ผู้เขียน หัวข้อ: "พ่อปู่ทองสุข" อีก ๑ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กับชาวตำบลบางพระ  (อ่าน 7988 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)

  • *โปรดระวัง - สีลัพพตปรามาส, ๗ เดือน ๑๙ วันจะเก็บแต่ความทรงจำที่ดีๆไว้, ตถตา (เช่นนั้นเอง).
  • ...
  • *****
  • กระทู้: 6436
  • เพศ: ชาย
  • ผู้สอนคือผู้ลวง? ผู้เรียนคือผู้หัดที่จะลวง?
    • ดูรายละเอียด
    • เฟสบุ๊ควัดบางพระ (หลวงพ่อเปิ่น)

หลายสัปดาห์ก่อนเกิดนึกเอะใจอย่างไรขึ้นมาก็ไม่ทราบ จึงได้ไปค้น "เหรียญหลวงพ่อเปิ่น ด้านหลังหลวงปู่ทองสุข" ที่มีเก็บไว้ออกมาดู (เป็นเหรียญที่อากงของผมเก็บไว้ ซึ่งอากงเสียไปเมื่อปี ๒๕๓๙)

เมื่อพิจารณาไปได้สักพักก็เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า หลวงปู่ทองสุขท่านเป็นใคร? มีความสำคัญอย่างไร? และหลวงพ่อเปิ่นกับหลวงปู่ทองสุขมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรถึงได้สร้างเหรียญนี้ออกมา?

ความสงสัยทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่การแสวงหาข้อมูลประวัติหลวงปู่ทองสุขและการสร้างเหรียญรุ่นนี้ในที่สุด

หลายวันต่อมาระหว่างที่ช่วยงานหลวงพ่อสำอางค์บนกุฏิใหญ่ ช่วงจังหวะที่หลวงพ่อท่านว่างจากการรับแขกจึงได้ถือโอกาสสอบถามประวัติความเป็นมาของหลวงปู่ทองสุขกับท่าน

หลวงพ่อสำอางค์ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า ความจริงหลวงปู่ทองสุขไม่ใช่พระ คือเป็นเพียงรูปปั้นรูปสักการะลักษณะคล้ายคนทั่วไป ตั้งอยู่ภายในศาล นิยมเรียกกว่า "ศาลพ่อปู่ทองสุข" ศาลนี้ก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดบางพระมากนัก โดยตั้งอยู่ระหว่างวัดบางพระกับวัดกลางบางพระ ถ้าจะมาวัดบางพระก็ลองสังเกตทางซ้ายมือก่อนถึงวัดจะเห็นป้ายศาลพ่อปู่ทองสุขอยู่ทางซ้ายมือข้างทาง ประวัติความเป็นมาของพ่อปู่ทองสุขหลวงพ่อก็ไม่ทราบเช่นกัน โดยตั้งแต่เกิดมาหลวงพ่อก็เห็นมีศาลนี้อยู่แล้ว รู้แต่เพียงว่าชาวบ้านในตำบลบางพระและละแวกใกล้เคียงที่สัญจรผ่านไปมานิยมมาไหว้มาขอพรที่ศาลพ่อปู่ทองสุขแห่งนี้กันเป็นประจำ

ส่วนเรื่อง "เหรียญหลวงพ่อเปิ่น-หลวงปู่ทองสุข" นี้ คาดว่าน่าจะสร้างในสมัยของ "กำนันเทียน" ราวๆ ปี ๒๕๓๐ กว่าๆ สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสอบถามกับผู้ใหญ่ในวัดบางพระที่ต่างยืนยันตรงกันว่า เหรียญรุ่นนี้น่าจะสร้างโดย "กำนันเทียน" (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ซึ่งทันหลวงพ่อเปิ่นอธิษฐานจิตปลุกเสกอย่างแน่นอน

