ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงปู่พลอย ฐิติญาโณ วัดห้วยขานาง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี  (อ่าน 9452 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด



หลวงปู่พลอย ฐิติญาโณ ท่านมรณภาพเมื่ออายุได้ ๑๐๘ ปี ชีวิตของท่านยืนยาวข้ามศตวรรษได้อย่างน่าขบคิด ปริศนาแห่งชีวิตเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในบั้นปลายของท่านน่าศึกษาอย่างยิ่ง ท่านเป็นพระมหาเถระ ที่เป็นเกจิอาจารย์รูปหนึ่ง ของจังหวัดอุทัยธานี อดีตเจ้าอาวาสผู้สร้างวัดห้วยขานาง หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองยาง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ท่านเป็นพระภิกษุ ที่ถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ ของเกจิอาจารย์หลายท่าน ด้วยความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงพ่อพลอย ท่านจึงมีลูกศิษย์ที่สำคัญของจังหวัดอุทัยธานีหลายองค์


ตำนานชีวิต ๑๐๘ ปี
หลวงปู่พลอย ฐิติญาโณ


ท่านเกิดที่บ้านจาร้า อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๒ คน คือ
๑.หลวงปู่พลอย ฐิติญาโณ นามสกุลเดิม อ่ำสุพรรณ
๒.นางขำ อ่ำสุพรรณ
บิดามารดา ของท่าน มีอาชีพ ทำนา อยู่ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ครอบครัว ของหลวงปู่พลอยนั้นนับว่าเป็นครอบครัวที่อบอุ่นเรียบง่ายสงบ สมัยที่ท่านยังเป็นเด็กท่านได้ศึกษาหาความรู้จนจบโรงเรียนชั้นประถมปีที่ ๔ ในสมัยนั้นถือว่าดีแล้วที่ใครสามารถจบชั้นประถมปีศึกษาที่ ๔ได้ และเมื่อ ถึงฤดูทำนาถ้าท่านไม่ได้ไปโรงเรียน ท่านจะไปกับ บิดา มารดา เพื่อ คอยดูแลเลี้ยงน้อง เพราะเมื่อถึงหน้าน้ำๆจะหลากท่วมท้องทุ่ง เจิ่งนองไปหมด บิดาของท่านได้ปลูกห้างนาเล็ก ๆ ไว้บนจอมปลวกสูง และในวันหนึ่งเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดก็เกิดขึ้นเมื่อในขณะที่ มารดา กำลังยุ่งกับการทำนาอยู่นั้น นางขำ ซึ่งกำลังเริ่มหัดคลานซุกซนมากและได้พลัดตกลงไปในสระน้ำ เด็กชายพลอยเมื่อเห็นน้องตกน้ำจึงร้องเรียกบอกแม่ว่า “แม่น้องตกน้ำ”เมื่อแม่ได้ยินเสียงเรียกจึงรีบ กระโดดลงไปงมหาลูกสาว หลวงปู่เองก็ยังเป็นเด็ก ก็ได้แต่ยืนจ้องดูแม่ ด้วยความห่วงใย เมื่อแม่ของท่านโผล่ขึ้นมาเพื่อหายใจครั้งหนึ่งท่านก็รีบถามว่า “ได้ไหมแม่” แม่ไม่ทันตอบก็ต้องรีบดำกลับลงไปใหม่ แม่ ดำผุด ดำโผล่อยู่อย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง จึงได้ลูกสาวขึ้นมาเด็กหญิงขำ รอดตายอย่างไม่น่าเชื่อ จนกระทั้ง เด็กชายพลอย และ เด็กหญิงขำ อ่ำสุพรรณ ย่างเข้าสู่วัยรุ่น ด้วยความชราภาพ บวกกับการแพทย์ยังไม่เจริญ พ่อ แม่ ของท่านทั้งสองได้ล้มป่วยลงจากการทำงานหนักมาตลอดชีวิตของท่าน ๆ เพื่ออยากให้ลูกทุกคนมีความสุขสบาย แต่ความหวังของท่านทั้งสองยังไม่สมหวังดังที่ตั้งใจไว้ท่าน ก็เสียชีวิตลงทั้งคู่ ทิ้งให้นายพลอย และนางสาวขำอยู่ด้วยกันสองพี่น้อง นายพลอยจึงต้องรับภาระเลี้ยงดูน้องสาว ซึ่งเป็นเหตุให้ทั้งสองพี่น้องมีความรักผูกพันกันมาก นายพลอยจึงยึดอาชีพที่เป็นมรดกตกทอดจากพ่อ แม่มา คือการทำนา นายพลอยเป็นคนที่ขยันในการทำงานหาเลี้ยงดูแลน้องสาวมาจนกระทั้ง เมื่อท่านมีอายุ ๒๑ ปี ท่านก็ได้เข้าเป็นทหารเกณฑ์
