ผู้เขียน หัวข้อ: พระครูโพธิสารคุณ (หลวงพ่อนวล) วัดโพธิ์ บางระมาด ตลิ่งชัน กทม.  (อ่าน 17030 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)

  • *โปรดระวัง - สีลัพพตปรามาส, ๗ เดือน ๑๙ วันจะเก็บแต่ความทรงจำที่ดีๆไว้, ตถตา (เช่นนั้นเอง).
  • ...
  • *****
  • กระทู้: 6436
  • เพศ: ชาย
  • ผู้สอนคือผู้ลวง? ผู้เรียนคือผู้หัดที่จะลวง?
    • ดูรายละเอียด
    • เฟสบุ๊ควัดบางพระ (หลวงพ่อเปิ่น)


ประวัติหลวงพ่อนวล
           พระครูโพธิสารคุณ (นวล ธมฺมธโร) นามสกุล สุดใจแจ่ม เกิดวัน ๖ฯ๘ ค่ำ ปีฉลู วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๓๒ ที่ตำบลบางขันแตก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรนายพลู นางทรัพย์ สุดใจแจ่ม มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา ๑๐ คน หลวงพ่อนวลเป็นบุตรคนที่ ๘


การศึกษาและรับราชการ
           เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษาหนังสือไทยสำเร็จชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ และรับราชการมียศเป็นนายดาบ ผู้บังคับหมวดทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์


การศึกษาพุทธาคม
           ปฐมเหตุที่หลวงพ่อนวลมีความสนใจศึกษาพุทธาคม สืบเนื่องมาจาก เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ ขณะรับราชการ หลวงพ่อนวลได้ล้มป่วยลง ได้ทราบกิตติศัพท์ความเก่งกล้าสามารถของหลวงพ่อปาน จึงไปยังวัดบางนมโค และขอให้หลวงพ่อปานรักษาโรคให้จนหายขาด หลวงพ่อนวลมีความเลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อปาน จึงฝากตัวเป็นศิษย์ ขอร่ำเรียนวิชาเวชศาสตร์แพทย์แผนโบราณ จนสามารถนำมาช่วยเหลือรักษาผู้เจ็บป่วยได้มากมาย เมื่อมาบวชอยู่ที่วัดโพธิ์ นอกจากนี้หลวงพ่อนวลยังได้ขอเป็นศิษย์ศึกษาพุทธาคมทุกแขนงจากหลวงพ่อปาน ได้เรียนทางด้านเจริญกรรมฐาน วิชาลบผงทำผงวิเศษตามตำรับของหลวงพ่อปาน วิธีทำของขลัง การลงยันต์ทอและยันต์เกราะเพชร อันเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อปาน หลวงพ่อนวลศึกษาอยู่กับหลวงพ่อปานจนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๔ เป็นเวลา ๕ ปีเต็ม จึงลาออกจากราชการมาอุปสมบทที่วัดโพธิ์ บางระมาด กรุงเทพมหานคร เมื่ออยู่ที่วัดโพธิ์ก็ศึกษาพุทธาคมกับหลวงพ่อนิ่ม ที่วัดโพธิ์ ส่วนหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อยุธยานั้น หลวงพ่อนวลได้รับการประสิทธิประสาทวิชาอาคม เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐





           ฉะนั้น จากลำดับการศึกษาพุทธาคมของหลวงพ่อนวล จากพระคณาจารย์ที่สูงด้วยวิทยาคมดังกล่าวมาแล้ว จึงไม่มีข้อสงสัยเคลือบแคลงใดๆ เลยว่า หลวงพ่อนวลจะสูงด้วยวิทยาคมเพียงใด อนึ่ง พระอาจารย์ผู้ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมสืบต่อจากหลวงพ่อนวล และได้ร่วมสร้างวัตถุมงคลกับหลวงพ่อนวลมาโดยตลอด คือ พระอาจารย์บุญมาก สัญญโม พระอาจารย์บุญมาก ท่านนี้ มีส่วนสำคัญในการสร้างวัตถุมงคลรุ่น พ.ศ.๒๕๓๕ ของวัดโพธิ์ เพื่อนำรายได้สร้างอุโบสถด้วย

