า เป็นอจินไตย เวลานี้ มักจะชอบคิดกันวิจารณ์กัน ทั้งที่ตนเองแม้แต่ศีล 5 ก็ไม่ครบ บางคนหาศีลไม่ได้เลย ก็ยังไม่คิดเปรียบเทียบอารมณ์ของตนกับท่านผู้มีฤทธิ์นี่น่าสงสาร

เพราะฉะนั้น โดยการเพียงครู่เดียวเท่านั้น บรรดาบุตรทั้งหลายเหล่านั้นก็นำดอกไม้ทั้งหลายที่ถึงพร้อมไปด้วยสีและกลิ่นมา แล้วตบแต่งอาสนะดอกไม้สำหรับพระพุทธเจ้า ประมาณได้หนึ่งโยชน์ สำหรับพระอัครสาวกทั้งสองประมาณ 3 คาวุธ ( 1 คาวุธ เท่ากับ 100 เส้น โยชน์หนึ่งเท่ากับ 400 เส้น) สำหรับภิกษุที่เหลือ ประมาณแตกต่างกัน มีประมาณครึ่งโยชน์เป็นต้น สำหรับภิกษุใหม่ประมาณ 2 อุสุภะ (อุสุภะหนึ่งยาว 25 วา) ใคร ๆ ไม่พึงคิดว่าในอาศรมแห่งเดียวจะตกแต่งอาสนะใหญ่โตเพียงนั้นได้อย่างไร
เรื่องของผู้มีฤทธิ์น่ะมันได้ทั้งนั้นแหละ อย่างขวดเล็ก ๆ ลูกเดียว บรรดาพระอรหันต์แสนองค์สามารถอยู่ในนั้นพร้อมกันได้ถ้าทรงอภิญญา หรือว่าไม่เป็นพระอรหันต์ แต่เป็นพระผู้ทรงอภิญญาก็สามารถอยู่ได้
เมื่อตกแต่งอาสนะเสร็จแล้วอย่างนั้น ท่านสรทดาบสก็ยืนประคองอัญชลี (คือพนมมือ) เบื้องพระพักตร์ กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงเสด็จขึ้นสู่อาสนะดอกไม้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด พระเจ้าข้า”

ตอนนี้มีภาษิตอยู่ตอนหนึ่ง ขอกล่าวตามพระบาลีว่า เพราะเหตุนั้นโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า สรทดาบสเอาดอกไม้ต่าง ๆ และของหอมรวมด้วยกัน ตกแต่งอาสนะดอกไม้ไว้แล้ว ได้กราบทูลองค์สมเด็จพระประทีปแก้วว่า

“ข้าแต่พระวีระ อาสนะที่ข้าพระองค์ตกแต่งแล้วนี้ สมควรแด่พระองค์ พระองค์เมื่อจะยังจิตของข้าพระองค์ให้เลื่อมใสแล้ว ขอจงประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ พระพุทธเจ้าได้ทรงยังจิตของข้าพระองค์ให้เลื่อมใสแล้ว ยังโลกนี้และเทวโลกให้ร่าเริงแล้ว ขอจงประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ตลอด 7 วัน 7 คืน”
เอาเข้าแล้ว นี่ท่านให้พระพุทธเจ้าประทับนั่ง 7 วัน 7 คืน คงจะนอนด้วยกระมัง แต่ว่าไม่ได้นะ ท่านดาบสพวกนี้ท่านได้อภิญญา 5 ท่านทรงสมาบัติ 8 ไอ้เรื่องนั่งเฉย ๆ นอนเฉย ๆ 7 วัน 7 คืน น่ะมันเรื่องเล็ก ๆ จะว่ากัน 70 วัน 70 เดือน 70 ปี ก็ยังได้ มันเป็นของไม่ยาก ถ้าไม่มั่นใจละก็ ลองกันดูก็ได้
ทุกท่าน ถ้าไม่เชื่อว่าคำที่พูดนี้เป็นไปได้ จงทำอภิญญา 5 ให้ปรากฎ แล้วก็ทรงสมาบัติ 8 ให้ปรากฎ จะเห็นว่าที่พูดว่า 7 ปี 7 เดือน 7 วัน นี่มันยังเล็ก ท่านคงคิดว่าน่าจะพูด 700 ปี 700 เดือน 700 วัน หรือ 7,000 ปี 7,000 เดือน 7,000 วัน ถ้าตั้งจิตอธิษฐานด้วยอำนาจของอภิญญา 5 หรือสมาบัติ 8 มันเป็นของเล็กจริง ๆ เอ้า คุยกันต่อไป

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับนั่งแล้ว พระอัครสาวกทั้งสอง และภิกษุที่เหลือก็นั่งแล้วอยู่บนอาสนะที่สมควรแก่ตน ท่านสรทดาบสได้ถือฉัตรดอกไม้ใหญ่ ยืนกั้นเหนือศรีษะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธองค์ได้ทรงอธิษฐานว่า “ขอสักการะของชฎิลนี้จงมีผลใหญ่”
นี่เป็นคำครอบ พระจำให้ดีนะ กินของเขาแล้วอย่ากินเปล่า รับของของเขาแล้วอย่ารับเปล่า ทำจิตให้บริสุทธิ์ ตั้งจิตอธิษฐานอย่างนี้ เอาง่าย ๆ เอาเหมือนพระพุทธเจ้าแล้วกันว่า “ขอสักการะของท่านผู้นี้ที่สงเคราะห์แก่เราแล้วจงมีผลใหญ่” เท่านี้พอ

เมื่อพระองค์ตรัสดังนั้นแล้ว ก็ทรงเข้า นิโรธสมาบัติ อัครสาวกทั้งสองก็ดี ภิกษุที่เหลือก็ดี ทราบว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์เข้านิโรธสมาบัติแล้ว ก็เข้าสมาบัติบ้าง คือ ผลสมาบัติ (อภิญญาผลสมาบัตินะ เพราะท่านได้อภิญญา)

ส่วนพวกอันเตวาสิก เมื่อถึงเวลาเที่ยวไปภิกษาบริโภคมูลผลาผลในป่าแล้ว ก็ยืนประคองอัญชลี แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ตลอดเวลาที่เหลือ (หมายความว่า เวลาที่กินอะไรเสร็จก็มายืนไหว้พระพุทธเจ้าตลอด 7 วันเหมือนกัน)

สำหรับพระอาจารย์ไม่ยอมฉันอาหาร กั้นฉัตรดอกไม้อยู่อย่างนั้นแหละ ให้เวลาล่วงไปโดยที่มีปีติ คือความอิ่มใจ แล้วก็สุขตลอด 7 วัน

เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา เสด็จออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ตรัสเรียกพระนิสภเถระ พระอัครสาวกผู้นั่งข้างขวา ด้วยรับสั่งว่า “นิสภะ เธอจงทำโมทนาอาสนะดอกไม้ แด่บรรดาดาบสทั้งหลายผู้ทำสักการะ”

พระเถระมีใจยินดีประดุจหนึ่งแม่ทัพใหญ่ ประสพลาภใหญ่จากสำนักของพระเจ้าจักรพรรดิราช ตั้งอยู่ในสาวกบารมีญาณ จึงเริ่มอนุโมทนาอาสนะดอกไม้

ในที่สุดแห่งเทศนาของพระนิสภะเถระนั้น สมเด็จพระภควันต์ได้ตรัสเรียกพระสาวกองค์ที่สองด้วยรับสั่งว่า “ภิกขเว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้เธอจงแสดงธรรม”

พระอโนมเถระ เป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย ได้พิจารณาพระพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกแล้วก็กล่าวธรรม ด้วยพระธรรมเทศนาของพระอัครสาวกทั้งสอง การตรัสรู้มิได้มีแก่บรรดาดาบสแม้แต่รูปใดรูปหนึ่ง เพราะว่าบรรดาดาบสทั้งหมดนี้เป็นผู้ได้อภิญญาและสมาบัติ 8 ฟังเทศน์จากพระอัครสาวกทั้งสองแล้ว แทนที่จะบรรลุมรรคผลกลับไม่ได้บรรลุมรรคผล ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเป็นดาบสที่มีกำลังใหญ่ และก็ต้องเป็นดาบสที่เป็นวิสัยขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจะทรงสงเคราะห์เอง จึงจะมีมรรคมีผล
ครั้นองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดา ตั้งอยู่ในพุทธวิสัยไม่มีปริมาณ (คำว่า พุทธวิสัย คือวิสัยของพระพุทธเจ้าซึ่งหาประมาณมิได้ มากมายเหลือเกิน) จึงได้เริ่มแสดงพระธรรมเทศนา ในกาลจบพระธรรมเทศนา บรรดาชฎิลเจ็ดหมื่นสี่พัน (ยกเว้นท่านสรทดาบส) บรรลุอรหันต์ทั้งหมด
องค์สมเด็จพระบรมสุคตทรงเหยียดพระหัตถ์แล้วตรัสว่า “เธอทั้งหลาย จงเป็นภิกษุมาเถิด” ทันใดนั้นเอง ผมและหนวดของบรรดาชฎิลก็อันตรธานไป บริขาร 8 ที่สำเร็จไปด้วยฤทธิ์ก็ลงมาสวมกายของพระพวกนั้น

ตามบาลีท่านกล่าวว่า มีคำถามสอดเข้ามาว่า “เพราะเหตุไร สรทดาบสจึงไม่บรรลุอรหันต์” ความจริงท่านน่าจะบรรลุอรหันต์เพราะตั้งใจบวชด้วยดี ตาพระบาลีท่านแก้ว่า “เพราะความที่เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน จึงไม่ได้อรหัตผล”

ตามพระบาลีกล่าวต่อไปอีกว่า จำเดิมแต่กาลที่ท่านสรทดาบสนั้นเริ่มฟังพระธรรมเทศนาของอัครสาวก ผู้นั่งบนอาสนะที่สองแห่งพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ในสาวกบารมีญาณแสดงธรรมอยู่ เกิดความคิดขึ้นมาว่า “โอหนอ แม้เราได้รับธุระที่พระสาวกรูปนี้ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้จะบังเกิดในอนาคต”

นี่หมายความว่า พอฟังเทศน์ของพระอัครสาวกแล้ว ท่านก็คิดว่า เรานี่อยากจะเป็นอัครสาวกบ้าง ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งเกิดขึ้นในโลกในกาลต่อไป เราต้องการเป็นอัครสาวก

อย่างนี้ถือว่าเป็นอธิษฐานบารมี ตามพระบาลีท่านบอกว่า จิตฟุ้งซ่าน ก็หมายความว่า ซ่านด้วยการฟังแล้วไม่คิดตาม เพราะว่าเห็นว่าท่านเป็นอัครสาวกมีศักดาใหญ่ ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงให้โอกาสแสดงพระธรรมเทศนาก่อน จึงเห็นว่า งานนี้เป็นงานเด่นมาก เราอยากจะเป็นบ้าง ฟังไปแล้วก็คิดไป เลยไม่ได้บรรลุมรรคบรรลุผล

บาลีท่านว่าต่อไปว่า เพราะอาศัยความปริวิตกอย่างนั้น สรทดาบสจึงไม่มีโอกาสที่จะถึงทำการแทงตลอดมรรคผลได้

หมายความว่า เวลาฟังไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณา ฟังแล้วก็คิดว่าเราอยากจะเป็นอัครสาวก ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาอย่างบรรดาลูกศิษย์ของท่าน ท่านก็จะได้เป็นอรหันต์และเป็นไม่ยากด้วย เพราะมีกำลังแรงกล้ากว่าคนอื่น

ท่านจึงยืนถวายบังคม องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาแล้วในที่เฉพาะพระพักตร์ ได้กราบทูลว่า “ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญพระพุทธเจ้าข้า ภิกษุที่นั่งบนอาสนะลำดับพระองค์ชื่อว่าอะไรขอรับ”

สมเด็จพระจอมไตรทรงพระนามว่าอโนมทัสสี จึงได้มีพุทธฎีกาตรัสว่า “ภิกษุผู้ยังธรรมจักรอันเราให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามนั้น บรรลุที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ แทงตลอดปัญญา 16 อย่างตั้งอยู่ผู้นี้ ชื่อ่าอัครสาวกในศาสนาของเรา” (อัคร แปลว่า ผู้เลิศ เป็นสาวกผู้เลิศกว่าสาวกทั้งหลายในศาสนาของพระองค์)

ท่านจึงได้ทำความปรารถนาว่า “ด้วยผลแห่งสักการะของข้าพระองค์ ตั้งฉัตรดอกไม้ทำแล้วตลอด 7 วันนี้ ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาความเป็นท้าวสักกะ (คือพระอินทร์) หรือว่าต้องการจะเป็นพรหม แต่ว่าข้าพระองค์ขอพึงเป็นอัครสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือนพระนิสภเถระองค์นี้” เห็นไหมล่ะ ท่านตั้งใจจะเป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง แต่พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี ท่านมีเสียแล้วนี่ ก็ต้องรอต่อไป

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี เมื่อสดับถ้อยคำของสรทดาบสดังนี้ จึงได้พิจารณาด้วยอำนาจพระพุทธญาณ ทรงพิจารณาว่า ความปรารถนาของบุรุษจักสำเร็จหรือไม่หนอ พระองค์ทรงเห็นว่าผ่านไป 1 อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปแล้วจะได้สำเร็จ ครั้นทรงเห็นแล้ว จึงตรัสกับสรทดาบสว่า

“ความปรารถนาของท่านนี้จักไม่เปล่าประโยชน์ เพราะว่าในอนาคตล่วงไป1 อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสมณโคดม จะทรงอุบัติขึ้นในโลก พระมารดาของพระองค์จักมีพระนามว่า มหามายาเทวี พระพุทธบิดาของพระองค์จะมีพระนามว่า สุทโธทนมหาราช พระโอรสจะมีพระนามว่า ราหุล พระผู้อุปัฏฐากจะมีพระนามว่า อานนท์ พระสาวกที่สองคืออัครสาวก จักมีพระนามว่า โมคคัลลานะ ส่วนตัวท่านจะเป็นอัครสาวกของพระองค์นามว่า ธรรมเสนาบดีสารีบุตร

ครั้นทรงพยากรณ์ดาบสนั้นแล้ว ตรัสธรรมกถา มีภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้วเหาะไป

เป็นอันว่า คำพยากรณ์ขององค์สมเด็จพระจอมไตรทรงบอกละเอียด รู้ละเอียด ญาณนี้จะมีเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ฝ่ายสรทดาบสได้ไปยังสำนักของพระเถระผู้เป็นอันเตวาสิก แล้วกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ขอท่านทั้งหลายจงบอกแก่สหายของข้าพเจ้าว่า สรทดาบสผู้สหายของท่าน ได้ปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกในศาสนาของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระสมณโคดม ซึ่งจะทรงอุบัติขึ้นในอนาคตกาล แทบบาทมูลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า อโนมทัสสีแล้ว ท่านจงปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่สองเถิด”

ท่านบอกแก่บรรดาพระที่เป็นอรหันต์ที่เคยเป็นลูกศิษย์ของท่าน ให้ไปบอกเพื่อน แต่ท่านเองก็ไปเหมือนกัน ไปแล้วได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือนของสิริวัฑฒะ

สิริวัฑฒะได้กล่าวว่า “นานนักหนอพระคุณเจ้าของเราจึงมา” จึงได้นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ ตนนั่งบนอาสนะต่ำกว่า แล้วเรียนถามว่า “ทำไมอันเตวาสิก บริษัทของพระคุณเจ้าทั้งหลายจึงหายไปแล้วเจ้าข้า”

สรทดาบสจึงได้กล่าวว่า “พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าอโนมทัสสีเสด็จมายังอาศรมเป็นวันที่เจ็ด แล้วก็เพิ่งเสด็จกลับวันนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมา เราทำการสักการะแล้ว สมเด็จพระประทีปแก้วแสดงพระธรรมเทศนาโปรด ในเวลาที่จบพระธรรมเทศนา เว้นข้าพเจ้าคนเดียว นอกจากนั้นบรรลุอรหันต์ทั้งหมด และก็บวชเสียแล้ว ข้าพเจ้าเห็นพระนิสภเถระ อัครสาวกเบื้องขวาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีความปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกในศาสนาของพระพุทธเจ้า มีนามว่า “พระสมณโคดม” ซึ่งจะอุบัติขึ้นในโลกในอนาคตกาล แม้เธอก็จงตั้งความปรารถนาในตำแหน่งอัครสาวกที่สอง ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์นั้นเหมือนกัน เพราะเราเป็นเพื่อนกัน”

ท่านสิริวัฑฒะจึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่มีความคุ้นเคยกับพระพุทธเจ้าทั้งหลายเสียเลย จะทำยังไงล่ะขอรับ”

ท่านสรทะจึงกล่าวว่า “เรื่องที่จะทูลกับพระพุทธเจ้าเป็นภาระของข้าพเจ้าเอง ขอท่านจงจัดสักการะที่ยิ่งใหญ่ไว้เถอะ”

ท่านสิริวัฑฒะฟังคำของดาบสผู้ป็นสหายแล้ว ได้ทำสถานที่มีประมาณ 8 กรีส (1 กรีสเท่ากับ 125 ศอก หรือว่า 1 เส้นกับ 11 วา กับอีก 1 ศอก) ท่านกล่าวว่า ได้ทำสถานที่ประมาณ 8 กรีส โดยมาตราหลวง ที่ประตูเรือนของตนให้มีพื้นที่เสมอกัน แล้วเกลี่ยทรายโปรยดอกไม้ และทำมณฑปมุงไปด้วยดอกอุบลสีเขียว (ดอกบัวสีเขียว) ตกแต่งพุทธอาสน์ จัดอาสนะบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นบริวาร จัดสักการะและเครื่องต้อนรับไว้เป็นอันมาก ได้ให้สัญญาแก่ท่านสรทดาบสเพื่อประโยชน์แห่งการนิมนต์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระนามว่าอโนมทัสสี

สำหรับพระดาบส ได้พาภิกษุสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขไปที่อยู่ของสิริวัฑฒกฎุมพีแล้ว สิริวัฑฒกฎุมพีทำการต้อนรับ รับบาตรจากพระหัตถ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชิญเสด็จให้เข้าไปสู่มณฑป ถวายน้ำทักษิโณทก (น้ำฉัน) แก่บรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ซึ่งนั่งบนอาสนะที่ตกแต่งไว้ ได้ถวายโภชนะอันประณีต

ในเวลาที่เสร็จภัตกิจ นิมนต์ภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ครองผ้าอันมีค่ามากแล้ว จึงได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความริเริ่มนี้มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตำแหน่งมีประมาณน้อย ขอพระองค์จงทำความอนุเคราะห์โดยทำนองนี้ สิ้นเวลา 7 วัน”

องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงรับแล้ว เขายังมหาทานให้เป็นไป โดยทำนองนั้นแหละตลอด 7 วัน ถวายบังคมองค์สมเด็จพระภควันต์ยืนประคองอัญชลี กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า สรทดาบส สหายของข้าพระองค์ปรารถนาว่า เราพึงเป็นอัครสาวกเบื้องขวาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใด ข้าพระองค์พึงเป็นอัครสาวกองค์ที่สอง คือเบื้องซ้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเหมือนกัน”

สมเด็จพระภควันต์ทรงพิจารณาถึงอนาคตกาล ทรงเห็นภาวะคือความสำเร็จแห่งความปรารถนาของเขา จึงได้ทรงพยากรณ์ว่า “แต่นี้ล่วงไป 1 อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป แม้ท่านก็จักได้เป็นอัครสาวกองค์ที่สองขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระสมณโคดม”

ท่านสิริวัฑฒะฟังคำพยากรณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เป็นผู้มีความร่าเริงบันเทิงใจ แม้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงทำภัตตานุโมทนา พร้อมด้วยบริวารเสด็จไปยังวิหาร
คำว่า ภัตตานุโมทนา ก็หมายความว่า อนุโมทนาในอานิสงส์ของการถวายทานแล้ว

เป็นอันว่าเมื่อกล่าวเรื่องนี้จบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงกล่าวแก่บรรดาภิกษุทั้งหลายว่า “ก็บุตรของเราคือ โมคคัลลาน์และสารีบุตร เขาตั้งความปรารถนาเป็นอัครสาวกตั้งแต่สมัยนั้น ฉะนั้น เมื่อถึงเวลาแล้ว เราจึงได้ตั้งท่านทั้สองเป็นอัครสาวก จะถือว่าการแต่งตั้งนี้เป็นการเลือกหน้าซึ่งกันก็หาไม่ เพราะเป็นการแต่งตั้งตามความปรารถนาเพื่อตนของตนได้บำเพ็ญไว้แล้ว ได้ตั้งใจแล้ว”
เป็นอันว่า เรื่องบุพกรรมของพระอัครสาวกทั้งสองก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน

 ขอบคุณที่มา http://board.palungjit.com

130
                                                    ทำไมยังเบียดเบียนตนเองอยู่
                      หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

  คำสอนคำเตือนของหลวงปู่ที่ว่า "ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต" นี้
มีความหมายที่เอาไปปรับใช้ได้ตั้งมากมาย
ไม่เพียงแต่ในแง่มุ่งความหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงเท่านั้น

ในชีวิตประจำวัน บ่อยครั้งทีเดียวที่เราคิดว่าเราระวังแต่ในเรื่องไม่เบียดผู้อื่น
แต่เรากลับเผลอเบียดเบียนตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบียดเบียนด้วยความคิดความกังวลต่าง ๆ
ไม่เว้นแม้ในกิจกรรมบุญ

เช่น นั่งลุ้นนั่งวิตกว่า คนที่เราพาเขาเข้าวัดฟังธรรมจะรับธรรมะได้มากน้อยเพียงใด
หรือคิดวิตกไปในอนาคตว่าจะทำนั่นทำนี่ได้ทันเวลาไหม
คิดเปรียบเทียบกับใคร ๆ จนจิตเศร้าหมอง คิดโกรธไม่พอใจการกระทำของคนอื่น
ปล่อยให้โทสะเผาใจเจ้าของอยู่เป็นเวลานาน ฯลฯ
สารพัดความคิดที่เราทำร้ายตัวเราเอง
เรียกว่าเบียดเบียนตัวเราเองโดยแท้


ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่าคิดน่ะคิดได้ แต่ต้องคิดด้วยความรู้คือ
ด้วยปัญญา คิดด้วยใจที่เป็นกลาง ๆ มิใช่คิดด้วยความหลง
คิดไปวิตกไป แบกความคิด แบกอารมณ์ไว้จนหนักเสียยิ่งกว่าแบกอิฐแบกปูน

ทีนี้ เมื่อนึกถึงคำหลวงปู่ที่ว่า"ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต"
เราก็จะได้หมั่นเตือนตนเองว่า เราจะไม่เบียดเบียนตนเองให้ทุกข์เพราะความคิดความกังวล
เราจะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ละชั่ว ทำดี
แล้วก็ที่สำคัญที่สุดคือ ทำใจให้ผ่องแผ้ว เผลอไปก็เอาใหม่ ๆ ๆ

หลวงปู่ท่านให้กำลังใจเสมอว่า "ล้มแล้วก็ให้ลุก ล้มไปก็ตั้งขึ้นใหม่"

นิพพานอันเป็นที่ดับ ทุกข์สิ้นเชิงจะเป็นอย่างไร
เราไม่รู้ แต่ขอเราสัมผัสนิพพานน้อย ๆ คือความที่ไม่ต้องแบกอารมณ์ใด ๆ
ไม่มีเรื่องคาใจ ลิ้มรสความสงบเย็นในหัวใจนี้เรื่อยไป
ก็นับว่าคุ้มค่าที่ได้ทันและนำคำสอนของครูบาอาจารย์มาปฏิบัติ

  ขอบคุณที่มา  http://board.palungjit.com

131
ธรรมะ / ไม่ท้อ ไม่ทุกข์
« เมื่อ: 11 ก.ย. 2553, 11:07:48 »
คนเราทุกคน..
ในช่วงเวลาที่เกิดความทุกข์..
ไม่สบายใจ..สับสน..วุ่นวาย..กับเรื่องราวต่าง ๆ
กับปัญหาต่าง ๆ ที่ประเดประดังเข้ามาในชีวิต


เพียงมีใคร..คนหนึ่ง..
ที่ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหา
อดทนอีกสักนิด..แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น..

แต่ก็มีใครอีกหลาย ๆ คน
พอประสบกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต..
ในรูปแบบแตกต่างกัน..
ก็มักคิดท้อแท้..กลายเป็นท้อถอยไป..
เพียงเพราะไม่มีความอดทน..

ความทุกข์..
มักกลัวคนที่ไม่ยอมแพ้..
ความทุกข์..
มักชอบฝังตัวอยู่กับคนอ่อนแอ..

คนที่ไม่ยอมแพ้
จะเรียนรู้ความทุกข์อย่างเข้าใจ
เพราะคิดว่า..
ความทุกข์ คือ..เพื่อนสนิท..
ที่มาทดลอง..ฝึกให้จิตใจของเราเข้มแข็ง..

แต่สำหรับคนที่ท้อแท้..
เขาจะชอบเรียนรู้..ความสุข..ว่าเป็นอย่างไร
มีลักษณะนิสัยอย่างไร..
พร้อมยินดีที่จะคบหากับความสุขตลอดเวลา..

หารู้ไม่ว่า..
ความสุข..ความสบาย..
คือ..ศัตรูของคนที่ท้อแท้..
เพราะจะให้ความสุขในเบื้องต้น..
แล้วจะให้ความทุกข์ในเบื้องปลาย..

เพราะฉะนั้น..
เราจงมาเรียนรู้วิธีที่จะอยู่กับความสุข-ความทุกข์
ในทุก ๆ เวลาที่เกิดความท้อแท้..กันดีกว่า..

เพื่อนสนิท..
ของคนที่ไม่ท้อแท้..คือ..ความทุกข์
ส่วนเพื่อนจอมปลอม..
ของคนที่ท้อแท้..คือ..ความสุข..

เพราะอะไร ??
เหตุผล..เพราะว่า..
เวลาที่เรามีความสุข..
เราก็มักจะเพลิดเพลิน..หลงใหล..ไปกับความสุข
พอเจอความทุกข์..ก็รู้ไม่เท่าทัน..

แต่สำหรับคนที่ไม่ท้อแท้..
ไม่ว่าจะเจอความทุกข์ในรูปแบบใด
เขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้..และอยู่กับมันได้อย่างเข้าใจ..

รู้สุข – รู้ทุกข์
แล้วปล่อยวาง..ไม่ยึดติดในสุข – ทุกข์
เรียนรู้และเข้าใจทั้งสุขและทุกข์

นั่นแหละ..
เราจึงจะเข้าใจถึงความรู้สึกที่ปราศจากสุขและทุกข์
คือ..วาง..ว่างเปล่า..นั่นเอง..
                                                                                                                    บทความ..โดย..ชายน้อย

ที่มาจาก http://webboard.yenta4.com

132
                                                         อดีต อนาคต ปัจจุบัน

    สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรไปทำความผูกพัน
เพราะเป็นสิ่งของที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง แม้จะทำความผูกพัน
และมั่นใจในสิ่งนั้นกลับมาเป็นปัจจุบัน...ก็เป็นไปมิได้
ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว โดยความไม่สมหวังตลอดไป
อนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็เป็นสิ่งไม่ควรยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน
อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตก็ควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้นที่จะสำเร็จเป็นประโยชน์ได้
เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ไม่สุดวิสัย

      หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
         วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร

 ขแบคุณที่มา http://board.palungjit.com

133
กฎแห่งกรรม / แรงกรรม ...
« เมื่อ: 10 ก.ย. 2553, 01:44:41 »
                                                     แรงกรรม ...

 ...อดีตกาลนานมาแล้ว ยังมีทารกเลี้ยงโค ๗ คนเป็นเพื่อนกัน ทารกเหล่านั้นต้อนโคไปให้กินหญ้าแห่งละ ๗ วันได้ไปซ้ำกันในที่เดียวนั้นหามิได้ คราวหนึ่ง พวกเขาพากันต้อนโคทั้งหลายไปให้กินหญ้าในที่หลายไปให้กินหญ้าในที่แห่งหนึ่งเป็นเวลานานถึง ๖ วันแล้ว ในวันที่คำรบ ๗ บังเอิญได้พบเหี้ยใหญ่ตัวหนึ่งจึงพากันไล่จับดักหน้าดักหลัง เหี้ยใหญ่เห็นภัยบังเกิดขึ้นแก่ตนเช่นนั้น

ก็พลันตกใจสุดขีด วิ่งหนีเอาตัวรอดอุตลุด ในที่สุดก็วิ่งหนีเข้าไปในจอมปลวก แห่งหนึ่ง ทารกโคบาลทั้งหลายจึงปรึกษากันว่า

" เพลาวันนี้เย็นแล้ว พวกเราจะจับเหี้ยใหญ่ให้ได้ดังใจปรารถนาก็เห็นจะค่ำมืด ทางที่ดีพวกเราควรจักหาใบไม้มาอุดรู ขังเจ้าเหี้ยใหญ่ไว้ในจอมปลวกนี้ก่อนดีกว่า เพลาพรุ้งนี้จึงค่อยมาจับมันใหม่"

ปรึกษากันดังนี้แล้ว ก็หักกิ่งไม้มาคนละกิ่งสองกิ่งอุดรูจอมปลวกขังเหี้ยใหญ่ไว้ในนั้นแล้วก็พากันกลับไปบ้าน วันรุ้งขึ้นพอได้เวลาโคบาลทั้ง ๗ นั้น ก็พาพากันต้อนฝูงโคไปเลี้ยงในประเทศถิ่นอื่น โดยลืมนึงถึงเหี้ยที่ตนกักขังไว้ในจอมปลวกเสียสนิท ๗ วันผ่านไป ครั้นถึงวันที่ ๘ จึงได้พากันต้อนโคให้มากินหญ้าในประเทศถิ่นนั้นใหม่ เห็นจอมปลวกนั้นก็พลันระลึกขึ้นได้ว่า " พวกเราปิดรูจอมปลวกกักขังเหี้ยไว้ บัดนี้เหี้ยจักเป็นประการใดหนอ" ระลึกขึ้นได้ด้วยความตกใจเช่นนี้ ต่างคนก็กระวีกระวาดวิ่งมาแล้วพากันไปดิ่งกิ่งไม้ที่ตนอุดไว้ ฝ่ายเหี้ยนั้น ครั้นเห็นช่องแห่งจอมปลวกเปิดแล้ว ก็มิได้มีความอาลัยแก่ชีวิตรีบคลานออกมาโดยช่องแห่งจอมปลวกนั้น ด้วยอาการอันน่าสงสาร ทั้งนี้ก็เพราะเหตุอดอาหารมานานเป็นเวลาหลายวัน ทารกโคบาลทั้งหลาย

ครั้นเห็นเหี้ยใหญ่ซึ่งมีกายอันสั่นและผอมแห้งเหลืองแต่หนังหุ้มกระดูกเพราะขาดอาหาร ค่อยคลานออกมาเช่นนั้น ก็พลันบังเกิดความสงสาร ยิ่งเห็นมันมองตนด้วยสายตาละห้อยคล้ายกับระร้องขอชีวิตอยู่อีกเล่า ก็ยิ่งให้บังเกิดความกรุณาสงสารขึ้นอีกเป็นทวีคูณ จึงกล่าวแก่กันและกันว่า

" เราทั้งหลายอย่าได้ประทุษร้ายมันเลย มันได้รับทุกขเวทนาอดอาหารเป็นเวลานาน มีอาการจะตายเช่นนี้ก็เพราะเราทั้งหลายเป็นเหตุฉะนั้นพวกเราจงช่วยกันพยาบาลมันเถิด"

ว่าแล้วก็ช่วยกันบีบนวดกายแห่งเหี้ยนั้น ทำการพยาบาลไปตามประสาทารก เมื่อสังเกตุเห็นว่าเหี้ยเคราะห์ร้ายนั้น มันมีอาการค่อยแข็งแรงขึ้นแล้ว ก็ลูบหลังแล้วกล่าวว่า " ดูกรเจ้าเหี้ยเอ๋ย! ขอเจ้าจงมีอายุยืนและเที่ยวหากินไปตามยถากรรมของเจ้าเถิด" กล่าวดังนี้แล้ว ก็ปล่อยเหี้ยใหญ่นั้นให้เข้าป่าไป

ทารกโคบาลทั้ง ๗ ซึ่งเป็นเพื่อนรักกัน ได้ประกอบกรรมอันสำเร็จเป็นกุศลปราปริยเวทนียกรรมเช่นนี้

เมื่อถึงแก่ชีพพิตักษัยในชาตินั้นแล้วจะได้บังเกิดในอบายภูมิ คือไปบังเกิดเป็นสัตว์นรกเป็นต้นก็หามิได้ทั้งนี้ก็เพราะกรรมที่ตนทำไว้มิได้เป็นบาปหนักถึงขั้นสำเร็จเป็นอุปปัชฌาเวทนียกรรม แต่กรรมอันเล็กน้อยที่พวกเขาไว้ก็ย่อมมีอยู่ และคอยติดตามพวกเขาเรื่อยไป แต่กรรมไม่ได้โอกาส จวบจนกระทั้ง.......

กาลเมื่อองค์สมเด็จพระสรรเพชญศรีศากยมุนีโคดมบรมโลกนายกเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก ทารกผู้มีอกุศลอปปริยเวทนียกรรมทั้ง ๗ นั้นได้พากันกลับมาเกิดเป็นคนในมนุษย์โลกนี้อีก

ครั้นเติบใหญ่เจริญวัยแล้วก็เป็นเพื่อนรักกันอีกเหมือนชาติก่อน วันหนึ่งมีโอกาสได้สดับคำสอนแห่งพระพุทธศาสนาเกิดมีศรัทธาเลื่อมใส เบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย แลเห็นภัยในวัฏสงสาร จึงพร้อมใจกันเข้ามาบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา เข้าจำพรรษาบำเพ็ญศาสนากิจอยู่ในประเทศแห่งหนึ่ง ครั้นถึงวันปวรณาออกพรรษาแล้ว ภิกษุหนุ่มทั้ง ๗ นั้นมีใจผ่อมแผ้วปรารถนาใคร่จักได้ทอดพระทัศนาและกระทำการบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งสถิตอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี จึงพากันลงสู่นาวามาด้วยกับวาณิชทั้งหลาย ครั้นนาวาแล่นมาถึงที่หมายแล้วพระภิกษุเหล่านั้นก็พากันขึ้นจากนาวา เดินไปตามมรรคาสายที่จะไปสู่กรุงสาวัตถี เดินทางมาตามสบาย พอถึงเพลาสายัณหสมัยใกล้ค่ำ พบอาวาสอันเป็นที่อยู่แห่งพระภิกษุสงฆ์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บรรพตแห่งหนึ่ง จึงเข้าไปหาพระภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาสแล้วแจ้งความว่าจะขอพักอาศัยสักคืนหนึ่ง

" ขอต้อนรับด้วยความเต็มใจ สหธรรมิกทั้งหลาย" ภิกษุเจ้าอาวาสกล่าวรับรองด้วยใจจริง แล้วกล่าวต่อไปว่า " แต่เสนาสนะในอาวาสนี้ไม่มีพอ เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในกลางป่า แต่ว่าที่ใกล้ ๆ วัดนี้มีถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่งเป็นที่สงบสงัดดีนัก เหมาะสำหรับจะเป็นที่พักของอาคันตุกภิกษุทั้งหลายเพราะฉะนั้น กระผมจึงให้คนตกแต่งเสนาสนะไว้ในถ้ำนั้น ถ้าท่านทั้งหลายไม่มีความรังเกียจ นิมนต์ตามกระผมมา กระผมจะพาท่านไปพักในถ้ำที่ว่านั้น "

ภิกษุเจ้าอาวาสผู้มีใจอารี กล่าวดังนี้แล้ว ก็พาพระภิกษุทั้ง ๗ นันไปพักยังถ้ำซึ่งจัดไว้เป็นที่รับรองพระอาคันตุกะผู้จรมา ในถ้ำนั้นมีเตียงอยู่ ๗ เตียง พระภิกษุทั้ง ๗ องค์นั้นก็พอดีได้มีโอกาสพักผ่อนหลับนอนอยู่บนเตียง ๆ ละองค์

เมื่อจัดแจงให้พระภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายหลับนอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านเจ้าอาวาสลากลับไปแล้ว ก็แยกย้ายกันขึ้นเตียงอันเป็นที่พักของตน ในไม่ช้าต่างก็พากันเข้าสู่นิทรารมณ์หลับใหล ด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการที่ได้เดินทางตรากตรำมาเป็นเวลานาน และแล้วในขณะที่พระภิกษุทั้งหลายกกำลังนอนหลับใหลอย่างไร้สติสมปฤดีอยู่นั้นเอง

เหตุการณ์ประหลาดอันเป็นผลจากการตามมาทันแห่งอปราปริยเวทนียกรรมฝ่ายอกุศล ที่ท่านเหล่านั้นได้กระทำไว้ในชาติที่เกิดเป็นเด็กโคบาลขังเหี้ยใหญ่ ก็พลันบังเกิดขึ้นในยามดึกราตรีนั้นทันที นั้นคือ ศิลาแผ่นใหญ่ซึ่งประดิษฐานอยู่ใกล้ ๆ ปากถ้ำนั้น มันค่อย ๆ เขยื่อนเลื้อนมาแล้วปิดประตูถ้ำไว้อย่างแน่นหนาเป็นอัศจรรย์ โดยพระภิกษุเหล่านั้นจะได้รู้สึกตัวก็หาไม่ เพราะกำลังนอนหลับใหลอย่างสบายอารมณ์อยู่

เข้าตรู่วันรุ้งขึ้น พระภิกษุรูปหนึ่งตื่นขึ้นก่อน ปรารถนาจักได้น้ำล้างหน้า จึงลงมาจากเตียงเดินไปที่ประตู เห็นมีก้อนหินมาปิดอยู่ จึงลองเอามือผลักดูค่อย ๆ ก้อนหินศิลานั้นจักได้เขยื่อนแม้แต่สังหน่อยก้หาไม่

เกิดแอะใจขึ้นมา จึงปลุกสหายให้ตื่นขึ้นมาแล้วมาช่วยกันผลัก แม้จะรวมกำลังกันเป็น ๗ แรงแข็งขัน ผลักก้อนหินใหญ่นั้นสักเท่าใด แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามันจะเขยื่นเคลื่อนที่ประการใด ในที่สุด จึงลงนั่งกอดเข่าปรึกษาหาเหตุผล ในกรณีที่มีแผ่นศิลามาปิดปากถ้า แล้วก็ลงมติโดยการเดาเอาไปในทำนองที่ว่า

" การที่มีแผ่นศิลามาปิดปากถ้ำนี้ ชะรอยจักเป็นความกรุณาปรานีของท่านเจ้าอาวาสโดยท่านเห็นว่าพวกเราอาจจะได้รับอัตรายอย่างใดอย่างหนึ่งในยามราตรี จึงขวนขวายหาวิธีกลิ้งแผ่นศิลามาปิดประตูเสียในขณะที่พวกเรากำลังหลับอยู่ รออีกสักครู่ประเดี๋ยวเถิดท่านเจ้าอาวาสผู้มีใจปรานีนั้น ก็คงจักมาเปิดประตูถ้ำนี้ให้เอง"

พระภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายเข้าใจเอาเองเช่นนี้แล้ว ต่างก็พากันนั่งรอเวลาที่ท่านเจ้าอาวาสจะมาเปิดถ้ำให้ด้วยใจเย็น นั่งรออยู่เป็นเวลานาน กาลเวลาก็ผ่านไปเรื่อย ๆ จนกระทั้งเพลาสาย ในที่เย็นของพระภิกษุเหล่านั้นก็กลายเป็นกระสับกระส่าย เพราะไม่มีน้ำที่บ้วนปากล้างหน้า

ทั้งข้าวปลาอาหารที่จะขบฉันก็มิได้มี เมื่อสุดที่จักอดทนได้แล้ว จึงระดมกำลังช่วยกันผลักไสแผ่นศิลานั้นอีกครั้งหนึ่งอย่างสุดแรงเกิดทุก ๆ รูปผลปรากฏคงเดิม คือแผ่นศิลาที่ปิดประตูถ้ำอยู่นั้นจะได้เคลื่อนไหวแม้แต่สักนิดหนึ่งก็หาไม่ ยังคงประดิษฐานตั้งมั่นอยู่เหมือนเดิม

ฝ่ายท่านเจ้าอาวาสผู้มีใจอารี พอตื่นขึ้นเพลาเช้าก็กระวีกระวาดจัดแจงน้ำฉันพร้อมทั้งภัตตาหารอย่างพิเศษ เพราะมีอาคันตุกะมาพักอาศัยมากถึง ๗ องค์ เสร็จเรียบร้อยแล้วก็นั่งรออยู่ในกุฏีแห่งตน โดยนึกว่าในไม่ช้าเมื่อพระอาคันตุกะตื่นขึ้นแล้ว ก็คงจะพากันมาล้างหน้าล้างตาและฉันภัตตาหารที่กุฏิตามที่ได้อาราธนาไว้

นั่งรออยู่จนสายผิดสังเกตุก็ยังไม่เห็นพระภิกษุเหล่านั้นมาสักที จึงใช้ให้พระภิกษุลูกวัดรูปหนึ่งไปนิมนต์

"ข้าแต่พระเดชพระคุณ! พระอาคุนตุกะเหล่านั้นออกมาจากถ้ำไม่ได้เพราะมีก้อนศิลาใหญ่ก้อนหนึ่งปิดประตูถ้ำไว้ ขอรับกระผม" ภิกษุรูปนั้นรีบกลับมารายงาน

" ก้อนศิลาอะไรกัน?" ท่านเจ้าอาวาสถามด้วยความสงสัย เอ๊ะ! มันน่าแปลกใจก้อนศิลาอะไรที่ไหนจะมาปิดปากถ้ำ เรานี้ให้แปลกใจนัก มีพระมาพักตั้งหลายหนหลายครั้งแล้วไม่เห็นจะต้องปิดประตูเลย หรือพระภิกษุเหล่านั้นกลัวจะมีอันตราย จึงช่วยกันกลิ้งก้อนศิลามาปิดปาดถ้ำไว้เองกระมัง ไหนไปดูกันสักหน่อย" กล่าวแล้วท่านเจ้าอาวาสพลันลุกขึ้นครองจีวร แล้วรีบเดินไปยังถ้ำที่พระภิกษุอาคันตุกะพักทันที

เมื่อไปถึงและได้แลเห็นก้อนศิลาใหญ่ปิดประตูถ้ำอย่างมิดชิดเช่นนั้นก็ให้บังเกิดความอัศจรรย์ใจ จึงตะโกนถามพระภิกษุที่อยู่ข้างในว่า เหตุไรก้อนศิลาใหญ่จึงกลิ้งมาปิดประตูถ้ำได้ ท่านทั้งหลายช่วยกันกลิ้งมาปิดไว้หรือไร เมื่อพระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นบอกว่าไม่ทราบเรื่อง ก็ให้นึกเคืองใจว่าจักมีใครมาแกล้งปิดประตูเพื่อให้พระภิกษุเหล่านั้นได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแน่ ๆ จึงกลับไปวัดเกณฑ์พระภิกษุสามเณรตลอดจนคนอาศัยทั้งหมดให้มาช่วยกันผลักไสก้อนหินใหญ่นั้น ครั้นคนทั้งหลายมาประชุมกันที่ปากถ้ำแล้ว ท่านเจ้าอาวาสจึงตะโกนบอกพระภิกษุอาคันตุกะซึ่งอยู่ภายในถ้ำว่า

" ข้าแต่ท่านสหธรรมิกทั้งหลาย ! ขอพวกท่านจงอย่าได้น้อยน้ำใจเลยพวกเราจะช่วยท่านทั้งหลายโดยการช่วย กันผลักก้อนหินให้ออกจากถ้ำเดี๋ยวนี้แหละ แต่ขอแรงให้พวกท่านจงช่วยกันหน่อย คือพวกเราจักเอาเชือกผูกก้อนศิลาใหญ่แล้วดึงลากออกมา ท่านทั้งหลายอยู่ภายในก็ร่วมแรงร่วมใจกันผลักจนเต็มกำลังเถิด"

ท่านเจ้าอาวาสผู้มีใจอารีซึ่งได้ให้พระลูกวัดไปแจ้งความแก่ประชาชนทั้งหลายทั่วทั้ง ๗ หมู่บ้าน ให้พากันมาออกแรงฉุดก้อนหินเพื่อช่วยเหลือพระภิกษุเหล่านั้นและก็เป็นการเอาเอาบุญด้วย แต่แรงอะไรเล่าจะมาเท่าแรงกรรม ด้วยเหตุนี้ แม้จะมีประชาชนร่วมใจกันออกแรงฉุดกระฉากลากก้อนหินเจ้ากรรมนั้นประมาณมากมายถึง ๗ หมู่บ้านก็ตามที แต่ก็หาให้ก้อนศิลาใหญ่นั้นขยับเขยื่อนได้เลย

" จะทำอย่างไรกันดี!ละท่านเราก็ได้ช่วยกันออกแรงกันจนสุดแรงเกิดแล้ว จะหาวิธีใดให้ดีกว่านี้ก็ไม่มี บากเราจงช่วยกัน ฉุดลากมันไปจนกว่าจะสำเร็จ หากพวกเราไม่พยายามช่วยเหลือ ก็เท่ากับว่าปล่อยให้พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายถึงแก่ความตายในถ้ำเป็นแน่" เหล่าประชาชนทั้งหลายต่างก็พากันบ่นและเหนื่อยอ่อนแรงแต่ก็ไม่ยอมท้อถอยกันยังคงมีความหวังว่าจะต้องลากก้อนหินออกจากถ้ำนี้ให้ได้

" บาปหนักเห็นจะตกอยู่แก่อาตมา! เพราะว่าอาตมาเป็นผู้พาท่านเหล่านั้นเข้าไปพักในถ้ำเอง โธ๋เอ๋ย ไม่น่าเลย" ท่านเจ้าอาวาสเอยรำพึงออกมา

ท่านเจ้าอาวาสพร้อมทั้งพระภิกษุสามเณร และประชาชนในละเวกใกล้เคียงกันนั้นทั้ง ๗ หมู่บ้าน ได้ร่วมแรงร่วมใจกันมาทำงานเอาก้อนศิลาใหญ่ออกจากประตูถ้ำ เพื่อช่วยชีวิตพระภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายทุก ๆ วันเป็นเวลาครบ ๖ วันแล้วก็ไม่มีอะไรคืบหน้าต่างคนก็อ่อนแรงอ่อนใจไปตามกัน ส่วนพระภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะว่าเสียงเงียบหายไปตั้งแต่ ๓-๔ วันก่อนโน้นแล้ว พอตกมาถึงคืนวันที่ ๗ ในขณะที่ทุกคนกำลังหลับสนิทอยู่ด้วยความอ่อนเพลียนั้นก้อนศิลาประหลาดซึ่งสถิตแน่นเหมือนถูกสาปให้ติดอยู่ที่ประตูถ้ำ ก็ค่อย ๆ เคลื่อนออกแล้วกลิ้งไปประดิษฐานอยู่ในที่เดิม ซึ่งอยู่ห่างพอสมควร โดยไม่มีใครมาฉุดกระชากลากไปแม้แต่สักคนเดียวเป็นอัศจรรย์

เมื่อชาวบ้านเห็นเช่นนั้นต่างก็รีบวิ่งเข้าในถ้ำ ก็ได้ประสบกับภาพที่น่าสังเวชสลดใจเพราะพระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น มีอากัปกิริยาต่าง ๆ กัน บางรูปนอนหายใจระรวยรอความตายอยู่บนเตียง บางรูปก็มีกิริยาว่าได้กระเสือกกระสนพยายามคลานมาแล้ว ถึงแก่วิสัญญีภาพสลบลง ณ ที่ใกล้ประตูถ้า บางรูปก็มีกิริยาขวนขวายว่าจะขึ้นไปบนเตียง แต่ไม่มีเรี่ยวแรงที่จักขึ้นไปได้ นอนหายใจแขม่วอยู่ใกล้เตียงแห่งตนนันเอง

รวมความแล้วพระอาคันตุกะเหล่านั้นได้รับความทุกข์ทรมานเหนื่อยอ่อนอิดโรย ด้วยความหิวโหยอย่างเหลือประมาณ ทั้งนี้ก็เพราะไม่ได้ขบฉันข้าวปลาอาหารและไมได้ดื่มน้ำมาเป็นเวลานาน ๗ วัน ยังความสงสารให้เกิดขึ้นแก่ชนผู้ได้พบเห็นเป็นอันมาก จึงได้รีบหามมายังกุฏีเจ้าอาวาสแล้วช่วยกันรักษาพยาบาลต่อกาลไม่นานเท่าใด สุขภาพร่างกายของท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็กลับฟื้นคืนเป็นปรกติดังเดิม

ข้าแแต่พระเดชพระคุณ! ข้าพระเจ้าทั้งปวงนี้ ขอกราบขอบพระคุณท่านที่ได้กรุณาให้ความอนุเคราะห์เป็นอย่างดียิ่งในคราวนี้ เหตุที่เกิดขึ้นแก่พวกข้าพเจ้าในครั้งนี้นับว่าแปลกประหลาดอยู่ คนอื่นใครเล่าจักรู้เรื่องนี้ดีไปกว่าองค์สมเด็จพระสัพพัญญูบรมครูเจ้าแห่งเราทั้งหลาย

ฉะนั้นพวกข้าพเจ้าจึงมาขอกราบอำลาท่านในวันนี้ เพื่อจักไปถึงที่เฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเร็ววัน" ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น เข้าไปกลาบลาท่านเจ้าอาวาสหลังจากที่ตนหายไปเป็นปรกติดีแล้ว

" นิมนต์ท่านตามอัธยาศัยของท่านเถิด ขอท่านทั้งปวงจงเดินทางไปโดยสวัสดีและข้าพเจ้านี้ขอฝากถวายบังคมไปยังแทบเบื้องพระยุคลบาทแห่งองค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาค

พระองค์ผู้ทรงเป็นพระบรมครูเจ้าแห่งเราทั้งหลายด้วย" ท่านเจ้าอาวาสกล่าวตอบ พร้อมกับเดินทางส่งพระภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย จนถึงหนทางใหญ่พ้นบริเวณวัดป่า

มุ่งหน้าเดินทางมาจนบรรลุถึงเขตตัวเมืองสาวัตถีแล้ว พระภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย ผู้ได้สบผลวิบากอกุศลอปปริยเวทนีกรรมแห่งตนมาแล้วนั้น ก็พากันไปยังบริเวรวิหารใหญ่ที่มีชื่อว่าพระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่สถิตอยู่แห่งองค์สมเด็จพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลครั้งนั้น

ครั้นได้โอกาสแล้วก็พร้อมกันเข้าไปเฝ้าพระองค์จนถึงที่ประทับ แล้วก็ได้ทูลถามถึงประสบการณ์ที่พวกตนได้รับในระหว่างที่เดินทางมาว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้า พระองค์ผู้ทรงพระญาณวิเศษสามารถทราบชัดสันดานสัตว์ทั้งปวง จึงมีพระพุทธฏีกาตรัสว่า " เหตุที่เกิดขึ้นแก่เธอทั้งหลายในครั้งนี้ เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งกรรมที่พวกเธอได้กระทำไว้ในอดีต" แล้วก็ทรงมีพระมหากรุณาตรัสเล่าประวัติความเป็นมาในชาติหนหลัง ตั้งแต่ครั้งพระภิกษุเหล่านั้นเป็นทารกโคบาลกักขังเหี้ยไวในจอมปลวก ผลกรรมในครั้งนี้ตามมาทัน จึงบันดาลให้ต้องถูกกักขังได้รับความทุกข์ทรมานภายในถ้ำใหญ่ในชาตินี้ แล้วมีพระพุทธฏีกาตรัสอีกสืบไป เป็นใจความว่า

" บุคคลที่ทำบาปกรรมไว้ การที่ว่าจะพ้นจากบาปกรรมนั้นเป็นอันไม่มี! ถ้าหากจะมีบุคคลผู้ใดใครผู้หนึ่ง ซึ่งได้ทำบาปกรรมไว้แล้วและคิดว่า เราจักพ้นจากบาปกรรมที่เราทำไว้ด้วยอุบายวิธีนี้ แล้วจึงขึ้นไปสถิตอยู่บนอากาศก็ดี หรือจะหนีลงไปหลบซ่อนอยู่ในมหาสมุทร ซึ่งมีความลึกประมาณ ๘๔. ๐๐๐ โยชน์ก็ดี หรือจะหนีเข้าไปแอบซ่อนอยู่ในซอกเขาอันมิดชิดก็ดี การที่ว่าจักพ้นจากบาปกรรมที่ตนทำไว้นั้น ย่อมจักเป็นไปไม่ได้เลย ทั้งนี้ก็เพราะว่าทั่วทั้งพื้นปฐพีนี้ จะหาสถานที่สักแห่งหนนึ่งซึ่งเป็นสถานที่ที่หลบบาปกรรมที่ทำไว้ แม้จะเป็นสถานที่ประมาณเท่าขนทรายเท่านั้น ก็หามิได้เลย"

เมื่อได้สดับพระพุทธฏีกาจบลงฉะนี้ พระภิกษุผู้มีกรรมทั้งหลายเหล่านั้นก็บังเกิดความสังเวชใจใคร่จะทำลายกรรมตามพุทธธวิธี จึงตั้งใจเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ยังวิปัสสนาญาณให้บังเกิดขึ้นในสันดานโดยลำดับ

ในที่สุดก็สามารถตัดโคตรปุถุชนและหยั่งลงสู่อริยภูมิ มีโสตาบันโลกถตรภูมิเป็นต้น ซึ่งมีหวังว่าจะพ้นจากกรรมทั้งปวงอย่างเด็ดขาดในอนาคตกาลด้วยประการฉะนี้............