การที่ท่านได้เป็นทหารเกณฑ์นี้เอง ทำให้ท่านได้มีโอกาส เรียนหนังสือเพิ่มเติม ฝึกฝนการอ่าน และการเขียนหนังสือ จนสามารถอ่านออกเขียนได้ดีพอสมควร ในช่วงที่ท่านเป็นทหารอยู่นี้เอง ท่านเป็นคนที่รักและห่วงน้องสาวเมื่อท่านไปเป็นทหารเกณฑ์ไม่เท่าไร ด้วยความที่ท่านเป็นห่วงน้องสาว กลัวน้องจะลำบาก ท่านจึงตัดสินใจที่จะหนีทหาร แต่ด้วยท่านมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของชายไทย ท่านได้หนีออกมาหาน้องสาวของท่านถึง ๒ ครั้งและก็กลับเป็นทหารอีกและครั้งสุดท้าย ท่านก็ได้ตัดสินใจหนีทหารอย่างเด็ดขาด และได้ พาน้องสาวหนีจากสุพรรณบุรีมาอยู่กับญาติพี่น้องที่บ้านหนองโพ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดชัยนาท ท่านพาน้องสาวมาอยู่ได้ไม่กี่ปี ด้วยเกรงว่า ทางจังหวัดสุพรรณบุรี จะรู้ที่อยู่ แล้วจะมาตามจับกลับไปเป็นทหารอีก ท่านจึงพาน้องสาวหนีจาก ชัยนาท มาอยู่ที่ บ้านเขาเชือก จังหวัดอุทัยธานี จนกระทั้งนางสาวขำ อ่ำสุพรรณ ได้มีครอบครัวได้สมรสกับ นายกุล วะชู ซึ่งเป็นคนบ้านวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท และ นายพลอย ซึ่งกำลังเป็นหนุ่มฉกรรจ์ และนายพลอยเองก็ได้ผูกสมัครรักใคร่กับลูกสาวของหญิงหม้ายคนหนึ่ง (ไม่ทราบชื่อ) ในวันหนึ่งหญิงสาวคนรักได้นัดให้ นายพลอย ให้ไปขึ้นหาในตอนกลางคืน แต่แม่ของสาวคนรักนั้นซึ่งเป็นหญิงหม้าย ซึ่งแอบชอบนายพลอยอยู่ และคอยโอกาสอยู่ และวันที่รอคอยก็มาถึง เมื่อมารู้แผนการเรื่องที่ลูกสาว นัดให้ นายพลอยขึ้นหาในคืนนี้จึงเป็นโอกาสดีของหญิงหม้ายที่จะจับนายพลอยเป็นสามี จึงไล่ให้ ลูกสาว ซึ่งเป็นคนรักของนายพลอยไปนอนที่อื่น และหญิงหม้ายนั้นก็เริ่มแผนการนารีพิฆาต โดยเข้าไปนอนแทนที่ลูกสาว เพื่อจะเผด็จศึกนายพลอยในคืนวันนี้ ให้ได้ พอถึงเวลานัดหมายนายพลอยก็ขึ้นหาสาวคนรักตามสัญญา แต่กลับไม่เจอสาวคนรัก แต่เจอแม่ของสาวคนรักนอนรอการเผด็จศึกอยู่ ด้วยความมืดจึงไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ก่อนที่สงครามสร้างเผ่าพันธุ์จะเกิดขึ้นในความมืด นายพลอยรู้ตัวเสียก่อน เพราะว่า ผิดสัมผัส พอหญิงหม้ายรู้ว่านายพลอยรู้ตัว จึงโวยวายขึ้นมา เพื่อจะจับนายพลอยไว้เป็นทหารเอกของนางเอง เมื่อผิดแผนการที่วางเอาไว้กับสาวคนรัก จากการที่จะได้เป็นสามี แต่กลับจะได้เป็นพ่อเลี้ยงแทน นายพลอย จะกระโดดหนีแต่ไม่ทันเสียแล้ว จึงเสียใจมากที่ไม่สมหวังในความรัก นายพลอย จึงต้องตัดสินใจจากสาวคนรัก ด้วยความอาลัยในรักและจะไม่ยอมเป็นพ่อเลี้ยงของสาวคนรัก นายพลอยจึงหนีกลับไปสุพรรณบุรี นายพลอย เมื่อผิดหวังจากความรัก ก็เหมือนกับหนุ่มวัยรุ่นทั่วไป แต่ด้วยสวรรค์ยังเมตตา ท่านจึงตัดสินใจสละทางโลกออกบวช เป็นพระภิกษุ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
เมื่อท่านบวชแล้วท่านได้ ทิ้งให้นางขำ วะชู ให้อยู่กับครอบครัว ที่ บ้านเขาเชือก นางขำ มีบุตรสาว ๑ คน คือนางพัน วะชู ต่อมาเกิดโรคห่าระบาดขึ้น “อหิวาตกโรค” ซึ่งการแพทย์ยังไม่เจริญ มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก นางขำ จึงพาครอบครัวอพยพไปอยู่ที่บ้านหนองมะสัง หรือหมู่บ้านทุ่งสาลีในปัจจุบัน และ นางพัน บุตรสาวได้ แต่งงาน กับนายมูล (ไม่ทราบนามสกุล) และ นาย กุล วะชู ผู้เป็นสามีนางขำได้เสียชีวิตลง นางขำจึงได้พาครอบครัวของบุตรสาวอพยพมาจับจองที่ทำกิน ที่บ้านห้วยขานาง ต่อมาสามีของนางพัน ได้เสียชีวิตลง และนางพันได้สมรสกับ นายเปล่ง ดวงหนองบัว ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยขานาง และ มีบุตรสาว ๑ คน คือ นางสะอาด ดวงหนองบัว นางขำใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านห้วยขานาง กับลูกหลาน ตลอดชีวิตของท่าน