อุปสมบท
           เมื่อลาออกจากราชการแล้ว อุปสมบทที่วัดโพธิ์ ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๗๔

           พระครูภาวนาภิรมย์ (พลอย) เจ้าอาวาสวัดรัชฏาธิฐาน ธนบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

           พระอาจารย์นิ่ม พุทฺธสโร วัดโพธิ์ และพระอธิการผาด ธมฺมชโต เจ้าอาวาสวัดทอง เป็นพระกรรมวาจาอนุสาวนาจารย์ มีนามฉายาว่า “ธมฺมธโร”

           หลวงพ่อนวล ได้บำเพ็ญอุปัชฌาย์วัตรและอาจริยวัตรตามหน้าที่พระนวกะ บำเพ็ญสมณกิจตามระเบียบของสำนักศึกษาคันถธุระและวิปัสสนาธุระ เอาใจใส่ต่อการศึกษาด้วยความวิริยะอุตสาหะ สอบประโยคนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ได้ในสนามหลวง สำนักเรียนวัดกาญจนสิงหาสน์ในปี พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๘๓ และ ๒๔๘๗ ตามลำดับ

           หลวงพ่อนวลเป็นผู้ตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรม เมตตากรุณาสงเคราะห์แก่ญาติมิตรศิษยานุศิษย์ทั้งใกล้ชิดและห่างไกล ด้วยอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน สงเคราะห์ศิษย์ด้วยอามิสและธรรม ตั้งอยู่ในสังคมธรรมและสาราณียธรรมเป็นประจำ เนื่องจากหลวงพ่อนวลได้รับการศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ฉะนั้น เมื่อพระภิกษุ สามเณร ในวัดอาพาธ ท่านได้ปรุงยารักษาช่วยทำการปฐมพยาบาลอุบาสกอุบาสิกาที่มาฟังธรรม รักษาศีลในวัด ป่วยไข้ไปขอยาแก้โรค ท่านก็จัดให้โดยฐานเมตตานุเคราะห์ จนได้จัดสร้างอนามัย ๒ ชั้นขึ้นในวัด ด้วยทุนส่วนตัวและบอบุญเรี่ยไร การงานที่ท่านได้ปฏิบัติมาตั้งแต่เป็นพระอันดับจนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส


งานปกครอง
           พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ พ.ศ.๒๔๘๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปกครองบริหารกิจการของวัดตามพระธรรมวินัย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ตามอำนาจหน้าที่เรียบร้อยตลอดมา


งานศึกษา
           พ.ศ.๒๔๘๒ ตั้งสำนักศาสนศึกษาทั้งธรรมทั้งบาลีขึ้นในวัด สงเคราะห์พระภิกษุสามเณรปกครองและวัดที่ใกล้เคียงให้ได้รับความสะดวกในการศึกษาปริยัติธรรม หลวงพ่อนวลท่านเป็นครูสอนปริยัติธรรมด้วยตนเอง พ.ศ.๒๔๘๔ เปิดสอนบาลีโดยขอครูสอนบาลีจากท่านเจ้าคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ วัดอนงคาราม ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระมงคลเทพมุนี เจ้าคณะอำเภอตลิ่งชันสมัยนั้น ท่านเจ้าคุณฯ ได้จัดส่งพระเปรียญมาเป็นครูสอนบาลีประจำสำนักวัดโพธิ์ หลวงพ่อนวลได้จัดส่งนักเรียนธรรมเข้าสอบในสนามหลวงประจำปี สังกัดสำนักเรียน วัดกาญจนสิงหาสน์ ธนบุรี สอบไล่ได้ทุกปีเสมอมา พระภิกษุสามเณรสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรนักธรรมของสนามหลวง สอบไล่ได้เป็นเปรียญ ๓ รูป การศาสนศึกษาซึ่งไม่เคยมีแต่เก่าก่อน หลวงพ่อนวลได้จัดให้มีขึ้นทั้งธรรมทั้งบาลี ทำให้วัดนี้เจริญก้าวหน้าทั้งฝ่ายปริยัติทั้งฝ่ายบริหาร พระภิกษุสามเณรในวัดผู้สมัครเรียนธรรมและบาลีได้สร้างหลักสูตรอุปกรณ์การศึกษาแจกพระภิกษุสามเณรอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษา ส่วนในด้านการศึกษาวิทยาการทางโลก ท่านเป็นผู้อุปการะโรงเรียนประชาบาล ซึ่งตั้งอยู่ในวัดด้วยอุปกรณ์การศึกษา อำนวยความสะดวกแก่โรงเรียน พ.ศ.๒๔๘๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการศึกษา พ.ศ.๒๔๙๙ จัดหาที่ดินสร้างโรงเรียนมัธยมวิสามัญศึกษา มีผู้ศรัทธาบริจาคที่นาจำนวน ๔ ไร่ ๒ งาน ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของวัด เจ้าของที่ดินถวายเป็นศาสนสมบัติของวัดโพธิ์ สำหรับสร้างโรงเรียน พ.ศ.๒๔๘๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวง


งานเผยแผ่
           ท่านได้ทำการเผยแผ่พระศาสนาด้วยวิธีการแสดงธรรมประจำวันธรรมสวนะและอบรมพระภิกษุสามเณรในปกครองสั่งสอนศีลธรรมจรรยา แก่นักเรียนโรงเรียนประชาบาล โรงเรียนมัธยมศึกษาวิสามัญ ที่ตั้งอยู่ในวัดเป็นประจำ มีอุบาสก อุบาสิกา รักษาศีล ฟังธรรม ประจำวันธรรมสวนะ พระครูโพธิสารคุณเทศนาสั่งสอนเรื่องศีลและวัฒนธรรม บางคราวท่านได้ใช้วิธีสั่งสอนให้เส้นสิ่งที่ควรเว้น ทำสิ่งที่ควรทำแนะนำในทางสุปฏิบัติมีผู้เลื่อมใสยอมรับนับถือปฏิบัตินับว่าได้ผลในด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอันมาก




พระประธานในอุโบสถหลังเก่า วัดโพธิ์ บางระมาด กทม.


งานสาธารณูปการ
           วัดโพธิ์เป็นวัดโบราณ เสนาสนะถาวรวัตถุมีอุโบสถเป็นต้น ชำรุดทรุดโทรมมาก เพราะสร้างมานานปีโดยภัยธรรมชาติ นับแต่หลวงพ่อนวลดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์ของเก่าและสร้างขึ้นใหม่ ปรากฏตามบัญชีก่อสร้างปฏิสังขรณ์ดังนี้

           พ.ศ.๒๔๗๔ สร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ๑ สาย กว้าง ๑.๐๐ เมตร ยาว ๒๐.๐๐ เมตร สิ้นเงิน ๙๐.๐๐ บาท

           พ.ศ.๒๔๗๕ สร้างวิหารคอมกรีต ๒ ชั้น จัตุรมุขหลังคาสร้างเป็นยอดเจดีย์ กว้าง ๖.๐๐ เมตร ยาว ๑๐.๐๐ เมตร ๑ หลัง ตั้งอยู่ที่กำแพงหน้าอุโบสถ สิ้นเงิน ๕,๐๐๐ บาทเศษ

           พ.ศ.๒๔๗๖ สร้างพระพุทธบาทจำลอง กว้าง ๕๐ ซม. ยาว ๑.๕๐ ซม. สิ้นเงิน ๒,๕๐๐.๐๐ บาทเศษ มีงานนักขัตฤกษ์เปิดให้ประชาชนนมัสการประจำปี

           พ.ศ.๒๔๗๗ สร้างกุฏิ ๒ หลัง กว้าง ๖.๐๐ เมตร ยาว ๒๐.๐๐ เมตร กว้างยาวเท่ากัน สิ้นเงิน ๗,๓๐๐.๐๐ บาท

           พ.ศ.๒๔๘๐ สร้างหอสวดมนต์ ๑ หลัง กว้าง ๑๖.๐๐ เมตร ยาว ๔๒.๐๐ เมตร สิ้นเงิน ๒๐,๗๖๕.๙๕ บาท