ที่มาhttp://larnbuddhism.com/godgram/godgram/

134
                                             อย่าทำผิดทั้งชีวิต (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

                                                   อย่าทำผิดทั้งชีวิต

                                                สมเด็จพระญาณสังวร
                                      สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก


สมัยนี้มีผู้ชอบกล่าวว่า เงินไม่มีเกียรติไม่มี นั่นไม่ใช่ความถูกต้อง เป็นความรู้สึกของคนบางคนเท่านั้น

คนบางคนที่มีความเห็นผิดเป็นชอบ เท่านั้นที่จะมีความรู้สึกว่า คนไม่มีเงินเป็นคนไม่มีเกียรติ เงินกับเกียรติมิใช่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มิใช่เป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ คนไม่มีเงินแต่มีเกียรติก็มีอยู่ คนมีเงินแต่ไม่มีเกียรติก็มีอยู่ ความสำคัญอยู่ที่ว่า เงินที่มีหรือที่ได้นั้นเป็นเงินที่จะทำให้เกียรติยศชื่อเสียงสิ้นไปหมดหรือไม่ ควรจะพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ยังคำนึงถึงชื่อเสียงเกียรติยศของตนเอง และของวงศ์ตระกูล

เช้าวันนี้ใครสักคนอาจจะตื่นขึ้นด้วยจิตใจเร่าร้อนเป็นอันมาก เมื่อพิจารณาหาเหตุผลก็ได้พบว่า เมื่อวานหลานเล็กๆ กำลังน่ารักน่าเอ็นดูและเป็นที่รักที่ชื่นใจอย่างยิ่งร้องไห้กลับมาจากโรงเรียน สะอึกสะอื้นอย่างเสียอกเสียใจยิ่งนัก ปลอบถามก็ได้ความว่า ถูกเพื่อนเด็กๆ ด้วยกันนั่นเองตะโกนล้อว่า เป็นหลานคนขี้โกง เด็กได้พยายามแก้ว่าไม่เป็นความจริง แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะเด็กหลาย คนรุมกันยืนยัน เมื่อเด็กร้องไห้แล้วเล่าให้ฟังนั้น ใครจะรู้สึกอย่างไรไม่ทราบ แต่เจ้าตัวเองนั้นรู้สึกว่ากระทบกระเทือน เหลือเกิน ทั้งอายทั้งโกรธ เหตุก็เพราะรู้ตัวว่า เงินทองที่หาได้อยู่เสมอๆ นั้น ได้มาด้วยวิธีที่ไม่ชอบไม่ควรจริงๆ จริงอยู่ เสียงที่กล่าวหาเป็นเสียงของทารกไร้เดียงสา แต่ถ้าไม่ได้ฟังมาจากผู้ใหญ่แล้ว ทารกไร้เดียงสาเหล่านั้นจะไปได้ความคิดจากไหน นึกถึงหลานเล็กๆ ที่อับอายขายหน้าถึงกับร้องไห้ลั่น เพราะต้องเป็นลูกหลานคนขี้โกง นึกแล้วก็สงสาร ไม่สบายใจ ไม่ได้เป็นความผิดของเด็กเลย แต่เป็นความผิดของผู้ใหญ่แท้ๆ

เมื่อวางทิฐิในทางที่ผิดลง ยอมสารภาพทุกสิ่งทุกอย่างกับตนเองอย่างเปิดเผย ด้วยการคิดตอบโต้กับตัวเองอยู่ในใจอย่างยืดยาว ก็ได้ผลสรุปลงว่า ความโลภของคนคนเดียวที่นำให้กระ ทำสิ่งที่ผิด เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองนั้น ความเสื่อมเสียมิได้เกิดแก่ คนคนเดียว แต่เกิดติดต่อไปได้ถึงพี่น้องลูกหลาน ใครรู้ใครเห็นก็จะกล่าวตำหนิว่า พี่คนโกง น้องคนโกง ลูกคนโกง หลานคนโกง ฯลฯ คนเหล่านั้น ก็พลอยได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศไปด้วย เมื่อทำตนให้มั่งมีเพราะการโกง แต่ขณะเดียวกันก็ทำ ให้คนอื่นต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ เช่นนี้จะเรียกว่า ฉลาด มีปัญญาทำ สิ่งที่สมควรได้อย่างไร ต้องเรียกว่าไม่ฉลาดเลย ไม่มีปัญญาเลย จึงได้ทำสิ่งที่ไม่ควรจะทำ

ชื่อเสียงเกียรติยศเป็นสิ่งมีค่ายิ่ง ควรถนอมรักษาไว้ ควรแลกได้แม้กับทรัพย์สินจำนวนมาก

เสียงภายในใจบอกว่าไหนๆ ก็โลภ จนเสื่อมเสียไปแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะมาเสียใจ ไม่มีประโยชน์ที่จะคิดแก้ไข ไม่อาจทำให้ชื่อเสียงเกียรติยศกลับคืนดีได้แล้ว สู้หาลาภผลต่อไปดีกว่า อย่างน้อยก็ยังมั่งมีเป็นเศรษฐี ไม่มีใครกล้ามาชี้หน้าได้ตรงๆ ว่าโกงว่ากิน

เมื่อเสียงในใจดังขึ้นเพื่อฉุดกระชาก ไปในทางผิดต่อไปเช่นนี้ สติที่เกิดขึ้นทัน จะทำให้คิดตอบแก้ได้ว่าไม่ถูก คิดเช่นนั้นไม่ถูก ชื่อเสียงเกียรติยศที่เสียไปแล้วก็เป็นส่วนที่เสียไป แต่ถ้ากลับมากระทำความดี ละความชั่วความผิดแต่เดิมเสีย เช่น ไม่โลภ ไม่โกงต่อไป ก็จะสามารถสร้างชื่อเสียงเกียรติยศใหม่ขึ้นได้

ตัวอย่างก็มีอยู่ คนที่กลับตัวกลับใจได้ แม้จะมีผู้รู้อดีตที่ผิดที่ชั่วก็จะไม่นำมากล่าวถึงอย่างตำหนิติเตียน แต่มักจะนำมายกย่องสรรเสริญว่าเป็นคนดีที่กลับตัวกลับใจได้ ไม่ทำผิดทำชั่วไปตลอดชีวิต เป็นคำยกย่องสรรเสริญที่จะทำให้ผู้ได้รับภาคภูมิใจ เกิดปีติยินดีและเกิดกำลังใจ เชื่อมั่นว่าแม้จะได้ทำผิดไปแล้วเพียงใด ต้องเสื่อมเสียชื่อ เสียงเกียรติยศไปแล้วเพียงไหน ก็ควรกลับใจ ละความไม่ดี มาทำความดี เช่น ละความโลภที่รุนแรง จนทำให้แสวงหาโดยมิชอบ มาทำความโลภให้ลดน้อยลง ตามลำดับ ด้วยการพยายามดับความปรารถนาต้องการให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งควรจะต้องกระทำถึง ๒ วิธี คือ ไม่ดิ้นรนแสวงหา และสละสิ่งที่แสวงหามาไว้แล้วให้เป็นทาน ทั้ง ๒ วิธีนี้ต้องทำให้สม่ำเสมอให้เป็นนิสัย จึงจะเห็นผลคือเห็นความโลภลดลงจนถึงหมดสิ้นไปได้ในวาระหนึ่ง

ที่จริง จิตใจเวลามีความปรารถนาต้องการ กับเวลาไม่มีความปรารถนาต้องการนั้นแตกต่างกันมาก จิตใจยามมีความโลภหรือความปรารถนาต้องการนั้นไม่ได้มีความสุข มีแต่ความร้อน ความตื่นเต้นกระวนกระวายขวนขวายเพื่อให้ได้สมปรารถนา จิตใจยามไม่มีความปรารถนาต้องการนั้นมีความสุข อย่างยิ่ง เห็นจะต้องเปรียบง่ายๆ คือ ในยามหลับกับในยามตื่น ยามหลับไม่มี ความปรารถนาต้องการ ยามตื่นมีความปรารถนาต้องการ ทุกคนเหมือนกันไม่มียกเว้น ยามไหนเป็นยามสบายที่สุด ทุกคนตอบได้และคำตอบทุกคนเหมือนกัน

คนที่หลับแล้ว สงบแล้วจากความปรารถนาต้องการไม่ว่าจะหลับบนฟูก อันอ่อนนุ่มในคฤหาสน์ใหญ่โตมโหฬารหรูหราเพียงใด หรือจะหลับอยู่บนดินบนทรายแข็งระคายเพียงไหน ย่อมเป็นสุข เพราะจิตใจพ้นจากอำนาจของความปรารถนาต้องการที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ความร้อน

แม้คิดเปรียบถึงความสุขและความไม่สุขของคนนอนหลับกับคนตื่นอยู่ กับความสุขและความไม่สุขของคนมีความปรารถนาต้องการรุนแรงในใจ กับคนมีความปรารถนาต้องการน้อย ก็จะได้พบคำตอบที่ชัดเจนที่น่าจะทำให้ตัดสินใจเลือกได้ว่าควรพยายามทำใจตนเองให้มีความปรารถนาต้องการน้อยหรือไม่

ทุกคนต้องการความสุขความสบายใจด้วยกันทั้งนั้น แต่ทุกคนก็ยังไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ เพราะใจยังมีความปรารถนาต้องการหรือความโลภนี้แหละอยู่เป็นอันมาก โดยที่ไม่พยายามทำให้ลดน้อยลง เห็นจะด้วยมิได้คิดให้ประจักษ์ในความจริงว่า ความโลภคือเหตุใหญ่ประการหนึ่ง ซึ่งนำให้ความทุกข์ให้ร้อน ให้ไม่มีความสุขความสบายใจกันอยู่อย่างมากทั่วไปในทุกวันนี้ แม้ทำสติพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ไม่ยากนัก ว่าความทุกข์ความร้อนที่มีมาแต่ไหนๆ และดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มขึ้นในปัจจุบันนี้ เกิดจากความโลภหรือความปรารถนาต้องการเป็นสำคัญ

เช้าวันนี้ ใครสักคนอาจจะตื่นขึ้นด้วยอารมณ์ขุ่นมัวยิ่งนัก เมื่อพิจารณาหาเหตุผลได้พบง่ายๆ ว่าเมื่อคืนนอนหลับดึกมาก เพราะเมื่อเข้านอนนั้นใจเกิดย้อนนึกไปถึงอดีตของตนเองที่ไม่อุดมสมบูรณ์เช่นขณะนี้ ซ้ำยังขาดแคลนเป็นอย่างยิ่งเสียด้วย แต่เพราะเป็นคนมีโอกาส จะไม่ขอกล่าวว่าโอกาสดี เพราะความจริงนั้นมิใช่โอกาสดี เป็นเพียงโอกาสที่เปิดให้สามารถถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่ของตนไปเป็นของตนได้เท่านั้น และโอกาสเช่นนั้นก็มีบ่อยจนสามารถทำให้ฐานะเปลี่ยนแปลงเป็นตรงกันข้าม อยู่ในปัจจุบันนี้ นึกถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสมบัติมีค่าของตน เช่นที่เคยนึกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

แต่ประหลาดที่ครั้งนี้นึกผิดกับทุกครั้ง คือ เมื่อนึกนั้นมิได้นึกอย่างภาคภูมิมีความสุข ในครั้งนี้กลับไปนึกอย่างเดือดร้อน เพราะความจริงในใจที่ตนเองรู้อยู่ไม่ยอมฝังตัวเงียบอยู่ต่อไป หากโผล่พลุ่งขึ้นมาเหมือนส่งเสียงบอกดังลั่นอยู่ในความรู้สึกของตนเองว่า สมบัติมีค่าที่ตนกำลัง ได้ครอบครองอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ได้มามิชอบทั้งสิ้น เสียงนั้นดังลั่นๆ จาระไนต่อไปว่า ได้มาอย่างไรบ้าง ทำให้ใครต้องเดือดร้อนเพราะการได้ของตนอย่างไรบ้าง เสียงนั้นมิได้เกรงอกเกรงใจเสียเลย จาระไนชัดเจนแจ่มแจ้ง ไม่ยอมหยุดยั้งว่าเจ้าตัวจะโมโหโทโสและพยายามจะบังคับให้เสียงนั้นหยุดประจานอดีตชั่วร้ายของตนเสียที จนในที่สุดก็จำต้องใช้ยานอนหลับ เมื่อกลางคืนเกือบจะผ่านพ้นไป จึงสามารถทำ ให้เสียงอันกล้าหาญไม่เกรงกลัวอำนาจใดๆ เลย หยุดไปได้เพราะการนอนหลับด้วยอำนาจยาระงับประสาท

แต่ก็ดูเหมือนว่าเสียงนั้น จะยังคอยจ้องที่จะทำลายจิต ใจต่อไปอีก เพราะเมื่อรู้ตัวตื่นขึ้นในเช้าวันนี้ เสียงนั้นก็ย้อนกลับมาดังขึ้นอีกทันทีพร้อมกับความขุ่นมัวเศร้าหมองเป็นอันมาก หากเสียงนั้นมิได้เป็นเสียงแห่งอนุสติของตนเอง หากเสียงนั้นเป็นเสียงของบุคคลอื่นภายนอก ก็แน่นอนเหลือเกินที่จะต้องถูกจัดการให้รับโทษไปแล้วอย่างหนัก ฐานบังอาจนำความจริงที่ตนเองไม่ปรารถนาให้ใครพูดถึง มาตะโกนประจานอยู่ลั่นๆ และยืดยาว เรียกได้ว่าเกือบจะไม่เหลือ อะไรให้ปกปิดเป็นความลับไว้อีกเลย

เสียงในใจตนเองจาระไนเสียหมดสิ้น ชี้โทษให้หมดสิ้น พยายามค้านก็ค้านไม่ขึ้น เพราะที่ค้านนั้นตัวเองก็รู้ว่าเป็นเพียงการพยายามที่จะปิดบังความจริงซึ่งเคยใช้มาแล้วกับบุคคลอื่นที่มิใช่ตนเอง ที่ไม่ว่าเขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อเขาก็แสดงออกให้เห็นว่าเขาเชื่อ แต่เมื่อมาใช้กับตนเองกลับไม่ได้ผลเลย ยกเหตุผลอธิบายไปก็ย้อนตอบกลับมาอย่างทำให้ใจร้อนเป็นฟืนเป็นไฟทุกครั้งไป เพราะทำให้เห็นโทษที่ตนได้กระทำไปแล้วชัดเจนและมากมาย ทำให้พาลเห็นเครื่องบ้านเครื่องเรือนราคาแพงลิบลิ่ว ที่อุตส่าห์หามาด้วยอำนาจความปรารถนาต้องการ กลายเป็นสิ่งอัปมงคลที่ทำให้ต้องเดือดร้อนหัวใจ ความพลุ่งพล่านทำให้คิดไปว่าได้สิ่งอัปมงคลมาไว้ จะต้องทำลายเสียให้หมดในวันนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีความสงบสบายใจ จะมีแต่ความเดือดร้อน แต่ยังมีสติเกิดขึ้นได้ทันเวลาในขณะนั้น ทำให้มีเสียงถามขึ้นในใจอย่างชัดเจนว่า

ความเดือดร้อนเกิดจากสิ่งของจริงหรือ มิได้เกิดจากใจตนเองดอกหรือ เสียงนั้นเป็นเสียงที่เกิดจากสติ เมื่อถามแล้วก็ตอบให้อย่างชัดเจนด้วยว่า ความเดือดร้อนทั้งหลาย เกิดจากใจตนเอง ใจที่เต็มไปด้วยกิเลส โดยเฉพาะความโลภความปรารถนาต้องการอย่างรุนแรงอย่างไม่มีขอบเขต จนกระทั่งทำให้ได้มาซึ่งสมบัตินอกกายทั้งหลายมากมาย ซึ่งหลงคิดว่าจะทำให้ไม่ต้องเดือดร้อนใจอีกต่อไปเพราะความไม่มี หาได้ทันคิดไม่ว่าความเดือดร้อนใจที่เกิดจากความไม่มีนั้น ไม่รุนแรงเท่าความเดือดร้อนใจที่เกิดจากความมีโดยมิชอบ

ความมีหรือความได้มาโดยมิชอบทำให้ความร้อนใจจริงโดยเฉพาะผู้ที่ยังพอรู้จักบาปบุญคุณโทษแล้ว แม้จะพยายามปกปิดหลอกคนอื่นอย่างไร ก็ปกปิดหลอกตนเองไม่ได้ ก็จะต้องเดือดร้อนเพราะความรู้จักผิดชอบของตนเองแน่นอน ความรู้จักผิดชอบเกิดขึ้นเมื่อใด จะทำให้ผู้ที่ได้อะไรๆ ไปโดยมิชอบ โดยผิดศีลธรรม ต้องเร่าร้อน และความรู้สึกผิดชอบจะต้องเกิดขึ้นแก่ทุกคน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อาจจะเมื่อใกล้ตายหรืออาจจะก่อนหน้านั้น จะทำความทรมานใจให้เป็นอันมาก

เพราะทุกคนแม้จะทำลืมไม่สนใจเรื่องผลของกรรม แต่จะมีวันหนึ่งที่จะทำลืมไม่สำเร็จ น่าจะเป็นวันที่นึกถึงความตายได้อย่างมีสติและปัญญาว่าจะต้องมาถึงตนในวันหนึ่งแน่นอน หนีไม่พ้น วันนั้นแหละอำนาจความโลภหรือความปรารถนาต้องการที่ทำให้แสวงหาสมบัติโดยมิชอบในอดีต จะปรากฏเป็นโทษแก่จิตใจอย่างรุนแรงยิ่งกว่าเวลาอื่น

ควรจะกลัว เพราะย่อมเป็นสิ่งน่ากลัวอย่างยิ่งจริงๆ ควรจะเชื่อไว้ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง เพื่อว่าจะได้ยอมเชื่อว่าไม่ควรจะปล่อยให้ความโลภหรือความปรารถนาต้องการมีอำนาจชักจูงใจให้ทำสิ่งอันมิชอบ ที่จะก่อความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น เพราะความเดือดร้อนนั้นจะเกิดแก่ตนเองด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน

การกระทำทุกอย่างมีผล กรรมดีให้ผลดี กรรมชั่วให้ผลชั่ว ผู้ใดทำกรรมใด ไว้จักได้รับผลของกรรมนั้น การกระทำ ไปตามอำนาจความโลภหรือความปรารถนาต้องการ เป็นกรรมชั่ว ผลจึงต้องชั่ว


ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=428

135
                                                    อภัยทาน นี้เป็นคุณแก่ผู้ให้ ยิ่งกว่าแก่ผู้รับ

                        สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

 อภัยทาน คืออย่างไร ?

อภัยทาน ก็คือการยกโทษให้ คือการไม่ถือความผิดหรือการล่วงเกินกระทบกระทั่งว่าเป็นโทษ

อภัยทาน นี้เป็นคุณแก่ผู้ให้ ยิ่งกว่าแก่ผู้รับ เช่น เดียวกับทานทั้งหลายเหมือนกัน คืออภัยทานหรือการให้อภัย นี้ เมื่อเกิดขึ้นในใจผู้ใด จะยังจิตใจของผู้นั้นให้ผ่องใสพ้นจากการกลุ้มรุมบดบังของโทสะ

อันใจที่แจ่มใส กับใจที่มืดมัว ไม่อธิบายก็น่าจะทราบกันอยู่ทุกคนว่าใจแบบไหนที่ยังความสุขให้เกิดขึ้นแก่ เจ้าของ ใจแบบไหนที่ยังความทุกข์ให้เกิดขึ้น และใจแบบไหนที่เป็นที่ต้องการ ใจแบบไหนที่ไม่เป็นที่ต้องการเลย

ความจริงนั้น ทุกคนที่สนใจบริหารจิต จะต้องสนใจอบรมจิตให้รู้จักอภัยในความผิดทั้งปวง ไม่ว่าผู้ใดจะทำแก่ตน แม้การให้อภัยจะเป็นการทำได้ไม่ง่ายนัก สำหรับบางคนที่ไม่เคยอบรมมาก่อน แต่ก็สามารถจะทำได้ด้วยการอบรมไปทีละเล็กละน้อย เริ่มแต่ที่ไม่ต้องฝืนใจมากนักไปก่อนในระยะแรก

ตัวอย่างเช่น เวลาขึ้นรถประจำทางที่มีผู้โดยสารคอยขึ้รถอยู่เป็นจำนวนมาก หากจะมีผู้เบียดแย่งขึ้นหน้า ทั้งๆ ที่ยืนอยู่ข้างหลัง ถ้าเกิดโกรธขึ้นมาไม่ว่าน้อยหรือมาก ก็ให้ถือเป็นโอกาสอบรมจิตใจให้รู้จักอภัยให้เขาเสีย เพราะเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรถือโกรธกันหนักหนา เป็นเรื่องเล็กน้อยเหลือเกินควรจะอภัยให้กันได้ แต่บางที่ไม่ตั้งใจคิดเอาไว้ก็จะไม่ทันให้อภัยจะเป็นเพียงโกรธแล้วจะหายโกรธ ไปเอง


โกรธแล้วหายโกรธ เอง กับโกรธแล้วหายโกรธเพราะให้อภัย ไม่เหมือนกัน โกรธแล้วหายโกรธเองเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งเมื่อเกิดแล้วต้องดับ ไม่เป็นการบริหารจิตแต่อย่างใด แต่โกรธแล้วหายโกรธเพราะคิดให้อภัย เป็นการบริหารจิตโดยตรง จะเป็นการยกระดับของจิตให้สูงขึ้น ดีขึ้น มีค่าขึ้น

ผู้ดูแลเห็นความสำคัญของจิต จึงควรมีสติทำความเพียรอบรมจิตให้คุ้นเคยต่อการให้อภัยไว้เสมอ เมื่อเกิดโทสะขึ้นในผู้ใดเพราะการปฏิบัติล้วงล้ำก้ำ เกินเพียงใดก็ตาม พยายาม มีสติพิจารณาหาทางให้อภัยทานเกิดขึ้นในใจให้ได้ ก่อนที่ความโกรธจะดับไปเสียเองก่อน
ทำได้เช่นนี้จะเป็นคุณแก่ตนเองมากมายนัก ไม่เพียงแต่จะทำให้มีโทสะลดน้อยลงเท่านั้น และเมื่อปล่อยให้ความโกรธดับไปเอง ก็มักหาดับไปหมดสิ้นไม่ เถ้าถ่านคือความผูกโกรธมักจะยังเหลืออยู่ และอาจกระพือความโกรธขึ้นอีกในจิตใจได้ในโอกาสต่อไป


ผู้อบรมจิตให้คุ้นเคยอยู่เสมอกับการให้ อภัย แม้จะไม่ได้รับการขอขมา ก็ย่อมอภัยให้ได้ ในทางตรงกันข้าม ผู้ไม่เคยอบรมจิตใจให้คุ้นเคยกับการให้อภัยเลย โกรธแล้วก็ให้หายเอง แม้ได้รับการขอขมาโทษ ก็อาจจะไม่อภัยให้ได้ เป็นเรื่องของการไม่ฝึกใจให้เคยชิน

อันใจนั้นฝึกได้ ไม่ใช่ฝึกไม่ได้ ฝึกอย่างใดก็จะเป็นอย่างนั้น ฝึกให้ดีก็จะดี ฝึกให้ร้ายก็จะร้าย...

 ขอบคุณที่มา http://board.palungjit.com/

136
                                                        มองดูตนเอง

--------------------------------------------------------------------------------

                           "มองดูตนเอง" หลักธรรมะของ...พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

ท่าม กลางบรรยากาศต้นไม้ใหญ่ ใบสีเขียวหนาทึบทั่วบริเวณภายในวัดอรัญญาวิเวก (บ้านปง) ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ล้วนแล้วมาจากการจรรโลงให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของ พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

คำพูดที่พระอาจารย์เปลี่ยนมักใช้สนทนาธรรมกับ ประชาชนที่ เดินทางมาปฏิบัติธรรม ณ วัดแห่งนี้กันเป็นจำนวนมาก หลายคนที่มาที่วัดก็เพราะขาดสติคือ "ต้อง ใช้สติปัญญาในการพิจารณาหาต้นเหตุแห่งกองทุกข์นั้นยังไม่ สมบูรณ์ จึงพากันมีความทุกข์อยู่ มีความเดือดร้อนกันอยู่ทั้งบ้านทั้งเมืองในปัจจุบันนี้นั้นก็คือบุคคลนั้น ไม่รู้จักค
วามพอดีนั่นเอง"

นอกจากนี้พระอาจารย์เปลี่ยนยังย้ำ เสมอในการสอนญาติโยมเกี่ยวกับการมองตนเองว่า "เมื่อคนเราเกิดมาแล้วอยู่ร่วมกัน ทำการงานร่วมกัน พูดจากัน ในเรื่องราวต่างๆ ประชุมหารือกัน ความคิดเห็นก็ต่างกัน บางบุคคล บางหมู่คณะก็คิดถูกบ้าง บางบุคคลบางหมู่คณะก็คิดผิดบ้าง นี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ"

พระอาจารย์เปลี่ยนได้ให้สัมภาษณ์พร้อมความ กระจ่างเกี่ยวกับการมองดูตนเองแบบ "คม ชัด ลึก" ดังนี้

- พระอาจารย์เน้น ย้ำเรื่องการมองดูตนเองเพราะอะไรครับ ?

- ก็เพราะคนเราเกิดขึ้นมานั้น ไม่ใช่พวกเราจะเสียสละ ละกิเลสให้หมดไปได้ง่ายๆ เพราะกิเลสทั้งหลายนั้นนอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานของพวกเรามาหลายภพหลายชาติ แล้ว เขาครอบงำย่ำยีมาหลายภพหลายชาติแล้ว แต่พวกเราก็ไม่สามารถที่จะแกะหรือสำรอก หรือลดละปล่อยวางกิเลสออกไปได้หมด พวกเราจึงพากันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารตามฐานะของตน
เมื่อเรา เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ การที่ขัดเกลากิเลสของพวกเรามาแต่ชาติอดีตที่ผ่านมานั้น ใครจะขัดเกลาได้มากน้อยเท่าไร บุคคลใดขัดเกลาได้มาก เมื่อมาเกิดในชาตินี้กิเลสก็เบาบางจากจิตใจ บุคคลใดขัดเกลากิเลสได้น้อย กิเลสก็ยังมืดมน บุคคลใดไม่ได้ขัดเกลากิเลสเลย จึงมืดมนไม่รู้จักบุญบาป ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จิตของบุคคลเป็นคนใจดำอำมหิตทั้งหลายอยู่ในปัจจุบันนี้ มันจึงมีหลายระดับหลายขั้นหลายตอน

- คนเราเกิดมามี หลายระดับชั้นหมายความว่าอย่างไรครับ ?

- ใช่ ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนไว้ว่าดอกบัวสี่เหล่า เหมือนเปรียบเทียบกับดอกบัวสี่เหล่า คนเราเกิดมาอยู่ในโลกนี้ย่อมเป็นอย่างนั้น ดังนั้นเมื่อเราคิดดูอย่างนี้แล้ว มันก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล บางคนจิตหยาบมาก บางคนหยาบปานกลาง กิเลสของคนเราจึงแตกต่างกัน อาตมาก็อยากให้ฝึกหัดสติของพวกเรา เพื่อจะให้มีสติมากขึ้น ระลึกได้เร็วขึ้น สัมปชัญญะ หรือตัวของปัญญา ให้รอบรู้เร็วทันกับเหตุการณ์ที่จะเป็นสิ่งสำคัญที่ดีในอนาคต

- แล้วทำไมถึงต้อง ทันเหตุการณ์ครับ ?

- ทำไมต้องทันเหตุการณ์ มันก็คือ พวกเราคิดดูซิ ถ้าพวกเราขาดสติอยู่ สติยังอ่อนอยู่นั้น แม้พวกเราเห็นวัตถุต่างๆ จิตก็ย่อมรั่วไหลไปตามวัตถุนั้นได้ทันที เพราะขาดสตินั่นเอง เราไม่มีสติพอจะรู้ว่ารูป ร่างกาย ของพวกเราก็เหมือนกัน รูปร่างกายของพวกเราทำอะไร เมื่อทำลงไปมันผิดพลาดลงไปแล้ว มันผิดพลาดเพราะอะไร เพราะเราขาดสติ เราระลึกไม่ทันก็ต้องทำไปก่อน สัมปชัญญะก็รู้ไม่ทันเขาจึงทำผิดพลาดกัน
ทุกวันนี้เราจะเห็นเขาทุบเขาตี ฆ่าฟันแทนกันไม่เว้นบนหน้าหนังสือพิมพ์นั้น เป็นเพราะขาดสติสัมปชัญญะควบคุมไม่ได้ ควบคุมร่างกายไม่ได้ ก็เลยทำให้กายนี้ไปทำบาปทำชั่วได้อย่างง่ายดาย ตรงนี้แหละเราจะเห็นได้ชัด ฉะนั้นพวกเราต้องฝึกหัด ฝึกมองตนเอง เราอย่ามองแต่คนอื่น ถ้าเราไม่มีสติปัญญา เราก็จะมองแต่คนอื่น มองจับผิดคนอื่นได้หมด เขาทำอะไรกัน เราก็มองว่ามันผิดไปหมด

- การมองดูตนเองควร เริ่มต้นอย่างไร ?

- พระพุทธองค์ยังสั่งสอนเอาไว้ว่าให้ดูตนเอง ฝึกฝนตนเอง แก้ไขตนเอง ปรับปรุงตนเอง จับผิดที่ตนเอง เรียกว่ามาดูที่ตัวเราก่อน อย่าไปดูคนอื่น อย่าไปเพ่งโทษคนอื่นแต่อย่างเดียวเพราะที่ผ่านมาคนเราชอบโทษคนอื่น ดังนั้นการเพ่งโทษตนเองนี้มันยาก ก็เหมือนกับเราดูขนตา ขอบตาเรา มีลูกตาแต่เราดูขนตาไม่เห็น ว่าขนตามีกี่เส้น ขนตามันยาวแค่ไหน มันมองไม่เห็นเลย ตรงนี้มันดูตนเองไม่เห็นอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะเราขาดสติปัญญา

มาถึงตรงนี้อาตมาอยากให้ทุกคนมองดูตนเอง ไม่ต้องมองคนอื่น เป็นเรื่องของคนอื่นไปซะก่อน ถ้าเรามีความสงสารเราก็เตือนกันได้ ถ้าหากเรายังตักเตือนตนเองไม่ได้ เราจะต้องฝึกตนเองก่อน ด้วยการตักเตือนตนเองก่อน มามองดูตนเองก่อน เพื่อจะชำระตนเองก่อน แก้ไขตนเอง เราเกิดมาไม่ใช่จะทำถูกหมด มันต้องทำผิดบ้างถูกบ้าง

- แล้วสติสัมปชัญญะ สำคัญมากน้อยแค่ไหน ?

- ไม่ว่าคนเราจะยืน เดิน นั่ง นอน ล้วนแล้วต้องมีสติ ถ้าเราขาดสติในการยืน เช่น ถ้าเรายืนอยู่บนสะพานที่จะข้ามน้ำก็ดีหรือยืนอยู่ ณ ที่สูงที่ใดที่หนึ่ง หรือเราไปยืนที่ขอบประตูหน้าต่างก็แล้วแต่ คนที่ขึ้นต้นไม้ก็ดีหรือคนที่ก่อสร้างตึกยืนทำงานอยู่บนไม้นั่ง ร้าน ถ้าขาดสติก็จะทำให้คนเหล่านั้นพลัดตกลงจากสถานที่ยืนได้ ผลของมันก็จะทำให้เกิดความเสียหาย แข้งขาหัก หรืออาจล้มตายไปก็ได้ นี่เป็นตัวอย่างของคนที่ขาดสติ
หรือบางคนนอนก็ต้องกำหนดว่าตนเองกำลัง นอนอยู่ ใช้สติสัมปชัญญะประคองตนเองในขณะนอน เมื่อมีสติประคองตนเองแล้วมันจะไม่ตกเตียง คนนอนอย่างมีสติหัวมันก็ไม่ตกหมอน คนนอนอย่างมีสตินั่นแหละมันมีประโยชน์ พระพุทธองค์ทรงสอนให้พวกเราศึกษา พัฒนาตนเอง ปรับปรุงตนเอง ให้มีสติสัมปชัญญะในการยืน เดิน นั่ง นอน จึงจะไม่มีอันตราย

- คนเราทำบุญอย่าง ไรจึงได้บุญมากๆ ครับ ?

- ทุกวันนี้เราไม่เข้าใจวิธีทำบุญที่ถูกต้อง เหมาะสมในทางพระพุทธศาสนา ท่านจัดไว้ว่า การทำความดีที่ไม่ถูกต้อง ๔ ประการ เป็นเหตุทำให้วิบัติ เป็นทางเสื่อม ไม่เจริญ ได้แก่ ทำความดีไม่ถูกที่ ทำความดีไม่ถูกบุคคล ทำความดีไม่ถูกกาลเวลา และทำความดีแล้วไม่ตามความดีของตน หากว่าเป็นคนที่พอเข้าใจเรื่องการทำบุญแล้ว เขาย่อมเลือกทำบุญได้อย่างดีและถูกต้อง เพราะเขารู้เรื่องดีว่าจะทำบุญอะไรเป็นบุญ และมีประโยชน์อะไรบ้างเมื่อทำบุญ คนไม่มีปัญญาทำบุญย่อมได้บุญน้อย
พระพุทธเจ้าตรัสว่า มาสอนวิชาศิลปะแก่พระนี้ ไม่ได้บุญนะ การบริจาคทานให้พระนั้น คิดแล้วน่าจะได้บุญ แต่มันไม่ได้บุญ พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ เขาก็ยังพากันบริจาคทานกันอยู่ เช่น เอาควาย วัว โค กระบือ ช้าง ม้า มาถวายให้พระ บางที่ก็นำหมู เป็ด ไก่ มาปล่อยไว้ที่วัด จัดเป็นการบริจาคทานที่ไม่ได้บุญเช่นกันเพราะเป็นการสร้างทุกข์ให้กับพระ ต้องเลี้ยงให้กินหญ้าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมหรือเดินจงกรม เป็นต้น

- เป็นเจ้าอาวาส แล้วทำไมยังต้องกวาดลานวัดอยู่ครับ ?

- ก็จริงนะ ทุกๆ เช้า อาตมาก็จะออกมากวาดลานวัด ร่วมกับพระลูกวัดอื่นๆ ด้วย ถามว่าอาตมาอายุเยอะแล้วทำไมยังมากวาดลานวัดอีก อาตมาไม่ทำเดี๋ยวพระรูปอื่นจะไม่ทำกัน เราทำเป็นแบบอย่าง โดยการกวาดลานวัดเป็นกิจวัตร จริงๆ มันก็เป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย สุขภาพจึงแข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บให้เป็นทุกข์

- หลายคนตั้ง คำถามพระอาจารย์ว่าทำไมถึงดูไม่ชราเหมือนพระที่มีอายุเท่ากัน ?

- อาตมาคิดว่าคงเป็นที่สภาพอากาศที่วัดด้วย ไม่มีมลภาวะใดมารบกวน สิ่งแวดล้อมภายในวัดมีแต่ต้นไม้ใบไม้เป็นป่าทึบไปทั่วบริเวณ ซึ่งก็ไม่มีอะไรมาล่อใจใดๆ ให้การปฏิบัติไขว่เขว สิ่งเหล่านี้มันก็ทำให้การปฏิบัติธรรมของอาตมาทำได้อย่างเงียบสงบ

- มีกิจนิมนต์เทศน์ บ่อยหรือเปล่าครับ ?

- ก็ยังเทศน์อยู่ ใครมานิมนต์ให้ไปเทศน์ที่ไหน อาตมาก็จะไปทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นต่างจังหวัด ปีนี้ก็มีคนมาปฏิบัติธรรมกันมาก ยิ่งเป็นต่างประเทศ คนส่วนใหญ่ชอบฟังธรรมะเช่น ประเทศออสเตรเลีย ไปก็ประมาณ ๒ เดือน ส่วนการเดินทางไปเทศน์ตามสถานที่ต่างๆ ที่จะไปได้ ก็ต้องมีข้อแม้ว่าจะไม่ตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา แต่ส่วนใหญ่อาตมาก็จะไปตามที่เขามารับกันตลอดทั้งเดือน อาตมาจะเว้นอยู่แค่ประมาณ ๒-๓ วัน

ใครจะว่าอย่างไรไม่ทราบ อาตมาคิดว่าใครไม่ดี ใครมันโง่ก็จะพูดภาษาธรรมะไม่ได้ คนที่ไม่รู้จักรักษาศีลปฏิบัติธรรมชีวิตนี้เขาก็จะไม่มีความสุข อาตมาคิดว่าถ้าใครได้ลองปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจังแล้ว ชีวิตพวกเขาก็จะมีความสุข ใครฉลาดหรือโง่ก็ต้องเลือกกันเอาเอง

- พระอาจารย์มี วัตถุมงคลแจกหรือเปล่าครับ ?

- วัตถุมงคลก็มีแจกกันบ้าง เพราะลูกศิษย์ของอาตมาเขาทำแล้วก็เอามาถวาย อาตมาก็จะแจกให้กับญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด ตอนนี้อาตมาก็บอกให้ลูกศิษย์หยุดทำวัตถุมงคลได้แล้ว อาตมาอยากให้ญาติโยมสนใจอ่านหนังสือธรรมะมากกว่า เพราะธรรมะจะมีความสำคัญกว่าวัตถุมงคล อาตมาเห็นหลายคนยังนิยมวัตถุมงคลมากกว่าธรรมะ เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่ได้ปฏิบัติกันนั่นเอง พวกเขาจึงยังเห็นว่าวัตถุมงคลสำคัญกว่าธรรมะ ถ้าใครได้ปฏิบัติธรรมแล้ว เขาก็จะไม่เอาวัตถุมงคล แต่วัตถุมงคลก็ดี เป็นส่วนหนึ่งของการให้กำลังใจ ยึดเหนี่ยวจิตใจ

- คนที่แขวนพระ เครื่องแล้วไม่ปฏิบัติธรรมจะเป็นอย่างไร ?

- พวกโยมเห็นนักโทษที่มีอยู่มากมายในบ้านเราไหม พวกเขาแขวนพระเครื่องกันมาก แต่ไม่มีใครปฏิบัติตนให้อยู่ในธรรม เมื่อไปทำอะไรที่ไม่ดี พระท่านก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้ปฏิบัตินั่นเอง และอาตมาอยากย้ำว่า ถ้าเรารักษาตนด้วยธรรมะได้ ก็ไม่จำเป็นต้องแขวนพระ ดูสิอาตมาเองยังไม่แขวนพระสักองค์ (หัวเราะด้วยรอยยิ้ม)

- ที่ว่าขลังและยิง ไม่เข้า ตรงนี้เกิดจากอะไรครับ ?

- ถามอาตมาแบบนี้ ไอ้ที่ว่านี่มันก็เกิดจากพลังจิต พระคาถาที่มีพระเกจิอาจารย์ทำการปลุกเสกลงไป ความขลังไม่ขลังจึงเกิดจากพระเกจิอาจารย์ได้ทำการอธิษฐานประกอบเข้าไป เขาถึงได้เรียกกันว่าสมาธิพลังจิตอย่างหนึ่ง ใครที่นำเอาวัตถุมงคลนี้ไปใช้ไม่ดีก็เป็นบาป ใครเอาไปใช้ในทางที่ดีก็เป็นประโยชน์

- ทำอย่างไรถึงมี ความสุขครับ ?

- สุขเกิดด้วยการไม่เป็นหนี้ใคร การไม่เป็นหนี้สินใครจะทำให้อยู่เป็นสุขสบาย แต่เราต้องรู้จักจับจ่ายเงินทองได้พอดีกับฐานะของตน จึงไม่เป็นหนี้ใคร เมื่อเห็นคนเดินเข้ามาหาเรา เราก็ไม่หวั่นไหวอะไร ว่าเขาจะมาทวงถามหนี้จากเรา เมื่อเราไม่เป็นหนี้ใคร เราก็อยู่อย่างมีความสุข
__________________
ชาติ ชรา มรณะ ย่อมเบียดเบียนหมู่สัตว์ทั้งสิ้น ให้พินาศ....ดังนี้

 ขอบคุณที่มา http://board.palungjit.com

137
                                                 หมดหวังท้อแท้ในชีวิต..คิดอย่างไรให้ใจสู้
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาของชีวิต..
หลายคนคงผ่านบทเรียนแห่งชีวิตมานับไม่ถ้วน..
ทั้งบทเรียนแห่งความผิดหวัง..
บทเรียนแห่งความท้อแท้..แพ้ชีวิต..
บทเรียนแห่งความสำเร็จ..

ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนใด ๆ ก็ตาม..
เมื่อเราเกิดความผิดหวัง...ท้อแท้..ในชีวิต..
เราต้องพยายามปรับใจ..วางใจให้ถูก..
ด้วยวิธีการคิดที่จะปรับเปลี่ยน..ชีวิตของเรา..
ให้มีกำลังใจ..สู้ต่อไป..

๔ วิธีคิดที่จะสร้างพลังใจให้สู้ คือ..
วิธีที่ ๑ คิดแบบตรงกันข้ามกับความรู้สึกในขณะนั้น เช่น
>>>…ถ้าทุกข์ ก็คิดสร้างสุข
>>>…ถ้ายากก็คิดแบบง่าย...
>>>…ถ้าเกิดปัญหา ก็คิดแก้ปัญหา..

วิธีที่ ๒ คิดแบบสร้างกำลังใจ เช่น
>>>…ปลุกปลอบใจตนเอง...ทุกครั้งที่เกิดความท้อแท้..ผิดหวัง
>>>…บอกตนเองเสมอว่า..เราต้องทำได้..เราต้องทำได้อย่างแน่นอน..
>>>…เราต้องทำได้แน่นอนที่สุด..ไม่มีคำว่า..ทำไม่ได้..
>>>…ท่องไว้ในใจว่า..ไม่มี ไม่เป็น ไม่เหนื่อย...
>>>….ไม่ทุกข์ ไม่ท้อ ไม่หนี ไม่มีปัญหา...

วิธีที่ ๓ คิดแบบมีเป้าหมายในชีวิตที่แน่นอน มุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว..
>>>…หากยังไม่ประสบความสำเร็จ..
>>>…ก็จะไม่เลิก ลด ละ ความเพียรพยายาม..
>>>…จงสู้ต่อไปจนกว่าจะประสบความสำเร็จ..
>>>…แม้จะเป็นวินาทีสุดท้ายของลมหายใจก็ตาม..

วิธีที่ ๔ คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก..
>>>…มองปัญหาออก..แก้ปัญหาเป็น..
>>>…คิดการใหญ่...ใช้คนเป็น..รู้เห็นตามความถูกต้อง..
>>>…มุ่งปรองดอง...รักษาน้ำใจ..สร้างมิตรภาพ..
>>>…อย่าลืมว่า.. “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ...
>>>…ต้องคิดดี..ทำดี..พูดดี..ทุกที่ทุกเวลา...

ดังนั้น..
ถ้าท้อแท้..หมดหวังในชีวิต..
จงพยายามคิดให้ใจสู้...
อย่าเชื่อว่า...เราทำไม่ได้..ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ..
อย่าท้อแท้..ตราบใดที่เรายังไม่ได้พยายาม..
อย่าสิ้นหวัง...ตราบใดที่เรายังมีกำลังใจ..
อย่าแพ้ชีวิต...ตราบใดที่ใจของเรายังมีหวัง..
จงอย่าทำลายความหวัง...เพียงเพราะ....
การดูหมิ่นตนเองว่า... “ทำไม่ได้”...

................................................
บทความโดย..ชายน้อย...
ธรรมะไทย http://www.dhammathai.org


138
จงเป็นฝ่ายเริ่มต้น

พวกเราส่วนมากมักเก็บความไม่พอใจหรือความโกรธแค้นในเรื่องเล็กๆน้อยๆ
เรามักคอยให้คนอื่นมาง้อหรือขอโทษเรา
โดยเชื่อว่านี่เป็นเพียงวิธีเดียวที่จะทำให้เราให้อภัย
หรือคงสัมพันธภาพกับครอบครัวและญาติมิตรต่อไปได้

   



จงเป็นคนแรกที่แสดงความรักหรือเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อน
อันเกิดขึ้นจากการโต้เถียงกัน ความเข้าใจผิด การถูกเสียดสีนินทา
หรือเหตุการณ์เลวร้ายอื่นๆไว้ด้วยทิฐิ

เรามักคอยให้คนอื่นมาง้อหรือขอโทษเรา
โดยเชื่อว่านี่เป็นเพียงวิธีเดียวที่จะทำให้เราให้อภัย
หรือคงสัมพันธภาพกับครอบครัวและญาติมิตรต่อไปได้
..................................................