หลังจากที่ได้ข้อมูลคร่าวๆ มาแล้ว ผมจึงเดินทางมายัง "ศาลพ่อปู่ทองสุข" ตามคำบอกเส้นทางจากหลวงพ่อท่าน เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม



แผนที่จาก google แสดงเส้นทางระหว่างวัดบางพระ-ศาลพ่อปู่ทองสุข


หากเลี้ยวซ้ายออกจากวัดบางพระแล้วตรงมาเรื่อยๆ จะเห็นทางเข้าศาลพ่อปู่ทองสุขด้านขวามือ


มองจากด้านขวาของทางเข้า "ศาลพ่อปู่ทองสุข" จะเห็นซุ้มประตูทางเข้าวัดกลางบางพระ


หากวิ่งตามถนนด้านซ้ายของทางเข้า "ศาลพ่อปู่ทองสุข" จะตรงไปวัดบางพระ


ป้าย "ศาลพ่อปู่ทองสุข" ริมถนน

เมื่อมาถึง "ศาลพ่อปู่ทองสุข" แล้ว จึงได้ลงไปสำรวจพื้นที่โดยรอบ โดยจะสังเกตเห็นตัวอาคารที่ตั้งศาล ๑ หลัง และด้านข้างมีศาลาเล็กๆ ด้านในมีโต๊ะม้าหินวางไว้สำหรับเป็นที่นั่ง อีก ๑ หลัง ตรงบันไดทางขึ้นศาลทั้ง ๒ ฝั่ง จะสังเกตเห็นรูปปั้นกระบือสีดำฝั่งละตัว ภายในอาคารที่ตั้งศาล จะมีประดิษฐานพระพุทธรูป ๒ องค์ (ตรงกลางด้านซ้าย ๑ องค์ และด้านหลังทางซ้ายอีก ๑ องค์) และรูปปั้น (เข้าใจว่าเป็นรูปจำลองพ่อปู่ทองสุข) ไว้ให้บูชาจำนวน ๒ องค์ รูปร่างลักษณะทั้ง ๒ องค์จะมีรายละเอียดแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือในมือขวาของรูปปั้นทั้ง ๒ องค์ จะถือพระขรรค์ รอบๆ จะเต็มไปด้วยดอกไม้พวงมาลัยเครื่องสักการะบูชาต่างๆ อาทิเช่น หุ่นละครรำ รูปปั้นสัตว์ชนิดต่างๆ ฯลฯ ด้านขวามือบนศาลจะมีป้ายเขียนว่า "พ่อปู่ทองสุข (ศาลตาขุน)" เมื่อลงมาด้านล่างบริเวณด้านหลังศาลจะสังเกตเห็นสวนหย่อมเล็กๆ ไว้ปลูกต้นไม้