           พ.ศ.๒๔๘๒ สร้างส้วมคอนกรีตเสริมเหล็ก ๑ หลัง ๔ ห้อง กว้าง ๓.๐๐ เมตร ยาว ๘.๐๐ เมตร สิ้นเงิน ๑๐,๐๙๐.๕๘ บาท

           พ.ศ.๒๔๘๙ ปฏิสังขรณ์อุโบสถขึ้นใหม่ทั้งหลัง โดยกะเทาะปูนออกโบกปูนทำหลังคาใหม่ด้วยเงินต่างเจ้าของ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทำด้วยปูน สิ้นเงิน ๕๙,๔๐๙.๔๕ บาท

           พ.ศ.๒๔๙๐ สร้างกำแพงแก้วรอบอุโบสถ ซุ้มประตู ๓ ซุ้ม เทพื้นคอนกรีตภายในกำแพงแก้วรอบอุโบสถ เป็นเงิน ๙๓,๔๐๐.๖๕ บาท
   พ.ศ.๒๔๙๓ สร้างกุฏิเจ้าอาวาส ๔ มุข ๑ หลัง ชั้นล่างเสาหล่อคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นบนเครื่องไม้ กว้าง ๑๐.๐๐ เมตร ยาว ๒๕.๐๐ เมตร สิ้นเงิน ๒๘๔,๓๙๐.๓๕ บาท

           พ.ศ.๒๔๙๙ สร้างโรงเรียนมัธยมวิสามัญศึกษา ๑ หลัง ๒ ชั้น กว้าง ๑๐.๐๐ เมตร ยาว ๔๕.๐๐ เมตร เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ตัวอาคารไม้ หลังคามุงกระเบื้อง สิ้นเงิน ๒๑๘,๒๙๒.๐๐ บาท ด้วยทุนกระทรวงศึกษาธิการและมีผู้บริจาคสมทบ

           พ.ศ.๒๕๐๒ สร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางเดินไปโรงเรียนมัธยมวิสามัญศึกษา ๑ สาย กว้าง ๑.๒๕ เมตร ยาว ๔๒.๐๐ เมตร สิ้นเงิน ๑,๖๖๘.๐๐ บาท

           พ.ศ.๒๕๐๓ สร้างศาลาท่าน้ำตรีมุขหน้าวัด หล่อคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง หลังคาคอนกรีตมุงกระเบื้องเคลือบ แบบไทยแกมสมัย กว้าง ๕.๕๐ เมตร ยาว ๗.๐๐ เมตร สิ้นเงิน ๕,๗๙๘.๘๕ บาท

           พ.ศ.๒๕๐๔ สร้างศาลาท่าน้ำหน้าวัด เสาปูน พื้นไม้ ช่อฟ้าคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ หลัง หลังหนึ่งกว้าง ๕.๐๐ เมตร ยาว ๘.๐๐ เมตร หลังหนึ่งกว้าง ๔.๕๐ เมตร ยาว ๗.๕๐ เมตร เป็นเงิน ๘,๕๗๕.๓๕ บาท

           พ.ศ.๒๕๐๕ สร้างสถานีอนามัยชั้นสอง เสาคอนกรีต ตัวอาคารไม้ กว้าง ๑๒.๐๐ เมตร ยาว ๒๘.๐๐ เมตร พร้อมทั้งเครื่องอุปกรณ์ห้องน้ำห้องส้วม ๑ หลัง ด้วยเงินต่างเจ้าของ รวม ๕๓,๘๐๗.๓๕ บาท มีแพทย์เจ้าหน้าที่อยู่ประจำ พระเณรในวัด นักเรียนและประชาชนตำบลนั้นเจ็บไข้ได้ป่วยได้อาศัยอนามัยแห่งนี้

           พ.ศ.๒๕๐๖-๒๕๐๗ สร้างเขื่อนริมคลองหน้าวัด หล่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว ๑๗๕.๐๐ เมตร สิ้นเงิน ๖๑,๐๗๕.๕๐ บาท สร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กจากอุโบสถถึงศาลาท่าน้ำ กว้าง ๒.๐๐ เมตร ยาว ๔๐.๐๐ เมตร พร้อมทั้งสะพานท่าน้ำ บันไดสองข้างมีลูกกรงรอบเป็นเงิน ๙,๕๐๕.๗๕ บาท




สมณศักดิ์
           พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นพระครูสมุห์ ฐานานุกรมในท่านเจ้าคุณพระครูมหาโพธิวงศาจารย์ วัดอนงคาราม ครั้งเป็นพระมงคลเทพมุนี เจ้าคณะอำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี

           พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นพระครูสังฆรักษ์ ฐานานุกรมในท่านเจ้าคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ วัดอนงคาราม ครั้งเป็นพระมงคลเทพมุนีเช่นกัน

           พ.ศ.๒๔๙๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ (วัดโพธิ์) ที่ “ พระครูโพธิสารคุณ”

           พ.ศ.๒๕๐๗ ได้รับเลื่อนสมณศักดิเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ในราชทินนามเดิม





วัตถุมงคลของหลวงพ่อนวล
        พอเอ่ยอ้างชื่อหลวงพ่อนวล ในแวดวงสังคมนักอนุรักษ์พระเครื่องคงอาจยังไม่รู้จักกว้างขวาง ทั้งที่หลวงพ่อนวลได้รับการศึกษาวิทยาคมมาจากพระอาจารย์ที่โด่งดังในอดีตถึง ๓ รูป คือ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อยุธยา หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อยุธยา และหลวงพ่อนิ่ม วัดโพธิ์ บางระมาด กรุงเทพฯ ชื่อเสียงที่เลื่องลือของหลวงพ่อนวล เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๘๒ คือการรักษาโรคตามหลักวิชาเวชศาสตร์แพทย์แผนโบราณ ที่ได้ศึกษามาจากหลวงพ่อปาน โดยเฉพาะผู้ที่ถูกคุณไสย์ คนบ้า ต้มยารักษาโรคนานาชนิด และต่อกระดูก หลวงพ่อนวลได้สร้างวัตถุมงคลเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ โดยนิมนต์หลวงพ่อจงจากวัดหน้าต่างนอกซึ่งเป็นอาจารย์มาร่วมปลุกเสกแจกแก่ลูกศิษย์ลูกหาและชาวบ้านบางระมาดจนหมดในปีนั้น พอปีต่อมาก็เกิดสงครามโลก วัตถุมงคลชุดนั้นได้ปรากฏคุณวิเศษเป็นที่ต้องการแสวงหากันมาก แต่เนื่องจากสร้างน้อยจึงไม่เป็นที่แพร่หลายทั่วไป ค่านิยมนับถืออยู่ในวงแคบเพราะบรรดาศิษย์และชาวบ้านบางระมาดที่ได้รับแจกเท่านั้น

หลวงพ่อนวลสร้างวัตถุมงคลต่อมาอีก ๒ ครั้ง กล่าวคือ
           เดือนเมษายน ๒๔๙๓ สร้างพระทั้งหมดพิมพ์เป็นพระในชุดประทับสัตว์ ๖ ชนิด แบบหลวงพ่อปาน (นก, ไก่, เม่น, ปลา, ครุฑ, และหนุมาน) กับพระสมเด็จ ๓ ชั้น และ ๗ ชั้น โดยสร้างด้วยผงที่ทำขึ้นจากยันต์เกราะเพชร ผสมเข้ากับผงเก่าของหลวงพ่อปานและหลวงพ่อจง พระชุดนี้หลวงพ่อนวลให้ชื่อว่า “พระหมอ” เพราะมีความประสงค์ต้องการให้ผู้ใช้นำไปทำอาราธนาทำน้ำมนต์รักษาโรคภัยไข้เจ็บทุกชนิดดุจเดียวกับพระหลวงพ่อปานซึ่งปรากฏผลว่ามีพระพุทธคุณใช้ได้ผลเช่นเดียวกัน พระชุดนี้ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อยุธยา ได้มาร่วมปลุกเสกด้วย

           เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ๒๕๐๒ เป็นการสร้างวัตถุมงคลครั้งสุดท้ายของหลวงพ่อนวล มีทั้งพระเครื่องซึ่งผสมด้วยผงเก่าคราวสร้างพระเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ กับผงที่หลวงพ่อนวลทำขึ้นจากยันต์เกราะเพชรและผงของหลวงพ่อจง ตะกรุด และลูกอม ซึ่งใช้ผงสร้างพระมาปั้นเป็นลูกอม มีขนาดกะทัดรัด วัตถุมงคลชุดนี้ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อยุธยา ได้มาร่วมปลุกเสกกับหลวงพ่อนวล เช่นเดียวกับเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓

           อนึ่ง มีข้อที่น่าสังเกตว่า การสร้างพระของหลวงพ่อนวลนั้นแม้จะเป็นไปตามตำรับวิทยาคมที่ได้รับการสืบทอดมาจากหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค โดยตรงก็ตาม แต่หลวงพ่อนวลก็หาได้ใช้เนื้อดินเผาสร้างพระเหมือนหลวงพ่อปานไม่ แต่จะเน้นการสร้างด้วยเนื้อผงแบบพระสมเด็จ ผสมด้วยผงวิเศษมากกว่า และยังมีบางพิมพ์ที่ผสมด้วยผงใบลานเผา เช่นพิมพ์พระขุนแผนกุมารทอง

           นอกจากนั้นพระรุ่น พ.ศ.๒๕๐๒ นี้ หลวงพ่อนวลกับพระอาจารย์บุญมาก สัญญโม ศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมจากหลวงพ่อนวลจะร่วมกันจารอักขระยันต์ที่ได้รับการสืบทอดมาจากหลวงพ่อปานและหลวงพ่อจงทุกองค์ ซึ่งบางองค์ก็จารด้วยยันต์เกราะเพชร ลายมือการจารอักขระนั้นงดงาม และต้องใช้ความอุตสาหะวิริยะ ในการจารมาก ส่วนแม่พิมพ์พระนั้นพระอาจารย์บุญมาก เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ทั้งหมด ซึ่งถ้าเป็นพิมพ์ในรูปแบบพระสมเด็จ จะเป็นแบบทรงปรกโพธิ์ ทั้งนี้โดยถือเคล็ดว่า พระดังกล่าวสร้างขึ้นที่วัดโพธิ์และหลวงพ่อนวลก็เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ฉะนั้นการสร้างพระแบบสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์ ย่อมยังผลให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่ผู้มีไว้บูชานั่นเอง





อวสานแห่งชีวิต
           หลวงพ่อนวลท่านปรารภจะไปพักผ่อนที่จังหวัดจันทบุรี นมัสการปูชนียวัตถุมงคลและชมโบราณสถาน แต่หาโอกาสไปไม่ได้ เพราะมีภารกิจมาก ทิ้งไปก็จะเสียการ จน พ.ศ.๒๕๐๙ ท่านได้เดินทางโดยรถยนต์ แต่ก่อนจะไปได้ปรารภกับพระในวัดว่า “อายุมากแล้วตั้งใจจะไปให้ถึงบ่อพลอย เพื่อได้เห็นด้วยตาตนเอง” มีสามเณรผู้เป็นศิษย์ติดตามไป ๑ รูป ครั้นไปถึงจังหวัดจันทบุรีแล้ว ได้พักอยู่ที่บ้านศิษย์คนหนึ่งของท่าน ซึ่งได้ไปตั้งภูมิลำเนาประกอบอาชีพ อยู่ที่ตำบลบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ท่านได้ถึงมรณภาพ ที่บ้านศิษย์ของท่าน เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๐๙ ด้วยโรคลมปัจจุบันทันด่วน (หัวใจวาย) สิริอายุ ๗๘ ปี ๓๖ พรรษา เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดโพธิ์ ๓๑ ปี.




:001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001:



กราบขอบพระคุณ พระครูปลัดปราโมทย์ (หลวงพ่อช้าง ปโมทิโต) วัดโพธิ์ ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
ที่อนุเคราะห์ข้อมูลประวัติพระครูโพธิสารคุณ (หลวงพ่อนวล) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ กราบขอบพระคุณไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

:001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001:

ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)
วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗
เวลา ๑๕.๑๕ น.

ออฟไลน์ Nikekijang

  • ปฐมะ
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
สมเด็จเนื้อเก่ามากเลยนะครับสวยมากครับ