เพื่อนสนิทของผมซึ่งมีสุขภาพไม่ดีนักเล่าให้ผมฟังเมื่อเร็วๆนี้ว่า
เธอไม่ได้พูดกับลูกชายมาสามปีแล้ว
เมื่อผมถามว่าทำไม
เธอตอบว่าเป็นเพราะเธอกับลูกขัดแย้งกันในเรื่องเกี่ยวกับภรรยาของเขา
และเธอจะไม่พูดกับเขาจนกว่าเขาจะมาขอโทษเธอก่อน

เมื่อผมแนะนำว่าเธอควรเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อน
เธอก็ยังยืนยันความคิดเดิมและบอกเพียงว่า
"ฉันทำเช่นนั้นไม่ได้โดยเด็ดขาด ลูกควรเป็นคนมาขอโทษฉัน"
เธอยอมตายเสียดีกว่าที่จะเป็นฝ่ายลดตัวไปง้อลูกชายเพียงคนเดียวของเธอ

อย่างไรก็ดี หลังจากได้ฟังคำแนะนำอย่างสุภาพของผมต่อไปอีกสักครู่
เธอก็ตัดสินใจยอมเป็นฝ่ายเริ่มต้น
และเธอก็รู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อพบว่า
ลูกชายรู้สึกดีใจมากที่เธอโทรศัพท์ไปหา
และได้กล่าวขออภัยจากเธอด้วยตนเอง

ดังเช่นกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเสมอ
เมื่อมีใครสักคนยอมลดทิฐิลงและเป็นฝ่ายเริ่มต้น
ทุกคนย่อมเป็นฝ่ายชนะ

เมื่อใดก็ตามที่เรายอมให้ความโกรธเข้าครอบงำ
เราได้เปลี่ยนเรื่องเล็กน้อยให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ในใจของเราเองอย่างแท้จริง
และทำให้คิดว่าเรื่องของศักดิ์ศรีสำคัญยิ่งกว่าความสุข

ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น หากต้องการเป็นคนเยือกเย็นยิ่งขึ้น
ท่านต้องเข้าใจว่าการเป็นฝ่ายถูกเกือบจะไม่สำคัญไปกว่า
การปล่อยให้ตัวเองมีความสุขสงบอย่างแท้จริงในจิตใจ

และวิธีที่จะทำให้มีความสุขได้ก็คือ
ปล่อยให้เรื่องไร้สาระผ่านเลยไปและยอมเป็นฝ่ายเริ่มต้น
ลองปล่อยให้ผู้อื่นเป็นฝ่ายถูกเสียบ้าง

นี่ไม่ได้หมายความว่าท่านเป็นฝ่ายผิด
แต่ทุกอย่างจะผ่านพ้นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
และท่านจะได้รับประสบการณ์ความสงบสุข
อันเกิดจากการปล่อยให้สิ่งจุกจิกกวนใจผ่านเลยไป
เช่นเดียวกับการปล่อยให้คนอื่นเป็นฝ่ายถูกเสียบ้าง

ท่านยังจะได้สังเกตเห็นอีกว่า
คนอื่นจะลดปฏิกิริยาต่อต้านลงและยอมรับท่านมากขึ้น
หรือแม้แต่ยอมเป็นฝ่ายงอนง้อท่านก่อน

แต่ในบางกรณีหากพวกเขาไม่ได้ทำเช่นนั้นก็ไม่เห็นจะเป็นไร
เพราะท่านยังคงเกิดความพอใจที่ได้ทำหน้าที่ส่วนของท่าน
ในการเสริมสร้างโลกให้มีความรักและการให้อภัยต่อกันยิ่งขึ้น
และในเวลาเดียวกันตัวท่านเองจะรู้สึกสุขสงบมากยิ่งขึ้น

________________________________________
จาก Don't sweat the small stuff… and it's all small stuff 100
( ข้อคิดเพื่อชีวิตสุขสงบ) RICHARD CARLSON, PH.D. เขียน
ผศ. ดร. ปริญญ์ ปราชญานุพร แปลและเรียบเรียง

ที่มา... http://www.carefor.org/content/view/873/153/

139
                                                      ไม่ควรติเตียน
                                           ยอดคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


“การตำหนิติเตียนผู้อื่น
ถึงเขาจะผิดจริง ก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเอง
ให้ขุ่นมัวไปด้วยการกล่าวโทษผู้อื่น
โดยขาดการไตร่ตรอง
เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์
จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน
งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย

ผู้เห็นคุณค่าของตัว จึงควรเห็นคุณค่าของผู้อื่น
ผู้มีปัญญาซึ่งมีธรรมเป็นเครื่องอยู่
มีความพากเพียรแยกกิเลสให้หมดไป
จะไม่เกียจคร้าน ขยันหมั่นเพียร ทั้งกลางวันและกลางคืน
ใครผิดถูกชั่วดีก็ตัวเขา
ใจของเราเพียรระวังตั้งถนอมอย่าให้อกุศลวนมาตอม
ควรถึงพร้อมบุญกุศล ผลสบาย”

ขอขอบพระคุณ..แหล่งที่มา : fb. ของคุณ Ann อักษร

 ขอบคุณที่มา  http://www.dhammajak.net

140
    เหตุแห่งการเป็นผู้ทรงเสน่ห์นั้น ไม่ใช่ง่ายที่จะกล่าวถึงให้ครอบคลุม เพราะไม่ใช่แค่ ‘ทำดีแล้วจะมีเสน่ห์’ เนื่องจากเสน่ห์มีหลายรูปแบบ และเสน่ห์แต่ละแบบก็ไม่ใช่จะ ‘ใช้ได้ผล’ กับทุกคน คุณอาจประหลาดใจว่าทำไมบางคนประพฤติตัวชั่วร้าย พูดจาเอาแต่ได้ ทว่ายังคงมีเสน่ห์ลึกลับ ทรงพลังพอจะจับใจคนใกล้ชิดให้ถวิลหาอาวรณ์ได้เกือบตลอดเวลา

สรุปง่ายๆนะครับ ถ้าแค่มองหา ‘สูตรสร้างเสน่ห์’ ด้วยการแต่งตัว จัดทรงผม ปรับปรุงบุคลิกในอิริยาบถต่างๆ ตลอดจนกระทั่งฝึกพูดจาให้น่าพิศวาส คุณจะพบความจริงว่าสำหรับหลายๆคนแล้ว สูตรสร้างเสน่ห์ทั้งหลายอาจแค่ช่วยให้ดูดีขึ้น แต่หาได้เปิดก๊อกเทพลังเสน่ห์ให้ไหลมาเทมาแต่อย่างใดไม่

แม้แต่สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพระดับโลกยังทราบครับว่าไม่มีสูตรสำเร็จครอบจักรวาลที่ทำให้ ‘ทุกคน’ ดูดีขึ้นมาทันตาเห็น เอาแค่ข้อจำกัดทางกายภาพที่แต่ละคนมีเด่นมีด้อยต่างกัน ก็ไม่ทราบจะหั่นหรือเฉือนกันท่าไหนให้เท่าเทียมกันทั้งหมด ฉะนั้นตามแนวคิดเชิงพุทธ คำถามของคุณนับว่าตรงเป้าที่สุดแล้ว นั่นคือ กรรมอันใดส่งผลให้เกิดเสน่ห์?

ก่อนอื่นต้องมองว่า ‘เสน่ห์’ คือพลังอะไรอย่างหนึ่งที่ทำให้คนอื่นหลงใหลหรือรักใคร่ อยู่ห่างแล้วถวิลถึง อยากเข้าพบ อยากเข้าใกล้ และประกายเสน่ห์อาจเปล่งออกมาจากรูปกายก็ได้ เปล่งออกมาจากวิธีพูดจาก็ได้ หรือเปล่งออกมาจากกระแสจิตเงียบๆก็ได้

นอกจากนั้น พลังเสน่ห์ยังมีอยู่ ๓ ชนิดหลักๆ คือพลังดึงดูด พลังประทับ และพลังชะโลม เมื่อเข้าใจตามนี้ก็จะเห็นกลไกและที่มาที่ไปของเสน่ห์แต่ละชนิดอย่างกระจ่าง

เสน่ห์ทางกาย

เป็นเสน่ห์ที่เน้นพลังฝ่ายดึงดูดมากกว่าอย่างอื่น เช่นเห็นแล้วดึงดูดให้อยากมองนานๆยากจะถอนสายตา หรือกระทั่งอยากถลาเข้าไปลองสัมผัสให้ได้เดี๋ยวนั้น

เสน่ห์ทางกายปรากฏเด่นเห็นง่ายสุด จับต้องได้ง่ายสุด เพราะกายมนุษย์เปล่งประกายเสน่ห์ได้ผ่านความสมส่วนแห่งรูปพรรณสัณฐาน ตลอดจนความผ่องใสมีสง่าราศีแห่งผิวพรรณ ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาหรือพิธีรีตองใดๆในการเปล่งประกายเสน่ห์ชนิดนี้ แค่ปรากฏตัวก็ใช้ได้แล้ว

ความเปล่งปลั่งชนิดบาดตาได้ตั้งแต่แรกพบนั้น เป็นผลอันเกิดจากการให้ทานที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ไม่มีความขัดข้องทางใจเท่ายองใย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีโอกาสถวายทานแด่พระพุทธเจ้าหรืออริยสงฆ์สาวก แล้วรักษาความเลื่อมใสนั้นไว้ได้ตลอดชีวิต ก็จะมีความรุ่งเรืองปรากฏชัดทางผิวหนังตั้งแต่ในชาติแห่งทานนั้น แล้วปรากฏชัดเจนในชาติถัดมา ไม่ว่าจะเป็นเทพหรือมนุษย์

ความสมส่วนแห่งรูปพรรณสัณฐานจะเกิดจากความมีศีลสะอาดเป็นหลัก รายละเอียดและมิติของรูปร่างหน้าตาที่ล่อตาชวนตะลึง กลิ่นกายที่น่าพิสมัย ตลอดจนความละเอียดน่าสัมผัสของผิวหนังที่เหมาะกับเพศนั้น บันดาลขึ้นจากความสามารถในการ ‘งดเว้น’ ความประพฤติทางกายและวาจาอันสกปรกเน่าเหม็นจนเคยชิน กระทั่งแม้ความคิดก็ไม่หลุดออกนอกกรอบของศีล พูดง่ายๆว่าเป็นผู้เคยมีศีลอันมั่นคงแข็งแรง จิตสะอาดสะอ้านจากมลทินยิ่ง จึงบันดาลให้เกิดผลงดงามไร้ที่ติ กระทบตาผู้คนแล้วชวนหลงใหลยิ่ง

  ขอบคุณที่มา http://board.palungjit.com

คนที่ไม่ค่อยทำบุญกับบุคคลศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บ่อยๆมักมีอำนาจเสน่ห์ทางกายน้อย เนื่องจากโอกาสที่จิตจะเปล่งประกายความเลื่อมใสอย่างแรงกล้าขณะทำบุญนั้นยากนัก

เสน่ห์ทางวาจา

เป็นเสน่ห์ที่มีพลังฝ่ายประทับมากกว่าอย่างอื่น เช่นฟังพูดแล้วติดหูไม่รู้ลืม ราวกับพลังเสียงและสำเนียงพูดบุกรุกเข้ามาฝังตัวและกลอกกลิ้งอยู่ในแก้วหูคนฟังได้ พอห่างกันแล้วถวิลถึงราวกับโดนเสน่ห์ยาแฝด

เสน่ห์ทางวาจาจะแผลงฤทธิ์เต็มที่ต่อเมื่อผู้พูดมีโอกาสฉายไม้เด็ดสักประโยคสองประโยค การโอภาปราศรัยทักทายเพียงคำสองคำอาจจะยังไม่ได้ผลนัก แต่หากได้ช่องสำแดงเดชเต็มกำลัง เสน่ห์ทางวาจาก็อาจชวนให้หวนคิดถึงได้ยิ่งกว่าเสน่ห์ทางกายมาก เนื่องจากความทรงจำเกี่ยวกับส่ำเสียงและถ้อยคำจะยืนยาวกว่าความทรงจำเกี่ยวกับรูปลักษณ์

เสน่ห์ทางวาจาที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างเห็นภาพง่ายที่สุดคงได้แก่วิธีรบเร้าหรือวิธีตื๊อของแต่ละคน บางคนตื๊อแล้วน่ารัก แต่หลายคนตื๊อแล้วน่ารำคาญ ทั้งที่ก็เป็นการรบกวนผู้ฟังเหมือนๆกัน นี่ก็เพราะบางคนเท่านั้นที่มีพลังเสน่ห์ทางวาจา ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่มี

เสน่ห์ทางวาจามีองค์ประกอบหลายส่วน ซึ่งแต่ละส่วนก็เกิดจากกรรมเกี่ยวกับวาจาทั้งในอดีตและปัจจุบันรวมกันทั้งสิ้น องค์ประกอบหลักของเสน่ห์ทางวาจาจำแนกได้เป็น ๓ ส่วนดังนี้

๑) ความไพเราะของแก้วเสียง เกิดขึ้นจากความเป็นผู้มีวาจาสุจริต ทั้งพูดเรื่องจริงเท่าที่ควรพูด เลือกคำที่ฟังรื่นหูไม่หยาบคาย หาวิธีพูดประนีประนอมไม่เสียดสีใคร ตลอดจนครองสติในการพูดเพื่อประโยชน์ได้เสมอ องค์ประกอบหลักเหล่านี้จะปรุงแต่งแก้วเสียงให้ฟังดี ฟังเย็น และฟังมีพลังสะกด ถ้ายิ่งหมั่นสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญ ตลอดจนเปล่งเสียงประกาศธรรมอันชอบโดยไม่เคอะเขิน แก้วเสียงก็จะเปล่งประกายสดใสเพราะพริ้งได้ตั้งแต่ชาติปัจจุบัน และไปปรากฏผลชัดที่สุดในชาติถัดมา น้ำเสียงและสำเนียงจะกลมกล่อมไม่บาดหูเลย (เว้นไว้แต่จะหลงผิด พูดจาเป็นอัปมงคลนานปีจนกำลังของวจีทุจริตใหม่ชนะกำลังของวจีสุจริตเก่า)

๒) ลูกเล่นในการจำนรรจา เกิดขึ้นจากความเป็นผู้ใส่ใจเจรจาให้น่าเอ็นดู เป็นที่ถูกใจ ทำความบันเทิงสดใสแก่ผู้ฟัง ยกตัวอย่างเช่นพวกชอบเล่านิทานให้เด็กฟัง ด้วยความหวังว่าเด็กจะได้สนุกสนาน ได้ข้อคิด และได้มองโลกในแง่ดีมีความอบอุ่น กรรมอันเกิดจากการฝึกเล่านิทานจริงจังจะบันดาลให้เกิดสัญชาตญาณในการมัดใจด้วยลีลาพูด คือรู้เองว่าด้วยลูกเล่นการออกเสียงสั้นยาว ลงเสียงหนักเบา ตลอดจนควบกล้ำอย่างไรให้ฟังน่ารักน่าใคร่ ชัดถ้อยชัดคำ พวกนี้ถ้าทำงานพากย์จะประสบความสำเร็จง่ายมาก และอาจจะไม่ต้องร่ำเรียนที่ไหนก็เก่งได้ยิ่งกว่ามืออาชีพที่คร่ำหวอดมานมนาน

๓) ความฉลาดเลือกคำ เกิดขึ้นจากความเป็นผู้คิดก่อนพูด ใช้สติในการง้างปากที่อ้ายาก ไม่ใช่ปล่อยให้อารมณ์บงการปากที่ไร้หูรูด ธรรมชาติของสตินั้น ยิ่งฝึกฝนให้เพิ่มมากขึ้นเท่าใด ปัญญาก็จะยิ่งทวีขึ้นเท่านั้น

คนที่ไม่ค่อยใส่ใจกับการพูดนั้น นอกจากจะขาดเสน่ห์ทางวาจาแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดข้อน่ารังเกียจได้มากมาย เช่นคนพูดส่อเสียดและใส่ไคล้ผู้อื่นบ่อยๆมักมีกลิ่นปากเหม็นเน่า คนติดพูดคำหยาบคายกระโชกโฮกฮากมักมีสำเนียงเสียงไม่รื่นหูไม่ชวนฟัง เป็นต้น

เสน่ห์ทางกระแสจิต

เป็นเสน่ห์ชนิดที่มีพลังชะโลมได้มากกว่าอย่างอื่น เช่นแค่เข้าใกล้รัศมีใครบางคนคุณก็รู้สึกเยือกเย็น หรือกระทั่งเกิดความเงียบสงัดไร้ความคิดขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม กระแสจิตของบางคนอาจเปี่ยมด้วยอิทธิพลแห่งพลังดึงดูดและพลังประทับได้ยิ่งกว่าเสน่ห์ทางกายกับวาจารวมกันเสียอีก หากคุณเคยมีประสบการณ์ผ่านพบใครบางคน ที่คุณอยู่ใกล้ๆแล้วเกิดความอยากอยู่ใกล้ เมื่อห่างไปก็ถวิลถึง แม้รูปร่างหน้าตาของเขาไม่จัดว่าเลอเลิศ กับทั้งถ้อยทีเจรจาก็งั้นๆ นั่นแหละครับตัวอย่างของคนมีเสน่ห์ทางกระแสจิตขั้นรุนแรง

เสน่ห์แห่งกระแสจิตนั้น เป็นสิ่งเห็นไม่ได้ด้วยตา จับต้องไม่ได้ด้วยมือ ทว่าง่ายที่จะสัมผัสด้วยใจ และแม้คุณพบเจอจังๆอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทว่าในเมื่อไม่เคยมีใครขอให้คุณอธิบาย คุณเลยไม่เคยฝึกจำแนกแยกแยะว่ากระแสจิตมีกี่ชนิด แต่ละชนิดมีพลังเสน่ห์จับใจได้แตกต่างกันสักแค่ไหน

จิตมนุษย์ที่กระจายออกมาให้สัมผัสได้นั้น มีกระแสพลังจากแหล่งต่างๆได้หลายหลาก อาทิเช่น พลังความคิด พลังจากมหากุศลที่ประกอบแล้ว พลังความสว่างทางปัญญาที่รู้ชอบในธรรมะ พลังสุขภาพ พลังของหน้าที่ พลังของอิทธิพลต่อหมู่คน พลังของที่อยู่อาศัย พลังของพาหนะส่วนตัว พลังของอัญมณี พลังของสัตว์ที่ผูกพันแน่นเหนียว พลังไสยศาสตร์ ตลอดไปจนกระทั่งพลังของเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกันในทางใดทางหนึ่ง โดยย่นย่อกระแสจิตจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับวิธีมีตัวตนของแต่ละคน

ผมอาจแจกแจงที่มาที่ไปและชนิดของเสน่ห์ทางกระแสจิตอย่างละเอียดเป็นหนังสือเล่มหนึ่งได้โดยเฉพาะ แต่ในที่จำกัดนี้คงกล่าวเพียงสังเขปในแง่ ‘วิธีคิดอันเป็นต้นตอเสน่ห์ทางกระแสจิต’ เพราะเสน่ห์ทางกระแสจิตของมนุษย์ธรรมดาจะเป็นไปตามวิธีคิด สายความคิดของมนุษย์ทั่วไปจะไม่ค่อยขาดสาย จึงปรุงแต่งให้จิตเป็นไปต่างๆนานาได้มากกว่าปัจจัยอื่น

ขอยกเฉพาะวิธีคิดหลักๆที่ก่อรัศมีจิตอันเป็นเสน่ห์ดังนี้

๑) ความคิดเป็นเส้นตรงไม่หมกมุ่นวุ่นวน คือมีเป้าหมายปลายทางของความคิดชัดเจน มีลำดับที่จะไปให้ถึงจุดหมายอย่างแน่ชัด หากคุณมีความคิดชนิดนี้ จะก่อให้เกิดเสน่ห์ชนิดเปล่งพลังชะโลมใจ คนที่สัมผัสจะเกิดความรู้สึกราบรื่น ไม่วกวน และอยู่ใกล้คุณนานๆอาจพลอยเกิดคลื่นความคิดเป็นระเบียบตามไปด้วย

๒) ความคิดที่เบากริบหรือเงียบเชียบ คือคิดเท่าที่จำเป็น สามารถเว้นวรรคความคิดเพราะรู้จักเสพสุขกับสิ่งอื่น เช่นภาพแมกไม้ เสียงน้ำตก หรือกระทั่งเฝ้าสังเกตสายลมหายใจตนเองเข้าออกอย่างเรียบง่าย หากคุณมีความคิดชนิดนี้ จะก่อให้เกิดเสน่ห์ชนิดเปล่งพลังชะโลมใจ คนที่สัมผัสจะเกิดความรู้สึกผ่อนคลายไม่อึดอัด อยู่ใกล้คุณอาจพลอยสงบผาสุกตามไปด้วยชั่วครู่ และหากคลุกคลีใกล้ชิดกับคุณนานพอ กลุ่มความคิดที่หนาแน่นของเขาอาจพลอยเบาบาง กลายเป็นคนไม่คิดมากตามคุณไปด้วยอย่างถาวร

๓) ความคิดมองโลกในแง่ดี คือมีมุมมองของความหวังด้านบวกเสมอ จึงเชี่ยวชาญในการสร้างทางออก ขณะที่คนทั้งโลกเชี่ยวชาญในการพาตัวไปสู่ทางตัน หากคุณมีความคิดชนิดนี้ จะก่อให้เกิดเสน่ห์ชนิดเปล่งพลังชะโลมใจ คนที่สัมผัสจะเกิดความรู้สึกสว่างไสว ไม่มืดมน และอยู่ใกล้คุณนานๆอาจพลอยเกิดแรงบันดาลใจและความหวังใหม่ๆตามไปด้วย

๔) ความคิดเผื่อแผ่พร้อมจะเสียสละ คือมีความอยากให้มากกว่าอยากเอา สามารถเป็นผู้ริเริ่มในการให้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนวณเสียก่อนว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นผลตอบแทน หากคุณมีความคิดชนิดนี้ จะก่อให้เกิดเสน่ห์ชนิดเปล่งพลังชะโลมใจ คนที่สัมผัสจะเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เห็นคุณเป็นที่พึ่ง (ขอให้ทราบว่าความเป็นที่พึ่งกับความเป็นคนรับใช้นั้นต่างกันนิดเดียว ระหว่างให้แบบใจอ่อนยินยอมไปหมด กับให้แบบใจดีมีความน่าเกรงใจ ศิลปะของการให้อย่างหลังจะมีเสน่ห์ ขณะที่การให้อย่างแรกจะดูไร้ค่าหรือถึงขนาดน่ารังแก)

๕) ความมีใจเอ็นดูไม่คิดประทุษร้าย คือไม่แม้แต่จะแอบด่า แอบสาปแช่งคนหรือสัตว์ที่ตนเกลียด แต่มีเหตุผลบอกตนเองเสมอว่าทำไมจึงควรให้อภัย เห็นกระจ่างที่มาที่ไปอันน่าเห็นใจของคนแสนเลวสักคน หากคุณมีความคิดชนิดนี้ จะก่อให้เกิดเสน่ห์ชนิดเปล่งพลังชะโลมใจ คนที่สัมผัสจะเกิดความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่หวาดระแวง และบังเกิดความปรารถนาดีต่อคุณ หากเกลียดหรือคิดทำร้ายคุณได้แปลว่าต้องมีใจพาลสันดานหยาบเอาเรื่องทีเดียว

๖) ความคิดมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวไม่ท้อแท้ คือแม้พบอุปสรรคก็ไม่แสดงความอ่อนแอให้เห็น เพราะคิดหาทางรุกคืบไปข้างหน้าเข้าหาเส้นชัยหรือทางออกจากปัญหา ทำอะไรทำจริง พูดอะไรแล้วทำอย่างที่พูด ตั้งใจอะไรแล้วไม่ล้มเลิกง่ายๆ หากคุณมีความคิดชนิดนี้ จะก่อให้เกิดเสน่ห์ชนิดเปล่งพลังประทับใจ คนที่สัมผัสจะเกิดความรู้สึกถึงพละกำลัง ความเข้มแข็งไม่อ่อนแอ ความคมคายไม่ทื่อมะลื่อ เต็มไปด้วยความก้าวหน้าพัฒนาสู่ความสำเร็จลุล่วง

๗) ความคิดยับยั้งชั่งใจ คือแม้พบสิ่งยั่วยุให้ละโมบโลภมาก ก็ระงับความทะยานอยากเสียได้หากเห็นว่าไม่ถูกไม่ชอบ หรือแม้พบสิ่งยั่วยุให้พยาบาทอาฆาตแค้น ก็ระงับความหุนหันพลันแล่นอยากโต้ตอบด้วยความรุนแรงเสียได้ หากคุณมีความคิดชนิดนี้ จะก่อให้เกิดเสน่ห์ชนิดเปล่งพลังประทับใจ คนที่สัมผัสจะเกิดความรู้สึกถึงขันติ ความอดทนทางใจ

๘) ความคิดไม่เข้าข้างตัวเอง คือไม่หลงตัว ไม่ปกป้องตัวเอง เป็นคนดีจริงด้วยการรู้ตัวว่ายังมีจุดบอดหรือข้อเสียอันใดอยู่บ้าง ไม่ใช่ดีจริงด้วยการประกาศว่าข้าดีพร้อม ข้าทำอะไรไม่ผิดสักอย่าง ไม่คิดเข้าข้างตัวเองแม้ผิดพลาดทำชั่วบ้าง ก็มีระดับมโนธรรมสูงพอจะสำนึกผิดได้ด้วยตนเอง หากคุณมีความคิดชนิดนี้ จะก่อให้เกิดเสน่ห์ชนิดเปล่งพลังประทับใจ คนที่สัมผัสจะเกิดความรู้สึกถึงสำนึกอันดีงามของมนุษย์ กระแสความสำนึกผิดและการรับผิดชอบอย่างอาจหาญจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นกล้าที่จะสำนึกผิด แล้วก็ไม่ต้องขัดแย้งกับตนเอง ไม่ต้องเกลียดตนเองด้วยกำแพงปกป้องตนเองอันน่ารังเกียจ

๙) ความคิดที่รื่นรมย์เบาสมอง คือความสามารถมองแง่ร้ายให้กลายเป็นตลกได้ หากคุณมีความคิดชนิดนี้ จะก่อให้เกิดเสน่ห์ชนิดเปล่งพลังดึงดูดใจ คนที่สัมผัสจะเกิดความรู้สึกพร้อมจะมีอารมณ์ขัน นึกสนุก ไม่เคร่งเครียด เต็มไปด้วยความรื่นเริงบันเทิงใจตามไปด้วย

๑๐) ความคิดแบบผู้ชนะที่มีน้ำใจนักกีฬาและความปรานี ไม่มีใครอยากยืนอยู่ข้างคนแพ้ ในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครอยากอยู่ใต้อำนาจคนชนะที่เหลิงหลงและหมิ่นศักดิ์ศรีผู้อื่น ผู้ชนะอาจอยู่ในเกมกีฬา เกมธุรกิจ ตลอดจนกระทั่งเกมกิเลส คือถ้าเอาชนะกิเลสยากๆของตนเองได้ก็จัดเป็นผู้ชนะได้เหมือนกัน และเป็นผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ด้วย หากคุณมีความคิดชนิดนี้ จะก่อให้เกิดเสน่ห์ชนิดเปล่งพลังดึงดูดใจ คนที่สัมผัสจะเกิดความรู้สึกหลงใหลมนต์เสน่ห์อันโดดเด่นจับตาจับใจได้ง่าย

วิธีคิดแบบอันเป็นตรงข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้น จะบั่นทอนเสน่ห์ลง กล่าวคือกระแสความคิดจะเป็นแบบผลักไสให้ออกห่าง (ตรงข้ามกับพลังดึงดูดใจ) หรือแบบไม่ประทับลงในความทรงจำ (ตรงข้ามกับพลังประทับใจ) หรือแบบระคายเคือง (ตรงข้ามกับพลังชะโลมใจ) เช่นต่อให้มีเสน่ห์ทางกายและเสน่ห์ทางวาจา แต่ถ้าคิดฟุ้งซ่านมากๆเป็นนิตย์ ก็จะก่อคลื่นรบกวนคนใกล้ชิดให้ปั่นป่วนตาม อึดอัดที่จะต้องอยู่ใกล้ชิดนานๆ เป็นต้น


141
                                                                     •“วิธีแก้กรรม”•

                            กรรมใดใครก่อ...กรรมนั้นย่อมคืนสนอง

                              สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม

                                 ทุกอย่างมีเจตนาเป็นตัวกรรม

                                    ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

                                                     วิธีแก้กรรมให้ตนเองได้ผลดีเร็วขึ้น


                       วิบากกรรมของคนแต่ละคน ต่างมีวิบากกรรมต่างกันไป บางคนป่วยไม่รู้
                  สาเหตุ นั่ง ๆ หลับ ๆ บางคนตกงานตลอด บางคนลำบากมาก บางคนลูกไม่ดี
  หากินไม่คล่อง วิบากกรรมนี้ของคุณตามมาหลายภพชาติ ภพชาติก่อน ๆ ทำให้เกิดมาต่างกัน ฉะนั้นหนทางในการแก้วิบากกรรมมีหลายทางดังนี้ เวลาที่ทำบุญหรือทำความดีอะไรทุกครั้ง นอกจากจะทำบุญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแล้ว เช่น การใส่บาตร การถือศีล และอื่น ๆ หรือการพูดคุยธรรมะ การช่วยให้ผู้อื่นสบายใจ ชี้แนะทางแก้ไขปัญหาชีวิต การทำความสะอาดห้องพระ การถวายน้ำเปล่าเพียง 1 แก้วให้กับหิ้งพระพุทธฯ การร่วมอนุโมทนาการทำความดีของผู้อื่น โดยการใช้จิตน้อมไปทางบุญกุศล การกวาดใบไม้ทำสวน การทำความสะอาดห้องน้ำ หรือจะของส่วนรวม ความที่มีจิตใจดีหรือตั้งใจดีทั้งหมด การดูแลคนแก่ เด็ก ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นมหากุศลทั้งสิ้น ตั้งนะโม 3 จบ ทุกครั้ง (ขอให้พระพุทธเจ้าเป็นพระประธาน) เพราะบารมีพระพุทธเจ้าเปิด 3 ภพ (โลก) สวรรค์ มนุษย์ นรก เจ้ากรรมนายเวรจะอยู่ภพภูมิไหน เช่น นรกขุมสุดท้าย (18) เจ้ากรรมนายเวรก็จะอโหสิกรรมหมดรวดเร็วแล้วควรกรวดน้ำลงดินทุกครั้งแม่พระธรณี แม่พระคงคาเป็นทิพย์พยาน เพราะท่านก็สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ลูกได้ทำความดี เช่น ทำบุญกุศลใส่บาตร ฯลฯ ขอถวายบุญกุศลแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า 5 พระองค์ ขอให้ทุกพระองค์นำส่งบุญให้ลูกมีเดชปัญญา โภคะ (ความสมบูรณ์) เพื่อจะได้อุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร (วิญญาณโปร่งใส) ทุกภพทุกชาติ ศัตรูหมู่มารหรือหมู่พาลคือ มนุษย์ เช่น บริวาร ญาติ มิตร คนรับใช้ สามี บุตร ธิดา ทุกภพทุกชาติ ขอให้ได้รับมหากุศลนี้รับแล้วขอให้อโหสิกรรม ให้ขาดจากกัน ณ เดี๋ยวนี้ บัดนี้ ขอให้ข้าพเจ้ามีบุญบารมีสูงขึ้น ๆ ๆ ๆ เต็มขึ้น เพื่อจะได้ช่วยสังคมให้สูงขึ้น และช่วยสร้างคนให้เป็นพระ เกิดปัญญาทางธรรม (จิตสัมผัสรู้ ชั่วดีเลว เหตุการณ์ล่วงหน้า) ปัญญาทางโลกทุกคนมีอยู่แล้วจากพ่อแม่ แต่ขาดปัญญาทางธรรม ถ้าได้จะประสบแต่ความสำเร็จ สมบูรณ์พูนสุขทุกอย่าง เพราะ บุญคือขุมทรัพย์ ลาภยศจะมาเอง และยังช่วยผู้อื่นครอบครัวได้ด้วย (กรรมเวรแก้ไขได้ โดยการขอขมากรรม และส่งวิญญาณด้วยพระสะดุ้งมารขนาด 3 นิ้ว 5 นิ้ว เป็นการต่อชะตาชีวิต)
ถ้ากรรมใด ได้รับอโหสิกรรม กรรมนี้จะเบาบางและชีวิตจะดีขึ้นโดยสังเกตุจากตัวเราว่า มีสิ่งที่ดีเข้ามามากขึ้นที่ป่วย ก็จะหาย ที่จนก็จะเริ่มมีแสดงว่าเราเริ่มจะมีบุญแล้ว หากกรรมยังเยอะ ก็ยังลำบากอยู่ .

ขอบคุณที่มา http://board.palungjit.com


142
                       ยิ่งปล่อยวาง ยิ่งเป็นสุข  โดยพระธรรมาโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)

    ให้เราจำคำพูดของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ความยึดมั่นเป็นตัวทุกข์  มีความยึดมั่นในสิ่งใดก็เป็นทุกข์ในสิ่งนั้นถ้าปล่อยวางได้ก็ไม่ทุกข์ เราจึงควรรู้เท่าทันสิ่งนั้น อย่ายึดอย่าถือให้มันรุนแรง แต่ให้รู้ว่าสิ่งนี้มัน ไม่ใช่ของแท้ของจริงเป็นสิ่งที่ผ่านมาในวิถีชีวิตของเรา มันเป็นสิ่งที่ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อะไรที่ผ่านมาในชีวิต ลาภผ่านมา ยศผ่านมา ความสุขผ่านมา สรรเสริญผ่านมา แล้วมันก็ผ่านไป แต่เราหลงผิดว่า  เมื่อมันผ่านไปแล้ว เราก็กลับไปจับมันอีกรถไฟออกแล้ว เรากระโดดจับ รถไฟเลยล้มลงไปปากแตก ขาหักแขนหัก ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน  อารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในใจของเราก็เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนว่าให้ปล่อยวางให้อยู่ด้วยความว่าง ในการยึดถือในสิ่งนั้น ให้ใช้ปัญญา พิจารณาให้รอบคอบ
แหล่งที่มา : ความแก่ที่ท่านยังไม่รู้จัก รวมพระธรรมเทศนา  ของพระธรรรมาจารย์ ,2542     
 ขอบคุณที่มา http://www.dhamma.net/

143
                                     สิ่งที่เรามักจะนึกเสียใจก่อนเสียชีวิต
 
   
             รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย pasu@acc.chula.ac.thกรุงเทพธุรกิจ
         วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

  สัปดาห์นี้เปลี่ยนอารมณ์หน่อยนะครับ เพราะพอดีไปเจอบทความเรื่องหนึ่ง โดย Bronnie Ware ซึ่งเป็นนักเขียนอิสระอยู่ที่ออสเตรเลีย โดยนักเขียนผู้นี้เคยทำงานดูแลผู้ป่วยที่รู้ตัวว่าจะเสียชีวิตและกลับไปอยู่ที่บ้านเพื่อรอวันตาย โดยเธอจะอยู่กับผู้ป่วยเหล่านี้ในช่วงสามถึงสิบสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิต โดยในช่วงเวลาดังกล่าว เธอได้มีโอกาสพูดคุย และรับฟังความในใจของผู้ป่วยเหล่านี้ เมื่อถามถึงสิ่งที่เสียใจหรือสิ่งใดๆ ก็ตามที่ถ้าทำได้อยากจะย้อนอดีตไปเปลี่ยนแปลงนั้น เธอพบว่ามีอยู่ห้าประเด็นที่มักจะพบในผู้ป่วยที่กำลังใกล้เสียชีวิตเป็นส่วนใหญ่ครับ


ประเด็นแรก คือ ผู้ป่วยเหล่านี้อยากจะมีความกล้าที่จะใช้ชีวิตตามแบบที่ตนเองอยากหรือต้องการจะเป็นไม่ใช่ดำรงชีวิตตามความต้องการหรือความคาดหวังของผู้อื่น ซึ่งพบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ป่วยอยากจะเปลี่ยนแปลงมากที่สุดครับ เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยพบว่าชีวิตตนเองกำลังจะสูญเสียไป และมีโอกาสมองย้อนกลับไปในอดีตนั้น จะพบว่ามีความฝันหลายๆ อย่างที่ยังไม่ได้เริ่มต้นทำหรือยังไม่บรรลุ และเมื่อใกล้จะเสียชีวิตก็จะพบว่าความฝันของตนเองนั้นจะไม่มีวันบรรลุ และส่วนใหญ่ก็มักจะมานั่งนึกเสียใจ เพราะสาเหตุที่ไม่สามารถทำตามความฝันได้นั้น เป็นเพราะตัวเองเลือกที่จะไม่ทำเอง ตัวเองเลือกที่จะทำตามสิ่งที่ผู้อื่นขีดเส้นทางให้เดิน


ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับทุกๆ ท่านนะครับ ที่ในช่วงชีวิตหนึ่ง ถ้ามีโอกาสและเลือกได้ก็ควรจะเดินตามความฝันของตัวท่านเอง เพราะคนเราหนีไม่พ้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย และเมื่อวันนั้นมาถึง เราก็คงจะไม่มีแรงที่จะเดินตามความฝันที่เราต้องการแล้ว การมีสุขภาพที่ดีจะช่วยทำให้ท่านเดินตามความฝันได้ แต่เมื่อใดก็ตาม ที่สุขภาพท่านเริ่มแย่แล้ว อิสระในการเดินตามฝันก็ท่านก็จะลดน้อยลง

ประเด็นที่สอง คือผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตเหล่านั้น คิดเสียใจว่าถ้าย้อนอดีตได้จะไม่ทำงานหนักเหมือนที่ผ่านมาซึ่งเหตุการณ์นี้ มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยชายเกือบทุกคนเลยครับ คุณผู้ชายเหล่านี้มักจะเสียใจว่าในอดีตที่ผ่านมา ไม่ค่อยได้มีเวลาในการดูแลลูกๆ ของตนเท่าที่ควร รวมทั้งไม่ได้อยู่เป็นคู่ทุกข์คู่ยากภรรยาเท่าที่ควร ผู้ป่วยที่เป็นชายเกือบทุกคนจะรู้สึกเสียดายว่าในอดีตใช้ และให้เวลากับงานมากเกินไป


ข้อสังเกตนี้ก็น่าคิดนะครับ ว่าในปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับการทำงานมากเกินไปหรือไม่ เราต้องการแสวงหารายได้ ชื่อเสียง เกียรติยศมากเกินไปหรือไม่ สุดท้ายเมื่อเราใกล้ตายเราจะสำนึกเสียใจว่าเราได้พลาดโอกาสดีๆ ในชีวิตที่ไม่มีวันหวนกลับมาหรือไม่ การมีรายได้ที่พอเพียงอาจจะเป็นทางออกสำหรับทุกท่านนะครับ อีกทั้งการมีที่ว่างในตารางเวลาและชีวิต ที่ไม่ใช่เรื่องของการทำงานเพียงอย่างเดียว จะทำให้เรามีความสุขขึ้น และเมื่อเราใกล้เสียชีวิต จะไม่มานั่งย้อนนึกเสียใจในสิ่งที่เราพลาดไป


ประเด็นที่สาม คือผู้ป่วยอยากจะกล้าที่จะแสดงอารมณ์และความรู้สึกที่แท้จริงของตนเนื่องจากคนจำนวนมากจะปิดกั้นอารมณ์และความรู้สึกที่แท้จริงของตน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสงบและสันติ ทำให้สุดท้ายแต่ละคนรู้สึกว่าอารมณ์ของตนเองถูกเก็บกด และไม่สามารถเป็นตัวตนที่แท้จริง


ประเด็นที่สี่ คือ ผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตนั้น มักจะเสียใจที่ไม่ได้ติดต่อเพื่อนฝูงเก่าๆเนื่องจากเรามักจะไม่ค่อยเห็นถึงคุณค่าของเพื่อนเก่าๆ จนกระทั่งใกล้เสียชีวิต คนจำนวนมากจะมัวแต่ยุ่งและวุ่นวายกับชีวิตประจำวัน จนละเลยต่อความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนฝูง ทำให้เรามักจะไม่ค่อยให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงต่างๆ จนกระทั่งใกล้จะเสียชีวิต ก็จะเริ่มนึกถึงเพื่อนฝูงขึ้นมา


ดูเหมือนว่าเมื่อคนใกล้จะเสียชีวิต เกียรติยศ เงินทอง หรือสถานะทางสังคมต่างๆ กลับดูไปจะด้อยหรือไร้ความหมายนะครับ

สุดท้ายดูเหมือนว่า เรื่องของความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจะกลายเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยที่กำลังใกล้ตายนึกถึง


ประเด็นสุดท้ายซึ่งค่อนข้างน่าแปลกใจ คือ ผู้ป่วยเหล่านี้กลับสำนึกเสียใจว่าไม่ได้ทำให้ชีวิตที่ผ่านมาของตนเองมีความสุขเท่าที่ควรผู้ป่วยหลายคนจะไม่เคยนึกถึงมาก่อนนะครับว่าตนเองสามารถที่จะเลือกที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้ คนจำนวนมากเลือกที่จะอยู่และปฏิบัติในสิ่งที่คุ้นเคย ความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้คนเรามักจะหลอกตนเองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นมีความสุข ซึ่งจริงๆ แล้วกลับไม่ใช้

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้นะครับว่าเมื่อคนเราใกล้จะตายนั้น เรามักจะนึกย้อนกลับไปถึงอดีต และเริ่มสำนึกเสียใจในสิ่งที่ได้ทำหรือไม่ได้ทำมาในอดีต และเราจะพบว่าเมื่อเราใกล้ตายแล้ว เงินทอง ชื่อเสียง สถานะ เกียรติยศต่างๆ กลับไม่มีความหมาย
สิ่งที่มีความหมายเมื่อใกล้ตาย คือ เรื่องของความรักและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งหลายครั้งกลับกลายเป็นสิ่งที่เราละเลยหรือไม่สนใจในขณะที่เรามีชีวิตอยู่

นอกจากนี้ เมื่อใกล้ตาย คนเราจะพบว่าชีวิตในอดีตที่ผ่านมานั้นเรามีสิทธิที่จะเลือก แต่เราดันเลือกในสิ่งที่ไม่ได้ทำให้เรามีความสุข
หรือเลือกในสิ่งที่ทำให้เราต้องมาย้อนสำนึกเสียใจ เมื่อเราใกล้ตาย

ดังนั้น ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่และยังแข็งแรง เราจะต้องเลือกอย่างมีสติ
เลือกอย่างฉลาด เลือกในสิ่งที่ถูก และเลือกในสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขนะครับ

   ขอบคุณที่มา  http://board.palungjit.com

144
กฎแห่งกรรม / ไฟนรก ...กฏแห่งกรรม
« เมื่อ: 04 ก.ย. 2553, 10:21:19 »
                                   
                                   “ไฟไหม้คน..... ไฟไหม้คน ไฟไหม้คน”

  ...มันเป็นเสียงที่แปลกหูของชาวบ้านทั่วๆ ไป ซึ่งไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่พอได้ยินคำว่า “ไฟไหม้” เท่านั้น ก็ทำให้ชาวบัานร้านค้าที่อยู่ใกล้เคียงก็ขวัญูเสียตกใจ จนหน้าซีดเซียวหยิบอะไรไม่ถูกเสียแล้ว ส่วนคนจีนทำการค้าก็รีบจัดแจงปิดหน้าถังหรือปิดประตูร้านค้าขายทันที ไม่ได้ดูให้แน่ชัดว่าไฟมันไหม้ตรงไหน ไหม้อะไรเสียก่อน เห็นจะเป็นอย่างโบราณว่าตื่นไฟ บางคนตื่นตกใจ มือเท้าอ่อนเดินไม่ไหว ท่ามกลางความตื่นเต้นของเสียงที่ร้องตะโกน ไฟไหม้คน แต่มองไม่เห็นแสงไฟ

ทันใดนั้นทางประตูเข้าออกของโรงงาน ก็มีร่างมนุษย์วิ่งอย่างทุรนทุรายไฟลุกท่วมตัว สะบัดซ้ายสะบัดขาวส่ายตัวไปมา เห็นจะเป็นด้วยความร้อนของพิษไฟ ปากก็ตะโกนรองส่งเสียงแหบๆ ว่า “ช่วยด้วย ช่วยผมด้วย ผมตายแล้ว”

ชาวบ้านร้านตลาดแถบนั้นทุกคนตกใจ จ้องมองดูอย่างตกตลึงแทบไม่หายใจ เกือบจะไม่เชื่อสายตาว่าร่างกายสังขารที่ลุกช่วงด้วยแสงไฟ ทั้งกลิ่นน้ำมันและเนื้อไหม้นั้น กำลังวิ่งพล่านเพื่อขอความช่วยเหลือเป็นมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ยังไม่ตาย กำลังจะถูกเผาทั้งเป็น บางคนที่เป็นผู้ใหญ่หายตกตะลึงก็มีความสังเวช ต่างก็คิดหาทางช่วยหากช้าไม่ทันการ ชายผู้เคราะห์ร้ายจะไหม้สุกเสียก่อน

บางคนก็ร้องตะโกนออกไปว่า “ถอดเสื้อออกทิ้งเร็ว” ผู้เคราะห์ร้ายได้พยายามทำตาม เพื่อถอดเสื้อออกจากตัว แต่มันเป็นเสื้อยืดคอกลมต้องถอดออกทางหัว ผู้เคราะห์ร้ายได้พยายามทำตามก็ไม่สำเร็จ เพราะมันคับทั้งไฟลุกท่วมตัว เสียงชาวบ้านตะโกนบอกว่าโดดลงไปในโคลน บางคนก็ร้องบอกให้ชาวบ้านหากระสอบเก่าๆ ชุบน้ำเพื่อไปคลุมตัว บางคนก็วิ่งไปหายาฉีดดับเพลิง บางคนก็ให้ไปโกยเอาดินเลนขึ้นมาสาด เสียงชุลมุนวุ่นวายแวดล้อมห่างๆ ร่างที่กำลังถูกเผาอย่างขวักไขว่ไปมา ต่างก็อยากช่วยแต่ตกใจทำอะไรไม่ถูก

ส่วนพวกผู้หญิงก็ร้องโวยวายเพราะหวาดเสียว เมื่อเห็นคนกำลังถูกเผาทั้งเป็น ทั้งได้ยินเสียงโหยหวนขอความช่วยเหลือ เหมือนเปรตกำลังถูกไฟนรกเผากำลังจะขาดใจตาย แต่ก็ไม่มีใครสามารถจะช่วยได้ ผู้หญิงบางคนใจอ่อน อกสั่นขวัญหายขนลุกขนพอง ทนดูอยู่ไม่ได้ต้องหลับตาปิดหู บางคนก็วิ่งร้องไห้หนีหลบเข้าไปในบ้านด้วยความสงสาร บางคนใจแข็งวิ่งเข้าไปเอาถังเอากระป๋องตักน้ำมาจะช่วยสาดให้ไฟดับ

แต่คนส่วนมากตะโกนให้ลงนอนกลิ้งตัว เพราะท่าวิ่งก็ไม่สามารถจะดับลงได้ ชายเคราะห์ร้ายนั้นไม่มีสติจะคิดอะไร พิษไฟร้อนแรงกำลังเผาอยู่ตลอดเวลา ที่เสื้อผ้ายังชุ่มน้ำมัน เมื่อใครตะโกนอะไรก็พยายามทำตาม ที่สุดก็นั่งลงแล้วก็นอนกลิ้งลงกลางถนน ชาวบ้านเตรียมกระสอบป่านไว้แล้วช่วยกันโป๊ะลงไปที่ตัวจนไฟดับลง

แต่ชายเคราะห์ร้ายผู้นี้ก็มีอาการหนักมากเสียแล้ว เสียงครวญร้องครางด้วยความเจ็บปวดด้วยพิษไฟ ชายเคราะห์ร้ายผู้นี้ต้องร้องครวญครางอยู่พักหนึ่งก็หมดสติเงียบไป ชาวบ้านผู้มีจิตใจเมตตาเห็นอกเห็นใจ ก็พยายามช่วยกันอย่างตามมีตามเกิด เพราะรู้พิษของไฟลวกว่าปวดแสบร้อนแค่ไหนบางคนก็บอกยากลางบ้านให้จัดทำขึ้น แต่อาการของชายเคราะห์ร้ายนี้หนักเกินไปแล้ว ไม่รู้ว่าใครมาจากไหน

ชาวบ้านแถบนั้นไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลย ทั้งถูกไฟเผา ผมบนหัวนั้นไหม้หมด หนังหัวก็เกือบละลาย ขนคิ้วขนตาก็หมด นัยน์ตาก็ลืมไม่ขึ้น หรือไม่สามารถมองจะเห็นแสงสว่างของโลก ได้อีกต่อไปตลอดชาติ ทำไมหนอชายผู้นี้จึงได้รับเคราะห์กรรมหนักถูกย่างสดเช่นนี้