ผลงานของหลวงปู่พลอย ฐิติญาโณ

หลังจากที่หลวงปู่พลอยท่านได้อุปสมบทครั้งแรก ในราวปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ท่านได้ตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยได้เดินธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆแสวงหา ครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ เพื่อจะศึกษาวิชาอาคมต่างๆ ท่านเล่าว่า ได้เดินธุดงค์ไปถึงเขตประเทศพม่า ท่านได้พบกับคนมอญ ท่านก็พูดมอญด้วย คนพวกนั้นเกรงว่าหลวงปู่จะรู้เรื่องที่คุยกัน จึงเปลี่ยนไปพูดภาษาพม่าแทน ท่านได้เดินธุดงค์อยู่หลายปี เมื่อท่าน
มีความรู้พอสมควรแล้ว ท่านได้เดินทางกลับและท่านได้มาจำพรรษา อยู่ที่วัดเนินเพิ่มอยู่ในเขต ตำบลหนองสรวง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี วัดเนินเพิ่ม มีเนื้อที่ ประมาณ ๗ ไร่เศษ แต่ในปัจจุบันได้ยกเป็นวัดร้าง ซึ่งที่ดินวัดในปัจจุบัน ไม่มีใครเข้าไปใช้ประโยชน์ จึงเป็นที่รกร้าง ไม่มีสิ่งก่อสร้างอื่นใดให้เห็นเป็นรูปวัด จะเหลือต้นโพธิ์ ให้เห็นว่าเป็นวัด และศาลพระภูมิเก่า ๆ ที่ชาวบ้านนำมาทิ้งไว้เท่านั้น แต่จะมีพระธุดงค์ แวะเวียนเข้ามาอาศัยพักค้างแรมเป็นประจำ ซึ่งในปัจจุบัน พื้นที่วัดถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน โดยมีถนนลาดยางตัดผ่านพื้นที่วัด แต่ยังคงความร่มรื่น สมกับคำว่าอาราม เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของพระภิกษุสงฆ์จากทิศทั้งสี่ที่แวะเวียนมาปักกรดปฏิบัติธรรม และเนื้อที่วัดทั้งสองฟากถนน จะมีสระน้ำ สระน้ำทางทิศเหนือ เมื่อครั้งในอดีตในราวปี พุทธศักราช ๒๔๕๐ คุณโยมที่อาศัยอยู่ติดกับที่วัด ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อครั้งที่ท่านเป็นเด็ก แม่ของท่านเล่าให้ฟังว่าในสมัยที่หลวงปู่มาอยู่นั้นมีคนมาลักปลาในสระไปทำปลาร้ากิน เกิดเหตุที่จะคิดว่าไม่น่าจะ เกิดขึ้นได้คือ ไฟลุกอยู่ในไหปลาร้าเป็นคำบอกเล่า ผู้อ่าน ควรใช้วิจารญาณ เพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล หลังจากนั้นไม่นาน ชาวบ้านทุ่งกองโพธิ์ที่มีความศรัทธาในตัวหลวงปู่พลอย ได้ร่วมใจกันมาอาราธนา หลวงปู่ท่านให้ไปช่วยสร้างวัด ซึ่งในสมัยนั้น หนทางการสัญจรมีความลำบากมาก และ ในละแวกบ้านนั้นก็ไม่มีวัดให้ชาวบ้านได้ทำบุญกัน จะทำบุญกันแต่ละทีก็ต้องเดินทาง มาทำบุญที่วัดเนินเพิ่ม หรือไม่ก็จะไปทำบุญที่วัดหนองขุนชาติ หลวงปู่พลอยท่านเห็นความลำบากของชาวบ้านจึงรับอาราธนา และ ท่านได้เดินทางมาสร้างวัดทุ่งกองโพธิ์ ในปี พุทธศักราช ๒๔๕๒ บนเนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๗๒ ตารางวา วัดทุ่งกองโพธิ์ ตั้งอยู่ที่ บ้านทุ่งกองโพธิ์ หมู่ที่ ๘ ตำบลทุ่งโพ อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ระยะทางห่างจากอำเภอหนองฉาง ๘ กิโลเมตร เมื่อ วัดทุ่งโพ เจริญมั่นคงดีแล้ว “แต่แล้วอนิจจาชีวิตคนไม่แน่นอน”หลวงปู่ก็เช่นเดียว ในช่วงที่ท่านอยู่ที่ วัด ทุ่งกองโพธิ์นั้น ท่านได้พบรัก อีกครั้ง กับหญิงหม้าย นางหนึ่ง “ผู้เขียนคิดว่า คงจะงามมากเลยละ” ที่สามารถผูกใจของหลวงปู่พลอย ได้และ ท่านลาสิกขาออกมา สร้างครอบครัว กับ หญิงหม้ายผู้โชคดี ที่ชื่อว่า “เทียน”(ไม่ทราบนามสกุล) ที่ว่าโชคดี นั้นเพราะว่าหลวงปู่ท่าน เป็นคนขยัน หมั่นเพียรในการทำงานประกอบอาชีพ สร้างฐานะด้วยความอดทนจนครอบครัวของ ท่านมีความมั่นคง ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ท่านไม่มีบุตร กับนางเทียน “อนิจจา ท่านต้องพบกับ ความพลัดพรากอีกครั้ง ” ชีวิตคู่ของหลวงปู่พลอย กำลังไปได้ดีมีความสุขกับครอบครัว ทั้งในด้านความรักและฐานะที่มั่นคง และแล้ว วันนั้นก็มาถึง เมื่อนางเทียน ได้ล้มป่วยลง จนหมอหมดทางรักษาและแล้ว