บริเวณหน้าศาลพ่อปู่ทองสุข






รูปปั้นที่เข้าใจว่าเป็นรูปจำลองของพ่อปู่ทองสุขทั้ง ๒ องค์ ในมือขวาถือพระขรรค์


ป้ายชื่อศาลติดไว้ทางขวามือ




มุมมองทางด้านหลังรูปปั้น


มองจากด้านหลังศาลพ่อปู่ทองสุข


สวนหย่อมด้านหลังศาล



จั่วบนศาลาเล็กด้านข้างศาลทั้ง ๒ ฝั่ง เป็นลายไม้แกะสลัก

เมื่อสำรวจพื้นที่โดยรอบแล้ว จึงได้ไปสอบถามกับชาวบ้านในละแวกนั้นถึงประวัติความเป็นมาของ "ศาลพ่อปู่ทองสุข" ต่อ ซึ่งทุกคนต่างให้ข้อมูลตรงกันว่าไม่มีใครรู้ประวัติที่แท้จริงของพ่อปู่ทองสุขว่าท่านเป็นใคร ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นมีศาลนี้อยู่ก่อนแล้ว ที่เห็นอยู่เป็นประจำก็คือจะมีคนนิยมมากราบไหว้ขอพร บ้างก็มาบนบานสานกล่าว เมื่อสำเร็จตามความประสงค์ก็จะนำของมาแก้บนเป็นปกติ โดยเฉพาะในช่วงวันขึ้นปีใหม่ทางศาลจะจัดพิธี "ส่งกะบาล" ผู้คนทั่วทุกสารทิศก็จะมาทำกระทงใบตองใส่อาหารคาวหวานกับรูปปั้นคนและสัตว์แทนคนและสัตว์ในบ้านมาเข้าพิธีกันอย่างล้นหลามจนเต็มลานหน้าศาล ส่วน "เหรียญหลวงพ่อเปิ่น-หลวงปู่ทองสุข" นั้น ไม่มีใครรู้ประวัติการสร้างที่แน่นอนเช่นกัน แต่สันนิษฐานว่าจะสร้างในสมัยที่ "กำนันเทียน" เป็นผู้ดูแล "ศาลพ่อปู่ทองสุข" อยู่ ซึ่งกำนันเทียนเคยสร้างเหรียญพ่อปู่ทองสุขเพื่อหารายได้มาบูรณะศาลด้วยเช่นกัน โดยเหรียญพ่อปู่ทองสุขรุ่นแรกที่แกสร้างจะมีเขียนว่า "ท 1" กำกับไว้อยู่

พร้อมกันนี้ชาวบ้านได้แนะนำให้ผมเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมที่วัดกลางบางพระ ซึ่งมีทางลัดจากศาลพ่อปู่ทองสุขไปถึงวัดกลางบางพระได้ (ในใจผมเองก็กะว่าจะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมที่วัดกลางบางพระอยู่แล้วเช่นกัน เพราะสังเกตเห็นป้ายประชาสัมพันธ์มงคลวัตถุรูปจำลองของพ่อปู่ทองสุขของวัดกลางบางพระติดอยู่ที่หน้าศาลพ่อปู่ทองสุข)



ป้ายประชาสัมพันธ์มงคลวัตถุรูปจำลองพ่อปู่ทองสุข ของทางวัดกลางบางพระ ติดไว้หน้าศาล

เมื่อเข้ามาถึงวัดกลางบางพระ ก็พอดีจังหวะได้มาเจอกับ "พี่ทิดมาร์ค" ที่แวะมาทำบุญที่วัดกลางบางพระพอดี จึงได้สอบถามถึงประวัติของ "เหรียญหลวงพ่อเปิ่น-หลวงปู่ทองสุข" ได้ความว่า น่าจะสร้างโดย "กำนันเทียน" ราวๆ ปี ๒๕๓๐ กว่าๆ ซึ่งทันหลวงพ่อเปิ่นอธิษฐานจิตปลุกเสกแน่นอน หลังจากพูดคุยกันได้สักพัก ผมจึงได้เข้าไปกราบเรียนถามประวัติของพ่อปู่ทองสุขกับท่านพระครูศรีสุตากร (อภิชาติ อภิญาโณ) เจ้าอาวาสวัดกลางบางพระ โดยหลวงพ่อท่านเมตตาเล่าประวัติให้ฟังคร่าวๆ และได้นำเอกสารประชาสัมพันธ์มงคลวัตถุรูปจำลองพ่อปู่ทองสุขที่ทางวัดกลางบางพระกำลังจัดสร้างเพื่อหารายได้มาบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุในวัดกลางบางพระ และซ่อมแซมบูรณะปฏิสังขรณ์ศาลพ่อปู่ทองสุข มาให้ไว้ชุดนึง โดยท่านบอกว่าในนี้มีประวัติความเป็นมาของพ่อปู่ทองสุขที่รวบรวมไว้แล้วพอสมควรลองไปอ่านดู