ชาวบ้านต่างวิจารณ์ไปในทางลงความเห็นว่า ชายผู้นี้คงจะทำบาป อย่างหนักจึงได้ประสบเคราะห์กรรมอย่างหนักนี้ เนื้อตัวเกือบจะสุกหมด รู้แต่เพียงว่าลมหายใจเข้าออก ท้องยังแขม่วๆ พอให้รู้ว่ายังไม่ตายเท่านั้น แล้วก็น่าสังเวชเพราะมันทรมานอย่างสาหัส เท่าที่ชาวบ้านร้านโรงซึ่งเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ยังไม่เคยเห็นสภาพที่น่าทุเรศ และขนลุกขนพองสยองเกล้าน่ากลัวเช่นนี้ แม้เรื่องสงบลงแต่ผู้หญิงและเด็กหรือผู้ชายก็ดี ที่ประสาทอ่อนก็ไม่กล้ามองดู เพราะร่างนั้นเหมือนปีศาจดำเป็นตอตะโก นี่แหละไฟนรก ที่น่ากลัวที่สุดซึ่งชาวบ้านไม่เคยเห็นมาก่อน

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ทางการได้รีบจัดรถพยาบาลมารับส่งตัวชายผู้นี้ไปรักษาทางโรงพยาบาล แกต้องมีลมหายใจอยู่ใช้กรรมอีกนานพอสมควร คือทางแพทย์ก็ได้พยายามจะช่วยให้ชายผู้นั้นมีชีวิตให้นานต่อไป แต่ก็เหลือความสามารถของหมอที่จะช่วยแก้ไขไว้ได้ ที่สุดก็หมดลมลงอย่างผีไม่มีญาติ ไม่มีญาติพี่น้องไปเยี่ยมศพเลย บั้นปลายของชีวิตคนเราย่อมจะมีจุดจบแปลกๆ แตกต่างกันแต่ละบุคคล ตามบุญูตามบาปที่กรรมจะตามสนอง

ภายหลังไฟนรกได้ไหม้ร่างกายของผู้ชายนี้แบบย่างสดแล้ว เจ้าหน้าที่ได้สอบสวนสาเหตุที่ไฟเกิดขึ้นได้อย่างไร ชายผู้นี้คือใคร คนทำร้ายเพราะเหตุใด ก็ได้ใจความว่า ชายผู้นี้ติดฝิ่นอย่างงอมแงม คนในโรงงานไม่รู้จักหัวนอนปลายตีน เป็นคนจรจัด ได้แอบไปตั้งกล้องยาสูบฝิ่นในมุมหนึ่งของโรงงานกับเพื่อน วันนั้นเป็นวันหยุด ไม่มีกรรมกรมาทำงานเลย คงมีแต่คนเฝ้าอยู่ในโรงงานมุมหนึ่ง ชายผู้เคราะห์ร้ายนี้ได้หลบซ่อนสูบพ่นในโรงงานนี้กับเพื่อนคู่หู ซึ่งเป็นผู้อาศัยช่วยดูแลโรงงานอยู่เก่าแก่เป็นประจำ แต่บังเอิญวันนั้นเกิดอารมณ์เสียด้วยกัน

ทางการสันนิษฐานว่าต่างก็คงกระหายฝิ่น ต่างแย่งกันสูบก่อนเป็นต้นเหตุ ความอยากสูบฝิ่นมีอำนาจเหนือความเป็นเพื่อน จึงเกิดวิวาทกันขึ้น ชายเคราะห์ร้ายโมโหอยากฝิ่น เห็นช้างเท่าหมู ต่างก็ตกอยู่ในอำนาจยาเสพติด ลืมทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนคนบ้าที่ดุร้าย ชายเคราะห์ร้ายคว้าได้กล้องยาฝิ่นก็ตีเพื่อนเหมือนเป็นศัตรูที่ร้ายกาจ เพื่อนก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน เพราะโมโหหิวฝิ่น แต่มือเปล่าสู้ไม่ได้ จึงโจนจากเตียงนอนสูบฝิ่นวิ่งหนี ชายเคราะห์ร้ายวิ่งไล่ตามทำร้ายในบริเวณโรงงาน แต่บังเอิญเพื่อนผู้วิ่งหนีมา เห็นเครื่องตวงน้ำมันเบ็นซินขนาดลิตรซึ่งบรรจุน้ำมันเต็มอยู่ภายใน ซึ่งมีคนถ่ายออกจากรถยังไม่ได้บรรจุในถังที่ปลอดภัย จึงรีบหยิบกระป๋องเครื่องตวงแล้วยกขึ้นสาดไปที่ตัวชายเคราะห์ร้าย ซึ่งกำลังวิ่งไล่ตามมาข้างหลังไม่รู้ตัว หวังให้หยุดการไล่ตามทำร้ายด้วยความโกรธแค้น

ด้วยเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีใครนึกฝันมาก่อน เพราะไม่เป็นสาระ แต่ด้วยอำนาจกระหายอยากทรมานของยาเสพติด ทำให้ประสาทขาดสติรู้ผิดชอบเหมือนสัตว์ร้ายเวลาโกรธ ขาดความเป็นมนุษย์ จิตใจต่างก็ตกเป็นทาสของยาเสพติด ไมู่ร้การทำเช่นนี้จะเกิดอันตรายร้ายแรงเพียงไร เมื่อชายผู้หนีเห็นว่า ได้สาดน้ำมันลงไปที่ตัวผู้วิ่งไล่จนโชก ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการวิ่งไล่ตามทำร้าย เพียงแต่ชะงักลงเพียงเล็กน้อย ก็ยิ่งกลับเพิ่มความโกรธแค้นมากขึ้นแก่ผู้วิ่งไล่ตาม เหมือนว่าหากไล่ทันอาจจะขยี้ทำลายผู้หนีให้สิ้นชีวิตลงได้ด้วยโทสะ การวิ่งไล่วนเวียนอยู่ในโรงงาน ผู้หนีเห็นท่าจะหนีไม่พ้นก็วิ่งวนไปที่เตียงสูบฝิ่น รีบฉวยตะเกียงซึ่งกำลังจุดไฟเตรียมไว้สำหรับสูบฝิ่น ฉวยได้แล้วขว้างไปที่ตัวผู้ไล่

ทันใดนั้น ไฟตะเกียงที่กำลังลุกก็ได้ติดเสื้อของผู้ไล่ซึ่งชุ่มโชกด้วยน้ำมันเบ็นซิน ไฟก็ลุกพรึบขึ้นตามตัวชายผู้วิ่งไล่ทันที เพราะความไวของน้ำมันเบ็นซิน ทำให้ผู้เคราะห์ร้ายไม่นึกฝันว่าเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้จะเกิดขึ้น ก็ตกใจร้องโวยวายทิ้งกล้องยาสูบฝิ่น ความตกใจทำให้สติเสีย ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรให้ไฟดับ ทางโรงงานก็มีแต่คนยามเฝ้าโรงงาน เห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นนั้นก็ตกใจร้องโวยวายตะโกนออกมาว่า “ไฟไหม้คน”

ชาวบ้านร้านตลาดได้ยินแต่เสียง “ไฟไหม้คน” ก็จับเพียงคำหน้าเพียงไฟไหม้เท่านั้น ก็พากันตกใจ ต้นเหตุเกิดขึ้นก็เพราะแย่งกันสูบก่อนสูบหลังของยาเสพติดเท่านั้น บัดนี้ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นแล้ว ชายผู้สาดทั้งน้ำมันเบ็นซินและสาดทั้งไฟเข้าไป ไม่ทันคิดหน้าคิดหลัง เมื่อเห็นเหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตเช่นนั้นก็ตกใจสุดขีด รีบฉวยโอกาสที่คนกำลังชุลมุนกันหลบหนีไปทันที ทางการสืบสวนได้เพียงเท่านี้ ซึ่งยังเป็นที่ลึกลับ เพราะยังไม่ทราบว่าชายผู้เคราะห์ร้ายบัดนี้ได้จบชีวิตด้วยไฟนรกเป็นใครมาจากไหน

ชาวบ้านร้านตลาดในหมู่ที่ตำบลเกิดเหตุ ต่างก็โจษจันกันแซ่ ทุกคนก็อยากรู้ว่าชายผู้เคราะห์ร้ายนั้นคือใคร มีบ้านช่องอยู่ที่ไหน แม้ทางการจะประกาศหาญาติพี่น้องของผู้ตาย แต่ก็ไม่มีใครสามารถจะชี้ตัวว่าเป็นญาติใคร นอกจากคนที่ทำร้ายสาดน้ำมันจุดเผาแล้วหนีไปเท่านั้นที่รู้จัก แต่ก็ยังจับตัวไม่ได้ ทั้งเนื้อตัวหน้าตาของชายผู้นี้สุกหมด ไม่มีใครสามารถจะจำได้

แรกๆ ชาวบ้านร้านตลาดเหล่านั้น ต่างก็สนใจอยากทราบว่าชายเคราะห์ร้ายผู้นั้นคือใคร ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน เรื่องก็คงยังลึกลับไม่มีใครทราบ ทำให้ชาวบ้านยิ่งอยากรู้เพราะยิ่งลึกลับเพียงไร ก็ยิ่งอยากรู้มากเพียงนั้น เป็นความรู้สึกของมนุษย์ปุถุชนธรรมดา แต่เมื่อนานๆ เข้าเรื่องก็ยังไม่คลี่คลายให้กระจ่างแจ้งว่า ชายผู้เคราะห์ร้ายผู้นั้นเป็นใคร ยังคงเป็นเรื่องลึกลับอยู่ตามเดิม


กาลเวลาที่ล่วงนับแต่มนุษย์ผู้เคราะห์ร้ายถูกเผาทั้งเป็น เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ผ่านไปเป็นปี เรื่องราวก็ยังลึกลับ เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าชายเคราะห์ร้ายนั้นคือใคร ผู้ที่ทำร้ายแล้วหลบหนีไปก็ยังจับตัวไม่ได้ ชาวบ้านค่อยๆ คลายความสนใจหันมาสนใจการทำมาหาเลี้ยงชีพ เรื่องราวของผู้เคราะห์ร้ายกำลังจะถูกลืมจากความสนใจของชาวบ้าน ที่เคยอยากรู้ว่าชายผู้นั้นเป็นใคร

ลุงขาวได้กรุณาเล่าว่า โลกนี้มันมีสิ่งแปลกประหลาดอัศจรรย์ เรื่องเหมือนจะอาถรรพณ์ ความลึกลับได้ถูกคลี่คลายออกมาอย่างประหลาดซึ่งไม่มีใครเคยนึกเคยฝันมาก่อน ความจริงย่อมหนีความจริงไม่พ้น คล้ายว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามที่ผู้ประกอบกรรมทำชั่วไว้มากมายกรรมจึงตามสนอง เหมือนจะประกาศให้รู้ทั่วกันว่า บุญบาปเวรกรรมเป็นความจริงมีอยู่ในโลก ผู้ใดได้สร้างกรรมไว้แล้วย่อมจะหนีกรรมนั้นไม่พ้น กรรมย่อมจะเป็นเงาตามตัวอยู่ตลอดเวลา คอยหาโอกาสที่จะถึงกำหนดที่จะเกิดผลสนอง แม้มนุษย์หยาบช้าจะมีความเฉลียวฉลาดสามารถจะหลบหนีกฎหมาย ซึ่งมนุษย์ได้บัญญัติตั้งขึ้นเพื่อลงโทษผู้ทำผิด แม้มนุษย์นั้นจะมีปัญญาความรู้หลักแหลมฉลาดแกมโกง เอาตัวรอดจากโทษทัณฑ์ในโลกมนุษย์ได้ แต่ก็ไม่สามารถจะหลบหลีกกรรมชั่วที่ตนได้สร้างขึ้นได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตาม “กฎแห่งกรรม”

เมื่อถึงเวลาที่สิ่งลี้ลับจะคลี่คลาย ก็บังเอิญให้มีพระภิกษุรูปหนึ่งธุดงค์มาพักปักกลดใกล้หมู่บ้านที่ลุงขาวอยู่ ตามปกติชาวบ้านหมู่นั้นเป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อเห็นมีพระภิกษุมาปักกลดแรมคืน พอรุ่งเช้าก็มีชาวบ้านต่างก็นำอาหารไปถวายพระธุดงค์ด้วยจิตศรัทธา รวมทั้งลุงขาวซึ่งเป็นหัวหน้านำ เพราะลุงขาวเป็นไวยาวัจกรวัดหนึ่งในหมู่บ้านนั้น และเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านทั่วไป

พระภิกษุรูปนี้เคร่งต่อพระวินัย พูดน้อยปฎิบัติมาก พูดสิ่งใดออกมาก็ล้วนแต่เป็นเหตุผล และเป็นแก่นสาร อยู่แต่ในทางธรรม ไม่สนทนาทางโลกที่เหม็นไปสู่ทางกิเลส ท่านเป็นผู้เลื่อมใสในทางพระศาสนา เป็นผู้แสวงหาสัจธรรมเพื่อปฏิบัติให้ล่วงพ้นจาก ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย

ท่านจึงตั้งใจจะออกธุดงค์ไปตามป่าตามเขาที่เงียบสงัด ท่านได้บอกว่า ท่านได้ถวายชีวิตไว้ในพระศาสนา ปฏิบัติตามคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ยอมหันมาหาโลกอีกต่อไป เมื่อมีชาวบ้านได้ไปสนทนาธรรมกับท่าน แล้วทุกคนต่างก็เลื่อมใสเกิดความเคารพนับถือ ต่างก็นิมนต์ให้ท่านพักอยู่ในหมู่บ้านนานที่สุดเท่าที่จะนานได้

ชาวบ้านบางคนก็ขอให้ลุงขาวซึ่งเป็นผู้ใหญ่มีผู้นับถือมาก ช่วยนิมนต์ท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดใกล้หมู่บ้าน ท่านเพียงแต่รับว่าจะยืดเวลาออกเดินทางธุดงค์ต่อไปจาก ๓ วัน ที่ตั้งใจไว้เดิม เป็น ๗ วัน เพื่อฉลองศรัทธาของชาวบ้าน ส่วนที่นิมนต์มาจำพรรษาในวัดที่ใกล้หมู่บ้านนั้นท่านขัดข้อง ไม่สามารถจะปฏิบัติตามที่ชาวบ้านนิมนต์ด้วยความศรัทธาได้

การที่ได้สนทนาธรรมกับพระภิกษุรูปนั้น ชาวบ้านก็ช่วยกันเล่าถึงเรื่องเมื่อสองปีก่อนได้มีคนถูกเผาทั้งเป็นวิ่งออกมาจากโรงงาน ผู้ที่รู้เห็นในเวลานั้นเป็นภาพที่สยดสยองน่ากลัวติดหูติดตาตลอดชีวิต คงไม่สามารถจะลืมได้ พระภิกษุได้ฟังก็นั่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงพูดขึ้นว่า “อาตมารู้เรื่องนี้ดี อันไฟนั้น คือไฟนรกได้เผาผลาญมนุษย์ผู้สร้างกรรมหนักด้วยจิตใจเหี้ยมโหดดุร้าย ไฟนรกจึงได้ขึ้นมาเผาผลาญ เพื่อมิให้บุคคลอื่นเอาเยี่ยงอย่าง ความใจบาปหยาบช้าทารุณสร้างกรรมหนักไว้ในโลกมนุษย์ก็หนีกรรมไม่พ้น ที่สุดก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรกทรมานไม่รู้สิ้นสุด อย่างชาวบ้านพูดกันติดปากว่า ตกอยู่ใต้เถรเทวทัต ไม่ได้ไปผุดไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีกต่อไป”

ต่อจากนั้นท่านก็ได้บรรยายเรื่อง “ไฟนรก” ให้ชาวบ้านที่มาอยู่ในบริเวณนั้น พร้อมทั้งลุงขาวให้ฟังทั่วกันว่า มีครอบครัวหนึ่ง พ่อบ้านเป็นผู้มั่งคั่ง เป็นเจ้าของกิจการรับเหมาก่อสร้างใหญ่โต เป็นนักธุรกิจกว้างขวาง เป็นนายทุนกิจการค้าเจริญรุ่งเรือง เป็นผู้ควบคุมกิจการค้าหลายบริษัท แต่ความจริงเบื้องหลังแฝงไว้ซึ่งความทุจริตเป็นคนมีจิตใจเหี้ยมโหดดุร้าย ขาดศีลธรรม เห็นแก่ตัว จิตใจผิดมนุษย์ธรรมดาทารุณร้ายกาจ สามารถที่จะทำลายล้างผู้บริสุทธิ์ ที่ไม่มีความผิดให้พินาศฉิบหายได้โดยไม่มีความสะดุ้งสะเทือน ทั้งที่ไม่เคยโกรธเคืองเป็นศัตรูคู่แค้นกันมาก่อน ขอเพียงแต่ให้ได้ประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้นทำได้ทุกสิ่ง เพราะหลงใหลงมงายตกเป็นทาสของเงิน ไม่เคยสนใจในความเป็นความตายความเดือดร้อนของผู้อื่น ขาดความเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจ เหมือนคนไม่มีศาสนา ไม่เกรงกลัวบาปกรรม หลงบูชาเงินว่าเป็นพระเจ้า ที่สามารถจะบันดาลร้างความสุขความสบายให้แก่ตนได้ทันตาเห็น

ชายผู้นี้ได้สร้างบาปกรรม โดยการติดต่อกับเจ้าของที่ดินรายใหญ่ๆ ที่ไม่สามารถจะฟ้องขับไล่ผู้เช่าที่ดิน เพราะมีผู้เช่าบางรายฉวยโอกาสหากำไรเรียกร้องค่าขนย้ายสูงเกินเจ้าของที่ดินจะปฏิบัติได้ จึงขอเสนอว่าจะจัดการขับไล่ตามแผนการของตน แต่เจ้าของที่ดินที่มีจิตใจปกติเป็นคนไทยถือพุทธศาสนา มีศีลธรรม เมื่อได้ฟังก็ตกใจ ไม่ยอมปฏิบัติอย่างเด็ดขาด ผู้ที่จะทำได้ก็ต้องมีจิตใจผิดมนุษย์ธรรมดา

ต่อมานายทุนใจโหดไม่ยอมให้เจ้าของที่ดินรู้แผนการ ปิดเป็นความลับ ให้ทราบเพียงว่าจะจัดการให้เรียบร้อย เจ้าของที่ดินบางรายก็ตกลงตามข้อเสนอโดยไม่สนใจจะรู้แผนการ ขอเพียงประหยัดเงินไม่ต้องเสียค่ารื้อถอนจำนวนมากมายเกินควร จึงทำให้เจ้าของที่ดินเห็นดีเห็นชอบด้วย เพราะตัวเจ้าของที่ดินเองไม่ต้องรับรู้ นอกจากเมื่อนายทุนใจเหี้ยมจัดการเป็นที่เรียบร้อยทุกอย่างแล้วที่ดินว่างเปล่า ก็ให้สัญญานายทุนใจร้ายเพื่อปลูกตึกเก็บเงินกินเปล่า

เมื่อสัญูญาลับตกลงเจ้านายทุนกับเจ้าของที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาไม่นานตำบลนั้นก็เกิดไฟไหม้ พวกที่อยู่อาศัยก็ได้รับกรรมอันหนักดังที่กล่าวมาแล้ว ลุงขาวมีความสงสัยว่าไฟไหม้ได้อย่างไร จึงถามพระภิกษุรูปนั้นเพื่อคลายสงสัย ท่านจึงบอกว่ามันไม่ใช่ของยากอะไร เพียงจ้างอันธพาลวางเพลิง เพียงรายละหมื่นหรือสองหมื่นสามหมื่น ตามความยากง่ายอย่างแนบเนียน เหตุการณ์ก็เรียบร้อย

นี่ก็ชี้ให้เห็นว่า ชายผู้นี้เกิดความมั่งคั่งขึ้นจากน้ำตาและเลือดเนื้อ ทรัพย์ที่อยู่อาศัยต้องถูกทำลายย่อยยับ ด้วยความคิดการปฏิบัติอย่างทารุณ แม้ตนเองจะมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินสมบัติมากมาย แต่ชีวิตคงอยู่ภายในเงามืดแห่งกรรม ซึ่งอยู่เหนือสิ่งใดในโลกไม่ว่าผู้นั้นจะมีอานาจราชศักดิ์ใหญู่โต สามารถจะชี้ดวงชะตามนุษย์ให้อยู่หรือให้ตายได้ก็ดี แต่ชะตาชีวิตของคนนั้นก็ต้องตกอยู่ภายใต้อานาจครอบงำของกฎแห่งกรรม รอคอยโอกาสที่จะสนองกรรมทำเข็ญ ไม่มีใครสามารถจะจัดการฟ้องร้องเอาตัวเข้ารับโทษในทางโลกก็ดี แต่ในทางกรรมนั้นไม่เคยมีใครรอดไปได้

ฉะนั้น ต่อมาชีวิตของชายผู้นี้ก็หมุนเวียนถึงเวลาเข้ารับกรรม เริ่มต้นต้องเสียของรัก คือบุตรชาย-หญิงและภรรยาได้ขับรถไปเที่ยว แล้วก็ไปเกิดอุบัติเหตุถูกรถบรรทุกสวนมาด้วยความเร็ว หลบไม่ทันเกิดปะทะชนกันอย่างรุนแรง ทำให้บุตรภรรยาทั้งหมดอยู่ในรถ ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าสังเวชแก่ผู้ได้พบได้เห็น เพราะเมื่อถูกรถบรรทุกชน รถเก๋งถังน้ำมันเบ็นซินระเบิดไฟได้ไหม้ครอกบุตรภรรยาจบชีวิตลงอย่างน่าสยดสยอง ชีวิตของชายผู้นี้ต้องได้รับความเศร้าโศกทุกข์หนัก ที่ต้องสูญเสียทั้งบุตรภรรยาสิ้นชีวิตลงหมด

ในโลกนี้หาอะไรแน่นอนไม่ได้ มั่งมีแล้วก็จน พวกที่จนแล้วก็มั่งมี ไม่มีใครจะลิขิตชะตาชีวิตเราได้ คนเราอยู่ด้วยกรรม เราเป็นผู้ลิขิตชะตาชีวิตของเราเอง เช่นชายผู้สร้างกรรมหนักที่ยังหลบหนี รับกรรมทนทุกข์ทรมานจิตใจแต่ผู้เดียว ที่สุดก็ทนความชอกช้ำจิตใจไม่ไหว หันไปสูบฝิ่นระงับทุกข์ เพื่อให้เมาฝิ่น จะได้ไม่นึกถึงผลกรรมที่ได้ก่อขึ้น และกำลังส่งผลทรมานจิตใจ เหมือนอยู่ในมหานรกอเวจี ต้องสูญของรักทุกสิ่งสุดแสนที่มนุษย์ธรรมดาจะสามารถทนทานได้

ผลที่สุดก็นำชีวิตเข้าสู่ความเป็นทาสของยาเสพติดจนงอมแงม ไม่สามารถจะถอนตัวออกได้เหมือนคนขาดสติ บ้าๆ บอๆ อยู่ไป เพื่อทนทุกข์ทรมานเท่านั้น ที่สุดวันหนึ่งก็เกิดทะเลาะด้วยเรื่องแย่งกันสูบฝิ่น ได้ถูกเพื่อนสาดด้วยน้ำมันเบ็นซินและได้เผาด้วยไฟจนถูกเผาทั้งเป็น เป็นที่น่าสยดสยอง เมื่อผู้ใดได้เห็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น คงจะไม่สามารถจะลืมภาพที่ขนพองสยองเกล้าได้ คงจะจำไปชั่วชีวิต

เมื่อพระภิกษุผู้เล่าเรื่องแล้ว ก็สงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ลุงขาวร่วมกับชาวบ้านฟังเรื่องราวอันพิสดารแปลกประหลาด ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแถวบ้านมาก่อนด้วยความสนใจ เมื่อจบแล้วจึงถามท่านว่า “เรื่องนี้พระคุณเจ้าได้เล่าอย่างละเอียดตั้งแต่เริ่มต้นอย่างถี่ถ้วน กระผมคิดสงสัยว่า พระคุณเจ้ารู้รายละเอียดได้อย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ทรงศีลเคร่งครัดในทางพระศาสนา มีแต่ความเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจแผ่เมตตาทั่วไป แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีความรู้สึกตรงกันข้าม มีแต่ก่อกรรมทำเข็ญจิตใจโหดเหี้ยม ร้ายกาจขาดความเมตตาปรานี สามารถจะทำลายทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์เพื่อหวังผลประโยชน์ของตนเอง ผิดกับพระคุณเจ้าอย่างฟ้ากับดิน แต่พระคุณเจ้าก็ได้รายละเอียดอย่างถี่ถ้วนมาเล่าให้พวกกระผมฟัง จึงสงสัยว่าพระคุณเจ้ารู้เรื่องได้อย่างไร”

พระภิกษุผู้ทรงศีล เมื่อได้ยินคำถามเช่นนั้นท่านก็มีสีหน้าเศร้าสลดลง แม้ท่านจะได้เข้าสู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้วก็ดี แต่บางครั้งพูดถึงความหลังก็ทำให้ท่านกระเทือนจิตใจขึ้นมาทันที แต่แล้วท่านก็ระงับได้ จึงพูดขึ้นช้าๆ

“ถ้าคุณโยมได้ทราบความเป็นจริงก็คงจะแก้ข้อสงสัยได้ว่า เพราะเหตุใดอาตมาถึงได้รู้เรื่องอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพียงนี้ ก็เพราะผู้ได้รับกรรมหนักถูกไฟนรกเผาผลาญอย่างทุกข์ทรมานแสนสาหัสในบั้นปลายก่อนจะจบชีวิตลงผู้นั้น เป็นพี่เขยของอาตมาเอง อาตมาเป็นน้องภรรยา ทั้งทราบว่าพี่สาวของอาตมาก็ไม่ว่ากล่าวตักเตือน กลับเห็นดีเห็นชอบด้วยอาตมาก็เศร้าใจ อาตมาไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยว และอาตมาเป็นผู้ที่ไม่เห็นดีด้วยในกิจการที่แฝงความทุจริตที่เหี้ยมโหดของพี่เขย

แต่เมื่อพี่เขยของอาตมาหมดเนื้อหมดตัว จ่ายเช็คที่ไม่มีเงินในธนาคาร เจ้าทรัพย์ก็รวมกันติดตามหาตัวและแจ้งความต้องเที่ยวหลบๆ ซ่อนๆ ก็ต้องร้อนถึงอาตมา ต้องช่วยหาที่ให้ซ่อนตัว เมื่อพี่เขยติดฝิ่นก็ต้องหาฝิ่นไปให้สูบ แม้จะรู้ว่าอาตมาทำไม่ถูก แต่ความเป็นพี่เขยเกี่ยวดองกันทำให้อาตมานิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ เพราะสงสารสมเพชเวทนา เพราะตระกูลนี้กำลังจะสูญสิ้นไปแล้ว ยังเหลือพี่เขยของอาตมาเป็นคนสุดท้าย

ทั้งๆ ที่มีพี่เขยกำลังรุ่งเรืองมั่งมีศรีสุข อาตมาก็มิได้เคยมีความชื่นชมยินดี แม้จะหยิบยื่นทรัพย์สินมาให้อาตมา หรือให้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อร่วมงาน อาตมาก็ไม่ยอมรับไม่ต้องการเพราะอาตมาเห็นว่าทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ จะต้องเกิดวิบัติในวันหนึ่งข้างหน้า จึงทำให้เรามีความรู้สึกตรงกันข้าม กลับยิ่งเหินห่างไกลกันออกไปไม่ค่อยจะมีโอกาสได้พบกัน เพราะอาตมาไม่ชอบการกระทำที่ชั่วร้ายและได้เคยตักเตือนหลายครั้ง แต่ก็ไม่เกิดผลอะไร ฉะนั้นเราจึงต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำมาหากิน เพราะเราปฏิบัติคนละทางคนละแนว

ที่สุดพี่เขยของอาตมา ได้ขอร้องให้อาตมาช่วยในบั้นปลายของชีวิต เช่นได้เอาไปฝากให้หลบอยู่ในโรงงาน ความกลุ้มใจทำให้สูบฝิ่นเพิ่มมากขึ้น ครั้งหลังอาตมาต้องหาซื้อฝิ่นคอยหลบซ่อนส่งไปให้พี่เขยที่หลบอยู่ในโรงงานแห่งนั้น ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหลบภัยซ่อนตัว คิดว่าอาตมาไม่ช่วยชีวิตก็คงอยู่ไม่ได้นาน เพราะขาดฝิ่นไปได้ จนที่สุดก็ได้จบชีวิตลงอย่างไม่ค่อยจะได้มีมนุษย์เคยเห็นมากนัก

อาตมาก็คิดได้ลำดับเหตุการณ์ของพี่เขยพี่สาว แล้วก็มองเห็นกรรม และมองเห็นบาปทุกข์ที่ได้ตามติดมาสนอง หลังจากพี่เขยเสียชีวิตแล้ว อาตมาก็ตั้งใจละทางโลกมาสู่ในทางธรรม เพื่อหนีความทุกข์และมนุษย์ที่โหดร้ายหลอกลวง คอยคิดล้างทำลายไม่สิ้นสุด จึงหนีห่างจากโลกมาอยู่ในทางสงบ ดังเรื่องที่อาตมาเล่าให้ฟัง อาจเป็นเรื่องที่พวกญาติโยมทั้งหลายเอาไปนึกคิด เพราะได้ปรากฏแก่สายตาพวกญาติโยมทั้งหลายมาแล้ว คงจะนำไปสั่งสอนบุตรหลานต่อไป”

พวกที่อยู่ในบริเวณวันนั้นที่ได้ร่วมสนทนาต่างก็รู้ได้อย่างชัดแจ้งว่า พระภิกษุรูปนั้นท่านได้มองเห็นหลักธรรมของพระพุทธเจ้าได้อย่างชัดเจน เป็นทางเดียวที่จะพาผู้ปฏิบัติชอบในศีล สมาธิ ปัญญา ให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง สู่ทางสุขสงบตลอดกาล ต่อมาเมื่อครบนิมนต์ต่อแล้ว ท่านได้บอกลาญาติโยมที่มีความอาลัยท่านทั่วหน้ากัน ท่านก็ได้ออกเดินทางธุดงค์ต่อไป แสวงหาโมกขธรรมตามห้วยเขาลำเนาไพรที่สงบ เพื่อประกอบศาสนกิจจนกว่าจะบรรลุมรรคผล

………………………………………………………………………………………………

โดย ท.เลียงพิบูลย์

ที่มา http://www.otwothai.com/

145
   ทำอย่างไรจะหายโกรธ


ความโกรธเป็นศัตรูที่คอยขัดขวางไม่ให้ความดีเกิดขึ้น
คนบางคน เป็นผู้มักโกรธ พอโกรธขึ้นมาแล้วก็ต้องทำอะไรรุนแรงออกไป
ทำให้เกิดความเสียหาย
ถ้าทำอะไรไม่ได้ ก็หงุดหงิดงุ่นง่านทรมานใจตัวเอง
ในเวลานั้นเมตตาหลบหาย ไม่รู้ว่าไปซ่อนตัวอยู่ที่ไหน ไม่ยอมปรากฏให้เห็น
ส่วนความโกรธ ทั้งที่ไม่ต้องการ แต่ก็ไม่ยอมหนีไป
บางทีจนปัญญา ไม่รู้จะขับไล่หรือกำจัดให้หมดไปได้อย่างไร

โบราณท่านรู้ใจและเห็นใจคนขี้โกรธ จึงพยายามช่วยเหลือ
โดยสอนวิธีการต่างๆ สำหรับระงับความโกรธ
วิธีการเหล่านี้มี ประโยชน์ไม่เฉพาะสำหรับคนมักโกรธเท่านั้น
แต่เป็นคคิแก่ทุกคน ช่วยให้เห็นโทษของความโกรธ
และมั่นในคุณของเมตตายิ่งขึ้น จึง
ขอนำมาเสนอพิจารณากันดู วิธีเหล่านั้นท่านสอนไว้เป็นขั้นๆ ดังนี้

 • ขั้นที่ ๑ นึกถึงผลเสียของความเป็นคนมักโกรธ

 • ขั้นที่ ๒ พิจารณาโทษของความโกรธ

 • ขั้นที่ ๓ นึกถึงความดีของคนที่เราโกรธ

 • ขั้นที่ ๔ พิจารณาว่า ความโกรธ คือ การสร้างทุกข์ให้ตัวเอง
และ เป็นการลงโทษตัวเองให้สมใจศัตรู

 • ขั้นที่ ๕ พิจารณาความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน

 • ขั้นที่ ๖ พิจารณาพระจริยาวัตรในปางก่อนของพระพุทธเจ้า
(ข้อนี้ใครนับถือศาสนาอื่น จะพิจารณาดูก็ไม่เสียหาย)

 • ขั้นที่ ๗ พิจารณาความเคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏฏะ

 • ขั้นที่ ๘ พิจารณาอานิสงส์ของเมตตา

 • ขั้นที่ ๙ พิจารณาโดยวิธีแยกธาตุ

 • ขั้นที่ ๑๐ ปฏิบัติทาน คือ การให้หรือแบ่งปันสิ่งของ



ที่มา::

146
                        "ทศพิธราชธรรม : ธรรมของพระราชา ข้อปฏิบัติที่คนธรรมดาก็ทำได้"

  เมื่อเอ่ยถึง ทศพิธราชธรรม อันมีความหมายถึง ราชธรรม หรือธรรมของพระราชา ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๑๐ ข้อ หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ธรรมดังกล่าวเป็นของสูง หรือไกลตัว และควรจะเป็นเรื่องของพระราชา หรือผู้นำในระดับสูงเท่านั้น แต่โดยแท้จริงแล้ว แม้ทศพิธราชธรรม จะได้ชื่อว่าเป็นหลักธรรม หรือคุณสมบัติที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ผู้ปกครองรัฐ หรือผู้นำประเทศจะพึงปฏิบัติ แต่บุคคลธรรมดาเช่นเราๆท่านๆ ก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน เพราะนอกจากจะเป็นหนทางไปสู่ความเจริญ ก้าวหน้าในชีวิตแล้ว ยังได้ชื่อว่าได้ดำเนินรอยตามเบื้องยุคลบาท ดังที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยปฏิบัติ ตามพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ซึ่งแนวทางในการปฏิบัติตามทศพิธราชธรรมในระดับประชาชนเช่นเรา ควรจะเป็นเช่นไร กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ขอเสนอแนวคิดอีกทางหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑.ทาน คือ การให้

นอกเหนือจากการบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสิ่งของแก่ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ตกทุกข์ได้ยากตามที่เราทำอยู่เสมอแล้ว เราก็อาจจะให้น้ำใจแก่ผู้อื่นได้ เช่น ให้กำลังใจแก่ผู้ตกอยู่ในห้วงทุกข์ ให้ข้อแนะนำที่เป็นความรู้แก่ผู้ร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ให้รอยยิ้ม และปิยวาจาแก่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง รวมถึงบุคคลที่มารับบริการจากเรา เป็นต้น

๒.ศีล คือ ความประพฤติที่ดีงาม ตามหลักศาสนาของตน

อย่างน้อยก็ขอให้เราได้ปฏิบัติตามศีล ๕ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักขโมยของของผู้อื่น ไม่ล่วงละเมิดลูกเมียเขา ไม่พูดโกหก หรือพูดส่อเสียดยุยงให้คนเขาทะเลาะเบาะแว้งกัน และควรทำตนให้ห่างไกลจากเหล้า บุหรี่ หรืออบายมุขต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ นอกจากจะทำให้เราเสียเงินแล้ว ยังเสียสุขภาพกายและใจทั้งของตัวเราเอง และคนใกล้ชิดเราด้วย

๓.ปริจจาคะ คือ ความเสียสละ

หมายถึง การเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความสุขหรือประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งอาจจะเป็นครอบครัว หน่วยงาน หรือเพื่อนร่วมงานของเราก็ได้ เช่น ครอบครัว พ่อบ้านเสียสละความสุขส่วนตัวด้วยการเลิกดื่มเหล้า ทำให้ลูกเมียมีความสุข และเพื่อนบ้านก็สุขด้วย เพราะไม่ต้องฟังเสียงอาละวาด ด่าทอทุบตีกัน หรือเราอาจจะเสียสละเวลาอยู่เย็นช่วยเพื่อนทำงาน หรือไปเข้าค่ายพัฒนาชนบท อาสาไปดูแลเด็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเป็นครั้งคราว หรือเสียสละร่างกาย /อวัยวะหลังตายแล้วเพื่อการศึกษา เป็นต้น ซึ่งการเสียสละดังกล่าวถือว่าได้บุญมากเพราะมิใช่จะสละกันได้ง่ายๆ โดยทั่วไป การเสียสละไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม ถือเป็นการลดความเห็นแก่ตัว ซึ่งล้วนมีส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้นทั้งสิ้น

๔.อาชชวะ คือ ความซื่อตรง

หมายถึง ดำเนินชีวิตและปฏิบัติภารกิจ/หน้าที่การงานต่างๆด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คิดคดโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น เช่น ถ้าเราขายของ ก็ไม่เอาของไม่ดีไปหลอกขายลูกค้า เป็นข้าราชการ พนักงานบริษัท ห้างร้าน ก็ไม่คอรัปชั่นทั้งเวลา ทรัพย์สินของหน่วยงานตน เพราะถ้าทุกคน เอาเปรียบหรือโกงกิน นอกจากจะทำให้หน่วยงานเราไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของผู้เกี่ยวข้องแล้ว ในระยะยาว อาจทำให้หน่วยงานเราล้ม ผู้ที่เดือดร้อนก็คือเรา แม้เราจะได้ทรัพย์สินไปมากมาย แต่เงินบาปที่ได้ก็จะเป็นสิ่งอัปมงคลที่ทำให้เราไม่เจริญก้าวหน้า ถูกคนรุมสาปแช่ง และแม้คนอื่นจะไม่รู้ แต่ตัวเราย่อมรู้อยู่แก่ใจ และไม่มีวันจะมีความสุขกาย สบายใจ เพราะกลัวคนอื่นจะมารู้ความลับตลอดเวลา ผู้ที่ประพฤติตนด้วยความซื่อตรง แม้ไม่ร่ำรวยเงินทอง แต่จะมั่งคั่งด้วยความมิตรที่จริงใจ ตายก็ตายตาหลับ ลูกหลานก็ภาคภูมิใจ เพราะไม่ต้องแบกรับความอับอายที่มีบรรพบุรุษขี้โกง

๕.มัททวะ คือ ความสุภาพอ่อนโยน มีอัธยาศรัยไมตรี

กล่าวคือ การทำตัวสุภาพ นุ่มนวล ไม่เย่อหยิ่ง ถือตัว หรือหยาบคายกับใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อยหรือเพื่อนในระดับเดียวกัน การทำตัวเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน จะทำให้ไปที่ไหนคนก็ต้อนรับ เพราะอยู่ใกล้แล้วสบายใจ ไม่ร้อนรุ่ม หากเราหยาบคาย ก้าวร้าว คนก็ถอยห่าง ดังนั้น หลักธรรมข้อนี้ จึงเป็นการสร้างเสน่ห์อย่างหนึ่งให้แก่ตัวเราด้วย

๖.ตปะ คือ ความเพียร

เป็นหลักธรรมที่สอนให้เราไม่ย่อท้อ แต่ให้ปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความมุมานะ ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆจนประสบความสำเร็จ ซึ่งความพากเพียรนี้จะทำให้เราภาคภูมิใจเมื่องานสำเร็จ และจะทำให้เรามีประสบการณ์เก่งกล้าขึ้น นอกจากนี้ ยังสอนให้เราสู้ชีวิต ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ

๗.อักโกธะ คือ ความไม่โกรธ

แม้ในหลายๆสถานการณ์จะทำได้ยาก แต่หากเราสามารถฝึกฝน ไม่ให้เป็นคนโมโหง่าย และพยายามระงับยับยั้งความโกรธอยู่เสมอ จะเป็นประโยชน์ต่อเราหลายอย่าง เช่น ทำให้เราสุขภาพจิตดี หน้าตาผ่องใส ข้อสำคัญ ทำให้เรารักษามิตรไมตรีกับผู้อื่นไว้ได้ อันมีผลให้คนรักและเกรงใจ

๘.อวิหิงสา คือ การไม่เบียดเบียน

หรือบีบคั้นกดขี่ผู้อื่น รวมไปถึง การไม่ใช้อำนาจไปบังคับ หรือหาเหตุกลั่นแกล้งคนอื่นด้วย เช่น ไม่ไปข่มเหงรังแกผู้ด้อยกว่า ไม่ไปข่มขู่ให้เขากลัวเราหรือไปบีบบังคับเอาของรักของหวงมาจากเขา เป็นต้น นอกจากไม่เบียดเบียนคนด้วยกันแล้ว เรายังไม่ควรเบียดเบียนธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์อีกด้วย เพราะมิฉะนั้น ผลร้ายจะย้อนกลับมาสู่เรา และสังคม อย่างที่เห็นในปัจจุบันจากภัยธรรมชาติต่างๆ

๙.ขันติ คือ ความอดทน

หมายถึง ให้เราอดทนต่อความยากลำบาก ไม่ท้อถอย และไม่หมดกำลังกาย กำลังใจที่จะดำเนินชีวิต และทำหน้าที่การงานต่อไปจนสำเร็จ รวมทั้งไม่ย่อท้อต่อการทำคุณงามความดี ความอดทนจะทำให้เราชนะอุปสรรคทั้งปวงไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ และจะทำให้เราแกร่งขึ้น เข้มแข็งขึ้น

๑๐.อวิโรธนะ คือ ความยุติธรรม หนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก

ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูด อารมณ์ หรือลาภสักการะใดๆ ทั้งในทางนิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักปกครอง หรือในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม ก็ไม่ประพฤติ ให้ผิดทำนองคลองธรรม กล่าวคือ ให้ทำอะไรด้วยความถูกต้อง มิใช่ด้วยความถูกใจ

จะเห็นได้ว่า หลักธรรมทั้ง ๑๐ ข้อ หรือทศพิธราชธรรม นี้ มิใช่ข้อปฏิบัติที่ยากจนเกินความสามารถของคนธรรมดาสามัญที่จะทำตามได้ หลายๆข้อก็เป็นสิ่งที่เราปฏิบัติอยู่แล้ว จะโดยรู้ตัวไม่ก็ตาม แต่หากเรามีความตั้งใจจริง หลักธรรมดังกล่าวก็จะเป็นทุนที่ช่วยหนุนนำให้เราได้พัฒนาชีวิตไปสู่ความดี งาม ความมั่นคง และความสำเร็จที่เราปรารถนาทุกประการ ข้อสำคัญ ยังเป็นการน้อมถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาส ครองราชย์ครบ ๖๐ ปี ด้วยการประพฤติปฏิบัติที่มีคุณค่าทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติอีกด้วย

โดย คุณ อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
__________________
 ขอบคุณที่มา http://board.palungjit.com

147
                           ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมสานต์

  * ผู้สนใจศึกษาปฏิบัติธรรม คือผู้สนใจหาความรู้ความฉลาดเพื่อคุณงามความดีทั้งหลาย ที่โลกเขาปรารถนากันเพราะคนเราจะอยู่และไปโดยไม่มีเครื่องป้องกันตัวย่อมไม่ปลอดภัย ต่ออันตรายทั้งภายนอกภายใน เครื่องป้องกันตัวคือหลักธรรมมีสติปัญญาเป็นอาวุธสำคัญ จะเป็นเครื่องมั่นคงไม่สะทกสะท้านมีสติปัญญาแฝงอยู่กับตัวทุกอิริยาบท จะคิด-พูด-ทำอะไรไม่มีการยกเว้น มีสติปัญญาสอดแทรกอยู่ด้วยทั้งภายในและภายนอก มีความเข้มแข็งอดทน มีความเพียรที่จะประกอบคุณงามความดี คนอ่อนแอโง่เง่าเต่าตุ่นวุ่นวายอยู่กับอารมณ์เครื่องผูกพันด้วยความนอนใจ และเกียจคร้านในกิจการที่จะยกตัวให้พ้นภัย

* การตำหนิติเตียนผู้อื่น ถึงเขาจะผิดจริงก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรม ไม่มีดีเลย จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์ จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง *

* ผู้เห็นคุณค่าของตัว จึงเห็นคุณค่าของผู้อื่น ว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนทำลายกัน ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปในสุคติในโลกสวรรค์ ไม่ตกต่ำเพราะอำนาจศีลคุ้มครองรักษาและสนับสนุน จึงควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์ ธรรมก็สั่งสอนแล้วควรจดจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคง จะเป็นผู้ทรงคุณสมบัติทุกอย่างแน่นอน

* เมื่อเกิดมาอาภัพชาติ แล้วอย่าให้ใจอาภัพอีก ผู้เกิดมาชาตินี้อาภัพแล้ว อย่าให้ใจอาภัพ คิดแต่ผลิตโทษทำบาปอกุศลเผาผลาญตนให้ได้ทุกข์ เป็นบาปกรรมอีกเลย *

* คนชั่ว ทำชั่วได้ง่าย และติดใจไม่ยอมลดละแก้ไขให้ดี คนดี ทำดีได้ง่าย และติดใจกลายเป็นคนรักธรรมตลอดไป *

* เราต้องการของดี คนดี ก็จำต้องฝึก ฝึกจนดี จะพ้นการฝึกไปไม่ได้ งานอะไรก็ต้องฝึกทั้งนั้น
ฝึกงาน ฝึกคน ฝึกสัตว์ ฝึกตน ฝึกใจ นอกจากตายแล้วจึงหมดการฝึก คำว่า ดี จะเป็นสมบัติของผู้ฝึกดีแล้วแน่นอน *

* ศีล นั้นอยู่ที่ไหนมีตัวตนเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้รักษาแล้วก็รู้ว่า ผู้นั้นเป็นตัวศีล ศีลก็อยู่ที่ตนนี้ เจตนาเป็นตัวศีล เจตนาคือจิตใจ คนเราถ้าจิตใจไม่มีก็ไม่เรียกว่าคน มีแต่กายจะทำอะไรได้ ร่างกายกับจิตต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อจิตไม่เป็นศีล กายก็ประพฤติไปต่างๆ มีโทษต่างๆ ผู้มีศีลแล้วไม่มีโทษ จะเป็นปกติแนบเนียนไม่หวั่นไหว ไม่มีเรื่องหลงหา หลงขอ คนที่หา คนที่ขอต้องเป็นทุกข์ ขอเท่าไหร่ยิ่งไม่มี ยิ่งอดอยากยากเข็ญ กายกับจิตเราได้มาแล้ว มีอยู่แล้ว ได้มาจากบิดามารดาพร้อมบริบูรณ์ จะทำให้เป็นศีลก็รีบทำ ศีลมีอยู่ที่เราแล้ว รักษาได้ไม่มีกาล ได้ผลไม่มีกาล ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้องอาจกล้าหาญ ผู้มีศีลย่อมมีความสุข ผู้จักมั่งคั่งบริบูรณ์ไม่อด ไม่ยาก ไม่จน ก็เพราะรักษาศีลให้สมบูรณ์ จิตดวงเดียวเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ผู้มีศีลแท้เป็นผู้หมดเวรหมดภัย *

* คุณธรรม ยังมีผู้เข้าถึงให้เป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องเลื่องระบือ มีความฉลาด กว้างขวางในอุบายวิธี ไม่มีคับแค้นจนมุม *

* การปฏิบัติธรรม เป็นการทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทรงตรัสสอนเรื่องกาย วาจา จิต มิได้สอนเรื่องอื่น ทรงสอนให้ปฎิบัติฝึกหัดจิตใจ ให้เอาจิตพิจารณากาย เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หัดสติให้มากในการค้นคว้า เรียกว่า ธัมมวิจยะ พิจารณาให้พอทีเดียว เมื่อพิจารณาพอจนเป็นสติสัมโพชฌงค์ จิตจึงจะเป็นสมาธิรวมลงเอง การประกอบความพากเพียรทำจิตให้ยิ่ง เป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

• ความไม่ยั่งยืน เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน
• ความยิ่งใหญ่ คือความไม่ยั่งยืน
• ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ คือชีวิตที่อยู่ด้วยทาน ศีล เมตตา และกตัญญู
• ชีวิตที่มีความดี อาจมิใช่ความยิ่งใหญ่ แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ต้องอาศัยคุณธรรมความดีเท่านั้น

* วาสนา นั้นเป็นไปตามอัธยาศัย คนที่มีวาสนาในทางที่ดีมาแล้ว แต่คบคนพาล วาสนาก็อาจเป็นคนพาลได้ บางคน
วาสนายังอ่อน เมื่อคบบัณฑิต วาสนาก็เลื่อนขึ้นเป็นบัณฑิต ฉะนั้น บุคคลควรพยายามคบแต่บัณฑิต เพื่อเลื่อนภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้น *

• ผู้มีปัญญา ไม่ควรให้สิ่งที่ล่วงแล้วตามมา ไม่ควรหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
• ผู้มีปัญญา ได้เห็นในธรรมซึ่งเป็นปัจจุบัน ควรเจริญความเห็นนั้นไว้เนืองๆ ควรรีบทำเสีย
• ผู้มีปัญญา ซึ่งมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีความเพียรแยกกิเลสให้หมดไป จะไม่เกียจคร้าน ขยันหมั่นเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน

* จิต เป็นสมบัติสำคัญมากในตัวเราที่ควรได้รับการเหลียวแล ด้วยวิธีเก็บรักษาให้ดี ควรสนใจรับผิดชอบต่อจิต อันเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่งของตน วิธีที่ควรกับจิตโดยเฉพาะก็คือภาวนา ฝึกหัดภาวนาในโอกาสอันควร ตรวจดูจิตว่า มีอะไรบกพร่องและเสียไป จะได้ซ่อมสุขภาพจิต นั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายใน คือ ความคิดปรุงแต่งของจิตว่า คิดอะไรบ้าง มีสาระประโยชน์ไหม คิดแส่หาเรื่อง หาโทษ ขนทุกข์มาเผาตนอยู่นั้น พอรู้ผิด-ถูกของตัวบ้างไหม พิจารณาสังขารภายนอกว่า มีความเจริญขึ้นหรือเจริญลง สังขารมีอะไรใหม่หรือมีความเก่าแก่ชราหลุดไป พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอจะทำได้ ตายแล้วจะเสียการให้ท่องในใจอยู่เสมอว่า เรามีความแก่-เจ็บ-ตาย อยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน *

* ทาน-ศีล- ภาวนา ธรรมทั้ง 3 นี้ เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์ และเป็นรากเหง้าของพระศาสนา ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องเป็นผู้เคยสั่งสมธรรมเหล่านี้มาอยู่ในนิสัย ของผู้จะมาสวมร่างเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยมนุษย์อย่างแท้จริง *

ที่มา คติธรรมคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต คัดจากหนังสือ ขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะ
      http://board.palungjit.com

148
                                             ลาโง่..แต่..ไม่ลาสิโง่ (กว่า)
        ลาโง่ / ไม่ลา ... สิโง่

ลาโง่ตัวหนึ่งกินหญ้าอยู่ที่ชายป่า ได้ยินเสียงจิ้งหรีดร้องเพลงเพราะ
ลาอยากร้อง เพลงเพราะอย่างจิ้งหรีดบ้าง จึงถามจิ้งหรีดว่ากินอะไร จึงร้องเพลงเพราะ ?
จิ้งหรีดตอบว่ากินน้ำค้าง เสียงจึงเพราะ
ลาจึงเลิกกินหญ้าและกินแต่น้ำค้าง ไม่ช้า ลาโง่นั้นก็ตาย
เพราะลาเป็นสัตว์ กินหญ้า เมื่อเลิกกินหญ้า ไม่ช้าก็ตาย
...........
พนักงานของบริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่งทำงานด้านเอกสารมาห้าปี
มีความใฝ่ฝันที่อยากจะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นพนักงานระดับหัว หน้างานหรือเป็นมัคคุเทศก์
ด้วยความที่ได้รับ การอบรมมาว่าคนเราต้องขยัน อดทน ตั้งใจทำงาน
ไม่ลางานเลยได้ยิ่งดี ก็จะได้ดีในหน้าที่การงาน
ตั้งแต่เริ่มทำงานวันแรก พนักงานคนนั้นก็ตั้งใจทำงานมาตลอดห้าปี
ไม่เคยลากิจ ลาป่วย หรือลาพักร้อนแม้แต่วันเดียว
มีอยู่บ้างเหมือนกันที่พนักงานคนนั้นตั้งใจจะลาพักร้อนไปเที่ยวกับเพื่อนๆ บ้างในช่วงปีแรกๆ
แต่ว่ามักจะได้รับการตอบปฏิเสธจากหัวหน้างาน
ซึ่งให้เหตุผลว่าช่วงวันหยุดนี้งานเยอะมากเลยนะ
คุณอยู่ช่วยหน่อยเถอะนะ เก็บเงินโอทีไปเที่ยวทีหลังก็ได้
ถ้าคุณขยันอย่างนี้นะ ปีหน้าอาจจะได้เลื่อนตำแหน่ง ได้โบนัสพิเศษ
ห้าปีมาแล้วที่พนักงานคนนี้ขยัน ทำงานมาตลอด แต่ไม่เคยลาพักร้อนไปเที่ยวไหนเลย
แล้ว ความฝันก็เป็นจริงขึ้นมา
ปีนี้ทางบริษัทต้องการมัคคุเทศก์ผู้ช่วยเพิ่มอีก 3-4 คน
โดยจะเลือกจากพนักงานภายในที่มีศักยภาพ
คำถามในการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกก็คือ
คุณเคยไปเที่ยวที่ไหนมาบ้าง ?
คุณเคยมีประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นในการท่องเที่ยวบ้างหรือเปล่า ?
( เงียบ ) .........
ดูเหมือนลา และพนักงานคนนี้มีอะไรที่คล้ายกันอยู่ในบางมุม คุณว่ามั้ย ...