นางเทียนก็ เสียชีวิตลงโดย ปัจจุบันทันด่วน หลวงปู่ท่านยังไม่ทันตั้งตัว ความเศร้าโศกเสียใจ ได้เกิดขึ้นกับท่าน เป็นครั้งที่สอง ดังคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” เมื่อท่านจัดงานศพนางเทียนเรียบร้อยแล้ว ท่านได้เดินทางกลับไปจังหวัดสุพรรณบุรีอีกครั้ง เพื่อทบทวนความเป็นมาเป็นไปของชีวิตของท่านและแล้วท่านก็สามารถเป็นผู้ชนะใจของท่านเองได้อย่างเด็ดขาดท่าน สละทุกสิ่งทุกอย่างอีกครั้งแล้วจึงออกบวช โดยไม่หันหลังกลับอีกต่อไป เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับหมู่ญาติและภรรยา และท่านได้เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดทุ่งกองโพธิ์ ตามเดิม ขณะนั้นญาติพี่น้องของท่าน อยู่ที่บ้านสะเดาซ้าย อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ได้มานิมนต์ท่านให้ไปสร้างวัดสะเดาซ้าย ด้วยความที่ท่านเป็นพระที่มีเมตตาและยึดมั่นในสัจจะธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญตั้งมั่นและมีความเจริญบนผืนแผ่นดินไทย เพื่อเป็นมรดกของลูกหลาน ที่นับถือพระพุทธศาสนาให้มีสถานที่บำเพ็ญบุญกุศล ทำความดี ท่านจึงรับนิมนต์และไปได้สร้างวัดสะเดาซ้าย หลังจากท่านได้สร้างวัดสะเดาซ้าย จนมั่นคงแล้ว หลวงปู่พลอย ท่านก็ได้เดินทางกลับมาจำพรรษา และพัฒนาวัดทุ่งกองโพธิ์ ตามเดิม ในช่วงเวลานั้น นางขำ น้องสาวของท่าน ที่ตั้งครอบครัวอยู่ที่บ้านห้วยขานาง นางขำท่านเป็นคนที่มีน้ำใจ โอบอ้อมอารี ต่อผู้คนทั่วไป ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้านห้วยขานางและหมู่บ้านใกล้เคียง ผู้คนจึงพากันเรียกท่านว่า “แม่แก่ขำ” แม่แก่ขำ ท่านมีจิตใจฝักใฝ่ในการทำบุญ ให้ทานด้วยความที่ท่านเป็นคนใจบุญ ท่านจะสั่งสอนและชักชวนลูกหลานให้ทำแต่ความดี และ แม่แก่ขำท่านจะพาลูกหลาน เดินทางไปทำบุญที่วัดทุ่งกองโพธิ์ทุกวันพระอยู่เสมอมิได้ขาด สาเหตุที่ท่านจะต้องเดินไปทำบุญที่วัดทุ่งกองโพธิ์ ก็เพราะว่าหมู่บ้านห้วยขานาง และหมู่บ้านใกล้เคียงโดยรอบยังไม่มีวัด และที่สำคัญคือ หลวงปู่พลอย ซึ่งเป็นพี่ชายคนเดียวของท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งกองโพธิ์ การที่จะเดินทางไปวัดทุ่งกองโพธิ์ในสมัยนั้นลำบากมากเพราะไม่มีรถยนต์ ใครมีเงินก็จะมีรถมอเตอร์ไซค์ หรือรถจักรยาน แต่ส่วนมากการเดินทางจะใช้เกวียนเป็นพาหนะในการเดินทาง ๆ ไปในตัวจังหวัดต้องใช้เวลาในการเดินทางเป็นวันๆคือจะต้องนอนค้างคืน กันเลยทีเดียว และระยะทางจาก บ้านห้วยขานาง กับวัดทุ่งกองโพธิ์ ไกลกันพอสมควร และเมื่อแม่แก่ขำ ชราภาพลง เห็นว่าการจะไปทำบุญแต่ละครั้ง ทั้งไกล และ ลำบาก ท่านจึงมีความคิดที่จะย้ายไปอยู่ที่วัดทุ่งกองโพธิ์กับหลวงปู่พลอย ท่านจึงได้เก็บข้าวของเพื่อจะเดินทางไปอยู่กับหลวงปู่ที่วัดทุ่งกองโพธิ์ แต่ไม่ทันที่จะเดินทางไป หลวงปู่พลอย ท่านได้ทราบเรื่องเสียก่อน ด้วยความสงสารและเป็นห่วงน้องสาวกลัวลำบากที่ต้องเดินทางไปกลับ ท่านจึงได้พูดกับน้องสาวว่า “มึงไม่ต้องมาหลอก อีกหน่อยกูจะไปอยู่กับมึงที่ห้วยขานางเอง” หลังจากนั้น ไม่นาน หลวงปู่ท่านก็ได้พาพระลูกวัดทุ่งกองโพธิ์ เดินทางมาที่หมู่บ้านห้วยขานาง เพื่อมาปรับปรุงที่บริเวณลำห้วยขานางซึ่งเป็นที่ป่ารกมาก เมื่อฉันเช้าแล้วท่านก็จะเดินทางมาและระยะทางระหว่าง วัดทุ่งกองโพธิ์ กับ บ้านห้วยขานาง ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ท่านจะเดินทางมา เป็นประจำทุกวัน ในราวปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ ท่านได้สร้างกุฏิสงฆ์ และศาลาการเปรียญ พอจะเป็นที่อาศัยและบำเพ็ญสมณะกิจได้และให้ชาวบ้านอาศัยทำบุญได้ หลวงปู่พลอย ท่านได้ย้ายจากวัดทุ่งกองโพธิ์ มาอยู่จำพรรษา อยู่ที่วัดห้วยขานางตลอดชีวิตท่าน