พระครูศรีสุตากร (อภิชาติ อภิญาโณ) เจ้าอาวาสวัดกลางบางพระ รูปปัจจุบัน



จากเอกสารประชาสัมพันธ์มงคลวัตถุรูปจำลองพ่อปู่ทองสุขของวัดกลางบางพระ มีการกล่าวถึงประวัติความเป็นมาและรายละเอียดต่างๆ ของ "พ่อปู่ทองสุข" ไว้ดังนี้

ประวัติความเป็นมาพ่อปู่ทองสุข

จากตำนาน และหลักฐานที่ปรากฏ ไม่พบว่าศาลพ่อปู่ทองสุขสร้างขึ้นมาในสมัยใด จากรุ่นสู่รุ่นที่เล่าต่อกันมา ก็เห็นศาลพ่อปู่ทองสุขมาตั้งแต่จำความได้ ทุกคนต่างมีความเคารพความศรัทธากันมาโดยตลอด ไม่เฉพาะแค่ชาวตำบลบางพระเท่านั้น เพราะการสัญจรไปมา จะต้องผ่านศาลพ่อปู่ทองสุขตั้งแต่สมัยอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

การดูแลศาลพ่อปู่ทองสุขที่ส่งต่อกันมาโดยลำดับ

จากอดีตที่ผ่านมา การดูแลศาลพ่อปู่ทองสุข ได้ส่งต่อผ่านกันมาคือ

๑. หลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดบางพระ



หลวงปู่หิ่ม อดีตเจ้าอาวาสวัดบางพระ (ผู้ถ่ายทอดวิชาสักยันต์ให้แก่หลวงพ่อเปิ่น)

๒. พระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตธมฺโม อดีตพระอนุสาวนาจารย์ วัดบางพระ


หลวงพ่อเปลี่ยน ฐิตธมฺโม พระอนุสาวนาจารย์ของหลวงพ่อเปิ่น

๓. กำนันสด แจ้งหงษ์วงษ์ อดีตกำนันตำบลบางพระ

๔. กำนันเทียน ปลื้มละมัย อดีตกำนันตำบลบางพระ

๕. กำนันสมควร รอดท่าไม้ กำนันตำบลบางพระ

๖. วัดกลางบางพระ โดย เจ้าอาวาสวัดกลางบางพระ

จากคำบอกเล่า หลวงพ่อหิ่ม วัดบางพระ ท่านเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบมาโดยตลอด เมื่อท่านถึงแก่มรณภาพลง พระอาจารย์เปลี่ยน วัดบางพระ ได้มาดูแล และดำเนินการต่อ ต่อมาพระอาจารย์เปลี่ยนจึงได้ยกมอบหน้าที่ให้กำนันสด แจ้งหงษ์วงษ์ เป็นผู้ดูแล เมื่อกำนันสดได้เกษียณอายุราชการ กำนันเทียน ปลื้มละมัย จึงเข้ามาดูแลรับผิดชอบพร้อมกับเป็นผู้บุกเบิกศาลพ่อปู่ทองสุขขึ้นมาใหม่ โดยการจัดสร้างศาลขึ้นใหม่ ปั้นรูปเหมือนองค์ใหม่ ปรับปรุงสถานที่พร้อมกับจัดงานประจำปี ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ต่อมาเมื่อกำนันเทียนเกษียณอายุราชการ กำนันสมควร จึงเข้ามาดูแลรับผิดชอบ และพัฒนาต่อมาโดยลำดับ ต่อมาคณะกรรมการเห็นสมควรให้วัดกลางบางพระเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๖ และทางวัดได้มอบหมายให้ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ ตำบลบางพระ เป็นผู้ดูแลโดยอยู่ในความรับผิดชอบของวัดกลางบางพระจนถึงปัจจุบัน