คุณอาจจะเป็นคนขยันทำงาน ซึ่งจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม มันก็เป็นสิ่งดี
แต่ อย่าลืมว่า ชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว และชีวิตไม่ได้มีเวลานานสักเท่าใด
ชีวิตที่ขาดประสบการณ์ด้านอื่นๆ เป็นชีวิตที่ไม่สมบูรณ์หรอกครับ
คุณอาจจะอยากเก็บเงินไปเที่ยวตอนแก่
แล้วคุณจะแน่ใจได้หรือว่าคุณจะไม่เป็นอะไรไปก่อนแก่
และจงระลึกไว้ว่า ใช่ว่าคุณไม่อยู่ ที่บริษัทจะอยู่ไม่ได้
เพราะคนอื่นก็สามารถทำงานแทนคุณได้เหมือนกัน
ลาพักร้อนบ้างเถอะครับ จะใช้ลากิจ ลาป่วยบ้างก็ไม่ว่ากัน ( ใครจะรู้ )
ปีหนึ่งสักสองสามครั้ง ไปไหนก็ได้ครับ ไปในที่ๆ คุณยังไม่เคยไป
ไม่ ต้องรู้สึกกระอักกระอ่วนใจเมื่อคุณต้องเขียนใบลาบ่อยๆ
ไม่ต้องกลัวว่าเจ้านายจะไม่พอใจ หรือไม่อนุมัติ เพราะคุณมีสิทธิ์
ไม่ต้องรู้สึกผิด ถ้าในเวลางานคุณได้ทำเต็มร้อยแล้ว
ไม่ต้องห่วงว่าการหยุดของคุณจะมีผลต่อการประเมินผลงานต่างหากที่เป็นตัววัด
จงห่วงแค่ว่า คุณมีชีวิตแล้ว คุณมีชีวาหรือยัง
จงใช้ชีวิตที่มีให้คุ้มค่า ดูอย่างเจ้าลาโง่ครับ

อย่างน้อยมันยังได้เดินเที่ยวในป่ากว้างก่อนตาย
แล้ว คุณจะจับเจ่าอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมทั้งปีทั้งชาติหรือครับ
ไม่ลา ... สิโง่ คุณว่ามั้ย

ขอบคุณลานธรรมจักร

ที่มา...fw.moomthai.com

149
                                                 โรค“กรรม”หรือโรค“กาย”

                                           เรื่องโดย ว.วชิรเมธี

       
   ขณะนี้หนูป่วยเป็นโรคที่วินิจฉัยชัดเจนไม่ได้ว่าเป็นโรคอะไร เดือนนี้เป็นเดือนที่สิบแล้วค่ะ

ช่วงสามเดือนแรกที่เป็น หนูไปโรงพยาบาลอาทิตย์ละ ๒-๓ ครั้ง บางครั้งก็มากกว่า เพื่อตรวจหาอาการ ทั้งทางสูติฯ ทางเดินอาหาร แต่ก็ไม่พบอะไรผิดปกติ จนคุณหมอทางเดินอาหารแนะนำให้ไปพบแพทย์ทางด้าน Pain เพราะหนูปวดบริเวณช่องท้องด้านล่างค่ะ สุดท้ายคุณหมอสรุปว่าเป็นโรค Visceral Hyperalgesia ซึ่งเป็นการปวดเรื้อรังจากปลายประสาท

ช่วงแรกที่ป่วย หนูไม่ได้คิดอะไร นอกจากเมื่อไรจะหาย เพราะมันทรมานและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากค่ะ สุดท้ายไปดูดวงเขาบอกว่าอาการของหนูจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ดีขึ้น ไม่แย่ลงหนูเลยกลับมานั่งคิดว่า ที่ตัวเองต้องเป็นแบบนี้คงเป็นเพราะกรรมที่หนูก่อขึ้นมาเอง
  หนูเคยทำแท้ง 2 ครั้งค่ะ ครั้งแรกตอนอายุ 17 กับแฟนคนแรก ด้วยความที่ยังเด็กจึงไม่ระวังเท่าที่ควร ตอนนั้นรู้อย่างเดียวว่า จะให้พ่อแม่รู้ไม่ได้ สำหรับแฟนเองก็ไม่ได้มีความคิดแม้กระทั่งว่าจะแต่งงานกัน ถึงแม้หนูจะแอบหวังว่าเขาจะรับผิดชอบ แต่ลึกๆ ก็รู้ว่าเขาไม่ต้องการ สุดท้ายจึงเลิกกัน เพราะหนูทนอยู่กับความรู้สึกผิดไม่ได้

ส่วนครั้งที่สองตอนหนูอายุประมาณ 22-23 กับแฟนที่เป็นคนไต้หวัน คราวนี้หนูยอมรับค่ะว่าประมาท เพราะช่วงที่ยังไม่รู้ว่าท้องก็ทานยาไปเยอะเหมือนกัน บวกกับความรู้สึกว่าเราไม่ได้รักผู้ชายคนนี้และไม่พร้อมจะสร้างครอบครัวกับเขา แม้ว่าแฟนคนนี้มีความคิดที่จะแต่งงานกับหนู แต่เขาเองก็กลัวและไม่กล้าบอกพ่อแม่หนูด้วย ทำให้หนูตัดสินใจเอาเด็กออก

หนูค่อนข้างมั่นใจว่าโรคที่หนูประสบอยู่เกิดจากกรรมที่หนูได้ทำไป ถึงแม้หนูจะเกิดมาในครอบครัวที่สบาย อบอุ่น แต่หนูก็ได้ทำในสิ่งที่หนูจะต้องรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต รวมถึงเมื่อหนูได้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว หนูก็คงต้องชดใช้กรรมต่อในภพภูมิอื่น

ตลอดหลายปีที่ปีที่ผ่านมา หนูอธิษฐานแผ่ส่วนบุญ ขออโหสิกรรมให้กับดวงวิญญาณที่เป็นลูกของหนูทั้งสองดวง ในทุกครั้งที่เข้าวัดทำบุญขณะเดียวกัน หนูก็จะทำบุญทำทานให้เด็กๆ ในทุกวันเกิด แต่กระนั้นหนูก็ทราบดีว่าอาจจะยังไม่เพียงพอ หนูเคยลงไปเข้าคอร์สนั่งสมาธิสามวันสองคืน ยอมรับค่ะว่าหนูไม่ถนัด หรือจะเรียกว่าไม่ชอบเลยก็ได้ หนูเลยพยายามทำบุญด้วยวิธีอื่นๆ ให้ได้มากที่สุดค่ะ

หนูอ่านบทความเรื่อง “พุทธศาสนากับการุณยฆาต” ของท่าน ว. ใน secret หน้าปกคุณวอลเตอร์ ลี เลยทำให้หนูอยากเรียนขอคำแนะนำที่จะทำให้หนูได้ชดใช้กรรมที่หนูทำ หนูทราบค่ะว่าเป็นบาปมหันต์ แต่หนูขอแค่ให้ได้ชดใช้กรรม ผ่อนหนักเป็นเบา และดีขึ้นจากโรคภัยที่หนูเป็น

อีกหนึ่งเรื่องที่หนูเป็นกังวล คือหนูกำลังจะแต่งงานปลายปีนี้ หนูกลัวมากค่ะว่า ถ้าหนูท้อง ลูกของหนูจะไม่ปกติ เพราะกรรมของหนู หนูไม่อยากให้กรรมที่หนูทำต้องไปตกกับลูกของหนูและครอบครัวค่ะ หนูกราบขอคำแนะนำด้วยค่ะ
 
 
  ความจริงความเป็นไปในชีวิตของคนเราขึ้นอยู่กับกฎธรรมชาติ (ธรรมนิยาย) หลายกฎ แต่กฎที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราโดยตรงมีอยู่สองกฎ นั่นก็คือ จิตนิยาม (กฎการทำงานของจิต) และกรรมนิยาม (กฎแห่งกรรม) แต่ด้วยความที่ไม่รู้จักกฎธรรมชาติข้ออื่นๆ ว่ามีส่วนกำหนดวิถีชีวิตของเราด้วยเหมือนกัน เวลาเกิดมีปัญหาอะไรในชีวิตขึ้นมาเราจึงมักสรุปเอาอย่างง่ายๆ ว่าเป็นเพราะ “กฎแห่งกรรม” เพียงอย่างเดียวทั้งๆที่ ในความเป็นจริง ความเป็นไปในวิถีชีวิตของคนเราอาจเป็นผลมากจากกฎธรรมชาติข้ออื่นๆ ด้วยก็ได้

ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะวินิจฉันกันว่าเรื่องของคุณเป็นผลของกฎแห่งกรรมหรือเปล่า เราก็ควรจะมารู้จักกฎธรรมชาติข้ออื่นๆ ด้วย


กฎธรรมชาติที่มีผลต่อวิถีชีวิตของคนเรามีอยู่ด้วยกัน 5 กฎ เรียกว่า “นิยาม” ประกอบด้วย

1. อุตุนิยาม คือ กฎธรรมชาติว่าด้วยสภาพแวดล้อมและสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งมักส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนเราในแง่ใดแง่หนึ่งเช่น คนอีสานมักมีนิสัยสู้ชีวิตมากกว่าคนภาคเหนือ เพราะอีสานมีความกันดาร ในขณะที่ภาคเหนือมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรมากกว่าหรือคนภาคใต้มีความคิดทางการเมืองมากกว่าคนทุกภาค เพราะสภาพแวดล้อมที่ถูกกดขี่หรือถูกระทำมีมากกว่าคนภาคอื่น หรือชาวยุโรปมีนิสัยรักการอ่ามากกว่าคนเอเชีย เพราะยุโรปมีอากาศหนาวที่ยาวนานเขาจึงขลุกอยู่ในบ้าน และนั่นเปิดโอกาสให้ได้อ่านมาก เพราะมีเวลาอยู่ในที่ร่มมากกว่าคนทางเอเชีย ตัวอย่างเหล่านี้คือผลของสิ่งแวดล้อม ที่มีส่วนเข้ามากำหนดวิถีชีวิตของเราแต่ละคน

2. พีชนิยาม คือ กฎธรรมชาติว่าด้วยการสืบต่อพันธุกรรม คือโครงสร้างทางกายภาพที่เราได้รับมาจากพ่อแม่ เช่น ร่างกาย ผิวพรรณ หน้าตา เพศสภาพ (ชายหรือหญิง) ระบบการทำงานของอวัยวะ รวมทั้งโรคบางโรคที่ติดต่อได้ทางพันธุกรรม ซึ่งสามารถส่งผ่านจากพ่อหรือแม่สู่ลูกเป็นต้น

3. จิตนิยาม คือ กฎธรรมชาติว่าด้วยการทำงานของจิต เช่นกระบวนการคิด การจำ การรับรู้ การตอบสนองต่อโลกและปรากฏการณ์ การเก็บกดปมปัญหา การตื่นรู้ เป็นต้น

4. กรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติว่าด้วยการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาและผลของการกระทำนั้นๆ ซึ่งเป็นไปในลักษณะหว่านพืชเช่นใดได้ผลเช่นนั้น


5. ธรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมทุกสรรพสิ่งในโลก ( Cosmic Law ) ในลักษณะสรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน เกี่ยวเนื่องกันในลักษณะห่วงโซ่แห่งความสัมพันธ์ ทำให้เราได้ตระหนักรู้ว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกดำรงอยู่อย่างเอกเทศโดยไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยมกับสิ่งใดเลย


กฎธรรมชาติทั้ง ๕ นี้ หนูควรรู้เอาไว้เป็นความเข้าใจพื้นฐานว่าชีวิตของเราใช่จะเป็นไปตามกฏแห่งกรรมเท่านั้น ยังมีกฎอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้แล้ว ในทางปฏิบัติ หนูก็จะสามารถดูแลตัวเองอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น บางทีผลของโรคอาจเกิดจากกฏพีชนิยามซึ่งเป็นเรื่องความผิดปกติของร่างกายหรือพันธุกรรมก็เป็นได้ ถ้ามองในแง่นี้ หนูก็จะไม่ทิ้งการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันแต่ขณะเดียวกัน ก็อาจเป็นผลของกรรมด้วยก็เป็นได้ ซึ่งหากมองแง่นี้หนูก็จะได้กลัวบาปกลัวกรรม ไม่เผลอทำผิดซ้ำซาก


แต่ถ้าหนูฟังธงลงไปว่า โรคที่เกิดกับฉันเป็นผลของกรรมแน่ๆ หนูก็จะ (เข้าใจผิดๆเพียงแง่เดียว) แล้วมุ่งไปที่การแก้กรรม และติดจมอยู่กับ “อดีตกรรม” ไม่รู้จบสิ้น จะแก้ก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นความผิดในอดีต จึงต้องทนอยู่กับ “ความรู้สึกผิด” วันแล้ววันเล่า นี่แหละที่กล่าวกันว่า “ปล่อยให้อดีตมากรีดปัจจุบัน” แต่ครั้นไม่เชื่อกรรมเลย หนูก็จะมุ่งรักษาแบบสมัยใหม่อย่างเดียว แต่ยิ่งรักษากลับพบว่าไม่ดีขึ้นชีวิตก็มองไม่เห็นทางออกอีกเช่นกัน


  ทางสายกลางในเรื่องนี้ก็คือ ความป่วยของหนูมีสิทธิ์เป็นไปได้ที่ว่า อาจจะเป็นผลของทั้ง “กรรม” และ “กาย” มาบรรจบกัน ดังนั้นในทางกายก็ควรให้หมอดูแลรักษาไปตามกรรมวิธีของแพทย์ ส่วนใจ (ที่หมกมุ่นกับความรู้สึกผิด) หนูก็ต้องรักษาด้วยการหาธรรมะมาเยียวยาด้วยตัวเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรบอกตัวเองว่า ในฐานะที่เป็นปุถุชน ทุกคนมีสิทธิ์พลาดกันได้ แต่เราต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด ไม่ปล่อยให้เกิดซ้ำอีก และควรฝึกการเจริญสติให้มาก เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่เหนือกรรม ด้วยการไม่หลุดเข้าไปในความคิดฟุ้งซ่าน เพราะในความคิดฟุ้งซ่าน กรรมเก่าจะมีบทบาทมาก

ด้วยเหตุนี้จึงควรระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันไว้เสมอ เมื่อหยุดความคิดฟุ้งซ่านได้ หนูจะพบความสุขในปัจจุบันขณะ และไม่ท้อแท้กับการสู้ชีวิตใหม่ในวันต่อๆ ไป อนึ่ง หากยังรู้สึกผิดอยู่บ่อยๆ ก็ควรแก้ไขด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลและให้ชีวิตเป็นทางแก่สรรพสัตว์ ก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้พอสมควร

  ที่มา: ชมรมกัลยาณธรรม  http://board.palungjit.com

150
ยันต์กบ ได้รับความเมตตาจากหลวงพี่แป๊วครับ รูปไม่ค่อยชัดนะครับ



151
กฎแห่งกรรม / พิษของกามคุณ ๕
« เมื่อ: 30 ส.ค. 2553, 10:25:55 »
                                                            พิษของกามคุณ ๕

  ฉันใดพิษของ กามคุณ ๕ ที่เรียกว่ากามสุขก็เป็นเช่นนั้น กามคุณ ๕ เวลาได้เสพสัมผัส ก็จะมีความสุข เช่น เวลาไปดูหนังดูละคร ได้อยู่ใกล้กับคนที่เรารักเราชอบ เราก็จะมีความสุข แต่ยามที่ต้องห่างจากสิ่งเหล่านี้ ใจของเราก็จะมีความว้าวุ่นขุ่นมัว มีความว้าเหว่ มีความเศร้าสร้อยหงอยเหงา ก็ต้องสั่งให้ออกไปหาสิ่งเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ เมื่อออกไปหาสิ่งเหล่านี้มากๆ เข้า ก็จะไม่มีเวลาทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยความสุจริต เมื่อไม่มีเงินทองที่จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยความสุจริตก็จะนำไปสู่การทุจริต ดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ สมัยนี้คนเราวิ่งหาเงินทองกันเหมือนกับเป็นพระเจ้า เพราะรู้สึกว่าถ้ามีเงินทองแล้ว จะสามารถบันดาลความสุขให้กับตนได้ จึงวิ่งหาเงินทองกัน แบบไม่คิดถึงว่าจะหามาด้วยวิธีใด ถ้าหามาได้ด้วยความสุจริตก็จะหามา ถ้าหาด้วยความสุจริตไม่ได้ ก็จะหาด้วยความทุจริต โดยไม่เกรงกลัวกับบาปกรรมที่จะตามมาต่อไป

 

              กามคุณ ๑ : กินอาหาร เสพเข้าไปเท่าไร ก็ยิ่งติดรสชาติมากเข้าไปมากขึ้นเป็นทวีคูณ เสพแล้วไม่มีวันไม่เบื่อ

  การกระทำย่อมมีผลตามมา สุจริตก็มีผลตามมา ทุจริตก็มีผลตามมา สุจริตทำไปแล้ว ไม่มีความเสียหาย มีแต่ความเจริญตามมาแต่ถ้าทำด้วยความทุจริต ก็จะมีแต่ความเสื่อมเสีย มีแต่ความทุกข์ตามมาแต่เมื่อคนเราคิดกับสิ่งต่างๆ ไม่สามารถจะเลิกได้ ก็จะไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาเพราะผลเสียตามมาทีหลัง ไม่ได้มาก่อน แต่ความสุขที่ได้จากการไปคดไปโกง ไปลัก ไปขโมย เพื่อจะได้เอาเงินไปซื้อความสุขนั้นมันมาก่อน เลยไม่คิดถึงความทุกข์ที่จะตามมาต่อไป เพราะคิดสั้นคิดแบบสุกเอาเผากิน ขอให้ได้เสียก่อน ส่วนผลเสียที่จะตามมาทีหลังจะเป็นอย่างไร ไม่ค่อยสนใจ แต่ในที่สุดผลก็ตามมา ทั้งในปัจจุบันชาติและในชาติหน้า ในปัจจุบัน เมื่อเริ่มประกอบการทุจริตแล้ว ใจก็จะมีความว้าวุ่นขุ่นมัว มีความวิตก มีความกังวล เพราะมีชนักติดหลังอยู่ไม่ทราบว่า จะต้องถูกจับไปเข้าคุกเข้าตะรางเมี่อไหร่ ก็จะไม่ได้อยู่ด้วยความสุขใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ มีแต่ความหวาดผวา เดินไปไหนมาไหนเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็เกิดความตกใจกลัวขึ้นมา ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ไมรู้เรื่องของเราเลยแม้แต่น้อยนิด

 

            กามคุณ ๒ : การนอน เสพเข้าไปเท่าไร ก็ยิ่งติดความสบายกายเป็นทวีคูณ เสพแล้วไม่มีวันไม่เบื่อ
 
   นี่แหละคือธรรมชาติของการทำบาปทำกรรม เมื่อทำผิดไปแล้วจะสร้างความวิตก ความกังวล ความหวาดกลัว ขึ้นมาในใจของผู้กระทำความสุขที่ได้จากการไปโกง ไปขโมยเงินทองมา ก็หมดไปแล้ว เงินทองที่ได้มา เอาไปใช้ไปเสพหมดแล้ว ต้องคอยหลบเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกจากนั้นแล้ว ความอยากที่มีอยู่ในใจก็ยังไม่หมดไป ก็ยังมีคาามอยากอยู่เหมือนเดิม ก็ยังต้องออกไปหาความสุขอีก ต้องมีแต่ความหวาดระแวงไม่รู้ว่าเมื่อออกไปแล้ว จะถูกเจ้าหน้าที่จับตัวเมื่อไร นั่นแหละคือความเห็นผิดเป็นชอบ คิดว่าความสุขอยู่กับกามสุข อยู่กับการได้เสพกามได้เสพรูป ได้ยินเสียง ได้ลิ้มรส ได้ดมกลิ่น ได้สัมผัสโผฏฐัพพะ ที่ถูกอกถูกใจ เวลาได้เสพก็มีความสุข แต่เวลาไม่ได้เสพ ก็มีความว้าเหว่มีความเศร้าสร้อยเหงาหงอย เป็นเครื่องผลักดันให้ต้องออกไปหามาเสพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

 

               กามคุณ ๓ : การสัมผัสระหว่างเพศ เสพเมถุนแล้วยิ่งลุ่มหลงเมามันจนยากกว่าจะถอนตัวขึ้น เสพแล้วไม่มีวันไม่เบื่อ
 
   พระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้ว ในฐานะที่เป็นราชกุมาร พระราชบิดาผู้มีความปรารถนา ที่จะให้พระพุทธเจ้าในครั้งที่เป็นราชกุมาร อยู่สืบทอดพระราชสมบัติต่อไป จึงพยายามที่จะห้อมล้อมพระราชกุมารด้วยกามสุขชนิดต่างๆ เพื่อจะได้ไม่คิดหนีจากพระราชวัง เพื่อออกไปแสวงหาความสุขที่แท้จริง ถึงแม้จะมีความสุขห้อมล้อม แต่ในพระทัยของพระองค์ก็ทรงรู้ว่าเป็นความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เมื่อได้สัมผัสมาก ๆ เข้าก็เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาได้ เหมือนกับเวลารับประทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นอาหารที่ถูกอก ถูกใจ ถูกปาก ถูกลิ้น เป็นอาหารจานโปรด แต่ถ้ารับประทานไปทุกมื้อทุกวันแล้ว ไม่ช้าก็เร็วก็จะเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา นี่ก็เป็นความทุกข์อีกแบบหนึ่ง ทั้งๆ ที่ได้เสพได้สัมผัสสิ่งที่ชอบ สิ่งที่อยาก แต่เมื่อเสพไปบ่อย ๆ ก็เกิดความจำเจเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาถ้าเป็นคนฉลาดก็จะเริ่มรู้แล้วว่านี่ไม่ใช่ความสุขเลย แต่ถ้าเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา พอจะหาวิธีใหม่ คือเมื่อเบื่อสิ่งนี้ก็ไปหาสิ่งอื่นมาทดแทน

 

              กามคุณ ๔ : อำนาจ เมื่อผู้ใดเสพแล้วยิ่งลุ่มหลงมัวเมา หวังเป็นใหญ่ตลอดกาลและมักถือยศศักดิ์เป็นใหญ่ เสพแล้วไม่มีวันไม่เบื่อ
 

  ถ้าเบื่อคนนี้ ก็หาคนอื่นมาแทน แต่มันก็เหมือนกันแหละ คนเรามันก็เหมือนๆ กัน สิ่งของต่างๆ มันก็เหมือนๆ กัน รูปก็รูปเหมือนกันเสียงก็เสียงเหมือนกัน กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็เหมือนกัน ต่างที่รูปลักษณ์เท่านั้นเอง

 แต่โดยธรรมชาติของกามคุณ ๕ แล้ว ย่อมสร้างความเบื่อหน่ายให้กับทุกคน เมื่อได้สัมผัสอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดความชินชาขึ้นมา ทำไมเราจึงต้องไปเที่ยวกัน เพราะเบื่อความจำเจ เห็นบ้านเราเห็นสถานที่ของเราทุก ๆ วัน ก็เกิดความเบื่อหน่าย ก็เลยอยากจะไปสถานที่อื่นๆ จึงเกิดมีการท่องเที่ยวขึ้นมา เราเบื่อบ้าน เบื่อเมืองของเราเราก็ไปท่องเที่ยวเมืองนอกเมืองนากัน พวกที่อยู่เมืองนอกเมืองนาเขาก็เบื่อบ้านของเขา เขาก็มาเที่ยวบ้านเรา ทั้งๆ ที่เราเบื่อแสนเบื่อไม่เห็นจะมีอะไรดี แต่เขากลับเห็นว่า บ้านเรามีอะไรดีเยอะแยะไปหมดในทางตรงกันข้ามเขาก็เบื่อบ้านเขา เขาก็ไม่เห็นว่าบ้านเขามีอะไรดีแต่เรากลับไปเห็นว่ามีอะไรดี นั่นแหละคืออำนาจของความหลงที่ครอบงำจิตใจ แล้วก็สร้างความรู้สึกว่า จะต้องมีอะไรดีกว่าที่มีอยู่ เป็นอยู่จึงทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวาย เปลี่ยนที่อยู่เรื่อยๆ ไป เปลี่ยนสิ่งนั้นเปลี่ยนสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ ใส่เสี้อผ้าชุดไหนจำเจ ก็เบื่อ ก็ต้องหาเสื้อผ้าชุดใหม่มาใส่ มีทรงผมแบบไหน อยู่ไปสักพักก็เบื่อ ก็ต้องเปลี่ยนทรงผมใหม่

 

            กามคุณ ๕ : อบายมุข เมื่อผู้ใดเสพแล้วยิ่งยากกว่าจะถอนตัวขึ้น เมื่อเสพยาแล้วจะรู้สึกว่า โลกทั้งใบเป็นของฉันคนเดียวมันมีความสุขมาก  เสพแล้วไม่มีวันไม่เบื่อ
 
   นี่แหละคือลักษณะของกามคุณ ๕ ไม่ได้สร้างความอิ่ม สร้างความพอ มีแต่จะสร้างความเบื่อหน่าย ถ้าได้สัมผัสมากเกินไป ถ้าสัมผัสน้อยไป ก็จะไม่พอ ก็เกิดความหิว เกิดความกระหาย อยากจะเสพเพิ่มขึ้นไปอีก ก็เลยหาจุดอิ่มจุดพอไม่เจอ เพราะความอิ่มความพอ ไม่มีอยู่ในกามคุณ ๕ พระพุทธเจ้าผู้มีปัญญา ทรงรู้จักคิด เมื่อคิดแล้วก็ทรงเห็นว่า กามคุณ ๕ เป็นอย่างนี้เอง จะไปเอาความสุขที่แท้จริงจากเขาย่อมเป็นไปไม่ได้ มีแต่จะให้ความทุกข์กับผู้ไปหลง ไปยึด ไปติด ไปเสพเมื่อเป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าจึงแสวงหาความสุขอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าสันติสุข ความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ ใจจะสงบได้ ใจจะต้องสลัดกามคุณทั้ง ๕ คือต้องไม่ไปแสวงหา ต้องงด ต้องระงับ เคยดูหนังดูละคร ก็ต้องหยุดดู เคยไปเที่ยวก็ต้องหยุดเที่ยว เคยกินเหล้าเมายาก็ต้องหยุดกิน เคยมีคู่ครองก็จะต้องละเว้นจากการมีคู่ครอง ชึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับคนทั่วๆ ไป เพราะยังถูกอำนาจของความหลงครอบงำอยู่ ยังคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีอยู่ หรือถ้ารู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ก็ไม่มีกำลังพอที่จะสลัดให้หลุดพ้นไปจากใจของตนได้
   
    มีคนเพียงไม่กี่คน ที่มีความสามารถ มีขันติความอดทน มีวิริยะความพากเพียรพอที่จะต่อสู้กับการยึดติดในกามคุณ ๕ เมื่อทำได้แล้วจะประสบกับสิ่งที่ไม่เคยพบ เคยสัมผัสมาก่อน คือความสุขที่แท้จริงความสุขที่ประเสริฐ ความสุขที่เลิศ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้ ที่จะประเสริฐ จะดีเลิศ เท่ากับความสุข ที่เกิดจากความสงบของใจ ก็คือสันติสุขนั่นเอง สันติสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องละกามสุขก่อน พยายามลดละกามสุขไปเท่าที่จะทำได้ ไม่จำเป็นต้องเลิกไปเลยในทีเดียวเพราะเป็นสิ่งที่ยาก เหมือนกับการตัดต้นไม้ จะไม่สามารถฟันต้นไม้ให้ขาดด้วยการฟันเพียงครั้งเดียว แต่ต้องค่อยๆ ฟันไปเรื่อยๆฟันไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ช้าก็เร็ว ต้นไม้นั้น ก็จะต้องถูกตัดขาดอย่างแน่นอน ถ้ามีความอดทน มีความขยันหมั่นเพียร

 

   ที่มา ขอบคุณครับ  http://tevisho.com






 


152
ธรรมะ / การต่อสู้กับกิเลส
« เมื่อ: 30 ส.ค. 2553, 10:05:10 »
                                                                การต่อสู้กับกิเลส

                         โดย พระอาจารย์อัครเดช  ถิรจิตโต  (ตั๋น)
                        วัดบุญญาวาส  ต.บ่อทอง  อ.บ่อทอง  จ.ชลบุรี

 

   ถ้าจิตของเรานั้นไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ที่จะรักษาจิตใจของเราแล้ว
จิตของเรานั้นก็จะยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลาย ว่าเป็นจิตใจของเราอยู่เสมอๆ
ไม่ว่าจะมีความโลภ เกิดขึ้น ก็เป็นใจของเรา
ไม่ว่าจะมีความโกรธเกิดขึ้น ก็เป็นใจของเรา
ไม่ว่าจะมีความพอใจ ความไม่พอใจ
ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ก็คิดว่าเป็นใจของเรา
ไม่ว่าจะมีความกำหนัด ยินดีในรูป ก็คิดว่าเป็นใจของเรา
ใจของเราก็เป็นทุกข์ เมื่อกิเลสเกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา
เพราะใจของ เรานั้นไม่ทราบตามความเป็นจริง
ไปยึดมั่นถือมั่น ในอารมณ์ทั้งหลายว่าเป็นจิตใจของเรา
ความทุกข์ ต่างๆ จึงเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ
เพราะฉะนั้นพระ พุทธองค์หรือครูบาอาจารย์จึงสอน
ให้พวกเราทุกคน พยายามมีสติ เฝ้าดูจิตใจของเรานี้ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ไม่ใช่ว่าไปดูบุคคล อื่น ว่าเขาทำอะไร หรือเขาพูดอะไร
แล้วเอาสิ่งที่ไม่ ดีมาเผาอารมณ์จิตใจของเรา
ทำให้จิตใจของเรานั้น มีความทุกข์ใจ มีความไม่สบายใจ
นักประพฤติ ปฏิบัตินั้นพึงมีสติ เฝ้าเห็นกิเลสภายในใจของเราอยู่เสมอ
ว่าสิ่งใด เป็นสิ่งที่ไม่ดี สิ่งใดเป็นกิเลสซึ่งเกิดขึ้นภายในใจของเรานั้น
ให้ หาอุบายปัญญา ทำลายความโลภ ให้บรรเทาเบาบางลงไป
หา อุบายปัญญาทำลายความโกรธ ความไม่พอใจ หรือความยินดีในรูป
ให้บรรเทาเบาบางลงไป จึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

 
ถ้าเรามีสติเฝ้าดู จิตใจของเรานั้นอยู่เสมอๆ
เราก็จะเห็นอารมณ์ เห็นกิเลส
เมื่อเราเห็นอารมณ์ เห็นกิเลสภายในใจของเรา
เราก็หาอุบายปัญญา มาพิจารณาละวางอารมณ์ที่ไม่ดีออกไป
แต่ถ้ากำลัง ของสติไม่ตั้งมั่นพอ จิตของเรานั้นหลงไปกับอารมณ์ทั้งหลาย
ก็ให้กำหนด สมาธิภาวนา ตัดอารมณ์ที่ไม่ดีออกไปอยู่เสมอๆ
กำหนดสติ กำหนดสมาธิให้ต่อเนื่อง
เมื่อจิตของเรามีกำลัง มีสติตั้งมั่น อยู่ในปัจจุบันธรรมแล้ว
คือเห็น จิตอยู่เสมอ ก็เห็นอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้น
เมื่อเห็นอารมณ์เกิด ขึ้น ก็มีปัญญาในการที่จะพิจารณาทำลาย ทุกๆ ขณะจิต
ถ้า เราทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จิตใจของเรานั้นก็จะค่อยๆ ว่างจากอารมณ์ทั้งหลาย
ถึงแม้มีอารมณ์ทั้งหลาย เกิดขึ้น ก็รู้จักปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นออกไปได้
มี สติ มีปัญญา รู้เท่าทันสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวง
ว่าอารมณ์ ทั้งหลายเหล่านั้น มีความเกิดขึ้น
และมีความดับ ไปเป็นธรรมดาอยู่เช่นนั้น หาใช่บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่

เพราะฉะนั้นเราทุกคนจะต้องพยายาม
ที่จะรู้จักต่อสู้กับกิเลสภายในจิตใจของเรา
ในทุกๆ วันให้พยายามที่จะมีสติดูจิตใจของเรา
และปรารภความเพียรไปทุกๆ วัน ไม่ท้อถอย
สำรวมจิตใจของเรานั้น อยู่เสมอๆ
ถ้า เราทุกคนทำความเพียรไปเช่นนี้
ไม่ว่าเราจะอยู่ ที่ไหนก็ตาม เราทำความเพียรไปตลอดเวลา
ในอนาคตข้างหน้าเราอาจ จะแยกย้ายไปปฏิบัติคนละสถานที่ก็ตาม
แต่เราก็ มุ่งหวังในการประพฤติการปฏิบัติธรรมอยู่เสมอๆ ไม่ทิ้งความเพียร
เราก็สามารถที่จะประสบกับความ สำเร็จในการประพฤติการปฏิบัติธรรมได้

        พระโบราณาจารย์ พระกรรมฐานาจารย์ เคยกล่าวไว้ว่า

 

 " เมื่อเห็นผู้อื่นตกทุกข์ได้ยาก อดข้าว อดน้ำ ถ้าหากเราหยิบยื่นปลาตัวหนึ่งให้เขา เขาก็พึงอิ่มท้องอยู่ได้แค่มื้อเดียว แล้วก็อดอยากเช่นเดิม แต่ถ้าหากเราสอนวิธีการหาปลาให้เขา เขาจะอยู่รอดได้ด้วยตัวของเขาเอง จนตราบสิ้นอายุขัย "

 

"เราศิษย์ตถาคต เมื่อใดก็ตามเมื่อเห็นสัตว์โลกทั้งหลายมีความทุกขเวทนาทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ด้วยแรงแห่งกรรมสงเคราะห์ เราพึงสงเคราะห์โดยให้ธรรมทั้งหลายแก่เขาเหล่านั้นตามสมควรแก่เหตุ เพื่อให้เขามีกำลังใจ และแนะนำวิธีการรักษากำลังใจให้เต็ม และมีจิตสะอาดสุขสดชื่นโดยการเจริญสมาธิภาวนา และการละบาป อกุศลทั้งปวงด้วยตัวของเขาเอง  เพื่อยังประโยชน์ให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นพ้นเสียซึ่งจากเวรภัยนานาประการ จนตราบเสียซึ่งอายุขัย ไม่ใช่ให้เราไปแก้กรรมให้เขา" 

   ที่มา ขอบคุณครับ  http://tevisho.com





153
                                                                   ประวัติ หลวงพ่อยิ้ม วัดหนองบัว       
 
                                     
                                                       

 
      หลวงปู่ยิ้ม จนฺทโชติ วัดหนองบัว (วัดอุปลาราม) ต.หนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี จากการบันทึกของพระโสภณสมาจารย์ (เหรียญ สุวรรณโชติ) ซึ่งเป็นศิษย์ก้นกุฏิ และเป็นสมภารรูปต่อจากหลวงปู่ยิ้ม ได้ความว่า



     หลวงปู่ยิ้ม ท่านเป็นชาววังด้ง จ.กาญจนบุรี เกิดปีมะโรง เดือนห้า วันอังคาร พ.ศ. 2387 เป็นบุตร นายยิ่ง นางเปี่ยม บิดามารดาประกอบอาชีพค้าไม้ไผ่ล่องไปขายที่ปากอ่าวแม่กลอง จนเป็นที่รู้จักของชาวแม่กลองเป็นอย่างดี

ครั้นได้อายุครบบวช ได้อุปสมบทที่วัดทุ่งสมอ อ.พนมทวน พระอาจารย์กลีบ วัดหนองบัว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แดง วัดเหนือ และพระอาจารย์อินทร์ วัดทุ่งสมอ เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า "จนฺทโชติ"

เมื่อบวชแล้วท่านได้เรียน หนังสือขอม บาลี มงคลทีปนี มูลกัจจายน์ พระเจ้า 10 ชาติ สูตรสนธิ จนชำนาญ อีกทั้งยังสามารถท่องปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่พรรษาที่ 2 ด้วยตัวท่านชอบเกี่ยวกับวิชาความรู้และวิทยาคมจึงได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ แดงพระคู่สวดว่า ที่จังหวัดสมุทรสงคราม มีพระเกจิอาจารย์เก่งๆ อยู่หลายรูป ท่านได้เดินทางไปหาอาจารย์รูปแรกคือ หลวงพ่อพระปลัดทิม วัดบางลี่น้อย อ.อัมพวา ท่านเป็นอุปัชฌาย์เก่าแก่ของวัดบางช้าง เรียนทางทำน้ำมนต์โภคทรัพย์ อยู่ปากอ่าวแม่กลองได้เรียนวิชาทำธงกันอสุนีบาต (สายฟ้า) และพายุคลื่นลม วิชาหลายลงอักขระทำรูปวงกลม เวลาไปทะเลแล้วขาดน้ำจืดให้เอาหวายโยนลงไปในทะเลแล้วตักน้ำในวงหวายน้ำจะจืด ทันที ลูกอมหมากทุยก็เป็นที่เลื่องลือ เพราะท่านได้สำเร็จจินดามนต์ เรียกปลาเรียกเนื้อได้

อีกรูปคือ หลวงพ่อกลัด วัดบางพรม เรียนทางมหาอุตม์ ผ้าเช็ดหน้าทางมหานิยม เชือกคาดเอว เครื่องรางรูปกระดูกงูกันเขี้ยวงา ทางคงกระพันชาตรี หลวงพ่อกลัดรูปนี้สามารถย่นระยะทางได้ และรูปสุดท้ายคือ หลวงพ่อแจ้งวัดประดู่อัมพวา ได้เรียนทางแพทย์แผนโบราณ มีดหมอ ทางมหาประสานเชือกคาดชื่อตะขาบไฟ หรือ ไส้หนุมาน

    "หลวงปู่ยิ้ม" เป็นพระที่ชอบทางรุกขมูลธุดงควัตรออกพรรษา แล้วท่านมักจะเข้าป่าลึกเพื่อหาที่สงบทำสมาธิท่านรู้ภาษาสัตว์ทุกชนิด ชื่อเสียงกิตติศัพท์ของท่านโด่งดังไปทั่วเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ใน กรุงเทพฯ อาทิ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งโปรดทางวิชาไสยศาสตร์ ได้ไปหาท่านถึง 2 ครั้ง เลื่อมใสและนับถือท่านเป็นอาจารย์ ขอเรียนวิชาจากท่านได้มีดหมอจากท่าน 1 เล่ม ไว้ประจำพระองค์ มีดหมอมีสรรพคุณปราบภูตผีปีศาจ และปราบคนที่อยู่ยงคงกระพัน ถ้าได้ถูกคมมีดของท่านแล้วต้องเป็นอันได้เลือด ไม่ว่าคนนั้นจะเก่งเพียงไร ก็ไม่สามารถคุ้มครองได้

   เสด็จในกรมฯ ทรงโปรดเป็นอันมาก ทั้งๆ ที่ว่าท่านเป็นศิษย์หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท มาแล้ว ก็ยังเกรงวิชาของหลวงปู่ยิ้ม หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านเคยธุดงค์มาจำวัดกับหลวงปู่ยิ้ม ที่วัดหนองบัว และได้แลกเปลี่ยนวิชากัน

               หลวงปู่ยิ้มท่านเป็นพระสมถะไม่หลงวิชาอาคม จำนวนศิษย์ของท่านเท่าที่ปรากฏ คือ

   1. พระโสภณสมจารย์ (เหรียญ) วัดอุปลาราม (วัดหนองบัว)

   2. พระเทพมงคลรังษี (ดี) วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ)

   3. พรกาญจนวัตรวิบูลย์ (ล่อน) วัดลาดหญ้า

   4. พระโสภณสมณกิจ (หัง) วัดเหนือ

   5. พระครูวัตตสารโสภณ (ดอกไม้) วัดดอนเจดีย์

   6. พระราชมงคลวุฒาจารย์ (ใจ) วัดเสด็จ

   7. พระอธิการ (แช่ม) วัดจุฬามณีอัมพวา)

   8. พระครูสกลวิสุทธิ (เหมือน รัตนสุวรรณ)

 

          หลวงปู่ยิ้มมรณภาพ เมื่ออายุ 66 ปี เมื่อพ.ศ.2453 
 
    ที่มา http://tevisho.com  ขอบคุณครับ

154
ธรรมะ / ฝึกตัวเป็นของสำคัญมาก
« เมื่อ: 30 ส.ค. 2553, 01:48:23 »
   ผู้ที่มาเข้าวัดเข้าวาก็ให้นำคติอันดีงามของทางวัดไปใช้นะ สถานที่นี่เป็นสถานที่อบรมความดีงามทั้งหลาย ไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่มาเพื่อศึกษาอบรมความดีงามไปประพฤติปฏิบัติ เจ้าของนั่นละจะเป็นคนดีงามไม่ใช่ผู้ใด ถ้าว่าตกแต่ง เราตกแต่งตั้งแต่สิ่งภายนอก กิริยามารยาทความประพฤติอันดีงามเราไม่สนใจประพฤติมันก็ไม่ดี แต่งตัวเทวดาสู้ไม่ได้ก็ไม่เป็นท่า แต่งแต่ตัวเฉยๆ ไม่แต่งใจ แต่งใจแล้วดี ถ้าแต่งใจแล้วความดีงามมันจะออกจากหัวใจ

  คนเราคำว่าคนๆ มันคนกลางๆ นะ คนดีก็มีคนชั่วก็เยอะ นี่เกิดจากการอบรมฝึกฝนตนเอง ถ้าไม่ฝึกฝนไม่ได้ เราจะให้คนอื่นคนใดมาฝึกฝนอบรมเราไม่ได้นะ เราต้องฝึกฝนอบรมเรา เมื่อได้รับโอวาทจากครูบาอาจารย์แล้วก็ไปประพฤติปฏิบัติตัวให้เป็นคนดี เราฝึกเราเป็นคนดีตั้งแต่เป็นเด็กถึงผู้ใหญ่มันก็ดีไปเรื่อยๆ ถ้าฝึกเจ้าของเป็นคนชั่วทั้งๆ ที่เราไม่ได้ฝึกแต่เป็นความสมัครใจไปในทางชั่วมันก็มีแต่ความชั่วเต็มตัว ถ้าฝึกฝนในทางความดีมีการฝึกการดัดแปลงตนเองมันก็เป็นคนดี

  อยู่กับการฝึกนะ ไม่ฝึกไม่ได้มนุษย์เรา เกิดเป็นมนุษย์เฉยๆ มนุษย์เต็มโลก มนุษย์ที่เลวที่สุดก็มีเยอะในโลกอันนี้ เพราะการไม่ฝึกการปล่อยเนื้อปล่อยตัวเอาตามชอบใจ ใครชอบอะไรทำลงไปๆ ไม่คิดว่าผิดถูกชั่วดีประการใด อย่างนั้นหาความดีไม่ได้ ต้องฝึกตัวเองนะทุกคน ยิ่งมาวัดมาวานี้ด้วยแล้วก็มีการฝึกฝนอบรมตนควรจะได้ของดีไปใช้ในบ้านในเรือนในตัวของเราเอง เป็นฆราวาสฝึกแบบหนึ่ง มาบวชเป็นพระแล้วก็ฝึกอีกแบบหนึ่ง เป็นขั้นๆ เป็นตอนๆ ไป บวชเป็นพระ พระโกโรโกโสก็มี พระดีก็เยอะ นี่ขึ้นอยู่กับการฝึกหัดตน รู้สึกตัวว่าเป็นพระแล้วตั้งใจปฏิบัติตัวให้ดีมันก็ดีไปเรื่อยๆ มีแต่ชื่อว่าพระเฉยๆ เขียนติดหน้ากระดาษมันก็มีแต่คำว่าพระๆ แต่คนมันเลวมันใช้ไม่ได้ พากันจดจำเอา

  การฝึกตัวละดี ฝึกอะไรสู้ฝึกตัวไม่ได้ ฝึกสิ่งใดก็ตามถ้าไม่ฝึกตัวแล้วไม่ดีเลย ต้องฝึกตัวเป็นของสำคัญมาก คนเราต้องฝึกตัวให้ดี ความอยากอยากด้วยกันทุกคน อย่างใดที่เป็นภัย อย่างใดที่เป็นคุณก็ให้ดำเนินตามความอยากที่เป็นคุณ อย่าไปเดินตามรอยแห่งความชั่วช้าลามกมันจะชั่วช้าไปเรื่อยๆ หาความดีไม่ได้ ตั้งแต่เกิดมาก็มาฝึกตน ฝึกให้ดี การฝึกก็มีหลายขั้นหลายตอน ฆราวาสฝึกตนใส่อรรถใส่ธรรมเป็นอย่างหนึ่ง พระฝึกตนเข้าสู่ธรรมวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นขั้นๆ ตอนๆ ไป ให้เรานำไปฝึก ในความเป็นฆราวาสก็เป็นเด็กดี เป็นฆราวาสที่ดี ถ้าเป็นพระก็เป็นพระที่ดี อย่าเป็นพระโกโรโกโส ใช้ไม่ได้นะ

  ทุกอย่างขึ้นจากการฝึกทั้งนั้น ไม่ฝึกไม่ได้ คนเราเพียงแต่ว่าคนๆ เฉยๆ ใครๆ เกิดขึ้นมาก็เรียกว่าคน แต่ดีหรือชั่วมันขึ้นอยู่กับความดัดแปลงตัวเอง ถ้าไม่ดัดแปลงมันไม่ดีนะ เกิดมาเป็นมนุษย์เท่าไรก็มนุษย์รกโลกรกสงสารอยู่ทั้งนั้นละ ให้เป็นมนุษย์ที่ดี ให้ฝึก การอยู่การกินการใช้สอยก็ให้รู้จักประมาณ อย่าฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ไม่ดี การฝึกฝนอบรมการอยู่การกินใช้สอยนี้สำคัญมาก เราต้องมีการฝึกเอา ฝึกในลิ้นในปากในใจของเรานั่นแหละ เราไม่ให้มันทำมันไม่ทำละ ใจเป็นผู้บังคับ ถ้าใจปล่อยตัวแล้วก็เลอะเทอะไปหมด ไม่มีอะไรเป็นของดี ตั้งแต่วันเกิดถึงวันตายเลวตลอดถึงวันตาย หาความดีไม่ได้ ถ้าผู้ฝึกตนแล้วก็ฝึกไปเรื่อยๆ มันก็ดีไปเรื่อยๆ ต่อไปก็ชินในการฝึกดี ให้พากันจำเอา

 ที่มา  http://board.palungjit.com

155
                                                        การอุทิศบุญที่ถูกต้องและได้ผล
                                                 โดยหลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง (พระราชพรหมยาน)


    การอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย


“..การอุทิศส่วนกุศลในพระพุทธศาสนา ไม่ต้องใช้นํ้าการ ที่พระเจ้าพิมพิสาร เป็นองค์แรกที่อุทิศส่วนกุศลโดยใช้นํ้า ก็เพราะท่านเพิ่งพบพระพุทธเจ้า เนื่องจากศาสนาพราหมณ์เขาถือว่า ถ้าจะให้อะไรกับใคร ต้องให้คนนั้นแบมือแล้วเอานํ้าราดลงไป ท่านยังชินอยู่กับประเพณีของพราหมณ์ แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ห้าม เพราะเห็นว่าใจท่านตั้งตรงเวลาอุทิศส่วนกุศล

เรื่อง การกรวดนํ้านี้ สมัยเมื่ออาตมาบวชได้วันที่สอง ขณะเจริญพระกรรมฐานได้มีผีตัวผอมก๋องเข้ามานั่งอยู่ข้างหน้า อาตมาก็สวด “อิมินา ปุญญกัมเมนะ อุปัชฌายา” หมายถึงอุปัชฌาย์ แต่อุปัชฌาย์ก็ยังไม่ตาย “คุณุตตรา อาจาริยู”ให้ คู่สวดอีก คู่สวดก็ยังไม่ตาย ว่าเรื่อยไปยังไม่ทันจะจบเหลืออีกตั้งครึ่งบท เห็นเดินมา ๒ คนเอาโซ่คล้องคอลากผีที่นั่งอยู่ข้างหน้าไปเลย ผลปรากฏว่ายังไม่ได้ให้ผีเลย

พอตอนเช้าไปบิณฑบาตกลับมาฉันข้าว พอฉันเสร็จล้างบาตรเช็ดเรียบร้อย ปกติฉันเสร็จหลวงพ่อปานท่านจะยถาฯแต่วันนี้ท่านไม่ยถาฯ ท่านนั่งเฉยมองหน้าถามว่า

“ไงพ่อคุณ พ่ออิมินาคล่อง สวดอย่างนั้นผีจะได้กินเหรอ”
ท่านให้แปลอิมินาแปลว่าอย่างไรบ้าง อุปัชฌาย์ก็ยังไม่ตาย คู่สวดญัตติคือท่านก็ยังไม่ตายมาให้ท่าน ผีที่อยู่ข้างหน้าทำไมไม่ให้
ท่านก็บอกว่า “ที หลังผีมาละก็ ผีมันอยู่นานไม่ได้ บางทีก็หลบหน้าเขามานิดหนึ่ง ถ้ามานั่งใกล้เรา ทุกขเวทนาอย่างเปรตนี่ ไฟไหม้ทั้งตัว หอกดาบฟัน เวลาที่เราเจริญพระกรรมฐานอยู่ บุญของเรานี่สามารถจะช่วยให้เขามีความสุขได้ เพราะถ้ามานั่งข้างหน้าใกล้ๆเรานี่ ไฟจะดับ หอกดาบจะหลุดไป แต่ว่าจะอยู่นานไม่ได้ ต้องพูดให้เร็วเพราะเขาจะต้องไปรับโทษ เวลาอุทิศส่วนกุศลให้ว่าเป็นภาษาไทยชัดๆ และให้สั้นที่สุด”


ให้บอกว่า “บุญ ใดที่ฉันบำเพ็ญมาแล้วตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ผลบุญทั้งหมดนี้จะมีประโยชน์ ความสุขแก่ฉันเพียงใด ขอเธอจงโมทนาผลบุญนั้นและรับผลเช่นเดียวกับฉันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
วันหลังผีตัวใหม่มา ตัวก่อนที่ถูกลากคอไปมาไม่ได้แล้ว ผีตัวใหม่ผอมก๋องเอาทนายมาด้วย ยืนอยู่ข้างหลังนางฟ้าที่มีทรวดทรงสวย เป็นเทวดาใหญ่มากบอกว่า
“ท่านนั่งอยู่นี่ไงล่ะ จะให้ท่านช่วยอะไรก็บอกท่านสิ”
ผีผอมก๋องพูดไม่ออกเพราะกรรมมันปิดปาก อาตมานึกขึ้นมาได้ ถ้าขืนให้อยู่นานเดี๋ยวโซ่คล้องคอลากไปอีก จึงอุทิศส่วนกุศลให้ตามที่หลวงพ่อปานสอน จึงบอกว่า
“ตั้งใจโมทนาตาม ทีหลังมา ข้าไม่ให้พูดแล้วข้าให้เลย”
พอว่าจบผีผอมก๋องก็ก้มลงกราบ กราบไปครั้งแรกลุกขึ้นมาก็ผอมตามเดิม กราบครั้งที่สองลุกขึ้นมาก็ผอมตามเดิม พอกราบครั้งที่สามลุกขึ้นมา คราวนี้ชฎาแพรวพราวเช้งวับไปเลย
การได้รับส่วนกุศลนี้ ขึ้นอยู่กับท่านนั้นมีโอกาสโมทนา ท่านก็ได้รับ แต่ถ้าท่านนั้นไม่มีโอกาสโมทนาก็ไม่ได้รับ เปรียบ เหมือนเราเอาสิ่งของไปให้ แต่ผู้รับเขาไม่รับ เขาก็จะไม่ได้ของ ถ้าพวกเขาอยู่ในนรก ไฟไหม้ทั้งวัน ถูกสรรพาวุธสับฟันทั้งวัน ถ้าเราเอาขนมไปให้กิน เขาก็ไม่มีโอกาสจะได้กินขนม ปรทัตตูปชีวีเปรตเป็นเปรตระดับที่ ๑๒ แบ่งเป็น ๒ พวกคือ พวกที่มีกรรมบางอยู่ข้างหน้า เราอุทิศให้แผ่กระจายเขาโมทนาได้ แต่พวกที่มีกรรมหนาอยู่ข้างหลัง ให้แผ่กระจายนี่เขาโมทนาไม่ได้ ถึงแม้จะมีสิทธิ์โมทนาก็ตาม เขาก็ไม่มีโอกาส พวกปรทัตตูปชีวีเปรตมายืนอยู่นานไม่ได้ ส่วนสัมภเวสีก็มีความหิวแต่อยู่นานได้ จึงต้องให้เจาะจงเฉพาะตรง ถ้าไม่ให้ตรงเฉพาะก็รับไม่ได้เพราะกรรมหนัก ฉะนั้นการอุทิศส่วนกุศล เวลาจะให้ ให้ว่าเป็นภาษาไทยให้เรารู้เรื่องและให้สั้นที่สุด


การอุทิศส่วนกุศลแก่บุคคลต่างๆ ที่ตายไปแล้ว
ถ้านึกได้ออกชื่อเขาก็ดี เพราะถ้ากรรมหนาอยู่นิด ถ้าออกชื่อเจาะจงเขาก็ได้รับเลย ถ้านึกไม่ออกก็ว่ารวมๆ “ญาติก็ดี ไม่ใช่ญาติก็ดี”ถ้า ขืนไปนั่งไล่ชื่อน่ากลัวจะไม่หมด มีอยู่คราวหนึ่งนานมาแล้วไปเทศน์ด้วยกัน ๓ องค์ บังเอิญมีอารมณ์คล้ายคลึงกัน วันนั้นทายกนำอุทิศส่วนกุศลออกชื่อคนตายกับบรรดาญาติทั้งหลายที่ตายไปแล้ว ปรากฏว่าบรรดาผีทั้งหลายก็เข้ามาเป็นหมื่นล้อมรอบศาลา คนที่เป็นญาติก็โมทนาแล้วผิวพรรณดีขึ้น พวกที่มิใช่ญาติก็เดินร้องไห้กลับไป ตอนท้ายมีคนถามถึงการอุทิศส่วนกุศลว่าทำอย่างไร
พระองค์หนึ่งท่านเลยบอกว่า “ญาติ โยมที่นำอุทิศส่วนกุศล อย่าให้ใจแคบเกินไปนัก อย่าลืมว่าการทำบุญแต่ละคราว พวกปรทัตตูปชีวีเปรตก็ดี พวกสัมภเวสีก็ดี จะมายืนล้อมรอบคอยโมทนา แต่ถ้าเราให้แก่ญาติ ญาติก็จะได้ บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติก็จะไม่ได้ ฉะนั้นควรจะให้ทั้งหมดทั้งญาติและไม่ใช่ญาติ”
และตอนที่พระให้พร เจ้า ภาพและทุกท่านที่บำเพ็ญกุศลแล้ว มีการถวายสังฆทานก็ดี การเจริญพระกรรมฐานก็ดี ควรตั้งจิตอธิษฐานตามความประสงค์ การตั้งจิตอธิษฐานเรียกว่า “อธิษฐานบารมี” ถ้าท่านตั้งใจเพื่อพระนิพพานก็ต้องอธิษฐานเผื่อไว้ โดยอธิษฐานว่า
“ขอ ผลบุญทั้งหมดนี้จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าเข้าถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ แต่ถ้าหากข้าพเจ้ายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด จะไปเกิดใหม่ในชาติใดก็ตาม ขอคำว่า “ไม่มี” จงอย่าปรากฏแก่ข้าพเจ้า”
ถ้าเราต้องการอะไรให้มันมีทุกอย่าง จะไม่รวยมากก็ช่าง เท่านี้ก็พอแล้ว


การทำบุญไปแล้วครั้งหนึ่งสักกี่ปีๆ บุญก็ยังมีอยู่
ถ้าทำไปแล้วสัก ๓๐ ปีก็ยังอุทิศส่วนกุศลได้ บุญไม่หาย ไม่ใช่เราทำบุญแล้วเดี๋ยวเดียวบุญหายไป ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าทำบุญแล้วไม่ได้อุทิศส่วนกุศล ผู้ทำเป็นผู้ได้บุญเต็มที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะให้เขาหรือไม่ให้ ถ้าเราไม่ให้เราก็กินคนเดียว ทีนี้ถ้าเราให้เขาบุญของเราก็ไม่หมด ส่วนที่เราให้ไปไม่ได้ยุบไปจากของเดิม อย่างเรื่องของ พระอนุรุทธสมัย ที่ท่านเกิดเป็นคนเกี่ยวหญ้าช้างของมหาเศรษฐี เวลาที่ท่านทำบุญแล้ว เจ้านายมาขอแบ่งบุญ ท่านก็สงสัยว่าการแบ่งบุญจะแบ่งได้ไหม จึงไปถามพระปัจเจกพุทธเจ้าที่ท่านรับบาตร
ท่านก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า
“สมมติ ว่าโยมมีคบและก็มีไฟด้วย แต่คนอื่นเขามีแต่คบไม่มีไฟ ทุกคนต้องการแสงสว่างก็มาขอต่อไฟที่คบของโยม แล้วคบของทุกคนก็สว่างไสวหมด อยากทราบว่าไฟของโยมจะยุบไปไหม”
ท่านพระอนุรุทธก็ตอบว่า “ไม่ยุบ”
แล้วพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า
“การอุทิศส่วนกุศลก็เหมือนกัน เราให้เขา เขาก็โมทนา แต่บุญของเราก็ยังอยู่เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้หายไป”


ท่านพระยายมราชได้มาบอกอาตมาเรื่องการอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย เมื่อวันปวารณาออกพรรษาปีพ.ศ. ๒๕๓๑ ว่า
“ที่สำนักท่านพระยายมราชจะหยุดทำงานเรียกว่า “หยุดนรกการ ๓ วัน” คือ วันออกพรรษา วันปวารณา และวันรุ่งขึ้น รวมเป็น ๓ วัน วันมหาปวารณาเป็นวันสำคัญท่านไม่สอบสวน พวกที่คอยการสอบสวน ตามปกติเขามีอิสระอยู่แล้วจะไปไหนก็ได้ แต่ถึงเวลาสอบสวนก็จะมาเองเพราะกฏของกรรมบังคับ คนที่มาคอยอยู่ที่นี่จะมีโอกาสพ้นนรกหรือไม่ก็ยังไม่แน่ ถ้าบรรดาญาติฉลาด หมายถึงทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศลเจาะจงให้ตรงเฉพาะคนเดียว โดยเอ่ยชื่อ นามสกุล อย่าให้คนอื่น เพราะเวลานั้นยังเป็นเวลาปลอดอยู่ มีสภาพคล้ายสัมภเวสี”
อาตมาจึงถามว่า “ทำบุญอะไร พวกนี้จึงจะไปสวรรค์ชั้นสูงและมีความสุขมาก”
ท่านตอบว่า “แดน ใดที่ไม่มีบุญทำแล้วก็ไม่ได้รับเหมือนกัน หมายความว่าพระสงฆ์ที่เราไปทำบุญนั้น เป็นพระแค่ศีรษะกับห่มผ้าเหลือง ไม่ปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญาให้ครบถ้วนเรียกว่า “สมมติสงฆ์” อย่าง นี้ทำไปเท่าไรก็ไม่มีผล อุทิศส่วนกุศลให้คนตายเขาก็ไม่ได้รับ ถ้าทำบุญในเขตที่มีบุญน้อย ผู้รับก็มีอานิสงส์น้อยมีความสุขน้อย ทำบุญในเขตที่มีอานิสงส์ใหญ่ ผู้รับก็มีอานิสงส์มากได้รับผลบุญมากก็มีความสุขมาก และการสร้างบุญเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ขึ้นอยู่กับสร้างดีก็ได้บุญ ถ้าสร้างไม่ดีก็ได้บาป หมายถึงก่อนจะทำบุญก็กินเหล้าก่อน พอพระกลับก็กินเหล้ากันอีก แต่ถ้าหากตั้งใจทำบุญโดยมีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีบาปมีแต่บุญ อย่างนี้ผู้สร้างบุญก็ได้บุญเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ คือบุญนี่จะต้องได้แก่ผู้สร้างบุญก่อน แล้วผู้สร้างจึงจะอุทิศส่วนกุศลให้คนอื่นได้”
ท่านจึงบอกว่า “สังฆทาน ดีที่สุด” โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ท่านจะช่วยได้จริงๆ ต้องเฉพาะคนที่ไปคอยการสอบสวนที่สำนักท่านเท่านั้น อย่างสัมภเวสี เปรต อสุรกาย ไม่ผ่านท่าน ท่านช่วยไม่ได้ และคนที่ตายแล้วลงนรกทันที ท่านก็ช่วยไม่ได้เพราะไม่ได้ผ่านสำนักท่าน
อาตมาจึงถามท่านว่า “ทำอย่างไรความแน่นอนจึงจะปรากฏ ท่านจึงจะช่วยได้”
ท่านก็เลยบอกว่า “เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ลูกหลานอาตมาคือลูกหลานของผม”
ให้บอกลูกหลานว่า “เวลาทำบุญเสร็จแล้วอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย”
ถ้ายังไม่มั่นใจให้บอกท่านว่า
“ถ้าบุคคลนั้นยังไม่มีโอกาสโมทนาเพียงใด ขอท่านพระยายมราชเป็นพยานด้วย หากว่าพบเธอผู้นั้นเมื่อใด ขอให้บอกเธอโมทนาเมื่อนั้น“
เพราะ ไม่แน่นัก เนื่องจากขณะที่มีชีวิตอยู่คนเราทำทั้งบุญทั้งบาป เวลาตายไปแล้ว ถ้าไปอยู่ที่สำนักท่านพระยายามราช บางทีกรรมบางอย่างมันปิดปาก เวลาถามถึงเรื่องบุญทำให้นึกไม่ออกตอบไม่ได้ หากว่าท่านถามถึง ๓ ครั้งยังนึกไม่ออกอีก ก็ต้องปล่อยให้ลงนรกไป แต่ถ้าเวลาอุทิศส่วนกุศลขอให้ท่านเป็นพยาน เพียงแค่นี้
พอโผล่หน้าเข้าไปท่านก็จะประกาศว่า
ที่เคยขอให้ท่านเป็นสักขีพยาน และท่านก็จะประกาศกุศลนั้นบอกให้โมทนา ก็จะไปสวรรค์เลยโดยไม่ต้องมีการสอบสวน..”

************************************

คำอุทิศส่วนกุศล

“อิทัง ปุญญะผะลัง” ผล บุญใดที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้บำเพ็ญแล้ว ณ โอกาสนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ที่เคยล่วงเกินมาแล้ว แต่ชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ขอเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายจงโมทนาส่วนกุศลนี้ ขอจงอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าตั้งแต่วันนี้ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน
บทอุทิศส่วนกุศลท่อนแรกนี้ ให้แก่เจ้ากรรมนายเวร หลวงปู่โตท่านมาบอก และบทอุทิศส่วนกุศลอีก ๓ ท่อน ท่านพระยายมราชท่านมาบอก มีดังนี้
ท่อนที่สอง
และ ข้าพเจ้าทั้งหลายขออุทิศส่วนกุศลนี้ ให้แก่เทพเจ้าทั้งหลายที่ปกปักรักษาข้าพเจ้า และเทพเจ้าทั้งหลายทั่วสากลพิภพ และพระยายมราช ขอเทพเจ้าทั้งหลายและพระยายมราชจงโมทนาส่วนกุศลนี้ ขอจงเป็นสักขีพยาน ในการบำเพ็ญกุศลของข้าพเจ้าในครั้งนี้ด้วยเถิด
ท่อนที่สาม
และ ขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่ท่านทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เสวยความสุขอยู่ก็ดี เสวยความทุกข์อยู่ก็ดี เป็นญาติก็ดี มิใช่ญาติก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงโมทนาส่วนกุศลนี้ พึงได้รับประโยชน์ ความสุข เช่นเดียวกับข้าพเจ้าจะพึงได้รับ ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด
ท่อนที่สี่
ผลบุญใดที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้บำเพ็ญมาแล้ว ณ โอกาสนี้ ขอผลบุญนี้จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้เถิด..”

   ที่มา  http://board.palungjit.com

156
ธรรมะ / ยึดติด
« เมื่อ: 26 ส.ค. 2553, 08:54:52 »
   สุด .. ได้เลขท้าย ๓ ตัวมาจากหลวงพ่อ เลยแทงไป ๑๕ บาท ปรากฏว่าถูกเผง ได้มา ๖๐๐ บาท เขาดีใจมาก เที่ยวอวดใครต่อใครในหมู่บ้านว่าถูกหวย แต่พอรู้ว่า คอนซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน ก็แทงหวย ๓ ตัวถูกเหมือนกัน แต่ได้เงินมากกว่าคือ ๒ , ๐๐๐ บาท เพราะแทงมากกว่า สุดเลยยิ้มไม่ออก หงอยไปทั้งวัน แถมยังโมโหตัวเองที่แทงน้อยไป

ใจ .. ไปเที่ยวไนท์บาซ่า เห็นผ้าพื้นเมืองลายงาม ราคา ๕๐๐ บาท แต่เธอต่อได้ ๓๕๐ บาทจึงคว้าผ้าผืนนั้นกลับโรงแรมด้วยความดีใจ แต่พอรู้ว่าไก่เพื่อนร่วมห้องก็ซื้อผ้าแบบเดียวกันมา แต่ได้ราคาถูกกว่า คือ ๓๐๐ บาท ใจก็หุบยิ้มทันที ไม่รู้สึกโปรดปรานผ้าของตนอีกต่อไป

แม้เราจะมี " โชค " หรือได้ของดีที่ถูกใจ
แต่หากไปเปรียบเทียบกับของคนอื่นเมื่อใด
สุขก็อาจกลายเป็นทุกข์ทันที หากรู้ว่าคนอื่นได้มากกว่า ได้ของดีกว่า
หรือได้ของที่ถูกกว่า ส่วนของดีที่เราได้มากลับด้อยคุณค่าไปถนัดใจ

บางครั้งอาจทำให้เราทุกข์กว่าตอนที่ยังไม่ได้ของนั้นมาด้วยซ้ำ
ที่จริงไม่ต้องไปเทียบกับของคนอื่นก็ได้
เพียงแค่เห็นของรุ่นใหม่วางขายหรือโฆษณาตามสื่อต่างๆ
ก็เกิดความไม่พอใจในของเดิมที่มีอยู่ทันที
ทั้งๆ ที่มันก็ยังใช้ได้ดี ไม่มีปัญหาอะไรรบกวนใจ
ยกเว้นข้อเดียวคือ มันสู้ของใหม่ที่วางขายไม่ได้
ทั้งๆ ที่มีของดีอยู่กับตัว แต่คนเราแทนที่จะพอใจกลับรู้สึกเป็นทุกข์
เพียงเพราะใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งดีกว่า (หรือมากกว่า) ที่ตัวเองยังไม่มี

แต่เมื่อใดก็ตามที่ของชิ้นนั้นเกิดมีอันเป็นไป
เช่นทำตกหล่นหรือถูกขโมยไป เราก็จะกลับมาเห็นคุณค่าของมัน
และนึกเสียใจที่เสียมันไป จะกินจะนอนก็ยังนึกถึงมันด้วยความเสียดาย
ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นใน กรณีที่เป็นสิ่งของเท่านั้น
แต่ยังเกิดกับกรณีที่เป็นคนด้วย เช่น คนรัก หรือแม้แต่พ่อแม่และลูก

ผู้คนจำนวนมากไม่เห็นคุณค่าหรือมีความสุขกับคนใกล้ชิด
เพราะไปนึกเปรียบเทียบคนอื่นว่าเขามีพ่อแม่ คนรัก หรือลูกที่ดีกว่าเรา
แต่วันใดที่เราเสียเขาไป เราถึงจะกลับมาเห็นคุณค่าของเขา
และเศร้าโศกเสียใจจนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับเลยทีเดียว
เฝ้าหวนคำนึงถึงวันคืนเก่าๆ ที่เขาเคยอยู่กับเรา

คนเรามักทุกข์เพราะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ยังไม่มี หรืออาลัยในสิ่งที่สูญเสียไป
พูดให้ครอบคลุมกว่านั้นก็คือ
ทุกข์เพราะใจยังติดยึดอยู่กับอนาคตและอดีต
อนาคตและอดีตที่ว่ามิได้หมายถึง
สิ่งดีๆ ที่ยังไม่มีหรือที่เสียไปเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงสิ่งไม่พึงปรารถนาที่ (คาดว่า) รออยู่ข้างหน้า
เช่นอุปสรรค และสิ่งไม่พึงปรารถนาที่พานพบ คำต่อว่า หรือการกระทำที่น่ารังเกียจ

คำตำหนิติเตียนไม่ว่าจะร ุนแรงแค่ไหน แต่ก็ทำอะไรเราไม่ได้
หากเราไม่เก็บเอาคิดซ้ำคิดซาก คำพูดเหล่านั้นผ่านพ้นไปนานแล้ว
แต่ที่ยังบาดใจเราอยู่ก็เพราะเราไม่ยอมปล่อยวางมันต่างหาก
ยิ่งคิดคำนึงถึงมันมากเท่าไรก็ยิ่งซ้ำเติมตัวเองมากเท่านั้น

การเอาเปรียบ กลั่นแกล้ง ทรยศ หักหลัง ก็เช่นกัน
แม้เป็นอดีตไปนานแล้ว แต่เราก็ยังทุกข์อยู่กับเหตุการณ์ดังกล่าว
ไม่ใช่เพราะเขายังทำเช่นนั้นกับเราอยู่
แต่เป็นเพราะเราชอบย้อนภาพอดีต
กลับมาฉายซ้ำในใจอย่างไม่ยอมเลิกรา
ย้อนแต่ละทีก็เหมือนกับกรีดแผลลงไปที่ใจ
หยุดย้อนอดีตเมื่อใดใจก็หายเจ็บเมื่อนั้น

อดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนอนาคตยังมาไม่ถึง
แต่จะมาถึงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ได้!
แต่บ่อยครั้งเรากลับยึดมั่นสำคัญหมายอย่างเป็นจริงเป็นจัง
ว่ามันจะต้องเกิด ขึ้นแน่ เท่านั้นยังไม่พอถ้าเป็นเรื่องแง่ลบด้วยแล้ว
เรามักจะวาดภาพไปในทางเลวร้าย
แล้วก็ยึดมันเอาไว้ไม่ให้คลาดไปจากใจ ทั้งๆ ที่ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์

ชายผู้หนึ่งเดินขึ้นตึกไปหาหมอ เพื่อฟังผลตรวจโรค
พอหมอบอกว่า พบก้อนมะเร็งระยะที่สองในปอดของเขา
เขาก็ถึงกับทรุด เข่าอ่อนเดินไม่ได้ กลับถึงบ้านก็กินไม่ได้
นอนไม่หลับ ซึมไปเป็นเดือน

ส่วนหญิงผู้หนึ่ง ป่วยกระเสาะกระแสอยู่นานหลายสัปดาห์
แล้ววันหนึ่งหมอก็บอกว่า เธอเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายที่ตับ
จะอยู่ได้ไม่เกิน ๓ เดือน ปรากฏว่าผ ่านไปแค่ ๑๒ วัน เธอก็สิ้นใจ
ทั้งสองกรณีไม่ได้ทรุดฮวบเพราะโรคมะเร็งเล่นงาน
แต่เป็นเ พราะใจเสีย ทันทีที่ได้ยินข่าวร้าย
ใจก็นึกภาพอนาคตของตัวเองไปในทางเลวร้าย
ยิ่งผู้ป่วยรายที่สองด้วยแล้ว
เธอนึกไปถึงวันตายของตัวเองเลยทีเดียว
แถมยังปรุงแต่งไปในทางที่มืดมน
เท่านั้นไม่พอเธอยังหมกมุ่นกับภาพดังกล่าวไม่หยุดหย่อน
ทั้งๆ ที่มันยังไม่เกิดขึ้น ผลก็คือถูกความทุกข์ท่วมทับจนมิอาจทานทนต่อไปได้

บ่อยครั้งเราเป็นทุกข์เพราะเรื่องที่ยังมาไม่ถึง
เช่น การสอบไม่ติดหรือตกงาน
โดยตัวมันเองไม่ก่อปัญหาแก่เรา มากเท่ากับใจที่ปรุงแต่งไปล่วงหน้า
ว่านับแต่นี้ไปชีวิตจะลำบากยากแค้นเพียงใด แล้วจะอยู่ดูโลกนี้ต่อไปได้อย่างไร
แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจพบว่าที่แท้เราตีตนก่อนไข้ไปเอง
เพราะปัญหาต่างๆ ที่ตามมาไม่ได้หนักหนาสาหัสอย่างที่คิด
สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ปรุงแต่งเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึงเท่านั้น
กับสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า บางครั้งเราก็ปรุงแต่งให้เลวร้ายเกินจริง
เช่ น อยู่รีสอร์ตคนเดียวกลางดึก ได้ยินเสียงผิดปกติ
ก็ปรุงแต่งไปทันทีว่าถูกผีหลอก หรือไม่ก็มีคนจะมาทำร้าย
เห็นคู่รักกำลังคุยอย่างสนิทสนมกับชายหนุ่มในร้านอาหาร
ก็คิดไปทันทีว่า เธอกำลังนอกใจ

การคิดปรุงแต่งที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงนั้น
เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่เมื่อใดที่เราหลงยึดว่ามันเป็นเรื่องจริง
เราก็กำลังก่อทุกข์ให้กับตัวเอง
แถมยังสามารถสร้างปัญหาให้แก่คนอื่นได้ด้วย

วัยรุ่นนั่งกินอาหารอยู่หน้าร้าน เผอิญขี้นกหล่นใส่หัว
แต่เขากลับคิดว่าเจ้าของร้านถ่มน้ำลายใส่หัว
จึงทะเลาะกับเจ้าของร้านอย่างรุนแรง
สักพักก็ออกจากร้านแล้วกลับมาพร้อมกับพวกอีกหลายคน
ควักปืนออกมายิงกราด
ถูกภรรยาเจ้าของร้านซึ่งกำลังท้อง ๕ เดือนตายคาที่
กลายเป็นฆาตกรที่ถูกตำรวจหมายหัวทันที

การยึดติดสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นเอง
เป็นที่มาอีกประการหนึ่งของความทุกข์
ทีแรกเราเป็นฝ่ายปรุงแต่งมันขึ้นมา
แต่เผลอเมื่อใดมันก็กลับมาเป็นนายเรา
สามารถผลักใจของเราไปสู่ความทุกข์
และชักนำชีวิตของเราไปในทางเสื่อมได้ง่ายๆ

กี่ครั้งกี่หนที่เราทำร้ายตัวเองและทำร้ายซึ่งกันและกัน
เพียงเพราะหลงเชื่อ ความคิดที่เราปรุงแต่งขึ้นมา
พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่ไม่ได้ปรุงแต่งขึ้นมาเอง
แต่เป็นความจริงแท้ๆ จะไม่ก่อปัญหา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่สร้างความทุกข์แก่เรา
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ อยู่ในขณะนี้
เช่น รถเสีย เงินไม่พอใช้ ทะเลาะกับคนรัก ลูกคบเพื่อนไม่ดี งานไม่ก้าวหน้า
แต่ถ้าเรามัวแต่นึกถึงเรื่องเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะทำอะไร ก็กวาดเอาปัญหาต่างๆ มาครุ่นคิดด้วย
ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกันเลย เช่น กำลังทำงานอยู่
ก็ไปกังวลถึงรถ ถึงลูก ถึงพ่อแม่ แล้วยังห่วงคู่รักอีก
อย่างนี้แล้วจะไม่ทุกข์ได้อย่างไร

ปัญหาเป็นเรื่องที่ต้องแก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม !
แต่เมื่อใดที่เรากวาดเอาปัญหาต่างๆ มาทับถมจิตใจ
ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลา (หรือไม่ใช่เวลา) ที่จะแก้ไข
ก็เตรียมตัวกลุ้มได้เลย นี้เป็นการยึดติดอีกแบบหนึ่ง

อันที่จริงแม้มีปัญหาแค่เรื่องเดียว
แต่ถ้าหมกมุ่นอยู่กับมันตลอดเวลา ก็ทำให้คลั่งได้
ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเล็กแต่ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ง่ายๆ
เช่น หมกมุ่นกับสิวไม่กี่เม็ดบนใบหน้าวันแล้ววันเล่า
ก็อาจทำให้เจ็บป่วยหรือถึงกับทำร้ายตัวเองได้

การยึดเอาปัญหาต่างๆ มาทับถมใจ
บางครั้งก็ไปไกลถึงขนาดไปกวาดเอาปัญหาของคนอื่น
มาเป็นของเราเสียเอง เช่น เพื่อนมาปรึกษาปัญหาชีวิต
ก็เลยเอาปัญหาของเขามาเป็นของตนด้วย
จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ

เท่านั้นยังไม่พอบางคนถึงกับแบกปัญหาของประเทศมาไว้กับตัว
เลยเป็นเดือน! เป็นแค้นกับสถานการณ์บ้านเมือง
ทะเลาะกับใครไปทั่วที่คิดต่างจากตน
สุดท้ายก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาบ้านเมืองไป

การยึดติดที่ลึกไป กว่านั้นคือ การยึดติดในตัวตน
สาเหตุที่เราทะเลาะกับคนที่คิดไม่เหมือนเรา
ก็เพราะเรายึดติดในความคิดของเรา

ความสำคัญมั่นหมายว่านี้เป็น " ความคิดของฉัน "
สะท้อนถึงความยึดติดในตัวตน
หรือที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า ยึดติดใน " ตัวกู ของกู "

นอกจากความคิดแล้ว เรายังยึดติดสิ่งต่างๆ อีกมากมายว่า
เป็นตัวฉันของฉัน อาทิ สิ่งของ บุคคล ชุมชน ประเทศ ศาสนา
มีอะไรมากระทบกับสิ่งนั้น ก็เท่ากับว่ากระทบ " ตัวฉัน "
ด่าว่ารถของฉัน ก็เท่ากับด่าฉันด้วย
วิจารณ์ศาสนาของฉันก็เท่ากับวิจารณ์ฉันด้วย

เป็นเพราะเหตุนี้ เมื่อสิ่งของสูญหาย คนรักจากไป
เราจึงอดหวนนึกถึงไม่ได้ เพราะใจยังยึดว่าเป็นของฉันอยู่
จึงยังมีเยื่อ! ใยที่ดึงให้ใจย้อนระลึกถึงอยู่เสมอ
เวลาให้ของแก่ใครไป ความยึดติดในของชิ้นนั้นก็ยังมีอยู่
จึงเฝ้าดูว่าเขาจะใช้ของชิ้นนั้นหรือไม่
ถ้าไม่ใช้ก็รู้สึกเป็นทุกข์ที่เขาไม่ได้ใช้ของ " ของฉัน "
ญาติโยมหลายคนจึงไม่สบายใจที่พระไม่ได้ฉันอาหารที่ตนถวาย

ยึดติดในตัว ตนอีกอย่างคือการยึดมั่นสำคัญหมายว่า
ฉันเก่ง ฉันหล่อ ฉันเป็นส.ส. ฯลฯ ไปไหนก็อดตัวพองไม่ได้
อยากแสดงบารมีให้ใครรู้ว่า " นี่กูนะ "
อยู่ที่ใดก็ต้องการให้คนชื่นชม สรรเสริญ เคารพ นบไหว้
แต่ถ้าไม่ได้รับการปฏิบัติดังกล่าว ก็จะโมโหขุ่นเคือง
จนอาจคำรามว่า " รู้ไหมว่ากูเป็นใคร ?"
ยิ่งเจอคำวิจารณ์ด้วยแล้ว ยิ่งทนไม่ได้เข้าไปใหญ่

การยึดติดใน " ตัวกู ของกู หรือนี่กู! นะ " เป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ นานัปการ
นำไปสู่การกระทบกระทั่งขัดแย้งและทำร้ายกัน
ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความเครียดบีบคั้นภายใน
เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา
ใช่แต่เท่านั้น แม้ได้สิ่งที่พึงปรารถนา
ก็ยังทุกข์เพราะได้ไม่สมใจ หรือทุกข์ที่คนอื่นได้มากกว่า

ที่น่าแปลกก็คือเราไม่ได้ยึดเอาแค่สิ่งดีๆ ที่ถูกใจ
ว่าเป็นตัวกูของกูเท่านั้น สิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกใจ
เราก็ยังยึดเป็นตัวกูของกูอีกเช่นกัน
เช่น ความเจ็บปวด เมื่อเกิดกับกาย
แทนที่จะเห็นว่า กายปวดเท่านั้น กลับไปยึดเอาว่า " ฉันปวด "
ความปวดเป็นของฉัน

เมื่อความโกรธเกิดขึ้นกับใจ
ก็ยึดมั่นสำคัญหมายว่า " ฉันโกรธ " ความโกรธเป็นของฉัน
ความยึดมั่นดังกล่าวรุนแรงชนิดที่ใจไม่ยอมไปไหน
มัวจดจ่อวนเวียนอยู่กับความปวดหรือความโกรธนั้นๆ อย่างเดียว
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความเผลอของใจ
รู้ทั้งรู้ว่ายึดแล้วทุกข์แต่ก็ยังยึดเพราะขาดสติ
ถ้าใจมีสติ ก็จะไม่เผลอยึดต่อไป

ความปวดความโกรธยังมีอยู่ก็จริง แต่คราวนี้มันทำอะไรจิตใจไม่ได้
เพราะใจไม่โดดเข้าไปให้ความปวดความโกรธเผาลน
เหมือนกองไฟที่ยังลุกไหม้อยู่
แต่ตราบใดที่เราไม่โดดเข้าไปในกองไฟ
หากถอยออกมาห่างๆ เป็นแค่ผู้สังเกตเฉยๆ ไฟก็ทำอะไรเราไม่ได้

สติช่วยให้ใจแยกออกมาอยู่ห่างๆ
จากความเจ็บปวดแ! ละอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
กลายเป็น " ผู้ดู " มิใช่ " ผู้ปวด " หรือ " ผู้โกรธ "
จากความยึดติดกลายเป็นการปล่อยวาง

การปล่อยวางดังกล่าว
คือ หัวใจของการเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งหลาย
เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว
ความทุกข์ทั้งมวลเกิดจากความยึดติด
ยึดติดอดีตกับอนาค ต ยึดติดสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นเอง
ยึดติดปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
รวมทั้งยึดเอาปัญหาต่างๆ มาเป็นของตน
ที่สำคัญคือ การยึดติดในตัวตน
เมื่อใดที่ปล่อยวางจากความยึดติดดังกล่าวได้
ความทุกข์ก็ไม่อาจทำอะไรเราได้อีกต่อไป

สติช่วยให้เรารู้ตัวเมื่อเผลอไปอาลัยอาวรณ์ในอดีต หรือวิตกกังวลกับอนาคต
พาจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบันเมื่อรู้ตัวว่า
เผลอไปจมอยู่กับเหตุร้ายที่ผ่านไปแล้ว
คอยทักท้วงใจไม่ให้หลงเชื่อความคิดปรุงแต่ง
เพราะตระหนักว่า ความจริงอาจไ! ม่เป็นอย่างที่คิด
ในยามที่เผลอกวาดเอาปัญหาต่างๆ มาทับถมใจจนหนักอึ้ง

สติช่วยให้เราแก้ปัญหาเป็นเปลาะๆ เป็นเรื่องๆ
ไม่เอาปัญหาใดมาครุ่นคิดหากยังไม่ถึงเวลา (หรือไม่ใช่เวลา) ที่จะแก้
เวลาพักผ่อน ก็พักผ่อนเต็มที่
เมื่อถึงเวลาแก้ปัญหา ก็ใช้ปัญญาอย่างเต็มที่
ไม่มามัวตีโพยตีพาย หรือน้อยเนื้อต่ำใจว่า "ทำไมถึงต้องเป็นฉัน ?"

ความทุกข์นั้นไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา
แต่อยู่ที่ว่าเรามีท่าทีหรือรู้สึกอย่างไรกับมันต่างหาก

แม้ปัญหาจะหนัก แต่ถ้าเริ่มต้นจากการยอมรับมันว่า
เป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว
ไม่ปฏิเสธผลักไสมันหรือก่นด่าชะตากรรม
ตั้งสติให้ได้แล้วหาทางแก้ไขมัน
แต่ขณะที่มันยังไม่หายไปไหน ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

ไม่หวนนึกถึงอดีตอันผาสุก หรือปรุงแต่งอนาคตไปในทางเลวร้าย
ขณะเดียวกันก็ไม่หมกมุ่นอยู่กับปัญหา
หากปล่อยวางมันบ้าง ความสุขก็หาได้ไม่ยาก

นายทหารผู้หนึ่งไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ในฐานที่ทรงเคยเป็นอุปัชฌาย์ของตนมาก่อน
พอ! ไปถึงประโยคแรกที่กราบทูลก็คือ " หนักครับ ช่วงนี้แย่มากเลยครับ "
ว่าแล้วเขาก็ทูลเล่าปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาในชีวิต

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงฟังอยู่นาน
แทนที่จะตรัสแนะนำหรือปลอบใจ
พระองค์กลับรับสั่งให้เขานั่งคุกเข่า ยื่นมือสองข้าง
แล้วพระองค์ก็เอากระดาษแผ่นหนึ่งวางบนฝ่ามือของเขา
" นั่งอยู่นี่แหละ อย่าไปไหนจนกว่าข้าจะกลับมา "

รับสั่งเสร็จพระองค์ก็เสด็จเข้าไปในตำหนัก
นายทหารนั่งในท่านั้นอยู่นาน จาก ๑๐ นาทีเป็น ๒๐ นาที
สมเด็จพระสังฆราชก็ยังไม่เสด็จออกมา
เขาเริ่มเหนื่อย มือและขาเริ่มสั่น กระดาษชิ้นเล็กๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ
จนประคองแทบไม่ไหว พอสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเสด็จกลับมา
ก็ทรงถามว่า " เป็นไง ?"

คำตอบของเขาคือ " หนักครับ พระเดชพระคุณ เมื่อยจนจะทนไม่ไหว "
" อ้าว ทำไมไม่วางมันลงเสียละ ?"
สมเด็จรับสั่ง " ก็ไปยอมให้มันอยู่อย่างนั้น มันก็หนักอยู่ยังงั้นนะซี
มันจะเป็นอื่นไปได้ยังไง "

กระดาษที่เบาหวิว แต่หากถือไว้นานๆ
ไม่ยอมปล่อย ก็กลายเป็นของหนักไปได้
แต่ปัญหาถึงจะใหญ่โตเพียงใด
ถ้าไม่ยึดถือเอาไว้ ก็ไม่ทำให้เรา! ทุกข์ได้

ใช่หรือไม่ว่าหินก้อนใหญ่จะกลายเป็็นของหนัก
และสร้างทุกข์ให้แก่เราก็ต่อ เมื่อเราแบกมันเอาไว้เท่านั้น
เมื่อมีสติรักษาใจ รู้เท่าทันความคิด ไม่เผลอยึดติดจนจิตหนักอึ้ง
แม้งานจะยาก อุปสรรคจะเยอะ ก็ยังเป็นสุขอยู่ได้

คัดลอกจาก...ยึดติด [สารคดี กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑]
โดย พระไพศาล วิสาโล

   ที่มา http://board.palungjit.com

157
ธรรมะ / สะสมบารมี
« เมื่อ: 25 ส.ค. 2553, 01:15:58 »
  สาร์ทจีน เป็นประเพณีอย่างหนึ่ง ซึ่งตามความเข้าใจเดิมนั้น มีดังต่อไปนี้

ตามความเข้าใจเดิม

ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้วิญญาณพเนจร

ไหว้เจ้า เจ้าคืออะไร คือเทพ แล้วไหว้เจ้ากันนั้น ไหว้ด้วยอะไร ด้วยของเซ่นต่างๆ
เป็นต้น เพื่ออะไร เพื่อความเจริญของคนที่ไหว้

ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เพื่อแสดงความกตัญญู ไหว้ด้วยอะไร ด้วยของเซ่นต่างๆ มี

เป็ด ไก่ ขนม และกระดาษเงิน กระดาษทอง เป็นต้น เพื่อให้บรรบุรุษได้รับสิ่งต่างที่

ลูกหลานทำให้

ไหว้วิญญาณพเนจร ด้วยของเซ่นต่างๆ เพื่อให้เขาได้รับอาหาร ด้วยความเข้าใจว่า

เป็นวันประตูนรกเปิด เป็นต้น
ความเข้าใจที่ถูกต้องในทางพระพุทธศาสนา (สาร์ทจีน)

การไหว้เจ้า

ไหว้เจ้า เจ้าคืออะไร คือ เทพ เทพต้องการอาหารแบบมนุษย์ไหม หรือมีอาหารทิพย์อยู่

แล้ว ไม่ต้องให้อาหารมนุษย์ก็ได้ ( ดังข้อความในพระไตรปิฎก พรหมเทวสูตร )

การบูชาเทพคืออย่างไร คือ ทำกุศลอุทิศผลบุญที่เราทำให้ ชื่อว่าบูชาเทพ ( ข้อความ

ใน ปาฏลิคามิยสูตร )

การที่เราจะเจริญไม่เจริญ อยู่ที่กุศลใช่ไหม ( สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน )

ระลึกถึงเทพอย่างไรจึงจะถูกต้อง การได้เกิดเป็นเทพ เป็นผลมาจากกุศลกรรม และ

คุณธรรมของเทพนั้น ก็มี ศรัทธา ศีล เป็นต้น ดังนั้น การระลึกถึงเทพ คือ นึกถึง

คุณธรรมที่เป็นธรรมฝ่ายดี เช่น ศรัทธา ศีล เป็นต้น จึงเป็นการระลึกถึงเทพที่ถูกต้อง

( เทวตานุสสติ )

การไหว้บรรพบุรุษ

การกตัญญูต่อบรรพบุรุษคืออย่างไรจึงจะถูกต้อง

การกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ คือ ทำกุศลแล้วอุทิศส่วนกุศลให้ ( สิงคาลกสูตร )
อาหารของมนุษย์ บุคคล ( บรรพบุรุษ ) ที่ล่วงลับไปแล้วทานได้ไหม ( อรรถกถาธนปาล

เสฏฐิเปตวัตถุ )

การไหว้วิญญาณพเนจร

วิญญาณพเนจรมีจริงไหม ไม่มีจริง ตายแล้วต้องเกิดทันที ( ถ้ายังมีกิเลส ) ไม่มีไปเร่
ร่อน 7 วัน 15 วัน แสวงหาที่เกิด แต่ที่เราเห็นว่า เป็นคนนั้น คนนี้ที่ตายแล้ว เป็นภพภูมิ
อื่นที่เขาไปเกิดแล้วเช่นเปรตที่ต้องการส่วนบุญ จากการอุทิศส่วนกุศล จึงมาปรากฎตัว

ประตูนรกเปิดได้ไหม เปิดได้ บางครั้งบางคราว ต่อก็อยู่ในนรกนั้นอีก (นรกขุมใกล้ๆ)

อาหารของสัตว์นรกคืออะไร ใช่อาหารของมนุษย์หรือเปล่า ไม่ใช่ แต่มีอาหารของสัตว์

นรกอยู่แล้ว


 

เรื่อง บุคคลที่ควรกราบไหว้สูงสุด
ดังนั้น การกตัญญูที่ถูกต้อง สำหรับบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว คือ ทำบุญอุทิศกุศลไปให้
เทวดาก็เช่นกัน ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ใครหละควรไหว้ สูงสุด พระพุทธเจ้า เป็น
บุคคลที่ควรกราบไหว้สูงสุด แม้แต่พรหม เทวดา มีพระอินทร์ เป็นต้น ก็ไหว้ เพราะ
พระองค์เป็นบุคคลผู้เลิศครับ( ทุติยสักกนมัสนสูตร )

เรื่อง อาหารของเทพ ไม่ใช่อาหารแบบมนุษย์
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 133
ข้อความบางตอนจาก พรหมเทวสูตร
ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมลอยอยู่ในอากาศ ได้กล่าวกะนาง
พราหมณีผู้มารดาของท่านพระพรหมเทวะด้วยคาถาทั้งหลายว่า
ดูก่อนนางพราหมณี ท่านถือการ
บูชาด้วยก้อนข้าวแก่พรหมใด มั่นคงเป็น
นิตย์ พรหมโลกของพรหมนั้นอยู่ไกลจาก
ที่นี้ ดูก่อนนางพราหมณี ภักษาของพรหม
ไม่ใช่เช่นนี้ ท่านไม่รู้จักทางของพรหม
ทำไมจึงบ่นถึงพรหม.
 
 
เรื่อง การบูชาเทพคือทำบุญแล้วอุทิศกุศลให้ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 755
ข้อความบางตอนจาก ปาฏลิคามิยสูตร
บุรุษชาติบัณฑิต ย่อมสำเร็จการอยู่ในประเทศ
ใด พึงเชิญท่านผู้มีศีล สำรวมแล้ว ประพฤติ
พรหมจรรย์ ให้บริโภคในประเทศ นั้น ควรอุทิศ
ทักษิณาทานเพื่อเทวดาผู้สถิตอยู่ในที่นั้น ๆ เทวดา
เหล่านั้น อันบุรุษชาติบัณฑิตนับถือบูชาแล้ว ย่อม
นับถือบูชาบุรุษชาติบัณฑิตนั้น แต่นั้นย่อมอนุเคราะห์
บุรุษชาติบัณฑิตนั้น ประหนึ่งมารดาอนุเคราะห์บุตร
บุคคลผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว ย่อมเห็นความเจริญ
ทุกเมื่อ..