วัดห้วยขานาง
สร้างเป็นวัดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ มีเนื้อที่ดิน ๑๗ ไร่ ๑ งาน ๖๘ ตารางวา โดยมีผู้ใหญ่เปล่ง ดวงหนองบัว ซึ่งเป็นหลานเขยของหลวงปู่พลอย ถวายที่ดินให้ หลวงปู่พลอย ให้สร้างวัดห้วยขานางในช่วงนั้น และในปีเดียวกัน ผู้ใหญ่เปล่ง ดวงหนองบัว ได้ขออนุญาตทางการเพื่อสร้างโรงเรียนให้บุตรหลานหมู่บ้านห้วยขานางและหมู่บ้านใกล้เคียงได้มีที่เรียนหนังสือกัน โดยมีหลวงปู่ท่านเป็นคนสนับสนุน โรงเรียนวัดห้วยขานาง จึงเกิดขึ้น และได้ไปขอร้องให้ ครูหว้า ภู่พงษ์
 
ย้ายมาจากโรงเรียนชุมชนบ้านทุ่งนาให้มาสอนที่โรงเรียนวัดห้วยขานาง และ ครูหว้า ภู่พงษ์ ก็ได้รู้จักกับหลวงปู่พลอย และขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงปู่พลอย ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ซึ่ง ก่อนที่ จะสร้างโรงเรียนนั้น โรงเรียนวัดห้วยขานางยังไม่มีสถานที่ตั้งอาคารเป็นของตัวเอง ได้อาศัยศาลาพักร้อนในบริเวณ วัดห้วยขานางเป็นที่เรียนหนังสือของเด็ก ๆ ส่วนครูหว้า ท่านได้อาศัยอยู่ข้างกุฏิ โดยหลวงปู่พลอยท่านได้ปลูกพาไล ข้างกุฏิให้อยู่ต่างหาก หลวงปู่ท่านจะเรียกครูหว้าว่า “ไอ้ครู” ซึ่งในช่วงนั้นครูหว้า เองก็มีอายุ ราว 23 ปี และ หลวงปู่เองท่านก็มีอายุมากแล้ว ไม่สะดวกในการเดินทางไปไหนมาไหน ก็ได้อาศัยครูหว้า ช่วยถือบาตรออกไปรับอาหารบิณฑบาตจากชาวบ้านในละแวกบ้านห้วยขานาง และหมู่บ้านใกล้เคียงแทน หลวงปู่ พอตกกลางคืนหลวงปู่ท่านก็จะเล่าประวัติ และประสบการณ์ ของท่านให้ครูหว้า ฟังหลวงปู่พลอย ฐิติญาโณ ท่านมีปฏิปทาในการปฏิบัติมาก ทุกๆวันโกน วันพระท่านเดินทางไปที่ ถ้ำเขาปูนเพื่อปฏิบัติธรรมในถ้ำและในถ้ำนั้นจะมีสระน้ำอยู่ซึ่งมีปลาอาศัยอยู่มากมาย และมีช่องทางน้ำไหลออกไปได้ เคยมีคนเอาแกลบข้าวโรยลงไปในทางน้ำ แกลบ จะไหลไปตามทางน้ำ และไปโผล่ในกลางทุ่งนาของชาวบ้าน ในปัจจุบันยังมีอยู่ ซึ่งอยู่ไกลมากจากถ้ำเขาเตาปูน ในปัจจุบันมีการ ทำโรงโม่หิน จนเขาลูกที่หลวงปู่พลอยท่านเข้าไปปฏิบัติธรรมในถ้ำและเขาที่อยู่ในบริเวณนั้น โดนระเบิดเหลือครึ่งลูกเท่านั้น แต่ยังรักษาถ้ำไว้ แต่หินหล่นทับปากถ้ำไปครึ่งลูก พอลงไปในถ้ำได้ หลังจากนั้นมาชื่อเสียงของหลวงปู่พลอย ก็เป็นที่รู้จักทั่วไปของชาวอุทัยธานี และจังหวัดใกล้เคียง เรื่องวัตถุมงคลและวาจาสิทธิ์ ในสมัยนั้น วัดห้วยขานาง ถือว่าห่างไกลจากตัวจังหวัดมาก แ ละ อยู่ในถิ่นทุรกันดารหนทางที่จะไปวัดลำบากมาก แต่ก็มีประชาชนที่มีความเคารพศรัทธาเดินทางมาสักการะท่านและนิมนต์ท่านไปในงานพิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานที่บ้านหรืองานวัดเป็นประจำ โดยเอาเกวียนมารับท่านไป เพราะถือว่าถ้ามีหลวงปู่ท่านอยู่ในงาน ๆ งานจะเรียบร้อยไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกันเพราะทุกคนกลัววาจาสิทธิ์ของท่านครูหว้า ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ตลอดเวลาที่ท่านได้อยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่พลอย นับวันก็ยิ่งประทับใจในคุณธรรมของหลวงปู่ และมีความเลื่อมใสศรัทธาในคุณงามความดีที่หลวงปู่ท่านได้กระทำต่อบุคคลทั่วไป ท่านเป็นที่พึ่งของคนทุกคน โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ จะมีผู้คนมาจากทุกสารทิศมาหาท่านแทบทุกวันมิได้ขาดบ้างก็มาขอพรจากท่าน มาขอเครื่องรางของขลังบ้าง มากราบไหว้เพื่อความเป็นมงคลบ้าง บ้างก็มาขอพังธรรมจากท่านบ้าง หรือมาถามข้อข้องใจในธรรมของพระพุทธเจ้าบ้าง บ้างก็มาขอฝากตัว เป็นศิษย์ มาให้หลวงปู่เคาะกระบาลด้วยตะบันหมากบ้าง มาขอกรากหมากบ้างเพื่อให้อยู่ยงคงกระพันบ้างตามความเชื่อของตน และในสมัยก่อนนั้น วิชาการแพทย์ไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนปัจจุบัน หนทางที่จะเดินทางไปหาหมอที่ตัวอำเภอก็ไกลและการเดินทางต้องไปด้วยเกวียน กว่าจะถึงคนไข้ตายก่อนบ้างก็มีเป็นประจำ ชาวบ้านจึงยึดหลวงปู่พลอยเป็นที่พึ่งเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ก็จะมาให้ท่านรักษาให้ หลวงปู่ท่านก็จะรักษาให้ โดยใช้ยาสมุนไพร บวกกับอำนาจพุทธคุณที่ท่านล่ำเรียนมารักษาให้ มีอยู่ครั้งหนึ่งมีคนเป็นหน่อที่เท้าเป็นหนองจะเจ็บปวดทรมานมาก หลวงปู่ท่านก็จะใช้ ต้นไพรเผาจนร้อนแล้วให้คนช่วยกันจับคนป่วยกันดิ้น จี้ลงไปบนปากแผลที่เป็นหนอง คนป่วยจะดิ้นทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวด ต่อมา ๒-๓ วันหน่อที่เป็นหนองก็หายนอกจากโรคในกายแล้ว ก็ยังมีคนเป็นโรคจิตประสาทมาให้ท่านรักษาท่านก็จะรักษาให้จนหาย บางคนมีกรณีพิพาทกันตัดสินกันไม่ได้ ก็มาสาบานต่อหน้าหลวงปู่เพื่อแสดงความจริงใจต่อกัน ถ้าคนผิดส่วนมากก็เป็นไปตามที่สาบานกับหลวงปู่ท่านจนเป็นที่เลื่องลือและเกรงขาม จนทุกวันนี้ก็จะมีคนมาสาบานในเรื่องต่างที่ทำผิดต่อกันต่อหน้ารูปหล่อของหลวงปู่พลอย

และท่านก็สอนให้ทำจิตใจให้สงบ โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ก็จะได้ไม่มาเบียดเบียนเนื่องจากสุขภาพใจ
เมื่อกล่าวถึงเรื่องวาจาสิทธิ์ และวัตถุมงคลเครื่องรางของขลัง ของหลวงปู่พลอย ฐิติญาโณ ในสมัยท่านมาอยู่ที่วัดห้วยขานางใหม่ๆ ท่านเดินสำรวจบริเวณวัดได้มีกิ่งไม้หักตกลงมาโดนหัวท่านเข้า ท่านจึงพูดขึ้นว่า “ต้นไม้ต้นนี้เกิดมานานแล้ว สมควรที่จะตายได้แล้ว ด้วยวาจาของท่านต้นไม้ต้นนั้นก็ค่อยๆตายลง”
และใน สมัย ที่ท่านยังอยู่ที่วัดทุ่งโพเวลา จะไปไหนไกลๆ จะต้องอาศัยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พวกรถรับจ้างเมื่อเห็นหลวงปู่ท่านมาจะดีใจและแย่งกันขอไปส่งหลวงปู่ ๆท่านจะเลือกรถที่ท่านจะต้องไปด้วยท่านได้ลุงคนหนึ่งซึ่งลุงคนนี้ไม่มีที่ทางทำมาหากินแกได้อาศัยขับรถรับจ้างเลี้ยงครอบครัวเมื่อไปส่งหลวงปู่ถึงที่แล้ว หลวงปู่ท่านได้พูดกับลุงคนนั้นว่า “เออ เดี๋ยวมึงก็รวย” และต่อมาไม่นานลุงคนนั้นก็รวยตามวาจาของหลวงปู่ด้วยการขับรถรับจ้างนั้นเองใครๆก็ขึ้นแต่รถแก จนลุงคนนั้นเป็นคนรวยที่สุดในหมู่บ้านเกาะตาซ้ง ในสมัยนั้น และมีอยู่ครั้งหนึ่งมีงานเดือน สาม ที่วัดหนองขุนชาติ ได้มานิมนต์ท่านไปเป็นประธานในงาน และในคืนหนึ่งได้มีดนตรี ของ พรภิรมย์ และมีนักเลงคนหนึ่งไปยิง พรภิรมย์ แล้ววิ่งหนีไป มีคนนำเรื่องไปบอกหลวงปู่ ๆ ท่านได้พูดขึ้นว่า “มันหนีไปไหนไม่ได้หรอกเดี๋ยวมันก็มาหากู” และไม่นานนักเลงคนนั้นก็ขึ้นมาหาหลวงปู่ที่ศาลา ตอนหลังนักเลงคนนั้นได้เล่าให้หลวงปู่ฟังว่า “หาทางหนีออกจากวัดไม่เจอ และไม่รู้จะไปไหน เลยคิดว่ามาหาหลวงปู่ดีกว่า” ซึ่งในปัจจุบันนี้นักเลงผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่แต่ขอสงวนนามเพราะจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ ครูหว้าได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อทางราชการรู้ว่าชาวหมู่บ้านได้ร่วมใจกันจะสร้างโรงเรียนวัดห้วยขานางขึ้น จึงได้สนับสนุนมอบเงินทุนมาให้เพื่อดำเนินการสร้างโรงเรียน แต่งบประมาณที่ทางราชการให้มานั้นน้อยมากไม่พอที่จะสร้างอาคารเรียนได้ ครูหว้าจึงนำเรื่องมาปรึกษากับหลวงปู่พลอย เพื่อจะให้หลวงปู่ท่านร่วมเป็นประธานในการก่อสร้างอาคารเรียน ชาวบ้านจึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะขออนุญาตหลวงปู่เพื่อสร้างวัตถุมงคล

สักรุ่นหนึ่ง เพื่อจะนำรายได้มาสร้างอาคารเรียน ในครั้งแรกหลวงปู่ท่านไม่เห็นด้วยและไม่อนุญาต ครูหว้าเลยต้องพูดอ้างเหตุผลและตัดพ้อหลวงปู่ ว่า “ตั้งแต่ที่ผมได้ร่วมสุขร่วมทุกข์กับหลวงปู่ ผมไม่เคยขออะไรหลวงปู่เลย ครั้งนี้ที่ขอไม่ได้ขอเพื่อตนเอง แต่จะสร้างอาคารเรียนเพื่อให้ลูกหลานชาวบ้านห้วยขานาง จะได้มีอาคารเป็นที่ศึกษาหาความรู้กัน” หลวงปู่จึงพูดขึ้นว่า “ไม่ต้องลำเลิกหรอก ไปทำมา กูจะลงให้เอง” ครูหว้า และชาวบ้านห้วยขานาง ก็ได้ทำแหวนมาให้หลวงปู่ท่านลงให้ และนำออกจำหน่าย เมื่อได้เงินมาก็นำมาสร้างอาคารเรียนจนสำเร็จ และครูหว้า และชาวบ้านห้วยขานางก็ไปกราบขอบพระคุณหลวงปู่พลอย ซึ่งในขณะนั้นหลวงปู่ท่านชรามากแล้วอายุท่านประมาณ ๑๐๐ ปี ดวงตาของท่านมองไม่ค่อยเห็นแล้ว ครูหว้าและชาวบ้านช่วยกันนำหลวงปู่ท่านมาดูอาคารเรียน ที่ท่านมีส่วนร่วมในการสร้าง จนสำเร็จ โดยการพาท่านนั่งรถใสน้ำไปที่โรงเรียน แ ละครูหว้าได้อธิบายลักษณะของอาคารเรียนให้ท่านฟังและท่านก็ได้เอามือลูบคลำตัวอาคารเรียนและท่านก็พูดขึ้นว่า “ เออ ใหญ่ดี ” วัดห้วยขานางในสมัยที่หลวงปู่พลอย ที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ถือว่าเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองมากวัดหนึ่ง จะมีผู้คนมาที่วันกันแทบทุกวัน ผู้ที่มีลูกชายอยากให้ลูกชายเจริญก้าวหน้าก็จะพามาฝากไว้เป็นศิษย์หลวงปู่พลอยและอาศัยอยู่ที่วัด ศึกษาเล่าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดห้วยขานาง ผู้ที่ได้เชื่อว่าเป็นศิษย์หลวงปู่ท่านก็จะมีความรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจของวงษ์ตระกูล ชื่อเสียงของหลวงปู่พลอยท่านเลื่องลือไปในหลายจังหวัด เช่น นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ก็จะเดินทางมาหกราบท่าน แม้แต่ทหารเมื่อจะไปออกรบ มีอยู่ครั้งหนึ่งมีนายทหารได้นำเครื่องเฮลิคอปเตอร์ มาลงที่วัดเพื่อมาขอชานหมากจากปากของหลวงปู่ด้วยตนเอง ก่อนที่จะเดินทางไปสงครามเวียดนาม เพื่อความมั่นใจว่าตนเองจะต้องปลอดภัยกลับมา แม้แต่น้ำหมากที่หลวงปู่ท่านบ้วนทิ้ง ก็จะแย่งกันดื่มกิน เพราะถือว่า ใครได้ดื่มกินจะไม่มีวันที่จะตายโหง ซึ่งเป็นความเชื่อของส่วนบุคคล
หลวงปู่พลอยท่าน ได้ดำเนินชีวิตใน สมณะเพศ อย่างเรียบง่าย เป็นที่พึ่งให้แก่ผู้คนทั่วไปท่านได้สร้างประโยชน์ให้กับพระพุทธศาสนาไว้อย่างมากมาย ถึงท่านจะเก่งเพียงใดก็ตามท่านย่อมเป็นไปตามธรรมชาติคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
ท่านสละสังขารลงเมื่อวันพุธที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๒ ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๖ รวมสิริอายุท่านได้ ๑๐๘ ปีโดยประมาณ ท่านได้ทิ้งไว้แต่ความดีที่สร้างมาไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง ได้ระลึกถึงพระคุณของท่าน และนำคำสอนของท่านมาประพฤติปฏิบัติตามปฏิปทาของท่าน รุ่นแล้วรุ่นเล่า ในการพัฒนาวัดห้วยขานาง ให้เจริญรุ่งเรืองสืบมา

 
สรุป
ทุกวันนี้ผู้คนที่สัญจรไปมาบนถนนสายบ้านไร่-อุทัยธานี เมื่อมาถึงบริเวณหน้าวัดห้วยขานาง หรือ วัดทุ่งโพ จะต้องบีบแตร ๓ ครั้ง หรือ พนมมือไหว้ท่านอธิษฐานของพรให้เดินทางปลอดภัย มีโชคลาภ เป็นการแสดงความคารวะด้วยความเคารพนับถือ เพราะทุกคนมีความเชื่อว่าหลวงปู่พลอยท่านมีอำนาจดลบันดาลความสุขความสมหวังแก่ตนและครอบครัว ครูหว้า ท่านบอกว่า ท่านถือว่าหลวงปู่พลอยท่านเป็นบุคคลที่ควรบูชาท่านหนึ่ง เพราะว่าท่านมีคุณธรรมสูงหลายประการ ท่าน คือ
๑.ท่านเป็นพระที่เป็นที่พึ่ง เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนที่ทุกข์ยาก ในสมัยที่ท้องถิ่นอยู่ห่างไกลความเจริญ เป็นขวัญกำลังใจให้ต่อสู้กับอุปสรรคของชีวิตด้วยความเชื่อที่ว่าหลวงปู่ท่านยังอยู่กับทุกคนและสามารถดลบันดาลให้ผู้ที่คิดดีปฏิบัติดี เป็นสุขสมหวัง ปลอดภัยในชีวิต
๒.ท่านเป็นครูผู้อบรมสั่งสอนศิษย์โดยท่านนำหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนามาสั่งสอน ให้คิดดี ปฏิบัติดีไม่เบียดเบียน รังแกผู้อื่น นอกจากนี้ท่านยังสนับสนุนการศึกษาสร้างอาคารเรียน
๓.ท่านเป็นผู้พิพากษา เมื่อมีผู้คนมีกรณีพิพาทที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะมาพึ่งหลวงปู่ท่านให้เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ทั้งคู่แสดงความบริสุทธิ์จริงใจต่อกัน (คือการสาบานนั้นเอง)
๔.ท่านเป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ในสมัยนั้นถ้าทางวัดใดมีงานประจำปี ก็จะมานิมนต์ท่านไป เป็นประธานในงานรับรองได้เลยว่างานที่วัดนั้นจะสงบเรียบร้อย เพราะผู้คนเกรงวาจาสิทธิ์ของท่าน พวกนักเลงอันธพาล ไม่กล้าที่จะทำความชั่ว หรือก่อเรื่องทะเลาะวิวาทกันในบริเวณวัด เพราะกลัวคำสาปแช่ง
๕.ท่านยังเป็นหมอรักษาโรค ทั้งโรคทางใจ และทางจิต โดยท่านอาศัยสมุนไพรกับอำนาจพุทธคุณ สาสมารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้คนที่มาพึ่งท่านให้รักษา เพราะในสมัยนั้นการสาธารณสุขยังไม่เจริญเหมือนสมัยนี้
๖.ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในการปฏิบัติในกิจวัตรของสงฆ์มาก เช่นมีอยู่คราวหนึ่งช่วงที่หลวงปู่ท่านชราภาพมากแล้ว ท่านอาพาธดวง ตาของคนอายุร้อยกว่า ย่อมมองไม่ค่อยเห็นแล้วเป็นธรรมดา คนที่ดูแลท่านเพื่อจะให้ท่านฉันยา ได้นำอาหารป้อนท่าน ซึ่งเป็นเวลาเย็นมากแล้ว ท่านก็ฉัน ในขณะนั้นมีผู้ทักขึ้นว่า “หลวงปู่ฉันท่านอาหารตอนเย็นได้หรือ” เมื่อท่านได้ยิน ท่านก็ไม่ยอมเปิดปากรับอาหารอีกเลย โดยเฉพาะหลวงปู่ท่านมีปกตินิสัยประจำของท่าน
ทางกาย ท่านมีร่างกายที่แข็งแรง กระฉับกระเฉง ว่องไว สะอาด ปราศจากกลิ่นตัว มีอาพาธน้อย ท่านจะสรงน้ำเพียงวันละครั้งเท่านั้น
ทางวาจา ท่านเสียงใหญ่ แต่พูดเบา พูดน้อย พูดสั้น พูดจริง พูดตรงปราศจากมารยาทางคำพูดคือไม่พูดเทียบเคียง ไม่โอ้อวด ไม่พูดปลอบโยน ไม่พูดประชด ไม่พูดนินทาไม่พูดขอร้องขออภัย ไม่พูดขอโทษ ไม่พูดถึงความฝัน
ทางใจ ท่านมีสัจจะ ตั้งใจทำสิ่งใดแล้วทำจนสำเร็จ มีเมตตากรุณาเป็นประจำ สงบเสงี่ยม เยือกเย็น อดทน ไม่กระวนกระวายวู่วาม ไม่แสดงอาการอึดอัดหงุดหงิดรำคาญ ไม่แสวงหาของหรือสั่งสม ไม่ประมาทมีสติสัมปชัญญะเบิกบานอยู่เสมอ คุณธรรมของหลวงปู่พลอย เท่าที่ผมรู้จักยังมีรายละเอียดอีกมากมายซึ่งไม่สามารถนำมากล่าวได้อย่างครบถ้วน แต่อย่างน้อยข้อมูลประวัติของท่าน ที่ได้รวบรวมมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้ คงจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า หลวงปู่พลอย ฐิติญาโณ ท่านเป็นบุคคลสำคัญรูปหนึ่ง ที่เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีเกียรติคุณ งามความดี ควรค่าแก่อนุชนรุ่นหลังจะได้เจริญรอยตามปฏิปทาของท่าน และเคารพบูชาท่านได้อย่างสนิทใจ และท่านก็เป็นหนึ่งที่ชาวจังหวัดอุทัยธานีภาคภูมิใจ

พระเครื่องของหลวงปู่พลอย...บางส่วน


 เหรียญเนื้อเงินลงยาสีแดง...หลวงพ่อพลอย หายากมาก




ขอขอบพระคุณที่มา...http://sitluangporguay.com/forum/index.php?topic=2746.0
                        ...http://www.pralanna.com/shoppage.php?shopid=51298

ออฟไลน์ ~@เสน่ห์เอ็ม@~

  • ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย พระคุณบิดามารดาผู้มีพระคุณ แล ครูบาอาจารย์ผู้เกื้อหนุน สาธุ..
  • เด็กวัด
  • *****
  • กระทู้: 5894
  • เพศ: ชาย
  • ศิษวัดบางพระ
    • ดูรายละเอียด
มนัสการหลวงปู่พลอย ฐิติญาโณ  ด้วยครับ  :054:

ขอบคุณพี่ธรรมมะรักโขมากครับ สำหรับประวัติของท่าน