รูปเหมือนพ่อปู่ทองสุข

รูปเหมือนพ่อปู่ทองสุขที่ศาลนั้น ปัจจุบันมีอยู่ ๒ รูปเหมือน คือ รูปเหมือนเดิมที่นายแตง ทับเมฆา ได้ปั้นถวายไว้ ซึ่งสร้างแทนองค์เดิมที่ถูกคนวิกลจริตทำลายไป ต่อมาในสมัยของกำนันเทียนเป็นผู้ดูแล เห็นว่าองค์ที่นายแตงปั้นถวายไว้มีสภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ จึงให้นายเกล้า สุกสีใส ซึ่งเป็นช่างปั้น จัดปั้นขึ้นมาใหม่อีก ๑ องค์ คือ องค์ที่กราบบูชาอยู่ปัจจุบันนี้



รูปปั้นพ่อปู่ทองสุของค์เก่า ที่นายแตง ทับเมฆา ปั้นถวายไว้


รูปปั้นพ่อปู่ทองสุของค์ใหม่ ที่นายเกล้า สุกสีใส ปั้นถวายไว้

ความเป็นมาเรื่องการทำบุญประจำปี

ในอดีต สมัยหลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต เป็นผู้ดูแลศาลพ่อปู่ทองสุข เมื่อใกล้งานทำบุญประจำปีศาลพ่อปู่ทองสุข (ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖) หลวงพ่อหิ่มจะให้คณะกรรมการล่องเรือตีหมุ่ย (ฆ้อง) ไปตามลำแม่น้ำท่าจีน และคลองต่างๆ เพื่อขอบริจาคสิ่งของมาเข้าโรงครัวในการจัดงานทำบุญประจำปีศาลพ่อปู่ทองสุข และมีประเพณีถวายสลากภัตต์มะม่วงสุกแด่พ่อปู่ทองสุข ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเมื่อถึงข้างขึ้นเดือน ๖ มะม่วงตามบ้านจะสุกเหลืองเต็มต้น ชาวบ้านจึงนิยมเก็บมาถวายพ่อปู่ทองสุขในงานทำบุญประจำปี จึงถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมา ปัจจุบันการจัดงานทำบุญประจำปีศาลพ่อปู่ทองสุข เลื่อนมาจัดในช่วงเทศกาลปีใหม่สากลของทุกปี คือในวันที่ ๑ มกราคม จะประกอบพิธีสวดมนต์เย็น และในวันที่ ๒ มกราคม จะประกอบพิธีทำบุญเลี้ยงพระในช่วงเช้า และถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้

ประเพณีส่งกะบาลพ่อปู่ทองสุข

ประเพณีส่งกะบาลในสมัยอดีตนั้นมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ชาวบ้านมีความเชื่อว่าคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเพราะภูติผีปีศาจจะมาเอาชีวิต จึงได้ให้ผู้ที่มีความรู้มาทำพิธีส่งกะบาล โดยการนำเอาใบตองมาทำเป็นกระทงใส่ของคาวหวานเครื่องเซ่นไหว้ และปั้นหุ่นคนเจ็บใส่ลงไปด้วย เพื่อเป็นตัวแทนไม่ให้ภูติผีปีศาจเอาชีวิตไป จึงเป็นเหตุให้มีประเพณีนิยม ในการทำบุญประจำปีศาลพ่อปู่ทองสุข จะมีการปั้นหุ่นจำนวนคนในบ้าน จำนวนสัตว์ในบ้าน ใส่กระทง (โดยการแต่งอย่างวิจิตรสวยงาม) นำไปถวายพ่อปู่ทองสุขเพื่อให้ท่านได้ปกป้อง คุ้มครองรักษา ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย มีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต และการทำมาหากิน มีความร่มเย็นเป็นสุข จึงเป็นประเพณีนิยมของชาวบ้านผู้มีความศรัทธาถือปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้