 
เรื่อง การบูชาบรรพบุรุษคือ การทำบุญแล้วอุทิศกุศลให้ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 88
ข้อความบางตอนจาก สิงคาลกสูตร
[๑๙๙] ดูก่อนคฤหบดีบุตร มารดาบิดา เป็นทิศเบื้องหน้า อัน
บุตรธิดาพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยตั้งใจว่า ท่านเลี้ยงเรามา เราจัก
เลี้ยงท่านตอบ ๑ จักรับทำกิจของท่าน ๑ จักดำรงวงศ์ตระกูล ๑ จักปฏิบัติ
ตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก ๑ เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศ
ให้ท่าน ๑.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 220
ข้อความบางตอนจาก อรรถกถาธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุ
พวกพานิชเหล่านั้น ได้สดับคำของเปรตทั้งหลาย เกิดความ
สังเวช เมื่อจะอนุเคราะห์เปรตนั้น จึงเอาภาชนะตักน้ำดื่มมา ให้
เขานอนลงแล้ว กรอกเข้าทางปาก. แต่นั้นน้ำที่มหาชน ลาดลง
หลายครั้ง ก็ไม่ไหลลงสู่ลำคอ เพราะพลังแห่งกรรมชั่วของเปรต
นั้น. จักกำจัดความกระหายได้ที่ไหนเล่า. พ่อค้าเหล่านั้นจึงถาม
เปรตว่า ท่านได้ความโปร่งใจอะไรบ้างไหม ? เปรตนั้นตอบว่า
ถ้าน้ำที่ชนมีประมาณเพียงนี้ กรอกเข้าไปตลอดเวลาเพียงเท่านี้
แม้เพียงสักหยดเดียวก็ไม่เข้าไปในลำคอเรา กับไหลเข้าลำคอ
ของคนอื่นไปหมด, ความหลุดพ้นไปจากกำเนิดเปรตนี้ จงอย่ามีเลย.
ลำดับนั้น พ่อค้าเหล่านั้น ได้ฟังดังนั้น จึงเกิดความสังเวชยิ่งนัก
พากันกล่าวว่า ก็อุบายอะไร ๆ เพื่อระงับความกระหายมีบ้างไหม ?
เปรตตอบว่า เมื่อกรรมชั่วนี้สิ้นไป เมื่อพวกญาติถวายทานแต่
พระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคต อุทิศทานให้แก่เรา,
เราก็จักพ้นจากความเป็นเปรตนี้ไปได้.
 

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 511
ข้อความบางตอนจาก ทุติยสักกนมัสนสูตร

[๙๓๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล มาตลีสังคาหกเทพบุตร
ได้ทูลถามท้าวสักกะจอมเทพด้วยคาถาว่า
ข้าแต่ท้าววาสวะ เทวดาและมนุษย์
ทั้งหลายย่อมนอบน้อมพระองค์นั่นเทียว
ข้าแต่ท้าวสักกะ เมื่อเช่นนั้น พระองค์
ทรงนอบน้อมท่านผู้ควรบูชาคนใด ท่าน
ผู้ควรบูชาคนนั้น คือ ใครเล่า.
[๙๓๕] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า
ดูก่อนมาตลี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ใดในโลกพร้อมทั้งเทวโลก เรา
นอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์
นั้น ผู้เป็นศาสดามีพระนามไม่ทราม
ดูก่อนมาตลี ท่านเหล่าใดสำรอกราคะ
โทสะและอวิชชาแล้ว เป็นพระอรหันต
ขีณาสพ เรานอบน้อมท่านเหล่านั้น
ดูก่อนมาตลี ท่านเหล่าใดกำจัดราคะและ
โทสะก้าวล่วงอวิชชา ยังเป็นพระเสขะ
ยินดีในธรรม เครื่องปราศจากการสั่งสม
เป็นผู้ไม่ประมาท ตามศึกษาอยู่ เรา
นอบน้อมท่านเหล่านั้น.
 
 

เอาบุญมาฝากวันนี้ได้ถวายสังฆทาน
กรวดน้ำอุทิศบุญ เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน
รักษาศีล อาราธนาศีล เจริญวิปัสสนา ปฏิบัติธรรม
ถวายข้าวพระพุทธรูป สักการะพระธาตุ ศึกษาธรรม
ทำงานบ้านช่วยพ่อแม่และเจริญอาโปกสิน ศึกษาการรักษาโรค
และเมื่อวานและวันนี้ได้ไปปิดทองคำและร่วมบุญถวายทองคำเปลวหน้าพระเจดีย์ธาตุและได้ถวายดอกไม้หน้าพระเจดีย์เดินปทักษิณรอบพระธาตุ
ที่ผ่านมาเพื่อนๆได้ไปไหว้พระประธานขอพรและไปทำบุญที่วัด
และสร้างบารมีครบทั้ง 10 อย่าง ขอให้อนุโมทนาบุญด้วย

  ขอบคุณที่มา http://board.palungjit.com

158
              วิธีทำบุญที่สอง-การรักษาศีล สีลํ กวจมพฺภุตํ ศีล เป็นเกราะป้องกันภัยมหัศจรรย์

  การทำบุญด้วยการให้ทานที่กล่าวมาแล้วในวันก่อน จะต้อง "ลงทุน" พอสมควรจึงจะทำได‰ อย่างน้อยเราต้องจัดหาข้าวปลาอาหาร หรือสิ่งของมาเสียก่อน จึงจะให้ทาน เช่น ใส่บาตร หรือบริจาคได้

แต่การทำบุญด้วยการรักษาศีลนี้ไม่ต้อง "ลงทุน" อะไร คือไม่ต้องจัดหาสิ่งของภายนอกใดๆ ทุกอย่างมีที่ตัวเราแล้ว

เพียงแต่เราตั้งใจงดเว้น จะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดในกาม ไม่พูดเท็จและไม่ดื่มสุราเมรัย แล้วควบคุมมิให้ละเมิดด้วยจิตใจแน่วแน่มั่นคง ก็นับว่า เราได้ทำบุญแล้ว

ถ้าถามว่าทำไม เพียงเท่านี้จึงเป็นบุญ คำตอบก็คือ ถ้าเราตั้งใจแน่วแน่จะไม่ทำความชั่วดังกล่าวข้างต้น แล้วพยายามรักษาไว้ไม่ให้เสียความตั้งใจ จิตใจของเราก็จะเข้มแข็ง บริสุทธิ์สะอาดขึ้นๆ

ความสะอาดของจิตนี่แหละคือบุญ

ความสกปรกคือบาป

โลภ โกรธ หลง มันคือสิ่งที่คอยรุกรานจิตใจตลอดเวลา ถ้าตกเป็นทาสของมันจิตเราก็จะสกปรก

โลภ คอยดลใจให้อยากลักอยากขโมย ยิ่งโกงเขาได้เท่าไรมันยิ่งกำเริบ เท่ากับเราให้น้ำให้ปุ๋ยแก่มัน

โกรธ คอยยุให้ทำลายคนอื่น ยิ่งฆ่าทำลายคนอื่นได้ ยิ่งมันในอารมณ์ ดุจดังให้เชื้อแก่ไฟ

หลง มันคอยยุให้ลุ่มหลง ยิ่งยุ่งกับสุรานารีพาชีกีฬาบัตรเท่าใด ยิ่งทำให้หน้ามืดตามัว

จิตเราก็ไม่มีวันว่างเว้นจากอิทธิพลของ "กิเลส" สามตัวนี้ นานวันเข้า พื้นจิตก็จะสกปรก ตกต่ำ หยาบกระด้างขึ้น

การต่อสู้กับกิเลสก็เหมือนกับการรบทัพจับศึก ถ้าเรายังตีโต้ขับไล่ข้าศึกไม่ได้ ก็ต้องยับยั้งการรุกคืบหน้าของข้าศึกไว้ก่อน ตรึงข้าศึกไว้กับที่ก่อน มีโอกาสค่อยหาทาง "ตัดเสบียง" ของข้าศึกแล้วเข้าทำลายภายหลัง เมื่อมีกำลังพร้อม

การรักษาศีล ไม่ว่าศีลห้าหรือศีลแปด ก็คือการไม่ให้โอกาสแก่โลภ โกรธ หลง มันรุกคืบหน้านั้นเอง ยับยั้งได้นานเท่าใด จิตใจก็ปลอดภัยนานเท่านั้น

  วิธีทำบุญที่สาม-การเจริญภาวนา

กุสลํ ภาเวตพฺพํ

พึงปลูกฝังและพัฒนาความดีงาม

คนส่วนมากมักเข้าใจว่า "ภาวนา" ก็คือการนั่งหลับตา บ่นอะไรพึมพำๆ การทำบุญด้วยวิธีภาวนาก็คือ หาเวลาไปนั่งบ่นบริกรรมในที่เงียบๆ ไม่ต้องมาทำมาหาเลี้ยงชีพเหมือนคนทั่วๆ ไป

ถ้าเป็นเช่นนั้นคนก็ไม่พร้อมที่จะทำบุญชนิดนี้ ปล่อยให้คนเฒ่าคนแก่เขาทำกันดีกว่า!

นั่นเป็นความเข้าใจผิด

ภาวนา ตามศัพท์หมายถึง "ทำความดีที่ยังไม่เกิดมีให้เกิดมีและให้เจริญงอกงาม" ความดีที่จะต้องทำให้เกิดมีและให้เจริญงอกงามมีอยู่ ๓ เรื่องด้วยกันคือ

๑. การศึกษา ศิลปวิทยาการต่างๆ ที่ทำให้คนฉลาดขึ้น มีประโยชน์ในการดำรงชีวิตและสร้างประโยชน์แก่สังคม เราตั้งใจศึกษาหาความรู้เข้าไว้เต็มที่ เช่นตั้งใจอ่านหนังสือ ท่องจำ ฝึกฝน ฟังเทศน์ฟังธรรม ฟังปาฐกถา สนทนาสอบถามเอาความรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆ

๒. การทำงานด้วยเหตุด้วยผลด้วยการใช้ปัญญา เช่น รู้จักเลือกทำแต่งานที่เป็นประโยชน์ รู้จักวางแผนงานปรับปรุงงานให้ดีขึ้น รู้จักค้นคว้าทำงานให้ก้าวหน้า รู้จักทำงานถูกกาลเทศะ รู้จักทำงานที่สุจริต

๓. การทำจิตให้สงบ คือหาวิธีควบคุมจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน ไม่ให้จิตมันคิดโน่นคิดนี่ตลอดเวลา และการรู้จักใช้ปัญญาพิจารณาให้เข้าใจกฎธรรมชาติและธรรมดาของชีวิต ว่าทุกอย่าง "ไม่คงที่ ไม่คงตัว และไม่เป็นตัว" แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายความยึดติดจนเกินไป

การทำทั้งสามเรื่องนี้ให้พร้อม เรียกว่า "ภาวนา" การทำบุญด้วยการภาวนาตามนัยนี้ ใครๆ ก็ทำได้ เพราะฉะนั้น โปรดตรวจสอบตัวเองว่า ตนได้ทำสิ่งเหล่านี้พร้อมหรือยัง

- ศิลปวิทยาการต่างๆ ที่มีประโยชน์ ที่ส่งเสริมให้เกิดความฉลาดตนได้เรียนรู้แล้วหรือยังเรียนแล้วเพียงพอที่จะดำรงชีวิตและทำประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระศาสนาหรือไม่?

- หน้าที่การงานที่สุจริตตนได้ทำแล้วหรือยัง เมื่อได้ทำแล้ว ได้ตั้งใจอุทิศตนแก่งานเต็มที่ ปรับปรุงแก้ไขพัฒนายิ่งๆ ขึ้นหรือไม่?

- รู้จักหาวิธีสงบระงับใจ ไม่ฟุ้งซ่านโลเล และรู้จักใช้ปัญญาพิจารณาให้เข้าใจความเป็นไปของโลกและชีวิตตามเป็นจริง ลดความยึดมั่นถือมั่นเกินกว่าเหตุ จนสามารถสร้างความสุขปลอดโปร่งแก่จิตใจได้บ้างหรือยัง?

ถ้ายังก็จงรีบๆ ทำเข้าเถิด ทำแล้วก็เกิดประโยชน์แก่ท่านเองหาใช่ใครไม่

     ที่มา http://www.khaosod.co.th/view_news.php?

159
  ถ้าอยากมีความสุข คุณต้องรู้จักซึมซับความรู้สึกอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความโศกเศร้าหรือความโกรธที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมทั้งยอมรับในสิ่งที่คุณมีและสถานภาพที่คุณเป็น เพื่อจะได้มีความสุขกับชีวิตมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากคุณหาสาเหตุไม่ได้ว่าทำไมจึงไม่มีความสุขทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้ลำบาก ยาก แค้นอะไร ลองอ่านข้อคิดต่อไปนี้เพื่อจะได้ระลึกว่า "เราเองก็มีชีวิตที่ดีทีเดียว"

1 คิดใหม่ ใช้ชีวิตราวกับว่าวันนี้เป็นวันสุดท้าย คนที่ป่วยหนักหรือเผชิญกับอุบัติเหตุใกล้ตาย เห็นโศกนาฏกรรมหรือสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักมักมีมุมมองชีวิตที่ต่างออกไป หลายคนบอกว่าจะไม่ปล่อยเวลาให้สายเกินไปอีกแล้ว จะท่องเที่ยวไปในโลกกว้างหรือติดต่อพบปะเพื่อนฝูง เราทุกคนก็ควรตระหนักว่าอาจไม่มี "พรุ่งนี้" ก็ได้

2 จดบันทึก เขียนเล่าถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณทุกวัน การจดบันทึกยังช่วยแก้ปัญหาและขจัดเรื่องไม่ดีที่รกสมองออกไปได้ด้วย ลองเริ่มเขียนตั้งแต่วันนี้ รับรองได้ผลแน่

3 มองในแง่มุมอื่นบ้าง ลองคิดว่าคุณอยากให้คนอื่นจดจำคุณในด้านใด หรือหากวันหนึ่งต้องเล่าเรื่องชีวิตตนเองให้หลานๆ ฟัง คุณจะเล่าอะไร คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าปูที่นอนทุกสัปดาห์และถูบ้านทุกวันหรือ แล้วที่คุณพลาดการแสดงละครของลูกที่โรงเรียนเมื่อปีที่แล้วเพราะติดประชุม เล่า ตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไรบ้างเมื่อมองย้อนกลับไป

4 อย่าให้เรื่องเล็กน้อยกวนใจ ไม่คุ้มหรอกที่จะหัวเสียกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง หากคนขับรถคันข้างๆ ไม่ยอมให้คุณเบียดเข้าเลนก็ยิ้มและโบกมือให้เขาไปเลย แล้วจะหงุดหงิดไปทำไมหากพลาดรถเที่ยวเช้า หากาแฟดื่มขณะนั่งรอคันต่อไปดีกว่า

5 ทำงานยากให้เสร็จ ลงมือได้แล้วอย่าผัดวันประกันพรุ่ง โอ้เอ้ไปก็มีแต่ทำให้หนักใจเหนื่อยกาย ไหนๆ งานนี้ก็ต้องทำโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง ก็น่าจะทำให้เสร็จแทนที่จะมัวกังวลและคิดจนรกสมอง

6 เลิกทำตัวจำเจ ชีวิตคงหน้าเบื่อหากทำอะไรซ้ำซากทุกวันทุกสัปดาห์ เราน่าจะมีเรื่องแปลกใหม่มาทำให้หัวใจกระชุ่มกระชวยบ้าง ถ้าเอาแต่นอนตื่นสายทุกวันอาทิตย์ก็น่าจะลุกขึ้นมาแต่เช้าไปกินอาหารอร่อยๆ นอกบ้าน หรือไปตลาดแล้วจ่ายกับข้าวมาทำอาหารมื้ออร่อยกินกันที่บ้าน

7 อย่าเปรียบตัวเองกับคนอื่น ใครจะมีสระว่ายน้ำ เครื่องเสียงแพงๆ รุ่นล่าสุด หรือรถหรูใหม่เอี่ยมไม่ต้องสนใจ หากดูให้ดีๆ คุณอาจพบว่าคนพวกนี้ต้องทำงานสัปดาห์ละเจ็ดวัน ไม่มีเวลาเจอหน้าคนในบ้านหรือเพื่อนฝูง หรืออาจต้องผ่อนหนี้สินไปอีกหลายสิบปี แล้วชีวิตอย่างนี้ดีจริงหรือ

8 กำจัดข้าวของรกในบ้าน เสื้อผ้าที่ไม่เคยใส่มาเป็นปี เครื่องครัวที่ตั้งอยู่ตรงนั้นจนน้ำมันจับเป็นคราบหนา ไหนจะของเล่น หนังสือเก่า และเครื่องเรือน ยกไปบริจาคเถิด นอกจากจะได้บุญแล้ว ชั้นวางของและห้องต่างๆ ในบ้านจะโล่งและเป็นระเบียบมากขึ้น

9 รู้จักเอ่ยคำว่า "ไม่" ไม่ต้องลงมือทำเองทุกเรื่องเพราะชีวิตคุณก็วุ่นวายพออยู่แล้ว ไหนจะต้องทำเรื่องโน้น สะสางเรื่องนี้ ปล่อยให้สมองมีที่ว่างเพื่อคิดหรือทำอะไรเพื่อตัวเองบ้าง

10 รดน้ำต้นรัก รักคู่ครองของคุณอย่างที่เขาเป็น ที่คุณคิดว่าเขาเปลี่ยนไปนั้นเป็นความจริงหรือ (คิดให้ดีก่อนตอบ) ของทุกอย่างเมื่อใช้งานไปได้ระยะหนึ่งก็ต้องบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมเป็น ธรรมดา ความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาก็เช่นกัน ต้องมีการดูแลใส่ใจกันบ้าง

11 อย่าให้ความคุ้นเคยกลายเป็นไม่ไว้หน้า หากคุณให้เกียรติเพื่อนหรือผู้อื่น คู่ครองหรือคนในครอบครัวคุณก็ควรได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกัน และคุณเองก็ควรได้เกียรติจากคนในครอบครัวเช่นกัน

12 มอบความรักให้ครอบครัวและเพื่อนๆ อย่าเขินที่จะบอกคนเหล่านี้ว่าคุณรักพวกเขาตรงไหน เมื่อเขาทำอะไรดีๆ ให้ก็กล่าวคำชื่นชมบ้าง คำชมเล็กๆ น้อยๆ ไม่เคยทำร้ายใคร

13 อย่ารับปรับทุกข์ทุกเรื่อง หากปัญหาของเพื่อนเริ่มมีผลกระทบต่อตัวคุณ ก็ไม่ต้องฝืนทำตัวเป็นเสาหลักให้เขาพิงอยู่เรื่อยไป ให้เพื่อนหัดแก้ปัญหาและก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยตัวเอง

14 ติดต่อเพื่อนเก่า คุณอาจขาดการติดต่อกับเพื่อนไปนาน แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะโทรศัพท์ ส่งอีเมล์ หรือเขียนจดหมายถึงเขา และนานแค่ไหนแล้วที่คุณไม่ได้คุยกับป้า ท่านอยากได้ยินเสียงคุณจะแย่แล้ว

15 บำรุงอารมณ์ด้วยสีเขียว ดอกไม้สดจากสวน หรือตื่นแต่เช้าไปตลาดซื้อดอกไม้ ผักผลไม้ราคาไม่แพงมาแต่งบ้านให้สดใส คุณเคยมีสวนกระถางในบ้านไม่ใช่หรือ นำกลับมาอีกครั้ง แล้วบ้านคุณจะชุ่มชื่นมีชีวิตชีวาแน่นอน

16 ไปทะเลกันดีกว่า ทิวทัศน์กว้างไกล สายลม เกลียวคลื่น สองเท้าเปลือยเปล่าย่ำบนผืนทราย และแสงแดดระยับ ไม่มีอะไรทำให้จิตใจเริงรื่นชื่นบานได้ดีกว่านี้อีกแล้ว

17 สร้างสรรค์ผลงาน จะเป็นภาพเขียน งานปั้น เย็บปักถักร้อย อบขนม จัดสวน หรืออะไรก็ได้

18 สูดอากาศบริสุทธิ์ ออกไปข้างนอกหรือเปิดหน้าต่างกว้างๆ สูดหายใจให้เต็มปอด คุณจะรู้สึกว่าอากาศเสียถูกขับออกจากตัว

19 ออกไปเดินเล่น การออกกำลังเบาๆ จะช่วยเติมชีวิตชีวาให้คุณทั้งร่างกายและจิตใจตั้งแต่เดินเล่นครั้งแรกเลยที เดียว การออกกำลังสม่ำเสมอจะทำให้คุณกระปรี้กระเปร่าและรู้สึกดีขึ้นทุกวัน

20 ดูหนังตลกและหัวเราะให้สบายใจ ร้านให้เช่าวิดีโอมีหนังเบาสมองให้เลือกมากมาย จะเป็นหนังไทยหรือฝรั่งไม่สำคัญ ปล่อยเสียงหัวเราะออกมาบ้าง

21 ย้ายเครื่องเรือนและของแต่งบ้าน หรืออาจทาสีห้องและผนังใหม่ด้วย รับรองว่าบรรยากาศที่ได้คุ้มค่าไม่แพ้วันหยุดเลยทีเดียว

22 รอคอยสิ่งดีๆ เช่นวันหยุดพักร้อน ออกไปเที่ยวกับเพื่อนฝูง หรือแม้แต่ไปนวดแผนโบราณ

23 ชวนเพื่อนมากินมื้อค่ำ จัดห้องและโต๊ะอาหารที่บ้านให้แปลกไปจากเดิม เสิร์ฟเครื่องดื่มค็อกเทลหรือแชมเปญ เปิดเพลงเสริมบรรยากาศ สนุกกับการเตรียมอาหาร ทุกคนจะปลาบปลื้มหากเห็นว่าคุณทุ่มสุดฝีมือ แล้วค่ำคืนนั้นก็จะครึกครื้น

24 ยิ้มไว้ ยิ้มเป็นโรคติดต่อ ไม่เชื่อก็ลองยิ้มดูสิ

25 ทำให้คนอื่นมีความสุขบ้าง ทำเพื่อตัวเองมามากแล้วก็น่าจะทำเพื่อคนอื่นบ้าง เริ่มจากอดกลั้นไม่บีบแตรไล่รถที่วิ่งเหมือนเต่าคลาน หรืออาสาช่วยงานกุศล เพียงเท่านี้ การใช้ชีวิตให้สุดคุ้มก็ไม่ยากอย่างที่คิด

ขอบคุณ ที่มา...
http://www.everykid.com/worldnews3/2...ess/index.html

160
สติปัฏฐาน ๔
โดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕


การ บำเพ็ญเพียรที่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าและพระสัทธรรม คือความจงใจ ใคร่ต่อการประพฤติดีจริงๆ ธุระหน้าที่ที่ตนจะพึงทำทุกอย่าง ควรทำด้วยความจงใจ การประกอบการงานทุกประเภทถ้าขาดความจงใจแล้ว แม้จะเป็นงานเล็กน้อย ย่อมไม่สำเร็จลงได้ด้วยความเรียบร้อยและน่าดูเลย เพราะความจงใจ เป็นเรื่องของสติและหลักใจ ที่จะยังงานนั้นๆ ให้สำเร็จได้ขาดไปจากตัวและวงงาน ผู้มีสติและหลักใจประจำตัวและงาน จึงชื่อว่าผู้มีความเพียรไปในตัว

ทั้งกิจนอกการใน ถ้าขาดความจงใจ เป็นเครื่องจดจ่อต่องานแล้ว แม้ผู้เป็นนายช่างทำสิ่งต่างๆ ซึ่งมีความฉลาดอยู่บ้าง ทำอะไรมีความสวยงามและแน่นหนามั่นคง แต่ถ้าขาดความจงใจใคร่ต่องานแล้ว แม้งานนั้นจะสำเร็จก็ย่อมลดคุณภาพและความสวยงาม ฉะนั้น ความตั้งใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยผู้มุ่งต่อผลของงานอันสมบูรณ์จึงไม่ควรมองข้ามไปเราเป็นนักบวชและนัก ปฏิบัติ ควรเห็นความตั้งใจจดจ่อต่อธุระหน้าที่ที่ตนจะพึงทำทุกประเภท โดยมีความรู้สึกอยู่กับงานนั้นๆ แม้ที่สุดปัดกวาดลานวัด เช็ดถูกุฎีและศาลา ปูอาสนะ ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน ตลอดการเคลื่อนไหวไปมา เหลือบซ้ายแลขวา ควรมีสติประจำอยู่ทุกๆขณะ ชื่อว่าผู้มีความเพียรประจำตน

การฝึกหัดนิสัยเพื่อเป็นคนมีสติอันเคยชิน จำต้องอาศัยการงานเป็นเครื่องฝึกหัด การประกอบการงานภายนอกแต่ละประเภทเป็นธุระชิ้นหนึ่งๆ การเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนาเป็นธุระชิ้นหนึ่งๆ ทั้งนี้ ถ้ามีสติจดจ่อกับงานที่ทำ ชื่อว่ามีความเพียร ไม่ขาดวรรคขาดตอน การฝึกหัดนิสัยของผู้ใคร่ต่อธรรมชั้นสูง จึงควรเริ่มและรีบเร่งฝึกหัดสติไปกับงานทุกประเภทแต่ต้นมือ

เพื่อความแน่นอนและมั่นคงในอนาคตของเรา โปรดฝึกหัดนิสัยตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกลายเป็นคนมีสติประจำตนทั้งขณะที่ทำและขณะอยู่เฉยๆ ถึงเวลาจะทำความสงบภายในใจ สติจะกลายเป็นธรรมติดแนบอยู่กับใจและตั้งขึ้นพร้อมกับความเพียรได้อย่างใจ หมาย ทั้งมีกำลังพอจะบังคับจิตใจให้หยั่งลงสู่ความสงบได้ตามต้องการ ส่วนมากที่พยายามให้จิตเข้าสู่ความสงบไม่ได้ตามใจหวังนั้น เนื่องจากสติที่เป็นแม่แรงไม่มีกำลังพอ จิตจึงมีโอกาสเล็ดลอดออกไปสู่อารมณ์ได้อย่างง่ายดาย เหมือนเด็กซนซึ่งปราศจากพี่เลี้ยงผู้ตามดูแล เด็กอาจได้รับอันตรายในเวลาใดก็ได้

จิตที่มีความเพลินประจำตนโดยปราศจากสติตามรักษา จึงมีสิ่งรบกวนตลอดเวลาจนหาความสงบสุขไม่ได้ พี่เลี้ยงของจิตคือ สติกับปัญญา คอยให้ความปลอดภัยแก่จิตตลอดสายที่จิตคิดไปตามอารมณ์ต่างๆ คอยพยายามปลดเปลื้องอารมณ์ที่มาเกี่ยวข้องกับใจ และพยายามแสดงเหตุผลให้จิตรับทราบเสมอ ใจที่ได้รับเหตุผลจากปัญญาพร่ำสอนอยู่เป็นนิจ จะฝืนคิดและติดอารมณ์ที่เคยเป็นข้าศึกต่อไปอีกไม่ได้

การฝึกหัดสติและปัญญาเพื่อให้มีกำลังคืบหน้าไม่ล่าถอยเสื่อมโทรม โปรดฝึกหัดตามวิธีที่กล่าวมา แต่อย่าปล่อยตัวเป็นคนสะเพร่ามักง่ายในกิจการทุกอย่างที่มุ่งประโยชน์แม้ ชิ้นเล็กๆ นิสัยมักง่ายที่เคยเป็นเจ้าเรือนนี้ ยังจะกลายเป็นโรคเรื้อรังฝังลงในใจอย่างลึกและจะทำลายความเพียรทุกด้านให้ เสียไป จงพยายามฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนแน่นอนต่อกิจการที่ชอบทั้งภายนอกภายในเสมอ อย่ายอมปล่อยให้ความสะเพร่ามักง่ายเข้าฟักตัวอยู่ในนิสัยได้เลย

เพราะผู้เคยฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนจริงต่อหน้าที่การงานทุกประเภท ต้องเป็นผู้สามารถจะยังกิจการทุกอย่างไม่ว่าภายนอกภายในให้สำเร็จได้ โดยไม่มีอุปสรรคใดๆมากีดขวาง แม้จะอบรมจิตใจซึ่งเป็นงานสำคัญทางภายใน ก็จำต้องประสบความสำเร็จลงด้วยความรอบคอบ หาทางตำหนิตนเองไม่ได้ เพราะกิจการภายนอกกับภายในส่อถึง ใจ ผู้เป็นประธานดวงเดียวกัน ถ้าใจเป็นนิสัยมักง่าย เมื่อเข้าไปบ่งงานภายใน ต้องทำงานนั้นให้เหลวไปหมด

ไม่มีชิ้นดีเหลืออยู่พอเป็นที่อาศัยของใจได้เลย เรื่องภายนอกกับเรื่องภายในส่อถึงกันอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการกระทำงานภายนอกจึงส่อถึงเรื่อง หัวใจของเราในทางภายใน ถ้าใครเป็นคนสะเพร่ามักง่ายในกิจธุระหน้าที่ภายนอกแล้ว นิสัยซึ่งเคยนี้ก็หมายถึงเรื่องดวงใจนั่นเอง เป็นผู้บ่งงานในกิจการภายนอกนั้น เมื่อเข้าไปบ่งงานหรือว่าทำกิจการงานภายใน ใจที่เคยเป็นผู้สะเพร่ามักง่ายก็จะต้องทำเช่นนั้น

เพราะเหตุนั้น การฝึกหัดให้เป็นคนแน่นอน ให้เป็นคนจริงต่อธุระหน้าที่ด้วยความจงใจ ทำจนสุดวิสัยในกิจการงานนั้นๆให้สำเร็จลงด้วยความความสามารถของตนด้วยความ ตั้งใจ ผู้นี้แลเมื่อเข้าไปดำเนินภายในจิตใจ คือจะอบรมจิตใจให้เป็นไปในทางสงบก็ดี ให้เป็นไปในทางปัญญาก็ดี จะเป็นไปโดยรอบคอบทั้งสองทางคือ ความสงบ

ในเมื่อปรากฏขึ้นภายในใจ ก็จะมีความรอบคอบในความสงบของตน เมื่อออกพิจารณาในทางปัญญา ก็จะรอบคอบในทางปัญญาของตน ปัญญารอบคอบปัญญา เหมือนกับว่าเหล็กแข็งกับเหล็กอ่อนสามารถจะบังคับกันได้ เรียกว่าเหล็กกล้าสามารถบังคับเหล็กอ่อนหรือตัดเหล็กอ่อนก็ได้อย่างที่เรา เคยเห็นกันอยู่ ปัญญาที่มีความฉลาดสามารถที่จะพิจารณาปัญญาส่วนละเอียดได้เช่นเดียวกัน นี่ขึ้นอยู่กับการฝึกหัดนิสัย

ให้พยายามฝึกนิสัยของตนเสมอตั้งแต่ต้นทาง ต้นทางก็หมายถึงใจดวงนี้ ปลายทางก็หมายถึงใจดวงนี้ หยาบก็หยาบอยู่ที่ตัวของเราเอง เข้าสู่ความละเอียดก็เข้าสู่ความละเอียดอยู่ที่ตัวของเราเอง นี่เป็นการเทียบเฉยๆว่าต้นทางหรือปลายทาง คำว่าต้นทาง หมายถึงว่าเริ่มทำงานทีแรก หรือเริ่มอบรมจิตใจทีแรก เรียกว่าต้นทาง การเริ่มทำงานในด้านจิตใจของเราไปถึงขั้นที่มีความสงบ มีความเยือกเย็น จิตเป็นสมาธิและมีความแยบคายทางด้านปัญญาบ้าง นี้เรียกว่ากลางทาง

จิตมีความเฉลียวฉลาด ทั้งด้านสมาธิก็ละเอียด ทั้งด้านปัญญาก็มีความสามารถจนถอดถอนตนของตนให้พ้นจากสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ได้ นั้นเรียกว่าปลายทาง แต่เมื่อสรุปความลงแล้ว ต้นกับปลายก็เหมือนกันกับผลไม้ ผลไม้เราจะเรียกได้ไหมว่าต้นของผลไม้ ปลายของผลไม้ มองดูที่ไหนก็เป็นผลไม้ลูกเดียวนั้นเอง เหมือนอย่างมะพร้าว เราจะชี้ถูกไหมว่า ปลายของมะพร้าวลูกหนึ่งๆนั้นอยู่ที่ไหน ต้นของเขาอยู่ที่ไหนในมะพร้าวลูกนั้น ก็เรียกว่ามะพร้าวลูกหนึ่งเท่านั้นไม่มีต้นไม่มีปลาย

เรื่องของใจก็ทำนองเดียวกันนั้น แต่เราพูดถึงเรื่องการปฏิบัติคือกิริยาของใจ ที่จะพินิจพิจารณาในความหยาบ ปานกลางหรือความละเอียดแห่งความเป็นอยู่ อารมณ์ที่เป็นอยู่ อุบายที่จะพิจารณาในอารมณ์เหล่านั้นมีความหยาบ มีความปานกลาง หรือมีความละเอียด ซึ่งเกิดขึ้นมาจากใจดวงเดียว ต่างกันเพียงเท่านี้เอง จึงเรียกว่าตอนต้น ตอนกลางหรือตอนปลาย เรียกว่าต้นทางหรือปลายทาง มีความหมายได้เพราะอาการของจิตหรือสิ่งแวดล้อมของจิตมีความหยาบความละเอียด เท่านั้น

ขอให้พากันฝึกหัดนิสัยของตนให้เป็นคนจริงเสมอ อย่าเป็นคนวอกแวกคลอนแคลน อย่าเป็นคนจับจด ฝึกหัดนิสัยให้จริง ว่าจะไปต้องไป ว่าจะอยู่ต้องอยู่ ว่าจะทำต้องทำ กำหนดเวล่ำเวลาอย่างใดไว้แล้วอย่าให้เคลื่อนคลาดในเวล่ำเวลาซึ่งตนของตนได้ กำหนดเอาไว้ ตนของตนได้เอามือลงเขียนไปแล้วให้เอามือลบ อย่าทำทำนองที่ว่ามือเขียนแล้วลบด้วยเท้า เราตั้งความสัตย์ใส่ตัวของเราเอง แต่ก็ไม่มีใครที่จะมาสามารถทำลายความสัตย์ของเรา เราเสียเองเป็นผู้ทำลายความสัตย์ของเราอย่างนี้

เรียกว่าเราเขียนด้วยมือลบด้วยฝ่าเท้า เป็นการไม่ถูกตามหลักธรรมของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น เราต้องเป็นผู้มีความแน่วแน่ต่อความดำริ ต่อความคิดหรือต่อความตัดสินใจของตนเสมอ ถ้าเราได้ตัดสินใจลงในกิจการงานอันใดที่เห็นว่าเป็นการถูกต้องแล้ว จงเป็นผู้พลีชีพลงเพื่อความสัตย์หรือเพื่อกิจการนั้นๆ เสมอ จะเป็นนิสัยที่แน่นอน เป็นนิสัยคนจริง ไม่เป็นนิสัยที่ว่าวอกแวกคลอนแคลนไว้ใจไม่ได้

เมื่อเราทำตัวของเราให้ไว้ใจของเราไม่ได้แล้วเราจะหวังพึ่งใคร ศีลก็เป็นเรื่องของเราจะพยายามรักษาไว้ให้สมบูรณ์ แต่เราก็ไม่ไว้ใจในการรักษาศีลของเรา เพราะเราเป็นคนวอกแวกคลอนแคลน ไม่แน่นอนในใจของตนที่จะรักษาศีลด้วยกายวาจา ใจ ให้เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ แล้วเราจะอาศัยใครเป็นที่ไว้ใจ เมื่อเราเองเป็นผู้ตั้งใจจะรักษาศีลให้เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ แต่เราก็ไม่ไว้ใจเราเพราะเราเป็นคนไม่แน่นอน และคุณสมบัติซึ่งจะเกิดขึ้นจากศีลนั้นก็เป็นคุณสมบัติที่ไม่แน่นอนเช่นเดียว กัน เพราะเหตุไม่แน่นอนผลก็ต้องตามรอยกันไปนั่นเอง

ถึงจะพยายามทำสมาธิให้เกิด เราก็ไม่แน่นอนในกิจในธุระหรือในการกระทำของเรา ที่จะสามารถยังจิตของเราให้เป็นไปเพื่อสมาธิ ตั้งแต่สมาธิขั้นหยาบจนกระทั่งถึงสมาธิขั้นละเอียด เมื่อเราเป็นผู้ไม่แน่นอนในกิจการของเรา ในหน้าที่ของเรา ตัดสินใจลงไม่ได้แล้ว เราก็เป็นคนหลักลอย สมาธิก็ไม่มี ศีลก็เป็นศีลลอยลม สมาธิก็ลอยลม ปัญญาก็ลอยลม หาอะไรเป็นสาระแก่นสารในตัวของเราไม่ได้ นี่โทษแห่งความไม่แน่นอน โทษแห่งความเป็นคนไม่จริง ตัดสินใจของตนลงสู่หลักแห่งธรรมที่พระองค์เจ้าทรงตรัสไว้ชอบแล้วยังไม่ได้ เราจะหวังผลมาจากที่ไหนเล่า

ปัญญา จะหุงต้มแกงกินเหมือนอย่างอาหารหวานคาวไม่ได้ ขอให้บรรดาท่านทั้งหลายจงทราบเสมอและทราบทุกขณะว่า ปัญญานั้นจะเกิดขึ้นจากผู้ที่ชอบคิดชอบค้นชอบพิจารณา คนไม่มีปัญญาไม่สามารถจะรักษาสมบัติ จะประกอบการงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยความเรียบร้อย ไม่สามารถจะรักษาสมบัติให้ปลอดภัยจากโจรจากมารได้ไม่ว่าทางโลกและทางธรรม คนมีความฉลาดคือคนมีปัญญา

สามารถที่จะประกอบการงานตั้งแต่ชิ้นเล็กๆจนสามารถประกอบได้ถึงการงานที่เป็น ชิ้นใหญ่ที่สุด ขึ้นอยู่กับปัญญา เรื่องการปฏิบัติพระศาสนา สำคัญอยู่ที่ปัญญา สติเมื่อมีความกระเทือนขึ้นภายในใจ ปัญญาต้องรับช่วงเสมอ สิ่งที่มาสัมผัสให้จิตได้รับความกระเพื่อมแสดงให้เห็นแล้วว่ามีความรู้สึกใน สิ่งที่มาสัมผัสได้เริ่มขึ้นแล้ว สติเป็นผู้รับรู้ในวาระที่สอง ปัญญาเป็นผู้รับช่วงไปจากสติเป็นวาระที่สาม ให้ฝึกหัดตนของตนเป็นทำนองนี้ จิตจะได้อยู่ในกรอบของสติ จะได้อยู่ในกรอบของปัญญา


เมื่อ ปัญญาเป็นผู้ที่ได้ฝึกฝนอบรมมาจนเคยชิน จนกลายเป็นนิสัยของคนที่ชอบคิดอ่านไตร่ตรองดูเหตุผล ตัดสินตนของตนได้ด้วยความถูกต้องเพราะอำนาจแห่งปัญญาแล้ว แม้จะเข้าไปข้างในคือหมายถึงใจโดยเฉพาะ ก็ต้องเป็นผู้ที่สามารถที่จะตัดสินใจลงได้ด้วยหลักเหตุผลเพราะอำนาจของปัญญา อีกเช่นเดียวกัน

เพราะเหตุนั้น จงพากันพยายาม สติกับปัญญาให้แนบกับตัวไปทุกเวลา ตาถึงไหนให้สติกับปัญญาไปถึงนั้น หูได้ยินถึงไหนสติกับปัญญาให้ถึงที่นั่น จมูก ลิ้น กาย มีอะไรมาสัมผัสชั่วระยะไกลใกล้แค่ไหน หยาบละเอียดแค่ไหน สติกับปัญญาให้ตามรู้ให้ได้รับความรู้สึกกันอยู่เสมอ อารมณ์ซึ่งเกิดขึ้นภายในใจ สติกับปัญญาตามรอบรู้ตามพิจารณากันอยู่เสมอ

ท่านผู้ที่จะพ้นไปจากโลกท่านทำอย่างนี้ ท่านไม่ได้ทำอย่างไม้ซุงทั้งท่อนที่ทิ้งอยู่ให้เด็กเขาขึ้นบนไม้ซุงทั้งท่อน นั้นแล้วขี้รดลงไป เมื่อเราทำตัวของเราให้เป็นเช่นเดียวกับไม้ซุงทั้งท่อนแล้ว กิเลสตัณหาอาสวะจะมาทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส เครื่องสัมผัส ล่วงไหลเข้ามาสู่อายตนะภายในคือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็จะขี้รดลงไปถูกหัวใจดวงนั้น เพราะหัวใจดวงนั้นเป็นไม้ซุงทั้งท่อน

ไม่มีความแยบคาย ไม่มีความเฉลียวฉลาด ไม่มีความรอบคอบต่อตนเอง ต่ออารมณ์ทั้งหลายทั้งภายนอกภายใน จนกลายเป็นขอนซุงทั้งท่อนให้กิเลสตัณหาอาสวะขี้รดทั้งวันทั้งคืน นี่ไม่สมควรสำหรับผู้ที่จะดำเนินเพื่อวิวัฏฏะ คือความพลิกโลกสงสารให้ออกจากจิตใจของตน จึงไม่ควรทำใจของตนให้เป็นซุงทั้งท่อน ขอให้ท่านทั้งหลายได้ทราบไว้อย่างนี้

เรื่องของสติ เรื่องของปัญญา เรานั่งอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าพยายามระวัง พยายามคิดค้น สติกับปัญญาจะมีอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ขึ้นอยู่กับใครทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ใคร่ต่อการระมัดระวัง ผู้ใคร่ต่อการพิจารณาสอดส่องหรือไตร่ตรองในเหตุทั้งหลายที่มาสัมผัส ซึ่งเป็นไปอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนยืนเดินนั่งนอน มีแต่ธรรมชาติที่จะมากระตุ้นเตือนหัวใจของเราให้สติได้รับรู้ ให้ปัญญาได้ไตร่ตรองทั้งนั้น เดินไปไหนตาถึงไหนให้มีสติปัญญาไปถึงที่นั่น นี้แล

นักปฏิบัติเพื่อความรอบคอบทั้งภายนอกเข้าสู่ภายในต้องเป็นไปกับสติหรือปัญญา อย่างนี้ ถ้าเราทำเหมือนอย่างขอนซุงทั้งท่อน เดินไปก็สักแต่ว่าเดิน นั่งก็สักแต่ว่านั่ง ภาวนาก็สักแต่ว่าความตั้งไว้เบื้องต้นในใจเท่านั้น แล้วนั่งอยู่เหมือนกับหัวตอ ความรู้สึกความรอบคอบในการงานคือการภาวนาของตนไม่มี ก็เหมือนกันกับหัวตอไม่เห็นผิดแปลกกันอันใด นี่ขอให้เราทั้งหลายได้พินิจพิจารณา รื้อฟื้นสติซึ่งมีอยู่กับหัวใจของเราขึ้นมา รื้อฟื้นปัญญาที่มีอยู่กับหัวใจของเราขึ้นมาให้เป็นประโยชน์สำหรับหัวใจของ เราเอง

กิเลสไม่ได้เกิดขึ้นจากที่อื่น เกิดขึ้นจากหัวใจของเรานี้เอง แต่ก็เหยียบย่ำหัวใจเพราะหัวใจเป็นขอนซุงทั้งท่อน ไม่สามารถที่จะปลดเปลื้องสิ่งมัวหมองซึ่งเกิดขึ้นจากตน กิเลสจึงกลายเป็นขี้รดใจดวงนั้นลงไปทุกวันๆ ท่านจึงเรียกว่า ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ขี้ลืม อย่างนี้เป็นต้น ขี้อย่างนี้เกิดขึ้นจากหัวใจทั้งนั้น ที่ท่านว่าขี้หมายถึงว่าเป็นของที่หยาบ ก็เลยให้ชื่ออย่างนั้นเสีย เมื่อเราเป็นผู้มีความมุ่งประสงค์ที่จะทำตัวของเราให้เป็นไปเพื่อความสะดวก ภายในจิตใจ

จงเป็นผู้ฝึกหัดสติเสมอ พยายามตั้งสติให้ดี ตรวจตรองดูอวัยวะทุกส่วน มีสติเป็นรั้วกั้นจิตอย่าให้เลยขอบเขตของสติไปได้ ปัญญาเป็นผู้จาระไนอยู่ทางภายใน พิจารณาให้ชัด นี่พูดถึงเรื่องกายฝึกหัดนิสัยในเบื้องต้น ต้องเป็นผู้มีความตั้งอกตั้งใจฝึกหัดจริงๆ เมื่อเรามีการตั้งอยู่เสมอจนชินต่อนิสัยเราแล้ว เราเดินไปที่ไหน สติจะต้องเป็นไปอยู่ ปัญญาก็ต้องเป็นไปอยู่เช่นนั้น ภัยจะมาจากที่ไหน

เหตุที่ภัยจะเกิดขึ้นให้ใจของเราได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากว่าจิตไม่มีสติไม่มีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน อะไรซึ่งเกิดขึ้นจากใจเอง จึงเกิดขึ้นได้ทุกๆ ประเภทและไม่เลือกกาลเวลาด้วย ไม่เลือกอิริยาบถใดด้วย ทีนี้เราก็มาตำหนิติโทษเราว่าจิตใจไม่สงบ จิตใจได้รับความเดือดร้อน แต่เราเสาะแสวงหาความเดือดร้อนเสียเองนั้นเราไม่คำนึง อาการที่แสวงหาความเดือดร้อนโดยไม่รู้สึกตัวนี้ท่านเรียกว่าสมุทัย เหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เมื่อก่อไฟขึ้นมาแล้วจะบังคับไม่ให้ร้อนก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน เมื่อก่อเหตุให้เป็นเรื่องของสมุทัยขึ้นมาแล้ว ผลที่จะพึงได้รับก็ต้องเป็นทุกข์ จะกลายเป็นสุขไปไม่ได้

พระองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าและสาวกทั้งหลาย ท่านเดินจงกรมปรากฏในประวัติของสาวกว่า บางองค์ถึงฝ่าเท้าแตกก็มี อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็ส่อให้เห็นแล้วว่าท่านพยายามเอาจริงเอาจังแค่ไหน เพราะความที่จะแหวกว่ายจากวัฏจักรอันนี้ไปให้พ้นไปเสียได้ ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดได้รับความทุกข์ความยากความลำบากเช่นสัตว์ทั้ง หลายที่เป็นอยู่ ณ บัดนี้ มีตัวของเราเป็นต้นซึ่งได้เคยผ่านความทุกข์ความทรมานมาเช่นเดียวกัน จึงไม่ควรที่จะทำความกล้าหาญหรือร่าเริงต่อความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้

ใจ ทำไมจึงเป็นไปเพื่อความสงบไม่ได้ ลองสังเกตดูซิ วันหนึ่งๆ ถ้าเราตั้งข้อสังเกตโดยเฉพาะในหัวใจของเราแล้ว เราจะได้เห็นข้อบกพร่องของเราทั้งวัน และในขณะที่เราได้เห็นข้อบกพร่องของเราทั้งวันนั้น แสดงว่าเราก็มีข้อสมบูรณ์ขึ้นด้วยกัน เพราะเรามีสติ เราจึงเห็นข้อบกพร่องของเรา ความที่เรามีสตินั้นเอง เรียกว่าเราได้ความสมบูรณ์ขึ้นมาเป็นลำดับๆ หรือว่าสมบูรณ์ตามขั้น

เริ่มจะเป็นความสมบูรณ์เป็นขั้นๆขึ้นไป ต้องพยายามพิจารณาอย่างนี้ เราไม่ต้องสนใจกับเรื่องอะไรทั้งนั้น ให้สังเกตดูตั้งแต่เรื่องหัวใจที่จะปรุงเรื่องอะไรขึ้นมาแล้วบังคับไว้ภายใน กายกับจิตนี้ ท่านว่าสติปัฏฐาน ๔ คือฐานที่ตั้งแห่งสติ พูดง่ายๆ ถ้าจิตเราได้ตั้งอยู่กับกายนี้แล้ว สติบังคับสติไว้กับกายนี้แล้ว ปัญญาท่องเที่ยวอยู่ในสกลกายนี้แล้ว เรียกว่าได้เดินทางในองค์แห่งอริยสัจอย่างสมบูรณ์

ทุกข์ก็เป็นอันที่จะรู้เท่าทันในองค์แห่งอริยสัจนี้ สมุทัยก็เป็นอันว่าจะได้ละได้ถอนกันอยู่ในองค์แห่งอริยสัจนี้ มรรคก็เป็นอันว่าเราได้บำเพ็ญอยู่ในตัวของเรา พร้อมกับเวลาที่เราบังคับจิตใจหรือไตร่ตรองในธาตุขันธ์ของเรานี้ นิโรธะความดับไปแห่งความทุกข์จะแสดงให้เราเห็นเป็นชั้นๆตั้งแต่ชั้นหยาบที่ สุด ชั้นกลาง จนกระทั่งถึงชั้นสูงสุด ไม่ได้นอกเหนือไปจากสติปัฏฐานทั้งสี่ เพราะเหตุนั้น สติปัฏฐานทั้งสี่ จึงเป็นทางเดินของพระอริยเจ้าทุกๆ ประเภท

กาย หมายถึง อวัยวะของเราทุกส่วนที่เรียกว่ากองรูป

เวทนา คือ ความสุข ความทุกข์และเฉยๆ

จิต หมายถึง เจตสิกธรรมที่ปรุงขึ้นไม่ขาดวรรคขาดตอน

ธรรม หมายถึง อารมณ์ที่เป็นเป้าหมายของใจ

นี่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ บรรดาพระอริยเจ้าทุกๆ ประเภท ได้ถือสติปัฏฐาน ๔ เป็นอารมณ์ของใจ

การพิจารณากาย จะเป็นกายภายนอกก็ตามกายในก็ตาม โดยความเป็นของไม่เที่ยงบ้าง โดยความเป็นทุกข์บ้าง โดยความเป็นอนัตตาบ้าง โดยความเป็นของปฏิกูลโสโครกบ้าง เหล่านี้เรียกว่าพิจารณา กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายนี้มีทั้งกายนอกกายใน กายในหมายถึงกายของเราเอง กายนอกหมายถึงกายของสัตว์อื่นบุคคลอื่น หรือสภาพที่จะเป็นอุบายแห่งปัญญาที่เกี่ยวกับด้านวัตถุ เราจะเรียกว่ากายโดยอนุโลมก็ได้ นี่เรียกว่ากายนอก พิจารณากายนอกก็ตามกายในก็ตาม ให้เป็นไปเพื่อความเห็นโทษ ให้เป็นไปเพื่อความแก้ไข ให้เป็นไปเพื่อความฉลาด ปล่อยวางในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เรียกว่าพิจารณาในสติปัฏฐาน

การพิจารณากายทั้งหลายที่กล่าวมานี้ เพื่อให้เห็นโทษในส่วนแห่งกาย ซึ่งเป็นที่ยึดถือของอุปาทาน เมื่อได้พิจารณาเห็นชัดในส่วนแห่งกายนั้นแล้วทั้งกายนอกทั้งกายในโดยทาง ปัญญา ความสำคัญในกายนั้นว่าเป็นอย่างไรซึ่งเคยเป็นมาก็จะค่อยบรรเทาหรือเบาลงไป หมดความสำคัญว่ากายนั้นเป็นอะไรอีก เช่นอย่างเป็นของสวยของงาม เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นของน่ารักน่าชอบใจหรือน่ากำหนัดยินดี เหล่านี้เป็นต้น ก็จะขาดลงเพราะอำนาจของปัญญาเป็นผู้วินิจฉัยหรือตัดสิน ความสำคัญของใจซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งอุปาทานที่ไปเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ก็จะ ค่อยหมดไปเป็นลำดับ

เช่นอย่างองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านสอนพระสาวกให้ไปอยู่ในป่าช้า ให้พิจารณาซากอสุภในป่าช้า ก็หมายถึงเรื่องกายนอกนั่นเอง การพิจารณาสภาพของตัวทั้งหมดนี้เรียกว่ากายใน การพิจารณาไม่เพียงว่าครั้งหนึ่งครั้งเดียว ต้องถือเป็นกิจจำเป็นเช่นเดียวกันกับเรารับประทานอาหารเป็นประจำวัน แต่การรับประทานอาหารนั้นเป็นเวล่ำเวลา เช่นอย่างวันหนึ่ง ๓ มื้อบ้าง ๒ มื้อบ้างหรือมื้อเดียวบ้าง แต่การพิจารณาในส่วนแห่งกาย จะเป็นกายนอกก็ตามกายในก็ตามเป็นอาจิณ ยิ่งได้ตลอดเวลายิ่งดี

สำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์และเพื่อความถอดถอนอุปาทานออกจากกายที่ เป็นบ่อเกิดแห่งความลุ่มหลง นี่เรียกว่าการพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อสรุปความลงในผลแห่งกายพิจารณาแล้วก็สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ด้วย ไม่ใช่บุคคลด้วย ไม่ใช่เราด้วย ไม่ใช่เขาด้วย สักแต่ว่ากายเท่านั้นโดยทางปัญญาจริงๆ เมื่อจิตได้เห็นชัดด้วยปัญญาจริงๆ อย่างนี้แล้ว ความกังวลเกี่ยวข้องในเรื่องกาย ความเสาะแสวงหาทางอารมณ์ที่เกี่ยวกับกาย ความที่เรายึดมั่นถือมั่นในส่วนกาย ทั้งหลายเหล่านี้เป็นผลอันหนึ่ง เมื่อตัวเหตุคืออุปาทานได้หมดไปแล้วเพราะอำนาจของปัญญา สิ่งเหล่านี้ก็ต้องหมดไปหรือดับไปพร้อมๆ กัน ไม่มีอันใดเหลือ



ที นี้เราพึงทราบว่าการพิจารณาในสติปัฏฐาน ๔ นี้ เราจะต้องพิจารณากายเสียก่อน แล้วก็ต่อไปเวทนา ต่อไปจิต และต่อไปธรรมนั้น เป็นการคาดผิดไป อันนี้เป็นชื่อของส่วนแห่งสภาพซึ่งมีอยู่ด้วยกันแล้วท่านแยกออกเป็น ๔ ประเภทเท่านั้น ในประเภททั้งหมดนี้มีอยู่กายอันเดียวนี้ เวทนาก็อยู่กาย จิตก็อยู่ในกายอันนี้ ธรรมก็อยู่ในกายอันนี้ แต่ท่านแยกประเภทออกไป ฉะนั้น ความเข้าใจของเราอาจจะมีความเห็นผิดไปว่า เมื่อท่านแยกออกเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรมแล้ว

ถ้าหากเราจะพิจารณาในเวทนา หรือในจิต ในธรรม ส่วนใดส่วนหนึ่งก่อนแล้วจะเป็นการผิดอย่างนี้ นี่อาจเกิดขึ้นในความหลงผิด แต่แท้ที่จริงเวลาเราพิจารณากาย เวทนาก็แฝงอยู่ในกายนั้น ความทุกข์ไม่เลือกกาลใด จะเป็นกาลที่เรากำลังพิจารณากายอยู่ก็ตาม หรือออกจากกายนั้นแล้วก็ตาม เกิดขึ้นได้ทั้งสุขทั้งทุกข์ทั้งความเฉยๆ เช่นเป็นโอกาสหรือเป็นช่องที่เราจะควรพิจารณาในเวลาเวทนาเกิดขึ้นนั้น ให้ได้ทราบชัดว่าเวทนานี้เป็นอะไร นอกจากว่ากายนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราแล้ว เราจะเห็นว่าเวทนาที่เกิดขึ้นนี้เป็นอะไรอีกในบรรดาเวทนาทั้งสามนี้

เราก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาในเวทนาทั้งสามนี้อีก มีลักษณะเช่นเดียวกันว่า อนิจฺจํ เวทนาจะเป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม เฉยๆ ก็ตามเกิดขึ้น ทุกกาลทุกสมัยมันต้องเป็นไปกับด้วยไตรลักษณ์ทั้งนั้น ไม่มีระยะเดียวที่จะห่างจาก ไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไป แล้วจะปฏิเสธความเป็นสัตว์เป็นบุคคลตายตัวอยู่เช่นนั้นตามสภาพของเขานี่ เรียกว่าพิจารณาเวทนา เราจะพิจารณากาลใดสมัยใดไม่ขัดข้องทั้งนั้น เพราะเป็นเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ แล้วความติดในอาการทั้งสี่หรือในสภาวธรรมทั้งสี่นี้ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม นี้ เราไม่ได้เลือกติดตามกาลตามเวลาของเขา

ติดได้ทุกขณะ ติดได้ทุกเวลาในสภาวธรรมทั้งสี่นี้ เพราะเหตุนั้นการที่เราจะพิจารณาแก้ไขในสภาวธรรมทั้งสี่นี้ จึงไม่จำเป็นจะต้องกำหนดเวล่ำเวลา คำว่าพิจารณาจิต จะพิจารณาอย่างไร.. จิตก็พิจารณาเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นจากใจนั่นเอง ว่าไปสำคัญมั่นหมายในกายในเวทนาเหล่านี้ เป็นอะไรบ้าง ปรุงแต่งจะเป็น กายนอกก็ตาม กายในก็ตาม ปรุงว่าอย่างไร หมายว่าอย่างไร กำหนดพิจารณาตามกระแสของใจ สิ่งที่ไปหมายหรืออารมณ์เหล่านั้นเป็นธรรมขึ้นมาแล้วที่นี่ เรียกว่าเป้าหมายนั่นเอง อารมณ์ที่จิตพิจารณา ที่จิตจดจ่อนั้นเรียกว่าเป็นเป้าหมายของใจ เป้าหมายนั้นเองท่านเรียกว่าธรรม

ทีนี้ท่านว่าพิจารณา เวทนา ใน เวทนา นอก อันนี้เป็นปัญหาอันหนึ่ง ส่วนกายในกายนอกเราพอทราบกันได้ชัด เช่นอย่างกายของคนอื่นหรือเราไปเยี่ยมป่าช้า ก็แสดงว่าเราไปพิจารณากายนอก แต่เวทนาในนี้จะหมายถึงเวทนาอะไร เวทนานอกหมายถึงเวทนาอะไร เวทนานอกถ้าเราจะไปหมายคนอื่นเป็นทุกข์ทนลำบาก หากเขาไม่แสดงกิริยามารยาทอาการให้เราเห็นว่าเขาเป็นสุขหรือเป็นทุกข์แล้ว เราจะมีช่องทางหรือโอกาสพิจารณาเวทนาของเขาได้อย่างไร

นี่เป็นปัญหาอยู่ แต่นี้เพื่อจะให้เป็นสิ่งสำเร็จรูปในทางด้านปฏิบัติของเรา จะถูกก็ตามผิดก็ตาม ข้อสำคัญให้ถือเอาผลประโยชน์ซึ่งเกิดขึ้นในการกระทำของตน เป็นความสุข เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความแยบคาย เป็นไปเพื่อความเฉลียวฉลาดแล้ว ให้ถือว่านั้นเป็นของใช้ได้ เป็นการถูกกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นในสถานที่นี้หรือเวลานี้จะขออธิบายตามอัตโนมัติหรือความรู้โดยตน ได้พิจารณาอย่างไรให้บรรดาท่านทั้งหลายฟัง

เวทนานอกนั้นหมายถึงกายเวทนา เวทนาในหมายถึงจิตเวทนาคือ เวทนาซึ่งเกิดขึ้นในส่วนแห่งกาย จะเป็นการเจ็บท้อง ปวดหัวก็ตาม เจ็บส่วนแห่งอวัยวะ หรือปวดที่ตรงไหนทุกข์ที่ตรงไหนก็ตามในส่วนแห่งอวัยวะนี้ทั้งหมดเรียกว่า เป็น เวทนา นอก จะเป็นสุขทางกายก็ตาม เฉยๆ ขึ้นทางกายก็ตามจัดว่าเป็นเวทนานอกทั้งนั้น ส่วนเวทนาในนั้น หมายถึงใจได้รับอารมณ์อันใดขึ้นมาเพราะอำนาจของสมุทัยเป็นเครื่องผลักดัน เกิดความทุกข์ขึ้นมาบ้าง

เกิดความสุขความรื่นเริงขึ้นมาบ้าง เฉยๆ บ้าง เรียกว่าเวทนาใน การพิจารณาเวทนานอก การพิจารณาเวทนาใน มีไตรลักษณ์เป็นเครื่องยืนยันหรือเป็นเครื่องตัดสิน เป็นเครื่องดำเนินด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อเราได้พิจารณาในส่วนกายให้เห็นชัด ส่วนเวทนานอกขึ้นอยู่กับกายนี้ชัดแล้ว แม้จะพิจารณาเวทนาส่วนภายในนี้ก็ย่อมจะชัดไปได้ เพราะอำนาจของปัญญาที่มีความละเอียดเข้าไปเป็นลำดับนี่การพิจารณาสติปัฏฐาน พิจารณาอย่างนี้

พิจารณาจิตตามปริยัติท่านกล่าวไว้นั้น บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายก็พอเข้าใจแล้ว กระแสของใจเรามีความเกี่ยวข้องกระดิกพลิกแพลงไปในอารมณ์อันใดคอยสังเกตความ เคลื่อนไหวของใจอยู่เสมอ นี่เรียกว่าพิจารณาจิต คือพิจารณาในขณะเดียวกันนั่นเอง เวลานั่งหรือเวลายืนเวลาทำความเพียรอยู่นั้นเอง ในกาลในสมัยเดียวนั้นเองสามารถที่จะพิจารณาสติปัฏฐานทั้งสี่นี้ไปพร้อมๆ กันได้

เพราะอาการทั้งสี่นี้เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นสับสนปนเปกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีการกำหนดว่ากายจะต้องปรากฏขึ้นก่อน แล้ว เวทนาเป็นที่สอง จิตเป็นที่สามธรรมเป็นที่สี่ ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นสิ่งที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่ทั่วสรรพางค์ร่างกาย และจิตใจ ของเราล้วนแล้วตั้งแต่เป็นเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ทั้งนั้น การที่เราจะพิจารณาในส่วนสภาวะทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นมาสัมผัสกับใจของเราส่วน ใดนั้นเป็นเรื่องถูกต้อง

เมื่อท่านผู้ใดเป็นผู้หักห้ามร่างกายจิตใจของตน บังคับจิตใจของตนให้ท่องเที่ยวอยู่ใน สติปัฏฐานทั้งสี่นี้แล้ว เรื่องของสติก็ดี เรื่องของปัญญาก็ดี จะเป็นขึ้นในสถานที่นี้ คำว่าอริยะที่ท่านกล่าวตั้งแต่เบื้องต้นว่า โสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ก็ต้องได้อุบายไปจากธรรมทั้งสี่ประเภทนี้เอง ด้วยอำนาจของปัญญา เมื่อพิจารณาให้เห็นชัดแจ่มแจ้งตามเป็นจริงในสภาวะนี้แล้ว ควรจะได้รับผลในธรรมขั้นใดก็ต้องปรากฏขึ้นเป็นขั้นๆ ตามแต่กำลังความสามารถของตนจะพิจารณาได้ในธรรมขั้นไหน เพราะเหตุนั้นผลจึงปรากฏขึ้นว่าเป็น พระโสดาบ้าง เป็นพระสกิทาคาบ้าง เป็นพระอนาคาบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง อย่างนี้

การพิจารณาสติปัฏฐาน ทั้งสี่ก็ดี การพิจารณาในอริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี อย่าพึงทราบว่าเป็นคนละทางและอย่าพึงทราบว่าเป็นคนละประเภท เป็นคนละหน้าที่ ต่างกันตั้งแต่ชื่อเท่านั้น ในหลักธรรมชาติแล้วเป็นอันเดียวกัน กายก็ ทุกฺขํอริยสจฺจํ ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ นี้เรียกว่ากาย การพิจารณาในความทุกข์ความลำบากความทรมานของกายนี้ ก็จัดเป็นกายานุปัสสนาด้วย

เป็นทุกขสัจด้วย การพิจารณาถึงเรื่องเวทนา ที่เกิดขึ้นทั้งส่วนแห่งกาย ทั้งส่วนแห่งใจ ก็จัดว่าเป็นการพิจารณาเพื่อจะรื้อถอนถึงเรื่องของสมุทัยและทุกข์ทั้งหลาย ที่ปรากฏขึ้นเป็นตัวผลในส่วนแห่งกายก็ดี ในส่วนแห่งจิตก็ดี นี้เป็นเรื่องของทุกข์ การพิจารณาเพื่อจะรู้สาเหตุแห่งความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นมาจากอะไร นี่เป็นอุบายที่จะถอนสมุทัยซึ่งเป็นรากสำคัญอยู่ภายในใจพร้อมๆ กันไปแล้ว

เพราะเหตุนั้นอริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี เรื่องสติปัฏฐานธรรมทั้งสี่ก็ดี พึงทราบว่าธรรมชาตินี้เป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น ถ้าจะเทียบอุปมาแล้วก็เหมือนดังกับว่า กายของเราทั้งหมดนี้ เราให้ชื่อว่าข้างหน้าข้างหนึ่ง ข้างหลังอย่างหนึ่ง ข้างซ้ายอย่างหนึ่ง ข้างขวาอย่างหนึ่ง ข้างบนอย่างหนึ่ง ข้างล่างอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าข้างบนที่ไหนนอกไปจากกาย ข้างล่างที่ไหนนอกไปจากกาย ข้างหน้าข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวาที่ไหนนอกไปจากกายอันนี้ ออกจากกายอันเดียวกันทั้งนั้น เพราะเหตุนั้นลักษณะอาการที่ท่านว่าในอริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี สติปัฏฐานธรรมทั้งสี่ก็ดี พึงทราบว่าออกจากธรรมชาติอันเดียวนี้

เมื่อปัญญาของเราได้พิจารณาให้เห็นชัดในส่วนรูป เรียกว่ากายานุปัสสนา ให้เห็นชัดตามเป็นจริงเพราะอำนาจของปัญญา เราพิจารณาไม่หยุดยั้งแล้ว ความปล่อยวางในกายนี้ก็จะปรากฏขึ้นชัดภายในจิตใจของเรา เรียกว่าถอนอุปาทานของกายเสียได้ เมื่อพิจารณาถึงเรื่องเวทนาทั้งสามให้เห็นชัดตามเป็นจริงเช่นเดียวกับส่วน แห่งกายนี้แล้ว สติ ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุง ความคิด วิญญาณ ความรับรู้ในสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เห็นชัดเช่นเดียวกันแล้ว ความปล่อยวางในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จากความเป็นตน จากความเป็นเรา เป็นของเรา ก็ต้องปล่อยวางเช่นเดียวกันกับเราปล่อยวางกายเช่นนั้น

การกล่าวมาทั้งหมดนี้ หรือการพิจารณาในสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านี้ พิจารณาตามขั้นของจิต ที่มีความเกี่ยวข้องติดมั่นพัวพันอยู่ในส่วนใด ก็ต้องคลี่คลายเปิดเผยให้จิตดูว่ามีอะไรบ้างอยู่ภายในนี้ เช่นอย่างพิจารณากาย เหตุที่จะพิจารณากาย ก็เนื่องจากว่าใจ ไปสำคัญกายนี้ว่าเป็นอะไรบ้างไม่รู้กี่ช่องกี่ทาง ไม่รู้กี่สมมุตินิยมที่ใจไปทำความหมายขึ้นจาก กาย ท่อนเดียวหรือก้อนเดียวนี้ว่าเป็นสัตว์บ้าง ว่าเป็นบุคคลบ้าง ว่าเป็นหญิง ว่าเป็นชายบ้าง ว่าเป็นของสวยของงามบ้าง ว่าเป็นที่น่ารักใคร่ชอบใจบ้าง เหล่านี้ล้วนแล้วตั้งแต่เกิดขึ้นเป็นความสำคัญที่เกี่ยวกับกายทั้งนั้น

เมื่อ ปัญญาได้คลี่คลายดูให้เห็นชัดว่า มีเราอยู่ที่ไหน มีเขาอยู่ที่ไหนในกายอันนี้ มีของสะอาดของสวยงามอยู่ที่ไหนมีของเที่ยงแท้ถาวรที่ไหน มีความเป็นของเที่ยงที่ไหน มีความไม่แปรอยู่ที่ไหน มี อตฺตา หิ อยู่ที่ไหนในส่วนแห่ง กายนี้ ชี้แจงแสดงโดยทางปัญญาให้ใจได้เห็นชัด ก็เทียบกับว่าคลี่คลายดูสิ่งปกปิดให้ใจได้เห็นชัด ให้ใจได้หายสงสัยในสิ่งเหล่านี้ ว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปตามจิตของตนมุ่งหวัง ว่าเป็นเราเป็นของเราเป็นต้น แล้วจิตก็จะปล่อยวางจากสภาพทั้งหลายเหล่านี้โดยอัตโนมัติของตนเอง

ไม่ต้องบังคับให้ถอดให้ถอนให้ปล่อยให้วางแต่อย่างใดเพราะจิตได้เห็นชอบตาม ปัญญาแล้ว นี่ปล่อยวางมาอย่างนี้ การพิจารณาเวทนา ก็คลี่คลายเช่นเดียวกันกับที่ส่วนกายนี้ให้จิตได้เห็นชัด คลี่คลายดูเวทนา ทั้งสาม สุข ทุกข์ เฉยๆ คลี่คลายดูสัญญาให้ชัด คลี่คลายดูสังขารให้ชัด คลี่คลายดูวิญญาณให้ชัด โดยลักษณะเช่นเดียวกันกับคลี่คลายในส่วนกายด้วยปัญญา ให้จิตได้ตรองตามปัญญา รู้ตามปัญญาที่ชี้ช่องบอกทาง ได้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนแล้ว ก็ไม่ต้องบังคับให้ถอดถอนจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้โดยความถือว่าเป็นเราเป็น ของเราเป็นต้นเสีย นี่เราก็ไม่ต้องบังคับอีกเช่นเดียวกัน

เพราะอำนาจของปัญญาได้หยั่งทราบทั่วถึงหมดแล้ว เปิดดูให้เห็นชัดไม่มีอันใดลี้ลับเพราะอำนาจของปัญญา จิตก็ถอนเข้ามาๆ กระแสของใจที่วิ่งอยู่ริกๆๆ ต่อสภาวะทั้งหลายเหล่านี้ พร้อมทั้งสัญญาที่มีความสำคัญมั่นหมายในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ก็เป็นอันถอดถอนมาพร้อมๆ กัน การเห็นโทษในสภาวธรรมทั้งหลาย เบื้องต้นก็ต้องเห็นโทษในสภาวธรรมเพราะเราไปเห็นคุณในสภาวธรรม แต่เมื่อได้พิจารณาในสภาวธรรมส่วนหยาบมี รูปเป็นต้นแล้ว ให้ชัดด้วยปัญญา สภาวะทั้งหลายเหล่านั้นก็หมดความลี้ลับ เป็นธรรมที่เปิดเผย เป็นสภาวธรรมที่เปิดเผยโดยทางปัญญา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อได้พิจารณาโดยทางปัญญาแล้ว ก็กลายเป็นธรรมที่เปิดเผยอีกเช่นเดียวกัน ยิ่งจะเห็นกระแสของใจที่เพ่นพ่านอยู่ทั้งวันทั้งคืน

เป็นเรื่องที่ว่า ตื่นเงาของตัวอยู่ตลอดเวลา ให้ชัดขึ้นแล้วในขณะนี้ แต่ก่อนถูกรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส และความสำคัญมั่นหมายในสิ่งเหล่านี้ เป็นเครื่องปกปิดกำบังกระแสของใจ จึงไปเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น กลายเป็นคุณ เป็นโทษ ไปเสียหมดโดยเราเป็นผู้บริสุทธิ์พุทโธแต่ผู้เดียว ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้หลงต่อผู้หลงนั่นเอง ต่อเมื่อได้คลี่คลายสภาวะทั้งเป็นฝ่ายรูป ทั้งเป็นฝ่ายนาม ให้ชัดเจนด้วยปัญญาอย่างไม่มีข้อสงสัยแล้ว ก็ยิ่งจะเห็นกระแสของใจ เห็นกระแสของใจชัด จนกระทั่งถึงเห็นรากฐานของอวิชชา ซึ่งเกิดขึ้นจากธรรมชาติที่รู้ๆ เป็นบ่อเกิดแห่งกระแสของใจนี้ ชัดเจนเข้าไปเช่นเดียวกับสภาวธรรมทั้งหลายแล้วเรียกว่าเปิดเผยขึ้นอีก

คลี่คลายดูความรู้ที่เป็นเจ้าวัฏจักร เป็นความรู้ที่โกหกนี้ให้เห็นชัดด้วยปัญญา ธรรมชาติอันนี้ก็เลยกลายเป็นความเปิดเผยขึ้นมาอีกไม่มีอันใดที่เหลือหลออยู่ เมื่อธรรมชาติอวิชชาที่เป็นความรู้ลี้ลับ เป็นความรู้ที่เต็มไปด้วยโกหกมายาสาไถย ให้เห็นชัดด้วยปัญญานี้แล้ว ธรรมชาติที่ลี้ลับ ธรรมชาติที่ละเอียดที่สุดได้แก่อวิชชา คือความรู้ที่เป็นเจ้าวัฏจักรอันนี้ได้แตกกระจายหรือเป็นธรรมที่เปิดเผยขึ้น มาแล้วนั้นแล เราจึงจะหมดปัญหาใดๆ ในเรื่องความปกปิดแห่งสภาวธรรมทั้งหลายก็ดี ในเรื่องความลุ่มหลงแห่งสภาวธรรมทั้งหลายก็ดี ไม่มีอันใดที่จะเหลือหลออยู่แล้ว จากนั้นไปแล้วธรรมชาติที่บริสุทธิ์พุทโธโดยไม่ต้องเสกสรรแต่อย่างใด ได้ปรากฏเด่นชัดขึ้นมา

ตามหลักธรรมชาติของตนอย่างแจ่มแจ้งแล้วนั้น เรื่องทั้งหลายจึงจะเป็นอันว่า เปิดเผยอยู่ ตลอดเวลา รูป ไม่เพียงแต่ว่ารูปหญิง รูปชาย รูปสัตว์ รูปบุคคล รูปสภาวะทั่วๆ ไป ทั่วทั้งจักรวาล นี้ กลายเป็นสิ่งที่เปิดเผยขึ้นมาพร้อม ๆ กัน นามก็เหมือนกัน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกๆ อย่างซึ่งไม่มองเห็นด้วยตาก็กลายเป็นธรรมที่เปิดเผยขึ้นมาพร้อมๆ กัน เพราะเหตุใด เพราะบ่อเกิดแห่งความลี้ลับได้แก่อวิชชานั้น ได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาแล้วอย่างชัดเจน ด้วยอำนาจ ของปัญญา สภาวะทั้งหลายทั่วไป ทั่วโลกธาตุนี้ จึงเป็นอันว่ายุติ ไม่ได้เกิดเรื่อง เกิดราว กับจิตใจของเราต่อไปแล้ว วัฏจักรเป็นอันว่ายุติกันลงได้ในจุดนี้เอง ต่อจากนั้นไป ก็ไม่มีอะไร ที่จะเป็นสิ่งลี้ลับต่อใจ ดวงนี้ไปได้อีกแล้ว

ตามภาษาบาลีท่านกล่าวไว้ว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ, กตํ กรณียํ หมดกิจในพระศาสนา หมดทั้งความบำเพ็ญเพื่อ ใจดวงนี้ให้เจริญยิ่งขึ้นไปอย่างไรอีก หมดทั้งการละ การถอน ความลี้ลับ หรือปิดบังอันใดต่อไปอีกไม่มี เป็นอันว่าสภาวะทั้งหลาย ได้เปิดเผยเสียทุกอย่าง พร้อมทั้งความบริสุทธิ์พุทโธนั้น ก็ได้เปิดขึ้นมาพร้อมๆ กันกับสภาวธรรมทั้งหลายได้เปิดขึ้นมา นี่เรียกว่าธรรมเปิดเผย วัฏจักรก็ได้เปิดเผย วิวัฏจักรก็ได้เปิดเผยขึ้นในขณะเดียวกัน นี่ผลแห่งการปฏิบัติ ผลแห่งการตั้งจิต ตั้งใจ เริ่มตั้งสติ ปัญญา เริ่มจำเพาะเจาะจง เริ่มอุตส่าห์พยายามบำเพ็ญตนของตน ด้วยความจำเพาะเจาะจง

ด้วยความตั้งอกตั้งใจ ตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งถึงธรรมที่เปิดเผยไปเสียทั้งสิ้น ไม่มีอันใดลี้ลับในโลกธาตุนี้ แม้แต่ว่า วิวัฏฏะ ที่เรียกว่าพระนิพพานนั้นก็เป็นการเปิดเผยขึ้นมาพร้อมๆ กันเรียกว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ เพราะเหตุนั้นบรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายให้พึง โอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ตัวของตัวทั้งหมด ในบรรดาธรรมทั้งหลายที่ได้อธิบายมานี้ เวลานี้ เรากำลังอยู่ในความลี้ลับ อันใดก็ลี้ลับเสียทั้งนั้น สำหรับเราซึ่งกำลังลุ่มหลงอยู่ รูปจะเป็นรูปชั่วก็ตาม รูปดีก็ตาม มันให้เกิดได้ทั้งความดีใจ และเสียใจ สิ่งเหล่านั้นจึงกลายเป็นของลี้ลับ

เพราะธรรมชาติอันหนึ่งซึ่งเป็นของใหญ่โตที่สุด แต่เราไม่มองเห็นด้วยตา และไม่สามารถที่จะรู้ได้ด้วยใจด้วย นั้นคืออวิชชาแต่มันก็อยู่กับใจนั่นเองแต่เราไม่สามารถที่จะรู้ ธรรมชาตินั้นเป็นธรรมที่ลี้ลับที่สุด สิ่งทั้งหลาย ซึ่งเป็นบริษัทบริวาร ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาตินั้น เลยกลายเป็นของลี้ลับไปตามๆ กัน พอธรรมชาตินี้ได้ถูกเปิดเผยขึ้นแล้ว ด้วยปัญญาเท่านั้น สภาวธรรมทั้งหลายก็ได้เปิดเผยหมด จนกระทั่งถึงวิวัฏฏะ คือพระนิพพานเสียเอง ก็ถูกเปิดเผยไปพร้อมๆ กัน

นี่ท่านแนะการปฏิบัติเพื่อความเปิดเผยอย่างนี้ เราทำข้อวัตรปฏิบัติทุกชิ้นทุกอันก็ตาม เพื่อความเปิดเผย ทั้งสิ่งที่เป็นวัฏฏะ ทั้งสิ่งที่เป็นวิวัฏฏะ ขอให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย ได้กำหนดพินิจพิจารณาเข้ามาสู่ตนของตนเสมอ ให้เป็นผู้มีความเป็นอยู่ด้วยสติ ด้วยปัญญา ทุกอิริยาบถ พวกท่านทั้งหลาย จะได้เห็นความเปิดเผยทั้ง วัฏจักรด้วย ทั้งวิวัฏจักรด้วย ใน สนฺทิฏฺฐิโก ความเห็นเองของบรรดาท่านทั้งหลายเอง

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ขอบุญญานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค เจ้า ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ จงดลบันดาลให้บรรดาท่านทั้งหลายให้มีความเจริญงอกงาม

ที่มาhttp://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9276 ขอบคุณครับ

161
 รูปไม่ค่อยชัดนะครับ ถ่ายจากมือถือ








162
  พระนางยโสธรา (พระนางพิมพา หรือพระนางยโสธราพิมพา) ประสูติวันเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะ (พระโคตมพุทธเจ้า) ซึ่งพระนาง จึงนับเป็น 1 ในสหชาติทั้ง 7 ของพระพุทธเจ้าซึ่งประกอบด้วย พระนางพิมพา พระอานนท์ นายฉันนะ กาฬุทายีอำมาตย์ ม้ากัณฑกะ ต้นมหาโพธิ และขุมทรัพย์ทั้งสี่


  พระนางยโสธราเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ และพระมารดามีพระนามว่า พระนางอมิตาเทวี เกิดในในตระกูลศากยะแห่งโกลิยวงศ์ เมืองเทวทหะ เมื่อแรกประสูติญาติทั้งหลายได้ทรงถวายนามว่า "ภัททากัจจานา" เพราะพระสรีระของพระนาง มีพระฉวีวรรณสีเหมือนทองคำอันบริสุทธิ์ พอมีพระชนม์ 16 พรรษา ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ(พระพุทธเจ้า) เมื่อมีพระชนม์ 29 พรรษาได้ ประสูติราชโอรส โดยพระเจ้าสุทโธทนะให้พระนามว่า พระราหุล


  ครั้นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช พระนางยโสธราเกิดความเศร้าโศกพระทัยยิ่งนัก ได้ทรงละเว้นการตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับนานาประการ ทรงมีจิตผูกพัน และมีความรักอันลึกซึ้งต่อพระองค์ แม้วัฒนธรรมอินเดีย ในยุคนั้นจะถือว่า หญิงไม่มีสามีจะถือว่าไม่มีเกียรติ และหญิงนั้นสามารถมีสามีใหม่ได้ แต่พระนางพิมพาก็ไม่สนใจชายอื่นเลย พระนางยังคงเฝ้ารอพระสวามีของพระนางเพียงพระองค์เดียว จนกล่าวได้ว่า
"คราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะนุ่งห่มผ้าย้อมฝาด พระนางก็เปลี่ยนชุดทรงมานุ่งห่มผ้าย้อมฝาดด้วย คราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงบรรทมบนพื้นไม้ พระนางก็บรรทมบนพื้นไม้ได้วย คราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงอดพระกระยาหาร พระนางก็ทรงอดพระกระยาหารด้วย ไม่ว่าจะได้ข่าวว่าพระสวามีปฏิบัติตนอย่างไร พระนางพิมพาก็ปฏิบัติตนเยี่ยงนั้น"


และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์เพื่อ โปรดพระประยูรญาติ ในวันแรกพระนางมิได้ออกไปต้อนรับ แต่ในวันที่สอง ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จออกทรงรับบาตร พระนางยโสธราชี้ให้พระราหุลได้ทอดพระเนตรพระบิดาของพระองค์แต่มิได้ออกไปทรง บาตร ทรงเก็บตัวอยู่ในตำหนัก และในวันที่สอง เมื่อพระพุทธเจ้ารับภัตตาหารในพระราชวังเสร็จ พระองค์จึงเสด็จไปโปรดพระนางพิมพาในตำหนัก เมื่อพระนางได้พบถึงกับเข้ามากอดพระบาทร่ำไห้รำพันอย่างน่าสงสาร แต่พระพุทธองค์ก็ทรงเทศนาให้พระนางดำรงสติไว้ได้ และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเทศนาพระประยูรญาติแล้ว พระนางพิมพาก็รับสั่งให้ราหุลราชโอรสตามเสด็จพระพุทธเจ้าเพื่อทูลขอราช สมบัติ พระพุทธเจ้าจึงทรงบรรพชาราหุลเป็นสามเณรและให้เสด็จติดตามพระองค์ไปด้วย


หลังจากที่พระนางอยู่ในตำหนัก 3 ปี พระเจ้าสุทโธทนะก็เสด็จสวรรคต และได้ทำพิธีให้เจ้าชายมหานามะขึ้นครองราชย์สมบัติสืบแทน พระนางยโสธราพิมพาจึงออกบวชกับมาตุคาม 1,100 คน ประมาณพรรษาที่ 5 แห่งพระผู้มีพระภาค ขอบรรพชาในสำนักของพระศาสดา พระนางยโสธราพิมพา ไปยังสำนักของพระเถรี ได้รับคุรุธรรม 8 บวชแล้ว เมื่อมีพระชนมายุ 40 พรรษา มีพระนามว่า "ภัททากัจจานา"


  พระภัททากัจจานาเถรี (ยโสธา) บรรลุอรหัต ต่อมา รับกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าและเจริญวิปัสสนายังไม่ทันถึง 15 วัน ก็บรรลุพระอรหัต พระนางเป็นผู้ช่ำชองชำนาญในอภิญญาทั้งหลายระลึกชาติได้ถึงอสงไขยหนึ่งยิ่งด้วยแสนกัปโดยการระลึกถึงเพียงครั้งเดียว เมื่อทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระเถรีนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าภิกษุณีสาวิกาผู้บรรลุอภิญญาใหญ่


     พระนางภัททากัจจานาเถรีนิพพานในพรรษาที่ 43 แห่งพระผู้มีพระภาค มีพระชนมายุได้ 78 พรรษา

163
รวมสมาชิก (มิตรไมตรี) / สัญญากรรม
« เมื่อ: 18 ส.ค. 2553, 02:08:52 »
   เคยได้ยินคำว่า "สัญญากรรม" ไหมครับ หากจะกล่าวกันตรงๆ แบบเข้าใจง่าย สัญญากรรม ก็คือ ผลแห่งกรรมนั่นแหละครับ หากจะกล่าวให้ละเอียดขึ้น ก็คือ ผลแห่งกรรมที่ก่อให้เกิดพันธะข้อผูกมัด หรือก่อให้เกิดความสัมพันธ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพันธะหรือความสัมพันธ์ (ทั้งด้านดีหรือไม่ดี) ต่อผู้หนึ่งผู้ใด กลุ่มหนึ่งกลุ่มใด หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง

  คนบางคนสัญญากรรมซับซ้อนมาก เพราะเกิดบ่อย และเกิดมาแต่ละชาติก็ทำแต่ความดีเป็นส่วนใหญ่ การทำความดีก็ต้องไปเกี่ยวข้องกับบุคคลและสถานที่ ยิ่งหลากหลาย สัญญากรรมก็ยิ่งซับซ้อน ถือว่าเป็นสัญญากรรมฝ่ายดี

   เมื่อสัญญากรรมฝ่ายดีตามทัน ก็ทำให้คนผู้นั้นไปรู้จักกับคนนั้นคนนี้ ต้องกลับไปสร้างบุญสร้างกุศลกับคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ หรือต้องเดินทางไป ณ จุดนั้นจุดนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่ที่ไหนเลย หากแต่เป็นที่ๆคนผู้นั้นเคยมีสัญญากรรมมานาน นานเสียจนอาจลืมไปแล้ว แต่สัญญากรรมก็ยังคงมีอยู่ สัญญากรรมไม่เคยเป็นฝ่ายลืมเรา ตราบใดที่เรายังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิด เราเสียอีกกลับเป็นฝ่ายลืมเลือนสัญญากรรมนั้น จนกระทั่งต้องให้สัญญากรรมาเตือน แต่ก็ไม่ใช่ว่าเมื่อสัญญากรรมเตือนเราแล้ว จะทำให้เรารู้ระลึกหรือเข้าใจได้เสมอไป ตรงกันข้าม อาจทำให้เรางุนงงสงสัยไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ หรืออาจคิดได้เพียงแค่ว่า "ซวยจริงๆ"

และถึงแม้เราจะสร้างบุญสร้างกุศลมากเพียงใดก็ตาม ตราบใดที่กิเลสยังครอบงำใจเราอยู่ เราก็ยังมีโอกาสทำกรรม มีโอกาสลุ่มหลงมัวเมา เมื่อเราทำผิดพลาดไป ก็จะก่อให้เกิดสัญญากรรมฝ่ายไม่ดี รอเวลาให้เราชดใช้หนี้กรรมนั้น


164
      อานนท์ อย่าคร่ำครวญนักเลย เราเคยบอกไว้แล้วมิใช่หรือว่า บุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจเป็นธรรมดา

ในโลกนี้หรือในโลกไหนๆก็ตาม ไม่มีอะไรยั่งยืนถาวรเลย สิ่งทั้งหลายมีการเกิดย่อมมีการดับเป็นธรรมดา เป็นที่สุด ไม่มีอะไรยับยั้งต้านทานได้

อานนท์ เธอเป็นผู้มีบารมีธรรมที่สร้างสมมาแล้วมาก เธอเป็นผู้มีบุญที่ได้กระทำแล้วมาก เธออย่าได้เศร้าโศรกอย่าเสียใจเลย กิจอันใดที่ควรกระทำแก่ตถาคต เธอได้กระทำกิจนั้นอย่างสมบูรณ์แล้ว ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตาอย่างยอดเยี่ยม จงประกอบความเพียรเถิด เมื่อตถาคตล่วงลับไปแล้ว เธอจะต้องสำเร็จอรหัตตผล เป็นพระอรหันต์ในไม่ช้า

ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นบัณฑิตเป็นผู้รอบรู้ และอุปัฏฐากเราอย่างยอดเยี่ยม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีตและอนาคต ซึ่งมีภิกษุเป็นผู้อุปัฏฐากนั้น ก็ไม่ดีเกินไปกว่าอานนท์ อานนท์เป็นผู้ดำเนินกิจด้วยปัญญา รู้กาลที่ควรไม่ควร รู้กาลที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มาเฝ้าเรา ว่ากาลนี้สำหรับกษัตริย์ กาลนี้สำหรับราชามหาอำมาตย์ กาลนี้สำหรับคนทั่วไป ควรได้รับการยกย่องนานาประการ มีคุณธรรมน่าอัศจรรย์ ก็อยากเห็นอยากสนทนาด้วยอยากฟังธรรมของอานนท์ เมื่อฟังก็มีจิตใจเพลิดเพลิน ยินดีในธรรมที่อานนท์แสดง ไม่อิ่มไม่เบื่อด้วยธรรมวารีรส ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นบุคคลที่หาได้ยากผู้หนึ่ง

                  เหตุแห่งคำตรัส : พระอานนทเถระ

เ       มื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องการพิธีถวายพระเพลิงศพกับพุทธสรีระแล้ว พระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากตระหนักแน่ชัดแล้วว่า พระพุทธองค์ต้องเสด็จ ดับขันธปรินิพพานในไม่ช้านี้ก็สุดจะทำใจได้ เพราะท่านบรรลุเพียงโสดาปัตติผล เป็นเสขบุคคล ที่ยังไม่สามารถบรรลุอรหัตตผลได้ บัดนี้พระพุทธองค์จะมาเสด็จจากไป เหมือนปล่อยให้เด็กน้อยที่เพิ่งหัดเดินทิ้งไว้แต่ลำพัง ความหวังที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์เล่าจะเป็นเช่นใด

พระพุทธองค์เมื่อไม่เห็นพระอานนท์ก็ถามถึง และให้ไปตามมาเฝ้า จึงเป็นเหตุแห่งคำตรัสพยากรณ์แก่พระอานนท์ และตรัสสรรญเสริญกับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ดังคำตรัสข้างต้น

166
                                              จารึกพระคุณแม่

                         พระคุณแม่     นั้นประมาณ     ไม่สิ้นสุด
                     แม้สมมติ           เอาแผ่นดิน      สิ้นแห่งหน
                     เป็นหมึกก้น        ผ่อนละลาย      ในสายชล
                     ให้ทั่วหน           แห่งสมุทร       สุดนที

                        แล้วเอาเขา     พระสุเมรุ         ที่เด่นหล้า
                     เอาปากกา         จุ่มหมึก           บันทึกที่
                     เอาท้องฟ้า        เป็นกระดาษ      วาดคดี
                     แล้วเขียนชี้        ชมบุญ             คุณมารดา

                       เขียนจนสิ้น      ดินฟ้า             มหาสมุทร
                     เขียนจนสุด        พระสุเมรุ         ที่เด่นหล้า
                     แต่ไม่สุด           สิ้นบุญ            คุณมารดา
                     จึงนับว่า            ใหญ่ยิ่ง           สิ่งทั้งปวง                       

167
                                   แผ่เมตตาให้ตนเอง

             อะหัง สุขิโต โหมิ                ขอให้ข้าพเจ้าจงมีแต่ความสุข
             อะหัง นิททุกโข โหมิ            ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์
             อะหัง อะเวโร  โหมิ              ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวรและกรรม
             อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ        ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความลำบาก
             อะหัง อะนีโฆ โหมิ              ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรค อันตราย
             สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ         ขอให้ข้าพเจ้าจงมีสติสัมปะชัญญะอยู่ทุกเมื่อ รักษากาย วาจา
         ใจ ให้พ้นจากความทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด 

168
รวมสมาชิก (มิตรไมตรี) / ปลงตก
« เมื่อ: 16 ก.ค. 2553, 08:51:14 »
                                         ปลงตก

             ยศและลาภ          หาบไป           ไม่ได้แน่
             เว้นเสียแต่           ต้นทุน             บุญกุศล
             ทิ้งสมบัติ             ทั้งหลาย         ให้ปวงชน
             ร่างของตน           เขายังเอา        ไปเผาไฟฯ     

169
รวมสมาชิก (มิตรไมตรี) / บท คำเตือน
« เมื่อ: 15 ก.ค. 2553, 08:38:32 »
          มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ เหมือนปลาที่ว่ายอยู่ในตู้ ว่ายวนเวียนไปมาไม่รู้จบ จะไม่สามารถหลุดพ้นจากตู้ได้นอกจากความตายหรือหลุมศพนั่นเอง มนุษย์ทุกชีวิตจะต้อง เกิด แก่ เจ้บ และตาย เป็นของแน่นอนที่สุด แล้วทำไม จึงต้องมากลั่นแกล้งกัน ทะเลาะกัน เกลียดชังกัน อิจฉาริษยากันเพื่ออะไร ทำไมไม่อภัยให้ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดสุข จิตจะได้สงบไม่กลุ้มใจ ทำให้ประสาทไม่ตึงเครียด ดังนั้นเรามาร่วมกันหันเข้าหาธรรมะเพื่อจะได้มีจิตสงบ สบาย คลายทุกข์และจะได้ละ โลภ โกรธ หลง เพื่อตัดกิเลส พวกอยากดัง อยากเด่น อยากสวย อยากรวย อยากได้เกียรติยศล้วนแต่เมื่อได้มาแล้ว ไม่จีรังยั่งยืนตลอดไป เมื่อได้แล้วถึงเวลาก็เสื่อมได้เช่นกัน
          ดังนั้น จงปลงเสียเถิดแล้วจะอยู่อย่างสุขสบายโดยรีบสร้างความดีตั้งแต่วันนี้ พรุ่งนี้อาจไม่มีเวลาสร้าง
       

               ชีวิต เกิด แก่ เจ็บตาย เป็นสิ่งที่แน่นอน ต้องละความชั่ว หมั่นทำความดี

170
มีใครรู้วันเกิดหลวงพี่แป๊วบ้างครับ บอกด้วยนะครับ

171
                           ของฝากสำหรับท่านที่เป็นลูกทั้งหลาย
     
            พ่อแม่ก็แก่เฒ่า                    จำจากเจ้าไม่อยู่นาน
   จะพบจะพ้องพาน                          เพียงเสี้ยววารของคืนวัน
            ใจจริงไม่อยากจาก               เพราะยังอยากเห็นลูกหลาน
   แต่ชีพมิทนทาน                           ย่อมร้าวรานสลายไป
            ขอเถิดถ้าสงสาร                  อย่ากล่าวขานให้ช้ำใจ
   คนแก่ชราวัย                               ย่อมเผลอไผลเป็นแน่นอน
            ไม่รักก็ไม่ว่า                      เพียงเมตตาช่วยอาทร
  ให้กินและให้นอน                          คลายทุกข์ผ่อนพอสุขใจ
            เมื่อยามเจ้าโกรธบึ้ง              ให้นึกถึงเมื่อเยาว์วัย
  ร้องให้ยามป่วยไข้                          ได้ใครเล่าเฝ้าปลอบโยน
            เฝ้าเลี้ยงจนเติบใหญ่              แม้นเหนื่อยกายก็ยอมทน
  หวังเพียงจะได้ผล                          เติบโตจนสง่างาม
            ขอโทษถ้าทำผิด                 ขอให้คิดทุกโมงยาม
  ใจแท้มีแต่ความ                            หวังคอยช่วยอำนวยชัย
            ต้นไม้ที่ใกล้ฝั่ง                   มีหรือหวังอยู่ได้
  วันหนึ่งคงล้มไป                            ทิ้งฝั่งไว้ให้วังเวง

172
หน้าที่ของลูกนี้เมื่อกล่าวโดยย่อ มีอยู่ 7 ข้อ คือ
 1. พ่อแม่ได้เลี้ยงเรามาแล้ว เราก็เลี้ยงท่านตอบ
 2. ช่วยทำกิจการงานของพ่อแม่
 3. ดำรงวงศ์ตระกูลของพ่อแม่
 4. ประพฤติตนให้เป็นคนสมควรรับทรัพย์ มรดกของพ่อแม่
 5. เมื่อพ่อแม่ล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศให้ท่าน
 6. มั่นอยู่ในกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่
 7. เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ในทางที่ถูกต้องโดยเคร่งครัด
 
          พระธรรมสิงหบุราจารย์ ( หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จ. สิงห์บุรี )

173
ยันต์กบมีพุทธคุณด้านไหนครับ

174
พรุ่งนี้ใครไปวัดบ้างครับ เจอกันที่กุฎีหลวงพี่แป๊วทักกันบ้างนะครับ

175
คำเทศนาของสมเด็จพุฒจารย์ โต พรหมรังสี
                                     " บุญเราไม่เคยสร้าง ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า "
 ลูกเอ๋ย ก่อนจะไปเที่ยวขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือ บารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอ จึงค่อยขอบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่เที่ยวไปขอยืมมาจนล้นตัว เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมาก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมดไม่มีอะไรเหลือติดตัว แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า หมั่นสร้างบารมีไว้ แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง จงจำไว้นะ เมื่อยังไม่ถึงเวลา เทพเจ้าองค์ใดจะช่วยเจ้าไม่ได้ ครั้งถึงเวลาทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่ จงอย่าเร่งเทวดา ฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลย จะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า

176
รบกวนสอบถามยันต์ปลาตะเพียนมีพุทธคุณด้านไหนครับ

177
ผมได้ยันต์หน้าเสือไปแต่ไม่รู้ว่ามีพุทธคุณด้านไหน รบกวนพี่ๆน้องๆ บอกความหมายให้ทีครับ ขอบคุณครับ

178
รวมสมาชิก (มิตรไมตรี) / ยันต์สามยอด
« เมื่อ: 04 มิ.ย. 2553, 08:38:19 »
ยันต์สามยอด มีความหมายว่าอย่างไรครับ ผมพึงได้มา

หน้า: [1]