ข้อสังเกตของพิธีส่งกะบาลพ่อปู่ทองสุข จะคล้ายกับพิธีหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
ที่ให้ปั้นหุ่นเป็นรูปคนและสัตว์ตามจำนวนคนในบ้าน เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัย
บันทึกภาพจากหนังสือประวัติหลวงพ่อปาน โสนันโท (พระครูวิหารกิจจานุการ)
ฉบับปรับปรุง พ.ศ.๒๕๔๘ หน้า ๒๕๑ (ISBN: ๙๗๘-๖๑๖-๙๐๗๖๓-๕-๓)

การบนบานสานกล่าวพ่อปู่ทองสุข

เล่ากันมาตั้งแต่ครั้งอดีต พ่อปู่ทองสุข เป็นที่พึ่งของชาวบ้านทั้งหลายทั้งใกล้ไกลที่สัญจรผ่านไปมา เมื่อเวลาที่เกิดทุกข์ภัย เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะพากันมาบนบานสานกล่าว ให้พ่อปู่ทองสุขช่วย ไม่ว่าจะเป็นของหาย ควายหาย คนในบ้านเจ็บป่วย สัตว์เลี้ยงเจ็บป่วย ซึ่งการบนบานสานกล่าวนั้น ก็สมประสงค์ตามที่ขอ จึงมีการบอกต่อปากต่อปากจนเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ต่างก็มาบนบานสานกล่าวกันเป็นจำนวนมาก ของที่นำมาแก้บน อาทิเช่น สำรับคาวหวาน เหล้า เบียร์ หัวหมู บายศรี ปลัดขิก พวงมาลัย ละครรำ เป็นต้น มีเรื่องกล่าวกันว่าบางคนเมื่อสมความประสงค์แล้ว ไม่ยอมมาแก้บนหรือลืม จะต้องมีเหตุต่างๆ ไปบ่งบอกให้รู้ว่าจะต้องมาทำการแก้บน ซึ่งต่อมาชาวบ้านผู้มีความศรัทธาจึงให้ความสำคัญในเรื่องการบนบานสานกล่าวนี้เป็นพิเศษ



คำบูชาพ่อปู่ทองสุข

กล่าวโดยสรุป ไม่มีใครทราบประวัติของ "พ่อปู่ทองสุข" ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร สร้างสมัยไหน และใครเป็นผู้สร้าง แต่ถึงอย่างไร "ศาลพ่อปู่ทองสุข" ก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวบ้านในตำบลบางพระและละแวกใกล้เคียงมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

และถึงแม้ว่าจะยังไม่ทราบประวัติที่ชัดเจนของ "เหรียญหลวงพ่อเปิ่น-หลวงปู่ทองสุข" แต่จากประวัติในอดีตของ "ศาลพ่อปู่ทองสุข" ที่สืบค้นได้ว่าเคยอยู่ในความดูแลของหลวงปู่หิ่ม อินฺทโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดบางพระ และหลวงพ่อเปลี่ยน ฐิตธมฺโม พระอนุสาวนาจารย์ของหลวงพ่อเปิ่น ก็พอจะอนุมานได้ว่า "พ่อปู่ทองสุขกับวัดบางพระ" มีความเชื่อมโยงผูกพันธ์กันมาก่อน

โดยในขณะนี้ทางวัดกลางบางพระได้จัดสร้าง "มงคลวัตถุรูปจำลองพ่อปู่ทองสุข รุ่น อยู่เย็นเป็นสุข" เพื่อหารายได้มาบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุในวัดกลางบางพระ และซ่อมแซมบูรณะปฏิสังขรณ์ศาลพ่อพ่อทองสุข ท่านใดที่มีความประสงค์จะร่วมบุญในครั้งนี้ก็เรียนเชิญได้ที่วัดกลางบางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม (อยู่ก่อนถึงวัดบางพระประมาณ ๑ กิโลเมตร)




:001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001:

ทุกอย่างล้วนมีเหตุปัจจัยสัมพันธ์ที่ทำให้ต้องแวะเวียนมาพบกัน
จากข้อสงสัยเรื่องประวัติ "เหรียญหลวงพ่อเปิ่น-หลวงปู่ทองสุข" ที่ผุดขึ้นมาอย่างไม่มีต้นสายปลายเหตุ
นำมาสู่การแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งพอดีกับช่วงจังหวะที่ทางวัดกำลังจัดสร้างรูปจำลองพ่อปู่ทองสุข
ไม่มีความบังเอิญ ทุกสรรพสิ่งล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน (มาก่อน)

:001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001:

ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)
วันพฤหัสบดีที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๗
เวลา ๒๐.๑๕ น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 ต.ค. 2557, 02:01:15 โดย ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์) »

ออฟไลน์ blackknight

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 127
  • ยกกระบัตร ทัพพระไพศรพณ์
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆ
อ่านสนุกและได้ความรู้ครับ
ชาติเสือไว้ลาย ชาติชายไว้ชื่อ

ออฟไลน์ ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)

  • *โปรดระวัง - สีลัพพตปรามาส, ๗ เดือน ๑๙ วันจะเก็บแต่ความทรงจำที่ดีๆไว้, ตถตา (เช่นนั้นเอง).
  • ...
  • *****
  • กระทู้: 6436
  • เพศ: ชาย
  • ผู้สอนคือผู้ลวง? ผู้เรียนคือผู้หัดที่จะลวง?
    • ดูรายละเอียด
    • เฟสบุ๊ควัดบางพระ (หลวงพ่อเปิ่น)
ภาพพิธีหล่อพระมหาพิชัยสงคราม และอธิษฐานจิตปลุกเสกมงคลวัตถุ "พ่อปู่ทองสุข" (อีกวาระ)

วันเสาร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๙.๓๐ น. - ๑๑.๐๐ น. ณ วัดกลางบางพระ













รูปเหมือนพระครูสุนทรวุฒิคุณ (หลวงพ่อพุฒ สุนฺทโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางบางพระ





รูปหล่อบูชาพ่อปู่ทองสุข


หลวงพ่อสมหวัง


อุโบสถ






เริ่มบวงสรวง












พระครูสิริปุญญาภิวัฒน์ (หลวงพ่อบุญสม ผลญาโณ) เจ้าคณะอำเภอนครชัยศรี เจ้าอาวาสวัดสำโรง เมตตานั่งปรกอธิษฐานจิต




พระครูโกวิทสุตการ (หลวงพ่อพระมหากำไร อภิชาโน) เจ้าคณะตำบลศรีมหาโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดโคกเขมา (วัดเก่าหลวงพ่อเปิ่น) เมตตานั่งปรกอธิษฐานจิต










พระครูอนุกูลพิศาลกิจ (หลวงพ่อสำอางค์ ปภสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดบางพระ เมตตานั่งปรกอธิษฐานจิต





พระครูยติธรรมานุยุต (หลวงพ่อแป๊ะ ธมฺมทินฺโน) เจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์ เมตตานั่งปรกอธิษฐานจิต






พระครูศรีสุตากร (อภิชาติ อภิญาโณ) เจ้าคณะตำบลวัดละมุด เจ้าอาวาสวัดกลางบางพระ


พระครูสังฆรักษ์ชออม ขนฺติโก ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบางพระ


พระครูปลัดเอกราช ชยวุฑฺโฒ วัดห้วยพลู


พระครูสังฆรักษ์เสวก โชติธมฺโม เจ้าอาวาสวัดละมุด


พระอาจารย์สมัคร วัดบางพระ


พระปลัดประพจน์ สุปภาโต วัดสำโรง



ฤกษ์เททอง


หลวงพ่อสำอางค์ชี้ให้ดูทางเข้า "ศาลพ่อปู่ทองสุข" ก่อนกลับวัดบางพระ

ออฟไลน์ shagath

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 541
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ขอบคุณมากครับท่านสิบทัศน์ข้อมูลแน่นมากครับชอบครับชอบ :016: :015: